ประชาไท | Prachatai3.info |
- ‘ม.ทักษิณ’ ทำบรรจุภัณฑ์ ‘กาแฟบ้านแหร’ ชาวบ้านปลื้มเพิ่มยอดขาย
- คนสะเอียบร่วมค้าน “เขื่อนแม่วงก์” ชี้ใช้งบแผ่นดิน มาทำลายอนาคตลูกหลาน
- ประวัติศาสตร์ไทยแบบ Plot Based History กับการอ่าน เชคสเปียร์แบบไทยๆ
- ไม่มีการบริหารใด ประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์
- สปสช.โชว์ระบบจัดซื้อยาพบ 4 ปีประหยัด 1.2 หมื่นล้านบาท
- ข้อสัญญาหยุดยิงในซีเรียเริ่มส่งผลแล้ว
- Monarchy Normative Media: ทฤษฎีบรรทัดฐานสื่อ ที่นี่ ที่เดียว ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร
- ใต้เท้าขอรับ: แผ่นดินไหวและปัญหาใจกลางของวัฒนธรรมการเมืองไทย
- พนมเปญโพสต์เผย "วอลมาร์ท" จับตาแรงงานประท้วงที่ "พัฒนาซีฟู้ดส์"
- บุญยืน สุขใหม่: กฎหมายที่เกี่ยวข้องและเทคนิคการเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิผล
- เม้าท์มอย : ไม่ลืม...2 ปี 10 เมษา 53
‘ม.ทักษิณ’ ทำบรรจุภัณฑ์ ‘กาแฟบ้านแหร’ ชาวบ้านปลื้มเพิ่มยอดขาย Posted: 12 Apr 2012 12:40 PM PDT โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ ม.ทักษิณ ลงชุมชนช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์กาแฟโบราณบ้านแหร ชาวบ้านปลื้มยอดขายกาแฟเพิ่ม พฤษภาฯ ลุยต่อ ร่วมจัดเวทีวางแผนพัฒนาศักยภาพชุมชน นางรูฮานา อาซัม ตัวแทนกลุ่มสตรีทำกาแฟโบราณบ้านแหร ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16–17 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์กาแฟโบราณบ้านแหร กับแกนนำชุมชนบ้านแหรและกลุ่มสตรี จากนั้นมีการบันทึกวิดีโอเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต และสัมภาษณ์กลุ่มสตรีถึงแนวคิดในการรวมกลุ่มเพื่อนำไปประชาสัมพันธ์ นางรูฮานา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการฯ ได้มอบกล่องบรรจุภัณฑ์และเครื่องหีบห่อกาแฟให้แก่ชุมชนบ้านแหรทำให้ขายดีขึ้น โดยในปี 2554 ที่ผ่านมา กลุ่มของตนสามารถขายกาแฟโบราณบ้านแหรได้ 36 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 300 บาท ได้กำไรประมาณ 7–8 พันบาท จากเดิมที่ปีหนึ่งๆ ขายได้เพียงไม่กี่กิโลกรัม “บ้านแหรมีการรวมกลุ่มสตรีทำกาแฟเป็นอาชีพเสริม 4–5 กลุ่ม เป็นธุรกิจภายในครัวเรือน ขั้นตอนการผลิตจะใช้แรงงานคนในชุมชนเป็นหลักทั้งการคั่วโดยใช้ฟืนการตำกับครกไม้ โดยขายปลีกกันในชุมชนละแวกใกล้ๆ ขายส่งไปยังปัตตานี นราธิวาส กรุงเทพฯ ตามที่มีผู้สั่งซื้อ” นางรูฮานา ให้ข้อมูล ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ เปิดเผยว่า นอกจากจะสนับสนุนบรรจุภัณฑ์และเครื่องหีบห่อกาแฟบ้านแหรแล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2555 ทางโครงการฯ จะจัดเวทีระดมความคิดเห็นที่บ้านแหร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาศักยภาพชุมชนด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
คนสะเอียบร่วมค้าน “เขื่อนแม่วงก์” ชี้ใช้งบแผ่นดิน มาทำลายอนาคตลูกหลาน Posted: 12 Apr 2012 12:04 PM PDT กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ ค้านการสร้างเขื่องแม่วงก์จี้ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ เพื่ออนาคตของลูกหลาน-ป่าไม้ พร้อมเสนอพัฒนาแก้มลิง ระบบเหมืองฝาย ใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน วันที่ 12 เม.ย.55 กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ออกแถลงการณ์ “คัดค้านการสร้างเขื่องแม่วงก์ หยุดอ้างน้ำท่วมเพื่อทำลายป่า หยุดกู้เงินเพื่อมาทำลายป่า หยุดธุรกิจการเมือง หยุดผลาญงบประมาณแผ่นดิน หยุดเขื่อนแม่วงก์” จากการที่รัฐบาลได้มีมติ ครม.ในวันที่ 10 เม.ย.55 อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2562 “โครงการทำลายป่าเช่นนี้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมหาศาล ซึ่งเป็นเงินกู้จากต่างประเทศ เป็นการใช้เงินของลูกหลาน มาทำลายป่า ผลที่รับกลับมาคือการทำลายอนาคตของลูกหลานเรานั่นเอง” แถลงการณ์ระบุ แถลงการณ์ ยังให้ข้อมูลด้วยว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์นอกจากจะทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กว่า 11,000 ไร่ ยังกระทบต่อพืชพันธุ์และสัตว์ป่าอีกมากมาย อาทิ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 57 ชนิด 26 วงศ์ สัตว์จำพวกนก จำนวน 305 ชนิด 53 วงศ์ สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด 11 วงศ์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด 4 วงศ์ และปลาน้ำจืดจำนวน 68 ชนิด 14 วงศ์ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ทำหน้าที่พิทักษ์ป่าสักทองแก่งเสือเต้น มาอย่างยาวนาน แสดงความเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรกู้เงินมาทำลายป่า เพราะจะทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมตามมาในอนาคต และขอให้รัฐบาลยกเลิกการสร้างเขื่อนแม่วงก์ รวมทั้งยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่ออนาคตของลูกหลาน และเพื่อป่าไม้ซึ่งเปรียบเสมือนปอดของมวลมนุษยชาติ อีกทั้ง เสนอให้รัฐดำเนินการพัฒนาแก้มลิง พัฒนาระบบเหมืองฝาย โดยใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชนเป็นหลักการสำคัญ พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้เลยภายในหนึ่งปี และยังส่งกระทบน้อยมากต่อป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และชุมชน ใช้งบประมาณน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่ รวมทั้งยังเป็นการกระจายการจัดการน้ำให้ทุกพื้นที่ได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างแท้จริง “ที่สำคัญที่สุด รัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องรักษาป่าที่เหลืออยู่อย่าเข้มงวด และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับมาทำหน้าที่รักษาสมดุลธรรมชาติ เพื่ออนาคตของลูกหลานสืบไป” แถลงการณ์ระบุ ทั้งนี้โครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการหนึ่งในแผนลุ่มน้ำพัฒนาสะแกกรัง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พุทธศักราช 2525-2529 ครอบคลุมพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำแม่วงก์ ลุ่มน้ำคลองโพธิ์ และลุ่มน้ำห้วยทับเสลา ซึ่งทั้ง 3 ลุ่มน้ำจะไหลลงมารวมกันที่แม่น้ำสะแกกรัง จ.นครสวรรค์ และจะสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตาม 6 มาตรการ คือ 1.การเร่งรัดการทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 2.การขออนุญาตพื้นที่จากกรมอุทยานป่าไม้ 3.การสำรวจข้อมูลด้านวิศกรรม 4.การปลูกป่าทดแทน 5.การเพิกถอนอุทยานเพื่อใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง 6.การบูรณาการพื้นที่หลังการก่อสร้างเสร็จสิ้น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ประวัติศาสตร์ไทยแบบ Plot Based History กับการอ่าน เชคสเปียร์แบบไทยๆ Posted: 12 Apr 2012 05:01 AM PDT
ก่อนอื่นผมต้องออกตัวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ การแบนภาพยนตร์หรือการเผยแพร่ใดๆ สู่พื้นที่สาธารณะ ในสังคมอารยะเราย่อมเคารพความเห็นต่าง ที่สามารถนำเสนอและถกเถียงในพื้นที่สาธารณะได้ เห็นด้วยกับผู้สร้างภาพยนตร์ Shakespeare Must Die ที่พูดถึงสังคมอำนาจนิยมและมิอาจพูดถึงความเป็นมาของความอุบาทว์ในสังคมได้ ในบทความนี้ผมจึงมิได้พิจารณาถึงการฟันธงว่า ควรหรือไม่ควร “ห้ามฉาย”ภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากได้ให้คำตอบไปตั้งแต่ประโยคแรกเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่มุ่งอยากนำเสนอคือ ข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับวิธีการตีความประวัติศาสตร์การเมืองของผู้สร้างซึ่งเป็นแบบฉบับของการพยายามทำความประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก ที่อยู่บนฐานโครงเรื่องแบบชนชั้นนำแบบจารีตนิยม การตีความงานเขียนของเชคสเปียร์ตามแบบฉบับไทยๆ รวมถึงประเด็นความสวยงามของศิลปะอย่างไม่มีเงื่อนไข เป้าประสงค์หลักที่อยากจะสื่อมีเพียงแค่กระตุ้นเตือนให้ผู้สร้างหนังในฐานะสมาชิกฐานันดรที่สี่ฉุกคิดถึงเงื่อนไขข้างต้น ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า ในกองเซ็นเซอร์มีคนที่มีความเห็นคล้ายกับข้อสังเกตนี้หรือไม่ แต่ที่สำคัญประวัติศาสตร์ไทย”มีเนื้อหา”ที่มีนัยยะสำคัญต่อการทำความเข้าใจเงื่อนไขการเมืองปัจจุบัน ที่บางครั้งการอ้างความสวยงามของศิลปะในการตีความตามใจชอบดูจะไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ในสังคมอารยะเช่นกัน ในเบื้องต้นผมอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผมที่มีโอกาสได้สนทนากับเพื่อนร่วมงานชาวเยอรมันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ”ก่อนสมัย” ของเราทั้งสองคน สำหรับผม คือเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และสำหรับเพื่อนของผม คือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของฮิตเลอร์ แน่นอนว่าเราทั้งสองเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากเรื่องเล่าและเอกสารทั้งนั้น ทีแรกผมเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์ที่เยอรมัน เพราะเคยได้ยินจากเพื่อนฝูงที่เคยไปเที่ยวเยอรมันว่า คนเยอรมันถือว่าการพูดถึงฮิตเลอร์เป็นเรื่องหยาบคาย แต่ปรากฏว่ามันเป็นเรื่องเข้าใจผิดถนัด จริงอยู่ฮิตเลอร์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเป็นเรื่องเลวร้ายแต่ “ไม่ใช่” เรื่องที่พูดถึงไม่ได้ ตรงกันข้าม มันเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงกันตลอด เพื่อนของผมท่านนี้เล่าให้ฟังว่า ตัวเขาเองในสมัยเด็กต้องไปทัศนศึกษายังแคมป์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเป็นฝันร้ายสำหรับเขาไปหลายคืน สำหรับสังคมเยอรมัน มันเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่จะบอกว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่เคยเกิดขึ้น” หรือ การสร้างคำอธิบายใดๆ เพื่อลดทอนความเลวร้ายเหล่านี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายเช่นกัน แน่นอนว่าสำหรับประเทศที่ประวัติศาสตร์สมัยใหม่มีการตกแต่งหลายรอบอย่างประเทศไทย การจำและการลืมประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่วางอยู่บน “ฐานโครงเรื่อง” ดังที่ อ.ธงชัย วินิจจะกุล พยายามเปรียบเทียบการเข้าใจประวัติศาสตร์ของไทยที่มีฐานโครงเรื่องง่ายๆ ว่า คนไทยแตกสามัคคี--ความวุ่นวาย--พระเอกขี่ม้าขาว--บ้านเมืองสงบสุขสามัคคี อันเป็นเหตุผลที่คนไทยเข้าใจว่า ชาวบ้านบางระจันรบกับทัพบุเรงนอง หรือการเนรมิตเหตุการณ์ประหลาด อย่าง “16 ตุลา 2514” ขึ้นมา เพราะ “เนื้อหา” หรือข้อเท็จจริง ถูกลดความสำคัญให้เหลือเพียงแค่โครงเรื่อง หรือ Plot แบบง่ายๆเท่านั้น ภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ตัวอย่าง มีฉากแขวนคอและทุบด้วยเก้าอี้ ห้อมล้อมด้วยผู้คนที่สรรเสริญ เหตุการณ์นั้นโพกผ้าสีโทนแดง แม้ผู้สร้างหนังจะแสดงความเห็นว่า สีแดงเป็นสีแห่งความก้าวร้าวรุนแรงเป็นที่เข้าใจของสากลโลก ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทางการเมืองกลุ่มเดียว แต่ด้วยนัยยะบริบทอื่นที่ผู้สร้างพยายามเชื่อมโยงถึงการที่ประชาชน (ในอาภรณ์แดง) ถูกชักนำโดยท่านผู้นำให้กำจัดผู้ที่ตะโกน “Get Out” ในบริบทการเมืองร่วมสมัยไทย ทำให้ไม่อาจคิดเป็นอื่นได้ เรื่องเหล่านี้มิใช่เรื่องที่คิดมากไปเอง เพราะคนดูหนังก็จำเป็นต้องคิดให้มากกว่าสารของผู้สร้างอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นปัญหาสำคัญ เพราะมันหมายถึงการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยแบบโครงเรื่องจารีต โดยเป็นการเชื่อมว่า ขบวนการคลั่งเจ้าย่างสดนักศึกษา ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับขบวนการเสื้อแดงที่ถูกชักนำโดยนักการเมืองว่า มีลักษณะร่วมกัน โดยเป็นการเชื่อมตรงสู่โครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทย แบบง่ายๆ คือ “มีผู้บ้าคลั่งทำลายความสงบและสวยงาม และคนส่วนมากที่โง่เง่าอันถูกชักจูงจากคนบ้าอำนาจและได้ประโยชน์จากมวลชน” เนื้อหาและข้อเท็จจริงหลายอย่างถูกลดทอนตัดออกไปเพื่อให้ทุกอย่างเข้ากับโครงเรื่องแบบง่ายๆ ตามแบบฉบับประวัติศาสตร์ไทย ให้เหลือเป็นแค่ “คนคลั่งที่ถูกปั่นหัวโดยเครื่องจักรทักษิณ” ย้อนกลับไปในกรณีศึกษาเยอรมันอีกครั้ง มันคงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้อย่างยากลำบาก ถ้าเกิดพรรคอนุรักษ์นิยมในเยอรมันให้งบทำหนังแก่ภาพยนตร์ที่มีพล็อตเทียบเคียงว่า การสไตรค์หยุดงานของกรรมกรฝ่ายซ้ายเป็นการถูกชักนำโดยผู้นำสหภาพบ้าอำนาจอันไม่ต่างกับเหตุการณ์ฮิตเลอร์ล้างสมองคนเยอรมัน ศิลปะมีความสวยงามก็จริง แต่ความสวยงามก็เกิดจากการประดิษฐ์และให้ความหมายของมนุษย์ ความสวยงามที่ศิลปินพูดถึง จะนับเป็นความสวยงามได้อย่างไรหากมันวางอยู่บนฐานการเหยียบย่ำคนส่วนมากในสังคมว่า โง่เง่าและคิดไม่เป็น โดยส่วนตัว ผมเป็นคนไม่มีความรู้เรื่องภาพยนตร์ หรือละครเวทีมากมายนัก ดูตั้งแต่หนังตลาด หนังตลกวัยรุ่น หนังรักเกาหลี ละครหลังข่าว หนังการเมือง หรือหนังทางเลือกตามโอกาสไม่ได้กำหนดสเป็คตัวเองว่าเป็นแบบไหน แต่ไม่เคยปฏิเสธที่จะเสพสื่อแบบที่สามัญชนหรือชาวไพร่เสพกัน ในส่วนละครแม็คเบธนั้นเมีเพียงความทรงจำเลือนลางว่า เคยอ่านในหนังสือนอกเวลาสมัยมัธยม แต่เนื้อเรื่องก็ไม่น่าสนุกจดจำสำหรับเด็กมัธยมนัก จนกระทั่งมีโอกาสได้ดูละครเวทีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯจึงมีโอกาสได้ไปค้นอ่านอีกครั้ง จึงพบประเด็นสำคัญที่ชวนน่าแลกเปลี่ยนเมื่อคนไทยไปอ่านวรรณกรรมฝรั่งแล้วนำความคิดแบบไทยๆ ไปอ่าน ปัญหาการตีความแบบไทยๆ ที่พบกันทั่วไปจากผู้ชมละครเวที ซึ่งจบง่ายๆ เกี่ยวกับ แม็คเบธ ผู้ทะเยอทะยานฆ่าพระราชา งมงายในไสยศาสตร์ วิกลจริต และสุดท้ายแพ้ภัยตัวเอง ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วก็เป็นการตีความตามพล็อตวิธีคิดประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบชนชั้นนำจารีตทั้งสิ้น ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวแล้ว มันเป็นคนละเรื่องกับเนื้อแท้ความเป็นนัก “มนุษย์นิยม”ของเชคสเปียร์ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้งานเขียนของเขาโด่งดังไปทั่วโลก ดังนั้นเวลาชนชั้นนำไทยอ่านเชคสเปียร์จึงอ่านแบบไทยๆ และได้คำตอบว่า แม็คเบธ ทะเยอทะยาน หรือไชล็อคในเรื่อเวนิสวานิช งก ซึ่งเป็นการอ่านและตีความตามความเข้าใจแบบอนุรักษ์นิยมโดยแท้ ในบทละครหลังชนชั้นนำไทยมีการแปลบทละครเพื่อการสร้างคนจีนให้เป็นยิวแห่งบูรพาทิศด้วยเหตุผลง่ายๆ แค่ว่าคนยิวกับคนจีนงกเหมือนกัน หากพิจารณาแล้วงานของเชคสเปียร์พยายามตีแผ่ความคิดแบบมนุษย์นิยม คือการตัดสินใจและรับผลของการกระทำในฐานะมนุษย์ ไม่มีเรื่องของเทวดาฟ้าดิน จริงอยู่แม้แม็คเบธจะตัดสินใจกระทำการสังหารพระราชาจากคำทำนายของแม่มดที่เขาจะได้เป็นกษัตริย์ (อันเกิดจากเรื่องบังเอิญจากคำทำนายครั้งแรก) แต่เมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้าย เขาตัดสินใจเข้าสู่สมรภูมิเพื่อที่จะเอาชนะคำทำนายของแม่มดเช่นกัน แม้ว่าการตัดสินใจนั้นอาจหมายถึงการแลกด้วยชีวิต อันเป็นภาพสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่ตัดสินใจบนฐานประโยชน์เฉพาะหน้าของตน มิใช่การหลงลิขิตฟ้าดิน เช่นเดียวกันกับไชล็อคซึ่งได้รับการฉายภาพผ่านมุมมองของชนชั้นนำจารีตไทยถึงความตระหนี่โหดร้ายและได้รับกรรมสนองในท้ายสุด แต่ในบทละครนี้ของเชคสเปียร์ กลับพยายามมุ่งเน้นถึงความเป็นมนุษย์ของทุกคนในเรื่อง เป็นมนุษย์ที่ปฏิสัมพันธ์กัน อาจมีผู้ดี ไพร่ นาย บ่าว เศรษฐี คนจน นายทุน ศักดินา แต่ข้อสำคัญคือ ทุกคนเป็น ”มนุษย์” ไม่มีใครในเรื่องเป็นเทวดา ดังเห็นได้จากบทพูดลือชื่อของไชล็อคที่ว่า “ข้าเป็นคนยิว....แต่เรากินต่างจากคนคริสเตียนหรือ เมื่อโดนอาวุธทำร้าย เราบาดเจ็บต่างกันหรือไร เราเจ็บป่วยด้วยโรคเดียวกัน เมื่อเจ็บป่วยเรารักษาต่างกันหรือไร เหน็บหนาวและอบอุ่นด้วยฤดูกาลเดียวกัน เมื่อท่านแทงเรา เลือดเราไม่ไหลหรือ เมื่อท่านจี้เอว เราก็หัวเราะเหมือนกัน เมื่อโดนวางยาพิษ เราก็ตายเหมือนกัน ถ้ามีใครทำผิดกับเรา เราก็ล้วนแก้แค้นเหมือนกัน” ปัญหาสำคัญคือการตีความบทละครหรือวรรณกรรมต่างชาติมาในบริบทสังคมไทยมักแยกไม่ออกจากการตีความตามแบบฉบับชนชั้นนำที่มองประวัติศาสตร์เป็นโครงเรื่องแบบที่รับใช้ประโยชน์ทางชนชั้นของตนมากกว่าการตีความวรรณกรรมในเนื้อหาสาระที่ปรากฏ จึงไม่แปลกนักที่ จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า ทักษิณเหมือนโจโฉ พลเอกเปรมเหมือนเล่าปี่ อันเป็นผลจากการตีความวรรณกรรมต่างชาติตามมุมมองแบบชนชั้นนำไทย การตีความวรรณกรรมต่างชาติจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาในแก่นแท้ปรัชญา มากกว่าแค่การจับสวมเปรียบเทียบตามพล็อตแบบไทยๆ ที่เราอยากให้เป็น ศิลปะมีความงามของมันอยู่แน่แท้ แต่มิใช่ว่าความงามของมันตามมุมมองของผู้สร้างจะไม่มีต้นทุน ต้นทุนของความงามในหนังเรื่อง Shakespeare Must Die เริ่มต้นด้วยการผลิตซ้ำการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ตามโครงร่างแบบจารีตของไทย ตามด้วยการลดค่าของประชาชนที่ย่อมมีสิทธิเสรีในการดำเนินชีวิตและศรัทธาในอุดมการณ์ทางการเมืองให้เป็นเพียงทาสแก่การชักนำของ ”ท่านผู้นำ” ดังนั้นความงามของศิลปะจึงมิได้ล่องลอยอย่างไม่มีเงื่อนไข หากแต่จำเป็นต้องวางอยู่บนฐานการยอมรับร่วมกันในสังคม มนุษย์มีเสรีภาพ แต่มิใช่เป็นปัจเจกชนที่ล่องลอยตามมโนสำนึกของตน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสังคมรวมหมู่ การกระทำของมนุษย์หนึ่งคนส่งผลต่อมนุษย์ทั้งสังคมไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในฐานันดรใด ดังนั้นการผลิตซ้ำความคิดที่นำสู่การลดทอนความเป็นคนของอีกฝ่ายจึงควรแก่การละเว้น ผมมีโอกาสได้อ่านบทความของคุณ Filmstick ก่อนเขียนบทความนี้ ซึ่งมีความเห็นด้วยอย่างยิ่งที่การห้ามฉายภาพยนตร์นี้เป็นการปิดโอกาสการนำข้อถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาของภาพยนตร์นี้ในพื้นที่สาธารณะ แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงสำคัญคือ สุดท้ายภาพยนตร์นี้จะมีการเผยแพร่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในยุคที่สิทธิอำนาจของรัฐชาติกำลังถดถอย ผมไม่คิดว่าการห้ามฉายจะมีประสิทธิผลในทางปฏิบัติเท่าใดนัก ดังนั้นการวิพากษ์เรื่องการแบนหนังก็เรื่องหนึ่ง การวิพากษ์หนังก็ยังคงจำเป็นต้องดำเนินไป ดังที่ได้พิจารณาไปแล้วการลดทอนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เพื่อนำสู่การสร้าง Plot ประวัติศาสตร์เพื่อรับใช้อุดมการณ์ของชนชั้นตนก็นับเป็นเรื่องที่อันตรายและผิดวิสัยสำหรับสังคมอารยะไม่แพ้การห้ามฉายภาพยนตร์เช่นเดียวกัน
ปล.อุทิศบทความนี้ให้แก่ คนึง ฉัตรเท เจ้าหน้าที่ รปภ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์การชุมนุมวันที่ 10 เมษายน 2553 หนึ่งในไพร่ที่ไม่มีที่ยืนในโครงเรื่องประวัติศาสตร์แบบชนชั้นนำ .................................................... กรุณาเทียบเคียงกับคลิปนี้อีกครั้ง ศิลปะจำเป็นต้องวางอยู่บนฐานข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มิใช่ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล http://www.youtube.com/watch?v=T98ObqqERw4 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ไม่มีการบริหารใด ประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ Posted: 12 Apr 2012 04:35 AM PDT วันนี้ บริบทประเทศเปลี่ยนไป ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การดำเนินชีวิตของผู้คน ความเจริญต่างๆ รวมถึงเรื่องของธรรมชาติและ อุบัติภัยจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่มาแรง กระทั่งหลายคนยังบอกว่า วันนี้ธรรมชาติเอาคืน ใครมาเป็นรัฐบาลยุคใหม่นี้เหนื่อยทุกคน นอกจากบริหารงาน แก้ไขปัญหา พัฒนาประเทศด้านต่างๆ ยังต้องบริหารประโยชน์ บริหารความเป็นธรรม ซึ่งนับวันจะเห็นเด่นชัดขึ้น ขณะที่ต้องนำประเทศสู่การแข่งขันในเวทีโลกอีกด้วย ทำให้วันนี้โจทย์การทำงานของรัฐบาลยากขึ้น หลายมิติขึ้น ทั้งเชื่อมโยงมากขึ้น ออกนโยบายใหม่เรื่องหนึ่ง กระทบไปหลายภาคส่วน แก้ปัญหาเรื่องหนึ่งโยงไปอีกหลายเรื่อง ซึ่งต้องคิดหลายชั้น หากไม่รอบคอบพอ หรือมีจุดอ่อน บกพร่องให้สังคมเห็นอยู่เรื่อยๆ และคอยตามแก้ปัญหาเป็นทีๆไป ก็สะท้อนถึงความไม่เป็นมืออาชีพ ซึ่งยอมไม่ได้ เมื่อบริบทเปลี่ยนไป เป็นความจำเป็นที่รัฐบาลยุคใหม่ต้องพึ่งพาเครื่องมืออย่างการประชาสัมพันธ์(PR) เป็นอื่นไปไม่ได้ เพื่อเอาไว้ใช้อธิบาย ชี้แจงเรื่องต่างๆ ต้องสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น หากมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน จะทำให้ปัญหาทุกอย่างจบลงได้ด้วยดี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีลำดับความสำคัญก่อน งบประมาณบางครั้งยังไม่ใช่ปัญหา ขาดคน ขาดวัสดุอุปกรณ์ ยังเป็นเรื่องรองๆ ถ้าด่านแรกประชาชนเห็นด้วย ไฟเขียวเรื่องที่สื่อสาร ทุกอย่างเดินได้ จะทำอะไร อย่างไร เพื่อใคร เป้าหมายใด ต้องสื่อสารให้รู้ ให้เข้าใจ รัฐบาลหรือนักการเมือง ต้องให้ความสำคัญกับการอธิบาย ชี้แจง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาด้านต่างๆ ถ้าไม่สื่อ หรือพีอาร์ไม่เพียงพอ และลงมือทำ มีหวังเจอต้าน เจอประท้วง วันนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนสูง การบริหารภาครัฐไม่ง่ายเหมือนอดีต ยิ่งไม่พีอาร์ หรือพีอาร์น้อย ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เท่ากับเป็นอุปสรรคในตนเอง ตรงข้าม หากประชาชนรับรู้ เข้าใจ เคลียร์ ก็หนุนเต็มที่เช่นกัน การประชาสัมพันธ์ จึงสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือแผ้วถางทาง เป็นด่านแรกที่จะให้งานก้าวข้ามสิ่งกีดขวางไปได้ งบประมาณว่าสำคัญ ยังไม่เท่า หลายโครงการมีงบ แต่ทำอะไรไม่ได้ รอพีอาร์ให้ข่าวสาร สร้างความรู้ความเข้าใจก่อน การประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ จึงหนุนส่งรัฐบาลยุคใหม่ ทั้งเป็นตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จของงานที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง การบริหารยุคใหม่ไม่ควรมองข้าม หรือละเลยพีอาร์ ช่วยแก้โจทย์ที่ยาก ให้ง่าย อะไรที่ง่าย ให้ง่ายยิ่งขึ้น การบริหารนำพาประเทศก้าวหน้าฉันใด การประชาสัมพันธ์ก็นำพาประเทศก้าวหน้าฉันนั้น ถ้าใช้เป็น รัฐบาลใดๆในยุคใหม่ ทั้งไม่เก่งคิดนโยบาย แถมอ่อนการประชาสัมพันธ์ เท่ากับทำให้ประชาชน ประเทศเสียโอกาส แทนที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาที่ดีๆของรัฐ และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็ไม่ได้ เพราะถูกคัดค้านเสียก่อน เนื่องจากประชาชนเข้าใจผิด ขาดข่าวสารความรู้ที่เพียงพอ ข่าวสารล่าช้า ประชาชนเอาไปลือ วิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเสียก่อน กลายเป็นรัฐบาลตั้งรับ แม้โครงการที่ดีๆนั้นจะกลับมา และเป็นที่ยอมรับในภายหลังด้วยวิธีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก แต่ก็เสียเวลาไปมาก ซึ่งเสียดายโอกาส ย้อนกลับไปที่บอกว่า ต้องพึ่งพาพีอาร์ ต้องใช้พีอาร์ แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ง่าย บริบททางการประชาสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ยุคใหม่โจทย์พีอาร์ก็ยากขึ้น หลายมิติขึ้น จากมหาอุทกภัยที่ผ่านมา รัฐบาลกั้น(บิ๊กแบ็ก) ประชาชนรื้อ เพราะอะไร จากกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สร้างไม่ได้ เพราะอะไร รวมถึงที่จะไปทำโครงการอะไรในพื้นที่ ต้องถามชุมชนก่อน โดยเฉพาะที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม การประชาสัมพันธ์จะทำอย่างไร จะเป็นที่พึ่งพาให้รัฐบาลอย่างไร วันนี้ใช่ว่าสื่อสารประชาสัมพันธ์อะไรออกไปแล้ว คนจะเออออ เห็นด้วย คล้อยตาม ยอมตาม ไม่ใช่อีกแล้ว แต่ประชาชนขอพิจารณาก่อน win win เป็นผลดีต่อส่วนรวมจริงมั๊ย ใครได้ประโยชน์ หวังผลอะไร ประชาชนยุคใหม่ฉลาด รู้หมด อันที่จริงการที่ต้องถามชุมชนก่อน หรือให้ประชาพิจารณ์ก่อน ไม่ใช่ไม่ดี มีผลดี นอกจากประชาชนตรวจสอบโครงการ จะได้ระมัดระวังฝ่ายบริหารที่ไม่จริงใจ มีประโยชน์แอบแฝง เดี๋ยวนี้ประชาชนมีความรู้ มีบทเรียน ประสบการณ์ และสนใจเรียนรู้ใหม่ๆ หูตากว้างไกลจากข่าวสารผ่านสื่อที่มีอยู่เต็มไปหมด อิสระไม่มีลิมิต โลกการสื่อสารไร้พรมแดน จะมาให้เรียบร้อย อดทน ยอมทนรับภาระ รับความไม่เสมอภาค ความไม่ชอบธรรม กระทั่งรับความผิดพลาดจากการบริหาร เขาก็ไม่ยอมกันอีกแล้ว ประชาชน เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง ขณะที่รัฐธรรมนูญหนุนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน มีเสรีภาพ มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ซึ่งภาครัฐต้องฟัง ไม่ฟังไม่ใส่ใจไม่ได้ บ่อยครั้งพีอาร์ยากจะเอาอยู่ แต่ก็ไม่ถึงกับต้องกังวล อยู่ที่ความจริง ถ้าโครงการดีจริง ก็จะนำไปสู่ความลงตัวได้ในที่สุด แต่อาจใช้เวลา ประชาชนใช่ว่าจะดื้อรั้น การประชาสัมพันธ์ คือต้องพูดความจริงแก่ประชาชน ปัญหาส่วนหนึ่ง อยู่ที่มีการบิดเบือน หรือมีวาระซ่อนเร้น ทำให้พีอาร์ยาก มองอะไรเป็นเกม ช่วงชิงทางการเมือง การประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ ควรอยู่บนข้อเท็จจริง จริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น เพียงแต่แยบยลขึ้นในวิธีการ สื่อด้วยเหตุด้วยผลมากขึ้น เพื่อเอาชนะปลายทางที่เป็นประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้คล้อยตาม เห็นด้วย ลดต้าน เพิ่มหนุน หากลดการช่วงชิงทางการเมืองได้ พีอาร์ก็เบาไปเยอะ คำถาม คือ ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึง เอาชนะความเข้าใจของคนให้ได้ ที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรม โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ให้เห็นด้วยกับนโยบาย โครงการใหม่ๆ ความต้องการใหม่ๆ ของรัฐบาล อยู่ที่รัฐบาลจะกำกับดูแล บริหารจัดการอย่างไร ใช้การประชาสัมพันธ์อย่างไร ถือว่า ประชาชน เป็นผู้กำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ ผู้เขียนยังเคยคิดว่า การบริหารงานยุคใหม่ นอกจากประกอบด้วยงบประมาณ คน วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการ หรือเรียกง่ายๆ 4 M ที่เราท่องๆกันมา วันนี้ต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์เข้าไปอีกหนึ่งตัว และน่าจะสำคัญพอๆกับเงิน คน วัสดุอุปกรณ์ หรือมากกว่าด้วยซ้ำ พิสูจน์แล้วว่า ลำพังมีงบ มีคน ถ้าประชาสัมพันธ์ไม่เคลียร์ ประชาชนไม่เอาด้วย ทุกอย่างก็จบ ก้าวเดินไม่ได้ ขาดงบ หางบเพิ่มได้ ขาดคน ขอคนเพิ่มได้ ขาดวัสดุอุปกรณ์ ก็จัดซื้อเพิ่มได้ จึงมองการบริหารสมัยใหม่ เท่ากับ 4 M + 1 PR และต่อไปนี้ เป็น 4 มุมมองสำหรับรัฐบาลยุคใหม่ VS การประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ 1 รัฐบาลในฐานะผู้สั่งการประชาสัมพันธ์ ขอกล่าวถึงแต่ละมุมมอง ดังนี้ 1. รัฐบาลในฐานะผู้สั่งการประชาสัมพันธ์ ในมุมมองนี้ มุ่งไปที่สิ่งที่รัฐบาลจะให้ประชาสัมพันธ์ จะเอาอะไรไปประชาสัมพันธ์ อยู่ที่เนื้อหางาน ที่จะเอาไปเป็นเนื้อหาประชาสัมพันธ์ เช่น นโยบายใหม่ๆ ความต้องการใหม่ๆ งานโครงการใหม่ๆหรือปัญหาที่ต้องแก้ไข ฯลฯ ถ้ารัฐบาลมีอะไรใหม่ๆที่เจ๋งๆ ออกมา จะเป็นที่สนใจ หรืออะไรที่เป็นความคืบหน้า เป็นความสำเร็จ จะทำให้ข่าวสารมีน้ำหนักมีคุณค่า การประชาสัมพันธ์ก็จะได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากสื่อมวลชนและประชาชน ตรงข้าม หากเป็นเนื้อหางานเก่า งานเดิมที่ไม่มีอะไรใหม่ เป็นข่าวเก่า การประชาสัมพันธ์ก็จะไม่เป็นที่โฟกัสของสังคม สะท้อนว่า รัฐบาล กระทรวงต้องสร้างผลงาน ทั้งงานใหม่และงานเก่าให้คืบหน้า ไม่เช่นนั้น ก็ไม่รู้จะประชาสัมพันธ์อะไร ไม่รู้จะสั่งให้เอาอะไรไปประชาสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม คงไม่เป็นปัญหา เนื่องจากตรงนั้นเป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศ มีความเคลื่อนไหวใหม่ๆตลอดเวลา ห่วงแต่ผู้นำองค์กร หน่วยงานรองๆลงมา ถ้าไม่มีอะไรใหม่ ก็แทบนิ่งไม่เป็นที่รับรู้ของสังคมเท่าที่ควร อาจจะกลายเป็นหน่วยงานโลกลืมก็เป็นไปได้ การประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ จึงมีบทบาทใหม่เป็นตัวเร่ง หรือมีส่วนผลักดันให้ผู้บริหารอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องคิด ต้องแข่ง เพื่อสร้างผลงานให้โดดเด่น และเป็นที่ประจักษ์ ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปประชาสัมพันธ์ 2. รัฐบาลในฐานะนักประชาสัมพันธ์ ในมุมมองนี้ ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คือนักบริหาร นักการเมือง นักประชาสัมพันธ์ผู้พูดที่น่าเชื่อถือสูงสุด ดังนั้น การให้สัมภาษณ์ การแถลงข่าวตามจังหวะโอกาส จึงมิเพียงประชาสัมพันธ์ตนเอง รัฐบาล แต่ยังประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศ 3. นักประชาสัมพันธ์ในฐานะผู้ลงมือทำประชาสัมพันธ์ 4. นักประชาสัมพันธ์ในฐานะผู้สวมบทรัฐบาลด้านข่าวสาร ขณะที่ต้องขายแนวคิดนี้ ไปยังกระทรวง กรม จังหวัด ในฐานะกลไกของรัฐ ประสานพลังประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาลและประเทศ ขยับขับเคลื่อนเป็นแพ็คเกจด้วยการประชาสัมพันธ์ มุ่งนักประชาสัมพันธ์กระทรวง นักประชาสัมพันธ์กรม ประชาสัมพันธ์จังหวัดเป็นที่พึ่งพาได้ หากทำได้รัฐบาลจะแจ้งเกิดผลงานในลักษณะดาหน้าเดิน เปรียบดั่งถนน 16 เลนที่ใช้ประโยชน์ทุกเลนไปพร้อมๆกัน สู่จุดหมายปลายทาง เป็น 4 มุมมองสำหรับรัฐบาลยุคใหม่ VS การประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ ที่ต้องพึ่งพาประสานเชื่อมโยงอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีการบริหารใด ประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สปสช.โชว์ระบบจัดซื้อยาพบ 4 ปีประหยัด 1.2 หมื่นล้านบาท Posted: 12 Apr 2012 04:24 AM PDT สปสช.เผยผลการดำเนินงานจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ร่วมด้วยระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ปี 51-55 พบ 4 ปีที่ผ่านมาช่วยประหยัดงบประมาณประเทศชาติได้ถึง 12,000 ล้านบาท จากการจัดซื้อสเต็นท์ เลนส์แก้วตาเทียม ยาในกลุ่ม CL ยาต้านไวรัสเอชไอวี กลุ่มยาราคาแพง และน้ำยาล้างไต ผลจากการประหยัดส่งผลต่อเนื่องเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพให้ประชาชน นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจิรญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่สปสช.ได้ร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม ตามนโยบายของรัฐบาลให้ดำเนินการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ร่วม เพื่อพัฒนาการบริหารยาและเวชภัณฑ์โดยระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) นั้น พบว่าผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2551-มกราคม 2555 สามารถประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายของประเทศได้ถึง 12,499 ล้านบาท และมีผลต่อเนื่องในการเพิ่มการเข้าถึงบริการให้แก่ประชาชนด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.หมวดอุปกรณ์และอวัยวะเทียมประหยัดได้ ประหยัดได้ 1,639 ล้านบาท ได้แก่ เลนส์แก้วตามเทียมชนิดพับได้ จากราคา 4,000 บาท จัดซื้อได้ 2,800 บาท, เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับไม่ได้ จาก 4,000 บาท จัดซื้อได้ 700 บาท, สายสวนเพื่อการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน จาก 20,000 บาท จัดซื้อได้ 10,000 บาท, สายสวนเพื่อการขยายหลอดเลือดโคโรนารีด้วยขดลวด จาก 30,000 บาท จัดซื้อได้ 5,600 บาท และสายสวนเพื่อการขยายหลอดเลือดโคโรนารีด้วยขดลวดเคลือบยา จาก 85,000 บาท จัดซื้อได้ 17,600 บาท 2.หมวดยา ประหยัดได้ 7,451 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นยาที่ทำ CL ประหยัดได้ 6,092 ล้านบาท เช่น ยาโดซีแท็กเซล สำหรับรักษามะเร็งเต้านม จาก 28,355 บาท เมื่อทำ CL เหลือ 1,757 บาท, ยา โคลพิโดเกรลสำหรับรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ จากเม็ดละ 72.53 บาท เหลือ 0.928 บาท, ยาต้านไวรัสโลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์ จาก 74 บาท เหลือ 13 บาท ขณะที่ยาที่ไม่ได้ทำ CL ประหยัดได้ 1,359 ล้านบาท เช่น ยาต้านไวรัสเออาร์วี จาก 22,412 บาท เหลือ 19,742 บาท, กลุ่มบัญชียาจ.2 จากการต่อรองราคายาจาก 135,251 บาท เหลือ 95,915 บาท เป็นต้น 3.หมวดผู้ป่วยไตวาย ประหยัดได้ 3,409 ล้านบาท ได้แก่ ยาอิริโธรโพรอิทิน(Erythropoietin)กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด จาก 671 ล้านบาท เหลือ 229 บาท, น้ำยาล้างไตทางช่องท้อง จาก 200 บาท เหลือ 105 บาท รองเลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ราคาที่ลดลงจากการสั่งซื้อในปริมาณมาก และการลดต้นทุนจากเทคโนโลยีการบริหารจัดการพัสดุในระบบ VMI ซึ่งเข้าไปช่วยบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ของลูกค้าให้มีคลังยาและเวชภัณฑ์ที่เหมาะสม โดยการนำยาไปเติมเต็มให้เมื่อถึงจุดกำหนด การบริหารจัดการระบบนี้จะทำให้รพ.ลดปริมาณการสำรอง และมียาใช้เพียงพอตลอดเวลา ได้รับยาที่ผลิตใหม่ ลดการสูญเสียจากการทำลายยาที่รพ.ส่งคืนยาที่หมดอายุ สามารถขยายจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการได้มากขึ้น เนื่องจากมีการบริหารคลังยาที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้งบประมาณเท่าเดิม ประเทศชาติลดการสูญเสียทรัพยากรจากการทำลายยาหมดอายุ รักษาสภาพแวดล้อม อันเนื่องจากมีการทำลายยาหมดอายุลดลง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ข้อสัญญาหยุดยิงในซีเรียเริ่มส่งผลแล้ว Posted: 12 Apr 2012 04:11 AM PDT ผู้สื่อข่าว BBC รายงานว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในซีเรียเริ่มอยู่ในความสงบแล้ว หลังจากกำหนดเส้นตายข้อสัญญาหยุดยิงของอันนันส่งผล ในช่วง 6 โมงเช้าของวันที่ 12 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น 12 เม.ย. 2012 - สำนักข่าว BBC รายงานว่า ข้อสัญญาหยุดยิงในซีเรียที่ทางโคฟี่ อันนัน ตัวแทนจากสหประชาชาติเป็นผู้เสนอ เริ่มส่งผลบังคับใช้แล้ว แต่ทางประเทศตะวันตกก็แสดงความกังวลอย่างเปิดเผยว่าซีเรียจะปฏิบัติตามแผนหยุดยิงนี้ไปได้เรื่อยๆ หรือไม่ ทางการซีเรียกล่าวว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามข้อสัญญาหยุดยิง แต่ยังมีสิทธินการตอบโต้การโจมตี ซึ่งก่อนหน้านี้ทางการสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าสัญญาจากซีเรียดูมีความน่าเชื่อถือน้อยมากหรือไม่มีเลย ผู้สื่อข่าว BBC รายงานว่าข้อสัญญาหยุดยิงในซีเรียตอนนี้เริ่มถูกนำมาปฏิบัติแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ทางฝ่ายกลุ่มกบฏติดอาวุธก็ยังกล่าวในทำนองเดียวกันกับรัฐบาลว่า พวกเขาจะตอบโต่หากมีการโจมตีใดๆ จากฝ่ายรัฐบาล นายโคฟี่ อันนัน ได้รับคำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรจากกระทรวงการต่างประเทศของซีเรียว่ากองกำลังฝ่ายรัฐบาลซีเรียจะหยุดการสู้รบทั้งหมดในดินแดนใต้อาณาเขตพื้นที่ประเทศซีเรีย ภายในเวลา 6 โมงเช้าตามเวลาท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกันก็บอกว่าตนมีสิทธิใยการตอบโต้การโจมตีจากฝ่ายผู้ก่อการร้ายได้ตามความเหมาะสม "หนึ่งชั่วโมงหลังจากครบกำหนดเส้นตาย สถานการณ์ในทุกๆ พื้นที่ก็อยู่ในความสงบ" รามี อับเดล ราห์มาน ประธานกลุ่มเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรียกล่าว จิม เมอร์ ผู้สื่อข่าว BBC รายงานจากกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน บอกว่าการหยุดยิงเกิดขึ้นแล้ว จุดสนใจตอนนี้ตกอยู่ที่การถอนทัพของฝ่ายรัฐบาลทั้งทหาร รถถัง และอาวุธหนัก ซึ่งควรจะเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. แล้ว จิม รายงานอีกว่า แม้จะมีข่าวเรื่องการยิงกันและใช้อาวุธหนักตอบโต้กันในเมืองอิดลิบ และในเขตชานเมืองของเมืองหลวงดามาสกัส แต่โดยส่วนใหญ่ข้อสัญญาหยุดยิงก็มีการปฏิบัติจริง อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องซับซ้อนอีกหลายเรื่องให้ต้องแก้ไขก่อนที่จะมีความคืบหน้าทางด้านการเมือง ความกังวลจากชาติตะวันตก วิลเลี่ยม ฮาค เลขาธิการด้านการต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่อังกฤษที่ทำงานในยูเอ็นจะส่งทีมตรวจสอบเข้าไปในซีเรีย เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ย้อนกลับไปสู่ความรุนแรงอีก ทางด้านนายกรัฐมนตรีเยอรมนี แองเจลา เมอเคล และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่างบอกว่าพวกเขายังคงกังวลว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดของซีเรียจะไม่ทำตามเงื่อนไขข้อตกลงของโคฟี่ อันนัน ทางด้านรัสเซียและจีนที่เคยโหวตต้านการเข้าแทรกแซงซีเรียในที่ประชุมด้านความมั่นคงของสหประชาชาติ แสดงความยินดีต่อการหยุดยิง แต่ก็บอกว่าฝ่ายกบฏก็ควรปฏิบัติตามเช่นเดียวกัน นักข่าว BBC : รัสเซีย จีน และอิหร่าน มีอิทธิพลในการตัดสินใจหยุดยิงของซีเรีย โฆษกของกองกำลังกบฏฟรีซีเรียนอามี่ (FSA) บอกว่าข้อสัญญาหยุดยิงดูท่าจะไม่เป็นผล เพราะจะไม่มีฝ่ายใดยอมหยุดยิง "หากฝ่ายตรงข้ามหยุดยิง ประชาชนชาวซีเรียก็จะพากันเดินขบวนไปยังทำเนียบประธานาธิบดีในวันเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าฝ่ายรัฐบาลก้จะไม่หยุดด้วย" ร.อ. อะยาม อัล-เคอดี ให้สัมภาษณ์กับ BBC ที่เขตพรมแดน ตุรกี-ซีเรีย มีสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงบางรายเปิดเผยว่า หากแผนการของอันนันไม่สำเร็จ พวกเขาจะต้องใช้มาตรการที่แข็งข้อขึ้น ซึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่าอาจไม่ได้หมายถึงการใช้กำลังทางทหารแทรกแซง แต่อาจหมายถึงการคว่ำบาตร มีเสียงจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการติดอาวุธให้กับกลุ่มต้านรัฐบาลในซีเรีย แต่ประธานาธิบดีโอบาม่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา โอบาม่าก็ได้เข้าพบกับรมต. กลาโหม ของซาอุดิอารเบียซึ่งสนับสนุนการติดอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จิม เมอร์ ผู้สื่อข่าว BBC แสดงความเห็นเชิงวิเคราะห์เหตุการณ์หยุดยิงว่า มีแรงกดดันมหาศาลทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมทำตามข้อสัญญาของอันนัน แต่ดูเหมือนว่ารัสเซียอาจจะใช้อิทธิพลที่มีอยู่มากอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของรัฐบาลซีเรีย ขณะเดียวกันจีนและอิหร่านที่เป็นมิตรประเทศสำคัญของซีเรียก็สนับสนุนภารกิจของอันนันอย่างหนักแน่น ซึ่งอาจช่วยให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด หันมาฟังได้
ที่มา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Monarchy Normative Media: ทฤษฎีบรรทัดฐานสื่อ ที่นี่ ที่เดียว ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร Posted: 12 Apr 2012 03:17 AM PDT บ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 11 เมษายน 2555 เกิดแผ่นดินไหวทางทิศตะวันตกของเกาะสุมาตรา 8.3 ริคเตอร์ คลื่นสึนามิกำลังซัดผ่านเข้าสู่พื้นที่โดยรอบ สัญญาณเตือนภัยดังสนั่นทั่วพื้นที่ใกล้เคียง หกจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงซ้ำรอยแบบปีใหม่ 2547 อีกครั้ง ทว่าในภาวะวิกฤตเช่นนี้สถานีโทรทัศน์ของไทยที่ออกอากาศแบบฟรี ๆ ให้เราได้ชมทั้งหกช่องนั้นกำลังถ่ายทอดพระราชพิธีอยู่ แม้จะมีช่อง ThaiPBS ที่ตัดสินใจตัดการรับสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจทิ้งเพื่อเสนอข่าวสึนามิ แต่โทรทัศน์อีกห้าช่องก็ยังคงเสนองานพระราชพิธีจนจบประหนึ่งเหมือนไม่เกิดอะไรขึ้น เพียงข้ามคืนมีความคิดเห็นบนสังคมออนไลน์และบทความหลายชิ้นได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างถึงพริกถึงขิง รวม ๆ ก็พอแบ่งได้เป็นสองทางคือฟากที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเนื่องด้วยไม่ยอมตัดสินใจเลือกสึนามิที่เป็นผลกระทบโดยรวมก่อน อีกทางก็วิพากษ์ในทิศทางที่ว่าหากเป็นเอ็งบ้าง เอ็งกล้าตัดหรือ เหตุผลต่าง ๆ หลายบทความคงวิเคราะห์กันไว้แล้ว ผู้เขียนขอกล่าวถึงเรื่องอื่นที่พอพูดใกล้เคียงกันได้บ้าง ใครที่เรียนสาขานิเทศศาสตร์ย่อมคุ้นชื่อของเดนิส แมคเควล (Denis McQuail) เป็นอย่างดี แมคเควล ว่ากันว่าด้วยความเป็นกลาง ๆ ไม่เลือกฟากทางความคิดอย่างสุดโต่งทางใดทางหนึ่งของเขาทำให้ผลงานเขียนหลายชิ้นกลายเป็นหนังสืออ่านหลักของนักศึกษานิเทศศาสตร์ที่ใช้กันทั่วไป แมคเควลรวบรวมแนวความคิดที่หยิบยืมจากศาสตร์อื่นมาร้อยเรียงเพื่ออธิบายปรากฎการณ์สื่อ หนึ่งในแนวคิดที่ถูกนำมาใช้กันบ่อยยิ่งคือเรื่องบรรทัดฐานสื่อ (Normative Media) อันเป็นแนวคิดที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของสื่อในบริบทสังคมต่าง ๆ ว่าอิงคุณค่ากับบริบทใด ในเวอร์ชั่นแรก ๆ ของ Mass Communication Theory แมคเควลแบ่งกลุ่มบรรทัดฐานไว้สี่กลุ่มใหญ่ภายใต้กรอบแนวคิดทางการเมือง อาทิ สื่อที่ทำงานบนพื้นฐานแนวคิดเสรีนิยม สังคมนิยมแบบโซเวียต อำนาจนิยม เป็นต้น ต่อมามีการขยายไปสู่บริบทอื่น ๆ เช่น ทำงานบนพื้นฐานแนวคิดสังคมประชาธิปไตยเพื่อการมีส่วนร่วม แนวคิดการพัฒนา ฯลฯ โดยแต่ละแนวทางความคิด สื่อจะปฏิบัติงานบนกรอบฐานเพื่อรับใช้อุดมการณ์ความคิด และแนวคิดนี้สามารถใช้ตรวจสอบได้ว่า ณ บริบทสังคมนั้น ๆ สื่อทำงานเป็นไปตามบรรทัดฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ ฉบับปรับปรุงล่าสุด (6th edition) แมคเควลขมวดแนวคิดกลายเป็นสี่กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สื่อภายใต้แนวคิดทางการตลาด แนวคิดเพื่อสังคม แนวคิดสื่อในฐานะมืออาชีพ และสื่อทางเลือกที่สนใจประเด็นรอง ๆ ของกลุ่มชนรากหญ้า เป็นโจทย์ที่ตอบยากว่าแล้วเมืองไทยอยู่ในกรอบบรรทัดฐานสื่อแบบไหน บทบาทต่าง ๆ ก็ยังดูคลุมเครือ ยิ่งฐานคิดเรื่องประชาธิปไตยที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในแต่ละฐานคิดก็ดูเลือนลางและบิดเบือนไปจากหลักการไม่น้อย ในฐานะคนสอนสื่อต้องยอมรับว่าเหนื่อยยากมากกับการใช้แนวคิดของแมคเควลอันเป็นที่ยอมรับของสากลโลกในการอธิบายเมืองไทยจริง ๆ สงสัยเมืองไทยจะมีบรรทัดฐานส่วนตัวอันมิอาจบดบังได้จริง ๆ จากเหตุการณ์ ถ่ายทอดพระราชพิธี VS สึนามินี้ กลายเป็นปรากฎการณ์ชัดเจนที่ตอบข้อสมมติฐานทั้งหมดในใจผู้เขียนว่าแท้ที่จริงแล้วบ้านเรานั้นมีบรรทัดฐานเฉพาะตัวที่ไม่มีใครเหมือนแน่ บรรทัดฐานนี้อ้างอิงบนพื้นฐานอุดมการณ์ความคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เคลือบภายนอกด้วยประชาธิปไตย การทำงานของสื่อมีพื้นฐานคิดให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นอันดับหนึ่ง ชาติเป็นอันดับสอง ศาสนาอันดับสาม อันดับสี่คือข่าวฉาวดารา ส่วนประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอยู่ท้าย ๆ สังเกตได้จากการเรียงลำดับข่าวภาคค่ำ มีสักกี่ครั้งเชียวที่ข่าวอันมีประชาชนเป็นตัวหลักจะเป็นข่าวแรก บรรทัดฐานสื่อแบบนี้ สื่อไทยยินยอมพร้อมใจให้ความสำคัญ ให้พื้นที่ เวลาและกรอบทิศทางการนำเสนอในแง่บวกแก่ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์เสมอ ทุกบริษัทสื่อต่างยินยอมพร้อมใจเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของพระราชวงศ์ผ่านรายการและสื่อที่ตนมีในมือ เป็นเรื่องที่ต้องรู้โดยอัตโนมัติว่าใกล้วันเกิดพระราชวงศ์องค์ใดก็ต้องทำเทิดพระเกียรติก่อนเข้ารายการ คั่นรายการ ปิดรายการ สละช่วงเวลาที่ดีที่สุดของรายการ อาทิ ช่วงเปิดให้กับการนำเสนอเรื่องราวพระราชวงศ์ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทตนนั้นมีความจงรักภักดีเป็นที่หนึ่งไม่แพ้ใคร ยิ่งบางช่วงเวลา อาจต้องจำใจกระอักเลือดเพราะสูญเสียเวลาไพรม์ไทม์ราคาแสนสูงนาทีร่วมล้านไปเพียงด้วยการถ่ายทอดงานพระราชพิธี แต่ในเมื่อบรรทัดฐานกรอบคิดตั้งไว้ให้ยินยอมพร้อมใจ ดังนั้นการเสียเงินไม่กี่สิบล้านที่จะได้แต่ละตอนไปกับการแสดงความจงรักภักดีนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ (และควรทำอย่างยิ่งด้วย) หันมามองเหตุการณ์เมื่อหัวค่ำวานนี้ มองกันด้วยบรรทัดฐาน Monarchy Normative Media เช่นนี้ก็ดูเป็นเรื่องเหมาะควรแล้ว ในเมื่อการชั่งน้ำหนักระหว่างเหตุการณ์สองเหตุการณ์มีความยากเย็นนัก การเลือกโดยใช้กรอบบรรทัดฐานเป็นตัวช่วยก็พอทำให้เห็นภาพได้ว่าสื่อไทยควรเลือกนำเสนออะไรมากกว่ากัน เป็นไปได้น่าจะมีการพัฒนาเป็นงานวิจัยเพื่อสร้างกรอบของ Monarchy Normative Media ให้ชัดเจน แล้วประกาศที่ทางให้ชัดเจนในวงวิชาการโลก น่าจะสร้างกรอบความคิดใหม่ในการอธิบายปรากฎการณ์สังคมที่เฉพาะเจาะจงเฉกเช่นเมืองไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่แน่แมคเควลเองอาจจะนำไปใส่ในไว้ในหนังสือของเขาฉบับปรับปรุงใหม่ก็ได้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ใต้เท้าขอรับ: แผ่นดินไหวและปัญหาใจกลางของวัฒนธรรมการเมืองไทย Posted: 12 Apr 2012 01:53 AM PDT นักวิชาการอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลพร่ำพูดมานานว่าปัญหาของการจัดวางสถานะของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยนั้นไม่ใช่เรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือมาตรา 112 เท่านั้น เขาพร่ำพูดเช่นนี้มาหลายปีแล้ว คนฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ที่ไม่เข้าใจก็บอกว่านี่คือวิธีคิดของพวกนักวิชาการล้มเจ้าบ้าง การกล่าวย้ำว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่การจัดวางสถานะของสถาบันกษัตริย์แม้ในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองมีการปะทะกันบาดเจ็บล้มตาย ก็ยังมีคนฟังไม่เข้าใจ เพราะนี่คือปัญหาของวัฒนธรรมการเมืองของไทยที่ใช้เวลาบ่มเพาะมาหลายสิบปี วัฒนธรรมที่เข้ามามีอิทธิพลต่อวิธีคิดอันรวมไปถึงการคิดว่าอะไรที่คิดได้และอะไรที่ไม่ควรคิด และแทรกซึมอยู่ในทุกการถกเถียงของสังคมไทยอย่างไม่ควรจะต้องเป็นเช่นนั้นในหลายครั้ง รวมถึงครั้งนี้...ข่าวแผ่นดินไหวและสึนามิ ประเทศชนิดที่สื่อมวลชนหลักคือฟรีทีวีไม่สามารถรายงานข่าวอย่างทันท่วงทีเมื่อมีประกาศจากศูนย์เตือนภัยสึนามิภาคพื้นแปซิฟิก ของสหรัฐอเมริกาแต่กลับทอดเวลาไปอีกกว่า 2 ชั่วโมง กว่าจะตัดรายการถ่ายทอดสดรวมการเฉพาะกิจพระราชพิธีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เข้าสู่การรายงานสถานการณ์จับตาสึนามิ หลังแผ่นดินไหวขนาด 8.3 ริกเตอร์และเกิดอาฟเตอร์ช็อคซ้ำอีก 2 ครั้งบริเวณเกาะสุมาตรา ผู้บริหารสื่อฟรีทีวีต้องใช้เวลาหาคำตอบกับตัวเองเกือบสองชั่วโมงว่าในฐานะสื่อมวลชนควรรับผิดชอบต่ออะไรก่อน แน่นอนคนที่ไม่มีพันธกิจร่วมกับการถ่ายทอดสดครั้งนี้จะตอบให้ตัวเองดูดี มีอุดมคติอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อเคเบิลทีวี หนังสือพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ แต่คำถามคือ ถ้าคุณเป็นผู้บริหารฟรีทีวี คุณจะตัดสินใจอย่างไร และให้คำอธิบายกับตัวเองอย่างไร วิวาทะที่เกิดขึ้นตามมายิ่งสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการเมืองของสังคมไทยชัดเจนมากยิ่งขึ้นๆ โซเชียลเน็ตเวิรกเริ่มแชร์ข้อความจริงบ้างเท็จบ้างถึงความเชื่อมโยงระหว่างประมุขของประเทศกับการตัดสินใจตัดเข้าสู่การถ่ายทอดสดสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อคนนับล้านคนใน 6 จังหวัดตอนใต้ของประเทศไทย คำถามหนาหู เพื่อหาผู้รับผิดว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบการถ่ายทอดสดรวมการเฉพาะกิจครั้งนี้ ตามมา เครือข่ายโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี 6 แห่ง ไทยทีวีสีช่อง 3, ททบ.5, ช่อง 7 สี, โมเดิร์นไนน์ทีวี, สทท. และ ไทยพีบีเอส รวมทั้งสถานีโทรทัศน์เคเบิลบางส่วน และมีคณะกรรมการ ซึ่งประธานกรรมการทุกชุดเป็นผู้บริหารของสถานีกองทัพบกช่อง 5 ประธานคนปัจจุบันคือ พลโทฉัตรชัย สาริกัลยะ และครั้งนี้ แม่ข่ายในการถ่ายทอดคือช่อง 3 และผู้มีอำนาจสั่งการก็คือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่คำถามหลักก็คือ ถ้าเป็นคุณ คุณจะตัดสินใจอย่างไร ทั้งๆ ที่มันเป็นคำถามที่บ้องตื้นเหมือนถูกเอ่ยจากปากคนที่ไม่มีสามัญสำนึก แต่มันกลับเป็นคำถามตอบยากสำหรับสังคมไทย.....ทำไม? การตัดสินใจที่ไม่ง่ายขนาดที่ว่าผู้บริหารทีวีสาธารณะที่ใช้ภาษีของประชาชนกว่าสองพันล้านบาทต่อปี ยังต้องทวีตขอบคุณเพื่อนร่วมงานด้วยความซาบซึ้งว่า "การที่ไทยพีบีเอสยกเลิกการถ่ายทอดสดในพระราชพิธีสำคัญ. เพื่อรายงานข่าวเตือนภัยเป็นเรื่องไม่ง่าย ต้องใช้สติและความกล้าหาญ".....ทำไม!!!?? คำตอบไม่ยาวแต่หาคนตอบยาก ข่าวแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเห็นง่ายที่สุดของปัญหาวัฒนธรรมการเมืองของไทย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
พนมเปญโพสต์เผย "วอลมาร์ท" จับตาแรงงานประท้วงที่ "พัฒนาซีฟู้ดส์" Posted: 11 Apr 2012 11:34 PM PDT คนงานกัมพูชาที่พัฒนาซีฟู้ดส์ จ.สงขลา กว่าครึ่งเตรียมเดินทางกลับบ้านหลังผลเจรจาเรื่องปรับปรุงสภาพการทำงานไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่คนงานยังถือแต่สำเนาหนังสือเดินทาง จะได้ตัวจริงคืนเมื่อถึงชายแดนเท่านั้น ด้าน "วอลมาร์ท" เผยจับตาเรื่องนี้ใกล้ชิด-พร้อมสอบสวนทันทีที่ได้รับรายงานการละเมิดสิทธิ์ ส่วนบริษัทจัดหางานยันเรื่องนี้จบด้วยดีแล้ว พนมเปญโพสต์รายงานพนักงานกัมพูชากว่าครึ่งเตรียมกลับบ้านแล้ว หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ รายงานเมื่อวานนี้ (11 เม.ย.) ว่า กว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานชาวกัมพูชา 800 คนที่กล่าวหาว่าตำรวจได้ขู่พวกเขาด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้า ระหว่างชุมนุมหน้าโรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 เม.ย.) ได้เตรียมเดินทางกลับบ้านแล้ว ขณะที่ผลการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ โดยนายซก ทรง ตัวแทนพนักงานกล่าวกัมพนมเปญโพสต์ว่า แรงงานได้ข้อให้ฝ่ายบริหารขอทางโรงงานคืนหนังสือเดินทางให้กับพวกเขา และยอมให้พวกเขายกเลิกสัญญาจ้างถ้าพวกเขาต้องการเดินทางกลับ นอกจากนี้มีการเจรจากับบริษัท ซีดีเอ็ม เทรดดิ้ง แมนพาวเวอร์ บริษัทจัดหางานของกัมพูชา ซึ่งชาวกัมพูชากว่า 500 คนเตรียมเดินทางกลับบ้านแล้ว ทั้งนี้การชุมนุมเรียกร้องให้ทางโรงงานให้สวัสดิการ ค่าข้าววันละ 20 บาท และเบี้ยขยัน 600 บาทต่อเดือนซึ่งเป็นเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ก่อนเข้าทำงาน ไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะที่แรงงานจำนวนมากรู้สึกผ่อนคลายความตึงเครียดมากขึ้น เพราะจะได้กลับบ้าน นายซก สรง กล่าว ทั้งนี้คนงานในโรงงานรวมทั้งชาวพม่า และชาวไทย ได้รวมตัวประท้วงอยู่ภายนอกโรงงานส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งระดับโลกดังกล่าว มาตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. นายซก ทรง กล่าวกับพนมเปญโพสต์ว่า ทางโรงงานยอมให้คนงานกลับเข้าทำงาน "พวกเราดีใจที่มีทางออกหลังเกิดการประท้วงเมื่อไม่กี่วันก่อน แต่ว่าสำหรับคนที่ต้องการประท้วงต่อ ทางโรงงานจะไม่ยอมจ่ายตามที่คนงานมีข้อเรียกร้อง" พนักงานโรงงานดังกล่าว ยังร้องเรียนด้วยว่า ต้องจ่ายค่าเช่าที่พักเอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้บริษัทซีดีเอ็ม ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานดังกล่าวสัญญาว่ามีที่พักฟรี
บริษัทจัดหางานยันเรื่องนี้มีทางออกแล้ว หลังเข้าไปประสานกับคนงานและโรงงาน นายเฮง โสเพีย เจ้าหน้าที่ประสานงานของ บริษัทซีดีเอ็ม กล่าวกับพนมเปญโพสต์ว่า ทางบริษัทซีดีเอ็มสามารถหาทางออกในเรื่องนี้ได้ หลังจากที่มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปคุยกับคนงานและเจรจากับโรงงาน "หลังจากที่พวกเขาฟังเรา พวกเขาก็หยุดประท้วง" นายเฮง กล่าว อย่างไรก็ตาม นายเฮง ไม่สามารถยืนยันรายงานที่ว่า ทางโรงงานจะจ้างคนงานที่ทำงานในช่วงวันหยุดสงกรานต์ 8 วัน ในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นมาใหม่ 246 บาทต่อวัน
"วอลมาร์ท" เผยกำลังติดตามกรณีพัฒนาซีฟู้ดส์ ด้านเมอร์แกน เมอร์ฟี ผู้จัดการด้านประสานงานระหว่างประเทศ ของห้างค้าปลีกยักษ์วอลมาร์ท กล่าวกับพนมเปญโพสต์ว่า วอลมาร์ทกำลังสืบสวนเรื่องนี้ "โดยเร็วที่สุดเท่าที่พวกเราได้รับรายงานถึงความเป็นไปได้ว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ เราจะเริ่มสอบสวนเรื่องนี้" เธอกล่าว "พวกเราทำรายงานลักษณะนี้อย่างจริงจังมาก และพวกเราจะมีมาตรการออกมาอย่างเหมาะสมบนพื้นฐานของการสืบสวนที่พวกเราไปดำเนินการมา" ทั้งนี้พนมเปญโพสต์ พยายามติดต่อสัมภาษณ์นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน แต่ไม่สามารถให้ความเห็นได้ ขณะที่นายกอยกอง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา และตัวแทนของพัฒนาซีฟู้ดส์ ไม่สามารถติดต่อได้
เอ็นจีโอกัมพูชาระบุการยึดหนังสือเดินทางถือเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ให้การศึกษาทางกฎหมายแก่ชุมชน (Community Legal Education Center - CLEC) จากกัมพูชา ที่เดินทางมาสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นกับคนงานชาวกัมพูชาที่ จ.สงขลา ให้ข้อมูลผู้สื่อข่าวประชาไทว่า คนงานชาวกัมพูชาร้องเรียนว่าหากต้องการเดินทางไปที่ชายแดนไทย-กัมพูชาจะต้องจ่ายค่าเดินทางให้กับบริษัทจัดหางานเป็นเงิน 1,200 บาท และจะได้รับคืนหนังสือเดินทางต่อเมื่อเดินทางถึงชายแดนไทย-กัมพูชาแล้ว โดยระหว่างนี้คนงานทั้งหมดถือเพียงสำเนาหนังสือเดินทางเท่านั้น "กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นการเลือกปฏิบัติ จำกัดเสรีภาพในการเดินทาง และจำกัดเสรีภาพในการรวมตัวสมาคม" เจ้าหน้าที่จากศูนย์ CLEC กล่าว โดยระบุว่าทางกัมพูชาจะทำรายงานในเรื่องนี้เช่นกัน ทั้งนี้การเรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการเิกิดขึ้นหลังจากที่ประกาศค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. โดยที่อัตราค่าจ้างของ จ.สงขลา ปรับเพิ่มจากวันละ 176 บาท มาเป็นวันละ 246 บาท อนึ่ง ก่อนหน้านี้พนักงานเคยร้องเรียนด้วยว่า สภาพการจ้างงานของโรงงานมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ห้องน้ำภายในโรงงาน และที่พักอาศัยมีจำกัดและไม่ถูกสุขลักษณะ ที่พักมีความแออัด ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกัน และต้องจ่ายค่าที่พักคนละ 300 บาทต่อเดือน และมีการเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะมาทำงาน บริษัทจัดหางานระบุว่าจะไม่มีการเรียกเก็บ นอกจากนี้ยังมีการยึดหนังสือเดินทางเอาไว้ ให้คนงานถือเพียงสำเนาหนังสือเดินทาง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
บุญยืน สุขใหม่: กฎหมายที่เกี่ยวข้องและเทคนิคการเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิผล Posted: 11 Apr 2012 09:54 PM PDT กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเทคนิคการเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิผล ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างมิใช่เป็นปัญหาภายในสถานประกอบการเท่านั้น บางครั้งความขัดแย้งมีความรุนแรงและยืดเยื้อสร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งคู่กรณีและสาธารณชน รวมทั้งส่งผลต่อเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุนของประเทศภาครัฐจึงจำเป็นต้องมาแทรกแซงความสัมพันธ์ของคู่กรณี เพื่อสร้างความสงบสุขในวงการอุตสาหกรรมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยการวางกรอบและกฎเกณฑ์ขั้นตอนทางการแรงงานสัมพันธ์ให้เป็นระบบการร่วมเจรจาต่อรองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งด้านแรงงานสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้างและองค์กรของทั้งสองฝ่ายเป็นสิทธิควบคู่และต่อเนื่องจากสิทธิอีกประการหนึ่งคือ สิทธิในการร่วมตัวกันของลูกจ้างซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ 98และ 87 ตามลำดับ ซึ่งแม้ประเทศไทยจะยังมิได้ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่ก็ได้มีการนำเอาหลักการทั้งสองประการมาปฎิบัติตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่ระบบอุตสาหกรรม ดังนั้นปรากฏชัดเจนในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518ว่าด้วยสิทธิในการจัดตั้งองค์กรลูกจ้าง ได้แก่ สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน และสมาคมนายจ้าง และ สภาองค์กรนายจ้าง ตามลำดับรวมทั้งสิทธิในการเข้าร่วมเจรจาต่อรองของทั้งสองฝ่าย การแรงงานสัมพันธ์ 1. ทวิภาคี คือ มีการตกลงกันระหว่าง 2 ฝ่าย เช่น ลูกจ้าง และ นายจ้าง โดยที่ไม่อาศัยอำนาจ รัฐ 2. ไตรภาคี คือ มีการคุยกัน 3 ฝ่าย คือ ฝ่าย ลูกจ้าง และ นายจ้าง และ ภาครัฐซึ่งต้องว่ากันตามระเบียบข้อบังคับ ข้อตกลงสัญญาจ้าง กฎหมาย คำสั่ง คำชี้ขาด ขนมธรรมเนียมประเพณี การเจรจาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การเจรจาต่อรอง จัดเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในเรื่องของแรงงานสัมพันธ์ และ การ บริหารแรงงาน ตามลำดับ ซึ่งนอกจากมีความเป็นศาสตร์ในตัวเองแล้ว ยังรวมเอาลักษณะของความเป็นศิลปะเข้าไว้อีกด้วยลักษณะของความเป็นศาสตร์คือ เป็นวิชาหรือองค์ความรู้ที่ตั้งอยู่บนหลักการและเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์หรือตรรกะที่มีรูปแบบชัดเจน มีขั้นตอน จุดกำเนิด สภาวะการดำลงอยู่และจุดสิ้นสุด ส่วนลักษณะ ของการเป็นศิลปะนั้นกล่าวได้ว่าอะไรที่เป็นศิลปะย่อมไร้ขอบเขตไร้รูปแบบ สามารถสรรสร้างขึ้นได้ไม่จำกัดสุดจินตนาการ ความรู้ความคิด ตลอดจนประสบการณ์ของแต่ละคนจะอำนวยให้ สามารถนำมาปรับผสมผสานหลักและวิธีการต่างๆเข้าด้วยกันได้หลากหลายรูปแบบ เทคนิคในการเจรจาต่อรอง สิ่งที่นายจ้างต้องการจากลูกจ้างมีอะไรบ้างและสิ่งที่ลูกจ้างต้องการจากนายจ้างมีอะไรบ้าง นายจ้าง และลูกจ้างมีความต้องการตรงกันคือ ความมั่นคง ควรเน้นผลประโยชน์มิใช่จุดยืนและยอมรับประโยชน์ของคู่กรณี ให้ยึดหลักการอย่างมั่นคง แต่ให้ยืดหยุ่นนุ่มนวลต่อตัวบุคคล แยกตัวบุคคลและปัญหาออกจากกัน ศึกษาการรับรู้ของฝ่ายเราและคู่กรณี เอาใจเขามาใส่ใจเรา ศึกษาภาวะทางอารมณ์ของคู่กรณีโดยปล่อยให้แสดงอารมณ์ออกมาอย่างเต็มที่ แต่อย่าโต้ตอบ การสื่อข้อความ การฟังด้วยความตั้งใจ การพูดเข้าเป้าหมาย การสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน คู่กรณีควรมุ่งชนะและแก้ปัญหา มากกว่าเอาชนะซึ่งกันและกัน กำหนดทางเลือกหลายทาง ใช้มาตรฐานที่ไม่ลำเอียงเป็นหลักในการกำหนดข้อตกลง และสิ่งหนึ่งเลยทีสำคัญคือ อำนาจในการต่อรองการเตรียมความพร้อมในองค์กรนั้นๆ ควรมีการเตรียมการก่อนเริ่มเจรจาต่อรอง 1. จัดลำดับความสำคัญของข้อเรียกร้อง 2. ศึกษาองค์ประกอบข้อเรียกร้องแต่ละข้อ 3. เตรียมทางเลือกในการประนีประนอม 4. การกำหนดหน้าที่ของผู้แทนเจรจา 5. ศึกษาผู้แทนในการเจรจาของอีกฝ่าย 6. ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า วงจรการร่วมเจรจาต่อรอง การร่วมเจรจาต่อรองมีจุดเริ่มต้นสภาวะความเป็นไปและจุดส้นสุดเหมือนสิ่งอื่นทั่วไป ดังนี้ 1. มีที่มาจากการยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยฝ่ายนายจ้าง หรือ ฝ่ายลูกจ้างหรือทั้งสองฝ่าย 2. กระบวนการเจรจาต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ดังนี้ 2.1 การเจรจาต้องเริ่มขึ้นภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง 2.2 หากตกลงกันได้ ให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดทำข้อตกลงและให้นายจ้างนำไปยื่นขอจดทะเบียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ตกลงกันและถือว่าเป็นการสิ้นสุดการร่วมเจรจาต่อรอง 2.3 หากไม่มีการเจรจากันภายในกำหนด 3 วันข้างต้นหรือมีการเจรจากันแล้ว(ไม่ว่าจะเจรจากันกี่ครั้ง หรือใช้เวลาเจรจากันนานเท่าใดก็ตาม) ไม่สามารถตกลงกันได้ให้ถือว่ามี ข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องต้องแจ้งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไป ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่วันตกลงกันไม่ได้ 2.4 พนักงานประนอมข้อพิพาทมีกำหนด 5 วัน ในการไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีตกลงกันภายในกระบวนการของการร่วมเจรจาต่อรองหากตกลงกันได้ให้จัดทำข้อตกลงเช่นเดียวกับข้อ 2.2 และถือว่ากระบวนการร่วมเจรจาเป็นอันยุติ 2.5 หากไม่สามารถตกลงกันได้ภายในระยะเวลา 5 วันดังกล่าวให้ถือว่ามี ข้อพิพาทแรงงานที่ไม่สามารถตกลงกันได้ เกิดขึ้น กระบวนการร่วมเจรจาต่อรองอาจดำเนินการต่อไป ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของกฎหมาย (ชาร์ตแสดงขั้นตอนการระงับข้อพิพาทแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม) สาเหตุความล้มเหลวของการเจรจา ยื่นข้อเรียกร้องขณะที่นายจ้างประสบภาวการณ์ขาดทุน การระงับอารมณ์ไม่ได้ของคู่เจรจา ไม่มีการวางแผนการเจรจาล่วงหน้า การใช้เวลาและสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม ไม่มีข้อมูลที่ดีพอจะสนับสนุนความต้องการด้วยเหตุผล ไม่ยอมรับข้อเท็จจริง ขาดความสนับสนุนจากสมาชิก บุคคลภายนอกเข้ามาแทรกแซงเกินขอบเขต เรียกร้องในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือสิ่งที่อีกฝ่ายไม่สามารถตอบสนองได้ ความล้มเหลวของการเจรจาต่อรอง 1.ขาดการเตรียมพร้อมที่มีประสิทธิภาพและขั้นตอน -เตรียมข้อเรียกร้อง -เตรียมผู้แทน -การศึกษาผู้แทนอีกฝ่ายเตรียมเอกสารข้อมูลที่จำเป็น -เตรียมแนวทางเจรจา 2.ข้อเรียกร้องตั้งไว้สูงเกินไป 3.นายจ้างและลูกจ้างไม่ยอมรับสิทธิและสถานะของกันและกัน 4.เริ่มต้นเจรจาด้วยเรื่องยาก 5.ผู้แทนเจรจาขาดความรู้ประสบการณ์และทักษะในการเจรจาต่อรอง 6.ผู้แทนเจรจาไม่มีอำนาจตัดสินใจ 7.ไม่ใช้ปรัชญา/เหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง สภาพการจ้างแต่ละรายการมาประกอบการเจรจา 8.ผู้แทนเจรจาขาดเอกภาพหรือขัดแย้งกันเอง 9.มีการขอเปลี่ยนตัวผู้เจรจา 10.นำเอาสิ่งที่ไม่สมควรเข้ามาเจือปนในการเจรจา เช่น เรื่องส่วนตัว ศักดิ์ศรี การท้าทาย 11.อำนาจการต่อรอง ขาดการสนับสนุนจากสมาชิก ข้อควรจำ *เราเจราต่อรองเพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน มิใช่ แตกแยก *เราเจราต่อรองเพื่อการสร้างสรรค์ มิใช่ ทำลาย *เราเจราต่อรองเพื่อให้ได้ประโยชน์ มิใช่ สูญเสีย *เราเจราต่อรองเพื่อข้อยุติ มิใช่ ข้อพิพาท การเขียนข้อเรียกร้องอย่างถูกวิธี ควรเขียนเป็นภาษาไทยมีใจความเข้าใจง่ายระบุวันเวลาและสถานที่ให้ชัดเจน ในข้อเรียกร้องแต่ละข้อให้ระบุใจความที่เข้าใจง่าย และระบุข้อเรียกร้องที่ขอไปเป็นข้อๆตามลำดับ ใจความในหนังสือ ควรมีเหตุและผลในการยื่นครั้งนี้ และขอแต่งตั้ง ผู้ แทนในการเจรจาครั้งนี้พร้อมแต่งตั้งที่ปรึกษา ได้ไม่เกิน 2 คน ทบทวนการเปลี่ยนแปลง สภาพการจ้าง * เปลี่ยนไม่ได้ถ้าไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง * วิธีเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างอย่างถูกต้อง - ยื่นข้อเรียกร้องและเจรจา - ทำข้อตกลงยอมเป็นรายบุคคล * วิธีเปลี่ยนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย - ประกาศฝ่ายเดียว - เจรจานอกรอบกับสหภาพแรงงาน - เรียกประชุมพนักงานและพนักงานส่วนใหญ่เห็นด้วย - ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการสวัสดิการ การแจ้งข้อเรียกร้อง 1. ต้องทำเป็นตัวหนังสือ 2. เงื่อนไข *ลูกจ้างเป็นผู้แจ้ง ต้องมีรายชื่อ และลายมือชื่อ ของลูกจ้างที่สนับสนุน ร้อยละ 15ของลูกจ้างทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง * สหภาพเป็นผู้แจ้ง ต้องมีสมาชิกเป็นลูกจ้าง 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด 3. ตัวแทนเจรจาไม่เกิน 7 คน 4. ที่ปรึกษา 1 หรือ 2 คน การทำบันทึกการเจรจาและการทำบันทึกข้อตกลงสภาพการจ้าง เพื่อให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีใจความสมบูรณ์ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการปฎิบัติตามในภายหลัง การจัดทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสามารถทำได้หลายลักษณะ ความสั้นยาวของข้อตกลงขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระของสภาพการจ้างที่ตกลงกันได้ และควรมีรายละเอียด ประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ 1. ระบุ วัน เวลา สถานที่ที่ทำข้อตกลง 2. รายชื่อที่ชัดเจนของผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้าง รวมทั้งที่ปรึกษาและพนักประงานประนอมข้อพิพาทแรงงานกรณีที่ถึงขั้นการไกล่เกลี่ยด้วย 3. ข้อความในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ถ้ามีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างผิดแผกแตกต่างไปจากกฎหมายแรงงาน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ 4. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ชัดเจน รัดกุม อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที ว่าผู้ใดมีหน้าที่ต้องทำสิ่งใด หรืองดเว้นไม่กระทำสิ่งใด หรืองดเว้นไม่กระทำสิ่งใด 5. ข้อความถูกต้องตามเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายในบางเรื่องหากมีกำหนดเงื่อนไขใดๆ ไว้จะต้องบันทึกเงื่อนไขดังกล่าวให้ชัดเจนต้องตระหนักว่าถ้อยคำเหล่านั้นมีความสำคัญยิ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่และผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย 6. หากมีการผิดพลาดในการเขียนหรือในกรณีที่มีการแก้ไขข้อความ ผู้แก้ไขต้องขีดฆ่าความแล้วลงลายมือชื่อกำกับทุกครั้ง เพื่อ ป้องกันการโต้แย้งในภายหลัง 7. กำหนดบุคคลผู้ชี้ขาดหรือผู้วินิจฉัยไว้เป็นการล่วงหน้าในกรณีที่อาจต้องมีปัญหาในการตีความในภายหลัง 8. กำหนดวันเริ่มใช้บังคับและวันสิ้นอายุของข้อตกลง เพื่อป้องกันปัญหาที่เกี่ยวกับการแจ้งข้อเรียกร้อง ครั้งต่อไป 9. ลงลายมือชื่อผู้แทนนายจ้าง และ ผู้แทนลูกจ้าง ให้ครบถ้วนถ้าไม่อาจลงลายมือครบทุกคนได้ แต่ละฝ่ายต้องลงลายมือชื่อเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้แทนของแต่ละฝ่าย(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1889/ 2523) 10. ในกรณีที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีหลายหน้าเพื่อป้องกันการโต้แย้งข้อความในภายหลัง ให้ผู้แทนของทั้งสองฝ่ายอย่างน้อยฝ่ายละ 1 คน ตรวจสอบข้อความและลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกหน้า
เราจะทำอะไรกันต่อไปเพื่อการจัดตั้งและสร้างความเข้มแข็งให้กับสหภาพแรงงาน สรุปได้ดังนี้ 1. ให้สหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรองสูงยื่นข้อเรียกร้องในส่วนสวัสดิการต่างๆให้กับพนักงานเหมาค่าแรงด้วย 2. กรณีที่มีพนักงานเหมาค่าแรงหลายบริษัทในสถานประกอบการเดียวสหภาพแรงงานต้องประสานให้ทุกบริษัทยื่นข้อเรียกร้องพร้อมกับสหภาพแรงงาน 3. ในสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรองสูงให้รับพนักงานเหมาค่าแรงเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน และปฏิบัติต่อพนักงานเหมาค่าแรงเช่นพนักงานประจำ 4. ให้แต่ละสหภาพแรงงานยื่นหนังสือต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่ตนอยู่ในเขตออกคำสั่งกรณีการตีความตาม ๑๑/๑ 5. พนักงานเหมาค่าแรงฟ้องศาลวินิจฉัยกรณีการตีความตามมาตรา ๑๑/๑ 6. ให้ทุกสหภาพแรงงานที่อยู่ในพื้นที่และสังกัดกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกกำหนดวันในการยื่นข้อเรียกร้องพร้อมกัน 7. ให้สหภาพแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันจัดกลุ่มศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันขณะที่มีการเจรจาต่อรอง
หากเข้าใจ สหภาพ อย่างลึกซึ้ง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เม้าท์มอย : ไม่ลืม...2 ปี 10 เมษา 53 Posted: 11 Apr 2012 09:35 PM PDT เม้าท์มอยสัปดาห์นี้ มารำลึกครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ปี 53 ซึ่งเป็นวันที่เกิดความรุนแรงและความสูญเสียจากการ “ขอคืนพื้นที่” ถนนราชดำเนินของ ศอฉ.ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนมีผู้เสียชีวิต 26 คน ในจำนวนนั้นเป็นทหาร 5 นาย ประชาชน 20 คน และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 1 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม ผู้บังคับบัญชาทหาร และนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา กระสุนยาง ระเบิด และกระสุนจริงอีกเกือบพันราย หลิ่มหลีและชามดอง ไปที่สี่แยกคอกวัว และแยกถนนดินสอฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยา สถานที่ที่มีการปะทะครั้งใหญ่ในค่ำคืนวันที่ 10 เม.ย.53 ระหว่างกองพลทหารพร้อมอาวุธครบมือที่พยายามเข้าสลายการชุมนุม และคนเสื้อแดงที่ต้านทานการรุกของทหาร เพื่อย้อนรอยเรื่องราวในวันนั้น และวันนั้นผ่านมาแล้ว 2 ปี มาดูว่าในวันที่ 10 เม.ย.55 มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น