โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อุปทูตพม่าเยี่ยม "พัฒนาซีฟู้ดส์" ที่สงขลา - รมช.แรงงานพม่าระบุจะเฝ้าจับตาไม่หยุด

Posted: 20 Apr 2012 03:00 PM PDT

รัฐมนตรีช่วยแรงงานพม่าเยือนไทยเพื่อเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าเพิ่ม 5 พื้นที่ พร้อมหารือผู้บริหาร "พัฒนาซีฟู้ดส์" สนง.ใหญ่ ก่อนแถลงข่าวว่าจะเฝ้าจับตาสถานการณ์ต่อไปและรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ ขณะที่ล่าสุดอุปทูตพม่าเยือนโรงงานที่สงขลา-เยี่ยมบ้านพักคนงานชาวพม่า และเป็นตัวกลางนำข้อเรียกร้องปรับสวัสดิการของแรงงานหารือกับผู้บริหารโรงงานที่สงขลา ก่อนได้ข้อตกลงทั้งสองฝ่าย และเตรียมทำสัญญาจ้างงานฉบับใหม่กับคนงานพม่าต่อไป

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับนายมิ้นต์ เต่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานพม่า ที่ห้องรับรองกระทรวงแรงงาน เมื่อ 19 เม.ย. เพื่อหารือให้มีการเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติ 5 แห่งในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการพิสูจน์สัญชาติให้แก่แรงงานจากพม่า (ที่มา: ศูนย์ข่าวสารตลาดแรงงาน จ.ขอนแก่น, กระทรวงแรงงาน)

นายมิ้นต์ เต่ง ระหว่างแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวสรุปผลการเยือนประเทศไทย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 19 เม.ย. ที่ ร.ร.ดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานพม่าเผยว่านอกจากการเจรจากับทางการไทยให้เปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าเพิ่มอีก 5 แห่งแล้ว ยังส่งตัวแทนรัฐบาลไปยังโรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ จ.สงขลา เพื่อสอบถามถึงเหตุประท้วงของแรงงานจากพม่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 8 เม.ย. ด้วย โดยนายมิ้นต์ เต่งกล่าวว่า จะเฝ้าจับตาดูสถานการณ์ต่อไปและจะรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากนี้ (ที่มา: ประชาไท)



นายมิ้นต์ เต่ง ระหว่างตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ที่แรงงานชาวพม่าและกัมพูชาชุมนุมที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ที่เริ่มเมื่อ 8 เม.ย. โดยนายมิ้นต์ เต่งกล่าวตอนหนึ่งว่า "จะจับตาต่อสถานการณ์นี้ต่อไป และจะดูต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 เม.ย.) นายเมียว ทิน (Myo Tint) อุปทูตพม่าประจำประเทศไทยและคณะ เดินทางไปที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อเยี่ยมและสอบถามสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานชาวพม่า 

ทั้งนี้การเดินทางไปที่ จ.สงขลา ของนักการทูตพม่า เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา พนักงานชาวกัมพูชาและชาวพม่า หลายร้อยคน ที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์สงขลา จำกัด ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งประกอบกิจการอาหารทะเลแช่แข็ง และเป็นบริษัทซึ่งส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งให้กับห้างวอลมาร์ทของสหรัฐอเมริกา ได้ชุมนุมภายในโรงงานเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างงาน

โดยมีข้อเรียกร้องคือให้โรงงานจ่ายค่าเบี้ยขยัน 600 บาทต่อเดือน และค่าข้าววันละ 20 บาท ตามที่เคยระบุไว้ว่าจะจ่าย และให้ปรับค่าจ้างจากเดิมวันละ 176 บาท เป็น 246 บาท ให้เท่ากับที่มีการประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ จ.สงขลา เมื่อ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้พนักงานยังร้องเรียนว่าถูกยึดหนังสือเดินทางด้วย

ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 16 เม.ย. ผู้จัดการโรงงานแจ้งว่าจะคืนหนังสือเดินทางและบัตรอนุญาตทำงานให้กับพนักงานทุกคน โดยมีการคืนเอกสารดังกล่าวให้กับคนงานทั้งหมดตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 19 เม.ย.

สำหรับวันนี้อุปทูตพม่าได้เป็นตัวกลางรับฟ้งข้อเรียกร้องของแรงงานชาวพม่า และนำไปเจรจากับผู้บริหารของโรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ ประจำ จ.สงขลา โดยผลการเจรจาวันนี้ โรงงานรับจะปรับค่าจ้างจากเดิม 176 บาท เป็น 266 บาท มากกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของ จ.สงขลา ซึ่งอยู่ที่ 246 บาท แต่จะไม่ขอจ่ายค่าข้าววันละ 20 บาท ตามที่พนักงานเรียกร้องเนื่องจากปรับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้ว

ส่วนค่าขยันที่พนักงานเรียกร้องให้ทางโรงงานจ่ายงวดละ 300 บาทต่อครึ่งเดือน หรือเดือนละ 600 บาท ทางโรงงานได้ขอต่อรองเหลืองวดละ 150 บาทต่อครึ่งเดือน หรือเดือนละ 300 บาท เนื่องจากได้ปรับค่าจ้างแล้ว นอกจากนี้โรงงานยังจะพิจารณาลดค่าน้ำค่าไฟที่หอพักของคนงานที่จากเดิมต้องจ่ายเหมาเดือนละ 300 บาท มาเป็นจ่ายเหมาเดือนละ 150 บาท ทั้งนี้จะมีการทำสัญญาจ้างงานฉบับใหม่ระหว่างนายจ้างกับพนักงานในโรงงานต่อไป

นอกจากการมารับฟังข้อเรียกร้องของแรงงานแล้ว อุปทูตพม่ายังได้เยี่ยมชมสภาพภายในโรงงาน และในช่วงค่ำวันนี้ได้เดินทางไปเยี่ยมที่พักของแรงงานชาวพม่าใน จ.สงขลา ด้วย

ทั้งนี้ การเดินทางไปเยี่ยมแรงงานชาวพม่า ที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ จ.สงขลา เกิดขึ้นในช่วงการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายมิ้นต์ เต่ง (Myint Thein) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานของพม่า ระหว่างวันที่ 18-20 เม.ย. นี้ด้วย 

โดยในระหว่างที่มีการแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายมิ้นต์ เต่ง กล่าวว่า ในวันเดียวกับที่มีการแถลงข่าวนี้ เขาได้ไปพบกับผู้บริหารคนหนึ่งของโรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ สำนักงานใหญ่ และมีการพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ ที่ จ.สงขลา แล้ว โดยฝ่ายผู้บริหารเองก็สอบถามกับทางรัฐมนตรีของพม่าด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

"เขาไม่รู้ว่าในพื้นที่เกิดอะไรขึ้นแน่ๆ เมื่อฝ่ายเราแจ้งว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็มีความห่วงใยและกังวล และกล่าวว่าเหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก และเขาจะไปดำเนินการโดยเร็ว" นายมิ้นต์ เต่งกล่าว "พวกเราจะเฝ้าจับตาต่อสถานการณ์นี้ จะไม่หยุดเพราะได้ยินคำสัญญาจากเขา เราจะจับตาสถานการณ์นี้ต่อไป และจะดูต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

ทั้งนี้นายมิ้นต์ เต่ง เดินทางเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 18 - 20 เม.ย. เพื่อหารือกับหน่วยงานของไทยได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในเรื่องการเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานจากพม่าอีก 5 ศูนย์ ได้แก่ในกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง ที่เชียงราย ตาก และระนอง โดยตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. นี้ ทางการพม่าได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติใหม่ทั้ง 5 ศูนย์ ศูนย์ละ 8 คน ส่วนฝ่ายไทยจะส่งเจ้าหน้าที่ 20 คนเข้าไปทำงานในแต่ละศูนย์ประกอบด้วย ข้าราชการ 5 คน และพนักงานจ้าง 15 คน

ทั้งนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ กำหนดให้พิสูจน์สัญชาติแรงงานทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 14 มิ.ย. 55 และมีรายงานว่าในรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานของพม่าได้ขอฝ่ายไทยขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติออกไป เพราะทางการไทยเพิ่งยอมให้ดำเนินการให้มีศูนย์พิสูจน์สัญชาติใหม่ 5 แห่งในเดือนเมษายนนี้

นอกจากนี้ทางการพม่าจะออกหนังสือเดินทางชนิดใหม่ให้กับบุตรของแรงงานชาวพม่าที่มาทำงานในเมืองไทยด้วย เพื่อให้เด็กเหล่านี้มีเอกสารประจำตัว นอกจากนี้ทางการพม่ายังขอให้ฝ่ายไทย ลดค่าธรรมเนียมการพิสูจน์สัญชาติลงจากเดิม 2,000 บาท เป็น 500 บาท

"พวกผมหวังว่า แรงงานจากพม่าที่ทำงานในประเทศไทยทุกคนแล้วไม่มีเอกสารประจำตัว จะได้มีเอกสารทุกคน จะได้ไม่ถูกข่มเหง" นายมิ้นต์ เต่งกล่าวระหว่างแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าว

นอกจากโรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์แล้ว ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานของพม่า ยังแจ้งต่อทางการไทยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงงานวีต้าฟู้ดส์ จ.กาญจนบุรี ที่มีการประท้วงเรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการด้วย โดยโรงงานดังกล่าวซึ่งมีคนงานทำงานอยู่ราว 7,000 คน ได้รับการร้องเรียนว่า มีคนงานจำนวนมากที่มาจากพม่าไม่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายและเข้ามาทำงานโดยผ่านบริษัทนายหน้า โดยพวกเขาต้องจ่ายเงินให้นายหน้าถึง 5,500 บาท สูงกว่าที่รัฐไทยเก็บค่าประกันสุขภาพและตรวจโรคแรงงานจากพม่า ลาว และ กัมพูชา เพียง 3,800 บาทต่อปีเท่านั้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รมว.แรงงานเผยแรงงานไทยที่เกาหลีประสบปัญหาสื่อสารกับนายจ้าง

Posted: 20 Apr 2012 02:33 PM PDT

"เผดิมชัย" เยี่ยมคนงานไทยที่เกาหลีช่วงสงกรานต์ เผยมีคนไทยทำงานกว่า 3 หมื่นคนเป็นอันดับสี่รองจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โดยแรงงานที่ไม่รู้ภาษาเกาหลีทำให้ถูกเอาเปรียบได้ง่าย และมีแรงงานบางส่วนมีปัญหาเรื่องปรับตัวกับสภาพอากาศ-วัฒนธรรม และมีปัญหาหลบหนีนายจ้าง โดยได้ร้องขอรัฐมนตรีแรงงานเกาหลีดูแลสวัสดิการที่พัก-อาหารของแรงงานไทยให้เทียบเท่าแรงงานเกาหลี

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเมื่อ 20 เม.ย. ว่า จากการไปร่วมพิธีงานสงกรานต์ไทย-เกาหลี ประจำปี 2555 ณ สวนสาธารณะหน้าเทศบาลอึยจองบู จังหวัดเคียงกี สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2555 เป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทย ซึ่งตนทราบดีว่าพี่น้องแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศต้องมีการปรับตัว มีความยากลำบากอยู่บ้าง แต่เมื่อมาพบด้วยตัวเองก็มีความยินดีอยู่ว่าคนเกาหลีให้ความสำคัญกับคนไทย จึงรู้สึกอบอุ่นสบายใจ และที่สำคัญรัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย ใส่ใจในการดูแล พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทั้งในประเทศและต่างแดน ซึ่งจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ทางกระทรวงแรงงานยังคอยปราบปรามการหลอกลวงแรงงานซึ่งมีการเก็บค่าใช้จ่ายจากคนหางานเกินกว่ากฎหมายกำหนด อย่างเช่นในเกาหลีเป็นต้น ทำให้ต้องหันมาเน้นนโยบายจัดส่งแรงงานแบบจีทูที หรือรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีแรงงานไทยในเกาหลีทั้งสิ้น 32,149 คน โดยขณะนี้สถานการณ์แรงงานในเกาหลีจะมีการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติด้วยระบบอีพีเอส (EPS : Employment Permit System) เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติขั้นพื้นฐาน โดยอนุญาตให้นายจ้างในประเทศเกาหลีสามารถจ้างแรงงานต่างด้าวในจำนวนที่เหมาะสมอย่างถูกกฎหมาย ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลเกาหลีจะคัดเลือกประเทศผู้ส่งแรงงาน กำหนดโควตาของแรงงานต่างชาติในแต่ละปี กำหนดเพดานการจัดส่งแรงงานต่างชาติในแต่ละประเทศ และกำหนดการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติได้เฉพาะใน 5 ภาคอุตสาหกรรมคือ ภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง ภาคเกษตรและการผสมพันธุ์สัตว์ ภาคประมง และภาคบริการเท่านั้น รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ทั้ง เวลาทำงาน การเลิกจ้างงาน สวัสดิการ วันลา วันหยุด เป็นต้น ดังนั้นคนหางานไทยจะต้องรับทราบข้อมูลการอนุญาตให้แรงงานต่าง ชาติทำในเกาหลี ไว้ เพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวง และในครั้งนี้ยังได้ลงนามเอ็มโอยูจ้างคนไทยอีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ปัญหาที่พบคือ แรงงานไทยในเกาหลีไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาเกาหลีได้ดีพอ ทำให้ถูกเอาเปรียบจากนายจ้างได้ง่าย แรงงานไทยบางส่วนมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสภาพการทำงาน ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่แตกต่าง และที่สำคัญที่สุดคือหลบหนีนายจ้าง ไม่สามารถอดทนทำงาน 3 ดีได้ (หมายถึงงานสกปรก งานยากลำบาก งานอันตราย) ทั้งที่การย้ายงานในระบบอีเอสพีต้องเป็นสิทธิของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว แม้จะมีการอนุญาตให้แรงงานสามารถทำสัญญาจ้างงานเกิน 1 ปี โดยต่อสัญญาได้ไม่เกิน 3 ปี  แต่อุตสาหกรรมบางประเภทเช่นโรงงานหลอมเหล็ก งานรีไซเคิลพลาสติก งานในโรงงานที่มีกลิ่นสารเคมีรุนแรง มักจะขาดแคลนแรงงานเพราะแรงงานมักทนไม่ไหวต้องหลบหนี จึงต้องประเมินสภาพความพร้อม ความสามารถในการเผชิญปัญหาเหล่านี้ของแต่ละบุคคลไว้ด้วย ซึ่งก็ได้ขอให้เกาหลีดูแลสวัสดิการของแรงงานไทยเทียบเท่าแรงงานเกาหลีในด้าน ที่พัก อาหาร โดยทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเกาหลีรับปากจะดูแลให้เป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม โอกาสของแรงงานไทยในเกาหลี นับว่าเป็นตลาดแรงงานที่มีศักยภาพน่าสนใจ เพราะสาเหตุจากที่แรงงานต่างชาติได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเทียบเท่าคนในชาติรวมทั้งอัตราค่าแรงค่อนข้างสูง โดยค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2555 จะอยู่ที่ชั่วโมงละ 4,580 วอน (1 บาทประมาณ 0.03 วอน) แรงงานไทยที่ทำสัญญาจ้างสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง จะได้ค่าจ้างเดือนละประมาณ 957,220 วอน แต่สำหรับผู้ทำสัญญาจ้างสัปดาห์ละ 44 ชั่วโมง จะได้ค่าจ้างเดือนละประมาณ 1,035,080 วอน และหากทำงานล่วงเวลาด้วยจะสามารถส่งเงินกลับบ้านได้เฉลี่ยเดือนละ 25,000 – 30,000 บาท แต่กระนั้นก็ตาม การกำหนดโควตาแรงงานต่างชาติแต่ละปี จะขึ้นกับปัจจัยหลักๆ คือ สภาวะเศรษฐกิจของเกาหลี ความพึงพอใจของนายจ้าง อัตราส่วนของแรงงานผิดกฎหมาย และความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีกับประเทศผู้ส่งแรงงานอีกด้วย ในขณะที่จำนวนแรงงานตามระบบอีพีเอสของไทยอยู่ในลำดับที่ 4 คือ 24,244 คน รองจากเวียดนาม ที่มีจำนวน 55,795 คน ฟิลิปปินส์ 26,217 คน และอินโดนีเซีย 24,732 คน

 

ที่มา: กระทรวงแรงงาน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Pmove ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 11 ปฏิบัติยับยั้งพฤติกรรมล้าหลังของระบบราชการไทย สร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม

Posted: 20 Apr 2012 09:54 AM PDT

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 11 จี้ให้เร่งดำเนินการปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนภาคประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สัญชาติ
 
20 เม.ย. 55 - ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ Pmove ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 11 ปฏิบัติยับยั้งพฤติกรรมล้าหลังของระบบราชการไทย สร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์ฉบับที่ ๑๑

ปฏิบัติยับยั้งพฤติกรรมล้าหลังของระบบราชการไทย สร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต พวกเราได้ร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้รัฐบาลเข้าใจและนำไปบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาล พร้อมกับการสร้างกลไกร่วมระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
 
วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๕ ตัวแทนของพวกเราได้ร่วมหารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ในฐานะตัวแทนรัฐบาลและประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน โดยมีข้อตกลงที่ชัดเจน พร้อมกับย้ำว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นนโยบายที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ยังได้กำชับให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ซึ่งรวมถึงการแก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่น โดยมีข้อสรุปร่วมกันว่า ให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ที่จะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ ที่จะต้องมีสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุติ และตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการ
 
แต่คล้อยหลังการหารือร่วมกัน ปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายพระนาย สุวรรณรัฐ) ในฐานะประธานคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ ฯ ดังกล่าวขึ้นในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๓๐ น.ที่ห้องประชุมกระทรวงมหาดไทย ทั้งที่การแต่งตั้งคณะกรรมการฯชุดนี้ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ ของ พ.ร.บ.สัญชาติ ฯ และละเมิดข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชน การกระทำของปลัดมหาดไทยในครั้งนี้ แสดงถึงการท้าทายต่อนโยบายการบริหารงานของรัฐบาล อันมีเจตนาที่จะเสี้ยมให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างภาคประชาชนกับรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมือง
 
พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เห็นว่าพฤติกรรมของปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายพระนาย สุวรรณรัฐ) ในครั้งนี้ สะท้อนถึงวิธีคิดของระบบราชการไทยที่ล้าหลัง ตกยุค ไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และไม่สนองนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย อันเป็นการฉุดรั้งกระบวนการประชาธิปไตย
 
ดังนั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ขอเรียกร้องให้มีการดำเนินการ ดังนี้
 
๑. ให้ยุติ ยกเลิก การประชุมคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ในวันนี้ ทันที
 
๒. ให้เร่งดำเนินการปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนภาคประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ โดยเร็ว
 
พวกเรายืนยันว่า เรามิอาจยินยอมให้เกิดการล่วงละเมิด ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับพวกเราเกิดขึ้นได้และพวกเรามิอาจยอมจำนนต่อพฤติกรรมที่ล้าหลัง ขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน และยังเนี่ยวรั้งการพัฒนาประชาธิปไตย เกิดขึ้นซ้ำซากได้อีกต่อไป พวกเราก็จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการผลักดันการแก้ไขปัญหาที่เข้มข้นเพิ่มมากขึ้น
 
คนจนทั้งผองพี่น้องกัน
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.)
๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ หน้ากระทรวงมหาดไทย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับตาเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศส : มารู้จักผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2012

Posted: 20 Apr 2012 09:42 AM PDT

ทำความรู้จักกับผู้สมัครเลือกตั้งที่กำลังขับเคี่ยวคะแนน ใน 4 อันดับแรก ซึ่งพากันประชันนโยบายและสโลแกนเข้มๆ อาทิ ฝรั่งเศสเข้มแข็ง ของซาร์โกซี หรือ เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวนี้ ของฟร็องซัวส์ ฮอลลองด์, ความเป็นมนุษย์ต้องมาก่อน ของ ชอง - ลุก เมลังชง

จับตาเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศส : มารู้จักผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2012

ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยก็ขาดการเลือกตั้งไม่ได้ การเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งสำคัญกับประชาชนในประเทศโดยเฉพาะในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงอย่างฝรั่งเศสประชาชนทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างกระตือรือร้นในการใช้สิทธิใช้เสียงเสมือนเป็นส่วนหนึ่งผู้ได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้ง รวมถึงสื่อต่างๆไม่ว่าข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในช่วงสองสามเดือนนี้ และรายการโทรทัศน์ในฝรั่งเศสต้องมีพื้นที่ไว้ให้แคมเปญผู้สมัครแต่ละคนออกมาดีเบตทางความคิดและโฆษณานโยบายของแต่ละผู้สมัคร ส่วนผู้สมัครเองก็ต้องทำงานอย่างหนักตระเวนออกไปหาเสียงเคาะประตูถึงบ้าน ในทุกๆเขตของHexagon หรือตามหมู่เกาะนอกอาณาเขตของฝรั่งเศส DOM, TOM เพราะทุกคะแนนเสียงมีค่าและไม่ได้มาจากมือที่มองไม่เห็นหรือราชรถมาเสยถึงบ้าน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นการเลือกตั้งสองรอบ โดยประชาชนมีสิทธิในการโหวตคนละหนึ่งคะแนนเสียง ซึ่งภายในรอบแรกจะเลือกตั้งในวันที่ 22เมษายนที่จะถึงนี้ เมื่อผลที่ได้มาแล้วจะนำเอาเฉพาะผู้สมัครสองคนที่ได้เสียงมากสุด มาทำการเลือกตั้งครั้งที่สองในวันที่ 6พฤษภาคม ซึ่งในขณะนี้ทางการฝรั่งเศสได้เริ่มเปิดโอกาสให้ประชาชนฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ต่างประเทศมาเลือกตั้งได้แล้ว การเลือกตั้งก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างบ้านเรา ปีนี้ทางการเปิดโอกาสให้โหวตเสียงผ่านทางอินเตอร์เนตเป็นครั้งแรก หรือสามารถไปคูหาเลือกตั้งที่มีอยู่783แห่ง โดยนำเอกสารแสดงตัวตนไปอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น พาสปอร์ต บัตรประชาชน เป็นต้น โดยไม่ต้องทำหนังสือแจ้งความจำนงกับทางการว่าจะเลือกตั้งก่อนแต่อย่างใด

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครทั้งสิ้นสิบคน โดยแต่ละคนผ่านการเลือกตั้งภายในพรรคแล้วเพื่อตัดสินว่าจะส่งใครลงสมัคร จากรูปภาพด้านบนซ้ายไปขวา

  • คนแรกคือ M. François HOLLANDE จากพรรคฝ่ายซ้าย Parti Socialiste,
  • M. Jean-Luc MÉLENCHON จากพรรคฝ่ายซ้าย Front de gauche ซึ่งมีความเป็นซ้ายมากกว่า Parti Socialiste,
  • M. Jacques CHEMINADE จากพรรค Solidarité et Progrès (S&P),
  • M. Nicolas SARKOZY จากพรรคฝ่ายขวา Union pour un mouvement populaire (UMP)
  • Mme Marine LE PEN จากพรรคฝ่ายขวาจัด Front national.,
  • Mme Nathalie ARTHAUD จากพรรคกรรมกรฝ่ายซ้ายจัด Lutte ouvrière (LO),
  • M. Philippe POUTOU จากพรรคฝ่ายซ้ายจัด Nouveau Parti anticapitaliste,
  • M. François BAYROUจากพรรคกลาง Mouvement démocrate (MoDem),
  • Mme Eva JOLY จากพรรคกรีน Primaire présidentielle écologiste de 2011.
  • และ M. Nicolas DUPONT-AIGNAN จากพรรคนิยมชาร์ล เดอ โกล Debout La République (DLR)

นอกจากผู้สมัครสิบคนนี้ แล้วยังมีผู้สมัครอีก 29 คนที่ไม่มีคุณสมบัติพอเพราะไม่สามารถล่ารายชื่อผู้สนับสนุนได้เกิน 500 ชื่อ

 

 
BVA

CSA

Harris

Ipsos

TNS Sofres

Ifop R

LH2

BVA

CSA

Opinion- Way

Harris

Ifop

Ipsos
 
18-19 avril
18-19 avril
18-19 avril
18-19 avril
18-19 avril
16-19 avril
17-18 avril
16-17 avril
16-17 avril
16-17 avril
12-16 avril
12-15 avril
13-14 avril

Nathalie Arthaud
0
1
0,5
0
0
0,5
1
0
0,5
0,5
0,5
0,5
1

Philippe Poutou
1,5
1,5
1,5
1,5
1
1
1
1
1
2
1
1
1

Jean-Luc Mélenchon
14
14,5
12
14
13
13,5
15
13
15
13
12
14,5
14,5

François Hollande
30
28
27,5
29
27
26
27
29,5
29
27,5
27
28
27

Eva Joly
2
2
3
2
3
2,5
2,5
2
2
2
2
3
2,5

François Bayrou
10
10,5
11
10
10
11
10
12
10
10
11
9,5
10

Nicolas Sarkozy
26,5
25
26,5
25,5
27
28
26,5
27,5
24
27,5
28
27
27

Nicolas Dupont-Aignan
2
1,5
2
1,5
2
1,5
1,5
1
1,5
1,5
1,5
1
1

Marine Le Pen
14
16
16
16
17
16
15,5
14
17
16
17
15,5
15,5

Jacques Cheminade
0
0
0
0,5
0
0
0
0
0
0
0
0
0,5
 

 

ในการเลือกตั้งรอบแรก François Holland 30%, Nicolas Sarkozy 26,5%, Marine Le Pen 14%, Jean-Luc Mélenchon 14%, François Beyrou 10%

และในการเลือกตั้งรอบที่สอง François Hollande มีคะแนนนำ Sarkozy 57% ต่อ 43%

คราวนี้เรามาทำความรูจักกับผู้สมัครที่ได้คะแนนมากสุดสี่อันดับแรกกัน

ฟร็องซัวส์ ฮอลลองด์ (François Hollande) เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1954 ที่ Rouen พ่อของเขาเป็นหมอและมีแนวคิดขวาจัดถึงขนาดที่ว่าตอนฝรั่งเศสมีข้อพิพาทกับแอลจีเรียเรื่องที่แอลจีเรียจะแยกเป็นเอกเทศ พ่อของเขาขายคลีนิคและที่อยู่เพื่อไปสนับสนุน OAS กองกำลังติดอาวุธลับเพื่อต่อต้านการแยกประเทศแอลจีเรีย ในขณะที่แม่กลับมีความคิดฝ่ายซ้าย เขาจบการศึกษาจากคณะกฎหมายมหาวิทยาลัยปารีส และ École des hautes études commerciales de Paris (HEC Paris) และ École Nationale d'Administration และ Institut d'Etudes politiques de Paris หรือ Science Po. ในปัจจุบัน

ด้านการเมืองเขาเริ่มชีวิตการเมืองตั้งแต่เป็นนักศึกษา โดยทำงานให้กับแคมเปญของ มิตเตรองด์ (ฟรังซัว มิตเตรองด์ - Francoise Mitterrand) และสมัครเป็นสมาชิก Parti Socialiste ซึ่งเนื่องจากทำงานได้เข้าตาจึงถูก Jacques Attali ที่ปรึกษาของมิตเตรองด์ ชักชวนให้ลงสมัคร ส.ส. ที่เขต Corrèze เมื่อปี1981 แต่แพ้ให้กับ Jacques Chirac แต่ต่อมาได้ชัยชนะและเป็น สส ในเขตนี้ตั้งแต่ 1988 ถึง 1993 นอกจากนี้เขาเป็นนายกเทศมนตรี เมือง Tulle ตั้งแต่ 2001 ถึง 2008 และเป็นเลขาธิการพรรค Parti Socialiste ตั้งแต่ 1997 ถึง 2008

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ฮอลลองด์ ต้องแข่งขันกับ โดมินิค สเตราส์ คานห์ (Dominic Strauss Kahn) และ Martine Aubry เพื่อจะได้เป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งประธานาธิบดี สโลแกนการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ คือ Le changement, c’est maintenant (เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวนี้)

จับตาเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศส : มารู้จักผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2012

นโยบายหาเสียงที่สำคัญ เช่น การเปิดการเจรจารอบใหม่ระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมัน เรื่องปัญหากรีซและยูโรโซน, การหาแนวทางเพื่อปกป้องบริการสาธารณะในยุโรป, การลดใช้พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ 50% และใช้พลังานชนิดใหม่ทดแทน, หารปฏิรูประบบเก็บภาษีใหม่, การเก็บภาษีคนรวย 75%ของรายได้ ลดเงินเดือนของประธานาธิบดีและข้าราชการที่มีเงินเดือนสูง, สนับสนุน SME, ด้านสังคม เพิ่มการสร้างบ้านอีก 500 000 หลังต่อปีโดยนำเงินจากท้องถิ่น รัฐ, เพิ่มจำนวนตำรวจ และผ้พิพากษา, และเพิ่มการจ้างงานให้กับเด็กจบใหม่

ฮอลลองด์ เป็นที่คาดหมายว่าจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปเฉือนซาโกซี เพราะปัญหาการบริหารของรัฐบาลที่แล้วทั้งด้านการเงินของกรีซ และยูโร ปละปัญหาทางสังคม ฮอลลองด์ ได้รับการสนับสนุนจากอดีตนักการเมืองชั้นนำหลายคน รวมถึง ฌากส์ ชีรัก (Jacques Chirac) ซึ่งประกาศการสนับสนุนอย่างเป็นทางการว่า “ผมจะโหวตให้ฮอลลองด์”

นิโคลัส ซาโกซี (Nicolas Sarkozy) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน เกิดเมื่อ 28 มกราคม 1955 ปารีส มีเชื้อสายฮังการี และยิว จบการศึกษากฎหมายเอกชนที่มหาลัยปารีสนองแตร์ เมื่อปี1978 สองปีต่อมาผ่านการสอบตั๋วทนายด้วยคะแนนฉิวเฉียด สิบเต็มยี่สิบ และ DEA สาขารัฐศาสตร์ ปี1979ถึง1981ได้เข้าเรียนที่ SciencesPo. แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะสอบไม่ผ่านภาษาอังกฤษ

เขาประกอบอาชีพเป็นทนาย ส่วนด้านการเมืองเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่เป็นนักศึกษาโดยสังกัดปีกขวาของคณะ ปี1975ได้เป็นตัวแทนเด็กรุ่นใหม่ของพรรคUDR และปี1980 ได้เป็นประธานกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุน ฌากส์ ชีรัก ปี1983ได้รับการเลือกตั้งเป็นเทศมนตรี Neuilly-sur-seine ปี1993ได้เป็นรัฐมนตรีการคลังและโฆษกรัฐบาล ปี2002ถึง007เป็นตัวจักรสำคัญในการช่วยให้ ฌากส์ ชีรัก เป็นประธานาธิบดี และได้รับผลตอบแทนคือ ดำรงตำแหน่งอาทิเช่น รัฐมนตรีมหาดไท รัฐมนตรีเศรษฐกิจ หลังจากนั้นปี 2005ได้เป็นหัวหน้าพรรค UMP และประกาศเป็นผู้สมัคประธานาธิบดี2007ซึ่งได้ชัยชนะตามมาเฉือนชนะ Ségolène Royal จากพรรค socialiste ในการเลือกตั้งรอบสอง

สำหรับแคมเปญการเลือกตั้งครั้งนี้ ซาโกซีมาด้วยสโลแกน La France Forte (ฝรั่งเศสเข้มแข็ง) ซึ่งป้ายหาเสียงของเขาถูกดัดแปลงล้อเลียนหลายรูปแบบ ซาโกซีใช้แทคติกโดยการประกาศตัวเป็นผู้สมัครชิงประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการช้าที่สุดเมื่อ 12 มกราคมที่ผ่านมา ในขณะหาเสียงก็ต้องเจอปัญหาต่างๆเช่น ปัญหาทหารฝรั่งเศสตายในอัฟกานิสถาน ปัญหามุสลิมฆ่าเด็กและทหารในตูลูสเจ็ดคน และคดีคอรัปชัน Woerth-Bettoncourt

จับตาเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศส : มารู้จักผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2012

จับตาเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศส : มารู้จักผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2012

นโยบายที่สำคัญได้แก่ เช่น การฝึกงานให้ผู้ที่ตกงาน และต้องให้ผู้ที่ตกงานทำงานที่รัฐจัดหาให้ คนตกงานต้องทำงานถึงจะได้ค่าตอบแทนโดยมิใช่รอความช่วยเหลือทางรัฐฝ่ายเดียว นอกจากนี้มีนโยบายให้ผู้ที่อพยพพลัดถิ่นเข้ามาอาศัยในฝรั่งเศสได้ยากขึ้น ปฏิรูประบบบำนาญการเกษียณอายุ รักษาเสถียรภาพการคลัง กระตุ้นงานด้านการเกษตร เปลี่ยนระบบสวัสดิการการจัดจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เป็นต้น

ชอง - ลุก เมลังชง Jean Luc Mélenchon เกิด19 สิงหาคม 1951 ที่โมรอคโค จบการศึกษาด้านปรัชญาและทำอาชีพครูก่อนเข้าสู่วงการการเมือง เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายซ้าย Mitterrand และสังกัดพรรค parti socialiste ก่อนจะแยกตัวมาสังกัดพรรค Front de Gauche

สำหรับเลือกตั้งครั้งนี้ เขามาด้วยสโลแกน L’humain d’abord (ความเป็นมนุษย์ต้องมาก่อน) ซึ่งเป็นการตีแสกหน้าสโลแกนของ Jean Marin Le Pen จาก พรรคFNเมื่อการเลือกตั้งปี2002 คือ Le français d’abord (ชาวฝรั่งเศสต้องมาก่อน)

จับตาเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศส : มารู้จักผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2012

เขาอธิบายนโยบายของเขาโดยเปรียบเทียบกับ Hollande เพื่อให้เห็นว่าถึงแม้ฝ่ายซ้ายก็มีนโยบายที่ต่างกัน ไม่ได้ไปมนทางเดียวกันเสมอ นโยบายที่สำคัญได้แก่ เช่น การยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมุขของรัฐ การเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำใน35ชั่วโมงหลังรับตำแหน่ง เปลี่ยนเกณฑ์การเกษียณอายุเป็น 60ปีเช่นเดิม เปลี่ยนระบบสัญญาเพื่อความเป็นธรรมกับลูกจ้าง สร้างที่พักเพิ่มสองแสนแห่งให้ผู้ไร้ที่พัก เก็บภาษีคนรวยและนายธนาคาร ปฏิรูปการคลัง ลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ไม่กีดกันผู้อพยพ สร้างสาธารณรัฐที่หก เป็นต้น

มารีน เลอ เปน (Marine Le Pen) เกิด 5 สิงหาคม 1968 ที่ Neuilly-sur-seine เป็นบุตรสาวคนเล็กของ Jean Marie Le Pen อดีตหัวหน้าพรรค Front National และ คู่แข่งของ Jacques Chirac ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2002 เธอจบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฝ่ายขวา Paris II-Assasปี1990 และ DEA กฎหมายอาญา ปี1991 และสอบตั๋วทนายได้ปี 1992 และประกอบอาชีพทนาย

ด้านการเมือง เธอเป็นสมาชิกพรรค FN ตั้งแต่อายุ18 เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของเขต Regional du Nord-Pas-de-Calais ตั้งแต่ปี1997 และเป็นสมาชิกสภายูโรปตั้งแต่ปี2004

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้สโลแกนของเธอคือ Oui !La France (ใช่แล้ว ประเทศฝรั่งเศส)

จับตาเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศส : มารู้จักผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2012

นโยบายที่สำคัญได้แก่ นโยบายสนับสนุนสินค้าที่ผลิตจากฝรั่งเศสเท่านั้น เปลี่ยนนโยบายการเกษตคอมมูนยูโรเปียนเป็น นโยบายเกษตรเพื่อฝรั่งเศส สนับสนุนSME และการฝึกงานให้เด็กอายุ14ปีขึ้นไป เปลี่ยนมาใช้สกุลเงินฟรังก์ ควบคุมราคาพลังงานและน้ำมัน ยกเลิกระบบผูกขาดธนาคาร สำหรับการจ้างงาน ให้ใบสมัครงานระบุเชื้อชาติผู้สมัคร ปฏิรูปการเกษียณ สนับสนุนการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น เพิ่มเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อย ในส่วนเอกชนให้นำกำไรจากเจ้าของมาแบ่งให้ลูกจ้าง เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้า เพิ่มการเก็บภาษีผู้มีรายได้มากลดภาษีผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ด้านสังคม ลดปริมาณผู้อพยพเข้าประเทศ ส่งเสริมการศึกษาคณิตศาสตร์และภาษาฝรั่งเศส ทบทวนข้อตกลง Scengenในการเข้าออกเสรีระหว่างประเทศยุโรป ลดสวัสดิการการรักษาพยาบาล ด้านนโยบายต่างประเทศ ออกจากสมาชิกนาโต เพิ่มงบประมาณการป้องกัน เสนอข้อตกลงพันธมิตรระหว่างปารีส เบอร์ลิน และ มอสโค ออกจากการใช้เงินสกุลยูโรและใช้ฟรังก์ เป็นต้น

ข้อสังเกตจากการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ไม่ว่าฝ่ายซ้ายหรือขวา ต่างมองว่าต้นเหตุของปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจการเงินในฝรั่งเศสและยุโรปมีรากเหง้ามาจากระบบธนาคารและการเงินที่มีความผูกขาดมากเกินไป นโยบายของผู้สมัครไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การอุ้มธนาคารเหมือนตอนเกิดเหตุต้มยำกุ้งบ้านเราเมื่อปี 1997 และข้อสังเกตุประการที่สองคือ คะแนนความนิยมของพรรคฝ่ายขวาจัดอย่าง Le Pen เริ่มกระเตื้องขึ้นมาเรื่อยๆ สูงถึง 15% ในประเทศฝรั่งเศสซึ่งยึดถือความเสมอภาคและต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ หรือที่จริงแล้วความรู้สึกนี้ต่างซ่อนอยู่ลึกๆในคนฝรั่งเศส

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนนท. และเครือข่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์

Posted: 20 Apr 2012 09:10 AM PDT

 
20 เม.ย. 55 - สนนท. และเครือข่ายออกแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ 1 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ..
 
แถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ 1 
 
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนประการหนึ่ง ที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอคือปัญหาการสร้างเขื่อน อันจะทำให้ทรัพยากรประเทศที่ถูกทำลายไปจากนโยบายของภาครัฐ ในอดีตที่ผ่านมาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ได้เข้าร่วมกับขบวนการชาวบ้านในการคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว พวกเขาไม่ได้มีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง ทั้งนี้ในแต่ละโครงการยังมีการอนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลอันเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้รับการประมูล
 
ด้วยเหตุนี้การ ที่รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๓,๒๘๐ ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง ๘ ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ ๒๕๖๒ นั้น แม้ว่าปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน แต่การแก้ปัญหาด้วยอำนาจรัฐโดยที่ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา จึงเหมือนเป็นหนังม้วนเก่าที่กำลังถูกนำกลับมาฉายซ้ำภายใต้วาทกรรม “เขื่อนคือการพัฒนา”และ “ต้องเสียสละป่าเพื่อสร้างเขื่อน”
 
นอกจากนี้หากชั่งน้ำหนักดูแล้วจะพบว่าผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ต้องทำลายสมดุลทางระบบนิเวศน์า ไม่ว่าจะเป็นพันธ์สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธ์ การสูญเสียผืนป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และเหลืออยู่น้อยเต็มที่ โดยเฉพาะพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ที่ต้องสูญเสียป่าสักทองธรรมชาติหลายหมื่นต้น ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทางป่าไม้ให้กับบุคคลบางกลุ่ม กรณีปัญหาดังกล่าวนั้น สวนทางกันอย่างชัดเจนระหว่างการเร่งพัฒนาแก้ปัญหาของภาครัฐ และการพัฒนาของพื้นที่เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า ป่าไม่ ทรัพยากรอื่นๆ อันเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อคนรุ่นหลังในอนาคต
 
โดยจากมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น เป็นการตัดสินใจตัดสินใจที่ขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน สังคม นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ทำให้การพิจารณาถึงผลได้-ผลเสีย และผลกระทบในด้านต่าง ๆ ถูกละเลยมองข้ามไปอย่างเร่งรีบโดยเจตนาเคลือบแฝงบางประการ เป็นน่าสังเกตว่าในหลายปีที่ผ่านมาโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ถูกตั้งข้อกังขาจากสังคมโดยตลอดว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้จริงและคุ้มค่ากับทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปหรือไม่
 
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) เป็นองค์กรนักนิสิตนักศึกษาที่มีจุดยืนเคียงข้างผลประโยชน์ประชาชน และเรียกร้อง ต่อต้าน คัดค้าน แนวทางที่ทำลายผลประโยชน์ประชาชน ไม่ว่าแนวทางนั้นจะมีที่มาจากรัฐหรือทุนก็ตาม
 
เราในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) และองค์กรเครือข่ายร่วม ขอเรียกร้อง คัดค้าน ต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในกรณีเขื่อนแม่วงก์ ดังนี้
 
๑. เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ เนื่องด้วยมติ ครม. ดังกล่าว ที่อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ไม่เป็นไปกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนในกระบวนการสร้างเขื่อน การทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน(Public hearing)
 
๒. เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณาถึงผลดี-ผลเสีย ของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ซึ่งมีกรณีศึกษามากมายทั่วประเทศและทั่วโลก และร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด
 
๓. เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กระบวนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทุกๆโครงการของรัฐ รัฐต้องถือว่าความเห็นของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเจ้าของประเทศและเป็นผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย ภาครัฐต้องให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้ข้อดี-ข้อเสีย ปัญหา แนวทางแก้ไข ให้กับประชาชนทุกภาคส่วนรับรู้อย่างทั่วถึง
 
หน้าที่ของรัฐบาลคือการทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน บนเส้นทางที่พินิจวิเคราะห์ถึงผลดี-ผลเสีย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และแน่นอนบางครั้งปัญหาเรื่องน้ำท่วม-น้ำแล้ง ก็มิใช่การสร้างเขื่อนเท่านั้นที่เป็นทางเลือกที่เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน แต่หากยังมีทางเลือกอื่นๆอีกมากมายที่สามารถทำได้ และแน่นอนการสร้างเขื่อนก็อาจทำลายความสุขของคนทั้งสังคม หากต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ายิ่งของคนในสังคม
 
หยุดเขื่อนแม่วงก์ ! หยุดวาทกรรมการพัฒนาจอมปลอม!
 
ด้วยจิตคารวะ
 
20 เมษายน 2555
 
1. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
 
2. เครือข่ายนักศึกษาสี่ภาค
 
3. กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
4. กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา
 
5. ชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยบูรพา
 
6. กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
7. กลุ่มซุ้มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง
 
8. กลุ่มแสงดาว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
 
9. กลุ่มรั้วแดง มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
 
10. กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
11. กลุ่มนกกระจอก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
 
12. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพือสังคมประชาธิปไตย (YPD)
 
13. เครือข่ายกระพรุนไฟ
 
14. กลุ่มระบายฝัน มหาวิทยาลัยนเรศวร
 
15. กลุ่มคนสร้างฝัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
16. กลุ่มปลุกฮัก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
17. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
 
18. ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้
 
19. คนหนุ่มสาวภาคอีสาน
 
20. กลุ่มเพื่อนนักกิจกรรม (F.A.N.)
 
21. กลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP)
 
22. ศูนย์บ่มเพาะนักปฎิบัติการทางสังคม
 
23. กลุ่มเถียงนาประชาคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
24. กลุ่มเม็ดทราย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
25. กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด ม.สงขลานครินทร์
 
26. กลุ่มกลุ่มนักศึกษาอิสระเพือสังคม ม.ปัตตานี
 
27. กลุ่มประกายไฟ-การละคร
 
28. ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
29. ชมรมมหาวิทยาลัย-ชาวบ้าน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
30. กลุ่มสิตเอก ม.รังสิต
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสม.สร้างความร่วมมืองานด้านสิทธิมนุษยชนกับสถาบันการศึกษา

Posted: 20 Apr 2012 08:59 AM PDT

20 เม.ย. 55 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กำหนดยุทธศาสตร์ประสานการทำงานและการเสริมสร้างความเข้มแข็งกับภาคีเครือข่าย เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ๔ มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและในพื้นที่ชุมชนทุกภูมิภาค
 
ทั้งนี้โครงการเสริมสร้างความร่วมมือการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนกับองค์กรที่ได้รับความร่วมมือ (MOU) ครั้งที่ ๑ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ ณ โรงแรมโกลเด้นคราวน์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จากวิทยาเขตปัตตานี วิทยาเขตตรัง และวิทยาเขตหาดใหญ่เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๕๐ คน ประกอบด้วยคณาจารย์จากคณะต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะรัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสถาบันสันติศึกษา เป็นต้น
 
ในการดำเนินโครงการได้มีการให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน  ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กลไกและกระบวนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และความสำคัญของสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร  โดยมีการนำบุคคลที่ได้ดำเนินงานต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน ๓ กรณี คือ กรณีท่าเทียบเรือปากบารา จังหวัดสตูล กรณีการต่อสู้ของประชาชนอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และกรณีการต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรและคัดค้านการทำเหมืองหินในเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลามาเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้มีการบอกเล่าประสบการณ์ การดำเนินงานจริงในพื้นที่ และกระบวนการภาคประชาชนในการรักษาวิถีชีวิต และสิทธิของชุมชน  ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างยิ่ง มีการตอบข้อซักถามและแสดงความเห็น ตลอดจนเสนอแนวทางในการทำงานในพื้นที่โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย
 
ผู้เข้าร่วมการสัมมนาเห็นว่า ควรใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มิใช่เป็นเพียงหน่วยที่รับเรื่องร้องเรียนและส่งต่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเท่านั้น แต่ต้องมีการทำงานเชิงรุก คือ เป็นตัวกลางเชื่อมการทำงานระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับประชาชนในพื้นที่ และจะร่วมกันเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยจะใช้ความระมัดระวังมิให้การดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
 
นายวีรวิทย์  วีรวรวิทย์  รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าวว่า การดำเนินงานขั้นต่อไประหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ การจัดมุมสิทธิมนุษยชนในห้องสมุด โดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มอบชุดนิทรรศการเคลื่อนที่ให้กับทั้ง ๓ วิทยาเขต และมอบสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อให้แต่ละวิทยาเขตจัดมุมหนังสือด้านสิทธิมนุษยชน และจะมีการส่งเอกสารความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ จะนำคณาจารย์ที่เข้าร่วมการอบรมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาดูงานการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เขาคูหา อำเภอรัตภูมิ และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และพื้นที่ปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อศึกษาและวิเคราะห์การดำเนินงานด้านส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไป
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำนักนายกฯ อุทธรณ์ไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายคดีนายรายูถูกทรมาน

Posted: 20 Apr 2012 08:48 AM PDT

สำนักนายกฯ อุทธรณ์ไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายคดีนายรายู ตามคำสั่งศาลปกครอง กรณีเหยื่อถูกทรมานได้รับความเสียหาย เหตุการณ์วันเดียวกับกรณีอิหม่ามยะผา

เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕  สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔  ในคดีหมายเลขดำที่ ๙๔/๒๕๕๓  คดีหมายเลขแดงที่ ๔๘/๒๕๕๕  ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น(ศาลปกครองสงขลา)  ที่พิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรี จ่ายค่าเสียหายให้แก่นายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี เป็นเงินทั้งสิ้น ๒๔๖,๖๒๑ .๕๖ บาท  และยกฟ้องกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑   กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒  และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓  

ศาลปกครองสงขลา ได้อ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๕  โดยพิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔  ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔  ส่วนหน้า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี   ในคดีที่นายรายู ดอคอ  ได้ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑   กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒   สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓  และสำนักนายกรัฐมนตรี  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔  ต่อศาลปกครองสงขลา   เรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  กรณีถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ ๓๙  ซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่วัดสวนธรรม อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส  ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส  นำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากไปปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมและควบคุมตัวนายรายู ดอคอ พร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง   นำตัวไปแถลงข่าวว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ และแถลงว่านายรายู ฆ่าผู้อื่น  โดยไม่เป็นความจริง ทั้งไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่นำตัวประชาชนไปทำการแถลงข่าวดังกล่าว    แล้วนำตัวไปควบคุมที่ค่ายทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ ๓๙  และถูกซ้อมทรมาน ด้วยวิธีการอันทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้นายรายูได้รับบาดเจ็บต่อร่างกายและจิตใจ  และอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ถึงแก่ความตาย  เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๑๙-๒๑ มีนาคม ๒๕๕๑ ต่อเนื่องกัน

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๕  ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้รับมอบอำนาจของนายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นอุทธรณ์เช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับศาลปกครองชั้นต้นในประเด็นที่ศาลยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้แก่  กระทรวงกลาโหม  กองทัพบก  และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามลำดับ ให้ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดสังกัดหน่วยงานทั้งสาม และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อหน่วยงานทั้งสามมาโดยตลอด ดังนั้น หน่วยงานทั้งสามซึ่งมีหน้าที่สั่งการ บังคับบัญชา และกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า (ภายใต้ กอ.รมน.) ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔    ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี   ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบในการควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตน  ได้สำรวจตรวจสอบและควบคุมดูแลการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ในสังกัดไม่ให้เกิดการละเมิดเช่นนี้อีกต่อไป และผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์ในประเด็นค่าเสียหายด้วย เนื่องจากศาลได้พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นจำนวนเงินโดยรวมทั้งสิ้น ๒๔๖,๖๒๑ .๕๖ บาท  ดังกล่าวข้างต้นนั้น  ถือว่าต่ำเกินไป ไม่เหมาะสมกับความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำต่อผู้ฟ้องคดี

คดีนี้ ศาลปกครองสงขลารับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีไปแถลงข่าวทั้งที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยินยอมโดยไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีให้กระทำเช่นนั้นได้ และเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายนายรายู ดอคอ จริง ตามผลการตรวจของแพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และผลการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของสภาเพื่อการฟื้นฟูผู้ถูกทรมานระหว่างประเทศ (International Rehabilitation Council for Torture Victims - IRCT) รวมทั้งผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดีที่ฝ่ายทหารแต่งตั้งขึ้น    จึงพิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า  กอ.รมน.  ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นค่าเสียหายต่อร่างกายและอนามัย  การได้รับความทุกขเวทนาต่อจิตใจ  ความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพ  เป็นเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท  ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ เป็นเงินจำนวน ๑๐,๘๐๐ บาท  รวมเป็นเงินจำนวน ๒๑๐,๘๐๐ บาท  และเมื่อหนี้ดังกล่าวเกิดจากการกระทำละเมิด  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔  จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี  ของต้นเงินดังกล่าว  นับแต่วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันกระทำละเมิด  โดยดอกเบี้ยดังกล่าวคิดถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นเวลา ๘๒๗ วัน เป็นเงิน ๓๕,๘๒๑.๕๖ บาท และต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดีด้วย  โดยให้ชำระให้เสร็จภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขอนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ 

คดีที่นายรายู ดอคอ ฟ้องต่อศาลปกครองสงขลาดังกล่าวนี้  เริ่มจากนายรายู ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลแพ่ง (ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒  ต่อมามีการโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาล   ศาลแพ่งและศาลปกครองสงขลา เห็นพ้องกันว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสงขลา   ศาลแพ่งจึงได้จำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาลแพ่ง  นายรายู จึงได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองสงขลา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓  

จากการอุทธรณ์คดีของคู่ความทั้งสองฝ่ายดังกล่าวข้างต้น  ศาลปกครองสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีต่อไป  และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สุด 

สำหรับเหตุการณ์เดียวกัน ในคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง  ภรรยาและบุตรของอิหม่ามยะผา ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง มีการไกล่เกลี่ย คู่ความประนีประนอมยอมความตกลงกันได้  โดยทางกองทัพบกยินยอมจ่ายเงินค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวอิหม่ามยะผา เป็นค่าเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของอิหม่ามยะผา ผู้ตาย  เป็นจำนวนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท  ค่าปลงศพเป็นจำนวนเงิน ๘๗,๐๐๐ บาท  และค่าขาดไร้อุปการะภรรยาและบุตรรวม ๔ คน  เป็นจำนวนเงิน ๔,๖๒๔,๐๐๐ บาท  รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๕,๒๑๑,๐๐๐ บาท  คดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้น.  

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สมรรถนะ” คือโอกาสรอดของผู้จบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในอนาคต

Posted: 20 Apr 2012 08:37 AM PDT

ทีดีอาร์ไอชี้ผู้จบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในอนาคต  ต้องมีสมรรถนะหรือคุณภาพสูงเท่านั้นจึงจะเอาตัวรอดได้  
 
20 เม.ย. 55 - ดร.ยงยุทธ  แฉล้มวงษ์  ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)   กล่าวถึง การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน(ความต้องการกำลังคน)และนโยบายการศึกษา  ระบุว่า ผู้จบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในอนาคต  ต้องมีสมรรถนะหรือคุณภาพสูงเท่านั้นจึงจะเอาตัวรอดได้ 
 
โดยการศึกษาพบว่า  เศรษฐกิจไทยในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมามีความผันผวนค่อนข้างมากส่งผลให้ตลาดแรงงานของไทยโดยเฉพาะด้านอุปสงค์มีความผันผวนค่อนข้างมากเช่นกัน เท่าที่ผ่านมาภาคการผลิตและบริการของไทยในยุคต้นๆ ใช้ผู้ที่จบการศึกษาในระดับบนคือ มัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไปเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 20 และเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ในปี 2553  ที่จริงหลังจากปี 2533 เป็นต้นมา ภาคเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการผลิตแบบกึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว กอปรกับทางรัฐบาลมีนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาให้เรียนฟรีจาก 9 ปี เป็น 12 ปี ทำให้มีผู้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากขึ้นและกลายเป็นกำลังแรงงานให้ภาคการผลิตและบริการได้ขยายตัวถึงร้อยละ 8 ต่อปี
 
ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ความจริงแล้วควรจะมีผู้จบการศึกษาระดับกลางสายสามัญและสายอาชีพเข้าสู่ตลาดแรงงานมากกว่านี้ แต่ผู้เรียนทั้งสองกลุ่มกลับมุ่งเรียนต่อปริญญาตรีและ ปวส. โดยคิดว่าจะได้ค่าตอบแทนและอนาคตที่สดใสและมั่นคงกว่า แต่สภาพเป็นจริงอุปสงค์ของตลาดแรงงานภาคการผลิตและบริการยังไม่สามารถขยายตัวได้ทันกับการเพิ่มขึ้นของผู้จบทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ ถึงแม้ในปี 2553 การขยายตัวของภาคการผลิตและบริการสามารถจ้างงาน 2 กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นสัดส่วนถึงร้อยละ 9.9 และ 5.7 ตามลำดับ
 
ผลตามมาก็คือเกิดการว่างงานทั้งในระดับ ปวส. และปริญญาตรี กระจายอยู่ทั่วประเทศ  ปัญหาที่สะสมจากการใช้นโยบายการขยายสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั้งของภาคเอกชนและยกระดับวิทยาลัยครูเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้จบการศึกษาออกมาจำนวนมาก เกิดปัญหาการว่างงานในระดับปริญญาตรีรวมกันมากกว่า 1 แสนคน ทำให้ดับฝันของผู้เรียน ปวส. และโดยเฉพาะปริญญาตรีไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตระหนักเรื่องนี้ดี จึงได้พยายามปรับทิศทางนโยบายการศึกษาใหม่ โดยกำหนดให้แผนการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 (2552-2561) เน้นเรื่องพัฒนาสมรรถนะหรือคุณภาพของผู้เรียนอย่างเร่งด่วน โดยเน้นในเรื่องการพัฒนาคุณภาพครู คุณภาพสถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งการบริหารจัดการทางการศึกษาให้มีความรับผิดชอบกับผู้จบการศึกษามากขึ้นโดยหวังว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันทำให้ผู้จบสายอาชีพและอุดมศึกษามีงานทำได้มากขึ้นจนลดปัญหาการว่างงานในหมู่ผู้มีการศึกษาสูงได้ในช่วงการปฏิรูปการศึกษารอบสองนี้.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 66 ปีพรรคประชาธิปัตย์

Posted: 20 Apr 2012 08:27 AM PDT

 
เมื่อวันศุกร์ที่ ๖ เมษายน นี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการทำพิธีทำบุญครบรอบ ๖๖ ปีของพรรค โดยมีสมาชิกพรรคเข้าร่วมอย่างคึกคัก ในโอกาสที่ถือได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในยุคตกต่ำอย่างที่สุด ในงานนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้พยายามกล่าวแก้เกี้ยวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็จะทำเพื่อประชาชน จึงได้เปิดตัวโครงการ เขียวใต้ฟ้าพื้นป่าต้นน้ำใต้ร่มพระบารมี ของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ เพื่อมีส่วนร่วมในการรักษาป่าต้นน้ำอนุรักษ์ธรรมชาติ ตามโครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสนี้ด้วย
 
พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๙ โดยถือกันว่าเป็นพรรคแนวทางอนุรักษ์นิยมเจ้า เพื่อต่อต้านรัฐบาลคณะราษฎรสายพลเรือน ที่นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ในระยะแรก กลุ่มนักการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ก่อตั้งพรรค ได้เชิญนายควง อภัยวงศ์มาเป็นหัวหน้าพรรค และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รับตำแหน่งเลขาธิการพรรค เป็นที่ทราบกันดีว่า พรรคประชาธิปัตย์ในระยะแรก ก็ใช้กลวิธีทางการเมืองที่ไม่ใสสะอาดนัก เพราะเลขาธิการพรรคและสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งอยู่เบื้องหลังการโจมตีใส่ร้ายนายปรีดี พนมยงค์ ในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ และในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งแรกของพรรค คือเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ก็ได้นำเอาประเด็นเรื่องกรณีสวรรคตมาหาเสียงทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลฝ่ายปรีดี พนมยงค์
 
แต่ผลงานชิ้นสำคัญของพรรค คือ การเข้าร่วมสนับสนุนการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ ยอมรับเป็นรัฐบาลรักษาการให้กับคณะรัฐประหาร โดยนายควง อภัยวงศ์รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความชอบธรรมในสายตานานาชาติให้กับการรัฐประหาร ในระยะนี้เอง ที่นายควง อภัยวงศ์ ได้สร้างผลงานเด่น เช่น การตั้งคณะกรรมการสอบสวนคคีสวรรคต ที่นำโดย พล.ต.ต.พระพินิจชนคดี เพื่อเอาผิดแก่นายปรีดี พนมยงค์ ให้จงได้ อันนำมาสู่การประหารชีวิตมหาดเล็กผู้บริสุทธิ์ ๓ คนต่อมา นอกจากนี้ ก็คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้การจัดการดูแล และการใช้จ่ายทรัพย์สิน เป็นไปตามพระราชอัธยาศรัย นายควงเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ๖ เดือน ก็ถูกคณะรัฐประหาร”รื้อนั่งร้าน”โดยจี้บังคับออก เพื่อเปิดทางแห่งการครองอำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะรัฐประหาร หลังจากนั้น ภายใน ๔ ปี พรรคประชาธิปัตย์ก็ตกอยู่ในภาวะแพแตก แยกย้ายกัน จน พ.ศ.๒๔๙๘ เมื่อรัฐบาลจอมพล ป.เปิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ ให้มีการแข่งขันในระบบพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์จึงฟื้นตัวขึ้นมา และส่งผู้สมัครแข่งขันในการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๐๐ แต่กระนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้สนับสนุนประชาธิปไตยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับให้ความร่วมมือกับฝ่ายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในการก่อหารรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง
 
เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหารล้มระบบรัฐสภา บริหารแบบเผด็จการเต็มรูปแบบ พรรคประชาธิปัตย์ก็เก็บฉากล้มเลิกพรรค และแยกย้ายกันไป จนถึง พ.ศ.๒๕๑๑ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และตระเตรียมให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้มารวมตัวกันรื้อฟื้นพรรคอีกครั้ง และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเนื่องจากนายควง อภัยวงศ์ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ นำพรรคลงสมัยรับเลือกตั้ง และกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านของรัฐบาลพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งน่าจะเป็นสมัยเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทเป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวของยุคสมัยนั้น ที่ไม่พอใจระบอบถนอม-ประภาส อย่างไรก็ตาม เมื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร ก่อการรัฐประหารปิดสภาผู้แทนราษฎร หันมาใช้อำนาจปฏิวัติ พรรคประชาธิปัตย์ก็ยุติบทบาท สลายพรรคอีกครั้ง
 
จึงสรุปได้ว่า บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคแรกนี้ ยังเป็นพรรคเฉพาะกิจ ที่มารวมตัวกันเมื่อเผด็จการทหารเปิดให้มีการเลือกตั้ง และจะสลายตัวเมื่ออำนาจเผด็จการกลับคืนมา แม้กระทั่งเมื่อ สมาชิกพรรคเช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชน และ อดีตอีก ส.ส. ๒ คน ยื่นฟ้องจอมพลถนอมในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญและเป็นกบฏ จึงถูกคณะรัฐประหารของจอมพลถนอมจับผู้ฟ้องเข้าคุก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็อธิบายว่า การดำเนินการของนายอุทัยเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค
 
เมื่อเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ อำนาจเผด็จการล่มสลาย และเปิดให้มีการเลือกตั้งต้นปี พ.ศ.๒๕๑๘ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงรื้อฟื้นพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาอีก และส่งผู้สมัครแข่งขัน ในครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่ได้จัดตั้งรัฐบาลเพียงระยะสั้น ต้องคอยมาจนถึงการเลือกตั้งเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๑๙ พรรคประชาธิปัตย์จึงชนะและได้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลโดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนี้ ได้แตกเป็นปีกขวาและปีกซ้ายอย่างชัดเจน โดยกลุ่มปีกซ้ายแสดงลักษณะที่เป็นเสรีนิยม ไม่เห็นด้วยกับแนวทางขวาจัดที่ปราบปรามนักศึกษา ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอันแหลมคม ทำให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ได้เพียง ๖ เดือน ก็เกิดการรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ชนชั้นนำรื้อฟื้นเผด็จการอีกครั้ง
 
อำนาจเผด็จการครั้งนี้อยู่ได้เพียงระยะสั้น เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐ เกิดการรัฐประหารเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย การเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๒ นี่เป็นครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในกรุงเทพฯอย่างยับเยินต่อพรรคประชากรไทย จนทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค นายถนัด คอมันตร์ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแทน พรรคประชาธิปไตยกลายเป็นฝ่ายค้านระยะสั้นสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อมา เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พรรคประชาธิปัตย์ก็เข้าร่วมรัฐบาล และเป็นฝ่ายรัฐบาลทุกสมัยตลอดการบริหารของ พล.อ.เปรม และยังร่วมรัฐบาลต่อในสมัยต้นของรัฐบาล พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในขณะนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นนายพิชัย รัตตกุล ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕
 
พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๓ และเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นนายชวน หลีกภัย ต้นปี พ.ศ.๒๕๓๔ หลังจากเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.๒๕๓๔ พรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร และเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทก้าวหน้าที่สุด
 
หลังจากการล้มลงของรัฐบาลทหาร โดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร และมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๓๕ พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด และได้เป็นพรรคแกนกลางตั้งรัฐบาลผสม โดยมี นายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็กลายเป็นพรรคสำคัญที่สุดลงแข่งขันในระบอบรัฐสภา และได้เป็นแกนกลางในการตั้งรัฐบาลอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ ทำให้นายชวน หลีกภัยได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงต้นปี พ.ศ.๒๕๔๔ จนแพ้ในการเลือกตั้งต่อพรรคไทยรักไทย ที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
 
ในระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ได้เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ และเปลี่ยนมาเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ นายอภิสิทธิ์ได้นำพรรคให้เป็นแกนกลางในการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับการนำเสนอมาตรา ๗ เพื่อเปิดทางให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง จนได้ฉายาว่า “มาร์ค ม.๗” และต่อมา พรรคประชาธิปัตย์ก็ยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นหนึ่งเครื่องมือของฝ่ายอำมาตย์ในการล้มล้างประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ และสนับสนุนเผด็จการ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สูญเสียสถานะพรรคแนวทางเสรีนิยม และประชาธิปไตย กลายเป็นพรรคฝ่ายอำมาตยาธิปไตยเต็มที่
 
ลักษณะเช่นนี้ยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมรับคำเชิญของฝ่ายอำมาตย์ในการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑ หลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำการต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนบริหารประเทศตามปกติไม่ได้ ต่อมา เมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์บริหารประเทศแล้ว และประชาชนคนเสื้อแดงมาต่อต้านคัดค้าน นายอภิสิทธิ์ก็ใช้วิธีการทางทหารเข้าแก้ไขจัดการจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนนับร้อยคน ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพรรค ที่มีผู้นำพรรคมือเปื้อนเลือดประชาชนเช่นนี้ นอกจากนี้ ยังแสดงบทบาทเป็นพรรคขวาจัด ล่าแม่มดโดยการจับกุมประชาชนด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ จำนวนมากที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ความเป็นธรรมภายใต้การบริหารของนายอภิสิทธิ์จึงสูญสิ้นไป
 
ต่อมา หลังการเลือกตั้ง กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ พรรคประชาธิปไตยกลับมาแสดงบทบาทเป็นฝ่ายค้าน เพราะแพ้การเลือกตั้งแก่พรรคเพื่อไทย แต่ก็ยังแสดงบทบาทเป็นพรรคขวาจัด อนุรักษ์นิยมที่สุดเช่นเดิม ด้วยการคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย คัดค้านการปฏิรูปมาตรา ๑๑๒ สนับสนุนกอดขาองคมนตรี คัดค้านการปรองดองสมานฉันท์ ใส่ร้ายป้ายสีประชาชน เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ยืนยันการฟอกถ่านให้ขาว รับระเบียบวาระของฝ่ายพันธมิตรมาเป็นวาระของตน และแสดงบทบาทเป็นฝ่ายค้านอันเหลวไหล ทำให้ประวัติศาสตร์ ๖๖ ปีของพรรค จึงเป็นประวัติศาสตร์อันไร้ค่าสำหรับประชาชน ตราบเท่าที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่
 
บทความนี้ จะขอลงท้ายด้วยปุจฉาว่า เหตุใดพรรคประชาธิปัตย์จึงได้ชื่อว่าพรรคแมลงสาบ วิสัชนา คือ แมลงสาบเป็นสัตว์ที่อยู่นาน อยู่ทน ไม่เคยเปลี่ยนรูปร่างลักษณะมานานนับล้านปี แมลงสาบเป็นสัตว์ที่อยู่ในโลกนี้มานานยิ่งกว่าไดโนเสาร์ แมลงสาบจึงเหมาะแก่พรรคประชาธิปัตย์ด้วยประการฉะนี้
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดตัวหนัง “อสรพิษ” พร้อมบทสัมภาษณ์ผู้กำกับและบทวิจารณ์

Posted: 20 Apr 2012 07:13 AM PDT

ภาพยนตร์เรื่อง “อสรพิษ” หรือ Venom เป็นหนังเรื่องแรกของผู้กำกับหน้าใหม่ จารุณี ธรรมยู อำนวยการสร้างโดย วีรยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ หนังสร้างจากเรื่องสั้นความยาว 47 หน้า ผลงานเขียนของ แดนอรัญ แสงทอง ที่ได้รับการแปลไปหลายภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาเลียน เยอรมัน เป็นอาทิ

ตัวหนังได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากโครงการและกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม อีกทั้งเคยฉายฉบับสั้น 12 นาที ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองปูซาน เกาหลีใต้ เมื่อสองปีที่ก่อน อีกทั้งได้รับการติดต่อให้นำภาพยนตร์ซึ่งขณะนั้นตัดต่อดราฟท์แรกเข้าร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกอย่าง Cannes Film Festival ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปีที่ผ่านมาด้วย หลังจากใช้เวลาในการถ่ายทำนาน 6 เดือนและตัดต่ออีกกว่าปี หนังเรื่องนี้ก็พร้อมสมบูรณ์และเข้าฉายรอบสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมาที่โรงภาพยนตร์ลิโด

สถานที่ถ่ายทำตลอดทั้งเรื่องใช้ จ.เพชรบุรี และนักแสดงส่วนใหญ่มาจาก ต.แพรกหนามแดง ซึ่งผู้กำกับหน้าใหม่บอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การบอกเล่าวิถีชีวิตแบบไทยๆ ในแบบของเธอที่ต้องการสะท้อนภาพโครงสร้างสังคมชนบทซึ่งไม่เอื้อเฟื้อให้เด็กชายคนหนึ่งซึ่งมีความใฝ่ฝันอย่างแรงกล้าที่จะเป็นนายหนังตะลุงเป็นจริงขึ้นมาได้

 

ภาพยนตร์ตัวอย่าง “อสรพิษ” (venom official trailer)

 

ทำไมเลือกงานชิ้นนี้ของแดนอรัญ แสงทองมาทำหนังเพราะเป็นงานที่จับต้องยากพอสมควร

พออ่านแล้วเรารู้สึกว่างานชิ้นนี้มีพลังมาก เชื่อว่าทุกคนอ่านและคงชอบมันและมีความรู้สึกกับมัน แต่เราเห็นมันออกมาเป็นภาพเลย คือเป็นฉากๆ อยู่ในหัวเรา เราเลยรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นหนังได้ เราก็เลยลองเขียนบทเล็กๆ ดู และมันอยู่กับเรามานานมาก สิ่งนั้นมันเกิดมาสิบกว่าปีที่แล้ว แต่แน่นอนในเมืองไทย งานแบบนี้มันคงเกิดยาก แต่เราก็ถือว่าโชคดีที่มีจังหวะที่ดีที่ทางรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหนัง ก็ถือเป็นผลพลอยได้ และเราเชื่อว่าคนมีความในมันจะยังอยู่ และถ้าเราไม่ทิ้งมันก็เป็นไปได้

อะไรคือส่วนที่ยากที่สุด

คือเรื่องของสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ลมฟ้าอากาศ คือตอนที่เราถ่ายทำมีน้ำท่วมด้วยเมื่อปี 53 น้ำท่วมโลเกชั้น เราก็ต้องปล่อย เรามีเรื่องยากทั้งหมด คือเด็ก สัตว์ สลิง แต่สิ่งที่เราต้องปล่อยเลยคือสัตว์ เพราะเราคุมไม่ได้ ผู้ช่วยเราเกือบถูกวัวขวิด สิ่งที่เราเขียนไว้มันเป็นไปไม่ได้แล้ว ต้องตัดทอน มันก็น่าใจหาย เพราะเราเขียนบทอยากให้เป็นตามบท แต่เราต้องยอมตัดใจทิ้ง

มีเสียงแซวว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังบ้านนอก

(หัวเราะ) การทำหนังเรื่องนี้ คนหนึ่งที่เราคิดถึงตลอดคือ พี่เชิด ทรงศรี ที่ตั้งปณิธานว่าเราจักสำแดงความเป็นไทยให้แก่โลก คำๆ นี้มันเร้าใจเราเหมือนกันเพราะงานชิ้นนี้ถือเป็นงานบูชาครู เป็นการทำความเคารพพี่เชิดด้วย เราเชื่อว่าถ้าพี่เชิดอยู่ พี่เชิดจะมา แต่สิ่งที่บางคนอาจจะสยองขวัญนิดหนึ่งคือเราทำที่นั่งให้พี่เชิดด้วย มันไม่ใช่เรื่องผีอะไรแต่มันคือการแสดงความเคารพ

อะไรคือความเป็นไทยหรือเสน่ห์แบบไทบที่อยากจะบอก

เสน่ห์ของมันคือชีวิตคน เป็นชีวิตของคนต่างจังหวัด ถ้าบอกว่าเป็นชนบทหรือบ้านนอกเลย ซึ่งปัจจุบันนี้คนอาจจะมองข้ามไปเลย ทุกคนพูดเรื่องชีวิตในเมืองแต่อาจจะหลงลืมถึงความยากแค้น ชะตากรรมของคนที่อยู่อย่างไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อกับการมีชีวิตของเขา เหมือนตัวเองของเรื่องที่ฝันอยากเป็นนายหนังตะลุง แต่สิ่งแวดล้อมของเขาทำให้เขาไปไม่ถึง เขาต้องเผชิญกับบางอย่างที่มันโหดร้าย

โปรแกรมเมอร์หนังคนหนึ่งเขาบอกว่า หนังของเรามันน่าสนใจตรงที่ว่ามันพูดเรื่องแค่ในหมู่บ้านเล็ก แต่พูดสิ่งที่เป็นสากล เราพยายามเน้นเรื่องศิลปะว่ามันเกิดไม่ได้หรอกในสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย เหมือนเด็กที่อยากเป็นนายหนังแต่ชีวิตไม่เอื้อเฟื้อเขา

แต่หนังเรื่องนี้ก็เผชิญกับความท้าทายแบบนั้น เพราะมันก็ไม่อินเทรนด์

มันไม่ได้เป็นไทยแบบจัดตั้ง แต่มันลงถึงโครงสร้างความเป็นไทยเลย สามารถทำความเข้าใจกับสังคมไทยได้ในหลายๆ แง่มุม ไม่ว่าเรื่องของวัฒนธรรม หนังตะลุง แต่มันมีเบื้องลึกของมัน

ความเป็นไทยแบบนี้จะดึงคนดูได้แค่ไหน

เราเชื่อว่ามันเป็นหนังบ้านนอก เราเชื่อว่าคนบ้านนอกดูแล้วจะชอบ เราอยากฉายหนังให้คนบ้านนอกดู เราเชื่อว่ามันกระทบใจเขาแน่นอน

หลังจากนี้จะฉายที่ไหนบ้าง

ก็มีเสียงเรียกร้องจากเพชรบุรีเพราะตอนที่ถ่ายทำ เขาให้ความร่วมมือร่วมใจมาก ทุกคนในหมู่บ้านเขาอยากมาร่วมงานนี้ด้วย อยากให้ไปฉายที่เพชรบุรีด้วย ถ้าโรงหนังเขาไม่รับเราก็อาจจะฉายหนังกลางแปลงเลย

สำหรับโรงหนังในกรุงเทพฯ อสรพิษ จะเข้าฉายในวันพฤหัสบดีที่ 3 ถึง วันอาทิตย์ที่ 6 พ.ค. นี้ ที่โรงภาพยนตร์ลิโด รอบ 18.00 น. เท่านั้น

 

วิดีโอสัมภาษณ์ จารุณี ธรรมยู ผู้กำกับ และคำวิจารณ์จาก แดนอรัญ แสงทอง และสกุล บุญยทัต

 

มิตรและข้อวิจารณ์

แดนอรัญ แสงทอง ในฐานะเจ้าของบทประพันธ์ และผู้เอื้อเฟื้อแกผู้อำนวยการสร้างคือจารุณีกับวีรยศในหลายๆ ด้านตั้งแต่อนุญาตให้นำบทประพันธ์มาถ่ายทอดผ่านศิลปะบนแผ่นฟิล์ม และรวมไปถึงการช่วยหาสถานที่ถ่ายทำ และร่วมเป็นผู้แสดงด้วย บอกว่าเขาเคารพในการตีความของผู้กำกับและคนเขียนบท ซึ่งดูเหมือนว่าจะพึงพอใจการตีความในแบบฉบับแปลเยอรมัน ซึ่งเผยแพร่เป็นภาษาเยอรมันในชื่อ “ความพินาศแห่งความฝันของนายหนังตะลุงตัวน้อย” โดยเขาเห็นว่าบทประพันธ์ของตัวเขาเองนั้นเปิดโอกาสให้ตีความได้หลากหลาย

“จารุณีกับวีรยศตีความเอียงข้างไปทางเยอรมันก็เลยออกมาอย่างนั้น ซึ่งเป็นอิสระของผู้กำกับของคนเขียนบทเพราะตัวบทสามารถตีความไปได้เป็นอย่างนั้นและเป็นโศกนาฏกรรมหรือเป็นเรื่องเศร้าได้ คือนายหนังตะลุงผู้นี้ที่มีความคิดความฝันที่บรรรเจิดจ้ายิ่งกว่าคนรุ่นเดียวกันมีหรือใครๆ มี ซึ่งก็เป็นสิทธิของคนทำหนังของเขา ตัวหนังเป็นเหลืองก็ได้เป็นแดงก็ได้ ถ้าแดงทำก็ทำไปอีกอย่าง เราไม่สมประกอบ เราบอบบางเราถูกรังแก แต่เราดิ้นรนต่อสู้ หรือเป็นเหลืองก็ได้ คือเราเชื่อมั่นศรัทธา”

ขณะที่สกุล บุณยทัต อ.จากคณะอักษรศาสตร์ ศิลปากร นักเขียนนักวิจารณ์และผู้เขียนบท “คนทรงเจ้า” ที่เล่าเรื่องราวของงูในฐานะอำนาจลี้ลับเหนือสำนึกของมนุษย์ ได้วิพากษ์อย่างฉันมิตร โดยเขาเห็นว่า เรื่องอสรพิษ ดูเหมือนจะเน้นอำนาจของ “งู” น้อยเกินไป ซึ่งข้ออ่อนที่เกิดขึ้นคงหนีไม่พ้นส่วนของบทและการตัดต่อ ซึ่งทำให้นักแสดงไม่สามารถเล่นอะไรได้มากนัก และไม่สามารถส่งพลังให้กับการเล่าเรื่องได้บางฉากที่ต้องการน้ำหนักและที่มาที่ไป หลายช่วงตอน แต่ก็มีหลายตอนเช่นกันที่เห็นความพยายามของผู้กำกับแต่ยังไปไม่สุด

“เห็นความพยายามสูง ตั้งใจ แต่เพราะเส้นเรื่องมันมาก ไดเรกชั่นมันเยอะ ทำให้มันไม่สามารถบรรจบกันได้ เลยทำให้เรื่องแตกหาที่มาที่ไปไม่สมบูรณ์ pace ยังไม่ต่อเนื่องดี การสร้างบรรยากาศ เหล่านี้ เห็นความพยายาม แต่อาจจะผิดฝาผิดตัว เรื่องนี้ก็ต้องเน้นอำนาจคือตัวงู บททำให้เสียเวลา การเขียนบทนั้นง่ายไปสำหรับงานสัญลักษณ์ บทจังหวะไม่ดี พัฒนาการของตัวละครบางตัว เช่น แม่เป็นจุดอ่อน บทไม่สามารถพัฒนาน้ำหนักของเรื่องได้ อันนี้เสียดายมาก เพราะว่าทุกคนตั้งใจทำงาน เมื่อบทมันไม่เอื้อเสียแล้ว บทมันง่ายไปถ้าเทียบกับต้นฉบับ เมื่อบทเดิมเป็นสัญญะ ต้องรื้อเล่าเรื่องใหม่ อย่าไปเสียเวลากับเสียงกลองเสียงปี เรื่องนี้อาจจะเอาใจกระทรวงวัฒนธรรมด้วยหรือเปล่า ตรงนี้เป็นเรื่องที่ คนทำตั้งใจทำมาก มันไม่จับใจ คือเรื่องแบบนี้ เปิดฉากต้องน่าสนใจ ไม่ต้องเสียเวลามาก ให้จับอารมณ์คนไว้ก่อน

“ผมชื่นชมความตั้งใจของการทำหนังเรื่องนี้นะครับ เขาทุ่มเทในการทำหนัง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ถ้าดูกันในระดับพื้นฐานก็ดูสนุกนะครับ แต่บังเอิญว่าเรื่องนี้มันมีเชิงชั้นในการขบคิด....อย่าเสียกำลังใจครับคือถ้าถามผม ผมก็จะตอบแบบนี้ แต่กำลังใจเขามี และหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังไม่ดีนะครับ เป็นหนังดีไม่เหมือนหนักสุกเอาเผากิน เจ็ดวันถ่ายเสร็จมันคนละเรื่องกัน หนังพิถีพิถันมาก แต่นั่นแหละครับจังหวะของบท ถ้าจะทำหนังต่อไปต้องมีเชิงชั้น มันต้องเล่าด้วยหนัง อย่าถามว่าเรื่องต่อไปจะคืออะไร แต่ต้องถามว่าภาพต่อไปคืออะไร ต่อไปคนดูจะเห็นอะไร นี่แหละที่สำคัญ”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยาเสพติดลามถึงเด็ก 8 ขวบ ผู้นำชุมชนนราฯ ระบุเจอปัญหาทุกครัวเรือน

Posted: 20 Apr 2012 04:26 AM PDT

ชายแดนใต้ยาเสพติดระบาดหนัก ล่าสุดพบเด็ก 8 ขวบติดยา ผู้นำชุมชนนราธิวาส ระดมพลังจัดกิจกรรมแก้ปัญหา ระบุชัดแพร่แทบทุกครัวเรือน 

 


ใบกระท่อมกับส่วนผสมยาเพสติดที่กำลังระบาดอย่างหนักในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
นายยะโกะ แกแซแอ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านกาเยาะมาตี ต.กาเยาะมาตี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ขณะนี้ยาเสพติดซึ่งส่วนใหญ่เป็นใบกระท่อมผสมกับสารเคมีต่างๆ ได้ระบาดในหมู่บ้านกาเยาะมาตี ส่วนใหญ่ผู้เสพยาเสพติดเป็นกลุ่มวัยรุ่นตอนต้นอายุระหว่าง 13–14 ปี
 
อีกทั้งจากการสำรวจพบว่ามีเด็กติดยาเสพติดอายุต่ำสุดประมาณ 8 ปี อยู่ 3–4 คน โดยสาเหตุการเสพยาเสพติดมาจากการเลียนแบบพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติดรุ่นพี่ในหมู่บ้าน ขณะที่ผู้ปกครองเองไม่ได้เอาใส่ใจเด็กในปกครองเท่าที่ควร
 
นายยะโกะ เปิดเผยต่อไปว่า ขณะนี้ชุมชนกาเยาะมาตีกำลังแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนเหล่านี้อยู่ โดยผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอีหม่าม สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งชาวบ้าน ร่วมกันจัดการอบรมคุณธรรมจริยธรรมให้กับผู้ติดยาเสพติดเป็นประจำทุกสัปดาห์ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของยาเสพติด ทั้งในด้านกฎหมายและศาสนา พร้อมกับอบรมผู้ปกครองให้รับรู้ถึงปัญหาของวัยรุ่นปัจจุบัน
 
นอกจากนี้ยังได้จัดค่ายอบรมจริยธรรมภาคฤดูร้อนปีละ 1 ครั้ง จัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาต้านภัยยาเสพติดปีละ 2 ครั้ง จัดทัศนศึกษา และเชิญผู้ปกครองมาประชุมหารือเกี่ยวกับวิธีการป้องกัน
 
“เมื่อก่อนมีวัยรุ่นส่วนน้อยที่ติดยาเสพติด เนื่องจากการสื่อสารคบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูงที่เกเรได้ลำบาก เพราะไม่มีเครื่องมือสื่อสารและรถจักยานยนต์ แรงจูงใจให้ทดลองเสพยาเสพติดก็มีน้อย แต่ปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์มีแรงจูงใจมากมาย ที่ทำให้เด็กอยากลอง อยากรู้ อยากเสพ ผ่านสื่อต่างๆ ความเป็นอยู่ การติดต่อคบหาเพื่อนฝูงทำได้ง่าย ทุกหมู่บ้านจึงมีผู้ติดยาเสพติดเกือบทุกครัวเรือน” นายยะโกะ กล่าว
 
 
หมายเหตุ: โครงการค่ายอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการโดย โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) สนับสนุนโดย โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Project)
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จวกผู้นำไทย-จีน ดอดคุยหนุนโปแตช ย้ำทรัพยากรเป็นของชุมชน ต้องให้ชุมชนตัดสิน

Posted: 20 Apr 2012 04:03 AM PDT

นักวิชาการ-NGO ออกโรงโต้การหารือผู้นำทั้งสองประเทศ จวกนายกฯ เอาทรัพยากรของชุมชนออกไปเร่ขาย ร้องทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน-ประเทศชาติ เผยข้อมูลบริษัทจีนกำลังยื่นขอสำรวจแร่โปแตชใน จ.สกลนคร กว่า 120,000 ไร่

 
สืบเนื่องจากรายงานข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปหารือข้อราชการ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจสองประเทศ พร้อมตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรณีการพัฒนาแหล่งแร่โปแตชในประเทศไทยอยู่ด้วย
 
“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งจีนยินดีอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจทั้งสองฝ่าย โดยขอให้ไทยอำนวยความสะดวกด้านข้อกฎหมายต่างๆ พร้อมทั้งขอให้สนับสนุนบริษัทจีนเข้าไปพัฒนาแร่โปแตสเซียมในไทยด้วย” เนื้อหาข่าวระบุ
 
วันนี้ (19 เม.ย.55) นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นักวิชาการที่ได้เฝ้าติดตามประเด็นปัญหาจากการประกอบการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยและต่างประเทศ ออกมาตอบโต้การหารือของผู้นำไทย-จีน กรณีการพัฒนาแหล่งแร่โปแตชในประเทศไทยว่า เรื่องมันไม่ใช่ว่านายกฯ จีนจะมาสั่งนายกฯ ไทยให้สยบยอมในการเปิดโอกาสให้สำรวจแร่โปแตช เพราะมันเป็นเรื่องของสิทธิชุมชน ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
 
นายสันติภาพ แสดงความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีไทยไม่ควรไปตกปากรับคำแทนประชาชน และแก้ระเบียบเปิดให้ต่างชาติเข้ามาทำการสำรวจแร่โปแตช เพราะทรัพยากรแร่นั้นเป็นของชุมชน การดำเนินการใดๆ ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมให้อำนาจในการตัดสินใจกับชุมชน
 
“การที่นายกฯ กำลังทำอยู่เท่ากับว่าเอาทรัพยากรของชุมชนออกไปเร่ขาย และสิ่งสำคัญอย่าลืมไปว่า ท่านนายกฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นนักธุรกิจ หน้าที่ที่สำคัญของนายกฯ คือปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ ไม่ใช่ไปตกลงทางธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง” นายสันติภาพกล่าว
 
นายสันติภาพ กล่าวต่อว่า ปัญหาเหมืองแร่ที่ผ่านมาซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องมาจากเล่ห์เหลี่ยมของข้าราชการที่จะตอบสนองผลประโยชน์ให้กับนักการเมือง เมื่อชาวบ้านจับไม่ได้ ไล่ไม่ทันก็ต้องรับกรรมจากปัญหาที่จัดการไม่ได้ เช่นเหมืองทองที่ จ.เลย จ.พิจิตร และเหมืองคลิตี้ จ.กาญจนบุรี ก็ยังเป็นปัญหาเก่าที่มีมานาน และสะท้อนให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพของระบบข้าราชการไทย
 
“รัฐน่าจะสร้างกลไกในการจัดการปัญหาให้เกิดความเรียบร้อย ทำให้เกิดความโปร่งใส สร้างการรับรู้ข้อมูลอย่างเท่าเทียม” นายสันติภาพกล่าว
 
ด้านสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศยกเลิกมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง ตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 ในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เพื่อให้นายทุนสามารถยื่นคำขออาชญาบัตรในเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อประกอบการเชิงพาณิชย์ และทำการผลิตแร่โปแตชได้ตามขั้นตอน ซึ่งจากข้อมูลพบว่า มี บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จากประเทศจีน กำลังยื่นขอสำรวจหาแหล่งแร่โปแตชจำนวน 12 แปลง เนื้อที่ 120,000 ไร่ ใน อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร อยู่ในขณะนี้
 
นายสุวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่ผู้นำจีนอยากให้ประเทศไทยเร่งผลักดัน หรือสนับสนุนให้กับบริษัททำเหมืองแร่โปแตชของจีนนั้น ถือได้ว่าจีนกำลังแทรกแซงอธิปไตยของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยเองจะต้องปกป้องไม่ใช่ไปเอื้อผลประโยชน์ให้ เพราะภาคอีสานไม่ใช่มณฑลหนึ่งของจีน ที่จะมาสั่งให้ทำอะไรก็ได้
 
“อยากถามกลับว่าผลประโยชน์จากการลงทุนจะเกิดกับชุมชน และประชาชนจริงหรือไม่ โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ที่ประเทศจีน ซึ่งมักจะมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานด้านวิศวกรรมที่ต่ำ เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ รัฐบาลจะต้องมีการศึกษาและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ” นายสุวิทย์ กล่าว
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น