ประชาไท | Prachatai3.info |
- ถอดรหัสคดีพระวิหาร (1) – พื้นที่รอบปราสาทเป็นของไทยหรือกัมพูชา?
- นักปรัชญาชายขอบ: ถ้าผมเป็น 'ยิ่งลักษณ์' จะรับท้าดีเบตกับ 'อภิสิทธิ์'
- ความพอเพียงตอนไปต่างประเทศ
- มุสลิมใต้ 2 พันร่วมละหมาดฮาญัต หลังโต๊ะครูถูกลอบยิง
- รายงานพิเศษ: “อดีตไม่สำคัญ วันนี้ฉันรักเธอ” และปอเนาะบาลอ ก็ไม่ต้องถูกปิด
- วีดีโอ : ธรรมยาตราสองแผ่นดิน ไทย-กัมพูชา มิตรภาพไร้พรมแดน
- สุเทพลั่น "อภิสิทธิ์" เหนือกว่า "ยิ่งลักษณ์" ทุกประการ
- ใบตองแห้ง...ออนไลน์: จดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯอานันท์: 112 ไม่ใช่แค่การบังคับใช้
- นักเคลื่อนไหวสิทธิผู้ป่วย ถูกหมอฟ้อง "ข้อมูลเท็จ" มาตรา 14 พ.ร.บ.คอม
- วิดีโอ: กองทัพรัฐฉานเหนือ - ใต้ ประกาศร่วมต่อสู้กองทัพพม่า
ถอดรหัสคดีพระวิหาร (1) – พื้นที่รอบปราสาทเป็นของไทยหรือกัมพูชา? Posted: 22 May 2011 11:28 AM PDT เกี่ยวกับผู้เขียน อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สำนักกฎหมาย Freshfields Bruckhaus Deringer (กรุงปารีส). นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด. หมายเหตุ บทความนี้เป็นเพียงส่วนย่อ เอกสารฉบับเต็มอ่านได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple
“คำพิพากษาอาจเป็นที่สิ้นสุดในทางกฎหมาย แต่ความชอบธรรมนั้นใคร่ครวญได้ไม่สิ้นกาลเวลา (A judgment may be final in law; its legitimacy is another matter in time).” เนื่องในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ จะเป็นวันครบรอบ 50 ปีคำพิพากษาคดีศาลโลก (ICJ) ฉบับแรกที่ไทยเป็นคู่ความ อีกทั้งสิ้นเดือนนี้ไทยกำลังจะขึ้นโรงที่ศาลโลกอีกครั้งเพื่อชี้แจงเรื่องเก่าที่กัมพูชาขอศาลเอามาเล่าใหม่ จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านให้ลองช่วยกันดูว่า คำพิพากษาประวัติศาสตร์อายุเกือบครึ่งศตวรรษฉบับนี้ ยังมี “รหัส” อะไรซ่อนเร้นอยู่ ให้เอามาเล่าใหม่ได้หรือไม่?
(1) ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตใต้อธิปไตยของกัมพูชา; และจากเหตุดังกล่าว (in consequence) (2) ไทยจึงต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากปราสาทฯหรือในบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ (in its vicinity)บนอาณาเขตของกัมพูชา (on Cambodian territory); และ (3) ไทยจึงต้องคืนบรรดาวัตถุที่นำออกไปจากปราสาทฯ หรือบริเวณปราสาทฯ (the Temple area)ตามที่กัมพูชาสามารถระบุได้. คำพิพากษากล่าวถึงบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ (in the vicinity) ว่าเป็นของกัมพูชาแต่มิได้ระบุให้แน่ชัดว่าบริเวณดังกล่าวมีความหมายว่าอย่างไร. ไทยเองเคยทำรั้วรอบปราสาทฯเพราะไทยเห็นว่า “บริเวณใกล้เคียง” มีอยู่จำกัดและไม่รวมถึงพื้นที่บนยอดเขาพระวิหารทั้งหมด แต่กัมพูชาไม่เห็นด้วย. ล่าสุดกัมพูชาได้ขอให้ศาลตีความคำพิพากษา แต่หากอ่านดีๆ กัมพูชาไม่ได้ขอให้ศาลตีความคำว่า “บริเวณใกล้เคียง” แบบ “ตรงๆ” ว่า กว้าง ยาว แคบเท่าไหร่ แต่กัมพูชาพยายามขอให้ศาลตีความอย่าง “เลี่ยงๆ” ว่า ไทยต้องออกไปจาก “บริเวณใกล้เคียง” เพราะไทยต้องเคารพแผนที่ฯ ภาคผนวก 1 (ไม่ว่า “บริเวณใกล้เคียง” จะเป็นอย่างไร). แม้ศาลจะรับคดีแล้วแต่ไม่ได้แปลว่าศาลจะเชื่อกัมพูชาโดยง่ายๆ หากศาลมองว่าเรื่องที่กัมพูชาขอตีความเป็นการพยายามตะแบงขยายประเด็นเรื่องแผนที่ฯเกินไปกว่าคดีเดิม ศาลอาจปฏิเสธไม่รับตีความก็ได้. คดียังคงดำเนินต่อไป แต่หากเราคนไทยต้องการทราบในเบื้องต้นว่า “บริเวณใกล้เคียง” หรือ “vicinity” นั้นศาลท่านน่าจะหมายความว่าอย่างไร เราสามารถลอง “ถอดรหัส” ถ้อยคำในคำพิพากษาได้ดังต่อไปนี้. 1. คำว่า “vicinity” มีความหมายที่ไม่แน่นอนในตัวเอง. 2. คำว่า “vicinity” ต้องถอดรหัสควบคู่กับคำว่า “and its precincts” ข้อแรก คำว่า “precincts” นั้นเป็นศัพท์ที่เข้ารหัสเฉพาะได้หลายทาง. หากถามนักรัฐศาสตร์ คำนี้หมายถึงเขตการปกครองหรือเขตบริหารที่แบ่งตามพื้นที่ เช่น ในเมืองแห่งหนึ่งอาจมี เขตสถานีตำรวจ หรือ เขตเลือกตั้ง แบ่งออกเป็นเขต (precincts) ต่างๆ. แต่หากถามนักบวชหรือนักโบราณคดีแล้ว จะแปลว่าบริเวณทั้งหลายที่ถือรวมเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่เดียวกัน เช่น เราอาจเรียก เจดีย์ อุโบสถ ศาลาและลานวัดทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในกำแพงวัด ว่าเป็น precincts ของวัด. การถอดรหัสคำว่า precincts ต้องดูบริบทที่ศาลใช้ คือ “sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear and its precincts”. คำถามคือศาลอธิบายถึง precincts ของ “region” (บริเวณ) หรือ ของ “Temple” (ตัวปราสาทฯ) เพราะหากเป็น precincts ของ “ตัวปราสาทฯ” เราอาจตีความได้ว่าศาลกำลังพูดถึงบริเวณบันไดนาค โคปุระ บ่อน้ำ หรือรอยกำแพงรอบๆตัวปราสาทฯที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพระวิหารเท่านั้น. แต่หากมองว่าศาลกำลังพูดถึง precincts ของ “บริเวณ” ก็อาจมีผู้มองว่าศาลกำลังกล่าวถึงเขตการบริหารปกครองต่างๆ ที่กัมพูชาอาจแบ่งได้ในบริเวณเขาพระวิหารหรือไม่. หากถามนักกฎหมายว่าจะเชื่อนักรัฐศาสตร์หรือนักโบราณคดี ก็ตอบว่าการตีความโดยเน้นที่ “region” แบบรัฐศาสตร์แบบนี้อาจรับฟังได้ยาก เพราะศาลกล่าวถึงคำว่า precincts เป็นพหูพจน์ ยากที่จะฟังว่ากัมพูชาจะแบ่งเขตในพื้นที่รอบปราสาทฯเป็นหลายเขต. อีกทั้งนักกฎหมายต้องรู้ว่าในคำพิพากษาฉบับภาษาฝรั่งเศสศาลยังได้ใช้คำว่า “environs” แทนคำว่า “precincts” ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป. ข้อที่สอง วิธีที่ศาลกล่าวถึงคำว่า precincts นี้สื่อรหัสพิเศษ เพราะในย่อหน้าแรกศาลใช้คำนี้โดยการยกถ้อยคำ (quote) มาจากคำพิพากษาอีกฉบับในคดีเดียวกัน นั่นคือคำพิพากษาเรื่องเขตอำนาจ (jurisdiction) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าศาลมีอำนาจรับคดีปราสาทพระวิหารไว้พิจารณา โดยในย่อหน้าแรกที่ศาลยกถ้อยความมาอ้างมีคำว่า “precincts” อยู่แต่พอย่อหน้าถัดมาในหน้าเดียวกัน ศาลได้อธิบายย้ำถึงกรอบของคดีโดยใช้ถ้อยคำซ้ำดังเดิม แต่ละคำว่า “precincts” ออกไป กล่าวคือศาลกล่าวซ้ำว่า ประเด็นแห่งคดีนี้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่อง “อำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร” (sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear). การที่ศาลกล่าวถึงคำว่า “precincts” ในย่อหน้าแรกและละคำทิ้งในย่อหน้าถัดมาจะตีความอย่างไรนั้น มองได้หลายทาง. เหตุที่เป็นไปได้ข้อหนึ่ง ก็คือศาลละคำว่า “precincts” ออกเพราะคำว่า “the region of the Temple of Preah Vihear” ชัดเจนพอแล้ว จึงไม่ต้องกล่าวคำซ้ำ ซึ่งย่อมหมายความว่า “precincts” คือบริเวณในทางโบราณคดีที่เป็นส่วนหนึ่งของปราสาทฯนั่นเอง. ข้อที่สาม การที่ศาลอ้างถึง “precincts” และละคำนี้จากประโยคที่ซ้ำกันในย่อหน้าถัดไปนั้น ต้องอ่านรหัสควบคู่ไปกับสิ่งที่ศาลกล่าวต่อในหน้าถัดมา โดยในหน้า 15 ศาลกล่าวสรุปว่า ศาลจะไม่นำข้อต่อสู้เชิงประวัติศาสตร์ ศาสนาและโบราณคดีมาประกอบการพิจารณาคดี. การกล่าวเช่นนี้ตีความได้หลายทาง ทางหนึ่งคือเป็นการเชื่อมบริบทว่า “precincts” ถูกกล่าวถึงในบริบทเชิงศาสนาและโบราณคดี. ข้อที่สี่ คำว่า “precincts” ในหน้าที่ 14 นี้ ศาลใช้คำภาษาฝรั่งเศสว่า “environs” ซึ่งก็เป็นคำแปลคำเดียวกันกับคำว่า “vicinity” ในหน้า 37. แม้คำพิพากษาจะกำหนดให้ใช้ฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลักก็ตาม แต่การเลือกคำแปลเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้พิพากษาและนักกฎหมายที่ดีทุกคนต่างตระหนัก. หากหน้าที่แพทย์คือการจับชีพจร หน้าที่ของนักกฎหมายก็คือการจับถ้อยคำ และผู้เขียนก็มิได้คิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องบังเอิญที่มีการใช้คำแปลฝรั่งเศสตรงกัน. 3. คำว่า “vicinity” ต้องถอดรหัสควบคู่กับคำว่า “in consequence” ถามว่าถ้าบริบทเหมือนกันแล้วเหตุใดศาลจึงไม่ใช้คำเดียวกัน ตอบได้ว่าคำว่า “in consequence” สื่อให้เห็นว่าการที่ไทยต้องถอนเจ้าหน้าที่ออกจากบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯเป็นผล (consequence) ที่ตามมา เพราะศาลกำลังเน้นไปที่เหตุเกี่ยวกับตัวปราสาทฯเป็นสำคัญ. ถามว่าอะไรคือสาระสำคัญของตัวปราสาทฯที่ทำให้ไทยต้องถอนเจ้าหน้าที่ออกจากบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ วิธีตอบวิธีหนึ่งคือการกลับไปอ่านรหัสถ้อยคำของศาลในหน้า 15 ที่อธิบายเกี่ยวกับปราสาทฯไว้ว่า ปราสาทฯยังคงถูกใช้เป็นที่สำหรับ “การจาริกแสวงบุญ” (is still used as a place of pilgrimage). ดังนั้น เมื่อปราสาทฯเป็นของกัมพูชาและศาลเชื่อว่าชาวกัมพูชาหรือผู้ใดยังเดินทางไปจาริกแสวงบุญได้ หากไทยจะส่งกองทหารหรือตำรวจไปยืนประชิดสถานที่จาริกแสวงบุญดังกล่าว ก็คงเป็นผล (consequence) ที่มิเหมาะสมนัก. การถอดรหัสคำว่า “vicinity” ลักษณะนี้จึงเป็นการเน้นเพื่อมิให้ไทยแทรกแซงหรือก่อกวนการใช้ปราสาทฯจากบริเวณใกล้เคียง ศาลจึงไม่ได้ใช้คำว่า “Temple area” ซึ่งเป็นการเน้นเรื่องโบราณวัตถุในข้อ 3 แต่เมื่อบริบทเป็นผลที่ตามมาจากข้อ 1 เหมือนกัน จึงสรุปได้ว่า “vicinity” มิได้หมายถึงบริเวณอื่นรอบๆปราสาทฯ หรือตามแผนที่ภาคผนวก 1. 4. คำว่า “vicinity” ต้องถอดรหัสควบคู่กับคำว่า “Temple area” 5. คำว่า “vicinity” ต้องถอดรหัสควบคู่กับส่วนอื่นของคำพิพากษาที่ศาลกล่าวถึงแผนที่ภาคผนวก 1 สรุปการถอดรหัส - บริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯเป็นของใคร? สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ชุดรหัส” (พหูพจน์) ที่ซ่อนอยู่ในคำพิพากษา. ผู้เขียนได้เลือกกล่าวถึงเฉพาะรหัสที่ปรากฏให้เห็นชัดในคำพิพากษาซึ่งผู้เขียนเองก็ยังมีข้อถกเถียงที่โต้แย้งตัวเองได้อยู่ แต่จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้. ในฐานะผู้ที่พอมีประสบการณ์เคยช่วยทำคดีในศาลโลก ไม่เป็นที่สงสัยว่าบรรดานักกฎหมายทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างได้ศึกษาคำเหล่านี้แล้ว อีกทั้งถ้อยคำสำคัญอื่นๆ ทั้งในเชิงศัพทมูลวิทยา อัครวิเคราะห์ บริบทวิเคราะห์ ทั้งในคำพิพากษาฉบับอังกฤษและฝรั่งเศสและคำคู่ความทั้งฉบับอักษรและวาจา ประกอบกับการประพฤติปฏิบัติของคู่พิพาท แนวการวินิจฉัย และหลักการตีความอื่นซึ่งมีอีกหลายวิธี. ไม่ว่าคู่พิพาทในคดีจะสงวนชั้นเชิงและท่าทีตามความจำเป็นอย่างไร หรือจะมีผู้อ่านต่อว่าผู้เขียนในประการไหน แต่สำหรับผู้ที่มีใจเป็นธรรมและเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมนั้น สิ่งที่ไม่ควรหลีกหนีก็คือ “ความจริง”. หากสุดท้ายศาลรับตีความคำพิพากษาในประเด็นถ้อยคำเหล่านี้ ก็หวังว่าสิ่งที่ถอดรหัสมาข้างต้นนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของ “ความจริง” ที่ศาลจะนำไปพิจารณา. แต่หากศาลไม่รับไว้พิจารณา ก็หวังต่อแต่เพียงว่า สำหรับไทยและกัมพูชานั้น “ความจริง(ต้อง)เป็นสิ่งไม่ตาย” (เพราะมิเช่นนั้น “คนที่ต้องมาตาย” จะไม่ใช่แค่ความจริง). (จบ “ถอดรหัสคดีพระวิหาร” ตอนที่ 1)
หมายเหตุ บทความนี้เป็นเพียงส่วนย่อ เอกสารฉบับเต็มอ่านได้ที่https://sites.google.com/site/verapat/temple
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักปรัชญาชายขอบ: ถ้าผมเป็น 'ยิ่งลักษณ์' จะรับท้าดีเบตกับ 'อภิสิทธิ์' Posted: 22 May 2011 11:16 AM PDT ถ้ายอมรับการทำรัฐประหารและนิรโทษกรรมแก่ตนเองได้ ทำไมจึงยอมรับการที่รัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาจะนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร และถูกตัดสินความผิดโดยกระบวนการที่สืบเนื่องไม่ได้ เรื่อง “การล้างความผิดให้ทักษิณ” ผมจะถามอภิสิทธิ์ว่า ทำไมประชาธิปัตย์รับได้กับการที่พวกทำรัฐประหารและฆ่าประชาชนแล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง เพราะในประวัติศาสตร์รัฐประหารที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ออกมาค้านเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถ้ายอมรับการที่พวกทำรัฐประหารนิรโทษกรรมแก่ตนเองได้ ทำไมจึงยอมรับการที่รัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาจะนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร และถูกตัดสินความผิดโดยกระบวนการที่สืบเนื่องจากรัฐประหารไม่ได้ ประชาธิปัตย์บอกว่า ถ้านิรโทษกรรมทักษิณเท่ากับไม่เคารพหลักนิติธรรม ถามว่าหลักนิติธรรมจะมีได้ก็ต่อเมื่อมี “หลักนิติรัฐ” ใช่หรือไม่? การทำรัฐประหารเป็นการยกเลิกกติกาประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง หลักนิติรัฐภายใต้ระบอบประชาธิปไตยยังเหลืออยู่ตรงไหน? ฝ่ายทำรัฐประหารเป็นผู้กล่าวหาว่าทักษิณทำผิด (5 ข้อ) แล้วทำรัฐประหาร เสร็จแล้วก็เป็นโจทย์เอง ตั้ง คสต.ขึ้นมาเองเพื่อสืบสวนสอบสวนเอาผิด ส่งฟ้องศาลได้เอง กระทั่ง “ตุลาการภิวัตน์” ตามคอนเซ็บต์อำมาตย์ก็ตัดสินเอง อย่างนี้หรือครับที่ประชาธิปัตย์เรียกว่า เป็น “กระบวนการที่มีหลักนิติรัฐและมีหลักนิติธรรม” กรณีเซ็นชื่อให้เมียซื้อที่ดิน และทำกับข้าวออกทีวี กับกรณีสั่งสลายการชุมนุม “ผิดหลักสากล” อย่างชัดแจ้ง จนทำให้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แค่คิดตาม “สามัญสำนึก” ของชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่ต้องใช้ “มโนธรรม” ของความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องอ้างหลักนิติธรรมนิติรัฐใดๆ ถามว่า อย่างไหนควรจะติดคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญามากกว่ากัน ! ถ้าอภิสิทธิ์ตอบว่า มันเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามหลักกฎหมาย จะใช้ “สามัญสำนึก” มาตัดสินไม่ได้ ก็ต้องถามว่า กระบวนการยุติธรรมซังกะบ๊วยอะไร หลักกฎหมายซังกะบ๊วยอะไร มันจึงขัดกับหลักความยุติธรรมตามสามัญสำนึกของมนุษย์มนาเช่นนั้น หลักความยุติธรรมพื้นฐานภายใต้ระบอบประชาธิปไตยคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ถามว่า การทำรัฐประหารคือการปล้นสิทธิและเสรีภาพไหม? กระบวนการเอาผิดภายใต้อำนาจรัฐประหารเป็นกระบวนการที่มีหลักประกันความเสมอภาคตามกฎหมายไหม? แม้ทักษิณจะทำผิดจริง เขาควรจะได้รับสิทธิ์ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ? ฉะนั้น การนิรโทษกรรมจากการเอาผิดของกระบวนการรัฐประหาร จึงเท่ากับเป็นการคืนสิทธิอันชอบธรรมที่คุณทักษิณมีอย่างเท่าเทียมกับคนไทยทุกคนในการพิสูจน์ข้อกล่าวหาของตนเองภายใต้ “กระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลาง”ตามระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญนี่คือการปฏิเสธ “ความชอบธรรม” ของรัฐประหาร การที่อภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์ปฏิเสธการนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร จึงเท่ากับเป็นการยืนยันความชอบธรรมของรัฐประหาร ยิ่งกว่านั้น พฤติกรรมที่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐประหารของอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์คือ การฉกเอา “กลุ่มยี้ห้อย” มาจากพรรคเพื่อไทยไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร แล้วพวกเขาก็กลายเป็น “รัฐบาลนอมินี” ของ “ระบบอำมาตย์” และผนึกอำนาจทางการเมืองของพวกตนเองให้เป็นเนื้อเดียวกันกับอำนาจของระบบอำมาตย์ แล้วรักษา “อำนาจเถื่อน” นั้นไว้ด้วยชีวิตประชาชนเกือบ 100 ศพ ที่อภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์กล่าวหาว่า คนเสื้อแดงใช้วิธีรุนแรง ละเมิดกฎหมาย เผาบ้านเผาเมือง ฯลฯ แต่การที่อภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์ยอมรับรัฐประหารและระบบอำมาตย์ เท่ากับเป็นนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ค้ำยัน “โครงสร้างความรุนแรง” ที่กดทับสังคมไทยมาตลอด และในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ก็มีการใช้ “สองมาตรฐาน” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เท่ากับเป็นการ “เผาผลาญ” ระบบความยุติธรรมจนเหลือแต่เถ้าถ่าน ! มีใครบ้างในประเทศนี้ที่ยังเชื่อถือว่ากระบวรการยุติธรรมมี “มาตรฐานเดียว” โดยเฉพาะเกี่ยวกับการดำเนินการเอาผิดเกี่ยวกับคดีทางการเมืองระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย และระหว่างคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดง ! ส่วนเรื่องที่ประชาธิปัตย์อ้างว่า “การดีเบต” เป็นหลักสากล แต่พอเพื่อไทยเรียกร้องว่า ให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลก่อน กลับบอกว่าไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ อ้าว! ดีเบตก็ไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่พวกจะเอาให้ได้ถ้าคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ ถ้าอะไรที่ตัวเองจะเสียเปรียบพวกไม่เอาซะอย่าง ใครจะทำไม เป็นแบบนี้มาตลอด จะเรียกนี่เป็น “อัตลักษณ์” ของประชาธิปัตย์ก็ได้นะ ฉะนั้น คุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยต้องชี้ให้สังคมเห็นว่า พรรคการเมืองพรรคนี้มี “อัตลักษณ์” เอาเปรียบทางการเมืองอย่าง “ไม่เป็นสุภาพบุรุษ” มาตลอด ถ้าจะพิสูจน์ว่าคุณอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์มีสปิริตของ “สุภาพบุรุษ” จริง กล้ารับข้อตกลงไหมว่า หากยิ่งลักษณ์รับคำท้าดีเบตกับอภิสิทธิ์ ประชาธิปัตย์ต้องกล้าให้ “สัญญาประชาคม” ว่า ให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์ไม่กล้ารับคำท้าพรรคเพื่อไทย ก็อย่ามาสะเออะท้าดีเบต เพราะพวกคุณไม่ใช่สุภาพบุรุษ และ “ไม่แฟร์” กับสุภาพสตรีที่เป็น “น้องใหม่” ทางการเมืองเอาเสียเลย ! สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 22 May 2011 11:09 AM PDT ทุกท่านคงเคยได้ยินคำว่าความพอเพียงกันมามากพอสมควร วันนี้ผมจะเล่าจากประสบการณ์จริงของผมบ้างครับ เพื่อให้เห็นความพอเพียงที่แท้ที่พวกข้าราชการระดับสูง ๆ ต่างหากที่ควรน้อมนำไปปฏิบัติ เรื่องก็คือ ผมได้รับมอบหมายจากสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยในฐานะรองประธานให้ไปประชุม UN Global Compact ขององค์การสหประชาชาติ ที่สภาฯ เป็นองค์กรผู้แทนในประเทศไทย และผมเป็นคนประสานงานกับองค์การสหประชาชาติในเรื่องนี้ การประชุมครั้งนี้จัดขึ้น ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในระหว่างวันที่ 16-20 พฤษภาคม ศกนี้ ตอนแรกผมก็คิดจะใช้บริการบินตรง 11 ชั่งโมงครึ่งของการบินไทยครับ แต่ค่าตั๋วชั้นประหยัดราคา 48,000 บาท ผมเลยเปลี่ยนใจไปใช้กาตาร์แอร์เวย์ ซึ่งค่าตั๋วอยู่ที่ 38,000 บาท แต่ต้องเปลี่ยนเครื่องที่กรุงโดฮาประมาณสองชั่วโมง ทำให้เวลาเดินทาง 13 ชั่วโมง แต่ผมก็ยินดีครับเพื่อประหยัดเงินให้สภาฯ บางท่านอาจอยากถามว่าแล้วทำไมผมไม่ออกเองล่ะ ผมก็คงตอบว่า งานนี้ผมช่วยด้วยการสละเวลาทำมาหากินไป 5 วันเต็มครับ สำหรับกาตาร์แอร์เวย์ เครื่องบินก็ใหม่ อาหารดี ดนตรีไพเราะ พร้อมมีภาพยนตร์ให้ดูนับร้อยเรื่อง บริการก็ไม่แพ้ (ไม่อยากบอกว่าชนะ) การบินไทย แอร์โฮสเตสก็มีหลายสัญชาติ ให้บริการใกล้ชิดกับลูกค้าได้หลายภาษา และก็มีอายุไม่มาก เหมาะกับงานแบบนี้ ต่างกับสายการบินบางแห่งที่แอร์ฯ ชราจนน่าเป็นห่วง ซึ่งคงเป็นเพราะ (จำต้อง) เอาใจแอร์ (ลูกจ้าง) มากกว่าจะยึดเอาประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง ท่านทราบไหม ข้าราชการถูกกำหนดให้ใช้การบินไทย นี่ถ้าไม่กำหนดไว้ ป่านนี้การบินไทยจะอยู่รอดหรือไม่ ยิ่งถ้าเป็นข้าราชการระดับสูงยังได้สิทธิบินชั้นธุรกิจที่ค่าตั๋วเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3 เท่า (ราคา 130,000 บาท) อันที่จริงถ้าเราเกรงว่าพวกข้าราชการระดับสูงจะเหนื่อยเกินไป ก็น่าให้เขาบินล่วงหน้าสัก 1 วัน และเมื่อกลับก็ให้หยุดงานได้ 1 วัน จะได้ไม่ต้องเปลืองเงินมากมาย แต่ก็ไม่แน่ว่าถ้าให้พวกเขาเดินทางก่อน 1 วัน พวกเขาอาจใช้เวลาดังกล่าวไป “ช็อบสนั่น” หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งมากกว่านอนพักหรือไม่ ผมเองเดินทางไปอเมริกาปีละ 2 ครั้ง เสียค่าเครื่องบินครั้งละ 65,000 บาท ผมยังเสียดายเงินนัก ผมมักพูดเล่นออกบ่อย ๆ ว่า ถ้ามีตั๋วยืน 10,000 บาท ผมซึ่งอายุปูนนี้ยังจะยอมยืนสัก 17 ชั่วโมงเพราะสามารถประหยัดได้ถึง 55,000 บาท ผมไปรับจ้างพวกองค์การระหว่างประเทศบรรยายหรือทำวิจัย ก็ได้วันละราว ๆ นี้ ทางออกอีกทางหนึ่งในการประหยัดงบประมาณแผ่นดินก็คือ การเสนอให้ข้าราชการระดับสูงที่มีสิทธินั่งตั๋วธุรกิจ ให้มีทางเลือกว่า ถ้าไม่นั่ง ส่วนต่างได้กันคนละครึ่ง คือข้าราชการผู้นั้นได้ครึ่งและคืนคลังหลวงอีกครึ่ง ผมเชื่อว่าข้าราชการหลายคนอาจยินดีรับเงินเพิ่ม ทำให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดินไปอีกมาก และในปัจจุบัน ข้าราชการระดับสูง ๆ ก็ยังได้เบี้ยเลี้ยง ค่าแต่งตัวสำหรับตนเองและคู่ครอง และอื่น ๆ อีกต่างหากเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ ในเรื่องค่าที่พัก เราควรให้ข้าราชการได้รับค่าที่พักแบบประหยัดก็พอเพราะเป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งนั้น การให้ข้าราชการระดับสูงหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจไปต่างประเทศแบบหรูหรา ใช้เงินนับสิบล้านบาท ถือเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและไม่ได้เจริญรอยตามหลักความพอเพียงเลย ข้าราชการไม่พึงอ้างศักดิ์ศรีของประเทศเพราะความจริงอาจกลัวเสียโอกาสเสพสุขเกินพอเพียงต่างหาก สำหรับการเดินทางของผมในครั้งนี้ ผมยังประหยัดกว่ามาตรฐานอีก ผมจองห้องพักแบบนอนรวม 6 เตียง ค่าที่พักตกเป็นเงินคืนละ 1,700 บาทเท่านั้น แต่ถ้าผมพักแบบปกติก็คงต้องเสียค่าที่พักคืนละ 4,000-8,000 บาท ท่านเชื่อหรือไม่คืนแรกผมโชคดีได้พักกันเพียง 2 คน มีผมกับสาวสวยชาวเกาหลี ซึ่งดูเธอก็ตกใจเล็กน้อยที่มาพักกับชายแปลกหน้าสองต่อสอง แต่ที่เดนมาร์ก เขาไม่ถือเรื่องเพศ คืนแรกผ่านไปด้วยดี คืนที่สองมีสาวสวยชาวจีนอีก 2 คนมาพักด้วย คืนที่สามมีหนุ่มญี่ปุ่นมาอีก 1 ราย ส่วนคืนสุดท้ายได้ปู่อายุ 70 ปีชาวเบลเยียมมานอนครบ 6 เตียงพอดี โชคร้ายหน่อยที่ปู่แกกรนหนัก ผมยังถือปฏิบัติ “ยิ่งกว่าความพอเพียง” อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเดินทางระหว่างโรงแรมที่พักกับที่ประชุม ซึ่งอยู่ห่างไกลกัน 3.5 กิโลเมตร มีทางเลือกหลายทาง เช่น นั่งแท็กซี่ รถไฟ หรือรถประจำทาง ซึ่งก็ยังต้องเดินอีกพอสมควร หรือไม่ก็เช่ารถจักรยานสองล้อ ซึ่งผมขี่เป็นประจำตอนเรียนอยู่เบลเยียมเมื่อ 25 ปีก่อน แต่ตอนนี้คงไม่ไหวแล้ว สุดท้ายผมเลือกการเดินครับ ผมเดินวันละประมาณ 8-10 กิโลเมตร เพื่อไปประชุมและเดินชมเมือง บางวันที่เดิน ผมถือร่มด้วยเพราะฝนตก แต่วันหลัง ๆ ฟ้าโปร่งก็เลยสบาย ผมไม่อายที่เล่าเรื่องข้างต้นให้ฟังเพราะฝรั่งเองก็ใช้ชีวิตแบบนี้ แม้เรามีฐานะที่ดีกว่าแต่ก็ควรอยู่อย่าง “ติดดิน” บ้าง จะได้ไม่กลายเป็นศักดินาบนหอคอยที่ไม่เห็นหัวของปุถุชน อย่างไรก็ตามสาระสำคัญที่ผมอยากบอกก็คือ พวกข้าราชการใหญ่โตที่ควรน้อมนำความพอเพียงมาใช้ กลับไม่นำพา พวกเขาอ้างว่าทำงานรับใช้ประชาชนและราชบัลลังก์ แต่กลับเสพสุขกันโดยใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนอย่างสุรุ่ยสุร่าย เรื่องนี้ไม่มีใครคิดแก้ไขเพราะต่างเป็นอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยที่ได้รับแจกจ่ายประโยชน์กันถ้วนหน้า และนับวันประโยชน์เหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทางตรงกันข้ามหน่วยงานของรัฐกลับพยายามประชาสัมพันธ์เรื่องความพอเพียงอย่างเป็นบ้าเป็นหลังให้กับประชาชนนำไปปฏิบัติกันฝ่ายเดียว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
มุสลิมใต้ 2 พันร่วมละหมาดฮาญัต หลังโต๊ะครูถูกลอบยิง Posted: 22 May 2011 10:50 AM PDT
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 54 ประชาชนมุสลิมและผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ร่วมกันละหมาดฮาญัตเพื่อขอให้เกิดความเป็นหนึ่งของคนในพื้นที่ เมื่อมุสลิมคนใดเจ็บก็เจ็บกันทุกคน หลังจากโต๊ะครู (ผู้รู้ทางศาสนา) ปอเนาะถูกลอบยิง แต่ปลอดภัยไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายมาหามะเปาลี กือจิ (บาบอลี) โต๊ะครู สถาบันศึกษาปอเนาะนะหฎอตุดดีนอิสลามีย์ ม.2 ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาได้รับการติดต่อจากเพื่อนพี่น้องมุสลิมให้จัดการละหมาดฮาญัต หลังจากที่ตนเองถูกลอบยิง แต่ตนไม่ได้รับอันตรายใดๆ และก็ได้กำหนดให้มาร่วมกันละหมาดฮาญัตในวันนี้ (22 พ.ค.54) ช่วงเช้าเวลา 10.00 น. บาบอลี ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการร่วมกันละหมาดฮาญัตในครั้งนี้ว่า จุดประสงค์หนึ่งของการละหมาดฮาญัต เพื่อให้รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง และเพื่อให้รับรู้ว่าเมื่อมุสลิมคนหนึ่งเจ็บป่วยแล้ว ก็จะกระทบกับทุกคน นอกจากนี้ก็เพื่อไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับโต๊ะครูหรือผู้รู้ทางศาสนาอีก และถ้าหากว่ายังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เราก็อยากให้เห็นเฉกเช่นวันนี้ คือเห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของพี่น้องมุสลิม นี่คือจุดประสงค์ของการจัดละหมาดในวันนี้ แล้วการละหมาดฮาญัตในครั้งนี้สามารถชี้ให้เห็นว่า สังคมมุสลิมบ้านเรามีความเป็นหนึ่งหรือไม่ ผลออกมาก็ อัลฮัมดูลิลลาฮ (ขอบพระทัยแด่อัลลอฮ) เราเห็นความเป็นหนึ่งของพี่น้องมุสลิม ผู้ที่มาละหมาดมาจากทั่วทั้งสามจังหวัดทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนก็มาจากสงขลา แต่ก็ยังมีอีกที่ยังคงติดต่อมาว่าจะเข้ามาร่วมด้วยแต่เราแจ้งไปว่า สถานที่ของปอเนาะไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ที่จะเข้าร่วมละหมาด และจำนวนผู้มาร่วมละหมาดฮาญัตก็มีประมาณเกือบ 2,000 คนแล้ว สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ นายมาหามะเปาลี กือจิ (บาบอลี) โต๊ะครู สถาบันศึกษาปอเนาะนะหฎอตุดดีนอิสลามีย์ เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ค.54 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 20.45น. ห่างจากปอเนาะประมาณ 500 เมตร ขณะเดินทางกลับด้วยรถมอเตอร์ไซต์ส่วนตัวหลังจากการทำการสอนศาสนาที่มัสยิดบ้านฉะหลง ม.2 ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี แก่ประชาชนทุกสัปดาห์เป็นปกติ เมื่อมาถึงหน้าทางเข้าปอเนาะเกือบ 100 เมตร ได้มีคนร้ายจำนวนหนึ่งใช้อาวุธปืนสงคราม M16 และ AK ยิงใส่นายมาหามะเปาลี กือจิ แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รายงานพิเศษ: “อดีตไม่สำคัญ วันนี้ฉันรักเธอ” และปอเนาะบาลอ ก็ไม่ต้องถูกปิด Posted: 22 May 2011 10:23 AM PDT “อดีตไม่สำคัญ วันนี้ฉันรักเธอ” คือวลีเด็ดที่พอเรียกเสียงหัวเราะจากวงเสวนาได้บ้าง ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความตรึงเครียด และเป็นไปเพื่อคลายความกังวล หากต้องเปิดเผยข้อมูลลับส่วนตัวออกมา เป็นวลีที่ออกจากปากของ พ.ท.อิศรา จันทะกระยอม ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) ที่ 12 อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ต่อบรรดาบุคลากรโรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ หรือ ปอเนาะบาลอ อำเภอรามัน ทั้งโต๊ะครูเจ้าของปอเนาะ อุสตาซ(ครูสอนศาสนา) และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ในห้องเสวนา รวมกว่า 40 ชีวิต
นอกจากนั้น เป็นตัวแทนชุมชน ผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) บาลอ และตำบลสาวอ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ที่เป็นพื้นที่ใกล้เคียง เป็นวงเสวนาที่ชื่อว่า “เสวนาเปิดใจสร้างสันติสุข โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 29 เมษายน 2554 ที่โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นวงเสวนาที่ดูเหมือนการจับบุคลากรของปอเนาะบาลอ ที่น่าจะมีส่วนรับรู้กับการก่อความไม่สงบบ้าง ไม่มาก็น้อย มาเปิดใจพูดคุยกัน ตามที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 12 ระบุ โดยมีเครือข่ายชุมชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเสวนาด้วย ย้อนกลับไปเมื่อกลางดึกของวันที่ 1 เมษายน 2554 ชายฉกรรจ์ 10 คน แต่งกายคล้ายทหาร สวมหมวกแดง ตั้งด่านสกัดรถบนเส้นทางสายจ๊ะกว๊ะ – รือเสาะ เรียกให้รถกระบะโตโยต้า วีโก้ คันหนึ่งให้หยุดตรวจ เป็นรถยนต์หมายเลขทะเบียน ผข – 3510 สงขลา มีนายพิชัย ติ้นสั้น พ่อค้าขายผักชาวอำเภอรือเสาะ เป็นคนขับ มีภรรยานั่งโดยสารมาด้วย แต่แทนที่กลุ่มชายฉกรรจ์จะเรียกตรวจ กลับทำร้ายทั้ง 2 จนบาดเจ็บ แล้วยึดรถคันนั้นไป พร้อมกับปล้นเงินสดกว่า 120,000 บาท ต่อมาเกือบรุ่งเช้าวันเดียวกัน กล้องวงจรปิดแห่งหนึ่งสามารถจับภาพคนร้ายขับรถหลบหนีเข้าไปในเขตปอเนาะบาลอ แล้วขับออกไปใน 7 โมงเช้า แต่ได้ทิ้งหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารคู่มือรถและหลักฐานอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง โดยถูกเผาทำลายทิ้ง ต่อมาอีกไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นอีกครั้ง โดยพบวัตถุระเบิดจำนวนหนึ่งในบริเวณปอเนาะ อันนำมาซึ่งการตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่า ทำไมคนร้ายจึงทิ้งร่องรอยหลักฐานในบริเวณโรงเรียนเสมือนกับจงใจ “การเข้าตรวจค้นครั้งที่สอง พบหลักฐานหลายชิ้น แต่พบในจุดที่การตรวจค้นครั้งแรกแล้วไม่เจอ เหมือนตั้งใจจะให้เจ้าหน้าที่หาเจอ” พ.ท.อิศรา ให้ความเห็นถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “มันเหมือนกับมีความพยายามจงใจที่จะสร้างความเสื่อมเสียแก่โรงเรียน ซึ่งเดิมโรงเรียนแห่งนี้ก็เป็นที่จับตามองจากฝ่ายความมั่นคงมาโดยตลอดอยู่แล้ว” แต่แม้จะอย่างไรก็ตาม ความผิดที่เกิดขึ้นกับปอเนาะบาลอครั้งนี้ร้ายแรงนัก เพราะอาจถึงขั้นต้องถูกสั่งปิด ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับโรงเรียนอิสลามบูรพา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา “กองทัพมีคำสั่งให้พิจารณาปิดโรงเรียนแห่งนี้ เพราะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ” นั่น คือคำยืนยันของ พ.อ.ชินวัตร แม้นเดช รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 15 (รอง ผบ.พล.ร.15) แต่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ขอจากทางกองทัพบกว่า จะใช้วิธีการสันติวิธีในการแก้ปัญหา เพราะหากปิดโรงเรียน ก็จะยิ่งสร้างเงื่อนไขให้กลุ่มก่อความไม่สงบนำไปปลุกระดมได้ “ปัญหาใหญ่ที่ผ่านมา คือเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายประชาชนไม่ยอมมาพูดคุยกัน ต่างฝ่ายต่างระแวงกัน มันจึงไม่มีความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย จึงเกิดจินตนาการในทางร้ายใส่กันมาตลอด” พ.อ.ชินวัตร กล่าว นั่นจึงเป็นที่มาของการเสวนา “เปิดใจสร้างสันติสุข โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์” เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และร่วมกันหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก วันแรกของการเสวนา หลังจากชี้แจงถึงที่มาที่ไปของงานแล้ว จึงต่อด้วยการบรรยายเรื่องพัฒนาการของขบวนการก่อความไม่สงบนับตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับยกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งหลักคำสอนทางศาสนาอิสลาม ที่หักล้างคำปลุกระดมของขบวนการ ขณะเดียวกัน ก็เปิดเผยข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับการเข้ามาของขบวนการก่อความไม่สงบในปอเนาะ โดยผู้เข้าร่วมฟังอย่างตั้งใจ วันที่สองบรรยากาศยังเต็มไปด้วยความตึงเครียด ผู้เข้าร่วมยังอยู่กันอย่างครบครัน และยิ่งตรึงเครียดขึ้นไปอีก เมื่อฝ่ายทหารได้เปิดเผยข้อมูลลับอันเป็นข้อสงสัยต่อบุคลากรและศิษย์เก่าของโรงเรียนทั้งมีอยู่และไม่ได้เข้าร่วมในห้องเสวนา “สิ่งที่ผมบอก เป็นการกล่าวหาพวกท่าน ซึ่งอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด หลังจากนั้นผมจะให้พวกท่านกล่าวหาพวกผมบ้าง” พ.ท.อิศรา กล่าวขึ้นในที่วงเสวนา จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นการเปิดโอกาสผู้เข้าร่วมทุกคนได้อธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่แต่ละคนถูกกล่าวหาที่ละคน โดยส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า แต่ละคนไม่ได้รับรู้เรื่องทั้งหมด รู้คนละนิดคนละหน่อย มากบ้างน้อยบ้าง แม้ว่าบางคนยอมรับว่า เคยถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้น หรือถูกเชิญตัวในฐานะผู้ต้องสงสัย เป็นต้น ในช่วงนี้บรรยากาศเริ่มคลายเครียดมากขึ้น ในขณะที่หลายคน แสดงความรู้สึกที่มีต่อปอเนาะบาลอ โดยเฉพาะหากต้องถูกสั่งปิด จะทำให้รู้สึกเหมือนขาดที่พึ่ง เพราะปอเนาะเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของชุมชนมุสลิมในพื้นที่ พร้อมยืนยันว่า จะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกแล้ว อุสตาซคนหนึ่ง เล่าว่า ต้องยอมรับว่า เด็กนักเรียนปอเนาะบาลอบางส่วนที่ไปเกี่ยวข้องกับความไม่สงบนั้น มาจากการถูกปลูกฝังอุดมการณ์ แต่อีกส่วนก็ต้องยอมรับว่า เกิดจากความผิดพลาดของรัฐเอง ที่เคยใช้มาตรการตาต่อตาฟันต่อฟันเด็กจึงเกิดความแค้นต่อสิ่งที่รัฐกระทำต่อครูของพวกเขา “นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีต แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นเราต้องมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นมาอีก” อุสตาซรายนี้ กล่าว ส่วนอดีตอุสตาซอีกคน ซึ่งเคยหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ เล่าว่า คนที่หลบหนีอยู่ในตอนนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความกลัวและไม่มั่นใจต่อกระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องความเชื่อในอุดมการณ์นั้น ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งยากจะไปบังคับพวกเขาไม่ให้เชื่อได้ “เด็กปอเนาะบางคนที่มีอุดมการณ์ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา มันก็คล้ายกับเด็กทางตอนบนของประเทศที่มีอุดมการณ์แบ่งสี เหลือง – แดง แต่จะทำยังไงให้พวกเขาไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับความรุนแรง นี่คือสิ่งที่เราต้องมาคิด” อุสตาซรายนี้ ระบุ วันสุดท้าย หลังจากเปิดใจพูดคุยเปิดใจกันแล้ว ฝ่ายทหารได้ย้ำกับบุคลากรปอเนาะบาลออีกครั้งว่า ว่าต้องไม่เกิดเรื่องราวลักษณะนั้นขึ้นมาอีกในบริเวณปอเนาะและขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมกันพัฒนาชาติไทยให้รุ่งเรืองสืบต่อไป ทางฝ่ายบุคลากรปอเนาะบาลอ ต่างให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับขบวนการก่อความไม่สงบเด็ดขาด พร้อมทั้งขอร้องทั้งน้ำตาว่า จะไม่ให้ปอเนาะถูกเด็ดขาด เพราะเป็นห่วงอนาคตของนักเรียน ก่อนจบงาน นายรุสดี บาเกาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนมะอาหัดอิสลามมียะห์และเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวทั้งน้ำตาอย่างน่าสนใจว่า “ผมในฐานะผู้บริหารปอเนาะ เปรียบเสมือนยืนอยู่ระหว่างเขาควาย ต้องระวังจากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายก่อความไม่สงบ กับฝ่ายรัฐก็กลัวว่าจะถูกมองว่า เราให้ความร่วมมือกับกลุ่มก่อความไม่สงบ ส่วนฝ่ายก่อความไม่สงบก็กลัวจะมองเราว่าเป็นสายลับให้ทางการ นี่คือความยากลำบากของเราในวันนี้” พ.ท.อิศรา เปิดเผยว่า ปอเนาะบาลอถูกตั้งข้อสงสัยมาหลายปีแล้วว่า มีส่วนพัวพันกับเหตุการณ์ไม่สงบ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ฝ่ายทหารได้มาจากทั้งผู้ถูกควบคุมตัว ผู้ที่มอบตัวและผู้ที่ออกมาแสดงความบริสุทธิ์บ้าง จากเหตุการณ์คนร้ายปล้นรถแล้วนำเข้าไปในบริเวณปอเนาะบาลอ และทิ้งหลักฐานบางส่วนนั้น ทางหน่วยงานความมั่นคงวิเคราะห์ร่วมกันว่า ผู้บริหารปอเนาะไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่คนร้ายอาจมีความขัดแย้งบางอย่างกับคนในปอเนาะ จึงพยายามก่อเหตุเพื่อลดความน่าเชื่อถือของปอเนาะ “เราได้เรียนเชิญบุคคลากรของปอเนาะบาลอมาร่วมพูดคุยเปิดใจกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อจะร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งงานนี้จะเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหากรณีที่สถาบันการศึกษาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ” “เราไม่คิดที่จะปิดปอเนาะบาลอ แต่เราต้องมาคิดว่าจะเอาสิ่งไม่ต้องการออกไปอย่างไร” พ.ท.อิศรา กล่าว แนวคิดหนึ่งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่จะเอาสิ่งไม่ต้องการออกไป และป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้ามา คือ การตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างปอเนาะ ชุมชน ผู้นำท้องถิ่นและฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาเป็นบุคลากรของโรงเรียน โดยเฉพาะอุสตาซ อุสตาซ คือ เป้าหมายหลักของการสกรีนคนเข้าปอเนาะที่จะมีขึ้นต่อไปหลังจากนี้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
วีดีโอ : ธรรมยาตราสองแผ่นดิน ไทย-กัมพูชา มิตรภาพไร้พรมแดน Posted: 22 May 2011 09:41 AM PDT ประชาชนไทย-กัมพูชา ร่วมกันเดินธรรมยาตราเรียกร้องรัฐบาลไทยและกัมพูชายุติการใช้อาวุธในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-18 พ.ค.2554 ที่วัดใหม่ไทรทอง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ข้อเรียกร้องของประชาชนไทยและกัมพูชาคือ สันติภาพ มิตรภาพ และภราดรภาพ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สุเทพลั่น "อภิสิทธิ์" เหนือกว่า "ยิ่งลักษณ์" ทุกประการ Posted: 22 May 2011 04:52 AM PDT ยันไม่เชื่อโพลล์ ชี้ "อภิสิทธิ์" เป็นนักการเมืองอาชีพ มีชีวิตวิญญาณที่มุ่งมั่นทำงานให้ประชาชน ตามแนวทางประชาธิปไตย ส่วน "ยิ่งลักษณ์" มาแนว "ทักษิณ" คือมุ่งประโยชน์กำไรทางธุรกิจ วันนี้ (22 พ.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าววันที่ 22 พฤษภาคม ว่า กรณีผลสำรวจระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 พรรคเพื่อไทย (พท.) เริ่มมีคะแนนความนิยมเพิ่มขึ้นกว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. โดยนายสุเทพกล่าวว่า ไม่มีหรอก อย่าไปกังวลใจ โพลมีขึ้นมีลงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นายสุเทพยังกล่าวด้วยว่านายอภิสิทธิ์ เหนือกว่าทุกประตูทุกประการ ถ้าถามประชาชนจะมีคำตอบคล้ายๆ กัน นายสุเทพกล่าวด้วยว่า นายอภิสิทธิ์เป็นนักการเมืองอาชีพ มีชีวิตวิญญาณที่ทำงานมุ่งมั่นให้กับประชาชนตามแนวทางประชาธิปไตย ทางด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินมาแนวทางเดียว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มุ่งประโยชน์กำไรทางธุรกิจ ต่อคำถามที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์แสดงความมั่นใจจะได้คะแนนเสียงเกินครึ่งในสภา นายสุเทพกล่าวสวนทันทีว่า ไม่เชื่อ เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ใบตองแห้ง...ออนไลน์: จดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯอานันท์: 112 ไม่ใช่แค่การบังคับใช้ Posted: 22 May 2011 12:38 AM PDT ขอเขียนจดหมายเปิดผนึกมั่ง ถึงท่านนายกฯ อานันท์ที่ผมชื่นชม จำได้ว่าสมัยที่เคยสัมภาษณ์ท่าน ผมงี้แสนปลื้ม จนถึงวันนี้ก็ยังขอเรียกท่านว่านายกฯ อานันท์ เพราะท่านยังเป็นนายกฯ ในดวงใจคนชั้นกลางอย่างผม (แบบเดียวกับชวนยังเป็นนายกฯ ในดวงใจของคนใต้ ทักษิณเป็นนายกฯ ในดวงใจของเสื้อแดง) ได้อ่านที่นายกฯ อานันท์ชี้แจงนักข่าวต่างประเทศเรื่องมาตรา 112 แล้วมองเห็นทั้งด้านที่มีความหวังเล็กๆ และด้านที่ผิดหวัง...เยอะหน่อย ด้านที่มีความหวังเล็กๆ คือนายกฯ อานันท์ยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา เนื่องจากใครก็ได้มีสิทธิกล่าวโทษ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนใช้ประโยชน์จากตัวกฎหมายและสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หากแก้ปัญหาดังกล่าวได้ก็คงจะลดปัญหาที่เกิดขึ้น นั่นแสดงว่านายกฯ อานันท์เห็นด้วยกับข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 อย่างน้อยก็ให้มีหน่วยงานกลางหน่วยเดียวเป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษ (ซึ่งนิติราษฎร์เสนอให้เป็นสำนักราชเลขาธิการ) เรื่องนี้ต้องแก้ไขกฎหมายนะครับ ไม่ว่าจะให้หน่วยงานใดก็แล้วแต่ เพราะถ้ามาตรา 112 ยังเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ที่ยอมความไม่ได้ (ไม่เหมือนหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา) ใครๆ ก็แจ้งความได้ ถ้าไม่ต้องการให้นาย ก. นาย ข.แจ้งความกล่าวโทษได้ ก็ต้องเพิ่มข้อจำกัดเข้าไปในตัวบทกฎหมาย ซึ่งเมื่อท่านพูดกับสากลโลกเช่นนี้แล้ว ก็หวังว่าในฐานะที่ท่านเป็น Royalist ที่มีเครดิตสูงในหมู่ชนชั้นนำ จะช่วยผลักดันให้เกิดการแก้ไข เพื่อช่วย “ลดปัญหา” ไม่เพียงแค่พูดลอยๆ แล้วหายไปกับสายลม และหวังว่าท่านจะแสดงท่าทีคัดค้านการ “ใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่มีการออกหมายเรียกหมายจับอย่างมากมายโดยส่อนัยไล่ล่ากวาดล้างกันทางการเมือง ไม่ใช่ท่านพูดแล้ววางเฉย ปล่อยให้ “ใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์” กันต่อไป ในฐานะผู้จงรักภักดีอย่างแท้จริง ท่านควรจะต้องช่วยยับยั้งกลั่นกรองเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ดี ส่วนที่น่าผิดหวังในคำให้สัมภาษณ์คือ ท่านบอกว่า “การดำรงอยู่ของกฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการบังคับใช้ และเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้” นั่นหมายความว่าท่านอานันท์ไม่เห็นว่าการกำหนดโทษจำคุก 3-15 ปีเป็นปัญหา แค่เป็นปัญหาที่ใครก็กล่าวโทษได้ อ้าว แล้วปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในแง่ที่ผู้ต้องหามักไม่ได้ประกันตัวละครับ สาเหตุที่ไม่ให้ประกันเพราะศาลท่านอ้างว่าคดีนี้มีโทษสูง จำเลยอาจหลบหนี จำเลยจำนวนหนึ่งก็เลยหนีจริงๆ เพราะผิดไม่ผิดยังไม่รู้ แค่ถูกกล่าวโทษก็ขังยาว ฉะนั้นที่ท่านนายกฯ อานันท์บอกว่าตัวบทกฎหมายไม่มีปัญหา มีเพียงปัญหาการบังคับใช้ จึงผิดตรรกะ เพราะทั้งสองด้านเกี่ยวเนื่องกัน ปัญหาการบังคับใช้ไม่ได้มีเพียงเรื่องที่ใครก็กล่าวโทษได้ แต่ยังมีกรณีที่กล่าวโทษมั่ว และเมื่อผู้ต้องหามอบตัวแล้วมักไม่ได้รับประกันตัวตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการวินิจฉัยและตีความของศาล ซึ่งท่านนายกฯ อานันท์ไม่ได้พูดหมด ผมยกตัวอย่างนะครับ ปัญหาการบังคับใช้เช่นกรณีจีรนุช เปรมชัยพร กับกรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกออกหมายจับโดยไม่รู้ตัว เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่เคยแจ้งให้ทราบ จีรนุชถูกจับที่ ตม.เมื่อกลับจากต่างประเทศ สมยศถูกจับที่ ตม.เมื่อจะเดินทางเข้าเขมร ผลคือสมยศไม่ได้ประกันตัว เพราะศาลมองว่าจะหลบหนี ทั้งที่สมยศถูกออกหมายจับตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.เมื่อวันที่ 20-22 ก.พ.เขายังนำคณะทัวร์ไปเขมร และยังขึ้นเวทีปราศรัย แถลงข่าว เคลื่อนไหว อยู่ตามปกติ กระทั่งจะไปเขมรอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 เม.ย.จึงถูกจับ ปัญหาการบังคับใช้ยังมีเรื่องของการกล่าวโทษได้ครอบจักรวาล ไม่ว่าจะพูดหรือเขียนอย่างระมัดระวังแค่ไหน เช่นกรณีของ อ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งผมเคยอ่านข้อความที่เขาถูกกล่าวหาแล้ว เซอร์ไพรส์มาก เพราะเป็นข้อความที่ปกติธรรมดา พูดง่ายๆ ว่า สิ่งที่ อ.สมศักดิ์เคยพูดและเขียนมา ยังน่าจะ “โดน” ยิ่งกว่านี้ เช่นเดียวกับกรณีจักรภพ เพ็ญแข ข้อความที่จักรภพพูด ที่มีสื่อถอดความมาเผยแพร่ให้อ่านกันทั้งประเทศ เป็นข้อความที่นักวิชาการมากมายเคยพูดมาก่อน หลังจักรภพก็ยังมีคนพูด การกล่าวโทษตามมาตรา 112 จึงเป็นเรื่อง “ลมเพลมพัด” แล้วแต่ลมจะพัดไปทางใคร คุณก็ซวย นอกจากนั้นยังมีการเลือกปฏิบัติ ดังเช่นคดีของ “อากง” วัย 61 ผู้ถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS หมิ่น DSI อ้างข้อมูล กอ.รมน.ว่าถูกขึ้น “บัญชีดำ” ในฐานะเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ จะหมิ่นหรือไม่หมิ่น ว่ากันไปตามพยานหลักฐานสิครับ ดูซิมการ์ด ดูบันทึกการใช้โทรศัพท์ ทำไมต้องอ้างรายงาน กอ.รมน.เหมือนเราอยู่ในยุคถีบลงเขา เผาลงถังแดง นี่คือการเลือกปฏิบัติ คือแปลว่าถ้าคุณเป็นเสื้อแดง ถ้าคุณถูก กอ.รมน.ขึ้นบัญชีดำ ก็น่าเชื่อว่าผิดมาตรา 112 แบบเดียวกันเลย เอากระดาษแผ่นเดียวที่ ศอฉ.เขียนขึ้นเอง มากล่าวหา 18 แกนนำเสื้อแดง “ล้มเจ้า” ถ้าแน่จริง พล.อ.ประยุทธ์ หรือใครก็ตามที่รับผิดชอบ ต้องลงชื่อในแผนผัง รับรองว่าเป็นความจริง คนที่ถูกกล่าวหาเขาจะได้ฟ้องกลับ เพื่อพิสูจน์กัน ปัญหาการบังคับใช้ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดขึ้นเพราะตัวบทกฎหมายมาตรา 112 เป็นปัญหา การบังคับใช้ที่ครอบจักรวาลมาจากตัวบทกฎหมายที่กำหนดความผิดครอบจักรวาลและบทลงโทษเกินสมควรแก่เหตุ ต่อให้ท่านนายกฯ อานันท์เชื่อว่าให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้กล่าวโทษแล้วจะลดปัญหา ถ้าไม่แก้ไขตัวบทกฎหมายให้ชัดเจนแน่นอน เหมาะสม หน่วยงานที่รับไปก็จะมีปัญหายุ่งยากลำบากใจในการวินิจฉัยเสียเอง มาตรา 112 ยกระดับขึ้นมาจากความผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา แน่นอนว่า “นี่เป็นวัฒนธรรมของเรา” ซึ่งพอยอมรับได้ถ้าสมเหตุสมผล และอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาที่ดำรงอยู่คือ มาตรา 112 กำหนดความผิดและกำหนดโทษแตกต่างจากบุคคลธรรมดาหลายสิบหลายร้อยเท่า การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มีข้อยกเว้นความผิด หากเป็นการติชมโดยสุจริต วิพากษ์วิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ และยกเว้นโทษ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง เว้นแต่เป็นเรื่องส่วนตัว... แต่มาตรา 112 ไม่มี การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี การดูหมิ่นบุคคลธรรมดา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน... แต่มาตรา 112 ไม่แยก และเหมารวมโทษจำคุก 3-15 ปี หมายความว่าศาลจะตัดสินต่ำกว่า 3 ปีไม่ได้ นี่เป็นโทษที่สูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชด้วยซ้ำ และแก้ไขใหม่โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หลัง 6 ตุลา 2519 หลัง 6 ตุลา 2519 ที่ท่านนายกฯ อานันท์ถูกพักราชการจากปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในข้อหาฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ จนต้องลาออกจากราชการนั่นละครับ ความอยุติธรรมที่ท่านได้รับในครั้งนั้นผมยังเจ็บแค้นแทนไม่หาย ท่านถูกกล่าวหาด้วยการขึ้นบัญชีดำและอ้างข้อมูลฝ่ายความมั่นคง คล้ายๆ กันนี่แหละ ถึงวันนี้ผมอยากถามท่านจังว่า ท่านเห็นว่าการเพิ่มโทษโดยประกาศคณะปฏิรูปฯ เหมาะสมหรือไม่ กฎสากลกับมาตรฐาน ผมไม่ทราบว่าท่านนายกฯอานันท์เคยอ่านคำแถลงของนิติราษฎร์ หรือคำให้สัมภาษณ์ของ อ.วรเจตน์หรือเปล่า อ.วรเจตน์ชี้ว่า มาตรา 112 ไม่ควรอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ เพราะรัฐประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่รัฐกับพระมหากษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐประชาธิปไตย ตัวรัฐแยกกับพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เป็นเพียงองค์กรหนึ่งของรัฐ การกระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์จึงไม่ใช่กระทบความมั่นคงของรัฐทุกกรณี ต้องแยกแยะเป็นกรณีไป เช่น ลอบปลงพระชนม์ ถือว่ากระทบความมั่นคง แต่การหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ถือเป็นความผิดที่ไม่กระทบความมั่นคง (เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ใช่รัฐ เราเปลี่ยนแปลงมา 79 ปีแล้ว) สิ่งที่ผมพยายามจะพูดก็คือ มาตรา 112 ทั้งตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ตีความ ตั้งอยู่บนฐานของอุดมการณ์ที่ยังเห็นว่ารัฐกับพระมหากษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นมรดกอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ตกทอดมาอยู่ในระบอบประชาธิปไตย อุดมการณ์เช่นนี้แหละที่ทำให้เป็นปัญหา ทั้งหลักการของกฎหมายและการบังคับใช้ แต่ถ้ามาตรา 112 อยู่ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย การดำรงอยู่ของกฎหมายจะไม่เป็นปัญหาเลย ท่านนายกฯ อานันท์กล่าวอย่างฟังดูงดงามว่า “คนไทยส่วนใหญ่รัก เคารพ และเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคนจากประเทศอื่นๆ อาจมองว่าคนไทยรักและเคารพสถาบันกษัตริย์แบบแปลกๆ แต่ไม่ว่าภายนอกจะมองว่าอย่างไร แต่นี่เป็นวัฒนธรรมของเรา เช่นเดียวกับในหลักการพหุวัฒนธรรม ผู้อื่นก็ควรจะเคารพในความหลากหลาย และไม่ควรตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี” คำถามคือ มาตรา 112 อยู่ในหลักการพหุวัฒนธรรม เคารพในความหลากหลาย อย่างที่ท่านพูดหรือเปล่า ผู้ที่รัก เคารพ เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ อย่างพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง “เคารพในความหลากหลาย และไม่ควรตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี” ดังที่ท่านพูดหรือเปล่า “มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของผมที่ต้องไปตัดสินสถาบันกษัตริย์ในที่อื่นๆ เช่น ในอังกฤษ หรือนอร์เวย์ เพราะเป็นกษัตริย์ของเขา ประชาชนของเขา ผมคิดว่าการใช้กฎสากลกับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในทุกที่ๆ นั้นไม่ถูกต้องเพราะมีรายละเอียดต่างๆ ที่แตกต่างกัน แต่ก็ควรมีมาตรฐานหนึ่งๆ ที่กำหนดไว้ซึ่งยอมรับได้ร่วมกัน” ตรงนี้ยิ่งฟังแล้วสับสน ท่านบอกว่าใช้กฎสากลไม่ได้ แต่ควรมีมาตรฐาน แล้วจะมีมาตรฐานอะไร ถ้าไม่ใช่มาตรฐานของระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นสากล ท่านนายกฯ อานันท์เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ จบกฎหมายเกียรตินิยมจากเคมบริดจ์ และรับราชการเป็นเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ ท่านคงเข้าใจดีว่า ในระบอบประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ของอังกฤษ หรือของหลายๆ ประเทศในยุโรป สถาบันกษัตริย์ล้วนดำรงอยู่ได้ด้วยการที่คนส่วนใหญ่รักเคารพ เช่นเดียวกับประเทศไทย สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษเปิดให้พวกนิยมสาธารณรัฐ หรือพวก Republic วิพากษ์วิจารณ์มาเป็นร้อยสองร้อยปีแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังรักเคารพ ชื่นชม โดยสถาบันกษัตริย์ปรับตัวอยู่ตลอด ตั้งแต่สมัย The King’s Speech มาถึง The Queen (หนังยังข้ามมาชนะใจคนอเมริกันจนได้ออสการ์ไปหลายตัว) ถึงวันนี้ แม้พวก Republic ยังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ แต่ก็เป็นเพียงเสียงข้างน้อยหยิบมือ แม้อังกฤษไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ใครพูดจาไม่เหมาะสมแสดงความไม่เคารพ ก็ถูกสาธารณชนต่อต้านหรือบอยคอตต์ นั่นคือมาตรฐานสากลของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้หลักการสิทธิเสรีภาพ ในอันที่จะเชื่อ ในอันที่จะรัก เคารพ นับถือ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย คำถามคือท่านนายกฯ อานันท์เชื่อหรือไม่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราสามารถดำรงอยู่ได้ เป็นที่เคารพ รัก เทิดทูน ของคนส่วนใหญ่ โดยไม่ต้องมีมาตรา 112 ผมเชื่อ ท่านเชื่อหรือไม่ ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ผมบอกว่าต้องยกเลิกมาตรา 112 แต่ให้คงไว้โดยเพิ่มข้อยกเว้นความผิดในกรณีที่ติชมโดยสุจริตหรือวิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ และกำหนดโทษให้เหมาะสม ไม่ใช่บอกว่ายกเลิกแล้วให้ใครก็ได้มาปาวๆ พูดจาให้ร้าย ดูหมิ่นสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของคนส่วนใหญ่ สาเหตุที่เราต้องเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 เป็นเพราะอะไร สาเหตุมันไม่ใช่เรื่องของความคันปากอยากวิพากษ์วิจารณ์เบื้องสูง ใครจะอยากหาเหาใส่หัวหาอัปรีย์ใส่ตัวถึงขนาดนั้น ถ้าไม่ใช่เพราะว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีการอ้างอิงสถาบัน ดึงสถาบันอันควรเป็นที่เคารพรักของคนไทยทุกฝ่าย มาใช้ประโยชน์ มาเป็นอาวุธกล่าวหาให้ร้ายกันทางการเมือง จนเกิดการแบ่งฝักฝ่ายและทำให้คนอีกฝ่ายคับแค้นใจจนตอบโต้ด้วยอารมณ์ โดยเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ความพยายามดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองของผู้แอบอ้างผู้ใกล้ชิด ก็จะถูกคนเหล่านั้นใช้ประโยชน์จากมาตรา 112 และสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งวิกฤตบานปลายมาถึงปัจจุบัน ซึ่งท่านนายกฯ อานันท์ก็คงทราบดีว่า วิกฤตในวันนี้พัฒนาไปถึงไหนแล้ว อดีตนายกฯ โปร่งใสอย่างท่านน่าจะเข้าใจดีว่าเมื่อเกิดแรงต้าน ท่านจะกดจะดันมันไว้ หรือจะหาวิธีให้ไอน้ำระบายออกมาบ้าง เราเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 เปิดโอกาสให้วิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือเพื่อประโยชน์ของสถาบัน เพราะสถาบันดำรงอยู่เพื่อประโยชน์สาธารณะ สถาบันจะดำรงอยู่เป็นมิ่งขวัญของประชาชนสืบไปชั่วกาลนาน ก็ต้องไม่ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง เมื่อใดที่มีแนวโน้มว่าสถาบันจะถูกดึงเข้ามา หรือถูกอ้างอิง ต้องเปิดกว้างให้มีการท้วงติงเพื่อปกป้องสถาบัน และต้องเปิดกว้างเพื่อรับฟังทุกฝ่าย อันจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบัน (และต่อสาธารณะ) เราเรียกร้องให้ปฏิรูปอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เพื่อที่จะทำให้เกิดความชัดเจน เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยให้เกิดความคลุมเครือ จนมีผู้อ้างอิงไปใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ แทรกแซงอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ สร้างรัฐทหารซ้อนรัฐ หรือกระทั่งอ้างสถาบันฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตกับประเทศทุกครั้งที่ผ่านมา หรือท่านนายกฯ อานันท์จะไม่ยอมรับว่า การอ้าง “พระราชอำนาจ” จนเลยเถิดไปจากกรอบของระบอบประชาธิปไตย เป็นสาเหตุหนึ่งในวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ขอเรียนตรงๆ ว่า ผมฟังท่านนายกฯ อานันท์ตอบคำถามเรื่องการปฏิรูปอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว นอกจากผิดหวัง ผมยังห่อเหี่ยว มองไม่เห็นอนาคต มองไม่เห็นทางออกที่จะนำไปสู่ “การเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ” เพราะผมมองว่าท่านนายกฯ อานันท์เป็นผู้จงรักภักดีที่แท้จริง ที่มีสายตากว้างไกล เป็น Royalist หัวก้าวหน้าที่มีเครดิตสูงสุด หนึ่งในน้อยคน แต่เมื่อท่านนายกฯ อานันท์ยังคิดได้แค่นี้ ผมก็ได้แต่เศร้าใจ
ด้วยความเคารพ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักเคลื่อนไหวสิทธิผู้ป่วย ถูกหมอฟ้อง "ข้อมูลเท็จ" มาตรา 14 พ.ร.บ.คอม Posted: 21 May 2011 11:53 PM PDT (22 พ.ค. 2554) เว็บไซต์เครือข่ายพลเมืองเน็ตรายงานว่า ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา นักกิจกรรมด้านสิทธิผู้ป่วย ถูกแพทย์แจ้งข้อกล่าวหาว่า "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ" ตามมาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อมูลสถิติคนไข้ที่เสียชีวิตเและภาพความผิดพลาดในการรักษา ซึ่งใช้ในการรณรงค์ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข หมายเรียกลงวันที่ 29 เมษายน 2554 ระบุว่า ผู้กล่าวหาคือ แพทย์หญิงประชุมพร บูรณ์เจริญ ในหน้าเฟซบุ๊กของปรียนันท์ เธอโพสต์ภายถ่ายหมายเรียกดังกล่าว พร้อมกับคำอธิบายภาพว่า: "วันที่ 25 พค.54 นี้ฉันในฐานะจำเลย ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.เมืองสุรินทร์ ตามที่หมอต้านพรบ.ชุดดำไปแจ้งความดำเนินคดีอาญากับฉัน ว่าเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ (คนไข้ไทยตายประมาน 6.5 หมื่นคนต่อปี+ภาพกรรไกรในคอเด็ก)" มาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ระบุไว้ว่า:
ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา เป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิผู้ป่วย ทำงานรณรงค์กับเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เพื่อผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข กรณีนี้ น่าจะเป็นกรณีแรกที่มีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหากับนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่กำลังผลักดันเสนอกฎหมาย โดยใน 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ประกาศใช้พ.ร.บ. มีมีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพื่อออกหมายเรียก รื้อค้น และจับกุมนักเคลื่อนไหวทางสังคมและประชาชนทั่วไปที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีเป้าหมายเจาะจงกับแคมเปญการรณรงค์กฎหมายใดกฎหมายหนึ่งเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้จากรายงานสรุปสถานการณ์การควบคุมและปิดกั้นสื่อออนไลน์ พ.ศ. 2550 - 2553 โดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พบว่าคดีฟ้องร้องส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "เนื้อหา" เรียงลำดับได้ดังนี้: หมิ่นประมาท (54 คดี), ฉ้อโกง (38), หมิ่นกษัตริย์ฯ (31), ลามก (12), ขายโปรแกรมผิดกฎหมาย (10), ละเมิดตัวระบบคอมพิวเตอร์ (8), เนื้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง (6), และเรื่องอื่นๆ (26) ปรียนันท์จะต้องเดินทางจากกรุงเทพไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.เมืองสุรินทร์วันพุธที่ 25 พ.ค. นี้
ที่มา: http://thainetizen.org/node/2635 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
วิดีโอ: กองทัพรัฐฉานเหนือ - ใต้ ประกาศร่วมต่อสู้กองทัพพม่า Posted: 21 May 2011 08:15 PM PDT เมื่อวานนี้ (21 พ.ค. 53) กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army – SSA) และสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of the Shan State - RCSS) มีการจัดงาน “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” (Shan State People Resistance Day) ครบรอบปีที่ 53 ที่ฐานที่มั่นดอยไตแลง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน โดยการจัดงานในปีนี้ กองทัพรัฐฉาน “เหนือ” (SSA/SSPP) ภายใต้การนำของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (Shan State Progress Party – SSPP) ได้ส่งเจ้าจายทู รองผู้บัญชาการกองทัพคนที่ 2 เป็นผู้แทนมาร่วมงานดังกล่าวด้วย และมีการประกาศเข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน (SSA) และ สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ด้วย ทั้งนี้ ถือเป็นการประกาศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทั้งด้านการเมืองและการทหารกับกองทัพรัฐฉาน (SSA) อย่างเป็นทางการ และถือเป็นการประกาศต่อต้านกองทัพพม่าอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ทำสัญญาหยุดยิงกันเมื่อปี 2532 พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) และผู้นำกองทัพรัฐฉาน (SSA) ให้สัมภาษณ์หลังพิธีสวนสนามว่า ประชาชนในรัฐฉานอยากเห็นกองทัพในรัฐฉานแต่ละกองทัพ หันมาปรองดอง สามัคคีกัน โดยการรวมกองทัพระหว่างสองกองทัพรัฐฉาน จะมีการรวมกันอย่างจริงจังโดยภายในปีนี้จะเห็นความชัดเจน ส่วนรูปธรรมขณะนี้ทั้งเราทั้งสองกองทัพพูดคุยกัน เข้าใจกัน โดยจะมีการลงรายละเอียดอีกทีในเรื่องระเบียบวินัยของกองทัพ และไม่ว่ากลุ่มไหนในรัฐฉาน ตอนนี้เราสามัคคีกันทุกกลุ่ม ส่วนเจ้าจายทู รองผู้บัญชาการคนที่ 2 กองทัพรัฐฉาน “เหนือ” กองทัพรัฐฉานเหนือมีการหยุดยิงมาตั้งแต่ปี 2532 โดยหวังจะเอาการเมืองมาแก้ไขปัญหาทางการเมือง แต่กองทัพพม่าไม่รับฟัง มีการใช้กำลังทหารข่มขู่ และมีการปะทะกับกองทัพรัฐฉานเหนือตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยกองทัพรัฐฉานเหนือยืนยันว่าจะไม่มีการเจรจากับกองทัพพม่าอีก “ต่อสู้ก็คือต่อสู้ ไม่มีเจรจา เพราะกองทัพเราอยู่กับสภากอบกู้รัฐฉานแล้ว" สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น