โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อัยการสั่งไม่ฟ้องจักรภพหมิ่นเบื้องสูง

Posted: 30 Mar 2012 11:18 AM PDT

อัยการสั่งไม่ฟ้องจักรภพหมิ่นเบื้องสูง  รอ ผบ.ตร.ทำความเห็นแย้งหรือไม่  โต้ใบสังการเมือง

โพสต์ทูเดย์รายงานว่าเมื่อวันที่ 30 มี.ค.55 ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ได้กล่าวถึงกรณีที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คดีหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ไปเมื่อเดือน ก.ย.54  กรณีเมื่อวันที่ 29 ส.ค.50นายจักรภพได้กล่าวบรรยายพิเศษเป็นภาษาอังกฤษที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ว่า คดีนี้เป็นความรับผิดชอบของ นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ส่วนตนเข้ามารับตำแหน่งภายหลังจึงไม่ทราบรายละเอียดสำนวนของคดีนี้ทั้งหมด เพียงแต่รับรู้ว่าอัยการได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปแล้วโดยขณะนี้สำนวนและความเห็นของอัยการได้ส่งไปให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) เพื่อพิจารณาว่าจะมีความคิดเห็นแย้งกับความเห็นของอัยการหรือไม่ ขณะที่ตนได้มีหนังสือตอบกลับ พ.ต.ท.วัฒนศักดิ์ มุ่งการดี ผู้ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้ แจ้งผลการพิจารณาของอัยการตามที่พ.ต.ท.วัฒนศักดิ์ ส่งหนังสือติดตามความคืบหน้าของคดีมาเท่านั้น
 
ขณะที่นายกายสิทธิ์ พิศวงประการ อดีตอธิบดีอัยการสำนวนงานคดีอาญา ซึ่งรับผิดชอบคดีหมิ่นเบื้องสูงสำนวนนายจักรภพ กล่าวถึงกรณีที่  พ.ต.ท.วัฒนศักดิ์ ผู้ร้องทุกข์ของคดีนี้ ระบุว่าคดีนี้มีหลักฐานเพียงพอแต่อัยการกลับสั่งไม่ฟ้อง อาจจะมีประเด็นการเมืองเนื่องจากนายจักรภพ เป็นหนึ่งในแกนนำเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน ว่า เรื่องนี้ เป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวของ พ.ต.ท.วัฒนศักดิ์ จะมีความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ แต่คดีต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน
 
ส่วนที่ พ.ต.ท.วัฒนศักดิ์ ขอให้เปิดเผยสำนวนคดีนั้น เนื่องจากตนพ้นออกจากตำแหน่งมาหลายเดือนแล้ว ต้องปรึกษาผู้ใหญ่เนื่องจากต้องมีขั้นตอนการดำเนินการ
 
“ การออกมาวิจารณ์คดีนั้น ควรรอผลการตัดสินเสร็จออกมาเสียก่อน นี่ยังอยู่ในขั้นตอนของคดีอยู่เลย ก็ออกมาพูดกันแล้ว ” นายกายสิทธิ์ กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสทช.เผย แก้ประกาศข้อห้าม “ครอบงำกิจการโดยต่างด้าว” ก่อนสงกรานต์นี้ได้ข้อยุติ

Posted: 30 Mar 2012 10:36 AM PDT

ดร.สุทธิพล กสทช.ด้านกฎหมาย เผยปรับปรุงแก้ไขประกาศ กสทช.เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ.2554 ระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง คาดได้ข้อสรุปก่อนสงกรานต์นี้

30 มี.ค.55 - ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม ครั้งที่ 6/2555 เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาวาระเรื่องการปรับปรุงแก้ไขประกาศ กสทช.เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ.2554

เนื่องจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบูรณาการฯ ทำการศึกษาปรับปรุงแก้ไข โดยนำเอาความคิดเห็นทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จากเวทีการจัดเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในครั้งนี้ด้วย รวมทั้ง กทค.ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.มีหนังสือไปหารือกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่าประกาศดังกล่าวมีปัญหาในเรื่องความไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ความตกลง WTO และ ความตกลง GATS หรือไม่ อย่างไร
 
ทั้งนี้ ที่ประชุม กทค.ได้ให้หลักการในการแก้ไขประกาศฯ ดังนี้ 1.การแก้ไขปรับปรุงประกาศฯ แม้จะมุ่งหมายให้เกิดความเป็นธรรม แต่จะต้องคำนึงถึงการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพและโดยเสรีด้วย 2.ควรแก้ไขปรับปรุงประกาศฯตามความจำเป็นเพื่อให้เกิดความชัดเจนและช่วยให้ กสทช.สามารถบังคับใช้ประกาศฯภายในกรอบการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม 3. การพิจารณาว่าพฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงใดเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศฯนี้ควรให้เป็นดุลพินิจของกสทช. โดยไม่ต้องส่งเรื่องไปให้หน่วยงานภายนอกเป็นผู้ตัดสินใจแล้วบังคับให้ กสทช.ต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการก้าวล่วงในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.
 
อีกทั้งที่ประชุมได้มีการระดมความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคง ในเบื้องต้นที่ประชุมเห็นว่าการนำประเด็นความมั่นคงมารวมกับประเด็นครอบงำโดยคนต่างด้าวทำให้เกิดความสับสน เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่จะกำหนดลักษณะที่เป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ซึ่งพฤติการณ์การครอบงำในตัวเอง ก็ต้องห้ามอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องนำประเด็นเรื่องการกระทบต่อความมั่นคงของชาติมาเกี่ยวข้อง
 
กรรมการ กสทช. ยังกล่าวด้วยว่า จากความคิดเห็นของผู้ประกอบการหลายรายเห็นว่าประกาศดังกล่าวได้ให้ดุลพินิจแก่ กสทช. กว้างเกินไปในการยกเว้นพฤติการณ์การครอบงำ หรือ เพิ่มลักษณะการครอบงำฯ ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มีการพิจารณาเพื่อกำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจของกสทช.ให้มีความชัดเจนและรัดกุมมากยิ่งขึ้น
 
อย่างไรก็ดีทางคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ จะพิจารณาแก้ไขปรับปรุงประกาศฯ ฉบับนี้ให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยยึดเอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ และคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนสงกรานต์นี้
   
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิสิทธิ์ถาม "พล.อ.สนธิ" ตระหนักหรือไม่กำลังสร้างวิกฤติชาติรอบสอง

Posted: 30 Mar 2012 09:40 AM PDT

แนะอยากปรองดองต้องไม่ใช่วิธีลงมติในสภา แต่ต้องค่อยๆ คุยกันด้วยเหตุผล ชี้ถ้า พล.อ.สนธิ ไม่ยอมถอนรายงาน จะเป็นตัวฟ้องว่ากำลังทำงานรับใช้ใคร ยันไม่ได้มีเป้าหมายล้มรัฐบาล แต่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ยอมรับไม่เหมือน "จตุพร" ชวนคนมาสร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองเพราะต้องการล้มรัฐบาล

มาร์คชี้อยากปรองดองต้องไม่ใช่วิธีลงมติ แต่ต้องค่อยๆ คุยกันด้วยเหตุผล

เว็บไซค์พรรคประชาธิปัตย์รายงานว่า วันนี้ (30 มี.ค. 55) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel โดยตอนหนึ่งนายอภิสิทธิ์ตอบคำถามเรื่องความพยายามในการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญโดยผู้ดำเนินรายการถามนายอภิสิทธิ์ว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับปรองดองหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ระบุว่า เป็นเรื่องแปลกที่เมื่อวันพุธที่ผ่านมามีการลงมติในคณะกรรมาธิการแต่ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลลงมติแพ้ ต่อมารัฐบาลจึงจัดให้มีการลงมติกันใหม่

“สมัยยุคหลัง ๆ นี่เขาเรียกว่าคนละเรื่องเดียวกัน ประเด็นก็คือว่า โดยประเพณีนั้นกรรมาธิการก็ทำงานของกรรมาธิการไป ทีนี้มันก็เป็นเรื่องซึ่งแปลกว่า เมื่อวันพุธเราก็ได้ข่าวว่ามีการลงมติในคณะกรรมาธิการ แล้วก็มีการพูดกันว่า ปรากฏว่าทางฝ่ายรัฐบาล เกิดแพ้เรื่องการลงมติ แพ้ไป 10 : 12 เสียง ก็เลยทำให้มีการแก้ไขร่างที่รัฐบาลเสนอเข้ามา ปกติแล้วมันก็จบอยู่แค่นั้น แล้วคณะกรรมาธิการก็ต้องทำงานต่อ แต่เมื่อวานนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พอรัฐบาลแพ้ ก็เลยหาทางบอกโหวตใหม่ เพื่อให้รัฐบาลชนะ สรุปแล้ว ผมก็เลย งง ว่าตกลงแล้วจะทำงานกันยังไง ต่อไปนี้ก็คงไม่ต้องทำอะไรแล้วมั๊งครับ ทั้งกรรมาธิการ ทั้งสภา เหมือนกับที่เราเห็นเมื่อวันอังคารด้วย คือเมื่อไหร่ที่รัฐบาลแพ้ หรือทำไม่ถูกต้องอะไรก็ไม่เป็นไร ก็เอาจนได้ พูดง่ายๆ อันนี้เป็นเรื่องน่าห่วงครับ เพราะว่าถ้าเราเป็นนักประชาธิปไตยเราก็ต้องยอมรับสิ่งเหล่านี้ ก็มันจบไปแล้วก็คือจบไปแล้ว”

นายอภิสิทธิ์มองว่า หากต้องการจะปรองดองแล้ว ไม่ควรใช้วิธีการแบบนี้ แต่ควรต้องค่อย ๆ พูดกันในเหตุและผล แล้วว่ากันไปตามกติกา ไม่ใช่ลงมติแล้วไม่เป็นไปตามความต้องการแล้วทำใหม่จนกว่าตัวเองจะชนะ

“ก็นี่แหละครับ คือสิ่งที่เขาเตือนกันไว้ว่า ถ้าอยากจะปรองดองกัน มันต้องไม่ใช้วิธีกันแบบนี้ มันต้องค่อย ๆ คุยกันว่าเรื่องไหน เหตุผลเป็นยังไงแล้วก็ว่ากันไปตามกติกา แต่ว่าถ้าหากว่าใช้วิธีว่าในที่สุดแล้วจะเอาอย่างที่ต้องการ มันก็ไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตยหรอกครับ คือเอากันจนผลเป็นที่ต้องการ ก็จะเห็นอาการนี้อยู่หลาย ๆ อย่างนะครับ เหมือนคดีต่าง ๆ ในศาล นึกออกไม๊ครับ ถ้าตัดสินแล้วตัวเองชนะ ก็บอกว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ว่าพอบอกว่าตัวเองแพ้ ก็เป็นสองมาตรฐานบ้างอะไรบ้าง แล้วก็จะบอกว่าต้องทำใหม่จนตัวเองชนะเอาอย่างนี้ ผมว่าถ้ามันเป็นในลักษณะอย่างนี้ก็น่าเป็นห่วงมากนะครับว่า สุดท้ายแล้วบ้านเมืองก็ไม่ได้มีกติกาประชาธิปไตยจริง แล้วก็กลายเป็นว่าทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามความต้องการของเสียงข้างมาก ก็น่าห่วง เพราะว่านายกฯ เองตอนนี้ย้ำอย่างเดียวว่าทุกอย่างนั้นให้ไปจบที่สภา ให้ไปยุติที่สภา แต่ว่ายุติที่สภาถ้าเกิดทำกันแบบนี้ก็คือยุติที่ความต้องการของรัฐบาล เพราะว่าสภาเขาทำงานตามปกติก็ไม่ได้แล้ว ก็ไม่ทำตามปกติกันแล้ว”

 

อัด "พล.อ.สนธิ" ตระหนักหรือไม่กำลังสร้างวิกฤตชาติรอบสอง

ต่อคำถามที่ว่าเมื่อพล.อ.สนธิ ระบุไม่ถอนรายงานของกรรมาธิการแล้วในวันที่ 4 เมย.จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น นายอภิสิทธิ์ได้ตั้งคำถามถึง พล.อ.สนธิ 2 ข้อคือ 1. พล.อ.สนธิ ตระหนักหรือไม่ว่ากำลังจะกลายเป็นบุคคลที่สร้างวิกฤติให้กับชาติรอบ 2 และข้อ 2. พล.อ.สนธิจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการปรองดองอย่างไร

“ก็คงเป็นอย่างที่รัฐสภาเป็นเมื่อวันอังคารมั๊งครับ ก็คงมีความพยายามที่จะรวบรัดตัดตอนทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ต้องย้ำไปถึงพล.อ.สนธินะครับ ท่านเองความจริงก็ถูกกล่าวหา ต่อว่ามากมาย จากการที่เป็นผู้นำการรัฐประหารที่บางฝ่ายเขาก็พูดมาตลอดว่าปัญหาบ้านเมืองเกิดจากตรงนั้น ซึ่งท่านก็พยายามชี้แจงว่า มันไม่ใช่ มันเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น อะไรต่าง ๆ แต่ว่า สุดท้ายวันนี้ท่านกำลังบอกว่า ถ้าท่านเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ท่านจะมาร่วมแก้ไข แต่ท่านกำลังสร้างปมปัญหาใหม่ขึ้นมา

ผมยืนยันเลยนะครับว่า การที่ขณะนี้มีความพยายามในการที่จะผลักดันโดยอาศัยคำว่าปรองดองบังหน้า เพื่อนำไปสู่การนิรโทษกรรม หรือล้างผิดในคดีทุจริต มันไม่ใช่การปรองดอง แล้วก็จะทำให้เกิดความขัดแย้ง แล้วการเกิดความขัดแย้งรอบใหม่นี้ หลายคนก็เตือนนะครับ พล.ต.สนั่น ใครต่อใครก็เตือนว่ามันจะรุนแรง พล.อ.สนธิทราบแล้ว และก็ทราบด้วยว่า การเพิ่มชนวนความรุนแรงก็มาจากการทำหน้าที่ของท่านในฐานะประธานกรรมาธิการซึ่งอยู่ดี ๆ ก็รวบรัด เซ็นรายงานซึ่งคณะกรรมาธิการเขายังไม่ได้ลงมติเห็นชอบเข้ามาสู่การพิจารณา แล้วก็พยายามรวบรัดทุกอย่าง ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เลย

ผมก็ไม่แน่ใจว่า 1. พล.อ.สนธิ ตระหนักบ้างไม๊ว่ากำลังจะกลายเป็นบุคคลซึ่งคนจะบอกว่าสร้างวิกฤติให้กับชาติ 2 รอบ กับ 2. ที่ท่านพูดมาตลอดว่า ท่านอยากจะปรองดองนั้น ตรงไหนล่ะครับที่ท่านจะแสดงให้เห็นว่าท่านจะเริ่มต้นทำตัวเป็นแบบอย่างของการปรองดองว่า ฟังเสียงข้างมากข้างน้อย ฟังเสียงรอบด้านแล้วก็แสวงหาจุดร่วมก่อน ไม่ใช่ผลักดันทุกอย่างไปให้ตามธงที่ไม่ทราบใครกำหนดมา แล้วก็บอกว่าต้องจบกันทุกคนต้องทำตามนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นตรงนี้มีความสำคัญมากที่ผมคิดว่าท่านพล.อ.สนธิ จำเป็นที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบตรงนี้อย่างชัดเจน แล้วก็ในส่วนของฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นทางคณะผู้วิจัยดูเหมือนเขาก็เริ่มที่จะแสดงความไม่สบายใจแล้วเหมือนกัน เพราะถ้ารายงานการวิจัยถูกบิดเบือนไปใช้ไปในทางที่ไม่ถูก ก็จะยิ่งเป็นปัญหามากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นตรงนี้ครับที่ผมคิดว่า ทุกฝ่ายก็กำลังจับตาดูอยู่ว่า อยากจะเดินกันไปอย่างนี้หรือไม่อย่างไร”

 

ลั่นถ้าไม่ยอมถอนรายงาน จะเป็นตัวฟ้องว่า "พล.อ.สนธิ" ทำงานรับใช้ใคร

ผู้ดำเนินรายการสอบถามต่อว่า หากวันที่ 3 เม.ย. มีมติให้ถอนรายงานการวิจัยจากคณะกรรมาธิการวิสามัญ แล้วประธานกรรมาธิการ พล.อ.สนธิ ประกาศเดินหน้าต่อได้หรือไม่ แล้วความชอบธรรมจะเป็นอย่างไรนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า วันนั้นจะเป็นตัวฟ้องว่า พล.อ.สนธิ ทำงานรับใช้ใคร

“ได้กับชอบธรรม ก็ไม่เหมือนกันนะครับ คือ พล.อ.สนธิทำอย่างไร วันนั้นจะเป็นตัวฟ้องเลยว่าตกลงแล้ว พล.อ.สนธิ ทำงานรับใช้ใคร แต่ว่าเราก็คงจะต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ผมย้ำอีกครั้งนะครับ วันนี้ฝ่ายที่ออกมาตำหนิติติงการพยายามที่จะบิดเบือนกระบวนการนี้มันไม่ใช่ประชาธิปัตย์นะครับ มันมีหลายฝ่าย คนที่เขาต้องการเห็นนิติธรรม นิติรัฐ เขาอยากจะเห็นความปรองดอง แต่ไม่ใช่เอาคำว่าปรองดองมาบังหน้าล้างความผิดคดีทุจริต แล้วก็ที่สำคัญผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นในส่วนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ หรือฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดง ครอบครัวเขาก็เรียกร้องว่านี่ไม่ใช่แนวทางที่เขาต้องการ ทำไมวันนี้พรรคเพื่อไทย ทำไมวันนี้แกนนำเสื้อแดงเปลี่ยนไปแล้วล่ะครับ เดิมบอกว่าจะดูแลคนเหล่านี้ วันนี้สิ่งที่คนเหล่านี้เขาต้องการ แล้วความจริงส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าแกนนำเสื้อแดงพรรคเพื่อไทยไปบอกเขาเองว่าต้องเรียกร้องอย่างนี้ วันนี้บอกไม่ต้องเรียกร้องแล้วเพียงเพราะว่ากำลังจะล้างคดีความผิดของคุณทักษิณ”

ต่อคำถามว่าถ้ามีการออกเป็น พ.ร.บ.ปรองดอง หรือ พ.ร.ก. นิรโทษกรรม ออกมา หากมีการตัดสินด้วยเสียงข้างมากในสภา ซึ่งก็คงจะผ่านกฎหมายได้ แต่การผ่านออกมาในลักษณะที่สังคมไม่มีความยอมรับนั้น บ้านเมืองจะเรียบร้อยได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนยังมองไม่เห็นว่า การออกกฎหมายแบบนั้นแล้วบ้านเมืองจะเรียบร้อยได้อย่างไร เพราะหากออกเป็น พรก. ก็เท่ากับเป็นความพยายามรวบอำนาจกลับไปสู่ฝ่ายบริหาร และหากออกเป็น พรบ. ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องใช้เสียงข้างมากในสภาผลักดัน พรบ. นี้ออกมา ซึ่งเป็นไปตามที่สถาบันพระปกเกล้าและทุกฝ่ายเคยเตือนไว้แล้วว่าจะทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย

“ผมยังมองไม่เห็นว่า ทำไมการออกกฎหมายแบบนั้นมาแล้วบ้านเมืองจะเรียบร้อย ถามว่าถ้าออกมาแล้วสิ่งที่ไม่เรียบร้อยนั้นจะหายไปหรือไม่ แล้วถ้าออกมาแล้วความไม่เรียบร้อยใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นอะไรจะรุนแรงกว่ากัน ผมว่าเราก็ดูกันออก วันนี้ความไม่เรียบร้อยก็มีอยู่บ้าง แต่ว่ามันมีกระบวนการที่กำลังจะหาคำตอบตรงนี้อยู่ แต่ว่าถ้าบอกว่าจะล้างความผิดในการทุจริตให้คน ผมว่าคนจำนวนมากเขาบอกเขาก็ยอมไม่ได้ แล้วยิ่งถ้าไปบอกว่าต่อไปนี้เรารับรองแล้วนะว่า อะไรที่เป็นการต่อสู้ มีความคิด มีอุดมการณ์ทางการเมืองเราใช้วิธีการอะไรก็ได้ มันจะไม่เป็นเหมือนคดีอาญา แล้วมันจะวุ่นวายไม๊ล่ะครับ เพราะฉะนั้นผมว่าตรงนี้ถ้าออกเป็น พรก. ก็ยิ่งยุ่งครับ เพราะว่านั่นเป็นการพยายามที่จะรวบอำนาจกลับไปสู่ฝ่ายบริหาร แล้วก็จะต้องโต้แย้งกันอีกว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถึงออกเป็น พรบ. ก็หนีไม่พ้นหรอกครับ สิ่งที่ทางสถาบันพระปกเกล้าและทุกฝ่ายเขาเตือนกันไว้ว่า ไม่ใช่เอาเสียงข้างมากมาทำตรงนี้นะ เพราะฉะนั้นผมยังมองไม่เห็นว่ามันจะเรียบร้อยได้อย่างไร มีแต่ว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้น”

 

ชี้การขยายสมัยประชุมหวังเอื้อเรื่องแก้ไข รธน.

เมื่อถามว่าการขยายสมัยประชุมไปถึง 30 พ.ค. เป็นการส่งสัญญาณอะไรบ้างนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การขยายสมัยประชุมนั้นเพื่อเอื้อต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องทำให้เสร็จภายในสมัยประชุมนี้

“ผมทราบมาว่ามันเป็นเรื่องที่ผูกอยู่กับเรื่องของรัฐธรรมนูญ คือทางรัฐบาลต้องการที่จะให้รัฐธรรมนูญนั้นผ่านสภาในสมัยประชุมนี้ ทีนี้ขณะนี้เราก็มาถึงวันที่ 30 – 31 – 1 นับไปนะครับ คือสภานั้นปิดวันที่ 18 ถ้านับไปอย่างนี้ มันไม่มีทางทัน เพราะว่าถึงแม้เข้าวาระที่ 2 อาทิตย์หน้า เอาแบบสุดโต่งเลยให้เร็วสุดเลย พอพิจารณาวาระ 2 เสร็จ ก็ยังต้องไปเว้นอีก 15 วันตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็เว้นไปอีก 15 วันไปเข้าวาระ 3 มันก็ไม่ทันสมัยประชุมแล้วครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องขยายสมัยประชุมไป”

ส่วนคำถามที่ว่าอะไรทำให้รัฐบาลเชื่อมั่นในการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การใช้เสียงข้างมากในสภา และจากสิ่งที่รัฐบาลได้ทำให้เห็นแล้วในหลายกรณี สิ่งเหล่านี้ทำให้รัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการ

“ก็คือการมีเสียงข้างมากไงครับ แล้วก็ทำให้เห็นแล้วในหลายกรณี อย่างเช่นทำงานในกรรมาธิการ วันไหนเสียงเกิดแพ้ขึ้นมา ไม่เป็นไรครับ ตั้งหลักกันใหม่ มารบกันใหม่ได้ ไม่มีการประชุมก็อาศัยเครื่องมือคนนั้นคนนี้บอกว่ารวบรัดเสร็จขั้นตอนนี้แล้ว เข้าสู่สภาจะอภิปรายก็ปิดอภิปราย อภิปรายตอบคำถามไม่ได้ประธานก็ปิดไมค์ คือนี่แหละครับคือสิ่งที่ทำให้เป็นความเชื่อมั่นของเขาว่าจะได้สิ่งที่ต้องการ”

 

ลั่นไม่ได้มีเป้าหมายล้มรัฐบาล ไม่เหมือนจตุพรชวนคนไปสร้างความวุ่นวาย

ส่วนการที่นายจตุพร ระบุว่าน้ำหน้าอย่างประชาธิปัตย์ไม่มีทางที่จะล้มรัฐบาลนี้ได้นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ได้มีเป้าหมายล้มรัฐบาล แต่มีเป้าหมายให้บ้านเมืองเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และยอมรับว่าตนไม่มีน้ำหน้าอย่างนายจตุพรที่ชวนคนมาสร้างความวุ่นวายเพราะต้องการล้มรัฐบาล

“ผมไม่ได้มีเป้าหมายล้มรัฐบาลนะครับ ผมมีเป้าหมายให้บ้านเมืองเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ผมยอมรับครับว่าผมไม่มีน้ำหน้าอย่างคุณจตุพรหรอกครับที่จะไปชวนคนมาสร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองเพราะต้องการล้มรัฐบาล ขอให้รัฐบาลอยู่ในสิ่งที่ถูกที่ต้อง ทำหน้าที่บริหารประเทศไป นโยบายเห็นด้วยกันบ้าง ไม่เห็นด้วยกันบ้างก็ว่าไปตามกระบวนการประชาธิปไตยครับ”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล : วิพากษ์ข้อสอบ-ธง วิชารัฐธรรมนูญ ของ ดร.วิจิตรา วิเชียรชม

Posted: 30 Mar 2012 09:10 AM PDT

จากบทความเดิมชื่อ: ข้อสังเกตจากข้อสอบและธงคำตอบวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญของ ‘รศ.ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม’ ที่น่ากังขาในคุณวุฒิของผู้สอน เป็นยวดยิ่ง?

 

“ประเด็น” ซึ่งจะวิพากษ์ในบทความนี้ คือ ‘เนื้อหาข้อสอบ’ และ ‘ธงคำตอบ’ จากข้อสอบวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ น.๒๕๑ [ระดับปริญญาตรี] ข้อสอบข้อนี้ออกโดย รศ.ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพิ่งทำการสอบไปเมื่อวันพุธที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

ผมชี้แจงก่อนว่า บทความนี้จะไม่พิจารณาในเรื่อง ‘ความเหมาะสม หรือ ความไม่เหมาะสม’ ในวิธีการตั้งโจทย์อุทาหรณ์ ของ ‘วิจิตรา’ แต่บทความนี้จะพิจารณาในเรื่อง ‘ความไม่เข้าใจอย่างถึงระดับรากฐานของ ผู้ออกข้อสอบ’ และ เป็นความคลาดเคลื่อนในระดับ ‘ความถูก – ผิด ในทางเนื้อหาธงคำตอบ’ ขอเน้นย้ำในเบื้องต้นว่า กรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ ‘ไม่ใช่เรื่องความเห็นที่แตกต่างในทางวิชาการ’ แต่เป็น ‘ความถูก – ความผิด’ โดยแท้

วิจิตราฯ ออกข้อสอบดังนี้ [1] : “นายสุรเจตเป็นนักวิชาการที่สนใจการเมืองและมีบทบาทเรียกร้องให้ประชาชนได้รับความเสมอภาคโดยต้องการให้องค์กรศาลได้รับการตรวจสอบจากผู้แทนของประชาชน จึงได้รวมกลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งตั้งเป็นกลุ่มนิติโรสและทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตน อันทำให้กลุ่มคนอีกพวกหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติโรสเพราะเห็นว่า จะทำให้มีการแทรกแซงการใช้อำนาจฝ่ายตุลาการของศาลซึ่งย่อมทำให้คู่ความในคดีที่มีความขัดแย้งกันไม่ได้รับความเป็นธรรม อันจะนำไปสู่ความไม่สงบสุขในสังคม กลุ่มคนดังกล่าวนี้จึงรวมตัวกันเผาหุ่นประท้วงนายสุรเจต และหลังจากเหตุการณ์เผาหุ่นนายสุรเจตไม่นาน นายสุรเจตก็ถูกรุมทำร้าย ขอให้ท่านตอบคำถามดังต่อไปนี้พร้อมให้เหตุผลประกอบด้วย

๑) นายสุรเจตมีสิทธิจัดตั้งกลุ่มนิติโรสได้โดยสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

๒) การที่นายสุรเจตถูกรุมทำร้ายเป็นการถูกละเมิดสิทธิประเภทใดตามรัฐธรรมนูญ

๓) เมื่อพิจารณาประเภทของสิทธิโดยพิจารณาตามผู้ทรงสิทธิถือว่าสิทธิของนายสุรเจตตาม 2) เป็นสิทธิประเภทใด

๔) ความต้องการของนายสุรเจตในการตรวจสอบองค์กรศาลดังกล่าวสอดคล้องกับหลักอิสระของผู้พิพากษาอันเป็นหลักย่อยหลักหนึ่งของหลักนิติรัฐหรือไม่”

เรามาพิจารณา ‘ธงคำตอบ’ และวิจารณ์ทีละข้อ ดังนี้ :-

“๑) นายสุรเจตมีสิทธิจัดตั้งกลุ่มนิติโรสได้โดยสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่”

สำหรับคำถามข้อ ๑) ธงคำตอบ ของ วิจิตราฯ มีสาระสำคัญว่า สอดคล้องรัฐธรรมนูญเพราะเป็นเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง

บทวิจารณ์ : หากพิจารณา ‘ธงคำตอบ’ ในข้อนี้ ‘ไม่ผิด’ แต่หากพิจารณาระดับสติปัญญาในการตั้งคำถาม – การตอบคำถาม ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งในกฎหมายมหาชน ผมเห็นว่า คำถามในลักษณะนี้ ไม่จำเป็นต้องศึกษาระดับปริญญาตรี หรือ คณะนิติศาสตร์ ก็สามารถตอบคำถามได้ ครับ เพราะ กางตัวบทรัฐธรรมนูญ ก็ตอบได้ กระทั่งเดาก็ยังตอบได้ ไม่ต้องอาศัยการใช้นิติวิธีทางกฎหมายมหาชน ตลอดจนข้อความคิดพื้นฐานที่เป็นศาสตร์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด กล่าวได้ว่า เป็นคำถามที่ไม่ควรค่าแก่การใช้ชี้วัดผลการศึกษาในระดับปริญญาตรี ของคณะนิติศาสตร์ ได้เลย.

“๒) การที่นายสุรเจตถูกรุมทำร้ายเป็นการถูกละเมิดสิทธิประเภทใดตามรัฐธรรมนูญ”

คำถามข้อ ๒) ธงคำตอบ ของ วิจิตราฯ มีสาระสำคัญว่า เป็นสิทธิในร่างกาย เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรี จึงมีสิทธิในร่างกาย ผู้ใดจะละเมิดมิได้

บทวิจารณ์ : การที่นายสุรเจตถูก (ใครก็ไม่ทราบ) ทำร้าย เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่? ผมจะเกริ่นนำถึงหลักการพื้นฐาน ให้ท่านทราบก่อนว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นรูปธรรมหนึ่งของ กฎหมายมหาชน ซึ่งมุ่งจำกัดอำนาจรัฐ – วางความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐกับราษฎร ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองด้วยกันเอง กล่าวกระชับ กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ที่คู่กรณีอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐและใช้อำนาจรัฐ (คำว่า “รัฐ” ก็รวมถึงองคาพยพต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น องค์กรรัฐ, สถาบันการเมืองของรัฐ, หน่วยงานรัฐ, เจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจน องค์กรอื่นซึ่งใช้อำนาจรัฐ) พิจารณาข้อเท็จจริงตามโจทย์ ไม่ปรากฏว่า นายสุรเจต ถูกทำร้ายโดยการสั่งการของ “องค์กรรัฐ” หรือ “สถาบันการเมืองของรัฐ” หรือเป็นฝีมือของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ข้อเท็จจริงตามโจทย์ปรากฏเพียงว่า “กลุ่มคนอีกพวกหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติโรส…เผาหุ่นประท้วงนายสุรเจต และ…ไม่นาน นายสุรเจตก็ถูกรุมทำร้าย” ข้อเท็จจริงไม่ชัดว่า ใคร? เป็นผู้ทำร้ายนายสุรเจต เมื่อข้อเท็จจริงไม่ชัดย่อมไม่อาจหยั่งทราบได้ว่า ความเข้าใจของอาจารย์วิจิตราฯ ซึ่งอยู่นอกเหนือข้อเท็จจริงตามโจทย์เป็นอย่างไร? เราไม่อาจสรุปได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็น การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือองค์กรของรัฐ อันจะโยงไปสู่ ‘การใช้อำนาจละเมิด สิทธิตามรัฐธรรมนูญ’ ได้ เราสืบสาวไปสู่ข้อความคิดเบื้องต้นของสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่จะอธิบายได้ในกรณีนี้ก็คือ ‘status negativus’ เป็นแนวคิดที่ว่า ราษฎรทรงสิทธิในการปกป้องตนเองจากการล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานโดยการกระทำการของรัฐ และเป็นแนวคิดเชิงปฏิเสธอำนาจรัฐ เสียด้วย หาใช่ ‘สิทธิตามความคุ้มครองของกฎหมายเอกชน’ ไม่ กล่าวได้ว่า หากนิติสัมพันธ์นั้นคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิใช่รัฐแล้ว การนั้นย่อมมิใช่การละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (สิทธิตามความคุ้มครองของกฎหมายมหาชนในระดับรัฐธรรมนูญ)

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงมิได้ระบุสถานภาพเฉพาะของบุคคลผู้ลงมือทำร้ายนายสุรเจต ตามวิสัยย่อมต้องอนุโลมว่า เป็นการกระทำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั่วไป กล่าวคือ ระหว่างราษฎรกับราษฎร จึงต้องเฉลยข้อสอบ ว่า “เป็นการละเมิด ‘สิทธิตามความคุ้มครองของกฎหมายเอกชน’ หาใช่ สิทธิตามรัฐธรรมนูญ อันเป็น ‘สิทธิตามความคุ้มครองของกฎหมายมหาชน’ ไม่” ในข้อนี้สะท้อนความไม่เข้าใจของผู้ออกข้อสอบ ในข้อความคิดพื้นฐานของวิชาที่ตนสอน อย่างเห็นได้ชัด.

“๓) เมื่อพิจารณาประเภทของสิทธิโดยพิจารณาตามผู้ทรงสิทธิถือว่าสิทธิของนายสุรเจตตาม ๒) เป็นสิทธิประเภทใด”

คำถามข้อ ๓) ธงคำตอบ ของ วิจิตราฯ มีสาระสำคัญว่า เป็น สิทธิมนุษยชน เพราะเป็นสิทธิที่ผูกติดมากับความเป็นมนุษย์

บทวิจารณ์ : คำถามข้อนี้เชื่อมโยงมาจาก ‘ธงคำตอบข้อ ๒)’ ซึ่ง วิจิตราฯ เองก็ได้เท้าความถึง ๒) นั่นคือ ยืนพื้นความคิดในเรื่อง “สิทธิประเภทใดประเภทหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ” ประเด็นนี้ผู้เขียนอธิบายใน ๒) แล้วว่า กรณีตามโจทย์ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในข้อ ๓) วิจิตราฯ ยืนยันในธงคำตอบ ว่าเป็น ‘สิทธิมนุษยชน’ นัยว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ? หากเห็นเช่นนั้นก็สำคัญผิด เพราะ ‘สิทธิมนุษยชน’ มิใช่สิทธิที่ก่อขึ้นโดยอำนาจรัฐธรรมนูญ การปรากฏอยู่ของสิทธิมนุษยชนบางประการในรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการบันทึกสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร. นอกจากนี้ สิทธิมนุษยชน แทรกซึมอยู่ในทุกระบบกฎหมาย (ทั้งในเชิงรับรอง และในเชิงต่อต้าน) ไม่ว่าจะในกฎหมายเอกชน หรือกฎหมายมหาชน (ซึ่งรวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย) ทว่าโจทย์ข้อนี้ บังคับผูกพันจากข้อ ๒) เช่นนี้ ท่านผู้ออกข้อสอบ จำต้องกระจ่างในตัวเองเสียก่อนว่า ‘ผู้ทรงสิทธิ’ ตามโจทย์ เป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายมหาชน หรือเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายเอกชน (คำตอบคือ เป็น ผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายเอกชน ประเภทสิทธิมนุษยชน) ในเมื่อข้อ ๒) ท่านให้ธงคำตอบผิด ข้อ ๓) ก็ต้องผิด ไปด้วยโดยปริยาย.

“๔) ความต้องการของนายสุรเจตในการตรวจสอบองค์กรศาลดังกล่าวสอดคล้องกับหลักอิสระของผู้พิพากษาอันเป็นหลักย่อยหลักหนึ่งของหลักนิติรัฐหรือไม่”

คำถามข้อ ๔) ธงคำตอบ ของ วิจิตราฯ มีสาระสำคัญว่า ขัดหลักนิติรัฐเพราะแทรกแซงอำนาจตุลาการ ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมและก่อความไม่สงบสุขในบ้านเมือง

บทวิจารณ์ : ข้อเท็จจริงตามโจทย์ ระบุว่า “นายสุรเจตเป็นนักวิชาการที่สนใจการเมือง…จึงได้รวมกลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งตั้งเป็นกลุ่มนิติโรส…ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตน อันทำให้กลุ่มคนอีกพวกหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติโรสเพราะเห็นว่า จะทำให้มีการแทรกแซงการใช้อำนาจฝ่ายตุลาการของศาลซึ่งย่อมทำให้คู่ความในคดีที่มีความขัดแย้งกันไม่ได้รับความเป็นธรรม” เราจะพบความไม่สมเหตุสมผลจากข้อเท็จจริง (ที่ไม่ชัดเจน) ดังนี้ :-

ประการที่ ๑.ข้อเท็จจริงตามโจทย์ระบุว่า กลุ่มนิติโรส ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้กลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติโรส ซึ่งนายสุรเจต ได้รวมอยู่ในกลุ่มนักวิชาการของกลุ่มนิติโรส ด้วย แต่ผู้ออกข้อสอบ ไปตั้งคำถามว่า “ความต้องการของนายสุรเจตในการตรวจสอบองค์กรศาล” ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงระบุกว้างๆ เพียงว่า “กลุ่มนิติโรส ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” หาใช่ นายสุรเจตไม่ อาจารย์วิจิตราฯ ฟุ้งซ่านอะไรอยู่ขณะออกข้อสอบ – ทำธงคำตอบ หรือเปล่า? ก็เกินวิสัยที่ผมจะก้าวล่วงได้

ประการที่ ๒.นอกจากข้อเท็จจริงตามโจทย์ไม่ได้ระบุว่า การผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มนิติโรส เป็นเรื่องการตรวจสอบองค์กรศาล แล้วกระนั้น ก็มิได้ระบุว่าการตรวจสอบองค์กรศาลตามการผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเช่นว่านั้น เป็นอย่างไร

ในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ทางกฎหมาย กรณีที่ ‘ข้อเท็จจริงไม่ชัดเจน’ หรือกระทั่ง ‘ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏ’ ย่อมไม่อาจวินิจฉัยได้ตามหลักนิติศาสตร์ (หากท่านไปสอนวิชาเม้าท์ข่าว กุข่าว หรือหมอเดาศาสตร์ ก็เป็นอีกเรื่อง) ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบองค์กรศาล มีหลายวิธี จะด้วยวิธีใด? เช่น บังคับให้ผู้พิพากษาทุกคนทำคำวินิจฉัยส่วนตนทุกคดี? จะอุบอิบให้คนอื่นซึ่งไม่ได้นั่งพิจารณาคดีมาเขียนคำพิพากษาให้ตน มิได้, หรือ ให้ศาลสังกัดกระทรวงยุติธรรมดั่งในอดีต? เป็นต้น ข้อเท็จจริงตามโจทย์ระบุเพียง ‘ความเห็นของคนอีกกลุ่มหนึ่ง’ เห็นว่าเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของศาล โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็น “ข้อเสนอที่ถูกผลักดัน” ของ กลุ่มนิติโรส หรือนายสุรเจต เช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏ (บกพร่องร้ายแรงกว่า ‘ข้อเท็จจริงที่ไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือ’ เสียอีก) เป็นเหตุให้ถ้าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะแล้วย่อมไม่อาจวินิจฉัยฟันธงได้ว่า การตรวจสอบศาลหรือองค์กรตุลาการนั้น ทำให้ผู้พิพากษาขาดความเป็นอิสระในการใช้อำนาจตุลาการหรือไม่ และตามสายธารแห่งความต่อเนื่องกันระหว่างเหตุและผล ถ้าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะแล้วย่อมไม่อาจวินิจฉัยได้เช่นกันว่า เป็นการขัดหลักนิติรัฐ หรือไม่ ดังเช่นปรากฏในธงคำตอบของอาจารย์วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม ได้เป็นแน่แท้.

ในท้ายนี้ เมื่อพิจารณาธงคำตอบ แล้ว ผมเห็นว่า หากเปลี่ยนสถานะให้ ‘วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม’ มาเป็น ‘ผู้สอบ’ แล้วให้นักวิชาการอื่น (ทั้งในและนอกประเทศ) มาตรวจคำตอบของอาจารย์วิจิตรา ท่านอาจารย์ยังต้อง “สอบตก” เลยครับ และเป็นเรื่องอัศจรรย์มากครับ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้คนที่ “สอบตก” มาสอนหนังสือ โลกนี้ช่างกลับตาลปัตรเพี้ยนไปแล้วเสียนี่กระไร, ผมวิตกในการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. ศูนย์ลำปาง ครับ ที่ได้รับการเรียนการสอนเช่นนี้ กล่าวให้เป็นรูปธรรมก็คือ อาจารย์ผู้สอน ออกข้อสอบเอง แต่ก็ยัง ตอบผิดเอง !! (ย้ำว่า ไม่ใช่เรื่อง ‘ความเห็น’ แต่เป็นเรื่อง ‘ความรู้’ ดังที่อรรถาธิบายข้างต้น) และน่าพิจารณาต่อไปว่า หากวันร้ายคืนร้ายในอนาคต ท่านอาจารย์วิจิตราฯ ซึ่งสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งท่านผู้อ่านได้พิจารณาเช่นเห็นแล้วนี้ เก็บโปรไฟล์จากการสอนวิชานี้ของตน (ซึ่งอาจนับชั่วโมงสอนจำนวนเยอะๆ ?) จนกระทั่งอยู่ในเกณฑ์ “ผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์ !?!!!” ตามคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็น “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” คงน่าตื่นตระหนกดีแท้.

อ้างอิง:

  1. รายละเอียดตามข้อมูลโดยดู เว็บไซต์ ‘ประชาไท’ : http://www.prachatai3.info/journal/2012/03/39867
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลือกตั้งซ่อมพม่า: สามพรรคใหญ่ชิง 2 ที่นั่งในรัฐฉาน

Posted: 30 Mar 2012 06:37 AM PDT

จับตาการเลือกตั้งซ่อมพม่า 1 เม.ย. ในรัฐฉาน 3 พรรคใหญ่ NLD (ซูจี) USDP (เต็งเส่ง) และ SNDP (ไทใหญ่) แข่งกันคึกคัก ด้านพรรคไทใหญ่เผยไม่หวั่นมั่นใจกินขาดแน่

มีรายงานว่า การเลือกซ่อมในพม่าที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 เม.ย. นี้ หลายพื้นที่หลายรัฐที่อยู่ในเขตเลือกตั้งซ่อมต่างมีการหาเสียงของพรรคการเมืองคู่แข่งอย่างคึกคัก ในรัฐฉานมีเขตเลือกตั้งซ่อม 2 เขต อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 1 เขต และภาคใต้ 1 เขต ทั้ง 2 เขต มี 5 พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงแข่งขัน โดยมีพรรคใหญ่ 3 พรรค ได้แก่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไคน หรือพรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ของประธานาธิบดีเต็งเส่ง และ พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติรัฐฉาน (SNDP) หรือ พรรคเสือเผือก ของชาวไทใหญ่

ในพื้นที่ภาคเหนือ เขตเลือกตั้งซ่อมมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองล่าเสี้ยว ครอบคลุมพื้นที่ 5 เมือง ประกอบด้วย เมืองล่าเสี้ยว เมืองแสนหวี เมืองสี่ป้อ เมืองไหย๋ และเมืองต้างยาน เป็นการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาชนชาติแทนที่นั่งดร.จายหมอกคำ ที่ถูกแต่งตั้งเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 2 โดยเขตเลือกตั้งนี้มีผู้สมัครจาก 5 พรรคเข้าแข่ง ได้แก่ จายหม่องมิ้น จากพรรค NLD จายจ่ามมิน จากพรรค SNDP นางเก๋ง พองติ๊บ จากพรรค USDP นายหลอ ชิงกวัง จากพรรค KDUP (ของชนชาติโกก้าง และ นายหยอ สัก จากพรรค LNDP ของชนชาติลาหู่

ส่วนเขตเลือกตั้งซ่อมรัฐฉานภาคใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกะลอ เป็นการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาประชาชน แทนที่นั่งนายตองส่วย จากพรรค USDP ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจและการวางแผน เขตเลือกตั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 3 เมือง ประกอบด้วย เมืองกะลอ เมืองอ่องปาน และเมืองไฮโฮ มี 5 พรรคการเมืองส่งลูกพรรคลงแข่งเช่นกัน ได้แก่ ดร.ตานหง่วย จากพรร NLD เจ้าต่าอู จากพรรค SNDP พ.อ.เมียะวิน จากพรรค USDP ขุนตานหม่อง จากพรรค PNO ของชนชาติปะโอและนายขิ่นหม่องละ จากพรรค NUP

จายสองสี่ รองประธานพรรค SNDP หรือ พรรคเสือเผือก กล่าวว่า การเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2553 พรรค SNDP สามารถกวาดคะแนนเสียงในพื้นที่เมืองแสนหวี เมืองต้างยาน และเมืองไหย๋ ได้อย่างท่วมท้น การเลือกซ๋อมครั้งนี้เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ 3 เมืองจะยังคงทุ่มเทคะแนนเสียงให้กับลูกพรรคเช่นเคย และเชื่อมั่นว่าผู้สมัครของพรรคที่ลงแข่งในเขตเลือกตั้งซ่อมรัฐฉานภาคเหนือมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้นางซูจี จะลงช่วยผู้สมัครของพรรคหาเสียงในพื้นที่นี้ก็ตาม

ขณะที่ทางด้าน เจ้าต่าอู ผู้สมัครพรรค SNDP ที่ลงแข่งในเขตเลือกตั้งซ่อมรัฐฉานภาคใต้ กล่าวว่า เขตเลือกตั้งซ่อมเมืองกะลอ มีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงราว 9 หมื่นคน ขณะที่พรรคที่ลงแข่งมี 5 พรรค ผู้สมัครแต่ละพรรคเป็นคนมีหน้ามีตาในพื้นที่ ดังนั้นอาจจะมีการแย่งชิงคะแนนเสียงกันมากพอสมควร ซึ่งพรรคที่มีการหาเสียงกันอย่างหนักมีอยู่ 3 พรรค ได้แก่พรรค NLD พรรคUSDP และพรรคเสือเผือก SNDP อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อมั่นว่า จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนไม่น้อยไปกว่าพรรคอื่น เนื่องจากตนเองเป็นคนในพื้นที่และเป็นที่รู้จักของชาวบ้านชาวเมืองในนามทายาทเจ้าฟ้าไทใหญ่ พร้อมกันนั้นเขาได้กล่าวเชิญชวนประชาชนให้ใช้วิจารณญานเลือกผู้สมัครที่จะเข้ามาทำประโยชน์ให้กับประชาชนจริงๆ ด้วย

 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ออง ซาน ซูจี” จะขอชนะเลือกตั้งซ่อมให้ได้มากที่สุด-แม้ไม่ใช่เกมที่ยุติธรรม

Posted: 30 Mar 2012 06:21 AM PDT

ผู้นำพรรคฝ่ายค้านพม่าระบุการเลือกตั้งซ่อม 1 เม.ย. ไม่ได้เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม เผยมีการข่มขู่ ทำลายป้ายหาเสียง และลอบทำร้ายผู้สมัคร ส.ส. หลายครั้ง แต่มีความหวังว่าพรรคเอ็นแอลดีจะได้รับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นจำนวนมากเพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ขณะที่จะไม่มีการเลือกตั้งในรัฐคะฉิ่น พื้นที่ซึ่งรัฐบาลรบกับกองทัพคะฉิ่นมาแรมปี

บรรยากาศการแถลงข่าวของนางออง ซาน ซูจี ที่บ้านพัก เมื่อ 30 มี.ค. 55 (ที่มา: youtube.com/burmaelections)

ออง ซาน ซูจีแถลงพร้อมเดินหน้าเลือกตั้ง แม้จะเกิดเหตุ “ผิดปกติ”

วันนี้ (30 มี.ค.) ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย นางออง ซาน ซูจี แถลงข่าวที่บ้านพักริมทะเลสาบอินยา ถนนมหาวิทยาลัยว่า การเลือกตั้งซ่อมที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์นี้จะไม่เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม เนื่องมาจากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นหลายประการ อย่างไรก็ตามเธอยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อไปและผลักดันให้เกิดการปฏิรูป

ออง ซาน ซูจีกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “มีการข่มขู่เกิดขึ้นหลายครั้ง” นับตั้งแต่การเดินสายหาเสียงเริ่มขึ้น รวมทั้งเหตุเกิดที่เมืองตองอูในสัปดาห์นี้ที่ผู้สมัคร ส.ส. คนหนึ่งตกเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วยการปาหิน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

นอกจากนี้ มีผู้สมัคร ส.ส. หญิงรายหนึ่งถูกขู่ว่าจะถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครเนื่องจากพ่อของเธอไม่ได้ถือสัญชาติพม่า

“พวกเรารู้สึกเสียใจกับข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับสหภาพไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ถึงระดับที่พวกเขาควรจะทำได้” นางออง ซาน ซูจีกล่าว

ออง ซาน ซูจี แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่าสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น “เกินกว่าที่จะยอมรับได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย”

ฉันไม่คิดว่าเราสามารถพิจารณาได้ว่า นี่คือการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง หากเราพิจารณาในสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้” นางออง ซาน ซูจีกล่าว “เราต้องเผชิญกับเหตุผิดปกติมากมาย”

เมื่อถามว่าจะลองสืบหาสิ่งที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่ นางออง ซาน ซูจีบอกว่าจะเฝ้ารอดูสิ่งที่จะเกิดขึ้น “เราจะเฝ้าดูว่าการเลือกตั้งจะดำเนินไปอย่างไร เสียงของประชาชนจะได้รับการรับรองหรือไม่” “เราจะดูว่าสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือไม่”

ออง ซาน ซูจีกล่าวด้วยว่า มีความพยายามที่จะทำร้ายผู้สมัคร ส.ส. พรรค NLD 2 กรณีด้วยการปาก้อนหินหรือสิ่งของอื่นๆ ซึ่งทำให้การ์ดประจำตัวผู้สมัครได้รับบาดเจ็บ

ออง ซาน ซูจีกล่าวว่า “มีการข่มขู่เกิดขึ้นหลายครั้ง” มีการทำลายโปสเตอร์หาเสียงของพรรค โดยนางออง ซาน ซูจี ประณามว่าบางเหตุการณ์เกิดขึ้นจาก “คนที่มีตำแหน่งอยู่ในราชการ”

 

หวังให้ทุกชนชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และไม่หวังตำแหน่งทางการ

ระหว่างการแถลงข่าว มีผู้ถามออง ซาน ซูจีว่า ต้องการช่วยเหลือประเทศอย่างไร เธอตอบว่า “จะช่วยให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ได้อาศัยอยู่อย่างสันติสุข และมีความสุขร่วมกัน”

ฉันไม่มีความจำเป็นที่จะมีตำแหน่งทางการ แต่จะเป็นอะไรไปล่ะ หากต้องการทำให้งานของฉันมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรามีความคาดหมายที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลหลายเรื่อง พวกเราต้องการที่จะชนะให้มากเขตเลือกตั้งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ออง ซาน ซูจียังกล่าวว่าจะทำให้เกิดการปรองดองในพม่า โดยความจำเป็นอันดับแรกก็คือเธอควรจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

 

หวังชนะทั้ง 44 เขตที่ส่ง ส.ส. เพื่อให้มีปากเสียงในสภา

ในรัฐบาลมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้หลากหลายมาก แต่พวกเราเผชิญกับความท้าทายหลายประการมาหลายปี และจะยิ่งเผชิญความท้าทายมากกว่านี้ ฉันคิดว่าเราสามารถที่จะมีปากเสียงอยู่ในสภาได้ ถ้าเราชนะทั้ง 44 เขตเลือกตั้ง”

ออง ซาน ซูจีกล่าวด้วยว่า ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างแข็งขันในช่วงที่เธอเดินสายพบปะเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง “มีคนจำนวนมากเข้ามาหาฉันในช่วงหาเสียง มีเด็กกระโดดขึ้นกระโดดลงตะโกนเชียร์พรรค NLD ด้วย”

ออง ซาน ซูจีกล่าวตอนหนึ่งว่า มีไม่เพียงกี่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์สลับกันไปมาระหว่างความขัดแย้งและการกดขี่เหมือนพม่า “เรามีความมั่นใจว่าเราเองก็สามารถก่อให้เกิดการปรองดองได้ แม้ว่าจะประวัติศาสตร์จะถูกบันทึกไปด้วยเรื่องความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

 

หวังฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่การตอบแทนอย่างสาสม

เมื่อถามนางออง ซาน ซูจีว่า เชื่อหรือไม่ว่าพม่าจะสามารถเรียนรู้บทเรียนการปฏิรูปได้จากแอฟริกาใต้ เธอตอบด้วยความรู้สึกเป็นบวกว่า “แน่นอน พวกเราควรเรียนรู้ให้มากประเทศเท่าที่จะเป็นไปได้” “เราควรเรียนรู้บทเรียนการปรองดองหลายๆ กรณี และเฝ้าดูว่าอะไรบ้างที่เราจะสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศเหล่านี้” โดยออง ซาน ซูจีกล่าวด้วยว่า “เราเองก็ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการปรองดองอย่างเป็นทางการเลย พวกเราจึงมีความสนใจมากๆ ในเรื่องนี้ และในเรื่องการเจรจาของแต่ละประเทศ

เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามว่าต้องการนำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการไต่สวนหรือไม่ นางออง ซาน ซูจีได้อ้างคำพูดของอาร์ค บิชอป เดสมอน ตูตู เจ้าของรางวัลโนเบลว่า “สิ่งที่เราเชื่อ ไม่ใช่การใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อตอบแทนอย่างสาสม แต่เป็นการฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม”

ออง ซาน ซูจี ปฏิเสธข่าวที่ว่าเธอได้หารือกับรัฐบาลจีนเรื่องประชาธิปไตยด้วย แต่ได้กล่าวว่าการเลือกตั้งซ่อมจะส่งผลดีต่อภูมิภาคนี้ทั้งหมด

“นี่เป็นการก้าวไปสู่ประชาธิปไตยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน” ออง ซาน ซูจีกล่าว “สำหรับประชาคมอาเซียน นี่เป็นโอกาสดีที่จะประเมินว่าการปฏิรูปที่แท้จริงจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรืออาจจะเกิดการปฏิรูปในอนาคตอันใกล้”

ประชาธิปไตยในประเทศนี้จะกลายเป็นชัยชนะของประชาชนทุกคน เมื่อเราได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภา เราจะสามารถสร้างให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยได้”

 

เป็นการปรากฏตัวครั้งแรก หลังป่วยนับสัปดาห์

การแถลงข่าวของนางออง ซาน ซูจีในวันนี้ นับเป็นการปรากฏตัวในที่สาธารณะครั้งแรก นับตั้งแต่นางออง ซาน ซูจีป่วยเมื่อสัปดาห์ก่อนหลังมีอาการอาเจียนและร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากอ่อนเพลีย โดยแพทย์ประจำตัวแนะนำให้นางออง ซาน ซูจีพักผ่อน โดยผู้นำพรรคเอ็นแอลดีกล่าวว่าจะไม่เดินสายหาเสียงเพิ่มแล้ว นอกจากหาเสียงในช่วงเย็นวันเสาร์ที่อำเภอกอมู (Kawhmu) ซึ่งเป็นเขตที่เธอลงสมัครรับเลือกตั้ง

สำหรับนางออง ซาน ซูจี วัย 66 ปี เป็นบุตรสาวของ นายพลออง ซาน ผู้ก่อตั้งประเทศพม่า ซึ่งในรอบ 23 ปีมานี้ออง ซาน ซูจีถูกรัฐบาลทหารสั่งกักบริเวณในบ้านพักหลายหน เป็นระยะเวลารวมกันกว่า 15 ปี โดยล่าสุดเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 14 พ.ย. 2553

โดยการเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 เม.ย. นี้จะเป็นการชิงชัยของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ที่ว่างเว้นอยู่ทั้งหมด 48 ที่นั่ง จากที่นั่งเดิมรวม 664 ที่นั่ง เนื่องจากมี ส.ส. และ ส.ว. เดิม 48 คน ลาไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี โดยพรรคเอ็นแอลดีส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั้งสิ้น 44 ที่นั่ง หนี่งในนั้นคือนางออง ซาน ซูจี

เป็นที่คาดหมายว่า แม้ออง ซาน ซูจีและพรรค NLD จะชนะการเลือกตั้งซ่อม แต่ก็น่าจะทำได้เพียงการถ่วงดุลเพียงเล็กน้อยในสภา แต่ก็น่าจะทำให้เธอมีเสียงในรัฐบาลได้เป็นครั้งแรก

 

มีการเลือกตั้งในพม่า แต่ไม่มีการเลือกตั้งในรัฐคะฉิ่น

อย่างไรก็ตามในวันเลือกตั้งซ่อมดังกล่าว มีการเลื่อนการลงคะแนนเสียงใน 3 เขตเลือกตั้งในรัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของพม่า โดยทางการพม่าระบุสาเหตุว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีความปลอดภัยเพียงพอที่จะจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมได้

โดยทหารพม่าเข้าไปปะทะกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เนื่องจากกองกำลัง KIA ไม่ยอมเปลี่ยนสถานะจากกลุ่มหยุดยิงมาเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนภายใต้กองทัพพม่า ทำให้ขณะนี้มีผู้อพยพจากภัยสงครามหลายหมื่นคนภายในรัฐคะฉิ่น

ทั้งนี้การเลือกตั้งดังกล่าวถูกพิจารณาว่าจะเป็นบททดสอบที่สำคัญสำหรับพม่าในการปฏิรูปประชาธิปไตย และหลังการเลือกตั้งมีการคาดการณ์ว่าจะมีการยุติมาตรการคว่ำบาตรพม่าทางเศรษฐกิจโดยชาติตะวันตก

หมายเหตุ: คลิกที่นี่เพื่อชมภาพออง ซาน ซูจีแถลงข่าว (ที่มา: เฟซบุคเพจ Eleven Media Group)

 

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

‘Elections Neither Free Nor Fair,’ Says Suu Kyi, Irrawaddy, 30 March 2012 http://www.irrawaddy.org/?slide=elections-neither-free-nor-fair-says-suu-kyi

By-elections ‘will not be free and fair’: Suu Kyi, FRANCIS WADE, DVB, 30 March 2012 http://www.dvb.no/news/by-elections-will-not-be-free-and-fair-suu-kyi/21153

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านพ้อเสียความรู้สึก หัวหน้าอุทยานฯ นำทีม เข้าทำลายแปลงยางพื้นที่โฉนดชุมชน

Posted: 30 Mar 2012 04:58 AM PDT

เจ้าหน้าที่อุทยานเขาปู่-เขาย่า บุกทำลายแปลงยาง “โฉนดชุมชน” เทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านพ้อเคยร่วมรังวัดพื้นที่ร่วมกันสมัยอภิสิทธิ์ ด้าน “เอ็นจีโอ” ตั้งข้อสังเกตผลพวงประเด็นทางการเมืองพท.-ปชป. ทั้งกระแสข่าวเรื่องฝุ่นควันและการตัดไม้ทำลายป่าข้ออ้างปฏิบัติการ

 
 
วันนี้ (30 มี.ค.55) เมื่อเวลา 14.30 น.นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 50 นาย เข้าทำลายรื้อถอนแปลงยางพาราของชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด บ้านทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง และ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ข้อมูลเบื้อต้นว่าพื้นที่ทำกินที่ถูกทำลายเป็นของชาวบ้าน 2 ราย รวมเนื้อที่ 8 ไร่
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดได้รวมตัวกันราว 20 คน ติดตามกลุ่มเจ้าหน้าที่ไปยังหน่วยอุทยานฯ ในพื้นที่ท่ามกลายฝนที่กำลังตกหนัก แต่นายสมชัยได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ไปแล้ว
 
นางปรีดา พุฒนวล สมาชิกองค์กรชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู กล่าวว่า ชาวบ้านพอรู้ข่าวการเข้าดำเนินการรื้อถอนทำลายแปลงสวนยางพาราในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่ามาบ้าง จึงมีความพยายามในการแสดงตัวโดยการทำแนวเขตให้ชัดเจนและมีการปักป้ายระบุว่าเป็นสมาชิกองค์กรชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ภายใต้เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย แต่ไม่คาดคิดว่าจะมีการดำเนินการกับคนในชุมชนเร็วขนาดนี้
 
นางปรีดา ให้ข้อมูลด้วยว่า นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ซึ่งนำกำลังเข้าทำลายรื้อถอนแปลงยางพาราของชาวบ้านในครั้งนี้ เคยเข้าร่วมรังวัดแนวเขตพื้นที่โฉนดชุมชน ขององค์กรชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลที่นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะด้วย 
 
 
เมื่อปี 2552 นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า (เสื้อเหลือง) ได้ร่วมจัดทำแนวเขตโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู
 
“ชาวบ้านเสียความรู้สึก เพราะเราทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาโดยตลอด เมื่อมีปัญหาก็มีการปรึกษาหารือ มีการพูดคุยกันโดยตลอด ก่อนหน้านี้หากเจ้าหน้าที่จะเข้าพื้นที่โฉนดชุมชน ก็จะมีการแจ้งกับทางชุมชนก่อน การทำอย่างนี้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวังและเสียความรู้สึกมา” นางปรีดากล่าว
 
นางปรีดา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาสมาชิกองค์กรชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู พยายามรักษากฎกติกาของชุมชนไม่ให้มีการบุกรุกป่า และหยุดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร อีกทั้งยังมีข้อมูลที่ยืนได้ว่าพื้นที่ที่นำมาจัดทำโฉนดชุมชนนี้เป็นที่ทำกินเดิมของชาวบ้าน
 
ส่วนการดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น นางปรีดา กล่าวว่ายังต้องรอคุยคณะกรรมการเครือข่ายแต่ละส่วน พร้อมย้ำว่าสิ่งที่ชาวบ้านถูกกระทำ ทำให้เสียความรู้สึก โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่ที่โดนเป็นพื้นที่ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) แล้ว และยังเป็นที่ที่หนึ่งในคณะกรรมการของ ปจช.อยู่ด้วย
 
นางปรีดา ให้ข้อมูลด้วยว่า พื้นที่ของนายเรวัต รักทองจันทร์ หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกทำลายพื้นที่ทำกินเพียง 3 ไร่ ตอนนี้ต้องไปทำงานรับจ้างก่อสร้างในตัว อ.นาโยง และยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะในพื้นที่ไม่มีสัญญาโทรศัพท์มือถือ
 
ด้านนางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กล่าวแสดงความเห็นว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินของรัฐบาลปัจจุบัน แม้จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนไปแล้ว 2 ครั้ง โดยมีเป้าหมายการจัดทำโฉนดชุมชน 2 ล้านไร่ ในระยะเวลา 3 ปี แต่ในระดับพื้นที่กลับมีการทำลายพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน ทั้งที่บ้านทับเขือ-ปลักหมูนี้ถือเป็น 1 ในพื้นที่ 55 แปลงแรกที่ถูกกำหนดให้มีการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน
 
นางสาวพงษ์ทิพย์ กล่าวตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลพวงจากประเด็นทางการเมืองระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลที่นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาและได้มี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานในการสำรวจรังวัดโครงการโฉนดชุมชนร่วมลงพื้นที่สำรวจรังวัดแนวเขต
 
อีกข้อสังเกตหนึ่งคือกระแสข่าวเรื่องฝุ่นควันและการตัดไม้ทำลายป่าในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นโอกาสให้ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่าอาศัยเป็นข้ออ้างเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ของชาวบ้านดังกล่าว
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดีเอสไอเผยเอาผิดคดีล้มเจ้ายาก เหตุไม่ได้รับความร่วมมือ

Posted: 30 Mar 2012 02:55 AM PDT

ดีเอสไอยอมรับคดีส่วนใหญ่เป็นการกระทำความผิดที่ปรากฏตามเว็บไซต์ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่หลบหนีไปต่างประเทศทำให้การสอบสวนเอาผิดเป็นไปได้ยาก ขอความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศแล้วแต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร

30 มี.ค. 55 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายกองอำนายการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)กล่าวภายหลังเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐด้วยการล่วงละเมิดสถาบัน (คดีล้มเจ้า) เพื่อชี้แจงที่มาแผนผังของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) นานกว่า 2 ชั่วโมงว่า ตนเข้าให้การโดยยืนยันตามคำให้การเดิมที่เคยให้ไว้เมื่อปี 2553 พร้อมมอบเอกสารเพิ่มเติมจำนวน 1 ลัง ซึ่งเป็นข้อมูลในชั้นการข่าว เพื่อให้พนักงานสอบสวนนำไปดำเนินการสอบสวนต่อ โดยดีเอสไอไม่ได้ขอข้อมูลใดเพิ่มเติม จากนี้จึงขึ้นอยู่กับการสอบสวนของพนักงานสอบสวนเห็นสมควรดำเนินการต่อไป

ด้าน พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีล้มเจ้า กล่าวว่า พ.อ.วิจารณ์ ไม่ได้ให้รายละเอียดใดเพิ่มเติมจากที่เคยให้การไว้ เนื่องจากเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจาก ศอฉ. ดังนั้นจึงไม่ทราบรายละเอียดของแผนผัง เพราะเพิ่งเห็นแผนผังเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกมาให้ข้อมูล โดยที่ผ่านมาดีเอสไอได้เรียกสอบพยานที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว แต่ไม่มีพยานคนใดระบุถึงที่มาที่ไปของผังรวมถึงชี้ชัดถึงการกระทำความผิดของบุคคลตามแผนผังได้ สำหรับข้อมูลที่ พ.อ.วิจารณ์นำมามอบให้ดีเอสไอวันนี้ก็เป็นข้อมูลเดิมที่ดีเอสไอสอบสวนไปแล้ว ดังนั้น เมื่อไม่มีพยานหลักฐานเอาผิดตามข้อกล่าวหาได้ ดีเอสไอจึงจำเป็นต้องสรุปสำนวนตามพยานหลักฐานเท่าที่มีอยู่ ซึ่งเว้นแต่จะมีผู้ใดที่มีข้อมูลเข้ามาให้การเพิ่มเติม โดยจะประชุมร่วมกับพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาปิดสำนวนคดี โดยคาดว่าจะสามารถสรุปสำนวนคดีได้ก่อนช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์

พ.ต.อ.ประเวศน์กล่าวต่อว่า สำหรับคดีที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันซึ่งเป็นความผิดส่วนบุคคลกว่า 30 คดี ดีเอสไอจะดำเนินการสืบสวนต่อไปตามหลักฐานเป็นรายบุคคล แต่ยอมรับว่าคดีส่วนใหญ่เป็นการกระทำความผิดที่ปรากฏตามเว็บไซต์ และผู้ต้องหาส่วนใหญ่หลบหนีไปต่างประเทศทำให้การสอบสวนเอาผิดเป็นไปได้ยาก ซึ่งจำเป็นต้องขอความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้องศาลชะลอ “โรงไฟฟ้าหนองแซง” ชี้ “ผังเมืองฯ” ระบุชัดอยู่ในเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม

Posted: 30 Mar 2012 02:46 AM PDT

ตัวแทนชาวบ้านหนองแซง-ภาชี ร้องศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราว ให้ระงับการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หลังมีประกาศผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีชี้ชัดอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
 
 
แฟ้มภาพประชาไท
 
วันนี้ (30 มี.ค.55) เวลาประมาณ 10.00 น. ตัวแทนชาวบ้าน อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.อยุธยา ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง และดำเนินการโครงการโรงฟ้าของบริษัท เพาแวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด เดินทางเข้ายื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ออกให้แก่บริษัทฯ โดยให้ระงับการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
 
ภายหลังจากที่มีประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 13 ม.ค.55 ซึ่งในบริเวณพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี พื้นที่ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้ายังคงถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม เนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ดินในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นการขัดต่อนโยบายของผังเมืองรวมในสาระสำคัญ และหากปล่อยให้มีการดำเนินการก่อสร้างต่อไปจะยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง
 
สืบเนื่องจาก คดีของชาวบ้านซึ่งยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้น อ.หนองแซง จ.สระบุรี  ซึ่งออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการออกใบอนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยไม่เหมาะสมและขัดต่อกฎกระทรวงออกตามกฎหมายโรงงาน อีกทั้งในพื้นที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวม ซึ่งตามกฎกระทรวงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่
 
นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม กล่าวว่า ตามความเห็นของชาวบ้าน เมื่อมีการประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีแล้ว ย่อมเป็นการยืนยันว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่เหมาะสมที่จะให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ชาวบ้านจึงรวมตัวกันมาเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล โดยก่อนหน้านี้ ชาวบ้านในนามเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมได้เคยยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแล้ว ซึ่งศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เข้าลักษณะเหตุฉุกเฉิน แต่ก็ได้เปิดช่องให้ยื่นคำร้องได้หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน
 
“พอสร้างแล้วมาใช้คำพูดง่ายๆ ว่าสร้างไปแล้วให้อนุญาต ชาวบ้านคงรับไม่ได้” นายตี๋กล่าว
 
ส่วนคดีที่ชาวบ้านยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐละเลยล่าช้าในการประกาศใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีนั้น นายตี๋กล่าวว่า คดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำสั่งใดๆ  
 
แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม กล่าวด้วยว่า หากในเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมมีโรงงานขนาดใหญ่หรือโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ คงเกิดการตั้งคำถามที่ประจานระบบการจัดการของประเทศว่าปล่อยให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งนี้ตามความเห็นของชาวบ้านคณะกรรมการผังเมืองน่าจะเป็นหน่วยงานสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะมีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตามประกาศผังเมืองรวมจังหวัด รวมทั้งการให้เพิกถอนด้วย แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้คิดว่าคงคาดหวังได้ยาก
 
“คณะกรรมการผังเมืองมีอำนาจหน้าที่ แต่เราคาดหวังได้ยากในประเทศไทย เพราะการให้เดินหน้าต่อง่ายกว่าเป็น 10 เท่า ดังนั้นตรงนี้เราก็ต้องเดินหน้าพึงศาลต่อไป” นายตี๋ กล่าว
 
นายตี๋ แสดงความเห็นต่อมาว่า การประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการรักษาพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากโอกาสที่เขตพื้นที่เกษตรกรรมจะถูกเปลี่ยนมือไปทำอุตสาหกรรมหรือโรงงานจะทำได้ยากขึ้น อีกทั้งมีการกำหนดให้ต้องมีแนวพื้นที่กันชน (Buffer zone) ซึ่งถือเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พื้นที่
 
นอกจากนี้ การกำหนดพื้นที่เขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมจะช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสถือครองที่ดินได้ เมื่อเจ้าของเดิมต้องการเปลี่ยนมือ เนื่องจากพื้นที่ไม่สามารถนำไปใช้สร้างโรงงาน หรือประกอบการอุตสาหกรรม ต้องใช้เฉพาะเพื่อการเกษตร ตรงนี้จะช่วยลดการเก็งกำไรและปั่นราคาที่ดิน ทำให้ราคาที่ดินไม่สูงมากจนเกินไป ส่วนพื้นที่ชุมชนก็จะไม่มีมลพิษจากโรงงานเข้าไปอยู่ใกล้ๆ
 
อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มคนบางกลุ่มที่รู้สึกว่าการประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีเป็นการจำกัดสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ยกตัวอย่างกรณีที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งได้ซื้อที่ดินไว้เตรียมสร้างโรงงาน
 
แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม กล่าวถึงแนวโน้มการต่อสู้กับโครงการพัฒนาที่เข้ามาในพื้นที่ว่า ขณะนี้ชาวบ้านพยายามสู้ด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ และพยายามนำเสนอข้อมูลขึ้นสู่การพิจารณาของศาลให้มากที่สุด ซึ่งการตัดสินคดีก็ต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของศาล
 
นอกจากนั้น ชาวบ้านยังได้ติดตามการดำเนินการก่อสร้างโครงการว่าได้ปฏิบัติตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีการจัดทำไว้หรือไม่ และพยายามให้กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ลงมาดูข้อเท็จจริงในพื้นที่ เพื่อลงบันทึกและทำรายงาน โดยขณะนี้พบว่าการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่มีปัญหาเรื่องการขุดถมดิน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้อนุมัติ แต่ไม่มีผู้ดูแลกำกับ ทำให้การดำเนินการอาจไม่ตรงตาม EIA ที่จัดทำไว้ และเมื่อทำเรื่องร้องเรียนขอข้อมูลโครงการต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร กลับถูกบริษัทฯ ร้องไม่ให้เปิดเผยข้อมูล โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและเทคนิควิธี
 
“มาตรการป้องกันเดิมๆ ที่ขอไว้ตาม EIA เพื่อลดผลกระทบพอคุณเปลี่ยนแล้วผลกระทบอื่นๆ มันเปลี่ยนแปลงด้วยไหม อีกทั้งไม่มีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ไม่มีการขออนุญาต” นายตี๋ตั้งคำถาม พร้อมกล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งสร้างความไม่ไว้วางใจต่อโครงการให้กับชาวบ้านในพื้นที่มากขึ้น
 
นายตี๋ ให้ข้อมูลต่อมาว่า ผลกระทบจากโครงการที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันคือปัญหาเรื่องมลภาวะทางเสียง จนชาวบ้านยื่นเรื่องร้องเรียน และมีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาเพื่อเยียวยา ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามกระบวนการ แต่เป็นการเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว
 
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ขนาดกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และเป็นหนึ่งในโครงการที่ชนะการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งเรื่องการคาดการณ์ปริมาณความต้องการไฟฟ้าสูงเกินความเป็นจริง
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: จีน-พม่า และความสัมพันธ์ที่สั่นคลอน

Posted: 30 Mar 2012 02:25 AM PDT

นักวิชาการด้านจีนศึกษา “วรศักดิ์ มหัทธโนบล” ชี้ การช่วงชิงอำนาจในพม่าจะซับซ้อนกว่าเดิมเมื่อพม่า “สวยเลือกได้” และจีนไม่ใช่ “พี่ใหญ่” เพียงผู้เดียวอีกต่อไป  ด้านผู้เชี่ยวชาญพม่าชี้ ปัญหาชนกลุ่มน้อยและแรงกดดันภายนอกอาจนำมาสู่สงครามกลางเมืองในพม่าไม่ช้าก็เร็ว

เมื่อวันที่ 29 มี.ค 55 ในงานเสวนา “จีน-พม่า: ความสัมพันธ์ที่สั่นคลอน” จัดโดยโครงการจีนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา “วรศักดิ์ มหัทธโนบล” มองความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะซับซ้อนขึ้นจากการเข้าไปมีบทบาทของชาติตะวันตกในพม่าหลังเปิดประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลของจีนในพม่า ในขณะที่บางส่วนมองการเลือกตั้งซ่อมของพม่าว่าเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล เพราะฝ่ายค้านจะไม่มีพื้นที่มากนักแม้จะได้คะแนนเสียงทั้งหมดก็ตาม

เสวนาความสัมพันธ์จีน_พม่า

เมื่อพม่า “สวยเลือกได้”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงผลประโยชน์ของจีนในพม่าว่า ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนและพม่าถูกคว่ำบาตรจากต่างประเทศ มูลค่าทางการค้าระหว่างสองประเทศได้เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด โดยจากราวศูนย์ในช่วงแรกมาเป็นราว 3 พันล้านดอลลาร์ในระยะสองปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลงทุนในความร่วมมือโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อน ทางรถไฟ ท่าเรือน้ำลึก และพลังงาน ซึ่งในปัจจุบันจีนเป็นผู้ลงทุนในพม่ารายใหญ่ที่สุด

วรศักดิ์ อธิบายว่า ทั้งโครงการสร้างทางรถไฟ การเข้าไปลงทุนใน “เขตอุตสาหกรรมจ๊อกพิว” (Kyauk Phyu) ในพม่าของจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ท่าเรือน้ำลึกและทางรถไฟ ประกอบกับโครงการทางพลังงานในพม่าที่มีท่อส่งน้ำมันดิบส่งน้ำมันไปจีนราว 22 ล้านตันต่อปี เขาชี้ว่า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่พม่าจะได้จากจีนบนความสัมพันธ์ที่ดี และถ้าหากความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้สั่นคลอน ก็ต้องจับตาดูว่าโครงการเหล่านี้จะถูกสันคลอนไปด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ หลังจากที่พม่าได้เปิดประเทศมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐและ สหภาพยุโรป เข้าไปหารือและให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านอื่นๆ มากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลพม่ากลายเป็นประเทศที่ “สวยเลือกได้” และไม่จำเป็นต้องง้อจีนอีกต่อไปดังเช่นในสมัยก่อน โดยวรศักดิ์ยกตัวอย่างกรณีการระงับการสร้างเขื่อนมิตโซนซึ่งเป็นการลงทุนร่วมระหว่างพม่าและจีนมีมูลค่ากว่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลพม่าอ้างเหตุผลว่าขัดเจตนารมณ์ของประชาชนและปัญหาทางสิ่งแวดล้อม

“ดูแล้วเหมือนจะเป็นว่านี่เป็นนิมิตหมายของประชาธิปไตย แต่นัยยะที่สำคัญ คือ มันสะท้อนความสัมพันธ์ของพม่าที่มีต่อจีน เพราะทันทีที่พม่าสวยเลือกได้ ก็สามารถเซย์โนกับจีนได้” วรศักดิ์กล่าว

ยังต้องจับตาวันปะทุ “สงครามกลางเมือง”

เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ สื่อสารมวลชนอิสระ ผู้เขียนหนังสือ “พม่าผ่าเมือง” กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและนานาชาติเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความหวาดระแวง ตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในทศวรรษ 1950 นานาชาติก็กลัวว่าพม่าจะตกไปอยู่ฝ่ายคอมมิวนิสต์  และหลังสมัยสงครามเย็นเป็นต้นมา จีนกับพม่าก็เกิดความตึงเครียดยิ่งขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจีนสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่าให้ล้มล้างรัฐบาลพม่า ทำให้เกิดความบาดหมางกันตั้งแต่นั้นมา

ต่อมา หลังจากที่พม่าและจีนถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติในปลายทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลง เช่น การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินและการสิ้นสุดของสหภาพโซเวียต จีนก็ได้เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของตนเองต่อพม่า แต่ยังคงใช้พื้นฐานจากความกลัว ซึ่งต่อมาจีนได้ทำให้พม่ากลายเป็นบริวารของตนเอง เนืองจากที่ตั้งของพม่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างจีนลงมายังไทย ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน และเอเชียใต้

อย่างไรก็ตาม เกียรติชัยมองว่า การประชุมอาเซียนบวกสาม ซึ่งมีจีน เกาหลี และญี่ปุ่นเข้าร่วมในปี 1995 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ชาติตะวันตก จีน และอินเดียต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศต่อพม่าอีกครั้ง จากแต่ก่อนที่รัฐบาลอินเดียเคยให้ความสนับสนุนกลุ่มฝ่ายค้านของพม่าและให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยทางการเมือง แต่หลังจากนั้นมา เมื่อจีนได้เข้าร่วมความร่วมมือกับอาเซียน ทำให้อินเดียหันมาเอาใจรัฐบาลพม่าเพื่อพยายามช่วงชิงผลประโยชน์กับจีน

นอกจากนี้ เขาชี้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปปี 2010 ก็เป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากเป็นสัญญาณของการปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งเมื่อชาติตะวันตกเริ่มเข้ามา ทำให้จีนที่เป็นผู้ครอบงำจำเป็นต้องแสดงบทบาทที่ซับซ้อนกับพม่ามากยิ่งขึ้น ตั้งแต่นั้นมา ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ความสัมพันธ์จีน-พม่า สั่นคลอนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การปลดผู้นำทหารคนสนิทของรัฐบาลจีน พลเอกขิ่น ยุ้นต์ ในปี 2010 มาจนถึงการยุติการสร้างเขื่อนมิตโซน ซึ่งกรณีหลังสุด เกียรติชัยกล่าวว่า จริงๆ แล้วผู้นำรัฐบาลพม่าตัดสินใจเช่นนั้นด้วยเหตุผลทางไสยศาสตร์เป็นหลักมากกว่าเรื่องเจตนารมณ์ของประชาชน

เกียรติชัยมองว่า นอกจากการเปิดประเทศของพม่า เป็นไปเพื่อการลดแรงกดดันจากประชาคมโลกแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการเป็นประธานอาเซียนในปี 2015 ด้วย และคาดการณ์ว่า สถานการณ์หลังเลือกตั้งซ่อม จะยังไม่น่านำมาซึ่งเสถียรภาพได้มากนัก

“ปัจจัยสามเรื่องที่จะเกิดขึ้นในพม่า จะมีเรื่องการเมืองซึ่งยังไม่นิ่ง คือจะมีการต่อสู้สามเส้าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ กับการตกลงหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อย จะไม่เป็นผลสำเร็จ กับอิทธิพลกดดันจากภายนอก ทั้งสามปัจจัยจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองในพม่าอย่างน้ำที่เดือดอยู่ในกาที่จะพวยพุ่งออกมา ไม่ช้าก็เร็ว” เกียรติชัยกล่าว

เขาเสริมด้วยว่า หากจะให้ความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยยุติได้ ต้องพูดเรื่องการให้อำนาจการปกครอง เพราะเพียงการเจรจาหยุดยิงนั้นไม่สามารถสร้างสันติภาพได้แน่นอน

มองการเลือกตั้งซ่อมเป็นเพียงสร้างความชอบธรรมให้ รบ.

สุรชัย ศิริไกร ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองการเลือกตั้งซ่อมพม่าที่จะมีขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายนนี้ว่า เป็นเพียงเครื่องมือที่จะสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลพม่าว่าเป็นประชาธิปไตยและเสรีแล้วเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าฝ่ายค้านคือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ได้รับที่นั่งทั้งหมด 48 เสียง แต่ก็ไม่อาจเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่หวังได้ เพราะมีเสียงไม่ถึงร้อยละ 10 ของที่นั่งในสภาทั้งหมดคือ 664 ที่นั่งเท่านั้น

เกียรติชัย เสริมว่า ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลพม่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจเป็นไปเพื่อ “การแบ่งแยกและปกครอง” โดยหวังว่าหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลจะเอานางซูจีไปเป็นขั้วหนึ่งในรัฐบาล และแยกออกจากกลุ่มผู้นำนักศึกษายุค 8888 ในขณะที่ทหารก็จะยังกุมอำนาจไว้อย่างแน่นหนาเช่นเคย

“เรื่องทหารเองก็คงไม่ปล่อยอำนาจง่ายๆ ดูจากการที่นางออง ซาน ซูจีออกแถลงการณ์มาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อวันกองทัพพม่าเมื่อ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็บอกว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แสดงว่ายังไงก็แตะไม่ได้ เมื่อปัจจัยสามตัวนี้ยังคงอยู่ ก็ย่อมจะมีความไม่แน่นอน” เกียรติชัยกล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประธาน กสม. กล่าวย้ำความสำคัญของเครือข่ายร่วมสร้างงานสิทธิมนุษยชน

Posted: 30 Mar 2012 01:30 AM PDT

30 มี.ค. 55 - ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา  เรื่อง การประสานการทำงาน ระดมพลังภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน  ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

ประธาน กสม. ศาสตราจารย์ ดร. อมราฯ เน้นความสำคัญตอนหนึ่งในคำกล่าวเปิดการสัมมนา ว่า  “กสม. เน้นการทำงานร่วมกับเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะบทบาทของ กสม. ในการติดตามการดำเนินงานของรัฐตามพันธกรณี อนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีทั้ง ๗  ฉบับ  การดำเนินงานของ กสม. เน้นการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รวมทั้ง การเฝ้าระวังและติดตามคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลไทยให้ไว้ในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างสำคัญของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการทำงานของ กสม.”  และ กสม. จะมีการพบกับภาคีเครือข่ายอีกในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕

ต่อจากนั้น นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวว่า “ขณะนี้ ยังพบปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และยังได้รับข้อร้องเรียนกรณีความเสมอภาคระหว่างเพศ

การเลือกปฏิบัติในการได้รับตำแหน่งให้สูงขึ้น และเห็นว่า “เครือข่าย” จะเป็นพลังสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” และได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยรับว่าจะดำเนินการเพื่อให้เกิดพัฒนาการในด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย  เช่น อายุขั้นต่ำในการรับผิดทางอาญาของเด็ก เด็กเร่ร่อน การคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง

นายวีรวิทย์ วีรวิทย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการ กสม. ได้เน้นย้ำความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยกำหนดเป็นเป้าประสงค์หลักสำคัญ และได้ให้คำมั่นว่า จะระดมสรรพกำลังในการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายแม้จะมีข้อจำกัดด้านกำลังคนและงบประมาณ  โดยเฉพาะใช้การผลักดันให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  ด้วยการสอดส่องดูแลให้มี

การปฏิบัติตามพันธกรณีและสิทธิเสรีภาพที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างครบถ้วนและให้มีการแก้ไขกฎหมายและนโยบายอย่างมีพลัง

ภายหลังเป็นประธานในการเปิดการสัมมนาฯ ศ. อมราฯ  ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนซึ่งให้ความสนใจเข้าร่วมการสัมมนาต่อประเด็นคำถามว่า “การดำเนินงานของ กสม. บรรลุผลหรือไม่” ซึ่ง ประธาน กสม. ตอบว่า กสม. จัดตั้งมา ๑๐ ปี ในระยะแรกได้ดำเนินการส่งเสริมการตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ รวมทั้ง การละเมิดสิทธิ ซึ่งเห็นว่าขณะนี้ ประชาชนตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมากขึ้นและหวังว่าการละเมิดสิทธิจะน้อยลง” ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ประธานเห็นว่า “เครือข่ายด้านสิทธิมีความตื่นตัวสูง” และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานสิทธิ นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กสม. ยังได้ประสานการคุ้มครอง รวมทั้ง ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อกฎหมายต่อรัฐบาล”    

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทีดีอาร์ไอจี้เข้มจัดระเบียบต่างด้าว เพิ่มโอกาสแรงงานไทยความรู้น้อย

Posted: 30 Mar 2012 12:41 AM PDT

ทีดีอาร์ไอห่วงปัญหาแรงงานต่างด้าวปัจจุบันภาครัฐละเลยนโยบายไม่ชัดเจน เสนอเร่งรัดกลไกการบริการจัดการแรงงานต่างด้าวให้เกิดประสิทธิภาพ อนุญาตให้นำเข้าได้ตามจำเป็น 
 
30 มี.ค. 55 - ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า  ปัจจุบันการใช้แรงงานต่างด้าวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตลาดแรงงานที่บางอุตสาหกรรมยังจำเป็นต้องใช้  มีการขออนุญาตนำเข้า   แต่สิ่งสำคัญคือจะบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างไรจึงไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในฐานแรงงานระดับล่างนี้
 
ทั้งนี้ประเทศไทยใช้แรงงานต่างด้าวระดับล่างมากกว่าร้อยละ 5 หรือมากกว่า 2 ล้านคน ในลักษณะของงาน 3D คือ สกปรก ยากลำบาก และอันตราย โดยมีจำนวนผู้ที่ทำงานผิดกฎหมายมากกว่าถูกกฎหมาย ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการกำกับดูแล  การคุ้มครองให้เป็นไปตามกฎหมาย  ตลาดแรงงานระดับนี้จึงถูกแบ่งแยกออกไปจากตลาดแรงงานทั่วไป  จึงเป็นการลดโอกาสคนไทยที่มีการศึกษาน้อยจะเข้าไปแข่งขันลดลงไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่คนไทยระดับนี้ก็ยังมีที่ว่างงานในทุกกลุ่มจังหวัด
 
การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างไร้ทิศทาง ขาดการเอาใจใส่จากผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องจากรัฐบาล  มีแต่จะส่งผลให้ผลดีทางเศรษฐกิจที่ได้จากการจ้างแรงงานราคาถูกจะถูกหักล้างด้วยผลเสียต้นทุนสังคม ด้านสาธารณสุข ด้านความมั่นคงมนุษย์ และในที่สุดกลายเป็นทำลายความมั่นคงของประเทศ  ผลที่เกิดจึงอาจได้ไม่คุ้มเสีย
 
ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า 1-2 ปีที่ผ่านมาเราละเลยเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างชัดเจน  เห็นได้จากจำนวนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายที่หายไปจากระบบราว 30% หรือเกือบ 4 แสนคนจากจำนวนที่มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งหลังสุดที่มียอดขึ้นทะเบียนราว 1.3 ล้านคน แต่ในปี 2554 ลดลงเหลือราว 9 แสนคน  คนเหล่านี้ไม่ได้กลับประเทศแต่กลับไปอยู่อย่างผิดกฎหมาย พอเป็นลักษณะนี้เรามักใช้วิธีการเปิดให้มีการจดทะเบียนใหม่  เป็นวัฏจักรอย่างนี้  ทั้งที่หลักการของหน่วยงานรับผิดชอบคือ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าวกระทรวงแรงงาน  ต้องการให้มีแรงงานถูกกฎหมายมากกว่าผิดกฎหมาย
 
ที่เป็นเช่นนี้เพราะที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจนและต่อเนื่องเลย และหน่วยงานที่รับผิดชอบยังขาดกลไกที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพได้ จึงเกิดปัญหาและแก้ปัญหาแบบซ้ำเดิมกระทรวงแรงงานไม่ให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อข้อมูลในการบริหารแรงงานต่างด้าว โดยไม่ได้ทำการศึกษา/สำรวจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความต้องการใช้แรงงานที่แท้จริง  ซึ่งความชัดเจนของจำนวนแรงงานที่คนทำไทยทำอยู่กับส่วนที่ต้องการเพิ่มจากต่างชาติในภาพรวมนั้นยังเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีอาเซียนที่คาดว่าจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้อีก
 
ดร.ยงยุทธ  แสดงความกังวลต่อแนวทางการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของกระทรวงแรงงาน  ซึ่งจะมีการจัดระบบเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย หรืออาชีพใดที่จะเปิดให้แรงงานต่างด้าวทำได้  โดยระบุว่า  อาชีพที่มีการเปิดให้ต่างด้าวขอใบอนุญาตทำงานในปัจจุบันนั้น เป็นภาพลวงตา เพราะตราบใดที่ยังมีข้อสุดท้ายที่เปิดช่องไว้สำหรับอาชีพอื่น ๆ นั่นเท่ากับว่า  แท้จริงแล้วไทยเปิดเสรีทุกอาชีพอยู่ดี
 
ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของกระทรวงแรงงานที่ยังไม่ได้ศึกษาความจำเป็นและความต้องการใช้แรงงานแท้จริงในแต่ละอาชีพเสียก่อน  ซึ่งในกฎหมายเดิมอาชีพสงวนสำหรับคนไทย 32 อาชีพนั้น  มีฐานของตลาดแรงงานเดิมและความจำเป็นของคนไทยอยู่ หากเปิดเสรีโดยไม่ดูผลกระทบให้ชัดเจน อาจมีผลเสียรุนแรงในระยะยาว เพราะเมื่อเปิดไปแล้วการปรับเปลี่ยนมักทำได้ยาก   การพิจารณาจึงต้องยึดหลักการปกป้องอาชีพสำหรับคนไทยก่อน   และการที่ต่างชาติบอกว่าเสรีก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเข้ามาได้ง่าย ๆ เพราะก็ต้องเข้ามาภายใต้กฎหมายภายในประเทศกำหนด  เราจึงไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนกฎหมายบางอย่างที่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน
 
“การจะปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกบางอาชีพควรจะต้องมีการศึกษาให้ชัดเจนก่อน  ต้องศึกษาว่าอาชีพอะไรมีคนไทยรองรับอยู่เท่าไหร่ และงานที่เขาทำอยู่นั้นมีมากน้อยเพียงใด  อย่าไปมองเฉพาะว่าเป็นงานทั้งปี เพราะหลายอาชีพ ที่ผ่อนผันไป กลายเป็นงานที่คนไทยทำเป็นอาชีพเสริม โดยเฉพาะอาชีพภาคเกษตรหรือภาคนอกระบบซึ่งเป็นการทำงานตามฤดูกาล  ฉะนั้นการออกกฎหมายบางอย่างต้องดูให้รอบคอบ  เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อคนไทยกลุ่มนี้และเป็นคนที่ยกระดับตัวเองได้ยากมาก เพราะความรู้น้อย”  ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ  กล่าว
 
จากข้อมูลมีแรงงานประมาณ 13-14 ล้านคนมีระดับการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า  ในจำนวนนี้ 7 ล้านคนไม่จบระดับประถม  อาชีพของเขาคือการใช้แรงงานหรือการทำงานฝีมือที่ถ่ายทอดกันมา  แรงงานแท้จริงในภาคเกษตร มีไม่เกิน 1.7 ล้านคน  แต่ในช่วงฤดูกาลมีคนงานเพิ่มเป็น 3 ล้านคน นั่นหมายความว่า คนเกือบ 2 ล้านคนที่เพิ่มมานั้นคือคนที่เขามาหารายได้เสริมในช่วงฤดูกาล จึงอยากให้ดูตลาดให้ชัดเจน เพราะอาชีพจะผูกโยงกับวิถีวัฒนธรรมของเขาด้วย การเสริมรายได้  มิฉะนั้นเราจะทำให้คนไทยยากจนลงไปอีก
 
ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ย้ำว่า ไม่ได้คัดค้านการเปิดเสรี แต่ต้องรู้ให้ชัดว่าโควตาที่จะเปิดนั้นเป็นอย่างไร ต้องไม่ให้กระทบกับฐานแรงงานในอาชีพที่คนไทยทำอยู่  ต้องเอาเข้ามาเฉพาะส่วนที่ขาดเท่านั้นไม่ใช่เข้าได้อย่างเสรี  แต่ที่ผ่านมาการกำหนดโควต้าของไทยมาจากการสอบถามความต้องการของนายจ้าง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะคนที่จะกำหนดโควตาต้องเป็นคนที่เห็นภาพรวมของทั้งตลาดแรงงาน   อาชีพไหนที่ยังจำเป็นสำหรับคนไทยเราก็ควรต้องสงวนไว้
 
สิ่งที่รัฐต้องทำโดยเร่งด่วนคือ การเอาจริงเอาจังกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพให้ได้  ดูแลสิทธิของแรงงานต่างด้าวให้ครบถ้วน เช่น สิทธิในการรวมตัว การต่อรอง การศึกษา การรักษาพยาบาล การประกันสังคม ฯลฯ เพื่อให้เป็นแรงงานคุณภาพเช่นเดียวกับคนไทย เมื่อเป็นเช่นนี้สภาพแวดล้อมในการทำงานจะดีขึ้น จะทำให้ทัศนคติของคนไทยต่องาน 3D เปลี่ยนไปได้ แรงงานไทยจะมีโอกาสทำงานได้มากขึ้นในงานบางประเภท ซึ่งใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ในปัจจุบัน.  
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: ประวัติศาสตร์ของ “ความหวัง” ในภูมิภาคอาเซียน

Posted: 30 Mar 2012 12:32 AM PDT

(30 มี.ค.55) ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ของ “ความหวัง” ในภูมิภาคอาเซียน” ในการประชุมทางวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง" ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) รายละเอียดมีดังนี้ …

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: ประวัติศาสตร์ของ “ความหวัง” ในภูมิภาคอาเซียน

 

1: ที่มาของเรื่อง

เมื่อผมได้รับการทาบทามให้มาพูดในหัวข้อเรื่อง “ประวัติศาสตร์ของความหวังในภูมิภาคอาเซียน” ความรู้สึกแรกๆ คือไม่รู้ว่าจะพูดเรื่องอะไร เพราะ “ความหวัง” ไม่ใช่เหตุการณ์หรือหลักฐานในอดีตที่อาจนำมาวิเคราะห์และศึกษาจนประดิษฐ์สร้างขึ้นมาเป็นประวัติศาสตร์อย่างที่นักประวัติศาสตร์ได้กระทำกันมาตามปกติ ความหวังเป็นเรื่องในปริมณฑลของอารมณ์ความรู้สึก ว่าไปแล้วเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ยังไม่ได้สกัดกลั่นกรองหรือผ่านการเจียระไนจนออกมาเป็นความคิด ความเข้าใจ กระทั่งเป็นฐานหรือแนวทางให้แก่การปฏิบัติของคนต่อไป ความหวังเป็นสิ่งออกจะเลื่อนลอย ยังเป็นแค่ด่านแรกของความรู้สึกที่อาจพยายามจะให้มีแนวทางอะไรออกมาบ้าง แต่ก็เท่านั้น เพราะทันทีที่ความหวังแปรเปลี่ยนไปเป็นความรู้สึกที่มีพลัง มีความแน่นอน มีความเป็นเหตุเป็นผลในความรู้สึกนั้นมากขึ้น เรียกว่าเป็นระบบระดับหนึ่ง ความหวังนั้นก็จะแปรเปลี่ยนมาเป็นความคิดอื่นๆ เช่น ความคิดว่าด้วยความก้าวหน้า ความคิดว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษา ความคิดว่าด้วยการปฏิวัติ ความคิดว่าด้วยการสมานฉันท์ ฯลฯ ความหวังจึงไม่ได้ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง หากแต่มักเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับความคิดอื่นหรืออุดมการณ์ต่างๆ ในที่นี้ตัวอย่างของความคิดที่ใกล้เคียงและผูกพันอย่างมากกับความหวังได้แก่ความปราถนาในอนาคตของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่แน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่ามนุษย์ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตอยู่เสมอๆ นั่นคือการคิดว่าด้วยความก้าวหน้า ดังบทกวี ของอเล็กซานเดอร์ โป๊ปที่ว่า

Hope springs eternal in the human breast;
Man never Is, but always To be blest:
The soul, uneasy and confin'd from home,
Rests and expatiates in a life to come.

-Alexander Pope, An Essay on Man

ในขณะที่ อักขราภิธานศัพท์ ของหมอบรัดเลย์ ตีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ อธิบายคำว่า “หวัง” ไว้ว่า

หวัง, หมาย, คือคิดปอง, คนคิดปองด้วยประโยชน์อันใดอันหนึ่งต่างๆ มีปองหาอาหารเปนต้น
หวังใจ, หมายใจ, คือปองอยู่ในใจ, คนคิดปองอยู่แต่ในใจยังไม่ได้ทำ ฤายังไม่ให้เปนต้นนั้น.
หวังอยู่ว่า, คือคิดปองว่าจะไป,
หวังจะให้, หมายจะให้
หวังว่า. คือคิดประสงค์จะเอาสิ่งอันใดฤาเพื่อเหตุอันใดนั้น
หวังเอา หมายเอา คือนึกเอาสิ่งอันใดอันหนึ่ง มีนึกปองเอาคุณพระเปนที่พึ่งเป็นต้นนั้น. [1]

ความหวังเกิดขึ้นในท่ามกลางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีความไม่แน่นอนสูง เป็นความคิดที่มีลักษณะของการผูกโยงไปยังอนาคตและความแน่นอน กล่าวอย่างรวมๆ คือการคิดถึงชีวิตในอนาคต อุดมการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่มีแนวคิดทำนองนี้ได้แก่ลัทธิชาตินิยม ความหวังในยุคโบราณถึงก่อนสมัยใหม่ เป็นความคาดหวังที่ถูกสร้างในกรอบความเชื่อทางศาสนา จุดหมายใหญ่คือการหลุดพ้นจากความทุกข์และความไม่แน่นอนในโลกนี้ เพื่อไปสู่ความแน่นอนหรือสมหวังในโลกหน้า แต่ความหวังแบบก่อนสมัยใหม่นั้นไม่จำเป็นต้องโยงไปถึงชีวิตในอนาคต คนไทยพุทธเชื่อเรื่องชาติหน้าและสวรรค์ ซึ่งไม่ใช่โลกและชีวิตอนาคตใหม่ ศาสนาคริสต์และอิสลามเชื่อในโลกหน้า มีเส้นแบ่งอันชัดเจนระหว่างโลกนี้กับโลกหน้า จึงทำให้คติความหวังของเขามีความเชื่อมโยงกับโลกหน้าและชีวิตในอนาคตมากกว่าของศาสนาพุทธและพราหมณ์ อย่างไรก็ตาม ในทางความคิดและอุดมการณ์ ที่ไม่ใช่ความเชื่อทางศาสนา ขบวนการลัทธิมนุษยนิยม (Humanism) ที่ได้เกิดและก่อตัวเป็นแนวความคิดทางวัฒนธรรมในยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ กล่าวได้ว่าก็เริ่มสร้างพื้นฐานและความคิดที่นำมาสู่การทำให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางโลกและจักรวาล ไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้าตามคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิลอีกต่อไป แนวคิดมนุษยนิยมจึงมีอิทธิพลต่อการสร้างความเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายในทางโลกแล้วสร้างสิ่งที่มนุษย์ตั้งความหวังที่จะเป็นขึ้นมาได้ บทนิพนธ์แรกๆ ที่เป็นตัวอย่างของความคิดมนุษยนิยมนี้ได้แก่งานเขียนของ Pico della Mirandola ใน ปี ค.ศ. 1486 “We can become what we will” หรือ Alberti ที่ว่า “Men can do all things if they will” มาถึงนักปรัชญาสมัยใหม่ที่ยังไม่สิ้นศรัทธาในความเป็นมนุษย์ คือนิตเชอ Nietzsche ผู้ประกาศว่าพระเจ้าได้ตายแล้ว และเราต้องเลือกระหว่าง “มนุษย์” กับ “พระเยซู” คำตอบเดียวเท่านั้น [2]

ความหวังสมัยใหม่โดยเนื้อหาจึงเป็นการมองไปยังอนาคต ไปยังที่แห่งอนาคตที่มีความแน่แท้ แต่สิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในประวัติภูมิปัญญาและปรัชญาคือการให้น้ำหนักและความสำคัญไปที่ความเป็นมนุษย์ของคนแต่ละคนที่เรียกว่าปัจเจกบุคคล ทำให้ความคิดใหม่นี้สามารถใช้ความเป็นเหตุผลแทนความเชื่อและศรัทธาทางศาสนามาอธิบายและไปค้นหาคำตอบในสังคมได้ เมื่อความคิดนี้ถูกใช้ในความคิดและปรัชญาสมัยใหม่ทั้งหลาย ก็สร้างความต่อเนื่องและเป็นอันหนึ่งเดียวกันได้ระหว่างสังคมในอดีตกับสังคมในปัจจุบัน นั่นคือทำไมคนยุคใหม่ถึงคิดและเชื่อว่าตัวเราและคนรอบข้างมาจากอดีตอันหนึ่งร่วมกันและยังเชื่อมต่อมาถึงเรื่องราวในปัจจุบันราวกับเป็นหนังเรื่องเดียวกันได้ ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมที่สะท้อนความต้องการนี้ที่ชัดเจนและมีพลังอย่างมากได้แก่ลัทธิชาตินิยม

ความหวังที่เราเข้าใจในปัจจุบันเป็นความหวังที่เกิดกับประสบการณ์ของคนในชั่วชีวิตหนึ่งๆ ซึ่งมากับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี ทางวิทยาศาสตร์และในการบริโภคทางสังคมทั้งหลาย เป็นความคาดหวังและต้องการของคนที่มีต่อโลกปัจจุบันมากกว่าโลกในอนาคตแต่ถ่ายเดียว อย่างไรก็ตาม แม้การพูดถึงความหวังจะมีนัยถึงการพูดถึงเรื่องของอนาคต แต่พื้นฐานสำคัญในการสร้างทิศทางให้แก่ความหวังกลับเป็นการมองกลับไปยังอดีตของตน นั่นคือการมองถึงประวัติศาสตร์ของมนุษย์และสังคม ในอีกมิติที่น่าสนใจคือการพูดถึงคนที่ตายไปแล้ว การที่สังคมยังสนใจและมีธรรมเนียมของการเล่าเรื่องผี เรื่องของความตายในอดีต ก็เป็นวิธีการ(หรือวาทกรรม)หนึ่งของการสร้างปฏิสัมพันธ์กับความหวัง ในกรณีหลังนี้โดยผ่านความหลังและความตาย กล่าวได้ว่ากระบวนการในการสร้างและบรรลุความหวังในอนาคตแยกไม่ออกจากกระบวนการปลดปล่อยและรื้อสร้างเครื่องพันธนาการที่ผูกมัดและครอบงำมนุษย์ไว้กับอดีตที่ไม่สดใสไม่น่าปรารถนาออกไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นวาทกรรมของความหวังจึงดำเนินไปพร้อมกัน ทั้งการสร้างจุดหมายและความใฝ่ฝันของชีวิตใหม่ในโลกอนาคต กับการรื้อฟื้นความทรงจำของอดีต ของความตายและความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้นมาในโลกเก่าที่ผ่านไปตามกาลเวลาแต่ยังอาจฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ในโลกใหม่

การพูดและวิเคราะห์ถึงเรื่องความหวังอย่างมีความหมายจำเป็นต้องกระทำในกรอบขององคาพยพที่แน่นอน ในที่นี้จะใช้กรอบของรัฐประชาชาติหรือรัฐชาติสมัยใหม่เป็นฐานในการหาและสร้างความหมายของความหวังขึ้นมา ในประวัติศาสตร์ของอุษาคเนย์ได้แก่ยุคสมัยที่ลัทธิอาณานิคมตะวันตกเข้ามาครอบงำภูมิภาคนี้ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในทางโครงสร้างของระบบการปกครอง การเมือง การเศรษฐกิจและวัฒนธรรม สถาบันและความคิดเก่าถูกล้มล้างหรือแปรรูปไป สถาบันใหม่เกิดขึ้นมา ยุคแรกของการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของความหวังในอุษาคเนย์จึงเป็นผลโดยตรงจากประสบการณ์และโศกนาฏกรรมที่ได้เกิดขึ้นในสังคมเหล่านี้

 

2: กำเนิดของชาติและความหวัง

ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ได้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผลกระเทือนต่อทั้งภูมิภาคอย่างลึกและกว้างในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้แก่การเปลี่ยนแปลงในยุคอาณานิคม ก็คือช่วงระยะคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึง ๒๐ เป็นการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมที่มีระบบปกครองแบบกษัตริย์ มาสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมภายในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ ส่วนในทางการเมืองและสังคมคือการก่อรูปขึ้นของระบบปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างจำกัด ในระยะแรกอยู่ภายใต้ระบบปกครองอาณานิคมของตะวันตก มีกระบวนการปลดปล่อยชาวนาและข้าทาสให้เข้าสู่ตลาดเสรี เป็นแรงงานเสรีและเป็นปัจเจกบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติและศาสนามากขึ้น กล่าวโดยรวม ยุคอาณานิคมได้สร้างกรอบและพื้นฐานของสังคมอุษาคเนย์ใหม่ นำไปสู่การเกิดพลังใหม่ๆ ในทางสังคมขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ทำลายหรือสลายโครงสร้างสังคมแบบขนบธรรมเนียมตามประเพณีโบราณลงไปจำนวนหนึ่ง เกิดกระบวนการของการแปรเปลี่ยนภายในรัฐใหม่ที่กำลังก่อตัวอยู่ เกิดความขัดแย้งทั้งที่เป็นปฏิปักษ์รุนแรงและที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ไม่รุนแรงในปริมณฑลต่างๆ ของสังคม จากนั้นนำไปสู่การก่อรูปของระเบียบสังคมใหม่ที่ต่อสู้เพื่อจะมีพื้นที่อันชอบธรรมและมีอนาคตขึ้นในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง หลายเรื่องหลายระเบียบใหม่ไม่อาจดำเนินไปสู่การบรรลุจุดหมายได้ บ้างก็ล้มหายตายจากไป บ้างก็ดัดแปลงผสมกลมกลืนกับสภาพท้องถิ่นที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เกิดเป็นโครงสร้างและระเบียบสังคมการเมืองแบบอุษาคเนย์ ที่รอการเติบใหญ่อย่างสมบูรณ์ต่อไป

ในระยะแรกของระบบอาณานิคมและการปะทะกันระหว่างสังคมอุษาคเนย์แบบโบราณกับลัทธิสมัยใหม่จากตะวันตก ปริมณฑลที่การปะทะกันดำเนินไปจนถึงจุดแตกหักที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างถอนรากถอนโคนในบางรัฐนั้นได้แก่ปริมณฑลของการเมืองหรือพื้นที่ของอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นหัวใจและกลไกหลักของการดำรงอยู่ของรัฐและสังคมอันรวมถึงมวลประชาราษฎรด้วย ปรากฏการณ์ที่จะมีผลต่อการสร้างความหวังก่อนอื่นมาจากการผิดหวัง จากประสบการณ์ของการพังทลายและเสื่อมสลายของระบอบเก่าในขณะที่ระบอบอาณานิคมใหม่ยังไม่สามารถตอบสนองและให้ความต้องการที่บรรดาคนใหม่คาดหวังและต้องการได้

ภาพของการพังทลายของระบบเก่าที่มีสีสรรค์และสั่นสะเทือนความรับรู้และความเชื่อมั่นในบารมีของกษัตริย์แบบตะวันออกได้แก่วาระสุดท้ายของกษัตริย์พม่าพระเจ้าสีป่อแห่งราชวงศ์อลองพญา ซึ่งสืบราชสันตติวงศ์ในกรุงอังวะมาถึงสิบรัชกาล โดยเริ่มที่ปฐมกษัตริย์คือพระเจ้าอลองพระ หรือพระเจ้ามังระในพระราชพงศาวดารไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๕ มาสิ้นสุดในสมัยพระเจ้าสีป่อ พ.ศ. ๒๔๒๘

คนที่เขียนเล่าบรรยายภาพวาระสุดท้ายของพระเจ้าสีป่อได้อย่างสะเทือนใจราวกับนั่งอยู่ในอกของพระราชวงศ์สุดท้ายของพม่าคือม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังจะยกมาให้ดูดังต่อไปนี้

“วันสุดท้ายของกรุงรัตนะบุระอังวะนั้นเริ่มต้นแต่ตอนกลางคืน โทรเลขจากขุนนางที่ไปพบกับแม่ทัพอังกฤษนั้นมาถึงเอาค่ำแล้ว พระเจ้าสีป่อก็เสด็จออกท้องพระโรงในกลางดึก และมีรับสั่งให้ตามขุนนางเข้ามาเฝ้าฯ เมื่อขุนนางมาพร้อมกันแล้ว อาลักษณ์ก็อ่านโทรเลขที่แจ้งเรื่องคำตอบของแม่ทัพอังกฤษสั่งให้พระเจ้าสีป่อยอมแพ้ มิฉะนั้นอังกฤษจะระดมยิงกรุงอังวะในวันรุ่งขึ้นและกรุงอังวะนั้นก็อยู่ใกล้พระนครขนาดเดินถึงกันได้อย่างสบาย...” หลังจากปรึกษากับแม่ทัพนายกองใหญ่ถึงหนทางจะรักษาพระเศวตรฉัตรและราชบัลลังก์กรุงอังวะไว้ให้ได้ ซึ่งทำได้ยากมาก ในที่สุดพระเจ้าสีป่อก็ต้องยอมทำตามข้อเรียกร้องของอังกฤษ

“เสียงฆ้องกลองที่หอกลองพะโหสินย่ำยามขึ้น เหมือนกับจะบอกว่าความหายนะกำลังคืบคลานเข้ามา พระเจ้าสีป่อขยับพระองค์บนพระราชอาสน์ เสียงพระภูษาที่ทรงกระทบเสียดสีกับพระยี่ภู่ ด้วยพระสุรเสียงอันแผ่วเบา พระเจ้าสีป่อก็มีพระราชกระแสให้ส่งโทรเลขไปยอมแพ้ต่อแม่ทัพอังกฤษ ทั้งนี้เป็นพระบรมราชโองการนัดสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้ากรุงอังวะ”

หลังจากพระเจ้าสีป่อได้ตรัสมอบพระองค์ ราชสมบัติทั้งปวงและพระนครมัณฑเลแก่พันโทสเลเดนนายทหารอังกฤษ แล้วก็ขอเวลาเตรียมตัวต่อ ยังไม่อยากไปกับทหารอังกฤษ ฝ่ายอังกฤษแต่แรกก็ยอมให้เวลา แต่เมื่อเห็นนานช้ามากนัก เกรงจะมืดค่ำเสียก่อนจึงเร่งให้พระเจ้าสีป่อออกเดินทาง ขณะจะออกจากพระราชวัง บรรดาสนมพวกผู้หญิงในวังต่างพากันเข้ามาเก็บข้าวของในวังเป็นการใหญ่โดยไม่เกรงกลัว เมื่อสิ้นอำนาจวาสนาก็ไม่มีความจงรักภักดีหลงเหลืออยู่ในคนเหล่านั้นอีกต่อไป จากหน้าวังจะไปลงเรือที่แม่น้ำเป็นระยะทางพอสมควร อังกฤษเตรียมเปลหามที่ใช้ในโรงพยาบาลไว้สำหรับพระเจ้าสีป่อๆ ทรงเห็นเปลหามก็ไม่ยอมนั่ง ในที่สุดอังกฤษก็ไปหาระแทะเทียมโค ซึ่งใช้วิ่งรับคนโดยสารอยู่ในกรุงมัณฑเลมาได้คันหนึ่ง พระเจ้าสีป่อกับพระนางศุภยลัตและพระนางอเลนันดอก็เสด็จขึ้น ทันใด

“เจ้าพนักงานเก้าคน ซึ่งโผล่มาจากไหนก็ไม่ทราบก็เข้ากางเศวตฉัตรเก้าองค์รายรอบระแทะนั้น มหาดเล็กข้าหลวงก็จัดขบวนเดินตามเสด็จเหมือนกับขบวนพระราชอิสริยยศ ทหารอังกฤษที่เดินอยู่สองข้างนั้นก็กลายเป็นทหารเกณฑ์แห่ ชบวนแห่นั้นก็เคลื่อนออกจากพระราชวังตรงไปยังท่าน้ำ มีแตรวงนำหน้าบรรเลงดนตรีไปอย่างครึกครื้น ราษฏรก็พากันมาดูแห่อย่างคับคั่ง จะได้มีผู้ใดทุกข์โศกหรือสงสารในพระเจ้าแผ่นดินของตนอย่างไรก็หาไม่” (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๔, ๑๙๕)

กรุงรัตนะบุระอังวะ ซึ่งเคยรุ่งเรืองด้วยเดชด้วยอำนาจและด้วยศฤงคารทั้งปวง ก็มาจบประวัติและสิ้นชีวิตลงด้วยประกาศสั้นๆ ของอุปราชอินเดีย ลงวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๘๖ (พ.ศ. ๒๔๒๘) ดังต่อไปนี้

“โดยพระราชเสาวณีย์แห่งสมเด็จพระจักรพรรดิราชินี ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่าบรรดาเขตแคว้นทั้งปวง ซึ่งพระเจ้าสีป่อเคยปกครองอยู่นั้น บัดนี้มิได้อยู่ใต้อำนาจการปกครองของพระองค์อีกต่อไปแล้ว แต่ได้ตกมาเป็นส่วนหนึ่งแห่งขอบขัณฑสีมาของพระบรมราชินีนาถ และจะได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้อุปราชอินเดีย และผู้ว่าราชการใหญ่อินเดียปกครองต่อไปตามพระราชอัธยาศัย”

(ลงนาม) ดัฟเฟอริน

ก่อนหน้าที่อังกฤษจะเข้ายึดอำนาจของพระเจ้าสีป่อนั้น ได้ทำสงครามกับพม่าในทางใต้ก่อนแล้ว และได้ประกาศนโยบายใหม่ของอังกฤษให้ราษฎรพม่ารับรู้ไว้ หลักๆ คือการประกาศให้คนพม่าทั้งหลายรู้ว่า พวกเขานั้นมีสิทธิของการเป็นพลเมืองและเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพ นั่นเป็นปรัชญาและความคิดทางการเมืองแบบสมัยใหม่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยในดินแดนเหล่านี้ บัดนี้ลัทธิอาณานิคมได้นำมันมายื่นให้ต่อหน้าพวกราษฎรอย่างไม่มีเงื่อนไข เหมือนกับของที่ได้มาฟรีๆ ดังตัวอย่างของ “คำประกาศต่อชาวเมืองมะริด” โดยรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษ นายแมงยี ข้าหลวงเมืองตะนาวศรีต่อพลเมืองในปกครองใหม่ ปี ๑๘๒๕

“ขอให้พวกท่านจงมั่นใจเถิดว่า ภรรยาและบุตรของพวกท่านจักได้รับการปกป้องจากศัตรูทั้งภายในและภายนอกทั้งหลาย ท่านจะได้ชื่นชมในเสรีภาพ ชีวิตและทรัพย์สินของพวกท่านจะได้รับการคุ้มครอง ศาสนาของท่านจักได้รับการเคารพ พระสงฆ์องค์เจ้าของพวกท่านรวมถึงความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จะได้รับการค้ำประกันจากการดูถูกหมิ่นเหยียดหยามหรือได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้าย มาตรการที่เหมาะสมจะถูกนำมาใช้เพื่อให้ความยุติธรรมบังเกิดกับท่าน ตามครรลองของกฎหมายของพวกท่าน และตราบเท่าที่มันไม่ละเมิดต่อหลักการด้านมนุษยธรรมและความเท่าเทียมกันตามธรรมชาติ ในเรื่องภาษีอากรแลอื่นๆ นั้น เราจะนำเอาจารีตและประเพณีท้องถิ่นของพวกท่านมาพิจารณาร่วมด้วย แต่กระนั้นก็ดี การค้าแบบเสรีที่สุดและโดยปราศจากข้อกีดขวางใดๆ ทั้งจากภายในและภายนอกจักได้รับการสถาปนาและสนับสนุนส่งเสริม [3]

ทั้งหมดที่เราต้องการจากท่านก็คือ ช่วยนำเราไปสู่ความสงบ สันติ ระเบียบ และความสุข โดยที่พวกท่านชาวเมืองทั้งหลายแต่ละคนกลับไปดำเนินอาชีพของตน ให้ความเคารพเชื่อฟังผู้มีอำนาจเหนือตนอย่างเต็มอกเต็มใจ ต่อต้านศัตรูที่มุ่งร้ายต่อรัฐบาลอังกฤษ รวมถึงให้คำชี้แนะแก่เราเมื่อจำเป็น

สุดท้าย ข้าฯปรารถนาที่จะให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างชัดเจนว่าใครก็ตาม แม้คนยากเข็ญที่สุด ก็สามารถขอพบข้าฯในเรื่องนี้ได้ทุกเวลา และในทุกสถานที่ [4]

ไกลออกไปในหมู่เกาะของอุษาคเนย์ ในปี ค.ศ. ๑๙๐๖ กองทัพดัตช์ได้บุกเข้าไปยังเกาะบาหลีถึงเมืองซานูร์ในชายฝั่งตะวันออกและรุกไล่เข้าไปยังบาดุงซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังของกษัตริย์บาหลี ฝ่ายราชสำนักบาหลีตระหนักแล้วว่าตัวเองเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงเตรียมรับวาระสุดท้ายของสงครามและการสุดสิ้นของพระราชวงศ์ ด้วยการเดินแถวออกมาทั้งหมด กษัตริย์ ราชินีทั้งหมด ราชโอรสและธิดารวมทั้งบรรดานางสนมนางในทั้งหลาย ทั้งหมดเดินเรียงหน้าในขบวนอันตบแต่งอย่างเต็มยศของการทำอัตวินิบาตกรรมหมู่เข้าหาแนวยิงของปืนศัตรู ภายในอาทิตย์เดียวกษัตริย์และรัชทายาทของทาบานานก็ถูกจับ แทนที่จะให้จับไป ทั้งกษัตริย์และรัชทายาทก็กระทำการทำลายตนเองเสียก่อน องค์หนึ่งด้วยยาพิษและอีกองค์ด้วยมีด ในคืนวันแรกที่อยู่ในการจองจำของดัตช์ ในอีก ๒ ปีต่อมา พิธีกรรมอันสยดสยองนี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ในรัฐที่มีสีสรรค์ที่สุดของบาหลีคือคลุงคุง (klungkung) ซึ่งเป็นเสมือนเมืองหลวงของบาหลีโบราณ กษัตริย์และบรรดาคนในราชสำนักเดินขบวนออกมาในลักษณะกึ่งหมดสติกึ่งผีเข้าด้วยฤทธิ์ของฝิ่น ออกมาจากพระราชวังไปยังแถวของกองทหารดัตช์ที่เตรียมพร้อมแต่ยังลังเลว่าจะยิงดีหรือไม่ นักมานุษยวิทยาผู้มีชื่อเสียงระดับโลก คลิฟฟอร์ด เกียรซสรุปว่า นี่คือการตายของระบบเก่า มันหมดอายุไปเหมือนกับที่มันได้เคยอยู่มา กล่าวคือเป็นนาฏยรัฐ(theatre state)ในโลกของพิธีกรรมและขบวนแห่อันอลังการ์. [5]

การพังทลายของระบบและระเบียบสังคมเก่าแบบศักดินาไม่ได้สร้างความคิดความหวังและความต้องการอย่างใหม่ขึ้นมาได้ จนกว่าบรรดาคนใหม่ทั้งหลายที่มาจากคนสามัญจะได้เข้าศึกษาและเรียนรู้ชีวิตสมัยใหม่จากเจ้าอาณานิคม เมื่อนั้นแหละที่อุดมการณ์และความคิดแบบสมัยใหม่จึงเริ่มก่อตัวขึ้น

 

3: ชาติกับความคิดแบบใหม่

ความคิดแบบใหม่ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้แก่ความต้องการเป็นอิสระ ความเป็นเอกราช ในนามของรัฐและชาติมากกว่าของปัจเจกบุคคล เป็นความคิดที่มองถึงความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การหยุดนิ่งและกลับไปหาอดีต ถ้าหากว่าในระบบสังคมยุคเก่า วิญญาณหรือหัวใจของรัฐคือผู้นำทางประเพณี ที่เด่นชัดที่สุดคือในรูปของพระมหากษัตริย์ ในยุคใหม่หลังจากการยึดครองของลัทธิอาณานิคมแล้ว วิญญาณใหม่ของรัฐใหม่ที่กำลังจะเกิดได้ย้ายจากผู้นำตามบารมีคนเดียว มาเป็นนามธรรมใหม่ที่เรียกว่าชาติที่เป็นองค์รวมของมวลชน องค์อธิปัตย์เดิมอยู่ในตัวของกษัตริย์ องค์อธิปัตย์ใหม่อยู่ในตัวของชาติที่เป็นตัวแทนของประชาชน มโนทัศน์ว่าด้วยชาติ แผ่นดิน มาตุภูมิ ในระยะแรกยังเป็นนามธรรมและไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ล้วนเป็นจินตนาการใหม่ที่เกิดจากความหวังหรือความต้องการอันเป็นจุดหมายของคนใหม่ร่วมกันในกระบวนการของการต่อสู้กับลัทธิอาณานิคม กระบวนการและการปฏิบัติของผู้คนที่เรียกว่า “คนใหม่” (New Men/Women) ใช้เวลาและความพยายามหลายสิบปีกว่าจะนำไปสู่การก่อเกิดและตกผลึกของความคิดและความคาดหวังของคนเหล่านั้นจนกลายมาเป็นความคิดที่รู้จักกันดีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และในสงครามปลดปล่อยชาติ หรือสงครามกู้ชาติ หรือสงครามเพื่อเอกราชของบรรดาประเทศในอุษาคเนย์ทั้งหลาย ความคิดใหม่นี้ก็คือลัทธิชาตินิยม (nationalism)

ปัญญาชนแห่งอุษาคเนย์คนแรกที่เสนอความคิดเรียกร้องความหวังในอนาคตใหม่ให้แก่ประชาชนและชาติได้แก่ โฮเซ ริซัล (Jesé Rizal) แห่งฟิลิปปินส์ ริซัลเกิดวันที่ ๑๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๑ เมื่อตายอายุเพียง ๓๕ ปีเท่านั้น เขาถูกทางการเจ้าอาณานิคมสเปนจับด้วยข้อหา “ปลุกระดม” ทำให้เกิดการลุกฮือและจลาจลในฟิลิปปินส์ และถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการยิงเป้าเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๑๘๙๖ โดยอาชีพจากการศึกษาเขาเป็นนายแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติและเคลื่อนไหวเขาเป็นนักเขียนและศิลปิน น่าสังเกตว่าผู้นำนักคิดของเมืองอาณานิคม หลายคนเริ่มต้นด้วยการเป็นแพทย์แล้วจบลงด้วยการเป็นนักปฏิวัติ จากหมอรักษาคนไข้มาเป็นหมอรักษาสังคม เช่นซุนยัดเซนและหลู่ซิ่น เป็นต้น

ริซัลมาจากครอบครัวลูกผสม จีน ญี่ปุ่น สเปน และตากาล๊อก หัวดีเรียนเก่งจบมหาวิทยาลัยซานโตโทมาสในมะนิลาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแคทอลิกแห่งแรกในอุษาคเนย์ แล้วไปเรียนต่อในยุโรป ที่ยุโรปเขาได้รับอิทธิพลความคิดก้าวหน้าของสำนักปรัชญาแสงสว่างหรือ Enlightenment ซึ่งเป็นปรัชญาเดียวกันที่กระตุ้นและปลุกระดมคนชั้นกลางในยุโรปถึงอเมริกา ให้ตื่นขึ้นจากความมืดของการครอบงำโดยศาสนจักรแคทอลิกและสถาบันกษัตริย์ นำไปสู่ “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” ในอังกฤษ (The Glorious Revolution 1640) การปฏิวัติอเมริกา (1776)และการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส (1789)

ตำนานแห่งบทกวีสุดท้ายอำลาตาย มีความยาว ๑๔ บาท เขียนเป็นภาษาสเปน Mi ultimo adios (My Last Farewell) ต่อไปนี้เป็น ๒ บาทแรกที่สำคัญและถือว่ากินใจที่สุด ในพากษ์ไทย

ลาก่อนปิตุภูมิที่แสนรัก
ถิ่นพำนักอ้อมกอดสุริย์ฉาย
ดุจไข่มุกส่องแสงเจิดประกาย
ขจรขจายทั่วแคว้นแดนไกล

ด้วยความยินดีระคนเศร้า
ข้าพเจ้าขอน้อมยอมถวาย
ชีวิตนี้เพื่อชาติทั้งใจกาย
สุขสบายทั่วกันนิรันดร

ท่ามกลางสนามรบที่เข่นฆ่า
ปวงประชาพลีชีพเป็นอนุสรณ์
แม้อยู่ถิ่นฐานใดไม่อาวรณ์
ยอมม้วยมรณ์เพื่อแผ่นดินถิ่นบิดา

ปรารถนาดวงวิญญาณขอลาก่อน
เมืองบิดรจรจากไกลในไม่ช้า
แสนปราโมทย์ยินดีเอ่ยคำลา
เพื่อนำมาซึ่งผาสุขของแผ่นดิน

ชีวิตนี้อุทิศมอบตอบแทนชาติ
แม้นวายวาดม้วยมลายไม่ถวิล
ใต้ผืนทิฆัมพรและธรณินทร์
ดวงชีวินสู่สงบพบนิรันดร์

(แปลโดยตวงพร สมสมัย ขนิษฐา สุวรรณรุจิ รัชฎา ตั้งตระกูลและประวิตร โรจนพฤกษ์) [6]

จากบทกวีลาตายของริซัลนี้ ลองพิจารณาว่าเขายอมตายเพื่อจุดประสงค์อะไร “ ชีวิตนี้เพื่อชาติทั้งใจกาย สุขสบายทั่วกันนิรันดร .......เพื่อนำมาซึ่งผาสุขของแผ่นดิน” นั่นคือต้องการต่อสู้เรียกร้องความสุขของแผ่นดิน ของประชาชน ในนั้นเขาจินตนาการถึงแผ่นดินใหม่ของพ่อ หรือปิตุภูมิ ซึ่งอีกชื่อคือชาติ นวนิยายเรื่อง “โนลี เม ตันจาเร” (Noli me tanjare) หรือ “อันล่วงละเมิดมิได้” ต้องถือว่าเป็นนวนิยาย (novel) เล่มแรกของอุษาคเนย์และเป็นนวนิยายเล่มแรกที่เขียนโดยคนพื้นเมือง กำเนิดและวิธีการของนวนิยายมีความสัมพันธ์อันล้ำลึกกับกำเนิดของชาติอย่างยิ่ง ดังที่อาจารย์เบ็น แอนเดอร์สันได้อธิบายไว้เป็นอย่างยอกย้อนว่า การปรากฏตัวของของนวนิยายที่เป็น “สินค้าขายดี” (popular commodity) นั้นเกี่ยวพันอย่างแน่นแฟ้นกับการปรากฏขึ้นของชาติ ทั้งชาติและนวนิยาย ต่างก็ได้รับการเลี้ยงดูให้เติบใหญ่ขึ้นมาจากมโนทัศน์ว่าด้วยเวลาแบบใหม่ที่ทำให้คนทั้งหลายคุ้นเคยกับมันโดยผ่านนาฬิกา แล้วซึมซับเวลาใหม่นี้ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างเป็นไปเองตามการเคลื่อนไปของเข็มนาฬิกาและปฏิทิน เราเรียกมโนทัศน์ใหม่นี้ว่า “สุญกาลสหมิติ” (homogeneous empty time) [7] หลังจากนั้นชาติและนวนิยายก็โตไปพร้อมกับ “สังคม” ซึ่งเข้าใจกันว่าคือ องคาพยพที่ล้อมรอบด้วยประวัติศาสตร์อันเชื่อมโยงระหว่างท้องที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้เปิดช่องทางให้แก่มนุษย์ในการจินตนาการถึงชุมชนที่กว้างใหญ่ วิ่งผ่านหลายๆ อายุคน และที่สำคัญไม่มีขอบเขตใดๆ ทั้งสิ้น ในนั้นประกอบไปด้วยบรรดาผู้คนซึ่งต่างก็ไม่เคยรู้จักกันมาเลย ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าชุมชนแบบนี้ก็จะเลื่อนไหลราวไร้จุดหมายไปสู่อนาคตที่ไร้ขีดจำกัดเช่นกัน [8] นี่คือพลังและธรรมชาติของ “ชาติ” สมัยใหม่ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจ เป็นความหวังและเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิตคนธรรมดา ในชาติคนทั่วไปสามารถฝันและจินตนาการถึงคุณธรรมที่คนธรรมดาอย่างเขาสามารถเทิดทูนมันได้อย่างสุดจิตสุดใจ กระทั่งสามารถท้าทายคุณธรรมของผู้ปกครองซึ่งในสายตาของพวกเขาเป็นผู้ไม่รักชาติหรือเป็นผู้ทรยศชาตินั่นเอง

ขบวนการชาตินิยมทั้งหลายในอุษาคเนย์มีลักษณะร่วมกันหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการมีความปรารถนาอันแรงกล้าในการสร้างสังคมและรัฐชาติใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องจำลองภาพและความคิดแบบเก่าโบราณมาอีกเลย นอกจากด้านที่จำเป็นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างบุคลิกของชาติใหม่นี้ ลักษณะของกลุ่มและขบวนการชาตินิยมนี้มักมาจากคนหนุ่มสาวหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ การตั้งชื่อและเรียกขานตัวเองก็ต้องแสดงออกถึงความเป็นหนุ่มสาว บรรดาคนใหม่เหล่านี้เริ่มตระหนักหรือรู้สึกถึงความผูกพันที่เขาหรือเธอมีต่อดินแดนที่เป็นประเทศอันแน่นอนเมื่อได้รู้ว่ามีคนอื่นเหมือนกับเขาอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น คิดและทำในสิ่งเดียวกับที่เขาทำ นั่นคือการเริ่มตระหนักและรู้สึกว่าพวกเขามีชะตากรรมอันหนึ่งร่วมกัน มีอนาคตร่วมกัน หรือที่อ.เบน แอนเดอร์สันเขียนว่า “พวกเขารู้สึกอย่างลึกซึ้งของการมีภราดรภาพในลักษณะแนวนอน… ความรู้สึกชาตินิยมอย่างเป็นแบบฉบับเช่นนี้ โดยปกติจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างกระทันหันในช่วงเวลาของคนรุ่นหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงความแปลกใหม่ของมัน จึงกล่าวได้ว่าลัทธิชาตินิยมนั้นผูกพันอยู่กับญาณทรรศนะ(หรือวิสัยทัศน์)และความคาดหวังสำหรับอนาคตอย่างมาก” [9]

ดังจะเห็นได้จากบรรดารายชื่อของกลุ่มและองค์กรยุคแรกๆ ที่เข้าร่วมขบวนการเอกราชในต้นศตวรรษที่ ๒๐ เช่น กลุ่มชะวาหนุ่มสาว (Jong Java=Young Java), อินโดนีเซียหนุ่ม(สาว) (Indonesia Muda=Young Indonesia) สันนิบาตของเยาวชนมุสลิม (Jong Islamientenbond=League of Young Muslims) และเยาวชนมินาฮาซา (Jong Minahasa=Young Minahasa) เป็นต้น ไม่มีองค์กรที่เรียกตัวเองว่าชะวาแก่หรืออาวุโส(Old Java), บาหลีนิรันดร(Eternal Bali), ฯลฯ ทิศทางของบรรดากลุ่มองค์กรชาตินิยมคือการมุ่งสู่อนาคต และพื้นฐานทางสังคมของพวกเขาคือความเป็นหนุ่มสาว แม้กระทั่งทุกวันนี้ พลังทางการเมืองที่เป็นจุดเด่นเฉพาะตัวของบรรดานักศึกษาอยู่ที่ฐานะทางสังคมของพวกเขาในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของอนาคตของชาติ

ในอดีตบรรดานักเคลื่อนไหวและต่อสู้เพื่อเอกราชและเสรีภาพของชาติและประชาชนนี้ จึงเป็นคนกลุ่มแรกที่ให้ความหมายแก่การร่วมมือกันในระดับอาณานิคมและมีโครงการร่วมกันในการปลดปล่อย ไม่ใช่แค่ในนามของบ้านเมืองหรือรัฐของตนเองเพียงแห่งเดียว พวกเขายังกระตือรือล้นในการเคลื่อนไหวช่วยเหลือเกื้อกูลนักสู้จากเมืองและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น มารีอาโน พอนเซ (Mariano Ponce, 1863-1918) หนึ่งในสามผู้นำสำคัญของขบวนการชาตินิยมฟิลิปปินส์ เขาทำหน้าที่เป็นโฆษกของ “ขบวนการโปรปะกันดา” (Propaganda Movement) เคลื่อนไหวโฆษณาการต่อสู้ปลดปล่อยฟิลิปปินส์ไปทั่วโลก การเคลื่อนไหวของพอนเซจึงเป็นตัวอย่างของนักต่อสู้ชาตินิยมรุ่นแรก ที่เดินทางไปทั่วโลก เขาเดินทางไปศึกษาต่อในสเปน แล้วกลับมาเคลื่อนไหวในฮ่องกงและญี่ปุ่น ในบั้นปลายของชีวิต เขายังได้เดินทางไปถึงเวียดนาม แต่คิดว่าคงมาไม่ถึงสยาม แต่ที่น่าทึ่งคือในปี ค.ศ. 1899 เขาได้เคยเจอและอาจทำงานการเมืองกับคนสยามที่เป็นสมาชิกกลุ่ม สมาคมคนหนุ่มแห่งบูรพทิศ (Oriental Young Men’s Society) ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในกรุงโตเกียว โดยบรรดานักศึกษาที่มาจากประเทศในเอเชียต่างๆ ได้แก่ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สยามและฟิลิปปินส์ กล่าวได้ว่าพอนเซได้ใช้ญี่ปุ่นเป็นฐานในการปลุกระดมโฆษณา จนได้ภรรยาเป็นชาวญี่ปุ่น และได้พบกับผู้นำการเคลื่อนไหวคนสำคัญของจีนเช่น คางยู่ไหว หัวหน้า “ขบวนการปฏิรูปร้อยวัน” รวมทั้งซุนยัดเซนแห่งพรรคก๊กกินตั๋งที่นั่นด้วย ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนคือในญี่ปุ่นเขาได้ไปร่วมกับเขาติดต่อกับผู้นำขบวนการชาตินิยมในคิวบา หาทางซื้ออาวุธและลักลอบส่งจากสหรัฐฯไปเม็กซิโกก่อนหาทางส่งไปยังฟิลิปปินส์ นอกจากนั้นเขายังเป็นคนสร้างประวัติศาสตร์การเป็นวีรบุรุษให้แก่โฮเซ ริซัล ด้วยการจัดการแถลงข่าวการประหารชีวิตโฮเซ ริซัลต่อสื่อมวลชนในฮ่องกง จัดทำพิธีศาสนาให้แก่ริซัลในโบสถ์ในฮ่องกงเช่นกัน และเขาเป็นคนที่นำเอาบทกวีลาตายของโฮเซ ริซัล ออกมาตีพิมพ์และเผยแพร่ไปทั่วโลกในปี 1897 [10]

ในกรณีของสยามเองก็มีตัวอย่างคล้ายๆ กันแต่ไม่กว้างขวางเท่ากับของนักต่อสู้ฟิลิปปินส์ในยุคนั้น กล่าวคือสมัยนั้นนักเรียนไทยที่ได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนในยุโรปเริ่มมีมากขึ้น กลุ่มที่มีบทบาทและต่อมาจะมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสยามคือกลุ่มที่มีนายปรีดี พนมยงค์นักเรียนกฏหมายฝรั่งเศสเป็นหัวหน้า ก่อนหน้านี้ได้มีการตั้งสมาคมชื่อ"สามัคยานเดราสมาคม" นายกสมาคมคนแรกคือ ม.จ. เจริญใจ จิตรพงศ์ โดยมีนายปรีดี พนมยงค์นักเรียนกฏหมายเป็นเลขาธิการ ต่อมาเมื่อนายปรีดีเป็นนายกสมาคมได้ริเริ่มมีกิจกรรมถกทางการเมืองและทางปัญญาควบคู่กันไป กับให้มีการเปลี่ยนชื่อสมาคมเสียใหม่ เป็น"สามัคยานุเคราะห์สมาคม" มีอักษรย่อ "ส.ย.า.ม." ในภาษาฝรั่งเศสว่า Association Siamoise d' Intellectualite et d' Assistance Mutuelle (S.I.A.M.) ความหมายในชื่อภาษาฝรั่งเศสน่าสนใจอีกเช่นกัน คือจะหมายความว่า "สมาคมสยามเพื่อภูมิปัญญาและอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน"

เนื่องจากบริบทและสภาพแวดล้อมทางการเมืองสยามไม่เหมือนกับของประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์ขณะนั้น ที่สำคัญคืออำนาจการเมืองและการปกครองยังอยู่ในระบบราชาธิปไตย แม้จะถูกจำกัดและบีบคั้นไม่น้อยจากอำนาจประเทศอาณานิคมเช่นอังกฤษและฝรั่งเศสก็ตาม การเคลื่อนไหวของนักเรียนไทยในต่างแดนจึงไม่เน้นไปที่การต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพของชาติ หากแต่ให้น้ำหนักไปที่ราษฎรคนชั้นล่างที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบอภิสิทธิชน ลักษณะเด่นของความคิดการเมืองช่วงแรกของปรีดี พนมยงค์ได้แก่ การค้นพบบุคคลหรือปัจเจกชนในสังคม อันนำไปสู่การเสนอมโนทัศน์ใหม่ทางการเมืองต่อมา ด้วยการให้ความสำคัญกับราษฎรในฐานะที่เป็นมนุษย์ เทียบเคียงเสมอกันกับชนชั้นสูง ในเรื่องกฎหมายแห่งสิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย น่าสังเกตว่าเครื่องมือสำคัญที่สร้างความเป็นบุคคลสมัยใหม่ในวาทกรรมการเมืองของปรีดีนั้น คือกฎหมายสมัยใหม่ ข้อนี้พอเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะสยามไม่ได้มีพัฒนาการของปรัชญาความคิดแนวมนุษยนิยมที่สามารถท้าทายกระทั่งหักล้างความศักดิ์สิทธ์และความชอบธรรมของอำนาจเหนือมนุษย์และธรรมชาติ เช่นพระผู้เป็นเจ้า เทวดาและอวตารของเทพในโลกมนุษย์ลงไปได้ ตรงกันข้ามผู้นำการเมืองและนักคิดเช่นปรีดี พบว่าสามารถสร้างความต่อเนื่องระหว่างระบอบการปกครองใหม่กับระบบสยามเก่าได้ ด้วยการอาศัยระบบและความคิดทางกฎหมาย ทำหน้าที่เป็นทั้งกรอบควบคุมการปฏิบัติและเป็นพื้นฐานทางความคิดการเมืองของระบบประชาธิปไตยในระยะผ่านที่สำคัญยิ่ง [11]

กล่าวได้ว่านักรักชาติในยุคแรกนั้นโดยแก่นแท้แล้วเป็นนักสากลนิยมด้วย ไม่ใช่นักลัทธิชาตินิยมท้องถิ่นคับแคบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน พวกเขาไม่ได้เสียเวลาไปคิดถึงข้อเท็จจริงในอดีต ว่ากษัตริย์อะเจห์เคยเอาดินแดนชายฝั่งทะเลของชาวมินังกะเบามาเป็นอาณานิคมของพวกตน ว่ากษัตริย์บูกิสเคยเอาพวกชาวเขาโทราจันลงเป็นทาส ว่าพวกผู้ดีขุนนางชะวาก็เคยพยายามเอาคนในที่ราบสูงซุนดาลงเป็นข้า หรือพวกขุนนางบาหลีก็เคยยึดครองเหนือเกาะของชาวซาสาก รวมไปถึงการที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าสองครั้งเป็นต้น

มองย้อนกลับไปในอดีตของยุคแรกที่บรรดาความคิดใหม่และความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่กำลังก่อรูปขึ้นภายหลังการต่อสู้และทำลายระบบและอำนาจรัฐอาณานิคมลงไป จะเห็นว่าความคิดรักชาติเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษในอดีตอะไรเลย หากแต่เป็น ”โครงการร่วมกัน”(“common project”) [12] สำหรับปัจจุบันและก็สำหรับอนาคตด้วย โครงการที่ว่านี้เรียกร้องต้องการการเสียสละของตนเอง ไม่ใช่การเสียสละของคนอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองที่ผู้ก่อกำเนิดขบวนการเอกราชทั้งหลายจึงไม่อาจคิดได้ว่าพวกเขามีสิทธิในการฆ่าคนร่วมชาติคนอื่นๆ ได้ ในนามของชาติที่พวกตนกำลังสร้างอยู่ ตรงกันข้ามบรรดานักรักชาติรุ่นแรกกลับเชื่อว่าพวกเขาและเธอ ต้องมีความกล้าหาญที่จะถูกจับกุมคุมขัง ที่จะถูกทุบตีและถูกเนรเทศโดยอำนาจรัฐ เพื่อเห็นแก่ความสุขและเสรีภาพในอนาคตของเพื่อนร่วมชาติอื่นๆ ต่อไป

 

4: การพังทลายของความหวัง

ประวัติศาสตร์ของอาเซียนก้าวเข้าสู่ยุคที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมคติของนักต่อสู้ชาตินิยมยุคแรกอย่างสิ้นเชิง เมื่อรัฐและประเทศต่างๆ ค่อยๆ ผลักดันการสร้างชาติให้เข้าไปสู่การเป็นรัฐอำนาจนิยมหรือเผด็จการ ความหมายและจุดหมายของรัฐและชาติถูกแปรเปลี่ยนไป บัดนี้ผู้นำขบวนการชาตินิยมไม่ได้มาจากคนธรรมดาสามัญหรือนักคิดผู้มีโลกทรรศน์เสรีของโลก หากแต่นักชาตินิยมรุ่นหลังมาจากพื้นฐานอดีตข้าราชการ ชนชั้นนำเก่าและขุนนางข้าราชการใหม่ พวกเขาสร้างความคิดใหม่ของชาติโดยเริ่มกลับไปค้นหาอดีตและประวัติศาสตร์อันลางเลือนแล้วสร้างมันขึ้นมาใหม่ในนามของชาติ อนาคตของชาติมีความผูกพันน้อยลงเรื่อยๆ กับอนาคต ในขณะที่กลับไปรับใช้อดีตที่ไม่มีตัวตนมากยิ่งขึ้น พวกเขาเรียกร้องการเสียสละของตนเองทีหลัง ในขณะที่เรียกร้องให้ผู้อื่นโดยเฉพาะประชาชนผู้เสียเปรียบและทุกข์ยากทั้งหลายให้เสียสละก่อนและเสียให้มากขึ้น พวกเขาเป็นนักท้องถิ่นนิยมที่มีสายตาอันคับแคบและความคิดอันตื้นเขิน ไม่มีสำนึกของความเป็นสากลนิยมและภราดรภาพในแนวราบเลย ต่อผู้อื่นที่มีทรรศนะทางการเมืองแตกต่างและตรงข้ามกัน หนทางและวิธีการที่พวกชาตินิยมอำนาจนิยมใช้ก็คือกำลังและความรุนแรงในทุกรูปแบบเพื่อกำจัดและทำลายความคิดที่แตกต่างลงไป

ยุคของลัทธิชาตินิยมล้าหลังคลั่งชาติ ในที่สุดก็คืบคลานเข้ามาแทนที่ขบวนการชาตินิยมแบบเสรี ด้วยการโค่นล้มบั่นทอนด้วยการยึดอำนาจและทำรัฐประหารของกลุ่มการเมืองที่มาจาก “คนใหม่กว่า” [13] (new new men) ที่มาทางสังคมของคนใหม่เหล่านี้ ดังได้กล่าวแล้ว มาจากสถาบันใหม่ในกระบวนการสร้างชาติและปลดปล่อยจากลัทธิอาณานิคม นั่นคือสถาบันทหาร เช่นการปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในประเทศไทยในปี ค.ศ. 1958 ในพม่าโดยนายพลเนวิน ในปี 1962 ในอินโดนีเซียรัฐประหารโดยคณะทหารบกในปีค.ศ. 1965 การประกาศกฎอัยการศึกโดยประธานาธิบดีมาร์กอสในฟิลิปปินส์(1972) จากนั้นก็เริ่มการเข้าสู่ระยะที่ 2 ของการสร้างชาติและรัฐ คราวนี้ผู้นำใหม่ของอุษาคเนย์ ไม่เสียเวลาทดลองและประยุกต์รูปแบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมตะวันตกอีกต่อไป หากแต่ประดิษฐ์สร้างรูปแบบและแนวคิดของระบบการเมืองการปกครองใหม่ที่อ้างว่าเป็นแบบดั้งเดิมหรือของพื้นเมืองไม่ใช่แบบต่างชาติที่นำเข้าจากภายนอกอีกต่อไป ระบบการปกครองใหม่ในระยะนี้โน้มเอียงไปสู่ระบบอำนาจนิยมและกระทั่งเผด็จการตามสภาพการณ์ของแต่ละประเทศ แต่ต่างก็ประกาศเจตจำนงที่จะสร้างระบบรัฐและสังคมแบบใหม่ให้เกิดขึ้นมาแทนที่แบบเก่า(อย่างตะวันตก) อินโดนีเซียภายใต้ประธานาธิบดีซูฮาร์โตจึงเรียกว่า “ระเบียบใหม่”(New Order) ในฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีมาร์กอสร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลในการปกครองอย่างเด็ดขาดยิ่งขึ้น พร้อมกับตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมาเรียกว่า Kilusang Bagong Lipunan (New Society Movement)หรือพรรคขบวนการสังคมใหม่ นักรัฐศาสตร์เรียกระบบใหม่เหล่านี้ว่าเป็นระบบ “เผด็จการรัฐธรรมนูญ” [14] ส่วนกรณีของไทยนั้น ระยะผ่านเข้าสู่ระยะเผด็จการและระบบอำนาจนิยมแทนการสร้างรัฐประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมนั้น มีที่มาทางความคิดตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามสมัยที่ ๑ ในยุค ”รัฐนิยม” โดยมีมันสมองสำคัญจากนักคิดชาตินิยมจัดคนสำคัญคือหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา)หลังจากจอมพลป.พิบูลสงครามถูกแย่งอำนาจไปโดยฝีมือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลวงวิจิตรฯก็เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้อีก เป็นการสานต่อนโยบายชาตินิยมขวาจัดให้ดำเนินต่อไปอีก หลังการปฏิวัติของคณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในปี ค.ศ. 1958 ต่อเนื่องจากการยึดอำนาจครั้งแรกในปีก่อนนี้ จุดหมายก็เพื่อสร้างสังคมไทยใหม่ที่มีระเบียบเรียบร้อยและเชื่อฟังผู้นำโดยพร้อมเพรียงกัน ในทางการเมืองระบอบปฏิวัติสฤษดิ์ปฏิเสธระบบประชาธิปไตยที่พวกตนเพิ่งโค้นล้มลงไป แล้วเสนอสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” ขึ้นมาแทนเป็นครั้งแรก [15] ในระยะการสร้างรัฐชาติระยะที่สองนี้ บรรดาผู้นำรัฐที่มาจาก “คนใหม่ที่ใหม่กว่า” ยังมีคำขวัญและจุดหมายที่ถูกนำขึ้นมาชูธงและชูใจแก่ประชาชนนั้น ด้วยคำว่า”ใหม่” ตรงข้ามกับระยะแรกของขบวนการชาตินิยมที่เน้นไปที่ “หนุ่มสาว” [16] แต่ในความเป็นจริง รัฐชาติที่คิดว่าใหม่ยุคนี้กลับหันไปหาอดีตและธรรมเนียมโบราณเป็นการใหญ่ อ้างว่าเพราะมีความเป็น “ไทย” หรือเป็นท้องถิ่น มากกว่าเป็นฝรั่งหรือตะวันตกที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย ด้วยเหตุผลของประวัติศาสตร์แบบเก่าและประเพณีการเมืองแบบโบราณ อันถูกโฆษณาว่าต้องดีกว่าปัจจุบัน ทำให้จอมพลสฤษดิ์ประกาศตนเองเป็น “พ่อขุน” ทำหน้าที่ปกครองลูกๆ ที่เป็นราษฎร โดยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ริเริ่มและเผยแพร่ความคิดลัทธิชาตินิยมไทยเป็นคนแรกๆ อย่างเอาจริงเอาจัง แต่มิติและทิศทางของชาตินิยมแบบหลวงวิจิตรฯนั้นตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับของนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติยุคแรก เริ่มด้วยการพูดถึงความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ ก็เพื่อไป “ปลุกความรู้สึกระลึกถึงชาติให้บังเกิดขึ้น” ในความคิดของหลวงวิจิตรฯ ดินแดนที่ก่อนนี้เรียกว่าสุวรรณภูมินั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง หากต้องหมายถึงดินแดนที่เป็นรูปขวานทั้งหมด โดยกล่าวว่า

“ดินแดนที่จะนับเป็นสุวรรณภูมิได้นั้นก็คือดินแดนที่เราสามารถจะขีดเส้นตรงจากพรมแดนยูนนาน(ฮุนหนำ) ลงไปถึงปลายแหลมมลายูและขีดเส้นเยื้องจากแม่น้ำพรหมบุตรไปจนถึงปากแม่น้ำโขง ลองขีดเส้นดูจะเข้าใจชัดว่ารูปขวานของสุวรรณภูมิควรจะเป็นอย่างไร”

ในขณะที่บรรดาประเทศอื่นๆ ในแถบนี้เช่น พม่า ญวนหรือเขมร ลาวหรือมลายู ก็เป็นชาวสุวรรณภูมิด้วยเช่นกัน แต่ชาติของพวกนั้นเป็นชื่อสมมติ มีแต่ไทยเราเท่านั้นที่ “มีเกียรติยศได้เข้ามาตั้งอยู่ในท่ามกลางของสุวรรณภูมิ และถึงแม้ตามทางการเมืองในเวลานี้ สยามเป็นหัวใจของอินโดจีนหรือของสุวรรณภูมิทีเดียว เราจะต้องรับผิดชอบในอนาคตของสุวรรณภูมิมากกว่าใครๆ หากสุวรรณภูมิจะยังคงเป็นสุวรรณภูมิอยู่ได้ก็เพราะเรา” ความยิ่งใหญ่และสำคัญของไทยเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เห็นได้จากข้อความที่ว่า “พม่า เขมร ไทยใหญ่และไทยในฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ย่อมนับถือไทยสยามเป็นครูศิลปกรรมอันนี้...สยามกำลังเป็นหัวใจแห่งสุวรรณภูมิ เหมือนเอเธนส์เป็นหัวใจของกรีก” [17]

ในระยะนี้เองที่ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างกลุ่มและขบวนการรักชาติกับอำนาจรัฐเริ่มแตกต่างและปะทะกันอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นตามสถานการณ์ของการเมืองระหว่างประเทศและการคลี่คลายของ “สงครามเย็น” ที่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับความคิดชาตินิยมยุคแรกคือการที่รัฐชาติใหม่ๆ นี้กลับลงมือเข่นฆ่าประชาชนในรัฐชาติของตนเอง ถ้าหากเราสามารถย้อนยุคกลับไปในคศ. 1945-49 และพูดคุยกับนักรบเพื่อเอกราชชาตินิยมรุ่นแรกเหล่านั้น เราจะพบว่าคนเหล่านั้นคงจะไม่เชื่อว่าอีกห้าสิบปีต่อมา บทบาทหน้าที่ของกองทัพแห่งมหาชนรัฐ ไม่ได้ทำหน้าที่ในการรักษาประเทศจากการรุกรานของกองทัพภายนอก หากกลับมาทำการกดขี่ประชาชนในประเทศของตนเองเสียแทน การกระทำนี้ว่าไปแล้วเป็นการทำตามอย่างประเพณีของกองทัพเจ้าอาณานิคมนั่นเอง นอกจากนั้นวาทกรรมและความหมายของชาติและความหวังต่ออนาคตของชาติก็มีการปะทะต่อสู้กันอย่างดุเดือดด้วยเช่นกัน

ก่อนนี้เราได้เห็นความคิดอันเป็นความหวังของนักต่อสู้ชาตินิยมรุ่นแรกแล้ว ในทศวรรษของการพัฒนาและสงครามเย็นนั้น ความคิดและความหวังเรื่องชาติเปลี่ยนไปอย่างไร ตัวอย่างของความคิดนักปฏิวัติไทยในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในช่วงยุคเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะให้คำตอบอันชัดเจนในประเด็นที่ได้พูดถึงข้างบนนี้เป็นอย่างดี ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นหนึ่งในจินตนาการที่พวกเขามีต่ออนาคต

 

5: แม่ผู้ให้กำเนิดชีวิตใหม่

ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้กุมอำนาจรัฐไทยในยุคสงครามเย็น สร้างจินตภาพว่าด้วยความชอบธรรมของพ่อในการปกครองแบบอาญาสิทธิ์ของผู้เป็นใหญ่ (อิสรภาพในความหมายเดิม) นักปฏิวัติภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการปฏิวัติที่ย้ายจุดหมายของการปฏิวัติใหม่จากกรรมกรในเมืองไปสู่ชาวนาในชนบท ก็ได้สร้างจินตภาพใหม่ขึ้นมา โดยนักปฏิวัติผู้ถูกระบอบปฏิวัติของสฤษดิ์ประหารชีวิต ความรู้สึกใหม่นี้ไม่ได้เน้นที่ชาติหรือเอกราชของประเทศเหมือนดังนักต่อสู้ชาตินิยมรุ่นบุกเบิก หากแต่สร้างความรู้สึกใหม่ที่ทำให้การปฏิวัติเป็นธรรมชาติ นักปฏิวัติเป็นลูกคนใหม่ของแม่ผู้ให้กำเนิดการปฏิวัติ จินตภาพของแม่ผู้ให้กำเนิดชีวิตใหม่แก่นักปฏิวัติจะได้รับการขานรับอย่างซาบซึ้งจากบรรดานักปฏิวัติรุ่นเยาว์ผู้ถูกบังคับให้ต้องจับปืนภายหลังรัฐประหารโหด 6 ตุลาคม 2519

บุคคลผู้ให้กำเนิดความคิดดังกล่าวนี้คือรวม วงษ์พันธ์ ที่แตกต่างจากนักต่อสู้ชาตินิยมรุ่นแรกคือ เขามาจากครอบครัวชาวนาในชนบท ไม่มีเครื่องมือทางสังคมใดๆ ที่หนุนช่วยให้เขาได้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำระดับชาติในขบวนการทางการเมืองของรัฐได้ นอกจากการใช้หนทางปฏิวัติ เขาต้องช่วยตัวเองในแทบทุกทางเพื่อที่จะไต่บันไดการศึกษา เพื่อที่จะรู้ว่าประเทศของตนอยู่ในฐานะอะไรและอนาคตของชาติอยู่ที่ไหน วันที่เขาค้นพบคำตอบนี้ก็คือวันที่เขาตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติ

รวม วงษ์พันธ์เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ในครอบครัวชาวนา อ.บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี มีเชื้อสายลาวพวน เขาเติบโตมากับการทำนาใช้แรงงานในทุ่งนา แต่รักการอ่านเขียนและเรียนหนังสือ อุตสาหะจนเรียนจบมัธยม ในที่สุดก็หนีพ่อแม่เข้ากรุงเทพเพื่อจะได้เรียนต่อ มาอยู่วัดเลียบ หลวงพ่อแนะนำให้สอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบเพราะอยู่ใกล้ๆ วัด จากชั้นมัธยมก็ไปเรียนต่อโรงเรียนพณิชยการพระนครวังบูรพา พร้อมกับทำงานเป็นลูกจ้างร้านรวมแพทย์แถวศาลาเฉลิมกรุง จนในที่สุดได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้อนุปริญญา เข้าใจว่าช่วงนี้เองที่คุณรวมซึมซับอุดมการณ์ใหม่ฝ่ายขบวนปฏิวัติ คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จุดหมายของขบวนปฏิวัติคือการต่อสู้เพื่อชาติและประชาธิปไตยของประชาชน ระหว่างนั้นได้ไปสอนหนังสือโรงเรียนฉี่กวงกงสวย ของสมาคมจีนไหหลำ เป็นครูใหญ่ฝ่ายไทย ที่นี่เขาได้พบครูสตรีผู้หนึ่งและแต่งงานกัน ครูรวมรวมกลุ่มกับเพื่อนครูจีนทำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แล้วขยายไปรวมกันที่สโมสรวัฒนธรรม ตรงข้ามสนามม้านางเลิ้ง จากนั้นขบวนปฏิวัติได้ส่งเขาไปศึกษาต่อยังประเทศจีนเป็นเวลา ๘ ปี เขาไปเมืองจีนขณะที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน นั่นคือช่วงของสงครามปฏิวัติภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ครูรวมกลับเมืองไทยราวปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ในสมัยรัฐบาลปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อกลับมาเขาได้กลับไปเคลื่อนไหวตั้งกลุ่มชาวนาที่สุพรรณบุรี จัดการศึกษาปลุกจิตสำนึกที่รักชาติรักประชาธิปไตยของชาวนา ในที่สุดเขาก็ถูกทางการจับในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ให้ประหารชีวิตนายรวม วงศ์พันธ์ ในความผิดฐาน

“มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทำการเป็นกบฏทรยศต่อประเทศชาติ รับคำสั่งจากคนต่างด้าวภายนอกประเทศมาล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทย” และ “การกระทำของนายรวม วงศ์พันธ์ ไม่สมควรเป็นการกระทำของผู้ที่เกิดมาเป็นคนไทย เพราะเป็นการกระทำที่พยายามจะนำเอาเอกราชและอธิปไตยของชาติตน ไปมอบให้เป็นทาสของชาติอื่น ซึ่งเป็นความผิดอันร้ายแรงยิ่ง สมควรจะต้องโทษประหารชีวิตเพื่อมิให้เป็นตัวอย่างที่เลวทรามแก่ผู้อื่นสืบไป” [18]

ครูรวมถูกประหารในวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕ เวลา ๑๘.๐๐ น.

แม่จ๋า แม่เป็นผู้ชนะแล้ว [19]

ก่อนหน้านี้ใน ในปี ๒๕๐๔ ครูครอง จันดาวงศ์ก็ถูกจับและประหารชีวิตด้วยข้อหาและความผิดอันเดียวกัน ที่น่าสนใจคือข้อเขียนหรือจดหมายลาตายของครูรวม วงษ์พันธ์ ซึ่งได้บอกเจ้าหน้าที่ว่าให้ส่งไปให้แม่ของเขามีข้อความดังนี้

“แม่ได้ถนุถนอมประคับประคองครรภ์ของแม่มาด้วยความภาคภูมิใจหยิ่งผยองต่อลูกในครรภ์ของแม่อันเป็นสายเลือดของแม่ที่แท้จริง เลือดของแม่รักความเป็นไท รักสันติธรรมเที่ยงธรรมที่สุดนั้น แม่ได้ถ่ายทอดให้ลูกในอกของแม่จนหมดสิ้น ครั้นลูกได้ลืมตามาเห็นแม่เห็นโลกอันกว้าง คุณธรรมอันสูงส่งของแม่ได้ผ่านหยาดน้ำนมของแม่ แผ่ซ่านเข้าไปสู่เลือดเนื้อลูกของแม่ คุณธรรมของแม่ได้ก่อเป็นเลือดเนื้อของลูกแม่เป็นที่รวมคุณธรรมอันสูงส่งของแม่อย่างเป็นตัวเป็นตน แม่ได้ใช้ปากอันศักดิ์สิทธิ์ของแม่เคี้ยวข้าวให้แหลกป้อนให้กับลูกของแม่จนกระทั่งลูกเติบใหญ่ แม่ไม่เพียงแต่เอาคุณธรรมอันสูงส่งมาปั้นเป็นตัวลูกของแม่ทางสายเลือด สายน้ำนมและทางปากเท่านั้น ตลอดเวลาที่ลูกแม่กำลังเติบโตขึ้น แม่ได้สอนให้ลูกแม่เป็นคนมีศีลธรรม รักสัจธรรม เห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม แม่เกลียดการรังแกข่มเหง การเอารัดเอาเปรียบ การแย่งกันกิน แม่เกลียดอธรรมทั้งมวล บัดนี้คุณธรรมอันสูงส่งของแม่ จิตใจอันขาวสะอาดของแม่ และกายอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของแม่ ได้รวมกันเป็นตัวเป็นตนในตัวของลูกแม่แล้วอย่างพร้อมมูล คุณธรรมอันสูงส่งของแม่ในตัวลูกของแม่ได้ลุกขึ้นประจัญหน้ากับศัตรูของแม่แล้ว ได้ลุกขึ้นเผชิญตากับศัตรูของประชาชนของแม่แล้ว ศัตรูมันหวาดกลัววคุณธรรมอันสูงส่งของแม่ มันจึงทำลายและเข่นฆ่าลูกของแม่ในคืนนี้

แม่เป็นผู้ชนะศัตรูแล้ว
สัจธรรมของแม่จงคงอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย
ลูกแม่จากไปหนึ่ง แต่ลูกแม่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย
ลูกลาก่อนแม่ครับ

จากลูกของแม่
รวม
๑ มีนาคม ๒๕๐๕ ๑๐.๐๐ น.

 

ไม่ต้องสงสัยว่าแม่ของครูรวมได้รับจดหมายฉบับลาตายนี้หรือไม่ คำถามสำหรับเราคือ ใครคือแม่ และแม่ในที่นี้คือใคร ใช่นางไร วงษ์พันธ์แม่ผู้ให้กำเนิดและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตั้งแต่แรกหรือไม่ ต่อปัญหานี้เกษียร เตชะพีระ [20] ได้วิเคราะห์วิจารณ์ไว้อย่างลึกซึ้งแหลมคม เขาเสนอว่าไม่ต้องสงสัยว่า “แม่” ในจดหมายลาตายของครูรวมเป็นอุปลักษณ์ (metaphor) ที่ผู้เขียนตั้งใจสื่อสารให้บรรดาสมาชิกทุกคนของพคท.ได้รับรู้ว่าคนที่เขาพลีชีพยอมตายให้นั้นคือ “พรรคคอมมิวนิสต์(แห่งประเทศไทย)” หรือที่พูดถึงกันอย่างสั้นๆ ว่า “พรรค” ดังนั้นในพัฒนาการของขบวนการปฏิวัติไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา กระทั่งเข้าสู่ยุคเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฝ่ายปฏิวัติได้สร้างจินตภาพใหม่อีกอันขึ้นมานั่นคือ “แม่” ในขณะที่จินตภาพของชาติไม่ได้มีภาพลักษณ์ใหม่พิเศษไปกว่าที่ได้เคยเข้าใจกันมา หลังจากผ่านยุคการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติแล้ว บรรดาสมาชิกและพลเมืองของรัฐชาติต่างมีความคิดและความเชื่อตรงกันอย่างคือชาติไม่อาจทำผิดหรือเป็นสิ่งไม่ดีได้ ชาติต้องถูกและดีที่สุดชั่วกัลปาวสาน [21] ความคิดและจินตนาการต่อชาติใหม่นี้ที่ขับเคี่ยวกันระหว่างกลุ่มผู้กุมอำนาจกับกลุ่มต่อต้าน จึงไปอยู่ที่การสร้างคุณภาพใหม่ของคนที่ต่อสู้เพื่อจุดหมายของชาติตามที่ตนวาดฝันไว้ ในยุคนี้เราจึงเห็นภาพของ “พ่อ” ของชาติไทยที่มากับหัวหน้ารัฐบาลที่มีอำนาจเด็ดขาดในทางตรงกันข้าม ฝ่ายซ้ายเริ่มจินตนาการถึงความชอบธรรมของตนและการต่อสู้ พรรคฯคือแม่ในความหมายของผู้ที่ให้กำเนิดชีวิตใหม่ ความเป็นคนใหม่ ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับตัวตนของเขาก่อนที่จะแปรเปลี่ยนมาเป็นนักปฏิวัติ สิ่งที่ใหม่ล้ำหน้ากว่าเดิมคือคุณภาพของความเสียสละ เป็นการเสียสละอย่างสุดจิตสุดใจ ด้วยการปฏิบัติตามคำชี้แนะและสั่งสอนของพรรคฯอย่างไม่มีเงื่อนไข ภายใต้การนำของพรรคฯ นักปฏิวัติเหล่านี้ได้กลายมาเป็นอภิมนุษย์ที่ไม่เหมือนกับคนธรรมดาเลย

ทว่าประวัติศาสตร์ของการสร้างชาติใหม่นี้ก็ยังถูกสร้างขึ้นมาอีก แน่นอนมันไม่ได้ “ซ้ำรอย” หากแต่ประวัติศาสตร์การต่อสู้บทใหม่นี้ ที่เพิ่งยุติเสร็จสิ้นไปในการ “กระชับพื้นที่และวงล้อม” ของกองกำลังภาครัฐในการกวาดเทและล้างราชประสงค์เพื่อให้สะอาดดังเดิมในอาทิตย์ของเดือนพฤษภาคม 2553 นำไปสู่การเปิดแนวรบทางวรรณกรรมขึ้นอีกวาระหนึ่ง ที่น่าสนใจคือจินตภาพของการต่อสู้และความคาดหวังต่ออนาคตของการต่อสู้ครั้งนี้ มีความต่อเนื่องและสืบทอดอุดมการณ์และจุดหมายทางการเมืองหลายอย่างจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการเดือนตุลาคมในอดีต ในที่นี้จะยกตัวอย่างบทกวีของ “เพียงคำ ประดับความ” ในส่วนที่สะท้อนภาพลักษณ์ของตัวแทนนักสู้บนถนนราชดำเนินและสี่แยกราชประสงค์ แม่ยังเป็นอุปลักษณ์อันมีพลังและสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของขบวนการคนเสื้อแดงได้เป็นอย่างดี แต่คราวนี้แม่ไม่ใช่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ให้กำเนิดนักสู้ที่ปฏิวัติ หากแต่ “แม่” เป็นคนเสื้อแดงเสียเอง แม่ ไม่ได้นั่งรอเจ้าขุนทองว่าเมื่อไรมันจะกลับมาบ้านเหมือนเมื่อครั้งเหตุการณ์เดือนตุลา แม่เดินเท้าเข้าร่วมการต่อสู้ครั้งนี้ด้วยตนเอง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แด่ ...นักสู้ผ่านฟ้า

นอนสาหล่า หลับตา แม่สิกล่อม
ดอกเสี้ยวหอม กลางแสง เดือนหงาย
ครั้นเจ้าหลับแล้ว แม่สิเดินทางไกล
ไปเอาประชาธิปไตย มาให้เจ้าชม

ทุกข์แท้หนอลูกแก้ว แนวเฮาเป็นข้า
เขาย่ำหัวกดบ่า ชะตาขื่นขม
เฮาเลือกเขาล้ม เฮาเลือกแล้วเขาก็ล้ม
ดั่งเสียงในสายลม เขาบ่เห็นหัวเฮา

แม่สิไปสู้ เพื่อความถูกต้อง
ไปตะโกนป่าวฮ้อง ว่าเฮาบ่แม่นคนโง่เขลา
ไปเป็นนักสู้ผ่านฟ้า เพื่อความเป็นคนของหมู่เฮา
สู้กลางแปลงแดดเผา เอาให้มันฮู้กันไป

แม่เก็บเสื้อผ้า ผิว่าสิไปหลายวัน
ไปทำสงครามชนชั้น ปลดแอกจากการเป็นไพร่
ไปทวงสิทธิเสรี ที่ถูกเขาปล้นชิงไป
เมืองกรุงเทพวิไล คงกวักมือฮับหมู่เฮา

................................................................

เจ้าขุนทองน้องนั้น บ่แม่นนักรบ
บ่เคยประสบ แดดจ้าฟ้าเหลือง
เขาออกจากบ้าน เมื่อตะวันรองเรือง
สั่งน้องน้องเสียงเขื่อง ว่าพี่จะไปหลายวัน

สะพายย่ามหาดเสี้ยว ใส่หนังสือแสงเดือน
พร้อมสมุดที่ลบเลือน คราบน้ำตาอันแปรผัน
เขาสู้เพื่อสิทธิเสรี เพื่อศักดิ์ศรีบางระจัน
แว่วเสียงนกเขาขัน เจ้าขุนทองก็ลงเรือน

...............................................................

นอนสาหล่า หลับตาเจ้าอย่าตื่น
ฮอดมื้ออื่น เจ้าอย่าได้ห่วงหา
ฟ้าเปลี่ยนสีใหม่ หมู่เฮาสิได้ลืมตา
แม้นเขาร่ำลือมา ว่าดอกเสี้ยวป่าถูกปืน

ดอกโสนบานเช้า ดอกคัดเค้าบานไหม
แม่นั่งร้องไห้ อยู่ในเฮือนจนดึกดื่น
แว่วเสียงนกเขาขัน แม่จ๋ากลั้นสะอื้น
ตัดใจกล้ำกลืน ลุกขึ้นปาดน้ำตา

ดอกโสนบานเช้า ดอกคัดเค้าบานกลางคืน
ฮอดมื้ออื่น เจ้าอย่าได้ห่วงหา
หากตัวแม่บ่กลับมา แต่มีเสียงร่ำลือมา
ลูกจงไปตามหา.....ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย. [22]

 

 

6: อนาคตของความหวัง

จากความตายของโฮเซ ริซัลมาถึงรวม วงษ์พันธ์และนักสู้เพื่อความเป็นธรรมและประชาธิปไตยในหลายประเทศรอบๆ เรา กล่าวได้ว่าคนเหล่านั้นได้สละชีวิตเพื่ออุดมการณ์ของชาติและประชาชนใหม่ แต่คนทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้มีโอกาสเห็นและประเมินการปฏิบัติว่าการต่อสู้ของพวกเขานั้นได้นำไปสู่จุดหมายและผลประการใด การเกิดขึ้นของรัฐชาติโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เป็นไปสมดังความมุ่งหมายของนักต่อสู้ชาตินิยมเหล่านั้นสักเท่าใด ในที่สุดแล้วความหวังของการมีชาติที่เป็นอิสระและประชาชนที่เป็นไท ไม่ได้ดำเนินไปตามแผนการณ์อย่างง่ายๆ หากแต่หนทางที่ชาติพัฒนาไป เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวและทุรกันดารยิ่งนัก ประสบการณ์ของนิสิตนักศึกษาไทยจากการปฏิวัติ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ถึงการรัฐประหาร ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ได้ให้บทเรียนอันเจ็บปวดยิ่ง ดังที่เกษียรได้ถามในบทความของเขาว่า ทำไมชาติ(ไทย)ถึงต้องฆ่าพวกเขา(นิสิตนักศึกษา)ในเหตุการณ์ ๖ ตุลา เขาทำอะไรผิดหรือ คำถามทำนองนี้ยังมีอยู่อีกในหลายภาคและพื้นที่ของประเทศไทยรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์ กล่าวในเฉพาะประเทศไทย ก่อนหน้าความรุนแรงในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ก็ได้มีการใช้ความรุนแรงและกำลังทหารเข้าไปจับกุมและทรมานกระทั่งเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์นับพันในกรณีถังแดงที่พัทลุง ด้วยข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ความรุนแรงที่ยาวนานและกินขอบข่ายของมิติด้านต่างๆ ในสังคมลงไปตามกาลเวลาของความรุนแรงได้แก่ปัญหาในพื้นที่ซึ่งมีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” อันได้แก่ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ซึ่งยังเป็นความขัดแย้งและความรุนแรงที่ยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันนี้อย่างเต็มรูปแบบ แน่นอนเมื่อพูดถึงความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองปัจจุบัน ก็ย่อมต้องพูดถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในการประท้วงรัฐบาลของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อันนำไปสู่การใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม จนมีผู้เสียชีวิต ๙๒ ศพในกลางมหานครกรุงเทพฯ อะไรคือสิ่งที่คนเหล่านั้นผู้เป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐต้องการและกระทั่งยอมสละชีวิตและเลือดเนื้อในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้น บทกวีตัวอย่างนี้เป็นคำประกาศที่บอกให้รู้ถึงจุดหมายและความหวังของคนเหล่านั้นได้

ชาตินั้นหรือ คือแดนดินถิ่นชีวิต
ใช่รูปปั้นปูนปิด หล่อสำริดพระปางไหน
ใช่รัฐเร้นรัฐ ลอบกัดอำพรางกาย
ใช่ปราสาทเจดีย์ทราย ใต้น้ำมือใครประพรม

...............................................................

เมื่อความมั่นคงหาใช่ ได้มาด้วยการกดขี่
ปลดปล่อยเราสู่เสรี ทำเสียที ทำได้ไหม
ทิ้งเสลี่ยงวอทอง ลงมายืนบนผืนทราย
เกิดและตาย บนผืนดิน...เท่าเท่ากัน. [23]

กล่าวได้ว่าจินตภาพว่าด้วยชาติและความเป็นชาติ หรือ”ชุมชนจินตกรรม” ก็ยังเป็นเป้าหมายของการเคลื่อนไหวและต่อสู้สำหรับการสร้างอนาคตใหม่อยู่ต่อไป ที่ต่างออกไปคือน้ำหนักในเนื้อหาและการปฏิบัติของชาติ ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด ด้วยค่านิยมและความศรัทธาเชื่อมั่นในหลักการและอุดมการณ์อะไร ที่ผ่านมาอุดมการณ์ใหญ่ๆ ได้แก่ลัทธิชาตินิยม ลัทธิมาร์กซิสม์ และศาสนาอิสลาม ที่ผ่านมาทั้งสามอุดมการณ์ได้มีการใช้และผสมผสานในขบวนการต่อสู้ทางการเมืองต่างๆ ความคิดและอุดมการณ์ที่มีอิทธิพลและดำรงอยู่ต่อมานานที่สุดได้แก่ลัทธิชาตินิยม ในบางประเทศเช่นสยามไทย จินตภาพเรื่องชาติถูกผูกโยงอย่างแน่นแฟ้นกับคติและสถาบันอีกสองอย่างคือศาสนากับพระมหากษัตริย์ ทำให้ลัทธิชาตินิยมไทยมีพัฒนาการมาที่แตกต่างและมีความอ่อนไหวในทางความเชื่ออย่างมากจากของประเทศอาเซียนอื่นๆ ด้วยความเป็นมาเฉพาะตัวของการเมืองไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ความคิดเรื่องชาติของไทยยิ่งถูกผูกโยงเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นทุกวัน จนทำให้ชาตินิยมไทยที่เป็นทางการนั้นมุ่งสร้างความหวังในอนาคตแก่ประชาชนของตนน้อยกว่าการทำให้หวนกลับไปหาอดีตและหยุดอยู่กับอดีตอย่างไม่มีอนาคต

ลัทธิชาตินิยมไทยที่เน้นความเป็นเชื้อชาติและศาสนา(พุทธ) ทำให้ภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของรัฐไทยกลายเป็นรัฐไทยพุทธด้วยนั้น ได้มีผลในการปฏิบัติของระบบราชการและเจ้าหน้าที่ ซึ่งแสดงออกในลักษณาการที่ไม่เข้าใจไม่มีความเวทนาและไม่มีความเมตตาต่อบรรดาผู้คนที่เป็นเชื้อชาติและศาสนาอื่นๆ อย่างแทบจะไร้มนุษยธรรม ดังเห็นได้จากเรื่องราวและชีวิตของผู้คนในชายขอบของสังคมและในบริเวณตะเข็บและพรมแดนประเทศ ตัวอย่างอันเป็นปรากฏการณ์ของผลพวงของลัทธิชาตินิยมไทยที่รุนแรงที่สุดได้แก่ปัญหาในบริเวณพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สุด แน่นอนความซับซ้อนและการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องจุดหมายของความเป็นมลายูมุสลิมอาจทวีน้ำหนักมากขึ้นหลังสงครามเย็นและการเกิด “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ของสหรัฐฯ ทำให้อิทธิพลและบทบาทของศาสนาอิสลามในการเคลื่อนไหวของชาวมุสลิมกลับมามีน้ำหนักมากขึ้น จนในขณะนี้ในบางประเทศความเป็นมุสลิมจะมีน้ำหนักมากกว่าลัทธิชาตินิยมไปแล้ว หากประมวลจากความรู้สึกของนักต่อสู้ทั้งหลายเหล่านี้ เราอาจสรุปความคาดหวังและความต้องการของพวกเขาต่ออนาคตว่า ต้องการชาติที่มีเสรีภาพ มีความยุติธรรม ความจริงและมีความเท่าเทียมกัน

อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตรผู้ถูกอุ้มโดยอำนาจมืดหลังจากต่อสู้ทางกฎหมายให้แก่ผู้ต้องหาชาวมลายูมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวในวาระรำลึก ๒ ปีของกรณีตากใบว่า

“ในวันนี้สิ่งที่จะเป็นเครื่องเตือนความจำของเราคือการเปิดเผยความจริง โดยใช้ความยุติธรรมนำหน้าในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างความทรงจำใหม่ที่ดีให้กับชาวบ้าน มันเหมือนกับว่าวันนี้เขาฝันร้าย เขาถึงไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่อีกวันหนึ่ง เขายังได้รับการเยียวยาให้เข้าถึงความยุติธรรม เขาต้องการได้รับคำตอบว่าทำไมถึงมีการเสียชีวิต ทำไมจึงมีคนหาย ทำไมถึงมีคนพิการ เพียงแต่ว่ารัฐไม่ยอมนำวิธีการนี้มาใช้ เราก็หวังว่าภาคประชาสังคมจะช่วยกันผลักดัน เพราะชาวบ้านเองนั้นพูดยังไงก็ไม่มีใครฟัง

เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าการจดจำที่ดีก็คือการเปิดเผยความจริง และการที่จะชำระประวัติศาสตร์เสียใหม่ ให้ชาวบ้านจดจำ เรื่องราวในแง่มุมที่ดี ที่มีความยุติธรรม [24]

เมื่อพูดถึงเสียงที่ไม่ค่อยได้ยินของชาวบ้าน เราคงต้องพูดถึงเสียงที่ไม่ค่อยมีคนได้ยินของคนชายขอบอีกกลุ่มเหมือนกัน นั่นคือคนไร้รัฐหรือ stateless คนเหล่านี้เป็นคนที่ได้เกิดในแผ่นดินไทย เติบโตมาในประเทศและรัฐไทย แต่ไม่อาจมีฐานะและสัญชาติไทยได้ด้วยเหตุผลทางกฎหมายและทางสังคม เร็วๆ นี้มีนักเรียนไร้รัฐสองคนในภาคเหนือ ได้รับทุนไปเรียนต่อในสหรัฐอเมริกาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน การช่วยเหลือจากองค์กรและกลุ่มประชาสังคมนอกประเทศทำให้นักเรียนสองคนได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้ คนหนึ่งได้สัญชาติไทยอีกคนได้แค่วีซ่ารายปีในการอยู่ในประเทศไทยเหมือนคนต่างด้าว ที่น่าสนใจคือความคิดและความรู้สึกของเขาหลังจากได้ไปสัมผัสและมีชีวิตในต่างแดนอย่างมีอิสรภาพ

ศรีนวลกล่าวว่า “ในปีที่สองที่ได้เรียน ฉันถึงสามารถคิดถึงความจำเป็นในการคิดถึงตัวเองในเชิงบวกบ้าง การที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเหมือนกับคนอื่นๆ ทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองก็มีความสำคัญเหมือนกับคนอื่นๆ รอบข้าง ฉันไม่ได้เรียนรู้เฉพาะแต่วิชาที่เรียนในห้องเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือฉันได้เรียนรู้วิธีการปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเมตตาและด้วยความเคารพ ไม่ว่าคนนั้นๆ จะมีพื้นเพภูมิหลังอะไรก็ตาม ฉันรู้สึกว่าฉันเป็นมนุษย์มากขึ้น เหมือนกับว่าฉันมีสิทธิในการทำอะไรๆ เช่นเดียวกับที่คนอื่นๆ มี” [25]

เธอกล่าวต่อไปว่า เมื่อกลับมาเมืองไทยในช่วงมหาวิทยาลัยปิด เธอก็ยังไม่รู้สึกมั่นใจและสบายใจในการทำอะไรๆ เหมือนที่ในสหรัฐฯ เพราะเธอยังเป็นคนไร้รัฐ ทำให้ไม่มีเสรีภาพในการทำอะไรที่ต้องการทำ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เธอถือกำเนิดมาก็ตาม ในทางสิทธิมนุษยชน รัฐไทยไม่ได้ปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้อย่างมีมนุษยธรรม ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์เวลาที่อยู่ในรัฐไทย

ในท้ายที่สุด แม้พลังและฐานะของความเป็นชาติยังดำรงอยู่หลังจากได้รับสถาปนาขึ้นมาแล้ว ทั้งจากปัจจัยทางการเมืองคือการต่อสู้กับระบอบและลัทธิอาณานิคม ปัจจัยทางการสื่อสารสมัยใหม่และเศรษฐกิจการค้าเสรี ทั้งหมดนั้นทำให้ชาติมีภาวะการดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์ภายในประเทศอย่างสูง นั่นคือชาติเป็นสิ่งประวัติศาสตร์ เราไม่อาจปฏิบัติและคิดถึงชาติเหมือนกับศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นพระผู้เป็นเจ้า ผู้ดำรงอยู่เหนือกาละเทศะหรืออยู่เหนือประวัติศาสตร์ได้ ตรงข้ามกับพระเจ้ากล่าวคือเราอาจรู้สึกและคิดได้ว่า ในบางช่วงของประวัติศาสตร์หรือในอดีต ชาติก็ได้กระทำอะไรบางสิ่งผิดพลาดไปได้เหมือนกัน เช่นได้ทำลายล้างด้วยการจับกุมคุมขังและกระทั่งประหารชีวิตผู้คนจำนวนมากทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในนามกฎหมายและในนามของความมั่นคง(ที่ไม่มีความถูกต้องทางกฎหมาย) แต่เราคิดและต้องการลงโทษชาติในฐานะอาชญากรสงครามหรือฆาตกรมือเปื้อนเลือดไม่ได้ เพราะในที่สุด หากเรายังต้องการมีชีวิตทางสังคมอยู่ต่อไปในชาตินี้ อย่างมีจุดหมาย อย่างมีความหวัง และมีอนาคต ทั้งสำหรับต่อตัวเราและต่อลูกหลานของเรา เราต้องมีชาติและเป็นชาติที่ดีที่ถูกต้องไม่ใช่อาชญากรผู้กระทำความผิด ทางออกที่ผ่านมาจึงเห็นได้จากการที่ทุกฝ่ายต้องหาผู้กระทำความคิดนั้นๆ ออกมา แล้วลงโทษหรือให้ตัวแทนหรือผู้รับผิดชอบของชาติที่เป็นรูปธรรมที่ชัดที่สุดคือรัฐรับผลจากการกระทำผิดเหล่านั้นไป ความหวังที่จะได้เห็นรัฐต่างๆ ในอุษาคเนย์แสดงออกในความรับผิดชอบต่อการกระทำของชาติที่ผ่านมาอย่างไม่ถูกต้องไม่ยุติธรรมต่อประชาชนทุกกลุ่มและชนชาติ แล้วเริ่มดำเนินนโยบายชาติใหม่ที่ทำตัวเสมือนเป็นแม่บังเกิดเกล้าผู้ให้กำเนิดลูกๆ ทุกคนที่เป็นประชาชนของตนอย่างแท้จริง จะเป็นความหวังที่ท้าทายและยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษใหม่นี้.

 

อ้างอิง:

  1. แดน บีช แบรดเลย์ หนังสืออักขราภิธานศรับท์ (กรุงเทพฯ คุรุสภา, 2514,) หน้า 671.
  2. John Carroll, Humanism: The Wreck of Western Culture (New York: Fontana Press, 1993), 3. นิพนธ์ของพิโกชื่อว่า Oration on the Dignity of Man เสนอว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรีในการเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงในกรอบของจริยธรรมซึ่งข้างบนคือพระเจ้าและเทวดาในขณะที่ข้างล่างคือซาตาน
  3. ข้อความที่ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน
  4. โรเบิร์ต เอช. เทย์เลอร์, รัฐในพม่า แปลโดยพรรณงาม เง่าธรรมสาร สดใส ขันติวรพงศ์ และศศิธร รัชนี ณ อยุธยา (กรุงเทพฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕”๐), น. ๑๐๕.
  5. Clifford Geertz, Negara: The Theatre State in Nineteenth-Century Bali (Princeton, NJ: Princeton University Press, 1980), 11.
  6. โฮเซ ริซัล เขียน จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล แปล, อันล่วงละเมิดมิได้ (กรุงเทพฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๘), น. ๓๑.
  7. แบน แอนเดอร์สัน, ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม (กรุงเทพฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสคร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๒, ๔๒.
  8. Benedict Anderson, The Spectre of Comparisons: Nationalism, Southeast Asia and the World. (London and New York: Verso, 1998), 334.
  9. Benedict R.O’G Anderson, “Indonesian Nationalism Today and in the Future,” Indonesia, No. 67, (April 1999), pp.1-11. ฉบับแปลภาษาไทยดู ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “ลัทธิชาตินิยมอินโดนีเซียในปัจจุบันและในอนาคต” ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4, 11, 18, 25 ตุลาคม และ 1 พย. พ.ศ. 2542
  10. Resil B. Mojares, “The Itineraries of Mariano Ponce,” in Caroline S. Hau and Kasian Tejapira eds., traveling nation-makers: transnational flows and movements in the making of modern Southeast Asia. (Singapore: NUS Press with Kyoto University Press, 2011), 41. ในเล่มนี้ยังมีประวัติทางการเมืองและความคิดของนักต่อสู้ชาวอุษาคเนย์อีกหลายคน ขอแนะนำให้ต้องอ่านเพื่อจะได้เห็นทรรศนะอันมีความหวังและมีพลังต่ออนาคตของสังคมชาติแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น
  11. โปรดดูรายละเอียดใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน 2549), หน้า 292-311. ดูงานเขียนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ในระยะแรกที่นำเสนอความคิดว่าด้วยความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลและสำนึก ใน “มนุษยภาพ” และ “สงครามชีวิต”
  12. ข้อคิดอันนี้ผมได้มาจากอ.เบน แอนเดอร์สัน ในบทความ “Indonesian Nationalism Today and in the Future,” Indonesia, No. 67, (April 1999).
  13. เป็นแนวคิดของเบน แอนเดอร์สัน ดูคำนำของเขาใน In The Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era, tr. Benedict Anderson and Ruchira Mendiones (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์ดวงกมล, 1985).และใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “มองวรรณกรรมและการเมืองไทยยุค’ตามก้นอเมริกัน’ ถนนหนังสือ ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 (ธันวาคม 2530), น. 76-82.
  14. สีดา สอนศรี “การสร้างประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์” ใน อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ และ พรพิมล ตรีโชติ บก. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: กระบวนการเป็นประชาธิปไตยและการเมืองสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), น. 48.
  15. ดูงานศึกษาระบบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ที่ดีที่สุดในภาษาไทยใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526).
  16. ดูรายละเอียดใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “รัฐเก่าในขวดใหม่: การเปลี่ยนแปลงและต่อเนื่องของรัฐและชาติในอุษาคเนย์” วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒ (กค.-ธค. ๒๕๔๘), ๕๕-๑๐๒.
  17. หลวงวิจิตรวาทการ, สยามกับสุวรรณภูมิ (กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ไทยใหญ่, ๒๔๗๖), หน้า ๒๒-๒๓ อ้างใน รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง พัสรีสิริ เปรมกุลนันท์ ภาวิดา จินประพัฒน์ จัดทำ, สุวรรณภูมิศึกษา เอกสารและข้อมูลองค์ความรู้ อัดสำเนาเสนอสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี มมป., หน้า ๑๐๓.
  18. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ทำหน้าที่นิติบัญญัติ) วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ใน อนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ นายรวม วงษ์พันธ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๔๗-๘.
  19. อนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ นายรวม วงษ์พันธ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๕๓.
  20. Kasian Tejapira, “Party as Mother”: Ruam Wongphan and the Making of a Revolutionary Metaphor” in Caroline S. Hau and Kasian Tejapira eds., Traveling Nation-Makers: Transnational Flows and Movements in the making of Modern Southeast Asia (Singapore: National University Of Singapore Press in association with Kyoto University Press, 2011), 188-208.
  21. Benedict Anderson, “The Goodness of Nations,” in The Spectre of Comparisons: Nationalism, Southeast Asia and the World, (London and New York: Verso, 1998), 360-68.
  22. เพียงคำ ประดับความ, ราษฎรที่รักทั้งหลาย (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์อ่าน, 2554), หน้า 25-28.
  23. เพียงคำ ประดับความ, ราษฎรที่รักทั้งหลาย (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์อ่าน, 2554), หน้า 50-51.
  24. อังคณา นีละไพจิตร, 2 ปีตากใบ ชีวิตที่ต้องการคำตอบ (กรุงเทพฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549,)น. 173.
  25. Yvonne Bohwongrasert, “We Care A Better Tomorrow,” The Bangkok Post, October 4, 2001, Lifstyle section, p. 9.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ปัญหาแรงงานข้ามชาติจะรุนแรงขึ้น

Posted: 29 Mar 2012 11:18 PM PDT

กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจ "แรงงานต่างด้าว ปัญหาและความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย" นักเศรษฐศาสตร์ 72.1% เชื่อหากรัฐบาลไม่มีนโยบายอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติออกมา  แนวโน้มปัญหาแรงงานข้ามชาติในสังคมไทยจะรุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีถัดจากนี้ไป  

30 มี.ค. 55 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 32  แห่ง จำนวน 68 คน เรื่อง  “แรงงานต่างด้าว  ปัญหาและความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่  22 – 29 มี.ค. 2555 ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 73.5  เห็นว่าแรงงานต่างด้าว “มีความสำคัญมาก” ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม  เมื่อถามว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหนในการเปิดเสรีแรงงานในประเทศเศรษฐกิจอาเซียน  นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 67.6  เชื่อว่า “ยังไม่มีความพร้อม” โดยให้เหตุผลว่า  แม้ว่าการเปิดเสรีแรงงานในอาเซียนไม่ใช่การเปิดเสรีทั้งหมดแต่เป็นการเปิดเสรีแรงงานที่มีทักษะใน 7 สาขาวิชาชีพ  แต่ปัจจุบันนี้แรงงานของไทยก็ยังมีปัญหาด้านทักษะที่อยู่ในระดับต่ำ  ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางด้านภาษา  ฝีมือแรงงานที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา  รวมถึงมีความอดทนต่ำ  ในส่วนของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ  และแบ่งแยกทักษะของแรงงานเพื่อให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสม  นอกจากนี้  กฏหมายที่ใช้ควบคุมแรงงานต่างด้าวของไทยยังไม่รัดกุมและเข้มงวดพอ

ทั้งนี้เมื่อถามว่า  รัฐบาลนางสาว ยิ่งลักษณ์ฯ ให้ความสำคัญกับการจัดการ/จัดระเบียบ แรงงานต่างด้าวมากน้อยเพียงใด นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ  52.9 มองว่า “ให้ความสำคัญน้อย”  รองลงมาร้อยละ  22.1  มองว่า “ให้ความสำคัญน้อยที่สุด”

เมื่อถามถึงความเห็นที่มีต่อประเด็น  ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวในปัจจุบันว่ามีสาเหตุมาจากปัจจัยใดมากที่สุด  ร้อยละ  94.1 เห็นว่าเป็นเพราะไม่มีการจัดระบบ ระเบียบ  แรงงานต่างด้าว  รวมถึงข้าราชการของไทยที่ไม่เข้มงวด ไม่มีการคัดกรองแรงงาน  หรือปล่อยให้มีการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

สุดท้ายเมื่อถามว่าหากรัฐบาลไม่มีนโยบายอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวออกมา  แนวโน้มปัญหาแรงงานต่างด้าวในสังคมไทยจะมีทิศทางเป็นอย่างไรในช่วง 2-3 ปีถัดจากนี้ไป  ร้อยละ 72.1 เชื่อว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์เสนอว่า  รัฐบาลไทยควรมีนโยบายที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้ง  ความจำเป็นทางเศรษฐกิจและลดปัญหาต่างๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากแรงงานต่างด้าว ด้วยการ

1. จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว  โดยในแต่ละปีควรมีจำนวนแรงงานที่แน่นอน  มีการจัดชั้นแรงงานตามทักษะ  มีการอบรมให้กับแรงงานต่างด้าว  ในส่วนของนายจ้างก็ต้องมีการปฎิบัติตามกฎหมายที่จริงจัง  ให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว 

2. เคร่งครัดการปฎิบัติตามกฏหมาย  และกำหนดโทษให้สูงขึ้นโดยเฉพาะในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง  นอกจากนี้จะต้องมีการปราบปรามยาเสพติดที่แรงงานต่างด้าวเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งปัญหายาเสพติดจะนำปัญหาอื่นๆ ตามมา

3. บูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งในส่วนของภาครัฐ  ผู้ประกอบการ  ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว  รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อนำมาสู่ทางออกในการแก้ปัญหา

  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายถกแถลง รธน. หนุนเลือกตั้ง สสร. 200 คน

Posted: 29 Mar 2012 11:04 PM PDT

เครือข่ายถกแถลงรัฐธรรมนูญสนับสนุนมติ กมธ. ให้ สสร.มาจากเลือกตั้งโดยตรง 200 คน

30 มี.ค. 55 - เครือข่ายถกแถลงรัฐธรรมนูญออกจดหมายเปิดผนึก "สนับสนุนมติ กมธ. ให้ สสร.มาจากเลือกตั้งโดยตรง 200 คน" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ...

เครือข่ายถกแถลงรัฐธรรมนูญ สนับสนุน มติ กมธ.

ให้ สสร.มาจากเลือกตั้งโดยตรง 200 คน

ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ได้มีมติ เห็นชอบให้มีการเลือกตั้ง สสร. โดยตรง 200 คน ตามรูปแบบของการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อปี พ.ศ. 2543  นั้น 

เครือข่ายถกแถลงรัฐธรรมนูญ ขอขอบคุณคณะกรรมาธิการที่เห็นความสำคัญของการให้โอกาสแก่ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น  ด้วยการมีสสร. จำนวนที่มากพอสมควร  จะช่วยให้ผู้สมัครที่ไม่อิงกับพรรคการเมืองและผู้สมัครที่เป็นตัวแทนเสียงข้างน้อย สามารถแทรกเข้าไปมีที่นั่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญได้มากขึ้น

เพื่อให้กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นโอกาสการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็เป็นกระบวนการสร้างความปรองดองระหว่างพลเมืองกับพลเมืองได้ด้วยนั้น  เครือข่ายถกแถลงรัฐธรรมนูญ จึงขอเสนอให้ ขยายเวลาในการยกร่างรัฐธรรมนูญ จาก 6 เดือนในร่างฯของรัฐบาลมาเป็น 1 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม สำหรับให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง  การมีส่วนร่วมเช่นนี้ จะช่วยให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ  ซึ่งเป็นเสมือนสัญญาประชาคมที่ทุกคนร่วมกันกำหนดขึ้น 

อนึ่ง  เครือข่ายถกแถลงรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นจากเวทีถกแถลงรัฐธรรมนูญ ในจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช นราธิวาส และ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ริเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ เดือนมกราคม 2555 เป็นต้นมา  โดยมีสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ประสานงาน

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น