โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ปาฐกถา ชัยวัฒน์ สถาอานันท์: ฟังเสียงเต้นของ “ความจริง” ในสังคมไทย?

Posted: 09 May 2011 01:47 PM PDT

 

 

 
 
“หากประสงค์จะเข้าใจสังคม ตระหนักถึงรากเหง้าแห่งความไม่เป็นธรรม
เห็นร่องรอยโครงสร้างอำนาจในสังคม
ก็ควรต้องศึกษาในห้วงขณะที่เกิดความรุนแรงขึ้น”
 
 
ในตอนท้ายของหนังสือ ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย (กรุงเทพฯ: มติชน, 2551) ข้าพเจ้าเคยเขียนว่า
 
อดีตตประธานาธิบดีของไฮติ Leslie Manigat ซึ่งได้อำนาจจากฝ่ายของดูวาลิเอร์เคยกล่าวถึงความรุนแรงทางการเมืองในไฮติว่า เปลื้องร่างทางสังคม (ไฮติ) จนเปลือยเปล่า” (“strips bare the social body”) และช่วยให้ได้เห็นการทำงานของสังคมที่แท้จริงซึ่งซ่อนอยู่ ความรุนแรงทางการเมืองเช่นที่เกิดในสังคมไทยทำให้ผู้คนพรั่งพรึงแต่ก็ตรึงพวกเขาไว้ ทำให้รู้สึกพลุ่งพล่านดาลเดือด จนแทบจะทำอยางอื่นใดไม่ได้นอกจากนั่งมอง แต่ในเวลาเดียวกัน ขณะที่ความรุนแรงเปลื้องร่างของสังคมจนเปลือยเปล่า ก็เป็นโอกาสที่ทรงค่าที่จะ ใช้เครื่องฟังหัวใจทาบกันผิวหนังที่เปล่าเปลือยและฟังเสียงเต้นของความเป็นจริงใต้นั้นด้วยเหตุนี้หากประสงค์จะเข้าใจสังคม ตระหนักถึงรากเหง้าแห่งความไม่เป็นธรรม เห็นร่องรอยโครงสร้างอำนาจในสังคม ก็ควรต้องศึกษาในห้วงขณะที่เกิดความรุนแรงขึ้น
 
ข้าพเจ้าเห็นว่างานของ ดร.บัณฑิต จันทรโรจน์กิจ ร่วมกับกลุ่ม มรสุมชายขอบที่กลายมาเป็นนิทรรศการในวันนี้ เป็นความพยายามที่จะรวบรวมเรียบเรียงปะติดปะต่อความขัดแย้งที่ถึงตาย ซึ่งเกิดขึ้นกลางเมืองเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา พวกเขาอาศัยข่าวจากหนังสือพิมพ์รายวันมาประมวลเหตุการณ์ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามลำดับเวลา จากนั้นก็บันทึกการเสียชีวิตและบาดเจ็บของคนทุกฝ่ายตามเวลาที่เกิดขึ้น จัดวางกรณีคนเจ็บคนตายไว้ในแผ่นที่ซึ่งแสดงที่ตั้งและจุดปะทะจนเกิดความรุนแรง ถัดไปก็แสดถงสถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากกรณีดังกล่าวเพื่อพยายามแสดงให้เห็นทั้งสถานภาพของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ สุดท้ายยังแสดงให้เห็นแผนภูมิของสถิติบาดแผลของเหยื่อความรุนแรงเพื่อให้พอประมาณเป้าหมายในการใช้ความรุนแรงได้บ้าง
 
อาจกล่าวได้ว่า ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ใช้ข้อมูลและเรื่องราวเป็นเสมือน เครื่องฟังหัวใจกับผิวหนังที่เปลือยเปล่าของสังคมไทย และกำลังช่วยให้เราได้ยิน เสียงเต้นของความเป็นจริงได้นั้น
 
แต่ปัญหามีอยู่ว่า ความจริง” (truth) และ ความเป็นจริง” (reality) เต้นเป็นเสียงอย่างไรในบริบทความขัดแย้งชนิดที่ถึงตายเช่นที่ได้กร่อนกินสังคมไทยในช่วงเวลาขวบปีที่ผ่านมา?
 
 
การจัดการ ความจริง” : อินโดนนีเซีย ตุลาคม 2508 – มีนาคม 2509
 
เกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ เมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียในขณะนั้นตอบโต้พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ที่จะทำรัฐประหารเปลี่ยนรัฐบาล การฆ่ากันครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศราว 500,000 คน (ตัวเลขต่ำที่สุดอยู่ที่หนึ่งแสนและสูงสุดคือสองล้านคน) ไม่รวมผู้คนอีกนับแสนที่ต้องถูกจับกุมคุมขัง ทรมาน โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมด้วยน้ำมือรัฐ สมบัติ จันทรวงศ์ เขียนอภิปรายปัญหาเกี่ยวกับ การจัดการ ความจริง’” ในกรณีนี้ไว้ว่า
 
เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากนักว่า กลุ่มผู้นำทางการเมืองที่มีสายสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับกองทัพ ย่อมไม่อยากจะพูดถึงความรุนแรงในระดับ มหาศาลที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการก้าวสู่อำนาจของตน กระนั้นก็ดี แม้ระบอบการปกครองของซูฮาโต ไม่เคยพยายามจะปฏิเสธว่าการประหัตประหารได้เกิดขึ้นจริง แต่เอกสารทางราชการ หรือเอกสารกึ่งราชการของอินโดนีเซียก็จงใจละเลยที่จะพูดถึงการประหัตประหารโดยสิ้นเชิง และความรู้สึกโดยทั่วไปก็คือ เรื่องนี้ไม่อาจนำมาถกเถียงอภิปรายกันอย่างเปิดเผยได้
 
นอกจากงานเขียนในรูปของนิยายและเรื่องสั้นของนักเขียนอินโดนีเซียแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า ชาวอินโดนีเซียทั่วๆ ไป ปฏิเสธที่จะเขียนหรือพูดถึงเหตุการณ์อันร้ายแรงนี้อย่างเปิดเผย เช่น การที่นักวิจัยต่างชาติพบว่าสตรีอินโดนีเซียผู้หนึ่งตอบคำถามว่าสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ปกติ เป็นปกติดีทั้งๆ ที่สามีของนางถูกฆ่าเพราะเป็นสมาชิกพรรค PKI เป็นต้น เพราะฉะนั้น ในขณะที่ในแง่หนึ่งนั้น อาจกล่าวได้ว่า แม้ ทุกคนรู้ดีกว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1965-66 หรือย่างน้อยที่สุด ผู้คนในแต่ละชุมชน ล้วนรู้ดีว่าได้เกิดอะไรขึ้นเฉพาะในชุมชนของตน แต่กว่าสามสิบปีของการที่ผู้เห็นเหตุการณ์เหล่านี้ต้องนิ่งเงียบ กว่าสามสิบปีที่เรื่อง บอกเล่าอย่างนี้ไม่มีโอกาสได้รับการบอกเล่าซ้ำ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องของครอบครัวหรือของชุมชน ทำให้ ความทรงจำเหล่านี้อาจลบเลือนไปเองโดยธรรมชาติได้มาก สำหรับสังคมที่ชาวบ้านในชุมชนยังคงมีวัฒนธรรมแบบมุขปาฐะอยู่มาก ความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ย่อมมีผลกระทบรุนแรงต่อการรักษาความจำของ ความจริงไว้
 
ด้วยเหตุผลนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ คำอธิบายภาพรวมของความจริงที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1965 จากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ที่เป็นที่ยอมรับกันจะมีได้หลายชุด เช่น การให้น้ำหนักแก่บทบาทของฝ่ายทหารที่นำโดยนายพลซูฮารโตและพันธมิตรของตน โดยเฉพาะในการลอบสังหารทางการเมืองที่กระทำแก่คู่แข่งทางการเมือง คือ พรรค PKI ทั้งนี้ ไม่ว่าซูฮารโตจะมีส่วนรู้เห็นในการสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหารในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.1965 หรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ดี จำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงมาก และความกว้างขวางของการมีส่วนร่วมของมวลชนในขบวนการประหัตประหารดังกล่าว โดยไม่ต้องพิจารณาถึงบทบาทของกองทัพอินโดนีเซีย ทำให้เกิดคำอธิบายด้วยว่า การแบ่งขั้วทางการเมืองในอินโดนีเซียเมื่อปี ค.ศ.1965 นั้น เด็ดขาดสูงสุดอยู่แล้ว
 
ฉะนั้น การฆ่าฟันผู้คนจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นจึงเป็นการสะท้อนถึงความกดดันอันรุนแรงที่บีบคั้นสังคมจนรับไม่ได้ถึงขนาดปะทุออกมาในรูปของความรุนแรงชั่วคราวทางจิตวิทยาของมวลชน มากกว่าที่จะเกิดจากการกระทำของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ในขณะเดียวกันก็มีคำอธิบายที่อาจแยกออกไปได้อีกว่าการประหัตประหารกันครั้งใหญ่นี้ หลักๆ แล้วเป็นผลมาจากการเร่งเร้าความเป็นปฏิปักษ์อันล้ำลึกและสลับซับซ้อนในระดับท้องถิ่นที่สืบเนื่องมาจากการขยายฐานทางการเมืองของพลพรรค PKI ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่กดดันทุกฝ่ายอย่างสูงยิ่ง ในช่วงระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ (Guided Democracy) ของประธานาธิบดีซูการโน และเมื่อเกิดเหตุการณ์ รัฐประหารและ การตอบโต้รัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1965 สถานการณ์ก็สุกงอมเกินพอที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น ท้ายที่สุดยังมีคำอธิบายว่า วัฒนธรรมของอินโดนีเซีย เป็นวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงที่รัฐเองมีบทบาทในการยอมรับและแม้แต่สร้างวัฒนธรรมนักเลงหัวไม้ที่ใช้วิธีการนอกกฎหมาย การลักขโมย หรือแม้แต่การฆาตรกรรมให้เกิดขึ้น ตราบเท่าที่มันเป็นประโยชน์ในทางการเมือง
 
แต่ในขณะที่นักวิชาการอาจถกเถียงกันได้มากมายว่าอะไรเกิดขึ้น จริงๆในเหตุการณ์ 1965-66 เช่นบ้างก็ว่า พลพรรค PKI เป็นผู้คิดและริเริ่มการรัฐประหารด้วยการสังหารหกนายพลของกองทัพ บ้างกว่าการ รัฐประหารเป็นผลมาจากการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันภายในกองทัพเอง หรือบ้างก็ว่า นายพลซูฮารโต เป็นผู้นำการรัฐประหาร หรืออย่างน้อยที่สุดก็บิดเบือนและใช้ประโยชน์จากการที่กลุ่มนายพลถูกฆ่า บ้างก็ว่าประธานาธิบดีซูการโน อนุญาตหรือสนับสนุนให้นายทหารที่ไม่พอใจ ดำเนินการต่อนายพลเหล่านั้น และบ้างก็ว่าการปฏิบัติงานลับของต่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในความพยายามที่จะขจัดประธานาธิบดีซูการโน ซึ่งมีทีท่าว่าฝักใฝ่ฝ่ายซ้าย ออกไปจากบทบาทผู้นำอินโดนนีเซีย และจากบทบาทผู้นำในกลุ่มโลกที่สาม
 
สำหรับทางการอินโดนีเซียแล้ว ความจริงที่เป็น ทางราชการมีอยู่หนึ่งเดียว เพราะฉะนั้น รัฐบาลอินโดนีเซีย หลังเหตุการณ์ดังกล่าวจึงแสดงออกผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงในหลักสูตรการเรียนการศึกษาว่า PKI เท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบในการฆ่าเหล่านายพล และเพราะฉะนั้น จึงเป็นกลุ่มพลังที่ทรยศต่อชาติ และควรที่จะถูกขจัดออกไปจากทุกระดับของสังคม จะเห็นได้ว่าการควบคุมวาทกรรมภายในสังคมอย่างเคร่งครัด รวมถึงการที่หน่วยงานด้านความมั่นคงมีการปฏิบัติต่อผู้ที่มีทัศนะตรงกันข้ามอย่างรุนแรง ทำให้บรรยากาศของภัยคุกคามจากคอมมิวนิสตร์ กลายเป็นสิ่งที่ระบบการปกครองของซูฮารโต สามารถนำไป สร้างเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนได้เสมอ แม้เมื่อล่วงเข้ามาในทศวรรษของ ค.ศ.1990 จะมีข้อเขียนของชาวอินโดนีเซียเองประเภทบันทึกความจำส่วนตัว ว่าด้วยตุการณ์เมื่อ ค.ศ.1965 ออกมาบ้าง แต่หนังสือเหล่านี้ล้วนถูกห้ามเผยแพร่โดยทางการ ในขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียก็ออก หนังสือปกขาวของทางการที่ยืนยันว่า หน่วยปฏิบัติการลับของ PKI คือผู้มีบทบาทหลักในการก่อให้เกิดเหตุการณ์ ค.ศ.1965 ขึ้น
 
 
“เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี ค.ศ.1965 นั้นอาจยิ่งใหญ่เกินไป
ในแง่ของเหยื่อผู้ถูกกระทำและผู้กระทำและอาจส่งผลกระทบต่อผู้มีอิทธิพลในปัจจุบันอีกจำนวนมาก
ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเผย ความจริง
รวมถึงความรู้สึกผิดร่วมกันของสังคมที่มีแรงจูงใจอยากให้ปิดบังความจริงนี้อีกต่อไป”
 
 
ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่นายพลซูฮารโตพ้นจากอำนาจทางการเมืองไปแล้ว เพราะปรากฏว่า แม้งานเขียนเกี่ยวกับหตุการณ์ ค.ศ.1965 ที่ขัดแย้งกับ ความจริงหรือ ประวัติศาสตร์ของทางราชการจะตีพิมพ์ได้ แต่ความพยายามของประธานาธิบดีอับดุล ราห์มาน วาฮิด เองซึ่งขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ.1997 ที่จะยกเลิกกฎหมายห้ามลัทธิมาร์กซ์-เลนิน กลับถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากเกือบจะทุกส่วนของสังคม ถึงนาดนำไปสู่การคุกคามว่าจะมีการใช้กำลังกับกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิให้กับเหยื่อในกรณี ค.ศ.1965 ด้วยซ้ำ รวมถึงความคิดที่จะจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความจริงและการปรองดองแห่งชาติ (Komisi Independent Pencari Kebenaran untuk Rekonsiliasi National) ซึ่งถูกกำหนดให้หาความจริงเมื่อปี ค.ศ.1965 ก็ไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้ ปฏิกิริยาเช่นว่านี้อาจอธิบายได้ว่าเป็นเพราะเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี ค.ศ.1965 นั้นอาจยิ่งใหญ่เกินไปในแง่ของเหยื่อผู้ถูกกระทำและผู้กระทำและอาจส่งผลกระทบต่อผู้มีอิทธิพลในปัจจุบันอีกจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเผย ความจริงรวมถึงความรู้สึกผิดร่วมกันของสังคมที่มีแรงจูงใจอยากให้ปิดบังความจริงนี้อีกต่อไป
 
ล่าสุดคือ ความพยายามที่จะออกกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยความจริงและการปรองดอง (Truth and Reconciliation Commission) ซึ่งในทางปฏิบัติ แม้คลอดเป็นกฎหมายมาได้จริงๆ ก็ยังจะต้องประสบกับปัญหาว่าจะดำเนินการอย่างไรในเมื่อผู้มีชีวิตรอดเหลืออยู่ พยานรู้เห็นเหตุการณ์จำนวนมากจะอยู่ในวัยชราหรือเสียชีวิตไปแล้ว ที่สำคัญไม่แพ้กันได้แก่การที่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่เต็มใจที่จะพูดถึงประสบการณ์ส่วนตัวของตน เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ความเงียบคือชีวิตส่วนนี้ที่รัฐบาลเดิมเคยบีบบังคับให้คนเหล่านี้ต้องดำรงมาก่อน และแม้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำรัฐบาลไปแล้ว แต่กระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งแน่นอนว่ายังโยงใยถึงเหตุการณ์ ค.ศ.1965 ก็ยังคงดำรงอยู่ สำหรับผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ความเป็นปฏิปักษ์และความกลัวที่มีต่ออดีตจึงยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน
 
สำหรับฝ่ายผู้มีอำนาจนั้น การจัดการกับ ความจริงมีได้หลายรูปแบบ เช่น ในขณะที่โดยทั่วๆ ไปแล้ว ความทรงจำของผู้เป็นเหยื่อ น่าจะเป็นการคุกคามต่อการนำเสนอภาพของความรุนแรงที่พึงปรารถนาของผู้ซึ่งมีอำนาจ แต่การที่รัฐบาลซูฮารโตไม่ปฏิเสธว่า เกิดความรุนแรงขึ้นและพยายามทำให้ประชาชนชาวอินโดนีเซียเข้าใจ หรือเชื่อว่า ความรุนแรงในระดับที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1965 อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้นั้น กลับเป็นการเสริมอำนาจของตนทางอ้อมที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะ ความทรงจำว่าทหารเคยทำอะไรแก่ประชาชน และชาวอินโดนีเซียเองสามารถทำอะไรต่อกันและกันเองได้นี้เองที่เป็นเครื่องเตือนความจำว่า อินโดนีเซียนั้นจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มั่นคง และว่ากันกว่าความกลัวว่าการโค่นล้มรัฐบาลของซูฮารโตจะนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงเช่นว่านี้เองที่ทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ในที่สุดแล้วซูฮารโตต้องหลุดพ้นจากอำนาจไปในปี ค.ศ.1998 นั้นล่าช้าไปพอสมควร ในแง่หนึ่งนั้น วิธีจัดการกับ “ความจริง” ของระบอบซูฮารโตในเรื่องนี้ไม่ได้แตกต่างอะไรนักจากคำเตือนของนักประวัติศาสตร์อินโดนีเซียว่า ความพยายามค้นหาความจริงที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ ค.ศ.1965 จะ “เปิดบาดแผลของชาติและสนับสนุนให้เกิดการแก้แค้น” ขึ้นมาอีก
 
แต่ “ความจริง” ที่เป็นประเด็นปัญหา เป็นสิ่งที่ต้องถูก “จัดการ” ในแง่ของการที่อาจถูก “ปกปิด” “บิดเบือน” “สร้างใหม่” และแน่นอนว่า ย่อมถูก “แสวงหา” ได้นี้ ในกรณีเหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ.1965 ของอินโดนีเซียคือ ความจริงประเภทไหน”<2>
  
 
ปัญหา “ความจริง” <3>
 
 
“ในขณะที่ความเห็นซึ่งต่างกัน หรือ “ความจริงเชิงเหตุผล”
อาจเป็นสิ่งที่โต้เถียง ประนีประนอมหรือปฏิเสธได้
“ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” ที่บางฝ่ายไม่พึงประสงค์เป็นสิ่งที่ดื้อดึงไม่ยอมหนีหายไปไหน
บางครั้งเมื่อเอาชนะกันด้วย “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” (factual truth) ไม่ได้
ก็จะถูกโต้ด้วย “ความเท็จอย่างซึ่งหน้า” (plain lies)
 
 
 
เมื่อพระเยซูถูกจับและถูกนำตัวไปพบไพเลตขุนนางโรมัน ก่อนที่จะถูกตัดสินให้ตรึงกางเขนนั้น ไพเรตถามพระองค์ว่า ตกลงพระองค์เป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือมิใช่ พระเยซูตอบว่า “เป็นท่านเองที่กล่าวว่าเราคือกษัตริย์ เราถือกำเนิดมาเพื่อการนี้ มายังโลกนี้เพื่อการนี้ เพื่อเป็นพยานต่อความจริง และทุกผู้คนที่อยู่ข้างความจริงก็ฟังเสียงเรา” ไพเลตจึงถามว่า “ ความจริงหรือ? (ความจริง) คืออะไร?” (John 18:37-38)<4> คำถามของไพเรตสำคัญเพราะในทางหนึ่งคำถามนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาความเป็นกลางในทางการเมือง กล่าวคือ การที่ผู้แทนอาณาจักรโรมันถามเช่นนี้ได้ ในสภาพการณ์ทางการเมืองปาเลสไตน์ยุคนั้น แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พระเยซูอ้างว่าเป็น “ความจริง” นั้น อาณาจักรโรมันไม่สนใจถือสาแต่อย่างใด<5> ในอีกแง่หนึ่ง คำถามของไพเลตสำคัญเพราะคำถามดังกล่าวมิได้เกี่ยวกับ “ความจริง” (about truth) ที่ว่าพระเยซูเป็นอะไรกันแน่ แต่เป็นคำถามว่า “ความจริง” นั้นเองคืออะไร เป็นการตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของ “ความจริง” ซึ่งเป็นไปได้จากมุมมองของผู้มีความสงสัยอย่างแทบไร้ขอบเขต<6> อาจเพราะเช่นนี้เอง Nietzsche จึงถือว่าคำถามของไพเรต (Pontius Pilate) นี้เป็นเพียงคำถามเดียวเท่านั้นที่มีคุณค่าอยู่บ้างในพระคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่ม<7>
 
Adrent เริ่มต้นจาการถือว่า ยุคสมัยใหม่เชื่อว่า “ความจริง” เป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นอยู่เองหรือมิได้ถูกค้นพบ หากเป็นสิ่งที่ถูกผลิต (producted) โดยน้ำมือมนุษย์ (human mind) และแยก “ความจริง” ออกเป็นสองชนิดคือ “ความจริง” ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือปรัชญาซึ่งจัดว่าเป็น “ความจริงเชิงเหตุเชิงผล” (rational truth) ส่วน “ความจริง” อีกแบบหนึ่งเป็น “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” (factual truth)
 
ในอดีต “ความจริงเชิงเหตุเชิงผล” เป็นปัญหาต่อสังคมตลอดมา เช่น ความจริงทางวิทยาศาสตร์บอกว่าโลกมิได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล น่าจะเป็นปัญหาต่อสังคมภายใต้กรอบพระศาสนจักรที่เห็นว่า การที่จักรวาลมีโลกเป็นศูนย์กลาง สอดรับกับความเชื่อทางศาสนามากกว่า ดังนั้น คนอย่างกาลิเลโอจึงต้องถูกสอบสวน หรือในคติทางปรัชญาการเมืองอย่างเพลโต คนพูดความจริงให้ตรวจสอบหลักฐานของสังคมการเมืองอย่างโสเกรตีสก็จะมีภัยถึงชีวิต หรือ ฮ้อบส์ ผู้เขียน Leviathan อันลือชื่อเองก็ถูกคุกคาม หนังสือของเขาถูกเผาทำลาย Arendt อธิบายว่า ความขัดแย้งในสมัยนั้นเป็นความขัดแย้งระหว่าง “ความจริง” ของนักปรัชญาประเภทหนึ่ง กับวิถีชีวิตของผู้คนพลเมืองสามัญอีกฝ่ายหนึ่ง วิถีของประชาชนเป็นวิถีที่แปรเปลี่ยนเพราะ “ความเห็น” ของผู้คนเปลี่ยนแปลงได้ วิถีของนักปรัชญาเป็นความพยายามแสวงหา “ความจริง” ที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อจะสร้างหลักการที่จะทำให้กิจการของมุนษย์คือ การเมือง มีเสถียรภาพ
 
ในแง่นี้ สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ “ความจริง” ทางปรัชญา จึงมิใช่ “ความเท็จ” แต่คือ “ความเห็น” (opinion) ยิ่งกว่าอย่างอื่น แม้ความขัดแย้งประเภทนี้จะดำรงอยู่เรื่อยมาไม่ว่าจะในความคิดของเพลโต ค้านท์ หรือ สปิโนซ่า<8> แต่ที่น่าสนใจคือ Arendt ชี้ให้เห็นว่า ในสมัยนี้การปะทะกันระหว่าง “ความจริง"”ของนักปรัชญากับความเห็นในตลาด (เช่น ในกรณีของโสกราตีส) ได้เลือนหายไปสิ้นแล้ว ไม่แง่หนึ่งเพราะการแยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร และดังนั้น “ความจริง” อันสูงส่งทางศาสนา เช่นที่ถือกันในประเทศยุโรปก็มิได้ถูกหนุนหลังอยู่ด้วยพลังอาวุธของอาณาจักร และเพราะดูเหมือนในโลกวิชาการฝรั่งยุคปัจจุบัน แทบจะไม่มีความเห็นทางปรัชญาใดที่ศักดิ์สิทธิ์โดดเด่นถึงขั้นไม่อาจโต้แย้งได้อีก <9>
 
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง “ความจริงเชิงเหตุผล” (rational truth) มิใช่ปัญหาต่อสังคมการเมือง โดยเฉพาะในสังคมที่ยอมรับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะขณะนี้ “ความจริงเชิงเหตุผล” นานาชนิด แม้จะขัดแย้งแตกต่างกันก็ดำรงอยู่ด้วยกันได้ แต่ที่ดูเหมือนจะยอมกันไม่ได้ในสังคมสมัยใหม่กลับเป็น “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” (factual truth) มากกว่า หมายความว่า ในปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่ง สังคมมนุษย์ดูจะพยายามแสวงหา “ความจริง” เกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้น “ที่ถูกต้อง” เพียงอย่างเดียว “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” ที่ขัดแย้ง ต้องถูกทำให้ตกไปด้วยการกระบวนการพิสูจน์ทราบผ่านการใช้อำนาจนานาชนิดที่ดำรงอยู่ในสังคมตัดสิน เช่นในปัจจุบันแม้หลายสังคมจะอนุญาตให้ “ความจริงเชิงเหตุผล” (หรือเชิงปรัชญา) อย่างเช่นความเชื่อว่ามีหรือไม่มีพระเป็นเจ้า ความเชื่อว่าโลกกลมหรือโลกแบนดำรงอยู่ด้วยกันได้ (ในต่างประเทศ การรวมกลุ่มของผู้คนเป็นสมาคมคนเชื่อว่าโลกแบนก็มีให้เห็น) แต่ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” อย่างเช่น ใครสังหารนายทหารที่สี่แยกคอกวัว ใครยิงผู้ชุมนุม และใครเริ่มต้นเผาราชประสงค์เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว กลับเป็นปัญหาของสังคมการเมืองที่ต้องหาวิธีต่างๆ จัดการจนตกไปให้จงได้
 
 
““ความจริง” มีคุณลักษณ์เป็นเผด็จการ (despotic)
ด้วยเหตุนี้ที่ทรราชย์ทั้งหลายเกลียดชัง “ความจริง” และคนพูด “ความจริง”
ไม่ใช่เพราะคนพูด “ความจริง” ทำสิ่งที่แตกต่างจากทรราชย์โดนสิ้นเชิง
แต่เพราะทรราชย์รู้สึกว่าตนกำลังเผชิญคู่แข่งขันในสนามแห่งความเชื่อถือของผู้คน
ที่ตนเคยเป็นฝ่ายผูกขาดตลอดมา”
 
 
Arendt อธิบายว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” เกี่ยวข้องกับผู้คนมากหลาย ทั้งเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมที่เขาเหล่านั้นมีส่วน อีกทั้งเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นผ่านพยานหลักฐานและการยืนยันให้การของพยาน “ความจริง” แบบนี้ดำรงอยู่ตราบเท่าที่ถูกพูดออกมาในที่สาธารณะแม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวก็ตาม<10> ด้วยเหตุนี้ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” จึงเป็นเรื่องทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และก่อให้เกิดขัอขัดแย้งได้โดยเฉพาะเมื่อ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” ดังกล่าวไปขัดหรือไปสร้างเงื่อนไขที่ทำให้บางฝ่ายเสียประโยชน์<11> (เช่นการที่ความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นหรือไม่เป็นฝีมือของ “คนชุดดำ” ย่อมมีผลต่ออำนาจหน้าที่ของหน่วยราชการบางหน่วยต่างจากการที่ความรุนแรงเป็นหรือไม่เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ) แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า เห็นจะเป็นธรรมชาติของ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” นั้นเอง
 
Arendt อธิบายว่า การกล่าวว่า “เยอรมันบุกเบลเยี่ยม ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1914” สำหรับคนที่เชื่อว่าเกิดเหตุเยอรมันบุกเบลเยี่ยม เป็นข้อความที่ไม่เกี่ยวข้องกับการที่คนอื่นจะเห็นพ้องต้องด้วย โดยอาศัยการโต้แย้งให้ความเห็น เพื่อยอมรับ “ความจริง” ข้อนี้ เพราะสำหรับฝ่ายที่เห็นว่าข้อความดังกล่าว “จริง” ก็มักไม่ขึ้นต่อปัญหาว่ามีผู้เห็นด้วยกับ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” ดังกล่าวมากน้อยเพียงไร การชักจูงชักชวนไปในทางใดๆ มักไม่เป็นผล ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่ความเห็นซึ่งต่างกัน หรือ “ความจริงเชิงเหตุผล” อาจเป็นสิ่งที่โต้เถียง ประนีประนอมหรือปฏิเสธได้ “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” ที่บางฝ่ายไม่พึงประสงค์เป็นสิ่งที่ดื้อดึงไม่ยอมหนีหายไปไหน บางครั้งเมื่อเอาชนะกันด้วย “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” (factual truth) ไม่ได้ ก็จะถูกโต้ด้วย “ความเท็จอย่างซึ่งหน้า” (plain lies)<12> ในแง่นี้ “ความจริง” มิได้มีธรรมชาติของการการชักชวน (persuasive) หากแต่มีธรรมชาติในทางครอบงำบังคับ (coercive) เธอจึงสรุปว่า “ความจริง” มีคุณลักษณ์เป็นเผด็จการ (despotic) <13> ด้วยเหตุนี้ที่ทรราชย์ทั้งหลายเกลียดชัง “ความจริง” และคนพูด “ความจริง” ไม่ใช่เพราะคนพูด “ความจริง” ทำสิ่งที่แตกต่างจากทรราชย์โดนสิ้นเชิง แต่เพราะทรราชย์รู้สึกว่าตนกำลังเผชิญคู่แข่งขันในสนามแห่งความเชื่อถือของผู้คน ที่ตนเคยเป็นฝ่ายผูกขาดตลอดมา
 
 
“ในปี 1983 Foucault สอนวิชาชื่อ “การบอกความจริง” ที่ College de France
เนื้อหาวิชาว่าด้วย “การบอกความจริง” จากแง่มุมทางการเมือง
เช่น การพูด “ความจริง” ต่อหน้าเจ้าผู้ปกครอง ทั้งที่การกระทำดังกล่าวจะก่อภัยถึงชีวิตแก่ผู้พูด”
 
 
งานเขียนของ Arendt ในปี 1961 มีหลายสิ่งชวนให้คิดถึงความเห็นของ Michel Foucault โดยเฉพาะที่ปรากฏในบทสัมภาษณ์ที่สำคัญยิ่งของเขาเมื่อปี 1977 คือ “Truth and Power”<14> Foucault กล่าวเป็นประโยคสุดท้ายในการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นว่า “กล่าวโดยสรุป ปัญหาทางการเมือง (ที่สำคัญเพียงอย่างเดียว) ไม่ใช่ความผิดพลาด มายา รูปการณ์จิตสำนึกที่แปลกแยก หรือ อุดมการณ์ แต่คือ “ความจริง” นั่นเอง”<15>
 
ดูเหมือนว่าในสองปีสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในเดือนมิถุนายน ค.ศ 1984 Faucault สนใจสอนแต่เรื่องที่เกี่ยวกับ “ความจริง” คือในปี 1983 เขาสอนวิชาชื่อ “การบอกความจริง” (The Practice of Parrhesia) ที่ College de France เนื้อหาวิชาว่าด้วย “การบอกความจริง” จากแง่มุมทางการเมือง เช่น การพูด “ความจริง” ต่อหน้าเจ้าผู้ปกครอง ทั้งที่การกระทำดังกล่าวจะก่อภัยถึงชีวิตแก่ผู้พูด<16>
 
ในฤดูใบไม้ร่วงของปีเดียวกัน เขาไปสอนวิชาชื่อ “วาทกรรมและสัจจะ: การทำให้การบอกความจริงเป็นปัญหาที่ยังไม่ลงตัว” (Discourse and Truth: The Problematization of Parrhesia) ที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์คเลย์<17> วิชาสุดท้ายที่เขาสอน ณ College de France ก็ใช้หัวข้อบรรยายเช่นในปีก่อนหน้า แต่เน้นที่ “การบอกความจริง” ในฐานะคุณค่าทางศีลธรรม เช่น การยอมรับ “ความจริง” แม้ว่าจะเสื่อมเสียต่อภาพพจน์ของตนก็ตาม โดย Foucault แบ่งวิถีแห่งการ “บอกความจริง” ออกเป็นสี่ทาง คือ วิถีแห่งศาสดา (prophet) ผู้มิได้เสนอ “ความจริง” ในนามตนเอง แต่ในฐานะ “ตัวกลาง” ระหว่าง “ผู้พูดที่แท้จริง” (เช่น พระเป็นเจ้า) กับมนุษย์, วิถีแห่งปราชญ์ (sage) เป็นการนำเสนอ “ความจริง” เกี่ยวกับชีวิตตัวตนของโลกนี้ ในนามของตนเองในฐานะผู้มีปัญญาญาณ, วิถีแห่งครู-นักเทคนิค (teacher-technician) ในฐานะผู้ครอบครองทักษะบางอย่างที่ถ่ายทอดต่อศิษย์ได้ และ วิถีแห่ง “ผู้บอกความจริง” (parrhesiast) เมื่อผู้บอก “ความจริง” เป็นตัวกลางระหว่าง “ความจริง” ที่ค้นพบและผู้รับฟัง “ความจริง” การบอก “ความจริง” สำหรับคนเหล่านี้มิใช่สิ่งที่จะเลือกได้ดังวิถีแห่งปราชญ์ แต่เป็นพันธะที่ต้องทำ “ความจริง” ให้ปรากฏ ในเรื่องที่เมื่อบอกไปแล้วอาจทำให้สังคมรวดร้าวแบ่งแยก แต่ที่สุดก็จะเข้มแข็งขึ้น<18>
 
กล่าวโดยสรุป “ความจริง” เป็นปัญหาสำคัญในความคิดของ Foucault ตลอดมา เพียงแต่ว่าในวิชาที่เขาสอนก่อนเสียชีวิต เขาโยงปัญหา “ความจริง” เข้ากับท่าทีในการ “บอกความจริง” ซึ่งมีเป้าประสงค์จะ “ช่วย” ให้ผู้ที่ได้รับฟัง “ความจริง” เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ผ่านการรู้ตัวว่าตนเป็นใครและจะเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดได้อย่างไร ในแง่นี้การ “บอกความจริง” จึงเป็นไปในแง่ที่ส่งเสริมให้ “ใส่ใจอาทร” ต่อตัวตน (the care of the self) ของมนุษย์นั่นเอง<19> ส่วนในระยะแรกความสำคัญของปัญหา “ความจริง” ในความคิดของ Foucault อยู่ที่กระบวนการที่อำนาจผลิต “ความจริง” ยิ่งกว่าอื่น
 
ปัญหาสำคัญที่ได้จากการคิดตาม Foucault คงไม่ใช่เป้าประสงค์ทางปรัชญาในการ “บอกความจริง” แต่เป็นคำถามว่า กระบวนการที่ “ความจริง” ถูกบอกในสังคมการเมืองเป็นอย่างไรมากกว่า เพราะเมื่อ “ความจริง” เป็นสิ่งที่ถูกผลิต (produced) ก็แปลว่า “ ‘ความจริง’ มิได้อยู่นอกเหนือหรือไร้อำนาจ… ‘ความจริง’ มิใช่รางวัลของวิญญาณเสรี หรือ (เป็นดัง) เด็กน้อยที่ถูกกักไว้ในความโดดเดี่ยวไม่รู้จบ หรือ เป็นอภิสิทธิ์ของพวกที่ประสบความสำเร็จในการปลดปล่อยตนเอง ‘ความจริง’ เป็นสมบัติของโลกนี้ (thing of this world) ถูกผลิตขึ้นด้วยข้อกำหนดจำกัด (constraints) หลากรูปหลายแบบ”<20>
 
เพราะ “โลกนี้” แปรเปลี่ยนและขึ้นต่อเงื่อนไขเฉพาะหลายอย่าง การถือว่า “ความจริง” เป็น “สมบัติของโลกนี้” หมายความว่า “ความจริง” เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในทางสังคม ขึ้นต่อสภาพเฉพาะในแต่ละสังคม Foucault ยังคิดอีกว่าทุกๆ สังคมมีสิ่งที่เรียกว่า “ ระบอบแห่ง ‘ความจริง’” ซึ่งอาศัยองค์ประกอบสำคัญสองส่วน เขาเรียกส่วนแรกว่า “การเมืองทั่วไป” แห่ง “ ความจริง” ซึ่งประกอบด้วย ชนิดของวาทกรรม (discourse) ที่ยอมรับกันว่าจริงแท้ กลไกต่างๆ ในสังคมที่ช่วยให้ผู้คนแยกข้อความ “จริง” ออกจากข้อความ “เท็จ” และวิธีการที่ “ความจริง” และ “ความเท็จ” เหล่านั้นถูกควบคุมจัดการ เทคนิคกระบวนวิธีในการสร้างคุณค่าให้กับการได้มาซึ่ง “ความจริง” และ สถานภาพของบุคคลที่ถือกันว่าเป็นผู้พูด “ความจริง” ส่วนที่สองคือ “เศรษฐศาสตร์การเมือง” แห่ง “ความจริง” ซึ่งประกอบด้วย สถาบันที่ผลิต “ความจริง” ผลิตและส่งผ่านกลไกทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมหาวิทยาลัย กองทัพ การเขียนและสื่อมวลชน สิ่งที่ผลิตขึ้นดังกล่าว ถูกกำหนดโดยอุปสงค์ทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง เมื่อผลิตออกมาแล้วก็กลายเป็นวัตถุที่ถูกบริโภคด้วยวิธิการหลากหลาย ผ่านกลไกทางการศึกษาและข้อมูล และที่สุดก็กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันทางการเมืองและเผชิญหน้ากันทางสังคม<21>
 
 
“ปัญหาไม่น่าจะอยู่ที่ การค้นหาว่า “ความจริง” อันใดจริงแท้แน่นอนที่สุด
เพราะ “ความจริง” ต่างๆ ก็ล้วนถูกผลิตขึ้นมาด้วยกันทั้งนั้น
โจทย์จึงอยู่ที่ “ความจริง” แต่ละอย่างหรือแต่ละรูปลักษณ์ถูกผลิตขึ้นมาอย่างไร
ยิ่งกว่านั้นปัญหามิได้อยู่ที่ข้อต่างระหว่าง “ความจริง” กับ “ความเท็จ”
แต่อยู่ที่ในสังคมมนุษย์มี “ความจริง” หลายรูป “ความจริง” รูปหนึ่งอาจ “จริงกว่า” “ความจริง” อีกรูปหนึ่ง
แต่พลังของ “ความจริง” ดังกล่าวขึ้นต่อประสิทธิภาพในการผลิต “ความจริง” นั้นๆ”
 
 
Foucault ชี้ให้เห็นว่า “ความจริง” นั้นถูกผลิตขึ้นในสังคมด้วยน้ำมือมนุษย์ ผ่านสถาบันต่างๆ ด้วยเหตุนี้ “ความจริง” จึงผูกโยงอยู่กับอำนาจ ทั้งด้วยกระบวนวิธีที่ “ความจริง”ถูกใช้ (หรือถูกจัดการ) เพื่อวางเกณฑ์ควบคุมให้ชีวิตของผู้คนอยู่ใน “สภาพปกติ” และด้วยวิธีที่ “ความจริง” อ้างความเป็นนิรันดร์ไม่แปรเปลี่ยนของตน โดยฉวยใช้สาขาวิชาการ (discipline) กับความรู้ต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ความจริง” นั้นๆ แท้แน่นอนมาแต่เก่าก่อนอย่างไร<22> ดังนั้นก็หมายความว่า ปัญหาไม่น่าจะอยู่ที่ การค้นหาว่า “ความจริง” อันใดจริงแท้แน่นอนที่สุด เพราะ “ความจริง” ต่างๆ ก็ล้วนถูกผลิตขึ้นมาด้วยกันทั้งนั้น โจทย์จึงอยู่ที่ “ความจริง” แต่ละอย่างหรือแต่ละรูปลักษณ์ถูกผลิตขึ้นมาอย่างไร ยิ่งกว่านั้นปัญหามิได้อยู่ที่ข้อต่างระหว่าง “ความจริง” กับ “ความเท็จ” แต่อยู่ที่ในสังคมมนุษย์มี “ความจริง” หลายรูป “ความจริง” รูปหนึ่งอาจ “จริงกว่า” “ความจริง” อีกรูปหนึ่ง แต่พลังของ “ความจริง” ดังกล่าวขึ้นต่อประสิทธิภาพในการผลิต “ความจริง” นั้นๆ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ขึ้นต่อความสามารถในการจัดการ “ความจริง” ของสถาบันต่างๆ ที่ทำหน้าที่ผลิตความจริงนั้นๆ และ “ระบอบแห่ง ‘ความจริง’” ที่กำกับสังคมนั้นๆ อยู่
 
นอกจากนั้นถ้าสถาบันที่ทำหน้าที่ผลิต “ความจริง” เหล่านี้ เป็นสถาบันสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อสังคมได้กว้างขวาง อย่างสถาบันวิชาการ สื่อมวลชน หรือสถาบันทางกฎหมายอย่างศาล ความสัมพันธ์ระหว่าง “ความจริง” กับอำนาจก็จะยิ่งเข้มข้น เพราะสถาบันสาธารณะเหล่านี้ได้สิทธิอำนาจ (authority) มาจากความสามราถที่จะพูด “ความจริง” ในบางสถานการณ์<23> เช่น คำฟ้องของโจทก์ คำแก้ข้อกล่าวหาของจำเลย และที่สุดคำตัดสินของศาลว่าผู้ต้องหากระทำผิดหรือบริสุทธิ์ จะกลายเป็น “ความจริง” ต่างๆ เกี่ยวกับคดีและชีวิตของผู้เกี่ยวข้องกับคดีนั้นๆ หรือ ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะมีสถานะของ “ความจริง” ในสายตาของสาธารณชน ยิ่งในยามที่ยืนยันหลักฐานผ่านแหล่งข่าวที่เป็นทางการได้ “ความจริง” เช่นนั้นในบางสังคมอย่างสังคมไทย ก็อาจมีประสิทธิภาพในการเพิ่มความเชื่อถือยิ่งขึ้นในกระบวนการจัดการ “ความจริง” เกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้
 
 
การทำงานต่อ?
 
แทบทุกครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงที่กลางเมือง จนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย มักพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลากหลายทั้งในแง่ตัวละคร โครงสร้าง และวัฒนธรรม ขณะเดียวกันความรุนแรงที่บังเกิดก็ประกอบขึ้นจาก “ความเป็นจริง” หลายชั้น ซึ่งมาจากสาเหตุที่สลับซับซ้อน ผสานกับเหตุผลรองรับหลายประเภท
 
ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าเคยตั้งคำถามว่า เมื่อ “หา” ความรุนแรงที่ไป “ซ่อน” อยู่จนพบแล้ว ควรทำเช่นไร เมื่อได้เห็นร่างของสังคมไทยที่รุนแรงสลับซับซ้อนไม่เรียบง่าย สงบเย็นอย่างที่เคยเข้าใจมาแต่ก่อน แล้ว “เรา” ยังจะอยู่กับสังคมไทยอย่างไร และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เมื่อเห็น “ร่าง” แห่งความรุนแรงที่ “ซ่อน” อยู่แล้ว ยังจะมีพลังอำนาจพอที่จะยกโทษให้ทั้งสังคมไทยและตนเองได้หรือไม่ ? จะทำอย่างไรกับโลกเช่นนี้ได้? จะจดจำอดีตที่เจ็บปวดโดยไม่ขมขื่นได้อย่างไร?
 
บางทีบทกวีสักบทอาจช่วยชี้ได้ว่า ควรคิดอย่างไรกับโลกเช่นนี้
 
คุรุเทพ รพินทรนาภ ฐากุร รจนาไว้ในบทกวี “นกเถื่อน”<24> ว่า
 
Power said to the world,
‘You are mine.’
The world kept it prisoner on her throne.
Love said to the world, ‘I am thine.’
The world gave it the freedom of her house.”  
 
“อำนาจกล่าวแก่โลกว่า ‘เจ้าเป็นของข้าฯ’
โลกจึงคุมขังอำนาจไว้บนบัลลังก์ของพระนาง
รักกล่าวแก่โลกว่า ‘ข้าฯ เป็นของท่าน’
โลกจึงประทานอิสระแห่งราชวังของพระนางให้กับรัก”
 
 
---------------------------------------------------------------------------
 
<1> คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
 
<2> สมบัติ จันทรวงศ์, “กระบวนการจัดการกับความจริง การศึกษามิติและพลวัตของความเปลี่ยนแปลงของ “ความจริง” ในสังคมไทย,” ใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง” (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551), ภาคผนวก, หน้า 325-330
 
<3> ส่วนนี้นำมาจาก ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง”, หน้า 23-39
 
<4> The New Jerusalem Bible. (London: Darton, Longman & Todd,1985), p.1785.
 
<5> Gadamer, “What is Truth?”, p.34
 
<6> Marcel Eck, Lies & Truth. Bernard Murchland (Trans.) (New York: The Macmillan Company, 1971), p. 207.
 
<7> Cited in Gadamer, “What is Truth?”, p.34.
 
<8> Ibid., pp.232-235.
 
<9> Ibid., p.235. ความข้อนี้อาจครอบคลุมเฉพาะโลกวัฒนธรรมวิชาการฝรั่งเป็นหลัก
 
<10> Ibid., p.238.
 
<11> Ibid., p.236.
 
<12> Ibid., p.241.
 
<13> Ibid.
 
<14> Michel Foucault, “Truth and Power,” in Colin Gordon (ed.) Power/Knowledge: Selected Interviews & Other Writings 1972-1977. Colin Gordon, Leo Marshall, John Mepham and Kate Soper (Trans.) (New York: Pantheon Books, 1980), pp.109-133. บทสัมภาษณ์นี้ตีพิมพ์ (อย่างตัดทอนลงมาก) เป็นภาษาฝรั่งเศสในชื่อ “Verite et Pouvoir” in L’Arc 70 (1977)
 
<15> Ibid., p.133. Foucault ใช้วลีว่า “The political question” และในต้นฉบับคำว่า truth พิมพ์ด้วยตัวธรรมดาและไม่มีอัญประกาศ
 
<16> Thomas Flynn, “Foucault as parrhesiast: his last course at the college de france (1984),” in James Bernauer and David Rasmussen (eds.) the final Foucault. (Cambridge: MIT Press, 1988), p.102.
 
<17> Alexander Nehamas, The Art of living: Socratic Reflections from Plato to Foucault. (Berkeley: University of California Press, 2000), fn.13,p.248.
 
<18> Flynn, “Foucault as parrhesiast,” pp.102-104. โปรดพิจารณาทักษะของข้าพเจ้าต่อความเข้าใจบางอย่างของ Flynn ได้ใน ชัยวัฒน์ สถานอานันท์, “สังคมศาสตร์กับการจัดการ “ความจริง” ในสังคมไทย,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 (มกราคม-มิถุนายน 2541), หน้า 52-53 โดยเฉพาะเชิงอรรถที่ 20 ในหน้า 53
 
<19> Nelharmas, The Art of Living, pp.165-166.
 
<20> Foucault, “Truth and Power,” p.131.
 
<21> Ibid., pp.131-132.
 
<22> Geoff Danaher, Tony Schirato and Jen Webb, Understanding Foucault. (London: SAGE Publications, 2000), pp.26-27.
 
<21> Ibid., pp.37-38.
 
<22> Rabindranath Tagore, Stray Birds (New York: Macmillan Company, 1916), 93 ข้าพเจ้าทราบว่า ปรีชา ช่อปทุมมา ได้แปลงานชิ้นนี้เป็นภาษาไทย แต่ข้าพเจ้ามิได้ใช้สำนวนแปลของเขาเพราะหาไม่พบ นอกจากใช้ชื่อบทกวีว่า “นกเถื่อน” ตามปรีชาแล้ว ข้าพเจ้าถอดความตรงนี้เป็นภาษาไทยเอง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"นพ.นิรันดร์" รับปากตรวจสอบการใช้ ม.112 ละเมิดสิทธิ

Posted: 09 May 2011 10:54 AM PDT

(9 พ.ค.54)เวลา 15.00น. ตัวแทนประชาชน 3 กลุ่มประกอบด้วยโครงการมาตรา 112 รณรงค์เพื่อการตื่นรู้ เครือข่ายสันติประชาธรรม และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เข้าร้องเรียนต่ออนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระเป็นประธาน ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิโดยใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยมีทั้งการคุมคาม ละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในทางวิชาการ สิทธิในการได้รับการประกันตัว รวมทั้งปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินคดี

โดยสุธารี วรรณศิริ ตัวแทนจากโครงการมาตรา 112 รณรงค์เพื่อการตื่นรู้ กล่าวแสดงความกังวลถึงการออกมาให้ข่าวของภาครัฐและฝ่ายการเมืองที่ว่ากำลังดำเนินการออกหมายจับคนที่เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยเปิดเผยตัวอักษรนำหน้าชื่อ สร้างให้เกิดความกลัวและไม่กล้าแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์

นอกจากนี้ โดยทั่วไป สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ส่วนใหญ่ในการดำเนินคดี 112 มักถูกสันนิษฐานว่าผิดจริงและจัดเป็นคดีร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้สิทธิของเขาหายไป รวมถึงชี้ว่า การสืบหาพยานหลักฐานควรหาทุกด้านไม่ใช่พุ่งไปที่การพยายามบ่งชี้ว่าเป็นผู้กระทำผิด

ทั้งนี้ สุธารีเน้นว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับสังคมไทยในภาวะความขัดแย้ง คือการให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อขับเคลื่อนสังคม โดยประเด็นมาตรา 112 ควรเป็นประเด็นสาธารณะ ถกเถียงได้ ไม่เฉพาะในวงวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรข่มขู่ให้คนหวาดกลัวในการพูดคุยและอภิปรายเรื่องนี้

เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะตัวแทนจากเครือข่ายสันติประชาธรรม กล่าวถึงกรณีการคุกคามนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังนายสมศักดิ์อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 10 ธ.ค.53 โดยเร็วๆ นี้ นายสมศักดิ์ได้แถลงว่า มีชายสองคนขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามาในหมู่บ้านของนายสมศักดิ์และบอกว่าจะมารับนายสมศักดิ์ โดยทราบภายหลังว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นทหาร และยังมีผู้โทรศัพท์มาคุกคามด้วย ทั้งนี้เกษมเน้นว่า นี่ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล แต่เป็นหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่ควรได้รับการคุ้มครอง

เกษมระบุว่า ในการแถลงข่าวที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ยืนยันว่ายินดีเข้าสู่กระบวนการตามปกติ หากมีการฟ้องร้อง ซึ่งล่าสุด ทราบข่าวว่านายสมศักดิ์ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งฟ้องโดยกองทัพบก ที่สน.นางเลิ้ง ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ โดยเกษมแสดงความเห็นว่า การดำเนินคดีและการสืบสวนควรเป็นไปตามกระบวนการปกติ ไม่ใช่ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ โดยชี้ว่าคดี 112 ส่วนใหญ่เป็นคดีการเมือง ซึ่งมักไม่มีการพิสูจน์ตามกระบวนการอย่างชัดเจน

เกษมเสริมด้วยว่า นอกจากมาตรา 112 ของกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์บังคับใช้เป็นลูกโซ่ต่อกันด้วย ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เอื้อให้ผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองละเมิดสิทธิของอีกฝ่าย จึงเสนอให้คณะกรรมการสิทธิฯ พิจารณาว่า การบังคับใช้กฎหมายระดับใดจึงจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ด้านสุวรรณา ตันเหล็ก ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีการจับกุมนายสมยศ พฤษภาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาฯ และบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ เมื่อเร็วๆ นี้ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า เป็นการจับกุมที่ไม่โปร่งใสและเป็นการคุกคามสื่อ โดยก่อนหน้านั้น มีเจ้าหน้าที่บุกค้นสำนักพิมพ์ คุกคามสายส่ง โดยห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสื่อเสื้อแดงด้วย

ทั้งนี้เธอทราบมาว่า หมายจับลงวันที่ 15 ก.พ.54 ซึ่งในช่วงวันที่ 20-22 ก.พ. นายสมยศยังปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทัวร์เที่ยวกัมพูชา ไปขึ้นเวทีปราศรัย แถลงข่าวตามปกติ ตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการจับตามหมายจับ แต่กลับปล่อยจนถึงวันที่ 30 เม.ย. และมาจับตัวที่ด่านอรัญประเทศ โดยดีเอสไอระบุว่า มีเจตนาจะหลบหนี ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว เป็นการออกนอกประเทศตามขั้นตอน โดยถือหนังสือเดินทางเข้าแถวตามปกติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นายสมยศยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ด้วยเหตุผลว่าเกรงจะหลบหนีและไปจัดการกับพยานหลักฐาน ซึ่งเธอมองว่านี่เป็นการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อจับกุม คุมขัง และไม่ให้ประกันตัว

ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวว่า อนุกรรมการฯ จะตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวว่ามีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ พร้อมกล่าวว่าเรื่องนี้สำคัญเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเคยตรัสว่าต้องระวังเรื่องคดีหมิ่นฯ เพราะจะกระทบกับสถาบันฯ โดยมีการอ้างมาตรา 112 เพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายกันทางการเมืองซึ่งไม่ถูกต้อง

"การตรวจสอบเรื่องนี้จึงเป็นทั้งเรื่องสิทธิและทำให้สถาบันอยู่กับสังคมไทยได้โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง" นพ.นิรันดร์กล่าวและว่า หลังจากนี้ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคดีของนายสมศักดิ์มาให้ข้อมูล ส่วนกรณีของนายสมยศ ก็จะไปเยี่ยมเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปลด 3 พนง.เคเอฟซี-พิซซ่า นักสหภาพแรงงานเชื่อหวังทำลายสหภาพฯ

Posted: 09 May 2011 10:48 AM PDT

จากกรณีที่พนักงานเคเอฟซี-พิซซ่าฮัทในกรุงเทพฯ และปริมณฑลร่วมกันลงชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้าง 10 ข้อ ต่อบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด แต่บริษัทยัมฯ ไม่ได้ส่งผู้แทนมาเจรจาด้วยถึงสามครั้งโดยให้เหตุผลว่าข้อเรียกร้องของพนักงานไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ด้านพนักงานกำลังยื่นตั้งสหภาพแรงงาน จนทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้น

ล่าสุดวันนี้ (9 พ.ค.54) บริษัทยัมฯได้ส่งอีเมลแจ้งเลิกจ้างแก่พนักงานระดับผู้จัดการเขต (Area Coaches (KFC)) 3 คน ได้แก่ นายกฤษ สรวงอารนันท์ น.ส.ศิวพร สมจิตร และนางอภันตรี เจริญศักดิ์ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากพนักงานดังกล่าวได้กระทำผิดระเบียบวินัยของบริษัท ทั้งนี้ ไม่ได้ระบุว่ากระทำผิดระเบียบวินัยอย่างไร

นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มพนักงานเคเอฟซี-พิซซ่าฮัทเปิดเผยว่า การกระทำดังกล่าวของบริษัทไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่มีการสืบสวนสอบสวนใดๆ ทั้งยังเป็นการกระทำอันหมิ่นประมาทพนักงานทั้งสามด้วย โดยก่อนหน้าที่บริษัทจะประกาศเลิกจ้าง บริษัทได้เรียกพนักงานที่ได้ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้างไปประชุมร่วมกันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อข่มขู่ให้ถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้อง ทั้งยังมีประจานลูกจ้างทั้งสามขึ้นบนจอห้องประชุม ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาท โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงาน

ด้านการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของพนักงาน นายชัยสิทธิ์กล่าวว่าแม้บริษัทจะรับปากว่าจะปรับรายได้ 4% หรือเงินสำรองเลี้ยงชีพตามที่ลูกจ้างเรียกร้อง แต่ไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเป็นลายลักษณ์อักษร แรงงานจึงไม่อาจเชื่อถือได้ จึงต้องนำเรื่องไปสู่การไกล่เกลี่ยโดยพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานของกระทรวงแรงงาน

นายชัยสิทธิ์ยังเปิดเผยอีกว่า การกระทำของบริษัททุกขั้นตอนเป็นไปตามคำแนะนำของทนายที่บริษัทจ้างมา ตั้งแต่การใช้เทคนิคทางกฎหมายแนะว่าบริษัทไม่ต้องส่งผู้แทนไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน เนื่องจากจำนวนสมาชิกพนักงานที่มาลงชื่อไม่ครบ 15% ตามข้อกฎหมาย

นายชัยสิทธิ์มองว่า การไล่พนักงานทั้งสามออกเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู และยับยั้งการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่มีพนักงานทั้งสามเป็นผู้ผลักดัน ทั้งนี้เขายังเรียกร้องให้พิจารณาจรรยาบรรณทนายด้วย เนื่องจากเป็นการทำงานทางกฎหมายที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน

นายชัยสิทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับการเคลื่อนไหวต่อไปของกลุ่มพนักงาน จะเป็นการขับเคลื่อนทางสังคมโดยการกระจายข่าวเรื่องนี้ไปยังองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ให้เข้ามาดูในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงาน และจะยื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานด้วย ด้านการยื่นจดทะเบียนสหภาพแรงงานนั้น กลุ่มพนักงานจะยังเดินหน้าต่อไป ซึ่งคาดว่าทะเบียนจะออกได้ก่อนวันที่ 20 พ.ค.2554 นี้

สำหรับบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ให้บริการ ผู้บริหาร และผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน เคเอฟซี และพิซซ่าฮัท ในประเทศไทย มีทีมบริหาร และพนักงานชาวไทยกว่า 10,000 คน เพื่อให้บริการในร้านอาหารเคเอฟซีรวมกว่า 306 สาขา และร้านพิซซ่าฮัทกว่า 75 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และอีกกว่า 56 จังหวัดทั่วประเทศไทย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มอ.จับมือ สกว.พัฒนาปาล์มน้ำมัน ตั้งเป้าผลิตพันธุ์ชั้นดีป้อนเกษตรกร

Posted: 09 May 2011 09:42 AM PDT

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ที่ห้องบรรยาย 102 คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มิพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนการวิจัยในหัวข้อ “การบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมปาล์มน้ำมัน เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเทเนอราเชิงพาณิชย์” ระหว่างนายบุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับนายสวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

มอ.จับมือ สกว.พัฒนาปาล์มน้ำมัน ตั้งเป้าผลิตพันธุ์ชั้นดีป้อนเกษตรกร
บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมลงนามให้การสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ปาล์มน้ำมันพันธุ์ทรัพย์ ม.อ. 1 โดยคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นายบุญสม เปิดเผยว่า การวิจัยหัวข้อดังกล่าว เป็นการวิจัยต่อเนื่องจากการวิจัยการพัฒนาพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอราพันธุ์ดีของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งผลทดสอบพันธุ์ลูกผสมเทเนอราในชั่วรุ่นลูก เมื่อปาล์มอายุ 3–4 ปี พบว่าให้ผลผลิตทะลาย 2.1 ตันต่อไร่ต่อปี และเมื่อปาล์มอายุ 7–8 ปี ให้ผลผลิตทะลาย 5.8 ตันต่อไร่ต่อปี ซึ่งเป็นระดับผลผลิตที่สูงกว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันทั่วไป ที่เฉลี่ยทั่วประเทศของปี 2553 อยู่ที่ 2.3 ตันต่อไร่ต่อปี

“เป็นไปได้ว่า เชื้อพันธุกรรมปาล์มน้ำมันของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งปรับปรุงพันธุ์เป็นประชากรพ่อแม่พันธุ์ดูราและฟิสิเฟอรารอบใหม่ สามารถนำมาผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดี เผยแพร่ให้เกษตรกรนำไปปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตได้ในอนาคต โดยใช้ชื่อปาล์มน้ำมันพันธุ์ใหม่นี้ว่า พันธุ์ทรัพย์ ม.อ. 1” นายบุญสม กล่าว

สำหรับปาล์มน้ำมัน จัดเป็นพืชน้ำมันชนิดเดียวของโลก ที่ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่สูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับพืชน้ำมันอื่นทุกชนิด และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ทั้งในด้านอุปโภคและบริโภค รวมทั้งนำผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ขณะที่วัสดุเหลือทิ้งในโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน ยังนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ด้วยจากการประเมินมูลค่าการผลิตภัณฑ์หลักที่ได้จากปาล์มน้ำมันของไทย พบว่าในปี 2553 มีมูลค่ารวมทุถกผลิตภัณฑ์มากกว่า 1 แสนล้านบาท

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันประมาณ 4 ล้านไร่ จัดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไนจีเรียตามลำดับ มีผลิตทะลายเฉลี่ยต่อไร่จัดอยู่ในอันดับ 2–4 ของโลก โดยมีผลผลิตทะลายเฉลี่ยต่อไร่ต่ำกว่าประเทศมาเลเซีย แต่สูงกว่าประเทศอินโดนีเซีย และโคลัมเบียในบางปีการผลิต

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘สารี’ โต้บิดเบือน วอนกระทรวงแรงงานจริงใจเพิ่มสิทธิผู้ประกันตน

Posted: 09 May 2011 09:26 AM PDT

ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนโต้ปลัดแรงงานสร้างวาทกรรมผิดๆ จงใจให้ร้ายกล่าวหาต้องการเงิน สปส.ไปรวมกับบัตรทอง ย้ำชัดเงินกองทุน สปส.เป็นเงินสมทบ 3 ฝ่าย ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐ จะเอาไปรวมกับบัตรทองไม่ได้ แจงข้อเรียกร้องคือให้นำเงินสมทบรักษาพยาบาลผู้ประกันตน 1% ไปรวมกับบำนาญชราภาพ และให้รัฐดูแลสิทธิสุขภาพผู้ประกันตนเหมือนที่ดูแลประชาชนกลุ่มอื่น ชี้ข้อหาสร้างนิสัยรับของฟรี ทำประชาชนเป็นขอทานเท่ากับดูถูกประชาชน ระบุหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดการให้ประชาชน ไม่ใช่มองว่าทำให้ประชาชนเป็นขอทาน จี้หยุดให้ร้ายโจมตีสร้างความเข้าใจผิด แล้วมาหารืออย่างจริงใจดีกว่า

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า การที่ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการยกเลิกการร่วมจ่ายสมทบสิทธิสุขภาพในระบบประกันสังคมนั้น ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการที่จะเอาเงินของกองทุนประกันสังคม ( สปส.) มารวมกับ สปสช. การที่ปลัดแรงงานพูดเรื่องนี้ซ้ำๆเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง และขยายความเข้าใจผิดไปเรื่อยๆ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ในฐานะผู้ประกันตนคนหนึ่งตระหนักดีว่านี่เป็นเงินสมทบของลูกจ้างทุกคนที่ไม่ควรไปรวมอยู่ในกองทุนไหนทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เรียกร้อง เกิดมาจากข้อสงสัยว่า ทำไมผู้ประกันตนยังเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายสมทบสำหรับการรักษาพยาบาลให้กับตัวเองอยู่ ทั้งที่กลุ่มอื่นรัฐบาลรับผิดชอบให้หมด แล้วการที่เรียกร้องให้มียกเลิกการจ่ายสมทบสิทธิสุขภาพ 1% ในแต่ละเดือนนั้น ก็ระบุชัดเจนว่า เอา 1% ตรงนี้ไปเพิ่มสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพจะมีประโยชน์กับผู้ประกันตนเมื่อยามเกษียณมากกว่า นั่นคือเรายังจ่ายเท่าเดิม นายจ้างและรัฐก็สมทบเท่าเดิม แต่ส่วนที่กัน 1% เพื่อไปใช้สำหรับรักษาพยาบาลนั้นเอาไปเพิ่มบำนาญชราภาพ ส่วนสิทธิสุขภาพของเราให้รัฐบาลดูแล เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ให้สมกับการที่ประชาชนทุกคนเสียภาษีให้รัฐทุกวัน ในนามของภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ vat 7% ดังนั้นขอให้สบายใจได้ว่า ไม่ใช่การยึดกองทุนแน่นอน วาทะกรรมแบบนี้เป็นการจับแพะมาชนแกะ เอาคนละเรื่องเดียวกันมาทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน เรากำลังพูดเรื่องความไม่เป็นธรรมของสิทธิการรักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนต้องเผชิญอยู่

โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า การให้รัฐดูแล ก็ไม่ใช่การสร้างนิสัยรับของฟรี หรือพูดไปไกลว่าเหมือนประชาชนเป็นขอทาน ทำให้คนชอบของฟรี พวกไม่จนก็อยากจนจะได้ไปใช้บริการ จากที่เคยดูแลตัวเองได้ต้องกลายไปเป็นขอทาน เป็นการเปรียบเทียบผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง นี่เป็นการสร้างวาทกรรมที่ดูถูกประชาชน สิทธิสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นหลักประกันที่รัฐต้องดูแลประชาชน หากบอกว่าสร้างนิสัยรับของฟรี แล้วจะอธิบายอย่างไรกับกลุ่มประเทศแถบยุโรปที่มีหลักประกันสุขภาพดูแลประชาชนมาหลายสิบปี และเราก็ยกย่องต้องการให้ประเทศไทยดูแลสวัสดิการประชาชนแบบนั้นบ้าง แม้แต่ประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน.... ก็มีหลักประกันสุขภาพเพื่อดูแลประชาชน โดยที่ไม่เคยมองว่าเป็นการสร้างนิสัยรับของฟรีและทำให้ประชาชนกลายเป็นขอทาน

“ย้อนไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ตอนที่ไทยกำลังจะมีหลักประกันสุขภาพ ข้อหาแบบนี้ก็ถูกใช้โจมตีหลักประกันสุขภาพในนามของ 30 บาทรักษาทุกโรคมาตลอด จนถึงปัจจุบัน และเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมๆ ซึ่งแน่นอนว่าการพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่ย่อมต้องมีคนได้ประโยชน์และคนที่เสียประโยชน์ แต่หลักประกันสุขภาพประชาชนทั้งหมดได้ประโยชน์ คนที่เสียประโยชน์เป็นกลุ่มที่เคยเสวยสุขกับระบบเก่าที่ประชาชนต้องล้มละลายเพราะกู้เงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล ข้อกล่าวหาของกลุ่มนี้คือการห่วงแต่ผลประโยชน์ของตนเอง แต่ไม่เคยสนใจประโยชน์ของประชาชน ถามว่าระบบแบบนี้อยากให้เกิดกับประเทศไทยอีกหรือ ทำไมไม่หยุดการใช้คำพูดให้ร้ายมาโจมตีกันอย่างที่ท่านพูดว่ามันเป็นวิชามาร ซึ่งท่านก็กำลังทำอยู่ขณะนี้ แล้วหันหน้ามาหารือกันด้วยความจริงใจไม่ดีกว่าหรือ”นางสาวสารี กล่าว

ด้านดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ผลการศึกษาเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลระหว่างบัตรทองกับประกันสังคมนั้น บอกชัดเจนว่าเปรียบเทียบเฉพาะด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น ส่วนสิทธิด้านอื่นๆที่ สปส.มีเป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชมอยู่แล้ว และในการเปรียบเทียบก็เปรียบแต่ละรายการว่าดำเนินการอย่างไร มีทั้งอันที่ สปส.ดีกว่าบัตรทอง และอันที่บัตรทองดีกว่า สปส. แต่โดยรวมแล้ว บัตรทองดีกว่า การที่ สปส.พูดว่าสิทธิประโยชน์บางประการของ สปส.บางอันดีกว่าบัตรทอง ก็เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ไม่ใช่ชี้นำประเด็นว่าเป็นการจงใจให้ข้อมูลด้านเดียว เพราะผลการศึกษาบอกตลอดว่า แต่ละด้านเป็นอย่างไร และเมื่อเร็วๆนี้ สปส.ก็ยังปรับปรุงสิทธิประโยชน์การแพทย์ในข้อที่ผลการศึกษาบอกว่าด้อยกว่าบัตรทองด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอดส์ ไต มะเร็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่การจงใจพูดให้ร้ายว่าทำไมเรื่องที่ดีกว่าไม่พูดถึง ซึ่งการเปิดผลการศึกษาก็นับว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งที่ทำให้ สปส.พัฒนาสิทธิประโยชน์การแพทย์บางรายการ หลังจากที่ไม่เคยสนใจพัฒนามาหลายปี แต่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องความเหลื่อมล้ำที่ผู้ประกันตนยังต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลอยู่กลุ่มเดียวเท่านั้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แก้ปัญหาที่ต้นเหตุหรือปลายเหตุ?

Posted: 09 May 2011 05:45 AM PDT

ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน ของแต่ละปี เป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วที่มักจะได้ยินข่าวคราวของเด็กนักเรียนกับการสอบแข่งขันและความเครียดความกดดันจากการสอบเข้าเรียนในสถาบันการศึกษา โรงเรียนชั้นนำ ทั้งการสอบแข่งขัน O-net, A-net และ Gat-pat เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ยิ่งหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เด็กเหล่านี้ต่างก็ตกอยู่ในภาวะเครียด ผิดหวัง เสียใจ และทำให้ตัดสินใจทำอะไรโดยไม่คิด อย่างที่เป็นข่าวคราวกันมาโดยตลอด ที่ไม่ใช่แค่เด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ความเครียดและการกดดันจากการแข่งขันในระบบการศึกษาไทย กำลังลุกลามไปที่ผู้ปกครองของเด็กๆ ด้วยเช่นกัน

กล่าวได้ว่า ปัจจุบันเด็กนักเรียนทั้งในเมืองและชนบท ล้วนมีความทุกข์จากระบบการศึกษาไม่แตกต่างกัน เด็กๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องเรียนกับหนังสือตำรากองโต ความรู้ไกลตัว ไกลท้องถิ่น ตกเย็นก็ต่อด้วยการเรียนกวดวิชา เรียนพิเศษสารพัดสารพันอย่าง เรียนหนักติวเข้มกันตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ซ้ำร้ายสภาพแวดล้อมของสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ใช้ระบบแอดมิดชั่น ก็ส่งผลทำให้เด็กนักเรียนต้องวิ่งอาศัยความรู้จากโรงเรียนกวดวิชามากขึ้น โรงเรียนกวดวิชาผุดขึ้นราวดอกเห็ดและกิจการรุ่งเรือง ขยายสาขากันมากมาย แต่ท้ายที่สุดแล้วในแต่ละปีกลับยังพบว่ามีบัณฑิตจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงาน ขณะที่ชุมชนท้องถิ่นเต็มไปด้วยผู้เฒ่าผู้แก่ ส่วนคนหนุ่มสาวยังเฝ้าหางานในเมืองต่อไป

ขณะที่ระบบการศึกษาไทยไม่สามารถตอบสนองสร้างเด็กเยาวชน คนรุ่นใหม่ได้ภายใต้โครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นหรือพื้นที่ในเมืองหลายแห่งกลับมีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นทางเลือกในการสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน

ทั้งนี้ การศึกษาทางเลือกในประเทศไทย เริ่มเกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปีแล้ว ดังเช่นการเกิดขึ้นของโรงเรียนทางเลือกอย่าง โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทอสี โรงเรียนมาตยกุล โรงเรียนสัตยาไส หรือ โรงเรียนสัมมาสิกขา(อโศก) และอื่นๆ อีกหลายแห่งในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบของการจัดการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โรงเรียนชาวนา โรงเรียนม่อนแสงดาว ศูนย์เพื่อลูกหญิง รวมทั้งการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน (Home School) เป็นต้น การริเริ่มดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนการปฏิรูปการศึกษา ปี 2542 และเป็นที่มาส่วนหนึ่งของแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชนในสังคมไทยอย่างสมบูรณ์รอบด้าน ที่มิได้เน้นแต่วิชาการอย่างเดียว ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมทั้งการระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2540 และในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2542 และมีโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งในชนบทที่มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เกิดการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น เกิดกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีพ่อครู แม่ครู ปราชญ์ชาวบ้านมาสอนลูกสอนหลานในชุมชน

หากแต่ ภายใต้นโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (2553-2561) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตั้งเป้าว่าเมื่อสิ้นสุดการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 แล้ว จะส่งผลให้เกิดการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 7,000 โรง หรือ 50% ของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่ถึง 1.4 หมื่นโรงทั่วประเทศ โดย สพฐ. มีจุดมุ่งหมายในการยุบดังกล่าวเพื่อทำให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรและงบประมาณด้านการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องกระจายงบประมาณไปตามโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่เป็นหมื่นโรง ประกอบเหตุผลที่มีโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ เพราะต้องบริหารจัดการในภาวะขาดแคลนงบประมาณและบุคลากร การยุบจึงเป็นทางออกหนึ่งของสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน สพฐ. ก็ได้จัดทำโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล ที่กำลังดำเนินการในปีการศึกษา 2553 จำนวน 182 แห่ง เพื่อให้แต่ละตำบลมีโรงเรียนดีอย่างน้อย 1 หรือ 2 โรงเรียน โรงเรียนดีประจำตำบล ด้วยเชื่อว่าจะเป็นพื้นที่รองรับเด็กจากโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบให้เข้ามาเรียนแทน และจัดสรรโยกย้ายข้าราชการในระดับตำแหน่งผู้บริหารของโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบ ให้มาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมในโรงเรียนดีประจำตำบล โดยใช้รูปแบบการบริหารโรงเรียนดีประจำตำบลที่มีผู้อำนวยการร่วมหลายคน

แผนและทิศทางการยุบโรงเรียนขนาดเล็กและการเยียวยาต่างๆ ที่ถูกวางไว้ คาดหวังไว้ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงนั้น สะท้อนให้เห็นถึง การขาดความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญขั้นพื้นฐานของการจัดการเรียนรู้โดยชุมชน เนื่องจากการก่อตั้งโรงเรียนขนาดเล็กในท้องถิ่นแต่ละแห่งนั้นมิได้ตั้งขึ้นมาอย่างง่ายดาย แต่เกิดจากความเรียกร้องความต้องการของชุมชนท้องถิ่นจนมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในชุมชน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และในหลายพื้นที่ก็ยังพบว่าชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างโรงเรียน ทั้งช่วยกันหาไม้หาอุปกรณ์ต่างๆ มาช่วยกันก่อสร้างโรงเรียน ลงขัน ลงแรง ระดมความคิดเห็น และรวมทั้งในอีกหลายชุมชนก็ได้สนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนในท้องถิ่น มีกิจกรรมทั้งทางวัฒนธรรม ประเพณีที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชนมาโดยตลอด โดยหวังให้โรงเรียนเป็นที่ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้ลูกหลานได้มีปัญญา เก่งกล้าสามารถ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในอนาคต โดยไม่ละเลย หลงลืมรากเหง้า ภูมิปัญญาและตัวตนของตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ดังกล่าวนี้เอง การดำเนินนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนั้นย่อมจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจัดการเรียนรู้ในระดับท้องถิ่น ส่งผลกระทบอย่างมากตามมาจากการที่เด็กต้องเดินทางไปเรียนไกลขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กที่พ่อแม่ ผู้ปกครองยังต้องไปรับไปส่งหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลานมากขึ้นจากรายจ่ายค่ารถรับส่ง ที่แม้ว่า สพฐ. เสนอจะให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเข้ามารับผิดชอบก็ตามที ฯลฯ ขณะเดียวกัน ผลกระทบที่สำคัญที่สุดที่ถูกละเลยมองข้ามคือผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากการชุมชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนได้ จะปฏิเสธได้หรือไม่ว่าการจัดการศึกษาให้แก่ลูกหลานไม่ใช่เรื่องสำคัญของชุมชน เพราะแท้จริงแล้วนี่คืออนาคตของชุมชน อนาคตที่ตกทอดสู่มือลูกหลาน ดังนั้นการดึงเด็กออกจากกระบวนการเรียนรู้วิถีของชุมชนท้องถิ่น ย่อมส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อการสร้างการเรียนรู้คุณค่าของตัวเองและของชุมชน ซึ่งเป็นฐานความรู้ที่โรงเรียนขนาดใหญ่หรือโรงเรียนในเมืองไม่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงเช่นนี้ล้วนมีรูปธรรมดังปรากฏเป็นข่าวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ดังนั้น สภาการศึกษาทางเลือก ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของโรงเรียน สถาบัน องค์กร และกลุ่มการศึกษาทางเลือกอันหลากหลายทั่วประเทศ เครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ได้แก่ เครือข่ายการศึกษาทางเลือก เครือข่ายโรงเรียนไทยไท และเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา ฯลฯ ในฐานะหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนผลักดันการปฏิรูปการศึกษาไทย จึงมีมติร่วมกันไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยเชื่อว่าไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและอาจซ้ำเติมให้ปัญหาของระบบการศึกษาไทยเลวร้ายมากยิ่งขึ้น

สภาการศึกษาทางเลือก ขอเรียกร้องและมีข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

  1. พิจารณายุตินโยบายการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก
  2. เสนอให้เกิดกระบวนการจัดเวทีประชาคม โรงเรียน สำนักงานเขตการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคี และกลุ่มการศึกษาทางเลือกในพื้นที่ที่จะมีการยุบและควบรวมโรงเรียน เพื่อวิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ไขและตัดสินใจร่วมกัน
  3. เสนอให้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ประกอบด้วย ผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากคณะกรรมการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก ผู้ปกครอง และกลุ่มการศึกษาทางเลือก เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอนโยบายในการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กโดยภาพรวม
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เดินทัพทางไกลบนเส้นทางสีแดง ตั้งเป้าปั่นจักรยาน 42 วัน 39 จังหวัด 3,693 กม.

Posted: 09 May 2011 05:33 AM PDT

เมื่อวานนี้ (8 พ.ค. 2554) กลุ่มเส้นทางสีแดง No Coup, Fair Election รณรงค์เลือกตั้ง ต้านรัฐประหาร รวมตัวกันปั่นจักรยาน เริ่มต้นจากหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ไปตามเส้นทางสุขุมวิท โดยำปี๊ปคลุมหัวไปมอบให้นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สุขุมวิทซอย 31 อันเนื่องมาจากการอนุมัติงบทิ้งทวน 5 แสนล้านบาทก่อนการยุบสภา

ทั้งนี้เมื่อไปถึงปากซอยสุขุมวิท 31 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งตั้งแผงเหล็กกั้นไม่ให้กลุ่มเส้นทางสีแดงเข้าไปในซอย ทางกลุ่มจึงมอบปี๊ปให้เจ้าหน้าที่ก่อนจะมุ่งหน้าปั่นจักรยานต่อเพื่อไปพบปะคนเสื้อแดงที่ จ. สมุทรปราการ เป็นจังหวัดที่สอง

กิจกรรมปั่นจักรยานเส้นทางสีแดงในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ของการปั่นทางไกล เป้าหมายคือการไปเยี่ยมเยียนคนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และนำเงินบริจาคไปมอบให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเมื่อเดือน พ.ค. 2554

ทั้งนี้ กลุ่มเส้นทางสีแดงยังได้เชิญชวนนักปั่นจักรยานทางไกลและผู้ที่มีรถส่วนตัว (กระบะ โฟร์วีล) ที่ต้องการร่วมเดินทางไปกับขบวนเส้นทางสีแดงเพื่อทำกิจกรรม 42 วัน (8 พ.ค.-19 มิ.ย. 2554) 39 จังหวัด 3,693 กม.

ผู้สนใจติดต่อ 081-5836964 หรือร่วมบริจาคสมทบทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรม เพื่อนำไปเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ธนาคารกรุงเทพ สาขาอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง ชื่อบัญชี นายสมชัย เหยี่ยวฟ้า บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 940-0-38411-2

เดินทัพทางไกลบนเส้นทางสีแดง ตั้งเป้าปั่นจักรยาน 42 วัน 39 จังหวัด 3,693 กม.

เดินทัพทางไกลบนเส้นทางสีแดง ตั้งเป้าปั่นจักรยาน 42 วัน 39 จังหวัด 3,693 กม.

เดินทัพทางไกลบนเส้นทางสีแดง ตั้งเป้าปั่นจักรยาน 42 วัน 39 จังหวัด 3,693 กม.

เดินทัพทางไกลบนเส้นทางสีแดง ตั้งเป้าปั่นจักรยาน 42 วัน 39 จังหวัด 3,693 กม.

เดินทัพทางไกลบนเส้นทางสีแดง ตั้งเป้าปั่นจักรยาน 42 วัน 39 จังหวัด 3,693 กม.

เดินทัพทางไกลบนเส้นทางสีแดง ตั้งเป้าปั่นจักรยาน 42 วัน 39 จังหวัด 3,693 กม.

เดินทัพทางไกลบนเส้นทางสีแดง ตั้งเป้าปั่นจักรยาน 42 วัน 39 จังหวัด 3,693 กม.

เดินทัพทางไกลบนเส้นทางสีแดง ตั้งเป้าปั่นจักรยาน 42 วัน 39 จังหวัด 3,693 กม.

เดินทัพทางไกลบนเส้นทางสีแดง ตั้งเป้าปั่นจักรยาน 42 วัน 39 จังหวัด 3,693 กม.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โปรดเกล้าฯ ยุบสภาแล้ว เลือกตั้ง 3 ก.ค.

Posted: 09 May 2011 05:01 AM PDT

9 พ.ค.54 ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.ยุบสภาแล้ว มีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 พฤษภาคม และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 

ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดให้วันที่ 19-23 พฤษภาคม ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ที่สนามกีฬาไทย- ญี่ปุ่น (ดินแดง) เป็นวันรับสมัครเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และจับสลากหมายเลขประจำพรรคการเมือง ซึ่งจะใช้เป็นหมายเลขสำหรับผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขตทั่วประเทศ

วันที่ 24-28 พฤษภาคม รับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เวลา 08.30- 16.30 น. ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งกำหนด และวันที่ 26 มิถุนายน ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า เวลา 08.00-15.00 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลื่อน! 17 ต.ค.ชี้ขาด คดี ‘ดา ตอร์ปิโด’ พิจารณาคดีลับผิด รธน.หรือไม่

Posted: 09 May 2011 04:55 AM PDT

 
 
9 พ.ค.54 ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 กล่าวว่า ในวันนี้ (9 พ.ค.) เป็นวันที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษศาลชั้นต้นที่ให้จำคุกดารณี 18 ปี และมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หลังจากทนายจำเลยร้องว่าการพิจารณาคดีลับอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยศาลอาญาแจ้งว่าศาลรัฐธรรมูญได้รับเรื่องไว้แล้ว และน่าจะมีคำชี้ขาดได้ในวันที่ 17 ต.ค. นี้
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.54 ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงคำร้องของจำเลยที่ระบุว่าการสั่งพิจารณาคดีลับของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 โดยอ้างเหตุว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และกระทบต่อความมั่นคงของประเทศนั้นอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในมาตรา 29 และ 40 จึงขอให้ศาลชั้นต้นส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ และให้ศาลรอการพิพากษาไว้ก่อน ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 211 แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งภายในวันยื่นคำร้อง (25 มิ.ย.52) ยกคำร้องดังกล่าวโดยระบุว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญเพราะจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำหลักฐานมายังศาลได้ ศาลอุทธรณ์ประชุมหารือกันแล้วมีความเห็นว่า การวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเรื่องดังกล่าวยังไม่เคยมีแนววินิจฉัยมาก่อน จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเสียก่อน ศาลอุทธรณ์จึงยกคำพิพากษาจำคุก 18 ปีของศาลชั้นต้น โดยให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยแพร่คำแถลงยุบสภา 20.30 น. นี้ - เลือกตั้ง 3 ก.ค.

Posted: 09 May 2011 04:51 AM PDT

ปณิธานเผยในหลวงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤฎีกายุบสภาแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 54 และจัดเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฏาคม 54 ขณะที่อภิสิทธิ์บันทึกเทปเตรียมแถลงอย่างเป็นทางการ 20.30 น. นี้ ด้านศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

มติชนออนไลน์ รายงานว่า ในเวลาประมาณ 20.30 น. วันนี้นี้ (9 พ.ค.) จะมีการนำเทปบันทึกภาพคำแแถลงยุบสภาฯ อย่างเป็นทางการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ หลังข่าวในพระราชสำนัก

ทั้งนี้ คำแถลงยุบสภาของนายกรัฐมนตรี จะมีขึ้นในวันนี้ตามที่นายอภิสิทธิ์ได้ระบุไว้ เพียงแต่จะไม่แถลงสดและเปิดให้สื่อมวลชนสอบถาม แต่จะเป็นการนำเทปบันทึกภาพคำแถลงที่ทำการบันทึกไว้มาออกอากาศหลังข่าวพระราชสำนักในคืนนี้

ขณะที่มีรายงานข่าวว่า นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่างยืนยันว่า หลังข่าวพระราชสำนักคืนนี้ ในเวลาประมาณ 20.30 น. ทางทีวีพูล จะมีการถ่ายทอดเทปบันทึกคำแถลงการยุบสภาฯของนายกรัฐมนตรี ผ่านทางโทรทัศน์ทุกช่อง

ด้านบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังคงปฏิบัติภารกิจอยู่ในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ขณะที่บรรดาสื่อมวลชนยังคงปักหลักเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ถึงการแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรี ที่เดิมคาดว่านายกรัฐมนตรีจะแถลงต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากมีการยกเลิกภารกิจนอกทำเนียบรัฐบาลทั้งหมด

ล่าสุดเมื่อเวลา 17.00 น. นายปณิธาน วัฒนายากร แถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า ในหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤฎีกายุบสภาแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 54 และจัดเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฏาคม 54

นอกจากนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญแถลงด้วยวาจาก่อนการลงมติและลงมติ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ฉบับที่ พ.ศ.  ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฉบับที่ พ.ศ.  และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่ พ.ศ. ทั้ง 3 ฉบับ ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และไม่มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กทม.พบ "ปืนสงคราม" ในท่อหน้าพารากอน

Posted: 09 May 2011 04:27 AM PDT

9 พฤษภาคม 2554 เว็บไซต์มติชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักรักษาความสะอาด กทม. เข้าลอกท่อระบายน้ำ หน้าลานน้ำพุ ห้างสยามพารากอน พบอาวุธปืนสงคราม 1 กระบอก สภาพสนิมเกาะ นอกจากนี้ยังพบถุงดำข้างในมีกระสุนจำนวนหนึ่งซุกอยู่ จึงแจ้งให้ตำรวจมาดำเนินการตรวจสอบ

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มือดีติดสติ๊กเกอร์ “โหวตโน” ป้ายหาเสียง “ปุระชัย” ชี้ไกลไปลงสัตยาบันพรรคอันดับหนึ่งตั้ง รบ.

Posted: 09 May 2011 03:51 AM PDT

พรรค “รักษ์สันติ” หาเสียงวันแรก เจอมือดีติดสติ๊กเกอร์ “โหวตโน” ป้ายหาเสียง ด้าน “ปุระชัย” ชี้ไกลไปเรื่องร่วมลงสัตยาบันให้พรรคที่ได้รับเลือกตั้งอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ส่งอดีตผู้ว่าแม่ฮ่องสอนลงเขตบางเขน

 
 
ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
 
 
9 พ.ค. 54 - เมื่อเวลา 16.00 น. ที่สน.โชคชัย นางนงลักษณ์ วัฒนสิงห์ รองหัวหน้าพรรครักษ์สันติ พร้อมด้วย น.ส.พรเพ็ญ เพชรสุขศิริ เลขาธิการพรรคฯ เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ประทวน แมลงทับ พนักงานสอบสวน (สบ 2) สน.โชคชัย เพื่อแจ้งความว่า ถูกผู้ไม่หวังดีนำสติกเกอร์ "Vote No" มาแปะไว้ที่ป้ายหาเสียงหน้าที่ทำการพรรครักษ์สันติ ตั้งอยู่เลขที่ 14/23 ถนนประดิษฐ์มนูธรรม แขวงและเขตลาดพร้าว
 
น.ส.พรเพ็ญ ให้การว่า วันนี้ทางพรรคเริ่มลงพื้นที่หาเสียงเป็นวันแรก โดยเริ่มที่ตลาดยิ่งเจริญ จากนั้นก็เดินทางกลับมาที่พรรคในเวลา 11.00 น. ก็พบว่าป้ายหาเสียงบริเวณหน้าที่ทำการพรรคถูกคนนำสติกเกอร์สีเหลืองรณรงค์ให้ไป Vote No มาติดไว้ นอกจากนี้ยังนำสติ๊กเกอร์ดังกล่าวไปติดป้ายหาเสียงที่มีรูป ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานพรรคฯ อีกด้วย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าพรรคมีนโยบาย Vote No ทาง ร.ต.อ.ปุระชัย จึงมอบอำนาจให้ตนเดินทางมาแจ้งความลงบันทึกประจำวันเอาไว้ที่ สน.โชคชัย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่รับแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 
“ปุระชัย”ลุยหาเสียงเปิดตัวผู้สมัครบางเขน
 
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานพรรครักษ์สันติ  พร้อมด้วยนายพจน์  อู่ธนา อดี ตผวจ.แม่ฮ่องสอน ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคลงพื้นที่เปิดตัวและหาเสียงเป็นครั้งแรก  
 
ทั้งนี้ ร.ต.อ.ปุระชัย ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ถือเป็นฤกษ์ดีจึงขอเปิดตัวและแนะนำนายพจน์ในเขตพื้นที่นี้ด้วย นายพจน์ ถือเป็นคนในพื้นที่ และมีประสบการณ์ทำงานในด้านการเมือง  ซึ่งตนมั่นใจ 100 %ว่า นายพจน์จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่ เพราะเป็นคนที่ทุ่มเท และรู้ปัญหาอยู่ในพื้นที่กว่า  48  ปี จากวันนี้เราจะเดินหน้าอย่างไม่หยุดและเขตพื้นที่บางเขตถือเป็นเขตเมืองที่กำลังขยายตัว จึงควรมีการวางผังที่ดี ทั้งพรรคจะส่งผู้สมัครครบทั้ง 33  เขต รวมทั้งจะส่งผู้สมัครครบทุกภาค  อย่าง จ.ชลบุรีจะครบทุกเขต  จ.สุราษฎรธานี จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ด้วย
 
เมื่อถามว่า มีผู้เสนอให้ทุกพรรคการเมืองลงสัตยาบันให้พรรคอันดับหนึ่งจัดรัฐบาล  ร.ต.อ.ปุระชัย กล่าวว่า  เรื่องยังไกลเกินไปต้องรอให้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งและประกาศยุบสภาเสียก่อน โดยให้เป็นหน้าที่ของ กกต. เป็นผู้ดำเนินการจะดีกว่า และสิ่งที่สำคัญกว่าพรรคการเมืองต้องทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์  ส่วนที่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่ารัฐบาลชุดใหม่อยู่ได้เพียง 2  ปีเท่านั้น    ประธานพรรครักษ์สันติ  ร.ต.อ.ปุระชัย กล่าวว่า  เรื่องนี้ยังไกลเกินไป  สถานการณ์การเมืองขณะนี้เปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ และพรรครักษ์สันติก็พร้อมจะทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งบรรยากาศทางการเมืองในขณะนี้ก็มีความพร้อมที่จะทำงานทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์เช่นกัน
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, เดลินิวส์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สปส.ดึงแนวร่วมค้านรวม “ประกันสังคม-บัตรทอง” เอ็นจีโอโวยถูกป้ายสีไม่ได้ยึดกองทุน

Posted: 09 May 2011 03:29 AM PDT

 
 
เมื่อวันที่ 8 .. 54 ที่ผ่านมามติชนออนไลน์รายงานว่าที่กระทรวงแรงงาน ได้จัดสัมมนาเรื่อง ทางเลือกประกันสุขภาพของแรงงานไทยและผู้ประกันตนระบบประกันสังคม : เสือหรือจระเข้มีผู้ใช้แรงงานกว่า 300 คนเข้าร่วม ทั้งนี้ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดงานว่า ปัจจุบันมีกว่า 100 ประเทศที่ใช้ระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขแตกต่างกันไป เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันเองไม่ต้องรอหวังพึ่งใคร สำหรับประเทศไทยมีระบบประกันสังคมครบ 20 ปีในปีนี้ จุดแข็งที่สุดคือสมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของและสามารถให้ข้อคิดเห็นได้ บางครั้ง สปส.อาจใจแตกและฟุ้งเฟ้อไปบ้างแต่ก็กลับตัวกลับใจได้ ตอนนี้ถือว่ามีความมั่งคั่งและเข้มแข็ง สปส.เป็นหนุ่มหล่อที่ใครก็อยากได้ และมีการใช้วิชามารเข้ามาทำให้เกิดความเสียหาย ให้ร้ายว่าทำผิดกฎหมายบ้าง จะเก็บเงินจากสมาชิกก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทำมาตั้งนานแล้ว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายสมเกียรติกล่าวเปิดงาน ทันตแพทย์หญิงสุขุมาลย์ บุญเรืองศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มแพทย์/ทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่ตรวจและรักษาผู้ป่วยประกันสังคม เข้ายื่นหนังสือขอให้ข้อมูลความจริงจากแพทย์/ทันตแพทย์ในทีมรักษาพยาบาลผู้ป่วยประกันสังคม และบัตรทองเพื่อประกอบการพิจารณา โดยระบุว่า มีข่าวและมีข้ออ้างตามสื่อต่างๆ ในทำนองว่าระบบบัตรทองเหนือกว่าระบบประกันสังคม พร้อมทั้งรณรงค์ให้แรงงานงดการจ่ายเงินประกันสังคม ในฐานะที่พวกตนดูแลรักษาทั้งผู้ป่วยบัตรทองและประกันสังคมเห็นว่าไม่เป็นความจริง ผู้ป่วยในระบบบัตรทองไม่ดีตามที่อ้าง
 
นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนสับสนระหว่างบัตรทองกับ สปส.ว่าอะไรดีกว่ากันเนื่องจากมีการโน้มน้าวปลุกปั่นให้หยุดจ่ายเงินสมทบเหมือนกับบัตรทอง ทางเลือกของคนอยู่บนเส้นแบ่งที่ไม่รู้จะไปซ้ายหรือขวา และความเป็นจริงที่ผ่านมาฟังจนชินหูว่าบัตรทองดีกว่าประกันสังคมเพราะเปิดอยู่เพลงเดียว ดังนั้นต้องเปิดอีกเพลงหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าเพลงไหนไพเราะกว่ากัน
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. กล่าวว่า ในระบบ สปส.ให้บริการทั้งโรงพยาบาลเอกชนและรัฐบาล โดยเอกชนมีกว่า 90 แห่งที่เป็นโรงพยาบาลหลักและมีเครือข่ายอีกนับพัน แต่ สปสช.มีในกทม. 18 แห่ง ซึ่ง สปส.เน้นที่โรงพยาบาล(รพ.) แต่ สปสช.เน้นที่หน่วยปฐมภูมิ การใช้ รพ.ขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงบริการได้ตลอด แต่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมินั้น ทำงานตามเวลาราชการ นอกจากนี้การจ่ายให้ รพ.ไม่ใช่แค่เหมาจ่าย แต่ สปส.ยังจ่ายเฉพาะอีกมากมาย เช่น การล้างไตด้วยการฟอกเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูก ฯลฯ ที่นักวิชาการบางคนพยายามบอกว่า สปส.แย่กว่านั้น เป็นการจงใจให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องที่ สปส.ดีกว่ากลับไม่พูดถึง
 
 
พญ.ประชุมพร บุรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป กล่าวว่า ผู้ประกันตนจำนวนมากเล่าให้ฟังว่า ยอมไม่ได้หากต้องถูกย้ายจาก สปส.ไปไว้ สปสช. เพราะระบบบัตรทองเป็นระบบโรงทานฟรี การที่บอกว่าบัตรทองเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดี ก็คงดีจริง เพราะแพทย์และพยาบาลแทบไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำเลย แม้พยายามขยับขยายแต่ก็ไม่สามารถทำได้มากกว่านี้ ขอให้ผู้ประกันตนชั่งใจกันให้ดีว่าอยากได้แบบไหน แต่เพื่อนร่วมงานทั้งหลายที่เป็นผู้ประกันตนนับพันคนไม่มีใครอยากได้บัตรทองแม้แต่คนเดียว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พญ.ประชุมพรนำภาพบรรยากาศการรักษาพยาบาลแห่งหนึ่งใน รพ.บุรีรัมย์มาฉายให้ผู้ร่วมสัมมนาดู โดยเปรียบเทียบกับ รพ.อีกแหน่งหนึ่งใน จ.สุรินทร์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงระบบบัตรทองที่มีคนไข้อย่างเนืองแน่นและต่อคิวยาว บางคนต้องนั่งรออยู่กับพื้น แตกต่างจากผู้ป่วยของ สปส.ที่กันพื้นที่พิเศษไว้ให้ผู้ป่วยของ สปส.
 
นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กทม. กล่าวว่า สมัยเป็น ส.ว.ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้คัดค้านไม่ให้เอาระบบประกันสังคมไปรวมกับบัตรทอง รัฐบาลขณะนั้นต้องการเอาเงินทุกระบบมาไว้ด้วยกัน แต่ ส.ว.ต่อต้าน ในที่สุดประกันสังคมถูกแก้กฎหมายว่าพร้อมเมื่อไรถึงมารวม พอสิบปีให้หลังเอาอีกแล้ว น.ส.สารี (อ๋องสมหวัง) ประกาศว่าสงสารที่ทุกคนเสียเงินและให้ไปรักษาฟรีและเอาเงิน 0.8% ไปไว้ที่ประกันว่างงาน ตรงนี้อย่าไปเชื่อ เพราะไปเมื่อไร นายจ้างจะไม่ยอมจ่ายเงิน ดีชั่วอย่างไรระบบประกันสังคม ผู้ใช้แรงงานก็ตรวจสอบได้ แต่หากไปทางนั้นแทบไม่มีเสียงเลย จากการที่เคยดูแลตัวเองได้ต้องกลายไปเป็นขอทาน เพราะปัญหาสุขภาพอย่าเห็นว่าฟรีอย่างเดียว การจัดการเป็นระบบเดียวทั้งประเทศเลิกไปหมดแล้ว ใครรวมกันตรงไหนได้ก็อยู่ตรงนั้น ราชการก็อยู่ในส่วนราชการ ผู้ประกันตนก็อยู่ในส่วนของผู้ประกันตน คนที่ดูแลตัวเองได้แล้วมาเฉลี่ยกัน
 
"สารี" จวกปลัดแรงงานทำคนเข้าใจผิดจุดยืนเรียกร้องประกันสังคม
 
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมไม่ต้องจ่ายเงินสมทบค่ารักษาพยาบาล ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะเอาเงินของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มาไว้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนั้นการที่นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) ที่พูดอย่างซ้ำๆ เพราะต้องการขยายความเข้าใจผิดทั้งที่รู้ดีว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
 
ขอให้สบายใจได้ว่าไม่ใช่การยึดกองทุนแน่นอน วาทะกรรมแบบนี้เป็นการจับแพะมาชนแกะ เอาคนละเรื่องเดียวกันมาทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน ตอนนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ผู้ประกันตนต้องเผชิญอยู่น.ส.สารีกล่าว
 
น.ส.สารี กล่าวว่า การให้ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลไม่ใช่การสร้างนิสัยรับของฟรี และไม่ได้ทำให้ประชาชนเป็นขอทาน เพราะสิทธิด้านสุขภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับอย่างเสมอหน้า ส่วนตัวเห็นว่าผู้ที่เปรียบเทียบกำลังสร้างวาทกรรมที่ดูถูกประชาชนอยู่
 
"ช่วงก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง กลุ่มคนหน้าเดิมๆ ก็เคยโจมตีเช่นนี้ นั่นเพราะเขาเสียผลประโยชน์จากการเสวยสุขระบบเก่า การคัดค้านก็เพราะเห็นแก่ประโยชน์ตัวเอง และสุดท้ายก็พิสูจน์แล้วว่าระบบบัตรทองทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์"น.ส.สารี กล่าว
 
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ผลการวิจัยเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่าสิทธิประโยชน์ใดที่ระบบประกันสังคมดีกว่าบัตรทอง และสิทธิใดที่บัตรทองดีกว่า ยืนยันว่าไม่ได้จงใจให้ข้อมูลด้านเดียว อย่างไรก็ตามภายหลังเปิดเผยผลการวิจัยทำให้สปส.เร่งปรับสิทธิประโยชน์หลายรายการ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจจึงถือว่าสำเร็จระดับหนึ่ง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครป. แถลงเตรียมจัดเวที “เลือกนโยบายพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย”

Posted: 09 May 2011 02:52 AM PDT

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 54 ที่ผ่านมาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "ท่าทีและข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันและกิจกรรมเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย" โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

 

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

เรื่อง ท่าทีและข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันและกิจกรรมเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

ตามที่คณะกรรมการรรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.)ได้จัดเวทีสัมมนาเรื่องการ เมืองภาคประชาชนกับการปฏิรูปประเทศไทย ขึ้น ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2554 ณ ห้องประชุมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อกำหนดท่าทีข้อเรียกร้องและกิจกรรมต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปและติดตามการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสืบเนื่องจากมาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาความเหลื่อมล้ำของ สังคม จากการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของนักการเมืองที่ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งการผูกขาดทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนต่างๆ

ครป.ขอแถลงผลการสัมมนา ท่าทีและข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและกิจกรรมรณรงค์การเลือกตั้ง ดังนี้

1. เราเห็นว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การสรรหาบุคคลเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ตามกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น หากแต่การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการชี้ชะตาอนาคตการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศไทย ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาวิกฤติภายในชาติ การพัฒนาประเทศและการปฏิรูปประเทศไทยที่จะต้องยึดโยงกับการมีส่วนร่วมของ ประชาชน บทเรียนการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีของระบอบประชาธิปไตย เราไม่อาจไว้วางใจบุคคลหรือคณะบุคคลใดเข้าสู่อำนาจ โดยไม่ยืนอยู่บนอำนาจอธิปไตยของประชาชน หรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้อีกต่อไปและเราขอประณามการกระทำหรือความ พยายามใดๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพื่อที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นทุกวิถีทาง

2.เราเห็นว่า แม้นการเลือกตั้งจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาของประเทศ แต่พฤติกรรมของนักการเมือง เช่น การอนุมัติงบประมาณทิ้งทวนของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันนับแสนล้านบาทที่ผ่านมา และความล้มเหลวในการทำหน้าที่ของ สส.หรือฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนจนเป็นเหตุให้สภาล่มซ้ำซาก คือ วงจรความเลวร้ายของการเมืองไทยที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ทำให้ประชาชนหมดหวังกับนักการเมืองและการเลือกตั้งดังที่เป็นอยู่ ปัญหาเหล่านี้นักการเมืองและพรรคการเมืองที่จะเสนอตัวลงเลือกตั้ง ต้องตอบคำถามกับประชาชนว่าจะแก้ไขใม่ให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร

3.เราเห็นว่า การนำพาการเลือกตั้งให้ข้ามพ้นการเมืองของนักการเมือง การเมืองของการแข่งขันที่เต็มไปด้วยการใส่ร้ายป้ายสี บิดเบือนข้อเท็จจริง บ่มเพาะและขยายความร้าวฉานสร้างความแตกแยกให้ร้าวลึกลงไปในชาติ ภาคประชาชนจะต้องสร้างวาระทางการเมือง กำหนดนโยบายให้พรรคการเมืองนำไปปฏิบัติ ทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ปัญหาความยากจน สวัสดิภาพแรงงานและเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป ทั้งเรื่องข้อเสนอการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรและข้อเสนอการปฏิรูปโครง สร้างอำนาจ เป็นต้น และเราขอเรียกร้องต่อพรรคการเมืองทุกพรรคให้กำหนดนโยบายการปฎิรูปประเทศที่ เป็นชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมให้ประชาชนได้พิจารณาตัดสิน

4.เพื่อให้เจตจำนงค์ทางการเมืองของประชาชนที่ต้องการให้มีปฏิรูปตรงกับเจตจำ นงค์ในการเลือกตั้ง ครป.จะได้ประสานงานกับเครือข่ายองค์กรประชาชนต่างๆ เพื่อจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์เลือกตั้ง “เลือกนโยบายพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” ทั้งเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชน จัดเวทีประชาชนพบพรรคการเมือง จัดทำคู่มือการเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปประเทศ และจะได้ติดตามการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศเกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริงในที่สุด

ด้วยจิตสมานฉันท์และเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย
แถลงโดย นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด  เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
8 พฤษภาคม 2554 ณ ห้องประชุมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หลิ่มหลี: อยากเป็นแม่มณี ในทวิภพ หิ้วกระเป๋าหลุยส์ไปช่วยไทยไม่ให้เสียดินแดนค่ะ

Posted: 09 May 2011 01:40 AM PDT

หลิ่มหลีไปฟังเรื่องสมัยรัชกาลที่ห้าถึงรัชกาลที่เจ็ดมาค่ะ ที่งานที่มธ. เมื่อวันก่อน (7 พ.ค.) คนพูดคือ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล งง งง ค่ะ หลิ่มหลีไม่รู้เรื่องเท่าไรหรอกค่ะ อาจารย์พูดอะไรก็ไม่รู้ หลิ่มหลีไม่รู้เรื่องเลย ไม่เคยเรียนมาเลยด้วยซ้ำ

หลิ่มหลีว่า อาจารย์ต้องเรียนมาจากนอกโลก นอกประเทศไทยแน่ๆเลย หลิ่มหลีไม่เห็นจะเคยรู้ เคยจำได้เลยว่า เรื่องที่อาจารย์บอกเมื่อวาน มีสิ่งเหล่านี้ด้วย

หลิ่มหลีเรียนประวัติศาสตร์ไทยจากหนังหรือละครไทยค่ะ อย่างเรื่อง นางทาส คือหัตถาครองพิภพ ทวิภพ สุริโยทัย พระนเรศวร ฯลฯ

สิ่งที่หลิ่มหลีเรียนมันก็เหมือนกับหนังละครที่ฉาย หลิ่มหลีก็อ่านหนังสือเยอะนะคะ ชีวิตรักเจ้าฟ้า นางใน ชีวิตเหมือนฝัน ทวิภพ ฯลฯ

แต่ละอย่างที่หลิ่มหลีเรียนและเรียนรู้ ไม่เห็นมีตรงไหนตรงกับที่อาจารย์พูดเมื่อวานเลย

หลิ่มหลีฝันมาตลอด อยากได้กระจกโบราณแล้วได้ย้อนเวลากลับไปสู่อดีต ไปช่วยแก้ปัญหากรณีพิพาทดินแดน หลิ่มหลีอยากเป็นแม่มณี เป็นสาวเปิ๊ดสะก๊าดในสมัยนั้น

ความแรดตามสันดานหลิ่มๆของหลิ่มหลีในยุคนี้ น่าจะดูเปิ๊ดสะก๊าดพอไหว ... คุณหลวงอาจจะชอบ คิกๆๆๆๆ
แต่พออาจารย์ธงชัย มาพูดมาเล่าให้ฟังในแง่ประวัติศาสตร์อีกด้าน หลิ่มหลีหัวหมุน เอาพัด(สวยๆ เอามาทำสลิ่มคุณนาย)มาเขกกระโหลกตัวเอง อยากร้องตะโกนว่า “อาจารย์พูดไรหว่ะ” (ความฝันที่จะเป็นแม่มณีสลายหมดเลย บ้าชะมัด)

ตลอดชีวิตของหลิ่มหลี หลิ่มหลีไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ไทยแบบนี้ เท่าที่หลิ่มหลีจำได้
ยุคก่อนไทย ก็ คนไทยมาจากเทือกเขาอันไต ที่เห็นจะมีใครสักคนไปทวงคืนมาพร้อมๆกับปราสาทเขาพระวิหาร
ยุคสุโขทัย มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก มีกระดิ่ง มีหินที่สลักตัวอักษรไทย เรียกอะไรน้า.. ศิลา.. ศิลามณี ใช่ไหมคะ ????

ยุคอยุธยา เรามี พระสุริโยทัย อิอิ อันนี้หลิ่มหลีจำได้จากหนัง มี.ใหม่เจริญปุระเล่นชู้กับพราหมณ์จนต้องฆ่าผัวกษัตรย์ทิ้ง มีพระนเรศวรที่หลิ่มหลีเสียดายเงินที่จะไปดูโรง ค่าตั๋วมันแพง จะซื้อแผ่นผี เขาก็ไม่มีขาย คนขายบอกว่า หนังไม่สนุก ทำแผ่นผีไปก็ไม่คุ้ม ไม่มีคนซื้อ เวลกรรม คนเล่นจะเสียใจไหมเนี่ย..
ยุคกรุงเทพ.. หลิ่มหลีก็จำไม่ได้ว่า เขาเรียกอะไร

เฮ้ย ไม่อยากอวดเลยว่า ตอนประถมห้า หลิ่มหลีเคยท๊อปวิชาประวัติศาสตร์ไทย หลิ่มหลีเคยฝันว่า ถ้าวันหนึ่งหล่ิมหลีได้ย้อนเวลากลับไปช่วยชาติไทย หลิ่มหลีว่าจะเอาวิชาประวัติศาสตร์ไทยที่หลิ่มหลีได้ท๊อปของห้องไปช่วยคุณหลวงของแม่มณีซะหน่อย (คนข้างๆยังเปรยว่า ตอนนั้นยังไม่มีชาติไทยโว้ย มีแต่สยาม โอ้ย หลิ่มหลี งง พูดอะไรกันเนี่ย ไม่คุ้นเลย)
อาจารย์ไปเรียนประวัติศาสตร์ไทยมาจากไหนเนี่ย ทำไมไม่เหมือนที่หลิ่มหลีเรียนมาเลย

อาจารย์พูดถึง ลัทธิ รัฐเดี่ยว จักรวรรดิ อำนาจ สังคมอินทรียภาพแบบพุทธ (Buddhist Organic Society) ราชานิยม สยามเก่า สยามใหม่ อนุรักษ์นิยม ประชาชนไม่เคยพร้อม ชิงสุกก่อนห่าม กดขี่ปราบปรามเป็นผลของเลขพิซซ่าเดลิเวอรี่
อาจารย์มีการ์ตูนให้อ่าน มีรูปให้ดู มีตัวหนังสือให้อ่าน เห็นคนฟังเค้าร้อง อือหือกัน หลิ่มหลีก็ไม่รู้เรื่อง แล้วก็ร้องอีก โอ้โหกันอีก หลิ่มหลีก็เอาพัดตบหัว อยากจะทำปากแหลมๆแล้วร้องตะโกนว่า “อาจารย์พูดอะไร หลิ่มหลีไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย”

อาจารย์พูดเรื่อง สมัย รัชกาลที่ห้า ไปสู่ รัชกาลที่หก การเสียดินแดน ซึ่งที่แท้ไม่ใช่การเสียดินแดน เป็นการแย่งดินแดนที่มีเจ้าปกครองแบบซ้ำซ้อนกันอยู่ แล้วเราก็รังแกเจ้ารอบข้างเพื่อเอาตัวรอด คล้ายๆกับ การที่เรายอมอ่อนด้อยกับพวกยุโรป เพื่อกดขี่เพื่อนรอบข้าง เราจะได้เป็นพี่เบิ้มแถวบ้านเรา

อาจารย์ทำให้หลิ่มหลีสมองพลิกเป็นอีกอย่างหนึ่งเลย

หลิ่มหลีอยากเป็น “แม่มณี” เป็นสาวเปิ๊ปสะก๊าด กิ้วๆ แบบที่สมัย แอน สิเรียมเคยเล่น (แต่หลิ่มหลีไม่เอาศรันยูแล้วนะ อี๊ เห็นตอนนี้แล้ว หนวดเครารุงรังน่าเกลียด ไม่สะอาดสะอ้านหล่อเหล่าเหมือนเมื่อก่อนเลย) นุ่งกระโจม ห่มสไบ แล้วมีกระเป๋าหลุยส์วิตตองในนั้นใส่ผ้าอนามัยไว้ (หลิ่มหลีไม่อยากใช้กากมะพร้าว) เตรียมตัวข้ามเวลาไปยุคสมัยนั้น เพื่อหาคุณหลวง เพื่อช่วยไม่ให้เราเสียดินแดงไทย

แล้วแบบนี้หลิ่มหลีจะไปเป็น “แม่มณี” ได้อย่างไรกัน

อาจารย์ย้อนให้เห็นภาพการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถส่งผลเสียให้กับปัจจุบัน แล้วก็ไม่เคยเอาประวัติศาสตร์มาปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น เรียกว่า เจ็บแล้วไม่จำ โง่แล้วไม่เจียม (อันนี้หลิ่มหลีคิดเอง)

หลิ่มหลีเรียนแต่ประวัติศาสตร์ด้านดีที่เกิดขึ้นมาแต่ในอดีต ไม่เคยเรียนเรื่องเสียหาย (แถมอาจารย์ประวัติศาสตร์บางท่านที่เคยสอนหลิ่มหลียังเคยบอกหลิ่มหลีว่า การที่ประเทศญี่ปุ่นไม่เคยให้นักเรียนของตัวเองเรียนประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สองเลย เป็นเรื่องน่าอาย)

ตอนนี้หลิ่มหลีต้องมานึกย้อน ..แล้วเราล่ะ
ไม่อาจารย์ผิด ก็หลิ่มหลีเพี้ยน หรือว่า เราถูกสร้างประวัติศาสตร์ให้เราดูดี ดูหรู ดูชาตินิยม

เค้าให้หลิ่มหลีเรียนแต่ประวัติศาสตร์ด้านดีดีคนดีดี ทุกคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์เท่าที่หลิ่มหลีเรียนมาคือวีรบุรุษ วีรสตรี ไม่ว่าจะเป็นใคร ชนชั้นไหน ทุกคนได้รับการบอกเล่าในเรื่องดีหมดเลย

มองๆไป ก็ดีนะคะ
คนสมัยก่อนโชคดี ที่มีคนเขียนประวัติศาสตร์ดีดีให้

ปัจจุบัน คือ ประวัติศาสตร์ของอนาคต
เขาจะโชคร้ายแค่ไหนที่ไม่มีใครเขียนประวัติศาสตร์ให้เขา

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น