โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แก้รัฐธรรมนูญได้ ปรองดองได้ แต่อย่าดูถูกประชาชน

Posted: 11 Mar 2012 09:40 AM PDT

 

ในขณะที่ “รัฐสภา” กำลังพิจารณาว่าจะ “แก้รัฐธรรมนูญ” หรือไม่และจะแก้อย่างไร ล่าสุด “สถาบันพระปกเกล้า” ก็ได้เสนอ “แนวทางการปรองดอง” ที่อาจคล้ายแต่ก็ไม่เหมือนกับข้อเสนอ “การลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ที่เสนอโดย “นิติราษฎร์” ไปก่อนหน้านี้

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะไม่ถกเถียงในรายละเอียดว่า การแก้รัฐธรรมนูญนั้น ควรทำหรือไม่อย่างไร และสังคมไทยควรยึดแนวทาง “การปรองดอง” หรือ “การล้างผลพวงรัฐประหาร” แบบใด แต่จะเสนอแนวคิดว่า หากสุดท้ายจะมีการร่าง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”  (ซึ่งอาจมีผู้นำไปโยงกับ “การปรองดอง” หรือ “การล้างผลพวงรัฐประหาร”)  แล้วไซร้  สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “การไม่ดูถูกประชาชน”

1. คำถาม: ทำไมดูถูกประชาชน ?
เรา “ประชาชน” สงสัยหรือไม่ว่า “นักการเมืองไทย” กล้าดีแค่ไหน ที่ออกมาพูดจาปิดมัดรัดมือพวกเราตั้งแต่ยังไม่ทันจะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญ!?

มี “นักการเมือง” (หรือบางกรณีก็พรรคการเมือง) หลายขั้ว ที่ออกมาดักขู่ดูถูก “ประชาชนคนไทย” ว่าคิดเองไม่เป็น จึงต้องเชื่อฟัง “นักการเมือง” ว่า การแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องมีข้อห้าม เช่น

1) ไม่แตะต้องมาตราที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์
2) ไม่ยุบหรือแทรกแซงองค์กรอิสระหรือศาล
3) ไม่แก้กฎหมายเพื่อคนเพียงคนเดียว

ผู้เขียนในฐานะ “ประชาชน” ขอย้อนถาม “นักการเมือง” เหล่านี้ว่า

1) หาก “ประชาชน” เห็นว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” อันเป็นที่รักและศรัทธากำลังเผชิญกับอุปสรรค หรือถูกนำไปแอบอ้างให้สังคมแตกแยกแล้วไซร้ ไฉน “ประชาชน” จะไม่มีสิทธิแสดงเจตจำนงให้รัฐธรรมนูญมีมาตรการสนับสนุนคุ้มครองให้ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ดำรงคู่แผ่นดินไทยต่อไปอย่างเข้มแข็ง มั่นคง และประจวบกับยุคสมัยยิ่งขึ้นกว่าเดิม ?

ในขณะเดียวกัน เป็นไปไม่ได้หรือ ที่ “ประชาชน” จะฉลาดพอที่จะร่วมรับฟัง ถกเถียงและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง และหากพบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นกระทบต่อ “สถาบันพระมหากษัตริย์” อย่างไม่บังควร ก็แสดงพลังโดยการออกเสียง “ไม่เห็นชอบ” ปฏิเสธข้อเสนออันไม่บังควรดังกล่าวทิ้งไปเสีย?

2) ฉันใดก็ฉันนั้น หาก “ประชาชน” เห็นว่า “ศาล” หรือ “องค์กรอิสระ” ทำงานไม่ดี ซ้ำซ้อนไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้งานหรือคดีความคั่งค้างไม่สมประโยชน์เงินภาษีแล้วไซร้ ประชาชนจะแสดงเจตน์จำนงให้ปรับปรุงแก้ไข หรือยุบเลิกองค์กรเหล่านี้มิได้หรือ?

3) และฉันใดก็ฉันนั้น หากประชาชนเห็นว่า ที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายเล่นงานหรือทำร้ายคนๆ เดียว หรือ กลุ่มๆ เดียว อย่างไม่เป็นธรรมไซร้ ประชาชนจะแก้ไขกฎหมายที่ผิด เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับ คนๆ เดียว หรือ กลุ่มๆ เดียว มิได้หรือ ? หรือ ประชาชนคนไทยคิดอ่านแยกแยะเองไม่ได้ว่า การปรองดอง การนิรโทษกรรม การล้างรัฐประหาร หรือ วิธีอื่นใด คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ?

ผู้เขียนเห็นว่า การแก้ไขหรือสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ต้องเริ่มจากการเคารพสติปัญญาและโอกาสที่จะมีส่วนร่วมและเรียนรู้ลองผิดลองถูกด้วยตนเองของประชาชน มิใช่รวมศูนย์รวบรัดตัดตอนยัดถอนความคิดของประชาชน จนสุดท้าย แทนที่ประชาชนจะได้ตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเองในฐานะผู้เป็นเจ้าของอธิปไตยอย่างเสรี กลับมีแค่หน้าที่ไปเข้าคูหา เลือกว่า รับ หรือ ไม่รับ สิ่งที่มีผู้เลือกมาให้แล้วเท่านั้น

พวกเรา “ประชาชน” ก็เช่นกัน เราต้อง “เลือกว่าเราคิดเองเป็น” และให้โอกาสคนไทยด้วยกันใช้สติปัญญาและวุฒิภาวะที่จะร่วมกันพิจารณาเรื่องบ้านเมืองของตนเอง ด้วยตนเอง และเพื่อตนเอง เรา “ประชาชน” และ “สื่อมวลชน” ต้องร่วมกันโต้แย้งและปฏิเสธวาทกรรม “ข้อห้าม” ที่ “นักการเมืองบางส่วน” พยายามยัดเยียดเบียดบังว่า แก้รัฐธรรมนูญนั้น แก้ได้ แต่ห้ามแก้เรื่องนั้น ห้ามแตะเรื่องนี้ เพราะหากร่างมาไม่ดี เราย่อมออกเสียงได้ว่าจะไม่ยอมรับ แต่หากเราตัดสินใจผิดพลาด เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อความผิดพลาดเพื่อตัดสินใจให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

แต่หากพวกเรา “เลือกดูถูกกันเอง” ว่าคนไทยคิดเรื่องบางเรื่องไม่ได้ หากปล่อยให้คิดให้คุยแล้วย่อมกลายเป็นมนุษย์ถ้ำตีฆ่ากัน และหาก “สื่อมวลชน” ถูกจูงเข้าถ้ำไปพร้อมกันแล้วไซร้ ก็ขอให้เราทำใจว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ “นักการเมือง” ก็ “เลือกได้สบาย” เหมือนทุกครั้ง และวาทกรรมปีศาจ “คนไทยยังไม่พร้อม” ก็จะถูกหยิบใช้อย่างสะดวกเพื่อให้ประเทศนี้ตกเป็นของผู้ที่เพียบพร้อมเหนือมนุษย์ และความอึดอัดที่เกิดจากการดูถูกดูแคลนนี้เอง ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในที่สุด

2. ข้อเสนอ: ประชามติ ที่ไม่ดูถูกประชาชน
ย่อมมีผู้ถามต่อว่า หลักการที่กล่าวมาฟังดูดี แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้ “ประชาชน” มีส่วนร่วมในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง เพราะสุดท้ายเรา “ประชาชน” ก็ได้แต่รอให้คนที่เราเลือก (ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม) ไปจัดทำร่าง จากนั้นพอร่างเสร็จ เราก็ไปเข้าคูหากาบัตร เลือกว่า “รับ” หรือ “ไม่รับ” หรือไม่ออกเสียง ก็เท่านั้น หากไม่ไปออกเสียงก็อาจโดนบังคับตัดสิทธิเสียอีก?

คำตอบมีอยู่หลายประการ แต่ผู้เขียนขอยกเรื่อง “การลงประชามติ” ที่ดูเหมือนเป็นขั้นตอนปลายทาง มาตั้งเป็นประเด็นให้สังคมไทยพิจารณาตั้งแต่ต้นทาง ดังนี้

2.1 การลง “ประชามติ” มีได้มากกว่า 1 คำถาม
การลงประชามติโดย “ประชาชน” นั้น ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับ “การเข้าคูหากาบัตรใบเดียว” ว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ”  (รับ หรือ ไม่รับ) “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เท่านั้น แต่เราสามารถมีทางเลือกอื่น หรือ “ทางเลือกเสริม” ที่สามารถตัดสินใจไปพร้อมกับการ รับ หรือ ไม่รับ  “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ได้ในเวลาเดียวกัน

หากจะกล่าวให้เห็นภาพ อาจเปรียบ “การลงประชามติ” เหมือนกับการตัดสินใจซื้อรถยนต์ว่าจะซื้อรถคันใหม่ทั้งคันหรือไม่

แต่ขณะเดียวกัน ก็มี “ตัวเลือกเสริม” ว่าต้องการให้รถคันใหม่คันนี้ มี “อุปกรณ์พิเศษ”  หรือ “ตัวเลือกเสริม” ไปพร้อมกันในวันซื้อรถ หรือไม่ ?

ตัวอย่าง เช่น ในวันที่มีการลงประชามติ แทนที่เราจะได้รับบัตรมาใบเดียว เพื่อกาว่า รับ หรือ ไม่รับ  “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” อาจมี บัตรอีกใบ ที่ให้เราเลือกได้ว่า ต้องการให้ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” มีหมวดพิเศษว่าด้วย “การล้างผลพวงรัฐประหาร” หรือมีบัญญัติเพื่อแก้ไขปัญหา “มาตรา 112” หรือไม่ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากประชาชนมีมติไม่รับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ผลก็คือ การลงมติหมวดพิเศษว่าด้วย “การล้างผลพวงรัฐประหาร” ย่อมตกไปโดยอัตโนมัติ แต่หากประชาชนมีมติรับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ก็ต้องดูต่อไปว่า ประชาชนได้ลงมติเพื่อแสดงเจตน์จำนงว่า ต้องการให้มีหมวดพิเศษว่าด้วย “การล้างผลพวงรัฐประหาร” ด้วยหรือไม่

2.2 ประโยชน์ของ “ประชามติ” ที่มีมากกว่า 1 คำถาม
ย่อมมีผู้สงสัยว่า หากเรื่อง เช่น “การล้างผลพวงรัฐประหาร” นั้นสำคัญจริง เหตุใดจึงไม่บรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในร่าง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เพื่อให้ประชาชนลงมติในคราวเดียวกันไปเลย? ผู้เขียนคิดว่ามีเหตุผลอย่างน้อยสามประการ

ประการแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวาทกรรมปีศาจปิดโอกาสประชาชน ทำนองว่า หากบรรจุหมวด “การล้างผลพวงรัฐประหาร” ไว้ใน “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เพื่อให้ประชาชนลงมติในคราวเดียวกันไปเลยแล้วไซร้ ก็จะเกิดความแตกแยกในหมู่ผู้ลงประชามติ เช่น  ถูกเหมารวมว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เป็นการทำเพื่อช่วยคุณทักษิณ หรือถูกหยิบนำมาเป็นประเด็นเพื่อไม่ให้บรรจุเป็นตัวเลือก หรือแม้บรรจุได้ ก็กลายเป็นข้ออ้างให้ไม่ลงมติไม่รับ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ทั้งฉบับ เพียงเพราะหมวดที่เป็นปัญหาหมวดเดียว

ในทางตรงกันข้าม ก็เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มอำนาจที่มีส่วนได้เสียจากการรัฐประหาร พยายามยัดเยียดแนวทางการรอมชอมประโยชน์เพื่อเอาตัวรอด และมัดมือประชาชนโดยบรรจุแนวทาง “ปรองดองปลอมๆ” ใน “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่สุดท้ายผู้เรืองอำนาจทุกฝ่ายรอดพ้นจากความผิด และไม่มีใครรับผิดชอบต่อประชาชน และประชาชนก็ได้แต่จำใจรับสิ่งที่ยัดเข้ามาใน “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

ดังนั้น การแยกเรื่อง “การล้างผลพวงรัฐประหาร” ให้เป็นประเด็นสำหรับลงมติแยก ย่อมเป็นการส่งเสริมและปกป้องการยกร่างและลงประชามติ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” (ที่ไม่ได้บรรจุ “การล้างผลพวงรัฐประหาร” โดยอัตโนมัติ)  ในเวลาเดียวกัน

ประการที่สอง เพื่อเป็นโอกาสให้คนไทยทั้งประเทศ ได้ลงมติให้ชัดเจนในประเด็นที่เจาะจงว่า เราต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่อนาคตอย่างไร เพราะ “การปรองดอง” หรือ “การล้างผลพวงรัฐประหาร” ย่อมมีหลายวิธี และย่อมโยงไปถึง คุณทักษิณ ผู้กระทำรัฐประหาร และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะเกิดผลอย่างไร จะปล่อยไว้ตามเดิม หรือให้อภัย หรือบังคับให้ต้องมีการพิจารณาคดีใหม่ ทั้งฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจ และฝ่ายที่ทำการยึดอำนาจ

ดังนั้น เมื่อประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและมีความคิดเห็นที่หลากหลาย การจัดให้เป็นประเด็นสำหรับลงมติแยก ก็ย่อมเป็นการส่งเสริมให้กระบวนการตัดสินใจของสังคมรัดกุมชัดเจนมากขึ้น

ประการที่สาม เพื่อเป็นการสนับสนุนการหาทางออกร่วมกันของกลุ่มอำนาจโดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ทั้งนี้ เมื่อมีการร่างหมวดดังกล่าวเพิ่มมาเป็นตัวเลือกให้ประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มอำนาจที่มีส่วนได้เสีย ย่อมถูกบังคับให้ออกแบบทางเลือกที่รัดกุม เป็นธรรม และสมเหตุสมผลมากที่สุด เพราะหากเสนอสิ่งที่สุดโต่งหรือเอื้อประโยชน์ผู้ใด ก็ย่อมเสี่ยงที่จะถูกประชาชนต่อต้านโดยการออกเสียงไม่รับข้อเสนอในหมวดดังกล่าว

3. ความท้าทายของ “ประชามติ” ที่มีมากกว่า 1 คำถาม
แนวคิด “การลงประชามติ” ที่เสนอมาข้างต้น มี “ข้อท้าทาย” ที่สมควรกล่าวถึงอย่างน้อย ดังนี้

ข้อท้าทายแรก: ความขัดแย้งของการแยกแยะ (Separability Problem)
ข้อท้าทายลักษณะนี้มีวิธีการมองได้หลายแบบ ผู้เขียนขอยกแบบหนึ่งมาเสนอดังนี้

การเสนอประเด็นให้ประชาชนลงประชาชมติมากกว่า 1 ข้อ อาจเกิดปัญหาว่า การลงประชามติใน “ประเด็นแรก” มีความเกี่ยวพันกับ “ประเด็นที่สอง”  โดยประชาชนคนหนึ่งอาจประสงค์ออกเสียง “เห็นชอบ” ให้มติ “ประเด็นแรก” ผ่าน แต่มีเงื่อนไขในใจว่า “ประเด็นที่สอง” ต้องไม่ผ่าน เมื่อเป็นดังนี้ ประชาชนคนดังกล่าวอาจไม่สามารถตัดสินใจลงมติได้อย่างสมบูรณ์ เพราะไม่รู้อนาคตว่า หากตนลงมติ “เห็นชอบ” ประเด็นแรกไปแล้ว ประชาชนทั้งประเทศจะลงมติให้ประเด็นที่สองผ่านหรือไม่ โดยหากประเด็นที่สองผ่านการเห็นชอบ ตนย่อมไม่อยากให้ประเด็นแรกผ่านการเห็นชอบ เป็นต้น

ผู้เขียนขอตัวอย่างดังนี้

ประเด็นที่ 1 : “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ร่าง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

ประเด็นที่ 2 : “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ”  ให้ร่าง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เพิ่มหมวดพิเศษเกี่ยวกับการล้างผลพวงรัฐประหาร

จากตัวอย่างนี้ หาก “นาย ก” ผู้ไปออกเสียง เชื่อว่า ประเทศไทยควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่ควรแตะต้องผลพวงรัฐประหาร หากมองในมุม “นาย ก” คนเดียว “นาย ก” ย่อมออกเสียงดังนี้

- ประเด็นที่ 1 : ออกเสียง “เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

- ประเด็นที่ 2 : ออกเสียง “ไม่เห็นชอบ” ให้เพิ่มหมวดพิเศษเกี่ยวกับการล้างผลพวงรัฐประหาร

แต่หาก “นาย ก” กังวลว่า มีประชาชนคนไทยจำนวนมากที่จะสบับสนุนให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีหมวดพิเศษเกี่ยวกับการล้างผลพวงรัฐประหารจนอาจผ่านความเห็นชอบได้  “นาย ก” อาจคิดว่า ตนยินดียอมใช้ “รัฐธรรมนูญฉบับเดิม” เพื่อจะไม่ต้องมีหมวดใหม่เรื่องการล้างผลพวงรัฐประหาร (เพราะหากประเด็นที่ 1 ไม่ผ่านความเห็นชอบ ประเด็นที่ 2 ก็ย่อมไม่ผ่านโดยอัตโนมัติ)

หาก “นาย ก” คิดเช่นนี้ “นาย ก” ย่อมออกเสียงดังนี้

- ประเด็นที่ 1 : ออกเสียง “ไม่เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

- ประเด็นที่ 2 : ออกเสียง “ไม่เห็นชอบ” ให้เพิ่มหมวดพิเศษเกี่ยวกับการล้างผลพวงรัฐประหาร

ปัญหาความขัดแย้งของการแยกแยะ (Separability Problem) ก็คือ หาก “นาย ก” ล่วงรู้อนาคตได้ว่า ประเด็นที่ 2 (หมวดพิเศษเกี่ยวกับการล้างผลพวงรัฐประหาร) จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากเสียงประชามติของประชาชนทั้งประเทศ “นาย ก” ก็ย่อมพอใจที่จะออกเสียง “เห็นชอบ” ให้กับประเด็นที่ 1 เพื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ที่ไม่มีการล้างผลพวงรัฐประหาร) แต่เมื่อไม่มีผู้ใดล่วงรู้อนาคตได้ ผลที่ตามมาอาจทำให้ประชาชนหลายฝ่ายไม่ได้พอใจสูงสุด เช่น “นาย ก” เองก็ไม่ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนผู้ที่ต้องการหมวดพิเศษเกี่ยวกับการล้างผลพวงรัฐประหารก็ไม่ได้สิ่งที่ต้องการเช่นกัน

ในเบื้องต้น ข้อท้าทายนี้อาจก้าวข้ามได้โดยการยึดหลักการพื้นฐานว่า การตัดสินใจร่วมกันในทางประชาธิปไตย มิได้มีเพื่อให้ประชาชนแต่ละคนได้รับความพึงพอใจสูงสุด อีกทั้งการลงประชามติก็มิใช่กระบวนการตัดสินใจที่สมบูรณ์แบบ หากแต่การตัดสินใจร่วมกันในทางประชาธิปไตย คือ การแสวงหาจุดร่วมที่ปวงชนทั้งประเทศสามารถยอมรับและลองผิดลองถูกร่วมกันได้ และในท้ายที่สุด ประโยชน์โดยรวมจากการเพิ่มตัวเลือกให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจร่วมกัน ย่อมดีกว่าการจำกัดตัวเลือกซึ่งทำให้ประชาชนลงมติเฉพาะ “รัฐธรรมนูญฉบับหลัก” ซึ่งมีความเสี่ยงจากการถูกแทรกแซงดังที่กล่าวไปแล้ว

ข้อท้าทายที่สอง: ความชอบธรรมในการเพิ่มประเด็นในการลงประชามติ
อาจมีผู้สงสัยว่า หากอนุญาตให้มีประเด็นอื่นนอกจากประเด็นหลัก (“เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ร่าง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”) ก็จะมีความพยายามเพิ่มประเด็นอื่นจนอาจมีการเรียกร้องให้ลงประชามติหลายเรื่อง และจะจำกัดหรือคัดเลือกประเด็นอย่างไรให้เกิดความเหมาะสมที่จะนำไปลงประชามติ

เรื่องนี้สามารถบริหารจัดการได้ในเบื้องต้นหลายวิธี เช่น การกำหนดวิธีการอาศัยเสียงข้างน้อยที่มีนัยสำคัญของผู้ร่างก็ดี หรือ รัฐสภาในฐานะผู้แทนประชาชนก็ดี เช่น อาศัยเสียง 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 5 เพื่อเสนอญัตติให้มีการกำหนดประเด็น “ตัวเลือกเสริม” สำหรับลงประชามติได้ โดยอาจมีการจำกัดว่าต้องมีประเด็นลงประชามติทั้งสิ้นไม่เกินสามประเด็น เป็นต้น

ข้อท้าทายที่สาม: เวลาที่ใช้ในการยกร่าง
อาจมีผู้กังวลว่า การลงประชามติหลายประเด็นอาจทำให้การร่างต้องใช้เวลาและยืดเยื้อ

ข้อนี้ตอบได้ว่า คุณภาพของรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดโดยระยะเวลาในการร่าง ข้อสำคัญ คือ เรา “ประชาชน” อย่าไปปักใจว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเสร็จในครึ่งปี หรือหนึ่งปี แน่นอนว่าการมีเวลามาก ย่อมทำให้การเปิดเวทีรับฟังและพิจารณาความเห็นประชาชนทำได้ทั่วถึงมากขึ้น แต่หากมากไปก็อาจกลายเป็นเครื่องประวิงต่อรองหรือปัญหาระหว่างผู้ร่างกันเอง

ผู้เขียนเห็นว่า อาจกำหนดให้ผู้ร่าง ไม่ว่าจะเป็น สสร. หรือ ผู้ใด มีสิทธิลงมติขยายกรอบเวลาการร่างได้หากจำเป็น แต่ไม่เกินกรอบใหญ่ที่จำกัดไว้ เพื่อความหยืดหยุ่นในการทำงานตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในอนาคต โดยกรอบเวลาควรยึดที่ความทั่วถึงของการรับฟังความเห็นของประชาชน และโอกาสของสังคมที่จะได้ถกเถียงกันเป็นสำคัญ มิใช่ยึดตามกรอบการทำงานที่สะดวกต่อผู้ร่างเป็นหลัก ทั้งนี้ เพราะคุณค่าของการลงประชามติ มิได้อยู่ที่การกาบัตรในวันลงประชามติ แต่อยู่ที่กระบวนการทั้งหมด ที่นำมาสู่การกาบัตรในวันดังกล่าว

บทส่งท้าย
ผู้เขียนขอส่ง “แนวคิดเบื้องต้น” ในบทความนี้แทนกำลังใจไปยังผู้แทนประชาชนในสภาที่กำลังหารือว่า “จะแก้” รัฐธรรมนูญ อย่างไร โดยโปรดอย่าบอกปัดอย่างเกียจคร้านเพียงว่า ยุ่งยากเกินไป  แต่ขอให้รับไว้เป็นความท้าทายในหน้าที่ที่ต้องเผชิญเพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ  เพราะสุดท้าย การแก้รัฐธรรมนูญที่ง่ายและสะดวก แต่จำกัดทางเลือกของประชาชน คือ การดูถูกประชาชน  และยึดความสบายของผู้ร่างเป็นสำคัญ

อนึ่ง แนวคิดที่เสนอในบทความนี้ ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์บางส่วนไว้ในรายการ Intelligence ชมได้ทาง http://shows.voicetv.co.th/intelligence/33394.html

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จินตนาการต่อตนเองกับเพื่อนบ้าน: สิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนก่อนก้าวสู่อาเซียน

Posted: 11 Mar 2012 09:23 AM PDT

เมื่อสามปีที่แล้วมีการสำรวจพบว่าคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมากเป็นอันดับที่ 8 จากจำนวนทั้งหมด 10 ประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตกอกตกใจและอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ในปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนต้องออกมาประโคมข่าวเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การเตรียมการที่ผ่านมาและที่พยายามทำกันอยู่ มักจะเป็นการเตรียมความพร้อมทาง “เทคนิค” คือพยายามเพิ่มเทคนิค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับแรงงานภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มภาษาที่สามให้กับนักเรียนนักศึกษา การปรับตารางการเปิด-ปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับสากล แรงงานของเราจะได้ไปแข่งขันกับแรงงานเพื่อนบ้านได้สะดวกขึ้น หรือการเปิดสาชาวิชาใหม่ๆ ที่คาดว่าจะขยายตัวและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอาเซียน เป็นต้น

แน่นอนว่าการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นและสมควรทำ (โดยผ่านการถกเถียงถึงข้อดี-ข้อเสีย) แต่ผู้เขียนคิดว่ามีเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งที่สังคมไทยยังไม่ได้คิดและไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมันเท่าไหร่นัก นั่นคือการเปลี่ยนแปลง “จินตนาการ” หรือทัศนคติของเราที่มีต่อตนเองและต่อประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

ลักษณะเฉพาะของ “คนไทย” ที่เด่นชัดมากอย่างหนึ่งคือ ความหลงตัวเอง การยกยอปอปั้นตัวเอง หลงคิดว่าเราเป็น “เบอร์หนึ่ง” เราเป็น “ผู้นำ” และดีกว่าใครในอาเซียน เราเป็นเผ่าพันธุ์พิเศษ เรามีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนชาติใดในโลก เราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร เรามีศิลปวัฒนธรรมอันเลอเลิศ เราชอบนึกว่าเรา “ไหว้” เป็นอยู่ชาติเดียวทั้งๆ ที่คนอื่นเขาก็ไหว้กันทั่วไปเกือบทั้งเอเชียอาคเนย์ ฯลฯ มายาคติเหล่านี้ถูกปลูกฝังในหัวของเราอย่างเหนียวแน่น โดยไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม                

มายาคติดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่การเผชิญหน้ากับการเข้ามาของเจ้าอาณานิคมตะวันตกได้บีบบังคับให้ชนชั้นนำสยามในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทำการปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ เกิดการปรับตัวในหลายมิติ ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวได้นำไปสู่การสร้าง “รัฐชาติสมัยใหม่” และเมื่อมีรัฐชาติแบบใหม่แล้ว ชนชั้นนำสยามก็จำเป็นที่จะต้องสร้าง “ตัวตน” และ “อัตลักษณ์” ของชาติไทยขึ้นมาใหม่ด้วย                

คำถามสำคัญที่ชนชั้นนำสยามในสมัยนั้นต้องเผชิญและจำเป็นต้องตอบกับตนเองและเจ้าอาณานิคมตะวันตกก็คือ เราเป็นใคร เรามีอะไร อะไรบ้างที่เราควรจะเก็บรักษาไว้ อะไรบ้างที่ควรปรับเปลี่ยนให้ศิวิไลซ์มากขึ้น และอะไรบ้างที่ควรจะละทิ้งไปเสีย                

ต่อคำถามดังกล่าว ได้ทำให้เกิดการออกเดินทางสำรวจพื้นที่ต่างๆ ในดินแดนที่ห่างไกลโดยชนชั้นนำสยาม ในช่วงนี้จึงเกิดบันทึกการเดินทาง รายงานการสำรวจและการจดบันทึกลักษณะทางภูมิประเทศ ลักษณะรูปร่างหน้าตา วัฒนธรรม และสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ห่างไกลในสยามประเทศขึ้นมามากมาย                

ในกรณีเจ้าอาณานิคมตะวันตก การศึกษาหาความรู้ทางสังคมวัฒนธรรมของดินแดนอาณานิคม เป็นไปเพื่อที่จะทำให้การปกครองสะดวกขึ้น และการศึกษาจะอยู่ในลักษณะที่มองชาวตะวันออกเป็น “คนอื่น” ที่มีความเจริญ มีความศิวิไลซ์น้อยกว่าตนเอง ดังนั้น ชาวตะวันตกจึงมีภารกิจในการเผยแพร่อารยะ สร้างความศิวิไลซ์ให้แก่ชาวตะวันออกที่ล้าหลังและป่าเถื่อนให้มีความเจริญมากขึ้น                

แต่ในกรณีของชนชั้นนำสยามนั้น “คนอื่น” ที่ล้าหลังกว่ามิใช่ผู้คนในดินแดนอาณานิคมอันห่างไกล แต่กลับเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในขอบขัณฑสีมาและอาณาจักรโดยรอบที่ทยอยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก                

ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในขอบขัณฑสีมาถูกแบ่งเป็นชาวกรุง ชาวบ้านนอก และชาวป่าที่มีระดับความศิวิไลซ์แตกต่างกัน โดยที่ชนชั้นนำสยามได้ถือเอาวัฒนธรรมของตนเองและชาวกรุงเป็นตัวตัวแทนของความเป็นไทย เป็นผู้อยู่เหนือกว่า ดีกว่า เจริญกว่า จึงต้องเป็นผู้เผยแพร่ความศิวิไลซ์ คอยคุ้มครองดูแลให้ชาวบ้านและชาวป่าอยู่เย็นเป็นสุข ทัศนคติเช่นนี้ยังคงฝังลึกอยู่ในความคิดของ “ชาวเมือง” ในปัจจุบัน เพราะเรายังชอบมองว่าชาวบ้านโง่ ไม่มีความรู้ ขาดการศึกษา จึงโดนนักการเมืองหลอก และพึ่งตนเองไม่ได้                

สำหรับกรณีประเทศเพื่อนบ้าน การที่สยามไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกถูกใช้เป็นเหตุผลสำคัญในการยกยอปอปั้น หลอกตัวเอง และดูถูกเหยียดหยามประเทศอื่นๆ รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นญวน เขมร ลาว หรือพม่า ดินแดนเหล่านี้ถูกสร้างเป็น “คนอื่น” ที่มีความเจริญรุ่งเรืองน้อยกว่าสยาม จึงต้องตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะขับเน้นความรักและความภาคภูมิใจให้กับผู้คนภายในชาติของตนเอง เพราะหากไม่มี “คนอื่น” ที่แย่กว่า ก็ไม่มีทางตระหนักได้เลยว่าเมืองไทยของ “เรา” นี้ดีและยิ่งใหญ่เพียงใด                

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เมื่อนึกถึงประเทศเพื่อนบ้านเราก็จะนึกถึงภาพค่อนข้างติดลบหรือภาพที่ไม่ค่อยดีมาโดยตลอด พม่าถูกทำให้กลายเป็นศัตรูถาวรประจำชาติ ในขณะที่ลาวกลายเป็นบ้านพี่เมืองน้อง (แต่เราต้องเป็นพี่) ที่ยังด้อยพัฒนาและล้าหลัง ยังคงวัฒนธรรมที่เรียบง่าย น่ารัก ลาวจึงเป็นภาพตัวแทนของ “ชนบท” ที่เกิดมาจากอารมณ์โหยหาอดีตของชนชั้นกลางในเมืองไทย (ขบวนการทางการเมืองของมวลชนคนเสื้อแดง อาจกำลังท้าทายและทำลายภาพฝันที่ “ชาวเมือง” มีต่อ “ชนบท” อยู่ก็เป็นได้) ส่วนเขมรและเวียดนามนั้นกลายเป็นประเทศที่เลี้ยงไม่เชื่อง ชอบแข็งข้อและลอบกัดเราอยู่เนื่องๆ                

ต่อมาในยุคสงครามเย็น เรามองประเทศเพื่อนบ้านอย่างหวาดระแวงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์ เราถูกสอนให้มองผู้คนต่างชาติที่ลี้ภัยทางการเมืองเข้ามาอยู่อาศัยตามตะเข็บชายแดนอย่างระแวดระวัง เรามองคนเหล่านี้ด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจ มองว่ามาแย่งงานของคนไทยบ้างล่ะ มองว่าคนเหล่านี้ป่าเถื่อนดุร้ายบ้างล่ะ มองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหายาเสพติดบ้างล่ะ มองว่ามาก่อความไม่สงบบ้างล่ะ จนมองไปถึงขั้นที่ว่าผู้คนเหล่านี้บางกลุ่มแฝงตัวเข้ามาเพื่อก่อความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศของเรา (มีคำอธิบายเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าพวกนักศึกษาที่ถูกล้อมฆ่าไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนญวนซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์แฝงตัวเข้ามา)                

จินตนาการต่อประเทศเพื่อนบ้านเช่นนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการถักทอความสัมพันธ์อันดีระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพราะเราจะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพม่าได้เลย หากเรายังมองว่าเขาเป็นศัตรูประจำชาติ หรือเราจะสัมพันธ์กับลาวได้อย่างไร หากเรายังมองว่าลาวเป็นลูกน้องที่ต้องด้อยกว่าเราอยู่เสมอ เราจะสัมพันธ์กับเขมรและเวียดนามได้อย่างไร หากเรายังมองเขาอย่างหวาดระแวงและมองว่าไม่น่าไว้วางใจ ฯลฯ

หากเรายังจมอยู่กับจินตนาการแบบนี้ ตลาดแรงงานเสรีอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นก็จะไม่มีประโยชน์ใดเลย เพราะพวกเราคงยินดีที่จะไปเป็นแรงงานไร้ฝีมือราคาถูกในดินแดนที่เราคิดว่ามีอารยะ มากกว่าที่จะไปเป็นแรงงานมีฝีมือในดินแดนที่เรามองว่าด้อยพัฒนาและล้าหลัง (เยาวชนไทยจำนวนมากคงสนใจที่จะไปเป็นเด็กยกกระเป๋า เด็กเสิร์ฟ เด็กล้างจานในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ ผ่านโครงการ work & travel มากกว่าการไปเป็นครูฝึกสอน หรือเป็นพยาบาลฝึกงานในพม่า ลาว หรือเขมร เป็นต้น)

จินตนาการของเราต่อประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเรายังไม่ยอมปรับเปลี่ยนทัศนคติที่หลงคิดว่าเราดีกว่าใครในอาเซียน ความสัมพันธ์แนวระนาบระหว่างประเทศอาเซียนก็ยากที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อเราหลงตัวเอง ดูถูกเพื่อนบ้าน มันก็ยากที่เราจะจินตนาการว่าลาว มอญ พม่า เวียดนาม เขมร เป็น “ชาวอาเซียน” เหมือนอย่างเรา เพราะเราเป็นเหมือนคนอื่นไม่ได้ เราต้องพิเศษกว่า เราต้องดีกว่าทุกชาติในอาเซียน ดังนั้น ปัญหาที่รอรับการแก้ไขจึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องทาง “เทคนิค” เท่านั้น แต่เราต้องรีบปรับเปลี่ยน “จินตนาการ” ของเรา เพราะถ้าเรายังจมปลักอยู่กับจินตนาการแบบชาตินิยมอันคับแคบ “ความเป็นอาเซียน” ก็คงไม่เกิด หรือถึงเกิดเราก็จะตักตวงผลประโยชน์จากประชาคมนี้ได้ไม่เต็มที่ ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม จินตนาการต่อตนเองและเพื่อนบ้านแบบเดิมๆ จึงต้องถูกท้าทาย ต้องถูกตั้งถาม มิเช่นนั้นแล้วต่อให้เราเพิ่มวิชาสังคมศึกษาเกี่ยวกับประเทศอาเซียนอีกกี่สิบกี่ร้อยวิชาก็ป่วยการและรังแต่จะสร้างปัญหาให้มันมากยิ่งๆ ขึ้นไป 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สู่วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ (7): เปิดกลุ่มผู้ผลิตสื่อ‘ไฟน์ทูนโปรดักชั่น’

Posted: 11 Mar 2012 09:21 AM PDT

 

 

“กู้วโว้ว  กู้วโว้ว  กู้วโว้ว”

นกกาเหว่าโหมส่งเสียงร้องขณะเกาะอยู่บนต้นสนภายในอาณาบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เช่นดังปกติทุกวัน อาทิตย์ส่องแสงทอประกายกระทบตึกสีส้มเจิดจ้า อันหมายถึงคณะวิทยาการสื่อสาร ที่จะจัดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ขึ้นในวันรุ่งขึ้น

ลมโชยพัดโบกธงชาตินานาประเทศสะบัดไหว ต้นไม้ข้างคณะฯ โอนเอน ขณะใต้ถุนตึกมีผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังจับจองพื้นที่จัดบูธเปิดนิทรรศการอย่างคึกคัก ส่วนคณะจัดงานกำลังวุ่นอยู่กับการเตรียมการพอสมควร

ถ้าดูตามกำหนดการงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 “เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง” Bargaining Power : Civil Networking and Synergy Meedia ของวันที่ 12 มีนาคม 2555

เวลา 10.30-12.00 ที่ห้องย่อย A 302 ชั้น 3 จะมีการเปิดตัวกลุ่มผู้ผลิตสื่อไฟน์ทูน โปรดักชั่น (FT Media) มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน “รู้จักและทำเป็นสารคดีเสียง?” ซึ่งนำโดยนางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซี ภาคภาษาไทย และทีมถ่ายทอดประสบการณ์และสาธิตการทำสารคดีเสียง สำหรับออกอากาศวิทยุ

ขณะที่ในช่วงบ่ายเวลา 13.30-17.30 น. ที่ห้องเดิมในวันเดียวกัน มีการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “สนามข่าว” และวิเคราะห์ข่าวเชิงลึก จากนางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซี ภาคภาษาไทย นายสุพจ จริงจิตร บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อดีตนักวิเคราะห์อินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป หนึ่งในกองบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ และนายดอน ปาทาน ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น

สำหรับกลุ่มไฟน์ทูน โปรดักชั่น เกิดจากการรวมตัวของผู้ผลิตรายการวิทยุ วิดีโอ และเว็บไซต์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปลายปี 2554 มีเป้าหมายเพื่อผลิตงานที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่สังคม อธิบายเรื่องราวที่นอกเหนือไปจากข่าวและรายการวิเคราะห์ข่าว เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นที่เป็นเรื่องปัจจุบัน สำคัญต่อชุมชน แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกระแส

 นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร หนึ่งในสมาชิกกลุ่มไฟน์ทูน โปรดักชั่น บอกถึงการผลิตงานของกลุ่มว่า ต้องการทำงานเน้นคุณภาพ มีเนื้อหารอบด้าน ด้วยรูปแบบที่น่าสนใจและให้อรรถรสตามแบบฉบับที่งานมัลติมีเดียพึงมี

นอกจากนี้กลุ่มไฟน์ทูนฯ สนใจทำงานประเด็นเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับสังคม ชนกลุ่มน้อย ภาษาและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ปัญหาทรัพยากร การเมือง และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“กลุ่มยังทำงานด้านอบรมผู้ผลิตสื่อ เพื่อเสริมทักษะในเรื่องการผลิตรายการวิทยุ วิดีโอ ทักษะในการทำข่าว อบรมทั้งในและนอกรูปแบบ โดยมีสมาชิกในกลุ่มก่อตั้งกลุ่ม 5 คน หลักๆ คือ ฉัน สมอุษา บัวพันธ์ และราชพล เหรียญศิริ” นางสาวนวลน้อย บอกถึงสมาชิกและแนวทางการทำงานของกลุ่ม

ตะวันคล้อยต่ำแล้วค่อยเลือนเคลื่อนหายไปจากขอบฟ้า ครั้นความมืดแผ่ขยายปกคลุมตึกสีส้มอันสว่างจ้าถูกกลืนเป็นสีหม่น จนล่วงสู่กลางคืน แสงจากหลอดนีออนไฟฟ้าส่งสว่าง ท่ามกลางการทำงานของคณะจัดงานฯ และกลุ่มคนที่กำลังตกแต่งบูธจัดนิทรรศการเพื่องานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ในวันพรุ่ง

 

 


 

สมาชิกกลุ่มไฟน์ทูน โปรดักชั่น (FT Media)

นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้ผลิตรายการและผู้สื่อข่าวของวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยในระหว่างปี 2533 ถึงปี 2549  ผลิตรายการวิทยุให้กลุ่มเสียงไทยออกอากาศที่คลื่น FM 92  ในปี 2549 ถึงปี 2551 เคยเป็นนักข่าวนสพ.เดลินิวส์ เดอะเนชั่น

เคยอบรมทีมผู้สื่อข่าวประชาไทให้ทำรายการวิทยุ “ประชาไทใส่เสียง” อบรมการสื่อข่าวและผลิตรายการวิทยุ/วิดีโอให้กับนักจัดรายการวิทยุในพื้นที่ในโครงการอบรมผู้ผลิตสื่อของอินเตอร์นิวส์

เคยร่วมผลิตสารคดีชุดรอยร้าวชายแดนใต้ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ในการผลิตรายการวิทยุ ร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ฯลฯ

นางสาวสมอุษา บัวพันธ์  เคยร่วมงานกับกลุ่มเสียงไทย ผลิตรายการวิทยุออกอากาศทางคลื่น  FM 92 ในปี 2549 ถึงปี 2551 ให้กับกลุ่มเสียงไทย เคยรับหน้าที่ ที่ปรึกษาของกลุ่มผู้ผลิตรายการวิทยุในสังกัดมูลนิธิฮิลาล ฮะมัร ในปัตตานี ในปี 2554 ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน

เคยเป็นสมาชิกโครงการสนับสนุนวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ผลิตรายงานออกอากาศทางสถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย และผ่านการเป็นวิทยากรในการอบรมงานด้านวิทยุในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปี 2554

นายราชพล เหรียญศิริ ทำงานทางด้านมัลติมีเดีย เชี่ยวชาญในเรื่องงานไอที ร่วมผลิตงานวิดีโอ วิทยุ และการทำเวบไซต์ เคยร่วมงานกับอินเตอร์นิวส์และทำงานอบรมสื่อ  เคยร่วมงานในโครงการ World Trust ของวิทยุบีบีซีภาคบริการโลกในปี 2545 - 2547 ซึ่งโครงการดังกล่าวได้สนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตวิทยุอิสสระผลิตรายการละครวิทยุเพื่อการศึกษา (เรื่องโรคเอดส์)

เคยร่วมผลิตสารคดีชุดรอยร้าวชายแดนใต้ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ปัจจุบันยังร่วมงานกับเวบไซต์ข่าว TCIJ   

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: ชวนกันมา ชุมนุมซามูไร ชวนกันไป บินข้ามลวดหนาม

Posted: 11 Mar 2012 09:11 AM PDT

            

            ซามูไรในอดีตตัวจริงเป็นเช่นไร แน่นอนว่าเราไม่อาจบอกได้เพราะไม่เคยรู้จักพบเห็น

            แต่ซามูไรในภาพจำของพวกเรา มักเป็นซามูไรในยุคตกต่ำ หมดอำนาจ หรือเร่ร่อนไร้นายในหนังญี่ปุ่นยุคคลาสสิกโดยเฉพาะงานของอากิระ คุโรซาว่า จนมาถึงหนังญี่ปุ่น/ฮอลลีวู้ดยุคปัจจุบันอย่าง Twilight Samurai และ The Last Samurai...

            ... พวกเขาล้วนคือคนตัวเล็กหัวใจใหญ่ คือนักรบเพื่อคุณธรรม ผู้ถือหลักศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์เหนืออื่นใด และคือผู้ยินยอมขบถเพื่อความถูกต้อง แม้จะต้องสูญทรัพย์สินและสิ้นอำนาจ

            นี่คือที่มาของเทศกาล "บินข้ามลวดหนาม" ตอน 4 อันมีชื่อว่า ตอน "ชุมนุมซามูไร"

            "บินข้ามลวดหนาม" เป็นเทศกาลศิลปวัฒนธรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน  ที่เปิดให้ทุกท่านมาร่วมกันบินข้าม "ลวดหนาม" แห่งอคติทางชาติพันธุ์ สัญชาติ ศาสนา และเพศสภาพ ด้วยศิลปะภาพยนตร์ ดนตรี ละคร นิทรรศการศิลปะ ตลอดจนถึงศิลปหัตถกรรมและอาหารชาติพันธุ์

            ในปีนี้ บินข้ามลวดหนามคือเทศกาลภาพยนตร์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย 4 วัน นับแต่ พฤหัสที่ 29 มีนาคม - อาทิตย์ที่ 1 เมษายน โดยงานวันพฤหัสและศุกร์จะเริ่มเวลา 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่มครึ่ง และเสาร์-อาทิตย์จะเริ่มแต่ 11 โมงเช้า ซึ่งในคืนวันเสาร์จะมีเวทีการแสดงวัฒนธรรม ดนตรี acoustic, world music และ jazz จากชาวลาหู่ ไทใหญ่ ปกาเกอะญอ พม่า และไทย  พร้อมทั้งประกาศผลรางวัลหนังสั้นยอดเยี่ยมของเทศกาล ซึ่งมีหนังเข้ารอบสุดท้ายฉายในเทศกาล 20 เรื่องด้วยกัน

            หนังสั้นสายประกวด 12 จาก 20 เรื่อง เป็นผลงานของซามูไรรุ่นใหม่หลายบุคลิกจากภาคเหนือ ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ฝึกฝน ทั้งด้านสิทธิมนุษยชนและการทำหนังกับซามูไรรุ่นกลางในโครงการ "เกี่ยวก้อย" ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนมาค่อนปี  งานของพวกเขามีหลากหลาย เช่น "FRAME” ของนักศึกษา ม.ช. ที่ถกถึงกรอบของสังคมที่ถูกควบคุมโดยมนุษย์ผู้มีเสรี, "หวีและหัวเข็มขัด" ของผู้กำกับลาหู่วัย 17 ปีที่เล่าเรื่องเล็ก ๆ ในวันหนึ่งของแม่กับลูกชายบนชุมชนดอยเชียงดาว, “ทางเลือกของจะดอ” หนังรักของซามูไรลาหู่พ่อลูกอ่อนว่าด้วยชะตากรรมของคนที่ไม่มีโอกาสถือบัตรประชาชนไทย และ "ต่าหมื่อหล่า" งานชิ้นแรกของผู้กำกับชาวปกาเกอะญอว่าด้วยเสรีภาพในศิลปะที่สามารถฉีกข้ามกรอบกรงของชีวิต เป็นต้น

            นอกเหนือจากหนังประกวด หนังที่ยืนยันแล้วว่าจะร่วมฉายในเทศกาลจำนวนหนึ่งคืองานที่ยังไม่เคยฉายที่ใดมาก่อน เช่น  "ชุมนุมซามูไร" หนังเปิดเทศกาลเป็นงานกึ่งสารคดีของศุภโมกข์ ศิลารักษ์ ที่ติดตามการก้าวเดินของซามูไรพ่อลูกอ่อนชาวลาหู่กับการทำหนังเรื่องแรกของเขา และผลงานของมืออาชีพที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ซามูไรรุ่นใหม่ในโครงการเกี่ยวก้อย คือ สันติภาพ อินกองงาม, ปฐวี วีรานุวัติ, เชวง ไชยวรรณ และ นิติวัฒน์ ชลวณิชศิริ  นอกจากนี้ ในเทศกาลยังมีหนังชื่อดังที่ผ่านเวทีอื่น ๆ มาแล้ว เช่น  "พ่อ" ของศิลปินศิลปาธร พิมพกา โตวิระ ที่ได้รับรางวัล Special Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติวลาดิวอสต็อกล่าสุด เป็นต้น

            สำหรับหนังปิดเทศกาล เราได้รับเกียรติจากผู้กำกับ Rob Lemkin และเต็ท สัมบัต ให้ฉาย "ศัตรูประชาชน" (Enemies of the People) สารคดีหลายรางวัลที่เต็ท สัมบัต ผู้สูญเสียครอบครัวจาก Killing Fields ในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ เดินทางค้นหาคำตอบว่า เหตุใดโศกนาฎกรรมเลวร้ายเช่นนั้นจึงเกิดขึ้นกับประชาชนและคนที่เขารัก

            เชิญชวนเพื่อนฝูง มาร่วมกัน "ชุมนุมซามูไร" ประกาศพื้นที่ของผู้เชื่อมั่นในเสรีภาพและสันติภาพ ที่หอศิลปวัฒนธรรม ม.ช.  ในวันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน นี้

            หันมองหน้ากันและกัน แล้วเราจะได้เห็นว่า ซามูไรในปัจจุบันตัวจริง คือใคร ...

            

           

..................................................................

ร่วมจัดโดย มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน, สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, มูลนิธิหนังไทย, หอภาพยนตร์, ไทยพีบีเอส, อนุกรรมการว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, โครงการ Project for Local Empowerment, คณะวิจิตรศิลป์ ม.ช. และสถานกงสุลอเมริกัน จังหวัดเชียงใหม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สปส.ย้ำเพิ่มสิทธิผู้ประกันตนใช้ได้จริง ยันคลุมป่วยโรคไตก่อนเป็นผู้ประกันตนด้วย

Posted: 11 Mar 2012 08:59 AM PDT

สปส.แจงเพิ่มสิทธิผู้ประกันตนทุกรายการใช้ได้จริง ป่วยโรคไตก่อนเป็นผู้ประกันตนก็ได้รับสิทธิแล้ว สิทธิประโยชน์เอดส์ก็ทำให้เหมือนบัตรทองแล้ว ขณะที่ยาจ.2 หรือยาราคาแพงก็ร่วมมือกับสปสช.และกรมบัญชีกลางจัดซื้อส่งให้รพ.เอง เพื่อให้ราคาถูกลง ส่วนเพิ่มค่ารักษาฟันเป็น 300 บาทต่อครั้ง ยืนยันเงินพอถ้าไปใช้ที่รพ.รัฐหรือ รพ.สต. แต่ถ้าไม่อยากรอคิวไปใช้คลินิกเอกชนก็ต้องร่วมจ่าย

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของสปส.ที่ได้ออกประกาศไปก่อนหน้านี้ว่า มีผลบังคับใช้แล้วทุกรายการ เช่น กรณีการเพิ่มสิทธิผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง มีผลใช้ได้แล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังก่อนมาเป็นผู้ประกันตนก็ได้รับสิทธิเพิ่ม และหากได้รับอนุมัติให้ล้างไตแล้ว การรักษาหรือประโยชน์อื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ยากระตุ้นเม็ดเลือดก็จะได้รับตามแบบออโตเมติก โดยไม่ต้องทำเรื่องขออนุมัติอีก ถ้าไม่กล้าไปสมัครงานเพราะกลัวว่าเป็นผู้ประกันตนแล้วจะไม่ได้รับสิทธิ เพราะป่วยมาก่อน ขอยืนยันว่าได้รับความคุ้มครองแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน2554

“ส่วนเรื่องการรักษาโรคมะเร็ง แม้ว่าการรักษาจะสูงเกินกว่าที่ สปส.กำหนดเพดานค่ารักษาไว้ แต่ผู้ประกันตนก็ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนเกินเพิ่มแต่อย่างใด ของเดิมเหมาจ่ายทั้งหมด เป็นอะไรก็เหมาจ่าย แต่พอเจอโรคหรือยาแพงๆ โรงพยาบาลก็ไม่ยอมให้ยา เราเลยบอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ สปส.จ่ายเพิ่มให้เท่านี้ๆ ตามที่กำหนดไว้ แต่ถ้าค่าใช้จ่ายเกินนี้ ก็เอาไปรวมอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัว กรณีที่คนไข้ทานยาตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ไม่ได้ เช่น คนไข้แพ้ยา หรือ หมอ คิดว่ารักษาแบบอื่นได้ผลกว่า เราก็ไม่ได้ตัดสิทธิคนไข้ เราก็ยังจ่ายให้ 50,000 บาทอยู่” นพ.สุรเดช กล่าว

รองเลขาธิการสปส. กล่าวต่อว่า กรณียา จ.2 (ยาราคาแพง) สปส.ก็ออกประกาศปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการแล้ว เนื้อหาคือต่อไปนี้แทนที่จะจ่ายเงินให้โรงพยาบาลไปซื้อยาเอง สปส.จะซื้อยาแล้วส่งให้โรงพยาบาล มีผล 1 ม.ค.2555 และที่ผ่านมาสปส. ก็ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับสปสช.และกรมบัญชีกลางในการซื้อยาราคาแพงร่วมกันซึ่งจะทำให้ราคายาลดลง ขณะที่ชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้นตนยืนยันว่าสิทธิประโยชน์แทบจะเหมือนสปสช. 100% แล้ว

“เรื่องยาอะทาสนาเวียร์สำหรับต้านไวรัสเอชไอวีก็มีระบบแบบเดียวกัน ปกติสปส.ใช้สูตรยาต้านไวรัส สูตรเดียวกับสปสช. ทีนี้จะมีคนไข้บางคนที่กินยาต้านไวรัสแล้วไขมันในเส้นเลือดเพิ่มขึ้นจนควบคุมไม่ได้ วิธีแรกที่ผู้เชี่ยวชาญเขาจะให้คือให้ยาลดไขมันเพื่อควบคุม แต่ถ้ายังคุมไม่ได้ ต้องใช้ยาอะทาสนาเวียร์ ซึ่งทำให้ไขมันในเลือดไม่สูง แต่ราคาแพงจะให้ทุกคนมากินอย่างนี้ไม่ได้ ก็ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญดูจนถึงที่สุดแล้วว่าจำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้”รองเลขาธิการสปส. กล่าว

นพ.สุรเดช กล่าวว่า ยาอะทาสนาเวียร์แต่เดิมก็อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่ สปส.ไม่ได้จัดซื้อ ส่วนโรงพยาบาลก็ไม่อยากจ่ายยาจนเป็นปัญหาให้ผู้ป่วยไม่พอใจ ขณะนี้เปลี่ยนมาใช้วิธีให้สปส.จัดซื้อยาส่งให้โรงพยาบาลแล้ว แต่คนที่ตัดสินใจว่าจะจ่ายยาหรือไม่ก็ยังเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเหมือนเดิม รวมทั้งเรื่องรักษาโรคเรื้อรังไม่เกิน 180 วัน สปส.ก็ออกประกาศใช้ไปแล้ว โดยเปลี่ยนเป็นรักษาต่อเนื่องถ้ามีเหตุผลทางการแพทย์ มีความหมายเท่ากับรักษาได้ไม่จำกัดระยะเวลา  เพราะเมื่อรักษาต่อเนื่องไปจนหมดปีก็เริ่มนับวันใหม่ แต่ที่ไม่เขียนให้ชัดว่ารักษาได้ไม่จำกัดระยะเวลาเพราะในโลกของความเป็นจริงจะมีญาติคนไข้บางส่วนไม่ยอมเอาผู้ป่วยกลับบ้าน ฉะนั้นถ้าให้คนไข้ที่ไม่มีความจำเป็นดูแลโดยแพทย์และพยาบาลยังอยู่ในโรงพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะเป็นปัญหาให้ญาติก็ทิ้งคนไข้อยู่โรงพยาบาลจนทำให้คนที่ควรได้รับการรักษาเสียโอกาสไป

“เรื่องทันตกรรมสปส.ให้เบิก ไม่เกิน 2 ครั้ง 600 บาทต่อปี ถ้าบอกว่าได้น้อยไปก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน เพราะราคานี้ถ้าผู้ประกันตนเข้าโรงพยาบาลของรัฐ หรือรพ.สต. 300 บาทนี่เหลือเฟือเลย รพ.สต.ให้บริการโดยทันตภิบาล เขาจะคิด 80-100 บาท ถ้าไปโรงพยาบาลชุมชน 150 - 200 บาท เข้าโรงพยาบาลรัฐก็ยังอยู่ราวๆนี้ แต่ถ้าคนไข้อยากสะดวก จะไปเข้าคลีนิคซึ่งราคาย่อมแพงกว่า แปลว่าถ้าอยากได้อะไรที่เร็วกว่าสะดวกกว่าก็อาจต้องร่วมจ่ายบ้าง ที่เราให้สิทธิประโยชน์ตรงนี้ก็เพื่อให้ผู้ประกันตนมีทางเลือก ไม่ใช่บอกว่าบริการฟรีแต่ต้องมา รพ.สต.ต้องมาโรงพยาบาลรัฐแล้วรอคิวยาวเหยียด”นพ.สุรเดช กล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรุปคดียิง 4 ศพปัตตานี ฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ

Posted: 11 Mar 2012 08:55 AM PDT

ผลสอบข้อเท็จจริงคดี 4 ศพปัตตานีคลอดแล้ว คณะกรรมการฯ ระบุชัด ชาวบ้านปุโลปุโยไม่ใช่คนร้าย ผู้ใช้อาวุธถล่มชาวบ้านเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เตรียมยื่น 8 ข้อเสนอแนะให้แม่ทัพ 4

ใครยิง – คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดียิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพที่ปัตตานี
สรุปผลการสอบสวนระบุว่า ชาวบ้านไม่ได้เป็นคนร้าย ผู้ยิงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

 

เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 10 มีนาคม 2555 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีทหารพรานกองร้อย 4302 ยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บอีก 5 คน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการ นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในฐานะรองประธานกรรมการ นายกิตติ  สุระคำแหง   ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ นายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ เป็นต้น

ที่ประชุมได้สอบปากคำพยานครั้งสุดท้าย มีร.ต.อ.พิสิษฐ์ บัวแก้ว เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจังหวัดปัตตานี และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน 10 จังหวัดยะลา จากนั้นที่ประชุมก็ได้สรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริง

จากการให้ปากคำของพยานสรุปได้ว่า ผลการตรวจสอบไม่พบเขม่าดินปืนจากประชาชนผู้บาดเจ็บที่รอดชีวิต และไม่พบเขม่าดินปืนภายในรถ ส่วนผู้เสียชีวิตไม่สามารถตรวจสอบได้ ส่วนผลการตรวจสอบรถยนต์ของฝ่ายชาวบ้านที่ถูกยิง ไม่พบเขม่าดินปืนจากอาวุธปืนอาก้าที่พบในรถ ส่วนปลอกกระสุนปืนในรถ 3 ปลอก ไม่ได้เป็นปลอกกระสุนที่มาจากอาวุธปืนอาก้า สำหรับอาวุธปืนขนาด 11 มิลลิเมตรที่พบในรถ มีร่องรอยการยิง แต่ไม่พบเขม่าดินปืนของปืนกระบอกนี้ในที่เกิดเหตุ ส่วนวิถีกระสุนพบว่า ยิงลงมาจากที่สูง และยิงเฉพาะด้านหน้าและด้านซ้ายมือของรถ เป็นการยิงจากภายนอกเข้ามาในรถ ไม่มีร่องรอยการยิงจากในรถออกไปยังภายนอก

กรรมการบางคนสันนิษฐานว่า เมื่อดูจากวิถีกระสุนอาจจะมีผู้ยิงมากกว่าสองคน และมีการยิงกระสุนจากปืนขนาด 11 มิลลิเมตรจริง แต่ยังไม่สามารถหาหัวกระสุนได้เนื่องจากญาติไม่ยอมให้ชันสูตรศพ

กรรมการบางคนตั้งข้อสังเกตคำให้การของทหารพรานที่บอกว่า มีทหารพรานอยู่ในที่เกิดเหตุ 4 คน แต่ลงมือยิงเพียง 3 คน โดย 2 คนเล็งไปทางด้านหน้ารถ อีกคนเล็งไปทางพุ่มไม้ โดยยิงจากด้านหน้ารถ 30 นัด ระยะห่าง 7 เมตร แต่ยิงพลาด ขณะที่ผลการพิสูจน์หลักฐานกลับพบร่องรอยกระสุนส่วนใหญ่ ถูกยิงจากด้านข้าง

นอกจากนี้ยังมีคำให้การของทหารทั้งสามคนอีกหลายประเด็นที่ไม่สมเหตุสมผล และยังมีข้อมูลหลายข้อสามารถเชื่อมโยงได้ว่า ใครเป็นคนยิงมาจากด้านข้างของรถ และยังพบวิถีกระสุนพร้อมปลอกกระสุนที่ยิง บ่งบอกเจตนาที่จะทำให้ถึงแก่ความตาย การที่ทหารพรานถอนกำลังทันทีหลังเหตุการณ์ยุติ แทนที่จะปิดล้อมไม่ให้มีคนนอกเข้าไปยังที่เกิดเหตุ ทำให้การเคลื่อนย้ายวัตถุพยานเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ในที่สุดคณะกรรมการฯ ได้สรุปผลการสอบสวนว่า ชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตไม่ใช่คนร้าย และจากคำให้การทั้งหมดบ่งชี้ว่า ผู้ที่ใช้อาวุธที่ทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการมีความเห็นว่า ถึงแม้ประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ยิงเป็นที่ยอมรับกันแล้ว แต่ยังต้องติดตามต่อไปว่า เจตนาการยิงของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอย่างไร เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการได้จัดทำข้อเสนอแนะ โดยเบื้องต้นมีทั้งหมด 8 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้ผู้กระทำผิดยอมรับความจริงและขอโทษ พร้อมกับออกมาแถลงความจริงต่อสาธารณชน 2.ให้เยียวยาหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้รับผลกระทบอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง 3.ให้นำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 4.ให้มีการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์

5.การนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล รวมทั้งการตรวจชันสูตรศพ ใช้เวลานานนานมาก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรคำนึงถึงจริยธรรมในการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ 6.ให้กำหนดมาตรการการใช้อาวุธให้รัดกุม 7.ให้ทำความเข้าใจ กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐตัดสินใจตอบโต้อย่างรวดเร็วว่า เกิดขึ้นด้วยเหตุใด 8.ให้จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่เร็วพร้อมเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกทำร้ายในที่เกิดเหตุ

เนื่องจากระหว่างการพิจารณาข้อเสนอแนะ คณะกรรมการฯ ได้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมจึงมอบหมายให้เลขานุการคณะกรรมการชุดนี้ ไปสรุปและเรียบเรียงข้อเสนอทั้ง 8 ข้ออีกครั้ง จากนั้นให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในวันที่ 16 มีนาคม 2555

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สมชาย" แนะ "บุญยอด" อ่านเนื้อหาจากงานเสวนาก่อนด่วนสรุป

Posted: 11 Mar 2012 07:29 AM PDT

"บุญยอด สุขถิ่นไทย" จี้ "นิติราษฎร์" เลิกเคลื่อนไหวอ้าง "วรเจตน์" ไปเสวนาที่ มช. ชี้ใช้สถานที่ราชการเคลื่อนไหวเท่ากับด่าพ่อในที่ทำงาน ด้าน "สมชาย ปรีชาศิลปกุล" แนะบุญยอดใส่ใจเนื้อหา เพราะหัวข้อเสวนาหลักเป็นเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ ชี้ มช. เปิดพื้นที่ทางวิชาการให้ทุกฝ่าย และประชาธิปไตยต้องให้ความเห็นต่างในสังคมได้แสดงออก 

หลังจากที่เมื่อวานนี้ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการคณะนิติราษฎร์เดินทางไปที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เพื่อร่วมเวทีอภิปรายสาธารณะ "กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย" โดยมีวิทยากรอื่นประกอบด้วย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน และรศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น

 

"บุญยอด" จี้วรเจตน์หยุดเคลื่อนไหว เพราะสร้างความแตกแยกให้สังคม

ล่าสุดวันนี้ (11 มี.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานโดยพาดหัวข่าวว่า "ปชป.ไล่นิติราษฎร์เลิกใช้ ม.รัฐพล่าม ถาม “ปู” คิดหนุนแก้ 112 เหมือน “แม้ว” หรือไม่" โดยเนื้อข่าวรายงานว่านายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเรียกร้องให้นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ยุติการเคลื่อนไหวที่จะสร้างความคิดเห็นที่แตกแยกในสังคม เพราะมีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย และไม่สบายใจ แต่ไม่อยากออกมาพูด ในฐานะที่ตนเป็น ส.ส. ยืนยันว่า คนไทยส่วนมากยังยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ไม่ควรลบหลู่ ดูหมิ่น เพราะเป็นสถาบันที่คนไทยเคารพสูงสุด และได้สร้างคุณูปการให้สังคมไทยอย่างใหญ่หลวงมาตลอด

“ความพยายามที่จะวิจารณ์หรือฟ้องร้องกษัตริย์ ให้ได้แล้วบอกว่าจะเป็นสังคมที่เท่าเทียม เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นเรื่องรับไม่ได้ เพราะสถาบันอยู่เหนือความขัดแย้ง และเป็นที่เคารพ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญที่คุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการของนักวิชาการด้วย ไม่ให้มีมากกว่าประชาชนทั่วไป และเห็นว่า คนพวกนี้ไม่สมควรที่จะใช้สถานที่ “ราชการ” ในการเคลื่อนไหวในทำนองนี้ เหมือนกับใช้บ้านของพ่อ ที่ทำงานของพ่อ มาด่าพ่อตัวเอง เรื่องอย่างนี้คนไทยรับไม่ได้" นายบุญยอด กล่าว

 

ถาม "ยิ่งลักษณ์" มีทัศนคติแบบพี่ชายที่ให้ความเห็นเรื่องแก้ ม.112 ในวิกิลีกส์หรือไม่

นายบุญยอด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้หลีกเลี่ยงกรณีสร้างความแตกแยกในสังคม แต่คนกลุ่มนี้ก็หันไปที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ต้องถามว่า ม.เชียงใหม่ คิดอย่างไร ทำไมจึงอนุญาตให้ใช้สถานที่แสดงกันอย่างไม่มีขอบเขต ไม่ห่วงเรื่องนี้หรืออย่างไร และยังฝากถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ควรมีความชัดเจนกรณีที่ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อ้างข้อความในวิกิลีกส์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย เคยแสดงเจตจำนงที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงขอถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า มีทัศนคติเดียวกับพี่ชายหรือไม่ ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ทำไมไม่จัดการห้ามปรามนักวิชาการเหล่านี้ หรือว่าเป็นผู้สนับสนุนให้คนกลุ่มนี้เคลื่อนไหว ก็ขอให้อธิบายกับประชาชนตรงๆ เราจะได้รู้ว่ารัฐบาลนี้เป็นอย่างไร

โดยตลอดทั้งวัน สื่อมวลชนสำนักต่างๆ ในไทยต่างรายงานความเห็นของนายบุญยอด ต่อการจัดเสวนาที่เชียงใหม่  โดยหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ พาดหัวว่า “บุญยอด” วอน นักวิชาการยุติสร้างความขัดแย้ง กรณี ม. 112 ชี้ควรเลิกใช้สถานที่ราชการจัดกิจกรรม ส่วนหนังสือพิมพ์แนวหน้าพาดหัวว่า "บุญยอด" ปชป.วอน นักวิชาการยุติสร้างความขัดแย้ง กรณี ม.112

ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ในพาดหัวข่าว เทพไทตอก'ปู'เยื่อนยุ่นภาวะผู้นำเหลว มีพาดหัวย่อยเรื่อง “บุญยอด”ถามจุดยืน“ยิ่งลักษณ์”แก้“ม.112”หรือไม่ มีเนื้อหาคล้ายกับการนำเสนอของสื่อต่างๆ ส่วน มติชนออนไลน์ พาดหัวว่า "ปชป."จี้"วรเจตน์-นักวิชาการ"หยุดพูดแก้ ม.112 ถาม"ม.เชียงใหม่" ให้จัดเสวนาได้อย่างไร และเดลินิวส์พาดหัวว่า จี้ ม.เชียงใหม่ ทบทวนจัดสถานที่ให้รณรงค์แก้ 112

  

"สมชาย" แนะ "บุญยอด" ใส่ใจเนื้อหาก่อนด่วนสรุป เพราะส่วนใหญ่ถกกันเรื่องรัฐธรรมนูญ

ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประชาไททางโทรศัพท์ว่า หัวข้อการเสวนา ซึ่งจัดที่คณะสังคมศาสตร์ม.เชียงใหม่ วานนี้คือ "กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย" เนื้อหาส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเทศไทยกัน มีวิทยากรบางท่านการพูดเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บ้าง แต่ไม่ใช่เนื้อหาหลัก จึงแนะนำให้นายบุญยอด ฟังเนื้อหาทั้งหมด และใส่ใจเนื้อหาก่อน ไม่ใช่ด่วนสรุป

ส่วนที่มีผู้ถือแบบฟอร์มเสนอแก้กฏหมายอาญามาตรา 112 เข้ามายื่นในบริเวณงานนั้น รศ.สมชาย กล่าวว่าเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากนี้ รศ.สมชาย กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดพื้นที่ทางวิชาการให้กับทุกกลุ่มทุกฝ่าย และการปกครองแบบประชาธิปไตยต้องให้ความเห็นต่างในสังคมได้แสดงออก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: 20 ปี ‘แม่หญิงสิขายตัว’ การค้าประเวณีในสังคมไทย

Posted: 11 Mar 2012 03:39 AM PDT

เสวนาครบ 20 ปี งานศึกษา 'แม่หญิงสิขายตัว: ชุมชนและการค้าประเวณีในสังคมไทย' นักวิชาการชี้ 20 ปีสังคมเปลี่ยน แต่ผู้หญิงยังคงเป็นผู้หาเลี้ยงสังคม เพียงย้ายจากภาคเกษตรสู่แรงงานในภาคอุตสาหกรรม  พร้อมตั้งคำถามใหม่ถึงอำนาจของผู้หญิง-การบริโภคผู้หญิง วันเปลี่ยนไปอย่างไร
 
 
เวทีเสวนา ‘20 ปี แม่ญิงสิขายตัว’ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2555 ที่ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่
 
“...เราจะยังคงมองโสเภณีว่าเป็น ‘ปัญหาสังคม’ และ ‘ปัญหาของผู้หญิง’ ไปอีกนานเพียงใด? โสเภณีเกิดจากปัญหาความยากจน ความเห็นแก่ตัวของพ่อแม่และความ ‘ใจแตก’ ของเด็กสาวสมัยใหม่เท่านั้นหรือ? เราสามารถมองโสเภณีโดยแยกออกจาก ‘ชุมชน’ และบริบททางสังคมวัฒนธรรมของพวกเธอเหล่านั้นได้จริงหรือ?”
 
บางข้อคำถาม จากบทนำของหนังสือ ‘แม่หญิงสิขายตัว: ชุมชนและการค้าประเวณีในสังคมไทย’’ งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่จัดทำขึ้นแด่ผู้หญิงทุกคนซึ่งเป็น ‘ผู้ผลิต’ ที่แท้จริงของสังคม ถูกตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี 2535
 
จากความพยายามหาคำตอบที่นอกเหนือไปจากกระแสความคิดสูตรสำเร็จที่ว่า “เพราะ ‘จน-แรด’ ผู้หญิงจึงต้องไปขายตัว” ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้กลายเป็นหนึ่งในงานวิชาการที่ถูกอ้างอิงถึงมากในแวดวงสตรีศึกษา และถือเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ผู้ต้องการทำความเข้าใจในประเด็นผู้หญิงควรได้อ่าน
 
อาศัยกลิ่นอายวันสตรีสากล ติดตามความเปลี่ยนแปลง 20 ปีให้หลังของงานวิจัยดังกล่าว กับมุมมองผู้หญิงในสังคมไทยที่เปลี่ยนไป (?) ตามทัศนะของ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ นักวิชาการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผู้เขียน ในเวทีเสวนา ‘20 ปี แม่ญิงสิขายตัว’ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2555 โดยความตั้งใจของ Book Re:public
 
นับตั้งแต่ปี 2529 ที่ได้รับรู้ถึงปรากฏการณ์การค้าประเวณีเด็กสาวในชนบทภาคเหนือ กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานวิจัยภาคสนามและเข้าไปอยู่ร่วมกับชุมชนของหมู่บ้าน 2 แห่ง ในเขต อ.เมือง จ.พะเยา ช่วงระหว่างปี 2531-2533 เพื่อหาที่มาของปรากฏการณ์และเหตุผลที่มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นคือสิ่งที่ ศ.ดร.ยศ บอกเล่าถึงความเป็นมาในตอนต้น
 
การวิเคราะห์ในระดับชุมชน และสหสัมพันธ์ของพลังต่างๆ ที่กำหนดความเป็นไปของสังคมไทย ทั้งในระดับมหภาคลงไปจนถึงชุมชนหมู่บ้าน ไม่ได้มุ่งเน้นที่ตัวหญิงบริการว่าเป็นปัญหาสังคม โดยอาศัยข้อมูลและความรู้ความเข้าใจถึงบริบทและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งกว้างขวางและเป็นพลวัต ทำให้งานศึกษานี้แตกต่างจากงานวิจัยโดยทั่วไปที่มีอยู่ในขณะนั้น
 
เวลาผ่าน แต่ปรากฏการณ์ของปัญหายังคงอยู่
 
ศ.ดร.ยศ กล่าวถึงประเด็นที่จำเป็นต้องเข้าใจหากต้องการเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและยังคงความต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยย้อนไปถึงสิ่งที่ต้องการเสนอเมื่อราว 23 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่เริ่มเขียนงานวิจัย ว่า ประเด็นแรก ผู้หญิงเป็นผู้ผลิตทางสังคม และสังคมไทยมีการสร้างวัฒนธรรมบางอย่างที่สั่งสอนให้ผู้หญิงมีความรับผิดชอบมากกว่าผู้ชาย แม้กระทั่งเมื่อเข้าไปทำงานในเมืองผู้หญิงก็จะถูกคาดหวังให้ส่งเงินกลับบ้านมากกว่าในกลุ่มแรงงานชาย โดยสังคมคาดหวังให้ลูกสาวเป็นผู้หาลี้ยงพ่อแม่และมีการสืบทอดความคาดคิดนี้จากรุ่นสู่รุ่น
 
ประเด็นต่อมา ผู้หญิงเป็นเพศที่มีอำนาจ เช่น การมีอำนาจในการสืบทอดผีบรรพบุรุษ มีอำนาจในกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมีอำนาจในแง่กลุ่มเครือญาติที่อยู่แวดล้อมจากการที่ผู้ชายต้องแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิง ซึ่งสภาพเหล่านี้สืบทอดมาหลายชั่วคนจนกระทั่งเริ่มเกิดปัญหาการพัฒนาในชนบทไทยขึ้นมา ทำให้ผู้หญิงค่อยๆ ถูกผลักออกจากภาคการเกษตร สถานะทางอำนาจของผู้หญิงจึงถูกลิดรอนตั้งแต่ตอนนั้น
 
ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม แรงดึง-แรงผลัก ที่ขับดับให้ผู้หญิงไปขายตัว
 
ความเชี่ยวชาญในภาคเกษตรซึ่งเคยเป็นของผู้หญิงมาก่อน ถูกเปลี่ยนมือหลังจากมีแนวคิดวาด้วยเรื่องการพัฒนา ที่มองผู้ชายเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจสภาพของสังคมไทยโดยส่วนรวม ประกอบกับทิศทางการพัฒนาที่ถูกกำหนดโดยทุนนิยมตะวันตกได้วางผู้หญิงไว้เป็นแรงงานรับจ้างราคาถูกในภาคอุตสาหกรรม
 
สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นเพศที่ถูกลิดรอนอำนาจ ลิดรอนสถานะทางเศรษฐกิจ และความพยายามที่จะกอบกู้สถานะในขณะที่สังคมตกอยู่ในสภาวะไม่สามารถช่วยตัวเองได้ทำให้ผู้หญิงต้องดินรนออกไปทำงานภายนอก
 
ศ.ดร.ยศ กล่าวด้วยว่า ช่วงปี 2520 ในยุคพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมา ถึงยุคพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบที่สังคมไทยเปิดประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มีการเชื้อเชิญให้เกิดการลงทุนอย่างมากมาย โดยส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมเริงรมย์ เกิดวาทะกรรมของนักการเมืองที่ว่า “ที่ไหนก็มีกะหรี่” “กระหรี่กู้ชาติ”
 
ทั้งนี้ การที่อุตสาหกรรมเริงรมย์เฟื่องฟูทั้ง อาบอบนวด คาราโอเกะ ซ่อง เซ็กส์ทัวร์ ทำให้เกิดความต้องการแรงงาน โดยผู้หญิงเหนือและผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ยากจนตกเป็นเป้าหมายต้นๆ ที่ถูกมองว่ามีศักยภาพจะมารองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเหล่านี้
 
เมื่อสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ ศ.ดร.ยศ เห็นว่าไม่เปลี่ยนคือการที่ผู้หญิงยังคงเป็นผู้หาเลี้ยงสังคม แต่เกิดคำถามใหม่ๆ ขึ้นมาและยังไม่มีคำตอบ คือ อำนาจของผู้หญิงเปลี่ยนไปอย่างไร? การบริโภคผู้หญิงเปลี่ยนไปอย่างไร?  
 
สังคมชนบทกับการยอมรับการค้าประเวณี
 
ศ.ดร.ยศ เล่าว่า ในขณะทำการวิจัยอยู่นั้น การค้าประเวณีถูกพยายามทำให้เป็นอาชีพ ที่มีความเป็น Professional มีระบบการบริหารจัดการแน่นอนชัดเจน มีการจ่ายเงินจองตัวที่เรียกกันว่า ‘ตกเขียว’ มีการดูแลเรื่องที่พักและรถรับส่ง มีการฝึกฝนทักษะอาชีพ และเป็นการไปโดยไม่มีการบังคับ แม้อาจไม่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่าไปด้วยความเต็มใจ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็พยายามจะมองการค้าประเวณีว่าเป็นอาชีพเพราะในวัฒนธรรมไทยไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว
 
ศ.ดร.ยศ กล่าวด้วยว่าการพยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ และเล่าว่าในสมัยที่ทำการวิจัยมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งซึ่งทำโครงการรณรงค์ให้หยุดขายลูกสาว ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็นการทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะในความเป็นจริงนั้นซับซ้อน ไม่ใช่แค่การที่พ่อ-แม่ขายลูก
 
ยกตัวอย่างกรณีที่พี่สาวซึ่งผ่านกระบวนการค้าประเวณีเป็นผู้พาน้องสาวเข้าสู่การค้าประเวณี ด้วยความคิดว่าเป็นการช่วยกอบกู้ชีวิตของน้องสาวออกจากสภาวะแร้งแค้น ไปสู่ความเจริญ หรือหลายกรณีที่หญิงสาวตัดสินใจไปค้าประเวณีทั้งที่พ่อ-แม่คัดค้าน เพราะรู้สึกว่าอยู่ที่บ้านแล้วไม่มีอะไรทำ อีกทั้งเพื่อนในวัยเดียวกันต่างก็ไป
 
นอกจากนั้น งานศึกษายังพบว่า ฐานะทางการเงินไม่ใช่เงื่อนไขและปัจจัยให้หญิงสาวไปค้าประเวณี เพราะจากการเก็บสถิติตัวเลขฟ้องว่าบ้านที่มีฐานะดี มีลูกสาวไปค้าประเวณีมากกว่าบ้านที่ยากจน เพราะฉะนั้นการจะอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจทำไม่ได้อีกต่อไป
 
“ผมพยายามจะอธิบายว่ามันซับซ้อนมากกว่าที่คุณจะไปบอกว่า ‘พ่อแม่ขายลูก’ ‘มันยากจน’ แต่ถ้าคิดว่ามันเป็นปัญหาการพัฒนา อันนี้จะเห็นว่ามันเป็นอะไรที่ซับซ้อน และมี human dimension มีมิติของความเป็นมนุษย์อยู่ด้วย” ศ.ดร.ยศ กล่าว
 
ทั้งนี้ งานวิจัย ‘แม่หญิงสิขายตัว: ชุมชนและการค้าประเวณีในสังคมไทย’ ของ ศ.ดร.ยศ เสนอว่า โดยเนื้อแท้แล้ว การค้าประเวณีเป็นเพียงปัญหาหนึ่งของชุมชนชนบทไทย ท่ามกลางปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น ‘ผลิตผล’ ของการพัฒนาความด้วยพัฒนาของประเทศไทย
 
คำถามต่องานวิจัย จากพลวัตของสังคมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
 
คำถามของ ดร.ฉลาดชาย รมิตานนท์ นักวิชาการและกรรมการศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งตั้งคำถามถึงการใช้กรอบคิดการพัฒนาโดยพึงพา มาอธิบายสภาวะความเสื่อมถอยของชุมชนจนกระทั่งผู้หญิงต้องล่องใต้สู่ตลาดการค้าประเวณี เวลาผ่านไป 20 ปี ชุมชนไทยขณะนี้เป็นอย่างไร ทฤษฎีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมามีประโยชน์มากน้อยเพียงใด และแนวความคิดต่อการเสริมอำนาจให้ผู้หญิงด้วย ‘กองทุนพัฒนาสตรี’
 
ศ.ดร.ยศ ตอบว่า ภาพปรากฏการณ์ทางสังคมที่เห็นในตอนนั้นคือการเข้ามาของทุนนิยมในประเทศโลกที่สาม โดยมี International division of labor เป็นทฤษฎีซึ่งพยายามจัดการให้ผู้หญิงมีที่ทางของตัวเองภายในอุตสาหกรรมบางอย่าง แล้วเมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่ทฤษฎีว่าไว้ก็เริ่มเป็นจริง เมื่อผู้หญิงเริ่มไปทำงานในโรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะในกิจการที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ความอดทน
 
ตรงนี้ทำให้ International division of labor ไม่ได้เป็นเพียงทฤษฎี แต่เปรียบได้กับแผนปฏิบัติการ เพียงแต่ในช่วงที่มีการทำวิจัยนั้นโรงงานยังไม่ได้เป็นที่นิยมของผู้คนในภาคเหนือ และที่ทางของผู้หญิงที่ถูกถีบออกจากภาคเกษตรก็มีไม่มากนัก ดังนั้นอุตสาหกรรมเริงรมย์จึงเข้ามาตอบคำถามตรงนี้
 
คำอธิบายในช่วงนั้นมีหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่คือการกล่าวโทษเหยื่อ ชี้โทษผู้หญิง หรือพ่อแม่ ซึ่งต่างก็เป็นเหยื่อ เพราะมันง่าย แต่การหาคำอธิบายที่หลุดออกจากประเด็นเหล่านี้เพื่อคิดใหม่ทำใหม่ ต้องอาศัยการรื้อสร้างคำอธิบายชุดเดิมๆ ซึ่งในช่วงหลังๆ ก็มีทฤษฎีที่จะมารับกับปัญหาเหล่านี้ แต่ทฤษฎีเหล่านี้กลับถามคำถามเดิมๆ และอาจไม่ได้ให้ชุดของคำอธิบายที่แตกต่างไป
 
อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถโทษทฤษฎีได้ เพราะมันไม่ใช้คำตอบ แต่เป็นเครื่องมือซึ่งขึ้นอยู่กับการหยิบนำไปใช้เชื่อมโยงกับบริบทของปัญหาที่ต้องการหาคำตอบ ทั้งนี้ การตั้งคำถามต่อความเป็นไปของสังคมต่างหากที่เป็นปัญหา
 
ศ.ดร.ยศ กล่าวว่า ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาสังคมไทยหมกมุ่นกับเรื่องน้ำว่าจะแล้งหรือท้วม แต่น้ำท่วมกระทบต่อผู้หญิงอย่างไรกลับไม่ค่อยมีคนถาม จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ของประเทศเป็นแรงงานอยู่ในภาคการผลิตระบบอุตสาหกรรม แล้วผู้หญิงเหล่านี้ก็ยังต้องเลี้ยงครอบครัวอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดน้ำท้วมแล้วผู้หญิงเหล่านี้ตกงาน ย่อมหมายความว่าลูก พ่อแม่ คนชรา คนป่วย ฯลฯ ที่ต้องพึ่งพิงพวกเธอย่อมได้รับผลกระทบ อีกทั้งสังคมมักไม่สนใจในมิติของปากท้องที่ผู้หญิงกำลังเผชิญอยู่ ไม่สนใจกับประเด็นที่ทางมานุษยวิทยาเรียกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
“วิกฤติของสังคมไทยตอนนี้ก็คือผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ผลิตตกงานกันเยอะ หรือว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติเยอะมาก และมันส่งผล แต่ไม่ค่อยมีคนถาม” ศ.ดร.ยศ กล่าว พร้อมตั้งคำถามว่า ‘กองทุนพัฒนาสตรี’ จะรองรับกับปัญหาของผู้หญิงซึ่งเป็นหัวใจการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้หรือไม่
 
 
‘เมียฝรั่ง’ ปรากฏการณ์ใหม่ ที่ถูกเลือกนำเสนอ
 
คำถามจาก สมหญิง สุนทรวงษ์ ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC) สอบถามถึงการวิเคราะห์เปรียบเทียบปรากฏการณ์และแนวคิดของ ‘แม่หญิงสิขายตัว’ ซึ่งเป็นแนวคิดเมื่อ 20 ปีที่แล้วกับกระบวนการของการขายบริการทางเพศของวัยรุ่นในปัจจุบัน รวมถึงการมี ‘หมู่บ้านฝรั่ง’ ในภาคอีสานซึ่งได้รับการโปรโมทจากส่วนราชการในจังหวัด
 
ศ.ดร.ยศ แสดงความเห็นว่า จากตัวอย่างที่เห็นในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ต.แม่เหียะก็มีจำนวนมาก ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้หญิงไทยจะหาสามีเป็นฝรั่งเพราะผู้คนในปัจจุบันมีความลื่นไหล แต่ประเด็นก็คือส่วนหนึ่งผู้หญิงที่เป็น ‘เมียฝรั่ง’ ไม่ใช่ผู้หญิงสวย อยู่ในวัยกลางคน ส่วนใหญ่มีลูกแล้ว และมีสามีที่เป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ สร้างภาระให้ หรือเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้พวกเธอต้องดิ้นรนต่อสู้ดิ้นรมด้วยตนเอง
 
นอกจากนั้นภาพที่เราเห็นกันส่วนใหญ่เป็นเพียงกรณีความสำเร็จ แต่ส่วนอื่นที่ไม่ได้ดีก็มีอีกจำนวนมาก เช่นเดียวกับผู้หญิงค้าประเวณีที่มีบ้านหลังใหญ่โต แต่ก็มีหายคนที่ต้องเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ หรือจนแล้วไม่กล้ากลับบ้านก็มีอีกจำนวนมาก แต่ภาพที่สังคมมักจะเห็น หรือเลือกที่จะเห็นคือภาพกรณีความสำเร็จ แม้ว่าในความเป็นจริงคนต่างชาติเหล่านั้นอาจเป็นคนที่ไม่สามารถหาภรรยาในประเทศตัวเองได้ หรือมีความเป็นอยู่แร้งแค้นในประเทศของตัวเอง
 
ศ.ดร.ยศ แสดงความเห็นต่อมาว่า ในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคม กรณีของ ‘เมียฝรั่ง’ ทำให้เห็นลักษณะของการค้าประเวณีอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สมัยก่อนเมืองไทยเรียกว่า partner ซึ่งไม่ใช่หญิงบริการเต็มตัว แต่เป็นหญิงนั่งดริงค์ คู่เต้นรำ แล้วพัฒนาความสัมพันธ์เป็นเพื่อนเที่ยวระยะยาว เป็นคู่รัก และ ‘เมียฝรั่ง’ ที่สร้างบ้านอยู่ด้วยกันในที่สุด อีกส่วนหนึ่งคือบริษัทหาคู่ซึ่งเป็นบริการที่มีมายาวนานนับสิบปี
 
ทั้งนี้ สิ่งที่เรียกว่าหมู่บ้านฝรั่งไม่ได้มีมาก และการรวมตัวกันเป็นชุมชนก็คือการปรับตัวเพื่อหาทางรอดของพวกเขา และสร้างปฏิสัมพันธ์ในหมู่พวกเดียวกันเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เกิดขึ้นบนความยากจนของชนบท เพราะชนบทไทยไม่ได้ยากจนเหมือนสมัยก่อน ชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างทางชนชั้นไปเป็นชนชั้นผู้ประกอบการจำนวนมาก แม้คนที่จนดักดานยังคงมีอยู่ แต่ก็มีความหลายหลายของอาชีพมากขึ้นไม่ได้มีเฉพาะชนชั้นเกษตรกร และมีการกระจายรายได้ในระดับรากหญ้ามากขึ้น อีกทั้งบางครั้งการเป็น ‘เมียฝรั่ง’ ก็ไม่ได้ทำให้โดนเด่นหรือน่าชื่นชมในสายตาของชาวบ้าน
 
ผู้หญิงในพื้นที่การเมือง โครงสร้างทางชนชั้นเปลี่ยน ความสนใจก็เปลี่ยน
 
ศ.ดร.ยศ ตอบคำถาม ของโสภิดา วีรกุลเทวัญ ผู้ประสานงานโครงการสื่อเพื่อประชาธิปไตย มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ เจ้าของผลงานศึกษา ‘การนำเสนอความเป็นตัวตนของหญิงบาร์เบียร์’ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ เกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในทางการเมือง การต่อสู่ของภาคประชาชน และพื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่มากขึ้นในปัจจุบันว่า จากการทำวิจัยในสังคมไทยมากว่า 30 ปี ส่วนตัวคิดว่าการมีบทบาทของผู้หญิงเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะในสังคมไทยระดับล่างผู้หญิงเป็นผู้นำชุมชนมาโดยตลอด เช่นกรณีจินตนาซึ่งถือเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ
 
ยกเว้นในระดับบนที่ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ เช่น การมีนายกหญิง สัดส่วนของการมี ส.ส. ส.ว.และรัฐมนตรีหญิงที่เพิ่มขึ้น
 
ส่วนกรณีผู้หญิงที่ออกมามีบทบาททางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาอย่าง ดา ตอปิโด ผู้หญิงเสื้อแดง หรือในกรณีแม่ยกพันธมิตร ศ.ดร.ยศ มองว่าไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจที่ได้เห็นศักยภาพในการนำของผู้หญิง เพราะส่วนตัวไม่เห็นว่าผู้หญิงเป็นเบี้ยล่างในสังคม อีกทั้งผู้หญิงไทยในระดับล่างมีความแอคทีฟและเปิดพื้นที่ของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่พวกเขาออกมาแสดงว่าเขาเห็นเป็นเรื่องสำคัญ
 
“เมื่อโครงสร้างทางชนชั้นเปลี่ยน ผู้หญิงก็เริ่มหันมาเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะฉะนั้นพื้นที่ทางการเมืองมันก็เคลื่อนจากประเด็นทางการเกษตร ประเด็นเรื่องที่ดิน มาสู่ประเด็นที่เป็นประเด็นทางการเมืองมากขึ้น และก็ไม่แปลกใจที่พวกเขาจะสนใจกับนโยบายและประเด็นที่มันกระทบกับผลประโยชน์ของเขาโดยตรง แล้วก็ไม่แปลกอีกเหมือนกันที่เขาจะลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของเขา เพราะที่เขามานี่ผมมองว่าเขาไม่ได้มาเพราะถูกจัดตั้ง แต่เขามาเพราะเขามาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับเขาแต่เราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา” ศ.ดร.ยศให้ความเห็น
 
 
เฟมินิสต์ไทย ภายใต้ระบบประชาธิปไตยฯ ที่มีความต่างทางแนวคิด
 
ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวตั้งคำถามถึง นักสตรีนิยม หรือ เฟมินิสต์ (Feminist) ไทย ในฐานะสถานบันทางสังคมที่มีอำนาจและเสียงดัง ซึ่งอาจไม่ได้ปลอดจากการเมืองอย่างแท้จริง ทำให้การต่อสู้เพื่อผู้หญิงเกิดข้อยกเว้น ขณะที่ผู้หญิงไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันทั้งหมด ผู้หญิงมีชนชั้น มีความต่าง และเขาอาจอยู่ในความสัมพันธ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งเมื่อถูกพูดรวมๆ กัน จึงทำให้เกิดคำถามว่าทำไมบางเรื่องเฟมินิสต์ไทยจึงเงียบ แต่ในบางเรื่องกลับตามติดวิจารณ์  
 
นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ ตั้งคำถามไปถึงการที่ผู้หญิงรากหญ้าลุกขึ้นมาต่อสู้แต่เฟมินิสต์ไทยไม่ออกมาพูดถึง ขณะที่บางส่วนกลับมองว่าเป็นเรื่องที่ทักษิณลากไป ตรงนี้สะท้อนอะไร แล้วเรามีสิทธิ์จะวิจารณ์เรื่องแบบนี้หรือไม่
 
สำหรับประเด็นข้อวิจารณ์ต่อเฟมินิสต์ไทย ศ.ดร.ยศ กล่าวถึงประสบการณ์ความขัดแย้งกับเฟมินิสต์ซึ่งเป็นนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณี ‘พ่อแม่ขายลูก’ ซึ่งถือเป็นการตอบย้ำการกล่าวโทษเหยื่อ โดยส่วนตัวเขามองว่าเป็นการทำงานที่มักง่ายและไม่มีประโยชน์
 
“ถ้าทำงานวิชาการแล้วอย่าทำงานทางด่า ไปด่าหนะง่าย สะใจ แต่ว่าคุณต้องสร้างองค์ความรู้ ต้องทำลายมายาคติ และต้องให้ทางเลือกกับสังคม มากกว่าจะมานั่งด่า ไม่มีประโยชน์” ศ.ดร.ยศกล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่าปัญหาของนักวิชาการไทยคือการมองอย่างเหมารวมจากสายตาของตนเอง และไม่ได้มองคนอื่นอย่างเข้าใจ
 
ส่วนเรื่องสถาบันเฟมินิสต์ ศ.ดร.ยศกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ค่อยแน่ใจ เพราะไม่คิดว่ามีความเข้มแข็งพอที่จะเรียกว่าสถาบัน นักวิชาการไทยยังไม่สามารถเรียกเป็นสถาบันได้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ในบางครั้งมีการใช้เครือข่ายในการทำงาน ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จบ้าง แต่ว่าน้อยมาก โดยหนึ่งในนั้นคือการขับเคลื่อนเรื่องแนวคิดสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างพลังทางวิชาการที่กลายเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนได้ใช้ในการเรียกร้อง
 
“การจะพูดถึงความเป็นธรรมมันต้องทำงานด้านบวก แต่ในแง่ถ้าจะพูดถึงสถาบันสิ่งที่ต้องทำคือเปิดพื้นที่”  ศ.ดร.ยศกล่าว 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล: งบประมาณแผ่นดินสำหรับรักษาพระเกียรติสถาบันกษัตริย์ประจำปี 2555 พร้อมข้อสังเกตท้ายเชิงอรรถ

Posted: 11 Mar 2012 12:58 AM PST

สำรวจตาม พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 [1] "งบประมาณสำหรับรักษาพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์" [2] มีรายการดังต่อไปนี้

สำนักราชเลขาธิการ
มาตรา 25 ข้อ 1 (1) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 525,512,600 บาท

สำนักพระราชวัง
มาตรา 25 ข้อ 2 (1) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 2,794,957,000 บาท

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มาตรา 25 ข้อ 4 (1) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 603,516,900 บาท

ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
มาตรา 4 (3) ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,300,000,000 บาท
มาตรา 4 (4) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 600,000,000 บาท

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
มาตรา 5 ข้อ 1 (2) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 42,606,875 บาท

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
มาตรา 5 ข้อ 4 (1) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 1,558,064,400 บาท

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
มาตรา 6 ข้อ 1 (3) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 65,018,200 บาท

กรมราชองครักษ์
มาตรา 6 ข้อ 2 (1) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 615,359,100 บาท

กองบัญชาการกองทัพไทย
มาตรา 6 ข้อ 3 (4) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 260,000,000 บาท

กองทัพบก
มาตรา 6 ข้อ 4 (4) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 320,000,000 บาท

กองทัพเรือ
มาตรา 6 ข้อ 5 (4) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 12,246,100 บาท

กองทัพอากาศ
มาตรา 6 ข้อ 6 (4) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 21,000,000 บาท

สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
มาตรา 17 ข้อ 1 (3) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 30,200,000 บาท

กรมโยธาธิการและผังเมือง
มาตรา 17 ข้อ 6 (2) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 1,010,092,000 บาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
มาตรา 25 ข้อ 7 (3) แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 450,227,800 บาท

รวมจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 สำหรับรักษาพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งสิ้น 11,208,800,975 บาท (อ่านว่า หนึ่งหมื่นหนึ่งพันสองร้อยแปดล้านแปดแสนเก้าร้อยเจ็ดสิบห้าบาท) [3].

_____________________

เชิงอรรถ

  1. โดยดู พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ใน ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 129 ตอนที่ 15 ก, ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/A/015/1.PDF [เข้าถึงข้อมูลวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2555].
  2. ในทางตำราเรียก 'เงินรายปีสำหรับรักษาพระเกียรติ' อาทิ หยุด แสงอุทัย. คำอธิบายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 (เรียงมาตรา). พิมพ์ครั้งที่ 1. พระนคร : กรุงสยามการพิมพ์. หน้า 47. ; 'เงินรายปีเพื่อพระเกียรติยศ' อาทิ ไพโรจน์ ชัยนาม. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม 2 กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตอนที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2495. หน้า 166. ทั้งนี้ ไพโรจน์ ชัยนาม ตั้งข้อสังเกต (ประเด็น อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ) ด้วยว่า "เงินรายปีซึ่งชาติถวายให้แก่พระมหากษัตริย์นี้ บางประเทศก็มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนไทยหาได้มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ แต่นำไปกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณทุก ๆ ปี ฉะนั้นเงินจำนวนนี้จึ่งอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามฐานะแห่งการเงินของประเทศ... สุดแต่ความจำเป็นและตามความเหมาะสมของฐานะทางการเงินของประเทศนั้น ๆ" (หน้า 167)
    ทั้งนี้ ควรกล่าวเพิ่มเติมว่า นับแต่ พุทธศักราช 2477 - 2501 ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ จะระบุโดยชัดแจ้งเกี่ยวกับ "เงินงบในพระองค์" (ถ้อยคำในปี 2477, 2478), "เงินงบพระมหากษัตริย์" (ถ้อยคำในปี 2479 ถึง 2501) เป็นส่วนหนึ่ง และสำนักพระราชวัง กับสำนักราชเลขาธิการ เป็นอีกส่วนหนึ่ง และตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ จะไม่ระบุ "เงินงบพระมหากษัตริย์" แต่ระบุเพียงส่วน งบสำนักพระราชวัง และสำนักราชเลขาธิการ และปรากฏงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์กระจายตามส่วนราชการขึ้นแทน.
  3. อาจเทียบเคียงกับ "จำนวนเงินรวม" งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 (สำหรับรักษาพระเกียรติฯ) เป็นเงิน 10,781,350,000 บาท (อ่านว่า หนึ่งหมื่นเจ็ดร้อยแปดสิบเอ็ดล้านสามแสนห้าหมื่นบาท) โดยดู พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล. "งบประมาณแผ่นดินที่รัฐต้องจ่ายให้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ประจำปีงบประมาณ 2554 กับการทำแต้มอย่างบ้าคลั่งไล่ล่าผู้กระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์" : http://prachatai.com/journal/2011/05/34508 [เข้าถึงข้อมูลวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2554].
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มธ.แจง แต่งตั้งศาสตราจารย์ถูกต้องทุกประการ

Posted: 10 Mar 2012 08:47 PM PST

สืบเนื่องจาก ศ.สมภาร พรมทา เขียนบทความเรื่อง “บางความเห็นเกี่ยวกับตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย” ท้วงติงกระบวนการแต่งตั้งตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ในประชาไท เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 โดยมีเนื้อหาสรุปว่า การแต่งตั้งศาสตราจารย์ท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัย ใช้ผลงานทางวิชาการชิ้นเดียวกันกับเมื่อครั้งแต่งตั้งเป็นรองศาสตรจารย์ ทั้งนี้ในบทความยังได้ตั้งข้อสงสัยถึงกระบวนการแต่งตั้งกรรมการอ่านงานประเมิน เพื่อพิจารณาผลงานด้วย (โปรดอ่านรายละเอียดในบทความ)

ประชาไทจึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยยืนยันว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับการดำเนินการประเมินผลงานและการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการและคุณภาพของงานที่ผ่านการประเมินนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบทุกประการ และกรรมการผู้อ่านประเมินทั้งสองท่านเดิมและท่านที่แต่งตั้งเข้ามาแทน ซึ่งเป็นศาสตราจารย์และเป็นคนนอก มธ.ทั้งหมด มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า มีคุณภาพสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ ซึ่งเป็นความเห็นทางวิชาการ และไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนท่านอาจารย์สมภารก็ได้

อย่างไรก็ตาม รศ.พรชัย ได้กล่าวยอมรับว่า การดำเนินการเรื่องนี้มีจุดที่ทำไม่เหมาะสมอยู่ 2 ประการ ในกระบวนการ แต่งตั้งกรรมการผู้อ่านงานประเมิน อันเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยว่า มีความจงใจเปลี่ยนผู้อ่านงานประเมิน โดยอธิบายว่า

เมื่อท่านอาจารย์สมภาร ซึ่งเป็นผู้อ่านงานประเมินท่านเดิม แจ้งโดยวาจาทางโทรศัพท์ว่าขอถอนตัว เจ้าหน้าที่ มธ. ไม่ได้แจ้งให้ท่านทำหนังสือถอนตัวเป็นลายลักษณ์อักษร กลับนำเรื่องเข้าแจ้งในที่ประชุมกรรมการพิจารณาตำแหน่งชุดใหญ่เลย ต่อมาเมื่อคณะกรรมการฯชุดใหญ่แต่งตั้งกรรมการผู้อ่านประเมินท่านใหม่ไปแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้แจ้งให้ท่านอาจารย์สมภารรับทราบอย่างเป็นทางการว่า ท่านหมดภาระต้องอ่านประเมินงานของผู้ขอตำแหน่งรายนี้แล้ว

ทั้งนี้ได้แสดงความเสียใจว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่รู้มารยาทและขั้นตอนที่ถูกที่ควรในการปฎิบัติกับอาจารย์ผู้ใหญ่ จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ โดยจะได้ปรึกษากับผู้บริหารชุดก่อนหน้าที่ดำเนินกระบวนการเรื่องนี้ แล้วจึงจะร่างหนังสือชี้แจงหรือหนังสือขอโทษท่านอาจารย์สมภารอย่างเป็นทางการต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น