โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

‘มาตุภูมิ-ประชาธิปัตย์’ มั่นใจ ได้ที่นั่งในครม.คุมชายแดนใต้

Posted: 14 May 2011 11:48 AM PDT

นัจมุดดีน อูมา รองเลขาธิการพรรคมาตุภูมิ ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) เขต 3 จังหวัดนราธิวาส พรรคมาตุภูมิ เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรคมาตุภูมิได้จัดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบครบทั้ง 11 เขตแล้ว ยกเว้นเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดยะลาเท่านั้น เนื่องจากยังหาผู้ที่เหมาะสมลงสมัครไม่ได้ แต่ก็เปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจมาลงสมัคร โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ นอกจากศาสนาอิสลาม

นัจมุดดีน เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับตัวว่าที่ผู้สมัครที่ลงตัวแล้ว ได้แก่ ในจังหวัดนราธิวาส เขต 1.นายไฟซอล ตอยิบ ลูกนายอูมา ตอยิบ อดีต สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)จังหวัดนราธิวาส เขต 2.นายสามารถ วาหลง อดีตสมาชิกสภาจังหวัดนราธิวาสหลายสมัย เขต 3.ตนลงสมัครเอง และเขต 4.นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ทนายความ

จังหวัดยะลา เขต 1.ยังไม่มีคนที่จะส่งลงสมัครเลือกตั้ง เขต 2.นายอามิน มูน๊ะ อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เขต 3.นายฮาฟิส ฮิเล นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี เขต 1.นายสนิท อาแว เขต 2.นายอารีเป็ง จะปะกียา อดีต ส.ส. จังหวัดปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ เขต 3.นายมะ ซูซารอ อดีตกำนัน และเขต 4.นายมุข สุไลมาน อดีต ส.ส.กลุ่มวะห์ดะห์

ส่วนการเลือกตั้งในระบบสัดส่วน หรือปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 คือ พลเอกสนธิ อันดับ 2 นายมั่น พัฒโนไท เลขาธิการพรรค อันดับ 3 นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อันดับ 4 นายเด่น โต๊ะมีนา ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคมาตุภูมิมั่นใจว่า จะได้รับเลือก ส.ส. 5 – 6 ที่นั่งขึ้นไป ถ้าได้จะสามารถต่อรองกับรัฐบาลในสมัยหน้าเพื่อขอเก้าอี้รัฐมนตรีให้กับคนมุสลิม ซึ่งผู้ที่คาดว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีนั้น จะยึดตามหลักความอาวุโส

“การหาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ พรรคมาตุภูมิจะชูความเป็นมุสลิมของหัวหน้าพรรค คือ พลเอกสนธิ เป็นจุดขาย ส่วนนโยบายในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การจัดตั้งทบวงการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้” นัจมุดดีน กล่าว

ส่วนนายเจะอามิง โตะตาหยง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.นราธิวาส 4 สมัย เปิดเผยว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับปากกับตนว่า หากตนได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง และพรรคได้ ส.ส.ในจังหวัดนราธิวาส 2 คนขึ้นไป ตนจะได้เป็นรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการดูแลจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ตอนนี้ ทุกครั้งที่ผมลงพื้นที่ ผมจะบอกกับชาวบ้านว่า ถ้าในจังหวัดนราธิวาส ได้ ส.ส. 2 คน ผมจะได้เป็นรัฐมนตรี ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ผมมั่นใจว่าจะได้รับเลือกอีกครั้ง และจะได้เป็นรัฐมนตรี” นายเจะอามิง กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"หลิ่มหลีก็อยากเป็นอภิชนกะเขาบ้าง อะไรบ้าง นะคะ นะคะ"

Posted: 14 May 2011 10:00 AM PDT

เมื่อวานหลิ่มหลีเถียงกับเพื่อนเสรีชน เป็นครั้งแรกที่หลิ่มหลีกล้ามีปากมีเสียงกับเพื่อนเสรีชน จนถึงขั้นที่ว่า กล้าใช้คำว่า ปกป้องความเป็นสลิ่มอย่างเต็มตัว คิกๆๆๆ (ปกติ เจี๋ยมเจี้ยมค่ะ ไม่กล้าหือพวกเพื่อนเสรีชนหรอกค่ะ)

สิ่งที่หลิ่มหลีกล้าเถียง และปกป้องก็เพื่อความรักที่หลิ่มหลีมีให้กับนักร้องวงเจวายเจ(วงดนตรีชายล้วนจากประเทศเกาหลีใต้) แต่ก็ไม่เท่ากับการที่หลิ่มหลีจะเขียนขอบคุณ พี่กึ้ง ที่มาจัดคอนเสริท์ของเจวายเจให้กับพวกเราชาวแคสซิโอเปียในประเทศไทย

เพื่อนเสรีชนถามว่า ทำไม ต้องขอบคุณ พี่กึ้ง
หลิ่มหลีก็พยายามอธิบายว่า เพราะถ้าไม่มีเขา เราก็อดดู
เพื่อนเสรีชนก็บอกว่า มันเป็นเรื่องของธุรกิจ
แต่สำหรับหลิ่มหลีและแฟนๆเจวายเจแล้ว เราอยากขอบคุณที่คุณกึ้งกล้าจัดคอน ในขณะที่อีกหลายๆประเทศ ไม่กล้าจัด
เรื่องของเรื่องคือ อยากขอบคุณ มันเป็นเรื่องของความกตัญญู

สลิ่มอย่างเราได้รับการกล่อมเกลาในด้านการมีศีลธรรม จริยธรรม และความกตัญญูรู้คุณ มาเป็นอย่างดี (ผ่านทางเสียงเพลง ผ่านทางทีวี ผ่านทางโรงหนัง ผ่านทางตัวหนังสือ ผ่านทางโรงเรียน ฯลฯ)

กระซิกๆๆๆๆ เสรีชนไม่เข้าใจสลิ่มอย่างหลิ่มหลี ผู้ไม่มีที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร หาที่พึ่งก็ไม่ได้ ได้แต่หันหาฝักใฝ่ใน “ไอดอลเกาหลี” ก็แค่นั้นเอง

แต่เหนืออื่นใด หลิ่มหลีก็อยากจะระบายความในใจเล็กๆที่หลิ่มหลีอึดอัด ก็คือ
ความอยากเป็นอภิชน

(เขาจะรู้ไหมว่า ไม่อยากใช้คำว่า อภิสิทธ์ชน หลิ่มหลีกลัวบทความตัวเองจะไปสนับสนุนท่านอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ สุดที่รักของเหล่าสลิ่มอย่างเราๆ แล้วเด๋วท่านจะอดได้รับเลือกตั้งเพราะ กกต แต่ถ้าระดับความหล่อ ที่ไม่มองไปที่ฝีมือทางการทำงาน ท่านนอนมาอยู่แล้วในเวทีเลือกตั้ง คิกๆๆๆๆ)

มันอาจจะไม่ใช่แค่หลิ่มหลีที่อยากเป็นอภิชน จริงๆแล้ว ชนชั้นกลางที่กระเสือกกระสนอยู่ในโลกแห่งประเทศกรุงเทพนี้ ล้วนแล้วแต่กระเสือกกระสนอยากจะเป็นไฮโซ หรือผู้มีอภิสิทธิ์ในสังคมที่ตนเองเวียนว่ายกินขี้ปี้นอนอยู่

ณ โปรแกรมการแสดงคอนเสริท์ JYJ จากประเทศเกาหลีใต้ (ขอย้ำหน่อยว่า ใต้ ไม่ใช่เหนือ) หลิ่มหลีผู้มีแต่เงินแต่ไม่มีเส้นแห่งความเป็นอภิชน ไม่สามารถหาบัตรดูคอนเสริท์ที่นั่งวีไอพีได้ ไม่สามารถหาบัตรเข้าไปดู งาน Meet and Greet งาน Press Con หรืองาน After Concert Party หลิ่มหลียอมรับว่าตัวเองก็ไม่ได้กระเสือกกระสน แต่ถึงจะกระเสือกกระสนก็รู้ว่า ไอ้ความกระเสือกกระสนของตัวเองนั้น มันไม่มีวันสำเร็จ มองไปทางไหน ก็ไม่ได้รู้จักใครที่จะมีเส้นใหญ่เส้นโต 

อาจจะไม่ได้อิจฉาคนที่ได้ อาจจะไม่ได้เจ็บใจที่อด แต่... ความอยากเป็นอภิสิทธิชนนั้นมัน บังเกิดขึ้นมาแล้ว

ย้อนนึกถึงเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา

เมื่อวัน Earth Day สตาร์บัคได้แจกกาแฟลาเต้ฟรีในช่วงเช้าจำกัดเวลาแต่ไม่จำกัดจำนวน ขอแค่เอาแก้วมา ก็จะเติมกาแฟให้เลย เป็นธรรมดามากที่เราผู้อยู่ในสังคมชนชั้นกลางจะหากินกาแฟสตาร์บัคที่มีรสชาติมาตรฐานสากลและมีร้านที่ดูดี ไฉไล ไฮโซ ราคากาแฟแก้วหนึ่งเป็นร้อยๆบาท
สามัญชนคนรากหญ้ากินไม่ได้แน่ๆ

แต่ก็มีคนนำแก้วน้ำมาขอกาแฟกินมากมาย บ้างก็ใช้แก้วที่ซื้อหาจากร้านสตาร์บัคเอง บ้างก็เอาแก้วมาเอง บ้างก็ไปเอาแก้วร้านอื่นมาใส่ บ้างก็เอาขวดน้ำดื่มตัดปากขวดมาทำเป็นแก้ว บ้างก็เอากล่องข้าวมาใส่กาแฟ เห็นแล้วก็ขำ

คนมากมายหลายหลากอาชีพ และ “หลายชนชั้น” ล้วนแล้วแต่มาเข้าแถวที่ร้านสตาร์บัคทุกสาขาในประเทศไทยเพื่อรับกาแฟลาเต้แก้วละเป็นร้อยบาทฟรี

แม่บ้านในตึก คนขับวินมอเตอร์ไซด์ แมสเซนเจอร์เงินเดือนต่ำหมื่น นักศึกษาทั่วไปที่ยังไม่มีงานทำ อากง อาม่า วัยรุ่นที่ยังไม่มีเงินเดือน พนักงานออฟฟิต คนในตึกที่มีร้านตั้งอยู่หรือตึกข้างเคียง

หลิ่มหลีชื่นชม ร้านกาแฟร้านนี้ ได้ยินว่าพนักงานก็ยิ้มต้อนรับเป็นอย่างดี

แถวยาว จน ขาประจำ รอคิวไม่ไหว

และแล้วก็มีดราม่าเกิดขึ้น เมื่อมีหลายต่อหลายคน มาประกาศทวงสิทธิ์ของการที่เป็นสมาชิก หรือเป็นผู้ดื่มกาแฟร้านนี้เป็นประจำและขอใช้สิทธิในการที่ร้านควรจะมีแถวสำหรับผู้มีสิทธินั้นๆในวันที่แจกฟรีให้กับผู้ยากไร้.. จนเป็นที่มาของดราม่ารุนแรงชนิดที่ หน้าเพจเฟสบุ๊คของสตาร์บัคไทยแลนด์ต้องลบสเตตัสเจ้าปัญหานั้นทิ้ง ก่อนที่เหตุการณ์อันเป็นพระคุณที่ให้ทุกชนชั้นได้กินกาแฟแพง กลายเป็นเหตุการณ์การด่าทอกันในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของชนชั้น

ที่หลิ่มหลีขำที่สุด ไม่ใช่การทะเลาะด่าทอกันในเรื่องของการดูถูกคนในระดับชนชั้น แต่ที่หลิ่มหลีขำชิบหาย ก็คงเป็นความตอแหลของสลิ่มบางคนที่ท้ายสุด ก็มีแสดงเสแสร้งเป็นคนดี .. สร้างภาพลักษณ์ด้วยการโพสว่า

“กาแฟแก้วนี้อาจะเป็นแก้วแรกและแก้วเดียวในชีวิตของคนบางคน”

...วายยยยยยยยยยยยยย อยากจะดูถูกเขาก็เจือกทำโง่ แสดงความ...วายออกมาได้ การจะดูถูกคนจนมันต้องเนียนกว่านี้
เด๋วให้ท่านรัฐมนตรีคลังกับภรรยาออกหนังสือสอนการดูถูกคนด้วยวิธีเนียนๆซะเลยนิ อีพวกนี้ อยากจะสร้างภาพก็ดันใช้คำให้เขาจับได้

ช่างมัน .. นี่ไม่ใช่ประเด็นอะไรที่จะให้สลิ่มมาด่าสลิ่มกันเอง .. แค่ผีเห็นผี ฮ่าๆๆๆ

การที่หลิ่มหลีมาเอ่ยถึงนี้ อาจสร้างความไม่สบายใจให้ใครหลายๆคน แต่... หลิ่มหลีไม่ได้ต้องการที่จะมาทำให้เกิดความแตกแยกนะคะ

หลิ่มหลีแค่.. เริ่มเห็นความสำคัญของสิทธิ และมองเห็นความอยากเป็นอภิิชนนั้น หลิ่มหลีไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว ความอยากได้สิทธิเหล่านั้นมีมากในหมู่สลิ่ม หรือ ชนชั้นกลาง .. หลิ่มหลีผู้ใช้ชีวิตหลักลอยไปวันๆ ไม่เคยนึกอยากเป็นคนที่มีสิทธิ ก็อยากเป็นขึ้นมา สิ่งที่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้หลิ่มหลีอยากเป็น someone ที่เก๋ๆ เท่ๆ และมีคนรู้จักว่า อือ...ม ... เธอคือใครในสังคม
นี่แหละ สลิ่ม...

สลิ่ม ผู้ไม่ได้รังเกียจของฟรี ของล่าง หรือของสูง แต่สลิ่มมีความขวนขวายอยากได้ใคร่มีความเป็นอภิชนที่ควรได้รับเหนือชนชั้นอื่น แต่เทียบเคียงได้กับชนชั้นศักดินา

เหยียบหัวชนชั้นหนึ่ง เพื่อก้าวไปสู่อีกชนชั้นหนึ่ง

บางครั้งชนชั้นที่พวกสลิ่มเหยียบก็เป็นชนชั้นเดียวกับพวกเขานั่นแหละ แต่ อิอิ เป็นชนชั้นกลางและสูงจากต่างจังหวัด ที่ริอ่านแสดงความรวยอยากเสนอหน้ามาโก้หรูเทียบเคียงชนชั้นกลางในประเทศกรุงเทพ เลยต้องมีการเหยียบกันหน่อย ชนชั้นรากหญ้าอย่าไปน้อยใจเขา เขาไม่ได้เหยียบพวกคุณค่ะ พวกคุณคือกลุ่มคนที่เขาจะสร้างบุญคุณให้ด้วยการทำความดีแสดงให้โลกของพวกเขาได้รับรู้ ฮ่าๆๆๆๆ

หลิ่มหลีจะเรียงให้ดูค่ะ..

ชนชั้นรากหญ้า
ชนชั้นกลางต่างจังหวัด
ชนชั้นล่างกรุงเทพ
ชนชั้นสูงต่างจังหวัด
ชนชั้นกลางกรุงเทพ
ชนชั้นกลางสูงกรุงเทพ
ชนชั้นสูงไม่มี ข้ามไปที่ ชนชั้นศักดินา

ในทุกมุมของสังคม มันมีเรื่องของการแบ่งชนชั้นโดยไม่รู้ตัว

เช่นว่าทุกวันนี้หลิ่มหลีไปทานข้าวตามโรงแรมไฮโซระดับ ดุสิตธานี แลนมาร์ค สุโขทัย หลิ่มหลีก็รู้สึกว่าตัวเองเทียบเทียมชนชั้นสูง การแต่งตัวให้ดูดี ใส่เสื้อผ้าไฮโซแพงหน่อยแต่ก็ไม่ถึงหมื่นอยู่ระดับประมาณ สามถึงห้าพัน กระเป๋าหลุยส์เข้าชุด รองเท้าเกรดแค่Nine west มีไอโฟนสี่ ขับรถเข้ามาในโรงแรมระดับพลาซ่าอาธินี่ ฯลฯ นั้น มันดูดีมาก ประกอบกับหน้าตาดูหมวยไฮซ้อ จริงอยู่อาจจะโดนไฮโซดังๆหรือแท้ๆดูถูกบ้าง แต่ต่ำกว่านี้ไฮโซก็เจอมาแล้ว มาเจอหน้าหมวยหมวยไฮซ้ออย่างหลิ่มหลี เขาก็ปล่อยผ่านๆไป ไม่ได้มากัดให้เหวะหวะแต่อย่างใด

การทานอาหารกับเพื่อนๆในร้านระดับเจียนนี่ ซอยต้นสน ก็คือการเป็นชนชั้นสูงชั่วครู่ได้เป็นอย่างดี .. “โอ้ ไฮโซชะมัด กู” อารมณ์ประมาณนั้น

ส่วนร้านอาหารระดับลงมาหน่อย ก็ต้องเป็นระดับ chic chic แถว เค อเวนิว อะไรทำนองนั้น เพื่อให้ดูมีระดับและแหวกแนว ไม่โบราณ ไม่เชย โก้ เก๋ หรู ทันสมัย แล้วถ้าชนชั้นไหนก็ไม่รู้ที่หน้าตาดูต่างจังหวัดหน่อย หรือแต่งตัวเชยๆมาเข้าร้านพวกนี้ หลิ่มๆทั้งหลายจะมองด้วยสายตา “มึงไม่อยู่ในที่ๆควรอยู่”

ส่วนร้านระดับ สุกี้โหลๆ หรือร้านอาหารญี่ปุ่นโหลๆ ...เราถือว่า เป็นร้านบ้านๆไปแล้วค่ะ กินร้านระดับนี้ก็เมื่อจำเป็นหรือไม่มีคิวให้รอ อารมณ์จะแบบ “อ่ะ อาหารญี่ปุ่นรสชาติไทย กินๆไปเถอะ” อันนี้ไว้ไปกินกะหลิ่มป๊ะป๋า หลิ่มม๊ะม๊า (ไม่ใช้คำว่า ทานกับร้านระดับนี้แล้ว)

ส่วนร้านอาหารข้างถนนก็เป็นอะไรที่ .. ทำให้หลิ่มๆอย่างเราได้แสดงตนว่า “เราติดดินได้เหมือนกันนะ ตะเอ๊งงงง” หนุ่มๆไพร่ๆล่ำๆทั้งหลายจ๊ะ

อีกหน่อย ประเทศเรา อาจจะมีการแยกแถวของชนชั้นในการขึ้นรถไฟฟ้า รถเมล์ ร้านค้าต่างๆ เพราะทุกวันนี้ เราเริ่มแล้วที่..การแสดงบัตรเครดิตแพลทตินัมในการเข้าจอดรถในห้างสรรพสินค้า

อย่ายกเลิกนะคะ .. รอหลิ่มหลีนิ๊ดส์ นึง นะคะ .. เด๋วหลิ่มหลีจะหาสิทธินั้นมาใช้บ้าง คิกๆ

อยากเลื่อนระดับชนชั้นบ้าง อะไรบ้าง นะคะ นะคะ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอไอแถลงสถานการณ์สิทธิไทยถูกละเมิดโดยกฎหมายและความรุนแรง

Posted: 14 May 2011 09:27 AM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แถลงระบุสิทธิมนุษชนไทยถูกจำกัดโดยกฎหมายหมิ่นฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ชี้รัฐสลายชุมนุมเสื้อแดงเกินกว่าเหตุ และมีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาที่ภาคใต้

13 พ.ค. 54 เวลา 13.00 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หรือเอไอ (AI) ได้จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโลกประจำปี 2554 ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย

ในรายงานระบุว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมาย “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อาทิ ปิดเว็บไซต์กว่า 50,000 แห่ง การจับกุมอมรวรรณ เจริญกิจ กรณีขายรองเท้าแตะที่พิมพ์ภาพถ่ายใบหน้านายกรัฐมนตรีในจังหวัดอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกรณีนักโทษมโนธรรมสำนึก (prisoners of conscious) วิภาส รักสกุลไทย ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพภายหลังถูกกล่าวหาว่าส่ง sms ที่มีข้อความเข้าข่ายละเมิดกฎหมายดังกล่าว รวมถึงกรณีจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากข้อความที่ผู้อื่นโพสต์ในเว็บบอร์ดประชาไท

เอไอระบุด้วยว่าการสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน – พฤษภาคม ปีที่แล้ว ถือเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตกว่า 70 คน รวมถึงทหาร อาสากู้ภัย และนักข่าว นอกจากนี้ การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังส่งผลให้ประชาชนกว่า 450 คนต้องถูกคุมขัง ซึ่งบางส่วนยังอยู่ในระหว่างดำเนินคดีและยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งมีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาและทำให้เสียชีวิตในระหว่างการคุมขังโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้ความรุนแรงจากฝ่ายติดอาวุธต่อพลเรือนโดยไม่เลือกหน้า แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดต้องรับผิดจากกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเช่นกัน ส่วนปัญหาด้านผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ยังคงมีมากในบริเวณชายแดนไทย-พม่า ก็พบว่ารัฐบาลไทยได้ละเมิดหลักการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย (non-refoulement) โดยส่งกลับผู้ลี้ภัยจำนวนมากกลับประเทศ ถึงแม้ว่าการส่งกลับนั้นจะเสี่ยงต่อชีวิตและเสรีภาพของผู้ลี้ภัยก็ตาม เช่น ในกรณีของชาวโรฮิงญา ซึ่งต่อกรณีนี้ วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการองค์กรเพื่อผู้ลี้ภัยไทยกล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่มีนโยบายรองรับในการปกป้องสิทธิของผู้อพยพ และไม่มีกรอบทางกฎหมายในการจัดการที่ชัดเจน จึงก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน และนำไปสู่ทัศนคติและความไม่เข้าใจของคนไทยที่มีต่อผู้อพยพและคนต่างด้าวโดยทั่วไป

ส่วนกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ภายหลังเอไอมาเลเซียได้ประกาศยกเลิกการจัดแถลงข่าวร่วมกับโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของกลุ่มนปช. ซึ่งเดิมจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 23 เมษายน 2554 จนทำให้สมาชิกเอไอประเทศไทย นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมทางด้านสิทธิมนุษยชนและประชาชนยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อเอไอสากลให้ตรวจสอบการกระทำของเบน ซาแวกกี นักวิจัยของเอไอสากลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของเอไอมาเลเซียจนนำมาสู่เหตุการณ์ดังกล่าวนั้น อเล็ก แบมฟอร์ด ที่ปรึกษาเอไอประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า เอไอจำเป็นต้องรักษาหลักการความเป็นกลาง (Impartiality) และความถูกต้อง (accuracy) ในการดำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

“ในประเด็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกนี้ ... เอไอไม่ได้ห้ามนายอัมสเตอร์ดัมแถลงข่าวแต่อย่างใด เราเพียงชี้แจงว่าการแถลงข่าวของนายอัมสเตอร์ดัมไม่ควรจัดบนเวทีร่วมกับของเอไอ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อหลักการความเป็นกลางในการทำงานของเอไอ”

หลังจากนั้น ปกป้อง ลาวัณย์ศิริ นักสิทธิมนุษยชน ได้ตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของทั้งเอไอสากลและเอไอประเทศไทย โดยได้ยกตัวอย่างกรณีท่าทีของเอไอประเทศไทยต่อสถานการณ์การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยระบุว่า ทั้งที่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ได้มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นจำนวนถึง 547 คดี ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นสูงถึง 900% แต่ในแถลงการณ์ทุกฉบับของเอไอประเทศไทยก็ไม่เคยกล่าวถึงกรณีเหล่านี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว

ต่อกรณีดังกล่าว สมชาย หอมลออ ประธานกรรมการบริหารเอไอประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากเอไอมีนโยบายไม่ทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการทำงานระหว่างสมาชิกภายในประเทศ จึงไม่มีบทบาทที่ชัดเจนต่อปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สมชายยอมรับว่าเอไอประเทศไทยสามารถทำหน้าที่เสนอแนะและให้ข้อมูลแก่นักวิจัยเอไอสากลได้

ด้านอเล็ก แบมฟอร์ด ที่ปรึกษาเอไอ ประเทศไทย ระบุตรงกันว่า การเลือกจะทำงานในประเด็นใดนั้นไม่ใช่การตัดสินใจของเอไอประเทศไทย แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเอไอสากล

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกับอสังหาริมทรัพย์สำหรับพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียง

Posted: 14 May 2011 06:41 AM PDT

โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เสนอข้อคิดด้านอสังหาริมทรัพย์ 9 ประการสำหรับพรรคการเมืองที่กำลังจะเริ่มหาเสียงในขณะนี้

1. ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มถึงจุดวิกฤติ รัฐบาลจึงไม่ควรรีบกระตุ้นการซื้อ อย่างไรก็ตามมีภาวะการเก็งกำไรเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะในอาคารชุดพักอาศัย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรศึกษาให้รอบคอบก่อนออกมาตรการใด ๆ

2. อสังหาริมทรัพย์ไม่อาจใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรง เพราะอสังหาริมทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงที่ขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจะดีได้อยู่ที่การส่งออก การนำเงินตราเข้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนการท่องเที่ยวและภาคบริการสำหรับประชาคมโลก

3. การพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีย่อมขึ้นอยู่ที่การทำให้การเมืองไทยมีความมั่นคงในสายตานานาอารยประเทศ ด้วยการจัดการเลือกตั้งและมีรัฐบาลและรัฐสภาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยเร็วอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัย และสร้างความเชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยวตลอดจนนักลงทุนต่างประเทศในการเข้ามาลงทุนในธุรกิจด้านต่าง ๆ

4. มาตรการกระตุ้นที่เคยดำเนินการมาแล้วและไม่ควรดำเนินการอีก ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยต่ำมากอยู่แล้ว คงไม่มีผล) การลดภาษีและค่าธรรมเนียมโอน (สูญเสียรายได้ของรัฐ) การให้กู้ 100% (ผิดวินัยทางการเงิน) การยืดระยะเวลาผ่อนชำระ (เพิ่มภาระผู้ซื้อในระยะยาว) การลดความเข้มงวดในการตรวจสอบเครดิตของผู้กู้ (อาจสร้างหนี้เสีย) การสร้าง "บ้านเอื้ออาทร" (อุปทานภาคเอกชนมีมากอยู่แล้ว) และการอนุญาตให้ต่างชาติเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ (ยกเว้นจะมีการประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง)

5. มาตรการที่สมควรนั้น ควรยึดประชาชนผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งไปที่กิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อบ้านโดยตรงโดยไม่ผ่านผู้เกี่ยวข้องอื่น มาตรการที่ควรดำเนินการได้แก่ การระบายขายบ้านมือสองซึ่งจะทำให้เกิดห่วงโซ่การจับจ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็นต้องผลิตใหม่และทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อบ้านได้ในราคาถูกกว่า ในการนี้รัฐบาลควรจัดระบบการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพ อำนวยประโยชน์ต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอย่างรวดเร็ว

6. รัฐบาลยังควรสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อ เช่น การคุ้มครองเงินดาวน์ ภาคบังคับ (มีบทเรียนจากวิกฤติที่ผ่านมา ประชาชนซื้อบ้านแต่ได้เพียงกระดาษใบสัญญา) และการบังคับใช้สัญญาที่ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยได้รับความเชื่อถือ ผู้บริโภคมีความมั่นใจ ทำให้เกิดการซื้อขายกันเพิ่มขึ้น สวนกระแสกับภาวะเศรษฐกิจ จึงเป็นช่องทางใช้อสังหาริมทรัพย์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

7. รัฐบาลควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ เข้ามาลงทุนด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นการทำให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวอย่างยั่งยืนเพราะการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้เข้ามาพัฒนากิจกรรมอุตสาหกรรมต่าง ๆ อันเป็นการสร้างงาน และนำเงินตราจากต่างประเทศเข้ามาโดยตรง

8. รัฐบาลยังควรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และข้อมูลแก่ประชาชนอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมาและยึดประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประชาชนทราบความจริงก่อนการตัดสินใจด้วยวิจารณญาณที่ดี

9. นอกจากนี้ในการระดมสมองเพื่อออกมาตรการที่สอดคล้องกับความเป็นจริงใด ๆ ควรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกฝ่ายเข้าร่วม เช่น ในวงการอสังหาริมทรัพย์มีสมาคมที่เกี่ยวข้องเกือบ 30 แห่ง นอกจากนี้ยังมีผู้แทนของผู้บริโภค เช่น นิติบุคคลบ้านจัดสรรและนิติบุคคลอาคารชุดจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อให้ประโยชน์ที่จะได้ตกแก่ประชาชนโดยรวมและต่อภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

โดยสรุปแล้ว พรรคการเมืองไม่ควรใช้มาตรการ “ติดสินบน” ผู้ซื้อบ้านบางกลุ่มเช่น กรณีดอกเบี้ย 0% ในขณะนี้ หรือมาตรการลดภาษีผ่านผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการอาจไม่ได้ลดราคาตามสัดส่วนของภาษีที่ลดลง พรรคการเมืองควรใช้มาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อบ้านและสังคมโดยรวม

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"กอ.รมน." สนธิกำลัง "สภาประชาชน 4 ภาค" ปะทะชาวบ้านโนนดินแดง อ้างปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ

Posted: 14 May 2011 05:37 AM PDT

ชุมชนบ้านเก้าบาตร ต.ลำนารอง จ.บุรีรัมย์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้รายข่าวว่าเมื่อวานนี้ (13 พ.ค.54) เวลาประมาณ 11 โมงเช้า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้ร่วมกับสภาประชาชน 4 ภาคประมาณ 5,000 คน รถปิ๊กอัพ 500 คัน ได้เข้าไปยังพื้นที่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่หมดสัญญาเช่าของบริษัทเอกชนซึ่งเคยเช่่าปลูกยูคาลิปตัส โดยอ้างว่าต้องการเข้ามาในพื้นที่เพื่อปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ  ชาวบ้านที่อาศัยทำกินอยู่บริเวณนั้นได้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมพวกเขาซึ่งอยู่บริเวณนี้จึงไม่รู้เรื่องนี้เลย   กลุ่มชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง จึงมีการกันไม่ให้ทหารเข้าไปในพื้นที่ จนเกิดเหตุปะทะกันอย่างรุนแรง  และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 9 คน และมีสมาชิกบ้านเก้าบาตร เครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสานบาดเจ็บสาหัส ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองจนสลบไป ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลโนนดินแดง 
 
ต่อมาเวลาประมาณบ่ายสองโมงทาง กอ.รมน. ได้เข้าไปยังกลุ่มที่มีพระวันชัยเป็นแกนนำ ซึ่ง ณ เวลานั้นมีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 300 คนแต่ไม่สามารถทัดทาน กองกำลังดังกล่าวได้  ทางฝ่ายทหารได้เข้าไปเผาโรงครัวและทำลายกุฎิพระจำนวน 8 หลังเสียหายทั้งหมด  และได้จับพระจำนวน 9 รูป ขึ้นรถปิ๊กอัพไปด้วย 
 
สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ขอให้รัฐบาลและ กอ.รมน.  แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งการเยียวยาทางร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ คปท.ได้เคยเรียกร้องมาโดยตลอด ไม่ให้ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เพราะทหารมีหน้าที่ปกป้องประเทศ  และขอให้หยุดการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านทุกกล่มในพื้นที่ทันที เนื่องจากชาวบ้านต้องการเพียงที่ดินทำกินเท่านั้น
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พุทธศาสนากับ ‘ประชาธิปไตยหางด้วน’

Posted: 14 May 2011 03:50 AM PDT

คำพูดที่ว่า พุทธศาสนาบริสุทธิ์จากการเมือง อยู่เหนือการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง อาจเป็นคำพูดที่ถูกต้องหากหมายถึงพุทธศาสนาส่วนที่เป็นสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้คือ “อริยสัจ 4”

แต่หากหมายถึงพุทธศาสนาในความหมายที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น พุทธศาสนาที่มีคำสอนเกี่ยวกับมิติทางสังคมและการเมือง หรือการปรับใช้คำสอนของพุทธศาสนาเพื่อตอบสนองต่อบริบททางสังคม-การเมืองในยุคสมัยต่างๆ หรือพุทธศาสนาเชิงสถาบันที่ประกอบด้วยศาสดา พระสาวก องค์กรสงฆ์ พุทธบริษัท 4 พุทธศาสนาในความหมายที่ซับซ้อนดังกล่าวนี้ไม่เคยเป็นอิสระจากการเมืองอย่างสิ้นเชิง หากแต่มีมิติที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอมากบ้างน้อยบ้างตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมที่พุทธศาสนาเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับการเมืองในสมัยพุทธกาล ซึ่งบทบาททางศาสนาที่สำคัญในยุคนั้นขึ้นอยู่กับบทบาทของพระศาสดา และบทบาทสำคัญทางการเมืองขึ้นอยู่กับบทบาทของกษัตริย์ หากพระศาสดาและกษัตริย์มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันการเผยแผ่พุทธศาสนาย่อมประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

แน่นอนว่าความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็น “เพื่อนสนิท” กับกษัตริย์ในรัฐมหาอำนาจในชมพูทวีปถึงสองรัฐคือ รัฐมคธกับรัฐโกศล โดยสัมพันธภาพดังกล่าวย่อมส่งผลให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในสองรัฐใหญ่ และรัฐเมืองขึ้นอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

คำสอนของพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร วัชชีธรรมหรืออปริหานิยธรรม เป็นต้น ก็น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่ยุคนี้ แต่มีข้อสังเกตว่ากษัตริย์ที่เคร่งครัดในคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนากลับเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอใน “เกมแห่งอำนาจ” ดังเช่นกษัตริย์ที่เป็นเพื่อนสนิทของพระพุทธเจ้าสองพระองค์คือ พระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าปเสนทิ ต่างก็ถูกโอรสของตนเองทำรัฐประหาร

ต่อมาหลังสมัยพุทธกาล ยุคพระเจ้าอโศกมหาราชถือเป็นยุคแห่งการปรับ “อุดมการณ์ธรรมราชา” ตามคำสอนของพุทธศาสนาเป็นอุดมการณ์แห่งรัฐ ทำให้พระราชามีอำนาจในการปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร เช่น พระราชาเป็นแบบอย่างของผู้ปฏิบัติธรรม สอนธรรม มีพระบรมราชโองการให้พระสงฆ์และข้าราชการสอนธรรมเรื่องนั้นเรื่องนี้แก่พสกนิกร อุปถัมภ์บำรุงคณะสงฆ์และมีอำนาจเข้าไปจัดการปัญหาภายในของคณะสงฆ์ เช่นกรณีมีพระปลอม การแตกสามัคคีในวงการสงฆ์ มีการใช้อำนาจของพระราชาลงโทษประหารชีวิตพระสงฆ์จำนวนมาก เป็นต้น [1]

ทว่าในท้ายที่สุดพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ตามคติธรรมราชาของพุทธศาสนาที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็สิ้นสุดสถานะแห่งความเป็นกษัตริย์ลงด้วยการรัฐประหารโดยหลานของพระองค์เอง

ในยุคต่อมา เมื่อกษัตริย์ในภูมิภาคอุษาคเนย์หันมานับถือพุทธศาสนาต่างก็ปรารถนาที่จะเป็นธรรมราชาดังพระเจ้าอโศกมาหาราช และกษัตริย์แห่งนครรัฐต่างๆ ในแผ่นดินสยาม นับแต่พ่อขุนรามคำแหงเรื่อยมาถึงยุครัตนโกสินทร์ต่างก็ยืนยัน “ความชอบธรรม” แห่งสถานะความเป็นกษัตริย์โดยอ้างอิง “ทศพิธราชธรรม” เช่นพระเจ้าอโศก

อย่างไรก็ตาม การอ้างอิงทศพิธราชธรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่สถานะของกษัตริย์ในแผ่นดินสยาม โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาที่เริ่มมีการสมมติให้กษัตริย์เป็น “เทวดาบนแผ่นดิน” หรือ “สมมติเทพ” เป็นต้นมานั้น ทำให้เกิดภาวะขัดแย้งในตัวเองอย่างที่เรียกกว่า “หัวมงกุฏท้ายมังกร” อย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือ กษัตริย์ตามคติพุทธศาสนานั้นไม่ใช่เทพ ไม่ใช่โอรสของเทพ หรือไม่ใช่ผู้ที่พระเจ้าสร้างมาและให้อำนาจศักดิ์สิทธิ์มาปกครองแผ่นดิน หากแต่กษัตริย์ตามคติพุทธคือ “คนธรรมดา” ที่ถูกคนส่วนใหญ่เลือกให้เป็นผู้ปกครอง (เรียกว่า “มหาชนสมมติ”) และให้ค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ของผู้ปกครองตามความจำเป็น หรือได้ค่าตอบแทนเพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่แบบพอเพียง [2]

ซึ่งผู้ปกครองที่กินอยู่แบบพอเพียงแล้วทำหน้าที่ปกครองให้ราษฎรมีความสุข พุทธศาสนาเรียกผู้ปกครองเช่นนี้ว่า “ราชา” แปลว่า “ผู้ที่ทำให้ประชาชนรัก” ด้วยการมีคุณธรรมของผู้ปกครองคือ “ทศพิธราชธรรม”

แต่คำว่า “กษัตริย์” ที่แปลว่า “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขตแดน” หรือผู้เป็นเจ้าที่ดิน ผู้ร่ำรวยที่สุดในแผ่นดิน บวกกับคติแบบเทวสิทธิ์ที่ว่ากษัตริย์เป็นเทพหรือเป็นผู้ที่ได้อำนาจศักดิ์สิทธิมาจากพระเจ้าเพื่อปกครองแผ่นดิน หากมองตามคติของพุทธศาสนาคำว่า “กษัตริย์” ตามคติดังกล่าวเป็นคำที่มีความหมายในทางลบ หรือเป็นคำที่ชาวบ้านตั้งขึ้นเพื่อปรับทุกข์กันว่า “ทำไมคนที่พวกเราเลือกให้ทำงานเพื่อพวกเราซึ่งสมควรอยู่อย่างสมถะเพราะเป็นคนแห่งธรรม จึงกลายเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในแผ่นดินเช่นนี้” [3]

คำที่มีความหมายเชิงบวกตามคติพุทธคือ “ราชา” ซึ่งหมายถึงคนธรรมดาที่ถูกเลือกจากคนส่วนใหญ่ให้มาทำหน้าที่ปกครอง ได้ค่าตอบแทนในการทำหน้าที่เพียงเพื่อดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และเป็นที่รักของประชาชนโดยการปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรม

จะเห็นได้ว่า ปัญหา “หัวมงกุฏท้ายมังกร” ของคติกษัตริย์ในแผ่นดินสยามคือ คติเรื่องกษัตริย์เป็นการผสมผสานระหว่างทฤษฎีเทวสิทธิ์แบบพราหณ์กับคติธรรมราชาแบบพุทธ ผลก็คือ สถานะของกษัตริย์จึงไม่ชัดว่าเป็นโอรสของเทพ (แบบจักรพรรดิญี่ปุ่น ฟาร์โรของอียิปต์ ฯลฯ) หรือเป็นเทพ ทว่าเป็นกึ่งคนกึ่งเทพ ที่เรียกว่า “สมมติเทพ” ส่วนที่เป็นเทพคือส่วนที่เป็นสถานะและอำนาจของกษัตริย์ที่ศักดิ์สิทธิ์แตะต้องหรือล่วงละเมิดมิได้ ส่วนที่เป็นคนคือส่วนที่เป็นบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองที่ถูกคนส่วนใหญ่เลือกให้ทำงานแก่ผู้ใต้ปกครองตามครรลองของทศพิธราชธรรม

ทั้งสองส่วนนี้ขัดแย้งกันโดยพื้นฐาน กล่าวคือ “สาระ” (essence) ของความเป็นเทพเรียกร้องหรือต้องการภาวะ “อภิมนุษย์” ที่อยู่เหนือหรือห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ แต่สาระของทศพิธราชธรรมเรียกร้องหรือต้องการการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ (เพราะถ้าไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบจะรู้ได้อย่างไรว่ามี หรือปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรมได้สมบูรณ์หรือบกพร่องหรือไม่)

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงความขัดแย้งในเชิงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ชนชั้นปกครองไทยกลับนำคติเรื่องทศพิธราชธรรมมาสนับสนุนสถานะความเป็นเทพของกษัตริย์ตามคติเทวสิทธิ์แบบพราหฒณ์ได้อย่างลงตัว (นี่อาจเป็นความสามารถพิเศษของชนชั้นปกครองไทย) โดยอ้างอิงคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมและการบำเพ็ญบุญบารมีมารองรับสถานะ “สมมติเทพ” ของกษัตริย์และความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในสังคม ฉะนั้น “จินตภาพสังคมไทยภายใต้ร่มพระบารมี” จึงมีลักษณะเด่นชัดดังที่ ธงชัย วินิจจะกูล อธิบายว่า

“องค์รวมที่เรียกว่าประเทศไทย จึงเต็มไปด้วยหน่วยย่อยๆที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะพิจารณาหน่วยสังคมใดๆ เช่นครอบครัว ที่ทำงาน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด กระทรวงกรม โรงเรียน บริษัท โรงงาน ฯลฯ ก็จะพบผู้คนที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน และต้องยอมรับความสูงต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” [4]

ปัญญาคือ เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 จินตภาพสังคมไทยภายใต้ร่มพระบารมี ซึ่งมีสาระสำคัญคือ “การยอมรับความสูงต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” โดยอ้างอิงฐานคิดที่นิยาม “ความเป็นมนุษย์สูง-ต่ำตามบุญบารมีที่บำเพ็ญมาแตกต่างกัน” ยังคงเป็นจินตภาพที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมทางความคิดความเชื่อของสังคมไทย

ซึ่งจินตภาพดังกล่าวขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญกับจินตภาพของสังคมประชาธิปไตยที่นิยามความเป็นมนุษย์บนฐานคิดเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาค จึงทำให้สังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ มีลักษณะแบบ “หัวมงกุฎท้ายมังกร” คือหัวยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขณะที่หางเป็นประชาธิปไตย (เช่นมีการเลือกตั้ง มีเสรีภาพในระดับที่จำกัด)

และโดยลักษณะ “หัวมงกุฏท้ายมังกร” ดังกล่าว บ่อยครั้งก็เกิดปรากฎการณ์ “หัวกินหาง” (และกินกลางตลอดตัว?) ทำให้กลายเป็น “ประชาธิปไตยหางด้วน” อย่างที่เห็นและเป็นอยู่!

อ้างอิง

[1] ดู ส. ศิวรักษ์ (แปลและเรียบเรียง).ความเข้าใจเรื่องพระเจ้าอโศกและอโศกาวทาร.(กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย,2552). หน้า 26.
[2] ดู อัคคัญสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 11
[3] สมภาร พรมทา.นิติปรัชญา.วารสารปัญญา ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2554), หน้า 329 
[4] ธงชัย วินิจจะกูล.พุทธศาสนา ความสัมพันธ์ทางสังคม ลัทธิประวัติศาสตร์ มรดกจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์.(มติชนออนไลน์ 8 พ.ค.2554)
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"อมาล อะเหม็ด อัล-ซาดะห์" ผู้หญิงคนสุดท้ายข้างกาย "บิน ลาดิน"

Posted: 14 May 2011 03:35 AM PDT

ภรรยาสาววัย 24 ปีของ "บิน ลาดิน" -- "อมาล อะเหม็ด อัล-ซาดะห์" ที่ทำเนียบขาวสันนิษฐานว่า ถูกกระสุนขณะกระโดดเข้าใส่เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษฯที่บุกจู่โจมเข้ามาในห้องนอน

เมื่อหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐอเมริกาบุกจู่โจมเข้าจับตายโอซามา บิน ลาดิน ผู้นำกลุ่มอัล เคด้า ที่เซฟเฮ้าส์ในเมืองอับบอทตาบัดนั้น มีภรรยา 3 คนและลูกๆ อีกนับสิบของเขาอยู่ในเซฟเฮ้าส์แห่งนี้ด้วย และหนึ่งในภรรยาของบิน ลาดิน ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงที่ขา ทั้งนี้ทำเนียบขาวได้อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยให้ข้อสันนิษฐานว่า อมาล อะเหม็ด อัล-ซาดะห์ (Amal Ahmed al-Sadah) ภรรยาสาววัย 24 ปีของบิน ลาดิน ถูกกระสุนขณะกระโดดเข้าใส่เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษฯที่บุกจู่โจมเข้ามาในห้องนอน

ข่าวที่ถูกเผยแพร่อต่อมาจากปากคำของเจ้าหน้าที่ทางการปากีสถาน คือ อมาล และลูกสาว-ซาฟียะห์ อยู่ในห้องนอนกับบิน ลาดินขณะที่เขาถูกสังหาร

ขณะที่ร่างไร้ลมหายใจของสามีถูกนำไปฝังบริเวณชายฝั่งทะเลอาระเบีย อมาลและภรรยาอีก 2 คนของบิน ลาดิน คือ Khairiah Sabar และ Siham Sabar ถูกเจ้าหน้าที่ทางการปากีสถานนำตัวไปควบคุมไว้ โดยไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐฯเข้าใกล้ตัวพวกเธอได้ โดยอ้างถึงข้อห้ามของศาลนาอิสลาม

อมาลถูกส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลทหารในเมือง Rawalpindi ภายใต้การควบคุมตัวอย่างเข้มงวดของทางการปากีสถาน ขณะที่สหรัฐฯกำลังพยายามอย่างยิ่งในการเรียกร้องที่จะสอบสวนเธอ เชื่อกันว่าเส้นทางที่เธอลักลอบหนีจากเยเมนเพื่อกลับมาหาบิน ลาดิน ที่หลบซ่อนอยู่ที่ปากีสถานนั้นเป็นข้อมูลสำคัญยิ่งที่สหรัฐต้องการในการตามรอกลุ่มอัล เคด้า ในอนาคต

ในบทความเรื่อง The Real Housewife of Abbottabad: What bin Laden's Spouse Knows ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารไทม์วันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียน คือ Tim McGirk อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า “ดูเหมือนว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญในหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯได้ใช้เวลาหลายปีพยายามที่จะถอดรหัสชื่อและสถานที่ต่างๆจากการส่งสาส์นที่ยากจะเข้าใจของบิน ลาดิน แต่ด้วยอานิสงส์ของการเข้าใจถึงปัญหาหลังจากที่เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว การตามเฝ้าภรรยาสาวสวยของเขาอาจทำให้เข้าถึงตัวบิน ลาดิน ได้เร็วกว่านี้”

บทความชิ้นนี้อ้างถึงบทสัมภาษณ์ของภรรยาบิน ลาดิน ที่ใช้นามแฝงว่า “AS” ซึ่งถูกตีความว่ามาจาก al-Sadah ซึ่งเป็นชื่อเต็มของอมาล โดย “AS” เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 เธอหนีออกจากอัฟกานิสถานไปเยเมนโดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทางการปากีสถาน

“เมื่อสหรัฐฯเริ่มทิ้งระเบิดที่อัฟกานิสถาน พวกเราต้องย้ายไปอยู่ในเขตภูเขากับพวกเด็กๆและอาศัยอยู่ในถ้ำหลายแห่งเป็นเวลาสองเดือนจนกระทั่งบุตรชายคนหนึ่งของเขา [บิน ลาดิน] มาพร้อมกับกลุ่มผู้ชายที่เป็นชนเผ่า มาพาพวกเราออกไปกับพวกเขา ฉันไม่รู้เลยว่าพวกเรากำลังเดินทางไปปากีสถานจนกระทั่งพวกเขาส่งต่อพวกเราให้กับรัฐบาลปากีสถาน”

ข้อมูลบางส่วนของคำให้สัมภาษณ์นั้นได้รับการยืนยันโดยสตรีชาวอาหรับผู้หนึ่งที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับนิตยสารไทม์ สตรีผู้นี้รู้จักบิน ลาดิน เป็นการส่วนตัวขณะที่อยู่ในอัฟกานิสถาน และเธออยู่ในครอบครัวที่เป็นส่วนหนึ่งของวงในกลุ่มอัล-เคด้า หลังเหตุการณ์ 9/11 กลุ่มผู้นำอัล เคด้า ตัดสินใจที่จะอพยพครอบครัวของพวกเขา “ทุกครอบครัวต้องย้ายออกจากอัฟกานิสถานอย่างรวดเร็ว” สตรีอาหรับผู้นี้เปิดเผย “พวกเขาไม่ต้องการให้เมียและลูกๆถูกจับ” อย่างไรก็ตาม อดีตคนสนิทของบิน ลาดิน ในเยเมนคนหนึ่งยืนยันว่าอมาลไม่เคยกลับถึงบ้านเลย

หลังถูกส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ทางการปากีสถานในครั้งนั้น อมาลและซาฟียะห์ได้รับการปล่อยตัวและได้รับอนุญาตให้บินกลับบ้านในเมืองอิบบ์ (Ibb) ไม่ไกลจากกรุงซาน่า (Sana'a) เมืองหลวงของเยเมนนัก บิดาของอมาลเป็นข้าราชการระดับล่างที่เมืองนี้

อย่างไรก็ตาม บิน ลาดิน ได้จัดการให้อมาล ได้กลับมาอยู่ร่วมกับเขาและลูกๆของเขาที่ปากีสถาน ในการให้สัมภาษณ์นิตยสารครั้งนั้น เธอถูกถามว่าเธอจะกลับไปหาสามีที่กำลังหลบหนีอยู่หรือไม่ คำตอบที่เป็นปริศนาของเธอ คือ “ขอดูก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้น” สื่อมวลชนปากีสถานอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ทางการว่า อมาลอ้างว่าเธอได้อาศัยอยู่กับบิน ลาดิน ที่เซฟเฮ้าส์ที่เมืองอับบอทตาบัด เป็นเวลาห้าปี

อมาล อะเหม็ด อัล-ซาดะห์: เจ้าสาวคนสุดท้ายของ บิน ลาดิน

ภาพถ่ายของ อมาล ที่ถูกนำมาเปิดเผยโดยเจ้าหน้าทางการปากีสถานนั้น เป็นภาพของหญิงสาวที่ดูซีดเซียว ริมฝีปากกว้าง ใบหน้าที่ไร้เครื่องสำอางของเธอถูกล้อมกรอบด้วยผ้าคลุมตามจารีตของอิสลาม

อมาล อายุเพียง 17 ปีตอนที่ถูกส่งตัวมาแต่งงานกับบิน ลาดินที่มีอายุมากกว่าเกือบ 30 ปี และขณะนั้นเขาเป็นบุคคลในแฟ้มผู้ก่อการร้ายที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดของสหรัฐฯแล้วจากบทบาทของเขาในเหตุการณ์วางระเบิดสถานทูตสหรัฐฯในเคนยาและแทนซาเนียเมื่อปี พ.ศ.2541 แต่ครอบครัวของอมาลรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ลูกสาวได้แต่งงานกับเขา มีรายงานว่าหัวหน้ากลุ่มอัล เคด้าจ่ายเงินจำนวน 5,000 เหรียญสหรัฐให้กับครอบครัวของเธอและเพื่อซื้อเสื้อผ้าและเครื่องเพชรให้เจ้าสาวคนใหม่

Abual Fida คนสนิทชาวเยเมนของบิน ลาดิน เปิดเผยในการให้สัมภาษณครั้งหนึ่งว่า ในปี พ.ศ.2543 บิน ลาดิน ได้ส่งเขาไปเสาะหาเจ้าสาวคนใหม่ ที่ “เคร่งศาสนา, มีจิตใจเอื้อเฟื้อ, ได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างดี, สงบเสงี่ยม, สุขุม และอ่อนวัยพอที่จะไม่อิจฉาภรรยาคนอื่นๆของชีค”

คนที่รู้จักอมาลที่ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์มีความทรงจำเกี่ยวกับเธอว่า “ขี้อาย และสุภาพนอบน้อม” เมื่อถูกนำตัวมาที่เมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2543 อมาลพักอยู่กับภรรยาอีกคนหนึ่งของ บิน ลาดิน

บิน ลาดิน แต่งงานมาแล้ว 5 ครั้ง หย่าร้าง 1 ครั้ง และการแต่งงานครั้งที่ 5 ของเขาถูกประกาศเป็นโมฆะ

ตอนที่บิน ลาดิน แต่งงานกับอมาลนั้น ภรรยาคนอื่นๆ รวมทั้งมารดาของเขาไม่เห็นด้วย

“เธอยังสาว และไม่เหมาะกับที่นั่น ภรรยาคนอื่นๆของชีค (sheik) แก่กว่าเธอมาก รวมถึงลูกชายของเขาก็แก่กว่าเธอด้วย”
     
สามหญิง หนึ่งชาย ในเซฟเฮ้าส์

ในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Al Majalla เมื่อปี พ.ศ.2545 อมาล ในนามแฝงว่า “AS” เล่าถึงการแบ่งสันปันส่วนในชีวิตสมรสของบิน ลาดิน ว่า บรรดาภรรยาของบิน ลาดินไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน แต่ละคนจะมีบ้านพักของตัวเอง มีภรรยาสองคนของบิน ลาดิน อยู่ที่เมืองกันดาฮาร์ คนหนึ่งอยู่ที่กรุงคาบูล และอีกคนหนึ่งอาศัยในพื้นที่เขตภูเขาโตรา โบรา (Tora Bora)

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดทั้งหมดต้องย้ายมาอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกันของเซฟเฮ้าส์ที่เมืองอับบอทตาบัด หากดูจากแผนผังของเซฟเฮ้าส์ จะเห็นว่าบิน ลาดิน ยังคงจัดสรรปันส่วนให้ภรรยาทั้งสามคนที่ยังอยู่กับเขาเท่าเทียมกันตามหลักอิสลาม ภรรยาแต่ละคนและลูกๆของเธอครอบครองพื้นที่คนละชั้น โดยพื้นที่ของ

อมาลอยู่บนชั้น 3 ของอาคาร

โอซามา บิน ลาดิน ถูกสังหารในห้องนี้ต่อหน้าเจ้าสาวคนสุดท้ายของเขา

ผู้หญิงหลังบ้าน บิน ลาดิน

1. Najwa Ghanem ภรรยาคนแรกของบิน ลาดิน เป็นชาวซีเรีย และเป็นญาติกับเขา ตอนที่แต่งงานครั้งแรก บิน ลาดิน อายุ 17 ปีและเจ้าสาวของเขาอายุ 15 ปี    
หลังแต่งงาน ความฝันของ Najwa Ghanem พังทลายเมื่อพบความจริงว่าสามีของเธอชอบที่จะอยู่กระท่อมมากกว่าพำนักในคฤหาสน์ แทนที่เธอจะได้ใช้ชีวิตหรูหราเพราะแต่งงานกับทายาทมหาเศรษฐี เธอกลับต้องใช้ชีวิตที่แขวนบนเส้นด้าย คอยหลบหนีพร้อมๆกับลูกอีก 11 คน หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 เธอหลบหนีออกจากอัฟกานิสถานกลับไปบ้านเกิดที่ซีเรีย พร้อมกับบุตรชายพิการคนหนึ่ง เธอยังคงไม่ได้หย่าขาดกับบิน ลาดิน ตราบจนเขาถูกสังหาร

2. Khadijah Sharif แต่งงานกับ บิน ลาดิน ปี พ.ศ. 2526 เธอมีอาชีพเป็นครู และอายุมากกว่าบิน ลาดิน 9 ปี Khadijah Sharif มีลูกกับ บิน ลาดิน 3 คนก่อนที่จะหย่าขาดกับเขา

3. Khairiah Sabar แต่งงานกับ บิน ลาดิน ปี พ.ศ. 2528 Khairiah Sabar นับได้ว่าเป็นที่พึ่งพิงทางใจของสมาชิกในครอบครัวบิน ลาดิน แหล่งข่าวที่รู้จักครอบครัวนี้เล่าว่า Khairiah Sabar เป็นคนที่ใจกว้าง และเป็นที่ปรึกษาให้กับทุกคนในบ้าน หลังเหตุการณ์ 9/11 เธอหนีไปอิหร่านและถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่ทางอิหร่านจะอนุญาตให้เธอกลับไปซาอุดิ อาระเบียได้ เธอหนีจากซาอุฯมาอยู่กับสามีที่ปากีสถานตราบจนวาระสุดท้ายของเขา

4. Siham Sabar แต่งงานกับ บิน ลาดิน ปี พ.ศ. 2530 แหล่งข่าวทางทหารระบุว่าเธออาจหนีมาซุกซ่อนตัวอยู่ที่ปากีสถานตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11

5. การแต่งงานครั้งที่ 5 ของบิน ลา ดิน ในปี พ.ศ. 2537 เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน เขาแต่งงานกับสตรีที่ไม่มีการเปิดเผยสัญชาติในเมือง Khartoum แต่การแต่งงานครั้งนั้นถูกประกาศเป็นโมฆะ ก่อนที่พิธิจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 48 ชั่วโมง

6. Amal Ahmed al-Sadah แต่งงานกับบิน ลาดิน ในปี 2543

แปลและเรียบเรียงจาก:

The Real Housewife of Abbottabad: What bin Laden's Spouse Knows
http://www.time.com/time/world/article/0,8599,2069934,00.html

Big Love in Abbottabad: How Osama bin Laden Kept Three Wives Under One Roof
http://www.time.com/time/world/article/0,8599,2070880,00.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทัพพม่าถอนรถหุ้มเกราะพ้นพื้นที่กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ"

Posted: 14 May 2011 03:03 AM PDT

กองทัพพม่าถอนกำลังรถหุ้มเกราะออกจากพื้นที่เคลื่อนไหวกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" แล้ว หลังจากส่งเข้าไปเมื่อต้นเดือนก.พ. แต่ไม่ได้ใช้งาน

14 พ.ค. 54 - มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา กองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้ถอนกำลังรถหุ้มเกราะที่ส่งเข้าไปประจำในรัฐฉานภาคกลาง พื้นที่เคลื่อนไหวกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" (SSA/SSPP) แล้ว โดยรถหุ้มเกราะมีทั้งหมด 15 คัน ถูกลำเลียงโดยรถบรรทุกของกองทัพซึ่งมีผ้าใบคลุมอย่างมิดชิดเดินทางออกจากพื้นที่เมืองหนอง มุ่งหน้าไปทางเมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน

ทั้งนี้ รถหุ้มเกราะจำนวนดังกล่าวซึ่งไม่ทราบชนิดได้ถูกส่งเข้าไปประจำในพื้นที่เมืองหนอง ในรัฐฉานภาคกลาง ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อกดดันและปราบปรามกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" (SSA/SSPP) อดีตกลุ่มหยุดยิงที่ปฏิเสธเสียงแข็งไม่รับข้อเสนอในการแปรสภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF – Border Guard Force

สาเหตุกองทัพพม่าถอนกำลังรถหุ้มเกราะกลับนั้น หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุว่า อาจเป็นเพราะไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากในการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" ที่กองทัพพม่าเป็นฝ่ายเริ่มเปิดฉากโจมตีมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมนั้น ส่วนใหญ่กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" ไม่ได้ตั้งรับซึ่งหน้า แต่ใช้ยุทธวิธีซุ่มโจมตีเป็นหลักและไม่มีเป้าหมายสำหรับให้รถหุ้มเกราะปฏิบัติงาน และอาจเป็นไปได้ว่า การถอนกำลังรถหุ้มเกราะของกองทัพพม่า เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงการลดหย่อนด้านการทหารต่อกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" เพื่อหวังให้กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" กลับใจหันหน้าเจรจาและยอมรับข้อเสนอเปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF ก็เป็นได้

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: วอนสื่อลงพื้นที่กรณี กฟผ. วางสายส่งน้ำพอง 2 – อุดรธานี 3

Posted: 14 May 2011 02:40 AM PDT

ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมขอเชิญสื่อมวลชนทุกสำนักเฝ้าติดตาม และทำข่าวกรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการสร้างแนวสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 – อุดรธานี 3  พาดผ่านที่ดินทำกินของชาวบ้าน

14 พ.ค. 54 - สืบเนื่องจากกรณีปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  ที่ดำเนินการสร้างแนวสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 – อุดรธานี 3  พาดผ่านที่ดินทำกินของชาวบ้าน   ซึ่งชาวบ้านได้รวมกลุ่มคัดค้าน ในนาม คณะกรรมการชาวบ้าวผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง(คชส.) เพราะตระหนักถึงผลกระทบทางด้านสิทธิประโยชน์ในที่ดิน และสุขภาพ ที่จะเกิดขึ้นจากแนวสายส่งไฟฟ้า

ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กฟผ. พยายามผลักดันการก่อสร้างแนวสายส่งอยู่ตลอดเวลา  แต่ก็ยังมีชาวบ้านที่มีที่ดินทำกินอยู่ในเขตแนวสายส่ง  ไม่ยินยอมให้ กฟผ. ลงมาทำการสำรวจสร้างฐานรากและตั้งเสาไฟฟ้า  เนื่งจากว่ากลุ่มชาวบ้านได้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ กฟผ. เพิกถอนแนวสายส่งดังกล่าว  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอคำตัดดสินจากศาลปกครอง

แต่ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554  เป็นต้นไป กฟผ. จะเริ่มทำการสร้างฐานรากเพื่อจะตั้งเสาไฟ  ในเขตพื้นที่ บ้านเหล่ากล้วย ต.เสอเพลอ  อ.กุมภวาปี และบ้านแม่นนท์  ต.หนองไผ่  อ.เมือง  จ.อุดรธานี โดยมีกำหนดให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน  ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ กฟผ. ได้มีการเข้าไปพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี  และมีหนังสือถึงผู้นำชุมชน พร้อมขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เพื่อให้อำนวยความสะดวกในการดำเนินการดังกล่าว

สำหรับการกระทำของ กฟผ. ดังกล่าวนั้น กลุ่มชาวบ้านจึงได้มีการทำหนังสือร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ให้เป็น คนกลางในการจัดการเจรจา/ไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาทที่เกิดระหว่าง กฟผ. กับ กลุ่มชาวบ้าน เพื่อหาทางออกต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน  โดย วันที่ 12 พฤษภาคม 2554  ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิฯ ได้มีการทำหนังสือไปยังกฟผ. และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี  ให้ชะลอการดำเนินการออกไปก่อน

ท่ามกลางการคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่และเจ้าของที่ดิน  ต่อการกระทำของ กฟผ.  แต่ กฟผ. กลับ ไม่รับฟังข้อเสนอ/ความคิดเห็นของชาวบ้าน และยังเดินหน้าที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด  จึงใคร่ขอ เรียนเชิญ สื่อมวลชนทุกท่าน ลงมาทำข่าวในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 16 มิถุนาย 2554(30 วัน) เพื่อเผยแพร่ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน ที่หน่วยงานรัฐกระทำต่อชุมชน ด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม

 


สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณะกรรมการปฏิรูปฯชุด “อานันท์” ประกาศลาออก มีผล 15 พ.ค.นี้

Posted: 14 May 2011 02:16 AM PDT

คณะกรรมการปฏิรูปฯ ชุด “อานันท์” ประกาศลาออกยุติบทบาท มีผล 15 พ.ค. นี้ เตรียมสรุปงานทั้งหมดทำพิมพ์เขียวเป็นแนวทางปฏิรูปประเทศ ให้พรรคการเมืองนำไปต่อยอดเป็นนโยบายหาเสียง เชื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาตรงจุด

14 พ.ค. 54 - สำนักข่าวไทยรายงานว่าสำนักงานปฏิรูปเพื่อปฏิรูปสังคมไทยที่เป็นธรรม จัดเวทีเสวนา เรื่อง “เลือกตั้งทั้งที ควรต้องมีปฏิรูป” โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมชัย ฤชุพันธ์ อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิตและอดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ในฐานะกรรมการปฏิรูป เข้าร่วมเสวนา

นายอานันท์ กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปไม่ใช่ของใหม่ ทุกสังคมต้องการความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สังคมใดไม่มีความยุติธรรมหรือมีความเหลื่อมล้ำมาก มักมีปัญหา ดังนั้นทุกประเทศจึงแสวงหาวิธีเพื่อแก้ปัญหา ทั้งนี้ปัญหารากเหง้าของสังคมไทยเกิดจากความแตกต่างและความเลื่อมล้ำเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัญหาสำคัญ คือ โครงสร้างอำนาจที่ไม่เปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ เกิดการกระจุกตัวของอำนาจอยู่ในเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่ ๆ ทั้งเรื่องของความมั่นคง เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการค้า การศึกษา สาธารณสุข ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเบี้ยล่างตลอดชีวิต และรู้สึกว่าอนาคตไม่มี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขปัญหา

นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการปฏิรูปฯ จะรวบรวมในสิ่งที่ทำมาทั้งหมด ถือว่าจะเป็นพิมพ์เขียวให้กับภาคประชาชนและให้พรรคการเมืองนำไปใช้ประโยชน์ในการนำเสนอนโยบายหาเสียงให้กับประชาชนและประเทศ ในส่วนที่เราทำยังไม่สำเร็จ เราจะระบุไว้ว่าให้ศึกษาเพิ่มเติม เชื่อว่าหากใครเข้ามาเป็นรัฐบาลสามารถหยิบยกไปสานต่อได้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ มีอายุ 3 ปี แต่เมื่อรัฐบาลยุบสภาและจะมีเลือกตั้ง ดังนั้นคณะกรรมการฯ ได้หารือและตัดสินใจลาออกทั้งคณะ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ แต่ทุกคนพร้อมสนับสนุนแนวทางความคิดนี้ต่อไป ซึ่งข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐานของสังคมและการแก้ปัญหาที่ตรงจุด คือ การลดอำนาจรัฐ เพิ่มความเข้มแข็งให้กับประชาชน

“พรรคการเมืองควรชูนโยบายในการปฏิรูปประเทศ ที่ขณะนี้ยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดมีแนวนโยบายชัดเจน จึงอยากให้พรรคการเมืองเล็งเห็นแนวทางที่ควรปฏิรูปเดินหน้าต่อไป สิ่งที่คณะกรรมการฯ ทำมา ไม่อยากให้มีการสูญเปล่า ข้อสรุปที่มีสามารถเดินหน้าได้จริง และผมตอบไม่ได้ว่าข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปฯ จะได้นำไปดำเนินการหรือไม่ แต่ผมคิดแต่เพียงว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ เมื่อทำไปแล้ว ไม่คิดหวังประโยชน์อื่นใด ทุกอย่างอยู่ที่จิตสำนึก รู้สึกรับผิดชอบของสังคมไทยร่วมกัน” นายอานันท์ กล่าว

ด้านนายสมชัย กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการด้านเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ ยังไม่ได้คุยกันอย่างลึกซึ้ง แต่มีแนวทางกว้าง ๆ คือ การปฏิรูประบบคิดด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย 4 ประการคือ 1.จัดสรรทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ 2.ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 3.บริหารเศรษฐกิจเจริญเติบโตต่อเนื่อง เกิดเสถียรภาพ 4.การกระจายการปันผลเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ซึ่งใน 4 ด้านนี้มีความสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีภาวการณ์ที่มีจุดอ่อนนั่น คือ การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ เบื้องต้นต้องดำเนินการจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ แรงงานมีงานทำ ที่ดินมีการใช้เต็มที่ นักธุรกิจสามารถประกอบธุรกิจได้

นายสมชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยบริหารงานที่ดีพอสมควร แต่ปัญหาหลัก คือ ปัญหาการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งไม่มีนโนบายที่ชัดเจน ทำให้ที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์  มีการกระจุกตัวในบางพื้นที่และอยู่ในมือของผู้มีอำนาจ ประเทศไทยไม่มีการเก็บภาษีที่ดิน มีเพียงแต่การเก็บภาษีโรงเรือนบำรุงท้องที่ ไม่ได้เก็บภาษีที่ทั่วถึง  บางคนมีที่ดินมาก แต่ไม่ได้เก็บภาษี ราคาที่ดินก็เพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่าจากราคาในอดีต แม้จะมีการเก็บภาษีย้อนหลังเจ้าของที่ดินก็ไม่สะเทือน เราควรมีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า จำกัดการครอบครองที่ดินทางการเกษตร ซึ่งในรัฐบาลนี้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งก่อสร้างต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การสกัดกั้นการเก็งกำไร แต่สุดท้ายเมื่อมีการยุบสภา ร่าง พ.ร.บ.นี้ก็ตกไป แต่หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะหยิบยกร่างพ.ร.บ.นี้มาพิจารณาต่อ

ขณะที่นายพงศ์โพยม กล่าวว่า ในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ คือ การยกเลิกภูมิภาค ซึ่งคนของกระทรวงมหาดไทยออกมาคัดค้าน เห็นว่าสิ่งที่คณะกรรมการฯ ทำเป็นสิ่งดี ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองเสียหาย หากกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคได้ จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนสามารถจัดการตัวเองได้ และจัดการระบบในท้องถิ่นได้ดี เพราะรู้ปัญหาในพื้นที่ดี รัฐบาลที่ผ่านมามีแต่ ลด แลก แจก แถม สร้างประชานิยม ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าใครมาเป็นรัฐบาล ควรพิจารณาว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีความจำเป็นแค่ไหน ถ้ามีความจำเป็นก็คงอยู่ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องแยกการบริหารออกจากส่วนกลาง

ด้านพระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า ก่อนที่เราจะปฏิรูปการเมืองหรืออะไรก็ตาม เราต้องปฏิรูปที่จิตสำนึกก่อน จะต้องเน้นเรื่องกระจายอำนาจ ขณะเดียวกันต้องเน้นเรื่องปฏิรูปการศึกษากระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสร้างการศึกษาที่มีความเท่าเทียมกัน ส่งเสริมคนด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา ทำให้ยกระดับคุณภาพของคนมากขึ้น และจะเป็นการเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาของสังคม ปัญหาสังคมไทยทุกวันนี้ยึดติดกับวัตถุนิยม ขณะที่พลังทางศาสนาและวัฒนธรรมอ่อนแอ พระเองก็คุณภาพลดน้อยลง ดังนั้นต้องปฏิรูป เพื่อให้คณะสงฆ์เข้มแข็งขึ้น นอกจากนี้ชุมชนต้องเข้มแข็งด้วย อย่าเป็นปัจเจกนิยมจนเกินไป

นพ.ประเวศ  วะสี ราษฎรอาวุโส  กล่าวว่า ความรู้จะไม่สูญหายไป สิ่งที่คณะกรรมการฯ ได้ทำไว้ จะเป็นอำนาจที่เราควรจะถ่ายทอดความรู้นี้ไปสู่ประชาชนผ่านทางเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนต่อไป เพราะเชื่อว่าถ้าประชาชนมีความรู้มากขึ้น ก็จะเป็นจุดเปลี่ยน

ภายหลังการเสวนา นายอานันท์ ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปฯ ขณะนี้ได้เสนอไปยังพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังไม่ได้พูดคุยในรายละเอียด หวังว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนและพรรคการเมือง ส่วนพรรคการเมืองชูนโยบายประชานิยมเป็นสิ่งที่ดีในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การคมนาคม แต่มองว่าหากมีการใช้มากจนเกินไป ประชาชนอาจเป็นง่อยได้  ซึ่งส่วนทางกับแนวทางปฏิรูปที่ต้องการลดอำนาจรัฐ เพิ่มความเข้มเข็งให้กับประชาชน ปลูกฝังการพึ่งตนเอง

เมื่อถามว่า มองว่าสถานการณ์เลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไร นายอานันท์ กล่าวว่า จะมีความรุนแรงหรือไม่ ส่วนตัวไม่ทราบ เพราะไม่ได้อยู่ในวงการการเมือง จึงไม่มีข้อมูล แต่ความรุนแรงมีอยู่ในหลายประเทศ ส่วนสถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งนั้น ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร แต่ตนเป็นคนที่มีความหวังและเชื่อมั่นในสติของคนไทย และความมีสติของคน อะไรที่เกินขอบเขตก็จะถกดึงกลับมาเพื่อให้อยู่ในจุดสมดุล บ้านเมืองเรามีมากว่า 800 ปี มีทั้งรัฐบาลที่ดีและเลว เมื่อถึงที่สุด จะมีคนดึงกลับมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สุริยะใส” ยันไม่เคยมีมติพรรครองรับให้ “การเมืองใหม่” ส่งผู้สมัคร

Posted: 13 May 2011 03:20 PM PDT

สุริยะใสแจงผ่านเฟซบุ๊ค ยันพรรคการเมืองใหม่ไม่เคยมีมติส่งผู้สมัคร ส.ส. และขณะนี้ยังไม่ได้ลาออกจากเลขาธิการพรรค พร้อมโต้ “สมศักดิ์ โกศัยสุข” เรื่องติดหนี้พรรค 6 แสน แจงได้เคลียร์หนี้จากการขายบัตรดินเนอร์ทอล์คระดมทุนเข้าพรรคแล้ว พร้อมเผยพรรคยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าเวลาออกรายการ และค่าโฆษณาทางเอเอสทีวี

ตามที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่แถลงว่าจะส่งผู้สมัคร ส.ส. ในนามพรรค ในพื้นที่ 21 จังหวัด นั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง)

ล่าสุด เมื่อวานนี้ (13 พ.ค.) ในบัญชีเฟซบุ๊ค ของนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ ได้มีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรียนไปยังผู้สนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ หัวข้อ “ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาในพรรคการเมืองใหม่ (กมม.)”

โดยมีรายละเอียดว่า “ตามที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และ กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่อีก 4 คน ร่วมกันแถลงข่าว เมื่อวานนี้ ณ ที่ทำการพรรคการเมืองใหม่ว่าพรรคการเมืองใหม่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งในระบบสัดส่วนและระบบเขต และกรณีเงินบริจาคของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ และกรณีเงินค่าบัตรดินเนอร์ทอล์คในงานระดมทุนพรรคนั้น ผู้แถลงข่าวทั้ง 5 คนกำลังนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนและไม่เป็นความจริง ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะสมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนพรรคสับสนต่อจุดยืนของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมทั้งทำให้ผมในฐานะเลขาธิการพรรคได้รับความเสียหายโดยตรง จึงขอเรียนชี้แจงเป็นประเด็นดังนี้

1. พรรคการเมืองใหม่ไม่เคยมีมติส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นระบบเขตและระบบสัดส่วนก็ตาม นอกจากนี้คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคที่ต้องทำหน้าที่รับรองผู้สมัคร ตาม พรบ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 37 และ 38 ก็ยังไม่เคยมีการประชุมเพื่อรับรองและเสนอชื่อผู้สมัครของพรรคแม้แต่ครั้งเดียว ฉะนั้นการที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ประกาศส่งผู้สมัครในนามพรรคการเมืองใหม่ จึงเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ไม่มีมติพรรครองรับ และกรรมการบริหารพรรคเสียงข้างมากทั้ง 10 คน ที่ยืนตามความเห็นของที่ประชุมใหญ่พรรค จะไปยื่นหนังสือพร้อมบันทึกการประชุมเพื่อยืนยันต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในสัปดาห์หน้าอีกครั้งหนึ่ง

2. กับความพยายามปล่อยข่าวว่าตัวผม ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคก่อนหน้านี้นั้น ข้อเท็จจริงก็คือผมเคยแจ้งในที่ประชุมกรรมการบริหารว่าหลังการประชุมใหญ่พรรคในวันที่ 24 เมษายน 2554 ผมจะลาออกเมื่อมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค แต่เมื่อผมพบพิรุธและขบวนการตุกติกและบิดเบือนของคนบางกลุ่มในพรรคที่พยายามจะฝ่าฝืนและไม่เคารพความเห็นของสมาชิกพรรคมากกว่าร้อยละ 90 ที่เห็นว่าพรรคไม่ควรส่งผู้สมัครฯ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นเหตุให้ผมตัดสินใจไม่ยื่นหนังสือลาออกตามข้อบังคับพรรค ข้อที่ 23 (2) ที่ระบุว่า การลาออกจากกรรมการบริหารพรรคจะสมบูรณ์เมื่อได้ยื่นใบลาออกต่อหัวหน้าพรรคหรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าพรรค ซึ่งที่ผ่านมาผมยังไม่เคยยื่นใบลาออกแต่อย่างใด

3. กรณีที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ระบุว่าพรรคไม่เคยได้รับเงินบริจาคจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล จำนวน 3 ล้านบาทนั้น เป็นการแถลงข่าวโดยยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะพรรคการเมืองใหม่ยังเป็นหนี้ค้างค่าเช่ารายการ “ก้าวที่กล้า สู่การเมืองใหม่” และค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจการของพรรคทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี หนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการ และเว็บไซด์เมเนเจอร์ออนไลน์ ซึ่งพรรคยังไม่ได้จ่าย และหากมีข้อชวนสงสัย หัวหน้าพรรคก็ควรตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพราะพรรคได้ทำสัญญาค่าเช่าไว้ด้วย ที่สำคัญ กก.บห.พรรคต่างก็ทราบดีว่านับตั้งแต่นายสนธิ ลาออกจากหัวหน้าพรรค และนายสมศักดิ์ขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าแทนยอดบริจาคของประชาชนที่ให้กับพรรคก็แทบไม่มีเลย

4. ส่วนที่มีการกล่าวหาผมว่ายังเป็นหนี้พรรคอยู่ 6.5 แสนบาท เพราะยังไม่ชำระค่าบัตรดินเนอร์ทอล์คหรืองานระดมทุนของพรรค ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ปีที่แล้ว โดยข้อเท็จจริงนั้นตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 ที่มี กกบ.หลายท่านยังไม่สามารถทวงค่าบัตรดินเนอร์ทอล์คได้ ในส่วนของผมคือยอด 6.5 แสนบาท หลังจากนั้นก็เริ่มได้เงินค่าบัตรมาเป็นระยะๆ บางคนก็นำบัตรมาคืนจนมีการตัดยอดของผมเหลือแค่ 1 แสนบาท ตามมติที่ประชุม กกบ. ซึ่งผมต้องรับผิดชอบแทนผู้ที่ซื้อบัตรไปแต่ได้นำบัตรมาคืน (รายละเอียดเอกสารหลักฐานดูได้ที่ www.facebook.com/suriyasai)

ฉะนั้นการระบุว่าผมยังค้างหนี้พรรคอยู่ 6.5 แสนบาทนั้น จึงเป็นการยกเอายอดหนี้ค้างตั้งแต่ปีที่แล้วซึ่งได้มีการจัดการไปแล้ว ขึ้นมากล่าวหาเพื่อทำลายความชอบธรรมของผม ทั้งที่นายสมศักดิ์ และกรรมการบริหารพรรคก็ทราบดีว่างานระดมทุนพรรคครั้งนั้นผมสามารถจำหน่ายบัตรได้มากกว่าคนอื่น กรรมการบริหารบางท่านไม่ได้ช่วยขายเลยแม้แต่ใบเดียว ผมและพรรคก็ไม่ติดใจเพราะเราทำงานโดยยึดถือความเสียสละและคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละคน นอกจากนี้ กก.บห.พรรคทราบดีว่าผมได้ใช้เงินที่กู้ยืมส่วนตัวมาสำรองจ่ายให้กับพรรคเป็นระยะๆ เกือบ 2 ล้านบาท ผอ.พรรคและเจ้าหนี้พรรคทราบเรื่องนี้ดีเพราะทุกอย่างมีเอกสารหลักฐานรองรับ”

จดหมายของนายสุริยะใสยังลงท้ายด้วยว่า “สำหรับจุดยืนผมต่อสถานการณ์ปัญหาในพรรคนั้น ผมและ กก.บห. 10 คนยังยืนยันที่จะคัดค้านความพยายามของ กก.บห. บางคน และ สาขาบางสาขา ที่ไม่เคารพเสียงของสมาชิกพรรคจนถึงที่สุด โดยเฉพาะการพยายามของกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มที่หวังใช้พรรคการเมืองใหม่ เป็นเครื่องมือเพื่อเผชิญหน้าและกล่าวหาโจมตีการเคลื่อนไหวของพี่น้องพันธมิตรฯ และทำลายความชอบธรรมของการรณรงค์โหวตโน ขบวนการนี้ถือเป็นไส้ติ่งของพันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่ต้องต่อต้านและกำจัดออกไปให้ถึงที่สุด”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น