โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท (เฉพาะกิจ)

คุยกับ “คำ ผกา” ว่าด้วยการเป็น “ฝ่ายค้านทางวัฒนธรรม”

Posted: 17 Mar 2012 05:19 AM PDT

โดย สุลักษณ์ หลำอุบล

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “คำ ผกา” หรือ “ลักขณา ปันวิชัย” นักเขียนสตรีฝีปากคมได้วิพากษ์เรื่อง การสวดมนต์ข้ามปี ผ่านทางรายการ คิดเล่นเห็นต่างกับคำ ผกา ทางสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ในวันที่ 10 มี.ค. และตั้งคำถามต่อพุทธศาสนากับรัฐไทย ให้หัวข้อ รัฐศาสนาและรัฐโลกวิสัย ในรายการเดียวกันเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะเมื่อพระครูวินัยธรธีรวิทย์ ฉันทวิชโช ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือต่อ ลีลาวดี วัชโรบล ส.ส. กรุงเทพฯ ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรให้ตรวจสอบเทปรายการดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นการลบหลู่พระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ โดยเกรงว่าจะทำให้เยาวชนเข้าใจผิดเนื่องจากเป็นการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว

การวิพากษ์พุทธศาสนาของ “คำ ผกา” ดังกล่าว ยังนำมาสู่การโจมตีของ พระมหาโชว์ ทัสสนีโย  รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยผ่านทางรายการกระแสโลก กระแสธรรม ว่าเป็นการทำลายศาสนาและหลักธรรม พร้อมวิจารณ์ “คำ ผกา” ไม่ว่าจะในเรื่อง “หัวนม” “อยากดัง” หรือ “ลามปาม” ศาสนา

ประชาไท พูดคุยกับ “คำ ผกา” ต่อมุมมองของเธอกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

 


ลักขณา ปันวิชัย (คำ ผกา)

ถ้าเราดูจากดีเบตของฝ่ายฝักใฝ่ในศาสนาทั้งหมดนี่
เราจะเห็นได้ทันทีเลยว่าสรรพสิ่งที่เขาเชื่อมันเป็นสัจจะ
แล้วมีอยู่อย่างนี้มานับพันปีไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ทั้งๆ ที่ศาสนาพุทธก็ได้รับการสังคายนา
พระไตรปิฎกก็สังคายนากันหลายครั้ง
ซึ่งการสังคายนาพระไตรปิฎก
ก็จะทำให้เห็นการปรับตัวของศาสนาพุทธเอง

 

 

ประชาไท: รู้สึกอย่างไรต่อปฏิกิริยากรณีพระมหาโชว์ที่ตอนนี้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่โตมากมาย

คำ ผกา: รู้สึกดีที่สามารถทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นดีเบตได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนพูดถึงกันน้อยมาก แล้วมันก็ทำให้เห็นภาพที่ตัวเองเคยพูดไว้หลายๆ ครั้ง ทั้งพูดในรายการแล้วก็ทั้งเขียนในคอลัมน์ ซึ่งก่อนหน้านี้มันไม่มีตัวอย่างอะไรให้เห็นชัดเจน เพราะปกติเวลาเรานึกถึงคนที่ฝักใฝ่ในศาสนา เราก็จะเห็นคนแบบนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดฟังธรรมสวดมนต์นั่งสมาธิ แต่คราวนี้เราก็ได้เห็นอีกด้านของคนที่ฝักใฝ่ในศาสนาในด้านที่เราไม่ค่อยได้เห็น ก็ทำให้สังคมได้ฉุกคิดว่า เอ๊ะ ทำไมล่ะ

 

ฉะนั้นก็คือ รู้สึก positive ด้วยซ้ำต่อปฏิกิริยานี้

ใช่ รู้สึก positive กับดีเบตในสังคมค่ะ แล้วก็อย่างนี้ปกติเราก็จะเห็นว่าคนที่เขาสวดมนต์นั่งสมาธิ น่าจะเป็นคนแบบมีสติอะไรอย่างนี้ พูดช้าๆ แต่ทำไมครั้งนี้เราเห็นอะไรแบบ “กรี๊ดๆ” เยอะมากเลย

 

แล้วคิดว่าปรากฏการณ์ตอนนี้สะท้อนอะไร

คิดว่ามันเหมือนที่ได้พูดในรายการ (คิดเล่นเห็นต่าง) มันเป็นการได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เราอยู่กับมัน เพราะสิ่งที่เราอยู่มันไม่ได้มีแต่เรื่องศาสนานะ คิดว่า มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะว่านักวิชาการก็พูดกันมากว่า เราต้องไม่แบบ take it for granted (ไม่ใส่ใจ) กับทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา

อย่างสมมติว่าเราคิดว่าผู้หญิงผู้ชายเป็นเรื่องธรรมชาติ คือเมื่อไหร่ที่เราคิดว่าทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราเป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เป็นสัจจะ เป็นเรื่องที่เป็นความจริงจนไม่ต้องพิสูจน์ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องตั้งคำถาม เหมือนเรื่องพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ก็แค่ตั้งคำถามว่าพุทธศาสนาก็มีหลายนิกายมากในโลกนี้ แล้วแต่ละนิกายพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ในทิเบต ในศรีลังกา ในอินเดีย ในไทย ในพม่า ก็มีวินัยที่แตกต่างกันออกไป มีบทสวดที่แตกต่างกันออกไป มีคำสอน จุดมุ่งหมาย และอุดมการณ์ที่ไม่มีที่ไหนเหมือนกันเลย แต่ทำไมเรารู้สึกว่าพุทธที่เรารู้จักนี่มันเป็นสัจจะแล้ว

แต่สิ่งที่เห็นคืออะไร สิ่งที่เห็นก็คือว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดว่าสิ่งที่เรามีอยู่ในมือ สิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวัน แล้วเราไม่ได้เปิดโอกาสที่จะเปรียบเทียบสิ่งที่มีกับสิ่งอื่นๆ ที่เราอาจจะไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยิน มันก็เป็นการทำให้เราไม่ได้สนใจ เกิดความเคยชินกับสิ่งต่างๆ ในชีวิต มันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว มันมีอย่างนี้อยู่แล้ว เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

 

สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือคนไปตั้งคำถาม คนเอาไปคิดต่อ
แต่คนไทยเวลาดูหรือเวลาอ่านแล้วมีแนวโน้มที่จะอยากจะเชื่อว่า
สิ่งที่ผู้ประกาศคนนั้นนะ มันกำลังประกาศสัจจะ
แล้วถ้าสัจจะของมันไม่ตรงกับสัจจะของเรา
ก็คือมันต้องเป็นตัวอัปรีย์จัญไร

 

ถ้าเราเกิดความเคยชินกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ คิดว่ามันจะส่งผลเสียหรืออันตรายกับสังคมอย่างไร

สำหรับตัวเอง อย่างน้อยที่สุดก็คือ มันง่ายที่จะทำให้เราอยู่ภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง ซึ่งมันก็เป็นที่มาของการสถาปนาอำนาจนำของอะไรก็ตามที่มีอำนาจอยู่ ณ ขณะนั้น แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอำนาจมากเกินไปมันก็ย่อมจะอันตราย ก็คำพูดง่ายๆที่คนเขาพูดๆ กันก็คือว่าอำนาจอยู่ที่ไหนมากเกินไป ท้ายที่สุดอำนาจนั้นก็จะคอร์รัปต์ และท้ายที่สุด มันก็เหมือนกับทุกๆ เรื่องที่คนไทยก็คุ้นเคยกับมันมานานอย่างเช่น สมมติว่าเราเชื่อว่าชีวิตนี้เรากำหนดอะไรเองไม่ได้ ชีวิตคนเรานี่ขึ้นอยู่กับบุญทำกรรมแต่ง สมมติว่าถ้าเราเชื่ออย่างนี้เสียแล้วเราจะเรียนหนังสือไหม เราจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไปทำไมในเมื่อชะตากรรมของเราถูกกำหนดมาแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่นี้ค่ะว่า การครอบงำของอุดมการณ์นี่มันเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจอยู่เสมอมา

แต่ละสังคม อำนาจก็อยู่ในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะวิจารณ์ว่าเรื่องรัฐฆราวาสเป็นเรื่องเก่ามาก มันเชยมาก ก็แน่นอนมันเก่ามากมันเชยมากเพราะว่ายุโรปเขาพูดมา 200 ปีแล้ว แต่ทีนี้แล้วถามว่าในบริบทของสังคมไทย เรื่องนี้เก่าหรือใหม่ เรายังจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้กันอยู่หรือเปล่า เช่นเดียวกันเหมือนที่ทุกวันนี้ในสังคมไทยเรายังต้องมานั่งพูดกันอยู่เลยว่าการเลือกตั้งสำคัญอย่างไร ซึ่งคำถามนี้ในหลายๆ สังคมเขาไม่ตั้งคำถามแล้วว่าการเลือกตั้งมันสำคัญอย่างไร เขาก็ตั้งคำถามเรื่องอื่นๆ ว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจะเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยแบบต้องให้ความสำคัญกับเสียงส่วนน้อยจะทำอย่างไร ประชาธิปไตยที่อยู่นอกรัฐสภาจะมีอะไรบ้าง การ empower (เสริมสร้าง) คนชายขอบคนกลุ่มน้อย เรื่องเพศเรื่องเกย์จะได้แต่งงานไหม คือมันต้องไปไกลอีกเรื่อยๆ แต่สังคมไทยยังต้องมานั่งดีเฟนด์กันอยู่เลยว่าเอ๊ะทำไมเราจำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง เฮ้ย คนทุกคนมันควรมี 1 เสียงเท่ากันหรือเปล่า มันก็เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น คิดว่าดีเบตเรื่องรัฐว่าจะเป็นรัฐฆราวาสหรือรัฐศาสนาสำหรับสังคมไทย ถ้าไปเทียบกับที่อื่นนี่ ที่อื่นเขามองว่ามันเป็น old-fashioned (เชย) แต่สำหรับเรื่องนี้ ก็รู้สึกว่ามันยังพูดกันน้อยมาก แล้วก็คิดว่าคนไทยที่ไม่ใช่นักวิชาการจำนวนมากยังไม่รู้จักคำว่า “รัฐฆราวาส” เลยด้วยซ้ำไป แล้วเราก็ไม่ได้ทันคิดว่าพุทธศาสนานั้นอยู่รอบตัวเรา ทั้งๆ ที่ในประเทศเราก็มีทุกศาสนา มีคนนับถือศาสนาอื่นๆ เยอะแยะไปหมด

คือดูประเด็นอย่างนี้ว่า ที่ฝรั่งเศสมีปัญหาเรื่องเด็กมุสลิมใส่ฮิญาบมันเป็นปัญหาเรื่องเสรีภาพ แต่ของไทยมีปัญหาเรื่องผ้าคลุมเหมือนกัน แต่เป็นปัญหาว่าห้ามใส่ฮิญาบมาโรงเรียนพุทธ ซึ่งมันเป็นการห้ามในสิ่งเดียวกันแต่มันเป็นดีเบตคนละระดับ อุดมการณ์คนละชุดเลย

มันก็ทำให้ต้องมาตั้งคำถามกันจริงๆ ว่า เอ๊ะสังคมไทยมันมาอย่างไรไปอย่างไรทุกวันนี้ มันเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่จริงหรือเปล่า หรือมันเป็นสภาวะลักลั่นมาโดยตลอด เป็นสภาวะพิพักพิพ่วนอย่างนี้มาโดยตลอด แล้วเราก็ไม่ได้ถูกฝึกมาให้คิดให้ตั้งคำถามโดยวัฒนธรรมของเรา โดยการศึกษาของเรา เราก็ไม่เคยสนับสนุนให้ตั้งคำถาม แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีอะไรที่แบบ “ล้ำ” อย่างเช่นเรื่องแก้กรรม มันถูก commodify (ทำให้เป็นสินค้า) แบบล้ำมาก แล้วมันก็กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่อย่างไม่ขัดเขิน เราสามารถมีไอโฟนไอแพด 2 ในขณะเดียวกันเราก็แก้กรรมได้ด้วย สิ่งเหล่านี้อยู่ด้วยกันได้อย่างไร

อย่างตัวเองก็ไหว้หมดนะ ทั้งไหว้พระพิฆเนศ ไหว้ผีปู่ย่า ที่บ้านก็มีศาลพระภูมิก็ไหว้เจ้าที่ อะไรอย่างนี้ คือตัวเองนี่มีครบทุกสิ่งอัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าทั้งหมดนี่ไม่ได้แปลว่าตัวเองมานั่งตั้งคำถามพวกนี้แล้วไม่เชื่ออะไรเลยก็ไม่ใช่นะ ก็กลัวนะคะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ว่าเรากำลังพูดกันถึงอีกเรื่องหนึ่งใช่หรือเปล่า คือถ้าเราดูจากดีเบตของฝ่ายฝักใฝ่ในศาสนาทั้งหมดนี่ เราจะเห็นได้ทันทีเลยว่าสรรพสิ่งที่เขาเชื่อมันเป็นสัจจะ แล้วมีอยู่อย่างนี้มานับพันปีไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่ศาสนาพุทธก็ได้รับการสังคายนา พระไตรปิฎกก็สังคายนากันหลายครั้ง ซึ่งการสังคายนาพระไตรปิฎกก็จะทำให้เห็นการปรับตัวของศาสนาพุทธเอง ไม่นับว่าศาสนาพุทธถูกนำไปปรับเป็นอีกหลายนิกาย และแต่ละสังคมก็มีการใช้ศาสนาพุทธในลักษณะต่างๆ กัน

อีกอย่างในรายการคิดเล่นเห็นต่าง ก็มีเวลาพูด 21 นาที สิ่งที่ท้าทายที่สุด คือเอาสิ่งที่เป็นเรื่องราวปกติที่มันพูดกันในแวดวงวิชาการ ซึ่งสำหรับวงวิชาการมันไม่ใช่เรื่องใหม่หรือน่าตกใจ แต่เมื่อนำมันมานำเสนอในสาธารณะทั้งหมดนี่ มันเสี่ยงมากที่จะเป็นการ simplify (ลดทอนความซับซ้อน) หรือเปล่า แต่ทีนี้ลูกเล่นในการทำรายการทีวี ต้องมีทั้งอารมณ์ขัน มีทั้งสีสัน ไม่อย่างนั้นคนก็เบื่อใช่ไหม ไม่อยากฟัง

แต่ทีนี้ สิ่งที่ท้าทายกว่านั้นคือว่า ก็พูดมาตลอดว่านี่คือคิดเล่นเห็นต่างนะคะ นี่คือสิ่งที่เราอยากจะให้นำไปเป็นบทสนทนาต่อรายการ เราไม่ได้พิพากษา รายการเราไม่ได้บอกว่าสิ่งนี้ถูกสิ่งนี้ผิด คือเรากำลังโยนความคิดของเราลงไป ซึ่งเป็นความคิดของเรา ซึ่งผิดก็ได้ ถูกก็ได้ เห็นด้วยก็ได้ ไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือคนไปตั้งคำถาม คนเอาไปคิดต่อ แต่คนไทยเวลาดูหรือเวลาอ่านแล้วมีแนวโน้มที่จะอยากจะเชื่อว่าสิ่งที่ผู้ประกาศคนนั้นนะ มันกำลังประกาศสัจจะ แล้วถ้าสัจจะของมันไม่ตรงกับสัจจะของเราก็คือมันต้องเป็นตัวอัปรีย์จัญไร ไอ้ตัวที่กำลังสื่อสารสิ่งที่ผิดๆ สู่สังคม กำลังจะชี้นำสังคมไปในทางที่เสื่อม ทำอย่างไรจะให้คนดูเห็นว่า สื่อเป็นสื่อจริงๆ สื่อเป็น ”media” เป็น “medium” (สื่อกลาง) ไม่ใช่ผู้พิพากษา สื่อไม่ใช่ผู้กำหนดสังคม

ไม่ใช่ผู้กำหนดความจริง...

สื่อไม่ใช่ผู้ประกาศลัทธิความเชื่ออะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นคุณมีสื่ออยู่สิบช่อง คุณมีรายการให้ดูนับร้อยรายการ คุณชั่งน้ำหนักสิ คุณคิด คุณวิจารณ์ ก็คุณเห็นว่าคนที่อยู่ในสื่อของคุณนะมีสถานะเท่าเทียมกัน คิดว่าคนไทยลึกๆ แล้วดูสื่อเพราะเห็นว่าสื่อเป็น prophet (ศาสดา) มันขัดกับคอมมอนเซนส์ มันขัดกับความเชื่อของเราเพราะฉะนั้นเขาก็จะรับไม่ได้ เพราะเขาคาดหวังให้สื่อพูดว่า เยาวชนเป็นคนดีจะต้องไม่กินเหล้าไม่สูบบุหรี่ คนจะต้องรักพ่อแม่ มีความกตัญญู คนไทยมีแนวโน้มเห็นสื่อเป็นเครื่องมือพร็อพพากันด้า อยากให้สื่อพูดเหมือนอะไรที่แบบเรียนพูด อยากให้สื่อพูดอะไรเหมือนที่ครูสอนนักเรียนในโรงเรียน เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่าสื่อหรือรายการที่มีแนวโน้มเป็นรายการเพื่อการศึกษาหรือส่งเสริมเยาวชน ก็จะเป็นรายการที่คนตั้งคำถามน้อยที่สุด เพราะคิดว่ารายการเหล่านั้นนะ บริสุทธิ์ที่สุด อินโนเซนส์ที่สุด เพียวที่สุด มีพิษภัยน้อยที่สุด ในขณะที่พี่มองว่าไอ้รายการแบบนี้มันกำลังเอาอุดมการณ์ใส่ไว้ในสังคม ไอ้รายการที่ดูเหมือนมีพิษภัยน้อยที่สุด รายการสำหรับเด็กอาจจะเป็นเครื่องมือของอะไรก็ได้

...มีสองเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทยในอนาคตคือ
ศาสนากับเรื่องเพศ คือเรื่องความคิดเป็นเสรีนิยม
ประชาธิปไตยมันคงไม่มาพร้อมกับความคิดอนุรักษ์นิยมในเรื่องศาสนากับเรื่องเพศ

ด้วยกระแสสังคมที่ค่อนข้างแรงในตอนนี้ รู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามหรือเปล่า

ก็คิดว่าเป็นนั่งดูผู้สังเกตการณ์นะคะ ก็หวังว่าจะไม่มีอะไรมากกว่านี้ ก็หวังว่ามันจะยังเป็นเพียงดีเบตในสังคม แล้วถ้ามันเป็นดีเบตในสังคม และคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งคนที่นั่งอ่านดีเบตของเราอยู่นี่ เขาก็ได้คิดว่า เฮ้ย เกิดอะไรขึ้น เอ๊ะ มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ทำไมพระพูดแบบนี้ เอ๊ะ ตกลงมันอะไรกันแน่ ก็คิดว่าแค่ทำให้คนรู้สึกว่าได้ตั้งคำถาม

ตอนนี้ถามว่าถ้าจะกลัวอะไร ก็กลัวคนทำร้ายนี่แหละกลัวจริงๆ แบบคลั่งๆมา

โดนทำร้ายแบบอาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์) อะไรอย่างนั้น

ใช่ อย่างนั้นกลัว แต่ว่าจะมาเรื่องนมดำ นมเหี่ยว เรื่องประวัติชีวิตโชกโชน คือไม่ซีเรียส ด่าเรื่องนี้ด่าไปเลย อย่ามาตบก็แล้วกัน

คิดว่าสำหรับในกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มันไม่ได้มีแต่เรื่องการเลือกตั้ง มันไม่ได้มีแต่เรื่องที่เราจะสู้กับเรื่องกรอบของการเมืองอย่างเดียว การเมืองแบบ “การเมื๊อง การเมือง” น่ะ แต่คิดว่าในกระบวนการได้มาซึ่งประชาธิปไตยแต่มันต้องมีมิติทางวัฒนธรรมด้วย แล้วมิติทางวัฒนธรรม คิดว่ามีสองเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทยในอนาคตคือ ศาสนากับเรื่องเพศ คือเรื่องความคิดเป็นเสรีนิยม ประชาธิปไตยมันคงไม่มาพร้อมกับความคิดอนุรักษ์นิยม ในเรื่องศาสนากับเรื่องเพศ

ตอนนี้คือเรากำลังแบบยุ่งอยู่กับเรื่องการต่อสู้กับการต้านรัฐประหาร การดีเฟนด์ระบบการเลือกตั้งอะไรอย่างนี้ ก็เลยทำให้ลืมมิติทางวัฒนธรรม ว่าตัวกลไกและก็เครื่องมือที่จะผดุงไว้ซึ่งอำนาจนิยม มันอยู่ในทางมิติวัฒนธรรมมากซะยิ่งกว่าตัวกฎหมาย มากซะกว่าอยู่ในกลไกการเลือกตั้ง
 

ถ้าคุณถ่วงดุลอำนาจรัฐสภาโดยคุณมีฝ่ายค้าน
สิ่งที่ทำก็คือต้องการถ่วงดุลอำนาจในมิติทางวัฒนธรรม
เราจะไม่ต้องการฝ่ายค้านทางวัฒนธรรมบ้างเลยหรือ...

 

มองว่า ถ้าเราสู้ให้เพื่อความเสรีในมิติศาสนาหรือเพศ อาจจะช่วยผลักให้สังคมไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมากขึ้น

การครอบงำทางอุดมการณ์มันจะยากขึ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนพูดกันมากว่ากลัวเรื่องเผด็จการรัฐสภา อะไรพวกนี้ คือถ้าเรามีความเป็นเสรีนิยมทางวัฒนธรรม สิ่งที่เรียกว่าเผด็จการรัฐสภานี่มันจะอยู่ไม่ได้ เพราะมันจะรักษาอำนาจนำ มันจะต้องถูกตั้งคำถามตลอดเวลา แต่ทีนี้ถ้าคุณมีการเลือกตั้งครอบงำคุณทางกลไกได้หมด คุณไปเลือกตั้งก็จริง แต่คุณถูกบังคับจากจิตสำนึกของคุณให้เลือกคนอื่น แล้วคุณก็ยินดีที่จะเลือกพรรคการเมืองนี้อีก 20 – 30 ปี ไม่เปลี่ยนแปลงก็ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหาร มันก็คือกลับไปพูดเรื่องการครอบงำทางอุดมการณ์

เขาบอกว่าเรื่องอำนาจมันมีสองแบบ คืออำนาจแบบตรงไปตรงมา คือคุณใช้กฎหมาย ใช้การลงโทษ แต่มันก็มีอำนาจอีกแบบหนึ่ง อำนาจแอบแฝง ซึ่งคนที่สนใจฟูโกต์ ก็คงเข้าใจดี มันเป็นอำนาจที่มาพร้อมกับเรื่องสุขภาพ อำนาจที่มาพร้อมกับโรงเรียน อำนาจที่มาพร้อมกับนิทาน อำนาจที่มาพร้อมกับพิธีกรรมสวยงามต่างๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็เป็นการผูกขาดอำนาจแบบหนึ่ง เป็นการผูกขาดอำนาจแบบแนบเนียนแบบที่เราไม่รู้ตัวว่าเรากำลังอยู่ภายใต้อำนาจของมัน แต่อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้แปลว่าเราจะต้องหลุดจากทุกอำนาจจนเราไม่มีอะไรเลย อำนาจแบบนี้มันไม่ต้องการการปลดแอกอย่างสิ้นเชิง มันต้องการแค่บทสนทนาอย่างสม่ำเสมอ

คนชอบถามว่าไปรื้อมันออก ไปรื้อทิ้ง มันจะเหลืออะไรล่ะ แล้วชีวิตนี้เราจะอยู่กับอะไร คือมองว่ามันไม่ใช่ว่าเราจะต้องรื้อทั้งหมด ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน ถ้าตัวเองมีลูก ก็จะส่งลูกเข้าโรงเรียน ทั้งๆ ที่รู้ว่าโรงเรียนมันเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาทางสังคมทางอุดมการณ์อย่างหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าเราจะเลิกส่งลูกเข้าโรงเรียน แต่อย่างน้อยเมื่อเราส่งลูกเข้าโรงเรียน สังคมก็ดีเบตว่า เอ๊ะ สังคมมันมีปัญหาอะไร มันก็เท่ากับเป็นการถ่วงดุลอำนาจกันนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าคุณถ่วงดุลอำนาจรัฐสภาโดยคุณมีฝ่ายค้าน สิ่งที่ทำก็คือต้องการถ่วงดุลอำนาจในมิติทางวัฒนธรรม เราจะไม่ต้องการฝ่ายค้านทางวัฒนธรรมบ้างเลยหรือ...

กิจกรรม "แขวนเสรีภาพ" 18 มีนาคม 2555 (อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา)

Posted: 17 Mar 2012 05:00 AM PDT

คณะนักเขียนแสงสำนึก
ขอเชิญนักอ่าน และประชาชนผู้สนใจร่วม
"แขวนเสรีภาพ"
ร่วมกิจกรรมเรียกคืนเสรีภาพด้วยตัวคุณเอง
ชมภาพยนตร์สั้น และการอ่านบทกวี
รับฟังปาฐกถาโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
เสวนาวิชาการโดย
ปราบดา หยุ่น, ยุกติ มุกดาวิจิตร และปิยบุตร แสงกนกกุล

พลาดไม่ได้ ดีเบตสำคัญ
อภิปราย โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ดำเนินรายการโดย วาด รวี

แขวนเสรีภาพ
การแสดงออกทางศิลปะและวิชาการเพื่อเสรีภาพครั้งที่ 1
คณะนักเขียนแสงสำนึก
วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2555
ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
สี่แยกคอกวัว

 

ช่วงเช้า "แขวนเสรีภาพ"

10.00 น.         ลงทะเบียน
10.30 - 11.00  ปาฐกถาโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ หัวข้อ "ว่าด้วยอำนาจพุทธ ผี เทวดา แต่โบราณ"
11.00 - 11.30  ชมภาพยนตร์สั้น สองบวกสองเป็นห้า และสารคดี สัญญาของผู้มาก่อนกาล
11.30 - 12.00  เปิดตัวแคมเปญ "แขวนเสรีภาพ"
12.00 - 13.00  ปราบดา หยุ่น  กล่าวนำ "สิทธิ เสรีภาพ และ สามัญสำนึกในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ
                     "มิตรภาพในท่ามกลางความขัดแย้ง สนทนากับนักเขียนหนุ่ม วรพจน์ พันธุ์พงศ์

13.00 - 13.15  อ่านบทกวี

 

ช่วงบ่าย “สิทธิ เสรีภาพ VS Sovereign Immunity”

13.15 - 15.00  การบรรยายวิชาการโดย             
                     ปิยบุตร แสงกนกกุล  บรรยาย  "หลักความรับผิด และจิตวิญญาณแห่งกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย"
                     ยุกติ มุกดาวิจิตร  บรรยาย  "สิทธิ เสรีภาพ บนความสับสนปนเป ก่อน-เป็น-หลัง สมัยใหม่"

15.15 - 17.30   อภิปรายหัวข้อ หลักเอกสิทธิ์ของรัฏฐาธิปัตย์ ในบริบทสังคมการเมืองไทย
                      โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 
                      วาด รวี ดำเนินรายการ

18.00             ปิดงาน
 

ความเป็นธรรมด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกับวิถีประชาธิปไตย

Posted: 17 Mar 2012 04:52 AM PDT

โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์
Thai Social Movement Watch (TSMW))

 

ไม่กี่วันหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคเพื่อไทยนำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประสบชัยชนะจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรคนหนึ่งจากภาคใต้ที่เคลื่อนไหวด้านการปฏิรูปที่ดินมาอย่างต่อเนื่องได้เข้าร่วมงานสัมมนาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของชนบทไทยที่พวกเราจัดขึ้น เขากล่าวบนเวทีด้วยดวงตาเป็นประกายเปี่ยมไปด้วยความหวังว่า นับจากนี้ไปภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย ปัญหาของพวกเขาคงจะได้รับการพิจารณาและแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการเรียกร้องของพวกเขาประสบกับปัญหาอุปสรรคนานัปการ ทั้งในด้านข้อกฎหมาย ความล่าช้าและไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ความฉ้อฉลและไม่ตรงไปตรงมาของข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่มขู่คุกคามสารพัดรูปแบบตั้งแต่การรื้อทำลายสิ่งปลูกสร้างไปจนถึงขั้นถึงแก่ชีวิต

ที่ผ่านมาเขาและสมาชิกเกษตรกรในกลุ่มได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง เนื่องจากเห็นว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยและการต่อต้านรัฐประหารเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะเอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งเอื้อต่อการที่ประชาชนจะสามารถต่อรองกับนโยบายการพัฒนาของรัฐและทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในส่วนที่ไม่เป็นธรรมและก่อให้เกิดผลกระทบต่อฐานทรัพยากร พวกเขายังเห็นว่าการมีส่วนร่วมต่อสู้ในเวทีการเมืองระดับชาติเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยนี้จะส่งผลไม่เพียงต่อการยกเลิกการใช้อำนาจของกองทัพ นำมาสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรง แต่ยังจะช่วยทำให้สวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาในการเคลื่อนไหวเรียกร้องในระดับพื้นที่เรื่องที่ดินทำกินได้รับการคุ้มครองมากขึ้นด้วย

ฉันเองรู้สึกมีความหวังไปกับเขา ไม่เฉพาะที่ว่าเกษตรกรไร้ที่ดินอย่างพวกเขาจะได้รับการจัดสรรให้ได้ถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและมีความมั่นคง แต่รวมไปถึงว่าอย่างน้อยที่สุดก็ยังพอจะมีกลุ่มก้อนของชาวบ้านที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเข้ามาร่วมขบวนกับกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย อันเป็นกรณีที่หาได้ไม่ง่ายนัก ทั้งนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ของขบวนการเสื้อแดงอยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองที่พวกเขาใกล้ชิดและชื่นชอบในนโยบาย

ที่ผ่านมามีงานศึกษาคนเสื้อแดงที่ชี้ว่าความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อนักการเมืองในระดับต่างๆ และต่อพรรคการเมือง ตลอดจนการเข้าร่วมขบวนการคนเสื้อแดงนั้นเป็น “ปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวัน” และ “การแสดงตัวตนทางการเมือง” ที่แสดงถึงความรู้และความเข้าใจในเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ที่พวกเขาพึงมีพึงได้จากระบอบประชาธิปไตยท่ามกลางการเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัยของชุมชนชนบท

ขณะเดียวกันกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ในขบวนการเสื้อแดงก็ยังต้องทำงานการเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานที่ยังคงขาดหายไปเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น สิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องขัง ส่งผลทำให้การเชื่อมต่อระหว่างสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ และผลกระทบจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ดูจะห่างกันออกไปทุกที

การเข้าร่วมขบวนการเสื้อแดงของเกษตรกรกลุ่มนี้ให้ความหวังกับฉันในแง่ที่ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ระบบตัวแทน และการเลือกตั้งเข้ากับประเด็นปัญหาเรื่องความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากร และการพัฒนาได้ เนื่องจากที่เป็นอยู่การเคลื่อนไหวในประเด็นเหล่านี้มักถูกผูกขาดโดยประชาสังคมไทยและเอ็นจีโอที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีทัศนคติและแนวทางการทำงานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพทางการเมืองขั้นพื้นฐาน

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป ความหวังของฉันก็ค่อยๆ จางลง ตลอดช่วงระยะเวลากว่าครึ่งปีที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยขึ้นมาบริหารประเทศ ข่าวการข่มขู่คุกคามเกษตรกรไร้ที่ดินโดยนายทุนเจ้าที่ดินผู้มีอิทธิพลซึ่งไม่ต้องการเสียผลประโยชน์ ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องโดยการร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ขณะที่โครงการพัฒนาของรัฐในที่ต่างๆ ที่จะมีผลกระทบด้านสภาพแวดล้อมก็คาดว่าจะเดินหน้าต่อไป อาทิ โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราหรือสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล โครงการพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวในนาม “ไทยแลนด์ริเวียร่า” เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลเองก็ไม่มีท่าทีที่จะให้ความสำคัญต่อความอ่อนไหวในเชิงระบบนิเวศ ความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของคนท้องถิ่น รวมทั้งยังไม่พยายามสร้างช่องทางใดๆ ให้ผู้คนที่จะได้รับผลกระทบหรือผู้ที่มีความวิตกกังวลในเรื่องนี้สามารถเข้าไปเจรจาต่อรองหรือนำเสนอข้อมูลต่อรัฐบาลได้

ขณะที่หน่วยงานที่มีชื่อเสียอย่างกรมชลฯ กฟผ. และ ปตท. ก็ยังคงเดินหน้าโครงการต่างๆ ของตนแบบใช้เล่ห์กล แผนสกปรก การบิดเบือนข้อมูล ที่นำมาสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าทั้งในระดับชุมชนและในระดับกว้างอย่างต่อเนื่อง ดังตัวอย่างในพื้นที่วิจัยของฉันที่อำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่เป้าหมายโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินของ กฟผ. หรือกรณีล่าสุด คือ การรื้อฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองช้างโดยกรมชลฯ ที่บริเวณป่าต้นน้ำใน อ.ควนกาหลง จ.สตูล น่าสนใจว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้เข้ามากำกับดูแลให้หน่วยงานเหล่านี้ดำเนินงานอย่างถูกต้องตามขั้นตอนและโปร่งใส รวมทั้งไม่ได้มีความระมัดระวังเลยว่าในระดับท้องถิ่นมีชุดคำอธิบายที่แพร่หลายกันกว้างขวางที่เชื่อมโยงการผลักดันโครงการพัฒนาเหล่านี้เข้ากับผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ขณะเดียวกันประเด็นความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมก็ปรากฏชัดเจนในกรณีการจัดการและแก้ปัญหาอุทกภัยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่โดยรอบที่มีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจ “น้อยกว่า” ถูกกำหนดให้เป็นแหล่งชะลอและรับน้ำให้กับกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กรุงเทพฯ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจบริเวณชั้นในแห้งสนิท ขณะที่จังหวัดข้างเคียงต้องถูกน้ำท่วมขังอยู่เป็นแรมเดือน ผู้คนต้องเผชิญความยากลำบาก ขณะที่การให้ความช่วยเหลือต่างๆ ก็ยังไม่ทั่วถึง นอกจากนั้นในส่วนของชาวนาในทุ่งภาคกลางแถบ จ.พระนครศรีอยุธยาและใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการรับน้ำนองตามแผนการจัดการน้ำระยะยาวของรัฐบาล ก็ไม่อาจมีความมั่นคงในชีวิตได้ พวกเขายังไม่ทราบว่าปีนี้จะทำนาได้กี่หน จะต้องรับน้ำกี่เดือน จะได้รับค่าชดเชยของการเป็นพื้นที่รับน้ำอย่างไร จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าภาครัฐจะมีมาตรการในการชดเชยให้กับกลุ่มชาวนาที่หลากหลายทั้งกลุ่มเจ้าของที่นา ชาวนานายทุน ชาวนารายย่อย และชาวนาเช่า อย่างไร เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกกลุ่ม รวมทั้งจะทำอย่างไรที่จะให้ทั้งสังคมได้เข้ามาจัดการความเสี่ยงร่วมกับชาวนาเหล่านี้ ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้มีผลอย่างยิ่งต่อการที่ชาวบ้านจะรักษาหรือละทิ้งความเชื่อมั่นศรัทธาในรัฐบาล แม้ว่าพวกเขาจำนวนมากจะเป็นผู้สนับสนุนและเลือกพรรคเพื่อไทยมากับมือก็ตาม

ท่ามกลางสภาพที่น่าสิ้นหวัง สิ่งท้าทายตัวฉันเองและเพื่อนๆ ในฟากเสื้อแดงที่ศึกษาวิจัยและทำงานเกี่ยวข้องการพัฒนา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ก็คือว่า จะทำอย่างไรประเด็นเหล่านี้จึงจะมีที่ทางในการทำงานของรัฐบาลที่เราภูมิใจว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามวิถีทางประชาธิปไตย รวมทั้งสิ่งท้าทายที่ว่าพวกเราจะสามารถเข้าไปผลักดันประเด็นเหล่านี้ได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องกระทำผ่านการสร้างภาพชวนฝันหรือผลิตซ้ำนิทานว่าด้วยการพึ่งตนเองและความเป็นหนึ่งเดียวกลมเกลียวของชุมชนในชนบทซึ่งแทบไม่มีอยู่จริง รวมทั้งที่ไม่ต้องกระทำผ่านฐานอคติที่ดูแคลนการระบบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งและผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ตลอดจนที่ไม่ต้องอ้างอิงอำนาจนอกระบบ อุดมการณ์และสถาบันจารีต มาใช้ในการผลักดันนโยบายสาธารณะในประเด็นเหล่านี้ดังที่ “ประชาสังคมไทย” ได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่คอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ฉบับประจำวันที่ 9-15 มีนาคม 2555

42 บริษัทฟ้องศาลปกครองระงับรัฐบาลขึ้นค่าแรง 300 บาท

Posted: 17 Mar 2012 04:25 AM PDT

ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนปลัดกระทรวงแรงงานไม่รู้สึกหนักใจ เพราะการปรับค่่่าแรงทำตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานแล้ว ชี้หากศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว คนงานที่รอปรับค่าจ้างกว่า 5.4 ล้านคนจะได้รับผลระทบ

 
สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานเมื่อ 15 มี.ค. ว่า นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวภายหลังเข้าชี้แจงศาลปกครอง กรณีบริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัดกับพวก 42 คน ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ในข้อหาการออกประกาศไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีก 40% ทั่วประเทศ ส่งผลทำให้ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และ นนทบุรี ค่าจ้างเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ว่า ในวันนี้เป็นการไปเบิกความครั้งแรก ซึ่งในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างก็ได้ชี้แจงว่าการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างเป็นไปตามมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

โดย นพ.สมเกียรติ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่รู้สึกหนักใจแต่อย่างใด เพราะการพิจารณาปรับค่าจ้าง ได้ทำตามกฎหมาย ไม่มีฝ่ายการเมืองแทรกแซง โดยที่ก่อนจะมีมติเอกฉันท์ ก็ได้พิจารณาปัจจัยเกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนแล้ว อาทิ ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุน ฯ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมในการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นการเฉพาะอีกด้วย ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความละเอียดของการตัดสินใจขึ้นค่าแรงเป็นอย่างดี  และถ้าหากศาลตัดสินให้มีการคุ้มครองชั่วคราวจริง ก็จะทำให้คนจำนวนกว่า 5.4 ล้านคน ที่เงินเดือนต่ำกว่า 9 พันบาท ไม่สามารถมีค่าจ้างเพิ่มขึ้นได้ ทั้ง ๆ ที่กำลังรอรับค่าจ้างใหม่อย่างมีความหวัง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัทที่ยื่นฟ้องศาจำนวน 42 บริษัทประกอบด้วย 1.บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด 2.โรงงานพิพัฒน์เจริญ 3.บริษัท วังทองผลพืช จำกัด 4.บริษท พี.อี.เทคนิค จำกัด 5.บริษัท สตาร์โพลีเมอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด 6.บริษัท เคอร่าไทล์ เซรามิก จำกัด 7.บริษัท ธำมรงค์ จำกัด 8.บริษัท แอล แอนด์ อี แมนูแฟคเจอ จำกัด 9.บริษัท ไทยโตชิบา อุตสาหกรรม จำกัด 10.บริษัท ไทยคาเนตะ จำกัด

11.บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด(มหาชน) 12. บริษัท กุลธรเมททัลโปรดักส์ จำกัด 13.บริษัท กุลธรสตีล จำกัด 14.บริษัท ราชาเซรามิค จำกัด 15.บริษัท ราชาปอร์ชเลน จำกัด 16.บริษัท ราชาโซล่าร์ แมททีเรียล จำกัด 17.บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด 18.บริษัท ราชาชูรส จำกัด 19.บริษัท เซ็นเตอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด 20.บริษัท เอ็ม เอ็ม พี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

21.บริษัท ลักกี้แคนเนอรี่ จำกัด 22.บริษัท กรีนสเตย์ จำกัด 23.บริษัท ไทยเอ็นเนอร์ยี่คอนเซอร์เวชั่น จำกัด 24.บริษัท ปาริสา อินดัสตรีส์ จำกัด 25.บริษัท ทวีไทยอีเล็คโทรนิค พลาสติกและโมลด์ จำกัด 26.บริษัท ไทยฟอร์จจิ้งเอนจีเนียริ่ง จำกัด 27.บริษัท เอส.พี.บี. เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด 28.บริษัท อินทริ-เพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด 29.บริษัท เอ็มเอ็มไอ พรีซีซั่น ฟอร์มิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด 30.บริษัท สเปเชียล บิซิเนส จำกัด

31.บริษัท เอส.พี.บี.เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด 32.บริษัท นิปปอน ซุปเปอร์ พรีซิชั่น จำกัด 33.บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด 34.บริษัท แวนด้าโฟรเซ่น จำกัด 35.บริษัท แวนด้าพรีเสิร์ฟฟู้ด จำกัด

36.บริษัท เอ็มบีพี เลเธอร์ อินดัสทรีส์ จำกัด 37.บริษัท อลูคอน จำกัด (มหาชน) 38.บริษัท กัลฟ์ โคชท คแร็บ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 39.บริษัท ตราดมั่นคงวัสดุก่อสร้าง(2552) จำกัด 40.บริษัท ทีบีเคเค (ประเทศไทย) จำกัด 41.ห้างหุ้นจำกัดปัตตานีคอมเมอร์เชียล และ 42.บริษัท โกลด์เด้น ซีฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เป็นสิทธิของนายจ้างที่จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท แต่แรงงานไม่เห็นด้วยที่นายจ้างจะมาฟ้องร้องในช่วงนี้ เพราะแรงงานกำลังลำบาก เนื่องจากค่าครองชีพและราคาสินค้าแพงขึ้นมาก ถ้าศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการปรับขึ้นค่าจ้างไว้ก่อน ทางแรงงานก็จะไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลขอยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราวระงับการปรับขึ้นค่าจ้างไว้ก่อน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลางและออกประกาศเป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้ว

ยิง 4 ศพปัตตานีพ่นพิษ จับทหารตรวจสุขภาพจิต

Posted: 17 Mar 2012 01:15 AM PDT

ทีมสอบ 4 ศพ ยันปืนข้างศพไม่ใช่ของชาวบ้าน ปลอกกระสุนในรถเป็นของทหารพราน ไม่พบเขม่าทีมือคนเจ็บ นัดแถลงผล 20 มีนา พร้อมเสนอ 6 ข้อ ตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่มีประชาชนร่วม จับทหารตรวจสุขภาพจิตป้องกันก่อนเหตุซ้ำ

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้  ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 มีนาคม 2555 ที่โรงแรมบีพี แกรนด์สวีท อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบ้านกาหยี ตำบลปูโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีครั้งที 5 มีผู้เข้าประชุมประมาณ 13 คน มีนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เป็นประธาน

ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ทหารพราน 3 คนยิงปืนเข้าใส่รถกระบะที่มีชาวบ้านโดยสารมา 9 คน ซึ่งกำลังเดินทางไปงานละหมาดศพ ทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 3 คน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 ที่บ้านปุโละปุโย อำเภอหนอกจิก จังหวัดปัตตานี ความยาว 11 หน้า อย่างเป็นเอกฉันท์ โดยจะจัดลงนามรับรองและแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มีนาคม 2555 ที่จังหวัดปัตตานี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองข้อเสนอด้านนโยบาย 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้ยอมรับข้อเท็จจริงและแถลงต่อสาธารณชนให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อความเข้าใจที่ดีต่อกัน 2.ให้ชดใช้เยียวยา 3.การดำเนินคดีตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

4.การรณรงค์ให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของกระบวนการชันสูตรศพและการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ในกรณีการตายที่มีความเคลือบแคลงสงสัย 5.การตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นอิสระ โดยประกอบไปด้วยภาครัฐ ตัวแทนภาคประชาชน ผู้นำศาสนาและนักวิชาการที่ทุกฝ่ายยอมรับ และ 6.การเพิ่มการตรวจตราสอดส่องสภาวะทางจิตใจของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันและอันตรายเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน

ก่อนลงมติที่ประชุมได้อภิปรายร่างรายงานดังกล่าว โดยมีข้อสรุปว่า จากการประมวลหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ว่า อาวุธปืนอาก้า (AK-47) ที่ตกอยู่ที่บริเวณหัวเข่าของชาวบ้านที่เสียชีวิต อยู่ที่บริเวณห้องโดยสารด้านหน้า และปืนพกสั้น (ขนาด .45) ที่ตกอยู่ระหว่างศพ 2 ศพในบริเวณกระบะบรรทุกด้านหลังไม่ใช่ปืนของชาวบ้านที่โดยสารมาในรถคันดังกล่าว

คณะกรรมการสรุปว่า จากการตรวจสอบปลอกกระสุนปืนจำนวน 3 ปลอกที่ตกอยู่ในห้องโดยสารพบว่า ไม่ได้ยิงมาจากปืนกระบอกที่พบในรถ แต่กลับถูกยิงมาจากปืน 3 กระบอกของทหารซึ่งเป็นของกลางที่อยู่ในที่เกิดเหตุนั่นเอง ปืนอาก้าในรถและกระสุนเหล่านั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย นอกจากนี้ยังไม่พบเขม่าดินปืนจากปืนกระบอกนั้น ซึ่งน่าเชื่อได้ว่าปืนนั้นไม่ได้ผ่านการยิงในขณะเกิดเหตุ

ส่วนปืนพกสั้นที่พบในรถนั้น จากการตรวจสอบเขม่าดินปืนพบว่า มีการยิงจากปืนกระบอกดังกล่าวจริง แต่จากการเก็บตัวอย่าง ไม่พบเขม่าดินปืนจากมือของผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คนทำให้ยืนยันได้ว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่คณะกรรมการไม่สามารถตรวจสอบประเด็นเดียวกันนี้กับชาวบ้านที่เสียชีวิตที่ด้านกระบะหลัง 3 คนได้ เพราะญาติไม่ยินยอมให้ตรวจพิสูจน์ จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ยิงปืนพกสั้นในรถหรือไม่

ธงชัย วินิจจะกูล: ภาพลวงตาของ “ไฮเปอร์รอยัลลิสม์”

Posted: 17 Mar 2012 12:53 AM PDT

“ธงชัย” ชี้เงื่อนไขการเติบโตของ “ไฮเปอร์รอยัลลิสม์” มาจากวาระทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยม และความหวั่นกลัวต่ออนาคตของสถาบันฯ ประกอบกับกระบวนการ “แปรความจงรักภักดีให้เป็นสินค้า” และวัฒนธรรมการจ้องมองก็ได้ยิ่งทำให้สภาวะดังกล่าวกลายเป็น “ภาพลวงตา”

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา ร่วมจัดประชุมทางวิชาการในหัวข้อ "Democracy and Crisis" หรือ "ประชาธิปไตยและวิกฤติการณ์" โดยหนึ่งในหัวข้อการอภิปรายมีหัวข้อเรื่อง สถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย โดยประชาไทขอนำเสนอในส่วนการอภิปรายโดย ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน ดังนี้

วิดีโอคลิปการบรรยายโดยธงชัย วินิจจะกูล ที่มา: youtube.com/tdwwatchtv

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวถึงสภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นจากพิธีกรรม และการประกอบพิธีต่างๆ ของราชวงศ์ที่มีอยู่ทุกทีและสามารถพบเห็นได้ทุกเวลา โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2519เป็นต้นมาเขาชี้ว่าไฮเปอร์รอยัลลิสม์ไม่ใช่แค่สิ่งที่ถูกผลิตโดยรัฐเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สาธารณชนและประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ

ในแง่หนึ่ง เมื่อเทียบกับเสรีภาพทางศาสนา คนไทยยังมีสิทธิเลือกศาสนาและแสดงออกต่างกันได้ แต่ในแง่ของความจงรักภักดี หรือความเป็นกษัตริย์นิยมนั้นคนไทยกลับเลือกได้น้อยกว่า และประชาสังคมก็มีความอดทนต่อคนที่เห็นต่างไปน้อยเสียยิ่งกว่าการเห็นต่างทางศาสนา

ธงชัยได้ตั้งคำถามที่สำคัญสามข้อต่อไฮเปอร์รอยัลลิสม์คือ

อะไรที่ทำให้เกิดสภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์?

สภาวะดังกล่าวดำรงอยู่ได้อย่างไรในภาวะสมัยใหม่/ประเทศไทยเองเป็นรัฐสมัยใหม่หรือยัง ?

สภาวะดังกล่าวดำรงอยู่ได้อย่างไรในสภาพสังคมที่เปิด เป็นฆราวาส และเข้าสู่การใช้เหตุผลสมัยใหม่แล้ว?

ต่อคำถามข้างต้น ธงชัยอธิบายว่า มีสิ่งที่ทำให้เกิดสภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์อยู่สองอย่าง คือ วาระทางการเมืองของระบอบกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และความกลัวต่ออนาคตของสถาบันกษัตริย์ โดยทั้งหมดนี้ สามารถอธิบายได้ในเชิงประวัติศาสตร์และวาทกรรมเรื่อง “ธรรมราชา” สมัยใหม่ธงชัยกล่าวถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ (foundational moment) คือ พระราชดำรัสเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่   5 พ.ค. 2493 ว่า ”เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งภายหลังถูกยกมาอ้างบ่อยครั้งในฝ่ายไฮเปอร์รอยัลลิสม์ เช่นเดียวกันกับเพลง “ครองแผ่นดินโดยธรรม” ที่ได้ถูกผลิตซ้ำหลายต่อหลายครั้งในเวลาต่อมา

ธงชัยขยายความต่อถึงปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดสภาวะรอยัลลิสม์ โดยชี้ว่ามาจากเหตุผลสองด้าน อย่างแรก มาจากการที่ฝ่ายนิยมเจ้าต้องการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย โดยเฉพาะหลังการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และภายหลังการสิ้นอำนาจของคณะราษฎร ซึ่งฝ่ายกษัตริย์นิยมต้องการสถาปนาอำนาจเหนือประชาธิปไตยซึ่งเขาเรียกว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยม (Royalist Democracy)

ต่อมาการขึ้นสู่อำนาจของสถาบันกษัตริย์ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเต็มที่ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ธนะรัตช์ ราวต้นทศวรรษที่ 2500ซึ่งตรงกับสมัยสงครามเย็น และด้วยนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาสมัยประธานาธิบดีเคนเนดี้ที่มุ่งปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ ทำให้สหรัฐหันมาสร้างพันธมิตรกับสถาบันกษัตริย์ไทย และถึงแม้ประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยมจะมีความไม่เสถียรทางอำนาจอยู่บ้างในช่วงนี้ โดยเฉพาะการที่ต้องเจรจาอำนาจกับกองทัพ แต่เหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนเมื่อ 14 ตุลา 2516 ก็แสดงให้เห็นว่าสถาบันฯ สามารถเจรจาผลประโยชน์กับกองทัพได้อย่างสำเร็จและลงตัว

ธงชัยชี้ว่า ในปี 2518 ซึ่งเป็นการปฏิวัติอินโดจีน เป็นช่วงที่สภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์เริ่มต้นขึ้นจนมาถึงในสมัยเหตุการณ์พฤษภา 2535 ภาพของสุจินดา คราประยูร และจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อไกล่เกลี่ยเหตุการณ์ความวุ่นวาย ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงการบรรลุอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในทางการเมืองได้อย่างสำเร็จ

เรื่องที่น่าสนใจคือว่า เมื่อสถาบันฯ เริ่มกล่าวถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงทศวรรษ 1990 (ราวทศวรรษ 2530) กลับทำให้คนที่คิดต่างทางอุดมการณ์ในช่วงสงครามเย็นกลายมาเป็นพวกเดียวกันจะเห็นจากการที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมและคนที่เคยสมาทานคอมมิวนิสต์ล้วนกลายมาเป็นคนเสื้อเหลืองได้ ก็เพราะมีความหวาดกลัวต่อทุนนิยมและนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่อันเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 2540ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ ที่ความกลัวในสังคมจะเกี่ยวกับขบวนการคอมมิวนิสต์

ธรรมราชาที่เปลี่ยนความหมาย

ธงชัยกล่าวว่า เมื่อพูดถึงธรรมราชาในสมัยโบราณคือสมัยอยุธยาขึ้นไปนั้น เป็นการพูดภายใต้บริบทของ ฮินดู หรือเขมร ในขณะที่ธรรมราชาในปัจจุบันนี้เปลี่ยนความหมายไป  พระองค์เจ้าธานีนิวัต (พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) ปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยม ทรงพยายามอธิบายว่ากษัตริย์ไทยนั้นไม่ได้เป็นเทวราชาแบบเก่าแต่เป็น “ธรรมราชา” พยายามสร้างคำอธิบายและจัดการความรับรู้ การเป็นธรรมราชาในแง่นี้คือ มีหลักจริยธรรมของราชา แต่ไอเดียที่ว่ากษัตริย์ต้องรับใช้ประชาชน เริ่มเมื่อทศวรรษ1980 (ราว 2520) นี่เอง ไม่ได้มีมาก่อนหน้านั้น กษัตริย์สมัยโบราณนั้นไม่ได้มีหน้าที่ดูแลประชาชน แต่รักษาสถานภาพตัวเองและอยู่ในราชวัง ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง แต่กษัตริย์ที่คิดว่าต้องรับใช้ประชาชนนั้นเป็นกษัตริย์สมัยใหม่

วาทกรรมของพวกไฮเปอร์รอยัลลิสม์นั้นเพิ่งเกิดขึ้นไม่เกินสามสิบ-สี่สิบปีมานี้ โดยผลิตออกมาหลายเวอร์ชั่น เช่น พระองค์เจ้าธานีนิวัติ และสำนักกษัตริย์นิยมผลิตคำอธิบายว่า สถาบันกษัตริย์ไทยนั้นไม่เหมือนที่อื่น มีความเป็นเอกลักษณ์ ในทางตรงกันข้าม หากเราฟังข้อเสนอจากนิติราษฎร์หรือผู้สังเกตการณ์บางส่วน ที่ยกเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออกมาโต้แย้ง ก็จะเห็นว่าสองฝ่ายนี้มีมุมมองที่สวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด นี่แสดงว่าพวกเราไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน  และในสองภาษาที่แตกต่างกันนี้ ถ้าเรามานั่งบนโต๊ะเดียวกันเพื่ออภิปรายเราก็พบว่าเราพูดจากันคนละเรื่อง

ธงชัยย้ำถึงคำอธิบายเกี่ยวกับอำนาจอธิปัตย์โดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งระบุว่ารัฐฐาธิปัตย์ เป็นการใช้ร่วมกันระหว่างกษัตริย์กับประชาชน และจริงๆ แล้วอำนาจรัฐนั้นเป็นของกษัตริย์แล้วมอบให้ประชาชน เป็นการใช้อำนาจร่วมกัน จากนั้นประชาชนก็ยกอำนาจให้กษัตริย์ทำแทน แล้วอำนาจจะกลับมาสู่ประชาชนเมื่อมีการเลือกตั้ง

ธงชัยอธิบายว่าเขาเรียกวาทกรรมเช่นนี้ว่า เวทมนตร์ หรือ “Spell” เพราะว่าวาทกรรมแบบนี้ไม่ใช่การใช้เหตุใช้ผลไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับอุดมการณ์และเมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว เมื่อพื้นที่สาธารณะที่ปกครองด้วย “Magic” ก็สงสัยว่าเราตั้งคำถามถูกหรือเปล่า เพราะเราจะเรียกร้องให้คนมาอภิปรายกันเรื่องเวทมนตร์ได้หรือ เพราะการใช้เหตุผลยิ่งเป็นการคุกคามและเป็นอันตรายต่อตัว “ศรัทธา” หรือ “เวทมนตร์” นั้นเอง

คำอธิบายแบบนี้ แสดงให้เห็นว่าสภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์ ก็คือ “มายาภาพที่เป็นสมัยใหม่” ชนิดหนึ่ง (Modern Magic)รอยัลลิสม์สมัยใหม่ของไทยนั้นแตกต่างจากรอยัลลิสม์ของฝรั่งที่มีเหตุผลเกินไป เพราะรอยัลลิสม์สมัยใหม่แบบไทยนั้น แท้จริงแล้วเป็นเวทมนตร์ที่น่าลุ่มหลงขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน(increasingly enchanted Magic)โดยหากเปรียบเทียบกับ “ลัทธิเสด็จพ่อ ร.5”แล้ว พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ก็เสมือนกับเป็น “ลัทธิ” ที่ถูกมองว่ายึดเหนี่ยวเสถียรภาพของสังคมเอาไว้

ทั้งนี้ สภาวะดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การทำความจงรักภักดีให้เป็นสินค้า (Commodification of Royalism) และการบริโภค การทำให้สถาบันฯ เป็นวัฒนธรรมที่สามารถเสพได้ผ่านการมอง (Visual Culture) ทั้งโทรทัศน์ พิธีกรรม การผลิตซ้ำในรูปแบบอื่นๆ และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยที่ไม่ได้ฟังมากนักหากแต่ได้เห็นบ่อยๆ (Public Spectacle)

สุดท้ายธงชัยย้ำว่า  ในภาษาอังกฤษความหมายของ “Magic” อาจจะแปลได้ว่าสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่มันก็แปลได้อีกว่าเป็น “มายาภาพ/มายากล” ซึ่งเป็นสิ่งที่หลอกความคิดของเราและในทางตรงกันข้าม “ภาวะตาสว่าง” ก็คงจะเป็นการใช้คำได้อย่างถูกต้องแล้ว เพราะมันหมายถึง คือการเปิดตาขึ้น การตื่นรู้ และรู้ทันต่อสิ่งที่หลอกตาเพราะท้ายที่สุดแล้ว สภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์ ก็เป็นเพียงมายาภาพเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น