ประชาไท | Prachatai3.info |
- ความมั่นคง(?)ที่แลกด้วย 'ความเป็นมนุษย์'
- แม่ทัพ 4 มั่นใจคุมสถานการณ์อยู่หมัด ไม่เกิน 2 ปี ไฟใต้สงบ
- เปิดเอกสาร ‘กฟผ.’ โต้ฝ่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 ก.พ. - 3 มี.ค. 2555
- "เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ" ตัวการขัดขวางกระบวนการเป็นประชาธิปไตย
- รายงาน: ‘บึ้ม 3 ห้างปัตตานี’ ไม่ได้มุ่งชีวิตแค่ต้องการวางเพลิง
- คนกันตังชักธงรบ ‘กฟผ.’ ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง
- เมื่อขั้วอนุรักษ์นิยมประชันกันในการเลือกตั้งอิหร่าน
ความมั่นคง(?)ที่แลกด้วย 'ความเป็นมนุษย์' Posted: 04 Mar 2012 08:22 AM PST
(ก) เรื่องสั้น “เมืองแห่งความสุข” ในชั้นใต้ดินของอาคารสาธารณะอันสวยงามแห่งหนึ่ง มีห้องห้องหนึ่งบานประตูปิดล็อก ไม่มีหน้าต่าง ในห้องมีเด็กคนหนึ่ง เป็นเด็กปัญญาอ่อน ขาดสารอาหาร ไม่มีใครเหลียวแล ใช้ชีวิตไปวันๆ ด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ทุกคนในเมืองโอเมลาสรู้ว่ามีเด็กคนนี้อยู่...พวกเขารู้ว่ามันต้องอยู่ตรงนั้น... พวกเขาเข้าใจดีว่าความสุข ความงดงามของเมือง ความนุ่มนวลของมิตรภาพ สุขภาพของลูกหลานของพวกเขา...กระทั่งความอุดมสมบูรณ์ของเรือกสวนไร่นา และอากาศอันอ่อนโยนของท้องฟ้า ทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนความทุกข์ทรมานของเด็กน้อยคนนี้...ถ้าหากเด็กคนนี้ถูกนำออกมาจากห้องอันน่าชิงชัง สู่แสงตะวัน ไปอาบน้ำและป้อนข้าวป้อนน้ำและปลอบโยน มันก็จะเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน แต่ถ้าหากทำลงไปในวันนั้นและเวลานั้น ความรุ่งโรจน์งดงามและผ่องอำไพทั้งหมดของโอเมลาสจะเหี่ยวเฉาและถูกทำลาย นั่นคือ “เงื่อนไข” จากหนังสือ “ความยุติธรรม” โดย Michael J.Sandel สฤณี อาชวานันทกุล แปล หน้า 60)
เรายอมรับเงื่อนไขเช่นนี้ได้หรือไม่? เงื่อนไขที่ว่าอิสรภาพ และ “ความเป็นมนุษย์” ของเด็กคนหนึ่งถูกทำลายไปเพื่อให้คนทั้งมวลมีความสุขสมบูรณ์พร้อม (ผมค่อนข้างแน่ใจว่า เราส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเสื้อเหลือง แดง หลากสี ฯลฯ จะตอบว่า ยอมรับเงื่อนไขเช่นนี้ไม่ได้ เพราะมันฝืนต่อมโนธรรมของเรา มันไร้มนุษยธรรม ผิดศีลธรรม) .......................................................................... (ข) เรื่องจริง “เมืองแห่งความขัดแย้ง” เมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง นับเฉพาะปี 2475 เป็นต้นมา มีการทำรัฐประหาร และมีการ “อ้างอิง” สถาบันกษัตริย์ทำรัฐประหาร ปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า จนผู้คนเสียชีวิตและสูญหายนับไม่ถ้วน แต่เมืองแห่งนี้ยังคงรักษา “กฎหมายพิเศษ” (เช่น ม.8 ม.112) เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ เพราะถูกปลูกฝังกันมาว่า สถาบันมีบุญคุณแก่ประเทศชาติ และประชาชนมายาวนาน เป็นศูนย์รวมจิตใจ ความสามัคคี ความมั่นคงของชาติ จำเป็นต้องปกป้องให้มั่นคงอยู่ตราบนิรันดร์ ภายใต้กฎหมายพิเศษนั้น จำเป็น “ต้องแลก” ด้วยการยอมให้มี “นักโทษทางความคิด” และ/หรือแลกด้วยสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น สิทธิเสรีภาพที่จะพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อใครถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายพิเศษนี้ก็มีแนวโน้นที่จะไม่ให้ประกันตัว และแน่นนอนว่า พวกเขาย่อมไม่มีเสรีภาพที่จะพูดความจริงเพื่อปกป้อง “ความบริสุทธิ์” และ “อิสรภาพ” ของตนเอง ในเมืองแห่งความขัดแย้งนี้ ประชาชนที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเพราะการอ้างอิงสถาบันกษัตริย์ ต่างทราบดีว่า มีคนอย่างอากง สมยศ สุรชัย ดา ตอร์ปิโด เป็นต้น ที่ถูกละเมิดสิทธิการประกันตัวบ้าง สิ้นไร้เสรีภาพที่จะพูดความจริงเพื่อปกป้อง “ความบริสุทธิ์” และ “อิสรภาพ” ของตนเองบ้างอยู่จริง ซึ่งหมายถึง “ศักดิ์ศรีความเป็นคน” ของพวกเขาเหล่านี้ถูกทำลายลง โดยที่คนทั้งเมืองต่างรับรู้โศกนาฏกรรมนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นคนของพวกเขาถูกทำลายลงตามกฎหมายพิเศษ ที่ “เป็นเงื่อนไข” ของการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งภายใต้เงื่อนไขนี้ (1) ไม่ใช่เด็กน้อยปัญญาอ่อนคนเดียวเท่านั้น (ดังในเรื่องสั้น) ที่ต้องถูกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคน แต่ประชาชนทุกคนถูกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคน สิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ (2) ไม่ใช่การถูกทำลายความเป็นคนเพื่อความสุขสมบูรณ์ของทุกคน แต่เพื่อปกป้องสถาบันให้คง “สภาพ” ที่มีสถานะ อำนาจ บทบาทอันอาจถูกอ้างอิงเพื่อสร้างความขัดแย้ง และทำรัฐประหารได้ต่อไป เรายอมรับเงื่อนไขเช่นนี้ได้หรือไม่? เงื่อนไขที่ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพที่จะพูดความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะของประชาชนถูกจำกัด และ/หรือถูกทำลายลงเพื่อปกป้องสถาบันหลักใดๆ ให้คง “สภาพ” ที่มีสถานะ อำนาจ บทบาทอันอาจถูกอ้างอิงเพื่อสร้างความขัดแย้ง และทำรัฐประหารได้ต่อไป โดยที่การปกป้องนั้นก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า สมาชิกของสังคมทุกคนจะมีแต่ความสุขเต็มที่(เหมือนในเรื่องสั้น) มิหนำซ้ำยัง (1) อาจเกิดความขัดแย้งเช่นที่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้งดังประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เพราะการคงไว้ซึ่งกฎหมายพิเศษนี้ และ (2) การยกเลิกกฎหมายพิเศษนี้อาจเป็น “ทางเลือกที่ดีกว่า” ที่จะทำให้สังคมเราสามารถปกป้องสถาบันกษัตริย์ ควบคู่กับการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพที่จะพูดความจริงของประชาชนให้มั่นคงไปด้วยกันได้ หรือให้สังคมเราเป็นสังคมที่หยุดการอ้างอิงสถาบันสร้างความขัดแย้ง และการเข่นฆ่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างถาวร แต่เป็นเรื่องแปลกประหลาดไหม ที่เราไม่อาจยอมรับเงื่อนไขในกรณีตัวอย่างในเรื่องสั้นได้เลย ทว่ากลับยอมรับเงื่อนไขในเรื่องจริงที่เป็นอยู่นี้ได้! หมายความว่า พวกเรายอมรับให้มี “กฎ” ที่นอกจากจะไม่ใช่หลักประกันความสุขสมบูรณ์พร้อมของทุกๆ คน (ดังในเรื่องสั้น) แล้ว ยังเป็นกฎที่ทำลาย “ความเป็นมนุษย์” ของเรา และเป็นกฎที่ดำรงการอ้างอิงสถาบันเพื่อสร้างความขัดแย้งในสังคมให้คงอยู่ตลอดไปอีกด้วย ตกลงว่า พวกชาวเมืองที่เสพสุขสำราญบนเงื่อนไขของการทำลายความเป็นมนุษย์ของเด็กปัญญาอ่อนคนหนึ่งในเรื่องสั้น กับพวกเราที่มีชีวิตอยู่ในความขัดแย้งบนเงื่อนไขของการยอมให้มีการทำลายความเป็นคนของประชาชน เพื่อปกป้องสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันอันอาจถูกอ้างอิงเพื่อสร้างความขัดแย้งได้อีกต่อไปนั้น ระหว่างพวกเรากับ “ชาวเมืองแห่งความสุข” ในเรื่องสั้น ใครมีเหตุผล มีมโนธรรม มีสำนึกปกป้อง “ความเป็นมนุษย์” มากกว่ากัน? หรือมันเป็นเรื่องเหลือเชื่อเกินไปไหมที่ “มโนธรรม” ของเรารับไม่ได้เลยกับ “ความอยุติธรรม” ในเรื่องสั้น แต่กลับรับได้อย่างปราศจากการตั้งคำถามต่อ “ความอยุติธรรม” ในเรื่องจริง! ตกลงว่า ระหว่างเรื่องราว (ก) กับ (ข) อันไหนสะท้อนสภาพสังคมที่ “อยุติธรรม” มากกว่ากัน? สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
แม่ทัพ 4 มั่นใจคุมสถานการณ์อยู่หมัด ไม่เกิน 2 ปี ไฟใต้สงบ Posted: 04 Mar 2012 07:28 AM PST แม่ทัพภาค 4 มั่นใจ 2 ปีไฟใต้สงบ กุมสถานการณ์อยู่หมัด เผยแกนนำป่วนใต้ทยอยเข้าหารัฐ ชาวบ้านเบื่อความรุนแรงหันช่วยเจ้าหน้าที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระดับแกนนำหลายคน เนื่องจากเห็นว่า เป็นการต่อสู้ที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม เนื่องจากศาสนาอิสลามห้ามฆ่าคน พล.ท.อุดมชัย เปิดเผยด้วยว่า ยังมีสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบระดับแกนนำอีกหลายคนที่ต้องการเข้ามาอยู่กับฝ่ายรัฐ แต่เนื่องจากเกรงว่าจะเสียหน้า เพราะเคยประกาศตัวที่จะต่อสู้กับรัฐไทย โดยเฉพาะระดับผู้ใหญ่ๆ จึงจะเป็นต้องหาทางออกในทางที่เหมาะสมให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น พล.ท.อุดมชัยกล่าวว่า ข้อผิดพลาดของขบวนการก่อความไม่สงบที่ทำให้ฝ่ายรัฐสามารถกุมสภาพทั้งงานการข่าวและการปรามปราม คือการใช้ความรุนแรงกับผู้บริสุทธิ์ที่ทำให้กินเนื้อของขบวนการเอง และการใช้ศาสนาเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดม ทั้งที่ศาสนาอิสลามห้ามการฆ่าคน พล.ท.อุดมชัย เปิดเผยด้วย ส่วนการแก้ปัญหาความไม่สงบที่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้อย่างถูกต้องมากขึ้น รวมทั้งสามารถตรวจยึดอาวุธได้เพิ่ม เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากขึ้น เพราะชาวบ้านเบื่อกับรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้งานการข่าวของรัฐดีขึ้นตามไปด้วย พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ตนมั่นใจว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะลดลงภายใน 1 – 2 ปี แต่ที่ยังเห็นว่ามีความรุนแรงอยู่ เพราะมีเหตุระเบิด ซึ่งเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนของขบวนการก่อความไม่สงบ “ผมต้องการเร่งให้สามารถสร้างความสงบได้ภายในปีสองปี เพราะผมเห็นแนวโน้มจากการทำงาน ผมมั่นใจว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสงบลงภายในเวลา 2 ปี” พล.ท.อุดมชัย กล่าว พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมามีการจับกุมและตรวจยึดอาวุธได้จำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถสกัดการก่อเหตุได้ทั้งหมด เนื่องจากผู้ก่อความไม่สงบอาศัยลักษณะการเกื้อกูลกันในสังคมช่วยให้ผู้ก่อความไม่สงบหลบหนีไปได้ และทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาต้องใช้ความเข้าใจ ความอดทน ไม่ใช้วิธีการฆ่าเด็ดขาด และต้องขจัดภัยแทรกซ้อนออกไปให้หมด เช่น ยาเสพติด ต้องเคารพกฎหมายและให้ทุกคนมีส่วนร่วม ในขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เพิ่มศักยภาพของคนในพื้นที่ ส่วนตนทำเฉพาะการนำคนที่อยู่ในขบวนการออกมา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เปิดเอกสาร ‘กฟผ.’ โต้ฝ่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง Posted: 04 Mar 2012 07:18 AM PST พลันที่กลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ได้แจกจ่ายเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมาสร้างในจังหวัดตรัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็ผลิตเอกสารตอบโต้ข้อมูลของกลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ในแทบจะทันทีทันใด ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลการตอบโต้กลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ถอดออกมาจากเอกสารข้อต่อข้อ ประโยคต่อประโยค ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า คุณสมบัติของถ่านหินซับบิทูมินัสและบิทูมินัส มีปริมาณกำมะถันหรือก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์น้อยกว่า 1% ซึ่งเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพดีใกล้เคียงกัน และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะมากกว่ากัน กลุ่มผู้คัดค้านระบุว่า สารปนเปื้อนที่เป็นองค์ประกอบของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ร้อยละ 0.1–1 แต่มีสารหนู 0.73–0.85 แคดเมียมต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปรอทต่ำกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และตะกั่วต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีโครเมียม และซีรีเนียม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า สารเจือปนต่างๆ ขึ้นอยู่กับแหล่งของถ่านหิน ซึ่งถ่านหินบิทูมินัสและซับบิทูมินัสมีความเจือจางน้อยมาก ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยตามหลักวิทยาศาสตร์ พร้อมกับยืนยันว่า กรมควบคุมมลพิษได้กำหนดค่ามาตรฐานของสารที่เจือปนในสิ่งแวดล้อมไว้ว่า สารหนู (Arsemic) ต้องไม่เกิน 3.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แคดเมี่ยมและสารประกอบแคดเมี่ยม (Cadmium and compounds) ต้องไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม กลุ่มผู้คัดค้านระบุว่า กองถ่านหินใช้น้ำดิบเพื่อฉีดพ่นประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น และควบคุมอุณหภูมิของถ่านหินไม่ให้ลุกไหม้ น้ำพ่นถ่านหินใช้หมุนเวียนโดยนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ต้องมีการเติมเพิ่มในระบบวันละ 360 ลูกบาศก์เมตร น้ำชะกองถ่านหินปนเปื้อนสารโลหะหนักและอื่นๆ ซึ่งต้องบำบัดด้วยสารเคมี หากจะระบายออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องระบายน้ำทิ้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การจัดเก็บถ่านหินมีโรงจัดเก็บ มีหลังคาคลุมและผนังโดยรอบ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย และป้องกันการชะล้างจากน้ำฝน เนื่องจากเป็นระบบปิด ทำให้ต้องใช้น้ำบางส่วนฉีดพรมป้องกันการฟุ้งกระจาย โดยน้ำดังกล่าวจะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ไม่มีการปล่อยลงสู่ทะเลและแหล่งน้ำธรรมชาติ กลุ่มผู้คัดค้านระบุว่า โครงการมีการดึงน้ำจากทะเลมาใช้เพื่อดูดซับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากอากาศที่เกิดจากหม้อไอน้ำ หรือเรียกว่า Seawater FGD ซึ่งอาจทำให้โลหะหนักบางส่วนปนเปื้อนลงน้ำทะเล เช่น สารหนู แคดเมียม ปรอท และตะกั่ว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ใช้ระบบดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยน้ำปูน ไม่ใช้ระบบ Seawater FGD (ระบบดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยน้ำทะเล) โดยใช้น้ำจืดจากกระบวนการผลิตน้ำในโรงไฟฟ้า ซึ่งน้ำดังกล่าวจะนำกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่มีการปล่อยลงทะเลและแหล่งน้ำธรรมชาติ กลุ่มคัดค้านระบุว่า สารสูบน้ำทะเลจากตะแกรงกรองน้ำขนาด 1 เซนติเมตร จะมีแพลงก์ตอนพืชและสัตว์เข้าสู่ระบบ และตายเนื่องจากความร้อนจากน้ำร้อนที่ทิ้งสู่ทะเลจำนวนมาก จากการต่อท่อน้ำทิ้งออกไปในทะเล 500–1,000 เมตร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำเป็นบริเวณกว้างหรือไม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การสูบน้ำเข้าสู่ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า จะสูบน้ำที่ระดับลึกจากท้องน้ำ 1 เมตร เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสัตว์หน้าดิน แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ รวมทั้งลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน ติดเข้าระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า เนื่องจากที่ระดับลึกของน้ำจะพบแพลงก์ตอนพืชในปริมาณน้อย เพราะแพลงก์ตอนพืชจะใช้แสงในการสังเคราะห์อาหารเพื่อการดำรงชีวิต ประกอบกับแพลงก์ตอนพืชมีวงจรชีวิตสั้น แต่มีการเพิ่มปริมาณได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงพบแพลงก์ตอนพืชอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นส่วนมาก ส่วนแพลงก์ตอนสัตว์และลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน ก็จะอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นส่วนมากเพื่อกินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร ดังนั้นการสูบน้ำจากกระดับน้ำลึกจึงไม่กระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอนแต่อย่างใด น้ำทะเลที่ผ่านการใช้หล่อเย็น ไม่ได้ต่อท่อออกไปในทะเล มีการควบคุมอุณหภูมิของน้ำที่หอหล่อเย็น การปล่อยน้ำลงสู่ทะเลนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่า ณ จุดปล่อยอุณหภูมิของน้ำต้องไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส และวัดรัศมีออกไป 500 เมตร จากจุดปล่อย อุณหภูมิบริเวณปะการังต้องไม่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิบริเวณอนุรักษ์เปลี่ยนแปลงได้บวกลบ 1 องศาเซลเซียส และบริเวณชุมชนอุณหภูมิเปลี่ยยนแปลงได้บวกลบ 2 องศาเซลเซียส กลุ่มคัดค้านระบุว่า การเผาไหม้ของถ่านหินของโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์จะก่อให้เกิดเถ้าหนัก 22,500 ตันต่อปี เถ้าลอย 202,000 ตันต่อปี เถ้าลอยเป็นฝุ่นขนาดเล็กมากขนาดต่ำกว่า 10 ไมครอน กระจายได้ไกล และระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ไม่สามารถดักจับได้ และปัจจุบันประเทศไทยไม่มีเครื่องมือตรวจวัดได้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ จะมีฝุ่นขี้เถ้า ประกอบด้วย เถ้าหนักประมาณ 19,250 ตัน/ปี เถ้าลอยประมาณ 76,950 ตัน/ปี จะถูกดักจับโดยเครื่องดักจับฝุ่นที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอนอยู่ที่ 99.9 % ทั้งนี้เถ้าหนักสามารถนำไปทำปุ๋ยได้ และเถ้าลอยจะนำไปใช้ในระบบการผลิตปูนซิเมนต์ต่อไป กลุ่มคัดค้านระบุว่า จะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการเผาน้ำมัน 29% และมากกว่าก๊าซธรรมชาติถึง 80% ซึ่งเป็นเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติตามมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า จากผลการศึกษาโรงไฟฟ้าลิกไนต์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติประมาณ 10% อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่ใช้ถ่านหินคุณภาพดี เทคโนโลยีในกระบวนการเผาไหม้มีประสิทธิภาพสูง จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปอีก ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละประทศในปี 2551 เรียงตามลำดับดังนี้ ประเทศจีน 21.1% ประเทศสหรัฐอเมริกา 20.2% ประเทศรัสเซีย 5.5% ประเทศอินเดีย 5.3% ประเทศญี่ปุ่น 4.6% ประเทศเยอรมัน 2.8% ประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ 2.0% ประเทศแคนาดา 1.9% ประเทศเกาหลีใต้ 1.7% ประเทศอิตาลี 1.7% ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 22 ที่ 0.95% กลุ่มคัดค้านระบุว่า กรณีปะการังอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส ในเวลาประมาณ 1 เดือน จะทำให้เกิดปะการังฟอกขาว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า กรณีปล่อยน้ำหล่อเย็นออกจากโรงไฟฟ้า จะมีการควบคุมอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นไม่ให้มีอุณหภูมิน้ำสูงเกิน 1 องศาเซลเซียส จากค่าอุณหภูมิน้ำเข้าสู่ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ห่างไกลจากแนวปะการัง ดังนั้นการระบายน้ำหล่อเย็นออกจากโรงไฟฟ้า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงค่าอุณหภูมิน้ำในแนวปะการังแต่อย่างใด จึงมั่นใจได้ว่าน้ำหล่อเย็นที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้าจะไม่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำในแนวปะการัง จนก่อให้เกิดปะการังฟอกขาวแต่อย่างใด กลุ่มคัดค้านระบุว่า ปริมาณสารคลอรีนความเข้มข้นเพียง 0.1 มิลลิกรัม/ลิตร ที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิต เมื่อปล่อยลงสู่น้ำทะเลจะส่งผลกระทบทำให้แพลงก์ตอนตาย และกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศน์ทางทะเล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ปริมาณสารคลอรีนตกค้างในน้ำหล่อเย็นที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้ามีค่าน้อยกว่า 0.1 มิลลิกรัม/ลิตร และเป็นสารที่สลายตัวได้ง่ายเมื่อโดนความร้อน ดังนั้นเมื่อระบายออกจากโรงไฟฟ้าจึงสลายตัวได้รวดเร็ว และไม่ตกค้างในน้ำทะเลจนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และระบบนิเวศน์ทางทะเล กลุ่มคัดค้านระบุว่า น้ำทะเลที่ผ่านการใช้หล่อเย็น มีอุณภูมิสูงกว่าน้ำทะเล 2–6 องศาเซลเซียส การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การปล่อยน้ำลงสู่ทะเล กฏหมายกำหนดไว้ว่า อุณหภูมิของน้ำ ณ จุดปล่อยและในรัศมี 500 เมตร ต้องไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิบริเวณปะการังต้องไม่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิบริเวณอนุรักษ์เปลี่ยนแปลงได้บวกลบ 1 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิบริเวณชุมชนเปลี่ยนแปลงได้บวกลบ 2 องศาเซลเซียส กลุ่มคัดค้านระบุว่า ความเสี่ยงจากโรงไฟฟ้าและสารเคมีที่ใช้ การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจนที่เกิดจากการเผาไหม้ อาจก่อให้เกิดฝนกรด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ได้แก่ ดินเสื่อมคุณภาพ การเจริญเติบโตของพืช และการให้ผลผลิตยางพารา ผลไม้ การสะสมโลหะหนักในดิน น้ำกิน น้ำใช้ และอาหาร ส่งผลต่อมนุษย์ และทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจต่างๆ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ โรงไฟฟ้ามีการติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เครื่องดักจับฝุ่น และเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ ที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่องที่ปลายปล่อง และติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณชุมชนรอบโรงไฟฟ้า รวมทั้งได้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพดิน และแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดฝนกรด หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจต่างๆ กลุ่มคัดค้านระบุว่า ความจริงที่แม่เมาะ การทำเหมืองและโรงไฟฟ้ามีปัญหาขัดแย้งกับชุมชน ด้านมลภาวะจนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนมาก ดัง 3 กรณีต่อไปนี้ คดีที่ 1 ศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 11960/2542 และ 1945/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 354/2547 และ 431/2547 เมื่อปี 2547 ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะทำให้เกิดมลภาวะฝนกรดจริง ทำให้ผู้ป่วย 868 ราย ศาลสั่งให้ชดใช้ค่าพืชผลที่เสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี คดีที่ 2 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 140/2546 คดีหมายเลขแดง 60/2552 เมื่อเดือนมิถุนายน 2542 ว่า ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายค่าเสียหายให้กับชาวบ้านรอบพื้นที่เหมืองและโรงไฟฟ้า 112 ราย โดยแต่ละรายจะได้รับค่าเสียหายตามที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ได้บำบัดอากาศเสียให้มีค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดก่อนปล่อยสู่บรรยากาศ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2535–สิงหาคม 2541 ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสื่อมทั้งสุขภาพอนามัยและจิตใจ คดีที่ 3 ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 44/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 44/2552 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ สรุปว่า 1.ให้อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร 2.ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และให้ปลูกป่าทดแทน ในพื้นที่ฟื้นฟูขุมเหมืองที่ไปทำสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ 3.ยื่นแก้ไขมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาตรการในพื้นที่ชุ่มน้ำ 4.วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดิน ไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดไปยังชุมชน และกำหนดพื้นที่แนวกันชนจุดปล่อยดินให้ห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำกำแพงกันฝุ่นให้จุดปล่อยดินต่ำกว่าความสูงของกำแพง ให้จัดทำรายงานการตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อมทุก 2 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า คดีที่ 1 สิ้นสุดการพิจารณาคดี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชดเชยค่าเสียหายแก่ประชาชนตามคำสั่งศาล คดีที่ 2 และ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ ซึ่งคดีที่ 3 เป็นคดีที่เกี่ยวกับการทำเหมืองลิกไนต์ โดยโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะสร้างในพื้นที่ จะไม่มีการทำเหมืองลิกไนต์ ระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยมิได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยได้ช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อดักจับมวลสาร ตลอดจนมีมาตรการตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันสภาพอากาศของแม่เมาะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ปัจจัยด้านเทคโนโลยี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนประเภทผลิตพลังงานไฟฟ้าฐาน ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิ 800 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินซับบิทูมินัสจากต่างประเทศ ปริมาณวันละประมาณ 8,000 ตัน หรือประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี กลุ่มคัดค้านระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่มีข้อมูลเรื่องท่าเรือว่า จะดำเนินการอย่างไร การขนส่งถ่านหินด้วยเรือบรรทุกลำละ 10 ตัน จะมีการขนส่งประมาณ 250,000 เที่ยว/ปี หรือ 685 เที่ยว/วัน จำเป็นต้องมีการขุดลอกร่องน้ำเป็นประจำ ข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อยู่ในระหว่างการศึกษาการออกแบบท่าเรือ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็น เพื่อปรับรูปแบบของท่าเรือให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน เรือขนส่งถ่านหินขนาดบรรทุกประมาณ 8,000–10,000 ตัน/เที่ยว (ประมาณวันละ 1 เที่ยว) ปัจจุบันในแม่น้ำตรังมีการขุดลอกร่องน้ำเป็นประจำอยู่แล้วทุกปี แหล่งน้ำที่ใช้ในระบบหล่อเย็น ควบคุมอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นด้วยหอหล่อเย็น (Cooling Tower) โดยใช้น้ำทะเลในระบบหล่อเย็นไม่เกิน 200,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และน้ำทะเลปล่อยกลับของระบบหล่อเย็นประมาณ 190,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ใช้ระบบจากผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยใช้ปริมาณน้ำทะเลในการผลิตน้ำจืดประมาณ 4,5000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ระบบขนส่งถ่านหิน ใช้ระบบปิดตั้งแต่การขนส่งทางทะเล จนถึงกระบวนการผลิตในโรงงานไฟฟ้า การควบคุมสภาพอากาศ โดยติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (SCR) ประสิทธิภาพสูง ติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่น (ESP) ประสิทธิภาพสูง ติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ (FGD) ประสิทธิภาพสูง และติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ การควบคุมคุณภาพน้ำ โดยก่อสร้างหอหล่อเย็นเพื่อลดอุณหภูมิน้ำ ให้มีระดับใกล้เคียงแหล่งน้ำธรรมชาติ ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำทิ้ง และเก็บกักในบ่อพัก ส่วนการควบคุมระบบตรวจวัดคุณภาพเสียง ติดตั้งอุปกรณ์ดูดซับเสียง และปลูกต้นไม้รอบพื้นที่โครงการ กลุ่มคัดค้านระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ต้องใช้น้ำหล่อเย็นมากกว่า 4,000 ล้านลิตร/วัน โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ต้องใช้น้ำหล่อเย็นมากกว่า 4,000 ล้านลิตร/วัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ใช้ระบบหล่อเย็น โดยสูบน้ำทะเลมาระบายความร้อนในโรงไฟฟ้าเพียงวันละไม่เกิน 200,000 ลูกบาศก์เมตร และปล่อยน้ำทะเลกลับคืนประมาณ 190,000 ลูกบาศก์เมตร จึงมีน้ำทะเลที่หอคอยหล่อเย็น (Cooling Tower) บางส่วนระเหยกลายเป็นไอน้ำขึ้นไปในอากาศ กลุ่มคัดค้านระบุว่า โรงไฟฟ้าใช้น้ำจืดในกระบวนการผลิตมากกว่า 1,062 ลูกบาศก์เมตร/วัน เดือนละ 31,860 ลูกบาศก์เมตร และต้องมีน้ำจืดอีกจำนวนหนึ่งสำหรับสาธารณูปโภคในโรงงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะใช้ระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยใช้ปริมาณน้ำทะเลประมาณ 4,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน เพื่อไม่ให้กระทบแหล่งน้ำจืดของชุมชน กลุ่มคัดค้านระบุว่า มีข้อสงสัยว่า 1.จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นหรือไม่ 2.จำเป็นต้องมีบริบทบริหารน้ำแบบจังหวัดระยอง เพื่อนำน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรมหรือไม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า 1.ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อน เนื่องจากใช้น้ำทะเลในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้า 2.ไม่จำเป็นต้องมีบริษัทน้ำแบบจังหวัดระยอง เนื่องจากโรงไฟฟ้ามีระบบผลิตน้ำใช้เป็นของตัวเองอย่างเพียงพอ จึงไม่กระทบการใช้น้ำของชุมชน กลุ่มคัดค้านระบุว่า แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ต้องรอนสิทธิในที่ดินที่เป็นเส้นทางสายส่งไฟฟ้ากว้าง 30 เมตร ห้ามปลูกไม้ยืนต้นทุกชนิด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายค่าชดเชยการรอนสิทธิประมาณ 90% ของราคาประเมิน ส่วนความกว้างเขตแนวสายส่งขึ้นอยู่กับระดับแรงดันไฟฟ้า เช่น ระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ แนวเขตใต้สายส่งสามารถปลูกพืชบางชนิดได้ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น กลุ่มคัดค้านระบุว่า ยังไมมีข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะดำเนินการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอย่างไร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ในเบื้องต้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะใช้สายส่งระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ 4 วงจร เชื่อมต่อไปยังที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงทุ่งสง ระยะทางประมาณ 95 กิโลเมตร ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์ 1.กองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ระบุว่า ระหว่างก่อสร้าง (ระยะเวลาประมาณ 5 ปี) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ตามกำลังการผลิตติดตั้งในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนประมาณ 40 ล้านบาท/ปี ระหว่างการผลิตไฟฟ้า (ระยะเวลาประมาณ 25 ปี) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตรา 2.0 สตางค์/หน่วย เป็นรายเดือนตามปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น โรงไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะจ่ายเงินเข้ากองทุนประมาณ 112 ล้านบาท/ปี 2.ชุมชนร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) และคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.) ได้รับภาษีเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้า เช่น ภาษีโรงเรือน และที่ดิน เป็นต้น ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต วิถีชีวิตชุมชน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน (ไตรภาคี) ได้รับการจ้างงาน ส่งเสริมอาชีพ และกระจายรายได้ในพื้นที่ มีแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ทันสมัยของจังหวัด กลุ่มคัดค้านระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ 9 โรง เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักตามแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2010 พ.ศ.2553–2573) แผนดังกล่าวจัดทำโดยภาครัฐร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกปี กลุ่มคัดค้านระบุว่า มีพลังงานทางเลือกอื่นหรือไม่ ที่สามารถกยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ภาครัฐให้ความสำคัญและส่งเสริมสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นทุกปี ตามศักยภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ศึกษา และพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัด เช่น ถ้าไม่มีลมและไม่มีแสงแดดจะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ทำให้ใช้เป็นพลังงานหลักไม่ได้ รวมทั้งมีต้นทุนต่อหน่วยสูง กลุ่มคัดค้านระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปรับพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานสูงเกินจริงมีการบวกสำรองสูงถึงร้อยละ 15 ทำให้ต้องวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าเกินจริง ผลักภาระการลงทุนที่เกินความจำเป็นบวกกับค่าประกันกำไรของผู้ผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน ผ่านระบบต้นทุนผันแปร หรือค่าเอฟที การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ในส่วนค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า จัดทำขึ้นโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพลังงานกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยประมาณ 2–3 ปี/ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้พลังงาน สภาพเศรษฐกิจและข้อสมมุติฐานต่างๆ ในการจัดทำค่าพยากรณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมิให้การจัดหาไฟฟ้าสูงหรือต่ำเกินไป จนเกิดผลเสียต่อประเทศชาติและผู้ใช้ไฟฟ้า ถ้าหากพยากรณ์สูงเกินจริง จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้าสูงเกินความต้องการ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะถูกผลักสู่ค่าไฟฟ้า ทำให้ประชาชานต้องเป็นผู้แบกรับภาระในที่สุด ถ้าหากพยากรณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง จะทำให้ไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ส่งผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯ จึงติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าและสภาพเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปรับปรุงค่าพยากรณ์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนค่าเอฟทีกำหนดโดยอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและบริการ เสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้อนุมัติ โดยค่าเอฟทีจะพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงเป็นหลัก กลุ่มคัดค้านระบุว่า จังหวัดตรังใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 100 เมกะวัตต์ ขณะที่จังหวัดภูเก็ตใช้ไฟฟ้ามากที่สุดประมาณ 350 เมกะวัตต์ แต่จังหวัดตรังกลับมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป จึงเท่ากับจังหวัดตรังมีโครงการรุนแรง 8 โครงการอยู่ในพื้นที่เดียวกัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป ซึ่งมีค่ามาตรฐานที่ใช้ควบคุมการปล่อยมวลสาร และเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ว่าจะขนาด 100 เมกะวัตต์ หรือ 800 เมกะวัตต์ เท่ากับมีโครงการรุนแรง 1 โครงการเท่านั้น จากสถิติความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งรับพลังงานไฟฟ้าจากภาคกลาง และรับซื้อจากประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมเริ่มทยอยหมดอายุการใช้งาน จังหวัดตรังมีศักยภาพในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตของภาคใต้ และเกื้อหนุนไปในพื้นที่ภาคอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ กลุ่มคัดค้านระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เรียงลำดับพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังดังนี้ 1.บ้านทุ่งไพร ตำบลวังวน อำเภอกันตัง 2.ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง 3.ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นในพื้นที่ที่มีศักยภาพ 3 พื้นที่ เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมเพียง 1 พื้นที่เท่านั้น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 ก.พ. - 3 มี.ค. 2555 Posted: 04 Mar 2012 12:25 AM PST กลุ่มผู้ใช้แรงงานบริษัทผลิตรถยนต์ เรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ให้กับแรงงานที่มีฝีมือด้วย 27 ก.พ. 55 - ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ และบริษัทซิวเวอร์ไอซ์ จำนวนกว่า 200 คน ซึ่งมีนายมนัส โกศล ประธานองค์กรแรงงาน 7 องค์กร เป็นแกนนำ ได้ชุมนุมที่หน้ากระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลผ่าน นายเผดิมศักดิ์ สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ไปรับหนังสือข้อเรียกร้องด้วยตนเอง โดยแรงงานส่วนใหญ่ที่มาชุมนุมในวันนี้ มีอายุงานมากกว่า 5 ปี ต้องการให้รัฐบาลทบทวนการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ที่จะเริ่มในวันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้ ไม่เจาะจงเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำรายใหม่ แต่ควรรวมแรงงานเก่าที่มีฝีมือ และมีอายุงานมากกว่าด้วย เพราะการปรับขึ้นค่าแรงจะทำให้แรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าทำงานมีอัตราเงินเดือน มากกว่า หรือ ใกล้เคียงกับแรงงานเก่า นอกจากนี้ยังขอความเป็นธรรม กรณีที่บริษัทบางแห่งจะใช้วิธีการปรับขึ้นค่าจ้างด้วยการรวมค่าครองชีพไว้ใน ฐานเงินเดือน เพื่อให้ค่าจ้างเพิ่มเป็นวันละ 300 บาทด้วย ซึ่งรัฐมนตรีรับปากจะดูแลให้ และในระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องได้เกิดข้อถกเถียงเรื่องความเหมาะสมใน การชุมนุมระหว่างรัฐมนตรีกับนายมนัส โกศล เพราะกระทรวงแรงงานเกรงว่าอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานไม่พอใจ และระบุว่า การยื่นข้อเรียกร้องครั้งต่อไปจะไม่ยื่นผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ครอบครัวข่าว, 27-2-2555) "สภาพัฒน์" สรุปภาพรวมการจ้างงานปี 54 อัตราว่างงานต่ำ ชี้แรงงาน "ภาคเกษตร-นอกระบบ" ขาดประสิทธิภาพ 27 ก.พ. 55 - นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 4 และภาพรวมปี 2554 ว่า ในไตรมาส 4 อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.6% หรือมีผู้ว่างงาน 245,890 คน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบและลดลงมากในเกือบทุกสาขาทั้ง อุตสาหกรรมและภาคบริการ ภาพรวมเศรษฐกิจหดตัวถึง 9% สถานการณ์การจ้างงานและการว่างงานไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจและยังไม่สะท้อนผล กระทบที่ชัดเจนทันทีจากภาวะน้ำท่วม ส่วนการจ้างงานยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนถึง 0.9% แต่ไม่ได้ทำให้เกิดผลพวงทางเศรษฐกิจ ส่วนรายได้ที่แท้จริงของแรงงานชะลอลง โดยค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบ แทนอื่นเพิ่มขึ้น 7.4% แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 4% ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้นเพียง 3.2% ใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ที่ 3% โดยค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการป้องกันและ บรรเทาการเลิกจ้างที่ช่วยให้แรงงานบางส่วนที่ไม่ได้ทำงานในช่วงน้ำท่วมยังมี รายได้แม่จะต่ำกว่าปกติ ตลอดปี 2554 การว่างงานเฉลี่ยอยู่ในระดับ 0.7% โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.1% มีค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 2.8% โดยตลาดแรงงานยังคงตึงตัว แต่ถ้าจำแนกตามจำนวนชั่วโมงการทำงานรายสาขาการผลิตพบว่า ยังมีการทำงานที่ไม่เต็มศักยภาพหรือนับว่าเป็นแรงงานแฝงอยู่ในรูปของการทำ งานที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำงานต่ำระดับเนื่องจากคุณสมบัติของแรงงานไม่ตรงกับความ ต้องการของตลาด รวมทั้งแรงงานไร้ทักษะในภาคเกษตร ซึ่งเป็นผลจากการจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน คุณภาพแรงงานต่ำที่เป็นผลจากการศึกษาและการฝึกอบรมและขาดการศึกษาอย่างทั่ว ถึงของประชาชนในอดีต ดังนั้นเฉลี่ยโดยภาพรวมแล้วผลิตภาพแรงงานของไทยจึงต่ำ โดยเฉพาะในภาคเกษตรและแรงงานนอกระบบซึ่งรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ในระดับต่ำ โดยที่ไทยยังมีประชาชนกลุ่มยากจนและกลุ่มเสี่ยงอยู่ถึง 10 ล้านคน (เดลินิวส์, 27-2-2555) ห่วงครึ่งปีแรกแรงงาน 1.6 แสนคนถูกลอยแพ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)แถลงภาวะ สังคมไทยไตรมาส4/2554 (จีดีพีสังคม) ระบุว่า อัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 4/2554 อยู่ที่ 0.6% หรือเท่ากับมีผู้ว่างงาน 245,890 คน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การจ้างงานกลับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกันถึง 0.9% สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงถึง 9% เนื่องจากในส่วนของผู้ประกอบการด้านก่อสร้างและค้าปลีกค้าส่ง ยังคงมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการ ทั้งนี้ โดยภาพรวมการจ้างงานทั้งปี 2554 ยังเพิ่มขึ้น 1.1%ขณะที่อัตราการว่างงานเฉลี่ยทั้งปี 0.7%และช่วงไตรมาส 4 รายได้แท้จริงของแรงงานเพิ่มขึ้น 3.2% ทั้งปีเพิ่มขึ้น 2.8% ซึ่งถือว่าชะลอตัว นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ยังต้องติดตามในปี 2555 คือความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงาน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก ที่จะมีความชัดเจนจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมในการปรับ อัตราการจ้างงานและนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยพบว่าขณะนี้ มีแรงงานถึง 45,000 คน ที่ถูกเลิกจ้างงานจากสถานประกอบการ 122 แห่ง และอีก 284 แห่งที่ยังไม่สามารถ ส่งผลให้มีแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง เนื่องจากยังรอการกลับเข้าทำงานของโรงงานที่ถูกน้ำท่วม อีกจำนวนถึง 164,552 คน และเมื่อรวมกับอัตราการจ้างงานที่จะมีการปรับขึ้น สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงในการเลิกจ้างแรงงาน ประกอบด้วย การผลิตยานยนต์ เครื่องจักรสำนักงาน อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอเครื่องแต่งกาย เครื่องจักรที่ใช้ในงานทั่วไป โทรทัศน์ วิทยุ “ เชื่อว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นแรงกดดันให้แรงงานและผู้ประกอบการ ต่างเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพราะผู้ประกอบการต้องปรับตัวจากอัตราโครงสร้างการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นทั้ง ระบบ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแรงงานที่ได้รับค่าจ่างขั้นต่ำต่ำกว่า 300 บาท ประมาณ 5.1-6.9 ล้านคน และต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นในส่วนนี้ประมาณ 6.7-11.1 พันล้านบาทต่อเดือนหรือ 6.2-10.2% ของอัตราค่าจ้างเดิม (กรุงเทพธุรกิจ, 27-2-2555) เครือข่ายแรงงานฯ เรียกร้องค่าจ้าง 300 บาท ต้องเท่ากันทั่วประเทศทันที ลานพระบรมรูปฯ 28 ก.พ.- เครือข่ายแรงงานฯ เรียกร้องค่าจ้าง 300 บาท ต้องเท่ากันทั่วประเทศทันที ชี้ค่าครองชีพต่างจังหวัดไม่ได้ถูกกว่า พร้อมแนะนายจ้าง ขยับขึ้นค่าจ้างตามฝีมือ-อายุงาน เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างที่เป็นธรรม ประกอบด้วย สภาองค์กรลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงานในย่านอุตสาหกรรมต่าง ๆ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จำนวนกว่า 1,000 คน ชุมนุมเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ขึ้นค่าจ้าง 300 บาทนำร่องใน 7 จังหวัด ตั้งแต่ 1 เมษายนนี้ ขณะที่จังหวัดอื่นปรับขึ้นอีกประมาณร้อยละ 40 โดยรวมตัวที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงน.ส.ลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่หน้าทำเนียบรัฐบาล นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวยืนยันว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต้องปรับเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศทันที เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะปัจจุบันค่าครองชีพในต่างจังหวัด ไม่ได้ต่ำกว่ามากนัก การเลื่อนการขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท ในอีก 70 จังหวัดออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2556 ก็จะเจอปัญหาแบบเดิมอีก นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางออกมาระบุว่าหลังการปรับขึ้นค่าจ้าง ครั้งนี้ จะไม่มีการขึ้นค่าจ้างอีก 2-3 ปี เพราะจะไม่สะท้อนค่าครองชีพที่แท้จริง จึงขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนนโยบายดังกล่าว นายชาลี กล่าวอีกว่า หลังการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทแล้ว นายจ้างควรจะมีการปรับโครงสร้างค่าจ้างให้เป็นธรรม โดยการปรับขึ้นค่าจ้างตามฝีมือและอายุงานให้คนงานเก่าด้วย ไม่เช่นนั้นอาจเกิดคลื่นใต้น้ำหรือปัญหาภายในองค์กรขึ้น ส่วนท่าทีของนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ออกมาตำหนิการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานด้วยความรุนแรง และระบุว่าสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนนั้น ขอให้นายเผดิมชัย เปิดใจให้กว้าง เพราะกระทรวงแรงงานถือเป็นที่พึ่งของคนงาน ไม่ต้องการให้มาตำหนิกัน (สำนักข่าวไทย, 28-2-2555) โครงการป้องกันบรรเทาเลิกจ้างเฟส 2 สะดุด หลายโรงงานไม่คอนเฟิร์มจ้างคนงานต่อหรือไม่ นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีสถานประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะใน จ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ที่ยังไม่ยืนยันว่าจะร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างต่อหรือ ไม่ เนื่องจากยังไม่ตัดสินใจว่าจะเดินหน้าธุรกิจในอนาคตต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม ปลายปี 2554 โดยมีหลักการว่านายจ้างต้องไม่เลิกจ้างและจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 75% ของค่าจ้างเดิม ขณะที่ภาครัฐจะช่วยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างรายละ 2,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน ใช้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท ปัจจุบันมีสถานประกอบการขอเข้าร่วมโครงการ 1,787 แห่ง ครอบคลุมลูกจ้าง 3.2 แสนคน อย่างไรก็ตาม โครงการนี้สิ้นสุดลงวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา และเหลืองบที่ใช้ไม่หมดอีก 158 ล้านบาท กสร.จึงมีแนวคิดนำเงินดังกล่าวมาช่วยเหลือสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ แล้วแต่ยังฟื้นฟูโรงงานไม่เสร็จ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสรุปหลักเกณฑ์ว่าสถานประกอบการประเภทใดที่เข้าข่ายได้ รับการช่วยเหลือและจะช่วยเหลือต่ออีกกี่เดือนภายในวันที่ 15 ก.พ. แต่เนื่องจากสถานประกอบการหลายแห่งที่มีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ ตลอดจนบริษัทญี่ปุ่นซึ่งจะปิดปีงบประมาณในเดือน มี.ค.จึงยังไม่สามารถยืนยันการเข้าร่วมโครงการได้จนกว่าผู้บริหารในต่าง ประเทศจะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับโรงงานที่อยู่ในเมืองไทย “ผมสั่งให้สวัสดิการจังหวัดเร่งติดตามสถานประกอบการเพื่อยืนยันว่าจะ เลิกจ้างคนงานหรือเข้าโครงการต่อ ซึ่งหลายแห่งยังไม่คอนเฟิร์มเพราะรอตัดสินใจอนาคตทางธุรกิจเสียก่อน อย่างไรก็ตามคาดว่าตัวเลขต่างๆจะมีความชัดเจนภายในเดือน มี.ค.นี้ ”นายอาทิตย์ กล่าว ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2554 โดยระบุว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 มีแรงงาน 1.64 แสนคน ที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้ เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วมมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างหรือตกงาน ขณะที่การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทใน7 จังหวัด และจังหวัดอื่นๆ70 จังหวัด ที่มีการเพิ่มค่าจ่างขั้นต่ำ ในอัตรา 39.5% ในเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้สถานประกอบการบางส่วนทบทวนนโยบายจ้างงานและอาจอาศัย เหตุการณ์น้ำท่วมเป็นสาเหตุในการปิดบริษัท เลิกจ้าง หรือไม่จ่ายค่าจ้างอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการเลิกจ้างประกอบด้วย การผลิตยานยนต์ เครื่องจักรสำนักงานอิเล็ก ทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องแต่งกายเครื่องจักรใช้งานทั่วไปโทรทัศน์และวิทยุ เครื่องใช้ไฟฟ้ายาง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ในบ้านเรือนและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขณะเดียวกัน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายงานการเตือนภัยด้านแรงงานฉบับล่าสุด ระบุว่าการวิเคราะห์โอกาสของการเกิดวิกฤตการจ้างงานด้วยแบบจำลองโพรบิต (Probit Model) พบว่า โอกาสที่จะเกิดวิกฤตในตลาดแรงงาน ในไตรมาส 2 สิ้นเดือน มิ.ย.สูงถึง 86.94% ซึ่งอยู่ในระดับอันตราย (โพสต์ทูเดย์, 28-2-2555) บอร์ดค่าจ้างมีมติขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือทั้ง 22 สาขา ให้สอดคล้องกับค่าจ้าง 300 บาท ก.แรงงาน 1 มี.ค.- นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) เพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติใน 22 สาขาอาชีพ ที่ได้มีการประกาศใช้แล้ว ให้สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทที่จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ว่า คณะกรรมการค่าจ้างกลาง มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในทุกระดับ โดยระดับ 1 ปรับค่าจ้างขึ้นอีกร้อยละ 11.7-42.9 หรือเพิ่มขึ้นอีก 35-140 บาท สาขาที่ได้ปรับขึ้นต่ำสุด คือ ช่างเครื่องเรือนไม้ จากเดิมมีค่าจ้างระดับ 1 วันละ 300 บาท เพิ่มเป็น 335 บาท สาขาที่ได้ปรับขึ้นสูงสุด คือ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย จากเดิมค่าจ้างระดับ 1 วันละ 280 บาท ปรับเพิ่มเป็น 400 บาท ส่วนค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่ต่ำสุดใน 22 สาขาอาชีพ คือ ช่างเย็บและช่างบุครุภัณฑ์ มีค่าจ้างระดับ 1 วันละ 320 บาท ค่าจ้างสูงสุด คือ นวด สปาตะวันตก มีค่าจ้างวันละ 490 บาท ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือครั้งนี้ มีการปรับขึ้นในทุกระดับ โดยค่าจ้างระดับ 2 มีการปรับเพิ่มขึ้นวันละ 35-190 บาท ทำให้ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่วันละ 370 บาท สูงสุดที่ 650 บาท ส่วนระดับ 3 ปรับเพิ่มขึ้นวันละ 35 ถึง 210 บาท ทำให้ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่วันละ 420 บาท สูงสุดที่ 775 บาท โดยค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานอัตราใหม่นี้ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ พร้อมกับค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2555 (สำนักข่าวไทย, 1-3-2555) เตือนแรงงานไทยทำงานมาเลเซียผิดกม.เจอกวาดล้าง จัดหางานจังหวัดตรัง เตือนแรงงานไทยที่จะไปทำงานในมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย? เจอมาตรการทางกฎหมาของประเทศเพื่อนบ้านกวาดล้างทั้งปรับเงินและจำคุก นายอรุณ หมัดเหล็ม จัดหางานจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ทางการมาเลเซียจะดำเนินการกวาดล้าง ตรวจจับ และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย และผู้ที่อยู่อย่างผิดกฎหมายในมาเลเซียที่ไม่ได้ลงทะเบียนในแผนการนิรโทษ กรรมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย โดยได้จัดเจ้าหน้าที่จากกรมตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจและกองทัพมาเลเซีย จำนวน 4 ล้านคน เพื่อดำเนินการกวาดล้างและตรวจจับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด "ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย แต่อยู่เกินกำหนดที่ได้รับอนุญาตจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่ได้เดินทางเข้าไปโดยวีซ่าท่องเที่ยวหรือใบผ่านแดน (Border Pass) แล้วทำงานโดยผิดกฎหมายจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ"นายอรุณ กล่าว จัดหางานจังหวัดตรัง กล่าวต่อว่า ขอเตือนประชาชน คนหางานที่จะเดินทางไปทำงานในมาเลเซีย ให้งดการเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียอย่างไม่ถูกต้องหรือเดินทางเข้าไปแล้ว ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มิฉะนั้นจะถูกทางการมาเลเซียจับกุมและถูกดำเนินคดีดังกล่าว ทั้งนี้หากต้องการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้ติดต่อลงทะเบียน แจ้งความประสงค์จะเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดตรัง ศาลากลางจังหวัดตรัง หลังใหม่ ชั้น 2 อำเภอเมือง จังหวัดตรัง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หมายเลขโทรศัพท์ 075-214027-8 ในวันและเวลาราชการ (เนชั่นทันข่าว, 1-3-2555) ปรับเพดานค่าจ้างตามฝีมือแรงงาน 6 กลุ่ม 1 เม.ย. นี้ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง มีมติเห็นชอบ ให้ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติใน 6 กลุ่ม 22 สาขาอาชีพ ตามที่คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือนำเสนอตัวเลขผลการศึกษา เนื่องจากอัตราเดิมในบางสาขา มีอัตราค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติปรับค่า จ้างขั้นต่ำเพิ่ม ร้อยละ 40 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ 7 จังหวัด ค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งมีผลในวันที่ 1 เม.ย.นี้ การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ยึดหลักการให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งจะต้องสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และการจ่ายค่าจ้างตามาตรฐานฝีมือจะต้องเป็นไปตามสภาพการจ้างงานของแต่ละสาขา อาชีพ และความสามารถในการจ่ายของนายจ้างในตลาดแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 6 กลุ่มใน 22 สาขาอาชีพ ที่คณะกรรมการค่าจ้างเห็นชอบให้ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1. กลุ่มช่างเครื่องกล ให้ปรับเพิ่มขึ้น 85 บาท ในทุกสาขา/ทุกระดับ เช่น ช่างสีรถยนต์ ค่าจ้างใหม่ 400-530 บาทต่อวัน ,ช่างเคาะตัวถังรถยนต์ 420-590 บาทต่อวัน, ช่างซ่อมรถยนต์ เพิ่มเป็นวันละ 360 -530 บาทต่อวัน 2. กลุ่มภาคบริการ ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.5 ทุกสาขา/ทุกระดับ เช่น ผู้ประกอบอาหารไทย เพิ่มเป็นวันละ 400-510 บาทต่อวัน , พนักงานนวดไทย เพิ่มเป็นวันละ 440 -720 บาทต่อวัน และนักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันออก หรือ หัตถบำบัด เพิ่มเป็นวันละ 490 - 650 บาทต่อวัน 3. กลุ่มช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ให้ปรับเพิ่มขึ้น 100 บาท ทุกสาขา/ทุกระดับ แยกเป็น ช่างซ่อมไมโครคอมพิวเตอร์ , ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร , ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม , ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก และช่างอิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมโทรทัศน์ เพิ่มเป็นวันละ 400 บาท ระดับ 2 เดิมได้วันละ 400 - 600 บาท 4. กลุ่มช่างอุตสาหการ ปรับค่าจ้างแตกต่างกันตามความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและตลาดแรงงาน แยกเป็น ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ เพิ่มเป็นวันละ 460-670 บาท, ช่างแม็ก เพิ่มเป็นวันละ 400-600 บาท และ ช่างเชื่อมทิก เพิ่มเป็นวันละ 455-775 บาทต่อวัน 5. กลุ่มช่างก่อสร้าง ให้ปรับเพิ่ม 85 บาท ทุกสาขา/ทุกระดับ เช่น ช่างไม้ก่อสร้าง เพิ่มเป็นวันละ 385 - 605 บาท ,ช่างก่ออิฐ เพิ่มเป็นวันละ 345-585 บาท ,ช่างฉาบปูน เพิ่มเป็นวันละ 385-605 บาทต่อวัน และช่างอะลูมิเนียมก่อสร้าง เพิ่มเป็นวันละ 365-585 บาท 6. กลุ่มช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ให้ปรับเพิ่มตามสภาพการจ้างงานของแต่ละสาขาอาชีพ แยกเป็น ช่างเย็บเพิ่มเป็นวันละ 320-500 บาท ,ช่างเครื่องประดับ หรือช่างเครื่องประดับอัญมณี เพิ่มเป็นวันละ 400-750 บาท , ช่างเครื่องเรือนไม้ เพิ่มเป็นวันละ 335 - 435 บาท และช่างบุครุภัณฑ์ เพิ่มเป็นวันละ 320-420 บาทต่อวัน ทั้งนี้ การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ สาขาที่ปรับเพิ่มต่ำสุดคือ สาขาช่างเครื่องเรือนไม้ ระดับ 1 เดิมได้วันละ 300 บาท เพิ่มเป็นวันละ 335 บาท คิดเป็นร้อยละ 11.7 ส่วนสาขาที่ได้ปรับสูงสุดคือ ผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 เดิมได้วันละ 280 บาท เพิ่มเป็นวันละ 400 บาท คิดเป็นร้อยละ 42.9 การปรับครั้งนี้เพื่อให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ได้รับการขยับเพดานเพิ่มสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ พร้อมการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนกรณีที่เครือข่ายแรงงานเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ แต่เข้าใจว่า ในประเด็นนี้ได้มีความชัดเจนพอสมควร ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจดี และ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจดีแล้ว (ไทยพีบีเอส, 3-3-2555) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
"เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ" ตัวการขัดขวางกระบวนการเป็นประชาธิปไตย Posted: 04 Mar 2012 12:22 AM PST ชุดความรู้คำอธิบายต่อปัญหา “หมอกและควัน” ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีของทุกปี มักจะมีคำอธิบายเดิมๆ ซ้ำๆ เช่นไฟป่าตามธรรมชาติ[1] ไฟจากน้ำมือมนุษย์ และแน่นอนว่าปรากฏการณ์ไฟจากน้ำมือมนุษย์น่าจะเป็นชุดความรู้คำอธิบายที่เกิดขึ้นหลังจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชนบท ซึ่งอย่างน้อยก็เข้มข้นและหนักหน่วงขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา[2] ชุดความรู้คำอธิบายจากช่วงเวลาดังดังกล่าวก็อาจมาจาก “วาทกรรมการพัฒนา”[3] ด้วย ที่ได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้ผู้คนในสังคมเป็น 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่ม “คนในเมือง” ซึ่งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมหรือพื้นที่เจริญกว่าคนอีกกลุ่มคือ “คนชนบท” ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่เกษตรกรรม ภาคเหนือและภาคอีสานกลายเป็นพื้นที่ๆ ถูกจัดวางไว้ในเขตชนบท แม้ว่าปัจจุบันชนบทจะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม แต่ในจินตนาการของ “คนชั้นกลางในเมือง” ชนบทก็ยังเป็นชนบทแบบในละครอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ในความเป็นจริงถึงแม้ว่าพื้นที่ในภาคเหนือและภาคอีสานจะเป็นเขตเกษตรกรรม แต่ก็ไม่ใช่การทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม (ที่ทำเพื่อยังชีพ) เพราะพวกเขาที่เป็นเกษตรกรจะต้องข้องเกี่ยวกับทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนต้องคำนวณต้นทุนอย่างเป็นระบบ และอีกอย่าง พืชเงินสด (cash crops) ทั้งหลาย ที่ปลูกกันในภาคเหนือภาคอีสานก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่สะท้อนความต้องการบริโภคแบบสังคมสมัยใหม่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในการผลิตโปรตีนจากสัตว์ และน้ำตาลก็เป็นพืชที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอาหารอีกหลากหลายชนิดที่ตอบสนองต่อความต้องการการบริโภคแบบสมัยใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงบอกได้ว่าภาคเหนือและภาคอีสานคือพื้นที่รองรับการผลิตอาหารเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของ “คนในเมือง” ที่ไม่สามารถผลิตอาหารเองได้ “การเผา” เพื่อผลิตพืชเงินสดทั้งหลาย ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการตอบสนองการบริโภคแบบสังคมสมัยใหม่ที่คำนวณต้นทุนการผลิตอย่างดีแล้วว่า “คุ้มค่า” มากที่สุด อย่างน้อยก็ในระบบคิดของเกษตรกรซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับระบบคิดของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป “คนชั้นกลางในเมือง” ที่อ่อนไหวต่อปัญหานี้ตามหลักสากล หรือไม่ก็อ่อนไหวเพราะรู้สึกว่าขาดแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไป 2 พื้นที่ หรือพวกเขาแกล้งลืมไปว่าพวกเขาก็เป็นต้นตอของปัญหา ซึ่งพวกเขาเป็นแหล่งกำเนิดของอุปสงค์ต่อสินค้าที่สนองตอบต่อรูปแบบการบริโภคสมัยใหม่ จึงทำให้พวกเขาหลับหูหลับตาและเชื่อว่าสาเหตุหลักของการเกิดหมอกควันคือเป็นเพราะชาวบ้าน “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ว่าเป็นสาเหตุหลัก “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ช่างเป็นคำอธิบายถึงสาเหตุควันไฟที่ดูถูกวิถีชีวิตของคนเหนือและอีสานจริงๆ ในที่นี้ไม่แน่ใจว่าคำกล่าวอ้างนั้นเป็นจริงหรือไม่ แต่ดูโดยเหตุผลแล้วมันไม่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดหมอกควันได้เลยเพราะจากรูปที่1 ภาพถ่ายแสดงพื้นที่ไฟป่าปีพ.ศ.2545 – 2550 รูปที่ 1 ภาพถ่ายแสดงพื้นที่ไฟป่าปี พ.ศ.2545 – 2550[4]
จากรูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาเดียวในระยะเวลาห่างกัน 5 ปีการเกิดไฟป่ากินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างมากจากปีพ.ศ.2545 – 2550 จึงทำให้เกิดคำถามว่า ในเมื่อสังคมใน 5 ปีมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การบริโภคแบบสมัยใหม่ก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น แล้วการบริโภคในรูปแบบสมัยใหม่เข้มข้นขึ้นมันจะกระตุ้นอุปสงค์ต่อของป่าอย่างผักหวานและเห็ดเผาะให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร? จนทำให้ชาวบ้านเกษตรกรซึ่งก็มีรูปแบบการผลิตที่ใช้ทุนเข้มข้นขึ้นทุกวันรู้สึกว่าการเผาเพื่อหาของป่านอกฤดูทำนามันคุ้มค่าได้อย่างไรในเมื่ออุปสงค์ต่อรูปแบบการบริโภคสมัยใหม่เพิ่มขึ้น? คำตอบในขั้นต้นคือ อุปสงค์ต่อของป่าน่าจะลดลงตามความเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมือง ดังนั้น “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” จึงไม่น่าจะใช่สาเหตุหลักแน่นอน แต่การเผาเพื่อผลิตพืชเงินสดเช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยยังจะฟังมีเหตุผลมากกว่า ดังนั้นจึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วทำไมคำอธิบายว่า “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” เป็นสาเหตุหลักของหมอกควันในปีพ.ศ.2555 จึงยังคงมีน้ำหนักอยู่? ดังเช่นคำอธิบายที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นจากแหล่งข่าวหนึ่งว่า “อธิบดีกรมคบคุมมลพิษชี้สาเหตุคนเผาป่าภาคเหนือเพื่อหาเห็ดเผาะและเก็บผักหวาน หากไม่เผาผักหวานจะไม่แตกยอด เผยปัญหาหมอกควันเริ่มลดลง แต่นิ่งนอนใจไม่ได้ กำชับผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดกวดขันเต็มที่”[5] ข้อความจากแหล่งข่าวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคำอธิบาย “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” อาจเกิดขึ้นในหัวของเจ้าหน้าที่รัฐหรือเป็นสมมติฐานเบื้องต้นที่เชื่ออย่างสนิทใจว่าชาวบ้านเกษตรกรเป็นตัวปัญหาเนื่องจากพวกเขาไม่มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่มีความรู้ในเรื่องการเกษตร และไม่คิดถึงผู้อื่นหรือคิดแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นต้นดังข้อความจากแหล่งข่าวหนึ่งดังนี้ “…มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดูแลและป้องกันไฟป่าในเขตภาคเหนือมาให้ความรู้ว่า สาเหตุที่เกิดไฟไหม้ป่าหลายจุดทั่วไปในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง มีสาเหตุหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักมาจากคนท้องถิ่นบุคคลเหล่านี้ทำมาหากินอยู่กับการทำไร่ทำนาที่ติดกับป่าเขา เมื่อหมดหน้าไร่นาย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง คนเหล่านี้จะออกหาของป่ามาขายอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านต้องการคือยอด ผักหวาน ที่เกิดขึ้นตามความเชื่อของชาวบ้าน คือภายหลังจากไฟไหม้ป่า... แต่ในความเป็นจริงนั้นเจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าแม้ไม่มีไฟไหม้ป่าผักหวานก็ถอดยอดเมื่อมีฝนตกหลังฤดูแล้งอยู่ดี แต่ความรู้นี้บอกให้ตายก็ยังถอนความเชื่อผิดๆ ออกจาสมองชาวบ้านไม่ได้ จนเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่รู้จะทำยังไง ก็ได้แต่ระวังป้องกันและให้ความรู้กันต่อไปจนกว่าความรู้เรื่องผลเสียหายของการเผาป่าจะเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน…”[6] ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะทำลายความเชื่ออัน “หนักแน่น” ดังกล่าวได้ ยิ่งคำอธิบายนั้นๆ ออกมาจากปากของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นผู้ที่มี “ความรู้” และ “ใกล้ชิดกับปัญหา” นอกจากนั้นคำอธิบายในหัวของ “คนชั้นกลางในเมือง” พวกเขาก็ยิ่งเชื่ออย่างสนิทใจว่า พวกคนชนบทชอบเผา เมื่อผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมปีพ.ศ.2553 ที่มีเหตุการณ์เผากลางเมือง ด้วยอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจต่อคนชนบทเดิมที่มีอยู่แล้วว่าเป็นพวก “โง่ จน เจ็บ” ป่าเถื่อน และ ไร้ “วุฒิภาวะทางการเมือง” ก็ยิ่งทำให้พวกเขาพร้อมที่จะโยนความผิดให้กับคนเหนือและอีสานว่าเป็นสาเหตุของมลพิษทางอากาศ ประกอบกับหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคมปี พ.ศ.2554 ได้มีการแสดงความคิดเห็นในเครือข่ายเฟสบุคของนักศึกษาระดับปริญญาเอกคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษต่อผลการเลือกตั้งผ่านรูปภาพเปรียบเทียบระหว่าง GDP ต่อหัว หรือ (GDP per capita) กับจำนวนที่นั่ง ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมปีพ.ศ.2554 ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส.เป็นเสียงข้างมากดังรูปที่2 GDP ต่อหัวเปรียบเทียบกับจำนวนที่จำนวนที่นั่ง ส.ส. (หมายเหตุ: สีแดงคือพรรคเพื่อไทย สีฟ้าคือพรรคประชาธิปัตย์ และสีน้ำเงินเข้มคือพรรคภูมิใจไทย)
รูปที่ 2 GDP ต่อหัวเปรียบเทียบกับจำนวนที่จำนวนที่นั่ง ส.ส.[7] จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยเท่ากับพื้นที่ๆ มี GDP ต่อหัวต่ำ นั่นก็คือพื้นที่ภาคเหนือกับภาคอีสาน หากนำรูปที่1 กับรูปที่2 มาเทียบกันก็จะเห็นว่าพื้นที่ๆ เกิดไฟป่ากับพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยคือพื้นที่ๆ เดียวกัน จึงทำให้มีถ้อยคำแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดของเสรีไทย (webboard.serithai.net) ในหัวข้อชื่อกระทู้ “เชียงใหม่ วันนี้” โดย 1[8] 26 กุมภาพันธ์ 2555 20:07 ซึ่งมีคำอธิบายเกี่ยวกับหมอกควันเชื่อมโยงกับ “อคติทางการเมือง” เข้าด้วยกันดังข้อความที่จะยกมาต่อไปนี้ “1 : พอดีมีธุระด่วนที่เชียงใหม่ เกี่ยวกับผักของโครงการ ได้เห็นสภาพของป่าไม้ นั่งดื่มกาแฟกับเพื่อนที่ริมเขื่อนแม่กวง เห็นไฟไหม้ป่า จึงถามมันว่าไฟมาจากไหน ชาวบ้านเผา เพราะต้องการให้หวานมันแตกยอด เพราะคิดอย่างนี้จึงเลือกทักษิณ... คิดแต่ผลประโยชน์สั้นๆ วันนี้ แต่วันหน้าต้องแลกกับอะไรไม่สนใจ 1 : ชาวบ้านอีสานก็คิดเหมือนกัน ป่าสงวนที่เป็นป่าเต็งรังที่ชาวบ้านเข้าถึงโดนเผาก็เพราะเหตุผลนี้ ต้นไม้ในป่าเต็งรับโดนไฟลวกจะใบร่วงแล้วแตกใบใหม่ ไม้พื้นล่างของป่า ส่วนใหญ่จะเป็นต้นเพ็ก (เหมือนต้นไผ่แต่สูงประมาณเอว) พอไหม้เตียนแล้วจะเดินหาของป่าสะดวก 2 : ตายห่ายกจังหวัดเลยก็ได้ครับ ผมจำได้ม่ะเหตุการณ์เผาเมือง ผมเรียนอยู่เค้าเดินถือขวดเอ็ม 150 มาพร้อมน้ำมัน มาหน้าตึกเรียนพิเศษแล้วยามถามว่ามาจากไหนกันเนี๊ย เค้าบอกว่ามาไกลจากเชียงใหม่แน่ะ เค้าบอกว่ามาเพื่อความยุติธรรม ผมล่ะเห้อสมองเน้อ สมอง 3 : แรงไปครับ อย่างเหมารวมดิครับเชียงใหม่ฉลาดๆ ก็มีนะครับ 4 : แดงควายเยอะ ถนัดเรื่องเดียว เรื่องเผา อ้ายโปก อยากตาย 1 : ไม่เป็นไร เดี๋ยวพ่อแม้วเนรมิตทีมบอลเชียงใหม่ให้ (ทั้งที่มันทำแมนซิร่อแร่ คิดดู) ไม่เป็นไร เดี๋ยวพ่อแม้วโยกเงินมาลงทุนรถไฟไปเมืองจีนให้ (ระวังจะเหมือนโครงการถมทะเล ป่านนี้ไปลงหลุมไหนแล้วล่ะ) ไม่เป็นไร เดี๋ยวพ่อแม้วจะสร้างความเจริญทดแทนให้ (ทุ้ยยยย) เบื่อจะเคลียร์ อ่อนเพลียจะพูด หน้าผมเป็นตรูดทุกครั้งที่พูดถึงไอ้แม้วมัน 5 : ต้องขอโทษคนเหนือที่ยังเป็นคนอยู่ ผมและครอบครัวหลงใหลเชียงใหม่และภาคเหนือ ปีหนึ่งๆ ต้องไปไม่ต่ำกว่าสี่ครั้ง แต่ละครั้งจะพักหลายวันเพราะมีที่พักดีๆ เกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วไม่ได้ไปเลย เพราะไม่ชอบแนวความคิดนิยมเผาบ้านเผาเมืองและเห็นการจาบจ้วงสถาบันฯ อย่างเปิดเผย คนที่เคยหลงใหลภาคเหนือเป็นเหมือนผมหลายคน คงมีคนนิยมเผาฯ หลายคนพูดว่าไม่เห็นต้องง้อให้ผมไปเที่ยวเชียงใหม่เลย ซึ่งผมก็ว่าไม่ผิดอะไรเพราะเป็นท้องที่ของท่าน แต่ที่อยากจะฝากบอกคือเงินที่มันได้มาง่ายๆ มักหมดเร็ว ไม่ว่าจะมีบางตระกูลหยิบยื่นให้เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือการลงทุนเผาป่าให้ได้ผักหวานและให้เดินเข้าไปเก็บของป่าโดยสะดวกที่จะหมดไปพร้อมเงินคือความรู้ผิดชอบชั่วดี ถึงตอนนั้นจะไม่มีใครสงสารเห็นใจ”[9] ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแม้แต่คำอธิบายที่ว่า “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ก็ได้กลายเป็นสาเหตุหลักของหมอกควันซึ่งเต็มไปด้วยความรู้สึกเหยียดหยามราวกับว่าประเทศเรายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชีวิตหาของป่าล่าสัตว์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และนอกจากนั้นคนกลุ่มดังกล่าวยังเป็นฐานเสียงให้กับพรรคการเมืองที่พวกเขา (คนชั้นกลางในเมือง) “ไม่รัก อคติทางการเมืองเหล่านี้ใช่หรือไม่? ที่ทำให้เรายังไม่เข้าใจกันและเป็นตัวการณ์สำคัญในการกลบเกลื่อนปัญหาที่แท้จริงของหมอกควันอันจะทำให้ภาครัฐและสังคมเข้าใจและร่วมกันแก้ปัญหาอย่างตรงจุด อีกทั้งปัญหาหมอกควันจากการชุดความรู้คำอธิบาย “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ยังเป็นคำอธิบายที่ตลกร้ายซ่อนนัยขัดขวางความเป็นประชาธิปไตยซึ่งควรจะเป็นสังคมที่มนุษย์มองมนุษย์ด้วยกันอย่างมีคุณค่าเท่าเทียม [1] เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากสภาพอากาศในช่วงต้นปีค่อนข้างจะแห้งประกอบกับป่าไม้สะสมเชื้อเพลิงไว้ในตัวเองในระดับ แต่สาเหตุนี้เหมือนกับว่าถูกลืมไป และถูกกลบเกลื่อนด้วยคำอธิบาย “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” [2] โปรดดู ผาสุก พงษ์ไพจิตร คริส เบเคอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. เชียงใหม่: ซิลค์วอร์ม. 2546, หน้า 65 ตารางแสดงเนื้อที่ปลูกพืชไร่แยกรายภาคปีพ.ศ.2493 – 2542 แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของเนื้อที่ปลูกไร่เช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปลูกอ้อยในภาคเหนือและภาคอีสาน ขยายตัวในอัตราที่ก้าวหน้าหากเทียบกับภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปีพ.ศ.2523/2524 เป็นต้นมาถึงปีพ.ศ.2542 ในที่นี้ไม่มีตัวเลขใกล้เคียงกับปัจจุบันแต่คาดว่าอาจมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น [3] วาทกรรมการพัฒนาของไทยเกิดขึ้นในทศวรรษ 2500 เป็นต้น ซึ่งมีผู้ผลิตคำอธิบายและเริ่มจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้กับคนในสังคมเป็น 2 กลุ่มดังกล่าวคือพระยาอนุมานราชธนวิเคราะห์จากงาน สายชล สัตยานุรักษ์. ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.2435-2535). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สกว. 2550, หน้า 309 - 455 [4] ไฟมา-ป่าหมด ไฟป่าปี 50 รุนแรงที่สุด...มีหลักฐาน [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/84281 (3 มีนาคม 2555) [5] แฉสาเหตุใหญ่เผาป่าภาคเหนือหวังหาเห็ด-ผักหวาน (จริงไหมครับ?) [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา Chttp://www.chiangraifocus.com/forums/index.php?topic=191754.0 (3 มีนาคม 2555) [6] ฤาจะเผาป่าเพียงเพราะให้ได้ผักหวาน !!!! [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=409798 (3 มีนาคม 2555) [7] จากเฟสบุคของนักศึกษาระดับปริญญาเอกคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการแชร์ลิงค์กันหลังผลการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคมปีพ.ศ.2554 [8] นามสมมติ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รายงาน: ‘บึ้ม 3 ห้างปัตตานี’ ไม่ได้มุ่งชีวิตแค่ต้องการวางเพลิง Posted: 03 Mar 2012 11:28 PM PST แกะปมลอบวางระเบิด 3 ห้างดังปัตตานีกลางดึก ตำรวจยันคนร้ายไม่ได้มุ่งชีวิต เพียงแค่ต้องการลอบวางเพลิง โยงเผาโรงงานไม้ยางพาราร่วมทุน 5 ชาติคืนเดียวกัน เชื่อเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ “นี่เป็นการวางระเบิดที่มีวัตถุประสงค์ต้องการวางเพลิงเป็นครั้งแรก” เป็นคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด ถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ห้างบิ๊กซี ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันกับห้างซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ หรือซุปเปอร์ศรีเมือง และเคพีมินิมาร์ท 3 ห้างสรรพสินค้าในจังหวัดปัตตานี เมื่อเวลาประมาณ 24.00 น. คืนวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 “การจุดระเบิดในลักษณะนี้ ป้องกันได้ค่อนข้างยาก เพราะระเบิดมีขนาดเล็ก สามารถซุกซ่อนในกล่องขนาดเล็กๆ เห็นได้จากคราวนี้วงจรระเบิดซุกอยู่ในกล่องคียบอร์ด ที่ตกแต่งให้มีขนาดประมาณกล่องยาสีฟัน วัสดุที่ใช้ก็เป็นวัสดุที่หาได้ในชีวิตประจำวัน” เจ้าหน้าที่หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด กล่าว สำหรับเหตุเพลิงไหม้ห้างบิ๊กซีปัตตานี ร.ต.ท.ฟาฮามี เฮ็งปิยา พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี สันนิษฐานว่า คนร้ายซุกระเบิดไว้สองจุดภายในอาคารขายสินค้า จุดแรกที่ชั้นวางของแผนกขายผ้าอ้อม อีกจุดที่แผนกขายผงซักฟอก เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสามารถดับเพลิงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความเสียหายไม่มากนัก จากการสำรวจสถานที่เกิดเหตุพบว่า ทางห้างบิ๊กซีได้นำแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดสีขาวขนาดใหญ่มาปิดทับชั้นวางของแผนกผ้าอ้อม ทำให้มองบริเวณที่เกิดเหตุไม่ชัด ขณะที่ห้างยังคงเปิดดำเนินการตามปกติ ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัดซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ปัตตานี หรือซุปเปอร์ศรีเมือง คนร้ายได้วางระเบิดไว้สองจุดเช่นกัน แต่เพลิงลุกไหม้เพียงจุดเดียวคือ ด้านหลังอาคาร ซึ่งเป็นบริเวณขายส่งสินค้าประเภทเครื่องดื่ม ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมอยู่ด้วย มูลค่าความเสียหายประเมินเบื้องต้นประมาณ 3 ล้านบาท “คาดว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องตั้งเวลาโดยนาฬิกาปลุก ใช้ไม้ขีดประมาณหนึ่งกำมือเป็นตัวจุดชนวน ไม่ได้มุ่งเอาชีวิต” ร.ต.ท.ฟาฮามี เฮ็งปิยา กล่าว ส่วนเหตุเพลิงไหม้ที่เคพี มินิมาร์ท อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ร.ต.อ.พิชัย วรรธนะวลัญช์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สันนิษฐานว่า ผู้ก่อความไม่สงบได้นำระเบิดไปวางที่บริเวณชั้นวางขายน้ำยาระงับกลิ่นกาย มูลค่าความเสียหายโดยรวมประมาณ 3 ล้านบาท ถึงแม้ร.ต.อ.พิชัย วรรธนะวลัญช์ เชื่อว่าเหตุระเบิดเคพี มินิมาร์ท มีความเชื่อมโยงกับเหตุวางเพลิงในตัวเมืองปัตตานี ทว่า ระเบิดที่เคพี มินิมาร์ท ทำงานได้สมบูรณ์จนไม่พบซากวัตถุระเบิด จึงไม่แน่ชัดว่าใช้ไม้ขีดเป็นเชื้อปะทุหรือไม่ “ผมอยู่จังหวัดปัตตานีมาแล้ว 5 ปี นี่เป็นการวางระเบิดร้านมินิมาร์ทเป็นครั้งแรก” ร.ต.อ.พิชัย วรรธนะวลัญช์ กล่าว เจ้าหน้าที่ทำลายล้างวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ระบุว่า การต่อวงจรระเบิดในเหตุการณ์ทั้ง 3 แห่ง มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ เป็นวงจรระเบิดที่จุดชนวนด้วยนาฬิกาปลุก เพื่อให้เกิดประกายไฟ โดยใช้น้ำมันบรรจุขวดเป็นเชื้อปะทุแทนดินระเบิด ถ้าจะตรวจหาวัตถุระเบิดเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องใช้เครื่องเอกซเรย์แบบที่ใช้กันในสนามบิน ซึ่งทำได้ยาก ตำรวจเชื่อว่าเหตุการณ์ระเบิดห้างสรรพสินค้าทั้ง 3 แห่ง เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ด้วยเพราะในคืนเดียวกันนี้ มีเหตุการณ์ระเบิดที่อำเภอโคกโพธิ์อีกจุด และที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีก็เกิดเหตุด้วยเช่นกัน สำหรับเหตุการณ์ที่อำเภอโคกโพธิ์ เป็นการลอบวางเพลิงโรงเก็บไม้ยางพาราของบริษัท เคเอ็มไพรเวท จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง 5 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า และฟิลิปปินส์ ก่อนหน้านี้โรงงานแห่งนี้เป็นกิจการของบริษัท ธานินทร์พาราวู้ด จำกัด ซึ่งปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว ร.ต.อ.พิชัย วรรธนะวลัญช์ สันนิษฐานว่า คนร้ายลอบวางเพลิง ด้วยการราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผา เนื่องจากเจ้าหน้าที่พบแกลลอนวางอยู่ในที่เกิดเหตุ คาดว่าใช้น้ำมันประมาณสองแกลลอนในการวางเพลิง ส่วนที่อำเภอสายบุรี เป็นเหตุการณ์คนร้ายลอบวางเพลิงเผารถยนต์ ในบ้านพักแขวงการทาง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คนกันตังชักธงรบ ‘กฟผ.’ ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง Posted: 03 Mar 2012 11:22 PM PST เครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิดจัดเวทีเสวนา “ร่วมปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด” ชี้โรงไฟฟ้าถ่านหินทำลายสิ่งแวดล้อม คนในพื้นที่ค้าน กฟผ.สุดตัว ระบุไม่อยากเห็นแก่เงินทองและสิ่งของเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่ กฟผ.เอามาแจกแล้วแลกกับวิถีชีวิต เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 3 มีนาคม 2555 ที่โรงเรียนบ้านแหลม ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิดจัดเวทีเสวนา “ร่วมปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด” ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีชาวบ้านตำบลวังวน และตำบลที่เป็นพื้นที่ศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง เข้าร่วมประมาณ 200 คน สำหรับบริเวณหน้าเวทีมีการขายเสื้อ และเปิดรับบริจาคเพื่อเป็นกองทุนในการขับเคลื่อนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังด้วย ขณะที่ตามหน้าบ้านของชาวบ้านบ้านแหลม หลายบ้านต่างติดป้ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน นางสาวศยามล ไกรยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการจิตสำนึกนิเวศวิทยา นำเสนอว่า รายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังระบุว่า เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินซับบิทูบินัสวันละ 7,144 ตันต่อวัน ปีละ 2.23 ล้านตัน เพื่อผลิตไฟฟ้า สูบน้ำทะเลมาใช้วันละ 2,190,836 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แล้วปล่อยกลับลงทะเล น้ำทะเลสำหรับผลิตน้ำจืด 4,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่มีท่าเรือขนส่งถ่านหิน โดยเรือขนลำละ 8-9 พันตัน ปีละ 279 เที่ยวต่อปี “พื้นที่ศึกษาสถานที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ประกอบด้วย บ้านหัวหิน ตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง บ้านเกาะแลน ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง บ้านหาดทรายขาว ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง บ้านนายอดทอง ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และบ้านทุ่งค่าย ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง” นางสาวศยามล นำเสนอ นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ นักวิชาการจากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต นำเสนอว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP 2010) ของกระทรวงพลังงาน ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ 5 โรง รวมทั้งสิ้น 5,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 15 โรง รวมทั้งสิ้น 16,670 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง รวมทั้งสิ้น 8,400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 4,617 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากเขื่อน 512 เมกะวัตต์ ขณะที่ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 7,137 เมกะวัตต์ และซื้อต่างประเทศ 11,669 เมกะวัตต์ “ปัญหาของแผน PDP คือมีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าปี 2554 สูงเกินจริง โดยมีการคาดการณ์ความต้องการอยู่ที่ 24,568 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดจริงอยู่ที่เพียง 23,900 เมกะวัตต์ การพยากรณ์อยู่บนพื้นฐานของสมมติฐานของอัตราการเติบโตของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ต่อปีของไทยจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 4.4% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และเพิ่มเป็น 4.11% ใน 20 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่แค่ 2.9%” นายสันติ นำเสนอ นายศักดิ์กมล แสงดารา ชาวบ้านตำบลบางสัก กล่าวในเวทีว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ตอนนี้ที่ตำบลบางสักมีการรวมกลุ่มกันแล้วประมาณ 1 พันกว่าคนที่จะคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน “คนตรังหากินกับทะเล ทะเลตรังมีพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีปู ปลา กุ้ง หอย นานาชนิด แล้วหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นจะมีอะไรมารับประกันว่าจะไม่ส่งกระทบกับทะเล และสภาพอากาศของจังหวัดตรัง เพราะขนาดเกิดเหตุไฟไหม้ป่าที่อินโดนีเซียยังส่งผลกระทบมาถึงจังหวัดสตูลเลย” นายศักดิ์กมล กล่าว นายวุฒิชัย หวังบริสุทธิ์ ชาวบ้านตำบลวังวน กล่าวในเวทีว่า จุดยืนของตนคือไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ก่อนได้ถามชาวบ้านในเวทีว่า เอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง โดยมีชาวบ้านในเวทีต่างกล่าวขานตอบกลับมาว่า ไม่เอา “ถ้าไม่เอา เราจะต้องมีการรวมกลุ่มกันระหว่างชาวบ้านในตำบลที่เป็นพื้นที่ศึกษาของกฟผ. ที่จะตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง ทั้ง 5 พื้นที่ โดยหารือวางแผนร่วมกันว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป” นายวุฒิชัย กล่าว นายย่าเด็น โต๊ะมา ชาวบ้านตำบลกันตังใต้ กล่าวในเวทีว่า ตนทราบมาว่าก่อนหน้านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีการแจกสิ่งของให้กับคนชรา มีการอุดหนุงบประมาณให้กับมัสยิด วัด โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล และชุมชนในตำบลวังวน ขณะเดียวกันตนทราบมาว่าในเดือนมีนาคม 2555 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะนำผู้นำชุมชน และชาวบ้านในตำบลกันตังใต้ไปดูงานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง “ผมจึงไม่อยากให้พี่น้องเห็นแก่เงินทองและสิ่งของเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่กฟผ.เอามาแจกแล้วแลกกับวิถีชีวิตของเรา ชีวิตของลูกหลานในวันข้างหน้า เราต้องช่วยกันคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมกัน” นายย่าเด็น กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เมื่อขั้วอนุรักษ์นิยมประชันกันในการเลือกตั้งอิหร่าน Posted: 03 Mar 2012 11:08 PM PST การเลือกตั้งส.ส. ครั้งล่าสุดในอิหร่าน ฝ่ายค้าน ฝ่ายปฏิรูปส่วนใหญ่บอยคอตต์ จนเหลือแต่ขั้วอำนาจของอนุรักษ์ 3 มี.ค. 2012 - สื่อรัฐบาลอิหร่ ทางรัฐบาลอิหร่านได้เลื่ ประเทศอิหร่านเกิดภาวะวิกฤติ มีคนมองว่าการจัดการเลือกตั้ กลุ่มผู้นำอนุรักษ์นิยมของอิหร่ เซนา โคดร์ นักข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากกรุ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีบทวิ ช่วงกลางปี 2011 ที่ผ่านมาก็มีข่าวเรื่ นับผลด้วยมือ การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่มีผู้ สำนักข่าวเมหร์รายงานว่า พาร์วิน อามาดิเนจาด น้องสาวของประธานาธิบดี ไม่สามารถคว้าเก้าอี้เอาไว้ได้ ขณะที่จากผลอย่างไม่เป็ ส่วนผลการเลือกตั้งจากเมืองใหญ่ คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน กล่าวผ่านสื่อโทรทัศน์หลังหย่ "พลังฝ่ายยโสโอหังกำลังรั การบอยคอตต์ของฝ่ายค้าน เหลือขั้วอนุรักษ์นิยมชนกัน ด้าน กลุ่มฝ่ายค้านของอิหร่านคือ มีร์ ฮอสเซน มูซาวี กับ เมห์ดี คาร์รูบี ถูกบริเวณอยู่ในบ้านนาน 1 ปี ขณะที่นักปฏิรูปคนอื่นๆ เรียกร้องให้มีการบอยคอตต์ ก่อนหน้านี้ โมฮัมหมัด คาตามี อดีต ปธน. อิหร่าน และเป็นผู้ที่ต่อต้านอามาดิ เรย์ฮานผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้ สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่ "สภาได้วิพากษ์วิจารณ์อามาดิ เรียบเรียงจาก Iran election's initial results trickle in, aljazera, 03-03-2012 ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Vote to test unity of Iran's conservatives, Mujib Mashal, aljazeera, 24-02-2012 Iran: Ahmadinejad vs Khamenei, Geneive Abdo, 06-07-2011 Face-Off : What caused a recent spat between Ahmadinejad and Khamenei?, Abbas Milani, 06-05-2011 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น