โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เผย "หน่อคำ" มีแนวโน้มถูกทางการลาวจับตัวจริง

Posted: 28 Apr 2012 04:28 AM PDT

28 เม.ย. 55 - จนถึงขณะนี้แม้จะยังไม่มีการยืนยันถึงการจับกุม "หน่อคำ" หัวหน้ากลุ่มโจรสลัดแม่น้ำโขง เจ้าพ่อยาเสพติดแห่งสามเหลี่ยมทองคำ ที่หลายฝ่ายเชื่ออยู่เบื้องหลังสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ อย่างเป็นทางการ แต่จากเปิดเผยหลายฝ่ายเชื่อว่า หน่อคำ น่าจะถูกจับตัวจริง

จาการที่ศูนย์ข่าวคนเครือไท (สำนักข่าวฉาน SHAN) ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุดยังคงมีกระแสข่าวแพร่หลายซึ่งยังไม่ยืนยันตรงกันว่า นายหน่อคำ หรือ จายหน่อคำ ถูกทางการลาวจับกุมตัวได้ในเขตจังหวัดบ่อแก้ว ของสปป.ลาว เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่บางกระแสข่าวระบุว่า เขาถูกจับกุมที่ห้วยทราย ตรงข้ามอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และแหล่งข่าวอีกด้านบอกว่า เขาถูกจับกุมขณะหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านภรรยาน้อย ชาวไทลื้อ ในพื้นที่เมืองมอง ของลาว โดยการจับกุมหน่อคำเป็นไปตามการชี้เบาะแสจากทางการจีน

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก เปิดเผยว่า นายหน่อคำ ถูกจับกุมที่บ่อนคาสิโน คิงโรมัน บ้านต้นผึ้ง (ตรงข้ามอ.เชียงแสน จ.เชียงราย) โดยเมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) เขาถูกนำตัวย้ายไปคุมขังที่เมืองหลวงน้ำทา โดยนายหน่อคำ ได้เสนอสินบนแลกการปล่อยให้ทางการลาว จำนวน 20 ล้านบาท ขณะที่ทางการจีน ได้เสนอเงินซื้อตัวเขาจากทางการลาว 2 ล้านหยวน (10 ล้านบาท)

ด้านอดีตนายทหารกองทัพเมืองไตย  MTA ขุนส่า คนหนึ่งซึ่งพำนักอยู่ในอำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ซึ่งตรงกับวันทางการไทย โดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประกาศตั้งค่าหัวนักค้ายาเสพติด 25 ราย ซึ่งมีหน่อคำด้วยนั้น รองของนายหน่อคำ คือ จายส่างคำ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ไทยไม่ทราบหน่วยจับกุมตัวขณะเดินทางจากบ้านเทอดไทย ไปยังอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยอดีตนายทหาร MTA ระบุว่า หากหน่อคำ ถูกจับตัวจริงก็เท่ากับว่า กลุ่มของหน่อคำ น่าจะหมดอิทธิพลอย่างสิ้นเชิง เพราะรองของเขาก็ถูกจับกุมแล้ว

นอกจากนี้ มีรายงานว่า ก่อนหน้านายหน่อคำ ถูกจับกุม มีการเล่าลือกันในพื้นที่เมืองป่าแลว เชียงลาบ ว่า ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน เป็นต้นมา มีกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย สวมชุดลายพรางไม่ติดเครื่องหมายระบุเป็นกองกำลังกลุ่มใด แบ่งกำลังออกเป็นกลุ่มๆ ออกติดตามค้นหาตัวหน่อคำ โดยมีการสอบถามถึงนายหน่อคำด้วย

อีกด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์เมียนมาร์อลิน สื่อกระบอกเสียงรัฐบาลพม่า รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ลูกน้องของนายหน่อคำ จำนวน 8 คน พร้อมด้วยอาวุธปืน 5 กระบอก กระสุน 163 นัด มีนายจายทุน เป็นแกนนำ ได้มอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ทางการพม่าในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวรายงานด้วยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม - มษายน 2555 ทหารรัฐบาลพม่าได้ปะทะกับกลุ่มของนายหน่อคำ รวม 3 ครั้ง

ทั้งนี้ การจับกุมนายหน่อคำ เกิดขึ้นหลังเกิดการสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ ในแม่น้ำโขง ตอนเหนือของสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อ 5 ตุลาคม 2554 ซึ่งเชื่อกันว่าหน่อคำ อยู่เบื้องหลัง และการจับกุมเกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังทางการโดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ผอ.ศพส.) แถลงข่าว “ประกาศจับนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ” (Most Wanted) จำนวน 25 ราย ตั้งรางวัลนำจับ 12 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีชื่อนายหน่อคำ รวมอยู่ด้วย โดยถูกตั้งค่าหัวไว้ 2 ล้านบาท

สำหรับข้อมูลของนายหน่อคำ ที่สำนักข่าวฉาน SHAN ได้รับล่าสุดทราบว่า นายหน่อคำ เป็นคนเชื้อสายไทใหญ่ เกิดเมื่อปีค.ศ. 1969 ที่เมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ (ปัจจุบันอายุ 43 ปี) นายหน่อคำ เป็นเชื้อสายเจ้าฟ้าเมืองไหย๋ โดยบิดาเป็นอำมาตย์ประจำเจ้าฟ้าเมืองไหย๋ ทั้งนี้ นายหน่อคำ ได้เข้าเป็นทหารรับใช้ชาติกอบกู้รัฐฉาน ในกองทัพเมืองไตย MTA ภายใต้การนำของขุนส่า แต่หลังขุึนส่าวางอาวุธให้แก่ทางการพม่าในปี 2539 หน่อคำ ได้รับอนุญาตจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครและประกอบธุรกิจลับอยู่ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก

กระทั่งเมื่อปี 2549 นายหน่อคำ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ปปส. พม่าเข้าตรวจค้นบ้านพักในหมู่บ้านตอก้อ ฝั่งท่าขี้เหล็ก โดยเจ้าหน้าที่ปปส.พม่าซึ่งได้รับข้อมูลจากทั้งจีนและไทย สามารถตรวจยึดยาบ้านับล้านเม็ด แต่นายหน่อคำ ได้หลบหนีเข้าไทยและเข้าไปกบดานอยู่ในฝั่งลาว จนกระทั่งข่าวคราวเงียบลงจึงกลับเข้าไปเคลื่อนอยู่ในฝั่งพม่า

ทั้งนี้ กลุ่มของนายหน่อคำ มีพฤติกรรมเป็นโจรสลัดเก็บค่าคุ้มครองเรือลำเลียงสินค้าในแม่น้ำโขงและจับ เรียกค่าไถ่ลูกเรือบ่อยครั้ง โดยทางกลุ่มอ้างว่าเป็นการเก็บค่าคุ้มครองผ่านในพื้นที่ นอกนั้นยังคอยจัดเก็บภาษีกลุ่มผู้ค้าสิ่งผิดกฎหมายที่ผ่านเข้าออกในพื้นที่คุ้มครองแถบสามเหลี่ยมทองคำ

มีรายงานล่าสุดด้วยว่า เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา พี่ชายของนายหน่อคำ ชื่อ นายจายเมืองไหย๋ หรือ จายละห่าน ถูกมือปืนยิงเสียชีวิต ที่เมืองหมู่แจ้ รัฐฉานภาคเหนือ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบผู้ก่อเหตุเป็นใคร

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกิจกรรมมาเลเซียเรียกร้องให้ปล่อยตัว 'สมยศ' และนักโทษการเมือง

Posted: 28 Apr 2012 04:21 AM PDT

 
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 55 ที่ผ่านมาคณะตัวแทนนำโดยพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) และผู้แทนจากกลุ่ม NGO หลายกลุ่ม ได้ทำการประท้วงหน้าสถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และเพื่อแสดงสนับสนุนสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน ผู้ถูกจับกุมคุมขังจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเวลาเกือบปีแล้ว คณะตัวแทนเหล่านี้ยังเสนอให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคนในประเทศไทย
 
คณะตัวแทนได้มอบจดหมายประท้วงให้กับ นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ อัครราชทูต และรองหัวหน้าผู้ปฏิบัติหน้าที่สถานทูตไทยประจำมาเลเซีย พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย ยืนยันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถูกนำมาใช้คุกคามนักกิจกรรมเพื่อสังคมชาวไทย เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย
 
ผู้มาประท้วงในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย S.Arutchelvan (เลขาธิการ พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย) Lee Siew Hwa จากกลุ่มมาเลเซียผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศไทย Irene Xavier จากกลุ่มเพื่อนหญิง, ผู้แทนจาก พรรค Suaram และ พรรค PRM 
 
แถลงการณ์ร่วมที่แนบมาด้วยนี้ได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มองค์กรต่างๆในมาเลเซียและประเทศต่างๆ
 
 
คำประกาศร่วมกัน
26 เมษายน 2012
ปล่อยสมยศและนักโทษการเมืองทั้งหมดในประเทศไทย
ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 

เรา (องค์กรที่ได้ลงชื่อไว้ใต้ล่างนี้) มีความกังวลอย่างยิ่งกับกรณีการคุกคามนักกิจกรรมสังคมจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน ผู้ถูกจำคุกจากกฎหมายนี้ โดยไม่ให้ประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ปีที่แล้ว จนบัดนี้


พวกเราเป็นเป็นกังวลที่สมยศต้องถูกจองจำเป็นเวลานาน การเคลื่อนย้ายสมยศไปฝากขัง และการที่สมยศถูกปฏิเสธการประกันตัวหลายครั้ง

เป็นที่รู้จักกันว่า สมยศเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานอย่างไม่ย่อท้อ และได้จัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อประชาธิปไตย ในประเทศไทย ปี2007 เขาได้เป็นบรรณาธิการหนังสือ VOICE OF THAKSIN (ขณะนี้ชื่อว่า Red Power) ซึ่งเป็นนิตยสารทางการเมืองที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร นอกจากนั้น สมยศยังเป็นประธานของสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย และผู้นำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นเนื่องจากผลพวงของการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน ปี 2006 


สมยศถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2011 โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ เขาตั้งข้อหาว่า กระทำผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือคดีอาญามาตรา 112 สมยศถูกจับกุม5วัน หลังการเข้าร่วมการถวายฎีกาให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งสมยศระบุว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย และหลักการสิทธิมนุษยชน ตามเอกสารของฝ่ายโจทก์ สมยศถูกกล่าวหาว่า บทความ 2 เรื่องนิตยสารที่เขาเป็นบรรณาธิกา กกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในแง่ลบ 
ซึ่งเราเป็นห่วงที่การขอประกันตัวเขา ถูกปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ยังให้เหตุผลจะคุมขังเขาอีกนาน พวกเราเชื่อว่า สิ่งดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงที่สุด พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย สั่งการให้ประกันตัวสมยศโดยเร็วที่สุด

สมยศไม่ใช่เหยื่อคนเดียว ที่ถูกคุกคามจากกฎหมายที่รุนแรงนี้ เรากังวลใจอย่างยิ่งว่ามีการใช้กฎหมายนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจัดการปิดปากนักกิจกรรมสังคมและผู้เห็นต่างทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับแต่ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เราเชื่อว่าการคุกคามด้วยการใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง และเป็นอุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตยในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการทบทวนกฏหมายมาตรานี้ โดยคำนึงถึงมาตรฐานของนานาอารยประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 

พวกเราขอเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ ดังนี้ :


-ยกเลิกข้อหาที่มีต่อสมยศ และปล่อยตัวเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข
-ยกเลิกการกล่าวโทษ จากม.112 ต่อนักกิจกรรม นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และปัจเจกชนอื่นๆ
-ปล่อยตัวผู้ต้องหาและถูกจองจำจากคดีนี้
-ยกเลิกกฎหมายอาญา ม. 112 เพื่อนำเสรีภาพในการแสดงออก และการแสดงความคิดเห็นกลับมาสู่ประเทศไทยอีกครั้ง 

ผู้ร่วมลงนาม ในประเทศ :

Parti Sosialis Malaysia (PSM)
Jaringan Rakyat Tertindas (JERIT), Malaysia
Suara Rakyat Malaysia (SUARAM), Malaysia
Malaysia Support Group for Democracy in Thailand, Malaysia
Community Action Network, Malaysia
Friends of Women, Malaysia
Labour Resource Centre, Malaysia

ลงนามโดย :

Party of the Labouring Masses (PLM), the Philippines
People’s Liberation Party, Indonesia
Reorganize Committee – Working People Association (KPO-PRP), Indonesia
Confederation of Congress of Indonesian Unions Alliance (KASBI), Indonesia
People’s Democratic Party (PRD), Indonesia
Socialist Alliance, Australia
Labour Party Pakistan
Radical Socialist, India
Communist Party of Bangladesh (M-L), Bangladesh
La Aurora – POR Tendency in Izquierda Unida, Spain
Pioneer, Hong Kong
For further enquiries, please contact Chon Kai at +60-19-5669518, e-mail: int.psm@gmail.com
 
 
(แปลโดย: เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล)
 
 
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มอนุรักษ์ฯ ชุมนุมหน้าค่าย ตชด. กดดันย้ายสถานที่จัดเวทีเหมืองโปแตช

Posted: 28 Apr 2012 04:11 AM PDT

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกว่า 200 คน ชุมนุมหน้าค่าย ตชด. จี้ย้ายสถานที่จัดเวทีเหมืองโปแตช ชี้จัดในสถานที่ราชการไม่เหมาะกับสถานการณ์
 
 
 
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 55 ที่ผ่านมา เวลา 10.30 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 200 คน ได้ชุมนุมกันบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายเสนีย์รณยุทธ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี  เพื่อขอให้มีการย้ายสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้ทำการว่าจ้าง บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์แมเนจเม้นท์ จำกัด ดำเนินการจัดเวทีดังกล่าว ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2555  ด้วยเห็นว่าการจัดเวทีในสถานที่ราชการไม่มีความเหมาะสม เพราะเป็นสถานที่เฉพาะส่วน ชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสีย และสาธารณะชนยากต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
 
การชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านในวันนี้  ได้เคลื่อนขบวนไปรวมตัวกันบริเวณประตูทางเข้าค่ายเสนีย์ฯ มีรถเครื่องเสียงนำขบวน ส่วนชาวบ้านได้พร้อมใจกันสวมเสื้อเขียว และชูธงรณรงค์ประจำกลุ่ม เข้าไปเผชิญหน้ากับกลุ่มตำรวจตระเวนชายแดนนับ 100 นาย  ที่ได้ทำการจัดแถวตั้งรับไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในอาณาบริเวณค่าย  โดยแกนนำชาวบ้านได้ทำการปราศรัยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชฯ และเหตุผลที่มาของการชุมนุมในครั้งนี้ แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจนับร้อยนายที่ยืนประจันหน้ากับชาวบ้าน แต่เมื่อชาวบ้านทำการปักหลักชุมนุมไปได้สักพัก จึงได้มีนายตำรวจเข้ามาทำการประสานงานกับกลุ่มชาวบ้าน เพื่อตั้งวงพูดคุยเจรจาสร้างความเข้าใจต่อกัน
 
นางมณี   บุญรอด  แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้กล่าวถึง การมาชุมนุมของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีในครั้งนี้ว่า
 
“พอกลุ่มทราบข่าวจากหนังสือที่ส่งไปยังผู้นำชุมชน และ อบต. มาว่า บริษัทจะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นเกี่ยวกับโครงการเหมืองโปแตช  ที่ค่ายเสนีย์ในวันที่ 24 พฤษภานี้  พวกเราจึงได้มีการนัดประชุมแล้วมีความเห็นร่วมกันว่าการใช้สถานที่ของค่ายตำรวจชายแดนจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองโปแตชไม่มีความเหมาะสม เพราะเป็นสถานที่ราชการที่ลักษณะปิดมิดชิด ไม่เป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ชาวบ้าน และชาวอุดรที่มีความกังวลใจต่อโครงการเหมืองโปแตชจะสามารถเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างสะดวก พวกเราจึงมาขอให้ท่านเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธไม่ให้บริษัทเข้ามาใช้สถานที่ แล้วให้ย้ายไปจัดในที่ทุกๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าไปร่วมได้และต้องเป็นสถานที่ที่เปิดเผยต่อสาธารณะด้วย”
 
ทางด้าน พันตำรวจโท คำสอน  คำจันวงษา รองผู้กำกับการ 4  กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  ได้กล่าวถึงกรณีการเข้ามาขอใช้สถานที่ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการเหมืองโปแตช จังหวัดอุดรธานีว่า
 
“ได้มีเจ้าหน้าที่บริษัทได้เข้ามาขอติดต่อใช้สถานที่เพื่อจัดเวทีจริง  แต่ว่าสถานที่ของทางกองฝึกไม่ว่างจึงได้มีการทำหนังสือยกเลิก ห้ามไม่ให้บริษัทเข้ามาดำเนินการใดๆ ในสถานที่ของกองฝึก เพราะเห็นว่าพ่อแม่พี่น้องบ้านเราไม่ต้องการ ซึ่ง ตชด. กับพ่อแม่พี่น้องก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันอยู่แล้วจึงมีความเห็นใจซึ่งกันและกัน และทางกองฝึกก็เกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมา โดยรายเอียดทั้งหมดได้ทำเป็นหนังสือแจ้งไปยังบริษัทเรียบร้อยแล้ว”
 
ในส่วนของ นายสุวิทย์   กุหลาบวงษ์  ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ภาคอีสาน ได้กล่าวถึง การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ว่า เป็นความพยายามปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเข้าร่วมในเวที
 
“เห็นได้ว่าทั้ง บริษัท เอพีพีซี และบริษัท ทีม ได้เลือกใช้ค่าย ตชด. เป็นสถานที่จัดเวทีรับฟังความเห็นกรณีเหมืองแร่โปแตชนั้น ได้ส่อเจตนาในการใช้สถานที่ปิด เพื่อที่จะพยายามสกัดกั้นไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ซึ่งเป็นฝ่ายที่คัดค้านโครงการเข้าร่วมประชุมแสดงความเห็นด้วย และถ้าบริษัทมีความจริงใจที่จะจัดเวทีขึ้นมา ก็ไม่ควรประชาสัมพันธ์ผ่านทาง เว็บไซต์ และปิดประกาศตามสถานที่ราชการในท้องถิ่นพียงเท่านั้น  ควรจะเชิญนักวิชาการ และสาธารณชนในวงกว้างที่ความสนใจมาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอย่างเปิดเผย และในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทาง ตชด. ที่ปฏิเสธไม่ให้บริษัทเข้ามาใช้สถานที่ เพราะว่าเรื่องเหมืองแร่โปแตช มันเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าบทบาทหน้าที่ของ ตชด. และไม่ว่าจะไปจัดที่ไหน กลุ่มชาวบ้านก็ยังคงตามไปคัดค้านอีกต่อไป” สุวิทย์ กล่าว
 
สุวิทย์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติม อีกว่า “สิ่งสำคัญที่ทำให้มองเห็นถึงสถานการณ์การคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ดำเนินการภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเสมอมานั้น แต่บริษัท และกพร. ยังมีความพยายามผลักดันอยู่ตลอด โดยบริษัทมักจะเกณฑ์คนจากนอกพื้นที่ให้มาร่วมเวทีเพื่อสนับสนุนโครงการ ส่วน กพร. กลับเพิกเฉยต่อการคัดค้านโครงการของชาวบ้าน โดยเห็นได้จากการที่ชาวบ้านรวบรวมรายชื่อกว่า 1,500 รายชื่อ ของผู้มีโฉนดที่ดินในพื้นที่ประกาศเขตคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองโปแตช และรายชื่อผู้มีส่วนได้เสียอีกกว่า 5,800 รายชื่อ แล้วส่งไปยัง กพร. แต่ผ่านไปนับ 4 เดือน กพร.กลับไม่ตอบคำถามต่อชาวบ้าน แต่กลับจะมาจัดเวที SEA เรื่องเหมืองโปแตช ที่ กพร. ในวันที่ 4 พฤษภาคมที่จะถึง  ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็จะต้องเข้าไปร่วมเพื่อแสดงจุดยืนของการคัดค้านโครงการเหมืองโปแตช” สุวิทย์ กล่าว
 
ทั้งนี้ สุวิทย์ ได้ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า  การใช้วิธีการเลือกสถานที่จัดเวทีฯ ซึ่งเป็นสถานที่ราชการของ ตำรวจตระเวนชายแดนนั้น เป็นความพยายามของบริษัทโปแตช ที่จะสร้างคู่ขัดแย้งขึ้นมาระหว่างชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ กับตำรวจตระเวนชายแดน
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา “มาตรา 112 ข้อถกเถียงทางกฎหมายสู่ข้อถกเถียงทางสังคม”

Posted: 28 Apr 2012 04:04 AM PDT

เสวนารำลึก ดร. หยุด แสงอุทัย วรเจตน์ระบุ ปัญหาใหญ่ 112 คือปัญหาอุดมการณ์ที่กำกับการตีความตัวบท และไม่มีบทยกเว้นโทษและยกเว้นความผิด ถาวร เสนเนียม เผย ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแก้มาตรา 112 โดยเพิ่มโทษ ของพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมชาย หอมลออ กรรมการ คอป.ระบุปัญหาการใช้ 112 เป็นอุปสรรค จำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็น

วันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2555 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานวิชาการรำลึก ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย โดยเสวนาวิชาการหัวข้อ “มาตรา 112 ข้อถกเถียงทางกฎหมายสู่ข้อถกเถียงทางสังคม” ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาคใต้ สมชาย หอมลออ กรรมการคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ผศ. ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดำเนินการโดย สาวตรี สุขศรี หัวหน้าภาควิชากฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มธ.

สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวเปิดการเสวนาว่า หัวข้อเสวนานี้ เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมากและดูเหมือนจะสร้างความร้าวฉาน แต่เป็นหัวข้อที่สำคัญ และอยากให้คิดว่าในบ้านเมืองต้องหลอมรวมความคิดที่แตกต่างกันให้ได้ โดยไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งนี้ ดร.หยุด แสงอุทัยก็เขียนงานวิชาการแล้วถูกกล่าวหาว่าเขียนบทความที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ข้อเท็จจริงไม่มีการสอบสวนและดำเนินการต่อ

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมกรณีที่ ดร.หยุด แสงอุทัยถูกร้องทุกข์กล่าวโทษโดย ส.ส. ผู้หนึ่ง จากกรณีที่ ดร.หยุด อ่านบทความผ่านทางสถานีวิทยุประจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันอังคารที่ 7 ก.พ. 2499 โดยข้อความที่ถูกกล่าวหาคือ..”องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ” โดยครั้งนั้น ส.ส. คนหนึ่งส่งบันทึกด่วนถึงอธิบดีกรมตำรวจว่า ดร.หยุดไม่มีสิทธิจะวิจารณ์ แต่ตำรวจให้ความเห็นว่า การวิจารณ์ดังกล่าวไม่เป็นการผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพียงแต่แนะประชาชนให้รู้ฐานะของกษัตริย์ไม่บังควรไปรบกวนให้ปฏิบัติการใด ทั้งจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีคณะนั้นก็ได้ให้ความเห็นว่า ดร. หยุดไม่ได้ทำผิดด้วย

000

ถาวร เสนเนียม: อยากให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ช่วยขับเคลื่อนผลักดันพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ขณะที่ถ้าจะมีการผลักดันให้มีการแก้มาตรา 112 ก็น่าจะเอามาตราอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาประกอบกันด้วย

 

ถาวร เสนเนียม กล่าวว่าตลอดมา ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งทุกประเทศต้องมีประมุข แต่แบ่งเป็นสองประเภท คือ เป็นพระมหากษัตริย์กับไม่ใช่กษัตริย์ คือประธานาธิบดี สำหรับมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ นั้นบัญญัติว่ากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ละเมิดมิได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไม่แพ้มาตรา 112 ว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่

เขาตั้งประเด็นว่า ปัจจุบันนี้มีการกระทำผิดมาตรา 112 มากกว่าปกติเพราะอะไร ประการต่อไปคือมีการวิพากษ์วิจารณ์ให้แก้ไข 112 ต้องถามว่าบัญญัติไว้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ขัดต่อรัฐธรรมนญไหม ขัดขวางในการแสดงความเห็นและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่

โดยที่มาตราดังกล่าวห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายคนอย่างถาวร เสนเนียม ก็ผิดกฎหมายเช่นกัน

ประเด็นต่อมาคือ การทำผิดที่หลายคนพูดกันติดปากว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นคือ มีองค์ประกอบความผิด 3 ประการ คือ ห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย กับคน 3 กลุ่มคือ พระมหากษัตริย์ ราชินี และองค์รัชทายาทนั้น ต้องดูหลักคิดที่นำมาใช้บัญญัติกฎหมายดังกล่าว และเทียบเคียงกับกรณีต่างประเทศด้วยว่ามีกฎหมายลักษณะเช่นเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้เขาระบุว่ากฎหมายนั้นแก้ไขได้ และมาตรา 112 ไม่มีใครห้ามแก้ แต่ต้องดูบรรยากาศที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่แก้ด้วยอารมณ์ต้องแก้ด้วยเหตุผล

เมื่อพูดถึงหลักกฎหมาย มาตรานี้คำนึงถึงหลักนิติธรรม ว่าไม่ต้องการให้เกิดผลร้ายกับผู้เสียหายหรือเหยื่อ ความไม่สงบ ความมั่นคงและเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ ด้วย

ประการต่อมา คือประมุขของรัฐต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ รัฐไทยก็ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษเช่นเดียวกับต่างชาติ และประมุขของรัฐนั้นได้รับความคุ้มครองในฐานะที่เป็นสถาบัน ประการหนึ่ง และในฐานะบุคคลอีกประการหนึ่ง ซึ่งไม่แตกต่างกับต่างประเทศมากนัก

ถาวรระบุด้วยว่า กฎหมายอาญามาตรา 113 ยังได้บัญญัติคุ้มครองประมุขต่างประเทศด้วย ขณะที่กฎหมายอาญามาตรา 134 ยังบัญญัติคุ้มครองเป็นพิเศษ ต่อผู้แทนรัฐต่างประเทศจากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่านี่เป็นสิทธิพิเศษเขียนไว้คุ้มครองกษัตริย์ไทยหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่เป็นพิเศษ เพราะเป็นไปตามลักษณะวัฒนธรรมไทยและสอดคล้องกับต่างประเทศ

ขณะที่มีผู้อ้างว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นขัดกับปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่ภายใต้ปฏิญญาดังกล่าวก็ยังระบุว่าบุคคลทุกคนย่อมอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามกฎหมาย จึงไม่ใช่ทุกคนจะลุกขึ้นมาหมิ่นประมาทใคร แสดงความอาฆาตมาดร้ายใครก็ทำได้

เขาตั้งคำถามว่า ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการห้ามหรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพในบางเรื่องนั้น ใครถูกใครผิด โดยยกตัวอย่างประเทศมาเลเซีย จะดูหมิ่นพระเจ้า หรือมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ไม่ได้ เป็นความผิด ขณะที่สามารถแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ในอเมริกาได้ ดังนั้น ในประเทศประชาธิปไตย การระบุว่าใครถูกใครผิดต้องคำนึงถึงศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยของประเทศนั้นๆ เป็นหลักด้วย

“การจะแก้ไขมาตรา 112 นั้นผมยังไม่เห็นด้วยเพราะส่งผลกระทบไม่ว่าจะต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี” นายถาวรกล่าวย้ำ จากนั้นได้อ้างถึงพระราชดำรัส “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และแสดงความเห็นว่า “การจะแก้กฎหมายนั้นยังยืนยันว่าแก้ได้ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นในสังคม วัฒนธรรมประเพณี การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นถูกจำกัดสิทธิมีในทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย”

ถาวรกล่าวต่อไปด้วยว่าระหว่างตัวกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายนั้นเราสับสน เช่นกรณียาเสพติด ที่คนมักอ้างว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ ดร.คณิต ณ นคร เคยกล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีพฤติกรรมน่ารังเกียจสามอย่าง ประการแรกคือ มักทำงานสบายๆ ประการที่สอง มักกลัวไปหมดทุกอย่าง วันที่ประชาธิปัตย์ทำงาน ก็กลัวว่าสิ่งนั้นผิดสิ่งนี้ผิด พอวันที่ประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำงานสิ่งนั้นไม่ผิดเสียแล้ว ประการที่สามมักจะชอบประจบ

โดยเขากล่าวว่า จากประสบการณ์ของตนเองในฐานะที่เคยเป็นอัยการมาก่อน เขาพบว่าหลักดุลพินิจของอัยการในการสั่งฟ้องสั่งไม่ฟ้องนั้นไม่ค่อยได้ใช้ ดังนั้น กรณีการแก้ไขมาตรา 112 นั้น เป็นเรื่องของการใช้กฎหมายเพื่อตอบเป้าหมายในการทำลายคู่แข่งทางการเมืองหรือไม่

ในส่วนของข้อเสนอของพรรค ปชป. ที่พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นผู้จัดทำและเสนอนั้น ถาวระบุว่า ไม่เห็นด้วยทั้งสองประด็น คือการขยายความคุ้มครองไปยังราชวงศ์และการเพิ่มโทษ ทั้งนี้เขาเห็นว่าแม้จะมีการแก้ไขเพิ่มโทษใน พ.ศ. 2519 แต่ที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่ามีการพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้นมาตรา 112 ไม่น่าจะเป็นปัญหาของการบัญญัติแต่น่จะเป็นปัญหากระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย ดังนั้นก็อยากให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ช่วยขับเคลื่อนผลักดันพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ขณะที่ถ้าจะมีการผลักดันให้มีการแก้มาตรา 112 ก็น่าจะเอามาตราอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาประกอบกันด้วย

ทั้งนี้เขาอธิบายว่า ส.ส. มีอิสระที่จะเสนอแก้กฎหมาย ส.ส. คนหนึ่ง รวบรวมคนได้ 20 คน ก็สามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้


สมชาย หอมลออ: ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน มาตรา 112 นั้นถูกนำไปใช้และเป็นอุปสรรค จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นระดับหนึ่ง และในภาวะที่มีความขัดแย้งเป็นขั้วทางการเมืองแล้วก็ถูกนำไปใช้มาก

สมชาย หอมลออ แสดงความเห็นในฐานะกรรมการ คอป. ว่า 112 นี้ตกอยูในสภาวะที่แก้ก็ไม่ได้ ไม่แก้ก็ไม่ได้ เป็นภาวะที่อิหลักอิเหลื่อมาก ประเด็น 112 กลายเป็นประเด็นทางการเมืองและเกือบจะเป็นประเด็นที่จะแบ่งขั้วทางการเมืองของคนในสังคมด้วย ซึ่งหากถูกผลักดันเป็นขั้วขัดแย้งในสังคมแล้วจะลึกและรุนแรงกว่าความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากที่มีคนกลุ่มหนึ่งมีความพยายามที่จะทำอย่างนั้นก็ไม่สำเร็จในการใช้มาตรา 112 มาแบ่งขั้วการเมืองในสังคมไทย แต่ถือเป็นความโชคดีที่ทำไม่สำเร็จ
การถกเถียงทางวิชาการด้วยเหตุด้วยผลจะทำให้การแก้ไขปัญหานี้สามารถทำได้ คือทำให้สภาวะที่แก้ก็ไม่ได้ ไม่แก้ก็ไม่ได้ นั้นหมดไป

ในส่วนของ คอป. นั้นมีภาระหน้าที่ในการตรวจสอบค้นหาความจริงและพยายามเสนอแนะต่อรัฐ สังคมและคู่ขัดแย้งต่างๆ เพื่อจะขจัดขวากหนามหรืออุปสรรคที่จะสร้างความปรองดอง ทำให้ คอป.พบปมขัดแย้งประการหนึ่งที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ คือ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในช่วงที่มีการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งเขาเองได้ดูสำนวนคดีหลายสำนวนและพฤติกรรมในการดำเนินคดี ก็พบว่าปัญหา 112 เป็นปัญหาทั้งตัวกฎหมาย การบังคับใช้ และการตีความกฎหมายโดยศาล คือไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะการบังคับใช้ แต่เป็นปัญหาที่ตัวบทกฎหมายด้วย จึงเสนอให้แก้ไขในสองประเด็นคือผู้ฟ้อง (เสนอให้ผู้ฟ้องคือสำนักพระราชวัง) และลดโทษลง

ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน มาตรา 112 นั้นถูกนำไปใช้และเป็นอุปสรรค จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นระดับหนึ่ง และในภาวะที่มีความขัดแย้งเป็นขั้วทางการเมืองแล้วก็ถูกนำไปใช้มาก ในขณะที่หลักสิทธิมนุษยชนนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่มีความสำคัญมากในสังคมประชาธิปไตย

ทั้งนี้ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการพูด หรือการโฆษณา นั้นมีความสำคัญมาก และแม้จะสามารถจำกัดได้ ไม่ได้สัมบูรณ์แต่การจำกัดนั้นจะต้องอยู่ในภาวะที่จำเป็นและด้วยเหตุผลบางประการเท่านั้น คือการรักษาดุลยภาพระหว่างสังคมกับบุคคล

แต่เสรีภาพในการแสดงความเห็นนั้นเกี่ยวโยงอย่างชัดเจนและแยกไม่ออกกับเสรีภาพอีกสองประการ คือเสรีภาพทางวิชาการ ถ้ามีการค้นคว้ามากมายแต่เผยแพร่ไม่ได้ ก็เป็นวิชาการแบบสมัยกาลิเลโอ ไม่สามารถพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้ และเสรีภาพอีกประการคือ เสรีภาพทางความคิดความเชื่อ ซึ่งยังถูกจำกัดมาก ยกตัวอย่างเช่น การไปจดทะเบียนพรรคการเมืองในปัจจุบันแม้กฎหมายคอมมิวนิสต์จะเลิกไปนานแล้ว แต่ถ้าจะตั้งพรรคสังคมนิยมก็ตั้งไม่ได้ ซึ่งถ้าความคิดของคนไม่สามรารถเผยแพร่ได้เสียแล้ว ความคิดนั้นย่อมจะมืดบอด ตายไปในที่สุด ทั้งนี้เสรีภาพในทางความเชื่อเป็นเสรีภาพที่สัมบูรณ์ห้ามกันไม่ได้

ประการที่สำคัญอีกประการคือ โดยหลักแล้วเราต้องสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกเพราะในประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าสังคมที่แตกต่างหลากหลายเป็นสังคมที่สามารถพัฒนาเจริญและยั่งยืน ถ้าสังคมนั้นไม่มีพื้นที่สำหรับความแตกต่างแล้ว สังคมนั้น ถ้าจะต้องเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอนอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงนั้นจะรุนแรง การจัดพื้นที่ให้ความแตกต่างจะทำให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นลดความเจ็บปวดลง ไม่รุนแรงหรือสุดขั้ว

การที่ถูกจำกัดเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นต่อสถาบันต่างๆ นั้นจะทำให้สถาบันไม่สามารถไปได้ตลอดรอดฝั่ง

สำหรับการใช้บังคับมาตรา 112 ในสภาวะปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรืออัยการ ก็จะเตะลูกขึ้นไปข้างบนเพราะไม่กล้า ทั้งๆ ที่มีอำนาจทางกฎหมาย เช่นอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองคดี จะโทษผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูสังคมด้วย เพราะถ้าบอกว่าไม่ฟ้องโดนแน่ ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบ พนักงานสอบสวนและอัยการต้องมีความเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพ แต่ต้องยอมรับว่าแรงกดดันทำให้บุคคลเหล่านี้หวั่นไหวได้ การตีตราก็เกิดตลอดเวลา และเคยเกิดภาวะเช่นนี้เมื่อ 30-40 ปีที่แล้วซึ่งสังคมไทยน่าจะได้เรียนรู้เพื่อไม่ให้เกิดสภาพเช่นนั้นอีก

สมชาย กล่าวต่อไปถึงการตีความว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีร้ายแรงแต่เมื่อเทียบกับโทษอื่นๆ เช่นโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ผู้ถูกกล่าวหากลับได้รับการประกันตัว ขณะที่คดี 112 มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี เมื่อเทียบแล้วยังเป็นคดีที่ร้ายแรงน้อยกว่า โทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

กรรมการ คอป. กล่าวถึงกรณี อากง SMS เปรียบเทียบการส่ง SMS กับการออกอากาศทีวี ศาลตัดสินกรณีส่ง SMS ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 3 ปี เพราะกฎหมายกำหนดว่าอย่างต่ำคือ 3 ปี นี่คือตัวอย่างว่ากฎหมายไม่ได้มีช่องว่างให้ศาลใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมเลย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรานี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์รุนแรงปี 2519 คอป. จึงเสนอให้แก้ไข ลดจำนวนโทษ และไม่ใช่ใครก็ได้ไปกล่าวหาเป็นความผิด แล้วพนักงานสอบสวนจะไม่ดำเนินการก็ไม่ได้ เพราะการกดดันทางสังคม การวิพากษ์วิจารณ์จับจ้อง ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีที่ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะไปแจ้งความ เพราะลักษณะนี้เป็นผลเสียต่อสังคมและสถาบันด้วย และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองไป

ส่วนที่กำหนดว่าทำไมต้องเป็นสำนักพระราชวัง เพราะอ้างอิงจากกรณีที่กฎหมายบัญญัติว่าถ้าจะมีการค้นพระราชฐานต้องได้รับความยินยอมจากสำนักพระราชวัง แต่อาจจะมีหน่วยงานอื่นที่มีความเป็นมืออาชีพในการกลั่นกรองก็ได้

กิตติศักดิ์ ปรกติ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็ยังสอนเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์น้อยเกินไป และการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์นั้นควรจะเฉลิมพระเกียรติด้วยความยุติธรรม

กิตติศักดิ์ ปรกติ ระบุว่าปัญหามาตรา 112 นั้นเป็นปัญหาทั้งตัวกฎหมายและการปรับใช้ตัวกฎหมาย แต่เขาไม่เห็นด้วยกับความเห็นของนิติราษฎร์เรื่องการแยกความผิดระหว่างความผิดที่กระทำต่อกษัตริย์กับราชินี

เขากล่าวว่า ปัญหามาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นเส้นแบ่งที่สำคัญระหว่างการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นปัจจัยความมั่นคง ในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น

การดูหมิ่นเป็นการแสดงความเห็นล้วนๆ แต่การหมิ่นประมาทเป็นการแสดงความเห็นประกอบการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นด้วย แต่มันไม่ใช่เส้นแบ่งแค่ความมั่นคงกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเขาเห็นว่า มาตรา 112 ยังเป็นเส้นแบ่งของสถานะพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยด้วย คือจะคุ้มครองกษัตริย์ในฐานะสถาบันทางวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่มายาวนาน เป็นคำมั่นสัญญาที่มีมาตั้งแต่ 2475 ว่าจะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย เป็นการต่อสู้แสวงหาคำนิยามที่พยายามช่วงชิงกันว่า กษัตริย์จะมีสถานะอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2475 เป็นต้นมากำหนดชัดแจ้งว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข

และยังมีการระบุในรัฐธรรมนูญว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และกษัตริย์ใช้อำนาจนั้นซึ่งต่างกับประเทศอื่นที่ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยนั้น ที่ไทยเขียนแบบนี้ ก็ตอบได้อย่างเดียวว่าเป็นการประนีประนอมระหว่างผู้ถืออำนาจแต่ดั้งเดิมที่เป็นชุมชนทางการเมืองอันประกอบด้วยกษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ และบรรดาผู้ที่สถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้น ว่าจะหาทางใช้ระบอบประชาธิปไตยนี้ภายใต้กฎหมายอย่างไร

คำถามคือ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แล้วประชาชนให้อำนาจกษัตริย์ใช้อำนาจตั้งแต่เมื่อไหร่ คำตอบคือ ตกลงกันไว้ตั้งแต่ 2475 อย่างไรก็ตาม ชาติกำเนิดไม่ก่อเกิดอภิสิทธิ์ ดังนั้นการคุ้มครองจึงไม่ครอบคลุมถึงราชวงศ์ด้วย การใช้ราชาศัพท์กับพระบรมวงศานุวงศ์นั้นเป็นการแสดงความสุภาพ ดังนั้นหากการแก้มาตรา 112 จึงไม่ควรขยายความคุ้มครองไปยังพระบรมวงศานุวงศ์

กิตติศักดิ์กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับปวงชนชาวไทย ซึ่งปวงชนชาวไทยนั้นมีผู้แทน คือ ส.ส. แต่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คือกษัตริย์นั้นเป็นประมุขและเป็นสัญลักษณ์ ขณะที่ผู้แทนปวงชนชาวไทยกลับไม่เป็นที่นิยม

กษัตริย์ในฐานะสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในทางข้อเท็จจริง เมื่อมีผู้ทำผิดเกี่ยวกับกษัตริย์ ชาวบ้านก็นินทา แต่นินทาแล้วจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ก็อีกเรื่อง ค่านิยมทางวัฒนธรรมนั้นผูกอยู่กับทศพิธราชธรรม คือ ถ้ามีพฤติกรรมที่ขัดกับหลักทศพิธราชธรรมก็จะถูกนินทาเป็นธรรมดา แต่รู้กันว่าจะไม่ทำในที่สาธารณะ เมื่อเกิดการนินทาในทางสาธารณะขณะที่มีความเห็นที่หลากหลาย ก็เกิดความรุนแรงและกระทบต่อความมั่นคงได้ เพราะความเกี่ยวพันระหว่างกษัตริย์ ความเป็นชาติ รัฐ และความมั่นคง ทั้งนี้คำพิพากษาจำนวนไม่น้อยก็โคลงเคลงแกว่งไปมา โดยยกตัวอย่าง นักวิชาการไปกล่าวในวันสิทธิมนุษยชน นักวิชาการกล่าวว่าคนที่เรียกพระเจ้าอยู่หัวเป็นพ่อนั้นไม่ถูกเพราะกษัตริย์ไม่ใช่พ่อ และคนที่กล่าวอ้างนั้นผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพราะอ้างตัวเป็นพระองค์เจ้า โดยคนที่กล่าวนั้นถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ ตำรวจวินิจฉัยว่าการกล่าวเช่นนั้นไม่ผิด ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้และการตีความมาตรา 112

กิตติศักดิ์ ระบุว่าถ้าไม่ทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนก็จะมีการ “ตู่” กันไปมา อีกประการคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับประชาชน ว่าเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย เขากล่าวว่า กษัตริย์ใช้อำนาจในฐานะที่เป็นองค์กรที่เป็นบูรณาการ ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ ส่วนจะพึงใช้อย่างไรก็เห็นอยู่

กิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่าองค์กรต่างๆ ได้ใช้พระมหากษัตริย์แสวงประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ทางการเมือง อ้างว่าจงรักภักดี แล้วกล่าวหาคนอื่น ตัวอย่างง่ายๆ ในมหาวิทยาลัย เวลาเสด็จอย่ากราบได้ไหม เพราะตามพระราชบัญญัติสมัย ร. 5 ห้ามกราบ ยังไม่ได้ยกเลิกไป คือห้ามทอดตัวลงบนผืนดินแล้วกราบ เพราะเป็นหลักฐานแสดงการดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีของคน แต่ยังมีผู้ไปหูไปนาเอาตาไม่ไร่ มีผู้ทักท้วงว่าอย่าพูดเดี๋ยวจะกลายเป็นไม่จงรักภักดี แต่ผมพูดด้วยความจงรักภักดี กฎหมายเขากำหนดไว้ก็ทำไปตามกฎหมาย ไม่มีข้อที่จะไปกล่าวหาได้ว่าไม่จงรักภักดี

โดยกิตติศักดิ์ ย้ำว่าทุกวันนี้มีคนทำตัวเป็นราชายิ่งกว่าองค์ราชันย์เสียอีก นี่จึงเป็นปัญหาที่ทำให้ต้องแก้มาตรา 112 ทั้งตัวบทและการปรับใช้กฎหมายให้ชอบด้วยเหตุผล และในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัย นายวรเจตน์ได้เสนอแก้กฎหมายแล้ว แม้เขาจะไม่เห็นด้วยบางอย่าง แต่ก็มีประเด็นที่เขาเห็นด้วยคือ ต้องลดโทษลง แต่ตัวเขาเสนอให้กลับไปใช้โทษสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ คือไม่เกิน 3 ปี

กิตติศักดิ์กล่าวในช่วงท้ายว่าประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็ยังสอนเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์น้อยเกินไป และการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์นั้นควรจะเฉลิมพระเกียรติด้วยความยุติธรรม


วรเจตน์ ภาคีรัตน์: มาตรา 112 นั้นมีปัญหาในหลายระดับทั้งระดับการบังคับใช้ ตัวบท แต่ที่เห็นว่ามีปัญหามากที่สุดคือระดับของอุดมการณ์ที่กำกับการบังคับใช้ตัวบทกฎหมาย

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ระบุว่ามาตรา 112 นั้นมีปัญหาในหลายระดับทั้งระดับการบังคับใช้ ตัวบท แต่ที่เห็นว่ามีปัญหามากที่สุดคือระดับของอุดมการณ์ที่กำกับการบังคับใช้ตัวบทกฎหมาย การแก้ 112 อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด เพียงแต่บรรเทาลง

โดยเขากล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ตำรวจต้องรับเรื่องและทำคดี ไม่สามารถใช้ดุลพินิจ ทุกกระบวนการจะผลักออกจากตัว ในแง่การบังคับใช้กฎหมายนี้มีปัญหาในตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับตัวบทกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นบรรยากาศ สภาพแวดล้อมทางสังคม

ตัวบทนั้น ใครๆ ก็สามารถจะดำเนินคดี และโทษที่กำหนดไว้นั้นเกินสมควรกว่าเหตุ หลักการนี้เป็นหลักสำคัญในรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุดโทษในมาตรานี้ ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ เพราะการกำหนดโทษไม่สามารถกำหนดโทษได้ตามอำเภอใจของผู้บัญญัติ และปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือโทษที่เป็นผลพวงโดยตรงจากการรัฐประหาร 2519 และไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว แต่ยังพ่วงเรื่องการหมิ่นศาลและดูหมิ่นประมุขของต่างประเทศด้วย ดังนั้นการแก้ 112 ต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวพันกันด้วย เช่น การดูหมิ่นของประมุขของรัฐต่างประเทศ เวลาที่มีการเสนอจึงต้องเป็นไปโดยปริยายในการปรับแก้โทษของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน และเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

บางคนบอกว่าตัวบทกฎหมายนี้มีมาเป็นสิบๆ ปี ทำไมเพิ่งจะมาแก้กันตอนนี้ ซึ่งเขาเห็นว่ากฎหมายนี้มีปัญหามาตั้งแต่ตอนที่แก้ปี 2519 และมีปัญหามาตั้งแต่มีการบัญญติขึ้นในปี พ.ศ.2500 แต่มันไม่ได้เป็นประเด็นทางสังคม ถ้าพูดก็จะเหมือนกับที่เจอตอนนี้ เพราะมีการรณรงค์บอกว่า แก้ 112 เท่ากับล้มเจ้า ทั้งๆ ที่นี่เป็นตัวบทกฎหมายมาตราหนึ่งเท่านั้น

วรเจตน์กล่าวว่าประเด็นมาตรา 112 ต้องพูดไปอีกหลายเวที และหากทาง คอป. จะจัดการพูดคุยเรื่องนี้ก็จะยินดีอย่างยิ่ง โดยเขาระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของมาตรา 112 คือไม่มีการกำหนดเหตุยกเว้นความผิดหรือเหตุยกเว้นโทษกรณีที่เป็นการติชมโดยสุจริตและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งต่างกับกฎหมายหมิ่นทั่วไป การไม่เอาหลักเรื่องนี้มาใช้เป็นผลจาการตีความของศาลด้วย

โดยวรเจตน์ได้ยกเอาคำสอนของอาจารย์กฎหมายรายหนึ่งระบุว่าเมื่อมีการกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาทแล้วจะอ้างข้อแก้ตัวตามที่บัญญัติสำหรับคนธรรมดาหาได้ไม่ เพราะกษัตริย์นั้นเป็นที่เคารพสักการะอยู่เหนือการติชม ขณะที่รัชทายาทและราชินีนั้นเป็นเครื่องประกอบ วรเจตน์เห็นว่าการตีความแบบนี้ทำให้ไม่สามารถนำเอาเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษได้ วรเจตน์กล่าวว่านี่เป็นการตีความที่เกินตัวบท ดังนั้นหากบุคคลธรรมดาตีความอย่างไร การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็ต้องตีความอย่างเดียวกัน ความเข้าใจแบบนี้ ทำให้เกิดการตีความอย่างกว้างและบิดเบือนตัวบท

วรเจตน์ยกตัวอย่างคำพิพากษา จ.นครสวรรค์ อัยการบรรยายฟ้องว่าการหมิ่นพระเทพฯ ผิดตาม 112 ขณะที่ตัวบทคุ้มครอง กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ โดยศาลชั้นต้น ขยายความคุ้มครองไปถึงพระบรมวงศ์ที่อาจสืบสัตติวงศ์ โดยระบุว่ารัชทายาทแห่งบทบัญญัติมาตรา 112 หมายรวมถึงพระราชโอรส พระราชธิดา ทีอาจสืบสันตติวงศ์ แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยเห็นว่าพระเทพฯ นั้นไม่ใช่รัชทายาทตามมาตรา 112 เพราะตามกฎมณเฑียรบาลมีตำแหน่งเดียวคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

วรเจตน์กล่าวว่าการตีความตัวบทในกรณีของศาลชั้นต้น จ.นครสวรรค์นี้ ก็น่าสงสัยว่าผู้พิพากษาตีความกฎหมายในระบอบการปกครองใด ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การตีความมีเกณฑ์ ผู้พิพากษาจะเอาทัศนะต่างระบอบกันมาตีความไม่ได้

วรเจตน์กล่าวว่า การคุ้มครองสถานะไม่ใช่เรื่องสถาบัน การตีความต้องชัดเจนว่าตำแหน่งกษัตริย์หมายถึงใคร ซึ่งต้องหมายถึงกษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน เพราะถ้าไม่ตีความให้ดีก็อาจจะเกินเลยไปถึงกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ได้ ดังนั้นการคุ้มครองจึงต้องเป็นกษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐ และในความเห็นของตนเองเป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายว่ากษัตริย์เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย เพราะกษัตริย์เป็นการกำหนดคอนเซ็ปท์รูปของรัฐ ว่าจะเป็นสาธารณรัฐ หรือเป็นราชอาณาจักร เมื่อเราตัดสินใจเป็นราชอาณาจักรก็ให้กษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ การคุ้มครองกษัตริย์จึงคุ้มครองในฐานะประมุขไม่ใช่เจ้า

อีกประเด็นที่โยงกับมาตราดังกล่าว คือประเด็นเรื่องความมั่นคง ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะความมั่นคงนั้นต้องเกี่ยวข้องกับการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของรัฐ และจะดีมากหากอธิบายให้เห็นว่ามันคือความมั่นคงของนิติรัฐ

ข้อโต้แย้งที่ว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมหรือขนบธรรมเนียมเป็นพิเศษ ผมคิดว่าข้อโต้แย้งแบบนี้ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง หากย้อนกลับไปสมัยที่ใช้กฎหมายตราสามดวงอยู่ ท่านก็จะเห็นว่าโทษนั้นมีอย่างไร เช่น การเปิดกะโหลกเอาถ่านร้อนๆ ใส่เข้าไป ท่านจะยอมรับโทษแบบนี้ได้ไหม คือเราอาจจะมีลักษณะบางอย่างที่เป็นคุณค่าเช่น การแต่งกาย อาหารการกิน แต่เรื่องบางเรื่องก็เป็นเรื่องคุณค่าสากล ที่ไม่ควรจะเอาลักษณะเฉพาะไปอ้างให้มีการกดขี่ เช่นการขว้างหินในประเทศอื่นๆ ก็กำลังมีการต่อสู้กันอยู่ ลักษณะเฉพาะเช่นนั้นก็ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีที่จะเอามาอ้างเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ การปกป้องกษัตริย์ควรปกป้องด้วยความจริง เพื่อให้สถาบันอยู่กับประเทศไปอย่างยาวนาน

วรเจตน์ กล่าวย้ำถึงประเด็นสำคัญที่เห็นต่างกับกิตติศักดิ์เรื่องกษัตริย์เป็นผู้แทนปวงชน เพราะเขาเห็นว่ากษัตริย์นั้นเป็นผู้แทนรัฐ แต่ไม่สามารถเป็นตัวแทนปวงชนได้ เพราะการใช้อำนาจอธิปไตยคือ ประชาชนใช้อำนาจโดยตรง หรือใช้อำนาจผ่านองค์กรรัฐ การใช้อำนาจโดยตรงคือการเลือกตั้งและการลงประชามติ การเลือกตั้งจึงสำคัญเพราะเป็นวันที่เจ้าของอำนาจใช้อำนาจของตัวเอง องค์กรนิติบัญญัติ หรือบริหารนั้นจะมีความชอบธรรมเพราะเชื่อมโยงกับประชาชน ส่วนองค์กรตุลาการนั้นมีปัญหาความเชื่อมโยงกับประชาชน และกรณีคำพิพากษาศาลนครสวรรค์นั้นควรจะเป็นกรณีใหญ่ แต่สำหรับสังคมไทยกลับเป็นเรื่องที่ลืมๆ กันไป


อภิปรายเพิ่มเติม

ถาวร เสนเนียม กล่าวย้ำว่าปัญหาหลักของมาตรา 112 คือปัญหาการใช้การตีความตัวบทมากกว่า การกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยติธรรมต้องผลักประเด็นนี้ต่อไปยังกระบวนการขั้นสูงขึ้นเพราะแรงกดดันทางสังคมนั้นเป็นเพียงข้ออ้างและขาดความกล้าหาญ โดยได้กล่าวตำหนิกลุ่มนิติราษฎร์ว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายนั้นต้องเสนอบริบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยการแถลงของนิติราษฎร์ในช่วงแรกนั้นไม่ได้เสนอให้รอบด้าน

ถาวรได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คอป. ว่าการเสนอให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ฟ้องนั้นจะยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเพราะเป็นองค์กรที่ใกล้ชิด และได้เรียกร้องให้คณะนิติราษฎร์ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยเขายืนยันว่ากฎหมายแก้ไขได้เสมอ เมื่อไหร่ที่มีความจำเป็นสังคมจะเป็นตัวชี้ตัวกำหนด

วรเจตน์ ตอบถาวรว่า กรณีข้อเสนอของนิติราษฎร์เมื่อ 18 ก.ย. แล้วมาทำเพิ่มเติมทีหลัง คือวันที่18 ก.ย. นั้นเป็นการเสนอเรื่องลบล้างผลพวงการรัฐประหารแต่มีมาตรา 112 พ่วงมาด้วย แต่ข้อเสนอเรื่องมาตรา 112 นั้นนิติราษฎร์ได้เสนอมาก่อนแล้ว

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เวลาที่เราพูดกันเรื่องข้อตกลงระหว่างกษัตริย์กับราษฎร หรือพระมหากษัตริย์มีความรับชอบ การอภิปรายเรื่องนี้เป็นการอภิปรายแบบจอมปลอมเพราะเวลาที่เราพูดเรื่องสัญญาและความรับชอบ โดยพื้นฐานต้องมีคอมมอนเซนส์คือการจะกล่าวหาว่าใครผิดสัญญาด้วย ถ้าคุณสามารถพูดว่ารัฐบาลทำผิดสัญญาอย่างไร แต่พูดอีกกรณีหนึ่งไม่ได้ ยังไงก็พูดไม่ได้ ความตลกของเรื่องนี้ทั้งหมด คือคนอย่างอาจารย์กิตติศักดิ์น่าจะรู้ดี เพราะมันพูดในฝ่ายเดียว เกิดผมจะพูดในทางตรงข้ามออกไปก็โดนจับทันที คือการยกนามธรรมอย่างไรก็ได้ ผมฟังแล้วก็ไม่รู้จะเถียงยังไง เถียงก็โดนจับ

ประเด็นสั้นๆ ที่อาจารย์ธีรยุทธพูดและผมเห็นด้วยคือ 112 ไม่ใช่เรื่อง 112 แต่เป็นเรื่องภาพสถาบันกษัตริย์ แต่ประเด็นใหญ่ที่อยากจะพูดคือ ถึงที่สุดแล้วยังมีประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วยกับ 112 เพราะข้อเสนอของผมคือยกเลิกไปเลย แต่หัวใจของเรื่องจริงๆ คือเราต้องตั้งคำถามว่า มันมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีกฎหมายพิเศษที่ต้องคุ้มครองประมุขในกรณีหมิ่นประมาท เหตุผลในการตอบคำถามนี้ตรงกันโดยยกกรณีว่านี่เป็นบรรทัดฐานทั่วไปว่าต้องคุ้มครอง แต่ผมไม่เห็นด้วย คนชอบพูดว่าเป็นมาตรฐานสากล นิติราษฎร์เองก็ยกมาตรฐานสากล แต่การยกเรื่องนั้มันไม่มีความหมาย เพราะถ้ายกตัวอย่างนั้นจริงๆ ตองถามว่าประเทศอื่นเขามีอย่างเราไหม เช่นมีการอนุญาตให้ประมุขพูดสดๆ สามารถควบคุมทรัพย์สินของรัฐเป็นหมื่นๆ ล้านได้ไหม และมีการโปรแกรมด้านดีด้านเดียวของสถาบันกษัตริย์ นี่เป็นประเด็นสำคัญเลยว่ามันชี้ขาดอย่างไร

สอง ญี่ปุ่น อเมริกา สหรัฐ ไม่มีกฎหมายแบบนี้

สาม ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี แต่ปัญหาที่ต้องตั้งคำถามคือควรใช้บรรทัดฐานอะไรในการพูดถึงประมุข และถามว่าเอาหลักการมาจากไหน นี่ผมถามอย่างซีเรียส

อย่างการยกกรณีตัวอย่างการขู่ประธานาธิบดีอเมริกา ต้องโทษ 5 ปี แต่ถ้าคุณขู่ FBI ต้องโทษ 10 ปีนะ ฉะนั้นการอ้างประมุขต้องได้รับความคุ้มครองมากกว่าปกติจึงไม่จริงเสมอไป

ที่สุดแล้ว เป็นเรื่องบรรทัดฐานของนักวิชาการ คุณต้องเอาบรรทัดฐานที่แท้จริง คือ ทุกวันนี้ใครเกลียดมาร์คเอารูปมาร์คไปใส่หัวควาย ใครเกลียดทักษิณก็ตัอรูปทักษิณไปใส่หัวหมา ถามว่าแล้วมีใครฟ้องไหม ประเด็นคือ ต้องใช้บรรทัดฐานเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่บรรทัดฐานของนักวิชาการ

กิตติศักดิ์ ตอบประเด็นของสมศักดิ์ ว่าต้องเสนอไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีที่เยอรมนีนั้นประธานาธิบดีสามารถพูดได้โดยไม่ต้องให้สภาตรวจสอบก่อน ส่วนการเฉลิมพระเกียรติโดยเกินพอดีนั้นควรแก้ไขไหม ก็ต้องแก้ไขโดยการวิพากษ์วิจารณ์ไปตามขอบเขต

วรเจตน์ ตอบประเด็นสมศักดิ์ ว่าการเทียบประธานาธิบดีกับกษัตริย์อาจจะเทียบได้ลำบากเพราะประธานาธิบดีของเยอรมนีมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยเพราะมีการเข้าสู่ตำแหน่ง ประธานาธิบดีนั้นมีสายโซ่ทีเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ขาดตอน

สำหรับประเด็นการคุ้มครองประมุขของรัฐนั้น เขาเห็นว่า เกณฑ์ในการวิจารณ์ในระบบทั่วไปไม่ยอมให้มีการด่าหยาบคาย ดูหมิ่น แม้แต่บุคคลธรรมดาก็เป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถาจะยอมให้มีการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ก็ต้องเลิกความผิดต่อบุคคลธรรมดาแล้วเลิกความผิดต่อกษัตริย์

สำหรับกรณีประธานาธิบดีของสหรัฐ เป็นทั้งประมุขของรัฐและฝ่ายบริหาร ดังนั้นการวิจารณ์นั้นแยกยาก และอเมริกาก็เป็นประเทศที่มีความอดทนต่อคำพูดที่ไม่ดีสูงมาก มากกว่าคนอื่นในโลกจนเขาไม่แน่ใจว่าควรจะใช้เกณฑ์ของอเมริกาเป็นมาตรฐานหรือเปล่า

ส่วนกรณีที่คุณทักษิณ หรือมาร์คถูกดูหมิ่นแล้วไม่แจ้งความ “อย่างผมหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเอาหน้าผมไปใส่หน้าลิง แล้วพาดหัววรเจี๊ยก ลิงหลอกเจ้า ผมก็ไม่ได้ฟ้อง แต่ผมไม่ทำแล้วจะใช้เป็นบรรทัดฐานกับคนทั้งสังคมหรือเปล่า คือเข้าใจว่าควรจะทำเกณฑ์แบบเดียวกันคือเลิกไปเลย แต่ตราบเท่าที่คนในสังคมยังมองเป็นอีกแบบหนึ่ง จะทำอย่างไร”

สำหรับรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ทำโดยฐานที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้วอเมริกาเข้ามาจัดการกฎหมาย ส่วนอังกฤษนั้นเขายอมรับว่ายังไม่ได้ศึกษาให้ชัดเจน

คำถามว่าทำไมประมุขของรัฐถึงถูกคุ้มครองมากกว่าคนธรรมดา เพราะว่าประมุขของรัฐนั้นเป็นตัวแทนรัฐ เป็นสิ่งที่ represent รัฐ ในบริบทของบ้านเราอาจจะมีปัญหาอยู่ แต่ในการทำกฎหมายต้องเอาหลักการเป็นตัวตั้ง

สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวปิดงานว่า ความคิดเห็นที่หลากหลายต้องได้รับการรับฟังไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และวิธีการแสดงออกนั้นต้องเคารพผู้อื่นด้วย ถ้าเราจะมีความคิดเห็นร่วมกันต้องแสวงหาความเห็นที่รับฟังกันด้วย เวทีวิชาการอย่างนี้จะทำให้ได้รับความรู้ วันหนึ่งทุกคนก็จะคิดได้เอง และสังคมเราอ่านน้อย และเขาต่อต้านความรุนแรงส่าด้วยวาจาหรือกำลัง แต่สังคมจะเจริญด้วยวัฒนธรรมพลเมือง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดร.โสภณ พรโชคชัย: ต้องปราบการทำลายป่า อย่าปลูกป่าจนชาติวิบัติ

Posted: 28 Apr 2012 04:02 AM PDT

 
ปัญหาหลักของมลพิษทางอากาศในภาคเหนือตอนบนเกิดจากการเผาป่ามากกว่าอย่างอื่น ทั้งนี้ประเด็นสำคัญก็คือชาวบ้านบุกรุกทำลายป่า ซึ่งรัฐบาลควรปราบปรามอย่างจริงจัง และควรเลิกมาตรการส่งเสริมการปลูกป่าเพราะเท่ากับลวงให้สังคมเข้าใจว่านี่คือการแก้ไขปัญหา ทั้งที่เป็นเพียงการลูบหน้าปะจมูกเพื่อซ่อนการทำลายป่า และเมื่อป่าถูกทำลายมากในอนาคตอาจมีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายให้กับผู้ทำลายป่า
 
ภาพรวมของมลพิษในแม่เมาะนั้น จากการศึกษาพบว่า เกิดจากการเผามวลชีวภาพ หรือการเผาป่าถึง 54% รองลงมาเป็นมลพิษจากรถยนต์ 35% ฝุ่นดินและถนน 1% นอกนั้นเป็นกรณีอื่น ๆ อีก 10% ดังนั้นการเผาป่าจึงเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดมลภาวะ แต่โดยที่ในท้องที่อำเภอแม่เมาะ เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหิน และเคยเกิดกรณีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอดีต จึงเป็นภาพลบที่ชาวบ้านเชื่อว่ามลพิษหลักยังเกิดจากโรงไฟฟ้านั่นเอง
 
การที่มลพิษหลักมาจากการเผาป่าเกิดขึ้นเนื่องจากชาวบ้านต้องการหาของป่า สัตว์ป่า และพืชพันธุ์จากป่าส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่าส่วนสำคัญมาจากการบุกรุกถากถางป่าเพื่อการขายต่อให้ ‘นายทุน’ โดยจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพบว่า ในระยะหลายปีที่ผ่านมา มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพารามากขึ้น จึงมีการบุกรุกทำลายป่าเพื่อนำที่ดินมาปลูกยางพารากันเป็นจำนวนมาก และ ‘นายทุน’ ทางภาคใต้หรือในพื้นที่ก็จะหาซื้อที่ดินที่ได้จากการบุกป่าเพื่อนำไปปลูกยาพาราต่อไป
 
ในโอกาสข้างหน้า ก็มีความเป็นไปได้ที่ทางราชการจะยกเลิกพื้นที่ป่าไม้ และออกเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแก่ผู้บุกรุก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิดกฎหมาย เอาป่าซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดินหรือของคนไทยร่วมกันทุกคน มาแบ่งสันปันส่วนให้กับผู้ครอบครอง ปัญหาที่จะตามมาก็คือการสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประชาชนที่อยู่ไกลทรัพยากรแผ่นดินกับประชาชนที่อยู่ใกล้ทรัพยากรแผ่นดินและถือเอาทรัพยากรเหล่านั้นเป็นของตนเองได้ ยิ่งกว่านั้นยังเกิดปัญหาหมอกคัน อุทกภัย ฯลฯ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อมูลค่าของทรัพย์สินเป็นระยะ ๆ อีกด้วย
 
ดังนั้นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหามลพิษ และป่าไม้ก็คือ การปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าอย่างจริงจังโดยภาคราชการ ส่วนภาคเอกชนก็ควรส่งเสริมการมีองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอแนวใหม่ที่มาสอดส่องการบุกรุกทำลายป่าเพื่อรายงานทางราชการหรือสื่อมวลชน เพื่อการป้องปรามในอีกทางหนึ่ง ส่วนการปลูกป่า ซึ่งเป็นการทำดีแบบฉาบฉวย ง่าย ๆ น่ารัก ๆ ควรหยุดหรือยกเลิกเป็นเสมือน ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ระหว่างเอ็นจีโอปลูกป่ากับอาชญากรทำลายป่า เพราะเท่ากับหลอกลวงสังคมให้เข้าใจผิดว่า ป่าจะรักษาไว้ได้และเกิดขึ้นใหม่จากการปลูกป่า เพื่อไม่ให้สังคมตระหนักและระดมสรรพกำลังในการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า
 
 
 
คนใหญ่คนโตในสังคมน่าทำท่าขึงขังพูดเรื่องปราบทำลายป่าบ่อย ๆ อย่าเอาแต่เน้นภาพน่ารักให้คนหลงปลูกป่าตาม บิ๊ก ๆ ต้องรณรงค์บ่อยๆ ให้ประชาชนทั่วไทยตื่นขึ้น ต้านการตัดไม้ทำลายป่า ดีกว่าเบื่อเมาให้ประชาชนหลงนึกว่าปลูกป่าจะช่วยชาติได้ ... โปรดอ่าน Credit ภาพ: http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9530000113979

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหรัฐฯ ประกาศมอบเหรียญแห่งอิสรภาพแก่ 'บ็อบ ดีแลน'

Posted: 28 Apr 2012 03:37 AM PDT

'บ็อบ ดีแลน' ศิลปินเพลงชื่อดังของสหรัฐฯ ตั้งแต่ยุคซิกส์ตี้ ถูกประกาศว่าจะได้รับ เหรียญแห่งอิสรภาพ (Medal of Freedom) ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดของสหรัฐอเมริกา
 
 
 
27 เม.ย. 2012 - บ็อบ ดีแลน ศิลปินเพลงชื่อดังของสหรัฐฯ ตั้งแต่ยุคซิกส์ตี้ ถูกประกาศว่าจะได้รับ เหรียญแห่งอิสรภาพ (Medal of Freedom) ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดของสหรัฐอเมริกา
 
โดยในครั้งนี้ ดีแลนจะได้รับรางวัลเหรียญแห่งอิสรภาพร่วมกับกับรมต.ต่างประเทศ เมเดลีน อัลไบร์ท, จอห์น เกลน ชาวอเมริกันคนที่สามที่ได้ขึ้นสู่อวกาศ และโทนี่ มอร์ริสัน นักเขียนนิยายที่ได้รับรางวัลโนเบล
 
โดยประธานาธิบดี โอบาม่าจะเป็นผู้มอบเหรียญนี้ที่ทำเนียบขาวในอีกไม่กี่สัปดาห์
 
ปธน. โอบาม่ากล่าวในการแถลงข่าวว่า "พวกเขาท้าทายเรา พวกเขาให้แรงบันดาลใจกับพวกเรา พวกเขาทำให้โลกเป็นสถานที่ที่ดีขึ้น"
 
ชื่อจริงของบ็อบ ดีแล่น คือ โรเบิร์ท อัลเลน ซิมเมอร์แมน เขาเกิดเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 1941 เริ่มอาชีพนักดนตรีเมื่ออายุ 1959 โดยเล่นแสดงสดที่คอฟฟี่เฮาส์ในมินเนโซตา
 
ชื่อดีแลนที่เขานำมาใช้ในงานดนตรี เขานำมาจากดีแลน โทมัส และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ดีแลน โทมัสจะมีอิทธิพลต่อการเขียนเนื้อและงานดนตรีของเขา
 
ผลงานของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960s ซึ่งเขากลายเป็นนักประวัติศาสตร์ผู้บอกเล่าปัญหาของสหรัฐอเมริกาอยู่กลายๆ 
 
เพลงอย่าง Blowin' in The Wind และ The Times They Are A-Changin' กลายเป็นเพลงประจำของการเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านสงคราม และการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแนวทางการแต่งเนื้อเพลงจากแบบเทรดิชันแนลโฟล์ค แล้วหันไปใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า ก็ทรงอิทธิพลต่อยุคสมัยนั้นเช่นกัน เนื้อเพลงที่เป็นเหมือนการสารภาพและมีเนื้อหาสื่อความรู้สึกนึกคิดภายใน ก็ส่งอิทธิพลถึงงานยุคต่อๆ มาของวงเดอะ บีทเทิล ด้วย
 
ปัจจุบันดีแลนยังคงอัดผลงานและออกทัวร์คอนเสิร์ท รวมถึงมีรายการวิทยุของตัวเองในสหรัฐฯ และล่าสุดก็ได้เซนต์สัญญาหนังสือกับสำนักพิมพ์ 6 เล่ม
 
ก่อนหน้านี้ผู้ที่เคยได้รับเหรียญแห่งอิสรภาพได้แก่ แม่ชี เทเรซ่า, มาร์กาเร็ต แทชเชอร์, สตีเฟน ฮอว์กกิง, วอลท์ ดิสนี่ย์,ดอร์ริส เดย์, มายา แองเจลลู, ดุ๊ก เอลลิงตัน และ อารีธา แฟรงคลิน
 
 
ที่มา: 
 
Bob Dylan to get US Medal of Freedom, BBC, 27-04-2012
http://www.bbc.co.uk/news/entertainment-arts-17866035
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: “ฝางวิทยายน” ผุดโซเชียลเน็ตเวิร์ค สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ผ่านเน็ต

Posted: 28 Apr 2012 03:27 AM PDT

โรงเรียนฝางวิทยายนนำกระบวนการการเรียนการสอนผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คมาใช้ โดยการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) พบผลลัพท์นักเรียนกระตือรือร้นมากขึ้น

 

อย่าแปลกใจหากวันนี้ นักเรียนในประเทศไทยจะคร่ำเคร่งกับกิจกรรมที่หลากหลายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพราะนอกจากฟังก์ชันการใช้งานที่รองรับพฤติกรรมของคนในสังคมได้อย่างดีแล้ว การเรียนรู้ผ่านสังคมออนไลน์เช่นนี้กำลังกลายเป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่หลายโรงเรียนหันมาให้ความสนใจ ดังตัวอย่างของเครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้โรงเรียนฝางวิทยายน ตำบลบ้านฝาง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น

กว่าหนึ่งปีมาแล้วที่เครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้โรงเรียนฝางวิทยายน ได้พัฒนาสังคมออนไลน์เพื่อส่งเสริมให้ครูและนักเรียนใช้ซอฟท์แวร์ในทางที่สร้างสรรค์เพื่อรองรับสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์คที่กำลังขยายตัวอย่างกว้างขวางในขณะนี้ สังคมแห่งการเรียนรู้นี้มีเวบไซต์ www.fangwittayayon.net เป็นศูนย์กลาง ให้ครูและนักเรียนเข้ามาร่วมแบ่งปันหรือแชร์ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งใช้เป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน ประเมินผล ตรวจสอบกันและกันได้ในตัว ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนโดยใช้เวบไซต์เครือข่ายสังคมการเรียนรู้โรงเรียนฝางวิทยายน โดยการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.)

อาจารย์คเชนทร์ กองพิลา ผู้ออกแบบเวบไซต์ดังกล่าวว่า กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบเวบไซต์ ว่า ได้มาจากการเลียนแบบโซเชียลเน็ตเวิร์คที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน แล้วนำมาประยุกต์ใหม่ให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยใช้ซอฟท์แวร์ใหม่ แล้วสร้างเมนูและฟังก์ชันให้สอดคล้องกับการใช้งาน ซึ่งเป็นการออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

เมื่อถามถึงการใช้งาน อ.คเชนทร์ บอกว่า ใช้งานคล้ายกับโซเชียลมีเดียทั่วไป คือ เริ่มต้นจากการล็อกอิน (Log in) แล้ว เข้าไป Join กับวิชาต่างๆ ที่นักเรียนหรืออาจารย์ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม โดยสมาชิกสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น หรือ คอมเม้นท์ (Comment), โพส, ตั้งกลุ่ม หรือ แนบไฟล์ (Attach) ตามกลุ่มที่ตนเองเป็นสมาชิกหรือตั้งไว้

ที่ผ่านมา นักเรียนส่วนใหญ่จะเข้าไปโพสกิจกรรมที่ครูสั่งงาน โดยครูตั้งเป็นคำถามปลายเปิดให้นักเรียนได้ช่วยกันคิดและหาคำตอบ หรือการนำเอาคลิปการทำงานหรือการประกวดแข่งขันที่อัพลงยูทูบ (Youtube) มาแปะไว้ในเวบนี้เช่นกัน หรือในบางครั้งอาจารย์บางท่านสามารถนำพาวเวอร์พ้อยท์การสอนมาโพสไว้ จึงถือเป็นการเรียนการสอนแบบใหม่ คือเพิ่มช่องทางในการเรียนรู้แทนที่จะจำกัดเพียงในห้องเรียนแต่ขยายมาไว้ในเครือข่ายสังคมออนไลน์

“ประโยชน์อย่างหนึ่งของเวบไซต์ดังกล่าว คืออาจารย์สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของนักเรียนได้ อาจารย์สามารถให้คะแนนเด็กในแต่ละวิชาได้ เพิ่มกิจกรรมการเรียนให้หลากหลายยิ่งขึ้น เพราะเด็กได้สนุกกับการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรืออาจารย์ทำอะไร ก็สามารถตรวจเช็คได้ เป็นการประเมินผลไปในตัว ” อ.คเชนทร์กล่าว

นอกจากนี้ อ.คเชนทร์ยังได้ออกแบบเวบไซต์ให้โรงเรียนในเครือข่าย สามารถเข้ามาร่วมแชร์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการสอนในกรุ๊ปที่ชื่อว่า Featured Group โดยอาจารย์ในโรงเรียนหรือจากโรงเรียนเครือข่ายที่ต้องการใช้เวบไซต์ดังกล่าวต้องผ่านการอบรมการใช้เวบไซต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฟังก์ชันการใช้งาน การล็อกอิน และการประเมินผลการเรียนการสอนผ่านเวบไซต์

อ.คเชนทร์ บอกเล่าว่า ความก้าวหน้าที่เห็นได้ชัดเจนของสังคมเครือข่ายการเรียนรู้โรงเรียนฝางวิทยายน คือนักเรียนมีการออกแบบการโพสที่หลากหลายขึ้น เช่น การทำคลิปวิดีโอ ซึ่งถือเป็นขั้นสูงสุดสำหรับการมีส่วนร่วมบนเครือข่าย หากใครทำคลิปวิดีโอและนำมาโพสในบางรายวิชาจะให้คะแนนเพิ่มเติม

“เราสังเกตได้ว่าเด็กสนุกกับการเรียนการสอนยิ่งขึ้น เพราะมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของพวกเขา ในวันนี้เด็กนักเรียนอยู่กับสังคมออนไลน์มากขึ้น การเรียนการสอนจึงต้องปรับตัวให้สอดรับให้ได้ ผลดีกับตัวเด็กเองเขาก็สามารถพัฒนาฝีมือในการคิดค้นรูปแบบการทำเวบ หรือออกแบบงานก่อนจะโพสลงบนเวบไซต์” อ.คเชนทร์บอกเล่า

ปัจจุบัน โรงเรียนฝางวิทยายนสามารถเป็นต้นแบบในการสร้างสังคมเครือข่ายการเรียนรู้ในจังหวัดขอนแก่น โดยมีโรงเรียนขอนแก่นพัฒนศึกษา นำรูปแบบเวบไซต์ไปต่อยอด รวมถึงเป็นแห่งเรียนรู้ของโรงเรียนอื่นๆ ที่สนใจการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการเรียนการสอน และสามารถกลายเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของโรงเรียนฝางวิทยายน

เมื่อในวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมออนไลน์ได้มีอิทธิพลต่อระบบการศึกษา การนำโซเชียลเน็ตเวิร์คมมาใช้กับการเรียนการสอนจึงนับว่าเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งครูและนักเรียนจึงได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไปพร้อมกัน

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ค้นปอเนาะพ่อมิ่งโยงป่วนใต้ ผู้บริหารยันไม่ยุ่งศิษย์เก่าเข้าขบวนการ

Posted: 28 Apr 2012 03:06 AM PDT

ค้นปอเนาะพ่อมิ่งรอบสอง หาหลักฐานโยง 7 อุตสาซที่ถูกคุมตัว ยึดมอเตอร์ไซด์ 5 คัน อุปกรณ์มือถือและปุ๋ยยูเรีย ผู้บริหารแจง คนบริจาครถจักรยานยนต์ให้เด็กใช้สอนตาดีกา ส่วนศิษย์เก่าที่ก่อเหตุร้ายไม่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน 

 

 

เมื่อวันที่ 08.00 น. วันที่ 26 เมษายน 2555 ทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 44 ร่วมกับ ตำรวจสถานีตำรวจภูธรปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค4 สน.) รวมกว่า 300 นาย เข้าตรวจค้นโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามพ่อมิ่ง ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นอาคารทุกหลังภายในโรงเรียนอย่างละเอียด โดยเฉพาะหอพักนักเรียนทั้งชายและหญิง อีกทั้งมีการเก็บลายนิ้วมือ ตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อตรวจดีเอ็นเอและน้ำลาย ของบุคคลกรของโรงเรียนทุกคน โดยเริ่มเข้าตรวจค้นตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น.

พ.ต.อ.มานิตย์ ยิ้มซ้าย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรปะนาเระ เปิดเผยว่า ผลการตรวจค้นในเบื้องต้น มีการตรวจยึดอุปกรณ์หลายรายการ เช่น เครื่องชาร์จโทรศัพท์มือถือ รถจักยานยนต์ 5 คันสภาพชำรุด และปุ๋ยยูเรียจำนวนหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถประกอบเป็นวัตถุระเบิดได้ ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะนำไปตรวจพิสูจน์อีกครั้ง และการตรวจค้นครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากโรงเรียน

พ.ต.อ.มานิตย์ เปิดเผยว่า การเข้าตรวจค้นครั้งนี้ เนื่องจากสายข่าวของ กอ.รมน. ภาค 4 สน. แจ้งว่า เหตุไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่จบจากโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามพ่อมิ่ง เช่น กรณีผู้ก่อเหตุรายวันปะทะกับทหารพรานเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ณ จุดตรวจทหารพราน หมู่ที่ 2 ตำบลปะนาเระ มีผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 3 ราย

พ.ต.อ.มานิตย์ เปิดเผยว่า ทั้ง 3 คน เรียนจบจากที่นี่ ส่วนอีก 2 คนหลบหนีไปได้ และมีการออกหมายจับแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติพบว่า เรียนจบจากโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามพ่อมิ่งเช่นกัน ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบดีเอ็นเอที่พบจากรองเท้าที่ตกในที่เกิดเหตุ พบว่า เป็นบุคคลที่มีบ้านอยู่ด้านหลังโรงเรียนและเคยถูกดำเนินคดี

พ.ต.อ.มานิตย์ เปิดเผยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ได้สนธิกำลังเข้ามีการปิดล้อมโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามพ่อมิ่งมาแล้ว และเชิญตัวอุสตาซ(ครูสอนศาสนาอิสลาม) 7 คนไปซักถาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

พ.ต.อ.มานิตย์ เปิดเผยว่า การตรวจค้นครั้งนี้ ใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ หากพบสิ่งผิดกฎหมายที่สามารถเชื่อมโยงถึงบุคคลทั้ง 7 คนได้ เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถรวบรวมพยานหลักฐานและออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา (ป.วิอาญา) ได้ทันที หากไม่มีหลักฐานเจ้าหน้าที่ต้องปล่อยตัวทันที

นายอิบรอฮีม หะ ประธานมูลนิธิโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามพ่อมิ่ง เปิดเผยว่า การเข้าตรวจค้นครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้แจ้งมาล่วงหน้า จากนั้นได้เรียกผู้บริหารโรงเรียนทุกคนมาประชุมและมีมติให้อนุญาตตรวจค้นได้

นายอิบรอฮีม ชี้แจงว่า สิ่งของที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดไป เช่น รถจักรยานยนต์ 5 คัน เป็นของโต๊ะอิหม่ามในหมู่บ้านต่างๆ บริจาคให้โรงเรียนเพื่อให้นักเรียนใช้เดินทางไปสอนในโรงเรียนตาดีกาในหมู่บ้าน แต่เมื่อชำรุดไม่มีใครนำไปซ่อมจึงถูกจอดทิ้งไว้

นายอิบรอฮีม ชี้แจงอีกว่า ส่วนโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ชารจ์ เป็นของนักเรียนที่ทางโรงเรียนยึดไว้ เพราะโรงเรียนออกกฎห้ามไม่ให้นักเรียนนำโทรศัพท์มาใช้ในโรงเรียน ซึ่งที่ผ่านมามีการยึดหลายรอบแล้ว แต่นักเรียนก็ยังนำมาอีก ส่วนปุ๋ยยูเรียเป็นของบุคคลกรโรงเรียนที่อาศัยอยู่ภายในโรงเรียน ใช้ใส่ปุ๋ยต้นยางพาราและปลูกแตงโ

นายอิบรอฮีม กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีบุคคลที่ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุไม่สงบ ส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามพ่อมิ่งนั้น ทางโรงเรียนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เพราะไม่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียนแล้ว โรงเรียนนำหลักสูตรการเรียนการสอนของรัฐมาใช้ ส่วนนักเรียนทั้งหมดให้เป็นนักเรียนประจำ พักอยู่ในหอพัก มีกิจกรรมการเรียนการสอนตั้งแต่เช้ามืด จนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. อยู่ในสายตาของโรงเรียนตลอด และไม่มีผู้บริหารโรงเรียนไหนต้องการให้โรงเรียนได้รับผลกระทบเช่นนี้

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลูกอีสานทำวิจัย ต้านเขื่อนไซยะบุรี

Posted: 28 Apr 2012 02:48 AM PDT

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) ร่วมกับโครงการฟื้นฟูนิเวศน์ในภูมิภาคแม่น้ำโขง เสนอรายงานผลการศึกษา “ผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำโขงจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ต้านเขื่อนไซยะบุรี
 
 
เมื่อวันนี้ 27 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ชาวบ้านภายใต้เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) ร่วมกับโครงการฟื้นฟูนิเวศน์ในภูมิภาคแม่น้ำโขง จัดประชุมเสนอรายงานผลการศึกษา “ผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำโขงจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ที่ อ.พระธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งผลการศึกษาชี้ชัดว่าเขื่อนในแม่น้ำโขงจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำโขงอย่างร้ายแรง พร้อมทั้งได้เรียกร้องให้มีการหยุดหารสร้างเขื่อนไซยะบุรีโดยทันที
 
คสข. ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ได้จัดทำวิจัยในพื้นที่ 8 ตำบลใน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน รวมทั้งหมด 8 หัวข้อคือ 1) การเกษตรริมฝั่งโขง 2) ปัญหาตลิ่งพัง 3) นาข้าวที่ใช้น้ำจากแม่น้ำโขง 4) การประมง 5) การเพาะพันธุ์ปลา 6) การเลี้ยงปลากระชัง 7) การท่องเที่ยว และ 8) การค้าชายแดน    
 
ผลการวิจัยได้สรุปอย่างชัดเจนว่าเขื่อนในแม่น้ำโขงจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำโขงอย่างร้ายแรง รวมไปถึงผลกระทบด้านอื่นๆอีกจำนวนมาก การสร้างเขื่อนจะทำลายแหล่งความมั่นคงทางอาหารหลักของโลก มูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเสียหายจากผลกระทบของการสร้างเขื่อนนั้นมีมากกว่ามูลค่าของการสร้างเขื่อน อารยะธรรมลุ่มน้ำโขงจะสูญเสียไปอย่างเรียกร้องกลับคืนมาไม่ได้
 
ดังนั้น คสข. รวมทั้งเครือข่ายที่รวมกันในนาม เครือข่ายพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิดภาคอีสาน เพื่อการปกป้อง ดิน น้ำ ปลา ป่า แร่  จึงเรียกร้องให้ หยุดโครงการเขื่อนไซยะบุรีทันที พร้อมทั้งระงับการก่อสร้างในพื้นที่ จนกว่าการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนจะแล้วเสร็จ มีการเผยแพร่ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน และมีส่วนร่วม
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิพากษา "สุรชัย" รับสารภาพเลือ 2 ปี 6 เดือน รวมคดีเก่ายอดพุ่ง 10 ปี ส่วน "สมยศ" ไม่ได้ประกันอีก

Posted: 28 Apr 2012 01:35 AM PDT

พิพากษาจำคุก 5 ปี "สุรชัย แซ่ด่าน" หมิ่นเบื้องสูง รับสารภาพเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน ศาลสั่งโทษเก่า 3 สำนวน รวมจำคุก 10 ปี ด้านทนายยื่นประกัน "สมยศ" ศาลยันไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 55 ที่ผ่านมาศาลนัดสอบคำให้การจำเลยคดีหมิ่นเบื้องสูง อ.1177/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสุรชัย แซ่ด่าน หรือ ด่านวิวัฒนานุสรณ์ อายุ 70 ปี แกนนำกลุ่มแดงสยาม  เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 
 
โดยคีดนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 55 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 5 -  6  ก.พ. 54  เวลากลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยบังอาจกล่าวปราศรัยบนเวทีชั่วคราวด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี  และองค์รัชทายาท เหตุเกิดบนเวทีปราศรัยชั่วคราวลานวัดสามัคคีธรรม ซ.ลาดพร้าว 64  แขวง - เขตวังทองหลาง ซึ่งศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังแล้วสอบถาม ซึ่งจำเลยแถลงให้การรับสารภาพไม่ต่อสู้คดี
 
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  พิพากษาให้จำคุก 5 ปี  ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยให้นับโทษจำเลยต่อในคดีหมิ่นเบื้องสูงของศาลอาญาอีก 3 สำนวน คดีแดง อ.503/2555  ,504/2555 และ505/ 2555 ที่ศาลอาญา พิพากษาให้จำคุก 7 ปี 6 เดือนด้วย เมื่อรวมโทษจำเลยทั้งหมดแล้ว จึงจำคุกสิ้น 10 ปี
 
ด้านโลกวันนี้รายงานว่านายคารม พลพรกลาง ทนายความของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา เพื่อประชาธิปไตย จำเลยในคดีหมิ่นเบื้องสูง กล่าวถึง การเรียกประกันตัว นายสมยศว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ได้ยื่นคำร้อง พร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดและที่ดิน รวมมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท จากการประกันตัว นายสมยศ ต่อศาลอาญารัชดาและศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องประตัว โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
นอกจากนี้ คำร้องที่ได้ยื่นต่อศาลอาญา เพื่อขอให้ส่งคำร้องยุติการพิจารณาคดีของ นายสมยศ ไว้เป็นการชั่วคราว และให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจาก ไม่ให้สิทธิ์จำเลยในการออกมาต่อสู้คดี แต่ศาลอาญา ก็ไม่ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญและพิจารณาคดีต่อไป ดังนั้น ตนจึงได้ไปยื่นคำร้องไว้ที่ ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และผลจาการยื่นคำร้องดังกล่าว ศาลอาญา ยังคงพิจารณาคดีต่อไปได้ แต่ยังไม่สามารถพิพากษา นายสมยศ ได้ เพราะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน โดย นายสมยศ มีกำหนดที่จะขึ้นศาลในนัดสืบพยานจำเลย คดีหมิ่นสถาบันในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอมเนสตี้ฯ ยื่นหนังสือจี้เชลล์จ่ายค่าเสียหายและกำจัดมลพิษจากน้ำมันรั่วในลุ่มแม่น้ำไนเจอร์

Posted: 28 Apr 2012 01:23 AM PDT

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 55 สมาชิกและอาสาสมัครแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (เอไอ ประเทศไทย) กว่า 20 คน เดินทางไปยื่นหนังสื่อถึงคุณพิศวรรณ  อัชนะพรกุล ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาดค้าปลีก  เพื่อเรียกร้องไปยังผู้บริหารสูงสุดบริษัทน้ำมันเชลล์ นายปีเตอร์ โวเซอร์ ให้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายและกำจัดมลพิษอันเกิดจากการรั่วไหลของน้ำมันในลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ ทั้งนี้มีผู้ร่วมลงนามผ่านทางโปสการ์ดรณรงค์ในเรื่องนี้เกือบ 1,000 รายชื่อ
 
“การปนเปื้อนทางน้ำมันส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สารพิษที่ปนเปื้อนเป็นอุปสรรคต่อชาวบ้านในการได้รับน้ำดื่มและอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ทั้งยังเป็นการเสี่ยงต่อสุขภาพพลานามัยของผู้คนหลายพันคน โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านผู้ยากไร้ ไนเจอร์ เราต้องการให้เชลล์แสดงความรับผิดชอบด้วยจำนวนเงินเริ่มต้นหนึ่งพันล้านบาทในการขจัดมลพิษและปรับปรุงสภาพแวดล้อมซึ่งถูกทำลายจากกรณีที่น้ำมันรั่วไหล” นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล เอไอ ประเทศไทย กล่าว
 
พวกเราเรียกร้องให้ บริษัทเชลล์แสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบอันร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากมลภาวะทางน้ำมันในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ดังนี้
 
· จัดสรรเงินจำนวนหนึ่งพันล้านบาทตามการประเมินของ UNEP ซึ่งเงินจำนวนนี้จะเป็นเงินเริ่มต้นในการจัดตั้งกองทุนอิสระในการทำความสะอาดมลภาวะที่เกิดจากน้ำมันรั่วไหลในโอโกนิแลนด์
 
· ทำความสะอาดมลภาวะที่เกิดจากน้ำมันรั่วไหลและส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของสภาวะแวดล้อมในโบโดอย่างครอบคลุม โดยต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกับชุมชน
 
· จัดให้มีการทบทวนอย่างโปร่งใสต่อกระบวนการการจัดการทั้งหมดในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการในการทำความสะอาด การสืบสวนการรั่วไหลของน้ำมัน การปรึกษาหารือกับชุมชน และการจ่ายเงินค่าชดเชยความเสียหาย
 
· สนับสนุนต่อความจำเป็นที่ยังต้องมีการประเมินอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบที่จะเกิดจากมลภาวะทางน้ำมันในพื้นที่อื่นๆ ที่มีการขุดเจาะน้ำมันในบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์
 
· รับผิดชอบค่าชดเชยต่อทุกชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเพียงพอและเป็นธรรม.
 
ข้อมูลพื้นฐาน
 
บริเวณลุ่มน้ำไนเจอร์ (Niger Delta) เป็นแหล่งสะสมน้ำมัน มหาศาลและมีค่ามากแต่ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ จากประชาชนทั้งหมด 31 ล้านคน กลับอาศัยอยู่อย่างยากจน เป็นเวลานานกว่าทศวรรษที่มลภาวะซึ่งเกิดจากการขุดเจาะน้ำมันในลุ่มน้ำ ไนเจอร์ได้ก่อให้เกิด การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
 
บริษัทเชลล์ได้สัมปทาน 80% ของการกลั่นน้ำมันและแก๊สในบริเวณนี้การดำเนินงานของบริษัทที่สร้างความเสีย หายให้กับพื้นที่นั้นได้ปล้นสิทธิมนุษยชนไปจากประชาชนและผลักให้ พวกเขาจมอยู่กับความยากจน  แทนที่รัฐบาลของไนจีเรียจะปกป้องประชาชนของตนเองแต่กลับละเลยให้พวกเขาให้ อยู่กับมลพิษจากบริษัทน้ำมัน
 
ผลกระทบจากการดำเนินการของเชลล์ต่อสิทธิมนุษยชน 
 
ในเดือนสิงหาคม 2551 ท่อส่งน้ำมันของเชลล์รั่ว และมีน้ำมันมากกว่า 1,600 บาเรล ปนเปื้อนในลำน้ำท้องถิ่นที่โบโด (Bodo Creek) นี่เป็นเรื่องเศร้าบทหนึ่งจากมลภาวะที่เชลล์ก่อขึ้น และรัฐบาลประเทศไนจีเรียไม่เคยควบคุมดูแลน้ำมันรั่วการเผาไหม้ของแก๊สและมลภาวะทั้งหมดนี้กำลังส่งผลกระทบอันเลวร้ายต่อผืนดินและแหล่งน้ำของชุมชน ประชาชนท้องถิ่นต้องดื่มน้ำที่ปนเปื้อนมลภาวะ กินปลาที่มีสารพิษปนเปื้อน เพาะปลูกบนที่ดินที่ถูกแย่งชิง และหายใจเอาอากาศที่มีแต่กลิ่นน้ำมันและแก๊ส  
 
เชลล์กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนท้องถิ่นดังนี้ 
 
·สิทธิที่จะมีน้ำสะอาดอุปโภคและบริโภค 
 
·สิทธิที่จะสามารถประกอบอาชีพ 
 
·สิทธิที่มีสุขภาพที่ดีและอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
 
Rounded Rectangle: **แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (AI) คือกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวรณรงค์ต่อสู้เพื่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ปัจจุบันมีสมาชิกสามล้านคนใน 150 ประเทศและดินแดน สำหรับประเทศไทยมีสมาชิกประมาณ 900 คน  
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยอดพล เทพสิทธา: ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งมหานครในระดับท้องถิ่น

Posted: 27 Apr 2012 11:34 PM PDT

ปัญหาชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยนั้นถือเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอชี้แจงก่อนว่าผู้เขียนนนั้นไม่ได้ศึกษาในทางประวัติศาสตร์ดังนั้นในงานชิ้นนี้จะไม่ลงไปถึงรายละเอียดในเชิงประวัติศาสตร์มากนักแต่จะเป็นการวิเคราะห์ในความเป็นไปได้ทางกฎหมายเท่านั้น ในอดีตการปกครองของไทยมีลักษณะของการปกครองแบบหัวเมืองจนมาถึงในยุคของรัชกาลที่5ที่มีการจัดตั้งมณฑลขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะใช้การปกครองในรูปแบบใดผู้ปกครองที่มักจะถูกส่งมาจากส่วนกลางจะต้องประสบปัญอย่างหนึ่งคือการที่ไม่สามารถเข้าถึงและเข้าใจประชากรในท้องถิ่นนั้นๆได้อันเนื่องมาจากความแตกต่างในแง่ของเชื้อชาติ ศาสนาและยังรวมถึงความเชื่อที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย ปัญหาด้านความแตกต่างนี่เองที่เรื้อรังมาจนกลายเป็นความไม่เข้าใจและการต่อต้านอำนาจรัฐ(ส่วนกลาง)แม้ว่าจะได้มีความพยามในการแก้ไขปัญหานี้มาตั้งแต่ในอดีตและรวมถึงข้อเสนอของฮัจยีสุหลงที่ได้เสนอต่อนายปรีดี พนยมยงค์จนมาถึงข้อเสนอในการจัดตั้งปัตตานีมหานครในปัจจุบัน หากสังเกตแล้วจะพบว่าปัญหาเหี่ยวกับอำนาจในการจัดการตนเองของภาคใต้นั้นมักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจรัฐในทุกยุคทุกสมัยหากเป็นการสนใจแล้วก็จะเป็นในลักษณะของการปฏิเสธเสียมากกว่า สิ่งที่ได้เกริ่นมาทั้งหมดนั้นผู้เขียนไม่ได้จะสื่อสารว่าการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษแบบมหานครหรือการให้อำนาจในการปกครองตนเองนั้นจะสามารถแก้ไขปัญหาของภาคใต้ได้อย่างเด็ดขาดแต่หากเป็นเพียงอีกเสียงสะท้อนหนึ่งเท่านั้น

 

ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษ

ในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นรูปแบบพิเศษนั้นหากศึกษาถึงรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วโลกแล้วพบว่าในแต่ละประเทศจะมีการจัดตั้งรูปแบบขององค์กรกระจายอำนาจที่แตกต่างกันทั้งนี้ปัจจัยต่างๆอาจขึ้นอยู่กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ เชื้อชาติของประชากร ภาษา ศาสนาแะประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ตัวอยางเช่นการจัดการปกครองในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่ประชากรมีความหลากหลายทั้งประชากรที่พูดภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสเป็นต้น อย่างไรก็ตามในการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจนั้นมีเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นชื่อขององค์กรกระจายอำนาจ อาณาเขตพื้นที่ ความหลากหลายของประชากร อำนาจขององค์กรกระจายอำนาจและการได้มาของงบประมานในการบริหารงาน

  1. ชื่อขององค์กรกระจายอำนาจ โดยหลักแล้วชื่อขององค์กรกระจายอำนาจมักจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่นักเพราะมักจะตั้งตามอาณาเขตของดินแดนนั้นๆหรือตั้งตามประวัติศาสตร์ของดินแดนเหล่านั้นตัวอย่างของการตั้งชื่อองค์กรกระจายอำนาจในฝรั่งเศสเองหากเป็นในระดับเทศบาลมักจะเป็นชื่อที่มีความเป็นมายาวนานอยู่แล้วแต่ถ้าเป็นองค์กรกระจายอำนาจระดับภาคนั้นเพิ่งจะมีการตั้งชื่อกันใหม่ในปี1972นี่เองโดยการตั้งชื่อขององค์กรกระจายอำนาจในระดับภาคนี้จะต้องคำนึงถึงท้องถิ่นในระดับด่างๆที่มารวมกันโดยหาจุดร่วมกัน ในส่วนของไทยนั้นการจะจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจนั้นการตั้งชื่อของตัวตัวองค์กรเองควรที่จะสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้นๆและไม่ควรนำชื่อของท้องถิ่นใดแห่งหนึ่งมาเป็นชื่อขององค์กรกระจายอำนาจที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่
  2. เรื่องของอาณาเขตพื้นที่นั้นอาจถือได้ว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นปัจจัยแรกที่จะนำมาสู่การจัดเขตอำนาจขององค์กรกระจายอำนาจเองรวมถึงการกำหนดเขตแดนทางกฎหมายในกรณีที่มีการใช้กฎหมายที่แตกต่างกัน เช่น กรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้กฎหมายศาสนาในข้อพิพาทบางประการเป็นต้น ดังนั้นการกำหนดเขตพื้นที่จึงต้องกระทำโดยศึกษาถึงเขตพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งองค์กรกระจายอำนาจขึ้นมามิฉะนั้นอาจนำมาซึ่งปัญหาใหม่ๆและโดยที่ปัญหาเดิมก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย
  3. ความหลากหลายของประชากร ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวเนื่องจากประชากรแต่ละกลุ่มย่อมมีความเชื่อที่แตกต่างกันไปดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือข้อเสนอของฮัจยีสุหลง ในข้อ1และ2 ที่ว่า ให้มีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงโดยมีอำนาจในการศาสนาอิสลามและมีอำนาจในการแต่ตั้งข้าราชการในสี่จังหวัดอย่างสมบูรณ์และให้ออกโดยเหตุประการต่างๆผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสูงนี้จะต้องเป็มุสลิมในสี่จังหวัดนี้(หมายถึง สตูล ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส)และเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากปวงชนมุสลิมภาคนี้ และข้อสองคือ ข้ราชการในสี่จังหวัดนี้ในแต่ละแผนกจะต้องมีอิสลามประมานแปดสิบเปอร์เซนต์ หากสังเกตจากข้อเสนอเบื้องต้นดังกล่าวจะพบว่ามีการจำกัดสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนเชื้อสายอื่นไว้อย่างชัดเจนแม้ว่าผู้นำสูงสุดเองจะต้องมาจากการเลือกตั้งแต่คุณสมบัติเบื้องต้นคือต้องเป็นมุสลิม ข้อเสนอดังกล่าวนี้เองที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชากรทุกคนมีสิทธิทางการเมืองอย่างเสมอภาคกันดังนั้นการที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิลงสมัครเป็นผู้นำสูงสุดต้องเป็นมุสลิมจึงเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาค ดังตัวอย่างของร่างกฎหมายเกี่ยวกับสัดส่วนของสมาชิกสภาท้องถิ่นของฝรั่งเศสฉบับหนึ่งที่กำหนดสัดส่วนของผู้หญิงไว้ว่าต้องสำรองที่ให้ให้เพศหญิงจำนวนเท่าไหร่ซึงคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายฉบับบนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการจะจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจจึงต้องคำนึงถึงประชากรทุกคนเป็นหลักและต้องไม่ละเลยที่จะพูดถึงประชากรส่วนน้อยด้วย
  4. อำนาจขององค์กรกระจายอำนาจ หากกล่าวอีกนัยหนึ่งในประเด็นของอำนาจนั้นคือเรื่องของการตรากฎหมายเพื่อกำหนดว่าองค์กรกระจายอำนาจนั้นมีอำนาจและหน้าที่อย่างไรบ้าง หากเทียบเคียงกับอำนาจและหน้าที่ขององค์กรกระจายอำนาจในปัจจุบันนั้นจะพบว่าอำนาจหน้าที่โดยมากขององค์กรกระจายอำนาจนั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่กล่าวคือจัดทำบริการสาธารณะในท้องถิ่นนั้นๆนอกจากนั้นยังมีอำนาจพิเศษทางเทคนิคซึ่งได้แก่อำนาจในการจัดสรรงบประมานเป็นต้น หากมีการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษขึ้นจะส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้องเนื่องจากอำนาจหน้าที่ที่เคยมีอยู่เดิมจะต้องถูกจัดสรรใหม่รวมทั้งอาจต้องมีการยกเลิกองค์กรกระจายอำนาจบางประเภทที่มีเขตอำนาจทับซ้อนกัน
  5. การได้มาซึ่งงบประมาณในการบริหารงาน โดยทั่วไปแล้วรายได้ขององค์กรกระจายอำนาจมาจากสองแหล่งด้วยกัน ได้แก่ งบประมานจากรัฐและการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆในท้องถิ่น เมื่อมีการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษแล้วนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันคืออาณาเขตและจำนวนประชากรดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าอาณาเขตและจำนวนประชากรนั้นจะสัมพันธ์กับรายได้เสมอหากท้องถิ่นใดมีอาณาบริเวณมากแต่มีประชากรน้อยยอมทำให้ไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีได้ตามที่ต้องการและยังเป็นการสร้างภาระอีกด้วยเพราะต้องใช้งบประมานมากในการบริหารจัดการพื้นที่อันกว้างขวางในทางกลับกันการจัดสรรพื้นที่เพื่อกำหนดขอบเขตของรายได้ก็เป็นประเด็นสำคัญเช่นกันหากมีการรวมกันของกลุ่มพื้นที่ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกันย่อมจะทำให้ส่วนที่เหลือนั้นเหลือแต่ท้องถิ่นที่ไม่สามารถจัดหารายได้ได้อย่างเพียงพอมารวมกันซึ่งจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ส่วนกลางเป็นอันมาก ดังนั้นการจัดสรรพื้นที่จึงสัมพันธ์กับการงบประมานโดยตรง

กล่าวโดยสรุปคือการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษนั้นมีความเป็นไปได้แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆอีกด้วยซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

 

รูปแบบขององค์กรกระจายอำนาจที่จะถูกจัดตั้งขึ้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจลักษณะของไทยว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ไทยเป็นรัฐเดี่ยวดังนั้นองค์กรที่จะถูกจัดตั้งขึ้นใหม่นั้นต้องไม่กระทบต่อหลักการของรัฐเดี่ยวดังนั้นรูปแบบที่เป็นไปได้มากที่สุดคือจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษปัญหาที่ต้องทบทวนต่อมาคือ ในปัจจุบันกฎหมายกำหนดองค์กรปกคองส่วนท้องถิ่นไว้ห้าประเภท ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด พัทยาและกรุงเทพมหานครหากจะมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่ขึ้นจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมหรือร่างกฎหมายใหม่เพื่อรองรับองค์กรใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น ปัญหาที่ต้องพิจารณาประการต่อมาคือจะจัดตั้งในรูปแบบใดเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับรูปแบบเดิมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิม

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเดิมนั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชากรในพื้นที่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในพื้นที่ที่ค่อนข้างอ่อนไหวซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยนั้นยังยึดติดกับการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นอย่างมากหรือกล่าวง่ายๆคือตัวแทนจากส่วนกลางยังมีอิทธิพลมากต่อส่วนท้องถิ่นหากสังเกตจากพระราชบัญต่างๆที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะพบว่ากฎหมายให้อำนาจในการกับกับดูและแก่ตัวแทนของรัฐในส่วนภูมิภาคมากไม่วาจะเป็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมถึงยังมีส่วนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นซึ่งไปสัมพันธ์กับการจัดสรรงบประมานจากส่วนกลางอีกด้วยนอกจากนี้ตัวแทนของรัฐเองยังมีอำนาจหน้าที่ที่ไปทับซ้อนกับอำนาจของส่วนท้องถิ่นบางประการในทางปฏิบัติแน่นอนว่าส่วนกลางย่อมที่จะต้องสงวนอำนาจของตนเองไว้และไม่ยินยอมที่จะกระจายอำนาจอย่างแท้จริงนอกจากนี้ตัวแทนจากส่วนกลางมักจะเข้าไม่ถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและอาจมีเวลาในการทำงานน้อยเกินไปเนื่องจากการโยกย้ายนั้นเป็นสิทธิ์เฉพาะตัวของรัฐบาลที่จะแต่งตั้งหรือให้ย้ายก็ได้จึงทำให้ขาดความต่อเนื่องในการทำงานซึ่งผิดกับในส่วนท้องถิ่นเพราะมีที่มาจกการเลือกตั้งโดยตรงของประชากรในพื้นที่

อย่างไรก็ตามมีรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในต่างประเทศที่น่าสนใจคือของประเทศอิตาลีและสเปน โดยในส่วนของประเทศอิตาลีนั้นลักษณะขององค์กรปกครองส่วนทท้องถิ่นจะคล้ายกับภาคของฝรั่งเศสแต่จะมีอำนาจและความเป็นอิสระที่มากกว่าซึ่งรูปแบบนี้จะใกล้เคียงกับรูปแบบของมลรัฐแต่ยังอยู่ในความเป็นรัฐเดี่ยวโดยที่รัฐธรรมนูญของอิตาลีในมาตรา 5 ได้บัญญัติว่าสาธารณะรัฐต้องตระหนักและส่งเสริมอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งลักษณะของการปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวเรียกว่าEtat régional ลักษณะพิเศษขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบนี้คืออำนาจที่กว้างขวางในการตรากฎหมายกล่าวคือในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทนี้สามรถที่จะตรากฎหมายเองได้แต่ต้องเป็นกรณีที่กำหนดไว้ในรัฐธรมนูญเท่านั้น ซึ่งทำให้ในแต่ละท้องถิ่นอาจมีกฎหมายที่ไม่เหมือนกันเช่นเดียวกับรูปแบบมลรัฐได้แต่ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังอยู่ภายใต้ระบบรัฐเดี่ยว

กลับมาดูในส่วนของไทยปัญหาที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้นจะเห็นว่าผู้เขียนเน้นไปที่ส่วนกลางแต่อย่างไรก็ตามการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจโดยปราศขากการกำกับดูแลจากส่วนกลางย่อมเป็นไปไม่ได้ แน่นอนว่าองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบใหหม่นี้จะต้องเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่จะออกมาในรูปแบบใด?

ในข้อเสนอต่างที่พบตามสื่อสิ่งพิมพ์จะพบเห็นคำว่าปัตตานีมหานคร นครปัตตานี มากที่สุด เมื่อลงไปอ่านในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่าเป็นการรวมกลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมหลายๆแห่งด้วยกันเช่น อาจจะรวมอาณาเขตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของสงขลาและจัดตั้งขึ้นเป็นปัตตานีมหานครขึ้น ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือรูปแบบนี้เหมาะสมแล้วหรือยังกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และหากมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษโดยเฉพาะในภาคใต้แล้วจะกระทบต่อหลักความเท่าเทียมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่

แน่นอนว่าเมื่อมีการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษขึ้นนั้นย่อมที่จะต้องถูกจัดตั้งขึ้นเหมือนกันในทั่วทุกภาคของไทย สิ่งที่ต้องพิจารณาคือหากจะใช้โมเดลของมหานครนั้นจะจัดสรรพื้นที่กันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายทรัพยากรและปัญหาที่ตามมาคือสถานะของข้าราชที่เป็นตัวแทนของส่วนกลางว่าจะมีสถานะและอำนาจอย่างไร

รูปแบบที่ผู้เขียนจะเสนอต่อไปนี้ผู้เขียนได้นำโมเดลมาจากภาคของฝรั่งเศสผสมกับอำนาจของโมเดลอิตาลีและสเปน กล่าวคือ ให้คงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมไว้ ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ไว้ทั้งหมดแต่อาจต้องมีการยุบรวมบางแห่งในกรณีที่ไม่สมารถจัดการบริการได้อย่างทั่วถึงหรือไม่อาจบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังต้องมีการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบใหม่ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ระดับภาค(région) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของพื้นที่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกันโดยไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งตามคำเรียกภาคในปัจจุบันซึ่งก็คือเหนือใต้ตะวันออกและตะวันตกและอาจไม่ต้องจัดตั้งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ขนาดมณฑลในอดีตอาจตั้งโดยการรวมอาณาเขตของจังหวัดที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันและมีความคล้ายคลึงกันทางเชื้อชาติภาษาและวัฒนธรรมก็เป็นได้โดยอาจแบ่งรูปแบบขององค์กรกระจายอำนาจรูปแบบใหม่และเก่าได้ดังนี้

1.องค์กรกระจายอำนาจระดับภาคหรือมหานคร 2.องค์การบริหารส่วนจังหวัด 3.เทศบาล 4.องค์การบริหารส่วนตำบล 5.กรุงเทพมหานครและ 6.พัทยา โดยที่องค์กรกระจายอำนาจระดับภาคหรือมหานครนั้นจะมีขนาดใหญ่ที่สุดเพราะเป็นการรวมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นเข้าด้วยกัน

อำนาจหน้าที่ขององค์กรกระจายอำนาจใหม่ที่จะถูกตั้งขึ้น

ในส่วนของอำนาจขององค์กรกระจายอำนาจนั้น เมื่อเป็นองค์กรขนาดใหญ่อำนาจย่อมไม่จำเป็นที่จะต้องลงไปในรายละเอียดปลีกย่อยเฉกเช่นองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือในระดับเทศบาล อำนาจขององค์กรกระจายอำนาจที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ควรจะเป็นไปในลักษณะของการวางแนวทางหรือนโยบายในการพัฒนา การจัดทำบริการสาธารณะขนาดใหญ่เช่นการจัดการขนส่งระหว่างภาคหรือจังหวัด นอกจากนี้องค์กรนี้ควรจะเป็นองค์กรหลักในการวางแผนพัฒนาเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มารวมกันนั้นพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันไม่ใช่พัฒนาอย่างตัวใครตัวมันเฉกเช่นปัจจุบัน นอกจากนี้สิ่งที่ควรต้องเพิ่มเข้ามาคืออำนาจในการตรากฎหมายของตนเองแต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดเนื่องจากแต่ละท้องถิ่นย่อมมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันเพราะฉนั้นรัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดกรอบของกฎหมายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถตราได้โดยอิสระ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีอำนาจในทางนิติบัญญัติแล้วจะทำให้องค์กรกระจายอำนาจเป็นอิสระจากรัฐหากแต่ยังเป็นองค์กรภายใต้รัฐที่ได้รับมอบอำนาจมาเท่านั้น ดังนั้นหากมีแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบใหม่ขึ้นจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในแง่ของอำนาจหน้าที่ขององค์กรกระจายอำนาจแห่งใหม่นี้ให้ชัดเจนด้วย เพื่อป้องกันความคลุมเครือในการตีความกฎหมายในภายหลัง

การกำกับดูแลก็เช่นกันเนื่องจากเป็นการรวมตัวกันของพื้นที่ในหลายจังหวัดครั้นจะตั้งตำแหน่งใหม่จากส่วนกลางก็น่าจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมานและกำลังคนโดยใช่เหตุผู้เขียนมีแนวความคิดให้ตั้งจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งในองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบใหม่ขึ้นเป็นเมืองหลวงของมหานครนั้นๆและให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการต่างๆของมหานครนั้นๆไปโดยจะต้องมีการกำหนดเขตอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดใหม่เพื่อให้ตอบสนองต่องค์กรใหม่ที่จะเกิดขึ้น

การจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบมหานครขึ้นนั้นอาจไม่ได้ตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้แต่อย่างน้อยก็เป็นการเปิดมิติใหม่ในการเพิ่มอำนาจในการจัดการตนเองของท้องถิ่นโดยการลดอำนาจและความสำคัญจากส่วนภูมิภาคลงให้เหลือเพียงแค่การกำกับดูแลเท่าที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น