ประชาไท | Prachatai3.info |
- “ปรีดา เตียสุวรรณ์” เชื่อนิติราษฎร์บริสุทธิ์ใจ แต่ข้อเสนอบางเรื่องไม่เหมาะ
- เกษตรพันธสัญญา: บ่วงบาศผูกขาดปากท้อง และหนทางหลุดพ้น
- รองอธิบดีกรมป่าไม้ขอบคุณชาวบางสะพาน นำพื้นที่ป่าคืนให้กับชาติ
- แอดมินเพจ "โหดสัส"
- โครงการสร้างภาพยนตร์ "นวมทอง"
- เพียงคำ ประดับความ: 'นักโทษหญิงแดง'
- การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมเปรียบเทียบไทย-ฝรั่งเศส 2: สิทธิเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ยื่นหนังสือ นายกฯ หยุดรับสมาชิก กองทุนพัฒนาสตรีเป็นของทุกคน
- สู่วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ (1) "เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง"
- ศิริโชคโพสต์รูปล้อกรณีวรเจตน์ถูกทำร้ายลงเฟซบุ๊ก
- แนะสปส.จ่ายเงินค่าโอนผู้ประกันตนไปบัตรทองตามที่กฤษฏีกาตีความ
- เหตุผลสำคัญ 3ข้อ ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
- มองเกาหลีใต้ มองไทย
- 81 องค์กรชุมนุมไล่อธิการฯ มข. เหตุขาดธรรมาภิบาล ไร้จริยธรรม
- ใจ อึ๊งภากรณ์: หนังสือ 1984 ของ จอร์ช ออร์เวล กับสังคมไทย
“ปรีดา เตียสุวรรณ์” เชื่อนิติราษฎร์บริสุทธิ์ใจ แต่ข้อเสนอบางเรื่องไม่เหมาะ Posted: 07 Mar 2012 11:06 AM PST เห็นด้วยกับ “วรเจตน์” หลายประเด็น แต่ข้อเสนอบางเรื่องซื่อไปหน่อย ชี้สังคมไทยยังอยู่ภายใต้ประชานิยม ผู้บริหารไม่คิดดูแลประชาชนระยะยาว จึงหาเสียงแบบหวังผลระยะสั้นซึ่งเป็นสิ่งอันตราย เชื่อในที่สุดสังคมไทยก็ต้องมาพูด ม.112 อย่างจริงจังว่าจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เพราะตอนนี้กลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองไปแล้ว เมื่อวานนี้ (7 มี.ค.) มติชนออนไลน์เผยแพร่บทสัมภาษณ์ นายปรีดา เตียสุวรรณ์ กรรมการบริษัท และประธาน บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) นักธุรกิจผู้มีบทบาทสนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2540 สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ (อ่านบทสัมภาษณ์เต็มที่มติชนออนไลน์) โดยตอนหนึ่งนายปรีดา ให้สัมภาษณ์วิเคราะห์โครงสร้างสังคมการเมืองไทยว่า “เกือบ 80 ปีที่แล้วที่เราเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังจากนั้นทหารมีอำนาจครอบคลุมมาอย่างน้อย 50-60 ปี ทหารเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของประเทศนี้อะไรต่างๆ แต่ระยะ 20 ปีหลังฝ่ายทุนนิยมเป็นผู้ที่เริ่มมีบทบาทถึง ปัจจุบันนี้ ฝ่ายทุนเป็นฝ่ายที่ดูประหนึ่งว่ามีอำนาจครอบคลุมประเทศนี้ และบริหารประเทศนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดความแตกต่างมี ตอนที่ทหารมีอำนาจประมาณ 60 ปี ทหารก็ยังต้องฟังเสียงของประชาชน มันต่างกับฝ่ายทุนที่เป็นอยู่ คือ ครั้งแรกที่ฝ่ายทหารเรียนรู้ว่า ทหารไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ คือ วันที่ 14 ตุลาคม 2516 มันเป็นการเคลื่อนไหวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย” ปรีดาวิเคราะห์ด้วยว่า การเมืองทุกวันนี้เป็นเรื่องของการใช้ระบอบประชานิยม “ระบอบประชานิยมซึ่งมิได้มีความคิดในการที่จะดูแล ความก้าวหน้าความสุขมวลรวมของประเทศ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาวเลย เป็นการหากิน หาเสียงแบบสั้น ๆ เพื่อให้ได้มาเป็นผู้บริหารใน 4 ปี หรือ 2 ปีข้างหน้าให้ได้เสียงที่จะเลือกฉันกลับเข้ามา ซึ่งแน่นอนอันนี้เป็นอันตราย เพราะการบริหารประเทศคุณไม่สามารถใช้ประชานิยมในระยะยาวได้ การบริหารประเทศเหมือนยังกับการบริหารครอบครัว เวลาลูกอยากจะกินขนม ก็ให้เงินไปซื้อขนม แต่เงินไม่ใช่จะมีตลอดไป เงินไม่ได้ตกลงมาจากท้องฟ้า และเวลาลูกกินอาหาร กินมากเกินไปฟันก็ผุ ตัวก็อ้วน สุขภาพก็ไม่ดี” ต่อคำถามเรื่องจุดบกพร่องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตอนหนึ่งเขากล่าวว่า “การที่คุณจะเป็นองค์กรที่ร่วมกันทำจากอุดมการณ์ ถ้ามันไม่ได้เป็นองค์กรที่บริหาร แล้วมีสัดส่วน มีตำแหน่งว่าใครเป็นหัวหน้า ใครเป็นลูกน้องชัดเจน ใครเป็นผู้บังคับบัญชาต่าง ๆ ชัดเจน คุณไม่มีทางรักษามันเอาไว้ได้ในระยะยาว เพราะมันไม่มีใครที่จะต้องมานั่งฟังใครอย่างจริง ๆ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Chain of command” มันไม่มีผู้ที่จะมาจัดระบบ อย่างในบริษัทเราพอสั่งกันได้ ฉันเป็นหัวหน้า เธอเป็นลูกน้อง” ต่อเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปรีดากล่าวว่า “ผมก็ยังเห็นด้วยว่า มาตรา 112 มันก็ต้องถูกแก้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนปีที่น่าจะลดทอนลงมาบ้าง ก็ทำให้ผมต้องเลือกทางที่จะไปเหมือนกัน ทั้งที่ผมก็ไม่ได้เห็นทุกอย่างไปในทางเดียวกัน แต่ตอนนี้เราต้องรวมตัวกัน เพราะเราเห็นปัญหา หลักของประเทศนี้ คือ คุณทักษิณ เราเห็นเหมือนกัน ทำให้เราขจัดสิ่งเรื่องอื่นก่อน แล้วค่อยมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า” ต่อคำถามที่ว่า “อะไรคือ อันตรายที่สุดของคุณทักษิณ” นายปรีดาตอบว่า “คุณทักษิณจัดกระบวนการการเมืองขึ้นมา พรรคการเมืองขึ้นมา และเข้าสู่การให้ได้คะแนนเสียงมา ผ่านนโยบายประชานิยมล้วน ๆ ผมพูดเรื่องนี้มาอย่างน้อย 11-12 ปี แล้วว่า เป็นอันตรายต่อประเทศมาก” ในเรื่องความหวังกับการเมืองไทย นายปรีดากล่าวว่า “ต้องมี” และว่า “อย่างน้อยสุดเราก็ออกมาจากระบอบทหารเต็มที่มา 60 ปีมาสู่ระบอบประชาธิปไตย จากครึ่งใบมาสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ประชาธิปไตยเต็มใบตอนนี้ "ทุนสามานย์" จะมีบทบาทมากเกินไปเราต้องให้ความรู้แก่ประชาชน และเราหวังว่า ประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวในการรักษาอารมณ์ ไม่ใช่ไป ปิดสนามบิน ไปอย่างมีสติ” นอกจากนี้นายปรีดาได้ตอบคำถามสุดท้ายเรื่องมาตรา 112 ด้วยว่า “ผมว่าที่สุด สังคมไทยก็ต้องมาพูดเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า จะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เพราะมันได้กลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองไปแล้ว ผมเห็นด้วยกับอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (นิติราษฎร์) หลายประเด็น แต่ข้อเสนอบางเรื่องก็ซื่อไปหน่อย ผมไม่เชื่อว่า คนพวกนี้รับเงินใครมาเคลื่อนไหว ผมไม่เชื่อ ผมเชื่อว่า พวกเขาบริสุทธิ์ใจ แต่บางเรื่องไม่เหมาะ” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||
เกษตรพันธสัญญา: บ่วงบาศผูกขาดปากท้อง และหนทางหลุดพ้น Posted: 07 Mar 2012 08:36 AM PST
ปัจจุบันอาหารที่เราบริโภคกันอยู่มักผ่านกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่ใช้วิธีการเชื่อมโยงผลผลิตจากไร่นาและคอกฟาร์ม มาสู่โต๊ะอาหารของเราผ่านระบบเกษตรพันธสัญญาซึ่งครอบคลุมวัตถุดิบและอาหารปรุงสุกหลากหลายชนิด จนอาจกล่าวได้ว่าระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นระบบที่ควบคุมปากท้องของเราแทบจะทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว เว้นก็แต่เพียงเกษตรกรที่สามารถผลิตอาหารได้เอง หรือผู้บริโภคที่สามารถซื้อหาอาหารได้จากตลาดการเกษตรท้องถิ่นเท่านั้นที่ปากท้องยังมิได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของบรรษัทซึ่งควบคุมระบบนี้ หากจะวิเคราะห์ระบบเกษตรพันธสัญญาว่าสามารถผูกขาดปากท้องของผู้บริโภคอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งได้อย่างไรจำเป็นต้องเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 ฝ่าย ได้แก่ ผู้บริโภค บรรษัท รัฐ และเกษตรกร โดยกระบวนการของเกษตรพันธสัญญาได้ผลิตอาหารมาป้อนผู้บริโภคซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่ผู้บริโภคแทบไม่รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบรรษัทจนไม่อาจปลดแอกตนเองและมีทางเลือกอื่นเพื่อเสริมความมั่นคงด้านอาหารทั้งในแง่ราคา และคุณภาพอาหาร กระบวนการของระบบนี้ประกอบไปด้วย 12 ขั้นตอน คือ 1.การกำหนดเป้าหมาย 2.ต้นทุนและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่มี 3.ข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจ 4.การสร้างระบบความสัมพันธ์ 5.อำนาจต่อรองระหว่างฝ่ายต่างๆ 6.ระบบวิธีการผลิตอาหาร 7.การจัดการทรัพยากรในกระบวนการผลิต 8.ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผลิต 9.การกำหนดมาตรฐานและราคาอาหาร 10.การกระจายสินค้า 11.การแลกเปลี่ยน 12.การสร้างภาพลักษณ์ โดยกระบวนการนี้จะหมุนเวียนเป็นวงจรที่เริ่มต้นและดำเนินไปจนจบวงจรแล้วเกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ จนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายชาชินไปกับการผูกขาดครอบงำของระบบ ณ จุดเริ่มต้นของเรื่อง ผู้บริโภคล้วนต้องการอาหารที่มีคุณภาพและมีราคาถูก บรรษัทมีเป้าหมายอยู่ที่การแสวงหากำไรเข้าตัวให้มากที่สุด โดยที่รัฐก็ต้องการจัดเก็บภาษีจากบรรษัทและอยากให้เกิดผลผลิตจำนวนมาก เพื่อนำไปเป็นผลงานในฐานะผู้มีหน้าที่ส่งเสริมการประกอบการโดยมีการอุปถัมภ์ค้ำชูกันทั้งในระดับนักการเมืองและข้าราชการประจำ ส่วนเกษตรกรก็กำลังแสวงหาวิธีการพาตัวเองออกจากความยากจนที่ต้องเผชิญอยู่ ในปัจจุบัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เองเพราะจะเสียโอกาสในการทำงานที่ได้ผลตอบแทนดีกว่า และไม่มีที่ดิน ไร่นา บรรษัทเล็งเห็นว่าหากจะสร้างผลกำไรให้ได้มากที่สุดจะต้องมีการผูกขาดความสามารถในการผลิตมาอยู่ที่ตัวเอง จึงได้พยายามอย่างมากในการครอบครองปัจจัยการผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรมพืชและสัตว์ ในรูปตัวอ่อนสัตว์และเมล็ดพันธุ์พืช หรือแม้กระทั่งการถือครองที่ดิน โดยที่ภาครัฐก็มิได้มีการสงวนอนุรักษ์ปัจจัยการผลิตเหล่านั้นให้เกษตรกร และเกษตรกรเองก็อยู่ในภาวะยากจน มีหนี้สิน ไม่มีปัจจัยการผลิตเป็นของตัวเอง ทั้งที่ดิน พันธุ์พืชและสัตว์ ปุ๋ย ยา ฯลฯ หากเกษตรกรต้องการจะผลิตก็ต้องเข้ามาหาทุนที่ถือครองปัจจัยการผลิตเหล่านี้ ไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริโภคทั้งหมดจะไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารที่ตัวเองกินว่ามีการเดินทางมาถึงปากได้อย่างไร เช่นเดียวกับเกษตรกรที่มีเหตุผลในการตัดสินใจเลือกเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา ก็เพราะปริมาณข้อมูลสนับสนุนด้านดีของเกษตรพันธสัญญาที่บรรษัทโหมประชาสัมพันธ์ และจัดจ้างให้มีการทำวิจัยสนับสนุนอย่างมากมายมหาศาล และรัฐเองก็มีเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำด้วยข้อมูลเหล่านั้น หรือบางกรณีรัฐเองก็เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบพันธสัญญา โดยที่เกษตรกรมีข้อมูลเท่าทันสถานการณ์น้อยมากเนื่องจากในสื่อต่างๆ รวมถึงข้อมูลจากรัฐ มีแต่ด้านดีไม่มีด้านลบ สิ่งที่น่าวิตกมาก คือ ผู้บริโภคไม่อาจรับรู้ได้เลยว่าใครเป็นผู้ผลิตอาหารให้รับประทานจึงไม่มีความสัมพันธ์ที่จะวางใจได้ว่าผู้ผลิตอาหารจะห่วงใยตนหรือไม่ ส่วนเกษตรกรก็เลือกเข้าสู่ระบบพันธสัญญาบนพื้นฐานของคนเข้าไปขอร่วมระบบโดยมองว่าบรรษัทที่หยิบยื่นปัจจัยการผลิตมาให้ในระบบสินเชื่อเป็นผู้มีพระคุณกับตัวเอง หากบรรษัทจะกำหนดข้อสัญญาอย่างไรก็ให้เป็นตามที่บรรษัทเห็นควร หรือบางกรณีถึงขนาดไม่มีหนังสือสัญญาให้เกษตรกรถือไว้ โดยภาครัฐไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบข้อสัญญาที่เกิดขึ้นว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผู้บริโภคมิเคยล่วงรู้ว่าอาหารที่กินเป็นหยาดเหงื่อ และคราบน้ำตาของใครบ้าง เนื่องจากเกษตรกรเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบแล้วก็จะเหลือตัวเองคนเดียวที่ผูกพันอยู่กับบรรษัท ด้วยผลจากลักษณะของสัญญาออกที่แบบโดยบรรษัท และมีเงื่อนไขกีดกันมิให้เกษตรรวมกลุ่มกันเข้าทำสัญญากับบรรษัท เพื่อให้อำนาจในการต่อรองของเกษตรกรน้อยลง ไม่แข็งข้อ และรัฐก็มิได้เข้ามามีบทบาทเสริมอำนาจต่อรองให้เกษตรกร หรือแก้ไขข้อสัญญา หรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรมให้กับเกษตรกร จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ผู้บริโภคก็ได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนหลักในการผลิตที่ขูดรีดต่อเกษตรกร ด้วยเหตุที่การผลิตของเกษตรพันธสัญญาอยู่ในรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องพยายามผลิตเพียงอย่างเดียวให้ได้ปริมาณมากที่สุด เพื่อให้ได้เงินมากที่สุดพอที่จะมาหักหนี้แล้วเหลือกำไรบ้าง โดยบรรษัทเป็นผู้กำหนดปริมาณ รูปแบบ และมาตรฐานการผลิต ซึ่งภาระในการทำตามมาตรฐานตกอยู่กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงเรือน เล้า กระชัง การใส่ยา ใส่ปุ๋ย การให้อาหาร ฯลฯ โดยมาตรฐานทั้งหลายไม่ได้มีการตรวจสอบควบคุมโดยรัฐว่าเป็นการสร้างภาระให้เกษตรกรมากเกินไปหรือไม่ กลับกันมีหลายกรณีที่รัฐกลายเป็นส่วนหนึ่งในการบีบบังคับเกษตรกรให้ทำตามที่บรรษัทกำหนดทั้งที่มาตรฐานบางอย่างไม่จำเป็น เช่น การปรับโรงเรือน การให้ยา อาหาร ที่มากเกิน แต่เป็นผลดีกับบรรษัทเพราะบรรษัทเป็นผู้ขายของให้ กระแสตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมได้กระตุ้นให้เราอุดหนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่การบริโภคอาหารจากระบบนี้ เป็นการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากรเนื่องจากเกิดมลพิษและทำให้ความอุดมสมบูรณ์เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ในหลายกรณีพบว่ากลุ่มทุนอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนให้เกษตรกรรุกเข้าไปทำเกษตรพันธสัญญาในพื้นที่สงวน หรือทรัพยากรสาธารณะ เช่น การรุกเขาปลูกข้าวโพดและอ้อย การยึดลำน้ำเพื่อเลี้ยงปลาในกระชัง การสร้างมลภาวะจากโรงเรือนเลี้ยงหมูหรือไก่ ทั้งนี้จะเห็นว่ารัฐจะดำเนินการแข็งขันกับกรณีคนชายขอบที่ผลิตเพื่อยังชีพ แต่กับกรณีการผลิตในเชิงพาณิชย์เหล่านี้รัฐกลับทำเหมือนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่ลงโทษหรือปรับผู้ก่อมลพิษ เพื่อให้มีการปรับการผลิตให้อยู่บนหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้บริโภคทั้งหลายกำลังแบกรับภาระความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติร่วมกับเกษตรกรเสมอ เนื่องจากภาษีของเราได้ถูกนำไปชดเชยในกรณีการผลิตทางการเกษตรนั้นอยู่ในภาวะความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งบรรษัทผลักให้เกษตรกรต้องเผชิญภาระเอาเอง หากเกิดความเสียหาย ขาดทุน เป็นเรื่องที่เกษตรกรรับไป บรรษัทไม่ร่วมแบกรับด้วย เมื่อเกิดปัญหาเช่น น้ำท่วม พืชเน่า สัตว์ตาย กลายเป็นรัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วย หรือประกันราคาความเสี่ยงทั้งหลาย ข้ออ้างที่ว่าระบบเกษตรพันธสัญญาได้ดึงบรรษัทเข้ามาร่วมแบกรับความเสี่ยงจึงไม่จริง ทั้งนี้เกษตรกรและผู้บริโภคก็ยังต้องอยู่กับความเสี่ยงและร่วมกันแบกรับภาระแทนบรรษัทต่อไป สิ่งที่น่าวิตกของผู้บริโภคในปัจจุบัน คือ ไม่รู้ต้นทุนและคุณภาพของอาหารเลย เนื่องจากตั้งแต่ต้นทางจนปลายทางของอาหารนั้น บรรษัทมีอำนาจในการบังคับซื้อขายใน “ราคา” และ “มาตรฐาน” ที่บรรษัทตั้งเอาไว้เนื่องจากมีช่องทางตลาด และผูกขาดอำนาจ “ความรู้” ในมาตรฐานเชิงเทคนิคเอาไว้กับตัวเอง และบางกรณีหน่วยงานรัฐเองก็ไม่ชี้แจงข้อมูลความรู้เชิงเทคนิคให้เกษตรกรทราบ ทำให้ถูกกดราคาผลผลิตอย่างไม่เป็นธรรม เช่น อัตราเนื้อแดงในหมู อัตราความปนเปื้อนในข้าวโพด หรือค่าความหวานในน้ำตาลอ้อย ฯลฯ หลายครั้งเกษตรกรรมอินทรีย์ของเกษตรกรรายย่อยก็ถูกขัดขวางด้วยกลไกมาตรฐานที่ฉ้อฉล อย่างไรก็ดี มีผู้บริโภคจำนวนมากที่มีข้อมูลมากพอที่จะเลือกทางอื่นให้กับปากท้องตน แต่กลับไม่มีทางเลือกอื่นในการซื้ออาหาร ด้วยเหตุที่เมื่อการผลิตสำเร็จเป็น พืช หรือสัตว์ ที่พร้อมจะขาย บรรษัทก็มีอำนาจในการบังคับซื้อและห้ามเกษตรกรขายให้แก่ผู้อื่น หรือเอาออกไปขายเอง หากเกษตรกรฝ่าฝืนจะมีการหยิบเอาข้อสัญญามาบีบบังคับฟ้องร้อง ทำให้ทางเลือกในด้านการตลาดของเกษตรน้อยมาก ต้องตกอยู่ในการบังคับของบรรษัท เช่น จะมาจับสัตว์เมื่อไหร่ (จับช้าเกษตรกรก็จะขาดทุนไปเรื่อยเพราะต้องให้อาหารแต่สัตว์หรือพืชไม่โตขึ้น) หากสินค้าล้นตลาดบรรษัทก็ไม่มารับซื้อ ให้เกษตรกรไปดิ้นรนหาตลาดเอาเอง ทำให้เกษตรกรต้องยอมขายขาดทุนเพื่อไม่ให้เจ๊งมากไปกว่านี้ โดยรัฐมองอยู่ห่างๆ แต่ไม่เข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด ความรุนแรงที่ผู้บริโภคทั้งหลายต้องจำนนอยู่กับระบบเกษตรพันธสัญญา ก็คือ การซื้ออาหารแพง แต่มีคุณภาพต่ำ เนื่องจากในท้ายที่สุด เกษตรกรจำต้องขายผลผลิตให้บรรษัทและยอมรับค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้หนี้ หรือบางกรณีก็ได้น้อยมาก จนมาคิดเป็นวันแล้วน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่มากมาย ผลประโยชน์เหล่านั้นกลายเป็นผลกำไรสะสมของบรรษัทและผู้ถือหุ้นทั้งหลาย โดยที่รัฐก็ยินดีที่บริษัทมีผลกำไรเพราะจะได้เก็บภาษีมาเป็นงบประมาณประจำปีเพื่อนำไปทำนโยบายประชานิยมเพื่อเรียกคะแนนเสียงเข้าพรรคต่อไป ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในวงเวียนแห่งหนี้สินซ้ำซากจำเจไม่มีทางออก เนื่องจากเกษตรกรขายอาหารโดยตรงให้กับผู้บริโภคไม่ได้ เพราะติดสัญญาผูกมัดกับบรรษัทซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ความโหดร้ายที่สุดของบรรษัท ก็คือ การสร้างความชอบธรรมให้กับระบบเกษตรพันธสัญญามาครอบงำความคิดจิตใจของผู้บริโภค เกษตรกร และรัฐ อย่างอยู่หมัด ก็ด้วยกลยุทธทางการตลาดที่เน้นการทุ่มงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้าง “ภาพลักษณ์” ที่ดีให้กับ สินค้า ยี่ห้อ และองค์กรตน ทำให้เกษตรกรต้องตกเป็นจำเลยสังคมเมื่อราคาอาหารแพง และรัฐก็ไม่กล้าเข้าไปดำเนินการกับบรรษัทเพราะติดภาพของการเข้าไปรบกวนการทำธุรกิจของบรรษัท ส่วนผู้บริโภคจำนวนมากก็กลับรู้สึกผูกพัน คุ้นเคย เมื่อได้ซื้อสินค้าและใช้บริการทั้งหลายจากบรรษัท จนมิได้ตระหนักรู้ถึงการผูกขาดที่ตนเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จากผลการศึกษาดังกล่าวจะเห็นว่า ผู้บริโภคและเกษตรกรต้องแบกรับ “ความเสี่ยง” อยู่ฝ่ายเดียว และบรรษัทยังได้ “ขูดรีด” ผลประโยชน์ไป ด้วยการอาศัยระบบความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของความ “ไม่เป็นธรรม” เนื่องด้วยบรรษัทอยู่ในสถานะเหนือกว่าทั้ง ภาพลักษณ์ ทุน ความรู้ และความสัมพันธ์ที่มีร่วมกับรัฐ ทำให้ผู้บริโภคและเกษตรกรไม่สามารถต่อรองได้ เนื่องจากอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว และรัฐก็มิได้เข้ามาแทรกแซงเพื่อสร้างความเป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น
สร้างการรวมกลุ่มของผู้บริโภคและเกษตรกรเพื่อนำไปสู่การต่อรองกับบรรษัท หรืออาจจะเรียกร้องกดดันให้รัฐเข้ามาแทรกแซงวงจรผูกขาด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบความสัมพันธ์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถอุดหนุนสินค้าของเกษตรกรที่มาจากทางเลือกในการเกษตรกรรมอย่างหลากหลาย อันจะเป็นผลดีต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้กระบวนการผลิตที่มีความเสี่ยงนั้นจะต้องดึงบรรษัทเข้ามาแบกรับความเสี่ยงร่วมกับผู้บริโภคและเกษตรกรในทุกขั้นตอน หรืออาจเปลี่ยนมาใช้รูปแบบสัญญาหุ้นส่วนภายใต้สหกรณ์การผลิตและการบริโภค โดยรัฐจะต้องใช้อำนาจตามกฎหมายเข้ามาควบคุมเรื่องกระบวนการผลิต มาตรฐานของอาหาร และราคาสินค้า ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อตัวเกษตรกรและคุ้มครองผู้บริโภคไปด้วย เมื่อถึงปลายฤดูกาลผลิตจะต้องมีการสร้างตลาดทางเลือก เช่น ตลาดเกษตรอินทรีย์ ตลาดอาหารปลอดภัย ที่เกษตรกรและผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง สิ่งสำคัญอีกประการคือรัฐต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มช่องทางการขนส่ง การคงคลัง และการขายสินค้าให้เกษตรกรและผู้บริโภคสามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้การควบคุมตรวจสอบการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งหลายของบรรษัทมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลการกดขี่ขูดรีดเกษตรกร และหลอกลวงผู้บริโภค ก็เป็นสิ่งที่รัฐต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็ง แนวทางการแก้ไขปัญหาทั้ง 12 ประเด็น ด้วยมาตรการทางกฎหมายสามารถทำได้ดังต่อไปนี้ เป้าหมาย การคุ้มครองสิทธิเกษตรกรและสิทธิผู้บริโภคไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน (บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือ ร่าง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ที่กำลังยกร่างตามมติคณะรัฐมนตรี) ต้นทุนและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเข้าถึงปัจจัยการผลิตเพียงพอ การคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต (เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่น, พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์, พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม, พ.ร.บ.การจัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตร, พ.ร.บ.ปุ๋ย, พ.ร.บ.กักพืช, พ.ร.บ.พันธุ์พืช, พ.ร.บ.อาหารสัตว์) ข้อมูลข่าวสาร เปิดช่องทางให้เกษตรกรทันสถานการณ์ การควบคุมมิให้บริษัทให้ข้อมูลเท็จ และให้รัฐรับผิดชอบหากสนับสนุน (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร, พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค) ระบบความสัมพันธ์ สร้างกลไกถ่วงดุลและแทรกแซงการทำสัญญาต่างๆ ให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรม เพื่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ที่มีอำนาจเสมอภาคกันมากขึ้น ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายในการฟ้องเพิกถอนข้อสัญญาสำเร็จรูป และสัญญาบังคับเซ็น (ประมวลแพ่งฯ, พ.ร.บ.ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม) อำนาจต่อรอง สร้างเสริมเกษตรกรให้เข้มแข็ง เป็นอิสระ มีอำนาจต่อรอง โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มและต่อรองได้ผ่านกลไกทั้งในระดับชุมชน ระดับกลุ่มผลผลิต และนโยบายรัฐ ผ่านกลไกต่อรองทุกรูปแบบ เช่น สหกรณ์ สภาเกษตรกร หรือคณะอนุกรรมการพิเศษ (พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ, พ.ร.บ.สภาเกษตรกร) ระบบวิธีการผลิต สร้างทางเลือกเกษตรกรสามารถทำการผลิตให้มีความปลอดภัย สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ มีความสะอาด โดยมีการควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เป็นไปตามกฎหมาย และไม่ปล่อยให้บรรษัทสร้างมาตรฐานพิเศษมาเพิ่มภาระให้เกษตรกรเกินจำเป็น (กฎหมายปศุสัตว์, กฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร, ข้อตกลงสุขอนามัยขององค์การการค้าโลก) การจัดการทรัพยากร ควบคุมและสนับสนุนให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด และมีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์สนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืน (สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร, พ.ร.บ.คันและคูน้ำ, พ.ร.บ.ชลประทานราษฎร์, พ.ร.บ.ชลประทานหลวง) ความเสี่ยง สร้างระบบหุ้นส่วนในการแบ่งปันภาระความเสี่ยงร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยการปรับปรุงระบบสัญญาและมีกลไกควบคุมตรวจตราให้บรรษัทร่วมแบกรับภาระความเสี่ยงกับเกษตรกร และไม่ผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคแบกรับ หรืออาจสร้างระบบประกันความเสี่ยงร่วมที่บรรษัทต้องเข้าร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันความเสี่ยง (พ.ร.บ.ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม, พ.ร.บ.ซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า) การกำหนดมาตรฐานและราคา รัฐเข้ามาทำหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อให้ความเชื่อมั่นแก่เกษตรกรว่าจะคงมาตรฐานในการตรวจสอบคุณภาพอย่างเป็นธรรม ไม่กลั่นแกล้งเกษตรกรรายย่อย เพื่อควบคุมให้อาหารมีคุณภาพ รัฐอาจขอดูต้นทุนจากบรรษัทเพื่อป้องกันการกด/ขึ้นราคาสินค้าตามอำเภอใจ และอาจมีมาตรการการส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกร/ผู้ประกอบการรายย่อยให้แข่งขันได้ (พ.ร.บ.อาหารฯ, พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร, พ.ร.บ.ปศุสัตว์, ข้อตกลงสุขอนามัย WTO, พ.ร.บ.ควบคุมราคาสินค้าฯ) การกระจายสินค้า รัฐเข้าควบคุมป้องกันการมีอำนาจเหนือระบบการขนส่ง คงคลัง และกระจายสินค้า ด้วยการลดการผูกขาดช่องทางโลจิสติกส์ของบรรษัท เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงด้านอาหารได้แม้ในยามวิกฤต (ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านอาหาร) การแลกเปลี่ยน รัฐต้องป้องกันการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาดของบรรษัท เพื่อประกันเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนและแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างจริงจัง และมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการ กลุ่มสหกรณ์เกษตร และเกษตรกรรายย่อย รวมถึงการจัดตั้งตลาดทางเลือก เช่น ตลาดนัดอินทรีย์ (พ.ร.บ.การแข่งขันเป็นธรรมฯ, พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล, พ.ร.บ.การค้าข้าว) ภาพลักษณ์ พยายามสร้างกระบวนการเปิดโปงข้อมูลข่าวสารที่บรรษัทปิดบัง บิดเบือนความจริง เพื่อให้เกษตรกรและผู้บริโภคทั้งหลายหลุดพ้นจากการครอบงำ โดยรัฐอาจใช้อำนาจในการบังคับเปิดเผยข้อมูลและพฤติกรรมบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล และอาจสนับสนุนสารคดีเปิดโปงความจริงที่ถูกอำพรางในรูปแบบสื่อต่างๆ (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค, พ.ร.บ.การโฆษณา, เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น) เนื่องจากเกษตรกรรมเป็นรากฐานของความมั่นคงด้านอาหารที่เป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ เพราะทุกคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริโภค ที่ต้องมีความสัมพันธ์กับระบบเกษตรกรรมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
/////////// สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||
รองอธิบดีกรมป่าไม้ขอบคุณชาวบางสะพาน นำพื้นที่ป่าคืนให้กับชาติ Posted: 07 Mar 2012 08:24 AM PST หลังร่วมชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง สำรวจและชี้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง พบเอกชนรุกพื้นที่จริง ด้านชาวบ้านพ้อ ใครจะเชื่อ การบุกรุกกระทั่งเพิกถอนที่ดินใช้เวลาเกือบ 20 ปี ยังไปไม่ถึงไหน เมื่อวันที่ 2-3 มีนาคม 55 นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ และเจ้าพนักงานสอบสวนคดีอาญาที่ 262/2554 กรณีเครือสหวิริยาขัดคำสั่งทางปกครอง ม.25 ของนายอำเภอบางสะพานในฐานะเจ้าพนักงานดูแลป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง ที่ออกคำสั่งให้งดกระทำการใดๆ ในพื้นที่ และออกจากป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึงตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.53 ได้ร่วมกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงเดินสำรวจและชี้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เครือสหวิริยาบุกรุกรวม 798 ไร่ นายประยุทธ กล่าวว่า ที่ทางกรมฯ ลงพื้นที่ในครั้งนี้เนื่องจากตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้ร้องขอให้ลงมาชี้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง เพื่อนำไปประกอบสำนวนคดีที่ทางเจ้าพนักงานสอบสวนอ้างกับชาวบ้านว่ายังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากเหตุดังกล่าว “จากการที่ผมได้ดูพื้นที่จริงก็เห็นได้ชัดว่าที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของป่าสงวนฯ จริง โดยสภาพซึ่งผมยังแปลกใจว่าทำไมถึงมีการออกเอกสารสิทธิกันได้ และต้องขอบคุณชาวบางสะพานที่ช่วยเหลือราชการในการตรวจตราและนำพื้นที่ป่าคืนให้กับชาติ เราก็จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเต็มที่” นายประยุทธ กล่าว นายแช่ม ทองห่อ ชาวบ้านที่ร่วมเดินสำรวจ กล่าวว่า หลักหมุดเดิมโดนขยับหลายที่ ซึ่งตนเองรู้เพราะที่บริเวณนี้พี่ชายเคยมีกรรมสิทธิ์หนังสือรับรองสิทธิทำกิน “สทก.” ที่ทางราชการออกให้ แต่ปัจจุบันได้เป็นกรรมสิทธิของบริษัทสหวิริยาหมดแล้ว ด้านนายวิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่กรมป่าไม้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการเดินสำรวจและชี้แนวเขตในครั้งนี้ แต่หากชาวบ้านไม่เหมารถขึ้นไปเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีการขยับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมป่าไม้หรือไม่ เพราะเรื่องการบุกรุกกระทั่งเพิกถอนที่ดิน 52 แปลงของแม่รำพึงมันยิ่งว่า มหากาพย์ ที่เมื่อใดชาวบ้านไม่เคลื่อนไหว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เข้าเกียร์ว่างเช่นกัน “ใครจะเชื่อว่า ใช้เวลาในการจัดการเกือบ 20 ปี ยังไปไม่ถึงไหน” ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงกล่าว นายวิฑูรย์ กล่าวถึงปัญหาของกระบวนการในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า เขาและชาวบ้านถามนายอำเภอ นายก็ว่าให้ป่าไม้สำนัก 10 ป่าไม้โยนให้ที่ดิน ที่ดินอ้างกลับป่าไม้อีกส่วนพนักงานสอบสวนก็อ้างการชี้แนวเขต อ้างกันมาปีกว่า สำนวนยังไม่เสร็จ “หลังจากวันนี้ผมหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนายอำเภอบางสะพานคนใหม่ ในฐานะเจ้าพนักงานผู้ควบคุมดูแลป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง คงต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรมเสียที” นายวิฑูรย์ ตั้งความหวัง ทั้งนี้ หลังจากเดินสำรวจในช่วงเย็นชาวบ้านและนายประยุทธ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสรุปงานอย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้สื่อข่าวจะติดตามเพื่อนำเสนอต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||
Posted: 07 Mar 2012 07:57 AM PST | ||||||
Posted: 07 Mar 2012 07:43 AM PST เสรีภาพจักสมปองต่อสู้ แม้อยู่ในปรภพ.. ลงขันสู้ ลงขันสร้าง ภาพยนตร์เรื่องแรกของคนเสื้อแดง "นวมทอง" เรื่องราวการต่อสู้ของผองวีรชนที่ตายตาไม่หลับ ตั้งแต่กบฎ ร.ศ.130, 2547, 14 และ 6 ตุลา จนถึงพฤษภา 2553 "นวมทอง" |
Attachment | Size |
---|---|
เอกสารแนะนำโครงการ "นวมทอง" (ภาษาไทย).pdf | 126.08 KB |
The Nuamthong Movie Project (English).pdf | 69.03 KB |
This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now
เพียงคำ ประดับความ: 'นักโทษหญิงแดง'
Posted: 07 Mar 2012 07:31 AM PST
'นักโทษหญิงแดง'
รถไฟสายกาลเวลา
ผ่านทางช้างเผือกมายาวไกล
เธอยังคงเป็นดอกไม้
กลีบบางอ่อนไหวในเงาแสง
หรือเป็นเพียงนางก้นครัว
ก้มหัวยอมตัวอุทิศแรง
นวลหน้าฉาบไว้ด้วยเนียนแป้ง
แต้มแต่งโลกไว้ในมือชาย
นานแล้วเธอตั้งคำถาม
ใดคือนิยามความเทียมเท่า
โลกนี้แบกไว้ด้วยสองเรา
หญิงชายเทียมเท่ากันแค่ไหน
หรือหมดยุคจะนิยาม
ไต่ถามถึงความหมายใด
เมื่อเราเป็นคนหรือไม่
เป็นทาสเป็นไพร่ยังไม่รู้
รถไฟสายพระจันทร์เสี้ยว
วนเลี้ยวกลับมาเป็นวงกลม
อนุสาวรีย์ลอยลม
ยินเสียงปร่าขมของนักสู้
เส้นเอ็นอันปูดโปน
มิอาจอ่อนโยนต่อศัตรู
เมื่อหัวใจเธอหมายรู้
ดำรงคงอยู่เพื่อสิ่งใด
จะเป็นนางก้นครัว
หรือหญิงคนชั่วได้ทั้งนั้น
หากแต่ไม่มีวัน
ถอดวางความฝันให้ใครได้
กำหนดชะตาตน
กำหมัดเข้าชนเคียงบ่าชาย
โซ่ตรวนไม่วางใจ
ล่ามตรึงเธอไว้...หนักและนาน
เกินกว่าจะเป็นดอกไม้
กลีบบางอ่อนไหวใดใดแล้ว
เกินกว่าจะเป็นนางแก้ว
ดวงตาวามแววทอแสงอ่อนหวาน
บาดแผลในหัวใจ
ร้าวรวดปวดในลึกทรมาน
ดวงตาโศกเศร้าคู่นั้น
แหลกลาญเกินกว่าจะอธิบาย
ฝ่ามือของเธอคู่นั้น
แข็งกร้านเกินกว่าจะปลุกปลอบ
คำถามใดไร้คำตอบ
ยากเกินจะมอบความรักให้
สองตีนอันหยาบหนา
ทายท้าเกินกว่าความเป็นตาย
ตรวนเหล็กร้อยกี่เส้นสาย
จักพังทลายย่อยยับลง
นักโทษหญิงแดง
นักสู้แห่งสงครามชนชั้น
หัวใจมีบ้างไหวหวั่น
หลับตาฝันถึงลานทุ่งโล่ง
หลังความแพ้พ่าย
ถูกตีตรวนล่ามโซ่ขังกรง
รอยยิ้มนั้นยังทระนง
แม้มืดค่ำลงน้ำตาตกใน
.....
เพียงคำ ประดับความ
Posted: 07 Mar 2012 06:43 AM PST
2. หลักประชาธิปไตยท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม (la démocratie locale participative)
สิทธิในการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกิจกรรมของท้องถิ่นถือเป็นสิทธิที่สำคัญประการหนึ่ง สิทธิในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของรัฐนั้นได้ถูกรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษย์ชนและได้รับการยืนยันอีกครั้งในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งได้กำหนดว่าบุคคลย่อมมีสิทธิในการเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดทิศทางของกิจกรรมสาธารณะในประเทศของตนโดยอาจจะเป็นการมีส่วนร่วมทางตรงหรือผ่านทางผู้แทนที่ได้รับการเลือกมาอย่างอิสระ
หลักการว่าด้วยการมีผู้แทนนั้นไม่ได้เป็นข้อกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนแม้ว่าในบางกรณีประชาชนจะไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจไดโดยตรงแต่ประชาชนก็ยังมีสิทธิในการให้คำแนะนำหรือฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นเองอาจขอคำปรึกษาจากประชาชนได้เช่นในเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณเป็นต้น
ในฝรั่งเศสข้อถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมนั้นได้เริ่มขึ้นในยุค60 โดย Groupes d'action municipale ข้อถกเถียงนี้นำมาซึ่งความลังเลในการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาในยุคนั้นส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรอจนถึงยุค90 ในการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของท้องถิ่น
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นถูกจัดก่อตั้งขึ้นอย่างช้าๆโดยที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือประชาชนจะต้องเคารพในการตัดสินใจและข้อห้ามต่างๆที่ได้กำหนดโดยฝ่ายปกครอง อย่างไรก็ดีประชาชนนั้นก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของท้องถิ่นแล้วโดยเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้ใช้บริการสาธารณะในทุกระดับตั้งแต่ระดับเทศบาลระดับจังหวัดจนถึงระดับภาคโดยที่บริการสาธารณะที่เขาเหล่านั้นเข้าไปเป็นผู้ใช้บริการนั้นเป็นบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นอย่างยิ่งเช่นการกำจัดขยะหรือการจัดการศึกษาโดยเทศบาล สำนักงานให้ความช่วยเหลือทางสังคมที่จัดโดยจังหวัดและการบริการกิจการในสถานศึกษาระดับสูงที่จัดโดยภาค
จากความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจพูดได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการสาธารณะกับผู้จัดทำบริการสาธารณะเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะลูกค้า ดังนั้นกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจในปี1982 [1] ได้ให้สิทธิแก่ประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจกรรมของท้องถิ่นรวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆไว้ อย่างไรก็ตามในปี1978ได้มีการตรารัฐบัญญัติเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลของฝ่ายปกครอง [2] และยังรวมไปถึงการเข้าถึงเหตุผลและแรงจูงใจต่างๆของฝ่ายปกครองในการดำเนินกิจกรรมต่างๆด้วย [3] โดยที่กฎหมายสองฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของหลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ในส่วนของการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต้องรอจนกระทั้งปี1992 และได้รับการบรรจุไว้ในส่วนที่สองของประมวลกฎหมายว่าด้วยท้องถิ่นที่ได้ก่อตั้งสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน
2.1 สิทธิในการรับรู้ขอมูลของประชาชน
ข้อมูลข่าวสารถือเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาในการจัดการกับสังคมในทุกระดับชั้นมันเป็นการยากสำหรับพลเมืองที่จะทราบได้ว่าตนเองนั้นมีสิทธิประการใดนอกจากนั้นพลเมืองยังไม่รู้ถึงวิธีการในการใช้สิทธิตางๆที่เขาพึงมีเมื่อปราศจากการให้ข้อมูลแก่พลเมืองแล้วจึงเป็นการยากที่จะทำให้เขาเหล่านั้นสามารถใช้สิทธิต่างๆได้ในฐานะพลเมือง สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่ใช่เงื่อนไขประการเดียวของการเป็นประชาธิปไตยท้องถิ่นที่ดีหากแต่เป็นวิธีการขั้นต้นของการบริหารจัดการท้องถิ่นที่ดี
ในการบริหารงานขงท้องถิ่นนั้นหากมีการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแล้วจะก่อให้เกิดภาพที่เรียกว่าการบริหารเบ็ดเสร็จโดยท้องถิ่น(monarchie locale)เมื่อการบริหารจัดการต่างๆถูกทำให้เป็นความลับ เพื่อหลีกเลี่ยงจากสภาพังกล่าวจึงทำให้การบริหารงานของท้องถื่นต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสสิทธิในการได้รับแจ้งข้อมูลของประชาชนนั้นหากมองให้ดีแล้วจะพบว่าถูกจัดอยู่ในเรื่องของเสรีภาพตามกฎหมายบ้านเมือง(liberté publique)ซึ่งหมายความว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลทุกอย่างยกเว้นแต่เป็นเรื่องถูกห้ามโดยกฎหมายและต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะเท่านั้น การเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลของประชาชนนั้นจะต้องทำได้โดยง่ายนอกจากนั้นประชาชนบังมีสิทธิในการเข้าร่วมรับฟังการตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆของท้องถิ่นและรวมถึงการเข้าร่วมรับฟังในนโยบายต่างๆได้อีกด้วย
2.1.1 การเข้าถึงข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจของท้องถิ่น
ในการเข้าถึงข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจของท้องถิ่นนั้นมีหลายระดับตั้งแต่การเข้าร่วมรับฟังการประชุมสภาท้องถิ่นการได้รับข้อมูลทางวาจาและการได้รับการชี้แจงเหตุผลของการตัดสินใจ ในส่วนนี้จะกล่าวถึงระดับของการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ
2.1.1.1 สิทธิในการเข้าร่วมรับฟังการประชุมสภาท้องถิ่น
สิทธิในการเข้าร่วมรับฟังการประชุมสภาท้องถิ่นถือเป็นสิทธิขั้นต้นในการรับข้อมูลขาวสารของประชาชนในท้องถิ่นซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมีหน้าที่ผูกพันในการจัดหาที่นั่งให้แก่ผู้ที่สนใจในการเข้าร่วมรับฟังการประชุมท้องถิ่นโดยที่ผู้ที่เข้าร่วมนั้นสามารถบันทึกการอภิปรายในท้องถิ่นได้ อย่างไรก็ตามสิทธิในการเข้าร่วมรับฟังการประชุมสภาท้องถิ่นนั้นต้องรอจนกระทั่งมีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่6 กุมภาพันธ์ 1992 แต่ก่อนหน้านั้นศาลปกครองแห่งเมืองเบอซงซง ได้เคยวินิจฉัยไว้ว่าการใช้เครื่องอัดเสียงสามารถกระทำได้นกรณีที่เป็นการอภิปรายสาธารณะ
อย่างไรก็ตามสภาเทศบาลสภาจังหวัดหรือสภาภาคอาจขอให้มีการจัดอภิปรายเป็นการลับได้ซึ่งจะต้องเป็นกรณีที่มีการลงคะแนนเป็นการลับ(เช่นการลงคะแนนเลือกประธานสภาจังหวัดหรือสภาภาค)โดยการขอให้มีการอภิปรายเป็นการลับนั้นสามารถทำได้โดยนายกเทศมนตรี ประธานสภาจังหวัดหรือประธานสภาภาค หรืออีกกรณีคือมีการร้องขอโดยสมาชิกสภาท้องถิ่นโดยเทศบาลนั้นจะต้องมีสมาชิกสภาเทศบาลไม่น้อยกว่าสามคนร้องขอต่อนยกเทศมนตรีและห้าคนสำหรับสภาจังหวัดและสภาภาค แม้ว่าการอภิปรายจะจัดเป็นการลับแต่ประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงบันทึกวาจา(procès verbal)ของการอภิปรายลับนั้นได้โดยการใช้สิทธิในการขอดูเอกสารซึ่งจะได้กล่าวในส่วนต่อไป
2.1.1.2 สิทธิในการได้รับรู้การตัดสินใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ประชาชนในท้องถิ่นจะต้องมีสิทธิในการได้รับรู้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บันทึกวาจาของสภาท้องถิ่นนั้นจะต้องสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับเทศบาลที่จะต้องนำเอารายงานการประชุมมาปิดประกาศไว้ที่ประตูของที่ทำการเทศบาลภายในแปดวันนับจากที่การอภิปรายสิ้นสุด รัฐบัญญัติลงวันที่6 กุมภาพันธ์ 1992 และรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ 20 กันยายน 1993 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่การกระทำทางปกครองของเทศบาล จังหวัดและภาค ได้กำหนดว่าเทศบาลที่มีประชากรเกินกว่า3500คนจะต้องเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ข้อญัติท้องถิ่นที่ได้ทำลงไปในทุกๆสามเดือน สำหรับจังหวัดและภาคนั้นกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องเผยแพร่กิจกรรมต่างๆรวมถึงการตัดสินใจต่างๆในทุกๆครึ่งปี โดยการเผยแพร่ดังกล่าวสามารถทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการแจกฟรีในลักษณะใบปลิวการลงประกาศในสือสิ่งพิมพ์และการให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับข่าวสารวิธีการเหล่านี้ยังใช้กับองค์กรมหาชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อความร่วมมือระหว่างเทศบาล(établissements publics de coopération intercommunale:EPCI)
การให้สิทธิแก่ประชาชนในการเข้าร่วมรับฟังการอภิปรายที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นนั้นมีประโยชน์สำหรับประชาชนในการที่จะเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ง่ายขึ้นซึ่งในปัจจุบันการเผยแพร่กิจกรรมต่างๆนั้นสามารถทำได้อีกช่องทางคือการเผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเลคโทรนิค
2.1.1.3 การเข้าถึงเหตุผลในการตัดสินใจของฝ่ายปกครอง
การเผยแพร่เหตุผลในการตัดสินใจของฝ่ายปกครองหรือเหตุผลของข้อบัญัติท้องถิ่นนั้นไม่มีความจำเป็นหากได้มีการเผยแพร่ไปแล้วในตัวเนื้อหาของข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือการตัดสินใจของฝ่ายปกครอง รัฐบัญัติลงวันที่ 11 กรกฎาคม 1979 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 17 มกราคม 1986 กำหนดให้ในทุกๆมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดเสรีภาพของประชาชน การใช้มาตรการทางตำรวจ(police administrative) การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายหรือการปฏิเสธคำร้องขอของประชาชนนั้นต้องแสดงเหตุผลอย่างชัดเจนต่อประชาชน
2.2 การเข้าถึงเอกสารของฝ่ายปกครองโดยประชาชน
เอกสารทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของฝ่ายปกครองนั้นจะต้องให้ประชาชนเข้าถึงได้เนื่องจากการปกปิดข้อมูลต่างๆเป็นความลับนั้นอาจก่อให้กิดปัญหาการคอร์รัปชั่นหรือก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในการรับบริการสาธารณะ รัฐบัญัติลงวันที่ 11 กรกฎาคม 1978 ได้ยืนยันถึงสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงเอกสารของฝ่ายปกครอง ซึ่งก่อนหน้ารัฐบัญยัตินี้ฝ่ายปกครองไม่มีความผูกพันในการที่จะต้องเปิดเผยเอกสารต่อสาธารณะ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยลงวันที่ 17 ธันวาคม1997 ในเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่ของฝ่ายปกครองในการเปิดเผยและเผยแพร่เอกสารต่อสาธารณะ นอกจากนั้นคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยลงวันที่ 16 ธันวาคม 1999 ในเรื่องเกี่ยวกับการเข้าถึงเอกสารและความเข้าใจง่ายของเอกสารว่าเป็นหลักที่คุณค่าในระดับรัฐธรรมนูญและยังเป็นหลกประกันหลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมายของพลเมืองอีกด้วย
สิทธิในการเข้าถึงเอกสารของฝ่ายปกครองนั้นค่อนข้างกว้างโดยอาจแยกเป็นประเด็นต่างๆได้ดังต่อไปนี้
2.2.1 บุคคลที่สามารถเข้าถึงเอกสารได้
การเข้าถึงเอกสารของฝ่ายปกครองนั้นสามารถทำได้โดยผู้จัดทำบริการสาธารณะผู้ใช้บริการสาธารณะและประชาชนทั่วไปภายใต้ข้อจำกัดที่ว่าบุคคลที่กล่าวมาข้างต้นจะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆเช่นชาวตำบลท่าโพธิ์ไม่สามารถเข้าถึงเอกสารของตำบลท่าทองได้เป็นต้น รัฐบัญญัติลงวันที่6 กุมภาพันธ์ 1992 ได้ให้สิทธิในการเข้าถึงเอกสารของฝ่ายปกครองไว้ว่าประชาชนและนิติบุคคลมีสิทธิในการเข้าถึงเอกสารของฝ่ายปกครองโดยไม่จำกัดว่าจะมีภูมิลำเนาในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นหรือไม่แต่อย่างน้อยต้องมีส่วนในความสัมพันธ์กับท้องถิ่นนั้นๆ
2.2.2 การเข้าถึงเอกสารขององค์กรที่จัดทำบริการสาธารณะ
มาตราL1611-4 ของประมวลกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดว่าทุกองค์กรที่จัดตั้งขึ้นไม่ว่าตามกฎมายเอกชนหรือกฎหมายมหาชนที่มีส่วนในการจัดทำบริการสาธารณะนั้นจะต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆแก่สาธารณะโดยข้อมูลเหล่านั้นประกอบไปด้วยข้อมูลด้านการเงินงบประมานและกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะทั้งนี้ยังขยายความรวมไปถึงองค์กรมหาชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อความร่วมมือระหว่างเทศบาลอีกด้วยเพื่อเป็นการแสดงความโปร่งใสในการดำเนินการขององค์กรเหล่านั้นในทางกลับกันองค์กรเหล่านั้นก็สามารถที่จะขอดูเอกสารต่างที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจกรรมขององค์กรเหล่านั้นได้เช่นกัน
2.2.3 เอกสารที่เกี่ยวข้อง
มาตราL2121-26ของประมวลกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ให้นิยามของเอกสารที่สามารถเข้าถึงได้ว่าประกอบไปด้วยบันทึกวาจา บัญชีและการคลังท้องถิ่นและคำวินิจฉัยของฝ่ายบริหารอย่างไรก็ตามศาลปกครองสูงสุดได้ตีความเพิ่มเติมถึงเกสารที่สามารถเข้าถึงได้ว่าประกอบไปด้วย เอกสาร รายงานการศึกษา ข้อวิจารณ์ บันทึกวาจา สถิติ แนวทางปฏิบัติ หนังสือเวียนและบันทึกข้อหารือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกระทรวงมหาดไทยโดยที่ประชาชนสามารถขอเข้าดูเอกสารและสามารถทำสำเนาได้
2.2.4 วิธีการเข้าถึงเอกสารของฝ่ายปกครอง
การเข้าถึงเอกสารของฝ่ายปกครองนั้นสามารถทำได้สามวิธีการด้วยกัน วิธีการแรกคือการเผยแพร่โดยฝ่ายปกครองเองเช่นการติดประกาศหรือการประกาศในสื่อสิ่งพิมพ์วิธีการที่สองเป็นเรื่องของเอกสารเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับ การคลังท้องถิ่นการจัดการบริการสาธารณะและการผังเมืองและสิ่งแวดล้อมจะไม่เผยแพร่เป็นการทั่วไปแต่ผู้ที่ต้องการสามารถมาขอเอกสารเหล่านี้ได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวิธีการที่สามเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองซึ่งเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่สามารถขอเข้าถึงเอกสารนี้ได้
ในตอนต่อไปจะเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมทางการคลังของท้องถิ่นเพื่อการบริหารงานที่โปร่งใส
อ้างอิง:
- La loi du 2 mars 1982
- La loi du 17 juillet 1978 sur l'accès aux document administratifs
- La loi n°79-587 du 11 juillet 1979 relative à la ,otivation des actes ad,inistratifs et...
ยื่นหนังสือ นายกฯ หยุดรับสมาชิก กองทุนพัฒนาสตรีเป็นของทุกคน
Posted: 07 Mar 2012 06:14 AM PST
7 มีนาคม 2555 กลุ่มเครือข่ายสตรี 4 ภาคเพื่อการเข้าถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยมีนางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียน โดยทางเครือข่ายฯ ได้รวบรวมข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้หญิงทั้ง 4 ภาคจำนวน 800 คน ขอให้ทบทวนระเบียบกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อประกอบด้วย
1.ขอให้หยุดการรับสมัครสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เนื่องจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นเงินภาษีประชาชน จึงเป็นสิทธิของผู้หญิงทุกคนทุกกลุ่มทุกเชื้อชาติ ศาสนา โดยอัตโนมัติไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก
2.ขอให้รัฐบาลมีการจัดตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงานมาช่วยงานตามความเหมาะสมในคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ
3.ขอให้รัฐทบทวนวัตถุประสงค์ในข้อที่ 1. ของกองทุนเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย โดยขอให้มีการแบ่งสัดส่วนกรใช้เงินกองทุนฯเป็นสัดส่วน 70:30 เปอเซนต์
4. รัฐต้องออกแบบกลไกการบริหารจัดการที่ให้อิสระโปร่งใส โดยมีผู้แทนองค์กรสตรีและภาคประชาชน เป็นกรรมการในสัดส่วนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งและการได้มาโดยตำแหน่งใดๆในกองทุนฯของข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ จะต้องมีบทบาทเพียงแค่ที่ปรึกษา หรือให้การสนับสนุนและไม่มีสิทธิในการออกเสียงในคณะกรรมการกองทุน เพื่อความสง่างามและผลประโยชน์ทับซ้อน
5. ขอให้งบประมาณกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้แบบโดยตรงต่อคณะกรรมการจัดการกองทุนองค์กรสตรีพื้นที่ ไม่ต้องผ่านหน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับชาติและในพื้นที่
6. รัฐบาลต้องเร่งรัดให้นโยบายกองทุนบทบาทสตรี เป็นพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีภายใน 90 วันนับจากรัฐบาลได้ประกาศจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแล้ว
และ 7. ขอให้รัฐมีการจัดเวทีสาธารณะระดับจังหวัด ในการทำความเข้าใจเรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
สู่วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ (1) "เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง"
Posted: 07 Mar 2012 05:55 AM PST
“โจรใต้ป่วน วางเพลิงปัตตานี 6 จุด”
“เดือดทหารพรานยิงรถชาวบ้านดับ4เจ็บ4”
เป็นพาดหัวข่าวเหตุการณ์ที่ปรากฏบนสื่อกระแสหลักจนผูกขาดการสื่อสาร จนแทบไม่ได้อธิบายแง่มุมอื่น ทั้งความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของพื้นที่ ไม่ลงถึงรายละเอียดเบื้องลึก คล้ายว่านำเสนอแบบฉาบฉวย และฉายให้เห็นถึงความขัดแย้งและรุนแรงเท่านั้น
ทำให้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จำนวนหนึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคม ทำสื่อนำเสนอปัญหาอีกหลายๆ มุมที่ไม่ค่อยเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ทั้งเครือข่ายช่างภาพ วิทยุชุมชน นักข่าวพลเมืองทุกรูปแบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพลังการต่อรองกับผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่ายทั้งฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ และฝ่ายรัฐไทยเอง รวมถึงประเด็นทางสังคมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำไปสู่ทางออกของปัญหา
จากการรวมตัวของเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมนี่เอง จึงได้เกิดวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ขึ้น โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2554 ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี โดยคาดหวังที่จะจัดขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี เพื่อเป็นวันที่รวมตัวกันกลับมาทบทวนเป้าหมายการทำงาน เติมความรู้ และเป็นพื้นที่หล่อหลอมสร้างแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์สื่อ
สำหรับวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ 2555 จะถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2555 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยใช้ชื่องานว่า “เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง” Bargaining Power : Civil Networking and Synergy Meedia ในรูปแบบ “ตลาดนัดสื่อ ตลาดนัดวิชาการ และตลาดนัดกระบวนการ”
มีเวทีสื่อเสวนา บรรยายวิชาการ เวทีถอดประสบการณ์แลกเปลี่ยนความรู้ และบรรยากาศงานเป็นพื้นที่ “ปล่อยของ” เพื่อเปิดพื้นที่และโอกาสให้เครือข่ายภาคประชาสังคมทุกเครือข่ายได้นำเสนอการทำงานของตัวเองในระยะที่ผ่านมา และเปิดให้ระดมทุนเพื่อกลับไปสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร
โดยมีองค์กรร่วมจัดประกอบด้วย เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ Southern Peace Media Group โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) สภาภาคประชาสังคมชายแดนใต้ มูลนิธิซาซากาว่าเพื่อสันติภาพแห่งประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ
สำหรับกำหนดการของวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 12 มีนาคม 2555 เวลา 09.00-12.00 น. ที่ห้องย่อย 1 ชั้น 3 เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ จัดเสวนาเรื่อง “ผู้หญิงชายแดนใต้กับการแปรเสียงแห่งความสูญเสียสู่เสียงแห่งสันติภาพ” ประกอบด้วยนางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าว BBC ภาคภาษาไทย นางอัสรา รัฐการัณย์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ นางสาวดวงสุดา นุ้ยสุภาพ ผู้สูญเสียชาวพุทธ นางแยน๊ะ สาแลแม สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง 2555 นางมาริสา สะมาแห ผู้สูญเสียชาวมลายูมุสลิม นายแวหามะ แวกือจิ หัวหน้าสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน สถาตันปัตตานี ดำเนินรายการโดยนางโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ตามด้วยเวลา 13.30-15.30 น. มีกิจกรรมพบปะสื่อมวลชนและร่วมแลกเปลี่ยเรียนรู้เรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนงานสตรีชายแดนใต้โดยใช้พลังสื่อ” มีนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นางสาวฐิตินบ โกมลนิมิ คณะทำงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นายตูแวดานียา มือรืองิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน นางโซรยา จามจุรี นางยะห์ อาลี โดยมีนางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น ผู้จัดรายการวิทยุม.อ.ปัตตานี ดำเนินรายการ
ขณะที่ห้องหลัก B130 เวลา 10.30-12.00 น. มีการเปิดตัวโครงการและเว็บไซต์โครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ (K4DS) ซึ่งพัฒนาระบบ K4DS ขึ้นโดยรวบรวมข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จากแหล่งต่างๆ แล้วนำมาจัดการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ง่าย สืบค้นได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ วิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา งานวิชาการ โครงการ และนวัตกรรมด้านสุขภาพ บรรณนิทัศน์หนังสือ และข่าว โดยดร.นพ.วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย หัวหน้าโครงการฯ
เวลา 13.30-15.30 น. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีเวทีสาธารณะโรงเรียนการเมือง DSW ห้องเรียนสัญจรครั้งที่ 7 จัดการบรรยายในหัวข้อ “Jurgen Habermas :The structural transformation of the public sphere” แนวคิดว่าด้วยพื้นที่สาธารณะของเจอร์เกน ฮาเบอร์นาส นักปรัชญาและทฤษฎีสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน โดยดร.นอร์เบิร์ธ โรเปอร์ส ผู้อำนวยการองค์กรสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ นักวิจัยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)
เวลา 15.30-17.30 น. Peace Media Group จัดเวทีเรียรู้การใช้วีดีโอขับเคลื่อนประเด็นเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม สาธิตและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่าย “Video Advocacy” ด้วยเครื่องมือ Google Hangout แลกเปลี่ยนกับเครือข่ายเคลื่อนไหวทางสังคมจากมาเลเซีย เวสต์ปาปัว ติมอร์เลสเต้ ฯลฯ
การพูดคุยเกี่ยวกับการใช้งานทุกกระบวนท่าเครือข่ายสังคม Google Plus โดยนายอิบรอเฮ็ม มะโซ๊ะ และปิดท้ายด้วยการเปิดตัวเว็บไซต์ www.deepsouthwatch.org 3.0
สำหรับที่ลานกิจกรรม เวลา 13.30-15.30 น. กลุ่มข้าวยำการละคร มีการขับร้องอานาชีด และแสดงละครเร่เพื่อคนพิการ เล่าเรื่องความชายขอบ ของคนพิการชายแดนใต้ มีกิจกรรมคนหูหนวกทั่วไทยเข้าใจข่าวชายแดนใต้ มีการออกนิทรรศการแสดงตัวอย่างรายการโทรทัศน์ภาษามือเพื่อคนหูหนวก สาธิตการอ่านภาษามือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายแดนใต้และข่าวทั่วไปโดยคนหูหนวก มีการแสดงหุ่นกระบอกจิ๋ว “สันติสุขของเด็ก 3 ศาสนา” โดยคณะหุ่นกระบอกของนักศึกษาภาควิชาเด็กปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
เวลา 15.30-17.30 น. สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และเครือข่ายเยาวชนเสวนาเปิดตัวหนังสือ 2 เล่ม คือ “จุดเล็กๆ บนคาบสมุทรมลายู” โดยอ.อภิชาติ จันทร์แดง และ “เปอร์นูลิส มูดา” รวมเรื่องสั้นของ 19 เยาวชนนักเขียนจากชายแดนใต้ โดยอ.โชคชัย วงศ์ตานี
ที่ห้องย่อย 2 ชั้น 3 15.30-17.30 น. โครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ (K4DS) ประชุมระดมสมองภาคีเครือข่ายผู้ผลิตและผู้ใช้ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ห้องย่อย 3 ชั้น 3 เวลา 13.30-17.30 น. กลุ่มธรรมดีทำดี เครือข่ายคนพิการ จัดเวทีเสวนา “แตกต่างอย่างเท่าเทียม:สื่อสะท้อนมุมมองและความคิดที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกรอบ ตามด้วยการฉายภาพยนตร์
สิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดฉายวีดีทัศน์ 3 เรื่อง คือ ประวัติศาสตร์ปัตตานี ภาษา และโลกใบเล็กของมุสลิม
ในช่วงค่ำเลา 19.00-21.00 น. จะมีงานเลี้ยงเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคม โดยมีการเชิญพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการหาดใหญ่ ฯลฯ
สำหรับวันที่ 13 มีนาคม 2555 ที่ห้องหลัก B130 เวลา 09.00-12.00 น. มีเวทีสื่อเสวนา:พลังสื่อและการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง ประกอบด้วย Dr.Isak Svensson จากมหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน นายสมเกียรติ จันทรสีม สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS นักวิชาการด้านสื่อ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตัวแทนเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคภาษามลายู นายมูฮำหมัด ดือราแม ผู้ช่วยบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ โดยมีนางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าว BBC ภาคภาษาไทย
เวลา 13.30-15.30 น. มีการแถลงข่าว Women Issue โดย 3 สตรีดีเด่นชายแดนใต้ ปี 2555 ประกอบด้วย นางแยน๊ะ สาแลแม สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง นางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ด้านการพัฒนาชุมชน นางรอซีดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงหาสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านการส่งเสริมสันติภาพ ตามด้วยกิจกรรม Social Awareness Issue ของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)
เวลา 15.30-17.30 น. สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS อบรม “Lesson & Lern :Civil Networking and Syne Media” นักข่าวพลเมืองท่ามกลางการปฏิบัติ
สำนักหัวใจเดียวกันมีการเปิดตัววารสารเฉพาะกิจ “พลังสื่อทางเลือกชายแดนใต้” ซึ่งเป็นผลงานจากค่ายนักเขียนน้อยชายแดนใต้ (เฌอบูโด)
ทั้งนี้ลานกิจกรรมตลอด 2 วัน มีการจัดกิจกรรมและจัดนิทรรศการภาพถ่ายจากเครือข่ายต่างๆ อาทิ กลุ่มสุนทรีย์ไม่มีจำกัด เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ บินตังโฟโต้ ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยประชาชน กลุ่มไพน์ทูลโปรดักชั่น กลุ่มบุหงารายา อินเซ้าท์ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ
เหล่านี้คือร่างกำหนดการของวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้
ศิริโชคโพสต์รูปล้อกรณีวรเจตน์ถูกทำร้ายลงเฟซบุ๊ก
Posted: 07 Mar 2012 02:08 AM PST
โดยเข้าใจว่าสื่อเสื้อแดงเอาภาพมาปลุกระดมบิดเบือนเพื่อหลอกเสื้อแดง - ก่อนมีคนสะกิดศิริโชคว่าภาพที่โพสต์ เป็นภาพล้อเลียนเหตุการณ์ทำร้ายวรเจตน์ โดยในภาพมีรูปชายถือเก้าอี้และท่อนไม้จากเหตุการณ์ 6 ตุลา และอุลตร้าเจ้าพ่อโผล่แจมด้วย
โพสต์ของศิริโชค โสภาในเฟซบุควันนี้ (7 มี.ค. 55)
ภาพที่นายศิริโชคโพสต์ พบว่าเป็นภาพล้อเลียนเหตุการณ์ทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ในภาพมีการนำภาพตัดต่อชาย 2 คนจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และภาพอุลตร้าเจ้าพ่อมาประกอบด้วย
วันนี้ (7 มี.ค.) นายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ภาพหนึ่งลงในเฟซบุ๊ก "Sirichok Sopha" ตั้งค่าการเข้าถึงสาธารณะ ซึ่งมีคำบรรยายในภาพว่า "โดนแล้ว! วรเจตน์ ภาคีรัตน์" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ถูกชายลึกลับ ดักชกหน้า ถึง ลานจอดรถ ภายใน มธ. เตรียมตรวจกล้องวงจรปิดหาตัวคนร้าย หลังไปตรวจร่างกายที่ รพ.ธนบุรี ยันปลอดภัย..."
โดยนายศิริโชคโพสต์ความเห็นด้วยว่า "ปลุกระดมสุดๆ เอาภาพวงจรปิดที่แสดงถึงความรุนแรงกรณีอื่นและมาบิดเบือนว่าเกิดกับวรเจตน์ หลอกพี่น้องเสื้อแดงต่อไป - ผลิตโดยสื่อแดง" โดยมีผู้แชร์ภาพดังกล่าวจากนายศิริโชค และร่วมโพสต์แสดงความเห็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่มีผู้จงใจทำล้อเลียนเหตุการณ์ทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ โดยในภาพมีภาพชายถือเก้าอี้ และชายถือท่อนไม้เป็นภาพที่นำมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาประกอบ นอกจากนี้มุมบนขวาของภาพยังมีภาพอุลตร้าเจ้าพ่อ (Father of Ultra) จากภาพยนตร์เรื่องอุลตร้าแมนปรากฏอยู่ด้วย
แนะสปส.จ่ายเงินค่าโอนผู้ประกันตนไปบัตรทองตามที่กฤษฏีกาตีความ
Posted: 07 Mar 2012 01:35 AM PST
นักกฎหมายแนะ สปส. เร่งจ่ายเงินค่าโอนผู้ประกั
ดร.ภูมิ มูลศิลป์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎี
ดร.ภูมิ กล่าวว่า แม้ สปส.จะไม่ต้องการจ่ายเงินในส่
ดร.ภูมิ กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่ สปส. หรือ สปสช. เพิกเฉย ไม่มีการเจรจาตกลงกันตามที่
“การให้ศาลปกครองพิจารณาน่าจะดี
ด้านนายประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประธานสภานายจ้างผู้ค้าและบริ
เหตุผลสำคัญ 3ข้อ ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
Posted: 07 Mar 2012 01:30 AM PST
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เริ่มนับ 1 แล้วหลังจากที่รัฐสภามีมติรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ดี ยังมีเสียงวิจารณ์จากบางฝ่ายว่า ไม่ควรจะแก้ หรือถ้าแก้ก็ห้ามไปแตะเรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นต้น
ทั้งนี้ สิ่งที่ฝ่ายที่คัดค้านไม่เคยตอบคือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ ทั้งในแง่ที่มา เนื้อหา และกระบวนการรับรอง
เอาแต่โฆษณาป่าวร้องท่าเดียวว่า ไม่ควรจะแก้
ความขัดแย้งทางความคิดว่าด้วยเรื่อง กฎกติกาสูงสุดตามระบอบประชาธิปไตย มิพักจะโต้แย้งกันในหมู่ชนชั้นนำทางการเมือง แต่ประชาชนในสังคมก็ยังโต้แย้งกันด้วย ฉะนั้น รัฐบาลในฐานะ "หัวหอก" ในการริเริ่มการแก้ไข ต้องชี้แจงเหตุผลให้สาธารณะได้เข้าใจร่วมกัน
การชี้แจงแต่เพียงว่ากระทำไปตามที่พรรคตนเองได้เคยหาเสียงเอาไว้นั้นคงจะไม่เพียงพอ เพราะเราต้องการการยอมรับร่วมกันด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา ไม่เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็นจริงๆ
สำหรับผู้เขียนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ สมควรจะต้องแก้ไขด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้
1.รัฐธรรมนูญ ในฐานะของปัจจัยหนึ่งในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคม
รัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกในการลดทอนความขัดแย้งในสังคมไทยได้ในระดับหนึ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่งแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ใช่ "ยาวิเศษ" ที่เมื่อร่างหรือแก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้แล้วจะขจัดปัดเป่าความขัดแย้งใน สังคมไทยที่มีอยู่มานานให้หมดไปได้ในทันที หากแต่จะต้องไปพิจารณาและแก้ไขปัญหาทางด้านต่างๆ ประกอบด้วย เช่น การตรา หรือแก้ไขกฎหมายลูกฉบับอื่นๆ การปรับปรุงโครงสร้างทางการศึกษา ฯลฯ เป็นต้น
แต่เราก็มิอาจที่จะปฏิเสธได้ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางสังคมเลย ทั้งนี้ เห็นได้จากงานวิจัยจำนวนมากของต่างประเทศ หากพิจารณาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะเห็นว่า มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงโดยตรงกับการกำหนดโครงสร้างของสังคมผ่านมิติทาง การเมืองการปกครองดังนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Design) จึงมีความสำคัญยิ่ง
กล่าวคือ สังคมจะเป็นเช่นไร จะมีความขัดแย้งมากหรือน้อยเท่าใด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการวางโครงสร้างของสังคมผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญ
พูดให้ชัดคือ ปรากฏการณ์ที่สังคมไทยเกิดความขัดแย้งขึ้น ณ ขณะนี้ (และอาจกล่าวได้ว่า ที่ผ่านๆ มาด้วย) อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน (และบางฉบับในอดีต) ที่ได้ผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญบนหลักการที่ผิดพลาด
2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเวลานี้เหมาะสมและสามารถกระทำได้
ที่ผ่านมา หลายท่านมักโต้แย้งว่า "ปัญหาปากท้องชาวบ้านสำคัญกว่า แก้ไขไปแล้วชาวบ้านก็ไม่ได้อะไร" ผู้เขียนเห็นว่า ข้อโต้แย้งแบบนี้ "ง่ายเกินไป" เพราะปัญหาทางการเมืองตลอดช่วงที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าเกิดจาก "ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง" รวมถึงความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย ดังที่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำรายงานสรุปจากที่ได้ทำงานในฐานะของประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) มาแล้วนั่นเอง
"วาทกรรมว่าด้วยเรื่องปากท้อง" เพียงอย่างเดียว จึงไม่ค่อยมีน้ำหนักในทางกลับกัน กลับเป็นแนวทางที่มิได้เข้าไปมุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ณ ปัจจุบันอย่างจริงจังเสียด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนด รับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคมได้ในระดับหนึ่ง หากเราไม่เข้าไปสำรวจตรวจสอบ หรือแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดของตัวบทกฎหมายดังกล่าวไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาอื่นๆ แล้ว ความฝันในเรื่องของการทำให้สังคมไทยปรองดองกันได้ก็คงจะเป็นการยาก
นอกจากนี้ ในแง่ "เงื่อนเวลา" ยังเหมาะสมเพราะประเทศอยู่ในสภาวะปกติ มิได้อยู่ภายใต้การปกครองโดยระบอบเผด็จการ หรือการปกครองโดยทหาร เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย จึงเหมาะสมและไม่ขัดแย้งต่อหลักการแต่อย่างใดในการดำเนินกระบวนการแก้ไข เพิ่มเติมกติกาสูงสุดของสังคม
3.รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังคงมีปัญหาในเชิงหลักการว่าด้วยความเป็นรัฐธรรมนูญที่แท้จริง
ปัญหาในเชิงหลักการที่สำคัญมากประการหนึ่งสำหรับรัฐธรรมนูญไทย (ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับก่อนๆ) ซึ่งไม่ค่อยที่จะมีการพูดถึงมากนักก็คือ รัฐธรรมนูญขาดความชอบธรรมในการเป็นรัฐธรรมนูญ (Illegitimate Constitution) อันส่งผลให้ไม่ได้รับการยอมรับนับถือ ปฏิบัติตาม หวงแหน
ประเด็นดังกล่าวมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับการดำรงคงอยู่และความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญในสังคมด้วย
หากกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะสถาปนากลไกที่ดีและมีประสิทธิภาพอย่างไรก็ตามที แต่หากยังคงขาดความชอบธรรมอยู่ ท้ายที่สุดจะถูกผู้คนในสังคมปฏิเสธการบังคับใช้อยู่ดี
นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญพึงต้องตระหนัก
ทั้งนี้ ตัวชี้วัดความชอบธรรมตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญมี 3 ประการ คือ
1) ต้องมีรูปแบบที่ถูกต้อง มาตรฐานนี้รู้จักกันในนาม "องค์ประกอบทางด้านรูปแบบของรัฐธรรมนูญ" เป็นองค์ประกอบขั้นต้นที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับต้องมี โดยเรียกร้องให้การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญต้องไม่เกี่ยวข้องกับระบอบอำนาจนิยม (การรัฐประหาร) แต่จำต้องเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยโดยมีจุดเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม
ความเชื่อมโยงดังกล่าวจะมีขึ้นก่อนระหว่างหรือหลัง จากการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การร่างโดยรัฐสภา หรือผ่านความเห็นชอบรัฐสภา การร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ว่าทางตรงหรือ ทางอ้อม การทำประชามติก่อนหรือหลังการร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
2) ต้องมีเนื้อหาที่ถูกต้อง มาตรฐานนี้รู้จักกันในนามของ "องค์ประกอบทางด้านเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ" โดยเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญต้องมีเนื้อหาที่ประกอบไปด้วยบทบัญญัติที่วางโครง สร้างในการปกครองประเทศพร้อมกับรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทั้งนี้ เนื้อหาที่ว่าด้วยการรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังกล่าว หาใช่เพียงแค่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติทำนองนี้ก็เป็นอันต้ององค์ประกอบแล้ว ไม่ หากแต่ต้องพิจารณาด้วยว่า สิทธิเสรีภาพที่อยู่ในรัฐธรรมนูญสามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่ารัฐธรรมนูญเข้ามาพิทักษ์รักษา "สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้จริง"
อนึ่ง หากรัฐธรรมนูญไทยมีคุณสมบัติในเชิงเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักการนี้แล้วผู้ เขียนเห็นว่าจะเป็นการสถาปนาให้สังคมไทยมีความเป็นนิติธรรม (Rule of Law) ขึ้นมาโดยอัตโนมัติด้วยไม่มากก็น้อย
3) ต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยมาตรฐานนี้ถือได้ว่าสำคัญมากสำหรับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ หากรัฐธรรมนูญขาดไร้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ กรณีจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐธรรมนูญ (Security of the Constitution) หรืออายุของการบังคับใช้ พร้อมทั้งส่งผลต่อการทำหน้าที่ในฐานะของกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในการเข้าไปกำหนดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมถึงการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย
ทั้งนี้ ความศักดิ์สิทธิ์นี้จะปรากฏขึ้นต่อเมื่อรัฐธรรมนูญสามารถลงหลักปักฐาน (Embeddedness) ในสังคมได้ การลงหลักปักฐานดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อ
3.1) รัฐธรรมนูญได้รับการสนับสนุนและยอมรับจากสาธารณชน กล่าวคือ ประชาชนต้องมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทของประเทศที่ผ่านกระบวนการการ ตราที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ทำหน้าที่วางโครงสร้างการเมืองการปกครอง พร้อมทั้งกำกับการใช้อำนาจรัฐ เพื่อเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอันเป็นเจตจำนงของตนโดยแท้จริง เมื่อกรณีปรากฏเช่นนี้แล้ว รัฐธรรมนูญก็จะมีความมั่นคงในสังคม
3.2) ประชาชนทุกคนรวมถึงผู้นำของประเทศ นักการเมือง ฯลฯ ต้องเคารพและปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด อันเป็นการสร้างบรรทัดในทางสังคมว่าไม่มีผู้ใดสามารถละเมิดรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตาม มีหลายท่านตั้งคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรได้ เมื่อเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คำตอบก็คือ ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะต้องร่วมกันกดดันให้พวกเขาต้องปฏิบัติ ตามรัฐธรรมนูญในท้ายที่สุด อันเป็นการส่งผลต่อการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์แก่รัฐธรรมนูญอีกด้วย
3.3) ต้องมีองค์กรในการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ กล่าวให้ชัดเจนมากขึ้นก็คือ ต้องมีองค์กรที่ "ทำหน้าที่ที่ถูกต้องและเหมาะสม" คอยควบคุมตรวจสอบมิให้ผู้ใช้อำนาจรัฐละเมิดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอัน เป็นการส่งผลให้เป็นการกระทบต่อการปกครองประเทศในองค์รวม และเป็นการเข้าไปก้าวล่วงแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินกว่าเหตุ โดยหลักการแล้ว องค์กรดังกล่าวก็คือ องค์กรตุลาการนั่นเอง ทั้งนี้ เนื่องจากศาลทำหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีด้วยว่าเป็นการขัดหรือแย้งต่อกฎเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หรือไม่
3.4) รัฐธรรมนูญต้องได้รับความเคารพนับถือมาอย่างยาวนาน กรณีนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากทั้ง 3 ข้อข้างต้น หากทำได้จริงก็จะส่งผลต่อให้เกิดข้อนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นแสนเข็ญ สังคมใดให้ความสำคัญต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยการปฏิบัติตามอย่างเป็นนิตย์แล้วไซร้ ถือได้ว่าสังคมนั้นได้สถาปนาการลงหลักปักฐานของรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีนี้จึงส่งผลให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามกันจนกระทั่งเป็นจารีตประเพณี (Tradition) ไป
หากเราพินิจพิเคราะห์ให้ดีแล้วจะเห็นว่า องค์ประกอบทั้ง 3 ว่าด้วยความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ (Constitutional Legitimacy) ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็น "สัญญาประชาคม"
ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงพึงระลึกอยู่เสมอว่าเราต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็น "กติการ่วมกันของประชาชน" ให้ได้
หากสามารถกระทำได้ กรณีจึงนำไปสู่การยกสถานะของรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุดอย่างแท้จริงใน เชิงเนื้อหา หาใช่มีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดเพียงเพราะมีบทบัญญัติกำหนดให้เป็นในเชิงรูป แบบเท่านั้นเหมือนกับที่ผ่านมา
จากที่ได้อรรถาธิบายถึงหลักการของ กฎหมายรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งวิเคราะห์ถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบันทั้งหมดข้างต้น หากพิจารณาและพูดคุยกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลทั้งในแง่การบรรเทาปัญหาความขัด แย้งในสังคมได้ไม่มากก็น้อย ในแง่ของเงื่อนเวลาหรือในแง่ของความชอบธรรมของตัวรัฐธรรมนูญเอง
ผู้เขียนเห็นควรที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการ ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยในองค์รวม สังคมจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีความเป็นนิติธรรมมากขึ้น และมีความสงบสุขมากขึ้น
ส่วนในประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยในแง่เนื้อหา สาระของรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขกันอย่างไรนั้นคงจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะ ต้องมาพูดคุยกันต่อไป
...............................
หมายเหตุ บทความนี้ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2555
Posted: 07 Mar 2012 01:21 AM PST
ในระหว่างที่ไปประชุมฯที่เกาหลีใต้ ผมอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Korea Herald ฉบับประจำวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ด้วยความอิจฉาถึงการมีวิสัยทัศน์ของคนเกาหลีใต้และความเป็นอิสระในการจัดการตนเองของการปกครองท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เกาหลีใต้ในอดีตนั้นล้าหลังกว่าเรามาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาชนบทหรือการปกครองที่เป็นเผด็จการยิ่งกว่าไทยเรา
ข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็คือ กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ได้อนุญาตให้โรงเรียนประถมและมัธยมพิจารณาตั้งกฎระเบียบของตนเองได้อย่างเป็นอิสระเพื่อขยายสิทธิเสรีภาพของนักเรียนโดยไม่ต้องถูกแทรกแซงหรือครอบงำจากหน่วยงานของรัฐ เช่น การแต่งกาย ทรงผม การพกพาโทรศัพท์มือถือในโรงเรียน และเรื่องอื่นๆที่เห็นว่าจำเป็น ซึ่งโรงเรียนในเขต Gwangju,Seoul และ Gyeonggi ได้ออกระเบียบที่ว่าเหล่านี้แล้วโดยอิสระ ซึ่งก็มีเสียงบ่นบ้างเล็กน้อยจากผู้ปกครองหัวอนุรักษ์นิยม แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย
แต่เมื่อหันกลับมามองพี่ไทยเรายังงมโข่งอยู่กับผมบนหัวของนักเรียนชายที่ให้ตัดสั้นแล้วสั้นอีกราวกับจะไปเป็นทหารเกณฑ์หรือนักโทษซะปานนั้น หรือในส่วนของนักเรียนหญิงก็ยังมัวไปยุ่งอยู่ว่าจะถักเปียไม่ถักเปีย ติดกิ๊ปไม่ติดกิ๊ป จะรวบผมไม่รวบผม ฯลฯ ซึ่งยังไม่รวมถึงการเกณฑ์ให้นักเรียนใส่ชุดพื้นเมืองในวันศุกร์ในบางจังหวัดนะครับ
ประเด็นที่ผมนำมาเสนอนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบอบการเมืองการปกครองของประเทศที่ให้ความเป็นอิสระในการจัดการตนเองของท้องถิ่นยิ่งมากเท่าใด ยิ่งทำให้ประเทศเจริญรุดหน้ามากขึ้นเท่านั้น
แม้ว่าประเทศเกาหลีใต้เป็นรัฐเดี่ยวเช่นเดียวกับไทยเรา แต่เกาหลีใต้มีการแบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็นเพียง 2 ระดับ คือ การบริหารราชการส่วนกลาง และการบริหารราชการส่วนท้องท้องถิ่นเท่านั้น โดยไม่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคดังเช่นของไทยเราแต่อย่างใด แต่ประเทศเกาหลีได้ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ ทั้งที่อาจกล่าวได้ว่าการปกครองท้องถิ่นในเกาหลีใต้เพิ่งจะมีการปฏิรูปกันอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้มีบทบัญญัติรองรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเกาหลีใต้แปรเปลี่ยนตามสถานการณ์ทางการเมืองในระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นช่วงสงครามเกาหลีทีทำให้การปกครองท้องถิ่นของเกาหลีใต้ต้องหยุดชะงักลง หรือจะเป็นการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลเผด็จการของปัก จูง ฮี หรือ ชุน ดู วาน ที่ยังอยู่ในคุกเพราะส่งทหารไปปราบประชาชนที่กวางจูจนผู้คนล้มตายนับพันคน
เกาหลีใต้มีกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ฉบับแรกตั้งแต่ปี 2492 (Local Autonomy Act in 1949 ) และได้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้หลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้การปกครองท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีการแก้ไขปรับปรุงเมื่อปี ๒๕๓๘ โดยมีเนื้อหาสาระเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด กล่าวคือให้ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง
ปัจจุบันเกาหลีใต้มีทั้งหมด 9 จังหวัด ได้แก่ Kyonggi, Kangwon, Chungchogbuk, Chollabuk, Chollanam, Kyongsangkuk, Kyonsangnam และ Cheju และ ๖ มหานคร ได้แก่ Pusan, Taegu, Inchon, Kwangju, Taejon, และ Ulsan
นอกจากนี้กรุงโซล (Seoul Special Metropolitan) ซึ่งเป็นเมืองหลวง ก็ถูกจัดให้เป็นการปกครองท้องถิ่นเขตพิเศษ เพราะเป็นเมืองขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของเกาหลี เป็นศูนย์รวมทางการค้าและธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกด้วย
ในจังหวัดทั้ง 9 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒ ระดับ ได้แก่ ระดับบน (Upper Tier) คือตัวจังหวัดเอง ระดับล่าง (Lower Tier) คือ เมือง (City) หรือ Kun (Country) แล้วแต่กรณี โดยเขตเมือง จะมี Dong เป็นสาขาที่ช่วยในการบริหารงาน ยกเว้นแต่ว่าถ้าเมืองใดมีประชากรเกิน 500,000 คน จะมีเขต (Ku) ขึ้นมาอีกทำหน้าที่เป็นองค์กรระหว่างกลางอีกชั้นหนึ่ง ในปัจจุบันจังหวัดทั้ง 9 ของเกาหลีใต้ มีเมือง (City) และ Kun รวมกันทั้งสิ้น 158 แห่ง
โดยหัวหน้าฝ่ายบริหาร (The Chief Executive) มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ถ้าเป็นจังหวัด หัวหน้าฝ่ายบริหารจะเรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) หรือถ้าเป็นในระดับเมืองจะเรียกว่านายกเทศมนตรี (Mayor) เป็นต้น
ขอบเขตของอำนาจหน้าที่
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น จะทำหน้าที่ในส่วนของการพัฒนาและปรับปรุงบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยการปกครองท้องถิ่นระดับบนจะดูแลกิจการในภาพกว้างของพื้นที่ กิจการที่สร้างความเป็นเอกภาพในพื้นที่ ทำหน้าที่ประสานงานและการตัดสินชี้ขาดระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในพื้นที่ และ หน้าที่อื่นตามที่รัฐบาลกลางมอบหมาย ส่วนการปกครองท้องถิ่นระดับล่างจะดูแลให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ซึ่งรูปแบบการแบ่งการปกครองท้องถิ่นเป็น 2 ระดับนี้เทียบเคียงใด้กับการปกครองท้องถิ่นของญี่ปุ่นที่เคยได้เขียนถึงไว้แล้ว(http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/chamnan/20110420/386964)ซึ่งผมได้นำไปเป็นต้นแบบในการร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯในปัจจุบัน(http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1621)
การไม่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของเกาหลีใต้ไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารราชการบ้านเมืองของเขาแต่อย่างใด โดยจะเห็นได้ว่าแม้ในขณะนี้เกาหลีใต้จะอยู่ในสภาวะสงครามกับเกาหลีเหนืออยู่ก็ตาม ในทางตรงข้ามกับทำให้การบริหารบ้านเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาภัยพิบัติ แม้แต่ปัญหาเรื่องความมั่นคงในสภาวะสงครามกับเกาหลีเหนือดังที่กล่าวมาแล้ว
โลกต้องหมุนไปข้างหน้า ยังคงเหลือไม่กี่ประเทศในโลกหรอกครับที่ยังมีราชการส่วนภูมิภาคอยู่ จังหวัดเชียงใหม่ในฐานะจังหวัดนำร่องโดยภาคประชาชนจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯในกลางปีนี้ โดยยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเหลือเพียงราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ดังตัวอย่างของประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และเกาหลีใต้ที่ได้นำมายกเป็นเป็นตัวอย่างอันดีในการนำมาประยุกต์ใช้ ครับ
---------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 7 มีนาคม 2555
81 องค์กรชุมนุมไล่อธิการฯ มข. เหตุขาดธรรมาภิบาล ไร้จริยธรรม
Posted: 07 Mar 2012 01:14 AM PST
อ้างมติเอกฉันท์ของ กสม. ระบุอธิการบดี มข. ลุแก่อำนาจ ขาดหลักธรรมาภิบาล ไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็
ขอนแก่น : วันนี้ (6 มี.ค.) เวลาประมาณ 13.00 น. เครือข่ายคณะกรรมการพิทักษ์
เครือข่ายฯ ได้เริ่มต้นที่บริเวณหน้ากองกิ
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าวว่า รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจขาดหลั
“พฤติการณ์ของ รศ.กิตติชัย อธิการบดี เป็นการใช้
ด้าน ผศ.วิชัย ณีรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลั
การชุมนุมครั้งนี้ สืบเนื่
ทั้งนี้ กสม.ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ตามคำร้องที่ประชุมครั้งที่ 3/2555 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 มีความเห็นว่าอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจขาดหลั
ใจ อึ๊งภากรณ์: หนังสือ 1984 ของ จอร์ช ออร์เวล กับสังคมไทย
Posted: 07 Mar 2012 01:11 AM PST
จอร์จ ออร์เวล เป็นนักเขียนสังคมนิยมอังกฤษ ในปี 1937 เขาอาสาไปรบในประเทศสเปน เพื่อยับยั้งการยึดอำนาจของทหารฟาสซิสต์ภายใต้นายพลฟรังโก ออร์เวลเข้าร่วมในกองทัพอาสาสมัครของพรรค POUM (พรรคแนวร่วมกรรมาชีพมาร์คซิสต์) พรรคนี้ร่วมกับองค์กรอนาธิปไตย CNT และ FAI ในการปฏิวัติลุกฮือของกรรมาชีพและเกษตรกรสเปน แต่ปรากฏว่าพรรคคอมมิวนิสต์สเปน ภายใต้อิทธิพลของ สตาลิน ในรัสเซีย พยายามสลายกระแสปฏิวัติเพื่อเอาใจอังกฤษกับฝรั่งเศส เพราะตะวันตกไม่ต้องการเห็นการปฏิวัติสังคมนิยมเกิดขึ้นในสเปน สตาลินมองว่าถ้าสามารถเอาใจมหาอำนาจตะวันตกได้ รัสเซียจะไม่ถูกโจมตี
อย่างไรก็ตามการเอาใจตะวันตกแบบนี้นำไปสู่การเปลี่ยนสงครามปฏิวัติในสเปนไปสู่สงครามกระแสหลัก และนำไปสู่การทำลายความหวังของกรรมาชีพและเกษตรกรในการปลดแอกตนเอง ผลในที่สุดคือความพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้ายและฝ่ายประชาธิปไตยสเปน
ประสบการณ์ของออร์เวลในสเปนถูกเขียนขึ้นหลังจากที่เขาหนีออกมาจากประเทศนั้นได้ ในหนังสือสำคัญของเขาชื่อ Homage To Catalonia (แด่คาทาโลเนีย) และเมื่อไม่นานมานี้ Ken Loach อาศัยหนังสือเล่มนี้ในการสร้างหนังชื่อ Land and Freedom
ออร์เวล เข้าใจดีเรื่องการหักหลังขบวนการปฏิวัติสากลโดยสตาลินและพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสตาลิน อีกกรณีสำคัญในยุคนั้นนอกจากสเปน คือการหักหลังคอมมิวนิสต์และกรรมาชีพจีน โดยการสั่งให้เข้าไปร่วมพรรคกับพวกชาตินิยมก๊กหมินตั๋ง ซึ่งทำให้เจียงไกเช็คกวาดล้างฆ่าคอมมิวนิสต์จำนวนมาก สองเหตุการณ์นี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจาก ลีออน ตรอทสกี ผู้ที่พยายามปกป้องแนวมาร์คซิสต์ และแนวบอลเชวิคจากการบิดเบือนของสตาลิน
ในหนังสือ Animal Farm (รัฐสัตว์) ออร์เวลประชดระบบเผด็จการของสตาลิน ที่อ้างว่าเป็นสังคมนิยมแต่สร้างความเหลื่อมล้ำและการกดขี่อย่างหนักในรัสเซีย ตัวละครที่เป็นสตาลินคือหมูชื่อ นโปเลียน และหมูอีกตัวที่ชื่อ สโนบอล์คือตรอทสกี
หนังสือ 1984 ซึ่งเขียนในปี 1949 เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบเผด็จการสตาลินอย่างหนัก แต่ผสมระบบนาซี-ฟาสซิสต์เข้าไปในรัฐเผด็จการเดียวกัน 1984 เน้นเรื่องกระบวนการกล่อมเกลาล้างสมอง การตอแหลโกหก และการสร้างนิยายขึ้นมาครอบงำสังคมโดยเผด็จการ มันเป็นหนังสือที่วิจารณ์ทั้งฝ่ายรัสเซียและฝ่ายอเมริกาในยุคสงครามเย็น
ในหนังสือ 1984 “พี่ใหญ่” ที่คอยจ้องมองประชาชนตลอด มีใบหน้าเหมือน สตาลิน และศัตรูหลักของระบบเผด็จการชื่อ โกล์ดสตีน ซึ่งมีหน้าตาเหมือน ตรอทสกี บ่อยครั้งจะมีการบรรยายวิธีการที่เผด็จการทำให้อดีตนักปฏิวัติสารภาพว่าตนเป็น “สายลับของศัตรู” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอดีตแกนนำพรรคบอลเชวิคในคดีการเมืองภายใต้ “ศาลเตี้ย” ของสตาลิน ในยุค 1930
ในการกล่าวถึงสภาพโลกในหนังสือ 1984 ออร์เวลประชดสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นและภายหลัง โลกในหนังสือของออร์เวลแบ่งเป็นสามมหาอำนาจที่อยู่ในสภาวะสงครามอย่างต่อเนื่อง คือ Oceania (ศูนย์กลางที่สหรัฐ), Eastasia (ศูนย์กลางที่จีน) และ Eurasia (ศูนย์กลางที่รัสเซีย) ตัวละครเอกในเรื่องจะอาศัยอยู่ที่อังกฤษซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อไปเป็น “สนามบิน 1” และเป็นส่วนของอาณาจักร Oceania ของสหรัฐ ในสมัยประธานาธิบดีเรแกน หลังออร์เวลตายไปสามสิบกว่าปี คนอังกฤษที่คัดค้านจักรวรรดินิยมสหรัฐและการที่อังกฤษมีฐานทัพนิวเคลียร์ของสหรัฐบนเกาะ มักจะพูดว่าอังกฤษกลายเป็นแค่ “สนามบินของสหรัฐ” ไปแล้ว
ทั้งสามมหาอำนาจมีลัทธิการเมืองของตนเอง Oceania ใช้ลัทธิ Ingsoc (สังคมนิยมอังกฤษ) Eastasia ใช้ลัทธิ Death-Worship (บูชาความตาย) และ Eurasia ใช้ลัทธิ Neo-Bolshevism (บอลเชวิคใหม่) แต่ทั้งๆ ที่แต่ละฝ่ายอ้างว่าแนวคิดของตนเองแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับของฝ่ายตรงข้าม ในความเป็นจริงไม่ต่างกันเลยเพราะล้วนแต่เป็นเผด็จการของขุนศึกที่กดขี่ประชาชน ในโลกแห่งความเป็นจริงของสงครามเย็น ฝ่ายสหรัฐอ้างว่าเป็น “โลกเสรี” แต่ในโลกเสรีมีเผด็จการทหารไทย เผด็จการทหารเกาหลีใต้ และเผด็จการทหารในลาตินอเมริกา ส่วนเผด็จการคอมมิวนิสต์สายสตาลินในรัซเสียและที่อื่นๆ โกหกว่าตนเป็น “ประชาธิปไตยประชาชน”
ในหนังสือ 1984 Oceania Eastasia และ Eurasia ฉวยโอกาสสับเปลี่ยนกันเป็น “แนวร่วม” เพื่อต่อต้านอีกฝ่าย โดยไม่มีเรื่องอดุมการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ทั้งๆ ที่หนังสือทั้งสามเล่มนี้ของออร์เวล เป็นการวิจารณ์ระบบสตาลินอย่างหนัก จากจุดยืนนักสังคมนิยมปฏิวัติ แต่ฝ่ายขวาทั่วโลก โดยเฉพาะในสงครามเย็น และแม้แต่ฝ่ายขวาในไทย ก็บิดเบือนความหมายให้ตรงข้ามกับความจริงอย่างน่าไม่อาย เพื่อเสนอว่าเป็นหนังสือ “ต้านสังคมนิยม”
ในหนังสือ Homage To Catalonia (แด่คาทาโลเนีย) ออร์เวลกล่าวถึงเมืองบาซาโลนา ที่ถูกกรรมาชีพยึด เขาสนับสนุนการที่คนงานเป็นใหญ่ในสังคมโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งๆ ที่เขาไม่สบายใจในฐานะที่ตัวเองเป็นคนชั้นกลาง ในหนังสือ 1984 ตัวเอกเชื่อมั่นว่าชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเป็นผู้ปลดแอกตนเองและสังคมจากเผด็จการ Ingsoc แต่เล่มนี้เขียนภายหลัง Homage To Catalonia และสะท้อนว่าออร์เวลเริ่มหดหู่กับความเป็นไปได้ว่ากรรมาชีพจะลุกฮือจริง
1984 กับสังคมไทย
ในเผด็จการ Ingsoc ท่านผู้นำหรือ “พี่ใหญ่” เป็นผู้ที่คิดค้นทุกอย่าง เก่งทุกอย่าง จะมีอายุยืนตลอดกาล เขารักและดูแลประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็คอยจ้องมองทุกคนเพื่อไม่ให้ก่อ “อาชญากรรมทางความคิด” ประชาชนต้องทั้งรักและกลัวเขา
ประชาชนในสังคม Oceania แบ่งออกเป็นสองชนชั้นคือ กรรมาชีพ กับ สมาชิกพรรคซึ่งมีบทบาทคล้ายๆ ชนชั้นกลาง สำหรับเผด็จการ Ingsoc แกนนำพรรคไม่สนใจกรรมาชีพ เพราะคิดว่าโง่และไม่มีความสามารถในการลุกขึ้นสู้ แต่ในขณะเดียวกันมักอ้างว่าเขาปกครองเพื่อกรรมาชีพ แกนนำพรรคจะให้ความสนใจกับชนชั้นกลางผู้เป็นสมาชิกพรรคมากกว่า และจะกล่อมเกลาให้ทุกคนใช้ “ระบบคิดซ้อน” (Doublethink)
“ระบบคิดซ้อน” คือการที่คนเราจะเชื่ออะไรสักอย่าง อย่างจริงใจเต็มใจ แต่รู้พร้อมๆ กันว่าความเชื่อนั้นเป็นเท็จด้วย เช่นการที่คนชั้นกลางอาจเชื่อว่ามีเทวดา อาจเชื่อด้วยความศรัทธาเต็มเบี่ยม แต่ในขณะเดียวกันรู้ในใจว่าเทวดาไม่มีจริง คือมันเป็นการล้วงเข้าไปในสมองของคนเพื่อไม่ให้มีความคิดเป็นอิสระเอง
“ระบบคิดซ้อน” กับการ “พูดซ้อน” (Doublespeak) ไปด้วยกัน และเผด็จการ Ingsoc มีคำขวัญสำคัญคือ “สงครามคือสันติภาพ” “เสรีภาพคือการเป็นทาส” และ “ความโง่เขลาคือพลัง” การพูดซ้อนคงไม่ต่างจากคนที่เคยเรียกร้องให้เสื้อแดง “งด” ใช้ความรุนแรงในขณะที่ตนเองส่งทหารไปไล่ฆ่าประชาชน หรือไม่ต่างจากนายพลที่อ้างว่าเขา “ทำรัฐประหารเพื่อปกป้องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ไม่ต่างจากคนที่ทำรัฐประหารดังกล่าวเสร็จแล้ว และก็หันมากล่าวหาคนที่คัดค้านรัฐประหารว่า “ดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาเกี่ยวกับการเมือง”
ในระบบพูดซ้อน กระทรวงกลาโหมเรียกว่า “กระทรวงสันติภาพ” กระทรวงที่บิดเบือนประวัติศาสตร์คือ “กระทรวงแห่งความจริง” กระทรวงที่คุมการผลิต ซึงไม่เคยผลิตอะไรเพียงพอสำหรับประชาชนเลย มีชื่อว่า “กระทวงแห่งความอุดมสมบูรณ์” และกระทรวงที่จับประชาชนที่คิดต่างมาทรมาณ คือ “กระทรวงแห่งความรัก” คนที่สารภาพ “อาชญากรรมทางความคิด” ในคุกของกระทรวงแห่งความรัก ในที่สุดจะได้รับการอภัยโทษปล่อยตัว นับว่า Oceaniaคือตอแหลแลนด์ที่แท้จริง!
เผด็จการ Ingsoc เข้าใจความสำคัญของประวัติศาสตร์มาก มีหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ในหนังสือเก่า และสิ่งตีพิมพ์ทุกชนิด อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับ “แนว” ของรัฐบาลในขณะนั้น และเมื่อมีการเปลี่ยน “แนว” ก็ต้องปรับประวัติศาสตร์ตามเสมอ ในประเทศไทยอาจไม่ถึงระดับนี้ แต่กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นๆ มีบทบาทอันยาวนานในการเขียนประวัติศาสตร์ไทยให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง
จริงๆ แล้วระบบเผด็จการ Ingsoc กำลังเปลี่ยนภาษาจากภาษาเดิม ไปเป็น “ภาษาใหม่” โดยที่ศัพท์ต่างๆ ที่อนุญาตให้ใช้ กลายเป็นแค่ศัพท์ที่เชิดชูระบบเผด็จการ หรือเป็นศัพท์ที่ใช้วิจารณ์ระบบหรือคิดต่างไม่ได้เลย เป้าหมายหลักคือการทำลายความสามารถของประชาชนที่จะคิด ยิ่งกว่านั้นในภาษาใหม่ ไม่มีคำว่าวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ถูกยกเลิกไปแล้ว สังคมไม่มีการพัฒนา เพราะชนชั้นปกครอง Oceania กลัวว่าการพัฒนาจะทำให้กรรมาชีพเริ่มมีความมั่นใจในการตื่นตัวลุกขึ้นสู้ ประเด็นนี้ทำให้นึกถึงประโยคหนึ่งในแถลงการณ์ฉบับที่หนึ่งของคณะราษฏร์ในปี ๒๔๗๕ คือ “ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษา ที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าถ้าราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังตน”
เผด็จการ Ingsoc คอยห้ามปรามเพศสัมพันธ์ กรณียกเว้นคือกรณีที่สมรสแล้วและมีเพศสัมพันธ์เพื่อผลิตลูก การชอบเซ็กซ์เป็นสิ่งต้องห้ามโดยเฉพาะในสตรี และการสร้างความเก็บกดทางเพศ ตามแนวจารีตนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปสู่การระเบิดออกมาของความเกลียดชังต่อศัตรู และความจงรักภักดีรัก “พี่ใหญ่” รัฐบาลมีการติดป้ายใบหน้า “พี่ใหญ่” ทั่วเมือง และจัด “สิบนาทีแห่งการเกลียดชังศัตรู” ทุกอาทิตย์ ซึ่งเป็นภาคบังคับสำหรับประชาชนทุกคนตามสถานที่ทำงานต่างๆ
ออร์เวลตายประมาณหนึ่งปีหลังจากที่เขาเขียนหนังสือ 1984 เขาเลยไม่มีโอกาสเห็นการลุกขึ้นสู้ของกรรมาชีพและผู้ถูกกดขี่ทั่วโลก ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ การปฏิวัติอียิปต์ และการนัดหยุดงานต่อต้านแนวเสรีนิยมท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป ทำให้ความเชื่อมั่นได้ว่า “ถ้ามีความหวัง... มันอยู่ที่ชนชั้นกรรมาชีพ” If there is hope, it lies with the Proles.
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น