โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ทางออกจากปัญหาความขัดแย้ง ตามทัศนะของพุทธศาสนา

Posted: 28 May 2011 07:44 AM PDT

 
แม้ผมจะวิจารณ์การอ้างพุทธศาสนา หรือการนำ ธรรมะ มาใช้อธิบาย และ/หรือเสนอทางออกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในหลายบทความว่า ก่อให้เกิดปัญหามากกว่าช่วยแก้ปัญหา แต่ไม่ได้หมายความว่า ผมคิดว่าควรปิดกั้นการเสนอทัศนะทางพุทธศาสนาในการแก้ปัญหาการเมือง หรือคัดค้านการอ้างอิงทัศนะทางพุทธศาสนาอธิบายการเมือง เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า การเสนอนั้นๆ มีปัญหาอย่างไรบ้าง
 
บทความนี้ผมต้องการเสนอทัศนะทางพุทธศาสนาเป็นทางออกจากความขัดแย้งทางการเมือง ตามความเข้าใจ (ตีความ) ของผมดังนี้
 
1. การทำความเข้าใจปัญหาผ่าน กฎอิทัปปัจจยตา หรือ กฎความเป็นเหตุปัจจัยของสรรพสิ่ง ที่ผ่านมามีข้อผิดพลาดที่สำคัญคือ เมื่อพระสงฆ์บางรูปอธิบายว่า ตราบใดที่นักการเมืองคอร์รัปชันย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดรัฐประหาร ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่า คอร์รัปชันเป็น สาเหตุจำเป็น ของการเกิดรัฐประหาร เหมือนประโยคว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ซึ่งความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐประหารกับคอร์รัปชันไม่ได้มีความสัมพันธ์อย่างจำเป็นเหมือนอวิชชากับสังขาร
 
ตามกฎอิทัปปัจจยตา (เรียกอีกอย่างว่า ปฏิจจสมุปบาท) เมื่ออวิชชาเกิดสังขารต้องเกิดตามมาอย่างจำเป็น (necessary) แต่ในทางการเมืองเมื่อเกิดคอร์รัปชันไม่จำเป็นว่ารัฐประหารต้องเกิดตามมาเสมอไป ในอารยประเทศเมื่อมีปัญหาคอร์รัปชันเขาก็แก้ด้วยวิธีอื่นๆ ได้ เช่น การตรวจสอบในสภา การตรวจสอบของนักวิชาการ สื่อ ใช้กระบวนการถอดถอน และ/หรือกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
 
ฉะนั้น หากจะใช้กฎอิทัปปัจจยตาอธิบายเหตุปัจจัยของรัฐประหาร ต้องจัดความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยให้ถูก เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดรัฐประหารอย่างจำเป็นคือระบบสังคม-การเมือง หรือระบบกฎหมายของรัฐที่เปิดช่องให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงการเมืองได้
 
2. พุทธศาสนาถือว่าทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ ทุกข์หรือปัญหาในชีวิตและปัญหาทางการเมืองเป็นต้น ก็ย่อมมีสาเหตุเช่นกัน จะแก้ปัญหาก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ฉะนั้น หากจะออกจากปัญหาความขัดแย้งก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุให้ได้
 
แก้ที่ต้นเหตุ คือแก้เรื่องอำนาจนอกระบบและรัฐประหาร
 
แล้วปัญหาคอร์รัปชันไม่แก้หรือ แก้ครับ ต้องแก้ทุกวัน แก้ไปเรื่อยๆ เหมือนแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นต้น แต่ต้องไม่แก้ด้วยวิธีรัฐประหาร เพราะเราไม่รู้ว่าปัญหาคอร์รัปชันจะหมดไปเมื่อใด เหมือนกับไม่รู้ว่าปัญหาเศรษฐกิจจะหมดไปเมื่อใด และก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหารจะไม่คอร์รัปชัน หรือจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจเก่งกว่ารัฐบาลที่ประชาชนเลือก
 
3. การแก้ที่อำนาจนอกระบบและรัฐประหารมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นต้องแก้ปัญหาที่รัฐประหารก่อขึ้น คือ
 
1) การทำลายระบบนิติรัฐด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เกิดการทำลายระบบนิติธรรมตามมาด้วยการสร้าง ระบบสองมาตรฐาน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการเอาผิดนักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม แต่ช่วยเหลือนักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายตัวเองอย่างน่าเกลียด ทั้งในกรณีคดียุบพรรคและการไม่ต้องรับผิดต่อการสลายการชุมนุมที่ผิดหลักสากล จนเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ปัญหาดังกล่าวนี้จะต้องแก้สองเรื่องหลักๆ คือ
 
ก) คืนสิทธิที่จะต่อสู้ในคดีความต่างๆ แก่นักการเมือง พรรคการเมือง และประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินการเอาผิดจากกระบวนการที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องมีสิทธิต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมที่ฝ่ายรัฐประหารเป็นโจทย์กล่าวหาเอง สืบสวนสอบสวนเอง ส่งฟ้องเอง ตัดสินเอง
 
ข) มีกระบวนการที่เป็นกลางไต่สวนหาข้อเท็จจริงและเอาผิดตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยกรณีที่รัฐบาลอภิสิทธิ์สลายการชุมนุมในเดือนเมษา-พฤษภา 2553 (โดยต้องพิจารณาความผิดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตามข้อเท็จจริงและตัวบทกฎหมาย)
 
2) ส่วนระยะยาว ต้องมีคณะกรรมการพิจารณาการจัดวางระบบกฎหมายเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์และกองทัพให้สอดคล้องกับหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นแนวทางปกป้องสถาบันให้อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง ให้กองทัพอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกอย่างแท้จริง และจะเป็นการปิดประตูรัฐประหารอย่างถาวร
 
4. หยุดการการตีความพุทธศาสนาเพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจ เช่น การอ้างอิงคำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตร ไม่ควรอ้างอิงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ยอพระเกียรติ เท่านั้น ดังประเพณีที่ทำตามๆ กันมา ต้องซื่อสัตย์ต่อหลักธรรมดังกล่าวโดยกล้าหาญที่จะอ้างอิงว่า หลักทศพิธราชธรรมคือหลักการตรวจสอบผู้มีอำนาจว่าได้ใช้อำนาจนั้นถูกทำนองคลองธรรมหรือไม่ ไม่ใช่หลักสำหรับสนับสนุนว่ามีบางอำนาจที่สมควรตรวจสอบไม่ได้
 
5. การอ้างพุทธศาสนานั้น ต้องกล้าชี้ความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างด้วย ไม่ใช่เพียงเตือนสติให้คนละโลภ โกรธ หลง หรือเป็นกลางแบบลอยตัวเหนือปัญหาเท่านั้น โครงสร้างอำนาจนอกระบบที่เป็นสาเหตุให้เกิดรัฐประหารนั้น หากพิจารณาตามหลักการพุทธศาสนาย่อมเป็น โครงสร้างอยุติธรรม ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข หรือแทนที่ด้วยโครงสร้างที่ยุติธรรมที่อยู่บนหลักเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นคน
 
จะว่าไปแล้ว หลักกรรมในพุทธศาสนานั้น คือ หลักความเสมอภาคทางศีลธรรม ในความหมายว่า ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ใครทำดีย่อมได้รับผลดี ใครทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว โดยหลักการนี้หากนำมาประยุกต์ใช้ในทางกฎหมายก็เท่ากับว่า ทุกคนเสมอภาคตามกฎหมาย ฉะนั้น จึงไม่มีใครที่ทำผิดแล้วสมควรได้รับการยกเว้การเอาผิดตามกฎหมายภายใต้ มาตรฐานเดียวกัน
 
นอกจากนี้หลักกรรมยังเป็นหลักที่ยืนยัน ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ ในความหมายว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกการกระทำ และเมื่อใช้เสรีภาพในการเลือกย่อมต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำนั้นเสมอ
 
ฉะนั้น หลักคิดดังกล่าวจึงสนับสนุนหลักการมีเสรีภาพอย่างเท่าเทียมตามระบอบประชาธิปไตย
 
อย่างไรก็ตาม หลักกรรมที่อธิบายว่า คนเราเกิดมาต่างกัน มีฐานะทางสังคมต่างกัน ควรได้รับการปฏิบัติต่างกัน โดยกฎหมายและโดยวิธีอื่นๆ เพราะทำกรรมมาต่างกันในอดีตชาติ นั้น ต้องดูว่าเป็นการตีความตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ หรือไม่ และต้องดูบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของการตีความหลักกรรมในความหมายดังกล่าวด้วยว่า มีวัตถุประสงค์ทางสังคมและการเมืองอย่างไร
 
สำหรับผมเห็นว่า การตีความหลักกรรมในความหมายที่ยืนยันความเสมอภาคทางศีลธรรม และความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ น่าจะสอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าสอนมากกว่า (ถึงแม้ไม่ตรงทั้งหมด แต่ก็มีประโยชน์ต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรมมากกว่า)
 
6. สุดท้าย ผมคิดว่าพุทธศาสนาไม่ได้มองชีวิตและโลกสมบูรณ์แบบ สัจธรรมข้อแรกคือ ทุกข์ ในอริยสัจสี่นั้น คือการยืนยันความบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิตและโลกในความเป็นจริง ซึ่งหมายความว่าชีวิตและโลกในความเป็นจริง ไม่ว่าในมิติของปัจเจก สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ มีปัญหา มีข้อบกพร่องต่างๆ ให้เราต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และแก้ไขไปเรื่อยๆ บางเรื่องอาจเป็นไปได้ที่จะแก้ไขได้เสร็จสิ้น บางเรื่องอาจต้องเรียนรู้และแก้ไขอยู่ร่ำไป
 
ในแง่นี้พุทธศาสนาจึงชี้แนะให้เราเปิดกว้างที่จะเรียนรู้และเลือกใช้ความคิดและวิธีการแก้ปัญหาหลายๆ แบบ เพื่อให้เลือกใช้ความคิดและวิธีการที่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากที่สุด
 
ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนาจึงไม่ปฏิเสธวิถีทางประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันในทางสังคม-การเมือง เพราะพุทธศาสนายืนยันวิธีแก้ปัญหาด้วยปัญญามากกว่าวิธีแก้ปัญหาด้วยอำนาจ แน่นอนว่าวิถีทางประชาธิปไตยเป็นวิถีทางที่ใช้ปัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าวิถีทางเผด็จการ ฉะนั้น ภายใต้ปัญหาที่ยุ่งเหยิงกว่า 5 ปี มานี้ เราจำเป็นต้องหาทางออกจากปัญหาให้ได้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย
 
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหารัฐประหาร และกระบวนการสืบเนื่องจากรัฐประหาร รวมถึงปัญหาการจัดวางสถานะ อำนาจ และบทบาทของอำนาจนอกระบบและกองทัพ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยปัญญาที่ยึดโยงอยู่กับหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น
 
และสำหรับพุทธศาสนา การเดินตามหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง คือความหมายของการตัดสินใจที่เรียกว่ามี ธรรมาธิปไตย หรือการตัดสินใจอย่างยึด ความถูกต้อง เป็นใหญ่ ในบริบทของสังคม-การเมืองยุคปัจจุบัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกิจกรรมออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการข่ายไฟฟ้าอุดรธานี-น้ำพอง จี้ปล่อยตัวชาวบ้าน-นศ.

Posted: 28 May 2011 06:00 AM PDT

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 54 ที่ผ่านมาศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านโครงการข่ายไฟฟ้าอุดรธานี-น้ำพอง ร่วมแสดงจุดยืนให้ปล่อยตัวชาวบ้านและนักศึกษา 15 คน โดยไม่มีเงื่อนไขโดยมีรายละเอียดดังนี้

 

แถลงการณ์ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน
ร่วมคัดค้านโครงการข่ายไฟฟ้าอุดรธานี-น้ำพอง
ร่วมแสดงจุดยืนให้ปล่อยตัวชาวบ้านและนักศึกษา 15 คน โดยไม่มีเงื่อนไข!!!



วันที่ 27 พฤษภาคม 2554

สืบเนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้นำเจ้าหน้าที่ กฟผ. ตำรวจและฝ่ายปกครอง จังหวัดอุดรธานี เข้าสลายการชุมนุมชาวบ้านในนามคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสาย ส่งไฟฟ้าแรงสูง(คชส.)จ.อุดรธานี จับกุมชาวบ้านและนักศึกษาที่คัดค้านโครงการข่ายไฟฟ้าน้ำพอง-อุดรธานี จำนวน 15 คน ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2554

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน (ศปช.) ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายแรงงาน เกษตรกร นิสิตนักศึกษาเยาวชน ขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านโครงการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าฯ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดังต่อไปนี้

ประการแรก การดำเนินโครงการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างร้ายแรง

จากการดำเนินโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เกิดความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิประชาชนจากโครงการก่อสร้างแนวสายส่ง ไฟฟ้าในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดน่าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ 5 พฤษภาคม และวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 เจ้าหน้าที่ กฟผ. ได้ประสานกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเข้ารื้อถอนทำลายทรัพย์สินชาว บ้านโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน พฤติกรรมดังกล่าวแสดงถึงเจตนาในการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าและความรุนแรง และเป็นการทำลายทรัพย์สินของประชาชน

ประการที่สอง เร่งรัดดำเนินการโครงการโดยไม่รอการพิจารณาของศาล

ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จ.อุดรธานี ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองจังหวัดขอนแก่นเมื่อ พ.ศ.2551 และยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่าการดำเนินโครงการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเร่งรัดดำเนินการโครงการฯ เพื่อบีบให้ประชาชนยินยอมหรือมัดมือชกประชาชน หากผลการพิจารณาของศาลระบุว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของ หน่วยงานรัฐและ กฟผ. และร่วมลงชื่อให้กำลังใจต่อผู้บริสุทธิ์ทั้ง 15 คน โดยมีจุดยืนร่วมกันดังนี้

1. ปล่อยตัวชาวบ้านและนักศึกษา 15 คน โดยไม่มีเงื่อนไข !!!

2. ยุติการดำเนินการโครงการไว้ก่อน เนื่องจากโครงการได้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง การละเมิดสิทธิประชาชน และการทำลายทรัพย์สินของประชาชน

3. เจ้าหน้าที่ กฟผ. ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ยุติการกระทำการใดๆ อันจะก่อให้เกิดลักษณะเผชิญหน้า ข่มขู่ ยั่วยุ ต่อชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จ.อุดรธานี

ด้วยจิตคารวะ

องค์กรร่วมลงชื่อองค์กร

1. ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน (ศปช.)
2. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
3. ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยม-ประชาธิปไตย (YPD)
4. กลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP)
5. กลุ่มลูกชาวบ้าน (ม.บูรพา)
6. กลุ่มสะพานสูง (ม.ธรรมศาสตร์)
7. ซุ้มลาดยาว  (ม.รามคำแหง)
8. ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้
9. คนรุ่นใหม่ภาคอีสาน
10. คนรุ่นใหม่ภาคกลาง
11. กลุ่ม FAN
12. เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคม
13. เครือข่ายนักศึกษาเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบเหมืองแร่แห่งประเทศไทย                      
 
ลงชื่อบุคคล
 
1.Dechawat Kajonnetiyut
2.กันต์ แสงทอง นักศึกษาปริญญาโท รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
3.จิตตินันท์ สุขโน ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย
4.จิตรา คชเดช ที่ปรึกษา/เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่แงประเทศไทย
5.ชัยวัฒน์ ตรีวิทยา
6.ชาติชาย แกดำ
7.ชุตินาถ ชุนวิมลศิริ
8.ณัฐพงศ์ พงศ์เสาวภาคย์
9.ณัฐพงษ์ ราชมี
10.ณัฐพล ไทยสะเทือน
11.เดชาวัต ขจรเนติยุทธ
12.เทวฤทธิ์ มณีฉาย
13.เทิดพันธุ์ พวงเพ็ชร
14.ธนิสสร มณีรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ รามคำแหง
15.นครินทร์ วิศิษฎ์สิน
16.นิรุทธ์ ธรรมธิ จ.เชียงใหม่
17.ประดิษฐ์ ลีลานิมิต
18.ประสิทธิ์ชัย มากพิณ
19.ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์
20.ปฤณ เทพนรินทร์ครับ
21.พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์
22.ภมร ภูผิวผา จ.อุดรธานี
23.ไม้หนึ่ง ก.กุนที
24.รัฐกานต์ ขำเขียว
25.รัฐพล เจริญพงษ์
26.ฤทัยชนก สิมมะระ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
27.วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กองบรรณาธิการนิตยสาร Democrazy
28.วันเพ็ญ ก้อนคำมงคล ไชยบุญแก้ว นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
29.วินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
30.วิภา มัจฉาชาติ กลุ่มคนงาน Try Arm
31.สุกัญญา ใสงาม
32.สุธัมมะ ธรรมศักดิ์
33.อธิปัตย์ จันทร์ใส รัฐศาสตร์ มศว
34.อนุธีร์ เดชเทวพร อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2552-2553
35.อานนท์ ชวาลาวัณย์ ประชาชน
36.การันตี ดีเป็นแก้ว นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมลงชื่อได้ที่ http://www.facebook.com/event.php?eid=176358792417359

ในวันเดียวกัน (27 พ.ค.54) เครือข่ายนักศึกษากลุ่มต่างๆ ได้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ต่อกรณีการจับกุมกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษา โดยระบุให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของ กฟผ.และหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการทั้งทางตรง ทางอ้อมหรือในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อประท้วงในการกระทำดังกล่าว

 
แถลงการณ์ต่อกรณี
 
การทำร้ายร่างกายและจับกุมตัวพี่น้องชาวบ้านและกลุ่มนักศึกษา ที่ทำการประท้วงการก่อสร้าง
ระบบโครงการข่ายไฟฟ้า ๕๐๐ กิโลโวลต์ น้ำพอง ๒-อุดรธานี ๓ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พาดผ่านบ้านเรือนและที่ดินทำกินของประชาชน
 
สถานการณ์ที่ผ่านมา
 
เมื่อวันที่ 5 และวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้นำเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าตำรวจและฝ่ายปกครอง เข้าไปรื้อถอน ทำลายทรัพย์ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน
 
วันที่ 25 พฤษภาคม 2554 นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่า แถลงข่าวกรณีการกระทำดังกล่าวว่า ถือเป็นการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ และมีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาดังนี้

1. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยุติการดำเนินการใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ร้องหรือทรัพย์สินของผู้ร้อง จนกว่าคดีในศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญจะถึงที่สุด รวมทั้งยุติการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองกระทำการใดๆ ในลักษณะเผชิญหน้า ยั่วยุกับกลุ่มผู้ร้อง เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้

2. ขอให้ศาลปกครอง ควรพิจารณามาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน

3. กฎหมายดังกล่าวนอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีแล้ว ยังมีประชาชนในอีกหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในลักษณะดังกล่าว หากศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญไม่เร่งพิจารณาคดีความให้เป็นที่ยุติ การดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในลักษณะดังกล่าวจะกลายเป็นการขยายความขัดแย้งจากโครงการก่อสร้างแนวสายส่งไฟฟ้าให้ลุกลามไปในอีกหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดน่าน จังหวัดอยุธยา เป็นต้น
 
สถานการณ์ล่าสุด
 
วันที่ 27 พฤษภาคม 54 ปรากฏว่าทาง กฟผ. ไม่ได้ปฏิบัติตามและละเลยต่อข้อเสนอ จากแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่านำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมแล้วกว่า 100 นาย เข้าพื้นที่เพื่อเดินหน้าก่อสร้างระบบโครงการข่ายไฟฟ้า ๕๐๐ กิโลโวลต์ ต่อไป
 
ในขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ ได้ทำการประท้วง โดยการนั่งในพื้นที่ที่ดินทำกินของตนเองเพื่อยืนยันสิทธิของตนเอง จนเป็นเหตุให้เกิดการเผชิญหน้ากัน นำไปสู่การนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม จนได้รับบาดเจ็บ และนำตัวผู้ชุมนุมไปกักขังที่สถานีตำรวจ
 
การดำเนินการดังกล่าวของ กฟผ. เป็นการไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และละเมิดสิทธิด้านข้อมูลข่าวสารและสิทธิชุมชน นอกจากนั้นยังพบว่ามีการเปลี่ยนแนวสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้พ้นที่ดินและบ้านเรือนตามอำเภอใจ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติและสร้างความไม่เป็นธรรมแก่กลุ่มประชาชนที่เดือดร้อน รวมทั้งไม่รอการพิจารณาของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางพี่น้องชาวบ้าน ได้ทำการยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2551
 
ทั้งหมดนี้ แสดงถึงการใช้อำนาจ จากภาครัฐที่ไม่เป็นธรรม อย่างต่อเนื่อง
เราขอเรียกร้อง
 
  1. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชาวบ้านและนักศึกษาทั้งหมด
  2. กฟผ.ต้องดำเนินการตามข้อเสนอ จากแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2554
  3. ให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำทั้งหมดของ กฟผ. หรือหมดความหวังต่อการเรียกร้องใดๆ จากภาครัฐดำเนินการปฏิบัติการในด้านใดๆก็ตาม ที่ส่งผลทั้งทางตรงหรือทางอ้อมหรือในเชิงสัญลักษณ์ ต่อการทำลายความชอบธรรมในการใช้อำนาจของ กฟผ. เพื่อประท้วงในการกระทำดังกล่าว
 
เพื่อสิทธิของผู้ถูกกดขี่
27 พฤษภาคม 2554
 
องค์กรร่วมลงชื่อ
1.     ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
2.     ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้
3.     คนรุ่นใหม่ภาคอีสาน
4.     คนรุ่นใหม่ภาคกลาง
5.     กลุ่ม FAN
6.     เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคม (ภาคใต้)
7.     เครือข่ายนักศึกษาเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบเหมืองแร่แห่งประเทศไทย
8.     กลุ่มแสงดาว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
9.     กลุ่มนกกระจอก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
10. ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัย ขอนแก่น
11. กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
12. กลุ่มระบายฝัน
13. กลุ่มลูกชาวบ้าน (ม.บูรพา)
14. กลุ่มสะพานสูง (ม.ธรรมศาสตร์)
15. ซุ้มลาดยาว (ม.รามคำแหง)
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ห้าพรรคการเมือง ประชันแผนแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน

Posted: 28 May 2011 05:31 AM PDT

ทีมเศรษฐกิจห้าพรรคการเมือง ย้ำต้องแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อุ้มเกษตรกร พร้อมรองรับมาตรการการเปิดค้าเสรีในอาเซียน กรณ์เน้น ปชป.พร้อมผลักดันพ.ร.บ.ภาษีและที่ดิน

 

ภาพประกอบโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ

27 พ.ค 54 – เวลา 13.00 น. ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจจัดเวทีสัมมนาเรื่อง “ท้าความคิด...ประชันนโยบายปากท้องกับ 5 พรรคการเมือง” โดยเชิญตัวแทนจากทีมเศรษฐกิจจากพรรคต่างๆมาเสนอนโยบาย ประกอบด้วย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย นาย กรพจน์ อัศวินวิจิตร จากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง จากพรรคประชาธิปัตย์ นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล จากพรรคภูมิใจไทย และนายเกษมสันต์ วีระกุล จากพรรคชาติไทยพัฒนา

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าขณะนี้ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกมิได้อยู่ในสหรัฐอเมริกาและแถบยุโรปอีกต่อไป แต่เคลื่อนย้ายมายังแถบเอเชียโดยเฉพาะจีน อินเดีย และอาเซียน ฉะนั้นจึงเห็นความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ทั้งในแง่การผลิต การกระจายสินค้า และบริการ

โดยใน 90 วันแรก หากพรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นรัฐบาล จะดำเนินโครงการรื้อสร้างปรับปรุงระบบขนส่ง โดยจะสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเชื่อมตัวระหว่างภูมิภาค และขยายเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯออกไปอีก 10 สายโดยไม่ให้ค่าบริการเกิน 20 บาท และจะมีการสร้าง “เมืองใหม่” โดยให้เป็นศูนย์กลางการเงิน,ไอที และการบริการสุขภาพ สวนในแง่การศึกษา จะแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต 800,000 เครื่องให้แก่เด็กประถมหนึ่งเครื่องต่อหนึ่งคน และทำให้อินเตอร์เน็ตไวไฟความเร็วสูงใช้ได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ในส่วนของภาคเกษตรกรรม จะสร้างชลประทานระบบท่อในบริเวณลุ่มน้ำเพื่อให้ชาวนาปลูกข้าวได้มีประสิทธิผลมากขึ้น และสร้างเขื่อนเพิ่มเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่สำคัญคือจะเปิดตัวโครงการ “เครดิตการ์ดชาวนา” หรือ “บัตรเพิ่มศักดิ์ศรีเกษตรกร” ที่ให้สินเชื่อแก่ชาวนา โดยนำเงินจากการจำนำข้าวมาปล่อยกู้ให้ก่อน  นายพิชัยกล่าวว่าวิธีนี้จะทำให้ชาวนาประหยัดขึ้นถึง 40-50% โดยไม่จำเป็นต้องไปกู้หนี้นอกระบบ

ในส่วนของภาคธุรกิจ จะปรับลดภาษีนิติบุคคลเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันในการลงทุนในประเทศ โดยในปัจจุบัน ภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 30% จะปรับลงเป็น 23% ในปี 2555 และให้เหลือ 20% ในปี 2556 ในขณะเดียวกันจะเพิ่มค่าแรงให้กับแรงงานเป็น 300 บาท และเพิ่มเงินเดือนแรงงานที่จบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท โดยหวังว่าในการเพิ่มรายได้ให้คนในประเทศ จะทำให้การบริโภคจับจ่ายใช้สอยสูงขึ้น และส่งผลให้ประเทศได้รายได้จากภาษีบุคคลมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ยังเสนอให้พักหนี้ครัวเรือน โดยหนี้ที่ต่ำกว่า 5 แสนบาท จะพักหนี้ให้ห้าปี และจัดโครงสร้างหนี้ใหม่เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และเพิ่มกองทุนหมู่บ้าน จากแต่ก่อนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 2 ล้านบาท รวมถึงตั้งธนาคารหมู่บ้าน ในส่วนของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เพิ่งจบใหม่ จะมีการตั้ง “กองทุนตั้งตัว” ซึ่งจัดให้มหาวิทยาลัยละ 1พันล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้นักศึกษาที่จบแล้วนำไปทำธุรกิจเพื่อตั้งตัว และสานโครงการเก่าเช่น โครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP, โครงการผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SML, ส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระจายรายได้ให้ทั่วถึง, โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก

พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน นายกรพจน์ อัศวินวิจิตรชี้ว่า จะแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยการลดราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิต และตรึงราคาน้ำมัน นอกจากนี้จะเพิ่มวงเงินเครดิตให้แก่ภาคการผลิตโดยไม่คิดดอกเบี้ย

สำหรับกลุ่มแรงงานและเกษตรกร ได้เสนอนโยบายการงดภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ที่เข้าตลาดแรงงานในช่วง 5 ปีแรก เพื่อเป็นการลดภาระแก่ผู้ที่เข้าทำงานใหม่ โดยไม่กระทบกับโครงสร้างการเก็บภาษีโดยรวม และงานที่ทำจะต้องมีความมั่นคงและรายได้สูง โดยเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 350 บาทซึ่งมากกว่าพรรคอื่นๆ สาเหตุที่มั่นใจว่าทำได้นั้น เนื่องจากจะมีโครงการ “สร้างเถ้าแก่เงินล้าน” ซึ่งเป็นโครงการสร้างธุรกิจขนาดย่อยโดยให้เงินกู้รายละ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0% ในสามปีแรก ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะทำให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้นและทำให้ค่าแรงสูงขึ้นด้วยเป็นลำดับ และจะให้มีเงินกู้เพื่อให้แรงงานสามารถซื้อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมการส่งแรงงานไปต่างประเทศโดยทางรัฐจะจัดให้มีสินเชื่อควบคู่กัน

ในแง่ของสวัสดิการสังคม นายกรพจน์ยอมรับว่ากลไกของกองทุนหมู่บ้านเหมาะสมกับการปล่อยเงินกู้ดีอยู่แล้ว มากกว่าโครงการธนาคารไปรษณีย์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้หากพรรคชาติไทยพัฒนาได้เป็นรัฐบาล จะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และผู้พิการให้มากขึ้น 2 เท่า และเพิ่มการรักษาพยาบาลให้เป็นทุกโรงพยาบาล ไม่จำกัดเฉพาะที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น โดยเงินที่จะนำมาอุดหนุนโครงการที่กล่าวมานั้นอาจมาจากหลายทาง เช่น รายได้มวลรวมประชาชาติที่เพิ่มขึ้น และการเก็บภาษีชนิดใหม่ๆเพิ่มเติม เช่น Land Development Tax ซึ่งในต่างประเทศเก็บจากที่ดินที่อยู่ใกล้การพัฒนาของรัฐ เป็นต้น

พรรคภูมิใจไทย โดยมีนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล เป็นตัวแทนทีมเศรษฐกิจชี้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายทั้งในประเทศและนอกประเทศอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร การกีดกันการค้าเสรี และในประเทศยังประสบปัญหาการขนส่งที่ยังไม่พร้อม

นายสุรยุทธกล่าวว่า หากพรรคภูมิใจไทยได้เข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจผ่านทางโครงการหลักๆสี่ด้าน คือ การเกษตร, อุตสาหกรรมไฮเทค เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์, เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม (eco-industry) โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการปรับมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็น เช่น พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยให้มีทิศทางที่ชัดเจนและมีซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาการคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟรางคู่ โครงการถนนปลอดฝุ่น รวมถึงการสร้างศูนย์กระจายสินค้าบริเวณชายแดนเพื่อส่งเสริมการลงทุนและกระจายสินค้าได้มีประสิทธิภาพขึ้น

ทางพรรคจะคำนึงถึงนโยบายทางเศรษฐกิจที่แก้ไขปัญหาการเหลื่อมล้ำ โดยในส่วนของผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว จะใช้ระบบประกันข้าว ซึ่งสามารถจัดการได้อย่างเป็นระบบโดยให้มีการลงทะเบียน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ง่าย และประกันเฉพาะส่วนต่างเท่านั้นทำให้ไม่เกิดปัญหาต่างๆเช่นการเสื่อมราคาของสินค้า การรั่วไหลทุจริต การแทรกแซงราคาตลาดที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ระบบจำนำข้าว นอกจากนี้จะส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ข้าว และระบบชลประทานเพื่อให้สามารถขยายการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้น และจะส่งเสริมให้ปลูกยางในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกด้วย

ในการกระจายความเหลื่อมล้ำนี้ นายสุรยุทธกล่าวว่ายังมีนโยบายกระจายพื้นที่ทำกิน โดยจัดสรรพื้นที่ราชพัสดุตามทางรถไฟให้กับประชาชนเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย และทำมาค้าขาย และเพื่อเป็นการลดภาระแก่ประชาชน จะลดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จาก 7% ให้เหลือ 5% และปรับลดภาษีนิติบุคคลเพื่อส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ จะส่งเสริมเยาวชนไทยให้เป็นนักกีฬามืออาชีพ โดยโดยการสร้างศูนย์กีฬาอาชีพให้อีกด้วย

ในขณะที่ทางนายเกษมสันต์ ในฐานะตัวแทนทีมเศรษฐกิจพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า สิ่งที่จะทำทันทีเมื่อได้รับเลือกเข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล คือ ตั้งแผนงานว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้ต่อ และตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ให้คณะรัฐมนตรีหยุดการโกงกิน และเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอาเซียน โดยย้ำถึงความสำคัญของประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ว่า เนื่องจากในปี 2558 ประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน นอกจากจะสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานและบริการได้อย่างอิสระแล้ว การค้าขายในหมู่ประเทศสมาชิกจะเป็นไปอย่างเสรี แต่เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยเก็บภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 30% ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านตั้งไว้ที่สูงสุด 20% เช่นเดียวกับภาษีรายได้บุคคลประเทศไทยเก็บอยู่ที่ 0-37% แต่ประเทศเพื่อนบ้านเก็บสูงสุด 20% ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การลงทุนอาจจะเคลื่อนย้ายไปยังประเทศอื่นๆมากกว่ามาในประเทศไทย

จึงเสนอนโยบายสองด้านหลักๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดังกล่าว คือ ให้มีการปรับลดภาษี เช่นภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการลงทุนและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานให้ดีเท่ากับค่าเฉลี่ยที่กำหนดไว้โดยธนาคารโลก ทั้งหมดนี้เพื่อให้เศรษฐกิจในภาพรวมโตได้ถึง 8% จากปัจจุบันที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 4.4% นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรมในระดับบุคคล และเก็บภาษีให้เข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทางด้านของพรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ในฐานะทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ทางพรรคสามารถดำเนินนโยบายที่ได้ริเริ่มไว้แล้วได้ทันทีหากได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายช่วยเหลือและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน เช่น นโยบายลดค่าครองชีพ ค่าไฟ ค่าโดยสาร และตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร นโยบายปรับหนี้นอกระบบ และหนี้บัตรเครดิตสำหรับชนชั้นกลาง รวมถึงตั้งกองทุนฟื้นฟู และกองทุนอื่นๆให้แก่เกษตรกร โดยจะปรับโครงสร้างหนี้ให้เหลือ 50% หากสามารถชำระหนี้ได้ครึ่งแรก ทั้งนี้ จะให้มีการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกร และอุดหนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย และให้มีประกันภายนาล่มที่เกิดจากภัยธรรมชาติ 2,000 บาทต่อ 1 ไร่ด้วย

ในส่วนของแรงงาน จะปรับค่าแรงขึ้นให้มากกว่า 25% ภายใน 2 ปี และดำเนินโครงการ”บ้านหลังแรก” โดยให้กู้เงินเพื่อซื้อบ้านโดยไม่คิดดอกเบี้ยต่อไปอีก 25,000 หลัง

นอกจากนี้  นายกรณ์ยังกล่าวถึงปัญหาการเข้าถึงทรัพยากร เช่น ที่ดินทำกิน ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลกำลังผลักดันโครงการโฉนดที่ดิน ธนาคารที่ดิน และย้ำว่าพระราชบัญญัติทรัพย์สินและที่ดินที่ปัจจุบันกำลังรอการพิจารณาในสภานั้น จะเป็นสิ่งแรกๆที่พรรคประชาธิปัตย์จะนำมาผลักดันเมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาลต่อไป

และในระดับประเทศ จะส่งเสริมให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยการสร้างแหล่งน้ำให้เกษตรกรในการเพาะปลูก พัฒนาแหลมฉบังให้เป็นเมืองท่า และสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน ลาว และมาเลเซีย เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมและการขนส่งสินค้า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สุเทพ" เตือน "บรรหาร" ร่วม "เพื่อไทย" เป็นได้แค่ตัวประกอบ

Posted: 28 May 2011 04:42 AM PDT

เผยพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีสูตรตั้งรัฐบาล แต่ไม่มี "เพื่อไทย" ร่วมรัฐบาลด้วยแน่ เพราะอุดมการณ์ไม่ตรงกัน "มาร์ค" มั่นใจได้ ส.ส. ในภาคอีสานมากขึ้น และจะชนะ "เพื่อไทย" หรือไม่ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างหาเสียงที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อ 28 พ.ค. 54 (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

 

อภิสิทธิ์มั่นใจได้ ส.ส. ภาคอีสานเพิ่ม ชนะหรือไม่ประชาชนตัดสิน
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า วันนี้( 28 พ.ค.54) นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาหาเสียงที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยจุดแรกเดินทางไปที่ตลาดศรีม่วง อำเภอม่วงสามสิบ ช่วยนายศุภชัย ศรีหล้า ผู้สมัครเขตเลือกตั้งที่ 2 จากนั้นเดินทางมาที่บริเวณตลาดนิกรธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี เปิดตัวผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 11 เขต และปราศรัยกับประชาชนโดยชูนโยบายของพรรค

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ มั่นใจว่า จะสามารถคว้าที่นั่งในภาคอีสานเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีที่นายบรรหาญ ศิลปะอาชา แสดงท่าทีสนับสนุนพรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิของแต่ละพรรคที่จะตัดสินใจ อยากจะให้ดูที่ผลการเลือกตั้งเป็นที่สำคัญ นายอภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังคงยึดจุดยืนเดิมของพรรค เดินหน้าหาเสียงต่อไป จะชนะพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้นประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

สุเทพเตือน "บรรหาร" อย่าเป็นตัวประกอบให้พรรคเพื่อไทย

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
  รายงานด้วยว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวก่อนเดินทางลงพื้นที่หาเสียงที่จังหวัดภูเก็ตว่า ตนเองยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ แต่ยอมรับว่า ไม่ค่อยมีเวลาได้พบปะกัน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการหาเสียง แต่ตนเองยังรักและเคารพนายบรรหาร อยู่เสมอ พร้อมฝากถึงนายบรรหาร ว่าการเข้าร่วมงานทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย จะเป็นได้เพียงตัวประกอบ จึงอยากชวนนายบรรหาร มาเป็นที่ปรึกษาในพรรคของตนเองมากกว่า ส่วนกฎหมายนิรโทษกรรม คงต้องกลับมาหารือกันอีกครั้งหลังจบการเลือกตั้ง พร้อมยืนยันว่า ตนเองสามารถตอบคำถามได้ทุกเรื่อง ไม่มีการปิดบังใดๆ

นายสุเทพ ยังกล่าวว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทย จัดเตรียมสูตรจัดตั้งรัฐบาลโดยจะไม่นำพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลนั้น พรรคประชาธิปัตย์เองยังไม่ได้มีการจัดวางสูตรอะไร แต่ยืนยันเช่นกันว่าจะไม่มีพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรัฐบาล เนื่องจากอุดมการณ์ไม่ตรงกัน เป้าหมายสำหรับประชาชนและบ้านเมืองต่างกัน โดยในช่วงนี้ขอใช้เวลาในการหาเสียงก่อน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

Posted: 28 May 2011 03:36 AM PDT

ลองจินตนาการถึงภาพตัวเองนั่งอยู่เบื้องหน้านายแพทย์ซักคน แล้วหมอก็พูดขึ้นว่า “ทำใจดี ๆ นะครับ คุณเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย หนทางรักษาให้หายขาดนั้นไม่มี ทำได้เพียงประคับประคองอาการไว้ให้นานที่สุด” แม้คุณจะเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลในประเทศนี้อย่างสมบูรณ์ แต่กระบวนการที่จะได้สิทธินั้นต้องมีขั้นตอนดังนี้

- ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายยื่นบัตรทอง พร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชน แจ้งความจำนงเพื่อขอใช้สิทธิรับบริการทดแทนไต ที่โรงพยาบาลที่ระบุในบัตรทอง

- รายชื่อของผู้ป่วย ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลที่ร่วมบริการทดแทนไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อเสนอข้อบ่งชี้ในการบริการต่อคณะกรรมการพิจารณาบริการทดแทนไตฯ ระดับจังหวัด

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณา บริการทดแทนไตฯ ระดับจังหวัด จะได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในระบบ

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะได้รับการแจ้งกลับจากโรงพยาบาลที่ระบุในบัตรทอง เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการบริการ ณ โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

จากนั้นคุณจะได้รับการบริการจากโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของชีวิต

แต่หากคุณเป็นบุคคลที่ไม่ใช่คนสัญชาติไทย โอกาสการเข้าถึงบริการดังกล่าวคงเป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับกรณีของนางชิชะพอ ชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) อายุ 48 ปี เป็นบุคคลอยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อจัดทำเบียนบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เกิดที่บ้านกะลิคี ประเทศพม่า เข้ามาประเทศไทยทางด่านเปิ่งเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง ตอนอายุ 17 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านสามัคคี ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง

นางชิชะพอเริ่มเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผางเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ด้วยอาการซีด เข้ารับการเจาะเลือด แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรค Anemia จึงรับยาและเจาะเลือดซ้ำเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 แพทย์ได้วินิจฉัยเพิ่มเติมว่าเป็นโรคไตระยะสุดท้าย End-stage renal disease (ESRD) เข้ารับการรักษาทั้งที่เป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเป็นระยะระยะ

19 มีนาคม 2554 นางชิชะพอเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน และอายุรแพทย์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง ให้ความเห็นว่าควรได้รับการฟอกล้างไตเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย แต่เมื่อทำการเช็คสิทธิในการรักษา ปรากฏว่า นางชิชะพอไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลจากกองทุนใด ๆ แพทย์จึงทำได้เพียงให้การรักษาทางยาเท่านั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2554 นางชิชะพอ ถูกรับตัวเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลอุ้มผางอีกครั้งด้วยอาการเหนื่อยง่าย ครั้งนี้อาการของนางชิชะพอไม่ทุเลาลง แพทย์ตัดสินใจส่งตัวไปรักษาต่อกับนายแพทย์พิสิฐ ลิมปธนโชติ แพทย์เฉพาะทางประจำหน่วยไตเทียมของโรงพยาบาลแม่สอด ในวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2554 และได้ทำการเจาะหน้าท้องเพื่อทำการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง

การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis หรือ CAPD) เป็นวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการยอมรับวิธีหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถทำได้ด้วยตนเอง และในช่วงเวลาที่น้ำยาอยู่ในช่องท้องสามารถทำงานได้ตามปกติ โดยผู้ป่วยปกติใช้เวลาปล่อยน้ำยาเข้าออกรอบละ 30-45  นาที และต้องดำเนินการวันละ 4 รอบ รอบละ 4-8 ชั่วโมง ซึ่งวิธีการนี้ ผู้ป่วยไม่ต้องระวังเรื่องการรับประทานอาหารมากจนหมดความสุข อีกทั้ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความสดชื่น เนื่องจากการล้างไตทางช่องท้องเป็นการถ่ายของเสียออกจากร่างกายทุกวัน วันละประมาณ 4 ครั้ง ของเสียจึงไม่ตกค้างในร่างกายนาน

หลังจากอาการของนางชิชะพอคงที่แล้ว แพทย์วางแผนจะเจาะเส้นเลือดบริเวณต้นคอเพื่อฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis-HD) ซึ่งต้องเดินทางมารับ บริการฟอกเลือดที่หน่วยบริการที่มีเครื่องไตเทียมและแพทย์โรคไต สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งๆ ละ 4-5 ชั่วโมง

ในส่วนของค่าใช้จ่ายการเจาะหน้าท้องและเส้นเลือด ทางโรงพยาบาลแม่สอดแจ้งว่า ไม่สามารถให้การอนุเคราะห์ผู้ป่วยกรณีนางชิชะพอได้ ทางโรงพยาบาลอุ้มผาง จึงยินยอมรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยให้เป็นหนี้สิ้นเรียกเก็บมายังโรงพยาบาลแต่ด้วยภาระปัจจุบันของโรงพยาบาลอุ้มผางจึงยังไม่สามารถชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมถึงค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้น ราวสามแสนบาทต่อปี

หนทางรอดของนางชิชะพอจึงเลือนรางเหมือนแสงสว่างที่รออยู่ปลายอุโมงค์ที่มืดมิด แต่กว่าจะถึงวันนั้น แสงจากคบเพลิงที่ผู้คนจะยื่นมือมาช่วยนับเป็นกำลังใจอันสำคัญที่จะทำให้เธอก้าวไปจนถึงแสงนั้นได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จีนประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะที่บัณฑิตจบใหม่หางานยาก

Posted: 28 May 2011 02:50 AM PDT

ปัจจุบัน หลายๆ พื้นที่ในจีนกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะที่บัณฑิตจบใหม่บางส่วนยังประสบปัญหาหางานยาก

นับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้เป็นต้นมา เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกโดยรวมกระเตื้องขึ้น วิสาหกิจหลายต่อหลายรายของจีนมีใบสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมาก แต่ขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะอย่างหนัก โดยเฉพาะในมณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ซึ่งเป็นมณฑลที่มีความต้องการแรงงานสูงมาโดยตลอด ทั้งสาขาการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า การแปรรูปเครื่องจักรกล การผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า ซึ่งเป็นที่สนใจของสังคมอย่างยิ่ง

ปัจจุบันนี้ ผู้ใช้แรงงานในมณฑลทางภาคใต้ของจีนส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากชนบท ร้อยละ 50 เป็นผู้เกิดหลังยุค 80 ซึ่งมีแรงกดดันจากการแข่งขันในสังคมค่อนข้างสูง

สถิติระบุว่า ตั้งแต่หลังตรุษจีนถึงบัดนี้ ในนครเซี่ยงไฮ้ ขาดแคลนแรงงานถึง 7,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเมืองเซินเจิ้นของมณฑลกวางตุ้ง การขาดแคลนแรงงานถึง 200,000 คน และในมณฑลอันฮุย มีจำนวนสูงถึง 250,000 คน

ปัญหาขาดแคลนแรงงานทำให้บริษัทในพื้นที่เหล่านี้จำเป็นต้องเพิ่มค่าจ้างหรือสวัสดิการให้แก่ลูกจ้าง เช่น ปักกิ่งได้ประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นเดือนละ 1,160 หยวน และมณฑลเจียงซูเพิ่มจาก 960 หยวนเป็น 1,140 หยวน นครกวางโจวก็เพิ่มเป็น 1,300 หยวนโดยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 18.2 นอกจากนี้ ค่าแรงในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซีเกียงของจีนส่วนใหญ่ก็ปรับเพิ่มขึ้นด้วย เช่น คนขับรถตู้คอนเทเนอร์เพิ่มเป็น 4,000 หยวน ช่างซ่อมรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 1,500-3,000 หยวน และบุรุษไปรษณีเพิ่มเป็น 2,500 หยวน เป็นต้น

นักวิเคราะห์เห็นว่า ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นในบางพื้นที่ บางสาขา และบางช่วงเวลา ผลการสำรวจพบว่า หลังตรุษจีน วิสาหกิจมีความต้องการว่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว บางกิจการในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจึงว่าจ้างแรงงานค่อนข้างยาก ทั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายฐานการผลิต และการที่แรงงานเกษตรกรมีความประสงค์จะหางานทำในภูมิลำเนาเดิม"

นอกจากนี้ แรงงานรุ่นใหม่จากชนบทมีเงื่อนไขในการรับจ้างสูงขึ้น เมื่อเทียบกับรุ่นพ่อ แรงงานรุ่นใหม่ซึ่งเกิดหลังปีทศวรรษ 1980 กระทั่ง 1990 มีสรีมากขึ้น และมีวุฒิการศึกษาสูงขึ้น จึงต้องการค่าจ้าง การประกันและสวัสดิการสูงขึ้น

ส่วนสื่อมวลชนเห็นว่า ภาวะการขาดแรงงานเกิดจากความเร็วในการเป็นเมืองของจีนยังช้ากว่าการเป็นอุตสาหกรรม อย่างมาก ความเร็วในการเป็นเมือง ซึ่งหมายถึงประชาชนที่อาศัยในเมืองนานกว่า 6 เดือนขึ้นไปมีเพียงแค่ 48% เท่านั้น ขณะที่ความเร็วในการเป็นอุตสาหกรรมอยู่ที่ 70% เกษตรกรจำนวนมากเข้ามาเพื่อทำงานในเมืองแต่ทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลังในชนบท ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้แรงงานจากชนบทเหล่านี้ไม่สามารถรับจ้างทำงานระยะยาวในเมืองได้ การจะจูงใจให้คนงานเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ

ผลการสำรวจของกระทรวงทรัพยากรแรงงานและประกันสังคมจีนระบุว่า จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม ภาวะการขาดแคลนแรงงานในมณฑลกวางตุ้งและฝูเจี้ยนมีเกือบล้านคน ส่วนมณฑลเจ้อเจียงก็มีตำแหน่งงานว่างประมาณร้อยละ 17

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จีนขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยบางส่วนกลับประสบปัญหาหางานยาก

คนที่วิตกกับเรื่องนี้ไม่เฉพาะนักศึกษาและพ่อแม่ของพวกเขาเท่านั้น ผู้นำจีนก็วิตกเรื่องนี้อย่างมาก เมื่อสองสามเดือนที่แล้ว นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนไปเยี่ยมเยียนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เขากล่าวต่อนักศึกษาอย่างตรงไปตรงมาว่า "ถ้าพวกคุณกลัวจะตกงาน ขอให้รู้ว่า ผมกลัวยิ่งกว่าพวกคุณ" พร้อมให้สัญญาว่า การหางานให้บัณฑิตเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

ภาวะที่บัณฑิตจบใหม่หางานยากเกิดจากสาเหตุหลายประการ ประการแรกคือ บุคลากรที่จบระดับอุดมศึกษาล้นตลาด ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ สาเหตุสำคัญเกิดจากการวางแผนผลิตบัณฑิตไม่สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ตำแหน่งงานขยายไม่ทันการเพิ่มขึ้นของบัณฑิตจบใหม่

ปีลังๆ นี้ มหาวิทยาลัยในจีนพากันขยายการรับนักศึกษาทำให้บัณฑิตจบใหม่ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เดือนกรกฎาคมปีนี้ บัณฑิตจบใหม่ในจีนจะสูงถึง 6.6 ล้านคน แต่การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันกลับไม่สามารถรองรับบุคลากรระดับอุดมศึกษาจำนวนมากเช่นนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้น ปัญหาบัณฑิตใหม่หางานยากในปีนี้อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้บัณฑิตจบใหม่หางานยากคือ นักศึกษามีความคาดหวังสูงเกินไป โดยคิดว่า ตนเป็นผู้มีความรู้ ต้องมีฐานะทางสังคมเหนือกว่าผู้ใช้แรงงานทั่วไป ดังนั้น จึงเลือกงานมาก

นักศึกษาอเมริกันมีความฝันในแบบของเขา คือ เรียนสูงๆ ขยันทำงาน แล้วจะประสบความสำเร็จและร่ำรวย นักศึกษาจีนก็มีความฝันในแบบของจีนที่ยึดมั่นมานานแล้ว นับตั้งแต่ที่จักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นได้ทรงริเริ่มระบบการสอบจอหงวนเป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการคัดเลือกคนเข้ารับราชการตามสติปัญญาและความสามารถ มิใช่ด้วยชาติกำเนิด ความฝันในแบบจีนก็ไม่ต่างจาก ความฝันในแบบอเมริกัน ซึ่งมีศรัทธามั่นคงต่อการเรียนสูงๆ และขยันทำงาน แล้วก็จะได้ดิบได้ดี แต่ดูเหมือนว่า ชาวจีนอาจจะให้ความสำคัญกับคุณค่าของการศึกษามากเป็นพิเศษ การศึกษาเป็นเหมือนหลักประกันให้หนุ่มสาวชาวจีนสามารถถีบตัวขึ้นมาจากความยากจน และมีชีวิตที่ดีกว่าทั้งสำหรับตัวพวกเขาเองและพ่อแม่

แต่มาบัดนี้ หนุ่มสาวชาวจีนนับล้านๆ คนกำลังต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า การศึกษาสูงอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ความฝันกลายเป็นความจริง จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อสิ้นปีที่แล้ว บัณฑิตจบใหม่ของจีนจำนวนหลายแสนคนยังคงตกงาน เพราะว่า บัณฑิตใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่สถานประกอบการกลับต้องการบุคลากรระดับอุดมศึกษาไม่มาก จึงทำให้จีนประสบปัญหาบัณฑิตใหม่หางานยาก

สื่อมวลชนบางส่วนเห็นว่า การพัฒนาของสถาบันอุดมศึกษาไม่ทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้บัณฑิตที่ผลิตออกมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ถ้าสถาบันอุดมศึกษาจัดตั้งสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาบัณฑิตจบใหม่หางานยากก็จะผ่อนคลายลงบ้าง

ผู้ประกอบการหลายๆ คนเห็นว่า บัณฑิตใหม่ส่วนใหญ่มีความคาดหวังสูงมาก จนกลายเป็นอุปสรรคในการหางาน เช่น นักศึกษาบางคนเลือกงานมาก สร้างเงื่อนไขจนน่ารำคาญ เช่น ทำงานดึกไม่ได้ ต้องหยุดเสาร์อาทิตย์ ไม่ชอบทำงานกับคนรุ่นเก่า ไม่สามารถไปต่างจังหวัด นักศึกษาบางคนคาดหวังในอัตราค่าจ้างสูงเกินไป เงินเดือนต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 หยวน

ต้องเป็นงานประจำ สาเหตุเหล่านี้ทำให้ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาขึ้นไปหางานได้ยาก

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ประกอบการหลายคนออกมาแนะวิธีการหางานที่เหมาะกับบัณฑิตจบใหม่ โดยแนะนำว่า ก่อนอื่น ต้องคิดบวก นักศึกษาจบใหม่อาจรู้สึกไม่ดีที่ยังหางานไม่ได้ ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งท้อ ที่จริง ต้องลองคิดในแง่บวก เพื่อที่จะได้มีกำลังใจ และไม่ท้อ โดยคิดเสียว่า สิ่งที่เรียนในห้องเรียน ความรู้ที่ได้รับ วุฒิที่มี ย่อมมีความสำคัญต่อธุรกิจประเภทที่เรียนมา ไม่อย่างนั้น เขาคงไม่เปิดหลักสูตรให้เรียน

ประการที่สอง ลองเข้าไปท่องเน็ตเพื่อสำรวจดูว่า มีงานอะไรบ้างที่ต้องการวุฒิการศึกษาอย่างเรา จะเริ่มเห็นว่า ยังมีช่องทางอีกมากมาย อย่ามัวแต่รู้สึกท้อ ประการที่สาม เราต้องสำรวจความสนใจของเรา โดยตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อสำรวจความสนใจของเราว่า ชอบงานในลักษณะไหน ชอบงานออฟฟิศหรือ ชอบงานที่ต้องพบปะผู้คนมากกว่า ถ้าชอบงานออฟฟิศก็มาคิดต่อว่า สนใจงานที่อยู่ในธุรกิจประเภทไหน แล้วจดรายการออกมา แต่ถ้าไม่ชอบอยู่กับที่ก็มีงานหลายอย่างที่เหมาะกับเรา เช่น พนักงานต้อนรับในโรงแรม พนักงานขาย พนักงานบริการลูกค้า มัคคุเทศก์ เป็นต้น จากนั้นคัดเลือกให้เหลือเฉพาะที่ตรงกับความสนใจและใกล้เคียงกับความรู้ที่เราเรียนมาให้มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ และที่ขาดไม่ได้ คือต้องพิจารณาจากระยะทางใกล้-ไกล ขนาดขององค์กร อัตราเงินเดือน และอื่นๆ ประกอบด้วย

เมื่อเราพิจารณาประเด็นข้างต้นเหล่านี้เรียบร้อยแล้ว ถ้ามีโอกาสมาเยือนก็ควรจะเริ่มต้นหางาน บางคนไม่กล้าเริ่ม มัวแต่คิดว่า ต้องได้งานในบริษัทที่ดีกว่านี้ จริงๆ แล้ว ต้องเลิกทะนง แล้วเริ่มทำงานจากระดับเล็กๆ ถึงมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องการก็ตาม แต่มันจะทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น รู้ว่าตัวเองนั้นชอบอะไร และไม่ชอบอะไร ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของชีวิต ที่จะทำให้เรารู้ว่า งานนั้นเหมาะกับเราหรือไม่ และเราจะไปในทิศทางไหนต่อ แต่ถ้าหากว่าหางานประจำหลายที่แล้วยังไม่ได้ ลองหางานแบบชั่วคราวดูบ้างก็ไม่เสียหาย ถึงจะเป็นงานชั่วคราว แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้จักคนเพิ่มขึ้นจากการทำงาน และในไม่ช้า สิ่งหนึ่งก็จะนำไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เราอาจค้นพบจุดแข็งของตัวเอง หรือพบความสนใจใหม่ๆ กับโอกาสใหม่ๆ ก็ได้

ผู้ที่เคยทำงานฝ่ายสรรหาบุคลากรแสดงความเห็นว่า บัณฑิตใหม่ต้องสร้างและพัฒนางานอดิเรกมาทำให้เกิดรายได้ เช่น ชอบถ่ายรูปก็รับจ้างถ่ายภาพ ชอบเรื่องรถยนต์ รู้รถยนต์รุ่นไหนเป็นรุ่นไหน ก็สามารถไปรับจ้างร้านขายรถ ไม่ต้องเป็นพนักงานประจำก็ได้ แต่ขอค่าคอมมิชชั่นพอสมควร ชอบเขียนบทความก็เปิดบล็อกเขียนเรื่องราวดี ๆ เก็บไว้ เผื่อมีโอกาสก็อาจได้เป็นนักเขียนก็ได้ นอกจากนี้ ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่เรายังไม่เก่ง เช่น ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ ไม่ต้องรอให้ได้งานแล้วค่อยไปเรียน ถ้ามีโอกาสก็รีบเรียนไว้ก่อนเลย

นักวิชาการหลายๆ คนแนะให้บัณฑิตจบใหม่ทำเว็บไซต์ส่วนตัว เพื่อให้คนอื่นได้รู้จักกับเรามากขึ้น เพราะสมัยนี้ทุกอย่างสื่อสารกันบนเว็บไซต์ อย่าปิดกั้นตัวเอง แต่จงเปิดกว้างสู่โลกภายนอก แล้วจะมีโอกาสมากขึ้น

คำแนะนำของผู้ประกอบการ นักวิชาการดังกล่าวนี้ได้เผยแพร่ทางสื่อมวลชน ทำให้บัณฑิตจบใหม่บางส่วนเริ่มเปลี่ยนความคิด ลดความคาดหวังในการหางาน ยอมทำงานที่ให้อัตราค่าจ้างเท่ากับผู้มีวุฒิการศึกษาปวช.หรือปวส. ด้วยสาเหตุเหล่านี้ จำนวนบัณฑิตใหม่ที่ตกงานอาจลดลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม บัณฑิตจบใหม่ในอนาคตอาจจะต้องยอมรับความจริงที่ว่า พวกเขาจะต้องเข้าสู่โลกของการทำงานปกติที่มีวัฏจักรขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจ แน่นอนว่า พวกเขายังสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่ารุ่นพ่อแม่ได้ และยังสามารถจะเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อยามแก่เฒ่าได้

ส่วนทางด้านรัฐบาลควรสร้างเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบุคลากร ให้คำแนะนำหรือการฝึกอบรมแก่ผู้ที่หางาน ปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต้องเร่งพัฒนาให้ทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการจัดตั้งสาขาวิชาใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นวิธีที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางพื้นที่ของจีน และปัญหาบัณฑิตจบใหม่หางานยากได้

ที่มา:
http://thai.cri.cn/247/2011/05/27/223s186770.htm

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไต่สวนฟ้องสรรหา กสทช.นัดแรก 2 ฝ่ายอ้างผลประโยชน์ชาติเสียหายแสนล้านศาลจี้ขอข้อมูลเพิ่ม

Posted: 28 May 2011 02:24 AM PDT

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 54 ที่ผ่านมาไทยโพสต์รายงานว่าเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลปกครองได้นัดไต่สวนในกรณีที่นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสรรหา กสทช. และสำนักเลขาฯ วุฒิสภา เพื่อขอให้ศาลปกครองพิจารณาออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการส่งรายชื่อผู้สมัคร กสทช. จำนวน 22 คน ให้แก่วุฒิสภา เนื่องจากกระบวนการพิจารณาและมติออกคำสั่งทางปกครองในการสรรหา กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายสุรนันท์กล่าวว่า หากกระบวนการสรรหา กสทช.ยังคงดำเนินต่อไป จะส่งผลเสียหายต่อภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและกิจการวิทยุและโทรทัศน์มากกว่าแสนล้านบาท รวมไปถึงจะกระทบต่อผู้บริโภคในอนาคต เนื่องจากมีการให้บริการไม่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระบวนการคัดสรรหา กสทช.มีการใช้ระยะเวลาเนิ่นนาน แต่เป็นเพราะเหตุใดในช่วงนี้จึงมีการเร่งกระบวนการสรรหาทั้งที่กระบวนการดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย

“ศาลปกครองได้นัดไต่สวนในกรณีที่มีการขอคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งตนได้ชี้แจงว่าเนื่องจากกระบวนสรรหา กสทช. ทั้งในบัญชี 1.การคัดเลือกกันเอง และ 2.การสรรหาจะต้องส่งให้แก่วุฒิสภาประมาณสัปดาห์ที่ 2 เดือน มิ.ย.นี้ ดังนั้นหากมีการส่งบัญชีที่มิชอบด้วยกฎหมายจะทำให้เกิดความเสียหาย” นายสุรนันท์กล่าว

ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาของศาลจะมี 2 ส่วน คือ 1.มีคำสั่งว่าคุ้มครองหรือไม่ และ 2.การให้ผู้ถูกฟ้องส่งคำให้การภายใน 20 วัน เพื่อประกอบการวินิจฉัยในคดีดังกล่าว

นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะคณะกรรมการสรรหา กสทช. กล่าวว่า หากศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองจะทำให้กระบวนการสรรหาสะดุด และจะกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมและกิจการวิทยุ-โทรทัศน์ทั้งหมด รวมไปถึงการประมูล 3 จี เพราะจะไม่มีผู้รับผิดชอบ โดยประโยชน์ของประเทศมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทจะไม่มีผู้ใดดูแล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศาลได้กำหนดกรอบส่งคำชี้แจงเพิ่มเติมภายใน 20 วัน ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการสรรหา กสทช.คงไม่มีการชี้แจงเพิ่มเติม แต่ต้องดูในส่วนสำนักเลขาธิการวุฒิสภาและอัยการว่าจะมีคำชี้แจงเพิ่มเติมหรือไม่

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับนายสุรนันท์นั้น เป็นผู้สมัคร กสทช. ในสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยมีคะแนนเป็นลำดับที่ 5 แต่เมื่อผู้ผ่านการคัดเลือก 1 ใน 4 คน คือ นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท อดีตรอง ผอ.สำนักงบประมาณ, ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ถูกตัดสิทธิ์จากคุณสมบัติต้องห้าม นายสุรนันท์กลับไม่ได้เลื่อนขึ้นเป็นตำแหน่งถัดไป แต่กลับเลือกนายยุทธ์ ชัยประวิตร ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 7 เป็นลำดับที่ 4  แทน

ทั้งนี้สำหรับสาขานี้ กฎหมายกำหนดให้มี 2 คน แต่การคัดเลือกต้องคัดเลือกเป็น 2 เท่าของสาขานั้น จึงเท่ากับคัดเลือกจำนวน 4 คน ได้แก่ 1.นางจันทิมา สิริแสงทักษิณ (อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง) 2.นายพิษณุ เหรียญมหาสาร (รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, อดีตรองปลัดกระทรวงพาณิชย์) 3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชัย โถสุวรรณจินดา (ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต, อดีต ส.ว.) 4.นายยุทธ์ ชัยประวิตร (อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคมัชฌิมาธิปไตย) แทนนายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท อดีตรอง ผอ.สำนักงบประมาณ, ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ถูกตัดสิทธิ์จากคุณสมบัติต้องห้าม.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิดีโอและภาพ "วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน" ปีที่ 53

Posted: 28 May 2011 01:12 AM PDT

[วิดีโอ] พิธีสวนสนามเนื่องใน “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” (Shan State People’s Resistance Day) ครบรอบปีที่ 53 เมื่อ 21 พ.ค. 54 ที่ฐานที่มั่นดอยไตแลง รัฐฉานตอนใต้ ฉบับวิดีโอความยาว 10 นาที พร้อมคำบรรยายภาษาไทย

 

การแสดงดนตรีในคืนวันที่ 20 พ.ค. 54 ก่อนงานพิธี “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” ปีที่ 53 ที่ฐานที่มั่นดอยไตแลง ของกองทัพรัฐฉาน (SSA)

"จ้าตแซง" คณะยอดแซงแลงใหม่จากบ้านเปียงหลวง ทำการแสดงเมื่อ 20 พ.ค. 54 ในคืนก่อน งานพิธี “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” ปีที่ 53 สำหรับ "จ้าตแซง" เป็นอุปรากรแบบฉบับชาวไทใหญ่ ลักษณะเป็นการร้องรำทำเพลงตอบโต้กันแบบสดๆ รวมถึงการแสดงละครที่สอดแทรกด้วยคำสอนทางพุทธศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีของคนไทใหญ่ คิดค้นเป็นครั้งแรกโดยพ่อเฒ่าออเจ่ยะ (พ.ศ. 2446 - 2530) แห่งเมืองสี่ป้อ รัฐฉาน ในปี พ.ศ. 2487 ก่อนที่จะได้รับความนิยมไปทั่วรัฐฉาน


ทหารกองทัพรัฐฉานเตรียมพวงมาลา เพื่อนำไปวางไว้อาลัยให้กับทหารในกองทัพซึ่งเสียชีวิตระหว่างการสู้รบ

ประชาชนชาวไทใหญ่เข้าร่วมงานพิธี “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” ปีที่ 53 เมื่อ 21 พ.ค. 54 ที่ผ่านมา

พระสงฆ์และประชาชนในพิธี “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” ปีที่ 53 ที่ดอยไตแลง เมื่อ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา

พล.ท.บีทู (คนที่สองจากขวา) ผู้บัญชาการทหารของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni Natonal Progress Party - KNPP) นั่งในปะรำพิธี พร้อมกับนายทหารในกองทัพรัฐฉาน (SSA) กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP) และกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พันธมิตรฯ ซึ่งเข้าร่วมพิธีวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉานปีที่ 53 วันที่ 21 พ.ค. 54

ทหารกองทัพรัฐฉาน (SSA) สวนสนามในงานพิธี “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” ปีที่ 53 เมื่อ 21 พ.ค.

ทหารกองทัพรัฐฉาน (SSA) ในงานพิธี “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” ปีที่ 53 เมื่อ 21 พ.ค. ที่ฐานที่มั่นดอยไตแลง รัฐฉานตอนใต้

ทหารกองทัพรัฐฉาน (SSA) ในงานพิธี “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” ปีที่ 53 เมื่อ 21 พ.ค. ที่ฐานที่มั่นดอยไตแลง รัฐฉานตอนใต้

ทหารกองทัพรัฐฉาน (SSA) สวนสนามในงานพิธี “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” ปีที่ 53 เมื่อ 21 พ.ค.

ทหารกองทัพรัฐฉาน (SSA) ในงานพิธี “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” ปีที่ 53 เมื่อ 21 พ.ค. ธงพื้นสีฟ้าที่ทหารถือ คือ ธงของสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of the Shan State - RCSS) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมือง ส่วนธงพื้นสีแดงคือธงของกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army – SSA)

ทหารกองทัพรัฐฉาน (SSA) ในงานพิธี “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” ปีที่ 53


อาร์มเครื่องหมายที่ไหล่ซ้ายของทหารกองทัพรัฐฉาน (SSA) ในปีนี้เปลี่ยนจากรูปหัวเสือ เป็นรูปเสือเต็มตัว ปักอักษรไทใหญ่ “ทัพศึกจึ่งไต” พื้นหลังเสือเป็นแถบสีเหลือง เขียว แดง อันหมายถึงธงชาติรัฐฉาน

พล.ต.เจ้าจายยี่ รองประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) คนที่ 1 ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในงาน ทั้งนี้ เจ้าจายยี่เป็นอดีตนายทหารในกองทัพแห่งชาติรัฐฉาน (Shan State National Army – SSNA) ซึ่งในเดือนพฤษภาคมปี 2548 ได้เลิกสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่า และนำกองกำลังมาเข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน (SSA) ของ เจ้ายอดศึก

พ.อ.เจ้าจายทู ผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่คนที่ 2 กองทัพรัฐฉาน “เหนือ” (SSA/SSPP) ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในงานวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉานปีที่ 53 ที่ดอยไตแลง รัฐฉาน เมื่อ 21 พ.ค. โดยกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” โดย พล.ต.หลอยมาว ได้ส่ง พ.อ.เจ้าจายทูเป็นตัวแทนร่วมงานดังกล่าว และได้ประกาศว่าจะเข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน (SSA) และสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ด้วย โดยถือเป็นการประกาศต่อต้านกองทัพพม่าอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้กองทัพพม่าโจมตีฐานที่มั่นกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” อย่างหนักมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ไม่ยอมเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์พื้นที่ (HGF)

นายทหารในกองทัพรัฐฉาน และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นพันธมิตร ได้ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึกหลังงานพิธี “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” ครบรอบปีที่ 53

พ.อ.เจ้าจายทู ผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่คนที่ 2 กองทัพรัฐฉาน “เหนือ” (SSA/SSPP)

พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน (SSA) และประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS)

 

ภาพบรรยากาศจากพิธีสวนสนามเนื่องใน “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” (Shan State People’s Resistance Day) ครบรอบปีที่ 53 ที่ฐานที่มั่นดอยไตแลง ของกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army – SSA) ในพื้นที่ชายแดนรัฐฉาน

พิธีดังกล่าวจัดขึ้นโดยกองทัพรัฐฉาน (SSA) “ใต้” และสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of the Shan State - RCSS) โดยการจัดงานปีนี้กองทัพรัฐฉาน “เหนือ” (SSA/SSPP) ภายใต้การนำของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (Shan State Progress Party – SSPP) ได้ส่ง พ.อ.เจ้าจายทู ผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่คนที่ 2 พรรคก้าวหน้ารัฐฉานเป็นผู้แทนมาร่วมงาน และมีการประกาศเข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน (SSA) และ สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ด้วย

โดยถือเป็นการประกาศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทั้งด้านการเมืองและการทหารกับกองทัพรัฐฉาน (SSA) อย่าง เป็นทางการ และถือเป็นการประกาศต่อต้านกองทัพพม่าอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ทำสัญญาหยุดยิงกันเมื่อปี 2532

พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) และผู้นำกองทัพรัฐ ฉาน (SSA) ให้สัมภาษณ์หลังพิธีสวนสนามว่า ประชาชนในรัฐฉานอยากเห็นกองทัพในรัฐฉานแต่ละกองทัพ หันมาปรองดอง สามัคคีกัน โดยการรวมกองทัพระหว่างสองกองทัพรัฐฉาน จะมีการรวมกันอย่างจริงจังโดยภายในปีนี้จะเห็นความชัดเจน ส่วนรูปธรรมขณะนี้ทั้งเราทั้งสองกองทัพพูดคุยกัน เข้าใจกัน โดยจะมีการลงรายละเอียดอีกทีในเรื่องระเบียบวินัยของกองทัพ และไม่ว่ากลุ่มไหนในรัฐฉาน ตอนนี้เราสามัคคีกันทุกกลุ่ม

ส่วนเจ้าจายทู รองผู้บัญชาการคนที่ 2 กองทัพรัฐฉาน “เหนือ” กองทัพรัฐฉานเหนือมีการหยุดยิงมาตั้งแต่ปี 2532 โดยหวังจะเอาการเมืองมาแก้ไขปัญหาทางการเมือง แต่กองทัพพม่าไม่รับฟัง มีการใช้กำลังทหารข่มขู่ และมีการปะทะกับกองทัพรัฐฉานเหนือตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยกองทัพรัฐฉานเหนือยืนยันว่าจะไม่มีการเจรจากับกองทัพพม่าอีก “ต่อสู้ก็คือต่อสู้ ไม่มีเจรจา เพราะกองทัพเราอยู่กับสภากอบกู้รัฐฉานแล้ว"

สำหรับการจัดงานวันประชาชนปฏิวัติรัฐฉาน เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2501 ซึ่งเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะและพลพรรคราว 30 คน ได้ตั้งกองกำลังต่อต้านรัฐบาลพม่าในรัฐฉาน ในชื่อกลุ่ม "หนุ่มศึกหาญ" (Noom Serk Harn - NSH) ขึ้นที่เมืองหาง เขตอำเภอเมืองโต๋น ในรัฐฉานตอนใต้ ด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น