โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เหลียวหลัง-แลหน้า 'สันติวิธีแบบพระ'

Posted: 29 Apr 2012 08:33 AM PDT

เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา มีกิจกรรมสันติประชาธรรมเสวนา เรื่อง “สันติวิธี ความเป็นกลาง ธรรมะ และความเป็นธรรม: บทบาทของพุทธศาสนาท่ามกลางวิกฤตทางสังคมและการเมือง ควรเป็นอย่างไร” ที่ “สวนเงินมีมา” มีบางประเด็นที่ค้างคาอยู่ในใจซึ่งผมอยากนำมาเล่าต่อ

คือในช่วงแลกเปลี่ยน มีบางคำถามที่น่าสนใจ เช่น คุณบารมี ชัยรัตน์ ถามว่า “สันติวิธีบ้านเรามักเรียกร้องกับ ‘ฝ่ายผู้ถูกกระทำ’ มากกว่าที่จะเรียกร้องกับ ‘ฝ่ายผู้กระทำ’ อย่างเวลาชาวบ้านชุมนุมต่อต้านการสร้างเขื่อน นักสันติวิธีก็จะเข้าไปบอกชาวบ้านว่าอย่าใช้ความรุนแรงนะ หรือที่เคยมามาชุมนุมแล้วมีเหตุการณ์ทำนองว่าจะยึดทำเนียบ นักสันติวิธีก็เข้ามาเลย เข้ามาเตือน และติวชาวบ้านเลยว่า ทฤษฎีสันติวิธีมีอะไรบ้าง จะต้องปฏิบัติอย่างไร ทำไมนักสันติวิธีไม่เดินนำชาวต่อสู้กับอำนาจรัฐที่กดขี่ชาวบ้านบ้าง ไม่เรียกร้องสันติวิธี และความเป็นธรรมกับฝ่ายผู้มีอำนาจบ้าง?”

หรือที่อาจารย์เฟย์ถามว่า “ท่ามกลางความเป็นจริงของปัญหาขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่มันมี imbalance of power หรือมีความไม่สมดุลของอำนาจต่อรองทางการเมืองอย่างชัดเจน บทบาทของนักสันติวิธีควรจะอยู่ตรงไหน จำเป็นต้องอยู่ตรงกลางเท่านั้นหรือ นักสันติวิธีกล้าหรือไม่ที่จะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ หรือถือธงนำชาวบ้านต่อสู้กับอำนาจที่กดขี่?”

ผมจึงถามหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ต่อว่า “หลวงพี่กล้าหรือเปล่าครับ... ถ้าปี 53 ที่ผ่านมาหลวงพี่ถือธงสันติวิธีนำมวลชนเสื้อแดงต่อสู้กับอำมาตย์ คิดว่าปัญหาขัดแย้งทางสังคมจะเปลี่ยนไปไหม?”

หลวงพี่ไพศาลตอบ (ประมาณ) ว่า

“กล้า...แต่ว่าก็ต้องดูบริบทด้วย กรณีคนเสื้อแดงถ้าอาตมาไปถือธงนำก็ต้องถูก define ว่า เลือกฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งเรื่องนี้อาตมามีข้อสงวนส่วนตัวว่าไม่เลือกเพราะไม่ยอมรับแกนนำบางคนและยุทธวิธีบางอย่างที่ไม่ใช่สันติวิธี ในแง่หลักการอาตมาเลือกประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ สนับสนุนเสรีภาพ และความเป็นธรรม

แต่ฝ่ายทางการเมืองอาตมามีข้อสงวนของตนเองที่จะไม่เลือกฝ่าย และเลือกทำงานสันติวิธีตามแนวทางนี้ ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ของอาตมาที่จะเลือกได้ แต่อยากให้มองสันติวิธีกว้างๆ แบบหนูหริ่งก็สันติวิธี แบบนิติราษฎร์ก็สันติวิธี แม้แต่การใช้วิธีเลือกตั้งเพื่อกลับมามีชัยชนะทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยก็เป็นสันติวิธี...ฉะนั้น สันติวิธีหรือการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องจำเป็นในการต่อสู้ทางการเมืองและความขัดแย้งอื่นๆ”  ย์คิดว่าษ์วิจารณ์หรือถือธงนำชาวบ้านต่อสู้กับอำนาจ่วมต่อสู้กั

ขณะที่ วิจักขณ์ พานิช มองว่า

“สันติวิธีบ้านเรามันเป็น “สันติวิธีแบบพระ” คือเป็นสันติวิธีที่พยายามหาจุดหรือตำแหน่งที่แน่นอนของสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นกลาง” และความเป็นกลางก็มักอ้างอิงความเชื่อเรื่อง “ทางสายกลาง” ของพุทธศาสนาเถรวาทในบ้านเราที่ถือว่าเป็นกลางคือถูกต้อง ไม่เป็นกลางคือผิด จะเห็นได้ตั้งแต่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาแล้วที่ยืนยันว่า มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางถูก กามสุขัลลิกานุโยค กับอัตตกิลมถานุโยคผิด

แต่ความเป็นกลางแบบมหายานจะไม่แยกถูก-ผิดแบบขาว-ดำเช่นนี้ เช่น เป็นกลางตามหลักปรัชญามาธยมิกจะชวนให้เราคิดเชิงวิพากษ์เลยว่า อย่างนี้ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ หมายความว่า ถ้าคุณบอกว่าปัญหาทั้งหมดมาจากทักษิณคนเดียวมันย่อมไม่ใช่แน่ๆ ถ้าบอกว่ามาจากอำมาตย์ฝ่ายเดียวก็ไม่ใช่อีก หรือจะบอกว่าไม่ใช่ทั้งหมดเลย ปัญหาไม่ได้มาจากทักษิณ อำมาตย์หรือฝ่ายไหนๆ เลย ก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละ

ประเด็นคือ หลักความเป็นกลางแบบมาธยมิก มันช่วยให้เราเป็นอิสระที่จะวิเคราะห์เหตุปัจจัยทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฝักฝ่าย หลักการ และฯลฯ เมื่อเรารู้ว่าความถูกต้องอยู่ตรงไหน อยู่ฝ่ายไหน เราก็สามารถเลือกยืนอยู่ตรงนั้นได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงกลางระหว่างฝ่ายต่างๆ เสมอไป”

ส่วนตัวผมเองมอง (และเพิ่มเติม ณ ที่นี้) ว่า สันติวิธีต้องสนับสนุนสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรม แต่สันติวิธีที่พยายาม “เป็นกลาง” ในความขัดแย้งที่ผ่านมา เป็นสันติวิธีที่เรียกร้องกับฝ่ายผู้ถูกกระทำมากกว่า พยายามที่จะเป็นกลางในสถานการณ์ที่อำนาจต่อรองทางการเมืองไม่เท่าเทียมอย่างยิ่ง และเป็น “สันติวิธีแบบพระ” ที่ยังไงก็ต้องเป็นกลางระหว่างฝ่ายต่างๆ คอยเตือนสติฝ่ายต่างๆ ไม่ให้ใช้ความรุนแรงเท่านั้น น่าตั้งคำถามว่าสันติวิธีแบบนี้เป็นสันติวิธีที่สนับสนุนสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรมหรือไม่?

เพราะเป็นสันติวิธีที่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อสัจจะ เช่น ไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงเบื้องหลังรัฐประหาร หรือต่อสู้เพื่อให้พูดความจริงดังกล่าวได้ ไม่ใส่ใจความจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมเพื่อนำไปสู่ความยุติธรรม ไม่ได้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพจากการครอบงำกดขี่ของอำนาจนอกระบบ ไม่ได้เรียกร้องให้เอาผิดใดๆ กับฝ่ายทำรัฐประหาร เป็นต้น

จะว่าไปแล้ว “ความเป็นกลาง” แบบนักสันติวิธี หรือแม้แต่แบบสถาบันวิชาการในบ้านเราล้วนแต่ควรถูกตั้งคำถาม เช่น ล่าสุดรายงานของสถาบันพระปกเกล้าที่มุ่งแสวงหาทางปรองดอง ถูกโจมตีว่า “เป็นเครื่องมือช่วยทักษิณ” ทั้งที่ตามรายงานนั้นมีข้อเสนอให้เอาผิดทักษิณอยู่ด้วย แต่เสนอว่าไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดฝ่ายผู้ก่อรัฐประหาร ไม่ควรพูดเรื่องการแก้ไข ม.112 หรือประเด็นสถาบันโดยอ้างว่าเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน”

ฉะนั้น รายงานวิจัยนี้จึง “ไม่เป็นกลาง” อยู่แล้ว เพราะเป็นรายงานที่กันฝ่ายทำรัฐประหารให้พ้นผิดไปเลย กันสังคมว่าไม่ควรเรียกร้องอะไรกับฝ่ายอำมาตย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้ไข-เลิก ม.112 หรือเรื่องใดๆ แต่ยังให้เอาผิดกับทักษิณได้ กระนั้น “ความไม่เป็นกลาง” ของรายงานนี้ที่โจมตีกันนั้นกลับหมายถึงการเปิดช่องให้มีทางเลือกในการดำเนินการกับทักษิณได้ว่า จะนิรโทษกรรมหรือให้นำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใหม่ ซึ่งเป็นทัศนะที่บิดเบี้ยว

แต่ความเป็นกลางแบบนิติราษฎร์ คือ

1. การยืนยันหลักการที่ถูกต้อง ถ้ายืนยันหลักการที่ถูกต้องแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้หรือเสียประโยชน์ก็ต้องยืนยัน เพราะความถูกต้องย่อมถูกในตัวมันเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะได้หรือเสียประโยชน์ไปเลย กันสังคมว่าไม่ควรเรียกร้องอะไรกับ

2. เป็นความเป็นกลางที่ยืนยันสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรม เช่น การเสนอแก้ ม.112 ก็คือเป็นการเปิดช่องทางให้พูดความจริงได้ มีเสรีภาพมากขึ้น การลบล้างผลพวงรัฐประหารก็คือการยืนยันความเป็นธรรมบน “ความเสมอภาคทางกฎหมาย” อันเป็นหลักสำคัญของนิติรัฐ

แน่นอน ผมเห็นด้วยกับหลวงพี่ไพศาลว่า แนวทางของนิติราษฎร์คือ “แนวทางสันติวิธี” เพราะเป็นการใช้เหตุผลเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตย เป็นการกระตุกสังคมให้หันมาถกเถียงปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งในระดับตัวบทกฎหมาย และระดับอุดมการณ์

ทว่า “สันติวิธีแบบพระ” เท่าที่เป็นมา กลับไม่ชัดเจนว่ามีเป้าหมายอะไร ไม่ชัดเจนว่าให้ความสำคัญแค่ไหนกับการต่อสู้เพื่อสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรม

ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตหาก “สันติวิธีแบบพระ” (ไม่ได้หมายเฉพาะแบบหลวงพี่ไพศาล แต่หมายถึงสันติวิธีที่พยายาม “เป็นกลาง” ในภาวะที่ไม่สมดุลของอำนาจต่อรองทางการเมือง และเน้นการเทศนาเตือนสติเป็นหลัก) ไม่ยอมปรับเปลี่ยนทัศนะ ถ้ามีความขัดแย้งขึ้นอีกเราก็จะเห็นนักสันติวิธีออกมาส่งเสียงว่า “อย่าตีกันๆ” และเป็นซุ่มเสียงที่เรียกร้องกับ “ฝ่ายผู้ถูกกระทำ” มากกว่าอีกตามเคย

สันติวิธีที่ไม่ต่อสู้เพื่อสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรมอย่างจริงจังเช่นนี้ ย่อมกลายเป็นแนวร่วมของ “ฝ่ายผู้กดขี่” ไปโดยปริยาย!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์: ธุรกิจโทรคมนาคมไทย: ถอยหลังลงคลอง?

Posted: 29 Apr 2012 08:21 AM PDT

ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นเสาหลักของการพัฒนาทางเศรษฐกิจในยุคสารสนเทศที่ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและความสามารถในการแพร่กระจายข้อมูลเป็นปัจจัยที่สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การมีบริการการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการที่ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle income trap)  ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง  แต่ผู้เขียนมองสภาพตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยแล้ว  กลับอยู่ในสภาวะถดถอยเนื่องจากการแข่งขันในตลาดมีจำกัด และยังอาจเกิดการผูกขาดในอนาคตอีกด้วย ผู้ประกอบการต่างชาติไม่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมไทยด้วยเหตุผลดังนี้

ประการแรก การแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมไทยยังคงจมปลักกับการช่วงชิงความได้เปรียบ เสียเปรียบกันจากระบบสัมปทาน  ดังจะเห็นได้จากการแก้ไขเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานหลายฉบับในอดีต และล่าสุดกรณีการทำสัญญาเพื่อให้บริการ 3G ระหว่างกลุ่มทรูกับ กสท.  ที่ถูกมองว่าเป็นสัมปทานจำแลง   การทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นอีกสูง  เนื่องจากผู้ประกอบการที่มีสายสัมพันธ์กับทางการเมืองย่อมเล็งเป้าไปที่การใช้ช่องทางของสัมปทานในการได้มาซึ่งคลื่นความถี่โดยการทำสัญญากับรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายการเมือง   หากเป็นเช่นนั้นแล้ว   ธุรกิจโทรคมนาคมไทยก็ไม่มีวันที่จะพัฒนาได้ เพราะการแข่งขันจะไม่มีวันเสรีและเป็นธรรม  ผู้ประกอบการที่ไม่มีเส้นสายทางการเมืองก็ไม่สามารถสร้างความได้เปรียบจากระบบสัมปทานได้  ทำให้แข่งขันได้ยากและอาจถูกบีบออกจากตลาดในที่สุด

ประการที่สอง กฎ กติกาในการกำกับดูแลไม่คุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย  ในปี พ.ศ. 2553 ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนรายที่ 4 คือ Hutch ต้องถอนตัวออกไปจากตลาด (ส่งผลให้กลุ่มทรูเข้ามาเทคโอเวอร์)   เนื่องจากประสบผลขาดทุนจากการที่ไม่สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายของตนกับโครงข่ายของผู้ให้บริการรายใหญ่ คือ AIS DTAC และ TRUE  ซึ่งเรียกร้องค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในอัตราที่สูงมาก คือ 1 บาทต่อนาทีได้ ลูกค้าของ Hutch จึงไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นนอกโครงข่าย กว่า กทช.  

[1] จะเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยการกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่ออ้างอิงที่ 50 สตางค์ต่อนาทีเมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเวลาก็ล่วงเลยไปแล้วกว่า 2 ปี ก็สายเกินไปเสียแล้ว  ตัวอย่างของ Hutch ที่ต้องม้วนเสื่อไปคงทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติรายอื่นๆ  รวมทั้งผู้ประกอบการไทยรายใหม่ไม่กล้าเข้ามาในตลาดโทรคมนาคมไทย  เพราะไม่มั่นใจว่า กฎ กติกาในการกำกับดูแลจะให้ความเป็นธรรมแก่เขาได้เพียงใด

ประการที่สาม  กฎ กติกาของ กทช. นอกจากไม่คุ้มครองรายย่อยแล้วยังจำกัดการแข่งขันในตลาดอีกด้วย  ดังจะเห็นได้จาก ประกาศ กทช. ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ ๒๕๕๔ ซึ่งได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวที่เข้มงวดกว่าที่ปรากฎอยู่ใน พ.ร.บ. การประกอบกิจการของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒  อย่างมาก  การดำเนินการดังกล่าวมีความผิดปกติอยู่มาก  เนื่องจากมีการเร่งรีบและรวบรัดก่อนที่กรรมการชุดดังกล่าวจะหมดวาระ ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่า  ทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายหนึ่งในตลาดที่มีเส้นสายทางการเมืองแน่นแฟ้นกับรัฐบาลในสมัยนั้นหรือไม่

ผู้เขียนได้ฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ว่าคงจะปรับปรุงกฎ กติกา ในการกำกับดูแลให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดมากกว่าในอดีต   บททดสอบแรก คือ ร่างประกาศฯ ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ฉบับใหม่ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ กทค. [2] ในเร็ววันนี้  ผู้เขียนได้เห็นร่างที่จะมีการนำเสนอแล้วก็มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า  หากมีการเห็นชอบร่างดังกล่าวแล้ว  ตลาดโทรคมนาคมไทยอาจถอยหลังเข้าคลองในอนาคตอันใกล้  ด้วยเหตุผลดังนี้

ประการแรก แม้ร่างดังกล่าวได้ตัดสาระที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกไปหมดแล้ว  (ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยว่าการอ้างเรื่องความมั่นคงนั้นเลื่อนลอย)    หากแต่ยังคงบัญชีข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวทั้ง 8 ข้อ   ซึ่งรวมถึงการครอบงำผ่านแหล่งเงินทุน สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง การถ่ายโอนค่าใช้จ่าย การทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา  การโอนราคา ฯลฯ การวินิจฉัยว่าการประกอบธุรกรรมกับคนต่างด้าวในลักษณะใดจึงจะถือว่าเป็นการครอบงำนั้นขาดหลักเกณฑ์ หรือวิธีการพิจารณาที่ชัดเจนจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กสทช. เป็นหลัก 

ประการที่สอง  ประกาศฉบับนี้ไม่มีเหตุผลรองรับที่ชัดเจนว่าทำไปเพื่ออะไร  ธุรกิจโทรคมนาคมไทยมีปัญหาที่เกี่ยวกับการถูกคนต่างด้าวครอบงำหรือ และการครอบงำดังกล่าวดทำให้ผู้ใช้บริการเสียประโยชน์หรือถ่วงพัฒนาการของธุรกิจโทรคมนาคมไทยอย่างไร จึงต้องมีประกาศฉบับนี้ กรรมการชุดที่แล้วบอกว่าเป็นเรื่องความมั่นคง  กรรมการชุดนี้บอกไม่เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง  แต่ก็ไม่ยกเลิกและไม่สามารถชี้แจงเหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ได้  รวมทั้งไม่มีการทำรายงานที่แสดงผลดี ผลเสียต่อธุรกิจโทรคมนาคม และผู้บริโภคตามข้อกำหนดของ กสทช. เองตามเดิมจากที่ผู้เขียนเคยท้วงติงเมื่อกว่าครึ่งปีที่แล้ว

ประการที่สาม จนบัดนี้แล้ว  กสทช. ก็ยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่าประกาศดังกล่าวขัดกับพันธกรณีของประเทศไทยที่ให้ไว้ในองค์การการค้าโลกหรือไม่  เพียงแต่เขียนไว้ในร่างประกาศฉบับใหม่ว่า  ประกาศฉบับนี้สามารถบังคับใช้ได้ “เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความตกลงหรือสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกพันตามพันธกรณี”  หากเนื้อหาเกี่ยวกับการครอบงำกิจการของคนต่างด้าวทั้งหมดขัดกับพันธกรณีของไทยในองค์การการค้าโลกแล้ว  ประกาศนี้จะเป็นเพียงแค่เศษกระดาษที่แสดงถึงความไม่รอบคอบในการออก กฎ กติกา ของ กสทช. เท่านั้น  เพราะไม่สามารถบังใช้กับนักลงทุนจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก  153 ประเทศได้ แล้วจะออกมาเพื่ออะไร  หรือคิดว่าจะใช้สำหรับนักลงทุนจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก เช่น อัฟกานิสถาน ลิเบีย หรือ เกาหลีเหนือ ?

ผู้เขียนเห็นว่า  ประกาศฉบับนี้แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องของการป้องกันการครอบงำธุรกิจโทรคมนาคมของคนต่างด้าว  หากแต่เป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ที่อาจสนใจเข้ามาแข่งขันในการประมูลคลื่น 3G และเป็นการเปิดช่องให้การเมืองเข้าครอบงำธุรกิจโทรคมนาคมไทยมากกว่า  เนื่องจากประกาศนี้ทำให้ กสทช. สามารถใช้ดุลยพินิจได้อย่างเต็มที่ในการชี้ว่าผู้ประกอบการรายใดเป็นคนต่างด้าวและรายใดมิใช่คนต่างด้าว  ผู้ประกอบการที่ไร้เส้นสายทางการเมืองอาจถูกบีบให้ออกจากตลาดเหมือนที่ Hutch เคยโดนมาแล้ว  ณ เวลานั้นคนไทยก็คงจะต้องเตรียมควักกระเป๋าสตางค์จ่ายค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แพงลิบลิ่วเหมือนในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2543 ที่มีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (สัญชาติไทยแท้ ณ เวลานั้น) เพียงสองรายในตลาด

แม้ประกาศนี้จะกระตุ้นต่อม “รักชาติ” ของคนไทย  แต่เราต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมานั้น  การครอบงำของการเมืองที่มุ่งแสวงหากำไรจากการผูกขาดได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศมากกว่าการครอบงำของคนต่างด้าวที่แสวงหากำไรจากการแข่งขันในตลาด

 

................................................

 

[1]  คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งตอนนี้กลายเป็น คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช) ตาม.  พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553

 

[2]  คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คอนเสิร์ต ‘Maher Zain’ ส่อเค้าล้ม ‘ศอ.บต.’ ปฏิเสธจ่ายค่าตัว 5 ล้าน

Posted: 29 Apr 2012 08:07 AM PDT

คอนเสิร์ต ‘Maher Zain’ ส่อเค้าล้ม ‘ศอ.บต.’ ปฏิเสธจ่ายค่าตัว 5 ล้าน “ทวี สอดส่อง” ยัน รับปากช่วยแค่ซื้อตั๋วให้เด็กกำพร้าเข้าชมคอนเสิร์ต ผู้เกี่ยวข้องปัดกันวุ่น ไม่มีใครออกมาชี้แจง

ล้ม – ป้ายโฆษณาคอนเสิร์ต Maher Zain นักร้องดังชาวเลบานอน ที่ติดทั่วเมืองยะลาและจังหวัดใกล้เคียง ถึงวันนี้มีแนวโน้มสูงว่าจะถุกยกเลิก เนื่องจากมีปัญหางบประมาณค่าตัวของนักร้องที่สูงลิ่วถึง 5 ล้านบาท

 

 

รายงานข่าวจากจังหวัดยะลาแจ้งว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 เมษายน 2555 ห้องประชุมพ่อเมืองยะลา นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการยะลาเป็นประธานการประชุมสรุปเตรียมงานคอนเสิร์ตอนาซีดการกุศล “Maher Zain Live in Yala: Concert for PEACE” ที่จะมีการแสดงของ Maher Zain นักร้องชื่อดังชาวเลบานอน สัญชาติสวีเดน อายุ 29 ปี ที่สนามกีฬาวิทยาลัยพลศึกษา วิทยาเขตยะลา ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 ผลจากการประชุมมีแนวโน้มมีแนวโน้มว่า คอนเสิร์ตครั้งนี้ อาจจะไม่มีการจัด หรือจะถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากไม่มีงบประมาณจ่ายค่าตัว 5 ล้านบาทให้กับ Maher Zain ขณะที่สถานที่จัดคอนเสิร์ตไม่พร้อม มาตรการรักษาความปลอดภัยยังไม่ชัดเจน

นายสัมพันธุ์ มุซอดี ประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา กล่าวว่า ถ้าต้องการรู้ข้อเท็จจริงกรณีนี้ ให้สอบถามจากนายอีรฟาน สูหลง ผู้ประสานงานการจัดคอนเสิร์ต

เย็นวันที่ 25 เมษายน 2555 นายอีรฟาน ได้โพสต์ข้อความในเว็บไซด์เฟสบุ๊ก Erafarn Sulong ว่า ประชุมสรุป MZ เมื่อวาน ท่านพ่อเมืองยะลา ท่านผู้ว่านำการประชุม พร้อมหัวหน้าส่วนระดับจังหวัดกว่า 30 ท่าน เมื่อเวลาบ่ายสองครึ่ง ก้อจำเป็นต้องนำเรียน ให้ทราบความเคลื่อนไหว ที่มีปัจจัยหลายอย่าง มีคำว่าเลื่อนอยู่หลายครั้ง ผมมีโอกาสได้ชี้แจงเรื่องงบประมาณที่พยามหาให้ครบ สถานที่เป็นประเด็นใหม่ที่จะเปลี่ยนจากสนามกีฬาเปิด มาเป็นสนามปิดพระเศวต เนื่องจากความไม่เเน่นอนของภูมิอากาศ ฝนที่ตกไม่แน่นอนตามมา การเปลี่ยนผังที่นั่ง ส่งผลให้มีการระงับการจำหน่ายบัตร เรื่องเครื่องเสียงของดีที่สุดที่เรามี ไม่ผ่านมาตฐาน Sound Engineer MZ .............

“ผมไม่ดันทุรังครับ ฟังที่ประชุมและการแนะนำของผู้ใหญ่........อะไรจะเกิดขึ้น มันเกินกำลังผมแล้ว ครับ วันนี้ผมต้องไปมาเลเซีย เพื่อแจ้งผลการประชุมดังกล่าวให้ทางคุณ Ridwan ได้เข้าใจอย่างแท้จริง .......”

ต่อมา เย็นวันที่ 27 เมษายน 2555 ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายอีรฟานขณะอยู่ในประเทศมาเลเซีย ทางโทรศัพท์ ถึงความคืบหน้าของการจัดคอนร์เสิร์ต แต่นายอีรฟานปฏิเสธ ขอให้ไปสอบถามกับผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายเดชรัฐกลับได้รับคำตอบว่า ตนไม่มีข้อมูลการจัดงานคอนเสิร์ต ให้ไปสอบถามจากนายอีรฟาน

จากความไม่ชัดเจนดังกล่าว ส่งผลให้ข่าวแพร่กระจายออกไปทั่วจังหวัดยะลาว่า งานคอนเสิร์ตครั้งนี้ส่อเค้าจะถูกล้มเลิก เนื่องจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนค่าตัวของ Maher Zain จำนวน 5 ล้านบาท

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้นายเดชรัฐ ได้ขอให้ ศอ.บต.สนับสนุนการจัดคอนเสิร์ตอนาซีดการกุศล “Maher Zain Live in Yala: Concert for PEACE” โดย ศอ.บต.ยินดีสนับสนุนเงินค่าตั๋วชมคอนเสิร์ตให้แก่เด็กกำพร้าจำนวนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้รับว่าจะจ่ายค่าตัวนักร้อง Maher Zain ตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ

 

 

หมายเหตุ 
โครงการค่ายอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการโดย โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) สนับสนุนโดย โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Projet)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เงินเดือน 15,000บาท กับการบริหารบุคลากรของหน่วยงานราชการ

Posted: 29 Apr 2012 08:04 AM PDT

สืบเนื่องจากนโยบายของพรรคเพื่อไทย (พท.) ในเรื่องเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ 15,000 บาท เรื่องนี้ผมมีส่วนได้เสียโดยตรง และเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเป็นครั้งแรกที่ผมได้เงินเดือนอัตราใหม่ตามที่ พท. ได้หาเสียงเอาไว้คือ 15,000 บาท (ยังไม่หักรายจ่าย) ฟังเผิน ๆ อาจจะน่าดีใจที่ได้รับเงินเดือนเพิ่มจาก 13,500 บาท ปัญหาอยู่ที่ เงินเดือนเท่ากับราชการที่เพิ่งบรรจุใหม่ ทั้งที่ผมบรรจุเข้าทำรับราชการมาแล้ว 12 ปี เรียบจบสูงกว่า และมีประสบการณ์ในการทำงานที่มากกว่า

คำถามคือ พท. คิดอะไรอยู่?

โดยส่วนตัว แม้ผมจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับการขึ้นเงินเดือนราชการโดยตรง แต่ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการปรับฐานเงินเดือนราชการแบบทีละมาก ๆ เพราะการปรับฐานเงินเดือนลักษณะนี้ ทำให้คุณภาพชีวิตข้าราชการแย่ลง เนื่องจากเราต้องไม่ลืมว่า เงินเดือนข้าราชการเป็นปัจจัยกำหนดค่าเงินที่สำคัญมากปัจจัยหนึ่ง ไม่ต่างกับค่าแรงขั้นต่ำมากนัก การขึ้นอัตราเงินเดือนครั้งละมาก ๆ แม้เงินที่ได้มากขึ้น ทั้งนี้ค่าครองชีพจะถีบตัวสูงขึ้นไปในอัตรที่สูงกว่า ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของข้าราชการแย่ลง

วิธีการที่ผมเห็นด้วยคือ ขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามอัตราเงินเฟ้อ หรือ เพิ่มเงินหรือสวัสดิการในส่วนอื่นที่นอกเหนือเงินเดือน

แต่วิธีการที่รัฐบาล พท. ตัดสินใจทำ คือสิ่งที่เกือบแย่ที่สุด ทั้งในเรื่องคุณภาพชีวิต และกำลังใจของข้าราชการในการปฏิบัติหน้าที่ ที่แย่กว่านี้มีเพียงอย่างเดียวคือ ขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการบรรจุใหม่ แต่คงเงินเดือนให้ข้าราชการที่บรรจุก่อนหน้า

ปัญหาไม่มีเพียงเท่านั้น

ระบบการบริหารจัดการบุคคลากรของหน่วยงานราชการยังมีปัญหามาก โดยเฉพาะกระบวนการคิดที่พื้นฐานที่สุด นั่นคือ หากคนที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ต้องเป็นข้าราชการไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ ป่วย หรือตายไป ซึ่งมีผลอย่างมากต่อแนวทางการบริหารบุคลากรของหน่วยงานราชการ แนวคิดเช่นนี้ทำให้เรามีบุคลากรมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการระดับสูง แล้วก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน (เมื่อจำนวนผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติเท่ากัน หรือบางที่มีผู้บริหารมากกว่า ทำให้การจัดโครงสร้างในรูปพีรามิดฐานกว้างเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้) และสวัสดิการของข้าราชการรายบุคคล

ด้วยอัตราเงินเดือนที่สูงขึ้นตามอายุราชการ ทำให้ข้าราชการระดับสูงที่เป็นส่วนเกินเหล่านี้ เป็นภาระอันหนักอึ้งในการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี (นั่นหมายถึงภาษีของประชาชนนั่นเอง) ในขณะเดียวกัน ข้าราชการระดับล่างก็ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก หรือแม้แต่ข้าราชการระดับสูงเองก็ตาม ก็ได้เงินเดือนน้อยกว่าที่ควรเป็น เพราะมีตัวหารในปริมาณที่สูงเกินไป

แนวทางที่ประเทศต่าง ๆ ส่วนมากทำกันก็คือ ควรจำหน่ายข้าราชการออกจากราชการตามวาระ โดยให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม และหางานรองรับที่เหมาะสม หลังจากออกจากราชการ (ทำให้ช่วงอายุที่ออกจากราชการจะถูกบีบลงมาที่ 30-45 ปี เพราะไม่เช่นนั้นจะหางานรองรับยาก) วิธีการนี้จะทำให้เม็ดเงินตกถึงข้าราชการแต่ละคนมากขึ้น เกิดการแข่งขันสูงขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของราชการโดยรวมให้ดีขึ้น หรือหากจะตั้งความหวังให้สูงขึ้นไปอีก เงินเดือนราชการอาจจะสูงเทียบเท่าหรือสูงกว่าเงินเดือนพนักงานบริษัทเอกชน โดยที่ไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินไป และเราอาจจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพ (มากขึ้น) มาเป็นข้าราชการก็เป็นได้

เมื่อกลับมาถามว่าสิ่งที่ พท. ทำอยู่ช่วยแก้ปัญหาให้กับเงินเดือนที่ไม่พอใช้ของข้าราชการได้หรือไม่ ก็คงได้เพียงระยะสั้นในช่วงที่ค่าครองชีพยังไม่ถีบตัวขึ้นไปเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน นโยบายดังกล่าวกลับทำให้ปัญหายุ่งยากและซับซ้อนขึ้น ทั้งนี้เป็นนโยบายที่ พท. จำเป็นต้องนำไปปฏิบัติ เพราะได้หาเสียงไปแล้ว และเป็นการประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเก่า อย่างข้าราชการประจำได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้แนวคิดเรื่องการจำหน่ายข้าราชการออกจากราชการตามวาระ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีเสถียรภาพพอที่จะควบคุมข้าราชการประจำได้ เพราะแน่นอนว่ามีข้าราชการประจำส่วนหนึ่ง (โดยเฉพาะ ข้าราชการระดับสูงประเภทเช้าชามเย็นสองชาม) จะไม่พอใจในแนวทางนี้

ถามว่า พท. ตอนนี้มีเสถียรภาพมากพอหรือไม่ ปั๊ดโธ่..!  มีเสียงในสภาที่มาจากการเลือกตั้งเกินครึ่ง หากไม่ทำตอนนี้จะทำตอนไหน..?

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

May Day 2012: ชะตากรรมของคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

Posted: 29 Apr 2012 07:13 AM PDT

 
ปัจจุบันความก้าวหน้าพัฒนาทางเทคโนโลยีและการกระจายสินค้าให้คนทุกภาคส่วนในสังคมทุนนิยม ทำให้เราแต่ละคนล้วนแล้วแต่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสินค้าประเภทไอทีที่มีความทันสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตบนโลกที่ข้อมูลข่าวสารกลายเป็นปัจจัยดำรงชีพอันใหม่ของมนุษย์ แต่ใครจะรู้บ้างว่าโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีคู่ใจของแต่ละคนนั้น เบื้องหลังล้วนแล้วแต่ถูกผลิตออกมาจากสานพานการขูดรีดแรงงานทาสรุ่นใหม่เกือบทั้งสิ้น
 
ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการผลักฐานการผลิตสู่ประเทศในแถบเอเชียมากขึ้น หลายปีที่ผ่านมานี้ศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถูกย้ายฐานสู่ประเทศที่มีค่าแรงราคาถูกรองรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยระหว่างปี ค.ศ. 1995 - 2006 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีส่วนแบ่งในการเป็นฐานการผลิตสินค้าสูงขึ้นจาก 20% เป็น 42% เมื่อเทียบกับผลผลิตจากยุโรปตะวันตก, อเมริกา และญี่ปุ่น ที่ผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยก็เป็นสำคัญในการเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
 
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยนั้น นับว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจค่อนข้างมาก  โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกเฉลี่ยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 16.0 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะในกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ขณะนี้ไทยคือผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก
 
และจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 16,500.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
 
0 0 0
 
 
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 55 ที่ผ่านมาเครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย ได้จัดเวทีนำเสนอผลการศึกษา “ปัญหาและอุปสรรคในการรวมกลุ่มของคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์” ณ ห้องประชุมทับทิม โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ นำเสนองานวิจัยของคนงาน ที่พูดถึงปัญหาของคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
 
ในหัวข้อการนำเสนอผลการเก็บข้อมูล “ปัญหาและอุปสรรคในการรวมกลุ่มของคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์” โดย มณีรัตน์ อาจวิชัย ตัวแทนนักสหภาพจากกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก
 
มณีรัตน์ อาจวิชัยกล่าวว่าจากการเก็บข้อมูลของคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้พบปัญหาการละเมิดสิทธิของคนงานในที่ทำงานโดยนายจ้าง ได้แก่ ปัญหาในการใช้สิทธิตามกฎหมายในเรื่องสวัสดิการต่างๆ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้สิทธิลาประเภทต่าง ๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการลากิจ, ลาป่วย, ลาพักร้อน นายจ้างมักจะมีการเลือกปฏิบัติ เช่น คนงานสัญญาจ้างและคนงานจ้างเหมาค่าแรงที่แตกต่างกัน เป็นต้น
 
ปัญหาการบังคับให้คนงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด โดยมีการบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดเป็นประจำ บีบบังคับทางเศรษฐกิจโดยบอกว่าบริษัทขอความร่วมมือจากลูกจ้าง หากไม่ยอมทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด ก็จะบอกว่าลูกจ้างไม่ให้ความร่วมมือกับบริษัท และลงโทษโดยไม่ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดอีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น
 
ปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดกับคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ พบว่ายังมีการละเมิดสิทธิคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ ไม่มีการจัดสถานที่ทำงานให้กับพนักงานที่ตั้งครรภ์ให้เหมาะสม และให้พนักงานหญิงที่ที่ตั้งครรภ์ทำงานในกะกลางคืนและทำงานล่วงเวลาซึ่งในทางกฎหมายแล้วการที่จะให้คนงานหญิงซึ่งตั้งครรภ์ทำงานในที่ไม่เหมาะสม เช่นทำงานในพื้นที่เสี่ยง หรือที่มีสารเคมี หรือให้ทำงานกะกลางคืน หรือทำงานล่วงเวลา จะไม่สามารถทำได้ แต่ก็ยังมีบางบริษัทที่ปฏิบัติเช่นนั้นอยู่
 
ปัญหารูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายเพื่อให้มีความยืดหยุ่น มีการจ้างงานระยะสั้น เหมาค่าแรง รวมถึงการใช้นักศึกษาฝึกงานทำงานในโรงงาน
 
ปัญหาเวลาในการทำงาน ระยะเวลาในการทำงานที่มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ที่คนงานถูกบีบบังคับจากเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้ต้องทำโอที และการทำงานในวันหยุด
 
ปัญหาการใช้มาตรา 75 ของนายจ้างโดยเมื่อคนงานมีการรวมกลุ่ม นายจ้างจะใช้วิธี ใช้มาตรา 75 หยุดงานบางส่วน เพื่อบีบให้ลูกจ้างยอมหรือลาออก เพื่อเป็นการลดทอนความเข้มแข็งของกลุ่มคนงานหรือสหภาพแรงงาน
 
ปัญหาการเลิกจ้างแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ที่นายจ้างใช้ทำลายสหภาพแรงงาน โดยมักจะเลือกจ้างแกนนำก่อน บังคับให้คนงานไปสู้ในด้านกฎหมายที่ใช้ระยะเวลายาวนาน ซึ่งคนงานเสียเปรียบด้านสภาพเศรษฐกิจ
 
ปัญหาคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของลูกจ้าง มักจะมาจากหัวหน้างานเป็นส่วนมาก และมีจำนวนไม่น้อยที่ลูกจ้างไม่เคยได้เลือกตั้งตามแบบที่กฎหมายกำหนด บางบริษัทคนงานไม่รู้เลยว่ามีคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงาน
 
ในหัวข้อ ‘การร่วมวิเคราะห์ผลการเก็บข้อมูล’ ซึ่งมีวิทยากรคือ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และเจษฎา โชติกิจภิวาทย์ นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน
 
เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจรได้กล่าวถึงระบบการจ้างงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถือว่าเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือระบบการจ้างงานแบบ 2 ชนชั้น การใช้คนงานระยะสั้น คนงานเหมาค่าแรง ซึ่งจะทำให้การรวมตัวกันเพื่อเป็นสหภาพแรงงานทำได้ยากขึ้น ส่งผลให้คนงานไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง
 
ในประเด็นนี้เกรียงศักดิ์ชี้ว่า ส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาก็คือตัวสหภาพแรงงานเองที่ต้องมีการรวบรวมเก็บข้อมูลว่านายจ้างกำลังทำอะไร ถ่ายโอนงานไปที่ไหน และต้องทำการยื่นข้อเรียกร้องในการจำกัดสัดส่วนคนงานระยะสั้นและเหมาค่าแรงกับบริษัท
 
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ให้มุมมองว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เคยรุ่งเรืองในประเทศไทย แต่ปัจจุบันอยู่ในช่วงขาลงนั้น และอำนาจต่อรองกับนายจ้างแทบจะไม่มีเลย คนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะต้องดูไว้เป็นบทเรียนในการกำหนดยุทธศาสตร์ เพราะอุตสาหกรรมใดที่กำลังเติบโตคนงานย่อมมีอำนาจการต่อรองสูง ทั้งนี้ศิโรตม์มองว่าหากคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ค้นพบยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมแล้วก็จะสามารถต่อรองกับนายจ้างได้ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้อยู่ในช่วงตกต่ำเท่ากับอุตสาหกรรมสิ่งทอ
 
ด้านเจษฎา โชติกิจภิวาทย์ กล่าวว่าการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน การเข้มข้นในการทำกิจกรรมของสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มักจะมีความเข้มข้นในประเด็นเฉพาะหน้า เช่น ทำเฉพาะในช่วงการยื่นข้อเรียกร้อง ซึ่งเป็นแค่แผนระยะสั้น ทั้งนี้สหภาพแรงงานจะต้องไม่มองแค่เรื่องเฉพาะหน้า จะต้องมีเป้าหมายในระยะยาว มีการทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ถึงจะสร้างความเข้มแข็งในการต่อรองได้
 
 
วิเคราะห์ผลการเก็บข้อมูลวิจัย
“ปัญหาและอุปสรรคในการรวมกลุ่มของคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์”
 
สภาพปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในการทำงาน
 
จากการเก็บข้อมูลจากทั้ง 3 พื้นที่ พบว่า ในปัจจุบันยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน หรือการที่บริษัทหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานกำหนดไว้ ซึ่งจะนำเสนอเป็นกรณีๆ ไป ดังนี้
 
1. ปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้สิทธิลาประเภทต่าง ๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
 
1.1 การลากิจ
 
ยังมีบริษัทที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือมีการเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด โดยบางบริษัทได้กำหนดการลากิจระหว่างคนงานประจำ คนงานสัญญาจ้าง และคนงานจ้างเหมาค่าแรงที่แตกต่างกัน มีบริษัทหนึ่งที่เก็บข้อมูล มีกำหนดไว้ว่า คนงานประจำสามารถลาได้ 4 วัน โดยได้รับค่าจ้าง คนงานสัญญาจ้างลาได้ 4 วันเช่นกันแต่ไม่ได้รับค่าจ้าง ส่วนคนงานเหมาค่าแรงลากิจได้ใน 2 กรณี คือ (1) การลากิจทั่วไปต้องแจ้งล่วงหน้า 3 วัน โดยต้องมีหลักฐานเอกสารแนบมาด้วย (2) การลากิจฉุกเฉินต้องแจ้งการลาโดยต้องแจ้งการลาก่อนเข้าทำงาน 3 ชั่วโมง และมีเอกสารหลักฐานในการลา หากคนงานคนใดขาดงานติดต่อกันเกิน 2 วัน โดยไม่แจ้งให้บริษัททราบ พนักงานคนนั้นจะพ้นสภาพจากการเป็นคนงานของบริษัททันที
 
1.2 การลาป่วย
 
กรณีการลาป่วยนี้ก็มีปัญหาในทางปฏิบัติ กล่าวคือ ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 32 บัญญัติไว้ว่า “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงการลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไปนายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์...” แต่บริษัทส่วนใหญ่จะมีระเบียบในกรณีที่ลูกจ้างลาป่วย ว่า “ถึงแม้ลาป่วยเพียงวันเดียวก็ต้องมีใบรับรองแพทย์ หากไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง ให้ถือว่าเป็นการขาดงาน” ทั้ง ๆ ที่ ซึ่งความเป็นจริงแล้วการที่คนงานป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นปวดหัว บางครั้งไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ก็ได้ แค่ทานยาและพักผ่อน สัก1 ก็ดีขึ้นไปทำงานได้แล้ว แต่นี้กลายเป็นว่าคนงานต้องไปโรงพยาบาล หรือ คลีนิคเพื่อตรวจรักษาและขอใบรับรองแพทย์มาแสดงกับทางบริษัทให้ได้ ตรงนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่คนงานได้รับจากข้อบังคับของนายจ้างที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย หรือข้อเท็จจริง

 
1.3 การลาพักร้อน
 
กรณีวันหยุดพักผ่อนประจำปีนี้ ถ้าดูตามที่กฎหมายกำหนด น่าจะไม่เกิดปัญหาใด ๆ เนื่องจากเป็นสิทธิที่กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว แต่กลายเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ คือ การใช้สิทธิในการลาหยุดพักผ่อนประจำปี ของลูกจ้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ตามที่เข้าใจว่า หยุดพักผ่อนก็คือหยุดพักผ่อน ไม่ต้องมีเหตุผลอื่น เนื่องจากเวลาที่ลูกจ้างจะใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างจะต้องหาเหตุผลมา บอกกับนายจ้างว่า จะหยุดไปทำอะไร ถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอนายจ้างก็จะไม่ให้ลูกจ้างใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ทำให้เกิดคำถามจากลูกจ้าง ว่า “แล้วจะเรียกว่าหยุดพักผ่อนประจำปีไปทำไม่ ในเมื่อเวลาจะลาก็ต้องหาเหตุผลอื่น ๆ ที่น่าเชื่อถือมาอ้างกับบริษัท น่าจะเรียกว่าวันหยุดที่ต้องมีเหตุผลมากกว่า”
 
และที่พบว่ามีการเลือกปฏิบัติคือการที่ลูกจ้างสัญญาจ้าง (4 เดือน ต่อสัญญา 1 ครั้ง) จะไม่ได้สิทธิการลาพักผ่อนประจำปี
 
2. การบังคับให้คนงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด
 
ประเด็นเรื่องการทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุดถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดไว้ชัดเจน ว่า “การที่จะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา หรือ ทำงานในวันหยุด ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราว ๆ ไป” แต่ในทางปฏิบัติแล้วค่อนข้างมีปัญหามาก เนื่องจากสถานประกอบการจะมีการบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดเป็นประจำ โดยใช้วิธีการบังคับทางเศรษฐกิจโดยบอกว่าบริษัทขอความร่วมมือจาก ลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่ยอมทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด ก็จะบอกว่าลูกจ้างไม่ให้ความร่วมมือกับบริษัท และลงโทษโดยไม่ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดอีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจจะหนึ่ง หรือสองสัปดาห์ บางกรณีเป็นเดือน นอกจากนี้ยังมีผลต่อการพิจารณาเงินขึ้นประจำปี และการพิจารณาเงินโบนัสประจำปีของลูกจ้างอีกด้วย
 
ซึ่งตรงนี้ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างมาก ลูกจ้างจะปฏิเสธไม่ทำงานล่วงเวลาก็ไม่ได้เพราะถ้าจะปฏิเสธก็จะได้รับผลกระทบทางด้านการเงินทันที เนื่องจากรายได้ของลูกจ้างเกือบครึ่งมาจากการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด ดังนั้นจึงต้องจำยอมทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดตามที่นายจ้างต้องการ และหากลูกจ้างไม่ยอมจะฟ้องร้องว่านายจ้างบังคับให้ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด ก็เป็นเรื่องยากเพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่านายจ้างบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา
 
3. ปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดกับคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์
 
จากการเก็บข้อมูลพบว่าบางบริษัทยังมีการละเมิดสิทธิคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ ไม่มีการจัดสถานที่ทำงานให้กับพนักงานที่ตั้งครรภ์ให้เหมาะสม และให้พนักงานหญิงที่ที่ตั้งครรภ์ทำงานในกะกลางคืนและทำงานล่วงเวลาซึ่งในทางกฎหมายแล้วการที่จะให้คนงานหญิงซึ่งตั้งครรภ์ทำงานในที่ไม่เหมาะสม เช่นทำงานในพื้นที่เสี่ยง หรือที่มีสารเคมี หรือให้ทำงานกะกลางคืน หรือทำงานล่วงเวลา จะไม่สามารถทำได้ แต่ก็ยังมีบางบริษัทที่ปฏิบัติเช่นนั้นอยู่
 
และที่สำคัญพบว่าในบางบริษัทยังมีการเลิกจ้างคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ ทั้งๆที่กฎหมายห้ามมิให้มีการเลิกจ้างแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในระหว่างที่แรงงานหญิงอยู่ในช่วงทดลองงาน คือก่อนที่จะครบ 120 วัน คนงานหญิงคนไหนที่ตั้งครรภ์ หากนายจ้างทราบ จะถูกเลิกจ้างทันที โดยระบุเหตุผลว่าไม่ผ่านทดลองงาน ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิคนงานอย่างร้ายแรง (แต่กรณีนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการกับนายจ้างได้ เนื่องจากนายจ้างระบุเหตุในการเลิกจ้างว่าไม่ผ่านทดลองงาน)
 
นอกจากนี้หลายบริษัทมีการใช้มาตรา 75 หยุดงานบางส่วนกับคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และขัดต่ออนุสัญญาไอแอลโอ และซีดอร์ด้วย
 
4. การเปลี่ยนแปลงวันหยุดโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเด็นนี้คือ เมื่อนายจ้างได้มีการประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีแล้ว ตามกฎหมาย หากนายจ้างจะให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดดังกล่าว ก็ให้ถือว่าเป็นการมาทำงานในวันหยุด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามกฎหมายเรื่องการทำงานในวันหยุดและการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ปัญหาคือนายจ้างจะมีการเลื่อนวันหยุดที่ประกาศออกไปเป็นวันอื่นที่ไม่ค่อยมีงาน โดยวันหยุดเดิมที่มีการประกาศนั้น นายจ้างเปลี่ยนให้เป็นการทำงานในวันทำงานปกติ ดังนั้นลูกจ้างจึงเสียเปรียบ เพราะแทนที่จะได้เงินเพิ่มมากขึ้นจากการทำงานในวันหยุด แต่กลายเป็นว่าได้ค่าตอบแทนเท่ากับการทำงานในวันปกติ
 
5. รูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย
 
ปัจจุบันรูปแบบการจ้างงานมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น การจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลา มีตั้งแต่ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน การจ้างแรงงานที่เป็นนักศึกษาฝึกงาน เป็นต้น ซึ่งการจ้างงานแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิและเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากการจ้างงานระยะสั้นและมีกำหนดระยะเวลาแบบนี้ หากนายจ้างเลิกจ้างก็ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ลูกจ้างก็ไม่ได้ค่าชดเชย เพราะมีเงื่อนไขทางกฎหมายที่ลูกจ้างต้องทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลา 120 วันขึ้นไปจึงจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย รวมถึงการจ้างงานในรูปแบบที่มีการทดลองงานเช่นกัน ถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้การจ้างงานแบบทดลองงานให้ถือว่าเป็นการจ้างงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งหากมีการเลิกจ้าง ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ในทางปฏิบัติที่พบ นายจ้างจะมีการคำนวณเรื่องระยะเวลาอยู่แล้วว่าไม่ให้เกิน 120 วัน (รวมระยะการบอกกล่าวล่วงหน้า)
 
ดังนั้น การจ้างงานระยะสั้น จึงเป็นข้อจำกัดและมีช่วงว่างที่นายจ้างสามารถเอาเปรียบลูกจ้างได้ด้วยการจ้างงานระยะสั้น ๆ แบบนี้ และทำสัญญาต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ คนงานบางส่วนบอกว่าทำงานในบริษัทแห่งนี้มากว่าปีแล้ว แต่ก็ยังทำงานสัญญาเป็นระยะสั้น ๆ เช่นนี้ตลอด
 
นอกจากนี้ในบางบริษัทที่ได้เก็บข้อมูล พบว่ามีการใช้แรงงานที่เป็นนักศึกษาฝึกงานจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีข้อกำหนดว่า ต้องฝึกงาน จึงจะจบการศึกษา บริษัทใช้ประโยชน์ตรงนี้จากการให้นักศึกษาฝึกงานมาทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง สวัสดิการ เหมือนกับพนักงาน แต่ก็ไม่ได้เป็นพนักงานโดยตรงที่จะเรียกร้องสวัสดิการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในฐานะของพนักงาน หรือไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เป็นต้น
 
6. เวลาในการทำงาน
 
ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กำหนดเรื่องเวลาในการทำงานได้มีการปรับปรุง และนำมาสู่ปัญหาเนื่องจากหลายบริษัทได้นำมาเป็นข้ออ้าง ในการปรับสภาพการจ้าง โดยอ้างว่าต้องทำตามกฎหมาย ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง โดยปัญหาที่พบมีหลายกรณี เช่น บริษัทแห่งหนึ่งมีการทำงานในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ แต่เมื่อมีกฎหมายมาตรานี้ออกมา บริษัทจึงเปลี่ยนเวลาในการทำงานจากเดิม 6 วัน มาเป็นทำงาน 5 วัน คือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยหักวันเสาร์ออก และนำเวลาการทำงานของวันเสาร์มารวมกับวันจันทร์ถึงศุกร์ โดยเพิ่มเวลาทำงานอีกวันละ 1 ชม. โดยอ้างว่าทำตามกฎหมาย ที่บอกว่าให้นำวันที่มีเวลาทำงานไม่ถึง 8 ชม.มารวมได้ แต่กรณีนี้นายจ้างยกเอาทั้งวันที่มีเวลาทำงานปกติ 8 ชม.อยู่แล้ว มารวม และที่สำคัญหากเข้าเงื่อนไขทางกฎหมาย และนายจ้างนำเวลามาร่วมกันนั้น กฎหมายก็มีข้อกำหนดว่าหากเกิน 8 ชม. ต้องจ่ายเป็นค่าล่วงเวลา 1.5 เท่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือนายจ้างถือว่าเป็นเวลาทำงานปกติ ไม่จ่ายค่าล่วงเวลา
ตรงนี้จึงเป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่นายจ้างนำประเด็นทางกฎหมายมาเป็นข้ออ้างในการเปลี่ยนสภาพการจ้าง ทั้ง ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด แต่นายจ้างก็ทำไปก่อนโดยอาศัยการที่ลูกจ้างไม่มีความรู้ความเข้าใจในการเอาเปรียบและละเมิดสิทธิแรงงาน
 
7. การใช้มาตรา 75 ของนายจ้าง
 
มาตรา 75 เป็นมาตราที่มีปัญหา ส่งผลกระทบต่อคนงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากนายจ้างใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับลูกจ้าง คณะกรรมการสหภาพแรงงาน หรือสมาชิกของสหภาพแรงงาน ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มมีมาตรา 75 ก็จนถึงปัจจุบัน มีกรณีปัญหาเกิดขึ้นหลายกรณีมาก เช่น มีบริษัทแห่งหนึ่ง จะมีการประกาศใช้มาตรา 75 หยุดงานบางส่วนเป็นประจำทุกปี และส่วนของคนงานที่โดนมาตรา 75 คือคนงานที่มีอายุการทำงานนาน มีค่าจ้างสูง ซึ่งเมื่อคนงานเหล่านั้นต้องหยุดอยู่กับบ้านโดยได้ค่าจ้าง 75% นาน ๆ เข้าก็อยู่ไม่ได้ต้องลาออกไปหางานใหม่ บริษัทก็จะเปิดรับคนงานใหม่เข้ามาทดแทน โดยที่คนงานใหม่ที่เข้ามาบริษัทจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ มีบางบริษัทในขณะที่ใช้มาตรา 75 กับคนงานเก่า ก็จะประกาศรับสมัครพนักงานใหม่ไปด้วย ในเวลาเดียวกัน
 
มีกรณีที่นายจ้างใช้มาตรา 75 ในการจัดการกับรวมกลุ่มของแรงงาน โดยเมื่อคนงานมีการรวมกลุ่ม นายจ้างจะใช้วิธี ใช้มาตรา 75 หยุดงานบางส่วน เพื่อบีบให้ลูกจ้างยอม หรือลาออก เพื่อเป็นการลดทอนความเข้มแข็งของกลุ่มคนงาน หรือสหภาพแรงงาน และล่าสุดมีบริษัทหนึ่งประกาศใช้มาตรา 75 ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ ปี 2555 และที่น่าแปลกคือบริษัทนี้ให้พนักงานมาสมัครใจเข้าร่วมการหยุดตามมาตรา 75 ของบริษัท ซึ่งใครจะไม่สมัครเข้าร่วมก็ได้ ก็ต้องมาทำงานปกติหลังงานเปิดจากการปิดงานช่วงสงกรานต์
 
8. การเลิกจ้างแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน
 
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากเนื่องจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ไม่ได้คุ้มครองผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงาน จากการเก็บข้อมูลหลายบริษัทพบว่ามีปัญหาในการรวมกลุ่มของคนงานตลอด กล่าวคือแกนนำสหภาพแรงงานมักจะถูกเลิกจ้าง ถึงจะแค่ตระเตรียมหากถูกนายจ้างทราบก็ถูกเลิกจ้างแล้ว หรือแม้แต่เมื่อตั้งสหภาพแรงงานแล้ว ก็มักจะถูกเลิกจ้างเช่นกัน หรือกระทำด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่จะล้มสหภาพแรงงาน หรือทำให้สหภาพแรงงานไม่เข้มแข็ง
 
9. คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของลูกจ้าง
 
ปัญหาที่พบในประเด็นนี้ คือ ตัวแทนของลูกจ้างไม่ได้เป็นตัวแทนของลูกจ้างจริง ๆ แต่จะมาจากหัวหน้างานเป็นส่วนมาก และมีจำนวนไม่น้อยที่ลูกจ้างไม่เคยได้เลือกตั้งตามแบบที่กฎหมายกำหนด บางบริษัทคนงานไม่รู้เลยว่ามีคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงาน
 
ข้อที่เป็นจุดอ่อนของคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงานอีกประการหนึ่งคือ การที่คณะกรรมการสวัสดิการในโรงงานไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ กับนายจ้างเลย มีแค่การเสนอเท่านั้น จึงพบว่ามีปัญหาตามมา คือเมื่อคณะกรรมการสวัสดิการเสนอกับทางฝ่ายบริหารของบริษัทแล้ว ก็ไม่ได้การแก้ไขปัญหา หรือการดำเนินการเรื่องสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างแต่ประการใด และคณะกรรมการสวัสดิการก็ไม่สามารถต่อรองกับทางฝ่ายบริหารของบริษัทได้ ดังนั้นทุกเรื่องที่ลูกจ้างเสนอผ่านกับคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงาน จึงไม่ได้รับการตอบสนอง หรือการแก้ไขจากทางบริษัท
 
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าคิดว่า คณะกรรมการสวัสดิการถูกผลักดันให้เกิดขึ้นตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดสหภาพแรงงานขึ้นหรือไม่ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามให้บทบาทคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงานเป็นอย่างมาก ๆ (ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงไม่สามารถแก้ไขปัญหาของแรงงานได้) โดยไม่พูดถึงบทบาทของสหภาพแรงงานเลย
 
ที่มาและปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของคนงาน
 
จากการเก็บข้อมูลในประเด็น ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของคนงานนั้น พบว่ามีเหตุผลประกอบกันหลายประการ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
 
1. ความไม่มั่นคงในการทำงาน เป็นปัจจัยแรกของการรวมกลุ่ม เนื่องเพราะเมื่อคนงานเริ่มรู้สึกว่าไม่มั่นคงในการทำงานแล้ว เช่น บริษัทเริ่มมีการบีบคนงานด้วยการลดสวัสดิการ สวัสดิการพนักงานไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ปรับค่าจ้างประจำปี เปลี่ยนแปลงเวลาทำงานให้มีวันหยุดงานมากขึ้น ประกาศใช้มาตรา 75 โยกย้ายหน้าที่การงานไปในตำแหน่งงานที่ไม่สำคัญ (คนงานที่มีอายุงานมากขึ้น) หรือแม้แต่ ข่าวการขายกิจการ เหล่านี้ ทำให้คนงานเริ่มรู้สึกว่าความมั่นคงในการทำงานลดลง คนงานทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน จึงนำมาสู่ความคิดในการรวมกลุ่ม เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น
 
2. การไม่ได้รับความเป็นธรรมและการถูกเอาเปรียบจากนายจ้างโดยการละเมิดกฎหมาย เช่น การบังคับทางอ้อมให้คนงานทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด การที่คนงานรู้สึกถูกกดดันจากฝ่ายบริหาร เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงเวลาทำงาน ทำงานนานขึ้นแต่ได้ชั่วโมงโอทีลดลง การทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์ การใช้มาตรการบังคับให้ลาพักร้อนโดยให้คนงานใช้พักร้อนให้หมดตามวันที่บริษัทกำหนดให้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนงาน คือเมื่อคนงานมีความจำเป็นต้องลางานแต่ไม่มีวันลาพักร้อนให้ลา ต้องใช้การลาป่วย ลากิจโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือขาดงานแทน ทำให้คนงานต้องสูญเสียรายได้ส่วนนั้นไป
 
3. สวัสดิการพนักงานไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นกลับพยายามที่จะตัดลดสวัสดิการของพนักงาน โดยเฉพาะสวัสดิการที่เป็นภาระผูกพันที่บริษัทต้องจ่ายเป็นประจำ บริษัทพยายามที่จะตัดลดลง โดยบางบริษัทก็จะยกเลิกสวัสดิการไปเฉย ๆ บางบริษัทก็ให้พนักงานเซ็นต์ชื่อยอมรับ หรือบางบริษัทใช้วิธีการยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานเพื่อลดสวัสดิการลงซึ่งข้ออ้างก็จะคล้าย ๆ กันคือบริษัทขาดทุน ซึ่งก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าขาดทุนจริงหรือไม่ เพราะในขณะเดียวกันสถานประกอบการมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องบางบริษัทก็ขยายงานที่ไปประเทศอื่น ๆ
 
มีการปรับลดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ซึ่งจริง ๆ แล้วควรที่จะเป็นทางบริษัทได้จัดหาให้กับพนักงานโดยอาจจะเป็นสวัสดิการด้านหนึ่งที่จำเป็นต่อการทำงานของคนงาน และที่สำคัญเป็นเรื่องสุขภาพของคนงานที่ต้องให้ความสำคัญ บางบริษัทบริษัทจะจัดอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลให้เฉพาะคนงานประจำ เท่านั้น คนงานเหมาค่าแรงและคนงานสัญญาจ้างต้องซื้อใช้เอง คนงานกลุ่มนี้จึงไม่ซื้อมาสวมใส่เพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เช่น ผ้าปิดจมูก เอียปลั๊ก ถุงมือ หมวก รองเท้าผ้าใบ เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวของบริษัทอาจจะบอกได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนงาน
 
4. มีการเลือกปฏิบัติระหว่างพนักงานและหัวหน้างานโดยที่หัวหน้างานมีสวัสดิการที่ดีกว่าพนักงาน
 
5. ไม่มีระบบการบริหารงานที่มีมาตรฐานบริษัทเน้นเป้าหมายเพียงเพิ่มเป้าการผลิตแต่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิการของพนักงาน
 
6. รายได้กับรายจ่ายของคนงานไม่สมดุลย์กัน(ค่าครองชีพสูงขึ้นแต่รายได้ยังคงเหมือนเดิม) กล่าวคือคนงานทำงานมาอย่างยาวนาน ทั้งทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุด ก็มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพของคนงาน นำมาสู่ความต้องการที่จะให้มีสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสวัสดิการต่าง ๆ ให้มากขึ้นเพื่อให้พอต่อการครองชีพ
 
7. คนงานบางบริษัทมีข้อเปรียบเทียบจากการที่โรงงานใกล้เคียงเมื่อมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานแล้วมีสภาพการจ้างงานและสวัสดิการที่ดีขึ้นดังนั้นจึงได้จัดตั้งสหภาพแรงงานในบริษัทของตัวเองขึ้นบ้างเพื่อเรียกร้องให้มีการปรับสวัสดิการให้ดีขึ้น
 
8. การใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของหัวหน้างาน เช่น การที่หัวหน้างานตัดสินใจที่จะให้ใครมาทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด ซึ่งมักจะเป็นคนงานที่เป็นพวกของหัวหน้างานคนนั้น ๆ เป็นลำดับแรก ๆ ส่วนคนงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พวกของหัวหน้างานก็จะไม่ได้ถูกเลือก หรือจัดให้มาทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด หรือกลับกันอย่างเช่นคนงานที่ไม่ต้องการทำงานล่วงเวลา หรือไม่ต้องการทำงานในวันหยุด ก็มักจะเป็นคนงานที่เป็นพวกของหัวหน้างานที่จะได้รับพิจารณาเป็นลำดับแรก ๆ ที่จะไม่ต้องมาทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดก่อนคนงานอื่น ๆ
 
บางบริษัทการปรับค่าจ้างประจำปีไม่มีมาตรฐานที่แน่นอนขึ้นกับความพอใจของหัวหน้างาน เนื่องจากการปรับค่าจ้างเป็นระบบเกรด คือไม่ขาดงาน ลางาน และไม่มาสายเลยจะได้รับการปรับเป็นเกรด A หากลางานและสายหนึ่งวันจะได้เกรด B และเกรด C คือขั้นต่ำสุดที่ทุกคนต้องได้รับการปรับ แต่ในความเป็นจริงแล้วคนงานบางคนมีประวัติการทำงานที่ดีมากไม่เคยขาด ลา มาสายเลยกลับไม่ได้รับการปรับค่าจ้าง บางคนทำงานมานานหลายปียังรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้รับการปรับค่าจ้างเลย เนื่องจากขึ้นกับความพอใจของหัวหน้างานโดยไม่คำนึงถึงคุณค่าของคนงานที่ทำงานมายาวนานมีทักษะฝีมือในการทำงาน
 
เหล่านี้เป็นแรงกดดันให้กับพนักงานรู้สึกไม่พอใจต่อการปฏิบัติของหัวหน้างาน และอยากจะแก้ไขปัญหา จึงนำมาสู่การรวมกลุ่มกันของคนงาน
 
9. การที่บริษัทไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาของคนงาน ถึงแม้ว่าจะมีคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงานก็ตาม เพราะเมื่อคนงานเขียนเรื่องร้องเรียน หรือเสนอให้มีการแก้ไข หรือปรับปรุงเรื่องสวัสดิการ ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากบริษัทในการแก้ไขปัญหาเลย
 
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะมีการรวมกลุ่มตั้งเป็นสหภาพแรงงานของคนงานเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองเรียกร้องสวัสดิการที่ดีขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนงาน รวมถึงเพื่อเป็นองค์กรในการแก้ไขปัญหาในการทำงาน การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของนายจ้างหรือหัวหน้างาน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข
 
ปัญหาและอุปสรรคในการรวมกลุ่ม
 
จากการเก็บข้อมูลพบว่า ปัญหาและอุปสรรคในการรวมกลุ่มของคนงาน นั้นมาจาก 3 ประการหลัก ได้แก่
 
1. ปัญหาที่มาจากนายจ้าง
 
ปัญหาที่มาจากนายจ้างนั้นพบว่าประกอบด้วยเหตุหลายประการ ได้แก่
 
1.1. ทัศนคติของนายจ้างไม่ต้องการให้คนงานมีการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน เนื่องจากเชื่อว่าหากมีสหภาพแรงงานจะทำให้การดำเนินงานของบริษัท จะเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น เพราะเมื่อคนงานมีองค์กรของตนเอง การกระทำที่เอาแต่ใจในฐานะนายจ้างก็จะกระทำไม่ได้เหมือนเดิม เช่น การเอารัดเอาเปรียบแรงงาน การไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของแรงงาน การไม่ปรับสวัสดิการเพิ่มให้กับคนงาน ก็จะกระทำไม่ได้เเหมือนเดิม เนื่องจากคนงานจะมีความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเองมากขึ้น มีตัวแทน มีองค์กร ที่ทำหน้าจัดการกับปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในโรงงาน หรือยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น
 
ดังนั้น เมื่อนายจ้างรู้ว่าคนงานเกิดการวมกลุ่ม หรือเริ่มสงสัยว่าจะมีการรวมกลุ่ม ก็จะสกัดกั้นไว้ก่อน โดยให้หัวหน้างานดำเนินการ โดยเริ่มตั้งแต่การเรียกมาคุยส่วนตัวไม่ให้มารวมกลุ่มกัน พูดจาโน้มน้าวให้เชื่อว่าต้องไม่ทำให้บริษัทเดือดร้อน พูดให้เห็นว่าหากรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน นายจ้างก็จะย้ายฐานการผลิต ทำให้ตกงาน แล้วครอบครัวก็จะเดือดร้อน ซึ่งหากคนงานยังไม่ฟังก็จะมีมาตรการมากขึ้น เช่น เรียกไปขู่ให้ถอนตัว ไม่อย่างนั้นจะถูกเลิกจ้างเป็นต้น อย่างเช่นกรณีของบริษัทแห่งหนึ่งที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน บริษัทจะสั่งห้ามเรื่องการรวมกลุ่ม มีการส่งสายซึ่งเป็นคนงานด้วยกันเข้ามาสืบความเคลื่อนไหวของคนงาน และเมื่อรู้ว่าคนงานจะรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานก็เรียกมาพูดคุย ข่มขู่คุกคามให้ลาออก ซึ่งในสภาพความกดดันเช่นนั้นประกอบกับขาดประสบการณ์ในการต่อสู้ คนงานไม่มีทางออกอื่นจึงยอมเซ็นต์ชื่อในใบลาออก ทำให้หมดโอกาสที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงาน
 
บางบริษัทบริษัทเมื่อทราบว่าคนงานรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานก็จะเลิกจ้างแกนนำคนงานในทันที บางบริษัทเพียงแค่คนงานมีการรวมกลุ่มเตรียมยื่นข้อเรียกร้อง เนื่องจากที่ไม่พอใจที่บริษัทตัดลดสวัสดิการโบนัสประจำปี ก็เลิกจ้างแกนนำคนงานที่ลงร่วมลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องทันที
 
1.2. นายจ้างมีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย ทั้งการจ้างงานในรูปแบบสัญญาจ้างงานระยะสั้น เช่น 1 เดือน, 3 เดือน การจ้างงานแบบเหมาค่าแรง หรือการใช้แรงงานที่เป็นนักศึกษาฝึกงานก็เป็นอุปสรรคหนึ่งเช่นกันที่ทำให้การรวมกลุ่มของคนงานเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น เพราะการจ้างงานระยะสั้น การจ้างงานแบบเหมาค่าแรงนี้ คนงานมักจะกังวลเรื่องการหารายได้ การหางานใหม่ เท่านั้น ไม่ได้สนใจที่จะเข้ารวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงาน เนื่องจากปัญหาส่วนตัวก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ดังนั้นเมื่อถูกชักชวนให้มารวมกลุ่มก็จะไม่เข้ามาร่วม ส่วนการจ้างงานที่เป็นนักศึกษาฝึกงานนั้นก็เป็นข้อจำกัดทางกฎหมายเนื่องจากไม่มีสถานะของคนงานอย่างเต็มตัวจึงไม่สามารถรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานหรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้
 
1.3. การมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน วันละไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง (รวมการทำงานล่วงเวลา) และต้องทำงานในวันหยุดต่าง ๆ ทำให้คนงานอ่อนล้า หรืออยากพักผ่อนมากกว่าที่จะมาร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ หรือร่วมกิจกรรมกับสหภาพแรงงาน รวมถึงไม่ต้องการเข้าร่วมการพัฒนาทักษะหรือความรู้ต่าง ๆ อีกแล้ว เนื่องจากทำงานมากจนร่างกาย หรือสมองไม่สามารถที่รองรับได้
 
2. ปัญหาที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐและการบังคับใช้กฎหมาย
 
2.1 จากเจ้าหน้าที่รัฐ
 
เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มในการก่อตั้งสหภาพแรงงานอย่างแท้จริง ถึงแม้เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จะมีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของคนงาน (ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ตัวเจ้าหน้าที่บางส่วนยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการรวมกลุ่มของคนงาน โดยมองว่าหากพนักงานมีการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน จะทำให้ยุ่งยากมากขึ้น ยากลำบากมากขึ้น เพราะมีการเรียกร้อง มีการชุมนุม ทำให้การทำงานยุ่งยากมากขึ้น
 
มีตัวอย่างเกิดขึ้นหลายครั้ง ที่คนงานในบางโรงงานมีการผละงาน หรือชุมนุม เพราะมีปัญหาความไม่เข้าใจ ไม่พอใจกับบริษัทเกี่ยวกับสวัสดิการ หรือสภาพในการทำงาน ซึ่งแทนที่เจ้าหน้าที่ จะเข้าไปพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับลูกจ้าง แนะนำให้ถูกวิธี ถูกขั้นตอน (ซึ่งก็ต้องพูดเรื่องการรวมกลุ่ม การยื่นข้อเรียกร้อง) กลับบอกเพียงแค่ว่า “การกระทำของลูกจ้างผิดกฎหมาย ให้กลับเข้าทำงาน หากไม่กลับเข้าทำงานนายจ้างก็จะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย หากมีเรื่องต้องการให้นายจ้างปรับปรุงก็ให้แจ้งผ่านคณะกรรมการวัสดิการในโรงงาน อย่ามาทำเช่นนี้ ไม่ถูกต้อง” คำแนะนำเช่นนี้อาจจะไม่ผิด แต่ที่ผิดคือทำไมไม่พูดถึงเรื่องการรวมกลุ่ม การยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาต่อรอง ซึ่งจะทำให้คนงานมีความเข้าใจ และเห็นผลดีของการรวมกลุ่มมากขึ้น
 
และที่สำคัญเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ในการให้ความรู้ความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่ม แต่ที่ผ่านเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับค่าจ้าง เวลาทำงาน หรือเรื่องสิทธิแรงงานทั่ว ๆ ไป ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเท่านั้น ในขณะที่สิทธิเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม การเจรจาต่อรอง การยื่นข้อเรียกร้อง หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้ฝึกอบรมให้กับคนงานเลยก็ว่าได้
 
2.2 จากข้อจำกัดทางกฎหมาย
 
ปัญหาที่เห็นได้ชัดจากข้อจำกัดทางกฎหมายคือ กฎหมายไม่คุ้มครองกรณีที่ลูกจ้างมีการรวมกลุ่มกันเพื่อตั้งสหภาพแรงงาน หรือการรวมกลุ่มเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง ดังนั้นเมื่อลูกจ้างมีการรวมกลุ่มกันเข้าชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องหรือจัดตั้งสหภาพแรงงาน แกนนำสหภาพแรงงาน หรือแกนนำในการยื่นข้อเรียกร้องมักถูกเลิกจ้าง หรือถูกกลั่นแกล้งจากบริษัท เช่น เปลี่ยนแปลงหน้าที่การทำงาน ไม่มอบหมายงานให้ทำ หรือให้หยุดงานอยู่บ้านแต่ได้รับค่าจ้างปกติ ทำให้ตัวแทนคนงานไม่สามารถสื่อสารกับพนักงานได้ หรือไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เนื่องจากรายได้บางส่วนต้องขาดหายไป หรือบางคนทนรับแรงกดดันไม่ได้ต้องลาออกจากงานไปเอง ซึ่งกระบวนการในการร้องเรียนการกระทำไม่เป็นธรรมของนายจ้างเช่นนี้ ในกฎหมายมีระบุไว้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีข้อจำกัดต่อการดำเนินการของคนงานมาก เพราะต้องใช้เวลานานมากในการดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ทั้งการร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ หรือการดำเนินการทางศาล
 
นอกจากนี้ขั้นตอนในการจดทะเบียนสหภาพแรงงานก็มีความยุ่งยากซับซ้อนพนักงานขาดความเข้าใจ ต้องใช้เอกสารมากมายในการขอจดทะเบียน
 
3. ปัญหาที่มาจากตัวคนงานเอง
 
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญต่อการรวมกลุ่มของคนงานทั้งนี้เนื่องจากข้อจำกัดใน 2 ประเด็นดังกล่าวข้างต้นได้แก่ ปัญหาที่มาจากนายจ้าง และปัญหาที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ และข้อจำกัดทางกฎหมายส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้คนงานไม่กล้าที่จะดำเนินการรวมกลุ่ม หรือการจัดตั้งสหภาพแรงงาน
 
และนอกจากนี้แล้วในส่วนของตัวคนงานเองก็ยังมีจุดอ่อนที่ทำให้การรวมกลุ่มเป็นได้ยากมากยิ่งขึ้น ได้แก่
 
3.1 ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนงานไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงาน หรือเข้าร่วมกลุ่ม หรือศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการรวมกลุ่ม หรือเรื่องสหภาพแรงงาน เพราะคนงานต้องการทำงานให้มากที่สุด เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว จึงต้องทำงานในวันหยุดต้องทำงานล่วงเวลา ไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น
 
3.2 คนงานกลัวที่จะได้รับผลกระทบจากการรวมกลุ่ม เช่น การถูกเลิกจ้าง มีผลต่อการทำงาน โดยพนักงานบางกลุ่มยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าเมื่อสมัครเป็นสมาชิกสมาชิกสหภาพแรงงานแล้วไม่สามารถไปสมัครงานที่อื่นได้ เป็นต้น อาจจะได้ยิน ได้ฟังมาจากคนอื่น ๆ หรือได้พบ สัมผัสด้วยตนเอง ทำให้คนงานไม่กล้าที่จะรวมกลุ่มหรือสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
 
3.3 ขาดแกนนำ แกนนำคนงานเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการรวมกลุ่ม คนงาน ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเอาไหนเอาด้วย พร้อมที่จะเป็นผู้ติดตาม หรือพร้อมที่จะยืนอยู่เฉย ๆ มากกว่า ที่จะโดดเข้ามาเป็นแกนนำในการรวมกลุ่ม ดังนั้น ในหลาย ๆ บริษัทจึงยากมากที่จะมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงาน
 
3.4 คนงานขาดความรู้ความเข้าใจในการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้างเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้น ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะหากว่าคนงานมีความเข้าใจ และเห็นถึงพลังของการรวมกลุ่มที่ดี ก็จะนำไปสู่ความมั่นใจที่จะรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงานได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหากว่าคนงานไม่เข้าใจสาระสำคัญของการรวมกลุ่มแล้ว คนงานก็จะปฏิเสธการรวมกลุ่มเช่นกัน
 
ปัญหา / อุปสรรคในการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน
 
ถึงแม้ว่าในที่สุดคนงานจะสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาได้แล้ว แต่ก็ใช่ว่า การดำเนินงานของสหภาพแรงงานจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้เนื่องจากมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการทำให้การดำเนินงานของสหภาพแรงงานสะดุด ติดขัด หรือแม้แต่ส่งผลให้สหภาพบางแห่งจะอ่อนแอลง หรือท้ายที่สุดก็ต้องยุติบทบาทของสหภาพแรงงานไป ซึ่งขอแยกเป็นปัจจัยภายในของสหภาพแรงงานเอง กับปัจจัยภายนอก ดังนี้
 
ปัจจัยภายในของสหภาพแรงงานเอง
 
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของสหภาพแรงงานที่มาจากปัจจัยภายในของสหภาพแรงงานเอง ดังนี้
 
  • สมาชิกสหภาพแรงงานขาดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของการเป็นสมาชิกเนื่องจากไม่ได้รับการอบรมหรือเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งปัญหานี้มาจากการที่สหภาพแรงงานไม่ได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นการพัฒนาศักยภาพให้กับสมาชิกของสหภาพแรงงานเองเท่าที่ควร
 
  • สมาชิกสหภาพแรงงานไม่ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่สมาชิกไม่เข้าใจความสำคัญของการมีสหภาพแรงงาน หรือมองว่าแค่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก็พอแล้วไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่สหภาพแรงงานจัดขึ้น
 
  • สมาชิกสหภาพแรงงานมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานวันละไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง (รวมการทำงานล่วงเวลา) และทำงานในวันหยุดต่าง ๆ ทำให้อ่อนล้า หรือยากพักผ่อนมากกว่าที่จะมาร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ หรือร่วมกิจกรรมกับสหภาพแรงงาน รวมถึงไม่ต้องการเข้าร่วมการพัฒนาทักษะหรือความรู้ต่าง ๆ อีกแล้ว เนื่องจากทำงานมากจนร่างกาย หรือสมองไม่สามารถที่รองรับ
 
  • ปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้คนงานไม่ค่อยได้สนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงาน หรือเข้าร่วมกลุ่ม หรือศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการรวมกลุ่ม หรือเรื่องสหภาพแรงงาน เพราะคนงานต้องการทำงานให้มากที่สุด เพื่อให้มีรายได้เพียงพอค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว
 
  • สหภาพแรงงานจัดเก็บค่าบำรุงได้น้อย เนื่องจากสมาชิกไม่จ่ายค่าบำรุง ซึ่งเป็นเพราะสมาชิกสหภาพแรงงานไม่ได้ใส่ใจกับการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือสหภาพแรงงานยังไม่สามารถทำงานกับสมาชิกได้อย่างทั่วถึง เช่นการประชาสัมพันธ์ การลงพื้นที่เข้าหาสมาชิก เป็นต้น
 
  • สหภาพแรงงานไม่สามารถขยายฐานสมาชิกได้ เนื่องจากมีการจ้างงานในรูปแบบสัญญาจ้างงานระยะสั้น เช่น 1 เดือน, 3 เดือน เพราะว่าคนงานที่มีระยะเวลาการจ้างงานสั้นแบบนี้ มักจะกังวลเรื่องการหารายได้ การหางานใหม่ เท่านั้น ไม่ได้สนใจที่จะเข้ารวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงาน เนื่องจากปัญหาส่วนตัวก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ดังนั้นเมื่อถูกชักชวนให้มารวมกลุ่มก็จะไม่เข้ามาร่วม นอกจากนี้ยังพบว่าการที่สหภาพแรงงานไม่สามารถขยายสมาชิกได้เพราะคนงานบางส่วนกลัวที่จะได้รับผลกระทบจากการมาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เช่น การถูกเลิกจ้าง มีผลต่อการทำงาน เป็นต้น อาจจะได้ยิน ได้ฟังมาจากคนอื่น ๆ หรือได้พบ สัมผัสด้วยตนเอง ทำให้คนงานไม่กล้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ประกอบกับการที่พนักงานบางกลุ่มยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าเมื่อสมัครเป็นสมาชิกสมาชิกสหภาพแรงงานแล้วเมื่อถูกเลิกจ้างก็ไม่สามารถไปสมัครงานที่อื่นได้
 
ปัจจัยภายนอก
 
โดยปัจจัยภายนอกสามารถแยกออกเป็นปัจจัยที่มาจากทางบริษัท และปัจจัยที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐและข้อจำกัดทางกฎหมาย
 
ปัจจัยที่มาจากนายจ้าง
 
นายจ้างไม่สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม ไม่ต้องการให้มีสหภาพแรงงาน ดังนั้นเมื่อเกิดเป็นสหภาพแรงงานขึ้นแล้ว นายจ้างจะมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อล้ม หรือทำให้สหภาพแรงงานไม่เข้มแข็ง ซึ่งวิธีการของนายจ้างก็หลากหลาย เช่น
 
  • นายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง ซึ่งตรงนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคนงานที่มีต่อสหภาพแรงงาน เนื่องจากจะเห็นว่าสหภาพแรงงานไม่ได้มีพลังที่จะทำให้นายจ้างปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้างได้เลย
 
  • นายจ้างมีการจ้างแรงงานสัญญาจ้างและเหมาค่าแรงเข้ามาในกระบวนการผลิตซึ่งพนักงานเหล่านี้จะไม่สามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ หรือไม่ก็ไม่ต้องการเป็นเนื่องจากมองว่าจะส่งผลต่อการทำงาน
 
  • นายจ้างกลั่นแกล้งโดยการไม่มอบหมายงานให้แกนนำและกรรมการสหภาพแรงงานทำงานในส่วนงานเดิม มักจะมีการโยกย้ายหน้าที่การของบรรดาแกนนำและกรรมการสหภาพแรงงานไปอยู่รวมกัน และเป็นส่วนหน้าที่การงานที่ไม่สำคัญ และไม่ค่อยได้พบปะกับแรงงานคนอื่น ๆ
 
·        คนงาน ถูกขัดขวางและข่มขู่จากหัวหน้างาน โดยหัวหน้างานจะข่มขู่คนงานในแผนก หรือไลน์การผลิตที่ตนเองเป็นหัวหน้างานอยู่โดยใช้ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาในการโน้มน้าวให้คนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือไม่ไห้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะยกเรื่องความมั่นคงในการทำงานมาเป็นเครื่องมือในการข่มขู่ เช่น บอกว่า “หากยังเป็นอย่างนี้อีกไม่นานโรงานก็จะย้ายฐานการผลิต พวกเราก็จะตกงาน” หรือบอกว่า “บริษัทให้กับเรามากอยู่แล้วเราจะไปเรียกร้องอีกทำไม” บอกว่า “หากใครไปเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานก็เหมือนกับก้าวขาออกไปข้างนอกโรงงานก้าวหนึ่งแล้ว”
 
·         นายจ้างเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงาน ประเด็นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงและรุนแรงต่อสหภาพแรงงาน ทำให้สหภาพแรงงานขาดคนที่จะเข้ามาทำงานบริหารสหภาพแรงงาน รวมถึงส่งผลกระทบต่อสมาชิกสหภาพแรงงาน และคนงานที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เพราะมองว่า “ขนาดเป็นกรรมการสหภาพแรงงานยังถูกเลิกจ้าง นับประสาอะไรกับการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน”
 
·         นายจ้างไม่ให้กรรมการสหภาพแรงงานเข้าทำงานในโรงงาน แต่จ่ายค่าจ้างให้ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่ง ซึ่งการกระทำเช่นนี้นำมาสู่ปัญหาของการดำเนินงานของสหภาพแรงงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะคณะกรรมการสหภาพจะเป็นภาพลักษณ์และกำลังสำคัญ และสามารถเข้าถึงสมาชิกสหภาพฯ ในโรงงานได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นเมื่อต้องอยู่นอกโรงงานก็ทำให้การดำเนินงานของสหภาพฯ สะดุด ติดขัด ไม่สามารถที่จะได้พบปะกับสมาชิกและรับเรื่องร้องทุกข์จากสมาชิกได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที และที่สำคัญ การกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดผลทางด้านจิตใจของสมาชิกที่อยู่ในโรงงานด้วย ทำให้เกิดความกลัว และไม่มั่นใจในระบบสหภาพแรงงาน เพราะขนาดกรรมการสหภาพแรงงานยังต้องถูกให้อยู่นอกโรงงาน
 
จากเจ้าหน้าที่รัฐและข้อจำกัดทางกฎหมาย
 
จากการเก็บข้อมูล พบว่าปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของสหภาพแรงงานส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ และข้อจำกัดทางกฎหมาย ดังนี้
 
จากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
 
จากการเก็บข้อมูลพบว่ามีหลายกรณีที่แสดงให้เห็นถึงวิธีปฏิบัติ และการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องที่ไม่เหมาะสมนำมาสู่ปัญหาการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน ซึ่งในที่นี้จะขอยกมาเป็นกรณีตัวอย่าง 2 กรณี
 
กรณีที่ 1 การเพิกถอนทะเบียนสหภาพแรงงานของสหภาพแรงงานอิเลครอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ โดยนายทะเบียนวินิจฉัยว่าผู้ยื่นขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานจำนวนหนึ่งขาดคุณสมบัติเนื่องจากเป็นระดับผู้บังคับบัญชา ไม่สามารถที่จะมายื่นขอจดทะเบียนสหภาพร่วมกับลูกจ้างระดับปฏิบัติการได้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงคนงานกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด โดยสหภาพได้แสดงหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ท้ายที่สุดนายทะเบียนก็ตัดสินใจเพิกถอนทะเบียนสหภาพ สหภาพแรงงานจึงได้ร้องต่อศาลแรงงานเพื่อเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียน จนในที่สุดศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียน ให้สหภาพได้รับทะเบียนสหภาพคืน ซึ่งกรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้ดุลยพินิจในฐานะเจ้าหน้าที่โดยไม่เป็นธรรม
 
กรณีที่2 บริษัทโฮย่ากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด ขอให้ พนักงานประนอมพิพาทแรงงาน ทำการตรวจสอบทะเบียนสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ช่วงที่มีการยื่นข้อเรียกร้อง ปี 2552 ซึ่งหลังการตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่ได้มีคำตัดสินว่า สมาชิกสหภาพฯ มีจำนวนไม่ครบ 1ใน 5 เพราะว่า (1)สมาชิกสหภาพฯบางส่วนไม่ปรากฏรายชื่อในทะเบียนลูกจ้างของบริษัทฯ ทั้ง ๆ ที่ลูกจ้างจำนวนนั้นยังทำงานอยู่ในโรงงานและเป็นสมาชิกสหภาพ และทางสหภาพก็ได้แสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่สนใจ อ้างว่าจะดูเฉพาะส่วนที่มีรายชื่อในทะเบียนของนายจ้างเท่านั้น ไม่มีการตรวจสอบว่าเอกสารทะเบียนรายชื่อที่บริษัทให้เจ้าหน้าที่นั้นถูกต้องหรือไม่ (2)สมาชิกอีกส่วนหนึ่งนั้น ขาดส่งค่าบำรุงติดต่อกัน 3 เดือน เจ้าหน้าที่จึงได้ตัดออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไป ทั้ง ๆ ที่ตามข้อบังคับของสหภาพฯ จะต้องมีการออกหนังสือเตือนจากนายทะเบียนของสหภาพแรงงานที่ขาดส่งค่าบำรุง และหากสมาชิกยังไม่มาติดต่อ สหภาพจึงจะตัดรายชื่อสมาชิกคนนั้นออก (3) และสมาชิกอีกส่วนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ท่านนั้น ชี้ขาดว่า ไม่สามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้เนื่องจาก เป็นลูกจ้างระดับผู้บังคับบัญชา มีตำแหน่งเป็น Grouplead และSupervisor โดยที่ไม่มีการตรวจสอบอำนาจผู้บังคับบัญชาเลยว่ามีจริงหรือไม่ การตัดสินของเจ้าหน้าที่ดังนี้มีผลทำให้การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพฯ ต้องตกไป ในกรณีนี้จะเห็นว่า เจ้าหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทฯ
 
จากข้อจำกัดทางกฎหมาย
 
จากการเก็บข้อมูลพบว่า ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของสหภาพแรงงานส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่พบมากที่สุดคือ เมื่อแกนนำหรือกรรมการสหภาพแรงงาน ถูกนายจ้างเลิกจ้าง ซึ่งกรณีนี้ แกนนำคนงานและกรรมการสหภาพแรงงานต้องต่อสู่ทางกระบวนการยุติธรรม คือการยืนฟ้องต่อศาลแรงงาน แต่ในความเป็นจริง การเข้าถึงหรือการดำเนินคดีในศาลแรงงานสำหรับคนงานแล้วเป็นได้ด้วยความยากลำบากและล่าช้า รวมถึงต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นจึงมีแกนนำและกรรมการสหภาพจำนวนไม่น้อยที่จำยอมให้นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ต่อสู้ในศาล หรือต้องยอมรับข้อเสนอของนายจ้างกลางคันในระหว่างการดำเนินคดี
 
ข้อจำกัดทางกฎหมายอีกกรณีหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน คือ พนักงานจ้างเหมาค่าแรงไม่สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ เนื่องจากถูกระบุไว้ในประเภทการจ้าง ตามระเบียบของกระทรวงแรงงานเป็นคนละประเภทกับกิจการปกติที่ทำในโรงงาน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทโฮยา กลาสดิสค์ ประเทศไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ และสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ฟ้าสัมพันธ์ ก็เปิดรับสมัครสมาชิกที่ทำงานในกิจการประเภทเดียวกัน คือกิจการอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่คนงานจ้างเหมาค่าแรงในบริษัทโฮยา กลาสดิสก์ เป็นแรงงานที่ถูกกำหนดประเภทว่าเป็นประเภทบริการ ทำให้ไม่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์ฯ ได้
 
ข้อจำกัดทางกฎหมายที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ การที่นายจ้างให้แกนนำ หรือกรรมการสหภาพแรงงานอยู่นอกโรงงาน โดยจ่ายค่าจ้าง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ส่งผลอย่างมากต่อการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน แต่นายจ้างสามารถทำได้เพราะไม่มีกฎหมายห้ามนายจ้างกระทำการดังกล่าว
 
 
 
 
 
ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรค ในการรวมกลุ่มของคนงาน
 
ในปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานหลายฉบับได้แก่ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่เนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งเน้นเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาต่อรอง เรื่องการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน การตั้งคณะกรรมการลูกจ้าง การกระทำไม่เป็นธรรม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 ที่พูดถึงเรื่องงการคุ้มครองแรงงานในประเด็นต่าง ๆ ประราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีแรงงานและการจัดตั้งศาลแรงงาน ที่พูดถึงเรื่องการดำเนินคดีในศาลแรงงาน พระราชบัญญัติประกันสังคม ที่พูดถึงเรื่องการดูแลเมื่อคนงานเจ็บป่วยนอกงาน และพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน ที่พูดถึงเรื่องการคุ้มครองกรณีที่คนงานเจ็บป่วยในการทำงาน
 
แต่จากการเก็บข้อมูลที่แสดงให้เห็นในบทที่ผ่านมา เราจะเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นกับลูกจ้างก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่น้อยลงกว่าเดิม แต่กลับจะมากขึ้นซะด้วยซ้ำ รูปแบบการละเมิดสิทธิแรงงานก็มีความสลับซับซ้อน แยบคาบ มากยิ่งขึ้น ในขณะที่การรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานของคนงานก็มีความยากลำบากที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม มีข้อจำกัดทั้งที่เป็นตัวบทกฎหมายที่ไม่ได้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือแก้ไขให้มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มของแรงงานมากขึ้น ประกอบกับกฎหมายบางฉบับที่เก่าแก่ล้าสมัยก็ยังเป็นอยู่เช่นเดิม รัฐบาลไม่มีความจริงใจการในการรับรองอนุสัญญาไปแอลโอที่นำมาสู่การปรับปรุงกฎหมายที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างมากกว่านี้ ประกอบกับพฤติกรรม หรือทัศนคติของทั้งนายจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนงาน ทำให้การรวมกลุ่มของคนงานเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และถึงแม้ว่าคนงานจะมีการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังพร้อมที่จะถูกจัดการโดยนายจ้างเพื่อทำการล้มสหภาพแรงงาน หรือทำให้สหภาพแรงงานมีความอ่อนแอ
 
จากการสุ่มตัวอย่างคนงานที่ตอบแบบสอบถามและการสนทนากลุ่มทั้งหมดเห็นด้วยกับการมีสหภาพแรงงาน โดยมองว่าการมีองค์กรสหภาพแรงงานจะช่วยเรียกร้องและต่อรองกับนายจ้างในเรื่องค่าจ้างสวัสดิการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น รวมถึงการที่จะเข้ามาช่วยเหลือลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างละเมิดสิทธิ และเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งได้มีข้อเสนอโดยภาพรวมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน โดยแยกเป็นข้อเสนอต่อบริษัทหรือนายจ้าง และข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อนำมาสู่การปรับปรุงแนวทางในการส่งเสริมระบบอุตสาหกรรมที่เห็นแก่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงานควบคู่ไปด้วย และเพื่อการพัฒนากฎหมายเพื่อให้ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนงาน ดังนี้
 
1. ให้นายจ้างปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางการค้า (Code of Conduct) ปฏิบัติตามกฎบัตรของกลุ่มประเทศ OECD Guind line และอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(Core convention)
 
2. ให้รัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เนื่องจากส่งผลให้เกิดการจ้างงานในรูปแบบที่หลากหลายและเอาเปรียบแรงงานได้ง่ายมากขึ้น โดยอาจให้เริ่มมีการศึกษาอย่างจริงจังถึงผลกระทบจากการจ้างงานในรูปแบบที่หลากหลาย ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในการทำงาน และผลกระทบต่อการรวมกลุ่มของคนงาน
 
3. รัฐบาลต้องให้การรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งเป็น 2 ใน 8 ของอนุสัญญาหลักของ ILO ที่ถือกันว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกประเทศจะต้องเคารพและดูแลให้ มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นประตูด่านแรกของการที่จะทำให้คนทำงานทั้งหลายสามารถ เข้าถึงสิทธิอื่น ๆ ได้จริง และจะสามารถทำให้สิ่งที่เรียกว่า งานที่มีคุณค่า และเป็นธรรมเกิดขึ้นจริง เพื่อนำมาสู่การแก้ไขกฎหมายเรื่องการรวมกลุ่ม และการเจรจาต่อรองให้สอดคล้องกับสถานการการจ้างงานในปัจจุบันของประเทศไทย และเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน
 
4. รัฐบาลต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบัน โดยกระบวนการแก้ไขกฎหมายต้องเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แรงงานในทุกระดับ
 
5. รัฐต้องให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และในขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการในการจัดการกับนายจ้างที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย หรืออาศัยช่องว่างที่ลูกจ้างไม่รู้กฎหมาย มาเป็นเครื่องมือในการเอาเปรียบหรือละเมิดสิทธิผู้ใช้แรงงาน
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชุมนุม "Bersih 3.0" หนุนเลือกตั้งสะอาด หน้าสถานทูตมาเลเซีย

Posted: 29 Apr 2012 03:19 AM PDT

ชาวมาเลเซียในประเทศไทยชุมนุมหนุนปฏิรูปเลือกตั้ง ไปพร้อมกับการชุมนุมใหญ่ทั่วมาเลเซีย ขณะที่การประท้วงใหญ่วานนี้ที่กัวลาลัมเปอร์ ตำรวจสลายการชุมนุมซ้ำรอบ 3 จับผู้ชุมนุมกว่า 511 คน รวมถึง "ฉัว เทียน ชาง" ส.ส. พรรคฝ่ายค้านที่เคยประท้วงหน้าสถานทูตไทยเรียกร้องให้ปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ด้วย

ชาวมาเลเซียในประเทศไทยจัดชุมนุม "Bersih 3.0 Bangkok"
เมื่อ 28 เม.ย. หน้าสถานทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย ถ.สาทร

คลิปการชุมนุม Bersih 3.0 Bangkok

เมื่อวานนี้ (28 เม.ย.) ชาวมาเลเซียในประเทศไทย จัดการชุมนุม "Bersih 3.0 Bangkok" (เบอเซะ ทรี-พอย-โอ บางกอก) หน้าสถานทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ถ.สาทร เรียกร้องให้ทางการมาเลเซียปฏิรูประเบียบการเลือกตั้ง ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ภายในปี 2556 นี้ ทั้งนี้ผู้ประสานงานชาวมาเลเซียสุภัตรา จายาราช (Subatra Jayaraj) กล่าวว่าการจัดกิจกรรมในวันนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการชุมนุม "Bersih 3.0" ซึ่งจัดใกล้กับจัตุรัสเมอร์เดก้า กัวลาลัมเปอร์

โดยการชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์นี้ ชาวมาเลเซียกว่าร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา และชาวมาเลเซียที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ได้รวมตัวกันที่ประตูทางออกสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี ก่อนเดินไปตาม ถ.สาทร มุ่งไปยังสถานทูตมาเลเซีย โดยที่หน้าสถานทูต ผู้ชุมนุมได้ตะโกนคำขวัญ "Bersih" และสลับกันกล่าวปราศรัยโดยไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง และมีการ "นั่งประท้วง" หรือ "Dudok Bantah" ในภาษามลายู เช่นเดียวกับที่จัดในมาเลเซียด้วย นอกจากนี้มีนักสหภาพแรงงานและกิจกรรมชาวไทยเดินทางมาให้กำลังใจและสนับสนุนผู้ชุมนุมชาวมาเลเซียด้วย โดยกิจกรรมสิ้นสุดด้วยการยื่นหนังสือถึงสถานทูตมาเลเซียในเวลาประมาณ 15.00 น.

ทั้งนี้พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม หรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih แปลว่า สะอาด ในภาษามลายู) ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งในมาเลเซีย เช่น ให้ชำระระเบียบการเลือกตั้ง ให้ปฏิรูประบบลงคะแนนทางไปรษณีย์ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่โปร่งใส เรียกร้องให้ใช้หมึกที่ลบไม่ออกในการลงคะแนน ให้มีการหาเสียงเลือกตั้ง 21 วันเป็นอย่างน้อย และอนุญาตให้ทุกพรรคการเมืองเข้าถึงสื่อสารมวลชน และยุติการเมืองสกปรก

โดยการชุมนุม "Bersih" ครั้งแรกเมื่อ 10 พ.ย. 2550 และการชุมนุม "Bersih 2.0" เมื่อ 9 ก.ค. ปี 2554 จบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยตำรวจมาเลเซีย และมีผู้ถูกจับกุมนับพันคน ขณะที่ในการชุมนุม "Bersih 3.0" ที่จัดขึ้นเมื่อ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้จัดการชุมนุมวางแผนจัดการประท้วงในหลายเมืองในของมาเลเซียได้แก่ กัวลาลัมเปอร์, อิโปห์, ยะโฮร์ บารู, มะละกา, ปีนัง, โกตากินาบาลู, เซเรมบัน, กูชิง, มีรี, ซีบู อย่างไรก็ตาม ศาลมาเลเซียมีคำสั่งห้ามผู้ชุมนุมกลุ่มเบอเซะ ใช้พื้นที่จัตุรัสเมอร์เดก้า หรือจัตุรัสเอกราช เพื่อชุมนุม ขณะที่นายอาหมัด ฟูอัด อิสมาอิล นายกเทศมนตรีกัวลาลัมเปอร์แถลงเมื่อค่ำวันที่ 26 เม.ย. ว่า จะปิดจัตุรัสเมอร์เดกาและถนนทุกสายที่มุ่งไปยังจัตุรัสนี้ตั้งแต่เวลา 06.00 น.วันศุกร์จนถึงเวลา 06.00 น.วันอาทิตย์

โดยการชุมนุมที่กัวลาลัมเปอร์ในวันเสาร์ที่ 28 เม.บ. มีผู้ร่วมชุมนุมกว่าสองหมื่นห้าพันคน ขณะที่ผู้จัดการชุมนุม จบลงด้วยการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สและกระบองโดยตำรวจปราบจลาจล มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และตำรวจมาเลเซียระบุว่ามีการจับกุมผู้ชุมนุมทั้งสิ้น 512 คน

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ในจำนวนผู้ถูกจับกุมนี้ ยังรวมถึง นายฉัว เทียน ชาง (Chua Tian Chang) ส.ส. และรองประธานพรรคยุติธรรมแห่งชาติ (Parti Keadilan Rakyat - PKR) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่สำคัญในมาเลเซีย ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน นายฉัว เทียน ชาง ได้ไปประท้วงหน้าสถานทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน และบรรณาธิการ Voice of Taksin ด้วย โดยนายฉัว เทียน ชาง ถูกตำรวจจับกุมตั้งแต่บ่ายวันที่ 28 เม.ย. และได้รับการปล่อยตัวเมื่อเวลา 5.00 น. ของวันนี้ (29 เม.ย.)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22 - 28 เม.ย. 2555

Posted: 29 Apr 2012 12:52 AM PDT

แรงงานไทย-ต่างด้าวแห่ย้ายฐาน ไหลเข้า 7 จังหวัดนำร่องค่าแรง 300 บาท / ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.3 ชี้ค่าจ้าง 300 บาทไม่ช่วยให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น / จี้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนงาน / อีก 10 ปีผู้ใหญ่คุณภาพต่ำ-แรงงานสตรีค่าแรงต่ำ 

อีก 10 ปีผู้ใหญ่คุณภาพต่ำ-แรงงานสตรีค่าแรงต่ำ

ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เปิดเผยผลวิจัยเรื่องสถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทย ปี 2554-2555 พบว่าครอบครัวไทยบกพร่องในการทำหน้าที่สำคัญ คือ การเตรียมบุตรหลานของตนเองให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการปกป้องดูแลตน เอง

โดยเฉพาะการตั้งรับกับปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่ มีความรุนแรง คือ ครอบครัวร้อยละ 10 ไม่มีการเตรียมให้ความรู้กับลูกวัยรุ่นว่าด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการตั้งครรภ์เมื่อพร้อม ครอบครัวไทยร้อยละ 23 กำลังบกพร่องต่อการทำหน้าที่สำคัญ

ดร.วิมลทิพย์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งการจะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ มีความสุขและไม่เป็นภาระของลูกหลานขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวก่อนเกษียณใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ การเตรียมตัวด้านเงินออม การเตรียมตัววางแผนอาชีพ/กิจกรรมหลังเกษียณ การออกกำลังกายเพื่อเตรียมสุขภาพ และการเตรียมตัวเพื่อการพึ่งตนเองด้านที่อยู่อาศัย

โดยข้อค้นพบจากงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าครอบครัวไทยราวร้อยละ 6.4 แทบจะไม่มีการวางแผนเรื่องเงินออมเลย ในขณะที่ครอบครัวอีกร้อยละ 23.3 ไม่มีการวางแผนเรื่องอาชีพ/กิจกรรมหลังเกษียณ อีกร้อยละ 15.9 ไม่มีการออกกำลังกายเพื่อเตรียมสุขภาพ และอีกร้อยละ 14.4 ยังไม่ได้เตรียมการด้านที่อยู่อาศัยเลย

ดังนั้น ถ้าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีทรัพยากรมนุษย์เกิดจากความไม่พร้อม ไม่ตั้งใจนำมาซึ่งโอกาสที่จำกัด และสุดท้ายกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่ำ และในเวลาเดียวกันเราจะได้แรงงานสตรีราคาถูกเพราะออกจากระบบการศึกษาก่อน กำหนด ภาครัฐต้องรับภาระผู้สูงอายุจำนวนมหาศาลซึ่งไม่สามารถดูแลตนเองได้ หรือดูแลตนเองได้ในระดับต่ำ ผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่มีทั้งเงินออมในการดูแลตนเอง ไม่มีอาชีพ ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เหล่านี้หมายถึงงบประมาณมหาศาลที่ภาครัฐจะต้องทุ่มลงไป ทั้งๆ ที่หลายประเด็นเป็นเรื่องที่จัดการได้ด้วยระบบและการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญกว่านโยบายคือการลงมือทำ ซึ่งหมายถึงทุกหน่วยงานควรร่วมมือกันเพราะเป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ต้อง การการเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคม หากสังคมไม่น่าอยู่ ท้ายที่สุดพวกเราทุกคนก็ไม่มีใครอยู่ได้อย่างมีความสุข

(กรุงเทพธุรกิจ, 22-4-2555)

แรงงานนอกระบบร้อง คปก.ชงคลอดกฎกระทรวงคุ้มครองสิทธิคนทำงาน

24 เม.ย. 54 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย - ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ  คนทำงานบ้านจากหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่นปัตตานี เชียงราย  และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพกว่า 30คน  เข้าพบ คปก. โดยนางสุนี ไชยรส ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์  นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ นายไพโรจน์ พลเพชร และดร.โชคชัย สุทธาเวศ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม  เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ขอให้เร่งรัดกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดว่าต้องจัดตั้งคณะกรรมการมากำกับภายใน 120 วัน รวมทั้ง ออกกฎ ระเบียบอีกหลายฉบับ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 แต่ไม่มีการดำเนินการใด โดยพ.ร.บ.ประกาศเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553  มีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 180 วัน คือในวันที่ 15 พฤษภาคม 2554

ทั้งนี้ความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่สามารถใช้ สิทธิตามกฎหมายรับรองและคุ้มครอง เช่น   ค่าจ้างขั้นต่ำ ความปลอดภัยในการทำงาน และสุขภาพของแรงงานนอกระบบ ฯลฯ   ทำให้แรงงานนอกระบบไม่สามารถใช้สิทธิ  สูญเสียโอกาสและประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง แม้พระราชบัญญัติที่มีผลบังคับใช้มากว่าหนึ่งปีแล้ว

นอกจาก แรงงานทำงานบ้านที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541ยกเว้นไม่คุ้มครอง  ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในกฎหมายประกันสังคม ทั้งที่มีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานทำงานบ้าน และข้อเสนอแนะฉบับที่ 201 คนทำงานบ้านยังถูกโกงค่าแรง  ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้าง บางส่วนปกป้องสิทธิตนเองได้ยากลำบากเพราะกลัวถูกเลิกจ้าง บางรายสะท้อนว่าเมื่อถึงยามอายุมาก ไม่มีใครดูแล ต้องอาศัยพี่น้อง และรับจ้างทำงานเล็กๆน้อยๆ 

อย่างไรก็ตามหลังจากรับฟังแล้วคณะกรรมการฯ จะเชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่ บ้าน สาเหตุของความล่าช้าในการออกกฎกระทรวงต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้รับงานไปทำที่บ้านและคนทำงานบ้านตามกฎหมาย ต้นเดือนพฤษภาคมนี้

(ประชาไท, 24-4-2555)

คนงานโฮยาร้องสภาหอการค้าอเมริกัน จี้สมาชิกให้โฮยารับคนงานถูกเลิกจ้าง

24 เม.ย. 55 - ที่สภาหอการค้าไทยอเมริกัน เครือข่ายกู้ดอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทยและคนงานที่ถูกเลิกจ้างจากบริษัทโฮยา จ.ลำพูน ได้ยื่นจดหมายให้สภาหอการค้าฯ เพือให้สภาหอการค้าฯ กดดันสมาชิกที่เป็นลูกค้าของโฮยา คือ บริษัทผลิตฮาร์ดดิสก์อย่าง Seagate และ WD ให้เรียกร้องต่อโฮยา เพือให้มีการปฏิบัติต่อคนงานอย่างเป็นธรรมด้วยการรับคนงานที่ถูกเลิก จ้างกลับเข้าทำงาน โดยมีตัวแทนสภาหอการค้าฯ มารับจดหมาย

ทั้งนี้หลังจากการเจรจาที่กรรมาธิการแรงงานรัฐสภาให้มีการเจราจาเพื่อ รับคนงานเข้ากลับทำงานเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา นั้นปรากฎว่าไม่มีความคืบหน้า และสถานการณืยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกเพราะหลังจากนั้นทางบริษัทได้มีการเลิก จ้างประธานสหภาพแรงงาน

(ประชาไท, 24-4-2555)

พนักงาน ชินเอโคราชบุกศาลากลางฯ ร้องขอความเป็นธรรม-เพิ่มสวัสดิการ

24 เม.ย. 55 - ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา พนักงาน บริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี เลขที่ 183 หมู่ 3 ราชสีมา-โชคชัย ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กว่า 800 คน นำโดย นายสมพร รดจันทร์ รองประธานสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หลังคณะกรรมการสหภาพฯ ถูกบริษัทพักงานไปรวม 6 คนจากทั้งหมด 23 คน พร้อมเรียกร้องสวัสดิการจากบริษัทให้แก่พนักงานจำนวน 35 ข้อ
      
นายสมพร รดจันทร์ รองประธานสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค กล่าวว่า หลังจากสหภาพฯ ได้ยืนข้อเรียกร้อง 35 ข้อ ซึ่งเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิการความปลอดภัยของพนักงาน และการเพิ่มเงินค่าตอบแทนในการทำงาน เช่น การเพิ่มค่ารถจาก 25 บาท เป็น 70 บาท, ขอรถเข็นพยาบาลประจำจุดทำงาน, ขอค่าอาหารกรณีอยู่ทำงานล่วงเวลาเกิน 2 ชั่วโมง, ขอชุดพนักงานที่มีคุณภาพ 4 ชุดต่อปี, ขอรองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณภาพ, ขอเพิ่มเงินเดือนร้อยละ 5 ต่อปี, ขอให้บริษัทจ่ายเงินโบนัส 2 ครั้งต่อปี และให้บริษัทปรับปรุงระบบการดูแลเรื่องการเจ็บป่วยจากการทำงาน เป็นต้น
      
ข้อเรียกร้องดังกล่าว ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้กลุ่มสหภาพแรงงานชินเอไฮเทคได้ ประชุมหารือกับทางผู้บริหารบริษัทมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงหาข้อยุติกันได้ ทางสหภาพฯ จึงยื่นเรื่องให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมาเป็น ตัวกลางในการเจรจา ซึ่งสำนักงานสวัสดิการฯ ได้เรียกให้บริษัทกับสหภาพฯ ไปพูดคุยกันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้เหมือนเดิม ทางสำนักงานสวัสดิการฯ จึงนัดเจรจาในวันนี้อีกเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งได้ส่งตัวแทนฯ ไปเจรจาแต่ก็ไม่เป็นผล
      
นายสมพรกล่าวว่า เฉพาะในเดือนเมษายนผู้บริหารบริษัทได้สั่งพักงานแกนนำสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค ไปแล้วจำนวน 6 คน แบ่งเป็นทำงานอยู่โรงงานภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ต.หนองบัวศาลา 3 คน และโรงงานในนวนคร อ.สูงเนินอีก 3 คน โดยให้เหตุผลว่าแกนนำสหภาพฯ ทั้งหมดสร้างความแตกแยกในองค์กร และล่าสุดเมื่อเช้านี้ (24 เม.ย.) มีพนักงานฝ่ายบุคคลเข้ามาบอกพนักงานที่ทำงานกะเช้ากว่า 500 คนที่เป็นสมาชิกสหภาพฯ ให้หยุดทำงานและออกจากโรงงานไป
      
พนักงานทั้งหมดจึงเดินทางมาร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ว่าฯ ในวันนี้ เนื่องจากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาทางบริษัทได้รับผู้จัดการฝ่ายบุคคลคนใหม่เข้ามาซึ่งมีประวัติ ในการล้มสหภาพฯ ของโรงงานใน จ.สมุทรปราการมาก่อนหน้านี้ และที่ผ่านมาทางสหภาพฯ พูดคุยกับผู้บริหารบริษัทมาด้วยดีตลอด ฉะนั้นเราจึงเป็นกังวลว่าบริษัทมีแผนที่จะล้มสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทคด้วย
      
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในระหว่างการชุมนุม สภ.เมืองนครราชสีมาได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความสงบเรียบร้อยกว่า 20 นาย โดยมี พ.ต.อ.ชัยเดช ปานรักษา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เดินทางมาตรวจความสงบเรียบร้อย ขณะที่ นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีภารกิจเดินทางไปต่างจังหวัด ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันที่จะยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ เพียงคนเดียว โดยจะชุมนุมปักหลักรอที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีสหภาพแรงงานการรถไฟจังหวัดนครราชสีมา และสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย
      
ล่าสุดเวลา 18.00 น.วันเดียวกันนี้ กลุ่มพนักงานบริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา และแกนนำประกาศจะชุมนุมค้างคืนที่หน้าศาลากลางฯ เพื่อรอผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมามารับข้อเรียกร้องพร้อมดำเนินการแก้ไข ปัญหาต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-4-2555)

เครือข่ายแรงงาน ชง สธ.ออกกฎห้ามดื่ม-ขายเหล้า ในโรงงาน

25 เม.ย. 55 - ที่กระทรวงสาธารณสุข นางสาวประนอม เชียงอั๋ง ผู้ประสานงานเครือข่ายโรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า พร้อมด้วย นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กว่า 30 คน เข้าพบ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้ผลักดันร่างกฎหมายห้ามขาย หรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ... และห้ามขาย ห้ามดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ ถนน และทางสาธารณะ โดยขอให้เร่งนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แห่งชาติ และมีผลบังคับใช้ทันที
      
นางสาวประนอม กล่าวว่า จากผลสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและเครือข่ายโรงงานฯ ระหว่างวันที่ 16-20 ก.พ.2555 ในประเด็นผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และความคิดเห็นต่อมาตรการห้ามขาย หรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานจากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 948 ราย แบ่งเป็น ลูกจ้าง 900 ราย และนายจ้าง 48 ราย ทั้งหมด 30 โรงงาน จากพื้นที่จังหวัดลำพูน นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม พบว่า ลูกจ้าง 95.78% เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว ขณะที่ นายจ้างเห็นด้วย 100% โดยเชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาการดื่มเหล้าของคนงานในโรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-4-2555)

ปัญหาคนงานบริดจสโตน อมตะนคร ยังไม่ยุติ หลังสหภาพแจ้งความบริษัทปิดงานโดยมิชอบ

25 เม.ย. 55 - สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ของบริษัทบริดจสโตน ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตยางรถยนต์ส่งออกทั่วโลก ยี่ห้อบริดจสโตน ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เฟส 7 ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ได้สั่งปิดโรงงานแบบกะทันหัน ตั้งแต่ในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมติดป้ายเปิดรับสมัครพนักงานฝ่ายผลิตใหม่ และประกาศให้เงินเดือนสูงกว่าเดิม ในราคาฝึกงาน 300 บาทต่อวัน และหากรับเข้าทำงานใหม่จะได้วันละ 335 บาท ไม่รวมสวัสดิการ ทำให้พนักงานเดิมกว่า 1,400 คน ต้องตกงาน
 
โดยสาเหตุของการเลิกจ้างนั้น มาจากการที่สหภาพแรงงานของบริษัทฯ ได้เป็นตัวแทนพนักงานทั้งหมดยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้ผู้บริหาร ยกเลิกระบบการคิดเงินเดือนในอัตราค่าจ้างใหม่ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา โรงงานได้นำระบบกระบอกเงินเดือนแบบโรงงานในประเทศญี่ปุ่นมาใช้ กล่าวคือ เป็นระบบเงินเดือนที่อายุงานยิ่งนาน เงินเดือนยิ่งน้อย และแรงงานที่ทำอยู่จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่เคยได้
      
ทางสหภาพจึงเรียกร้องขอให้บริษัทฯ กลับไปใช้ระบบกระบอกเงินเดือนแบบเดิม คือให้เงินค่าจ้างตามอายุงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน
      
เมื่อทางสหภาพฯ ได้ทำหนังสือเรียกร้อง และขอให้ไปเจรจากันที่สำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี ก็ได้มีการเจรจากันถึง 4 ครั้ง กระทั่งในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารได้สั่งปิดประตูโรงงาน พร้อมติดป้ายเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ ทำให้บรรดาพนักงานต้องไปรวมกันที่หน้าโรงงาน แต่โรงงานกลับส่ง SMS ชักชวนพนักงานให้กลับไปทำงานตามเดิม จนทำให้มีพนักงานบางส่วนยินยอมกลับเข้าทำงาน
 
ทั้งนี้คนงานได้ทำการประท้วงหน้าโรงงาน รวมถึงได้ยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และทางสหภาพฯ ยังได้ได้เดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรพานทอง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงานในข้อหา ปิดโรงงานโดยไม่ชอบโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งยังลอยแพพนักงาน
 
ล่าสุดในวันที่ 23 เม.ย.  พนักงานที่ได้เดินทางมาหลายร้อยคนเพื่อเป็นกำลังให้ตัวแทนเข้าแจ้งความ ดำเนินคดีกับผู้บริหารโรงงานนั้น ได้ร่วมกันกดดันให้เจ้าพนักงานออกหมายเรียกกรรมการผู้จัดการโรงงาน มารับข้อกล่าวหาที่ปิดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
(ประชาไท, 25-4-2555)

นัดฟังคำพิพากษาคนงานถูกฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ 25 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 24-25 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย คดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายสงคราม ฉิมเฉิด พนักงานจัดส่งแก๊ส สาขาสมุทรสาคร บริษัท ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) ซึ่งเป็นอนุกรรมการสหภาพฯ ในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามมาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

โดยคดีดังกล่าว เป็นคดีที่นางปาริชาติ พลพละ ผู้จัดการสาขาของบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) ฟ้องนายสงคราม ในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 มาตรา 3,4 รวมถึงข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดย ประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เนื่องจากมีการส่งอีเมลหนังสือร้องเรียน ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาทไปยังองค์กรต่างๆ ซึ่งที่สุด หลังการเจรจาไกล่เกลี่ย นายจ้างได้ยอมความโดยถอนฟ้องไป แต่ยังคงเหลือข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่อาจยอมความได้ ทำให้ต้องต่อสู้คดีต่อไป

โดยในการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์นำสืบพยาน 6 ปากได้แก่ นางปาริชาต พนักงานบริษัท 3 คน ผู้แปลเอกสาร 1 คน และพนักงานสอบสวน 1 คน ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำสืบเพียงจำเลย ทั้งนี้ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 25 พ.ค.55 เวลา 10.00น.

ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายจำเลย กล่าวว่า ในประเด็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยจะก่อความเสียหายต่อผู้ อื่นหรือประชาชน ได้นำสืบโดยชี้ว่า ไม่น่าจะผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ เพราะฝ่ายโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลในอีเมลดังกล่าวเป็นเท็จ โดยแม้จะมีพยานคนกลางในที่เกิดเหตุ 1 คนแต่ฝ่ายโจทก์กลับไม่มีการนำสืบ ส่วนการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้นำสืบว่า เมื่อสงครามยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาแล้วก็ส่งแฟกซ์ให้กรรมการ สหภาพแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งสงครามไม่รู้ว่าจะมีการเผยแพร่ไหม เพราะเขาเองไม่ได้ใช้อีเมล ขณะที่พยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบ ก็ไม่มีใครยืนยันได้ชัดเจนว่าอีเมลที่ได้รับนั้นใครเป็นผู้ส่ง เพียงแค่คิดว่าเมื่อสงครามเป็นเจ้าของจดหมายก็น่าจะเป็นผู้ส่งหรือให้ใครส่ง ให้

ทั้งนี้ รายงานประจำปีของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ชื่อ "เสรีภาพและวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตไทย ปี พ.ศ. 2554" ซึ่งเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 6 เม.ย.55 ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายหมิ่นประมาท หากแต่มีโทษจำคุกสูงกว่า และยอมความไม่ได้ เพราะถือเป็นความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดิน โดยในปี 2554 เป็นปีแรกที่มีบันทึกว่า มีการนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มาใช้ฟ้องร้องระหว่างประชาชนกับประชาชน ในทางที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งมี 3 กรณีด้วยกันที่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะได้แก่ คดีของนายสงคราม ฉิมเฉิด คดีของนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ซึ่งถูกฟ้องโดยแพทย์ว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จ อันได้แก่ข้อมูลคนไข้ที่เสียชีวิตและภาพความผิดพลาดในการรักษา ซึ่งนางปรียนันท์ใช้ในการรณรงค์เพื่อผลักดันร่างกฎหมาย และกรณี น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์แจ้งความต่อทวิตเตอร์แอคเคาท์ @NotMallikaBoon ที่ล้อเลียนทวิตเตอร์ @MallikaBoon ของเธอ ว่าเป็นข้อมูลเท็จซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดและเสื่อมเสียชื่อเสียง

โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ตแสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะถูกนำมาใช้เพื่อขัดขวางการรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ในอนาคต เนื่องจากประชาชนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารมากขึ้น เรื่อยๆ ทั้งกิจกรรมการรณรงค์ทางการเมือง รณรงค์ด้านสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิแรงงาน สิทธิผู้ป่วย ก็ล้วนแล้วแต่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อ

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

(ประชาไท, 25-4-2555)

เผดิมชัยอ้างขึ้นค่าแรงพร้อมกันทั่ว ปท.ไม่ได้ เหตุน้ำท่วม นายจ้างขอเลื่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาฯ วันนี้ (26 เม.ย.) นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์กระทู้ถามสดเรื่องการดำเนินการนโยบายของรัฐบาล เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ขอถามนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ว่า การประกาศนโยบายดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทันที โดยขณะนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีกิจการปิดตัวลงนับแสนราย เช่นเดียวกับคนตกงานจำนวนมาก เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ดังนั้น ต้องการทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายเยียวยาในส่วนนี้อย่างไร
      
นโยบายที่ออกมาเป็นเพียงการหวังประโยชน์ทางการเมืองระหว่างการหาเสียง เท่านั้น เพราะไม่สามารถทำได้ทันทีภายใน 1 ปีตามที่ประกาศไว้ หลังจากมีเพียง 7 จังหวัดนำร่องที่ได้รับค่าแรงงานอัตราใหม่ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 70 จังหวัดต้องชะลอไปก่อน จึงอยากสอบถามว่ารัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบกับการไม่สามารถทำตามที่ประกาศ ต่อสาธารณชนไว้หรือไม่
      
นายเผดิมชัยกล่าวว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาทไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐบาลโดยตรง เพราะต้องมาจากการพิจารณาร่วมกันของไตรภาคี ประกอบด้วยคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง รัฐบาล และลูกจ้าง ซึ่งไตรภาคีได้มีฉันทานุมัติร่วมกัน ทั้งนี้ ยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงงานย่อมเกิดผลกระทบแต่รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเอาไว้ คือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านการลดอัตราการเก็บภาษีจาก 30% เหลือ 23% แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศขึ้นค่าแรงวันที่ 1 ม.ค. 2555 พร้อมกันทั้งประเทศไม่ได้ แต่รัฐบาลก็มีเหตุผลเพราะไม่รู้ว่าจะมีมหาอุทกภัยเกิดขึ้น ขณะนั้นนายจ้างขอความเห็นใจว่าขอให้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 เม.ย. 2556 แทน แต่ยืนยันในวันที่ 1 ม.ค.2556 จะขึ้นค่าแรงทั้งประเทศแน่นอน ดังนั้น ยืนยันได้ว่านโยบายนี้รัฐบาลได้เริ่มภายใน 1 ปีตามเจตนารมณ์

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-4-2555)

จี้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนงาน

26 เม.ย.55 - เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของนักการเมือง จำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ โดยระบุว่า แม้จะมีขยายการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่ายังมีร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร่างฯ ที่เสนอผ่านการเข้าชื่อโดยภาคประชาชน แต่กลับปรากฏว่า ยังไม่มีการหยิบยกกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาตามที่อ้างแต่อย่างใด ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐสภานำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ขึ้นมาพิจารณาโดยทันทีในสมัยวาระการประชุมนี้ตามที่ได้อ้างถึง เพื่อแสดงความจริงใจและแสดงความรับผิดชอบในฐานะตัวแทนจากประชาชนที่ได้รับ การคัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติ

เนื้อหาจดหมายเปิดผนึกมีดังนี้

ขอเรียกร้องความจริงใจรัฐสภาจากการพิจารณากฎหมายของภาคประชาชน
อย่าเป็นเพียง "ข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์"

สืบเนื่องจากการขยายเวลาประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 ออกไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมาจนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุม และอ้างถึงจดหมายลงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555 ของเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เรื่องขอให้ประธานรัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติที่ขยายออกไปโดยยังไม่มีกำหนดปิด
 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ในฐานะประธานคณะทำงานผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,624 รายชื่อของผู้ใช้แรงงาน  และเครือข่ายแรงงานได้เดินรณรงค์ไปที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือให้มีการหยิบยก ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของฝ่ายแรงงานเข้าสู่การพิจารณามาแล้ว 3 ครั้ง  เมื่อวันที่ 8, 22 มีนาคม และวันที่ 5 เมษายน นั้น  ถือว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการรับรู้ความต้องการของฝ่ายแรงงานแล้ว  เพราะผู้มารับเรื่องมีทั้งรองประธานสภาฯ  ประธานวิปรัฐบาล  ประธานวิปฝ่ายค้าน  กรรมาธิการการแรงงาน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  รวมทั้งหัวหน้าและ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน   และสื่อมวลชนก็ได้มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันดังกล่าวจวบจนปัจจุบันกลับพบว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ในการประชุมครั้งใด แม้ว่าจะมีการบรรจุวาระการประชุมทุกครั้ง และทางรัฐสภาได้ขยายเวลาเปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติออกไปอย่างไม่มี กำหนด โดยให้เหตุผลว่ายังมีร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เป็น จำนวนมาก โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่เสนอผ่านการเข้าชื่อโดยภาคประชาชน

เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน อันประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่ง ประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย มีความเห็นร่วมกันว่า

(1) จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติรับรองและให้ความสำคัญต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อ รัฐสภาโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการใช้สิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางอ้อม ดังนั้นจึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของประธานรัฐสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทุกคนที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังถือว่าเป็นการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญ

(2) การที่รัฐสภาอ้างเรื่องการมีกฎหมายในส่วนของภาคประชาชนที่ต้องพิจารณาจำนวน มาก ทำให้มีการขยายการเปิดประชุมรัฐสภาออกไปไม่มีกำหนด แต่อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมา กลับพบว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการหยิบยกกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาตามที่ ได้อ้างแต่อย่างใด นี้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญว่า นักการเมืองได้ใช้ข้ออ้างดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์และเป้าหมายทางการเมืองของ ตนมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน

ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางรัฐสภาจะต้องแสดงความจริงใจและแสดง ความรับผิดชอบในฐานะตัวแทนจากประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่ใน กระบวนการทางนิติบัญญัติ จึงขอเรียกร้องให้นำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ขึ้นมาพิจารณาโดยทันทีในสมัยวาระการประชุมนี้ตามที่ได้อ้างถึง

(ประชาไท, 26-4-2555)

ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.3 ชี้ค่าจ้าง 300 บาทไม่ช่วยให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นเรื่องชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทโดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,180 คน พบว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 79.1 ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันแล้ว ขณะที่ร้อยละ 20.9 ยังไม่ได้รับ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ากิจการยังไม่อนุมัติปรับขึ้นค่าจ้างให้ เมื่อสอบถามผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่าชีวิตการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 82.4 ระบุว่ามีชีวิตการทำงานเหมือนเดิม ขณะที่ร้อยละ 15.4 ระบุว่าต้องทำงานหนักขึ้น มีเพียงร้อยละ 1.3 ที่ระบุว่าทำงานน้อยลง

ผู้ใช้แรงงานเกือบครึ่งหรือร้อยละ 49.9 ไม่เชื่อว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะทำให้กิจการที่ทำงานอยู่ต้องประสบกับภาวะขาดทุนหรือเลิกกิจการ ตรงกันข้ามร้อยละ 23.0 เชื่อว่าจะทำให้กิจการมีกำไรจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 26.9 เห็นว่าจะกระทบทำให้กำไรลดลงเท่านั้น มีเพียงร้อยละ 1.4 เห็นว่าขาดทุน และร้อยละ 0.8 เห็นว่าจะเลิกกิจการ

สำหรับความเห็นต่อค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่รัฐบาลปรับขึ้น ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.3 เห็นว่าไม่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ในจำนวนนี้ร้อยละ 36.5 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะยังเหมือนเดิม และร้อยละ 2.8 เห็นว่าจะแย่ลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าที่เพิ่มทำให้แรงงานไม่ได้ประโยชน์จากค่าจ้าง ขั้นต่ำ 300 บาทอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนร้อยละ 60.7 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น และเมื่อถามต่อว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้หรือไม่ ร้อยละ 54.9 เห็นว่าจะไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ร้อยละ 45.1 เห็นว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ร้อยละ 93.2 ระบุเห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 6.8 ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ พบว่าร้อยละ 51.4 ไม่กังวลว่าแรงงานต่างด้าวจะเข้ามาแย่งงานคนไทย ขณะที่ร้อยละ 31.1 กังวลมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 17.5 กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลปรับปรุงแก้ไขมากที่สุดอันดับแรก คือ สวัสดิการร้อยละ 32.3 รองลงมาดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานร้อยละ 29.7 และดูแลคุณภาพชีวิตร้อยละ 14.9.

(สำนักข่าวไทย, 27-4-2555)

แรงงานไทย-ต่างด้าวแห่ย้ายฐาน ไหลเข้า 7 จังหวัดนำร่องค่าแรง 300 บาท

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่ ส.อ.ท.ได้ติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง พบว่ามีสัญญาณชัดเจนว่าลูกจ้างทั้งคนไทยและคนต่างด้าวเริ่มเคลื่อนย้ายเข้า มาทำงานใน 7 จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นที่ ส.อ.ท.ได้รับรายงาน อาทิ ชัยภูมิ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ชุมพร สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ สาเหตุมาจากลูกจ้างเองต้องการค่าจ้างสูงขึ้น ขณะที่พื้นที่ภาคกลาง 6 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดภูเก็ตยังขาดแคลนแรงงานสูง

ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแบบเจาะลึก และเป็นหนึ่งในหลายประเด็นที่จะเสนอให้นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.พิจารณา

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ส.อ.ท.สำรวจผลกระทบหลังปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยสุ่มสำรวจภาคเหนือพบผู้ประกอบการ 119 รายได้รับผลกระทบรุนแรง 58% ผลกระทบปานกลาง 36% และผลกระทบน้อย 6%

แหล่งข่าวจากสำนักงานแรงงาน จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ยังไม่พบรายงานตัวเลขที่เป็นทางการปัญหาแรงงานย้ายถิ่น หลังเดือน เม.ย.ไปแล้วน่าจะได้รับข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น เพราะทางกระทรวงแรงงานสั่งการให้ตั้งวอร์รูมสังเกตการณ์ทุกปัญหาทึ่เป็นผล กระทบจากการปรับค่าจ้างอยู่แล้ว

นายศักดิ์สกล จินดาสวัสดิ์ แรงงานจังหวัดสมุทรสงครามกล่าวว่า ได้เตรียมมาตรการป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานไว้บางส่วน ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 40% ในจ.สมุทรสงคราม ทำให้ค่าแรงเดิม 172 บาท/วัน เพิ่มเป็น 240 บาท/วัน ก็ทำให้ลูกจ้างบางส่วนยอมรับได้

นาย สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาก เพราะต้นทุนสูงขึ้นแต่ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ถ้าแจ้งล่วงหน้าให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมผลกระทบอาจน้อยกว่านี้ นอกจากนี้การขึ้นค่าแรงฉับพลันทำให้ผู้ประกอบการในหลายจังหวัด อย่างสุพรรณบุรีขาดแคลนแรงงานหนัก เนื่องจากแรงงานบางส่วนย้ายถิ่นฐานไปทำงานใน 7 จังหวัดที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท สิ่งที่คาดหวังคือแรงงานจะต้องมีคุณภาพฝีมือมากกว่านี้ และการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ใน 70 จังหวัดที่เหลือน่าจะเลื่อนออกไป

(ประชาชาติธุรกิจ, 27-4-2555)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Primary Vote: ก้าวย่างสำคัญของพรรคเพื่อไทย

Posted: 28 Apr 2012 11:25 PM PDT

ภายหลังจาก พรรคเพื่อไทย แพ้การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปทุมธานี โดยที่มีประเมินกันว่า คนเสื้อแดง ฝ่ายประชาธิปไตยไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้น้อย 

สาเหตุสำคัญ เนื่องจากว่า ไม่เห็นด้วยที่สมาชิสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปทุมธานีได้ลาออก ทั้งที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว แต่กลับไปลงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เท่ากับว่า เป็นการดูถูกประชาชนที่ได้เลือกเขาไปแล้ว และไม่เห็นคุณค่าหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงที่ประชาชนเลือก 

นอกจากนี้แล้ว ได้มีการตั้งคำถามกัน ถึง พรรคเพื่อไทยถึงกระบวนการคัดสรรผู้สมัครลงเลือกตั้งอย่างไร ? ว่า มีกระบวนการการตัดสินใจส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่สนใจฟังความคิดเห็นของประชาชน ว่าเขาคิดเช่นไรหรือไม่ ? ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย อยากเสนอใครลงเลือกตั้งได้หรือไม่ ? อำนาจตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่สมาชิกพรรค อย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ ? 

ตามหลักการพรรคของมวลชน พรรคที่เป็นประชาธิปไตยนั้น มวลชนสมาชิกพรรคเป็นผู้เลือกผู้สมัคร พรรคส่งผู้สมัครตามแนวทางสมาชิกมวลชน ซึ่งมิใช่ “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” แต่ “ประชาชนมีส่วนในเลือกคน พรรคฟังเสียงของประชาชน”

การเลือกตั้งสมัยที่ผ่านมา มีคนจำนวนไม่น้อยที่สนุบสนุนเลือกพรรคเพื่อไทย แม้ว่า พรรคเพื่อไทยในบางจังหวัด บางพื้นที่ ประชาชนที่เลือกอาจจะไม่นิยมชื่นชมผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยสักเท่าใดนัก เนื่องจากผู้สมัครบางคนไม่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

บางคนยังติดความคิดแบบอำมาตย์ ชอบสั่งการแบบราชการ รวมศูนย์ เผด็จการ ไม่ฟังความคิดเห็นของคนอื่นที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย มองประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือสู่อำนาจ

บางคนเป็นพวกฉวยโอกาสตามกระแสประชาธิปไตย ที่ไม่ยอมปรับตัวเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็มีให้เห็น 

แต่คนเสื้อแดงฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องเอาไว้ก่อน เพื่อชนะพรรคฝ่ายอำมาตยาธิปไตย 

ปรากฏการณ์ ดังกล่าว ทำให้ การเลือกตั้งซ่อมจังหวัดเชียงใหม่เขต 3 จะมีขึ้นอีกไม่นานนี้ คนเสื้อแดง เชียงใหม่ ส่วนหนึ่ง ได้เสนอกันว่า พรรคเพื่อไทย ควร มี Primary Vote เพื่อความก้าวหน้าของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย อย่าให้เหมือนพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่ครั้งหนึ่งมีการกล่าวกันว่า “พรรคส่งเสาไฟฟ้าลงก็ได้” 

แม้ว่า การพ่ายแพ้การเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยที่จังหวัดปทุมธานี จะเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ และแม้ว่า พรรคเพื่อไทย ส่งใครลงที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนก็เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยก็จะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อยู่เป็นแน่ 

แต่ถ้าคำนึงถึงคุณภาพใหม่ ของพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายประชาธิปไตย ระบบ Primary Vote เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่ง

Primary Vote นั้นหมายถึง การเลือกตั้งขั้นต้นที่สมาชิกของพรรคทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกคน ที่เสนอตัวเป็นผู้สมัคร หรือแคนดิเดตของพรรค ให้ได้รับสิทธิจากชัยชนะ เพื่อไปเป็นตัวแทนในการลงเลือกตั้ง เป็นวิธีการเลือกตั้งขั้นต้นที่นิยมกันมากที่สุด และส่วนใหญ่มักจะเป็นการเลือกตั้งไพรมารี แบบปิด คือ ให้สิทธิสมาชิกพรรคเท่านั้นที่มีสิทธิลงคะแนน

ประกายไฟความคิดของคนเสื้อแดง เชียงใหม่ กลุ่มนี้ ได้ท้าทายพรรคเพื่อไทยยิ่งนัก ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย จึงควรส่งเสริมประชาธิปไตย มิใช่ปล่อยให้คนไม่กี่คนตัดสินใจในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และควรเป็นแบบอย่างให้กับการเมืองไทยในอนาคต มิใช่หรือ? 

แม้แต่ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อปี 2542 ว่าจะนำระบบ Primary Vote มาใช้ 

Primary Vote จึงเป็นก้าวย่างสำคัญของพรรคเพื่อไทย เพื่อสร้างพรรคเป็นพรรคที่มีประชาธิปไตยในองค์กร และสู้เพื่อประชาธิปไตยได้อย่างเข้มแข็ง เพราะมวลสมาชิก เป็นเจ้าของพรรคได้อย่างแท้จริง และยิ่งยุคสมัยปัจจุบันที่มวลสมาชิกล้วน “ตาสว่าง” เติบโตทาง”คุณภาพ” จึงท้าทายยิ่งนัก

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยผู้ต่อต้านรัฐบาลจีนหนีการกักบริเวณ อยู่ภายใต้ 'การคุ้มครองของสหรัฐฯ' แล้ว

Posted: 28 Apr 2012 11:16 PM PDT

เฉิน กวงเฉิง นักกิจกรรมผู้ต่อต้านนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีน หลบหนีจากการถูกสั่งกักบริเวณภายในบ้าน ล่าสุดเพื่อนนักสิทธิฯ เผยว่าเขาอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่ง โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสหรัฐฯ
 
 
28 เม.ย. 55 - กลุ่มสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เฉิน กวงเฉิง ชายผู้พิการทางสายตาซึ่งเป็นผู้ต่อต้านรัฐบาลจีน ได้หลบหนีออกจากบ้านของตนที่ถูกรัฐบาลสั่งกักบริเวณ และตอนนี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของสหรัฐฯ
 
กลุ่มสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ChinaAid บอกอีกว่าเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ และจีน กำลังจะมีการเจรจากันในกลุ่มคนระดับสูงเพื่อตกลงว่าจะดำเนินการกับ เฉิน กวงเฉิงอย่างไร
 
ก่อนหน้านี้ หูเจีย เพื่อนนักกิจกรรมของเฉิน บอกว่า เฉินอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ แต่ยังไม่สามารถยืนยันข้อมูลได้
 
การหลบหนีของเฉินอาจเป็นการบั่นทอนการมาเยือนจีนของฮิลลารี่ คลินตัน ในสัปดาห์หน้าได้ เนื่องจากฮิลลารี่เป็นผู้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต่อต้านรัฐบาลเสมอมา
 
จากแถลงการณ์ขององค์กร ChinaAid ระบุว่า พวกเขาทราบสถานการณ์ของเฉิน กวงเฉิง จากแหล่งข่าวที่มีความใกล้ชิดกับตัวเขา ว่าเฉินอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสหรัฐฯ
 
กลุ่ม ChinaAid นำทีมโดยบ็อบ ฟู นักสิทธิมนุษยชนชาวสหรัฐฯ ผู้ที่เป็นเพื่อนกับเฉิน
 
วานนี้ (27 เม.ย.) หูเจีย นักสิทธิฯ ผู้มีชื่อเสียงและเป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งของเฉิน กล่าวให้ข้อมูลกับสำนักข่าว BBC ว่า เขาได้พบกับเฉินอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่งเมื่อ 72 ชั่วโมงที่ผ่านมา หลังจากที่เฉินหนีออกจากการกักบริเวณอยู่ภายในบ้านในมณฑลซันตง เขาบอกอีกว่า เฉินได้ปีนกำแพงสูงหนีออกมาก่อนที่จะขึ้นรถมายังกรุงปักกิ่งซึ่งห่างออกมาหลายร้อย กม.
 
ต่อมาในวันนี้ (28 เม.ย.) ภรรยาของหูเจีย ได้โพสท์ลงในทวิตเตอร์ของเธอว่า หูถูกตำรวจในท้องที่นำตัวไปสอบปากคำ
 
สวัสดิภาพของเฉินและญาติๆ
 
นักกิจกรรมเปิดเผยว่า เฉินหนีไปตั้งแต่วันอาทิตย์ (22 เม.ย.) ที่ผ่านมา และจากนั้นจึงมีวีดิโอที่ระบุถึงตัวนายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่เพิ่งทราบเรื่องที่เขาหนีออกจากบ้านเมื่อวันพฤหัส (26 เม.ย.) ที่ผ่านมานี้เอง
 
ภาพวีดิโอที่เฉินกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี เวิ่น ถ่ายในห้องมืดสลัว เฉิน ในวีดิโอบอกว่าการใช้ไหวพริบหนีเจ้าหน้าที่ซึ่งคอยเฝ้ามองไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
 
เฉินบอกอีกว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนและบังคับคดีของ นายกฯ เวิ่น ได้ทุบตีทำร้ายสมาชิกครอบครัวเขา เขาได้แสดงความเป็นห่วงด้านความปลอดภัยของครอบครัว และยังได้กล่าวถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในจีนซึ่งควรจะถูกลงโทษตามกฏหมาย
 
มีรายงานว่ามีพี่ชาย หลายชาย และคนอื่นๆ ที่ช่วยเขาหนีออกมา ตอนนี้ถูกตำรวจจับกุมตัวเรียบร้อยแล้ว กลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างแหล่งข่าวบอกว่าหลานชายของเฉิน กวงเฉิง ถูกตำรวจมากกว่า 30 นายมาพาตัวเขาออกจากบ้าน
 
นาวี พิลเลย์ นางนาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกล่าวแสดงความเป็นห่วงต่อสวัสดิภาพของเฉินและครอบครัวเขาที่ยังอยู่ในมณฑล ซันตง นอกจากนี้ยังได้กล่าวแสดงความไม่สบายใจที่ทราบข่าวว่ายาติพี่น้องของเฉินถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวอยู่
 
รัฐบาลจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยนานาชาติจากกรณีการปฏิบัติต่อเฉิน มีครั้งหนึ่งที่ลูกสาวของเฉินถูกสั่งห้ามไปโรงเรียน คนที่เห็นใจเฉินหลายคนพยายามไปเยี่ยมเขาที่บ้านแต่ก็ถูกทุบตี
 
ชีวิตเฉิน กวงเฉิง
 
เฉิน กวงเฉิง เกิดปี 1971 พิการทางสายตามาตั้งแต่เกิด เขาเป็นนักกฏหมายและนักกิจกรรมที่รณรงค์ต่อต้านนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีน เนื่องจากเป้นการละเมิดสิทธิฯ ในการที่ต้องบังคับให้ผู้หญิงต้องทำแทงค์ หรือทำหมัน
 
เฉิน ถูกรัฐบาลจีนขังคุกเป้นเวลา 4 ปี ในข้อหาทำลายทรัพย์สินและปิดกั้นการจราจร เขาถูกปล่อยตัวออกมาในปี 2010 และถูกสั่งกักบริเวณภายในบ้านตั้งแต่นั้นมา
 
 
ที่มา:
 
China dissident Chen Guangcheng 'under US protection' , BBC, 28-04-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-china-17878744
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น