โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท (เฉพาะกิจ)

สมัชชาประชาธิปไตยฯ หนุน ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ หลังเม้งแตกรัฐบาลเปลี่ยนตัวคนรับข้อเสนอ

Posted: 16 Mar 2012 10:15 AM PDT

สมัชชาประชาธิปไตยสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ยื่นข้อเสนอจากประชาชน 5 ภาค ‘ยงยุทธ’ รองนายกฯ มารับข้อเสนอด้วยตนเองตามกำหนดการเดิม หลังโดนโวยรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเปลี่ยนตัวคนรับข้อเสนอหลายรอบ ยันให้ความสำคัญภาคประชาชนและมีแนวคิดกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอยู่แล้ว

สภาพัฒนาการเมืองร่วมกับเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ จัดงานสมัชชาประชาธิปไตยชุมชนสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง วันนี้ ( 16 มี.ค.55) ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อส่งมอบข้อเสนอจากเวทีสมัชชาระดับภูมิภาคทั้ง 5 ภาค ให้กับรัฐบาล ซึ่งตามกำหนดการ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีรับมอบข้อเสนอจากผู้แทนสมัชชาประชาธิปไตยชุมชน และแถลงแนวทางการสนับสนุนของรัฐบาลต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย แต่กลับมีการประสานงานว่าจะเปลี่ยนตัวผู้รับข้อเสนอ ในวันที่ 14 มีนาคม 2555

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีการแจ้งเหตุผลว่านายยงยุทธติดภารกิจกับนายกรัฐมนตรี และให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มารับข้อเสนอแทน แต่ในเวลาต่อมาได้แจ้งเปลี่ยนแปลงอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยให้ นายโสภณ เพชรสว่าง ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกมารับแทน สร้างความไม่พอใจแก่คณะกรรมการจัดงานสมัชชาประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่นการจัดการตนเอง ประจำปี 2555 จนทำให้มีการออกแถลงการณ์ด่วน “รัฐบาลที่มาจากประชาชน ไม่เห็นหัวประชาชน เป็นรัฐบาลตระบัดสัตย์”

“จากกระทำดังกล่าว ถือว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนในครั้งนี้ ประชาชนทั้ง 5 ภาค จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ปฏิเสธไม่ต้องยื่นข้อเสนอให้กับตัวแทนของรัฐบาลที่จะมารับข้อเสนอในวันที่ 16 มีนาคม 2555” แถลงการณ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณเวลา 11.00 น. นายยงยุทธได้เดินทางมารับข้อเสนอจากเวทีฯ ทำให้กำหนดการเดินหน้าได้ตามที่วางไว้ อีกทั้งนายยงยุทธยังกล่าวยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับข้อเสนอของภาคประชาชน และรัฐบาลก็มีความชัดเจนเรื่องแนวคิดกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอยู่แล้ว

สำหรับข้อเสนอจากภาคประชาชน เพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ 5 เรื่อง ประกอบด้วย ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาที่ดิน ปัญหาสวัสดิการ ปัญหาการศึกษา และประเด็นร่วมของทุกภูมิภาค คือเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง

ด้านนายวิรัตน์ สุขกุล ด้านประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ยื่นวันนี้ (16 มี.ค.55) มาจากฐานความคิดของการกระจายอำนาจที่เน้นให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพราะคนที่รู้และเข้าใจปัญหาของคนในชุมชนท้องถิ่นมากที่สุด ก็คือคนที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นเอง

นอกจากนี้ สมัชชาประชาธิปไตยชุมชนสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ยังเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา และติดตามการดำเนินงานจากข้อเสนอของภาคประชาชน พร้อมทั้งประกาศความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะ

ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคเข้าให้กำลังใจ - กสทช.ประวิทย์ ยัน! ทำงานเต็มที่

Posted: 16 Mar 2012 09:02 AM PDT

ช่วงเช้าวันที่ 16 มีนาคม 2555 ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศประมาณ 30 คน เดินทางเข้าพบพร้อมมอบดอกไม้แก่นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อให้กำลังใจและสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อผู้บริโภคต่อไป หลังทราบข่าวว่าถูกคุกคามข่มขู่หลายรูปแบบ

ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคเข้าให้กำลังใจ - กสทช.ประวิทย์ ยัน! ทำงานเต็มที่

ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคเข้าให้กำลังใจ - กสทช.ประวิทย์ ยัน! ทำงานเต็มที่

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนเครือข่ายกล่าวว่า คนที่อยู่ในที่มืดและทำเรื่องข่มขู่เป็นการกระทำที่รุนแรงไปและไม่ถูกต้อง แต่พวกเราเชื่อว่าคุณหมอไม่ท้อถอย ยิ่งถูกขู่จะยิ่งสู้ไม่ถอย แต่การเน้นทำงานเพื่อผู้บริโภคทำให้คุณหมอต้องทำงานหนักเพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล และในฐานะ กสทช. ก็ยังมีงานที่สำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคอีกมาก เช่น การประมูลใบอนุญาต 3G ที่ต้องโปร่งใส เป็นธรรม ราคาประมูลเริ่มต้นจะต้องไม่ต่ำเกินไป เพราะประเทศชาติจะเสียประโยชน์ การไม่กำหนดระยะเวลาโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินที่สั้นเกินไป (Prepaid Validity) การเปลี่ยนค่ายใช้เบอร์เดิม (Number Portability) ที่ต้องปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมลงและการบังคับให้สามารถใช้บริการดังกล่าวได้ทั่วประเทศ เป็นต้น

ด้านนายกำชัย น้อยบรรจง ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออก ระบุขอประณามคนที่คิดลอบทำร้าย  ยืนยันเครือข่ายผู้บริโภคพร้อมสู้อยู่เคียงข้าง เนื่องจากเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด

ส่วนนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้กล่าวขอบคุณตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ที่ทำให้ขณะนี้มีกำลังใจเปี่ยมล้น เนื่องจากที่ผ่านมากำลังใจยังไม่ได้พร่องลงแต่อย่างใด ยืนยันพร้อมที่จะทำงานเพื่อผู้บริโภคต่อไป ทั้งนี้ ไม่ได้มุ่งหวังเอาชนะใคร แต่มีเป้าหมายที่จะเห็นระบบโทรคมนาคมที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน มีการกำกับดูแลที่เป็นธรรม และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งย้ำว่าจะเดินหน้าทำงานใน 2 มิติ ด้านหนึ่งคือการสร้างธรรมาภิบาลในสำนักงาน กสทช.ด้วยการสนับสนุนคนดีให้ทำงาน โดยจะไม่สาละวนกับการจัดการคนไม่ดี เนื่องจากเสียเวลา เพราะงานอีกด้านที่สำคัญกว่าก็คือการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและมีความเป็นธรรม

“ตอนนี้หลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคก็มีมติ กสทช.รับรองออกมาแล้ว เช่น ประกาศเรื่องอัตราขั้นสูง 99 สตางค์ ที่จะทำให้ค่าบริการถูกลง ซึ่งค้างมาตั้งแต่ปลายปี 2553 และมีกระบวนการดึงเรื่อง เราก็เร่ง และยังคงมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ ผมพร้อมสนับสนุนให้ภาคประชาชนสะท้อนปัญหาและให้คำแนะนำต่างๆ ต่อ กสทช.ไม่ต้องเกรงใจและคิดว่าผมกลายเป็นตัวประกัน เพราะเสียงของผู้บริโภคเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้ระบบโทรคมนาคมของประเทศไทยดีขึ้น” นายประวิทย์ กล่าว

เวทีชุมชน หวัง ‘กองทุนธนาคารที่ดิน’ เดินหน้า กระจายที่ดินจากมือนายทุน

Posted: 16 Mar 2012 08:51 AM PDT

รายงานโดย: บัณฑิตา อย่างดี

 

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.55 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จัดการศึกษาเรื่องกองทุนธนาคารที่ดิน ที่ จ.ตรัง โดยมีการนำเสนอเรื่องฐานคิด และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน ผ่านทางภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และการจัดการที่ดินแบบรวมหมู่ โดยใช้โฉนดชุมชน และกองทุนธนาคารที่ดิน ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดย นางกันยา ปันกิติ คณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

421114_372209952799417

อีกทั้งมีการนำเสนอเนื้อหา พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และแนวปฏิบัติของรัฐบาล โดย นายโสภณ ชมชาญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการวางแผนการใช้ที่ดิน นายดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน  ที่มาร่วมแลกเปลี่ยน แนวทางการบริหารจัดการกองทุนธนาคารที่ดิน และทิศทางการขับเคลื่อนผลักดันนโยบาย

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดที่แล้วได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ฏ.จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2554 ส่งผลให้จะมีการจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินขึ้นเป็นองค์การ มหาชน แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ในส่วนรัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีการบรรจุนโยบายเกี่ยวกับธนาคารที่ดินเอาไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในพูดคุย มีการนำเสนอว่า กองทุนธนาคารที่ดิน คือ กองทุนที่รองรับการเปลี่ยนมือที่ดินในพื้นที่โฉนดชุมชน โดยกำหนดให้สมาชิกที่มีความประสงค์จะขายที่ดินในพื้นที่โฉนดชุมชน เนื่องจากไม่มีความสามารถ หรือไม่มีความต้องการทำเกษตรแล้ว ต้องขายที่ดินให้องค์กรชุมชนเท่านั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายในการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย ป่าชุมชน สายน้ำ และที่สาธารณะของชุมชน รวมทั้ง สกัดกั้นไม่ให้ที่ดินถูกนำไปเป็นสินค้าซื้อขายปั่นราคาเก็งกำไรในตลาดเสรี ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ราคาที่ดินแพงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงในฐานะปัจจัยการผลิต

“อาจเรียกได้ว่าการเปลี่ยนมือที่ดินภายใต้กองทุนธนาคารที่ดิน มิใช่การซื้อขาย แต่เป็นการสืบทอดปัจจัยการผลิตจากเกษตรรายย่อยไปสู่เกษตรกรรายย่อย ราคาที่ดินที่คณะกรรมการฯ กำหนดเป็นค่าตอบแทนจากการลงแรงพัฒนาที่ดินและการปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ” วงพูดคุยระบุ

นอกจากนี้ กองทุนธนาคารที่ดินยังมีเป้าหมายเพื่อกระจายการถือครองที่ดินจากนายทุน ซึ่งมีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำการผลิต ไปสู่เกษตรกรไร้ที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาความยากจน และปัญหาทางสังคม

กองทุนธนาคารที่ดิน มีทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น บริหารในรูปแบบองค์การมหาชนอิสระ โดยการสนับสนุนทุนประเดิมและงบประมาณรายปีจากรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนธนาคารที่ดินของชุมชน ซึ่งองค์กรชุมชนที่มีความพร้อมได้ดำเนินการไปก่อนแล้ว เช่น กรณีองค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านตระ และองค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านทับเขือ-ปลักหมู องค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านน้ำปลิว
 

ศาลสั่งชดใช้ 2 แสน เหยื่อซ้อมพร้อมอิหม่ามยะผา

Posted: 16 Mar 2012 03:56 AM PDT

ศาลปกครองสงขลา สั่งกอ.รมน.ชดใช้ รวม 246,621 บาท ให้นายรายู ดอคอ เหยื่อซ้อมทรมานพร้อมอิหม่ามยะผา

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสงขลานัดฟังคำพิพากษาคดีที่นายรายู ดอคอ ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดต่อกระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ควบคุมไว้ที่ค่ายวัดสวนธรรม อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส พร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง และถูกซ้อมทรมาน ด้วยวิธีการอันโหดร้าย จนเป็นเหตุให้นายรายูได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2551

ศาลพิพากษาสรุปว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายนายรายู จริง ตามผลการตรวจของแพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และผลการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของสภาเพื่อการฟื้นฟูผู้ถูกทรมานระหว่างประเทศ

ศาลพิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะต้นสังกัดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ชดใช้ค่าเสียหายต่อความทุกขเวทนาทางจิตใจ สิทธิเสรีภาพ ในร่างกาย อนามัย และจิตใจ จากการที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม คุมขัง ทำร้ายร่างกาย ทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายไร้มนุษยธรรม การนำไปแถลงข่าวทั้งที่ไม่ยินยอม โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จำนวน 200,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ จำนวน 10,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานรัฐต้องชดใช้ให้แก่นายรายู ทั้งสิ้น 246,621 .56 บาท

แอมเนสตี้ผิดหวังไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต

Posted: 16 Mar 2012 03:54 AM PDT

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 55 ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เสียใจต่อการที่ประเทศไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการรับรองผลการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก Universal Periodic โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ ...

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์
AI Index: ASA 39/002/2012
15 มีนาคม 2555

ประเทศไทย: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเสียใจต่อการที่ประเทศไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตของ

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการรับรองผลการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก Universal Periodic Review (UPR)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลผิดหวังกับการที่ประเทศไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งตรงข้ามกับพันธกิจที่แสดงไว้อย่างชัดเจนในการจัดทำแผนปฏิบัติการแม่บทแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับปี 2552-2556 [1] และขอย้ำเตือนการตัดสินใจที่น่ายินดีของประเทศไทยเมื่อปี 2553 ที่ไม่คัดค้านข้อเรียกร้องของสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ให้มีประกาศยุติการประหารชีวิตชั่วคราว และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวโน้มการลดหย่อนโทษให้กับนักโทษประหารในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรู้สึกผิดหวังที่ประเทศไทยเริ่มการประหารชีวิตอีกครั้งเมื่อปี 2552 หลังจากว่างเว้นไปเป็นเวลาหกปี ทางองค์การรู้สึกกังวลต่อการที่นักโทษประหารยังคงถูกล่ามโซ่ตรวน แม้มีคำสั่งศาลเมื่อปี 2552 ว่าการกระทำเช่นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการตัดสินประหารชีวิตกว่าครึ่งหนึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งขัดกับกฎบัตรระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต และมีการเสนอเป็นระยะๆ เพื่อให้ลดหย่อนโทษให้กับนักโทษประหารทุกคน และประกันว่าจะไม่นำโทษประหารชีวิตมาเป็นมาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติด

รัฐหลายแห่งแสดงข้อกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในท่ามกลางการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย [2] ผู้ก่อการได้กระทำการที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมสงครามอย่างหนึ่ง ในขณะที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงก็ยังคงใช้การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างเป็นระบบเพื่อต่อสู้กับการก่อความไม่สงบ กฎหมายพิเศษให้อำนาจอย่างมากกับฝ่ายความมั่นคงที่จะปฏิบัติหน้าที่ และกำหนดข้อยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการฟ้องร้องดำเนินคดี ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนได้สำเร็จเลย นับแต่ความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นมาอีกในปี 2547 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกระตุ้นให้รัฐบาลประกันว่า ปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบจะต้องเป็นไปโดยเคารพต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และให้นำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลเกี่ยวกับการคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะอันเนื่องมาจากการนำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาใช้ [3] นับแต่คณะทำงาน UPR ได้ทบทวนสถานการณ์ของไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2554 มีบุคคลอย่างน้อยสามคนที่ถูกตัดสินลงโทษเนื่องจากละเมิดกฎหมายเหล่านี้ รวมทั้งนายอำพล ตั้งนพคุณที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 20 ปี และนาย Joe Gordon ซึ่งมีทั้งสัญชาติไทยและสหรัฐอเมริกาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาสองปีครึ่ง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกระตุ้นให้ประเทศไทยชะลอการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้จนกว่าจะมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทย และให้ปล่อยตัวนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่

ข้อมูลพื้นฐาน

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรับรองผลการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก UPR เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ในวาระประชุมสมัยที่ 19 ก่อนจะรับรองรายงานการทบทวนสถานการณ์ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลมีโอกาสได้แถลงการณ์ด้วยวาจาตามเนื้อหาข้างต้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลในระหว่างการพิจารณารายงานของประเทศไทยด้วย: http://www.amnesty.org/en/library/info/ASA39/001/2011/en

เชิงอรรถ:

  1. A/HRC/19/8, recommendations 89.1 (Argentina), 89.3 (Spain), 89.6 (Hungary), 89.7 (Switzerland), 89.27 (Turkey), 89.28 (France), 89.29 (Slovakia), 89.30 (Spain), 89.31 (Switzerland), 89.32 (Slovenia), 89.33 (Brazil), 89.34 (Argentina) and 89.35 (Nicaragua)
  2. อ้างแล้ว recommendations 88.54 (South Africa), 88.55 (Qatar), 88.65 (Malaysia) and 88.68 (Canada)
  3. อ้างแล้ว recommendations 89.50 (Brazil), 89.51 (United Kingdom), 89.52 (France), 89.53 (France), 89.54 (New Zealand), 89.55 (Norway), 89.56 (Norway), 89.57 (Norway), 89.58 (Slovenia), 89.59 (Sweden), 89.60 (Spain), 89.61 (Indonesia), 89.62 (Switzerland), 89.63 (Canada) and 89.64 (Switzerland)

 

รายงาน: สื่อทางเลือกชายแดนใต้ ความคาดหวังบนพื้นที่กลางสันติภาพ

Posted: 16 Mar 2012 03:50 AM PDT

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

southmedia01

southmedia02

southmedia03

ภาพบรรยากาศงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555
ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

สื่อมวลชนถือว่ามีบทบาทสำคัญทั้งอยู่ในฐานะผู้ร่วมดับ หรือยิ่งโหมไฟความขัดแย้ง ซึ่ง ผศ.ดร. Isak Svensson อาจารย์ภาควิชาการวิจัยสันติภาพและความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน อธิบายว่า สื่อเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะคลี่คลายความขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการสันติภาพได้โดยนำเสนอข่าวอธิบายสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง กำลังไปถึงไหนและมีแนวโน้มอย่างไร ไม่ใช่แค่นำเสนอข่าวสถานการณ์รายวันซ้ำๆ

“ส่วนหนึ่งของสงครามในยูโกสลาเวีย มาจากนักข่าวที่นำเสนอข่าวเอียงไปฝ่ายรัฐ เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรง ให้กลายเป็นความชอบธรรมในการทำลายฝ่ายตรงข้ามรัฐ”

เป็นการยกตัวอย่างการนำเสนอของสื่อที่โหมไฟสงคราม ของผศ.ดร. Isak ในระหว่างการเสวนา “พลังสื่อและการแปรความขัดแย้ง” ในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ซึ่งถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2554 เป็นการรวมตัวของเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมเพื่อมุ่งผสานสื่อทุกรูปแบบ ทั้งงานข่าว งานเขียนสารคดีและวรรณกรรม งานวิดีโอ งานภาพถ่าย งานละคร งานวิทยุ รวมถึงสื่ออื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อการร่วมกันแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ร่วมกัน

นายมูฮำหมัด ดือราแม ผู้ช่วยบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า จากการที่เขาลงพื้นที่ทำข่าวพบว่าชาวบ้านโดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบที่ เชื่อว่ารัฐเป็นผู้ก่อเหตุ หวาดระแวงต่อสื่อมวลชน โดยเชื่อว่าสื่อเป็นเครื่องมือของรัฐ จึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องวางบทบาทให้คนเข้าใจว่า สื่อคือพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการลงไปทำข่าวในฝ่ายชาวบ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเห็นการทำงานของสื่อและเข้าใจสื่อมากขึ้น

“ด้วยเหตุนี้โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้จึงมุ่งฝึกคนในพื้นที่ซึ่งเข้าใจปัญหาให้ทำข่าวอย่างมืออาชีพ ให้ความสำคัญกับเนื้อหาและนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีพลังพอที่สามารถแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ” นายมูฮำหมัด เชื่อ

สำหรับนายตูแวดานียา มือรืองิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน บอกเล่าถึงเรื่องที่เพิ่งพบเจอสดๆ ร้อนๆ กรณี 4 ศพ ที่ตำบลปูโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีว่า ในช่วงเช้าหลังวันเกิดเหตุเขาถูกชาวบ้านซักถามว่าทำไมถึงออกข่าวว่าชาวบ้านที่ตายเป็นโจรใต้ เขาปฏิเสธ และบอกว่าเป็นการนำเสนอของนักข่าวอื่นที่ลงพื้นที่ในช่วงกลางคืนหลังเกิดเหตุกับทหารหรือเปล่า

“มีเพื่อนผู้สื่อข่าว 2 คน ถูกเด็กในหมู่บ้าน 20 คนล้อมไว้ และตำหนิว่านำเสนอข่าวว่าชาวบ้านเป็นโจรใต้ได้อย่างไร ทั้งที่ชาวบ้านจะไปละหมาดศพ จนผมต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าบางทีนักข่าวในพื้นที่ส่งข่าวไปที่สำนักข่าว แต่ถูกบรรณาธิการสำนักข่าวที่กรุงเทพมหานครเปลี่ยนไปนำเสนออีกอย่างหนึ่ง” นายตูแวดานียา ถ่ายทอดประสบการณ์

ขณะที่นายมูฮำหมัดซอเร่ เด็ง ผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มบินตังโฟโต้ และเป็นสมาชิกเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ แสดงความเห็นว่า การเขียนข่าว การทำวีดีโอ การทำวิทยุ เขาเชื่อว่าเป็นเรื่องยากในการฝึกฝนให้เป็น แต่ถ้าเป็นภาพถ่ายเขาเชื่อว่าทุกคนมีกล้องถ่ายรูป สามารถถ่ายรูปง่ายๆ นำมาสื่อให้คนนอกพื้นได้เห็น

“ภาพๆ เดียวสามารถสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ได้มาก เช่น ปัญหาสาธารณะต่างๆ ขนบ ธรรมเนียบ วัฒนธรรมพื้นบ้าน รวมถึงอาหารการกินนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน เรามีแนวคิดจะทำธนาคารภาพถ่าย หรือพัฒนาไปเป็นพิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายชายแดนใต้ในอนาคต เพื่อสื่อให้คนนอกพื้นที่ได้รับรู้และเข้าใจผ่านภาพถ่ายมากขึ้น” นายมูฮำหมัดซอเร่ อธิบายถึงแนวคิด

สำหรับนายนิฟูอัด บาซาลาฮา นักจัดรายการวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกันสลาตันปัตตานี ภาคภาษามลายู เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2548 เขาได้ตัดสินใจรับจัดรายการวิทยุกับสำนักข่าว INN ทั้งที่เขาเป็นอุซตาซปอเนาะ แต่เล็งเห็นว่าหากเป็นสื่อก็สามารถร่วมแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ได้ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นตัวประสานงานระหว่างชาวบ้านที่ยังขาดสาธารณูปโภคกับหน่วยงานต่างๆ ได้มาก

“มีชาวบ้านโทรศัพท์เข้ารายการมาหาผมว่าไฟฟ้า น้ำประปายังเข้าไม่ถึงบ้าน จนต้องทำให้ผมต้องประสานงานกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน บางคนโทรศัพท์มาพูดคุยเรื่องปัญหายาเสพติดในพื้นที่ด้วย” นายนิฟูอัด เล่า

ทางด้านนายสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ซึ่งมีนักข่าวพลเมืองจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงความเห็นว่า นับแต่ปี 2547 ได้เกิดสื่อทางเลือกขึ้น คือสำนักข่าวประชาไท ศูนย์ข่าวอิศรา ตามด้วยนักข่าวพลเมืองของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทำให้สามารถเปิดพื้นที่สื่อด้วยการนำเสนอประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี การกระจายอำนาจ และเรื่องต้องห้ามหลายๆ เรื่องสื่อสารต่อสาธารณะได้

นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีภาคภาษาไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตสื่อไฟน์ทูนโปรดักชั่น แสดงความเห็นว่า สื่อส่วนกลางจะไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนักสำหรับคำว่าสื่อมืออาชีพ

“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการนำเสนอข่าวของสื่อทางเลือกชายแดนใต้ก็ต้องนำเสนอข้อมูลที่มีที่มา มีแหล่งอ้างอิง ไม่ใช่กุข่าวขึ้นมานำเสนอ ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งขึ้น” นางสาวนวลน้อย ย้ำถึงการนำเสนอของสื่อทางเลือกชายแดนใต้

สอดคล้องกับคำกล่าวในงานเลี้ยงช่วงหัวค่ำของคืนวันที่ 12 มีนาคม 2555 ของพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ว่า รัฐได้ทุ่มงบประมาณไปกับสื่อกระแสหลักทั้งช่อง 11 ช่อง 9 รวมทั้งสื่ออื่นๆ เพื่อสื่อสารเรื่องราวในจังหวัดชายแดนใต้ ทำความเข้าใจกับคนในและนอกพื้นที่ แต่ไม่ได้ผลในการลดความรุนแรงแต่อย่างใด

“ศอ.บต.ต้องติดตามข่าวสารจากสื่อทางเลือกที่สะท้อนความคิดเห็นที่หลากหลาย รวมถึงความต้องการของคนในพื้นที่ เรามีจุดยืนเดียวกับท่าน เราขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเราต้องร่วมกันสร้างมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน” พ.ต.อ.ทวี  พูดกับผู้ร่วมงาน

รวมถึงคำพูดปิดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ของนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ในเวลาบ่ายโมง

“ผมหวังว่าเครือข่ายสื่อทางเลือกชายแดนใต้ จะช่วยกันสะท้อนปัญหานำเสนอออกสู่สาธารณะเพื่อเติมเต็มสื่อกระแสหลักที่ยังขาดความรอบด้านอีกหลายแง่มุม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนใต้” ท่ามกลางการปรบมือรับอย่างเกรียวกราวจากผู้ร่วมงาน

ชาวโมร็อคโค เรียกร้องยกเลิก กม. อนุญาตให้ผู้ข่มขืนแต่งงานกับเหยื่อ

Posted: 16 Mar 2012 02:46 AM PDT

หลังจากที่อามีนา ฟิลาลี หญิงสาวอายุ 16 ปี ฆ่าตัวตายเนื่องจากถูกบังคับให้แต่งงานกับชายที่ข่มขื่นเธอ นักกิจกรรมชาวโมร็อคโคก็ได้เรียกร้องให้มีการแก้กฏหมายที่อนุญาตให้ผู้ที่ข่มขืนแต่งงานกับเหยื่อได้เพื่อรักษาเกียรติยศของครอบครัวฝ่ายเหยื่อ

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า นักกิจกรรมในโมร็อคโคเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้ที่ข่มขืนกระทำชำเราสามารถแต่งงานกับเหยื่อได้ หลังจากที่เหยื่อผู้หญิงอายุ 16 รายหนึ่งฆ่าตัวตาย

เหยื่อชื่อ อามีนา อัล ฟิลาลี อายุ 16 ปี ฆ่าตัวตายด้วยการกินยาเบื่อหนูขณะอยู่ที่เมืองลาราเช หลังจากถูกทุบตีขณะที่ถูกบังคับให้แต่งงานกับชายที่ข่มขืนเธอ

ชายที่ข่มขื่นเธอออกจากคุกได้โดยการอ้างถึงมาตราหนึ่งในกฎหมายอาญาที่ทำให้เขาสามารถพ้นผิดได้หากเหยื่อข่มขืนของเขากลายเป็นภรรยาเขา

นักกิจกรรม อาบาดิลลา มาแอเลไนน์ เขียนไว้ในเว็บทวิตเตอร์ว่า "อามีนา อายุ 16 ปี ถูกล่วงละเมิดถึงสามครั้ง จากผู้ที่ข่มขืนเธอ จากประเพณี และจากกฎหมายมาตรา 475 ของกฎหมายโมร็อคโค"

มีการรณรงค์ทางอินเตอร์เน็ตและมีแผนการชุมนุมเรียกร้องในวันเสาร์ (17 มี.ค.) เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ซึ่งทางผู้รณรงค์เรียกว่าเป็นกฎหมายที่ "น่าอับอาย"

ถูกครอบครัวตัดสัมพันธ์

กลุ่มสิทธิสตรีบอกว่า กฎหมายฉบับนี้ให้ความชอบธรรมกับประเพณีที่อนุญาตให้ผู้ข่มขืนแต่งงานกับเหยื่อได้โดยถือเป็นการรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรีของครอบครัวฝ่ายหญิงเอาไว้

กฎหมายของโมร็อคโคระบุว่า การข่มขืนกระทำชำเรามีโทษจำคุก 5 ถึง 10 ปี และเพิ่มโทษเป็น 10 ถึง 20 ปี หากเหยื่อเป็นผู้เยาว์

บิดาของฟิลาลีกล่าวว่า เมื่อเขาทราบข่าวเรื่องลูกสาวถูกข่มขืน เจ้าหน้าที่ศาลได้แนะนำทางเลือกให้ลูกสาวเขาแต่งงานกับคนร้าย

"อัยการแนะนำให้ลูกสาวผมแต่งงาน เขาบอกว่า 'ไปทำพิธีหมั้นเลย'" ลาห์เคน ฟิลาลี กล่าวในเว็บข่าว goud ma

สื่อท้องถิ่นรายงานอีกว่าหญิงผู้เป็นเหยื่อปรับทุกข์ให้ครอบครัวเธอฟังว่าเธอถูกกระทำทารุณโดยชายผู้ที่ข่มขืนเธอ แต่ครอบครัวของเธอก็ตัดสัมพันธ์เธอไป ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เธอฆ่าตัวตาย

สิทธิสตรี

ในสังคมบางแห่งรวมถึงในโลกอาหรับ การสูญเสียพรหมจรรย์นอกสมรสถือเป็นเรื่องเสื่อมเสียเกียรติ์ครอบครัว และมักจะมีการเตรียมการให้เหยื่อที่ถูกข่มขืนแต่งงานกับคนที่กระทำชำเราเธอ

ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าสามีของเธอโกรธมากเมื่อรู้ว่าเธอดื่มยาเบื่อหนู เขาลากทึ้งผมเธอออกมากลางถนนแล้วเธอก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ในเฟสบุ๊คมีเพจที่สร้างชื่อว่า "พวกเราทุกคนคืออามีนา ฟิลาลี" นักรณรงค์ยังได้เรียกร้องให้ผู้พิพากษาที่ตัดสินให้มีการแต่งงานถูกขังคุกด้วย

โมร็อคโคเคยแก้ 'กฎหมายครอบครัว' เมื่อปี 2004 ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรี แต่นักกิจกรรมบอกว่ายังคงมีสิ่งที่สามารถพัฒนาได้อีก ข้อเสนอการปฏิรูปรัฐธรรมนูญในโมร็อคโคก็มีขำเสนอในเชิงส่งเสริมสิทธิมตรีเพิ่มเข้าไปด้วย

รัฐบาลโมร็อคโคสำรวจพบว่าผู้หญิงโมร็อคโคร้อยละ 25 ถูกกระทำชำเราทางเพศอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต

 

ที่มา:

Moroccans call for end to rape-marriage laws, Aljazeera, 15-03-2012
http://www.aljazeera.com/news/africa/2012/03/2012315134325471675.html

พี่สาวจิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตแล้ว

Posted: 16 Mar 2012 01:08 AM PDT

ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ เกิดเมื่อ 27 มีนาคม 2471 เป็นพี่สาวของ จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนนักปฏิวัติเจ้าของงานเขียน อาทิ โฉมหน้าศักดินาไทย,โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ภิรมย์ ภูมิศักดิ์

ภิรมย์เป็นผู้ที่เก็บรวบรวมต้นฉบับงานเขียนของจิตรภูมิศักดิ์ไว้ โดยหลังจากการเสียชีวิตของ งานเขียน และประวัติของจิตร ภูมิศักดิ์ จึงได้ถูกทยอยนำออกมาพิมพ์เผยแพร่ต่อมา

ทางคณะคนใกล้ชิดได้แจ้งกำหนดการว่า จะมีงานรดน้ำศพ สวดอภิธรรม ณ วัดเสมียนนารี ศาลา 5 เวลา 16.00 น.จากวันนี้เป็นต้นไป  และมีกำหนดการฌาปนกิจ ในเวลา 13.00 น. ในวันจันทร์ที่  19 มี.ค.นี้

ภิรมย์ มีอาการขาบวม นอนไม่ได้ รับประทานอาหารไม่ได้ ประมาณ1-2สัปดาห์ จากนั้นก็เข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลบ้านแพ้ว สมุทรสาคร ก่อนที่จะสิ้นใจโดยสงบในเช้าวันนี้  สำหรับงานสวดอภิธรรมในคืนแรกมีผู้มาร่วมเพียง 3-40คน

ภาพประกอบ:ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

เม้าท์มอย : คุยยาวกับโชเฟอร์แท็กซี่ “พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ”

Posted: 15 Mar 2012 06:52 PM PDT

เม้าท์มอยวีคนี้ สัญจรมาคุยนอกสถานที่ ณ ริมน้ำเจ้าพระยาใต้สะพานพระราม 8 สนทนาเบาๆ แต่ไม่ไร้สาระกับโชเฟอร์แท็กซี่หน้าตาคุ้นเคยกันดีที่ชื่อ “พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ” หรือพ่อน้องเฌอ ถึงชีวิตวันวานที่ผ่านเรื่องราวมามากมาย ทั้งบทบาทนักพัฒนาเอกชนที่ร่วมขบวนการคัดค้านเอฟทีเอสมัยรัฐบาลทักษิณ บทบาทผู้ติดตามข่าวสารการเมืองเหลือง-แดงอย่างใกล้ชิด และกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งต้องสูญเสียลูกชายไปในเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในเดือนพฤษภา 53

มาถึงชีวิตหลังพวงมาลัยวันนี้ เขาคิดอย่างไรกับเงินชดเชยที่รัฐบาลจะจ่ายให้ 7.75 ล้านบาท ก่อนตบท้ายถึงความคืบหน้าและที่มาที่ไปของการตกเป็นคดีความกับพระอันเนื่องจากไปตอบโต้วาทะทางการเมืองเรื่องทหาร-น้ำท่วม-คนเสื้อแดง และประสบการณ์การเดิน “เมตตาบาทา” ไปพบตำรวจที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ นั้นเป็นอย่างไร

 

 

เม้าท์มอย : คุยยาวกับโชเฟอร์แท็กซี่

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น