ประชาไท | Prachatai3.info |
- เสียงสะท้อนคนวงการหนัง ถึงเวลา เชคสเปียร์ต้อง “เกิด”
- เครือปฏิรูปที่ดินตรังระดมชุมชนพื้นที่เขตป่าทับซ้อนร่วมเคลื่อนไหว ยืนยันสิทธิ์
- เชคสเปียร์ต้องตายเสมอ: ถ้อยแถลงส่วนบุคคล
- ความเห็น "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" หลัง "คิดเล่นเห็นต่าง" ประกาศพัก 1 เดือน
- ทหารพม่า–กองกำลังไทใหญ่ 'เหนือ' รบกันไม่หยุด ชาวบ้านนับร้อยหนีตาย
- "เทพไท" เผย "กรณ์" เตรียมนำทีม ปชป. วางดอกไม้ไว้อาลัยผู้เสียชีวิต 10 เมษา
- "ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม" เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับอ่อน
- พัก “คิดเล่น เห็นต่าง” 1 เดือน คำ ผกา รับไม่ก้าวล่วง "พุทธศาสนา"
- สัญญา กระบวนการทางกฎหมาย และเศรษฐศาสตร์
- ตำรวจชักปืนยิงขึ้นฟ้าหวังสลายแรงงานพม่า-กัมพูชาชุมนุมเรียกร้องสวัสดิการ
เสียงสะท้อนคนวงการหนัง ถึงเวลา เชคสเปียร์ต้อง “เกิด” Posted: 09 Apr 2012 10:57 AM PDT
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าหนัง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ กลายเป็นหนังถูกปิดที่คนอ้าแขนรับมากที่สุดในขณะนี้ นี่อาจจะเป็นอีกหมุดหมายสำคัญท่ามกลางความแตกแยกและความไม่สงบอย่างรุนแรงในทางการเมือง ความคิด และความเชื่อของผู้คนในสังคม เพราะแม้แต่คนในแวดวงภาพยนตร์ซึ่งอาจมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ก็ยังเรียกร้อง “เสรีภาพ” สำหรับทุกจุดยืน เพื่อให้สังคมได้มีโอกาสถกเถียงกันด้วยตัวเอง
ศาสวัต บุญศรี อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คงเป็นเรื่องยากที่จะให้ 'กองเซนเซอร์' ปรับกระบวนคิดให้เป็นดั่งอารยะ ผมเองอยากสนับสนุนให้มานิตย์และอิ๋ง เค อาศัยช่องทางนิว มีเดีย ในการเผยแพร่ผลงาน หากงานชิ้นนี้ไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีวันฉายในสื่ออื่นได้ แม้อารมณ์ความรู้สึกจะไม่ได้คล้ายที่ฉายผ่านฟิล์ม ทว่าความคิดของผู้กำกับย่อมไปสู่ผู้ชมได้โดยตรง จากนั้นค่อยเป็นเวลาอันอารยะที่เราจะถกเถียงกันถึงประเด็นในหนังกันด้วย เหตุผลว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร "I disapprove of what you say, but I will defend to the death your right to say it" ธัญสก พันสิทธิวรกุล ผู้กำกับหนังสั้น เป็นสัปดาห์ที่มีข่าวเกี่ยวเนื่องกันหลายประเด็นน่าสนใจ เพราะต่อจากการแบนหนังเรื่องนี้แล้ว ก็ตามมาด้วย พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา (ที่มีการกำหนดโทษให้จำคุก 5-10ปี และปรับแสนถึงห้าแสนบาท) ตามด้วยพระพุทธรูปปางแม็คโดนัลด์ (ที่เขาว่าเป็นของศิลปินชื่อ Jani Leinonen แต่คนไทยเอามาเป็นประเด็นซัดร้านแดกด่วน โดยไม่ยักมีใครเอะใจว่า ทำไมเขาจึงเสียดสีศาสนากับของกินยี่ห้อนี้) และคำขอโทษของ คำ ผกา (ที่ไม่ยักมีใครสาวต่อ ต่อข่าวลือเรื่องมาเฟียหัวโล้นข่มขู่) แน่นอนว่าในฐานะคนทำหนัง ผมย่อมไม่เห็นด้วยต่อการเซ็นเซอร์ แล้วก็ยกย่องต่อผู้ใดก็ตามที่ต่อสู้กระบวนการแบนหนังด้วยใจบริสุทธิ์ แม้ว่าโดยส่วนตัว ผมเลือกที่จะทำงานใหม่ ๆ ต่อไป มากกว่าจะมาเสียเวลาสู้กับเรื่องอะไรแบบนี้ เพราะรู้ว่ากระบวนการแบนหนังของประเทศนี้ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ตราบเท่าที่ประเทศยังคงอ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เบื้องหลังเป็นเผด็จการ จะเปลี่ยนไปกี่ยุคกี่สมัย เปลี่ยนรัฐบาลเป็นฝ่ายใด ตายแล้วเกิดใหม่(ถ้ามี) ก็ยังคงต้องถูกฝังรากไปเจ็ดชั่วโคตรอยู่ดี (ตอนนี้ผมชักไม่แน่ใจแล้วว่า มีคนเยอะแค่ไหนที่รู้ว่าประเทศอื่นข้างนอกนั่น เขาสามารถก่นด่าพระเจ้า ค้นหาว่าพระเจ้ามีจริงไหม โดยอย่างมากก็มีคนออกมาต่อต้าน หรือหาข้อพิสูจน์โต้แย้ง ทว่าไม่ถึงขั้นล่าแม่มด แขวนคอ ย่างไฟ อย่างศตวรรษที่ 15-17 เหยดดด กี่ร้อยปีแล้ววะ) ต้องออกตัวก่อนว่า ยังไม่มีโอกาสดูเชคสเปียร์ต้องตาย แต่เคยดูงานเก่า ๆ ของทั้ง มานิต และอิ๋ง เค ก็ต้องยอมรับว่าเปรี้ยวเก๋ท้าทายกระตุกต่อมคิดต่อสังคมได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็น คนกราบหมา (My Teacher Eat Biscuit) ของอิ๋ง ที่ว่าด้วยลัทธิกราบไหว้หมา และมีฉากเสียดสีเรื่องการเสพศพของพระ ที่เคยถูกแบนสมัยบางกอกฟิล์มยุคแรก ๆ(ที่เคยเลือกฉายหนังก้าวหน้ากว่ายุคหลังเยอะเลย) หรืองานชุดพิงค์แมนของมานิต ที่มีมาตั้งแต่ยังไม่มีสีเสื้อ ชมพู เหลือง แดง เขียว ฟ้า สลิ่ม อย่างทุกวันนี้ ก็ถูกตีความจากบริบทบริโภคนิยมกลายเป็นอื่นไป เมื่อความหมายทางสีถูกกำหนดค่าโดยสังคมหลังจากนั้น (ซึ่งต้องขอปรบมือยกย่องในความชาญฉลาดยิ่ง ที่สามารถทำให้สัญญะกลายเป็นเรื่องย้อนแย้งหากมองจากมุมของแต่ละฝ่าย ซึ่งช่างซ้อนทับได้เหมาะเจาะพอดีกับ กรณีสีแดง ในเชคสเปียร์ต้องตาย) ส่วนที่ไม่แน่ใจนัก คือกรณีมารยาทการเปิดเผยรายชื่อผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ เดาว่านี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการแอบเปิดเผยให้สาธารณะชนได้รับรู้ ซึ่งข้อดีก็คือทำให้เห็นว่าในหมู่ 7 คน ยังมี 3 เสียงที่ไม่ลงลายเซ็นต์(ขอยกย่องความใจกว้างของท่านเช่นกัน แต่ผมก็อยากรู้จริง ๆว่า ถ้าเป็นรัฐบาลชุดที่แล้ว จะมีคนเซ็นต์แบนกี่คนกันหนอ) ทว่าหากผมเป็นกรรมการชุดนี้ก็น่าหนักใจ เพราะประเด็นที่มานิตกับอิ๋งแฉไว้ในบทสัมภาษณ์คมชัดลึกนั้น เรียกได้ว่าเซ็นเซอร์ชุดนี้ต้องตั้งหลักอีกหลายวันกว่าจะหายเป๋ทรุด แล้วออกมาตอบข้อซักถามได้(โชคดีที่ช่วงนี้เป็นวันหยุดยาว) ไม่ว่าจะกรณีเครื่องเพชร หรือสีเสื้อ ซึ่งนัยที่ถูกซ่อนไว้(และไม่ได้ซ่อน)ทั้งจากข่าว หรือบทสัมภาษณ์เอง จงใจชี้ชัดว่า เป็นเพราะรัฐบาลนี้ เป็นสีแดงเลยสั่งแบน ผมกลับเชื่อโดยสนิทใจว่า แม้ว่าท่านจะส่งเซ็นเซอร์ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน หนังก็ยังต้องถูกแบนอยู่ดีนะขอรับ แล้ว คนกราบหมา ก็เคยโดนแบน สมัยประเทศเรามีนายกชื่อ ชวน หลีกภัย ไม่ใช่หรือครับ คนไทยช่างลืมง่าย แม้ว่าจะอ้างว่าได้ผ่านการให้ทุนสนับสนุนโครงการไทยเข้มแข็งจากรัฐบาลชุดก่อน(นี่ยังไม่ต้องนับที่มาว่าไทยเข้มแข็งเอาเงินมาแต่ใดและใช้ไปอย่างคุ้มค่าเป็นประโยชน์หรือไม่ แล้วต้องเอาเงินจากส่วนไหนในการคืนเงินกู้) แต่ในเบื้องแรก หนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทุนแม้แต่บาทเดียวจากโครงการนั้นมิใช่หรือครับ จนต้องออกมาต่อสู้กรณีที่ให้งบกับหนังบางเรื่องมากเกินไป เศษเหล่านั้นจึงกระเด็นตกมาถึงหนังจิ๊บ ๆ เรื่องอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงเชคสเปียร์ต้องตายนี่ด้วย (หนังที่ได้ทุนและฉายไปแล้วคือ อีนางเอ๊ยเขยฝรั่ง, คนโขน, ซามูไรอโยธยา ฯลฯ .....เอิ่ม) เกมในครั้งรัฐบาลชุดที่แล้ว ออกมาแก้เกี้ยวด้วยการพิจารณาเพิ่ม และเลือกหนังให้กับหนังที่น่าจะมีปากมีเสียงโต้แย้ง ผมแอบเชียร์ว่าไม่ต้องอายหรอกฮะ ถ้ารัฐบาลนี้จะแก้เกม ด้วยการอนุญาตให้ผ่าน แล้วให้เรทส่งเสริมสนับสนุน อย่างที่ทีมผู้สร้างภาพยนตร์ขอไป โดยส่วนตัวผมค่อนข้างจะผิดหวังต่อผู้กำกับเพียงเรื่องเดียวคือ หากดูจากงานก่อน ๆ หรือแม้แต่งานนี้ ก็น่าจะมีวิสัยทัศน์กว้างก้าวหน้าพอตัว แต่ก็ยังตกเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรม "เผาบ้านเผาเมือง" อยู่ดี ซึ่งขอให้ตัวท่านย้อนกลับไปตรวจสอบดูเอาเถิดว่า บรรดารายชื่อที่ลงเพื่อช่วยเหลือท่านในการต่อสู้กองเซ็นเซอร์ครั้งนี้นั้น ส่วนหนึ่งเขาไม่ฝักใฝ่สีแดงกันหรืออย่างไร.....ประเทศนี้ช่างย้อนแย้ง อย่างไรก็ตาม ผมกลับคิดว่า หากต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สิ่งที่ควรทำมากกว่า คือการเรียกร้องให้ยกเลิกเรทแบนและเรทส่งเสริม มิเช่นนั้น ก็จะมีเหยื่อรายใหม่ ๆ ไม่สิ้นสุด นะขอรับ...หลานเสรีไทย
FILMSICK นามปากกาของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ – คอลัมนิสต์ นิตยสาร Bioscope ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในที่สุด ระบบเรทติ้งแสนสุขของประเทศนี้ (ที่จัดเรทกันอย่างครื้นเครงด้วยการมี เรท ส. : ส่งเสริม สำหรับบทหนังเชิดชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และ เรท ฉ. :เฉพาะที่สามารถเอามาใช้การส่งเสริมการขายสำหรับหนังบางกลุ่มได้เป็นอย่างดี) ได้คลอดลูกหลานแห่งการแบนทั้งที่ยังจัดเรทออกมาอย่างน่าตื่นเต้นด้วยการสั่งแบน ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ภาพยนตร์โดยคุณ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือที่รู้จักกันดีในนามอิ๋ง เค หนึ่งในผู้กำกับหญิงไม่กี่คนของประเทศนี้ และหนึ่งในผู้กำกับไม่กี่คนไม่ว่าชายหรือหญิงที่ทำหนังซึ่งท้าทายและกล้าหาญมาตลอดหลายปี ตัวหนังนั้นดัดแปลงมาจากละครของเชคสเปียร์อย่างแมคเบธ โดยผู้สร้างถอดทุกคำจากบทประพันธ์ดั้งเดิมออกมาเป็นภาษาไทยทั้งหมดโดยไม่ตัดทอน และตีความใหม่ผ่านประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย อีกครั้งที่การแตะต้องสิ่งที่เลยพ้นไปจากความครื้นเครงสนุกสนาน สิ่งที่มีความเป็นการเมืองมากกว่าเรื่องเล่า สิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ หรือสิ่งที่เป็นประเด็นที่สังคมสมควรถกเถียง ถูกฆ่าเสียตั้งแต่อยู่ในครรภ์ สำหรับคุณอิ๋ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรก หลายปีก่อน หนัง คนกราบหมา ของเธอก็ไม่เคยได้ฉายไม่ว่าที่ไหนเว้นแต่การจัดฉายกลุ่มเล็กๆ สองสามครั้งเนื่องจากถูกรายงานว่าหนังของเธอนั้นก้าวล่วง เสียดสี เยาะเย้ยบางศาสนา ที่น่าเศร้าคือ คนกราบหมานั้นเป็นหนังเสียดสีสังคมไสยศาสตร์ที่ตลกที่สุด แยบคายที่สุด และสนุกที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่ประเทศไทยเคยมีการสร้างกันมา น่าเสียดายยิ่งที่คนไทยไม่มีโอกาสจะได้ดูมัน ที่นี่ประเทศไทย ประเทศที่แสวงหาความปรองดองอย่างขะมักเขม้น ประเทศยิ้มสยามที่นิยมสงบสันติ อีกครั้งได้เปิดเผยโฉมหน้าของความสงบสันติของตัวมันเองให้เราได้เห็น นั่นคือการทำลายได้ทุกอย่างเพียงเพื่อความสงบสันติ ความสงบสันติไม่ใช่การแสวงหาข้อตกลงร่วมกันผ่านการถกเถียงฉันมิตร (การถกเถียงในประเทศนี้ไม่ทำให้เกิดมิตร แต่จะทำให้เกิดศัตรูที่เจ้าคิดเจ้าแค้นอย่างยิ่ง) หากคือการปิดปากให้สนิทต่อการถกเถียง และหันมาสนุกสนานกับการซุบซิบนินทา การซ่อนความขัดแย้งไว้ใต้พรมลายกนก เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ทั้งจากชาติตระกูล การศึกษา หรือความมีชื่อเสียง ได้รับเกียรติให้ลีลาศบนพรมผืนนั้น ข้อหา ‘มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ’ จึงไม่ใช่ข้อกล่าวหาที่เกินจินตนาการ หนำซ้ำยังยืนยันความรักสงบสันติอย่างรุนแรงจนเกือบจะเป็นอาการฮิสทีเรียแห่งอาการ ‘ไทยนี้รักสงบ’ เสียด้วยซ้ำ ตลอดหลายปีที่ความขัดแย้งได้ฝังรากลงในสังคมอย่างถึงแก่น ไม่ได้สอนให้เข้าใจเลยว่า มีแต่การเผชิญหน้าด้วยท่าที่เป็นมิตร การทำความจริงให้ประจักษ์ และการให้ความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมเท่านั้นที่จะช่วยให้เราได้รับความสงบอย่างแท้จริง เราสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งร่วมกันได้ง่ายกว่านี้ คือลืมมันไปเสีย การทำความจริงให้ประจักษ์คือการฟื้นฝอยหาตะเข็บ การให้ความยุติธรรมคือการยอมรับว่าก่อนหน้านั้นเราทำผิดพลาด ถึงที่สุด เรา ‘ทำเองก็ได้ง่ายจัง’ ด้วยการไม่พูดถึงมันอีก อีกครั้ง และอีกครั้ง “มาถึงวันนี้ แทนที่จะเป็นอันธพาลคลั่งเจ้าที่เราต้องกลัว เรามีกลุ่มคนบ้าคลั่งกลุ่มอื่นที่ไร้เหตุผลและนิยมความรุนแรงอย่างแท้จริง อันเป็นผลงานมหกรรมปั่นหัวโดยเครื่องจักรทักษิณ ดังนั้น ไม่ว่าเขาจะอ้างว่าเขาเป็นซ้ายหรือว่าเป็นขวาไม่ใช่ประเด็น แต่คนลักษณะนี้ทำให้ชีวิตของเราและของบ้านเมืองไร้เหตุผลและเสียสติ ทำให้ความสงบเหือดหายและเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเยอรมันกับนาซี เราควรให้ลูกหลานทุกคนได้เห็นภาพนี้ เราควรจดจำมันไว้เสมอ ไม่ใช่เพื่อโหมไฟอาฆาตพยาบาทต่อกัน แต่เพื่อเตือนใจทุกคน รวมทั้ง‘คนดี’ อย่างที่เราคิดว่าเราเป็นด้วย ที่อาจกลายเป็นปีศาจได้ ถ้าถูกยั่วยุเกินทน” -อิ๋ง เค ผู้กำกับ จากปากคำของผู้กำกับ เป็นที่แน่ชัดว่า ผมน่าจะเป็นหนึ่งในผู้คนที่อยากจะกระโดดลงไปถกเถียงกับหนังอย่างถึงที่สุด อีกครั้งที่ผมอยากจะเขียนยาวๆ ถึงหนังเรื่องนี้ในฐานะหมุดหมายของสังคม รูปแบบของการบันทึกและตีความเหตุการณ์ ซึ่งอาจจะอยู่ในฝั่งตรงข้ามกับความคิดของผมไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด มีแต่การได้ดูมัน ครุ่นคิดเกี่ยวกับมัน ถกเถียงเกี่ยวกับมันเท่านั้นจึงจะทำให้ผมได้สงบศึกกับมันได้ แต่ไม่มีโอกาสนั้น …….. ถึงที่สุดผมจึงยังหวังลมๆ แล้งๆ ว่าผมจะได้ดูหนังเรื่องนี้ ถ้าหากมันจะทำให้เกิดความแตกแยก ถ้ามันจะทำให้ผมต้องการจะต่อสู้กับหนัง ก็ไดโปรดให้สิทธิ์ผมในการต่อสู้กับมันด้วยตนเองด้วยเถิด (อ่านบทความฉบับเต็มของ FILMSICK ได้ที่นี่)
000000000
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เครือปฏิรูปที่ดินตรังระดมชุมชนพื้นที่เขตป่าทับซ้อนร่วมเคลื่อนไหว ยืนยันสิทธิ์ Posted: 09 Apr 2012 09:34 AM PDT สืบเนื่องจากสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า นำกำลังเข้าไปตัดฟันสวนยางพาราในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู และรื้อสะพานเข้าพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านหาดสูง วันนี้ (9 เม.ย.2555) เวลา 11.00 น.นางกันยา ปันกิติ พร้อมด้วย นายสมนึก พุฒนวล และกรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ประมาณ 20 คน ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น และทิศทางการขับเคลื่อนของเครือข่าย ณ มูลนิธิอันดามัน เลขที่ 35/10 หมู่ที่ 4 ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง นางกันยา ปันกิติ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า จากที่มีกระแสข่าวว่าชาวบ้านใช้ความรุนแรงขัดขืนการปราบปรามของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย กรณีบ้านหาดสูง พี่น้องได้กราบวิงวอนร้องขอ เหมือนคนไม่มีทางสู้ แต่ในที่สุดก็ถูกฟันทำลายสะพานเข้าหมู่บ้านโดยไม่มีความปราณี ทั้งๆ ที่สำนักงานโฉนดชุมชน สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ชะลอการรื้อถอนสะพาน และส่งข้อมูลไปให้สำนักงานโฉนดชุมชนภายในวันที่ 10 เม.ย.นี้ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม “นอกจากนั้น มีข่าวว่าเร็วๆ นี้ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จะนำกำลังประมาณ 200-300 คน จะเข้าไปรื้อถอนสวนยางพาราที่บ้านตระ การกระทำเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้มารังแกคนจนที่อยู่อาศัยในชุมชนดั้งเดิมได้อย่างไร แสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ปรองดองกับชาวบ้าน ไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายการรับรองสิทธิชุมชน ตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และคนไทย ขอให้สังคมร่วมกันตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล และกรมอุทยานฯ ด้วย” นางกันยา กล่าวและว่า ด้านนายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ทางเครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ให้รัฐบาลสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน โดยให้คุ้มครองพื้นที่ และรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร 2.ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ หยุดการกระทำที่ป่าเถื่อนและแอบแฝงทุจริต และหันกลับมาทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการดูแลรักษาป่า 3.ให้ ผวจ.ตรัง กำกับหน่วยงานป่าไม้และหน่วยงานอื่น เพื่อให้เกิดการปราบปรามผู้บุกรุกป่าตัวจริง และยุติการกลั่นแกล้ง ข่มขู่คุกคามดำเนินคดีในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม 4.ให้สังคมร่วมกันตรวจสอบความถูกต้อง และขอบเขตการใช้อำนาจรัฐของกรมอุทยาน นายสมนึก กล่าวต่อไปว่า ทางเครือข่ายฯ มีกำหนดจะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 10 เม.ย.นี้ จะเคลื่อนขบวนรณรงค์ออกแจกแถลงการณ์ในพื้นที่อำเภอเมืองตรัง คาดว่าจะมีสมาชิกเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 200 คน ซึ่งจะมีทั้งขบวนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ จะเข้ายื่นหนังสือถึงนายเสนีย์ จิตตเกษม ผวจ.ตรัง ด้วย จากนั้น ในช่วงสัปดาห์นี้จะรณรงค์อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทุกอำเภอของ จ.ตรัง โดยเฉพาะอำเภอที่ติดอยู่ในเขตป่า เพื่อให้คนตรังได้รู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเข้าใจว่าสมาชิกเครือข่ายฯ ไม่ใช่ผู้บุกรุกป่า แต่เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่มายาวนาน และมีกติกาในการดูแลรักษาป่าอย่างชัดเจน ในส่วนพี่น้องที่เดือดร้อนจากการประกาศเขตป่าทับซ้อนพื้นที่กลุ่มอื่นๆ ก็จะได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกับเครือข่ายฯ ต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เชคสเปียร์ต้องตายเสมอ: ถ้อยแถลงส่วนบุคคล Posted: 09 Apr 2012 09:32 AM PDT สามปีก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่หนัง THIS AREA IS UNDER QUARANTINE ถูกถอดออกจาเทศกาลภาพยนตร์แ ‘ผมขอย้ำอีกครั้ง การเซ็นเซอร์คือยาพิษของโลก สำหรับผมนั้น การเซนเซอร์ไม่ได้เพียงทำลา สามปีล่วงพ้นมาแล้ว และยังเต็มไปด้วยเรื่องน่าต ดังที่เคยกล่าวไป หนังไม่ได้ทำหน้าที่ในการสั่งสอนศีลธรรม เพราะภาพยนตร์ไม่ใช่พระ ไม่ใช่นักศีลธรรม หนำซ้ำ ภาพยนตร์ยังต้องทำให้เห็นถึ ผมไม่เคยลืมว่าการต่อสู้ของ จวบจนถึงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่ อีกครั้งที่การแตะต้องสิ่งที่เลยพ้นไปจากความครื้นเครง สำหรับคุณอิ๋ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรก หลายปีก่อน หนัง คนกราบหมา ของเธอก็ไม่เคยได้ฉายไม่ว่า ที่นี่ประเทศไทย ประเทศที่แสวงหาความปรองดอง ข้อหา ‘มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการ ตลอดหลายปีที่ความขัดแย้งได้ “มาถึงวันนี้ แทนที่จะเป็นอันธพาลคลั่งเจ้าที่เราต้องกลัว เรามีกลุ่มคนบ้าคลั่งกลุ่มอื่นที่ไร้เหตุผลและนิยมความ จากปากคำของผู้กำกับ เป็นที่แน่ชัดว่า ผมน่าจะเป็นหนึ่งในผู้คนที่ แต่ไม่มีโอกาสนั้น มีความจำเป็นอันใดหรือที่เร แน่นอนว่าผมไม่ได้เห็นด้วยกับหลายส่วนของบทสัมภาษณ์ ไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้กำกั แต่ทั้งหมดนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องพูดถึงในตอนนี้เลยแ กลับมาที่ภาพยนตร์อีกครั้ง จากประวัติศาสตร์ของแวดวงภา ถึงที่สุดผมจึงยังหวังลมๆ แล้งๆ ว่าผมจะได้ดูหนังเรื่องนี้ ถ้าหากมันจะทำให้เกิดความแต เชิงอรรถ (1): http://prachatai.com/ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ความเห็น "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" หลัง "คิดเล่นเห็นต่าง" ประกาศพัก 1 เดือน Posted: 09 Apr 2012 04:03 AM PDT หมายเหตุ: วันนี้ (9 เม.ย.) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์สถานะลงในเฟซบุคตั้งค่าการเข้าถึงสาธารณะ หลังจากที่ลักขณา ปันวิชัย หรือ "คำ ผกา" ประกาศก่อนเข้ารายการ “คิดเล่น เห็นต่าง” ทางวอยซ์ทีวี ซึ่งคำ ผกา เป็นผู้ดำเนินรายการว่าจะหยุดออกอากาศรายการเป็นเวลา 1 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 เมษายน นี้ และจะกลับมาออกอากาศอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม 2555 โดยให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ต้องหยุดออกอากาศชั่วคราวเนื่องจากต้องการแสดงความรับผิดชอบ และขอขมาต่อพระรัตนตรัยรวมทั้งขอกราบขอโทษต่อมหาเถรสมาคม และองค์กรพุทธทั่วประเทศ ที่รายการได้กล่าวล่วงเกินซึ่งออกอากาศในวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม ในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องการสวดมนต์ข้ามปี (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยความเห็นของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มีรายละเอียดดังนี้ 000 นี่ผม "ช็อค" มากเลยนะ ผมไม่ทราบว่า คุณแขก Kiku Nohana มีเหตุผลอะไรเรื่อง "ขอขมา" และ "พักรายการ 1 เดือน" นะครับ และขอย้ำว่า ทีเขียนต่อไปนี้ ไม่ได้เป็นการพูดถึงหรือวิจารณ์คุณแขก โดยตรง แต่ทีคุณแขก พูดไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม มันเป็น "สาธารณะ" ไปแล้ว (เหมือนงานเขียน หรือการพูดในทีสาธารณะของใครก็ตาม) และก็มีปฏิกิริยา จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกรณี พระมหาโชว์ ("นมเหียว" "หัวนมดำ") เป็นประเด็นสาธารณะไปแล้วเช่นกัน บอกตรงๆว่า รู้สึกไม่ดีมากๆเลย กับการที่เรื่องมาลงเอยแบบนี้ คุณแขก พูดไปตอนแรก เมื่อวันที่ 10 มีนา จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ยังไงก็ตาม ก็ควรถือเป็นเรืองถกเถียง ต่อให้ คนที่ไม่เห็นด้วย ก็เถียงกัน ดีเบตกัน แม้แต่ "ดีเบต" แย่ๆ แบบพระมหาโชว์ ตอนแรก ก็ยังดี ที่ไม่ดี คือ เริ่มไป "ดึง" อำนาจรัฐ เข้ามาเกียวข้อง ด้วยการยื่นหนังสือต่อ กมธ.สภา นันแหละ และทีตอนนี้ ผมเห็นว่า ไม่ดีมากๆ ก็คือการลงเอยแบบนี้แหละ ............. ผมไม่ได้ตั้งใจจะโยงอะไร แต่ถ้าใครติดตามที่วันก่อนผมไป "ดีเบต" กับ คุณ ศาสดา ประเด็นมันอันเดียวกันนันแหละ ประเทศนี้ "พื้นที่อ่อนไหว" (sensitive areas) หรือ "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์" (sacred areas) มันมากเกินไป และสังคมไทยควรต้องเรียนรู้ที่จะ (ก) ลดทอน "ความศักดิ์สิทธิ์" ทังหลายลง ให้กลายเป็นเรื่องความเห็น ความรู้สึกส่วนตัว ในแง่ "คำสอน" อะไรเฉยๆ ไมใช่อะไรที่มัน "ศักดิ์สิทธิ์" (ไหนๆ พุทธ เองก็ชอบอ้างไมใช่หรือ เรื่อง เป็นวิทยาศาสตร์ ไมใช่เรืองศักดิ์สิทธิ์) และ (ข) ต่อให้ บางคนจะยังรู้สึกว่า มีบางอย่าง "ศักดิ์สิทธิ์" ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนอื่นที่ เห็นว่า สิ่งนัน ไม่เพียงไม่ศักดิ์สิทธิ์ ยัง "ดาษๆ" (profane) หรือ ตรงข้ามกับความ "ศักดิ์สิทธิ์" นั้น ด้วย ความจริง ผมนึกจะเขียนเรือ่งนี้ อยู่พอดี เมื่อเช้า ทีเห็น "ปางแม็คโดนัลด์" น่ะ นึกไม่ถึงว่า จะมาเจอกรณีนี้ให้เขียน โดยโยงกับประเด็นนี้ 000 ก่อนอื่น ขอให้ผมย้ำว่า ผมถือว่า ที่ "ดีเบต" กับคุณ ศาสดา มัน "จบ" แล้ว (ไม่ได้แปลว่า ไม่ยินดีจะดีเบตอีกในประเด็นเดียวกันนะ) และผมไม่เคยมองว่า มันเป็นเรือ่ง "แพ้-ชนะ" อะไร และจริงๆ ก็ไม่แฮปปี้เท่าไร ทีหลายคน ล้อเล่น เป็นเรือ่งทำนองนั้น (แต่ก็เข้าใจว่า เป็นความเคยชินทีจะเฮฮาแบบนัน) ทีผมยกเรือ่งนี้ขึ้นมาอีกก็เพราะจะย้ำว่า ทำไม วันก่อน ผมจึง "เอาเป็นเอาตาย" "เอาจริงเอาจัง" กับประเด็นนั้นมาก เพราะผมมองในเรื่อง "นัยยะ" ทีมันกว้างออกไป ถึงปัญหา ซึงผมเห็นว่าสำคัญมากๆ และเป็นเรื่องร่วมสมัยมากๆ คือ เราควร "จัดการ" อย่างไร กับปัญหาเรื่อง "ความศักดิ์สิทธิ์" ในสังคมสมัยใหม่ ไมว่าจะเป็นเรื่องทีเกียวกับ ศาสนา หรือ เกี่ยวกับ กษัตริย์ ผมมองว่า กรณีล่าสุดเรือ่งรายการของคุณแขก Kiku Nohana ก็เป็นเรื่องนี้ คือ เริ่มจาก มีบางคน (คุณแขก) แสดงความเห็นบางอย่างหรือแสดงออกบางอย่างออกไป แล้วมีคนอีกส่วนหนึง (ต่อให้เป็น "ส่วนใหญ่" หรือ จำนวนมากกว่า ผมไม่คิดว่าเป็นประเด็น) ที ไม่พอใจ หาว่าเป็นการ "ละเมิดความศักดิ์สิทธิ์" บางอย่าง ผมยืนยัน เหมือนกับทียืนยันในการ "ดีเบต" กับคุณศาสดา ว่า ในสังคมสมัยใหม่ เราต้องเริ่มต้นจากหลักการทีว่า แต่ละคนมีสิทธิทีจะคิด และแสดงความเห็นอย่างเสรี ไม่รุนแรง และ ความเห็นแต่ละคน หรือบางคน อาจจะไปในทางตรงกันข้ามแบบสุดๆ เลย กับสิ่งทีคนอื่น หรือคนจำนวนมากเชื่อกันอยู่ ทางออกคือ ต้องส่งเสริมวัฒนธรรมทีรู้จัก "อดทน อดกลั้น" หรือทีเรียกว่า "ขันติธรรม" (tolerance) ต่อความเห็นทีไม่เหมือนกับเรา และจะอ้าง เรื่อง "จำนวน" เรื่อง "เสียงส่วนใหญ่" อะไร มากดทับ มาบังคับ ไมให้ คนทีเป็น "ส่วนน้อย" กระทัง เป็นเพียงคนๆเดียวในสังคม ไม่ได้ เราต้องเริ่มต้น จากการยอมรับว่า ในสังคมสมัยใหม่ มีความหลากหลายทางความคิด มากๆ สิ่งเดียวกัน ทีบางคน (แม้แต่ "คนส่วนใหญ่") เห็นว่า "ศักดิ์สิทธิ์" "แตะต้องไม่ได้" ก็มีบางคน (แม้แต่ แค่ คนเดียว) ทีจะเห็นตรงข้ามเลยก็ได้ คือ ไม่เพียง "ไม่ศักดิ์สิทธิ์" อาจจะเห็นว่า "ล้อเลียนได้" "ประณามได้" ด้วย 000 วันก่อนระหว่าง "ดีเบต" กับคุณ ศาสดา ผม "แตะ" หรือยกตัวอย่างสั้นๆ ถึงกรณี การ์ตูนที่ฝรังเดนมาร์ก คนหนึง เขียนล้อเลียนพระศาสดาของอิสลาม อันทีจริง มีอีกตัวอย่างทำนองเดียวกัน คือเรื่อง "ซัลมาน รุสดิ" ในนิยายเรื่อง The Satanic Verses (หรือ ทีผมยกซ้ำแล้วซ้ำอีก ในเรื่องเกียวกับ สถาบันกษัตริย์ไทย เรื่อง "พ่อ" อะไรนี่แหละ) ผมขอย้ำว่า ผมเองไม่เห็นด้วยกับการ์ตูน นสพ. เดนมาร์ก ที่วา และต้องการจะบอกว่า ฝรั่งจำนวนมาก รวมทั้งชาวเดนมาร์ก เอง ก็ไม่เห็นด้วย กรณี รุสดิ ก็เช่นกัน คนอังกฤษ หรือคนฝรังเอง จำนวนไม่น้อย ก็ไม่ชอบที รุสดิ เขียน แต่ปัญหาคือ สังคมที่ "mature" หรือ มี "วุฒิภาวะ" ทางด้านวัฒนธรรม อย่างในกรณีเดนมาร์ก หรือ อังกฤษ เขาจุัดการเรือ่งนี้ คนละแบบกับสังคม ที่ไม่ยอมบรรลุ วุฒิภาวะ อย่างประเทศไทย หรือประเทศแถบนี้หลายประเทศ นันคือ เขาถือว่า นี่เป็น "ความเห็น" ของเอกชน คนหนึง ที่มีสิทธิจะแสดงออกได้ และได้รับการคุ้มครอง การแสดงออกนั้น ตามหลักประชาธิปไตยของเขา หลายคนชี้ให้เห็นด้วยว่างาน "ศิลปะ" หรือ "ศิลปิน" หรือ นักคิดนักเขียน ปัญญาชน นั้น มีลักษณะอย่างหนึงทีเลี่ยงไม่ได้เสมอ คือ offend ("ก่อให้เกิดความระคายเคืองใจ") ต่อคนอื่นๆ อยู่เป็นปรกติอยู่แล้ว เพราะนี่เป็น ธรรมชาติ ของงานศิลปะ หรือ ธรรมชาติ ของการแสดงออกของการคิด การตั้งคำถาม ซึงเป็นการสะท้อน ความอุดมสมบุรณ์ของวัฒนธรรมในสังคมทีเสรี ถ้าการแสดงออกของ "เอกชน" คนใด อย่างกรณีนักวาดการ์ตูน หรือ กรณีรุสดิ ไป offend ความรู้สึกใครเข้า คนที่รู้สึกถูก offended ก็สามารถตอบโต้ ประณาม ได้ แต่ที่ไม่ควรทำมากๆคือ การไปสร้างการ "กดดัน" ให้เอกชนนั้น ต้อง ยุติ หรือต้อง "ถอน" หรือบังคับห้ามการแสดงออกนั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไมควร จะใช้การข่มขู่ หรือ กดดัน ด้วยกฎหมาย ด้วยอำนาจรัฐ เด็ดขาด (รุสดิ ถูก "หมายหัว" เป็นเวลาหลายปี ทางการอังกฤษ ซึงก็ไม่ได้แชร์ ทัศนะ ของรุสดิ ก็ยังให้ความคุ้มครองชีวิตให้) มีแต่ต้องใช้ท่าที หรือ ทางออกแบบนี้ เท่านั้น จึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมสมัยใหม่ที่ (ก) มีความหลากหลายทางความคิด และ (ข) แต่ละคนมีสิทธิ์ เท่าเทียมกัน ทีจะคิดตามแบบของตัวเอง 000 เอ้า เชิญดู-ฟังกันเองอีกครั้ง หรือ โหลดเก็บไว้ เผื่อจะถูกลบหายไป รายการ "คิดเล่นเห็นต่าง" วันที่ 10 มีนาคม 2555 http://www.youtube.com/watch?v=V1D5WWKI6do วันที่ 11 มีนาคม 2555 http://www.youtube.com/watch?v=rJQQBd36dBg และอันนี้ มีคนตัดตอนเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง http://www.youtube.com/watch?v=9JZJNZSvrVQ 000 บอกตรงๆว่าผม upset กับเรื่องนี้มากๆ ความเห็นของคุณแขก Kiku Nohana ใน "คิดเล่นห็นต่าง" วันที่ 10 - 11 มีนาคม จะถูกผิดยังไง ก็เถียงกันได้ แต่ผมมองไม่ออกเลยว่า จะถือเป็นการ "ล่วงเกินพระพุทธศาสนา" ได้อย่างไร? อะไรคือ "ล่วงเกินพระพุทธศาสนา"?? การตีความนโบายและโครงการบางอย่างของรัฐและองค์การสงฆ์ แม้กระทั่งการปฏิบัติบางอย่างของชาวพุทธ ที่ต่างกับการตีความขององค์กรสงฆ์ หรือ "ชาวพุทธส่วนใหญ่"? ความเห็นในเรื่องแบบนี้ ใช้ "เสียงส่วนใหญ่" หรือจำนวนคน หรือองค์กรศาสนา มาตัดสิน กดดันบังคับ ความเห็นของเอกชน แม้แต่คนเดียวได้หรือ? ยิ่งมองไม่ออกเลยว่า คุณแขก มีอะไรทีต้อง "ขอขมาต่อพระรัตนตรัย" หรือ องค์กรสงฆ์ต่างๆ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ทหารพม่า–กองกำลังไทใหญ่ 'เหนือ' รบกันไม่หยุด ชาวบ้านนับร้อยหนีตาย Posted: 09 Apr 2012 02:18 AM PDT ทหารพม่าและกำลังไทใหญ่ "เหนือ" ยังสู้รบกันต่อเนื่องในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือ ทั้งสองฝ่ายเพิ่งลงนามหยุดยิงกันครั้งใหม่เมื่อปลายเดือนมกราคม ผลจากการสู้รบสองฝ่ายทำชาวบ้านนับร้อยต้องอพยพหนีออกจากพื้นที่ แหล่งข่าวในพื้นที่รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. มาจนถึงเมื่อวานนี้ (8 เม.ย.) เกิดเหตุสู้รบกันระหว่างทหารกองทัพพม่าและกองทัพรัฐฉาน SSA / SSPP หรือ กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" อย่างน้อย 3 ครั้งในพื้นที่เมืองแสนหวี การสู้รบเกิดจากทหารพม่าลาดตระเวนกดดันกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" โดยเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 6 เม.ย.สองฝ่ายสู้รบกันอย่างหนักที่บริเวณบ้านโหเหม็น – กองลาง ฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 7 นาย บาดเจ็บ 7 นาย ต่อมาเวลาประมาณ 20.00 น. วันเดียวกัน สองฝ่ายได้ปะทะกันอีกครั้งในพื้นที่เดียวกัน ฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บอีก 4 นาย ส่วนฝ่ายกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" ไม่มีรายงานการสูญเสีย เมื่อเวลา 21.00 – 22.00 น. ของวานนี้ (8 เม.ย.) ได้เกิดการสู้รบกันอย่างหนักอีกครั้ง ระหว่างทหารพม่าและทหารกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" ทหารพม่าเป็นฝ่ายรุกเข้าโจมตีก่อน กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" เป็นฝ่ายตั้งรับได้รับบาดเจ็บ 1 นาย ส่วนฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 10 นาย บาดเจ็บ 2 นาย จายวินข่าย ส.ส.เมืองแสนหวี พรรคเสือเผือก SNDP "ไทใหญ่" เปิดเผยว่า การสู้รบระหว่างทหารพม่าและกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งซ่อม (1 เม.ย.) การสู้รบทำให้ชาวบ้านในตำบลเมืองยาง กว่า 300 คน ได้รับผลกระทบต้องอพยพหนีออกจากพื้นที่ โดยเหตุการณ์สู้รบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ตนจะนำไปรายงานเรียกร้องต่อที่ประชุมสภาในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA / SSPP ภายใต้การนำของพล.ต.ป่างฟ้า มีพื้นที่เคลื่อนไหวในภาคเหนือของรัฐฉาน ได้ลงนามหยุดยิงสร้างสันติภาพกับรัฐบาลพม่ารอบใหม่เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่นับจากนั้นมาทั้งสองฝ่ายยังคงมีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง ชาวเมืองแสนหวีคนหนึ่งเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 – 26 มีนาคม ที่ผ่านมา ทหารพม่าและทหารกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" ได้ปะทะกันในพื้นที่เมืองแสนหวี เหตุเนื่องจากทหารไทใหญ่ "เหนือ" เข้าไปเคลื่อนไหวในพื้นที่และถูกทหารพม่าสกัดกั้น นับจากนั้นมาทั้งสองฝ่ายมีการสู้รบกันต่อเนื่อง และทำให้ชาวบ้านกว่า 300 คน จาก 30 ครอบครัวในตำบลเมืองยาง อยู่ห่างจากตัวเมืองแสนหวีไปทางตะวันตกราว 6 กม. ต้องอพยพไปอยู่ใกล้ตัวเมือง
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
"เทพไท" เผย "กรณ์" เตรียมนำทีม ปชป. วางดอกไม้ไว้อาลัยผู้เสียชีวิต 10 เมษา Posted: 09 Apr 2012 01:49 AM PDT เชื่อเหตุการณ์ 10 เมษา 53 ประชาชน-ทหารเสียสูญเสียเพราะการกระทำของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย-ชายชุดดำที่แฝงตัวกับผู้ชุมนุม ที่ผ่านมามีบางฝ่ายหยิบเหตุการณ์นี้ไปใช้เป็นเครื่องมือ โดยมิได้คำนึงถึงผู้สูญเสีย ทางพรรคจึงเตรียมนำดอกไม้ไปไว้อาลัยที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานวันนี้ (9 เม.ย.) ว่าที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการปรองดองที่รัฐบาลในฐานะผู้นำการปรองดอง มีท่าทีละเลยข้อเสนอที่จะนำไปสู่ความปรองดอง โดยเฉพาะท่าทีของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคนไม่ได้นำพาข้อเสนอไปปฏิบัติ แต่พยายามหยิบฉวยข้อเสนอบางประเด็นไปบังหน้าเพื่อเสนอแนวทางปรองดอง โดยเลือกข้อเสนอบางข้อแต่ไม่ใช้ข้อเสนอบางข้อของสถาบันพระปกเกล้า โดยเฉพาะการขอให้ชะลอการสรุปผลการพิจารณาแนวทางปรองดอง และแนวคิดสานเสวนาเพื่อให้เกิดความปรองดอง โดยรัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลาที่จะรับฟังการแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ยังมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคนยังออกมาถล่มเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่เสนอให้ขยายเวลาศึกษา เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหามาโดยตลอด แม้กระทั้งข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่รัฐบาลหยิบมาใช้เฉพาะการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ตนจึงอยากถามถึงข้อเสนอของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอให้นิรโทษกรรมทุกคน ยกเว้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แบบ 2 ต่อ 1 ที่ควรให้สถาบันตุลาการทำการตรวจสอบให้ชัดเจน สมาชิกพรรคเพื่อไทยกลับออกมาปฏิเสธข้อเสนอและบอกว่าการนิรโทษกรรมต้องทำทุกคนเท่ากัน เช่นนี้เท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรื่องนิรโทษกรรมต้องการทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณคนเดียว เมื่อถามถึงกรณีที่นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่าการนิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้นน่าจะเป็นการนำคดีความที่พิจารณาโดยคณะกรรมตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหากแก่รัฐ (คตส.) มาพิจารณาให้ทั้งหมด ไม่ใช่การออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นายเทพไท กล่าวว่า ต้องไปดูเนื้อหา พ.ร.บ.ปรองดองของพรคเพื่อไทยว่า สอดคล้องกับที่นายวัฒนาออกมาพูดหรือไม่ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคนไม่เคยมาร่วมฟังการรายงานผลการศึกษาความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้าเลย นายวัฒนาควรไปทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคและนายกรัฐมนตรีก่อน ทั้งนี้ข้อเสนอของนายวัฒนาถือเป็นวิธีการที่จะนิรโทษกรรมอยู่แล้วเพียงแต่ทำให้ดูคลาสสิกกว่าการนิรโทษกรรมอย่างตรงไปตรงมา นายเทพไท กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนการเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสข่าวว่ามีตัวแทนของภาครัฐไปพูดคุยกับผู้ก่อความไม่สงบ กรณีดังกล่าวถือเป็นการสร้างเงื่อนไขและเติมเชื้อไฟความไม่สงบ การเสนอแนวคิดเจรจากับกลุ่มก่อการร้ายเป็นวิธีการที่ไม่เป็นที่ยอมรับและไม่ชอบธรรม แต่จะเป็นการยกระดับองค์กรก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้ จึงขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไตร่ตรองและปรึกษากับฝ่ายความมั่นคงให้รอบคอบก่อน เพราะความผิดพลาดที่ผ่านมาล้วนเกิดขึ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ลุแก่อำนาจทำให้เกิดปัญหาลุกลามจนถึงขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณควรกลับไปถามผู้นำเหล่าทัพโดยเฉพาะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกว่าเห็นด้วยหรือไม่ ตนไม่อยากให้ปัญหาภาคใต้รุนแรงจนแก้ไขไม่ได้ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นัดประชุมร่วมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 2 ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า มีความจำเป็นเพียงใดที่ต้องเร่งพิจารณา เพราะช่วงเวลานี้ยังอยู่ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ซึ่งความจริงแล้วการพิจารณาน่าจะเลื่อนไปเป็นวันที่ 11-12 เม.ย. เพราะสมาชิกหลายคนเพิ่งได้รับเอกสารสงวนคำแปรญัตติ แต่รัฐสภากลับเร่งรัดที่จะพิจารณาในวันที่ 10 เม.ย. ทั้งนี้ ตนเห็นว่าน่าจะมาจากเหตุผล 2 ข้อคือ 1. ประธานรัฐสภาได้ประเมินการอภิปรายว่าจะใช้เวลาพิจารณานานพอสมควร จึงต้องเผื่อเวลาและวันสำรองไว้ให้กระบวนการพิจารณาสำเร็จเพื่อจะได้เว้นไป 15 วัน และหลังจากนั้นก็จะได้ลงมติวาระ 3 ภายในสิ้นเดือนเมษายน ทั้งนี้ หากการพิจารณาเป็นไปตามที่ต้องการให้เสร็จสิ้นในวันที่ 12 เม.ย.อาจทำให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยที่ต้องการเดินทางไปประเทศลาวและประเทศกัมพูชาเพื่อรดน้ำดำหัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายเทพไทกล่าวต่อว่า ตนขอเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ หากฝ่ายรัฐบาลอยากเร่งเวลาก็ให้ไปลดเวลาการอภิปรายของฝ่ายรัฐบาล ขอย้ำว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญไม่ควรเร่งรัดเพื่อเอาใจนายใหญ่ หากพิจารณาในวาระ 2 ไม่เสร็จตามกำหนดก็ให้พิจารณาหลังเทศกาลสงกรานต์ หากพิจารณาวาระสามไม่ทันก็ให้ไปลงมติกันในสมัยประชุมวิสามัญทั่วไป นายเทพไท กล่าวด้วยว่าวันพรุ่งนี้ (10 เม.ย.) พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค พร้อมด้วย ส.ส.กรุงเทพฯ จะเดินทางไปไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การปะทะกันเมื่อ 2 ปีก่อน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง กรณีวันที่ 10 เม.ย.จะเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว ซึ่งการชุมนุมในครั้งนั้นนำมาซึ่งความเสียหายแก่เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนที่บริสุทธิ์ จากการกระทำของกลุ่มคนเสื้อสีดำที่แฝงตัวอยู่กับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง และที่ผ่านมาเหตุการณ์นี้ถูกหยิบยกไปใช้เป็นเครื่องมือโดยมิได้คำนึงถึงผู้สูญเสียชีวิต สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
"ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม" เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับอ่อน Posted: 09 Apr 2012 01:21 AM PDT (9 เม.ย.55) นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์เสียชีวิตด้วยโรค มะเร็งตับอ่อน ด้วยวัย 71 ปี เมื่อเวลา 13.43 น. ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สำหรับนายไพบูลย์เคยทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายไพบูลย์รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลชั่วคราวของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2549 ต่อมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 หลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในปี 2553 นายไพบูลย์เข้ามาทำหน้าที่เป็น 1 ใน 27 กรรมการในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ
//////////////// สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
พัก “คิดเล่น เห็นต่าง” 1 เดือน คำ ผกา รับไม่ก้าวล่วง "พุทธศาสนา" Posted: 08 Apr 2012 11:40 PM PDT “คำ ผกา” แสดงความรับผิดชอบ ยุติจัดรายการ “คิดเล่น เห็นต่าง” นาน 1 เดือน ระบุน้อมรับในการกล่าววาจาพาดพิงพุทธศาสนา-มหาเถรสมาคม ยืนยันจะไม่ก้าวล่วงในเรื่องนี้ (9 เม.ย.55) เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (8 เม.ย.) ลักขณา ปันวิชัย หรือ “คำ ผกา” หรือ ผู้ดำเนินรายการ “คิดเล่น เห็นต่าง” ทางวอยซ์ทีวี ประกาศก่อนเข้ารายการว่า จะต้องหยุดออกอากาศรายการเป็นเวลา 1 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 เมษายน นี้ และจะกลับมาออกอากาศอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม 2555 โดย "คำ ผกา" ระบุเหตุผลว่า สาเหตุที่ต้องหยุดออกอากาศชั่วคราวเนื่องจากต้องการแสดงความรับผิดชอบ และขอขมาต่อพระรัตนตรัยรวมทั้งขอกราบขอโทษต่อมหาเถรสมาคม และองค์กรพุทธทั่วประเทศ ที่รายการได้กล่าวล่วงเกินซึ่งออกอากาศในวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม ในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องการสวดมนต์ข้ามปี และนับตั้งแต่นี้ต่อไป รายการของเราจะไม่กล่าววาจาใดๆ ที่กล่าวล่วงเกินต่อพระพุทธศาสนาอีกต่อไป พร้อมกราบขออภัยมาด้วยความเคารพมา ณ โอกาสนี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สัญญา กระบวนการทางกฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ Posted: 08 Apr 2012 10:24 PM PDT "หากต้นทุนทางสังคมจากการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายลดต่ำลงได้มากเท่าไหร่ เสียงของคนเล็กคนน้อยในสังคมก็ดังมากขึ้นเท่านั้น"
ในบทความที่แล้วเรื่อง “เศรษฐศาสตร์ สถาบันฯ กฎหมาย ในห้วงเวลาแห่งการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ” ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญในฐานะ “สถาบัน” หรือ กติกาที่ส่งผลต่อพฤติกรรมทางสังคม (rule of game) รวมถึงเสนอแนะมุมมองทางเศรษฐศาสตร์กฎหมายว่า รัฐธรรมนูญในอุดมคติควรมีลักษณะเป็นอย่างไร ในบทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องของทฤษฎีสัญญา (the economic theory of contract) ทฤษฎีสัญญาคือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งศึกษาและอธิบายถึงการเกิดสัญญา และการตอบสนองต่อสัญญาซึ่งมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเชิงสถาบัน โดยเฉพาะกฎหมาย [2] ก่อนที่จะทำความเข้าใจว่ากฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไรนั้นต้องกล่าวท้าวไปถึงคำอธิบายของเศรษฐศาสตร์กฎหมายต่อการเกิดขึ้นของสัญญาเสียก่อน ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์, สัญญาคือ สิ่งที่กล่าวถึงการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (exchange of benefits) ดังนั้นคนที่จะก่อสัญญาขึ้นมาร่วมกันนั้นอย่างน้อยที่สุดตนเองต้องไม่เสียประโยชน์จากสัญญาดังกล่าว หากคนยังคงมีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ เราเรียกพฤติกรรมที่ไม่ยอมจะร่วมทำสัญญาหากมีคู่สัญญาคนใดคนหนึ่งแม้เพียงคนเดียวเสียประโยชน์นี้ว่าการพัฒนาแบบพาเรโต (pareto improvement) แต่โดยส่วนใหญ่แล้วสัญญามัก “ตั้งต้น” ด้วยการร่างเพื่อให้ทั้งสองฝ่าย-คู่สัญญา ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วยกันทั้งคู่ (better off) แตกต่างเพียงว่าใครจะได้ประโยชน์มากไปกว่ากันเท่านั้น ตัวแปรที่กำหนดการกระจายผลประโยชน์จากสัญญาว่าใครจะได้ประโยชน์มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญา อย่างพ่อกับลูก สามีต่อภรรยา เป็นตัน แต่ในบริบททางเศรษฐกิจการเมืองปัจจัย “อำนาจต่อรอง” กลับเป็นตัวกำหนดสำคัญว่าใครจะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใดจากสัญญา แต่อำนาจต่อรองคือสิ่งใดเล่า? Mushtaq Khan เคนกล่าวเอาไว้ว่า อำนาจต่อรองเป็นคำที่อาจพิจารณาได้จากแง่มุมที่หลากหลาย แต่แง่หนึ่งที่น่าสนใจก็คือ “อำนาจต่อรอง หมายถึงการสร้างต้นทุนให้กับคู่สัญญา” การพิจารณาว่าอำนาจต่อรองคือการสร้างต้นทุนให้แก่คู่สัญญานั้นชัดเจนอย่างมาก (แม้จะเป็นกรณีสุดโต่งไปเสียหน่อยสำหรับโลกแห่งความเป็นจริง) ในกรณีถ้าผู้อ่านชอบชมหนังมาเฟีย เวลาคู่สัญญาถูกปืนจ่อหัวในการร่างสัญญา คู่สัญญาดังกล่าวมักไม่ค่อยเรื่องมากในการเซ็นสัญญาและมักไม่ค่อยเรียกร้องประโยชน์จากตัวสัญญาเท่าไหร่นัก คำถามสำคัญอยู่ที่ ในความเป็นจริงแล้วสัญญามีสิทธิที่จะถูกร่างขึ้นโดยมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบตั้งแต่ต้น (ไม่เป็นการพัฒนาแบบพาเรโต) หรือไม่? คำตอบคือมีความเป็นไปได้อยู่สามกรณีได้แก่ (1) ผู้ร่วมร่างสัญญาไม่มีสภาพที่พร้อมจะทำความเข้าใจสัญญา เช่น บ้า, สูญเสียสมดุลทางจิตใจ, ขาดความรู้-วุฒิภาวะในเรื่องที่ตนเองทำสัญญา เป็นต้น (2) สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญา/ ถูกหลอก และ (3) ถูกบังคับข่มขู่ให้ต้องร่วมทำสัญญา ดังนั้นจะพบว่าทั้งสามกรณีนำไปสู่ข้อยกเว้นทางกฎหมายในลักษณะต่างๆ กันเช่น เป็นโมฆะ หรือโมฆียะ ทางกฎหมายโดยส่วนใหญ่ กฎหมายจึงมักต้อง “ตั้งต้น” ที่สภาพซึ่งไม่มีใครเสียประโยชน์จากตัวสัญญาเสมอ ทว่าเนื่องจากสัญญามีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลายาวนาน สภาพซึ่งทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์จากสัญญาย่อมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาได้จากหลายปัจจัย: (1) เกิดการเปลี่ยนแปลงรสนิยม (preference change) ยกตัวอย่างเช่น ก่อนแต่งงานอาจจะชอบคู่ของเราในลักษณะหนึ่ง เมื่อแต่งงานไปแล้วอาจจะเปลี่ยนใจอยากได้คู่ชีวิตอีกแบบหนึ่ง ก็นำมาสู่ความเสียประโยชน์จากการก่อสัญญาผูกมัดขึ้นมา เป็นต้น (2) ความไม่แน่นอนของผลตอบแทน ยกตัวอย่าง การซื้อขายทองล่วงหน้า ผู้ที่ซื้อคาดหวังว่าราคาในอนาคตจะสูงขึ้นซึ่งจะทำให้การซื้อล่วงหน้าได้รับกำไร แต่ปรากฏว่าในอนาคตราคาทองอาจจะตกลงทำให้ความจริงแล้วสัญญาที่เกิดขึ้นส่งผลร้ายต่อคู่สัญญา (ผู้ซื้อ) เป็นต้น และ (3) วิกฤติที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า เช่น สัญญาส่งมอบสินค้าระบุว่าจะส่งสินค้าให้ผู้ซื้อ แต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้ส่งมอบสินค้าไม่ได้ เป็นต้น การที่สัญญาดำเนินไปแล้วพบว่า ผู้ที่เคยคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากสัญญาเกิดเสียประโยชน์ขึ้นมา คู่สัญญาดังกล่าวมักละเมิดสัญญา/ ไม่ปฏิบัติตามสัญญา, ปัญหาคือเมื่อมีการละเมิดสัญญาเกิดขึ้น คู่สัญญาจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร? หากการเจรจาเพื่อบังคับใช้สัญญาดำเนินไปได้ระหว่างคู่สัญญาโดยศานตินั่นก็ถือเป็นเรื่องดี ทว่าในทางปฏิบัติแล้ว การจะกระทำเช่นนั้น เกิดขึ้นได้ยาก การบังคับให้เป็นไปตามสัญญาโดยคู่สัญญาดำเนินการกันเอง มีความเสี่ยงที่จะนำมาสู่ความรุนแรง หรือการตีความสัญญาในลักษณะที่ให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งทำให้เกิดข้อพิพาทไม่สามารถหาข้อยุติได้โดยง่าย (market failure) ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในการสร้างความยุติธรรมทางสัญญา/ การบังคับให้เป็นไปตามสัญญาให้เกิดขึ้น ผ่านระบบยุติธรรมในฐานะผู้ชำนาญการเพื่อตัดสินให้สัญญามีสภาพบังคับและเป็นธรรมต่อคู่สัญญา (state intervention) นั่นเท่ากับว่า หากสัญญาถูกละเมิด คู่สัญญาที่เสียประโยชน์จะมีทางเลือกอยู่ 4 ทางด้วยกันคือ (1) เลิกสัญญากันทั้งสองฝ่าย กรณีนี้เกิดจากทั้งสองฝ่ายล้วนรู้สึกว่าสัญญามีผลต่อตนเองในทางลบด้วยกันทั้งคู่ (pareto inferior) เช่น แต่งงานกันมาซักระยะพบว่าต่างก็ไม่รักกันแล้วก็ขอหย่า เป็นต้น (2) นำไปสู่การชดเชยระหว่างกันเองโดยศานติ หรือเขียนหลักชดเชยไว้ในสัญญาตั้งแต่ต้น (3) นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อศาล (voices) และ (4) นิ่งเฉยและยอมถูกละเมิดสัญญา (exit) เนื่องจากกรณีทั้งสองฝ่ายจบลงด้วยดี (happy ending) อย่างการเลิกสัญญาด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย และการตกลงชดเชยกันได้นั้นค่อนข้างชัดเจน บทความนี้จะวิเคราะห์เพิ่มเติมในส่วนของกรณีที่คู่สัญญาเลือกที่จะฟ้องร้องต่อศาล และกรณีที่ยอมถอยโดยไม่ได้รับอะไรเลย ว่าเกิดมาจากสาเหตุใดบ้าง การที่คนจะเลือกฟ้องร้องหรือยอมรับความไม่ยุติธรรมจากการถูกละเมิดสัญญานั้นก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนของกระบวนการทางกฎหมาย (cost of legal process) ว่าสูงเพียงใดโดยเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟ้องร้องทางกฎหมาย เช่น หากการถูกละเมิดสัญญามีผลทำให้ผู้ถูกกละเมิด เสียประโยชน์มูลค่าน้อย การที่จะต้องจ่ายค่าทนาย ค่าเสียเวลาในการเข้าสู่คดี ค่าความเสี่ยงจากการถูกคุกคามจากการเป็นคดี ฯลฯ ในมูลค่าสูงแล้ว ก็อาจจะไม่คุ้มหากเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง ดังนั้นการนิ่งเฉยอาจเป็นประโยชน์สุทธิมากกว่า (exit) หรือแม้กระทั่ง ผู้ที่เสียประโยชน์มีมูลค่าของความสูญเสียสูงมาก [3] แต่ว่าไม่มีเงินที่จะไปต่อสู้คดีความเนื่องจากเป็นครอบครัวยากจน (limited budget constraint) การที่ระบบกฎหมาย หรือระบบยุติธรรมมีต้นทุนในการเข้าถึงที่สูงก็ทำให้คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมได้เช่นเดียวกัน นัยนี้ ต้นทุนในกระบวนการทางกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่แยกไม่ได้จากความยุติธรรมทางกฎหมาย หรือความเป็นธรรมทางสังคม เป้าหมายในการออกแบบกระบวนการทางกฎหมาย (หมายถึงเส้นทางจากการฟ้องร้องทางคดี กระทั่งจบมาเป็นคำตัดสินของศาล) สำหรับนักเศรษฐศาสตร์แล้วจึงเป็นเรื่องของการแสวงหาจุดต้นทุนทางสังคมต่ำที่สุด (social cost minimization) กล่าวให้ง่ายเข้า กระบวนการทางกฎหมายควรมีต้นทุนที่ต่ำเพื่อให้คนเล็กคนน้อยสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ ทัดเทียมกับคนร่ำรวย ต้นทุนทางสังคมของกระบวนการทางกฎหมายมีสูตรง่ายๆ ดังนี้คือ SC = Ca + C(e) โดย SC หมายถึงต้นทุนทางสังคมรวม, Ca หมายถึงต้นทุนที่เกิดจากการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งนับรวมค่าทนาย ค่าเสียเวลา ค่าความเสี่ยงจากการถูกคุกคาม เป็นต้น และ C(e) หมายถึงต้นทุนที่เกิดจากการตัดสินคดีผิดพลาด เช่น ควรได้รับการชดเชยแต่ไม่ได้รับ หรือควรได้รับการชดเชย 5,000 บาทแต่สั่งชดเชยเพียง 4,500 บาท (ต้นทุนคือ 500 บาทในกรณีตามตัวอย่าง) เป็นต้น นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการลดต้นทุนทางสังคมของระบบยุติธรรม (cost reduction on legal process) จะช่วยให้เกิดประโยชน์ในหลายๆ ส่วน เช่น เพิ่มความผาสุกโดยรวมของคนในสังคม, ทำให้สัญญามีสภาพบังคับมากยิ่งขึ้น และลดการเกิดกลุ่มมาเฟีย (ซึ่งหากินจากการช่วยบังคับใช้สัญญาด้วยอำนาจนอกกฎหมาย เช่น การรับจ้างทวงหนี้ด้วยกำลัง เป็นต้น) แต่หนทางที่จะช่วยลดต้นทุนของระบบยุติธรรมนั้นจะทำได้อย่างไรบ้าง? ข้อเสนอว่าด้วยการลดต้นทุนของระบบยุติธรรมนั่นมีอยู่ด้วยกันหลายระดับ ในที่นี้จะหยิบยกมากล่าวถึงเพียงบางส่วนเท่านั้น เพื่อเปิดความสนใจให้ผู้อ่านได้ศึกษาต่ออย่างลึกซึ้งในภายหลัง ส่วนแรกคือเรื่องของการลดต้นทุนจากการจ้างทนายลง เพราะต้นทุนจากการจ้างทนายเป็นต้นทุนหลักของ Ca ก็ว่าได้ การจะสร้างข้อเสนอในการลดต้นทุนการจ้างทนายนั้นต้องเข้าใจก่อนว่า “ตลาดทนาย” มีลักษณะอย่างไร, ตลาดทนายนั้นเป็นตลาดที่เรียกว่าตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (monopolistic competition market) ทนายแต่ละคนได้รับการผูกขาดโดยตราสินค้า เช่น สำนักทนายความ A สำนักทนายความ B มีคุณสมบัติหรือความชำนาญหรือชื่อเสียงที่แตกต่างกัน ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ประกอบการทนายก็ถูกจำกัดโดยการสอบ license ทำให้ปริมาณทนายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้นถูกควบคุมเอาไว้อย่างใกล้ชิด ราคาของการจ้างทนายในตลาดแบบนี้จึงสูงเพราะจำนวนทนายมีไม่พอแก่ความต้องการของคนในสังคม หากต้องการจะลดราคาของทนายลงให้ผู้ที่เข้าถึงระบบกฎหมาย มีต้นทุนที่ถูกขึ้นจะทำได้ก็โดยการ (1) เพิ่มอุปทานทนาย (supply push) การมีทนายเข้าสู่ตลาดมากขึ้นก็จะทำให้เกิดการแข่งขันและทำให้ราคาตลาดของการว่าความมีโอกาสลดลงได้ การเพิ่มอุปทานทนายนั้นไม่ควรทำโดยการลดหลักเกณฑ์หรือความเข้มงวดของการออก license ทนายเนื่องจากคุณภาพของทนายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ควรเพิ่มโดยการสร้างนักศึกษากฎหมายจำนวนมากขึ้นอย่างมีคุณภาพเพื่อเข้ามาเป็นทนายในอนาคต (2) การสร้างนักศึกษากฎหมายที่มีคุณภาพนอกจากจะเข้าสู่อาชีพทนายแล้ว บางส่วนอาจเป็นศาล ซึ่งจะขยายความสามารถในการรองรับคดีของระบบ (capacity building) ทำให้ต้นทุนเวลา (timing cost) ในการรอพิจารณาคดีลดลง (3) นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการอุดหนุนเพื่อให้บริการทนายความอย่างมีคุณภาพแก่คนยากจน ทั้งสามประการคือช่องทางที่ “อาจจะ” ช่วยให้ต้นทุนในการเข้าถึงกฎหมายของคนจนลดลง และได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมายมากยิ่งขึ้น ทีนี้ส่วนที่จะต้องแยกต่างหากมาวิเคราะห์ก็คือต้นทุนในส่วนที่เกี่ยวพันถึงการตัดสินคดีที่ผิดพลาด การตัดสินคดีที่ผิดพลาดดังที่ได้เรียนไปแล้วว่าอาจไม่ได้เกิดขึ้นในลักษณะที่ตัดสินจากผิดเป็นถูก (หรือกลับกัน) เท่านั้น แต่อาจเกิดในรูปของการประเมินมูลค่าชดเชยไม่ตรงตามที่ควรจะเป็น ทั้งนี้เพราะการประเมินความชดเชยแทบจะทุกประเภทไม่มีมูลค่าตลาด (market price) ราคาของการชดเชยโดยส่วนใหญ่เป็นราคาที่กำหนดโดยแบบจำลอง (mark to model) ทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น หากนาย A เป็นนักคณิตศาสตร์ถนัดขวาถูกตัดแขนซ้ายขาด กับนาย B เป็นช่างไม้ถูกตัดแขนซ้ายขาด สองคนนี้ควรได้รับการชดเชยเท่าๆ กันหรือไม่? หรือเมื่อพูดถึงคดีโลกร้อน ซึ่งต้องคำนวณถึงการชดเชยที่เป็นธรรมสำหรับการตัดไม้และก่อให้เกิดผลกระทบแง่ลบต่อสังคม (negative externality) เราจะคำนวณได้อย่างไรว่าผลกระทบจากการตัดไม้ดังกล่าวมีมูลค่าเท่าไหร่? ความยากของการประเมินมูลค่าเหล่านี้ทำให้มีโอกาสเสมอที่ศาลจะก่อให้เกิดต้นทุน C(e) จากการตัดสินชดเชยที่ผิดพลาด ต้นทุนส่วนนี้จะลดน้อยถอยลงได้ก็ต่อเมื่อศาลมีระบบสนับสนุนที่เข้มแข็ง คือมีที่ปรึกษาในเรื่องการประเมินมูลค่าชดเชยอย่างเฉพาะเจาะจงในสาขาคดีที่ตนเองต้องเข้าไปตัดสิน หรือไม่เช่นนั้นศาลก็จะต้องมีความชำนาญในสาขาดังกล่าวเสียเอง (เช่น กรณีบางประเทศระบุให้กฎหมายเป็นปริญญาใบที่สอง) หากศาลมีความชำนาญในประเด็นเฉพาะแล้ว โอกาสที่จะตัดสินชดเชยผิดพลาดอย่างมากก็น้อยลง (variance minimization) ทั้งหมดนี้ก็จะเห็นว่า... หากต้นทุนทางสังคมจากการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายลดต่ำลงได้มากเท่าไหร่ เสียงของคนเล็กคนน้อยในสังคมก็ดังมากขึ้นเท่านั้น, ปัญหาสำคัญคือ หากคนเล็กคนน้อยไม่อาจส่งเสียงเรียกร้องให้มีการลดต้นทุนในการเข้าถึงกฎหมายตั้งแต่ต้น แล้วใครจะช่วยลดต้นทุนในการเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายเหล่านี้? ถ้านักวิชาการที่เกี่ยวข้องยังดูดายแล้วใครจะช่วยพี่น้องเรา?
[1] ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณ อ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้ที่สอนผู้เขียนให้รู้จักกับเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกฎหมาย และจุดประกายให้ผู้เขียนมีความสนใจจะศึกษาในสาขานี้เพิ่มเติมมากระทั่งปัจจุบัน หากบทความนี้มีความผิดพลาดอะไรผู้เขียนขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ตำรวจชักปืนยิงขึ้นฟ้าหวังสลายแรงงานพม่า-กัมพูชาชุมนุมเรียกร้องสวัสดิการ Posted: 08 Apr 2012 10:16 PM PDT แรงงานชาวกัมพูชา-พม่าที่โรงงานแช่แข็งอาหารทะเลที่สงขลาร้องเรียนให้มีการปรับปรุงสวัสดิการ สภาพการจ้างงาน เบื้องต้นเตรียมเจรจาฝ่ายบุคคลต่อเช้าวันจันทร์ แต่โรงงานกลับปิดประตู-ไม่จัดรถรับส่ง เพื่อไม่ให้พนักงานเข้าไปในโรงงาน และเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนขึ้นฟ้าหลายนัด หวังสลายการชุมนุม เมื่อวานนี้ (8 เม.ย. 55) พนักงานชาวกัมพูชา และชาวพม่า หลายร้อยคน ที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์สงขลา จำกัด ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งประกอบกิจการอาหารทะเลแช่แข็ง ได้ชุมนุมภายในโรงงานเพื่อขอเจรจากับฝ่ายบุคคลของโรงงาน เพื่อให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างงาน โดยตัวแทนพนักงานมีข้อเรียกร้อง 2 เรื่อง คือให้โรงงานจ่ายค่าเบี้ยขยัน 600 บาทต่อเดือน และค่าข้าววันละ 20 บาท ตามที่เคยระบุไว้ว่าจะจ่าย ทั้งนี้การเรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการเิกิดขึ้นหลังจากที่ประกาศค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. โดยที่อัตราค่าจ้างของ จ.สงขลา ปรับเพิ่มจากวันละ 176 บาท มาเป็นวันละ 246 บาท อนึ่ง ก่อนหน้านี้พนักงานเคยร้องเรียนด้วยว่า สภาพการจ้างงานของโรงงานมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ห้องน้ำภายในโรงงานที่ใช้งานได้จริงอยู่ไม่กี่ห้องและมีสภาพย่ำแย่ สถานที่พักอาศัยมีความแออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกัน โดยสภาพที่พัก 1 ห้อง พักอาศัยรวมกัน 6 คน ใช้ห้องน้ำรวมซึ่งมีอยู่จำกัด และต้องจ่ายค่าที่พักคนละ 300 บาทต่อเดือน และมีการเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะมาทำงาน ตกลงกันว่าจะไม่มีการเรียกเก็บ ปัญหาเรื่องการรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่เจ็บป่วยหนักจะต้องไปโรงพยาบาลเอง มีปัญหาเรื่องของการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานงานชาวต่างชาติ โดยเฉพาะต่อพนักงานชาวพม่า และโรงงานยังมีการยึดหนังสือเดินทางเอาไว้ ให้คนงานถือแต่สำเนาหนังสือเดินทาง นอกจากนี้มีกรณีที่พนักงานชาวกัมพูชาหนีออกจากโรงงานบ่อย เนื่องจากทำงานได้ค่าแรง และได้ค่าล่วงเวลาน้อย อย่างไรก็ตาม การเจรจาเมื่อวานนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยทางฝ่ายบุคคลและพนักงานนัดหมายกันว่าจะเจรจาในวันนี้ (9 เม.ย.) เวลา 10.00 น. ล่าสุดวันนี้ พนักงานในโรงงานรายหนึ่งร้องเรียนผู้สื่อข่าวว่า ช่วงเช้าทางโรงงานไม่มีการจัดพาหนะไปรับพนักงานที่ต้องการมาทำงานที่โรงงาน มีการปิดประตูไม่ยอมให้คนงานที่ชุมนุมรอการเจรจาอยู่ภายนอกหลายร้อยคนเข้าไปในโรงงาน และต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำการอยู่บริเวณโรงงานประมาณ 15 นาย ได้ใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าหลายนัดเพื่อสลายการชุมนุมของคนงาน โดยคนงานหลายคนอยากออกจากงานที่ทำ แต่ไม่กล้าเดินทางไปที่อื่น เนื่องจากถูกยึดหนังสือเดินทางเอาไว้ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ โดยผู้สื่อข่าวจะรายงานเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้โรงงานดังกล่าว อยู่ในเครือ PTN ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของประเทศไปยังสหรัฐอเมริกา เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย และยังให้บริการแช่แข็งสินค้า จำหน่ายรถยนต์ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อุปกรณ์ก่อสร้าง และการค้าระหว่างประเทศ ตามที่ปรากฏข้อมูลในเว็บไซต์ของเครือบริษัทดังกล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น