โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เสื้อแดงจัดรำลึก 1 ปี ลอบยิง "เสธ.แดง"

Posted: 13 May 2011 02:50 PM PDT

คนเสื้อแดงรำลึกครบรอบ 1 ปี เหตุลอบยิง เสธ.แดง ด้าน "ขัตติยา สวัสดิผล" เรียกร้องดีเอสไอเร่งสอบสวนการเสียชีวิตของบิดา ขณะที่ "ธิดา ถาวรเศรษฐ" เผยคนเสื้อแดงเตรียมชุมนุมรำลึก 1 ปี 19 พฤษภาคม ย้ำแกนนำให้ระวังการปราศรัย อ้างมีผู้ไม่หวังดีคอยกลั่นแกล้ง

วอยซ์ทีวี รายงานว่า เมื่อวานนี้ (13 พ.ค.) กลุ่มคนเสื้อแดง ได้ร่วมจัดงานรำลึก 1 ปี การเสียชีวิตของพลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่บริเวณสวนลุมพินี โดย น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาวของพลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ร่วมจัดงานทำบุญรำลึกครบรอบ 1 ปี ที่บิดาถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ที่ลานสวนลุมพินี สถานที่ที่ถูกลอบยิง โดยกิจกรรมในช่วงเช้าเวลาได้มีการนิมนต์พระ 8 รูป เพื่อทำบุญถวายภัตตาหารเพล อุทิศส่วนกุศลให้กับ เสธ.แดง ส่วนกิจกรรมอื่นๆ มีการนำรูปของคนเสื้อแดงที่เคยถ่ายร่วมกับพลตรีขัตติยะ มาจัดเป็นนิทรรศการภาพ นอกจากนี้ในช่วงเย็นจะจุดเทียนรำลึกถึง เสธ.แดงด้วย

น.ส.ขัตติยา ยังเรียกร้องให้ดีเอสไอ เร่งสอบสวนการเสียชีวิตของบิดา เนื่องจากคดีมีความล่าช้า

ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธาน นปช. เผยว่าคนเสื้อแดงจะจัดชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์สลายการณ์ชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์

ซึ่งจะมีการเปิดเวทีการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 และจะจำลองเหตุการณ์ในวันที่19 พฤษภาคม 2553 ขึ้น เพื่อย้อนรำลึกถึงบรรยากาศการชุมนุมก่อนมีการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยกิจกรรมจะเริ่มต้นด้วยการถวายสังฆทานแก่ประสงค์จำนวน 92 รูป หลังจากนั้นก็จะเดินทางไปยังวัดปทุมวนาราม เพื่อสักการะดวงวิญญาณวีรชนที่เสียชีวิตทั้ง 6 ศพและเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมทำบุญให้แก่ดวงวิญญาณแล้วก็จะเริ่มการปราศรัยบนเวที

นางธิดา กล่าวย้ำว่าการชุมนุมของนปช.ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ภายใต้กรอบของความสงบเรียบร้อย และย้ำกับแกนนำทุกคนให้ระมัดระวังการปราศรัย เนื่องจากมีผู้ไม่หวังดีคอยจะกลั่นแกล้งคนเสื้อแดง หลังจากที่นายจตุพร พรหมพันธุ์และนายนิสิต สินธุไพรแกนนำ นปช. ถูกศาลมีคำสั่งให้ถอนประกันตัว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“คำ ผกา” ยัน “ณัฐวุฒิ” พาลูกเมียกินข้าวนอกบ้านถือว่าถูกต้องตามธรรมเนียมไพร่

Posted: 13 May 2011 02:32 PM PDT

คำ ผกา” เขียนบทความสอน “กรณ์ จาติกวณิช” ชี้ “ไพร่-อำมาตย์” ไม่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2549 โดยฝ่ายแย่งอำนาจคือ “อำมาตย์” ส่วนเรื่องกินข้าวนอกบ้านถือเป็นสำนึกแบบไพร่กระฎมพี เพราะใช้ภาชนะร่วมกับคนอื่น ย้ำณัฐวุฒิและครอบครัวออกมากินข้าวนอกบ้านถือว่าถูกต้องตามธรรมเนียมไพร่ รวมทั้งกรณ์และเมียก็ถือว่าเป็นไพร่ 

ตามที่เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ลงในบัญชีผู้ใช้ facebook ว่า "เมื่อสักครู่ ได้มาทานข้าวกับภรรยาที่ร้านอาหารแถวๆทองหล่อ คนที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆบอกว่า ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ กับครอบครัวเพิ่งลุกไปจากโต๊ะที่ผมนั่งอยู่ไม่ถึง 5 นาทีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เราอดนึกขำไม่ได้ว่า คนที่เรียกตัวเองว่า "ไพร่" ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวก "อำมาตย์" สักเท่าใดนัก" และตามมาด้วยวิวาทะออนไลน์ จากนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อนั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง)

ล่าสุดเมื่อวานนี้ มีในหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ มีการเผยแพร่บทความหัวเรื่อง ไพร่ VS อำมาตย์” เขียนโดย “คำ ผกา” นักเขียน และคอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์ ซึ่งวิจารณ์วิวาทกะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดย คำ ผกา ระบุว่า “ให้ตายเถอะ ฉันไม่คิดเลยว่า ประเทศไทยจะโชคร้ายมีรัฐมนตรีคลังที่ทัศนคติทางการเมืองและสังคมที่เสื่อมทรามขนาดนี้ ทั้งสะท้อนความคับแคบของโลกทัศน์ วิธีคิด แสดงอาการของคนที่สักแต่ได้เรียนหนังสือทว่าขาดการศึกษาอย่างรุนแรง”

คำ ผกา ได้อธิบายเรื่อง ไพร่-อำมาตย์ ว่าไม่ใช่เรื่องของความสามารถในการบริโภค แต่เป็นเรื่องการต่อสู้ทางการเมือง “วาทกรรม ไพร่-อำมาตย์ นั้นคนที่มีปัญญาย่อมเข้าใจได้ทันทีว่ามันหมายถึงการต่อสู้ของประชาชนที่ออกมาบอกว่า สังคมไทยต้องการระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2549 คือการกระทำที่ดึงเอาระบอบประชาธิปไตยออกจากสังคมไทย-คือขบวนการล้มประชาธิปไตย, ล้มประชาชน-พลันพวกเราที่เป็นประชาชนอยู่ดีๆ ต้องกลายไปเป็น "ไพร่" ส่วนชนชั้นนำที่แย่งอำนาจไปจากประชาชนจึงกลายเป็น "อำมาตย์"-กลับไปสู่การปกครองยุคก่อนสมัยใหม่”

ย้ำอีกรอบ เพราะดูเหมือนคนอย่างกรณ์น่าจะสมองช้า การรับรู้ช้า และเข้าใจอะไรได้ช้า (ไม่อย่างนั้นคงไม่เขียนทัศนคติเสื่อมๆ ออกมาเช่นนั้น) - ย้ำว่า - ความเป็นประชาชนถูกพรากไปจากคนไทยเพราะการรัฐประหาร และนับแต่นั้นคนไทยแบ่งออกเป็น อำมาตย์+เครือข่าย, ไพร่ และสุดท้าย คือกลุ่มสมองช้าปัญญาทึบ นึกว่าใครมีปัญญาไปกินข้าวร้านแพงๆ แปลว่า "อำมาตย์" คนกลุ่มนี้เลยเลือกอยู่ข้างเป็นสมุนอำมาตย์คอยเห่าเป็นคอรัสให้อำมาตย์แลกเศษเนื้อเศษกระดูกเท่านั้น” บทความที่เขียนโดย คำ ผกา ระบุ และย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์ “เป็นแค่สมุนรับใช้อำมาตย์ – ไม่แม้แต่จะเป็นอำมาตย์ด้วยตนเอง”

ทั้งนี้ ความเป็นไพร่และอำมาตย์นั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับปริมาณของเงินทอง ทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ ทว่า มันเกี่ยวพันโดยตรงกับสิ่งที่เรียกว่าสิทธิในฐานะที่เป็นประชาชนในระบอบการปกครองที่มิใช่ประชาธิปไตย "อำมาตย์" มีสิทธิจะชี้บอกว่าสิ่งมีชีวิตหน้าไหนคือคนและหน้าไหนไม่ใช่คน”

คำ ผกา อธิบายด้วยว่า "วัฒนธรรมการกินข้าวนอกบ้านเป็นวัฒนธรรมของไพร่กระฎุมพี การที่ครอบครัวของนายณัฐวุฒิออกมาทานข้าวนอกบ้านนั้นถือว่าถูกต้องตามธรรมเนียมไพร่ทุกประการ"

การกินข้าวนอกบ้าน เท่ากับว่าเราได้ใช้ จาน ชาม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ ร่วมกับคนอื่น เครื่องครัว มีด ครก เขียงของร้านนั้นทำอาหารมาให้คนร้อยพ่อพันแม่กินมาแล้ว ปราศจากสำนึกแบบกระฎุมพี วัฒนธรรมการกินการใช้ของร่วมกับคนร้อยพ่อพันแม่ที่เราไม่รู้จักไม่มีวันเกิดขึ้นได้

ขยายความต่อไปว่า สำนึกแห่งการใช้ของร่วมกันเป็นสาธารณะ เป็นส่วนหนึ่งของสำนึกและวัฒนธรรมประชาธิปไตยด้วย (ด้วยความที่เราตระหนักว่าคนที่กินช้อนคันเดียวกับเราเมื่อวานก็เป็นคนเหมือนกับเราจึงไม่เห็นมีอะไรน่ารังเกียจกับการไปกินข้าวในร้านอาหาร)

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และครอบครัวเป็นไพร่ออกมากินข้าวนอกบ้านนั้นถูกต้องตามธรรมเนียมไพร่ทุกประการ กรณ์และเมียก็เป็นไพร่ด้วยเช่นกัน จึงมีวัฒนธรรมการกินข้าวนอกบ้านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน”

คำ ผกา อธิบายด้วยว่ามีความแตกต่างของไพร่สองคนคือกรณ์และณัฐวุฒิ โดยที่ “ไม่ได้ต่างตรงที่ใครมีเงินมากกว่ากัน แต่ที่ต่างกันที่ณัฐวุฒิเป็นไพร่ที่ออกมาต่อสู้เพื่อให้มาซึ่งความเป็นประชาชนกลับมาสู่คนไทยทุกคน ส่วนกรณ์เป็นไพร่ที่ต้นตระกูลก็โล้สำเภามาจากหมู่บ้านเล็กๆ จากเมืองจีน (ซึ่งไม่แปลกเพราะสังคมไทยก็เป็นสังคม Mestizo หรือสังคมลูกครึ่งอยู่แล้ว แต่ที่แปลกคือ Mestizo ของไทยเลือกจะจำว่าตนเองเป็นอำมาตย์ มากกว่าเป็นลูกครึ่งจีนอพยพ) อาศัยเกาะกิน หาสัมปทาน ค้าขาย เป็นนายหน้าให้กับอำมาตย์จนมั่งคั่งขึ้นมาระดับหนึ่ง และด้วยทางครอบครัวมิได้อบรมให้ตระหนักรู้จักรากเหง้าที่มาของตนเอง”

วันดีคืนดีเลยลืมตัวเป็นวัวลืมตีน ลืมไปว่าบรรพบุรุษของตนก็เป็นไพร่จ่ายส่วยเท่านั้น เมื่อเป็นวัวลืมตีนเช่นนี้ คนอย่างกรณ์จึงมีความสุขที่จะหากินในฐานะสมุนอำมาตย์มากกว่าจะตระหนักในความสำคัญของประชาธิปไตยและสิทธิของคนไทยในฐานะที่เป็นประชาชน บวกกับเป็นเพียงผู้ที่ได้เรียนหนังสือแต่มิได้มีการศึกษาจึงขาดความลึกซึ้ง มีความคิดและความสามารถในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมได้แต่เพียงผิวเผิน ทั้งไร้รสนิยมในการเขียน ถกเถียง และแสดงความรู้สึก” ตอนหนึ่งของบทความโดย “คำ ผกา” ระบุ (อ่านบทความทั้งหมดที่นี่)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสรีภาพ VS อำนาจนิยม: สังคมไทยจะเลือกเดินทางไหน?

Posted: 13 May 2011 10:41 AM PDT

กรณีที่กองทัพบกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่ออาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สะท้อนให้เห็น “ปัญหาขัดแย้งเชิงสัญลักษณ์” ที่แหลมคมและลึกซึ้งอย่างยิ่ง นั่นคือปัญหาขัดแย้งระหว่างสัญลักษณ์แห่ง “เสรีภาพ” กับสัญลักษณ์แห่ง “อำนาจนิยม”

ไม่เพียงแต่อาจารย์สมศักดิ์จะเป็นนักวิชาการที่มีเสรีภาพทางวิชาการรองรับ หากยังเป็นอาจารย์แห่ง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์แห่งการก่อเกิดความคิด จิตวิญญาณ และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ไม่เพียงแต่จะเป็นอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เชื่อกันว่ามีภูมิคุ้มกันเสรีภาพทางวิชาการสูงสุดของประเทศนี้ หากอาจารย์สมศักดิ์ยังเป็นนักวิชาการหนึ่งเดียวในประเทศนี้ที่ซื่อตรงต่อสัจจะและหลักการประชาธิปไตยอย่างยิ่งในประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์กับความเป็นประชาธิปไตย

และไม่เพียงแต่จะซื่อตรงต่อสัจจะและหลักการประชาธิปไตยอย่างยิ่ง หากอาจารย์สมศักดิ์ยังเป็นเพียงนักวิชาการคนเดียวที่แสดงออกถึงความกล้าหาญทางวิชาการ ด้วยการพยายามใช้ทักษะความรู้ความสามารถ ศิลปะ พลังงาน และ/หรือจิตวิญญาณที่รักความถูกต้องทั้งหมดที่ตนมีเพื่อริเริ่มและอภิปรายประเด็นสถาบันอย่างสุดเส้นขอบเขตของเสรีภาพทางวิชาการที่มีอยู่ และเท่าที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องจะเปิดช่องให้พูดหรือเขียนออกมาได้

ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบอาจารย์สมศักดิ์ก็ตาม แต่ไม่มีใครอาจปฏิเสธได้อย่างมีเหตุผลว่า อาจารย์สมศักดิ์ไม่ใช่สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย

โดยฉพาะในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 5 ปีมานี้ ในสถาการณ์ที่กระแสความไม่พอใจต่อการนำสถาบันกษัตริย์มาเครื่องมือทางการเมือง จนเกิดกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบัน 8 ข้อของอาจารย์สมศักดิ์ คือข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่จะทำให้สถาบันมั่นคงภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

เป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่จะทำให้ทั้งสถาบันกษัตริย์และประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยต่าง win-win ด้วยกันทุกฝ่าย

แต่ทว่าเมื่อมองในด้านกลับกัน กองทัพย่อมคือสัญลักษณ์แห่ง “อำนาจนิยม” ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับเสรีภาพและประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงเพราะว่าวิธีคิด รูปการจิตสำนึก หรือวัฒนธรรมของกองทัพมีธรรมชาติ หรือ “เนื้อแท้” (essence) ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยอยู่แล้ว

หากทว่าประวัติศาสตร์ของกองทัพไทยในมิติที่เกี่ยวพันกับเสรีภาพและประชาธิปไตย คือประวัติศาสตร์แห่งการก่อรัฐประหาร และการปราบปรามประชาชนฝ่ายที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยตลอดมา

ฉะนั้น การที่กองทัพออกโรง หรือ “ตบเท้า” เรื่องปกป้องป้องสถาบัน แต่เลือกที่จะออกโรงหรือตบเท้าปกป้องสถาบันเฉพาะจากการใช้เสรีภาพทางวิชาการของนักวิชาการ หรือจากการวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายการเมืองที่อยู่ตรงข้าม ทว่าไม่สนใจปกป้องสถาบันจากการที่อีกฝ่ายอ้างสถาบันเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง (และกองทัพเองก็อ้างสถาบันเพื่อทำรัฐประหาร 19 กันยา 49 เป็นต้น) จึงเป็นการสะท้อนภาพเชิงสัญลักษณ์ “เสรีภาพ VS อำนาจนิยม” อย่างชัดเจนยิ่ง

หากบทบาทของกองทัพไม่ใช่บทบาทของ “อำนาจนิยม” กองทัพย่อมชั่งน้ำหนักได้ว่า ระหว่างการที่นักวิชาการและประชาชนวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน กับการแอบอ้างสถาบันเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองและทำรัฐประหาร อย่างไหนก่อความเสียหายแก่สถาบันมากกว่า หรืออย่างไหนที่จะปกป้องสถาบันให้มั่นคงภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมากกว่า

กล่าวอย่างจำเพาะเจาะจง ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบัน 8 ข้อ ของอาจารย์สมศักดิ์กับการที่กองทัพอ้างสถาบันเพื่อทำรัฐประหาร อย่างไหนกันแน่ที่ทำให้สถาบันและประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยต่าง win-wjn ด้วยกันทุกฝ่าย!

และหากบทบาทของกองทัพไม่ใช่บทบาทของอำนาจนิยม กองทัพย่อมรู้ว่าหน้าที่ของกองทัพในการปกป้องสถาบันนั้นหมายถึง “การปกป้องสถาบันจากการรุกรานของอริราชศัตรู” ไม่ใช่การปกป้องสถาบันจากการวิพากษ์วิจารณ์ “ด้วยเหตุผล” ของนักวิชาการและประชาชนที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตย

ฉะนั้น การที่กองทัพออกโรงแจ้งข้อหาหมิ่นฯ แก่นักวิชาการผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย จึงสะท้อนปรากฏการณ์ที่อำนาจนิยมกดขี่เสรีภาพ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายทั้งต่อนักวิชาการ ปัญญาชน สื่อ รัฐบาลรักษาการ นักการเมืองที่รักประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม ประชาชนทุกคน หรือท้าทายต่อ “ภูมิปัญญา” ของสังคมไทยทั้งสังคมในท่ามกลางการจับตามองของนานาชาติ

โจทย์ใหญ่ดังกล่าวนี้ท้าทายว่า เราหรือสังคมเราจะเลือกอะไร ระหว่างเสรีภาพ/ประชาธิปไตย กับอำนาจนิยม?

ในอดีตเราสมยอม หรือยินยอมให้อำนาจนิยมเลือกทางเดินให้เราตลอดมา จนพวกอำนาจนิยมเชื่อโดยความเคยชินว่า เขามี “ความชอบธรรม” ในการเข้ามาแทรกแซงหรือเลือกทางเดินให้กับเรา การฟ้องนักวิชาการที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยก็คือบทบาทตามความเคยชินดังกล่าว

พวกเขาจึงไม่หวั่นไหวว่านักวิชาการหรือเสื่อจะร่วมลงชื่อต่อต้าน ออกแถลงการณ์ต่อต้าน หรือวิจารณ์บทบาทของพวกเขาอย่างไร เพราะจากประสบการณ์ของพวกเขาใครมีกำลังและอาวุธอยู่ในมือย่อมเป็นฝ่ายชนะเสมอ สำหรับพวกเขา “อำนาจคือความถูกต้อง”

แต่ทว่าวันนี้โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนได้ลิ้ม “รสเสรีภาพ” ตามกระแสโลกาภิวัตน์ จนมีประสบการณ์ใน “ความเป็นมนุษย์” ที่สมบูรณ์มากขึ้น สังคมไทยจึงไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว

หากฝ่ายอำนาจนิยมไม่ยอมปรับเปลี่ยนทัศนคติตามความเคยชินเดิมๆ และไม่มีวุฒิภาวะ “พอเพียง” ที่จะเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลบนพื้นฐานของเสรีภาพทางวิชาการ ก็เท่ากับผลักดันให้สังคมถึงทางตัน

และเมื่อสังคมถึงทางตัน “อำนาจนิยม” ย่อมไม่ใช่ทางออกอย่างแน่นอน!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“โตขึ้นหนูจะต้องเป็นเรยา”: แด่ผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาสูงส่งและเปี่ยมไปด้วยความปราถนาดี

Posted: 13 May 2011 08:44 AM PDT

“…คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจมีการศึกษาน้อย ไม่มีกำลังปัญญาที่จะสอนลูก แยกแยะถูกผิด ผิดชอบชั่วดีนะคะ เราต้องยอมรับว่ามีบุคคลพวกนั้นนะคะ ถ้าเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง คุณพ่อคุณแม่จบปริญญาตรี ก็ไม่ต้องอะไรเยอะ ลูกก็คงต้องรู้ว่า สิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควร…” [http://www.youtube.com/watch?v=NxBQ4QgaBgQ]

ลัดดา ตั้งสุภาชัย (ผู้อำนวยการกลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม) ได้กล่าวถ้อยคำเหล่านี้เอาไว้ เมื่อครั้งที่เธอได้รับเชิญไปแสดงความเห็นต่อปรากฏการณ์ดอกส้มสีทองบานสะพรั่งในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ว่าพ่อแม่ควรจะมีบทบาทอย่างไรกับการดูละครของเด็กและเยาวชนในสังคมไทย ความปราถนาดีครั้งนี้ของคนที่เรียกตัวเองว่าเปฌนผู้เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ซึ่งมีหน้าที่อันไม่มีขอบเขตท่านนี้ คงทำให้พ่อแม่หลายต่อหลายคนหน้าชาขึ้นมา ไม่มากก็น้อย

ทัศนคติที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ การจำแนกแบ่งคนที่มีระดับสติปัญญาหรือจริยธรรมด้วยการศึกษาในระดับปริญญาตรี ความคิดที่ว่า การศึกษาในระดับปริญญาตรีจะเป็นดั่งยาครอบจักรวาล แก้ปัญหาได้ทุกอย่างในชีวิต รับมือได้กับทุกปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว และสังคมนั้น ส่วนตัวผู้เขียน คิดว่าสิ้นสมัยของความเชื่อเช่นนี้ไปแล้วเสียด้วยซ้ำไป

เรื่องการดูละครถูกวกมาผูกติดกับชนชั้นและระดับสติปัญญาของสังคมอีกครั้ง แม้ก่อนถ้อยคำเหล่านี้ (ในคลิปเดียวกัน) ลัดดาจะออกตัวไว้ก่อนว่า สังคมเรามีความหลากหลาย มีทั้งผู้ที่เข้มแข็งและอ่อนแอ แต่คำพูดของลัดดาที่ยกมาข้างต้น เหมือนคำพิพากษาในที ที่กำลังส่งสารไปยังผู้รับฟังว่า ชนชั้นไหนมีระดับความสามารถในการแยกแยะความผิดชอบชั่วดีหรือความถูกผิดได้ดีกว่ากัน

ถ้าระดับการศึกษา, ชนชั้น และวุฒิภาวะที่พัฒนาขึ้นตามอายุ คือคำตอบของการวิเคราะห์สังเคราะห์ในสื่อประเภทต่างๆ ได้จริง ทำไมกระทรวงวัฒนธรรมยังคงต้องทำตัวเป็น ผู้ใหญ่แสนดีและรู้มากไปเสียทุกเรื่องอยู่อีก? ที่ย้อนแย้งที่สุด หากใช้ฐานความคิดชุดเดียวกัน ไปทาบทับเพื่อวิเคราะห์ในกรณีการห้ามฉายหนัง Insects in the backyard แล้ว นับว่าเป็นเรื่องตลกอย่างที่สุด ที่ฟ้องว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วมาตรฐานการกำกับดูแลเนื้อหาสื่อและการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาสื่อในประเทศนี้ไม่เคยมี และหากใครสักคนยกอ้างคิดว่ามาตรฐานขึ้นมากล่าว มันก็คือวิธีคิดที่ล้นไปด้วยอัตวิสัยและอำนาจตามตำแหน่งที่ตนสวมบทบาทอยู่เท่านั้นเอง

หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 มติคณะรัฐมนตรีฉบับหนึ่งได้กล่าวถึงการส่งเสริมให้มีรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชนมากขึ้น และส่งต่อให้เกิดการทำงานของกรมประชาสัมพันธ์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการจำแนกประเภทรายการที่เหมาะสมกับผู้คนวัยต่างๆ ในสังคม จนกลายเป็น ฉลาก “เรต” แปะหน้ารายการโทรทัศน์อย่างเช่นทุกวันนี้

แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่ภาควิชาการด้านสื่อสารมวลชนพยายามจัดทำขึ้นมาตีคู่กับมติคณะรัฐมนตรีฉบับดังกล่าว นั่นคือ การจัดทำหลักสูตร “สื่อศึกษา” หรือ “Media Literacy” ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา ทั้งในหลักสูตรสถาบันการศึกษาและสำหรับการศึกษาแบบสาธารณะ แต่ดูเหมือนว่า งานที่วางโครงสร้างทางความคิดของอนุชนเช่นนี้กลับไม่ได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งที่การสร้างให้อนุชนสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และรู้เท่าทันในสื่อประเภทต่างๆ ที่รายล้อมตัวตั้งแต่ลืมตาตื่นจนถึงเข้านอนคือสิ่งที่สำคัญมากกว่าการจะผูกขาดหน้าที่การเซนเซอร์ในเนื้อหาสื่อของคนเพียงไม่กี่คนในประเทศนี้เท่านั้น ที่จะต้องออกมาเสนอหน้าตัวเองออกมาเรื่อยๆ และชี้ถูกชี้ผิดว่าอะไรควรดู อะไรไม่ควรดู

เรามีผู้ใหญ่รู้ดีมากมายไปหมด แต่ในทางกลับกัน เรามีแต่เด็กและเยาวชนที่อ่อนแอจากระบบการศึกษาที่กลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ใหญ่ในสังคม ต้องลำบากผัดหน้าผัดตาแต่งตัวเป็นลิเกตัวพระตัวนางมาช่วยเหลือเด็กตัวน้อยๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสื่อน้ำเน่าไร้สาระกันเรื่อยไป เพราะว่าพ่อแม่แท้ๆ ของเด็กน้อยเหล่านี้ เป็นชนชั้นล่าง เป็นคนที่มีการศึกษาน้อย เป็นพวกทำมาหากินไปวันๆ

สิ่งที่คนชนชั้นกลางและมีการศึกษาอย่างต่ำที่สุดคือระดับปริญญาตรีต้องรักษาไว้ ก็คือโครงสร้างและสถานะของตัวเองในสังคม ผ่านการให้คุณค่าและมาตรฐานทางจริยธรรมที่แปรผกผันมาจากสถานะทางสังคมนั่นเอง

การที่ใครสักคนพยายามจะผูกขาดความดี ความงาม และจริยธรรมศีลธรรม เพื่อให้ดำรงไว้ซึ่งสถานะทางสังคมของตนเองและพรรคพวกของตน มันน่ากลัวมากกว่าการที่เด็กสักคนประกาศให้โลกรู้ว่า “โตขึ้นจะเป็นแบบเรยา” เสียด้วยซ้ำไป

ถ้าผู้ใหญ่รู้มากจำพวกนี้ เล็งเห็นจริงๆ ว่าการศึกษาจะแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสื่อที่เขาเห็นว่าเป็นของอันตราย ทำไมการจัดการศึกษาสำหรับการวิเคราะห์ สังเคราะห์สื่อสำหรับเด็กและเยาวชนจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง?

หลังจากละครเรื่องดอกส้มสีทองจบไป เราจะต้องเห็นลัดดา ตั้งสุภาชัย หรือคนในกระทรวงวัฒนธรรม ออกมาสื่อสารกับสังคมในเรื่องซ้ำเดิมเช่นนี้กันอีกสักกี่ร้อยกี่พันครั้งกัน? ทั้งที่การแก้ปัญหาผลกระทบจากสื่อต่อเด็กและเยาวชนก็คือการติดตั้งเครื่องมือวิเคราะห์,สังเคราะห์สื่อให้ติดตัวเด็กและเยาวชนนั่นเอง

สิ่งที่ผู้ใหญ่รู้มากและเต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีทั้งหลายในสังคมเลือกที่จะ “ไม่ทำ” บอกใบ้ให้เรารู้อยู้ในทีแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่เขาเหล่านี้หวาดกลัว

ผู้ใหญ่รู้มากพวกนี้อาจจะไม่ได้กลัวว่าเด็กจะโตขึ้นแล้วเป็นแบบเรยา

แต่การที่เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ , สามารถจำแนกแยกแยะ “สาร” รวมถึงประเมินคุณค่าของสื่อทุกประเภทได้ด้วยตนเอง คือ สิ่งที่ผู้ใหญ่รู้มากจำพวกนี้กลัวต่างหาก.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ทู เทรดดิ้ง" เตรียมทุ่มงบประมาณปรับปรุงสวนสัตว์ในพม่า

Posted: 13 May 2011 08:20 AM PDT

มูลนิธิทู ของบริษัททู เทรดดิ้ง กิจการของ "เต ซา" มหาเศรษฐีพม่าเตรียมทุ่มงบราว 14.5 ล้านเหรียญสหรัฐปรับปรุงสวนสัตว์ 3 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ของพม่าได้ยกสวนสัตว์ 3 แห่ง รวมถึงสวนสัตว์ซาฟารีและหอดูดาว ให้บริษัทของนายเต ซาจัดการ

มูลนิธิทู (HTOO Foundation) ซึ่งเป็นมูลนิธิในบริษัททู เทรดดิ้ง ( Htoo Trading) ของนายเตซา เตรียมทุ่มงบราว 14.5 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงสวนสัตว์ 3 แห่งที่อยู่ในเมืองย่างกุ้ง จังหวัดมัณฑะเลย์และในเมืองเนปีดอว์ในอีกสามเดือนข้างหน้า ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพม่าได้ยกสวนสัตว์ทั้ง 3 แห่ง รวมถึงสวนสัตว์ซาฟารีอีกแห่งในกรุงเนปีดอว์และหอดูดาวให้กับบริษัทของนายเต ซาดูแลจัดการตั้งแต่เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ด้านนายอูเยมิ้น ผู้อำนวยการมูลนิธิทู (HTOO Foundation) กล่าวว่า มูลนิธิมีแผนที่จะพัฒนาสภาพความเป็นอยู่และสุขภาพของสัตว์ให้ดีขึ้น รวมทั้งมีแผนจะหาสัตว์สายพันธุ์ใหม่เข้ามาในสวนสัตว์ภายใต้โครงการแลก เปลี่ยนสัตว์กับสวนสัตว์ในประเทศอื่น

นายอูเยมิ้นกล่าวว่า การปรับปรุงสวนสัตว์ครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อธุรกิจหรือหวังรายได้จากสวน สัตว์ ดังนั้นสวนสัตว์จึงไม่ได้อยู่ในการดูแลจัดการของบริษัททู แต่อยู่ภายใต้การดูแลของทางมูลนิธิทูแทน พร้อมกล่าวย้ำว่า การปรับปรุงสวนสัตว์ครั้งนี้ทำไปเพื่อการอนุรักษ์สัตว์เท่านั้น

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิยังมีแผนเปิดโรงพยาบาลสัตว์ในเมืองเนปีดอว์ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม ที่จะถึงนี้ด้วย ส่วนพนักงานราว 700 คนที่ทำงานอยู่ในสวนสัตว์ทั้ง 3 แห่ง ซึ่งเป็นพนักงานประจำราว 300 คนนั้น นายอูเยมิ้นเปิดเผยว่า จะไม่ปลดคนงานเหล่านี้ออกจากงานอย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า นายเตซา เจ้าของบริษัททู เทรดดิ้งนั้นเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดและให้การสนับสนุนกองทัพพม่ามาโดยตลอด ส่งผลให้เขาเป็นนักธุรกิจที่มีอิทธิพลและรวยที่สุดในพม่า แต่ที่ผ่านมา บริษัททู เทรดดิ้งนั้นมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า รวมทั้งบริษัทแห่งนี้ยังได้ยึดที่ทำกินของชาวบ้านเป็นจำนวนมากเพื่อนำมา ประกอบธุรกิจของตัวเอง ซึ่งทำให้นายเตซาและครอบครัวนั้นถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก (Myanmartimes/สาละวินโพสต์ 13 พ.ค. 54)

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคกลางของพม่าประสบภัยแล้ง ชาวบ้านขาดน้ำใช้

Posted: 12 May 2011 05:08 PM PDT

เกือบ 30 หมู่บ้านในเมืองเช้าก์และเมืองเจ้าก์ปะต่าว ภาคมะกวย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตร้อนทางภาคกลางของพม่ากำลังแล้งหนัก ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ โดยชาวบ้านบางรายต้องเดินทางไปตักน้ำจากแม่น้ำอิรวดีมาใช้

ชาวบ้านบางคนเดินทางโดยใช้เกวียนเพื่อไปยังแม่น้ำอิรวดี ซึ่งมีระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร ขณะที่ชาวบ้านบางคนเดินทางตั้งแต่รุ่งเช้าเพื่อไปตักน้ำ และจะไม่กลับมาบ้านจนกว่าจะเย็น บางคนนำเสื้อผ้าไปซักและไปอาบน้ำด้วย” มิ้นเต่ง ชาวบ้านในเมืองเช้าก์เปิดเผย

มิ้นเต่งเปิดเผยอีกว่า ชาวบ้านบางส่วนยังพอหาน้ำจากหมู่บ้านใกล้เคียงได้ โดยการสูบน้ำจากร่องน้ำมาใช้ นอกจากนี้มีการรวบรวมเงินในหมู่ชาวบ้านด้วยกันเองเพื่อนำไปใช้ในโครงการขุดบ่อน้ำบาดาลของหมู่บ้าน ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนได้อาสาที่จะขุดบ่อน้ำด้วย ส่วนพระสงฆ์และชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นๆก็นำเงินมาร่วมบริจาคด้วย อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกำลังประสบความยากลำบาก เนื่องจากโครงการนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง รวมทั้งยังต้องใช้คนงานอาสมัครอีกเป็นจำนวนมากสำหรับขุดบ่อน้ำบาดาล

ส่วนในเมืองเจ้าก์ปะต่าว ถึงแม้ทางโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme -UNDP) จะเข้ามาช่วยเหลือในการขุดบ่อน้ำให้กับชาวบ้าน แต่ก็พบว่ายังไม่เพียงพอกับจำนวนชาวบ้าน ทั้งนี้ ยังพบบ่อน้ำบางแห่งแห้งขอด ส่วนบางแห่งยังไม่สามารถใช้ดื่มได้ เนื่องจากน้ำมีรสเค็ม (Irrawaddy 11 พ.ค.54)

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น