โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

รายงานเสวนา: “หนึ่งปีที่ผ่านมากับความคืบหน้ารายงานกรณีการสลายการชุมนุมเสื้อแดง”

Posted: 12 May 2011 01:52 PM PDT

ขอนแก่น-มหิดล ร่วมจัดเสวนาวิชาการ สมชาย หอมลออ – ทนายความกลุ่ม นปช. – ศูนย์ข้อมูลประชาชนฯ หรือ ศปช.- ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ร่วมวง  ด้านศรีประภา จากมหิดลวิจารณ์รายงาน คอป.เนื้อหาข้อเท็จจริงน้อย ยังไม่ถือเป็นรายงาน

9 พ.ค. 54 – ศูนย์นิติธรรมและสิทธิมนุษยชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “หนึ่งปีที่ผ่านมากับความคืบหน้ารายงานกรณีการสลายการชุมนุมเสื้อแดง” ณ ศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เวลา 8.30 – 12.00 น. โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา คือ สมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการอิสระตรวจสอบและต้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) วัน สุวรรณพงศ์ ทนายความกลุ่ม นปช.จังหวัดขอนแก่น ขวัญระวี วังอุดม และศรายุธ ตั้งประเสริฐ จากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) และมิเคลา ลาร์สัน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอนเนคติกัต  โดยมีประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ดำเนินรายการเสวนา และวสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการเสวนา จุดประสงค์ของการเสวนาเป็นไปเพื่อติดตามสถานการณ์และอภิปรายความคืบหน้าของแต่ล่ะภาคส่วนเกี่ยวกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยมีญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบางส่วนมาร่วมในงานเสวนาด้วย

วสันต์ พานิช

จากเหตุการณ์ทางการเมืองในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา มาจนถึงพฤษภาคม 35 เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่เคยมีการดำเนินการ สืบสวน เสาะหาข้อเท็จจริงใดๆที่เกิดขึ้น เช่นในเหตุการณ์ 6 ตุลา หลังจากการทำรัฐประหารโดยจอมพลประภาส จารุเสถียร ก็ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้ทำรัฐประหาร และลงโทษเอาความผิดกับนักศึกษาและประชาชน ในขณะนั้นมีคดีใหญ่สองคดีคือ การฟ้องอดีตผู้นำนักศึกษา สุธรรม แสงประทุมกับพวกรวม 18 คนในข้อหากบฏและการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และอีกคดีคือการฟ้องบุญชาติ เสถียรธรรม ในข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพซึ่งถูกฟ้องในคดีนี้เพียงคนเดียว ในคดีของอดีตผู้นำนักศึกษานั้น สืบโจทก์ไปได้พักหนึ่งแต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าไร ในขณะที่คดีของคุณบุญชาตินั้นสืบโจทก์จบแล้ว กำลังเริ่มที่จะสืบจำเลย และกำลังจะได้ทราบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาว่าอะไรเกิดขึ้นอย่างไร ก็ปรากฏว่ามีการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดทั้งหมด 18 คน รวมถึงคุณบุญชาติด้วย มีความพยายามให้เกิดการปรองดอง และทำให้คดีที่กำลังดำเนินอยู่นั้นยุติไปโดยปริยายและไม่สามารถสืบหาความจริงต่อไปได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็มีการออกกฎหมายนิโทษกรรมแล้วก็จบกันไป ในเหตุการณ์นั้นก็มีบุคคลจำนวนหนึ่งที่สูญหายไป และปัจจุบันก็ยังไม่มีเบาะแสความคืบหน้าใดๆเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ถึงแม้จะพบว่ามีการพบศพในตู้คอนเทนเนอร์บ้าง หรือที่อื่นๆบ้าง แต่ก็ไม่สามารถสืบหาความจริงได้ และแต่ล่ะก็มีข้อมูลคนล่ะชุด ฝ่ายประชาชนก็ชุดหนึ่ง และฝ่ายรัฐก็อีกชุดหนึ่ง มาจนถึงเหตุการณ์เดือนเมษา-พฤษภาปีที่แล้ว จนบัดนี้ล่วงเลยมาเป็นเวลาครบปี หลายเหตุการณ์ในหลายสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นที่สี่แยกคอกวัว วัดปทุมวนาราม และที่อื่นๆ ก็ยังเป็นที่สงสัยกังขาจากประชาชน ซึ่งก็ยังไม่มีคำตอบที่เป็นที่กระจ่าง วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มคนจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย สื่อมวลชน และอื่นๆ มาร่วมพูดคุย ให้ข้อมูล เพื่อจะได้มาช่วยกันหาคำตอบ และช่วยกันดูว่าความจริงที่เกิดขึ้นจะเลือนหายไปเช่นเหตุการณ์อื่นๆในอดีตหรือไม่

สมชาย หอมลออ
เมื่อพูดถึงความจริง เราพบว่า ความจริงนั้นค้นพบไม่ยาก ถึงแม้ความจริงอาจต้องใช้เวลาและต้องการพยานหลักฐานมาพิสูจน์ซึ่งเป็นหน้าที่ของ คอป. เรามีสมมุติฐานมากมายในสิ่งที่เกิดขึ้น และในการได้มาซึ่งความจริง เราต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่เป็นวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในทางนิติเวชศาสตร์ และจากการสอบถามทั้งเหยื่อ ผู้ชุมนุม ประชาชนโดยทั่วไป เจ้าหน้าที่รัฐ ประจักษ์พยาน สื่อมวลชน อาสาสมัคร ซึ่งจำเป็นต้องถามทุกส่วนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน การตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ของคอป.นั้นได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในไทยและต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบรูป คลิปวีดีโอ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการสอบสวนในที่เกิดเหตุ (crime scene)

ในการพูดความจริง เราจำเป็นต้องมีพยานหลักฐาน และแน่นอนว่า การตรวจสอบของคอป.นั้นไม่ได้ยึดหลักการตรวจสอบที่เข้างวดเทียบเท่ากับการตรวจสอบคดีทางอาญา ที่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานที่แน่นอนปราศจากข้อสงสัยในการกล่าวหา การพูด หรือเปิดเผย คอป.ยังไม่ถึงขั้นนั้น และเมื่อเราพูดความจริง สิ่งที่ยากอีกขั้นหนึ่งคือจะให้ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับและเชื่อถือร่วมกันอย่างไร มีคนที่พูดความจริงมากมายแต่ไม่ได้รับการยอมรับจากสาธารณะ ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากในการนำไปสู่การเยียวยา และการหาทางร่วมกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นถึงแม้ว่าจะพูดความจริง แต่ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ ก็จะเป็นอุปสรรคในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบและการสร้างความปรองดองในอนาคต สิ่งเหล่านี้นับเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการทำงานของคอป. เพราะในแง่ความเชื่อถือแล้วคอป.ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่เริ่มจากติดลบ เนื่องจากคอป.ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะซึ่งถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงในความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ในหลายๆประเทศนั้น การจัดตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงและการปรองดองนั้นจะจัดตั้งขึ้นก็ต่อเมื่อความขัดแย้งนั้นได้ล่วงไปแล้ว และฝ่ายที่จัดตั้งคณะกรรมการก็เป็นฝ่ายที่เป็นกลางจริงเช่นสหประชาชาติ หรือฝ่ายที่ชนะ ซึ่งมีอำนาจการตรวจสอบมากมาย ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่คอป.ตระหนักมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ก่อนยอมรับการแต่งตั้งด้วยซ้ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่อาจารย์คณิตจึงไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ตั้งแต่ตอนแรกในทันที แต่ขอเวลาในการปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน และกลุ่มแรกที่ท่านหารือคือแกนนำของนปช. รวมถึงนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยซึ่งถูกยุบพรรคไปแล้ว จากการหารือก็พบว่าคนเหล่านั้นมีความเชื่อมั่นในตัวอาจารย์คณิตว่าสามารถทำงานด้วยความเที่ยงตรง ดังนั้นดร.คณิตจึงยอมรับในข้อเสนอดังกล่าวในการตั้งคอป. โดยมีเงื่อนไขกำหนด คือ 1) ดร.คณิตต้องประกันความอิสระในการเลือกผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการทั้งแปดคนได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี 2) คอป.สามารถนำเสนอหรือเปิดโปงสิ่งที่ค้นพบได้ทุกขณะ โดยไม่ต้องรอให้ระยะเวลาการสอบสวนเสร็จสิ้นเสียก่อนซึ่งมีระยะเวลาสองปี 3) ข้อเสนอแนะและการเปิดเผยจะต้องทำทั้งต่อรัฐบาลและต่อหน้าสาธารชน เนื่องจากประสบการทำงานที่ผ่านมาในการตรวจสอบเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนพบว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองใดๆที่ขึ้นมาก็ไม่มีการนำข้อเสนอแนะต่างๆไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่มีการปรับปรุงระบบยุติธรรม เราจึงหวังว่าในการผลักดันข้อเสนอแนะต่างๆนี้ควรเป็นบทบาทของสาธารณชน ที่ต้องยอมรับว่านี่คือความจริง และต้องร่วมกับผลักดันข้อเสนอแนะต่างๆให้เป็นเจตจำนงทางการเมืองของผู้ที่มีอำนาจนำไปปฏิบัติ

ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ ก็มีอุปสรรคในการทำงานบ้างในการเข้าถึงข้อมูลจากทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและจากฝ่ายเสื้อแดง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้รับความร่วมมือจากหลายๆฝ่ายมากขึ้น เราได้จัดเวทีประชุมที่นำคู่ขัดแย้งและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมาพูดคุย ให้ข้อมูลและความคิดเห็นต่อคณะกรรมการหรือที่เรียกกันว่า hearing ซึ่งถึงแม้ว่าเวทีนี้จะยังไม่ถึงกับเป็นเวทีสาธารณะเต็มรูปแบบแต่เราก็เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน ตัวแทนของกลุ่มองค์กรต่างๆ ทูต นักข่าว และบุคคลสามารถพาคนอื่นมาเข้าร่วมรับฟังได้ นอกจากเวทีดังกล่าวจะทำให้ได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้นแล้ว มีสิ่งที่น่าสนใจจากการจัดเวทีรับฟังนี้ที่ได้คือการที่พบว่ามีคนที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน แต่ต่างสถานะ ต่างความคิด ต่างมุมมองได้มาคุยกัน ทำให้เห็นความสำคัญที่ว่าคนจากหลายๆฝ่ายต้องมาคุยกันและเปิดใจรับฟังข้อเท็จจริงและความคิดเห็นจากอีกฝ่าย มิเช่นนั้นเราก็อาจจะก้าวไปไหนไม่ได้ และการจัดการ hearing มาเกือบสิบครั้งโดยคอป. นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเดินหน้าทำงานต่อในระยะเวลาอีกปีเศษ นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน เราก็จะยังคงจัดเวที hearing ต่อไปแต่คราวนี้จะจัดเป็นประเด็นๆ เช่น ผลกระทบของการรัฐประหาร 19 กันยา เสรีภาพในการชุมนุมและขอบเขต บทบาทของทหารในสังคมไทย สื่อมวลชน ฯลฯ โดยหวังว่าการสร้างความเข้าใจให้ตรงกันนี้จะช่วยให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าและหลุดพ้นจากความรุนแรงได้

วัน สุวรรณพงศ์

นอกจากจะมาเสริมและให้ความคิดเห็นต่อรายงานของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมแล้ว จะพยายามตอบคำถามที่ว่า “ใครเป็นคนสั่งฆ่าประชาชน” ซึ่งสามารถสรุปออกมาได้เจ็ดกลุ่มดังต่อไปนี้ คือ กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, กลุ่มคนที่ไล่ล่าอดีตนายกทักษิณ ชินวัตรออกจากอำนาจ, กลุ่มที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มอนาธิปไตยและพรรคการเมืองบางพรรคที่มีส่วนล้มรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์, กลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญ 50, กลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ในค่ายทหาร  , ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินสี่ฉบับเมื่อวันที่ 7 เมษายน 53 และกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการโฆษณาชวนเชื่อว่านปช.เป็นผู้ก่อการร้ายและโค่นล้มสถาบัน กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนมีส่วนในการสั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาปีที่แล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เป็นมรดกตกทอดจาการรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งมีการแก้ไขให้อำนาจแก่ฝ่ายตุลาการเพิ่มขึ้น และสามารถเข้าไปแทรกแซงกระบวนการต่างๆ ทำให้ความยุติธรรมในประเทศไม่อาจบรรลุขึ้นได้

ในเอกสารรายงานของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 มีรายละเอียดในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่สะท้อนการกระทำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปีที่แล้วอย่างชัดเจน และมีการตั้งข้อหาต่ออภิสิทธิ์ด้วยความผิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นอกจากนี้แล้ว อยากจะนำเสนอในประเด็นความไม่ชอบด้วยการนำประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินสี่ฉบับใช้ ซึ่งนอกจากจะเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพแล้ว ยังไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมีการแก้ข้อกฎหมายโดยพลการ กล่าวคือ พ.ร.กฉุกเฉินนี้อยู่ในมาตราที่ 218 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยการรัฐประหารปี 2550 และเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้หยิบยกมาใช้ใหม่ ก็มีการแก้ใขตัวเลขมาตราให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ด้วยเหตุนี้ ประกาศที่ออกมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงอำนาจต่างๆที่ใช้ในการตั้งศอ.ฉ. อำนาจที่ใช้ในปฏิบัติการทางทหารในช่วงเมษา-พฤษภาปีที่แล้ว ก็ย่อมไม่ชอบธรรมด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้แล้ว ความไม่ชอบในข้อกฎหมายดังกล่าว ยังโยงไปถึงแกนนำและผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ด้วย เพราะถ้าหากข้อกฎหมายไม่ชอบธรรมแล้ว ก็สมควรต้องปล่อยตัวผู้ที่ยังถูกคุมขังอยู่ออกมา และน่าสังเกตว่าเมื่อ DSI รู้เรื่องช่องโหว่ในข้อนี้ ก็พยายามจะใช้ข้อกฎหมายอย่างอื่นเช่นกฎหมายหมิ่นพระบรมฯ หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อมาใช้เป็นข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

ขวัญระวี วังอุดม
ศูนย์ข้อมูลประชาชนฯ (ศปช.) ตั้งขึ้นมาด้วยการรวมกันของนักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม โดยตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 หลังการสลายการชุมนุมสองเดือน เนื่องจากเห็นความขัดแย้งในสังคม และเห็นความไม่เป็นธรรมต่อผู้ชุมนุมเสื้อแดงตั้งแต่การประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงและพ.ร.ก. ฉุกเฉินในเวลาต่อมา และท่ามกลางบรรยากาศของการเรียกร้องให้ปรองดองในช่วงปีที่แล้ว เราคิดว่าในการที่จะปรองดองได้นั้นสังคมไทยต้องเกิดความยุติธรรมก่อน และนี่เป็นที่มาที่ไปของการตั้งศปช.
 
เรายอมรับว่าการทำงานของ ศปช.มีอุปสรรคบ้างในการเข้าถึงข้อมูลจากฝ่ายรัฐ แม้แต่ คอป.ก็ยังมีปัญหาในส่วนนี้ แต่ในส่วนของข้อมูลฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดงเราคิดว่าก็น่าเชื่อถือเพราะค่อนข้างได้รับความไว้ใจจากผู้ชุมนุมเสื้อแดง มีการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจน งานของ ศปช.ไม่ได้จำกัดเพียงการค้นหาความจริง แต่ยังรวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย การเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการผ่านบทความที่ผลิตโดยนักวิชาการ รวมถึงการรณรงค์ในระดับสากลด้วย แต่งานที่เน้นมากเป็นพิเศษคือการทำงานกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งตาย สูญหาย บาดเจ็บ และถูกคุกคาม

รายงานของ ศปช.ฉบับเต็มจะเปิดตัวในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งสาระสำคัญที่เราเน้นและแตกต่างจากรายงานฉบับอื่นๆ คือ ความไม่ชอบธรรมของการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากหากเราดูตามมาตรฐานสากลแล้ว การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินควรเป็นไปเมื่อมีเหตุคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นภัยต่อคนทั้งประเทศ ซึ่งในขณะที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ยังไม่มีสถานการณ์ที่บ่งชี้ถึงความร้ายแรงดังกล่าว เราไม่ได้บอกว่าเสื้อแดงไม่มีการใช้ความรุนแรงเลย แต่เราย้ำว่าทางรัฐได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม

นอกจากนี้ ตัวแทนจาก ศปช.ยังเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อรายงานองฮิวแมนไรต์ วอตช์ คือ นอกจากในประเด็นที่ว่ามีการฟันธงว่าชายชุดดำมีส่วนเกี่ยวข้องกับแกนนำเสื้อแดงอย่างแน่นอนแล้ว ซึ่งในแง่หนึ่งก็ยังมีความไม่ชัดเจน ยังมีประเด็นของการที่ในรายงานเขียนถึงการบุกโรงพยาบาลจุฬาฯของการ์ดเสื้อแดงว่าไม่เหมาะสม ซึ่งสรุปมาจากการสัมภาษณ์ของฝ่ายบุคลกรโรงพยาบาลอย่างเดียว ในประเด็นนี้อยากให้มองว่าควรถอยออกมาดูบริบทรอบด้าน เนื่องจากในสังคมไทยตอนนี้เป็นสังคมที่มีความแตกแยกและขาดความไว้เนื้อเชื้อใจกันทั้งสองฝ่ายทั้งจากฝ่ายหมอและฝ่ายผู้ชุมนุม จึงอยากให้สอบถามข้อมูลจากทุกฝ่ายเพื่อให้ได้บริบทในสังคมที่ครบถ้วน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่รายงานฮิวแมนไรต์ วอตช์สรุปว่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้วางแผนที่จะเผาตึกสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยสรุปข้อมูลจากคลิปวีดีโอที่อริสมันต์กล่าวว่า “หากมีการรัฐประหาร ให้พี่น้องเตรียมถังน้ำมันไว้ และจะเปลี่ยนที่นี่ให้เป็น ทะเลเพลิง” เมื่อปลายมีนาคม รวมถึงคลิปอื่นๆของจตุพรและณัฐวุฒิ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าคลิปดังกล่าวเกิดขึ้นในต่างบริบทกันและไม่สามารถมาสรุปอย่างง่ายๆได้ว่าเป็นการวางแผนการเผาของผู้ขุมนุมเสื้อแดง

ศรายุธ ตั้งประเสริฐ
จากการที่ผมได้มีโอกาสช่วย ศปช.เก็บข้อมูลพบว่า มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษา-พฤษภาปีที่แล้วไม่สอดคล้องกับสิ่งที่สื่อกระแสหลักหรือรัฐบาลได้นำเสนอ เช่น มีการใช้อาวุธสงครามยิงใส่ผู้ชุมนุมตั้งแต่ในตอนกลางวันของวันที่ 10 เมษายน หรือช่วงเวลาในการเผาตึกเซ็นทรัลเวิร์ลด์ เป็นช่วงเวลาที่ทหารสามารถเข้ามายึดพื้นที่ได้เป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะในกรณีหลังนี่สามารถจะตรวจสอบข้อมูลได้จากสื่อมวลชนทั่วไป

ยกตัวอย่างถึงในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษา กรณีของนายเกรียงไกร คำน้อย เป็นคนขับรถสามล้อเครื่อง มาจากจังหวัดยโสธร เขามาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงที่ผ่านฟ้า เมื่อเกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าทหารกับผู้ชุมนุมบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เขาถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่หน้าอกราวบ่ายสอง และเสียชีวิตราวหกโมงเย็น กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐเริ่มมีการใช้อาวุธสงครามยิงใส่ผู้ชุมนุมมือเปล่าตั้งแต่ช่วงกลางวัน ทั้งๆที่ในบริเวณนั้นยังเป็นพื้นที่ทหารสามารถเข้าควบคุมได้หมดแล้ว หากแต่รัฐได้อ้างมาตลอดว่าสาเหตุที่รัฐต้องใช้อาวุธหนักนั้นเป็นเพราะมีชายชุดดำซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธปรากฏอยู่ในที่ชุมนุมในตอนค่ำ กรณีเช่นนี้ได้ชิให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้น ไม่ตรงกับข้ออ้างที่รัฐและสื่อมวลชนกระแสหลักได้สื่อออกไปในสังคมจนเป็นความคิดความเชื่อของคนส่วนใหญ่

นอกจากนี้ยังมีกรณีของผู้ที่เสียชีวิตหลังการสลายการชุมนุม เป็นผู้ชายวัยสามสิบกว่า จากจังหวัดขอนแก่น มีร่างกายแข็งแรง ในวันที่สิบเมษา เขาได้เข้าร่วมการชุมนุมของคนเสื้อแดงและอยู่ในเหตุการณ์การปะทะระหว่างทหารและผู้ชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว และได้รับบาดเจ็บการการใช้แก๊สน้ำตาจากทหาร และถูกนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการหอบหืด ต่อมาเสียชีวิตลงในวันที่ 6 ตุลาคม 53 ด้วยอาการติดเชื้อที่ปอด และสมอง กรณีเช่นนี้ อาจไม่สามารถระบุได้ว่าเขาเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมโดยตรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตภายหลัง และจนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือการแสดงความรับผิดชอบจากทางภาครัฐใดๆ แม้แต่ในกลุ่มเสื้อแดงด้วยกันเองก็ไม่ได้รับการเหลียวแลมากนัก

การใช้ความรุนแรงดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทหาร เช่น การใช้อาวุธหนักยิงใส่ผู้ชุมนุม การใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยแก๊สน้ำตาลงมาใส่ผู้ชุมนุม หรือแม้แต่กระบวนการจับกุมที่ไม่ยุติธรรม เป็นความรุนแรงที่ยอมรับไม่ได้ และถือเป็นการพรากสิทธิในการดำรงตนเป็นพลเมือง สิทธิในความเป็นมนุษย์และเสรีภาพ

ศรายุธ ตั้งข้อสังเกตุในประเด็นความน่าเชื่อถือของ คอป.ที่สมชายได้พูดไปก่อนหน้านี่ว่า คอป.เริ่มการทำงานจากจุดที่ติดลบ เนื่องจากถูกแต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาล ศรายุธ มองว่าไม่น่าจะโทษรัฐบาลฝ่ายเดียวที่เป็นสาเหตุ แต่ควรต้องพิจารณาตัวกรรมการของ คอป.เองด้วย ว่าทำไมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคนเสื้อแดงไม่ได้  เนื่องจากสมชายเองก็เคยสนับสนุนการรัฐประหารและเคยกล่าวต่อสาธารณะว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการใช้อาวุธตอบโต้กับกลุ่มติดอาวุธที่แฝงอยู่ในที่ชุมนุม ในวันที่ 18 พค.53 ก่อนการสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต แต่จากการพิสูจน์ไม่พบว่าผู้ที่เสียชีวิตไม่มีหลักฐานการใช้อาวุธใดๆ นักสิทธิมนุษยชนควรมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำและพูดด้วย และหลังสลายคุณก็มาเป็นคณะกรรมการปรองดอง แล้วมันจะปรองดองไปได้อย่างไร

ซึ่งในประเด็นนี้ สมชาย หอมลออ ยังยืนยันในจุดยืนเดิมว่าหากมีการปรากฏของกลุ่มติดอาวุธในที่ชุมนุม รัฐมีความชอบธรรมในการใช้อาวุธจัดการกับชายชุดดำ แต่มิได้หมายความว่าอนุญาตให้รัฐสามารถเข้าสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้ แต่ปฏิเสธว่าไม่เคยสนับสนุนการรัฐประหาร


นางสาวนิตยา พาเชื้อ

ภรรยาของผู้ที่เสียชีวิตคือนายอินทร์แปลง เทศวงศ์ กล่าวว่าสามีของเธอเป็นคนขับแท็กซี่และถูกยิงเสียชีวิตในบริเวณบ่อนไก่เพียงเพราะลงจากรถไปสอบถามคนที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่กลับถูกยิงสองนัดเข้าที่หน้าอกนั้น ได้มากล่าวความรู้สึกในงานเสวนา ด้วยน้ำตาที่นองหน้า “ฉันต้องการให้คนที่สั่งฆ่าได้รับบาปกรรม ได้รับการลงโทษ ฉันต้องการความยุติธรรมให้กับลูกและทุกคนที่ต้องประสบเหมือนฉัน ฉันขาดผู้นำครอบครัว ขาดคนที่ดูแล ให้ความรักความอบอุ่น ขาดคนที่พาเราเดินไปในชีวิต เขาได้จากไปอย่างปุบปับ ยังไม่ทันได้สั่งเสีย ยังไม่ได้ดูใจ ลูกเขายังไม่รู้เรื่องอะไร ตอนนั้น ลูกคนเล็กยังไม่สิบเดือนเมื่อพ่อโดนยิง มาจนตอนนี้ ก็หนึ่งขวบสิบเดือนแล้ว ยังคงไม่ได้รับความยุติธรรม ฉันต้องการความยุติธรรมให้ลูกฉันบ้าง”

ศรีประภา เพชรมีศรี
ให้ความคิดเห็นต่อรายงานของคอป.ว่า แปลกใจที่เห็นรายงานของ คอป. มีเนื้อหาหรือการบันทึกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นน้อย แต่สามารถสรุปออกมาเป็นข้อเสนอแนะได้ มองว่ารายงานของ คอป.ยังไม่ถือว่าเป็นรายงานเพราะยังไม่มีการสรุปข้อมูลใดๆที่ชัดเจนออกมา ถึงแม้ดูเหมือนว่าจะมีหลักฐานในหลายส่วนพอสมควรแล้ว ทั้งนี้หากเทียบกับรายงานฮิวแมนไรต์ วอตช์พบว่ามีการรวมรวมข้อเท็จจริงในหลายเรื่องอย่างชัดเจน รวมทั้งมีข้อเสนอแนะต่อทุกฝ่ายโดยไม่มีข้อยกเว้น ส่วนรายงานของศปช.ก็มีลักษณะที่แตกต่างไปในแง่ที่ว่ามีลักษณะให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือ victim-based ซึ่งสิ่งที่อยากจะเห็นจากรายงานทั้งหมดคือว่าให้มีการบันทึกเหตุการณ์และข้อเท็จจริงให้เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์หรือ historical document ที่เราจะสามารถใช้อ้างอิงเพื่อเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันในอนาคตได้

นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องความยุติธรรมช่วงเปลี่ยนผ่านหรือ Transitional Justice มีองค์ประกอบที่สำคัญๆดังต่อไปนี้ที่สังคมไทยต้องทำให้ได้แต่ในปัจจุบันเราอาจยังไม่เห็นหนทางที่ชัดเจน กล่าวคือ ต้องมีการรับผิด (accountability) ผู้ที่กระทำผิดจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น และเพื่อที่จะให้ความรับผิดเกิดขึ้นได้นั้น นั่นหมายถึงการลอยนวลและงดเว้นโทษจะต้องยุติลง ต้องมีความยุติธรรมเกิดขึ้นกับเหยื่อให้ได้ ซึ่งมิได้จำกัดอยู่แค่การให้เงินชดเชยเยียวยาเท่านั้น ปัจจัยข้างต้นที่กล่าวไปจำเป็นต้องบรรลุก่อนเพื่อที่จะนำไปสู่การปรองดองที่แท้จริงได้ นอกจากนี้ สังคมไทยยังมีลักษณะของการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ชัดเจน กล่าวคือในประเทศอื่นการเปลี่ยนผ่านคือการเปลี่ยนจากสงครามไปสู่สันติภาพ หรือเปลี่ยนจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย แต่ในประเทศไทยยังมีเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจนและมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันด้วยว่าขณะนี้เราอยู่ในช่วงเวลาไหนของสังคม

การที่สังคมไทยอยู่ในภาวะของการลอยนวลของผู้กระทำผิดอย่างยาวนาน แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐในการปกป้องประชาชนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะเหยื่อที่ได้รับผลการทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงของรัฐ เนื่องจากมองได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการนิรโทษกรรม การที่จะบรรลุซึ่งการรับผิด จำเป็นต้องนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ในเรื่องนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่าหากมีการลงโทษแล้วสังคมจะเกิดสันติภาพได้หรือไม่ ดังนั้น เราจึงควรแยกให้ออกระหว่างคำว่าปรองดอง (Reconciliation) และประนีประนอม (compromise) ซึ่งมีความหมายและขอบเขตแตกต่างกันมาก

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ติดเชื้อฯ ย้ำอธิบดี 30 วันแจ้งความคืบหน้ามาตรการตรวจสอบสิทธิบัตรไม่มีวันตาย

Posted: 12 May 2011 12:33 PM PDT

 
12 พ.ค.54 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี /เอดส์ ประเทศไทย ทำจดหมายถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ขอทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อสรุปที่ได้จากการหารือกันเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ภายใน 30 วัน (จดหมายอยู่ในไฟล์แนบ)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11.ค. ที่ผ่านมา นาย อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้เข้าพบ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิบัตร เพื่อให้ดูแลตรวจสอบการขอสิทธิบัตรแบบไม่มีวันตาย (evergreening patent) ของบริษัทยาอย่างเข้มงาด รวมทั้งจัดทำคู่มือการตรวจสอบให้ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทข้ามชาติพยายามที่จะหาทางผูกขาดการทำกำไรของบริษัทด้วยการขอสิทธิบัตร เพิ่มจากตัวยาเก่า โดยมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย หรือยารวมสูตร ทั้งที่ไม่มีความใหม่ หรือขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวเชื่อว่าต้องการหลบเลี่ยงกฎหมายไทยที่ไม่ให้ยาเหล่านี้จดสิทธิบัตรวิธีการรักษา

นอกจากนี้

ยังขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหาคณะกรรมการสิทธิบัตรชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงในกลางปีนี้ เพื่อให้ได้ผู้มีความสามารถและปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนดังที่เคยมีมาในอดีต

AttachmentSize
จดหมายเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา142.54 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

การชำระประวัติศาสตร์ไทยเป็นเรื่องของเวลา

Posted: 12 May 2011 11:52 AM PDT

วันก่อนอ่านคำสัมภาษณ์ “คำ ผกา” เธอกล่าวสั้น ๆ ว่ารัฐบาลในฝันของเธอควรจะหันมาสนใจประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง

“ส่วนการชำระประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่อเมริกาเคยมีการกล่าวหาอินเดียนแดงอย่างสาหัส หรือญี่ปุ่นที่ไม่เคยยอมรับว่าไปทำอะไรจีนตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เดี๋ยวนี้ในแบบเรียนก็มีการปรับการชำระแล้ว ของไทยเองก็ต้องหาจุดยืนที่ใกล้เคียงความถูกต้องว่าไทยกับพม่าเคยรบกันจริงหรือไม่ ไทยกับเขมรเป็นศัตรูกันจริงหรือเปล่า ความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร ล้วนแล้วต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง” [1]

ดิฉันเห็นด้วยกับสองบรรทัดแรกที่คุณคำ ผกากล่าว และในฐานะผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์คนหนึ่ง เป็นธรรมดาที่จะรู้สึก “ปลื้ม” ที่มีนักคิดนักเขียนที่เรียกว่าเป็นปัญญาชนของสังคมที่เห็นว่ามันถึงเวลาแล้วที่ประวัติศาสตร์ หรือเจาะจงลงไปอีกคือกรอบความคิดทางประวัติศาสตร์ของคนไทย (หมายรวมไปถึงกระบวนงานเขียนทางประวัติศาสตร์ไทยบางประเภท) จะต้องถูกรื้อ ขัดเงาและประกอบเข้าใหม่ในแบบที่ควรจะเป็น แต่เมื่ออ่านต่อไปสองบรรทัดต่อมา ดิฉันเห็นว่าคุณคำ ผกาเองก็ยังมิวายถูก “ครอบ” อยู่ด้วยวาทกรรมประวัติศาสตร์ของรัฐไทยแบบเดิม ๆ

การเขียนหรือระเบียบความคิดทางประวัติศาสตร์ของไทยที่เราประสบพบเจอกันทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบตำราเรียน ตำราคำสอน หนังสือ บทความหรือแม้แต่เลกเชอร์ล้วนเป็นอิทธิพลความคิดของตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานกับการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต (historical narration) โดยมีพระเอกและแก่นเรื่องหลักอยู่ที่ชนชั้นผู้นำ มีการกล่าวถึงศาสนาปะปนอยู่ด้วย แต่ส่วนมากเกิดจากบริบทที่ศาสนา “ถูกอุปถัมป์” หรือ วัดวาอารามณ์ “ถูกสร้างขึ้นมา” และยังมีแก่นเรื่องอื่น ๆ อย่างการสร้างชาติ (รวมไปถึงการปลดแอกรัฐไทยออกจากการปกครอง/การคุกคามจากต่างชาติ) เหล่านี้ล้วนเป็นแก่นเรื่องที่วนเวียนอยู่ที่ตัวพระเอกชนชั้นผู้นำที่เป็นตัวดำเนินเรื่องแทบทั้งสิ้น ไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่จะถูกทำให้เชื่อว่า ราชธานีของรัฐไทยมีเพียง 3 แห่ง และกษัตริย์ที่ปกครอง “รัฐไทย” ที่ผ่านมาก็มาจากอาณาจักร 3 แห่งดังที่ได้กล่าวมา รัฐอื่น ๆ ที่อยู่รายล้อมรัฐทั้งสามแห่งแทบไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในตำราประวัติศาสตร์ของไทยในฐานะตัวละครตัวหนึ่ง หรือหากจะมีกล่าวถึงบ้างตัวละครเหล่านั้นก็จะกลายเป็นตัวอิจฉา เป็นผู้รุกราน เป็นกบฎ ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเพื่อให้เห็นว่ารัฐไทยเป็น “ผู้ถูกกระทำ”

เรื่องแต่งกระแสหลักรวมทั้งละครน้ำเน่าหลังข่าวก็มักเสนอภาพนางเอกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ ผู้ที่ถูกย่ำยี ผู้ที่อ่อนแอ (ตอนที่ถูกกระทำเท่านั้น แต่อาจไม่ได้อ่อนแอในชีวิตจริง) แต่ลองสังเกตดูเถิดว่านางเอกที่ยิ่งอ่อนแอ ยิ่งใสซื่อบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ยิ่งชนะใจผู้ชมมากขึ้นเท่านั้น

การเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์เห็นจะไม่ต่างจากละครหลังข่าวนัก...

ถ้าถามว่าไทยกับพม่าเคยรบกันจริงหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าจริง เป็นข้อมูลจริงที่ปรากฎอยู่ในหลักฐานของทั้งไทย พม่า และหลักฐานฝรั่ง แต่ข้อมูลรายละเอียดยิบย่อยอย่างอื่นย่อมแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าอ่านประวัติศาสตร์ของไทยหรือพม่า ในช่วงคริสศตวรรษที่ 16 อันเป็นช่วงที่รัฐไทยและพม่า “ขับเคี่ยว” กันเป็นผู้นำในภูมิภาค (แต่การจะเป็นผู้นำได้ คือต้องปราบอีกฝ่ายให้อยู่หมัด ต้องมีการสูญเสียเยอะ อีกฝั่งจะได้ไม่มีแรงงานคนและทรัพยากรอื่น ๆ เพียงพอที่จะต่อสู้ไปอีกหลายปี) รัฐทั้งสองแม้จะเขียนประวัติศาสตร์เรื่องเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสมเด็จพระนเรศวร แต่แก่นของการเล่าเรื่องอาจอยู่คนละที่กัน จุดเด่นของการเล่าเรื่องในพระราชพงศาวดารไทยและโดยเฉพาะพระราชพงศาวดารที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุคการไล่ล่าอาณานิคม (คริสตศตวรรษที่ 19) คือการมีเนื้อหากล่าวหาและพาดพิงถึงผู้ครองรัฐอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อพูดถึงพระเจ้าบุเรงนอง (ที่เป็นมหาบุรุษและเป็นหนึ่งในสามกษัตริย์ที่คนพม่าให้ความเคารพสูงสุด) พระราชพงศาวดารไทยกล่าวว่า “พระเจ้าหงษาวดีนั้นมิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม” [2] ด้านเจ้าอนุวงศ์วีรบุรุษของชาวลาว (บัดนี้อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์สูง 8 เมตรยืนตระหง่านอยู่กลางนครหลวงเวียงจันทน์) ที่ชาวลาวยกย่องให้เป็นผู้ปลดแอกลาวพ้นจากการปกครองของสยาม ก็มักถูกมองโดยรัฐไทยว่าเป็น “คนไม่ดี” [3]

ส่วนที่ว่าไทยกับเขมรเป็นศัตรูกันจริงหรือไม่ แม้แต่นักประวัติศาสตร์พม่าอย่างสะยาหม่อง ทิน อ่องเองยังเคยกล่าวไว้ว่า “กัมพูชานั้นเห็นว่าสยามเป็นศัตรูตัวฉกาจ” [4] พระราชพงศาวดารฉบับหนึ่งเมื่อเกริ่นถึงศึกเมืองละแวก (ปี พ.ศ.2123/ค.ศ.1580) จะเริ่มด้วยการพาดพิงไปที่กัมพูชาก่อนว่า “ตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีสร้างกรุงศรีอยุธยามา พระเจ้ากรุงกัมพูชายังไม่เคยยกเข้ามาทำศึกกับกรุงศรีอยุธยาเลย ด้วยเปนประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยาเกือบตลอดมา บางคราวเมื่อคิดร้ายเปนข้าศึก ว่าอย่างจะทำร้าย ก็เสมอมาลักกวาดคนตามหัวเมือง พึ่งทนงองอาจยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา...” [5]

ที่ผ่านมารัฐไทยแทบไม่เคยคิดว่าตนผิด แม้จะเป็นฝ่ายที่ไปรุกรานเพื่อนบ้านก่อน แต่นั่นก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่ชอบธรรม เพราะ “เรากำลังถูกรังแก” เป็นที่มาของความพยายามสร้างมโนคติให้เห็นว่า “ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด” คนไทยจำนวนมากรู้เรื่องที่พม่ามาเผาอยุธยาเป็นอย่างดี แต่ไม่เคยรู้เลย (หรือทำเป็นไม่รู้?) ว่ารัฐไทยเองก็เคยทำกับรัฐเพื่อนบ้านไม่ต่างกัน การเขียนประวัติศาสตร์ของผู้ที่ “ถูกกระทำ” ภายใต้ระบบจารีตที่มีกษัติรย์อุปถัมป์ก่อนคริสศตวรรษที่ 19 อย่างการเขียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชาก็คงไม่ได้ต่างจากที่ไทยมองพม่านัก ทัศนคติแบบ “ผู้ถูกกระทำ” ที่คับแคบนี้เป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นความทรงจำร่วมกันที่คนส่วนใหญ่ในชาติหนึ่ง ๆ ไม่มีวันลืม ถึงแม้จะไม่ได้นึกถึงอยู่ทุกวัน แต่เมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งมากระตุ้น ทัศนคตินี้จะกลายเป็นความเกลียดชังประเทศเพื่อนบ้านแบบเฉียบพลันและรุนแรง เหตุการณ์การสู้รบกับกัมพูชาที่ผ่านมาหลายปีก็แสดงให้เห็นแล้วว่า คนสองชาติมีช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ชาติที่ทับซ้อนกันอย่างไร การเขียนประวัติศาสตร์ (ที่ถูกบอกเล่าและสั่งสอนกันต่อ ๆ มา) และความทรงจำร่วมกันก่อให้เกิดพลังอันน่าทึ่งอย่างไร

ความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและของโลกในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่การสืบค้นหาความจริงเพียงอย่างเดียว เราไม่ต้องการจะรู้แล้วว่า สยามรบชนะใครและรบแพ้ใครบ้าง ดิฉันไม่ได้ปฏิเสธว่าความจริงและข้อเท็จจริงเป็นเรื่องสำคัญ แต่การที่จะตรวจสอบหาหลักฐานในเรื่องบางเรื่องหรือการจะยกเครื่องชำระประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่ได้ทำกันได้ภายในช่วงข้ามคืนข้ามวัน ดิฉันไม่เห็นว่าการที่ประเทศประเทศหนึ่งเคยแพ้สงคราม (หรือพ่ายแพ้หรือสูญเสียในกรณีอื่น ๆ หรือที่เคยไปเผาบ้านเมืองอื่นเขา) จะต้องเป็นตราบาปติดตัวประเทศนั้น ๆ ตลอดไปเสียเมื่อไหร่ ชาติมหาอำนาจเองอย่างอเมริกาก็เคยแพ้สงคราม รัสเซียยุคจักรวรรดิตอนรุ่งเรืองก็เคยแพ้กองทัพญี่ปุ่นมาแล้ว แต่ก็ไม่เห็นว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้จะยึดติดกับประวัติศาสตร์หรือต้องยกเครื่องเขียนประวัติศาสตร์กันใหม่ทั้งหมด

อย่าลืมความจริงข้อหนึ่งที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือกันน้อยเหลือเกิน แม้จะมีงานเขียนทางประวัติศาสตร์ใหม่ ๆ ออกมา แต่ก็เผยแพร่กันในหมู่นักวิชาการหรือผู้ที่สนใจเท่านั้น เมื่อไม่เกิดกระบวนการซึมซับในสังคมวงกว้าง รวมทั้งการสร้างวาทกรรมใหม่ ๆ หรือกระบวนการวิพากย์ขึ้น สังคมการเรียนรู้ที่หลายคนใฝ่ฝันคงเกิดขึ้นได้ยาก ในทางตรงกันข้ามคนไทยมักยึดติดกับสิ่งที่ได้ “เห็น” และได้ “ฟัง” สื่ออย่างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์หรือแม้แต่ละครน้ำเน่า จึงกลายเป็นเบ้าหลอมให้ทำให้คนจำนวนมากในสังคมคิดอย่างที่เห็นจากในภาพยนตร์และในโทรศัพท์และไม่คิดตั้งคำถามใด ๆ อีก

ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่ง การจะชำระประวัติศาสตร์กันแต่ละครั้งไม่ใช่ทำกันง่าย ๆ และกลับเป็นเรื่องที่รัฐบาลแต่ละชาติต่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่เนื่องจากวิธีคิดและสังคมที่เปิดกว้างเหล่านั้นก้าวหน้าไปมาก “สำนักประวัติศาสตร์” สำนักต่าง ๆ จึงแข่งขันกันเพื่อให้แก่นวิธีคิดของตนเป็นแกนหลักของตำราประวัติศาสตร์

เมื่อพูดถึงปัญหาการเขียนตำราประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ หลายคนคงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงกรณีการเขียนตำราประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น (โดยเฉพาะตำราในระดับจูเนียร์ไฮสคูลสำหรับนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป) ในช่วงทศวรรษ 1990 สมาคมปฏิรูปตำราในนาม สุกุรุ คาอิถูกก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่นและได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น มีผู้วิเคราะห์อยู่เนือง ๆ ว่าเนื้อหาในตำราดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นข้อมูลเชิงวิพากย์อยู่น้อย ทั้งยังใช้ข้อมูลทื่อ ๆ และจืดชืด [6] แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าคือ เมื่อผู้แต่งตำราต้องการเขียนหรือเล่าเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง อันเป็นเหตุการณ์ที่มีญี่ปุ่นเป็น “ผู้กระทำ” และมีชาติที่ในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมญี่ปุ่นอย่างจีนและเกาหลีเป็น “ผู้ถูกกระทำ” เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดคือ เหตุการณ์สังหารและขมขื่นหมู่ที่นานกิง (ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ.1937)

ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นมีข้อกำหนดให้การเขียนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่นานกิงต้องมีข้อความ “ปลอบขวัญ/ปลอบประโลม” เพศหญิงใส่ไว้ด้วย (เพราะแก่นของเหตุการณ์สังหารหมู่อยู่ที่การที่กองทัพญี่ปุ่นข่มขืนผู้หญิงจำนวนเรือนหมื่นและฆ่าทิ้ง เพราะกฎในกองทัพมีอยู่ว่า ห้ามข่มขืนผู้หญิงฝ่ายตรงข้าม) แต่ถึงกระนั้นข้อมูลเกี่ยวกับนานกิงที่ผู้เรียบเรียงใส่ไปในตำรามีเพียงน้อยนิด คลุมเครือ และที่สำคัญคือ กลับย้ำให้ผู้อ่านเห็นว่า ประชาชนคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่กองทัพทำเลย หนำซ้ำยังต้องทนทุกข์ทรมานกับสิ่งที่ตนไม่ได้อยากให้เกิดอีกด้วย แต่ถึงแม้จะมีความพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดความจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตำราประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980 มีข้อความที่กล่าวยอมรับอยู่กลาย ๆ ว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั่วทั้งเอเซียในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนหนึ่งมาจากความทะเยอทะยานของญี่ปุ่นที่จะเป็นเจ้าอาณานิคมและเป็นเผด็จการครอบงำเอเซีย [7]

ผ่านมาสองทศวรรษ กระบวนการเขียนตำราของญี่ปุ่นยังมีพลวัตอยู่ตลอด มีการเสริมข้อมูลหรือตัดข้อความบางส่วนออกไปตลอดเวลา ข้อความปลอบใจเพศหญิงที่เป็นเหยื่อและผู้ถูกกระทำในเหตุการณ์ดังกล่าวที่ปรากฎในตำราเดิมเริ่มหายไป และเปลี่ยนไปเป็นการใส่ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนานกิงที่ละเอียดและลึกขึ้น รวมทั้งการยอมรับเป็นนัย ๆ ว่าไม่ใช่ประชาชนญี่ปุ่นในสมัยนั้นทั้งหมดที่เป็นเหยื่อของสงคราม ยังมีประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนให้กองทัพรุกรานประเทศอื่นๆ ในเอเซีย เป็นต้น ความน่าสนใจของตำราประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นฉบับปรับปรุงส่วนหนึ่ง คือการกล้ายืดอกตั้งคำถามต่อสิ่งที่กองทัพญี่ปุ่นกระทำต่อเหยื่อสงคราม และความพยายามใส่เสียงเล็ก ๆ ของคนที่เป็นเหยื่อสงครามจริง ๆโดยเฉพาะชาวเกาหลีที่จะได้รับผลกระทบจากความทะเยอทะยานของญี่ปุ่นในครั้งนั้นยาวนานที่สุด

“ผู้ถูกกระทำ” และตัวแสดงเล็ก ๆ เหล่านี้มิใช่หรือที่เป็นคนสร้างประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นผู้นำและความทะเยอทะยานของคนบางกลุ่มในตัวของมันเองไม่สามารถก่อให้เกิดสงครามได้

หลายคนอ่านกรณีศึกษาการเขียนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นแล้วคงได้แต่สะท้อนใจและอยากให้รัฐไทยนำกระบวนการคิดและเขียนประวัติศาสตร์อย่างระมัดระวังและเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง เอาเป็นว่า เราอย่าเพิ่งฝันไปก่อนว่าประเทศไทยต้องเขียนประวัติศาสตร์เล่มใหม่หรือเวอร์ชั่นใหม่เลย แต่ขอให้รีบคิดว่า ความแตกต่างและความหลากหลายในวงการวิชาการรวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่ควรต้องรีบส่งเสริมและเป็นสิ่งที่รัฐไทยต้องการ

ตำราประวัติศาสตร์ไทยที่เด็ก ๆ ใช้เรียนกันอยู่ทุกวันนี้เป็นการผูกขาดของนักประวัติศาสตร์ไทยเพียงไม่กี่คณะ ไม่ได้สะท้อนความเชื่อ มิติและความลื่นไหลประวัติศาสตร์โลกในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมามากนัก การเขียนตำราประวัติศาสตร์ใหม่ไม่ว่าจะเป็นฉบับปรับปรุงกี่ฉบับจึงคล้ายเอาเหล้าเก่ามาใส่ขวดใหม่ ในศตวรรษที่ 21 ที่โลกรอบตัวเราก้าวหน้าไปมากขนาดนี้ ประเทศหนึ่ง ๆ ไม่สามารถอยู่ได้อย่างสงบสุขหากคนในประเทศยังเชื่ออย่างหนักแน่นว่า “ประเทศของกู ตัวกูดีที่สุด” และมีสปิริตนักกีฬาที่รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัยอยู่ริบหรี่ในวงการเมืองโลกหรือแม้ในภูมิภาคอาเซียน

ดิฉันยังเชื่อว่า ก่อนที่จะมีการลงทุนยกเครื่องการเขียนประวัติศาสตร์ไทยอย่างที่คุณคำ ผกา กล่าว ควรมีกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กระตุ้นให้คนในสังคม “คิด” และ “วิเคราะห์” ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ การรู้ว่าเราเป็นใคร เรามาจากไหน เราเคยรบกับใคร หรือเราเป็นศัตรูกับใครไม่เพียงพอตอบโจทย์ความต้องการทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน และทักษะการคิดและวิพากย์อย่างเป็นระบบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากองค์รัฐยังควบคุมความคิดของสังคมอย่างที่เป็นอยู่

ถ้าจะแก้เงื่อนตายให้ได้เร็ว ต้องแก้ช้าๆ รีบร้อนเมื่อไหร่จะแก้ไม่ได้อีกเลย

อ้างอิง

  1. “เปิดมุมมองการเมืองของ "คำ ผกา" ขอเลือกพรรคที่สนับสนุนเสื้อแดง รบ.ในฝันต้องผ่าตัดการศึกษา-ชำระปวศ.” จาก มติชนออนไลน์ วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2554
  2. พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตเลขา (พิมพ์ครั้งที่ 2) เล่มที่ 1 หอพระสมุดวชิรญาณ, พ.ศ.2457 หน้า 228
  3. http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=531
  4. Maung Htin Aung. A History of Burma. New York: Columbia University Press, 1967, หน้า 130
  5. เล่มเดียวกัน หน้า 591
  6. Alexander Bukh, “Japan’s History Textbooks Debate – National Identity in Narratives of Victimhood and Victimization,” Asian Survey, Vol. XLVII, No. 5, 2007, หน้า 686
  7. เล่มเดียวกัน หน้า 694-5

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จากไพร่ฟ้าสู่ความเป็นพลเมือง (From Subjects to Citizenship)

Posted: 12 May 2011 11:42 AM PDT

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เรียกคนเสื้อแดงว่าเป็น “คนยากจน หรือคนที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารเพียงพอ” [1] ส่วน ส.ส.แห่งพรรคประชาธิปัตย์ผู้หนึ่งพูดถึงเสื้อแดงอีสานว่า เป็นได้แค่คนรับใช้และเด็กปั๊ม แปลไทยเป็นไทยได้ว่า คนเสื้อแดงในทัศนะของทั้งสอง คือคนต่างจังหวัดต่ำชั้น ซึ่งถ้าไม่เป็นคนจนก็เป็นคนโง่ หากแปลเป็นภาษาแห่งการดูแคลน การชุมนุมของคนเสื้อแดงก็คือ “ม็อมเติมเงิน” กล่าวได้ว่ามุมมองต่อ “ชาวบ้าน” เช่นนี้เป็นมุมมองมาตรฐานของชนชั้นกลางชาวเมือง พูดอีกอย่าง คนชั้นกลางในเมืองใหญ่ยังคงมองชนบทในแบบ “โง่-จน-เจ็บ” ผู้ไม่มีสำนึกทางการเมืองเป็นของตนเอง อันเป็นภาพซึ่งถูกแช่แข็งมาหลายสิบปีแล้ว

ทัศนะแบบ “โง่-จน-เจ็บ” กลายเป็นสมมุติฐานสำคัญในการสร้าง “ทฤษฎี” สองนัคราประชาธิปไตยอันโด่งดังของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ในปี 2537 ซึ่งมีข้อสรุปว่า คนชนบทเป็นแค่ฐานเสียง แต่ไม่ใช่ฐานนโยบาย [2] ในขณะที่คนเมืองเป็นฐานนโยบายของนักการเมือง และจากจำนวนที่มากกว่ามากของคนชนบท เขาจึงเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล (ฐานเสียง) ส่วนคนเมือง (ฐานนโยบาย) เป็นผู้ล้มรัฐบาลผ่านสื่อ หรือการประท้วง ข้อสรุปนี้สร้างจากข้อสมมุติว่า เนื่องจากคนชนบทเป็นคน “โง่-จน-เจ็บ” การออกเสียงเลือกตั้งจึงไม่ได้คิดแบบ “เสรีชน” เช่นคนเมือง แต่เป็นเรื่องของผู้น้อย “ที่ใช้การลงคะแนนเสียงเป็นการเลือกว่าจะเชื่อมโยงตนเองและชุมชนเข้ากับเจ้านายหรือสายอุปภัมภ์สายใด” [3] ดังนั้นชนบทจึงเป็นแค่ฐานเสียงไม่ใช่ฐานนโยบาย

สาเหตุที่ชนบทในทัศนะของเอนกอยู่ภายใต้การอุปภัมภ์เกิดจากการที่ชนบทถูกทอดทิ้งจากรัฐ ปล่อยให้ภาคชนบทอันเท่ากับภาคเกษตรกรรมซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเมืองมากล้าหลังและมีพลังการผลิตต่ำ ดังนั้นจึงยากจน พึ่งตัวเองไม่ได้ และต้องเข้าสังกัดสายอุปภัมภ์ใดสายหนึ่ง โดยแลกคะแนนเสียงกับเงินหรือความช่วยเหลืออื่นๆ ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังการเลือกตั้งจากนักการเมือง

มุมมองของเอนกข้างต้น สร้างขึ้นจากภาพชนบทในทศวรรษ 2523 เช่นเดียวกับนักวิชาการอื่นๆ ที่ศึกษาเรื่องเจ้าพ่อและการซื้อเสียงในชนบท เราอาจยอมรับได้ว่า ทัศนะข้างต้นสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของชนบทในทศวรรษนั้น แต่ตลกร้ายก็คือ ในขณะที่เอนกเขียน “สองนัครา” ในปี 2537 นั้น ชนบทกลับกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างรวดเร็ว ซึ่งนักวิชาการทั้งหมดมองไม่เห็น ในช่วงนั้น แรงเหวี่ยงของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ทำให้นักวิชาการพุ่งความสนใจไปสู่การศึกษาบทบาททางการเมืองของชนชั้นกลาง การศึกษาชนบทเองกลับถูกละเลยจากนักวิชาการทั้งหลาย

ทศวรรษ 2523 เป็นช่วงที่การประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำทางอำนาจเริ่มลงตัว กลายเป็นระบอบ ประชาธิปไตยครึ่งใบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งนิธิเห็นว่าเป็น “ระบอบเลือกตั้งที่มีการกำกับโดยกองทัพร่วมกับชนชั้นนำตามจารีต เข้ามาร่วมกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลโดยลับๆ หรือโดยเปิดเผย คือก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ตั้งรัฐบาลชั่วคราวแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่” การเลือกตั้งระดับชาติ [4] จึงเกิดขึ้นค่อนข้างสม่ำเสมอ ความสม่ำเสมอนี้จึงทำให้ผู้ที่ต้องการเข้าสู่สนามเลือกตั้งทั้งหลาย คุ้มค่าที่จะสร้างสายอุปภัมภ์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนในหลายมิติและในระยะยาวขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับผู้มีสิทธิลงคะแนน ในอีกทางหนึ่ง ชาวชนบทก็ตระหนักดีว่า คะแนนเสียงของตนไม่สามารถแปลเปลี่ยนเป็นนโยบายระดับมหภาคที่ “กินได้” ดังเช่นที่เกิดขึ้นครั้งแรกหลัง พ.ศ.2544 มันจึงสมเหตุสมผลมากที่เขาจะยอมแลกคะแนนเสียงของตัวเองกับ โครงการพัฒนาระดับท้องถิ่นที่ ส.ส.ดึงมาลงเขตเลือกตั้งของตัวในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง และเงินสดๆ ในช่วงการหาเสียง

สิบปีหลังจากกำเนิดของ “สองนัครา” อัมมาร สยามวาลาได้ทบทวนอดีตและมองอนาคตของภาคเกษตร แล้วสรุปว่า ชนบทไทย “จะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ค่อยๆ ดีขึ้น สมการที่เป็นสมมติฐานหลักของการเมืองไทยคือ ชนบท = เกษตรกรรม = ความยากจน น่าจะเป็นจริงน้อยลง อย่างน้อยก็ในส่วนที่ระบุว่าเป็นชนบทหรือเกษตรกรแล้วต้องยากจน” [5] เนื่องจากตั้งแต่ทศวรรษ 2533 เป็นต้นมานั้น แรงงาน (หนุ่มสาวอายุ 15-34 ปี) จากภาคเกษตรและชนบทไหลออกในอัตราเร่งในช่วง 2532-2541 สู่เมือง และส่วนใหญ่สู่โรงเรียน เมื่อย้ายออกแล้วหนุ่มสาวจำนวนมากกว่า 3.5 ล้านคนเหล่านี้จะไม่หวนกลับไปทำงานในภาคเกษตรอีก ข้อเท็จจริงนี้ทำให้ภาคเกษตรขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เกษตรกรจึงต้องหันมาใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีทดแทนแรงงานอย่างกว้างขว้าง พร้อมๆ ไปกับการใช้แรงงานรับจ้าง ในทางสังคม กิจกรรมการเกษตรจึงเลิกเป็นกิจกรรมแบบครอบครัว

กล่าวอีกแบบคือ สังคมชนบทไทยเลิกเป็นสังคมชาวนาแล้ว (no longer a peasant society) แต่แตกตัวออกเป็นสองกลุ่มย่อยคือ กลุ่มมืออาชีพหรือเกษตรพาณิชย์ และกลุ่มดั้งเดิมหรือเกษตรพอเพียง โดยกลุ่มแรกจะมีอายุน้อยกว่า ใช้เทคนิคการผลิตสมัยใหม่ เข้าใจและรับมือกับความผันผวนของตลาดได้ และขนาดของไร่นามีแนวโน้มที่จะใหญ่ขึ้นด้วย เนื่องจากเขาก้าวข้ามข้อจำกัดของแรงงานครอบครัวด้วยเครื่องจักรและลูกจ้าง พวกมืออาชีพจะมีรายได้สูงกว่าระดับเฉลี่ยของเกษตรกรในปัจจุบันมาก และจะกลายเป็นกลุ่มหลักของภาคเกษตร ส่วนกลุ่มที่สองนั้น จะเป็นคนสูงอายุที่ลูกหลานย้ายออกไปแล้ว อาศัยเงินส่งกลับของลูกหลานจากนอกภาคการเกษตร ส่วนตัวเองก็ทำการเกษตรแบบพอยังชีพ และจะมีความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆ

นอกจากนี้ การแยกตัวของภาคเกษตรออกจากสังคมชาวนายังแสดงออกด้วยความหลากหลายของอาชีพใหม่ๆ ในชนบท เช่นรับเหมาก่อสร้าง ตัดผม เสริมสวย ค้าปลีก ขายอาหารสำเร็จรูป ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์หรือเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งในอดีตไม่สามารถมีได้เพราะอุปสงค์ไม่เพียงพอ ดังนั้น ไม่เพียงแต่สัดส่วนของเกษตรกรจะลดลงเมื่อเทียบกับประชากรไทยทั้งหมดเท่านั้น แต่ลดลงเมื่อเทียบกับประชากรในชนบทเองด้วย

หลังเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต 2553 นี้เองที่ Keyes เสนอบทความ “From Peasant to Cosmopolitan Villagers: Refiguring the ‘Rural’ in Northern Thailand” ที่ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงในรอบห้าสิบปีของหมู่บ้านหนองตื่น อ.เมือง จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งสอดรับกับภาพของอัมมารอย่างมาก

กล่าวคือ Keyes พบว่าในปี 2548 นั้น ไม่มีครอบครัวใดในหมู่บ้านนี้ปลูกข้าวเพื่อขายอีกต่อไป แต่เป็นการปลูกเพื่อบริโภคเองในครอบครัวขยายของตนเพื่อลดความเสี่ยงเท่านั้น [6] ตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งมีพี่น้องสี่คน ชายสองหญิงสอง ลูกชายทั้งสองและสามีของลูกผู้หญิงคนหนึ่งทำงานขับเท๊กซี่ในกรุงเทพ ส่วนลูกผู้หญิงคนสุดท้ายยังคงอยู่ในหมู่บ้าน ปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งสี่ครอบครัว โดยใช้เทคนิกการปลูกข้าวแบบใช้ทุนเข้มข้นในทุกขั้นตอนการผลิต [7] ส่วนทั้งสามคนในเมืองก็ส่งเงินกลับไปเป็นทุน และลงแรงไปช่วยทำนาเป็นครั้งคราว ในแง่นี้จึงไม่แปลกที่คนขับเท๊กซี่ผู้นี้จะเรียกตัวเองว่าเป็น “ชาวบ้าน” หรือ “ชาวนา” ทั้งๆ ที่รายได้เกือบทั้งหมดของเขามาจากนอกภาคการเกษตร เช่นเดียวกับคนที่หมู่บ้าน

Keyes เสนอต่อไปว่า การอพยพออกจากภาคการเกษตรมาสู่เมืองในช่วงแรก ตามด้วยการไปทำงานต่างประเทศในช่วงหลัง โดยเริ่มจากแรงงานชาย ตามด้วยผู้หญิงในยุคต่อมา สร้างประสบการณ์ทำงานต่างถิ่นให้แก่ชาวบ้าน ประกอบกับการขยายตัวด้านการศึกษาและความแพร่หลายของสื่อสารมวลชน ทั้งหมดนี้ได้ทำให้โลกทัศน์ของ “ชาวบ้าน” เปลี่ยนไปมาก คนชนบททุกวันนี้จึงเป็น “ชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง” (cosmopolitan villagers) ซึ่งห่างไกลยิ่งนักจากภาพชาวบ้าน-ชาวนาแบบเศรษฐกิจพอยังชีพ ซึ่งมีลักษณะ โง่-จน-เจ็บ อย่างที่เป็นในทศวรรษ 2493

จากบทความของอัมมารและ Keyes เราอาจสรุปได้ว่า สังคมชนบทไทยมิได้เป็นสังคมชาวนาอีกต่อไป แม้ว่าเขายังคงเรียกตัวเองว่า ชาวบ้านหรือชาวไร่-ชาวนาเช่นเดิม แต่เราอาจจะสรุปภาพสังคม “หลังชาวนา” ในปัจจุบันได้ว่า เป็นสังคมที่ผู้คนมีวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจแบบตลาดอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในภาคเกษตรหรือนอกภาคเกษร คนเหล่านี้มีรายได้สูงขึ้น และมีแหล่งรายได้หลักจากงานนอกภาคเกษตรกรรม เข้าถึงสื่อ เช่นโทรทัศน์และโทรศัพท์มือถืออย่างทั่วถึง ลูกหลานมีการศึกษาสูงขึ้น รวมทั้งมีแบบแผนการบริโภคไม่แตกต่างจากคนเมือง คนกลุ่มนี้คือสิ่งที่นิธิเรียกว่า “ชนชั้นกลางระดับล่าง” หรือ “คนชั้นกลางรุ่นใหม่” [8] แต่คนเหล่านี้ ล้วนขาดหลักประกันความมั่นคงในชีวิต เช่นไม่ได้อยู่ในอาชีพที่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายประกันสังคม

ดังนั้น “คนเหล่านี้ต้องการพื้นที่ทางการเมือง เพื่อผลักดันผลประโยชน์ของตนเอง ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่เป็นปัญหาทางการเมือง ไม่ใช่การร้องทุกข์ทางเศรษฐกิจ หรือร้องขอการอุปถัมภ์จากรัฐ” [9] ดังที่ช่างเฟอร์นิเจอร์เสื้อแดงหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอดอยสะเก็ด กล่าวว่า “(เมื่อก่อน) พึ่งพานโยบายรัฐน้อย หมดหน้าข้าวก็ต้องปลูกแตง ปลูกอย่างอื่นต่อ วนๆ กันไป ไม่ได้คิดถึงนโยบายของรัฐ คิดว่าต้องช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก เมื่อก่อนยังมีที่ดินทำกินอยู่ แต่พอที่ดินไม่มี เราก็ต้องพึ่งพิงนโยบายรัฐมากขึ้น และรู้สึกว่าการเลือกตั้งสำคัญกับตัวเองมากขึ้น” [10]

ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งระดับชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ทศวรรษที่ 2523 และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหลังปี 2542 ซึ่งกำหนดโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ทำให้โดยปกติแล้วท้องที่หนึ่งๆ จะมีการเลือกตั้งในทุกระดับประมาณ 5-6 ครั้งต่อสี่ปี ไม่ว่ากระบวนการเลือกตั้งจะ “บริสุทธิ์ยุติธรรม” มากน้อยเพียงใดก็ตาม คงกล่าวได้ว่า อุดมการณ์ประชาธิปไตยในแง่มุมที่ว่า ทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่าเทียมกันในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ปกครองของตน ได้กลายเป็นสำนึกของชาวบ้านแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐบาลไทยรักไทยไปแปรเปลี่ยนคะแนนเสียงของชาวบ้านเป็นประชาธิปไตย “ที่กินได้” ขึ้นเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ในปี 2544 ในรูปของนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน การรับจำนำพืชผล ซึ่งสอดรับกับความต้องการของชาวบ้านอย่างยิ่ง เนื่องจากโครงการเหล่านี้ลดความไม่มั่นคงในชีวิติทางเศรษฐกิจแบบอิงตลาดอย่างแนบแน่นของเขาลง ในสายตาของชาวบ้าน การรัฐประหาร 2549 จึงเป็นการปลดผู้บริหารที่เขาเป็นผู้แต่งตั้งด้วยวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง ในแง่นี้เป้าหมายเริ่มต้นของการต่อสู้ของคนเสื้อแดงคือการปกป้องประชาธิปไตยที่กินได้ของเขา

จึงไม่แปลกเลยที่การรัฐประหารครั้งล่าสุด จะไม่สามารถรื้อฟื้นระเบียบทางการเมืองให้เกิดขึ้นได้ดังเช่นการรัฐประหารในอดีต เนื่องจากชนชั้นกลางรุ่นใหม่ ซึ่งก็คือเสียงส่วนใหญ่ของสังคมในปัจจุบัน เกิดสำนึกใหม่ทางการเมือง เขาเห็นว่าตนเป็นพลเมือง เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนทางอำนาจที่จะกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง เขาไม่ใช่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอีกต่อไป เขาเรียกร้องต้องการสิทธิ์-เสียงที่เท่าเทียมกับชนชั้นสูง-กลาง การรัฐประหารและความอยุติธรรมทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมาในสายตาของพวกเขาแล้ว จึงเป็นความพยายามของชนชั้นนำที่จะตัดสิทธิ์-ปิดพื้นที่ทางการเมือง และทำให้เขากลับไปเป็นไพร่ฟ้าเช่นเดิม ดังเช่นที่ เสื้อแดงมอเตอร์ไซต์รับจ้างท่านหนึ่ง อธิบายถึงสาเหตุที่ตนออกมาต่อสู้ว่า “ทุกวันนี้พวกผมมองว่ามันไม่มีสิทธิเสรีภาพ อย่างคนในมหาวิทยาลัยมองว่ามีเสรีภาพ เพราะพวกเค้า (ตำรวจ) ไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียงด้วย แต่คนอย่างพวกผมไม่มีเสรีภาพ บางทีตำรวจก็มาขอเหล้าลังหนึ่ง ถ้าไม่ให้มันก็มาจับอีก บอกว่าไม่ใส่หมวกกันน็อกบ้าง รองเท้าไม่เรียบร้อยบ้าง ถ้าอย่างอาจารย์มหาลัย ไปขอเหล้าขวดหนึ่ง ตายเลยตำรวจคนนั้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมันเยอะ ความกดดันของคนจนมันเยอะ พอมีหนทางออกมาต่อสู้ก็ต้องออกมา พอถึงจุดๆหนึ่งโดยยิงตายเยอะ มันเอาจริง ก็หลบก่อน แต่วันหนึ่งลุกฮือก็ไม่แน่”

โดยรวมแล้ว อาจสรุปได้ว่าทัศนะประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงนั้น มีจุดเน้นอยู่ที่อำนาจทางการเมืองสูงสุดต้องเป็นของประชาชน ต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ต้องมีสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นนำต้องเคารพผลการเลือกตั้ง ต้องไม่แทรกแซงการเมืองผ่านใช้อำนาจนอกระบบ ดังที่ชาวบ้านเสื้อแดงอีกผู้หนึ่งนิยามประชาธิปไตยว่า “ต้องมาจากประชาชนโดยตรง ตราบใดที่ต้องให้ (ผู้มีอำนาจ) คอยอนุญาต มันก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องมีสิทธิในการเลือกผู้นำของเรา ถ้าไม่ดีก็ว่ากันไป ต้องไม่ถูกรัฐประหารไล่คนของเราออก”

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ภาพชาวบ้านแบบโง่-จน-เจ็บ และตกอยู่ใต้ระบบอุปภัมถ์ของนักการเมือง ซึ่งเป็นภาพมาตรฐานของคนชั้นกลางเก่าในเมือง ดังเช่นที่กล่าวอ้างโดยเจิมศักดิ์ ปิ่นทองข้างต้นนั้น จึงเป็นภาพที่ฉายขึ้นเพื่อที่จะปฎิเสธความเป็นพลเมืองของคนเสื้อแดง เราต้องพยายามเขาใจว่า ณ ขณะนี้เขาไม่ได้ร้องขอความจุนเจือแบบสังคมสงเคราะห์จากชนชั้นนำ แต่เขาต่อสู้เพื่อหาความเท่าเทียมทางการเมือง เพื่อสิทธิ์-เสียงที่เท่าเทียม เพื่อเป็นกลไกที่จะแก้ไขโครงสร้างสังคม-เศรษฐกิจอยุติธรรมที่เขาพบเจอมาตลอดชีวิตต่างหาก ในแง่นี้ความพยายามที่จะปฎิรูปความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หากยังไม่ยอมรับความเท่าเทียมของความเป็นพลเมืองของชาวบ้าน จึงยากที่จะสำเร็จโดยพื้นฐาน

อ้างอิง

  1. อ้างใน Keyes, C. “From Peasant to Cosmopolitan Villagers: Refiguring the ‘Rural’ in Northern Thailand” บทความเสนอในการบรรยายพิเศษ จัดโดยโครงการปริญญาเอก ภาควิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 15 พ.ย. 2553.
  2. เพื่อความเป็นธรรมกับเอนก เขาพูดถึง “จน-เจ็บ” แต่ไม่ได้มองว่าชาวบ้านโง่
  3. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (2538) สองนัคราประชาธิปไตย กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน. น. 8
  4. นิธิ เอียวศรีวงศ์ “พื้นที่การเมืองที่ปิดไม่ลง” มติชนออนไลน์, 2010-11-30, 10:51.
  5. อัมมาร สยามวาลา “ชราภาพของภาคเกษตร: อดีตและอนาคตของชนชทไทย” บทความเสนอในที่สัมมนาวิชาการประจำปี 2547 เรื่อง เหลียวหลังแลหน้า: ยี่สิบปีเศรษฐกิจสังคมไทย จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) วันที่ 27-28 พฤศจิกกยน 2547 หน้า 11.
  6. (social insurance) พูดอีกแบบคือ ไม่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะผันผวนอย่างไร ครอบครัวตนอย่างน้อยก็จะมีข้าวกิน
  7. อ้างแล้ว หน้า 15-16
  8. จากการสำรวจขั้นต้น เราพบว่าคนเสื้อแดงแถบนครปฐมมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวถึงกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์มาก
  9. นิธิ อ้างแล้ว
  10. ข้อมูลจากการสนทนากลุ่มในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จังหวัดเชียงใหม่ ม.ค. 2554
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ญาติผู้เสียชีวิต เมษา-พฤษภา 53 เผาโลงหน้า ราบ 1 รอ.

Posted: 12 May 2011 11:37 AM PDT

ญาติผู้เสียชีวิต เรียกร้องทหารให้ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยุติบทบาทการแทรกแซงทางการเมืองรวมทั้งการแสดงท่าทีเคลื่อนไหวกดดันให้เกิด ภาวะสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน วอนเห็นแก่ชีวิตนายทหารชั้นผู้น้อย

12 พฤษภา 2554 เวลา 13.30น. ญาติผู้เสียชีวิตจากการที่เจ้าหน้าทีทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในช่วงเดือน  เมษา-พฤษภา 2553 นำโดย นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ นส.กมลเกด อัคฮาด อาสาสมัครพยาบาล ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พค.53 โดยกลุ่มได้เดินทางโดยรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง 1 คัน มาที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดี รังสิต กรุงเทพ

เมื่อมาถึงบริเวณหน้าประตูทางเข้าทางกลุ่มได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ทหารว่าต้องการมายื่นหนังสือถึงพลตรี กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ โดยให้เหตุผลว่า หน่วยงานดังกล่าวมีหน้าทีในการเข้าสลายการชุมนุมและมีการใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็รวมถึงลูกสาวของตัวด้วย  กลุ่มญาติจึงเลือกที่จะเดินทางมายังที่นี่

ทางกรมทหารราบที่ 1 รอ. ได้ส่งพันตรี ปาติพงศ ศรีสะอาด  ออกมาเจรจาโดยแจ้งต่อผู้ชุมนุมว่าพลตรีกัมปนาท ได้ย้ายไปทำงานที่อื่นไม่ได้ประจำอยู่ที่นี่แล้ว  นางพะเยาว์และคณะจึงได้อ่านข้อเรียกร้องถึงพลตรี กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และผู้บัญชาการทหารจากกรมกองอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ ปี 53 ว่าขอให้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยการยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และขอให้ยุติบทบาทการตบเท้าแทรกแซงทางการเมืองรวมทั้งการแสดงท่าทีเคลื่อนไหวกดดันให้เกิดภาวะสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งจะสร้างความสูญเสียชีวิตของทหารชั้นผู้น้อย ซึ่งก็จะเป็นสร้างความทุกข์ร้อนใจให้กับญาติพี่น้องดังที่พวกตนประสบอยู่  พร้อมทั้งได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ กรมทหารราบที่ 1 รอ.ผ่านไปยัง พลตรี กัมปนาท ต่อไป

ในช่วงนั้นญาติผู้เสียชีวิตบางคนได้พยายามชี้แจงให้เห็นถึงความเดือดร้อนและผลกระทบทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดกับญาติมิตรของผู้ตายและประเทศชาติโดยรวมแต่พันตรี ปาติพงศ์ ได้แสดงอาการนิ่งเฉย ไม่แสดงท่าทีใดๆ

จากนั้นกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจึงได้ทำการเผาโลงศพและดอกไม้จันท์บริเวณประตูทางเข้าแล้วจึงได้เดินทางกลับ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิกร ศรีคำมา: กี่ฤดูเปลี่ยน คดีเสื้อแดงเชียงใหม่(ยัง)ไม่เปลี่ยน

Posted: 12 May 2011 11:23 AM PDT

 
วันเสาร์เวลาบ่ายสาม หันหัวสู้ลมปลิวแรง ทะมึนเมฆถีบเร่งให้ต้องรีบแล่นหนีฝนขึ้นลงเนินเขาคดเคี้ยวลาดชันบนเส้นทางสายเชียงใหม่-เชียงราย ผ่านแยกดอยสะเก็ด ผ่านศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ.. ถึงด่านตำรวจแม่โป่งห่างจากกลางเมืองราว 30 กิโล เลี้ยวขวา..
 
ชายหนุ่มอายุ 29 ในเสื้อสีแดงลายคุ้นตาจอดรถเครื่องรออยู่ที่ปากทางพร้อมลูกสาววัย 4 ขวบ ทักทาย..แล้วตามก้นกันเข้าไปในทางซอยลดเลี้ยวอีกกว่าสิบโลจึงเข้าสู่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน
 
000
 
นิกร ศรีคำมา หนึ่งในจำเลยคดีเสื้อแดงกรณีวันที่ 19 พฤษภา 53 กำลังจะได้กลับไปทำงานรับจ้างตระเวนวางท่อประปาที่เคยทำก่อนหน้าที่จะถูกจับกุมเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ตอนถูกบุกจับเขากำลังก่อไฟต้มน้ำให้ลูกสาวอาบ ผ่านมา 1 ปีหลงคิดว่าคดีสิ้นสุดไปแล้ว แต่เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ เพิ่งได้รับหมายนัดจากศาลพร้อมสำเนาคำอุทธรณ์สดๆ ร้อนๆ โดยพนักงานอัยการโจทก์เห็นว่าโทษยังน้อยเกินไป
 
ด้วยความตื่นตระหนกตามประสาชาวบ้านผู้อยู่ห่างไกลจากคำว่า “รู้กฎหมาย” นิกรโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากทุกทางที่พอจะหวังพึ่งได้ และสับสนในใจว่าจะยังมีโอกาสกลับไปทำงานเพื่อเป็นกำลังหลักหาเลี้ยงครอบครัวได้เหมือนเมื่อก่อนอีกหรือไม่ หรือไม่พ้นจะกลับไปเป็นนักโทษการเมืองอีกแล้ว
 
นิกรตาเสียหนึ่งข้างเนื่องจากอุบัติเหตุรถชนเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ลูกตาเทียมที่ใส่ไว้ตั้งแต่ครั้งผ่าตัดยังไม่เคยได้เปลี่ยน เพียงฝุ่นเข้านิดหน่อยก็จะมีอาการเคืองตา น้ำตาไหลซึมตลอด ขาดามเหล็กสองท่อน ปวดทุกครั้งที่ทำงานหนัก ช่วงนี้ทีมงานขาดคนพอดีจึงถูกเลือกกลับไปทำงานเหมาค่าแรงวางท่อในตัวเมืองสันกำแพง กังวลอยู่ว่าหากไม่ได้ไปคราวนี้ก็อาจจะไม่ได้งานนี้อีกเลย และคงจะหางานอื่นได้ยากเต็มที
 
เมื่อปีก่อนที่ถูกขังระหว่างพิจารณานานเกือบ 5 เดือน กิจการร้านชำของครอบครัวต้องปิดตัวลงเนื่องจากขาดแรงงาน ทำให้ภาระหนี้สินที่เคยมีทวีเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

 

จนเมื่อ 2 ธันวาปีที่แล้ว ศาลตัดสินรอการลงโทษ 2 ปี คุมประพฤติ 1 ปี ปรับ 3,000 บาท เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ โดยการพิจารณาคดีไม่มีการสืบพยานโจทก์ นิกรเล่าว่า ทนายจำเลยแนะให้สารภาพ เพราะมีภาพหลักฐานว่านิกรถือไฟแช้กจุดบุหรี่อยู่ในที่เกิดเหตุ
 
ช่วงที่ได้ประกันตัวตามเงื่อนไขปรองดองโดยมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมเข้ามาจัดการก่อนหน้าวันตัดสินคดีเพียง 3 วัน มีนักข่าวเข้ามาถามว่ารู้สึกอย่างไร นิกรตอบว่า “มันไม่แปลกอะไรซักอย่าง อีกอย่างผมไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์เข้ามาช่วยเหลือผม ญาติผมก็ไม่ได้ขอ ในเมื่อคุณยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผม ผมก็รับ” แต่คำตอบของนิกรส่วนนี้ไม่เคยมีปรากฏในเนื้อข่าว
 
000
 
แม้จะเคยเข้าร่วมฟังปราศรัยหน้าเวทีอยู่บ้าง แต่นิกรเพิ่งร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงอย่างจริงจังเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ไม่ต่างจากมวลชนผู้เรียกร้องต้องการประชาธิปไตยและความเป็นธรรม เขายืนยันว่า “ไม่ได้เกลียดได้ชังอะไรใคร แต่ที่ผมออกมาร่วมต่อต้านกับกลุ่มเสื้อแดงเพราะผมรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้มันทำอะไรที่ไม่ยุติธรรม ผมไม่ชอบ ผมเลยออกมาร่วม”
 
แน่นอนว่าทักษิณคือนายกในดวงใจของชาวบ้านอย่างนิกร ทักษิณคือนายกคนแรกที่ให้โอกาสเขาได้เห็นความเจริญที่จับต้องได้ ความเปลี่ยนแปลงเข้ามาสู่หมู่บ้านรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถนนลาดยางแอสฟัลท์ที่ตัดทับถนนคอนกรีตปนลูกรังหลุมบ่อตั้งแต่ปี 2544 ทำให้ระยะทางที่เคยต้องใช้เวลาครึ่งค่อนวันในการเดินทางย่นเหลือแค่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง กองทุนหมู่บ้าน ระบบสาธารณสุข ฯลฯ เข้ามาพร้อมนักท่องเที่ยวฝรั่ง รีสอร์ท โฮมสเตย์ สวนกาแฟ ฯลฯ หลังรัฐประหารจนกระทั่งปี 53 คนเสื้อแดงอย่างนิกรจึงอยู่ที่สนามหลวง ราชดำเนิน คอกวัว ราชประสงค์ จนถึงเต็มทั่วท้องถนนกรุงเทพฯ ตายบ้าง เจ็บบ้าง ถูกจับบ้าง
 
คนอยู่เมืองหลวงหลายคนอาจไม่มีวันเข้าใจ
 
นิกรกลับขึ้นเชียงใหม่ในวันเดียวกับที่เสธ.แดงตาย จะลงไปชุมนุมที่กรุงเทพก็เป็นไปไม่ได้แล้ว 19 พฤษภาวันที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ป้อมยามหน้าสำนักประชาสัมพันธ์ที่เชียงใหม่ นิกรก็เลยออกจากบ้านพร้อมหนังสะติ๊กคู่มือที่เอากลับมาจากกรุงเทพ ขี่มอเตอร์ไซค์เข้าเมืองไม่สนแม้แม่จะโทรศัพท์มาเตือนว่ามีด่านตำรวจสกัดเสื้อแดง ก็แค่กลับบ้านเปลี่ยนเสื้อสีแดงเป็นเสื้อสีดำ..ก็เท่านั้น
 
000
 
ครอบครัวของนิกรนอกจากลูกสาวและเมียไทลื้อที่ไม่มีบัตรประชาชน ยังมีพ่อแก่อายุ 63 กับแม่เฒ่าอายุ 61 อาการต่อมไทรอยด์อักเสบของแม่เห็นชัดแต่ไกล ลำคอบวมโป่งขนาดใหญ่กว่ากำปั้นรวมกัน พ่อแก่แม่เฒ่าไม่ได้ทำงานอะไร ทำได้แค่เก็บหน่อไม้ขายตามฤดู นิกรกับเมียรับจ้างเก็บเมล็ดกาแฟเป็นช่วงๆ ที่ตำบลเทพเสด็จไกลออกไปอีกกว่า 20 กิโล เก็บได้บ้างไม่ได้บ้าง วันไหนเก็บไม่ได้ก็ไม่ได้เงิน
 
ถึงวันนี้ นิกรยังยืนยันว่า “ไม่มีอะไรเรียกร้องจากรัฐบาล” แต่สำหรับคนเสื้อแดงที่เขาไว้ใจ นิกรอยากให้ช่วยเรื่องอาชีพเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้สินที่สะสมอันเนื่องมาจากช่วงเวลาที่หายไปในเรือนจำ หรือช่วยหาทุนเรียนให้ลูกสาว ส่วนเงินเยียวยาก็คงพอประทังผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง
 
000
 
ขากลับสวนทางกับฝรั่งขี่รถเครื่องหลายคนหลายคัน สังเกตเห็นบ้านหลังใหญ่ราวคฤหาสน์ร่วมสิบหลังระหว่างทางในซอย เราหนีฝนไม่ทัน แต่เปียกแค่นี้ยังน้อยไป.. รำพึงว่า.. นักการเมืองอย่างทักษิณยังติดหนี้คนเสื้อแดงอย่างนิกรอีกมากมายเหลือเกิน..
 
000
 
เช้าวันถัดมา นิกรนั่งซึมร้องไห้อยู่กับบ้าน ฝนตกหนัก.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ความเหมือนที่แตกต่างกลางไฟใต้ ชีวิตไม่เป็นธรรม ทั้ง‘ชุมชนพุทธ – มุสลิม’

Posted: 12 May 2011 11:08 AM PDT

“ไม่ว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเกิดจากฝ่ายไหนก็ตาม ผลกระทบก็ตกอยู่กับชาวบ้านอยู่ดี ทั้งคนไทยพุทธและมุสลิม”

ประโยคนี้มีทั้งข้อพิสูจน์และตัวอย่างแสดงให้เห็น ส่วนหนึ่งคือ จากสรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอจากการรับฟังปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ของชุมชนไทยพุทธและมุสลิม ของคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

เป็นข้อสรุปจากการ ลงพื้นที่อำเภอแม่ลาน และอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ระหว่างวันที่ 27 – 29 มีนาคม 2554 หลังเกิดเหตุโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดในพื้นที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต แล้วตามด้วยเหตุการณ์พระภิกษุ สามเณรถูกทำร้ายจนบาดเจ็บและมรณภาพ

ทั้งสองเหตุการณ์ นำมาซึ่งข้อสงสัยและคำถามขึ้นตามมามากมายในพื้นที่ อย่างเช่นที่ปรากฏในข้อสรุปนี้ ดังนี้

0 0 0 0 0 0

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 ได้เกิดเหตุการณ์โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดบลูกาต่อบู หมู่ที่ 2 ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ถูกคนร้ายนั่งรถกระบะ 4 ประตู ยิงอิหม่ามเสียชีวิต แล้วคนร้ายได้ขับรถหายเข้าไปในวัดโพงพาง

หลังจากนั้นได้มีใบปลิวระบุว่า หากมีผู้นำศาสนาอิสลามถูกทำร้าย หรือถูกทำให้เสียชีวิต พระภิกษุ สามเณร และครูก็จะถูกกระทำเช่นกัน

ต่อมาก็ได้เกิดเหตุการณ์พระภิกษุ สามเณร วัดศรีมหาโพธิ์ ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ได้ถูกทำร้ายในขณะที่ออกบิณฑบาต จึงทำให้เกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ และเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับผู้กระทำผิดได้

ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2554 คณะสงฆ์จังหวัดปัตตานี ได้มีแถลงการณ์กรณีการลอบยิงพระภิกษุและสามเณร วัดศรีมหาโพธิ์เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 13 ข้อ

จากกรณีข้างต้น คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้เดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าว ระหว่างวันที่ 27 – 29 มีนาคม 2554 เพื่อเข้าไปรับฟังปัญหา รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อพี่น้องชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่

1. ชุมชนชาวไทยมุสลิม ตำบลปากล่อ 2. ชุมชนชาวไทยพุทธ ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และ 3. ชุมชนชาวไทยพุทธ ตำบลวัดป่าสวย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

ทั้งนี้ เพื่อจะได้ประสานการดำเนินการหรือการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. การเยี่ยมชุมชนชาวไทยมุสลิม ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

ปัญหา

  1. กรณีอิหม่ามเจ๊ะอาลี จิยิมะ ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปประชุมอิหม่ามประจำเดือน ชาวบ้านมีความสะเทือนใจและรู้สึกเสียใจอย่างมาก รวมทั้งสงสัยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่
  2. คดีไม่มีความชัดเจน กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปสำนวนว่า เป็นการกระทำของ “โจร” หรือ “ผู้ก่อการร้าย” แต่ส่วนใหญ่ก็จับไม่ได้แล้วก็งดสอบสวน ชาวบ้านจึงยิ่งสงสัยว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดแน่ และไม่เห็นความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของฝ่ายรัฐ
  3. เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้สัญญาแล้วไม่ปฏิบัติตาม ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง เช่น กรณีถูกเชิญตัวไปซักถามในฐานะเป็นผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะควบคุมตัวไว้ประมาณ 3 วัน แล้วจะปล่อยตัว แต่เมื่อไปถึงหน่วยที่ซักถามแล้วกลับควบคุมตัวไว้เป็นเวลา 2 เดือน
  4. การพิจารณาคดีล่าช้า ทำให้ผู้ต้องหารู้สึกหวาดกลัวและตกเป็นเป้าของฝ่ายเจ้าหน้าที่เช่น กรณีของผู้ต้องหารายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ตนเป็นผู้ต้องหาคดีลอบวางระเบิดร้านอาหารคาราโอเกะแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ขณะนี้อยู่ระหว่างได้รับการประกันตัว ศาลนัดสืบพยานในปี 2555
    • ผู้ต้องหารายนี้ แจ้งว่า ตนเป็นผู้บริสุทธิ์มีพยานยืนยันได้ ขณะนี้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ก็รู้สึกหวาดระแวงและหวาดกลัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามหรือมาสอดส่องที่บ้านอยู่บ่อยๆ ทำให้รู้สึกว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย
  5. กำลังพลทหารที่เข้ามาประจำในพื้นที่ซึ่งเข้ากับชาวบ้านได้ แล้วก็ถูกย้ายออกไปโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรอยต่อระหว่างการสับเปลี่ยนกำลังพลของฝ่ายทหาร ส่วนใหญ่จะจัดหน่วยทหารพราน (ชุดดำ) เข้ามาประจำในพื้นที่ในระหว่างรอกำลังพลชุดใหม่ ชาวบ้านจะกลัวมาก ไม่สบายใจและไม่ยอมรับทหารพรานชุดดังกล่าว
  6. กองกำลังทหารที่เข้าไปตั้งหน่วยอยู่ในสวนยางพารา ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปกรีดยาง เพราะกลัวทหาร โดยเฉพาะถ้าเป็นหน่วยทหารพรานชาวบ้านจะกลัวมาก
  7. การปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ระดับยศตั้งแต่ร้อยโทและร้อยตำรวจโทขึ้นไป จะไม่มีปัญหากับชาวบ้าน แต่ในระดับผู้ปฏิบัติต่ำกว่ายศดังกล่าว จะสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านมาก

ข้อเสนอชาวบ้าน

  1. การแก้ไขปัญหา หากรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านก็จะทำให้ปัญหาต่างๆ ยุติได้
  2. ต้องการให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านระแวงไปมากกว่านี้ และช่วยหาแนวทางแก้ไขว่า ทำอย่างไรไม่ให้ชาวบ้านสะเทือนใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และชาวบ้านยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
  3. ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นชาวบ้าน เชื่อว่าเป็นการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ทำอย่างไรจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และทำให้ความจริงปรากฏ เพื่อลดความขัดแย้ง
  4. สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดคือ มีชีวิตที่ปกติสุขเหมือนเดิมและไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น

 

2. การเยี่ยมชุมชนชาวไทยพุทธ ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

ปัญหา

  1. กรณีพระภิกษุและสามเณรวัดศรีมหาโพธิ์ที่ถูกทำร้าย ยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างจริงจัง
    • กรณีสามเณรสกล เสมสรรค์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส โรงพยาบาลปัตตานีทำการรักษาเพียง 21 วัน แล้วให้กลับบ้านทั้งที่อาการยังไม่ดีขึ้น
    • กรณีพระสุชาติ อินทร์ทันแก้ว ได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐเป็นเงิน 50,000 บาท แต่ญาติของพระสุชาติฯ เห็นว่า ผู้บาดเจ็บรายอื่นได้รับเงินเยียวยา 80,000 บาทจึงต้องการทราบว่าเงินเยียวยาหายไปได้อย่างไรอีก 30,000 บาท
    • การเยียวยา ภาครัฐไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น การคุ้มครองพระบิณฑบาตหรือคุ้มครองชาวบ้านที่นำอาหารมาถวายพระ ในกรณีที่พระไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ จะทำเพียง 1 เดือน หลังจากนั้นก็ไม่ดำเนินการอีก เป็นต้น
    • ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทหารไม่เคยเข้ามาดูแลที่วัดนี้เลย
    • เมื่อพระสงฆ์เดินทางไปในที่ต่าง ๆ ตามที่รับกิจนิมนต์ก็จะถูกล้อเลียน ซึ่งแต่เดิมไม่เคยเกิดเรื่องในลักษณะนี้
  2. ปัญหากลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่
    • หน่วยงานของรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่
    • ถูกข่มขู่ห้ามทำกินหรือประกอบอาชีพในวันศุกร์ มิฉะนั้นจะถูกทำร้าย เมื่อมีการฝ่าฝืนก็จะมีผู้ถูกทำร้ายจริงๆ นอกจากนี้ การออกไปกรีดยางจะถูกรังแก ถูกข่มขู่ทำร้ายรายวัน และข่มขู่ซื้อที่ดิน
    • ไม่สามารถประกอบพิธีทางศาสนาพุทธได้ตามเวลาปกติ เช่น การสวดพระอภิธรรมศพ ในเวลาบ่ายสามโมง และการเวียนเทียนวันมาฆบูชาในเวลาก่อนค่ำ เป็นต้น
    • กลุ่มโจรที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร 3 วัน แล้วถูกปล่อยตัวออกมา ชาวบ้านไม่กล้าให้ข้อมูลกับทางราชการว่า คนที่ถูกปล่อยออกมาเป็นผู้กระทำผิดจริง เนื่องจากกลัวว่าจะไม่มีความปลอดภัย
    • สถานที่ราชการต่างๆในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ ฯลฯ จัดที่ละหมาดให้กับมุสลิม แต่ไม่จัดที่พักสำหรับพระสงฆ์
    • ศอ.บต.จัดแต่กิจกรรมให้กับเด็กมุสลิม และจัดกิจกรรมในลักษณะแบ่งแยกพุทธกับมุสลิมไม่ให้จัดรวมกัน จึงทำให้เกิดปัญหาความแตกแยก
    • การสอบเข้ารับราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องพูดภาษามลายูได้ ทำให้คนไทยพุทธถูกลิดรอนสิทธิในการเข้ารับราชการ
  3. มีบุคคลหลายกลุ่มที่ไม่ต้องการให้เกิดความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อผลประโยชน์บางอย่างของแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนายทุน และกลุ่มสื่อ เป็นต้น

ข้อเสนอของชาวบ้าน

  1. ภาครัฐไม่ควรจัดกิจกรรมที่แบ่งแยกระหว่างชาวไทยพุทธ มุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งทางด้านศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี
  2. อยากให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาใกล้ชิดกับปัญหาให้มากขึ้น และช่วยประสานงานในเรื่อง ดังนี้
    • การเยียวยาความเสียหายควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
    • การประสานการคุ้มครองความปลอดภัยของพระสงฆ์และการปฏิบัติศาสนกิจ และกรณีที่ชาวไทยพุทธถูกข่มขู่ คุกคาม
  3. ควรมีการรับฟังปัญหาของชาวบ้าน ก่อนที่จะมีการออกนโยบายหรือคำสั่งใดๆ ในการแก้ไขปัญหา โดยจัดเวทีพูดคุยและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาขึ้นไปตามลำดับชั้น ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านขึ้นไปถึงระดับหน่วยงานและรัฐบาล
  4. ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ช่วยดำเนินการตามแถลงการณ์ข้อ 10 ของคณะสงฆ์จังหวัดปัตตานี ได้แก่ ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ช่วยเยียวยาและเข้ามาช่วยเหลือด้านการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกันของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ ที่ได้รับความเดือดร้อนและถูกทำร้ายรายวันด้วย
  5. ควรทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนชาวไทยพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันได้ โดยการใช้หลักศาสนวิถี คือ หมู่บ้านสองวิถีที่ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ เช่น หมู่บ้านท่าแรด อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

3. การเยี่ยมชุมชนชาวไทยพุทธที่โรงเรียนบ้านป่าสวย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

ปัญหา

  1. การยกเลิกพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แล้วถอนหน่วยทหารออกไปโดยไม่ประสานกับอำเภอ เพื่อจัดหน่วยเข้ามาดูแลชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านวิตกกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น การเดินทางออกไปทำกินมีอันตราย โดยเฉพาะผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนตร์จะมีกลุ่มชายฉกรรจ์มาดักรอระหว่างทางและตามประกบยิง เป็นต้น
  2. การให้ความช่วยเหลือของภาครัฐโดยไม่สอบถามความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน เช่น ศอ.บต.นำพันธุ์ข้าวนาปรังมาแจกให้กับชาวบ้าน ทั้งที่ชาวบ้านทำนาปี ซึ่งพันธุ์ข้าวจะแตกต่างกัน และชาวบ้านต้องการปุ๋ยมากกว่าพันธุ์ข้าว เป็นต้น
  3. พื้นที่อำเภอแม่ลานเป็นที่หลบซ่อนหรือที่พักพิงของกลุ่มผู้ก่อการร้าย
  4. ภาครัฐให้สิทธิของคนไทยพุทธไม่เท่าเทียมกับมุสลิม เช่น การสอบเข้ารับราชการโดยกำหนดว่าต้องพูดภาษายาวีได้ ไทยพุทธจึงไม่มีสิทธิเข้ารับราชการ หรือการรับสมัครคนเข้าทำงานโรงพยาบาล อำเภอ หรือการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ก็จะรับแต่ชาวไทยมุสลิม ทำให้คนไทยพุทธหางานทำยาก
  5. หลังจากมีเหตุการณ์ระเบิดหรือไฟไหม้ จะมีมุสลิมเข้ามาขอซื้อร้านหรือกิจการ ชาวบ้านมองว่าเป็นการข่มขู่คุกคาม ซึ่งเรื่องในลักษณะดังกล่าวจะมีเป็นจำนวนมาก
  6. การดำเนินคดีในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่มีความคืบหน้าและจะยุติการดำเนินคดีที่สถานีตำรวจหรืออำเภอ
  7. ถนนทางเข้าหมู่บ้านเป็นหลุม เป็นบ่อ ขรุขระ ทำให้เข้าออกไม่สะดวก นอกจากนี้ ถนนสาย 410 หากไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำเส้นทางดังกล่าว บุคคลที่ผ่านไปมาก็จะตกเป็นเป้าถูกทำร้าย

ข้อเสนอของชาวบ้าน

  1. กรณีการยกเลิกพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หน่วยงานของรัฐ ควรมีการสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับชุมชนในทุกขั้นตอน ก็จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ควรมีการเปิดพื้นที่หรือจัดเวทีให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาของชุมชนหรือท้องถิ่นในทุกระดับ โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พ.ร.บ.ติดดาบให้ กมธ.สภา มีผลบังคับใช้ เรียกไม่ไปโทษจำคุก 3 เดือน

Posted: 12 May 2011 10:52 AM PDT

12 พ.ค.54 พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจกรรมาธิการในการเรียกเอกสารและเชิญบุคคลเข้าชี้แจง ซึ่งหากไม่มาจะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากเป็นข้าราชการจะมีโทษทางวินัยพ่วงด้วย โดยมีรายละเอียดในมาตราสำคัญ ดังนี้

มาตรา 6 ในการดำเนินกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่ของคณะกรรมาธิการเรื่องใด หากคณะกรรมาธิการมีมติให้เรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาให้คณะกรรมาธิการมีหนังสือขอให้บุคคลนั้นส่งเอกสาร หรือเชิญบุคคลนั้นมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการภายในเวลาที่คณะกรรมาธิการกำหนด

มาตรา 8 บุคคลที่ได้รับหนังสือขอให้ส่งเอกสาร หรือเชิญมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นไม่จัดส่งเอกสาร หรือไม่มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น ให้คณะกรรมาธิการออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลนั้นหรือเรียกบุคคลนั้นมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นด้วยตนเองต่อคณะกรรมาธิการ โดยอาจขอให้บุคคลนั้นนำเอกสาร หรือวัตถุที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้

ในการออกคำสั่งเรียกตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมาธิการต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คำสั่งเรียกตามวรรคหนึ่งต้องระบุเหตุแห่งการเรียก ประเด็นข้อซักถามที่เกี่ยวข้องตามสมควร และโทษของการฝ่าฝืนคำสั่งเรียก

มาตรา 13 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยด้วยมาตรา 14

ผู้ใดส่งเอกสารหรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมาธิการซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 15 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 16 เมื่อมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ประธานคณะกรรมาธิการมีหนังสือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านแม่เมาะยื่นหนังสือ ปธ.ศาลปกครองสูงสุด

Posted: 12 May 2011 10:43 AM PDT


ชาวบ้านแม่เมาะ บุกยื่นหนังสือต่อประธานศาลปกครองสูงสุด
วอนช่วยเร่งรัดคดีอุทธรณ์ของโรงไฟฟ้า กฟผ.แม่เมาะ

วันนี้ (12 พ.ค.54) ที่สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ. ลำปาง ประมาณ 15 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดการพิจารณาคดีที่ชาวบ้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพจากการแพร่กระจายของมลพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีนายเสริมพงษ์ รัตนะ เจ้าหน้าที่ศาลปกครองชำนาญการพิเศษ ผอ. ศูนย์บริหารจัดการคดีปกครอง สำนักประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียนพร้อมนำเสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุดทันที

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า คณะทำงานจากสภาทนายความได้รับมอบจากกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแพร่กระจายของก๊าซพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ. ลำปาง ให้ฟ้องคดีมาตั้งแต่ปี พ.ศ 2546 โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ จากกรณีที่กฟผ.ได้ปล่อยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมาจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า และจากการสันดาปกันของถ่านหินลิกไนต์ในเหมืองและกระบวนการเก็บ การขนส่งและขนถ่ายในพื้นที่จนเป็นเหตุให้ชาวบ้าน สัตว์เลี้ยงและพืชพรรณในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จนในที่สุดศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2552 สั่งให้กฟผ.จ่ายค่าชดเชยและเยียวยาให้กับชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งหมด ซึ่ง กฟผ.ก็น้อมรับคำตัดสินดังกล่าวและเจรจากับชาวบ้านว่าจะไม่อุทธรณ์คดีเพื่อให้เรื่องดังกล่าวจบสิ้นโดยเร็ว แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 52 ทางบอร์ด กฟผ. กลับมีมติที่จะยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งปัจจุบันคดีดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า แม้การต่อสู้คดีจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายมาตั้งปีพ.ศ.2546 จน มาถึงปัจจุบันกว่า 9 ปีแล้ว แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏพบว่า ยังมีชาวบ้านหลายรายเจ็บป่วยจากสาเหตุของการแพร่กระจายมลพิษจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบว่ามีชาวบ้านที่เป็นผู้ร่วมฟ้องคดีได้เสียชีวิตไปหลายรายก่อนที่จะได้รับการเยียวยา ในระหว่างรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่ง กฟผ.ที่เป็นผู้ก่อเหตุก็ไม่ได้มาเอื้ออาทรหรือช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลแต่อย่างใด เพราะต้องรอคำพิพากษาของศษลปกครองสูงสุดอยู่ ดังนั้นชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งหลายจึงทนสภาพรอคอยไม่ไหวแล้ว จึงได้เดินทางมาขอความเมตตาจากประธานศาลปกครองสูงสุด ให้พิจารณาเร่งรัดให้ตุลาการเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะที่รับผิดชอบในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาออกมาโดยเร็ว เพื่อที่จะได้ใช้เป็นเหตุให้ กฟผ. เร่งรัดดำเนินการจ่ายเงินค่าชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ตามแนวคำพิพากษาของศาลปกครองต่อไป ซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ได้บัญญัติให้การคุ้มครองไว้ว่าคดีของชาวบ้านจะได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม เพราะความล่าช้าถือว่า “ไม่เป็นเป็นธรรม” ด้วย นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สมศักดิ์ โกศัยสุข" ยันพรรคการเมืองใหม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. 21 จังหวัด

Posted: 12 May 2011 10:27 AM PDT

ชี้ความแยกแยกเกิดจาก "ปัจจัยภายนอก" แต่จะมากำหนดทิศทางพรรคไม่ได้ ถ้าพรรคร่วม "โหวตโน" พรรคก็ผิดกฎหมาย ด้านสมาชิกพรรคเล็งล่าชื่อถอดถอนสมศักดิ์ออกจากหัวหน้าพรรค ส่วน "สุริยะใส" โต้เรื่องส่ง ส.ส. เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวของสมศักดิ์และกรรมการพรรคบางคน ยันกรรมการเสียงข้างไม่มีมติส่ง ส.ส.

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวานนี้ (12 พ.ค.) นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ แถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรค ถ.พระสุเมรุ โดยยืนยันว่าพรรคจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครั้งนี้แน่นอน ทั้งแบบสัดส่วน และแบบแบ่งเขต เพราะกระบวนการของพรรคได้ดำเนินการมาตลอด ที่ผ่านมามีปัญหากับแกนนำพันธมิตรฯ ชี้นำไม่ให้ดำเนินการทางการเมือง ซึ่งถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของการตั้งพรรคการเมือง ตามมาตรา 4 กำหนดไว้ว่าการตั้งพรรคการเมืองต้องมุ่งมีเจตนาที่จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และพรรคได้เตรียมการทำงานแต่ละภาคแต่ชุดไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะส่งผู้สมัครที่ได้เสนอตัวเข้ามามีทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แพร่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ภาคตะวันตก เช่น เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ภาคใต้ เช่น สุราษฐ์ธานี ภูเก็ต กระบี่ พังงา ภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี ตราด กทม. และปริมณฑล รวม 21 จังหวัด สมัครเป็นประเภทแบ่งเขต สำหรับแบบสัดส่วน กรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคต้องลง และมีอีกหลายคนที่พร้อมลงเลือกตั้งแล้วจะเปิดตัวเป็นทางการอีกครั้งหลังจากเอาบัญชีสัดส่วนไปยื่นต่อ กกต.วันที่ 19 พ.ค.นี้

ส่วนความแตกแยกที่เกิดขึ้นในพรรคมาจากปัจจัยภายนอกซึ่งจะมากำหนดทิศทางของพรรคไม่ได้ เพราะพรรคต้องทำกฎหมาย ไม่อย่างนั้นหากถูกสั่งการได้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เช่น การรณรงค์ไม่ให้มีการเลือกตั้งหรือโหวตโน หากพรรคไปทำอย่างนั้นพรรคก็ผิดกฎหมาย ส่วนที่จะแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ มายื่นถอดถอนและขับไล่ ไม่วิตกกังวล หากต่อสู้ตามข้อเท็จจริงของกฎหมาย พร้อมยืนยันว่าการส่งผู้สมัครเป็นมติของพรรคที่เคยประชุมมาก่อนหน้านี้ซึ่งกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่เห็นชอบ

หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่กล่าวถึงที่ตั้งที่ทำการพรรคการเมืองใหม่ว่า ตอนนี้ยังอยู่ที่นี่ไปก่อน แต่กำลังจะย้ายไปที่ใหม่เพราะค่าเช่าเดือนละ 2.8 แสนบาท ซึ่งได้ชำระหนี้ไปเกือบสิบกว่าล้านบาทแล้ว การตั้งพรรคไม่จำเป็นต้องมีที่มาก สำหรับนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรค และนายสำราญ รอดเพชร โฆษกพรรค ตอนนี้ยังอยู่แต่ไม่ทราบอนาคตเป็นอย่างไร ทั้งสองคนออกมาบอกว่าต้องการดำเนินการไม่ให้ส่งผู้สมัคร ซึ่งไปพูดเพื่อทำลายพรรค และนายสุริยะใสเองยังค้างเงินพรรคอีก 6 แสนกว่าบาทไปขายบัตรระดมทุนเข้าพรรค แต่ไม่เอาเงินมาเข้าพรรค ตนได้ให้รายงาน กกต.ทราบแล้ว นี่เป็นประเด็นปัญหาที่ไม่ยืนอยู่บนความถูกต้องมาตลอด จนแกนนำพันธมิตรฯ ออกมารณรงค์โหวตโนคืออะไรเพราะไม่ต้องการให้มีเลือกตั้ง หลังจากทหารบอกไม่มีปฏิวัติ และเลือกตั้งแล้วจะไปประท้วงกันอีกมันคือระบบอะไร ซึ่งเราไม่เชื่อมั่นระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ยังรายงานด้วยวา ในส่วนเจ้าหน้าที่สำนักงานพรรคได้ปรับเปลี่ยนบุคลากรใหม่ทั้งหมดโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ชุดของนายสุริยะใสมานั่งทำงานเลย และระหว่างที่แถลงข่าวได้มีแนวร่วมพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ ราว 30 คน ในนามกลุ่มรักการเมืองใหม่ มาชุมนุมบริเวณหน้าที่ทำการพรรคเพื่ออ่านแถลงการณ์ขับไล่นายสมศักดิ์ออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคด้วย พร้อมกับตะโกนขับไล่และให้คืนพรรคให้กับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวเปิดเผยว่า ได้เตรียมล่ารายชื่อสมาชิกพรรคการเมืองใหม่เพื่อยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์ โดยจะตั้งโต๊ะให้สมาชิกลงชื่อที่บริเวณสะพานมัฆวานฯ ตั้งเป้าให้ได้ 1,500 รายชื่อ คือเป็น 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 15,000 คน

ล่าสุด นายสุริยะใสได้เขียนข้อความผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า “พรรคการเมืองใหม่แถลงเตรียมส่งผู้สมัคร ส.ส. เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวของคุณสมศักดิ์ และ กก.บห.บางคน เพราะ กก.บห.เสียงข้างมากยังยืนยันไม่เคยมีมติส่งผู้สมัคร และก็ไม่เคยมีการประชุม กก.คัดเลือกผู้สมัคร ตามมาตรา 37 และ 38 พ.ร.บ.พรรคการเมือง ผมและ กก.บห.เสียงข้างมากจะทำหนังสือถึง กกต.เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง ใครไปยื่นสมัครในนามพรรคก็ถือว่าโมฆะครับ”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: นายก อบต.ปูด เอสอีเอ 'โปแตช' ไม่เป็นกลาง

Posted: 12 May 2011 10:09 AM PDT

อุดรธานี : วันนี้ (12 พ.ค.) เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยสามพาด นายประจักษ์ อุดชาชน นายก อบต. ห้วยสามพาด ได้เปิดเวทีชี้แจงข้อมูล จากการที่ได้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นต่อร่างขอบเขตการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โครงการพัฒนาเหมืองแร่โปแตช ร่วมกับหน่วยงานราชการ นักวิชาการ ผู้นำชุมชน และบริษัทผู้ขอสัมปทาน ฯลฯ ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรมให้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ห้วยสามพาด และตำบลใกล้เคียงในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ได้เข้าร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนซักถามถึงความคืบหน้าของการจัดทำเอสอีเอ โครงการเหมืองแร่โปแตช โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน


นายประจักษ์ อุดชาชน นายก อบต. ห้วยสามพาด

ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดทำเอสอีเอ โครงการเหมืองแร่โปแตช โดยนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดี กพร. เป็นประธาน ภายใต้กรอบระยะเวลา 1 ปี คือ เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 – ตุลาคม 2554 ด้วยงบประมาณดำเนินงานจำนวน 10 ล้านบาท

โดยนายประจักษ์ กล่าวกับชาวบ้านที่มาร่วมรับฟังว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้จัดการประชุมเพื่อดำเนินการเอสอีเอ โครงการเหมืองแร่โปแตชมาแล้วหลายครั้ง และก็มีโอกาสได้เข้าร่วมใน 2 ครั้งล่าสุด คือเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ และ 27 เมษายน ที่ผ่านมา จึงคิดว่าในฐานะเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้ไปรับฟังข้อมูล และได้เป็นปากเป็นเสียงพูดแทนชาวบ้าน จึงอยากนำข้อมูลที่ได้มาบอกต่อกับพี่น้องให้รับทราบ พร้อมกับมีเอกสารมาแจก เพื่อให้พี่น้องได้ไปศึกษา

“ผมยอมรับว่ามีข้อมูลน้อยมากที่จะไปพูดแทนพี่น้อง แต่ก็ได้พยายามศึกษาค้นคว้าจากที่ต่างๆ และก็เสียดายว่าไม่มีตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์ฯ เข้าร่วม เพื่อไปให้ข้อมูลอีกด้าน ทัดทานข้อมูลในเวทีที่มีนักวิชาการ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นำเสนอ ซึ่งในครั้งต่อไปผมก็อยากจะชวนให้ไปร่วมด้วย หรือใครมีข้อเสนออะไรจะฝากกับผมก็ยินดี”

นายก อบต.ห้วยสามพาด ยังกล่าวอีกว่า “สังเกตได้ว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ไม่มีความเป็นกลาง เพราะโดยบทบาทแล้วกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นหน่วยงานที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทหรือผู้ประกอบการ ซึ่งผมเคยทำงานบริษัทเอกชนมาก่อน ผมรู้ดี ว่ามันเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ก็เห็นว่าเวทีดังกล่าวเป็นโอกาสอันดีที่หลายฝ่ายได้มาพูดคุยระดมความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อจะได้เป็นแนวทางปฏิบัติ และทั้งหมดก็มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีใครสามารถบิดเบือนได้” นายประจักษ์กล่าว

ด้านนางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ ไม่ร่วมทำเอสอีเอ โครงการเหมืองแร่โปแตช ของ กพร.อย่างแน่นอน เพราะไม่มีความเป็นกลาง ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กพร. เป็นผู้มีหน้าที่อนุญาตประทานบัตรให้กับบริษัทโปแตช ลงทำการปักหมุดรังวัดในพื้นที่ จนเหตุการณ์ปะทะ ขับไล่ และสร้างความแตกแยกให้กับชุมชน

“กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เสนอมาตลอดว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชต้องทำเอสอีเอก่อน โดยให้ตั้งคณะทำงานที่มีความเป็นอิสระ และเป็นกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับ โดยมีทั้งส่วนราชการ นักวิชาการ บริษัท และชาวบ้าน มาศึกษาร่วมกัน เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรก็ค่อยมาว่ากัน ส่วนเหมืองโปแตชอุดรฯ ก็ต้องยุติกระบวนการประทานบัตรไว้ก่อน แต่ กพร.ไม่ยอมรับฟัง จะเดินหน้าอย่างเดียว ชาวบ้านจึงไม่ยอมรับ” นางมณีกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายก อบต.ปูด "เอสอีเอ" โครงการเหมืองโปแตช ไม่เป็นกลาง

Posted: 12 May 2011 09:54 AM PDT

นายก อบต.ห้วยสามพาด เผยผลร่วมประชุมระดมความคิดเห็นต่อร่างขอบเขตการศึกษา และเอสอีเอโครงการเหมืองแร่โปแตช ไม่มีตัวแทนไปให้ข้อมูลอีกด้านกับของ กรพ. ด้านกลุ่มอนุรักษ์แจงไม่ร่วมเวที เหตุไม่มีความเป็นกลาง

 
วันนี้ (12 พ.ค.54) เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยสามพาด นายประจักษ์ อุดชาชน นายก อบต.ห้วยสามพาด ได้เปิดเวทีชี้แจงข้อมูล จากการที่ตนได้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นต่อร่างขอบเขตการศึกษา และประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) โครงการพัฒนาเหมืองแร่โปแตช ร่วมกับหน่วยงานราชการ นักวิชาการ ผู้นำชุมชน และบริษัทผู้ขอสัมปทาน ฯลฯ ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ห้วยสามพาด และตำบลใกล้เคียงในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ได้เข้าร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนซักถาม ถึงความคืบหน้าของการจัดทำเอสอีเอ โครงการเหมืองแร่โปแตช โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน
 
ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ในการจัดทำ เอสอีเอ โครงการเหมืองแร่โปแตช โดยนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดี กพร. เป็นประธาน ภายใต้กรอบระยะเวลา 1 ปี คือ เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 – ตุลาคม 2554 ด้วยงบประมาณดำเนินงานจำนวน 10 ล้านบาท
 
โดยนายประจักษ์ กล่าวกับชาวบ้านที่มาร่วมรับฟังว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้จัดการประชุมเพื่อดำเนินการเอสอีเอ โครงการเหมืองแร่โปแตช มาแล้วหลายครั้ง และตนก็มีโอกาสได้เข้าร่วมใน 2 ครั้งล่าสุด คือเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ และ 27 เมษายน ที่ผ่านมา จึงคิดว่าในฐานะเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้ไปรับฟังข้อมูล และได้เป็นปากเป็นเสียงพูดแทนชาวบ้าน จึงอยากนำข้อมูลที่ได้มาบอกต่อกับพี่น้องให้รับทราบ พร้อมกับมีเอกสารมาแจก เพื่อให้พี่น้องได้ไปศึกษา
 
“ผมยอมรับว่ามีข้อมูลน้อยมาก ที่จะไปพูดแทนพี่น้อง แต่ก็ได้พยายามศึกษาค้นคว้า จากที่ต่างๆ และก็เสียดายว่าไม่มีตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์ฯ (กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี) เข้าร่วม เพื่อไปให้ข้อมูลอีกด้าน ทัดทานข้อมูลในเวที ที่มีนักวิชาการ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นำเสนอ ซึ่งในครั้งต่อไปผมก็อยากจะชวนให้ไปร่วมด้วย หรือใครมีข้อเสนออะไรจะฝากกับผมก็ยินดี”
 
นายก อบต.ห้วยสามพาด ยังกล่าวอีกว่า “สังเกตได้ว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ไม่มีความเป็นกลาง เพราะโดยบทบาทแล้วกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นหน่วยงานที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัท หรือผู้ประกอบการ ซึ่งผมเคยทำงานบริษัทเอกชน มาก่อน ผมรู้ดี ว่ามันเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ก็เห็นว่าเวทีดังกล่าวเป็นโอกาสอันดีที่หลายฝ่ายได้มาพูดคุยระดมความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อจะได้เป็นแนวทางปฏิบัติ และทั้งหมดก็มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีใครสามารถบิดเบือนได้” นายประจักษ์กล่าว
 
ด้านนางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ ไม่ร่วมทำเอสอีเอ โครงการเหมืองแร่โปแตช ของ กพร.อย่างแน่นอน เพราะไม่มีความเป็นกลาง ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กพร. เป็นผู้มีหน้าที่อนุญาตประทานบัตรให้กับบริษัทโปแตช ลงทำการปักหมุดรังวัดในพื้นที่ จนเหตุการณ์ปะทะ ขับไล่ และสร้างความแตกแยกให้กับชุมชน
 
“กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เสนอมาตลอดว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชต้องทำ เอสอีเอ ก่อน โดยให้ตั้งคณะทำงานที่มีความเป็นอิสระ และเป็นกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับ โดยมีทั้งส่วนราชการ นักวิชาการ บริษัท และชาวบ้าน มาศึกษาร่วมกัน เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรก็ค่อยมาว่ากัน ส่วนเหมืองโปแตชอุดรฯ ก็ต้องยุติกระบวนการประทานบัตรไว้ก่อน แต่ กพร.ไม่ยอมรับฟัง จะเดินหน้าอย่างเดียวชาวบ้านจึงไม่ยอมรับ” นางมณีกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สุเทพ" โวย "เพื่อไทย" ไม่เป็นประชาธิปไตย มีทั้งกองกำลังติดอาวุธและไม่ติดอาวุธ

Posted: 12 May 2011 09:31 AM PDT

อ้างมีการฝึกในประเทศเพื่อนบ้าน และเตรียมส่งเข้าไทยทุกเวลา แนะคนเสื้อแดงยกระดับจิตใจให้สูงเทียบมาตรฐานโลกหน่อย ส่วนกรณีจตุพร-นิสิตถูกถอนประกัน ก็ให้แกนนำเสื้อแดงไปพิสูจน์ความถูกผิดในศาล ลั่นรัฐบาลนี้ใช้ระบบยุติธรรม ไม่เหมือนรัฐบาลก่อนที่ใช้ระบบอุ้มฆ่า

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (12 พ.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวกรณีศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนประกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายนิสิต สินธุไพร สองแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงว่า คนเหล่านี้เป็นผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีและขอประกันตัว ซึ่งศาลก็กำหนดเงื่อนไขว่าให้ปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง เมื่อปฏิบัติไม่ได้ ฝ่าฝืนเงื่อนไขในข้อห้ามที่ศาลกำหนด ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ศาลจะพิจารณาถอนประกัน

ส่วนสถานการณ์หลังจากควบคุมตัวนั้น คิดว่าถ้าทุกคนเคารพกฎหมายบ้านเมือง เคารพกติกาสังคม ก็ไม่ต้องสร้างเหตุให้วุ่นวาย เพราะไม่ได้หมายความว่าถ้าถอนประกันแล้วจะเป็นที่สิ้นสุดของคดีความ เพราะยังสามารถต่อสู้คดีได้ แต่ถ้าลุแก่อำนาจ เห็นว่าพวกมากมีอิทธิพลมาก ก่อกวนความสงบ คนที่เคารพกฎหมายบ้านเมืองก็รับไม่ได้ ก็ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า คำสั่งถอนประกันจะส่งผลกับการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า เรื่องการชุมนุมใหญ่นั้นหยุดไปได้แล้ว พรรคเสื้อแดงก็ลงรับสมัครรับเลือกตั้ง วันนี้ก็ได้หัวหน้าแล้ว จะได้ผู้นำแล้ว ควรจะเอาสักทาง แต่ถ้าลงสมัครแข่งขันด้วย เอาคนปลุกระดม เอากองกำลังติดอาวุธด้วย มันก็ไม่ไหว ประชาธิปไตยไม่ใช่อย่างนั้น ยกระดับชีวิตจิตใจตัวเองให้สูงขึ้นมาตรฐานโลกหน่อย

ส่วนที่กลุ่มเสื้อแดงอ้างว่าแกนนำไม่ได้ขึ้นเวทีด้วย นายสุเทพกล่าวว่า ให้เขาไปพิสูจน์ความถูก-ผิดในศาล ระบบรัฐบาลนี้ใช้ระบบยุติธรรม ไม่เหมือนรัฐบาลก่อนที่ใช้ระบบอุ้มฆ่า ไม่เปิดโอกาสให้ต่อสู้เลย

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้ามีพรรคการเมืองใช้เวทีคู่ขนานทั้งใน-นอกสภาด้วยจะเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ไม่ใช่มาตรฐานสากล ไม่มีประเทศไหนในโลกที่พรรคการเมืองแข่งกันและมีกองกำลังทั้งติดอาวุธ และไม่ติดอาวุธมาสนับสนุนข่มขู่ประชาชน อย่างนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังเชื่อว่ามีกองกำลังติดอาวุธอยู่ใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ยังต้องพิสูจน์กันอีกหรือ ก็เห็นยังเคลื่อนไหวกันอยู่ ยังคึกคักกันอยู่ ยังฝึกอบรมในประเทศเพื่อนบ้าน ยังเตรียมที่จะส่งเข้ามาได้ทุกเวลา บางส่วนส่งเข้ามาก็จับกลุ่มกันได้แล้ว ยังสงสัยอะไรอยู่ สำนวนก็อยู่ที่ตำรวจอยู่แล้ว

ต่อข้อถามว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกประเทศที่จะเข้ามาทำลายการเมืองในประเทศ ยืนยันว่ายังมีอยู่และพร้อมที่จะเข้ามาตลอดเวลาใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า จะไปยืนยันแทนไมได้ แต่จากข้อมูลข่าวสารที่ประมวลมาคนเหล่านี้มีการกระทำที่เชื่อมโยงกัน แบ่งหน้าที่กันทำ เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งก็มีมีความพยายามสกัดตลอดเวลา เข้ามาก็จับกุม

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มจะชู น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคจะมีแนวทางอย่างไรที่จะใช้แข่งขันกับพรรคเพื่อไทยบ้าง นายสุเทพกล่าวว่า จริงๆ ตนไม่ได้ถือว่าแข่งกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่เราแข่งกับ พ.ต.ท.ทักษิณ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังจะนำเสนอประชาชนทั้งหมดคือเรื่องของระบอบทักษิณ ไม่ใช่พรรคการเมืองปกติ ใครจะขึ้นมาเป็นนอมินีเบอร์ 1 ก็ขึ้นอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ในส่วนเฉพาะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตนก็ยินดีต้อนรับด้วยความยินดี ด้วยความนับถือในฐานะที่เป็นคู่แข่งขัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองทัพรัฐฉานเหนือ - ใต้ ซุ่มโจมตีทหารพม่า

Posted: 12 May 2011 07:51 AM PDT

ในรัฐฉาน สหภาพพม่า ยังคงมีเหตุสู้รบต่อเนื่อง ล่าสุดกองกำลังไทใหญ่ SSA "ใต้" กลุ่มเจ้ายอดศึกซุ่มโจมตีทหารพม่าตายเจ็บร่วม 20 นาย ขณะที่กองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" กับทหารพม่าปะทะกันไม่หยุด

แหล่งข่าวในรัฐฉานแจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ทหารกองทัพรัฐฉาน หรือ กองกำลังไทใหญ่ "ใต้" SSA 'South' กลุ่มพล.ท.เจ้ายอดศึก ได้ปะทะกับทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบเบาที่ 422 ประจำเมืองผายขุ่น รัฐฉานภาคใต้ จุดปะทะอยู่ระหว่างเส้นทางสายบ้านปางเก่ตู้ และ บ้านซาตอ เขตอำเภอเมืองกึ๋ง รัฐฉานภาคใต้ ส่งผลให้ฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิตและบาดเจ็บเกือบ 20 นาย

การปะทะเกิดขึ้นหลังจากทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA กำลังพลราว 70 – 80 นาย ซุ่มโจมตีทหารพม่าซึ่งมีกำลังพลกว่า 20 นาย ขณะใช้รถอีแต๋นเป็นพาหนะเดินทางผ่านเส้นทางสายดังกล่าว โดยทั้งสองฝ่ายยิงปะทะกันนานกว่า 1 ชั่งโมง เริ่มตั้แต่เวลา 16.00 – 17.30 น. ส่งผลให้ทหารพม่าเสียชีวิตรวม 10 นาย เป็นนายทหารยศนายพัน 1 นาย และบาดเจ็บอีก 8 นาย นอกจากนี้มีชาวบ้านซึ่งเป็นคนขับรถอีแต๋นถูกยิงเสียชีวิตด้วย 1 คน ขณะที่ทางฝ่ายกองกำลังไทใหญ่ SSA สามารถยึดอาวุธปืนของทหารพม่าได้ 5 กระบอก

ด้านศูนย์ข่าว Taifreedom สื่อกองกำลังไทใหญ่ SSA รายงานข่าวนี้เช่นกัน ระบุผลจากการปะทะกับทหารพม่าครั้งนี้ มีทหารพม่าเสียชีวิต 9 นาย บาดเจ็บ 15 นาย ทหารที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นนายทหารมีทั้งยศสิบตรี สิบโท สิบเอก และมียศพันโท 1 นาย ชื่อ พ.ท.ตานทายเหว่ย คาดว่าเป็นผบ.หน่วย ส่วนฝ่าย SSA ซึ่งเป็นฝ่ายเฝ้าโจมตีไม่ได้รับความสูญเสียแต่อย่างใด

อีกด้านหนึ่ง มีรายงานว่า จนถึงขณะนี้ยังคงเกิดเหตุสู้รบกันระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA 'North' อดีตกลุ่มหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง การสู้รบเริ่มมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ทหารกองกำลังไทยใหญ่ "เหนือ" สังกัดกองพัน 851 กองพลน้อยที่ 1 ซุ่มโจมตีทหารพม่าบริเวณใกล้กับบ้านพักหนามแดง ต.เมืองจีด เขตเมืองไหย๋ ยังผลให้ฝ่ายทหารเสียชีวิตอีก 5 นาย บาดเจ็บก 9 นาย

วันที่ 29-30 เม.ย. ทหารกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" สังกัดกองพลน้อยที่ 74 และ 36 สนธิกำลังบุกโจมตีทหารพม่า สังกัดกองพันทหารราบเบาที่ 573 และ 542 บริเวณใกล้กับบ้านน้ำสามฮู ระหว่างบ้านน้ำลับกับบ้านแมดแม ต.ตองเฮว เขตเมืองต้างยาน 2 ครั้ง ทั้งสองฝ่ายเปิดฉากสู้รบกันอย่างดุเดือด ผลฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 20 นาย บาดเจ็บ 25 นาย ฝ่ายกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" เสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 1 นาย

ต่อมาวันที่ 2 พ.ค. ทหารพม่าไม่ทราบจำนวนและสังกัดถูกทหารกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" หน่วยอารักขากองบัญชาการที่ 3 โจมตีขณะเดินทางออกเมืองสู้มุ่งหน้าไปทางเมืองออด ฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการสู้รบกันอีกระหว่างทหารพม่ากับทหารกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" สังกัดกองพลน้อยที่ 36 บริเวณดอยช้างกลิ้ง ต.น้ำลับ เขตเมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ แต่ไม่มีรายงานความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรสิทธิฯ - ส.ส.ฝ่ายค้านมาเลเซียเรียกร้องให้ปล่อย “สมยศ”

Posted: 12 May 2011 07:33 AM PDT

รองประธานพรรคฝ่ายค้านในมาเลเซีย นักสหภาพแรงงาน และนักสิทธิมนุษยชน เดินทางไปสถานทูตไทยในกัวลาลัมเปอร์เพื่อยื่นหนังสือถึงอภิสิทธิ์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศ ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชน “SUARAM” เชื่อประเทศจะปรองดองได้ ต้องไม่ปราบปรามเสียงของฝ่ายค้าน ชี้การจับสมยศจะทำลายกระบวนการปรองดอง 

นักกิจกรรมในมาเลเซียยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยยื่นจดหมายผ่านนายสมพงษ์ กางทอง อัครราชทูตที่ปรึกษา ประจำสถานทูตไทยในกัวลาลัมเปอร์ (ที่มา: twitter.com/tianchua)

จดหมายเปิดผนึกจาก SUARAM ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ตามที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน และบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับเมื่อ 30 เม.ย. ในหมายจับตามข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางคลองเปรมจนถึงปัจจุบันโดยไม่ได้รับการประกันตัวนั้น

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในต่างประเทศเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศ โดยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย วันนี้ (12 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น. หรือ 13.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย ส.ส.ฝ่ายค้านในมาเลเซียและนักสหภาพแรงงาน นักกิจกรรมหลายสิบคน นำโดย นายฉัว เทียน ชาง (Chua Tian Chang) ส.ส.มาเลเซีย และรองประธานพรรคยุติธรรมแห่งชาติ (Parti Keadilan Rakyat - PKR) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่สำคัญในมาเลเซีย นายซาอิด ซาฮีร์ ซาอิด โมฮัมหมัด (Syed Shahir Syed Mohamud) ประธานสภาแรงงานมาเลเซีย (Malaysian Trade Union Congress - MTUC) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน SUARAM (Suara Rakyat Malaysia) ฯลฯ ได้เดินทางไปสถานทูตไทยประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ถนนอัมปัง เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน และบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และปัจจุบันถูกควบคุมตัวที่เรือนจำคลองเปรม

โดยมีการยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่นายสมพงษ์ กางทอง อัครราชทูตที่ปรึกษา ประจำสถานทูตไทยในกัวลาลัมเปอร์ โดยนายสมพงษ์รับปากว่าจะส่งไปยังนายกรัฐมนตรีของไทย

นอกจากนี้ในวันนี้ นายอรุมูกัม (K. Arumukam) ประธานองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน SUARAM (Suara Rakyat Malaysia) ซึ่งอยู่ในมาเลเซีย ยังได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ อีกด้วย โดยเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศทันที

เราเชื่อว่าประทศจะก้าวไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริง ก็ด้วยความสุจริตใจและความตั้งใจจากทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นเสียงจากฝ่ายค้านจะต้องไม่ถูกปราบปรามกดขี่ และที่สำคัญกว่านั้นกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้นการจับกุมสมยศซึ่งดำเนินกิจกรรมอย่างสันติ จะเป็นการทำลายกระบวนการปรองดองดังกล่าว" จดหมายเปิดผนึกของ SUARAM ระบุ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น