ประชาไท | Prachatai3.info |
- สภาประชาชน 4 ภาค ปักหลักกางเต็นท์หน้าทำเนียบ ทวงสัญญารัฐบาล
- กับแกล้มข่าว: ‘เมื่อสับปะรดเริ่มไม่เป็นสับปะรด’ โรงงานหยุดผลิต-ชาวสวนเตรียมปิดถนน
- 18มงกุฎขอ 4% รับวิ่งเต้นเงินเยียวยาไฟใต้ 7.5ล้าน
- 2 สภาลงมติเห็นชอบให้นำผลวิจัยปรองดองมาพิจารณา
- จดหมายจากภรรยา 'อากง' ถึง 'วรเจตน์'
- เดินหน้าร้องรัฐฯ 20 ปี แก้ปัญหาเขื่อน “โครงการโขง-ชี-มูล” ไม่คืบ
- จุดเปลี่ยนที่ต้องจับตามองของนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ
- ดีเดย์ 1 เมษา ไม่โกหก รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินก่อน ถามสิทธิและเงินทีหลัง
- แอมเนสตี้ ชี้ไทยเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังใช้โทษประหารชีวิต
- สหภาพโฮยายื่นหนังสือผู้ว่าลำพูน เตรียมพบ กมธ.แรงงาน 28 มี.ค. นี้
- "I Pad" เตรียมให้ปากคำอัยการ คดีหมิ่นฯ ที่ร้อยเอ็ด มีลุ้นคืบ
- "มัลลิกา" จี้ภาครัฐสร้างความชัดเจนกรณีตั้งอำเภอเสื้อแดง
สภาประชาชน 4 ภาค ปักหลักกางเต็นท์หน้าทำเนียบ ทวงสัญญารัฐบาล Posted: 27 Mar 2012 02:37 PM PDT เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน พร้อมสภาประชาชน 4 ภาค ชุมนุมหน้าทำเนียบฯ ทวงสัญญารัฐบาลวันที่ 2 จี้แก้ปัญหาหนี้สิน ที่ดินทำกิน ยันปักหลักรอนายกฯ รับดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม 27 มี.ค.55 บริเวณถนนพิษณุโลก ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล สภาเครือข่ายประชาชนภาคอีสาน (สอส.) สภาประชาชน 4 ภาค หลายร้อยคน ยังคงชุมนุมต่อเนื่องเพื่อทวงสัญญาข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เป็นวันที่ 2 โดยได้กางเต็นท์ปักหลักชุมนุมบริเวณริมถนน และหุงอาหารรับประทานเองตั้งแต่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ทั้งฝั่งทำเนียบ และฝั่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 มี.ค.55 ผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 7 กรณี ประกอบด้วย 1.การจัดสรรที่ดินรายละ 15 ไร่ 2.การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและข้าราชการ 3.การฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรและข้าราชการ 4.การเยียวยาสมาชิกเครือข่ายประชาชนอีสาน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บุกเผาไล่ที่ ต.คลอง 1 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 5.ทุนประกอบอาชีพของกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) รายละ 650,000 บาท 6.กรณีป่าไม้และที่ดินทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัย และ 7.การชดเชยโครงการอ่างเก็บน้ำ ฝาย และเขื่อนในภาคอีสาน ต่อนายประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมมีการตั้งเวทีปราศรัยโดยนำพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาประดับเวที พร้อมผลัดกันขึ้นปราศรัยถึงความเดือดร้อนที่แต่ละเครือข่ายได้รับ นายอุทัยรัตน์ ปรีชา โฆษกสภาประชาชน 4 ภาค กล่าวยืนยันว่าจะปักหลักชุมนุมจนกว่ารัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะให้คำตอบที่เป็นรูปธรรมต่อการแก้ไขปัญหาของสภาเครือข่ายฯ เนื่องจากการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและเร่งรัดรัดแก้ไขปัญหาของสภาเครือข่ายฯ ตามคำสั่งที่ 150/2554 ลงวันที่ 1 ก.ย.54 ที่ผ่านมากว่า 8 เดือน ไม่มีผลในการปฏิบัติจริง อีกทั้งก่อนหน้านี้ นายสุรทิน พิจารณ์ คณะทำงานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ลาออกจากประธานคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดแก้ไขปัญหาของสภาเครือข่ายฯ โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถทำงานได้ “รัฐบาลมีเครื่องมือคือราชการ แต่ราชการไม่ใช้หลักรัฐศาสตร์และเมตตาธรรมในการดูแลประชาชน มี 2 มาตรฐาน โดยคนด้อยโอกาสขาดการดูแล ขณะที่พรรคพวกเพื่อนพ้องของข้าราชการและนักการเมืองบางส่วนรับผลประโยชน์เต็มที่” นายอุทัยรัตน์กล่าว นายอุทัยรัตน์กล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาของสภาเครือข่ายฯ หากกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมไปถึงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รับไปดำเนินการก็จะสามารถแก้ไขได้ทันที อย่างไรก็ตามหากข้อเรียกร้องไม่ได้รับการแก้ไข สมาชิกเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศก็พร้อมที่จะเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมเรื่อยๆ ทั้งนี้ สภาเครือข่ายประชาชนภาคอีสาน (สอส.) สภาประชาชน 4 ภาค เริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวปัญหาราคามันตกต่ำในภาคอีสาน แล้วเครือขายครอบคลุมปัญหาต่างๆ ทั่วประเทศ จึงมาเป็นสภาประชาชน 4 ภาค และมีกลุ่มร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) เข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องการแก้ปัญหาด้วย “กลุ่มเราไม่ได้ทำความเดือดร้อน แต่มาเพื่อรักษาแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลาน เพื่อลดช่องว่างของสังคม ธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” นายอุทัยรัตน์กล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
กับแกล้มข่าว: ‘เมื่อสับปะรดเริ่มไม่เป็นสับปะรด’ โรงงานหยุดผลิต-ชาวสวนเตรียมปิดถนน Posted: 27 Mar 2012 12:17 PM PDT ประเด็น ‘สับปะรด’ กำลังฮอตฮิต เมื่อโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องทั่วประเทศพร้อมใจกันหยุดสายการผลิต เพราะประสบปัญหาปัญหาส่งออกและสินค้าเก่าค้างสต็อก และชาวไร่สับปะรดออกขู่ปิดถนนจี้รัฐเร่งแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด.. ลองมาดูเกร็ดตัวเลขว่าด้วยเรื่องนี้กัน เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 55 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายสุรัตน์ มุนินทรวงศ์ นายกสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย และประธานกลุ่มผู้ปลูกสับปะรด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ให้ความสนใจในการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 800 ล้านบาท เพื่อรับซื้อผลผลิตส่วนเกินทั่วประเทศกว่า 2 แสนตัน ออกนอกระบบ หลังจากที่สมาคมฯ ได้เสนอแผนเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตสับปะรดที่คาดว่าจะล้นกำลังการผลิตของโรงงานในช่วงเดือน มี.ค.– มิ.ย.นี้ จำนวนกว่า 250,000 ตัน ในพื้นที่เพาะปลูก 15 จังหวัดทั่วประเทศ โดยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่จดทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในราคา กก.ละ 4 บาท แต่ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท ซื้อผลผลิตออกนอกระบบ โดยอ้างว่าจะนำเงินดังกล่าวไปให้โรงงานรับซื้อผลผลิตเพื่อนำไปแปรรูป แต่โรงงานแปรรูปได้ปฏิเสธ เนื่องจากขณะนี้ไม่มีโกดังเก็บสินค้า ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี และ จ.ราชบุรี พร้อมรวมตัวปิดถนนสายหลักในแต่ละพื้นที่ในวันที่ 30 มีนาคมนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด หลังจากโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องทั่วประเทศพร้อมใจกันหยุดสายการผลิต เนื่องจากประสบปัญหาภาวะการส่งออกและสินค้าเก่าค้างอยู่ในสตอกจำนวนมาก ทำให้โรงงานแจ้งงดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรทั่วประเทศโดยไม่มีกำหนด 0 0 0 ตัวเลขที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมสับปะรดไทย มีดังนี้ … ผลผลิตเพิ่มขึ้น ผลผลิตสับปะรดที่ออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม 2555 ประมาณ 0.24 ล้านตัน หรือร้อยละ 9.57 ของปริมาณผลผลิตรวม 2.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 0.21 ล้านตัน ของเดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 14.28 และเพิ่ม ขึ้นจาก 0.21 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 14.28 การส่งออกลดลง ปี 2555 เดือนมกราคม มีการส่งออกสับปะรดสดและผลิตภัณฑ์รวม 0.173 ล้านตันสด ลดลงจาก 0.186 ล้านตันสด ของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 6.99 ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ในปี 2555 ว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกสับปะรดสดและผลิตภัณฑ์ของไทยจะมีแนวโน้มลดลงโดยมีสาเหตุมาจากสับปะรดกระป๋องซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ากาส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ประมาณ 66% ของมูลค่าการส่งออกสับปะรดทั้งหมด จะมีแนวโน้มลดลงประมาณ 15-20% เนื่องจากคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจของผู้นำเข้าที่สำคัญชะลอตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ทำให้มีกำลังซื้อลดลง ราคาลดลง ช่วงนี้มีผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดประมาณวันละ 8,000 — 8,500 ตัน ในขณะที่ โรงงานแปรรูปลดกำลังการผลิตลงเหลือวันละ 7,000 ตัน เนื่องจาก ประสบปัญหามีสต็อกสินค้าคงคลังจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอการสั่งซื้อของตลาดต่างประเทศ ทำให้โรงงานกำหนดราคารับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรลดลง โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ สัปดาห์นี้ มีดังนี้ - สับปะรดโรงงานกิโลกรัมละ 2.92 บาท ลดลงจาก กิโลกรัมละ 3.09 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 5.50 และลดลงจากกิโลกรัมละ 6.46 บาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 51.80 - สับปะรดบริโภคกิโลกรัมละ 7.30 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 7.35 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.68 และลดลงจากกิโลกรัมละ 9.19 บาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20.56 ผลิตผลต่ำกว่าคู่แข่ง ในปี 2553 พบว่าไทยมีผลผลิตต่อไร่ต่ำและต้นทุนสูง โดยผลผลิตสับปะรดเฉลี่ยต่อไร่ของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำเพียง 3.7 ตัน/ไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญอย่างฟิลิปปินส์ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ประมาณ 5.4 ตัน/ไร่ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของไทยนั้นสูงกว่าฟิลิปปินส์ ซึ่งต้นทุนการผลิตของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.8 บาท/กก. ไทยเบอร์หนึ่งของโลก ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสับปะรดกระป๋องอันดับ 1 ของโลกด้วยมูลค่าการส่งออกปีละ 20,000 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50 ของมูลค่าตลาดสับปะรดโลกโดยในปี 2553 สับปะรดกระป๋องมีมูลค่าการส่งออกจำนวน 13,644 ล้านบาท สำหรับปี 2554 ส่งออกเพิ่มเป็น 19,131 ล้านบาท ส่วนน้ำสับปะรดกระป๋อง พบว่าปี 2553มีมูลค่าส่งออกจำนวน 6,614 ล้านบาท และปี 2554 มีมูลค่าส่งออกจำนวน 6,825 ล้านบาท สหรัฐอเมริกาตลาดใหญ่สุด ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้นำเข้าสับปะรดรายใหญ่ที่สุดในโลก และประเทศไทยก็ส่งออกสับปะรดไปยังสหรัฐฯ มากที่สุดด้วยเช่นกัน จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่าในปี 2554 ตลาดส่งออกสับปะรดกระป๋องของไทย 5 อันดับแรกของ ได้แก่ สหรัฐฯ (ร้อยละ 23.4) เยอรมนี (ร้อยละ 8.5) รัสเซีย (ร้อยละ 5.2) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 4.6) และสเปน (ร้อยละ 4.5) ในปี 2553 พบว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ ที่มีความต้องการสินค้าทั้งที่เน้นและไม่เน้นคุณภาพ แต่ต้องมีราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพของสินค้า ซึ่งผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่จะนิยมสับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรดที่มีคุณภาพ โดยสับปะรดที่มีคุณภาพดีส่วนใหญ่จะนำเข้าจากไทย และฟิลิปปินส์เป็นหลัก
ที่มาข้อมูล: กระทรวงพาณิชย์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
18มงกุฎขอ 4% รับวิ่งเต้นเงินเยียวยาไฟใต้ 7.5ล้าน Posted: 27 Mar 2012 10:08 AM PDT แก๊งค์ 18 มงกุฎหัวใส บุกบ้านเหยื่อสะบ้าย้อยขอส่วนแบ่ง 4% ขู่ถ้าไม่ให้อาจจะไม่ได้รับเงินเยียวยาก้อนโต “หมอเพชรดาว” แฉมีข้าราชการบางคน หักเงินเยียวยาชาวบ้าน จนถูกพักราชการมาแล้ว แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตเขต 15 ในฐานะคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายภาคใต้ เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 7.5 ล้านบาท เฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ เช่น กรณีตากใบ กรณีไอปาแย เป็นต้น แพทย์หญิงเพชรดาว กล่าวว่า ส่วนเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 จะได้รับเฉพาะกรณีที่เข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ เช่น นักฟุตบอล 19 คนของอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ที่ถูกเจ้าหน้าที่จ่อยิงทั้งที่วางอาวุธหมดแล้ว อย่างนี้เข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาให้ได้รับเงิน 7.5 ล้านบาท ส่วนกรณีอื่นๆ จะได้รับลดหลั่นกันไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ขณะนี้จึงยังไม่มีอะไรแน่ชัด ต้องรอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักเกณฑ์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเร็วๆ นี้ อีกครั้ง แพทย์หญิงเพชรดาว เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน มีนายหน้ามาเจรจากับญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ว่า สามารถดำเนินการให้ได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลประกาศ แต่ขอค่าดำเนินการร้อยละ 4 ของเงินที่ได้รับ พร้อมกับอ้างว่าถ้าไม่อนุญาตให้ตนดำเนินการแทน ไม่รับรองว่าจะได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทหรือไม่ จากนั้นได้นำเอกสารมาให้ญาติผู้เสียชีวิตลงนามยินยอมให้ดำเนินการแทน แพทย์หญิงเพชรดาว เปิดเผยต่อไปว่า มีชาวบ้านในอำเภอสะบ้าย้อยอีก 7 ครอบครัว ที่ยังไม่ได้ลงนามในเอกสารให้นายหน้าคนดังกล่าว ขณะนี้ทั้ง 7 ครอบครัวกังวลว่า จะไม่ได้รับเงินเยียวยา จึงมาขอคำปรึกษากับดิฉัน ตอนนี้ดิฉันต้องลงพื้นที่ ทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่ติดตามข้อมูลและความคืบหน้าการเยียวยา โดยเฉพาะในกรณีผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท และกรณีที่ต้องเยียวยาเพิ่มเติม และกรณีตกสำรวจ กรณีถูกควบคุมโดยใช้กฎหมายพิเศษ ถ้ามีผู้มาร้องขอส่วนแบ่งจากผู้ได้รับผลกระทบอย่าให้เด็ดขาด “ชาวบ้านร้องเรียนอีกว่า เจ้าหน้าที่พูดจาไม่สุภาพขณะยื่นเรื่องขอรับการเยียวยา และมีเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลเรื่องจ่ายเงินเยียวยา หักเงินเยียวยาที่ได้ชาวบ้านได้รับ ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่บางคน ถูกพักราชการเพราะหักเงินเยียยวยาที่ชาวบ้านได้รับ แต่ขณะนี้กลับมาทำงานแล้ว เป็นเรื่องน่าห่วง เพราะเท่ากับไปตอกย้ำความทุกข์ให้กับเหยื่อมากขึ้น” แพทย์หญิงเพชรดาว กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
2 สภาลงมติเห็นชอบให้นำผลวิจัยปรองดองมาพิจารณา Posted: 27 Mar 2012 09:48 AM PDT สภาลงมติเห็นชอบ 348 ต่อ 162 ให้นำผลวิจัยรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติมาพิจารณา ด้าน "พล.อ.สนธิ" ถูก ส.ส.ปชป.ด่า "ทรราชย์" เปิดสภาถกเดือดญัตติปรองดอง สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (27 มี.ค.) ว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาซึ่งเริ่มเวลา 10.00 น. มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยในวันนี้มีญัตติขอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และคณะเป็นผู้เสนอ โดยการประชุมจะมีการเปิดให้สมาชิกอภิปรายก่อนขอมติ ตามมาตรา 127 ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ทั้ง 2 สภา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรต่อไปได้ แต่หากที่ประชุมร่วมกันรัฐสภาไม่เห็นชอบก็ไม่สามารถพิจารณาญัตติได้ในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะต้องรอให้เปิดประชุมสมัยสามัญทั่วไปถึงจะเสนอญัตติดังกล่าวให้สภาพิจารณาได้ ในเวลาประมาณ 16.45 น. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านพรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้เลื่อนวาระดังกล่าว ขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติขอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินและคณะ เป็นผู้เสนอขึ้นมาพิจารณาก่อน ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านประท้วง
"พล.อ.สนธิ" หวังสร้างสังคมแห่งความรัก ด้าน ส.ส.ฝ่ายค้านตะโกนด่าทรราชย์ โดยการประชุมดังกล่าว เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ฐานะประธาน กมธ.ปรองดอง ชี้แจงระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภา โดยกล่าวถึงกรณี ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออกจากกรรมาธิการปรองดองว่า ทุกครั้งที่มีการอภิปรายพาดพิงตนทั้งในและนอกสภา ตนไม่เคยตอบรับหรือแก้ตัว เพราะความจริงคือความจริง ตลอดเวลาตนจะไม่เคยพูดอะไรในห้องประชุมแห่งนี้ที่ถือเป็นสถานที่ที่มีเกียรติ ทุกครั้งที่มีการอภิปรายจะเห็นว่าตนไม่ได้ต่อล้อต่อเถียงแก้ตัวใดๆ ตนได้อาสาเข้ามาเป็นประธาน กมธ.ปรองดองด้วยตัวของตัวเอง ตนมีที่มาจากดินทำทุกอย่างในชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อบ้านเมือง เมื่อสักครู่หลายคนได้เดินมาที่หน้าตนและระบุว่าที่ผ่านมาได้ชื่นชมแต่วันนี้หมดแล้วสิ่งที่ได้ชื่นชมวันนั้นนี่คือความจริงที่ปรากฏทุกคนจะได้รู้จักตนว่าในแก่นแท้มีหลายอย่างที่ยังไม่รับทราบ "ผมเห็นบ้านเมืองมีความแตกแยกครั้งแล้วครั้งเล่าวันที่ 20 ก.ย. 2549 จะฆ่ากันอยู่ ผมวางคออยู่บนเขียง ถามว่าใครรับผิดชอบ ผู้ใหญ่ทางฝ่ายค้านก็รู้เรื่องนี้ดีว่าผมอาสาทำ ความขัดแย้งต่อเนื่องมาถึงวันนี้ต้องถามว่าผู้นำเราแต่ละคนมีความตั้งใจจะสร้างสังคมเป็นสังคมของความรักหรือไม่จนถึงวันนี้มีนายกฯ ผ่านมา 5 คนสถานการณ์ก็ยังเป็นแบบเดิม ผมเสียใจที่พี่น้องประชาชนไทยเห็นผมและเพื่อนๆ ทุกคนที่นี่กำลังทำอะไรกันอยู่ ความขัดแย้งมันไม่ได้มีข้างนอกเลย มันอยู่ในนี้และขยายไปข้างนอก" พล.อ.สนธิกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานในที่ประชุมสังพักการประชุม บรรยายกาศในห้องประชุมก็วุ่นวายเล็กน้อย โดย ส.ส.ในซีกพรรคประชาธิปัตย์ต่างจับกลุ่ม หารือ โดยมุ่งไปที่ประเด็นกรณีประธานทำหน้าที่ไม่เป็นกลางในการประชุม พร้อมตะโกนกล่าวหาว่า ประธาน ทำหน้าที่ไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมการประชุม ขณะเดียวกันก็มี ส.ส.ในซีก ปชป.บางคนตระโกนด่า พล.อ.สนธิ ว่า “ทรราชย์” บางคนก็เรียก “พลทหาร” ทั้งนี้จากนั้นสมาชิกสองฝ่ายต่างชี้แจงรายงานของคณะกรรมาธิการว่ารับรองถูกต้องหรือไม่ โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าเป็นรายงานที่รับรองถูกต้อง แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงค้านว่าเป็นรายงานที่ไม่ได้รับรอง จนเวลา 21.20 น. นายสมศักดิ์สั่งให้ลงมติว่าจะเลื่อนญัตติของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่เสนอให้เลื่อนการพิจารณารายงานของ กมธ.ปรองดองออกไปก่อนหรือไม่ โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอนายอภิสิทธิ์ 173 เสียง ไม่เห็นด้วย 346 เสียง งดออกเสียง 6 และลงมติในญัตติของ น.พ.ชลน่าน ที่เสนอว่าให้เลื่อนรายงานของกมธ.ปรองดอง มาพิจารณาก่อนด้วยคะแนน เห็นด้วย 348 ไม่เห็นด้วย 162 งดออกเสียง 112 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
จดหมายจากภรรยา 'อากง' ถึง 'วรเจตน์' Posted: 27 Mar 2012 08:36 AM PDT หมายเหตุ: หลังเหตุการณ์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ถูกทำร้ายร่างกาย หลังจาก "นิติราษฎร์" เป็นหัวหอกนำเสนอแนวทางการแก้ไขมาตรา 112 นางรสมาลิน ภรรยาของนายอำพล ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ถูกพิพากษาจำคุก 20 ปี ได้เขียนจดหมายให้กำลังใจอาจารย์วรเจตน์ 'ประชาไท' ได้รับอนุญาตจากเจ้าของจดหมายให้นำมาเผยแพร่
สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์วรเจตน์คะ ดิฉันเป็นภรรยาของอากง หรือนายอำพล ตั้งนพกุล ที่โดนคดีมาตรา 112 ค่ะ ดิฉันรู้สึกเห็นใจและเจ็บปวดด้วยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่าน และทำให้ดิฉันคิดถึงยุคเก่าขนาดหินทีเดียวค่ะ แต่ดิฉันก็ยังเชื่อมั่นและเข้าใจว่าท่านเป็นผู้ที่จะจรรโลงสังคมนี้ให้ยั่งยืนในเหตุและผลของความเป็นจริง ที่จะส่งผลให้กับคนรากหญ้า ถึงพญาไม้ใหญ่ก็จะได้รับอานิสงส์ ไปด้วย พวกเราทุกคนจะพยายามชี้แจงในสิ่งที่ท่านได้ชี้แจงมาแล้วนั้นให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เขากล่าวหาเหมือนกับท่านได้ทำคุณูปการให้กับสังคมที่คดงอให้เป็นเส้นตรง และเสียสละตัวของท่านเพื่อประโยชน์ของทุกๆ คน เปรียบเสมือนว่าทุกๆ ท่านร่วมกันเพื่อความถูกต้องที่สุด และเป็นขุนเขาที่ยอมหลอมละลายโดยหินทุกก้อนและทรายทุกเม็ดเพื่อที่จะเติมเต็มให้กับหุบเหวให้เป็นพื้นดินเดียวกัน เสมอภาพ ภราดรภาพ และเป็นพื้นที่ที่เท่าเทียมกัน พร้อมกับสันติภาพในส่วนของดินที่มีฟ้าอยู่สูงสุดในชั้นฟ้าที่เมตตาต่อพื้นดิน และดิฉันขอกราบถึงท่านอาจารย์และนักวิชาการทุกๆ ท่านที่มองไปข้างหน้าถึงอนุชนรุ่นหลัง ดิฉันชื่นชมจริงๆ ค่ะ และต้องขอโทษทั้งลายมือและการเขียนของดิฉันที่ควรหรือไม่ควรก็ต้องกราบขออภัยนะคะ เพราะดิฉันเป็นคนเรียนแค่ชั้นประถมเอง มีปัญญาแค่นี้เองค่ะท่าน ขอแสดงความนับถืออย่างสูงสุดค่ะ นางรสมาลิน ตั้งนพกุล สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
เดินหน้าร้องรัฐฯ 20 ปี แก้ปัญหาเขื่อน “โครงการโขง-ชี-มูล” ไม่คืบ Posted: 27 Mar 2012 05:34 AM PDT เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูล 7 กรณีปัญหา เดินหน้าร้องรัฐฯ จ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ผู้เดือดร้อน ก่อนผลักดันสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ และการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล แนะกระจายอำนาจ-งบประมาณให้ท้องถิ่นจัดการน้ำ กว่า 20 ปี การลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูลในหลายพื้นที่ ผ่านมาแล้ว 12 รัฐบาล การแก้ไขปัญหายังไม่จบสิ้น ล่าสุดรัฐบาลปัจจุบันได้ผลักดันให้เกิดโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ อย่าง “โครงการโขง เลย ชี มูล” ที่ใช้งบประมาณมหาศาล ทั้งยังก่อให้เกิดความหวั่นเกรงว่าจะสร้างปัญหาให้คนอีสานไม่สิ้นสุด วันที่ 27 มี.ค.55 เวลาประมาณ 9.00 น.เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูล 7 กรณีปัญหา ประกอบด้วย กรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนพนมไพร-ยโสธร เขื่อนธาตุน้อย เขื่อนหนองหานกุมภวาปี และเขื่อนห้วยหลวง ราว 300 คน รวมตัวกันที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล อ่านแถลงการณ์จี้รัฐบาลแก้ปัญหาโครงการโขง-ชี-มูล ให้เสร็จ หยุด! โครงการยักษ์ใหญ่ ผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล แถลงการณ์ประกาศข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาเขื่อนในโครงการโขง-ชี-มูล โดยการจ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ผู้เดือดร้อนให้ครบถ้วน รวดเร็ว ให้ศึกษาผลกระทบที่เกิดหลังการก่อสร้าง และมีแผนในการฟื้นฟูธรรมชาติ ฟื้นฟูชุมชนอย่างเหมาะสม หากพบเขื่อนไหนก่อปัญหามากกว่าได้ประโยชน์ให้รื้อเขื่อนทิ้ง 2.ให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการผันน้ำ โขง เลย ชี มูลและโครงการอื่นๆ ทันที เพราะจะเกิดผลกระทบมากมายและไม่มีความคุ้มค่าที่จะสร้าง นอกจากจะสร้างกำไรให้กับธุรกิจสร้างเขื่อน 3.ให้มีการกระจายอำนาจและงบประมาณให้ชุมชนท้องถิ่น วางแผนและดำเนินการในการจัดการน้ำ และ 4.รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพง ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ โดยไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและพวกพ้อง จากนั้น เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูล ได้เดินทางไปชุมนุมต่อที่บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีตัวแทนเข้าร่วมประชุมกำหนดทิศทางการแก้ปัญหากับตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทาน ก่อนการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนาในวันที่ 28 มี.ค.55 และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนห้วยหลวง และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนหนองหานกุมภวาปี วันที่ 29 มี.ค.55 นายพุฒ บุญเต็ม ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ตัวแทนกลุ่มสมัชชาคนจน กล่าวถึงการเจรจาในวันนี้ว่า โดยภาพรวมได้ข้อสรุปไปในทางที่ดี แต่การพูดคุยในวันนี้ไม่ใช่ข้อยุติเพราะยังต้องไปประชุมในคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งในส่วนหน่วยงานรัฐอาจมีการทักท้วงในเชิงเทคนิค หรือข้อกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามจากการสรุปบทเรียนที่ผ่านมาทำให้คิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเจรจากับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นการไปถกเถียงกันในเวทีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ จนไม่สามารถหาข้อสรุปได้ นายพุฒ กล่าวถึงการรวมตัวของเครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูลว่า มีขึ้นหลังการพูดคุยเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา จากชาวบ้านกรณีปัญหากลุ่มเล็กๆ โดยขณะนี้ถือว่าเป็นการรวมกันในขั้นต้น ต้องมีการสร้างการมีส่วนร่วมและกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันไปสำหรับสมาชิกเครือข่ายที่มีความหลากหลายมาก และในอนาคตคาดว่าจะมีการจัดเวทีร่วมพูดคุยระว่างแกนนำจากกรณีปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันให้มากขึ้น นายพุฒ กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาชาวบ้านมีความเชื่ออย่างหนึ่ง คือรอให้ราชการแก้ปัญหาให้ กลัวเจ้ากลัวนาย จึงเชื่อตามคำที่บอกว่าไม่ต้องมาเดินขบวนเคลื่อนไหว แต่การลุกขึ้นมาของสมัชชาคนจนเมื่อราวปี 2536 แล้วได้รับการชดเชยและเกิดการศึกษาผลกระทบของโครงการ ทำให้เห็นเป็นแนวทาง แม้ว่าในช่วงแรกจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนที่ได้ค่าชดเชยกับคนที่ไม่ได้ เมื่อมาถึงปัจจุบันชาวบ้านแต่ละกลุ่มต่างประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน ทั้งการชดเชยเรื่องที่ดิน การฟื้นฟูผลกระทบ และวิถีชีวิต โดยมีโจทก์หลักเดียวกันคือกรมชลประทานและรัฐบาล จึงต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อสร้างพลัง ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูล ชี้แจงข้อมูลว่า โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล โดยการสร้างเขื่อน 14 เขื่อนในภาคอีสาน เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา นอกจากได้ผลไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ตามเป้าแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหนักต่อชาวอีสาน ทั้งการสูญเสียที่ดินทำกิน โดยรัฐไม่เคยมีแผนว่าจะชดเชยใดๆ เกิดภาวะน้ำท่วมผิดปกติ สูญเสียพื้นที่ป่าทาม เฉพาะเขื่อนราษีไศลที่เดียว มีน้ำท่วมป่าทามที่เป็นระบบนิเวศสำคัญของภาคอีสานไปถึง 1 แสนไร่ ผู้สูญเสียที่ดิน 7,700 ครอบครัว และเดือดร้อนทางตรงทางอ้อมไม่น้อยกว่า 10,000 ครอบครัว โดยที่เขื่อนเหล่านี้ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการก่อสร้าง ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและไม่มีการมีส่วนร่วมจากชุมชน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
จุดเปลี่ยนที่ต้องจับตามองของนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ Posted: 27 Mar 2012 03:54 AM PDT “ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย” พาดหัวในข่าวแจกของกรมการจัดหางาน ซึ่งพูดถึงแนวนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 พาดหัวที่แฝงด้วยความมั่นใจของกรมการจัดหางานครั้งนี้ ไม่อาจจะดูเบาได้ดังแต่ก่อน ทั้งนี้อันเนื่องมาจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงบางอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยจากประเทศต้นทาง อาจจะทำให้คำประกาศนี้เป็นจริงได้มากกว่าคิดไว้ได้เหมือนกัน ทิศทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2555 บอกอะไรบ้าง ในปัจจุบันการจัดการแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชาของไทย ซึ่งเดิมแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร (Undocumented Migrant Worker) หรือหากจะเรียกตามแบบที่ศัพท์ของหน่วยงานรัฐก็คือ “แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” เพื่อทำความเข้าใจการจัดการแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ในปัจจุบันก็คงเริ่มต้นจากการจัดการในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งได้มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติจากสามประเทศ และผู้ติดตามมีสิทธิอยู่อาศัยและขออนุญาตทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเพื่อทำให้เกิดการจัดระเบียบการจ้างแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย โดยแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามจะต้องไปรายงานตัวต่อนายทะเบียนและจัดทำแบบทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) หลังจากนั้นแรงงานข้ามชาติจะต้องไปตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพ แล้วจึงไปขออนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2547 – 2554 โดยมีการต่ออายุแรงงานข้ามชาติที่เคยขึ้นทะเบียนและเปิดให้แรงงานที่ไม่เคยจดทะเบียนหรือไม่ได้ต่อใบอนุญาตทำงานมาขึ้นทะเบียนเป็นช่วง ๆ ล่าสุดที่มีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนใหม่คือปี พ.ศ. 2554 ในขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย ประเทศไทยจึงได้ประสานงานไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำข้อตกลงในการจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย โดยได้ดำเนินการในสองลักษณะ คือ หนึ่ง เปิดให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศไทย ได้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง เมื่อประเทศต้นทางให้การยอมรับความเป็นพลเมืองก็ประเทศนั้น ๆ แล้วก็จะดำเนินการออกหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือเอกสารแทนหนังสือเดินทางให้ และนำไปสู่กระบวนการจ้างงานอย่างถูกกฎหมายต่อไป สอง นำเข้าแรงงานข้ามชาติตามข้อตกลงการจ้างแรงงาน (MoU) ระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นกระบวนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านระบบการจัดหางานอย่างถูกต้อง ดังนั้นในปัจจุบันเราอาจจะแบ่งแรงงานข้ามชาติออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว สอง แรงงานกลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ สาม กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่นำเข้าตามระบบ MoU ทีนี้เราคงต้องมาลองทำความเข้าใจคร่าว ๆ ว่ามติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 เรื่อง การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2555 บอกอะไรแก่เราบ้าง ประการแรก มติคณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาในการอนุญาตให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เคยได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 ซึ่งการผ่อนผันจะสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ให้ขยายเวลาในการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานได้ไปจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2555 โดยแรงงานกลุ่มนี้จะต้องดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ด้วยเช่นกัน ซึ่งในกระบวนการการผ่อนผันการต่อใบอนุญาตทำงานนั้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามระบบที่เคยดำเนินการมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอต่อใบอนุญาตทำงาน การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ ซึ่งก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกประกาศ แนวปฏิบัติ และดำเนินการไป ซึ่งระยะเวลาในการได้รับใบอนุญาต และประกันสุขภาพก็จะต้องสิ้นสุดในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 และหากในระหว่างนั้นแรงงานข้ามชาติได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ก็ให้ยกเว้นในเรื่องค่าธรรมเนียมการขออนุญาตทำงานที่เหลื่อมซ้อนกัน ซึ่งในเรื่องการต่อใบอนุญาตทำงานนั้น จากการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานจัดหางานเชียงใหม่ระบุว่า ให้มีการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานได้จนถึง 13 เมษายน 2555 ประการที่สอง ให้แรงงานกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้นภายใน 14 มิถุนายน 2555 เช่นกัน ประการที่สาม มติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ค่าธรรมเนียมวีซ่าของแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติแล้วทั้งสองกลุ่ม รวมทั้งแรงงานข้ามชาติทั้งสามสัญชาติที่จะนำเข้าตาม MoU เหลือ 500 บาท รวมทั้งเมื่ออยู่ครบสองปีแล้ว และต้องต่อวีซ่าก็ให้คงอัตราค่าธรรมเนียมที่ 500 บาท รวมทั้งให้มีการตรวจสุขภาพหลังจากที่ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ประการสุดท้าย มติคณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาในการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ออกไปอีกหนึ่งปี อะไรที่ทำให้กรมการจัดหางานมั่นใจ? “ทั้งนี้โดยภาพรวมนายจ้างและแรงงานต่างด้าวฯ ที่จะมากรอกแบบพิสูจน์สัญชาติและต่ออายุใบอนุญาตทางานจะได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้น เนื่องจากทางการพม่าได้มีการปรับปรุงวิธีดาเนินงานใหม่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยนาระบบไอทีเข้ามาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลแทนการกรอกเอกสาร ซึ่งนายจ้างสามารถกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงแรงงานพม่า เพื่อยืนยันสัญชาติ จากนั้นกระทรวงแรงงานพม่าจะส่งอีเมล์ยืนยันกลับมาที่ตัวนายจ้างโดยตรง เพื่อให้นายจ้างใช้เป็นหลักฐานพาลูกจ้างไปยืนยันตัวที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดทางการพม่าได้ร่วมกับทางการไทยเห็นชอบให้เปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติฯ เพิ่มอีก 5 แห่ง ที่กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง ที่จังหวัดเชียงราย ตาก และระนอง” (คำให้สัมภาษณ์ของ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน จากเอกสารเผยแพร่ของกรมการจัดหางาน “ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย” จากเวบไซต์ http://wp.doe.go.th/sites/default/files/news/228.pdf ) อาจจะสรุปในเบื้องต้นได้ว่า สิ่งที่ทำให้กรมการจัดหางาน มั่นใจว่าคงใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแรงงานเถื่อนตามความเห็นของกรมการจัดหางานนั้น น่าจะมีปัจจัยในเรื่องการปรับเปลี่ยนท่าทีและวิธีการดำเนินการในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติของประเทศพม่าเป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจากแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในช่วงทีผ่านมา คือมีจำนวน 70% ของจำนวนแรงงานทั้งสามสัญชาติ และที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติจะมีความล่าช้า และมีความซับซ้อนส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ และกระบวนการจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ ก็เนื่องมาจากความไม่ลงตัวของระบบอันเกิดจากประเทศต้นทางนี่เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการต้องไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติพม่าที่ชายแดนซึ่งสร้างความยากลำบากให้แก่ตัวแรงงาน และเอื้อต่อการเข้ามาแสวงหากำไรของกลุ่มนายหน้าต่าง ๆ หรือความล่าช้าของการดำเนินการ การเปลี่ยนแปลงของประเทศต้นทางของพม่าครั้งนี้คงไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นใจเพียงแค่การพิสูจน์สัญชาติที่ระบบเอื้อมากขึ้นเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงท่าทีทางการเมืองของรัฐบาลพม่า ก็ยิ่งทำให้กระทรวงแรงงาน มั่นใจมากขึ้นไปอีกว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานจากพม่า เริ่มค่อย ๆ ลดลง และที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงท่าทีทางการเมือง อาจจะมีผลต่อการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายที่จะทำได้ง่ายมากขึ้น รวมทั้งทิศทางการลงทุนในพื้นที่ชายแดนที่ประเทศไทยสามารถรองรับได้ด้วยช่องทางที่เปิดไว้ใน การขออนุญาตทำงานในพื้นที่ชายแดน ตามมาตรา 14 ของพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเป็นไป : แนวโน้มสถานการณ์และผลกระทบหลัง 14 มิถุนายน 2555 หากว่าสถานการณ์ทุกอย่างเป็นไปตามการคาดการณ์ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานจริง หลังวันที่ 14 มิถุนายน 2555 แรงงานข้ามชาติสามสัญชาติกว่าล้านคน จะกลายเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมาย มีหนังสือเดินทางอย่างถูกต้อง มีระยะเวลาในการทำงานในประเทศไทยที่ค่อนข้างแน่นอน คือ ทำงานได้ครั้งละสองปี ต่อได้อีกสองปี และต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง และจะกลับเข้ามาทำงานใหม่ได้ในอนาคตด้วยระบบการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายตามข้อตกลงเรื่องการจ้างแรงงานระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศ คือ พม่า ลาวและกัมพูชา ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อการจ้างแรงงานข้ามชาติ และด้านอื่น ๆ อยู่ไม่น้อย ระบบบริการสุขภาพแรงงานข้ามชาติ : การพลิกผันที่ไม่อาจจะทันได้เตรียมตัว ผลกระทบอันเนื่องมาจากกรณีที่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ก็คือ แรงงานข้ามชาติเดิมที่เคยใช้ระบบบริการสุขภาพผ่านการซื้อประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่รับผิดชอบโดยกระทรวงสาธารณสุข ก็จะต้องเปลี่ยนไปเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามพรบ.ประกันสังคม ซึ่งครอบคลุมถึงแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมายมีหนังสือเดินทางอย่างถูกต้อง โดยทั้งสองระบบก็มีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกันไป หากพิจารณาจากตัวเลขของการขออนุญาตทำงานที่คงเหลือเมื่อเดือนมกราคม 2555 ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถเข้าประกันสังคมหลังการพิสูจน์สัญชาติได้ ซึ่งมีเพียงสามกิจการหลัก ๆ ได้แก่ งานรับใช้ในบ้าน งานประมงและเกษตรกรรมที่ไม่ใช่การจ้างงานทั้งปี จากแรงงานที่ได้รับการผ่อนผันทั้งหมด 1,248,064 คน พบว่าในกลุ่มงานรับใช้ในบ้าน มีจำนวน 85,062 คน ประมง มีจำนวน 41,128 คน และเกษตรและปศุสัตว์ 228,041 คน รวมทั้งสามกิจการ 354,231 คน อย่างไรก็ตามก็พบว่าในงานภาคเกษตรและปศุสัตว์จำนวนไม่น้อยที่จะทำใบอนุญาตทำงานแบบทั้งปี ซึ่งก็อาจจะต้องมาพิจารณาว่าจะต้องเข้าระบบประกันสังคมหรือไม่ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็คือ การหดตัวลงของผู้ประกันตนในระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ จะส่งผลต่อความมั่นคงทั้งของกองทุนประกันสุขภาพ และตัวสถานบริการสุขภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการจ้างงานในเชิงอุตสาหกรรม หรือการจ้างงานทั่วไปมาก การแบกรับความเสี่ยงของกองทุนจะมีมาก นอกจากนั้นแล้วระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติจะครอบคลุมถึงการบริการด้านอื่น ๆ เช่น งานส่งเสริมสุขภาพ งานเฝ้าระวังป้องกันซึ่งเป็นงบที่จัดสรรให้ระดับพื้นที่โดยตรง แต่ระบบประกันสังคมบริการเหล่านี้ยังเป็นคำถามว่าจะสามารถครอบคลุมได้หรือไม่ แต่โดยระบบที่เป็นอยู่แล้วไม่ครอบคลุมในบริการดังกล่าว ซึ่งก็กลายเป็นคำถามในเชิงปฏิบัติว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำอย่างไร และเป็นหน้าที่ของใคร นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าที่ผ่านมาเมื่อแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้ว แต่ยังไม่มีการทำความเข้าใจร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ หรือมีแนวปฏิบัติที่เป็นระบบชัดเจนก็ทำให้การใช้สิทธิประโยชน์ในประกันสังคมบางส่วนก็เกิดปัญหาติดขัด เช่น กรณีเงินสงเคราะห์บุตรกับการแจ้งเกิดลูกของแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น อีกประเด็นหนึ่งที่ยังเป็นประเด็นปัญหาหรือคำถามหลักสำหรับช่วงระยะการเปลี่ยนผ่านจากระบบประกันสุขภาพในสู่ระบบประกันสังคมโดยเฉพาะในด้านรักษาพยาบาล คือ สิทธิในการรักษาพยาบาลตามระบบประกันสังคมจะเริ่มมีใช้บริการเมื่อแรงงานได้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไปแล้วสามเดือน ในขณะที่ประกันสุขภาพสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากจ่ายเงินประกันสุขภาพ ทำให้เกิดเป็นคำถามว่าในช่วงสามเดือนระหว่างรอให้สิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลเกิดขึ้น จะมีการดำเนินการอย่างไร จะมีกระบวนการรองรับหรือไม่ เพราะหากไม่มีกระบวนการรองรับ ผลกระทบอาจจะเกิดขึ้นทั้งตัวแรงงานข้ามชาติ และตัวสถานพยาบาลหากไม่สามารถดำเนินการเก็บค่ารักษาพยาบาลตามจริงได้ นอกจากนั้นแล้วยังมีประเด็นที่คาบเกี่ยวระหว่างเรื่องระบบการจ้างงานกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ที่แรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งอยู่ในกระบวนการจ้างงานแบบรับเหมาช่วง คือ มีบริษัทนายหน้าที่จะรับหน้าที่เป็นนายจ้างให้แก่แรงงานข้ามชาติ เพื่อส่งแรงงานเหล่านี้เข้าไปทำงานในสถานประกอบการอื่น ๆ ต่อไป ทำให้หน้าที่ในการนำแรงงานเข้าประกันสังคมจึงไม่ได้เป็นหน้าที่ของสถานประกอบการทำให้พบว่าหลายครั้งแรงงานข้ามชาติก็ไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม รวมทั้งมักจะเกิดปัญหาเมื่อเกิดอุบัติหรือเจ็บป่วยในการทำงานขึ้น ขณะเดียวกันระบบฐานข้อมูลบุคคลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ก็ยังมีข้อจำกัดในการตรวจสอบหรือเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน ทำให้การตรวจสอบสิทธิในหลักประกันสุขภาพเป็นไปได้ค่อนข้างยาก การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ หากพิจารณาจากนัยยะของมติคณะรัฐมนตรี 13 กุมภาพันธ์ 2555 และความมั่นใจในการประกาศว่า “ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย” ของกรมการจัดหางานนั้น น่าจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และเป้าหมายหลักว่า หลัง 14 มิถุนายน 2555 แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในช่วงต่าง ๆ จะหมดไป จะเหลือเพียงแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมายเท่านั้นทั้งจากการเปลี่ยนสถานะโดยพิสูจน์สัญชาติ และนำเข้าตาม MoU เท่านั้น ในแง่หนึ่งมันก็ดูจะเป็นเรื่องดีที่ทุกคนกลายเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายหมด แต่ก็มีบางประเด็นที่อาจจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ หรือมีแนวทางที่ชัดเจนต่อการดำเนินการ ประเด็นแรกที่น่าจะพบหลังจากวันที่ 14 มิถุนายน 2555 คือกลุ่มคนที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน ทั้งนี้โดยหลักการแล้ว การพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน เท่ากับประเทศที่เป็นผู้พิสูจน์สัญชาติ ไม่รับรองสถานะการเป็นพลเมืองของคนคนนั้น หรือเท่ากับว่าในขณะนั้นคนที่พิสูจน์สัญชาติยังไม่มีสัญชาติใดเลย การผลักดันคนกลุ่มนี้ออกนอกประเทศไทย ก็เท่ากับส่งพวกเขาเหล่านั้นไปสู่ภาวะความไม่ปลอดภัยในชีวิตได้ เมื่อพิจารณาถึงมาตรการต่อกรณีพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านนั้น โดยนโยบายของรัฐบาลต่อเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติไม่ได้ระบุเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่พบว่าในยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในความรับผิดชอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ระบุในยุทธศาสตร์ต่อกรณีนี้ว่า “กรณีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับการจดทะเบียนแต่ไม่สามารถเดินทางกลับได้เนื่องจากประเทศ ต้นทางไม่ยอมรับ ให้ได้รับสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศชั่วคราว และเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะตามข้อ ๑) – ๔) หากไม่สามารถกำหนดสถานะได้ให้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาสถานะโดยกำหนดให้มีคณะ อนุกรรมการซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ และภาคประชาชนพิจารณากำหนดแนวทางการให้สถานะที่เหมาะสมตามมาตรการระยะยาวแนบท้ายยุทธศาสตร์นี้” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ฯ ได้ที่ ) http://www.nsc.go.th/index.php?option=com_content&task=view&id=571&Itemid=63) ดังนั้นหากพิจารณาตามยุทธศาสตร์นี้แล้ว แรงงานข้ามชาติที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน ก็น่าจะกลายเป็นบุคคลที่จะเข้าสู่การจัดการสถานะบุคคลตามยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งขณะนี้นอกจากการกำหนดหลักการในการจัดการในยุทธศาสตร์นี้แล้ว ก็ยังไม่มีแนวปฏิบัติใด ๆ ต่อเรื่องนี้ออกมา จึงจำเป็นที่จะต้องมีการผลักดันแนวปฏิบัติที่ชัดเจนก่อนจะถึงวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่เอกสารประจำตัวของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจะสิ้นสุด อันหมายถึงสิทธิในการอยู่อาศัยของคนกลุ่มนี้ในประเทศไทยก็จะสิ้นสุดลงเช่นกันหากไม่มีมาตรการใดมารองรับ ประการที่สอง คือ การรับรองสถานะของบุตรผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ จากนโยบายที่ผ่านมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้บุตรของแรงงานข้ามชาติบางส่วนสามารถมีสิทธิอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ ตามระยะเวลาที่พ่อหรือแม่ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติได้รับการผ่อนผัน อย่างไรก็ตามการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานข้ามชาตินั้น ถูกกำหนดให้เป็นการพิสูจน์เฉพาะตัวแรงงานข้ามชาติเพียงคนเดียว ไม่ครอบคลุมถึงบุตรผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติด้วย ทำให้การเปลี่ยนแปลงสถานะเข้าเมืองถูกกฎหมายจึงเกิดเฉพาะตัวแรงงานข้ามชาติที่เป็นพ่อแม่เท่านั้น ส่วนบุตรผู้ติดตามเมื่อพ่อแม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วและสิ้นสุดระยะเวลาการผ่อนผันให้อยู่อาศัยในประเทศไทยได้ พวกเขาก็จะกลายเป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุม หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมที่จำเป็นต่อพวกเขา ประการที่สาม คือ การจัดการแรงงานข้ามชาติในอนาคตที่มีแนวโน้มทิศทางที่จะปรับไปสู่การจ้างงานแบบมีการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายจากประเทศต้นทางโดยตรง และเปิดช่องให้มีการจ้างงานชายแดน ซึ่งจนกระทั่งปัจจุบันระบบการจ้างงานชายแดนตามพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่ากังวลใจต่อทิศทางที่จะดำเนินไป ประเด็นแรกคือ ระบบการนำเข้าตาม MoU ที่จะดูจะเป็นความหวังของการจัดการแรงงานข้ามชาติในอนาคตของกระทรวงแรงงาน (ซึ่งสถิติจำนวนแรงงานข้ามชาติที่นำเข้าตาม MoU ของกรมการจัดหางานเมื่อเดือนมกราคม 2555 จำนวน 73,246 คน ในขณะที่แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติมี 525,419 คน และแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีมี 1,248,064 คน ) ก็ยังดูจะมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการอยู่มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จะค่อนข้างจะสูง เช่น กรณีการนำเข้าจากประเทศลาว มีค่าใช้จ่ายประมาณ 15,000 – 25,000 บาท และมักจะมีค่าใช้จ่ายอันเกิดจากระบบการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ตามมาทำให้ค่าใช้จ่ายยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะตกอยู่กับแรงงานข้ามชาติ โดยนายจ้างอาจจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทจัดหางานจากประเทศต้นทาง แล้วมาหักจากเงินเดือนของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งก็จะนำไปสู่การเป็นหนี้สินสะสมในระยะยาวของแรงงาน นายจ้างอาศัยเหตุของการจ่ายเงินค่านำเข้าไปให้ก่อนมาเป็นเหตุผลในการยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานข้ามชาติไว้ ขณะเดียวกันกลไกการคุ้มครองแรงงานที่เอื้อต่อการเข้าถึงการช่วยเหลือของแรงงานข้ามชาติ เช่น การมีล่ามในกระบวนการใช้สิทธิ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิของตนเองก็ยังไม่สามารถทำได้จริง ซึ่งท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย หลุดจากระบบที่ถูกกฎหมาย กลายเป็นแรงงานที่ทำงานแบบผิดกฎหมายต่อไป ประเด็นต่อมาคือ โอกาสในการเข้าถึงการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายของแรงงานข้ามชาติที่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยก็อาจจะมีโอกาสไม่เท่ากัน ทั้งเนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และระบบการคัดสรรแรงงานของบริษัทจัดหางานในประเทศต้นทางทำให้โอกาสในการจะเข้าถึงการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายก็มีน้อยลง และเมื่อเทียบกับระบบการเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยรูปแบบเดิมนั้น มีค่าใช้จ่ายไม่มากเท่าระบบ MoU เอื้อต่อกลุ่มคนด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสายสัมพันธ์กับบริษัทจัดหางานมากกว่า ประเด็นสุดท้าย คือ สภาพทางภูมิศาสตร์ ความเป็นชุมชนหรือเครือญาติข้ามพรมแดน เครือข่ายการย้ายถิ่นข้ามชาติของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่พัฒนามากขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการเดินทางข้ามพรมแดนของแรงงานข้ามชาติให้สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ระบบการนำเข้าตาม MoU อาจจะยังไม่ใช่คำตอบที่ชัดเจนเพียงอย่างเดียวสำหรับการจัดการแรงงานข้ามชาติในอนาคต ดังนั้นหากจะยังยึดเพียงว่าระบบการนำเข้าตาม MoU จะเป็นทางออกของการจัดการแรงงานข้ามชาติได้ ก็มีโอกาสที่ประเทศไทยจะกลับไปเผชิญกับปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร หรือเกิดปรากฎการณ์หลบลงใต้ดินของแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อประเด็นต่าง ๆ ในสังคมไทยตามมาเช่นกัน ซึ่งจากข้อกังวลใจดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น หากไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ หรือพิจารณาการจัดการแรงงานข้ามชาติในบริบทการย้ายถิ่นในภูมิภาคนี้อย่างจริงจัง คำประกาศ “ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย” ก็คงจะไม่เป็นจริง แต่กลับนำพาไปสู่สถานการณ์แรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้าสู่ระบบเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีที่แล้วซ้ำอีก แม้การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับการจัดการแรงงานข้ามชาติหลังวันที่ 14 กันยายน 2555 จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และยากที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แต่ก็จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มีทั้งโอกาส และความน่ากังวลใจ และที่สำคัญคือ ระยะเวลาในการจะตั้งรับ แก้ปัญหา หรือเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในครั้งนี้มีเวลาเพียงประมาณสามเดือนเท่านั้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ดีเดย์ 1 เมษา ไม่โกหก รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินก่อน ถามสิทธิและเงินทีหลัง Posted: 27 Mar 2012 02:42 AM PDT นิยามผู้ป่วยฉุกเฉิน อาทิ ภาวะหัวใจหยุดเต้น หายใจไม่ออก หอบรุนแรง หยุดหายใจ ภาวะช็อก ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว เลือดออกมากอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา หลังรัฐบาลประกาศนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินของการบรูณาการ 3 กองทุนเพื่อให้การบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ์ นำร่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ์ รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคนเริ่ม 1 เม.ย.นี้ เน้นแก้ปัญหาผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินระดับวิกฤตหรือโคม่า ชี้หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง ส่วนกรณีหน่วยบริการที่รับผู้ป่วย 3สิทธิ์ส่งข้อมูลเบิกจ่ายมายังสปสช.เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเบิกจ่ายกลาง สำรองเงินจ่ายให้รพ.ตามอัตราผู้ป่วยใน ก่อนเรียกเก็บเงินจากแต่ละกองทุนต่อไป เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติมีการเสวนาเรื่อง “นิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินและความพร้อมหน่วยงานเบิกจ่ายกลางหรือเคลียริ่งเฮาส์” (Clearing House) เพื่อรองรับระบบการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ์ โดยไม่ต้องสอบถามสิทธิ์และไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ตามแนวทาง เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ์ รักษาทันที นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายการบรูณาการ 3 กองทุนเพื่อการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ์ ของระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน โดยเริ่มต้นที่ผู้ป่วยฉุกเฉินโดยมีแนวคิดให้ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน”ได้รับบริการโดยไม่ต้องถามสิทธิ์ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติและระดับเร่งด่วน จะต้องรับผู้ป่วยไว้จนผู้ป่วยอาการทุเลาสามารถส่งกลับบ้านหรือส่งต่อ/ส่งกลับสู่รพ.ในระบบต้นสังกัดได้ ซึ่งการดำเนินการนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินของทั้ง 3 กองทุน ที่เดิมมีปัญหาในการเข้ารับบริการฉุกเฉินในรพ.ที่อยู่นอกเครือข่าย ทำให้ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน และอาจจะถูกบ่ายเบี่ยงการรักษาพยาบาล รวมถึงเสียโอกาสจากขั้นตอนในการตรวจสอบสิทธิ์ โดยเฉพาะต้องการแก้ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติและเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว แต่ต้องเสียโอกาสจากการตรวจสอบสิทธิ์ และรพ.ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินค่ารักษา แนวทางใหม่ที่ดำเนินการนี้ จะปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ทุกรพ.ไม่ต้องถามสิทธิ์การรักษาพยาบาลจากผู้ป่วย ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย รพ.รักษาทันที แล้วจึงมาเบิกจ่ายจากกองทุนที่เป็นสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแทน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ สปสช. กล่าวว่า ในส่วนอัตราและเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยนั้น หลักการคือ ในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษากับรพ.ในเครือข่ายของ 3 กองทุน ให้เป็นไปตามระบบปกติของทั้ง 3 กองทุน แต่กรณีที่เข้ารับการรักษากับรพ.นอกเครือข่ายของสิทธิการรักษาของผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยนอก จ่ายตามอัตราที่เรียกเก็บของกรมบัญชีกลาง สำหรับผู้ป่วยใน จ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือดีอาร์จี (DRG) โดยมีอัตราจ่ายตามน้ำหนักของโรคหรือRWละ 10,500 บาท วิธีการคือ สำหรับรพ.นอกเครือข่ายของทั้ง 3 กองทุนที่รับรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินทั้งจากผู้ป่วยที่ส่งมาโดยรถกู้ชีพ 1669 หรือนำส่งเองเข้ารพ.ที่อยู่ใกล้ที่สุด แล้วรพ.ต้องให้การรักษาทันที หลังจากนั้นจึงลงทะเบียนเบื้องต้น บันทึกข้อมูลการให้บริการ ส่งมาที่หน่วยงานเบิกจ่ายกลางซึ่งสปสช.รับหน้าที่นี้ หลังจากนั้นสปสช.จะประมวลผลและจ่ายชดเชยให้กับรพ.ไปก่อน แล้วจึงส่งใบแจ้งหนี้ให้แต่ละกองทุนเพื่อจ่ายเงินคืน วิธีการจ่ายนี้เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและให้รพ.ที่รับการรักษาได้รับเงินโดยเร็ว นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่มีความสำคัญคือ การเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินระหว่างแพทย์และผู้ป่วยไม่ตรงกัน จุดนี้ให้ยึดตามนิยามผู้ป่วยฉุกเฉินตามประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งแบ่งเป็น 1.ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ คือ บุคคลที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บกะทันหันที่มีภาวะคุกคามต่อชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาทันทีเพื่อแก้ไขระบบหายใจ ไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น หายใจไม่ออกหอบรุนแรง หยุดหายใจ ภาวะช็อก ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว เลือดออกมากอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา 2.ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน คือ บุคคลที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บเฉียบพลันหากไม่ได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจนพิการหรือเสียชีวิตได้ เช่น ไม่รู้สึกตัว ชัก อัมพาตหรือตาบอดหูหนวกทันที ตกเลือดซีดมากจนเขียว เจ็บปวดมากหรือทุรนทุราย ถูกพิษหรือรับยาเกินขนาด ได้รับอุบัติเหตุโดยเฉพาะมีบาดแผลที่ใหญ่มากหลายแห่ง ทั้งนี้แนวทางครั้งนี้เน้นผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติและเร่งด่วน นั่นหมายความว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ได้รับการส่งรักษาโดยบุคคลอื่น ซึ่งต้องเป็นรพ.ที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อให้การรักษาทันท่วงทีลดการสูญเสียชีวิตและความพิการรุนแรงจากเหตุไม่จำเป็น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
แอมเนสตี้ ชี้ไทยเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังใช้โทษประหารชีวิต Posted: 27 Mar 2012 02:40 AM PDT แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานการลงโทษประการชีวิตของปี 2554 พบไทยยังเป็นหนึ่งใน 57 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต พบสถิติการประหารชีวิตในตะวันออกกลางสูงขึ้นราวร้อยละ 50 ในขณะที่จีนมีสถิติการประหารชีวิตสูงที่สุดในโลก
แม้ว่า 141 ประเทศทั่วโลกหรือกว่าสองในสามของทุกประเทศได้ยกเลิกโทษประหารทั้งในกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว แต่ระบบยุติธรรมทางอาญาของไทยยังคงกำหนดให้ใช้โทษประหารสำหรับความผิดต่างๆ กัน รวมทั้งความผิดด้านยาเสพติด ในรายงาน “การลงโทษประหารและการประหารชีวิตในปี 2554” (Death Sentences and Executions in 2011) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่ในวันนี้ พบว่ามีเพียง 20 ประเทศที่ทำการประหารชีวิตในปี 2554 หรือคิดเป็นเพียง 10% ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เราจะเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนของการยกเลิกโทษประหารในเอเชีย ที่ญี่ปุ่นไม่มีข้อมูลการประหารชีวิตในปีที่แล้วเลย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี รวมทั้งที่สิงคโปร์ก็ไม่มีข้อมูลการประหารชีวิต ส่วนมองโกเลียได้ให้ภาคยานุวัติกับพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่มีเป้าหมายยกเลิกโทษประหาร “เราจะเห็นแนวโน้มที่ต่อต้านโทษประหารอย่างชัดเจน รัฐบาลไทยควรเข้าร่วมกับขบวนการยกเลิกโทษประหารนานาชาติ” นส. ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าว แม้แนวโน้มทั่วโลกจะมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหาร แต่ก็มีประเทศบางกลุ่มที่ยังคงประหารชีวิตบุคคลในอัตราที่น่าตกใจในปี 2554 จำนวนการประหารชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกันปีต่อปี ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะอัตราการประหารชีวิตที่สูงอย่างยิ่งในประเทศซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และอิรัก จีนประหารชีวิตบุคคลหลายพันคน แต่ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นความลับทางราชการ และเป็นการประหารชีวิตสำหรับความผิดที่กว้างขวางรวมทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง และเป็นผลจากการไต่สวนคดีที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการไต่สวนคดีที่เป็นธรรม ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศส่วนน้อย 57 ประเทศทั่วโลกที่ยังใช้โทษประหาร ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ ศาลมีคำตัดสินลงโทษประหาร 40 คดีในปี 2554 โดยมีคดีที่เกี่ยวกับความผิดด้านยาเสพติด 9 คดี ในประเทศไทยมีนักโทษประหารขั้นเด็ดขาดเป็นชาย 81 คนและผู้หญิง 6 คน ในปลายปี 2554 เกือบสองในสามของนักโทษประหารในไทยหรือ 55 คน ถูกลงโทษสำหรับความผิดด้านยาเสพติด แต่ปีที่แล้วเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างปี 2546-2552 เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความหวังสำหรับกลุ่มรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารและภูมิภาคเอเชียโดยรวม แม้จะยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายไทยอย่างเป็นทางการ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศไทยเลย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ก็เริ่มมีการประหารชีวิตในไทยอีกครั้ง โดยการฉีดยาเพื่อประหารนักโทษชายสองคนที่เรือนจำบางขวางในข้อหาลักลอบค้ายาเสพติด ตามกติกา ICCPR ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและต้องปฏิบัติตาม มีการจำกัดให้ใช้โทษประหารได้เฉพาะกับ “อาชญากรรมร้ายแรงสุด” ซึ่งหมายถึงคดีที่มีเจตนาฆ่าและส่งผลให้มีการสูญเสียชีวิต แต่ไม่ใช่ความผิดด้านยาเสพติดแบบที่กำหนดในกฎหมายของไทย ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุลกล่าวว่า “ประเทศไทยควรเข้าร่วมกับมติมหาชนที่เพิ่มขึ้น และระหว่างที่รอให้มีการยกเลิกโทษประหารอย่างสิ้นเชิง ประเทศไทยควรลดจำนวนความผิดที่มีการลงโทษด้วยการประหารชีวิตโดยเฉพาะความผิดด้านยาเสพติด ทั้งยังควรประกาศยุติการประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการโดยทันที และให้มีการเปลี่ยนโทษประหารสำหรับผู้ต้องโทษที่มีอยู่โดยทันที “ประเทศไทยควรให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติกา ICCPR เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” เมื่อเร็วๆ นี้ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 2 สำหรับช่วงปี 2552-2556 ทั้งนี้เพื่อยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ตามแผนการดังกล่าวจะต้องมีการยกเลิกโทษประหาร และให้ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนภายในปี 2556 ในปี 2553 ประเทศไทยได้งดออกเสียงต่อคำประกาศให้ยุติโทษประหารชั่วคราวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งเมื่อเทียบกับการออกเสียง “ไม่รับรอง” ในมติเดียวกันเมื่อปี 2550 และ 2552” ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุลอธิบาย “ตอนนี้ควรมีการดำเนินการต่อ โดยในขั้นแรกควรยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดด้านยาเสพติด” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้ว่า ประเทศไทยกระตุ้นรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามสัญญาและการให้คุณค่ากับคุณภาพชีวิตมนุษย์ทุกคน ทั้งนี้เพราะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้เลยถึงความเชื่อมโยงระหว่างโทษประหารกับการลดลงของอาชญากรรม
ทั้งนี้ รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ว่า ประเทศต่างๆ ที่ยังมีการประหารชีวิตในปี 2554 มีอัตราการประหารชีวิตที่น่าตกใจ แต่ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารได้ลดจำนวนลงกว่าหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับหนึ่งทศวรรษที่แล้ว ทั้งนี้ตามข้อมูลในรายงานประจำปีเกี่ยวกับโทษประหารและการประหารชีวิตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเพียง 10% ของประเทศต่างๆ ในโลกหรือ 20 จาก 198 ประเทศที่ยังมีการประหารชีวิตในปีที่ผ่านมา การประหารชีวิตในปี 2554 เกิดขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ กัน เช่น การตัดศีรษะ การแขวนคอ การฉีดยาและการยิงเป้า จนถึงปลายปี 2554 มีผู้ต้องโทษประหารประมาณ 18,750 คน และมีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 676 คนทั่วโลก แต่ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่รวมการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้งซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าเกิดขึ้นที่ประเทศจีน ซึ่งมีการปกปิดข้อมูล ทั้งยังไม่รวมการใช้โทษประหารของอิหร่าน ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีการประหารชีวิตหลายครั้งซึ่งทางการไม่ยอมรับ “ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเริ่มหันหลังให้กับโทษประหาร” ซาลิล เช็ตตี (Salil Shetty) เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว “เรามีความประสงค์จะแจ้งอย่างชัดเจนต่อผู้นำประเทศกลุ่มน้อยที่ยังประหารชีวิตว่า พวกคุณล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ ในโลกในเรื่องนี้มาก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องดำเนินการเพื่อยุติการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี ในตะวันออกกลาง มีข้อมูลการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเพิ่มสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึงเกือบ 50% โดยเฉพาะในสี่ประเทศได้แก่ อิรัก (ประหารชีวิตอย่างน้อย 68 ครั้ง) อิหร่าน (อย่างน้อย 360 ครั้ง) ซาอุดิอาระเบีย (อย่างน้อย 82 ครั้ง) และเยเมน (อย่างน้อย 41 ครั้ง) ซึ่งคิดเป็นจำนวนข้อมูลการประหารชีวิต 99% ของจำนวนทั้งหมดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เฉพาะการเพิ่มขึ้นของการประหารชีวิตที่อิหร่านและซาอุดิอาระเบีย ทำให้ยอดการประหารชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 149 ครั้ง เมื่อเทียบกับปี 2553 ที่จีนในปี 2554 มีผู้ถูกประหารหลายพันคน มากกว่าการประหารชีวิตของทั้งโลกรวมกัน ทางการจีนยังถือว่าตัวเลขการลงโทษประหารชีวิตเป็นข้อมูลลับของราชการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ยุติการเก็บข้อมูลตัวเลขจากแหล่งข่าวสาธารณะของจีน เพราะมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าตัวเลขที่แท้จริงมาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังท้าทายอีกครั้งให้ทางการจีนตีพิมพ์ข้อมูลการประหารชีวิตและการลงโทษประหาร ทั้งนี้เพื่อยืนยันตามคำกล่าวอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและการปฏิบัติหลายส่วน ทำให้การตัดสินลงโทษประหารในประเทศลดลงอย่างมากในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ในอิหร่าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่ามีการประหารชีวิตแบบลับหรือที่ไม่สามารถยืนยันได้จำนวนมาก ซึ่งน่าจะมากกว่าตัวเลขที่ทางการระบุเป็นสองเท่า โดยมีผู้ถูกประหารอย่างน้อยสามคนในอิหร่านที่ถูกประหารสำหรับความผิดที่กระทำขณะที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ซึ่งถือว่าขัดกับกฎบัตรสากล ทั้งยังมีข้อมูลว่ามีการประหารชีวิตผู้เยาว์อีกสี่คนที่อิหร่าน และอีกหนึ่งคนที่ซาอุดิอาระเบีย แม้จะไม่สามารถยืนยันได้ สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศเดียวในทวีปในอเมริกา และเป็นประเทศเดียวในกลุ่มสมาชิกประเทศอุตสาหกรรม G8 ที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงประหารชีวิตนักโทษอยู่ โดยมีการประหารชีวิต 43 ครั้งในปี 2554 ไม่มีการลงโทษประหารในยุโรปและประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเลย เว้นแต่เบลารุสที่มีการประหารชีวิตสองคน ภูมิภาคแปซิฟิกก็ไม่มีการลงโทษประหารเลย เว้นแต่การลงโทษประหารชีวิตห้าคนในปาปัวนิวกินี มีการจงใจเลือกใช้โทษประหารโดยเฉพาะกับพลเมืองต่างชาติ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย แม้ในประเทศที่ยังคงมีการประหารชีวิต แต่ก็มีความก้าวหน้าในระดับที่สำคัญมากมายในปี 2554 ในจีน รัฐบาลได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดของ ‘นักธุรกิจ’ 13 ประเภท และมีการเสนอมาตรการต่อสภาประชาชนแห่งชาติเพื่อลดจำนวนการทรมานในระหว่างการควบคุมตัว ส่งเสริมบทบาทของทนายฝ่ายจำเลย และดูแลให้ผู้ต้องสงสัยในคดีที่มีโทษถึงประหารให้มีตัวแทนด้านกฎหมาย ในสหรัฐฯ จำนวนการประหารชีวิตและการลงโทษประหารใหม่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน รัฐอิลลินอยส์เป็นรัฐที่ 16 ที่ยกเลิกโทษประหาร ส่วนที่รัฐโอเรกอน มีการประกาศยุติการประหารชีวิตชั่วคราว และผู้เสียหายจากอาชญากรรมรุนแรงก็ยังออกมาพูดต่อต้านโทษประหาร “แม้ในบรรดาประเทศกลุ่มเล็กๆ ซึ่งยังคงประหารชีวิตในปี 2554 เราก็ยังเห็นความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง ถึงจะเป็นก้าวย่างเล็กๆ แต่มาตรการสะสมเช่นนี้กำลังส่งผลนำไปสู่การยุติโทษประหารในที่สุด” ซาลิล เช็ตตีกล่าว “มันไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดได้ในชั่วข้ามคืน แต่เราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าจะได้เห็นวันที่โทษประหารกลายเป็นซากอดีตของประวัติศาสตร์” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านโทษประหารในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะมีสภาพการกระทำความผิดอย่างไร โดยไม่คำนึงถึงบุคลิกลักษณะของผู้กระทำผิด หรือวิธีการที่รัฐใช้เพื่อประหารชีวิตบุคคล โทษประหารละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต และเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด
ทวีปอเมริกา แอฟริกาส่วนที่ต่ำกว่าทะลทรายซาฮารา ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ที่อิรัก อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย และเยเมน การประหารชีวิตในสี่ประเทศนี้คิดเป็น 99% ของข้อมูลการประหารชีวิตทั้งหมดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ทางการในแอลจีเรีย จอร์แดน คูเวต เลบานอน โมร็อกโก/ซาฮาราตะวันตก และการ์ตา ได้สั่งลงโทษประหาร แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการประหารชีวิตบุคคลใด ยุโรปและเอเชียกลาง
ดาวน์โหลดและอ่านเอกสารประกอบเพิ่มเติม
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now | ||||
สหภาพโฮยายื่นหนังสือผู้ว่าลำพูน เตรียมพบ กมธ.แรงงาน 28 มี.ค. นี้ Posted: 27 Mar 2012 02:33 AM PDT สหภาพโฮยาขอผู้ว่าเจรจาบริษัทช่วยรับพนักงานที่ยังไม่ได้เข้าทำงานประมาณ 120 คน เตรียมเข้าพบให้ข้อมูล กมธ.แรงงาน 28 มี.ค. 55 นี้ 27 มี.ค. 55 - ตัวแทนสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ พร้อมกรรมการสหภาพฯ จำนวน 10 คน ได้เดินทางมาพบนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ที่ศาลากลาง จ.ลำพูน เพื่อขอยื่นหนังสือขอให้ทางผู้ว่าฯ ช่วยเจรจากับผู้บริหาร บริษัทโฮยากลาสดิคส์(ประเทศไทย)จำกัด ช่วยรับพนักงานที่ยังไม่ได้เข้าทำงานประมาณ 120 คน ให้กลับเข้าทำงานที่บริษัทเหมือนเดิม เนื่องจากพนักงานที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าวกำลังได้รับความเดือดร้อนเรื่องไม่มีรายได้ ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าเช่าที่พักรายเดือน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในครอบครัวของตน โดยหลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้รับหนังสือจากนายอัครเดชเรียบร้อยแล้ว ได้รับปากว่าจะช่วยเจรจากับทางบริษัทโฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย)จำกัด ช่วยให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิม หากมีความคืบหน้าเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบต่อไป
นายอัครเดช กล่าวว่า ได้รับแจ้งว่านายนิทัศน์ ศรีนนท์ ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือเชิญประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ไปร่วมประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการแรงงาน ในวันที่ 28 มีนาคม 2555 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 3701 ชั้น 7 อาคารัฐสภา 3 ตามหนังสือร้องเรียน ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2554 เลขรับที่ 10/2555 ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการแรงงานให้ช่วยเหลือกรณีบริษัท โฮยากลาสดิคส์(ประเทศไทย)จำกัด เลขที่ 75/2 หมู่ที่ 4 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน เลิกจ้างพนักงานประมาณ 2,000 คน โดยไม่เป็นธรรม โดยคณะกรรมาธิการแรงงานได้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของสหภาพแรงงานฯ และเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรอบคอบ ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ จึงได้เรียนเชิญเข้าร่วมประชุมดังกล่าว และในวันที่ 27 มีนาคม 2555 เวลาประมาณ 18.00 น. นายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานฯ พร้อมพวกจำนวน 3 คน จะได้เดินทางไปร่วมประชุมโดยรถยนต์บัส(บขส.) หากประชุมกับคณะกรรมาธิการแรงงานเรียบร้อยแล้ว ก็จะเดินทางกลับทันที ที่มาข่าวบางส่วนจาก: เนชั่นทันข่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
"I Pad" เตรียมให้ปากคำอัยการ คดีหมิ่นฯ ที่ร้อยเอ็ด มีลุ้นคืบ Posted: 27 Mar 2012 01:55 AM PDT กรณี วิพุธ สุขประเสริฐ หรือผู้ใช้นามแฝง "I Pad" ฟ้องร้องผู้เขียนบทความและผู้แสดงความเห็นท้ายข่าวในเว็บประชาไทหลายรายด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อเจ้าพนักงานสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด ล่าสุด วานนี้ (26 มี.ค.55) วิพุธ สุขประเสริฐ ได้โพสต์แจ้งในสเตตัสเฟซบุ๊ก ซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณะว่า เขาจะเดินทางกลับบ้านที่จ.ร้อยเอ็ด เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติมต่ออัยการจากสำนักอัยการสูงสุด ในคดีหนึ่งซึ่งมีการแจ้งความไว้เกือบ 3 ปีแล้ว ทั้งนี้ ในโพสต์ดังกล่าวไม่ได้มีการรระบุรายละเอียดว่าเป็นคดีใด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
"มัลลิกา" จี้ภาครัฐสร้างความชัดเจนกรณีตั้งอำเภอเสื้อแดง Posted: 26 Mar 2012 08:33 PM PDT กังขาหน่วยงานราชการเข้าร่วมสนับสนุนอำเภอเสื้อแดงที่พะเยาหรือไม่ เพราะวันเปิดงานมีนายอำเภอ-ข้าราชการเข้าร่วมด้วย จึงอยากถามความชัดเจนว่ารัฐบาล มหาดไทย และกองทัพมีนโยบายด้านความมั่นคงอย่างไร สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (26 มี.ค.) ว่าน.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการเปิดอำเภอเสื้อแดงแห่งแรก ที่ อ.จุน จ.พะเยา เมื่อวานนี้ โดยเปิดเผยคลิปข่าวจาก สถานีโทรทัศน์ DNN พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดอำเภอเสื้อแดง ที่ อ.จุน ได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการด้วยหรือไม่ เพราะมีการติดป้ายของกระทรวงมหาดไทย การใช้สถานที่ราชการจัดงาน และมีนายอำเภอ รวมทั้งข้าราชการ เป็นผู้ร่วมงานด้วย จึงอยากถามความชัดเจนของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกองทัพ ว่า มีนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศอย่างไร และจะใช้การปกครองประเทศแบบแบ่งแยกใช่หรือไม่ ทั้งนี้เห็นว่าการประกาศเป็นอำเภอเสื้อแดงนั้น เป็นเรื่องแปลกประหลาด และเป็นการใช้อำนาจข้าราชการแอบแฝง และยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นฉันทามติของชาวบ้านใน อ.จุน และ ใน จ. พะเยา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น