โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ภาคประชาสังคมหนุน ‘ผู้หญิงชายแดนใต้’ ใช้ ‘สื่อ’ สร้างพลังขับเคลื่อน

Posted: 12 Mar 2012 01:35 PM PDT

แกนนำภาคประชาสังคม ยุกลุ่มผู้หญิงชายแดนใต้ ใช้สื่อใหม่สร้างพลังขับเคลื่อนแก้ปัญหา ผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ย้ำไม่เป็นนักข่าวก็ทำสื่อได้

 
 
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 12 มี.ค.55 ที่ห้อง A 310 คณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ใน “วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2” เครือข่ายสตรีครอบครัวและชุมชนชายแดนใต้ ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนงานสตรีชายแดนใต้โดยใช้พลังสื่อ”
 
ผู้นำเสวนา ประกอบด้วย นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นางสาวฐิตินบ โกมลนิมิ คณะทำงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นายตูแวดานียา มือรืองิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน นางโซรยา จามจุรี นางยะห์ อาลี ประธานเครือข่ายวิทยุชุมชน จ.ปัตตานี มีนางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น ผู้จัดรายการวิทยุ ม.อ.ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
นายมูฮำมัดอายุบ กล่าวว่า ต้องการให้เครือข่ายผู้หญิงสื่อสารเรื่องของผู้หญิงเอง เนื่องจากมีองค์ความรู้เรื่องผู้หญิงอีกมากที่ยังไม่ถูกนำเสนอ และควรสื่อสาร 2 ทาง ผ่านสื่อมัลติมีเดียที่มีอยู่ ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ ฯลฯ เชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ เพื่อให้เครือข่ายได้รับรู้และเข้าใจปัญหาผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้
 
นางสาวฐิตินบ กล่าวว่า ตนไม่คาดหวังให้เครือข่ายผู้หญิงเป็นนักข่าว แต่ต้องการให้สื่อสารเรื่องของตัวเอง เพื่อสื่อสารกับคนนอกพื้นที่ถึงสภาพปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านช่องทางทางอินเตอร์เน็ต ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ฯลฯ
 
“กรณีทหาร 3 คน ข่มขืนเด็กหญิงมลายูมุสลิมแล้วถ่ายคลิป นัยลึกๆ เหมือนผู้ชายไทย ข่มขืนหญิงมลายูมุสลิม ด้วยความรู้สึกว่าเป็นชาติพันธุ์อื่น เครือข่ายผู้หญิงจะสื่อสารออกไปอย่างไร เพื่อกำจัดกับทรรศนะคตินี้” นางสาวฐิตินบ กล่าว
 
นายตูแวดานียา กล่าวว่า ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวเป็นนักเล่าเรื่องได้ โดยอาจหยิบยกนำเสนอความเป็นผู้หญิง การเป็นแม่ของลูกว่าขณะตั้งท้องต้องทำอะไรบ้าง การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีทำอย่างไร ผ่านรายการวิทยุเสียงผู้หญิงชายแดนใต้ ซึ่งมีคนฟังเป็นพันเป็นหมื่นคน
 
“กรณีการกระทำชำเรา หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้แต่งงาน ไม่ควรมองว่าคนต่างศาสนากระทำกับคนมลายูมุสลิม เพราะบางทีมลายูมุสลิมก็ย่ำยีกันเอง ขณะนี้ยังมีมลายูมุสลิมจำนวนหนึ่งขายตัวอยู่ตามโรงแรม ทำอย่างไรที่จะสื่อสารเรื่องราวออกมา เพื่อนำไปสูการแก้ไขปัญหาร่วมกัน” นายตูแวดานียา กล่าว
 
นางโซรยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสื่อส่วนใหญ่พาดหัวข่าวโจรใต้จนเกร่อ เสนอเนื้อหาเพียงแค่ปรากฏการณ์ ไม่ติดตามต่อเนื่องไปจนถึงกระบวนการต่อสู้คดี ส่วนรัฐไทยก็ใช้กำลังทหารปราบปรามด้วยอาวุธ และบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น พอพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจก็หาว่าเป็นบันไดสู่การแบ่งแยกดินแดน
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน" จัดบาห์เรน-เบลารุส "ศัตรูรายใหม่ของอินเทอร์เน็ต"

Posted: 12 Mar 2012 12:37 PM PDT

 

ในวันต่อต้านการเซ็นเซอร์สื่ออินเทอร์เน็ตโลก (World Day Against Cyber Censorship) ซึ่งตรงกับวันที่ 12 มีนาคมของทุกปี องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) เผยแพร่รายงาน "ศัตรูของอินเทอร์เน็ต" โดยระบุว่า บาห์เรนและเบลารุส ถูกย้ายจากหมวดที่ต้องเฝ้าจับตา (under surveillance) ไปยังหมวด "ศัตรู" ส่วนพม่านั้นอาจถูกปลดออกจากหมวดศัตรู หลังกองทัพเริ่มปล่อยตัวนักข่าวและบล็อกเกอร์บางส่วน ขณะที่ไทยกลับดำเนินคดีกับบล็อกเกอร์ รวมถึงเพิ่มการกรองเนื้อหาเพื่อจัดการกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
 

บาห์เรนและเบลารุส ศัตรูรายใหม่ของอินเทอร์เน็ต
บาห์เรนและเบลารุส ถูกย้ายจากหมวดที่ต้องเฝ้าจับตา สู่หมวด "ศัตรูของอินเทอร์เน็ต" ร่วมกับประเทศที่จำกัดเสรีภาพอินเทอร์เน็ตมากที่สุด อย่างพม่า จีน คิวบา อิหร่าน เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน และเวียดนาม

ประเทศเหล่านี้กรองเนื้อหารุนแรงด้วยการจำกัดการเข้าถึง ติดตามตัวผู้เห็นต่างในโลกไซเบอร์และโฆษณาชวนเชื่อออนไลน์ โดยเฉพาะอิหร่านและจีน ที่เพิ่มประสิทธิภาพด้านเทคนิคในปีที่ผ่านมา (2554) โดยจีนเพิ่มการกดดันบริษัทเอกชนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อกระชับความร่วมมือมากขึ้น ขณะที่อิหร่านได้ประกาศเปิดตัวระบบ "อินเทอร์เน็ตในประเทศ" ซึ่งคาดว่าจะใช้แทนระบบอินเทอร์เน็ต

บาห์เรนมีมาตรการเซ็นเซอร์ข่าวตั้งแต่การกันสื่อต่างชาติออกไป คุกคามนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน จับกุมบล็อกเกอร์และพลเมืองเน็ต (หนึ่งในนั้นเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว) ใส่ความและดำเนินคดีนักกิจกรรมด้านเสรีภาพในการพูด และก่อกวนการสื่อสารโดยเฉพาะระหว่างการชุมนุมใหญ่

ขณะที่เบลารุส ประธานาธิบดีลูกาเชนโกเพิ่มความเข้มงวดกับเว็บมากขึ้น หลังประเทศจมลงสู่ความแตกแยกทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับแพร่กระจายข่าวสารและจัดตั้งการประท้วงถูกโจมตีอย่างหนักจากทางการเบลารุสเพื่อโต้ตอบ "การปฏิวัติผ่านโซเชียลมีเดีย" รายชื่อของเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคยาวเหยียดขึ้น อินเทอร์เน็ตบางส่วนถูกปิดกั้นระหว่างการประท้วงที่เรียกกันว่า "Silent protest" ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและบล็อกเกอร์ชาวเบลารุสจำนวนหนึ่งถูกจับกุม ขณะที่บางส่วนถูกเชิญไปคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการชุมนุมหรือรายงานการชุมนุม นอกจากนี้รัฐบาลยังใช้ทวิตเตอร์เพื่อส่งข้อความข่มขู่ผู้ชุมนุม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเจ้าหลักเปลี่ยนเส้นทาง (divert) ของผู้ที่พยายามจะเข้า Vkontakte ซึ่งเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กออนไลน์ ไปยังเว็บที่มีมัลแวร์ และกฎหมาย ฉบับที่ 317-3 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 6 ม.ค.55 ได้เพิ่มมาตรการสอดส่องและควบคุมอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย อยู่ในหมวดต้องเฝ้าจับตา โดยรายงานระบุว่า รัฐบาลใหม่ได้ส่งบล็อกเกอร์หลายรายเข้าคุก รวมถึงส่งเสริมการกรองเนื้อหาในนามของการจัดการกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ประเทศไทยอาจถูกจัดอยู่ในหมวดประเทศที่มีการปราบปรามมากที่สุด

ขณะที่พม่าอาจถูกยกออกจากหมวด "ศัตรูของอินเทอร์เน็ต" เร็วๆ นี้ หลังพม่าได้เริ่มดำเนินการในช่วงของการปฏิรูปประเทศตามที่สัญญาไว้ โดยการปล่อยตัวผู้สื่อข่าวและบล็อกเกอร์ และเลิกปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ พร้อมระบุว่าสิ่งที่พม่าควรทำต่อไปคือยกเลิกการเซ็นเซอร์อย่างสิ้นเชิง ปล่อยผู้สื่อข่าวและบล็อกเกอร์ที่เหลือ รื้อระบบเฝ้าระวังที่สร้างบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตในประเทศและยกเลิกพระราชบัญญัติอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ในหมวดต้องจับตา ประกอบด้วย ออสเตรเลีย อียิปต์ เอริเทรีย ฝรั่งเศส มาเลเซีย รัสเซีย เกาหลีใต้ ศรีลังกา ตูนิเซีย ตุรกีและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ขณะที่ลิเบียและเวเนซุเอลาถูกถอดชื่อจากหมวดจับตานี้ โดยในลิเบีย หลังอดีตผู้นำอย่างกัดดาฟีถูกโค่นลง รายงานระบุว่านั่นเท่ากับการสิ้นสุดยุคแห่งการเซ็นเซอร์ เนื่องจากก่อนที่กัดดาฟีจะถูกปลดและเสียชีวิตนั้น เขาได้พยายามออกมาตรการเซ็นเซอร์ข่าวด้วยการตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ส่วนเวเนซุเอลา การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังไม่ถูกจำกัด แต่ระดับของการเซ็นเซอร์ตัวเองนั้นยังยากจะประเมิน ขณะที่การผ่านกฎหมายในปี 2554 ซึ่งอาจส่งผลต่อการจำกัดเสรีภาพอินเทอร์เน็ตยังไม่เกิดผลกระทบเสียหายใดๆ ในทางปฏิบัติ กระนั้นก็ตาม องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยังคงเฝ้าระวังเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและสื่อที่วิจารณ์รัฐบาลนั้นเป็นไปด้วยความตึงเครียด

นอกจากนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุด้วยว่า ปากีสถานซึ่งกำลังเปิดให้บริษัทเอกชนเสนอราคาสำหรับโครงการสร้างระบบคัดกรองและปิดกั้นอินเทอร์เน็ตในประเทศ อาจถูกเพิ่มชื่อเข้าไปในหมวดศัตรูของอินเทอร์เน็ตในปีหน้า (2556) หากยังเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป

///////////////////
อ่านรายงานฉบับเต็มที่ Beset by online surveillance and content filtering, netizens fight on
http://en.rsf.org/beset-by-online-surveillance-and-12-03-2012,42061.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ASEAN WEEKLY: ทำความรู้จักเชียงตุง

Posted: 12 Mar 2012 12:30 PM PDT

กลับมาอีกครั้งกับรายการ “อาเซียน วีคลี่ย์” โฉมใหม่ กับ 2 พิธีกรใหม่ สุลักษณ์ หลำอุบล ผู้สื่อข่าวประชาไท และดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มาร่วมกันพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ความเคลื่อนไหว มุมมอง และวิเคราะห์เจาะลึกเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ในรอบสัปดาห์หมุนเวียนกัน 11 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เราได้รู้จัก เข้าใจ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนมากขึ้น

ASEAN WEEKLY กับสองพิธีกรใหม่สุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช

สัปดาห์นี้ ช่วงแรกประเดิมด้วยความสำคัญของภูมิภาคอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อปี 2015 มาถึง ตามด้วยข่าวคราวในรอบสัปดาห์จากประเทศเพื่อนบ้าน ข่าวดีของแม่บ้านในสิงคโปร์จะมีวันหยุดประจำสัปดาห์กันสักที และราคาซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือในพม่าลดลงจาก 1,700 เหรียญสหรัฐ เหลือ 250 เหรียญสหรัฐ ใครได้ประโยชน์

ช่วงที่ 2 มาทำความรู้จักภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมือง วิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนไทใหญ่-ไทเขิน ที่เมืองเชียงตุงในรัฐฉานของพม่า และความสัมพันธ์ของคนเชียงตุงกับคนล้านนาฝั่งไทย และประสบการณ์สดๆ ร้อนๆ จากการเดินทางของ อาจารย์ดุลยภาค ผ่านเส้นทางเชียงใหม่ เชียงราย เชียงตุง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การสร้างโรงงานนิวเคลียร์ยังคงเดินหน้าหลังเหตุการณ์ฟูกูชิมา

Posted: 12 Mar 2012 07:57 AM PDT

ประเทศกำลังพัฒนาที่คงกระหายพลังงานไฟฟ้า ยังคงเดินหน้าเต็มร้อยในการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ หลังจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมาทำให้การเติบโตของพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกหยุดชะงัก

ข้อมูลจากสมาคมนิวเคลียร์โลกเปิดเผยว่า ในปัจจุบัน มีโรงงานนิวเคลียร์ 60 แห่งที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างทั่วโลก และอีก 163 แห่งที่อยู่ในแผนการสร้าง นับว่าไม่ได้ต่างจากเดิมนักหากเทียบจากข้อมูลการสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2011 หรือหนึ่งเดือนก่อนการเกิดเหตุการณ์ฟูกูชิมา ซึ่งในขณะนั้นมีการดำเนินการก่อสร้างโรงงานนิวเคลียร์ 62 แห่ง และมี 156 แห่งที่อยู่ในแผนการดำเนินการ

ตัวเลขดังกล่าว ขัดกับความเชื่อที่ว่าอุตสาหกรรมโรงงานนิวเคลียร์หยุดชะงักลง หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ที่โรงงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมาหลอมละลายเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ซึ่งนับเป็นภัยพิบัติด้านนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดนับจากเหตุการณ์เชอร์โนบิลในปี 1986 ในขณะที่ญี่ปุ่นและบางประเทศในยุโรปเตรียมจะปิดหรือยุติโรงงานนิวเคลียร์ แต่โครงการการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ในประเทศที่กำลังพัฒนายังคงดำเนินต่อไป

“เราไม่เสียออร์เดอร์สักแห่งเดียวหลังจากที่เหตุการณ์ฟูกูชิมาเกิดขึ้น” เซอร์ไก โนวิคอฟ โฆษกบริษัท Rosatom กล่าว บริษัทดังกล่าวที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการส่งออกนิวเคลียร์รัสเซีย ยังกล่าวว่า รายการสั่งซื้อจากประเทศนานาชาติ ยังเพิ่มเป็น 21 โรงงานเมื่อปลายปี 2011 ซึ่งเพิ่มจาก11 โรงงานเมื่อปีก่อนหน้า

โรงงานนิวเคลียร์ใหม่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นนี้ มีที่มาจากอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศที่มีตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน และเวียดนาม ซึ่งมีอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าหนาแน่น เช่น อุตสาหกรรมอลูมิเนียมและแก้ว นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในบางประเทศเช่น เกาหลีใต้ ซึ่งส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันทั่วไปเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นก๊อกน้ำไฟฟ้า ไปจนถึงคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต

ศูนย์กลางของการบริโภคไฟฟ้าได้ย้ายไปทางซีกโลกตะวันออกมากขึ้น หน่วยงานพลังงานระหว่างประเทศ ได้พยากรณ์ว่าความต้องการไฟฟ้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.4 ต่อปีในช่วงสองปีข้างหน้า และภายในปี 2035 ความต้องการการใช้พลังงานก็คาดว่าจะโตขึ้นอีกร้อยละ 5.4 ในอินเดีย และร้อยละ 4 ในจีน เมื่อเทียบกับเพียงร้อยละ 0.9 ในสหภาพยุโรปและร้อยละ 1 สหรัฐอเมริกา

ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน IHS Cera ระบุว่าโรงงานไฟฟ้าทุกประเภทที่จะถูกสร้างขึ้นในระยะอีกสิบปีข้างหน้า ไม่จำกัดแต่โรงงานนิวเคลียร์เท่านั้น มีจำนวนร้อยละ 53 ที่จะถูกสร้างขึ้นในแถบเอเชียแปซิฟิก โดยร้อยละ 38 จะสร้างขึ้นในประเทศจีน ทั้งนี้ ไอแวน ลี นักวิเคราะห์ด้านการวิจัยพลังงานในเอเชียจากบริษัท Nomura Securities กล่าวว่า จีนได้ขยายกำลังของพลังงานที่จะถูกสร้างขึ้นต่อปี เทียบเท่ากับปริมาณการใช้พลังงานของช่วงอายุหนึ่งในอังกฤษ

รัฐบาลหลายประเทศเห็นตรงกันว่า โรงงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากเป็นพลังงานที่ไม่มีความผันผวนด้านราคาเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือความไม่แน่นอนทางสภาพอากาศจากพลังงานทางเลือก เช่นการผลิตไฟฟ้าด้วยกระแสลม จะเห็นจากในจีน ที่รัฐบาลปักกิ่งอนุญาตให้สร้างโรงงานไฟฟ้า เพื่อลดความพึ่งพิงด้านเชื้อเพลิง เพราะทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศและน้ำ และยังเป็นสาเหตุที่ก่อความตึงเครียดให้กับรัฐบาลท้องถิ่นด้วย

“ประชาชนได้คำนึงดูถึงผลดีผลเสียแล้ว และก็พบว่า คุณไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีพลังงานนิวเคลียร์” ลิ นิง ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมนิวเคลียร์จีน ประจำมหาวิทยาลัย Xiamen กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในยุโรปสถานการณ์ก็แตกต่างกันออกไป โดยในเยอรมนี อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีความพยายามที่จะลดการใช้หรือยุติโรงงานนิวเคลียร์ แม้กระทั่งในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพลังงานนิวเคลียร์ในยุโรป ผู้ลงสมัครในการเลือกตั้งระดับแนวหน้าก็ได้ประกาศว่าเขาจะลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ลงหนึ่งในสาม

ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกา คำสัญญาของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่จะเพิ่มการสร้างพลังงานก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคในทางเศรษฐกิจ โดยมาตรการความปลอดภัยของโรงงานนิวเคลียร์หลังเหตุการณ์ฟูกูชิมาก็ได้เพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นมาก ประกอบกับการค้นพบก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานก็ได้กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพราะเป็นพลังงานสะอาดและมีราคาถูก

สำหรับในญี่ปุ่น สถิติปี 2010 ชี้ว่า พลังงานนิวเคลียร์คิดเป็นจำนวนพลังงานที่ใช้ในประเทศราวร้อยละ 30 ซึ่งในขณะนี้ มีโรงงานเพียงสองแห่งจาก 54 แห่งเท่านั้นที่ยังดำเนินงานอยู่ เนื่องจากการประท้วงของประชาชนในท้องถิ่นและกฎความปลอดภัยใหม่ที่สั่งปิดโรงงานที่ถูกตรวจสอบ ทั้งนี้ โรงงานนิวเคลียร์โรงสุดท้าย มีกำหนดว่าจะถูกปิดในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมที่จะถึงนี้

และเนื่องจากว่าบริษัทโรงงานนิวเคลียร์ญี่ปุ่นต้องเผชิญจากแรงต่อต้านในประเทศ จึงได้มุ่งมาหาช่องทางในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

“ที่ผ่านมามันมีกระแสต่อต้านการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นอย่างรุนแรง” ฮิเดอากิ โอมิยา ประธานบริหารบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่อินดัสตรี กล่าว “แต่ในทางสากลแล้ว ความต้องการพลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้ลดลงเลย”

ในประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตในยุโรปกลางและตะวันออก ความต้องการพลังงานนิวเคลียร์มาจากความที่ไม่ต้องการพึ่งพิงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในรัสเซีย โดยรัฐบาลลิธัวเนียกล่าวว่า ในเดือนนี้ กำลังจะเซ็นสัญญากับบริษัทฮิตาชิ ในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์น้ำเดือด ซึ่งเป็นชนิดที่ปรับปรุงจากเทคโนโลยีที่ใช้ในโรงงานฟูกูชิมา

การเติบโตของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ยังถูกกระตุ้นด้วยประเทศที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกนิวเคลียร์ ซึ่งยึดถือโรงไฟฟ้าเป็นเสาหลักของนโยบายอุตสาหกรรม โดยมาพร้อมกับข้อเสนอด้านการเงินที่สมน้ำสมเนื้อ และการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมยอดการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะเป็นอย่างนั้นเสมอไป ในประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทเจเนรัลอิเล็กทริก กล่าวว่าทางบริษัทได้ลดความสำคัญในการขายโรงงานนิวเคลียร์ทั่วโลกลง และขยายโอกาสในการขายโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซเพื่อทดแทนพลังงานนิวเคลียร์แทน จอหน์ เครนิค หัวหน้าฝ่ายพลังงานของเจเนรัลอิเล็กทริก กล่าวว่า รายได้จากพลังงานนิวเคลียร์ของบริษัทคิดเป็นน้อยกว่าร้อยละ 3 และจะลดน้อยลงกว่านี้ด้วยในอนาคต

การเติบโตอย่างรวดเร็วของพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศที่กำลังพัฒนา ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ทั่วโลก พวกเขาชี้ว่า หากประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่นญี่ปุ่นไม่สามารถป้องกันโรงงานฟูกูชิมา ไดอิจิได้ แล้วประเทศที่ญี่ปุ่นและรัสเซียพยายามจะขายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ จะสามารถทำได้หรือ

“ผมกังวลถึงการส่งออกเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ออกไปยังประเทศโลกที่สาม เช่น เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย” ยี บิน เชน ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมนิวเคลียร์ จากสภาแห่งพลังงานนิวเคลียร์ประเทศไต้หวัน กล่าว “ผมกล่าวกับประชาชนชาวญี่ปุ่นเสมอว่ามันไม่ถูกต้องที่จะส่งออกเตาปฏิกรณ์ญี่ปุ่นออกไปยังเวียดนาม เนื่องจากว่าพวกเขาไม่มีโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่สามารถจะดำเนินการมันได้อย่างเหมาะสม”

หากแต่ ทากายะ อิไม ผู้อำนวยการหน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานของกระทรวงพาณิชย์ของญี่ปุ่น ชี้ว่าเรื่องดังกล่าวไม่สำคัญมากนัก “ตราบใดที่ยังมีประเทศที่ต้องการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ญี่ปุ่นยังคงต้องมีความรับผิดชอบเพื่อที่จะช่วยให้ความต้องการของโลกนั้นบรรลุให้ได้” เขากล่าว

การเติบโตในอนาคตของพลังงานนิวเคลียร์แขวนอยู่ที่ปักกิ่งค่อนข้างมาก หนึ่งสัปดาห์หลังจากเหตุการณ์ฟูกูชิมา ไดอิจิ รัฐบาลก็ได้ยุติการอนุมัติการสร้างเตาปฏิกรณ์ และจัดให้มีการทบทวนมาตรการความปลอดภัย โดยในขณะที่การทบทวนยังดำเนินไปนี้ ผู้นำจีน ก็ได้ส่งสัญญาณแผนการที่จะขยายการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ ผ่านทางแถลงการณ์และการพูดคุยกับผู้นำของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม การหยุดชะงักนี้ก็ได้ชะลอการขยายตัวของโรงงานนิวเคลียร์ลงบ้าง และก็ทำให้การสร้างโรงเตาปฏิกรณ์เปลี่ยนรูปแบบจาก CPR-1000 เป็น AP1000s “เตาปฏิกรณ์แบบใหม่นี้จะต้านแรงสั่นสะเทือนแบบเดียวกับที่โรงงานในญี่ปุ่นต้องเผชิญได้” วาง บิงหัว ประธานบริษัทเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์แห่งจีน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อต้นปีนี้

แม้กระนั้น ก็มีแรงต่อต้านจากรัฐบาลท้องถิ่นในจังหวัดอันหุยซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของจีน ซึ่งยื่นคำร้องต่อรัฐบาลจีนให้ยุติแผนการสร้างโรงงานนิวเคลียร์โรงใหม่ แต่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสิ่งแวดล้อมจากรัฐบาลก็ได้ประกาศโต้ว่า สถานที่ก่อสร้างของโรงงานไม่มีปัญหาใดๆ

ส่วนในประเทศที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ ฝ่ายค้านที่ต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ก็มีความชัดเจนมากกว่า เช่น ในประเทศเกาหลี การหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งรัฐสภาที่จะมาถึงในเดือนเมษายน พรรคฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ได้ประกาศว่าจะลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ลง ในอินเดียตอนใต้ การประท้วงของประชาชนในพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างโรงฟ้า ซึ่งยิ่งคัดค้านมากขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ฟูกูชิมานั้น ได้ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากโรงงานที่ถูกกำหนดไว้ในเดือนธันวาคมหยุดชะงักลง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะคัดค้านการสร้างอีกโรงงานหนึ่งในทางตะวันตกของอินเดียไม่สำเร็จก็ตาม

ขบวนการต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับแรงสนับสนุนมากกว่าในฝั่งยุโรป โดยสองเดือนหลังจากเหตุการณ์ฟูกุชิมา ประเทศเยอรมนี ได้ยุติแผนการทำงานของโรงปฏิกรณ์ไปอีกราวสิบปี และตัดสินใจว่าจะปิดโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้ง 17 แห่ง ภายในปี 2022 และประเทศอิตาลี ก็ได้ยุติแผนการที่จะสร้างเตาปฏิกรณ์ 10 แห่ง หลังจากที่รัฐบาลไม่ได้รับเสียงสนับสนุนในการลงประชามติในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อยกเว้นในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการดำเนินการโครงการนิวเคลียร์ที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค “กระแสเรื่องนี้ยังไม่ตก ความก้าวหน้าในเรื่องนี้อาจจะช้าบ้าง แต่มันก็ยังอยู่ในขบวน” วินเซนต์เดอ ริวาซ ผู้บริหารประจำอังกฤษของบริษัทนิวเคลียร์ฝรั่งเศส Electricite de France SA กล่าว นักวิเคราะห์กล่าวว่า อังกฤษใช้งบประมาณราว 31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างโรงงานไฟฟ้าสองแห่ง ส่วนบริษัทเองยังไม่ได้เปิดเผยตัวเลขดังกล่าว

ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนที่แล้ว สภาของรัฐบาลสหพันธรัฐก็ได้ให้ไฟเขียวเพื่อสร้างเตาปฏิกรณ์สองแห่งในรัฐจอร์เจีย ซึ่งนับเป็นการให้อนุญาตการสร้างโครงการนิวเคลียร์แห่งใหม่ในรอบสามทศวรรษ

หากแต่ความคืบหน้าดังกล่าว น่าจะเป็นนัยทางสัญลักษณ์มากกว่าการดำเนินการสร้างอย่างจริงจัง

คณะกรรมการควบคุมพลังงานนิวเคลียร์สหรัฐ เปิดเผยว่า ช่วงก่อนเกิดวิกฤติการเงินสหรัฐในปี 2008 บริษัทพลังงานนิวเคลียร์ในอเมริกามีแผนเสนอการสร้างเตาปฏิกรณ์หลายสิบแห่งในสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบัน สหรัฐมีโรงงานเตาปฏิกรณ์ 104 แห่ง แต่ในวันนี้ มีเพียงสองแห่งเท่านั้นที่ได้ดำเนินตามแผนการก่อสร้างอย่างจริงจัง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากเงินกู้ของรัฐบาล

“เรายังห่างไกลจากการเรียนรู้บทเรียนจากญี่ปุ่นอีกมาก” เกรกอรี่ แจ๊คโก ประธานของคณะกรรมนิวเคลียร์สหรัฐกล่าว ทั้งนี้ ความกังวลหลักๆ ของนั้นเป็นเรื่องภาระงบประมาณที่บานปลาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม บริษัทนิวเคลียร์รัสเซียและจีน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนั้น มีความคิดเห็นต่างไป โดย รัฐบาลรัสเซียได้ให้การสนับสนุนเงินกู้ให้กับประเทศที่อยู่ในอดีตสหภาพโซเวียต เช่น อาร์เมเนีย และเบลารุส เพื่อสร้างเตาปฏิกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีจากรัสเซีย

เช่นเดียวกับจีน ที่ได้ช่วยประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถานสร้างเตาปฏิกรณ์ และเซ็นสัญญาการสร้างโรงงานอีกสองแห่ง และยังแสดงความสนใจในการลงทุนเตาปฏิกรณ์อีกสองแห่งที่ประเทศโรมาเนีย โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ประเทศจีนมีแผนที่จะดำเนินโครงการร่วมกับบริษัท EDF ของฝรั่งเศสในการสร้างโรงไฟฟ้าในแถบแอฟริกาใต้ด้วย

ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตโรงงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นทั้งสามแห่ง กล่าวว่าพวกเขาจะยังดำเนินตามแผนธุรกิจที่ได้วางไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ฟูกูชิมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น เช่น บริษัทโตชิบา ได้ตั้งเป้าว่าจะขายโรงงานนิวเคลียร์อีก 25 แห่งภายในปี 2015บริษัทฮิตาชิ ตั้งยอดขายโรงงาน 38 แห่งภายในปี 2030 และบริษัทมิตซูบิชิก็คาดว่า แผนที่จะขายโรงงานนิวเคลียร์ปีละสองแห่ง จนถึงปี 2025 ได้ผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติข้อตกลงความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ที่เปิดช่องทางให้มีการส่งออกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปยังจอร์แดนและเวียดนาม เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย มองโกเลียและตุรกีก่อนหน้านี้ โดยญี่ปุ่นจะให้เงินกู้จากสถาบันทางการเงินที่สัมพันธ์กับรัฐบาล และให้เงินกู้จากธนาคารเอกชนที่ค้ำประกันโดยรัฐ

บริษัทผู้ผลิตของญี่ปุ่น และสถาบันที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุน ก็ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มล็อบบี้ของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่ชื่อว่าฟอรัมอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ญีปุ่น (Japan Atomic Industrial Forum) เพื่อจัดฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศและวิศวกรจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกในการใช้และดูแลเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยที่ผ่านมามีบุคลากรหลายพันคนได้รับการอบรม และก็คาดว่าอีกหลายพันก็จะเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว เมื่อญี่ปุ่นได้รับออร์เดอร์ให้สร้างโรงงานนิวเคลียร์อีกในต่างประเทศ

“เราต้องการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในรุ่นต่อไป สำหรับประเทศต่างๆ ที่สนใจจะพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์” ทาคูยะ ฮัตโตริ กล่าว เขาเป็นประธานของฟอรัมและอดีตผู้บริหารบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าฟูกูชิมา “แน่นอน เราหวังว่าเราจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจของพวกเขา เหมือนกับการจีบสาวคนหนึ่งที่อาจจะกลายเป็นภรรยาของคุณในวันหน้า”

แปลจาก Nuclear Pushes On Despite Fukushima, Wall Street Journal. 11/03/55 http://online.wsj.com/article/SB10001424052970204276304577265240284295880.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คดีแรกไต่สวนการตายเสื้อแดง พ.ค.53 “ชาญณรงค์” นัดเดือนมิ.ย.-ก.ค.

Posted: 12 Mar 2012 05:29 AM PDT

 

12 มี.ค.55 เวลา 14.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 809 ศาลอาญา ถนนรัชดา มีการนัดพร้อมการไต่สวนการตายของนายชาญณรงค์ พลศรีลา อายุ 45 ปี คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตที่ปั๊มเชลล์ ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 โดยอัยการในฐานะผู้ร้องขอได้ขอให้ศาลเลื่อนการไต่สวนเป็นนัดหน้า เช่นเดียวกับภรรยาและผู้สืบสันดาน (ลูกสาว) ที่สามารถเข้าร่วมการไต่สวนการตายได้ โดยเห็นควรให้ใช่นัดนี้เป็นนัดพร้อมและเลื่อนการไต่สวนเป็นนัดหน้าเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ร้องยืนยันต่อศาลว่าจะไม่ตัดพยานทั้งหมด 41 ปาก ขณะที่ทนายของภรรยาและบุตรสาวผู้ตายระบุว่าจะยื่นพยาน 15 ปากและอาจจะมีเพิ่มเติมภายหลังจากการไต่สวนปากของผู้ร้องจบ โดยกำหนดวันไต่สวนในทุกวันจันทร์ของเดือน ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. ในวันที่ 18,25 มิ.ย. 55 และ 2, 5, 16, 23, 30 ก.ค.55 ทั้งนี้ ในนัดแรก วันที่ 18 มิ.ย.ช่วงบ่ายจะเป็นปากของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 2 รายซึ่งต้องใช้ล่าม หนึ่งในนั้นคือนายนิก ส่วนอีกรายคือผู้สื่อข่าวจาก Der Speigel

ทั้งนี้ มีผู้สื่อข่าวให้ความสนใจติดตามข่าวจำนวนมาก รวมถึงคนเสื้อแดงหลายคน, นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช., นายชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นิก น็อตสติทช์ ผู้สื่อข่าวอิสระชาวเยอรมัน, ตัวแทนจากศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.), ตัวแทนจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เข้าร่วมรับฟังด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่รอศาลอ่านรายงาน นางผุสดี งามขำ หรือที่รู้จักกันในนาม “เสื้อแดงคนสุดท้าย” ที่ออกจากที่ชุมนุมราชประสงค์ในวันสลายการชุมนุม ได้ยกมือและพนมมือขออนุญาตแจ้งต่อศาลว่า รูปตาชั่งที่ติดอยู่ตรงบัลลังก์นั้นเอียง สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้เข้าร่วมฟังการไต่สวนจนหลายคนเตือนนางผุสดีว่าอาจโดนคดีหมิ่นศาลได้ จากนั้นผู้พิพากษาเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาสอบถามได้ความว่าไม่เอียง ผู้พิพากษาจึงเรียกนางผุสดีมาสอบถามอีกครั้งว่าเอียงอย่างไร นางผุสดีระบุว่าด้านขวาต้องเอาลงมาอีกหน่อยหนึ่ง ผู้พิพากษาหัวเราะพร้อมๆ กับผู้เช้าร่วมรับฟังการไต่สวน

สำหรับคดีของชาญณรงค์ ถือเป็นการนัดพร้อมเพื่อไต่สวนการตายเป็นสำนวนแรก จากทั้งหมด 16 สำนวน คดีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ที่คาดว่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

พนักงานสอบสวนจากสน.พญาไท เจ้าของสำนวนระบุว่า สน.พญาไทรับผิดชอบ 4 กรณีซึ่งรวมกรณีของนายชาญณรงค์ด้วย ส่วนกรณีอื่นๆ จะมีกำหนดดังนี้

-พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิตที่บริเวณอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553 จะมีนัดพร้อมไต่สวนการตายนัดแรกในวันที่ 19 มี.ค.นี้

-นายพันนายพัน คำกอง ถูกยิงที่หน้าคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 จะมีการไต่สวนการตายในวันที่ 23 เม.ย.นี้

-ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ ถูกยิงเสียชีวิตที่ซอยโรงภาพยนตร์โอเอเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 จะมีการนัดพร้อมไต่สวนการตายในวันที่ 12 พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีของนายมานะ อาจราญ เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ดุสิตที่เสียชีวิตภายในสวนสัตว์ในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 ซึ่งสน.ดุสิตเป็นเจ้าของสำนวน แต่อัยการได้ส่งคืนสำนวนโดยอ้างว่าผลการชันสูตรอาจไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้มีองค์ประกอบครบทุกฝ่าย โดยตำรวจจะดำเนินการโต้แย้งให้อัยการพิจารณาใหม่

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า พนักงานอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ยื่นไต่สวนต่อศาลอาญากรุงเทพใต้อีก 2 สำนวน คือ คดีชันสูตรที่ 102/2553 นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล ถูกยิงเข้าที่หน้าอก 1 นัด บริเวณใต้ทางด่วน ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553 และคดีชันสูตรที่ 103/ 2553 นายประจวบ ประจวบสุข ถูกยิงเข้าที่หน้าอก 1 นัดเช่นกัน ที่บริเวณใต้ทางด่วน ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553 โดยศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนทั้ง 2 คดี ในวันที่ 28 พ.ค.2555

ด้านเว็บไซต์ข่าวสด รายงานวานนี้ว่า นางสุริยันต์ พลศรีลา ภรรยาของนายชาญณรงค์ ให้สัมภาษณ์ว่า "สิ่งที่อยากเห็นหลังจากที่ศาลไต่สวน และคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว อยากให้ศาลสั่งเอาตัวคนสั่งการฆ่าประชาชนทั้งหมดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้ได้ เพราะจนถึงขณะนี้ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รอดูคนสั่งการฆ่าประชาชนมาเข้า สู่ศาล มั่นใจว่าศาลจะเห็นใจประชาชนและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิตทั้งหมด"

ภรรยาของนายชาญณรงค์กล่าวย้อนถึงวันที่สามีถูก ยิงเสียชีวิตว่า วันเกิดเหตุ 15 พ.ค.2553 ตนและสามีเดินทางไปร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ร่วมกับคนเสื้อแดง ทั้งที่ราชประสงค์และราชปรารภ แต่ในวันเกิดเหตุ ตนและสามีแยกกันชุมนุมคนละจุด ตนอยู่ที่ราชประสงค์ ส่วนสามีอยู่ราชปรารภบริเวณปั๊มน้ำมันเชลล์ และมาทราบข่าวภายหลังจากที่มีนักข่าวและช่างภาพเยอรมัน ชื่อนายนิก นอสติทซ์ ถ่ายภาพสามีได้ขณะใช้หนังสติ๊กต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ที่หน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ใกล้แยกราชปรารภ จากนั้นสามีก็ถูกยิง และทหาร นำตัวไป จนภายหลังทราบว่าเสียชีวิตแล้ว

นางสุริยันต์กล่าวต่อว่า ตนและสามีเข้าร่วมการชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่เดือนมี.ค.2553 ทั้งที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และสี่แยกราชประสงค์ เนื่องจากเราเห็นว่าการขึ้นสู่อำนาจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ถูกต้อง เป็นการปล้นเอาประชาธิปไตยจากประชาชนไป จึงตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม ทุกๆ เช้าจะนั่งรถแท็กซี่สามีไปลงที่หน้าเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ หรือราชประสงค์ทุกวัน จะอยู่จนพลบค่ำ สามีก็จะมารับกลับบ้านย่านดอนเมือง วันไหนเห็นคนน้อยก็จะขอนอนค้างคืนในพื้นที่ เพื่อให้กำลังใจแกนนำ

"วันที่พี่เสียชีวิตวันที่ 15 พ.ค. ฉันอยู่ที่เวทีชุมนุมราชประสงค์ แล้วพยายามโทรศัพท์หาพี่ให้มารับกลับบ้าน แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ก็ไม่สบายใจ เพราะตอนนั้นรอบนอกพื้นที่ชุมนุมเริ่มปะทะกันประปราย ฉันก็ไม่รู้จะทำยังไง จึงบอกกับส้มโอ ลูกสาวคนโต ให้ช่วยตามหาพ่อด้วย ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 17 พ.ค. มีเพื่อนบ้านเอาหนังสือพิมพ์ข่าวสด มีรูปพี่ถูกชายอีก 2 คนหิ้วปีกออกมา มาให้ดู บอกว่าถูกยิงแถวราชปรารภ จึงพยายามติดต่อตามโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่ชุมนุม และศูนย์เอราวัณ แต่ก็ไม่พบ ลูกสาวก็เลยโพสต์ประวัติพ่อไว้ในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ หวังว่าจะมีคนเห็นเหตุการณ์ หรือช่วยเหลือไว้มาตอบข้อความ จนกระทั่งวันที่ 19 พ.ค. ลูกสาวก็ไปเจอศพพ่อที่นิติเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี" นางสุริยันต์กล่าว

ภรรยาลุง ชาญณรงค์ กล่าวอีกว่า จากนั้นก็ได้พบช่างภาพชาวเยอรมัน ที่เล่าให้ฟังถึงนาทีที่สามีเสียชีวิต จึงทราบว่าก่อนตายสามีมีเพียงหนังสติ๊ก เมื่อถูกยิงบาดเจ็บ ก็อ้อนวอนร้องขอชีวิตแล้ว จนถูกทหารเอาตัวไป และพบเป็นศพต่อมา โดยผลชันสูตรพลิกศพระบุว่า ถูกกระสุนความเร็วสูง 2 นัด ทำลายอวัยวะภายในที่ท้อง และแขน ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนที่มีจิตใจดี ร่าเริง รักครอบครัว รักความยุติธรรม เป็นตัวของตัวเองสูง เวลาออกไปขับแท็กซี่ เมื่อมีเวลาก็จะโทร.มาหาทุกวัน หลังสามีเสียชีวิตมาเกือบ 2 ปี ก็ต้องมายึดอาชีพค้าขายอยู่กับบ้านย่านลำสาลี หาเงินเลี้ยงดูลูก 2 คน ที่กำลังโต แต่โชคดีที่ลูกๆ ต่างทำงานได้บ้างแล้ว

"เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ไปยื่นเรื่องลงทะเบียนขอเงินเยียวยาจากรัฐบาล เงินจำนวน 7.5 ล้านบาทนี้ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอะไร สิ่งสำคัญคืออยากได้พี่คืนกลับมาอยู่กับครอบครัวมากที่สุด และสิ่งที่อยากเห็นมากตอนนี้คือ อยากให้รัฐบาลนี้เร่งค้นหาความจริงให้ประชาชนรับรู้ในเหตุการณ์สลายการ ชุมนุมคนเสื้อแดงทั้ง 2 เหตุการณ์ ทั้ง 10 เม.ย.53 และ 19 พ.ค.53 โดยเร็ว และรีบเอาคนผิดคนสั่งการมาลงโทษให้ได้ ผู้เสียชีวิตเหล่านั้นต่างออกไปทำหน้าที่เรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องประชาธิปไตยตามสิทธิรัฐธรรมนูญ โดยเอาชีวิตเข้าแลก" นางสุริยนต์กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ระบบหลักประกันสุขภาพ ถูกบรรจุเป็นวิชาเรียนพยาบาล

Posted: 12 Mar 2012 05:16 AM PDT

สธ.และ ม.ราชภัฎอุดรธานีจับมือ สปสช.ยกระดับพยาบาล พร้อมชงหลักสูตร “ระบบหลักประกันสุขภาพ” เข้าในตำราเรียนเริ่มมิถุนายนี้

สถาบันพระบรมราชชนก (สพช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จับมือมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พัฒนาหลักสูตรวิชา “ระบบหลักประกันสุขภาพไทยให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เริ่มดีเดย์ มิถุนายนนี้ ตั้งเป้าผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนภาคบริการ หวังให้บริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ประชาชนไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้อย่างแท้จริง

นพ.สมควร หาญพัฒนชัยกูร ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก(สพช.) กล่าวว่า สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างสปสช. เขต 8 อุดรธานีกับสถาบันพระบรมราชชนกและ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เพื่อ พัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพและเครือข่าย หน่วยบริการ ในการจัดการองค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ในระบบบริการปฐมภูมิอีสานตอนบน และพัฒนาหลักสูตรระบบหลักประกันสุขภาพไทยในสถาบันการศึกษา”  

ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ สถาบันพระบรมราชชนก ได้มอบหมายวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุดรธานี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ได้ร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขและเครือข่ายหน่วยบริการ ที่ผ่านมาทางวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุดรธานีได้ร่วมกับ สปสช.เขต 8 อุดรธานี พัฒนาศักยภาพและยกระดับการทำงานของพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป ในปี 2552-2554 โดยอบรมพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป เพื่อประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 1,280 คน และ ในปี 2555 มีแผนอบรมเพิ่มเติมอีก 2 รุ่น จำนวน 220 คน เพื่อเติมเต็มให้ครอบคลุม 972 แห่งในพื้นที่อีสานตอนบน และมีแผนการสร้างเครือข่ายวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างพยาบาลเวชปฏิบัติ การจัดการองค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ในระบบบริการปฐมภูมิอีสานตอนบน ภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อน การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในภาคอีสานให้มีความเข้มแข็ง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์อันสูงสุดต่อประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณสุข ไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้อย่างแท้จริง

รศ.สมชาย ชื่นวัฒนาประณิธิ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีกล่าวถึง การพัฒนาการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระบบหลักประกันสุขภาพไทยว่า ในปีการศึกษา 2555 คณะวิทยาศาสตร์ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ได้ร่วมกับ สปสช.เขต 8 อุดรธานี พัฒนาหลักสูตรวิชา “ระบบหลักหลักประกันสุขภาพไทย” เปิดสอนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ระดับปริญญาตรี ซึ่งจะทำการเปิดอย่างเป็นทางการในภาคเรียนที่ 1 ในเดือนมิถุนายน 2555 นี้ และกำลังเตรียมแผนร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษาขยายให้ครอบคลุมทุกระดับ ทั้งในประถมศึกษาชั้นปีที่ 4-6 มัธยมศึกษาตอนต้น ม. 1-3 และมัธยมศึกษาตอนปลาย ม.4-6 ในปีต่อไป มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีราชภัฏอุดรธานีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้มีความยั่งยืนผ่านระบบการศึกษา

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ โฆษกสปสช. และผู้อำนวยการ สปสช. เขต 8 อุดรธานีกล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาคีเครือข่ายจะรวมพลังกันสร้างหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงและเป็นประโยชน์ของการทำงานแบบเครือข่าย เพื่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผลการทำงานซึ่งกันและกันเกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างภาคีเครือข่าย และเป็นการสร้างโอกาสให้กับหน่วยงานภาคีที่เป็นแม่ข่าย ได้ยกระดับการพัฒนาศักยภาพเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้านการบริหารแบบเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ป่วยไตโวย สปส.ให้สิทธิไม่จริง ป่วยก่อนได้แค่ฟอกเลือด แต่ไม่คุ้มครองเปลี่ยนไต

Posted: 12 Mar 2012 05:05 AM PDT

ผู้ป่วยไตประกันสังคมโวยไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้จริง ชี้ประกาศใหม่คุ้มครองเฉพาะฟอกเลือด แต่ไม่คุ้มครองผู้ป่วยที่เปลี่ยนไตมาก่อนเป็นผู้ประกันตน แจงต้องจ่ายค่ายากดภูมิเดือนละเกือบหมื่นบาท ด้านเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจัดประชุม 3-4 เม.ย.นี้ สำรวจข้อมูลผู้ประกันตนทั่วประเทศที่ยังไม่ได้รับยาอะทาสนาเวียร์หลังสปส.ประกาศเพิ่มสิทธิ์ใหม่

นางสาววันวิสาข์(นามสมมติ) อายุ 32 ปี พนักงานบริษัทผู้ประกันตนที่ป่วยโรคไตก่อนได้รับสิทธิประกันสังคม เปิดเผยว่า การที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ประกาศคุ้มครองผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตก่อนเข้าเป็นผู้ประกันตนโดยระบุว่ามีผลตั้งแต่ก.ย.54 นั้น ตนเป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ และยังต้องจ่ายค่ายากดภูมิคุ้มกันเดือนละ 9,800 บาท ทุกๆเดือน และหากเดือนใดต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลก็ต้องเสียค่าเจาะเลือดอีกด้วย ซึ่งการที่สปส.ประกาศเพิ่มสิทธิ์ดังกล่าว ตนได้สอบถามกับสถานพยาบาลแต่ก็ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถเบิกยากดภูมิได้ เนื่องจากยังคงมีข้อกำหนดที่ว่า "จะต้องไม่เป็นผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมาก่อนที่จะมีประกันสังคม จึงจะได้รับสิทธิเบิกยากดภูมิ" ขณะที่ปัจจุบันผู้ที่สามารถเบิกค่าฟอกเลือดก็ไม่มีเงื่อนไขนี้แล้ว ซึ่งไม่เป็นธรรมกับคนที่เปลี่ยนไต กลายเป็นว่าสปส.สนับสนุนผู้ประกันตนที่เป็นโรคไตก่อนที่จะมีประกันสังคมให้ฟอกเลือดเท่านั้น และจะไม่มีโอกาสเปลี่ยนไตได้เพราะไม่คุ้มครองยาดกดภูมิ

“ตอนนี้คงได้แต่ทำใจยอมรับสภาพ เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ที่ผ่านมาปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากชมรมเพื่อนโรคไตและชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน ติดตามตลอด จนเมื่อทราบว่าสปส.ออกประกาศคุ้มครองผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไตมาก่อนก็ดีใจมาก แต่ที่สุดก็ยังไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้”นางสาววันวิสาข์(นามสมมติ) กล่าว

ด้านนายบริพัตร ดอนมอญ ประธานมูลนิธิผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ปรับหลักเกณฑ์การจัดการยาต้านไวรัสอะทาสนาเวียร์ จากการให้โรงพยาบาลจัดซื้อยาเองเป็น สปส.จัดซื้อแล้วส่งให้โรงพยาบาล ในกรณีของตนที่เคยมีปัญหาไม่ได้รับยาจนต้องใช้วิธีการยืมยาจากผู้ป่วยในบัตรทองก่อนหน้านี้นั้น หลังจากสปส.ประกาศกฎใหม่ก็พบว่าไม่มีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายยาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะจัดประชุมสัมมนาในวันที่ 3-4 เม.ย. 2555 เพื่อสำรวจสมาชิกอีกครั้งว่ายังมีผู้ป่วยรายใดที่มีปัญหาไม่ได้รับยาทั้งๆที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าจำเป็นต้องได้รับยาอะทาสนาเวียร์บ้าง นอกจากนี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวียังเตรียมผลักดันการบรรจุยาอะทาสนาเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัมเข้าไปในชุดสิทธิประโยชน์ทั้งในส่วนของสปส.และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เนื่องจากปัจจุบันทั้ง 2 หน่วยงานจ่ายยาดังกล่าว ที่ขนาด 300 มิลลิกรัม

“จะมีผู้ป่วยบางรายที่รับยาแล้วตับทำงานหนัก จำเป็นต้องลดขนาดยาจาก 300 มิลลิกรัมเป็น 200 มิลลิกรัม ปัญหาคือ ยาขนาด 200 มิลลิกรัมไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ ถ้าผู้ป่วยจะรับยาต้องจ่ายเงินซื้อเอง”นายบริพัตร กล่าวและว่า หลังจากจัดประชุมสัมมนาวันที่ 3-4 เม.ย. 2555 แล้ว เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะทำหนังสือยื่นต่อสปส.และสปสช. เพื่อเรียกร้องให้เพิ่มยาอะทาสนาเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารสหรัฐฯ สังหาร 17 ศพ กับความยุ่งยากที่ตามมา

Posted: 12 Mar 2012 05:02 AM PDT

ทหารสหรัฐฯ ลอบออกจากฐานทัพคนเดียวในตอนกลางคืน ก่อนสังหารประชาชนเสียชีวิต 17 ราย มีเด็กและผู้หญิงรวมอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผย ทหารกระทำการโดยพลการเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำสั่งของ ISAF ส.ส. อัฟกันชี้ นายทหารผู้นี้อาจผิดปกติทางจิต

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์คริสเตียนไซแอนท์มอนิเตอร์รายงานว่า ทหารสหรัฐฯ สังหารประชาชนในอัฟกานิสถานรวม 17 ศพ ในจังหวัดกันดาฮาร์ ซึ่งในกลุ่มผู้เสียชีวิตมีผู้หญิงและเด็กอยู่ด้วย

มีชาวอัฟกันเสียชีวิต 17 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย หลังจากที่ทหารสหรัฐฯ เดินทางออกจากฐานทัพทางตอนใต้ของอัฟกานิสถาน ก่อนเข้าโจมตีบ้านเรือนประชาชนอย่างน้อย 3 หลังเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กองกำลังนานาชาติได้จับกุมตัวทหารสหรัฐฯ ไว้ และกำลังดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอัฟกานิสถานเพื่อสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว
 
"จากรายงานขั้นต้นบ่งชี้ว่า ทหารสหรัฐฯ ที่ยิงสังหารผู้คนได้กระทำการเองคนเดียว และไม่ได้เกี่ยวข้องหรืออยู่ในช่วงของภารกิจรักษาความปลอดภัยจากกองกำลังนานาชาติ (ISAF)" นาวาอากาศเอกสหรัฐฯ จัสติน บร็อกคอฟกล่าว เขาเป็นโฆษกของ ISAF "ในตอนนี้เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่านายทหารมีแรงจูงใจอะไร และเราก็ไม่ทราบว่านายทหารเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีปมอะไรบางอย่างกับผู้คนที่ถูกโจมตีหรือไม่"
 
มีความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นระหว่างกองกำลังของนาโต้กับชาวอัฟกัน หลังจากมีกรณีการเผาคัมภีร์อัลกุรอานหลายเล่มในฐานทัพสหรัฐฯ จนเกิดการประท้วงเป็นเวลาหลายเดือน เหตุการณ์ยิงสังหารในครั้งนี้อาจจะยิ่งทำให้ชาวอัฟกันมีความโกรธแค้นกองกำลังจากตะวันตกมากขึ้น อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้วชาวอัฟกันจะไม่ตอบโต่ด้วยความรุนแรงหรือชุมนุมประท้วงเมื่อเกิดเหตการณ์เช่นนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจนชินชาซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากสงคราม ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเหตุการณ์ที่ประชาชนชาวอัพกันถูกสังหารโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจากกองกำลังทหารที่ชื่อ Stryker และเหตุการณ์ที่ทหารนาวิกโยธินของสหรัฐฯ ปัสสาวะรดศพของกองกำลังตอลิบัน
 
"เรื่องนี้ทำให้เรารู้ว่าทหารอเมริกันไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายพล และนายพลสหรัฐฯ ก็ล้มเหลวในการจัดการกับพวกเขา" อับดุล ราฮิม อโยบี ส.ส. จากจังหวัดกันดาฮาร์กล่าว "เรื่องนี้จะยิ่งทำให้ชาวอัฟกันเกลียดชังชาวอเมริกันมากขึ้นเป็นแน่"
 
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมาเกิดขึ้นที่ย่านปัญจวายี ในจังหวัดกันดาฮาร์ รายงานเบื้องต้นระบุว่าทหารได้เดินออกจากฐานทัพเมื่อเวลา 3.00 น. (ตี 3) ก่อนจะโจมตีใส่ประชาชนหลายครอบครัวขณะที่พวกเขากำลังนอนหลับกันอยู่ เมื่อพิจารณาจากชาวอัฟกันในพื้นที่นี้แล้ว ทำให้ตั้งสมมุติฐานจากการพิจารณาเป้าหมายการโจมตีได้ว่าอาจมีผู้ร่วมมือกระทำการด้วย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันในกรณีนี้
 
ฮาจี ฟาไซ โมฮัมหมัด ผู้นำอาวุโสในย่านปัญจวายีได้ไปเยี่ยมบ้านของเหยื่อ 2 หลัง เขาบอกว่ามีบ้านหลังหนึ่งที่มีคนถูกสังหารอยู่ในนั้น 11 ราย ในกลุ่มผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิง 3 ราย เป็นเด็กอีก 4 ราย
 
โมฮัมหมัด บอกอีกว่าดูเหมือนผู้โจมตีพยายามวางเพลิงบ้านหลังนี้ ถึงได้มีร่างของคนจำนวนหนึ่งถูกเผา เขาบอกอีกว่าในกลุ่มผู้เสียชีวิตนี้ทุกคนเสียชีวิตจากการถูกยิง กลุ่าวบ้านในพื้นที่พากันมาชุมนุมประท้วงกลุ่มเล็กๆ โดยนำร่างของผู้เสียชีวิตมาด้วย แต่กลุ่มผู้ประท้วงก็สลายการชุมนุมไปหลังจากที่ผู้อาวุโสในท้องที่ออกมาเตือนว่าการชุมนุมอาจยิ่งสร้างปัญหากับหมู่บ้านมากขึ้น
 
คดีนี้จะยิ่งทำให้กลุ่มต่อต้านในอัฟกันแข็งแกร่งขึ้นต่อกรณีการวางข้อตกลงในระยะยาวที่ว่าสหรัฐฯ จะลดจำนวนกองกำลังในอัฟกานิสถานลงหลังจากเส้นตายในปี 2014 ทางสหรัฐฯ เองก็กำลังพยายามหาทางละเว้นโทษให้กับกองทัพสหรัฐฯ ภายใต้กฏหมายของอัฟกานิสถาน ซึ่งการโจมตีครั้งล่าสุดจะทำให้สหรัฐฯ ขอการสนับสนุนจากผู้นำอัฟกันได้ยากขึ้น ช่องทางการขอเว้นโทษดังกล่าวใกล้เคียงกับสนธิสัญญาที่สหรัฐฯ เคยทำกับอิรัก
 
การสูญเสียในกลุ่มประชาชนเป็นประเด็นมานานแล้วในอัฟกานิสถาน จากรายงานของสหประชาชาติ กองกำลังนานาชาติประสบความสำเร็จในการลดจำนวนประชาชนที่เสียชีวิตจากการกระทำของกองทัพได้ทุกปี แต่เหตุการณ์เช่นนี้เองก็กลายประเด็นสำคัญในการโต้วาทีทางการเมืองของอัฟกัน
 
นาซีฟา ซากี ส.ส. จากกรุงคาบูล อดีตพลตำรวจเอกกล่าวว่า เรื่องการสูญเสียของประชาชนเป็นประเด็นร้อนของรัฐบาลอัฟกัน และพวกเขาก็เรียกร้องให้กองกำลังของสหรัฐฯ คอยระวังในปฏิบัติการของพวกเขาไม่ให้ไปทำอันตรายต่อประชาชน "อีกตัวอย่างหนึ่งคือพฤติกรรมของทหารต่างชาติที่เผาคัมภีร์อัลกุรอาน แล้วในตอนนี้พวกเขาก็มาเผาประชาชน มันจะยิ่งทำให้เป็นเรื่องใหญ่ขึ้นไปอีก"
 
ซากีกล่าวถึงทหารสหรัฐฯ ที่ยิงประชาชนอีกว่า "ฉันคิดว่าเขาไม่ปกติแน่ๆ ...บางทีเขาอาจจะมีปัญหาทางจิตหรืออาจจะเมา แต่ฉันแน่ใจร้อยเปอร์เซนต์ว่าเขาต้องไม่อยู่ในสภาพปกติ"
 
 
 
ที่มา
US soldier goes on killing spree: How events may unfold in Afghanistan, CSmonitor, 11-03-2012
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายชี้แจงกรณีแต่งตั้งตำแหน่งศาสตราจารย์ของธรรมศาสตร์

Posted: 12 Mar 2012 04:50 AM PDT

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

12  มีนาคม  2555

 เรียน บรรณาธิการประชาไท

               ตามที่ได้ปรากฏบทความเรื่อง “บางความเห็นเกี่ยวกับตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย” มีเนื้อหาท้วงติงกระบวนการพิจารณาตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ในประชาไท เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2555 กระผมในฐานะรองอธิการบดีที่รับผิดชอบดูแลงานพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ในสองประการสำคัญดังนี้

               ประการแรก กรณีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่อ่านประเมินผลงานทางวิชาการ จากการตรวจสอบหลักฐานเอกสารและการชี้แจงของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีการสื่อสารและการปฏิบัติที่บกพร่องเกิดขึ้นจริง กล่าวคือเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับทราบว่า ท่านผู้อ่านประเมินไม่เห็นด้วยกับการใช้เอกสารตำราเล่มซึ่งเห็นว่าเป็นปัญหา และจะขอถอนตัวจากการเป็นผู้อ่าน ในการสนทนาทางโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินการทำหนังสือสอบถามยืนยันการถอนตัวอย่างเป็นทางการไปยังผู้อ่านประเมิน แต่ได้นำเรื่องเข้าแจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งฯเพื่อเสนอขอให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านใหม่มาทำหน้าที่แทน อีกทั้งเมื่อได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านใหม่แล้ว ก็มิได้ทำหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการกลับไปยังท่านกรรมการผู้อ่านประเมินผลงานท่านเดิม ส่งผลให้เกิดความเข้าใจสับสนและถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม กระผมในฐานะผู้รับผิดชอบรู้สึกเสียใจและขอยอมรับในความผิดพลาด ทั้งจะเร่งทำหนังสือกราบขออภัยไปยังท่านโดยเร็วที่สุด

               ประการที่สอง กรณีคุณภาพและการใช้ผลงานทางวิชาการประเภทตำราเพื่อขอกำหนดตำแหน่งศาสตรจารย์ มีคุณภาพเพียงพอและมีการใช้ซ้ำซ้อนกับเมื่อคราวขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์โดยอาจารย์ท่านเดียวกันนั้นหรือไม่ กระผมขอเรียนยืนยันว่า กระบวนการทั้งในส่วนของการขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์และตำแหน่งศาสตราจารย์ เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับทุกประการ แต่โดยเหตุที่ระยะเวลาระหว่างการขอกำหนดตำแหน่งทั้งสองคราวนั้นคาบเกี่ยวต่อเนื่องกัน ในช่วงที่มีการออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ฉบับใหม่ปี พ.ศ.2549 ทำให้เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาตำแหน่งและการตีความชิ้นงานที่ใช้สำหรับพิจารณาแต่งตั้งแตกต่างกันในสองคราว โดยจะขออธิบายในรายละเอียดเป็นลำดับดังนี้

               1.เดิมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการในระดับ ผศ. และ รศ. กม.(ก.พ.อ. ในปัจจุบัน) มอบให้มหาวิทยาลัยของรัฐแต่ละมหาวิทยาลัยพิจารณาเอง ซึ่ง อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเป็นประธาน และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของ มธ. เป็นกรรมการ เมื่อ Reader ส่งผลการพิจารณาแล้ว คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้พิจารณาผล (ไม่มีการประชุม Reader)

               2. ระบบการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของ มธ. เป็นระบบที่พิจารณาผลงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยกำหนดระดับคุณภาพของผลงานแต่ละประเภทเป็นขั้นต่ำไว้ และคะแนนรวมขั้นต่ำของผลงานที่ใช้ในการพิจารณาแต่ละระดับไว้ด้วย

               3. กรณีผลงานที่เสนอมามีคะแนนรวมสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้มาก มธ. จะคืนผลงานส่วนเกินให้อาจารย์ไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป โดยมีบันทึกแจ้งอาจารย์อย่างเป็นทางการว่าการได้ตำแหน่งทางวิชาการนั้นๆ พิจารณาจากผลงานใดบ้างและเสนอรายชื่อผลงานที่ใช้ต่อสภามหาวิทยาลัยด้วย 

               4. ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2549 ก.พ.อ. ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการใหม่ โดยบังคับใช้กับทุกระดับทั้ง ผศ. รศ. และ ศ. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ซึ่งสำหรับการพิจารณาตำแหน่งศาสตราจารย์นั้น ประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ในข้อ 5.3.3 วรรคสุดท้ายว่า ผลงานที่เสนอขอจะต้องไม่ซ้ำกับผลงานที่ได้เคยใช้สำหรับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์

               5. กรณีนี้ผู้เสนอขอฯ ได้เสนอเรื่องขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2553 โดยได้เสนอผลงานเรื่องดังกล่าวมาด้วย เนื่องจากผลงานตำรานั้นมิได้ถูกใช้ในการพิจารณาแต่งตั้งให้อาจารย์ดังกล่าวดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ แม้จะมีการส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิ (Reader) อ่านประเมินผลงานด้วยก็ตาม

               6.  เมื่อมีการพิจารณาตำรา/หนังสือฉบับปรับปรุงใหม่นี้  ในการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่อ่านประเมินผลงาน  ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกระดับศาสตราจารย์ ในสาขาที่เกี่ยวข้อง(ตามบัญชีฯของสกอ.)ทั้ง 3 ท่าน ก็ประเมินผลงานชิ้นนี้ในระดับดีมาก เป็นเอกฉันท์ จึงถือว่าผู้ขอมีผลงานที่มีคุณภาพสมควรได้รับการแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ของ ก.พ.อ. ครบทุกประการ

                จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาเผยแพร่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป 

 

พรชัย ตระกูลวรานนท์
รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและวิจัย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

8 ปีการหายตัว 'ทนายสมชาย' ย้ำความไร้ประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมไทย

Posted: 12 Mar 2012 03:15 AM PDT

12 มี.ค. 55 - มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ออกแถลงการณ์เนื่องในวันครบรอบ 8 ปี การบังคับสูญหายของทนายความด้านสิทธิมนุษยชน สมชาย นีละไพจิตร โดยชี้ว่า ในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ แต่ก็หาได้มีความคืบหน้าในการสอบสวนใดๆ  อีกทั้งคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องตำรวจทั้ง 5 นายจากความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว และตัดสินของครอบครัวในการเป็นโจทก์ร่วม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมไทยในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

แถลงการณ์ยังชี้ด้วยว่า ถึงแม้ว่ารัฐไทยจะได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลทุกคนถูกบังคับให้สูญหายขององค์การสหประชาชาติแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลจำเป็นต้องปรับแก้กฎหมายภายในประเทศเพื่อทำให้การบังคับให้สูญหายเป็นอาชญากรรม เพื่อให้เหยื่อและครอบครัวสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ 

ทั้งนี้ สมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงคดีอื่นๆ ด้านสิทธิมนุษยชนที่ทนายอื่นมักปฏิเสธ เขาถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 โดยเชื่อกันว่ามีสาเหตุจากบทบาทของเขาในการเปิดโปงกระบวนการสืบสวนของรัฐ

0000

แถลงการณ์ 8 ปีการบังคับสูญหายนายสมชาย นีละไพจิตร :
ความไร้ประสิทธิภาพของกรมสอบสวนคดีพิเศษและกระบวนการยุติธรรมไทย

กรุงเทพฯ : วันที่ 12 มีนาคม 2555 เป็นวันครบรอบ 8 ปีการบังคับสูญหายนายสมชาย นีละไพจิตร ทนาย ความนักสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้  แม้ที่ผ่านมารัฐบาลทุกรัฐบาลจะแสดงความตั้งใจในการให้ความสำคัญในการคลี่คลายคดีการบังคับสูญ หายนายสมชาย นีละไพจิตร แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่าคดีจะมีความก้าวหน้า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554  ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งห้านายจากความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว  และความผิดต่อเสรีภาพ อีกทั้งยังตัดสิทธิของครอบครัวในการเข้าเป็นโจทก์ร่วม ซึ่งการพิพากษาคดีใน ครั้งนั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งมิใช่เพียงแต่ต่อคดีนายสมชาย นีละไพจิตร หากแต่ยังส่งผลต่อประเด็น เรื่องความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมของประเทศไทยด้วย เพราะคดีนี้ถือเป็นคดีสาธารณะ  ที่ผู้รักความเป็นธรรม รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้ความสนใจและ ติดตามอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคดีนี้ เป็นคดีการลักพาตัวและบังคับสูญหายที่เกิดจากการกระทำของเจ้า หน้าที่รัฐ ซึ่งนอกจากจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดี ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องในข้อหา ดังกล่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกหลายนาย ที่รัฐยังไม่สามารถนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้   

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 จึงแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพ ของกระบวนการยุติธรรมไทยในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทั้งความไร้ประสิทธิภาพในการคุ้มครอง พยาน การไม่มีกฎหมายที่เพียงพอและจำเป็น อีกทั้งยังแสดงถึงความจงใจในการปกป้องเจ้าหน้าที่โดย การที่พยานหลักฐานสำคัญถูกทำลายและไม่ปรากฏในเอกสารที่ส่งศาล และแม้กรมสอบสวนคดีพิเศษจะ รับคดีนายสมชาย นีละไพจิตรเป็นคดีพิเศษ แต่จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 7 ปี กลับพบว่าไม่มีความก้าว หน้าทางคดี การทำงานที่ล่าช้า และความไม่เต็มใจในการทำคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษทำให้พยาน หลายคนถูกคุกคาม และไม่มีความมั่นใจในการให้การเป็นพยาน

แม้รัฐบาลปัจจุบันจะแสดงเจตจำนงในการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดย การร่วมลงนามในอนุสัญญาการระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลทุกคนถูกบังคับให้สูญหาย  ขององค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 หากแต่การที่ยังมีการปรับแก้กฎหมายภายในให้ การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรม ทำให้ความหวังของครอบครัวในการเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม  และการได้รับการชดเชยจากรัฐไม่อาจเกิดขึ้นได้

ในปี 2555 มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ได้ทำงานวิจัยเรื่องสถานการณ์การบังคับบุคคลสูญหายใน ประเทศไทย มูลนิธิฯได้ทำบันทึก 40 เหตุการณ์ซึ่งมีผู้สูญหายถึง 59 คน ในช่วงปี 2544 ถึงปี 2554 (ทั่ว ประเทศ) โดยมีข้อสรุปเบื้องต้นดังนี้

  • ส่วนใหญ่ของเหยื่อเป็นชาย (มีเพียง 4 รายเท่านั้นที่เป็นหญิง)
  • ในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้สูญหาย 12 รายจากภาคเหนือ, 5 รายจากภาคตะวันตก , 7 รายจากภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือ, 33 รายจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 2 รายจากกรุงเทพมหานคร
  • ในจำนวนนั้น มีอย่างน้อย 18 กรณีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการต่อต้านการก่อความไม่สงบ ในจังหวัดชาย แดนภาคใต้ของประเทศไทย , 8 กรณีเป็นผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด , อย่างน้อย 7 กรณีที่ เหยื่อมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ/ ตำรวจ / ทหาร หรือมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ / ตำรวจ /  ทหาร,  5 กรณีเหยื่อเป็นนักสิทธิมนุษยชน นักการเมือง นักกิจกรรมต่อต้านการคอรัปชั่น ,  2 กรณีเกี่ยว ข้องกับบุคคลที่เป็นพยานในคดี และ หนึ่งกรณีเหยื่อมีสถานะเป็นผู้อพยพ
  • ใน 24 กรณีของการบังคับให้สูญหาย ผู้สูญหาย หายขณะอยู่บนถนน ,  11 กรณี ผู้สูญหาย หายภายหลัง ถูกจับกุมจากบ้านพัก หรือสถานที่ที่เหยื่อไปอยู่เป็นประจำ และ 5 กรณี ที่ผู้สูญหาย หายไปหลังจากถูก เชิญให้เข้าไปพบเจ้าหน้าที่

มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มีโครงการที่จะเผยแพร่งานวิจัยเรื่องผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย ฉบับ สมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2555 นี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'เกษียร' วิจารณ์ ปชป. พรรคที่ไม่เห็นอนาคตของตัวเองในการเมืองที่เป็นอยู่

Posted: 12 Mar 2012 02:59 AM PDT

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2555 รศ.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ในเฟสบุ๊ควิจารณ์การดำเนินงานทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่า การให้สัมภาษณ์ของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในระยะหลังๆ แสดงความสิ้นท่าหมดปัญญาที่จะหาประเด็นค้านรัฐบาลซึ่งแทนผลประโยชน์ของประชาชนส่วนข้างมากอย่างแท้จริง ทั้งยังเกาะติดอยู่กับกลุ่มสังคม กลุ่มอุดมการณ์เฉพาะถิ่น สุดโต่งสุดขั้ว อันเป็นลูกค้าขาประจำวงแคบ ๆ เก่า ๆ ของตน โดยระบุด้วยว่า มีท่าทีแอนตี้ประชาธิปไตยลึกๆ ที่หวาดระแวงเสียงข้างมาก พร้อมจะหันไปใช้อำนาจนิยมเพื่อกำราบสิทธิเสรีภาพของผู้มีความเห็นต่าง และชี้ถึงความไม่มั่นคงและมั่นใจว่าจะมีวันที่พรรคตนได้กลับมาชนะการเลือกตั้งกุมเสียงข้างมากในสภาได้อีกถ้าเดินตามระบบกลไกเลือกตั้งปกติ จึงแกว่งซ้ายป่ายขวา หยิบจับประเด็นยิบย่อยเลอะเทอะไปหมด

โดยในข้อความที่โพสต์มีรายละเอียด ดังนี้

0 0 0

พรรคประชาธิปัตย์
เป็นพรรคที่มองไม่เห็นอนาคตของตัวในระบอบการเมืองดังที่เป็นอยู่
..................................................

 

ด้วยความระอิดหนาระอาใจ คนของประชาธิปัตย์ที่ออกมาพูดแต่ละครั้งแต่ละคำในระยะหลังๆ นี้ มีแต่สะท้อน

๑) ความสิ้นท่าหมดปัญญาของประชาธิปัตย์ที่จะหาประเด็นค้านรัฐบาลซึ่งแทนผลประโยชน์ของประชาชนส่วนข้างมากอย่างแท้จริง

๒) เกาะติดกับกลุ่มสังคม กลุ่มอุดมการณ์เฉพาะถิ่น สุดโต่งสุดขั้ว อันเป็นลูกค้าขาประจำวงแคบ ๆ เก่า ๆ ของตน ไม่ปรับตัว ไม่ขยับขยายออกไป กล่าวคือฐานเสียงเครือข่ายอิทธิพลอุปถัมภ์ภาคใต้ และ คนชั้นกลางและคนชั้นสูงหัวอนุรักษ์นิยมผู้จงรักภักดี ที่ไม่สามารถเข้าใจความจำเป็นของการปฏิรูปเพื่อความมั่นคงของระบอบ ปชต.อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในระยะยาว และไม่ยอมรับความจำเป็นของการปรับสัมพันธภาพทางอำนาจไปในทางประชาธิปไตยยิ่งขึ้นเพื่อรองรับคนกลุ่มใหม่ที่อยู่ล่างกว่าตัวลงไปที่บัดนี้ตื่นตัวขึ้นมาแล้ว

๓) ท่าทีแอนตี้ประชาธิปไตยลึกๆ ที่หวาดระแวงเสียงข้างมาก พร้อมจะหันไปใช้อำนาจนิยมเพื่อกำราบสิทธิเสรีภาพของผู้มีความเห็นต่างที่ท้าทายฐานความคิดความเชื่อของพรรคตน

๔) ความ insecure ทางการเมืองลึกๆ ไม่มั่นคงและมั่นใจว่าจะมีวันที่พรรคตนได้กลับมาชนะการเลือกตั้งกุมเสียงข้างมากในสภาได้อีกถ้าเดินตามระบบกลไกเลือกตั้งปกติ จึงแกว่งซ้ายป่ายขวา หยิบจับประเด็นยิบย่อยเลอะเทอะไปหมด หายุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ชัดเจนแม่นยำคงเส้นคงวาไม่เจอ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่ายังคงปะทะกับทหารไทใหญ่ SSA แม้จะลงนามหยุดยิงแล้ว

Posted: 12 Mar 2012 02:57 AM PDT

ทหารพม่าและทหารกองทัพรัฐฉานปะทะกันอีกเมื่อ 11 มี.ค. ในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือและตะวันออก โฆษก SSA เผย หลังลงนามหยุดยิงทัพพม่าไม่ปฏิบัติตามสัญญา และมีการเคลื่อนไหวกดดัน SSA ไม่หยุด

 

 

แหล่งข่าวชายแดนแจ้งว่า เมื่อวานนี้ (11 มี.ค.) ได้เกิดเหตุปะทะกันอีกระหว่างทหารพม่า และกองกำลังไทใหญ่ SSA หน่วยภาคพื้นเชียงตุง บริเวณดอยล้านฟ้าหินเขียว ในเขตป่าแลว เชียงลาบ ตอนเหนือสามเหลี่ยมทองคำ รัฐฉานภาคตะวันออก

พ.ท.กอนจื้น ผบ.หน่วยภาคพื้นเชียงตุง กองกำลังไทใหญ่ SSA กล่าวว่า การปะทะสองฝ่ายเริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 11.45 น. สองฝ่ายปะทะกันนานราว 20 นาที เหตุปะทะเกิดจากทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบที่ 573 เข้าโจมตีกองกำลังไทใหญ่ SSA สังกัดกองร้อยที่ 108 ซึ่งตั้งฐานชั่วคราวอยู่ในบริเวณนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานการสูญเสียจากทั้งสองฝ่าย

อีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ได้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารพม่าไม่ทราบสังกัด และกองกำลังไทใหญ่ SSA ในพื้นที่เมืองจ๊อกแม รัฐฉานภาคเหนือ เหตุปะทะเกิดขึ้นหลังทหารพม่าไม่ทราบจำนวนเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง อยู่ในพื้นที่ปุ่งโว-ฮายกุ๋ย และพบทหารใหญ่ SSA นายหนึ่งกำลังเฝ้าเวรยามอยู่ จากนั้นทหารพม่าได้ยิงเข้าใส่ทหารไทใหญ่คนดังกล่าว เป็นเหตุให้ทหารทั้งสองฝ่ายปะทะกัน

พ.ต.หลาวแสง โฆษก SSA กล่าวว่า หลังจากกองกำลังไทใหญ่ SSA และรัฐบาลพม่าลงนามหยุดยิงกัน กองทัพพม่าไม่ได้ปฏิบัติตามข้อสัญญา ยังมีการเคลื่อนไหวกดดัน SSA ด้านโน้นด้านนี้อยู่ เป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันแล้วหลายครั้ง ซึ่งหากทหารพม่ายังคงมีการออกลาดตระเวนอยู่เช่นนี้ ไม่วันใดก็วันหนึ่งการสู้รบสองฝ่ายอาจปะทุขึ้นอีก เรื่องนี้รัฐบาลพม่าควรให้ความสำคัญ หากต้องการสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลตัดสินคุก 2 เดือน-ให้รอลงอาญาหนุ่มทุบรถวอยซ์ทีวี

Posted: 12 Mar 2012 12:34 AM PDT

ศาลพิพากษากวีไกร โชคพัฒนเกษมสุข กรณีทุบรถวอยซ์ทีวี ปรับ 2,000 บาท คุก 2 เดือนโดยให้รอลงอาญา แต่ตำรวจ สน.ดินแดง ยังอายัดตัวไว้เพราะมีหญิงเสื้อแดงที่ถูกกระชากผมเข้ามาร้องทุกข์ต่อตำรวจ

วันนี้ (12 มี.ค. 55) ศาลแขวงปทุมวัน พิพากษาจำคุกนายกวีไกร โชคพัฒนเกษมสุข จำเลยในคดีทุบรถข่าววอยซ์ ทีวี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ระหว่างการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สวนลุมพินี เป็นเวลา 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

ขณะที่ตำรวจ สน.ดินแดง อายัดตัวนายกวีไกรเพื่อดำเนินคดีต่อ กรณีที่ น.ส.มินตรา โสรส คนเสื้อแดง ถูกนายกวีไกร กระชากผมในการชุมนุมย่าน ถ.ราชปรารภ เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 52 โดยเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนายกวีไกรไปฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตทันที

โดยก่อนหน้านี้ น.ส.มินตรา พร้อมนายกิตติ นิลผาย ทนายความได้เดินทางมายังศาลแขวงปทุมวันเพื่อให้ทนายความดำเนินการอายัดตัวนายกวีไกร หลังจากที่เคยแจ้งความกับ สน.ดินแดงเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 52 แล้วทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ดำเนินการ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บริษัท ประกันความอุ่นใจในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค จำกัด

Posted: 12 Mar 2012 12:27 AM PDT

ช่วงภัยพิบัติน้ำท่วมและวิกฤตกาลทางการเมืองในช่วงสองสามปีหลังมานี้ คนในเมืองที่ไม่มีความสามารถผลิตอาหารขึ้นมาสนองความจำเป็นได้ด้วยตัวเอง ต้องตกอยู่ในวังวนของการแขวนปากท้องของตนไว้กับร้านสะดวกซื้อทั้งหลายที่ผุดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง อันเป็นสภาพการพึ่งพาทางเศรษฐกิจที่เปราะบางไม่มั่นคงเป็นอย่างยิ่ง

ในทางกลับกัน บรรษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการรับส่งอาหารถึงบ้าน หรือร้านสะดวกซื้อที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งอยู่อาศัยของคนเมือง ก็ทำกำไรได้อย่างมหาศาล จากภาวะวิกฤตที่คนตื่นตระหนกและไม่กล้าออกจากบ้านไปกินไปเที่ยวไกล อันถือเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสทางธุรกิจอย่างหนึ่งที่โทษบรรษัทไม่ได้ หากโครงสร้างของระบบอาหารยังเป็นเช่นนี้อยู่

สายสัมพันธ์ระหว่างร้านสะดวกซื้อกับผู้บริโภคก่อตัวขึ้นช้าๆ แต่ซึมลึก ควบคู่ไปกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในเมืองอย่างแยกไม่ออก เช่น ก่อนกลับเข้าบ้านต้องแวะซื้อของกินสักอย่างสองอย่าง หรือซื้อเครื่องดื่มก่อนกลับเข้าบ้าน ซึ่งมีหลายครั้งที่ของบางอย่างซื้อมาซ้ำๆ กันและยังรับประทานไม่หมดจนเหลือทิ้งอยู่บ่อยครั้ง

แต่เมื่อถึงวิกฤตน้ำท่วมที่ทำลายแหล่งผลิตอาหารหลักของร้านสะดวกซื้อ รวมถึงตัดขาดเส้นทางลำเลียงสินค้าเข้าไปในเมือง ทำให้สินค้าขาดตลาด ดังปรากฏการจำกัดจำนวนขายน้ำดื่มบรรจุขวด หรืออาหารบางอย่างขาดตลาดในช่วงน้ำท่วม

ผู้บริโภค รวมถึงนักคิด นักวางแผนนโยบายทั้งหลายได้ตระหนักร่วมกันว่า ความอุ่นใจที่ฝากเอาไว้ให้กับบรรษัทอาจจะเป็นความคาดหวังที่เกินจริงและไม่ยั่งยืนเอาเสียเลย

ความมั่นคงด้านอาหารจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดมากขึ้นในสังคมไทย ควบคู่ไปกับการกำหนดทิศทางนโยบายการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

ความมั่นคงด้านอาหารหมายถึงความสามารถในการพึ่งพาตนเองของสังคมในเชิงเศรษฐกิจ การผลิต การกระจาย การแลกเปลี่ยน การบริโภค กล่าวคือ ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงการแปรรูป การขนส่งจากไร่นา คอกฟาร์ม เข้ามาวางขายในร้านขายปลีกขายส่ง จนนำมาปรุงในครัวของร้านอาหาร หรือบ้านเรือน เรื่อยไปจนตักเข้าปาก กระบวนการทั้งหลายจะต้องได้รับการประกันว่าประชาชนจะมีสิทธิและอำนาจในการจัดการ และตัดสินใจเหนืออาหารในทุกขั้นตอน

แต่สิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน คือ ธุรกิจการเกษตรกรครบวงจรที่ครอบครองกระบวนการทั้งหมดมาอยู่ในอำนาจของตน ไม่ว่าจะเป็นการลงมือทำเองโดยตั้งบรรษัทลูกลงไปทำ หรือการจ้างเหมาช่วงบุคคลภายนอกให้รับความเสี่ยงไปทำต่อ แล้วค่อยบังคับซื้อกลับมาตามสัญญาที่ได้ทำไว้ล่วงหน้า

เกษตรกรรมครบวงจรที่บรรษัทเสนอให้เป็นทางออกของความมั่นคงด้านอาหาร อาจจะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรและผู้บริโภค เพราะบรรษัทเข้ามากำหนดและปันส่วนในทุกกระบวนการ

หากสกัดเอาส่วนเกินที่บรรษัทขูดรีดจากเกษตรกรและผู้บริโภคออก ก็จะเห็นถึงเงินในกระเป๋าเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น หนี้สินลดน้อยลง ผู้บริโภคมีอาหารที่ตรงกับความต้องการมากขึ้นและเหลือเงินไปใช้สอยอย่างอื่นแยะขึ้น

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของบรรษัทแบบครบวงจรซึ่งเข้าข่ายการผูกขาดแนวดิ่ง อยู่ในขอบเขตการกระทำซึ่งรัฐสามารถใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.การแข่งขันที่เป็นธรรมฯ มาจัดการได้

อย่างไรก็ดี มาตรการทางกฎหมายต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง ที่ต้องต่อสู้กับกลุ่มผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจการเมือง อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งมีกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลังในการสนับสนุน ย่อมไม่กล้าจะจัดการกับกลุ่มที่สนับสนุนตนมา จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐไทยแทบไม่เคยใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับการผูกขาดทางเศรษฐกิจได้เลย

หากรัฐต้องการแก้ปัญหาการผูกขาด และสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหาร สิ่งที่รัฐพอจะทำได้โดยไม่ต้องแตกหักกับกลุ่มทุน ก็คือ ต้องเร่งพัฒนาเรื่องการกระจาย และการแลกเปลี่ยน เพื่อเชื่อมโยงการผลิตและการบริโภคเข้าหากัน

มีกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์จำนวนไม่น้อยพยายามสร้างตลาดทางเลือก และคิดค้นวิธีการกระจายสินค้าและเชื่อมต่อข้อมูล แต่ความพยายามของเกษตรกรและสหกรณ์เหล่านั้นก็ต้องเผชิญมาตรการโต้กลับของบรรษัท รวมถึงความหนืดเชิงธุรกิจทั่วไปของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม

วาระสำคัญของประเทศในเรื่องนี้จึงไม่ต่างจากการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจอื่นของรัฐไทย คือ การส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันโดยพัฒนาตลาดทางเลือก และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมและขนส่ง

อย่างไรก็ดี เป็นที่รับรู้ว่า มาตรการเหล่านี้ต้องการเวลา และงบประมาณ เพราะฉะนั้นนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงต้องสานต่ออย่างสืบเนื่อง

มาตรการที่พวกเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและปฏิบัติการได้เองในชีวิตประจำวัน คือ พยายาม ลด ละ เลิกไม่ซื้อสินค้าจากบรรษัทที่มีพฤติกรรมผูกขาด เริ่มเสาะแสวงหาเลือกซื้ออาหารจากรายย่อย เช่น อาหารท้องถิ่น ใช้เวลาว่างศึกษาข้อมูลต่างๆ และใช้เทคโนโลยีสื่อสารเพื่อการรวมตัว เพิ่มปริมาณ จัดซื้อจัดจ้าง อย่างต่อเนื่อง จนจำนวนความต้องการเพิ่มขึ้นกลายเป็นกลุ่มลูกค้าที่ผู้ประกอบการกล้าที่จะลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการมากขึ้น

ทางเลือกนี้มีความลำบากแต่สิ่งที่ได้กลับคืนมาก็คุ้ม เพราะเราจะได้อาหารที่ราคาถูกลง คุณภาพดีและปลอดภัยยิ่งขึ้น นอกจากนี้เราก็จะมีข้อมูลซึ่งเชื่อมโยงกับสุขภาพของตน มีเครือข่ายของเพื่อร่วมสังคม และสามรถรักษาวิถีชีวิตของตนและเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

บทความเรื่องนี้เขียนขึ้นจากชุดโครงการวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และทางเลือกของผู้บริโภคที่เสนอในบทความชิ้นนี้ ข้าพเจ้า และเครือข่าย “ปลดแอกเกษตรกรจากพันธนาการ” (FAIR Contract FREE Farming) ได้ลงมือปฏิบัติการจริงมามากกว่าหนึ่งปี ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสุขภาพกระเป๋าสตางค์ ในทางที่ดีขึ้น ท่านผู้อ่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปเยี่ยมชม หน้าแฟนเพจ Facebook โดยค้นหาจาก Google ว่า “ปลดแอกเกษตรกรจากพันธนาการ” หรือ “FAIR Contract FREE Farming” ได้ทันทีโดยไม่ต้องกดถูกใจ หรือเป็นสมาชิก เฟซบุ๊ก แต่อย่างใด
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ชูศักดิ์’ ปาฐกถางานวิชาการ นศ.3 สถาบัน มนุษยศาสตร์เจอ ‘บาทานิยม’ ก็ตัวใครตัวมัน

Posted: 11 Mar 2012 10:04 PM PDT

 

แฟ้มภาพประชาไท

11 มี.ค.55 ในงานประชุมวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ระดับปริญญาตรี จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ – เกษตร ครั้งที่ 1  รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ จากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้กล่าวปาฐกถาปิดงานเรื่อง “กระบวนทัศน์ใหม่ในมนุษย์ศาสตร์” โดยเริ่มต้นกล่าวถึงการจัดนำเสนอทางวิชาการร่วมกันของนักศึกษาในครั้งนี้ว่าเป็นสิ่งน่าทำมากกว่าพิธีรับปริญญาบัตร ซึ่งจัดกันใหญ่โตเหมือนเด็กฝรั่งที่จบไฮสคูล และการจัดงานครั้งนี้เป็นความหมายของ “บัณฑิต” ที่แท้จริง ที่ผ่านมาเคยคุยกับอาจารย์นพพร ประชากุล ถึงความล้มเหลวของการศึกษาไทย ซึ่งล้มเหลวหนักในช่วงการปฏิรูปการศึกษาว่า สมมติฐานหนึ่งที่อาจเหมือนทฤษฎีสมคบคิดคือ เป็นความจงใจของผู้ปกครองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ต้องการให้นักศึกษาคิดไม่เป็น ปัญญาอ่อน  เพราะรู้แล้วว่าเมื่อนักศึกษาคิดเป็น และกล้าคิด มันทำให้เกิดการล้มครืนของระบอบเผด็จการทหาร จึงทำให้เกิดกระบวนการการทำให้เป็นทารก เป็นเด็กอยู่ร่ำไป อาจเรียกได้ว่า ทารกภิวัตน์  (ทา-ระ-กา-พิ-วัด) ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของสังคมโดยรวมทั้งหมด

ชูศักดิ์ กล่าวว่า แม้การจัดงานครั้งนี้จะเป็นก้าวสั้นๆ ของนักศึกษาเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต แต่ก็เป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญ หัวข้อที่น่าสนใจสำหรับการก้าวกระโดดทางปัญญาของนักศึกษาเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่อง กระบวนทัศน์ใหม่ในมนุษยศาสตร์ ซึ่งมันอาจจะเก่าไปแล้วสำหรับหลายคน แต่เป็นกระบวนทัศน์เก่าที่ยังใหม่อยู่

เขากล่าวว่า การศึกษามนุษยศาสตร์เสาหลักอันหนึ่ง แต่มีเป้าหมายที่ต่างไปเล็กน้อยจากสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เมื่อแรกเริ่มในตะวันตกการศึกษามนุษยศาสตร์ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากแนวคิดมนุษยนิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับมนุษย์คู่ขนานไปกับพระเจ้า ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นเรื่องท้าทายพอสมควร

จุดเปลี่ยนสำคัญที่มีการตั้งคำถามกับมนุษย์ศาสตร์เริ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะในขณะที่มนุษย์ศาสตร์กำลังซาบซึ้งดื่มด่ำในความเป็นมนุษย์ แต่มันกลับไม่สามารถยับยั้งการฆ่าล้างอย่างเป็นระบบได้ ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ มันถูกใช้เป็นเครื่องมือประหัตประหารนั้นเสียเอง ทั้งในเชิงอุดมการณ์และตัวบุคคล มีนักปราชญ์นักคิดหลายคนที่เข้าร่วมอย่างเอาการเอางานกับลัทธินาซีในเยอรมัน ทำให้นักคิด ปัญญาชนหันกลับมาทบทวน ตั้งคำถาม ตรวจสอบองค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ครั้งใหญ่ในหลายแนวหลายสาย โดยเฉพาะแนวคิดโครงสร้างนิยม  ซึ่งเป็นการตกผลึกของการหากระบวนทัศน์ใหม่ เป็นปฏิวัติระบบคิด วิธีการวิเคราะห์ใหม่หมด เป็นพื้นฐานของแนวคิดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น แนวคิดรื้อสร้าง หลังสมัยใหม่ ฯ แนวคิดนี้ไม่ได้เป็นแค่วิธีวิทยาใหม่ แต่ประกาศตนเองว่าเป็นชุดความคิดใหม่ที่อธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์ใหม่ต่างจากที่เคยเชื่อกันมา มันอาจเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว แต่มันเป็นเรื่องเก่าที่ใหม่ เพราะโครงสร้างนิยมเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะเข้าใจแนวคิดใหม่ๆ

ชูศักดิ์กล่าวถึงพื้นฐานหลักของแนวคิดโครงสร้างนิยมว่า เป็นการเริ่มมองแบบองค์รวม โดยเห็นว่าการจะเข้าใจ อธิบายปรากฏการณ์หนึ่งๆ ไม่อาจมองปรากฏการณ์ต่างๆ ในลักษณะแยกส่วน  เพราะระบบความหมายทั้งหมดเกิดจากโครงสร้างความสัมพันธ์ในตัวระบบนั้นที่กำหนดตำแหน่งแห่งที่ และความหมายต่างๆ  โครงสร้างที่กำหนดความหมายและความสัมพันธ์ของหน่วยต่างๆ ในระบบไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยการวิเคราะห์ มุ่งมองเชื่อมโยงให้เห็นว่ามันถูกำกับด้วยระบบความสัมพันธ์ชนิดใด วิธีมองแบบนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการศึกษามนุษยศาสตร์

เขากล่าวว่า นัยยะที่สำคัญมากของโครงสร้างนิยมหรือหลังโครงสร้างนิยม คือ มันเกิดกระบวนการที่หันมาวิพากษ์ตัวมันเอง ไม่ใช่ลักษณะการตั้งคำถามกับวิธีการศึกษา แต่วิพากษ์สถานะ หรือศาสตร์ของมันเอง ซึ่งเกิดขึ้นในหลายๆ วงการ พูดแบบบ้านๆ นักวิชาการช่วงโครงสร้างนิยมได้ดำเนินการ “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” สงสัยแม้แต่ศาสตร์ของตัวเอง กล้าวิพากษ์ตัวเองซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ชูศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า มนุษยศาสตร์มีสปิริตของการวิพากษ์ และเอื้อให้เราสังสรรค์กับความเป็นอื่น เพราะวิธีการศึกษามนุษยศาสตร์ต่างจากศาสตร์อื่น เราไม่ได้เอาความจริงเชิงประจักษ์เป็นคำตอบสุดท้ายให้กับการศึกษา มนุษยศาสตร์ไม่สามารถชี้ผิดถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือให้คำตอบรูปธรรมได้ มันไม่ได้ให้ความสนใจกับคำตอบตายตัว แต่ให้ความสนใจกับกระบวนการเข้าถึงคำตอบ หรือทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเสียมากกว่า  การศึกษามนุษยศาสตร์เอื้อต่อสำนึกที่เราอาจเรียกว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือ “ขันติธรรม”

การที่เราสามารถไปนั่งในหัวใจคนอื่น คิดและรู้สึกแทนคนอื่นได้ ต้องเผชิญหน้าความเป็นอื่นและเข้าใจความเป็นอื่นได้ วิชามนุษยศาสตร์เป็นประตูที่เปิดให้เราปะทะสังสรรค์กับความเป็นอื่น  จะด้วยวิธีการศึกษาใดเล่าที่จะทำให้เราบรรลุขันติธรรมนี้ เพราะแม้มันมีศักยภาพแต่มันก็ล้มเหลวมาแล้วในสงครามโลกทั้งสองครั้ง”

“ผมเตรียมเรื่องนี้มานาน ท้ายที่สุด ผมเจอการ์ตูนอันนี้(เรณู ปัญญาดี) ในมติชนสุดสัปดาห์ ... ผมคิดว่ากระบวนทัศน์ใหม่ที่เสนอให้พวกคุณพิจารณา จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างไร จะมีประโยชน์ยังไงกับการมาตั้งคำถามกับความเป็นทรราชย์ของมนุษยนิยมและเหตุผลนิยมอย่างที่พวกโครงสร้างนิยมและโพสต์โมเดิร์นกำลังถกเถียงกันอย่างขะมักเขม้นในโลกตะวันตก ในขณะที่สังคมของเราตกอยู่ภายใต้อุ้งมือของเทวนิยม อวิชชานิยม และบาทานิยม ได้แต่หวังว่าพวกคุณจะร่วมกันคิดต่อไปว่าเราจะก้าวข้าม “บาทานิยม” ที่กำลังครอบคลุมสังคมไทยในขณะนี้ได้อย่างไร “ ชูศักดิ์กล่าวสรุป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น