ประชาไท | Prachatai3.info |
- ประวิตร โรจนพฤกษ์: "ไม่สายเกินไปที่ สุภิญญา กลางณรงค์ จะถอยจาก กสทช."
- รายงาน: “เลือกตั้งสิงคโปร์ 7 พ.ค.” เมื่อฝ่ายค้าน “ร่วมกันเดิน แยกกันตี” ฝ่ายรัฐบาล
- แถลงการณ์สำนักพระราชวังฉบับที่ 39 ในหลวงทรงมีพระอาการทั่วไปดีขึ้น
- นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านแจ้งความจับ กฟผ. ลักลอบตัดต้นไม้ในที่นาเกลี้ยง
- "ประยุทธ์” รับได้หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล-แนะทหารอย่าเกี่ยวข้องนับคะแนน
- เหยื่อแผ่นดินไหวในรัฐฉานครวญ รัฐบาลพม่าช่วยไม่ทั่วถึง
- นายกฯ เผยทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาเรียบร้อยแล้ว
- พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงร้องผู้นำอาเซียน ยกเลิกเขื่อนไซยะบุรี
- สวนดุสิตโพลล์เผยคนหนุนพรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ ตั้งรัฐบาล
- บทวิเคราะห์มติคณะรัฐมนตรีเรื่องกู้ซื้อบ้านดอกเบี้ย 0% และผลกระทบ
- พม่าอนุญาตให้ตีพิมพ์ข่าว "บิน ลาเดน" เสียชีวิต
- ดีเอสไอส่งฟ้อง “วิสา-ไพจิตร” ก่อความวุ่นวาย-ฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- กวีตีนแดง‘ไทร’
- อนุสรณ์ อุณโณ:ชายแดนใต้ไม่ไกลจากเมืองหลวง
ประวิตร โรจนพฤกษ์: "ไม่สายเกินไปที่ สุภิญญา กลางณรงค์ จะถอยจาก กสทช." Posted: 06 May 2011 12:44 PM PDT ผู้เขียนเพิ่งทราบมาว่า คุณสุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมด้านสื่อสารมวลชน ผู้เป็นที่รู้จักของสังคม และผู้ซึ่งผู้เขียนก็รู้จักโดยส่วนตัวดีในระดับหนึ่ง กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากค่ายผู้จัดการ สืบเนื่องจากการตัดสินใจสมัครชิงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา ทางหนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์อ้าง [1] ถึงข้อความในเฟซบุ๊กของคุณสุภิญญาเอง เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2553 ซึ่งมีความว่า “มีคนยุให้ลงสมัคร กสทช.เหมือนกัน เพราะจะได้เข้าไปลุยงานปฏิรูปสื่อด้วยตัวเอง แต่ก็ยังไม่ได้คิดหรอกนะคะ เพราะอันนี้เป็นเรื่องมารยาทแน่เพราะเป็นคนร่าง พรบ.กสทช.มา ส่วนตัวมองเรื่องความทับซ้อนตรงนี้นะคะ คือ เราเป็น NGO รณรงค์ทั้งในและนอกห้องประชุมเป็นเรื่องปกติทำได้ ถ้าเราไม่มีส่วนได้เสียในการประมูลหรือการออกแบบกติกานั้น แต่ถ้ามีส่วนได้ส่วนเสียกับการประมูล แล้วไปนั่งออกแบบกติกาอันนี้น่ะผิดจริงจังค่ะ ส่วนเรื่องสมัครเป็น กสทช.แม้จะไม่ผิด กม. (กฎหมาย) แต่เป็นมารยาท เพราะเป็นคนร่างกฎหมายมาเอง อันนี้ ถ้าสุดท้ายดิฉันตัดสินใจลงสมัคร กสทช.ในอนาคต ก็รอวิจารณ์ได้เต็มที่เลยนะคะ เพราะเข้าข่ายว่าทำงานเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาทั้งหมดเพราะอยากเป็น กสทช.” ท้ายข่าวนี้ ก็มีคอมเมนต์ออกมาเชิง “จัดหนัก” ให้คุณสุภิญญา ซึ่งเมื่ออ่านแล้ว ผู้เขียนเข้าใจว่า คอมเมนต์เหล่านี้คงทำให้คุณสุภิญญาได้รับผลกระทบทางจิตใจไม่มากก็น้อย ณ เวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณสุภิญญาควรจะตั้งสติ เพื่อตัดสินใจว่า เธอให้ค่ากับคุณค่า (values) ใดมากกว่ากัน ในสังคมไทยมีผู้คนมากมายอ้างว่า ด้วยเหตุเพราะตนมีเจตนา “ดี” ต่อสังคม จึงทำให้มีสิทธิที่จะทำสิ่งที่ “ดี” ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักการ กระบวนการที่ถูกต้อง รวมถึงมารยาท หรือแม้กระทั่งคำพูดและจุดยืนของตัวเองที่เคยมีมา ตัวอย่างเช่น การทำรัฐประหาร สนับสนุนรัฐประหาร เข้าร่วมในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 หรือตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้อันได้แก่ การร่วมในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศซึ่งเกิดขึ้นหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2553 หรือแม้กระทั่งการที่คนจำนวนหนึ่งสนับสนุนกฎหมายพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) เพราะพวกเขาเชื่อว่า สถาบันกษัตริย์ดีเลิศ ประเสริฐ กฎหมายที่คุ้มครองคนดีจึงย่อมดีตามไปด้วย ผู้เขียนต้องออกตัวว่า คุณสุภิญญาเองก็เคยขอคำปรึกษาว่า เธอควรจะสมัครชิงตำแหน่งกรรมการ กสทช. หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนได้ให้คำตอบ โดยชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ในแง่บวก และลบ หากเธอสมัคร และหากเธอไม่สมัคร แต่ในท้ายที่สุดแล้วเธอจะต้องตัดสินใจเอง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมิทราบมาก่อนว่า คุณสุภิญญาเคยแสดงจุดยืนผ่านตัวอักษรบนหน้าเฟซบุ๊กไปแล้วว่า เธอได้แสดงจุดยืนอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า จะไม่สมัครเด็ดขาด และทำไมถึงจะไม่สมัคร ผู้เขียนไม่สงสัยว่า คุณสุภิญญาเป็น “คนดี” ที่มุ่งหวังอยากเห็นสังคมไทยมีเสรีภาพและความเท่าเทียมในการสื่อสารและแสดงความเห็นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และได้ทุ่มเทหยาดเหงื่อ แรงกาย และมันสมองไปมิน้อยในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มาวันนี้คุณสุภิญญาต้องถามตัวเองว่า อะไรเป็นคุณค่าที่ตัวเธอยึดถือ และคุณค่าใดมีความสำคัญมากกว่ากัน ระหว่าง เจตนาที่ตัวเองเชื่อว่า “ดี” กับการรักษาคำพูดและหลักมายาทจริยธรรม รวมถึงหลักการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ผมคงไม่ต้องขยายความว่า มีนายพลกี่คนที่ก่อรัฐประหารโดยอ้างหรือเชื่อว่า ตนเองมีเจตนาดีต่อสังคม แต่เราต้องตั้งคำถามว่า แล้วกระบวนการที่ไม่รักษามารยาทและหลักการของระบอบประชาธิปไตยนั้นช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหามากขึ้นกันแน่ อาจารย์บางคนที่เข้าไปเป็นสมาชิก สนช. เช่น อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังกล้าพูดกับผู้เขียนเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้วว่า ตนไม่เคยสนับสนุนรัฐประหาร (ซึ่งภรรยาของ อ.สุริชัยอ้างว่า อ.สุริชัยอยากเข้าไปผลักดันเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงได้ตกลงรับตำแหน่งนี้) หลังจากที่ผู้เขียนกล่าวกับอาจารย์ท่านนี้ไปว่า คนที่เป็นที่นับถือในสังคมยิ่งไม่ควรสนับสนุนรัฐประหาร เพราะไม่มีรัฐประหารใดจะสำเร็จได้ หากผู้คนไม่ยอมรับในความชอบธรรม ปัญหาของคุณสุภิญญาทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 หลังจากที่มีคนตายไปกว่า 20 ศพ หากในวันนั้นนายอภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบ มาวันนี้ผมเชื่อว่า คนจำนวนไม่น้อยอาจมองเขาอย่างชื่นชมมากกว่านี้ ว่าเป็นผู้ที่กล้ารับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่ตนได้กระทำลงไป เพียงเพราะคุณสุภิญญาได้เดินก้าวมาถึงจุดที่ได้สมัครไปแล้ว และได้รับคัดเลือกไปในระดับหนึ่งแล้ว นั่นก็ไม่ได้จำเป็นที่ คุณสุภิญญาจะต้องเดินต่อไปบนเส้นทางเส้นนี้เท่านั้น หากทว่า คุณสุภิญญาควรจะถามตนเอง ว่าการละทิ้งตรรกะและวาจาที่ตนเคยให้ไว้ในกับสาธารณะ มีค่ามากกว่าตำแหน่งใน กสทช. หรือไม่ ผมคิดว่า สังคมไทยให้ค่ากับกระบวนการและหลักการที่ถูกต้องและวาจาสัตย์น้อยเกินไป และถึงแม้คุณสุภิญญาคงไม่ห่วงความเห็นของคนที่ไม่เป็นมิตรต่อคุณ เช่น คนเสื้อเหลือง หรือผู้อ่านหนังสือพิมพ์ เอเอสทีวีผู้จัดการ ที่จ้องจะด่าและประณามผู้ที่ไม่ได้เป็นพวกเดียวกับตน รวมถึงคุณสุภิญญาอยู่แล้ว แต่ผู้เขียนอยากบอกว่า แม้กระทั่งคนที่เคยชื่นชมคุณสุภิญญา อย่างเช่น สมบัติ บุญงามอนงค์ (บ.ก.ลายจุด) ก็ได้แสดงความรู้สึกผิดหวังไว้ในทวิตเตอร์ของเขาแล้วเช่นกัน คนเหล่านี้ที่เคยชื่นชมหรือนับถือคุณสุภิญญาต่างหากล่ะ ที่คุณสุภิญญาควรจะฟังเสียงและความรู้สึกของเขา ไม่มีอะไรที่น่าละอายสำหรับผู้ที่เมื่อตระหนักว่า ตนก้าวผิด ก็พร้อมจะหยุดทบทวน หรือแม้กระทั่งก้าวถอยกลับมา เพื่อเปลี่ยนทิศทางเดินใหม่ให้ถูกต้อง สังคมไทยเต็มไปด้วยคนที่บอกผู้อื่นว่า ตนมีเจตนาดี จึงมี “ความชอบธรรม” ที่จะกระทำการลัดคิวหรือเสียมารยาทหรือหลักการได้ คุณสุภิญญาไม่จำเป็นต้องเป็นหนึ่งในนั้นหรอก เพราะตอนนี้สังคมไทยก็มีคนเหล่านี้มากเกินพอแล้ว
[1] http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000055796 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รายงาน: “เลือกตั้งสิงคโปร์ 7 พ.ค.” เมื่อฝ่ายค้าน “ร่วมกันเดิน แยกกันตี” ฝ่ายรัฐบาล Posted: 06 May 2011 10:39 AM PDT ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือก 2.3 ล้านคนทั่วเกาะสิงคโปร์จะออกไปใช้สิทธิทั่วไปในวันนี้ โดยถือเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ โดยพรรคฝ่ายค้านได้แบ่งกันส่งผู้สมัคร 82 ที่นั่ง จาก 87 ที่นั่ง เพื่อหวังชิงที่นั่ง ส.ส. มาจากพรรคกิจประชาชน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมาตลอด เขตเลือกตั้งสิงคโปร์ สำหรับการเลือกตั้ง 7 พ.ค. โดยพื้นที่สีชมพูเป็นเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว (Single Member Constituencies - SMCs) มี 12 เขต และสีที่เหลือเป็นเขตเลือกตั้งแบบกลุ่มหรือเขตเรียงเบอร์ (Group Representation Constituencies - GRCs) มีตั้งแต่เขตที่เลือก ส.ส. ได้ 4 คน จนถึงเขตที่เลือกได้ 6 คน มีจำนวนทั้งสิ้น 15 เขต โดยเกือบทุกเขตเป็นเขตที่เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรครัฐบาลคือพรรคกิจประชาชน ยกเว้นเขตตันจง ปาการ์ (Tanjong Pagar) เขตเดียวที่มีแต่ผู้สมัครจาก ส.ส.พรรคกิจประชาชน (ที่มาของภาพ: วิกิพีเดีย) ผู้สนับสนุนพรรคแรงงานสิงคโปร์ (WP) ฟังการปราศรัยที่สนามเซรังกูน เมื่อ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: Steel Wool – CC/Flickr.com) ในวันนี้ (7 พ.ค.) ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 2.3 ล้านคนในสิงคโปร์ จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไป โดยถือเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูงสุดนับตั้งแต่ตั้งประเทศสิงคโปร์ในปี 2508 ทั้งนี้เพราะพรรคฝ่ายค้านส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่ง ส.ส. 82 ที่นั่ง จากทั้งหมด 87 ที่นั่ง ด้วยเหตุนี้ “ทีมข่าวต่างประเทศ” ขอนำเสนอข้อมูลโดยสังเขปสำหรับการเลือกตั้งของสิงคโปร์ดังกล่าว
การเลือกตั้งที่รัฐบาลพรรคเดียวเป็นผู้ชนะมาโดยตลอด ทั้งนี้นับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2508 พรรคกิจประชาชน ครองอำนาจในสภามาโดยตลอด โดยระหว่างปี 2508 – 2526 ทั้งสภา มี ส.ส. จากพรรคกิจประชาชนเพียงพรรคเดียวที่ชนะการเลือกตั้ง ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2527 มี ส.ส. ฝ่ายค้านเป็นครั้งแรกโดยวิธีการสำรองที่นั่งให้ฝ่ายค้าน ทำให้มีฝ่ายค้าน 2 ที่นั่งจากจำนวน ส.ส. ทั้งสภา 74 ที่นั่ง ในปี 2531 มี ส.ส. ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งเข้ามาในสภา 1 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส. ทั้งสภา 77 ที่นั่ง ในปี 2534 มี ส.ส. ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้ง 4 ที่นั่ง จาก ส.ส. ทั้งสภา 81 ที่นั่ง ในปี 2540 ปี 2544 และปี 2548 ส.ส.ฝ่ายค้านไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่ฝ่ายค้านได้รับการสำรองที่นั่งให้เป็น ส.ส. จำนวน 2 ที่นั่ง ขณะที่ล่าสุด ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 มีการชิงชัย ส.ส. 84 ที่นั่ง โดยมีพรรคฝ่ายค้านลงแข่งเลือกตั้งกับพรรคกิจประชาชน (PAP) เพียง 47 ที่นั่งเท่านั้น ทำให้อีก 36 ที่นั่งเป็นของ PAP โดยปราศจากคู่แข่ง โดยผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคกิจประชาชน (PAP) ได้ ส.ส. 82 ที่นั่ง พรรคฝ่ายค้านได้ 2 ที่นั่งจากการสำรองที่นั่ง ได้แก่ พรรคแรงงาน (Workers’ Party) และพันธมิตรประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Alliance) อย่างละ 1 ที่นั่ง
การเลือกตั้งที่ขับเคี่ยวมากสุดในประวัติศาสตร์ และ “ร่วมกันเดิน แยกกันตี” ของฝ่ายค้าน โดยการเลือกตั้ง 7 พ.ค. นี้ จะมีการเลือกตั้งใน 27 เขตเลือกตั้ง เพื่อชิงตำแหน่ง ส.ส. 87 ที่นั่ง แบ่งเป็นเขตเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว (Single Member Constituencies - SMCs) 12 เขต และที่เหลือเป็นเขตเลือกตั้งแบบกลุ่มหรือเขตเรียงเบอร์ (Group Representation Constituencies - GRCs) 15 เขต ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการชิงชัยระหว่าง พรรคกิจประชาชน (PAP – People’s Action Party) พรรครัฐบาลซึ่งครองอำนาจมาโดยตลอดนับตั้งแต่ตั้งประเทศสิงคโปร์ในปี 2508 กับ พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองขนาดเล็ก ได้แก่ พรรคแรงงานสิงคโปร์ (Workers' Party of Singapore - WP) พรรคปฏิรูป (Reform Party) พรรคสมานฉันท์แห่งชาติ (the National Solidarity Party - NSP) พรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Party - SDP) และพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Alliance - SDA) ซึ่งในกลุ่มนี้ประกอบด้วย สองกลุ่มการเมือง คือ องค์กรชาวมาเลย์แห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore Malay National Organization - PKMS) และพรรคประชาชนสิงคโปร์ (Singapore People's Party - SPP) โดยพรรคฝ่ายค้านได้แบ่งกันส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบไม่มีซ้ำเขตเพื่อตัดคะแนนกันเอง แต่เป็นการแบ่งกันส่งเพื่อลงชิงตำแหน่ง ส.ส. กับพรรครัฐบาลคือพรรคกิจประชาชน (PAP – People’s Action Party) เกือบทุกเขต รวม 82 ที่นั่ง จากทั้งหมด 87 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 94.3 โดยสถิติการแข่งขันสูงสุดก่อนหน้านี้ คือการเลือกตั้งในปี 2515 ที่ฝ่ายค้านส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่ง ส.ส. 57 ที่นั่ง จากทั้งหมด 65 ที่นั่ง คือเป็นร้อยละ 87.7 ทำให้ในการเลือกตั้ง ครั้งนี้มีเพียงเขตตันจง ปาการ์ (Tanjong Pagar) ซึ่งมี ส.ส. 5 ที่นั่ง ซึ่งมีเพียงผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดียวคือพรรคกิจประชาชนนำโดยนายลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) รัฐบุรุษของสิงคโปร์และอดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัย โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกิจประชาชนชนะการเลือกตั้งโดยที่ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านยื่นใบสมัครไม่ทันกำหนดเส้นตายของเวลา 12.00 น. วันที่ 27 เม.ย.
คลิปขอคะแนนของพรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (SDP) เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้บรรดาพรรคการเมืองในสิงคโปร์หันมาใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งการเลือกตั้งในปีนี้รัฐบาลไม่ได้ห้ามไว้
สื่อ เวลา สถานที่: สารพันข้อจำกัดการหาเสียง ข้อจำกัดสำหรับพรรคฝ่ายค้านในการหาเสียงแข่งกับพรรครัฐบาล คือวันหาเสียงที่มีระยะเวลาจำกัด โดยกฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงเพียง 9 วัน โดยการเลือกตั้งรอบนี้ วันแรกของการหาเสียงเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. และต้องหยุดกิจกรรมหาเสียงทุกอย่างหลังเวลา 22.00 น. ของในวันที่ 5 พ.ค. 54 ก่อนวันเลือกตั้ง 7 พ.ค. นอกจากเวลาการหาเสียงจะน้อยแล้ว ช่องทางการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ สำหรับพรรคการเมือง ก็เป็นไปอย่างจำกัด โดยพรรคการเมืองสามารถใช้สื่อดังกล่าวได้เฉพาะที่รัฐจัดสรรเวลามาให้ ทำให้บรรดาพรรคการเมืองหันไปหาสื่อออนไลน์ เช่น พรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (SDP) มีการเปิดเว็บ http://yoursdp.org เพื่อสื่อสารกับผู้สนับสนุน มีการอัพโหลดคลิปการปราศรัยไว้ในเว็บไซต์ youtube.com นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่คลิปโฆษณาของพรรคใน youtube ด้วย เช่นชุด SDP Loves Singapore: VOTE SDP! ซึ่งเผยแพร่เมือ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นคลิปที่สมาชิกพรรค SDP 45 คน ช่วยกันแปรอักษรว่าพรรค SDP รักสิงคโปร์ เพื่อขอคะแนนจากคนสิงคโปร์ให้ช่วยกันโหวต ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อ 4 มี.ค. มีการออกคลิปโฆษณาชุด SDP: Time For Change เป็นผู้สมัครของพรรคเปลี่ยนชุดฟอร์มขาวล้วน คล้ายกับชุดของพรรคกิจประชาชน (PAP) เป็นชุดฟอร์มสีแดงของพรรค SDP และลงท้ายคลิปว่าได้เวลาเปลี่ยนแปลง (Time for Change) ขณะที่พรรคกิจประชาชน ซึ่งเป็นรัฐบาลเองก็ไม่แพ้กัน โดยจอร์จ เหยียว (George Yeo) รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกิจประชาชน (PAP) หลังจากที่หน้าเฟซบุ๊คของเขามีเพื่อนถึง 5 พันคนแล้ว เขาได้สร้างบัญชีแฟนเพจขึ้นใหม่ โดยมีผู้แอดแล้วกว่า 3 หมื่นคน ขณะที่ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ผู้นำพรรคกิจประชาชน (PAP) ซึ่งแม้ไม่มีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ค แต่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 พ.ค.) เขาก็ได้ตอบคำถามผู้สนับสนุนผ่านหน้าแฟนเพจของพรรคกิจประชาชน (PAP) ทั้งนี้มีผู้ใช้เฟซบุ๊คในสิงคโปร์ถึง 3 ล้านบัญชี จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม กฎหมายหาเสียงเลือกตั้ง ได้กำหนดให้พรรคการเมืองไม่สามารถห้ามโพสต์ข้อมูลใดๆ เพิ่มหลังพ้นเวลา 22.00 น. ของวันที่ 5 พ.ค. จนกว่าถึงเวลานับคะแนนเลือกตั้ง นอกจากเวลาที่จำกัด สถานที่จัดชุมนุมปราศรัยทางการเมืองก็ถูกจำกัด โดยปีนี้ กรมตำรวจสิงคโปร์ ประกาศให้มีพื้นที่สำหรับการชุมนุมทางการเมืองทั้งสิ้น 41 แห่งทั่วเกาะสิงคโปร์ โดยพรรคการเมืองที่ต้องการใช้สถานที่ดังกล่าวจะต้องลงทะเบียน โดยใช้วิธีลงทะเบียนแบบมาก่อนได้สิทธิ์ก่อน โดยการชุมนุมหาเสียงสามารถจัดได้ระหว่างวันที่ 28 เม.ย. ถึง 5 พ.ค. 54 ระหว่างเวลา 7.00 ถึง 22.00 น. มากกว่านั้น หลังการเลือกตั้งไปแล้ว ก็ยังมีระเบียบควบคุมการรวมตัวของบรรดาผู้สนับสนุนพรรคการเมือง โดยที่ในวันเลือกตั้ง ผู้สมัครลงเลือกตั้ง ผู้สนับสนุน และสมาชิกของพรรคการเมืองต่างๆ จะสามารถรวมตัวกันได้หลังจากที่ปิดหีบเลือกตั้งไปแล้ว เริ่มตั้งแต่เวลา 20.00 น. และรวมตัวกันได้จนถึงเวลา 30 นาทีหลังจากมีการประกาศผลการนับคะแนนในเขตสุดท้าย และรวมตัวกันได้ในสถานที่ซึ่งกฎหมายกำหนดเท่านั้น และในสถานที่เหล่านั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัย โดยในการเลือกตั้ง 7 พ.ค. นี้ พรรคการเมืองสามารถไปรวมตัวได้ในสถานที่ที่เรียกว่า “ศูนย์กลางการสมาคม” (Assembly centre) ซึ่งประกาศในวันนี้ (6 พ.ค.) ไว้อย่างน้อย 5 แห่ง โดยฝั่งตะวันออกของเกาะ ได้กำหนดให้ สนามกีฬาเบดก (Bedok Stadium) เป็นสถานที่รวมตัวของพรรคกิจประชาชน (PAP) และสนามกีฬาหูกัง (Hougang Stadium) เป็นสถานที่รวมตัวของพรรคแรงงาน (WP) พื้นที่ตอนกลางของเกาะ ได้กำหนดให้สนามกีฬาโต๊ะ ปาโย (Toa Payson Stadium) และพื้นที่ทางตะวันตกของเกาะ ได้กำหนดให้สนามกีฬาจูร่ง (Jurong West Stadium) เป็นที่รวมตัวของพรรคกิจประชาชน (PAP) ขณะที่สนามกีฬาคเลเมนติ (Clementi Stadium) ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเกาะ ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่รวมตัวและสมาคมของพรรคปฏิรูป (RP) โดยในการเลือกตั้งสิงคโปร์วันนี้ จะเริ่มเปิดคูหาเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (07.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) และจะปิดหีบลงคะแนนในเวลา 20.00 น. และการนับคะแนนจะเริ่มในทันทีหลังปิดหีบบัตรเลือกตั้ง โดยคาดว่าจะรู้ผลการเลือกตั้งช่วงกลางดึกของคืนวันนี้
ที่มา: เรียบเรียงจาก Singaporean general election, 2011, Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wiki/Singaporean_general_election,_2011 Assembly centres for Polling Day, Straits Times, May 6, 2011 http://www.straitstimes.com/GeneralElection/News/Story/STIStory_665591.html สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
แถลงการณ์สำนักพระราชวังฉบับที่ 39 ในหลวงทรงมีพระอาการทั่วไปดีขึ้น Posted: 06 May 2011 09:40 AM PDT เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 6 พฤษภาคม 2554 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 39 ความว่า วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานว่า จากการถวายตรวจแผลผ่าตัดบริเวณที่ใส่สายระบายน้ำไขสันหลัง พระอาการเจ็บแผลลดลงมากแล้ว ไม่พบโรคแทรกซ้อนใดๆ พระอาการทั่วไปดี อุณหภูมิพระวรกาย ความดันพระโลหิต พระหทัย และระบบการหายพระหทัยปกติ เสวยได้มากขึ้น จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านแจ้งความจับ กฟผ. ลักลอบตัดต้นไม้ในที่นาเกลี้ยง Posted: 06 May 2011 09:25 AM PDT ชาวบ้านแจ้งความเอาผิดกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สั่งคนงานตัดโค่นต้นไม้ในที่นาของชาวบ้าน จนโล่งเตียน คิดคำนวณความเสียหายเป็นเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ 6 พ.ค.54 - เวลาประมาณ 13.30 น. นายมนัส ถำวาปี อายุ 37 ปี ชาวบ้านเหล่ากล้วย ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เดินทางไปแจ้งความต่อ พ.ต.ท.สิงหราช แก้วเกิดมี พนักงานสอบสวน ที่สภอ.เมืองอุดรธานี เพื่อเอาผิดกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้สั่งให้คนของกฟผ.ลงไปในแปลงนาของนายมนัส และทำการตัดโค่นต้นไม้จนโล่งเตียน คิดคำนวณความเสียหายเป็นเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (5 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณบ่ายโมงถึงบ่ายสามโมง โดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่าย จำนวน 5 แผ่น ที่นาของนายมัส ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านทอนกลาง หมู่ที่ 9 ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งกฟผ.ได้ทำการสำรวจแนวเขตเพื่อเดินสายไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 500 กิโลโวลต์ (KV) น้ำพอง 2 – อุดรธานี 3 ผ่านพื้นที่บริเวณดังกล่าว แต่นายมนัส ร่วมกับชาวบ้านจำนวนหนึ่งคัดค้าน ไม่ยินยอมรับค่าทดแทนจากกฟผ. และในขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้กฟผ.เพิกถอนแนวสายส่งไฟฟ้า นายมนัส ถำวาปี กล่าวว่า ปกติตนจะเดินสำรวจดูแปลงนาเป็นประจำทุกวัน แต่เมื่อวานนี้ไม่ได้ออกมาเพราะต้องไปทำงานรับจ้างในเมืองตั้งแต่เช้า พอตกเย็นมีชาวบ้านโทรศัพท์มาบอกว่า ได้พบเห็นชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่ง ขับรถกระบะสีบอร์นเงิน มาจอดแล้วนำเลื่อยโซ่ยนต์ และมีด เดินลิ่วลงไปตัดต้นไม้ในที่นาล้มระเนระนาดหมดเลย พอชาวบ้านถามพวกเขาก็บอกว่ากฟผ.ได้เคลียร์กับเจ้าของที่นาเรียบร้อยแล้ว “พอได้ยินข่าวผมแทบล้มทั้งยืนเลย ทำไมกฟผ.ถึงป่าเถื่อนกับชาวบ้านได้ขนาดนี้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าพวกผมไม่ยินยอมก็บังคับ จะเอาให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ชาวบ้านยินยอม มีทั้งเอาเงินมาล่อให้ชาวบ้านแตกแยกกัน เอาคนมาข่มขู่ให้ชาวบ้านกลัว ส่วนคราวนี้ลอบกัดข้างหลังกันอย่างดื้อๆ เลย และถ้าผู้มีอำนาจกระทำกับชาวบ้านคนหาเช้ากินค่ำแบบนี้แล้วชาวบ้านจะหวังพึ่งใครได้” นายมนัสกล่าว ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ด้านพ.ต.ท.สิงหราช แก้วเกิดมี พนักงานสอบสวน ได้กล่าวกับนายมนัสว่า ในเรื่องนี้ตนจะทำหนังสือ เพื่อสอบถามไปยัง กฟผ. ว่าได้สั่งการให้คนเข้ามาดำเนินการตัดต้นไม้ในแปลงนาของนายมนัสจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีการดำเนินการจริงตนก็จะดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมาย และก็จะแจ้งความคืบหน้าให้นายมนัสได้ทราบโดยทันที นายบุญเลี้ยง โยทะกา คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (คชส.) ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ชาวบ้านเคารพกฎหมายมาโดยตลอด แต่กฟผ.เป็นผู้มีหน้าที่ทำตามกฎหมายกลับละเมิดสิทธิชาวบ้าน และทำผิดกฎหมายเสียเอง ซึ่งการแจ้งความของนายมนัสในวันนี้ คชส. ก็คงไม่คาดหวังอะไรมากว่าตำรวจจะสามารถนำตัวผู้กระทำผิด หรือ กฟผ.มาลงโทษได้ แต่ก็ต้องดำเนินการเอาไว้เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์ “พวกเรายืนยันด้วยเหตุด้วยผลเสมอมาว่าต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองเสียก่อน ถ้าศาลตัดสินออกมาอย่างไรก็ค่อยมาว่ากัน แต่กฟผ.ไม่เคยฟัง ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น คชส.เห็นว่าระหว่างรอศาล ควรจัดให้มีเวทีการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับกฟผ.โดยมีคนกลางเข้ามาร่วมรับฟัง และหาทางออก เพราะถ้าหากปล่อยให้คู่กรณี (ชาวบ้านกับกฟผ.) คุยกันเองไม่มีจุดจบแน่ ซึ่งในขณะนี้ คชส.ก็กำลังประสานงานคณะกรรมการสิทธิ์ฯ (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ให้ช่วยเป็นคนกลาง ” นายบุญเลี้ยงกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
"ประยุทธ์” รับได้หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล-แนะทหารอย่าเกี่ยวข้องนับคะแนน Posted: 06 May 2011 04:20 AM PDT “พล.อ.ประยุทธ์” ระบุกองทัพพร้อมสนับสนุนการเลือกตั้ง ยืนยันรับได้หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล กองทัพพร้อมสนับสนุนเลือกตั้ง เช่น รักษาความปลอดภัย แต่ให้ระวังเกี่ยวกับการนับคะแนนหากเป็นไปได้จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว 6 พ.ค. 54 - สำนักข่าวไทยรายงานว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ระบุกองทัพพร้อมสนับสนุนการเลือกตั้ง ยืนยันรับได้หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก เกี่ยวกับการสนับสนุนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ว่า กองทัพให้การสนับสนุนตามที่กฎหมายมีอยู่ เช่น การรักษาความปลอดภัย หากมีการร้องขอมาก็จะดำเนินการ แต่ให้ระวังเกี่ยวกับการนับคะแนน หากเป็นไปได้จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ พร้อมสนับสนุนให้กำลังพลและครอบครัวไปใช้สิทธิให้มากที่สุด และเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถติดต่อเข้าไปหาเสียงในหน่วยทหารได้ทุกพรรคการเมือง เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล กองทัพจะรับได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับประชาชน เพราะต้องเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย ต้องปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเอง ไม่ควรชี้นำ ซึ่งส่วนตัวต้องการเห็นนักการเมืองที่เข้ามาทำงานซื่อสัตย์ เป็นคนดี นำพาชาติบ้านเมืองปลอดภัย ดูแลประชาชนทุกหมู่เหล่า สร้างความรักความสามัคคี เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า อย่าได้ห่วง ทหารเป็นมิตรกับประชาชน เมื่อถามย้ำว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ทหารจะทำงานได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เป็นก็เป็น ผมไม่ได้เป็น กกต. จะห้ามได้อย่างไร” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เหยื่อแผ่นดินไหวในรัฐฉานครวญ รัฐบาลพม่าช่วยไม่ทั่วถึง Posted: 06 May 2011 02:34 AM PDT ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในรัฐฉานเผย ความช่วยเหลือเริ่มห่างหายขณะยังไม่สามารถฟื้นตัว การช่วยเหลือจากทางการเป็นไปแบบฝนตกไม่ทั่วฟ้า แถมลูกเมียทหารยังทำช้ำใจนำสิ่งของบริจาคขายต่อ ผู้สื่อข่าวลงสำรวจเก็บข้อมูลพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวในกิ่งอำเภอท่าเดื่อ จังหวัดท่าขี้เหล็กของรัฐฉาน รายงานว่า ผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวในรัฐฉานที่เกิดขึ้นเมื่อ 24 มี.ค. ยังคงเดือดร้อนกันอย่างหนักจากเหตุบ้านเรือนพังเสียหายซึ่งทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัย ขณะที่ในช่วงนี้มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ผู้ประสบภัยต้องอาศัยเต้นท์หรือกระต๊อบเล็กๆ ที่สร้างขึ้นชั่วคราวเป็นที่หลับนอน หากวันใดมีฝนลมแรงก็จะทำให้ผู้ประสบภัยต้องได้รับความลำบากกันมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของการช่วยเหลือด้านเครื่องอุปโภคบริโภคขณะนี้พบว่า การช่วยเหลือเริ่มห่างหายแล้ว ซึ่งอาหารและสิ่งของที่ผู้ประสบภัยมีใช้เป็นของที่เก็บตุนไว้จากการบริจาคจากผู้ใจบุญช่วงหลังเกิดเหตุ และบางส่วนได้จากเพื่อนบ้านที่บ้านเรือนไม่พังเสียหาย อย่างไรก็ตาม อาหารซึ่งส่วนใหญ่คือ ข้าวสาร มาม่า ปลากระป๋อง เริ่มร่อยหลอลงทุกที ขณะที่ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำงานเพราะต่างกำลังยุ่งอยู่กับการเก็บกวาดซากปรักหักพังของบ้านเรือนตนเอง และส่วนใหญ่ยังทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวบ้านผู้ประสบภัยรายหนึ่งในตำบลเมืองเลน เปิดเผยว่า ทางการพม่าให้การช่วยเหลือเฉพาะบ้านเรือนที่พังเสียหายทั้งหลังและเป็นบ้านที่พังเฉพาะคืนเกิดเหตุวันที่ 24 มี.ค. เท่านั้น โดยได้รับเงินช่วยเหลือหลังละ 4 แสนจั๊ต (ประมาณ 14,000 บาท) และเมื่อเร็วๆ นี้ ทางการแจ้งว่าจะให้อีกหลังละ 1.5 ล้านจั๊ต (ราว 52,500) โดยจะจ่ายให้ก่อน 5 แสนจั๊ต ส่วนที่เหลือจะช่วยเป็นเครื่องอุปกรณ์ในการก่อสร้างเช่น ปูน สังกะสี ไม้ ตามมูลค่าเงิน 1 ล้านจั๊ต (3.5 หมื่นบาท) โดยให้ไปเบิกเอาที่สำนักงานทางการที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ส่วนบ้านเรือนที่ไม่ได้พังเสียหายทั้งหลังจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือใดๆ ซึ่งได้รับเพียงการช่วยเหลือเฉพาะอาหารและเครื่องนุ่งห่มบางส่วนเท่านั้น ชาวบ้านคนเดิมเผยอีกว่า จากเหตุแผ่นดินไหวมีบ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวนมาก แม้บ้านบางส่วนจะไม่พังเสียหายทั้งหลังในทีเดียว แต่ก็มีทะยอยพังลงต่อเนื่องจากเหตุที่มีอาฟเตอร์ช็อคตามมาไม่หยุด นอกจากนี้มีบ้านเรือนอีกจำนวนมากที่เอียงเสียหายจากแรงสั่นแผ่นดินไหว ซึ่งเจ้าของจำเป็นต้องรื้อทิ้งและสร้างใหม่ แต่บ้านเหล่านี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากทางการ โดยเจ้าหน้าที่ทางการอ้างว่าไม่ได้อยู่ในบัญชีสำรวจ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่เดียวกันอีกคนเผยว่า ตลอดหลายสัปดาห์หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวมีผู้นำสิ่งของทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคไปบริจาคยังศูนย์กาชาดของพม่าเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งของกลับถูกส่งถึงผู้ประสบภัยเพียงเล็กน้อย โดยเจ้าหน้าที่พม่าได้ใช้รถบรรทุกลำเลียงสิ่งของบริจาคเข้าไปในค่ายทหารทุกวัน และมีผู้พบเห็นลูกเมียทหารหลายคนนำสิ่งของบริจาคออกมาขายต่อในตลาดท่าขี้เหล็ก โดยขายกันในราคาถูก เช่น มาม่าขายซองละ 3 บาท ปลากระป๋อง 5 บาท ซึ่งเรื่องนี้สร้างความเจ็บปวดใจให้กับผู้ประสบภัยอย่างมาก ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่เสียหายหลายหมู่บ้านในกิ่งอำเภอท่าเดื่อพบว่า ซากปรักหักพังของบ้านเรือนส่วนใหญ่ได้ถูกเก็บกู้และปรับสภาพพื้นดินใกล้แล้วเสร็จแล้ว ซึ่งมีบ้านหลายหลังกำลังมีการตั้งเสาเอกเตรียมก่อสร้างบ้านหลังใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งบ้านที่เสียหายและที่ไม่ได้รับความเสียต่างมีการกางเต้นท์หรือสร้างกระต๊อบไว้ในบริเวณบ้านเพื่อใช้เป็นที่หลับนอน เนื่องจากชาวบ้านยังไม่กล้าเข้านอนในบ้าน เพราะจนถึงขณะนี้ยังคงมีแผ่นดินไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนสิ่งของที่ผู้ประสบภัยยังคงต้องการมากในขณะนี้คือ สังกะสีสำหรับมุงหลังคาบ้าน รวมถึงอาหารแห้งและภาชนะรองน้ำสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ ซึ่งในส่วนของผู้ที่มีความประสงค์เข้าไปบริจาคสิ่งของควรสอบถามข้อมูลจากผู้เคยลงพื้นที่ี่่หรือกลุ่มคนในพื้นที่ก่อน เพราะหากไม่เช่นนั้นจะทำให้การช่วยเหลือไม่ตรงตามความประสงค์ผู้ประสบภัยและอาจไปซ้ำกับการช่วยเหลือจากผู้อื่น โดยกลุ่มที่สามารถให้การช่วยเหลือได้ดีที่สุดในขณะนี้คือกลุ่มพระสงฆ์และกลุ่มบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับสังคมในพื้นที่เท่านั้น ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นายกฯ เผยทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาเรียบร้อยแล้ว Posted: 06 May 2011 02:28 AM PDT 6 พ.ค. 54 - มติชนออนไลน์รายงานว่าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภุฒิ เมื่อเวลา 15.55 น. วันที่ 6 พ.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวก่อนเตรียมเดินทางไปประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเที่ยวบินที่ TG409 ในเวลา 16.25 น. ว่า ได้ทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกายุบสภาเรียบร้อยแล้ว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงร้องผู้นำอาเซียน ยกเลิกเขื่อนไซยะบุรี Posted: 06 May 2011 12:37 AM PDT 6 พ.ค. 54 - พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงเรียกร้องผู้นำอาเซียนซึ่งจะพบกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 18 ณ กรุงจาร์กาต้า ประเทศอินโดนีเซีย ให้ดำเนินการยกเลิกเขื่อนไซยะบุรีใน สปป.ลาวโดยทันที การเรียกร้องนี้ได้รับการสนับสนุนจากเวทีอาเซียนภาคประชาชน/ การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ASEAN Civil Society Conference (ACSC)/ ASEAN Peoples’ Forum (APF) ซึ่งจัดขึ้นในกรุงจาร์กาต้าเช่นเดียวกัน ในระหว่างวันที่ 2-5 พฤษภาคม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมถึง 1,300 คน พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงและแนวร่วมจี้รัฐบาลลาวให้หยุดการก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่เขื่อน เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยกเลิกแผนการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี การเรียกร้องนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากองค์กรภาคประชาสังคมเวทีอาเซียนภาคประชาชน/ การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน ซึ่งได้ผลักดันให้เกิดเสาหลักที่สี่ด้านสิ่งแวดล้อมในอาเซียนมาตั้แต่ปี 2552 เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล ได้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมวาระพิเศษเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ไฟเขียวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรีซึ่งจะสร้างบนลำน้ำโขงสายหลักในเขตแดนทางตอนเหนือของ สปป.ลาวหรือไม่ ในการประชุม ลาวเสนอให้เดินหน้าเขื่อนต่อไป แต่ไทย กัมพูชาและเวียดนามขอให้ยืดกระบวนการตัดสินใจออกไปอีก เพราะยังหวั่นเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน พร้อมเสนอให้ศึกษา และปรึกษาหารือเพิ่ม ทั้งนี้ ทั้งสี่รัฐบาลได้เห็นพ้องกันว่าจะเลื่อนการตัดสินใจให้เข้าสู่การประชุมในระดับรัฐมนตรีแทน อย่างไรก็ตาม พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงวิตกว่า ในความเป็นจริง โครงการกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า เนื่องจากมีรายงานข่าวสืบสวนที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์วันที่ 17 เมษายน ซึ่งได้เผยให้เห็นว่างานก่อสร้างเบื้องต้นของเขื่อนไซยะบุรีได้ดำเนินไปแล้วในพื้นที่ นอกจากนั้นกระบวนการหารือต่อไปในระดับภูมิภาคก็ยังคงคลุมเครือ สดใส สร่างโศก ตัวแทนจากเครือข่ายสิ่งแวดล้อมจากอีสานซึ่งได้เข้าร่วมการสืบพยานภาคประชาชน (Peoples’ Testimony) กรณีเขื่อนไซยะบุรีซึ่งจัดขึ้นในเวทีอาเซียนภาคประชาชน/ การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนได้กล่าวในเวทีว่า “กลไกด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียนควรจะต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าเขื่อนไซยะบุรีเป็นมหันตภัยต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในภูมิภาคแม่น้ำโขง และควรจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้” นอกจากนี้ ในเวทีเดียวกัน หวี่ ถิ แค็ง ผู้ประสานงานของเครือข่ายแม่น้ำเวียดนามกล่าวว่า “แม่น้ำโขงไม่ควรจะถูกใช้เป็นสนามทดลองในการพิสูจน์หรือเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อาเซียนควรจะมีบทบาทในการทำให้พันธมิตรด้านการพัฒนาร่วมกันส่งเสริมทางเลือกใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำและพลังงานของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่งคั่งของภูมิภาคอาเซียน” อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกเสนอขึ้นมาในเวทีอาเซียนภาคประชาชน/ การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน คือ ความจำเป็นที่จะต้องทบทวนแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนโครงข่ายพลังงานอาเซียน (ASEAN Power Grid) ผู้เข้าร่วมให้ความเห็นว่าแผนดังกล่าวควรจะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของแต่ละประเทศในอาเซียน และอาเซียนโดยภาพรวม มากกว่าที่จะคอยสนองผลประโยชน์ของภาคเอกชน ที่ผ่านมา กลุ่มต่างๆ จากภูมิภาคแม่น้ำโขงได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกเขื่อนไซยะบุรี และขอให้อาเซียนมีบทบาทในการแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขงมากขึ้น “เขื่อนไซยะบุรีจะมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการดำรงชีวิตและความมั่นคงทางอาหารของประชาชนนับล้านในภูมิภาคที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง” ชิต สัม อาท จากเอ็นจีโอ ฟอรัม กัมพูชากล่าว “ด้วยเหตุผลนี้ เราขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนเข้ามาตรวจสอบเขื่อนไซยะบุรีด้วย” “เราขอให้ผู้นำอาเซียนแสดงความมุ่งมั่นต่อการสร้างความร่วมมือในภูมิภาคด้วยการเรียกร้องให้มีการยกเลิกเขื่อนไซยะบุรี” ชิง เล เหวียน จากองค์กร People and Nature Reconciliation กล่าว ความร่วมมือระดับภูมิภาคภายในอาเซียนและคณะกรรมการแม่น้ำโขงไม่อาจเป็นจริงได้ หากประเทศสมาชิกไม่ปฏิบัติตามกระบวนการตัดสินใจที่เห็นพ้องร่วมกัน และไม่เคารพผลประโยชน์ที่จำเป็นต้องมีร่วมกัน” “คำพูดและการกระทำของรัฐบาลลาวแสดงให้เห็นว่าลาวจะผลักดันเขื่อนนี้ต่อไป แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านจะแสดงความไม่สบายใจเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดจากเขื่อน หรือมีข้อตกลงร่วมกันของภูมิภาคว่าจะให้ระดับรัฐมนตรีตัดสินใจแทน” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว จากกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าว “การที่รัฐบาลลาวเพิกเฉยต่อข้อตกลงร่วมกัน และไม่ฟังเสียงคัดค้านเขื่อนของคนอื่นจะทำให้ภูมิภาคเกิดความตึงเครียดยิ่งขึ้น และทำให้วิถีชีวิตของคนริมโขงนับล้านต้องพบกับหายนะ” แม่น้ำโขงมอบทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ให้กับประชาชนในภูมิภาค แม่น้ำโขงจึงเป็นศูนย์กลางการดำรงชีพของคนนับล้าน และเป็นดั่งเส้นหล่อเลี้ยงชีวิตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อชีวิต นิเวศวิทยา และวัฒนธรรมของภูมิภาค ดังนั้นการปกป้องแม่น้ำโขงจึงต้องเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจให้ความสำคัญสูงสุดเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นการปกป้องความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นการสร้างความผาสุกและมั่งคั่งให้กับภูมิภาค สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สวนดุสิตโพลล์เผยคนหนุนพรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ ตั้งรัฐบาล Posted: 06 May 2011 12:02 AM PDT 6 พ.ค. 54 - สวนดุสิตโพลล์เผยความคิดเห็นจากประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กรณีการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 1,343 คน ระหว่างวันที่ 1-5 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 42.75% คิดว่าควรให้โอกาสพรรคที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ส่วนอีก 37.02% คิดว่าควรให้โอกาสพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต รวมกับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์) แต่อีก 20.23% คิดว่าควรให้โอกาสพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขต แต่ไม่รวมกับจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ประชาชน 56.02% คิดว่าพรรคที่ไม่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หากสามารถรวบรวมเสียงได้จำนวนมาก, ผลประโยชน์ลงตัว, รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้ ฯลฯ แต่อีก 43.98% คิดว่าพรรคที่ไม่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะยังไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งตามมารยาททางการเมืองพรรคที่มีคะแนนเสียงข้างมากย่อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ฯลฯ ขณะที่ประชาชน 53.69% เห็นว่าหัวหน้าพรรคซึ่งไม่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีฝีมือ และได้รับการยอมรับจาก ส.ส.หรือพรรคร่วมรัฐบาล ฯลฯ แต่อีก 46.31% เห็นตรงกันข้าม เพราะไม่ได้รับคะแนนเสียงจากความต้องการที่แท้จริงของประชาชน อาจเกิดปัญหาตามมาภายหลัง ฯลฯ สำหรับคุณสมบัติของรัฐบาลใหม่ที่ประชาชนต้องการนั้น 52.08% อยากให้มีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันในการบริหารและพัฒนาประเทศ, 29.84% อยากให้มีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ยุติธรรม มีคุณธรรม จริยธรรมทางการเมือง และ 18.08% อยากให้ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถหลายด้าน เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการนั้น ประชาชน 45.10% อยากได้คนที่ซื่อสัตย์ สุจริต บริหารงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน, 34.57% อยากได้คนเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล กล้าคิดกล้าตัดสินใจ พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับต่างประเทศ และ 20.33% อยากได้คนที่ทำตามนโยบายที่ประกาศหรือสัญญาไว้กับประชาชนในช่วงที่หาเสียง รักษาคำพูด ส่วนความวิตกกังวลของประชาชนที่มีต่อการจัดตั้งรัฐบาลหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งนั้น 46.04% ห่วงปัญหาการไม่ยอมรับกับผลที่ออกมา การชุมนุม การประท้วง ก่อเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง, 30.12% ห่วงการบริหารงานของรัฐบาลที่จะต้องรับมือ แก้ปัญหากับวิกฤติหลายด้านของประเทศ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ และ 23.84% ห่วงการปฏิบัติตัวและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักการเมือง การทะเลาะเบาะแว้ง แย่งชิงผลประโยชน์ และความเห็นต่อกรณีที่พรรคการเมืองแย่งกันจัดตั้งรัฐบาลนั้น 33.41% ระบุว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกพรรคการเมืองอยากเป็นรัฐบาล, 27.69% ระบุว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ การแสวงหาอำนาจ และการชิงไหวชิงพริบทางการเมือง, 23.17% ระบุว่ารู้สึกเบื่อ นักการเมืองแตกแยก ไม่สามัคคีกัน ประชาชนไม่กล้าฝากความหวังไว้กับนักการเมือง และ 15.73% ระบุว่าบรรยากาศการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อาจดุเดือด เกิดการสลับขั้วทางการเมือง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
บทวิเคราะห์มติคณะรัฐมนตรีเรื่องกู้ซื้อบ้านดอกเบี้ย 0% และผลกระทบ Posted: 05 May 2011 11:55 PM PDT ตามมติของคณะรัฐมนตรีเรื่องกู้ซื้อบ้านดอกเบี้ย 0% นั้น ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้จัดทำบทวิเคราะห์ถึงมาตรการนี้และผลกระทบ เพื่อประโยชน์แก่รัฐบาลและสังคมในการคิดค้นและออกมาตรการที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต มติคณะรัฐมนตรีและมาตรการจริง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาวาระที่ 30 เรื่อง โครงการบ้าน ธอส. เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก <1> โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการบ้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้: 1. ให้ขยายวงเงินปล่อยกู้ของโครงการเป็น 25,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ไม่เคยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองให้สามารถซื้อบ้านเป็นของตนเองได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ให้กระทรวงการคลังและธนาคารอาคารสงเคราะห์รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 2. เห็นชอบในหลักการการขอชดเชยภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว และให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ขอตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ แล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ต่อมาธนาคารอาคารสงเคราะห์ แถลงมาตรการในรายละเอียด <2> คือ “สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0 เปอร์เซ็นต์ 2 ปีแรก วงเงินให้กู้ไม่เกินรายละ 3 ล้านบาท ช่วยเหลือให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยผู้กู้สามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ที่ ธอส.สำนักงานใหญ่ และสาขา ธอส. ทั่วประเทศ และทำนิติกรรมภายในวันที่ 30 เมษายน 2555 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด 25,000 ล้านบาท” และ “ให้กู้สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแห่งแรกเป็นของตนเอง จะต้องไม่เคยมีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน และไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ให้กู้เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือ ห้องชุด ให้กู้เพื่อปลูกสร้างอาคาร หรือเพื่อซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร โดยราคาที่อยู่อาศัยและวงเงินให้กู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาการให้สินเชื่อเป็นไปตามระเบียบของธนาคาร ในอัตราดอกเบี้ยช่วง 2 ปี แรก 0 เปอร์เซ็นต์ ปีที่ 3 - 5 คิดอัตราดอกเบี้ย เท่ากับ MRR - 0.50 ต่อปี (ลูกค้าสวัสดิการ) ส่วนลูกค้ารายย่อยทั่วไป คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR ปีที่ 6 เป็นต้นไป . . . รัฐบาลช่วยแบ่งเบาภาระค่าจดจำนอง และค่าธรรมเนียมการโอนครึ่งหนึ่งหรือจ่ายตามจริงสูงสุดร้อยละ 1 จากค่าโอนปกติ ร้อยละ 2 ของราคาประเมิน” การไม่บรรลุวัตถุประสงค์ สำหรับโครงการนี้ รัฐบาลมีวัตถุประสงค์คือ “เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ไม่เคยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองให้สามารถซื้อบ้านเป็นของตนเองได้อย่างทั่วถึง” แต่วัตถุประสงค์นี้อาจไม่บรรลุเพราะ 1. การให้กู้ได้สูงสุดถึง 3 ล้านบาทนั้น ครัวเรือนผู้ที่สามารถผ่อนชำระได้อาจต้องมีรายได้ประมาณ60,391 บาท <3> ซึ่งย่อมไม่ใช่ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยแต่อย่างใด สำหรับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยที่การเคหะแห่งชาติเคยกำหนดสำหรับการซื้อบ้านเอื้ออาทรคือ 15,000 บาท หรือเท่ากับซื้อบ้านได้ ณ ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น ตามหลักการอำนวยสินเชื่อ ครัวเรือนที่ยิ่งมีรายได้สูง ยิ่งมีความมั่นคงในการอำนวยสินเชื่อให้มากกว่า “ผู้มีรายได้น้อย” ตามที่รัฐบาลคาดหวัง 2. การกำหนดเพดานเงินกู้หรือราคาบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาทโดยไม่ได้กำหนดเพดานรายได้ของผู้ขอกู้ ย่อมทำให้ผู้มีรายได้สูง บุตรธิดาคหบดี หรือเครือญาติสามารถซื้อบ้านได้เช่นกัน และบุคคลเหล่านี้ย่อมไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อยแต่อย่างใด ดังนั้นวัตถุประสงค์ข้างต้นตามมติคณะรัฐมนตรีจึงไม่อาจบรรลุ 3. ตามเงื่อนไขการอำนวยสินเชื่อข้างต้น แม้แต่บ้านพักหรืออาคารชุดตากอากาศริมทะเลราคาในพัทยาและหัวหินที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ก็เข้าข่ายด้วยหากผู้ขอกู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้างต้น อสังหาริมทรัพย์กลุ่มนี้มีอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมากเช่นกัน เฉพาะที่ยังเหลือขายในมือผู้ประกอบการ มีอยู่ประมาณ 1,400 หน่วยตามการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หากจะให้บรรลุวัตถุประสงค์ รัฐบาลควรลดระดับราคาบ้านลงให้ต่ำกว่านี้ และให้ครัวเรือนหนึ่ง ๆ ที่ยังไม่มีบ้านเป็นของตนเอง สามารถซื้อบ้านได้ 1 หลัง ไม่เช่นนั้นก็อาจช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้น้อยมาก และทำให้ผิดวัตถุประสงค์ อาจกลายเป็นส่งเสริมการเก็งกำไร หรืออาจเกิดกรณีที่ไม่คาดคิดอื่น ประโยชน์ต่อผู้ที่ได้ อย่างไรก็ตามโครงการนี้ย่อมได้ประโยชน์ต่อผู้ที่เข้าข่ายตามที่รัฐบาลกำหนด หากบุคคลหนึ่งซื้อบ้านราคา 2 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ย 6.5% เป็นเวลา 20 ปี ในช่วง 2 ปีแรก จะผ่อนเป็นเงินประมาณ 363,026 บาท โดยเป็นดอกเบี้ยถึง 256,652 บาท แต่เป็นเงินต้นเพียง 106,374 บาท ดังนั้นหากรัฐบาลช่วยเหลือค่าโอนอีก 1% ของราคาบ้านหรือ 20,000 บาท ก็เท่ากับบุคคลนั้นได้ส่วนลดไปเป็นเงินประมาณ 276,652 บาท หรือ 13.82% ของราคาบ้านที่จะซื้อ ผู้ได้รับประโยชน์ย่อมดีใจเป็นธรรมดา หากบุคคลหรือนิติบุคคลใดมีบ้านจำนวนหลายหลัง ยังอาจให้ญาติมิตรมาซื้อเพราะจะได้ผลประโยชน์โดยตรง อย่างไรก็ตามแม้ในยามวิกฤติ เราก็ควรส่งเสริมจิตสาธารณะ เช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เกิดสึนามิในเมืองฟุกุชิมา มีตำรวจนายหนึ่งหยิบยืนอาหารให้กับเด็กอายุ 9 ขวบที่เข้าแถวยืนหนาวรอการปันอาหารอยู่ เด็กคนดังกล่าวก็ยังเอาอาหารที่ได้รับนั้นไปวางในในกองกลางเพื่อให้ทุกคนที่รอแถวได้รับการปันอาหารในสัดส่วนเท่า ๆ <4> นี่คือวินัยการเสียสละและการช่วยเหลือกันที่ควรมี แต่หากรัฐบาลให้สิทธิพิเศษซื้อบ้านดอกเบี้ย 0% กับบุคคลเฉพาะกลุ่มเช่นนี้โดยไม่จำเป็น อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี อาจกล่าวได้ว่าผู้ได้รับประโยชน์ตามโครงการนี้มีเพียงส่วนน้อย หากบ้านหลังหนึ่งที่ขอกู้เป็นเงินเฉลี่ย 2 ล้านบาท เงิน 25,000 ล้านบาท ก็ช่วยได้เพียงการซื้อบ้าน 12,500 หลัง ในขณะที่ปีที่แล้วมีการผลิตบ้านใหม่ 116,791 หน่วย บ้านในกรุงเทพมหานครมี 4.4 ล้านหลัง จำนวนที่ช่วยก็เท่ากับ 1 ใน 352 บ้าน ส่วนทั่วประเทศมี 20.3 ล้านครัวเรือน รัฐบาลให้สิทธิพิเศษนี้เพียง 1 ใน 16,240 ครัวเรือนเท่านั้น ตามข่าวกล่าวว่า “. . . การคาดการณ์กันว่า วงเงินที่เปิดให้กู้นั้น น่าจะหมดภายใน 2 สัปดาห์ แต่จะอนุมัติแล้วเสร็จเมื่อใด ก็ขึ้นอยู่กับหลักฐานการกู้ ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่า ขณะนี้ มีผู้ยื่นขอกู้แล้วคิดเป็นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท (ต่อมารองกรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่ามีแค่ 3,000 – 4,000 ล้านบาท). . .” <5> การนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ยังไม่มีบ้านจริงและวางแผนจะซื้อบ้านในวันนี้ ก็คงไม่ทันได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้เสียแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงอาจเป็นผู้ที่กำลังจะโอนบ้านกับโครงการจัดสรรเป็นสำคัญ ดังนั้นนโยบายของรัฐที่ไม่ได้อำนวยประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ และไม่บรรลุวัตถุประสงค์จริงของการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย จึงควรได้รับการทบทวน การช่วยเหลือประชาชนเฉพาะกลุ่มสมควรดำเนินการเฉพาะในยามเกิดวิกฤติ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 หรือปี 2551 แต่ในปัจจุบัน ไม่ได้มีวิกฤติใด ๆ เกิดขึ้น การดำเนินการเช่นนี้จึงมีความไม่เหมาะสม ผลเสียของนโยบายนี้ นโยบายนี้อาจก่อผลดีกับบุคคลที่ได้รับสิทธิบางกลุ่ม แต่ก่อผลเสียในระยะยาว กล่าวคือ 1. เป็นการบิดเบือนตลาด รัฐบาลมอบหมายให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ดำเนินการ ทั้งที่มีธนาคารของรัฐอีกหลายแห่งที่อำนวยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไท และยังมีธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่ง ดังนั้นการให้สถาบันการเงินเดียวดำเนินการ ก็อาจกระทบต่อสถาบันการเงินอื่นได้ แต่ยังดีที่งบประมาณที่ใช้ในครั้งนี้เป็นเงินจำนวนไม่มากนัก 2. ในการซื้อบ้าน หากผู้จะซื้อยังไม่พร้อม ก็ไม่ควรจะสนับสนุน เพราะอาจขาดกำลังในการผ่อนส่ง ทำให้เกิดปัญหาให้กับสถาบันการเงินในภายหลัง อาจก่อให้เกิดหนี้เสียได้ ยิ่งหากมีการอำนวยสินเชื่อถึง 95-100% ในช่วง 2 ปีแรก ก็เท่ากับเงินผ่อนถูกกว่าการเช่าเป็นอย่างยิ่ง 3. ในกรณีการยกเว้นค่าธรรมเนียมโอน 1% นั้น ปกติผู้ขอกู้ก็สามารถจ่ายค่านายหน้า 3%และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อยู่แล้ว ที่สำคัญรัฐบาลก็เพิ่งยกเลิกการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมโอนไปเมื่อเดือนมีนาคม 2553 กลับไปใช้การเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมโอน 3% เช่นเดิม และไม่เคยมีเสียงคัดค้านว่าจะทำให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด การผ่อนผันค่าธรรมเนียมโอนในอดีตก็เป็นเพราะปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบันไม่มีปัญหาดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องยกเลิก เว้นแต่มีการประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายไว้ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ <5> อย่างไรก็ตามอาจมีบางกรณีที่ผู้ซื้อบ้านบางรายอาจขาดเงินเพื่อการโอน แต่กรณียกเว้นที่น่าเห็นใจส่วนน้อยเหล่านี้ ไม่อาจยกมาเป็นข้อพิจารณาโดยรวมได้ ข้อห่วงใย ในปัจจุบันนี้ก็ไม่มีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนแต่อย่างใด ยกเว้นชุมชนแออัด ซึ่งนับวันจะมีจำนวนลดลง ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีอะไรวิกฤติที่ต้องช่วยเหลือเป็นพิเศษ ผู้ประกอบการก็สามารถดำเนินโครงการได้ด้วยดี จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ประสบปัญหาจนล้มเลิกไปมีจำนวนน้อยมาก การที่เงื่อนไขโครงการแตกต่างไปจากที่เคยแถลงไว้ เช่นข่าว “. . . ปล่อยกู้ซื้อบ้านหลังแรก ดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 2 ปี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท แถมใจดีตั้งงบ 600 ล้าน รับภาระค่าโอนและจดจำนองแทนประชาชน” <6> และการที่รัฐบาลออกมาตรการนี้อย่างเร่งด่วนในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างยาวนานที่มีวาระการพิจารณาและเกี่ยวข้องกับงบประมาณจำนวนมาก จนอาจบันทึกไว้ได้ใน Guinness World Record นั้น อาจทำให้เกิดความผิดพลาดและช่องโหว่ได้ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงให้ความสำคัญในการดูแลการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวนี้ สิ่งที่ควรดำเนินการ หากรัฐบาลให้งบประมาณ 25,000 ล้านบาทเพื่อการนี้นอกเหนือจากที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์จะดำเนินการอำนวยสินเชื่อตามปกตินั้น เงินจำนวนนี้ สามารถนำมาสร้างสรรค์ประโยชน์ทางอื่นแก่ประชาชน เช่น นำมาช่วยเหลือเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและซื้อบ้านในราคาถูก เช่นไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยยังอาจกำหนดให้ซื้อเฉพาะบ้านมือสอง เพื่อเป็นการกระตุ้นการซื้อในหมู่ประชาชน และกำหนดรายได้ต่อครัวเรือนของผู้ขอกู้ เช่น ไม่เกินเดือนละ 20,000 - 25,000 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำเงินไปสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในกรุงเทพมหานครยังมีสะพานอยู่จำกัด <7> ทำให้ฝั่งธนบุรีมีความเจริญน้อยกว่ามาก หากสามารถสร้างสะพานเพิ่มเติม ก็จะเป็นการกระจายความเจริญ อุปทานที่อยู่อาศัยก็จะมีมากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสแก่ทุกฝ่ายโดยเสมอหน้ากัน ราคาอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาวก็จะเพิ่มขึ้น ค่าก่อสร้างสะพานก็เป็นเงินไม่มากนัก เช่น “สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกายเป็นสะพานขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร มูลค่า 4,400 ล้านบาท ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าน้ำราชวงศ์-ท่าดินแดง เป็นสะพานขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 450 เมตร มูลค่า 1 พันล้านบาท สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ถ.จันทน์-ถ.เจริญนคร เป็นสะพานขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 450 เมตร มูลค่า 3,260 ล้านบาท และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ถ.ลาดหญ้า-ถ.มหาพฤฒาราม เป็นสะพานขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 210 เมตร มูลค่า 2,400 ล้านบาท” <8> ดังนั้นหากสะพานหนึ่งมีมูลค่าเฉลี่ย 2,500 ล้านบาท ก็เท่ากับว่าเงินจำนวน 25,000 ล้านบาทที่รัฐบาลจะอุดหนุนนี้สามารถใช้สร้างได้ถึง 10 สะพานด้วยกัน <1> ดูรายละเอียดได้ที่ http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=2027&contents=57204 <2> สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. ธอส. พร้อมปล่อยสินเชื่อบ้านหลังแรก ธอส. ดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ 2 ปี ตามนโยบายของรัฐบาล ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255405040283&tb=N255405&news_headline=%B8%CD%CA.%20%BE%C3%E9%CD%C1%BB%C5%E8%CD%C2%CA%D4%B9%E0%AA%D7%E8%CD%BA%E9%D2%B9%CB%C5%D1%A7%E1%C3%A1%20%B8%CD%CA.%20%B4%CD%A1%E0%BA%D5%E9%C2%200%20%E0%BB%CD%C3%EC%E0%AB%E7%B9%B5%EC%202%20%BB%D5%20%B5%D2%C1%B9%E2%C2%BA%D2%C2%A2%CD%A7%C3%D1%B0%BA%D2%C5%20%E3%B9%C7%D1%B9%B7%D5%E8%209%20%BE%C4%C9%C0%D2%A4%C1%B9%D5%E9 <3> ทั้งนี้เป็นในกรณีกู้เงิน 2.7 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ยปกติ 6.5% ในการผ่อนชำระ 20 ปี และประมาณการให้เงินผ่อนชำระเท่ากับหนึ่งในสามของรายได้ <4> โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. เด็ก ๙ ขวบ..สอนให้ผู้ใหญ่รู้ว่า..การเสียสละคืออะไร. มติชน 27 เมษายน 2554 http://www.oknation.net/blog/print.php?id=707924 <5> บ้านเมืองออนไลน์ 4 พฤษภาคม 2554. ไฟเขียวปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0%ครม.สั่ง ธอส.ปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านหลังแรกฟรี 2 ปี http://www.banmuang.co.th/economic.asp?id=235493 <6> ไทยรัฐออนไลน์ 26 เมษายน 2554. ดันประชานิยมลอตสุดท้ายกู้ซื้อบ้านดอก0% 2ปีแถมฟรีค่าโอน-จดจำนอง http://www.thairath.co.th/content/eco/166860 <7> AREA แถลง ฉบับที่ 23/2554: 22 มีนาคม 2554. เร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา <8> ไทยรัฐออนไลน์ 21 เมษายน 2554. เดินหน้า4สะพานข้ามแม่น้ำ กทม.เตรียมหาบริษัทที่ปรึกษา www.thairath.co.th/content/region/44164 ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลแห่งแรก และมีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พม่าอนุญาตให้ตีพิมพ์ข่าว "บิน ลาเดน" เสียชีวิต Posted: 05 May 2011 11:43 PM PDT คณะกรรมการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลพม่าอนุญาตให้สื่อในประเทศสามารถตีพิมพ์การเสียชีวิตของนายโอซามา บิน ลาเดน 6 พ.ค. 54 - มีรายงานว่าคณะกรรมการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลพม่าอนุญาตให้สื่อในประเทศสามารถตีพิมพ์การเสียชีวิตของนายโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำเครือข่ายก่อการร้ายอัล ไกดา ขณะที่ประชาชนในพม่าเองต่างให้ความสนใจกับข่าวนี้ ส่งผลให้หนังสือพิมพ์ต่างขายดีขึ้น บรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนหนึ่งเปิดเผยว่า คณะกรรมการเซ็นเซอร์พม่าได้อนุญาตให้ลงภาพ และการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ลงในข่าวได้ รวมถึงคำพูดของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐ “เราสามารถตีพิมพ์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับข่าวของบิน ลาเดน ไม่มีการเซ็นเซอร์จากทางการ เรานำเสนอข่าวของบิน ลาเดน และรายละเอียดได้นาทีต่อนาที” เขากล่าว ทั้งนี้มีหนังสือพิมพ์พม่าหลายฉบับได้ตีพิมพ์การเสียชีวิตของนายบิน ลาเดน และนำคำพูดและแถลงการณ์ของนายบารัค โอบามา มาใช้พาดหัวข่าว ขณะที่อดีตนักข่าวอย่างนายวินทินกล่าวว่า ที่ผ่านมา การอนุญาตให้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการก่อร้ายไม่ค่อยมีให้เห็นนักในพม่า เนื่องจากรัฐบาลกลัวว่าจะเป็นการยุยงการก่อร้ายในประเทศ “การอนุญาตให้นำเสนอข่าวการเสียชีวิตของบิน ลาเดน เป็นเพราะรัฐบาลเห็นว่า ข่าวนี้สื่อไปในทางสูญเสียของผู้นำกลุ่มก่อการร้ายมากกว่า ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่กังวลอะไรเกี่ยวกับข่าวนี้”นายวินทินกล่าว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ทางการพม่าไม่อนุญาตให้นำเสนอข่าวการประท้วงต่อต้านผู้นำเผด็จการในหลายประเทศอาหรับ ด้านกลุ่ม Freedom House Index ออกมาชี้ว่า พม่าติดกลุ่มประเทศที่นักข่าวขาดเสรีภาพมากที่สุดในโลก (Mizzima 5 พ.ค.54) แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ดีเอสไอส่งฟ้อง “วิสา-ไพจิตร” ก่อความวุ่นวาย-ฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน Posted: 05 May 2011 11:25 PM PDT ดีเอสไอส่งฟ้อง “วิสา-ไพจิตร” ต่ออัยการคดี “ก่อความวุ่นวาย-ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ศาลนัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 27 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. 6 พ.ค.54 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้นำสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นายวิสา คัญทัพ และนางไพจิตร อักษรณรงค์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ผู้ต้องหาในข้อหาพูดจายุยง ปลุกปั่น ปลุกระดม ชักจูงหรือใช้ผู้ร่วมชุมนุมฝ่าฝืนหรือกระทำผิดกฎหมายจนเกิดความวุ่นวายปั่นป่วน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาส่งมอบให้พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเพิ่มเติม เพื่อให้พิจารณาสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองในข้อหาดังกล่าว จากกรณีที่ นายวิสา และนางไพจิตร ได้ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่ม นปช.เมื่อช่วงปี 2553 ที่ผ่านมา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 05 May 2011 10:15 PM PDT
1. 2.
3. 4. ................................... หาขวานคมๆ แข็งแกร่งดีๆ สักเล่ม
[1] เนื่องในโอกาสครบรอบปีการสังหารหมู่ โดย ราชประสงค์ ขออุทิศแด่วีรชนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์ครั้งนี้ สิ่งที่สูญเสียไปจะทับถมเป็นแร่ธาตุให้ผืนดินที่ประชาธิปไตยเติบโตงดงามภายหน้า สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
อนุสรณ์ อุณโณ:ชายแดนใต้ไม่ไกลจากเมืองหลวง Posted: 05 May 2011 08:34 PM PDT ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อยมักเสนอทีเล่นทีจริงให้ทหารที่นิยมก่อรัฐประหารและสังหารประชาชนมือเปล่าไปประจำการในชายแดนภาคใต้ ซึ่งหากมองในแง่ดี ข้อเสนอดังกล่าวเป็นความต้องการให้ทหารได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น คือรักษาความสงบเรียบร้อยหรือปกป้องอธิปไตยของประเทศจากผู้รุกราน ไม่ใช่มาแทรกแซงการเมือง แต่หากมองในแง่ร้าย ข้อเสนอดังกล่าวคือความต้องการลงโทษทหารเหล่านี้ เพราะท่ามกลางข่าวการเสียชีวิตของทหารในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง การส่งทหารเหล่านี้ (ซึ่งมีนัยของการไม่ได้เป็นทหารมืออาชีพ) ไปประจำการในชายแดนใต้อีกนัยหนึ่งก็คือการส่งทหารเหล่านี้ไปเผชิญกับความตาย ไม่ว่าจะเป็นในแง่บวกหรือแง่ลบหรือมีความจริงจังเพียงใด ข้อเสนอดังกล่าวสะท้อนสภาวะครอบงำของความรู้และความเข้าใจปัญหาชายแดนใต้ กระแสหลักซึ่งมีข้อที่ต้องทบทวน ทั้งนี้ก็เพราะว่าความรู้และความเข้าใจเช่นนี้มองปัญหาชายแดนใต้ในกรอบของ ความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก เหตุการณ์ความไม่สงบถูกเหมารวมว่าเกิดจากน้ำมือของผู้เป็นภัยต่อรัฐและจำ เป็นจะต้องขจัดด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีกองทัพเป็นหัวหอก ทว่านอกจากเงื่อนงำที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์จำนวนหนึ่ง เหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้เป็นเพียงอาการปรากฏอย่างหนึ่งของความตึงเครียดที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ด้วยกรอบของความมั่นคงแห่งรัฐในลักษณะที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบัน ตรงกันข้าม ความมั่นคงแห่งรัฐในความหมายดังที่เป็นอยู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเพราะว่าเป็นความมั่นคงที่เน้นศูนย์กลางและเปิดโอกาสให้มีความแตกต่างหลากหลายในท้องที่ต่างๆ ตราบเท่าที่ไปกันได้หรืออยู่ภายใต้การควบคุมของศูนย์กลางเท่านั้น ความต้องการใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในพื้นที่ก็ดี ความต้องการให้มีระบบศาลที่ยึดโยงกับศาสนาอิสลามก็ดี รวมทั้งความต้องการมีอิสระในการกำหนดรูปแบบหรือแนวทางในการดำเนินชีวิตของตน เองก็ดี เหล่านี้เป็นความต้องการของชาวมลายูมุสลิมในชายแดนใต้ที่ราชอาณาจักรไทยถือ เป็นภัยคุกคามต่อความเป็นเอกรัฐของตนและจำเป็นจะต้องยับยั้งทุกวิถีทาง ทั้งนี้ เพราะเหตุที่เน้นความมั่นคงของศูนย์กลางภายใต้จินตนาการทางการเมืองแบบเอกรัฐ ความรู้และความเข้าใจชุดดังกล่าวจึงผลักให้ปัญหาชายแดนใต้เป็นเรื่องห่างไกล จากชีวิตของคนในเมืองหรือแม้กระทั่งคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือเป็นเพียงปัญหาเฉพาะของคนส่วนน้อย (เช่น ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ) ที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในเขตใจกลางประเทศไม่มีอะไรเกี่ยวข้องด้วย ทว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะปัญหาที่ชาวมลายูมุสลิมในชายแดนใต้ประสบเป็นผลพวงของการจัดความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอกันในสังคมไทยที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ต่างประสบเหมือนกันเพียงแต่ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เช่น คนส่วนใหญ่ในประเทศถือครองที่ดินในจำนวนที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับคนส่วนน้อยของประเทศที่ถือครองที่ดินส่วนใหญ่ สำคัญแต่เพียงว่าคนส่วนน้อยเหล่านี้เป็นชนชั้นนำทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่างไปจนถึงชนชั้นกลางระดับล่าง นอกจากนี้ ผลการสำรวจช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยในประเทศไทยล่าสุดโดยธนาคารโลก พบว่าห่างกันถึง 15 เท่า จะเป็นรองก็แต่เฉพาะประเทศโคลอมเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีลักษณะไร้ขื่อแปสูง มากเท่านั้น ทั้งนี้ แม้ที่ผ่านมาชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ไม่สู้จะเคลื่อนไหวในประเด็น ปัญหาปากท้องหรือทรัพยากรเหมือนเช่นคนระดับล่างๆ ส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ประสบปัญหาเหล่านี้ ตรงกันข้าม พวกเขาประสบปัญหาในเรื่องเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่สาเหตุที่พวกเขาไม่ปิดถนนหรือเดินขบวนประท้วงเมื่อราคายางพารา ผลไม้ หรือกุ้งตกต่ำก็เพราะว่าพวกเขาไม่ต้องการตกเป็นเป้าเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่ รัฐมากไปกว่านี้ เพราะลำพังเฉพาะการเคลื่อนไหวในปัญหาเชิงอัตลักษณ์หรือวัฒนธรรม เช่น ศาสนา และชาติพันธุ์ ก็สร้างความยากลำบากในการดำเนินชีวิตให้กับพวกเขามากพออยู่แล้วจนส่วนใหญ่ เลือกที่จะปิดปากเงียบเสียมากกว่า อย่างไรก็ดี แม้ชาวมลายูมุสลิมในชายแดนใต้ไม่สู้จะเคลื่อนไหวเรียกร้องในที่สาธารณะ (ส่วนหนึ่งก็ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น) แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่สนใจติดตามข่าวสารบ้านเมืองหรือเป็นผู้ที่มี ความเฉื่อยชาทางการเมืองแต่อย่างใด ตรงกันข้าม พวกเขาให้ความสำคัญกับความเป็นไปในประเทศนี้ค่อนข้างมาก การคุยหรือแม้กระทั่งการถกเถียงกันเรื่องการเมืองระดับชาติในร้านน้ำชาใน หมู่บ้านเป็นเรื่องปกติ ขณะที่ร้านน้ำชาบางร้านในหมู่บ้านเปิดโทรทัศน์รายการข่าวเพื่อเอาใจ “คอการเมือง” เป็นการเฉพาะ และมีอยู่บ่อยครั้งที่ “คนนอก” อย่างผมต้องทำตัวเป็นนักวิเคราะห์ข่าวสมัครเล่นเมื่ออยู่ในร้านน้ำชาเหล่า นี้เพราะไม่สามารถ “ขัดศรัทธา” บรรดา “คอการเมือง” ที่ว่านี้ได้ นอกจากนี้ ขณะที่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเขตใจกลางประเทศจำนวนมากยังไม่เห็นหรือยัง ไม่ได้เชื่อมโยงสิ่งที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเข้ากับปัญหาชายแดนใต้ ชาวมลายูมุสลิมในชายแดนใต้จำนวนไม่น้อยเห็นว่าปัญหาทั้งสองเป็นเรื่องเดียว กัน คือ ปัญหาความเป็นธรรม พวกเขาเห็นว่าปัญหา “สองมาตรฐาน” โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายและในกระบวนการยุติธรรมเป็น ปัญหาเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมซึ่งพวกเขาเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันและเป็น เวลานานมาแล้ว ต่างกันแต่เพียงว่าความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาได้รับไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะใน แง่ของการเมืองเลือกตั้งและกระบวนการยุติธรรม (โดยเฉพาะข้อหลังซึ่งมีความรุนแรงอย่างมาก) หากแต่เป็นความไม่เป็นธรรมทางสังคมและวัฒนธรรมที่แฝงฝังอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งกินความตั้งแต่ชื่อที่ตั้ง ภาษาที่ใช้ โรงเรียนที่เข้า หนังสือที่อ่าน ไปจนถึงรายการโทรทัศน์ที่ดู ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้หากพวกเขาจะยินดีด้วยเมื่อเห็นข่าวการยืดคืนสถานี ทวนสัญญาณโทรทัศน์ไทยคมจากทหารประสบความสำเร็จ รวมทั้งแสดงความเห็นใจเมื่อเห็นข่าวการล้อมปราบผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ ราชประสงค์เมื่อปีกลาย เพราะเหตุนี้ ความท้าทายจึงตกอยู่ที่ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยโดยเฉพาะที่อยู่ในเขตใจกลางของประเทศว่าจะสลัดพันธนาการชิ้นสำคัญที่รัดรึงอยู่นี้อย่างไร เพราะสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ชนชั้นนำไทยประสบความสำเร็จในการปกครองก็คือ การอาศัยกลวิธีทางวัฒนธรรมแสดงให้เห็นว่าพวกเขาปกป้องและมีผลประโยชน์ร่วม กันกับประชาชนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นในเชิงศาสนาหรือชาติพันธุ์ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ส่งผลให้ผู้ที่มีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมแตกต่างออกไป เช่นชาวมลายูมุสลิมในชายแดนใต้กลายเป็น “คนอื่น” ที่ยากจะเข้าใจ น่าสงสัย และฉะนั้นจึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของศูนย์กลางอย่างเข้มงวด ทว่ากลวิธีทางวัฒนธรรมเช่นนี้อำพรางการจัดความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอกันที่ทั้ง คนส่วนใหญ่ของประเทศและคนส่วนน้อยเช่นชาวมลายูมุสลิมต่างอยู่ในตำแหน่งที่ ถูกเอารัดเอาเปรียบพอกัน ฉะนั้น แทนที่จะส่งทหารประเภทกเฬวรากลงไปชายแดนใต้
ที่มา:คอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ประจำวันที่ 29 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2554 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น