โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คืนใส ใจเย็น

Posted: 01 Apr 2012 12:13 PM PDT

สำหรับประชาชนทั่วไป การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เนื่องจากมีการเลือกตั้งเขาก็เข้าร่วมแค่นั้น แต่ส่วนใหญ่เขาก็รู้ดีว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาจะดีขึ้น มันขึ้นอยู่กับว่ามีการสู้รบหรือไม่ ถ้าไม่มีการสู้รบ การกดขี่ข่มเหง ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไป ถ้าอย่างนั้นการทำมาหากินจะดีขึ้น

บก.สำนักข่าวฉานให้สัมภาษณ์ประชาไท, 31 มี.ค. 55

ถกการศึกษาทางเลือก เสนอยกเลิกเอเน็ต-โอเน็ต-เอ็นทรานซ์ ตัวชี้วัดไร้มาตรฐาน

Posted: 01 Apr 2012 12:02 PM PDT

เผยตัวเลข “โรงเรียนทางเลือก” กว่า 209 แห่ง“ชัชวาลย์” เสนอยกเลิกตัวชี้วัดการสอบ “เอเน็ต-โอเน็ต-เอ็นทรานซ์” ชี้การศึกษาทางเลือกจะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ตาม รธน. พร้อมพัฒนากฎหมายลูก

 
 
ระบบการศึกษาปัจจุบันถูกตั้งคำถามว่าจะนำไปสู่การพัฒนาของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพได้จริงหรือ!  จนก่อให้เกิด “การศึกษาทางเลือก” ขึ้นมาในหลากหลายรูปแบบ ในเวทีเสวนาวิชาการ “พลังพลเมืองปฏิรูปการศึกษา” งานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-1 เม.ย.55 ณ ไบเทคบางนาได้มีการหยิบยกแนวคิดและการจัดการศึกษาของกลุ่มพลังพลเมืองไว้อย่างน่าสนใจ
 
จากการรวบรวมการศึกษาทางเลือกในสังคมไทย ของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (Choice to learn) พบว่าปัจจุบันมีโรงเรียนทางเลือกกว่า 209 แห่ง ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และแบ่งตามภูมิภาค คือ ภาคเหนือ จำนวน 58 แห่ง ภาคกลาง 50 แห่ง ภาคอีสาน จำนวน 51 แห่ง และภาคใต้จำนวน 50 แห่ง โดยมีการจัดแบ่งการศึกษาทางเลือกออกเป็น 7 ฐานการเรียนรู้แตกต่างกันไป คือ 1)การศึกษาทางเลือกที่จัดโดยครอบครัว 2)การศึกษาทางเลือกที่อิงระบบรัฐ 3)การศึกษาทางเลือกสายครูภูมิปัญญา 4)การศึกษาทางเลือกศาสนาและวิถีปฏิบัติธรรม  5)การศึกษาทางเลือกที่เป็นสถาบันนอกระบบรัฐ 6)การศึกษาทางเลือกของการเรียนรู้ 7)การศึกษาทางเลือกผ่านสื่อการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้ ซึ่งแม้กระบวนการจะแตกต่างกัน แต่เป้าหมายที่ได้มุ่งสู่ทิศทางเดียวกัน คือการพัฒนามนุษย์ทั้งกาย จิตใจ สู่การเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
 
รัชนี ธงไชย ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ที่อดีตเคยเป็นครูสอนในระบบมากว่า 11 ปี กล่าวว่า โรงเรียนในหมู่บ้านเด็กจะเน้นการมองหาความสุขของการศึกษา ซึ่งการลุกขึ้นมาจัดการการศึกษา ก็เพราะเราคำนึงถึงสิทธิในการมีส่วนร่วม เพราะการศึกษาจะปล่อยให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้กำหนดคงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะในไทยที่มีความหลายหลายทางวัฒนธรรม คนจึงต้องการการศึกษาที่เหมาะกับผู้เรียน ซึ่งผู้เรียนก็ควรจะมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย ดังนั้นจึงต้องมาดูระบบการศึกษาในจินตนาการใหม่ ทั้งที่อยู่ในโรงเรียนและนอกในโรงเรียน ซึ่งเป้าประสงค์ท้ายสุดก็คือต้องมีความเป็นพลเมืองจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม
 
ขณะที่ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก กล่าวว่าที่ผ่านมาเกิดวิกฤติการศึกษาในระบบของการเรียนในห้อง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการท่องจำ ทำให้เด็ก และเยาวชนไม่เกิดทักษะประสบการณ์ในการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบัน จึงเกิดการรวมกลุ่มขึ้น เนื่องจากเห็นว่าวิกฤตินี้กำลังขยาย และหากผลผลิตเป็นเช่นนี้ ก็จะนำไปสู่ความอ่อนแอ มีปัญหา และคงสามารถเดาอนาคตในสังคมได้เลยว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเราจะยอมให้อนาคตอ่อนแอโดยไม่แก้ไขไม่ได้ พวกเราจึงต้องลุกขึ้นมาจัดการการศึกษา และรวมตัวเป็นสภาการศึกษาทางเลือก
 
นายชัชวาลย์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีการทำวิจัยเรื่องปัญหาอุปสรรคของการศึกษาทางเลือก และข้อเสนอ ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การวิจัยเรื่องหลักสูตรและการเทียบโอนของการศึกษาทางเลือก โดนปัจจุบันระบบการศึกษาไทยต้องเผชิญกับกำแพง 3 ชั้น ผี 3 ตัว ซึ่งกำแพง 3 ชั้น ก็คือปัญหากฎหมาย กฎระเบียบ กฎเกณฑ์ ส่วนผี 3 ตัว ก็คือ การสอบเอเน็ต โอเน็ต เอ็นทรานซ์ ที่ไร้มาตรฐานทำให้การประเมินผลสอบที่ผ่านมาตกกันทั้งประเทศ จึงไม่น่าจะนำมาเป็นตัวชี้วัดได้
 
ดังนั้นสภาการศึกษาทางเลือก จึงต้องเร่งดำเนินการใน 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้ 1.พัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดการเท่าทัน มีจิตสาธารณะให้เป็นที่ประจักษ์ 2.สื่อสารกับสังคมให้กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ  และ 3.การขับเคลื่อนนโยบาย 3 ข้อ คือ 1)ผลักดันให้เกิดการปรับหลักสูตรแกนกลางสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมาจัดการเรียนของชุมชนและองค์กรเอกชน  2)รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ระบุว่าการศึกษาทางเลือกจะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ 3)การพัฒนากฎหมายลูก
 
ด้านนายชาตรี เนาวธีรนนท์ นายกสมาคมบ้านเรียนไทย และในฐานะพ่อที่จัดการศึกษาให้ลูกตัวเอง มาจนอายุ 13 ปี กล่าวว่า การจัดการศึกษาโดยโฮมสคูลเป็นการไม่สนใจกฎเหล็กที่ สพฐ.วางไว้ว่าต้องเข้าระบบ เพราะตลอดระยะเวลาลูกก็มีความสุขกับการเรียนแบบโฮมสคูล พ่อ แม่ก็มีความสุข เพราะหากไปโรงเรียนก็ไม่รู้จะต้องเจอกับอะไร หรือต้องกลับมาพร้อมกับคำด่าทอหรือไม่
 
“นี่เป็นความรู้สึกของพ่ออีกคนหนึ่งที่มีต่อระบบการศึกษาไทย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าประชาชนสามารถจัดการศึกษาด้วยตัวเองได้อย่างมีคุณภาพ แม้วันนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับหรือให้อำนาจ แต่เห็นว่าการเข้าระบบคงไม่มีอะไรดีกว่าการไม่เข้าระบบ” นายชาตรีกล่าว
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มาร์คเตรียมตั้งกระทู้สดบึ้มใต้ - มท.1 เผยนายกฯ บินลงใต้ถกเหตุระเบิด

Posted: 01 Apr 2012 11:19 AM PDT

"ยิ่งลักษณ์" รู้กลุ่มก่อเหตุคาร์บอมบ์ 2 จังหวัด เร่งล่ามือระเบิด ส่ง "ยงยุทธ-สันติ" เยียวยา ด้าน มาร์คเตรียมตั้งกระทู้สดบึ้มใต้ เผยห่วงรุนแรงเหมือนยุคทักษิณ ส่วนฮิวแมนไรทส์ฯ ชี้ผู้ก่อเหตุคาร์บอมบ์หวังผลความสูญเสียครั้งใหญ่

 
มาร์คเตรียมตั้งกระทู้สดบึ้มใต้-ห่วงรุนแรงเหมือนยุคทักษิณ
 
เนชั่นทันข่าว: 1 เม.ย.2555 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังจากลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้านและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่ จ.ยะลา และหาดใหญ่ จ.สงขลา ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก ตนและคณะได้ลงพื้นที่เพื่อแสดงความเสียใจและให้กำลังใจ รวมทั้งจะช่วยติดตามในประเด็นที่ประชาชนมีความห่วงใย
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า มีปัญหาในเรื่องระดับนโยบายที่ควรจะต้องทบทวนสถานการณ์ว่า เหตุที่รุนแรงขึ้นเพราะอะไร อย่างไร ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขา ศอบต.ไปเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่นั้นคงยังสรุปไม่ได้ แต่ต้องตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายหรือมีการเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ ทั้งนี้ตนเห็นว่านโยบายที่ดำเนินการโดย สมช.มีความต่อเนื่อง แต่ยังมีปัญหาระดับนโยบายคือฝ่ายการเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ปฏิบัติ อาจทำให้เกิดความสับสนได้ จึงอยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบหรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเอาใจใส่ติดตามประเด็นในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
 
"ผมเตือนอยู่เสมอว่ามันมีสัญญาณของความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมีความไม่มั่นใจในเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายบางด้าน อยากให้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง รัฐบาลต้องพิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นในแง่การเคลื่อนไหวของผู้ที่เกี่ยวข้อง และอยากให้รัฐบาลใช้ความระมัดระวังในการพูดเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคงมากกว่านี้ เช่นกรณีที่มีความผิดพลาดในการยิงชาวบ้านแต่มีการใช้คำพูดแบบไม่ระมัดระวังก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาเพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า ทราบตัวผู้ก่อเหตุแล้วว่าเป็นกลุ่มไม่ใหญ่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยิ่งน่ากลัวเพราะถ้ากลุ่มเล็กทำได้ขนาดนี้แล้วกลุ่มใหญ่จะทำได้ขนาดไหน ซึ่งตนย้ำว่านายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้จะได้ตั้งกระทู้สดถามรัฐบาลในสภาด้วย โดยตนมีความเป็นห่วงว่าความรุนแรงจะย้อนรอยกลับไปเหมือนในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลต้องมีความชัดเจนให้ผู้ปฏิบัติทำงานได้อย่างมีเอกภาพ
 
 
"ยิ่งลักษณ์" เผยรู้กลุ่มก่อเหตุคาร์บอมบ์ 2 จว. เร่งล่ามือระเบิด ส่ง "ยงยุทธ-สันติ" เยียวยา
 
มติชนออนไลน์: เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 1 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคาร์บอมบ์ในพื้นที่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า มีความคืบหน้าบ้างแล้ว คือพอจะรู้กลุ่มที่ก่อเหตุแล้ว แต่ขณะนี้ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกับเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองทำงาน ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมสำนักข่าวกรองมาดูข้อมูลทั้งหมด ในเบื้องต้นเราได้มีการสั่งการให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. ลงพื้นที่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ไปดูที่เกิดเหตุทั้งหมดทุกจุดและจะทำงานร่วมกับ ผวจ. และวันนี้ช่วงบ่าย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.หมาดไทย และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะลงพื้นที่ไปเยียวยาช่วยเหลือผู้ป่วยและเสียชีวิต
 
“ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งญาติผู้เสียชีวิตด้วย และสิ่งที่เราดำเนินการเพิ่มเติมคือได้มีการสั่งการทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการเพิ่มกำลังดูแลพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะเพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชนและบูรณาการกับกำลังของกองทัพ ซึ่งมีรอง ผบ.ทบ.ที่จะลงไปในพื้นที่เพื่อช่วยกันบูรณาการร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทั้งการสืบหาข้อเท็จจริงและตัวผู้ร้ายหรือผู้ประสงค์ไม่ดีที่ก่อเหตุ รวมถึงวางแผนในการป้องกัน” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
 
เมื่อถามว่า เบื้องต้นมีการประเมินสถานการณ์หรือไม่ว่าที่มีเหตุรุนแรงถี่ขึ้นเพราะอะไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราพอทราบคร่าวๆ ขณะนี้ขออนุญาตยังไม่เปิดเผยข้อมูล ขอให้ทางคณะทำงานได้ทำงาน ก่อน แต่พอทราบกลุ่มก่อเหตุด้วยคงต้องลงไปทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ตัวมา
 
เมื่อถามว่า เหตุที่เกิดเกี่ยวกับขบวนการต่างชาติหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ยังไปไม่ถึงตรงระดับนั้น
 
เมื่อถามว่า เป็นการตอบโต้การทำงานของฝ่ายเจ้าหน้าที่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขออนุญาตยังไม่ให้ข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ทำงานสะดวกรวดเร็วขึ้น
 
เมื่อถามว่า นายกฯ คิดว่าจะมีเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นระลอกสอง-สามตามมาอีกหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก วันนี้เราคงต้องทำทั้งสองอย่าง คือสืบหาสาเหตุที่แน่นอนและหาตัวผู้ก่อเหตุไม่สงบ และเรื่องความป้องกันในพื้นที่ได้รับความปลอดภัยจะเสริมกำลังในส่วนของ สตช.และหน่วยอื่นลงไปเพิ่มด้วย และบูรณาการกับกองทัพด้วย
 
เมื่อถามย้ำว่า กลุ่มที่ก่อเหตุเป็นเจ้าประจำหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่พูดดีกว่าเพราะเจ้าหน้าที่จะทำงานลำบากขอให้ได้ตัวก่อนดีกว่าอันนี้จะ เป็นประโยชน์มากกว่า
 
เมื่อถามว่า นายกฯ จะหาโอกาสเดินทางลงพื้นที่ไปเยี่ยมให้กำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อยากไปแต่ที่ไม่ได้ตัดสินใจไปเพราะวันนี้กำลังเจ้าหน้าที่เรามีจำกัดจริงๆ เพราะต้องกระจายไปหลายจังหวัด ถ้าตนลงไปส่วนหนึ่งต้องแบ่งส่วนหนึ่งไปดูแลความปลอดภัย แล้วเราจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากขึ้น คิดว่าเราอยู่บัญชาการประสานงานตรงนี้ดีกว่า แต่เบื้องต้นการเยียวยาได้ติดตามตลอด ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลบางส่วนได้กลับบ้านแล้ว เรื่องแพทย์ฉุกเฉินที่เราทำงานอยู่เราเริ่มทำงานแล้วได้สั่งการทางกระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 มี.ค.แล้ว
 
 
มท.1 ระบุ นายกฯ บินลงใต้ถกเหตุระเบิด
เนชั่นทันข่าว: เมื่อช่วงเย็นของวันนี้ (1เม.ย.2555) นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เหตุลอบวางระเบิดโรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พร้อมกับเปิดเผยว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ อ.หาดใหญ่ จะต้องมีการบูรณการระหว่าง 3 หน่วยงานคือ หน่วยงานด้านความมั่นคง, ตำรวจ, ศอ.บต.ซึ่งเป็นกำลังหลักในการกำหนดมาตรการต่างๆ ร่วมกัน ขณะที่ความช่วยเหลือและฟื้นฟู พื้นที่ที่ถูกลอบวางระเบิดทั้งในพื้นที่ จ.ยะลา และ อ.หาดใหญ่นั้น ทางกระทรวงมหาดไทย จะร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าไปช่วยเหลือเยียวยา
 
อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ เพื่อประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่น่าเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย เพราะมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่แล้ว
 
 
ฮิวแมนไรทส์ฯ ชี้ผู้ก่อเหตุคาร์บอมบ์หวังผลความสูญเสียครั้งใหญ่
เนชั่นทันข่าว: นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรทส์วอทช์ ประเมินการก่อเหตุลอบวางระเบิดในรถยนต์ 3 จุด คือ ที่ห้างสรรพสินค้าลีการ์เด้นส์ จ.สงขลา รวมถึง จ.ยะลา และปัตตานี ว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุพุ่งเป้าไปที่การทำร้ายพลเรือน โดยเฉพาะ 2 จุดที่หาดใหญ่ และยะลา โดยหวังผลให้เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่ ซึ่งพิจารณาจากช่วงเวลาและสถานที่ก่อเหตุ

ทั้งนี้ ประเมินว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุต้องการตอบโต้ปฏิบัติการของภาครัฐที่ประสบความสำเร็จในยุทธวิธีเข้าหาประชาชน การก่อเหตุเพื่อเป็นการแสดงศักยภาพให้เห็นว่ากลุ่มยังสามารถควบคุมพื้นที่ได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่ภาครัฐมีการผลักดันกระบวนการเจรจายุติความรุนแรงขัดแย้งในพื้นที่ กลุ่มเหล่านี้ก็จะตอบโต้กลับ จึงมีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องยกระดับการเฝ้าระวัง ควบคู่ไปกับการผลักดันการเจรจา

ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรทส์วอทช์ ยังวิเคราะห์ด้วยว่า เหตุลอบวางระเบิดครั้งนี้ นอกจากจะหวังผลเชิงสัญลักษณ์แล้ว ยังต้องการทำลายความเชื่อมั่น ความเข้มแข็งของรัฐ และเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย

 
 
แม่ทัพภาค 4 ตรวจที่เกิดเหตุบึ้ม รร.ลีการ์เด้นส์
 
เนชั่นทันข่าว: เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 1 เม.ย.2555 พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุและรับทราบสถานการณ์กรณีเหตุระเบิดโรงแรมลีการ์เด้นส์พลาซ่า ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พร้อมกับเผยว่า ทุกฝ่ายจะต้องหามาตรการป้องกันอุดช่องโหว่เพื่อไม่ให้ก่อเหตุซ้ำ หากจำเป็นต้องหาเครื่องมือมาเพิ่มเติมเชื่อว่ารัฐบาลก็น่าจะสนับสนุนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่ขณะนี้จำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูเมืองให้กลับมามีสภาพเดิมโดยเร็วสุดโดยเฉพาะสภาพจิตใจของชาวหาดใหญ่รวมถึงในพื้นที่จ.ยะลา ซึ่งมีสภาพไม่แตกต่างกัน ส่วนระเบิดที่คนร้ายใช้นั้นทางเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานว่าเป็นระเบิดชนิดใดและจุดชนวนด้วยอะไร
 
ทางด้าน นายวันชัย ลีละศิธร เจ้าของโรงแรมลีการ์เด้นส์พลาซ่า เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้เนื่องจากต้องรอให้เจ้าหน้าที่เคลียร์พื้นที่เสร็จเรียบร้อยก่อน แต่ยืนยันว่าในโซนที่เกิดระเบิดไม่มีการใช้ถังแก๊สตามที่มีข่าวปรากฏออกมาแต่อย่างใด ทั้งห้องครัวร้านอาหารต่างๆ ล้วนใช้ระบบไฟฟ้าทั้งสิ้น และเจ้าหน้าที่เทศบาลก็ทราบดีเพราะเป็นข้อห้ามในเรื่องของการออกใบอนุญาต เพราะถังแก๊สต้องอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทนำมาวางไว้ชั้นใต้ดินไม่ได้ ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ต่อไปและเร่งปรับปรุงให้กลับมาเปิดบริการโดยเร็วที่สุดหลังสถานการณ์คลี่คลาย
 
อย่างไรก็ตามล่าสุดในวันนี้ทางเทศบาลนครหาดใหญ่ได้นำประกาศมาติดห้ามใช้อาคารโรงแรมลีการ์เด้นส์พลาซ่าชั่วคราวจนกว่าการเคลียร์พื้นที่จะแล้วเสร็จและทางวิศวกรจะเข้าตรวจสอบโครงสร้างอาคารที่ถูกไฟไหม้ให้เพื่อยืนยันถึงความปลอดภัย
 
 
เผยระเบิด รร.กลางเมืองหาดใหญ่ “คาร์บอมบ์” ติดตั้งในฮอนด้าแจ๊ซ ตาย 5 ไอซียู 28
 
มติชนออนไลน์: จากเหตุการณ์ระเบิดที่หาดใหญ่ เมื่อเวลา 21.30 น.วันที่ 31 มี.ค. พล.ต.อ.เพียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงตรวจพื้นที่เพื่อดูสภาพความเสียหายของสถานที่เกิดเหตุ เกิดเหตุระเบิดห้างสรรพสินค้าลีการ์เดนส์พลาซ่า ระบุเป็นคาร์บอมที่บรรจุในถังแก๊สเช่นเดียวกับเหตุระเบิดที่ จ.ยะลา และสถานการณ์เชื่อมโยงกัน สั่งคุมเข้มพื้นที่หาดใหญ่ทุกตารางนิ้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่พอทราบกลุ่มที่ก่อเหตุแล้ว ซึ่งในส่วนของเหตุระเบิดหาดใหญ่มีความเสียหายมาก จากวันนี้จนไปถึงเทศกาลสงกรานต์ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะต้องตั้งด่านตรวจให้ถี่ขึ้นเพื่อป้องกันเหตุร้าย และเหตุระเบิดหาดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
 
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการ จ.สงขลา เปิดเผยว่าผู้บาดเจ็บขณะนี้อยู่ที่ 354 คน ที่เข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 144 คน อาการน่าเป็นห่วงอยู่ในห้องไอซียู 28 คน และเสียชีวิต 5 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 1 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียรวมอยู่ด้วย 1 คน  ส่วนการช่วยเหลือทางจังหวัดจะมอบเงินในกรณีผู้เสียชีวิต หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะจ่ายค่าเยียวยาให้ 50,000 บาท สมาชิกครอบครัว 25,000 บาท
 
ส่วนผู้บาดเจ็บหากรักษาตัวเกิน 1 เดือน จะจ่ายค่าเยี่ยวเบื้องต้นเดือน 3,000 บาท และจะเสนอไปยัง ศอ.บต.เพื่อให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นกรณีพิเศษและ ในวันที่ 1 เม.ย. ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวทุกหน่วย จะตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยจะเปิดศูนย์รับแจ้งผู้สูญหายรวมทั้งทรัพย์สิน
 
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด ได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่าอยู่บริเวณลานจอดรถชั้นบี 3 ซึ่งเป็นชั้นใต้ดิน พบรถที่ประกอบเป็นคาร์บอมบ์เป็นรถยนต์ฮอนด้าแจ๊ซ ยังไม่ทราบหมายเลขทะเบียน ใช้ระเบิดแสวงเครื่องบรรจุในถังแก๊สน้ำหนัก 15 กก.แรงระเบิดทำให้รถขาดสองท่อนและ พื้นลานจอดรถเป็นหลุมลึกประมาณ 50 ซม.รัศมีเท่ากับตัวรถ แต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถตรวจในรายละเอียดได้เพราะ ยังมีกลุ่มควันและไอความร้อนอยู่ ขณะที่บริเวณจุดเกิดเหตุมีรถยนต์ที่ถูกไฟไหม้และถูกสะเก็ดระเบิดพังเสียหายกว่า 100 คัน
 
 
แม่ทัพภาคที่ 4 หารือ นำ “มาตรการพื้นที่ปลอดภัย” กลับมาใช้
 
เมื่อวันที่ 31 มี.ค.55 เวลา 19.30 น.ณ บริเวณถนนสายรวมมิตร เขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางมาตรวจสอบจุดเกิดเหตุ พร้อมพูดคุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด นอกจากนั้นยังได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับมาตรการในการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ร่วมกับพล.ต.ประตินันท์ สายหัสดี ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา, นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลาและ พ.อ.ธนุตม์ พิศาลสิทธิวัฒน์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 11 เกี่ยวกับการนำมาตรการพื้นที่ปลอดภัยหรือ SAFETY ZONE กลับมาใช้ในพื้นที่นี้อีกครั้ง หลังถูกยกเลิกไปในช่วงที่ผ่านมา
 
พลโท อุดมชัย  ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ ตนเชื่อว่าฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงพยายามที่จะก่อเหตุในพื้นที่เมืองให้ได้ เพราะที่ผ่านมาฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้เปิดแผนปฏิบัติการ เพื่อที่จะจำกัดความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนพวกนี้มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งมีการจับกุมระดับแกนนำได้หลายคน จึงมีความพยายามตอบโต้ สำหรับกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุในครั้งนี้พอที่จะทราบแล้วว่าเป็นกลุ่มใด ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการแจ้งเตือนกันแล้วตั้งแต่รถที่หายไป ให้พยายามตรวจสอบค้นหา แต่ก็คงจะสามารถหลุดรอดในบางจุดเข้ามาได้
 
แม่ทัพภาคที่ 4 ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนมาตรการ SAFETY ZONE มองว่าคงจะต้องกลับมาทบทวน จะต้องขอความร่วมมือจากประชาชน เพราะเมื่อมี SAFETY ZONE โซนก็มีความปลอดภัย หากพี่น้องประชาชนยังมองว่า SAFETY ZONE ทำให้เสียประโยชน์ ในอนาคตก็อาจจะเจอเหตุการณ์เหล่านี้อีกได้ ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน
 
ส่วนการเยียวยาก็ทราบว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะลงพื้นที่เพื่อดูแลอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม ตนเองอยากจะบอกกับพี่น้องประชาชนว่า กลุ่มคนที่ก่อเหตุในครั้งนี้เป็นกลุ่มที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ถึงเวลาแล้วที่องค์กรภาคเอกชนต่างๆ ที่ตรวจสอบความเป็นธรรม ตรวจสอบหลักสิทธิ ให้ออกมาเคลื่อนไหวบ้าง หากยังปล่อยให้กลุ่มเหล่านี้ก่อเหตุโดยไม่มีการประณาม ก็อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอ็นแอลดีอ้าง "ซูจี" คะแนนนำ - คนแห่ฉลองแม้ กกต.ยังไม่ประกาศผล

Posted: 01 Apr 2012 11:11 AM PDT

กกต.พม่ายังไม่ประกาศผลนับคะแนน ขณะที่พรรคเอ็นแอลดีอ้างผลไม่เป็นทางการ "ออง ซาน ซูจี" คะแนนนำร้อยละ 65 แต่ยังนับไม่เสร็จ ขณะที่เอ็นแอลดีคาดชนะแน่นอนแล้ว 12 เขตเลือกตั้ง ส่วนที่เนปิดอว์คะแนนนำ 3 เขตจาก 4 เขต

ผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี รวมตัวกันที่หน้าที่ทำการพรรคในกรุงย่างกุ้ง เพื่อลุ้นผลนับคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครจากพรรคมีคะแนนนำหลายเขต รวมทั้งนางออง ซาน ซูจี โดยแหล่งข่าวในพรรคอ้างว่ามีการนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว 12 เขต จากที่แข่งกันทั้งหมด 45 เขต และพรรคชนะทุกที่นั่ง อย่างไรก็ตาม กกต.พม่ายังไม่มีการประกาศผลการนับคะแนนทั้งแบบไม่เป็นทางการ และแบบเป็นทางการ (ที่มาของภาพ: เฟซบุค Eleven Media Group)

 

นับคะแนนยังไม่เสร็จ เอ็นแอลดีระบุ "ซูจี" มีคะแนนนำ คนแห่ฉลอง

สำนักข่าวอิระวดี รายงานกลางดึกวันนี้ (1 เม.ย.) ว่า ผลการนับคะแนนเบื้องต้นหลังปิดหีบเลือกตั้งขณะนี้ ในเขตกอว์มู ที่นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่้อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตอนนี้นางออง ซาน ซูจีมีคะแนนนำอยู่ที่ร้อยละ 65 จากคะแนนที่นับไปแล้ว 82 หน่วยเลือกตั้ง จากทั้งหมด 129 หน่วยเลือกตั้ง

โดยที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี มีการแสดงผลการนับคะแนนเบื้องต้นผ่านสกอร์บอร์ดด้วย และแหล่งข่าวในพรรคเอ็นแอลดีอ้างว่าเจ้าหน้าที่นับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว 12 เขต จากที่แข่งกันทั้งหมด 45 เขต โดยพรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งทั้ง 12 เขต

ทั้งนี้มีผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี มาชุมนุมกัน ณ ที่ทำการพรรคหลายพันคน และมีการร้องรำทำเพลงเฉลิมฉลองด้วย อย่างไรก็ตามผลการนับคะแนนขณะนี้ยังถือเป็นตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ และนับตั้งแต่ปิดหีบเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งพม่ายังไม่ได้ประกาศผลการเลือกตั้งใดๆ

 

เอ็นแอลดีคะแนนนำ 3 เขตในเนปิดอว์ แกนนำกลุ่มฮิปฮอป "Generation Wave" มีคะแนนนำ

ขณะที่ผลการเลือกตั้งที่เนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า สำนักข่าวอิระวดี อ้างรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่น ที่ระบุผลการเลือกตั้งว่า คาดว่าพรรคเอ็นแอลดีจะชนะการเลือกตั้ง 3 เขต ได้แก่ โปบปาติริ ที่พรรคเอ็นแอลดีส่งนายซะยาดอว์ หรือ สล่าดอว์ ผู้นำกลุ่มเยาวชนฮิปฮอป "Generation Wave" ลงสมัคร เขตดากินาติริ ที่ส่งนายหน่าย งัน ลิน อดีตติวเตอร์นักเรียนมัธยมในย่างกุ้งลงสมัคร และคาดว่าเขตซาบูติริ นายซันดา มิน ก็มีแนวโน้มที่จะชนะการเลือกตั้ง

ขณะที่เขตการเลือกตั้ง อุตรติริ ขณะนี้กำลังนับคะแนนอยู่ และนายหล้า เต็ง ส่วย ผู้สมัคร ส.ส. พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ ยูเอสดีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล กำลังมีคะแนนนำคู่แข่งจากพรรคเอ็นแอลดี

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

NLD Supporters Celebrate Election Victory, COLIN HINSHELWOOD / The Irrawaddy, April 1, 2012,

NLD Says Suu Kyi Leads in Polls, The Irrawaddy, April 1, 2012

NLD Claims 3 Seats in Naypyidaw, By DAVID PAQUETTE / THE IRRAWADDY, April 1, 2012

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พีอาร์ 6 เดือนรัฐบาลอย่างไรให้ได้มูลค่าเพิ่ม

Posted: 01 Apr 2012 07:32 AM PDT

ไพศาล อินทสิงห์ กับข้อเสนอต่อการประชาสัมพันธ์ผลงานในรอบ 6 เดือนของรัฐบาล ความสำเร็จของนโยบายต้องให้ประชาชนเป็นผู้บอก ให้ใช้การสื่อสาร 2 ทางในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ใกล้ชิดเป็นกันเอง

 
ขึ้นชื่อว่า เป็นรัฐบาลไม่ว่าใคร ย่อมต้องการมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์
 
จะเป็นที่ประจักษ์ได้ต้องประชาสัมพันธ์ (PR)
 
PR จึงสำคัญสำหรับนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะผู้กำหนดนโยบายประเทศ อันเป็นต้นทาง ผลงาน คือปลายทาง
 
ลำพังนโยบาย ยังเป็นนามธรรม เป็นแนวทางกว้างๆ ให้รู้ว่า รัฐบาลทำอะไร ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ไม่มีใครรู้ เพราะยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ
 
ต่อเมื่อนโยบายนั้นสิ้นสุดลง หรือหลังจากดำเนินนโยบายมาครบระยะเวลาหนึ่ง จะเป็น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น ถึงจะรู้ว่า ประสบความสำเร็จก้าวหน้าอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคตรงไหน มีจุดอ่อนอะไร จะปรับแก้อย่างไร
 
เชื่อว่า ครม.พยายามทำดีที่สุด ต้องการบรรลุเป้าหมายที่คาดหวังไว้ให้มากที่สุด หรือไม่ก็ใกล้เคียง
 
ผลงานที่ทำได้จริงเท่าไร นั่นคือ รูปธรรม
 
จากวันนั้น ถึงวันนี้ รัฐบาลครบ 6 เดือน ทั้งขับ ทั้งเคลื่อนนโยบายด้านต่างๆ กระทั่งออกมาเป็นผลงาน ไม่น้อย ดังที่ได้รับรู้ทางสื่อมวลชนเป็นระยะๆ ต่อเนื่องเรื่อยมา
 
“ในวันที่ 5 เมษายน นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมีการเปิดตัวคณะกรรมการโฆษกกระทรวง โดยจะให้โฆษกทุกกระทรวง รวบรวมผลงานของแต่ละกระทรวงในรอบ 6 เดือนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มานำเสนอต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ” (อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, มติชน 31 มีค.55)
 
เป็นอีกจังหวะก้าว ที่จะใช้โอกาสนี้บอกกล่าว ประชาสัมพันธ์ รายงานความก้าวหน้าให้ประชาชนทราบ
 
เชื่อว่า คณะกรรมการโฆษกกระทรวง ทำการบ้านอย่างเต็มที่ เพื่อให้งานออกมาดี PR โดดเด่น เป็นที่สนใจของสื่อและประชาชน
 
หวังตอกย้ำผลงานโดยสรุปภาพรวมอีกครั้ง เน้นข่าวสารเข้าถึงประชาชน กลุ่มเป้าหมายต่างๆ มากที่สุดอีกรอบ
 
PR 6 เดือน จึงเหมาะสม และน่าสนใจยิ่ง แต่จะ PR อย่างไรให้ได้มูลค่าเพิ่ม ก็น่าสนใจไม่น้อย เป็นประเด็นที่ผู้เขียนอยากนำเสนอ
 
แนวทางหนึ่ง ควรประชาสัมพันธ์ที่ฉีกแนวใหม่ๆ มิเพียงแค่ให้รับรู้ แต่ยังสร้างความรู้สึก “ประทับใจคนดู” ด้วย ซึ่งอาจอยู่ในแผนของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเตรียมการไว้หมดแล้ว ก็ได้
 
หากมีอยู่แล้ว ก็ถือเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมอง ผู้อ่านอาจเห็นด้วย เห็นแย้ง หรือเห็นเพิ่มจากผู้เขียน ซึ่งมองว่า ในการทำประชาสัมพันธ์นั้น ควรต้องสะท้อน 3 คำ คือ เจ๋ง-ฉีกแนว-ไม่ซ้ำใคร
 
มิเช่นนั้นอาจส่งผลให้การแถลงผลงานรัฐบาลโดยโฆษกกระทรวงดูราบเรียบ ธรรมดาไป ขาดพลัง ขาดความพลิ้วไหว ก็จะไม่โดนใจ ไม่กระตุกกระตุ้นความสนใจของประชาชน ซึ่งน่าเสียดายโอกาส
 
อย่าว่าแต่ประชาชน แม้แต่สื่อเอง ก็อาจไม่รู้สึกสนใจ ผู้เขียนมองว่า ยิ่งเป็นหน่วยงานระดับรัฐบาล ยิ่งต้องให้ข่าวสารขจรขจาย เข้าถึง กว้างไกล
 
ยิ่งแถลง 6 เดือนเป็นแพ็กเกจทุกกระทรวงเช่นนี้ ยิ่งต้องหวังผลให้คนจำได้ สังคมชื่นชม กล่าวขานถึง เป็นการประกาศแสนยานุภาพทางการประชาสัมพันธ์
 
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ช่วงหนึ่งของกิจกรรมวันนั้น จับมือกับสื่อทีวีทุกช่อง ให้สื่อไปอยู่ในสถานที่จริง ในจุดที่นโยบายไปทำสำเร็จและมีความโดดเด่น เลือกผลงานที่เน้นๆ เนื้อๆ สัก 2-3 โครงการ/ภาค ชูเป็นจุดแข็งเพื่อสร้างจุดขาย
 
ยิงสัญญาณสดจากจุดนั้น จากทุกภาคทั่วไทย เข้ามาที่ทำเนียบรัฐบาล และตัดออกอากาศนำเสนอสู่สาธารณะ สังคม สดจากพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบลหมู่บ้าน เพิ่มการสัมภาษณ์ชาวบ้าน เกษตรกร ฯลฯ
 
นอกจากสร้างการมีส่วนร่วมแล้ว การจะบอกว่า ความสำเร็จของนโยบายแค่ไหน ต้องให้ประชาชน สังคมเป็นผู้บอก จริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น เป็นกลวิธีหรือเสน่ห์อย่างหนึ่ง ถ้าผลงานทำได้สำเร็จจริง ก็ไม่ต้องกังวลอะไร ทั้งรัฐบาล และประชาชน ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ มุ่งสู่คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
 
ซึ่งวันนั้น อาจทำเป็นรายการถ่ายทอดสด มีพิธีกรที่จะต้องเชื่อมโยง และดำเนินรายการ คอยจัดคิวสัญญาณสดจากพื้นที่
 
ขณะที่อีกช่วงจัดให้มีการโทรศัพท์เข้ามาในรายการ แสดงความคิดเห็น หรือสอบถามในเรื่องต่างๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลได้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เป็นผู้ตอบ
 
สร้างการสื่อสาร 2 ทาง ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ใกล้ชิดเป็นกันเอง
 
เป็นไปได้หรือไม่ การประชาสัมพันธ์ในยุคใหม่ อาจเลือกใช้สื่อสมัยใหม่ อย่างอินเทอร์เน็ตอีกทางหนึ่งด้วย
 
เป็นภาคภาษาอังกฤษ เพราะวันนี้ภารกิจรัฐบาลยุคใหม่ เชื่อมโยงกับโลกมากขึ้นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ฯลฯ
 
และนับวันจะโยงมากขึ้น ต้องให้ต่างประเทศรู้ว่า รัฐบาลกำลังทำอะไรบ้าง อย่างไร เป็นผลดีต่อการทำงานร่วมมือกัน และสร้างความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ประเทศไทย
 
กลุ่มเป้าหมายอยู่ไหน เรา (ข่าวสารรัฐบาล) ไปถึงนั่น
 
ที่เขียนมานี้ ก็ขออนุญาตนำมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้กัน เป็นบางมุม บางส่วนบางเสี้ยว หากทำได้ หรือหากมีในแผนแล้ว ก็น่าจะเป็นมูลค่าเพิ่มให้การประชาสัมพันธ์รัฐบาลไม่มากก็น้อย
 
จะเป็นมูลค่าเพิ่มอย่างไร ขึ้นกับการออกแบบกิจกรรม PR ในวันนั้น
 
เหนืออื่นใด อยู่ที่ประชาชนจะเป็นผู้ให้คะแนนผลงานรัฐบาล
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เจ็บป่วยฉุกเฉิน 1 เม.ย.55 ก้าวแรกสู่ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว

Posted: 01 Apr 2012 06:46 AM PDT

 
วันที่ 1 เมษายน 2555 รัฐบาลกำลังจะเริ่มต้นการโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ทำให้ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพใดๆ สามารถเข้าถึงการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างเท่าเทียมกัน เรื่องนี้นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในระบบสุขภาพของประเทศไทย หลังจากการมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อ 10 ปีก่อน และถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการไปสู่ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ที่ทำให้คนไทยที่มีสิทธิการรักษาพยาบาลแตกต่างกันได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม บทความนี้จะนำเสนอรายละเอียดของเรื่องนี้ ใน 4 ประเด็นดังนี้
 
ประการที่ 1 ความเหลื่อมล้ำในระบบเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่ละกองทุนมีการบริหารจัดการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่แตกต่างกัน จึงความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกันดังนี้
 
ตารางที่ 1 ความแตกต่างด้านการแพทย์ฉุกเฉินของ 3 ระบบ ก่อน 1 เมษายน 2555
 
ระบบ

สวัสดิการข้าราชการ

ประกันสังคม

บัตรทอง

จำนวนผู้มีสิทธิ (ล้านคน)

4.9

9.9

47.7

ค่าใช้จ่าย/คน/ปี (บาท)

12,600

2,050

2,546

ที่มาของงบประมาณ

รัฐบาล

ผู้ประกันตน นายจ้าง รัฐบาล

รัฐบาล

การเกิดสิทธิ

ทันทีที่เป็นข้าราชการ

ต้องจ่ายสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน ใน 15 เดือน

ทันทีที่ลงทะเบียน

การสิ้นสุดของสิทธิ

ไม่ได้เป็นข้าราชการ

ขาดส่งเงินสมทบ > 3 เดือน

ได้สิทธิอื่น

เงื่อนไข

ไม่จำกัด

จำกัด 72 ชั่วโมง จากนั้นส่งกลับร.พ.ต้นสังกัด

ไม่จำกัด

หน่วยบริการ

ร.พ.รัฐทั่วประเทศ เท่านั้น

ทั้งรัฐและเอกชนไม่จำกัด

ทั้งรัฐและเอกชนในเครือข่าย

การสำรองจ่าย
(ร.พ.ในเครือข่าย)

ไม่ต้อง

สำรองจ่ายก่อน

ไม่ต้อง

การสำรองจ่าย
(ร.พ.นอกเครือข่าย)

สำรองจ่ายก่อน

สำรองจ่ายก่อน

ไม่ต้อง

ตัวอย่างอัตราจ่ายร.พ.นอกเครือข่าย
 

-ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 4,000 บาท ทั้งผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน
-ค่าห้อง ค่าอาหาร ไม่เกินวันละ 600 บาท
-ผู้ป่วยนอก ไม่เกิน 1,000 บาท
-ผู้ป่วยในปกติ ไม่เกิน วันละ 2,000 บาท
-ผู้ป่วยใน ICU ไม่เกิน วันละ 4,500 บาท
-ผ่าตัดใหญ่ ไม่เกินครั้งละ 8,000-16,000 บาท
-ค่าห้อง ค่าอาหาร ไม่เกินวันละ 700 บาท
หมายเหตุ อัตราสำหรับจ่ายร.พ.เอกชน

-ผู้ป่วยนอก ไม่เกิน 700 บาท
-ผู้ป่วยใน ไม่เกิน 4,500 บาท
-ผ่าตัดใหญ่ < 2 ชม. ไม่เกิน 8,000 บาท
-ผ่าตัดใหญ่ > 2 ชม., ICU ไม่เกิน 14,000 บาท
 
ประการที่ 2 ดีขึ้นและเท่าเทียม จากระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว หลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายนี้แล้ว ผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกคน จะได้รับการดูแลดีขึ้นทุกสิทธิ อย่างเท่าเทียม โดยสามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้ ไม่ว่าของรัฐบาลหรือเอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน อีกทั้งเมื่อเลย 72 ชั่วโมงก็ไม่ต้องส่งตัวกลับโรงพยาบาลต้นสังกัด โดย สปสช.จะเป็นผู้ตามจ่ายให้กับโรงพยาบาลก่อน ในอัตราผู้ป่วยในตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม RW = 10,500 บาท
 
จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนได้รับสิทธิการรักษาที่ดีขึ้นกว่าเดิม แม้แต่ข้าราชการซึ่งเดิมไม่สามารถไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนได้ ต่อไปก็จะสามารถไปรับบริการได้ ส่วนผู้ประกันตน ต่อไปนี้ก็ไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน และไม่ต้องถูกส่งตัวกลับโรงพยาบาลต้นสังกัดหากรับการรักษาเกิน 72 ชั่วโมง เป็นต้น
 
ประการที่ 3 ยังไม่ทั่วถึงทุกคน จากนโยบายที่บอกว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” แต่วันนี้ยังมีอีกหลายกลุ่มที่นโยบายนี้ยังไม่ครอบคลุม ได้แก่ บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิกว่า 450,000 คน ที่ดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข, พนักงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ข้าราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และครูเอกชน เป็นต้น จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องนำกลุ่มคนที่เหลือเหล่านี้เข้าสู่นโยบายดังกล่าว ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าโครงการนี้ทั่วถึงทุกคน
 
และยังมีคำถามที่สำคัญต่อไปอีกว่า เมื่อเราเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asian Economics Community) ในปี 2558 กลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่จ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลอย่างถูกต้องตามระบบประกันสังคม ควรจะเข้าสู่ระบบนี้เช่นกันหรือไม่
 
ประการที่ 4 สิ่งท้าทายต่อไป ยังมีหลายประเด็นที่ควรปรับปรุงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมๆกับคุณภาพ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นการใช้เตียงที่มีเหลือในภาคเอกชนให้เป็นประโยชน์ และลดภาระของภาครัฐ ได้แก่ 1) ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวสำหรับ มะเร็ง เอดส์ ไต หัวใจ หลอดเลือด โรคค่าใช้จ่ายสูงต่างๆ ที่มีระบบบริหารจัดการเฉพาะ และยาราคาแพง
 
2) การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐ และจำนวนเตียง (supply side) ให้เพียงพอกับปริมาณคนไข้ที่เข้าถึงบริการมากขึ้น เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พัฒนาด้านหลักประกันสุขภาพ (demand side) ให้คนไข้สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น แต่ทว่ายังไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการเพิ่มกำลังคนและจำนวนเตียงในโรงพยาบาลให้เพียงพอแต่อย่างใด ลำพังทำแต่ด้านหลักประกันสุขภาพให้ดีก็ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้ เพราะอัตรากำลังและจำนวนเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ
 
และ 3) รัฐบาลต้องไม่ลืมคือ ผู้ประกันตนอีก 10 ล้าน ที่ยังเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบค่ารักษาพยาบาล ในเมื่อทุกอย่างเหมือนกัน มาตรฐานเดียวกัน ทำไมยังเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่าย
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำรวจพบ 60 เปอร์เซ็นต์ ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง วางแผนลงคะแนนให้ NLD

Posted: 01 Apr 2012 06:22 AM PDT

 
สำนักข่าวมิซซิม่าได้ออกสำรวจประชาชนกว่า 362 คน โดยพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจะไปลงคะแนนเสียงให้กับพรรคเอ็นแอลดี ขณะที่กลุ่มที่จะออกไปใช้สิทธิ์มากที่สุดคือกลุ่มคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18 – 24 ปี คิดเป็น 90.5 เปอร์เซ็นต์
 
ทั้งนี้จากการสำรวจประชาชนอายุตั้งแต่ 18 – 60 ปีขึ้นไปพบว่า ส่วนใหญ่ทราบถึงขั้นตอนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มีความตื่นตัวต่อการเลือกตั้งครั้งนี้และเตรียมตัวไปลงคะแนนเสียงมากถึงร้อยละ 85 โดยกลุ่มที่คาดว่าจะไปเลือกตั้งมากที่สุดคือคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18 – 24 ปี คิดเป็น 90.5เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ตามมาด้วยกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 25 – 39 ปี และวัย 40 – 60 ปี ขณะที่ 78 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าทราบนโยบายของผู้สมัครของพวกเขา ขณะที่ 26 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าไม่ทราบ
 
ขณะที่พรรคอันดับ 1 ที่ประชาชนเตรียมโหวตให้คือพรรคเอ็นแอลดี คิดเป็นร้อยละ 60 รองลงมาคือพรรค USDP (The Union Solidarity and Development Party) ของรัฐบาล คิดเป็นร้อยละ 32 ขณะที่ร้อยละ 6 จะโหวตให้พรรค NUP (National Unity Party) และอีก 2 เปอร์เซ็นต์ไม่ออกความเห็น
 
ขณะที่ร้อยละ 45 เปอร์เซ็นต์ที่ตัดสินใจที่จะเลือกพรรคการเมืองนั้นๆ เผยว่าดูจากนโยบายและตัวผู้สมัคร ขณะที่ ร้อยละ 23 ดูจากการจัดกิจกรรมของของพรรคการเมือง ร้อยละ 19 อ้างว่าดูจากคุณสมบัติและความสามารถของผู้ลงสมัคร ส่วนอีก 13 เปอร์เซ็นต์ไม่ขอออกความเห็น
 
อีกด้านหนึ่ง ร้อยละ 42 เชื่อว่า ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าในหลายปีมานี้โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว ร้อยละ 31 ตอบว่าไม่ขอออกความเห็น ขณะที่ร้อยละ 14 ตอบว่าไม่ และอีกร้อยละ 13 ตอบว่าไม่ทราบ
 
แปลและเรียบเรียงจาก Mizzima 31 มีนาคม 55
 
 
ซูจีเผย การเลือกตั้งซ่อมไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม
 
นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีเปิดแถลงข่าวในวันนี้ (29 มี.ค.55) ที่บ้านพักในกรุงย่างกุ้งก่อนที่จะมีการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 1 เมษายนนี้ โดยระบุว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากพบความไม่ชอบมาพากลในระหว่างการเตรียมการเลือกตั้งและการลงพื้นที่หาเสียง อย่างไรก็ตามระบุ ทางพรรคจะเดินหน้าต่อ เนื่องจากเป็นความต้องการของประชาชน
 
ทั้งนี้ นางซูจีกล่าวว่ายังไม่อาจกล่าวว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนั้นเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง หากพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากพบความไม่ปกติเกิดขึ้นและยากเกินกว่าที่จะยอมรับได้ในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
 
นางซูจีเปิดเผยว่า ทางลูกพรรคของเธอนั้นถูกคุกคามและถูกโจมตีระหว่างลงพื้นที่หาเสียง นอกจากนี้ยังร้องเรียนถึงความไม่เป็นธรรมของรัฐบาลพม่าเช่น ในเขตเลือกตั้งกอว์มู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นางซูจีรับสมัครเลือกตั้งนั้นพบมีรายชื่อของผู้ที่เสียชีวิตแล้วหลายร้อยคนอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ชาวบ้านราว 1,300 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งและยังมีชีวิตอยู่กลับถูกตัดรายชื่อจากผู้ที่สิทธิ์ลงคะแนน
 
 
ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งต่างชาติเดินทางถึงพม่าแล้ว
 
คณะผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งชาวต่างชาติและนักข่าวสื่อมวลชนราว 100 คน ได้เดินทางถึงพม่าแล้ว เพื่อเข้าสังเกตการณ์เลือกตั้งซ่อมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้ ขณะที่พบมีชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากเดินทางถึงสนามบินนานาชาติในกรุงย่างกุ้งในหลายวันมานี้ โดยคาดว่า มีชาวต่างชาติและสื่อมวลชนรวมถึงนักการทูตราว 159 คนได้รับเชิญให้เข้าสังเกตการณ์ในครั้งนี้
 
ทั้งนี้สื่อท้องถิ่นพม่ารายงานว่า ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศจะต้องติดบัตรพิเศษในระหว่างสังเกตการณ์เลือกตั้ง โดยบัตรดังกล่าวยังถูกมอบให้แก่เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ทางการพม่าประกาศว่า จะยกเลิกการรับรองตัวแทนสื่อมวลชนต่างประเทศได้ทุกเมื่อหากไม่ทำตามข้อปฏิบัติ
 
มีรายงานว่า สื่อมวลชนต่างชาติสามารถถ่ายภาพและวิดีโอได้ในระยะไกลๆและเข้าสังเกตการณ์การนับคะแนนได้ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าไปในคูหาเลือกตั้ง อีกด้านหนึ่ง องค์กรอิสระคะฉิ่น (The Kachin Independent Organization -KIO) ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าจะไม่เข้าไปวุ่นวายการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ พร้อมทั้งยินดีจะร่วมมือกับพรรคเอ็นแอลดีเพื่อรับรองความปลอดภัยในการจัดการเลือกตั้งในรัฐคะฉิ่น
 
ขณะที่สัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการเลือกตั้งพม่าได้ออกมาประกาศเลื่อนการจัดการเลือกตั้งใน 3 เขตรัฐคะฉิ่น โดยอ้างถึงว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีความปลอดภัย ด้านโฆษกของพรรคเอ็นแอลดีแสดงความเสียใจ เนื่องจากทั้งสามพื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคเอ็นแอลดี และไม่เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยแต่อย่างใด
 
แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy 29 มีนาคม 55
 
 
แปลและเรียบเรียงโดย: สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน" อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หวั่นรัฐฯ เล่นเกมการเมือง จี้พิสูจน์เดินหน้า “โฉนดชุมชน” ไม่ใช่แค่ลมปาก

Posted: 01 Apr 2012 05:57 AM PDT

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ร้องรัฐบาลหยุดใช้ประชาชนเป็นหมากทางการเมือง จวก 7 เดือนการทำงานตามนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดิน-ทรัพยากรธรรมชาติฯ ไม่คืบ จี้เร่งพิสูจน์ผลงาน

 
ภาพ: ความเสียหายของต้นยางในพื้นที่ นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ซึ่งถูกตัดฟันโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา  
 
วันนี้ (1 เม.ย.55) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 “รัฐบาลต้องหยุดใช้ประชาชนเป็นหมากทางการเมือง เร่งพิสูจน์ต่อสังคมว่านโยบายที่ดินไม่ใช่เพียงลมปาก” ตั้งข้อสังเกตรัฐบาลกำลังใช้เกษตรกรรายย่อยและปัญหาที่ดินทำกินเป็นหมากในเกมการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน
 
แถลงการณ์ระบุว่า หลังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ส.ค.54 ทั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นต่อภาคประชาชนผ่านสื่อมวลชนว่าจะสานต่อนโยบายโฉนดชุมชนโดยตั้งเป้าหมายจัดการพื้นที่ในรูปแบบโฉนดชุมชนให้ได้ 2 ล้านไร่ ภายใน 3 ปี แต่ในช่วง 7 เดือนของการทำงานที่ผ่านมา กลับไม่มีรูปธรรมในทางปฏิบัติ
 
อีกทั้ง การแถลงของ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถึงคำพูดที่นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า “กรณีโฉนดชุมชนมีการดำเนินการผิดพลาด โดยพบว่ามีการนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยน เอาไปทำโครงการขนาดใหญ่ ที่พบมากแถบจังหวัดภาคใต้ ที่มีการเอาไปทำสวนยาง” เมื่อวันที่ 20 มี.ค.55 ส่งผลให้ข้าราชการ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เชื่อมั่นในแนวทางและนโยบายโฉนดชุมชน
 
กรณีดังกล่าวนำไปสู่ การตัดฟันสวนยางของชาวบ้านจำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 8 ไร่ ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ม.1 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง และการจับกุมชาวบ้านในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านตระ ม.2 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 2 ราย ในขณะที่นำหมากแห้งออกไปจำหน่าย รวมถึงการเตรียมการสนธิกำลังรื้อถอนสวนยางและสวนปาล์มในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านหลังมุข ม.6 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
ทั้งที่พื้นที่โฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู และบ้านตระได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองพื้นที่จากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) แล้ว ในขณะที่บ้านหลังมุขกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบพื้นที่ของสำนักงานโฉนดชุมชน โดยอัยการสูงสุดและกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินคดีในพื้นที่ดำเนินการโฉนดชุมชน และคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 หน่วยงาน เพื่อผลักดันและสนับสนุนการดำเนินงานโฉนดชุมชน
 
“รัฐบาลมีความเชื่อมาตลอดว่านโยบายโฉนดชุมชนเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ โดยลืมว่าแท้ที่จริงแล้วนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายของภาคประชาชน ซึ่งได้นำเสนอต่อพรรคการเมืองทุกพรรค รวมทั้งพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ.2550 จึงน่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันอาจจะปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ข่มขู่คุกคามรื้อถอนอาสินในพื้นที่โฉนดชุมชนทั่วประเทศ เพียงเพื่อผลทางการเมืองที่ว่าการรับรองพื้นที่โฉนดชุมชนของรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นการกระทำที่ผิดพลาด และส่งเสริมให้คนบุกรุกป่ามากขึ้น” แถลงการณ์ระบุ
 
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรเดินหน้าต่อไปได้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ระบุข้อเรียกร้องว่า 1.รัฐบาลต้องสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ปฏิบัติงานไปในแนวทางเดียวกัน นายกรัฐมนตรีควรมอบหมายนโยบายที่ชัดเจนเรื่องโฉนดชุมชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการทำหนังสือเวียนถึงส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางโฉนดชุมชน ซึ่งจะต้องมีการคุ้มครองพื้นที่และรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ทั้งในส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอื่นๆ
2. ภาคประชาชนจะร่วมกันตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง ว่ารัฐบาลได้ปฏิบัติตามนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ข้อ 5.4 ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และสังคมไทยหรือไม่
 
ทั้งนี้ นโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการระบุไว้ในข้อ 5.4 ว่า “สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการปฏิรูปการจัดการที่ดินโดยให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างยั่งยืนโดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย...ผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน”
 
 
 
 
แถลงการณ์ฉบับที่ 1 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด
รัฐบาลต้องหยุดใช้ประชาชนเป็นหมากทางการเมือง
เร่งพิสูจน์ต่อสังคมว่านโยบายที่ดินไม่ใช่เพียงลมปาก
 
นับเป็นเรื่องน่ายินดี เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 โดยมีการระบุไว้ในข้อ 5.4 ว่า “สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการปฏิรูปการจัดการที่ดินโดยให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างยั่งยืนโดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย...ผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน” หลังจากนั้นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นต่อภาคประชาชนผ่านสื่อมวลชนอย่างน้อย 2 ครั้ง ว่าจะสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรตามรัฐธรรมนูญ โดยตั้งเป้าหมายจัดการพื้นที่ในรูปแบบโฉนดชุมชนให้ได้ 2 ล้านไร่ ภายใน 3 ปี

แต่เมื่อพิจารณาถึงรูปธรรมในทางปฏิบัติของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา พบว่าไม่ได้มีแนวปฏิบัติในการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติดังที่ได้แถลงไว้แต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังมีท่าทีไม่ปรองดองกับคนจนและเกษตรกรรายย่อย โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่านายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า “กรณีโฉนดชุมชนมีการดำเนินการผิดพลาด โดยพบว่ามีการนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยน เอาไปทำโครงการขนาดใหญ่ ที่พบมากแถบจังหวัดภาคใต้ ที่มีการเอาไปทำสวนยาง” 

ส่งผลให้ข้าราชการ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เชื่อมั่นในแนวทางและนโยบายโฉนดชุมชน นำไปสู่การตัดฟันสวนยางของชาวบ้านจำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 8 ไร่ ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ม.1 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง และจับกุมชาวบ้าน ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านตระ ม.2 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 2 ราย ในขณะที่นำหมากแห้งออกไปจำหน่าย รวมถึงการเตรียมการสนธิกำลังรื้อถอนสวนยางและสวนปาล์มในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านหลังมุข ม.6 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งๆ ที่พื้นที่โฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู และบ้านตระได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองพื้นที่จากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) แล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐได้ ในขณะที่บ้านหลังมุข กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบพื้นที่ของสำนักงานโฉนดชุมชน นอกจากนั้น อัยการสูงสุดและกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินคดีในพื้นที่ดำเนินการโฉนดชุมชน และคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 หน่วยงาน เพื่อผลักดันและสนับสนุนการดำเนินงานโฉนดชุมชน

นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่ารัฐบาลกำลังใช้เกษตรกรรายย่อย และปัญหาที่ดินทำกินเป็นหมากในเกมการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน รัฐบาลมีความเชื่อมาตลอดว่านโยบายโฉนดชุมชนเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ โดยลืมว่าแท้ที่จริงแล้วนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายของภาคประชาชน ซึ่งได้นำเสนอต่อพรรคการเมืองทุกพรรค รวมทั้งพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ.2550 จึงน่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันอาจจะปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ข่มขู่คุกคามรื้อถอนอาสินในพื้นที่โฉนดชุมชนทั่วประเทศ เพียงเพื่อผลทางการเมืองที่ว่าการรับรองพื้นที่โฉนดชุมชนของรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นการกระทำที่ผิดพลาด และส่งเสริมให้คนบุกรุกป่ามากขึ้น

เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรเดินหน้าต่อไปได้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ขอยืนยันว่า 

1. รัฐบาลต้องสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ปฏิบัติงานไปในแนวทางเดียวกัน นายกรัฐมนตรีควรมอบหมายนโยบายที่ชัดเจนเรื่องโฉนดชุมชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการทำหนังสือเวียนถึงส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางโฉนดชุมชน ซึ่งจะต้องมีการคุ้มครองพื้นที่และรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ทั้งในส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอื่นๆ 

2. ภาคประชาชนจะร่วมกันตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง ว่ารัฐบาลได้ปฏิบัติตามนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ข้อ 5.4 ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และสังคมไทยหรือไม่


ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด 
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
วันที่ 1 เมษายน 2555
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนค่าจ้างไม่เป็นธรรม รับนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท

Posted: 01 Apr 2012 03:56 AM PDT

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ย้ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ พร้อมเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรณีค่าจ้างไม่เป็นธรรม 9 จุดทั่วประเทศ

 

กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมติคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 อันส่งผลให้มีการเลื่อนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม บังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2555 ส่วนในจังหวัดที่เหลือ 70 จังหวัด ให้บังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ทั้งนี้ ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไว้ที่วันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2557 และปี พ.ศ. 2558

(1 เม.ย.55) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงข่าวที่พิพิธภัณธ์แรงงานไทย ถึงจุดยืนต่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ระบุสนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยดำเนินนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตามที่ได้ให้สัญญาประชาคมไว้กับผู้ใช้แรงงานกว่า 38 ล้านคน รวมถึงสนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมในมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำ ตามหลักการตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

"คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีจุดยืนสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ หากนโยบายดังกล่าวจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้เกิดระบบค่าแรงที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมโอกาสมีงานทำที่มีคุณค่า (Decent Work) ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ที่ดำเนินการให้มีการส่งเสริมในทุกรัฐบาล องค์กรนายจ้าง และองค์กรลูกจ้าง ที่เป็นสมาชิกในการเสริมสร้างคุณค่าในแต่ละประเทศ"

อย่างไรก็ตาม คสรท.แสดงความเห็นคัดค้านมาตรการคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2557 และ 2558 เนื่องจากสภาวการณ์ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สาธารณูปโภคและพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่เป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานของแรงงาน

ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่าผู้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากยังไม่มั่นใจว่านโยบายนี้จะเกิดขึ้นได้จริง และอาจมีการละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่จ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย คสรท. จึงได้ประสานความร่วมมือองค์กรแรงงานเพื่อให้เปิด “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรณีค่าจ้างไม่เป็นธรรม” เพื่อรับแจ้งการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยจัดตั้งศูนย์ 9 ศูนย์ ได้แก่

1) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย 503/20 ถนนนิคมรถไฟ มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์/โทรสาร 02 2513170

2) ศูนย์แรงงาน กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ย่านนิคมอุตสาหกรรมเวลโกร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทราโทรศัพท์ 038 842921 ผู้ประสานงาน นายราเล่ อยู่เป็นสุข 084 5408778

3) กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง เลขที่ 32 หมู่ 1 ถ. สุดบรรทัด ต. ตาลเดี่ยว อ. แก่งคอย จ. สระบุรี โทรศัพท์ 036 245441 ผู้ประสานงาน นายบุญสม ทาวิจิตร 0817590827

4) กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก เลขที่ 120/46 หมู่ 3 ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110 โทรศัพท์ 038 337523 ผู้ประสานงาน นายสมพร ขวัญเนตร 0837695687

5) สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย - TEAM เลขที่ 1/446 หมู่ที่ 14 ซอยบางแสน 2 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โทรศัพท์ 02 7078072 ผู้ประสานงาน นายยงยุทธ เม่นตะเภา 0818282538

6) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เลขที่ 50/32 หมู่ 6 ต.ท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม 73110 โทรศัพท์ 02 8125277 ผู้ประสานงาน นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย 0811787489

7) สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต เลขที่ 12/133 หมู่ 3 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 ผู้ประสานงาน นายวิจิตร ดาสันทัด 0815351764

8) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เลขที่ 44 ซอยวิภาวดีรังสิต 11 นิคมรถไฟ กม.11 เขตจตุจักร กทม. 10900 โทรศัพท์ 02 5378973 ผู้ประสานงาน นายสาวิทย์ แก้วหวาน 0863361110

9) สหพันธ์แรงงานธนาคารสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02 2252166 ผู้ประสานงาน นายศักดิ์สิทธิ์ อุดมศิลป์ (เลขาธิการ) 0896977826

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ประธาน NLD (LA) สาขาเกาหลี: ออง ซาน ซูจีและรัฐบาลพม่าต่างต้องการกันและกัน

Posted: 01 Apr 2012 03:07 AM PDT

ประชาไทสัมภาษณ์ “เนย์ทุน นาย” ประธาน NLD (LA) สาขาเกาหลีใต้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเอ็นแอลดีจะกวาดกว่า 40 ที่นั่งจากทั้งหมด 48 ที่นั่งในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้


ประชาไท: หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา พม่ามีความเปลี่ยนแปลงเร็วมาก คุณว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไหม
เนย์ ทุน: ในความเห็นของผม บางอย่างเปลี่ยนแต่ไม่มาก เรายังต้องการการปฏิรูปกฎหมาย รัฐบาลปัจจุบันนั้นฉลาดมาก และมีความรู้เป็นอย่างดีว่าจะปฏิสัมพันธ์กับประชาคมระหว่างประเทศอย่างไร ทั้งกับสหประชาชาติ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป โดยเฉพาะอาเซียน รวมไปถึงสื่อต่างประเทศด้วย

ผู้คนมากมายคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในพม่า และพม่ากำลังก้าวเข้าใกล้ความเป็นประชาธิปไตย (หัวเราะ) แต่สำหรับผม เรายังต้องการการเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันจากภายนอกอีกมาก

การเลือกตั้งครั้งนี้ ดอว์อองซานและพรรคเอ็นแอลดีตัดสินใจหันมาลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยความหวังที่จะเข้าไปมีพื้นที่เคลื่อนไหวในรัฐสภา และในกลไกการออกกฎหมาย

ผมคาดว่าจะมีเก้าอี้ให้ชิงตำแหน่งทั้งหมด 48 ที่นั่ง และก็เชื่อมั่นว่า NLD จะได้มามากกว่า 40 ที่นั่ง และคิดว่าด้วยผลการเลือกตั้งเช่นนี้ และโดยการสนับสนุนจากภายในและภายนอกรัฐสภา อองซานซูจีและพรรค NLD จะสามารถกดดันพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายสำหรับประชาชนของเรา นี่คือประเด็นแรกที่ผมคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ประเด็นต่อมา มิน โก นาย ผู้นำนักศึกษาที่ถูกจับกุมตั้งแต่ปี 1988 และติดคุกรวมแล้วกว่า 20 ปี ซึ่งขณะนี้ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว เขาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยคนสำคัญอันดับสองรองจากดอว์อองซาน ก็ได้ประกาศแล้วว่าจะสนับสนุนดอว์อองซานและพรรคเอ็นแอลดี ดังนั้น ภายนอกสภา มินโกนาย นักศึกษา พระ ประชาชน ก็สามารถที่จะเป็นแรงกดดันภายนอกรัฐสภาได้ นี่รวมถึงเหล่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วย และผมยังคงคาดหวังแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง


ประชาไท: แล้วอะไรคือประเด็นสำคัญประการแรกที่จะต้องกดดัน รัฐบาลพม่า
เนย์ ทุน: ประเด็นแรกคือ ต้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด มีการจับกุมนักโทษการเมืองจำนวนมาก แต่คุณจะพบว่ามีเพียง 651 รายที่ถูกปล่อยออกมา

อีกประเด็นคือ กฎหมายและระบบยุติธรรม เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับประเทศของเรา

ประเด็นที่สามคือ สันติภาพภายในประเทศ เพราะว่ายังมีการรบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยอยู่ เราต้องการสันติภาพภายในที่แท้จริง

ประชาไท: แต่คุณจะมีสันติภาพภายในประเทศอย่างไรขณะที่ยังมีกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาลพม่าในปัจจุบัน
เนย์ ทุน: เป็นไปได้สองทาง ทางหนึ่งก็คือการเจรจากัน และทางที่สองก็คือการเปลี่ยนรัฐบาลของพม่า ซึ่งผมหวังอย่างยิ่งว่า พรรค NLD จะชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015

ประชาไท: แต่ตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าอองซานซูจี ทำหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาลพม่าได้เป็นอย่างดี คุณพอใจกับบทบาทของเธอแบบนี้หรือเปล่า
เนย์ ทุน: เป็นคำถามที่ดีนะ เราเห็นด้วยกับบทบาทของเธอ พวกเขา ผมหมายถึงทั้งรัฐบาลพม่า และดอว์อองซาน เล่นบทบาทที่ฉลาด เพราะว่า ฝ่ายรัฐบาลนั้นมีทุกอย่าง แต่ว่าไม่มีความชอบธรรม และการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม แต่ว่าพวกเขาอยู่บนเงื่อนไขสองอย่างคือ

หนึ่ง ต้องการสร้างความชอบธรรมในทางระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลพม่าไม่มีความชอบธรรมนี้ ขณะที่อองซานซูจีได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ

สอง รัฐบาลไม่สามารถพัฒนาในเศรษฐกิจได้ด้วยตัวเอง ขณะที่อองซานสามารถดึงดูดให้เกิดการลงนามความร่วมมือต่างๆ ในระดับระหว่างประเทศ

สาม สำหรับสันติภาพภายใน กลุ่มชาติพันธุ์นั้นไม่วางใจรัฐบาลทหาร ดังนั้นอองซานซูจีจึงเป็นคนที่
ได้รับการยอมรับไม่เฉพาะจากพม่า แต่จากกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

ในทางกลับกัน อองซานซูจี และเอ็นแอลดีก็ต้องการการยอมรับจากรัฐบาลเพื่อให้เราสามารถที่จะเป็นพรรคการเมืองที่ชอบธรรม เปิดทางให้กับการสร้างความตระหนักในประเด็นการเมืองกับสาธารณะด้วย

รัฐบาลและอองซานซูจีพวกเขาต้องการกันและกัน

พรรคเอ็นแอลดีซึ่งไม่ได้จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้มีการประชุมมากกว่า 23 ปี มาแล้ว ไม่มีการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตยในพรรค เราต้องการเลือกคนรุ่นใหม่ของเอ็นแอลดี ที่หลายคนก็ถูกจับกุม และมันต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ก่อนหน้านี้การที่พรรค NLD ไม่ลงทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อลงรับการเลือกตั้งก็เพราะข้อจำกัดของกฎหมายในปัจจุบัน เช่น นักโทษการเมืองของพม่าก็ไม่สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น ถ้าพรรคเอ็นแอลดีต้องการชนะการเลือกตั้งใหญ่ ก็ต้องมีการปรับปรุงระบบการกฎหมายเลือกตั้ง

กฎหมายเลือกตั้งฉบับปัจจุบันนี้เข้มงวดเกินไป ต้องแก้ไขกฎหมายนี้ เพื่อให้เอ็นแอลดีสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ เพื่อที่จะทำให้เอ็นแอลดี จดทะเบียนเป็นพรรคอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การที่เอ็นแอลดีตกลงที่จะลงทะเบียนเพื่อลงเลือกตั้งนั้นมีสามเหตุผล

หนึ่ง เพื่อทำให้แน่ใจว่า มีกฎหมายที่ชอบธรรม
สอง เพื่อที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
สาม เพื่อสันติภาพภายในประเทศ
และประการที่สำคัญคือ บรรยากาศทางการเมืองขณะนี้นี้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นแล้ว เปิดพื้นที่ให้กับเอ็นแอลดีมากขึ้น และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเอ็นแอลดีถึงจะลงเลือกตั้งอีกครั้ง

(หมายเหตุประชาไท: พรรคเอ็นแอลดีจดทะเบียนพรรคใหม่ เมื่อ ธ.ค. 54 หลังเต็งเส่งออกกฎหมายอนุญาตให้มีการชุมนุมรวมตัวได้เป็นครั้งแรก)

ประชาไท: คุณพอใจกับท่าทีของประชาคมระหว่างประเทศที่ดูเหมือนจะเปิดรับรัฐบาลพม่าได้มากขึ้น รวมไปถึงการที่พม่าอาจจะได้เป็นประธานอาเซียนในปี 2015 หรือเปล่า
เนย์ ทุน: ผมไม่เห็นด้วยกับการเป็นประธานอาเซียนของพม่า แต่ผมจะทำอย่างไร แต่ผมคิดว่าผู้นำในอาเซียนก็รู้และฉลาดพอที่จะรู้ว่า การให้ตำแหน่งประธานอาเซียนกับพม่าจะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศประชาธิปไตยในพม่า

สิ่งที่เราต้องการคือการคิดในเชิงยุทธศาสตร์ คือทำอย่างไรเราจะพัฒนาบรรยากาศการเมืองภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ นี่เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เราจะจัดการกับสถานการณ์อย่างไร ถ้าเราสามารถทำการรณรงค์ทางการเมืองได้นั่นจะเป็นเรื่องที่ดี นี่ไม่ใช่เรื่องขึ้นกับเต็งเส่ง แต่มันขึ้นกับพวกเราเช่นกัน ว่าเราจะคิดและดำเนินการอย่างไรในเกมการเมืองแบบนี้
 

ประชาไท: ตัวคุณเองมีแผนการจะกลับประเทศพม่าเพื่อเข้ามาทำงานการเมืองบ้างไหมหลังจากลี้ภัยไปกว่า 20 ปี
เนย์ ทุน: ผมก็คิดจะกลับ หลายๆ คนที่เป็นสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีก็อยากจะกลับ ตัวผมเองคาดว่าจะกลับไปก่อนการเลือกตั้ง และเข้าร่วมกับการรณรงค์หาเสียงแต่คงไม่ใช่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดว่าสมาชิกรัฐสภาจะต้องพำนักอยู่ในพม่าเกินกว่า 10 ปี ซึ่งถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แก้ไขผมอยากจะลดกำหนดเวลาลงเหลือ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับผม

ผมก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่ที่จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับผมเหมือนกัน แต่ผมแน่ใจว่าผมจะเป็นคนร่วมรณรงค์หาเสียงและสนับสนุนอองซานซูจี

อีกอย่างหนึ่ง ตอนที่ผมได้เข้าร่วมในเหตุการณ์ 8888 ผมก็ไม่ได้มีความหวังอะไรเกี่ยวกับเวทีการเมือง เพียงแต่พวกเขาจะจับผม ผมก็เลยต้องตัดสินใจหนีเท่านั้น มันก็เป็นเรื่องที่ผมต้องตัดสินใจเหมือนกันว่าจะเป็นอะไรดี แต่คงเป็นนักรณรงค์และผู้สนับสนุนมากกว่า

เงื่อนไขอีกประการหนึ่งที่จะทำให้ผมตัดสินใจกลับพม่าก็คือ หากผมเชื่อมั่นว่าการเมืองของเราจะไม่ถอยหลังกลับ และจะไม่มีการรัฐประหาร

 

เนย์ ทุน นาย เป็นอดีตนักศึกษาที่เข้าร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าในปี 1988 เขาตัดสินใจลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศเกาหลีใต้ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการพรรค NLD สาขาเกาหลีใต้ และเป็นประธาน NLD (LA) (National League for Democracy (Liberated Area)) ซึ่งเป็นเครือข่ายของนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา ไทย เกาหลีใต้ เป็นต้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 25 - 31 มี.ค. 2555

Posted: 01 Apr 2012 02:20 AM PDT

เพื่อนหญิง ชี้กองทุนสตรียังไม่เข้าถึงสิทธิแรงงานหญิงแนะควรเป็นการพัฒนาศักยภาพแทนให้เงินกู้

25 มี.ค. 55 - ในงานเสวนา"เสียงจากผู้หญิงถึง นายกรัฐมนตรีหญิง" ซึ่งจัดโดยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) น.ส.ธนวดี ท่าจีน กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ควรเน้นการมีส่วนร่วมของผู้หญิง ส่วนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีนั้นยังมีผู้หญิงอีกกว่า 28 ล้านคน ที่ไม่ได้รับสิทธิ์จากกองทุน เพราะต้องมีการลงทะเบียนแสดงให้เห็นว่านโยบายไม่ได้เป็นสาธารณะ

ขณะที่น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี เปิดศูนย์รับเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน ให้มีการจ่ายค่าแรงในช่วงเวลาคลอดบุตร ให้มีการปฏิรูปประกันสังคมและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาจากอุทกภัยที่ผ่าน มา  เพราะมีแรงงานผู้หญิงจำนวนมาก ยังไม่ได้รับการเยียวยาและอยู่ในภาวะตกงาน  พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีว่า ยังไม่เข้าถึงสิทธิ์ของแรงงานหญิง เพราะไม่สามารถลงทะเบียนได้ เนื่องจากเป็นแรงงานพลัดถิ่น ไม่มีสำเนาทะเบียนบ้านอีกทั้ง ยังไม่รู้เงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำในกองทุน

ด้านผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองคณะบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดการปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมาไม่สามารถดูแลผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบได้ดี ส่วนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีนั้น ควรจะเป็นไปเพื่อการพัฒนาศักยภาพสตรี มากกว่าการปล่อยเงินกู้

เช่นเดียวกับ นางจันทวิภา อภิสุข ประธานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ หรือ ศูนย์พิทักษ์สิทธิหญิงบริการ ระบุว่า สังคมควรปรับมุมมองหญิงบริการแทนที่จะมองเป็นผู้ก่ออาชญากรรม มาเป็นผู้ที่สังคมควรดูแล และผู้ใหญ่ควรมองปัญหาของวัยรุ่น ในเชิงสร้างสรรค์ และจัดพื้นที่ให้วัยรุ่น สามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่
 
(ฐานเศรษฐกิจ, 25-3-2555)

 
อีก 3 วัน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการหลอกหลวงแรงงานไทยในอิสราเอลจะกลับมารายงานผลได้

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแรงงานไทยในอิสราเอล ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังสอบสวนกลุ่มแรงงานไทยในอิสราเอลอยู่ แต่ตนเองยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมาจะเป็นการรับรายงานผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งข้อมูลอาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เท่ากับรายงานแบบลายลักษณ์อักษร โดยคิดว่าทีมเจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจสอบแรงงานไทยในอิสราเอลน่าจะกลับมาจาก อิสราเอล เพื่อรายงานผลภายใน 2-3 วันนี้ สำหรับความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขกฎกระทรวงและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัด ส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2537 นั้น กกจ.มีจัดการประชุมเรื่องดังกล่าวไป 1 ครั้งแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นที่ประชุมได้มอบหมายให้กองนิติการ กกจ. ไปสรุปรายละเอียดและดูแลเรื่องระเบียบต่างๆ ที่จะต้องแก้ไข เกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางของแต่ละประเทศ โดยขณะนี้ กกจ.กำลังอยู่ในขั้นตอนการสรุปรายละเอียดเพื่อนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 26-3-2555)

 
เผยผู้ว่างงาน –นักศึกษาจบใหม่รอเข้าสู่ตลาดแรงงานกว่า 9.5 แสนคน

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ว่างงานประมาณ 1.7 แสนคน และผู้ว่างงานตามฤดูกาลกว่า 1.7 แสนคน ยังมีผู้มาขึ้นทะเบียนรับสิทธิประโยชน์กรณว่างงานจากประกันสังคมกว่า 5.2 หมื่นคน รวมทั้งยังมีนักศึกษาที่จบใหม่กว่า 5.6 แสนคน กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมแล้วมีผู้รอเข้าสู่ตลาดแรงงานกว่า 9.5 แสนคน กกจ. จึงจัดมหกรรมนัดพบแรงงานเชิงคุณภาพ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที)เข้ามาใช้ในการเปิดรับสมัครลงทะเบียนรับสมัคร งาน ซึ่งจะช่วยให้การบรรจุงานได้รวดเร็วและมากขึ้น ผ่าน www.doe.go.th ระหว่างเดือนมีนาคม - กันยายน จำนวน 60 ครั้ง ใน 60 จังหวัดทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายจะบรรจุงานให้คนหางานไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นคนจากที่คาดว่า จะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทะเบียนรับสมัครงานประมาณ 1 แสนอัตรา

สำหรับกำหนดจัดงานมหกรรมนัดพบแรงงาน ในวันที่ 26-27 เมษายน ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีอาเซียน จ.หนองคาย วันที่ 4-5 พฤษภาคม ที่ห้างซีคอนสแควร์ กรุงเทพฯ วันที่ 9-10 พฤษภาคม ที่ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต จ.ปทุมธานี วันที่ 11-12 พฤษภาคม ที่โรงแรมโลตัส จ.เชียงใหม่ วันที่ 17-18 พฤษภาคม ที่ศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค จ.พระนครศรีอยุธยา วันที่ 18-19 พฤษภาคม ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 23-24 พฤษภาคม ที่ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลพลาซ่า จ.ขอนแก่น และโรงภาพยนตร์เอสพลานาด วันที่ 25-26 พฤษภาคม ที่วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี จ.ราชบุรี วันที่ 28-29 พฤษภาคม ที่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 26-3-2555)

 
แรงงานพานาโซนิคประท้วงขอขึ้นค่าแรง

วันนี้ ( 26 มี.ค) เวลา 17.30 น. พนักงานบริษัท พานาโซนิค เมนูแฟคเตอร์รี่ (อยุธยา) จำกัด กว่า 300 คน รวมตัวชุมนุมกันที่หน้าบริษัท เลขที่ 1/69 หมู่ 5 ภายในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อประท้วงเรียกร้องบริษัทที่ไม่ยอมปรับค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด

นายสุชาติ รื่นเมธี อายุ 38 ปี ประธานสหภาพบริษัทพานาโซนิค เมนูแฟคเตอร์รี่ (อยุธยา) จำกัด  กล่าวว่า เข้าใจดีว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 เม.ย.55 โดยมี 7 จังหวัดนำร่อง และ จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่ได้อยู่ในจังหวัดนำร่อง  ดังนั้น จึงรวมตัวกันเพื่อแสดงพลัง หลังจากยื่นข้อเสนอไปทางบริษัทแล้ว แต่ไม่ได้รับผลตอบรับจากผู้บริหาร เพื่อขอให้นายจ้างขึ้นเงินค่าจ้างทุกคนไม่ต่ำกว่า 40%  แบบเท่าเทียมกันทั้งหมดให้แรงงานทุกระดับ ทุกคน ไม่ว่าจะมีสัญญาการจ้างเท่าใด หรือไม่ว่าจะทำงานมากี่ปี จะต้องขึ้นเหมือนกันหมด และจะมารวมตัวกันทุกวันหลังเลิกงาน 17.00 น. ถือว่าเป็นการประท้วงนอกเวลางาน เพื่อเป็นการกดดันนายจ้าง เนื่องจากเห็ฯว่ายอดสั่งสินค้าเขามามาก จึงประท้วงไม่มีการผลิตนอกเวลา ถือเป็นการกดดันนายจ้าง เพราะข้อเรียกร้องไม่เกินไปกว่าที่กฎหมายกำหมดใหม่เช่นกันและจะเลิกในเวลา 20.00-21.00 น.ก่อนแยกย้ายกลับบ้าน และในช่วงเช้าจะเข้ามาทำงานตามปกติ ส่วนช่วงเย็นวันที่ 27 มี.ค. และวันต่อๆไปจะมารวมตัวประท้วงเรียกร้องแบบนี้ทุกวัน จนว่าจะได้ตามที่ร้องขอ


(เดลินิวส์, 26-3-2555)
 
HR ชี้เสี่ยงแรงงานระดับล่างตกงาน เหตุนโยบายดีเดย์ 1 เม.ย. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

รศ.ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข หัวหน้าหลักสูตรบริหารทรัพยากรบุคคล (HRM) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของไทย กล่าวถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ที่คาดว่าจะมีผลต่อการบริหารทรัพยากรบุคคลในระบบเศรษฐกิจของไทยว่า ในระบบเศรษฐกิจมีโครงสร้างทรัพยากรมนุษย์ประกอบด้วย แรงงานที่มีทักษะระดับสูง ระดับกลาง และระดับต่ำ ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น นักลงทุนต้องการแรงงานระดับล่างราคาถูก ถ้าวิเคราะห์แรงงานไทย พบว่า แรงงานระดับล่างที่ไม่มีฝีมือของไทยนั้น มีค่าจ้างที่แพงกว่าแรงงานระดับล่างในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะปัจจัยค่าแรงจะเป็นตัวสนับสนุนให้นักธุรกิจอาจย้ายฐานการผลิตไปยัง ประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า รวมทั้งอาจลดคนงานแล้วเพิ่มปริมาณงานให้คนงานที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ผู้บริหารต้องคำนึงถึงการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ให้กับแรงงานใน กลุ่มนี้ และสรรหาแรงงานที่มีศักยภาพมาพัฒนาองค์กร

รศ.ดร.ศิริยุพา กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์และนโยบายในระยะยาว โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ควรพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจ และควรพัฒนาแรงงานระดับล่างให้มีทักษะ มีคุณค่า และสร้างความแตกต่างในเรื่องผลงาน จะเห็นได้จากประเทศเกาหลีใต้ที่มีนโยบายชัดเจนทางเศรษฐกิจในการเป็นเจ้าทาง เทคโนโลยีและการสื่อสาร ก็พัฒนาฝึกอบรมแรงงานทุกระดับให้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าว ในอนาคตเราจะเห็นภาคธุรกิจของไทยออกมาเปิดโรงเรียนหรือวิทยาลัยของตัวเอง เพื่อพัฒนาบุคคลากรมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถรอให้รัฐบาลมาพัฒนาในเรื่องนี้ได้ทันการ ดังนั้นการจัดการศึกษาและอบรมเพื่อพัฒนาแรงงานจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ สุด เพื่ออบรมคนให้ทันต่อการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้แรงงานเองก็ต้องมีความตื่นตัวในการพัฒนาตนเอง

“ปัจจุบันรัฐบาลเจอปัญหาเฉพาะหน้ามาก จนอาจลืมมองในระยะยาวว่า ในอนาคตจุดขายของไทยคืออะไร เราต้องสร้างจุดเด่นของระบบเศรษฐกิจไทย การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรเป็นนโยบายประชานิยมเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลควรคำนึงถึงค่าครองชีพ อุปสงค์และอุปทานในตลาดว่า นายจ้างสามารถแบกรับต้นทุนของค่าแรงตามอัตราเหล่านี้ได้หรือไม่ สำหรับในภาพรวมของประเทศรัฐบาลต้องวิเคราะห์ให้ได้ด้วยว่า หากขึ้นค่าแรงแล้ว จะมีผลกระทบหรือไม่ ค่าแรงเป็นจริงหรือไม่สำหรับผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะปัญหาในขณะนี้คือค่าแรงงานขั้นต่ำของแรงงานไทยมีราคาแพงและไม่มี ศักยภาพที่เหมาะสมกับค่าจ้างงาน เราจึงอาจเสียเปรียบจากการที่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมีราคาถูกกว่า ดังนั้นจึงเสี่ยงกับการที่แรงงานระดับล่างของเราอาจตกงานในระยะยาว” รศ.ดร.ศิริยุพา กล่าว

(ThaiPR.net, 27-3-2555)

 
แรงงานสั่งดำเนินคดี 3 บริษัทอุดรธานี

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า  ได้สั่งการให้ฝ่ายกฏหมาย ดำเนินคดีกับบริษัทจัดหางานที่ จ.อุดรธานี 3 แห่ง คือ บริษัทจัดหางาน ฟาเอส เซอร์วิส จำกัด บริษัทจัดหางาน สุดใจ จำกัด และ บริษัทจัดหางาน ดาร์กอน อุดร จำกัด ในข้อหาหลอกลวงแรงงานไปทำงานประเทศอิสราเอล  เก็บเงินจากแรงงานไม่ออกใบเสร็จ และเก็บเงินค่าบริการเกินกว่ากฎหมายกำหนด
 
นายเผดิมชัย  กล่าวอีกว่า การจัดส่งแรงงานไปอิสราเอล เฉพาะแรงงานด้านการเกษตร จะเป็นการส่งแบบรัฐต่อรัฐ จะมีองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ ไอโอเอ็ม เข้ามาดำเนินการคัดเลือกแรงงาน น่าจะเริ่มได้ในเดือนเม.ย.นี้ แรงงานจะเสียค่าใช้จ่ายรวมไม่เกิน 80,000 บาท เป็นค่าเครื่องบิน 39,000 บาท ค่าใช้จ่ายที่อิสราเอล 30,000 บาท และค่าใช้จ่ายต่างๆในประเทศไทยอีกราว 10,000 บาท และกำลังพิจารณานำเงินประกันสังคม มาให้กู้ดอกเบี้ยต่ำรายละไม่เกิน 100,000 บาท
 
ด้านนายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขณะนี้อิสราเอลมีความต้องการแรงงาน ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้สายและนายหน้า ใช้เป็นช่องทางหลองลวงแรงงาน จากสถิติไปอิสราเอลย้อนหลัง 3 ปี ปี 52 จำนวน 6,338 คน ปี 53 จำนวน 8,136 คน และปี 54 จำนวน 9,333 ขณะนี้มีแรงงานอยู่ราว 25,000 คน  โดยอุดรธานีไปมากที่สุด

(โพสต์ทูเดย์, 27-3-2555)

 
แรงงานพร้อมส่งคนงาน 6 พันทำงานอิสราเอล

นางสาวส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่านายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญการดำเนินงานตามนโยบายลดค่าใช้จ่ายและการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงเกินจริง เมื่อไปทำงานแล้วจะได้ค่าตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วยคุ้มค่ากับที่ลงทุนไป และเห็นว่ากระบวนการเอารัดเอาเปรียบเก็บค่าหัวแพงต้องยุติให้ได้  โดยเฉพาะในกรณีของประเทศอิสราเอล ที่ได้มีการลงนามความร่วมมือ

ในระบบ "รัฐต่อรัฐ" ไปเมื่อปลายปี 2553 การทำข้อตกลงเหล่านี้ก็เพื่อให้แรงงานภาคเกษตรจากประเทศไทยได้รับการคุ้ม ครองดูแลที่เป็นธรรม  โดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่ายที่เป็นธรรม

โดยรัฐบาลอิสราเอลมอบให้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เป็นผู้เข้ามาดำเนินการในการจัดส่งแรงงานไทยไปยังอิสราเอล  โดยล่าสุดหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้หารือกับ นายอิตซ์ฮัก โชฮัม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จึงทำให้มีความเข้าใจที่ตรงกันโดยเฉพาะประเด็นค่าใช้จ่ายของผู้ที่จะเดินทาง ไปทำงาน ที่จะอยู่ ราว 7 หมื่นบาทต่อราย โดยกระทรวงแรงงานมีความพร้อมเต็มที่ที่จะจัดส่งแรงงานไทยกลุ่มแรก ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 200 กว่ารายไปทำงานภาคเกษตรที่อิสราเอลทันทีที่ทางอิสราเอลแจ้งยอดโคว้ต้าของนาย จ้างมาและคัดกรองคุณสมบัติได้ตรงกับความต้องการของฝ่ายนายจ้าง ขณะนี้ฐานผู้สมัครในระบบมีจำนวน 6,596 คนซึ่งมีการจัดเรียงลำดับด้วยการสุ่มจัดลำดับไว้แล้ว

"จึงขอความร่วมมือจากแรงงานไทยที่มีชื่อในฐานข้อมูลในระบบให้ได้มีความ พร้อมที่จะได้รับการติดต่อ โดยเฉพาะหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้ให้ไว้ ขอให้เปิดเครื่องไว้ตลอด เพราะถ้าหาก IOM ติดต่อไม่ได้ ภายใน 2 วัน ก็จะติดต่อลำดับต่อไปแทน ซึ่งจะทำให้เสียโอกาส" นางสาวส่งศรีกล่าว

สำหรับสถิติการส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศอิสราเอล นั้น ในปี 2552 จัดส่งไป 6,338 คน ปี 2553 จำนวน 8,136 และ ปี 2554 จำนวน 9,333 คน โดยขณะนี้มีแรงงานไทยทำงานอยู่ในอิสราเอล จำนวน ราว 25,000 คน โดยในปีงบประมาณ 2554 แรงงานไทยในอิสราเอลส่งเงินกลับประเทศ ราว 7 พันล้านบาท

(กรุงเทพธุรกิจ, 27-3-2555)

 
สหภาพแรงงานฯลำพูนเดินหน้าพบ กมธ.แรงงาน 28 มี.ค.

27 มี.ค. 55 - เนชั่นทันข่าวรายงานว่าตัวแทนสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า สัมพันธ์ พร้อมกรรมการสหภาพฯ จำนวน 10 คน ได้เดินทางมาพบนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ที่ศาลากลาง จ.ลำพูน เพื่อขอยื่นหนังสือขอให้ทางผู้ว่าฯ ช่วยเจรจากับผู้บริหาร บริษัทโฮยากลาสดิคส์(ประเทศไทย)จำกัด ช่วยรับพนักงานที่ยังไม่ได้เข้าทำงานประมาณ 120 คน ให้กลับเข้าทำงานที่บริษัทเหมือนเดิม เนื่องจากพนักงานที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าวกำลังได้รับความเดือดร้อนเรื่องไม่ มีรายได้ ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าเช่าที่พักรายเดือน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในครอบครัวของตน
 
หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้รับหนังสือจากนายอัครเดชเรียบ ร้อยแล้ว ได้รับปากว่าจะช่วยเจรจากับทางบริษัทโฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย)จำกัด ช่วยให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิม หากมีความคืบหน้าเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบต่อไป
 
นายอัครเดช กล่าวว่า ได้รับแจ้งว่านายนิทัศน์ ศรีนนท์ ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือเชิญประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ไปร่วมประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการแรงงาน ในวันที่ 28 มีนาคม 2555 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 3701 ชั้น 7 อาคารัฐสภา 3 ตามหนังสือร้องเรียน ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2554 เลขรับที่ 10/2555 ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการแรงงานให้ช่วยเหลือกรณีบริษัท โฮยากลาสดิคส์(ประเทศไทย)จำกัด เลขที่ 75/2 หมู่ที่ 4 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน เลิกจ้างพนักงานประมาณ 2,000 คน โดยไม่เป็นธรรม
 
โดยคณะกรรมาธิการแรงงานได้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของสหภาพแรงงานฯ และเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรอบคอบ ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ จึงได้เรียนเชิญเข้าร่วมประชุมดังกล่าว และในวันที่ 27 มีนาคม 2555 เวลาประมาณ 18.00 น. นายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานฯ พร้อมพวกจำนวน 3 คน จะได้เดินทางไปร่วมประชุมโดยรถยนต์บัส(บขส.) หากประชุมกับคณะกรรมาธิการแรงงานเรียบร้อยแล้ว ก็จะเดินทางกลับทันที

(เนชั่นทันข่าว, 27-3-2555)

 
เร่งสอบข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงแรงงานไทยไปอิสราเอล

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการคลายทุกข์ สร้างสุข ซึ่งเป็นโครงการดูแลแรงงานไทยไปทำงานประเทศอิสราเอลไม่ให้ถูกหลอก โดยมีแรงงานไทยเข้าร่วม 1 พันคน ว่า ความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริง การเรียกเก็บค่าหัวคิวแรงงานไทยไปทำงานอิสราเอล ขณะนี้ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นพบว่ามี 3 บริษัท ใน จ.อุดรธานี มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บค่าหัวคิว จึงได้สั่งให้ตรวจสอบเพิ่มเติม หากพบหลักฐานชัดเจน ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด และต่อไปนี้ แรงงานไทยที่ไปทำงานอิสราเอล จะเสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 8 หมื่นบาท แยกเป็นค่าตั๋วเครื่องบิน 3.9 หมื่นบาท และค่าใช้จ่ายอื่นประมาณ 3 หมื่นบาท

นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ไม่อยากให้ปัญหาหลอกลวงแรงงานเกิดขึ้นอีก เพราะทุกคนที่ไปทำงานต่างประเทศไปด้วยความจำเป็น แต่ยังมีพวกที่อาศัยช่องว่างของกฎหมายหาผลประโยชน์ จึงได้เก็บข้อมูลและหาหลักฐาน เพื่อเอาผิดคนกลุ่มนี้และขณะนี้มีหลักฐานที่จะเอาผิดได้

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

 
ILO อัดค่าจ้าง 300 ชี้คนไทยไม่ได้ประโยชน์

นายจอห์น ริตโชต์ ผู้เชี่ยวชาญประจำองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) กล่าววิจารณ์นโยบายการขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวันของรัฐบาลไทย ที่จะเริ่มบังคับใช้ในพื้นที่ 7 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 |เม.ย.นี้ ผ่านทางสำนักข่าวดีพีเอของเยอรมนี โดยระบุว่า นโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิดพลาดและจะไม่นำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ของ ประชาชนและผู้ใช้แรงงานในประเทศให้ดีขึ้นแต่อย่างใด

นายริตโชต์ วิจารณ์ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเพียงการมุ่งหาคะแนนนิยมทางการเมืองเท่านั้น มิใช่เพื่อมุ่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง

“การขึ้นค่าจ้างที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ล่าช้าเกินไป เนื่องจากหากลองเปรียบเทียบระหว่างอัตราค่าเฉลี่ยของรายได้ที่แรงงานภายใน ประเทศได้รับมาในตลอดช่วง 10ปีที่ผ่านมากับอัตราเงินเฟ้อ จะพบว่ารายได้ของแรงงานมีน้อยลง ดังนั้นจึงแน่นอนว่ารัฐบาลยังไงก็ต้องปรับค่าจ้างให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดรับกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอยู่แล้ว” นายริตโชต์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากไอแอลโอให้ข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลไทยควรที่ปล่อยให้องค์กรตัวแทนภาคแรงงานกับกลุ่ม|นายจ้างเปิดการเจรจา ในเรื่องการปรับค่าจ้างกันโดยตรงมากกว่า ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถหาทางออกที่ดีร่วมกันได้

(โพสต์ทูเดย์, 28-3-2555)

 
พักใบอนุญาตบริษัทจัดหางานในจังหวัดอุดรธานี 120 วัน

น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2552 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมิถุนายน 2553 บริษัทจัดหางานสุดใจ จำกัด เลขที่ 24/7 หมู่ที่ 2 ถ.วัฒนานุวงศ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี ใบอนุญาตเลขที่ ต.3/69/2533 ได้รับสมัครและเรียกรับค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากคนหางานรวม 19 คน คนละ 10,000 – 35,000 บาท เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 570,000 บาท เพื่อจัดส่งไปทำงานที่ประเทศฟิจิ แล้วไม่ได้จัดส่งไปทำงานโดยไม่มีเหตุผลอันควร นายทะเบียนจัดหางานกลางจึงมีคำสั่งพักใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำ งานในต่างประเทศบริษัทจัดหางานสุดใจ จำกัด เป็นเวลา 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 28-3-2555)

 
จำคุก 4 ปี หลอกขายแรงงานไปเกาหลีใต้

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก นางขวัญลักษณ์ พันธ์นาสมใจ อายุ 44 ปี ชาว จ.ขอนแก่น จำเลยในความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถจัดหางานในต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 เป็นเวลา 4 ปี
 
คดีนี้พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 กันยายน-12 มกราคม 2546 ต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกที่ยังหลบหนี ได้บังอาจร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหญิง-ชาย รวม 6 ราย ว่า สามารถพาผู้เสียหายไปทำงานในโรงงานที่ประเทศเกาหลีใต้ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท แต่จะต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ คนละ 100,000-160,000 บาททำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อจ่ายเงินให้จำเลยไปรวม 870,000 บาททั้งที่ความจริงแล้วจำเลยไม่มีใบอนุญาตจัดหาคนงานให้ไปทำงานที่ประเทศ เกาหลีใต้ได้ ผู้เสียหายจึงเข้าร้องทุกข์ต่อกรมการจัดหางาน กระทวงแรงงาน กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางเขนติดตามจับกุมจำเลยดำเนินคดีได้และให้การปฏิเสธ
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีผู้เสียหายทั้งหกเป็นประจักษ์พยาน เบิกความเป็นลำดับขั้นตอนสอดคล้องกัน สมเหตุผล ปราศจากข้อพิรุธทั้งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุ ระแวงสงสัย เชื่อว่าจำเลยกระทำผิดจริง พิพากษาลงโทษดังกล่าว และให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 870,000 บาท คืนแก่ผู้เสียหายด้วย

(มติชนออนไลน์, 29-3-2555)

 
ดีเดย์ 1 เม.ย.ค่าจ้าง 300 บาท ก.แรงงาน ตั้งศูนย์รับแก้ปัญหา

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงรายงานการเตรียมความพร้อม รองรับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2555 ที่ปรับเพิ่มอีกร้อยละ 40 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ว่า ในเรื่องนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว โดยการปรับค่าจ้างในครั้งนี้ต้องไม่มีการนำสวัสดิการ ค่าทำงานล่วงเวลา หรือ OT ไปรวมเพื่อให้ครบตามค่าจ้างอัตราใหม่ที่ปรับขึ้น โดยหลังจากนี้ต้องขอความร่วมมือข้าราชการที่เกี่ยวข้องทุกคนในการทำงานที่ หนักขึ้น เพื่อรับฟังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในการปรับค่าจ้าง รวมทั้งเตรียมมาตราการรองรับ ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้จัดสร้างห้องเฉพาะกิจขึ้น บริเวณใต้ตึกแรงงานเพื่อรับฟังปัญหาและเป็นแหล่งข้อมูลปรับค่าจ้าง 300 บาทด้วย
      
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดเผยของนักธุรกิจภาคการโรงแรม ที่เปิดเผยว่า จะมีการปลดคนงานหลังจากการปรับค่าจ้างนั้น เรื่องนี้ต้องมีการเฝ้าระวัง แต่หากสถานประกอบการใดแบกรับภระไม่ได้ อาจมีการปลดคนงานจริง ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องมีการติดตามสถานการอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดหางานใหม่รองรับ หรือพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้ตรงกับงาน

(มติชนออนไลน์, 29-3-2555)

 
แฉนายจ้างอิสราเอลบังคับแรงงานไทยเซ็นมอบเงินภาษี ขู่ไม่เซ็นไม่ได้กลับไทย

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เปิดเผยว่า จากการได้พบปะกับแรงงานไทยและครอบครัวแรงงานไทย ที่ทำงานประเทศอิสราเอล ที่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาการเรียกเก็บค่าหัวคิวแรงงาน รวมถึงปัญหาอื่นๆ นำมาหาแนวทางแก้ไข ทั้งนี้ ตนได้ชี้แจงไปว่า ต่อไปนี้การไปทำงานอิสราเอลเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่เกิน 8 หมื่นบาท - 1 แสนบาท และจัดส่งโดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐเพราะไม่อยากให้เปิดช่องว่างให้คนไม่ดีมาฉวย โอกาสเรียกเก็บค่าหัวคิว ต่อไปนี้กระทรวงแรงงานจะจัดส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลเอง ไม่ใช่ของปลอมแน่นอน
      
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ครอบครัวของแรงงานร้องเรียนว่า ถูกนายจ้างอิสราเอลบังคับเซ็นยินยอมไม่ขอรับเงินภาษีรายได้ที่นายจ้างหักไว้ 10% ของเงินเดือนคืน เมื่อหมดระยะเวลาจ้างงานตามสัญญาจ้าง ซึ่งตนมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะเป็นสิทธิที่แรงงานไทยควรได้รับเงินคืนและเงินที่แรงงานไทยแต่ละคนสูญ เสียไปให้แก่นายจ้างถือเป็นเงินก้อนโต
      
“หากคิดจากเงินเดือนของแรงงานไทย ยกตัวอย่างได้เงินเดือน 3.6 หมื่นบาทต่อเดือน ถูกหักไว้เดือนละ 10% ก็เป็นเงินเดือนละ 3,600 บาท ช่วงเวลาทำงานตามสัญญาจ้าง 2-5 ปีก็ถือเป็นเงินก้อนโต ถ้าแรงงานไทยมีปัญหาในลักษณะเช่นนี้จำนวนมาก ก็เท่ากับว่าเงินของแรงงานไทยที่จะต้องสูญเสียไปให้แก่นายจ้างชาวอิสราเอล เป็นจำนวนมหาศาล เนื่องจากทำงานนาน 2-5 ปี จึงได้สั่งการให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ไปตรวจสอบและหาทางแก้ไขปัญหานี้โดยเจรจากับทางรัฐบาลอิสราเอล” รมว.แรงงาน กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-3-2555)

 
โรงแรมจ่อปิดกิจการ-เลย์ออฟ ระบุเป็นครั้งแรก ขึ้นฐานเงินเดือน 40% สูงสุดในประวัติการณ์

จากการประกาศใช้กฎกระทรวง กำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ วันละ 300 บาท มีผล 1 เม.ย.55 ใน 7 จังหวัด กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ภูเก็ต นครปฐม และ ปทุมธานี

นายชนินทธ์ โทณวณิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล เจ้าของและผู้บริหารโรงแรมในกลุ่มดุสิตธานี กล่าวว่า จะเห็นผลกระทบชัดเจนในกลุ่มโรงแรมหัวเมืองในภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งมีฐานค่าแรงค่อยข้างต่ำ เพราะ เป็นพื้นที่ที่ราคาห้องพักโรงแรม เฉลี่ยแล้วต่ำกว่าภาคอื่นหรืออยู่ราว 800-1,000 บาทต่อคืน ในส่วนของดุสิตธานี ที่จะกระทบ ก็มีโรงแรมที่นครราชสีมา และ อีกหลายพื้นที่ ส่วน จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาจได้รับผลกระทบน้อย เช่น กรุงเทพฯ และ ภูเก็ต

สำหรับโรงแรมดุสิต คงเลือกใช้วิธีปรับฐานเงินเดือนให้เท่ากับที่รัฐกำหนด จะไม่นำค่าเซอร์วิสชาร์จมารวม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 12 เดือนหลังปรับขึ้นค่าแรงงาน จะได้เห็นวงการอุตสาหกรรมโรงแรม คือ การปรับลดพนักงาน โรงแรมที่มีผลประกอบการต่ำกำไรน้อยหรือพอดีทุน อาจตัดสินใจปิดกิจการหรือขายธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการโรงแรมในกลุ่มนี้จำนวนมากราว 3-4 พันแห่งทั่วประเทศ ส่วนภาพรวมแรงงานในอุตสาหกรรมโรงแรมทั้งประเทศจะมีไม่น้อยกว่า 5 แสนคน

“ขณะนี้ ต้นทุนดำเนินงานของผู้ประกอบการโรงแรม ปรับขึ้นต่อเนื่อง เช่น ค่าFTไฟฟ้า ที่ขึ้นตามราคาน้ำมัน การปรับขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบอาหาร ราว 10% และ ยังมาเจอการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกเกือบ 40% สูงสุดในรอบ 30 ปี ที่ผมทำงานมา ขณะที่อุตสาหกรรมโรงแรมแข่งขันสูง โรงแรมเกิดใหม่มีมาก “

ล่าสุด กลุ่มโรงแรมดุสิต ได้ปรับสู่การเป็นองค์กรรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำโปรแกรม การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว EarthCheck ประเดิมในโรงแรมดุสิตธานีกรุ๊ป 10 แห่ง แบ่งเป็น ในประเทศ 8 แห่ง ต่างประเทศ 2 แห่ง ดูไบ และ มะนิลา ช่วยเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดนักท่องเที่ยวที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-3-2555)

 
สหภาพแรงงานลากูน่าบีชฯยื่นหนังสือขอ จ.ภูเก็ตช่วย

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 28 มีนาคม 2555 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ภายหลังจากประชุมคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 1/2555 นายวิเชียร ตนุมาตร ประธานสหภาพแรงงานลากูน่า บีช รีสอร์ท ภูเก็ต ได้ยื่นหนังสือถึงนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผ่านทาง น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีบริษัท ลากูน่า บีช คลับ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงแรมลากูน่า บีช รีสอร์ท ภูเก็ต ได้แจ้งว่าจะมีการปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน เพื่อส่งมอบกิจการให้กับผู้ลงทุนรายใหม่ซึ่งจะมีการปิดเพื่อปรับปรุงโรงแรม ชั่วคราว ด้วยเกรงว่าจะไม่ได้รับความธรรมในเรื่องของการทำงานและค่าตอบแทน

ทั้งนี้หลังจากรับหนังสือดังกล่าว น.ส.สมหมาย กล่าวว่า คงต้องขอไปดูในรายละเอียดว่าเป็นเช่นไร และจะได้มอบหมายให้ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปตรวจสอบข้อ เท็จจริงดังกล่าว เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการดูแลและแก้ไขต่อไป

ด้านนายวิเชียร ตนุมาตร ประธานสหภาพแรงงานลากูน่า บีช รีสอร์ท ภูเก็ต กล่าวถึงเหตุที่ยื่นหนังสือร้องเรียน ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ทางโรงแรมได้มีประกาศจะเลิกจ้างพนักงานรวม 350 คน โดยได้แจ้งว่าจะทำการปิดกิจการ และจะต้องส่งมอบกิจการโรงแรมลากูน่าฯ ให้แก่ผู้ลงทุนใหม่ โดยการบริการของบริษัทฯแก่ลูกค้าจะสิ้นสุดในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 นี้ เหลือเฉพาะงานดูแลซ่อมบำรุงทรัพย์สิน และการสะสางงานให้เสร็จ เมื่อบริษัทฯ ปิดลงแล้ว ผู้ลงทุนใหม่ก็จะเข้ามาทำการปรับปรุง และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณไตรมาสแรกของปี 2556 ทางบริษัทฯ ได้ประสานกับผู้ลงทุนใหม่ให้พิจารณาใบสมัครของพนักงานเดิมที่ยื่นต่อบริษัท ใหม่เป็นลำดับแรก ทางบริษัทฯ ยังแจ้งด้วยว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างอย่างถูกต้อง ตามกฎหมาย รวมถึงค่าจ้างและเงินใดๆ ที่พนักงานมีสิทธิได้รับตามระเบียบของบริษัทฯ นอกจากนี้ในระหว่างรอการปิดตัวก็จะมีการพิจารณาเพื่อให้โบนัสพิเศษจากผลการ ทำงานให้กับพนักงานเป็นระยะเวลา 1 เดือนด้วย

ด้วยสหภาพฯ เห็นว่า การเลิกจ้างดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับพนักงานส่วนใหญ่ซึ่งทำงานมากับทางโรงแรม กว่า 20 ปี และนายจ้างไม่มีการหาทางออกในการบริหารจัดการกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะองค์กรที่ ดูแลลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานฯ เป็นการตัดสินใจและใช้อำนาจในการบริหารฝ่ายเดียว เพราะตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 13 ระบุว่า กรณีที่กิจการใดมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างเนื่องจากการโอน รับมรดกหรือด้วยประการอื่นใด นายจ้างเป็นนิติบุคคลและมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใดๆ สิทธิต่างๆ ที่ลูกจ้างมีต่อนายจ้างเดิมเช่นใด ให้ลูกจ้างมีสิทธิเช่นนั้นต่อไป และในส่วนของสหภาพแรงงานฯ เองก็มีข้อตกลงการจ้างร่วมกับบริษัทลากูน่า บีช คลับ จำกัด เมื่อปี 2553 ข้อเรียกร้องที่ 21 กรณีบริษัทมีการถ่ายโอนหรือขายกิจการให้แก่นายจ้างใหม่และจะต้องระบุในสัญญา ให้นายจ้างใหม่รับสวัสดิการพนักงานทุกอย่างต่อเนื่องทันที ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541มาตรา 13 นอกจากนี้ยังไม่ให้ความสำคัญที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ด้วย

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมถูกต้องแก่ทุกฝ่ายตามระบบทั้งหลักนิติ รัฐและรัฐศาสตร์ในการบริหารจัดการทางสหภาพฯ จึงขอให้ทางจังหวัดเข้าไปช่วยดูแลเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมต่อเหตุการณ ที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นเกรงว่าหลังจากวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ไปแล้วจะมีลูกจ้างในกลุ่มนี้ตกงานอย่างแน่นอน

(เนชั่น, 28-3-2555)

 
ชงร่าง พรฎ.ตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

(28 มี.ค.55) นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูป กฎหมาย(คปก.)เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ....เสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อประกอบการพิจารณาการให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริม ความปลอดภัย ฯ

จาก การศึกษา วิเคราะห์ และรับฟังความคิดเห็นร่วมกันกับผู้แทนฝ่ายต่างๆ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... โดยเห็นด้วยให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯภายใต้การกำกับดูแลของ รัฐมนตรี ตามมาตรา 52 ของพระราชบัญญัติความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยให้เป็นองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เพราะองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัตินี้ต้องการให้เป็นหน่วยงานอิสระที่จัดทำ บริการสาธารณะ ไม่แสวงหากำไร และอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรี จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน
ขณะ ที่กระบวนการได้มาของคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เห็นควรให้กำหนดจำนวน ที่มา และคุณสมบัติ โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ประธานกรรมการบริหาร ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เนื่องจากภารกิจของคณะกรรมการบริหาร ไม่ใช่คณะกรรมการกำหนดนโยบาย หรือวางแนวทางของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เท่านั้น แต่เป็นคณะกรรมการที่ต้องทำหน้าที่บริหารเพื่อให้สถาบันส่งเสริมความ ปลอดภัยฯ บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งข้าราชการประจำโดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ยังมีข้อจำกัดด้านเวลาในการทำงานในฐานะประธานกรรมการบริหาร อีกทั้งหากประธานกรรมการบริหารเป็นข้าราชการจะทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของการจัดสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่ต้องการให้เป็นอิสระในการดำเนินงาน
สำหรับ กรรมการโดยตำแหน่ง ในร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกระทรวงแรงงานเสนอให้มีจำนวน 3 คน สมควรลดจำนวนเหลือ 2 คน ได้แก่ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวมีภารกิจหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่เชื่อม โยงกับวัตถุประสงค์ ภารกิจ อำนาจหน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
ส่วน กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละสองคน คปก.เห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างสมควรเป็นการเลือก ตั้งแบบสัดส่วนของจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการ และลูกจ้างที่อยู่นอกสถานประกอบการ เช่น ลูกจ้างจำนวนไม่เกิน 50 คน เลือก 1 คนมาเป็นผู้แทนไปเลือก โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการให้ใช้ฐานข้อมูลเบื้อง ต้นจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมโดยใช้สถานประกอบการเป็นหน่วยเลือกตั้ง สำหรับลูกจ้างที่อยู่นอกสถานประกอบการ ให้ลูกจ้างมาขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ คปก.เห็นว่า ควรเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากจำนวน 2 คนเป็น 3 คน
ใน แง่อำนาจหน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ คปก.เห็นว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันส่งเสริม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ในมาตรา 8 โดยกำหนดให้เป็น มาตรา 8 (7/1) การรับเรื่องร้องเรียนเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหา และศึกษาวิเคราะห์เพื่อเสนอมาตรการส่งเสริมการป้องกันความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
หาก พิจารณาในบทเฉพาะกาล คปก.เห็นว่า ควรกำหนดให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำหน้าที่ดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริหารปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการบริหาร สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ซึ่งถือเป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ โดยไม่มีเหตุจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริม ความปลอดภัยฯ แต่อย่างใด
อย่าง ไรก็ตาม ในระยะต่อไปควรจะพัฒนาพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เป็นพระราชบัญญัติแทนพระราชกฤษฎีกา เพื่อจัดตั้งสถาบันที่มีความเป็นอิสระ และมีทรัพยากรมากพอ ให้สามารถดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหา จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประกันสิทธิของบุคคลที่จะได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพการ ทำงาน รวมถึงหลักประกันในการดำรงชีพ ทั้งในระหว่างทำงานและพ้นภาวะการทำงาน
 บันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของ คปก.ต่อร่างดังกล่าว
(ประชาไท, 29-3-2555)
ลูกจ้างลาออกมากกว่าถูกเลิกจ้าง ตำแหน่งงานว่าง 138,450 อัตรา

นางสาวส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผย ว่า เดือนกุมภาพันธ์(2555)ที่ผ่านมา

มีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 59,269 คน เทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา(2554) มีจำนวนเพิ่มขึ้น 19,225 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.01 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 7,251 คน หรือร้อยละ 13.94 สาเหตุส่วนใหญ่เป็นการลาออกจากงานมากกว่าถูกเลิกจ้าง เนื่องจากต้องการเปลี่ยนงานใหม่ ต้องการดูแลคนในครอบครัว ค่าจ้าง รายได้ลดลง เนื่องจากนายจ้างลดชั่วโมงการทำงาน และมีปัญหาสุขภาพ ขณะที่ความต้องการแรงงานในเดือนมีนาคม มีสถานประกอบการแจ้งตำแหน่งงานว่างมายังกระทรวงแรงงาน 138,450 อัตรา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เพิ่มขึ้น 38,356 อัตรา หรือ ร้อยละ 18.11 ในทุกกลุ่มอาชีพ แรงงานด้านการประกอบและบรรจุภัณฑ์ มีความต้องการมากสุด 54,137 อัตรา รองลงมาพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด 23,115 อัตรา และเสมียน เจ้าหน้าที่ 18,598 อัตรา

เดือนกุมภาพันธ์(2555)ที่ผ่านมา มีผู้มาสมัครงานกับกระทรวงแรงงาน ทั้งที่สำนักงาน การจัดงานนัดพบแรงงาน และการออกรถโมบายเคลื่อนที่ไปยังชุมชน รวม 96,255 คน ได้รับการบรรจุงาน 33,315 คน คิดเป็นอัตราการบรรจุงานร้อยละ 34.61 ของผู้มาสมัครงานทั้งหมด

(มติชน, 30-3-2555)

นายกฯวอนเห็นใจแรงงานให้ขึ้นค่าแรง 1เม.ย. นี้

วันนี้ (31 มี.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ตอนหนึ่ง ในประเด็นการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาท ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ว่า เท่าที่สำรวจพบว่าบริษัทใหญ่ยังไม่กระทบมากนัก เพราะบางบริษัทจ่ายค่าแรงสำหรับแรงงานที่มีฝีมือมากกว่า 300 บาท ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงานเข้าดูแลธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะแผนพัฒนาฝีมือแรงงาน ยอมรับว่าเป็นห่วงในเรื่องนี้ จึงต้องเข้าทำงานอย่างใกล้ชิด และรายกรณีให้มากขึ้น รวมทั้งได้พูดคุย และร่วมมือนักลงทุนในการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยในภาคส่วนต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านมา ค่าแรงของคนไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นมาหลายปีแล้ว ขณะที่ ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น ขอให้เห็นใจผู้ใช้แรงงานที่มีรายจ่ายสูงขึ้น แต่รายรับไม่ได้เพิ่มขึ้นก็อยู่ไม่ได้ เมื่อคำนวณรายได้ต่อเดือนเทียบกับค่าครองชีพไม่ได้มาก และในระบบบัญชีถือว่าค่าแรงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนในการประกอบการ แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมจะเห็นว่าค่าแรงไม่ได้สูงมากขึ้น รัฐบาลจึงต้องขอความกรุณา และความเห็นใจจากทั้งภาคผู้ใช้แรงงาน และภาคธุรกิจ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือในการประคองช่วยเหลือกันในเรื่องนี้ เพราะเมื่อผู้ใช้แรงงานมีรายได้มากขึ้น ก็จะมีเงินจับจ่ายใช้สอย สุดท้ายแล้วรายได้เหล่านั้นก็จะกลับมาสู่ร้านค้า บริษัท และรัฐบาล อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเชื่อมั่นว่าถ้าเราเข้าไปแก้ไขจากฐานล่างที่มีคนส่วนใหญ่อยู่เป็น จำนวนมากให้มีรายได้ขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศที่จะส่งผลต่อธุรกิจทุกภาค ส่วน และเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศ และเราจะได้ไม่ต้องพึงพาเศรษฐกิจต่างประเทศเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ๆ ว่า ต้องไปทำภารกิจเจรจากับประเทศต่าง ๆ เพื่อให้มีการลงทุน และการท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ ยังเป็นตามธรรมเนียมที่เป็นรัฐบาลใหม่ต้องเดินทางไปเยือนคารวะ และแนะนำตัว โดยเริ่มจากลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นการสร้างความแข็งแรงในความร่วมมือในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย

"ทุกครั้งที่มีการเดินทางไปต่างประเทศ ได้มีการติดตาม ฝากงาน และมี รมต.ดูแลงานอย่างใกล้ชิด ไม่ได้ละเลยปัญหาปากท้องของคนในประเทศ เพราะหลายคนอาจจะเกิดคำถามว่าทำไมต้องเดินทางในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเป็นแบบ นี้ แต่เดินทางไปต่างประเทศมีความจำเป็น เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี เมื่อมีความเชื่อมั่น มีการลงทุนแล้ว สุดท้ายจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศ ยืนยันทุกครั้งที่จะไปต่างประเทศว่าเป็นห่วงสถานการณ์ในประเทศ โดยเฉพาะช่วงอุทกภัย และต้องยกเลิกการเดินทางหลายครั้ง อย่างเช่น เดินทางไปจีน ที่ต้องเลื่อนเดินทางไปวันที่ 17-19 เม.ย.นี้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า เราจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ซึ่งเป็นการประชุมว่าด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออก ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย.นี้ ที่กรุงเทพฯ โดยการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ต่างประเทศเห็นว่าวันนี้ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะรับนักลงทุน และนักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดเวทีให้นักธุรกิจทั่วโลกได้พบกับนักธุรกิจไทย ขณะนี้ไทยอยู่ในฐานะที่ทุกประเทศให้ความสนใจลงทุน เราได้รับการตอบรับที่ดี และพอใจแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ซึ่งเราจะมีระบบติดตามการตอบรับของต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อการค้าการลงทุน กับไทย.

(เดลินิวส์, 31-3-2555)

ปลัดฯเตือนนายจ้าง ไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำ มีโทษตามกฎหมาย

วันที่ 31 มี.ค. นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ว่า จากการที่คณะกรรมการค่าจ้าง มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่วันละ 63-85 บาท โดยมี 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และอีก 70 จังหวัดที่เหลือ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในปี 2554 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 แต่เนื่องจากวิกฤติอุทกภัย จึงให้เลื่อนการใช้บังคับไปเป็นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 เป็นต้นไป และวันที่ 1 ม.ค. 2556 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ สำหรับโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน หากนายจ้างที่ไม่จ่ายค่าจ้างค่าจ้างขั้นต่ำ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายสมเกียรติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานมีมาตรการลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้าง คือลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมของฝ่ายนายจ้าง–ลูกจ้าง ในปี 2555 โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2555 ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนจากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ลดลงฝ่ายละร้อยละ 2 เหลือฝ่ายละร้อยละ 3 และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.–31 ธ.ค. 2555 ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนจากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ลดลงฝ่ายละร้อยละ 1 เหลือฝ่ายละร้อยละ 4 ให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ ยกระดับศักยภาพแรงงานไทย ส่วนมาตรการของกระทรวงการคลัง จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23ในปี 2555 และเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556.

(ไทยรัฐ, 31-3-2555)

 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน : เมื่อ ‘Jan Krogsgaard’ คนเขียนบท Burma VJ มองพม่าเปลี่ยนแปลงจริงหรือ?!

Posted: 01 Apr 2012 01:29 AM PDT

“การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าครั้งนี้ มันอาจไม่ได้เกิดขึ้น หรือส่งผลกับรัฐที่อยู่รอบๆ นอกอย่างกลุ่ม คะฉิ่น กะเหรี่ยง ถ้าเป็นแบบนี้ข้างในมันน่าจะเหมือนดูดีเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง หรือในเนปิดอว์ เท่านั้น แต่เมืองที่อยู่รอบนอก อย่างกลุ่มคนมอญ คนกะเหรี่ยงก็ยังมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่…รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงจริงหรือ”

 

Jan Krogsgaard ผู้เขียนบท Burma VJ

 

เชื่อว่ามาถึงเวลานี้ หลายคนกำลังจับตามองการเลือกตั้งซ่อมในพม่าที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ว่าก้าวเดินไปในทิศทางไหนต่อไป

Jan Krogsgaard หนุ่มชาวเดนมาร์ก คนเขียนบท Burma VJ คนนี้ ได้วิเคราะห์บอกเล่าถึงบางแง่มุมในพม่าให้เราฟัง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจมาก เนื่องจากว่า เขาเป็นชาวต่างชาติอีกคนหนึ่งที่สนใจในเรื่องราวของพม่า และก่อนหน้านั้นเขาได้เดินทางไปหลายๆ เมืองของพม่าเพื่อเก็บข้อมูลในพื้นที่มายาวนานหลายปี ก่อนจะนำมาเขียนบทภาพยนตร์สารคดี Burma VJ จนโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘เบอร์ม่า วีเจ’ (Burma VJ) เรื่องนี้ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพนักข่าวในพม่า รวมถึงการปราบปรามกลุ่มพระสงฆ์และประชาชนพม่าที่ออกมาประท้วงใหญ่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2550 ที่ผ่านมา 

แน่นอน นอกจากภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 2553 แล้ว เบอร์ม่า วีเจ ยังกวาดรางวัลมาแล้วกว่า 50 รางวัลจากเทศกาลหนังทั่วโลก อาทิ รางวัล World Cinema Documentary Film Editing Award รางวัล Golden Gate Persistence of Vision Award รวมทั้งยังถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลประเภทหนังสารคดีในการประกาศผลรางวัลหนังยุโรป (European Film Academy Documentaire 2009 - Prix Arte) ด้วย

Jan ในฐานะคนเขียนบท เล่าให้ฟังว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้หลังจากออกฉายได้ทำให้ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าสั่นสะเทือนไม่มากก็น้อย เพราะเป็นการนำเสนอภาพและความจริงในเหตุการณ์รุนแรงในพม่าให้สังคมโลกได้มองเห็นไปทั่ว

“ตอนแรกๆ ที่หนังเรื่องนี้เผยแพร่ออกไป เขาก็โกรธอยู่แล้ว แต่ว่าช่วงนั้น ทางรัฐบาลเขาก็จะมีข้อกำหนดที่ว่า ถ้าไปค้นบ้านไหนแล้วเจอดีวีดีเรื่องนี้ครอบครอง หรือว่าคนนั่งดูอยู่ ก็จะโดนจับเข้าไปจำคุกหนึ่งเดือน สองเดือน หนึ่งปีก็แล้วแต่ แล้วมันก็ยังส่งผลต่อนักข่าวที่ทำงานให้กับสำนักข่าวท้องถิ่นในย่างกุ้งด้วย ก็จะถูกจำกัดสิทธิ ถ้ารู้ก็จะโดนเข้าไปอยู่ในคุก”  Jan บอกเล่าให้ฟัง

Jan บอกเล่าอีกว่า มาถึงเวลานี้ กระแสและท่าทีของรัฐบาลพม่านั้นเริ่มเปลี่ยนไป แต่ถึงยังไง ในห้วงยามนี้ นักข่าวพม่าหลายคนก็ยังคงถูกจับกุมอยู่

“ตอนนี้นักข่าวที่ถูกจับเข้าคุกได้รับการปล่อยตัวบ้างแล้ว แต่ยังไม่หมด แต่ว่าก็ค่อยๆ ปล่อยมาเรื่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีการเซ็นเซอร์แล้ว สถานการณ์มันก็ดีขึ้นนะ อย่างเรื่องสื่อ ล่าสุดปีที่แล้วยังมีการจัดเทศกาลหนังที่พม่าเป็นครั้งแรก ได้แล้ว และก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ หนังอะไรออกมาหรือว่าข่าวอะไรออกมาจะจับเซ็นเซอร์เหมือนเมื่อก่อนหมด แต่อาจจะมีขั้นตอนบ้าง แต่ก็ค่อนข้างดีขึ้นนะ” 

คนเขียนบทภาพยนตร์สารคดี Burma VJ ยังได้มองถึงความเปลี่ยนในพม่าในขณะนี้ ไม่ว่าในเรื่องของการเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ รวมไปถึงทิศทางในอนาคตของพม่า ที่กำลังจะเปิดเป็นประเทศเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้ทั้งอาเซียน หรือชาติตะวันตก กระหายและเตรียมพุ่งเข้าไปมากยิ่งขึ้น 

“ผมคิดว่า มาถึงตอนนี้ทุกคนทุกฝ่าย ก็คงอยากจะเข้าไปกอบโกยเอาผลประโยชน์นั่นแหละ แต่จะให้รัฐบาลทหารพม่านั้นกลับไปเป็นเหมือนเดิมอย่างเก่าก็คงค่อนข้างยาก อาจจะค่อยๆ เปลี่ยน แต่ว่าก็สามารถทำได้ ถ้าต้องการ แต่ว่าถ้าทำแล้วก็อาจจะเกิดปัญหา ยกตัวอย่างเช่น หลังจากเหตุการณ์ปี 88 แล้วมีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 1991 สุดท้ายรัฐบาลทหารพม่าก็ยังกลับลำได้ ล้มการเลือกตั้งได้ เพราะฉะนั้น เราก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรต่อไป” Jan แสดงความเห็นอย่างนั้น 

เขาบอกให้จับตามดูต่อไปว่า อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้งครั้งนี้

“ที่ผ่านมา อองซานซูจี ก็ยังไปหาเสียงอยู่อย่างต่อเนื่อง แล้วก็จะมีการเลือกตั้ง 1 เมษายนนี้ ก็ไม่แน่ใจนะ ว่าหลังการเลือกตั้ง อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า แต่ผมคิดว่ามันน่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในช่วงประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน หลังเลือกตั้งครั้งนี้นะ”

เมื่อตั้งคำถามกับ Jan ในมุมมองของคนเขียนบท Burma VJ ว่าในอนาคตข้างหน้าของพม่าจะก้าวไปบนหนทางใด...สันติสุขหรือขัดแย้งมากยิ่ง?!

Jan บอกว่า “ถ้าเราไปประเทศพม่า เราไม่สามารถเดาอะไรได้เลย แต่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าครั้งนี้ มันอาจไม่ได้เกิดขึ้น หรือส่งผลกับรัฐที่อยู่รอบๆ นอกอย่างกลุ่ม คะฉิ่น กะเหรี่ยง ถ้าเป็นแบบนี้ข้างในมันน่าจะเหมือนดูดีเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง หรือในเนปิดอว์ เท่านั้น แต่เมืองที่อยู่รอบนอก อย่างกลุ่มคนมอญ คนกะเหรี่ยงก็ยังมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่ ผมคิดว่าถ้าผมเป็นคนพม่าที่อยู่ในเมืองย่างกุ้ง หรือเมืองมัณฑเลย์ ผมคิดว่าผมก็คงไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงจริงหรือ”

นั่นเป็นการวิเคราะห์เรื่องพม่าในบางแง่มุม ของ ‘Jan Krogsgaard’ คนเขียนบท ‘Burma VJ’ อันลือลั่น! 

          

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหภาพโฮยาเผย กมธ.แรงงาน ให้นายจ้างเจรจารับกลับเข้าทำงาน 5 เม.ย. นี้

Posted: 31 Mar 2012 11:04 PM PDT

1 เม.ย. 55 - นายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าหลังจากที่คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือเชิญประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ไปร่วมประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการแรงงานในวันที่ 28 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมานั้น ทางคณะกรรมาธิการแรงงานได้มีข้อเสนอให้นายจ้างกับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 153 คนที่ยังยืนยันข้อเรียกร้องกลับเข้าไปทำงาน มีการเจรจาพูดคุยกันอีกครั้งภายใน 1 เดือน เพื่อให้นายจ้างรับพนักงานกลับเข้าทำงาน โดยให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน เป็นผู้ประสาน 

ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดได้มีหนังสือจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน ให้ทั้งสองฝ่ายไปเจรจาตกลงกันวันที่ 5 เม.ย. ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน เพื่อทำการยุติปัญหาที่เกิดขึ้น

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยอีนิวส์สัมภาษณ์ "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" เปิดตัวหนังสือ "แรงงานอุ้มชาติ"

Posted: 31 Mar 2012 10:40 PM PDT

 
1 เม.ย. 53 - ไทยอีนิวส์สัมภาษณ์ "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" นักกิจกรรมแรงงานที่อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศเขียน หนังสือที่ "ต้องอ่าน"ผ่าลึกประเทศไทยผ่านมิติด้านแรงงาน 
 
 
 
1.ทำไมคุณจรรยาเขียนเล่มนี้ออกมา และพล็อตสำคัญของหนังสือนี้คืออะไร และเพราะอะไรคนควรควัก 300 บาท ไปซื้อมาอ่าน
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: เล็กเชื่อและพูดมาโดยตลอดว่า “ประเทศจะพัฒนาก้าวหน้า ไม่ได้ต้องการผู้นำเก่งเท่านั้น แต่ต้องการประชาชนที่เก่งและรู้เท่าทันผู้นำที่เก่งด้วย”
 
แต่การเมืองไทยหรือจะพูดว่า วิธีการเมืองไทยที่เห็นและสัมผัสมาตลอดชีวิต เป็นเรื่องของการล่อหลอกและกล่อมเกลาประชาชนด้วยข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อ “เท็จปนจริง” ที่แยกกันไม่ออก และมักจะนำเสนอข้อมูลเฉพาะ “ด้านเดียว" และ "ด้านดี” ของผู้นำ
 
ไม่ว่าจะมาจากสถาบันระดับสูง และ/หรือสถาบันนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารบ้านเมือง ที่อัดฉีดแคมเปญต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคจอมพลป. ที่ว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” เป็นวิถีการเมือง “บนลงล่าง รองรับด้วยโครงสร้างชนชั้นในสังคมวิถี “ไพร่-ผู้ดี-สมมุติเทพ” ที่ให้ค่าและความสำคัญกับชนชั้นสูงมากกว่าประชาชนทั่วไป
 
ดูได้จากคำกล่าวของทักษิณที่นั่งเครื่องบินเจ๊ตส่วนตัว และได้รับการต้อนรับอย่างหรูหราในทุกประเทศที่ไปเยือน แล้วบอกว่า "ผมคือผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด" นี่คือตัวอย่างของการให้คุณค่าตัวเองของผู้นำ
 
ซึ่งภาพที่ได้เห็นมันต่างกันอย่างสุดขั้วกับภาพของประชาชนที่ออกมาต่อสู้จริงตลอดหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 หลายคนเสียสละเงินทองกันจนหมดเนื้อหมดตัวเพื่อการต่อสู้ แม้จะยากจนกว่าทักษิณหลายร้อยหลายพันเท่า
 
หลายคนต้องสูญเสียชีวิต บางคนเสียหัวหน้าครอบครัว และยังมีอีกนับร้อยที่ "สูญเสียอิสระภาพอยู่ในเรือนจำ" และ "อีกไม่ทราบจำนวนที่ต้องลี้ภัยในต่างแดน" เป็นการอยู่ที่ต่างแดนยากลำบากแสนสาหัสกว่าผู้ที่อ้างว่า "ได้รับผลกระทบมากที่สุด" เสียด้วย
 
ถ้าจะพูดแรงๆ ก็คงขอบอกว่าทักษิณพูดโดยไม่มีความรับผิดชอบมากๆ ซึ่งถ้าเป็นผู้นำมวลชนที่มีวุฒิภาวะ จะไม่มีทางอ้างว่า "ผมได้รับผลกระทบที่สุด" เพราะ ความสูญเสียของประชาชนที่ไม่มีอะไรจะเสีย แต่ยอมเสีย มันเป็นอะไรที่ผู้นำต้องตระหนักถึงก่อนเสมอ
 
การเมืองชนชั้นสูงและนายทุนของไทย จึงเป็นการเมืองที่หล่อเลี้ยงประชาชนด้วยความฝัน ให้อยู่ด้วยการฝากความหวัง และรอคอยความช่วยเหลือไว้ ภายใต้วิถีการเมืองระบอบ “พ่อขุนอุปภัมภ์เผด็จการ” ที่ อ.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ให้คำนิยามนี้ไว้ดียิ่ง
 
วิถีคิดแบบนี้มันควรจะเปลี่ยนได้แล้วในทศวรรษที่ 21 ที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีได้หลายทาง และก็ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนควรจะต้องขวนขวายศึกษาและทำความเข้าใจสังคมและการเมืองด้วยตัวเอง ไม่ใช่จากการรับเพียงชุดข้อมูลด้านเดียวที่ถูกยัดเยียดให้ เพื่อการหวังผลทางการสร้างมวลชนสนับสนุนของผู้มีอำนาจ
 
อีกทั้งไม่ต้องพูดกันถึงลักษณะของข้อมูลที่แทบจะไม่เคยตีแผ่เรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนระดับล่างที่ไม่ยอมจำนน
 
การนำเสนอของกระแสหลักทั้งรัฐบาลและสื่อมวลชน ทั้งหมดทั้งมวลพุ่งไปที่ความสูญเสีย(ในผลประโยชน์และอำนาจ) ของชนชั้นสูงเพียงเท่านั้น
 
เป็นการเมืองที่ไม่ว่า “ทักษิณจะไป อภิสิทธ์จะมา” หรือไม่ว่า “อภิสิทธิ์จะไป ยิ่งลักษณ์จะมา” ประชาชนก็ยังต้องเผชิญกับปัญหามากมายอยู่ดี
 
หนังสือเรื่อง "แรงงานอุ้มชาติ" เล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่ตีแผ่เรื่องราวของความเดือดร้อน การต่อสู้ และการไม่ยอมจำนนต่อนายทุน และรัฐ (รัฐบาลและลูกจ้างรัฐ) ของคนที่ถูกเรียกว่าชนชั้นล่าง - คนงาน กรรมกร ชาวไร่ชาวนาตาสีตาสา - จากบทเรียนการทำงานกว่ายี่สิบปี
 
และเป็นเรื่องราวที่เล็กได้เขียนไว้ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา บางเรื่องอาจจะผ่านตาผู้อ่านแล้ว แต่หลายเรื่องมั่นใจว่าผู้อ่านยังไม่เคยเห็น
 
และยิ่งไม่นับว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่รวมข้อเขียนกว่า 30 เรื่องไว้ด้วยกัน ที่หนาถึง 430 หน้า ซึ่งจริงๆ ควรจะตั้งราคาขายที่สูงกว่านี้ แต่ด้วยเราไม่ใช่ต้องการค้ากำไรเกินควร และต้องการร่วมแสดงสัญลักณ์เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จึงตั้งราคาแค่ 300 บาท
 
ถ้าคนงานไทยได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เขาจะเข้าใจได้ทันทีว่า “การทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้นั้น จะได้มาด้วย “การรวมตัวต่อรองทั้งกับนายจ้างและรัฐ ไม่ใช่ได้มาด้วยการร้องขอ” และการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็มาจากการสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐ ทุนและนักการเมืองมาโดยตลอด
 
2. มีนักกิจกรรม เอ็นจีโอ นักแรงงานที่เกลียดกลัวทักษิณและคนเสื้อแดงซะส่วนมาก เลยพลอยหันไปสนับสนุนเผด็จการ คุณจรรยาน่าจะเป็นเพียงในไม่กี่คนที่โปรประชาธิปไตย อะไรคือความแตกต่างและมีผลสะเทือนอย่างไรตามมา
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: ใช่ค่ะ เล็กตัดสินใจไม่ร่วมกับ NGOs ที่มีการประชุมกันเมื่อปลายปี 2548 ว่าควรจะเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนของสนธิ ลิ้มทองกุล เพราะ “สนธิมีมวลชน” และก็ตัดสินใจไม่ร่วมกับกลุ่มที่ก่อร่างมาเป็น นปช. ในปี 2552 ที่บอกว่า “ต้องรวมตัวกับค่ายเพื่อไทยเพราะมีมวลชน”
 
แต่สุดท้ายทั้งสองทางเลือก ก็ใช้วิถีการโฆษณาและระดมมวลชนแบบเดียวกัน คือการอัดฉีดความดี และความเป็นสุดยอดมนุษย์ ของคนๆ เดียว ที่แต่ละฝ่ายเชิดชู และ/หรือชูและเชิด
 
ทั้งสองฝ่ายอ้าง “เพื่อประชาธิปไตยคนดี” กับ “เพื่อประชาธิปไตยคนเก่ง” แต่ไม่ได้พยายามกันเลยที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมแห่งการหล่อหลอมหลักการ "ประชาธิปไตยประชน"
 
อีกทั้งการประท้วงก็ใช้รูปแบบรวมศูนย์ ด้วยเวทีปราศรัยของแกนนำ และสั่งการเคลือนไหวจากแกนนำเท่านั้น ไม่มีการเลือกตั้งแกนนำโดยมวลชน ไม่มีการสร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ในที่ชุมนุม
 
พันธมิตรนี่ไม่มีการเลือกตั้งด้วยซ้ำ นปช. ก็เป็นการตั้งกันเองช่วงแรก พอถูกดันหนักขึ้นมาประกาศเลือกตั้งประธาน นปช. เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ล็อคสเปคชิงเลือกตั้งแกนนำระดับชาติก่อนแบบไร้คู่แข่งขัน (อ. ธิดา) แทนที่่จะเปิดให้มีการเลือกตั้งแกนนำระดับฐาน (หมู่บ้าน จังหวัด) ก่อนที่จะจัดเลือกตั้งแกนนำระดับชาติ ตามครรลองประชาธิปไตย “ล่างขึ้นบน” ที่ควรจะส่งเสริม
 
การเมือง 6 ปี ที่ผ่านมา จึงน่าเสียดายตรงที่การจัดตั้งหรือนำมวลชน เลือก “ยุทธวิธีทางการเมือง” มากกว่า “การเมืองหลักการ” เป็นการเมืองที่มุ่งจัดตั้งมวลชนขนาดใหญ่ และแม้ว่ามวลชนร่วมลงขันมาต่อเนื่องตลอดหลายปี แต่่แกนนำก็ไม่เคยวางใจและดูถูกมวลชนมาแบบเดียวกันนี้ทุกยุค ทุกสมัยไม่เปลี่ยนแปลง
 
ที่สำคัญไม่น่าเชื่อว่า นปช. ที่ดึงมวลชนใส่เสื้อแดงได้มากที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ กลับไม่สามารถหล่อหลอมวิถี “การเมืองประชาธิปไตยแห่งการมีส่วนร่วมของประชาชน” และเลือกยุทธวิธีการทำงานเป็นกองกำลังของพรรคเพื่อไทย อย่างแยกไม่ออก
 
ผลสะเทือนและเป็นจุดหักเหของตัวเอง คือ การสังหารประชาชนเดือนเมษาและพฤษภา 2553 ที่ทำให้เล็กลุกขึ้นมาเขียนบทความ “ทำไมถึงไม่รักXXX” แล้วมีปฏิกริยาของทั้งคนรอบตัว และคนอ่านค่อนข้างแรงทั้งในด้านบวกและด้านลบ
 
จนต้องตัดสินใจลาออกจากงานทั้งๆ ที่ไม่มีงานใหม่รองรับ ตัดสินใจไม่ติดต่อครอบครัวอีกต่อไป และมุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาธิปไตยของประเทศไทยจากต่างแดน ที่ให้พื้นที่เสรีภาพในการคิด เขียน และพูด ได้ดีกว่า “ยอมลำบากกาย แต่มีอิสระทางความคิด”
 
เล็กมองว่าประเทศจะก้าวหน้า วิถีการเมืองของทุกฝ่ายจะต้องไม่ผูกติดแค่ว่า "คนดีแต่ไม่เก่ง ไม่เป็นไร" หรือ "คนโกงแต่เก่ง ไม่เป็นไร" เราบอกไม่ได้ว่าคนดีนั้นดียังไง คนโกงนั้นโกงจริงหรือเปล่า คนเก่งนั้นเก่งอะไร เก่งแค่ไหน เรื่องพวกนี้มันกลายเป็นเหมือมายาคติมากกว่าที่จะยืนอยู่บนการตรวจสอบ และมาตรฐานด้านกระบวนการศาลสถิตยุติธรรมของไทยก็ถูกตั้งคำถามอีกเช่นกัน
 
เพื่อวิถีการเมืองที่จะหลุดพ้นจากวงจรอุบาดเดิมๆ สังคมต้องพร้อมที่ยอมรับว่า
 
1. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหัวใจที่ขับเคลื่อนประเทศ และต้องไม่มีกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งหลาย โดยเฉพาะข้อเขียนในรัฐธรรมนูญที่ต้องไม่ละเมิดความเสมอภาคของประชาชน และมาตรา 112 ต้องถูกยกเลิก - ต้องไม่มีนักโทษการเมืองและนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าประเทศเปิดรับฟังความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชน
 
2. สิทธิในการรวมตัวในนามสหภาพแรงงาน องค์กร สมาคม และสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมกับนายจ้างหรือกับรัฐบาล เป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริม และการประท้วงของทั้งคนงานและเกษตร ไม่ใช่เรื่อง “ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหายต่อนายทุน” เช่นที่รัฐบาล รัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งสื่อต่างๆ พยายามจะโจมตีทุกครั้งที่คนงานหรือเกษตรกรประท้วง
 
3. การยอมรับและส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพตั้งพรรคการเมืองของตัวเองเข้ามาต่อสู้ในครรลองประชาธิปไตยในรัฐสภาตัวแทนของประชาชน
 
4. ปรับปรุงคุณภาพ ศักยภาพและการควบคุมราคาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมทั้งวางระบบสวัสดิการสังคมที่จำเป็นต่อประชาชน ที่ครอบคลุมประชาชนทุกคนในประเทศ
 
5. ประเทศไทยจำเป็นต้องให้สัตยาบันและเคารพกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิทธิการมีส่วนร่วมของพลเมือง และบรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศที่ครอบคลุมเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองประชาชน ไว้ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ให้สิทธิพิเศษเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน อาทิ พรก. ฉุกเฉิน และ พรก. ความมั่นคง
 
6. จำเป็นที่จะมีการปฏิรูปการศึกษา การศาสนา การทหาร สถาบันข้าราชการ สถาบันการเมือง และโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นประเด็นถกเถียงในสังคมมานับตั้งแต่ 2549 ให้สอดรับกับอารยประเทศทั้งหลาย
 
7. การเมืองที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ และสังคมต้องถูกหล่อหลอมให้เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง และการต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ
 
8. ต้องให้คำนิยามร่วมกันของคนในชาติใหม่ในเรื่อง "ชาติ" และ "ความมั่นคงของชาติ" ที่ปัจจุบันผูกขาดคำนิยามโดย "ทหาร" และ "ชนชั้นสูง" เท่านั้น
 
ฯลฯ
 
3. ทราบว่าได้ลี้ภัยการเมือง(self exile)ในต่างประเทศตั้งแต่ 19 พฤษภา 53 ไปอยู่ต่างประเทศ ฟังแล้วก็น่าจะดูดีเพราะไปอยู่ทางยุโรปคงสุขสบายดี ตอนนี้ยังทำงานในตำแหน่งเดิมก่อนลี้ภัยไหม หรือมีองค์กรใดสนับสนุนการทำงานเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิืปไตยบ้าง หรือมีผลกระทบต่อเรื่องการงาน การเงิน ครอบครัวอย่างไรบ้าง
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: มันเป็นความเข้าใจผิดของคนไทยว่าการอยู่ยุโรปนั้นสุขสบายดี เพราะยุโรปดูพัฒนาและเจริญรุ่งเรือง คนที่นี่จำนวนมากอิจฉาคนไทยที่ “โยนเมล็ดพืชผักอะไรตรงไหนก็งอกงาม” และ “มีอาหารกินกันอย่างหลากหลายเหลือเฟือ” ไม่นับว่าเล็กอยู่ที่ฟินแลนด์ ประเทศที่ค่าครองชีพแพงอันดับสามในยุโรปได้กระมังตามการสังเกตของตัวเองที่เดินทางทั่วยุโรป (รองจาก นอรเวย์ และสวิสเซอร์แลนด์)
 
แน่นอนว่าสองปีที่ผ่านมาเล็กต้องเผชิญกับความยุ่งยากและลำบากมากมาย ทั้งเรื่องอยู่เรื่องกิน และเรื่องขอวีซ่าอยู่ยุโรป ในขณะที่ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้ แต่ก็ถือว่าเป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทยจำนวนมากที่เผชิญกับปัญหาการล้มละลาย และความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย
 
แต่ตลอดสองปีที่ผ่านมา เล็กก็ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหวในทุกทางที่สามารถทำได้ ทั้งทำการศึกษาและเขียนบทความการเมืองไทยต่อเนื่อง ทั้งติดตามปัญหาคนงานไทยที่ถูกพามาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ จัดผลิตสารคดีหลายเรื่องด้านแรงงานและการเมือง
 
และไม่นับว่าช่วยดูแลเวบไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองไทยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกสองสามแห่งโดยเฉพาะ www.timeupthailand.net อีกทั้งยังได้พยายามทำงานกับกลุ่มคนไทยที่ยุโรป และจัดรายการวิทยุทางอินเตอร์เนทอีก ทำให้ไม่มีเวลาไปทำงานหารายได้อื่นๆ
 
และนี่ก็เป็นปัญหาที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันนี้คือการไม่สามารถผ่อนส่งคืนเงินกู้กับธนาคารได้ จนธนาคารที่ประเทศไทยกำลังดำเนินเรื่องยึดทรัพย์ สมบัติชิ้นเดียวที่มีคือ "ไร่เปิดใจ" และก็เป็นที่มาของการต้องผลิตหนังสือเรื่อง “แรงงานอุ้มชาติ” เล่มนี้ เพื่อขายสร้างรายได้ทำกิจกรรมการเมืองเช่นที่ทำนี้ต่อไป และหวังว่าจะมีรายได้มากพอจะทำให้ไปจ่ายธนาคารไม่ได้ยึดบ้านตัวเองได้
 
และคงต้องขออนุญาตใช้โอกาสนี้ กล่าวขอบคุณคนตัวเล็กตัวน้อยจำนวนไม่น้อยเลย ทั้งที่เมืองไทยและที่ต่างประเทศ ทั้งคนไทยและเพื่อนฝูงคนต่างชาติ ที่ช่วยกันลงขันและสนับสนุนด้านการเงินมาบ้าง (เป็นการช่วยของผู้รักประชาธิปไตย โดยไม่มีนายทุนใหญ่ใดๆ หนุนหลังทั้งสิ้น) และแม้จะไม่พอกับค่าใช้จ่าย แต่ก็ทำให้อยู่และทำงานได้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
 
ก็ต้องขอกราบขอบคุณทุกท่านที่อาจจะไม่สามารถเอ่ยนามได้มา ณ ที่นี้ด้วย
 
แม้แต่หนังสือเล่มนี้ก็ต้องขายแบบ "สั่งจองและจ่ายเงินล่วงหน้า" เพราะเล็กไม่มีเงินจ่ายค่าพิมพ์หนังสือ ต้องรวบรวมเงินจากผู้สั่งจองไปจ่ายค่าพิมพ์ เป็นการทำงานที่พึงพิงมวลชน (ไม่ใช่นายทุน) อย่างแท้จริง
 
ก็หวังว่าการตอบรับหนังสือจะเป็นไปด้วยดี ไม่ใช่เพราะต้องช่วยเล็ก แต่เพราะว่าหนังสือเรื่องแรงงานที่ให้ภาพองค์รวมของปัญหาแรงงานและโยงถึงต้นตอของการเมืองไทยเช่นนี้ ไม่ค่อยมีการผลิตออกมา การต่อสู้ของแรงงาน ปัญหาแรงงานเป็นเรื่องที่ไม่เคยอยู่ในความสนใจของทั้งสาธารณชนและรัฐบาลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมสหภาพแรงงานไม่ได้รับการส่งเสริมในประเทศไทย
 
4. มีคนที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับคุณจรรยามากไหม ที่ยังกลับประเทศไม่ได้ และต้องการหนุนช่วยอย่างไรบ้างจากองค์กรต่างๆ หรือเพื่อนมิตร
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: เท่าที่ทราบและติดต่อกันอยู่บ้าง ก็มีกว่าสิบคน ทุกคนลำบากกันถ้วนหน้า ทั้งเรื่องการทำเรื่องขอสถานภาพผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ก็ไม่ได้ง่าย เรื่องการขอวีซ่าอยู่อย่างถูกกฎหมายในประเทศที่เขาเลือกอยู่ก็ยุ่งยาก เรื่องเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึง ต้องขายบ้าน ขายรถ และทรัพย์สินที่ขายได้เพื่ออยู่กินที่เมืองนอก หลายคนอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่กว่าเล็กมาก – ฟังเรื่องของเขาแล้ว ไม่บ่นเรื่องตัวเองเลยค่ะ สงสารพวกเขาแทน
 
อยากเชิญชวนผู้ที่สนใจช่วยกันตั้งกองทุนอะไรซักอย่างเพื่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองของประเทศไทย มันจำเป็นยิ่งที่การเมืองไทยยังไม่สามารถปล่อยวางได้ ที่จะมีกองทุนตรงนี้ ให้คนกลุ่มนี้ที่ลี้ภัยสามารถทำงานเพื่อประชาธิปไตยของไทย แม้ว่าต้องอยู่ต่างแดนก็ตาม
 
ไม่ใช่ให้พวกเขาต้องอยู่อย่างปิดตัวและความวิตกกังวลว่าจะเอาชีวิตรอดที่ต่างแดนได้อย่างไร ในสภาพที่หลายคนไม่เคยใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก และภาษาอังกฤษก็ไม่เก่ง และที่สำคัญเล็กมองพวกเขาเป็น "ทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญยิ่งกับประเทศไทย" ที่ควรสนับสนุนให้ได้ทำงานเพื่อสร้างการตื่่นรู้ทางการเมืองไทยกันต่อไป
 
เสียดายทุกครั้งที่เวลาและสมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกใช้คุ้มค่ากับสิ่งที่เขาควรจะทำ และถูกใช้ไปเฉพาะความสุขส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อความสุขของมนุษยชาติ
 
5. ในอดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ใช้ฐานในต่างประเทศรณรงค์ปฏิวัติใหญ่ทั้งยุคเลนิน ซุนยัดเซ็็น โฮจิมินห์ รวมทั้งปรีดี พนมยงค์กับคณะราษฎร์ คิดว่าเวลานี้ขบวนทำนองนี้ของไทยมีหรือไม่และมีศักยภาพเพียงใด
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: เล็กคิดเรื่องนี้อยู่มากเช่นกัน และคิดว่าจะทำได้ไหมในศตวรรษที่ 21
 
ข้อสรุป ณ ตอนนี้ คือ การจัดตั้งจากต่างประเทศในยุคนี้ไม่ประสบความสำเร็จแน่ เพราะว่านักการเมืองแบบพรรคนายทุน และพรรคชนชั้นสูงก็รู้เกมส์นี้ และใช้การจัดตั้งมวลชนคนไทยจากต่างแดนเป็นฐานหนุนวิถีการเมืองของพรรคพวกตนเช่นกัน และพวกเขามีทุนมากกว่า และทำได้สำเร็จกว่า และไม่ปล่อยให้คนไทยในเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเป็นอิสระจากวิถีการเมืองของเขา
 
เล็กได้เดินทางไปพบคนไทยที่ยุโรปในหลายประเทศ เพื่อพูดคุยกันเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองในประเทศไทย ทั้งยังได้พยายามเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งที่ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สวิสเซอร์แลนด์ และเยอรมัน แต่ก็พบสภาพที่ว่าคนไทยในต่างประเทศก็ไม่ต่างจากในประเทศนักคือมีกลุ่ม “รักทักษิณ” มีเงินทุนจัดตั้งดีกว่า และมีทักษิณเป็นตัวพรีเซนเตอร์ จึงเป็นขบวนใหญ่กว่ากลุ่มที่เอาเรื่องประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมจากประชาชน
 
ต้องยอมรับว่าคนไทยที่มาตั้งรกรากหรือทำงานที่ยุโรปมีฐานครอบครัวมาจากชนบท โดยเฉพาะจากอีสาน พวกเขาก็ฝากความหวังไว้กับทักษิณเยอะว่า อาจจะช่วยดันหรือเทงบประมาณมาช่วยพวกเขาสร้างเศรษฐกิจที่ยุโรปด้วย โดยเฉพาะทำร้านอาหารไทย นอกเหนือไปจากเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยในประเทศไทย
 
กระนั้น เล็กก็เชื่อว่า การก่อร่างของการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการเมืองไทย ได้เริ่มขึ้นแล้วและต่อเนื่องที่ประเทศไทย นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และเป็นการก่อตัวของกลุ่มการเมืองที่มีจำนวนไม่ใช่ไม่กี่คนเหมือนอดีต
 
ไม่ใช่การนำด้วยนักคิดที่โดดเด่นคนใดคนหนึ่งเช่นในอดีต แต่มีมากมายมหาศาลมากกว่าที่ผ่านมา และแต่ละกลุ่มก็เลือกยุทธศาสตร์การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นยุทธวิถีของตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง
 
เป็นการผลักดันให้การเมืองประเทศไทยหลุดพ้นจากวิถี “การเมืองเรื่องบุคคลและตระกูล” สู่ “การเมืองเรืองระบอบและหลักการ” และจากคนหลากหลายแนวคิดมาก และไม่มีตัวผู้นำโดดเด่นคนใดคนเดียว แต่เป็นขบวนการผู้ให้แนวคิดทางความรู้มากกว่า
 
เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ควรจะเป็น และสอดคล้องกับยุคสมัยแห่งโลกศตวรรษที่ 21 ที่วุฒิภาวะของคนส่วนใหญ่ในสังคมหลุดพ้นจากวิถีการเมืองผู้นำเผด็จการไปกันมากแล้ว และกระแสเทพนิยายและสมมุติเทพก็เป็นเพียงนิทานก่อนนอน ที่ก็ไม่ค่อยมีใครอ่านให้ลูกฟังกันก่อนนอนกันแล้วเช่นกัน
 
สังคมต้องการความเป็นเหตุเป็นผล เป็นประชาธิปไตย มีความหลากหลาย และยอมรับความแตกต่างกันได้
 
และการเปลี่ยนแปลงก็ได้เริ่มแล้วมากมาย จากหลายกลุ่ม อาทิ ข้อเสนอของนิติราษฎร์ การรณรงค์ของครอบครัวและเพื่อนนักโทษการเมือง และการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องร่วมสองปีของกลุ่มญาติวีรชน 2553 ฯลฯ
 
มันเป็นวิถีการปูทางลงของการเมืองผู้นำเทวดา ตามวิถีสมมติเทพที่มีอัตตาสูงเทียบเขาพระสุเมรุ อย่างไม่หักโค่น เป็นการพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงจากการศึกษาจากชุดข้อมูลความรู้ของประเทศอื่นๆ “ถ้าอำมาตย์ไม่ลงตอนนี้ก็ถึงคราวแตกหัก” ซึ่งไม่มีใครต้องการให้ไปถึงขั้นนั้น
 
เพราะมันจะต้องมีคนล้มตาย และไม่มีใครอยากเห็นและเจ็บปวดไปกับการเสียชีวิตในประเทศไทยอีกแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีบทเรียนการยอมรับการเมืองวิถี "คนเท่ากัน" ด้วยสันติวิธี ในหลายประเทศให้เห็นและศึกษาเป็นตัวอย่าง
 
6. คุณอยากบอกอะไรที่สุดในเวลานี้
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: ในฐานะของคนทำงานเขียน ก็คงบอกว่าอยากให้หนังสือขายได้ ฮา . .
 
ต้องขอบคุณทนายประเวศ ประภานุกูลมา ณ ที่นี้ เป็นอย่างยิ่ง ที่รับอาสาโดยไม่เอาค่าใช้จ่ายในการติดตามเรื่องคดียึดบ้าน และเปิดบัญชีให้เพื่อใช้ในการขายหนังสือเล่มนี้ และดูแลค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นที่เมืองไทยให้
 
อยากบอกว่า สองปีที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ตัวเองหยุดนิ่ง ศึกษา และวิเคราะห์บทเรียนและข้อมูลต่างๆ ที่ตัวเองสั่งสมมาตลอดกว่า 20 ปีของการเป็นคนทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศ ที่ได้มีโอกาสมากกว่าคนจำนวนมาก ในการเดินทางลงศึกษาปัญหาและการพัฒนาในร่วม 70 จังหวัดทั่วประเทศไทยและหลายสิบประเทศทั่วโลก
 
ซึ่งเมื่อคิดในแง่นี้ เล็กก็ใช้ทรัพยากรโลกไปเป็นจำนวนมาก เพื่อการศึกษาเรียนรู้ และก็ควรจะใช้มันอย่างคุมค่า และจำเป็นจะต้องร่วมเป็นหนึ่งในประชากรไทยและประชากรโลก ที่ร่วมใช้สมอง สองมือและสองเท้า เพื่อแก้ปัญหาความยากจน การละเมิดสิทธิ และการเอารัดเอาเปรียบคนชั้นล่างในสังคม หรือที่เรียกว่าประชาชนกลุ่มใหญ่ "กลุ่ม 99%"
 
เล็กทำงานด้วยความเชื่อว่า "จะต้องไม่ทำตัวเป็นผู้นำ" แต่เป็นคนทำงานการศึกษาให้ประชาชนเห็นปัญหาและตัดสินใจหาทางแก้ปัญหาร่วมกันตามวิถีการศึกษามวลชนของเปาโล แฟร์ นักปฏิวัติชาวบราซิล และก็ไม่ได้เชื่อว่าชาวบ้านบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ไม่เล่นเกมส์ไปกับการเมืองด้วย
 
จากบทเรียนการคลุกคลีและทำงานต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านและคนงานมากมาย ทำให้ตระหนักว่า ประชาชนหรือคนที่ถูกเรียกว่าชาวบ้านนั้นฉลาดและเล่นเกมส์การเมืองต่อรองกับอำนาจตลอดเวลา ด้วยวิถีของเขา คือ "เมื่อการต่อรองและพูดกันตรงๆ มันมาด้วยลูกปืน พวกเขาก็ใช้ยุทธิวิถีขอความเมตตา ขอความช่วยเหลือ"
 
แต่สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือ ประชาชนคนไทยเปลี่ยนวิถีการต่อรองกับอำนาจเบื้องบนด้วย วิถีการร้องขอ ฟูมฟาย และปรักปรำกันไปมา แบบนี้เสีย ซึ่งเป็นวิถีที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ระยะสั้น แต่ไม่ส่งผลต่อพัฒนาการประเทศในระยะยาวและอย่างยั่งยืน
 
จากบทเรียนการพบเห็นบรรยากาศการเมืองในหลายประเทศ ทำให้ตระหนักว่าเพื่อประเทศก้าวหน้าและพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน "การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีวุฒิภาวะ และอย่างเสรี" คือ หัวใจของการพัฒนาที่แท้จริง
 
ประชาชนต้องหยุดกันตัวเองออกจากความรับผิดชอบในการบริหารประเทศมาสู่การคิดแบบใหม่ ที่ “ต่อรอง นำเสนอข้อเรียกร้อง และร่วมรับผิดชอบในทิศทางการพัฒนาของประเทศ" ไม่ใช่ลอยตัวทุกครั้งที่มีปัญหาด้วยข้ออ้างว่าเป็นเพราะ “ผู้นำไม่เก่ง นักการเมืองคอรัปชั่น หรือเพราะข้าราชการโกงกิน”
 
เป็นการเมืองที่คนทั้งประเทศก็ร่วมเหนื่อยด้วย สนุกด้วย และไม่ได้ฝากภาระการคิด การลงมือทำ การนำพาประเทศไว้กับผู้นำ และนักการเมือง หรือข้าราชการเท่านั้น
 
การทำให้คนในสังคมอยู่ได้อย่างเคารพศักดิ์ศรีในตัวเอง และศักดิ์ศรีของคนอื่นอย่างเท่าเทียม เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนในสังคมต้องอ่อนไหวต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เคารพกติกาประชาธิปไตย และต้องขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา
 
และไม่ใช่ไม่มีคน "รู้ทันชาวบ้าน" และ ยังหลงคิดว่าชาวบ้านใสซื่อบริสุทธิ์และเดียงสา เช่นที่ NGOs หรือคนโปรชาวบ้าน เอาชาวบ้านเป็นฐานกิจกรรมทั่วไปมักจะนำเสนอภาพชาวบ้านกันแบบนั้น
 
 
อาจจะไม่ถูกใจคนอ่านเหมือนกันว่าถ้าจะบอกประชาชนคนไทย "ที่ไม่สี" หรือ "สีใด" ก็ตามว่า “หยุดเล่นการเมืองลอยตัวเหนือปัญหาและไม่ต้องรับผิดชอบ” แล้วลงมาร่วม "รับผิดชอบกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ” กันเสียที เพื่อรวมกันนำพาประเทศไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียมกันโดยทุกคนในประเทศไทย
 
ท้ายนี้ อยากบอกนักศึกษา คนงาน นักสหภาพ หรือผู้ขายหนังสือทางเลือกและร้านขายหนังสือทางเลือกว่า ถ้าการรับหนังสือไปขายว่าให้ติดต่อสั่งจองมาได้เลย และท่านจะได้รับส่วนลด 40% เช่นเดียวกับสายส่งไปยังร้านทั่วไป
 
 
 
หนังสือต้องอ่านโดยนักเขียนต้องห้าม-จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมแรงงานที่อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองพิกลพิการในต่างประเทศเขียน หนังสือ"ต้องอ่าน"ผ่าลึกประเทศไทยผ่านมิติด้านแรงงาน ท่านสามารถสนับสนุนนักสู้ที่อุทิศตัวเพื่อการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยให้อยู่ ได้อย่างยืนหยัด

สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ โดยโอนจ่ายผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาบิ๊กซีรามอินทรา เลขที่864-2-07040-2 ชื่อบัญชี ประเวศ ประภานุกูล จำนวน 330 บาท (หนังสือราคา300 บวกค่าจัดส่ง30บาท) และส่งอีเมลแจ้งรายละเอียดที่อยู่และการสั่งจองไปที่ ACT4DEM@gmail.com
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น