ประชาไท | Prachatai3.info |
- บางความเห็นเกี่ยวกับตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย
- สนธิ ลิ้มทองกุล
- สนธิลั่นสู้ครั้งนี้ต้องชนะอย่างเดียว ไม่ใช่สู้เพื่อเปลี่ยนขั้ว
- สก็อตแลนด์ออก กม. บังคับสื่อเข้มงวดต่อข้อความเกลียดชัง
- รายงาน :ฝันค้างของ กอ.รมน.ภาค 4 เมื่อผู้ต้องหาถอนตัวไม่ใช้มาตรา 21
- สู่วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ (6) มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยพลังผู้หญิง
- พันธมิตรฯ ปฏิเสธคนทุบรถวอยซ์ทีวีไม่ใช่พวกเดียวกัน
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 4 - 10 มี.ค. 2555
- รถวอยซ์ทีวีถูกทุบขณะทำข่าวพันธมิตรฯ ผู้ก่อเหตุเคยจิกหัวสาวเสื้อแดงขึ้นหน้าหนึ่งเมื่อปี '52
- เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำยม จี้ยุติโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำยม
- เสวนาวิชาการ: สถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตยไทย
- อ.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยาส่งจดหมายให้กำลังใจ ‘วรเจตน์’
- ทางการพม่าขู่จะไม่ให้ชาวบ้านใช้ไฟฟ้า หากสนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี
- จาก “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” ถึง “ศิลปะเพื่อความพิการ”
- มติ กกต.วินิจฉัย "สัก กอแสงเรือง" พ้น ส.ว. เนื่องจากขาดคุณสมบัติ
บางความเห็นเกี่ยวกับตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย Posted: 10 Mar 2012 09:14 AM PST วันนี้เป็นวันหยุดมาฆบูชา ผมอยู่บ้าน ตื่นสายหน่อยเพราะเป็นวันหยุด มีนัดกับรายการวิทยุเล็กๆ รายการหนึ่ง เขาขอคุยเรื่องวันมาฆบูชา เมื่อคุยกันแล้วก็มาอาบน้ำ กินกาแฟ มีหนังสือพิมพ์วางบนโต๊ะ ภรรยาซื้ออ่าน ปกติผมไม่ค่อยได้อ่าน แต่วันนี้เป็นอะไรไม่ทราบ มือเอื้อมไปหยิบหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ฉบับวันพุธที่ ๗ มีนาคมมาอ่าน หน้า 10 อันเป็นหน้าการศึกษามีคอลัมน์หนึ่งพาดหัวว่า “บอร์ด กกอ. อนุมัติ 15 ศาสตราจารย์ มากสุดในรอบ 5 ปี” อ่านข้างในก็พบว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาท่านประชุมกันและมีมติอนุมัติอาจารย์จำนวน 15 ท่านเป็นศาสตราจารย์ การอนุมัตินี้เป็นปลายสุดของทางราชการแล้ว จากนี้ไปก็จะเป็นขั้นตอนเสนอกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป อาจารย์ทั้ง 15 ท่านนี้บางท่านเราก็รู้จัก เช่นท่านอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ท่านอาจารย์เกษียร เตชะพีระ มีท่านอาจารย์ท่านหนึ่งที่พอผมเห็นชื่อท่านแล้วผมก็แปลกใจ เรื่องของเรื่องก็คือว่า เมื่อประมาณปีหรือสองปีก่อน ผมได้รับทาบทามจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของท่านให้เป็นกรรมการอ่านงานของท่านอาจารย์ท่านนี้เพื่อประเมินว่า ท่านควรเป็นศาสตราจารย์หรือไม่ ผมก็รับปากฉันมิตร ว่าไปแล้วผมกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็คบค้ากันมานานในทางวิชาการ ทางมหาวิทยาลัยวานให้ผมช่วยอ่านและประเมินคนของท่านแบบนี้มาหลายปีแล้ว อาจารย์ท่านที่ผมรับปากว่าจะอ่านงานท่านให้นี้ ผมก็จำได้ว่าเคยอ่านงานของท่านสมัยขอรองศาสตราจารย์มาแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เมื่อทางมหาวิทยาลัยแห่งนั้นส่งเอกสารทางวิชาการของอาจารย์ท่านนี้มาให้ ผมอ่านก็จำได้ว่า เหมือนกับว่าเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งคือตำราของท่าน ผมเคยอ่านและประเมินแล้วสมัยที่ท่านขอรองศาสตราจารย์ ผมไม่แน่ใจจึงโทรศัพท์ไปถามเจ้าหน้าที่ ทางโน้นก็บอกผมว่า “ใช่แล้วค่ะอาจารย์ เป็นเล่มเดียวกับที่อาจารย์เคยอ่าน คราวโน้นอาจารย์ให้เกรดซีค่ะ” ผมก็ทราบจากเจ้าหน้าที่วันนั้นเองว่า นอกจากความจำผมจะไม่ผิด ตำราเล่มนี้ของอาจารย์ท่านนี้ผมก็ให้เกรดซี ผมก็พูดไปว่า เอ... ถ้าอย่างนี้เกรงว่าตำราเล่มนี้จะใช้ประกอบการขอศาสตราจารย์ไม่ได้แล้วล่ะ เพราะหากได้ ก็แปลกที่ระบบของเราอนุญาตให้ใช้ตำราเล่มเดียวกันเสนอขอตำแหน่งสองครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องอธิบายไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็อึ้ง ผมเลยช่วยไขปริศนาว่า มันจะเป็นอย่างนี้ไหมครับ ในระเบียบที่ทางมหาวิทยาลัยแนบมากับเอกสารของอาจารย์ท่านนั้นให้ผมนั้น มีระเบียบว่า ตำรานั้นเมื่อเขียนแล้ว กรรมการของมหาวิทยาลัยอ่านแล้ว ให้ผ่าน เคยพิมพ์ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้ขอตำแหน่ง หรือยังไม่พิมพ์เลย เมื่อถึงขั้นตอนจัดพิมพ์ หากเจ้าตัวเห็นว่า มีที่ควรปรับปรุงก็ปรับปรุงได้ เพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด เมื่อได้หนังสือนั้นมาแล้วก็เอามาขอตำแหน่งได้ ผิดกับงานวิจัยที่เมื่อทำแล้ว กรรมการอ่านแล้ว พิมพ์เผยแพร่แล้ว ภายหลังเจ้าตัวคิดจะใช้ขอตำแหน่ง แต่ไปเห็นข้อบกพร่องบางจุดเข้า ดำริจะแก้เพื่อให้ดูดีที่สุด อย่างนี้ท่านห้าม แต่หากเป็นตำรา ท่านไม่ห้าม ตอนที่ผมอ่านตำราเล่มนี้ของท่านอาจารย์ ยังเป็นต้นฉบับอยู่ แต่มีหนังสือรับรองจากสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยของท่านว่ากำลังดำเนินการจัดพิมพ์อยู่ ก็เข้าข่ายว่ากำลังจะเผยแพร่ เล่มเดียวกันนี้ส่งมายังผมอีกครั้งตอนที่พิมพ์เป็นหนังสือแล้ว และท่านก็ใช้ฉบับพิมพ์เป็นหนังสือนี้ขอศาสตราจารย์ (คือต้นฉบับใช้ขอรองศาสตราจารย์ เมื่อพิมพ์แล้วใช้ขอศาสตราจารย์) ผมก็แปลกใจว่า ท่านจะไม่เข้าใจระเบียบกระมังว่า ที่เขาให้แก้ไขได้นั้นก็เพื่อให้งานนั้นดีที่สุดสำหรับขอตำแหน่งอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น รองศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์ จะเอามาขอซ้ำกันสองครั้งไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ผมอธิบายแก่เจ้าหน้าที่ไป ทางนั้นก็ตอบผมว่า “เอาอย่างนี้ดีไหมค่ะ อาจารย์ไม่ต้องอ่านเล่มนี้ อ่านแต่งานวิจัยก็พอ แล้วคะแนนของอาจารย์ก็จะมีแต่ส่วนที่อาจารย์อ่าน คือจากงานวิจัยเท่านั้น ตำราเล่มนี้กรรมการท่านอื่นจะประเมินแทน” ผมก็บอกว่า เห็นจะรับไม่ได้หรอกครับ เพราะทำอย่างนั้นก็เสมือนลดผมไปเป็นเครื่องจักร ทักท้วงอะไรไม่ได้ มีหน้าที่เพียงทำงานตามใบสั่ง ติดขัดที่ตรงไหน หากเขาเห็นว่าผมเป็นปัญหาเขาก็จะยกผมออก เพื่อให้ระบบเดินไปได้ ทางโน้นท่าทางหนักใจ ผมก็เลยพูดไปว่า “หากจะบังคับให้ผมมองข้ามตำราเล่มนี้ อ่านแต่งานอื่น แล้วส่งคะแนนไปรวมกับของท่านอื่น ผมก็จะขอลาออกจากการเป็นกรรมการ” จากวันนั้นมา ผมก็คอยว่าเมื่อใดที่ท่านประธานจะนัดประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องที่ผมทักท้วง ผมไม่ได้ยืนยันว่าผมถูก แต่ผมคิดว่าที่ทำกันอยู่นี้น่าจะเข้าใจระบบผิดไป จะได้อภิปรายกันให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในที่ประชุม ปกติ ผมก็เข้าใจอะไรผิดอยู่เหมือนกัน ตามวิสัยปุถุชน แต่ที่ประชุมจะช่วยคลี่คลายความเข้าใจผิดนั้น เวลาผ่านไปเนิ่นนาน ผมก็ไม่ได้รับคำตอบอะไร จนเมื่อมาอ่านหนังสือพิมพ์วันนี้ จึงได้พบว่าท่านอาจารย์ที่ผมทักท้วงงานของท่านนั้นได้รับอนุมัติตำแหน่งศาสตราจารย์ รอเพียงขั้นตอนการโปรดเกล้าเท่านั้น สิ่งที่ผมคิดออกเวลานี้ก็คือ ผลที่ว่านี้น่าจะเกิดได้จากเหตุ 2 ประการคือ (๑) ผมถูกปลด แล้วตั้งคนอื่นแทน กรรมการคณะที่ไม่มีผมอยู่ด้วยก็พิจารณาให้ท่านอาจารย์ท่านนี้ผ่าน จะเอกฉันท์หรือไม่ ไม่ทราบ แต่ก็ผ่าน (๒) ชื่อผมยังอยู่ แต่เวลาประชุม เขาไม่เรียกผมเข้าประชุมด้วย บังเอิญสองเสียงให้ผ่าน เสียงผมก็ไม่ต้องใช้ สองข้อนี้ผมเลือกข้อแรก เพราะหากเป็นอย่างข้อสอง คณะกรรมการชุดนี้ก็เป็นบุคคลที่ผมไม่อาจเข้าใจจิตใจของท่านได้ เพราะหากทำอย่างนี้ได้ ท่านก็กล้าหาญชาญชัยผิดมนุษย์ ดังนั้นทางที่เป็นไปได้ที่สุดก็คือ ผมถูกปลด ไม่เป็นไรครับ ท่านตั้งผมได้ ท่านก็ย่อมจะปลดผมได้ แต่ผมก็เสียใจอยู่หน่อยว่า หากจะปลดก็น่าจะมีน้ำใจแจ้งผมมาสักหน่อย ตอนตั้งผมท่านตั้งอย่างเป็นการเป็นงาน เป็นคำสั่งของมหาวิทยาลัย เป็นหนังสือราชการ ซึ่งจริงๆ ผมก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไรหรอกครับ เพียงเจ้าหน้าที่ชั้นธุรการธรรมดาๆ โทรศัพท์มาทาบทาม ผมก็ถือว่าเป็นการให้เกียรติแล้ว ท่านอธิการบดียังไม่ต้องทำหนังสือแต่งตั้งผม ผมก็รับด้วยความดีใจที่จะได้ช่วยกันดูแลมาตรฐานทางวิชาการของประเทศนี้อยู่แล้ว แต่พอท่านจะปลดผม ท่านก็ปลดเสียอย่างนั้น ปล่อยให้ผมรอเก้อว่าเมื่อไหร่เขาจะเรียกประชุมอยู่เป็นปีสองปี ถ้าท่านไม่สะดวกจะทำหนังสือ เพียงให้เจ้าหน้าที่ธุรการชั้นผู้น้อยโทรศัพท์มาบอกผมหน่อยก็พอแล้วละครับ นี่ถ้าผมไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์วันนี้โดยบังเอิญ ผมก็อาจรอเก้ออยู่อีกนาน คิดไปคิดมาก็อดสงสารตัวเองไม่ได้ ทำไมผมเขียนเรื่องนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบ ก็ข้อความในย่อหน้าสุดท้ายของข่าวนั่นแหละครับเป็นเหตุ ท่านอาจารย์กำจร ตติยกวี ในฐานะผู้บริหารที่รับผิดชอบการให้ข่าวนี้แก่สื่อท่านบอกว่า “การอนุมัติบุคคลให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ครั้งนี้ถือว่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี ตั้งแต่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ออกประกาศมอบอำนาจให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณา แต่ยืนยันว่า การพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด...” ผมเกรงว่า กรณีที่เกิดกับผมนั้นจะขัดแย้งกับข้อความที่ผมอนุญาตขีดเส้นใต้ข้างบน สิ่งที่ผมทักท้วงนั้นสำคัญมากนะครับ เพราะเป็นงานจำนวน 50 % ของงานทั้งหมดสำหรับใช้ขอเป็นศาสตราจารย์ ถ้าตำราเล่มนี้ไม่อาจใช้ได้ตามที่ผมเข้าใจ เรื่องก็จะเป็นโมฆะหมด ผมไม่ยืนยันว่าผมถูก แม้จะเชื่อว่าตนเข้าใจไม่ผิดก็ตาม แต่ผมก็ไม่มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะทำให้เราได้ศาสตราจารย์มาอย่างถูกต้อง ผมเสียใจตรงนี้เท่านั้นเอง ภรรยาบอกว่า “ต่อไปอย่าอ่านงานให้เขาเลยนะ เขาทำกับเราเหมือนอะไรก็ไม่รู้” ผมเข้าใจภรรยา แต่ก็บอกเธอไปว่า ผมมองเหตุการณ์ทั้งหลายแบบแยกส่วนตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ผมกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกันมายาวนาน ผมมาสอนพิเศษในระดับปริญญาโททางด้านรัฐศาสตร์ให้ที่นี่มาหลายปีแล้ว ก่อนหน้านั้นก็เคยสอนปริญญาเอกให้ในสาขาสหวิทยาการอยู่สามสี่ปี การบอกปัดไม่รับอ่านงานให้เป็นการไม่แยกแยะ มหาวิทยาลัยนั้นอยู่นานครับ ที่ผ่านไปผ่านมาก็เฉพาะท่านที่มาทำหน้าที่บริหารเท่านั้น เวลาผมทำงานให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้และทุกแห่ง ผมไม่เคยคิดถึงบรรดาท่านผู้บริหารเลย แม้บางท่านจะรู้จักกันเป็นส่วนตัว คิดถึงก็แต่ตัวมหาวิทยาลัยที่เป็นนามธรรมที่จะอยู่ยืนนานไปชั่วลูกหลานเหลนโหลน หากในอนาคต ท่านขอมา ผมก็ต้องอ่านด้วยความเต็มใจและยินดีล่ะครับ ไม่ว่ากัน เราเป็นพี่เป็นน้องกันอยู่แล้ว ที่เขียนมานี้ก็ด้วยเหตุผลส่วนตัวแท้ๆ คือมีทุกข์บางอย่างในใจอันเนื่องมาจากการที่รู้สึกว่าเราถูกหยิบไปหยิบมาจะวางแหมะลงตรงไหนก็ได้เหมือนก้อนวัตถุ ผมไม่คิดจะไปร้องเรียนใคร แรกนั้นเคยคิดว่า มนุษย์มีกรรมเป็นของตน ดังนั้นใครทำอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เราไปเดือดร้อนแทนทำไม คิดไปอย่างนั้นเหมือนกันครับ แต่พออ่านข่าวแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของส่วนรวม อย่างน้อยคนเป็นศาสตราจารย์ก็ได้เงินเดือนเพิ่ม เงินเดือนก็มาจากเราๆ ที่เป็นชาวบ้าน ผมก็น่าจะช่วยคัดกรองให้เงินภาษีของเราๆ ได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่า ความคิดนี้เองที่ทำให้ที่สุดก็เขียนเรื่องนี้มาเล่า ไหนๆ ผมก็เรียนแล้วว่าผมมองมหาวิทยาลัยในแง่ที่เป็นสถาบันที่ผมให้เกียรติมาก ไม่ใช่คณะผู้บริหาร และเมื่อมองก็มองอย่างหวังดี อยากให้สถาบันที่ตนเกี่ยวข้องด้วยงามสง่าและทำอะไรถูกต้องเข้าร่องเข้ารอย เมื่อสิ่งที่ผมท้วงติงคราวนี้ไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในแง่ที่เป็นสถาบันเลย ผมก็ไม่มีเหตุผลจะปิดบังนามของมหาวิทยาลัย บางทีการเปิดเผยนามตรงๆ ด้วยเจตนาดี ก็อาจช่วยทุ่นเวลาของท่านที่อยู่ในสถาบันนี้ที่เห็นว่านี่เป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันคิดแก้ไขแล้วล่ะ แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรนัก จะได้ไม่ต้องไปคิดตีปริศนาธรรม หรือหาข้อมูลเพิ่ม ไปหาก็จะเจอครับ แต่อาจเสียเวลา ในเมื่อผมช่วยประหยัดเวลาได้ ก็ขอเปิดก็แล้วกันนะครับว่า เรื่องนี้เกิดที่ธรรมศาสตร์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 10 Mar 2012 07:46 AM PST | |
สนธิลั่นสู้ครั้งนี้ต้องชนะอย่างเดียว ไม่ใช่สู้เพื่อเปลี่ยนขั้ว Posted: 10 Mar 2012 07:37 AM PST โฆษก พธม. ชี้กวีไกรทุบรถคือสร้างสถานการณ์หวังใส่ร้าย ส่วนผลสำรวจ พธม. เสนอแกนนำยังไม่ควรชุมนุมใหญ่จนกว่า ศาล-ทหารจะร่วมปฏิรูปประเทศด้วย ด้าน "พิภพ" ลั่นจะใช้พระราชดำรัส-เศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิรูปประเทศ "สมเกียรติ" เผยมีความฝันว่ามวลชนจะออกมาร่วมกับกองทัพ ตุลาการ "การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย" จะเกิดขึ้น ผลสำรวจ พธม. ชี้ประเทศดีขึ้นต้องปฏิรูปใหญ่ ขจัดเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ ในเวลา 16.10 น. วันนี้ (10 มี.ค.) เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายพิภพ ธงไชย, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ และนายประพันธ์ คูณมี แนวร่วมพันธมิตรฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมหยุดเผด็จการรัฐสภา รวมพลังปฏิรูปประเทศไทย นายปานเทพ ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของพันธมิตรประชาชน ซึ่งตอบคำถามว่า ท่านคิดว่าประเทศไทยจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ด้วยวิธีการใดมากที่สุด พบว่าลำดับที่ 1 ร้อยละ 70.80 ระบุว่าต้องการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ขจัดระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ได้สำเร็จ ลำดับที่ 2 คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันดับที่ 3 เรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา และอันดับที่ 4 คือเรื่องหยุดยั้งกระบวนการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สำเร็จ ร้อยละ 7.26 หัวข้อต่อมา ท่านคิดว่าในเวลานี้ประชาชนทั่วไปในสังคมมีความทุกข์ร้อนกับปัญหาประเทศเพียงใด พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ทราบปัญหาแต่ส่วนใหญ่เพิกเฉยและถือว่าธุระไม่ใช่ ถึงร้อยละ 42.15 ประการที่ 2 ส่วนใหญ่ประชาชนยังไม่ทราบปัญหา และยังไม่ทราบข้อมูล ร้อยละ 33.33 และลำดับที่สาม ส่วนใหญ่ประชาชนมีความทุกข์ร้อน ร้อยละ 15.02 และอื่นๆ อีกร้อยละ 9.50
ชี้ยังไม่ควรชุมนุมใหญ่จนกว่า ศาล-ทหารร่วมปฏิรูปประเทศด้วย ส่วนหัวข้อที่ 3 ซึ่งมีความสำคัญ ท่านคิดว่าสถานการณ์ในวันนี้พันธมิตรฯ ควรก้าวเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งตอบได้มากกว่า 1 ข้อ พบว่าอันดับที่ 1 ที่มีมากที่สุด คือ ยังไม่ควรชุมนุมใหญ่จนกว่า ทหาร ตุลาการ และกลุ่มที่มีอำนาจต่างตกผลึกเข้าร่วมขบวนการภาคประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย ร้อยละ 29.17 ลำดับที่ 2 ยังไม่ควรชุมนุมใหญ่จนกว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้ตื่นรู้มากกว่านี้และควรหามาตรการเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ร้อยละ 22.37 ลำดับที่ 3 เห็นว่าควรประกาศชุมนุมใหญ่ทันที ร้อยละ 21.15 ลำดับที่ 4 แล้วแต่แกนนำ ร้อยละ 20.06 และอื่นๆ ร้อยละ 7.25
ปานเทพเผย พธม. เล็งตั้ง ครปร. เดินสายทั่วประเทศ นายปานเทพ กล่าวว่า ผลการสำรวจในการประชุมครั้งนี้ จากแบบสำรวจ 6 พันชุดที่แจกจ่ายออกไปไม่เพียงพอ ก็ทำให้แกนนำพันธมิตรฯ ทั้งรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ได้มีการประชุมกัน และมีมติออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2555 เห็นสมควรกำหนดแนวทางก้าวเดินต่อไป โดยกำหนดให้มีการเดินสายจัดเสวนาพบปะพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ เพื่อเปิดเผยความจริงและขยายให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนได้รับทราบและตื่นรู้ถึงความล้มเหลวถึงระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย หรือ ครปร. ประกอบไปด้วยตัวแทนภาคประชาชนทุกหมู่เหล่าให้เข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ ขอยืนยันว่าการชุมนุมครั้งใหญ่นั้น พันธมิตรฯ ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้การชุมนุมเพื่อเคลื่อนไหวต่อไป ภายใต้เงื่อนไขคือ มีการดำเนินการใดๆ ที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือลดพระราชอำนาจ หรือประการต่อมา มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับ นช.ทักษิณ ชินวัตร และพวก และ เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์ความเหมาะสมที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งใหญ่ ซึ่งภายใต้เงื่อนไขสามประการดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นเมื่อใด พันธมิตรฯ พร้อมจัดให้มีการชุมนุมใหญ่โดยทันที
กวีไกรทุบรถวอยซ์ทีวีถือเป็นการสร้างสถานการณ์ใส่ร้าย พธม. ส่วนกรณีที่นายกวีไกร โชคพัฒนเกษมสุข ขับรถจักรยานยนต์มาทุบรถยนต์ของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมวอยซ์ทีวีนั้น นายปานเทพกล่าวว่า ถือเป็นการกระทำที่มีเจตนาชัดเจนว่าต้องการสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายพันธมิตรฯ ให้ได้รับความไม่น่าเชื่อถือ หรือหรือได้รับความเสียหายว่าเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่เน้นและการอาศัยความรุนแรง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเราได้ดำเนินการจับกุมบุคคลดังกล่าวแล้ว และส่งให้สถานีตำรวจโดยทันที และขอให้ตำรวจได้ดำเนินการสอบสวนและลงโทษอย่างถึงที่สุด เพราะเราถือว่าเป็นเจตนาอย่างชัดเจนที่ต้องการป้ายสีให้พันธมิตรฯ มัวหมอง และต้องการเบี่ยงเบนประเด็นสำคัญในการประชุมวันนี้อย่างชัดเจน และเราเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ใช่แนวทางของพันธมิตรฯ อย่างแน่นอน และคนที่จับกุมครั้งนี้ก็คือพันธมิตรฯ ที่มีประชาชนเข้าจับกุมในครั้งนี้ให้ตำรวจต่อไป
จำลองเผยคนมาเยอะเกินคาด ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ตอบคำถามที่ว่า กลุ่มพันธมิตรฯ กับกลุ่มสยามสามัคคีจะมีโอกาสรวมตัวกันเพื่อชุมนุมเคลื่อนไหวหรือไม่ พล.ต.จำลองกล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการชุมนุมโดยกลุ่มอื่น พันธมิตรฯ ไม่เคยออกไปขัดขวาง และเราสนับสนุนด้วยซ้ำถ้ามีแนวคิดตรงกับเราในการปกป้องชาติและราชบัลลังก์ แต่เราจะไม่ไปออกในนามของพันธมิตรฯ คราวนี้ก็เช่นกัน เราก็สนับสนุนแต่ยังไม่ออกมาในนามของพันธมิตรฯ ตามที่แถลงการณ์ออกมาอย่างแน่ชัด เพราะว่าพันธมิตรฯ เวลาทำอะไรแต่ละทีจะต้องมีการประชุมกัน ซึ่งก็ต้องเสนอมาเป็นวาระประชุมว่าจะรวมกับกลุ่มนั้นกลุ่มนี้หรือไม่ หรือจะทำอย่างไร ซึ่งจะออกมารวมตัวกันโดยไม่ได้ประชุมกันก็ทำไม่ได้ เพราะพันธมิตรฯ เป็นองค์กรใหญ่ ทำอะไรแล้วต้องมีกฎมีระเบียบต่างๆ แต่ยืนยันว่าเราเห็นด้วยกับทุกคน ทุกหน่วย ทุกองค์กรที่ออกมาปกป้องสถาบันกษัตริย์และประเทศชาติ เราเห็นด้วยอย่างยิ่งและเราสนับสนุนจริงๆ เวลามีโทรศัพท์ถามว่าตนเป็นพันธมิตรฯ จะไปชุมนุมกับกลุ่มนั้นได้หรือไม่ ตนก็ตอบว่าไปเลย ผู้สื่อข่าวถามว่า การเดินสายรณรงค์ปฏิรูปทั่วประเทศประเทศจะมีกรอบระยะเวลาเท่าใด นายปานเทพ กล่าวว่า จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (ครปร.) เสร็จแล้ว และคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีหน้าที่ในการวางแผนในการรณรงค์ทั่วประเทศ ซึ่งเข้าใจว่าจะมีการรวมตัวกันในหลากหลายมิติและจะมีการเชิญบุคคลที่มีความสามารถและมีความตั้งใจจะร่วมทำงานในการรณรงค์ครั้งนี้ให้มากที่สุด และเป็นการทั่วไปก็จะมีตัวแทนในระดับภูมิภาคด้วย ต่อข้อถามว่า ครปร.ที่จะตั้งขึ้นมาใครจะเป็นเจ้าภาพ นายปานเทพกล่าวว่าพันธมิตรฯ จะเป็นเจ้าภาพ ส่วนใครจะเป็นแกนนำก็จะไปคุยกันและแจ้งรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง ด้าน พล.ต.จำลองกล่าวเสริมว่า ครปร. ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลคนนั้นคนนี้ แต่เราช่วยกันทำงาน
สมเกียรติถ้าเอาทักษิณกลับบ้าน-ลดอำนาจสุถาบัน พธม. มาแน่ เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า ต่อมาเวลาประมาณ 17.25 น. นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวปราศรัยบนเวทีว่าหลังจากเราต่อสู้กับระบอบทักษิณมา 8 ปี โดยส่วนตัวเราไม่ได้อะไรเลย นอกจากเป็นการพิสูจน์ว่า เราเหลือแต่พันธมิตรฯ ที่เป็นทองเนื้อแท้ที่ยืนหยัดต่อสู้อย่างยืดเยื้อยาวนาน เราล้มระบอบทักษิณ ก็ได้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งมันไม่ไหว ความหวังของตนต่อจากนี้ คือการให้ปัญญาประชาชน เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ คือต้องปฏิรูปครั้งใหญ่อย่างเดียว ไม่สนว่าจะเอาใครมา นายสมเกียรติกล่าวว่า เราจะชุมนุมใหญ่ก็ต่อเมื่อมีสถานการณ์แตกหักคือการเอาทักษิณกลับบ้านโดยไม่มีความผิด และลดอำนาจพระมหากษัตริย์ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงยังอีกนาน กว่าจะตั้ง ส.ส.ร.เสร็จ จึงถือว่าพันธมิตรฯ ฉลาดที่ยังไม่ชุมนุมช่วงนี้ เราจะเคลื่อนไหวจะต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ ซึ่งตนฝันว่าจะมีมวลชนออกมาร่วมกับกองทัพ ตุลาการ ประชาชนทุกชนชั้น เรียกว่า การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยจะเกิดขึ้น
ลั่นจะชุมนุมอีกแค่ครั้งเดียว และจะเอาชนะให้ได้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ปราศรัยตอนหนึ่งว่า วันนี้ แสดงให้เห็นว่าโดยกำลังรี้พล เราพร้อมที่จะชุมนุมใหญ่ แต่ถ้าเราจะชุมนุม เราจะพบกันอีกครั้งแค่ครั้งเดียว และเอาชนะให้ได้ ส่วนที่มีบางคนขู่ว่าจะเอาคน 5 แสนออกมาต่อต้าน เราไม่กลัว อย่ามาขู่ เราพร้อมที่จะออกมาเพื่อการปฏิรูปครั้งใหญ่ ให้สังคมไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
พิภพลั่นจะนำพระราชดำรัส เศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นทิศทางปฏิรูปประเทศ นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า วันนี้ พันธมิตรฯ ได้ลงมติว่าไม่สนใจการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตราบใดที่มีนักการเมืองเลวๆ บริหารประเทศอยู่ ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้น วันนี้เราไม่ซ้ายหันขวาหันอีกแล้ว เราจะเดินตรงไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย สำหรับแนวทางนั้น เราพร้อมหรือไม่ที่จะนำพระราชดำรัสมาเป็นทิศทางในการปฏิรูปประเทศไทย เช่น แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และตุลาการภิวัฒน์ พระราชดำรัสตลอดมาเป็นการปฏิรูปประเทศทั้งนั้น แต่นักการเมืองเลวๆ ไม่เคยนำมาปฏิบัติ เราต้องขจัดทุนสามานย์และนักการเมืองเลวๆ ก่อน และมีเนื้อหาปฏิรูป นายพิภพกล่าวต่อว่า ตนตั้งใจว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะเอาเนื้อหาของพระราชดำรัสมาเป็นเนื้อหาในการปฏิรูปประเทศไทย เพราะพระองค์ท่านทรงมีทั้งบารมี รักชาติ และต้องการครองแผ่นดินโดยธรรม
สนธิลั่นสู้ครั้งนี้ต้องชนะอย่างเดียว ไม่ใช่สู้เพื่อเปลี่ยนขั้ว ต่อมานายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ขึ้นกล่าวปราศรัยว่า เวทีนี้เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เวทีนี้คือจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง มีขบวนการพยายามหยุดยั้งตนทุกๆ เรื่อง ทั้งยิง 200 นัด และดำเนินคดี ขอบคุณศาลที่สั่งจำคุก 85 ปี ไม่เกินสิ้นปีนี้ พี่น้องจะรู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น ตนเคยถูกกล่าวหาจนคนประชาธิปัตย์ว่ารับเงินทักษิณ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่พูดนั้นโกหกทั้งหมด โดยที่ตนต้องทนเจ็บปวดมาหลายเดือน เขาฆ่าตนตายไม่ได้ จึงต้องเอาไปฆ่าในคุก ถึงต้องให้ติดคุก 85 ปี ทั้งที่แค่ทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ขณะที่คดีฆ่าคนตายโทษก็ยังจำคุกไม่มากขนาดนั้น นายสนธิกล่าวต่อว่า อะไรก็ตาม ที่เป็นเรื่องชาติแล้ว เรื่องอื่นมันเล็กไปหมด ถ้าวันนี้ถ้าให้ตายต่อหน้าแล้วงให้ชาติรอด นอกจากตนแล้วหลายคนในที่นี้ก็พร้อมตาย ลูกปืนยังหยุดตนไม่ได้ สั่งจำคุก 85 ปีจะหยุดได้อย่างไร ทำไมพวกเขาถึงกลัว ไปปั่นกระแสว่านายสนธิโดนคดี พันธมิตรฯ อ่อนแรง วันนี้มาไม่ถึง 1 พันคน แต่พี่น้องนี่ต่อให้ผมโดนอีกกี่คดี โดนจำคุกเป็นพันปีก็ยังจะมาที่นี่ จะเดินไปพร้อมกับตน ขอให้เสียงของพี่น้องประกาศให้พวกมันรู้ ให้เห็นว่าพี่น้องพร้อมเคียงข้าง ไม่ว่าตนจะเป็นอะไร พี่น้องก็พร้อมจะไป นายสนธิกล่าวต่อว่า นโยบายที่จะหยุดตนเป็นนโยบายที่ผิด เมื่อครั้งชุมนุมที่สนามหลวง ตนเคยก้มลงกราบพี่น้อง ขออภัยเรื่องในอดีตที่เคยทำไม่ถูกต้อง แต่จากนั้นไปขอเสียสละทุกอย่างทั้งทรัพย์สิน เงินทอง ชีวิต เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นายสนธิกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า เมื่อ 8 ปีที่แล้วที่ตนสู้กับทักษิณ ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่อย่างเดิม ตนเคยพูดว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ในอันตราย มีแต่พวกเราพันธมิตรฯ เท่านั้นที่เป็นที่พึ่ง ส่วนทหารก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ มีแต่คอยรับผลประโยชน์จากการเมือง ตนยืนยันว่ารัฐบาลนี้ยังมีแนวคิดที่จะล้มสถาบัน การไม่แก้มาตรา 112 แค่สับขาหลอก แต่หลอกพวกเราไม่ได้ นอกจากหลอกควายทหารบางตัว พอเขาบอกไม่แก้ 112 ก็หลั่นล้าๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มุ่งให้ทักษิณพ้นผิด เพราะฉะนั้นการสู้ครั้งนี้ สู้เพื่อชนะอย่างเดียว และไม่ใช่สู้เพื่อเปลี่ยนขั้วรัฐบาล บ้านนี้เมืองนี้จะไปได้ต้องไม่มีนักการเมืองบัดซบ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สก็อตแลนด์ออก กม. บังคับสื่อเข้มงวดต่อข้อความเกลียดชัง Posted: 10 Mar 2012 07:16 AM PST สก็อตแลนด์ได้ออกกฏหมายฉบับใหม่ว่าด้วยพฤติกรรมก้าวร้าวของแฟนฟุตบอลและการสื่อสารกันด้วยการคุกคาม ซึ่งมีบทลงโทษข้อความแสดงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนทำให้สื่อของอังกฤษที่มีข้อความดังกล่าวสามารถถูกดำเนินคดีในชั้นศาลได้ ศึก "โอลด์เฟิร์ม" ดาร์บี้แมตซ์แห่งกรุงกลาสโกลว์ แรนเจอร์ กับ เซลติก มีเรื่องการเมืองและศาสนาเป็นปูมหลังฝังใจให้แฟนบอลทั้งสองทีมไม่ค่อยชอบขี้หน้ากัน (ที่มาภาพ: Carl Recine/Action Images) ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน ของอังกฤษรายงานว่า สก็อตแลนด์ได้ออกกฏหมายฉบับใหม่ว่าด้วยพฤติกรรมก้าวร้าวของแฟนฟุตบอลและการสื่อสารกันด้วยการคุกคาม ซึ่งมีบทลงโทษข้อความแสดงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนทำให้สื่อของอังกฤษที่มีข้อความดังกล่าวสามารถถูกดำเนินคดีในชั้นศาลได้ สื่อทั้งหนังสือพิมพ์, เว็บไซต์ และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ต้องคอยระมัดระวังตรวจตราข้อความแสดงความเกลียดชังมากขึ้นแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้นหลังจากที่สก็อตแลนด์มีการออกกฏหมายใหม่ การที่สื่อต่างๆ ต้องคอยระวังข้อความเหล่านี้ เนื่องจากว่าตัวข้อความอาจทำให้พวกเขาถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาท เพราะกฏหมายใหม่จะบังคับไม่ให้พวกเขาให้การแก้ต่างที่สำคัญได้ 'กฏหมายว่าด้วยพฤติกรรมก้าวร้าวของฟุตบอลและการสื่อสารเชิงคุกคาม' เป็นกฏหมายที่ออกมาเพื่อปราบปรามการแสดงออกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในการชมฟุตบอล การแสดงออกดังกล่าวหมายถึงเพลง, คำขวัญ, การด่าทอ นอกจากนี้ยังรวมถึงข้อความที่โพสท์ลงในอินเเตอร์เน็ตอีกด้วย กฏหมายนี้เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา และสื่อของสก็อตแลนด์ก็แสดงความกังวลในเรื่องนี้ ว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามก็หมายการสื่อสารนี้ได้อย่างไร รัฐมนตรีด้านความปลอดภัยของชุมชนและการกฏหมาย โรเซียนนา คันนิ่งแฮม กล่าวว่า "พวกเราได้รับฟังคำร้องจากตำรวจและอัยการของสก็อตแลนด์ว่าพวกเขาต้องการอำนาจที่มากขึ้นในการใช้ไม้แข็งกับกลุ่มแบ่งแยกในกีฬาฟุตบอล และกับพฤติกรรมคุกคามที่โพสท์ลงบนอินเตอร์เน็ต กฏหมายใหม่เหล่านี้ให้ความกระจ่างว่า การแสดงความเกลียดชังทางศาสนาจะไม่ได้รับการอดกลั้น และจะต้องทำให้แน่ใจว่าคนที่ส่งเสริมการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมีรู้สึกว่าตนจะถูกดำเนินการทางกฏหมายอย่างเต็มที่" จ็อก บราวน์ ที่ปรึกษาของบริษัททนายความโบรดีส์ (Brodies) ในสก็อตแลนด์กล่าวว่า "ผมกำลังบอกกับทุกคนว่า ควรจะมีการใคร่ครวญอย่างละเอียดมากขึ้น" "ผมคิดว่าในตอนแรกฝ่ายกฏหมายจะให้ความสนใจกับผู้ผลิตสื่อชิ้นนั้นๆ แต่ถ้าหากยังมีการเผยแพร่ทิ้งไว้อยู่อย่างนั้น และมีข้อความที่เป็นไปในเชิงก้าวร้าว ผมก็คิดว่าพวกเขาจะเริ่มมองที่ตัวผู้เผยแพร่สื่อ" บราวน์ เปิดเผยว่า หากผู้เผยแพร่สื่อไม่ยอมนำสื่อที่มีข้อความก้าวร้าวออกภายใน 24 ชั่วโมง พวกเขาอาจมีปัญหาได้ ส่วนเรื่องที่ว่าฝ่ายกฏหมายจะเข้มงวดมากเพียงใดนั้น สามารถดูตัวอย่างได้จากคดีความที่พวกเขากำลังจะนำมาพิจารณาในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า กฏหมายฉบับนี้ยังสามารถบังคับใช้กับประชาชนหรือองค์กรที่อยู่ภายนอกสก็อตแลนด์ได้อีกด้วย บราวน์อธิบายว่า "ยกตัวอย่างเช่น ทีมฟุตบอลเซลติก กับเรนเจอร์ส มีแฟนบอลอยู่จำนวนมากในดับลินและเบลฟาสท์ หากมีใครก็ตามที่นำเสนอข้อความในเชิงก้าวร้าวก่อนที่จะเดินทางไปดุการแข่งขัน หรือหลังจากเดินทางแล้ว พวกเขาก็สามารถถูกจับดำเนินคดีได้" กฏหมายตัวนี้ยังสามารถบังคับใช้กับทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คได้ด้วยหากพวกเขายอมให้มีข้อความเชิงก้าวร้าวอยู่บนเว็บ เช่นเดียวกับสื่อที่อยู่ในอังกฤษ ด้านกระบวนการการนำตัวพวกเขามาสู่ศาลของสก็อตแลนด์นั้น อาจเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามภัยคุกคามก็ยังถือว่ามีอยู่ และมันไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่ออังกฤษถูกให้มาขึ้นศาลสก็อตแลนด์เนื่องจากไม่ทราบกฏหมาย ในตอนนี้มีผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ และ เว็บไซต์จำนวนมากที่มีมาตรการควบคุมเนื้อหาเพียงเล็กน้อย พวกเขาไม่มีการตรวจตราเนื้อหาก่อนเผยแพร่ และจะลบข้อความใดๆ ออกก็ต่อเมื่อมีคนรายงานไปถึง เป็นข้อความที่ผิดกฏหมาย หรือเป็นข้อความที่ขัดต่อนโยบายของตนเท่านั้น การนำเนื้อหาออกโดยทันทีตามที่กฏหมายใหม่ระบุไว้นั้น ต้องอาศัยการควบคุมตรวจตราเนื้อหาอยู่พอสมควร หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องมีการตรวจทานเนื้อหาก่อนโพสท์ลงบนกระดานข่าว ทำให้เกิดการล่าช้า ซึ่งสำหรับผู้ใช้ที่เคยชินกับการโพสท์แล้วแสดงผลทันทีจะรับตรงนี้ไม่ได้ หากไม่มีการตรวจสอบข้อความก่อนโพสท์แล้ว สื่อผู้เผยแพร่ข้อความอาจตกเป็นจำเลยโทษฐานหมิ่นประมาทได้ (ในสก็อตแลนด์ไม่มีข้อแตกต่างระหว่างข้อหากล่าวดูหมิ่นกับกล่าวให้ร้าย ทั้งสองอย่างถือเป็นโทษหมิ่นประมาททั้งสิ้น) ในฐานะผู้เผยแพร่ข้อมูลต่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในเชิงสารัตถะของมันแล้ว การเปิดกระดานข่าวให้สำหรับมีการถกเถียงบนเว็บไซต์ไม่สามารถถูกฟ้องร้องได้เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ทราบถึงเนื้อหาหรือข้อความหนึ่งๆ ในกระดานข่าว พวกเขาจะมีส่วนรับผิดชอบทางกฏหมายก็ต่อเมื่อเนื้อหานั้นๆ ถูกรายงานไปให้พวกเขา และพวกเขาก็ไม่ได้จัดการกับเนื้อหาดังกล่าวในเวลาที่ควร บราวน์กล่าวว่า เมื่อกฏหมายตัวใหม่ออกมาทนายฝ่ายจำเลยจะต้องต่อสู้คดีหนักมากในการปกป้องจำเลยฐานเผยแพร่ข้อมูลด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่อข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งถือเป็นเรื่องระหว่างบุคคล อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอัยการเองก็สามารถโต้เถียงในเรื่องนี้ในทางกลับกันได้ และบอกว่าการจับตามองข้อความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแสดงความเกลียดชัง จะทำให้สื่อระมัดระวังในการเผยแพร่เนื้อหาทุกส่วน รวมถึงข้อความที่มีการหมิ่นประมาทอยู่ด้วย เดวิด แบงค์ ผู้ให้คำปรึกษาด้านกฏหมายสื่อระบุว่า ปัญหาของกฏหมายฉบับนี้คือตัวสื่อผู้สอดส่องเนื้อหาเองก็ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากถึงจะยอมให้มันสามารถปรากฏบนสื่อนั้นๆ ได้ ในอีกกรณีหนึ่ง หมายความว่าแม้กระทั่งการตรวจคำผิดหรือไวยากรณ์ในข้อความก็หมายความว่าผู้เผยแพร่บล็อกนั้นๆ ไม่สามารถอ้างว่าพวกเขาเผยแพร่ข้อมูลโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ บราวน์กล่าวว่า "ผมได้แสดงความเห็นต่อรัฐบาลสก็อตแลนด์เรื่องการตัดสินใจในกรณีนี้ แต่มันก็เป็นการสร้างสนามทุ่นระเบิด" คันนิ่งแฮมกล่าว่วา "ชาวสก็อตฯ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 91 สนับสนุนให้มีการใช้มาตรการหนักขึ้นในการตอบโต้กลุ่มแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ฉันไม่ได้คิดไปเอง การออกกฏหมายนี้ไม่เป็นแค่ทางออกหนึ่งเดียวสำหรับปัญหาทั้งหมด นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมฉันถึงประกาศใช้งบประมาณ 9 ล้านปอนด์ (ราว 430 ล้านบาท) ภายในสามปีข้างหน้าเพื่อดำเนินนโยบายตอบโต้พวกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคม ทัศนคติสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยใช้เวลา และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการขจัดสิ่งที่น่าอับอายและกลายเป็นจุดด่างพร้อมของกีฬาที่พวกเราเชิดชูมานานแสนนาน" โฆษกรัฐบาลสก็อตแลนด์กล่าวว่า "พฤติกรรมใดๆ ก็ตามที่เข้าข่าย 'การสื่อสารเชิงคุกคาม' ตามเว็บไซต์หรือกระดานข่าวมีโอกาสที่จะเป็นการละเมิดกฏหมายการสื่อสารของปี 2003 อยู่แล้ว ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างกฏหมายฉบับดังกล่าวกับกฏหมายของปี 2012 คือ พฤติกรรมที่เข้าข่ายในตอนนี้จะถูกลงโทษสูงสุดคือจำคุก 5 ปี และ/หรือ ถูกปรับเป็นเงินไม่จำกัดจำนวน จากกฏหมายเดิมที่ระบุให้จำคุก 6 เดือน" "การล่วงละเมิดที่เข้าข่ายคือการข่มขู่ทำร้ายร่างกายอย่างสาหัส หรือการข่มขู่ที่มีเจตนายั่วยุความเกลียดชังทางศาสนา และเว็บไซต์ที่กำจัดข้อความข่มขู่จำพวกนี้ออกแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลจะต้องกังวล" สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รายงาน :ฝันค้างของ กอ.รมน.ภาค 4 เมื่อผู้ต้องหาถอนตัวไม่ใช้มาตรา 21 Posted: 10 Mar 2012 06:50 AM PST ศาลจังหวัดนาทวี
“ป้าเพย” รำเพย เทพี
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ “เขาวางระเบิดคุณนะ จะยอมให้เขาเข้าอบรมแทนถูกขังไหม” คำถามนี้ถูกนำมาถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายครั้งกว่าที่ “ป้าเพย” หรือนางรำเพย เทพี หญิงชราวัย 76 ปี ผู้ผ่านเหตุการณ์เฉียดตายมาแล้วถึง 2 ครั้ง จากเหตุระเบิดตลาดนัดนิคมเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา หน้าร้านค้าของตัวเอง เป็นคำถามเดียวกับที่นำมาใช้ถามเหยื่อของทั้ง 2 เหตุการณ์นี้อีก 17 ราย เพื่อเปิดทางให้ผู้ต้องหาในคดีนี้ เข้ากระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เหตุระเบิดครั้งแรก เกิดขึ้นช่วงเช้าวันที่ 14 มิถุนายน 2553 บริเวณปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญภายในตลาดนัดนิคมเทพา หมู่ที่ 3 ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ทหารพรานบาดเจ็บ 2 นาย ชาวบ้านอีก 3 คน ครั้งที่ 2 เป็นมอเตอร์ไซค์บอมบ์ เกิดขึ้นเช้าวันที่ 2 เมษายน 2554 บริเวณใต้ต้นไม้หน้าร้านขายของชำป้าเพย ห่างจากจุดแรกไม่เกิน 10 เมตร สะเก็ดระเบิดพุ่งเข้าใส่หน้าป้าเพย เศษซากสิ่งของกระจัดกระจาย แผงตั้งขนมขายพังไปเป็นแถบ อาคารบ้านเรือนเสียหายไปบางส่วน พวกทหารพรานที่ยืนอยู่ใกล้ๆ กับบาดเจ็บไป 6 นาย เช่นเดียวกับชาวบ้านอีก 4 คนที่มาจับจ่ายซื้อของ หลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงได้ 8 คน ในจำนวนนี้ 4 คนคือ นายมะซับรี กะบูติง นายซุบิร์ สุหลง นายสะแปอิง แวและ และนายอับริก สหมานกูด มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอเทพาและอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา อันเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ร่วมกับอีก 2 อำเภอของสงขลา คือ อำเภอจะนะและอำเภอนาทวี มาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552 ผู้ต้องหา 4 คนนี้ จึงถูกนำเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เข้ารับการอบรมแทนการถูกดำเนินคดี มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุว่า ผู้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือที่พนักงานสอบสวนแล้วปรากฏว่า ผู้นั้นกระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวน พร้อมทั้งความเห็นไปให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ถ้าผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ก็ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการนำเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน และปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนดด้วยก็ได้ โดยให้ศาลสั่งได้ต่อเมื่อผู้ต้องหายินยอมเข้ารับการอบรม และปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว เมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นอันระงับไป ทว่า ในกรณีนี้การดำเนินกระบวนการตามมาตรา 21 ต้องสะดุดลง เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ซึ่งเป็นชุดแรกของภาคใต้ ที่ยินยอมเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ขอถอนตัวต่อศาลจังหวัดนาทวี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่ศาลนัดผู้ต้องหาทั้ง 4 คน มายืนยันว่าจะเข้าอบรมตามตรา 21 หรือไม่ การขอถอนตัวดังกล่าว สร้างความปั่นป่วนให้เจ้าหน้าที่จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รวมถึงนายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เนื่องจากคาดหวังกับการเข้าอบรมของผู้ต้องหาชุดแรกมาก แม้ศาลจังหวัดนาทวี ให้โอกาสกลับไปคิดใหม่ แต่ในวันที่ 23 มกราคม 2555 ทั้ง 4 คน ก็ยังยืนยันต่อศาลเช่นเดิมว่า จะถอนตัวและพร้อมสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเทพา เข้าควบคุมตัวทันที ท่ามกลางการคัดค้านของนายกิจจา อาลีอิสเฮาะ และนายสิทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ ทนายความ เนื่องจากทั้ง 4 คนได้รับการประกันตัวมาก่อนหน้านั้นแล้ว พนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ส่งตัวให้อัยการจังหวัดนาทวี ที่สำนักงานอัยการจังหวัดนาทวี พนักงานอัยการจังหวัดนาทวีนัดส่งผู้ต้องหาทั้ง 4 คนฟ้องศาลจังหวัดนาทวี ในวันที่ 6 มีนาคม 2555 ก่อนจะปล่อยตัวไป ทว่า อัยการจังหวัดนาทวีได้ขอเลื่อนส่งฟ้องศาลไปเป็นวันที่ 19 เมษายน 2555 โดยฝ่ายทหารยังคงพยายามขอร้องให้ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน เข้าสู่กระบวนการมาตรา 21 เปิดกระบวนการถามเหยื่อให้ยินยอม การเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ศูนย์รับรายงานตัวตามมาตรา 21 ที่หน่วยเฉพาะกิจสงขลา ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา รับการรายงานตัวของทั้ง 4 คน จากนั้นกรณีของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ก็ถูกนำเข้าสู่พิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 21 รวม 4 ชุด ชุดแรกคือ คณะกรรมการรับรายงานตัว ที่จะพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ชุดที่ 2 คือคณะกรรมการสอบสวนพิเศษ เพื่อตรวจสอบว่า ผู้ต้องหามีหมายจับในท้องที่อื่นที่มิได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือไม่ กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ และเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือไม่ หากไม่เข้าเงื่อนไขเหล่านี้ แม้เพียงข้อเดียว ก็หมดสิทธิเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ทันที ผลการสอบสวนของคณะกรรมการชุดนี้ พบว่ามีผู้เสียหายจากการกระทำผิดของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน จำนวน 29 ราย จากทั้งหมด 9 คดี รวมถึงเหตุลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนบ้านควนหรัน ตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย เมื่อปี 2550 ชุดที่ 3 ถือเป็นชุดสำคัญและต้องดำเนินการควบคู่กับคณะกรรมการสอบสวนพิเศษ นั่นคือคณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดีและชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งมีผู้นำชาวบ้านในพื้นที่เกิดเหตุและถิ่นที่อยู่ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย หน้าที่หลักๆ คือ การสอบถามผู้เสียหายว่า จะยอมให้ผู้ต้องหาเข้าอบรมแทนถูกขังหรือไม่ เพื่อประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคง เป็นการให้โอกาสกลับตัว เนื่องจากไม่ได้ทำผิดเพราะโกรธแค้นผู้เสียหาย แต่เป็นเพราะหลงผิด คณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดีและชดเชยค่าเสียหาย ยังให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายด้วยจำนวนหนึ่ง บวกกับหาทางช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นเร่งด่วน นายพีระวัส ณ ตะกั่วทุ่ง ปลัดอำเภอเทพา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดีและชดเชยค่าเสียหาย ระบุว่าเป็นเรื่องยากมากกว่าจะเจรจาต่อรองให้ผู้เสียหายหรือญาติยินยอม เพราะยังมีความโกรธแค้นอยู่ แต่ทั้งหมดก็ยอมหลังจากคุยกันเพียง 2 ครั้ง ยกเว้นป้าเพยหรือนางรำเพย เทพี อายุ 76 ปี เจ้าของร้านเทพีการค้า ตลาดนิคมเทพา ตำบลท่าม่วง “คณะกรรมการต้องคุยกับป้าเพยหลายครั้ง กระทั่งลูกๆ ต้องมาช่วยพูดเกลี้ยกล่อมด้วย กว่าป้าเพยจะยินยอม” นายพีระวัส ระบุ ขณะที่ป้าเพยเอง ก็บอกว่าที่ยินยอมเพราะลูกหลานมาขอ เหตุที่ไม่ยอมในตอนแรก เพราะไม่มั่นใจว่าถ้าให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แล้วจะมีคนไม่พอใจลอบทำร้ายอีกหรือไม่ และใครจะคุ้มครองความปลอดภัยให้ เมื่อผู้เสียหายทั้งหมดยินยอมแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดที่ 4 คือคณะกรรมการกลั่นกรองผู้เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 ที่จะตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้ง จากนั้น คณะกรรมการชุดที่ 4 ส่งเรื่องให้พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) อนุมัติให้พนักงานอัยการจังหวัดนาทวี ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนาทวีขอให้ศาลสั่งให้เข้ารับการอบรมได้ เสียจากผู้ต้องหา“ทำไมต้องถอนตัว” ผู้ต้องหาหนึ่งใน 4 คน เล่าว่าถูกจับข้อหาวางระเบิดตลาดสดสะบ้าย้อย และถูกเจ้าหน้าที่ทุบตีหลายครั้งเพื่อให้รับสารภาพ แรกๆ ก็ทนได้ แต่พอโดนหลายครั้งเข้าก็ทนไม่ไหว จึงต้องยอม เจ้าหน้าที่บอกว่ามีหลักฐานมัดตัวชัดเจน หนีไม่พ้นแน่นอน จึงขอเข้ามาตรา 21 ส่วนผู้ต้องหาอีก 3 คน ระบุตรงกันว่า ทราบว่าหากเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 จะใช้เวลาอบรมเพียง 6 เดือน ความผิดจะถูกลบล้างไป แต่ไม่ทราบขั้นตอนเป็นอย่างไร และต้องทำอะไรบ้าง ทราบแต่เพียงว่าจะมีการอบรมศาสนาด้วย “รู้สึกไม่มั่นใจตั้งแต่เริ่มเข้ากระบวนการแล้ว ยิ่งเมื่อรู้ในภายหลังว่า ต้องเป็นพยานชี้ตัวคนอื่นด้วยก็ยิ่งไม่มั่นใจ จนกระทั่งได้ปรึกษากับทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ทนายแนะบอกว่า หลักฐานที่มีอยู่ไม่สามารถเอาผิดได้ เราจึงถอนตัวจากมาตรา 21 เพื่อมาสู้คดีและคิดว่าสู้ได้” ผู้ต้องหาคนหนึ่ง ระบุ ผู้ต้องหาคนเดิมอธิบายว่า ผู้ที่เข้าอบรมตามมาตรา 21 ต้องรับสารภาพ ถ้าไม่ได้ทำผิดแล้วรับสารภาพเพื่อเข้าอบรม คนอื่นก็จะเข้าใจว่า เป็นคนร้ายตลอดไป ถ้าหากสู้คดีแล้วศาลตัดสินว่าไม่ผิด คนอื่นก็ได้รู้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้าศาลตัดสินว่าผิด ก็จะได้รู้ไปเลยว่าผิดจริง “ถึงตอนนี้ผมขอเลือกใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ” นั่นคือคำยืนยันจากผู้ต้องหาคนเดิม เปิดข้อหา 4 ผู้ต้องหาถอนตัวมาตรา 21 สำหรับข้อหาที่ผู้ต้องหาทั้ง 4 คนได้รับ ดังนี้ นายอับริก ที่เคยเป็นครูสอนศาสนาอิสลามในโรงเรียนบำรุงศาสน์วิทยา อำเภอสะบ้าย้อย ถูกตั้งข้อหาเป็นผู้ปลุกระดมคนให้เข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ และเป็นผู้นำซุมเปาะห์ (สาบานตน) ผู้เข้าร่วมขบวนการรายใหม่ นายสะแปอิง และนายมะซับรี มีส่วนร่วมในคดีลอบวางระเบิดตลาดสดสะบ้าย้อย โดยมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดที่เห็นทั้งสองคนซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือที่ใช้จุดชนวนระเบิด เหตุเกิดเมื่อต้นปี 2553 นายซอบิร์ ถูกตั้งข้อหาเป็นคนดูต้นทางในเหตุลอบวางระเบิดตลาดนัดนิคมเทพา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 เหยื่อเซ็งหาทนายฟ้องเรียกค่าเสียหาย ส่วนกลุ่มผู้เสียหายจากเหตุลอบวางระเบิดตลาดนัดนิคมเทพากว่า 20 คน นำโดยนางพรทิพย์ พันธุ์เล็ก ได้เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร พบนายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ ที่สภาทนายความ ถนนราชดำเนิน เพื่อขอให้แต่งตั้งทนายความยื่นขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการจังหวัดนาทวี ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ต้องหาในคดีนี้ นางพรทิพย์ ระบุว่าการเข้าอบรมตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน เป็นความยินยอมร่วมกันระหว่างผู้ต้องหาและผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้ต้องหากลับตัวกลับใจ โดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายชดเชย “เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 4 คน กลับคำให้การและปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบวางระเบิด พวกเราเกรงว่า ผู้ต้องหาจะหลุดคดี จึงต้องการให้สภาทนายความช่วยเหลือ” นายสัก รับเรื่องไว้พิจารณาและยืนยันจะแต่งตั้งทนายความอาสาเข้าไปดำเนินการ 2 รายใหม่ขอเข้ามาตรา 21 การถอนตัวจากมาตรา 21 ของผู้ต้องหาทั้ง 4 คนดังกล่าว ใช่ว่าจะทำให้การนิรโทษกรรมตามกฎหมายฉบับนี้ต้องแท้งไป เพราะยังผู้ต้องหารายใหม่ 2 คน ที่ยอมมอบตัวและสมัครใจเข้าอบรมตามมาตรา 21 คือ นายรอยาลี บือราเฮง อายุ 25 ปี ชาวตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และนายยาซะ เจะหมะ อายุ 25 ปี ชาวตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา นายรอยาลี ถูกตั้งขอหาว่ามีส่วนร่วมโจมตีฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองหมู่บ้านเกาะแลหนัง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนเสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บ1 นาย ส่วนนายยาซะ ถูกตั้งข้อหาใช้ปืนยิงนายสุชาติ อุดม อายุ 45 ปี บาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดริมถนนสายสะบ้าย้อย–คูหา หมู่ที่ 1 ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 พล.ต.ธฤทธิ์ สุนทร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา ระบุว่าใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ยังมีผู้ต้องหาที่เข้าข่ายสามารถดำเนินการตามมาตรา 21 อีก 25 คน เป็นผู้ที่ถูกออกหมายจับมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเจ้าหน้าที่ขอให้ออกมารายงานตัวเข้ารรับกอบรมแทนการถูกดำเนินคดี แต่ยังไม่มีใครออกมา พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 เจ้าหน้าที่จับกุมผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหาทั้ง 4 คนได้ ที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ถ้าต้องการเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ได้ก็จะดี การบังคับใช้มาตรา 21 เป็นเครื่องมือหนึ่งในการดึงคนออกจากขบวนการก่อความไม่สงบ การที่ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน เลือกที่จะสู้คดีเป็นสิทธิที่เลือกได้ กองทัพไม่ได้รู้สึกเสียหน้า อย่างน้อยสังคมก็เห็นแล้วว่า รัฐได้พยายามแล้ว “รัฐพยายามยื่นทางออกให้พวกเขาอยู่ นี่คือวิธีสร้างความประดองในสังคม หากกระบวนการตามมาตรา 21 ทำให้สังคมสงบได้ รัฐก็พร้อมให้ทุกคนเข้ากระบวนการ” เป็นถ้อยยืนยันจากปากของ “พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์”
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สู่วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ (6) มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยพลังผู้หญิง Posted: 10 Mar 2012 06:12 AM PST “‘นายกฯปู-จีรนุช ประชาไท’ ติดโผสุดยอดหญิงนักสู้ของโลก’ พาดหัวข่าวแผ่หราอยู่บนหน้าของเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNek1USXdNakEwTVE9PQ==&subcatid= ระบุเวลา 17:20 น. วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555 มีเนื้อหาข่าวตอนหนึ่งระบุว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2555 พร้อมมอบโล่และประกาศเกียรติคุณสตรี บุคคล หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น จำนวน 19 สาขา จากข่าวระบุ 19 สาขานั้น ผู้หญิงจากจังหวัดชายแดนภาคใต้กวาดไปถึง 5 รางวัล ประกอบด้วยนางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอ สตรีดีเด่นด้านการพัฒนาชุมชุนภาคใต้ นางรอซิดะห์ ปูซู สตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมสันติภาพ นางแยน๊ะ สะแลแม สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง ผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารพิเศษเพ็ญสุข เสียงเพราะ ผู้บังคับบัญชากองพันนักศึกษาวิชาทหาร โรงเรียนสตรียะลา จังหวัดยะลา สตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ ประเภทเจ้าหน้าที่ของรัฐ และนางวิไล สังข์วิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาน อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานีนักการเมืองท้องถิ่นดีเด่นประเภทองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพมากแค่ไหน แม้จะไม่ติดโผสุดยอดหญิงนักสู้ของโลก ตามที่นิตยสารนิวสวีคของสหรัฐจัดอันดับสุดยอดผู้หญิงนักสู้ของโลก 150 คนก็ตาม ทว่าก็มีพลังที่จะขับเคลื่อนแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับหนึ่ง การออกมาส่งเสียง แถลงข่าว และเรียกร้องผ่านแถลงการณ์ของสตรีดีเด่น 3 คน คือนางแยน๊ะ สาแลแม นางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ และนางรอซีดะห์ ปูซู ในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ช่วงเวลา 13.30-15.30 น. ของวันที่ 13 มีนาคม 2555 ณ เวทีกลางลานกิจกรรม ชั้น 1 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงชวนให้น่าติดตาม ก่อนหน้านั้นในวันที่ 12 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นการเปิดฉากงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 “เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง” Bargaining Power : Civil Networking and Synergy Media เวลา 09.00-12.00 น. ที่ห้องย่อย 1 (A 310) ชั้น 3 เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ http://www.civicwomen.com/index.php เสวนาเรื่อง “ผู้หญิงชายแดนใต้กับการแปรเสียงแห่งความสูญเสียสู่เสียงแห่งสันติภาพ” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าว BBC ภาคภาษาไทย นางอัสรา รัฐการัณย์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ นางสาวดวงสุดา นุ้ยสุภาพ ผู้สูญเสียชาวพุทธ นางแยน๊ะ สาแลแม สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง 2555 นางมาริสา สะมาแห ผู้สูญเสียชาวมลายูมุสลิม นายแวหามะ แวกือจิ หัวหน้าสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน สถาตันปัตตานี ดำเนินรายการโดยนางโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นางสาวอัสรา รัฐการัณย์ แกนนำเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ บอกถึงจุดประสงค์ของการจัดเสวนาว่า เป็นการพูดคุยกับนางแยน๊ะ นางมาริสา และนางสาวดวงสุดา ผู้สูญเสียคนรัก ไม่ว่า พ่อ แม่ สามี ลูก สามีจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าทำอย่างไรถึงสามารถแปรเปลี่ยนจากเหยื่อ กลายเป็นผู้อุทิศให้กับสังคม “จากการที่เธอเหล่านั้นเป็นผู้ถูกกระทำแต่สามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้ แล้วเข้ามาทำงานในเครือข่ายผู้หญิงฯ ร่วมให้กำลังใจกับผู้ที่สูญเสียอื่นๆ และทุ่มเทเพื่อให้จังหวัดชายแดนใต้หลุดพ้นปัญหาคาราคาซังนี้ไปด้วยกันอย่างไร” นางสาวอัสรา เล่าถึงทิศทางของการเสวนา นอกจากนี้แล้วในช่วงบ่ายเวลา เวลา 13.30-15.30 น. ที่ห้องเดิม เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมยังมีกิจกรรมพบปะสื่อมวลชนและร่วมแลกเปลี่ยเรียนรู้เรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนงานสตรีชายแดนใต้โดยใช้พลังสื่อ” โดยมีนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นางสาวฐิตินบ โกมลนิมิ คณะทำงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นายตูแวดานียา มือรืองิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน นางโซรยา จามจุรี นางยะห์ อาลี ประธานเครือข่ายวิทยุชุมชนจ.ปัตตานี ซึ่งมีนางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น ผู้จัดรายการวิทยุม.อ.ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินรายการ นางสาวอัสรา อธิบายถึงการร่วมพูดคุยกับบรรดานักข่าวนั้น เพราะเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเล็งเห็นถึงการใช้สื่อไม่ว่า งานเขียนผ่านเว็บไซต์ วารสาร วิทยุ ฯลฯ เพื่อการขับเคลื่อนงานว่าควรใช้อย่างไรถึงจะมีพลัง โดยเชิญผู้สื่อข่าวที่คร่ำหวอดในพื้นที่ด้านต่างๆ มาชี้ประเด็นและเนื้อหา “ขณะเดียวกันกลุ่มผู้หญิงกลุ่มน้ำพริกเซากูน่าจะมาเปิดบูธขายผลิตภัณฑ์ เช่นน้ำพริก เมี่ยงคำ เป็นต้น เพื่อระดมเข้ากลุ่ม ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ที่จัดนิทรรศการภาพถ่าย และผลงานที่ผ่านมา” นางสาวอัสรา สาธยายกิจกรรมที่จะจัดในงาน ดูจากกิจกรรมที่เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ จัดในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ คล้ายๆ ว่ากำลังเร่งเสริมสร้างศักยภาพ มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยพลังผู้หญิง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
พันธมิตรฯ ปฏิเสธคนทุบรถวอยซ์ทีวีไม่ใช่พวกเดียวกัน Posted: 10 Mar 2012 04:32 AM PST กวีไกร โชคพัฒนเกษมสุข สารภาพทำไปเพราะไม่พอใจส่วนตัว ตำรวจแจ้งข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ขณะที่เวทีพันธมิตรฯ ขอให้ "ทีนิวส์" แก้ข่าวเพราะผู้ก่อเหตุไม่ใช่พันธมิตรฯ ขณะที่เจ้าตัวในอดีตเคยร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ หลายครั้ง และเคยไปชุมนมที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย ตามที่ในวันนี้ (10 มี.ค 55) เกิดเหตุนายกวีไกร โชคพัฒนเกษมสุข ทำลายรถของผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีซึ่งไปรายงานข่าวการชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สวนลุมพินี ในวันนี้โดยรถที่ถูกทุบประกอบไปด้วยรถยนต์ 4 คัน คือ รถตู้ 1 คัน รถดาวเทียมถ่ายทอดสด 1 คันและรถยนต์นั่ง 2 คันซึ่งเป็นรถยนต์เช่า โดยหน่วยรักษาความปลอดภัยของพันธมิตรฯ ได้ควบคุมตัวนายกวีไกร และส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี นำตัวไปสอบปากคำแล้ว โดยเบื้องต้นนายกวีไกร ระบุถึงสาเหตุที่เขาทุบรถเนื่องจากเห็นว่าเป็นรถของนักข่าววอยซ์ทีวี โดยเขาเชื่อว่าเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) ล่าสุดภายหลังจากการสอบปากคำ เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า นายกวีไกรให้การรับสารภาพว่าทำไปเพราะไม่พอใจเรื่องส่วนตัวเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาทำให้เสียทรัพย์ โทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ดูคลิปที่เกี่ยวข้อง) บนเวทีพันธมิตรฯ ที่สวนลุมพินี มีการปฏิเสธข่าวว่านายกวีไกร โชคพัฒนเกษมสุขไม่ใช่คนของพันธมิตรฯ ที่มาของคลิป: 2475tv/youtube.com อย่างไรก็ตาม บนเวทีการชุมนุมของพันธมิตรฯ ได้มีการแถลงปฏิเสธว่านายกวีไกร ไม่ใช่คนของพันธมิตรฯ โดยนายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี หรือนายอมร อมรรัตนานนท์ โฆษกประจำเวที ได้ปราศรัยถึงสำนักข่าวทีนิวส์ว่า อยากขอให้ท่านช่วย เมื่อสักครู่สร้างเหตุทำให้เข้าใจผิดว่าพันธมิตรฯ ทำร้ายนักข่าวสำนักข่าววอยซ์ทีวี เหมือนคล้ายๆ สองแฝดชกวรเจตน์แล้วมีการกล่าวหาว่าเป็นสีเหลืองทำ ขอชี้แจงว่าเมื่อสักครู่มีคนไม่ประสงค์ดีขี่มอเตอร์ไซค์มาทุบรถ แล้วพันธมิตรฯ รวมตัวกันจับส่งตำรวจเรียบร้อยแล้ว แต่สำนักข่าวทีนิวส์ไปออกข่าวว่าพันธมิตรฯ ทำลายรถของสำนักข่าววอยซ์ทีวี คุณสนธิญาณ (ชื่นฤทัยในธรรม) พี่น้องมิตรสหายก็ฝากดูแลนักข่าวด้วยนะครับ" โดยนายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที โฆษกอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ไอเอ็นเอ็นเมื่อสักครู่รายงานข่าวว่าแดงบุกป่วนสวนลุม พันธมิตรฯ ฉุนที่พวกเขาทุบรถวอยซ์ทีวี ตอนนี้ส่ง สน.ลุมพินี ทำให้นายรัชต์ยุตม์ กล่าวว่า "ไอเอ็นเอ็นจริงๆ ก็เป็นคู่แฝดทีนิวส์ ทำไมดันทะลึ่งลงคนละมุม ฝากทีนิวส์แก้ข่าวด้วย" โดยต่อมา เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ลงข่าวว่า "รวบคนร้ายใช้ท่อนเหล็กทุกกระจก "วอยซ์ทีวี" ป่วนงานพันธมิตรฯ" พาดหัวรองเขียนว่า "มวลชนพันธมิตรฯ จับชายขี่มอเตอร์ไซค์ใช้ท่อนเหล็ก ทุบกระจกรถ "วอยซ์ทีวี" ป่วนการเสวนา เผยคนร้ายคือ"กวีไกร"ที่เคยก่อเหตุดึงผมสาวเสื้อแดง ระหว่างชุมนุม นปช.ปี 52 สารภาพทำไปเพราะแค้นส่วนตัว" นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายกวีไกรเคยเป็นข่าวดังจากเหตุการณ์ที่เขาใช้กำลังเข้าทำร้ายผู้หญิงรายหนึ่งซึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2552 ภาพที่เขากำลังจิกหัวของหญิงรายดังกล่าวซึ่งผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐบันทึกไว้ได้นั้นได้รับรางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมจากสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2552 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยหลังเหตุการณ์ดังกล่าว นายกวีไกรได้ติดต่อเข้าไปที่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีด้วย เพื่อขอให้สัมภาษณ์ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยในการสัมภาษณ์ของ น.ส.อัญชะลี ไพรีรักษ์ นายกวีไกรยอมรับว่ากระทำไปจริงเพราะบันดาลโทสะ และได้กล่าวกับผู้หญิงเสื้อแดงในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยว่า ประเทศนี้เป็นของพระเจ้าอยู่หัวไม่ใช่ของทักษิณ โดยเขาพร้อมที่จะไปมอบตัวที่ สน.พญาไท หากผู้หญิงเสื้อแดงคนดังกล่าวเดินทางไปแจ้งความ (คลิปที่เกี่ยวข้อง ตอนที่ 1, ตอนที่ 2 ที่มา: rubythaimv/youtube.com) ขณะที่ย้อนหลังไปในปี 2551 เคยมีการเผยแพร่ภาพนายกวีไกรร่วมการชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค. 51 และเข้าร่วมในการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิระหว่างเดือน พ.ย. - ธ.ค. 51 ขณะเดียวกันใน Hi5 ของนายกวีไกร ตั้งค่าเผยแพร่แบบสาธารณะได้แสดงภาพขณะที่เขาเดินทางไปกับกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติของนายวีระ สมความคิด ไปที่หมู่บ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีษะเกษ เมื่อ 19 ก.ย. ปี 52 ด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 4 - 10 มี.ค. 2555 Posted: 10 Mar 2012 01:01 AM PST
7 แรงงานหญิงไทยรอประหาร ที่มาเลเซีย นายสมพงษ์ กางทอง อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ขณะนี้ทางการประเทศมาเลเซียประกาศเอาจริงจับแรงงานต่างด้าว และการทำผิดกฎหมายในประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้คนไทยที่ทำความผิดและถูกจับในประเทศนี้ ด้วยเรื่องยาเสพติด มากเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศไนจีเรีย ล่าสุด ศาลได้ตัดสินประหารชีวิตแล้ว 7 คน เป็นผู้หญิงทั้งหมด และยังรอศาลชั้นต้นตัดสินอีก 29 คน ในเขตกัวลาลัมเปอร์ ส่วนในเขตปีนัง ศาลตัดสินประหารชีวิตแล้ว 4 คน รอคำตัดสินอีก 10 คน ถ้ารวมนักโทษที่ต้องโทษประหารชีวิตทั้งหมดในขณะนี้ ประเทศไทยมีสูงมากเป็นอันดับหนึ่ง กฎหมายที่ประเทศมาเลเซียแรงมาก ถ้าเป็นการกระทำความผิดเรื่องยาเสพติด มีกัญชา 1 กิโลกรัม หรือยาเสพติดชนิดอื่น 1 กรัม ก็มีโทษขั้นประหารชีวิตได้แล้ว เหตุที่ผู้หญิงไทยเป็นเหยื่อมาก เพราะผู้หญิงไทยใจอ่อน เชื่อคนง่าย แล้วก็ต้องการมีสามีเป็นชาวต่างชาติ หรือต้องการเข้าไปทำงานต่างประเทศโดยอาศัยชาวต่างชาติ ขณะเดียวกัน ค่านิยมที่สอนให้ลูกหลานแต่งงานกับชาวต่างชาติ ก็ทำให้กลายเป็นปัญหา เพราะผู้หญิงเหล่านี้จะมองหาแต่ฝรั่งแต่งงานด้วย จึงกลายเป็นเหยื่อได้ง่าย เพราะอย่างกรณีของสาวไทยขนยาเสพติดอยู่ที่โน่น แต่งงานกับสามีชาวไนจีเรีย ซึ่งเขายอมลงทุนแต่งงานด้วย เพื่อให้ตายใจ สุดท้ายก็เลยต้องโทษประหารชีวิตเพราะขนยาเสพติดที่โน่น ปัจจุบันมีคนไทยที่เข้าไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียอย่างถูกกฎหมายประมาณ 8 พันกว่าคน ส่วนที่เข้าไปแบบผิดกฎหมายมีอยู่ประมาณ 1 แสนกว่าคน จึงทำให้เกิดปัญหาและถูกจับอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจากการที่ได้ช่วยเหลือพบว่า ปี 2553 มีคนไทยที่กระทำความผิดและได้รับการช่วยเหลือมาได้ประมาณ 800 กว่าคน ปี 2554 ประมาณ 500 กว่าคน แต่ในปี 2555 นี้ แค่เพียงต้นปี คือตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ มีคนไทยถูกจับกุมไปแล้ว 103 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นเฉพาะในเขตการดูแลของสถานทูต ไม่นับเขตที่อยู่ในความดูแลของสถานกงสุลไทยที่เมืองปีนังและโกตาบารู ส่วนใหญ่ถูกจับกุมในข้อหาทำงานผิดกฎหมาย ทั้งเป็นหมอนวด ค้าประเวณี โคโยตี้ นั่งชัวโมงในบาร์หรือคอกเทลเลาจน์ คนไทยเหล่านี้พอถูกจับก็อับอายไม่กล้าบอกชื่อ-นามสกุลจริง แก่เจ้าหน้าที่สถานทูต ยิ่งทำให้การดำเนินการให้ความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยุ่งยากขึ้นไปอีก เนื่องจากการเข้าเยี่ยมนักโทษหรือการติดต่อประสานงานกับทางการมาเลเซียจะ ต้องแจ้งชื่อ-นามสกุลจริงของผู้ต้องหาเท่านั้น อยากฝากเตือนไทยว่า ขณะนี้ประเทศมาเลยเซียเอาจริงกับการกวาดล้างแรงงานต่างด้าว และเรื่องการทำผิดกฎหมายและโทษรุนแรงมาก ดังนั้น ควรคิดให้ดีก่อนที่จะหลงเชื่อคำชักชวน หรือตั้งใจทำความผิด อย่าเดินทางเข้าไปทำงานผิดกฎหมายทุกประเภทในประเทศมาเลเซีย อย่าเชื่อนายหน้าที่อ้างว่าจะหาใบอนุญาตทำงานให้ภายหลัง โดยเฉพาะงานนวด โคโยตี้ นักร้อง นั่งเชียร์ดื่ม ฯลฯ การทำงานอย่างถูกต้องในมาเลเซียจะต้องได้รับเอกสารยืนยันการอนุญาตให้ไปทำ งาน (Calling Visa) จากสถานทูต/สถานกงสุล ของมาเลเซียในไทย โดยนายจ้างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการอย่างถูกต้องเท่านั้น การเดินทางเข้ามาเลเซียโดยการยกเว้นวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว แต่เข้า-ออกหลายครั้ง ครั้งละ 30 วัน หรือการใช้ใบผ่านแดนเข้ามาเลเซียเกินกว่า 25 กิโลเมตร ท่านจะถูกสงสัยว่ามีเจตนาทำงานผิดกฎหมาย และอาจถูกจับกุมได้ง่าย อย่าชะล่าใจว่าท่านมีวีซ่าอยู่ การเดินทางท่องเที่ยวตามสถานบันเทิงหรือแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะในเวลา กลาง คืน ให้ระมัดระวังคนต่างชาติโดยเฉพาะชาวแอฟริกันที่อาจพยายามตีสนิททำความรู้จัก กับท่าน ท่านอาจถูกมิจฉาชีพเหล่านี้ฉกชิงทรัพย์สินหรือชักชวนเข้าสู่ขบวนการขนยาเสพ ติด (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4-3-2555) ก.แรงงาน รับลูก ศธ.ทำ เลเบอร์แบงก์ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำธนาคารข้อมูลด้านแรงงาน (เลเบอร์แบงก์) ว่า ขณะนี้บริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญากับกระทรวงแรงงานกำลังเร่งจัดทำโปรแกรม ขณะเดียวกัน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งกรมการจัดหางาน (กกจ.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการจัดส่งข้อมูลด้านแรงงานมาให้แก่สำนักงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อรวบรวมข้อมูลในการจัดทำเลเบอร์แบงก์ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-3-2555) เผยคนงานกว่า 160,000 คน ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน ก.แรงงาน 5 มี.ค.- นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่ยังมีสถานประกอบการมากถึง 283 แห่ง และลูกจ้าง 163,712 คน ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน เนื่องจากปัญหาอุทกภัย ว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการเพื่อสอบถามความชัดเจนเรื่องการเปิดดำเนินกิจการ พบว่าส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ ได้รับการยืนยันว่ายังจะเปิดกิจการต่อและไม่มีการเลิกจ้าง โดยยอมให้ลูกจ้างไปทำงานที่อื่นชั่วคราวระหว่างที่โรงงานยังไม่เปิดดำเนิน การและยังคงจ่ายค่าจ้างให้ร้อยละ 75 ทุกเดือน อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการยังไม่สามารถกำหนดวันเปิดงานที่ชัดเจนได้นั้น เนื่องจากบริษัทประกันภัยยังไม่รับรองการทำประกัน ส่วนลูกจ้างที่ยังไม่ได้ทำงานและรอการเปิดงานอยู่นั้นก็รู้สึกไม่ค่อยพอใจ เพราะรายได้ไม่เพียงพอ ขณะที่ยอดการเลิกจ้างลูกจ้างล่าสุด อยู่ที่ 51,056 คน แต่ยังไปใช้สิทธิจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไม่มาก เนื่องจากบางส่วนมีงานทำก่อนที่นายจ้างจะเลิกจ้าง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มคนงานที่อายุมาก หางานใหม่ลำบาก กลุ่มนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ประสานจะรับเข้าฝึกอาชีพ เพื่อให้มีรายได้ระหว่างรองานหรือก่อนตัดสินใจประกอบอาชีพอิสระ (สำนักข่าวไทย, 5-3-2555) หาตำแหน่งงานว่างใน-ต่างประเทศรองรับนักโทษพ้นคุก นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงานและ ส่งเสริมการมีงานทำของผู้พ้นโทษระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงยุติธรรม ว่า ความร่วมมือดังกล่าวเกิดจากนโยบายส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ผู้พ้นโทษ เพื่อส่งเสริมให้มีงานทำทั้งในและต่างประเทศ และเปิดโอกาสในการมีอาชีพมีรายได้ให้แก่ผู้พ้นโทษได้กลับคืนสังคมอย่างเป็น ปกติและเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่จะเสริม สร้างขีดความสามารถของประเทศ จึงบูรณาการภารกิจร่วมกันของทั้ง 2 กระทรวงให้เป็นรูปธรรม และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านทักษะฝีมือให้กับผู้ที่อยู่ในข่ายจะได้ รับการพ้นโทษ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จึงได้จัดหาตำแหน่งงานไว้รองรับใน 3 ลักษณะคือ การเข้าทำงานในสถานประกอบการ การประกอบอาชีพอิสระ และการไปทำงานในต่างประเทศเพื่อให้ผู้พ้นโทษสามารถประกอบสัมมาชีพ เบื้องต้นมีผู้ประกอบการแสดง ความพร้อมรับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน 104 ตำแหน่ง 13,510 อัตรา อาทิ แม่บ้าน พ่อครัว แม่ครัว การค้าปลีก-ส่ง การค้าวัสดุอุปกรณ์ ช่างก่อสร้าง ช่างเชื่อมช่างสำรวจ นวดแผนไทย เป็นต้น ส่วนตลาดงานในต่างประเทศนั้น มีประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต้องการรับพนักงานต้อนรับ 15 ตำแหน่ง พ่อครัว 15 ตำแหน่ง เกาหลีต้องการผู้ประกอบอาหาร 3 ตำแหน่ง โดยกระทรวงแรงงานจะมีการประสานสำรวจความต้องการของนายจ้างเพิ่มเติม ในส่วนของการฝึกอบรมแก่ผู้ต้องขังชั้นดี ได้เปิดนำร่องใน 2 สาขา คือ สาขาผู้ประกอบอาหารไทยและสาขานวดแผนไทย โดยตั้งเป้าหมายในปี 2555 จะพัฒนาฝีมือแรงงานผู้จะพ้นโทษ จำนวน 2,096 คน พร้อมเดินหน้าจัดหลักสูตรช่างเชื่อมที่เรือนจำกลางระยองและฝึกช่างเครื่อง ประดับและอัญมณีที่เรือนจำจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน (บ้านเมือง, 5-3-2555) แรงงานหญิงวอนรัฐเร่งเยียวยาหลังน้ำท่วม โรงแรมรัตนโกสินทร์ 6 มี.ค.- แรงงานหญิงวอนรัฐเร่งเยียวยาหลังน้ำท่วม เผยถูกนายจ้างลอยแพ-หนี้สินล้น–หย่าร้าง ขณะที่รายได้ยังต่ำ ส่วนใหญ่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำแค่วันละ 201-300 บาท เสนอรัฐช่วยซ่อมบ้านตามสภาพความเสียหาย-ควบคุมราคาสินค้า ในงานเสวนา เนื่องในวันสตรีสากล เรื่อง “ชีวิตแรงงานหญิง หลังเผชิญวิกฤต มหาอุทกภัย” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาใส่ใจดูแล สวัสดิการแรงงานหญิง ที่กำลังอยู่ในสภาวะยากลำบาก น.ส.มณี ขุนภักดี ผู้ประสานงานมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันสตรีสากล ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและยอมรับผู้หญิงมากขึ้น แต่ปัญหาที่พบคือผู้หญิงยังถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม โดยเฉพาะหลังมหาอุทกภัยที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุการณ์ที่ซ้ำเติมแรงงานหญิง จากการสำรวจแรงงานหญิง 273 ราย อายุระหว่าง 36-50 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยใน จ.นนทบุรี สมุทรสาคร และ ปทุมธานี พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ แรงงานหญิงยังคงเป็นแรงงานที่มีรายได้ต่ำ ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.3 มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาท ร้อยละ 83.5 ได้ค่าจ้าง 201-300 บาท ต่อวัน นอกจากนี้ ยังพบปัญหาหนี้สินมากกว่า 10,000- 50,000 บาท ต้องซื้อของเงินผ่อนเกือบทุกอย่าง อาทิ เสื้อผ้า กางเกงใน รถมอเตอร์ไซค์ บ้าน และเป็นหนี้บัตรเครดิต ที่สำคัญคือส่วนใหญ่มากถึง 1 ใน 4 หรือกว่าร้อยละ 26 เป็นหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาสำคัญคือความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ร้อยละ 56 สมาชิกในครอบครัวต้องแยกไปอยู่ต่างจังหวัด ร้อยละ 26 ขาดการพูดคุยกัน ร้อยละ 14.3 เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และร้อยละ 7 มีการทำร้ายร่างกายกัน ส่วนปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ร้อยละ 94.9 มีอาการเครียด รองลงมา คือมีอาการนอนไม่หลับร้อยละ 83.2 และพบว่าร้อยละ 1.8 มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คลายเครียด ทั้งนี้ แรงงานหญิง ได้เรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างระหว่างน้ำท่วมมากที่สุดถึงร้อยละ 57.1 รองลงมาคือให้มีเงินช่วยเหลือพนักงาน ร้อยละ 23.1 ส่วนข้อเสนอต่อรัฐบาล ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.6 เสนอให้มีเงินช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านตามสภาพความเสียหาย รองลงมา คือการเสนอให้มีการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ร้อยละ 12.8 รวมถึงยังมีการเสนอให้แก้ไขสิทธิประโยชน์เรื่องประกันการว่างงานให้ครอบคลุม กรณีน้ำท่วม ร้อยละ 2.2 เป็นต้น (สำนักข่าวไทย, 6-3-2555) คนงานอยุธยาร้องกระทรวงแรงงานช่วยเหลือ อ้างนายจ้างปฏิบัติไม่เป็นธรรมและไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย คนงานบริษัทพี เอสซี เทคโนโลยี(ประเทศไทย )จำกัด บริษัทแอคคอมพลิส ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน และบริษัท ซันเฟลอริ่ง จำกัด ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเกือบ 100 คน มารวมตัวที่หน้ากระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้นายจ้างเลิกจ้าง จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย จ่ายสวัสดิการที่เท่าเทียม และจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยนายสมศักดิ์ สือเนตร อายุ 44 ปี หัวหน้าแผนกผลิตพื้นไม้ปาเก้ บริษัท ซันเฟลอริ่ง จำกัด กล่าวว่า นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 – เดือนกุมภาพันธ์ 2555 กับพนักงานอีก 175 คน จึงได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากนั้นนายจ้างได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานทุกคน โดยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย แต่ได้ชี้แจงรายละเอียดสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับให้กับพนักงาน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายให้เฉพาะตนคนเดียวที่มีอายุงานกว่า 17 ปี รวมมากกว่า 2 แสนบาท จึงได้มาขอความเป็นธรรมให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดให้นายจ้างมาจ่ายค่าชดเชยและ สิทธิ์อื่นที่ควรจะได้รับตามกฎหมาย ด้านนางสาวสุภาษิต เสือเหลือง อายุ 28 คนงานบริษัทบริษัท พี เอสซี เทคโนโลยี(ประเทศไทย )จำกัด และตัวแทนพนักงานบริษัทแอ๊คคอมพลิช เวย์ โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า มาเรียกร้องให้นายจ้างเลิกจ้างพนักงาน 40 คน ที่ได้ยื่นคำร้องขอให้นายจ้างปรับสวัสดิการ แต่นายจ้างไม่รับฟังและได้ประกาศปิดงาน พร้อมทั้งนำคนงานในเครือเดียวกันจากนิคมอื่นมาทำงานแทน รวมทั้งจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆตามที่พวกตนเรียกร้อง ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรม จึงอยากขอให้นายจ้างเลิกจ้าง (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 6-3-2555) เอกชนห่วงแรงงานขาดแคลน-ค่าแรง 300 บาท อุตฯรถยนต์กระหึ่มปีนี้ทะลุ 2 ล้านคัน นางทัศนา พิริยพฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยในงานสัมมนา "อุตสาหกรรมยานยนต์รับการผลิต 2 ล้านคัน? ว่า ภาพรวมการผลิตรถยนต์ในปี 2555 มีแนวโน้มจะเติบโตจากปี 2554 ค่อนข้างมากโดยยอดผลิตเพื่อส่งออกอยู่ที่ 1 ล้านคัน ขณะที่การจำหน่ายในประเทศจะอยู่ที่ 1.1 ล้านคัน ทำให้ภาพรวมการผลิตรถยนต์ปีนี้จะอยู่ที่ 2.1 ล้านคัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากที่ปีที่ผ่านมามียอดผลิตรวมเพียง 1.47 ล้านคัน เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีทำให้การผลิต ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.8 ล้านคัน นางทัศนากล่าวว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ให้ขยาย ตัวตามไปด้วยประกอบกับการคาดการณ์การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ใน ภูมิภาคอาเซียนจะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยสามารถส่งออกชิ้นส่วนไป จำหน่ายในต่างประเทศภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งตัวเลขการผลิตในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมาเริ่มสะท้อนภาพการฟื้นตัวของ อุตสาหกรรม ยานยนต์และชิ้นส่วนโดยยอดการผลิตรถยนต์ในเดือนม.ค.2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนติดลบเพียงเล็กน้อย และเชื่อว่าในช่วง 2 ถึง 3 เดือนข้างหน้าการผลิตรถยนต์จะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ไทยตั้งเป้าหมายให้ติดอันดับ 1 ใน 10 ของผู้ผลิตรถยนต์ของโลก โดยในปี 2557 จะมียอดผลิตรถยนต์รวมถึง 2.5 ล้านคัน นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วน ยานยนต์ไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยขณะนี้ฟื้นตัวหลังจากประสบอุทกภัยยังไม่ถึง 100% โดยการฟื้นตัวอยู่ในระดับ 30-40% และคาดว่าระดับการฟื้นตัวจะเพิ่มเป็น 70-80% ในช่วงไตรมาส 2 ที่จะถึงนี้ แต่ทั้งนี้ หลายโรงงานมีปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยทำให้ประสบความ ยากลำบาก การผลิตสินค้านั้นมีการผลิตทั้งสินค้า โออีเอ็ม และการผลิตอะไหล่ทดแทนอาร์อีเอ็ม ซึ่ง 2 ตลาดนี้มีโอกาสที่ดีในการส่งออกมากขึ้น การผลิตรถยนต์ในประเทศไทย แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 54% ส่งออก 46% ซึ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จะเติบโตตามอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยปีนี้ทุกภาคส่วนมีความพร้อมที่จะตั้งรับการผลิตที่ 2 ล้านคัน แม้ปีที่ผ่านมาผลิตได้ 1.45 ล้านคัน ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1.8 ล้านคัน สำหรับปีนี้ มีบางสถาบันคาดว่ายอดผลิตจะอยู่ที่ 2.1 ล้านคัน ซึ่งเป็นไปได้สูง เพราะไทยมีความพร้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเติบโตและพัฒนามานานกว่า 50 ปี อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานช่างฝีมือซึ่งการก้าวสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 จะช่วยให้ได้รับแรงงานไร้ฝีมือเข้ามาช่วยได้แต่แรงงานไทยบางส่วนอาจออกไปทำ งานในต่างประเทศเช่นกัน ส่วนเป้าหมายการผลิตที่ 2.5 ล้านคันในปี 2558 จะต้องใช้แรงงานในภาพรวมทั้งหมด 5.7 แสนคน แต่ขณะนี้ไทยมีแรงงานเพียง 4.5 แสนคนยังขาดแรงงานจึงใช้วิธีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 บาท (ข่าวสด, 7-3-2555) แรงงานหญิงยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อ รบ.วันสตรีสากล กลุ่มแรงงานสตรีเดินรณรงค์จากยูเอ็นไปยังทำเนียบรัฐบาล เนื่องในวันสตรีสากล ร้องขอพื้นที่เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน ขอมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายแรงงาน และขอให้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ด้าน พม.จัดงานมอบรางวัลสตรีและองค์กรดีเด่น วันนี้ (8 ม.ีค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวเนื่องในวันสตรีสากลว่า มีกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับองค์กรเครือข่ายแรงงานหญิง จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวเดินรณรงค์จากองค์การสหประชาชาติไปยังทำเนียบรัฐบาล เนื่องในวันสตรีสากล โดยมีข้อเสนอทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลมีนโยบายให้มีพื้นที่เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ 2.มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน 3.มีมาตรการและแนวทางในการช่วยเหลือแรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และเข้ามามีส่วนร่วมในกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดงาน "วันสตรีสากลประจำปี 2555" ภายใต้แนวคิด "พลังสตรี พลังสร้างสรรค์อนาคต" โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้สตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่น 19 สาขา 30 รางวัล และประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นด้านสตรีและครอบครัว 116 แห่ง ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เพื่อสร้างการยอมรับในความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของสตรีที่มีอยู่หลากหลาย รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนสร้างกำลังใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดำเนินงานพัฒนาสตรีและครอบครัว ให้บรรลลุยุทธศาสตร์ด้านสังคมของประเทศ และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-3-2555) จี้สภาฯเร่งถกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม วันนี้ (8 มี.ค.)ที่รัฐสภา น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ยื่นหนังสือถึง ส.ส.หญิง พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอให้ช่วยพิจารณาเลื่อนระเบียบวาระเร่งหยิบยกร่างพ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่... ) พ.ศ. .... ที่บรรจุอยู่ในระเบียบวาระประชุม ในเรื่องด่วน ลำดับที่ 9 ขึ้นมาพิจารณา เพื่อมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยน.ส.วิไลวรรณ แถลงเรียกร้องให้รัฐบาล ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เร่งหยิบยกร่างพ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่... ) พ.ศ. .... ที่บรรจุอยู่ในระเบียบวาระประชุม ในเรื่องด่วน ลำดับที่ 9 ขึ้นมาพิจารณา เพื่อมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย หลังจากที่ทางเครือข่ายผู้ใช้แรงงานได้ยื่นเรื่องดังกล่าวให้กับสภาผู้แทน ราษฎร พิจารณาตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ร่างกฎหมายของประชาชนถูกแช่แข็งอยู่ในวาระมานานแล้ว อีกทั้งไม่มีหลักประกันเพื่อยืนยันว่ารัฐบาลจะยกเรื่องนี้มาพิจารณา ทั้งที่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวประชาชนที่ใช้แรงงานทุกระบบจะได้รับประโยชน์ จากสาระในร่างกฎหมาย “เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้วที่ร่างกฎหมายที่เสนอโดยตัวแทนของประชาชนไม่ได้ถูกพิจารณา เพื่อให้ออกมาเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ดิฉันเคยยื่นเรื่องให้กับประธานคณะกรรมการประสานงาน พรรคร่วมรัฐบาลแล้ว แต่เขาอ้างว่าร่างกฎหมายของประชาชนจะพิจารณาได้ ต้องมีร่างกฎหมายของรัฐบาลมาประกบ ซึ่งประเด็นนี้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ว่าการพิจารณาร่างกฎหมายของประชาชน ต้องรอร่างกฎหมายของรัฐบาลก่อน ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมกับคนใช้แรงงาน ขอให้นายกฯหญิงให้ความสำคัญและเอาใจใส่พี่น้องแรงงานด้วย” นางวิไลวรรณ กล่าว (เดลินิวส์, 8-3-2555) คนงานปิดถนนปรับค่าแรง 300 บ. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. คนงานบริษัทธนบุรีประกอบยนต์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ กว่า 300 คน ที่ประท้วงเรียกร้องสวัสดิการอยู่ที่หน้าประตูบริษัทกว่า 10 วัน แต่ไม่สำเร็จคณะผู้บริหารไม่ยอมลงมาเจรจา ในวันนี้พนักงานทั้งหมดพากันเดินออกมาปิดถนนสุขุมวิทช่องทางคู่ขนานขาเข้า โดยใช้รถติดตั้งเครื่องขยายเสียงปราศรัยเรียกร้องให้ผู้บริหารมาเจรจา ทำให้การจราจรขาเข้าเมืองติดขัดยาวหลายกิโลฯ พล.ต.ต.จิตติ รอดบางยาง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ นำกำลังตำรวจกว่า 50 นายมารักษาความสงบและระบายการจราจรให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน ด้านนายภาคภูมิ สุกใส ประธานสหภาพแรงงานฯ กล่าวว่า เหตุผลที่สหภาพแรงงานและพนักงานทั้งหมดต้องออกมาชุมนุมเรียกร้อง เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่เข้ามาตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหา ทำให้แรงงานออกมานั่งประท้วงกันเป็นสิบๆ วัน แต่คณะผู้บริหารกลับไม่สนใจ ไม่ยอมมาเจรจาแค่ส่งตัวแทนที่ตัดสินใจอะไรไม่ได้เลยมา ทั้งนี้ได้ยื่นข้อเสนอ 9 ข้อ เกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงาน รวมทั้งปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท ตามที่รัฐบาลได้ประกาศ แต่คณะผู้บริหารกลับเอาสวัสดิการ เช่น ค่าครองชีพไปรวมอยู่กับเงินเดือน เพื่อให้หนีฐานตรงนี้ และปรับขึ้นให้เพียง 50 บาท คิดว่าเป็นการเอาเปรียบเกินไป และหากผลการเจรจายังไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งหมดจะรวมตัวเดินทางไปเรียกร้องความเป็นธรรมต่อผวจ.สมุทรปราการต่อไป (ข่าวสด, 9-3-2555) โรงงานชิ้นส่วนรองเท้าปิดกิจการลอยแพแรงงาน 188 คน เมื่อวันที่ 9 มี.ค.55 นายพันธ์ศักดิ์ ศรีนุชศาสตร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า กรณีที่แรงงาน จำนวน 188 คน ที่ถูกลอยแพได้รับผลกระทบจาก บริษัท บุรีรัมย์แพนฟุตแวร์ จำกัด สาขา อ.ลำปลายมาศ เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนรองเท้าส่งบริษัทรองเท้า "ไนท์กี้" ที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ ได้แจ้งปิดกิจการ เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางบริษัทอ้างว่าไม่มีออเดอร์ จากทางบริษัทที่ส่งออก ส่งผลให้ขาดสภาพคล่อง ปัญหาดังกล่าวทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือดูแลด้านสวัสดิการ ทั้งเงินประกันการว่างงาน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 6 เดือนหลังถูกเลิกจ้าง พร้อมติดตามเงินชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายจากทางโรงงาน ให้กับแรงงานที่มีอายุงานตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป ให้ได้รับตามที่กฎหมายกำหนด ที่ทางบริษัทจะต้องจ่ายชดเชยให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างรวมทั้งสิ้นกว่า 5 ล้าน 8 แสนบาท และหากทางบริษัทเพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็จะดำเนินการเอาผิด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทันที สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ยังกล่าวอีกว่า จากการเข้าไปให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ได้มีแรงงานบางส่วนพอใจ ที่จะรับงานไปทำที่บ้านในช่วงที่ว่างงาน ส่วนแรงงานที่เหลือ ทางเราก็ให้เข้าไปลงทะเบียน ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อที่จะได้จัดหาตำแหน่งงานว่างให้ทำ หรือหากแรงงานรายใด ต้องการฝึกฝีมือในด้านต่างๆ ตามความถนัด ก็จะจัดให้ไปฝึกที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพอิสระ และเข้าสู่ระบบการจ้างงานในโรงงานต่างๆเพื่อลดปัญหาความเดือดร้อน ให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ดังกล่าวต่อไป (เนชั่นทันข่าว, 10-3-2555)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รถวอยซ์ทีวีถูกทุบขณะทำข่าวพันธมิตรฯ ผู้ก่อเหตุเคยจิกหัวสาวเสื้อแดงขึ้นหน้าหนึ่งเมื่อปี '52 Posted: 10 Mar 2012 12:15 AM PST รถข่าววอยซ์ทีวีถูกทุบขณะทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การ์ดพันธมิตรจับตัวไว้ได้ปรากฏเป็นคนเดียวกับที่เคยจิกหัวสาวเสื้อแดงเมื่อปี 2552 วีรนันต์ กัณหา ผู้สื่อข่าวว้อยซ์ ทีวีซึ่งนั่งอยู่ในรถยนต์คันที่ถูกทุบกระจกเล่าว่าทีมข่าวว้อยซ์ทีวีที่เดินทางไปติดตามการชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สวนลุมพินี ประกอบไปด้วยรถยนต์ 4 คัน คือ รถตู้ 1 คัน รถดาวเทียมถ่ายทอดสด 1 คันและรถยนต์นั่ง 2 คันซึ่งเป็นรถยนต์เช่า เขาเล่าว่าขณะเกิดเหตุเขานั่งอยู่ด้านข้างคนขับ และรถยนต์ทั้ง 4 คันกำลังจอดอยู่บริเวณด้านหลังของอาคารลุมพินีสถาน จากนั้นผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นชายสวมเสื้อยืดสีขาว สวมหมวกกันน็อค ขี่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า ทะเบียน สงว 383 กรุงเทพมหานครขี่รถมาทางด้านซ้ายของรถยนต์คันที่เขานั่งอยู่และทุบเข้าที่ด้านหน้าของกระจกรถจนได้รับความเสียหาย ภาพนายกวีไกรขณะให้ปากคำกับพล.ต.ต. วิชัย สังข์ประไพ (เครดิตภาพ: คุณ เจ เจ สาทร) นายวีรนันต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทราบชื่อชายผู้ก่อเหตุแล้วชื่อนายกวีไกร โชคพัฒนเกษมสุขซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจลุมพินีกำลังสอบปากคำ นายวีรนันต์เล่าว่าทราบว่าหลังเกิดเหตุหน่วยรักษาความปลอดภัยของพันธมิตรฯ ได้เข้ารวบตัวนายกวีไกรไว้ได้ และนายกวีไกรกล่าวว่า เหตุที่เขาทุบรถเนื่องจากเห็นว่าเป็นรถของนักข่าวว้อยซ์ทีวี ซึ่งเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเขาเองเป็นพวกเสื้อเหลือง สำหรับนายกวีไกรนั้นเคยเป็นข่าวดังจากเหตุการณ์ที่เขาใช้กำลังเข้าทำร้ายผู้หญิงรายหนึ่งซึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2552 ภาพที่เขากำลังจิกหัวของหญิงรายดังกล่าวซึ่งผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐบันทึกไว้ได้นั้นได้รับรางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมจากสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2552 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำยม จี้ยุติโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำยม Posted: 09 Mar 2012 11:37 PM PST เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำยม ออกคำประกาศข้อเสนอต่อรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำยม 10 มี.ค. 55 - เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำยมเปิดเผยว่าจากการประชุมหารือกันของพี่น้อง พะเยา แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ในเวทีข้อเสนอการจัดการลุ่มน้ำยม ในวันที่ 7-8 มีนาคม 2555 ณ อุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายได้ข้อสรุปดังนี้
คำประกาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก ได้ก่อให้เกิดความผันผวนของธรรมชาติ เกิดสภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง หมอกควันไฟ ฤดูการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก รวมทั้งกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมของมวลมนุษยชาติ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า แร่ อากาศ อย่างไม่บันยะบันยัง ได้ทำให้ธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบกลับมาถึงพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลุ่มน้ำยม ขอประกาศว่า พวกเราจะร่วมมือกัน ปกป้อง รักษา และดูแลป่า ฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อนำสมดุลธรรมชาติกลับคืนมาสู่ลูกหลานของพวกเรา เช่น การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การไม่ตัดไม้ทำลายป่า การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางสำคัญที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน พวกเราจะร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนาแนวทางการจัดการน้ำชุมชน โดยอาศัยแนวทางของนิเวศวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้านและชุมชนเป็นสำคัญ เช่น ระบบเหมืองฝายโบราณ ทำฝายชะลอน้ำ เหมืองฝายขนาดเล็ก แหล่งกักเก็บน้ำโดยชุมชน สนับสนุนให้มีการจัดการน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็กโดยชุมชน ในรูปแบบของ "หนึ่งตำบล หนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ" พวกเราจะรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำยมจะมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างต่อเนื่อง และขยายการเรียนรู้ไปยังพื้นที่อื่น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนลุ่มน้ำยมในการจัดการลุ่มน้ำ เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลุ่มน้ำยม มีข้อเสนอต่อรัฐ รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้ 1.ให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่าและสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน อย่างแท้จริง เช่น การวิเคราะห์ปัญหา การทำแผนงาน การกำหนดพื้นที่ในการพัฒนา 2.ให้มีการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมอย่างเป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคีทุกภาคส่วน และมีความสอดคล้องเหมาะสมกับภูมินิเวศของท้องถิ่น โดยการใช้แนวคิดการจัดการน้ำชุมชน ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำเป็นหลัก ใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยมีชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาแผนการจัดการน้ำของแต่ละชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการวางแผนและสนับสนุนงบประมาณในการผลักดันแผนการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นรูปธรรม 3.ให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำยม เช่น ยุติการให้สัมปทานเหมืองแร่ ยุติการสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนห้วยสัก เป็นต้น 4.ให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดการน้ำโดยชุมชน การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็กที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และระบบภูมินิเวศวัฒนธรรม การสนับสนุนให้เกิดการฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ บ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดแผนการกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา ซึ่งลุ่มน้ำยม มีลำน้ำสาขาถึง 77 สาขา รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม รวมทั้งผลักดันและสนับสนุนท้องถิ่นในการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ หนึ่งชุมชนหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยหม้าย จ.แพร่ เป็นต้น 5.ให้รัฐบาลฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม พื้นที่ชุมน้ำ ในลุ่มน้ำยม เช่น การขุดลอกแม่น้ำ บึง หนองน้ำ ที่ตื้นเขิน การขุดลอกและพัฒนาอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ เพื่อขยายพื้นที่กักเก็บน้ำ และพื้นที่รับน้ำ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์เป็นสำคัญ 6.ให้ อปท. จัดทำแผนการจัดการน้ำในชุมชน ทั้งแผนแผนระยะสั้น และแผนระยะยาว โดยให้รัฐสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำแผนการจัดการน้ำชุมชนนำไปสู่รูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ 7.ให้ อปท. สนับสนุนงบประมาณ และกองทุนชุมชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ 8.ให้ อปท. โดยการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการจัดการป่าชุมชน การกำหนดแนวเขตป่า การออกกฎระเบียบในการดูแลรักษาป่า ด้วยจิตคารวะ เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลุ่มน้ำยม 8 มีนาคม 2555 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เสวนาวิชาการ: สถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตยไทย Posted: 09 Mar 2012 11:33 PM PST เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา ร่วมจัดประชุมทางวิชาการในหัวข้อ Democracy and Crisis (ประชาธิปไตยและวิกฤติการณ์) โดยมีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศร่วมอภิปรายในหัวข้อประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย โดยในหัวข้อสุดท้าย มีผู้ร่วมนำเสนอได้แก่ เดวิด สเตร็กฟัส นักวิชาการอิสระ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน และปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เดวิด สเตร็กฟัส ผู้เขียนหนังสือ Truth on Trial in Thailand: Defamation, Treason, and Lèse-Majesté อภิปรายหัวข้อ "Lese Majeste and Monarchies" (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเหล่าสถาบันพระมหากษัตริย์) นำเสนอแบบอย่างของสถาบันกษัตริย์ในยุโรป ในฐานะที่สามารถดำรงมาได้อย่างยาวนาน และอยู่ร่วมกับความเป็นประชาธิปไตยของรัฐได้อย่างไม่มีปัญหา โดยสเตร็กฟัสใช้กรอบ 5 ข้อเพื่อศึกษาสถาบันกษัตริย์ในยุโรปและในประเทศไทยเชิงเปรียบเทียบ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ การทำโพล ความโปร่งใสด้านงบประมาณ การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฎหมายกบฏ ในแง่ความสัมพันธ์ของกษัตริย์ต่อรัฐธรรมนูญของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรปแล้ว ยังนับว่ามีความคลุมเครืออยู่มาก โดยจะเห็นตัวอย่างในประเทศเนเธอร์แลนด์ มาตรา 32 ที่กำหนดให้กษัตริย์ต้องสาบานตนต่อสาธารณะว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือประเทศนอร์เวย์ มาตรา 19 ในรัฐธรรมนูญกำหนดว่ากษัตริย์ต้องสาบานต่อรัฐสภาว่าจะปฏิบัติตามธรรมนูญของประเทศ ในขณะที่ในประเทศไทย ยังไม่มีการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ในเรื่องนี้อย่างชัดเจน อีกแง่มุมที่สถาบันกษัตริย์ไทยมีความแตกต่างกับสถาบันฯของยุโรปอย่างเห็นได้ชัด คือการทำโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ทำขึ้นอย่างแพร่หลายและเป็นเรื่องปรกติ โดยเสตร็กฟัสส์กล่าวว่า ในระยะสองปีที่ผ่านมา เดนมาร์คได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ของตนเองอย่างน้อยสิบครั้ง โดยมีคำถามเช่น ราชินีควรสละราชบัลลังค์หรือไม่ เมื่อไร ทรงงานดีเพียงไหน ส่วนในสวีเดนก็มีการทำโพลเช่นกัน และถามคำถามที่หลากหลาย เช่น กษัตริย์ควรสละราชบัลลังค์ให้กับฟ้าชายเมื่อใด ใครในราชวงศ์ทีชื่นชอบมากที่สุด ไปจนถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ โดยในครั้งนั้นแบบสำรวจพบว่ามีชาวสวีเดนแสดงความไม่เชื่อมันในสถาบันกษัตริย์ถึงร้อยละ 35 ในขณะที่มีผู้เชื่อมันคิดเป็นร้อยละ 39 ที่มา: จากสไลด์นำเสนอของเดวิด สเตร็กฟัสส์ สเตร็กฟัสชี้ว่า การทำแบบสำรวจเช่นนี้ จะช่วยให้สถาบันกษัตริย์ได้ทราบว่าตนเองอยู่ตรงไหนในสังคม และทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนในประเทศไทย การทำสำรวจเช่นนี้ ยังคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันฯ สเตร็กฟัสยังชี้ให้เห็นด้านความโปร่งใสด้านงบประมาณในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งในระยะที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์ในยุโรปก็มีแนวโน้มเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ อนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ โฆษกของพระราชวังบักกิงแฮมก็ได้ออกมากล่าวว่า ราชวงศ์ของอังกฤษนั้นนับว่ามีราคาถูก โดยมีภาระด้านการเงินต่อประชาชนคิดเป็นหัวละ 66 เพนซ์เท่านั้น (ราว 1.04 ดอลลาร์สหรัฐ) ในขณะที่หากเปรียบเทียบกับของไทย จะคิดเป็นหัวละราว 5 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เสตร็กฟัสส์ชี้ว่า ยังมีงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยส่วนมากที่ยังไม่ถูกเปิดเผย และอยู่กระจัดกระจายในหลายกระทรวงและหน่วยงาน อีกทั้งสถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ยังมีความคลุมเครือในตัวเองด้วย ที่มา: จากสไลด์นำเสนอของเดวิด สเตร็กฟัสส์ ที่มา: จากสไลด์นำเสนอของเดวิด สเตร็กฟัสส์ สำหรับการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บางประเทศในยุโรป ได้บรรจุกฎหมายนี้อยู่ในส่วนของความมั่นคงของรัฐ เช่น ในรัฐธรรมนูญของนอร์เวย์ ระบุว่า พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ จะถูกฟ้องร้องมิได้ อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์สามารถเป็นไปได้อย่างอิสระ เช่น ประเทศนอร์เวย์ เสปน เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม ซึ่งมีบทลงโทษระหว่าง 2-5 ปี ในขณะที่ประเทศเดนมาร์คและสวีเดน กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายธรรมดาเทียบเท่าได้กับกฎหมายหมิ่นประมาท และมีการยกเว้นความผิดหากพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ หรือหากการวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งนี้ กฎหมายหมิ่นฯ ในยุโรปก็ไม่ค่อยได้ถูกใช้แล้ว โดยในเดนมาร์คไม่ได้ใช้แล้วตั้งแต่ปี 1934 (2477) หรือหากว่ามีการใช้ ก็เป็นแค่การปรับหรือจำคุกเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เมื่อเทียบกับการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ของประเทศไทย จะเห็นว่านอกจากสถิติการใช้จะเพิ่มขึ้นสูงขึ้นมากตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา ยังมีบทลงโทษรุนแรงที่สุดในโลกด้วย ถึงแม้ว่าสถิติของปีที่ผ่านมา (2554) จะมีจำนวนการดำเนินคดีหมิ่นฯ 85 คดี จาก 478 คดีในปี 2553 แต่หากเปรียบเทียบกับจำนวนคดีก่อนปี 2549 ที่มีเพียง 2-3 คดีต่อปี ก็นับว่ายังเป็นจำนวนที่แตกต่างกันมาก ที่มา: จากสไลด์นำเสนอของเดวิด สเตร็กฟัสส์ สเตร็กฟัสเปรียบเทียบการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย กับกฎหมายหมิ่นศาสนา (Blaspheme) ว่าแท้จริงแล้วไม่ต่างกันนัก เนื่องจากเป็นเรื่องของการดูหมิ่น “ศรัทธา” หรือ “ความเชื่อ” โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งถ้าหากดูจากกระแสที่คัดค้านการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกลุ่มนักวิชาการ ทหาร หรือสว. โดยอ้างเรื่อง “ความรู้สึก” “จิตวิญญาณ” และ “ความศรัทธา” ก็น่าจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี “[การคัดค้านของกลุ่มดังกล่าว] ไม่ได้พูดถึงว่ากฎหมายนี้ควรจะถูกปฏิรูปหรือไม่ แต่พวกเขากลับพูดคนละภาษาเหมือนกับว่ามาจากมุมองคนละโลก ไม่ว่าจะเรื่องความ “ศรัทธา” หรือ “ความรู้สึกของประชาชน” เปรียบได้กับการหมิ่นศาสนาเพราะคุณไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ซึ่งขัดแย้งกับหลักสากลที่คุ้มครองเรื่องสิทธิการแสดงออกของพลเมืองตามหลักสหประชาชาติ และเป็นการโจมตีคนที่ไม่ยอมรับคนที่เห็นตางจากอุดมการณ์ต่างของรัฐ” สเตร็กฟัสกล่าว สำหรับตัวชี้วัดข้อสุดท้าย เขากล่าวถึงการใช้กฎหมายกบฏในยุโรป ที่แยกจากการนิยมสาธารณรัฐออกจากการกำหนดความผิดฐานเป็นกบฏ เช่นในประเทศสวีเดน การจับกุมประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการมีสถาบัน ถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน โดยรัฐมองว่า การที่ประชาชนนิยมการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยและเป็นความใฝ่ฝันทางการเมืองมากกว่า ซึ่งสเตร็กฟัสชี้ว่า ถึงแม้รัฐจะเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ได้ แต่แนวโน้มการเติบโตของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมก็ไม่ได้เติบโตขึ้นเท่าใดนัก ในทางตรงกันข้าม ความนิยมของสถาบันกษัตริย์เอง จะเสื่อมลง ก็ต่อเมื่อมีประเด็นเรื่องการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้น เขากล่าวว่า ข้อสังเกตที่แสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์จะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยาวนาน ก็คือ การไม่ทำอะไรที่ผิดเกินไป ควรทำให้สถาบันโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเอื้อให้เกิดเสรีภาพในการแสดงออก ดังจะเห็นตัวอย่างจากหลายประเทศในยุโรปที่ประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ ติดลำดับประเทศที่มีเสรีภาพสื่อสูงมากที่สุดในโลก เช่น ในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ ที่มา: จากสไลด์นำเสนอของเดวิด สเตร็กฟัสส์ สำหรับการอภิปรายของนักวิชาการอีกสองท่าน ประชาไทจะทยอยมานำเสนอต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
อ.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยาส่งจดหมายให้กำลังใจ ‘วรเจตน์’ Posted: 09 Mar 2012 11:21 PM PST ระบุอย่าท้อแท้ ชี้บนเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มักมีเหตุการณ์อันไม่พึงปรารถนาหรือแม้กระทั่งการใช้ความรุนแรงอยู่เสมอดังที่เคยเกิดนับครั้งไม่ถ้วน 10 มี.ค. 55 - คณาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ได้เผยแพร่จดหมายที่จะส่งให้กำลังใจรองศาสตราจารย์ดร.วรเจตต์ ภาคีรัตน์ ในกรณีที่ถูกทำร้ายร่างกายในมหาวิทยาลัย โดยเนื้อหาของจดหมายมีดังต่อไปนี้ … ขอให้กำลังใจรองศาสตราจารย์ดร.วรเจตต์ ภาคีรัตน์ จากเหตุการณ์ที่มีกลุ่มอันธพาลกลุ่มหนึ่งทำร้ายร่างกายท่านถึงในมหาวิทยาลัย คณะทราบข่าวนี้ด้วยความรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเห็นว่าท่านได้ทำหน้าที่ของนักวิชาการอย่างสมบูรณ์ โดยการเสนอความเห็นทางวิชาการด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนทัศนะ ตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย ซึ่งทุกฝ่ายพึงเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางความคิดและมีข้อยุติทุกปัญหาด้วยสันติวิธี ใคร่ขอเรียนว่า เราในนามของคณาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาตามรายชื่อแนบท้ายด้านล่างนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ท่านได้ทำบทบาทของนักวิชาการที่ยึดมั่นในความถูกต้องตามแนวทางประชาธิปไตยต่อไป อย่าท้อแท้หรือเสียกำลังใจ เนื่องจากบนเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มักมีเหตุการณ์อันไม่พึงปรารถนาหรือแม้กระทั่งการใช้ความรุนแรงอยู่เสมอดังที่เคยเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนในประเทศไทยของเรา แม้กระทั่งธรรมศาสตร์เราก็เคยผ่านเหตุการณ์ที่เจ็บปวดมาแล้วหลายครั้ง หวังว่าท่านยังคงเข้มแข็งและมีสุขภาพกายใจที่ดีขึ้นในเร็ววัน ขอแสดงความนับถือ 1. ผศ.วิชชุกร นาคธน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ทางการพม่าขู่จะไม่ให้ชาวบ้านใช้ไฟฟ้า หากสนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี Posted: 09 Mar 2012 10:44 PM PST ชาวบ้านในหมู่บ้านอองชานทา ในเขตเนปีดอว์ อาจไม่มีสิทธิ์ได้ใช้ไฟฟ้า หลังจากเข้าร่วมฟังการปราศรัยหาเสียงของนางอองซาน ซูจี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการพม่าได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า ใครที่สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดีจะถูกตัดชื่อออกจากรายชื่อครัวเรือนที่จะได้ใช้ไฟฟ้า จนถึงปัจจุบันมีรายงานว่า หมู่บ้านดังกล่าวยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่พบว่า คณะกรรมการที่มีอำนาจในการจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่นั้นพบว่าเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดและอยู่ข้างพรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) ของรัฐบาล ชาวบ้านในพื้นที่ยังเปิดเผยว่า ตอนนี้ยังมีการข่มขู่เพิ่มเติมจากทางการพม่าว่า หากพรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งที่จะมาถึง จะไม่มีชาวบ้านคนไหนในพื้นที่ได้ใช้ไฟฟ้า ขณะที่พบว่า หมู่บ้านอองชานทานั้นตั้งอยู่ข้างๆถนนสายที่มีไฟฟ้าตลอดเส้นทาง ซึ่งถนนเส้นนี้เชื่อมไปยังกรุงเนปีดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ ซันดา วิน หนึ่งในผู้ลงสมัครจากพรรคเอ็นแอลดีเปิดเผยว่า เธอได้รับการเปิดเผยจากชาวบ้านหลายคนว่า คณะกรรมการที่มีหน้าที่จ่ายไฟฟ้าได้เรียกประชุมชาวบ้านเพื่ออธิบายว่า โครงการจ่ายไฟฟ้านั้นได้รับการสนับสนุนจากพรรค USDP ดังนั้น ทางคณะกรรมจึงจะไม่จ่ายไฟฟ้าให้กับชาวบ้านที่ให้การสนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี ก่อนหน้านี้พรรคเอ็นแอลดีก็ร้องเรียนว่าถูกทางการจำกัดในเรื่องสถานที่สำหรับใช้ในการปราศรัยหาเสียงระหว่างที่เดินทางมาหาเสียงในเขตเมืองเนปีดอว์ นอกจากนี้ยังร้องเรียนว่า ป้ายหาเสียงของพรรคเอ็นแอลดีก็ถูกทำลายลงในรอบๆเมืองเนปีดอว์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้มีรายงานว่า ทางการยังขัดขวางชาวบ้านที่ต้องการมาฟังการปราศรัยของนางซูจี โดยการนำชาวบ้านที่โดยสารมากับรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ไปยังอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งห่างไกลจากสถานที่ที่นางซูจีจัดปราศรัยหาเสียงเป็นต้น ขณะที่นางซูจีเตือนรัฐบาลระหว่างหาเสียงในเมืองตองอูว่า พรรคการเมืองใดที่พยายามชนะเก้าอี้ในรัฐสภาโดยใช้วิธีไม่ซื่อสัตย์นั้น จะยิ่งเป็นการทำร้ายประเทศ แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy 9 มีนาคม 55 ชาวบ้านใกล้โครงการเขื่อนมิตซงถูกสั่งให้อพยพภายใน 10 วัน มีรายงานว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านตานปรี ซึ่งใกล้กับโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตซง ในรัฐคะฉิ่นถูกทางการสั่งให้อพยพไปอยู่ที่อื่นภายในวันที่ 17 มีนาคมที่จะถึงนี้ โดยหากชาวบ้านฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ ทางการได้สั่งให้ชาวบ้านในหมู่บ้านตานปรีย้ายไปยังหมู่บ้านอองมินทา ซึ่งอยู่อีกหมู่บ้านถัดไปไม่เกินวันที่ 17 มีนาคมนี้ โดยหากชาวบ้านคนใดไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกดำเนินคดี โดยทางการยังสั่งให้ชาวบ้านรื้อถอนบ้านเรือนออกไปให้หมดและบังคับให้ชาวบ้านเซ็นเอกสารรับรองว่า จะไม่อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านตานปรี โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพื้นที่ยังอ้างว่า คำสั่งอพยพชาวบ้านนั้นมาจากรองประธานาธิบดีตีฮา ทุระ ติ่นอ่อง มิ้น อู ด้านอ่องเต็ง ซึ่งเป็นทนายความระบุว่า หากชาวบ้านฝ่าฝืนคำสั่ง อาจถูกทางการดำเนินคดีตามกฎหมายข้อที่ 188 ที่ระบุว่า หากผู้ใดละเมิดคำสั่งของรัฐบาลก็อาจถูกดำเนินคดีให้จำคุกเป็นเวลาตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี ขณะที่พบว่า หมู่บ้านที่ทางการเตรียมไว้ให้ชาวบ้านอพยพไปนั้นพบว่าเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการหาเลี้ยงชีพและไม่มีพื้นที่ทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน “เราไม่สามารถทำธุรกิจอะไรได้ที่หมู่บ้านอองมินทา ที่หมู่บ้านตานปรีนั้น เรายังสามารถร่อนทองและหาผักในป่าไปขายเพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัวได้” ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าว ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของคะฉิ่นที่เฝ้าติดตามการก่อสร้างโครงการเขื่อนมิตซงได้ออกมาเปิดเผยว่า การก่อสร้างเขื่อนมิตซงยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้ประธานาธิบดีเต็งเส่งจะประกาศพักโครงการนี้เมื่อปีที่แล้วก็ตาม แปลและเรียบเรียงจาก Mizzima 8 มีนาคม 55 ชาวบ้านโวย บริษัทจีนตักตวงผลประโยชน์จากเหมืองหยกเกินที่รัฐกำหนด ด้านเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรู้เห็นเป็นใจ มีรายงานว่า บริษัทของจีนได้เข้าไปขุดหยกในเหมืองหยกผากั้น ในรัฐคะฉิ่นเกินตามที่รัฐได้กำหนดไว้ และใช้แนวทางผิดกฎหมายเพื่อให้สามารถตัดตวงเอาผลประโยชน์จากเหมืองหยกในรัฐคะฉิ่นให้ได้มากที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่รู้เห็นเป็นใจ ทั้งนี้ ชาวบ้านในเมืองผากั้นเปิดเผยว่า บริษัทของจีนได้ทำเหมืองนอกเขตพื้นที่ที่มีการอนุญาต และใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่และใช้ปุ๋ยมากเกินที่จะรับได้ รวมทั้งมีการขุดหาหยกตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะที่เจ้าหน้าท้องถิ่นรู้เห็นเป็นใจเรื่องนี้ ด้านชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า “พวกเขาพยายามที่จะตักตวงผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ในตอนนี้ เพราะกังวลว่า หากรัฐบาลพม่าชุดใหม่เข้ามาบริหาร อาจทำให้บริษัทจีนไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ” ชาวบ้านคนเดิมยังเปิดเผยว่า แรงงานเหมืองหยกได้เปิดเผยกับเขากว่า บริษัทของจีนมีแผนที่จะขุดเอาเหมืองแร่ไปทั้งหมดในช่วงยุคของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ด้านชาวบ้านในพื้นที่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในพื้นที่ เนื่องจากการทำเหมืองที่ไม่มีการควบคุม โดยระดับน้ำในแม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียงอย่างแม่น้ำอูรูเริ่มแห้งขอด และพบว่า ชาวบ้านในเมืองผากั้นเริ่มขาดแคลนน้ำใช้ และปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและดินถล่มโดยที่รัฐไม่มีมาตรการใดๆเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่มีบริษัทกว่า 200 บริษัท ทั้งจากรัฐบาลพม่าและจีนที่เข้าไปลงทุนทำเหมืองในเมืองผากั้น รัฐคะฉิ่น อีกด้านหนึ่ง กลุ่มเครือข่ายพัฒนาคะฉิ่น (Kachin Development Networking Group (KDNG) ได้ออกมาเปิดเผย บริษัทจีนได้กลับมาก่อสร้างโครงการเขื่อนมิตซง ในรัฐคะฉิ่นอีกครั้ง หลังจากที่ถูกประธานาธิบดีเต็งเส่งสั่งพักโครงการนี้ไว้ชั่วคราวเมื่อปีที่แล้ว แปลและเรียบเรียงจาก DVB 7 มีนาคม 55 เกิดเหตุระเบิดที่สำนักงานของรัฐบาลในเมืองฮินทาดา ในภาคอิรวดีเมื่อเช้าวันอังคาร(6 มีนาคม)ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดในครั้งนี้ มีรายงานว่า แรงระเบิดได้ทำให้หลังคาของสำนักงานของทางการพม่าได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า ได้ยินเสียงระเบิดดังไปไกลหลายกิโลเมตร ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งสอบสวนเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่สรุปว่ากลุ่มใดเป็นผู้ต้องสงสัยและลงมือก่อเหตุ ซูจีเยือนถิ่นทหาร หาเสียงในกรุงเนปีดอว์ นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีเดินทางถึงกรุงเนปีดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่าแล้วเมื่อเย็นวานนี้ (5 มีนาคม )เพื่อลงหาเสียงให้ลูกพรรค อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า มีประชาชนจำนวนไม่มากที่มาให้การต้อนรับนางซูจี เมื่อเทียบกับเมืองต่างๆที่นางซูจีเดินทางลงพื้นที่หาเสียงก่อนหน้านี้ เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในเนปีดอว์ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและทหาร ขณะที่นางซูจีกล่าวติดตลกต่อหน้าประชาชนที่มาให้การต้อนรับว่า การเดินทางมาเนปีดอว์ครั้งนี้ถือว่าเสี่ยงสำหรับเธอและลูกพรรค เพราะทราบดีว่า เป็นพื้นที่สำคัญของรัฐบาลพม่าแต่ก็เชื่อว่า ประชาชนจะยืนบนทิศทางที่ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องลงสมัครและเดินทางเข้ามาหาเสียงในพื้นที่นี้ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า การเดินทางมายังเมืองเนปีดอว์ พรรคเอ็นแอลดีต้องประสบกับปัญหาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะสถานที่หาเสียง ก่อนหน้านี้ ทางพรรคต้องเปลี่ยนสถานที่หาเสียงมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากทางการท้องถิ่นพม่าไม่อนุญาตให้พรรคเอ็นแอลดีใช้อาคารของรัฐหรือในบางพื้นที่ในการหาเสียง ตรงข้ามกับการลงหาเสียงในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองรองจากกรุงย่างกุ้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่มีประชาชนราว 1 แสนคนที่มาให้การต้อนรับนางซูจีอย่างคับคั่ง โดยการหาเสียงในมัณฑะเลย์ นางซูจีได้มุ่งไปยังประเด็นการศึกษาในพม่า โดยระบุ งบประมาณในด้านการศึกษานั้นน้อยมาก ดังนั้น จึงมีหลายอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยนและปรับปรุงเพื่อยกระดับการศึกษาในพม่าให้ได้มาตรฐาน มีรายงานว่า นักศึกษาจากวิทยาลัยที่ในพื้นที่ต่างปรบมือแสดงความยินดีต่อคำปราศรัยของนางซูจี ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า นางซูจีได้ล้มป่วยลง หลังจากที่เดินทางหาเสียงอย่างต่อเนื่องและไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ แต่ก็ยังเดินทางหาเสียงในภาคสะกายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นางซูจีแสดงความคิดเห็นและเชื่อว่า เธอจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ หากตัวแทนทหารภายในรัฐสภาร่วมมือกับเธอ แต่ระบุ การแก้กฎหมายต้องเป็นไปตามขั้นตอน ทั้งนี้พรรคเอ็นแอลดีได้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ในรัฐสภา 48 ที่นั่ง แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy / DVB 6 มีนาคม 55 แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
จาก “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” ถึง “ศิลปะเพื่อความพิการ” Posted: 09 Mar 2012 10:22 PM PST “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” (Inclusive Society) ดูจะเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงกันอย่างมากและหนาหูขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยที่ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ เมื่อปลายปีที่แล้ว และสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ ๑ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการกล่าวถึงและอ้างถึง “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” ทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่างกรรมและต่างวาระกัน กล่าวอย่างไม่ซับซ้อน “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” คือ สังคมที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ชีวิตในพื้นที่ทางสังคมและทำกิจกรรมทางสังคมได้อย่าง “เท่าเทียม” และมี “ศักดิ์ศรี” ปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อกัน และได้รับโอกาสหรือสิทธิในการเข้าถึงบริการ สถานที่ และข้อมูลทางสังคมได้อย่างเสมอภาคกัน ในแง่นี้ความหมายของ “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” จึงสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ถูกเบียดบังออกไปจาก “ความเท่าเทียม” “ศักดิ์ศรี” และ “สิทธิ” ในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ดังที่คนส่วนใหญ่ได้รับ พูดอย่างง่ายๆ ก็คือ เป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาจมีตั้งแต่ กลุ่มคนยากจน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กลุ่มคนไร้สัญชาติ และกลุ่มคนพิการ ในปัจจุบันจากการผลักดันของภาคประชาสังคมและหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนของไทยดูจะทำให้แนวนโยบายและกฎหมายต่างๆ เปิดพื้นที่และเอื้อต่อการทำให้กลุ่มคนที่ถูกเบียดบังต่างๆ สามารถเข้ามามีชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค อันผลักดันให้สังคมไทยเข้าใกล้ “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” ขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประเด็นของ “กลุ่มคนพิการ” นั้น อาจกล่าวได้ว่าภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันผลักดันแผนงาน นโยบาย และข้อกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการในสังคมไทยไปอย่างมาก ดังเช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ได้มีเน้นถึงการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียมสำหรับคนพิการและคนทั้งมวล ในทางเดียวกับแผนงาน/นโยบายเกี่ยวกับการศึกษาและการออกแบบสถานที่สาธารณะต่างๆ ที่ได้รับการผลักดันให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการและคนทั้งมวลมากขึ้น ความคิดที่สะท้อนผ่านนโยบายและแผนงานเพื่อสร้าง “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” นี้ดูจะเชื่อมโยงกับแนวคิดและปฏิบัติการณ์ในระดับโลกที่เริ่มปรากฎขึ้นตั้งแต่เมื่อราว 30 ปีก่อนที่พยายามสร้างสิทธิ ความเท่าเทียม และความเสมอภาคในการใช้ชีวิตทางสังคมให้แก่คนพิการและกลุ่มคนที่ถูกเบียดบังอื่นๆ อย่างไรก็ดี แม้แผนงาน นโยบาย และกฎหมายจะเป็นจุดที่สำคัญในการสร้างสังคมเพื่อคนทั้งมวลและกลุ่มคนพิการ หากแต่สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือการสร้างหรือปรับเปลี่ยน “มุมมอง” “สำนึก” และ “ทัศนคติ” ของสังคมให้ปราศจากอคติหรือเอื้อต่อกลุ่มคนพิการและคนที่ถูกเบียดบัง อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่รองรับและนำไปสู่การสร้าง “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” สำหรับผู้เขียนแล้วคิดว่า การสร้าง “มุมมอง” “สำนึก” และ “ทัศนคติ” ที่มองกลุ่ม “คนอื่น” ที่มีความเท่าเทียมและเสมอภาคกันนี้จะเป็นพื้นฐานอันสำคัญที่เสริมสร้างหรือรองรับให้แผนงาน นโยบาย และกฎหมาย ที่ได้รับการผลักดันออกมามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะอย่าลืมนะครับว่า บรรดานโยบายหรือกฎหมายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องมีผู้ที่นำไปใช้ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ตีความและผู้ที่เกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งหากกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีมุมมองและทัศนคติแบบเดิมๆ ที่มองกลุ่มคนพิการเป็น “คนอื่น” ของสังคมที่ไม่มีความเท่าเทียม เสมอภาคกับคนส่วนใหญ่ การดำเนินนโยบายและการใช้กฎหมายก็ย่อมเบี่ยงเบนหรือผิดพลาดไปจากแนวทางที่ตั้งความหวังไว้แต่เดิม เราจะเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของสังคมอย่างไร? เวลาพูดถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของสังคมดูเหมือนว่าเรามักจะนึกถึงการจัดอบรมสัมมนา จัด Work Shop หรือการให้ความรู้ความเข้าใจต่อสังคมผ่านแบบแผนทางการต่างๆ แต่อย่างไร กระบวนการดังกล่าวอาจเป็นสิ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้สังคมเกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติจากเดิม เพราะมนุษย์แต่ละคนนั้นล้วนต้องผ่านการกล่อมเกลาทางสังคมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนเติบใหญ่ ที่ทำให้มุมมองและความคิดจำนวนหนึ่งถูก “ฝังแน่น” จนกลายเป็นสำนึกอยู่ในหัว ในแง่นี้การจะ “เซาะ” เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของมนุษย์จึงมิอาจทำด้วยการอบรมและการให้ความรู้แค่เพียงครั้งหรือสองครั้ง (หรือแม้แต่นับสิบครั้ง) การปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองทางสังคมโดยการมีส่วนร่วมที่เกิดจากความสนใจและความสมัครใจ หรือเป็นกระบวนการที่กระทำอย่างไม่รู้ตัว จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีความน่าสนใจ โดยถึงแม้แนวทางในลักษณะนี้อาจยากที่จะวัดผลสัมฤทธิ์หรือเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วทันตาเห็น หากแต่เป็นกระบวนการที่จะทำให้สังคมมีทัศนคติและปรับเปลี่ยนมุมมองต่อกลุ่มคนพิการและ “คนอื่น” ได้ดียิ่งขึ้น กระบวนการดังกล่าวนี้สามารถกระทำได้หลากหลายแนวทาง เช่น การสอดแทรกมุมมองที่เปิดกว้างต่อคนทั้งมวลลงไปในสื่อประเภทต่างๆ ที่จะมีส่วนช่วยในการให้คนสังคมค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองหรือการเปิดพื้นที่ให้กับคนพิการ เป็นต้น จากที่กล่าวมา ศิลปะเพื่อความพิการ ดูจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศเพื่อให้สังคมคุ้นชินและปรับเปลี่ยนมุมมอง/ความเข้าใจต่อคนพิการในฐานะกลุ่มคนที่มีความเท่าเทียมและสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเสมอภาคกัน ในที่นี้เราอาจให้ความหมายของ “ศิลปะ” ด้วยนิยามที่กว้างที่สุดอันหมายถึงผลงานการออกแบบและสร้างสรรค์ของมนุษย์ อันมีขอบเขตตั้งแต่ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพยนตร์ ภาพเคลื่อนไหว สื่อโฆษณา ดนตรี จนถึงเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ แต่เดิมนั้นการปรากฎของ “ความพิการ” ใน “ศิลปะ” โดยเฉพาะในโลกตะวันตกดูจะสะท้อนให้เห็นภาพของกลุ่มคนพิการหรือความพิการซึ่งถ้าไม่เป็น “ตัวตลก” ก็แสดงให้เห็นถึง “ความป่วยไข้” หรือ “ความตกต่ำ” อย่างหนึ่งของสังคม รวมถึงเป็นกลุ่มคนที่ “ประหลาด” และ “แยกขาด” จากสังคมส่วนใหญ่ โดยที่กลุ่มคนพิการแทบไม่สามารถต่อรองในการนำเสนอภาพตามที่ต้องการได้ เพราะภาพหรือความหมายเหล่านี้ได้ถูกฝังแน่นในสังคมจนทำให้เกิดการกีดกันคนพิการออกไปจากการถกเถียงในพื้นที่สาธารณะ ในทางเดียวกันแม้ “ศิลปะ” บางประเภทจะไม่กีดกันคนพิการจากสังคม หากแต่ดูเหมือนว่าก็มิได้เปิดพื้นที่หรือเอื้อให้แก่การใช้ชีวิตสำหรับคนพิการและความพิการ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องดนตรีหรือเครื่องเล่นที่ทั้งหมดล้วนสร้างสรรค์ขึ้นบนฐานคิดที่ตอบสนองความต้องการของสังคมส่วนใหญ่ ภาพของความพิการที่ปรากฏใน “ศิลปะ” เหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “ภาพเสนอ” ผ่าน “ศิลปะ” กับความคิดทางวัฒนธรรม และสังคมการเมืองที่มีต่อคนพิการ ซึ่งความคิดดังกล่าวนี้ดูจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังจากทศวรรษ 1960 ที่มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในหลายประเทศ (และระดับโลก) ที่เรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มคนอื่นที่ถูกเบียดบังและกีดกันไปจากสังคมส่วนใหญ่ ในแง่นี้ส่งผลให้เริ่มมีการสร้างนิยามของคนพิการขึ้นมาใหม่ผ่านเครื่องมือกลไกทางสังคมหลากหลายชนิด รวมถึง “ศิลปะ” ในหลากหลายแนวทางที่มีความมุ่งหมายในการเข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมจากคนส่วนใหญ่สังคมให้คุ้นเคยกับ “ความพิการ” และกลุ่มคนพิการ อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติและจินตนาการต่อคนพิการใหม่ ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมที่สามารถใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกับคนอื่นๆ ได้หากเงื่อนไขทางสังคมเอื้ออำนวยและเปิดกว้าง มิใช่กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือเป็นภาระทางสังคมที่จะคอยรับแต่ความช่วยเหลือหรือต้องกีดกันออกไปอยู่ในพื้นที่เฉพาะใหม่ดั่งความเข้าใจในอดีต และนอกจากศิลปะเพื่อความพิการจะเป็นการสร้าง/ปรับเปลี่ยนนิยามและทัศนคติของสังคมต่อการอยู่ร่วมของคนพิการแล้ว ในอีกมุมหนึ่งในกระบวนการทำงานทางศิลปะเพื่อความพิการในหลายโครงการที่ปรากฏในหลายประเทศยังได้แสดงให้เห็นถึงผลจากการทำงานที่ส่งต่อไปยังการเปิดมุมมองใหม่ รวมถึงความรู้ความเข้าใจของบรรดาศิลปินและผู้ทำงานศิลปะต่อคนพิการและความพิการอีกด้วย เมื่อภาพและการรับรู้เกี่ยวกับคนพิการและความพิการจากงาน “ศิลปะเพื่อความพิการ” ได้รับความสนใจ การกล่าวถึง และการกล่าวซ้ำจากคนในสังคมก็ดูจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความเข้าใจของสังคมทั้งมวลต่อคนพิการเพิ่มมากขึ้นและหยั่งรากลึกลงเรื่อยๆ อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมโยงและรองรับกับนโยบาย กฎระเบียบและกฎหมายสำหรับการอยู่ร่วมของคนพิการในสังคมให้เกิดประสิทธิผลตรงตามที่ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรขับเคลื่อนจำนวนหนึ่งได้มุ่งหวังเอาไว้ สำหรับสังคมไทย แม้ “ศิลปะเพื่อความพิการ” จะเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมและเพิ่งได้รับการขับเคลื่อนอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ หากแต่ก็ดูเหมือนจะฉายให้เห็นดวงไฟแห่งความหวังในการสร้างพื้นฐานของสังคมเพื่อรองรับกับข้อปฏิบัติเพื่อคนพิการต่าง ๆ ที่ได้รับการขับเคลื่อนจนประกาศใช้อย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาหนึ่ง “ศิลปะเพื่อความพิการ” จึงเป็นเครื่องมือหรือกลไกอันสำคัญอันหนึ่งในการสร้างนิยาม ความคิด และทัศนคติของคนในสังคมให้รองรับการสร้าง “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” และเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรม และสังคมการเมืองให้สอดคล้องและพร้อมกับการใช้งานแบบแผนทางนโยบายและข้อกฎหมายในการสร้างสังคมเพื่อคนทั้งมวลต่างๆ อันอาจเปรียบเปรยได้กับ “ฝนที่ตกลงมาบนภูเขา หากไม่มีต้นไม้ใบหญ้าเป็นพื้นฐานรองรับ น้ำจำนวนมากก็จะไหลลงจากภูเขาอย่างเปล่าประโยชน์ ซ้ำร้ายอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ นานาด้วย ต้นไม้ใบหญ้าที่แม้จะใช้เวลาในการเติบโตจึงมีความสำคัญไม่แพ้ฝนที่สร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนดิน”
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
มติ กกต.วินิจฉัย "สัก กอแสงเรือง" พ้น ส.ว. เนื่องจากขาดคุณสมบัติ Posted: 09 Mar 2012 09:19 PM PST เหตุพ้น ส.ว. ปี 43 ไม่เกิน 5 ปีจนถึงวันที่รับการเสนอชื่อสรรหา ด้าน กกต. เล็งดำเนินคดีอาญาพ่วงสภาทนายความด้วย โดยขณะนี้ส่งคำวินิจฉัยให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายสักด้วย เมื่อ 9 มี.ค. มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ แถลงผลการประชุม กกต. ว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเอกฉันท์ให้เพิกถอนสิทธิการสรรหาของนายสัก กอแสงเรือง ส.ว.สรรหา ตามที่สภาทนายความ ซึ่งเป็นองค์กรได้เสนอชื่อเข้ารับการสรรหา และ กกต.ยังมีมติเสียงข้างมากให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี พร้อมดำเนินคดีอาญากับนายสักและสภาทนายความ โดย กกต.จะจัดทำคำวินิจฉัยส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายสักต่อไป โดยกระบวนการจัดทำคำวินิจฉัยคาดว่า กกต.จะส่งให้ศาลฎีกาได้ภายในต้นเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ เมื่อศาลฎีการับคำร้องของ กกต.แล้ว จะมีผลให้นายสักต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา นายธนิศร์กล่าวว่า กรณีดังกล่าว กกต.ได้พิจารณาตามคำร้องคัดค้านการสรรหา ส.ว. ของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้เข้ารับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา ส.ว. ที่ร้องคัดค้านว่า นายสักมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 (9) เนื่องจากนายสักยังพ้นจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่เกิน 5 ปี จนถึงวันได้รับการเสนอชื่อ โดยกรณีของนายสักเคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ว.ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 ซึ่งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 315 วรรคหน้า กำหนดให้ ส.ว.ที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 จะต้องเข้าดำรงตำแหน่ง ส.ว. เมื่อ ส.ว.ชุดเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2534 อยู่ครบวาระก่อน ซึ่ง ส.ว.ชุดเดิมที่มาจากการแต่งตั้งเมื่อปี 2534 ครบวาระในวันที่ 21 มีนาคม 2543 ดังนั้น ส.ว.เลือกตั้ง ปี 2543 จึงเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 22 มีนาคม 2543 เป็นต้นมา โดย ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีวาระ 6 ปี ซึ่งจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2543 - 21 มีนาคม 2549 แต่สภาทนายความซึ่งเป็นองค์กรที่เสนอชื่อนายสักเข้ารับการสรรหา ส.ว. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2554 ดังนั้น คุณสมบัติของนายสัก จึงพ้นจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือพ้นจาก ส.ว.ชุดเลือกตั้งปี 2543 มายังไม่ถึง 5 ปี จนถึงวันได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา นายธนิศร์กล่าวว่า ในการประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของนายสักนั้น นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ในฐานะกรรมการสรรหา ส.ว. ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เพราะมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. ทั้งนี้ สำนักงาน กกต.มีหน้าที่ทางธุรการในการเปิดรับให้มีการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติการสรรหาหน้าที่ของกรรมการสรรหา ส.ว.ทั้งหมด และยังไปไม่ถึงขั้นที่จะพูดว่ากรรมการสรรหา ส.ว.จะมีความผิดหรือไม่ ทั้งนี้ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายสักก็เหมือนกับการให้ใบแดงหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้แล้ว อนึ่ง สำนักงาน กกต.เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยเปิดให้องค์กรลงทะเบียนเสนอชื่อผู้เข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ -11 มีนาคม 2554 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น