โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เปิดป้าย ‘หมู่บ้านโฉนดชุมชน’ ลำปาง 3 แห่ง จี้รัฐเดินหน้านโยบาย

Posted: 22 Mar 2012 02:17 PM PDT

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปางจัดชุมนุมใหญ่ เดินหน้าเรียกร้องรัฐบาลเดินหน้าโฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน-ภาษีอัตราก้าวหน้า เพิกถอนแนวเขตทหาร-อุทยานฯ ออกนอกพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน พร้อมให้ยุติจับกุม-คุกคาม

 
by   
 
วันที่ 22 มี.ค.55 เวลาประมาณ 9.30 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง 3 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนบ้านแม่ส้าน ชุมชนบ้านกลาง ชุมชนบ้านห้วยตาด ประมาณ 500 คน นัดรวมตัวชุมนุมใหญ่ ที่ชุมชนห้วยตาด ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ทางขึ้นบ้านแม่ส้าน ห่างจากค่ายประตูผา ประมาณ 4-5 กิโลเมตร สืบเนื่องจากกรณีปัญหาข้อพิพาทเรื่องการจัดการที่ดินกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และทหาร
 
ในการชุมนุม มีการแถลงการณ์ ‘สิทธิในการจัดการที่ดินและป่า เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่ไม่เป็นจริง’ แสดงความไม่เห็นด้วยต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าคุกคามชุมชนในการจัดการที่ดิน จากนั้นมีการประกาศเจตนารมณ์ และนำเสนอประเด็นปัญหา โดยจะมีการทำหนังสือข้อเรียกร้องยื่นต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง ทั้ง 3 ชุมชน มีการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน โดยในการชุมนุมครั้งนี้ได้มีการทำกิจกรรมเปิดป้ายหมู่บ้านโฉนดชุมชน ทั้ง 3 หมู่บ้าน และมีการมอบธงแสดงสัญลักษณ์ การทำโฉนดชุมชนให้กับครัวเรือนทุกครัวเรือน ประมาณ 500 ครัวเรือน
 
อีกทั้งมีการเขียนไปรษณียบัตร 500 ใบ ส่งถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนให้รัฐบาลเร่งสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน และภาษีอัตราก้าวหน้า ให้มาสู่การปฏิบัติจริง
 
 
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวระบุขอเสนอ ดังนี้
 
1.ให้รัฐบาลเร่งรัดให้มีการออกโฉนดชุมชนตามมติของ คณะประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช) ตามระเบียบสำนักนายก ปี 2553
 
2.ยกระดับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 เป็นพระราชบัญญัติ
 
3.สำนักนายก/สำนักโฉนดชุมชน จัดประชุม สัมมนาให้นโยบายกับหน่วยงานภาครัฐให้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล
 
4.ก่อนการประกาศอุทยานฯ ให้อุทยานฯ กันพื้นที่ออกจากพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยขอชุมชนที่ทำโฉนดชุมชน
 
5.เร่งการดำเนินการออกกฎหมายธนาคารที่ดิน
 
6.เร่งการดำเนินการด้านกฎหมายที่ดินอย่างเร่งด่วน เช่น ภาษีอัตราก้าวหน้า
 
7.ให้มีการเพิกถอนแนวเขตของทหารและอุทยานฯ ออกนอกพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและสนับสนุนให้ชาวบ้านจัดทำโฉนดชุมชน
 
8.ให้เร่งรัดออกกฎหมายโฉนดชุมชนในพื้นที่ที่ได้มีการอนุมัติให้มีการจัดตั้งโฉนดชุมชน
 
9.ให้รัฐบาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน ทหาร ให้ยุติจับกุม ดำเนินคดีกับชาวบ้าน และคุกคามชาวบ้านที่ทำกินขณะนี้
 
 
 
 
 
แถลงการณ์
สิทธิในการจัดการที่ดินและป่า เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่ไม่เป็นจริง
 
ในช่วงที่ประชาชนทั่วประเทศกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้มีการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ในมิติที่หลากหลายและคาดหวังให้เกิดผลที่เป็นจริง ประเด็นหนึ่งชัดเจนที่สุด คือ ขอให้มีการจัดการเรื่องความมั่นคงในที่ดินทำกิน ซึ่งมีทั้งผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน และผู้ที่มีที่ดินทำกินแต่อยู่ในเขตที่ขัดแย้งกับรัฐ ในเขตป่า ในที่สาธารณะ ขตทหาร  ที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ด้วยโอกาส
 
            นโยบายปฎิรูปที่ดินเพื่อกระจายการถือครองที่ดินให้ทั่วถึงและเป็นธรรม มีการเสนอในทุกเวที รวมทั้งสะท้อนปัญหาที่มีผู้คนมากมายต้องถูกจับกุม ทั้งจากกรณีการขัดแย้งเรื่องที่ดินของเอกชนหรือที่ดินของรัฐ เชื่อมโยงถึงความเรียกร้องต้องการที่จะให้กระบวนการยุติธรรมเข้าใจต่อปัญหาเรื้อรัง ของการจัดการที่ดินและป่ามายาวนานหลายสิบปี
 
            นั้นคือที่มาส่วนหนึ่งของการมีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลและชุมชนในรัฐธรรมนูญ ในประเด็นการมีส่วนร่วมในการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จนถึงการคุ้มครองมิให้มีการดำเนินโครงการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคลและชุมชน โดยไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจังในหลายมิติ การกำหนดให้มีประชาพิจารณ์ก่อนการดำเนินโครงการต่างๆ และมีการประเมิณผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
 
            มาตรา ๔๖ สิทธิชุมชนท้องถิ่น ในการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุลและยั่งยืน
 
            มาตรา ๔๘ สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง
 
            มาตรา ๕๙ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงจากหน่อวยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาติหรือการดำเนินโครงการใด ที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนหรือชุมชนท่องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็น.....
 
            เป็นที่น่าเสียดายว่าที่มีการแปรญัตติให้เพิ่มสิทธิของเกษตรกรให้ชัดเจนขึ้นนั้นคือ “....รัฐต้องมีมาตรการจำกัดและการกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรที่มีที่ดินทำกินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม” แต่ไม่สามารถฟันผ่าสภาร่างรัฐธรรมนูญได้
 
            มาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการจัดการที่ดินและป่าที่ชัดเจน เช่น มาตรา ๗๙   .....รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล.....
 
            แนวทางปฎิบัติและนโยบายของรัฐ ที่ยังไม่เอื้อต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการฐานทรัพยากรอันเป็นพื้นฐานของชีวิตและสังคม รวมทั้งสิทธิในการจัดการที่ดินและป่าที่มีความเดือดร้อนของคนเล็กคนน้อยทั่วประเทศ แต่ที่หนักหน่วงมากที่สุดคือการละเมิดต่อชุมชน และมีจำนวนมากที่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนานจากอดีต เป็นผลจากการไม่มีนโยบายแนวทางแก้ปัญหาอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ทำให้มีความขัดแย้ง การชุมนุมประท้วง และการจับกุมจำนวนมาก
 
            เครือข่ายปฏิรูปที่ดินลำปาง ๓ ชุมชน อันได้แก่ ชุมชนบ้านแม่ส้าน ชุมชนบ้านกลาง และชุมชนบ้านห้วยตาด จึงได้มีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องและนำเสนอประเด็นปัญหาเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฎิบัติดังนี้
๑.     ให้รัฐบาลเร่งรัดให้มีการออกโฉนดชุมชนตามมติของ คณะประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช) ตามระเบียบสำนักนายก ปี ๒๕๕๓
๒.     ยกระดับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นพระราชบัญญัติ
๓.     สำนักนายก/สำนักโฉนดชุมชน จัดประชุม สัมมนาให้นโยบายกับหน่วยงานภาครัฐให้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล
๔.    ก่อนการประกาศอุทยานฯ ให้อุทยานฯ กันพื้นที่ออกจากพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยขอชุมชนที่ทำโฉนดชุมชน
๕.    เร่งการดำเนินการออกกฎหมายธนาคารที่ดิน
๖.     เร่งการดำเนินการด้านกฎหมายที่ดินอย่างเร่งด่วน เช่น ภาษีอัตราก้าวหน้า
๗.    ให้มีการเพิกถอนแนวเขตของทหารและอุทยานฯ ออกนอกพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและสนับสนุนให้ชาวบ้านจัดทำโฉนดชุมชน
๘.    ให้เร่งรัดออกกฎหมายโฉนดชุมชนในพื้นที่ที่ได้มีการอนุมัติให้มีการจัดตั้งโฉนดชุมชน
๙.     ให้รัฐบาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน ทหาร ให้ยุติจับกุม ดำเนินคดีกับชาวบ้าน และคุกคามชาวบ้านที่ทำกินขณะนี้
 
ด้วยจิตรคารวะ
 
เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน จังหวัดลำปาง  ๓ ชุมชน  ชุมชนบ้านแม่ส้าน  ชุมชนบ้านกลาง ชุมชนบ้านห้วยตาด
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เม้าท์มอย: งานวิจัยปรองดอง ยูพีอาร์ และทีวีดิจิตอล

Posted: 22 Mar 2012 12:02 PM PDT

เม้าท์ๆ มอยๆ ประจำสัปดาห์ เริ่มจากกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นโพเดียมปาฐกถาขอรื้องานวิจัยปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า เนื่องจากไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น น่ายินดีแทนคณะผู้วิจัยที่มีอดีตนายกฯ ขยันขันแข็งลงมาสวมบทอาจารย์ที่ปรึกษาเองเลยทีเดียว ต่อกันด้วยข้อเสนอของนานาชาติผ่าน UN มายังรัฐบาลไทยให้มีการทบทวนสิทธิมนุษยชนประเทศไทย หรือ Universal Periodic Review (UPR) มาดูกันว่ากว่า 170 ข้อเสนอ พี่ไทยรับได้เกือบหมด ยกเว้นเรื่องใหญ่ๆ ที่ขอรักษาความเป็นไทยเอาไว้ คือ มาตรา 112, พรบ.คอมพิวเตอร์, พรก.ฉุกเฉิน, ผู้ลี้ภัย และการควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ต่อกันด้วยเรื่องราวช็อคคนทำสื่อ เมื่อนสพ.ผู้จัดการ ปลดพนักงานหลายร้อยคน และทยอยปิดสิ่งพิมพ์ ยังคงเหลือทีวีและสื่อออนไลน์ไว้ จะเกี่ยวกันหรือไม่กับการเตรียมปรับระบบโทรทัศน์ของไทยให้เป็นระบบดิจิตอลพร้อมกันทั้งหมดทั้งอาเซียน แต่ก่อนจะถึงวันนั้น คนไทยรู้จักระบบทีวีดิจิตอลกันหรือยัง ชามดองจะมาขานไขให้ฟังว่าทีวีดิจิตอลนั้นคืออะไร

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุภัตรา ภูมิประภาส: ผู้หญิงกับการเมือง - ขิ่นโอมาร์

Posted: 22 Mar 2012 11:25 AM PDT

ขิ่นโอมาร์ (Khin Ohmar) อดีตนักศึกษาสาขาเคมีวิทยาจาก Rangoon Arts and Science University (RASU) เป็นที่รู้จักดีในหมู่นักกิจกรรมและองค์กรนานาชาติที่ร่วมรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ปัจจุบัน เธอเป็นผู้ประสานงาน Burma Partnership ซึ่งเป็นเครือข่ายนักกิจกรรมในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกที่ทำงานเพื่อสร้างสันติภาพ ประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนในพม่า

ขิ่นโอมาร์ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่ามานานกว่าสองทศวรรษ เธอมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการเมืองและการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีในองค์กรต่างๆ อาทิ สหภาพผู้หญิงพม่า (Burmese Women’s Union) ,  แนวร่วมผู้หญิงแห่งพม่า (Women’s League of Burma), National Coalition Government of the Union of Burma (NCGUB), the National Reconciliation Program (NRP), และ Forum for Democracy in Burma (FDB)

ย้อนอดีตไปเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2530  เมื่อรัฐบาลนายพลเนวินประกาศยกเลิกธนบัตรมูลค่า 100, 75, 35, 25 จั๊ด ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงกับประชาชนรวมทั้งนักศึกษา ขิ่นโอมาร์ และเพื่อนนักศึกษาอีก 20 คนร่วมกันเขียนจดหมายประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหาร เป็นเหตุให้พวกเธอทั้งหมดถูกจับกุมและคุมขังไว้หลายเดือน เธอและเพื่อนๆได้รับการปล่อยตัวออกมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งเป็นวันฉลอง Burma’s Union Day

เดือนมีนาคม ขิ่นโอมาร์ร่วมเดินขบวนประท้วงรัฐบาลอีก ครั้งนี้กรณีที่เพื่อนนักศึกษาถูกตำรวจปราบจลาจลสังหาร เมื่อรัฐบาลฯตอบโต้ด้วยการสั่งปิดมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ขิ่นโอมาร์ทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานงานในการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาทั่วประเทศ นับแต่นั้นมา เธอตกเป็นเป้าหมายสำคัญที่ถูกตำรวจลับสะกดรอยตามตลอดเวลา

หลังเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาประชาชน 8-8-88 ขิ่นโอมาร์หลบหนีออกจากร่างกุ้งมาเข้าร่วมกับแนวร่วมนักศึกษาพม่าเพื่อประชาธิปไตย (All Burma Students' Democratic Front - ABSDF) ซึ่งเป็นขบวนการนักศึกษาที่ได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆทั้งที่พักพิงและการฝึกอาวุธ  ขิ่นโอมาร์ประจำการอยู่ที่ค่าย ABSDF บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ นการรวมตัว

ตอนนั้นขิ่นโอมาร์อายุเพียง 20 ปี เธอเรียนรู้และใช้ชีวิตชีวิตเยี่ยง “กบฏ”อยู่ในรัฐมอญนานหลายเดือน ขิ่นโอมาร์เล่าว่านักศึกษาพม่าที่หนีตายมาที่นี่ได้รับการโอบอุ้มดูแลด้วยน้ำใจไมตรีจากประชาชนในรัฐมอญ และชีวิตที่นี่เองที่ทำให้เธอเข้าใจความคับแค้นจากการถูกเลือกปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐบาลฯตราหน้าว่าเป็น “กบฏ” เธอเข้าใจแล้วว่าทำไมพวกเขาจึงต้องจับอาวุธลุกขึ้นสู้

ปี 2533 ขิ่นโอมาร์ได้รับความช่วยเหลือให้ลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐ เธอมีโอกาสเข้าศึกษาสาขาเคมีต่อที่ Simon’s Rock College of Bard in Great Barrington, Massachusetts แต่ท้ายที่สุด เธอตัดสินใจกลับมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับเพื่อนๆที่ชายแดนไทย-พม่า ขิ่นโอมาร์ยังไม่เคยมีโอกาสกลับบ้านที่พม่าอีกเลยแม้ในวันที่ได้รับรู้ว่ามารดาสิ้นลม ตลอดยี่สิบสี่ปีที่จากบ้านมา เธออุทิศตนให้กับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงที่กู่ก้องให้ประชาคมโลกได้รับรู้ถึงสถานการณ์และสภาพของนักโทษการเมืองในพม่า และสถานการณ์ของผู้หญิงจากพม่าที่หลบภัยอยู่ตามพื้นที่แนวชายแดนพม่า

ขิ่นโอมาร์บอกว่ายังคงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิงที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองพม่าในระดับวางแผนและตัดสินใจใด แม้ในหมู่นักกิจกรรมก็ตาม ส่วนนำของฝ่ายประชาธิปไตยยังคงมีความคิดยึดติดกับระบบชายเป็นใหญ่ พวกเขายังคงมีความเชื่อว่าการเมืองไม่ใช่พื้นที่ของผู้หญิง

“พวกเขาจะบอกว่าไม่มีใครกีดกันผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง แต่พวกเขาก็จะถามต่อไปว่าเธอจะรับตำแหน่งได้อย่างไรถ้าเธอไม่สามารถมาประชุมได้ทันเวลา พวกผู้ชายไม่มีความเข้าใจว่าผู้หญิงมีเรื่องอื่นที่ต้องคำนึงถึงหรือต้องห่วงใยด้วย เช่นเรื่องของครอบครัวและลูกๆ ซึ่งพวกผู้ชายไม่ได้นึกถึง” 

ขิ่นโอมาร์บอกว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้น และขบวนการประชาธิปไตยจะต้องมีงานอีกมากที่จะต้องทำ รวมทั้งการเจรจาในระดับต่างๆที่เธอหวังว่าจะมีทุกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงในโต๊ะเจรจาด้วย

“หากปราศจากการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของผู้หญิงในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะในระดับของการตัดสินใจแล้ว เราไม่สามารถบอกได้ว่ามีประชาธิปไตย” 

ปี 2551 ขิ่นโอมาร์ ได้รับรางวัล Anna Lindh Prize ในฐานะสตรีที่มีความกล้าที่จะต่อสู้กับการกดขี่ปราบปราม อคติ และความความไม่เป็นธรรมทั้งปวงเพื่อนำชีวิตที่ดีกว่ามาสู่ประชาชน โดยการมอบรางวัลนี้ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2547 เพื่อเป็นเกียรติกับนาง Anna Lindh อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดนที่ถูกลอบสังหารเมื่อกันยายน 2546

ในปีเดียวกันนี้ ขิ่นโอมาร์ยังได้รับรางวัล Vital Voices Global Leadership Awards ร่วมกับจ๋ามตอง ตัวแทนเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ด้วย โดยในพิธีมอบรางวัลนี้ นางลอร่า บุช อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐกล่าวยกย่องขิ่นโอมาร์ว่า “เธอเป็นหนึ่งในเสียงที่ก้องกังวานสุดในการต่อต้านรัฐบาลที่ทารุณโหดร้ายของพม่า”

การมอบรางวัล Vital Voices Global Leadership Award for Human Rights ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2545 เพื่อมอบให้เป็นเกียรติกับผู้หญิงที่มีบทบาทนำในการสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง และทำงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประเทศไทยอยู่ตรงไหน: คนไทยกับสตาร์บัคส์

Posted: 22 Mar 2012 10:46 AM PDT

เพจประเทศไทยอยู้ตรงไหน หาคำตอบว่า "จริงๆ คนไทยบริโภคกาแฟสตาร์บัคส์มากหรือน้อยแค่ไหน?" พร้อมบทวิเคราะห์

เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงรู้จักร้านกาแฟสัญชาติอเมริกันยี่ห้อ “สตาร์บัคส์” กันเป็นอย่างดี บางท่านอาจเป็นแฟนอย่างเหนียวแน่น ขณะที่บางท่านอาจไม่ชื่นชอบสักเท่าไหร่ ซึ่งก็เป็นเรื่องนานาจิตตังของแต่ละคน แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่ากาแฟสตาร์บัคส์นั้นได้รับความนิยมไม่น้อยในประเทศไทย ร้านสตาร์บัคส์สาขาต่างๆ พลุกพล่านไปด้วยผู้คนเสมอ หลายครั้งที่เราเห็นคนต่อแถวยาวเหยียดเพื่อซื้อเครื่องดื่มสตาร์บัคส์ในวันที่จัดโปรโมชั่น

แล้วจริงๆ คนไทยบริโภคกาแฟสตาร์บัคส์มากหรือน้อยแค่ไหน?

การจะวัดว่าคนไทยบริโภคกาแฟสตาร์บัคส์มากหรือน้อยแค่ไหนในเชิงปริมาณนั้นทำได้ยาก (จะนับตามปริมาณหัวกาแฟเท่านั้น หรือปริมาณเครื่องดื่มกาแฟทั้งแก้ว แล้วเครื่องดื่มอื่นๆเช่น ชา หรือ ช็อคโกแล็ต จะนับด้วยหรือไม่ ฯลฯ) ดังนั้นทางหนึ่งที่อาจทำได้คือการวัดขนาดของธุรกิจสตาร์บัคส์ในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

จากข้อมูลผลประกอบการประจำปี 2011 ของสตาร์บัคส์สำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา [1] ซึ่งนับข้อมูลจนถึงสิ้นปีงบประมาณในวันที่ 2 ตุลาคม 2011 พบว่า สตาร์บัคส์มีร้านกาแฟ (Starbucks Store) อยู่ทั่วโลกทั้งหมด 17,003 ร้าน แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ร้านที่สตาร์บัคส์บริหารงานเองทั้งหมด (Company-operated Stores) และร้านที่สตาร์บัคส์ออกใบอนุญาตให้พาร์ทเนอร์ในแต่ละประเทศบริหารงานแทน (Licensed Stores) โดยสัดส่วนจำนวนร้านทั้งหมดคิดเป็น 53% ต่อ 47% ตามลำดับ

ร้านที่สตาร์บัคส์บริหารงานเอง มีจำนวนทั้งสิ้น 9,031 ร้านกระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งแบ่งตามประเทศต่างๆได้ดังนี้

สหรัฐอเมริกา 6,705 ร้าน
แคนาดา 846 ร้าน
สหราชอาณาจักร 607 ร้าน
จีน 278 ร้าน
เยอรมนี 150 ร้าน
ไทย 141 ร้าน
อื่นๆ 314 ร้าน

ร้านที่พาร์ทเนอร์บริหารงานแทน นับเฉพาะเฉพาะในเอเชีย มีทั้งสิ้น 2,334 ร้าน แยกตามประเทศได้ดังนี้

ญี่ปุ่น 935 ร้าน
เกาหลีใต้ 367 ร้าน
ไต้หวัน 249 ร้าน
จีน 218 ร้าน
ฟิลิปปินส์ 183 ร้าน
มาเลเซีย 121 ร้าน
ฮ่องกง 117 ร้าน
อินโดนิเซีย 109 ร้าน
นิวซีแลนด์ 35 ร้าน

ร้านที่สตาร์บัคส์บริหารงานเองนั้นมีความสำคัญต่อธุรกิจของสตาร์บัคส์มาก เนื่องจากรายได้ทั้งหมดทั่วโลกมาจากร้านที่บริหารเอง 82% ขณะที่ร้านแบบให้พาร์ทเนอร์บริหารแทนนั้นสร้างรายได้เพียง 9% และอีก 9% มาจากสินค้าอื่นๆ เช่น กาแฟสำเร็จรูป VIA ถ้วยกาแฟ หรือ ของที่ระลึกต่างๆ

จะเห็นว่าไทยมีจำนวนร้านสตาร์บัคส์ใกล้เคียงกับเยอรมนี มากกว่ามาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนิเซีย และเป็นที่น่าสังเกตว่าหากไม่นับจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่พิเศษแล้ว ไทย คือประเทศในเอเชียเพียงประเทศเดียวที่มีชื่ออยู่ในกลุ่มร้านที่สตาร์บัคส์บริหารงานเอง ซึ่งแม้ประเทศเอเชียอื่นๆอาจมีร้านอยู่ในกลุ่มนี้บ้าง แต่คาดได้ว่ามีจำนวนน้อยจนถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่ม "อื่นๆ” เท่านั้น ไม่ได้แยกออกมาเป็นหนึ่งประเทศโดดๆอย่างไทย

ธุรกิจของสตาร์บัคส์นั้นประสบความสำเร็จอย่างมากในไทย และจากข้อมูลข้างต้นก็อาจนับได้ว่าสูงกว่าเพื่อนบ้านในเอเชียอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งดูจะสะท้อนลักษณะบางประการของสังคมไทยได้ดีในระดับหนึ่ง เช่น แนวนโยบายที่เปิดกว้างต่อธุรกิจต่างประเทศ หรือการเป็นสังคมที่เปิดกว้างต่อวัฒนธรรมหรือไลฟ์สไตล์แบบตะวันตก เพราะต้องไม่ลืมว่าไทยไม่ใช่ประเทศที่มีวัฒนธรรมกาแฟที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่ในอดีตเหมือนประเทศในทวีปยุโรป หรือเพื่อนบ้านเราอย่าง เวียดนาม 

ความสำเร็จของสตาร์บัคส์ในประเทศไทยนั้นย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หลายคนอาจมองว่ามันเป็นกระแสฉาบฉวย ฟุ่มเฟือย และทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ หลายคนอาจมองว่าเราเปิดกว้างในทางธุรกิจมากเกินไป (ในประเทศอื่น สตาร์บัคส์ทำได้แค่ออกใบอนุญาตแฟรนไชส์เท่านั้น แต่ในไทยสามารถดำเนินกิจการเองได้ทั้งหมด) ในทางกลับกัน หลายคนมองว่าสตาร์บัคส์ได้สร้างอุตสาหกรรมกาแฟสมัยใหม่ให้เกิดขึ้นในไทย สร้างงาน สร้างวัฒนธรรมกาแฟ สร้างเศรษฐกิจต่อเนื่องอีกมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา

อ้างอิง

[1] http://investor.starbucks.com/phoenix.zhtml?c=99518&p=irol-reportsAnnual

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จี้สภา เร่งพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนงาน ก่อนหมดสมัยประชุม

Posted: 22 Mar 2012 10:40 AM PDT

คนงานชุมนุมหน้ารัฐสภา เรียกร้องเร่งนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนงาน พิจารณาให้ทันสมัยสามัญนิติบัญญัติ โดยมี รมว.แรงงาน วิปรัฐบาล-ฝ่ายค้าน มารับหนังสือร่วมกัน

 

(22 มี.ค.55) เวลาประมาณ 10.00น. บริเวณหน้าสวนสัตว์ดุสิต ฝั่งตรงข้ามรัฐสภา เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน นำโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและผลักดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ จัดเวทีสาธารณะเพื่อพูดคุยเรื่องการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ น.ส.วิไลวรรณ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คนเป็นผู้เสนอ เพื่อให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ 18 เม.ย.นี้ โดยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.54 ว่าจนบัดนี้สภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวในการประชุมครั้งใด

ทั้งนี้ หลังการแลกเปลี่ยน คนงานราว 300 คนซึ่งตั้งขบวนที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าได้เดินเท้ามาสมทบ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างทยอยมารับหนังสือเรียกร้องให้เร่งรัดที่ประชุมสภาฯ ให้พิจารณาร่างดังกล่าว ให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติสมัยนี้ อาทิ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

อนึ่ง สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ซึ่งแตกต่างจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้แก่ การกำหนดให้ สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ การบริหารงานกองทุนประกันสังคมผ่านรูปแบบการมีคณะกรรมการชุดต่างๆ ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีกระบวนการหรือกลไกการตรวจสอบการบริหารงาน รวมถึงขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ให้บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล และผู้ประกันตนมีสิทธิรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคมทุกเรื่อง และเพิ่มบทลงโทษสำหรับนายจ้างให้มากขึ้นในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ปัญหา ‘คดีคนจน’ กระบวนการ ‘ยุติ’ ความเป็นธรรมของอำนาจรัฐ

Posted: 22 Mar 2012 08:39 AM PDT

สรุปบทเรียนกระบวนการต่อสู้คดีของชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ข้อเท็จจริงของสภาพปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้น ลงท้ายด้วยบทสรุปความไม่เป็นธรรมจากการฟ้องร้องดำเนินคดีของหน่วยงานรัฐต่อชาวบ้าน

 
 
ปัญหาคดีความที่เกิดจากข้อพิพาทและความขัดแย้งเรื่องที่ดินที่ปรากฏในปัจจุบัน พิจารณาเฉพาะพื้นที่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน พบว่า มีชาวบ้านถูกหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 107 ราย จำนวน 29 คดี ทั้งนี้ ไม่นับรวมคดีความของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งมีมากกว่า 400 คดี และที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปอีกเป็นจำนวนมาก
 
คำถามสำคัญคือ ทำไมจึงเกิดคดีความเช่นนี้กับประชาชนที่มีปัญหาข้อโต้แย้งเรื่องสิทธิ์กับหน่วยงานรัฐ คำพิพากษาโดยส่วนใหญ่เป็นอย่างไร มีผลกระทบต่อชาวบ้านในฐานะผู้ตกเป็นจำเลยด้านไหนบ้าง และกระบวนการต่อสู้คดีของชาวบ้านในทุกชั้นการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ชาวบ้านผู้ถูกฟ้องคดีได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานไหนบ้าง
 
เรื่องราวข้างต้น ได้รับการอภิปรายอย่างกว้างขวางในแวดวงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ องค์กรประชาชน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานด้านยุติธรรม โดยเฉพาะในช่วงหลังปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา กระทั่งมีข้อเสนอเกี่ยวกับการ ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ ในสังคมไทยให้สอดคล้องกับยุคสมัยและความเป็นไปของสังคมปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่สะท้อนนัยข้อเสนอดังกล่าว
 
จากบทเรียนกระบวนการต่อสู้คดีของชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สะท้องให้เห็นข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับสภาพปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านประสบ
 
ข้อเท็จจริงและมูลเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาทางคดี
 
1.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน จากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาข้อพิพาทที่ดินของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ทั้งสิ้น 22 กรณี จำแนกเป็นปัญหาพิพาทพื้นที่ป่าไม้ 13 กรณี และปัญหาที่สาธารณประโยชน์ 9 กรณี พบว่า ทุกกรณีชาวบ้านถือครองทำประโยชน์ที่ดินมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ดินของรัฐ กระทั่งเกิดข้อพิพาทกันระหว่างรัฐกับประชาชนในเวลาต่อมา
 
มีหลักฐานตามประมวลกฎหมายที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน นส.3 สค.1 จำนวน 5 กรณี อยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน 1 กรณี มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 จำนวน 2 กรณี มีใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ 13 กรณี และเป็นพื้นที่ความมั่นคงตามแนวชายแดน ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสัญญาว่าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินให้ จำนวน 1 กรณี ทั้งนี้ ไม่นับรวมถึงร่องรอยการทำประโยชน์ที่ดิน วัตถุพยาน พยานบุคคลที่ปรากฏในพื้นที่พิพาท ซึ่งมีอยู่ในทุกพื้นที่
 
ข้อเท็จจริงเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชาวบ้านถือครองทำกินมาก่อนการประกาศเขตที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ แต่เมื่อนำเข้าต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม กลับมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า หรือไม่มีน้ำหนักพอสำหรับการหักล้างหลักฐานทางราชการ
 
2.กระบวนการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท พัฒนาการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดินของชาวบ้าน เริ่มจากการใช้กลไกปกติของทางราชการ ได้แก่ การยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการในทุกระดับ เมื่อไม่มีผลปฏิบัติ จึงนำมาสู่การชุมนุมเรียกร้องสิทธิ์ ทั้งในระดับกลุ่มปัญหารายกรณี กระทั่งพัฒนาเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ คู่ขนานไปกับการร้องต่อองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบการถูกละเมิดสิทธิ์
 
ในกรณีการชุมนุมเรียกร้อง โดยทั่วไปจะเกิดข้อตกลงในหลักการแก้ไขปัญหา การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาจะมีข้อยุติต้องใช้การตัดสินใจทางนโยบาย โดยมติคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดความล่าช้า และเป็นเหตุให้หน่วยงานรัฐฟ้องดำเนินคดีในเวลาต่อมา
 
ในหลายกรณี ชาวบ้านใช้มาตรการเข้ายึดพื้นที่เพื่อดำเนินการจัดการที่ดินขนานไปกับการติดตามปัญหา ทำให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เช่น กรณีสวนป่าคอนสาร สวนป่าโคกยาว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น มีบางกรณีที่พยานโจทก์เบิกความต่อศาลว่ามีความเห็นร่วมกันของหน่วยงานโจทก์ว่า ต้องใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่พิพาท ในขณะที่โจทก์ก็เข้าใจและเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล ซึ่งมีคืบหน้าเป็นลำดับ
 
การฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านในกรณีพิพาทที่ดิน
 
จากสภาพปัญหาและกระบวนการติดตามปัญหาดังกล่าวข้างต้น ถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงจะพิสูจน์ได้ว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศเขตที่ดินของรัฐ โดยกลไกการตรวจสอบของคณะกรรมการร่วม หรือองค์กรสิทธิมนุษยชน แต่ไม่มีการเร่งรัดตัดสินใจทางนโยบาย ทำให้สถานภาพทางกฎหมายยังเป็นที่ดินของรัฐ นำมาสู่การดำเนินคดีชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก ดังปรากฏตามข้อมูลข้างต้น
 
ในจำนวน 29 คดีของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน พบว่า โจทก์ หมายถึง กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ฟ้องชาวบ้านในคดีต่างๆ ทั้งคดีอาญา และความแพ่ง จำแนกตามข้อกล่าวหา ได้แก่ บุกรุกที่ดินของรัฐ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ขับไล่ และเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง โดยสถานะทางคดีในปัจจุบันอยู่ในชั้นเจ้าพนักงานสอบสวน การพิจารณาของศาล และการบังคับคดี
 
บทเรียนสำคัญในการต่อสู้ปัญหาคดีความของชาวบ้าน สามารถสรุปปัญหา อุปสรรคในกระบวนการต่อสู้ได้ ดังนี้
 
1.เจ้าพนักงานสอบสวน พฤติการณ์ในการเข้าจับกุม ควบคุมตัว และแจ้งข้อกล่าวหาชาวบ้าน มีหลายกรณีที่มีพิรุธ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ เช่น การควบคุมตัวออกมาโดยพลการ โดยอ้างว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า ซึ่งในทางข้อเท็จจริง พฤติการณ์ของเจ้าพนักงานขาดองค์ประกอบข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้ง กล่าวคือ มีการสนธิกำลังกันเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่บางหน่วยมาจากต่างจังหวัดห่างไกลที่เกิดเหตุ ดำเนินการในเวลาเช้าตรู่ ซึ่งชาวบ้านอยู่ระหว่างทำธุระส่วนตัว และไม่มีอุปกรณ์ใดๆ สำหรับทำประโยชน์ การควบคุมตัวดังกล่าวไม่มีหมายจับ หมายค้น และอ้างกับชาวบ้านว่าขอเชิญมาพูดคุยกันที่อำเภอเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่กลับนำตัวมาควบคุมที่สถานีตำรวจ แล้วแจ้งข้อกล่าวหาภายหลัง และอ้างว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าดังกล่าวข้างต้น
 
พฤติการณ์เช่นนี้มีลักษณะของการเตรียมการณ์วางแผนอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่รับรู้ เข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับกระบวนการและพัฒนาการแก้ไขปัญหาในพื้นที่พิพาทนั้นๆ
 
นอกจากนี้ ในบางกรณีเจ้าพนักงานไม่ได้แจ้งสิทธิ์แก่ผู้ถูกกล่าวหาในระหว่างการสอบสวน เช่น สิทธิ์ในการไม่ให้การ การหาทนายความหรือที่ปรึกษาที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังตลอดการสอบสวน เป็นต้น รวมทั้งมีการเกลี้ยกล่อม โน้มน้าวให้รับสารภาพ เพื่อโทษหนักจะได้เป็นเบา จะไม่ถูกจำคุก มีเพียงโทษปรับเท่านั้น เป็นต้น        
 
2.การพิจารณาสำนวนคดีของพนักงานอัยการ โดยส่วนใหญ่แล้ว คดีที่เจ้าพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการจะไม่มีการสอบพยานเพิ่มเติม และจะส่งฟ้องศาลต่อไป ในขณะที่ชาวบ้านได้พยายามเข้าให้ข้อมูล และมีหนังสือแจ้งเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขปัญหา ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีหนังสือมายังอัยการจังหวัด เรื่องให้ชะลอการดำเนินคดีชาวบ้านเครือข่ายไว้ก่อนจนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาจะแล้วเสร็จ โดยให้เหตุผลเรื่องการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดความชัดเจน เพื่อดำเนินการตามนโยบายโฉนดชุมชนต่อไป
 
3.การพิจารณาคดีของศาล คดีความของชาวบ้านที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่จะเป็นคดีอาญา ข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ ทั้งพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายประเภทต่างๆ และที่สาธารณประโยชน์ ส่วนที่เหลือจะเป็นคดีแพ่งที่หน่วยงานในฐานะโจทก์ฟ้องขับไล่ และในพื้นที่ป่าไม้ภายหลังการฟ้องคดีอาญาแล้ว โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคดีโลกร้อน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 97 มาดำเนินการ
 
ทั้งนี้ ในคดีดังกล่าวมีความเห็นเกี่ยวกับแบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางแพ่งของนักวิชาการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่ามีความถูกต้อง เป็นธรรมหรือไม่ เพียงใด โดยมีรายการค่าปรับจากแบบจำลองดังกล่าว คือการทำให้ธาตุอาหารในดินสูญหาย ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน ทำให้สูญเสียน้ำออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ ทำให้ดินสูญหาย ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น ทำให้ฝนตกน้อยลง และมูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าอีก 3 รายการ รวมแล้วประมาณ 150,000 บาทต่อไร่
 
คดีโลกร้อนดังกล่าวข้างต้น ชาวบ้านในพื้นที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ถูกฟ้องดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้น 7 คดี จำนวน 21 ราย ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว 5 คดี ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง อยู่ระหว่างฏีกา 1 คดี และศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว 1 คดี เพื่อรอฟังผลคดีอาญา
 
ในส่วนคดีอาญา ข้อหาบุกรุกพื้นที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้อง เนื่องจากการนำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้คดีในศาล จะเป็นเอกสารการทำประโยชน์ที่ดิน ที่ไม่ใช่หลักฐานตามประมวลกฏหมายที่ดิน ซึ่งจะมีน้ำหนักในการพิจารณาน้อย เมื่อเทียบกับเอกสารทางราชการของโจทก์ที่ได้รับอนุญาตตามกฏหมายในการกำกับดูแลพื้นที่นั้นๆ จึงเชื่อได้ว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกพื้นที่ดังกล่าว ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะหยิบยกมติ คำสั่งในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานต่างๆ หรือสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และนโยบายของรัฐบาลมาเป็นพยานหลักฐานก็ตาม
 
 
ผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีของชาวบ้าน
 
คดีความของชาวบ้านในแต่ละเรื่อง ใช้เวลายาวนานบางคดีมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่เป็นคนแก่และผู้หญิง จึงมีผู้เสียชีวิตระหว่างการต่อสู้ในเกือบทุกคดี ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะเมื่อโดนคดีแล้วตายเร็วขึ้น แต่ผลกระทบทางด้านจิตใจ ความวิตกกังวลจากการถูกดำเนินคดีย่อมเกิดขึ้นโดยทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าโดยข้อเท็จจริง ที่ดินที่พิพาทตัวเองเคยถือครองทำประโยชน์มาก่อน ประกอบกับการติดตามปัญหาที่ยืดเยื้อ ยาวนาน ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งมีเรื่องคดีความที่ต้องมีค่าเดินทางไปศาล ค่าเอกสาร ค่าทนาย ค่าหลักทรัพย์ประกันตัว
 
ยังไม่รวมถึงปัญหาทางด้านสังคมที่ถูกผู้คนมองว่าเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหา สร้างความวุ่นวายให้กับชุมชน และสิทธิการทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาทที่ถูกดำเนินคดีย่อมเป็นไปอย่างจำกัด บางกรณีมีการปิดหมายบังคับคดีให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ พร้อมรื้อถอนไม้ผล สิ่งปลูกสร้างออกไปด้วย ยิ่งก่อผลกระทบต่อการทำมาหากินของชาวบ้านหนักมากขึ้น
 
กล่าวโดยสรุป ข้อพิพาทและความขัดแย้งเรื่องที่ดินเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาในสังคมเป็นเวลายาวนาน หรืออาจจะเรียกได้ว่า ปัญหาที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะที่ดินถือเป็นปัจจัยพื้นฐานทางการผลิต ซึ่งเครื่องมือในการกำหนดความสัมพันธ์ดังกล่าวในทุกสังคมคือ ระบบกรรมสิทธิ์ ในสังคมไทยมีการจำแนกระบบกรรมสิทธิ์เป็นที่ดินของรัฐและเอกชน โดยให้สิทธิ์การบริหารจัดการแต่ละส่วนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดคือ การเข้าถึงสิทธิในที่ดินของผู้คนในสังคมมีความแตกต่างกันมาก ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจย่อมเข้าถึงที่ดินเป็นจำนวนมาก เกษตรกรรายย่อย คนยากจนอยู่ในสภาพไร้ที่ดิน ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ หรือมีที่ดินกลับไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการผลิตในแปลงเกษตรของตนเองได้ เพราะกระบวนการผลิตที่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกเป็นด้านหลัก นำมาสู่ปัญหาหนี้สิน และการเปลี่ยนมือที่ดินในที่สุด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นพิพาททับซ้อนกับที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ และเกิดเป็นปัญหาคดีความ
 
หากเราใช้มุมมองเรื่องความเป็นธรรม เท่าเทียมมาพิจารณาปัญหาที่ดินที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะพบว่า รัฐบาลต้องมีแนวทางนโยบายการปฏิรูปที่ดินและการผลิตที่ครบถ้วน รอบด้าน รวมทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เพื่อบรรเทาผลร้ายจากการคุกคามสิทธิในลักษณะต่างๆ และที่สำคัญปัญหาพิพาทที่ดิน เป็นเรื่องนโยบายที่รัฐต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่สิทธิตามกฎหมาย แล้วนำสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งชาวบ้านจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ตลอดไป ดังบทเรียนที่ผ่านมา
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ภาคประชาสังคมไทย' ยันจัด "อาเซียนภาคประชาชน" ที่กัมพูชา ปลายเดือนนี้

Posted: 22 Mar 2012 08:34 AM PDT

(22 มี.ค.55) กรณีกระแสข่าวว่าอาจไม่มีการจัดเวทีอาเซียนภาคประชาชน (ASEAN Civil Society Conference: ACSC/ ASEAN Peoples'Forum: APF) คู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญในวันที่ 1-4 เม.ย.ที่จะถึงนี้ สุภาวดี เพชรรัตน์ หนึ่งในคณะกรรมการจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียน ยืนยันว่าจะยังมีการจัดการประชุม ACSC/APF ต่อไป ที่โรงแรมลักกี้สตาร์ในพนมเปญ วันที่ 29-31 มี.ค.นี้ ขณะเดียวกัน องค์กรพัฒนาเอกชนที่จัดตั้งโดยรัฐก็เตรียมจัดการประชุมชื่อเดียวกันนี้ในวันที่ 28-30 มี.ค. นำโดย Hoy Sochivanny

"มีข่าวในเชิงที่ว่ากลุ่มเราอาจไม่ได้รับอนุญาตให้จัด ACSC/APF แต่เพื่อนกัมพูชาก็ยืนยันว่าเขาเดินหน้าจัดแน่นอน เพราะความพยายามของภาคประชาชนในการเข้าไป engage ในอาเซียนเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2005" สุภาวดีกล่าว

สุภาวดีกล่าวด้วยว่า ในวันศุกร์นี้ (23 มี.ค.55) จะมีการยืนยันข้อมูลจากทางผู้จัดงานอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การยืนยันล่าสุดคือยังคงมีการจัดประชุมตามกำหนดการและสถานที่เดิม และหากการประชุมจะเลื่อนหรือยกเลิกก็มาจากความกลัวของรัฐบาลกัมพูชาว่าจะไม่สามารถควบคุมการแสดงความเห็นในเวทีนี้ได้

สุภาวดี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกัมพูชาทำหนังสือถึงรัฐบาลประเทศสมาชิกให้ส่งผู้แทนของภาคประชาสังคมประเทศละ 1 คนเพื่อพบปะ (interface dialogue) ผู้นำอาเซียน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้พยายามทาบทามภาคประชาสังคมไทยให้เข้าร่วม แต่ภาคประชาสังคมไทยมีมติว่าไม่เข้าร่วมหากเป็นการแต่งตั้งจากรัฐบาล เนื่องจากภาคประชาสังคมจะมีกระบวนการคัดเลือกภายในเครือข่าย โดยผู้ที่จะเป็นตัวแทนต้องเข้าร่วมการประชุมอาเซียนภาคประชาชนและได้รับเลือกจากที่ประชุม

สุภาวดี ระบุว่า การทบทวนการพบปะกับผู้นำอาเซียนครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา มักถูกแทรกแซงโดยรัฐ เช่น ในปี 2552 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ผู้นำกัมพูชาและพม่าปฏิเสธการพบตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากภาคประชาสังคม อีกทั้งช่วงเวลาพูดคุยมีเพียง 15-30 นาที จึงไม่มั่นใจว่าการพบปะเพื่อนำเสนอข้อเสนอจะก่อให้เกิดผลในการขับเคลื่อนมากน้อยขนาดไหน

ขณะที่ เว็บไซต์พนมเปญโพสต์ รายงานว่า Hoy Sochivanny เป็นผู้อำนวยการบริหารองค์กร Positive Change ซึ่งทำงานในประเด็นผู้หญิง โดยเธอเป็นหนึ่งในตัวแทนภาคประชาสังคมของกัมพูชา ที่จะเข้าร่วมพบปะ (interface dialogue) กับบรรดาผู้นำในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนด้วย

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่องความเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมนั้น สุภาวดี กล่าวว่า นี่เป็นประเด็นที่ท้าทาย เพราะทุกกลุ่มต่างเรียกว่าตัวเองเป็นภาคประชาสังคม ซึ่งส่วนตัวมองว่าข้อเสนอที่ออกมาจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จริงๆ และต้องไม่กลายเป็นเครื่องมือกีดกั้นผลประโยชน์ของภาคประชาสังคม

"เรายอมรับความหลากหลาย ถ้าเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมจริงๆ กลุ่มไหนก็ได้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนภาคประชาสังคมก็อาจต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลอาเซียน" สุภาวดีกล่าวและว่า นอกจากนี้ กลุ่มภาคประชาสังคมเดิมที่พยายามเข้าไปส่วนร่วมในอาเซียนมาตลอดตั้งแต่ปี 2548 ก็ควรจะได้รับการคำนึงถึงด้วย

อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนทุกปี มีการจัดเวทีของภาคประชาชนคู่ขนานไปด้วยตั้งแต่การประชุมในปี 2548 ที่มาเลเซียเป็นต้นมา

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ม็อบมันสำปะหลังเทมันฯ ประท้วงหน้าสภา จี้นายกฯ แก้ราคาตก

Posted: 22 Mar 2012 06:51 AM PDT


ภาพ: ประชาไท

(22 มี.ค.55) เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ชาวไร่มันสำปะหลัง จ.กาญจนบุรี นำโดยรังษี ไพสอาด ประธานตัวแทนเกษตรกรไร่มันสำปะหลัง จ.กาญจนบุรี นำมันสำปะหลัง จำนวน 1 คันรถ มาเททิ้งหน้ารัฐสภา ภายหลังจากที่เคยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการแก้ไขปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำแล้วหลายครั้ง แต่ไม่รับการตอบสนอง พร้อมทั้งทำหนังสือเรียกร้องถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยเร่งแก้ปัญหารวมถึงยื่นหนังสือให้กับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอให้ฝ่ายค้านช่วยเร่งรัดรัฐบาลให้แก้ปัญหาให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง

นายรังษีกล่าวว่า ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังรวมนับแสนไร่ โดยชาวไร่มันขุดหัวมันสดออกขายตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมา ออกขายในราคาถูกและราคาตกลงมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันไม่สามารถขายหัวมันสดในราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งยังถูกลานรับซื้อกดราคาบางรายไม่รับซื้อ

ด้าน นพ.วรงค์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ เป็นปากเป็นเสียงให้กับเกษตรกรมาตลอด แต่วันนี้รัฐบาลยังไม่สามารถหาลานมันมาร่วมโครงการได้ และราคามันยังไม่ถึง 2,800 บาท ต่อตัน อย่างไรก็ตามวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะตั้งกระทู้สดถามนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ก่อนหน้านี้รับปากจะช่วยเกษตรกร หากหลังจากนี้ไม่ได้รับการแก้ไข ก็สนับสนุนให้เกษตรกรออกมาแสดงพลังขับไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ออกจากตำแหน่ง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เตือนลงทุนพลังงานในพม่ายังไม่โปร่งใส สร้างมรดกบาป

Posted: 22 Mar 2012 06:27 AM PDT

22 มีนาคม 2555 กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติมรดกบาปด้านทรัพยากรของพม่า เตือนนักลงทุนที่เริ่มหลั่งไหลเข้าไปในพม่า ยังขาดความโปร่งใสเกี่ยวกับรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดมรดกบาปด้านทรัพยากรในประเทศนี้มากขึ้น

ข้อมูลในรายงานของกลุ่ม Arakan Oil Watch องค์กรชุมชนที่ติดตามตรวจสอบโครงการน้ำมันและก๊าซในพม่าระบุว่า รายได้จากก๊าซธรรมชาติหลายพันล้านเหรียญไม่ได้รับการบันทึกข้อมูลอย่างเหมาะสม และไม่ได้เข้ากระเป๋าของรัฐ แต่กลับถูกโยกไปเข้ากระเป๋าของนายทหารที่ทุจริต ส่งผลให้พม่ายังคงเป็นประเทศที่มีดัชนีชีวั้ดด้านสังคมเลวร้ายที่สุดในโลก และเต็มไปด้วยความขัดแย้งเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติ

การส่งออกก๊าซธรรมชาติกลายเป็นแหล่งรายได้จากต่างประเทศใหญ่สุดของพม่า คิดเป็นจำนวน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี  นับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น อีก 60% หลังมีการส่งก๊าซงวดใหม่ไปให้กับประเทศจีนและไทยตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป และในปัจจุบัน บริษัทจากต่างชาติหลายแห่งได้เข้ามาสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซเพิ่มเติมอีก 41 แห่ง

แม้ว่ารัฐบาลใหม่จะพยายามปรับปรุงระบบการจัดทำงบประมาณ แต่ก็ยังไม่เปิดเผยข้อมูลรายได้อย่างละเอียดตลอดจนการใช้จ่ายเงินรายได้จากน้ำมันและก๊าซ บทบาทของหน่วยงานทหารที่ควบคุมดูแลรายได้จากก๊าซก็ดูคลุมเครืออยู่มาก

“ในขณะที่มีแผนการสร้างท่อก๊าซเส้นใหม่ และมีนักลงทุนหลั่งไหลเข้าไปในประเทศมากขึ้น คนพม่าจำเป็นต้องทราบว่ารายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ไหนและถูกใช้ไปอย่างไรบ้าง” Jockai Khaing แห่งกลุ่ม Arakan Oil Watch กล่าว

“รายได้ใหม่ที่ไม่มีการตรวจสอบ จะยิ่งทำให้ทหารมีบทบาทครอบงำเศรษฐกิจลึกซึ้งขึ้น”

รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้มีการกำหนดกฎหมายและจัดตั้งหน่วยงานเพื่อบริหารรายได้จากการขายก๊าซและน้ำมันอย่างโปร่งใส  ก่อนที่จะปล่อยให้นักลงทุนจากต่างชาติมาหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติต่อไป 

ทั้งนี้ พม่าจำเป็นต้องมีกฎหมายที่กำหนดให้มีการประเมินผลกระทบและให้มีการขอความยินยอมอย่างเสรีล่วงหน้า เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และเพื่อประกันการคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม

สำหรับรายงานฉบับเต็ม ซึ่งมีกรณีศึกษาระบบความโปร่งใสด้านรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซในประเทศร่ำรวย โปรดดู www.arakanoilwatch.blogspot.com

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และคนไม่จบ ป.4 ก็เป็นได้ เพราะ ‘คนเราเท่ากัน’

Posted: 22 Mar 2012 05:59 AM PDT

คงมีแต่คนล้าหลังที่คิดขัดขวางการเติบโตของ ‘ประชาธิปไตย’ ในสังคมไทยเท่านั้น ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมญ 50 ฉบับที่มาจากผลพวงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 291 เกิดขึ้น ก็เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินการกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยการระดมความคิดเห็นจากประชาชน เหมือนเช่น รัฐธรรมนูญ 40 และให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม กระบวนการได้มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ คงได้ข้อสรุปกันแล้วว่า ต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก ซึ่งมีบางความคิดว่า ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และบางความคิดก็ว่าควรมาจากการเลือกสรร ‘กันเอง’ หรือ ‘ภายใน’ ของคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในฐานะ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ด้วย จำนวนถึง 22 คน

ผู้เขียนคิดว่า  บทเรียนจากประวัติศาสตร์ในการผลิตรัฐธรรมนูญในสังคมไทยหลายฉบับที่ผ่านมา มักให้ความสำคัญกับ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ที่เป็นนักนิติศาสตร์ นักกฎหมายมหาชน  

แต่รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่มาจากคณะรัฐประหาร ซึ่งริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน และได้ให้อำนาจกับอำนาจนอกระบบประชาธิปไตยครองความเป็นอำนาจนำ ครองความเป็นใหญ่เหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ก็ปฏิเสธมิได้ว่า ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ เป็นผู้มีส่วนร่างด้วย และ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ จำนวนมากก็มักไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่ถ้าเปิดทางให้มีการเลือกสรร ‘กันเอง’ หรือ ‘ภายใน’ ของคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในฐานะ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ไม่ว่าผ่านทางสภาอาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือกระบวนการเลือกสรรของสถาบันการศึกษา  แล้วเสนอชื่อมาตามกลไกและให้รัฐสภาเลือกอีกครั้ง อาจจะได้รับรายชื่อของ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ที่ไม่นิยมระบอบประชาธิปไตยเสียเป็นส่วนใหญ่  

ปฏิเสธมิได้ว่า ภายใต้การครอบงำของอำนาจนำ สภาอาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือกระบวนการเลือกสรรของสถาบันการศึกษานั้น ล้วนมิใช่ ‘นักประชาธิปไตย’ และคงได้ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ หน้าเดิมๆ ที่ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้ว รวมทั้งฉบับรัฐประหาร 50

ผู้เขียนจึงคิดว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มิควรปล่อยให้’ผู้เชี่ยวชาญ’ เป็น ‘อภิสิทธิ์ชน’ เหมือนที่ผ่านมา เพราะ ‘คนเราเท่ากัน’

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ อาจทำหน้าที่ให้ ‘บริกร’ กับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อาจตั้งเป็นผู้มีหน้าที่ หรือกรรมาธิการ เพื่อทำให้เป็น ‘รัฐธรรมนูญ’ ตามความต้องการของประชาชน ภายหลังกระบวนระดมความคิดเห็นจากประชาชนของ สสร. แต่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เหมือน สสร.

ถ้า ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ต้องการทำหน้าเช่น สสร. ก็ควรลงสมัครเลือกตั้ง สสร.และให้ประชาชนเลือก

นอกจากนี้ ในด้านการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร สสร. ซึ่งบางความคิดเสนอว่า ต้องจบระดับปริญญาตรี  แต่บางความคิดว่าไม่จำเป็น  

ผู้เขียนคิดว่า สังคมไทยมักให้ค่ากับคนที่มีความรู้ภายในกรอบ ‘วุฒิบัตร’ ‘ปริญญา’ นับว่าเป็น ‘อภิสิทธิ์ชน’ รูปแบบหนึ่ง  ขณะที่คนจบระดับปริญญาเอก เป็นศาสตราจารย์ ไม่น้อยก็หาได้ชื่นชมระบอบประชาธิปไตย แต่คนจบ ป.4 จำนวนมากกลับสนใจเรียนรู้ความคิดของ ปรีดี พนมยงค์  ผู้อภิวัฒน์ระบอบประชาธิปไตย หรือศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตยก็มีให้เห็นจำนวนมาก

คนไม่จบปริญญาตรีหลายคนล้วนมีประสบการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพ ด้านประชาธิปไตย ซึ่ง ดร.ทั้งหลายหาได้มีประสบการณ์ตรง  เช่น การรวมกลุ่มกันของผู้ใช้แรงงาน การรวมกลุ่มกันของเกษตรกร การรวมพลังกันของ นปช. ฯลฯ อันเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม

คนขับแท็กซี่ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ ไม่ได้จบปริญญาเอก แต่กล้าพลีชีพ เสียสละชีวิตเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย คัดค้านการรัฐประหาร  คนจบ ดร.ไม่น้อยกลับสนับสนุนรัฐประหาร รับใช้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตย   

ที่สำคัญ หลักการอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยนั้นเชื่อว่า ‘คนเราเท่ากัน’ ในการเลือกผู้ปกครองผู้บริหารประเทศ   ไม่ว่าชาติกำเนิดของใครจะเป็นไพร่หรืออำมาตย์ จะยากจนหรือเป็นเศรษฐี จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย  จะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาส จะเป็นครูบาอาจารย์หรือลูกศิษย์  ผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์หรือยาจก  ฯลฯ ตลอดทั้งจะจบ ป.4 หรือจบ ดร. ก็ตาม

แต่ ‘ทุกคนเท่ากัน’ และ ‘หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง’ เลือก สสร.

เมื่อ ‘คนเราเท่ากัน’  จบ ป.4 ก็เป็น สสร.ได้ มิใช่หรือ?

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสธ.หนั่นถาม-พล.อ.สนธิตอบ: ใครอยู่เบื้องหลัง 19 กันยา?

Posted: 22 Mar 2012 03:25 AM PDT

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรได้จัดเสวนา “รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า”

โดยในช่วงตอบคำถามหลังการนำเสนอ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ลุกขึ้นตั้งคำถาม 3 ข้อถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.พรรคมาตุภูมิ ประธาน กมธ. พิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ และอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่า 1.ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ไม่เช่นนั้นสังคมจะคลางแคลงใจว่าอำมาตย์ ผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง 2.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นผู้นำท่านเข้าเฝ้าฯใช่หรือไม่ และ พล.อ.เปรมรู้เห็นกับการปฏิวัติหรือไม่ และ 3.พล.อ.เปรมได้ขอร้อง พล.อ.สนธิให้ออกมาพูดความจริงกับเหตุการณ์ปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 โดยผ่าน พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ 2 ครั้งใช่หรือไม่ และได้พูดความจริงตามร้องขอหรือไม่

ขณะที่ พล.อ.สนธิ ตอบว่าคำถามบางประการตายแล้วก็ตอบไม่ได้ ดังนั้นเรื่องบางเรื่องเมื่อถึงเวลาจะปรากฏขึ้นมาเอง โดยรายละเอียดของการถาม-ตอบ ระหว่าง พล.ต.สนั่น และ พล.อ.สนธิ มีดังนี้

 
"ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ไม่เช่นนั้นสังคมจะคลางแคลงใจว่าอำมาตย์ ผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง"
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์,
21 มี.ค. 55
 
000

"คำถามบางประการตายแล้วก็ตอบไม่ได้ ดังนั้น เรื่องบางเรื่องเมื่อถึงเวลาจะปรากฏขึ้นมาเอง"
พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน, 
21 มี.ค. 55
 
000
 
 

ส่วนหนึ่งจากวงเสวนา “รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า” ในส่วนของการตั้งคำถามโดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ และการตอบโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน (ที่มา: บันทึกจากการถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ สทท. กรมประชาสัมพันธ์)
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘กสทช.’ จับมือ ‘วิทยุการบิน’ แก้ไขปัญหาคลื่นวิทยุรบกวนการบิน

Posted: 22 Mar 2012 02:53 AM PDT

กสทช.ร่วมบริษัทวิทยุการบินฯ แถลงข่าวความร่วมมือ หามาตรการป้องกันปัญหาวิทยุภาคพื้นรบกวนการสื่อสารการบิน เผยล่าสุดในปี 2554 มีการแจ้งว่ามีการรบกวน 1,781 เรื่อง
 

 
22 มี.ค.2555 พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ น.ต.ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทวิทยุการบิน แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือ เพื่อหามาตรการป้องกันปัญหาวิทยุภาคพื้นรบกวนการสื่อสารการบิน
               
พล.อ.อ.ธเรศ กล่าวว่า ปัญหาคลื่นรบกวนกิจการการบินเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งกรณีนี้ไม่เป็นปัญหาในต่างประเทศมากนัก การดำเนินการที่เกิดขึ้นจึงเป็นความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้าน น.ต.ประจักษ์ ระบุว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมาโดยตลอด ล่าสุดในปี 2554 มีการแจ้งว่ามีการรบกวน 1,781 เรื่อง แต่อย่างไรก็ตามกรณีที่พบและเข้าไปแนะนำให้มีการปรับปรุงก็สามารถลดการรบกวนลงไปได้

ส่วน ดร.นที ศุกลรัตน์ กสทช.ในฐานะประธานด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท) กล่าวว่าการดำเนินการจะแยกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศ หากเกิดกรณีรบกวนขึ้นก็จะมีการแจ้งเตือนให้ปรับปรุงและสามารถออกอากาศต่อได้ แต่สำหรับกลุ่มที่สองจำเป็นต้องจับกุมตามกฎหมายวิทยุคมนาคม 2498 ทันที
 
ดร.นที ยังกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการดำเนินการเพื่อให้สถานีวิทยุต่างๆ เข้าสู่มาตรการชั่วคราวซึ่งจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ระหว่างการแถลงข่าว ผอ.วิทยุการบินได้เปิดคลิปภาพในห้องนักบินพร้อมเสียงเพลงที่แทรกเข้ามาในห้องนักบินที่ใช้ช่องความถี่ 120.5 MHz ในระดับความสูง 20,000 ฟิต เหนือพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหารบกวนอาจเกิดขึ้นต่อไปหากสำนักงาน กสทช.ไม่เร่งรัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง อีกทั้งนโยบายที่ กสทช.กำหนดให้มีการคืนคลื่นความถี่วิทยุในอีก 5 ปี ตามแผนแม่บทคลื่นความถี่ ก็จะทำให้ไม่เกิดการจัดสรรใหม่ และกสทช.ไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลหรือแก้ไขปัญหาของสถานีวิทยุนั้นๆ ได้โดยตรง

 
 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อ่านที่นี่: งานวิจัยฉบับเต็ม “แนวทางปรองดอง” จากสถาบันพระปกเกล้า

Posted: 22 Mar 2012 12:33 AM PDT

ส่วนสรุปและฉบับเต็มของรายงานวิจัยสถาบันพระปกเกล้า “โครงการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ” รวมทั้งข้อเสนอให้สังคมไทยพิจารณาร่วมกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว

หมายเหตุจากประชาไท: เนื้อหาต่อไปนี้เป็น “บทสรุปผู้บริหาร” จากงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า “โครงการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ซึ่งมีการนำเสนอไปเมื่อ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยงานวิจัยดังกล่าวแบ่งเนื้อหาออกเป็น 6 บทได้แก่

บทที่ 1 โครงการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ: ความเป็นมาและสภาพปัญหา
บทที่ 2 แนวคิดทฤษฎีในกระบวนการสร้างความปรองดอง
บทที่ 3 ประสบการณ์สร้างความปรองดองในต่างประเทศ
บทที่ 4 ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในบริบทไทย
บทที่ 5 ความคิดเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งเพื่อสร้างความปรองดอง
บทที่ 6 บทสังเคราะห์เหตุแห่งความขัดแย้งทางการเมืองไทยและข้อเสนอกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ

โดยมีข้อเสนอจากงานวิจัยหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ให้นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ในคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเว้นคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และยกเว้นกรณีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ในกรณีที่มีผู้ที่อ้างว่าไม่ได้รับความธรรมจากการดำเนินการโดย “คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)” ในรายงานได้มีข้อเสนอ 3 ทางเลือกให้พิจารณาด้วย ได้แก่ หนี่ง ให้ผลการพิจารณา คตส. สิ้นผลและโอนคดีไปให้ ป.ป.ช. ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบกับคดีที่ถึงที่สุดแล้ว สอง ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ หรือ สาม ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

ส่วนท้ายยังมีข้อเสนอระยะยาวสำหรับสังคมไทย โดยให้ทุกฝ่ายยึดหลัก “การปกครองระบอบประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่ยังคงเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันถึงลักษณะความเป็นประชาธิปไตยของไทยที่คนในสังคมยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ และวางรากฐานของประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และการเสริมสร้างวัฒนธรรมความเป็นพลเมืองและความทนกันได้ ในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง

สำหรับบทสรุปผู้บริหารในงานวิจัยมีดังต่อไป และสามารถดาวโหลดงานวิจัยฉบับเต็ม ความยาว 162 หน้า ได้ที่นี่

000

โครงการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ [ฉบับเต็มโหลดที่นี่]
บทสรุปผู้บริหาร

การวิจัยนี้มุ่งตอบคำถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรว่า “อะไรคือรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และมีปัจจัยหรือกระบวนการใดที่ทำให้คนในสังคมสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ?” โดย (๑) การทบทวนแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขความขัดแย้ง กระบวนการสร้างความปรองดอง และความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ร่วมกับการศึกษากฎหมาย รูปแบบ และกลไกที่เกี่ยวข้องซึ่งเคยมีการนำไปใช้ในการแก้ไขความขัดแย้งและสร้างความปรองดองทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ (๒) การสรุปบทเรียนจากเวทีประชาเสวนาหาทางออกซึ่งสถาบันพระปกเกล้าได้ดำเนินการในทุกภูมิภาคทั่วประเทศโดยให้ประชาชนหลายภาคส่วนร่วมกันเสวนาหาทางออกของประเทศไทยร่วมกันในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ – มิถุนายน ๒๕๕๔ (๓) การศึกษาประสบการณ์การแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในต่างประเทศ ซึ่งคัดเลือกมา ๑๐ กรณีศึกษาจากหลากหลายทวีปในบริบทที่แตกต่างกัน ได้แก่ เกาหลีใต้ โคลอมเบีย ชิลี โบลิเวีย โมร็อกโก เยอรมนี รวันดา สหราชอาณาจักร (กรณีไอร์แลนด์เหนือ) อินโดนีเซีย (กรณีอาเจะห์) และแอฟริกาใต้ (๔) การประมวลวิเคราะห์ข้อมูลปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน และ (๕) การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เกี่ยวข้องจำนวน ๔๗ คน ซึ่งประกอบด้วยนักการเมืองอาวุโส ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ความขัดแย้ง ผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างความปรองดอง และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยใช้คำถามปลายเปิดสำหรับการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-structured Interview) ๒ ครั้ง โดยมีระยะเวลาในการศึกษาวิจัยทั้งสิ้น ๑๒๐ วัน

ผลการศึกษาแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ รากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองไทย และส่วนที่สองคือ ข้อเสนอกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ

๑. รากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองไทย

สำหรับประเด็นรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองไทย พบว่าปัญหาใจกลางคือมุมมองที่แตกต่างกันต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการอำนาจและทรัพยากรในสังคม ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่ให้น้ำหนักต่อการเลือกตั้งซึ่งความชอบธรรมของผู้บริหารประเทศอยู่ที่ ‘เสียงข้างมาก’ ของประชาชน กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ให้น้ำหนักต่อ ‘คุณธรรมจริยธรรม’ ของผู้บริหารประเทศมากกว่าความเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ โดยทั้งสองมุมมองนี้ ต่างก็มีทั้งกลุ่มที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในมุมมองของตนกับกลุ่มที่อิงอยู่กับความเชื่อนั้นเพื่อแสวงหาและรักษาอำนาจตลอดจนผลประโยชน์ส่วนตน ทั้งหมดได้ส่งผลให้ความขัดแย้งทางความคิดนี้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัญหาใจกลางที่กล่าวไปแล้วนี้ได้เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทของปัญหาพื้นฐานในสังคมไทย คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นเงื่อนไขที่ตอกย้ำให้ความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองกลับกลายเป็นความแตกแยกและแหลมคมมากยิ่งขึ้น

มูลเหตุแห่งความขัดแย้งข้างต้นได้ขยายตัวไปสู่วงกว้างมากขึ้นจากการสะสม ‘ความรู้สึก’ ของทั้งสองฝ่ายว่า อีกฝ่ายหนึ่งได้ใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมในการดำเนินการตามความเชื่อข้างต้นและ/หรือผลประโยชน์ของตน อาทิ การแทรกแซงกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือการรัฐประหาร และถึงที่สุดได้ขยายตัวเป็นความขัดแย้งรุนแรงในทุกระดับของสังคมไทยจากการระดมฐานมวลชนเพื่อสนับสนุนฝ่ายตนและจากการเสนอข่าวของสื่อบางส่วนที่มิได้เน้นการนำเสนอข้อคิดเห็นที่ครอบคลุมทุกแง่มุม

แผนภาพเหตุแห่งความขัดแย้งการเมืองไทย (ที่มา: งานวิจัยสถาบันพระปกเกล้า) (ภาพขยาย)

๒. ข้อเสนอกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ

ความแตกแยกทางความคิดอย่างกว้างขวางในสังคมไทยที่ยืดเยื้อยาวนาน สะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่าไม่มีความคิดเห็นของฝ่ายใดที่ถูกหรือผิดไปเสียทั้งหมด ท่ามกลางสภาวะความขัดแย้งในปัจจุบันที่แต่ละฝ่ายยังคงยึดมั่นอยู่ในจุดยืน (Position) ของตนเอง สิ่งที่ต้องริเริ่มดำเนินการโดยเร็วคือการสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองด้วยการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนในวงกว้าง ต่อข้อเสนอ ทางเลือก และความเป็นไปได้ต่างๆในการสร้างความปรองดองในชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละฝ่ายสามารถก้าวออกจากจุดยืนที่แตกต่างกันมาสู่จุดร่วมที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้

ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องซึ่งยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่นั้น จึงมีลักษณะเป็นทางเลือกที่ยังมิใช่คำตอบสุดท้าย โดยขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการสร้างความปรองดองบนพื้นฐานของความจริงจังและจริงใจด้วยกระบวนการพูดคุย (Dialogue) ใน ๒ระดับ คือ ๑) ระดับตัวแทนทางการเมืองและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และ ๒) ระดับประชาชนในพื้นที่ในลักษณะของ “เวทีประเทศไทย” ซึ่งจะทำให้สังคมได้ร่วมกันแสวงหาทางออกต่อความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน และออกแบบภาพอนาคตของประชาธิปไตยไทย ตลอดจนกติกาทางการเมืองที่ยอมรับได้ร่วมกัน

ทั้งนี้ เนื้อหาสาระของการพูดคุยแลกเปลี่ยน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการปรองดองนั้น มีอย่างน้อย ๖ ประเด็น โดยแบ่งเป็นระยะสั้น ๔ ประเด็นเพื่อทำให้ความแตกแยกและบาดแผลที่เกิดขึ้นกับสังคมและปัจเจกบุคคลกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และระยะยาว ๒ ประเด็นเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความแตกต่างของมุมมองต่อประชาธิปไตย และเป็นการวางรากฐานของประเทศสู่อนาคต

 

ในระยะสั้น มีประเด็นที่สังคมควรต้องพิจารณาร่วมกัน ดังต่อไปนี้

(๑) การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย โดยการสนับสนุนส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ดำเนินการค้นหาความจริงให้แล้วเสร็จภายในหกเดือน และควรเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์โดยไม่ระบุตัวบุคคลในระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบททางสังคม โดยวัตถุประสงค์ของการเปิดเผยนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อให้สังคมเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีตและป้องกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต

(๒) การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองโดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยมีความเป็นไปได้อย่างน้อย ๒ ทางเลือก

ทางเลือกที่หนึ่ง – ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท ทั้งคดีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง อาทิ การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน หรือการทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต

ทางเลือกที่สอง – ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองเฉพาะคดีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ เท่านั้น โดยคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน หรือการทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต จะไม่ได้รับการยกเว้น

ทั้งนี้ ทั้งสองทางเลือก ให้ยกเว้นกรณีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้กรณีดังกล่าวดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมและนิติประเพณี

(๓) การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและเป็นการลดเงื่อนไขของข้อกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนของการดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาโดยกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยมีความเป็นไปได้อย่างน้อย ๓ ทางเลือก

ทางเลือกที่หนึ่ง – ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยให้เฉพาะผลการพิจารณาของ คตส. สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว

ทางเลือกที่สอง – ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ

ทางเลือกที่สาม – ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้งทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด จะต้องไม่มีการฟ้องร้อง คตส. ในเวลาต่อมา เนื่องจากถือว่าการกระทำของ คตส. เป็นไปตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในขณะนั้น

(๔) การกำหนดกติกาทางการเมืองร่วมกัน ซึ่งอาจรวมถึงการแก้ไขกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกันต่อประเด็นที่อาจจะถูกมองว่าขัดต่อหลักนิติธรรมและความเป็นประชาธิปไตย และต้องหลีกเลี่ยงการสร้าง “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” ในแง่ที่ผู้มีอำนาจรัฐเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดโดยไม่ฟังเสียงที่เห็นต่าง อนึ่ง ประเด็นที่ต้องพิจารณาอาจรวมถึงการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรอิสระ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การตรวจสอบองค์กรอิสระ การได้มาซึ่งบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือการยุบพรรคการเมือง

 

ในระยะยาว มีประเด็นที่สังคมควรต้องพิจารณาร่วมกัน ดังต่อไปนี้

(๑) การออกแบบภาพอนาคตของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นหลักการที่ทุกฝ่ายยอมรับและยึดถือร่วมกัน โดยการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันถึงลักษณะความเป็นประชาธิปไตยของไทยที่คนในสังคมยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ อันถือเป็นปัญหาใจกลางของความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเห็นพ้องในหลักการและกติกาทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยไทย

(๒) การวางรากฐานของประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และการเสริมสร้างวัฒนธรรมความเป็นพลเมืองและความทนกันได้ (Tolerance) ในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง

ทั้งนี้ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง โดยรัฐบาลควร (๑) แสดงเจตจำนงทางการเมืองชัดเจน รวมทั้งมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างความปรองดองในชาติโดยเร็ว (๒) สร้างความตระหนักแก่สังคมให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการสร้างความปรองดองในชาติ และ (๓) มีคำอธิบายต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งในรูปของตัวเงินและความรู้สึก อาทิ การให้เกียรติผู้สูญเสียทุกฝ่าย หรือการสร้างสัญลักษณ์เพื่อเป็นที่รำลึกถึงบทเรียนต่อเหตุการณ์ทางการเมืองของสังคมไทย

ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องนั้น (๑) ทุกฝ่ายควรงดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าอยู่ในสังคมที่ไม่เคารพกฎหมายและหลักนิติรัฐ อาทิ การใช้มวลชนในการเรียกร้องหรือกดดันด้วยวิธีการอันผิดกฎหมาย และ (๒) ควรลดความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมโดยยุติการเคลื่อนไหวใดๆ ที่อาจถูกตีความได้ว่าเป็นความพยายามที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ (๓) สื่อมวลชนควรสนับสนุนกระบวนการสร้างความปรองดองและหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งใหม่โดยนำเสนอความคิดเห็นทางการเมืองจากฝ่ายต่างๆอย่างรอบด้าน และ (๔) สังคมไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดกับการทำรัฐประหารที่ผ่านมาในอดีตและต้องหามาตรการในการป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหารอีกในอนาคต พร้อมทั้งกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวไว้ในประมวลกฎหมายอาญา

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังที่กล่าวมาจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอย่างน้อย ๓ ประการ คือ (๑) เจตจำนงทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐที่จะสร้างความปรองดองโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ (๒) กระบวนการสร้างความปรองดองจะต้องมีพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงและประชาชนจากทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นต่อทางออกและแนวทางป้องกันมิให้ความขัดแย้งกลับกลายเป็นความรุนแรงในอนาคต และ (๓) ปัญหาใจกลางซึ่งเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งจะต้องได้รับการแก้ไขและแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนาประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาของประเทศไทย

 

อนึ่ง คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ริเริ่มกระบวนการพูดคุยร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นโดยไม่ใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน หลังจากนั้นจึงขยายผลการพูดคุยสู่พรรคการเมืองของตน กลุ่มผู้สนับสนุน และสังคมใหญ่ เพื่อให้ผู้คนทั้งสังคมที่ไม่ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองแบบใด เกิดความตระหนักว่า สังคมไทยจะปรองดองกันได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการถกเถียงถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ผ่านกระบวนการพูดคุยที่สามารถนำมาซึ่งทางออกที่ยอมรับได้ร่วมกัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว การที่กระบวนการสร้างความปรองดองในชาติจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องก้าวข้ามไปให้ไกลกว่าการถกเถียงกันเพียงแค่ในข้อกฎหมาย กล่าวคือ ต้องพิจารณาให้กว้างและลึกลงถึงเหตุแห่งความขัดแย้ง คำนึงถึงมิติความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆในสังคม รวมถึงการมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาและสร้างความปรองดองที่ทุกฝ่ายในสังคมให้การยอมรับ ภายใต้บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่ามีบทบาทและพื้นที่ในการเสวนาถกเถียงถึงภาพอนาคตของประเทศ อันเป็นเสมือนหลักหมุดปลายทางที่ทุกฝ่ายจะร่วมเดินทางไปภายใต้กติกาที่สังคมเห็นพ้องต้องกัน

000

ตารางสรุปสาระสำคัญของการสร้างความปรองดองในชาติ

๑. ใครขัดแย้งกับใคร? à มุมมองต่อความเป็นประชาธิปไตยที่แตกต่างกันในแง่ของระบบการจัดการอำนาจและทรัพยากรในสังคม

ระหว่างประชาธิปไตยเน้นเสียงข้างมาก กับ ประชาธิปไตยเน้นคุณธรรมจริยธรรม

๒. ขัดแย้งกันเรื่องอะไร? -> ชั้นความเชื่อ – ความเชื่อที่แตกต่างต่อระบบการจัดการอำนาจและทรัพยากรในสังคม

ชั้นผลประโยชน์ – การแสวงหาและรักษาอำนาจและผลประโยชน์ที่อิงกับความเชื่อ

๓. ความขัดแย้งขยายตัวได้อย่างไร? -> การใช้อำนาจของ ‘ทั้งสองฝ่าย’ เพื่อดำเนินการตามความเชื่อข้างต้นและ/หรือให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์

ของตนเองในลักษณะที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

๔. จะปรองดองกันได้อย่างไร? -> กระบวนการพูดคุย (Dialogue) ใน ๒ ระดับ เพื่อเปิดพื้นที่ให้สังคมได้แลกเปลี่ยนถกเถียงต่อข้อเสนอ

ทางเลือก และความเป็นไปได้ต่างๆ พร้อมทั้งร่วมกันออกแบบภาพอนาคตของประชาธิปไตยไทยและ

กติกาทางการเมืองที่เห็นพ้องต้องกัน

๕. ตัวอย่างประเด็นที่ควรพูดคุยกัน -> ๑) การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย

๒) การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม

ทางการเมือง

๓) การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและเป็นการลดเงื่อนไขของข้อกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนของการดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาโดยกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

๔) การกำหนดกติกาทางการเมืองร่วมกัน

๕) การออกแบบภาพอนาคตของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

๖) การวางรากฐานของประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม

AttachmentSize
โครงการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ1.57 MB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

สสร.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดและคนไม่จบ ป.4 ก็เป็นได้ เพราะ “คนเราเท่ากัน”

Posted: 22 Mar 2012 12:27 AM PDT

 
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 291 ก็เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินการกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยการระดมความคิดเห็นจากประชาชน เหมือนเช่น รัฐธรรมนูญ 40 และให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม กระบวนการได้มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ คงได้ข้อสรุปกันแล้วว่า ต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก ซึ่งมีบางความคิดว่า ควรมาจาการเลือกตั้งทั้งหมด และบางความคิดว่าควรมาจากการเลือกสรรของ “กันเอง” หรือ “ภายใน” ของคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญ” ด้วย จำนวนถึง 22 คน
 
ผู้เขียนคิดว่า บทเรียนจากประวัติศาสตร์ในการผลิตรัฐธรรมนูญในสังคมไทยหลายฉบับที่ผ่านมา มักให้ความสำคัญกับ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่เป็นนักนิติศาสตร์ นักกฎหมายมหาชน 
 
แต่รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่มาจากคณะรัฐประหาร ซึ่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนนั้น และได้ให้อำนาจกับอำนาจนอกระบบประชาธิปไตยครองความเป็นอำนาจนำครองความเป็นใหญ่เหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ก็ปฏิเสธมิได้ว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” เป็นผู้มีส่วนร่างด้วย และ “ผู้เชี่ยวชาญ” จำนวนมากมักไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย
 
ขณะที่ถ้าเปิดทางให้ มีการเลือกสรรของ “กันเอง” หรือ “ภายใน” ของคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญ” นั้นไม่ว่าผ่านทางสภาอาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือกระบวนการเลือกสรรของสถาบันการศึกษา แล้วเสนอเชื่อมายังกลไกรัฐสภาเลือกอีกครั้ง อาจจะได้รับรายชื่อของ  “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ไม่นิยมระบอบประชาธิปไตยเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องเพราะปฏิเสธมิได้ว่าการครองอำนาจนำของ สภาอาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือกระบวนการเลือกสรรของสถาบันการศึกษานั้น ล้วนมิใช่ “นักประชาธิปไตย” และคงได้ “ผู้เชี่ยวชาญ” หน้าเดิมๆ ที่ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้ว รวมทั้งฉบับรัฐประหาร 50 
 
ผู้เขียนจึงคิดว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มิควรปล่อยให้ “ผู้เชี่ยวชาญ” เป็น “อภิสิทธิ์ชน” เหมือนที่ผ่านมา เพราะ “คนเราเท่ากัน”
 
“ผู้เชี่ยวชาญ” อาจทำหน้าที่ให้ “บริกร” กับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อาจตั้งเป็นผู้มีหน้าที่ หรือกรรมาธิการ ทำให้เป็น “รัฐธรรมนูญ” ตามความต้องการของประชาชน ภายหลังกระบวนระดมความคิดเห็นจากประชาชนของ สสร. แต่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เหมือนสสร.  ถ้า “ผู้เชี่ยวชาญ” ต้องการทำหน้า เช่น สสร. จึงควรลงสมัครเลือกตั้งสสร.และให้ประชาชนเลือก
 
นอกจากนี้แล้ว ด้านการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร สสร. ซึ่งบางความคิดเสนอว่า ต้องจบระดับปริญญาตรี แต่บางความคิดว่าไม่จำเป็น 
 
ผู้เขียนคิดว่า สังคมไทยมักให้ค่ากับคนที่มีความรู้ภายในกรอบ “วุฒิบัตร” “ปริญญา” นับว่าเป็น “อภิสิทธิ์ชน” รูปแบบหนึ่ง ขณะที่คนจบระดับปริญญาเอก เป็นศาสตราจารย์ ไม่น้อยหาได้ชื่นชมระบอประชาธิปไตย แต่คนจบ ป.4 จำนวนมากสนใจเรียนรู้ความคิดของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้อภิวัฒน์ระบอบประชาธิปไตย ก็มีให้เห็น
 
คนไม่จบปริญญาตรี หลายคนล้วนมีประสบการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพ ด้านประชาธิปไตย ซึ่ง ดร.ทั้งหลายหาได้มีประสบการณ์ตรง เช่น การรวมกลุ่มกันของ ของผู้ใช้แรงงาน การรวมกลุ่มกันของเกษตรกร การรวมพลังกันของ นปช. ฯลฯ อันเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม
 
คนขับแท็กซี่ “นวมทอง ไพรวัลย์” ไม่ได้จบปริญญาเอก แต่กล้าพลีชีพ เสียสละชีวิตเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย คัดค้านการรัฐประหาร คนจบ ดร.ไม่น้อยกลับสนับสนุนรัฐประหาร รับใช้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตย 
 
ที่สำคัญ หลักการอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตย นั้นเชื่อว่า “คนเราเท่ากัน” ในการเลือกผู้ปกครองผู้บริหารประเทศ ไม่ว่ากำเนิดของใครจะเป็นไพร่หรืออำมาตย์ จะยากจนหรือเป็นเศรษฐี จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย จะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาส จะเป็นครูบาอาจารย์หรือลูกศิษย์ ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์หรือยาจก ฯลฯ ตลอดทั้งจะจบ ป.4 หรือจบ ดร. ก็ตาม
 
แต่ “ทุกคนเท่ากัน” และ “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” เลือกสสร. 
 
และ “คนเราเท่ากัน” จบป.4 ก็สมัคร สสร.ได้ มิใช่หรือ?
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชะตากรรมคนงานผลิตชิ้นส่วนไอที - คนทำงาน กุมภาพันธ์ 2555

Posted: 21 Mar 2012 11:54 PM PDT


Published under a Creative Commons License By attribution, non-commercial

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น