โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: เสรีภาพ ‘เนรคุณ’

Posted: 31 Mar 2012 12:22 PM PDT

 
เมื่อวันพุธ มีข่าวที่ทำให้ผมหัวร่อแทบตกเก้าอี้ นั่นคือ 5 สถาบันทางวิชาการ จัดแถลงภารกิจ ขยายพื้นที่เสรีภาพให้กับสังคมไทย เนื่องใน 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
 
รายชื่อ 5 สถาบันที่ประโคมข่าวกันยิ่งใหญ่ (โดยเฉพาะไทยรัฐเอาไปเขียนบทวิเคราะห์ อิอิ) ได้แก่ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มธ. ซึ่งมีศาสตราจารย์วิธีพิเศษ ธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้อำนวยการ สถาบันพระปกเกล้า ศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เป็นประธาน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว เป็นที่ปรึกษา และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคม
 
เสียดายที่ผมไม่รู้หมายล่วงหน้า ไม่งั้นจะไปนั่งหัวร่อเป็นบ้าเป็นหลังอยู่คนเดียวในห้องประชุม ให้คนอื่นประหลาดใจ อะไรวะ นักวิชาการท่านพูดแต่เนื้อหาดีๆ มีที่ไหนมานั่งหัวร่อ
 
แน่นอนครับ เนื้อหาที่พูดล้วนมธุรสวาจาทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับพรรคประชาธิปัตย์จัดงาน “จับมือรวมพลัง ออกแบบประเทศไทย” คุยว่าสู้กับเผด็จการ อุดมการณ์ไม่เคยเปลี่ยน (เผด็จการทุนผูกขาด ไม่ใช่เผด็การทหาร กร๊าก!) ชูคำขวัญ ก้าวข้ามนักการเมือง คืนกระสุน-เอ๊ย คืนการเมืองให้ประชาชน
 
นักวิชาการที่มาร่วมภารกิจ “ขยายพื้นที่เสรีภาพ” นี้ก็เช่นกัน ถามว่าที่ผ่านมาท่านได้ขยายพื้นที่เสรีภาพหรือไม่ หรือกลายเป็นฝ่ายจำกัดพื้นที่เสียเอง ประเด็นเสรีภาพทางวิชาการที่เพิ่งร้อนแรงยังไม่จางหายไป คือกรณี อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กับนิติราษฎร์ เสนอแก้ไขมาตรา 112 และกรอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วถูกปลุกความเกลียดชังจนถูกทำร้าย
 
ผมไม่เห็น 5 สถาบันที่ว่าออกมาปกป้องเสรีภาพของ อ.วรเจตน์กับนิติราษฎร์เลย การแถลงครั้งนี้ก็ไม่พูดถึง แต่ประชาชนเขายังจำได้ อ.บวรศักดิ์ไม่ใช่หรือที่โจมตี อ.วรเจตน์ว่า “เนรคุณ” ทุนอานันทมหิดล
 
แล้วถ้าพูดในหลักการ มันยิ่งเลอะเข้าไปใหญ่ อ.บวรศักดิ์ไม่ใช่หรือ ที่เป็นเนติบริกรให้ทักษิณครั้งเหลิงอำนาจ ครั้นนายเก่าจวนตัว บวรศักดิ์-วิษณุ ได้สัญญาณ ก็โดดเรือหนี พอรัฐประหารก็เข้าไปช่วยร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว เสร็จสรรพก็เป็น สนช.เป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
 
ถามว่าตอนร่างกฎหมายให้ทักษิณ ร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐประหาร ท่านเคยสนใจ “พื้นที่เสรีภาพ” ไหม เพิ่งมาตอนสถาบันพระปกเกล้ารับงานวิจัยปรองดองของบิ๊กบังนี่แหละ ที่ถูกฝ่ายค้านกับสื่อรุมกระหน่ำเสียจนต้องร้องขอ “พื้นที่เสรีภาพ”
 
เช่นกัน 5 ปีที่ผ่านมา ธีรยุทธ บุญมี เคยเรียกหา “พื้นที่เสรีภาพ” บ้างไหม (เสรีภาพมี แต่พอดีหายใจขัด ฮิฮิ) ในยุครัฐประหาร ในยุคสื่อและนักวิชาการเลือกข้าง ธีรยุทธเคยปกป้องพื้นที่เสรีภาพของเสียงข้างน้อยไหม ธีรยุทธคือผู้เรียกหา “ตุลาการภิวัตน์” โดยหวังจะใช้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ อำนาจที่ปิดกั้นเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ มาจัดการกับความขัดแย้งทางการเมือง มาถึงตอนนี้ เมื่อเห็นก๊กเล่าปี่จะแพ้ กลับออกมาเรียกร้องหา “พื้นที่เสรีภาพ”
 
ทีดีอาร์ไอที่จริงก็มีนักวิชาการหลากหลาย เข้าท่าเข้าทีก็หลายท่าน แต่ภาพลักษณ์โดยรวมกลับเป็นสถาบันเศรษฐศาสตร์สำนักอนุรักษ์นิยม แบบอะไรที่เป็นประชานิยม เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเลวร้ายหมด มุ่งต่อต้านทุนสามานย์ แต่เลือกเฉพาะกลุ่ม ทำเป็นไม่เห็นกลุ่มทุนเก่า
 
แล้วที่สำคัญ จะจงใจหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่งานวิจัยของทีดีอาร์ไอหลายชิ้นกลายเป็นอาวุธทางการเมือง (หรือแม้แต่เป็นคำพิพากษา ในคดียึดทรัพย์ทักษิณ ซึ่ง คตส.ว่าตามงานวิจัยของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เกือบทั้งดุ้น)
 
เมื่อตอนพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมาใหม่ๆ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ไปให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าวอิศรา “ประธานทีดีอาร์ไอเปิดหลุมพรางพรรคเพื่อไทยปูทางสู่การเมืองพรรคเดียว” บอกว่าการที่รัฐบาลมีนโยบายบ้านหลังแรก รถคันแรก เงินเดือน 15,000 หวังผลทางการเมือง ชนะใจคนชั้นล่างแล้ว ก็จะมาชนะใจคนชั้นกลางบ้าง เป็นความต้องการครอบงำการเมืองไทย
 
แถมท่านยังบอกว่าการที่รัฐบาลมีเกิน 300 เสียง อำนาจต่างๆ ก็จะถูกครอบงำ ประชาธิปไตยที่แข็งแรง 2 พรรคต้องสูสีกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ถ้าพรรคเดียวครอบงำ จะเป็นประชาธิปไตยเผด็จการ
 
อุ๊บ๊ะ ก็อีกพรรคมันขี้แพ้แล้วจะมาโทษกันได้ไง นึ่หรือความคิดคนระดับประธานทีดีอาร์ไอ ผมเคยด่าไว้เรียบร้อยแล้ว “ที่สุดแห่งความเลอะเทอะ” ใครก็ได้ช่วยบอกท่านเปิดดูที http://www.voicetv.co.th/blog/432.html เพราะถ้าทัศนะเรื่องประชาธิปไตยเรื่องเผด็จการท่านมีปัญหาอย่างนี้ ทัศนะต่อเสรีภาพของท่าน ก็คงพิกลเช่นกัน
 
สมาคมนักข่าวฯ น่าจะมาในฐานะตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา สื่อกระแสหลักขยายพื้นที่เสรีภาพ หรือปิดกั้นเสรีภาพ ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ตอนนี้ต้องหันมาปรับตัวกันวุ่นวาย พยายามรักษาความเป็นอภิสิทธิ์ชนเอาไว้สุดฤทธิ์
 
ขี้เกียจย้อนอดีตให้มากมาย เอาแค่กรณีนิติราษฎร์ อ.วรเจตน์ถูกผู้จัดการรายสัปดาห์เอาหน้าไปแปะภาพลิงขึ้นปกเป็น “วรเจี๊ยก” องค์กรวิชาชีพสื่อมีใครวิพากษ์วิจารณ์บ้างไหมว่านั่นเป็นการกระทำที่เลวร้าย ดูหมิ่นเหยียดหยาม ทำลายความเป็นคน ให้ผู้อ่านรู้สึกว่าต่ำทราม ช่วยกันดูถูกเหยียดหยามได้ในเฟซบุค แม้เมื่อ อ.วรเจตน์ถูกชก
 
ทีกนก รัตน์วงศ์สกุล โดนมวลชนรวมตัวกันไปแสดงความไม่พอใจ (แน่นอนไม่ได้ไปพับเพียบขอความกรุณาสื่อ) สื่อทั้งหลายจะเป็นจะตายเสียให้ได้ นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์อ้างว่า “กึ่งคุกคาม”
 
หรือสมาคมฯ จะบอกว่าไม่เป็นไร กรรมสนองผู้จัดการรายสัปดาห์ ต้องปิดตัวเองไปแล้ว พร้อมสื่อในเครือผู้จัดการหลายฉบับ โดยต้องปลดพนักงาน 600 คน (ได้ค่าชดเชยเต็มเม็ดเต็มหน่วย สุรวิชช์ วีรวรรณ ฝากชี้แจง)
 
เห็นจะมีแต่ อ.สุริชัย หวันแก้ว กับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กระมัง ที่ยังคู่ควรกับการเรียกร้อง “ขยายพื้นที่เสรีภาพ” (ถึงแม้อาจารย์แกจะหลวมตัวไปเป็น สนช.แต่ก็ชิงลาออกช่วงที่เลอะเทอะกันตอนท้าย หลังจากนั้นก็พยายามจะถอยออกมาเป็นสีขาว)
 
สาระของข่าวนี้ไปอยู่ที่คำพูดของ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เสียมากกว่า ที่ท่านบอกว่านักวิชาการควรเสนอความจริง ไม่ควรมีค่าเชิงตัดสิน (โห เขาเอาไปเป็นคำพิพากษาเลยอาจารย์) ไม่ควรคิดว่าตัวเองถูกต้องเสมอไป และอย่าเอาศีลธรรมมาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
 
ขณะที่ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ แถมให้ว่า สิ่งที่สถาบันทั้ง 5 ควรทำคือ ต้องเป็นสถาบันที่ถูกตรวจสอบได้ด้วย เพราะทุกความคิดต้องอยู่ในความโปร่งใส ต้องดีเบตชุดความคิดที่เสนอ เพื่อให้ข้อเสนออยู่ได้ มีความเข้มแข็ง ไม่ล้มหรือทำอันตรายต่อใคร
 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ช่วงนี้อย่าไว้ใจใครที่ออกมาพูดเรื่องดีๆ อำพราง เพราะบ้างก็อยากรักษาสถานะ ในกระแสที่เปลี่ยนไป บ้างก็จวนตัวกลายเป็นเสียงข้างน้อย ต้องเรียกร้องพื้นที่เสรีภาพ
 
คล้ายกับภาคีเครือข่ายต้านคอรัปชั่นนั่นละครับ เนื้อหาสาระดูดีไปหมด แต่ตัวองค์กรและบุคคลที่ร่วมก่อตั้ง ผมตะหงิดๆ ไม่เคยไว้วางใจเลย มีอะไรอำพรางหรือเปล่า
 
นิติศาสตร์หรือเทววิทยา
 
อ่านพุทธิพงศ์ พงศ์อเนกกุล ตรวจข้อสอบ รศ.ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม เรื่อง “นายสุรเจต” กับ “นิติโรส” แล้วมันส์มากครับ พุฒิพงศ์บอกด้วยว่านี่ไม่ใช่ความเห็นต่าง แต่เป็นการชี้ถูกผิด เอาละสิ คณะนิติศาสตร์ มธ.จะถือเอาคำตอบของใคร ถ้าเผื่อมีนักศึกษาตอบไปอย่างพุทธิพงศ์ แล้ว รศ.ดร.ท่านไม่ให้คะแนน นักศึกษาต้องประท้วงนะครับ
 
ผมเห็นว่าคณะนิติศาสตร์จะปล่อยให้เกิดความคลุมเครือทางวิชาการไม่ได้ คำตอบต้องมีเพียงหนึ่งเดียว ที่ถูกต้อง ชัดเจน ไม่งั้นนักศึกษาสับสนกันหมด คณะจะทำการเรียนการสอนกันต่อไปได้อย่างไร เมื่อ รศ.ดร.ออกข้อสอบแล้วมีนักศึกษาปี 4 แย้งคำตอบ แถมแย้งอย่างมีเหตุผลน่าฟังเสียด้วย
 
คณะนิติศาสตร์ต้องจัดประชุมใหญ่นะครับ ให้คณาจารย์ลงมติว่า ธงคำตอบของใครถูกต้องกันแน่ เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป
 
ต้องซูฮกอาจารย์พุทธิพงศ์ เพราะผมอ่านคำตอบข้อ 1 ถึง 3 ไม่ยักจับจุดทางนิติศาสตร์ได้ คนรู้กฎหมายงูๆ ปลาๆ อย่างผมยังหลงคิดว่าถูกแล้ว แม้กังขาอยู่ในเรื่อง agenda ว่าทำไมเอากรณี “นิติโรส” มาถาม
 
แต่ที่ผมอ่านแล้วสะดุดกึกทันทีคือข้อ 4 นายสุรเจตต้องการให้องค์กรศาลได้รับการตรวจสอบจากผู้แทนของประชาชน แล้ว รศ.ดร.ท่านถามว่า สอดคล้องกับหลักอิสระของผู้พิพากษาอันเป็นหลักย่อยหลักหนึ่งของหลักนิติรัฐหรือไม่ โดยมีธงคำตอบว่า “ขัดหลักนิติรัฐเพราะแทรกแซงอำนาจตุลาการ ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมและก่อความไม่สงบสุขในบ้านเมือง”
 
นี่เอาง่ายๆ ไม่ตีความโดยละเอียดเหมือนพุทธิพงษ์ การที่องค์กรศาลถูกตรวจสอบจากผู้แทนประชาชน ถือว่าขัดหลักนิติรัฐ แทรกแซงอำนาจตุลาการ อย่างนั้นหรือครับ ท่านเรียนที่ไหนมา ท่านไม่รู้หรือว่า อเมริกาประธานาธิบดีเสนอชื่อศาลสูง วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ อเมริกาไม่มีหลักนิติรัฐ แทรกแซงอำนาจตุลาการ อย่างนั้นหรือ (ที่จริงเขาเลือกตั้งผู้พิพากษาด้วยซ้ำ) อังกฤษก็มีรัฐมนตรียุติธรรมเป็นประธานศาลฎีกาโดยตำแหน่ง ไม่ต้องแยกออกมาเหมือนบ้านเรา ไม่เห็นมีใครว่าเขาขัดหลักนิติรัฐ
 
ต่อให้ท่านจบ ดร.เมืองไทย ท่านไม่รู้หรือว่า ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เริ่มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 สมัยวุฒิเลือกตั้ง สภาผัวสภาเมียนั่นแหละ
 
ทัศนะของท่านคืออะไร คือผู้พิพากษาตุลาการต้องเป็นเจ้ากรมอิสระ ไม่มีใครตรวจสอบได้ เพราะท่านเป็นผู้วิเศษ เป็นคนดีโดยตำแหน่ง ห้ามผู้แทนประชาชนตรวจสอบ อย่างนั้นหรือ
 
นี่หรือคือหลักนิติรัฐ เป็นอาจารย์กฎหมายเคยเรียนหลักการประชาธิปไตยเบื้องต้นหรือเปล่าว่า อำนาจ 3 ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ล้วนเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชน ถ้าอ้างความเป็นอิสระให้ตุลาการล่องลอยอยู่โดยไม่มีที่ยึดโยงกับประชาชน จะถูกหลักนิติรัฐได้อย่างไร
 
ทัศนะประชาธิปไตยนะครับ (เผื่อไม่เคยเรียน) คือความเชื่อว่าเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ธรรมดา มีกิเลส ตัณหา รัก โลภ โกรธ หลง ฉะนั้นไม่มีใครหรอกที่สามารถดำรงตนอยู่ในความบริสุทธิ์สะอาดตลอดกาล ถูกเสมอโดยไม่เคยพลาด ประชาธิปไตยจึงเชื่อว่าทุกคนที่มีอำนาจต้องถูกตรวจสอบ อำนาจแต่ละฝ่ายต้องคานซึ่งกันและกัน
 
ประชาธิปไตยไม่เชื่อว่าใครบริสุทธิ์ผุดผ่องหรือเป็นฝ่ายถูกต้องโดยกำเนิด โดยชาติตระกูล โดยวุฒิการศึกษา หรือโดยตำแหน่ง ความคิดแบบนั้นคือเทวนิยม ความเชื่อเรื่องผู้วิเศษ ผีสางเทวดา ที่แปลงมาเป็นความเชื่อว่าตุลาการหรือองค์กรอิสระผู้บริสุทธิ์ ล่องลอยมาจากฟากฟ้า ไม่มีสุคติอคติกับใครเขา ดำรงชีวิตอย่างสมถะกินผักกินหญ้า (แต่เงินเดือนเป็นแสน คริคริ) สมควรจะมาชี้ถูกชี้ผิดให้สังคมโดยห้ามวิพากษ์วิจารณ์ให้เป็นมลทิน ห้ามตรวจสอบ ห้ามซักไซ้ (แบบตุลาการรายหนึ่งจะมาเป็นองค์กรอิสระ ไม่ยอมแสดงบัญชีทรัพย์สินให้ผู้แทนประชาชนดู)
 
ตามความรู้งูๆปลาๆ แบบผม เทววิทยาเขามีสอนในมหาลัยต่างประเทศ เมืองไทยไม่มี แต่เทวนิยมสอดแทรกอยู่ทุกปริมณฑลของการศึกษาและวัฒนธรรมไทย ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เคารพนับถือตามจารีต เกรงกลัวยกย่องผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีตำแหน่ง ครอบงำคนไทยตั้งแต่เกิด
 
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่อาจารย์กฎหมายก็มีความคิดเทวนิยม เพียงแต่ท่านควรแยกแยะให้ออกว่าท่านสอนนิติศาสตร์หรือเทววิทยา
 
 
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ “บก.สำนักข่าวฉาน” วิเคราะห์การเลือกตั้งซ่อมพม่า

Posted: 31 Mar 2012 09:52 AM PDT

“คืนใส ใจเย็น” ระบุการเลือกตั้งซ่อมในพม่าที่รัฐฉาน 3 พรรคใหญ่ “ทหาร-ซูจี-ไทใหญ่” ขับเคี่ยวกันหนัก แต่เชื่อพรรครัฐบาลคงไม่ยอมเสียเก้าอี้เดิมง่ายๆ ทั้งยังเกิดข้อผิดพลาดในรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมาก ขณะที่ประชาชนก็ตั้งความหวังว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น หากมีการยุติการสู้รบขึ้นจริงๆ ในพื้นที่ และสามารถเจรจาทางการเมืองต่อกันได้

วันนี้ (31 มี.ค. 55) ประชาไทสัมภาษณ์ “คืนใส ใจเย็น” บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน (Shan Herald Agency for News - SHAN) ทางโทรศัพท์ ต่อกรณีการเลือกตั้งซ่อมของพม่าที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์นี้ (1 เม.ย. 55) โดยบรรณาธิการสำนักข่าวฉานระบุว่าการชิงชัย 2 ตำแหน่งที่ว่างในพื้นที่รัฐฉานเป็นการขับเคี่ยวระหว่างพรรค USDP ของรัฐบาล พรรค NLD ที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี และพรรคการเมืองของคนไทใหญ่คือพรรค SNDP ขณะเดียวกันบรรณาธิการสำนักข่าวฉานยังสะท้อนด้วยว่า การเลือกตั้งซ่อมอาจเป็นแค่กิจกรรมทางการเมืองที่คนออกมามีส่วนร่วม แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือประชาชนยังตั้งความหวังว่าในพื้นที่จะมีสันติภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีขึ้น หากการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่าและกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์สามารถตกลงกันได้ และนำไปสู่การปรองดองแห่งชาติ โดยรายละเอียดของการสัมภาษณ์มีดังนี้

000

เสียงสัมภาษณ์อาจารย์คืนใส ใจเย็น บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน (SHAN) เรื่องการเลือกตั้งซ่อมในพม่า 1 เม.ย. ที่จะถึงนี้

 

จากมุมมองของคนไทใหญ่ คนในรัฐฉาน มองการเลือกตั้งซ่อมในวันพรุ่งนี้อย่างไรบ้าง มองว่ารัฐฉานจะมีการเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้งหรือไม่

การเลือกตั้งซ่อมนี้เพื่อที่จะทดแทนที่นั่ง 48 ที่นั่งที่ว่างไป เพราะเจ้าของที่นั่งกลายเป็นรัฐมนตรี เป็นประธานาธิบดีในรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นที่นั่งของพรรคเสียงข้างมากคือพรรคของรัฐบาล ทางรัฐบาลเขาคงไม่ยอมสูญเสียไปง่ายๆ

สำหรับในรัฐฉานมีการชิงชัย 2 ที่นั่ง ในรัฐฉานภาคเหนือที่ล่าเสี้ยว 1 ที่นั่ง ทางภาคใต้จะมีเมืองกะลอ 1 ที่นั่ง ตอนนี้ทางฝ่ายพรรค SNDP (พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่) หรือพรรคไทใหญ่กำลังสู้อย่างหนักก็คือที่ล่าเสี้ยว ที่ล่าเสี้ยวในตัวเมืองใหญ่ๆ ทั้งพรรค NLD (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ของนางอองซาน ซูจี พรรค USDP (พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา) ของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และพรรค SNDP ของไทใหญ่ก็สูสีกันมาก

อย่างพรรค NLD ในตัวเมืองคนจะสนับสนุนมาก ถ้าดูเขตบ้านนอกต่างๆ คนที่สนับสนุนพรรคไทใหญ่จะมีมากกว่า แต่ก็ขับเคี่ยวกัน

ส่วนพรรค USDP เขาก็หวัง เนื่องจากการสำรวจประชากรไม่มีระเบียบ จำนวนประชากรที่แน่นอนมีเท่าไหร่ ไม่มีใครรู้ คนที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง จำนวนมีเท่าไหร่ จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่แน่นอนเลย คนที่ตายไป 3-4 ปีก็ยังอยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คนที่อายุครบ 18 ปีตอนนี้ก็มีเป็นแสนๆ คนที่ไม่อยู่ในรายชื่อ บางคนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ก็มีรายชื่อของพวกเขาอยู่ เนื่องจากเป็นแบบนี้ทางฝ่าย USDP ก็หวังจะครองคะแนนเสียงจากข้อบกพร่องเหล่านี้

นอกจากนี้เขาก็หวังจะได้คะแนนเสียงจากข้าราชการต่างๆ ที่เขาคุมได้

การแข่งขันครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันระหว่าง 3 กลุ่ม คือสถาบันทหารหรือกลุ่มอำนาจเก่า สถาบันตัวบุคคลคือนางออง ซาน ซูจี พรรคของออง ซาน ซูจี ใครจะเป็นผู้สมัครไม่สำคัญ ที่สำคัญก็คือผู้สมัครคนนี้อยู่ในพรรคของนางออง ซาน ซูจีหรือไม่ ถ้าอยู่ในพรรคของนางออง ซาน ซูจี ก็จะได้เปรียบมากๆ

ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างเช่นไทใหญ่ เป็นนางออง ซาน ซูจีหรือไม่ เขาไม่แคร์ ผู้สมัครจะเป็นใครเขาไม่แคร์ แต่ถามว่าเป็นไทใหญ่หรือเปล่า เขาจะถามแบบนี้ ถ้าเป็นไทใหญ่เขาจะลงเสียงให้ มันเป็นแบบนี้ เขาไม่ได้แข่งกันเรื่องนโยบาย

 

หลังการเลือกตั้ง กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ คนในรัฐฉานมีความหวังว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้งซ่อมหรือไม่ โดยเฉพาะสถานการณ์การสู้รบที่ยังคงเกิดขึ้นแม้ว่ากองทัพรัฐฉานเหนือและใต้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลแล้ว

สำหรับประชาชนทั่วไป การเลือกตั้งซ่อมนี้ เนื่องจากมีการเลือกตั้งเขาก็เข้าร่วมแค่นั้น แต่ส่วนใหญ่เขาก็รู้ดีกว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาจะดีขึ้น มันขึ้นอยู่กับว่ามีการสู้รบหรือไม่ ถ้าไม่มีการสู้รบ การกดขี่ข่มเหง ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไป ถ้าอย่างนั้นการทำมาหากินจะดีขึ้น

พวกเขาก็หวังว่าการสู้รบกันจะยุติลง แล้วจะมีการเจรจากันทางการเมือง สามารถตกลงกันได้โดยดี ถ้าเป็นอย่างนั้น ทั้งการเลือกตั้ง ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งต่างๆ ก็จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ถ้าเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว เขาก็หวังว่าการปรองดองแห่งชาติจะเกิดขึ้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทางเลือกการปรองดองที่ยุติธรรมที่สุด แต่เป็นไปไม่ได้มากที่สุด เพราะอะไร?

Posted: 31 Mar 2012 09:34 AM PDT

 
ข้อถกเถียงเรื่อง “ทางเลือกการปรองดอง” น่าจะยืดเยื้อไปอีกนาน เพราะแต่ละทางเลือกก็มีปัญหา แต่ก็เป็นปัญหาที่สังคมควรรับรู้และถกเถียงกันอย่างกว้างขวางต่อไป ผมขอสรุปแต่ละทางเลือกตามที่ถกเถียงกันอยู่ให้เห็นประเด็นปัญหาชัดขึ้น เพื่อช่วยกันคิดต่อดังนี้
 
ทางเลือกที่ 1 ยกเลิกความผิดที่ศาลตัดสินไปแล้วไม่ได้ เพราะทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมต้องให้ทักษิณกลับมาติดคุกก่อน จึงค่อยกำหนดแนวทางปรองดองต่อไป 
 
ทางเลือกนี้เท่ากับยอมรับว่า รปห.19 กันยา 49 ชอบธรรม กระบวนการ คตส.ชอบธรรม ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น
 
1.ในทางหลักการ รปห.ล้ม รบ.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ผิด (มากกว่าคอรัปชัน เพราะการล้มล้างรัฐบาลและรัฐธรรมนูญมีโทษประหารชีวิต) และ รปห.ที่ปล้นอำนาจประชาชนมาไม่อาจเป็นรัฐาธิปัตย์ที่ชอบธรรม
 
อุปมาเหมือนโจรที่ปล้นเงินเราไป แม้เขาจะเอาเงินไปใช้จ่ายลงทุนและ ฯลฯ เขาก็ไม่มีกรรมสิทธิ์ในเงินนั้น เงินยังเป็นของเราเช่นเดิม 
 
อำนาจรัฐที่ รปห.ปล้นประชาชนไป แม้คณะ รปห.จะนำไปใช้ในเรื่องต่างๆ แต่อำนาจนั้นยังเป็นของประชาชนเช่นเดิม นี่คือเหตุผลว่าทำไมเมื่อคณะ รปห.หมดอำนาจสังคมกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยแล้วจึงควรลบล้างผลพวง รปห.และนำ คณะ รปห.ขึ้นศาล ดังที่นิติราษฎร์เสนอ 
 
2. เมื่อ รปห.ไม่ใช่รัฐาธิปัตย์เพราะปล้นอำนาจมา ไม่ใช่เจ้าของอำนาจ นิติรัฐ นิติธรรมจึงไม่มี กระบวนการเอาผิดทักษิณจึงไม่ได้เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรมแต่อย่างใด
 
ฉะนั้น ต่อให้ทักษิณผิดจริงตามข้อกล่าวหา กระบวนการที่ไม่มีนิติรัฐ นิติธรรมก็เอาผิดไม่ได้ เพราะไม่มี “ความชอบธรรม” ทั้งทางหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและทางกฎหมายรองรับ
 
จะอ้างมั่วๆ เรื่อง “ตำรวจปลอมจับโจรจริง” เหมือนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้ เพราะขัดต่อ “กระบวนการอันเหมาะอันควรในทางกฎหมาย” (due process)
 
3. ถ้ายอมรับความชอบธรรมของ รปห.และเห็นว่ามีนิติรัฐ นิติธรรมเอาผิดได้ ก็เท่ากับยอมรับบรรทัดฐานทางสังคม-การเมืองว่า “ถ้าการเมืองมีปัญหาคอรัปชันควรแก้ด้วยวิธี รปห.” 
 
ก็จะเกิดปัญหางูกินหางว่า ถ้าคณะ รปห.คอรัปชันจะแก้ด้วย รปห.อีกเรื่อยๆ ใช่หรือไม่ = ในประเทศนี้เจ้าของอำนาจที่แท้จริงไม่ใช่ประชาชน แต่คือกองทัพ หรือเครือข่ายอำนาจนำที่ผูกขาดการทำ รปห.
 
ฉะนั้น ทางเลือกที่ 1 อธิบาย “ความยุติธรรม” ไม่ได้ว่า เช่น ทำไม รปห.ที่ผิดมากกว่าคอรัปชัน ฝ่ายทำ รปห.(และผู้ที่อยู่เบื้องหลัง) จึงต้องไม่ผิด แต่ฝ่ายถูกทำ รปห.ต้องรับผิด 
 
หรือพูดอีกอย่างว่า ทำไมโจรที่ปล้นอำนาจไม่ผิด แต่เจ้าของอำนาจ (ที่ได้อำนาจมาจากประชาชน) ต้องเป็นฝ่ายผิด 
 
ทางเลือกที่ 2 นิรโทษกรรมทักษิณ ด้วยเหตุผลว่า รปห.และกระบวนการเอาผิดจาก รปห.ไม่ชอบธรรม ก็จะเกิดปัญหาว่า ถ้าไม่ชอบธรรมแล้วการดำเนินการกับทักษิณก็ย่อมไม่มีผลในทางกฎหมาย ทำไมต้องนิรโทษกรรมจากกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมนั้นด้วย เพราะการนิรโทษกรรมย่อมเท่ากับยอมรับผลของกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม
 
ทางเลือกที่ 3 นิรโทษกรรมทักษิณ ปชป.และคดีเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งคดี ม.112 ตั้งแต่ระดับแกนนำทุกสีทุกฝ่ายถึงระดับชาวบ้านธรรมดา เฉกเช่นที่ คณะ รปห.นิรโทษกรรมตนเอง 
 
แต่ก็จะเกิดปัญหาตามมาว่า วิกฤต 5-6 ปี ที่ผ่านมามีข้อกล่าวหาเรื่องคอรัปชัน มีรัฐประหาร มีคนตาย มีการสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ทำไมต้องถูกทำให้ “เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไรเลย
 
ทางเลือกนี้ไม่ยุติธรรมต่อสังคมมากที่สุด แต่อาจจะเป็นไปได้มากที่สุดก็ได้ (ทว่าไม่แน่ว่าคดี ม.112 จะได้รับการนิรโทษกรรม?)
 
ทางเลือกที่ 4 ทำให้รัฐประหารเป็นโมฆะ การดำเนินการของ คตส.เป็นโมฆะ นำคณะ รปห.ขึ้นศาลในฐานกระทำความผิดล้มล้างรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ และนำคดีต่างๆ ของทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ รวมทั้ง “เปิดเผยความจริงเบื้องหลัง รปห.” ดำเนินคดีผู้สั่งสลายการชุมนุมที่มีคนตายและบาดเจ็บ และทุกฝ่ายที่กระทำความผิดตามเป็นจริงทุกกรณี เยียวยาผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ อย่างเป็นธรรม   
 
แนวทางนี้ถูกหลักการที่สุด ยุติธรรมที่สุด แต่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้มากที่สุด! 
 
ทำไมแนวทางที่ถูกหลักการที่สุด ยุติธรรมที่สุด แต่กลับเป็นไปไม่ได้มากที่สุด?
 
คำตอบคือ เพราะเครือข่ายอำนาจผูกขาดการทำ รปห.และฝ่ายสนับสนุน รปห.เช่น พธม.ปชป.และทุกฝ่ายที่ต้องการเอาผิดทักษิณให้ได้ ไม่ยอมรับทางเลือกนี้แน่นอน
 
อุปสรรคของการปรองดองอยู่ที่ไหน? ทางออกที่ควรจะเป็นคืออะไร?
 
จะเห็นว่าทางเลือกที่ 4 มีความชัดเจนคือ (1) ถูกหลักการที่สุด (2) ยุติธรรมที่สุด และ (3) มีผลต่อการแก้ปัญหา “ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” และ/หรือส่งผลต่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตยมากที่สุด
 
แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่เครือข่ายอำนาจผูกขาดการทำ รปห.และฝ่ายสนับสนุน รปห.เช่น พธม.ปชป.และทุกฝ่ายที่ต้องการเอาผิดทักษิณให้ได้ ไม่ยอมรับทางเลือกนี้
 
คนเหล่านี้มีความคิดที่มีปัญหา คือ (1) มีความคิดแบบเห็นแก่ได้อย่างผิดหลักการประชาธิปไตยและหลักความยุติธรรมอย่างยิ่งว่า รปห.ชอบธรรม กระบวนการเอาผิดโดย รปห.ชอบธรรม คณะ รปห.และผู้อยู่เบื้องหลังต้องไม่ผิด มีแต่ฝ่ายถูกทำ รปห.เท่านั้นที่ต้องผิด (2) มีความคิดขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่ง (ความคิดของ ปชป.พธม.และทุกฝ่ายที่สนับสนุนพวกเขา) ว่า ไม่เห็นด้วยกับ รปห.แต่ยืนยันว่ากระบวนการเอาผิดของ รปห.ชอบธรรม (= ยอมรับว่า รปห.ชอบธรรมนั่นเอง)
 
จะเห็นว่า “อุปสรรคสำคัญ” ของการปรองดองอยู่ที่ฝ่ายทำผิดหลักการประชาธิปไตยและฝ่ายที่สนับสนุนการทำผิดนั้น จึงทำให้เกิด “ความเห็นต่างทางหลักการ” ที่ไม่มีวันจะยอมกันได้ 
 
ทางออกจึงอยู่ที่การนำเสนอทางเลือกต่างๆ และปัญหาในทางหลักการ ความเห็นต่างๆ ทุกแง่ทุกมุมให้สังคมรับทราบอย่างกว้างขวางที่สุด และสุดท้ายก็ต้องตัดสินด้วย “เสียงข้างมาก” โดยผ่านกระบวนการรัฐสภา หรือประชามติอยู่ดี
 
เพราะในเมื่อไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันได้ ก็ต้อง “ยืนยัน” การใช้กระบวนการตัดสินด้วยเสียงข้างมากตามกติกาประชาธิปไตย 
 
จะปล่อยให้เสียงข้างน้อยที่พยายามยืนยันว่า ฝ่ายตนต้องถูกเสนอ ทำอะไรไม่ผิด (ทำ รปห.ไม่ผิด สลายการชุมนุมทำให้คนตายไม่ผิด ฯลฯ) ผูกขาดอำนาจชี้นำสังคมตลอดไปไม่ได้!    
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘คนสตูล’ วิเคราะห์ความเสี่ยงภูมิอากาศผุดท่าเรือน้ำลึกปากบาราพบปัญหาอื้อ

Posted: 31 Mar 2012 09:12 AM PDT

สผ.ร่วมจุฬาฯ จัดประชุมความเสี่ยงต่อภูมิอากาศ กรณีแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้  “คนสตูล” วิเคราะห์ผุดท่าเรือน้ำลึกปากบาราพบปัญหาอื้อ ภาคเกษตร-ท่องเที่ยวลดสวนการเพิ่มแรงงาน-อุตสาหกรรม อากาศแปรปรวนเกิด-แย่งชิงทรัพยากรน้ำ-รัฐป้องโรงงานหากเกิดอุทกภัย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 มีนาคม 2555 ที่ห้องธนารมย์ 3 โรงแรมธรรมรินทร์ธนา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อภูมิอากาศและข้อเสนอยุทธศาสตร์การปรับตัว กรณีศึกษาการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลภาคใต้ ภายใต้โครงการศึกษามาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยมีตัวแทนส่วนราชการจากจังหวัดสงขลา พัทลุง ตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวจากจังหวัดตรัง ตัวแทนประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง  ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ร่วมเวทีประมาณ 30 คน

นายพนมศักดิ์ พรหมบุรมย์ หัวหน้าโครงการฯ ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ว่า เพื่อระบุประเด็น หรือภาคส่วนของการพัฒนาประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อภูมิอากาศในอนาคต ที่จำเป็นต้องมีมาตรการรับมือ และปรับตัวที่ชัดเจน โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมจากทั้งชุมชนที่ได้รับผลกระทบ หน่วยงานภาครัฐให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบ และปรับตัวได้อย่างเหมาะสม

เวลา 13.00 น. มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงต่อภูมิอากาศ และจัดทำข้อเสนอแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มท่องเที่ยว ที่มาจากตัวแทนภาคธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตรัง กลุ่มประมงชายฝั่ง ที่มาจากตัวแทนประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง และกลุ่มท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่มาจากพนักงานและเจ้าหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล และตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล 

กลุ่มที่ได้รับการสนใจเป็นพิเศษ คือ กลุ่มท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงต่อภูมิอากาศ และจัดทำข้อเสนอแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือโดยวาดภาพอนาคตท่าเรือน้ำลึกปากบาราใน 10 ปีข้างหน้า ว่า สภาพสังคมชนบทจะกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น การประกอบอาชีพทางการเกษตรลดลง ไม่ว่า ประมงพื้นบ้าน สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์ ฯลฯ ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวทางทะเลลดลง การท่องเที่ยวบนบกจะสูงขึ้น ภาคแรงงาน การค้าขายและการบริการจะมากขึ้น มีแรงงานนอกพื้นที่หลั่งไหลเข้ามา มีโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ประปา ไฟฟ้า ถนนดีขึ้น มีมหาวิทยาลัยในจังหวัดสตูล มีโครงข่ายระบบขนส่ง และพัฒนาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 

ส่งผลทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน อากาศร้อนขึ้น มีมลพิษทางเสียง อากาศ และน้ำ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ อาจเกิดฝนตกหนักจนภาครัฐใช้มาตรการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับอุทกภัยที่เกิดกับกรุงเทพฯ ทำให้ชาวบ้านโดนน้ำท่วมหนักกว่าเดิม เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างภาคเกษตรกับอุตสาหกรรม สุขภาพของคนในพื้นที่อ่อนแอลง มีแมลงศรัตรูพืชที่พัฒนาสายพันธุ์ในการระบาดภาคเกษตร เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พบพิรุธ : เลือกตั้งซ่อมครั้งประวัติศาสตร์พม่าในรัฐฉาน

Posted: 31 Mar 2012 08:47 AM PDT

การเลือกตั้งซ่อมพม่าในรัฐฉาบพบมีพิรุธหลายอย่าง ทั้งรายชื่อผู้มีสิทธิ์ฯ ตกหล่นและคลาดเคลื่อนซ้ำซ้อน ขณะที่หลายหน่วยเลือกตั้งถูก กกต.สั่งย้ายด่วนไปรวมอยู่จุดเดียว อ้างว่าถูกขัดขวางจากกองกำลังไทใหญ่ ...

31 มี.ค. 55 - มีรายงานว่า การเตรียมการเลือกตั้งซ่อมพม่า 1 เม.ย. ในรัฐฉาน หลายพื้นที่พบมีพิรุธส่อความไม่โปร่งใส ทั้งรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกคลาดเคลื่อนซ้ำซ้อนและขาดหายจำนวนมาก ขณะที่คณะกรรมการเลือกตั้งมีการสั่งย้ายหน่วยเลือกตั้งหลายแห่ง อ้างว่าไม่ได้รับความสะดวกจากกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้มีผู้ไปใช้สิทธิ์น้อยลง เนื่องจากต้องเดินทางไกลถึง 10 – 15 กม. 

จายฮัก ส.ส. จากพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (SNDP) ประจำเมืองไหย๋ รัฐฉานภาคเหนือ เปิดเผยว่า การเลือกตั้งซ่อมจะมีขึ้นในอีก 2 วันข้างหน้า แต่พบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งยังสับสนไม่ลงตัว จากการสำรวจตรวจสอบพบผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางรายไม่มีรายชื่อเลือกตั้ง ขณะที่บางหน่วยเลือกตั้งมีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งซ้ำซ้อน นอกจากนี้ยังพบมีรายชื่อผู้เสียชีวิตรวมอยู่ด้วยในหลายหน่วยเลือกตั้ง

ทั้งนี้ จายฮัก กล่าวว่า การเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2553 บางตำบลของเมืองไหย๋ มีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 700 – 800 ราย แต่จากการตรวจรายชื่อการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้พบมีรายชื่อลดลงเหลือเพียง 400 – 500 รายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ แม้จะยังมีข้อสงสัยอยู่มาก แต่ก็ถือว่าดีกว่าการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2553 เนื่องจากการรณรงค์หาเสียงของแต่ละพรรคเป็นไปอย่างคล่องตัว ขณะที่ประชาชนก็เข้าใจการเลือกตั้งมากขึ้น

ขณะที่ชาวเมืองล่าเสี้ยวคนหนึ่งกล่าวว่า ในเมืองล่าเสี้ยว-เมืองไหย๋ มีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 144 หน่วย แต่เขาอาจไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากไปค้นหารายชื่อแล้วหลายครั้งไม่พบมีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเขาเผยอีกว่า ไม่เพียงเฉพาะเขาเท่านั้นที่ไม่มีรายชื่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดูแลหน่วยเลือกตั้งบางคนก็ไม่มีรายชื่อเช่นกัน

อาจารย์คืนใส ใจเย็น บก.สำนักข่าวฉาน SHAN แสดงความเห็นว่า การพบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งคลาดเคลื่อนหรือตกหล่นนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แปลกประหลาดนักสำหรับพม่า เนื่องจากพม่าเพิ่งมีการเลือกตั้งครั้งเดียวในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นได้ทั้งจากการจงใจและจากฐานข้อมูลประชากรที่มีการสำรวจอย่างไม่เป็นระบบ เพราะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 มา พม่าไม่เคยมีการสำรวจประชากรอย่างเป็นระบบ

"ตัวเลขจำนวนประชากรที่มีการอ้างอิงอยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่อ้างจากผลการสำรวจสมัยอังกฤษปกครอง ซึ่งสหประชาชาติ UN ได้เสนอให้ความช่วยเหลือพม่าทำการสำรวจประชากรใหม่ใน 2 ปีข้างหน้า หรือ ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2558" อาจารย์คืนใส กล่าว

ขณะที่เว็ปไซท์ข่าวไทใหญ่ "Kawli" ภาคภาษาพม่ารายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการเลือกตั้งประจำเมืองต้างยาน (รัฐฉานภาคเหนือ) ได้สั่งย้ายหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่เมืองต้างยานตอนใต้หลายหน่วย โดยอ้างว่าถูกขัดขวางจากกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSPP/SSA โดยสั่งย้ายหน่วยเลือกตั้งบ้านเมืองก๋าว, บ้านกองลาง, บ้านปุง และบ้าน้ำลาบ ไปรวมอยู่ที่บ้านตองเฮว และหน่วยเลือกตั้งบ้านปางเผือก, บ้านน้ำแก๋ม, บ้านคำปุน, บ้านน้ำอุ่น, บ้านจอง และบ้านอุ๋งโต้ง จะย้ายไปอยู่ที่บ้านดอย ซึ่งการย้ายหน่วยเลือกตั้งนี้อาจทำให้มีผู้ไปใช้สิทธิน้อยลง เนื่องจากหน่วยตั้งเลือกตั้งอยู่ห่างไกลจากหน่วยเลือกตั้งเดิมกว่า 10 – 15 กม.

โดยจายทุนทุน คณะกรรมการเลือกตั้งเมืองต้างยาน กล่าวอ้างว่า เหตุที่ต้องย้ายหน่วยเลือกตั้งนั้น เนื่องจากกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSPP/SSA ไม่อนุญาตให้มีการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องย้ายหน่วยเลือกตั้ง ขณะที่กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSPP/SSA ระบุว่า กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSPP/SSA สนับสนุนการเลือกตั้งและพร้อมจะให้ความร่วมมือเต็มที่ หากกองทัพพม่าไม่ฉวยโอกาสส่งกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่โดยอ้างว่าเข้าไปดูแลการเลือกตั้ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นทาง SSPP/SSA ก็อาจยอมรับไม่ได้

ทั้งนี้ การเลือกตั้งซ่อมพม่าซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1 เม.ย. นี้ เป็นการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาทั้งสภาบนและสภาล่างจำนวน 45 ที่นั่ง จาก 48 ที่นั่ง โดย 3 ที่นั่ง ซึ่งอยู่ในรัฐคะฉิ่นถูกยกเลิก เนื่องจากคณะกรรมการเลือกตั้งอ้างว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย เพราะยังมีการสู้รบกันระหว่างทหารพม่าและกองกำลังเอกราชคะฉิ่น KIA อยู่

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกิดเหตุระเบิดจังหวัดชายแดนใต้เบื้องต้นตาย 13 เจ็บร่วม 400

Posted: 31 Mar 2012 08:33 AM PDT

เกิดเหตุระเบิด "ยะลา-ปัตตานี-หาดใหญ่" เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิต 13 บาดเจ็บร่วม 400 ราย นายกฯ เชื่อเหตุระเบิดไม่ได้เป็นผลจากการปรับการทำงานในพื้นที่
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ วันนี้ (31 มี.ค.) ได้เกิดระเบิดในเวลาใกล้เคียงกันหลายจังหวัด เริ่มจากเมื่อเวลา 11.55 น. ศูนย์รวมข่าวสภ.เมืองยะลา ได้รับแจ้งเหตุระเบิด 3 จุด ที่ถนนสายรวมมิตร เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา 
 
หลังรับแจ้ง พันตำรวจเอกกฤษฎา แก้วจันดี ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา พร้อมประสานประสานชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด ภ.จว.ยะลา เจ้าหน้าที่จากศูนย์พิสูจน์หลักฐานที่ 10 ยะลา เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุบริเวณสี่แยกจงรักษ์ ถนนรวมมิตร หน้าร้านรุ่งเรือง เจ้าหน้าที่พบซากรถยนต์ หลายคันกำลังถูกเพลิงลุกไหม้ รวมทั้งฝั่งตรงข้ามหน้าร้านนำฮั้วจั่น ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์ พบซากรถยนต์จำนวนหลายคันที่เพลิงกำลังลุกไหม้ รวมทั้งอาคารตรงจุดเกิดเหตุเกิดเพลิงลุกไหม้ 
 
ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้พยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ติดอยู่ในร้านค้าที่เกิดเหตุระเบิดนำส่งโรงพยาบาลยะลา
 
โดยระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังช่วยกันดับเพลิงที่กำลังลุกไหม้ตัวรถ และตัวอาคารตรงจุดเกิดเหตุ ก็ได้เกิดระเบิดลูกที่ 3 ขึ้นมา บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 ถนนรวมมิตร ห่างจากจุดแรกประมาณ 20 เมตร แรงระเบิดทำให้ร้าน 7-11 สาขาถนนรวมมิตร ได้รับความเสียหายอย่างหนัก รวมทั้งอาคารบ้านเรือนด้านข้างที่เป็นอาคารไม้พังเสียหาย 5-6 คูหา นอกจากนั้นแรงระเบิดยังทำให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าวพังเสียหายจำนวนหลายคัน
 
จากการสอบสวน ทราบว่า ก่อนเกิดเหตุคนร้ายได้นำรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุซึ่งบรรจุระเบิด มาจอดที่ใกล้สี่แยกจงรักษ์ และอีก 2 คันยังไม่ทราบยี่ห้อ มาจอด ก่อนจุดชนวนระเบิดขึ้นพร้อมกัน 2 คัน และในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังควบคุมสถานการณ์ คนร้ายก็ได้จุดชนวนระเบิดขึ้นเป็นลูกที่ 3 ที่หน้าร้าน 7-11 โดยมีรายงานจากโรงพยาบาลยะลาแจ้งว่า สำหรับยอดของผู้เสียชีวิตล่าสุด 8 ราย และบาดเจ็บ 69 ราย 
 
หลังเกิดเหตุ พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด ในบริเวณโดยรอบที่เกิดเหตุแล้ว เพื่อค้นหาคนร้ายที่นำรถบรรจุระเบิดมาจอดแล้ว
 
ผู้ว่าฯรุดดูผู้บาดเจ็บที่รพ.ศูนย์ยะลา
 
นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เหตุการณ์สงบแล้ว สรุปเกิดเหตุระเบิด 3 ลูก ใกล้เคียงบริเวณย่านการค้าบริเวณหน้าเทศบาลเมืองยะลา ซึ่งเกิดเหตุ จยย.บอมบ์ก่อน 2 คัน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทางเจ้าหน้าที่จึงเข้าไปช่วยเหลือประชาชน แต่ขณะนั้นก็เกิดเหตุคาร์บอมบ์ลูกที่ 3 เกิดขึ้นอีกครั้ง ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งถูกนำส่งรพ.ศูนย์ยะลา มีประมาณ 40 คน ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 5 ราย
 
นายเดชรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับจุดเกิดเหตุเป็นย่านของพี่น้องชาวมุสลิม จีน และคนไทย ขณะออกมารับประทานอาหาร และจับจ่ายซื้อของ ในวันดังกล่าวทางราชการกำลังจัดงานเจฎาบดินทร์ และงานข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นเจตนาของกลุ่มผู้ไม่หวังดี ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน
 
นายเดชรัฐ ได้กล่าวประณามคนก่อเหตุ โดยระเบิดจุดแรกเป็นเป้าหลกทำให้มีประชาชนออกมามุงดูจำนวนมาก จากนั้น คนร้ายกดระเบิดซ้ำ จึงส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
 
ต่อมาเวลา14.00 น. รายงานเพิ่มเติมเหตุระเบิดที่ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อเวลา 12.00 น. มีผู้บาดเจ็บ 78 ราย ทหาร 2 นาย ตำรวจ 4 นาย ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 9 ราย
 
จยย.บอมบ์สถานีตำรวจภูธรอ.แม่ลานจ.ปัตตานี
 
ที่จ.ปัตตานี คนร้ายลอบวางระเบิดซุกรถจักรยานยนต์ที่สถานีตำรวจภูธร อ.แม่ลาน เบื้องต้นตำรวจบาดเจ็บสาหัส 2 นาย
 
นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู่ว่าราชการจ.ปัตตานี เปิดเผยว่า เมื่อ 12.00 น. เกิดเหตุคนร้ายวางจยย.บอมบ์ บริเวณใต้ที่ว่าการอำเภอแม่ลาน จ.ปัตตานี สะเก็ดระเบิดถูกรองผกก.แม่ลาน ได้รับบาดเจ็บ
    
คาร์บอมบ์ลีการ์เด้นท์ หาดใหญ่ตาย 4 เจ็บ300
 
ต่อมาเมื่อเวลา 13.23 น. วันเดียวกันนี้ ได้เกิดเหตุระเบิดที่ห้างลีการ์เด้นท์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แรงระเบิดทำให้เกิดเพลิงไหม้ และกลุ่มควันจำนวนมาก 
 
นายสมชาย สามารถ บก.ศูนย์ข่าวภาคใต้เครือเนชั่น รายงานสดๆ ผ่าน Skype ผ่านช่องระวังภัย บอกคนในพื้นที่บอกว่า อาจจะเป็นการวางระเบิด
 
นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีหาดใหญ่ เปิดเผยว่า เหตุเพลิงไหม้รร.ลีการ์เด้นท์ เกิดจากถังแก๊สร้านอาหารชั้นใต้ดินระเบิด ขณะนี้ได้เร่งช่วยคนติดในโรงแรม แล้ว
 
ทั้งนี้ @siranphon_Rw รายงานว่า ผู้ที่ติดอยู่ในรร.ลีการ์เด้นท์ มีกลุ่มนักแสดง จากเรื่องน้องใหม่ ร้ายบริสุทธิ์ ช่อง 3 ติดอยู่ด้วย
 
ต่อมาเวลา 14.30 นายกฤษฎา บุณราช ผู้ว่าราชการจ.สงขลา เปิดเผยว่า สามารถควบคุมเพลิงที่รร.ลีการ์เด้นท์ ได้แล้วเหลือเพียงกลุ่มควัน และได้เร่งอพยพผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 30 คน ส่วนใหญ่โดนเศษกระจกบาด
 
รายงานล่าสุดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้รร.ลีการ์เดนท์ โดยล่าสุดเมื่อเวลา 17.10 น. เจ้าหน้าที่กู้ภัยยืนยันแล้วว่าพบศพผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย บริเวณชั้นใต้ดิน สภาพถูกไฟคลอกเสียชีวิต นอกจากนี้ หน่วยกู้ภัยพบซากรถระเบิดคล้ายคาร์บอมบ์จอดอยู่บริเวณชั้นใต้ดิน ด้วย
 
จนท.เผยบึ้มหาดใหญ่คนร้ายซุกคาร์บอมไว้ชั้นใต้ดิน
 
ต่อมานายสุรินทร์ วีรสุข นายช่างเครื่องกลชำนาญการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยเขต 12 ในฐานะหัวหน้าชุดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเเหตุระเบิดที่โรงแรมลีการ์เด้นท์ หาดใหญ่ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุบริเวณชั้นใต้ดินของโรงแรมพบหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นคาร์บอมบ์
 
โดยคาดว่าคนร้ายนำระเบิดซุกซ่อนในรถยนต์เก๋งยังไม่ทราบทะเบียนไปจอดไว้ชั้นใต้ดินบริเวณ ชั้น บี 2 ซึ่งเป็นที่จอดรถของโรงแรม แรงระเบิดทำให้รถยนต์แหลกละเอียด และที่สำคัญแรงระเบิดซึ่งมีแรงกดอัดที่รุนแรงทำให้ทะลุไปถึงบริเวณชั้น 1 ส่วนตัวอาคารเริ่มมีรอยร้าว
 
นอกจากนี้ในที่เกิดเหตุชั้นบี 4 นั้นยังพบว่ามีรถยนต์ที่จอดอยู่ประมาณ 10 คัน ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
 
ล่าสุดเมื่อเวลา 17.45 น. ศูนย์มอ.หาดใหญ่ แจ้งล่าสุดว่า พบผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 4 รายบริเวณชั้น บี 4 ซึ่งเป็นชั้นลานจอดรถของห้าง ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีนับร้อยคน
 
ด้านนายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า มีคนบาดเจ็บจากเหตุระเบิดรร.ลีการ์เดนท์ มี 300 คน
 
โฆษกทบ.เผยพบเบาะแสมือบึ้ม3จุดยะลาแล้ว
 
ด้าน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เปิดเผยถึงสถานการณ์เหตุการณ์คาร์บอมบ์ในพื้นที่ย่านการค้า เทศบาลนครยะลา ทั้ง 3 จุด ว่า ขณะนี้จากรายงานพบว่ามีประชาชนเสียชีวิตแล้วรวม 9 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 78 ราย ซึ่งถูกนำส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา และโรงพยาบาลใกล้เคียง
 
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด พบว่าคนร้ายนำรถปิกอัพมาจอดทิ้งไว้ แล้วขึ้นรถมอเตอร์ไซค์หลบหนีไป ส่วนเหตุระเบิด 3 จุด ทิ้งระยะห่างเพียง 10 นาทีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเจ้าหน้าที่มีเบาะแสพอสมควร อยู่ระหว่างการตรวจสอบ พร้อมเพิ่มการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
 
โฆษกกอ.รมน.ชี้ยะลาเพิ่งถูกปลดจาก "เซฟตี้โซน" 
 
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน. เปิดเผยว่า จุดที่เกิดระเบิดในเมืองยะลา เพิ่งถูกปลดจาก "เซฟตี้โซน" คือพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ เพราะชาวบ้านไม่พอใจ
 
นายกฯ เชื่อเหตุระเบิด จ.ยะลา ไม่ได้เป็นผลจากการปรับการทำงานในพื้นที่
 
ด้านสำนักข่าวไทยรายงานจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุระเบิด 3 จุด ที่ จ.ยะลา ว่า ขณะนี้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงไปในพื้นที่แล้ว แต่ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง คงต้องรออีกระยะ เมื่อทราบสาเหตุแล้วจะแจ้งให้ประชาชนทราบ อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าเหตุระเบิดดังกล่าวไม่ได้เป็นผลมาจากการปรับการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 3 เดือน ของหน่วยงานด้านความมั่นคงและรัฐบาล ทั้งนี้ ได้ขอให้ทหารและตำรวจประสานการทำงานกันอย่างใกล้ชิด
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์ (1)

Posted: 31 Mar 2012 02:27 AM PDT

ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยอย่างต่อเนื่องกว่าหกปีภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549และไม่มีที่ท่าจบลงง่ายๆ อย่างน้อยได้ส่งผลดีเรื่องหนึ่งคือ สังคมเริ่มใส่ใจคำว่ายุติธรรมและเริ่มนำมาถกเถียงกันในวงสาธารณะว่าอะไรคือ ความยุติธรรม รวมถึงการเรียกร้องให้เกิดขึ้นในสังคม เสียงเรียกร้องจากประชาชนส่งสัญญาณให้ส่วนยอดของปิระมิดเริ่มตระหนักถึงและลงมือสร้างความยุติธรรมเช่นกัน ดังเช่นกรณีงานวิจัยปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า ก็ศึกษาเรื่องความยุติธรรม

ยุติธรรม (justice) ในบริบทเศรษฐศาสตร์แตกต่างจากด้านกฎหมาย สำหรับเศรษฐศาสตร์หมายถึง fairness และสนใจถึงการกระจายทรัพยากรให้เกิดความเท่ากัน (equality) หรือ เท่าเทียม (equity) สำหรับในบริบทเศรษฐศาสตร์ไทย ความยุติธรรมอาจไม่เป็นเรื่องคุ้นหูนิยมนัก เศรษฐศาสตร์ไทยจึงสนใจเฉพาะในความหมายคลาสสิก ที่เน้นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรที่จำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือสนใจในด้านไมโครอิโคโนมิคที่เศรษฐศาสตร์หมายถึงวิชาแห่งการเลือก เลือกทางที่ก่อประโยชน์สูงสุด แต่ทว่าคำว่ายุติธรรมนั้นปรากฏในวิชาเศรษฐศาสตร์มาช้านาน อดัม สมิธ ได้เขียนไว้ใน Wealth of nation

“The second duty of sovereign, that of protecting as far as possible, every member of the society from the injustice or oppression of every other member of it, or the duty of establishing an exact administration of justice”

หน้าที่ที่สองของรัฏฐาธิปัตย์คือ การปกป้องสมาชิกทุกคนจากความไม่ยุติธรรม หรือจากการกดขี่ของสมาชิกคนอื่นๆ หรือมีหน้าที่ในการสถาปนาระบบบริหารความยุติธรรม”

ยุติธรรมในความหมายของสมิธ คือ ความยุติธรรมที่อยู่ในสาย Libertarisme ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องคุ้มครองกรรมสิทธิ์ของเอกชน และการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมต้องเกิดจากการแลกเปลี่ยนทรัพยากรอย่างอิสระของประชาชนเช่นการบริจาค โดยที่รัฐจะมาบังคับไม่ได้

เมื่อเศรษฐศาสตร์สนใจเรื่องการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมแล้ว สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือ อะไรคือ ความเท่ากัน (Equality) และ ความเท่าเทียม (Equity) ความเท่ากันปรากฏได้เมื่อมนุษย์มีสัญชาตญาณแยกแยะและเปรียบเทียบของตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไป ในลักษณะเป็นรูปธรรมเช่น รูปร่างลักษณะ เป็นต้น และเริ่มเปรียบเทียบของสองสิ่งโดยการแทนตัวเลขเป็นจำนวน เช่น สะพานเส้นแรกยาวสิบเมตร สะพานที่สองยาวสามเมตรเป็นต้น ดังนั้นคำว่า Equality จึงปรากฏในสมการทางคณิตศาสตร์

อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบความเหมือนกันของสองสิ่งไม่ได้บอกอะไรเรามากนัก เราไม่สามารบอกได้ว่าสิ่งใดดีกว่าสิ่งใด เช่น สิบเมตรดีกว่าสามเมตร หรือเราควรสนใจเปรียบเทียบในเรื่องใด เช่น เราควรจะให้ความสำคัญในความยาวเท่ากันของเส้นผมหรือควรจะละเลยมันไปเพราะเป็นเรื่องไม่สำคัญ เป็นต้น เมื่อมนุษย์เกิดความสามารถในการเปรียบเทียบแล้วคำถามที่ตามมาในหัวคือ ทำไมถึงเกิดความแตกต่างแล้วความแตกต่างนั้นเป็นสิ่งดีหรือไม่ ดังนั้นเพื่อจะตอบปัญหาสิ่งเหล่านี้ มนุษย์จึงต้องใช้ชุดความคิด และปทัสถานในการให้คุณค่าของความเท่ากัน เพื่อพัฒนาเป็นความเท่าเทียม (Equity) ดังนั้นความเท่ากันกับความเท่าเทียมจึงเป็นคนละความหมายกัน ความเท่าเทียมจึงไม่ตีกรอบเฉพาะว่าของสองสิ่งต้องเหมือนกันจึงเป็นสิ่งดี แต่ทว่าหมายถึง ของทั้งสองสิ่งจะเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้แต่ต้องเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีและสมควรทำ เช่น การบริโภคบริการสาธารณสุข ถ้าเรายึดความสำคัญของความเท่าเทียมแล้ว รัฐบาลจักต้องให้ทุกคนในสังคมมีบริการที่เท่ากันทุกๆคนโดยไม่สนใจว่า แต่ละคนมีสุขภาพและความจำเป็นอย่างไร แต่ถ้าเรายึดถึงความเท่าเทียมแล้ว ทุกๆคนไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เท่ากันแต่ควรได้รับการรักษาตามความเจ็บป่วยของแต่ละคน ซึ่งสามารถแบ่งได้สองลักษณะ คือ Horizontal equity คือความเท่าเทียมกันทางราบหมายถึงทุกคนที่มีการป่วยเหมือนกันควรได้รับการรักษาที่เหมือนกัน และ Vertical equity คือความเท่าเทียมกันแนวตั้ง หมายถึง ผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษาที่ต่างกันได้ถ้ามีความต้องการหรืออาการเจ็บป่วยที่แตกต่างกัน

เมื่อความเท่าเทียมกันต้องอาศัยขุดความคิดของสังคมและปทัสถานแล้ว ความเท่าเทียมกันจึงแปรผันไปตามกาลเวลาและสภาพของสังคม เช่น ในปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ยิ่งมีความหลากหลายเท่าไรยิ่งดี ในกรณีนี้การพยายามทำให้เหลือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวเหมือนกันหมดจึงเป็นการกระทำที่เลวร้าย หรือการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่ากันในสังคม ในอดีตเมื่อการที่มนุษย์สองคนมีทรัพยากรไม่เท่ากันแล้วย่อมต้องเกิดความสงสัยว่า เหตุใดจึงไม่เท่ากัน และเกิดความไม่พอใจขึ้นมา ซึ่งความไม่พอใจเมื่อรวมตัวกันมากๆหลายๆคน จึงส่งผลให้เกิดความแตกแยกกันในสังคม ดังนั้นสังคมจึงจำเป็นต้องสร้างชุดความคิดขึ้นมาเพื่อทำให้เชื่อว่าความไม่เท่ากันนั้นเป็นเรื่องปกติ ชุดความคิดดังกล่าวเช่นการยืม อำนาจของศาสนา ของเทวดา มาอธิบายถึงการแบ่งชั้นวรรณะและทรัพยากรความเป็นอยู่ที่ต่างกัน แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปชุดความเชื่อเรื่องเทวดาและศาสนาเสื่อมอำนาจลงและไม่สามารถหลอกคนในสังคมให้อยู่ในสภาพการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันแล้ว สังคมจึงมองว่าการกระจายทรัพยากรไม่เท่ากันนั้นเป็นสิ่งผิดปกติและไม่เป็นธรรมและต้องหาชุดความเชื่อใหม่มาอธิบาย

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมจึงเป็นชุดความคิดใหม่ ที่เกิดขึ้นมาแทนชุดความคิดของศาสนา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสามกล่มสำคัญคือ

Libertarisme

Utilitarisme

Egalitarisme liberal

Libertarisme เป็นกลุ่มทฤษฎีความคิดที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาสามกลุ่ม นักคิดคนสำคัญเช่น John Locke และ Adam Smith ในศตวรรษที่18 หรือ Robert Nozick ในศตวรรษที่ 20 ชุดความคิดสายเสรีนิยม กำเนิดขึ้นมาเพื่อขัดง้างชุดความคิดของความร่วมมือกันระหว่างศาสนาและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ว่ามนุษย์เกิดมาไม่เท่าเทียมกัน กษัตริย์โดยการแต่งตั้งจากพระเจ้าและประมุขของรัฏฐาธิปัตย์เป็นต้นตอของกฎหมายและสามารถละเมิดกรรมสิทธิ์และชีวิตของผู้อื่น แต่สายเสรีนิยมเชื่อว่า ความจริงหนึ่งเดียวไม่ได้ผูกขาดจากการตีความของศาสนจักร มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมและอิสระ มนุษย์มีกรรมสิทธิ์ในชีวิตและแรงงานของตนเอง และสิ่งที่ตนผลิตออกมา ธรรมชาติของมนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลและเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองมิใช่เป็นไปตามประสงค์ของพระเจ้า ธรรมชาติของมนุษย์มีสิทธิที่จะเห็นแก่ตัวดังนั้นจึงมีสิทธิที่ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง มนุษย์มีสิทธิในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือกรรมสิทธิ์ของตนเองภายใต้กรอบของกฎหมายและไม่ละเมิดกรรมสิทธิ์ของคนอื่น มนุษย์ต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น หรือเคารพในการตัดสินใจของตนเองและของผู้อื่นภายในกรอบที่สิทธิกำหนด ความยุติธรรมในสายเสรีนิยมจึงเกิดขึ้นเมื่อไม่มีการละเมิดสิทธิ กรรมสิทธิ์ และเสรีภาพของปัจเจกคน การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมจึงเกิดได้ภายใต้ความเต็มใจของปัจเจกชนโดยไม่มีรัฐมาแทรกแซง อย่างไรก็ตามข้อด้อยของสายเสรีนิยมก็ขัดแย้งในตนเอง เช่น กรณีที่ให้กรรมสิทธิ์ปัจเจกบุคคลเกิดขึ้นได้นั้นที่สุดแล้วก็ต้องใช้อำนาจรัฐเช่นกัน เช่น การทำสัญญาเป็นต้น นอกจากนี้สายเสรีนิยมยังไม่สามารถตอบสนองความยุติธรรมในด้านการกระจายทรัพยากรให้เท่กันด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณีคนที่ชอบทำบุญ กับกรณีขอทาน อีกฝ่ายหนึ่งทำบุญจนไม่มีอะไรกินกับอีกคนขอทานจนรวยแล้ว อะไรคือความเท่ากัน หรือกรณีที่ นักแสดงกลายเป็นคนรวยเพราะมีคนเต็มใจจ่ายชมการแสดงของเขา แต่นักแสดงกลับไม่ถูกเก็บภาษีเป็นต้น ความเท่าเทียมกันในเสรีนิยมทางปฏิบัติจึงเป็นไปได้ยาก

Utilitarisme เริ่มต้นในศตวรรษที่19 นักคิดคนสำคัญเช่น Jeremy Bentham บิดาอรรถประโยชน์นิยม และภายหลังถูกพัฒนาสัมพันธ์กับ Welfare Economie ความแตกต่างระหว่างอรรถประโยชน์นิยมกับเสรีนิยมคือ อรรถประโยชน์นิยมเชื่อว่า ความสุขหรือความทุกข์ การเจ็บป่วยหรือสุขภาพสิ่งที่เป็นโทษหรือประโยชน์มนุษย์สามารถวัดเป็นสเกลได้และสามารถเปรียบเทียบได้ว่าอะไรดีกว่าอะไร และต่างกับเสรีนิยมตรงที่ว่า justice individuel สามารถเปลี่ยนเป็น justice sociale ได้ โดยเนื่องจากอรรถประโยชน์สามารถบวกลบได้ดังนั้นอรรถประโยชน์สังคมโดยรวมหรือสวัสดิภาพสังคมจึงเกิดจากการบวกรวมกันของอรรถประโยชน์ทุกคนในสังคม จุดประสงค์ของสายอรรถประโยชน์นิยมคือการกระจายทรัพยากรให้เกิดอรรถประโยชน์ปัจเจกชนสูงสุดและในเวลาเดียวกันผลรวมของอรรถประโยชน์สังคมก็ต้องสูงสุดเช่นกัน และสิ่งที่แตกต่างกันอีกประการหนึ่งคือ สายอรรถประโยชน์อนุญาตให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการกระจายทรัพยากรได้เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดดังกล่าวข้างต้น โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากรอย่างอิสระระหว่างประชาชน ดังนั้นนโยบายรัฐที่เข้าไปแทรกแซงนั้นจึงต้องวางอยู่บนฐานของ Principe de Pareto ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือนโยบายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ดีกว่านโยบายเก่านั้นต้องแสดงให้เห็นว่าเกิดผลประโยชน์มากกว่าแล้ว คนตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปต้องพอใจนโยบายใหม่มากกว่าโดยที่ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ข้อด้อยของสายอรรถประโยชน์นิยมคือ มีการแทรกแซงของรัฐและอาจเกิดการละเมิดสิทธิปัจเจกขนเพื่อให้เกิดอรระประโยชน์สูงสุด เช่นกรณีการกดค่าแรงและสินค้าเกษตรในชนบทเพื่อให้มีค่าครองชีพราคาถูกเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในเขตเมืองหลวง ตลอดจนการปราบปรามอย่างรุนแรงกับสหภาพแรงงานเพื่อมิให้รวมตัวต่อรองค่าแรง นอกจากนี้อรรถประโยชน์ส่วนบุคคลขึ้นอยู่กับรสนิยมของปัจเจกและบางกรณีไม่สามารถตอบปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในสังคมได้ เช่น กรณีที่มีคนพิการคนหนึ่งแต่พอใจในสภาพของตนขณะนี้ กับอีกคนที่เป็นคนรวยแต่ไม่พอใจสภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ อรรถประโยชน์ของคนพิการย่อมมากกว่าของคนรวย ดังนั้นรัฐบาลเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์มากที่สุดกับทุกคนจึงต้องมอบทรัพยากรให้กับคนรวยมากกว่าคนพิการ

Egalitarisme liberal หรือสายเท่าเทียมนิยมเสรี นักคิดคนสำคัญเช่น John Rawls, Amartya Sen, John Roemer, Ronald Dworkin สายเท่าเทียมนิยมเป็นสายที่เกิดใหม่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นแนวคิดที่สมาสกันระหว่างสายเสรีนิยมและสายอรรถประโยชน์นิยม ซึ่งนักปรัชญาสำนักนี้แต่ละคนก็มีความคิดแตกต่างกัน แต่โดยรวมคือ สายเท่าเทียมนิยมเสรี จะให้ความสำคัญกับสิทธิ และกรรมสิทธิ์ของปัจเจกชนเช่นกัน แต่เช่นเดียวกับสายอรรถประโยชน์นิยมรัฐสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ในบางกรณีภายใต้กรอบสถาบันทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมาย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม ทั้งนี้โดยมิได้มุ่งหวังให้เกิดอรรถประโยชน์สังคมสูงสุด คำถามที่ตามมาคือ อะไรคือความยุติธรรมในสังคม ของนักปรัชญาแต่ละคนก็ให้ความเห็นต่างกัน เช่น John Rawls เชื่อว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันในเสรีภาพ เสรีภาพทางความคิด การแสดงความรู้สึกเสรีภาพในกรรมสิทธิ์ตนเองโดยไม่ละเมิดกรรมสิทธิ์คนอื่น นอกจากนี้ Rawls เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนถูกบดบังด้วยสถาบันต่างๆรสนิยมความต้องการทรัพยากรจึงแตกต่างกันเพราะสถาบันต่างๆ บิดเบือน และกระจายทรัพยากรภายใต้ม่านแห่งความไม่รู้ (Veil of ignorance)กล่าวคือกระจายอยู่ภายใต้สถาบันกำกับ แต่เมื่อทุกคนถูกถอดออกจากม่านนี้แล้วและอยู่ในสภาวะจุดเริ่มต้น ทุกคนย่อมมีความต้องการทรัพยากรบางสิ่งที่เหมือนกันซึ่งRawls เรียกว่า Primary goods คือทรัพยากรพื้นฐานที่ไม่ว่ามนุษย์หน้าไหนก็ต้องการเหมือนๆกัน เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคเป็นต้น และรัฐมีหน้าที่กระจายทรัพยากรพื้นฐานให้เท่าเทียมกันในสังคม อย่างไรก็ตามการกระจายทรัพยากรรัฐไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนเท่ากัน รัฐสามารถให้ได้โดยไม่เท่าเทียมกันได้ตราบใดที่เป็นการให้กับคนที่ลำบากที่สุดในสังคมและเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางโอกาสกับทุกคน เช่น รัฐไม่จำเป็นต้องให้เงินร้อยบาททุกคนเท่าๆ กันแต่อาจจะแบ่งให้คนจนมากกว่าคนรวยเป็นต้น

 

บรรณานุกรม
Asada Y., Health inequality : morality and measurement, University of Toronto Press, 2007.
RAWLS J., Theorie de la justice, Editions Points, 2009.
ROUX V., Le Mirage de l’Etat providence, Paris, L’Harmattan, 2007.
SMITH A., Wealth of nation, « Of the Expence of Justice”, pp.708-709

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอมเนสตี้ชี้ การประหารชีวิตของญี่ปุ่นเป็นการ “ก้าวถอยหลัง”

Posted: 30 Mar 2012 11:24 PM PDT

31 มี.ค. 55 - องค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประณามการตัดสินใจของญี่ปุ่นในการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบเกือบสองปีว่าเป็นการก้าวถอยหลังครั้งใหญ่ หลังมีการแขวนคอนักโทษญี่ปุ่นสามคนเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา

มีการแขวนคอผู้ชายสามคนที่เรือนจำที่กรุงโตเกียว ฮิโรชิมา และฟูกูโอกะเมื่อเช้าวันที่ 29 มีนาคม 2555 นับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ภายหลังจากนายโตชิโอะ โอกาวา (Toshio Ogawa) รัฐมนตรียุติธรรมญี่ปุ่นสั่งการให้กระทำได้ โดยอธิบายว่าเป็น “หน้าที่ของรัฐมนตรี”

 ในญี่ปุ่นการประหารชีวิตมักใช้วิธีแขวนคอ และมักทำกันเป็นความลับ นักโทษมักได้รับแจ้งล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง บางคนไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเลย ทำให้นักโทษต้องใช้ชีวิตโดยคำนึงถึงว่าอาจถูกประหารในเวลาใดก็ได้ ส่วนครอบครัวจะได้รับแจ้งหลังจากการประหารชีวิตเริ่มต้นขึ้นแล้ว

"การประหารชีวิตในวันนี้ถือเป็นการก้าวถอยหลังครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น และเป็นการเข้าร่วมกับประเทศกลุ่มน้อยในโลกที่ยังประหารชีวิตอยู่” แคเธอรีน เบเบอร์ (Catherine Baber) รองผู้อำนวยการแผนกเอเชีย-แปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

"เราไม่อาจยอมรับการให้เหตุผลสนับสนุนการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอ้างว่าเป็น “หน้าที่ของรัฐมนตรี” ได้ ความจริงเป็นความรับผิดชอบของผู้นำที่จะแก้ไขปัญหาอาชญากรรม โดยไม่ใช้วิธีลงโทษซึ่งโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีของมนุษย์”

"เมื่อสองวันก่อนนี้เอง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยแพร่รายงานว่าด้วยสถานการณ์โทษประหารทั่วโลก และได้ตั้งข้อสังเกตถึงการพัฒนาเชิงบวกในญี่ปุ่นซึ่งไม่มีการประหารชีวิตเลยเป็นเวลาเกือบสองปี การแขวนคอเมื่อเช้านี้จึงถือเป็นการก้าวถอยหลังครั้งใหญ่"

เมื่อเดือนมกราคม รัฐมนตรีโอกาวา กล่าวว่า เขาจะฟื้นการประหารชีวิตขึ้นมาใหม่ โดยถือเป็นความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน

โตโมยูกิ ฟูรุซาวา (Tomoyuki Furusawa) อายุ 46 ปีถูกประหารที่ศูนย์ควบคุมตัวที่กรุงโตเกียว ยาสุอกิ อุวาเบะ (Yasuaki Uwabe) อายุ 48 ปีถูกประหารที่ศูนย์ควบคุมตัว กรุงฮิโรชิมา และยาสุโตชิ มัตสุดะ (Yasutoshi Matsuda) อายุ 44 ปี ถูกประหารที่ฟูกูโอกะ

ทนายความของนายอุวาเบะแสดงข้อกังวลว่า ลูกความของเขามีอาการด้านจิตเวช แต่ศาลมีคำตัดสินว่าเขาสามารถเข้ารับการไต่สวนคดีได้ 

กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดต่อรัฐที่ยังคงใช้โทษประหาร และเสนออย่างหนักแน่นให้ยกเลิกโทษประหารหากเป็นไปได้ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นรัฐภาคีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งระบุว่า ไม่อาจอ้างหลักเกณฑ์การใช้โทษประหารใดๆ เพื่อชะลอหรือป้องกันการยกเลิกโทษประหารได้

กว่าสองในสามของประเทศต่าง ๆ ในโลก ได้ยกเลิกโทษประหารไปแล้ว ทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ ในวันที่ 13 มีนาคม 2555 มองโกเลียเป็นประเทศล่าสุดที่ยกเลิกโทษประหาร หลังจากให้ภาคยานุวัติต่อสนธิสัญญาสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่มีเป้าหมายเพื่อยกเลิกโทษประหาร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านโทษประหารในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยถือเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต ซึ่งมีการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights - UDHR) และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์มากที่สุด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกษียร เตชะพีระ: สองด้านของเหรียญโลกาภิวัตน์

Posted: 30 Mar 2012 10:54 PM PDT

อ่านบทสนทนาระหว่างคุณปรีดา เตียสุวรรณ์ กับ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในโอกาสนำเสนองานวิจัย เรื่องความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในสังคมไทย ต่อ คอป. ของศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณและคณะแล้ว (คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)   ผมอดนึกถึงข้อคิดของโจเซฟ สติกลิทซ์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกและโนเบลลอเรียตสาขา เศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ไม่ได้ แกเคยเสนอไว้หลายปีแล้วว่า

  • โลกาภิวัตน์นำมาทั้งโอกาสและความเสี่ยงสำหรับประเทศต่าง ๆ
  • ปมเงื่อนว่าโลกาภิวัตน์จะส่งผลอย่างไรต่อประเทศหนึ่ง ๆ จึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลประเทศนั้น ๆ บริหารจัดการ โอกาสและความเสี่ยงที่มากับโลกาภิวัตน์อย่างไร
  • บทเรียนเท่าที่แกสรุปได้คือ ประเทศไหนบริหารจัดการโลกาภิวัตน์เองตามเงื่อนไขที่ตนกำหนด ก็มักจะได้ผลเชิงบวกจากโลกาภิวัตน์ (เช่น จีนและเอเชียตะวันออก), แต่ประเทศไหนให้องค์การโลกบาลภายนอกเช่นไอเอ็มเอฟบริหารจัดการให้ โดยตนเองไม่สามารถกำหนดกำกับควบคุมเงื่อนไขเหล่านั้นเลย ก็ มักจะได้ผลเชิงลบ (เช่นไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง) (Joseph E. Stiglitz, "Globalism's Discontents," The American Prospect vol. 13 no. 1, January 1,  2002 - January 14, 2002; Joseph E. Stiglitz, “Globalization and the economic role of the state  in the new millennium,” Industrial and Corporate Change, 12: 1 (2003), 3 - 26)

การเปิดเสรีทางการเงิน อันเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจในรอบ 30 ปีหลังนี้ก็เช่นกัน คือมี ทั้งโอกาสและความเสี่ยงของมัน ในแง่โอกาส คนบางกลุ่มที่ไม่เคยได้เงินกู้อย่างสะดวกง่ายดายมาก่อน  (เช่น ทุนอุตสาหกรรมไร้เส้นสาย, หรือคุณตัน ภาสกรนที ที่คุณธนาธรเอ่ยถึง) เพราะโอกาสแต่ก่อนถูกผูกขาดในหมู่คนกลุ่มน้อย มันย่อมเป็นด้านบวกที่เขาจะเอื้อมถึงทรัพยากร (เม็ดเงินกู้) ทางการเงินที่ไม่เคยได้มาก่อนนั้น และรู้สึกเสมอภาคขึ้น เหลื่อมล้ำน้อยลง

แต่กลับกัน ในแง่ความเสี่ยง ความไม่แน่นอน พลิกไหวขึ้นลง ไม่เสถียรภาพทางเศรฐกิจการเงิน ความถี่ และจำนวนของวิกฤตการเงินการธนาคาร ก็มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อ ความมั่นคง ฐานะ วิถีชีวิต จิตใจของผู้คนกว้างขวางมากมายทั่วโลก ไม่ว่าข่าวล่าสุดกรณีนักธุรกิจก่อ สร้างเผาตัวตายในอิตาลี (http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-17556273) หรือ การวิเคราะห์สถิติข้อมูลมวลรวมของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอื่น ๆ ก็เช่นกัน (ดูบทความของ  Robert Wade, “Choking the South”, New Left Review 38, March-April 2006,  http://www.newleftreview.org/?view=2611) ซึ่งอาจส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำสวิงกลับมาอีก

ดังมีสถิติข้อมูลมากมายที่บ่งชี้ว่า เอาเข้าจริง รอบปีที่ผ่านมาภายใต้แนวนโยบายเสรีนิยมใหม่และการเปิดเสรีทางการเงิน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้เพิ่มทวีขึ้นในอเมริกา, อังกฤษ, และหลายประเทศตะวันตกอีก ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็ทวีขึ้นหรือไม่ลดต่ำลงด้วย (โดยเฉพาะในแอฟริกาและ  ละตินอเมริกากับกลุ่มทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว, ยกเว้นเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะจีนที่วิ่งกวดไล่ใกล้ขึ้น ดู เกษียร เตชะพีระ, “รายงานการวิจัยเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่: ความรุ่งเรืองและล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์”, ๒๕๕๓.

ผมจึงคิดว่าเราควรมองเห็นทั้งสองด้านของเหรียญ, ไม่โทษโลกาภิวัตน์อย่างเดียว โดยปล่อยทุนผูกขาดอำมาตย์เก่าให้กลายเป็นพระเอกผู้รักชาติไป, แต่ก็ไม่โทษอำมาตย์และทุนธนาคารผูกขาดเก่าอย่างเดียว จนไม่เห็นความจริงด้านกลับของโลกาภิวัตน์

สุดท้ายประเด็นจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงที่มากับโลกาภิวัตน์อย่างไร? จะกระจายโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรใหม่ ๆ  ให้กับใคร? จะโยนภาระความเสี่ยงให้กลุ่มใดแบกรับไว้?  และระเบียบการเมืองอย่างไหนจะเปิดโอกาสให้คนไทยหมู่เหล่าต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจกำกับ ดูแลการบริหารจัดการนี้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรมที่สุด?

 

ที่มา: ข้อเขียนสาธารณะในเฟซบุ๊กของ เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น