โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ปิยบุตร แสงกนกกุล: บทเรียนรอบโลก การปรับตัวของสถาบันกษัตริย์

Posted: 18 Mar 2012 12:25 PM PDT

 

 

 

ประเทศที่ยังมีกษัตริย์เป็นประมุข

ประเทศที่เป็นกษัตริย์ประมุขของรัฐ หรือมีประมุขที่สืบทอดทางสายโลหิต ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ หากนับแบบอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ก็นับเหลือ 27 แต่ถ้ารวมประเทศหมดเล็กๆ น้อยๆ ให้หมดก็นับได้ 40 ประเทศ แต่จะเหลือแค่ไหน ไม่สำคัญเท่ากับประเทศที่เป็น Monarchy นั้นลดลงอย่างมาก ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ในยุโรป ช่วงปี 1918 มีเพียง 3 ประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ คือ ฝรั่งเศส โปรตุเกส และสวิสเซอร์แลนด์ ที่เหลือมีกษัตริย์ทั้งหมด หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่1 ปรากฏว่าในยุโรปมีประเทศที่สาธารณรัฐมี 15 รัฐ ส่วนอีก 15 รัฐนั้นมีกษัตริย์  หลังจากนั้นตั้งแต่ 1931 ประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นสาธารณรัฐมากขึ้น อย่างสเปนก็เอาสาธารณรัฐกลับมา ปัจจุบันก็เอากษัตริย์กลับมาอีก ส่วนอิตาลีมีการทำประชามติว่าจะให้ระบบกษัตริย์คงอยู่ไหม ผลปรากฏว่าไม่เอา  พวกยุโรปตะวันออกนั้นก็เลิกสถาบันกษัตริย์หมด ปัจจุบันเหลือ 10 ประเทศที่มีกษัตริย์ในยุโรป  คือ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน อังกฤษ สเปน ลิกเตนสไตน์ โมนาโค

เท่าที่ดู ประเทศที่รื้อฟื้นเอาสถาบันกษัตริย์กลับมานั้นน้อยมาก เท่าที่เห็นมีสเปนและกัมพูชา ปัญหาอยู่ที่ว่าเหตุใดหลายประเทศยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไป เพราะกษัตริย์เป็นอุปสรรคของประชาธิปไตยหรือเปล่า หรือกาฝากของสังคมหรือเปล่า และเหตุใดบางประเทศยังรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ได้

มันจึงแบ่งเป็นประเทศที่ สถาบันฯ ปรับตัว อยู่รอดปลอดภัยได้ กับ ประเทศที่สถาบันฯ ปรับตัวไม่ได้แล้วหายไป 

การปรับตัวแบบต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์

ในส่วนที่ปรับตัวได้ก็มีหลายแบบ บางประเทศนั้นสถาบันฯ สู้กับรัฐสภามาตลอด สู้แล้วผลัดกันแพ้ชนะ สุดท้ายก็ยอมปรับตัวเป็น paliamentarymonarchy เต็มรูปแบบ เช่น สหราชอาณาจักร  สวีเดน นอร์เวย์  เดนมาร์ก เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์

ประเทศในสแกนดิเนเวียทั้ง 3 ประเทศ ถ้าสังเกตดู สถาบันกษัตริย์ของเขาอยู่มายาวนานมาก จึงมีคนไปศึกษาดูว่าทำไม พบว่ามี 5 ประการ 1. ตอนจะเป็นกษัตริย์ต่อหรือไม่ไป เขาทำประชามติ เช่น นอร์เวย์ พอคะแนนท่วมท้นยิ่งชอบธรรมสูง   2. กษัตริย์แต่ละพระองค์เขาครองราชย์ยาวนาน  3.การเปลี่ยนองค์กษัตริย์ไม่มีปัญหารัชทายาท 4.กษัตริย์พยายามเป็นกษัตริย์ของประชาชน มีความเป็นมนุษย์คุลกฝุ่นเป็นชาวบ้านธรรมดา 5.กษัตริย์ในสวีเดนได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะชัดเจนว่าไม่เอาสงคราม

วิธีการ “ยอม” ของสถาบันกษัตริย์

วิธีการยอมของกษัตริย์ ในการยอมสภา บางประเทศยอมไปโดยปริยายเลยอย่าง สหราชอาณาจักร สู้กับสภาแล้วแพ้ก็ถอยออกไปจนกลายเป็นจารีตประเพณีว่ากษัตริย์มีอำนาจแค่ไหน เพียงไร

บางประเทศใช้ออกเสียงประชามติ ประเทศที่ออกเสียงประชามติแล้วยืนยันให้มีกษัตริย์ต่อ เช่น นอร์เวย์ เมื่อปี 1814 เบลเยียม ปี 1830 ลักเซมเบิร์ก ปี 1915

บางประเทศสถาบันกษัตริย์ปรับตัวแล้วอยู่ต่อได้ ไม่ได้เต็มใจปรับ แต่ถูกบังคับให้ปรับ เพราะแพ้สงคราม เช่น ญี่ปุ่น

บางประเทศสถาบันกษัตริย์กลับขึ้นมาใหม่ได้ และในการกลับขึ้นมาใหม่เป็นปัจจัยสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยด้วย เช่น สเปน

กรณีที่ปรับตัวไม่ได้

ประเทศที่สถาบันกษัตริย์ปรับตัวไม่ได้แล้วปลาสนาการหายไปจากแผ่นดินนั้นเลย  เหตุหลักๆ เป็นเพราะไปเหนี่ยวรั้งขัดขืนการเปลี่ยนแปลง

ฝรั่งเศสเป็นที่แรกที่เห็นชัดเจน  เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้วกษัตริย์ก็กลับมาอีก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนสุดท้ายปี 1870 สาธารณรัฐที่ 3 ระบบกษัตริย์ก็หายไปหมดเลย เพราะฝ่ายนิยมเจ้าดื้อรั้นจะเอาแบบเดิม กรณีของโปรตุเกส อิตาลี ก็เช่นเดียวกัน  

กรีซ กษัตริย์หายพระองค์หลายช่วงเป็นตัวขัดขวาง parliamentary monarchy จนสุดท้ายออกเสียงประชามติประชาชนก็ออกเสียงไม่เอา คะแนนถล่มลาย กว่า 70% ที่จะให้เป็นสาธารณรัฐ ลงคะแนนประชามติเมื่อปี 1975 นี่เอง

บางประเทศสถาบันกษัตริย์ล่มสลายไปเพราะสงครามโลก เช่น เยอรมนี ออสเตรีย ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

บางประเทศกษัตริย์หายไปเพราะประเทศประกาศอิสรภาพออกมา เช่น ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์

ปัจจัยชี้ขาดความอยู่รอด

ยุคปัจจุบันสถาบันกษัตริย์จะอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ ปัจจัยสำคัญคือ การปรับตัวให้เข้ากับประชาธิปไตย ถามว่าทำไมต้องให้สถาบันกษัตริย์ปรับ ไม่ใช่ ประชาธิปไตยปรับตัวเข้าหาสถาบันกษัตริย์บ้าง คำถามนี้อยู่ที่ว่าท่านจะเลือกอะไร ถ้าเลือกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สถาบันการเมืองทั้งหมดซึ่งรวมถึงสถาบันกษัตริย์ด้วยต้องปรับให้เข้ากับประชาธิปไตย ถ้าปรับไม่ได้ผลก็คือสถาบันนั้นจะหายไปเอง ปัจจุบันเหลือน้อยประเทศมากที่สถาบันกษัตริย์กำลังขัดขืน เหนี่ยวรั้ง ต่อสู้กับประชาธิปไตยอยู่ ทุกวันนี้ถ้าพูดถึงการปฏิรูปให้เข้ากับระบอบ parliamentary monarchy หรือ constitutional monarchy โดยแท้ ปัจจุบันสายตาของชาวโลกเขามองอยู่ 2 ประเทศเท่านั้น คือ ราชอาณาจักรโมรอคโค กับ ราชอาณาจักรไทย โดยกำลังดูว่าประเทศไหนจะเปลี่ยนเข้าสู่ parliamentary monarchy หรือ constitutional monarchy ได้อย่างสมบูรณ์

 

วิธีการทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับประชาธิปไตย

ส่วนแรกจะพูดถึง วิธีการทำให้สถาบันกษัตริย์อาศัยร่วมกับประชาธิปไตย ซึ่งมีอยู่หลายวิธี จะขออธิบายเฉพาะกลไกทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

วิธีแรก นำกษัตริย์ลงไปอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีตั้งแต่การกำหนดไว้ชัดเจนว่า อำนาจของกษัตริย์มีได้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น รัฐธรรมนูญจะเป็นตัวกำหนดว่าสถาบันกษัตริย์มีอำนาจอะไรบ้าง ทำอะไรได้บ้าง ภาษาไทยใช้คำว่า “พระราชอำนาจ”  บางคนบอกแปลเป็นอังกฤษ royal prerogative ซึ่งไม่ได้ เป็นปัญหา มันสะท้อนอภิสิทธิ์บางอย่างเกินอำนาจตามรัฐธรรมนูญกำหนดนั้นเป็นหน้าที่เสียมากกว่าจะเป็นอำนาจ เพราะคำว่าอำนาจมันสะท้อนถึงสภาวะที่เลือกได้ จะทำหรือไม่ ทำอย่างไร เมื่อทำแล้วจะรับผิดชอบอย่างไร กรณีกษัตริย์ ไม่สามารถกระทำการใดๆ ได้เองตามลำพังอยู่แล้ว การกระทำทุกอย่างต้องมีคนลงนามรับสนองฯ ตลอด และคนลงนามคือคนรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม อาจมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้อำนาจโดยแท้แก่สถาบันกษัตริย์อยู่เหมือนกัน เช่น บางประเทศให้อำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการส่วนพระองค์ได้ด้วยตัวเอง

ส่วนอำนาจในทางเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเทศจะกำหนดเงินรายปีให้กับพระราชวัง คือ กำหนดเลยว่า ปีหนึ่งทั้งครอบครัวได้เท่าไร

มีนักวิชาการสายรอยัลิสต์หลายท่านพยายามอธิบายว่า กษัตริย์มีอำนาจในทางสังคม ประเพณี เป็นอำนาจที่เกิดจากธรรมเนียบปฏิบัติในทางรัฐธรรมนูญ สูตรที่พูดบ่อยคือสูตรของ วอเตอร์ แบชอต ( Walter Bagehot) เป็นสื่อสารมวลชนชาวอังกฤษ เขียนหนังสือเรื่องThe English Constitution พิมพ์เมื่อปี 1867 เขาบอกว่ากษัตริย์มีสิทธิอยู่ 3 ประการ คือ สิทธิในการให้คำปรึกษาหารือ สิทธิในการตักเตือน และสิทธิในการให้กำลัง (แก่รัฐบาล) นักวิชาการไทยเอามาพูดแบบนี้ โดยจงใจไม่พูดให้จบ แบชอตพูดต่อด้วยว่า สิทธิเหล่านี้นี้ต้องเป็นความลับ รัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์เท่านั้นจะรู้กัน สาธารณชนไม่มีสิทธิรู้ และรัฐบาลมีสิทธิไม่เห็นด้วยกับสถาบันกษัตริย์ได้ เพราะรัฐบาลเป็นคนรับผิดชอบ

คำอธิบาย "พระราชอำนาจ" (ที่ไม่จบ)

ที่สงสัยมาตลอดคือ  นักวิชาการรอยัลลิสต์ในประเทศนี้อ้างแต่แบชอต เขาเขียนมาอธิบาย รัฐธรรมนูญอังกฤษในสมัยพระราชินีวิคตอเรีย จุดประสงค์เพื่อตอบโต้การปกครองในสหรัฐอเมริกา ทำไมเขาไม่อ้างวิธีการปฏิบัติของเบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดนบ้าง แล้วก็อธิบายว่าอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ (constitutional convention) ธรรมเนียมที่ฝรั่งคิดขึ้นมา คิดขึ้นเพื่อจำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ทั้งนั้น โดยเฉพาะที่อังกฤษ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่ของไทยเรากลับเอามาอธิบายเพื่อเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์ เป็นการเปรียบเทียบผิดฝาผิดตัว ยกตัวอย่างเช่น การวีโต้กฎหมาย ของไทยรัฐธรรมนูญบอกว่ากษัตริย์มีอำนาจวีโต้ได้ชั่วคราว สุดท้ายถ้าสภายืนยันก็ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ มีเวลายับยั้ง 4 เดือน ประเทศอื่นๆ ไม่เขียน เพราะถือเป็นธรรมเนียมเรียบร้อยแล้วว่าจะเห็นชอบทุกฉบับ สภาผ่านกฎหมาย กษัตริย์ลงนามอย่างเดียว จะไม่มีการวีโต้เลย ประเทศไหนเขียนเรื่องวีโตแสดงว่าให้อำนาจกษัตริย์ในการวีโต้ แต่ถ้าไม่เขียนเลยแสดงว่าไม่มีอำนาจนั้นเลย ปัจจุบันในโลกนี้มีไทยประเทศ กับนอร์เวย์เท่านั้นที่เขียนไว้ให้กษัตริย์วีโตได้ ทีนี้ในเบลเยียมมีปัญหา เขาไม่ได้เขียนเรื่อวีโต้เลย แต่กษัตริย์ไม่อยากลงนามในกฎหมายทำแท้งด้วยความเป็นแคทอริก รัฐบาลก็ไปคิด สุดท้ายบอกว่าถ้าจะให้ร่างกฎหมายตกไปเลยไม่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยเพราะกฎหมายผ่านสภาแล้ว เลยให้กษัตริย์ไปพักร้อนสามวัน มีตัวบทในรัฐธรรมนูญเขียนเลยว่าให้อยู่ในภาวะครองราชย์ไม่ได้เป็นการชั่วคราว แล้วตั้งผู้สำเร็จราชการแทนมาเพื่อลงนามประกาศใช้กฎหมาย ก็ไม่ต้องไปขัดขืนน้ำใจกษัตริย์เบลเยียมให้ลงนาม กฎหมายก็ถูกประกาศใช้เหมือนกัน

นักวิชาการรอยัลลิสต์ในไทยอธิบายประหลาด ทั้งที่รัฐธรรมนูญไทยเขียนชัดว่าถ้ากษัตริย์ยับยั้ง สภาสวนเพื่อยืนยันได้เลย แต่นักวิชาการอธิบายว่า เป็นธรรมเนียมประเพณีทางรัฐธรรมนูญไปแล้วว่า ถ้ากษัตริย์วีโต้ ให้ร่างนั้นตกทันที มันตลก เพราะตัวอักษรเขียนชัด ถ้าจะเอาอย่างนั้นคุณต้องแก้ตัวบท แต่ก็ไม่กล้าเขียน เพราะเขียนเมื่อไรไม่เป็นประชาธิปไตยทันที และยังบอกอีกว่า ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงได้ตามพระบรมเดชานุภาพของแต่ละพระองค์

วิธีที่สอง ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญคือ เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้สถาบันกษัตริย์มีหน้าที่ในการเคารพและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก่อนเข้ารับตำแหน่งต้องสาบานตนต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ  

ในหลายประเทศ สเปน เบลเยี่ยม เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เขียนไว้ชัดแบบนี้หมด การเขียนอย่างนี้มีประโยชน์  2 ประการ

1.เป็นสัญลักษณ์ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสดของประเทศ แม้แต่กษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐก็ยังต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ การสาบานตนก็เพื่อแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

2.เป็นการป้องกันรัฐประหาร ไม่ให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารต้องพึงสังวรว่าผู้เป็นประมุขยังอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเลย การฉีกรัฐธรรมนูญแล้วไปเข้าเฝ้าฯ ย่อมหมายความว่าคณะรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้วไปบีบบังคับให้กษัตริย์ต้องร่วมลงนามในสิ่งที่ผิด นอกจากนี้ ในกรณีที่สถาบันกษัตริย์มีพระปรีชาสามารถ  มีหัวใจประชาธิปไตย เขาอาจอ้างสถานะนี้ว่าตนในฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่อาจยอมรับรัฐประหาร และประกาศให้ผู้ทำรัฐประหารเป็นกบฏ ดังปรากฏในกรณีพระราชาธิบดี ควล คารอส ที่1 ของเสปน  ซึ่งไม่ยอมรับรัฐประหาร 23 ก.พ.1981

กรณีของไทยก็เคยมีปัญหาซึ่งเคยกล่าวไว้หลายครั้ง ปรีดีเคยเล่าว่าในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาฯ มีปัญหาว่าจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญดีไหมเรื่องกษัตริย์ต้องสาบานตนก่อนรับตำแหน่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 7 บอกว่า “ส่วนสยามนั้นรับสั่งว่า ไม่จำเป็นต้องเขียน เพราะเมื่อพระองค์พระราชทานรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เท่ากับให้สัตยาธิษฐานเรียบร้อยแล้ว” อาจารย์ปรีดีถามต่อว่าถ้ากษัตริย์องค์ต่อไปจะทำอย่างไร รัชกาลที่7 ก็ตอบว่า “ มีความในพระราชปรารภที่ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์สมัครสมานกับประชาราษฎร์ในอันที่จะรักษาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว  เจ้านายที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ ไป ก็เป็นพระบรมวงสานุวงศ์ จึงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”


กำนิด รัฐสภา ไม่ใช่เหตุบังเอิญ

เรื่องการสร้างระบบ Paliamentary Monarchy ประเทศไทยก็พยายามจะบอกว่าเราเป็นระบบนี้ ระบบรัฐสภาที่เห็น ไม่ได้เกิดโดยความบังเอิญ เป็นผลผลิตการต่อสู้ในประวัติศาสตร์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนในระยะแรกในระบอบเก่ากษัตริย์รวมไว้ทุกอย่าง พอเปลี่ยนระบอบกษัตริย์มีฝ่ายบริหารเป็นเครื่องมือ ส่วนประชาชนมีรัฐสภาเป็นเครื่องมือ สภาทำหน้าที่ออกกฎหมาย กษัตริย์ก็ทำหน้าที่บริหารประเทศ ดังนั้นยุคที่หนึ่งจะเป็นระบบที่เรียกว่า dualism คือ ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบต่อทั้งกษัตริย์และสภา เพราะสถาบันกษัตริย์ตั้งพวกนี้ขึ้นมาบริหารประเทศ อีกด้านก็ต้องบริหารภายใต้ความไว้วางใจของรัฐสภา เมื่อโลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สถาบันกษัตริย์ก็ขยับตัวเองเป็น Head of state อย่างเดียว  ไม่ได้ลงมาบริหารประเทศ กลายเป็น monism ฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบโดยตรงต่อสภาเท่านั้น หมายความว่า มาจากเสียงข้างมากในสภา บริหารประเทศตราบที่รัฐสภายังไว้วางใจ  นี่เป็นระบบ parliamentary monarchy โดยสมบูรณ์แบบบ

ถ้าวันใดเราสร้างระบบนี้ กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐเฉยๆ กษัตริย์ไม่ลงทาแทรกแซงในทางการเมือง รัฐบาลมาจากเสียงข้างมากจากสภา สภาตรวจสอบรัฐบาลไป ถ้าเป็นอย่างนี้เมื่อไรก็เท่ากับว่าเราเซ็ทตำแหน่งแห่งที่ให้กับสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยได้โดยสมบูรณ์แล้ว  

การคุ้มครองประมุขของรัฐ: ประธานาธิบดี – กษัตริย์

ส่วนที่สองที่จะพูดคือ เรื่ององค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้  (The person of king is inviolable)

ก่อนบรรยายละเอียดจะชี้ให้เห็นก่อนว่า เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสถาบันกษัตริย์กับประธานาธิบดีนั้นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ประธานาธิบดี:
ไม่ต้องรับผิด ไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง เว้นแต่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นอย่างอื่น เช่น ถ้าละเมิดรัฐธรรมนูญ บกพร่องอย่างร้ายแรงอาจกำหนดกลไลพิเศษ เช่น ให้สภากเป็นผู้ล่าวหา ใช้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลพิเศษที่ผสมผู้พิพากษากับนักการเมืองไว้ด้วยกัน แต่โดยหลักไม่ต้องรับผิด

กรณีแบบนี้ถ้าประธานาธิบดีปฏิบัติหน้าที่แล้วผิดพลาดไม่ต้องรับผิด แต่ปัญหาตามมา ถ้าไปกระทำการบางอย่างเรื่องส่วนตัวต้องรับผิดไหม เช่น ขับรถชนคนตาย คำตอบคือ ประธานาธิบดีได้รับเอกสิทธิ์และการคุ้มกันเรื่องนี้อยู่ตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง ไม่มีใครฟ้องได้ ต้องรอให้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน ถามว่าจริงๆ ควรต้องรับผิดไหม ควร แต่เพื่อรักษาเกียรติยศของประธานาธิบดี ขณะที่ในบางประเทศกำหนดว่าหากใครจะดำเนินคดีเรื่องส่วนตัวกับประธานาธิบดีต้องขออนุญาตสภาผู้แทนราษฎรก่อน ทำไมต้องต้องคุ้มกันตำแหน่งประมุขของรัฐในลักษณะแบบนี้   ก็เพราะประมุขของรัฐเป็นสัญลักษณ์เป็นตัวแทนของความเป็นรัฐ คล้ายว่ามันจะไม่ถูกตัดตอน ไม่ถูกกล่าวหา ไม่ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น ตำแหน่งประมุขของรัฐจึงได้รับการคุ้มกันไปด้วย แต่ถ้าพ้นตำแหน่งก็อาจโดนภายหลัง

กษัตริย์:
จะมีเอกสิดคุ้มกันเด็ดขาดมากกว่า ผ่านสูตรที่เรียกว่า “องค์พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกล่วงละเมิดได้” ในรัฐธรรมนูญกรณีกษัตริย์จะใช้คำว่า inviolability แต่ประธานาธิบดี ใช้คำว่า immunity irresponsibility แล้วแต่กรณี

สามคำนี้แตกต่างกันอย่างไร ฝ่ายหนึ่งบอกว่า immunity เป็นคำรวม แล้วแยกออกเป็น irresponsibility กับ inviolability ซึ่ง irresponsibility เป็นการคุ้มครองการกระทำในตำแหน่งหน้าที่ ส่วน inviolability มุ่งคุ้มครองตัวคน ไม่ได้คุ้มครองสิ่งที่เขาทำ

ตำราอีกชุดเสนอว่า คำว่า “inviolability” ไม่ควรเอามาใช้ เพราะคำนี้ สืบสาวราวเรื่องแล้วไปพัวพันกับเทวสิทธิ์ คำนี้จึงปรากฏเฉพาะแต่กับกษัตริย์ ไม่ปรากฏว่าใช้กับประธานาธิบดี ถ้าจะอธิบายให้สอดรับกับประชาธิปไตยต้องเลิกใช้คำนี้เพราะมันสะท้อนถึงความเป็นเทพเจ้า เดี๋ยวจะพาลเข้าใจผิดเป็น untouchability   

แล้ว immunity คืออะไรมันคือการยกเว้น สมมติบุคคลทั่วไปมีกระบวนการตามกฎหมายปกติ แต่มันจะยกเว้นเรื่องๆ นี้ให้กับบุคคลคนนี้ บางช่วงบางตอน ต่างกับ irresponsibility ซึ่งการยกเลิกเลย ไม่ต้องรับผิดชอบ

ปัญหาตามมาคือ ทำไมกษัตริย์ได้รับการคุ้มครองเข้มข้นกว่าประธานาธิบดี เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นตัวแทนความต่อเนื่องของรัฐ กษัตริย์ในฐานะตำแหน่งไม่ได้มีหลายองค์ มีหนึ่งเดียวตลอดสาย กฎมณฑียรบาลจึงเกิดขึ้นเพื่อประกันความต่อเนื่องของความเป็นกษัตริย์ ซึ่งในความต่อเนื่องนั้นต้องประกันความต่อเนื่องทางกายภาพด้วยจึงมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญด้วยว่า องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้  

ทำไมล่วงละเมิดมิได้

ท่านอาจสงสัยว่า “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” คืออะไร มีความหมาย 2 ประการคือ 1.พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำใดๆ ของตนเลย คนที่รับผิดชอบคือรัฐมนตรีที่ลงนามสนองพระบรมราชโองการ (ฝรั่งใช้คำว่า counter sign หรือลงนามกำกับ)

2.สถาบันกษัตริย์จะไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ เลยทั้งทางแพ่งและอาญา จะจับกุมคุมขังสถาบันกษัตริย์ก็ไม่ได้ ประเด็นนี้เคยเป็นเรื่องใหญ่มาแล้วในฝรั่งเศส เมื่อปี 1792 จับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ไปเอาขังคุก ก็มีปัญหาว่ารัฐธรรมนูญปี 1791 บัญญัติว่าห้ามดำเนินคดีกับกษัตริย์ สุดท้ายเลยต้องปลดเป็นคนธรรมดาก่อน

กรณีที่พระมหากษัตริย์กระทำการในการปฏิบัติหน้าที่คือลงพระปรมาภิไธย จะไม่มีปัญหาเลย เพราะรัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองจะรับผิดชอบทั้งหมด พูดง่ายๆ ว่าคนที่ทำคือรัฐมนตรีและเขาต้องรับผิดชอบเอง ยกตัวอย่างเช่น การประกาศสงคราม แล้วต่อมาประเทศนั้นแพ้สงคราม อาจมีการดำเนินคดีกับสมาชิกในรัฐบาลนั้นในฐานะอาชญากรสงคราม แต่สถาบันกษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะมีคนลงนามรับสนองฯ  

ปัญหาจะเกิดทันทีกรณีที่พระมหากษัตริย์กระทำการในเรื่องส่วนตัวแท้ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่เลย เช่น กู้คนมาไม่จ่าย เขาเสนอว่าให้ฟ้องพระราชวัง พระคลังข้างที่ แล้วแต่หน่วยงานที่ดูแลกองทรัพย์สินนั้น ไม่ใช่ฟ้องที่ตัวกษัตริย์ ในทางอาญาจะเป็นปัญหา หากกษัตริย์เอาปืนไปยิงคนตาย ขับรถชนคนตาย แล้วทำยังไง อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ พูดตรงไปตรงมาเลย ไม่มีตำราไหนเสนอทางออกเรื่องนี้ไว้เลย และพยายามจะไม่เสนอด้วยเพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่ประหลาด  เคยมีนักวิชาการต่างประเทศ อัลเบิร์ต เวน ไดซี่ (Albert Venn Dicey) นักกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษเสนอตัวอย่างสุดโต่งไว้ในตำราเขาว่า กษัตริย์อาจเอาปืนระเบิดหัวขมองอัครเสนาบดีได้โดยไม่ต้องไปศาล นี่เป็นตัวอย่างสุดโต่ง ถ้าวันไหนเกิดเหตุการณ์แบบนี้นั่นหมายความว่าวันสุดท้ายของราชบัลลังก์ใกล้มาถึงแล้ว

ที่ผ่านมา สำรวจตำรากี่เล่ม ไม่มีทางออกเรื่องนี้เลย
 

ศาลอาญาระหว่างประเทศ ไทยไม่ลงนามเพราะ..

แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเยอะ มีศาลอาญาระหว่างประเทศ ในธรรมนูญกรุงโรมที่ก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ เขียนว่า ถ้ากฎหมายภายในหรือรัฐธรรมนูญของรัฐสมาชิกใด เขียนให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันใดๆ แก่ประมุขของรัฐ ให้ถือว่าเอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้นหายไป ในกรณีที่มาดำเนินคดีอาญาในศาลอาญาระหว่างประเทศ หลายประเทศถึงกับมาตามแก้รัฐธรรมนูญตัวเองว่า ประมุขของรัฐไม่ต้องรับผิด ไม่ถูกกล่าวหา ดำเนินคดีใดๆ เว้นแต่เข้าศาลอาญาระหว่างประเทศ

กรณีของไทย พูดตรงๆ ว่า นี่แหละเป็นเหตุให้ราชอาณาจักรไม่ยอมให้สัตยาบรรณในสนธิสัญญาศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องอื่นๆ แต่เป็นเรื่องนี้ เพราะศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันให้ประมุขของรัฐ แล้วทำไมประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ประเทศอื่นเขาลงนามกันหมด เพราะเขามองว่า ไม่มีทางเลยที่กษัตริย์ของเขาจะไปกระทำเข้าข่ายความผิดอาญาในนามส่วนตัว เพราะถ้ามันเป็นความผิดอาญาก็ต้องทำในนามรัฐมนตรีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการอยู่แล้ว พวกนั้นก็รับผิดไป

ปัญหาต่อมา เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่ว่าไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องถูกดำเนินคดี มีผลในช่วงเวลาใดบ้าง กรณีที่กษัตริย์เสียชีวิตไม่มีปัญหา แต่ถ้ากรณีสถาบันกษัตริย์สละราชสมบัติกลายเป็นคนธรรมดาแล้วมีองค์อื่นรับตำแหน่งต่อ ปัญหาคือการกระทำของคนนี้ในขณะเป็นกษัตริย์จะฟ้องร้องดำเนินคดีได้หรือไม่ คำตอบมีสองแนว แนวแรก “ได้” เพราะกษัตริย์กลายเป็นคนธรรมดาแล้ว วิธีอธิบายแบบนี้ใช้กับการประหารชีวิตของหลุยส์ 16ที่ แต่ของเบลเยี่ยมเป็นแนวที่สองบอก “ไม่ได้” เป็นเอกสิทธิ์ความคุ้มกันตลอดชีพ คุ้มครองไปแล้วจะเอาการกระทำสมัยเป็นกษัตริย์มาฟ้องไม่ได้ แต่ถ้าสละราชสมบัติเป็นคนธรรมดาแล้วทำผิดก็ถูกดำเนินคดีได้แล้ว

ถ้าการกระทำบางอันเกิดก่อนเขาเป็นกษัตริย์ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันจะคุ้มกันอยู่หรือไม่ ประเด็นนี้เป็นปัญหา ในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 มีคำอภิปรายหนึ่งที่น่าสนใจมากของ พ.ท.โพยม จุลานนท์ พ่อของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ซึ่งตอนนั้นเป็น ส.ส.เพชรบุรี บอกว่า “ข้าพเจ้าใคร่จะขอตั้งข้อสังเกตอันหนึ่งว่า การสืบราชสันตติวงศ์นั้นย่อมจะสืบลงมาเป็นลำดับ แต่หากว่าในราชตระกูลนั้น บังเอิญท่านผู้นั้นได้กระทำผิดกฎหมายอาญาขึ้นก่อน แต่คดียังไม่ได้มีการฟ้องร้อง ถ้าบังเอิญได้ถูกสถาปนาขึ้นครองราชบัลลังก์แล้ว การฟ้องร้องการกระทำความผิดก่อนเสวยราชย์ก็ฟ้องร้องไม่ได้ เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ามันขัดกัน”

ปัญหาต่อมา เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่กล่าวมาคุ้มครองใครบ้าง คุ้มครองตัวพระมหากษัตริย์ตำแหน่งเดียว ไม่ได้มุ่งหมายให้ทั้งราชวงศ์ ให้เฉพาะประมุขของรัฐคนเดียวเท่านั้น


ละเมิดไม่ได้ ภายใต้เงื่อนไข

ประเด็นต่อมา องค์พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดไม่ได้ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง กษัตริย์ไม่อาจถูกกล่าวหา ฟ้องร้องดำเนินคดีเลยก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขเหล่านี้ครบถ้วนเสียก่อน  

1. กษัตริย์ไม่กระทำการตามลำพัง การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ

2. อำนาจบริหารเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกภาพ ไม่มีการแบ่งแยกสถาบันกษัตริย์ออกจากรัฐบาล เป็นฝ่ายบริหารด้วยกัน แน่นอน กษัตริย์อาจมีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาลได้ แต่ความเห็นใดๆ ของกษัตริย์ต้องเป็นความลับ มีรัฐบาลเท่านั้นที่รู้ และรัฐบาลเป็นคนตัดสินใจว่าจะคล้อยหรือค้านก็ได้ เพราะรัฐบาลรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นเอง บางทีกษัตริย์อาจสู้กับรัฐบาลเวลาเห็นไม่ตรงกัน อาวุธหรือไม้ตายสุดท้ายคือการขู่ว่าจะสละราชสมบัติ แต่สภาวการณ์ที่ไม่เห็นด้วยกันเป็นสภาวการณ์อันไม่พึงประสงค์

3.ไม่มีบุคคลใดรู้ว่ากษัตริย์คิดอะไรอยู่ กษัตริย์มีความเห็นได้ในทางการเมืองเพราะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่ทั้งหมดต้องเป็นความลับ บุคคลใดที่มาแอบอ้างว่าเข้าเฝ้ามา ใครพูดแบบไหน สมาชิกราชวงศ์พูดแบบนั้นแบบนี้ ผิดหมด ผิดหลักวิชา ผิดธรรมเนียมประเพณีในประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยและเป็นราชอาณาจักรทั้งนั้น

4.พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขา การกระทำอื่นใดที่เกี่ยวพันกับประเด็นทางการเมืองทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี งานในทางส่วนพระองค์ทำได้ แต่กิจการที่เกี่ยวพันกับการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินต้องให้รัฐบาลให้ความเห็นชอบเสมอ

กรณีพระราชดำรัส รัฐบาลอาจร่างพระราชดำรัสให้สถาบันกษัตริย์อ่านออกอากาศทางทีวีหรือวิทยุก็ได้ หรือพระมหากษัตริย์ร่างเองแล้วส่งให้รัฐบาลตรวจก่อนก็ได้ พูดไปจะอาจจะมีสื่อมวลชนนำไปพาดหัวแบบผิดๆ หาว่าเหิมเกริมอะไรอีก เลยอ่านจากตำราอาจารย์หยุด แสงอุท้ย

ตำราอาจารย์หยุด แสงอุทัย เขียนไว้อย่างนี้ว่า

“พระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียง พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงกระทำการตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เพราะต้องมีผู้รับผิดชอบในพระราชดำรัส ส่วนปัญหาที่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงร่างเองแล้วส่งมาให้รัฐมนตรีเห็นชอบ หรือคณะรัฐมนตรีร่างไปทูลเกล้าฯ ถวาย ย่อมเป็นเรื่องภายในระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะรัฐมนตรี ... พระมหากษัตริย์จะไม่รับสั่งหรือกระทำการอื่นใดกับทูตานุทูตหากไม่ได้กระทำต่อหน้ารัฐมนตรี”

ประเด็นปัญหาคือ เรื่องใดที่เกี่ยวพันกับการเมือง เรื่องใดเกี่ยวพันกับการบริหารราชการแผ่นดิน อันนี้ก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป อาจารย์หยุดบอกว่า “ส่วนปัญหาด้วยกิจการใดเป็นกิจการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินนั้น จะต้องระลึกถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐด้วย กิจการใดซึ่งสำหรับสามัญชนเป็นกิจการส่วนตัวโดยแท้ เช่น การสมรส สำหรับพระมหากษัตริย์ อาจถือว่าเป็นกิจการเกี่ยวกับราชการแผ่นดินก็ได้ และโดยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลอังกฤษจึงไม่เห็นชอบให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่8 ทรงอภิเษกสมรสจนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่8 ต้องสละราชสมบัติ”


The King can do no wrong  

ดังนั้น ใครที่บอกว่ากษัตริย์ไม่อาจล่วงละเมิดได้ The King can do no wrong หลักการเหล่านี้จะเกิดต่อเมื่อมี 4 ข้อที่พูดเกิดขึ้นก่อน The King can do no wrong  จะเกิดขึ้นมาได้เมื่อมีเงื่อนไข 4ข้อเกิดขึ้นก่อนทั้งหมด ดังนั้น ชุดคำอธิบายที่บอกว่า เพราะ The King เป็นมนุษย์ The King จึง do wrong ได้ ถ้าพูดแบบนี้ถือว่ผิดหลักวิชาการ เพราะในระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางเลยที่กษัตริย์จะทำผิดได้ เพราะกษัตริย์ไม่ได้ทำอะไรเลย

ปัญหาตามมาคือ ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ถ้าแปลความกลับกันกษัตริย์ก็ต้องถูกดำเนินคดีได้ เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า นี่เป็นปัญหา รัฐธรรมนูญของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ช่วงการต่อสู้ของสถาบันกษัตริย์กับสภาผู้แทนราษฎรกำลังดำเนินอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ผลัดกันแพ้ชนะ ถ้าฝ่ายราษฎรชนะก็จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญป้องกันกษัตริย์เบี้ยเลยว่า ถ้าไม่กระทำการตามรัฐธรรมนูญอาจเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ และเป็นสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้วินิจฉัย แต่พอฝ่ายประชาธิปไตยชนะขาดลอยก็ไม่เขียนกันแล้วเรื่องนี้ เพราะมั่นใจว่าไม่มีทางอีกแล้วที่กษัตริย์จะละเมิดรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าสถาบันกษัตริย์องค์ไหนละเมิดรัฐธรรมนูญบ่อยก็จะถูกกดดันให้สละราชสมบัติ เช่นกรณีลักเซมเบิร์ก ปี 1919 หรือกรณีเบลเยี่ยมที่กษัตริย์พาประเทศเข้าสงคราม ก็ถูกปลดแล้วตั้งคนอื่นเป็นกษัตริย์แทน

ฉะนั้น ในระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ที่ดีหาใช่พระมหากษัตริย์ที่มีพระจริยวัตรดีงาม หาใช่พระมหากษัตริย์ที่ฉลาดปราดเปรื่อง หาใช่พระมหากษัตริย์ที่เป็นนักรบ หาใช่พระมหากษัตริย์ที่มีจิตใจเมตตา แต่พระมหากษัตริย์ที่ดีในระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

 

ย้อนดูการเขียน “ละเมิดมิได้” ในรัฐธรรมนูญไทย

หันมามองรัฐธรรมนูญของไทยที่เขียนข้อความ องค์พระมหากษัตริย์จะละเมิดไม่ได้ ในรัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่ 2475 มีเขียนอยู่ 5 รูปแบบ คือ ไม่มีเขียน (ฉบับ 27 มิ.ย.2475), มีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้” (ฉบับ 10 ธ.ค.2475, ฉบับปี 2489, 2490, 2495, 2502) , มีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และมีอีกมาตราหนึ่งบอกว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”,  (ฉบับปี 2492,2511, 2517) , มีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และมีคำว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” รวมอยู่ในมาตราเดียวกัน (ฉบับปี 2515, 2519, 2520, 2534 และ 2549), ใช้อยู่ในปัจจุบัน อยู่ในมาตราเดียวกันแต่แยกวรรค “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” อีกวรรคหนึ่งคือ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ข้อสังเกตตั้งแต่ปี 34 เพิ่มราชาศัพท์คำว่า “ทรง” ไปด้วย สมัยก่อนไม่มี

ถ้าจัดกลุ่มให้ง่ายแบ่งเป็นสามยุค คือ ยุคแรกไม่มีเขียนเลน, ยุคสองมีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”, ยุคสามมีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

ยุคแรก ไม่มีบทบัญญัติเรื่องนี้ คือ ธรรมนูญการปกครองสยาม 27 มิ.ย.2475 แต่เรามีมาตรา 6 กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่าง มีสมมติฐานของผู้ร่าง อย่างแรก ปรีดีทราบอยู่แล้วตามระบบที่ได้อธิบายไปตอนแรกเรื่องผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จึงไม่ได้เขียน เขียนเฉพาะเรื่องคดีอาญา อย่างที่สอง อิทธิพลของรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยรับอิทธิพลมาจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ปี 1791 ซึ่งยังมีกษัตริย์อยู่ และกำหนดว่ากษัตริย์ไม่อาจถูกดำเนินคดี แต่อาจถูกถอดถอนได้ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไปเป็นแม่ทัพให้ต่างชาติ ฯลฯ อาจรับไอเดียนี้มา

ยุคที่สอง มีสองคำ “เคารพสักการะ” กับ “ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” สำหรับคำแรก “เคารพสักการะ” ผู้ร่างรัฐธรรมนูญพูดชัดว่าลอกมาจากญี่ปุ่นสมัยเมจิ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงเองว่า ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมีคนแปลตรงนี้ออกมาเป็นคำว่า “เคารพ” แต่จะให้ถูกถ้วนควรเติม “สักการะ” เข้าไปด้วย ไม่มีการถกเถียงเรื่องนี้ สรุปก็ผ่าน โผล่มาแบบดื้อโดยไม่มีการถกเถียงอะไรเลย แต่สมัยนั้นไม่มีใครอธิบายในเชิงที่สัมพันธ์กับเทพเจ้า แต่ปัจจุบันกลับมี

ส่วนคำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” พระยามโนฯ อธิบายว่า หมายถึง ไปฟ้องร้องว่ากล่าวพระมหากษัตริย์ไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า เพราะรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลก็ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าไปฟ้องร้องท่านก็ดูตลก วิธีอธิบายแบบนี้เป็นวิธีอธิบายแบบ absolute monarchy วิธีอธิบายที่ถูกต้อง ต้องอธิบายว่า องค์พระมหากษัตริย์ละเมิดมิได้ว่าถูกฟ้องร้องกล่าวหา ดำเนินคดีไม่ได้ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ได้กระทำการใดๆ โดยพระองค์เอง รัฐมนตรีที่ลงนามสนองพระราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ ตามเงื่อนไข 4 ข้อที่กล่าวไป

ยุคที่สาม ที่มีทั้งสองประโยค เริ่มตั้งแต่ 2492 ใช้ถึงปัจจุบัน ประเด็นคือ กล่าวหาฟ้องร้องไม่ได้ มันโผล่มาจากไหน นักกฎหมายรัฐธรรมนูญอธิบายตรงกันในตำราหลายเล่มว่าเขียนขึ้นมาเพิ่มความชัดเจน เดี๋ยวจะเถียงกันอีกว่า “ละเมิดมิได้” นั้นหมายถึงอะไร นี่คือความเป็นมา ในช่วงเวลาที่เขียน ปี 2492 ส.ส.หลายคนมีความคิดก้าวหน้าวิจารณ์เรื่องนี้หนักมาก

ยุคปัจจุบัน เราเขียนอย่างไร เราเขียนในมาตรา 8  วรรคแรก “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” วรรคที่สอง “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ในพ.ศ.นี้ เราต้องตีความมาตรานี้ให้สอดคล้องกับระบอบ ถ้าท่านยืนยันว่าเป็นประชาธิปไตย ต้องอธิบายดังนี้ คำว่า “เคารพสักการะ” เป็นการถวายพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เป็นกฎเกณฑ์ที่เป็น norm มีผล sanction มีบทลงโทษ นี่แปลความแบบเดนมาร์ก นอร์เวย์ เพราะมีคำนี้เช่นกัน อาจารย์หยุด แสงอุทัย เขียนต่อไปอีกว่า เพราะกษัตริย์ต้องเป็นที่เคารพสักการะนี่เอง ทำให้กษัตริย์ต้องเป็นกลางทางการเมือง “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ต้องแปลตรงไปตรงมา จะกล่าวหาฟ้องร้องในทางใดๆ ไม่ได้ ดังที่เขียนเพิ่มเติมในวรรคถัดมา

เพิ่มไม่ให้พวกรอยัลลิสต์ตีความผิดๆ ผมเสนอให้เขียนใหม่อย่างนี้ วรรคแรก องค์พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่อาจถูกละเมิดได้ รัฐมนตรีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ วรรคสอง การกระทำของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ การกระทำใดที่ไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการให้ถือเป็นโมฆะ ผมก็เอามาจากรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย

 

สรุป

หนึ่ง ในระบอบประชาธิปไตย ความรับผิดชอบกับการใช้อำนาจเป็นของคู่กัน เมื่อมีอำนาจก็ต้องมีความรับผิดชอบตามมา ความรับผิดชอบมันสะท้อนผ่านเมื่อคุณกระทำการก็มีคนวิจารณ์เห็นชอบ เห็นต่าง บ้างอาจฟ้องร้องดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย ปลดจากตำแหน่ง ความรับผิดชอบแบบนี้เราต้องการให้เกิดกับพระมหากษัตริย์ไหม ถ้าคำตอบคือไม่ ก็ต้องตัดวามรับผิดชอบออกจากพระมหากษัตริย์ และจะตัดได้ก็ต้องทำให้ไม่มีอำนาจ เมื่อไม่มีอำนาจก็รอดพ้นจากการติฉินนินทา ฟ้องร้อง ลงโทษ ปลดออกจากตำแหน่ง

สอง  มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกนี้ ที่มีกษัตริย์ แล้วกษัตริย์มีอำนาจมาก มีบทบาทมากแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนที่กษัตริย์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ในที่สาธารณะ มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนที่กษัตริย์มีทรัพย์สินมหาศาล มีธุรกิจ คำตอบคือไม่มี และการไม่มีสภาวะแบบนี้ทำให้ประชาธิปไตยเก็บกษัตริย์เอาไว้อยู่ต่อไปได้ การรักษาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่กับประชาธิปไตย วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ทำให้กษัตริย์มีอำนาจให้น้อย

เรื่องที่บรรยายทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเชยมาก ไปค้นตำราเก่าทั้งนั้น เพราะเรื่องพวกนี้เขาลงตัวกันไปหมดแล้ว ประเทศไหนต้องมานั่งพูดเรื่องบทบาทสถาบันกษัตริย์ ต้องมานั่งกังวลเรื่องรัชทายาท แสดงว่าประเทศนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย  แต่ทุกวันที่ที่เราต้องมาพูดเรื่องเชยๆ แบบนี้เพราะเราจำเป็นต้องอธิบายหลักการที่ถูกต้อง หลักการเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ หลัง 2475 พูดกันมาตลอด แต่ถูกทำให้ลืมไปในยุคสมัยนี้ การอดทนพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องเหล่านี้เป็นวิธีหนึ่งในการต่อสู้ทางความคิด

ขอจบการอภิปรายด้วยคำอภิปรายของนายนิวัติ ศรีสุวรนันท์  ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ดีเบตการร่างรัฐธรรมนูญปี 2492 ท่านพูดไว้ว่า “ถ้าประมุขของประเทศ โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์มีอำนาจมากขึ้นเท่าใด ความไม่สมบูรณ์แห่งประชาธิปไตยก็มีมากขึ้นเท่านั้น ถ้าหากว่าองค์พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศได้อำนาจไปแต่น้อย ความเป็นประชาธิปไตยก็สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

[คลิป] 'สมศักดิ์ เจียม' ดันปัญญาชนไทยคิดยาว-ทำใหญ่ "ปฏิรูปสถาบัน"

Posted: 18 Mar 2012 11:46 AM PDT

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อภิปรายในงาน “แขวนเสรีภาพ” เสนอการแก้ไขเฉพาะม. 112 อย่างเดียวไม่พอ เสนอตั้ง “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” เน้นรณรงค์ปฏิรูปสถาบันรอบด้าน ชี้ถ้าไม่ยกเลิกองค์ประกอบอย่างมาตรา 8 ไทยก็ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย

 18 มี.ค. 55 – ในงาน “แขวนเสรีภาพ” ซึ่งจัดโดยคณะนักเขียนแสงสำนึก ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว มีการจัดงานอภิปรายทางวิชาการในหัวข้อ Sovereign Community โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ และการรณรงค์เพื่อแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อหาสาระดังนี้

 

สมศักดิ์ เปิดการอภิปรายด้วยการกล่าวถึงการจัดงานเผาพระเมรุที่ท้องสนามหลวงเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ  ซึ่งมองว่าเป็นตัวดัชนีชิวัดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยได้ จากการดูว่าประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์หรืออภิปรายเรื่องดังกล่าวในที่สาธารณะได้หรือไม่ ถ้าหากว่าไม่ได้ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เพราะหากใช้มาตรฐานเดียวกันกับนักการเมือง เช่น หากญาติของนักการเมืองเสียชีวิต แล้วมีการใช้เงินหลายพันล้านบาท เพื่อที่จะใช้จ่ายเป็นค่าจัดงานศพ แล้ว เหล่านักวิชาการหรือภาคส่วนอื่นๆ ก็จะคงจะทนไม่ได้ออกมาคัดค้านอย่างเป็นแน่แท้ หากแต่เมื่อเป็นเรื่องของสถาบันกษัตริย์ กลับไม่มีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์

เช่นเดียวกับการนำเสนอข่าวพระราชสำนักในเวลาสองทุ่ม ไม่มีการนำเสนอข่าวสารที่ใด ที่เป็นการนำเสนอด้านเดียวเช่นนี้ และยังไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อีก จึงแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ในขณะนี้ประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย

เมื่อโยงเข้ามากับเรื่องการรณรงค์ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อแก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) ที่เสนอให้แก้กฎหมายเพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ได้ แต่ยังยกข้อยกเว้นไว้ถึงการด่าทอเสียหาย มองว่า ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าแปลก และตั้งคำถามว่า ทำไมเมื่อเราคิดถึงเรื่องสถาบัน จึงต้องคิดถึงบรรทัดฐานอีกแบบหนึ่ง แต่หากคิดถึงเรื่องนักการเมือง เราถึงด่าได้

ประเมินการรณรงค์ของครก. 112 ว่า หลังจากที่รวบรวมชื่อได้แล้ว 10,000 ชื่อและยื่นต่อสภาสำเร็จ กระแสเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ น่าจะลดลง โดยถ้าหากประธานสภาไม่ตีความเรื่องนี้ให้เข้าหมวดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งจะทำให้การอภิปรายตกลงไป หรือไม่ก็อาจจะดองเรื่องนี้ไว้เป็นปีๆ จนลืม ประกอบกับเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง ก็อาจจะทำให้การกระแสเรื่องการแก้กฎหมายหมิ่นและเรื่องเกี่ยวกับสถาบันโดยรวมซาลงไปในที่สุด ทั้งนี้ สถานการณ์ในไทย ต่างจากประสบการณ์ในต่างประเทศ ที่ในการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย รัฐสภามักจะเป็นฝ่ายที่ต่อสู้กับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ในประเทศไทยกลับไม่มีใครในสภาไม่ว่าจากฝ่ายใดที่จะกล้าแตะต้องเรื่องนี้ ไม่มีแม้แต่การริเริ่มที่จะช่วยนักโทษที่ยังต้องติดคุกอยู่จากคดีการเมือง

จึงมีข้อเสนอคือ ให้มุ่งเปลี่ยนการรณรงค์เพียงการแก้ไขม. 112 เป็นการมุ่งรณรงค์เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในระยะยาว โดยอาจเปลี่ยนองค์กรอย่าง “ครก. 112” เป็น “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ที่มุ่งเน้นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างรอบด้าน เนื่องจาก มาตรา 112 เป็นเรื่องที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถานะของสถาบันกษัตริย์เท่านั้น จะเห็นจากเมื่อเปิดการโต้เถียงเกี่ยวกับมาตรา 112 คนที่ไม่เห็นด้วย ก็จะอ้างว่าสถาบันมีคุณงามความดี ทำประโยชน์กับประเทศ ฯลฯ ซึ่งเป็นการโต้เถียงกันคนละเรื่อง สรุปว่า มาตรา 112 เป็นเพียงตัวแสดงออกท้ายๆ ของสถานะของสถาบันกษัตริย์เท่านั้น จึงตั้งคำถามประเด็นนี้ต่อนักวิชาการหรือคนอื่นๆ ที่อยู่ในครก. 112 ไปด้วยพร้อมกัน

คำถามในตอนนี้ก็คือว่า ทำไมเราไม่ยกระดับการรณรงค์เรื่องนี้ไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างเต็มตัว เพราะถ้าหากว่ากลุ่มที่รณรงค์ต้องการจะเปิดพื้นที่การดีเบตจริงๆ หรือให้มีการยกเลิกม. 112 ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญหน้ากับเรื่องนี้ และการที่จะสามารถท้าทายให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอภิปรายเรื่องนี้ และพิสูจน์เช่นนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมาแตะเรื่องที่ใหญ่กว่า คือตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ เราจำเป็นจึงต้องมาคิดเรื่องนี้ในระยะยาว

“ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีการอ้างชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และอ้างว่าสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของชีวิตทางสังคมการเมืองทุกอย่าง อันนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าคุณจะเลือกตั้งชนะหรือว่าอะไร ตราบใดที่ชีวิตประจำวัน 24 ชั่วโมงของเราจะต้องอ้างอิงศูนย์กลางเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา อันนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยหรอก...

“ในประเทศแบบนี้ ไม่มีแม้แต่ประชาชน มันมีแต่ฝุ่นใต้ตีน ประชาชนจริงๆ คือคนที่มีสิทธิ คนที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ต่อเรื่องสาธารณะ”

ในบริบทสังคมไทย การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็คือการต่อสู้เพื่อยุติสถานะสถาบันกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าไม่แก้เรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์ ตัวกฎหมายมาตรา 112 ก็ไม่มีทางเปลี่ยน เพราะอย่างที่อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์เคยเสนอไว้ว่า หากกฎหมายเปลี่ยนแต่อุดมการณ์ในสังคมยังไม่เปลี่ยน ก็คงจะไม่เปลี่ยนอะไรเพราะศาลก็คงตัดสินแบบเดิม อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าก็เห็นด้วย แต่มันสลับเวลากัน เพราะถ้าหากต้องการแก้กฎหมาย ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนอุดมการณ์ก่อน เพราะเมื่อเราพูดถึงเรื่องอัลตร้า รอยัลลิสม์ ก็จะพบว่า มันมีองค์ประกอบของมันอยู่ เช่น ข่าวสองทุ่ม ก็แก้ไม่ได้ถ้ายังคงมีข่าวสองทุ่มอยู่

ถ้าเราจะรณรงค์เรื่องนี้ในระยะยาว ก็ต้องเข้าใจและชัดเจนว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ ว่าอุดมคติที่เราอยากเห็นคืออะไร มองว่าเรื่องม.112 เป็นเรื่องที่เราโฟกัสผิด ที่บอกว่ารณรงค์เรื่องนี้ เพราะสถาบันต้องปรับตัวกับประชาธิปไตย ก็พอฟังขึ้นได้ แต่ในระยะยาวยังไม่พอ โดยส่วนตัวมีข้อเรียกร้องต่อปัญญาชน เพราะสภาหรือนักการเมืองก็คงไม่ทำ ว่าไม่มีปัญหาอะไรที่สำคัญมากกว่านี้อีกแล้ว ในแง่ว่าสังคมไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็น ส่วนเรื่องข้อเสนอของนิติราษฎร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเรื่องแก้รัฐประหารและปฏิรูปศาล มองว่าเป็นการจัดการที่ “ผล” มากกว่า เพราะคนที่ทำรัฐประหารเอง เขาทำเพื่อรักษาสถานะสถาบันกษัตริย์จากการท้าทายของอำนาจแบบสมัยใหม่ แต่เราจำเป็นต้องแก้ที่ตัวสาเหตุ เพราะคณะรัฐประการหากเขาจะทำอีกจริงๆ เดี๋ยวก็ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งและร่างมาตราใหม่ขึ้นมาได้

ประเด็นที่สำคัญคือ เราต้องยุติของสถานะของสถาบันกษัตริย์ ที่มักถูกเอาไปอ้างกัน เพราะในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าในประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ หรือเบลเยี่ยม ก็ไม่อ้างกันแล้ว แต่ที่ไทยยังอ้างอยู่ ก็เป็นเพราะอุดมการณ์ทางกษัตริย์นิยม และองค์ประกอบอื่นๆ ที่ประกอบกันขึ้นมา จะเห็นจากเหตุผล 8 ข้อที่ตัวเองเคยเสนอ ก็ยังคงยืนยันเพราะด้วยสาเหตุแบบนี้

ต่อให้รณรงค์ให้ตาย ตราบใดที่ยังมีข่าวสองทุ่ม มีโครงการหลวงอยู่ มันก็แก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น บ้านเราฟังดูมันโชคร้าย เรามาถึงจุดที่ว่า ถ้าคุณต้องการแก้ 112 คุณต้องแก้ทั้งชุด และคุณต้องเสนอทั้งชุด เป็นไปไม่ได้ที่จะเสนอว่าเราต้องแก้ 112 ก่อนแล้วเราค่อยมาวิจารณ์มันไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้ว คนที่ไม่รับเขาก็คือไม่รับทั้งนั้น สำหรับคนที่รณรงค์ในเรื่องนี้อยู่ มันอาจจะดูน่าหดหู่ แต่มันก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว

สิ่งที่ผมเรียกร้องต่อนักวิชาการทั้งหลายแหล่ คือ ยกนี้ มันจะซาลงไปในเวลาไม่นาน แต่สิ่งที่เราต้องคิดคำนึงถึงระยะยาว ก็คืออันนี้ ปัญญาชนกับการเปลี่ยนประเทศไทย จากประเทศที่ต้อง...กับทุกอย่างที่เราเห็น เช่น อย่างยาเสพติดเพื่อพ่อ ขับรถดีก็เพื่อพ่อ รัฐประหารเพื่อพ่อ ราชประสงค์เพื่อพ่อ คือ การที่ทุกอย่างต้องอ้างอย่างนี้หมด [ต้องเปลี่ยน] ให้เป็นประเทศที่ ต่อไปนี้ สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ศูนย์กลางของชีวิตคนไทยอีกต่อไป  สำหรับปัญญาชน นักวิชาการ คนที่เป็นประชาธิปไตย อันนี้เป็นพันธะหรือภารกิจที่มันศักดิ์สิทธิ์”

ตราบใดที่เราปฏิบัติกับสถาบันกษัตริย์แบบเดียวกับที่เราปฏิบัติกับนักการเมืองไม่ได้ การวิจารณ์มันก็ไม่มีความหมาย เพราะก็จะทำให้ชีวิตทางการเมืองของสังคมมันไม่มีความหมาย เพราะถ้าหากการวิจารณ์ไม่ได้ใช้หลักการและบรรทัดฐานเดียวกัน ก็เหมือนกับเป็นการด่ากันในเรื่องส่วนตัว ดังนั้น สรุปได้ง่ายๆ ว่า ในบริบทของประเทศไทย ถ้าคุณไม่ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ใช้บรรทัดฐานเดียวกับที่ใช้กับคนทั่วไปได้ มิเช่นนั้น คุณก็ไม่มีประชาธิปไตย

เมื่อมีการเสนอให้ทำอะไรกับมาตรา 112 มีสามประเด็นที่ต่อเนื่องกันที่เราต้องพิจารณาจากเชิงนามธรรมทั่วไป มาจนถึงลักษณะเฉพาะ เริ่มจากข้อแรกที่ว่า โดยอุดมคติ ประเทศประชาธิปไตยควรมีกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขหรือไม่ ข้อสอง แล้วประเทศไทยควรมีหรือไม่ และข้อที่สาม ในปัจจุบันเราควรเสนออะไรเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทประมุข

ตอนแรกตนเข้าใจสิ่งที่นิติราษฎร์เสนอให้คงกฎหมายเรื่องหมิ่นประมาทประมุขไว้ เพราะเข้าใจว่าสังคมไทยอาจจะยังไม่พร้อม แต่จริงๆ แล้ว การที่นิติราษฎร์เสนอเช่นนี้ เพราะเข้าใจข้อหนึ่งและสองคนละแบบ คือ เสนอว่า ต่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้ว กฎหมายคุ้มครองประมุขจากการหมิ่นประมาท ก็ยังคงต้องมีอยู่เพื่อคุ้มครองประมุขซึ่งมีสถานะพิเศษ ทั้งนี้ ตนเห็นว่า จริงๆ แล้ว ในหลักการประชาธิปไตย กฎหมายนี้ไม่ควรมีอยู่ คือให้คุ้มครองด้านอื่นได้ แต่ไม่ควรห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ และต้องถามว่ามีความจำเป็นหรือ เพราะกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาก็มีอยู่แล้ว

อย่างในยุโรป ที่ยังมีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาทประมุขอยู่ ก็เพราะมรดกทางการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน อย่างในอังกฤษ ก็ไม่มีกฎหมายหมิ่นฯ แล้ว แต่มีกฎหมาย seditious libel คือ การห้ามหมิ่นองค์รัฏฐาธิปัตย์ แทน ซึ่งรวมไปถึงการห้ามหมิ่นพระราชินี สมเด็จพระสังฆราช รัฐมนตรี ฯลฯ ด้วย แต่กฎหมายนี้ก็ถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อปี 2009 และก่อนหน้านี้ก็ไม่มีการนำกฎหมายนี้มาใช้แล้วเป็นสิบปี และอย่างในสหรัฐเอง ก็ไม่มีกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขแล้ว

ไทยเอง ก็น่าจะเอาแบบอย่างของประเทศที่ไม่มีกฎหมายนั้นใช้แล้ว โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยน่าจะศึกษาและมีความคล้ายคลึงกับไทยมากที่สุด โดยในบรรดารัฐธรรมนูญที่กษัตริย์เป็นประมุขทั้งหมด ญี่ปุ่นระบุไว้ชัดที่สุดว่ากษัตริย์ต้องมาจากการเสนอและเห็นชอบโดยรัฐมนตรีเท่านั้น และไม่สามารถกระทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ การมีจักรพรรดิของญี่ปุ่นถูกยกเลิกไปโดยสหรัฐอเมริกา หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งได้ยกเลิกการใช้กฎหมายหมิ่นไปด้วยเช่นเดียวกัน คงไว้ซึ่งเพียงกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

ถ้าเราจะต้องสู้ทางอุดมการณ์เพื่อเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปเรื่องสถาบันกษัตริย์ มองว่าต้องทำแบบญี่ปุ่น คือต้องเสนอให้ยกเลิกทั้งหมด ทั้งมาตราแปดและมาตรา 112 เรื่องที่เสนอง่ายๆ ก็คือว่าอะไรที่ดีพอสำหรับคนธรรมดา ก็ต้องดีพอสำหรับเจ้าด้วย และพูดในแง่ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ปัญญาชนต้องหาทางที่จะยืนยันเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้มันไม่ง่าย ต้องสู้กันต่อไปในระยะยาว

“ผมรู้แต่ว่า ถ้าทำไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย กี่ชาติๆ ผมตายไปเกิดใหม่ พวกคุณตายไปเกิดใหม่ ก็ยังเป็นอย่างนี้ ลูกหลานเหลนโหลนของคุณก็จะกลายเป็นฝุ่นละอองใต้ตีนไปอย่างนี้ คือมันไม่มีทางอื่น”

ถ้าเช่นนั้น ในปัจจุบันเราจะเสนอได้แค่ไหน นักวิชาการต้องถามตัวเองว่าอะไรคืออุดมคติของไทยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และถ้าสามารถเสนอได้ ก็เสนอไป ตั้งธงเอาไว้ อย่าง 8 ข้อของตน และจริงๆ แล้ว เราสามารถเสนอให้เลิกเด็ดขาดได้ การที่อ้างว่าคนไทยส่วนใหญ่อ้างว่ายังรักสถาบัน เราจำเป็นต้องเคารพสิทธิของเขา จึงไม่สามารถยกเลิกกฎหมายได้อย่างเด็ดขาด ตรงนี้ เราเข้าใจเรื่องสิทธิต่างกัน เนื่องจากการที่คนเชียร์เจ้า เขาไม่ได้กำลังใช้สิทธิของตนเอง ตนเองมองเรื่องสิทธิ ตามสิ่งที่นักคิดฝรั่งเคยให้นิยามว่า “สิทธิคือการมีอำนาจที่จะทำอย่างอื่นได้” (Rights is the power to do otherwise) แต่สิ่งนี้ไม่มีในประเทศไทย แม้แต่คนอย่างหมอตุลย์ (สิทธิสมวงศ์) เราก็ไม่สามารถท้าทายได้ เพราะหมอตุลย์เองก็ไม่สามารถวิจารณ์เจ้าได้เช่นเดียวกัน เพราะการที่คนรักเจ้า ไม่ได้รักจากการสั่งสอนอย่างมีเหตุผล แต่กลับถูกกล่อมเกลาอยู่ตลอดเวลา เพราะลึกๆ มันคือเป็นเรื่องการใช้อำนาจโปรแกรมบังคับคนขึ้น ไม่เกี่ยวกับว่าการเคารพวัฒนธรรมและเรื่องสิทธิ

“เราพูดกันว่าเรื่องนี้เป็นความเชื่อโดยสมัครใจ เหมือนกับคุณเชื่อเรื่องการแต่งตัวหรือดารา ก็เป็นความเชื่อเรื่องวัฒนธรรม แต่เรื่องการจงรักภักดีต่อเจ้านี้ไม่ใช่ ลึกๆ แล้วมันเป็นเรื่องการใช้อำนาจบังคับโปรแกรมคนขึ้นมา”

ถ้าเสนอได้แล้วไม่ติดคุก ต้องเสนอ และต้องทำงานความคิดต่อสู้กันไป ก็ต้องมาดูกันว่าเราต้องการอะไร ว่าเราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศที่มันขึ้นต่อสถาบัน ให้เป็นประเทศที่ปกติธรรมดาของศตวรรษที่ 21 ที่มองคนทุกคนเท่ากันหมด ดังนั้น ถ้าไม่เสนอให้ยกเลิกองค์ประกอบเหล่านี้ ประเทศไทยก็ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย

ต่อคำถามเรื่องแผนสำรองในการรณรงค์เพื่อแก้ไขม. 112 หรือมาตรา 8 ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ว่าถ้าหากทำไม่สำเร็จ อาจจะให้มีการร่างกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อกลั่นกรองการใช้กฎหมายและเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาคดีเพื่อลดการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ สมศักดิ์มองว่า เรื่องสถาบันกษัตริย์ หากพูดตรงๆ แล้วก็ต้องตอบว่าคงจะไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นภายในระยะเวลาเร็วๆ นี้แน่ แต่สำหรับคนที่หวังอนาคตประชาธิปไตย ต้องมีความอึด ให้มันรู้ไปว่าจะเป็นประเทศของฝุ่นใต้ตีนไปกาลปาวสาน หรือซักวันหนึ่ง ทุกอันจะเห็นภาวะนี้แล้วก็ทนไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลง

ข้อเสนอก็คือ ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ จะต้องเป็นบรรทัดฐานที่วางไว้ว่าต้องสู้แล้วสำเร็จ ต้องเสนอยันว่ายังไงก็ต้องเลิก เพราะมันใช้เวลาแน่นอน อย่างคราวนี้ เป็นครั่งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่สามารถอภิปรายเรื่องนี้ได้จริงจังเมื่อเทียบกับเมือเทียบกับช่วงทศวรรษ 2510- 2520 ซึ่งบีบให้คนที่พูดเรื่องสถาบันต้องหนีออกไปอยู่ป่าหรือถูกจับ แต่มองว่า เหตุการณ์ที่วรเจตน์ถูกทำร้ายเพราะมีคนเสนอเรื่องนี้ในสังคมน้อยเกินไป หากมีคนอภิปรายเรื่องนี้มากขึ้นและสม่ำเสมอ คนอย่าง วรเจตน์ ปิยบุตร (แสงกนกกุล) หรือตนเอง ก็จะเป็นเป้าน้อยลง จึงควรจะผลักดันข้อเสนอให้สุด และถ้าหากจะมาเสนอเรื่องแก้ไขกฎหมาย เอาเวลาไปเสนอ พรบ. นิรโทษกรรมไปช่วยคนอย่างสมยศ (พฤกษาเกษมสุข) สุรชัย (ด่านวัฒนานุสรณ์) ดา ตอปิโด หรือนักโทษคดีการเมืองคนอื่นๆ น่าจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็มีความเป็นไปได้มากกว่า หากเราพูดเรื่องปฏิรูปเรื่องสถาบัน จึงจำเป็นต้องพูดเรื่องระยะยาวเข้าไว้

ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดชนชั้นกลางของไทยจึงยังต้องการรัฐที่มีสถานะของอำนาจสถาบันกษัตริย์แบบนี้ ไม่คัดง้างกับสถาบัน รวมถึงทักษิณด้วย แต่ตอบตรงๆ ก็เพราะว่า เขาอยากจะรักษาโครงสร้างแบบนี้ให้อยู่ เพราะน่าจะได้ประโยชน์ในอนาคต ถึงแม้ทักษิณเองก็มีคุณูปการทางประวัติศาสตร์ที่เปิดประเด็นวิจารณ์เปรม เพราะที่ผ่านมาสิ่งที่เปรมทำมาตลอดไม่เคยมีใครหยิบยกมาพูด แต่หลังจากนั้น ก็กลับไปจับมือกัน ในทางปัญหาใหญ่ ทำไมในสังคมไทย นักการเมืองไทยจึงเป็นเช่นนี้ เพราะอย่างประเทศอื่นรัฐสภาก็เป็นฝ่ายที่คัดง้างกับสถาบัน

สุดท้ายนี้ ฝากอย่างซีเรียส สังคมไทยต้องการองค์กรถาวรที่ทำงานเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อย่าหวังแต่นิติราษฎร์ หรือตนเอง ทั้งหมดนี้ มันเกี่ยวพันกับการพูดทางการเมืองในอนาคต เราจำเป็นจะต้องแก้ประเด็นนี้ให้ตก อาจจะเปลี่ยนจาก “ครก.112” มาเป็นองค์กรถาวร เช่น เครือข่ายนักวิขาการเพื่อการปฏิรูปสถาบัน ให้มีการจัดสัมมนาทางวิชาการทุกเดือน หรือทุกปี และให้มีการอภิปรายเรื่องมาตรา 8 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถ้าเราไม่เริ่มลงมือทำ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันตนคิดว่ามันทำได้ และต่อจากนี้ไป ก็จะเน้นทำงานความคิด และรณรงค์เพื่อให้มีการปฏิรูปสถาบันอย่างรอบด้านและถาวร เพื่อไม่ให้ไทยติดหล่มอยู่เช่นนี้เป็นสิบปี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สั่งประหาร5จำเลย ถูกจับในโรงเรียนอิสลามบูรพา

Posted: 18 Mar 2012 11:35 AM PDT

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 16 มกราคม 2555 ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส นายทรงพล พันธุ์วิชาติกุล ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนราธิวาสออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีพนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายมะนาเซ ยา นายมูฮำหมัดโซหิมี ยา นายแวอัสมิง แวมะ นายมะพาริส บือราเฮง นายมะคอยรี สือแม (หลบหนี) นายรุสลี ดอเลาะห์ และ นายอารง บาเกาะ จำเลยที่ 1- 7 ฐานร่วมกันก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร มีวัตถุระเบิด มีกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต พกปืนในสถานที่สาธารณะ มีความผิดตามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135 (1) , 209, 210, 211, 212

คำพิพากษาสรุปว่า ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 – 4 และจำเลยที่ 7 ส่วนจำเลยที่ 6 คือนายรุสลี ดอเลาะห์ ลงโทษจำคุก 23 ปี

จำเลยทั้ง 7 คน ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ภายในโรงเรียนอิสลามบูรพา ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

นายกามารูดิง อูเซ็ง ทนายจำเลย เปิดเผยว่า ขณะนี้จำเลยทั้ง 6 คน เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวแล้ว

คดีดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่บุกค้นและจับกุมผู้ต้องหา 7 คน ภายในบริเวณโรงเรียนอิสลามบูรพา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 เจ้าหน้าที่ระบุว่า ผู้ต้องหา 5 คนยอมรับว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุไม่สงบ รวม 25 คดี เช่น วางระเบิดร้านข้าวต้มอั้งม้อกลางเมืองนราธิวาส ระเบิดเสาไฟฟ้าริมถนนนราธิวาส-ตากใบ ส่งผลให้พล.ต.ต.นภดล เผือกโสมณ อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) นราธิวาสได้รับบาดเจ็บขาขาด

เหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์ เพื่อปิดโรงเรียนอิสลามบูรพา แต่ล่าสุดโรงเรียนอิสลามบูรพาได้รับอนุญาตให้เปิดโรงเรียนตามปกติแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ลังกาสุกะ” : เมื่อ “ศาสนา” เดินทางโดยเรือล่องมาสู่คาบสมุทรมลายู

Posted: 18 Mar 2012 11:29 AM PDT

จากการที่ผู้เขียนมีโอกาสที่ดีซึ่งหาได้ยากที่ได้ไปเยือนพื้นที่ที่ผู้คนส่วนมากไม่อยากที่จะเข้าไปสัมผัส นั่นก็คือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนไปผู้เขียนได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าอยากจะได้เข้าไปสู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ซึ่งน่าจะมีข้อมูลดีๆ งานวิจัยที่กล่าวและศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะโดยทั่วไปแล้วหาได้ยากในเมืองหลวง แต่ด้วยภารกิจที่เร่งรีบจึงทำให้ไม่สามารถแวะไปเยี่ยมเยียนสถานศึกษาแห่งนั้นได้ แต่ก็ใช่ว่าจะโชคร้ายเสมอไปเมื่อผู้เขียนไปสู่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในตัวเมืองปัตตานี ก็ได้เห็นร้านหนังสือซึ่งเป็นแผงเล็กๆ ขายโดยหญิงสาวชาวมุสลิมผู้ซึ่งเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตรและทักทายอย่างเป็นกันเอง และผู้เขียนก็เหมือนถูกต้องมนต์เมื่อได้เห็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “ลังกาสุกะ” ประวัติศาสตร์ยุคต้นของชายแดนใต้

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย อาจารย์ครองชัย หัตถา แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ศึกษาถึงประวัติศาสตร์รากเง้าความเป็นมาของ “ลังกาสุกะ” อันเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งทำให้ผู้เขียนไม่รีรอที่จะจ่ายเพื่อให้ได้หนังสือเล่มนี้มา

ประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้เขียนมองผ่านงานวิจัยชิ้นนี้และสังเกตเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่และอยากนำเสนอในบทความชิ้นนี้เป็นสิ่งที่ตอบสนองคำถามของผู้เขียน คำถามเหล่านี้ซ่อนตัวอยู่ในสมองเป็นเวลานานและงานวิจัยชิ้นนี้ก็เติมเต็มสิ่งที่ขาดได้เป็นอย่างดีในระดับหนึ่งของผู้ที่ไม่มีความรู้และถนัดกับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในภาคใต้เลย มีประเด็นอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ นั่นก็คือ การเข้ามาของศาสนาอิสลาม และส่วนที่เป็นบ่อเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (อาจกล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น) หลังจากได้ศึกษางานวิจัยชิ้นนี้

ประเด็นแรก การเข้ามาของศาสนาอิสลาม หากเรามองถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่มักตัดทอนความคิดของตนเองอยู่ที่ศาสนาอิสลามว่าเป็นของที่คู่กับคนชายแดนใต้ ไม่บ่อยนักที่จะมีคนตั้งข้อสงสัยต่อการมาของศาสนาอิสลามว่า มาเมื่อไรและอย่างไร การมองแบบตัดทอนความคิดเช่นนี้อาจจะด้วยสาเหตุที่ว่า เราอาจจะมองปัญหาที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงแค่สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นต่อหน้าเท่านั้น มิได้สนใจถึงรากเหง้า หรือไม่ก็อาจจะมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลามากกว่าที่จะหาข้อความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในที่สุดแล้วรู้ไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ สำหรับผู้เขียนแล้ว คำถามเหล่านี้เกิดอยู่ในหัวตลอดเวลา และรู้สึกว่าอย่างน้อยๆ งานวิจัยชิ้นดังกล่าว ก็ช่วยเปิดโลกของผู้เขียนให้กว่างขึ้นไม่มากก็น้อย

“ลังกาสุกะ” หรือ “LANGKASUKA” หรือมีชื่อเรียกกันต่างๆนาตามยุคสมัยและตามความเข้าใจของชนชาติต่างๆที่เข้ามาติดต่อ ลังกาสุกะในยุคต้น (ประมาณพุทธศตวรรษที่7) มีพื้นที่ครอบคลุม ปัตตานี เคดาห์ ยะรัง โดยมีความเชื่อเรื่อง ภูตผีปีศาจ (Animism) เป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิต ในยุคเรืองอำนาจมีการขยายอำนาจตัวเองจนถึงบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน มีเคดาห์ เป็นศูนย์กลางอำนาจ แต่มีความรุ่งเรืองทางฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อเรือสินค้าจากต่างชาติ ซึ่งเป็นบริเวณปัตตานี นั่นเอง

ในที่นี้หลายคนอาจเข้าใจว่า รัฐปัตตานี มีมาอยู่ก่อนแล้วอย่างช้านานแต่ในความเป็นจริงนั้นงานวิจัยชิ้นนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าในความเป็นจริงก่อนที่จะเกิดรัฐปัตตานีนั้นในพื้นที่เดียวกันมีอาณาจักรที่หากกล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ เกิดและมีมาก่อนรัฐปัตตานี ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึง “ลังกาสุกะ” นั่นเอง

การเข้ามาของพ่อค้าชาวต่างชาติ มีส่วนสำคัญมากต่อการเปลี่ยนความเชื่อของผู้คนในลังกาสุกะ เพราะหลังจากพุทธศตวรรษที่ 7 ได้มีชาวอินเดียมาค้าขายกับลังกาสุกะเป็นจำนวนมาก บนเรือจึงอัดแน่นไปด้วยสินค้าที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้นั่นก็คือ ศาสนา บรรจุมาเต็มลำ ในระยะแรกนั้น ลังกาสุกะรับเอาความเชื่อศาสนาพราหมณ์เข้ามา โดยเปลี่ยนความเชื่อจากเดิมที่เคยนับถือ ภูตผีปีศาจ มาเป็นการเคารพและนับถือในตัวของพระนารายณ์แทนที่ โดยการนำเข้าศาสนาหรือความเชื่อสิ่งใหม่นี้นำเข้าผ่านทางพื้นที่ของนครศรีธรรมราชและปัตตานี

หลังจากนั้นก็ใช่ว่าศาสนาอิสลามจะเข้ามาและได้รับความนิยมศรัทธาอย่างเช่นปัจจุบันแต่ประการใด แต่กลายเป็นว่า ศาสนาพุทธ ฝ่ายมหายาน กลับเข้ามาผสมผสานกับศาสนาพราหมณ์ที่มีมาก่อนและมีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรอินเดีย ศูนย์กลางของพุทธศาสนาก็แปลเปลี่ยนจากดินแดนเอเชียใต้มาสู่คาบสมุทรมลายูแทน ลังกาสุกะ จึงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมอินเดีย (Indianized State) มีความเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาและเป็นที่ยอมรับของผู้คนอย่างแพร่หลายและกว้างขวาง

จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า อารยธรรมทางศาสนาดั้งเดิมของคนบนคาบสมุทรมลายูแต่ดั้งแต่เดิมนั้นมิได้มีศาสนาอิสลามติดตัวมาตั้งแต่แรก เพราะรากฐานที่พบก็เฉกเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาค นั่นก็คือ การเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจและวิธีการเข้ามาของความเชื่อแบบใหม่หรือศาสนานั้นก็มาทางเรือสินค้า ผู้เขียนเห็นว่า การเข้ามาของความเชื่อใหม่นี้ก็มิได้ต่างอะไรกับการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกหรือวัฒนธรรมของประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น ดังเช่นปัจจุบัน เพียงแต่วิธีการเข้ามามันต่างกันเท่านั้น เพราะสมัยเก่าใช้และผ่านเข้ามาทางเรือ อารยธรรมอาศัยการค้าขายเป็นใบเบิกทาง (โดยในที่นี้อาจจะด้วยเหตุของการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้คนต่างถิ่น เพื่อให้ตัวเองค้าขายได้หรือด้วยอีกร้อยแปดเหตุผลก็สุดแล้วแต่)

แต่ปัจจุบันการเข้ามาทางเรือไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป แต่มันอาศัยการเข้ามาทางโลกแห่งโลกาภิวัตน์ หลายคนเป็นห่วงว่าการเข้ามาของอารยธรรมต่างชาติเหล่านี้มันจะทำลายวัฒนธรรมที่ดีงามของเรา (ที่ไม่ดีงามไม่ใช่ของเรา) แต่สำหรับผู้เขียนแล้วกลับมองว่ามันก็เป็นเรื่องปกติที่จะเปลี่ยน เพราะหากเรามองว่าความเชื่อเรื่องภูตผีเป็นรากเง้าของเรา แต่ปัจจุบันเรากลับพบว่า ความเชื่อเรื่องภูตผีกลับมีน้อยลงและหันไปพึ่งพาวิทยาศาสตร์มากขึ้น ไฉนเลยเราจึงไม่ร่วมกันปกป้องความเชื่อเรื่องภูตผีแบบเดิมซึ่งเป็นรากเง้าของเรา และไม่ได้หวาดกลัวที่จะเสียวัฒนธรรมความเชื่อแบบนี้ไปเล่า

หลังจากนั้นก็ด้วยพ่อค้าชาวอาหรับนี่เองที่นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ในคาบสมุทรมลายู เพราะฉะนั้นก็อธิบายในรูปแบบเดียวกันกับการเข้ามาของพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ ที่เข้ามาโดยการค้าผ่านทางเรือ ดังนั้นในที่นี้ ผู้เขียนคิดว่างานวิจัยชิ้นนี้ได้ซ่อนสิ่งที่สำคัญไว้เป็นอย่างมาก ได้อธิบายการเข้ามาของศาสนาต่างๆ ในคาบสมุทรมลายู น่าจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อความเข้าใจของผู้ที่ต้องการศึกษาเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในงานวิจัยชิ้นนี้บ่งถึงมูลเหตุแห่งความขัดแย้งของปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ งานวิจัยชิ้นนี้บ่งถึงการที่รัฐเน้นการสร้างรัฐชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เน้นความเป็นรัฐนิยม บังคับให้มีการแต่งกายแบบสากล การแต่งกายตามวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกห้าม ห้ามเรียนคัมภีร์อัลกุรอาน ห้ามเรียนภาษามลายูและภาษาอาหรับ เปลี่ยนแปลงชื่อหมู่บ้าน ชื่อบุคคล เป็นต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจจนนำไปสู่ปฏิกิริยาต่อต้าน จนเกิดขบวนการแนวร่วมมลายู (Pan Malayan Movement) ไม่ยอมรับรัฐไทยนับจากนั้นมา

ได้มีข้อเสนอที่ผู้นำมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เสนอต่อรัฐบาลจำนวน 7 ข้อ โดยให้ตัวแทนเข้ายื่นข้อเรียกร้องนั่นก็คือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา และฝ่ายรัฐก็เรียกตัวแทนเข้าเจรจา ปรากฏว่าความเห็นของคณะรัฐมนตรีขณะนั้น (พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) สรุปว่า ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ แต่ก็ได้มีข้อเสนอจากรัฐสมัยนั้นที่ผ่อนปรนโดยกำหนดกรอบตามแนวทางของรัฐบาล

ขณะเดียวกันช่วงเวลานั้นเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ทำให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวเงียบไป ทำให้เกิดการรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อถามหาความคืบหน้า จนนำไปสู่การปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมเกิดขึ้น และได้นำตัว หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา ไปสอบสวนจนนำไปสู่การหายตัวไปอย่างไร้ล่องลอย และเกิดความขัดแย้งกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยหรือมูลเหตุของปัญหาที่ผู้วิจัยเน้นย้ำนั่นก็คือ “รัฐชาติ” หากเรากล่าวถึงแนวคิดนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีสิ่งที่ดีงามในตัว หากแต่ประเทศที่กำลังสร้างตัวเองก็มักจะสร้างรัฐด้วยวิธีการเหล่านี้ทั้งนั้น การรวมชาติจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสถาปนาชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งเป็นหลักในการสร้างชาติ และปัญหาที่พบก็คือว่า รัฐไทยเลือกชาติพันธุ์หนึ่งทีมีพื้นฐานทางสังคมที่ไม่สามารถทับซ้อนกันได้เลยแม้แต้น้อยกับคนทางคาบสมุทรมลายู มีความต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา เป็นอย่างมาก ดังนั้นในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการบอกกลายๆว่า วิธีที่รัฐไทยใช้นั้นเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง

หากจะขยายความต่อไป ผู้เขียนจำได้ว่า สมัยเด็กๆนั้นครูทุกคนมักจะพูดเสมอว่า ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ หรือแม้แต่บางท่านเรียกร้องให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ นี่ก็เป็นการตอกย้ำถึงการมองข้ามความหลากหลายของสังคม และเหมือนเป็นการตอกย้ำความรู้สึกของผู้คนในคาบสมุทรมลายูอีกครั้ง ดังนั้นสิ่งที่ผู้คนในสังคมควรระลึกอยู่เสมอก็คือ ยอมรับความหลากหลายของสังคม ความเป็นหนึ่งเดียวกันบางครั้งก็ไม่สามารถนำมาอธิบายได้จริงภายใต้สถานการณ์จริง อย่างที่นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” ก็เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างชาติตามแนวทางรัฐนิยมก็เท่านั้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ที่ว่า “ให้ศาลทำการไต่สวนการตาย” นั้น คืออย่างไร

Posted: 18 Mar 2012 11:25 AM PDT

ศาลอาญานัดไต่สวนคดีการตายเสื้อแดงจากการชุมนุมการเมือง เพิ่ม 3 ราย พาดหัวข่าวของมติชนออนไลน์ กรณีการเสียชีวิตจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง (ดูได้ที่ http://www.matichon.co.th) โดยในข่าวสรุปได้ว่า จะมีการไต่สวนการตายโดยศาลอาญากรุงเทพใต้จำนวน 3 คดี คือ การเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ในวันที่ 21 พฤษภาคม เวลา 09.00 น. การตายของนายประจวบ ประจวบสุข และนายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล ถูกยิงที่บริเวณถนนพระราม 4 ใต้ทางด่วนพระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลทั้งสองคน ศาลนัดไต่สวนวันที่ 28 พฤษภาคม เวลา 09.00 น. ทั้ง 3 ราย อัยการอาญากรุงเทพใต้ 1 ระบุว่า เชื่อว่าการตายของผู้ตายเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติอันเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงส่งสำนวนยื่นคำร้องต่อศาลให้ทำการไต่สวนการตายของผู้ตายตามกฎหมาย

การไต่สวนการตายโดยศาลดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม โดยกฎหมายกำหนดว่า ในกรณีที่มีการตายเกิดขึ้นจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งใน 2 กรณี คือ

ในกรณีโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กรณีเช่นนี้ ได้แก่ การวิสามัญฆาตกรรม คนร้ายที่ยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ตำรวจขณะทำการจับกุม หรือกรณีที่เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ทหารพรานยิงใส่ชาวบ้านที่ปัตตานี ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ โดยเจ้าหน้าที่ทหารพรานอ้างว่า มีคนร้ายหลบซ่อนอยู่ในรถกระบะที่ถูกยิง หรือกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงใส่รถแจ๊สสีขาว โดยเข้าใจว่าเป็นรถคนร้ายขนยาเสพติด เป็นต้น หรือ

การตายเกิดขึ้นในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กรณีดังกล่าวเช่น ผู้ต้องหาอยู่ในควบควบคุมของตำรวจเสียชีวิตในห้องขัง หรือผู้ต้องขังเสียชีวิตในเรือนจำ เป็นต้น

ทั้งสองกรณีต้องมีการไต่สวนการตายโดยศาล สำหรับกรณีของคนเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิตในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยนี้ เป็นการเสียชีวิตเพราะการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่

มาตรา 150 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานี้ บัญญัติขึ้นโดยมีความมุ่งหมายในการให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และญาติของผู้เสียชีวิตเพราะการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เพื่อต้องการให้มีการพิสูจน์จากคนกลาง คือศาล ในการนำหลักฐานมาเปิดเผยในศาลว่า การปฏิบัติราชการตามหน้าที่นั้น กระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายอนุญาต ด้วยความสุจริต ส่วนญาติผู้ตายก็ต้องหาหลักฐานมาโต้แย้งหรือแสดงให้เห็นว่า ยังไม่เชื่อมั่นหลักฐานของเจ้าหน้าที่ที่นำมาเสนอต่อศาล จึงต้องแต่งทนายความเข้ามาซักค้านและนำสืบพยานหลักฐานของตน ดังนั้นในการดำเนินการเพื่อให้ได้ความจริงดังกล่าว จึงมีบุคคลหลายฝ่ายเข้าร่วมด้วย กล่าวคือ

ขั้นตอนแรกเมื่อมีกรณีการตายตามความหมายดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 ฝ่าย ร่วมกันทำการชันสูตรพลิกศพ คือ 1.พนักงานอัยการ 2. พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัด อำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ 3. พนักงานสอบสวน และ 4. แพทย์ ** โดยเฉพาะแพทย์นั้นกฎหมายระบุให้ต้องเป็นแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา เพราะเหตุว่า สาเหตุการตายดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพิสูจน์ศพ ว่าผู้ตายนั้น เสียชีวิตจากอาวุธหรือวัตถุใด วิถีของอาวุธหรือลักษณะของอาวุธน่าจะเกิดจากอะไร ในทางนิติวิทยาศาสตร์นั้น แพทย์สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ หากมีข้อสงสัยสาเหตุการเสียชีวิต ก็ต้องทำการผ่าศพในภายหลัง แต่ในท้องถิ่นที่ห่างไกล ไม่มีแพทย์ทางนิติวิทยาศาสตร์หรือมีแต่ไม่สามารถปฏัติหน้าที่ได้ กฎหมายก็อุดช่องว่างไว้โดยให้สามารถใช้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐหรือแพทย์สาธารณสุขหรือแพทย์โรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ได้ ซึ่งทนายความของผู้ตายต้องซักค้านพยานของเจ้าหน้าที่ว่าได้สอบสวนแล้วมีการดำเนินการให้ลงชื่อในการชันสูตรพลิกศพร่วมกันในขณะที่ตรวจศพจริง ไม่ใช่มาลงชื่อในภายหลัง ที่สำคัญรายงานการตรวจศพของแพทย์ต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้เข้าใจได้ว่า สาเหตุการตายเกิดจากอะไร มิใช่บันทึกลอยๆว่า ตายเพราะขาดอากาศหายใจ แต่ควรระบุด้วยว่าทำไมจึงขาดอากาศหายใจ หรือเขียนเพียงว่า “ตายเพราะไม่หายใจ” แต่รายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรม เช่น “จากการชันสูตรพลิกศพพบบาดแผลถลอกและรอยฟกช้ำตามร่างกาย กับกระดูกซี่โครงที่หัก เกิดจากร่างกายของผู้ตายถูกกระแทกด้วยของแข็ง ทำให้กระดูกซี่โครงหัก แล้วกระดูกซี่โครงข้างขวาของผู้ตายที่หักได้ไปแทงเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีลมรั่วออกจากปอด อันเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย” (รายงานการชันสูตรพลิกศพอิหม่ามยะผา กาเซ็ง)

ขั้นตอนที่สอง เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้วให้พนักงานสอบ สวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้วส่งไปยังพนักงานอัยการ (ภายใน สามสิบวัน นับแต่วันที่ได้ทราบเรื่อง ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 60 วัน)

ขั้นตอนที่สาม เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึง เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้

ดังนั้นการไต่สวนการตายโดยศาลจึงเป็นไปตามนัยนี้ เพื่อให้ศาลตรวจสอบว่าความตายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่นั้น ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายอย่างไร หากตายโดยเจ้าหน้าที่ก็ให้บอกว่าใครเป็นคนทำ กฎหมายจึงอนุญาตให้ญาติผู้ตายสามารถแต่งทนายความเข้ามานำสืบพยานหลักฐาน พยานบุคคล และซักค้านพยานของพนักงานอัยการ ซึ่งคำสั่งศาลจากการไต่สวนในคดีนี้ ไม่ใช่การนำเจ้าหน้าที่ผู้กระทำตามหน้าที่มาลงโทษ หรือต้องรับผิดชอบทางคดี กรณีจะเป็นข้อหาในคดีอาญาก็ต่อเมื่อ ผลจากคำสั่งศาลแสดงว่าเจ้าหน้าที่กระทำให้ตาย โดยไม่ใช่การปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เมื่อนั้นพนักงานสอบสวนต้องจัดทำสำนวนเป็นคดีขึ้นใหม่ และดำเนินการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ผู้นั้น หรือกลุ่มนั้นในคดีอาญา นี่เองจึงเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกรงกลัว ว่าศาลจะมีคำสั่งไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง การไต่สวนการตายโดยศาลจึงเป็นกระบวนการหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

สำหรับการตายของคนเสื้อแดง และประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย นั้น ต้องมีการติดตามการไต่สวนให้ดี เพราะมีแนวโน้มในหลายกรณีที่เมื่อศาลมีคำสั่ง ว่าเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องจะติดต่อญาติผู้ตายและยินยอมเจรจาชดใช้ค่าเสียหายเป็นตัวเงิน เพื่อให้ไม่ต้องไปรับผิดชอบทางคดี ซึ่งการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นภัยคุกคามความสงบสุขในสังคมประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง

 

มาตรา 150 ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงาน สอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับ วุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทำการชันสูตรพลิกศพ โดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติ หน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ ประจำโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวง สาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ให้แพทย์ ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ให้พนักงาน สอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตร พลิกศพทันที และให้แพทย์ดังกล่าวทำรายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสอง ครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็น ในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ รายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนชันสูตรพลิกศพ และในกรณีที่ ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวน ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็วและให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป ตามมาตรา 156

ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนแจ้งแก่ผู้มีหน้าที่ไปทำการ ชันสูตรพลิกศพทราบ และก่อนการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบ สวนแจ้งให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่จะทำได้

ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้ พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัด อำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิก ศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นำ บทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับ

เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้วให้พนักงานสอบ สวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้วส่งไปยังพนักงานอัยการภายใน สามสิบวัน นับแต่วันที่ได้ทราบเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะ เวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึก เหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวน ชันสูตรพลิกศพ เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึง เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ สำนวน ถ้ามีความจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสอง ครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็น ในการขยายระยะเวลา ทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง วรรคสาม วรรคสี่ และ วรรคห้า ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ในการไต่สวนตามวรรคห้า ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่ จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาล และให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของ ผู้ตายตามลำดับอย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่จะทำได้ทราบก่อนวันนัด ไต่สวน ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและให้พนักงานอัยการนำพยานหลักฐาน ทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ

เมื่อศาลได้ปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนแล้ว และก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่น คำร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบ และ นำสืบพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย เพื่อการนี้ สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิ แต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนได้ หากไม่มีทนายความที่ได้รับ การแต่งตั้งจากบุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ให้ศาลตั้งทนายความขึ้น เพื่อทำหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย

เมื่อศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติม หรือเรียกพยานหลักฐานอื่น มาสืบก็ได้และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความ เห็นเพื่อประกอบการไต่สวนและทำคำสั่ง แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิของผู้นำสืบพยานหลักฐานตามวรรคแปดที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือ ผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว

คำสั่งของศาลตาม มาตรานี้ ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึง สิทธิฟ้องร้องและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงาน อัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้อง หรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น

เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยัง พนักงานอัยการเพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

แพทย์ตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานผู้ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ และผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นตาม มาตรานี้ มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ส่วนทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรนี้ มีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับทนายความที่ศาลตั้ง ตามมาตรา 173

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธีรยุทธ บุญมี รีเทิร์น : ความผิวเผินยังคงเดิม

Posted: 18 Mar 2012 11:11 AM PDT

ในที่สุดธีรยุทธ บุญมี ก็รีเทิร์น มาในมาดว่าที่ศาสตราจารย์ใหม่ แต่ยังสวม “เสื้อกั๊ก” ตัวเดิม ในการแถลงข่าวเรื่อง การวิเคราะห์การเมืองไทย แนวโน้มของวิกฤติปัจจุบัน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่18 มีนาคม 2555

ผมติดใจข้อสรุปของธีรยุทธ และขอวิจารณ์เฉพาะส่วนท้ายการแถลงข่าวที่เขาสรุปว่า (ดูมติชนออนไลน์)

“...ซึ่งเท่ากับประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของทักษิณเท่านั้น”

ข้อสรุปดังกล่าว มาจากข้ออ้างที่ว่า “ทักษิณไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ จะเห็นได้จากการปราศรัยกับชาวบ้าน ไม่ได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างยั่งยืน นอกจากอ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ทักษิณมุ่งหวังรากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่าจะให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย อุดมการณ์การเมืองที่มีความสามารถชี้ทางออกที่เหมาะสมให้สังคมไทยได้”

จะเห็นได้ว่า ข้อสรุปและข้ออ้างของธีรยุทธ สะท้อนถึงการวิเคราะห์ปัญหาการเมืองในระดับ “ปรากฏการณ์” และเป็นปรากฏการณ์ที่เลือกเน้นให้เห็นความผิดเฉพาะทักษิณเป็นด้านหลัก แต่ละเลยที่จะพูดถึงความผิดของฝ่ายอำมาตย์

ซึ่งเท่ากับธีรยุทธยังยืนยันแบบเดิมๆ ว่า ข้อกล่าวหาว่าทักษิณกระทำผิดต่างๆ นั้น คือ “เหตุผลอันสมควร” ในการทำรัฐประหาร 19 กันยา 49 และรัฐประหารนั้นก็มี “ความชอบธรรม”

แต่อย่างไรก็ตาม หากมองเผินๆ ดูเหมือนธีรยุทธจะพูดถึง “หลักการ” อยู่เหมือนกัน เช่นที่บอกว่า “ทักษิณไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ” หรือ “ไม่ได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างยั่งยืน” หรือ “...มากกว่าจะให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย อุดมการณ์การเมืองที่มีความสามารถชี้ทางออกที่เหมาะสมให้สังคมไทยได้”

ประโยคตัวอย่าง (เป็นต้น) นี้ ดูเหมือนธีรยุทธกำลังเรียกร้อง “การสร้างประชาธิปไตยรากหญ้า” เรียกร้อง “โครงสร้างที่ยั่งยืน” หรือเรียกร้อง “ให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย อุดมการณ์การเมืองที่มีความสามารถชี้ทางออกที่เหมาะสมให้สังคมไทยได้”

แต่การยืนยันหรือการเรียกร้องเชิงหลักการต่างๆ เหล่านี้ เป็นการยืนยันบนฐานของการกล่าวหาว่า ทักษิณไม่ได้ทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้เลย และไม่ได้คิดที่จะทำ สิ่งที่ทักษิณทำจริงๆ คือ “อ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ทักษิณมุ่งหวังรากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่า”

ฉะนั้น ธีรยุทธจึงสรุปว่า “...ซึ่งเท่ากับประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของทักษิณเท่านั้น”

ข้อสรุปของธีรยุทธจึงชวน “ขบขันอย่างยิ่ง” มันชวนขบขันเพราะว่า เขาอ้างอิง “หลักการ” เพียงเพื่อจะดิสเครดิตทักษิณเท่านั้น แต่เขาไม่ apply หลักการเดียวกันนี้กับ “อำนาจนอกระบบ” คือถ้าเขายืนยัน “ประชาธิปไตย” และเขาซื่อสัตย์/เคารพในสิ่งที่ตนเองยืนยันจริงๆ ทำไมเขาไม่อ้างอิงหลักการประชาธิปไตยในการวิจารณ์อำนาจนอกระบบหรืออำมาตย์ใน “มาตรฐานเดียวกัน” กับที่วิจารณ์ทักษิณ

เช่น ทำไมเขาไม่กล้าพูดว่า อำมาตย์ทำรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำลายระบอบประชาธิปไตย และการกระทำเช่นนั้นมันสะท้อนว่า อำมาตย์ก็ “ไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจ” เช่นกันกับทักษิณ

การที่ธีรยุทธไม่ apply หลักการที่ใช้วิจารณ์นักการเมืองกับอำนาจนอกระบบใน “มาตรฐานเดียวกัน” ทำให้ข้อเรียกร้องของเขาข้างล่างนี้ยิ่งน่าขบขันยิ่งขึ้นไปอีก คือเขาเรียกร้องว่า

“ผู้ที่ควรร่วมคิด ผลักดันประเด็นข้างต้นควรเป็นนักวิชาการเสื้อเหลือง แดง และนักวิชาการทั่วไปที่ไม่ยึดแนวสุดขั้วจนปฏิเสธอีกฝ่ายหนึ่ง ภาคธุรกิจ กลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งอยู่ตรงกลางมากที่สุด แต่ก็มีผลได้ผลเสียจากความขัดแย้งปัจจุบันมากที่สุด ควรมีบทบาทชดเชยสิ่งที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ ด้วยการลงทุนสร้างความยุติธรรม บรรยากาศ ค่านิยมประชาธิปไตยให้กว้างขวางที่สุด

ที่ผมขีดเส้นใต้ ผมเห็นว่าธีรยุทธควรเรียกร้องกับ “ตัวเอง” มากที่สุด ในฐานะนักวิชาการที่มี “ต้นทุนทางสังคมสูง” ธีรยุทธควรถามตนเองว่า “อะไรที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ?” หรืออะไรที่ทำไปแล้วผิดพลาดควรจะออกมา “ขอโทษ” สังคมหรือไม่? เช่น ธีรยุทธตระหนักหรือไม่ว่าบทบาทที่ผ่านมาของตนเองมีส่วนในการสนับสนุนรัฐประหาร และตุลาการภิวัตน์ที่สร้าง “ระบบสองมาตรฐาน” ในกระบวนการยุติธรรมอย่างน่าอเนจอนาถที่สุด!

ธีรยุทธมีความเห็นอย่างไรครับ กับการที่นักศึกษาประชาชนถูกฆ่าในเหตุการณ์ 6 ตุลา และประชาชนถูกฆ่าอีกในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 แต่ว่าชีวิตนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากขนาดนั้นไม่สามารถจะแลกได้แม้กระทั่งกับ “การแก้ไข ม.112 อันเป็นมรดกเผด็จการ”

ผมถึงติดใจว่า “การลงทุนสร้างความยุติธรรม บรรยากาศ ค่านิยมประชาธิปไตยให้กว้างขวางที่สุด” มันคืออะไร?

“ความยุติธรรม” มันหมายความว่าต้อง apply หลักการสากลคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคกับ “ทุกคน” อย่างเท่าเทียมไหม? “ค่านิยมประชาธิปไตย” หมายถึงการยึดถือคุณค่าของการ apply หลักการสากลดังกล่าวไหม?

แต่ในบทวิเคราะห์ของธีรยุทธก็ไม่ได้ยืนยันหลักการดังกล่าวแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังมองว่า “เกิดการเมืองแบบ 2 ขั้วอำนาจ เมืองไทยยุค 2 ก๊ก ก๊ก “คนเลว” โจโฉ จะชนะก๊ก “คนดี” เล่าปี่-ขงเบ้ง” ซึ่งเป็นการใช้ “คำย้อมสี” แบบเหมารวม เพราะอันที่จริงไม่มีทางจำแนกคนเป็น “กลุ่มคนดี” “คนเลว” ได้ขนาดนั้น และการต่อสู้ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เป็นความแพ้-ชนะของคนเพียงสองกลุ่ม แต่มันมีความหมายของแพ้-ชนะทางหลักการ อุดมการณ์ในระดับที่แน่นอนหนึ่งอยู่ด้วย

เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว การต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ดำเนินมาโดยตลอดและยังดำเนินต่อไป

เอาง่ายๆ แค่ว่าประเด็น “ทักษิณจะกลับบ้านได้หรือไม่?” ก็มีปัญหาเชิงหลักการที่ต้องถกเถียงกันอย่างซีเรียส เช่นเดียวกับประเด็นที่ “งอกเงย” ออกมาจากการต่อสู้ทางการเมืองกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เช่นข้อเสนอแก้ไข ม.112 การลบล้างผลพวงรัฐประหาร การนิรโทษกรรม สาเหตุทุกด้านหรือเบื้องหน้าเบื้องหลังของรัฐประหาร ฯลฯ ก็ยังมีปัญหาเชิงหลักการที่ต้องถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างจริงจัง

ไม่ใช่เรื่องที่จะฟันธงง่ายๆ ว่าสาเหตุทั้งหมดมาจาก “ทักษิณ” เพียงคนเดียวอย่างที่ธีรยุทธสรุป

ซึ่งเป็นข้อสรุปที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการวิเคราะห์การเมืองที่เน้นการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ ตัวบุคคล มากกว่าที่จะลงลึกถึง “หลักการ” หรือ “อุดมการณ์” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นประชาธิปไตยในทางหลักการ อุดมการณ์อย่างแท้จริง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุจิตต์ วงษ์เทศ: “อำนาจ” ของ ผี, พราหมณ์, พุทธ

Posted: 18 Mar 2012 06:26 AM PDT

วันนี้ (18 มี.ค.) สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ได้อ่านปาฐกถาหัวข้อ "อำนาจ" ของ ผี, พราหมณ์, พุทธ" ในช่วงแรกของ กิจกรรม "แขวนเสรีภาพ: การแสดงออกทางศิลปะและวิชาการเพื่อเสรีภาพครั้งที่ 1" ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ซึ่งจัดคณะนักเขียนแสงสำนึก สำหรับเนื้อหาการปาฐกถาโดยสุจิตต์ มีรายละเอียดการปาฐกถาดังต่อไปนี้

การปาฐกถาของสุจิตต์ วงษ์เทศ เมื่อ 18 มี.ค. 55 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัวในงาน "แขวนเสรีภาพ"

000

“อำนาจ” ของ ผี, พราหมณ์, พุทธ
สุจิตต์ วงษ์เทศ
ที่มาของปาฐกถา: เว็บไซต์
Sujitwongthes

1. ผี, พราหมณ์, พุทธ ล้วนมีอำนาจเหนือธรรมชาติ อันเป็นความเชื่อของมนุษย์ ที่ถูกมนุษย์ด้วยกันสร้างขึ้น ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์สืบทอดถึงปัจจุบัน

 

คนทุกวันนี้เชื่อว่าไทยเป็น “พุทธแท้” มาก่อน โดยไม่มีอย่างอื่นปะปนแปดเปื้อน

แต่แท้จริงมีพยานหลักฐานและร่องรอยจำนวนมาก ยืนยันสอดคล้องว่าพุทธในไทยไม่เคยเป็นพุทธบริสุทธิ์อยู่โดดๆ เพราะล้วนมีผีกับพราหมณ์ปะปนเป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่ยุคแรกประดิษฐานในสุวรรณภูมิ ราว 2,000 ปีมาแล้ว จนถึงทุกวันนี้ยิ่งปะปนกันมากมิได้ต่างจากอดีต

 

2. ผี หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นระบบความเชื่อดั้งเดิมของมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ทั่วโลกเมื่อหลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว ก่อนมีศาสนา เช่น พราหมณ์, พุทธ, ฯลฯ

ผีบรรพชน เป็นผีใหญ่สุดของตระกูลไทย-ลาว เพศหญิง สิงสถิตอยู่ฟ้ากับดิน มักเรียกอย่างคุ้นเคยสั้นๆว่า ผีฟ้า แต่หมายถึงฟ้าดิน

ผีฟ้า เป็นผีใหญ่สุดอยู่ฟ้าดิน หรือผู้เป็นใหญ่ของฟ้าดิน ตรงกับคำว่า เจ้าฟ้า

ควบคุมวิถีชีวิตคนทั้งหลาย เช่น รักษาโรคภัยไข้เจ็บ, ให้น้ำเป็นฝนตกลงมาหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหาร, พิชิตคนพาล อภิบาลคนดี, ฯลฯ

คนจึงเรียกแถนผู้เป็นผีใหญ่สุดของฟ้าดินว่า ผีฟ้าพญาแถน แล้วเรียกเมืองที่แถนบันดาลให้ไว้ว่าเมืองเจ้า แต่ออกเสียงเป็น เซ่า, ซวา, ชวา ปัจจุบันคือเมืองหลวงพระบางในลาว

คำว่า ผี กับ เจ้า มีความหมายเดียวกัน คือผู้เป็นใหญ่ ยังใช้ในภาษาพูด เช่น ไหว้ผีไหว้เจ้า, ไหว้เจ้าไหว้ผี

ผีฟ้า ใช้แทนคำว่า พระราชา, กษัตริย์ ก็ได้ เช่น เมื่อกล่าวถึงกษัตริย์กรุงศรียโสธร หรือนครธม ในศิลาจารึกวัดศรีชุม รัฐสุโขทัย จึงจารึกว่า “ผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ”

 

3. พราหมณ์, พุทธ คือระบบความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ อย่างเดียวกับผี แต่มีขึ้นหลังผี

เป็นศาสนาจากอินเดีย(ที่อาจรับจากที่อื่นอีกต่อหนึ่งมาก่อนแล้ว) แผ่ถึงสุวรรณภูมิและไทย ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราวหลัง พ.ศ. 500

เมื่อแผ่มาถึงก็ริบอำนาจของศาสนาผีด้วยความรุนแรง ให้คนพื้นเมืองหันมายอมรับนับถือพราหมณ์, พุทธ แทนผี

แต่คนพื้นเมืองจำนวนมากยอมบางอย่าง ไม่ยอมบางอย่าง ทางฝ่ายพราหมณ์, พุทธ จึงประนีประนอมจำยอมยกย่องผีในบางเรื่อง เช่น

ยอมรับโล้ชิงช้าของผีมาอยู่ในพิธีพราหมณ์ตรียัมปวาย

ยอมรับทำขวัญของผีมาอยู่ในพิธีบวชพระของพุทธ

เทวดา เป็นสิ่งที่คนฝ่ายพราหมณ์กับพุทธสมมุติขึ้นว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติ ตรงกับคำว่า ผี นั่นเอง

มีตัวอย่างอยู่ในโองการแช่งน้ำ เรียกพรหม เทวดาพราหมณ์ฮินดู ผู้สร้างและตรวจสอบโลกว่า ขุนแผน คือ แถน ซึ่งเป็นผีฟ้าดินพื้นเมืองตระกูลไทย-ลาว

แต่เมื่อคนพื้นเมืองสุวรรณภูมิรับคำว่าเทวดามาแล้ว ก็ยกย่องเทวดาของพราหมณ์, พุทธ อยู่เหนือกว่าผีพื้นเมืองที่ถูกครอบงำให้เหยียดว่าเลว

 

4. ผี, พราหมณ์, พุทธ อยู่ปะปนกัน มีหลักฐานเก่าสุดในโองการแช่งน้ำ วรรณคดีเก่าแก่ยุคก่อนอยุธยา สืบจนปัจจุบัน

เนื้อเรื่องโองการแช่งน้ำเริ่มด้วยร่ายสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามในศาสนาพราหมณ์ คือ วิษณุ(พระนารายณ์), ศิวะ (พระอีศวร), พรหม (พระพรหม) โดยไม่ระบุว่าเทวดาองค์ไหนอวตารลงมาเป็นกษัตริย์ครองอโยธยาศรีรามเทพ (ยุคก่อนอยุธยา) ตามลัทธิเทวราชของพราหมณ์

แต่กษัตริย์ในโองการแช่งน้ำเป็น “สมมติราช” หมายถึงเลือกคนธรรมดาเป็นราชาที่มี “ธรรมิกราช” คือปกครองโดยธรรมตามปรัชญาพุทธเถรวาท

เท่ากับเป็นพยานว่ากษัตริย์บ้านเมืองลุ่มน้ำเจ้าพระยาโบราณไม่ “อวตาร” เป็นเทวราชอย่างกัมพูชา แต่เป็นสมมติราช กับ ธรรมิกราช ที่เน้นเลือกคนใดคนหนึ่งเป็นราชาหรือกษัตริย์ ซึ่งมีอยู่ในพระไตรปิฎก เรียกอัคคัญสูตร ดังสืบถึงปัจจุบันมีสร้อยพระนามว่า “เอนกนิกรสโมสรสมมติ”

โองการแช่งน้ำท้ายสุดต้องเชิญผีมาเป็นพยานในพิธีถือสัตย์สาบาน เช่น “ผีดง ผีหมื่นถ้ำล้ำหมื่นผา มาหนน้ำหนบก—ล้วนผีห่าผีเหว เร็วยิ่งลมบ้า หน้าเท่าแผง—”

สามัญชนปัจจุบันมีพิธีไหว้ครูที่เลียนแบบราชสำนักโบราณ ล้วนเต็มไปด้วย ผี, พราหมณ์, พุทธ มีพยานอยู่ในเพลงดนตรีปี่พาทย์ประโคมเพลงหน้าพาทย์

เริ่มต้นเป็นพุทธ ด้วยการประโคมนมัสการพระรัตนตรัยด้วยเพลงสาธุการ แล้วตามด้วยเป็นพราหมณ์ โดยเพลงสัญลักษณ์เทวดา เช่น ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์, ตระพระพิราพ, ฯลฯ กับเป็นผีในพิธีเข้าทรง

นอกจากนั้น ผี, พราหมณ์, พุทธ ยังมีอยู่ใน คำไหว้ครูเสภา ดังนี้

สืบนิ้วจะประนมเหนือเกศา

ไหว้พระพุทธพระธรรมล้ำโลกา พระสงฆ์ทรงศีลาว่าโดยจง
คงคายมนามาเป็นเกณฑ์ พระสุเมรุหลักโลกสูงระหง
ดินน้ำลมไฟอันมั่นคง จึงดำรงได้รอดมาเป็นกาย
ไหว้คุณบิดาแลมารดร ครูพักอักษรสิ้นทั้งหลาย
อนึ่งจะบังคมองค์นารายณ์ อันสถิตแทบสายสมุทไทย
เอาพระยานาคราชเป็นอาสน์แก้ว หามีเหตุไม่แล้วหาตื่นไม่
ทรงสังข์จักรคทาเกรียงไกร ไวยกูณฐ์มาเป็นพระรามา
อนึ่งจะบังคมบรมพงศ์ ทรงหงศ์เหินระเห็จพระเวหา
ไหว้องค์พระอิศวรเจ้าโลกา พระนารายน์รามาธิบดี
ไหว้พระฤๅษีสิทธิ์แลคนธรรพ์ พระวิศณุกรรม์เรืองศรี
สาปสรรเครื่องเล่นในธรณี จึงได้มีปรากฏแต่ก่อนมา ฯ

 

5. “อำนาจ” ของ ผี, พราหมณ์, พุทธ ถูกสร้างให้มีขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ตั้งแต่ยุคดั้งเดิม

แต่จะมีอย่างไร? มากหรือน้อยขนาดไหน? ย่อมต่างกันตามกาละเทศะคือเวลาและสถานที่ โดยเห็นได้จากประเพณีพิธีกรรม และศิลปกรรมทั้งหลาย

ประเพณีพิธีกรรม สำคัญที่สุดของมนุษย์ที่แสดงอำนาจของผี, พราหมณ์, พุทธ คือประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย

ทำให้พระเจ้าสุริยวรมันแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา สร้างปราสาทนครวัดให้เป็นสัญลกัษณ์หมายถึงเขาพระสุเมรุ หรือ“วิษณุโลก”ที่สถิตของพระวิษณุ เพื่อพระองค์จะสถิตที่นั่นเมื่อสวรรคต

ศิลปกรรม ที่มาจากอำนาจของผี, พราหมณ์, พุทธ รวมอยู่เป็นศาสนสถานซึ่งมีมากทั่วโลก ตั้งแต่ประติมากรรม, สถาปัตยกรรม, จิตรกรรม รวมถึงวรรณกรรม, ดนตรี, นาฏศิลป์

ทั้งประเพณีพิธีกรรมและศิลปกรรมจากอำนาจของผี, พราหมณ์, พุทธ ล้วนมีขึ้นเพื่อยอยกการเมืองการปกครองแบบราชอาณาจักรให้มั่งคั่งและมั่นคง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชำนาญ จันทร์เรือง: ปฏิรูป กติกาใหม่ กับ ประชาธิปไตย 100%

Posted: 18 Mar 2012 04:48 AM PDT

หมายเหตุ: ปาฐกถาพิเศษในการประชุมเสนอผลงานวิจัยการสำรวจประชาธิปไตยในหมู่บ้านในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน    จัดโดยโครงการประชาธิปไตยกับท้องถิ่น(SAPAN-CMU Project) มช. วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ โรงแรมคันทารีฮิลล์ เชียงใหม่

ผมคงมิใช่ผู้กล่าวปาฐกถาที่ดีนักครับเพราะโดยหลักการแล้วผู้กล่าวปาฐกถาหรือผู้บรรยายไม่ควรออกตัวในสิ่งที่ตนเองจะกล่าวปาฐกถาหรือบรรยาย เพราะจะทำให้ความเชื่อมั่นต่อผู้กล่าวปาฐกถาหรือผู้บรรยายลดน้อยลงหรืออาจไม่มีความเชื่อมั่นเลย แต่ในการกล่าวปาฐกถาของผมในวันนี้ผมมีความจำเป็นที่จะต้องบอกว่าผมไม่สามารถที่พูดให้ตรงกับหัวข้อที่ต้องการให้พูดในประเด็นที่ว่า “ประชาธิปไตย ๑๐๐%”ได้ เพราะประชาธิปไตย ๑๐๐% นั้นยังไม่มีเกิดขึ้นในโลกนี้ โดยข้อเสนอจากการวิจัยชุดนี้ ประชาธิปไตย ๑๐๐ % หมายถึง ต้องเป็นประชาธิปไตยด้วยกันทั้งหมด ทั้งทหาร ภาคประชาสังคม สื่อ องค์กรอิสระ ต้องปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นไปได้ยากในความเป็นจริง

ฉะนั้น คำว่าประชาธิปไตย ๑๐๐% ตามหัวข้อของการประชุมนี้ตามความเห็นของผมก็คือการเป็นประชาธิปไตยเต็มใบให้ได้มากที่สุดนั่นเอง เพราะแม้แต่สหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวอย่างของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ๑๐๐% เลย เพราะยังต้องเลือกประธานาธิบดีผ่านคณะผู้เลือกตั้ง(electoral college)ทำให้หลายครั้งที่ popular vote แพ้ electoral vote ครั้งล่าสุดก็คือกรณีบุชกับกอร์ 

ซึ่งผมยังนึกภาพไม่ออกว่าหากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนจากบุชที่แพ้คะแนนpopular vote แต่ชนะ electoral vote ไปเป็นกอร์แล้วโลกเราจะเปลี่ยนโฉมหน้าจากปัจจุบันไปอย่างไร แต่ที่แน่ๆโจ๊กของอเมริกันชนที่ติดอันดับยอดนิยมเมื่อบุชลงจากตำแหน่งใหม่ๆก็คือมีชาย      คนหนึ่งไปที่ทำเนียบขาวเกือบทุกวันเพื่อถามหาบุชเพียงเพื่อได้ยินคำตอบจาก รปภ.ว่าบุชไม่ได้อยู่ที่ไวท์เฮาส์แล้ว ผมไม่แน่ใจว่าจะมีใครไปถามหาคุณทักษิณ สุรยุทธ์ หรืออภิสิทธิ์เมื่อลงจากตำแหน่งที่ทำเนียบรัฐบาลเช่นเดียวกับบุชหรือเปล่า

การปาฐกถาในครั้งนี้คงต้องเริ่มจากความหมายของประชาธิปไตยที่หลายๆคนในที่นี้ได้เรียนมาแล้วในวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้น หรือ Gov101 หรือจะในชื่อรัฐศาสตร์ทั่วไปหรืออะไรก็แล้วแต่ว่าประชาธิปไตยนั้นมาจากคำว่า democracy ซึ่ง demos มาจากคำว่า people หรือ ประชาชน และคำว่า kratein มาจากคำว่า to rule หรือปกครอง ดังนั้น ถ้าแปลตามรูปศัพท์แล้ว democracy หรือประชาธิปไตย แปลว่า          การปกครองโดยประชาชน(rule by people) หรือเรียกอีกประการหนึ่งได้ว่า popular sovereignty คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของ  ปวงชน นั่นเอง

ความหมายต่างๆของประชาธิปไตยอาจแบ่งได้เป็นสองแนวทาง คือ แบบแคบและแบบกว้าง สำหรับแนวทางแรกคือการให้ความหมายแบบแคบ คือ “เป็นรูปแบบการปกครองแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และมีสิทธิ มีอำนาจ และโอกาสในการเข้าควบคุมกิจการทางการเมืองของชาติ”

สำหรับความหมายแบบกว้างนั้นผมเห็นว่าเราไม่ควรตีความเพียงรูปแบบการปกครองแต่เพียงอย่างเดียว เพราะประชาธิปไตยนั้นมีหลายมิติ คือ มิติทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางวัฒนธรรม 

มิติทางการเมือง หมายความถึงการที่ประชาชนมีส่วนในการกำหนดนโยบายในการปกครองบ้านเมือง

มิติทางเศรษฐกิจ หมายความถึงการที่ประชาชนมีเสรีภาพในการประกอบการทางเศรษฐกิจ หรือให้บุคคลได้รับหลักประกันในการดำเนินการทางเศรษฐกิจ หรือได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ตนได้ลงแรงไป

มิติทางสังคม หมายความถึงการที่ประชาชนได้รับความยุติธรรมทางสังคม ไม่มีการกีดกันระหว่างชนชั้น กลุ่มชน หรือความแตกต่างใดๆหรือเกิดระบบอภิสิทธิ์ชนหรือระบบอุปถัมภ์ ซึ่งก็หมายถึงการเป็นนิติรัฐที่มี  นิติธรรมนั่นเอง ซึ่งคำว่านิติรัฐกับนิติธรรมนั้นเรามักจะใช้ปนเปกันหรือใช้แทนกัน โดยเข้าใจว่าคือสิ่งเดียวกัน แต่ในทางวิชาการด้านกฎหมายมหาชนแล้ว

นิติรัฐ(legal state) หมายถึง

(๑)บรรดาการกระทำทั้งหลายขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะต้องชอบด้วยกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ 

(๒)บรรดากฎหมายทั้งหลายที่องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นจะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

 และ(๓)การควบคุมไม่ให้กระทำขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารขัดต่อกฎหมายก็ดี การควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ดี จะต้องเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการซึ่งมีความเป็นอิสระจากองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารและองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ 

มิใช่แปลแต่เพียงว่านิติรัฐคือรัฐที่ใช้กฎหมายปกครองประเทศเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นคณะเผด็จการก็ออกกฎหมายมาใช้ปกครองเช่นกัน แต่เป็นกฎหมายที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ว่ามานี้

ส่วนนิติธรรม(rule of law) หมายถึง การที่บุคคลทุกคนย่อมเสมอกันในเบื้องหน้าของกฎหมาย(equal before the law) หรือไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย(no one above the law) นั่นเอง

มิติทางวัฒนธรรม หมายความถึงการส่งเสริมค่านิยม แบบแผน หรือประเพณีที่ยึดมั่นในหลักการประนีประนอม การใช้เหตุผล การยอมรับนับถือคุณค่าและศักดิ์ศรีของเพื่อมนุษย์ มีความเข้าใจและเห็นประโยชน์ในการร่วมมือกันเพื่อส่วนรวมโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนเพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งการยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ชอบธรรมและเหมาะสมกับกาลสมัย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นความหมายแบบแคบหรือแบบกว้าง ผมชอบความหมายของเด็กชาวคิวบาที่ชนะเลิศการประกวดขององค์การสหประชาชาติหรือ UN ในการให้ความหมายของประชาธิปไตยเมื่อไม่นานมานี้ว่า “ประชาธิปไตย คือ การที่บุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริต โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกลงโทษ” ซึ่งเมื่อหันมามองไทยเราในบางเรื่องแม้แต่จะคิดดังๆยังไม่ได้เลย เพราะจะกลายเป็นว่าไม่รู้จักสำนึกในบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งอาจจะเป็นผลทำให้ถูกดักชกหน้าหรือถูกทุบรถได้

ส่วนรูปแบบของประชาธิปไตยนั้นก็มีหลายรูปแบบให้เลือกเช่น ประชาธิปไตยทางตรง(direct democracy) ประชาธิปไตยแบบตัวแทน(representative democracy)หรือล่าสุดที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงก็คือประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(deliberative democracy)ของ Jürgen Habermas ที่เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นพยายามนำมาใช้เพื่ออุดข้อบกพร่องของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เต็มไปด้วยการซื้อสิทธิขายเสียงและการคอร์รัปชันอย่างมโหฬารเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งแล้ว ซึ่งหลักใหญ่ๆของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(deliberative democracy) ก็คือ ฉันทามติ(consensus)นั่นเอง 

การที่เราจะปฏิรูปหรือสร้างกติกาใหม่เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตย ๑๐๐% หรือประชาธิปไตยเต็มใบตามหัวข้อของการปาฐกถาในครั้งนี้  ในความเห็นของผม เห็นว่าองค์ประกอบของการที่จะเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยรูปแบบไหนนั้นจะต้องประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ การเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ การตรวจสอบและการถอดถอน

๑)การเลือกตั้ง(election) หลายคนเข้าใจว่าการเลือกตั้งคือทั้งหมดประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความจริงเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เพราะในประเทศเผด็จการก็มีการเลือกตั้งเช่นกัน แต่เป็นการบังคับเลือกหรือมีให้เลือกเพียงว่าจะเอาหรือไม่เอา แม้ว่าการเลือกตั้งจะมิใช่ทั้งหมดของการเป็นประชาธิปไตยแต่ในระบอบประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้งและการเลือกตั้งที่ว่านั้นต้องประกอบไปด้วยหลักการที่ว่า

๑. เป็นการทั่วไป(in general) หมายความว่า บุคคลมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นบุคคลทั่วไปที่อายุเข้าตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นคนชนชั้นใด เพศใด หรือมีฐานะทางการเงินมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของทุกคนไม่เพียงเฉพาะคนบางกลุ่ม เช่น ในอดีตคนผิวดำ ผู้หญิงหรือทาสไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น

๑.๒ เป็นอิสระ(free voting) หมายความว่า ในการเลือกตั้งนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะเลือกตัวแทนตัวเองเข้าไปปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้ถูกขู่บังคับ กดดัน ชักจูง ตบเท้า หรือได้รับอิทธิพลใดๆทั้งสิ้น เพื่อที่จะได้เจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนแต่ละคน

๑.๓ มีระยะเวลา(periodic election) การเลือกตั้งจะต้องมีการกำหนดว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะได้ผู้แทนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นระยะเวลากี่ปี บางประเทศอาจจะกำหนดให้เป็น ๔ ปี ๕ ปีหรือ ๖ ปี แล้วแต่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

๑.๔ การลงคะแนนลับ(secret voting) เพื่อให้ผู้ที่เลือกตั้งสามารถเลือกบุคคลที่ต้องการเข้าไปเป็นตัวแทนของตน ได้อย่างมีอิสระ ไม่ต้องเกรงใจใครหรือไม่อยู่ใต้อิทธิพลของใคร ในการเลือกตั้งทุกครั้งจึงกำหนดให้แต่ละคนสามารถเข้าไปในคูหาเลือกตั้งได้ครั้งละ ๑ คน(เว้นในบางประเทศที่อนุญาตให้ผู้ที่ช่วยตัวเองไม่ได้สามารถนำผู้อื่นเข้าไปช่วยเหลือได้) และไม่จำเป็นจะต้องบอกให้คนอื่นทราบว่าตนเองเลือกใคร แม้แต่การขึ้นให้การต่อศาลก็ตาม

๑.๕ หนึ่งคนหนึ่งเสียง(one man one vote) ผู้ที่เลือกตั้งทุกคนมีสิทธิในการออกเสียงได้เพียง ๑ เสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างไร ก็มีสิทธิออกเสียงได้เพียง ๑ เสียงเท่านั้น เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ professor doctor หลายคนรับไม่ได้ที่รากหญ้ามีสิทธิ์มีเสียงเท่ากับตนเอง ทั้งที่ จิตสำนึกทางการเมืองนั้นไม่เกี่ยวกับการมีวุฒิการศึกษาสูงหรือไม่สูงแต่อย่างใด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คืออินเดีย ที่มีอัตราผู้ไม่รู้หนังสือสูงกว่าไทยแต่ก็มีประชาธิปไตยถึงระดับในสถาบันการศึกษาและรากหญ้า ที่สำคัญก็คือยังไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารเช่นพี่ไทยเรา

๑.๖ ความบริสุทธิ์ยุติธรรม(fair election) ต้องมีการดูแลการเลือกตั้งไม่ให้มีการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสิทธิ ขายเสียง การติดสินบน หรือใช้วิธีการอื่นใดที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

๒)การออกเสียงประชามติ(referendum) คือการที่รัฐขอฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าคือประชาธิปไตยทางตรงอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมทางการเมืองที่รัฐไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่น ได้คืนสิทธิเสรีภาพในการออกเสียงรับรองหรือคัดค้านในเรื่องใด      เรื่องหนึ่งให้แก่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าต้องการดำเนินการอย่างไร     ในกรณีใดกรณีหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการออกกฎหมายหรือนโยบายธรรมดาๆ เช่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๕ หรือ ๕๖ ที่จะมีขึ้น หรือการยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเหลือเพียงราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ ดังเช่น ร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครที่จะเสนอโดยประชาชนกลางปี ๕๕ นี้ เป็นต้น

ซึ่งการออกเสียงประชามตินี้ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติเช่นในแต่ละเขตปกครอง(canton)ของสวิตเซอร์แลนด์ทำกันบ่อยมาก ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการลงประชามติทั้งประเทศที่จะเพิ่มวันลาพักผ่อนประจำปีจาก ๔ สัปดาห์เป็น ๖ สัปดาห์ต่อปี แต่ปรากฏว่าไม่ผ่าน ของไทยเราก็เคยทำมาครั้งหนึ่งเหมือนกันคือ การออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ปี ๕๐ แต่เป็นการออกเสียงประชามติที่พิลึกเอาการเพราะบอกว่าจะเอาหรือไม่เอา ถ้าไม่เอาอั๊วจะเอารัฐธรรมนูญอะไรไม่รู้มาให้ลื้อนะ(โว้ย)

เมื่อพูดถึงเรื่อง ร่าง.พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯแล้วผมในฐานะที่เป็นผู้ยกร่างอยากจะขอโอกาสแทรกสัก ๑ นาทีถึงความคืบหน้า โดยเมื่อวานนี้เรามีการวิจารณ์ร่าง พรบ.ฯซึ่งผ่านการแก้ไขมา ๔ ครั้ง โดยมีการระดมความเห็นจากผู้แทนที่เราไปออกเวทีมาทั้ง ๒๕ อำเภอ จำนวนประมาณ ๓๐๐ คน เพื่อปรับปรุงเป็นครั้งสุดท้ายก่อตีพิมพ์ฉบับร่างฯนี้แจกจ่ายไปทุกภาคส่วนทั้งจังหวัดเชียงใหม่เพื่อรับฟังความเห็น แล้วนำมาเป็นร่างที่จะเสนอโดยประชาชนต่อรัฐสภาในกลางปีนี้

หลักการใหญ่ของร่าง พรบ.ฯฉบับนี้ก็คือการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคโดยเหลือเพียงราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ ซึ่งส่วนท้องถิ่นนี้ก็จะมี ๒ ระดับ ระดับบนคือเชียงใหม่มหานครซึ่งมีหัวหน้าฝ่ายบริหารคือผู้ว่าฯซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ระดับล่างคือเทศบาล โดยแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งมิได้หมายความว่าระดับบนจะเป็นผู้บังคับบัญชาของระดับล่าง

ในส่วนของโครงสร้างจะเป็น ๓ ส่วน คือ สภาเชียงใหม่มหานคร ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครและสภาพลเมืองซึ่งในต่างประเทศเรียก civil jury แต่เราไม่อยากให้สับสนจึงเรียกสภาพลเมือง

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอื่นก็คือ กิจการตำรวจจะขึ้นอยู่กับเชียงใหม่มหานคร ส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่มหานครจะเก็บไว้ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ส่งส่วนกลาง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ รายละเอียดอื่นๆที่ตอบคำถามว่าเดี๋ยวก็ได้นักเลงมาครองเมืองหรอก หรือประชาชนยังไม่พร้อม หรือเขาคงไม่ยอมหรอก อะไรต่างๆเหล่านี้คงต้องไปหาเพิ่มเติมได้จากอาจารย์กูเกิลในบทความของผมในหัวข้อเชียงใหม่มหานครหรือข้อสงสัยในการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเอา เพราะประเด็นนี้มิใช่หัวข้อหลักของการปาฐกถาครับ แต่ที่แน่ๆมีความคืบหน้าไปไกลมากแล้วและจะเห็นหน้าเห็นหลังกันภายในปีนี้แน่นอนครับ

๓)การตรวจสอบ(monitor) ประชาชนต้องมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของบุคคลที่ตนเลือกเข้าไปได้ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การใช้สิทธิตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ การเข้าฟังการประชุมสภาหรือการประชุมสำคัญของฝ่ายบริหารทุกระดับทั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น การใช้สิทธิทางศาล การร้องเรียนต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ เช่น สตง. ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ

๔)การถอดถอน(recall) แน่นอนที่สุดเมื่อเลือกเข้าไปทำหน้าที่ได้ก็ต้องปลดออกจากตำแหน่งได้ มิใช่ว่าหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วเป็นอันว่าจบกันหรือที่เราเรียกกันว่า “ประชาธิปไตย ๔ วินาที”นั่นเอง เมื่อเลือกแล้วหรือออกเสียงประชามติแล้ว เราก็ตรวจสอบ ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ชอบมาพากลก็ต้องเอาออกจากตำแหน่งได้ในที่สุด

กล่าวโดยสรุปก็คือ จากการที่เราสามารถดูว่าประเทศใดเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหนจากองค์ประกอบ 4 อย่างข้างต้นแล้ว การที่เราจะปฏิรูปกติกาเพื่อเข้าสู่ประชาธิปไตย ๑๐๐%หรือประชาธิปไตยเต็มใบให้มากที่สุดนั้น เราก็ต้องปฏิรูปกติกาซึ่งกติกาที่ว่านั้นก็คือรัฐธรรมนูญนั่นเอง โดยเราต้องศึกษาว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้มีข้อบกพร่องอย่างไร ยังขาดส่วนใดส่วนหนึ่งในสี่ส่วนนี้ซึ่งก็คือ การเลือกตั้ง การลงประชามติ การตรวจสอบและการถอดถอนนี้หรือไม่ 

ในเมื่อจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งทีแล้วจึงควรที่จะต้องแก้ทั้งฉบับ ไม่ใช่ว่าหมวดนั้นหมวดนี้แตะไม่ได้ เช่น หมวดสถาบัน หมวดศาลหรือองค์กร อิสสระ ฯลฯ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไข ม.291 ในวาระที่หนึ่งได้อย่างไร

ส่วนแก้ทั้งฉบับแล้วบางหมวดจะเหมือนเดิมหรือไม่เหมือนเดิมก็ว่ากันไป ซึ่งมันก็พิลึกๆอยู่ ถ้าหากจะแก้ให้ดีกว่าเดิมทำไมจะทำไม่ได้ และก็มีการแก้มาแล้วตั้งหลายครั้ง ในแต่ละครั้งก็ให้เหตุผลว่าดีกว่าเดิมทั้งนั้น แม้ว่าจะเป็นการแก้จากคณะรัฐประหารก็ตาม

รัฐธรรมนูญก็คือกฎหมาย กฎหมายก็คือเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบสังคม เมื่อมนุษย์สร้างกฎหมายขึ้นมาได้ก็ย่อมที่จะแก้กฎหมายนั้นได้ การแก้กฎหมายก็โดยอำนาจของประชาชนที่ผ่านทางสภานิติบัญญัติ หากสภานิติบัญญัติเห็นชอบหรือมอบหมายให้ สสร.   ยกร่างขึ้นมาแล้วนำมาลงประชามติให้ประชาชนออกเสียง ผลเป็นอย่างไรก็ว่ากันไปตามนั้น และในอีกช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีก เพราะทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีวิวัฒนาการ สิ่งใดที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ก็คือการถอยหลังหรือตายแล้ว 

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาที่ผู้คนชอบยกมาเป็นตัวอย่างนั้นจริงๆแล้วได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งสิ้นถึง ๒๗ มาตราและอนุมาตรา ล่าสุดในปี ๑๙๙๒ ซึ่งเป็นเรื่องว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนสมาชิกสภา คองเกรส และคงจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกในอนาคต เพียงแต่ยังไม่มีการฉีกทิ้งเหมือนพี่ไทยเราเท่านั้นเอง

ขอบคุณครับ

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: กระแสต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

Posted: 18 Mar 2012 04:43 AM PDT

พรรคเพื่อไทยที่ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรที่จะผ่อนปรนตามฝ่ายอำมาตย์ เพราะจะถอยหลังเข้าคลอง ชีวิตของประชาชนที่สูญเสียไปเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ก็จะสูญเปล่า
 
แม้ว่า ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญคาม มาตรา ๒๙๑ ที่เสนอโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะได้รับชัยชนะในรัฐสภาในวาระรับหลักการเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ด้วยคะแนนขาดลอย ๓๙๙ ต่อ ๑๙๙ เสียง งดออกเสียง ๑๔ เสียง เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)ครั้งใหม่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เป้าหมายที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ดูเหมือนว่าจะยังต้องเดินอีกยาวไกล เพราะกลุ่มปฏิกิริยาสมุนอำมาตย์ ตั้งแต่พวกขบวนการเสื้อเหลือง พรรคแมลงสาบ พวกสลิ่มสารพัดสี สื่อมวลชนฝ่ายขวา กลุ่มวุฒิสมาชิกลากตั้ง จนถึงตุลาการกระแสหลัก และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้สร้างแนวร่วมอันแข็งแกร่งขึ้นแล้ว เพื่อต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
 
ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ในขณะที่รัฐสภากำลังพิจารณาญัตติเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ .น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ก็นำประชาชนจำนวนหนึ่งที่อ้างว่ารวบรวมกันมากว่า ๒๕,๐๐๐ รายชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า การเสนอแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว และต่อมา เมื่อรัฐสภาผ่านญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว กลุ่มเสื้อหลากสีก็ไม่ยอมรับ ยังหาช่องทางที่จะยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเอาผิด ๓๙๙ ส.ส.-ส.ว.ที่ลงมติรับหลักการแก้ไขมาตรา ๒๙๑ โดย น.พ.ตุลย์ อธิบายว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจแก่คนนอกมาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เป็นการผิดรัฐธรรมนูญ ผู้ลงมติช่นนั้น จึงมีความผิด
 
เช่นเดียวกับ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม วุฒิสมาชิกลากตั้ง ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มสยามสามัคคี ได้อธิบายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับการทำรัฐประหาร เพียงแต่อาศัยคราบของความเป็นประชาธิปไตย และดำเนินการผ่านระบบเผด็จการรัฐสภา และว่า รัฐบาลรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ประชาชนยังเดือดร้อนจากวิกฤตอุทกภัยและปัญหาปากท้อง ความจริงแล้ว คนที่เดือดร้อนจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงคนเดียว จึงเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อคนคนเดียว
 
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ก็มุ่งโจมตีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า รัฐบาลมีเจตนาอย่างน้อย ๓ ประการ คือ มุ่งช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำลายสถาบันเบื้องสูง และล้มล้างอำนาจองค์กรอิสระ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องระบุว่า จะไม่มีการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ หมวดองค์กรอิสระ และไม่แก้เพื่อคนคนเดียว ต่อมา นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งประเด็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่กังวลกับปัญหาประจำวันมากกว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ และมองว่าการแก้เป็นเรื่องของนักการเมืองที่นักการเมืองทำเพื่อตนเองและพวกพ้องมากกว่าเพื่อประชาชน และยิ่งถ้าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้ขัดแย้งมากขึ้น ประชาชนเดือดร้อนมากขึ้น ประการต่อมา รัฐบาลก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าประชาชนจะได้อะไรจากการแก้ โดยสาเหตุเดียวที่หยิบยกขึ้นมาคือที่มาของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ได้รับการรับรองโดยเสียงข้างมากก่อนมีผลบังคับใช้ และโจมตีว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยพูดถึงข้อเท็จจริงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ประชาชนมีสิทธิมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นในการยื่นเสนอกฎหมาย ในการยื่นฟ้องกรณีการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบ และการถอดถอนนักการเมือง 
 
ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็ได้ตั้งมีนักวิชาการด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ๑๐ คน มาเป็นกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยมี นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ เป็นประธาน ทั้งที่ในกรรมการชุดนี้หลายคนเคยร่วมมือกับคณะเผด็จการทหาร บ้างก็เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการ บ้างก็เคยเข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญรับใช้เผด็จการทหารมาแล้ว แต่คณะผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการชุดนี้ในการให้ข้อเสนอแนะติดตามประเมินผลว่า รัฐธรรมนูญที่ใช้มาแล้วมีปัญหาตรงไหนอย่างไร และมีมาตราไหนผิดพลาดคลาดเคลื่อน และมีอำนาจในการเสนอข้อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามความจำเป็น
 
สำหรับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เรียกชุมนุมประชาชนในวันที่ ๑๐ มีนาคมที่ผ่านมา และได้ออกแถลงการณ์ว่า พันธมิตรจะเรียกชุมนุมใหญ่ ถ้า ๑. มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นใด ที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ๒. มีการดำเนินการไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นใด ที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับทักษิณ ชินวัตร และพวก และ ๓. เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์ความเหมาะสมที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งใหญ่
 
สรุปแล้ว ประเด็นสำคัญที่มักอ้างกันในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็คือ การแก้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่ยังไม่เห็นเลยว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะได้ผลประโยชน์อะไร ในกรณีนี้ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างชัดเจน โดยอธิบายว่า เนื้อหาของการแก้รัฐธรรมนูญ จะยังไม่ใช่เป็นเรื่องพิจารณาในขั้นตอนนี้ แต่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง จะดำเนินการโดยอิสระปราศจากการแทรกแซงชี้นำโดยฝ่ายการเมือง จึงพูดไม่ได้เลยว่าจะเป็นการแก้เพื่อใคร
 
ความจริงแล้วก็เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ เป็นกฎหมายโจร เป็นรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตย์ จึงมีข้อบกพร่องมากมาย ตั้งแต่ที่มาจากการรัฐประหาร ที่ใช้อำนาจรถถังมาล้มรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกต้อง แล้วตั้งพวกเนติบริกรรับใช้เผด็จการมาร่างฉบับใหม่ จากนั้น ก็แสร้งวางขั้นตอนให้ชอบธรรม โดยให้ประชาชนมาลงประชามติ แต่ก็เป็นประชามติใต้กฎอัยการศึก ความชอบธรรมจึงไม่เกิดขึ้น ตัวอย่างของความชั่วร้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในประเด็นอื่น ก็เช่น การให้อำนาจตุลาการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองโดยไม่มีการตรวจสอบ และยังมีลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทน โดยให้ฝ่ายตุลาการและประธานองค์กรอิสระมาแต่งตั้งวุฒิสภาครึ่งสภา แล้วให้วุฒิสภามารับรององค์กรอิสระ นอกจากนี้ ที่ชั่วช้าอย่างมากคือ การมีบทเฉพาะกาลยืดอายุองค์กรอิสระ รองรับความชอบธรรมของคณะรัฐประหารทั้งอดีตและอนาคต และยังลักลอบต่ออายุผู้พิพากษาให้เกษียณที่ ๗๐ ปี เป็นต้น มาตราเหล่านี้ ล้วนต้องแก้ไข ถ้าหากต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยอันแท้จริง
 
ในเรื่องของหมวดรัฐสภาที่ต้องแก้ไข ก็คือ การให้อำนาจตุลาการในการตัดสินยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิทางการเมืองผู้บริสุทธิ์ นี่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง แต่กระนั้น เรื่องใจกลางที่จะต้องแก้ไข คือ ต้องให้มีอำนาจตรวจสอบควบคุมอำนาจตุลาการ ลดอำนาจไม่ให้ตุลาการมายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ให้ศาลและองค์กรอิสระยึดโยงกับอำนาจของประชาชน และยุบเลิกผู้ตรวจราชการแผ่นดิน และยกเลิกวุฒิสมาชิกลากตั้ง หรือไม่ก็ยกเลิกวุฒิสภาไปเสียเลย ถ้าหากไม่มีการปฏิรูปในส่วนนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้คงจะไม่มีประโยชน์
 
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มฝ่ายขวาจะเสนอไม่ให้แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ ดูราวกับว่าคนเหล่านี้ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ความจริงไม่ใช่เลย เนื้อหาที่อำพรางไว้ คือการปกป้ององคมนตรีต่างหาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในสถานการณ์เช่นปัจจุบัน คงไม่มีใครไปแก้มาตราที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์โดยตรง เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดให้องคมนตรี กลายเป็นองค์กรวิเศษเหนือมนุษย์ องคมนตรีเหล่านี้เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว ก็อยู่ในตำแหน่งจนตาย ไม่มีเกษียณอายุ กินเงินเดือนสูงมาก และมีอภิสิทธิ์ในสังคม คนเหล่านี้ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ต้องรายงานทรัพย์สินให้ใครทราบ และยังเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย การแก้หมวดพระมหากษัตริย์เพื่อให้ยกเลิกองคมนตรี จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง
 
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยที่ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรที่จะผ่อนปรนตาม การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ มีความหมายอย่างยิ่งต่ออนาคตของประชาธิปไตยไทย ถ้าหากยอมผ่อนปรนต่อฝ่ายอำมาตย์ สถานการณ์ก็จะถอยหลังเข้าคลอง ชีวิตของประชาชนที่สูญเสียไปเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ก็จะสูญเปล่า
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สื่อสิ่งพิมพ์ตาย New Media ผงาด น่ากลัวตรงไหน

Posted: 18 Mar 2012 04:36 AM PDT

คุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกแย่จากอาการติดอินเทอร์เน็ตหรือเปล่า?

ผมมักรู้สึกผิดกับตัวเองที่สามารถนั่งอยู่กับอินเทอร์เน็ตได้ทั้งวันทั้งคืน ข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลกที่เราวิ่งเข้าหา “ตามอารมณ์อยาก” มันเหมือนสวนสนุกกว้างใหญ่ที่ไม่มีขอบเขต แต่หนังสือที่ซื้อมา “ตามอารมณ์อยาก” กลับถูกปล่อยให้นอนแห้งอยู่บนชั้น หนังสือเป็นคลังความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่ผมเองก็อยากจะสำรวจมันให้หมด แต่มันกลับทำได้ยาก บรรยากาศสถานที่ไม่เอื้ออำนวยก็ไม่อ่าน ผมมักพิศวาสมันแค่ตอนมันอยู่ในร้านหนังสือ

การรู้สึกตัวมากขึ้นเรื่อยๆว่าเป็นคนอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ยาวๆนานๆไม่ค่อยได้ เกิดอาการหลับบ้าง ผ่านตาแต่ไม่เข้าหัวบ้าง มันทำให้รู้สึกแย่เมื่อนึกถึงความคิดที่ว่าการอ่านหนังสือ(ที่เป็นสิ่งพิมพ์)ดูเป็นพฤติกรรมที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ขณะที่การอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์กลับเป็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยมีใครประเมินคุณค่าให้มันมากนัก

สิ่งนี้ทำให้เกิดความสงสัยว่าการอ่านบนแผ่นกระดาษ กับการอ่านบนหน้าจอมันต่างกันด้วยหรือ ผมเคยอ่านความคิดเห็นจากที่ใดสักแห่ง ว่าการอ่านบนกระดาษมันทำให้เราจดจ่อและขบคิดกับมันมากกว่า ในขณะที่การอ่านตัวหนังสือไฟฟ้าบนหน้าจอมันจะเป็นการอ่านที่ใช้ความรวดเร็วกว่า ออกแนวกวาดๆข้อมูลไปเรื่อย ผมคิดว่าก็อาจจะถูก แต่ไม่เสมอไป

สิ่งหนึ่งที่ทำให้การอ่านบนอินเทอร์เน็ตดูน่าพิศวาสกว่าคือ ความคล่องตัวมากกว่าในการ “อ่าน” ที่มากกว่าบนสื่อสิ่งพิมพ์ คือพออ่านสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเกิดจุดประกายใคร่อยากรู้อีกเรื่อง สงสัยประเด็นใหม่ที่ต่อเนื่องกันไป search engine ก็หาคำตอบมาประเคนได้ทันทีทั้งภาพ เสียง ตัวหนังสือ

บนสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้เขียนข้อมูลข่าวสารมักเป็นนักวิชาชีพ แต่ผู้เขียนข้อมูลข่าวสารที่ search engine ไปจับมาเวลาผมสงสัยอยากรู้อะไรนี้ มาจากทั้งผู้ที่เป็นสื่อมืออาชีพ และมือสมัครเล่นซึ่งแน่นอนว่ามหาศาลกว่ามาก

เป็นโลกที่ใครก็ได้สามารถเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสาร

ยุคที่ New media เติบโตทำให้การเป็น”ผู้ควบคุมข่าวสาร”กำลังค่อยๆรั่วกระจายออกจากมือนักวิชาชีพ อำนาจข่าวสารไปอยู่ในมือของใครก็ได้ ขอเพียงมีเครื่องมือการกระจายข่าวสารอย่าง Social Network ที่ใครๆก็สามารถใช้ได้ไม่ว่าจะเป็น twitter facebook linkedIn แอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟน เว็บบอร์ด ฯลฯ

จรรยาบรรณสื่อจึงไม่ใช่สิ่งที่สงวนสำหรับวิชาชีพสื่ออีกต่อไป แต่ค่อยๆรั่วกระจายออกมามีอิทธิพลต่อทุกคนบนโลกออนไลน์เช่นกัน กลายเป็นจริยธรรมหรือทักษะการรับส่งข้อมูลในสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นจริยธรรมในการแพร่ข้อมูล (พูดมั่ว ข่าวมั่ว โดนคนด่ากลับ) วิจารณญาณในการรับข่าวสาร (เชื่อหรือตื่นตูมกับข่าวโคมลอย ก็มักมีความคิดตรงข้ามมาตำหนิ) ซึ่งดูจะเป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ พูดง่ายๆคือคนในอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มที่จะฉลาด มีทักษะในการรับส่งข้อมูลมากขึ้นเป็นขั้นๆ จากเดิมเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วที่หลายคนส่งฟอร์เวิร์ดเมล์ที่บอกว่าฮอตเมล์จะระงับแอคเคาน์ตัวเองหากไม่ส่ง มาถึงวันนี้ ฟอร์เวิร์ดเมล์ลักษณะนั้นก็หายไปแล้ว ผู้คนเจอเรื่องโกหกบนอินเทอร์เน็ตจนเอียน เป็นปัจจัยบังคับที่ทำให้คนต้องพัฒนาวิจารณญาณเพื่อไม่ให้ถูกหลอกจนดูเหมือนคนโง่ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ผมจึงเชื่อในการแสดงความคิดเห็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีว่ามันจะช่วยพัฒนามนุษย์ให้มีภูมิคุ้มกันทางวิจารณญาณมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันต่อการยั่วยุมากขึ้น (แม้จะยังไม่มากนักในปัจจุบัน) คนมีแนวโน้มที่จะพัฒนาทักษะในการตรวจสอบข่าวสารด้วยตัวเอง ในโลกที่ยิ่งเปิดเสรี ก็ยิ่งมี case study ออกมาให้สังคมเรียนรู้มากขึ้น

การที่คนบนโลกออนไลน์มีอิสระในการพูด ก็เป็นการฝึกวิจารณญาณของผู้รับสาร เพราะว่าไม่มีผู้ควบคุมประตูข่าวสารมาคอยคัดคอยป้อนว่าเรื่องอะไรสังคมควรรับรู้ เรื่องอะไรไม่ควร อะไรควรให้ความสำคัญ เรามักเห็นการเล่นมุขตลกห่ามๆในหลายเพจของเฟสบุ๊คที่นำข่าวสารสังคมการเมืองมาล้อเลียน ทำภาพตัดต่อ บางคนมักด่าผู้ตัดต่อภาพมุขตลกเกี่ยวกับข่าวสารเหล่านั้นว่า”สร้างความแตกแยก” แต่คนที่ละเอียดอ่อนกับทุกเรื่องก็มักถูกหลายคนรำคาญและต่อว่าเย้ยหยันกลับว่าวิจารณญาณบกพร่อง แยกแยะอารมณ์ขันไม่เป็น

ถึงเวลาที่ทุกคนต้องวิวัฒนาการทักษะความเป็นนักข่าวด้วยตัวเองในการจะรับจะเชื่อหรือให้ความสำคัญกับสิ่งใด ในเมื่อประตูข่าวสารแบบเดิมๆอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ควบคุมการสื่อสารรับรู้ในระดับกว้างไม่ได้แล้ว

การสื่อสารที่เป็นไปอย่างเสรีในยุค New Media ยากต่อการปิดกั้นควบคุม ก็ทำให้การผูกขาดความคิดความเชื่อของคนโดยรัฐก็ทำให้ได้ยากขึ้น การตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆที่เคยเป็นเรื่องต้องห้าม ก็มีพื้นที่ให้ถกเถียงกันได้มากขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า  New Media ส่งผลให้มโนสำนึกของคนในสังคมนั้นวิวัฒนาการไปสู่ยุคตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยเชื่อ ตั้งคำถามกับความคิดกระแสหลักมากขึน (เนื่องจากมีพื้นที่ให้พูด และเปลี่ยนความคิดอย่างเสรีมากขึ้น) เกาหลีเหนือที่ข้อมูลข่าวสารถูกควบคุมเบ็ดเสร็จโดยรัฐ ไม่มี internet มีแต่ intranet ประชาชนก็จะเหมือนเด็กไม่มีวัคซีน ที่พร้อมจะเชื่อในสิ่งที่รัฐบาลป้อน

การเปลี่ยนผ่านสู่ยุค New Media จึงเป็นกลไกหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางมโนสำนึก วิธีคิด การมองโลกของผู้คน ไปสู่ยุค Post-modern เต็มตัว การเปลี่ยนผ่านเป็นธรรมชาติ เป็นสัจธรรมของโลกนี้ดังที่เคยเกิดมาตลอดในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอะไร แต่อาจน่ากลัวสำหรับผู้เรียนทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ที่อาจปรับตัวไม่ทัน กลัวว่าจะอาชีพจะหาได้ยากขึ้น

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘นครปัตตานี’ จาก ส.ส.อีสาน ทีมล้างกฎหมายเผด็จการ

Posted: 18 Mar 2012 04:31 AM PDT

สัมภาษณ์ ประสพ บุษราคัม ส.ส.อีสานพรรคเพื่อไทย ทีมล้างกฎหมายเผด็จการ ยกร่างนครปัตตานีหวังดับไฟใต้ ยันไม่แตะความมั่นคง ให้อำนาจคนพื้นที่ตั้ง ครม.น้อย

 


ประสพ บุษราคัม

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คำว่า “ปัตตานีมหานคร” หรือ “นครปัตตานี” ถูกยกขึ้นมาพูดถึงมากพอๆ กับเหตุรุนแรงที่ผุดขึ้นเป็นช่วงๆ เมื่อ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุถึงแนวคิดเขตปกครองพิเศษว่า ได้มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปศึกษา ก่อนจะมีเสียงคัดค้านตามมา โดยเฉพาะจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก

ขณะเดียวกัน ยังมีการอ้างถึงสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาศึกษา คือ นายประสพ บุษราคัม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อไทยจากจังหวัดอุดรธานี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคง ในคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งขึ้นมา เพื่อล้างกฎหมายเผด็จการ?

เหตุใด “ประสพ บุษราคัม” ซึ่งเป็นทั้งประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคง และประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) จึงคิดร่างกฎหมายนครปัตตานีขึ้นมา

..................................... 

“นอกจากภารกิจหลักคือการหยิบกฎหมายเก่าๆ ประมาณ 300 – 400 ฉบับ และนำประกาศคณะปฏิวัติและคณะปฏิรูปมาพิจารณาว่ายังใช้ได้อยู่อีกหรือไม่ คณะกรรมการชุดนี้ยังรับยกร่างกฎหมายต่างๆ ที่ประชาชนต้องการและร้องขอมาด้วย

สำหรับ เรื่องนครปัตตานี คณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคงหยิบยกขึ้นมาเอง โดยการร่างพระราชบัญญัตินครปัตตานีขึ้นมา เพื่อหวังว่าจะเป็นการปัญหาความไมสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

เหตุที่ต้องการร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา เพราะเราไม่อยากปล่อยให้มีคนตายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกต่อไป หากยังแก้ปัญหาแบบเดิมๆ อยู่ ยอดคนตายมีสิทธิทะลุขึ้นไปถึง 10,000 คน แน่นอน

คณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคง จะยกร่างให้เสร็จภายใน 3 เดือน หรือก่อนเดือนมิถุนายน 2555 รวมทั้งศึกษาข้อดีข้อเสียของการออกกฎหมายฉบับนี้ ที่สำคัญพิจารณาว่า จะสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้หรือไม่

จากนั้น คณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคง จะได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศมาพูดคุยเพื่อศึกษาถึงรูปแบบการแก้ปัญหาความไม่สงบที่มีใช้ในต่างประเทศ เพื่อพิจารณาว่า รูปแบบอย่างไรจะเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผมจะเชิญตัวแทนขององค์กรที่ประชุมประเทศอิสลาม หรือ โอไอซี (Organisation of the Islamic Conference : OIC) และนายแพทย์มหาฎีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เอกอัครราชทูตประเทศมุสลิมประจำประเทศไทย และตัวแทนประเทศจีนมาให้ความเห็นด้วย

จากนั้นจึงจะลงไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหากประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ก็จะไม่ดำเนินการต่อ แต่หากประชาชนเห็นด้วย อาจจะใช้ช่องทางการเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา โดยต้องมีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 15 เสียง หรือให้ประชาชนลงชื่อสนับสนุนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ

การดำเนินการเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย แม้ตัวเองเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ตาม

ผมดำเนินงานในนามคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการหยิบเรื่องนครปัตตานี เป็นความคิดเห็นของผมไม่เกี่ยวกับนายสมศักดิ์

รัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องของรัฐบาล เช่นเดียวกับนายสมศักดิ์ หากนายสมศักดิ์ไม่เห็นด้วย ก็สามารถเก็บไว้ในลิ้นชักได้ หลังจากที่ตนเสนอเรื่องนี้ไป

แต่ถ้าประชาชนเห็นด้วย ประชาชนก็หยิบเอาไปขับเคลื่อนต่อได้ ไม่จำเป็นหยุดตามที่รัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎรต้องการ

หลังจากมีข่าวว่า ผมกำลังยกร่างกฎหมายนครปัตตานี ทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยให้ความสนใจส่งคนมาคุย ผมจึงถามเจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐอเมริกาว่า ทำไมรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาจึงมีความเจริญรุ่งเรือง เจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐอเมริกาอธิบายว่า เพราะรัฐบาลให้อำนาจประชาชนบริหารจัดการรัฐของตัวเอง

ผมจึงคิดว่า เหตุที่รัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาเจริญกว่าพื้นที่ต่างจังหวัดของไทย เพราะคนในพื้นที่เข้าใจสภาพของพื้นที่ตัวเอง แต่ประเทศไทยรัฐบาลเข้าไปจัดการทุกอย่าง เช่น ที่ผ่านมารัฐบาลแจกพันธุ์ปลาน้ำจืดให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งๆ ที่ในพื้นที่มีทะเล คนในพื้นที่กินอาหารทะเล เป็นต้น

นครปัตตานีตามแนวคิดของคณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคง คือ ให้คนในพื้นที่เลือกตัวแทนขึ้นมาเป็นผู้บริหารในรูปของ ครม.น้อย

เสมือนหนึ่งว่า มีรัฐบาลเป็นของตัวเอง

รูปแบบการปกครองแบบพิเศษที่พูดถึงนี้ มีความประสงค์ที่จะกระจายการพัฒนาและงบประมาณจากส่วนกลางให้ลงมาสู่มือของชาวบ้าน ขณะนี้งบการพัฒนากว่า 20,000 ล้านบาท ถึงมือของชาวบ้านเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น

มีคนถามผมว่า แล้วเรื่องความมั่นคง จะจัดการอย่างไร ผมขอยืนยันว่า จะไม่แตะเรื่องนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ยังอยู่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยังมี เราจะไม่แตะต้องหน่วยงานความมั่นคง เพราะเราก็รู้ว่าเขาหวงงบประมาณของเขา 

ขอยืนยันว่านครปัตตานียังอยู่ในรัฐไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก จะไม่กล้าตอบโต้ผมได้อีกแล้ว เพราะผมยืนยันว่า นครปัตตานียังอยู่ในรัฐไทย ความมั่นคงก็ยังอยู่ในมือคุณ นครปัตตานีจะเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างเดียว โดยให้คนในพื้นที่มีอำนาจบริหารจัดการพื้นที่เอง

ผมยินดีไปบรรยายให้เรื่องนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ฟัง

ถ้าคนในพื้นที่มีอำนาจบริหารพื้นที่เอง มีตำรวจ ทหารเป็นคนในพื้นที่ ไม่ใช่มาจากภาคอีสาน แล้วคนในพื้นที่จะยิงกันเองอีกทำไม ลองคิดดู แต่ที่ฆ่ากันอยู่ตอนนี้ผมไม่ขอพูดถึง

คณะทำงานศึกษาเรื่องนครปัตตานีมีหลายคน ต่อไปผมจะเชิญตัวแทนส่วนต่างๆ มาเป็นคณะทำงานทำงานเพิ่ม เช่น นายยงยุทธ เขียวแก้ว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย

การยกร่างกฎหมายนครปัตตานี ยังต้องใช้ข้อมูลอีกมาก ใครที่มีข้อมูลหรือมีร่างกฎหมายอยู่แล้ว ช่วยส่งมาที่ผม

ส่วนร่างกฎหมายที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยเคยใช้หาเสียงเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเชิญสมาชิกพรรคเพื่อไทยเหล่านั้นมา ขอเรียนว่า การดำเนินงานในส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย”

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ส.ส.อีสานดันนครปัตตานี ยันไม่เกี่ยวเพื่อไทย-ไม่สนความมั่นคง

Posted: 18 Mar 2012 04:20 AM PDT

ส.ส.อีสานดันกฎหมายนครปัตตานี ยันไม่เกี่ยวรัฐบาล – พรรคเพื่อไทย เคลื่อนงาน 200 เวทีถกกระจายอำนาจดับไฟใต้ เผยปี 56 เดินสายทั่วประเทศ

นายประสพ บุษราคัม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดอุดรธานี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคง ในคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) เปิดเผยว่า กำลัง ศึกษาเพื่อจัดทำร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้ง “นครปัตตานี” คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน จึงจะนำเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาต่อไป

นายประสพ กล่าวว่า ตนดำเนินการในฐานะคณะอนุกรรมการฯ ไม่ใช่ในนามของพรรคเพื่อไทย โดยหวังที่จะให้ส่วนกลางกระจายการพัฒนาและงบประมาณไปสู่มือของชาวบ้าน โดยจะไม่มีการไปแตะต้องในส่วนของหน่วยงานความมั่นคงหรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะทำงานพัฒนาเครื่องมือเพื่อดึงข้อเสนอในประเด็นกระจายอำนาจเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเวทีรับฟังความคิดเห็นรวม 200 เวที ในปี 2555 ในช่วงวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2555 ที่เทพาบีช รีสอร์ท ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาว่า คณะทำงานจะพิมพ์เอกสารประกอบให้ผู้เข้าร่วมพิจารณารูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 6 รูปแบบ ทั้งภาษาไทยและมลายู นอกจากนี้ ยังจะทำเอกสารฉบับการ์ตูนและวีดีโอเพื่อทำให้ผู้เข้าร่วมเวทีเข้าใจได้ง่ายขึ้น และจะนำไปเผยแพร่ในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย

นายแพทย์พลเดช เปิดเผยว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ปัตตานี ยะลาและนราธิวาสในเดือนกรกฎาคมและจะให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2555 จากนั้นในปี 2556 จะขับเคลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวการกระจายอำนาจเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาคอื่นๆ ของประเทศต่อไป

สำหรับรูปแบบการกระจายอำนาจทั้ง 6 รูปแบบ ที่จะนำเสนอในเวทีรับฟังความเห็น ได้แก่ 1.รูปแบบศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้2.รูปแบบทบวงบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.สามนครสองชั้น โดยผู้ว่ามาจากการเลือกตั้งโดยตรง ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ยกฐานะองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) คงเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ไว้ 

4.สามนครหนึ่งชั้น โดยผู้ว่ามาจากการเลือกตั้งโดยตรง ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เลิกเทศบาลและ อบต.5. มหานครสองชั้น โดยรวมปัตตานี ยะลา นราธิวาสเข้าด้วยกัน มีผู้ว่ามาจากการเลือกตั้งโดยตรง ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค แต่คง อบจ. เทศบาล อบต.ไว้ และ 6.มหานครหนึ่งชั้น โดยขรวมปัตตานี ยะลา นราธิวาสเข้าด้วยกัน มีผู้ว่ามาจากการเลือกตั้งโดยตรง ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค อบจ. เทศบาล และอบต.

นายแพทย์พลเดช เปิดเผยว่า ภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ร่วมผลักดันข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วย 20 องค์กรในพื้นที่ทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 

“ส่วนสำคัญในการเดินเรื่องนี้คือสังคมใหญ่ต้องเข้าใจแนวคิดของกระบวนการนี้ ปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเปิดพื้นที่สื่อสารต่อสังคมใหญ่ให้เข้าใจพร้อมๆ กัน” นายแพทย์พลเดช กล่าว

นายแพทย์พลเดช กล่าวว่า ส่วนกรณีที่พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกและนักการเมืองบางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พวกนักการเมืองในระดับชาติ มีความเข้าใจก้าวหน้า ล้าหลังต่างกัน แต่เรื่องนี้ถอยไม่ได้ มีแต่จะต้องเพิ่มมากขึ้น

“จากการเข้าร่วมติดตามการขับเคลื่อนเรื่องกระจายอำนาจในพื้นที่ ผมมองว่าสภาประชาสังคมชายแดนใต้ขับเคลื่อนมาไกลมากแล้วครับ เชื่อว่า แม้รัฐบาลจะไม่สนับสนุนเรื่องนี้ มันก็ขับเคลื่อนเองอยู่แล้ว และผมเชื่อว่าในพื้นที่เริ่มมีอำนาจต่อรองสูง” นายแพทย์พลเดช กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายยงยุทธ  วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2555 ว่า การรวมจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเขตปกครองพิเศษไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ รัฐบาลหรือใคร ไม่สามารถกำหนดเองได้ว่า จะให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายมาเป็นปัตตานีมหานคร หากจะเป็นปัตตานีมหานคร ก็ต้องมีนราธิวาสมหานครหรือยะลามหานครด้วยใช่หรือไม่ ดังนั้นยืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่มีทางแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ในวันถัดมาว่า ไม่เห็นด้วยกับการรวมจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเขตปกครองพิเศษ

"ยังไม่เห็นด้วย ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว เรื่องนี้อันตรายอย่าเพิ่งพูด เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เรามีการศึกษาพูดคุยไว้หมดแล้ว ซึ่งเราได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ทั้งหน่วยงานรัฐ ทหาร และส่วนอื่นๆ สิ่งสำคัญคือเราได้เปิดเวทีชาวบ้าน พูดคุยกันมาโดยตลอด เขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: เสื้อแดงผู้แกร่งกล้า

Posted: 18 Mar 2012 04:15 AM PDT

เสื้อแดงผู้แกร่งกล้า  คือมหาประชาชัย

หยัดยืนอย่างเกรียงไกร  มิเคยท้อระย่อตาม

 

หลั่งเลือดราดแผ่นดิน มิยอมสิ้นมิเกรงขาม

เลื่องชื่อระบือนาม  นักต่อสู้กู้เสรี

 

แน่วแน่แม้ม้วยมรณ์ มิโอนอ่อนบ่อนศักดิ์ศรี

เลือดข้นล้นปฐพี  เพื่อประชาธิปไตย

 

ฆ่ากลางบนทางเดิน  ราชดำเนินเกินผลักไส

มิถอยด้อยลงไป  ยิ่งเข่นฆ่ายิ่งท้าทาย

 

รถเกราะเจาะกลางวง ราชประสงค์คงสลาย

ร้อยศพล้มเรียงราย  ไม่หนีหายหมายมั่นคง

 

หลายคนทนจำขัง หากใจยังยั่งยืนยง

ศรัทธากล้าดำรง ความประสงค์คงมั่นใจ

 

ร้อยพาลร้อยศัตรู  หมายข่มขู่หมายขับไส

จะหยันทุกวันไป  มิค้อมต่อทรชน

 

เสื้อแดงผู้แกร่งกล้า  ยืนทายท้าทุกแห่งหน

ต่อสู้คู่มวลชน  จนเสรีมีคืนมา

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศศิน เฉลิมลาภ: ท่าเรือปากบารา อีกหนึ่งการทำลายที่ไม่พอเสียที

Posted: 18 Mar 2012 04:10 AM PDT

ปากบาราเป็นชื่อท่าเรือที่ผมเคยใช้เดินทางไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาและหมู่เกาะเภตรา ใกล้ๆกันนั้นมีหมู่บ้านปากบาราและหมู่บ้านชาวประมงที่เป็นมุสลิมประมาณ 99 % อยู่เรียงรายตามแนวชายฝั่งทะเลอย่างสงบสุข ภาพสงบงามของผู้คนและทรัพยากรทางทะเลแถบนี้อยู่ในความทรงจำของผมเป็นอย่างดี

ใกล้ๆเกาะตะรุเตาข้ามเขตพรมแดนไทย-มาเลเซียจะเป็นเกาะใหญ่ขนาดใกล้เคียงกันชื่อเกาะลังกาวี เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบมีคาสิโน มีแหล่งชอบปิ้งแหล่งใหญ่ของมาเลเซีย ขณะที่เกาะตะรุเตาของเรามีสถานภาพเป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยงามมาก ทรัพยากรบนบกและใต้น้ำมีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วระหว่างเกาะสองเกาะที่อยู่ใกล้กันของสองประเทศ สำหรับความเห็นส่วนตัวของผมแล้วผมภูมิใจในประเทศไทยของเราจริงๆที่กล้า “เก็บ” และ “ใช้” เกาะตะรุเตาเป็นแหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติที่สุดยอด และคงคุณค่าทางธรรมชาติไว้อย่างยั่งยืนมานมนาน แน่นอนว่าคนจากทั่วโลกก็ได้มาซึมซับใช้ประโยชน์จากเกาะตะรุเตาในมิติที่ “ต่าง” จากเกาะลังกาวีโดยสิ้นเชิง

แน่นอนว่าการกล้าเก็บตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ “ความเจริญ” ของประเทศไทยที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติเพื่อให้ประโยชน์อย่างรอบด้านต่อประชาชนในระยะยาว

ด้านเหนือของตะรุเตาเป็นที่ตั้งของเกาะเขาใหญ่ เวิ้งทะเลระหว่างเกาะใหญ่ทั้งสองส่วนหนึ่งถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ที่กินอาณาเขตไปคลุมกลุ่มเกาะบุโหลน จนถึงเกาะเหลาเหลียง กลุ่มเกาะใกล้ฝั่งเหล่านี้เป็นที่รู้กันว่ามีแนวปะการังที่สวยงาม และมีความสำคัญยิ่งในแง่นิเวศวิทยาของทรัพยกรประมง และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งอันดามันตอนล่าง และเวิ้งทะเลหน้าปากคลองปากบาราที่ว่านี้ยังเป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญมากของชาวประมงพื้นบ้านประมาณสามสิบชุมชน พื้นที่ทะเลในอุทยานแห่งชาติเภตราข้างเกาะเขาใหญ่นี้เองที่เป็นเป้าหมายของโครงการท่าเรือน้ำลึกปาบาราที่กำลังเดินเรื่องขอยกเลิกเพิกถอนอุทยานแห่งชาติเพื่อสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดมหึมากลางทะเล ที่ใช้เนื้อที่นับพันๆไร่ แนวทางของโครงการชัดเจนว่าจะทำทางรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมโยงจากฝั่งละงู สตูลไปสู่โครงการท่าเรือน้ำลึกที่นาทับ สงขลาที่ระบุว่าต้องเป็นโครงการที่เกิดพร้อมๆกันเพื่อสร้างทางผ่านของสินค้าทั้งในและนอกประเทศข้ามคาบสมุทรไทยแทนที่การไปอ้อมแหลมมาลายูและใช้ท่าเรือสิงค์โปร์

วันนี้ความคืบหน้าของโครงการเดินไปเรื่อยๆ ในระหว่างเหตุการณ์ที่การเมืองวุ่นวายอยู่ในกรุงเทพ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นใบเบิกทางออกมาแล้ว รายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ระบุชัดว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ระบุในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นไม่เพียงพอและยังมีกระบวนการที่ไม่ถูกต้องตามเจตนาของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข่าวต่างๆออกมาถึงการจัดตั้งนิคมอุสาหกรรมขนาดใหญ่ในอำเภอเล็กๆที่สวยงามที่ละงู มีการรังวัดเพื่อขอเวนคืนบ้านช่องนาสวนของผู้คนจากสตูลไปสงขลาเป็นทางยาว มีที่ตั้งคลังน้ำมันกลางหมู่บ้าน ดังนั้นวันนี้ชุมชนที่ละงูมีความวิตกกังวลอย่างยิ่งถึงการรุกล้ำ และ ไล่ คนออกไปเพื่อใช้พื้นที่แผ่นดินที่สงบงามเป็นทางผ่านสำหรับธุรกิจยักษ์ข้ามชาติข้ามโลก

แน่นอนเช่นกันว่าโครงการนี้มีผลประโยชน์ที่ตกตรงถึงนักการเมืองทุกระดับ นักธุรกิจในถิ่นต่างถิ่นกระหยิ่มย่องที่จะได้ทำงานไล่คนซื้อที่ ขุดทรายถมทะเล สร้างถนน สร้างเขื่อนกันคลื่นกันทราย กันอย่างวุ่นวายในระดับผลประโยชน์แบบไทยสุดยอดเข้มแข็งมาก

แนวคิดการทำท่าเรือน้ำลึกเป็นความฝันของคนทำธุรกิจข้ามชาติ ที่ระนองสร้างแล้วไม่มีสินค้า ย้ายมาพังงา กระบี่ ภูเก็ต ก็ติดเรื่องแหล่งท่องเที่ยวและที่ดินราคาแพง จนในที่สุดก็เคลื่อนมาบุกรุกชุมชนชาวบ้านตามถนัด แน่นอนว่าที่ดินหลายแห่งที่ยังเป็นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ที่ดินสาธารณะรูปแบบต่างๆ ที่ยังมีมาก รวมถึงระยะทางที่ค่อนข้างใกล้เมื่อเทียบกับการข้ามคาบสมุทรในแนวอื่น เป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศนี้กำลังจะเอาเงิน เอาผลประโยชน์โดยไม่แคร์ทีจะทำลายชุมชนผู้คนและทะเล ผมนึกภาพตู้คอนเทนเนอร์นับล้านตู้ที่ถ่ายสินค้า ล้างตู้ น้ำมันรั่ว อยู่กลางทะเลอย่างอนาถใจ นึกถึงผลกระทบต่อปะการัง หญ้าทะเล นึกถึงปัญหาแรงงานต่างชาติที่เข้ามาอยู่แทนที่ชุมชนมุสลิมที่สงบเย็น จินตนาการไปถึงปัญหาความรุนแรงที่อาจจะทวีความเข้มข้นขยายพื้นที่ออกมาเมื่อทับถมปัญหาสังคมนนานับประการในพื้นที่

แนวคิดการอยากรวย ไม่พอใจในสิ่งที่เรามีและคนอื่นไม่มีอย่าง ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวสวยงามระดับเสนอมรดกโลก อิจฉาท่าเรือสิงค์โปร์ปีนัง อยากเปิดธุรกิจโลจิสติคข้ามสมุทร คิดเชื่อมสินค้าจีนจากการระเบิดแก่งเชียงแสนลงรถไฟมาปากบารา ครอสกับนครพนมแม่สอด สร้างความเป็นเมืองท่าทางผ่านให้นักธุรกิจโลกโดยไม่คำนึงถึงการรักษาของดีที่เรามีอย่างทะเล อุทยานแห่งชาติ ทรัพยากรประมง วัฒนธรรมชุมชน และทักษะการจัดการการทรัพยกรและการท่องเที่ยวที่เราไม่เป็นรองใคร เปิดหน้างานใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะเจ๊งหรือจะรวยเฉพาะกลุ่มในระยะสั้นๆแล้วทิ้งขยะไว้เกลื่อนเมือง

เราน่าจะปฏิรูปความคิดอยากรวยแบบโลภ แข่งทุกอย่างกับเพื่อนบ้าน มาเป็นการอยู่ร่วมกันตามศักยภาพ ให้คาบสมุทรไทยเป็นแหล่งธรรมชาติ การท่องเที่ยว และวัฒนธรรมในระดับโลกที่ดีที่สุดในเอเชีย หาพันธมิตรการค้าอย่างท่าเรือปีนัง ทำธุรกิจร่วมกับสิงค์โปร์ เก็บประเทศไทยเป็นเมืองน่าเที่ยวน่าอยู่ให้นักธุรกิจที่อยู่รอบประเทศเรา เหมือนกับที่เราเคยกล้าๆ รักษาเกาะตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติไว้ข้างเกาะที่พัฒนาแบบลังกาวี

ผมเชื่อว่าในโลกนี้ต้องมีคนรักเกาะตะรุเตา และเห็นคุณค่า มีความทรงจำดีๆกับหาดทรายและปะการังมากกว่าเกาะชอปปิ้งข้างๆ โมเดลนี้ขยายมาสู่คาบสมุทรไทย และประเทศไทยได้ไหมครับ

หยุดท่าเรือน้ำลึกปากบาราเถอะครับ

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แนะไทยต้องมีสายด่วนหมายเลขเดียวเพื่อปรึกษาเรื่องเอดส์โดยเฉพาะ

Posted: 18 Mar 2012 03:48 AM PDT

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์เผยตัวเลขผู้รับบริการปรึกษาทางโทรศัพท์สองเดือนที่ผ่านมากว่า 1,000 ราย ย้ำงานปรึกษาทางโทรศัพท์ยังเป็นบริการสำคัญที่ประเทศจำเป็นต้องมีเพื่อคลี่คลายปัญหาเอดส์
 
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย นายนิมิตร์  เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่าเอดส์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยเมื่อพิจารณาจากตัวเลขผู้รับบริการปรึกษาปัญหาเอดส์ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2372-2222 ของมูลนิธิฯ ว่า แม้ว่ามูลนิธิฯ จะเปิดสายบริการในช่วงเวลา  10.00 -20.00 น.ของทุกวันแต่ก็พบว่ามีผู้โทรศัพท์เข้ามารับบริการตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.- 10 มี.ค.อยู่ที่ 1,192 ราย คิดเป็นจำนวนครั้ง 1,675 ครั้ง เฉลี่ยมีผู้โทรเข้ามารับบริการวันละ 17 ราย ผู้รับบริการส่วนใหญ่อายุ 30 ปีขึ้นไป รองลงมาคืออายุ 18-30 ปี และเป็นชายมากกว่าหญิง 5 เท่า ปัญหาอันดับหนึ่งที่คนโทรเข้ามาปรึกษาคือเรื่องความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย 696 ราย อันดับสองคือการปรึกษาเรื่องการตรวจเลือด 193 ราย และอันดับสามคือการปรึกษาเรื่องการรักษาด้วยยาต้านไวรัส 125 ราย 
นายนิมิตร์ ให้ความเห็นว่า ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าเอดส์ยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เพราะมีคนจำนวนมากที่ยังต้องการบริการปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องเอดส์ พิจารณาเฉพาะที่โทรศัพท์มาที่มูลนิธิฯ ในรอบสองเดือนก็กว่าพันรายแล้ว ยังไม่นับที่โทรศัพท์ไปที่หน่วยงานอื่น และอีกจำนวนหนึ่งที่อาจจะไม่โทรศัพท์ไปปรึกษาใครซึ่งเป็นกลุ่มที่น่ากังวลว่าหากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงจริงที่จะติดเชื้อแล้วจะเข้าถึงบริการรักษาได้ทันท่วงทีหรือไม่ 
“คือถ้ารู้ผลเลือดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบก็มีบริการเรื่องเอดส์ทั้งหมดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้าตรวจออกมาแล้วผลเป็นลบก็จะได้รับบริการปรึกษาและถุงยางอนามัยเพื่อทำให้ผลเลือดของคุณเป็นลบตลอดไป หากตรวจออกมาแล้วผลเป็นบวก สิทธิประโยชน์เรื่องเอดส์ก็จะครอบคลุมตั้งแต่การจ่ายยาต้านไวรัส การตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัสในกระแสเลือด การตรวจระดับภูมิคุ้มกัน รวมถึงมีบริการถุงยางอนามัยสำหรับป้องกันด้วย นอกจากนี้ การตรวจเลือดก็ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกคนที่มีความเสี่ยงจริงสามารถตรวจเลือดได้ปีละ 2 ครั้งที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง” ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าว และว่า หากประชาชนรู้ผลเลือดของตัวเองจะส่งผลดีต่อภาพรวมของปัญหาเอดส์เพราะจะทำให้อัตราการติดเชื้อรายใหม่ลดลง ผู้ติดเชื้อแล้วจะเข้าถึงการรักษาซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องจากเอดส์ลงได้มาก ทำให้ประเทศไม่ต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลเพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน
“มีกรณีที่ผู้รับบริการซึ่งเป็นนักศึกษาโทรมาปรึกษาว่ามีเซ็กส์กับแฟนโดยไม่ได้ป้องกันแล้วกังวลมากเพราะกลัวว่าถ้าติดเชื้อแล้วจะเรียนต่อไม่ได้ ทำงานไม่ได้ เลยลังเลว่าจะไปตรวจเลือดดีหรือเปล่า หรืออีกกรณีหนึ่งผู้รับบริการวางแผนแต่งงานจึงไปตรวจเลือดแต่ไม่ได้รับคำอธิบายเรื่องผลเลือดจึงเกิดความไม่มั่นใจว่าผลเลือดจะถูกต้องหรือไม่ กรณีเหล่านี้ถ้าประเทศมีระบบบริการปรึกษาเรื่องเอดส์อย่างมีคุณภาพก็จะทำให้คลี่คลายความกังวลของคน ช่วยให้คนเข้าถึงการรักษา ปัญหาเอดส์ก็จะลดลงได้มาก แต่จะทำอย่างไรถึงจะมีบริการปรึกษาที่สะดวกและง่ายต่อการเข้าถึงบริการของประชาชนที่ประสบปัญหา  โดยส่วนตัวมองว่าการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญที่ทำได้” นายนิมิตร์กล่าวและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าขณะนี้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนกำลังพูดคุยและหาข้อตกลงร่วมกันที่จะสร้างและพัฒนาระบบบริการนี้ให้เป็นภาพงานในระดับประเทศซึ่งหมายความว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีสายปรึกษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์หมายเลขเดียวที่ให้บริการปรึกษาก่อนตรวจเลือดได้โดยที่ผู้รับบริการไม่ต้องได้รับการปรึกษาซ้ำที่หน่วยบริการ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น