โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุ 7 ต.ค. 51 ขอรับการเยียวยาตามมติ ครม.

Posted: 08 Mar 2012 10:08 AM PST

เผยได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาในเหตุสลายชุมนุมหน้ารัฐสภา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบทั้งสองข้าง ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และตาเริ่มพร่ามัวมากขึ้น หวังเงินเยียวยาตามมติ ครม. ช่วยชีวิต

ไพบูรณ์ อินทะโร ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม 7 ต.ค. 2551 ลงทะเบียนขอรับการเยียวยา ตามมติ ครม. (ที่มา: วอยซ์ทีวี)

ผลวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งเป็นเอกสารที่นายไพบูรณ์ นำมายื่นเป็นหลักฐานกับเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ที่มา: วอยซ์ทีวี)

วอยซ์ทีวีรายงานวานนี้ (8 มี.ค. 55) ว่า นายไพบูรณ์ อินทะโร ชาวศรีสะเกษ วัย 47 ปี ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งทำหน้าที่เป็นการ์ด ดูแลความสงบเรียบร้อยระหว่างการชุมนุม นำเอกสารหลักฐานการรักษาพยาบาล มามอบให้กับเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา

เนื่องจากเขาบาดเจ็บจากการถูกแก๊สน้ำตา ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ทำให้เยื้อบุตาทั้งสองข้างอักเสบ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และปัจจุบันตาเริ่มพร่ามัวมากขึ้น   รายได้หลักตอนนี้จึงมาจากการรับจ้างทั่วไป   เขาจึงเห็นว่าเงินเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรี จะสามารถช่วยเหลือชีวิตได้ในระดับหนึ่ง

ด้านนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของนางสาวกมลเกด อัคฮาด อาสาสมัครพยาบาล ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนามราม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ยืนยันว่า จะไม่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยากว่า 7 ล้าน 5 แสนบาทจากรัฐบาล เพราะต้องการต่อสู้คดี ทั้งทางแพ่งและอาญาให้ถึงที่สุด เพื่อให้รู้ว่าใครคือผู้กระทำความผิดในเหตุสลายการชุมนุม วันนี้เพียงแค่เดินทางมาเป็นกำลังใจให้ญาติผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ ที่ไม่ติดใจเรื่องคดีความแล้ว

วอยซ์ทีวี ระบุด้วยว่าในวันที่ 8 มี.ค. เป็นการลงทะเบียนของรับเงินเยียวยาวันแรก เฉพาะผู้เสียหายในกลุ่มที่ 1 จากเหตุชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548 - 2553 ซึ่งประกอบด้วยผู้บาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ส่วนกรณีทรัพย์สินเสียหาย ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ปคอป.

โดยผู้เสียหายและญาติ ยังคงสามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ ที่สถานสงเคราะเด็กหญิงบ้านราชวิถี ถ.ราชวิถี กรุงเทพฯ ในวันและเวลาราชการ ส่วนประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด หากไม่สะดวกเดินทางมาที่กรุงเทพฯ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะเปิดให้ลงทะเบียนในต่างจังหวัด ซึ่ง ปคอป.จะแจ้งวัน เวลา และสถานที่ ให้ทราบอีกครั้ง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิชาการเสนอทางออกปมไทย-กัมพูชา “ชาญวิทย์” เสนอเปลี่ยนที่พิพาทเป็นการจัดการร่วม

Posted: 08 Mar 2012 09:23 AM PST

อดีตทูตกัมพูชาคาด ศาลโลกไม่น่าตัดสินให้ชาติใดชาติหนึ่งชนะโดยเด็ดขาด แต่จะออกคำสั่งเพื่อให้เกิดการไกล่เกลี่ยมากที่สุด ในขณะที่ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ”เสนอเปลี่ยนพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกม. เป็น “พุทธสถานสันติ” แห่งอาเซียนเพื่อสร้างสันติภาพโดยการบริหารจัดการร่วม

8 มี.ค. 55 วิทยาลัยปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนาในหัวข้อ Thai-Cambodian Conflict: Nature and Solutions (ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา: ธรรมชาติและความขัดแย้ง) โดยมีนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมวิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา รวมถึงเสนอทางออกต่อปัญหาดังกล่าวด้วย

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ มองว่าความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาถูกนำมาใช้ในทางการเมืองอย่างจริงจังหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา เพื่อท้าทายความชอบธรรมของรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวชมาจนถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้ใช้เหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่การคัดค้านการเสนอชื่อเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลก การเรียกร้องพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของไทย ไปจนถึงการเรียกร้องให้ไทยประกาศสงครามกับกัมพูชาโดยสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อสร้างความสั่นคลอนให้กับรัฐบาลในแต่ละช่วง และนำไปสู่ความรุนแรงดังจะเห็นจากการปะทะกันในบริเวณชายแดน

“ต้องเข้าใจก่อนว่ากระแสชาตินิยมถูกหยิบมาใช้โดยกลุ่มทางการเมืองตลอดเวลา จึงจำเป็นต้อง Depoliticize (ลดการทำให้เป็นการเมือง) และทำให้การเมืองไทยนิ่งให้ได้ก่อน หากยังมีการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทย ก็ยังไม่เห็นว่าจะแก้ไขปัญหาไทย-กัมพูชาได้อย่างไร” ปวินกล่าว และเสริมว่า ควรให้การตัดสินใจเรื่องนโยบายระหว่างประเทศ เป็นหน้าที่ของข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าที่จะให้กลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าไปกดดันหรือแทรกแซง

DSC_0023

เขามองว่า ในแง่การแก้ปัญหาเรื่องปมระหว่างไทยและกัมพูชา คงจะไม่ได้อยู่ในลำดับต้นๆ ในความสนใจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเท่าใดนัก เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เองก็มีประเด็นร้อนที่ต้องจัดการเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะปรองดองกันได้เท่าใด ซึ่งในที่สุดหากเกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต รัฐบาลน่าจะอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับกัมพูชาเพื่อเข้าไปแก้ไขมากกว่า

ด้านชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ ปัจจุบันนักวิจัยอาวุโสที่สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ ชี้ว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเพื่อนบ้านในอาเซียนย่ำแย่ โดยเฉพาะตำราแบบเรียนของไทยเลือก “จำ” และเลือก “ลืม” ซึ่งนำไปสู่การสร้างความทรงจำที่บิดเบือนและถูกใช้ในทางที่ผิด เช่น การปลุกกระแสชาตินิยมสุดขั้ว

“หนังสือประวัติศาสตร์ของทุกชาติในอาเซียนต้องแก้ เขียนอย่างปัจจุบันนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าเขียนแบบปัจจุบันตีกันตาย ต้องแก้หนังสือประวัติศาสตร์เขียนเพื่อให้เกิด ASEAN Community (ประชาคมอาเซียน)” ชาญวิทย์กล่าว “คนไทย คนเขมร คนลาว...รู้จักตัวเองไม่พอ ต้องรู้จักเพื่อนบ้านด้วย”

DSC_0071

ชาญวิทย์เสนอทางออกต่อปัญหาไทย-กัมพูชาว่า ในระยะสั้น ให้เปลี่ยนพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรให้เป็นสถานที่ของอาเซียนอย่างแท้จริง โดยอาจจัดทำเป็น “พุทธสถานสันติ” หรือ ASEAN Buddhist Peace Zone ที่มีการจัดการและใช้ร่วมกัน พร้อมกับเสนอให้เปลี่ยนเขตปลอดทหารที่กำหนดโดยศาลโลก ให้เป็นมรดกข้ามพรมแดนและวัฒนธรรมและธรรมชาติระหว่างสามประเทศคือ ลาว ไทย และกัมพูชา จากดงพญาเย็น เทือกเขาพนมดงรัก เขาพระวิหาร วัดภู ไปจนถึงน้ำตกแก่งลีผีในประเทศลาว โดยเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวซึ่งอยู่ในสามเหลี่ยมมรกตเป็นเขตมรดกโลกทั้งหมด

ภู โสธิรักษ์ (Pou Sothirak) อดีตเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศญี่ปุ่นและปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสที่สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มองว่าคำตัดสินของศาลโลกที่จะออกมาในปลายปีนี้ ต่อคำร้องของกัมพูชาเพื่อให้ตีความชี้ขาดคำตัดสินของศาลโลกในปี 1962 (พ.ศ. 2505) น่าจะออกมาในลักษณะที่ไม่ยกชัยชนะให้ชาติใดชาติหนึ่งอย่างเด็ดขาด แต่น่าจะเป็นคำสั่งที่เอื้อให้เกิดการไกล่เกลี่ยระหว่างสองประเทศให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม หากไทยและกัมพูชาแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีการพัฒนาที่ดีขึ้น และสามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้โดยด้วยตนเอง ศาลโลกเองก็อาจจะยังไม่ออกข้อตัดสินใดๆ ในระหว่างนั้น

DSC_0083

อดีตเอกอัครราชทูตยังเสนอว่า หากจะให้การแก้ไขปัญหาเรื่องเขตแดนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมาธิการชายแดนร่วมไทย-กัมพูชา และคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ต้องสามารถทำงานได้อย่างไม่มีอุปสรรคกีดขวาง โดยเฉพาะในแง่ของการตัดสินใจ เนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวที่ได้ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2000 ในสมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ได้หยุดชะงักไปหลังจากที่มีการถกเถียงเรื่องมาตรา 190 ที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศในระยะที่ผ่านมา ทำให้เกิดความล่าช้าในการเจรจาไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตาม ภู แสดงความหวังว่า หลังจากที่คณะกรรมการดังกล่าวได้เริ่มการทำงานขึ้นใหม่ภายใต้รัฐบาลนี้ ก็น่าจะมีความคืบหน้าในเรื่องการแก้ไขปมไทยและกัมพูชาต่อไปในอนาคต

มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ นักวิชาการด้านไทยศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เสนอว่า อาเซียนจำเป็นต้องมองเรื่องการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในมิติใหม่ และยกเอารูปแบบในยุโรปมาเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะในกรณีของเขาพระวิหาร อาจจะนำการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่ข้ามเขตแดน (Trans-boundary heritage) มาใช้ โดยให้สองประเทศร่วมกันจัดการ ในขณะเดียวกันก็ต้องได้รับงบประมาณและการสนับสนุนจากอาเซียน ซึ่งหากผลักดันได้สำเร็จแล้ว จะทำให้เกิดจินตนาการใหม่เกี่ยวกับอาเซียนและการจัดการมรดกโลกขึ้นมาได้

DSC_00103

เช่นเดียวกันกับรูปแบบของการจัดการภูมิภาคที่ข้ามชายแดน (Cross-border region) ที่มีการบริหารจัดการในรูปแบบพิเศษบริเวณจังหวัดรอยต่อของรัฐ ปัจจุบันนี้ก็มีการดำเนินการอยู่ในบางส่วนของยุโรป โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะลดความปฏิปักษ์ระหว่างรัฐ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประชาชนของประเทศที่เกี่ยวข้อง มรกตชี้ว่า บทเรียนดังกล่าว เป็นเรื่องที่ประเทศไทยและอาเซียนควรจะได้เรียนรู้และนำมาใช้ในภูมิภาค เพื่อให้เกิดความสงบในอาเซียนได้ในอนาคต
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เมื่อตำรวจบุกบ้าน-ยึดคอม 2 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และกระบวนการที่ถูกมองข้าม

Posted: 08 Mar 2012 08:31 AM PST

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในเฟซบุ๊กของนักกิจกรรมและผู้สนใจการเมืองจำนวนมาก มีการเผยแพร่และพยายามตรวจสอบข่าว “เหยื่อ” คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรายล่าสุดว่า เป็นชาวนครปฐมและอาจถูกจับกุมอย่างเงียบเชียบ

เหตุการณ์นี้ไม่ต่างจากเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่ชายหนุ่มคอการเมืองประจำเฟซบุ๊กคนหนึ่งที่ใช้นามแฝงว่า “ไทยวรรษ สีทันดรสมุทร” จู่ๆ ก็หายตัวไปอย่างเงียบเชียบพร้อมข่าวลือว่าถูกจับกุม

ทั้ง 2 กรณีเกิดขึ้นพร้อมกันเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมปีที่แล้ว ทั้งคู่ได้รับการปล่อยตัวภายในคืนนั้น หากแต่กรณีแรกเพิ่งมารับทราบกันในหมู่นักกิจกรรมเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่มีการแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการกับทั้งคู่  เพียงแต่ถูกยึดคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ ไปตรวจค้น  และมีการสอบปากคำที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยทั้งคู่เป็น 2 ใน 5 รายชื่อที่ถูกบุกค้นบ้านและเชิญตัวไปสอบปากคำ ส่วนอีก 3 รายเจ้าหน้าที่ไม่พบตัว

กรณีแรกที่กล่าวถึงเป็นหญิงวัยกลางคน ซึ่งประกอบอาชีพเปิดร้านค้าเล็กๆ และรับสอนพิเศษภาษาอังกฤษ อาศัยอยู่ในจังหวัดนครปฐม ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด แต่ไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มใดๆ เน้นตามอ่านข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต เธอตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่อาจติดตามเธอจากการที่เธอเป็นสมาชิกเว็บบอร์ดคนเหมือนกัน และเว็บบอร์ดอื่นๆ ด้วย แต่เธอยืนยันว่า ส่วนมากเป็นการติดตามอ่านกระทู้ต่างๆ โดยไม่เคยโพสต์ข้อความรุนแรง หมิ่นเหม่ใดๆ

ส่วนไทยวรรษ ชายหนุ่มวัยสามสิบกว่า บัณฑิตจากรั้วจุฬาฯ และเพิ่งรู้ตัวไม่นานนี้เองว่าป่วยเป็นโรค แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger syndrome) ขณะนี้อาศัยอยู่บ้านในกรุงเทพฯ กับพ่อแม่ เขาพยายามหางานทำมาหลายปี แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ โรคดังกล่าวทำให้เขาตอบโต้สนทนาได้ช้ากว่าปกติ และพูดติดขัด แต่สำหรับกระบวนการคิดแล้วเขาดูเป็นแถวหน้าของบรรดาคอการเมือง โดยเฉพาะการจัดเก็บข้อมูลทางการเมืองต่างๆ อย่างเป็นระบบและกว้างขวาง  นอกจากประเด็นการเมืองและไอทีแล้ว เขายังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการ์ตูนตัวฉกาจ โดยมีพื้นที่ “ปล่อยของ” อยู่ในเว็บเด็กดี บล็อกส่วนตัว และเฟซบุ๊ก

เขาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่เจ้าหน้าที่บุกค้นบ้านอาจเป็นเพราะเขามีปัญหากับสมาชิกคนหนึ่งในเว็บเด็กดี ซึ่งกล่าวหาว่าเขาสะสม “ข้อมูลล้มเจ้า” จากนั้นเว็บมาสเตอร์ได้ทำการแบนบทความของเขาเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวกับหมวด “ศักดินา” และ “พรรคประชาธิปัตย์” โดยสิ่งที่เขาจัดเก็บ สะสม คือ บทความที่นำมาจากที่อื่นทั้งสิ้น เช่น บทความทางวิชาการของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากบอร์ดฟ้าเดียวกัน บทความจากเว็บข่าวไทยอีนิวส์ บทความจากนักวิชาการหลายคนในเว็บไซต์ประชาไท รวมถึงจากเว็บสื่อกระแสหลักทั่วไป

“เรามั่นใจ เราวิจารณ์ตามข้อมูล ข้อเท็จจริง แบบที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และคนอื่นเขาก็ทำกัน และโดยส่วนมากเป็นการ copy-paste หลายครั้งยังตัดส่วนที่หมิ่นเหม่ออกด้วยซ้ำ” ไทยวรรษกล่าว


เกิดอะไรในวันที่ 13 ธ.ค.

กรณีที่เกิดขึ้นที่นครปฐม เจ้าตัวเล่าว่า ช่วงเย็นของวันที่ 13 ธ.ค.54 เจ้าหน้าที่ 14 คนจากกองปราบฯ และปอท. จู่โจมเข้ามาที่บ้าน ในขณะที่เธออยู่บ้านเพียงลำพัง

จากนั้นได้นำตัวเธอไปสอบปากคำที่สำนักงาน ปอท. ราวชั่วโมงกว่า ก่อนนำตัวกลับมาส่งบ้านในช่วงกลางดึก ส่วนอุปกรณ์ต่างๆ  รวม 15 รายการนั้นถูกยึดไว้ตรวจสอบ  และเพิ่งได้คืนมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะให้สำเนาการสอบปากคำ หรือหมายค้น โดยให้เพียงสำเนาบัญชีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ยึดไปตรวจ

เธอระบุว่า เท่าที่ได้อ่านหมายค้นเพียงคร่าวๆ เนื้อหาในหมายชี้ว่าเธอเป็นสมาชิกในเว็บบอร์ดคนเหมือนกัน ซึ่งเป็นผู้ที่ติดตามอ่านนิยายของ Hi s และเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมให้กระทู้นี้ขึ้นหน้าแรก และยังใช้สัญลักษณ์ “คุณซาบซึ้ง” ซึ่งตำรวจระบุว่าในหมู่คนเสื้อแดงเป็นที่ทราบกันว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นการเสียดสีสถาบัน

สิ่งที่สร้างความกังวลใจให้เธอคือ เมื่อได้รับของต่างๆ กลับคืนมา พบว่า external hard disk มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลชื่อ drive ซึ่งเดิมทีเธอได้แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกใช้ชื่อว่า entertainment สำหรับเก็บเอกสาร บทความทางการเมือง  และส่วนที่สองใช้ชื่อว่า knowledge สำหรับเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน เมื่อเจ้าหน้าที่ส่งมันกลับมา ปรากฏว่าส่วนแรกถูกเปลี่ยนชื่อจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยว่า “ดิสก์ที่อยู่ในเครื่อง”

“เราไม่ได้เฝ้าตอนเขาทำสำเนา เพราะเรามั่นใจว่าเราไม่ใช่คนโพสต์ ไม่ได้ทำอะไรสุ่มเสี่ยง ไม่ได้หลบซ่อน เราแสดงความเห็นส่วนตัวตามปกติ แต่พอมาเห็นแบบนี้ เราก็สงสัยว่าคุณดัดแปลงข้อมูลอะไรเราหรือเปล่า” หญิงสาวจากนครปฐมกล่าว

เช่นเดียวกับไทยวรรษที่ได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน โดยในวันรุ่งขึ้นซึ่งมีการทำสำเนาข้อมูลที่ ปอท. ทั้งคู่ปฏิเสธที่จะเฝ้าอยู่ตลอดกระบวนการเนื่องจากใช้เวลายาวนาน

“พอเห็นเจ้าหน้าที่มาที่บ้าน ผมก็ดักคอเขาก่อนเลยว่า อ๋อ พวกคุณมาล่าแม่มดออนไลน์สินะ ตำรวจก็ไม่เถียงอะไรผม...ตอนเขาโคลนข้อมูล ผมรอไม่ไหว มันเสียเวลาตั้ง 3-4 ชั่วโมง” ไทยวรรษกล่าว


กระบวนการที่ไม่ควรมองข้าม

แม้ทั้งคู่จะยังไม่ตกอยู่ในสถานะ “ผู้ต้องหา” แต่การยึดอุปกรณ์ต่างๆ ไปตรวจสอบก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องให้ความสำคัญ

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต หรือ Thai Netizen Network ระบุว่า ข้อมูลดิจิทัลเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง (temper) ได้ง่ายมาก ดังนั้นเพื่อจะให้มันมีความน่าเชื่อถือเพียงพอสำหรับใช้เป็นหลักฐานในศาล (admissible) จำเป็นจะต้องมีกระบวนการบางอย่างมารองรับ เพื่อแสดงให้เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวมีที่มาอย่างไร ระหว่างทางผ่านอะไรมาบ้าง เรียกว่า chain of custody หรือห่วงโซ่แห่งการถือครองพยานหลักฐาน

พูดง่ายๆ ว่าต้องตอบให้ได้ว่า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นี้บันทึกมาอย่างไร หรือฮาร์ดดิสก์นี้เอามาได้อย่างไร ใครเป็นผู้นำมา ระหว่างจุดเกิดเหตุไปยังที่ทำการตรวจวิเคราะห์มีพยานหรือไม่ การตรวจวิเคราะห์ทำด้วยเครื่องมืออะไร สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้หรือไม่ เป็นต้น

อาทิตย์บอกว่า ที่ผ่านมาในการเก็บหลักฐานเหล่านี้จากผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นั้น ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นทุกครั้ง กรณีเดียวที่ปฏิบัติได้ค่อนข้างสมบูรณ์คือ กรณีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งเป็นกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศมักนำไปใช้เป็นตัวอย่างเพื่อตอบคำถามกับต่างประเทศถึงมาตรฐานในกระบวนการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่ากระทำโดยเคร่งครัด

แต่ดูเหมือนนั่นจะเป็นกรณีเดียวที่มีคำสั่งศาลในการทำสำเนาข้อมูลโดยเฉพาะ, มีผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เป็นพยานตลอดกระบวนการทำสำเนา (โคลน) ข้อมูล, มีการทำสำเนาข้อมูล 2 ชุดและเซ็นชื่อรับรอง โดยชุดหนึ่งนำส่งตรวจพิสูจน์หลักฐาน อีกชุดหนึ่งปิดผนึกเก็บไว้, ได้เครื่องคอมพิวเตอร์คืนทันทีเมื่อเสร็จสิ้นการโคลน โดยใช้เวลาโคลนข้อมูลราว 2-3 ชั่วโมง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะไม่นานหลังการเข้าค้นได้มีการกระจายข่าวออกไป ทำให้สาธารณะและสื่อมวลชนติดตามอยู่ตลอด

“เคยถามทั้งตำรวจและเจ้าหน้าที่ไอซีที เขาบอกว่าปกติจะโคลนข้อมูลแค่ชุดเดียว เพราะไม่มีงบ ฮาร์ดดิสก์แพง หรือบางครั้งก็ใช้วิธีส่งฮาร์ดดิสก์ทางไปรษณีย์เข้ามายังส่วนกลาง” อาทิตย์กล่าว

แม้ถึงที่สุด จะมีวิธีที่สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลดิจิทัลดังกล่าวถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่อาทิตย์บอกว่า หากทำสำเนาไว้เพียงชุดเดียว (ชุดที่เจ้าหน้าที่นำไปตรวจวิเคราะห์) เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเดิมมันเคยเป็นอะไร เพราะไม่มีสำเนาชุดที่สองที่ปิดผนึกไว้มายืนยัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าข้อมูลที่ยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขนี้ อาจเป็นประโยชน์กับผู้ถูกกล่าวหา

เขาระบุด้วยว่า ปัญหาการเข้าถึงข้อมูล ทั้งในกรณีข้างต้นและในกรณีอื่นๆ เช่นการที่ทนายฝ่ายจำเลยไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการจราจรย้อนหลังที่ต้องการได้ (เนื่องจากกว่าที่เจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ก็เกินเวลา 90 วันตามกฎหมายไปแล้ว) ประกอบกับข้อจำกัดของทนายฝ่ายจำเลยที่จะเข้าถึงเครื่องมือในการตรวจวิเคราะห์หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ผ่านมาเราจึงพบว่า เมื่อคดีถึงชั้นศาล สิ่งที่ฝ่ายจำเลยทำได้จึงมีเพียงการทำให้เห็นว่าหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรืออัยการนั้นไม่น่าเชื่อถือ แต่ไม่สามารถท้าทายไปจนถึงขั้นให้แสดงว่าแล้วที่น่าเชื่อถือนั้นคืออะไร ทำให้ฝ่ายอัยการได้เปรียบโดยปริยาย โดยเฉพาะใน "วัฒนธรรม" ของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ผู้ถูกฟ้องต้องรับภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง แทนที่จะเป็นผู้ฟ้องที่ต้องรับภาระในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกฟ้อง ในกรณีของคดีหมิ่นฯและคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ทุกวันนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าของกรณีดังกล่าว และไม่มีใครยืนยันได้ว่ามีผู้ที่ถูกตรวจค้นเช่นนี้อีกกี่มากน้อย แต่เชื่อได้ว่าโดยส่วนใหญ่ยังดูเบา ไม่รู้ หรือไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเรียกร้องมาตรฐานในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ แม้ว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่การตั้งข้อหาที่ร้ายแรงได้

“ผมเฉยๆ ไม่ได้กลัวอะไร เพราะผมจนป่านนี้ก็ยังว่างงาน ถึงจะถูกล่าแม่มดต้องไปอยู่ในคุกตารางก็ไม่ได้กระทบอะไรกับตัวผมมากอยู่แล้ว อย่างมากก็อยู่ในคุกจนถึงเวลาที่สังคมไทยยอมรับความจริง พูดความจริง และพร้อมรับผิดชอบกับมัน” ไทยวรรษกล่าว

“นี่ผมว่าจะโทรไปถามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า จะขอก็อปปี้ข้อมูลที่เขาทำสำเนาไว้ได้ไหม เพราะฮาร์ดดิสก์ผมที่เอากลับมามันดันเจ๊ง ถ้าจะกู้ข้อมูลต้องเสียหลายพันเลย” เหมือนไทยวรรษจะกล่าวติดตลก แต่เขาหมายความเช่นนั้นจริงๆ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยิ้มแรกของชาวบะไห

Posted: 08 Mar 2012 08:10 AM PST

“ชีวิตผม บ่เคยคาดคิดหว่าสิได่เป็นคนไทย เพราะพ่อของผมเคยไปอำเภอและไปจังหวัดมาแล่วหลายเถื่อ”

ยิ้มแรกของชาวบะไห

ประสิทธิ์ จำปาขาว ชายหนุ่มวัย 29 ปี กำลังบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองถึงความคิด ความหวัง ความพยายามของเขาและพ่อ ขณะที่พ่อของเขายังมีชีวิตอยู่เมื่อหลายปีมาแล้ว...

ประสิทธิ์ จำปาขาว เริ่มมีความหวังและเริ่มให้ความสนใจในปัญหาของเขาเองมากขึ้น หลังจากมีหน่วยงานจากหลายภาคส่วนลงพื้นที่และเริ่มสนใจปัญหาเรื่องสถานะของกลุ่มคนลาวอพยพมากขึ้น ในระดับพื้นที่ที่มีกลุ่มคนลาวอพยพในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาสถานะของพวกเขา

ประสิทธิ์เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของในปี 2552 (ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 850 คน) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันสามอำเภอในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลฯ ได้แก่อำเภอโขงเจียม อำเภอบุณฑริก และอำเภอโพธิ์ไทร ก็ได้มีการขับเคลื่อนผลักดันประเด็นปัญหาคนลาวอพยพอย่างเข้มข้น มีการยื่นข้อเสนอให้สำรวจสถานะกันใหม่อีกรอบ เนื่องจากมีความเข้าใจผิดไปขึ้นทะเบียนที่อำเภอเป็นแรงงานต่างด้าว (ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย เลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 00 และมีชื่อในทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.38/1)หรือการไปรับสถานะบุคคลที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงของพวกเขา (ไปรับการสำรวจและมีชื่อใน ท.ร. 38/1) ทำให้พวกเขากลายเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวไปโดยปริยาย

ประสิทธิ์ ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ประสิทธิ์ไม่ได้เป็นคนลาวอพยพที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเหมือนคนอื่นๆ เนื่องจากเขามีพ่อเป็นคนไทย เพียงแต่เขาเกิดที่ประเทศลาว เขาจึงเป็น “ลูกพ่อไทย” หรือมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมาตรา 7 วรรคสอง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 และฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 [2] เขาจึงเปรียบได้กับคนไทยตกหล่น แต่ปัญหาที่สำคัญคือ เขาต้องไปดำเนินการให้อำเภอโขงเจียมรับรองว่า-เขาเป็นคนสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อของเขาเข้าในทะเบียนบ้านคนไทย (ท.ร.14) และออกบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยให้เขา

ยิ้มแรกของชาวบะไห

ปี 2552 ประสิทธิ์ ได้ยื่นเรื่องขอเพิ่มชื่อที่อำเภอโขงเจียม เจ้าหน้าที่ได้เรียกพยานไปสอบปากคำหลายคน ก่อนที่จะบอกให้เขาไปตรวจ DNA กับนายสมคิด จำปาขาว น้องชายของเขา (ได้รับการรับรองว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้ว เนื่องจากน้องชายเกิดในประเทศไทย) เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเขาเป็นลูกของนายไสว จำปาขาวจริง ผลการตรวจ DNA จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ยืนยันว่า เขาเป็นพี่น้องนายสมคิด จำปาขาว จริง

แต่เมื่อนำผล DNA ที่ได้มาไปยื่นอีกครั้งที่อำเภอ กลับได้รับคำตอบว่า ยังไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะ “ยังไม่มีกฎกระทรวง”ที่มาตรา 7 วรรคสองกำหนดว่าจะต้องรอให้มีกฎกระทรวงมากำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนการพิสูจน์ “ความเป็นลูกพ่อไทย”

ประสิทธิ์ได้เดินทางเข้าออกทำเนียบอยู่หลายครั้ง มีการเจรจากับรัฐบาลเพื่อผลักดันให้มีการออกกฎกระทรวง …บ่อยครั้งที่ต้องถูกถากถาง เยาะเย้ย และถูกสบประมาทว่าเป็นเรื่องของฝันลมแล้งๆ แต่เขาก็ไม่เคยท้อ เนื่องจากเขาเชื่อมั่นว่าทิศทางที่เขากำลังเดินไปถูกทางแล้ว!!

ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลและที่ว่าการอำเภอโขงเจียม-ประสิทธิ์ รู้สึกคุ้ยเคยกับมันพอๆ กัน เพราะเขาเดินทางเพื่อไปติดตามการดำเนินงานทั้งสองแห่ง แต่ความคืบหน้ายังไม่เป็นผล

ในระหว่างที่เขารอเดือนสิงหาคม ปี 2553 เขาได้เข้าไปพบทนายความคนหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี หลังจากได้รับคำแนะนำจากนักกฎหมายหลายท่าน ว่ายังมีอีกช่องทางที่ทำได้คือ ฟ้องศาลปกครองให้ศาลมีคำสั่งยืนยันหรือรับรองความเป็นบุตรคนไทย และใช้คำสั่งศาลยืนยันกับอำเภอ แต่ยังไม่ทันที่กระบวนการศาลจะเริ่มต้น สิ่งที่เขารอคอยมานานก็มาถึง เมื่อกฏกระทรวงถูกประกาศออกมาใช้ในต้นเดือนตุลาคม ปี 2553

“ผมดีใจมากครับมื่อนี่ บ่คิดบ่ฝันหว่าสิมีมื่อนี่”

ประสิทธิ์ พูดไปยิ้มไป หลังจากที่เขานำบัตรประชาชนมาโชว์ให้พวกเราดู บัตรออกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2554

“กว่าจะได้มาก็นานเหมือนกัน ทั้งที่กฎกระทรวงออกมาตั้งนานแล้ว”

ประสิทธิ์บอกแกมบ่นให้ฟัง ทั้งที่กฎกระทรวงออกมาแล้วตั้งแต่ ปี 2553 เมื่อไปสอบถามที่อำเภอ คำตอบที่ได้รับคือ “ยังไม่มีหนังสือคำสั่งมา” ทางอำเภอจึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ พร้อมกับคำปลอบจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ใจเย็นๆ

ประสิทธิ์บอกว่า เขาไปตามด้วยตัวเองสามครั้ง จากนั้นเขาจึงเปลี่ยนรูปแบบด้วยการโทรสอบถามไปยังอำเภอเพื่อติดตามความคืบหน้าของคำสั่งการ สิ่งที่ประสิทธิ์รอเมื่อได้รับแจ้งว่าคำสั่งมาถึงแล้ว-นั่นคือ-แบบฟอร์มการยื่นคำร้องขอพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิด [3]

ยิ้มแรกของชาวบะไห

จนกระทั่งวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ประสิทธิ์ จึงได้ลงมือกรอกแบบฟอร์มคำร้องเพื่อยื่นเรื่องพิสูจน์ความเป็นลูกพ่อไทยกับอำเภอโขงเจียม และแล้วชาวบ้านบะไหก็ได้เห็นยิ้มแรก ยิ้มของความสุข ความหวังแรกของกลุ่มคนไร้สัญชาติ เมื่อประสิทธิ์ จำปาขาวได้รับการรับรองว่าเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2554

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่กฎกระทรวงถูกประกาศใช้ คงไม่ใช่ประสิทธิ์ จำปาขาวเท่านั้นที่ยิ้มได้ เพราะหลังจากที่ประสิทธิ์ได้สัญชาติไทย ลูกหลานคนไทยที่ไปเกิดที่ประเทศลาวอีกหลายสิบคนทยอยมายื่นเรื่องขอพิสูจน์ความเป็นลูกพ่อไทย และขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านคนไทย (ท.ร.14) กับทางอำเภอโขงเจียม

ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2555 พบว่าจำนวน 10 ราย ที่เป็นลูกพ่อไทยเหมือนกับประสิทธิ์ ผ่านกระบวนการพิสูจน์และได้รับการเพิ่มชื่อในท.ร.14 เรียบร้อยแล้ว และยังมีอีกกว่า 10 รายที่ทยอยมายื่นเรื่องที่อำเภอโขงเจียม

จะมีสักกี่คนที่รับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของประสิทธิ์ จำปาว สิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ตามมาเป็นประโยชน์กับอีกหลายๆคนในประเทศนี้ นั่นคือความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่อาจเอ่ยออกมาได้มากมายนัก มีเพียงรอยยิ้มที่ประดับอยู่บนดวงหน้าที่เคยไร้ซึ่งความหวัง...มันเป็นรอยยิ้มแห่งของชัยชนะเล็กๆของกลุ่มคนไร้สัญชาติและเป็นรอยยิ้มของความสุขที่เจือจานไปสู่ผู้อื่นอย่างมิรู้จักเหนื่อยหน่าย...ของ ประสิทธิ์ จำปาขาว แห่งหมู่บ้านบะไห

-----------------------------------

อ้างอิง:

  1. ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ ,วันที่ 5 มีนาคม 2555
  2. “คำว่าบิดาตาม (1) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม”
  3. หนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0309.1/ว6313 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2554 เรื่อง การพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิดเพื่อการได้สัญชาติไทยโดย การเกิดตามาตรา 7 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 4 ) พ.ศ.2551, http://www.statelesswatch.org/node/413
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พ.อ.ชาคริต สนิทพ่วง กับภารกิจฟื้นภาพ ‘สุภาพบุรุษทหารพราน’

Posted: 08 Mar 2012 07:49 AM PST

 

หลังจากเกิดเหตุทหารพราน กรมทหารพรานที่ 43 ยิงชาวบ้านตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 คน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 กำลังพลจากกรมทหารพรานที่ 22 ก็เข้ามาสับเปลี่ยนแทนกรมทหารพรานที่ 43 ตามข้อเสนอของชาวบ้านตำบลปุโละปุโย ในแทบจะทันที

พันเอกชาคริต สนิทพ่วง ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 22 ตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี นำกำลังเข้าพื้นที่ด้วยผ้าผูกคอสีชมพู รับภารกิจฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ทรุดต่ำลงให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง

ต่อไปนี้ เป็นความรู้สึกของผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมทหารพรานที่ 22 จากภาคอีสาน ที่ถอดจากคำสัมภาษณ์ออกมานำเสนอคำต่อคำ

0 0 0

 “ที่ผ่านมาทหารทำผิดพลาดก็มี แต่ผมอยากให้มองไปที่ตัวบุคคลไม่ใช่เหมารวมไปทั้งหน่วยงาน คนหมู่มากอาจจะมีบางคนออกนอกลู่ไปบ้าง ผมอยากให้เข้าใจว่าผู้บังคับบัญชามีมาตรการป้องกันไม่ให้ทหารทำผิดวินัยอย่างเข้มงวด เราไม่ได้ปกป้องคนผิดไม่ให้ถูกทำโทษ เพราะจะทำให้คนในพื้นที่สูญเสียความเชื่อมั่นในการปฏิบัติภารกิจ ภาพพจน์ของทหารพรานจึงเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นและอยากพึ่งพา

ก่อนหน้านี้ ทหารพรานถูกมองว่าไม่มีวินัย ผู้บัญชาทหารบกจึงกำชับทหารพรานชุดใหม่ ที่ลงมาแทนทหารหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วินัยต้องดีกว่าเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใหม่ สนองแนวคิด ‘สุภาพบุรุษทหารพราน’

สำหรับกรมทหารพราน 22 สังกัดกองทัพภาคที่ 2 ถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม2554 ทยอยลงมาปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือนตุลาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน อันนี้เป็นผลมาจากนโยบายกองทัพบก ที่ต้องการนำทหารหลักออกจากพื้นที่ แล้วส่งทหารพรานมาปฏิบัติภารกิจหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้แทน มีการฝึกอาสาสมัครทหารพรานชุดใหม่ ส่งลงมาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากอาสาสมัครทหารพรานที่มาจากกรมนี้มาจากภาคอีสานทั้งหมด จึงต้องอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ ต้องฝึกเข้มนานกว่า 8 เดือน มีการลงพื้นที่ร่วมกับทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เห็นการปฏิบัติการจริงนาน 3 เดือน ก่อนถูกส่งมาประจำฐานปฏิบัติภารกิจครั้งแรกที่ตำบลปุโละปุโย

กรมทหารพราน 22 ชุดนี้ มาจากการเปิดรับสมัครกำลังพลเข้ามาฝึกเป็นทหารพราน เมื่อเดือนเมษายน 2554 ปรากฏว่ามีพลทหารราบที่เคยมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบ 50 เปอร์เซนต์ของกำลังพลทั้งหมด อีกครึ่งหนึ่งเป็นอาสาสมัครจากภาคพลเรือน จากนักศึกษาวิชาทหารผ่านการฝึกกองอาสารักษาดินแดน (รด.) มาแล้ว และอีกส่วนหนึ่งมาจากพลเรือนที่ไม่เคยผ่านการฝึกวิชาทหารมาก่อน

ผมเชื่อมั่นว่า กองกำลังทหารพรานของหน่วยผม จะมีความเข้าใจใสภาพพื้นที่มากกว่า เนื่องจากมีพลทหารจากหน่วยทหารราบมาสมัครเป็นอาสาสมัครทหารพรานเกือบครึ่งหนึ่งของผู้เข้ามาสมัครทั้งหมด กำลังพลส่วนนี้มีความชำนาญ และเข้าใจสภาพปัญหาในพื้นที่ระดับหนึ่ง ผมจึงไม่กังวล แต่สำหรับอาสาสมัครที่ไม่มีประสบการณ์จะต้องผ่านการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาในพื้นที่อย่างเข้ม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ความเชื่อทางสังคมและศาสนาเป็นอย่างไร อาสาสมัครทหารพรานทุกคนต้องรู้ และตระหนักในส่วนนี้ เพื่อให้การเข้าหาชุมชนไม่มีปัญหา

การฝึกทหารทหารชุดใหม่ของกรมทหารพราน 22 พิเศษกว่าชุดเดิม เราเข้มงวดเรื่องระเบียบวินัยและการทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่า มีเงื่อนไขสำคัญอะไร ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ที่ผ่านมาเคยมีบทเรียนอะไรบ้าง ที่สามารถเอาชนะได้

ทหารต้องรู้จักให้เกียรติคนในท้องถิ่น ให้เกียรติผู้นำทางศาสนา ต้องเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีของพี่น้อง กำลังพลต้องเข้าใจว่า คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีความเคารพนับถือผู้นำท้องถิ่น ผู้รู้ทางศาสนาเป็นอย่างมาก วิถีของคนในพื้นที่มีผู้นำทางศาสนาดูแลอยู่แล้ว เราเป็นเพียงตัวเสริมในบางกรณีที่ชุมชนจัดการกันเองไม่ได้ เช่น อิทธิพลมืดบางอย่างที่ชุมชนไม่กล้าจัดการ ฉะนั้นทหารพรานใหม่ ต้องเข้าใจบทบาทตัวเองให้ดี เพื่อลดการกระทบกระทั่งกันในชุมชน

ส่วนการควบคุมอาสาสมัครทหารพราน ผู้บังคับบัญชาต้องสอดส่องวินัยของทหารพรานใหม่อย่างใกล้ชิด พบใครกระทำผิดวินัยแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ต้องรีบตักเตือนและแก้ไขทันที เป็นการป้องกันไม่ให้ติดเป็นนิสัย

ช่วงหลังทหารเครียดบ่อย เพราะถูกกดดันจากการปฏิบัติหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาต้องดูแลสภาพจิตใจควบคู่การควบคุมดูแลระเบียบวินัยของทหาร ด้วยการเพิ่มเวลาพักเป็น 15 วัน เนื่องจากทหารพรานส่วนใหญ่ที่เป็นพี่น้องที่มาจากภาคอีสาน เวลาพักส่วนใหญ่จะหมดกับไปกับเดินทาง จึงกำหนดช่วงเวลากลับบ้านที่ชัดเจน โดยเพิ่มเวลาที่ทหารจะได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวมากขึ้น และยังมีการอบรมทางจริยธรรมแก่ทหารพรานใหม่ โดยเชิญพระอาจารย์จากอีสานมาให้พร และให้ความรู้ทางธรรมแก่ทหาร เพื่อช่วยปรับสภาพจิตใจด้วย

ส่วนการกระทำผิดผิดวินัยร้ายแรง ต้องยอมรับก่อนว่า ปัจจุบันการปิดกั้นข้อมูลข้อเท็จจริงทำได้ยาก ชาวบ้านรับรู้ข่าวสารเร็วมาก การปกป้องผู้กระทำผิดจึงทำกันไม่ได้ง่ายๆ ถ้าจะทำให้ชาวบ้านไว้วางใจ กระบวนการสอบสวนทหารที่ทำผิดวินัยต้องโปร่งใส การเอาผิดกับทหารพราน ซึ่งเป็นอาสาสมัครอัตราจ้าง กรณีทำผิดวินัยร้ายแรง หรือทำผิดต่อประชาชน ไม่ว่าจะปลดออก หรือดำเนินคดีก็ทำได้ง่ายกว่าทหารหลัก

ในส่วนของกรมทหารพรานที่ 22 ที่ลงมาปฏิบัติภารกิจแทนที่กรมทหารพรานที่ 43 มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ชุดคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล และอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานต่างๆ ลงไปเยียวยาชาวบ้าน

ผมทราบดีว่า ธรรมชาติของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความเคารพนับถือผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาและบุคคลที่ประชาชนเคารพนับถือ เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ก็ต้องให้เกียรติ เหมือนกับที่ชาวบ้านเคารพ

ถ้าชาวบ้านและผู้นำชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ การทำงานในพื้นที่ก็ลำบาก ทหารพรานใหม่จะถูกปลูกฝังเรื่องนี้ เพื่อให้การทำงานในพื้นที่ราบรื่นขึ้น

เหตุการณ์ที่ปุโละปูโย ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำให้ชาวบ้านและทหารพรานเผชิญหน้ากัน เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาตลอด บทเรียนที่ได้รับคือ ฝ่ายตรงกันข้ามจะนำไปขยายผลให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ และบางครั้งกำลังพลของทหารเอง ก็เข้าไปมีส่วนทำให้สถานการณ์ร้ายแรงขึ้น พลทหารจึงต้องรู้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ชาวบ้านย่อมไม่พอใจ เราต้องขอโทษและระมัดระวังตัว

อีกเรื่องที่สำคัญมากคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำชุมชนในพื้นที่ ที่มีความขุ่นเคืองใจกัน จำเป็นต้องมีตัวกลางในการเข้ามาไกล่เกลี่ย และเรื่องยาเสพติด

ที่ผ่านมา แนวร่วมของขบวนการที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของเราบางคน ถึงแม้จะมีรายชื่ออยู่ในบัญชี แต่ก่อนที่จะควบคุมตัว ต้องเข้าไปสอบถามกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาก่อนว่า มีผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีของฝ่ายรัฐ ให้เอาตัวมาพูดคุยและตกลงกันไม่ให้ก่อเหตุ บางคนไม่ได้ไปกระทำผิดมา ชุมชนจะทราบ ต้องใช้มาตรการทางสังคมก่อนที่จะใช้มาตรการทางกฎหมาย

สงครามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้เป็นการรบระหว่างประเทศ แต่เป็นการรบกับแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับรัฐเท่านั้นเอง สิ่งที่ต้องทำคือให้โอกาสพวกเขาได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แล้วกลับมาเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ

เหตุการณ์ 4 ศพ ที่ปุโลปุโยไม่ว่าข้อเท็จจริงใครผิดหรือถูก แต่เมื่อเป็นอย่างนี้ผมในฐานะผู้บังคับหน่วยทหารพรานเหมือนกัน เป็นข้าราชการเหมือนกัน ก็ต้องขอโทษ หน้าที่ของเราต้องดูแลรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เมื่อเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียขึ้นก็ต้องขออภัย ภารกิจต่อไปคือกอบกู้ความสัมพันธ์ให้กลับมาเหมือนเดิม

ในฐานะที่ทำหน้าที่ในพื้นที่ตอนนี้ ต้องทำให้กระบวนการเยียวยา กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดำเนินไปให้เร็วที่สุด ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายประชาชนและทหาร ให้กระบวนการการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างกระจ่างชัด และเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ติดตามความเคลื่อนไหวคดีนี้ สามารถร่วมตรวจสอบได้ด้วย เพื่อลดความคลางแคลงใจระหว่างประชาชนกับรัฐ

กรมทหารพรานที่ 22 ภายใต้การดูแลของผม จะทำทุกมิติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจระหว่างกัน และลดความระแวงต่อมทหารพรานให้หมดไป ต้องพูดคุยคลุกคลีกับชาวบ้านให้มากขึ้น ต้องลงพื้นที่บ่อยขึ้น เข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น ไปลาดตระเวน ไปตั้งฐานในพื้นที่ ก่อนจะลงพื้นที่ต้องแจ้งให้ผู้นำชุมชนรับทราบก่อนว่า เจ้าหน้าที่มีแผนงาน มีเป้าหมายอย่างนี้ ประชาชนจะได้รับรู้ว่าเราจะทำอะไรอย่างไร

ผมเชื่อว่า คนทำดีได้บุญ คนทำผิดได้บาป สิ่งที่ต้องทำคือ ทำอย่างไรให้คนที่คิดผิดหลงผิด เข้าใจได้ถูกต้องกับหลักการ ใช้ศาสนา ใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาร่วมช่วยดูแลปัญหานี้ด้วย

ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาปฏิบัติงานในพื้นที่ มีเรื่องกดดันและท้าทายอยู่เสมอ แต่ปัญหามีไว้ให้แก้ไข สิ่งที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรที่จะกอบกู้ความรู้สึกของชาวบ้านต่อทหารพราน ให้กลับมาดีเหมือนแต่ก่อน ทหารพรานลงมาทำงานในพื้นที่สร้างผลงานด้านดีเยอะ แต่ไม่ค่อยได้ออกสื่อ ส่วนใหญ่ทำงานเบื้องหลัง ข่าวด้านลบถูกหยิบยกบ่อย ยิ่งง่ายที่ประชาชนจะเข้าใจผิด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รณรงค์วันสตรีสากล ขว้างข้อเรียกร้องเข้าทำเนียบเสนอนายกฯ

Posted: 08 Mar 2012 07:31 AM PST

ยื่น 5 ข้อเสนอถึงนายกฯ ช่วยลูกจ้างน้ำท่วมโดยขยายสิทธิประกันสังคมว่างงานเป็น 10 เดือน-ลดเงื่อนไขกู้เงินประกันสังคม-เสนอกองทุนพัฒนาสตรีบริหารอย่างโปร่งใส ไม่พอใจสำนักเลขาฯ ไม่ส่งคนมารับหนังสือตามที่ตกลง มีมติส่งปาข้อเสนอเข้าไปในทำเนียบให้นายกฯแทน

 

เว็บไซต์วอยซ์เลเบอร์รายงานว่า วันนี้ (8 มี.ค.55) กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และเครือข่ายองค์กรผู้หญิง ประมาณ 1,500 คน ประกอบด้วย ผู้ใช้แรงงานหญิงจากภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มแรงงานทำงานบ้าน องค์กรสิทธิด้านเอดส์ เครือข่ายผู้หญิงลุ่มน้ำป่าสัก เครือข่ายผู้หญิงปกป้องสิทธิที่ดิน เครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นต้น ได้ร่วมกันเดินขบวนรณรงค์เนื่องในโอกาส วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2555 เพื่อรำลึกถึงการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคของสตรีทั่วโลก

ในปีนี้เครือข่ายองค์กรผู้หญิงได้ทำคำประกาศเจตนารมณ์ “ผู้หญิงทำงาน สู้เพื่อคุณภาพชีวิตทียั่งยืนของทุกคน” แถลงต่อนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ทุกวันนี้ผู้หญิงมีบทบาทสร้างสรรค์สังคมให้พัฒนาก้าวหน้า แต่ชีวิตจริงของผู้หญิงทำงานส่วนใหญ่ทุกอาชีพยังไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในระบบสามแปด เพราะค่าตอบแทนการทำงานที่ไม่เป็นธรรม สวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานไม่เพียงพอ ขาดโอกาสในการร่วมตัดสินใจกำหนดนโยบายทุกระดับ

โดยข้อเสนอต่อรัฐบาล 5 ข้อ ประกอบด้วย รัฐบาลต้องมีนโยบายช่วยแรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบด้านต่างๆจากวิกฤตน้ำท่วม ให้ขยายสิทธิประกันสังคมกรณีว่างงานเป็น 10 เดือน และลดเงื่อนไขให้ลูกจ้างกู้ยืมเงินกองทุนประกันสังคมได้ง่ายขึ้น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติต้องบริหารแบบกระจายอำนาจ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงทุกกลุ่มเข้าถึงกองทุนได้ และต้องมีตัวแทนจากองค์กรแรงงานหญิงเข้าร่วม รัฐบาลต้องจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมต่างๆให้เพียงพอ รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ไอ แอล โอ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการปกป้องสิทธิการเป็นมารดา รัฐบาลต้องยกเลิกนบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพราะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานแรงงานหญิงในองค์กร และ เรียกร้องให้มีการกำหนดสัดส่วนหญิงชายในคณะกรรมการไตรภาคีด้านแรงงาน มีการบูรณาการปัญหาและความต้องการที่แตกต่างของหญิงชายในการกำหนดนโยบาย

ทั้งนี้ ทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือแจ้งล่วงหน้ามาว่าจะมอบหมายให้ นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ เป็นผู้มารับหนังสือ แต่ในที่สุดก็ไม่มีผู้ใดที่ฝ่ายเครือข่ายองค์กรผู้หญิงยอมรับออกมารับหนังสือ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับเครือข่ายองค์กรผู้หญิงเป็นอย่างมาก และได้มีการแถลงโดยตัวแทนของกลุ่มสตรีที่มาร่วมชุมนุม ประนามนายกรัฐมนตรีหญิงว่าไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของแรงงานหญิงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนจน แต่กลับมีเวลามากมายในการเดินสายเพื่อนโยบายฟื้นฟูและเยียวฝ่ายนายทุนผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ในที่สุดจึงมีมติให้ผู้หญิงที่มาร่วมชุมนุมและมีป้ายเรียกร้องทุกคน โยนและขว้างปาป้ายข้อเรียกร้องเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บไปส่งให้นายกฯพิจารณา และจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามการแก้ปัญหาให้กับผู้หญิงที่ประสบความเดือดร้อนในกรณีต่างๆ ต่อไป

 

 

 

 


ที่มา:
8 มีนาเดือด! ขว้างข้อเรียกร้องเข้าทำเนียบเสนอนายก “ปู”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อุปสรรคที่แท้จริงในการรณรงค์แก้ '112'

Posted: 08 Mar 2012 07:15 AM PST

ข้อเสนอถึง ครก.112 เมื่อไม่สามารถ (หรือยังไม่ได้) ขับเน้นความเชื่อมโยงปัญหา 112 ให้เข้ากับชีวิตของคนทั่ว ๆ ไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมจึงมีคนจำนวนไม่มากนักที่สนใจกับเรื่องนี้

อย่างที่ทราบกันว่า ในห้วงนี้มีคนใหญ่คนโตจำนวนมากในบ้านเมืองออกมาคัดค้านการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเสนอแก้โดยนิติราษฎร์ รณรงค์ข้อเสนอโดยครก.112

เมื่อบรรดาผู้คัดค้านทั้งคนใหญ่คนโตและประชาชนทั่วไป ไม่สามารถแสดงเหตุผลคัดค้าน “ตัวข้อเสนอ” ในการแก้ของนิติราษฎร์อย่างเป็นระบบหรือแจกแจงออกมาเป็นข้อ ๆ ได้ ดังนั้นข้อเสนอของนิติราษฎร์จึงควรได้รับการยอมรับจากวงกว้างสิ....แต่ดูเหมือนว่าความจริงจะไม่ได้ให้คำตอบเช่นนั้น

การที่สังคมไทยไม่ขานรับข้อเสนอแก้ 112 ของนิติราษฎร์นั้น ผมรับฟังจากคนรู้จักหลายคนช่วยกันให้เหตุผล โดยมากแล้วก็วิพากษ์ชี้โทษไปที่การ “ไม่ตื่นรู้เรื่องเสรีภาพ” ของสังคมไทย

ผมมานั่งนึก ๆ ดู เราจะบอกว่าสังคมที่ผ่านเหตุการณ์ปี 35 ไม่ตื่นรู้เรื่องเสรีภาพอย่างนั้นหรือ ก็คงพูดไม่ได้เต็มปาก ปัญหาก็คือ บางเรื่องคนในสังคมก็ดูจะห่วงหวงเรื่องเสรีภาพ แต่บางเรื่องก็ดูจะวางเฉยไม่สนใจ

ผมคิดว่าเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพที่คนจำนวนมากวางเฉยไม่สนใจนั้น มักเป็นเรื่องที่ไม่อาจเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้ พูดอีกแบบก็คือ เสรีภาพเฉยๆ นั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้คนสนใจ ต้องเป็นเสรีภาพที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นได้ว่ามันส่งผลต่อทุกข์สุขต่อชีวิตของคนในสังคมอย่างไรด้วย

เดี๋ยวก่อน ผมไม่ได้หมายความว่าเรื่อง 112 นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรือทุกข์สุขของคนจำนวนมาก คนเลยไม่สนใจ แต่ผมหมายความว่า ณ ตอนนี้ฝ่ายรณรงค์ยังไม่ได้ขับเน้นว่า 112 นั้นมันเชื่อมโยงกับทุกข์สุขของคนจำนวนมากแค่ไหนอย่างไร...

ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าฝ่ายรณรงค์ ขับเน้นไปที่เหตุผลและความถูกต้องในหลักการประชาธิปไตยเป็นด้านหลัก ซึ่งผมเห็นว่าไม่เพียงพอ ฝ่ายรณรงค์ต้องเชื่อมโยงและตอบคำถามให้ได้ว่า แก้ 112 หรือทำให้มันถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตยแล้ว คนในโรงงานทอผ้า เกษตรกรชาวไร่อ้อย หรือมนุษย์เงินเดือนย่านอโศกจะมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร....

มันอาจจะฟังดูไร้สาระ คุณอาจจะบอกว่าจะบ้าเหรอ ลำพัง 112 ซึ่งขัดแย้งกับประชาธิปไตยก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่จะแก้ไขมัน แต่ผมกลับคิดว่า เรื่องเสรีภาพในเชิงหลักการอย่างเดียว เสรีภาพที่เป็นอุดมคติที่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตผู้คนจำนวนมากได้ คนที่สนใจย่อมเป็นคนที่เดือดร้อนในระดับอุดมคติเท่านั้น (แน่นอนคนที่เดือดร้อนในระดับกายภาพ เช่น ติดคุกก็มี แต่ก็ไม่ใช่คนจำนวนมากพออย่างมีนัยสำคัญต่อการรณรงค์)

เมื่อไม่สามารถ (หรือยังไม่ได้) ขับเน้นความเชื่อมโยงปัญหา 112 ให้เข้ากับชีวิตของคนทั่ว ๆ ไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมจึงมีคนจำนวนไม่มากนักที่สนใจกับเรื่องนี้

ผมคิดว่าทางคณะรณรงค์นั้นมีบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก หวังว่าท่านทั้งหลายจะเริ่มขับเน้นในประเด็นนี้เพื่อประโยชน์แก่การรณรงค์ต่อไป

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จำคุก 3 เดือน-ให้ประกัน ฝาแฝดทำร้าย‘วรเจตน์’

Posted: 08 Mar 2012 04:06 AM PST

 

8 มี.ค.55 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิต ถ.ตลิ่งชัน พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้นำตัวสุพจน์ ศิลารัตน์ และ นายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ ทั้งสอง อายุ 30 ปี ซึ่งเป็นฝาแฝดพี่น้อง ชาว จ.ปทุมธานี ผู้ต้องหาคดีทำร้ายร่างกายผู้อื่น มารายงานตัวกับพนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวงดุสิต หลังจากนั้นพนักงานอัยการได้นำทั้งสองไปยื่นฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 - 2 ต่อศาลแขวงดุสิตในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ เป็นอันตรายแก่กาย
       
อัยการระบุในคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 55 เวลากลางคืน จำเลยทั้งสองได้ไปดักรอ และรุมชกทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 บริเวณโหนกแก้มขวา และหน้าผากได้รับบาดเจ็บก่อนหลบหนีไป เหตุเกิดบริเวณลานจอดรถหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ อัยการโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 และให้นับโทษต่อนายสุพจน์ จำเลยที่ 1 ในคดีแดง 1336/53 ของศาลอาญา ในคดีกระทำผิด พ.ร.บ. อาวุธปืน ที่ศาลรอการลงโทษไว้จำนวน 7 เดือนด้วย จำเลยรับสารภาพ
       
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 6 เดือน คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยไว้คนละ 3 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งในส่วนของนายสุพจน์ จำเลยที่ 1 ให้บวกโทษคดีกระทำผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน คดีแดง 1336/53 ของศาลอาญาที่รอการลงโทษไว้ 7 เดือน รวมจำคุกนายสุพจน์ไว้ 10 เดือน
       
ต่อมาญาติของทั้งสองได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 50,000 บาท ขอปล่อยชั่วคราว ต่อมาศาลพิจารณาคำร้องยื่นประกันตัวแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสอง ชั่วคราว ระหว่างอุทธรณ์สู้คดี โดยศาลตีราคาประกันเป็นเงินสดคนละ 22,000 บาท

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ ASTV-ผู้จัดการ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "แด่สตรีไทย..สู่สากล"

Posted: 08 Mar 2012 03:28 AM PST

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "แด่สตรีไทย..สู่สากล"

สตรีในตำแหน่งผู้บริหารมีจำนวนลดลงทั่วเอเชีย

Posted: 08 Mar 2012 03:20 AM PST

รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ธอร์ตัน ระบุว่า ประเทศไทยมีสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารกว่า 1 ใน 3 (39%) ลดลงจากปีก่อนซึ่งมี 45%

เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคมของทุกปี มีการนำเสนอรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ธอร์ตัน ฉบับล่าสุด หรือ The Grant Thornton International Business Report (IBR) ระบุว่า ประเทศไทยมีสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารกว่า 1 ใน 3 (39%) ส่วนภาพรวมทั่วโลกพบว่า ในยุโรปมีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารเพิ่มขึ้นสูงสุด แต่ละตินอเมริกามีน้อยลง ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 21% ซึ่งแทบไม่แตกต่างกับเมื่อปี 2004

รายงานระบุว่า เมื่อปี 2011 ประเทศไทยมีสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลก โดยอยู่ที่ 45% อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจของปีนี้บ่งชี้ว่าประเทศไทยเป็นรองรัสเซีย (46%) แต่ยังอยู่ในอันดับที่สอง เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์และบอตสวานา (39% ทั้งสองประเทศ)

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบทั่วโลก พบว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารลดลงโดยรวม กล่าวคือ 22% ในละตินอเมริกา ซึ่งลดลงจาก 28% เมื่อปี 2009 และมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (จาก 25% เมื่อปี 2009 เป็น 19% ในปี 2012) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (36% เมื่อปี 2009 เป็น 32% ในปี 2012) และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจ BRIC (30% เมื่อปี 2009 เป็น 26% ในปี 2012)

รายงานระบุด้วยว่า แม้ว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราส่วนของสตรีในตำแหน่งผู้บริหารในยุโรปยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ จาก 17% เมื่อปี 2004 เป็น 20% เมื่อปี 2009 และเป็น 24% ในปี 2012 ซึ่งไล่ตามตัวเลขในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ พักหนึ่งแล้ว โดยเป็นแผนงานของรัฐบาลที่ได้รณรงค์เรื่องความไม่สมดุลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจมีการนำไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และการที่มีอัตราของสตรีในตำแหน่งผู้บริหารที่สูงขึ้นนับเป็นนิมิตหมายที่แสดงว่าภาคธุรกิจเริ่มให้ความใส่ใจกับเรื่องนี้

“ส่วนการที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีจำนวนสตรีในตำแหน่งผู้บริหารลดลงนับว่าเป็นความน่ากังวลใจอย่างยิ่ง เพราะอาจหมายถึงว่าเรากำลังเข้าสู่จุดที่มีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารไม่เพียงพอในทั่วโลก” รายงานระบุ

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในไฟล์แนบ 

 

AttachmentSize
Women in Business232.09 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

"นิวส์วีค" ยก ยิ่งลักษณ์-จีรนุช 150 ผู้หญิง "เขย่าโลก"

Posted: 08 Mar 2012 02:35 AM PST

(8 มี.ค.55)  นิตยสาร Newsweek ร่วมกับเว็บ The Daily Beast จัดอันดับ 150 ผู้หญิงกล้าหาญของโลก (Fearless women) โดยในปีนี้ มีคนไทย 2 คน ได้แก่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ได้รับการคัดเลือกด้วย

"พวกเธอกำลังเริ่มต้นการปฏิวัติ เปิดโรงเรียน สนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่กล้าหาญ จากดีทรอยต์ถึงคาบูล ผู้หญิงเหล่านี้กำลังทำให้เสียงของพวกเธอถูกได้ยิน" นิตยสาร Newsweek ประกาศผ่านเว็บ The Daily Beast พร้อมระบุว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก มีทั้งผู้นำประเทศ ผู้นำครอบครัว ผู้ประท้วงในจัตุรัสกลางเมือง คนที่ถูกจัดว่านอกรีตในหมู่บ้านที่ห่างไกล

Newsweek เขียนถึงยิ่งลักษณ์ว่า เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จากแคมเปญขจัดความยากจนด้วยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ สร้างรถไฟความเร็วสูง และมอบคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนทุกคนฟรี โดยระบุด้วยว่า ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกขับไล่ออกไป ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน แต่เป็นผู้ที่ทำให้เกิดความหวังถึงความปรองดองในประเทศ ทั้งนี้ หนึ่งเดือนหลังเข้าสู่ตำแหน่ง ประเทศไทยประสบกับปัญหาน้ำท่วม เธอก็ได้เตรียมแผนการบรรเทาและมาตรการป้องกันระยะยาว

Newsweek เขียนถึงจีรนุชว่า เธอถูกจับกุมครั้งแรกจากสิ่งที่พวกเราหลายคนทำกันอยู่ทุกวัน อย่างการเขียนและการแชร์ข่าวออนไลน์ ผู้บริหาร "ประชาไท" เว็บข่าวภาษาไทย กลายมาเป็นนักต่อสู้ (crusader) เพื่อเสรีภาพสื่อซึ่งกำลังถูกเซ็นเซอร์มากขึ้นในไทย จีรนุชซึ่งได้รับรางวัล The Courage in Journalism Award (ความกล้าหาญในการทำหน้าที่สื่อมวลชน) จาก International Women Media Foundation (มูลนิธิสื่อสตรีนานาชาติ) กำลังเผชิญกับโทษจำคุก 20 ปี แต่ยังคงเน้นถึงความสำคัญของเสรีภาพและเสียงที่ค่อยไม่ได้รับความสำคัญในโลกออนไลน์

ทั้งนี้ ถึงแม้ Newsweek จะระบุว่า จีรนุช ถูกดำเนินคดีด้วยการเขียนและการแชร์ข้อเขียนออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ในข้อเท็จจริง จีรนุช ถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 15 ในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท ซึ่งมีผู้มาโพสต์ความเห็นที่ถูกตัดสินว่าเข้าข่ายละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา 52 รายอาทิ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เมอรีล สตรีป และแองเจลินา โจลี นักแสดงสหรัฐฯ เลดี้ กาก้า โอปราห์ วินฟรีย์ จิล อับรามสัน บรรณาธิการอำนวยการของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รวมถึง มารี โคลวิน ผู้สื่อข่าวสงครามซึ่งเสียชีวิตในซีเรีย เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีแองเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และอะเดล ศิลปินชาวอังกฤษ

ฟากเอเชีย มีอาทิ อิรอม ชาร์มีลา ชานุ นักเขียนและนักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวอินเดีย อองซานซูจี จากพม่า ปักกึนเฮ นักการเมืองเกาหลีใต้ ผู้ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนต่อไป

 

อ้างอิง: http://www.thedailybeast.com/features/150-women-who-shake-the-world.html

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขและเพิ่มเติมเนื้อหาเพื่อความถูกต้องตามคำท้วงติงของอ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อเวลา 21.15 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สู่วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ (3): K4DS.org อีกหนึ่งองค์ความรู้ปลายด้ามขวาน

Posted: 08 Mar 2012 02:01 AM PST

แนะนำโครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้ Knowledge for Deep South ในสายธารการสื่อสารกลางวิกฤติ

วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2  ปี 2555 ภายใต้ชื่องาน “เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง” Bargaining Power : Civil Networking and Synergy Meedia   ตามกำหนดการของวันที่ 12 มีนาคม 2555 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

เวลาประมาณ 10.30-12.00 น. ที่ห้องหลัก B 103 ชั้น 1  มีการเปิดตัวโครงการและเว็บไซต์ รวมทั้งระบบการค้นหาข้อมูลที่นำสมัย โดยโครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้ (K4DS)

ตามด้วยเวลาในช่วงบ่ายเวลา 15.30-17.30 น. ที่ห้องย่อย 2 (ห้องประชุมคณะ) ชั้น 3 โครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้ (K4DS) จะมีการประชุมระดมสมองภาคีเครือข่ายผู้ผลิตและผู้ใช้ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้

กิจกรรมทั้ง 2 ของโครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้ (K4DS) จึงถือว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก

สำหรับโครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้ Knowledge for Deep South (K4DS) มีเป้าหมายในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ต้องอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารเข้ากับแนวคิด ทฤษฎี ประสบการณ์ ภูมิปัญญา และการบูรณาการระหว่างองค์ความรู้เดิมในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ที่มีอยู่เข้าด้วยกัน

โครงการการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้ จึงได้พัฒนาระบบ K4DS ขึ้นโดยการรวบรวมข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จากแหล่งต่าง ๆ แล้วนำมาจัดการ เชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ง่าย สืบค้นได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และยังมุ่งผลิตและพัฒนาบุคลากร เป็นแกนในการประสานงานและสนับสนุนทางเทคนิควิชาการ เพื่อส่งเสริมการใช้ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เหล่านี้ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้

เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ง่าย สืบค้นได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ (Research Publication) วิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา (Thesis) งานวิชาการ โครงการ และนวัตกรรมด้านสุขภาพ (Project) บรรณนิทัศน์หนังสือ (Bibliography) และข่าว (News) โดย ดร.นพ.วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย หัวหน้าโครงการฯ

K4DS Search คือ เครื่องมือสำหรับการค้นหา (Search engine) ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ที่โครงการ K4DS ได้รวบรวมไว้บนเว็บไซต์ www.K4DS.org โดยผู้ใช้สามารถพิมพ์คำค้น (Keyword) หรือข้อความที่ต้องการจะค้นหา K4DS Search จะแสดงข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ที่เกี่ยวข้องกับ Keyword ที่ได้รวบรวมไว้ทั้งหมด

K4DS Search จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อนำไปสู่การสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่หรือสร้างองค์ความรู้ต่อยอดที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้

สำหรับโครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้ Knowledge for Deep South (K4DS) มีภาคีร่วม ประกอบด้วย สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หอสมุดวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) และศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีสหภาพยุโรป (EU) และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

www.K4DS.org จึงเป็นอีกหนึ่งฐานองค์ความรู้มุ่งเพื่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สู่วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ (2): ‘เฌอบูโด’ เมล็ดพันธุ์แห่งนักเขียน

Posted: 08 Mar 2012 01:52 AM PST

รู้จักค่ายนักเขียนน้อยชายแดนใต้ ภายในชื่อกลุ่มเยาวชน “เฌอบูโด” ผู้ผลิตวารสารเฉพาะกิจ “พลังสื่อทางเลือกชายแดนใต้”

 

วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2  ปี 2555 ภายใต้ชื่องาน “เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง” Bargaining Power : Civil Networking and Synergy Meedia   ถ้าดูตามกำหนดการของวันที่ 12 มีนาคม 2555 ที่ห้องหลัก B 103 ชั้น 1 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

เวลาประมาณ 16.30-17.30 น. สำนักหัวใจเดียวกันเปิดตัววารสารเฉพาะกิจ “พลังสื่อทางเลือกชายแดนใต้” ซึ่งเป็นผลงานจากค่ายนักเขียนน้อยชายแดนใต้ ภายในชื่อกลุ่มเยาวชน “เฌอบูโด” ถือว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

กลุ่มเยาวชน ‘เฌอบูโด’ เกิดจากสำนักหัวใจเดียวกัน ตั้งวงพูดคุยสรุปประเมินผลการดำเนินงาน การพิเคราะห์สถานการณ์โดยรวม และความห่วงใยบ้านเกิดจึงนำไปสู่แนวคิดร่วมมือจัดตั้งกลุ่มเยาวชนนาม ‘เฌอบูโด’ ภายใต้นิยาม “เมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน” เพื่อเป็นแกนกลางดำเนินกิจกรรมอย่างจริงจังต่อเนื่อง พร้อมร่วมมือกับองค์กรหรือเครือข่ายอื่นๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ ดำเนินภารกิจครอบคลุมทั้งด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ การกระตุ้นจิตสำนึกดีๆ เชิงสังคม ฯลฯ

โดยภารกิจแรกที่เริ่มเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนมีบทบาทสำคัญร่วมคิด ลงมือดำเนินงาน และบริหารจัดการทั้งระบบ คืองาน ‘ปัตตานียิ้ม’ ซึ่งประสบผลสำเร็จลงด้วยดี มีกลุ่มเยาวชนทั้ง 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส มาช่วยกันเป็นทีม ประกอบด้วย นายอับดุลรอมัน สะนิ นายนิรุสมัน อาแว นายอัสฮา แวดอเลาะ นายมูหมัดซอเร่ เด็ง นายดีรีมาน ยิตอซอ นายรุสลัน เวาะหะ นางสาวกรรนิกา ยะซิง นายเพาซี ยะซิง นางสาวรอฮานะ สิเดะ นายอาหมัด ตันหยงวารี

เป็นการจุดประกายและฝึกทักษะการอ่าน การเขียน การเก็บข้อมูล และการถ่ายภาพ ให้เยาวชนชายแดนใต้ ที่สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทั้งเชิงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมให้เยาวชนเกิดจิตสำนึกและภูมิใจในถิ่นเกิด ก่อเกิดสัมพันธภาพอันดีระหว่างคนต่างศาสนาและต่างถิ่นในฐานะผู้ร่วมอาศัยบนผืนแผ่นดินเดียวกัน

‘สำนักหัวใจเดียวกัน’ เริ่มก่อตั้ง นายชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ร่วมกับพรรคพวกเพื่อนฝูง ผู้หลักผู้ใหญ่ ทั้งในและนอกพื้นที่ ‘ชายแดนใต้’ ครอบคลุมทั้งผู้คนในแวดวงนักคิด นักเขียน นักกิจกรรม ศิลปิน สื่อมวลชน ฯลฯ จำนวนหนึ่ง รวมกว่า 20 ชีวิต มีเป้าหมายเพื่อลงมือสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ เชิงสังคม โดยมีภารกิจสำคัญเฉพาะหน้า คือการดำเนินโครงการและกิจกรรมทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อเป็นหนึ่งในองคาพยพที่จะร่วมคลี่คลายปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้ ผ่านการมี 'ส่วนร่วม' ของประชาชนโดยแท้จริง

กิจกรรมที่กลุ่มเฌอบูโดจะดำเนินการต่อไปนั้นครอบคลุมทั้งการสานต่อ ‘นิตยสารหัวใจเดียวกัน’ ของสำนักหัวใจเดียวกัน รวมถึงการจัดทำค่ายนักเขียนน้อยชายแดนใต้ จัดเวทีประชุมเสวนา การผลิตสื่อประเภทต่างๆ และรวมถึงการริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ เช่น การดำเนินกิจกรรมปลุกจิตสำนึกเชิงบวกของผู้คน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“เราหวังว่าการก่อกำเนิดของกลุ่มเยาวชน ‘เฌอบูโด’ จะเป็นประกายแห่งความรักและหวัง ที่ฉายโชนให้ผู้คนได้เล็งเห็นถึงพลังความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมา ทำกิจกรรมดีๆ เพื่อบ้านเกิด สังคม และประเทศชาติ เฉกเช่นนิยามของกลุ่มที่ว่า พวกเราเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์เล็กๆ จากเทือกเขาบูโด ที่พร้อมจะเติบโตหยั่งรากระบัดใบ แผ่ร่มเงาปกคลุมเพื่อบรรณาการความชุ่มชื่นฉ่ำเย็นแก่ผืนแผ่นดินอันเป็นที่ รักยิ่งต่อไป...”

เป็นความหวังของนายชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ในนามของผู้จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แฮ็กเกอร์โจมตีเว็บ ตอบโต้การจับกุมตัวผู้นำ Lulzsec

Posted: 08 Mar 2012 01:23 AM PST

กลุ่มแฮ็กเกอร์ที่เรียกตัวเองว่า Antisec โจมตีแพนด้าแล็บเว็บขายผลิตภัณฑ์ต้านมัลแวร์ เขียนข้อความแสดงการสนับสนุน Lulzsec  หลังจากที่เอฟบีไอจับกุมตัวผู้นำกลุ่มนี้ อ้างบริษัทของแพนด้าแล็บให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

กลุ่มแฮ็กเกอร์ที่เรียกตัวเองว่า Antisec ได้โจมตีเว็บไซต์ของแพนด้าแล็บ (Panda Labs) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่อต้านมัลแวร์ เพื่อเป็นการตอบโต้การจับกุมตัวแฮ็กเกอร์กลุ่ม Lulzsec

หน้าแรกของเว็บเพจของแพนด้าแล็บถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นข้อความว่า "ด้วยรักแด่ Lulzsec / เพื่อนผู้พ่ายของ Antisec" ("Love to Lulzsec/Antisec fallen friends") ทางกลุ่มแฮ็กเกอร์ได้กล่าวหาว่าบริษัทของแพนด้าแล็บได้ให้การช่วยเหลือตำรวจในการจับกุมแฮ็กเกอร์รายอื่นๆ ตั้งแต่เดือน ก.พ. ทีผ่านมา แต่ทางบริษัทก็ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา
 
โดยกลุ่ม Lulzsec และแฮ็กเกอร์ที่มีส่วนร่วมใน "ปฏิบัติการ Antisec" ต่างก็ระบุว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มใหญ่ที่ชื่อ Anonymous หรือ 'นิรนาม'
 
บริษัทแม่ของแพนด้าแล็บ คือแพนด้าซีเคียวริตี้เปิดเผยว่าพวกเขากำลังสืบสวนเรื่องการเจาะระบบในครั้งนี้ ขณะเดียวกันก็กล่าวให้ความมั่นใจแก่ลูกค้าของพวกเขาว่าไม่มีข้อมูลใดๆ ของลูกค้ารั่วไหลออกไปแน่นอน
 
ทางบริษัทแม่เปิดเผยอีกว่า เซอร์เวอร์นอกที่มีข้อมูลบางส่วนของแพนด้าแล็บอยู่ก็เป็นเป้าถูกโจมตีด้วย ซึ่งในขณะนี้ผู้เข้าเยือนเว็บไซต์จะไม่เห็นข้อความที่แฮ็กเกอร์โพสท์ไว้แล้ว
 
 
แฮ็กเกอร์อ้างบริษัทแพนด้าฯ ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
ข้อความของแฮ็กเกอร์อ้างว่า "Pandasecurity.com ได้เงินจากการทำงานร่วมกับกลุ่มเจ้าหน้าที่บังคับกฏหมายในการแทรกซึมและให้เบาะแสเรื่องนักกิจกรรมกลุ่ม Anonymous พวกเขาทำให้ชาว Anonymous 25 รายจากประเทศต่างๆ ถูกจับกุมตัว แล้วพวกเขายังได้แทรกซึมเข้ามาในช่องทางไออาร์ซี (การพูดคุยทางอินเตอร์เน็ต) ของพวกเราเพื่อพยายามสืบข้อมูลส่วนตัวของหลายๆ คน"
 
ทางกลุ่มแฮ็กเกอร์ยังอ้างอีกว่า มีการใช้บริการของบริษัทในการโจมตีนักกิจกรรมที่รณรงค์ต่อต้าน "ความไม่เป็นธรรม" ที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการแฮ็กด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ลูอิส คอร์รอนส์ ผู้อำนวยการด้านเทคนิคของแพนด้าซิเคียวริตี้กล่าวต่อบีบีซีว่า ทางบริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมแฮ็กเกอร์ในสเปน, อาเจนตินา, ชิลี และโคลัมเบีย เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
 
"ถ้าหากผมมีโอกาส ผมก็อยากให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับกฏหมายในการจับคนกลุ่มนี้เหมือนกัน แต่ในกรณีนี้พวกเราไม่ได้ทำ" ลูอิส กล่าว
 
"พวกเราไม่ได้มีปัญหากับการทำกิจกรรมรณรงค์ มันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร มันอาจจะเป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อสังคม แต่ปัญหาหลักๆ ของกลุ่ม Anonymous สำหรับผทคือการกระทำของพวกเขา"
 
"ถ้าหากพวกคุณทำสิ่งที่ผิดกฏหมาย เช่นการขโมยข้อมูล นั่นถือเป็นอาชญากรรม และพวกเราก็พร้อมเสมอในการให้ความช่วยเหลือผู้บังคับกฏหมายในการหยุดยั้งอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต" ลูอิส กล่าว
 
 
การตั้งข้อกล่าวของเอฟบีไอ
ลูอิสเชื่อว่าที่บริษัทของเขาถูกโจมตีน่าจะเป็นเพราะว่าเขาเขียนในบล็อกพูดถึงการจับกุมแฮ็กเกอร์ครั้งล่าสุดว่าเป็น "ข่าวดี" ความเห็นของเขาถูกนำมาอ้างในข้อความที่โพสท์ลงบนหน้าเว็บไซต์ที่ถูกแฮ็ก พร้อมเสริมลงไปว่า "Lol เขาถามหา Lulz" ("Lol he asked for the Lulz!!!" --- ทั้ง Lol และ Lulz เป็นการแสดงการหัวเราะทางอินเตอร์เน็ต แต่ Lulz จะใช้หัวเราะในเรื่องร้ายๆ หรือหัวเราะเยาะความทุกข์ของผู้อื่น --- ข้อมูลจาก ohinternet.com)
 
เจ้าหน้าที่ทางการเปิดเผยว่าการจับกุมแฮ็กเกอร์เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่มีการระบุตัวและตั้งข้อกล่าวหากับแกนนำสำคัญของกลุ่ม Anonymous ทางเอฟบีไอเปิดเผยว่า มีอยู่ 6 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา โดยมีสองคนมาจากอังกฤษ และอีกสองคนมาจากไอร์แลนด์
 
ทางด้านตำรวจของอังกฤษก็ได้ตั้งข้อหากับชายอายุ 17 จากเซาธ์ลอนดอนในคดีอาชญากรรมการแฮ็ก แต่ก็บอกว่าการดำเนินคดีในชั้นศาลของพวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจับกุมที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ แต่อย่างใด
 
 
แฮ็กเกอร์ประณาม "Sabu" ขายเพื่อน
มีการเปิดเผยรายงานในศาลเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ว่า เฮกเตอร์ ซาเวียร์ มอนซีเกอ หรือที่รู้จักกันในนาม 'Sabu' ยอมรับสารภาพผิดจากความผิด 12 ข้อหาในเดือน ส.ค. ปีที่ผ่านมา (2011) ทางเอฟบีไอระบุว่าเขาถูกตัดสินลงโทษจำคุกรวมกันแล้วมากกว่า 124 ปี
 
รายงานศาลระบุว่าเขามีส่วนในการโจมตีเว็บ Visa, PayPal และคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลตูนีเซีย, อัลจีเรีย, เยเมน และประเทศอื่นๆ เขาถูกปล่อยตัวหลังจากจ่ายเงินประกันตัว 50,000 ดอลลาร์ (ราว 1,500,000 บาท)
 
โดยก่อนหน้านี้เฮกเตอร์ ได้ให้ความร่วมมือกับตัรวจในการระบุตัวผู้นำตัวจริงของกลุ่ม Lulzsec ด้วย
 
ผู้ที่โจมตีเว็บแพนด้าแล็บวิจารณ์การกระทำของเฮกเตอร์ว่า "มันน่าเศร้า พวกเราไม่อาจจินตนาการได้เลยว่า พวกเราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้มองกระจกทุกเช้าแล้วเห็นใบหน้าของคนที่ขายเพื่อนตัวเองให้กับตำรวจ"
 
รายงานศาลยังได้เปิดเผยอีกว่า มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มแฮ็กเกอร์จะสามารถเจาะเข้าไปดูข้อมูลการพูดคุยระหว่างบุคคลของเอฟบีไอกับเจ้าหน้าที่สก็อตแลนด์ยาร์ดเมื่อเดือน ม.ค. ทีผ่านมาได้
 
หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคือ ดอนช่า โอ'เซียร์ไปล ค้นพบวิธีเข้าไปดูข้อมูลการสนทนาโดยการเจาะบัญชีอีเมลล์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไอร์แลนด์ 
 
 
 
 
ที่มา
Hackers attack Panda Labs site after Anonymous arrests, BBC, 07-03-2012
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติมคำว่า Lulz
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ ม.112 ประจำสัปดาห์ 1-7 มี.ค. 2555

Posted: 07 Mar 2012 10:41 PM PST

"เฉลิม" ไม่ห้ามบุคคลที่จะเคลื่อนไหว ตำรวจไม่ทำรุนแรงเด็ดขาด

1 มี.ค. 55 - เว็บไซต์ข่าวสดรายว่าเมื่อเวลา 09.45 น.ที่รัฐสภา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ ว่า เมื่อคืนตนอยู่กับตำรวจจนดึกและรู้ตัวคนทำร้ายว่าเป็นฝาแฝด 2 คน อยู่ที่จ.ปทุมธานี คาดว่าอีกไม่นานคงได้ตัว ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบว่ามาจากอะไรเพราะยังไม่ได้ตัวคนร้าย 

เมื่อถามว่าเกี่ยวข้องกับการการเคลื่อนไหวกับข้อเสนอแก้ไข มาตรา 112 ของกลุ่มนิติราษฎร์หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่แน่ใจเพราะยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหา ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตนไม่ห้ามบุคคลที่จะเคลื่อนไหวเพราะนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ดูแลม็อบ เชิญได้ตามสบาย ใครจะประท้วงและแสดงความคิดเห็นใดๆ ขอให้คำนึงถึงกรอบกฎหมาย และรับรองได้ว่าจะไม่มีบาดเจ็บล้มล้มตาย เพราะในระบอบประชาธิปไตยการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิ และบอกตำรวจทุกคนว่าอย่าไปใช้ความรุนแรงโดยเด็ดขาด ใครมาชุมนุมต้องดูแลความปลอดภัยและระวังเรื่องมือที่สาม

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า บ้านเมืองเดินทางไกลแล้ว ปิดอะไรไม่มิดหรอก และในวันที่ 12 มี.ค.นี้ ศาลก็จะไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีผู้เสียชีวิตที่คาดว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ในเหตุการณ์ชุมนุมเดือนเม.ย.พ.ค.53 ใน 4 สำนวนแรก 

เมื่อถามว่าแสดงว่ามั่นใจว่าสถานการณ์ยังสงบและควบคุมได้แม้จะมีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายว่าการเมืองอาจรุนแรงในช่วงปลายปีร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่าตนไม่ได้มองว่ารุนแรงเพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะใช้ความรุนแรงไม่ได้เด็ดขาดและตนก็ไม่ยอม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรหรือเสื้อหลากสี ยืนยันว่าสถานการร์เรียบร้อย เป็นห่วงเรื่องเกษตรกรที่จากสินค้าไม่ได้ราคาอย่างเดียว ซึ่งนายกฯสั่งการให้ไปดูแลเรื่องนี้ ตนทำงานแต่ไม่พูดและเรื้องนี้เขาไม่พูดกัน  

(ข่าวสด, 1-3-2555)

 

ผู้ต้องหาคดีทำร้าย "วรเจตน์" ขอเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ 

1 มี.ค. 55 - ความคืบหน้าของคดีทำร้ายร่างกาย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ล่าสุด พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ผู้ต้องหาที่ตำรวจได้ภาพจากกล้องวงจรปิด ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประสานขอเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผู้ต้องหา 2 คน มาให้ปากคำที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ผู้ต้องหาซึ่งเป็นฝาแฝด ระบุชื่อ นายสุพจน์ และ นายสุพัฒน์ รับสารภาพว่า ทำเพราะโกรธแค้นส่วนตัว จากประเด็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ในการเสนอความเห็นมาตรา 112 แต่ปฏิเสธไม่เคยเข้าร่วมกับกลุ่มคัดค้านที่เผาหุ่นก่อนหน้านี้

(สำนักข่าวไทย, 1-3-2555)

 

ปล่อยตัวชั่วคราวคู่แฝดมือชก"วรเจตน์"

1 มี.ค. 55 - พ.ต.ท.ณฐกร คุ้มทรัพย์ รอง ผกก.สส. สน.ชนะสงคราม เปิดเผยหลังนำตัว นายสุพจน์ ศิลารัตนายุ 30 ปี และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ อายุ 30 ปี ผู้ต้องหาฝาแฝด มาทำการสอบปากคำเพิ่มเติมที่ สน.ชนะสงคราม ว่าแจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยไตร่ตรองไว้ก่อน  รวมทั้งพิมพ์ลายนิ้วมือและทำการลงบันทึกประวัติไว้เป็นหลักฐาน  แต่เนื่องจากผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่ต้องถูกควบคุมตัวไว้ โดยหลังจากนี้ก็จะปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องหากลับไป  อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่สามารถส่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้เพราะจะต้องรอผลตรวจรับรองอาการบาดเจ็บของผู้เสียหายจากแพทย์เสียก่อน จากนั้นก็จะนัดและนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 ส่งฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตดำเนินคดีต่อไป

(มติชนออนไลน์, 1-3-2555)

 

อธิการบดีมธ. เชื่อต่อย'วรเจตน์' ไม่ลามถึงขั้นต้องห้ามใช้สถานที่

1 มี.ค. 55 -  ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ โดยยอมรับว่า ต้องมีการสั่งการให้เพิ่มมาตรการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่มหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งขั้นตอนการตรวจแลกบัตรจะต้องซักถามบุคคลที่จะเข้ามาในมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้นว่าจะเข้ามาทำอะไร รวมทั้งประสานงานกับตำรวจในพื้นที่ให้ดูแลความปลอดภัยในพื้นที่มหาวิทยาลัยเข้มงวดมากขึ้นด้วย หลังเกิดเหตุชายลึกลับ 2 คน ดักทำร้ายร่างกายด้วยการชกเข้าที่แก้มขวาของ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. แกนนำกลุ่มคณาจารย์นิติราษฎร์ ที่บริเวณลานจอดรถภายในมหาวิทยาลัย แล้วขึ้นรถจักรยานยนต์หลบหนีไปอย่างลอยนวล เมื่อวานที่ผ่านมา  

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเปิด การดูแลอาจทำได้ยากกว่าปกติ ทั้งนี้ คงต้องรอฝ่ายที่รับผิดชอบเสนอมาตรการป้องกันขึ้นมาให้พิจารณาอีกครั้ง ขณะที่หลังเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นแล้ว ยืนยันว่า ทาง มธ. จะยังไม่มีการทบทวนมาตรการห้ามใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยจัดเสวนาทางวิชาการแต่อย่างใด ยังคงเป็นไปตามเดิม แต่ยอมรับว่าคงต้องมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งคงต้องระมัดระวังในการจัดงานเสวนาให้มากขึ้น 

ขณะที่การรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยที่ผ่านมาเห็นว่า ก็มีมาตรการที่ใช้การได้ พิสูจน์จากกล้องวงจรปิดที่ถ่ายภาพคนร้ายเป็นหลักฐานไว้ได้ เพียงแต่ไม่สามารถจับภาพทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่คนร้ายใช้หลบหนีได้เท่านั้น ขณะเดียวกัน คงจะไม่มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย เพราะเชื่อว่าที่มีอยู่เดิมก็เพียงพออยู่แล้่ว และส่วนตัวก็เชื่อว่า นายวรเจตน์เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ไม่มีศัตรูส่วนตัวที่ไหน เหตุที่ถูกลอบทำร้ายน่าจะมาจากเรื่องการเมือง คือการรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น

(ไทยรัฐออนไลน์, 1-3-2555)

 

กลุ่มนิติราษฏร์-เสื้อแดงแห่นำดอกไม้ให้กำลังใจ"วรเจตน์" หลังถูกทำร้ายร่างกาย

1 มี.ค. 55 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนิติราษฏร์และกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางนำดอกไม้มาให้กำลังใจนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์  อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ หลังจากโดนทำร้ายร่างกาย โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติศาสตร์ ออกมารับแทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม

(มติชนออนไลน์, 1-3-2555)

 

'นิติฯมธ.'ประณามเหตุ'วรเจตน์'ถูกชก

1 มี.ค. 55 -  เมื่อเวลา 10.00 น. นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เรียกประชุมเลขานุการทุกคณะ และผู้เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัย โดยนายอุดมให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มการประชุม ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ กล้องวงจรปิดของมหาวิทยาลัย จับภาพรถคนร้ายที่วิ่งเข้าออกได้ ขณะที่กล้องวงจรปิดของคณะนิติศาสตร์สามารถจับภาพคนร้ายช่วงที่มานั่งรอได้ ทำให้พอจะประมวลได้ว่าคนร้ายเป็นใคร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสามารถหาตัวผู้ต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว

นายอุดม กล่าวต่อว่า กล้องวงจรปิดภายในมหาวิทยาลัย สามารถเก็บภาพหลักๆ ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะบริเวณประตูเข้าออก แต่พื้นที่ที่อยู่ไกลออกไปอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง มหาวิทยาลัยจึงพยายามสำรวจเพิ่มเติมว่า มีพื้นที่ใดบ้างที่ล่อแหลม เนื่องจากขณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะอาจารย์คณะนิติศาสตร์เท่านั้น ที่ไปเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งทางความคิด แต่ยังมีอาจารย์คณะอื่นๆ ด้วย มาตรการขณะนี้มหาวิทยาลัยจะประสานกับคณะต่างๆ ให้ช่วยกันดูแล และจะติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จะเน้นย้ำให้มีการประสานงานกันมากขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุขึ้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมัวแต่ไปสนใจว่าอาจารย์เป็นอะไรหรือไม่ แต่ไม่ได้แจ้งข่าวให้หน่วยอื่นๆ เลย ซึ่งถ้ามีการแจ้งข่าวกัน ก็อาจจะจับตัวคนร้ายได้ทันที ยอมรับว่าบุคคลกรส่วนหนึ่ง ไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ท่าจะเพิ่มเติมอะไรตอนนี้ คงเริ่มที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก่อน

“เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากการที่นายวรเจตน์เคลื่อนไหวเรื่อง มาตรา 112 อย่างแน่นอน เพราะนายวรเจตย์ไม่มีเรื่องอื่น และการจัดกิจกรรมทุกครั้งอาจารย์ก็ทำโดยเปิดเผย ทำให้เรารู้สึกว่าอาจารย์เองก็คงไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดูแลกันมากขึ้น ยังยืนยันว่ามหาวิทยาลัยพร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางวิชาการ แต่ต้องมีเงื่อนไขบางประการ เช่นต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ เพราะเราไม่ทราบเลยว่าจะมีฝ่ายต่อต้านมาประท้วงหรือไม่ ปัญหาของมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ที่นิติราษฎร์จะจัดหรือไม่จัดกิจกรรม แต่ต้องดูว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร” นายอุดม กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกประกาศประณามการก่อเหตุร้ายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยระบุว่า มหาวิทยาลัยเห็นว่า การก่อเหตุร้ายดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขาดความยั้งคิด มุ่งผลที่จะข่มขู่ และก่อให้เกิดความกังวลแก่บุคคลากรของมหาวิทยาลัยที่ใช้เสรีภาพทางวิชาการในการแสดงความคิดเห็น มหาวิทยาลัยจึงขอประณามการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาในทุกกรณี และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง มหาวิทยาลัยจะติดตามเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และเพิ่มมาตรการในด้านการรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น เพื่อป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่เข้ามาใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย

นายอุดม แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า สิ่งที่ยังบกพร่องอยู่คือเรื่องการเข้าออกของบุคคลภายนอก โดยเฉพาะผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ จึงออกมาตรการให้เจ้าหน้าที่ตั้งแผงเหล็กกั้นประตูเข้าออกมหาวิทยาลัย และจักรยานยนต์ทุกคันต้องมีการแลกบัตร  อีกส่วนหนึ่งคือคัดกรองบุคคลภายนอกที่เดินผ่านเข้าออก ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะต้องมีงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบุคคลภายนอกก็อาจจะไม่ได้รับความสะดวก นอกจากนี้ยังกำชับให้ทุกหน่วยงานมีการประสานงานที่ชัดเจน เพราะเรายังขาดระบบสื่อสารไปถึงผู้ที่หน้าที่รับผิดชอบ โดยจะให้ทุกหน่วยงานมีเครือข่ายวิทยุ และสร้างจุดประสานงาน จะได้ติดต่อกันได้เร็วขึ้น ส่วนกล้องวงจรปิดยังไม่สามารถติดตั้งได้ทันที จะขอให้ทุกหน่วยสำรวจพื้นที่ล่อแหลม และจัดคนไปช่วยเฝ้าระวังก่อน

นายอุดม กล่าวต่อว่า สำหรับการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยกับ สน.ชนะสงครามมีความสัมพันธ์อันดี ตำรวจเข้าใจปัญหาของมหาวิทยาลัยดี เมื่อเกิดเหตุก็มาอย่างรวดเร็ว และดูแลอย่างใกล้ขิด และหลังจากเกิดเหตุเมื่อวานนี้ พล.ต.ต.วิชัย สังประไพ รองผบช.น. ก็มาสอบถามชื่อ และที่อยู่ของอาจารย์ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีอยู่ 3-4 คน เพื่อจะไปช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยเองที่ทำได้คือช่วยกันดูแลคนละไม้คนละมือ แต่คงไม่ไปปรามเรื่องการแสดงความคิดเห็นของอาจารย์แต่ละคน เพราะแต่ละคนคงสามารถประเมินสถานการณ์เองได้ บางคนมีเครือข่ายของตัวเอง กระบวนการเหล่านี้เป็นเกราะคุ้มครองเขาส่วนหนึ่งด้วย คนที่คิดจะมาทำร้ายคงต้องคิดแล้วคิดอีก

(คมชัดลึก, 1-3-2555)

 

ทนาย 'วันชัย' ชี้ชก 'วรเจตน์' ส่งสัญญาณแตกแยก ระบุต้องประณามผู้ลงมือ 

1 มี.ค. 55 - นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตเลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า จากกรณีคนร้ายบุกชกหน้า นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้ได้รับอันตรายแก่กาย ตามมาตรา 295 นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดข้อคิด 2 ประเด็น 1. เป็นการกระทำที่อุกอาจ มีพฤติการณ์ร้ายแรงในขณะที่บ้านเมืองยังมีความแตกแยกทางความคิด ดังนั้น ไม่ว่าสังคมจะมีความเห็นแตกต่างอย่างไร ไม่น่าใช้ความรุนแรงเช่นนี้ จึงต้องประณามผู้กระทำและผู้อยู่เบื้องหลัง

และ 2. ชี้ให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดเห็นที่แตกแยกและจะรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะกำลังจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ไม่ใช่ข้อเร่งรีบ แต่รัฐบาลกลับเร่งแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องที่ควรรีบจะแก้ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก อะไรที่รีบเกินไปมักจะนำมาสู่ความขัดแย้ง การทำร้ายร่างกายครั้งนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าจะมีความแตกแยกทางความคิดขึ้นอีก ดังนั้น รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวังหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ.

(ไทยรัฐออนไลน์, 1-3-2555)

 

"อภิสิทธิ์" ประณามคนชก"วรเจตน์" ชี้ควรคุยกันด้วยเหตุและผล

1 มี.ค. 55 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประเทศญี่ปุ่น ผ่านรายการฟ้าวันใหม่ ออกอากาศทางบลูสกายแชนแนล ถึงเหตุคนร้าย 2 คน บุกทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ว่า รู้สึกตกใจและ ปชป.ไม่เห็นด้วย ขอประณามการละเมิดสิทธิทุกรูปแบบ และอยากให้ทุกฝ่ายระวัง เพราะบางฝ่ายต้องการให้มีความขัดแย้ง เราจึงต้องหยุดตรงนี้ให้ได้ ต้องคุยกันด้วยเหตุและผล

(มติชนออนไลน์, 1-3-2555)

 

"ยงยุทธ"ยันไม่มีการเคลื่อนไหวล้มสถาบันในภาคอีสาน

1 มี.ค. 55 - นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะแกนนำคณะนิติราษฎร์ ถูกทำร้ายร่างกายเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า 

โดยส่วนตัวเห็นว่า ความแตกต่างทางความคิดสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ควรมีการทำร้ายฝ่ายตรงข้าม

เมื่อถามว่า เกี่ยวข้องกับกรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า ตนเชื่อว่าคนไทยทุกคนไม่มีใครคิดทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีความเคลื่อนไหวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนที่นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกมาระบุว่ามีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคอีสานนั้น เป็นเพียงสิ่งที่ได้ยินมา เราจึงต้องสดับรับฟัง แต่ไม่มีรายงานความเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว

นายยงยุทธกล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรใน จ.ภูเก็ต ว่า ตนเชื่อว่าคนใต้จะไม่สร้างความวุ่นวาย เพราะคนใต้มีวุฒิภาวะ ไม่สร้างปัญหาและให้ความร่วมมือกับรัฐบาล นอกจากนี้ ยังได้รับการประสานจาก ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ว่าจะมาร่วมต้อนรับนายกฯด้วย

(มติชนออนไลน์, 1-3-2555)

 

ม.เที่ยงคืน ประณามการใช้ความรุนแรงในความเห็นต่างทางการเมือง

1 มี.ค. 55 - มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนออกแถลงการณ์เรื่อง ประณามการใช้ความรุนแรงในความเห็นต่างทางการเมือง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

กรณีที่มีบุคคลได้ใช้กำลังทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการคุกคามและเป็นการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลที่มีความเห็นต่างอย่างป่าเถื่อน อันเป็นเหตุการณ์ที่สังคมไทยต้องร่วมมือกันปกป้องอย่างเข้มแข็ง โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นดังต่อไปนี้

ประการแรก เป็นที่เหตุได้อย่างชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวนี้เป็นผลมาจากการแสดงความเห็นและความเคลื่อนไหวของอาจารย์วรเจตน์ในการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์อาจมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่เห็นต่าง แต่ทั้งหมดก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติในแต่ละสังคมซึ่งจะมีบุคคลซึ่งมีความเห็นไม่เหมือนกัน หนทางในการจัดการกับความเห็นต่างดังกล่าวที่ดีที่สุดก็ด้วยการใช้เหตุผลและการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้คนฝ่ายต่างๆ การใช้กำลังเพื่อทำร้ายบุคคลที่มีความเห็นต่างจึงต้องควรถูกประณามรวมถึงต้องถูกดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ไม่เพียงการลงโทษกับตัวบุคคลผู้ลงมือเท่านั้น บรรดาฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักการเมือง องค์กรประชาชน ที่มีส่วนต่อการ “สาดน้ำมันเข้ากองไฟ” อย่างไร้เหตุผลก็ควรต้องถูกประณามด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เป็นที่มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการสร้างบรรยากาศแห่งความเกลียดชังให้เพิ่มสูงขึ้น

ประการที่สอง การปกป้องเสรีภาพในความเห็นต่างทางการเมืองนั้นมิใช่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากต้องการให้ทุกฝ่ายที่เห็นต่างในทางการเมืองสามารถแสดงความเห็นของตนได้อย่างเสรีและเป็นความเห็นที่มิได้บิดเบือนหรือให้ร้ายกับผู้คนกลุ่มอื่น การร่วมกันปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นจึงรวมถึงคนทุกกลุ่มในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง กลุ่มนิติราษฎร์ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ล้วนต้องสามารถแสดงความเห็นที่ยืนอยู่บนเหตุผลได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าบุคคลใดก็ไม่สมควรจากการถูกทำร้ายหรือถูกคุกคามในการแสดงความเห็นของตน   

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอประณามการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับความเห็นต่างในทางการเมือง และขอให้ทุกฝ่ายจงร่วมกันใช้ความอดทน เหตุผล และสติปัญญา ในการรับฟังความเห็นที่แตกต่างออกไป การใช้กำลังจะไม่ได้เป็นออกไปจากปัญหาแต่อย่างใด รวมทั้งจะนำไปสู่ความยุ่งยากที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมแห่งนี้

(ประชาไท, 1-3-2555)

 

กลุ่มสยามฯชี้ปม'วรเจตน์'โดนชก คนอึดอัดไม่ยอมดีเบต ม.112

1 มี.ค. 55 - นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และในฐานะอาจารย์ในกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ ถึงเรื่องการจัดเวทีอภิปรายร่วมกันกับกลุ่มสยามสามัคคีในวันพรุ่งนี้ (2 มี.ค.) ที่บริเวณสวนลุมพินี กรุงเทพฯ ว่า เรื่องที่จะพูดนั้นเป็นเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับบ้านเมือง และทางกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์เองก็ไม่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ เป็นเพียงผู้ร่วมเท่านั้น จึงยังไม่สามารถบอกอะไรได้ โดยผู้อภิปรายที่เป็นตัวแทนของกลุ่มก็จะเป็นนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ส่วนตนก็จะไปร่วมงานแต่อาจไม่ได้ขึ้นกล่าวเพราะมีนักวิชาการไปร่วมเป็นจำนวนมาก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ โดนทำร้ายร่างกายที่บริเวณมหาวิทยาลัยนั้น เป็นเพราะเรื่องที่เกี่ยวข้องในการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ นายคมสัน กล่าวว่า น่าเห็นใจนายวรเจตน์ที่โดนทำร้ายร่างกาย ส่วนตัวเชื่อว่าคงมีประเด็นเดียวที่อาจเกี่ยวข้องคือเรื่อง ม.112 และตนไม่เห็นด้วยในเรื่องการทำร้ายร่างกายในครั้งนี้ 

"การเป็นนักวิชาการก็ต้องมีความระมัดระวังตัวด้วยเช่นกัน ยิ่งเป็นเรื่องที่นำเสนอทางวิชาการที่มีความเกี่ยวข้องกระทบจิตใจคน ก็อาจทำให้รู้สึกไม่พอใจหรือโกรธได้ เช่น เรื่องสถาบัน ซึ่งอาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสีก็เคยโดนปาขวดใส่ทำร้ายร่างกายเช่นกันมาแล้วตอนที่เคยไปพูดที่ ม.ธรรมศาสตร์" นายคมสันกล่าว

เมื่อถามว่าอะไรน่าจะเป็นสาเหตุให้ผู้ก่อเหตุลงมือในครั้งนี้กับนายวรเจตน์นั้น อาจารย์กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์  กล่าวว่า จุดอ่อนของคณะนิติราษฎร์นั้นคือไม่ยอมให้มีการดีเบต หรือการให้พื้นที่ของกลุ่มที่เห็นต่างมาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ไม่ยอมพูดเรื่องในการหักล้างในสิ่งที่ประชาชนชาวบ้านคิด

"ในทางวิชาการแล้วการดีเบตเป็นเรื่องที่มีความสวยงามทางวิชาการ เมื่อประชาชนไม่มีคนที่พูดเพื่อแย้งในข้อความคิดได้ จึงไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยมาก่อเหตุดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามตนไม่เห็นด้วยกับผู้ก่อเหตุแน่นอน เพราะตนก็เคยโดนการกระทำมาแล้วในลักษณะนี้ ซึ่งหากไปดูในตามอินเทอร์เน็ต ก็จะรู้ได้เลยว่าประชาชนนั้นเขามีอารมณ์รุนแรงขนาดไหน" นายคมสันกล่าว

อย่างไรก็ตาม อาจารย์กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์  กล่าวว่า ตนคิดว่านักวิชาการทุกคนสามารถนำเสนอแนวทางวิชาการได้ แต่ขอให้ข้อเสนอดังกล่าวนั้นไม่กระทบจิตใจคนหรือประชาชนทั่วไปนัก และต้องมีความระมัดระวังตนเองอยู่เสมอ หากเรื่องที่นำเสนอไปอาจจะก่อให้เกิดผลร้ายกับตัวเองแม้ว่าจะเป็นการนำเสนอในทางวิชาการด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ตาม.

(ไทยรัฐออนไลน์, 1-3-2555)

 

"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" แนะพักรณรงค์เรื่อง ม.112

1 มี.ค. 55 - สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุคของตน โดยเผยแพร่แบบสาธารณะ แสดงความคิดเห็นภายหลังเหตุการณ์ทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ที่เกิดขึ้นวานนี้

โดยสมศักดิ์ได้แนะว่า การทำงานรณรงค์เรื่องม. 112 ควรหยุดพักไว้ก่อน เนื่องจากไม่สามารถมีอะไรมารับประกันความปลอดภัยของวรเจตน์ และกลุ่มนิติราษฎร์ได้ แต่เสนอว่าควรหันไปเลือกรณรงค์เรื่องอื่นที่มีโอกาสปฏิบัติได้มากกว่า ในขณะเดียวกัน ก็ควรมุ่งการ "ทำงานทางความคิด" เรื่องดังกล่าวในระยะยาวแทน

(ประชาไท, 1-3-2555)

 

คอป.หวั่นชกวรเจตน์ขยายปมขัดแย้ง

2 มี.ค. 55 - นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะ กรรมการคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โพสต์ข้อความผ่านเว็ปไซต์ส่วนตัว http:// kittipong forjustice.com/ ถึงเหตุการณ์ทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์กลุ่มนิติราษฎรว่า แม้ผู้กระทำจะยอมเข้ามอบตัวกับตำรวจ และคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่การที่ผู้กระทำบอกว่าทำร้ายนายวรเจตน์เพราะไม่เห็นด้วยที่ออกมาเคลื่อนไหวให้แก้ไขมาตรา 112 นั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ คอป.จะต้องพิจารณา “ประเด็นที่เกิดกับนายวรเจตน์ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นการเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นในเวทีเปิด ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจึงควรใช้เวทีเปิดในการแสดงความเห็นต่าง ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับมาเช่นนี้ โดยเฉพาะในห้วงที่สถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ มีการเผชิญหน้าหรือใกล้ที่จะเผชิญหน้ากัน ทุกฝ่ายต้องมีสติ และยึดแนวทางสันติวิธีในการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหา เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

นายกิตติพงษ์ ระบุด้วยว่า ขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในบรรยากาศของความหวาดระแวง และมีความแตกแยกทางความคิดค่อนข้างสูง ซ้ำยังเคยผ่านความรุนแรงมาระดับหนึ่งแล้ว ประเด็นที่เปราะบางลักษณะนี้ต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำเติม เพราะจะนำไปสู่ความรุนแรงที่ขยายวงมากขึ้นได้ จากประสบการณ์การสร้างกระบวนการปรองดองทั่วโลก หลักสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องยึดถือคือ ต้องอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ใช้ความรุนแรงสำหรับบทบาทของ คอป.นับจากนี้ การป้องกันความรุนแรงซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งที่ทำอยู่แล้ว และจะต้องพิจารณาว่าจะทำเพิ่มเติมอย่างไร โดยนายโคฟี อันนัน (อดีตเลขาธิการยูเอ็น) และ นายมาร์ตติ อาห์ติซารี (อดีตประธานาธิบดีประเทศฟินแลนด์) ได้มีข้อเสนออย่างชัดเจนว่า ควรมีไดอะล็อก (การพูดคุยสนทนา) หรือเพิ่มพื้นที่ให้กลุ่มที่เห็นแตกต่างกันได้พูดคุยกัน เพราะคนเราเห็นต่างได้ แต่ไม่ควรใช้ความรุนแรง และวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่างต้องหมดไป ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ความรุนแรงขยายวงมากขึ้น

นายกิตติพงษ์ ระบุอีกว่า คอป.เราได้ประเมินสถานการณ์พบว่า ความแตกต่างทางความคิดได้แตกประเด็นไปมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์เมื่อเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.ปี 53 เป็นเพราะความไม่ไว้วางใจอีกฝ่าย ทำให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเตรียมเสนอกฎหมายปรองดอง และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนั้น คอป. จะพิจารณาเรื่องการเปิด เวทีกลาง ให้แต่ละฝ่ายที่เห็นต่างได้พูดคุยแสดงความคิดเห็นโดยไม่ใช้ความรุนแรง ขณะนี้กำลังประเมินกันอยู่ว่าจะเปิดเวทีในรูปแบบใด เมื่อไร และอย่างไร

“ผมขอแสดงความชื่นชมผู้นำทางการเมืองทุกฝ่ายที่เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่แสดงท่าทีสนับสนุนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง ทั้งยังพยายามเรียกร้องคนในสังคมให้มีสติ เราคิดว่าถ้าสามารถประคับประคองกันด้วยเหตุผลได้เช่นนี้ จะทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายลงไปกว่าที่เป็น”นายกิตติพงษ์ระบุ

(โพสต์ทูเดย์, 2-3-2555)

 

'จรัล' ชี้คุกคาม 'วรเจตน์' ยิ่งให้กระแสแก้ ม.112 สูงขึ้น‎

2 ม.ค. 55 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายจรัล ดิษฐาอภิชัย หนึ่งในแกนนำนปช. และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์  มิใช่มาจากความไม่พอใจของผู้ร้ายทั้งสอง น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนสร้างสถานการณ์ให้เลวร้าย เพื่อก่อประชามติว่า การรณรงค์แก้มาตรา 112 และแก้รัฐธรรมนูญ กำลังเกิดความขัดแย้งรอบใหม่แล้ว นำร่องให้กับการชุมนุมของกลุ่มสยามสามัคคีพรุ่งนี้

"ขอแสดงความเสียใจกับดร.วรเจตน์ การทำร้ายอาจารย์นั้น นอกจากเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายอาจารย์คนหนึ่งเท่านั้น หากยังข่มขู่คุกคามเสรีภาพของนักวิชาการ อีกด้วย แล้วก็ยิ่งทำให้กระแสแก้ม.112 สู้ขึ้น"อ.จรัล กล่าว

อ.จรัล ยังเห็นว่า ผมเห็นด้วยกับความคิดเห็นของเพื่อนหลายคนที่ว่า สิ่งเลวร้ายกว่า มิใช่มีคนสองคนทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ หากการโห่ร้องไชโยของผู้จงรักภักดี

 

12 มี.ค.เรียกสอบ 2 ฝาแฝดมือชก "วรเจตน์" เข้มความปลอดภัย

2 มี.ค. 55 - เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) พล.ต.ต.พชร บุญญสิทธิ์ ผบก.น.1 เปิดเผยถึงกรณีที่นายสุพจน์ ศิลารัตนายุ 30 ปี และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ อายุ 30 ปี สองพี่น้องฝาแฝด ชาว จ.ปทุมธานี ก่อเหตุรุมทำร้ายร่างกาย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนได้รับบาดเจ็บ สาเหตุจากการที่นายวรเจตน์เข้าไปเป็นแกนนำกลุ่มนิติราษฏร์และเคลื่อนไหวการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า สำหรับขั้นตอนจากนี้ทางคดีต้องรอผลการตรวจร่างกายจากแพทย์ จากนั้นจะรอตรวจสอบผลการพิมพ์มือของผู้ต้องหาทั้งสองคน ว่ามีประวัติต้องโทษที่ใดบ้าง เพราะจะเป็นประโยชน์กับการฟ้อง ต้องโทษคดี รวมถึงอาจมีผลในการเพิ่มโทษ โดยขณะนี้ได้ปล่อยตัวชั่วคราวและนัดหมายให้มาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 12 มี.ค.นี้ ซึ่งหากสำนวนเสร็จสิ้นแล้วก็จะส่งมอบให้พนักงานอัยการได้ทันที แต่หากยังไม่เสร็จก็จะนัดมาอีกครั้งอาจจะใช้เวลา 7 วัน 12 วัน 15 วัน หรือเท่าใดก็แล้วแต่ความเหมาะสม เพื่อดูว่าสำนวนเสร็จหรือไม่ ทั้งนี้ที่ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปเพราะไม่ได้ขอหมายจับก่อน แต่ผู้ต้องหาเข้ามามอบตัวก่อนเหมือนยอมรับที่ได้ก่อเหตุไป ทางตำรวจจึงได้แจ้งข้อหาและปล่อยตัว

ผู้สื่อข่าวถามว่าคดีในท้องที่อื่นๆมีที่ใดบ้าง พล.ต.ต.พชร กล่าวว่า ต้องรอผลการตรวจสอบจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร  เมื่อถามว่าพื้นฐานผู้ต้องหาเป็นคนที่ชอบทะเลาะวิวาทกับคนอื่นทั่วไปใช่หรือไม่ พล.ต.ต.พชร กล่าวว่า จากการสอบถาม นายสุพจน์ อ้างว่าเคยถูกจับเรื่องอาวุธปืนผิดมือ ส่วนนายสุพัฒน์ คนน้อง มีคดีทำร้ายร่างกาย 4 คดี และทำให้เสียทรัพย์ 1 คดี เคยถูกจำคุก 2 ครั้ง ซึ่งเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้ต้องหาให้ปากคำ แต่ต้องรอตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง

เมื่อถามว่าดูแล้วคิดเองทำเองหรือมีคนจ้าง พล.ต.ต.พชรกล่าวว่า เบื้องต้นพบว่าทำเอง แต่จากการสอบสวนก็ต้องดูอีกครั้งว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังหรือไม่ โดยชั้นนี้ต้องเชื่อตามนั้น สาเหตุมาจากไม่พอใจที่ผู้บาดเจ็บไปสนับสนุนเรื่องมาตรา 112 โดยทางด้านคดีได้มุ่งเน้นในส่วนของคดีทำร้ายร่างกาย ส่วนการสืบสวนทางข้างนั้นก็ยังทำต่อเนื่อง เพราะผู้บังคับบัญชาสั่งการไว้แล้ว

ถามว่าเรื่องการดูแลความปลอดภัยของนายวรเจตน์หลังจากนี้เป็นอย่างไร พล.ต.ต.พชร กล่าวว่า มอบหมายให้ทาง สน.ชนะสงคราม  ดูแลเป็นพิเศษแล้ว.

(เดลินิวส์, 2-3-2555)

 

ทนาย "มือชกวรเจตน์" อ้างในเว็บบอก "คู่แฝด" บินพักผ่อนฮาวาย จะกลับไทย 11 มี.ค.

3 มี.ค. 55 - นายเกิดผล แก้วเกิด ซึ่งระบุว่าตนเองเป็นทนายความของนายสุพจน์ และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ ฝาแฝดซึ่งก่อคดีทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ได้ตั้งกระทู้ชื่อ "แจ้งเรื่องของสุพัฒน์ ฝากให้ผมดูแลและแจ้งข่าวพี่น้องเราทราบเกี่ยวกับการโพสฯ"(http://www.gun.in.th/2010/index.php?topic=71349.msg2784674#msg2784674) ในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์www.gun.in.th โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า

"สุพัฒน์ฝากให้พี่น้องเราทราบว่า ระหว่างนี้ สุพจน์, สุพัฒน์ และครอบครัวจะไปพักผ่อนที่ฮาวาย และจะบินกลับมาวันที่ 11 มีนาคม นี้ ช่วงนี้ จึงจะไม่เข้ามาโพสในเว็บครับ"

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ สว.สส.สน.ชนะสงคราม ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าจะนัดนายสุพจน์และนายสุพัฒน์มาพบเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติม ก่อนส่งฟ้องคดีต่ออัยการ ในวันที่ 6 มีนาคม

(มติชนออนไลน์, 3-3-2555)

 

ครก.112 ไม่สน "สมศักดิ์" เสนอหยุดล่ารายชื่อ

3 มี.ค. 55 - นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 (ครก.112) กล่าวถึงข้อเสนอของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้ครก.112 ยุติการล่ารายชื่อภายหลังนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ถูกทำร้ายว่า นายสมศักดิ์คงหวังดี และคำนึงถึงความปลอดภัยของสมาชิกครก.112 แต่เมื่อการล่ารายชื่อดำเนินไปแล้ว คงจะไปยุติกลางคันไม่ได้ ยืนยันจะเดินหน้าทำการรณรคงต่อไป โดยในวันที่ 3-4 มี.ค.นี้ ก็จะไปรณรรงค์ที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ระยอง ทั้งนี้ที่ผ่านมาแม้จะมีการต่อต้านจากประชาชนผู้ไม่เห็นด้วย รวมถึงมีส.ส.ในพื้นที่ขอร้องไม่ให้ทำกิจกรรมอยู่บ้าง แต่สถานการณ์โดยรวมยังไม่มีเหตุรุนแรง ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ส่วนเรื่องการรักษาความปลอดภัยต่อจากนี้คงไม่จำเป็นต้องมีอะไรเพิ่มเติม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ เป็นเรื่องส่วนน้อยที่เกิดขึ้น เพราะส่วนใหญ่คนไทยยังพร้อมจะรับฟังด้วยเหตุและผลโดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง "เราเดินมาถึงขนาดนี้แล้ว ก็ต้องทำต่อไป จะไปเลิกกลางคันคงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะบอกชาวบ้านที่ลงรายชื่อกับเราได้อย่างไร อ.สมศักดิ์ คงหวังดี แต่เราก็มีเหตุผลของเรา เราทำด้วยความสันติ ใครเห็นด้วยก็ลงรายชื่อ ไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องลง มันก็แค่นั้น" นายสุธาชัย กล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 3-3-2555)

 

“ร.ต.อ.เฉลิม” เรียกร้อง ปชป.เลิกกล่าวหารัฐบาล จะแก้ ม.112

5 มี.ค. 55 - ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเป็นห่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดความขัดแย้งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นมติพรรค จึงต้องปฏิบัติตาม ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยแสดงจุดยืนมาแล้วหลายครั้งว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่มีผลหรือเกี่ยวข้องกับการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงอยากให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจและเลิกกล่าวหาในเรื่องที่ไม่เป็นความจริงแล้วนำมาปลุกระดมประชาชน 

ส่วนกรณีพรรคประชาธิปัตย์เสนอว่าให้วางกรอบให้ชัดว่า จะไม่แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ ขึ้นกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการมีศาลคู่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญหรือ ศาลปกครองที่ไม่มีระบบตรวจสอบ ดังนั้น เห็นว่าจะต้องมีระบบตรวจสอบการทำงานของศาลด้วย 

ต่อกรณีพรรคประชาธิปัตย์ให้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับการลบล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว แม้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถลบล้างความผิดได้

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้รับผิดชอบงานด้านการข่าวและการชุมนุม ซึ่งพร้อมให้มีการชุมนุมอย่างเต็มที่ ไม่ขัดขวาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ทั้งนี้ ได้กำชับให้ตำรวจอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมรัศมี 200 เมตรด้วย

(สำนักข่าวไทย, 5-3-2555)

 

‘สุรชัย’ร่วม 8 ผู้ต้องขัง112 เตรียมยื่นจม.นายกฯ ดันรัฐบาลขออภัยโทษ

5 มี.ค.55 - นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัยกล่าวว่าได้เข้าเยี่ยมสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ที่เรือนจำ และนายสุรชัยได้เสนอแนวทางช่วยเหลือผู้ต้องขังเสื้อแดงและผู้ต้องขังตามมาตรา 112 สำหรับรัฐบาลว่า สำหรับผู้ที่คดีเด็ดขาดแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสามารถถวายเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระมหากษัตริย์ได้ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259,260,261 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีด้วยซ้ำที่จะต้องถวายความเห็นว่าผู้ต้องขังควรหรือไม่ควรได้รับพระราชทานอภัยโทษ

นายสุรชัยระบุด้วยว่า เขาอยู่ระหว่างการร่างหนังสือร้องทุกข์ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนักโทษทางการเมืองที่คดีเด็ดขาดแล้ว โดยจะให้นักโทษคดีหมิ่นฯ ที่คดีสิ้นสุดแล้ว 8 คน ร่วมลงนามด้วย จากนั้นจะให้ญาติของผู้ต้องขังนำไปยื่นต่อนายกฯ เร็วๆ นี้  ทั้งนี้ ผู้ต้องขังคดีหมิ่นที่นายสุรชัยระบุชื่อ ได้แก่ สุรชัย, สมยศ, เลอพงษ์ หรือ โจ กอร์ดอน, เสถียร, วันชัย, ณัฐ, สุชาติ และดารณี หรือ ดา ตอร์ปิโด

สุรชัย ระบุด้วยว่า สำหรับผู้ที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดี นายกรัฐมนตรีในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร ควรหารือกับประมุขฝ่ายตุลาการคือประธานศาลฎีกา เพื่ออธิบายให้ฝ่ายตุลาการเข้าใจว่าคดีต่างๆ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับคนเสื้อแดง ขณะที่กลุ่มการเมืองอีกกลุ่มก็มีคดีตามกฎหมายแต่ไม่ถูกจับกุมคุมขังแต่อย่างใด นอกจากนี้แม้แต่บรรดาแกนนำของเสื้อแดงก็ล้วนได้ประกันตัวหมดแล้ว แต่มวลชนยังอยู่เต็มคุก ทำให้ระบบต่างๆ ถูกตั้งคำถามและสร้างความลำบากใจให้รัฐบาลที่ประชาชนคนเล็กคนน้อยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในคดีการเมือง

อนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 ระบุว่า ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใด ๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้

มาตรา 260 ระบุว่า ผู้มีเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

มาตรา 261 ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมี หน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อ พระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้

มาตรา 261ทวิ  ระบุว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็น การสมควรจะถวาย คำแนะนำต่อพระมาหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้อง โทษก็ได้

การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา 

(ประชาไท, 5-3-2555)

 

'มัลลิกา'ยื่น ป.ป.ช.สอบนายกฯ-รมว.ไอซีทีเมินปราบเว็บหมิ่น

5 มี.ค. 55 -  น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ทำการตรวจสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในการปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันและได้นำสำเนารายชื่อเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน เป็นหลักฐานในการประกอบสำนวน

น.ส.มัลลิกาเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำร้องไปยังนายกฯ และ รมว.ไอซีที ให้ดำเนินการแล้วแต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ส่งผลให้ 2 เดือนที่ผ่านมามีเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จาก 203 เว็บไซต์ เป็นกว่า 400 เว็บไซต์

ด้านนายวิทยา อาคมพิทักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า ป.ป.ช.ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และจะดำเนินการตรวจสอบคำร้องโดยเร็วว่า เข้าข่ายอำนาจการสอบสวนของ ป.ป.ช.หรือไม่

 

เผยมือทำร้าย "วรเจตน์" ใช้บัตร อส.ทหารพรานบุรีรัมย์ขอ "ใบปืน"

6 มี.ค. 55 - ความคืบหน้าคดีนายสุพจน์ และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ อายุ 30 ปี สองพี่น้องฝาแฝดชาวจ.ปทุมธานี ก่อเหตุทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มี.ค. พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. กล่าวว่า ผลทางการแพทย์ออกมาแล้ว พบว่าบาดแผลของอาจารย์วรเจตน์ไม่สาหัส โดยพนักงานสอบสวนนัดส่งฟ้องวันที่ 12 มี.ค.นี้ จากนั้นอยู่ที่ทางศาลจะลงโทษอย่างไร นอกจากนี้จะตรวจสอบประวัติว่ายังอยู่ในระยะเวลาการรอลงอาญาหรือไม่ หากยังอยู่ในกำหนดก็เสนอให้พิจารณาเพิ่มโทษด้วย ส่วนการดูแลอาจารย์และกลุ่มผู้ออกมาเคลื่อนไหวก็จัดเจ้าหน้าที่ออกมาดูแลทุกกลุ่มอยู่แล้ว

ด้านพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รองผบช.น.กล่าวว่า ตรวจสอบพบว่านายสุพจน์บอกเจ้าหน้าที่ของธัญบุรีในการขอใบ ป.4 (ใบครอบครองอาวุธปืน) ว่าเป็นสมาชิกทหารพราน เรื่องนี้จะตรวจสอบว่าเป็นจริงหรือไม่ หากพบว่าไม่จริงก็จะมีความผิดในเรื่องแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน โดยจะทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อตรวจสอบและขอยึดใบ ป.4 เนื่องจากมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงอาจเป็นภัยต่อสังคม นอกจากนี้ให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือเพื่อขออาวุธปืนมาตรวจสอบด้วยว่าเคยนำไปใช้ก่อเหตุอื่นๆ หรือไม่

รายงานจากชุดสืบสวนระบุว่า จากการตรวจสอบโทร.มือถือของนายสุพจน์ วันก่อเหตุไม่พบสิ่งผิดปกติ ช่วงเช้าสัญญาณอยู่ที่ปทุมธานี ตอนช่วงบ่ายสามโทร.ออก 1 ครั้ง สัญญาณมือถืออยู่ที่ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไป 3 วันก่อนหน้าก็ไม่มีเบอร์น่าสงสัย เป็นลักษณะการโทร.ทั่วๆ ไป ไม่เจาะจงเบอร์หนึ่งเบอร์ใดโดยเฉพาะ

ที่ว่าการอำเภอธัญบุรี จ.ปทุมธานี นายสมศักดิ์ พัวพันธุ์ นายอำเภอธัญบุรีเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบทะเบียนปืนนายสุพจน์ ซึ่งขอทะเบียนอาวุธปืนพกสั้นกึ่งอัตโนมัติ .45 หมายเลข เค 302994 คิมเบอร์ กท.5344892 เป็นอาวุธปืนในโครงการสวัสดิการข้าราชการของรัฐ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2553 โดยใช้บัตรประจำตัวแนบมาด้วยชื่อ อส.ทพ.สุพจน์ ศิลารัตน์ สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 26 จ.บุรีรัมย์ ออกโดยพ.อ.ศิริชัย สร้อยแสน นายทหารพระธรรมนูญ ระบุวันออกบัตร 1 พ.ค. 2551 หมดอายุ 1 พ.ค.2553 ซึ่งขณะนั้นมีนายทะเบียนคือนายสุรพงษ์ แก้วปาน นายอำเภอธัญบุรี ปัจจุบันเป็นปลัดจังหวัดปทุมธานี

ส่วนนายสุพัฒน์นำเอกสารการรับรองเป็นอส.ทพ.สุพัฒน์ ศิลารัตน์ สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 26 จ.บุรีรัมย์ ออกโดยพ.อ.ศิริชัยเช่นกัน ระบุวันออกบัตรอส.ทพ.วันที่ 1 พ.ค.2551 หมดอายุ 1 พ.ค.2553 นำมาขอมีอาวุธปืนพกสั้นออโตเมติก ขนาด 9 ม.ม.หมายเลข D 492732 บาเร็ตต้า นพ5/5856 รับโอนมาจากนายทวีศักดิ์ ปานจุ้ย ชาวจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2552 ส่วนอีกกระบอกเป็นอาวุธปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ 9 ม.ม. เอ็นแซดยู 707 กล๊อก กท.5287224 เป็นปืนสวัสดิการข้าราชการกรมการปกครอง(สน.สก.) ขออนุญาตเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2553 มีนายทะเบียนคือ นายสุรพงษ์ แก้วปาน นายอำเภอธัญบุรี เช่นกัน

ทั้งนี้ ทางอำเภอได้ปรึกษาหารือผู้เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเพิกถอนใบอนุญาตมีอาวุธปืนของพี่น้องฝาแฝดแล้ว หากว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 65, 66, 13, หรือบุคคลใดมีความผิดกฎหมายอาญาสามารถเรียกคืนใบอนุญาตและมีอาวุธปืนได้ ซึ่งอยู่ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานว่าวันเกิดเหตุพี่น้องฝาแฝดได้นำอาวุธปืนติดตัวไปด้วยหรือไม่ เพราะใบอนุญาตที่ทางอำเภอออกให้เป็นใบ (ป.4) อนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเท่านั้น ไม่ใช่ใบพกพา 

(ข่าวสด, 6-3-2555)

 

"ปรีดา เตียสุวรรณ์" ให้สัมภาษณ์มติชนพูดเรื่องแก้ 112 

7 มี.ค. 55 - มติชนออนไลน์สัมภาษณ์นายปรีดา  เตียสุวรรณ์ กรรมการบริษัท และประธาน บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) โดยส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ตั้งคำถามถามปรีดาว่าคิดอย่่างไรกับมาตรา 112 ปรีดาเห็นว่าว่าที่สุดสังคมไทยก็ต้องมาพูดเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า จะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เพราะมันได้กลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองไปแล้ว  ผมเห็นด้วยกับอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์(นิติราษฎร์) หลายประเด็น แต่ข้อเสนอบางเรื่องก็ซื่อไปหน่อย  ผมไม่เชื่อว่า คนพวกนี้รับเงินใครมาเคลื่อนไหว ผมไม่เชื่อ  ผมเชื่อว่า พวกเขาบริสุทธิ์ใจ แต่บางเรื่องไม่เหมาะ

(มติชนออนไลน์, 7-3-2555)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น