โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เวียงแหง : การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ ‘เหมืองแร่’ (ตอน 5)

Posted: 01 May 2011 11:20 AM PDT

เหตุการณ์ต่างๆ ได้หายเงียบไปเหมือนกับว่าทุกอย่างนั้นจะยุติถาวร แต่จู่ๆ โครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ก็ฟื้นคืนชีพและมีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง จนทำให้เวียงแหงเมษาร้อนระอุ และชาวบ้านร่วมวางแผนชั่วข้ามคืน- -ก่อนล้มโครงการสันติวิธีสมานฉันท์ในชุมชนพับถอยไม่เป็นขบวน

 

 

                            

 

กฟผ.ยังดันอีไอเอเหมืองลิกไนต์เวียงแหงอีกครั้ง หลังถูกชาวบ้านต้านหนัก

เป็นที่รับรู้กันว่า หลังจากชุมชนท้องถิ่น อ.เวียงแหง ในนามเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนอำเภอเวียงแหง ได้ร่วมกันคัดค้านมาต่อเนื่องและยาวนาน จนโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ของ กฟผ.ต้องหยุดชะงักไป                                                                                      

หลังจากที่ผ่านมา กฟผ.ได้ว่าจ้างคณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันในระยะ 7-8 ปีที่ผ่านมา นั้น ทาง กฟผ.ได้ทำงานมวลชนอย่างหนักเพื่อให้โครงการสามารถเดินต่อไปได้ ทั้งการใช้เงินพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ มากมาย การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน อ.เวียงแหง แต่กระนั้น ก็ไม่สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ ขณะเดียวกันคณะนักวิชาการจาก ม.เชียงใหม่ ก็พยายามเข้ามาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้านเช่นเดียวกัน กรณีดังกล่าวชาวบ้าน อ.เวียงแหงให้เหตุผลว่าการศึกษาไม่โปร่งใส ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม บางกรณีมีการใช้กลไกลรัฐข่มขู่คุกคามชาวบ้าน การทำการศึกษาผลกระกระทบยังไม่ครอบคลุมผลกระทบทางด้านสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาชีพและรายได้ของชุมชน เป็นต้น                                                                        

เหตุการณ์ต่างๆ ได้หายเงียบไป เหมือนกับว่าทุกอย่างนั้นจะยุติถาวร แต่จู่ๆ โครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ก็ฟื้นคืนชีพและมีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง                   

ในเดือน พ.ย.2552 เจ้าหน้าที่ กฟผ.ได้เดินทางเข้าพบพระ ดร.ฐาณี  ฐิตวิริโย พระวัดกองลม ต.กองลม อ.เวียงแหง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการทำอีไอเอใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวแจ้งว่ารัฐบาลสั่งให้ทำใหม่ ใช้เวลาประมาณ 3 ปี นั่นหมายความว่าอีไอเอฉบับที่ กฟผ.ทำไปแล้วนั้นไม่สามารถใช้ได้ ส่วนในรายละเอียดต่างๆ เช่น งบประมาณในการดำเนินการ หน่วยงานใดเป็นผู้ศึกษานั้นตนยังไม่มีรายละเอียด                                                                                            

หลังการเข้ามาของ กฟผ.ครั้งนี้ ได้ทำให้ชาวเวียงแหงได้สงวนท่าทีและมีการถกประเด็นกันในวงในกันเงียบๆ เพื่อสงวนดูท่าทีของทีมสำรวจชุดใหม่ที่เข้ามา ก่อนจะทำการปรับขบวนมวลชนกันใหม่อีกครั้ง

 

เวียงแหงเมษาร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อชาวบ้านร่วมกันวางแผนชั่วข้ามคืนก่อนล้มโครงการสันติวิธีสมานฉันท์ในชุมชนพับถอยไม่เป็นขบวน

ช่วงต้นปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองว่า สถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างเงียบ ไม่มีกระแสการประชาสัมพันธ์ การสนับสนุนของการฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้าแต่อย่างใด  ทำให้เครือข่ายและชาวบ้านเอง คิดว่า คงจะจบไปแล้ว โครงการพัฒนาถ่านหินลิกไนต์คงไม่จะเกิดแน่แท้                   

แต่แล้ว ในช่วงเดือนเมษายน 2553 แผ่นดินเวียงแหง ก็ร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง                                 

เมื่อทาง กฟผ. ได้ว่าจ้าง นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ เข้ามาทำโครงการสันติวิธี สร้างความสมานฉันท์ในชุมชน ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง โดยมีหนังสือผ่านทางอำเภอ ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แม่บ้าน อสม.ทุกกลุ่ม ให้มาร่วมประชุมกัน ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเวียงแหง                                                                           

หลังมีข่าวนี้กระพือออกไป ทำให้ชาวบ้านทั่วทั้งอำเภอที่รู้ข่าวการเคลื่อนไหวในการเข้ามาครั้งนี้ ต่างรวมตัวกันด้วยความรู้สึกร่วมกัน นั่นคือ คัดค้านไม่เอาโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ค่ำคืนนั้น เหล่าแกนนำ ชาวบ้าน ผู้อาวุโส ได้นัดถกวงคุยกันเงียบๆ เพื่อวางแผนในสถานที่แห่งหนึ่ง                                                

เพียงชั่วข้ามคืน แผ่นดินเวียงแหงเริ่มปะทุร้อนอบอ้าวขึ้นมาทันใด                                     

ตอนสายของวันที่ วันที่ 27 เมษายน 2553 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเวียงแหง ขณะเจ้าหน้าที่ ทีมงานโครงการของนายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ กำลังเตรียมเปิดงานโครงการสันติวิธี สร้างความสมานฉันท์ในชุมชน ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง ทันใดนั้น ชาวบ้านกว่าพันคน ได้พากันจัดทัพรถยนต์ มอเตอร์ไซค์เคลื่อนขบวนมาตามถนน มุ่งหน้ามาชุมนุมอยู่บริเวณสนามหญ้าหน้าหอประชุม พร้อมเครื่องขยายเสียง ประกาศก้อง คัดค้าน ขับไล่ คณะทำงานของนายแพทย์วันชัย โดยมองว่าเป็นเครื่องมือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยการเข้ามาดำเนินโครงการสันติวิธี ก็เป็นการอ้างความชอบธรรมเพื่อที่จะขับเคลื่อนให้มีการเปิดเหมืองขึ้นมาอีกครั้งนั่นเอง                           

สถานการณ์เริ่มตึงเครียด และมีการกดดันหนักมากยิ่งขึ้น และแม้กระทั่งนายก อบต.ทั้ง 3 ตำบล พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ตัดสินใจลุกออกจากห้องประชุม  ก่อนหันหน้ามาเข้าร่วมชุมนุมเคียงข้างประชาชนอำเภอเวียงแหง ท่ามกลางความงุนงงของนายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์และคณะทีมงาน เมื่อแกนนำหลายคนได้ออกยืนกล่าวโจมตีการทำงานของ กฟผ.และวิพากษ์การเข้ามาทำงานของผู้รับใช้ กฟผ.อย่างหนักหน่วง ดุเด็ดเผ็ดร้อน

กระทั่ง นายพยอม คารมณ์ ในนามตัวแทนเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนอำเภอเวียงแหง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอเวียงแหงทั้ง 3 อบต. กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายอสม.อำเภอเวียงแหง กลุ่มสตรีแม่บ้าน และกลุ่มผู้สูงอายุ อำเภอเวียงแหง ได้ลุกขึ้นอ่านแถลงการณ์ เรื่อง ‘ขอคัดค้านการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเหมืองแร่ลิกไนต์หรือฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุ อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งของชุมชนรอบใหม่ของประชาชนในพื้นที่อำเภอเวียงแหง’                                                                                                                    



 

แถลงการณ์

เรื่อง ขอคัดค้านการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเหมืองแร่ลิกซ์ไนส์ หรือ ฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุ อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งของชุมชนรอบใหม่ของ ประชาชนในพื้นที่อำเภอเวียงแหง

เรียน     ศ.นพ. วันชัย  วัฒนศัพท์  หัวหน้า โครงการฯ

นายอำเภอเวียงแหง

ผู้อำนวยการสำนักสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า

            เจ้าหน้าที่ ตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

พวกเราในนามประชาชนอำเภอเวียงแหงที่เกี่ยวข้องทุกระดับในพื้นที่ รับทราบถึงการเข้ามาดำเนินโครงการเสริมสร้างกระบวนการสมานฉันท์เพื่อสร้างสันติสุขในชุมชนและการป้องกันความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะในเขตอำเภอเวียงแหง ซึ่งได้รับงบประมาณเกือบ ห้าล้านบาท จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจด้านการดำเนินงานตามนโยบายสาธารณะ โดย มี ศาสตราจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นที่ปรึกษาและหัวหน้าโครงการ นั้น                                                           

พวกเราในนามประชาชนอำเภอเวียงแหง ขอเรียนว่า จากผลพวงการเข้ามาดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์ การดำเนินการมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) ตลอดจนการเข้ามาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ของสถาบันบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงปี พ.ศ. 2546-2550 ที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบมลพิษทางจิตใจอย่างใหญ่หลวงกับพี่น้องประชาชนในอำเภอเวียงแหง ก่อให้เกิดความเป็นฝักฝ่าย แตกแยก ปรากฏการณ์ การไม่ร่วมสังฆกรรม ไม่ร่วมหัววัด ร่วมงานประเพณี ร่วมเผาผี ของพี่น้องในอำเภอเวียงแหง เกิดขึ้น เนื่องมาจากได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียวและถูกกระทำให้แบ่งกลุ่ม แบ่งมวลชนมาขัดแย้งกันในพื้นที่  มีผู้เฒ่าผู้แก่ถึงกับกล่าวท้อว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยพบเห็นความขัดแย้งของคนในเวียงแหงรุนแรงเช่นนี้  จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งดังกล่าว มาจากการเข้ามาดำเนินโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนักวิชาการรับจ้าง ที่เอาสถาบันมาอ้างเพื่อแสวงหาความชอบธรรมในการดำเนินการ นับว่าเป็นตราบาปอันหนักหนาสาหัสแก่ชาวบ้านที่เคยอยู่กันอย่างสันติและเกื้อกูลกัน                                                         

ชาวบ้านได้ถอดบทเรียนและหาทางออกร่วมกัน โดยยึดมติของชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอเวียงแหง ได้สำรวจเป็นประชามติของพี่น้องในอำเภอเวียงแหง พบว่า ร้อยละ 96.22 ของกลุ่มประชากรจาก 14 หมู่บ้าน คัดค้านการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ เหมืองแร่ลิกไนต์ ตลอดจนฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง โครงการพัฒนาเหมืองฯและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้ถอนสำนักงาน และการดำเนินการออกจากพื้นที่ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ความสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในอำเภอเวียงแหง กลับเข้าสู่สภาวะความปกติสุข หลังการเงียบหายไปจากพื้นที่ ของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ “โครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง” ที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายหลังจากกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA) ฉบับที่พวกเราประณามว่า เป็นฉบับที่ขาดการมีส่วนร่วมและไร้หลักธรรมาภิบาลในดำเนินการจนไม่สามารถนำปฏิบัติใช้ได้จริง เสร็จสิ้นลง ภาพของผู้คนที่เคยแตกต่าง ขัดแย้งกันทางความคิด แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มหลายฝ่าย ณ วันนี้ ปรากฏการณ์เหล่านี้ ได้รับการเยียวจากวันเวลา ต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระบบเครือญาติ ความเป็นพี่เป็นน้อง ศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรม ที่มีร่วมกัน ช่วยทำให้เวียงแหงกลับมาเป็นชุมชนบ้านพี่บ้านน้อง ความเกื้อกูลกันระหว่างชนเผ่า ระหว่างหมู่บ้าน ก็กลับมาอีกครั้ง ดังนั้นจึงเห็นว่า พวกเราประชาชนคนเวียงแหง ขอแถลงการณ์ว่าคัดค้านและไม่ยอมรับการดำเนินการของโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์ หรือ เกี่ยวข้องกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง พวกเราจึงขอแถลงการณ์เพื่อให้ท่านทราบ ด้วยหลักการและเหตุผล ดังนี้…

1.โครงการของท่าน เข้ามาดำเนินการ โดยได้รับประมาณสนับสนุนจาก “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” (กฟผ.)  ซึ่งมีผลประโยชน์โดยตรงต่อการดำเนินโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง  เราจึงไม่ประสงค์ให้ความร่วมมือ เนื่องจากเป็นคู่สัญญากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (กฟผ.) ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าไม่มีความโปร่งใส และไม่มีความจริงใจในการดำเนินการ และไม่ก่อประโยชน์ที่แท้จริงแก่คนเวียงแหง

2.ความขัดแย้ง หรือความสมานฉันท์ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง ได้เกิดขึ้นเองอยู่แล้ว โดยการเยียวยาของต้นทุนของชุมชน วิถีชีวิต และการเกื้อกูลกันของคนในอำเภอเวียงแหง การเข้ามาทำโครงการสมานฉันท์ของท่าน อาจจะเป็นเหตุให้ก่อเกิดความขัดแย้งในรอบใหม่อีกครั้ง เพราะเกี่ยวเนื่องหรือมีต้นเหตุมาจาก “โครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหง”  เมื่อสถานการณ์ในชุมชนคลี่คลายและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราจึงขอปฏิเสธและไม่ยอมรับโครงการใดๆ ที่จะเข้ามาก่อให้เกิดความขัดแย้งในลักษณะดังกล่าวอีก

3.“สันติสุขในชุมชนอำเภอเวียงแหง” เกิดขึ้นทันที ที่โครงการพัฒนาเหมืองฯและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ถอนโครงการออกไป จึงไม่จำเป็นต้องแสวงหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจด้านการดำเนินงานตามนโยบายสาธารณะ ตามวัตถุประสงค์ของท่าน

4.หน่วยงาน อปท. ทั้ง 3 แห่งในพื้นที่ ประกอบด้วย อบต.เมืองแหง อบต. เปียงหลวง อบต. แสนไห และผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. มีความวิตกกังวลว่า การจัดเวทีในครั้งนี้ จะเป็นชนวนให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรอบใหม่ในพื้นที่ จึงไม่ประสงค์ให้มีการดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าว

5.การศึกษาวิจัยใดๆที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่อำเภอเวียงแหง ชุดแล้วชุดเล่า ไม่เคยมีการคืนข้อมูลและไม่เคยกลับมาก่อประโยชน์ให้คนเวียงแหง โดยเฉพาะ การศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง ที่เคยมีการทำหนังสือเพื่อรายงานฉบับสมบูรณ์ของงานศึกษาดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆทั้งสิ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันสะท้อนถึงความไม่จริงใจ ดังนั้น โครงการการเสริมสร้างการสมานฉันท์ของท่านฯที่จะเกิดขึ้นก็คงจะไม่แตกต่างจากงานวิจัยที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นโครงการวิจัยที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นนายทุนใหญ่ พวกเรา จึงขอปฏิเสธและคัดค้านการเข้ามาดำเนินการของโครงการนี้เนื่องจากผลการดำเนินการไม่ก่อประโยชน์ให้แก่คนเวียงแหงเหมือนที่ผ่านมา

6.ชาวบ้านตามที่มีรายชื่อแนบมานี้ จะขอใช้สิทธิอันชอบธรรม ในการคัดค้านและไม่ให้ความร่วมมือในด้านการให้ข้อมูล ตลอดจนการดำเนินการใด ๆ ของโครงการของท่าน นับแต่นี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ ประชาชนชาวบ้านเวียงแหงในทุกระดับและทุกภาคส่วน จึงขอเรียกร้องให้ท่านและคณะได้รักษาเกียรติภูมิและประวัติการทำงานของท่าน ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ได้รับใช้งานเพื่อสังคมในด้านอื่น ในพื้นที่อื่น ๆ ให้ท่านได้ดำเนินการสานเสวนาจัดการความขัดแย้งอย่างสันติวิธี ในเรื่องปัญหาของประเทศ ชาติขณะนี้                 

ดังนั้น ขอให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้เป็นหัวหน้าโครงการ ยุติการดำเนินการโครงการในพื้นที่อำเภอเวียงแหง เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกครั้งในพื้นที่ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และขอให้มีการทบทวนเพื่อพิจารณา ถอนการรับการสนับสนุนงบประมาณจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการทำหน้าที่เข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่หน่วยงานนี้เข้าไปดำเนินโครงการ เพราะการดำเนินโครงการเหล่านั้น ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีความจริงใจ และไม่สร้างการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้ท่าน พร้อมคณะ ตลอดจนสำนักสันติวิธีฯ สถาบันพระปกเกล้า คงไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินการอย่างแท้จริง

                                                              วันที่ 27 เมษายน 2553

เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง 

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอเวียงแหง                  

กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

เครือข่าย อสม.อำเภอเวียงแหง 

กลุ่มผู้สูงอายุ อำเภอเวียงแหง

 

นั่นคือ แถลงการณ์ฉบับล่าสุด ที่ชาวเวียงแหงได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ ยืนยันและคัดค้านการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหงอย่างหนักแน่นและจริงจัง

 

 

 

เหมืองแร่เวียงแหงยังไม่จบ ในขณะชาวบ้านเวียงแหงเข้มแข็งและตั้งรับ หาก กฟผ.ยังเดินหน้าตัดทอนแกนนำคัดค้านเหมืองลิกไนต์อย่างต่อเนื่อง

จากสถานการณ์ดังกล่าว นายโอฬาร อ่องฬะ ผู้ประสานงานสถาบันพัฒนาท้องถิ่น ได้วิเคราะห์เอาไว้อย่างสนใจว่า แม้ว่าชาวบ้านเวียงแหงจะเกาะกลุ่มรวมตัวกันต่อต้านเหมืองแร่กันอย่างเหนียวแน่นและผู้นำหลายคนก็ได้ขยายแนวคิด แนวร่วมไปยังกลุ่มผู้นำในหมู่บ้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง                                                                                                

ในขณะเดียวกัน ทางด้าน ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงไม่หยุดนิ่ง ยังคงทำงานใต้คลื่น เจาะเป็นรายคนโดยเฉพาะแกนนำ สร้างคน สร้างทีมขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ เพื่อให้เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการพัฒนาถ่านหินลิกไนต์เวียงแหงครั้งนี้ต่อไปให้ได้                                                                                        

กระบวนการงัดง้างต่อสู้กันระหว่าง ฝ่ายชาวบ้านเวียงแหงที่คัดค้านไม่เอาเหมืองแร่ กับฝ่าย กฟผ. จึงมีให้เห็นให้ได้เผชิญกันอยู่ตลอดเวลา                                                                            

แม้กระทั่ง เหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านเองเชื่อว่า เป็นกระบวนการหนึ่งลดทอนแกนนำ ผู้นำคัดค้านเหมืองลิกไนต์ โดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย รื้อฟื้นคดีความของผู้นำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 กับข้อหา ม็อบกระเทียม ปิดถนน รวม 9 คน และหนึ่งในนั้นมี นายคำ ตุ่นหล้า ประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนคนปัจจุบัน และฐานะที่เป็นสมาชิกผู้ปลูกกระเทียมอำเภอเวียงแหง ที่ได้รับการไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นโฆษก ช่วงของการเจรจาต่อรองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นสิทธิอันชอบธรรมด้วยหลักเสรีประชาธิปไตย ที่ประชาชนเมื่อได้รับความเดือดร้อนจะลุกขึ้นมาเสนอให้ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหา                                                                                     

แต่แล้ว ในขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง ได้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหงขึ้นมาใหม่ โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 4 คน โดยมีนายคำ ตุ่นหล้า ลงรับสมัครการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่วงขณะเดียวกันที่มีการรื้อฟื้นคดีความนั้น โดยได้มีหนังสือออกหมายจับนายคำ ตุ่นหล้า ข้อหาหนีคดีม็อบกระเทียมเมื่อปี 2548                                       

ซึ่งกรณีเช่นนี้ จะเป็นปรากฏการณ์ที่จะเรียกว่าบังเอิญ หรืออะไรก็ตาม แต่ข้อสังเกตของชาวบ้านเวียงแหงที่คัดค้านเหมืองแร่ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ลักษณะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ เพื่อยันคู่ต่อสู้อำนาจการเมืองหรือไม่ และเมื่อเข้าไปสู่กระบวนการทางกฎหมายเมื่อเข้ามอบตัว  ดูเหมือนขั้นตอน กระบวนการเร็วเกินจนทำให้ตั้งรับไม่ทัน และที่แกนนำที่เหลืออีก 7 คน จะถูกกระทำเช่นนี้ด้วยหรือไม่ ยังคงเป็นคำถาม เพราะหลายครั้งมักจะไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  นอกจากกระบวนการที่ต้องสู้ในพื้นที่เองแล้ว ทางชั้นกฎหมายที่หลายคนถูกดำเนินคดี และอีกหลายคนอาจจะถูกกระทำเช่นเดียวกันนี้ ท่ามกลางกระแสการสร้างมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่กำลังโหมกระหน่ำมากยิ่งขึ้น ทั้งบนดินและใต้ดิน          

แน่นอน สถานการณ์เช่นนี้ ย่อมทำให้เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนอำเภอเวียงแหง และภาคประชาชนอำเภอเวียงแหง ต้องหันมาจับมือร่วมกันถก คิด วางแผน ที่จะขับเคลื่อน จัดวางจังหวะก้าว กลไกการทำงานที่ชัดเจนให้มากขึ้นทั้งเพื่อตั้งรับ และรุกเมื่อมีสถานการณ์เข้ามา ที่สำคัญการสร้างขวัญ กำลังใจกับพี่น้องเครือข่าย พี่น้องอำเภอเวียงแหง ที่ไม่เอากับเหมืองถ่านลิกไนต์ ให้มีความพร้อม มีจังหวะก้าวเดินไปพร้อมๆกันหลังจากนี้อย่างมีเป้าหมาย.

โปรดติดตามตอนจบ- -กับทิศทาง เป้าหมายและความฝันของคนเวียงแหง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันแรงงานหลายจังหวัดคึกคัก ยื่นข้อเสนอต่อรัฐ-จัดกิจกรรมรณรงค์

Posted: 01 May 2011 10:16 AM PDT

1 พ.ค. 54 - เนื่องในวันวันแรงงานแห่งชาติ หลายจังหวัดจัดงานคึกคักพร้อมทั้งยื่นข้อเสนอต่อรัฐจัดกิจกรรมรณรงค์

วันแรงงานชายแดนใต้คึกคัก-นราฯ ปลื้มผลสำเร็จโรงงานสีขาว

กลุ่มผู้ใช้แรงงานพื้นที่ชายแดนใต้ร่วมกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติอย่างหนาตา ด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนราธิวาส เผยโครงการโรงงานสีขาวปลอดยาเสพติด สำเร็จแล้ว 196 แห่ง ขณะที่ปัตตานีร่วมปลูกต้นไม้ถวายพระราชกุศล

นางจิราพันธ์ แต่งสวน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยภายหลังเปิดกิจกรรมในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.2554 ที่สนามกีฬาเทศบาลเมืองนราธิวาส ว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้นอกจากช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างลูกจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีการแข่งขันกีฬาและนันทการอื่นอีกมากมายแล้ว ยังช่วยให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มีบทบาทหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจ สำหรับบทบาทของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดได้ดูแลกลุ่มผู้ใช้แรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานแก้ไขปรับปรุง พ.ศ.2551 ซึ่งจังหวัดนราธิวาสมีแรงงานตามหลักเกณฑ์ประมาณ 11,039คน จากสถานประกอบการ 1,877 แห่ง ใน 13 อำเภอ

นางจิราพันธ์ กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมลูกจ้างตามสถานประกอบการที่ผ่านมา เพื่อติดตามความเป็นธรรมในด้านสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับ พบว่ายังไม่มีปัญหารุนแรงเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันได้ใช้การแก้ปัญหาในระบบทวิภาคีที่ให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหากัน แต่ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้จะนำเข้าสู่ระบบไตรภาคี เพื่อให้มีข้อสรุปที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายโดยเร็ว สำหรับโครงการโรงงานและสถานประกอบการสีขาว เพื่อต่อต้านยาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปีนี้มีสถานประกอบการสีขาวแล้ว 196 แห่ง

ด้าน นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ที่ลานโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง ท่ามกลางกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมอย่างคับคั่ง นอกจากมีนิทรรศการหลากหลายแล้ว ยังมีสินค้าธงฟ้ามาจำหน่ายในราคาย่อมเยา เพื่อช่วยบรรเทาค่าใช้จ่าย และในโอกาสปีมหามงคลของชาวไทย ทางสำนักงานแรงงานจังหวัดปัตตานีได้นำพันธุ์ไม้ 2 ชนิด มาให้ประชาชนร่วมกันปลูกภายในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล คือ ดอกชบาเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดปัตตานี และต้นหูกระจง เพื่อใช้เป็นที่กำบังลม และสร้างความร่มเย็น สมกับคำขวัญ ”แรงงานสามัคคี ปัตตานีมีสุข”

ผู้ใช้แรงงานในสงขลา ร่วมงานวันแรงงานแห่งชาติ คึกคัก

บรรยากาศวันแรงงานที่ จ.สงขลา เป็นไปอย่างคึกคักโดยทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สงขลา ร่วมกับสถานประกอบการ 17 แห่งใน จ.สงขลา จัดริ้วขบวนพาเหรดผู้ใช้แรงงาน กว่า 2,000 คน เดินรณรงค์ในเขตเทศบาลนครสงขลา มีการโบกสะบัดธงชาติเพื่อสร้างความสามัคคี และยังเน้นรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด และอบายมุขทุกรูปแบบ ตลอดเส้นทางการเดินรณรงค์ มีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
      
ก่อนที่ริ้วขบวนทั้งหมดจะเดินเข้าไปในสนามกีฬาติณสูลานนท์สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมงานวันแรงงานแห่งชาติของ จ.สงขลา โดยมี นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดงาน และตลอดทั้งวันมีกิจกรรมให้ผู้ใช้แรงงานได้ร่วมสนุก เช่นการแจกรางวัลให้แรงงานที่เข้าร่วมกิจกรรม การแข่งขันกีฬาแรงงาน 4 ประเภท คือ ฟุตบอล 7 คน วอลเลย์บอล เซปัคตะกร้อ กีฬาประเภทลู่ การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การแสดงดนตรี และการตรวจสุขภาพ

เมเดย์ภูเก็ตผู้ใช้แรงงานยื่น 8 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล

นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน “แรงงานสดใสทุกฝ่ายร่วมใจในสิ่งแวดล้อม พร้อมต้านภัยยาเสพติด”  วันนี้ (1 พ.ค.) ที่ห้างสรรพสินค้าโฮมเวิร์คภูเก็ต ซึ่งมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งยังจัดงานวันนัดพบแรงงานที่มีตำแหน่งงานว่างกว่า 1,500 ตำแหน่ง

พร้อมกันนี้ นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต  เป็นตัวแทนยื่นข้อเรียกร้องต่อ นายวีระวัฒน์ เพื่อผ่านไปยังรัฐบาลจำนวน  8 ข้อ อาทิ ขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 221 บาท และขอให้ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นในครัวเรือน รวมทั้งเร่งผลักดันแรงงานต่างชาติเข้าเมืองผิดกฎหมายออกนอกประเทศ การผ่อนผันเวลาปิดของสถานบันเทิงได้ถึง 02.00 น. และหากเป็นไปได้ขอให้พิจารณาจังหวัดภูเก็ตเป็นเขตปกครองพิเศษ เพื่อความสะดวกต่อการบริหารจัดการและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องให้สมกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ

กลุ่มแรงงานลำพูน ยื่นผู้ว่าฯ ปรับค่าจ้าง คุ้มครองแรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ

เมื่อเวลา ประมาณ10.30น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ ร่วมกับผู้ใช้แรงงานในจังหวัดลำพูน ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ณ.ห้องประชุม อบจ.ลำพูน เนื่องในวันวันกรรมกรสากล (วันแรงงานแห่งชาติ) เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการปรับค่าจ้าง และการทำโครงสร้างการจ้างงาน การทำศูนย์นมแม่ในสถานประกอบการ การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น  และช่วยประสานงานไปยังหน่วยงานภาครัฐช่วยดำเนินการตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังจากยื่นหนังสือ กลุ่มผู้ใช้แรงงานจ.ลำพูน ได้อ่านแถลงการณ์ และร่วมกันทำบุญทอดผ้าป่า ณ วัดโบสถ์ ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน เพื่อสมทบทุนการสร้างพระวิหารต่อไป บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน

อ่านแถลงการณ์ http://prachatham.com/detail.htm?code=n3_30042011_01

วันแรงงานสกลฯรณรงค์สวมหมวกกันน็อกลดผลกระทบคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน

บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสกลนคร จัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติจังหวัดสกลนครตาม โครงการแรงงานไทย ร่วมมือสวมหมวกนิรภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นางวิตยา ประสงค์วัฒนา เป็นประธานในการเปิดงานแรงงานแห่งชาติจังหวัดสกลนคร ปี 2554 พร้อมด้วยภาครัฐ และเอกชน นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการ ลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ชมรมชอปเปอร์จังหวัดสกลนคร มาร่วมงานประมาณ 300 คน
      
ทั้งนี้ เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้างและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน ที่ได้มีส่วนสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่สังคมไทยตลอดมา
      
สำหรับการจัดงานวันแรงแห่งชาติจังหวัดสกลนคร มีการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง นายจ้าง ลูกจ้าง และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสกลนครภายใต้โครงการแรงงานไทย ร่วมมือสวมหมวกนิรภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนในจังหวัดสกลนคร ตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ระมัดระวังในการขับขี่และฃ้อนท้ายรถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย
      
ด้วยการสวมหมวกนิรภัยตามกฎหมาย ลดการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บอันจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน
      
ตลอดจนเป็นการตอบสนองมติคณะรัฐมนตรีที่ประกาศให้ปี พ.ศ.2554-2556 เป็นปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งให้มีการประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ด้วย

ผู้ใช้แรงงานสตูลกว่า 1,000 คนร่วมกิจกรรมวันแรงงาน

จังหวัดสตูลได้จัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2554 พร้อมกับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ที่บริเวณสนามหน้าโรงเรียนสตูลวิทยา ต.คลองขุด อ.เมือง พร้อมทั้งได้จัดงานวันคุ้มครองผู้บริโภคประจำปี 2554 ขึ้น ณ สถานที่ดังกล่าวด้วย โดยมีนายวินัย ครุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานพิธี เพื่อให้พี่น้องประชาชน และพี่น้องผู้ใช้แรงงานในจังหวัดได้ร่วมพบปะสังสรรค์เกิดความรักความสามัคคีแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจทั้งด้านคุ้มครองผู้บริโภค ด้านแรงงาน และด้านการป้องกันยาเสพติดด้วย
      
สำหรับกิจกรรมในงานมีการแข่งขันกีฬาของผู้ใช้แรงงานจากสถานประกอบการต่างๆ ในจังหวัดสตูลประมาณ 1,000 คน ประกอบด้วย ฟุตบอล วอลเลย์บอล เปตอง และกีฬาพื้นบ้าน นิทรรศการคุ้มครองผู้บริโภค และการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการจับฉลากรางวัลให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนของรางวัลมากมายในการจัดงานครั้งนี้

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวประชาธรรม, ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เมื่อปราศจากเสรีภาพ ก็ปราศจากความเป็นคน” สมยศ พฤกษาเกษมสุข หลังกรงขัง

Posted: 01 May 2011 09:00 AM PDT

 

 
 
1 พ.ค.54 ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จับกุมตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ แล้วนำตัวมาควบคุมไว้ที่กองบังคับการปราบปราม โดยปฏิเสธการให้ประกันตัวไปแล้วนั้น วันนี้ (1 พ.ค.) มีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งสลับกันเดินทางเข้าเยี่ยมนายสมยศที่กองปราบฯ ตลอดทั้งวัน
 
สมยศพูดคุยกับผู้มาเยี่ยมผ่านกรงขังว่า เขาคาดว่าการจับกุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการแถลงข่าวซึ่งเขาเป็นแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยร่วมกับเครือข่ายประชาธิปไตย (คปต.) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 30 กลุ่ม เตรียมล่า 10,000รายชื่อยื่นต่อรัฐสภาเพื่อยกเลิกมาตรา 112 ที่คิดเช่นนี้เนื่องจากได้ยินพนักงานสอบสวนพูดว่าหากไม่ทำเรื่องนี้เขาก็จะยังไม่ถูกจับกุม
 
เมื่อถามว่าเหตุใดจึงรณรงค์เพื่อยกเลิกมาตราดังกล่าว สมยศกล่าวว่า เพราะพวกเขาต้องการเห็นความเสมอภาค การใช้กฎหมายมาตรานี้เป็นปัญหาทางวัฒนธรรมด้วย มีผลต่อการครอบงำองค์กรตุลาการ ถ้าไม่ยกเลิกจะเป็นเหตุให้เกิดการคุกคามเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกของประชาชนอย่างไม่รู้จบ
  
“มาตรานี้ข้อความเหมือนไม่มีอะไร แต่ในทางปฏิบัติมันทำให้คนไม่เป็นคน และยังมีบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป กระบวนการในการดำเนินคดีมีปัญหา อย่างการไม่ให้ประกันนี้ก็เหมือนกับเป็นการพิพากษาล่วงหน้า”
 
“เราอยู่ในวัฒนธรรมของความกลัว ความเงียบ เพราะกฎหมายทำให้คนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก”
 
เมื่อถามว่าทางกลุ่มรณรงค์จะมีการรวบรวมรายชื่อต่อหรือไม่ เขากล่าวว่า ในเมื่อตัวเขาอยู่ในห้องขัง คงเป็นหน้าที่ของคนข้างนอกที่จะดำเนินการต่อ สิ่งสำคัญคือต้องรักษากระแสรณรงค์เรื่องมาตรา 112 ไว้ให้ได้
 
“ต้องขยับ จะได้ไม่เสียของ ติดคุกติดตารางกันฟรีๆ เรื่องนี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องที่พูดถึงไม่ได้เลย โดยเฉพาะพวกคนเสื้อแดง ถ้าคุณเป็นแดง หายใจก็ผิด ตดก็ผิดแล้ว” สมยศกล่าว
 
สำหรับวันพรุ่งนี้ (2 พ.ค.) ซึ่งตำรวจจะควบคุมตัวเขาปขออนุญาตศาลเพื่อฝากขังนั้น สมยศกล่าวว่า เขามีความหวังอย่างมาก อยากได้รับสิทธิขึ้นพื้นฐานในการประกันตัวสู้คดี
 
“ผมมั่นใจว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวผม ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ที่กฎหมายและการตีความ รวมถึงกระบวนการในการดำเนินคดี”
 
เขากล่าวด้วยว่า การจับกุมครั้งนี้ ภาครัฐน่าจะมีการเตรียมการเป็นอย่างดี ทำอย่างมีจังหวะจะโคน และมีการแบ่งงานกันทำ ให้กองทัพจัดการกับ นปช. ให้กองปราบจัดการกับสุรชัย แซ่ด่าน และให้ดีเอสไอจัดการกับเขาและกลุ่มอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าไม่ได้คิดจะหลบหนีดังที่ดีเอสไอให้ข่าว แต่จัดทัวร์คนเสื้อแดงเที่ยวนครวัดเป็นประจำ และกลุ่มที่เดินทางไปนี้ก็มาจากที่เห็นโฆษณาที่ลงในนิตยสารเรด พาวเวอร์ ซึ่งเขาเป็นผู้จัดพิมพ์
 
“ผมจะหนีทำไม ไม่เป็นไร การถูกจองจำของเราก็คือการต่อสู้ในรูปแบบหนึ่ง จริงๆ เราไม่ได้คาดคิด แต่ในเมื่ออีกฝ่ายที่มีอำนาจเขาอยากให้เราติดคุก เราจะไปทำอะไรได้ เขาคิดว่าขังสุรชัย ขังดา (ตอร์ปิโด) ขังผมแล้วคนจะกลัว แต่มันก็ไม่มีผลอะไร”
 
“คนอยู่ในคุกโดนจำกัดตารางเมตร แต่คนอยู่ข้างนอกก็ถูกจำกัดเสรีภาพเหมือนกัน มันไม่ต่างกันหรอก เมื่อปราศจากเสรีภาพก็ไม่มีความเป็นคน”
 
สำหรับหนังสือ Voice of Taksin ซึ่งถูกฟ้องนั้นจัดพิมพ์ไปได้ 22 เล่ม ฉบับสุดท้ายที่ทำให้มีคำสั่งปิดคือฉบับที่นำเสนอเกี่ยวกับ 10 เมษายน 2553 โดยปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2553 และเปลี่ยนมาเป็นหนังสือเรด พาวเวอร์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สนธิ" อัด "พวกซ้าย" จะทำให้ "การเมืองใหม่" เป็นพรรคสังคมนิยม

Posted: 01 May 2011 08:40 AM PDT

เรียกร้องสมาชิกการเมืองใหม่ถ้ายังเชื่อมั่นในแกนนำที่เหลือขอให้ลาออกจากพรรค แล้วโหวตโน ด้าน "สมศักดิ์" จวกแกนนำ พธม. บิดเบือนข้อมูล ลั่น "สนธิ" ไม่มีอำนาจยึดพรรคคืน เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค และสื่อมวลชนจะมาแทรกแซงพรรคการเมืองไม่ได้

สนธิเรียกร้องให้พันธมิตรฯ ลาออกจากพรรคการเมืองใหม่ จวกสมศักดิ์จะเอาพวกซ้ายมาทำพรรค

ในการปราศรัยของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่สะพานมัฆวาน คืนวันนี้ (1 พ.ค.) นั้น นายสนธิได้ปราศรัยเรียกร้องให้พันธมิตรที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ให้ลาออกจากพรรคการเมืองใหม่ให้หมด

"ไปอยู่ทำไม ไปร่วมสังฆกรรมทำไม ค่าบำรุงพรรคเสียทำไม" นายสนธิกล่าว

นายสนธิกล่าวด้วยว่า สมาชิกพรรคการเมืองใหม่ ถ้ายังเชื่อมั่นในแกนนำสี่คน ที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข กล่าวหาว่าเราบิดเบือนความจริง ถ้าใครยืนข้างเราให้ลาออก ถ้าเห็นด้วยกับผม ลาออกมา ให้เขาไปทำกันเอง อย่าไปเสียเงินที่จะสนับสนุนพรรคนี้ พรรคนี้มีแม่ยกของเขาแล้ว ก็ให้แม่ยกออกเงินไปคนเดียวเลย อย่าไปสนใจว่าเขาจะมีมติอย่างไร เราจะเดินหน้าโหวตโนอยู่แล้ว เหลือเฉพาะพวกเขาที่อยู่กันเอง ส่วนเขาจะเอาพวกฝ่ายซ้ายมาทำให้เป็นพรรคสังคมนิยม หรือทำให้เป็นพรรคแรงงาน ก็แล้วแต่เขา ชื่อพรรคการเมืองใหม่นั้น เป็นเรื่องสมมติ

"สมศักดิ์" จวกแกนนำ พธม. บิดเบือนข้อมูล กมม. ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง

ขณะที่ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวเนชั่น” ว่า ขณะนี้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กำลังบิดเบือนข้อมูล โกหกมวลชนให้เข้าใจผิดว่า สมาชิกได้ลงมติให้พรรคการเมืองใหม่ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งที่การตัดสินใจว่าจะส่งเลือกตั้งหรือไม่เป็นอำนาจตามกฎหมายของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งได้ลงมติแล้วเมื่อวันที่ 5 เม.ย. หลังจากที่ได้รับความเห็นที่เป็นเอกฉันท์จากตัวแทนสาขาพรรค เมื่อวันที่ 22 มี.ค. และวันที่ 24 มี.ค.และได้นำมตินี้ไปแจ้งต่อแกนนำ

เผยมีคนมาก่อกวนทำให้กรรมการบริหารตัดสินใจไม่ได้

แต่ปรากฎว่ายังไม่ทันได้แจ้ง ค่ำวันที่ 23 มี.ค.แกนนำพันธมิตรฯ เปิดฉากด่าตนและพรรคการเมืองใหม่อย่างรุนแรง ทั้งที่แกนนำทั้งสี่คน ยืนยันกับตนก่อนหน้าที่จะประชุมสาขาพรรคว่า ถ้ากรรมการบริหารพรรคมีมติอย่างไร ก็จะยอมรับและจะไม่โจมตีกัน ต่อมาการประชุมกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 28 เม.ย.เพื่อจะพิจารณาว่าพื้นที่ไหนจะส่งเลือกตั้งหรือไม่ ก็ปรากฎว่าเวทีพันธมิตรฯปลุกคนมาก่อกวนทำให้ตัดสินใจไม่ได้อีก

ลั่นสนธิไม่มีอำนาจยึดพรรคคืน เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค

ส่วนกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศว่าจะยึดพรรคคืนนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นายสนธิ ไม่มีอำนาจเพราะไม่ได้ เป็นสมาชิกพรรค รวมถึงยังเป็นสื่อมวลชน จะมาแทรกแซงกิจการของพรรคการเมืองไม่ได้ ถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนตนก็ยืนยันว่าจะไม่ลาออกจากหัวหน้าพรรค เพราะยังไม่ได้ทำความผิด ตนมีศีลธรรมมากกว่าที่จะกลัวความกดดันที่ไม่ถูกต้อง โดยจะอยู่เพื่อพิสูจน์ความจริงว่าใครเป็นฝ่ายที่พูดเท็จ ไร้ธรรมะกันแน่ นอกจากนี้ต้องการให้พรรคนี้เป็นพรรคที่มีความอิสระ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนบางคน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยรายงานคนงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เสนอยกเลิกบริษัทจัดส่งให้รัฐส่งไปเอง

Posted: 01 May 2011 07:47 AM PDT

 
 
1 พ.ค. 54 - เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ โครงการณรงค์เพื่อแรงงานไทย เผยแพร่รายงาน “สำรวจปัญหาแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ” โดยมีข้อเสนอดังนี้
 
ข้อเสนอต่อรัฐ / ปรับปรุงกฎหมาย
 
ควรให้ยกเลิกบริษัทจัดหางานเอกชนและให้รัฐจัดส่งแทน
ตั้งเป็นหน่วยงานด้านการจัดส่งคนไทยไปทำงานต่างประเทศ มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำ (หรือไม่เก็บเลย) กระจายโอกาสคนงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างเป็นธรรม รัฐจัดหางานที่ดีและเหมาะสมในต่างประเทศให้กับคนไทย
 
สร้างแรงงานที่มีทักษะสู่ตลาดแรงงานโลก
มีนโยบายสนับสนุนและอบรมแรงงานที่มีทักษะส่งออกสู่ตลาดแรงงานโลก เช่น นวดแผนไทย ดูแลผู้สูงอายุ ครูสอนมวยไทย พ่อครัว แม่ครัว การออกแบบ อาชีพเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ช่างเทคนิคที่มีฝีมือ เป็นต้น
 
ปฏิรูปกองทุนเงินทดแทน
ทั้งด้านระยะเวลาการครอบคลุมเมื่อคนงานกลับมายังประเทศไทยแล้วเกิดอาการเจ็บป่วย มีการจ่ายเงินให้กับคนงานอย่างเหมาะสม รวมถึงการขยายสิทธิประโยชน์ให้มากกว่าเดิม
 
ปฏิรูปกระบวนการทางกฎหมาย
ปรับปรุงเรื่องระยะเวลาของกระบวนการทางกฎหมาย คนงานมิสิทธิยื่นคัดค้านการอุทธรณ์ของบริษัทจัดหางานได้ และเสนอให้คดีหลอกลวงแรงงานเป็นคดีพิเศษที่มีการสืบสวนสอบสวนในระยะเวลาที่เป็นธรรมแก่คนงาน และบทลงโทษแก่บริษัทจัดหางานที่มีการหลอกลวงคนงาน หากพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมแล้วมีความผิดจริง ควรเป็นบทลงโทษที่หนักคือขึ้นบัญชีดำบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางเครือ ข่ายเส้นทางทางการเงินต่างๆ ไม่ให้สามารถกลับมาทำธุรกิจจัดหางานได้อีก
 
ข้าราชการกระทรวงแรงงานจะต้องมีความโปร่งใส
มีการตรวจสอบข้าราชการของกระทรวงแรงงาน ในเรื่องของความสัมพันธ์กับบริษัทจัดหางาน ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ ตัวแทน และเส้นทางการเงินต่างๆ โดยคนงานเสนอว่าข้าราชการกระทรวงแรงงานจะต้องไม่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจจัด หางานโดยเด็ดขาด
 
ข้อเสนอต่อองค์กรพัฒนาเอกชน
 
มีองค์กรช่วยเหลือคนงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ ทั้งด้านให้ความรู้กับคนงานก่อนไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายทั้งของไทยและประเทศปลายทาง ความรู้เกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงานของประเทศต่างๆ (ว่ามีการรับแรงงานต่างชาติหรือไม่ งานที่ตนเองจะไปทำนั้นมีจริงหรือไม่) และช่วยเหลือหลังจากกลับมาหากเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการชี้ช่องทางดำเนินการทางกฎหมาย ค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินการทางกฎหมาย และการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ
 
 
ดูและดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ : http://www.thailabour.org/autopagev4/show_page.php?topic_id=1050&auto_id=3&TopicPk=
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ "ยุติการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในข้อหาความผิดตามมาตรา 112"

Posted: 01 May 2011 07:22 AM PDT

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ "ยุติการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในข้อหาความผิดตามมาตรา 112" ขอให้ศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 อย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติโดยคำนึงถึงมาตราฐานตามกฎหมายและหลักสิทธิ มนุษยชนอย่างเคร่งครัด

1 พ.ค. 54 - มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ "ยุติการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในข้อหาความผิดตามมาตรา 112" โดยมีรายละเอียดดังนี้
 

 

แถลงการณ์

ยุติการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในข้อหาความผิดตามมาตรา 112

เพื่อรักษาบรรยากาศประชาธิปไตย และการเลือกตั้งเสรี

ขณะนี้มีการดำเนินคดีกับบุคคลหลายรายในความผิดตามมาตรา 112  ประมวลกฎหมายอาญา หรือข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งผู้ที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็น ผู้ที่เคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านรัฐบาลหรือวิจารณ์บทบาทของกองทัพ และเป็นผู้ที่สนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่มคนเสื้อแดง   ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้จับกุม นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข  บรรณาธิการบริหารนิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ ในข้อหาดังกล่าว  แล้วส่งตัวให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอดำเนินคดี  ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้บัญชาการทหารบกก็ได้ให้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาเดียวกัน ต่อนายจตุพร พรหมพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และแกนนำคนเสื้อแดง และมีการคุกคามดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งน่าเชื่อว่าการคุกคามเกิดจากการที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับฐานะและ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น

ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ก่อนและหลังการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ. 2549  คู่ขัดแย้งได้ใช้วิธีการต่างๆเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองของฝ่ายตน  ได้ส่งผลต่อประชาธิปไตย และคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพขั้นพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น    เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ  ความขัดแย้งทางการเมืองได้นำไปสู่ความรุนแรงในช่วงต้นปี 2553 ในที่สุด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 92 คน และบาดเจ็บนับพันคน

การที่คู่ขัด แย้งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ทั้งในระบบและนอกระบบประชาธิปไตย ได้กล่าวหาศัตรูทางการเมืองของตนว่า “ล้มเจ้า”  กระทั่งมีการกล่าวหาในทางอาญาโดยใช้กฎหมายและกลไกรัฐมาดำเนินคดีต่อศัตรูทาง การเมืองของตน   ดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้นั้น นอกจากจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในความคิดและเสรีภาพความเชื่อทางการเมือง  ซึ่งถือเป็นเสรีภาพอันสัมบูรณ์ที่ไม่อาจละเมิดได้  การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมทั้งเสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพทางวิชาการแล้ว   การแอบอ้างเอาสถาบันกษัตริย์มาใช้เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองของตน ยังเป็นการปิดกั้นโอกาสไม่ให้สังคมไทย ได้ปรับตัวและพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และการพัฒนาของสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย  และท้ายที่สุดการกระทำดังกล่าวจะส่งผลเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เองใน ระยะยาว

เพื่อเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิ มนุษยชน  และเพื่อดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงขอเรียกร้องและเสนอแนะดังต่อไปนี้

1. ขอให้ทุกฝ่ายใช้สติ ยุติการแอบอ้างเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือหรือนำมายุ่ง เกี่ยวในทางการเมือง ไม่ว่าจะในฐานะที่อ้างว่าเป็นผู้ปกป้องสถาบันฯ หรือไม่ก็ตาม  การวิจารณ์ เสนอแนะเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ควรตั้งอยู่บน พื้นฐานทางวิชาการและการกระทำโดยสุจริต มิใช่โดยจุดมุ่งหมายที่จะยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังหรือความรุนแรง หรือหวังผลตอบแทนในทางการเมือง

2. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติทบทวนการดำเนินคดี บุคคลทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดในข้อหาความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ยกเว้นโดยความเห็นชอบของสำนักพระราชวัง  และในการดำเนินคดีจำเป็นต้องแจ้งให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาให้มารับทราบข้อกล่าว หาเสียก่อนตามขั้นตอนของกฎหมาย ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงความยุติธรรมตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอย่าง เต็มที่ ไม่เลือกปฏิบัติ หรือกระทำไปในลักษณะกลั่นแกล้ง ข่มขู่ คุกคาม ศัตรูในทางการเมือง

3. ขอให้ผู้นำกองทัพและนายทหารยุติการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและกิจการพลเรือน ยุติพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว  คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นการตบเท้าให้กำลังใจผู้บังคับบัญชาระดับสูง และขอให้กองทัพอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

4. ขอให้ศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 อย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติโดยคำนึงถึงมาตราฐานตามกฎหมายและหลักสิทธิ มนุษยชนอย่างเคร่งครัด

5. ขอให้รัฐบาลปัจจุบันหรือรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรที่กำลังจะมีขึ้น ได้ทบทวนบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลใดๆ สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนได้ และเพื่อปกป้องและธำรงค์ไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่าง แท้จริง

สุดท้ายนี้ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างสรรค์บรรยากาศ ประชาธิปไตยในขณะที่ประเทศกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าวเป็นไปโดยเสรีและบริสุทธิ์ยุติธรรม

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมกรคึกคัก เดินเท้ายื่นข้อเรียกร้องวันเมย์เดย์

Posted: 01 May 2011 04:55 AM PDT

(1 พ.ค.54) เนื่องในวันที่ 1 พ.ค.ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันกรรมกรสากล หรือวันแรงงานแห่งชาติ คนงานกลุ่มต่างๆ ออกมาเดินขบวนแสดงพลังและเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล


 

เวลาประมาณ 11.00น. 12 สภาองค์การลูกจ้างฯ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนการจัดงานจากรัฐบาล แต่งกายด้วยเสื้อสีเขียวมีตราสำนักงานประกันสังคม เดินจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ข้อ 2.ให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้ลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย 3.ให้รัฐบาลปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมพร้อมกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและรายได้แห่งชาติทุกสาขาอาชีพ

4.ให้รัฐบาลปฏิรูประบบประกันสังคม อาทิ ยกระดับให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นองค์กรอิสระและนิรโทษกรรมผู้ประกันตน ม.39 ให้กลับมาเป็นผู้ประกันตน 5.ให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 และยกเลิกแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ 6.ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้างในกรณีเงินค่าชดเชยและเงินรายได้อื่นๆ ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย 7.แก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชย 8.ให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่ 9.ให้รัฐบาลรวมประมวลกฎหมายแรงงานทุกประเภทเป็นประมวลกฎหมายแรงงานฉบับเดียวและบังคับใช้ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ
 

ขณะที่กลุ่มของสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ เคลื่อนขบวนมาหยุดปราศรัยที่หน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นายเฉลย ชมบุหรัน ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ระบุว่า สิ่งที่ทางกลุ่มผลักดันและขับเคลื่อนมาตลอดคือการเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ทั้งนี้อธิบายว่าสีแดงเป็นสีของกรรมกรมาโดยตลอดอยู่แล้ว ขณะที่นายบุญผิน สุนทรารักษ์ อดีตประธานสหพันธ์เหล็กและโลหะแห่งประเทศไทย วิจารณ์ว่าที่ผ่านมา สภาฯ ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อกรรมกร ทั้งยังทำให้กระบวนเสียหาย อาทิ กรณีของคนงานไทรอัมพ์ และไทยเกรียง ทั้งนี้ ระบุด้วยว่า ตามยุทธศาสตร์การต่อสู้ในทางสากลแล้ว แรงงานไม่ควรหันหลังให้การเมือง

อนึ่ง สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องอำนาจประชาธิปไตย 3 ด้านได้แก่ อำนาจประชาธิปไตยทางการเมือง นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง รัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และในการเลือกตั้ง ผู้ใช้แรงงานให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ

อำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ต้องมีหลักประกันคุณภาพชีวิตการทำงานในสถานประกอบการ สิทธิการจัดการหลักประกันสังคมต้องตอบสนองต่อผู้ใช้แรงงาน ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในสถานประกอบการประเภทเดียวกันต้องมีบรรทัดฐานเดียวกัน และอำนาจประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม เรียกร้องให้รัฐต้องจัดการศึกษาฟรีทุกระดับ รัฐต้องส่งเสริมการเรียนรู้

 

จากนั้น เวลาประมาณ 12.00น. คนงานหลายพันคนนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สรส.) เดินเท้าจากหน้ารัฐสภามาหยุดตั้งเวทีปราศรัยที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีข้อเรียกร้อง 13 ข้อ ได้แก่ 1.รัฐต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98  2.ประกาศใช้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับขบวนการแรงงาน) 3.ปฏิรูประบบประกันสังคม 4.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม กำหนดโครงสร้างค่าจ้างรายได้และรายได้แห่งชาติทุกสาขาอาชีพ 5.ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ 6.ให้คนงานมีสิทธิในการเลือกตั้งในพื้นที่สถานประกอบการ

7.เร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 8.ตั้งกองทุนความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานกรณีถูกเลิกจ้าง    9.จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในย่านอุตสาหกรรม 10.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ 11.ยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 12.ยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้างในกรณีเงินค่าชดเชย และเงินรายได้อื่นๆซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้าย และ 13.แก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ให้กับลูกจ้างจากเดิมอายุงาน 10 ปีขึ้นไป จ่ายค่าชดเชย 300 วัน เป็นอายุงาน 10 ปีขึ้นไปเพิ่มอีกปีละ 30 วัน

 


ริ้วขบวนล้อการเมือง โดยนักศึกษาจากกลุ่มกิจกรรมต่างๆ อาทิ YPD กลุ่มสะพานสูง มธ., ชมรมมหาวิทยาลัยชาวบ้าน ม.เกษตร, กลุ่มลูกชาวบ้านและชมรมวรรณศิลป์ ม.บูรพา, ซุ้มลาดยาว ม.รามคำแหง

ด้านพรรคการเมือง ได้แจกแถลงการณ์ในโอกาสวันกรรมกรสากล เรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงานรวมพลังกันตั้งสหภาพแรงงานให้เข้มแข็งเพื่อใช้สิทธิปกป้องเสรีภาพอันขอบธรรมของตนเอง ลุกขึ้นต่อสู้ทางการเมือง ต่อต้านทุนนิยมสามานย์ผูกขาด ต่อต้านการขายรัฐวิสาหกิจ เพื่อผลักดันให้เกิดระบบรัฐสวัสดิการ กระบวนการสหกรณ์ โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ตามวิถีทางประชาธิปไตย เพื่อสร้างหลักประกันให้พี่น้องแรงงานหญิงชายมีชีวิตอย่างปกติสุข ตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ใช้สิทธิใช้เสียงทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของพี่น้องคนงาน ในการรวมพลังขับเคลื่อนสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม เป็นประชาธิปไตยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างแท้จริง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 24 - 30 เม.ย. 2554

Posted: 01 May 2011 04:15 AM PDT

แรงงานนอกระบบสนเข้าประกันสังคม 3 แสนราย

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้รวบรวมรายชื่อผู้สนใจสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 พบว่ามีผู้แจ้งความจำนงทั้งสิ้น 3.29 แสนรายแล้ว โดยมีจังหวัดที่มีผู้สนใจเกินเป้า 2 จังหวัดประกอบด้วยแพร่มีผู้สนใจ 3.1 หมื่นคน คิดเป็น 141% ของเป้าที่ตั้งไว้ 2 หมื่ืนคน และที่ยะลามีผู้สนใจ 1.7 หมื่นคน คิดเป็น 101.71% ของเป้าที่ตั้งไว้

นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายงบกลางจำนวน 552 ล้านบาท เพื่อประชาสัมพันธ์จูงใจให้ประชาชนแรงงานนอกระบบมาสมัครเข้ามาตรา 40 ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือร่วมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในการประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายใบสมัครให้แก่กลุ่มลูกค้าของธนาคาร รวมถึงการรับชำระเงินสมทบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานในรายละเอียดเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU)

ขณะที่ความคืบหน้าการประกาศใช้ร่าง พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกัน ตน พ.ศ.... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ทั้งนี้นโยบายดึงแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40โดยเปิดทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบ 2 อัตราคือ 100 บาท/เดือน และ 150 บาท/เดือน

โดยหากจ่ายสมทบ 100 บาท/เดือน ผู้สมทบจะได้สิทธิประโยชน์ 3 อย่างคือ 1.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย ได้วันละ 200 บาท/วัน เป็นเวลาไม่เกิน 20 วัน 2.เงินชดเชยทุพพลภาพ ได้ 1,000 บาท/เดือน ต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี และ 3.เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต 2 หมื่นบาท/คน โดยรัฐอุดหนุนให้ 30 บาทและผู้ประกันตนจ่ายอีก 70 บาท

ส่วนอัตรา 150 บาท/เดือน จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มอีก 1 อย่างคือเงินบำเหน็จชราภาพซึ่งจะหักเงิน 50 บาทสะสมเป็นบำเหน็จ โดยผู้ประกันตนจะได้รับเงินเมื่อถึงอายุครบ 60 ปี มีการการันตีดอกผลขั้นต่ำ 3 % แต่อาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับผลกำไรที่นำไปลงทุน โดยอัตรานี้รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท และผู้ประกันตนจ่ายอีก 100 บาท

เบื้องต้นสปส.ตั้งเป้าหมายว่าจะมีแรงงานนอกระบบสนใจเข้าร่วมโครงการ 2.4 ล้านคนในระยะเวลา 2 ปี

(โพสต์ทูเดย์, 25-4-2554)

ชมรมพิทักษ์สิทธิ์ฯ เตรียมฟ้องศาลแรงงานให้ สปส.คืนเงินสุขภาพผู้ประกันตน 28 เม.ย.นี้

26 เม.ย. 54 - นางสาวสารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน เปิดเผยว่า ขณะนี้ชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตนกำลังทำคำฟ้องให้รอบด้าน เพื่อยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต่อศาลแรงงานให้คืนเงินให้กับผู้ประกันตนที่เรียกเก็บตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2549 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นวันที่มีการยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาท จากสิทธิการรักษาด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองมีผลบังคับใช้ เนื่องจากเงินที่ สปส.เรียกเก็บจากผู้ประกันตนในอัตราร้อยละ 1 ซึ่งคำนวณมาจากอัตราที่ สปส.เรียกเก็บจากผู้ประกันตนในเรื่องสิทธิสุขภาพ ได้แก่ สิทธิด้านการรักษาพยาบาลร้อยละ 0.88 และการคลอดบุตรร้อยละ 0.12  นั้น เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 30 ที่ระบุถึงการได้รับความเสมอภาคทางด้านสุขภาพของบุคคล มาตรา 51 การมีความเสมอภาคในการได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และมาตรา 80 (2) ที่ระบุว่ารัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มี มาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

โดยจะไปยื่นฟ้อง สปส.ที่ศาลแรงงานในวันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายนนี้ เวลา 14.00 น. เพื่อให้ สปส.คืนเงินที่ผู้ประกันตนต้องถูกบังคับจ่ายอย่างไม่เป็นธรรมในสิทธิสุขภาพ คืนให้ผู้ประกันตน และหวังว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานประกันสังคมจะพูดคุย กันโดยเร็วตามที่รับปากไว้กับผู้ประกันตนด้วย

(สำนักข่าวไทย, 26-4-2554)

ก.แรงงาน เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ก.คลัง ปล่อยเงินกู้ให้แรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ

26 เม.ย. 54 - นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 เม.ย.54) จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงแรงงาน กับ กระทรวงการคลัง ซึ่งมีธนาคารของรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการช่วยเหลือคนหางานเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ตามปฏิญญา 3 สิงหา โดยจะปล่อยกู้ให้กับแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ซึ่ง 1 คน สามารถกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 150,000 บาท อัตราดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 9-10 ต่อปี ซึ่งถือว่าถูกกว่าเงินกู้นอกระบบ ทั้งนี้ในช่วงแรกจะปล่อยกู้ให้กับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากลิเบียก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนมากในขณะนี้ ส่วนหลักการค้ำประกันจะมีอยู่ 2 กรณีคือ กรณีแรก บริษัทจัดหางาน จะเป็นผู้ค้ำประกันให้ โดยแรงงานจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประมาณ 1-2 พันบาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับความเสี่ยงให้กับบริษัทจัดหางาน ส่วนกรณีที่ 2 คือ กรมการจัดหางานเป็นผู้ค้ำประกัน สำหรับการจัดส่งโดยกรมการจัดหางาน โดยใช้สัญญาจ้างเป็นหลักประกัน ซึ่งจะต้องตกลงกับนายจ้างและบริษัทจัดหางาน ให้ส่งเงินเดือนของแรงงานกลับมาประเทศไทย ผ่านธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อหักเงินตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้

รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงแรงงาน ยังฝากถึงแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ว่า หากต้องการไปทำงานด้วยความมั่นคง ขอให้ดำเนินการผ่านกรมการจัดหางาน หรือติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่งจะช่วยดูแลในเรื่องของข้อเสียเปรียบระหว่างการทำสัญญา โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอด รวมถึงยังดูแลในเรื่องของแหล่งทุน หากไม่มีหลักทรัพย์ในการดำเนินการ ก็สามารถนำสัญญาจ้างมาค้ำประกันได้

(สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, 26-4-2554)

บอร์ด สปส.เพิ่มสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลผู้ประกันตนหลายรายการ

26 เม.ย. 54 - บอร์ด สปส.เพิ่มสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลให้กับผู้ประกันตนหลายรายการ ทั้งผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง 7 ชนิด และทุพพลภาพ คาดมีผลบังคับใช้ใน 2 สัปดาห์ พร้อมขยายเวลาให้ธนาคารปล่อยกู้เงินซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ผู้ประกันตนใน พื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้อีก 6 เดือน

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวว่าที่ประชุมบอร์ด สปส.วันนี้มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ในส่วนของการรักษาพยาบาลให้กับผู้ประกัน ตนหลายรายการ ประกอบด้วย 1.ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง จากเดิมให้สิทธิในการฟอกเลือด ล้างไตทางช่องท้อง และผ่าตัดเปลี่ยนไต ที่ให้สิทธิเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในระบบประกันตน เปลี่ยนเป็นให้สิทธิการรักษาทั้งป่วยก่อนและหลังเข้าระบบประกันตน และเพิ่มค่าใช้จ่ายในการให้ยาเพิ่มเลือด คิดเป็นเงินเฉพาะผู้ป่วยโรคไต 200 ล้านบาทต่อปี

2.ให้การรักษาผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ ขยายสิทธิจากเดิมที่รักษาใน รพ.รัฐและ รพ.เอกชนในวงเงิน 2,000 บาท ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ขยายเพิ่มเป็นรักษา รพ.รัฐฟรีทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ส่วน รพ.เอกชน ขยายเพิ่มวงเงินเป็น 4,000 บาทกรณีผู้ป่วยใน ส่วนผู้ป่วยนอกวงเงิน 2,000 บาทเท่าเดิม เพิ่มค่าพาหนะเหมาจ่ายในการเดินไปรักษาที่ รพ. 500 บาทต่อเดือน กรณีนี้ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2554 และ 3. มีการเพิ่มสิทธิในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง 7 ชนิด ซึ่งเดิมให้การรักษาฟรีอยู่แล้ว เพียงแต่ให้ รพ.รักษาเบิกจ่ายได้ในวงเงิน 50,000 บาทต่อราย ซึ่งส่งผลทำให้ รพ.หลายแห่งจำกัดค่ารักษา จึงอนุมัติเพิ่มวงเงินให้เบิกจ่ายได้สูงสุดถึง 270,000 บาทต่อราย ซึ่งต้องอยู่ในแนวทางรักษาที่ สปส.ระบุและได้รับการยอมรับในสากล โดยหลังจากนี้ฝ่ายเลขา สปส.จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการแพทย์ ของ สปส.ประกาศและลงนามให้มีผลบังคับใช้หลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังอนุมัติช่วยผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยขยายช่วงเวลาโครงการอนุมัติสินเชื่อในการซ่อมที่อยู่อาศัยให้ผู้ประกันตน ในการขอกู้เงินจากธนาคารต่อไปอีก 6 เดือน และให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าว ในวงเงินไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท

(สำนักข่าวไทย, 26-4-2554)

อนุมติงบ 525 ล้านให้ประกันสังคมดึงแรงงานเข้าระบบ

26 เม.ย. 54 - นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม. ) อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอของบ 525 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าโครงการจูงใจให้แรงงานนอกระบบ เข้าเป็นผู้ประกันตนในระบบตามมาตรา 40 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 พ.ค 2554 นี้

รายงานข่าวจากรประกันสังคม แจ้งว่าขณะนี้มีแรงงานนอกระบบสนใจเข้าโครงการนี้แล้วมากกว่า 3 แสนราย  โดยสำนักงานประกันสังคม(สปส.) จะใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลางเพื่อประชาสัมพันธ์จูงใจให้แรงงานเข้าร่วม โครงการ 525 ล้านบาท สำหรับประสานเครือข่ายท้องถิ่น ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นศูนย์กลางลงทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานนอกระบบ ที่ต้องการสมัครเข้าระบบประกันสังคม มาตรา 40 โดยจะเริ่มจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้

(โพสต์ทูเดย์, 26-4-2554)

ครม.อนุมัติ​แต่งตั้ง คกก.​แก้​ไขปัญหาวิกฤติ​การณ์ขาด​แคลน​แรงงานของประ​เทศ

นพ.มารุต มัสยวาณิช รอง​โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติ​แต่งตั้งคณะกรรม​การ​แก้​ไขปัญหา​การขาด​แคลน​แรงงานตามที่กระทรวง​ แรงงาน​เสนอ

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรม​การฯ ชุดดังกล่าวจะมี รมว.​แรงงาน ​เป็นประธานกรรม​การ ปลัดกระทรวง​แรงงาน ​เป็นรองประธานกรรม​การ ส่วนกรรม​การประกอบด้วย ปลัดกระทรวง​การคลัง ปลัดกระทรวง​เกษตร​และสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงมหาด​ไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิ​การ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ​เลขาธิ​การคณะกรรม​การพัฒนา​การ​เศรษฐกิจ​และสังคม​แห่งชาติ ​เลขาธิ​การคณะกรรม​การ​การศึกษาขั้นพื้นฐาน ​เลขาธิ​การคณะกรรม​การ​การอาชีวศึกษา ​เลขาธิ​การคณะกรรม​การ​การอุดมศึกษา ​เลขาธิ​การสภา​การศึกษา ​เลขาธิ​การคณะกรรม​การส่ง​เสริม​การลงทุน ​ผู้ว่า​การ​การ​เคหะ​แห่งชาติ รองปลัดกระทรวง​แรงงาน (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านส่ง​เสริมขีด​ความสามารถ​ใน​การ​แข่งขันของประ​เทศ) อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือ​แรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิ​การ​และคุ้มครอง​แรงงาน ​เลขาธิ​การสำนักงานประกันสังคม ประธานสภาอุตสาหกรรม​แห่งประ​เทศ​ไทย ประธานสภาหอ​การค้า​แห่งประ​เทศ​ไทย ประธานสภาองค์​การนายจ้าง​แห่งประ​เทศ​ไทย ประธานสภาองค์​การลูกจ้างสภาศูนย์กลาง​แรงงาน​แห่งประ​เทศ​ไทย ประธานสภาองค์​การลูกจ้าง​แรงงาน​เสรี​แห่งชาติ ​โดยมีอธิบดีกรม​การจัดหางาน​เป็นกรรม​การ​และ​เลขานุ​การ รองอธิบดีกรม​การจัดหางาน​และ​เจ้าหน้าที่กรม​การจัดหางานที่อธิบดีกรม​การ จัดหางานมอบหมาย ​เป็นกรรม​การ​และ​ผู้ช่วย​เลขานุ​การ

​โดยคณะกรรม​การฯ มีหน้าที่กำหนด​แนวทาง​และมาตร​การ​แก้​ไขปัญหา​การขาด​แคลน​แรงงาน​ใน​แต่ ละภาค​การผลิต​เพื่อ​เสนอ ครม.พิจารณามีมติ​ให้หน่วยงานที่​เกี่ยวข้องดำ​เนิน​การต่อ​ไป, ประสานน​โยบาย​และ​แผน​การ​แก้​ไขปัญหา​การขาด​แคลน​แรงงาน​ทั้งภาครัฐ​และ ภาค​เอกชน, ส่ง​เสริม​และสนับสนุน​การ​แก้​ไขปัญหา​การขาด​แคลน​แรงงาน​ทั้งภาครัฐ​และ ภาค​เอกชน, ติดตาม​และประ​เมินผล​การดำ​เนิน​การตาม​แนวทาง​และมาตร​การ​แก้​ไขปัญหา​ การขาด​แคลน​แรงงานของหน่วยงานต่างๆ ที่​เกี่ยวข้องตามมติ ครม. ​และมีอำนาจ​แต่งตั้งคณะอนุกรรม​การ​หรือคณะ​ทำงาน​เพื่อดำ​เนิน​การตามที่​ เห็นสมควร

(สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 26-4-2554)

ก.แรงงาน เปิดเบอร์โทรฉุกเฉินช่วยเหลือแรงงานใน ตปท. ตลอด 24 ชม.

ก.แรงงาน 27 เม.ย.- นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังทำพิธีเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำหรับแรงงานไทยในต่าง ประเทศ ที่บริเวณชั้น 1 กระทรวงแรงงานว่า จากการที่แรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ประสบปัญหาความเดือดร้อน อาทิ ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศลิเบีย สถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการติดต่อสื่อสารของแรงงานไทย แม้บางประเทศรวม 11 ประเทศจะมีสำนักแรงงานในต่างประเทศ (สนร.) แต่ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอหากเกิดปัญหา

ดังนั้น เพื่อให้แรงงานที่ประสบความเดือดร้อน สามารถโทรศัพท์ร้องทุกข์มายังกระทรวงแรงงานได้อย่างทันท่วงที จึงได้มีการเปิดหมายเลขโทรศัพท์พิเศษ ผ่านทางหมายเลข 800 662 662 66 เพื่อให้แรงงาน โทรมาร้องขอความช่วยเหลือที่ประเทศไทยได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่คิดค่าบริการ เบื้องต้นโครงการดังกล่าวจะนำร่องใน 20 ประเทศที่มีแรงงานไทยเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย แคนาดา จีน สาธารณรัฐ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี ฮ่องกง ฮังการี อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ โปตุเกส รัสเซีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ สวีเดน ไต้หวัน และอังกฤษ ก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในอนาคต

(สำนักข่าวไทย, 27-4-2554)

สรส.ลงมติเอกฉันท์ให้ "สมศักดิ์ โกศัยสุข - สาวิทย์ แก้วหวาน" ถอนตัวแกนนำเสื้อเหลือง

รายงานข่าวแจ้งว่า สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)  รุ่นที่ และนายสาวิทย์ แก้วหวาน แกนนำพธม.รุ่นที่ 2 ถอนตัวจากพธม. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา

(มติชนออนไลน์, 27-4-2554)

ก.แรงงาน จับมือ ก.คลัง ปล่อยสินเชื่อ 3 ธนาคารรัฐกู้ไปทำงานต่างประเทศ

ก.แรงงาน  27 เม.ย. 54 - ก.แรงงาน จับมือ ก.คลัง ปล่อยสินเชื่อ 3 ธนาคารรัฐ ให้กู้ไปทำงานต่างประเทศ เผย ดอกเบี้ยถูก แค่ร้อยละ 9 และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เชื่อช่วยคนงานลดภาระไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ด้าน รมว.คลัง เผยเตรียมลดภาษีให้ผู้ประกอบการเฉพาะที่ยอมขึ้นค่าจ้าง  

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการสินเชื่อเพื่อการไปทำงานต่างประเทศ ระหว่างกรมการจัดหางานและธนาคารของรัฐ 3 แห่ง ประกอบด้วยธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ทั้ง 3 ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้กับแรงงานไทยที่ต้องการจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมในส่วนของค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าตั๋วเครื่องบิน ในวงเงินคนละไม่เกิน 150,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 18 เดือน เสียดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปี เงื่อนไขการปล่อยกู้ไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ให้ใช้สัญญาจ้างงานเป็นหลักประกันแทน เชื่อว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ให้กับผู้ใช้แรงงาน ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ รวมถึงการจัดเก็บค่าส่งคนงานไปต่างประเทศเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะสัญญาจ้างจะต้องถูกตรวจสอบผ่านกรมการจัดหางาน และธนาคารต่า งๆ โดยจะไม่เกิดคำว่า ไปเสียนา มาเสียเมียอีกต่อไป ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการโดยแจ้งความประสงค์ที่จัดหางานจังหวัดทุก จังหวัดได้ตั้งแต่วันนี้

ด้านนายกรณ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานของ รัฐบาล นอกเหนือจากความพยายามที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกร้อยละ 25 ภายใน 2 ปี โดยขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังอยู่ในระหว่างจัดทำมาตรการทางด้านภาษี เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการหากต้องขึ้นค่าจ้าง เบื้องต้นมีหลักการ ที่จะจัดทำเป็นมาตรการลดภาษีเฉพาะสถานประกอบการที่สามารถปรับขึ้นค่าจ้าง ตามนโยบายที่กำหนดได้

(สำนักข่าวไทย, 27-4-2554)

องค์กรลูกจ้างขอให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 13% ภายในเดือน พ.ค.นี้

ก.แรงงาน 28 เม.ย. 54 - นายมนัส โกศล ในฐานะประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) เข้ายื่นหนังสือถึง นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกร้อยละ 13 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นของขวัญวันแรงงานให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยระบุว่าปัจจุบันราคาสินค้าอุปโภคบริโภคได้ปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกชนิด ทั้งข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช และแก๊สหุงต้ม ทำให้อาหารตามท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น จนลูกจ้างที่มีรายได้น้อย ต้องทำงานล่วงเวลามากขึ้น เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ยิ่งหากสถานประกอบการใดไม่มีการทำงานล่วงเวลา ลูกจ้างจะอยู่ไม่ได้ โดยขอให้การปรับขึ้นค่าจ้างมีผลบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนมาตรการทางด้านภาษีที่กระทรวงการคลัง มีแนวคิดที่จะลดภาระให้สถานประกอบการเฉพาะผู้ที่สามารถปรับขึ้นค่าจ้างขั้น ต่ำได้นั้น ตนเห็นด้วยที่เอามาตรการทางด้านภาษีมาช่วยผู้ประกอบการ แต่น่าจะมีการปรับลดให้กับสถานประกอบทุกแห่งอย่างเท่าเทียมกันมากกว่า

ด้าน นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า จะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในช่วงปลายเดือน พฤษภาคมนี้ แต่คงไม่ทันประกาศใช้ตามที่มีการเรียกร้อง

(สำนักข่าวไทย, 28-4-2554)

โพลล์เผย แรงงานพอใจนโยบายพรรคเพื่อไทยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) จึงได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานภายใต้หัวข้อ ผู้ใช้แรงงาน กับสิ่งที่ร้องขอในวันแรงงานแห่งชาติ”  โดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,073 คน พบว่า  ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ  91.1  ระบุว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ  โดยค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพเฉลี่ยควรอยู่ที่ 290 บาทต่อวัน 

เมื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย ค่าแรงขั้นต่ำที่ 2 พรรคใหญ่หาเสียงอยู่ในขณะนี้  พบว่า  ในส่วนนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 25 ภายใน 2 ปีของพรรคประชาธิปัตย์นั้น  ผู้ใช้แรงงานร้อยละ  57.9  ยังคงมองว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวยังคงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่ ดี  และร้อยละ 63.7 ก็ยังไม่เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะทำได้จริง  ในส่วนนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทย  ผู้ใช้แรงงานร้อยละ  88.2 เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวเพียงพอต่อค่าครองชีพ  และร้อยละ 54.0  เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะทำได้จริง  เมื่อให้ผู้ใช้แรงงานเปรียบเทียบทั้ง 2 นโยบายพบว่า ผู้ใช้แรงงานร้อยละ  84.5  ชอบนโยบายของพรรคเพื่อไทยมากกว่า

สำหรับแนวคิดการจัดทำ  "มาตรฐานฝีมือแรงงาน" ที่กำลังจะเกิดขึ้น  ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 53.3  เชื่อว่าจะช่วยยกระดับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้อยู่ในระดับที่ควรจะเป็นได้  ซึ่งการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานดังกล่าวผู้ใช้แรงงานร้อยละ  82.2  เชื่อว่าจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้น

ส่วนสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานต้องการ ฝากบอกไปยังนายจ้าง/เจ้าของกิจการ  มากที่สุดเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ  คือ  ต้องการให้ขึ้นค่าแรง โบนัส เบี้ยขยัน รวมถึงดูแลค่าจ้างให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ (บางคนได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ)และจ่ายค่าจ้างให้สอดคล้องกับงาน ที่ทำอยู่จริง (ร้อยละ 58.4) ด้านสิ่งที่ต้องการร้องขอจากรัฐบาลให้เข้ามาดูแล พัฒนา และปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด ได้แก่  เรื่องค่าแรง/ค่าจ้าง (ร้อยละ 45.1) รองลงมาต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องสวัสดิการ(ร้อยละ 25.4) และเรื่องคุณภาพชีวิต (ร้อยละ 16.4)

(กรุงเทพธุรกิจ, 28-4-2554)

แรงงานเฮ!เอกชนตอบรับขึ้นค่าแรงตามฝีมือ
      
วันนี้ (29 เม.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน นางจิราภรณ์ เกสรสุจริต อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) แถลงข่าวกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้นำประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐาน ฝีมือ 11 สาขาอาชีพ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้หลัง 90 วัน กพร.จึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการทดสอบและรับรองคุณภาพฝีมือแรงงาน โดยใช้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดและศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานของหน่วยงาน อื่น รวม 184 แห่ง เป็นสถานที่ทดสอบ
      
นางจิราภรณ์ กล่าวว่า กพร.ได้กำหนดค่าธรรมเนียมในการทดสอบไว้คือระดับ 1 จ่าย 100 บาท ระดับ 2 จ่าย 150 บาทและระดับ 3 จ่าย 200 บาท ซึ่งจนถึงปี 2553 มีผู้เข้าร่วมทดสอบมาตรฐานฝีมือใน 11 สาขาอาชีพแล้วกว่า 6 หมื่นคน โดยผ่านการทดสอบ4.8 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2554 จะมีผู้ขอรับการทดสอบประมาณ 2 หมื่นคน

ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน กล่าวว่า การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานครั้งนี้จะนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากเมื่อแรงงานมีฝีมือก็สามารถเพิ่มผลผลิตได้ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ประกอบการพาลูกจ้างมารับการทดสอบ เนื่องจากทุกๆปีต้องประสบปัญหาในเรื่องการเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งการพิจารณาไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว และทุกครั้งที่มีการเรียกร้องก็จะเกิดแรงกระเพื่อมเพราะไม่สามารถปรับได้ตาม ความเป็นจริงของสังคม ทั้งๆที่ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก
      
ด้านนายชุมพล พรประภา ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การออกมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลไม่ถือว่าเป็นการบังคับ เพราะหากสถานประกอบการไม่พาลูกจ้างไปทดสอบฝีมือก็ไม่มีปัญหาอะไร และมาตรการนี้ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่นำมาใช้
      
อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากไทยขาดแคลนแรงงานมานับสิบปี ซึ่งจริงๆควรที่จะทำมาตั้งนานแล้ว ต้องบอกว่าวันนี้อำนาจการต่อรองอยู่ในมือของลูกจ้าง แต่เมื่อออกมาตรการนี้มา การต่อต้านจากเอกชนน้อยลง
      
นายชุมพล กล่าวว่า ในเบื้องต้นอยากให้กระทรวงแรงงานเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการก่อน เพราะบางส่วนยังเข้าใจผิดคิดว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักธุรกิจส่วนใหญ่ต่างก็ดูเรื่องความคุ้มค่า ซึ่งหากทั้งลูกจ้างและภาคธุรกิจได้ประโยชน์ด้วยกันก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร และหลังจากนี้ในส่วนของสภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ต้อง เร่งทำความเข้าใจกับสมาชิกด้วย
      
นายชุมพล กล่าวต่ออีกว่า เรื่องนี้จะไปเร่งคงไม่ได้ คงต้องๆค่อยเป็นค่อยไป จริงๆแล้วประเทศไทยควรทำเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อน แต่ประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วงคือ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อย ซึ่งตนเห็นว่ารัฐบาลต้องหาทางช่วยเหลือก่อน เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้ใช้แรงงานเข้มข้น และปรับตัวได้ช้า ดังนั้นภาครัฐอาจต้องเข้าไปช่วยให้เงินสนับสนุนในการยกระดับมาตรฐานฝีมือ ครั้งนี้
      
ภาคธุรกิจที่น่าห่วงคือธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งปรับตัวไม่ทันและต้นทุน น้อยต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนสูงและปรับตัวรวดเร็ว จึงอยากให้กระทรวงแรงงานให้การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีโดยคิดค่าบริการ ประเมินมาตรฐานฝีมือแรงงานให้อัตราที่ถูกลงหรือกำหนดให้การธุรกิจเอสเอ็ม อีสามารถนำค่าใช้จ่ายต่างๆในการสนับสนุนให้ลูกจ้างเข้าประเมินมาตรฐานฝีมือ แรงงานไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนดร.ชุมพล กล่าว
      
นายชุมพล ยังกล่าวด้วยว่า การกำหนดมาตรฐานอาชีพครั้งนี้ถือว่าเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ไขปัญหาค่าจ้าง ขั้นต่ำ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการได้รับแรงกดดันลดลง ส่วนข้อเสนอที่รัฐบาลบอกว่าจะลดภาษีให้สถานประกอบการนั้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ขึ้นอยู่ว่าจะลดเท่าไร เช่น ตอนนี้ผู้ประกอบการจ่ายภาษีร้อยละ 30 หากรัฐบาลลดเหลือร้อยละ 17-18 ก็ไม่มีปัญหา
      
ผมเชื่อว่าค่าแรงคงต้องเพิ่มขึ้นอีก เพราะเชื่อว่าเงินเฟ้อในไตรมาส 1-2 ปีหน้าจะเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่รัฐบาลต้องปล่อยลอยตัว ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง และรัฐบาลก็ไม่สามารถคุมราคาสินค้าแต่ละตัวไว้ได้ ต้นทุนค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ นายชุมพล กล่าว
      
นายจตุรพร สุวรรณโชติ ผู้เข้ารับการฝีกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาช่างอิเลคทรอนิกส์ (โทรทัศน์) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ทางกระทรวงแรงงานได้จัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรง งาน เพราะทำให้แรงงานมีความมั่นคงในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่ยังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของคนงาน
      
นางวาสนา จันทร์อักษร ผู้เข้าฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาประกอบอาหารไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่มีการกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เนื่องจากมองว่าแรงงานที่ได้ใบประกาศคุณวุฒิวิชาชีพตามมาตรฐาน จะสามารถนำไปใช้ทำงานในต่างประเทศที่ใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานได้ทันที ซึ่งจะส่งผลดีให้กับแรงงานในแง่ของค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และสวัสดิการดีขึ้น
      
ผศ.ศรีสมร คงพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาผู้ประกอบอาหารไทย กล่าวว่า การมดสอบจะใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล โดยจะมีการทดสอบทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ทั้งนี้ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิคอบตัดสิน 3คน ซึ่งการทดสอบกับกระทรวงแรงงาน จะเสียค่าธรรมเนียม 100 บาท แต่หากไปทดสอบกับภาคเอกชนต้องเสีย 1,000 บาท

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-4-2554)

สหพันธ์แรงงานแบงก์ฯ ยื่นโนติสแบงก์ชาติ
 
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหนังสือแจ้งธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยข้อกฏหมายคุ้มครองแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เกี่ยวกับการให้พนักงานมาทำงานในวันหยุดทำการธนาคารพาณิชย์ สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินฯ (สธง.) เห็นว่าผู้ว่าการ ธปท. คงไม่แตะการใช้อำนาจของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยโดยออกประกาศ ธปท. ที่ สนส. 63/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ประกอบกิจการสาขาธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฏหมายลูก แม้จะขัดต่อ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันเงิน พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฏหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย (กม. แม่) จึงยื่นหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ว่าการ ธปท. แสดงเจตนาปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด
 
นายธีรคม ไวชนะ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย (สธง.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2554 คณะกรรมการ สอง. ได้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่อง การใช้พนักงาน/ลูกจ้างแบงก์ทำงานในวันหยุดทำการของธนาคารพาณิชย์ ในสาขาห้างสรรพสินค้าหรือในสาขาเปิดทำการเจ็ดวัน
 
คณะกรรมการ สธง. ได้พิจารณาวิเคราะห์ หนังสือของ ธปท. ที่ ธปท.ฝนส.(21) 260/2554 ถึง สธง. โดยบอกกล่าวว่าได้แจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยข้อกฏหมาย คุ้มครองแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานเกี่ยวกับการให้พนักงาน ลูกจ้าง มาทำงานในวันหยุดทำการของธนาคารพาณิชย์แล้ว
 
ประธาน สธง. กล่าวต่อไปอีกว่า พวกเราเห็นว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้พิจารณาประเด็นการใช้อำนาจของอดีตผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งได้ออกประกาศ ธปท.ที่ สนส. 63/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการสาขาธนาคารพาณิชย์ ข้อ 5.4 วันและเวลาทำการปกติ และการเปลี่ยนแปลงวันและเวลาทำการ ขัดกับ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มาตรา 37 วรรคสอง ระบุว่าในปีหนึ่งๆ ให้สถาบันการเงินมีวันหยุดตามประเพณีตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดซึ่งตามบทบัญญัติ ดังกล่าวไม่ได้บัญญัติยกเว้นอนุญาตให้ปฏิบัติเป็นประการอื่น ประกอบกับตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 29 “ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้า     ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและวรรคสี่ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฏกระทรวง” (กฏกระทรวงที่ 4/2541) ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ไม่ใช่งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างทำงานในวัน หยุดประเพณี ตามที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวง
 
พวกเราจึงเห็นพ้องกันว่า ให้ สธง. มีหนังสือบอกกล่าว ให้ผู้ว่าการธนาคารปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด (พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มาตรา 37 วรรคสอง และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 29 วรรคแรก และ  วรรคสี่) โดยให้ดำเนินการกับธนาคารพาณิชย์ ที่เปิดทำการในวันหยุดตามประเพณี ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศกำหนดใน   ราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น หากผู้ว่า ธปท. ยังเพิกเฉย ถือว่ามีเจตนาอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ฝ่าฝืน มาตรา 37 วรรคสอง ของ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน วรรคสอง และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 29 อาจมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้น ไม่ปฏิบัติหน้าที่ โดยชอบด้วยกฏหมาย ประธาน สธง. กล่าวในที่สุด

(นักสื่อสารแรงงาน, 29-4-2554)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: แรงงานฟิลิปปินส์รณรงค์วันแรงงาน

Posted: 01 May 2011 01:37 AM PDT

 

1 พ.ค. 54 - มะนิลา, ฟิลิปปินส์ เนื่องในวันกรรมกรสากล แรงงานและกลุ่มทางสังคมกลุ่มต่างๆได้ร่วมกันแสดงพลังไปตามท้องถนนในกรุงมะนิลาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมรวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆที่ผู้ใช้แรงงานประสบปัญหา เช่น การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและไม่มั่นคง ปัญหาค่าครองชีพแพงค่าแรงถูกรวมทั้งปัญหาการพยายามแทรกแซงและบ่อนทำลายสหภาพแรงงานของนายจ้างซึ่งปัญหาเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกต้องประสบพบเจอ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐไทยกับภาพหลอนประวัติศาสตร์ขบวนการกรรมกร

Posted: 01 May 2011 01:09 AM PDT

บทความนี้เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2554 เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ได้กล่าวทบทวนย้อนประวัติศาสตร์แรงงานไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นับตั้งแต่สมัยเริ่มเปิดประตูเศรษฐกิจสู่ตลาดโลก ผ่านยุคปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฉายภาพประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการกรรมกรที่เป็นภาพติดหลอนรัฐไทยมาโดยตลอด  รัฐและนายทุนยังคงวนเวียนอยู่กับความหวาดกลัวเรื่อง “การรวมตัว และการเจรจาต่อรอง” ของชนชั้นแรงงาน 

“ถ้าเวลาเราพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้วไม่พูดเรื่องสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองมันจึงเป็นเรื่องที่เพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้เลย”

ยุคเปิดประตูสู่เศรษฐกิจโลก

ภายหลังไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริง(Bowring Treaty) เมื่อ ปี2398 ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมขยายตัว มีความต้องการแรงงานรับจ้าง แต่ไทยยังอยู่ในระบบแรงงานเกณฑ์ ระบบไพร่  คนยังไม่มีอิสระที่จะเดินทาง ต้องถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน เราอยู่ในสภาพขาดแคลนแรงงาน  ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศจีน รัฐไทยถูกนำเข้าสู่กระบวนการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ  ถูกจูงเข้าไปสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวเพื่อการส่งออก  รัฐบาลส่งเสริมการเพาะปลูกข้าว ส่วนคนไทยเองก็เลือกที่จะอยู่กับเรือกสวนไร่นาเพราะคุ้นเคยมากกว่า และการทำการเกษตร เพาะปลูกข้าวนั้น ก็ได้ผลตอบแทนสูงกว่าการเข้าไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง 

ที่สำคัญ คือค่านิยมคนไทยเองก็อยากเป็นเจ้าคนนายคน การไปรับจ้างถือว่าเป็น “ขี้ข้า” คนไทยไม่ค่อยชอบ  ด้วยเหตุผลหลายประการทำให้เราเลือกนำเข้าแรงงานจากประเทศจีน ซึ่งอยู่นอกเหนือระบบไพร่ ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานและได้รับการส่งเสริมจากรัฐ   คนจีนจึงเป็นแรงงานรับจ้างในตลาดแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นนโยบายของรัฐที่กำหนดเกี่ยวข้องกับแรงงาน จึงมองเห็นว่าแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานจีน มองเห็นว่าคนพวกนี้คือแรงงานต่างด้าวไม่ใช่คนไทย

กรรมกรจีนในความเคลื่อนไหว

รัฐมองว่า คนจีนเข้ามาพร้อมกับการเป็นพาหะความคิดทางการเมือง  ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6  ประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบสาธารณรัฐที่เรียกว่า “การปฏิวัติซุนยัดเซ็น” ภาพแบบนี้จะติดหลอนอยู่กับรัฐ  รัฐมองคนจีนว่าอาจนำเอาความคิดแบบสาธารณรัฐนิยม หรือแม้กระทั่งแนวความคิดแบบสังคมนิยมซึ่งเผยแพร่ในหมู่กรรมกรและคนจีนมากแล้วในช่วงนั้น  อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เวลาที่รัฐจะกำหนดนโยบายเรื่องแรงงาน ก็เอาเรื่องความมั่นคงแห่งชาติมาก่อน  ดังนั้นการส่งเสริมหรือคุ้มครองสิทธิจึงถูกมองข้ามไปพอสมควร

เดิมที การรวมตัวของคนจีนที่เราเรียกว่า “อั้งยี่”  สมัยก่อนรัฐบาลไม่ได้ต่อต้านและมองเห็นว่า อั้งยี่นี้เป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐสามารถคุยผ่านหัวหน้าอั้งยี่ได้   พอพัฒนาไประดับหนึ่งก็รู้สึกว่าพวกอั้งยี่บางส่วนก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงาน มีการนัดหยุดงานบ้างอะไรบ้าง ในที่สุดรัฐบาลไทย ในช่วงปี 2440  สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ออกกฎหมายอั้งยี่ หรือกฎหมายว่าด้วยการสมาคม ต่อไปนี้จะรวมตัวกันเป็นอั้งยี่ไม่ได้ ต้องมาจดทะเบียน

แต่รัฐยังไม่ยอมรับในเรื่องของการรวมตัวให้เป็นการรวมตัวอย่างถูกกฎหมาย เวลาคนงานเขารวมตัวกันไปขอจดทะเบียนก็ไม่ได้รับอนุญาต สภาพแบบนี้ก็ทำให้การรวมตัวของคนงาน เป็นการรวมตัวเคลื่อนไหว “ใต้ดิน” เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ การเคลื่อนไหวใต้ดิน ก็เป็นสิ่งที่ต้องปิดลับพอสมควร ก็อาจมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง สภาพแบบนี้ทำให้รัฐยิ่งหวั่นไหวหวาดกลัวการรวมตัวของคนงานมากขึ้น

รัชกาลที่ 6 : สถานะแรงงานในรัฐชาตินิยม

รัชกาลที่ 6 ทรงเป็น “นักชาตินิยม” ที่มีภาพชัดเจนมาก ปลุกความรู้สึกเรื่องรักชาติ ให้เกิดขึ้นชัดเจน หลายคนที่นึกถึงตรงนี้ก็จะนึกถึงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ ที่ใช้นามปากกาว่า “อัศวพาพุ” บทความเรื่อง “ยิวแห่งบูรพาทิศ” ที่พูดถึงเรื่องคนจีน  จริงๆแล้วรัฐจะต่อต้านจีนในลักษณะที่บอกว่าเป็นอั้งยี่ หรือไม่รักชาติไทย  ถ้าจีนที่พร้อมจะผสมผสานกลมกลืน เมื่ออพยพมาอยู่แล้ว รัฐไทยอยากให้คนจีนอยู่อย่างยั่งยืนถาวร อยากให้ผสมผสานกลมกลืน ในท้ายที่สุด ก็กลายเป็นคนไทย รัฐไทยก็จะไม่ได้ต่อต้าน คนจีนแบบนี้  แต่ส่วนที่เขาต่อต้านหรือไม่สบายใจก็คือส่วนของคนจีนที่ยังอยากกลับไปอยู่ประเทศจีน ส่งเงินกลับไปช่วยเหลือขบวนการในประเทศจีน 

แต่ว่า  ถ้าดูโดยรวมแล้วรัฐไทยมองเห็นคุณค่าของแรงงานจีน และเห็นว่าเราขาดไม่ได้ เพราะว่าตลาดข้าวที่ใหญ่ของเราแห่งหนึ่งคือตลาดจีน  อุตสาหกรรมโรงสีข้าวได้ถูกถ่ายมือจากของชาวตะวันตกในระยะแรกค่อยๆถูกถ่ายโอนมาในมือของคนจีนมากขึ้น  โรงสีข้าวพอใจที่จะจ้างแรงงานจีนมากกว่า  ฉะนั้นแรงงานจีนในกิจการโรงสีมีเยอะมาก  รัฐบาลไทยมองเห็นว่าคนเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย  รายได้ของรัฐก็มาจากการใช้แรงงานคนจีนเหล่านี้  รัฐไทย จริงๆแล้วไม่ได้ต่อต้านคนจีน ส่งเสริมเสียด้วยซ้ำ  ถ้าเทียบกับสมัยนี้ รัฐยังมีใจไม่กว้างเท่ากับสมัยก่อนด้วยซ้ำ ซึ่งก็ยังมองเห็นคุณูปการของแรงงานข้ามชาติ ขณะที่วันนี้เรายังรู้สึกไม่ค่อยเต็มใจยอมรับแรงงานข้ามชาติว่าเขามีคุณูปการต่อระบบเศรษฐกิจเรา

ขบวนการแรงงานสากล ผลสะเทือนจากโลกถึงรัฐไทย

ยุโรปในศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่20  เป็นช่วงของการที่คนงานเริ่มรวมตัวกันเคลื่อนไหวเรียกร้อง เกิดเป็นขบวนการแรงงานสากล  ซึ่งค่อนข้างมีความคิดทางการเมืองออกไปทางสังคมนิยมพอสมควร ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติที่รัสเซีย ที่เรียกว่าการปฏิวัติบอลเชวิก  นำโดยพรรคบอลเซวิกซึ่งประกาศตัวว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพ การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ทำให้เกิดความตื่นหวาดวิตก ของประเทศที่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ การปกครองที่มีฝ่ายนายทุนนักธุรกิจมีบทบาทอำนาจนำ เหล่านี้ก็รู้สึกจะหวั่นไหวพอสมควร

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เกิดการรวมตัวของคนงานในระดับสากลตั้งเป็นองค์กรระหว่างประเทศขึ้นหลายๆองค์กร คือในอุตสาหกรรมต่างๆ จะรวมสหภาพแรงงานหรือคนงานในประเทศต่างๆ มารวมกันเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเหล่านั้น เพราะคิดว่าระบบทุนนิยมเป็นระบบโลกาภิวัตน์ จะเคลื่อนย้ายไปทุกแห่ง ก็เลยให้คนงานรวมตัวกันเพื่อที่จะให้มีสิทธิหรือมาตราฐานที่เท่าเทียมกันในการต่อสู้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความตื่นตัวในการรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิของคนงาน

แรงงานไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีน ก็ได้รับอิทธิพลแนวความคิดนี้ มาพอสมควร คนจีนโดยธรรมชาติเป็นคนที่รวมตัวกันอยู่แล้ว  และโดยธรรมชาติแล้ว นายจ้างก็ต้องการแสวงหากำไรสูงสุด วิธีการได้กำไรสูงสุดก็คือ การเอารัดเอาเปรียบคนงาน  การตัดเรื่องค่าจ้างแรงงาน ไม่ดูแลเรื่องสวัสดิการนี่ก็ถือว่าเป็นเรื่องการลดต้นทุน เมื่อไม่มีกฎหมาย โดยธรรมชาติคนงานก็มีโอกาสถูกเอารัดเอาเรียบ คนงานเมื่อถูดเอารัดเอาเปรียบก็ต้องลุกขึ้นต่อสู้และก็จะพบว่าในประวัติศาสตร์ ก็มีการเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนงานมากมาย  ถ้าไปดูเอกสารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่6 ก็จะพบว่า มีการนัดหยุดงานโดยคนงานมากมายหลายครั้งเหลือเกิน เช่น คนงานในกิจการเหมืองแร่ บางครั้งมีการนัดหยุดงานกันหลายพันคนก็มี เป็นธรรมชาติว่า ที่ไหนมีการเอารัดเอาเปรียบ เขาก็จะลุกขึ้นต่อสู้

ในกรณีของแรงงานไทย คนไทยส่วนใหญ่พอใจที่จะอยู่ในภาคการเกษตร แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ก็ตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่แผ่ขยายไปทั่วโลกครั้งแรก และเราก็ได้รับผลกระทบอันนั้น การเพาะปลูกข้าวไม่สามารถที่จะส่งออกได้เพราะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ และประกอบกับในสมัยรัชกาลที่6 ก็เกิดภัยแล้งหลายครั้ง มีวิกฤตน้ำท่วม  เหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยที่แต่ก่อนอยู่ในภาคการเกษตร อยู่ในไร่นา จำต้องอพยพเข้าสู่เขตเมืองเพื่อหางานทำ เพราะฉะนั้นคนไทยก็เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานมากพอสมควร แต่แน่นอน เมื่อไม่มีกฎหมายคนงานเหล่านี้ก็ถูกเอารัดเอาเปรียบ  ก็มีการพยายามรวมตัวกันแต่กฎหมายก็ไม่อนุญาต

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง   เมื่อปี 1919หรือสองปีหลังปฎิวัติบอลเชวิก  ประเทศไทยเอง ในฐานะเป็นประเทศผู้ชนะสงคราม ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสันนิบาตชาติ และก็เลยกลายเป็นประเทศ 1 ใน 45 ประเทศ ผู้ก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  หรือ ILO รัฐบาลไทยเองต้องเข้าร่วมในกระบวนการที่จะต้องดูแลเรื่องสิทธิของคนงานมากขึ้น  การเกิดขึ้นขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เป็นข้อเรียกร้องของฝ่ายแรงงานมานานแล้ว เพราะว่าเขารู้ว่า ระบบทุนนิยมเป็นสิ่งที่เรียกว่าไร้พรมแดน นายทุนจะไปแสวงหาความได้เปรียบเหนือแรงงาน  คนงานก็ต้องการสร้างมาตรฐานว่าในทุกหนทุกแห่ง จะต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อที่จะให้การคุ้มครองสิทธิของคนงาน ก็เป็นข้อเรียกร้องมานาน

หลักการสำคัญก็คือเป็นองค์กรแบบไตรภาคี มีตัวแทนของนายจ้าง มีตัวแทนของลูกจ้าง และมีตัวแทนของรัฐ มาช่วยกันกำหนดมาตรฐานร่วมกันให้เป็นอนุสัญญาหรือข้อแนะให้ประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศนั้นนำไปปฏิบัติใช้ ก็เป็นเรื่องของสิทธิต่างๆเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้เกิดความยุติธรรมทั้งกับนายจ้างและลูกจ้าง และก็เป็นภาคีว่าด้วยความร่วมมือ

แต่สำหรับประเทศไทย ยังอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเวลาพูดถึงคนงาน ก็จะไปคิดถึงเรื่องแรงงานจีน รัฐไทยเองก็กังวลเกี่ยวกับภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในสมัย ดร.ซุนยัด เซนที่เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ ก็เป็นเรื่องที่กังวล  เวลาที่ ILO มีมติร่วมกันว่าจะต้องออกกฎหมายบ้าง จะต้องมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องของแรงงานโดยเฉพาะ รัฐไทยก็ค่อนข้างจะบ่ายเบี่ยงกระทรวงต่างประเทศมีหนังสือไปถึงองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ว่าทำไมประเทศไทยถึงยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อธิบายว่า สยามยังเป็นประเทศกสิกรรม ยังไม่ได้เป็นประเทศอุตสาหกรรม  และเป็นประเทศที่ค่าครองชีพยังต่ำอยู่ ยังไม่น่ากังวลเรื่องการเอารัดเอาเปรียบคนงาน แรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็ยังน้อย ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายเหล่านั้น  นี่ก็เป็นข้ออ้างของรัฐ

แต่ว่า เหตุผลลึกๆเข้าใจว่าน่าจะเป็นเหตุผลเรื่องความกังวลมากกว่า ถ้าปล่อยให้คนงานรวมตัว และคนไทยส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานจากประเทศจีนก็อาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ก็เป็นความกังวล และอีกประการหนึ่ง  การล้มลงของราชวงศ์โรมานอฟ  ซึ่งถือว่าใกล้ชิดกับราชวงศ์ไทยพอสมควร ก็เป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้พอสมควร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่รัฐอาจเป็นห่วง เพราะว่า ถ้าไม่ดูแลใกล้ชิดมันอาจขยายตัวไปถึงจุดนั้นได้  ก็ใช้วิธีว่าป้องกันไว้ก่อนดีกว่า เข้าไปดูใกล้ชิดหน่อย  นี่ก็เป็นเหตุให้ประเทศไทยปฏิเสธการมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานเรื่อยมา

ปัญญาชนปลุกขบวนทัพกรรมกร

หลังเกิดองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กระแสเรื่องของการเรียกร้องให้ยอมรับสิทธิต่างๆของคนงาน คนงานเองก็ตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้  ในประวัติศาสตร์เราจึงพบว่ามีกลุ่มที่เรียกว่าปัญญาชนหลายคน  ถ้าศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์แรงงาน ก็จะได้รู้จักเรื่องของคุณถวัติ ฤทธิเดช   คนอย่างคุณวาด สุนทรจามร  คนเหล่านี้เป็นปัญญาชนที่เห็นอกเห็นใจคนจน มีความรู้เรื่องกฎหมายบ้างก็พยายามเข้าไปช่วยเหลือดูแล โดยการก่อตั้งเป็น “คณะกรรมกร” มีการจัดทำหนังสือพิมพ์กรรมกร เพื่อเป็นปากเป็นเสียง และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิแก่ผู้ใช้แรงงาน ก็มีการรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้ แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัด เพราะว่าไม่ได้มีการคุ้มครองโดยกฎหมาย

คนงานที่เคลื่อนไหวก็เรียกร้องในเรื่องของสิทธิ มากขึ้น เสียงเรียกร้องในเรื่องของการให้รัฐให้การดูแลสิทธิของคนงาน ให้มาปกป้องสิทธิไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบนั้นมากยิ่งขึ้นๆ การรวมตัวเรียกร้อง การนัดหยุดงานก็ชัดเจนมากขึ้น  มีการนัดหยุดงานหลายต่อหลายครั้ง

กระแสเหล่านี้ เป็นสิ่งที่รับรู้ได้ในสื่อ ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็มีบทความที่พูดถึงหลักสิทธิของคนงานมากขึ้น  มีปัญญาชนนักคิดต่างๆที่หันมาสนใจประเด็นของผู้ใช้แรงงานมากขึ้น  ก็เกิดกระแสเรียกร้อง ถ้าเราไปดูเอกสารเก่าๆก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องเหล่านี้มากมาย  ถ้าไปดูเอกสารเก่าๆ ในหอจดหมายเหตุฯ จะพบว่าการเคลื่อนไหวในวันที่ 1 พฤษภาคม (วันกรรมกรสากล)  มีมาก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ว่าต้องทำแบบลับๆ ไปชักธงขึ้นบนบ้าน อะไรอย่างนี้ก็มี ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง กระแสแบบนี้ก็สูง

พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลังจาก 24 มิถุนายน ไม่นานเท่าไหร่ การเข้าขอจดทะเบียนก็เกิดขึ้น  สมาคมของคนงานแห่งแรกก็เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2475 นั้นเอง นั่นคือสมาคมคนงานรถราง แสดงว่าคนงานนั้นอัดอั้นที่จะใช้สิทธิในการรวมตัว เพราะว่าโดยทั่วไปสิทธิที่จะรวมตัวในการเจรจาต่อรองนั้นเขาถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ คนงานทั่วโลกเขาถือว่าต้องยอมรับในสิทธิเหล่านี้ ในบ้านเราก็เหมือนกัน

รัฐไทยกับการ(ไม่) ยอมรับการรวมตัว และการเจรจาต่อรอง

เรามีกฎหมายคุ้มครองแรงงานจริงๆเอาเมื่อปี 2499 สมัยจอมพล ป.(ยุค2) แต่กฎหมายฉบับนี้ก็มีอายุสั้น แค่สองปี จอมพลสฤษฎิ์ ทำรัฐประหารในปี 2501 ก็ยกเลิกทันที เหมือนกับสังคมเรายังไม่ยอมรับในเรื่องของสิทธิการรวมตัวกันของคนงานมายาวนานตลอด  เรามามีกฎหมายที่ให้สิทธิในการรวมตัวกับคนงานอีกทีหนึ่งก็ปี 2515 ก่อนหน้า 14 ตุลา (2516) และก็อยู่ยาวมา จนกระทั่งเรามีกฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบันก็ปี2518 คือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี2518 แต่ก็เป็นแค่กฎหมายเพราะลึกๆเอง รัฐไทยยังกังวลอยู่ในเรื่องของการรวมตัวกันของคนงาน ไม่มีกฎหมายที่จะคุ้มครองว่าคนงานรวมตัวกันแล้วก็ง่ายดายมากที่จะถูกเลิกจ้าง คนงานเมือรวมตัว จัดตั้งสหภาพแรงงาน คนจำนวนมากก็ถูกเลิกจ้างออกไป เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าลึกๆเรายังกลัวการรวมตัวของคนงานทั้งๆที่คนงานก็คือคนส่วนใหญ่ ถ้าคนส่วนใหญ่รวมตัวกันได้เขาก็จะสามารถรักษาสิทธิ การแบ่งปันก็จะเป็นธรรม สังคมส่วนรวมก็จะยุติธรรมขึ้น แต่ว่าก็ยังอยู่ในกรอบเดิมอยู่

โดยรวมเรายังไม่ยอมรับ คือ สังคมไทยยังไม่สร้างค่านิยม ให้การยอมรับว่านี่คือสิทธิ  ที่อื่นเขารับกันหมดแล้วว่าการรวมตัวและเจรจาต่อรองคือสิทธิของคนงาน ILO ที่กำหนดว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จะมีอนุสัญญา 8 ฉบับจาก 190กว่าฉบับ ที่เขาถือว่าเป็นมาตรฐานพื้นฐาน 2ใน8ฉบับนี้ ว่าด้วยเรื่องการรวมตัวและเรื่องการเจรจาต่อรอง ก็เป็นสิทธิพื้นฐานที่ถือว่าประเทศทั้งโลกควรปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะให้สัตยาบันหรือไม่ให้แต่จนถึงวันนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน อนุสัญญา 2 ฉบับนี้มีอายุ 60กว่าปีแล้ว  เหลือฉบับที่ 87  30ประเทศของโลกยังไม่ได้ให้ เราเป็นหนึ่งใน30ประเทศสุดท้าย  และฉบับที่ 98 เหลืออีกแค่ 20 ประเทศ เราก็เป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ ที่เรายังไม่ยอมให้สัตยาบัน

นี่คือสาเหตุที่ประเทศไทยมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เพราะการแบ่งปันกันระหว่างประชาชนที่อยู่ในประเทศ และการกระจายรายได้มันขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรอง ถ้าคนส่วนใหญ่มีอำนาจต่อรองก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรม ถ้าเวลาเราพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้วไม่พูดเรื่องสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองมันจึงเป็นเรื่องที่เพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้เลย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รุจ ธนรักษ์​:เสรีภาพที่จะคิดต่าง

Posted: 30 Apr 2011 10:42 PM PDT

ช่วงที่ผ่านมานี้ สังคมไทยมีประเด็นคาบเกี่ยวกับ “เสรีภาพ” ค่อนข้างบ่อย ทั้งเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในร่างกายตนเอง หรือเสรีภาพทางความคิดเห็น (ทั้งที่แสดงออก และไม่แสดงออก)

กล่าวโดยรวม เรากำลังมีปัญหากับ “เสรีภาพแห่งการคิดต่าง” เพราะเรามักยินดีปกป้องเสรีภาพของ “พวกเรา” เสมอ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่รัก ไม่เห็นด้วย เราจะไม่เคารพเสรีภาพของ “พวกเขา” ทันที และพร้อมจะให้ใครก็ได้มาทำลายย่ำยีเสรีภาพของ “พวกเขา” ทิ้งเสีย โดยมีเหตุผลยกมาอ้างมากมาย

เรายินดีเดินถอยหลัง ย้อนเวลากลับไปหลายสิบปี เพียงเพราะพวกเราไม่อาจทนฟัง “ความคิดต่าง” ได้ เราจึงยินดีขายวิญญาณแห่งเสรีภาพให้กับปีศาจ เพื่อแลกกับความรู้สึกดีๆที่ได้เห็นทุกคนคิดเหมือนเรา ฟังเหมือนเรา ฝันเหมือนเรา หวังเหมือนเรา

ซึ่งมันไม่อาจเป็นไปได้จริง

ถามว่าทำไมเราจำเป็นต้องมีเสรีภาพ ? โดยเฉพาะเสรีภาพในการคิดเห็นแตกต่างจากผู้อื่น เราจะไปแคร์อะไรกันนักหนา ? มันเป็นเรื่องจับต้องไม่ได้ ล่องลอยเพ้อฝัน ? เป็นเรื่องของพวกปัญญาชนโรแมนติก เราควรเอาเวลาไปสนใจราคาไข่ไก่ หรือผลโหวตเดอะสตาร์จะดีกว่าไหม ?

ว่ากันเฉพาะเสรีภาพทางวิชาการ

หลายคนอาจไม่รู้ว่ารากฐานสำคัญของ “องค์ความรู้” ทุกแขนงที่ทำให้โลกหมุนมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะเสรีภาพในการคิดต่าง การไม่เห็นด้วย การถกเถียง โต้แย้ง แข่งขันกันเอาชนะด้วยเหตุผล

และในทางกลับกัน สังคมมนุษย์ก็ “มืด” ไปหลายครั้งเมื่อเราไม่ยินดีให้มีคนเห็นต่างจากเราอยู่ในสังคม

กาลิเลโอ ถูกคุมขังเพียงเพราะเขาไม่เชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

ชาร์ลส ดาร์วิน ท้าทาย “ความศักดิ์สิทธิ์” ของศาสนจักร “อันที่เป็นรักยิ่ง” ของผู้คนในยุคนั้นด้วยทฤษฏีวิวัฒนาการ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แสดงความ “คิดต่าง” ว่าเราสามารถอธิบายปรากฏการณ์ของ “แสง” ในแง่มุมของ “อนุภาค” ได้เช่นกัน (โดยขณะนั้นวงการฟิสิกส์ต่างคิดว่าแสงเป็น “คลื่น”) เขาถึงกับตั้งชื่ออนุภาคสมมุตินั้นว่าโฟตอน และความคิดต่างนั้นเองที่ทำให้เรามีกล้องดิจิตอลใช้กันในวันนี้

ในวันที่สังคมโลกกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากเศรษฐกิจตกต่ำ นักเศรษฐศาสตร์ล้วนเชื่อว่ารัฐบาลควร “รัดเข็มขัด” ตามทฤษฏีแบบดั้งเดิม จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ก็ออกมา “คิดต่าง” ว่ารัฐบาลควรอัดฉีดเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจต่างหาก

กล่าวโดยไม่ต้องหาข้อมูลอ้างอิง – หากปราศจากความคิดต่างของวิศวกร เทคโนโลยีแห่งปืน “สไนเปอร์” ก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้เป็นแน่      ฯลฯ

ดังนั้นคงจะไม่เกินไปนักที่จะกล่าวว่า สังคมใดปราศจากเสรีภาพทางวิชาการ ปราศจากเสรีภาพที่จะ “อดทนฟังความคิดต่าง” สังคมนั้นก็อาจไม่จำเป็นต้องมีนักวิชาการเลยก็ได้

เพราะงานของนักวิชาการคือการมุ่งค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆให้แก่สังคม ซึ่งองค์ความรู้เหล่านั้นจะ “ใหม่” ได้อย่างไร ถ้ามันไม่​“ต่าง” จากเดิม

และแน่นอน สังคมที่ไม่มีองค์ความรู้ ย่อมไม่อาจพัฒนา ไม่อาจต้านทานกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ก็อยู่กันไปวันๆ รอวันผุพังไปตามธรรมชาติ

ถ้าไม่มีเสรีภาพแห่งความคิดต่าง บางทีตอนนี้เราทุกคนอาจอยู่ในถ้ำ ไม่รู้จักกระทั่งการปลูกพืชด้วยตนเอง (เพราะมันอาจขัดต่อประเพณีปฏิบัติแห่งมนุษย์ถำ้ผู้บูชาการเก็บผลไม้รายวัน)

หลายคนอาจไม่รู้ว่า เสรีภาพ เป็นหนึ่งในสิ่งนามธรรมไม่กี่อย่าง ที่มนุษย์ต่อสู้บาดเจ็บล้มตายกันมากที่สุดตลอดอารยธรรมของพวกเรา ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน เผ่าพันธุ์ใด

ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ มนุษย์เรายินดี “สู้ตาย” เพื่อเสรีภาพกันมาเป็นพันๆปีแล้ว

ดังนั้น เราจึงไม่อาจปฏิเสธความจริงได้เลยว่า หากอยากอยู่ร่วมกันอย่าง “สันติ” ในระยะยาว เสรีภาพคือสิ่งจำเป็นอันดับต้นๆในสังคม 
 

ดูเหมือนสังคมไทยยังมีความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับ “เสรีภาพในความคิดต่าง”

หลายคนมักบอกว่า คิดต่างไม่ได้แปลว่ามันจะดีเลิศ มีกี่คนที่คิดทฤษฏีห่วยๆออกมา กี่คนที่อยากเป็นไอน์สไตน์ เราควรยอมรับสิ่งที่ดีเลิศ ไม่ใช่ไปส่งเสริมให้คนคิดอะไรแผลงๆห่วยๆออกมามากมาย

ซึ่งก็จริง – มีคนนับล้านอยากเป็นไอน์สไตน์ มีอีกหลายล้านที่อยากเป็นกาลิเลโอ มีความคิดห่วยๆเกิดขึ้นมากมายกว่าจะได้ความคิดดีๆสักชิ้น – แต่การสรุปแบบข้างต้นเป็นความคิดที่ “ผิด” โดยสิ้นเชิง เพราะการ “ยอมรับ” เสรีภาพในความคิดต่าง ไม่ได้แปลว่าเรายอมรับความคิดนั้นว่ามันดี มันถูก มันควร

เสรีภาพในความคิดต่าง คือการยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิคิดเห็นแตกต่างกัน และเป็นหน้าที่โดยตรงของคนผู้นั้นที่จะต้องทุ่มเทพลังของตนในการแสวงหา ข้อมูล ทฤษฏี หลักฐาน มาสนับสนุนความคิดความเชื่อของตนเอง

การที่สังคมมีความคิดต่างห่วยๆขึ้นมาสักอย่าง แล้วเราพาลไปบอกว่า “นี่ไง ห่วย อย่าไปมีเลยเสรีภาพ มันไม่สำคัญหรอก มีไปก็เท่านั้น เละเทะเปล่าๆ” เป็นความคิดที่ผิดถนัด เพราะหากสังคมไม่มีเสรีภาพ แล้วเราจะมีพื้นที่ไหนให้ความคิดดีๆได้โผล่ขึ้นมาบ้าง

อะไรดี อะไรห่วย กาลเวลาจะพิสูจน์สิ่งเหล่านั้นเสมอ

การเคารพในเสรีภาพของเขา กับ การเห็นด้วยในสิ่งที่เขาคิด – เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง

นอกจากนั้น

ความเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งของสังคมไทยคือ เมื่อเราบอกว่าใครสักคนควรมีเสรีภาพกับอะไรสักอย่าง มันไม่ได้แปลว่าเขามี “สิทธิพิเศษ” เหนือคนอื่นที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ผิด

มันควรแปลว่าเขามีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ที่เขาอยากทำ และหากมันจะผิด เขาก็ต้องรับผลลัพธ์แห่งการกระทำของเขาไปตาม กฏ กติกา ของสังคมที่บังคับใช้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

โลกนี้มีคนเพียงสองกลุ่มเท่านั้นที่ทำอะไรไม่ผิด

หนึ่ง คือคนที่ไม่ทำอะไรเลย

และสอง คือคนที่มีเสรีภาพแต่เพียงผู้เดียว ในสังคมที่ไม่มีใครอื่นมีเสรีภาพอีก 
 

เมื่อพูดถึงเสรีภาพ หลายคนนึกถึง “เทพีเสรีภาพ” ที่ฝรั่งเศสสร้างและมอบให้สหรัฐอเมริกาเป็นของขวัญแห่งอิสรภาพในปี 1886

ภาพที่ทุกคนคุ้นตาคือ “มือขวา” ของเทพีที่ถือคบเพลิงชูขึ้นเหนือศีรษะ – คบเพลิงนั้นเป็นสัญลักษณ์แทน “เสรีภาพ” ที่อเมริกันชนล้วนเชิดชูบูชา

แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า “มือซ้าย” ของเทพีถือหนังสือไว้่เล่มหนึ่ง – หนังสือเล่มนั้นเป็น “หนังสือกฏหมาย”

เสรีภาพ และ กฏกติกา เป็นสองสิ่งที่อยู่คู่กันเสมอ

กฏกติกา ควรค่าแก่การแนบไว้ข้างกายอย่าได้ขาด

ส่วนเสรีภาพนั้น…

ควรค่าแก่การเชิดชูไว้ให้สูงที่สุด … เท่าที่แขนของมนุษย์พึงจะทำได้

I disapprove of what you say, but I will defend to the death your right to say it. – Voltaire

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่  รุจ ธนรักษ์

ภาพประกอบ:americanpowerblog.blogspot.com

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น