โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

องค์กรสิทธิระหว่างประเทศร้องไทยต้องประกันความปลอดภัย'นิติราษฎร์'

Posted: 01 Mar 2012 12:32 PM PST

องค์กรสิทธิมนุษยชน “Front Line Defenders” ร้องทางการไทยต้องดำเนินการสอบสวนกรณีทำร้าย วรเจตน์ อย่างเป็นกลาง ชี้ต้องใช้มาตรการจำเป็นเพื่อประกันความปลอดภัยของกลุ่มนิติราษฎร์ทั้งทางกาย-จิตใจ

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ “Front Line Defenders” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีการทำร้ายร่างกายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ โดยมีข้อเรียกร้องต่อทางการไทยให้ดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าวอย่างเป็นกลางและโปร่งใสต่อสาธารณะ และนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งให้รัฐไทยประกันความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และสมาชิกคณะนิติราษฎร์คนอื่นๆ ด้วย

องค์กรพิทักษ์สิทธิของนักสิทธิมนุษยชน ยังระบุด้วยว่า รัฐไทยต้องมีหน้าที่ประกันสิทธิและเสรีภาพของนักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้พวกเขาสามารถทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ได้โดยละเว้นจากความกลัวที่จะถูกทำร้ายหรือดำเนินคดีทางกฎหมาย

ในเว็บไซต์ขององค์กร Front Line Defenders ยังมีการรณรงค์ให้ผู้ที่สนใจ เขียนจดหมายไปยังนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อเรียกร้องรัฐบาลไทยให้จับตากรณีดังกล่าวด้วย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่าเรียกกลับข้าราชการครู หลังไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานในเขตกองกำลังว้า

Posted: 01 Mar 2012 09:08 AM PST

แหล่งข่าวในพื้นที่รายงานว่า ข้าราชการครูของพม่า 43 คน ที่ถูกส่งไปยังเมืองยาง รัฐฉานภาคตะวันออก เพื่อเข้าไปปฏิบัติงานช่วยเหลือด้านการศึกษาในเมืองป้อก เมืองแผน เขตพื้นที่ควบคุมของกองกำลังว้า UWSA ได้ถูกเรียกตัวกลับเมื่อวันอังคาร (28 ก.พ.) ที่ผ่านมา หลังไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานได้

 
ทั้งนี้ ข้าราชครูทั้ง 43 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการอายุระหว่าง 18 – 25 ปี ถูกส่งไปรออยู่ที่เมืองยาง (พื้นที่ติดต่อเขตกองกำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA) ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ที่กำหนดได้ เหตุเนื่องจากโรงเรียนและอาคารที่พักเดิมถูกทางการว้า UWSA รื้อถอนและยังไม่มีการสร้างขึ้นใหม่

ก่อนนั้นในพื้นที่ควบคุมกองกำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA (ในรัฐฉานภาคตะวันออก) มีข้าราชการพลเรือนพม่าเข้าปฏิบัติงานประจำ เช่น ข้าราชการฝ่ายการศึกษา, ฝ่ายสาธารณสุข, ฝ่ายสื่อสาร, ฝ่ายประสานงาน, ฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง, ปศุสัตว์, เกษตร, ไปรษณีย์, การกีฬา และการคมนาคม แต่เมื่อต้นปี 2553 ได้ถูกเรียกกลับหลังเกิดความตึงเครียดระหว่างทหารพม่ากับ UWSA และ NDAA จากเหตุรัฐบาลพม่ากดดันกองกำลังชาติพันธุ์เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน

โดยในส่วนพื้นที่ควบคุมกองกำลังเมืองลา NDAA ทางการพม่าได้ส่งข้าราชการพลเรือนกลับเข้าไปฏิบัติงานแล้ว 3 หน่วยงาน ได้แก่ ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายสาธารณสุข ขณะที่ในเขตพื้นที่ควบคุมกองกำลังว้า UWSA ยังไม่สามารถเข้าไปได้ เหตุเพราะนอกจากโรงเรียนและอาคารจะถูกรื้อถอนแล้ว ทางฝ่ายว้า UWSA ยังปฏิเสธรับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัยด้วย

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ข้าราชการครูที่ถูกเรียกกลับนั้นเป็นการเรียกให้กลับไปพักผ่อนช่วงปิดเทอมชั่วคราว ซึ่งพวกเขาได้รับคำสั่งให้เดินทางถึงเมืองยองอีกครั้งภายในวันที่ 25 พ.ค. และให้สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ในวันที่ 1 มิ.ย. ซึ่งเป็นการเปิดภาคเรียนแรกของปีนี้

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/ 


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

2 ผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ ไม่ได้ประกันตัว – ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ แย้งผู้พิพากษา

Posted: 01 Mar 2012 07:13 AM PST

1 มี.ค.55 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอานนท์ นำภา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล สำหรับผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2 ราย ได้แก่ นายสุรภักดิ์ (สงวนนามสกุล) และ นายธันย์ฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) โดยใช้เงินของกองทุนยุติธรรม ศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องของสุรภักดิ์ภายในวันที่ยื่นโดยระบุว่าเป็นคดีร้ายแรงและเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี และส่งคำร้องกรณีของธันย์ฐวุฒิไปให้ศาลอุทธรณ์ ซึ่งวานนี้ (29 ก.พ.) ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้องเช่นกัน โดยระบุว่า จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หลายครั้งและศาลก็ยกคำร้อง เมื่อยื่นคำร้องระหว่างอุทธรณ์ให้ศาลฎีกา ศาลฎีกาก็ยกคำร้อง เนื่องจากไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ด้านนางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยายนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ที่เพิ่งถูกพิพากษาจำคุก 7 ปี 6 เดือนเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เผยแพร่ข้อความจากนายสุรชัยที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเขาระบุว่า

“ฝากกราบเรียนต่อศาลว่า

คำพิพากษาที่ว่าจำเลยไม่หลาบจำที่เคยต้องโทษมาหลายครั้ง จึงไม่รอลงอาญานั้น จำเลยจะหลาบจำในสิ่งที่ไม่ได้กระทำผิดได้อย่างไร  เพราะจำเลยตกเป็นเหยื่อของอำนาจเผด็จการในอดีต

ส่วนที่ระบุความผิดว่าจำเลยปราศรัยว่าผู้ใดอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งของประเทศไทย ปัจจุบันจำเลยก็ยอมรับผิด ก็ขอบคุณที่ศาลลงโทษสถานเบา ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร จำเลยรู้ถึงความลำบากใจของศาล เพราะประมวลอาญา มาตรา 112 ระบุเอาไว้จะตัดสนเป็นอย่างอื่นไม่ได้

 

ขอแสงดความนับถือ

สุรชัย (แซ่ด่าน) ด่านวัฒนานุสรณ์

28 กุมภาพันธ์ 2555”

 


ภาพจากเฟซบุ๊ค Nithiwat Wannasiri

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“อภิสิทธิ์” ประณามผู้ก่อเหตุทำร้าย “วรเจตน์”

Posted: 01 Mar 2012 07:10 AM PST

 ชี้ต้องคุยกันด้วยเหตุและผล ด้าน “สุริยะใส” แนะนิติราษฎร์สรุปบทเรียนเพราะ นปช. ใช้เรื่องนี้โจมตีฝ่ายตรงข้าม ด้านนักวิชาการสยามประชาภิวัฒน์ชี้เรื่องนี้ไม่มีดีเบต ชาวบ้านไม่รู้จะทำยังไงเลยมาก่อเหตุ ด้าน“สุวินัย” เตือนให้ระวังเป็นเหยื่อชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายใน “ศึกชิงอำนาจครั้งสุดท้าย”

หลังจากที่เมื่อวานนี้ เกิดเหตุทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ล่าสุดในวันนี้ (1 มี.ค.) มีการแสดงความเห็นจากบุคคลในวงการต่างๆ ต่อกรณีที่เกิดขึ้น

 

อภิสิทธิ์ประณามผู้ก่อเหตุ เรียกร้องทุกฝ่ายคุยกันด้วยเหตุผล

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประเทศญี่ปุ่น ผ่านรายการฟ้าวันใหม่ ทางบลูสกายแชนแนล ว่ารู้สึกตกใจและทางพรรคไม่เห็นด้วย ขอประณามการละเมิดสิทธิทุกรูปแบบ และอยากให้ทุกฝ่ายระวัง เพราะบางฝ่ายต้องการให้มีความขัดแย้ง เราจึงต้องหยุดตรงนี้ให้ได้ ต้องคุยกันด้วยเหตุและผล

 

สุริยะใสแนะนิติราษฎร์สรุปบทเรียน เพราะเสื้อแดงนำเรื่องนี้ไปโจมตีฝ่ายตรงข้าม

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ประสานงานกลุ่มกรีนได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุค โดยตั้งค่าเผยแพร่สาธารณะว่า “จากกรณีเอกยุทธ อัญชันบุตร ถึง วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เพื่อนๆ มีแง่คิดอะไรแลกเปลี่ยนกันบ้างครับ” และ “ที่ผ่านมาบทบาทของ "คณะนิติราษฎร์" และ อ.วรเจตน์ จะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม แต่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนคนเสื้อแดงอย่างปฏิเสธไม่ได้ ในวันที่ถูกแกนนำเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยสลัดทิ้ง ม 112 "คณะนิติราษฎร์" ก็ควรสรุปบทเรียน มาวันนี้ความรุนแรงที่กระทำกับ อ.วรเจตน์ ก็กำลังถูก นปช. และคนเสื้อแดงบางส่วน ฉกฉวยไปโจมตีฝ่ายตรงข้ามอีก นี่เป็นบทเรียนที่ครั้งที่ 2 ที่คณะนิติราษฎร์มองข้ามไป ...”

 

คมสัน โพธิ์คง” ชี้นิติราษฎร์ไม่ยอมดีเบต ชาวบ้านไม่รู้จะทำยังไงเลยมาก่อเหตุ

ในการให้สัมภาษณ์ไทยรัฐออนไลน์ นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยแสดงความเห็นใจต่อนายวรเจตน์ และกล่าวว่าไม่เห็นด้วยในเรื่องการทำร้ายร่างกาย

นายคมสันเชื่อว่า จุดอ่อนของคณะนิติราษฎร์นั้นคือไม่ยอมให้มีการดีเบต หรือการให้พื้นที่ของกลุ่มที่เห็นต่างมาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ไม่ยอมพูดเรื่องในการหักล้างในสิ่งที่ประชาชนชาวบ้านคิด

"ในทางวิชาการแล้วการดีเบตเป็นเรื่องที่มีความสวยงามทางวิชาการ เมื่อประชาชนไม่มีคนที่พูดเพื่อแย้งในข้อความคิดได้ จึงไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยมาก่อเหตุดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามตนไม่เห็นด้วยกับผู้ก่อเหตุแน่นอน เพราะตนก็เคยโดนการกระทำมาแล้วในลักษณะนี้ ซึ่งหากไปดูในตามอินเทอร์เน็ต ก็จะรู้ได้เลยว่าประชาชนนั้นเขามีอารมณ์รุนแรงขนาดไหน" นายคมสันกล่าว

อย่างไรก็ตาม อาจารย์กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กล่าวว่า ตนคิดว่านักวิชาการทุกคนสามารถนำเสนอแนวทางวิชาการได้ แต่ขอให้ข้อเสนอดังกล่าวนั้นไม่กระทบจิตใจคนหรือประชาชนทั่วไปนัก และต้องมีความระมัดระวังตนเองอยู่เสมอ หากเรื่องที่นำเสนอไปอาจจะก่อให้เกิดผลร้ายกับตัวเองแม้ว่าจะเป็นการนำเสนอในทางวิชาการด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ตาม

 

กิตติศักดิ์ ปรกติ” ชี้เพิกเฉยคือทำลายเสรีภาพของเราทุกคน

กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นในเฟซบุคว่า “การทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ มุ่งข่มเหงความกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ คือการทำร้ายเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสังคม การประทุษร้ายอาจารย์มหาวิทยาลัย มุ่งเหยียบย่ำทำลายการให้เหตุผลที่กำลังแพร่หลายไปในสังคม ก็คือการมุ่งใช้กำลังปิดหูปิดตาผู้อื่นจากความรู้และเหตุผลทั้งปวง

การใช้กำลังประทุษร้ายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอย่างอุกอาจ มุ่งทำลายความไว้วางใจในสังคม การบั่นทอนความเชื่อว่าคนเราเห็นต่างกันก็ไว้ใจกันได้ ก็คือการมุ่งทำลายการอยู่ร่วมกันอย่างผู้เจริญ การเพิกเฉยต่อการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เกิดขึ้นแม้เพียงกรณีเดียว คือการยอมรับการทำลายเสรีภาพของเราทุกคน”

 

สุวินัย” เตือนให้ระวังเป็นเหยื่อชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายใน “ศึกชิงอำนาจครั้งสุดท้าย”

ด้านนายสุวินัย ภรณวลัย นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้แสดงความเห็นในเฟซบุค เมื่อวานนี้ (29 ก.พ.) โดยตั้งค่าเผยแพร่สาธารณะว่า “การใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายอาจารย์วรเจตน์แห่งกลุ่มนิติราษฎร์เป็นการกระทำที่สมควรถูกประณาม ไม่ว่าจะกระทำภายใต้นามแห่ง"การจงรักภักดี"ก็ตาม

ต่อมานายสุวินัย ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมในวันนี้ (1 มี.ค.) ว่า “ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายอาจารย์วรเจตน์แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์อาจจะมาจากแผนการของชนชั้นนำฝ่ายขวาที่ต้านทักษิณที่หวังใช้เรื่องนี้ให้ลุกลามบานปลายเพื่อเกิดการเผชิญหน้าระหว่างมวลชนทั้งสองฝ่าย เพราะอารมณ์ของมวลชนฝ่ายนี้ที่สะท้อนออกมาในสื่อออนไลน์ต่างๆล้วนแสดงความสะใจกันเป็นส่วนใหญ่ทั้งสิ้น ขณะที่มวลชนฝ่ายทักษิณคงคิดอีกแบบหนึ่งว่าวีรบุรุษประชาธิปไตยของพวกเขาถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรม หากมองในภาพรวมนี่คงเป็นหนึ่งในวิธีการปลุกกระแสสหบาทาเพื่อต้านทักษิณในรูปแบบหนึ่งที่หวังเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนทั่วไปที่ไม่อาจมีอารมณ์ร่วมในการต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญได้...การมีอารมณ์สะใจในเหตุการณ์นี้อาจทำให้เราตกเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำฝ่ายต้านทักษิณก็เป็นได้....นี่เป็นมุมมองและความเป็นไปได้อย่างหนึ่งที่อยากจะแลกเปลี่ยนกับพวกเราครับ ผมคิดว่าชนชั้นนำตอนนี้ก็เล่นไพ่หลายหน้าเพราะต่างฝ่ายต่างรู้ดีว่าการเผชิญหน้าแบบแตกหักเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อไปมีความเป็นไปได้ว่าชนชั้นนำฝ่ายทักษิณจะเล่นงานกลุ่มพันธมิตรบ้าง จะว่าไปแล้วฝ่ายทักษิณเปิดเกมเล่นงานกลุ่มพันธมิตรก่อนที่ชนชั้นนำฝ่ายต้านทักษิณจะเอาคืนด้วยการเล่นอาจารย์วรเจตน์เพื่อตอบโต้ด้วยซ้ำ...ขณะนี้ทั้งพันธมิตรและนิติราษฎร์กำลังตกเป็นเหยื่อของชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายในศึกชิงอำนาจครั้งสุดท้ายนี้ครับ....ด้วยจิตคารวะและสมานฉันท์ยิ่งครับ...”

สองแฝดที่ชกอาจารย์วรเจตน์นั้น คนหนึ่งมีเฟซบุ๊คของตนเอง ในเฟซบุ๊คของเขา ไม่เคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเลย มีแต่รูปภาพของเขาที่ชอบเล่นปืนพก กับชอบฟังเพลงร็อค...ถ้าดูจากพฤติกรรมแบบนี้ คงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า รับจ้างมามากกว่าทำไปด้วยความรักสถาบันครับ ปัญหาก็คือรับจ้างจากใครมาเท่านั้น ถ้าดูจากแหล่งที่สองแฝดคู่นี้ทำมาหากินอยู่ที่ปทุมธานี ความเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้จะเป็นการจัดฉากจากฝ่ายแดงด้วยกันเองก็มีอยู่สูงเช่นกัน”

 

สมพงษ์ จิตระดับ” เตือนโต้แย้งอย่างไรไม่ควรใช้กำลัง หวั่นเกิดรัฐประหาร

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในโพสต์ทูเดย์ โดยระบุว่าเป็นเรื่องความสุดขั้วทางการเมืองที่ไม่มีเหตุผล คิดว่าสังคมวิชาการต้องออกมาช่วย ไม่ได้เข้าข้างนายวรเจตน์ แต่เหตุการณ์นี้เป็นภัยคุกคามเสรีภาพทางวิชารการ เป็นการใช้กำลังที่เป็นอันธพาลทางการเมือง การชกต่อยถือเป็นเรื่องที่สังคมวิชาการให้อภัยไม่ได้ โตแย้งกันอย่างไรก็ไม่ควรใช้กำลัง เกรงว่าสังคมจะเกิดเหตุมวลชนมาทำร้ายกัน จนเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ไปสู่การรัฐประหาร

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาอาจารย์ มธ. แถลงกรณีทำร้ายวรเจตน์

Posted: 01 Mar 2012 06:53 AM PST

สภาอาจารย์มธ. แถลงเร่งรัดเจ้าหน้าที่ดำเนินการเอาผิดผู้ทำร้ายร่างกายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ พร้อมทั้งเรียกร้องอธิการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อความมั่นใจของประชาคม วิงวอนคนในสังคมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นและใช้สติไตร่ตรองข้อมูลข่าวสาร

รายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์สภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีการทำร้ายร่างกายอาจารย์ในบริเวณมหาวิทยาลัย

สืบเนื่องจากความขัดแย้งด้านความคิดระหว่างบุคลากรและนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผลจากการเปิดเผยผลการประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกรณีห้ามการจัดเวทีเสวนาแสดงความคิดเห็นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผ่านช่องทางสังคมออนไลน์ของอธิการบดีนั้น

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สภาอาจารย์ได้หยิบยกประเด็นนี้มาหารือในการประชุม เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการแสดงจุดยืนและท่าทีของสภาอาจารย์ต่อกรณีดังกล่าว แต่หลังจากการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางแล้ว สภาอาจารย์ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นที่มีความแตกต่างหลากหลายให้ออกมาเป็นฉันทามติได้

เนื่องจากตระหนักถึงบทบาทและภาระหน้าที่ในตำแหน่งของคู่ขัดแย้งทุกท่านที่มีต่อองค์กรในความรับผิดชอบหรือหน่วยงานที่สังกัดหรอเคยสังกัดมาก่อนรวมทั้งความเป็นจริงที่ว่า ในขณะนี้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ถูกขยายผลกลายเป็นความขัดแย้งซึ่งไม่อยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาด้วยเหตุและผลไม่มีใครฟังใคร ในช่วงเวลาแห่งการเผชิญหน้าเช่นนั้น การแสดงจุดยืนของสภาอาจารย์ต่อประเด็นการตัดสินใจของกรรมการบริหารของมหาวิทยาลัยว่าเป็นการปิดกั้นอิสระทางความคิดของบุคลากรในธรรมศาสตร์หรือไม่หรือประเด็นการจัดเสวนาในเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน โดยใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยว่ามีความเหมาะสมหรือมีความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อคนในประชาคมธรรมศาสตร์หรือไม่ ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลในทางที่ดี ไม่ว่าจุดยืนที่แสดงออกไปจะเป็นเช่นใด ในทางกลับกันอาจเป็นเสมือนการเติมเชื้อไฟเข้าไปเพิ่มความขัดแย้งให้มีความรุนแรงยิ่งขึ้น สภาอาจารย์จึงได้เลือกที่จะสงบนิ่งไม่แสดงท่าทีอย่างเป็นทางการ
เพื่อรอให้สถานการร์ลดความรุนแรงลง แล้วจึงค่อยหาโอกาสในการหาหนทางเพื่อใช้ปัญญาผสานความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

แต่จากเหตุการณ์การณ์ร้ายร่างกาย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น เพื่อให้คณาจารย์และประชาคมธรรมศาสตร์ทุกคน
ได้มีความมั่นใจในความปลอดภัยขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ หรือดำเนินกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความจำเป็นต้องแสดงจุดยืนเพื่อเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1 สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอประณามการกระทำดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายใด เนื่องจากแม้ว่าจะมีความแตกต่างในทางความคิด ความรุนแรงไม่ใช่หนทางที่จะแก้ปัญหา

2 สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียกร้องให้อธิการบดี และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องเร่งรัดและติดตามให้มีการดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิด ให้ได้รับโทษตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อป้องปรามไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

3 สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียกร้องให้อธิการบดีหามาตรการและแนวทางเพิ่มเติมในการป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับประชาคม

4 สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมไทย เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้องและครบถ้วน อย่าใช้เพียงความรู้สึกและอารมณ์ที่มีต่อข่าวสารเพียงด้านเดียวหรือเพียงบางส่วนที่ได้รับถ่ายทอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกรณีความขัดแย้งใดๆ

ขอให้ประมวลข้อมูลข่าวสารนั้นอย่างรอบด้านด้วยตนเอง ใช้สติไตร่ตรองด้วยใจที่เป็นกลาง คำนึงถึงสถานะและภาระหน้าที่ของผู้อื่นก่อนที่จะกำหนดบทบาทและการกระทำของตนเองที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการไม่ใช้ความรุนแรง

เพื่อไม่ให้กลายไปเป็นกลไกส่วนหนึ่งในการเพิ่มความรุนแรงของสถานการณ์และเพื่อไม่ให้เกิดกรณีที่ความขัดแย้งนั้น แท้จริงแล้วเกิดจากเพียงความเข้าใจผิด หรืออคติที่มีอยู่ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดหรือปลูกฝังด้านความคิดมาจากผู้อื่น

5 สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียกร้องให้คนไทยทุกคนที่ดำเนินการใดๆ เพื่อความพอใจส่วนตัว หรือผลประโยชน์ที่จะตกกับตนเองและพวกพ้อง ได้กรุณาฉุกคิดสักนิดก่อนว่าสิ่งนั้นจะเป็นการส่งผลเสียหายให้กับประเทศชาติโดยรวมหรือไม่ ในช่วงเวลานี้ที่ประเทศกำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤตในหลายด้าน เพราะความสงบสุขของบ้านเมือง เป็นปัจจัยพื้นฐานของความสงบสุขของทุกคนในชาติ

1 มีนาคม 2555

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายกสมาคมนิติศาสตร์ มธ.แถลงประณามทำร้ายวรเจตน์ ไม่หวังดีต่อชาติ

Posted: 01 Mar 2012 06:08 AM PST

1 มีนาคม 2555 รศ.สมยศ เชื้อไทย นายกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ออกแถลงการณ์ กรณีการทำร้ายร่างกาย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยขอประณามการกระทำดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้ให้มีการประทุษร้าย เพราะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ แต่จงใจมุ่งให้เกิดความแตกแยกและให้สังคมเกิดความโกลาหลวุ่นวายที่ยากต่อการประนีประนอมหรือปรองดองสามัคคีระหว่างคนในสังคม

โดยแถลงการณ์ มีเนื้อหา ดังนี้

คำแถลงการณ์

การดำรงอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีของมนุษย์ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ต้องให้ผู้คนสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นหรือความเชื่อของตนได้โดยอิสระ แน่นอนว่า ความคิดเห็นหรือความเชื่อของคนนั้นย่อมมีความแตกต่างเป็นธรรมดา ความเป็นเอกภาพของสังคมหรือความสมานสามัคคีปรองดองของคนในชาติจะเกิดขึ้นและยั่งยืนต่อเมื่อเรามีการยอมรับความแตกต่างของคนในสังคมด้วย

จริงอยู่ ในสังคมประชาธิปไตย ต้องใช้เสียงข้างมากปกครองหรือตัดสินใจในเรื่องส่วนรวม แต่ก็มิได้หมายความว่า จะยอมให้มีการกดขี่ข่มเหงฝ่ายข้างน้อยได้ตามอำเภอใจ ด้วยเหตุนี้ในสังคมประชาธิปไตยจึงต้องมีหลักประกันสิทธิของฝ่ายข้างน้อยอีกด้วย

กรณีการทำร้ายร่างกาย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งพยายามแสดงความคิดเห็นของตนเองและของกลุ่มโดยสันติวิธี เพื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย จึงมิใช่เรื่องการทำร้ายร่างกายบุคคลธรรมดา อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอย่างอุกอาจเท่านั้น  แต่ยังเป็นการทำร้ายและทำลายหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของฝ่ายข้างน้อยอย่างร้ายแรงอีกด้วย หากสังคมไม่เกิดความสำนึกร่วมที่จะแสวงหาหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่าง ความพยายามจะแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่ไร้ค่า

เราจึง ขอประณาม การกระทำดังกล่าว โดยเฉพาะ กลุ่มคนที่ใช้ให้มีการประทุษร้าย เพราะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ แต่จงใจมุ่งให้เกิดความแตกแยกและให้สังคมเกิดความโกลาหลวุ่นวายที่ยากต่อการประนีประนอมหรือปรองดองสามัคคีระหว่างคนในสังคม

เราจึง เรียกร้อง ให้เดินตามแนวทางของผู้ที่มีใจเป็นประชาธิปไตย ที่ว่า

“เราจะต่อสู้ เพื่อให้โอกาสเขาได้พูดหรือแสดงความเห็น แม้สิ่งที่เขาจะพูดหรือแสดงความเห็นจะเป็นสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย”

 

รศ.สมยศ เชื้อไทย
นายกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 01 Mar 2012 05:51 AM PST

"สิ่งที่ผมทำ ผมทำในกรอบของวิชาการและเป็นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ เราคงปล่อยให้เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งชีวิตเราไม่ได้ ผมจะทำต่อไป เพราะผมทำในกรอบของกฎหมายทุกอย่าง อยู่ในกรอบของหลักการที่ถูกต้อง และผมก็ทำเท่าที่เวลาอำนวย ผมมีงานที่ต้องตรวจข้อสอบ สอนหนังสือ แต่เมื่อมีความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็ทำ"

29 ก.พ. 55, แถลงที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: รักในหลวงต้องคลั่ง?

Posted: 01 Mar 2012 02:59 AM PST

เมื่อวันพุธ บังเอิญผมโทรคุยกับ อ.วรเจตน์อยู่ 2 ครั้ง เพราะอยากปรึกษาหาความรู้เรื่องศาลเดี่ยว (ศาลพระภูมิ) ศาลคู่ (ศาลเจ้าพ่อศาลเจ้าแม่) แต่ไม่ทันคุยเป็นน้ำเป็นเนื้อ เพราะช่วงเช้า วรเจตน์ไปจุฬาฯ อ.ไชยันต์ ไชยพร เชิญไปบรรยายพิเศษให้นิสิตฟัง (ขอชื่นชม อ.ไชยันต์ไว้ ณ ที่นี้ ในฐานะผู้มีความเห็นต่างแต่เปิดใจกว้าง) ช่วงบ่าย ราวบ่ายสามกว่า ก็โทรคุยกันอีกครั้ง ตอนวรเจตน์แวะทำธุระส่วนตัวระหว่างเดินทางกลับธรรมศาสตร์

แค่อีกครึ่งชั่วโมงต่อมา ก็มีคนโทรบอกผมว่า วรเจตน์ถูกทำร้าย อย่างอุกอาจกลางคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
 
สิ่งที่น่าสลดใจคือ คนร้ายไม่ได้เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกระทำเรื่องชั่วช้าเลวทราม เพราะยังบอกว่า ถ้าอยากรู้กูเป็นใครให้ไปดูในวีดิโอ (วงจรปิด)
 
จากนั้นก็เข้ามอบตัวอย่างสง่าผ่าเผย... พูดง่ายๆ ว่าเขาอยากโชว์ และคิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่ด้วยซ้ำ
 
แน่นอน จะมีอะไรต้องเกรงกลัวละครับ เพราะในทางกฎหมาย การทำร้ายร่างกายที่ไม่ได้รับอันตรายสาหัส ไม่ใช่โทษรุนแรง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี รับสารภาพลดครึ่ง แถมจำเลยคงคิดว่าศาลจะให้ความปรานี รอลงอาญา เพราะทำไปด้วยความจงรักภักดี (นี่ก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งที่ในเฟซบุคระบุว่า ผู้ต้องหาชอบเล่นปืน ผมเห็นด้วยว่าเขาควรได้รับการปล่อยตัว แต่ควรขอคำสั่งศาลคุมประพฤติ ห้ามครอบครองอาวุธร้ายแรง)
 
ขณะที่ในทางสังคม แทนที่จะประณามการกระทำดังกล่าว พวก “สลิ่ม” และ พธม.กลับแสดงความสะใจ หรือบอกว่าน้อยไปด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างสลิ่มรายหนึ่ง โพสต์ในเฟซบุคของวรกร จาติกวณิช ว่า “อยากมอบโล่ห์เกียรติยศ พร้อมเกียรติบัตรให้ผู้ที่ชกวรเจตน์ ถือเป็นบุคคลแห่งปี สมควรลงหนังสือไทม์”
 
ขณะเดียวกันก็รีบปัดป้องว่าไม่ใช่การกระทำของพวกตัว ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการจัดฉาก สร้างสถานการณ์ เรียกความสนใจ หรือฝ่ายรัฐบาลต้องการเบี่ยงเบนประเด็น
 
อันนี้ไม่ใช่แค่พวกสลิ่ม แต่พวกนักข่าว นักเล่าข่าวตอนเช้า บางเจ้าก็วิเคราะห์เป็นตุเป็นตะ ว่าอาจจะมีมือที่สามที่สี่ ผมเรียกว่า “สันดานนักข่าว” คือเป็นพวกที่คิดไว้ก่อนว่าทุกอย่างต้องมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ทุกคนสกปรกหมด ยกเว้นพวกกรูฐานันดรที่สี่
 
มีเซอร์ไพรส์จากสื่ออยู่เจ้าเดียวคือ ไทยโพสต์ บ้านเก่าผม พาดหัวข่าวแหกโผ ดีที่สุดบนแผงหนังสือพิมพ์ ดีกว่ามติชน ข่าวสด ด้วยซ้ำ เพราะประณามว่า “เถื่อนชกหน้าวรเจตน์” บุกคุกคามกลาง ‘ธรรมศาสตร์’ หลายฝ่ายผวา 112บานปลาย!
 
อันที่จริงก็ไม่น่าประหลาดใจถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติ เพราะไทยโพสต์เคยเป็นสื่อที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพมาตลอด เคยโดนคุกคามด้วยตัวเอง ทั้งสมัย ปชป.และ ทรท. เพียงแต่ฉบับนี้สงสัยว่า จะเหลือคาแผงบานเบอะ เพราะขัดใจแฟนคลับ (เผลอๆ จะมีรายการเรียกร้องให้ทบทวนจุดยืน คริคริ)
 
ตลกร้ายคือในขณะที่พวกสลิ่มอ้างว่าไม่ใช่การกระทำของพวกตัว “คนรักในหลวงไม่ทำอย่างนั้น” พวกเขากลับแสดงความสะใจ เย้ยหยัน กระทืบซ้ำทางวาจา ทั้งในความเห็นท้ายข่าวผู้จัดการ ASTV ทั้งในเฟซบุคของวรกร ของหมอตุลย์
 
“ดีใจที่สุดเลยค่ะ” “โดนก้านคอด้วยไหมคะ” (วรกร จาติกวณิช) “อย่าดีใจค่ะ เดี๋ยวเค้าจะว่า เราโหดร้าย คนชกวรเจตน์น่ะเป็นคนร้าย แต่คนทุบรถอภิสิทธิ์เป็นคนรักประชาธิปไตยนะคะ เราต้องอย่าลืม...” “โดนชกรัวที่หน้า แตก ทั้งหน้าและแว่นตา. น่าจะเสียหล่อ” “ชกเสด น่าจะสาดน้ำกรด”
 
ทั้งหมดมีรายเดียวที่บอกว่า “ผมว่าเราไม่ควรสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับคนคิดต่าง ไม่ว่าจากฝ่ายใดนะ”
 
คุณหมอตุลย์บอกว่า “คนไทยรักในหลวง แม้จะไม่ชอบใจการกระทำของวรเจตน์ แต่ผมเชื่อว่าไม่มีใครลงมือทำร้ายวรเจตน์หรอกครับ ผมคิดว่าวรเจตน์ถูกใช้เป็นเหยื่อสร้างสถานการณ์กลบกระแสคัดค้านการล้มล้างรธน.”
 
แต่ความเห็นถัดมาบอกว่า “คุณหมอก็ต้องระวังนะคะ เพราะเรากำลังเล่นงานคนที่ไม่สำนึกบุญคุณแผ่นดิน เอาง่ายๆคนที่พร้อมจะทรยศผู้มีพระคุณหนูไม่ถือว่าเป็นคนดี..โดยเฉพาะพวกที่วันๆคิดว่าตัวเองเก่ง ทั้งที่กระจอก อ๋อ กรณีวรเจตน์หนูไม่เห็นด้วที่โดนชกนะคะ แต่อยากให้กระทืบให้สมองส่วนที่ทำงานมากกว่า..”
 
คำถามคือคนไทยรักในหลวงไม่มีใครลงมือทำร้าย แต่คนไทยรักในหลวงพร้อมจะสะใจ ยุให้กระทืบสมองเลยดีกว่า อย่างนั้นหรือครับ
 
นี่รักในหลวงแบบไหนกัน
 
ทำไมความรักในหลวงต้องมาพร้อมกับความโกรธ เกลียดชัง คลั่งแค้นผู้ที่มีความเห็นต่าง มาพร้อมกับความคับแคบ ไร้สติ ไม่ฟังอะไรทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่แฟนคลับหมอตุลย์หรือวรกร น่าจะเป็นคนกรุงผู้มีการศึกษา ไม่ใช่ชนชั้นกลางทำมะดาๆ ด้วยซ้ำ แต่น่าจะเป็นพวกมีคลาส มีตระกูล จบปริญญาโทปริญญาเอก
 
ไม่ได้บอกว่าคนเสื้อแดงแสนดีมีมารยาท มวลชนเสื้อแดงที่โห่ฮาหมอตุลย์ตอนไปธรรมศาสตร์ก็ทำไม่ถูก หรืออย่างแท็กซี่ที่ตะโกนด่าพร้อมให้อวัยวะ อ.แก้วสรรกลางถนน ก็ทำไม่ถูก แต่ระหว่าง “ผู้ดีรักในหลวง” กับ “ไพร่รักทักษิณ” ผมควรจะเรียกร้องใครมากกว่ากัน
 
เฮ้ย คนรักในหลวงควรจะมีเมตตาธรรม มีขันติ มี ฯลฯ มากกว่าคนรักทักษิณสิ ก็คุณรักในหลวงเพราะพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนทั้งแผ่นดินไม่ใช่หรือ (คนรักทักษิณมันก็แค่ได้ผลประโยชน์ประชานิยม จริงไหม)
 
แล้วนี่เป็นความร้กในหลวงแบบไหนกัน 35 ปีผ่านไป จาก 6 ตุลา 2519 ที่อ้างความรักสถาบันปลุกระดมให้เกิดการเข่นฆ่ากลางเมือง เก้าอี้ฟาดศพ ใช้ไม้แทงอวัยวะเพศ จนถึงวันนี้ ก็ดูเหมือนไม่ได้เปลี่ยนไปซักเท่าไหร่เลย
 
อย่าลืมว่าพฤษภา 35 สุจินดาก็กล่าวหาชวลิต เป็นพวกสภาเปรสิเดียม รสช.ยึดอำนาจก็อ้างคดีลอบสังหาร ม็อบมือถือก็ถูกหาว่าขัดขวางขบวนเสด็จฯ และพวกทหาร (ของ พล.อ.สุรยุทธ์) ที่เข้าไปลุยกระทืบคนในโรงแรมรอแยล ก็ให้การว่า ถูกปลุกปั่นว่าพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อสถาบัน
 
“คนดี” อย่างสุเมธ ตันติเวชกุล หรือ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ช่วยชี้แจงทีว่า ท่านปลูกฝังความรักในหลวงแบบไหนกัน รักแล้วต้องคลั่ง ต้องยกย่องเทิดทูนสดุดีสถานเดียว โดยไม่สามารถพูดกันอย่างมีเหตุผลอย่างนั้นหรือ แค่สดุดีน้อยหน่อย ก็อาจถูกเขม่น แค่บอกว่าอย่าคลั่งมากนัก ก็เห็นเป็นศัตรู
 
ที่พูดนี่ไม่ใช่ไม่เคยเห็นคนรักในหลวงที่มีเมตตาธรรม รับความรักมาเผื่อแผ่ให้ทุกสีทุกขั้ว มีเหมือนกันครับ แต่น้อยนิด ยกตัวอย่าง คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย เป็นคนที่ผมชื่นชม เพราะแกไม่เคยเอาความรักมาใช้เพื่อเกลียดใคร แต่ทำไมคนแบบนี้มีน้อยจังหว่า
 
เรื่องแปลกแต่จริงคือ “สลิ่ม” ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงคนชั้นกลาง ที่ปลาบปลื้มกับภาพถ่ายเก่าๆ หรือภาพในจอทีวี ที่ในหลวงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เสด็จเยี่ยมคนชนบท ไม่ใช่คนเหล่านี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณด้วยตัวเองซักหน่อย แต่พวกเขาได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กจนโต
 
กระนั้นมันน่าจะเป็นเรื่องดี ที่มีคน “รักในหลวง” เยอะๆ แล้วยึดมั่นในพระบรมราโชวาท ในวัตรปฏิบัติที่พระองค์เป็นแบบอย่าง สมมติเช่น รถติดสติกเกอร์ “รักในหลวง” ก็ควรขับรถถูกกฎ เคารพวินัยจราจร (ผมจะได้ปาดง่ายหน่อย-ฮา) แต่ที่ไหนได้ บางคันทาสีเป็นตัวหนังสือตัวใหญ่ๆ “รักในหลวงทั้งครอบครัว” ฝ่าไฟแดงเฉยเลย
 
ความรักในหลวงควรเป็นความรักที่สูงส่ง ไม่ใช่หรือครับ ควรเป็นหลักยึดเหนี่ยวให้ทำความดี ไม่ใช่หรือครับ ไม่ใช่เป็นหลักยึดเหนี่ยวให้ฆ่ากัน ทำร้ายกัน อย่างบ้าคลั่ง แต่ทำไมมันกลายเป็นเหมือนความคลั่งศาสนา หรือคลั่งลัทธิ แบบตาลีบัน ซึ่งอันที่จริง ตัวศาสนาก็สอนให้ทำดี แต่การปลูกฝังด้านเดียวทำให้คลั่ง
 
ธงชัย วินิจจะกูล จึงบอกว่า “กษัตริย์นิยมล้นเกิน” เป็นกึ่งศาสนา คือไม่ใช่ศาสนา แต่บางด้านหนักกว่าศาสนา เพราะเรายังมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา
 
ปรากฏการณ์ของพวกสลิ่ม “รักในหลวง” ถ้าให้ผมเทียบในฐานะคนออกจากป่า ก็คล้ายกับพวกเรดการ์ด ที่ชูสรรนิพนธ์ประธานเหมา เข้าไปลากคอคนออกมาติดป้ายประจานว่าปฏิปักษ์ปฏิวัติ ถึงแม้พฤติกรรมจะไม่ถึงขั้นนั้น แต่ในเชิงความคิดครอบงำ ก็คล้ายๆ กัน หรือถ้าเทียบอเมริกา ก็คือยุคแมคคาร์ธี ที่กีดกันผู้ถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ แบบเดียวกับที่มหาวิทยาลัยไม่ยอมรับก้านธูปเข้าเป็นนักศึกษา หรืออาจารย์แจ้งจับลูกศิษย์ข้อหาหมิ่นสถาบัน
 
ช่วยวิเคราะห์หน่อยสิครับ คนรักในหลวงทั้งหลาย คนดีๆ ที่ได้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท อย่าง ดร.สุเมธ อย่าง พล.ต.อ.วสิษฐ หรือใครก็แล้วแต่ ความรักในหลวงที่ควรจะสร้างสุขสันติแก่สังคมกลายเป็นสร้างความเกลียดชังได้อย่างไร หรือพวกท่านอยากให้เป็นอย่างนี้
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ม.เที่ยงคืน ประณามการใช้ความรุนแรงในความเห็นต่างทางการเมือง

Posted: 01 Mar 2012 02:31 AM PST

"ขอให้ทุกฝ่ายจงร่วมกันใช้ความอดทน เหตุผล และสติปัญญา ในการรับฟังความเห็นที่แตกต่างออกไป การใช้กำลังจะไม่ได้เป็นออกไปจากปัญหาแต่อย่างใด รวมทั้งจะนำไปสู่ความยุ่งยากที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมแห่งนี้"

หมายเหตุ: วันนี้ (1 มี.ค.) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เผยแพร่แถลงการณ์ "ประณามการใช้ความรุนแรงในความเห็นต่างทางการเมือง" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง ประณามการใช้ความรุนแรงในความเห็นต่างทางการเมือง

 

                กรณีที่มีบุคคลได้ใช้กำลังทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการคุกคามและเป็นการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลที่มีความเห็นต่างอย่างป่าเถื่อน อันเป็นเหตุการณ์ที่สังคมไทยต้องร่วมมือกันปกป้องอย่างเข้มแข็ง โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นดังต่อไปนี้

                ประการแรก เป็นที่เหตุได้อย่างชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวนี้เป็นผลมาจากการแสดงความเห็นและความเคลื่อนไหวของอาจารย์วรเจตน์ในการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์อาจมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่เห็นต่าง แต่ทั้งหมดก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติในแต่ละสังคมซึ่งจะมีบุคคลซึ่งมีความเห็นไม่เหมือนกัน หนทางในการจัดการกับความเห็นต่างดังกล่าวที่ดีที่สุดก็ด้วยการใช้เหตุผลและการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้คนฝ่ายต่างๆ การใช้กำลังเพื่อทำร้ายบุคคลที่มีความเห็นต่างจึงต้องควรถูกประณามรวมถึงต้องถูกดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

                ไม่เพียงการลงโทษกับตัวบุคคลผู้ลงมือเท่านั้น บรรดาฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักการเมือง องค์กรประชาชน ที่มีส่วนต่อการ “สาดน้ำมันเข้ากองไฟ” อย่างไร้เหตุผลก็ควรต้องถูกประณามด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เป็นที่มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการสร้างบรรยากาศแห่งความเกลียดชังให้เพิ่มสูงขึ้น

                ประการที่สอง การปกป้องเสรีภาพในความเห็นต่างทางการเมืองนั้นมิใช่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากต้องการให้ทุกฝ่ายที่เห็นต่างในทางการเมืองสามารถแสดงความเห็นของตนได้อย่างเสรีและเป็นความเห็นที่มิได้บิดเบือนหรือให้ร้ายกับผู้คนกลุ่มอื่น การร่วมกันปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นจึงรวมถึงคนทุกกลุ่มในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง กลุ่มนิติราษฎร์ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ล้วนต้องสามารถแสดงความเห็นที่ยืนอยู่บนเหตุผลได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าบุคคลใดก็ไม่สมควรจากการถูกทำร้ายหรือถูกคุกคามในการแสดงความเห็นของตน   

                มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอประณามการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับความเห็นต่างในทางการเมือง และขอให้ทุกฝ่ายจงร่วมกันใช้ความอดทน เหตุผล และสติปัญญา ในการรับฟังความเห็นที่แตกต่างออกไป การใช้กำลังจะไม่ได้เป็นออกไปจากปัญหาแต่อย่างใด รวมทั้งจะนำไปสู่ความยุ่งยากที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมแห่งนี้

                                                                                                                มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
1 มีนาคม 2555

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายเปิดผนึกถึง รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 01 Mar 2012 02:29 AM PST

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
1 มีนาคม 2555
เรียน อาจารย์วรเจตน์ที่นับถือ

พวกเราดังมีรายนามข้างท้ายมีความรู้สึกสะเทือนใจเป็นอันมากที่อาจารย์ถูกทำร้ายร่างกายจากผู้ที่เต็มไปด้วยโทสะและมืดบอดด้วยอวิชชา ดังเหมือนว่าประเทศนี้เป็นประเทศที่ป่าเถื่อนและไร้ซึ่งอารยธรรมในการแสดงออกในความเห็นที่แตกต่างกัน มิหนำซ้ำในสื่อกระแสหลักบางสื่อและเครือข่ายโชเชียลเน็ตเวิร์คยังกระหน่ำซ้ำด้วยความสะใจ อันเป็นการนับได้ว่าหนทางที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาในทางสันตินั้นมืดมนเสียยิ่งนัก

ในฐานะผู้ที่มีจุดยืนทางวิชาการแนวทางเดียวกับอาจารย์ แม้อาจจะเห็นต่างในบางประเด็น พวกเราขอให้กำลังใจ ซึ่งเราเชื่อว่าอาจารย์มีอยู่เต็มเปี่ยมอยู่แล้ว และพวกเราขออยู่เคียงข้าง ในความถูกต้อง ความกล้าหาญ และความบริสุทธิ์ใจต่อสังคมของอาจารย์ตลอดไป

                                                                                        ด้วยจิตคารวะ

ชำนาญ จันทร์เรือง
อรรถจักร สัตยานุรักษ์
สายชล สัตยานุรักษ์
สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์
เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ชัชวาล บุญปัน
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทำร้ายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ คือ “ความป่าเถื่อนต่อการใช้เหตุผล”

Posted: 01 Mar 2012 02:20 AM PST

เมื่อเราจะร่วมกันสร้างสังคมให้น่าอยู่ หรือสร้างสังคมประชาธิปไตยแบบอารยะ เราจำเป็นต้องปกป้องแม้กระทั่ง“กลุ่มคนที่โดยธรรมชาติแล้วมีความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์กับอำนาจ


“ความอยุติธรรมไม่ว่าเกิดขึ้นที่ไหน ย่อมคุกคามความยุติธรรมไปทุกแห่ง”
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง

“คนโง่ที่ฉลาดคนไหนก็สามารถสร้างสิ่งใหญ่โต ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นได้
แต่การกระทำในทางตรงกันข้ามต้องอาศัยอัจฉริยภาพและความกล้าหาญอย่างมากเท่านั้น”
อี.เอฟ. ชูมาเกอร์

“บางครั้งฉันคิดว่าโลกแบ่งเป็นกลุ่ม
คือกลุ่มคนที่มีสายสัมพันธ์อันอบอุ่นกับอำนาจ
กับกลุ่มคนที่โดยธรรมชาติแล้วมีความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์กับอำนาจ”
อรุณธตี รอย

 

ความรู้สึกสะเทือนใจ เศร้า หดหู่กับข่าวการทำร้ายร่างกายอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็มากพออยู่แล้ว แต่ยิ่งรู้สึก “สะเทือนใจ” ยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเห็นข่าวนักวิชาการรุ่นใหญ่ อดีตคนเดือนตุลาและเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำ ออกมาแสดงความเห็นว่า

 “...เรื่องดังกล่าวน่าจะเกิดจากความขัดแย้งของสังคม อันเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็น ดังนั้น การที่นักวิชาการจะเสนอความเห็นต่างๆ จะต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะกระทบกับอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมได้ และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง”

แต่กลับไม่มีคำเตือนสื่อ นักวิชาการที่โจมตี ใส่ร้ายด้วยความเท็จต่างๆ นานาว่า อาจารย์วรเจตน์และกลุ่มนิติราษฎร์ “ล้มเจ้า” เพื่อปลุกกระแสความขัดแย้งในสังคม

ผมไม่อยากสรุปว่า คนที่ออกมาเตือนแบบนี้ต้องการให้ “เหตุผลเงียบ” แต่เท่าที่ติดตามการแสดงความเห็นของอาจารย์วรเจตน์ ผมประทับใจมากว่า อาจารย์เป็นคนที่หนักแน่นในหลักการเหตุผล มีสติในการใช้คำพูด ไม่หลุดไปจากหลักการเหตุผลเลย ไม่เคยเห็นอาจารย์ด่า ท้าทายใครๆ ในลักษณะ “ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล”

แล้วจะต้องให้ “เสียงของเหตุผล” ระมัดระวังขนาดไหนอีกครับ? ถ้าเราจะยืนยันหลักการ เหตุผลที่ถูกต้องในแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็น ก็จำเป็นต้องใช้เหตุผลอภิปรายกันอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเป็นเรื่องๆ เป็นประเด็นๆ ให้ “ขาด” ไปเลย ไม่ใช่พูดอ้ำๆ อึ้งๆ ครึ่งๆ กลางๆ หรือตีสำนวนโวหารแบบศรีธนญชัยไปวันๆ

และแน่นอนว่า เรื่องราวหรือประเด็นที่มันผ่านการใช้เหตุผลอย่างถึงที่สุดแล้ว ก็ย่อม “แหลมคม” และมีธรรมชาติของการ “ท้าทาย” เหตุผลของอีกฝ่ายอยู่ในตัวของมันเอง!

ผมคิดว่า “ท่วงทำนอง” ของการใช้เหตุผลของอาจารย์วรเจตน์เป็นท่วงทำนองที่สุภาพ ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์และฝ่ายเห็นต่างอย่างถึงที่สุดแล้ว หมายความว่ามีความ “ระมัดระวังอย่างยิ่งแล้ว” แต่จะให้หยุดใช้เหตุผล เพราะกลัวสังคมจะขัดแย้ง กลัวการข่มขู่ กลัวการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความจริงสังคมก็ขัดแย้งกันมากว่า 5 ปี แล้ว และยังขัดแย้งกันอยู่

บทบาทของนักวิชาการก็คือการนำ “ประเด็นปัญหาที่แท้จริง” ขึ้นมาสู่เวทีของการถกเถียงด้วยเหตุผล นี่คือความรับผิดชอบต่อการมีส่วนร่วมหาทางออกให้กับปัญหาขัดแย้งในสังคมให้เข้าสู่วิถีทางของการใช้เหตุผล เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างสันติ

แต่ปัญหาอยู่ที่นักวิชาการ สื่อผู้จัดการ สื่อกระแสหลัก ฝ่ายผู้มีอำนาจในกองทัพเป็นต้นต่างหากแทนที่จะใช้เหตุผลมาโต้แย้งถกเถียง แลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมา กลับไปใช้วิธีการโจมตีกล่าวหา ใส่ร้ายว่า อีกฝ่ายไม่สมควรเป็นคนไทย ล้มเจ้า ฯลฯ เพื่อจุดกระแสความเกลียดชังและความขัดแย้งขึ้นในสังคม

ฝ่ายนี้ต่างหากที่ต้องถามตัวเองว่า ทำเช่นนั้นไปเพื่ออะไร? และนอกจากควรจะถูกเตือนให้ระมัดระวังในการแสดงความเห็นแล้ว ยังสมควรจะถูกเรียกร้องให้ออกมาแสดง “ความรับผิดชอบ” ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันเป็นผลของการกระทำของพวกเขาอีกด้วย

การทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ คือ “ความป่าเถื่อนต่อการใช้เหตุผล” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันด้วยเหตุผล” ของสังคมเรา “อ่อนแออย่างถึงที่สุด” แล้ว แต่รูปธรรมของความอ่อนแอนี้เป็นเพียงแค่ “หยดน้ำ” บนยอดภูเขาน้ำแข็งแห่ง “โครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรง” (คำของ ส.ศิวรักษ์)

โครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรงนี้ โดยธรรมชาติแล้วย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อการใช้เหตุผลและเสรีภาพ แต่ธรรมชาติของมนุษย์คือ “ความเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลและเสรีภาพ” โครงสร้างที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเหตุผลและเสรีภาพ จึงเป็นโครงสร้างที่ทำลาย “ความเป็นมนุษย์” ของประชาชนโดยตรง

กล่าวคือ ในฐานะที่เป็น “มนุษย์” ประชาชนแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นคนมีชื่อเสียง คนธรรมดาสามัญ คนเล็กคนน้อยในสังคม ย่อมต้องมีสิทธิ เสรีภาพที่จะใช้เหตุผลอธิบายเพื่อยืนยันการกระทำ ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ของตนเองว่า “ถูกต้อง” หรือ “ไม่ผิด” อย่างไร และ/หรือใช้เหตุผลอธิบายเพื่อยืนยันความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ทางสังคมการเมืองว่า ทำไมเขาจึงต้องการให้ระบบ โครงสร้าง กติกาในการอยู่ร่วมกันของสังคมควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

แต่ภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่ กลับไม่ได้อนุญาตให้ประชาชนมี “ความเป็นมนุษย์” ในความหมายดังกล่าว เช่น ตัวอย่างคำพิพากษาในคดีคุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ตอนหนึ่งว่า

“...ประกอบกับที่จำเลยกล่าวถึงสถาบันเบื้องสูงว่า อยู่เบื้องหลังของความขัดแย้งก็ไม่เป็นความจริง พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทต่างก็ดำเนินพระราชกรณีกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีความร้ายแรงไม่สมควรให้รอการลงโทษ”

ประเด็นคือ ในทางหลักวิชาการ หรือหลักตรรกะ หลักความมีเหตุผลแล้ว การตัดสินว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็น “ความจริง” หรือ “ไม่เป็นความจริง” ย่อมไม่ใช่การ “ใช้อำนาจตัดสิน” แต่ต้องใช้ “การพิสูจน์จนสิ้นสงสัย” ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้เหตุผลและเสรีภาพ

เมื่อระบบไม่ได้เปิดให้ประชาชนได้มีเสรีภาพในการใช้เหตุผลอภิปรายโต้แย้งเพื่อพิสูจน์จนถึงที่สุดหรือจนสิ้นสงสัยว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้จริงหรือไม่จริงอย่างไร เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง จึงเป็น “ระบบที่ทำลายความเป็นมนุษย์ของประชาชน” คือ เป็นระบบที่บังคับไม่ให้ประชาชนสามารถใช้ความเป็นมนุษย์ของตนเอง (เหตุผลและเสรีภาพ) ปกป้อง “ความบริสุทธิ์” และ “ศักดิ์ศรี”ของตนเองได้

การที่คนเราไม่สามารถใช้เหตุผลและเสรีภาพในการปกป้อง “ความบริสุทธิ์” และ “ศักดิ์ศรี” ของตนเองได้ ยังถือว่า “ความเป็นคน” ยังมีอยู่อีกหรือ? นี่ไม่ใช่ “โศกนาฏกรรม” ที่น่าสะเทือนใจที่สุดหรอกหรือครับ?

หากพิจารณาข้อเสนอของนิติราษฎร์ในการแก้ไข ม.112 อย่างตรงไปตรงมา จะเห็นได้ว่าเป็นข้อเสนอที่ต้องการคืน “ความเป็นมนุษย์” แก่ประชาชน เช่นที่ระบุไว้ใน “เหตุยกเว้นความผิด” และ “เหตุยกเว้นโทษ” ที่ว่า

ประเด็นที่ ๕ เหตุยกเว้นความผิด
ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด ดังนี้ มาตรา ... “ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา ... และ

มาตรา...”

เหตุผล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๕ รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว ไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา

ประเด็นที่ ๖ เหตุยกเว้นโทษ
ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นโทษ ดังนี้ มาตรา ... “ความผิดฐานต่างๆในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่า ข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์”

เหตุผล
แม้การกระทำนั้นเป็นความผิด แต่หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงข้อความที่เป็นจริง และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็สมควรได้รับการยกเว้นโทษ

นี่คือข้อเสนอเพื่อคืน “สิทธิ เสรีภาพในการใช้เหตุผลปกป้องความบริสุทธิ์และศักดิ์ศรีของตนเอง” แก่ประชาชน ซึ่งเท่ากับเป็นการคืน “ความเป็นมนุษย์” แก่ประชาชน (ซึ่งสิทธิ เสรีภาพดังกล่าวนี้รับรองโดยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ถูก ม.112 ปัจจุบัน “ทำลาย” ไป เสมือนว่า ม.112 เป็น “กฎหมายเหนือรัฐธรรมนูญ”)

ฝ่ายเห็นต่างก็ควรใช้เหตุผลโต้แย้ง ไม่ใช่ไปกล่าวหาว่าล้มเจ้า หรือไปสร้างภาพนิติราษฎร์ให้กลายเป็น “ปีศาจ” ที่ต้องประณามสาปแช่งหรือขจัดทิ้งไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดง “ความป่าเถื่อนต่อการใช้เหตุผล” จนนำมาสู่การใช้กำลังทำร้ายร่างกายนักวิชาการผู้ยืนหยัดในหลักการ เหตุผล บนอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ชัดเจนมากที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยแห่งความสับสนทางความคิดเช่นปัจจุบัน

สังคมที่ถูกทำให้วุ่นวายไปตามการปั่นกระแสความขัดแย้งทางความคิด ให้ใหญ่โตจนกลายเป็นความขัดแย้งทางสังคม และนำไปสู่ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ เป็นสังคมที่ขาดลักษณะใจกว้าง หรือ “ขันติธรรม” (tolerance) ต่อความเห็นต่าง

จริงหรือไม่ว่า การขาดขันติธรรมเช่นนี้มีอยู่ในคนทุกกลุ่ม แม้แต่ในคนที่ปกป้องความหลากหลายของธรรมชาติความเป็นมนุษย์และสันติวิธี นี่จึงเป็นปัญหาที่เราควรทบทวนตัวเอง

โดยเฉพาะเมื่อเราจะร่วมกันสร้างสังคมให้น่าอยู่ หรือสร้างสังคมประชาธิปไตยแบบอารยะ เราจำเป็นต้องปกป้องแม้กระทั่ง “กลุ่มคนที่โดยธรรมชาติแล้วมีความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์กับอำนาจ” ให้มี “ที่ยืน” ในสังคม ดังที่มารค ตามไท เสนอว่า

“แม้แต่คนที่ไม่ปกป้องสถาบัน ก็ต้องมีที่ยืนในสังคม”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จาก นศ.มธ. เหตุจากการปิดเวทีถก 112

Posted: 01 Mar 2012 02:10 AM PST

เป็นเรื่องน่าตกใจ ที่อาจารย์สอนกฎหมายถูกทำร้ายร่างกายในรั้วโรงเรียนกฎหมายชื่อดังที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยคาดได้ว่าเป็นเพราะข้อเสนอของอาจารย์ที่ให้แก้กฎหมายฉบับหนึ่ง  ในฐานะนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในฐานะชาวไทยคนหนึ่ง ดิฉันเห็นว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นสัญญาณเตือนภัยแก่สถาบันการศึกษาและสังคมไทยโดยรวม เมื่อใดที่เราปิดช่องทางการถกเถียงในประเด็นซึ่งเป็นที่โต้แย้ง ช่องทางเดียวที่เหลือคือความรุนแรง

ผ่านไปแล้วหนึ่งเดือนหลังจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สั่งห้ามกิจกรรมทั้งปวง ไม่ว่าสนับสนุนหรือคัดค้าน อันเกี่ยวข้องกับข้อเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมหาวิทยาลัยอ้างว่าการห้ามจัดกิจกรรมจะป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งหรือการใช้ความรุนแรงภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ตรงกันข้าม ชายสองคนกลับรู้สึกสะดวกใจที่จะเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยและรอทั้งวันเพื่อที่จะทำร้ายร่างกายอาจารย์วรเจตน์ ในสถานที่พลุกพล่าน ยามกลางวันแสกๆ และห่างเพียงไม่กี่ก้าวจากห้องเรียนของมหาวิทยาลัย

การทำร้ายร่างกายครั้งนี้ยิ่งเป็นเหตุผลให้ธรรมศาสตร์ รวมถึงสถาบันการศึกษาและสถาบันทางกฎหมายอื่นๆ ควรเปิดเวทีถกเถียงอย่างสันติเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112  สังคมไทยยอมรับได้หรือไม่ในกฎหมายซึ่งปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยมาตรการที่กว้างขวางและโทษที่รุนแรงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  หากยอมรับได้ เราก็ควรได้ฟังความเห็นจากทุกฝ่าย  แต่อย่าปิดปากประชาชนเลย เพราะเขาจะไม่สามารถได้ยินเหตุผลของกันและกัน เหลือแต่เพียงการตอบโต้ด้วยอารมณ์และความรุนแรง ดังที่เริ่มเกิดขื้นแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิทยาศาสตร์สวิสฯ วางแผนสร้างสมองมนุษย์แบบจำลองของจริง

Posted: 01 Mar 2012 01:29 AM PST

นักประสาทวิทยาของสถาบันเทคโนโลยีของสวิสเซอแลนด์ หมายสร้างสมองที่จำลองการทำงานของสมองมนุษย์วัยผู้ใหญ่ เพื่อเรียนรู้การทำงานของสมองคนจริง การทดลองยาชนิดใหม่ หาสาเหตุของโรคประหลาด

29 ก.พ. 2011 - เว็บไซต์ Life's Little Mysteries รายงานเรื่องนักวิทยาศาสตร์การสร้างสมองจำลองที่สามารถจำลองการทำงานของสมองมนุษย์ได้

เฮนรี่ มาร์แครม นักประสาทวิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีของสวิสเซอแลนด์ต้องการสร้างสมองจำลองนี้ขึ้นมาโดยเชื่อว่าเป็นวิธีเดียวในการทำความเข้าใจการทำงานของสมองมนุษย์ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เองก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ทุกเรื่อง วิธีการที่ดีที่สุดในการทำความเข้าใจคือการสร้างสมองขึ้นมาเอง

มาร์แครม เสนอแผนโครงการที่ชื่อว่า "Human Brain Project" โดยเป็นความพยายามนำชิ้นส่วนปริศนาในเรื่องสมองของมนุษย์ที่นักประสาทวิทยาศึกษามาได้ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา มาประกอบเข้าด้วยกัน ตั้งแต่โครงสร้างของช่องไอออน (ion channels) กลไกของจิตสำนึกที่ใช้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ไปจนถึงกระทั่งโมเดลของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ทำให้กลายเป็นสมองเสมือนจริง (virtual brain)

หากแผนการสร้างสำเร็จ โมเดลสมองนี้จะมีความสามารถในการเรียนรู้และจะสามารถพัฒนาการคิดเชิงซับซ้อน ได้เช่นเดียวกับมนุษย์ ที่สำคัญกว่านั้น โครงสร้างโปรแกรมที่เรียกว่า 'รหัสสมอง' ซึ่งพัฒนาโดย "Human Brain Project" จะถูกเผยแพร่ไว้ให้นักประสาทวิทยานำไปใช้ได้ตามประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการทดลอง x-ray เสมือนจริง การใส่โปรแกรมที่เทียบเท่ากับยาทดลองใหม่ หรือทดลองหยุดกระบวนการทำงานส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วดูผลของมัน

แผนการนี้เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ มีนักวิทยาศาสตร์บางส่วนคิดว่ามันคงไม่สำเร็จ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคิดว่าตัวสมองเสมือนจริงนี้เองก็จะดูลึกลับและยากจะเข้าใจไม่ต่างจากสมองจริง อย่างไรก็ตาม "Human Brain Project" ก็ได้รับเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายโครงการ Flagship initiative ของสหภาพยุโรป ซึ่งมีเงินทุนให้ 1 พันล้านยูโร ต่อชิ้นงาน

และถ้าหากพวกเขาได้รับเงินทุนแล้ว มาร์แครมและลูกทีมจะทำอะไร จะสร้างสมองของมนุษย์ขึ้นมาอย่างไร

"พวกเรามีระบบต้นแบบเตรียมไว้แล้ว รอการขยายผล เกลารายละเอียด และทำให้สมบูรณ์" มาร์แครมกล่าว เขาบอกด้วยว่ากระบวนการสร้างสมองมีขั้นตอนหลักอยู่ 7 ขั้นตอน

 

กลไกสมอง

ขั้นตอนแรกคือ นักวิทยาศาสตร์จะเลือกปริมาตรของเนื้อเยื่อสมองที่จะสร้าง ขั้นตอนที่สอง พวกเขาจะผ่านโครงสร้างเซลล์ประสาทไปตามสมองตามข้อมูลการทดลองที่ได้มาจากสมองคนจริง

ขั้นตอนต่อมาพวกเขาจะเชื่อมต่อเซลล์ประสาทเข้าด้วยกันผ่านจุดประสานหรือไซแนปส์ (synapses) ซึ่งเป็นทางผ่านสัญญาณประสาท สำหรับความเร็วของสัญญาณแล้ว แม้กระทั่งซูเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดเอ็กซ่าสเกลซึ่งมีความเร็วในการคำนวน 1 พันล้านล้านครั้งต่อวินาที ก็ยังไม่สามารถเทียบได้กับความสามารถในการประมวลผลของสมองมนุษย์ ดังนั้นแล้วสมองจำลองตัวนี้จะทำงานและสร้างความคิดขึ้นมาได้อย่างเชื่องช้า (เมื่อเทียบกับสมองของมนุษย์เรา)

ขั้นตอนที่สี่คือการเปิดระบบของสมองขึ้นมา นักวิทยาศาสตร์จะเปิดการทำงานของสมองจำลองนี้ทั้งในส่วนของเซลล์ประสาท จุดประสานเซลล์ประสาท รวมถึงเกลียเซลล์ (เซลล์สมองส่วนที่ไม่ใช้เซลล์ประสาท) และการไหลเวียนของเลือดด้วย โดยอาศัยคอมพิวเตอร์ในการควบคุมการทำงานของชิ้นส่วนเหล่านี้ มาร์แครมบอกว่า เพื่อให้พฤติกรรมของชิ้นส่วนเหล่านี้เข้าใกล้สมองจริงมากที่สุด "พวกเราได้ขุดคุ้ยหาอ่านข้อมุลงานวิจัยทั้งหมดในฐานข้อมูล จัดระบบผลลัพธ์ และวิเคราะห์ผลของมันออกมาเป็นแบบแผน และข้อมูลพวกนี้ก็มีประโยชน์ในการทำให้ตัวสมองจำลองนี้มีความแม่นยำในเชิงชีวภาพมากขึ้น"

สำหรับในส่วนของสมองที่นักวิทยาศาสตรืยังไม่สามารถค้นพบได้ว่าใช้ทำอะไร ทางทีมงานก็จะร่วมมือกับนักประสาทวิทยาจากที่อื่นในการให้คำตอบ หรือไม่เช่นนั้นก็ใส่เป็นช่องว่างไว้ก่อนในโครงการและจะเติมเข้าไปเมื่อสามารถหาคำตอบได้

จากนั้นทีมงานก็จะทดลองโมเดลสมองจำลองนี้เพื่อตรวจสอบว่าประเภทและความหนาแน่นของเซลล์และไซแนปส์ตรงกับค่าการทดลอง "สมองจำลองนี้จะต้องมีข้อมูลทางชีวภาพเป็นระบบเพื่อที่มันจะมีความแม่นตรงทางชีวภาพมากขึ้น เมื่อถึงเวลาที่มันได้รับข้อมูลทางชีวภาพเพิ่มขึ้น เหมือนกับฟองน้ำ" มาร์แครมกล่าว

 

โลกเสมือนจริง

หากว่าเจ้าสมองเสมืองจริงนี้ไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้แล้ว มันก็ไม่ต่างอะไรกับแค่ชิ้นส่วนอวัยวะที่แช่อยู่ในสารฟอร์มาลดีไฮด์ มาร์แครมจึงบอกว่า ดังนั้น ขั้นตอนลำดับที่หก คือการใส่ระเบียบบันทึกการเรียนรู้ (training protocols) เพื่อที่สมองจะได้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงซับซ้อนได้

"เมื่อเราสร้างสมองนี้ขึ้นมาแล้ว มันก็จะได้รับการสอนเรื่องการรับสัมผัส การกระทำ และการตัดสินใจ นี้เป็นกระบวนการที่ช้าและต้องการซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ที่ทรงพลังมาก" มาร์แครมกล่าว

เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ต้องการสร้างสมองของผู้ใหญ่ มันจึงไม่ต้องมีกระบวนการสร้างเซลล์ประสาทและไซแนปส์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก แต่พวกเขาก็ยังจะสอนสมองเหล่านี้ในเรื่องโลกความจริงเพื่อให้มันสร้างความคิดที่มีความหมายออกมาได้ มาร์แครมเปิดเผยว่าสมองจะเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์กับ 'ตัวกระทำเสมือนจริง' ที่อยู่ในโลกเสมือนจริง

ขั้นตอนสุดท้าย นักวิทยาศาสตร์จะออกแบบและทำการทดลองกับสมอง เพื่อหวังว่าจะสำรวจข้อมุลทุกอย่างได้จากรากฐานทางประสาทวิทยาของพฤติกรรมมนุษย์ ไปจนถึงผลกระทบจากยาชนิดใหม่ที่มีต่อสมอง ไปจนถึงหาสาเหตุของโรค 560 ชนิดที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของมนุษย์

 

ที่มา:

How to Build a Human Brain, natalie Wolchover, Life's Little Mystery, 29-02-2012 http://www.lifeslittlemysteries.com/2198-build-virtual-human-brain.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" แนะพักรณรงค์เรื่อง ม.112

Posted: 01 Mar 2012 01:11 AM PST

วันนี้ (1 มี.ค.) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุคของตน โดยเผยแพร่แบบสาธารณะ แสดงความคิดเห็นภายหลังเหตุการณ์ทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ที่เกิดขึ้นวานนี้

โดยสมศักดิ์ได้แนะว่า การทำงานรณรงค์เรื่องม. 112 ควรหยุดพักไว้ก่อน เนื่องจากไม่สามารถมีอะไรมารับประกันความปลอดภัยของวรเจตน์ และกลุ่มนิติราษฎร์ได้ แต่เสนอว่าควรหันไปเลือกรณรงค์เรื่องอื่นที่มีโอกาสปฏิบัติได้มากกว่า ในขณะเดียวกัน ก็ควรมุ่งการ "ทำงานทางความคิด" เรื่องดังกล่าวในระยะยาวแทน

โดยข้อความทั้งหมดมีดังนี้ 

0000

เมื่อวานตอนไปกินข้าว-ไปโรงพยาบาลกัน มีเพื่อนแอ๊คติวิสต์คนหนึ่ง (ไมใช่สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ แต่ไปด้วยกัน) พูดพาดพิงถึงเรื่องที่ผมเสนอยืนยันว่า กฎหมายหมิ่นฯ ควรเสนอเลิกสิ้นเชิง มากกว่าเสนอแก้ ทำนองว่า ถ้ายิ่งเสนอเลิกเลยแบบผม จะยิ่งแย่กว่านี้

ผมเชื่อว่า เกิดเรื่องทำร้าย อ.วรเจตน์ คงมีหลายคนคิดถึงประเด็นอยู่ ผมเองก็คิดทบทวนอยู่ แต่ว่า ผมยังยืนยันไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผล 3 ประการต่อเนื่องกันดังนี้

(1) ที่ "พวกนั้น" โจมตี นิติราษฎร์ จริงๆ ไม่เกียวกับว่า เสนอแก้ โจมตีหนักขนาดนี้ เสนอเลิกเลย จะยิ่งโจมตีหนักกว่านี้ .. ผมว่า ไม่เกี่ยว คือสำหรับ "พวกนั้น" เสนออะไรเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ ไม่ว่าระดับแค่ไหน ก็รับไม่ได้ทั้งนัน ดังนั้น เสนอเลิก ก็ไมใช่ว่าจะ "โดนหนักกว่านี้" แต่อย่างใด

(2) ดังที่ผมเคยมาก่อน ผมเห็นมาแต่ไหนแต่ไรว่า ในสถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้ เราไม่สามารถทำให้เกิดการแก้หรือเลิก กม.หมิ่นฯได้ (อันนี้ ที่ผมแย้งคนที่สนับสนุน ครก. มาตลอด ที่หลายคน พยายาม "ยกตัวอย่าง" ประเภท "ถ้าแก้ กม. เป็นแบบที่นิติราษฎร์เสนอ จะ..." ซึงผมเห็นว่า เป็นการยกตัวอย่าง ที่ไม่เป็นจริง ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีทางเกิดขึนในปัจจุบันทีเห็น)

ดังนั้น สิ่งที่น่าทำคือ เสนอเลิก แล้วทิ้งไว้ (เมื่อวานมีเพื่อนแอ๊คติวิสต์คนหนึงที่แลกเปลียนเรื่องนี้ ใช้คำว่า "เสนอ แล้วจบ" คือ เสนอเป็นครั้งๆ เมื่อมีโอกาส ซึงผมเห็นด้วย)

(3) ที่ต่อเนื่องมาจากข้อ (2) คือ ไม่รณรงค์ เรื่องนี้ แต่รณรงค์เรื่องอื่น เช่น "นิรโทษกรรม อากง ฯลฯ" (ซึงจริงๆ เป็นตัว "จุดประกาย" เรื่อง 112 ในปัจจุบันอยู่แล้ว)

คือ เสนอเป็น "ไอเดีย" ตั้งไว้ ให้ เลิก กม.หมิ่นฯ โดยสิ้นเชิง, "ประเทศไทย ต้องไม่มี กม.พิเศษ สำหรับเจ้า, ถ้า กม.ธรรมดา ดีพอสำหรับคนธรรมดา ก็ควรดีพอสำหรับเจ้าด้วย" .. เสนอแบบนี้แล้ว"จบ" ทิ้งไว้

แล้วรณรงค์เรื่องอื่น ที่มีโอกาสทางปฏิบัติได้มากกว่า และ "แหลมคม" น้อยกว่า

ที่ผมเคยเขียนไปคือ เราต้อง combine (ประสาน) การเสนอไอเดียที่เป้นหลักการที่ถูกต้องสูงสุดไว้ กับ การรณรงค์ ทีมีลักษณะ "เบา" กว่าข้อเสนอในเชิงไอเดียในเชิงหลักการนั้น ที่อาจจะมีผลในทางปฏิบัติเป็นจริงได้ (นิรโทษกรรม ฯลฯ)

(มันเหมือนกับที่ในภาษาฝ่ายซ้ายสมัยก่อน พูดถึงเรือ่ง "หลักนโยบายสูงสุด" ว่าเราต้องการอะไร ที่ควรเป็นสิ่งที่มาจากหลักการของเรา โดยไม่ปิดบัง เพื่อให้การศึกษา ทำงานความคิด ฯลฯ กับเรื่อง การรณรงค์ หรือ "เคลื่อน" "เป็นครั้งๆ" ซึงเป็นคนละอย่าง)

0000

"กำลังของเรา มีไม่พอ จะรณรงค์ เรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันฯ"

กระทู้นี้ ต่อเนื่องจากกระทู้ข้างล่างติดกัน

เรื่องนี้ ผมคิดมาหลายสัปดาห์แล้ว ตั้งแต่ก่อนเกิดเรืองทำร้าย อ.วรเจตน์ เมื่อวาน เมื่อวานตอนเจอหน้าคณะนิติราษฎร์ ก็เลยได้พูดๆเสนอไปบ้าง

คือ เท่าที่ผมประเมินจากสิ่งทีเกิดขึ้นในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือ การที่ นปช. เพื่อไทย ยังไงก็คง "ไม่เอาด้วย" เรื่องนี้ และพอพวกนี้ ไม่เอาด้วย จะมีผลสำคัญ 2 อย่าง คือ ในระดับการเมืองส่วนกลาง ที่พวกนี้ ไม่มีทางผลักดันให้เป็นวาระสาธารณะ มิหนำซ้ำ วันดีคืนดี ยังออกมาโจมตีด้วย และในระดับมวลชนระดับล่าง ซึ่งพวกเขานำอยู่ (ดังทีหลายคนคงเคยได้ยิน พอ ฝ่ายนำ นปช. เพื่อไทย ไม่สนับสนุน ระดับชาวบ้านส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะคิดอย่างไรกับ 112 ก็จะไม่เข้าร่วม)

หมายความว่าในปัจจุบัน "กำลังของเรา ไม่พอ" ที่จะทำการในลักษณะรณรงค์เรื่องสถาบันฯ

ทำงานความคิดได้ จัดอภิปรายเป็นครั้งๆได้ เสนอไอเดียได้ และควรเสนอด้วย ไม่ควรหยุด (และแม้แต่เสนอให้เลิกหมด ให้ปฏิรูปรอบด้าน) แต่เรื่อง รณรงค์ เห็นได้ชัดว่า "เรามีกำลังไม่พอ" แน่ๆ

รูปธรรมง่ายๆ ที่ อ.วรเจตน์ และ นิติราษฎร์ "ตกเป็นเป้า" ส่วนสำคัญมากส่วนหนึง ก็คือ แม้แต่ในหมู่ "ครก." ที่มาสนับสนุน ก็ไม่มีคนที่มี seniority และ authority เพียงพอ ที่จะนำเสนอเรื่องสถาบันฯ เรื่อง 112 ในลักษณะทีสามารถ command attention ในระดับ อ.วรเจตน์ ได้

คือ แม้แต่คนที่จะ "ทำ" เรื่องในลักษณะ "รณรงค์" ก็ไม่พอแล้ว 

(หลายสัปดาห์ก่อน ผมบอกเรื่อง นี้ อ.วรเจตน์ กับ อ.ปิยบุตร เหมือนกันว่า วันที่ 15 ผมเซอร์ไพรส์ เหมือนกัน นี่ "ภาพ" ออกมาในลักษณะ "นิติราษฎร์" เดิมผมนึกว่า "ภาพ"จะออกมา ในลักษณะ นิธิ ผาสุก ชาญวิทย์ มากกว่านี้เยอะ เพราะไอเดียทีคนที่ยกมาโต้ผมเรื่อง เสนอเลิกไม่ได้ เพราะพวกนั้น จะไม่เอา หนีหมดอะไรแบบนั้น แต่พอถึงเวลาจริงๆ เสนอแค่แก้ พวกนั้น ก็ไม่ได้ออกมาเท่าไร ก็นิติราษฎร์ เป็นหลักเกือบหมด)

อันนี้บอกตรงๆว่า ช่วงที่ นิติราษฎร์ โดนตีหนักรายวัน ผมถึงกับนึกๆว่า น่าจะ call off การรณรงค์ ยังคุยกับเพื่อนสนิทบางคนเรื่องนี้ แต่ไม่ได้เสนอออกไป เมือวาน เกิดเรือง ผมก็ยังนึกๆถึงไอเดียนี้อยู่ โดยส่วนตัว ผมเองไม่ห่วงเรื่อง "เสียการเมือง" หรือ "เหมือนยอมแพ้" อะไรนะ ผมเห็นว่าเรื่องนี้มัน "ยาว" เป็นหลายๆปี หยุด แล้วทำเมื่อไรก็ได้

ผมคิดว่านี่เป็นความจริง ที่เราต้องตระหนัก และ "คิดในระยะยาว" มากกว่า ในแง่ของการ "รณรงค์" ให้ได้เป็นครั้งๆ (รณรงค์ ทำได้ แต่ต้องเรื่องที่ "เบา" กว่า เช่นที่เสนอคือ นิรโทษกรรม อะไรแบบนั้น)

ขอพูดเรื่อง "กำลังเราไม่พอจะรณรงค์" และเรื่อง call off ต่ออีกนิดนะ

(ผมคิดไปเขียนไป ทำงานอื่นไปด้วย เลยออกมาเป็นหลายกระทู้ กรุณาตามอ่าน 3-4 กระทู้ก่อนหน้านี้ในเช้านี้ เพื่อต่อเนื่องกัน)

ปีกลาย สมยศ ทำรณรงค์ทำนองนี้เหมือนกัน แต่ทำได้ราวเดือนเดียว ก็ถูกจับ (และหลายคนเชื่อว่า มีส่วนมาจากเรื่องนี้เหมือนกัน)

ตอนนี้ ครก. กำหนดเป้ารณรงค์ไว้ถึง 4 เดือน

ผมกำลังรู้สึกว่า "กำลังไม่พอ" ที่จะทำรณรงค์ยาวขนาดนี้น่ะ

รณรงค์เรื่องอื่น ประเภท "ปล่อย อากง" "นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง" อะไรได้ (แม้แต่ในรูปแบบที่อาจจะเสนอเป็นร่างกฎหมาย)

แต่เรื่อง 112 หรือเรื่องสถาบันฯ ผมว่า เราไม่มีกำลังพอจะทำนานขนาดนี้

หลายคนมองว่า ผมเสนออะไร "สุดโต่ง" นะ

ข้อเสนอเรื่องสถาบันฯของผม "สุดโต่ง" มาแต่ไหนแต่ไร มาเป็นสิบปีแล้ว

แต่ผม "ใจเย็น" นะ ในแง่ที่ ไม่คิดว่า ข้อเสนอพวกนี้ สามารถทำให้เป็นจริงได้ในเวลาสั้นๆ (แม้แต่เรื่อง แก้ 112 ก็เถอะ ที่ผมเถียงกับบางคน อย่างคุณวาด ระวี หรือ คุณ Phuttipong Ponganekgul ทีชอบยกตัวอย่างเรื่อง "ถ้า แก้ ตาม ที่นิติราษฎร์ เสนอ ได้ ก็จะ ..." อะไรทำนองนั้น ซึงผมเห็นว่าเป็นการสมมุติที่ไม่ realistic)

มันเป็นเรื่องที่ผมมองว่า เป็นการ "ทำงานความคิด" "ต่อสู้ความคิด" ในระยะยาวมากๆน่ะ

แต่เรื่อง รณรงค์ เราต้องทำเรื่องอื่นๆ ที่พอมี "กำลัง" จะทำได้มากกว่านี้

0000

คือ การที่ "พวกนั้น" ส่งคนมาทำร้าย อ.วรเจตน์ ถึงในธรรมศาสตร์ เป็นอะไรที่ผมว่า ซีเรียส มากๆนะ (ผมยังเชื่อว่า ไม่ใช่เรื่อง "พวกคลั่งทำเอง")

ขนาดสมัย 6 ตุลา ยังไม่กล้า เข้ามาทำร้ายถึงในมหาวิทยาลัย (ไม่นับวันที่ 6 ตุลาเอง ที่เป็นคนละเรื่อง)

ผมจึงอยากให้ลองชั่งน้ำหนักเรื่องนี้อย่างจริงจังนะ

นักการเมือง หรือ แอ๊กติวิสต์อาชีพ อย่าง แกนนำ ทั้งหลาย อาจจะมี "บอดี้การ์ด" 24 ชม. เป็นเวลาติดกันนานๆได้ แต่นักวิชาการ ทำไม่ได้ ไม่สะดวกกับชีวิตนักวิชาการด้วย

สรุปแล้ว เราไม่มีอะไรเลย ในแง่การป้องกัน

การ "หยุด" แล้ว "เปลี่ยนรูปแบบ" เมื่อถึงจุดที่รู้สึกว่า "เสี่ยงเกินไป" ทีจะทำต่อในรูปแบบทีใช้อยู่ ผมมองว่าเป็นธรรมดานะ 

("นอกเรื่อง" แต่เกี่ยวกันนิด ตอน ราชประสงค์ หลายคนคงจำได้ว่า ผมก็ยืนยัน ให้สลายชุมนุมก่อน เพราะเห็นว่า ชุมนุมต่อ มีสิทธิ์ถูกปราบนองเลือด ตายเป็นร้อยแน่)

0000

ดูคลิปแถลงข่าวเรื่อง "ฝาแฝด" ที่ทำร้าย อ.วรเจตน์แล้ว ขอเม้นท์ส้นๆ อย่างนี้นะครับ

(ก) ผมยินดีจะยอมรับว่า อาจจะ (ย้ำ "อาจจะ") ประเมินผิด เรื่อง "ใบสั่ง" คือ 2 คนนี้ อาจจะ "คลั่งทำเอง" ได้ ก็ได้ แต่เรื่องนี้ ในที่สุด ผมคิดว่า ไม่มีทางพิสูจน์เด็ดขาดได้ (อย่างที่ผมเขียนไปใน rep หนึ่งข้างล่างว่า คดี "เล็ก" แบบนี้ ถ้าผู้ต้องหา "สารภาพ" อย่างที่ทำ ตำรวจ เขาก้ไม่ "ขยายผล" อะไรต่อหรอกครับ ว่าใครสั่งมาหรืออะไร เรือง ก็ "จบ" เท่าที่สารภาพมานี้ เพราะไมใช่ คดีฆ่ากันหรืออะไร)

(ข) แต่ประเด็นนี้ ก็ยังไม่ได้แปลว่า ที่เสนอให้ ครก. ลองพิจารณา เรื่อง call off การรณรงค์ นี่ ใช้ไม่ได้นะ

ผมยังเห็นว่า ควรพิจารณาอย่างซีเรียสอยู่

"เวลา" ของการรณรงค์ นี่ มันแค่ประมาณไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (ของ 112 วัน) เท่านั้น ยังเหลืออีกถึง 2 เดือนกว่า มีนา-เมษา อีกถึง 2 เดือนเต็มๆ เป็นอย่างน้อย

ดังนั้น ครก. จะสามารถรณรงค์ต่ออีกถึง 2 เดือน ในสถานการณ์ที่ ไม่สามารถประกันความปลอดภัย ให้ อ.วรเจตน์ และ นิติราษฎร์ หรือไม่? และต่อให้รณรงค์ จน "ครบ" ได้รายชื่อมาแล้ว ผมก็ว่า เราค่อนข้างมันใจว่า เสนอไป ก็ "จบ" ไม่ไปถึงไหนแน่

รวมถึงว่า ถ้าถึงตอนนั้น รณรงค์ไปถึงจุดเสนอเข้าสภาฯ ก็คงต้อง "พึ่ง" ให้ อ.วรเจตน์ และ นิติราษฎร์ "ออกตัว" มา "นำเสนอใหญ่" อีกครั้ง แน่ๆ (ซึงถึงตอนนั้น สถานการณ์ ก็อาจจะยังไม่เหมาะสม ดีพอให้ อ.วรเจตน์ เสี่ยงในระดับนั้น)

ผมจึงยังอยากให้คิดประเด็นนี้ให้ดีนะคับ โดย่ส่วนตัว ผมไม่รู้สึกว่าการ call off เป็นเรื่องเสียหายอะไร เราก็ move on ไปในรูปแบบอื่น ประเด็นอื่น

0000

ขอ "ตบท้าย" อะไรนิด ออกในทาง personal หน่อยๆ

ที่ผมเสนอเรื่องให้ ครก. พิจารณา call off การรณรงค์ นี่ส่วนหนึ่ง บอกตรงๆว่า มาจาก "ความรู้สึกในลักษณะส่วนตัว" ในแง่ห่วง อ.วรเจตน์ อยู๋

เมื่อวาน ตอนผมไปเจอหน้าเจอตัวแล้ว รู้สึกแย่มากๆเลย ขนาดผมไม่ใช่ ญาติอะไร (สงสัยว่า ญาติ อาจารย์ โดยตรง คงรู้สึกแย่กว่านี้หลายเท่า)

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า อ.วรเจตน์ มีปัญหาสุขภาพประจำตัวอยู่นะ แล้ว ในสถานการณ์ทีเครียดๆในช่วงทีผ่านมา มันทำให้ปัญหาสุขภาพประจำนั้น มันแย่ลงจริงๆ (ค่าตับค่าไต มันขึ้นพรวด อะไรแบบนั้น ค่าพวกนี้ มันเกียวกับความเครียด การใช้ชีวิตอยู่นะ)

ในแง่อื่น ที่ไมใช่แง่การเมือง ความคิด ผมว่าอาจารย์วรเจตน์ ก็เป็นลักษณะ typical ของ "เด็กทุนอานนท์" นะ คือ เป็น "เด็กเรียน" เป็นคนเรียบร้อย และลักษณะร่างกาย ออกในทาง เปราะบาง ไมใช่พวก "ลุย" หรือ พวก"กร้านๆ" อะไรแบบนั้น เจอตัวเมื่อวาน ผมยิ่งรู้สึกมากขึ้นในเรื่องนี้

คนที่มีแบ็กกราวน์ และบุคคลิกลักษณะนี้ สามารถมาทำอะไรมากขนาดนี้ แสดงว่า "ใจแกร่ง" เหลือเชื่อมากๆแล้ว

ความรู้สึกของผมคือ อ.วรเจตน์ ได้ทำอะไรในช่วงสั้นๆ ในไม่กี่ปีนี้ มากกว่านักวิชาการหลายคน ทำมาเป็นสิบปีรวมกันแล้ว

ผมเชื่อว่า อ.วรเจตน์ "ใจยังสู้" ไม่คิดหยุดแน่นอน

แต่ผมพูดแบบคนที่เห็นว่า เรื่องที่เราทำๆกันอยู่นี้ มันยัง "อีกนาน" หลายๆปีมาก

ก็ไม่อยาก "เร่ง" ให้ อ.วรเจตน์ ต้องมา "ทรุดโทรม" "เสี่ยงภัย" มากเกินไป เร็วเกินไปตั้งแต่ตอนนี้ 

อยากให้ลองพิจารณาเรื่องนี้อย่างซีเรียสดูนะครับ 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘เอนก’ แนะ รธน. ใหม่เพิ่มความในมาตราว่าด้วย ‘รัฐเดี่ยว’

Posted: 01 Mar 2012 12:35 AM PST

เจ้าของทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ปาฐกถาเปิด “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 2” ชี้สังคมไทยต้องออกจากการเป็นรัฐรับเหมาทำแทน ไปสู่การคืนนอำนาจให้ท้องถิ่นได้จัดการตนเอง เป็นผู้ใหญ่เสียที 

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ระหว่างปาฐกถาในเวที "ฟื้นฟูพลังท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555" ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค บางนา เมื่อ 1 มีนาคม 2555

 

เวที “ฟื้นฟูพลังท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555” ซึ่งมีกำหนดจัด ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2555 ในช่วงเช้ามีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ท้องถิ่นกับการบริหารจัดการตนเอง ข้อเสนอสำหรับอนาคต” โดย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เจ้าของทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ปัจจุบันเป็นคณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นองค์ปาฐก

ตอนหนึ่ง ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า การฟื้นพลังของชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยเกี่ยวข้องอย่างมากกับลักษณะของรัฐไทย แม้เราจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่เรากลับมีรัฐที่รวมศูนย์ และเป็นรัฐรวมศูนย์เข้มข้นที่สุดรัฐหนึ่งในโลก เรามีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคเป็นพระเอก เราเน้น “เอกนิยม” เป็นหลักคิด คือ มีชาติเดียว ภาษาเดียว อำนาจรัฐเดียว เป็นรัฐเดี่ยว และเป็นรัฐเดี่ยวที่ค่อนข้างจะเถรตรง อำนาจสาธารณะอยู่กับรัฐแต่ผู้เดียว รัฐของเราแม้จะมีความตั้งใจดีแต่ผูกขาดการแก้ปัญหา ผูกขาดการจัดการ การบริหาร การดูแลสังคมและประเทศ ไม่ค่อยมีที่ทางให้ความคิดเชิงซ้อน ความคิดหลายมิติ ความคิดหลายระดับ ในประเทศไทยมีรัฐย่อยไม่ได้ ข้อเสนอเรื่องปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่สามจังหวัดภาคใต้ก็มีคนไม่เห็นด้วย มีแนวคิดที่จะทำภาคให้เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใหญ่กว่า อบจ. ก็คิดยาก หลายท่านอยากทำมณฑลขึ้นมาใหม่ที่เป็นท้องถิ่นก็ยาก รัฐไทยจึงเป็นรัฐที่รับเหมางานทำแทนท้องถิ่นและชุมชนเกือบทุกเรื่อง

แม้ในปัจจุบันที่มีรัฐสภา รัฐธรรมนูญ นักการเมือง แต่หัวใจหรือวิธีการทำงานของรัฐ ก็ยังเป็นราชการที่มีกระทรวง มีกรมเป็นตัวตนและจิตวิญญาณ ในการยึดอำนาจรัฐประหารทุกครั้ง สิ่งที่จะไม่ถูกแตะต้องก็คือรัฐเช่นว่านี้ ยึดแค่สภา ยึด ครม. ก็พอ รัฐที่มีอยู่มันยังดำเนินการเองได้ในแบบเดิม

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เสนอว่า สังคมไทยจะต้องออกจากรัฐที่รับเหมาทำแทนนี้ รัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคอาจดีจริง อาจจะเก่ง แต่เราไม่น่าจะหยุดที่การปกครองที่ดี เราน่าจะอยากได้การปกครองตนเองด้วย

“แม้รัฐรวมศูนย์ผูกขาดทำแทนจะเคยประสบความสำเร็จพอสมควร บางช่วงอาจประสบความสำเร็จมากด้วยซ้ำในช่วง 100 ปีมานี้ เพราะได้สร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจ สร้างระบบกฎหมาย แต่ผมคิดว่า เวลานี้รัฐเช่นนี้น่าจะใกล้ถึงทางตัน ลูกตุ้มแห่งการปฏิรูปน่าจะเหวี่ยงออกจากขั้ว “กรมมาธิปไตย” ไปสู่ขั้วที่มีภาคสังคม มีชุมชนท้องถิ่นที่มีบทบาท ได้จัดการตนเอง และเป็นผู้ใหญ่เสียที ดูแลพัฒนาตนเองได้ มีจินตนาการ มีความสร้างสรรค์ มีความใฝ่ฝันของตนเอง ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับบริการ รับการกำกับดูแล รับการควบคุม รับการสอนการสั่งจากรัฐบาลส่วนกลาง”

การพัฒนาประเทศโดยรัฐบาล ถึงจะมีโครงการเท่าไรออกมา ก็ล้วนแต่เป็นการคิดในกรอบเก่า จะใส่เงิน ใส่ธรรมาภิบาลเข้าไปเท่าไรก็ไม่พอ จึงอาจถึงเวลาที่เราต้องยกเครื่องรัฐไทย นั่นคือคือการคืนอำนาจให้ท้องถิ่น คืนให้กับประชาสังคม มอบภาระและอำนาจทรัพยากรให้ท้องถิ่นและสังคม ลดการบริหารทรัพยากรโดยราชการส่วนกลางและภูมิภาค

กระบวนทัศน์ใหม่นี้เกิดขึ้นในหลายประเทศแล้ว ในประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นรัฐเดี่ยว เดิมมีการรวมศูนย์อำนาจมาก แต่ปัจจุบันท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการมากขึ้น สูงกว่าจังหวัดที่เป็นการปกครองส่วนภูมิภาค ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นประมุข ก็มีการกระจายอำนาจบริหารท้องถิ่นให้ อบจ. อังกฤษมีการปกครองรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่อังกฤษไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค และในประเทศไม่ได้มีแต่รัฐสภาของสหราชอาณาจักรเท่านั้น มีรัฐสภาท้องถิ่นของไอร์แลนด์เหนือ เวลส์ และสก็อตแลนด์ควบคู่ไปด้วย และในส่วนของประชาสังคมที่มีอยู่ ก็สร้างความน่าสนใจในด้านต่างๆ มากมาย

ศ.ดร.พิเศษ เอนกเสนอว่า ต่อไปนี้การปกครองส่วนกลางของไทยคงต้องปรับกระบวนทัศน์ของตัวเองโดยยกตัวอย่างประสบการณ์ในช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยว่า “ผมได้เห็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาคล้มไปหมด เอาไม่อยู่ แต่ได้เห็นท้องถิ่น ประชาสังคมหลายแห่งเอาอยู่ สร้างสรรค์จนถึงขนาดทำคลองประดิษฐ์ได้ ท้องถิ่นหลายแห่งรักษาตัวเองได้อยู่ และผมเชื่อว่า ถ้าน้ำท่วมปีต่อไปก็ต้องอาศัยชุมชน ประชาสังคม และท้องถิ่น ในตอนที่เกิดมหาอุทกภัย ผมเห็นมูลนิธิ องค์กรต่างๆ ไปแจกเสื้อผ้า ไปแจกผ้าห่มให้ ไม่หยุดทุกวัน ผมยังสงสัยเลยว่า กระทรวงพัฒนาสังคมทำงานสู้ได้หรือไม่ กรมประชาสงเคราะห์ทำงานสู้มูลนิธิเหล่านี้ได้หรือเปล่า”

ศ.ดร.พิเศษ เอนก ยังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์กับประชาธิปไตยในรูปแบบการเลือกตั้งด้วยว่า เราต้องไม่พอใจแค่เพียงการหย่อนบัตร เพราะแค่การมีสิทธิมีเสียงไม่พอ  การได้หย่อนบัตรนั้นดี การมีสิทธิมีเสียงนั้นดี แต่ไม่พอ เรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งนั้นไม่พอ หรือมีแต่นโยบายมาลงท้องที่เราไม่พอ ถึงจะเทลงมามากจนเราใจหาย ก็ไม่น่าจะพอ เราน่าจะอยากได้การดูแลปกครองและการพัฒนาด้วยตนเองด้วย

“เราต้องการรัฐแบบใหม่ที่ชอบสนับสนุนความแตกต่าง หลากหลายตามพื้นที่มากขึ้น เราต้องการรัฐที่ยอมรับสังคมหลายระดับ ยอมรับพหุลักษณ์ พหุวัฒนธรรม แม้กระทั่งพหุการศึกษา มีแต่ประเทศไทยที่รวมไปหมด มีแต่การศึกษาของชาติ ทำให้รู้แต่เรื่องชาติ แต่ไม่รู้เรื่องท้องถิ่นเลย”

ในช่วงท้าย ศ.ดร.พิเศษ เอนกกล่าวว่า ในการช่วงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่นี้ ประเด็นที่น่าคิดก็คือ อย่าแก้มาตราอื่นๆ แล้วปล่อยมาตราที่ว่ารัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว คิดจะแบ่งแยกไม่ได้ น่าจะต้องอธิบายด้วยว่า ถ้าจะเป็นรัฐเดี่ยว ต้องเป็นพหุนิยมมากกว่านี้ ต้องปลดปล่อยพลังของท้องถิ่น ชุมชน พลังสังคม ดังที่รัฐสมัยหนึ่งได้ปลดปล่อยพลังธุรกิจภาคเอกชนมาแล้ว

“ทุกวันนี้เศรษฐกิจของเราอยู่ได้ด้วยภาคเอกชน ฉันใดก็ฉันนั้น ผมคิดว่าประเทศชาติของเราในยุคต่อไปจะอยู่ได้ก็เพราะชุมชนและท้องถิ่น ไม่ได้อยู่ที่รัฐ รัฐยังสำคัญอยู่ แต่ความสำคัญของรัฐไม่ได้อยู่ที่การทำแทน ทำให้ แต่จะอยู่ว่าจะทำอย่างไรจะปลดปล่อยพลังใหม่ๆ ที่ในชุมชนท้องถิ่นให้ออกมาให้มากขึ้น ทางรอดของประเทศชาติ ทางรอดของระบอบประชาธิปไตยอยู่ที่นั่นครับ” ศ.ดร.พิเศษเอนก กล่าว

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น