โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

“ศีลธรรมแบบเห็นแก่ตัว” ในพุทธศาสนาแบบไทยๆ

Posted: 23 Mar 2012 10:10 AM PDT

ชาวพุทธแบบไทยๆ มักวิจารณ์ว่าแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของตะวันตกเป็นแนวคิดแบบเห็นแก่ตัวเพราะก่อให้เกิด “ลัทธิปัจเจกชนนิยม” (individualism)ที่ให้คุณค่าสูงสุดกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลหรือเน้นความมี “ตัวตน” ของปัจเจกบุคคล

เมื่อมี “ตัวตน” ก็ยึดถือตัวตนจึงทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวและเมื่อเห็นแก่ตัวก็ยึดถือผลประโยชน์ส่วนตนในการตัดสินถูก-ผิดทางศีลธรรมคือถ้าการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองก็บอกว่าเป็นการกระทำที่ดี
ดังที่เรามักเห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบ่นๆกันทำนองว่า “คนทุกวันนี้มันเห็นแก่ตัวเอะอะอะไรก็เรียกร้องสิทธิเสรีภาพแต่ไม่ถามบ้างว่าหน้าที่ของตนคืออะไรจะเอาแต่สิทธิเสรีภาพแต่ไม่ยอมทำหน้าที่”

และแล้วพวกเขาก็เทศนาต่อทันทีว่า “แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพอาจไม่เหมาะกับสังคมไทยเพราะทำให้คนเห็นแก่ตัวไม่รู้จักหน้าที่สังคมไทยเรามีลักษณะพิเศษคือให้ความสำคัญกับหน้าที่มากกว่าสิทธิเสรีภาพเช่นหน้าที่ของพ่อแม่ครูอาจารย์หน้าที่ของลูกลูกศิษย์หน้าที่ของผู้ปกครองผู้ใต้ปกครองหน้าที่ของทุกคนที่ต้องจงรักภักดีต่อสถาบันชาติศาสน์กษัตริย์เป็นต้นถ้าแต่ละคนทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องบ้านเมืองก็สงบสุข”

แต่อันที่จริงตามแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของตะวันตกนั้นเราไม่สามารถแยกสิทธิเสรีภาพของเราออกมาจากสิทธิเสรีภาพของคนอื่นๆ แล้วให้ความหมายพิเศษปกป้องมันอย่างเป็นพิเศษเหนือสิทธิเสรีภาพของคนอื่นๆ ได้
หมายความว่าเมื่อเราพูดถึงสิทธิเสรีภาพของปัจเจกแต่ละคนเท่ากับพูดถึงสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในฐานะที่เขาเป็น “มนุษย์” และความเป็นมนุษย์ของทุกคนย่อมเสมอภาคกันฉะนั้นสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนมีภายใต้ระบบสังคม-การเมืองจึงต้องเป็นสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน

เราจึงไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองโดยไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่นๆ และสิทธิเสรีภาพของเราจะมีได้ก็ต่อเมื่อได้รับการเคารพโดยคนอื่นๆ เช่นกันพูดง่ายๆ คือสิทธิเสรีภาพของแต่ละคนจะมีได้ก็เพราะว่าทุกคนมี “หน้าที่” เคารพสิทธิเสรีภาพของกันและกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้การปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองย่อมเท่ากับปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนอื่นๆ ด้วยและ/หรือการปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนอื่นๆ ก็เท่ากับปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองด้วยเพราะเท่ากับเป็นการปกป้อง “หลักการ” คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของทุกคนให้คงอยู่

ฉะนั้นตามแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพแบบตะวันตกแม้จะเน้นตัวตนหรือ “ความเป็นตัวของตัวเอง” ของปัจเจกบุคคลก็สรุปไม่ได้ว่าเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัวที่แต่ละคนต่างก็จะเอาแต่สิทธิเสรีภาพของตนเองโดยไม่คำนึงถึง “หน้าที่” ดังความเข้าใจอย่างผิดๆ ข้างต้น

แท้ที่จริงปัญหาที่ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมาคือการปลูกฝังศีลธรรมใน “พุทธศาสนาแบบไทยๆ” ที่อ้างว่าเป็นศาสนาที่สอนความเป็น “อนัตตา” ให้ละตัวกูของกูหรือละความเห็นแก่ตัวต่างหากที่เป็นการ “ปลูกฝังความเห็นแก่ตัว” อย่างซึมซับเข้าไปใน “จิตใต้สำนึก” เลยทีเดียว

เช่นที่พระสอนกันว่ารักษาศีล5เพื่อให้ได้รับอานิสงส์คือความร่ำรวย (สีเลนโภคสัมปทา) เพื่อไปสู่สุคติหรือสวรรค์ (สีเลนสุคะติงยันติ) เพื่อบรรลุนิพพาน (สีเลนนิพพุติงยันติ)

เห็นไหมว่าความร่ำรวยสวรรค์นิพพานล้วนแต่เป็น “ความสุขส่วนตัว” ฉะนั้นเหตุผลของการรักษาศีลตามที่สอนกันในพุทธศาสนาแบบไทยๆจึงไม่ใช่เหตุผลเพื่อ “ความสุขของส่วนรวม” แต่เป็นเหตุผลเพื่อ “ความสุขส่วนตัว” เวลาคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมรักษาศีลก็นึกถึงตัวเองว่าทำไปแล้วตัวเองจะได้อะไรตอบแทนแทบไม่ได้ถูกชี้แนะให้นึกถึงคนอื่นๆหรือสังคมเลย

จริงหรือไม่ว่า ชาวพุทธแบบไทยๆ แทบไม่ได้รับการปลูกฝังว่า การรักษาศีลหมายถึงการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของคนอื่นๆ หรือปกป้องความสงบสุขของสังคมเลย

ถ้าพิจารณาตาม “แบบแผน” ของการปลูกฝังศีลธรรมแบบนี้ก็หมายความว่าการกระทำความดีหรือการเป็นคนดีมีศีลธรรมจะส่งผลให้ได้รับ “ความสุขส่วนตัว” เท่ากับเป็นการทำความดีเพื่อหวัง “รางวัลตอบแทน” ส่วนตัวทั้งนั้น
และหากเป็นคนช่างคิดหน่อยก็จะเห็นว่า “รางวัลตอบแทน” ส่วนตัวนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับรางวัลจากการ “ถูกหวย” เพราะดูเหมือนว่าระหว่าง “การกระทำความดี” กับ “รางวัลตอบแทน” จะไม่มีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลแก่กันเลยเช่นรักษาศีล5จะเป็นสาเหตุให้ร่ำรวยได้อย่างไร (ถ้าไม่ทำธุรกิจหรือ ฯลฯ) จะเป็นสาเหตุให้ไปเกิดในสวรรค์อย่างไร (พิสูจน์อย่างไร)

และยิ่งเมื่อพิจารณาดูการโปรโมทการทำ “ความดี” ในพุทธแบบไทยๆ นั้นล้วนแต่สามารถจะมีอานิสงส์ยิ่งกว่า “ถูกหวย” ด้วยซ้ำเพราะการทำความดีด้วยการให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนานั้นย่อมก่อให้เกิดอานิสงส์หรือรางวัลตอบแทนส่วนตัว “อย่างวิจิตรพิสดารยิ่ง”

เช่น ทำความดีด้วยการให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาแล้วจะส่งผลให้รวยสวยหล่อหรือเจริญด้วยรูปสมบัติทรัพย์สมบัติสวรรค์สมบัติหรือได้ยศถาบรรดาศักดิ์เกียรติยศชื่อเสียงมีคนรักคนเมตตาเงินทองไหลมาเทมา ฯลฯ (หุหุ...เสียงขำในใจเพราะ “งึด” หลาย)

ซึ่งเราไม่มีทางอธิบายได้ว่าระหว่างการทำความดีด้วยการให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนานั้นมันมี “ความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผล” กับความสวยหล่อร่ำรวยยศถาบรรดาศักดิ์เงินทองไหลมาเทมา ฯลฯ อย่างไร

ทว่าเรากลับได้เห็นความไร้เหตุผลต่างๆ นั้นพร้อมๆ กันกับได้ฟังการโปรโมทตลอดเวลาว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผลเป็นศาสนาแห่งปัญญาเป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้” (ส่วนที่ “พระเซเล็บ” บอกว่า “คนสมัยก่อนเขาเหาะเหินเดินหาว” และ “อย่างมงายในวิทยาศาสตร์” นั้นก็ทำเอา “แฟนคลับ” จำนวนมากน้ำหูน้ำตาไหลตามๆกันนี่แหละ “พุทธหลายเวอร์ชั่น” นะโยมนะ)

แต่เมื่อพิจารณาแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพแบบตะวันตกเราจะเห็นความเป็นเหตุเป็นผลว่า “การทำความดี” ด้วยการเคารพปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองและของกันและกันและ/หรือการปรับใช้หลักสิทธิเสรีภาพกับทุกคนอย่างเท่าเทียมย่อมก่อให้เกิด “ผลดี” คือ “ความยุติธรรม” ทางสังคม-การเมือง

ซึ่งความยุติธรรมทางสังคม-การเมืองดังกล่าวนี้คือมาตรฐานขั้นพื้นฐานหรือ “ขั้นต่ำสุด” ในการปกป้อง “ความเป็นมนุษย์” ของเราหมายความว่าหากเรามีความเป็นมนุษย์ในมาตรฐานขั้นต่ำสุดนี้แล้วเราก็สามารถพัฒนาความเป็นมนุษย์ในมิติต่างๆ ให้งอกงามต่อไปได้ง่ายขึ้น

แต่ภายใต้แบบแผนการปลูกฝังศีลธรรมของพุทธศาสนาแบบไทยๆ ที่อ้างว่าเป็น “ศีลธรรมแห่งการละความเห็นแก่ตัว” นั้นโดยข้อเท็จจริงแล้วกลับเป็นศีลธรรมที่มุ่งทำความดีเพื่อความสุขส่วนตัวและหวังผลจากการทำความดีแบบ “ถูกหวย” หรือเกินจริงอย่างยิ่ง

เพราะผลแห่งการทำความดีไม่ใช่มุ่งหมายให้สังคมดีหรือมีความยุติธรรมแบบแนวคิดตะวันตกแต่เป็น “ผลตอบแทนส่วนตัว” ที่วิจิตรพิสดารยิ่งตั้งแต่สวยรวยหล่อยศเกียรติปราศจากโรคาพยาธิกระทั่งไปเกิดในสวรรค์เป็นเทพบุตรมีนางฟ้า500เป็นบริวาร (แต่ไม่ยักได้เกิดเป็นนางฟ้ามีเทพบุตร 500 เป็นบริวารแฮะ)

ฉะนั้นที่กล่าวหาว่าศีลธรรมแบบตะวันตกที่เน้นสิทธิเสรีภาพเป็นความเห็นแก่ตัวนั้นน่าจะไม่ถูกนักศีลธรรมในพุทธศาสนาแบบไทยๆต่างหากที่เป็น “ศีลธรรมแบบเห็นแก่ตัว” และยังเป็น “ความเห็นแก่ตัวอย่างไร้เหตุผล” อีกด้วย

นึกๆ ดูพุทธะสลัดทิ้งทุกสิ่งเพื่อแสวงหาสัจธรรมและอิสรภาพของชีวิต (“การทำความดี” ของพุทธะ= “การใช้ชีวิตแสวงหาสัจธรรม” และ “ผลตอบแทน” = “อิสรภาพของชีวิต”)

แต่พุทธศาสนาแบบไทยๆ กลับ “อ้างอิง” สิ่งที่พุทธะสลัดทิ้งแล้วเช่นความมั่งคั่งยศถาบรรดาศักดิ์ ฯลฯ มาเป็น “อานิสงส์” หรือผลตอบแทนของการทำ “ความดี” (การทำความดี=means ไปสู่ end ที่เป็น “พันธนาการของชีวิต”)

นี่คือความผิดเพี้ยนของศีลธรรมและพุทธศาสนาแบบไทยๆ!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"วิไลวรรณ แซ่เตีย" แจงความจำเป็นผลักร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เข้าสภา

Posted: 23 Mar 2012 09:40 AM PDT

 (22 มี.ค.55) วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ เล่าถึงที่มาที่ไปของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ น.ส.วิไลวรรณ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คนเป็นผู้เสนอ พร้อมย้ำถึงความต้องการให้มีนำร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่การประชุมสภาเพื่อรับหลักการก่อนปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติวันที่ 18 เมษายนนี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปราบดา หยุ่น: ธอมัส เพน เนรคุณตัวพ่อกับ ม. 112

Posted: 23 Mar 2012 09:30 AM PDT

 

“อาจเป็นได้ที่แนวคิดบนหน้ากระดาษถัดจากนี้ไปจะยังไม่อยู่ในกระแสนิยมเพียงพอให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง การละเลยที่จะใคร่ครวญถึงความผิดเพี้ยนของบางสิ่งบางอย่างมาเนิ่นนานจนชาชิน ทำให้เกิดภาพมายาว่าเป็นเรื่องถูกต้อง และส่งผลในเบื้องต้นให้เกิดการโหมระดมลุกฮือปกป้องความเป็นจารีตประเพณีนั้นไว้อย่างรุนแรง ทว่าความสับสนอลหม่านดังกล่าวจะอ่อนพลังลงในที่สุด กาลเวลาเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนได้มากกว่าการใช้เหตุผล”

นั่นเป็นถ้อยคำที่ถูกเขียนขึ้นมาแล้วเกือบสองร้อยสี่สิบปี ในบทนำของบทความขนาดยาวชื่อ Common Sense หรือ “สามัญสำนึก” โดยชายวัยสามสิบเก้า นาม ธอมัส เพน (Thomas Paine) ผู้ได้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่าเป็นหนึ่งใน “บิดาผู้สถาปนา” สหรัฐอเมริกา (Founding Fathers) เป็นหนึ่งในฟันเฟืองตัวสำคัญของการขับเคลื่อนอุดมการณ์และแนวคิดแห่งยุคสมัยที่เรียกกันว่า “ยุคแสงสว่างทางปัญญาของอเมริกา” (American Enlightenment) ซึ่งเป็นพื้นฐานทางความคิดที่ส่งผลให้ชาวอเมริกันภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรอังกฤษเริ่มเล็งเห็นถึงความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความไร้เหตุผลที่ตนต้องประสบพบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และยังเป็นต้นแบบของอุดมการณ์ประชาธิปไตยยุคใหม่ที่ยังใช้เป็นตรรกะของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ของความชอบธรรมที่ประชาชนมีในการโค่นล้มรัฐเผด็จการ และเป็นแนวทางพัฒนาสังคมไปสู่ความเสมอภาคอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน
 

สองร้อยกว่าปีอาจเนิ่นนานเทียบเท่าหลายชั่วอายุคน ทว่าดูเหมือนจะเป็นเวลาที่ยังไม่เพียงพอสำหรับการเคลื่อนเปลี่ยนสู่ความเสมอภาคและเสรีภาพบนหน้าปัดนาฬิกาแห่งสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ใน “สามัญสำนึก” ธอมัส เพน กล่าวถึงการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพของอเมริกาว่าเป็น “ปัญหาของมวลมนุษยชาติ” เพนไม่ได้หมายความว่ามนุษยชาติต้องเป็นเดือดเป็นร้อนไปกับปัญหาของอเมริกา หากแต่เขาต้องการชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่อเมริกาประสบนั้น คือปัญหาที่เกิดแก่สังคมมนุษย์โดยทั่วไปอย่างเป็นสากล นั่นคือการตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองและอุดมการณ์ที่ขัดแย้งต่อ “สิทธิขั้นพื้นฐานโดยธรรมชาติ” ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์

คำถามที่ว่ามนุษย์มี “อิสระ” หรือเป็น “เสรี” โดยธรรมชาติหรือไม่ อาจเป็นประเด็นที่ยังไม่มีบทสรุปยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ในลักษณะที่ “โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์” เป็นข้อมูลที่ปราศจากการโต้แย้งโดยสิ้นเชิงในศตวรรษนี้ (แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เคยเห็นกับตาว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์) และหากไตร่ตรองด้วยหลักการและการตีความคำศัพท์ทั้งหมด (“อิสรภาพ” “เสรีภาพ” และ “ธรรมชาติ”) ด้วยพื้นฐานทางความคิดที่ต่างกัน ความเชื่อหรือบทสรุปที่ตามมาย่อมต่างกันโดยปริยาย ปรัชญาเชิงวัตถุนิยม (Materialism) อาจเห็นว่ามนุษย์เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ถูกกำหนดประสิทธิภาพและหน้าที่ใช้งานไว้แล้ว ไม่ต่างจากสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ คำว่า “อิสรภาพ” และ “เสรีภาพ” จึงเป็นเพียงมายา เป็นเพียง “ความคิดเข้าข้างตัวเอง” (wishful thinking) ในขณะที่ปรัชญาเชิงอุดมคติ (Idealism) และอัตถิภาวนิยม (Existentialism) เห็นว่ามนุษย์มีพื้นที่ของการ “สร้าง” สิ่งที่ตนต้องการเป็น หรือมีศักยภาพบางอย่างในการ “ข้ามพ้น” ความเป็นสัตว์เดรัจฉานไปสู่บางอย่างที่สูงส่งกว่า ยิ่งใหญ่กว่า และสำหรับบางคน บางอย่างที่ว่านั้นก็คือความเป็นอิสระ ความมีเสรีภาพ ความหลุดพ้นจากกรอบบังคับรอบตัว

แต่ไม่ว่า “ความจริง” จะเป็นเช่นไร ไม่ว่ามนุษย์จะมีสถานะเป็นเพียงสัตว์ที่สำคัญตนผิดหรือเป็นสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์เหนือการควบคุมโดยธรรมชาติ ยังมีความหมายอีกด้านหนึ่งของอิสรภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่ไม่จำเป็นต้องพาดพิงอยู่กับการถกเถียงทางปรัชญาสามวาสองศอกหรือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แม้แต่น้อย เนื่องเพราะ “ความรู้สึก” ที่เกิดขึ้นอย่างสากลในสังคมมนุษย์ทุกยุคสมัยก็เป็นรูปธรรมเพียงพอต่อการยอมรับว่ามีอยู่จริง ไม่ต่างจากที่เรายอมรับในความรู้สึกหิวโหย ความอิ่มท้อง ความเจ็บปวด ความโศกเศร้า ความเป็นสุข หรือกระทั่งความรัก นั่นคือการมีอิสรภาพในความหมายของการเป็นไทต่อการกดขี่ของผู้อื่น การมีเสรีภาพในความหมายของการหลุดพ้นจากการถูกข่มเหงโดยอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และความเสมอภาคในความหมายของการได้รับสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างทัดเทียมกัน โดยไม่ถูกจำกัดด้วยปัจจัยอย่าง เพศ ชาติพันธุ์สีผิว สัญชาติ ศาสนา ตำแหน่งฐานะ หรือวงศ์ตระกูล หรือมีเพียงเหตุผลมาจากอคติ ความเชื่อไร้หลักฐาน และการยืนกรานจะรักษาจารีตประเพณีไว้เพียงเพราะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเนิ่นนาน แม้ว่าจะเป็นการปฏิบัติที่บิดเบี้ยวและขัดแย้งต่อการดำรงชีวิตในด้านอื่นอย่างไรก็ตาม

นี่คือหัวใจของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในความหมายของธอมัส เพน

“สามัญสำนึก” ของเพน (ซึ่งเป็นผลงานตีพิมพ์ที่ไม่ลงชื่อผู้เขียน ขายได้ราวสองแสนกว่าเล่มในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ในขณะที่อเมริกามีประชากรเพียงสามล้านคน) มิได้เป็นบทความที่จุดประกายให้เกิดการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพในอเมริกา ปัญหาระหว่างอเมริกากับราชอาณาจักรอังกฤษคุกรุ่นอยู่ก่อนแล้ว แต่ “สามัญสำนึก” เปรียบเสมือนการช่วยเรียบเรียงถ่ายทอดความรู้สึกอัดอั้นคับแค้นของผู้คนออกมาเป็นตัวอักษร เป็นคำพูด ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแห่งเหตุและผล ป่าวก้องรองรับความชอบธรรมในการต่อสู้

แม้ในขณะนั้นอังกฤษจะปกครองด้วยระบอบที่ถือว่าค่อนข้าง “ทันสมัย” สำหรับศตวรรษที่สิบแปด บทความของเพนชี้ว่าการปกครองของอังกฤษยังมีปัญหาที่มาจากระดับโครงสร้างและอุดมการณ์การปกครองแบบเผด็จการ สืบเนื่องจากการคงอยู่ของระบอบกษัตริย์และของอำนาจชนชั้นสูงและขุนนาง แม้ว่าแนวโน้มของสังคมอย่างอังกฤษ ที่ซึมซับการมองโลกแบบเป็นวิทยาศาสตร์จากองค์ความรู้ของผู้เบิกทางแห่งปัญญาอย่างไอแซ็ก นิวตัน (Isaac Newton) และเริ่มคุ้นชินกับการตั้งคำถามต่อจารีตประเพณีในแนวคิดและปรัชญาวิมตินิยม (Skepticism) ของเดวิด ฮิวม์ (David Hume) จะก้าวไปสู่การใช้เหตุผลและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ขนบและอุดมกาณ์สนับสนุนระบอบ “เผด็จการล้าหลัง” ยังคงเป็นปัญหาที่ขัดขวางการก้าวสู่การมอบอำนาจ มอบความรับผิดชอบในชีวิตตนเองกับ “มนุษย์” อย่างแท้จริง

หากอเมริกาจะประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ อเมริกาจึงต้องประกาศอิสรภาพจากแนวคิดแบบเดิมที่อังกฤษยังอนุรักษ์ไว้ไปพร้อมกันทันที นี่คือที่มาของการกำเนิดอุดมการณ์ “โลกเสรี” ที่อเมริกายึดถืออย่างภาคภูมิจนถึงปัจจุบัน และแม้ว่าความเป็น “โลกเสรี” และความเป็น “ประชาธิปไตย” ของอเมริกาจะถูกท้าทายและถูกตั้งคำถาม ถูกหยามว่าเป็นเพียงภาพลวงหรือภาพกลวง ก็ยากจะปฏิเสธว่าการต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาค รวมถึงการยืนยันยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประวัติศาสตร์ของอเมริกา มีการไต่ขั้นบันไดและปรากฏหมุดหมายของความสำเร็จในทางบวกต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม นับตั้งแต่ยุคสมัยของธอมัส เพน มาจนถึงการเลิกทาส การพลิกผันของการเหยียดสีผิว ความก้าวหน้าของสิทธิสตรี การแพร่ขยายของความหลากหลายทางเพศ ความเสรีในการนับถือศาสนา และที่สำคัญคือการหยิบยื่นให้เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นกับประชาชนทุกคน

หากวิเคราะห์จากแนวคิดและจุดยืนของเพนใน “สามัญสำนึก” คงเป็นเรื่องแปลกประหลาดและ “ขัดธรรมชาติ” อย่างยิ่ง หากเพนจะไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญามาตรา 112 ในราชอาณาจักรไทย (กระทั่งเขาอาจพึมพำด้วยความหงุดหงิดว่า “กาลเวลาในเมืองนี้ช่างเคลื่อนเฉื่อยช้าเสียจริง เหตุและผลไปมัวรถติดอยู่แถวไหน!”) เนื่องเพราะไม่เพียงกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีขึ้นเพื่อรองรับจารีตประเพณี รองรับอุดมการณ์ประเภทที่เพนเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้ว การบังคับใช้อย่างเกินเลยและพฤติกรรมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ของบรรดา “คนดี” ในสังคมที่ไม่เพียงหลีกเลี่ยงที่จะแตะต้องข้องเกี่ยวกับความผิดเพี้ยน บ้างยังรุมประณามการรณรงค์แก้ไขว่าเป็นการสร้างความ “ไม่สงบ” ซ้ำกระตุ้นเร้าอุณหภูมิทางอารมณ์ของผู้คนให้เดือดดาลจนกลายเป็นความรุนแรงขาดสติ ล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างชัดเจนจนมิอาจปฏิเสธได้ เว้นก็แต่ว่าจะเป็นการปฏิเสธโดยยกเอาความเชื่อความศรัทธาเป็นที่ตั้งเหนือการใช้เหตุผล

หากตรรกะรองรับปรากฏการณ์บิดเบี้ยวดังกล่าวมีเพียงแนวคิดทำนองว่า “เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อเช่นนี้” ก่อนอื่นสังคมไทยก็ต้องยอมรับว่าเรามิได้อยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการปกครองระบอบ “กฎหมู่เหนือกฎหมาย” ที่อนุญาตให้กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงหรือสับปลับโดยง่าย เพียงเพื่อโอบอุ้ม “ความเชื่อของคนส่วนใหญ่” ไว้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง เราต้องหยุดทึกทักว่าเราเป็นสังคมที่ยกย่องเชิดชู “หลักศีลธรรมอันดี” หากแต่เป็นสังคมที่อนุโลมให้สิ่งที่เราสถาปนาว่าเป็น “ความดี” มีสิทธิและอำนาจเหนือสิ่งอื่นใดโดยปราศจากข้อกังขา แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างทางความยุติธรรมสั่นคลอนพุพังก็ตาม

เนื้อหาสำคัญในการรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 คือสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านและสื่ออนุรักษ์นิยมสุดโต่งละเลยที่จะทำความเข้าใจ หรือมิเช่นนั้นก็จงใจแสร้งว่าไม่เข้าใจ เพื่อหาข้ออ้างกล่าวหาใส่ความการรณรงค์อย่างสาดเสียเทเสียให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เนื้อหาสำคัญดังกล่าวคือการเรียกร้อง “มาตรฐานทางกฎหมาย” และการนำเสนอ “พื้นฐานที่เป็นธรรม” ให้กับส่วนรวม ห่างไกลจากความเป็นขบวนการ “ต่อต้านโค่นล้ม” หรือตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งที่ “คนส่วนใหญ่” ยึดเหนี่ยว ดังที่ฝ่ายต่อต้านพยายามป้ายสีให้เป็น การรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่การรณรงค์เพื่อเจาะจงโจมตีบุคคลหรือท้าทายคุณงามความดีอันเป็นที่ศรัทธาของสังคม หากแต่เป็นการพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงอุดมการณ์และเชิงโครงสร้างอันเป็น “ผลพวง” มาจากความศรัทธาบางรูปแบบที่สุดโต่งและไร้คุณธรรมจนผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐานของความเป็นธรรม

เปรียบได้กับสิ่งที่ธอมัส เพน เรียกว่าความ “ชาชิน” ที่ “ทำให้เกิดภาพมายาว่าเป็นเรื่องถูกต้อง”

การเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายหนึ่งมาตราเพื่อความเป็นธรรม การเรียกร้องให้ความสำคัญและความจำเป็นของเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเป็นวาระสำคัญของสังคม (ที่วาดหวังว่ามี) ประชาธิปไตย กลับกลายเป็นการกระทำที่ถูกเมินเฉยหรือกีดขวางโดยองค์กรและสถาบันกระแสหลัก กลับถูกใส่ความ ให้ร้าย ประณามด้วยคำโป้ปดเลื่อนลอยเลอะเทอะ กลับถูกรังเกียจเหยียดหยามราวสภาพการณ์เหยียดสีผิวหรือกดขี่ชาติพันธุ์ กระทั่งถูกทำร้ายร่างกายโดยเจตนา แม้ว่าการรณรงค์จะอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ของงานวิชาการ ของการพบปะสังสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมอย่างสันติทั้งสิ้น

ในปี ค.ศ. 1791 ธอมัส เพน พิมพ์ภาคแรกของบทความสำคัญลำดับที่สองของเขา ชื่อ Rights of Man หรือ “สิทธิมนุษยชน” ขึ้นเพื่อสนับสนุนการปฏิวัติในฝรั่งเศสที่กำลังดำเนินอยู่อย่างเข้มข้นดุเดือด และเช่นเดียวกับหัวใจสำคัญของ “สามัญสำนึก” เพนตอกย้ำความสำคัญของการใช้เหตุผลในการปกครองสังคมด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม มากกว่าการยึดถือขนบนิยมชนชั้นหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้น หนังสือของเพนยังเป็นข้อโต้แย้งกับแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ประณามการเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิวัติด้วยข้อหากระด้างกระเดื่องต่อจารีตประเพณีของบรรพบุรุษและลบหลู่ศาสนา (การปกครองระบอบกษัตริย์กับสถาบันศาสนา โดยเฉพาะศาสนาคริสต์ลัทธิโรมันคาธอลิกในกรณีของฝรั่งเศสยุคนั้น เป็นสองสถาบันที่พึ่งพากันอยู่อย่างยากจะแยกออก)

เพนเขียน “สิทธิมนุษยชน” ขึ้นหลังจากได้อ่านหนังสือ Reflections on the Revolution in France หรือ “ข้อคำนึงถึงการปฏิวัติในฝรั่งเศส” ของเอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) รัฐบุรุษและนักปรัชญาชาวอังกฤษ อดีตสหายของธอมัส เพน ผู้เคยให้การสนับสนุนการปฏิวัติในอเมริกาอย่างโจ่งแจ้งมาก่อน วิวาทะเกี่ยวกับการปฏิวัติในฝรั่งเศสระหว่างเบิร์กกับเพนนี้เองที่ครอบคลุมประเด็นพื้นฐานทางการเมืองและสังคมอย่างค่อนข้างครอบคลุม จนกลายเป็นต้นแบบอมตะและเป็นหลักการหนุนหลังวิวาทะระหว่างแนวคิดอนุรักษนิยมกับแนวคิดก้าวหน้า (radical) นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญของเบิร์กคือการให้ค่ากับการสืบสานสถาบันและจารีตประเพณี ด้วยเหตุผลหลักที่ว่า ขนบธรรมเนียมที่ผู้คนคุ้นเคยและเคารพแล้วย่อมน่าไว้ใจกว่าพฤติกรรมของ “ใครก็ไม่รู้” ที่สังคมไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ได้ เบิร์กเขียนไว้ในวรรคหนึ่งของหนังสือว่า:

“ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเลวร้ายที่เกิดจากความไร้เสถียรภาพและความผันผวนปรวนแปรง่ายดายไม่มั่นคง ซึ่งอันตรายยิ่งกว่าความคร่ำครึและการมีศรัทธาที่มืดบอดนับหมื่นเท่า เราจึงได้สร้างรัฐขึ้น และการจะตรวจสอบข้อบกพร่องหรือการฉ้อฉลในโครงสร้างของรัฐเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างรอบคอบระมัดระวัง มิควรมีผู้ใดใฝ่ฝันที่จะเริ่มปฏิรูปรัฐด้วยการโค่นล้มมันลง หากแต่ต้องรับมือกับจุดด่างของรัฐเฉกเช่นการรับมือกับบาดแผลของผู้เป็นบิดา นั่นคือด้วยความเคารพนบนอบและด้วยความเป็นห่วงเป็นใยอย่างยิ่งยวด การมีอุปาทานลึกซึ้งเช่นนี้สอนให้เรารู้สึกขยะแขยงเมื่อเห็นประเทศที่คนหนุ่มสาวพร้อมจะชำแหละพ่อผู้ชราภาพของตนออกเป็นชิ้นๆโดยไม่ยั้งคิด จับท่านใส่ลงในกาน้ำวิเศษของนักมายากล ด้วยหวังว่าการใช้สมุนไพรผสมพิษและคาถาอาคมพิลึกพิลั่นจะช่วยให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงเรือนร่างและชุบชีวิตบิดาให้ฟื้นขึ้นใหม่ได้”

สิ่งที่เบิร์กหวั่นกลัวและต่อต้านคือการพังทลายของขนบ เขาไม่มีความเชื่อถือใน “พลังของประชาชน” หากแต่เห็นว่าคนส่วนใหญ่ไร้ศักยภาพในการปกครองตนเอง เขาจึงไม่ไว้วางใจการปกครองระบอบประชาธิปไตย และไม่เชื่อในการมอบอำนาจให้ “คนส่วนใหญ่” ข้อกังวลของเบิร์กคือสิ่งที่เรียกกันว่า “เผด็จการเสียงข้างมาก” ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตยอย่างหมดจด

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสระหว่างช่วงเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิวัติ ทำให้เบิร์กโจมตีแนวคิดเสรีนิยมและสิทธิมนุษยชนอย่างดุดัน ไม่ต่างจากที่คนหลายกลุ่มในสังคมไทยเป็นเดือดเป็นร้อนกับการ “แตะต้อง” กฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยความเชื่อที่ว่าแม้เพียงแตะต้องหรือพูดถึงในทางวิพากษ์วิจารณ์ก็จัดเป็นพฤติกรรมกระด้างกระเดื่อง ลบหลู่ดูหมิ่น กระทั่งแฝงไว้ด้วยนัยยะของความต้องการ “โค่นล้มทำลาย” ทั้งที่มาตรา 112 เป็นเพียงกฎหมายข้อหนึ่งที่ประชาชนมีสิทธ์ิมีเสียงตามรัฐธรรมนูญในการเสนอให้ทบทวนแก้ไข คุณสมบัติของการกระทำได้ “ตามรัฐธรรมนูญ” แต่กระทำไม่ได้ตามอารมณ์ความรู้สึก จึงเป็นสภาพการณ์ที่ย้อนแย้งและหยิบยื่นเพียงทางตันให้กับคำว่าเหตุผล รัฐธรรมนูญไม่ควรมีหน้าที่เป็นเพียงเสื้อสูทและเน็กไทที่สวมไว้เพื่อให้ประเทศใดประเทศหนึ่งดู “ราวกับว่า” เจริญแล้วเท่านั้น

เช่นเดียวกับที่เบิร์กไม่เคยคิดจะย้อนถามตัวเองว่าเหตุใดความรุนแรงจึงเกิดขึ้นภายใต้สังคมที่ปกครองตามจารีตประเพณีอันดี เหตุใดจึงมีผู้คนเดือดร้อน อัดอั้น ทนทุกข์ จนต้องเรียกร้องให้เกิดการปฏิวัติ คนในสังคมไทยบางกลุ่มก็ไม่ไยดีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่แยแสต่อผู้ถูกปรักปรำและผู้ต้องโทษจำคุกยาวนานเกินกว่าเหตุด้วยกฎหมายมาตราดังกล่าว บทสรุปยอดนิยมมีเพียงว่าผู้ต้องหาสมควรได้รับโทษแล้วเพราะ “แส่หาเรื่องเอง” “ก่อให้เกิดความไม่สงบ” หรือกระทั่ง “กรรมตามสนอง”

นั่นคือแนวคิดที่ว่าประชาชนเป็นฝ่ายผิดที่แสดงความเห็นต่างจากฝ่ายกุมอำนาจ มิใช่ฝ่ายอำนาจเป็นฝ่ายผิดที่ข่มเหงรังแกประชาชน

นั่นคือความต่างระหว่างจุดยืนของเอ็ดมันด์ เบิร์ก กับธอมัส เพน—เบิร์กยืนอยู่ข้างอำนาจ เพนยืนอยู่ข้างประชาชน เพนประชดประชันความเห็นของเบิร์กว่าเป็นการ “ให้ความเห็นใจกับขนประดับ แต่ไม่รับรู้ถึงเรือนร่างของนกที่กำลังจะหมดลม”

ข้อเขียนตรงไปตรงมาและการยืนอยู่เคียงข้างประชาชน ทำให้ธอมัส เพน ถูกป้ายภาพเป็นนักปฏิวัติหัวรั้นที่สนับสนุนความรุนแรง นักอนุรักษนิยมในปัจจุบันบางคนมอบฉายา “เช เกวาราแห่งศตวรรษที่สิบแปด” ให้กับเขา ทว่าในความเป็นจริง แม้ว่าความคิดของเขาจะขัดแย้งกับความศรัทธากระแสหลักอย่างดื้อดึงเพียงไร ธอมัส เพน ก็เป็นนักคิดหัวก้าวหน้าที่มีเหตุมีผลและยึดมั่นกับหลักอหิงสามากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง เมื่อวัดจากความยึดถือในเหตุผลและความเสมอภาคระหว่างมนุษย์อย่างไม่มีข้อแม้ในแนวคิดของเขา

ในปี ค.ศ. 1792 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ของฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นครองบัลลังก์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถูกยึดอำนาจและจับกุมโดยคณะปฏิวัติที่เรียกกันว่า “ปฏิวัติ 10 สิงหาคม” ชะตาของพระเจ้าหลุยส์ถูกแขวนไว้กับแท่นกิโยติน ธอมัส เพน เป็นผู้ออกความเห็นว่าพระเจ้าหลุยส์ไม่สมควรถูกประหารชีวิต หรืออย่างน้อยก็ควรได้รับสิทธิ์ในการขึ้นศาลไต่สวนเสียก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ความกระหายที่จะลงทัณฑ์เป็นอันตรายต่อเสรีภาพเสมอ” และ “ผู้ใดก็ตามที่ต้องการรักษาเสรีภาพของตนไว้อย่างมั่นคง ย่อมต้องคุ้มครองแม้กระทั่งศัตรูของเขาให้พ้นจากการถูกกดขี่รังแก” แม้ว่าข้อเสนอของเพนจะไม่ส่งผลใดๆต่อชีวิตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แต่แนวทางของเขาก็สะท้อนถึงความสม่ำเสมอ ความมีเมตตา และการยืนยันในหลักการให้ความเป็นธรรมกับมนุษย์ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม มิใช่พฤติกรรมของผู้รักความรุนแรงที่มุ่งแต่จะโต้แย้งล้มล้างฝ่ายตรงข้ามตามลักษณะภาพลักษณ์สูตรสำเร็จของ “นักปฏิวัติหัวก้าวหน้า”

ในหนังสือภาคสองของ “สิทธิมนุษยชน” เพนเขียนว่า:

“เสรีภาพถูกไล่ล่าไปทั่วโลก เหตุผลถูกมองว่าเป็นการก่อกบฏ และการตกเป็นทาสของความกลัวทำให้คนเราไม่กล้าที่จะคิด ทว่าสิ่งเดียวที่ความจริงเรียกร้อง สิ่งเดียวที่ความจริงต้องการ มีเพียงเสรีภาพในการปรากฏตัวเท่านั้น และนั่นคือธรรมชาติของความจริงที่ไม่มีสิ่งใดต้านทานได้”

ในทัศนคติของเพน เขาจึงไม่ใช่นักคิดผู้ต้องการผลักดันความเชื่อของตนเอง หรือยัดเยียดสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้องให้กับผู้อื่น เขาเพียงเป็นผู้ชวนชี้ให้มนุษยชาติมองดูการปรากฏตัวของความจริง ด้วยความเชื่อมั่นว่าการได้เห็นและทำความเข้าใจกับความจริงนี้เองที่จะให้ประโยชน์กับมนุษยชาติอย่างทั่วถึงที่สุด

กระทั่งในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เมื่อเราพูดถึงคำว่า “เสรีภาพ” และ “สิทธิมนุษยชน” เรายังคงกำลังยกอ้างนิยามและอุดมคติที่ถูกถ่ายทอดเป็นตัวอักษรไว้อย่างครบถ้วนในช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปดโดยธอมัส เพน เมื่อเราพูดถึง “สิทธิสากลขั้นพื้นฐาน” และเมื่อเราโต้แย้งบรรดาอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกับหลักประชาธิปไตยทั้งหลาย ตั้งแต่ระบอบเผด็จการถึงลัทธิกษัตริย์นิยม เรายังคงสามารถถูกเรียก หรือเรียกตัวเองเป็น “สาวก” ทางอุดมการณ์ของธอมัส เพน เมื่อเราวิพากษ์ความเชื่อและศรัทธาในไสยศาสตร์ ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในเรื่อง “เหนือธรรมชาติ” ที่ไร้หลักฐานรองรับมากไปกว่าอารมณ์ความรู้สึก หรือเมื่อเราเรียกตัวเองว่า “ผู้ปราศจากศาสนา” เราต่างยังคงเป็นแนวร่วมบนหนทางแห่งปัญญาสายเดียวกันกับธอมัส เพน และเมื่อเราแสดงตนเป็นปรปักษ์ต่อนโยบายของรัฐ ต่ออุดมการณ์และความประพฤติหมู่ของประเทศที่เราถือกำเนิดและครองสัญชาติ เพื่อลุกขึ้นยืนเคียงข้างบุคคลหรือกลุ่มคนอื่นผู้ถูกกดขี่โดยความอยุติธรรม เพื่อแสดงพลังต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกข่มเหง แทนการยึดมั่นฝักใฝ่ในการผูกขาดของฝ่ายอำนาจหรืออุดมการณ์รักชาติอย่างมืดบอด เมื่อนั้นเรายังคงมีรอยเท้าและซุ่มเสียงของธอมัส เพน เป็นสัญญาณนำทาง

ธอมัส เพน เป็นนักเขียน เป็นนักปรัชญา นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์สมัครเล่น เป็นเสรีชน เป็นนักประชาธิปไตย เป็นนักปฏิวัติระดับสากล เป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดแห่งยุคแสงสว่างสู่มวลชน เป็นผู้มีอิทธิพลต่อการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอมริกา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกลุ่มคนไร้ศาสนา เป็นคนอังกฤษที่สนับสนุนเอกราชของอเมริกา ย้ายถิ่นฐานและเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนอเมริกัน ตัวหนังสือของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับการต่อสู้ที่นำทัพโดยจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ทว่าต่อมาเขาตั้งคำถามโจมตีวอชิงตันว่าทรยศต่อมิตรภาพของเขาและเรียกวอชิงตันว่า “นักต้มตุ๋น” เพนให้ท้ายการปฏิวัติมวลชนในฝรั่งเศสและเป็นปัญญาชนคนสำคัญของขบวนการปฏิวัติถึงขั้นที่ทำให้เขาได้รับสัญชาติฝรั่งเศสโดยกิตติมศักดิ์ ต่อมาเพนยังมีบทบาทในการให้คำปรึกษากับนโปเลียนเกี่ยวกับการทำสงครามกับอังกฤษ แต่เมื่อนโปเลียนเริ่มริบริหารอำนาจโดยวิถีเผด็จการ เพนประณามนโปเลียนเป็น “คนปลิ้นปล้อนหลอกลวงสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

ธอมัส เพน เป็นผู้ยึดมั่นในเหตุผล ความเป็นธรรม ความถูกต้อง ความเท่าเทียมของสิทธิเสรีภาพระหว่างมนุษย์ทุกเชื้อสายและชาติพันธุ์ แม้ว่าอุดมการณ์ของเขาจะขัดหรือขาดกับความเห็นของเพื่อนฝูง ของสังคมกระแสหลัก ของชาติ ของอำนาจปกครอง แม้ว่าตัวหนังสือและฝีปากเผ็ดร้อนทิ่มแทง กระตุ้นเร้า ตรงไปตรงมา จะสร้างศัตรูให้เขาตลอดชีวิต ทำให้เขาโดนจำขังและเกือบต้องโทษประหาร ทำให้ถูกตราหน้าเป็น “บุคคลน่ารังเกียจ” ถูกประวัติศาสตร์ล้อเลียนและหลงลืมว่าเขาเป็นหนึ่งใน “บิดา” แห่งเสรีนิยมและประชาธิปไตย ผู้มีอิทธิพลสืบเนื่องนับตั้งแต่การปฏิวัติอเมริกามาจนถึงการปฏิวัติต่อต้านเผด็จการโดยมวลชนชาวอาหรับในปัจจุบัน แม้ว่าพิธีศพของเพนในปี ค.ศ. 1809 จะมีผู้มาไว้อาลัยเพียงหกคน และแม้ว่าข่าวมรณกรรมในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งจะรายงานว่าเขา “อายุยืนยาว กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไว้บ้าง แต่ก็ทำเรื่องที่เป็นโทษไว้มากมาย”

หากความยึดมั่นยืนกรานที่จะยืนเคียงข้างความเป็นธรรมและความถูกต้อง จะทำให้ถูกตราหน้าว่าเป็นปรปักษ์ต่อสังคม หากการเห็นแย้งต่อพฤติกรรมอันเหลื่อมล้ำ มืดบอด ไร้ตรรกะ และโหดร้ายรุนแรงของญาติมิตร ของชาติ ของศาสนา จัดอยู่ในหมวดของความอกตัญญูหรือเนรคุณ ก็อาจเรียกได้ว่าธอมัส เพน เป็นนักเนรคุณตัวพ่อ

บนกำแพงสาธารณะแห่ง สิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมระหว่างมนุษย์ การขีดเขียนหรือพ่น ฉีดคำประกาศว่า “ธอมัส เพน พ่อทุกสถาบัน” จะเป็นความเห็นที่ไม่ผิดเพี้ยนจากความจริงไปมากนัก แต่ก็จะไม่เป็นที่น่าแปลกใจเช่นกัน หากมันจะถูกลบล้างหรือทาทับซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยกลุ่มคนที่ไม่ยินดีปรีดากับจุดยืนของ “บุคคลน่ารังเกียจ” ผู้นี้

ธอมัส เพน ไม่ใช่นักปฏิวัติโรแมนติกใสซื่อบริสุทธิ์เขามีความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ไม่ด้อยไปกว่านักปราชญ์ผู้เฝ้ามองดูโลกอย่างพินิจ เมื่อเขากล่าวไว้แต่แรกว่า “กาลเวลาเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนได้มากกว่าการใช้เหตุผล” เพนสะท้อนถึงความตระหนักรู้ว่าศรัทธาและความเชื่อบางอย่างที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ต้องใช้เวลายาวนานบนหนทางยาวไกล ก่อนที่แสงสว่างแห่งเหตุผลจะทอดทอลงมาชะล้างให้มันเจือจางลง

แต่ที่สำคัญ คือในที่สุดแล้ว เหตุผลจะไม่เนรคุณต่อกาลเวลา

 

 

 

 

//////////////

ข้อมูลอ้างอิงจาก

Reflections on the Revolution in France โดย Edmund Burke ฉบับพิมพ์โดย Oxford University Press, 2009

Rights of Man, Common Sense and Other Political Writings โดย Thomas Paine ฉบับพิมพ์โดย Oxford University Press, 2008

Thomas Paine’s Rights of Man โดย Christopher Hitchens พิมพ์โดย Grove Press, 2006

Thomas Paine โดย Craig Nelson พิมพ์โดย Penguin Books, 2007

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในงานแขวนเสรีภาพของคณะนักเขียนแสงสำนึก

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมาพันธ์นักข่าวสากล ร้องทางการไทยปล่อยตัว ‘สมยศ’ ทันที

Posted: 23 Mar 2012 05:19 AM PDT

23 มี.ค. 55 – สมาพันธ์นักข่าวสากล หรือ The International Federation of Journalists (IFG) ซึ่งเป็นองค์กรสหภาพแรงงานของผู้สื่อข่าว ตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ และผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ โดยสมาพันธ์ฯ ยังแสดงการสนับสนุนให้ทางการไทยปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากมองว่าเป็นกฎหมายที่ล้าหลังและถูกใช้เพื่อกำจัดคนที่เห็นต่างในสังคม

Jim Boumelha ประธานสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวสากล กล่าวว่า การที่สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกคุมขังตั้งแต่เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีโดยที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทั้งๆที่เจ็บป่วยจากโรคประจำตัว เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก และชี้ว่า เขาควรได้รับการปฏิบัติในฐานะผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดจริง

ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจับกุมตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2554 โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากบทความในนิตยสาร “วอยซ์ ออฟ ทักษิณ” ซึ่งเขียนโดยผู้ที่ใช้นามปากกาว่า “จิตร พลจันทร์” มีเนื้อหาหมิ่นที่เบื้องสูง

ในแถลงการณ์ยังระบุว่า สมาพันธ์ฯ สนับสนุนข้อเรียกร้องของ แฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพการแสดงออก ที่ให้ทางการไทยปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากมองว่ากฎหมายนี้นำไปสู่การเซ็นเซอร์ตนเองในหมู่ประชาชน และปิดกั้นการถกเถียงเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ จึงละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง

“เราเชื่อว่าการปฏิรูปกฎหมายนี้จำเป็นอย่างมากต่อการดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพสื่อและความหลากหลายที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย” Boumelha กล่าว “การคุมขังของสมยศแสดงให้เห็นแล้วว่ากฎหมายนี้ถูกใช้ในทางที่ผิดๆ เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง การยุติกฎหมายนี้ได้ถึงแก่เวลานานแล้ว”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ย้อนรอยดราม่า “แอปเปิ้ล”: สำรวจสิทธิแรงงานเบื้องหลังเทคโนโลยีสื่อสาร

Posted: 23 Mar 2012 05:11 AM PDT

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเรื่องการตัดสินใจถอนตอนหนึ่งของรายการ ”This American Life” ในชื่อตอน The Agony and the Ecstasy of Steve Jobs ทางสถานีวิทยุชิคาโก้ หลังจากที่ไมค์ เดซี (Mike Daisey) ผู้ผลิตรายการตอนดังกล่าว ถูกจับได้ว่าเขาเสริมแต่งเรื่องของคนงานจีนให้ดู “ดราม่า” เกินจริง ได้ทำให้ประเด็นเรื่องสินค้า “แอปเปิ้ล” และสิทธิแรงงานในจีน มาอยู่ในความสนใจในหน้าหนังสือพิมพ์สหรัฐอีกครั้ง

ไมค์ เดซี่ ถูกวิจารณ์ว่า ถึงแม้เขาจะเป็นผู้หวังดีในการรณรงค์เรื่องสภาพการทำงานของคนงาน แต่การที่เขาใส่สีใส่ไข่เช่นนี้ ต่อไปนี้จะทำให้การรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานและสินค้า “แอปเปิ้ล” เป็นเรื่องที่ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ไม่ควรให้เรื่องนี้ มากลบเกลื่อนประเด็นที่แท้จริง นั่นก็คือ สิทธิคนงานจีนที่ยังถูกละเมิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรงงานที่ผลิตให้แอปเปิ้ลอย่างฟอกซ์คอนน์ ซึ่งสภาพการทำงานที่ยากลำบาก นำไปสู่การฆ่าตัวตายประท้วงของคนงานหลายสิบคนในสามปีที่ผ่านมา

แอปเปิ้ล – ฟอกซ์คอนน์ กับความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชัง

ในระยะสี่ห้าปีที่ผ่านมา “ฟอกซ์คอนน์” ซึ่งมีบริษัทหอน ไห่ สัญชาติไต้หวันเป็นเจ้าของ ได้กลายเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เมื่อปี 2010 ได้เกิดเหตุการณ์ฆ่าตัวตายประท้วงของคนงานกว่า 10 คน เพื่อประท้วงสภาพการทำงานที่โหดร้ายภายในโรงงาน ในปีเดียวกัน โรงงานฟอกซ์คอนน์ในเมืองเฉิงตูที่ผลิตไอแพด ก็เกิดเหตุระเบิดซึ่งทำให้คนงานเสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บกว่าอีก 70 คน และเมื่อต้นปีนี้ คนงานในโรงงานฟอกซ์คอนน์ที่เมืองหวู่ฮั่นราว 150 คน ก็ได้ขู่ฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกด้วย

ย้อนรอยดราม่า “แอปเปิ้ล”: สำรวจสิทธิแรงงานเบื้องหลังเทคโนโลยีสื่อสาร
โรงงานฟอกซ์คอนน์ เทคโนโลยี ผู้ผลิต "ไอแพด" และ "ไอโฟน" รายหลักให้บริษัทแอปเปิ้ล

ที่มา: By Nadkachna [CC-BY-3.0], via Wikimedia Commons

หลังจากที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ทางบริษัทแอปเปิ้ล รวมถึงเอชพีและเดลล์ ซึ่งว่าจ้างโรงงานฟอกซ์คอนน์ผลิตสินค้า ได้ทำการสอบสวนกรณีดังกล่าวโดยทันที ในขณะที่โรงงานฟอกซ์คอนน์ได้จัดมาตรการป้องกัน โดยการว่าจ้างนักจิตวิทยาราว 40 คนเพื่อมาให้คำปรึกษาแก่คนงาน และติดตั้งตาข่ายบริเวณรอบตึกสูงในโรงงานเพื่อป้องกันคนงานกระโดดฆ่าตัวตาย พร้อมทั้งบังคับให้คนงานเซ็นสัญญาว่า ห้ามฆ่าตัวตาย และหากเกิดความเสียหายจากการฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตนเอง ทางญาติหรือครอบครัวผู้เสียหาย จะไม่มีสิทธิมาฟ้องร้องฟอกซ์คอนน์ได้

เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้แอปเปิ้ลซึ่งมีสตีฟ จ๊อบส์เป็นอดีตผู้บริหาร ตกเป็นเป้าความสนใจของสำนักข่าว องค์กรสิทธิแรงงาน และนักวิชาการ ซึ่งได้เข้าไปวิจัยสภาพการทำงานของคนงานในจีนในช่วงปีที่ผ่านมา และพบปัญหามากมายอาทิ เช่น การทำงานเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด การใช้แรงงานเด็ก และการทิ้งของเสียที่มีสารเคมีปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม

ทางแอปเปิ้ลระบุว่า ทางบริษัทมีนโยบายต่อการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างจริงจัง โดยในรายงาน Supplier Responsibility Progress Report ระบุว่า หากบริษัทผู้ผลิตยังล้มเหลวที่จะปรับปรุงมาตรฐาน แอปเปิ้ลก็จะยุติสัญญากับบริษัทนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานว่าแอปเปิ้ลได้ประกาศลดความสัมพันธ์กับฟอกซ์คอนน์แต่อย่างใด

ที่จริงแล้ว ไม่ใช่แค่แอปเปิ้ลเท่านั้นที่มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะฟอกซ์คอนน์เอง ก็เป็นผู้ผลิตให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำอื่นๆ เช่น เอชพี เดลล์ โซนี่ และโนเกีย หากแต่งานวิจัยจาก Fubon Research เปิดเผยว่า รายได้หลักของโรงงานฟอกซ์คอนน์ราวร้อยละ 40 ล้วนมาจากผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลทั้งสิ้น โดยเฉพาะไอแพด และไอโฟน นับเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของผลิตภัณฑ์แมค ในขณะที่รองลงมา เป็นเอชพี ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 25

ย้อนรอยดราม่า “แอปเปิ้ล”: สำรวจสิทธิแรงงานเบื้องหลังเทคโนโลยีสื่อสาร
ภายในโรงงานฟอกซ์คอนน์  จังหวัดเซินเจิ้น ประเทศจีน

ที่มา: Steve Jurvetson from Menlo Park, USA [CC-BY-2.0], via Wikimedia Commons

เมื่อกำไรและผลผลิตต้องมาก่อน

นิวยอร์กไทมส์ อ้างคำพูดของอดีตผู้บริหารของแอปเปิ้ลคนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อว่าการหาผู้ผลิตใหม่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและเงินจำนวนมาก นอกจากนี้ เฮทเธอร์ ไวท์ นักวิจัยด้านแรงงานจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มองว่า การที่ฟอกซ์คอนน์เป็นผู้ผลิตไม่กี่รายในโลกที่มีพลังการผลิตขนาดใหญ่เพียงพอเพื่อผลิตไอโฟนและไอแพดตามความต้องการของบริษัท ก็ยิ่งทำให้แอปเปิ้ลไม่ทิ้งฟอกซ์คอนน์ และคงไม่ออกจากประเทศจีนแน่ๆ

ด้านที่ปรึกษาองค์กรธุรกิจเพื่อความรับผิดชอบทางสังคม (Business for Social Responsibility) รายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ด้วยเงื่อนไขขอไม่เปิดเผยชื่อว่า ทางองค์กรได้ใช้เวลาหลายปีบอกกล่าวบริษัทแอปเปิ้ลว่าฟอกซ์คอนน์มีปัญหาด้านแรงงานพร้อมให้เสนอแนะ แต่แอปเปิ้ลก็ไม่ได้กระตือรือร้นนักในการแก้ไข และเพียงจะต้องการหลีกเลี่ยงการตกเป็นข่าวที่ขายหน้าเท่านั้น

“เราสามารถจะช่วยชีวิตคนไว้ได้ และเราก็ได้ขอร้องให้แอปเปิ้ลกดดันไปที่ฟอกซ์คอนน์แล้ว แต่เขาไม่ยอมทำ” ที่ปรึกษาองค์กร BSR กล่าว “บริษัทอย่างเช่น เอชพี อินเทล และไนกี้ พวกเขากดดันบริษัทผู้ผลิต แต่แอปเปิ้ลต้องการที่จะรักษาระยะห่าง และฟอกซ์คอนน์เอง ก็เป็นผู้ผลิตที่สำคัญที่สุดของพวกเขา แอปเปิ้ลจึงปฏิเสธที่จะกดดันใดๆ”

ประเด็นดังกล่าว ยังขยายการรับรู้ออกไปในสังคมมากขึ้น หลังจากที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้ทำสกู๊ปสอบสวน “iEconomy” ว่าด้วยสินค้าแอปเปิ้ลและชีวิตของแรงงานที่ประเทศจีน ทำให้ทางบริษัทแอปเปิ้ล ออกมาชี้แจงว่าแอปเปิ้ลใส่ใจกับปัญหานี้ตลอดมา และพยายามจะปรับปรุงแก้ไขเท่าที่ทำได้

จากการเข้าไปสอบสวนจากองค์กรสื่อและสิทธิแรงงาน ได้ทำให้บริษัทแอปเปิ้ล อนุญาตให้องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิแรงงาน คือ Fair Labor Association เข้าไปตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตของแอปเปิ้ล พร้อมเผยแพร่รายงานต่อสาธารณะทุกๆ ปี ทั้งนี้ รายงานของแอปเปิ้ลเปิดเผยว่า ในปีที่แล้ว ทางบริษัทเข้าไปตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตทั้งหมด 229 โรง โดยตั้งแต่ปี 2007 จนถึง 2010 แอปเปิ้ลได้ตรวจสอบโรงงานทั้งหมด 39, 83, 102 และ 127 แห่งตามลำดับ

โดยปัญหาที่พบมากคือ การทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนด การใช้แรงงานเด็ก และสารเคมีในโรงงานที่ส่งผลต่อสุขภาพคนงาน

อย่างไรก็ตาม องค์กรรณรงค์ด้านแรงงานบางส่วน เช่น Good Electronics Network ก็ชี้ว่า การทำงานของ FLA ก็เปรียบเหมือนเป็นเพียงงานประชาสัมพันธ์เท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะแก้ไขอย่างจริงใจ เพราะการเข้าไปตรวจสอบของ FLA ที่ประกาศล่วงหน้า ทำให้ฟอกซ์คอนน์มีเวลาซ่อนสิ่งที่ไม่ตรงตามมาตรฐานจากการตรวจสอบ

อดีตผู้บริหารรายหนึ่งที่ช่วยทำการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ไอแพด ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ในรายงานดังกล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตที่ต้องการจะทำสัญญากับแอปเปิ้ล จำเป็นต้องแข่งกันเสนอราคาให้ต้นทุนถูกที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อรักษาแรงจูงใจในการว่าจ้าง ซึ่งเขามองว่า ส่งผลกระทบต่อสภาพการทำงานของคนงานในเมืองจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“คุณสามารถจะตั้งกฎอะไรก็ได้ที่คุณอยากตั้ง แต่มันก็จะไม่มีความหมายอะไร ถ้าคุณไม่แบ่งกำไรที่เพียงพอให้บริษัทผู้ผลิต เพื่อที่เขาจะได้จัดการมาตรฐานแรงงานที่เหมาะสม” อดีตผู้บริหารแอปเปิ้ลคนหนึ่งกล่าว “เมื่อคุณหวังจะตัดค่าใช้จ่ายต่างๆ คุณก็กำลังบังคับพวกผู้ผลิตลดมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงานลงไปอีก”

การประโคมของสื่อ

กรณีครหาของแอปเปิ้ล ได้กลายมาอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้ง เมือสัปดาห์ที่ผ่านมา ไมค์ เดซี่ ผู้จัดรายการวิทยุ This American Life ถูกนักข่าวอเมริกันคนหนึ่งที่ตามประเด็นแรงงานในจีนอย่างใกล้ชิดจับได้ว่า เรื่องที่เดซีอ้างว่าได้ไปลงพื้นที่ยังโรงงานที่จีน และกลับมารายงานในวิทยุถึงสภาพที่ย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานเด็ก สภาพโรงงานที่มีการ์ดถือปืนคุมโหด คนงานที่พิการ และฉากชวนเรียกน้ำตา ล้วนเป็นสิ่งที่เขาแต่งขึ้นทั้งสิ้น ทำให้ทางสถานีวิทยุชิคาโก้ตัดสินใจถอนรายการนี้ออก โดยตอนดังกล่าวเป็นตอนที่มีผู้ฟังโหลดมากที่สุดถึง 880,000 ครั้ง

ย้อนรอยดราม่า “แอปเปิ้ล”: สำรวจสิทธิแรงงานเบื้องหลังเทคโนโลยีสื่อสาร
รายการวิทยุตอนของไมค์ เดซี่ ใน "This American Life" ที่ถูกถอน

ที่มา: kateoplis.tumblr.com

ด้านเดซียังคงยืนยันในสิ่งที่เขาทำลงไป โดยอ้างว่า การจัดรายงานข่าวเชิงละครของเขานั้น ก็เพื่ออยากเรียกร้องให้ประชาชนหันมาสนใจกับปัญหาที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลมากขึ้น และชี้ว่า งานของเขาไม่ใช่เป็นงานเชิงข่าว (journalistic) แต่เป็นงานเชิงให้ความรู้กึ่งละคร จึงจำเป็นต้องผสมและสร้างสถานการณ์เข้าไปในการเล่าเรื่อง

การกระทำครั้งนี้ ถูกวิจารณ์จากสื่อมวลชนว่า เป็นการทำให้ประเด็นสิทธิแรงงานกับสินค้าแอปเปิ้ล ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลงไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากต่อไปนี้ หากมีการรณรงค์หรือรายงานในเรื่องพวกนี้อีก ก็ทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีมูลมากน้อยแค่ไหน และชี้ว่า การใช้วิธีนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับแคมเปญ KONY 2012 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าลดทอนความซับซ้อนของปัญหา และทำให้สาธารณะเข้าใจผิด ในนามของการรณรงค์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนก็ย้ำว่า ถึงแม้เดซีจะทำผิดพลาดไป แต่สิ่งสาธารณะไม่ควรลืมคือว่า การกดขี่แรงงานในประเทศจีนยังคงดำเนินอยู่ และในฐานะผู้บริโภค เป็นเรื่องสำคัญที่จะตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะถึงแม้โรงงานดังกล่าวจะอยู่ไกลกับเราคนละทวีป แต่แอปเปิ้ล –ก็เหมือนกับบริษัทอื่นๆ ในวงเวียนของตลาดเสรี – ย่อมห่วงใยภาพลักษณ์ของบริษัทตนเองต่อสาธารณะ และถ้าหากผู้บริโภคยิ่งได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ ก็อาจช่วยกดดันให้แอปเปิ้ลเข้มงวดด้านกับมาตรฐานแรงงานในต่างประเทศได้มากขึ้น

ทำไมต้องเจาะจงเฉพาะแอปเปิ้ล?

นักวิจารณ์บางส่วนมองว่า กระแสที่เกิดขึ้นยังอยู่ในความสนใจของสังคม เพราะ “แอปเปิ้ล” เป็นประเด็นที่ขายเป็นข่าวง่าย สื่อจึงชอบเล่นเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างอื่น รวมถึงสินค้าจากอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬายี่ห้อดังต่างๆ ส่วนใหญ่ก็มาจากโรงงานในประเทศที่สาม เช่น บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกาทั้งสิ้น ซึ่งแรงงานได้รับค่าจ้างราว 1,800 – 3,500 บาทต่อเดือน และมีสภาพการทำงานไม่ต่างจากที่ฟอกซ์คอนน์ในจีนเท่าใดนัก

ถึงกระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่แอปเปิ้ลได้ถึบตัวเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดโลกเมื่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งการเกิดขึ้นของ “ลัทธิแมค” และสาวก ก็ได้ทำให้ประเด็นนี้ กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในสังคมสหรัฐ โดยเฉพาะในวงการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความความสนใจจากสื่อและสาธารณชนต่อชะตากรรมคนงานฟอกซ์คอนน์ จะไม่มีความหมาย เพราะดังที่ Yang Su นักวิชาการด้านสังคมวิทยาแรงงานที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ไอร์วิน ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในซีเอ็นเอ็นว่า หากแรงกดดันจากภายนอกนำมาสู่การปรับปรุงสภาพการทำงานของคนงาน เช่น โรงงานที่ผลิตให้แอปเปิ้ลอย่างฟอกซ์คอนน์ ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพตลาดแรงงานในประเทศจีนโดยรวม และช่วยเหลือพลังการต่อรองกับโรงงานในประเทศได้อีกด้วย

เขากล่าวว่า แรงงานในประเทศจีน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติในจีนที่มีอยู่ราว 153 ล้านคน ไม่มีอำนาจที่จะต่อรองสภาพการทำงานมากนัก เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน อีกทั้งการกฎหมายแรงงานในประเทศก็เป็นเพียงเสือกระดาษที่ไม่สามารถบังคับธุรกิจให้ปฏิบัติตามได้มากนัก ทำให้การต่อสู้เรื่องสิทธิแรงงานในจีนเป็นเรื่องดั่งเข็นครกขึ้นภูเขา

“เราหวังว่า ความสนใจที่ต่อเนื่องจากสังคมนานาชาติต่อชะตากรรมของคนงานจีน จะทำให้รัฐบาลจีนดำเนินการปฏิรูปที่สำคัญ ซึ่งจะนำมาสู่การประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานได้มากขึ้น” ยาง ซู ระบุในบทความ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ใกล้ล่มสลาย? บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 1)

Posted: 23 Mar 2012 03:41 AM PDT

ฮอด เป็นชื่ออำเภอเล็กๆ อำเภอทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ หากย้อนกลับไปดูตำนานประวัติศาสตร์เมืองฮอดและตำบลฮอด จะพบว่า ฮอดนั้นเป็นชุมชนที่มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาเก่าแก่ยาวนานมาก

ฮอด คือเส้นทางเคลื่อนพลทางน้ำของพระนางจามเทวี

ฮอด คือเส้นทางผ่านของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ฮอด เป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ งดงามและเรียบง่าย

ฮอด คือตำนานคนหาปลา

กระทั่งมาถึงยุคของฮอดหลังเกิดเขื่อนภูมิพล ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง

“มีครูบาทำนายเอาไว้ว่า จะมีเครือเถาวัลย์ตายตั้งแต่ฝั่งนี้จนถึงอีกฝั่ง”        

“แม่น้ำปิงมีการมูนขึ้นมาประมาณ 20 กว่าศอก”                                   

“สมัยก่อน สองฝั่งลำน้ำปิง มีต้นดอกงิ้ว  ต้นไม้ฉำฉา จากนั้นชาวบ้านก็จะมีการทำแพ ตีฆ้องตีกลอง ล่องขึ้นมาเป็นวัดๆ แต่พอหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนก็เกิดน้ำท่วม ทำให้เกิดการสูญเสียของต้นไม้ เป็นจำนวนมหาศาล และยังมาว่าประชาชน เป็นคนตัดไม้ทำลายป่าอีก”

เป็นเสียงครวญของคนฮอด ที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์หลังมีการสร้างเขื่อนภูมิพล ตามด้วยผลกระทบหลังสร้างเขื่อน ทั้งปัญหาเรื่องเวนคืน-น้ำท่วม น้ำแล้ง และการล่มสลายของชุมชน!!

แหละนั่นคือที่มาของการ เรียนรู้ ฮอด ชุมชนเก่าแก่ใกล้ล่มสลาย? บทเรียนก่อนและหลังเกิดเขื่อนภูมิพล

 

00000000000000

 

 

 

 

 

  

 

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ตำนานเมืองฮอด                                                                                                                                                                                                    

หากย้อนกลับไปดูตำนานประวัติศาสตร์เมืองฮอดและตำบลฮอด จะพบว่า ฮอดนั้นเป็นชุมชนที่มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาเก่าแก่ยาวนานมาก                                                                              

จากเอกสารข้อมูลประวัติศาสตร์  โครงการสำรวจชุมชนโบราณท่าเชียงทอง ยุคก่อนหริภุญไชย ย้อนรอยพระนางจามเทวี ตามหาท่าเรือเชียงทองของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ได้ระบุถึงการตั้งถิ่นฐานชุมชนบ้านเมืองสมัยก่อนรัฐล้านนา เอาไว้ว่า แอ่งพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน หรือเขตลุ่มแม่น้ำปิงตอนบนนี้ ปรากฏหลักฐานการตั้งถิ่นฐานชุมชน มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตอำเภอสันกำแพง-ดอยสะเก็ด และอำเภอจอมทอง-ฮอด                        

นอกจากนั้น จากการสืบค้นตำนานหลายตำนาน ยังระบุไว้อีกว่า ฮอด เคยเป็นชุมชนที่มีความสำคัญตั้งแต่ยุคของการก่อตั้งเมืองหริภุญชัยและอาณาจักรล้านนา เนื่องจากฮอดเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของแม่น้ำปิงอีกแห่งหนึ่ง ที่ผู้คนสมัยนั้นได้ใช้เป็นเส้นทางติดต่อกับหัวเมืองต่างๆ ทางท้ายน้ำ ล่องลงไปตามลำน้ำแม่ปิงไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา                                                         

ว่ากันว่า ในสมัยก่อน ตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา และลพบุรี ระหว่างหัวเมืองฝ่ายเหนือกับหัวเมืองฝ่ายใต้ได้มีการใช้เส้นทางคมนาคมทางน้ำ โดยอาศัยแม่น้ำปิงในการเดินเรือมาโดยตลอด                              

มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ประมาณ 1,300 ปี ล่วงมาแล้วครั้งนั้น เมืองหริภุญชัยนคร เมืองลำพูน ในสมัยนั้น มีพื้นที่ส่วนใหญ่รอบๆเมืองยังเป็นป่าที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย อีกทั้งยังมีไข้ป่าชุกชุม ตำนานได้กล่าวไว้ว่า มีฤาษีสองตนนามว่า วาสุเทพฤาษี  และสุภกทันตฤาษี ทั้งสองฤาษีเป็นสหายกัน ได้ปรึกษาหารือถึงการจะสร้างเมืองหริภุญชัย ริมฝั่งแม่น้ำกวง  เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้ว ขาดผู้ที่จะปกครองบริหารบ้านเมือง ฤาษีทั้งสองตนจึงส่งสารมอบให้ ควิยะบุรุษเป็นทูตไปอัญเชิญพระนางเจ้าจามเทวี ธิดาของพระเจ้าจักรวรรษดิ์ หรือบางตำนานเรียกว่า ลพราชา กษัตริย์ขอมแห่งกรุงละโว้ ลพบุรี เห็นชอบจึงมีพระบรมราชโองการให้พระราชธิดาทรงพระนามว่า พระนางจามเทวี เสด็จครองเมืองหริภุญชัย พร้อมไพร่พลประกอบด้วย เศรษฐี คหบดี 500 คน                                

พระนางจามเทวีได้รวบรวมไพร่พลโดยทางเรือรอนแรมขึ้นตามลำน้ำแม่ปิง ผ่านเกาะแก่งต่างๆ ด้วยความลำบากยากเข็ญ บรรดาไพร่พลหลายนายได้เสียชีวิตด้วยไข้ป่า สัตว์ป่าและเรืออับปาง               

ในระหว่างการเดินทางอันยาวนานนั้น ได้เสด็จผ่านหมู่บ้านที่มีผู้คนอาศัยริมน้ำ เช่น เวียงระแกง หรือระแหง ได้หยุดพักทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องใช้ ออกตากแดด ณ สถานที่เวียงกะทิกะ (ปัจจุบันคืออำเภอบ้านตาก) รอนแรมจนกระทั่งถึงหมู่บ้านซึ่งผู้คนเซื่องซึม ง่วงเหงา ไม่ค่อยร่าเริง จึงขนานนามว่า เวียงเทพบุรีหรือจำเหงา ปัจจุบันคืออำเภอสามเงา จังหวัดตาก นับเวลาที่เสด็จรอนแรมมาได้หนึ่งเดือนเศษ ได้บรรลุถึงสถานที่กว้างขวางแห่งหนึ่งเห็นว่าประหลาดนักได้ให้ไพร่พลหยุดยั้งพักแรม  พระนามจามเทวีได้ให้สร้างนครไว้ที่นี้เป็นที่ระลึกและได้สร้างวัดวาอาราม อุทิศส่วนกุศลให้แก่ไพร่พลที่ได้เสียชีวิตระหว่างการเดินทาง จนกระทั้งเสร็จเรียบร้อย ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง พุทธศักราช 1201 ขนานนามว่า พิศดารนคร                                                         

ปัจจุบัน สันนิษฐานว่า พิศดารนคร อยู่บริเวณบ้านวังลุง หมู่ที่ 3 ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่          

ในบางตำนาน ก็ระบุเอาไว้ใกล้เคียงกันว่า ในช่วงราวปี พ.ศ.1204 กษัตริย์กรุงละโว้(ลพบุรีในปัจจุบัน) ทรงมีพระราชดำริที่จะมอบหมายให้ราชธิดาของพระองค์ซึ่งมีนามว่า ‘พระนางจามเทวี’ เสด็จขึ้นครองเมืองหริภุญไชยในภาคเหนือ ทรงมีพระราชโองการสั่งให้พระนางจามเทวีนำไพร่พลเดินทางโดยทางเรือรอนแรมตามลำน้ำปิง ผ่าน เกาะแก่งต่าง ๆ อย่างลำบากยากเย็นแสนเข็ญแทบเอาชีวิตไม่รอด บรรดาไพร่พลต่าง ๆ ก็เสียชีวิตในขณะเดินทางด้วยไข้ป่า สัตว์ป่า และความลำบากยากเย็น จากแก่งหินที่ทำให้เรือแตกล้มตายเป็นอันมาก                   

ดังนั้นตามระยะเส้นทางเดินทัพของพระนางจามเทวีในสมัยนั้นจึงมีชื่อต่าง ๆ เช่น ผาสามเงา ผาอาบนาง ผานางนอน แก่งม้า ผาหมอน ฯลฯ ไปตลอดเส้นทางจนถึงบ้านชาวเขาและหมู่บ้านหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำปิง ปรากฏว่าจำนวนไพร่พลที่ยกกำลังติดตามมาล้มตาย เป็นจำนวนมาก อาหารก็ไม่เพียงพอ จึงสั่งให้หยุดพักรี้พลเพื่อหาเสบียงอาหารทำนาเพาะปลูกข้าวเพื่อเก็บเสบียง และได้โปรดให้สร้างวัดและเจดีย์ไว้เป็นอันมาก จากตำนานระบุไว้ว่า ได้ทรงสร้างวัดทั้งสิ้น 99 วัด เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับไพร่พลที่ล้มตายระหว่างที่ร่วมเดินทางกับพระนางจามเทวีในครั้งนั้น                                                                       

นอกจากนั้น ยังทรงสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นมาด้วย โดยชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า พระเจ้าโท้ว่ากันว่า คำว่า โท้ นั้น แผลงมาจาก โท๊ะเป็นคำอุทานภาษาล้านนา แปลว่า ใหญ่โต                                  

ในตำนาน ยังว่าไว้อีกว่า ได้มีการขานเรียกหมู่บ้านชุมชนแห่งนั้นว่า ‘เมืองหอด’ ซึ่งคำว่า ‘หอดนั้น แปลว่าหิว’ หรือ ‘อดอยาก’ แต่ต่อมา เมื่อวันเวลาผ่านไปเนิ่นนานหลายศตวรรษ การเรียกชื่อก็เพี้ยนไป กลายเป็น ‘ฮอดซึ่งทำให้ความหมายนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะคำว่า ‘ฮอดนั้นแปลว่า "ถึง" หรือ "บรรลุ"  ซึ่งหมายถึงการเดินทางของพระนางจามเทวีนั้นได้ผ่านความอดอยาก ทุกข์ยาก ลำบากมามากหลาย กว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง

สอดคล้องกับในหนังสือ จอมนางหริภุญไชยของอาจารย์กิตติ วัฒนะมหาตย์ ซึ่งมีความเห็นว่าในหนังสือตำนานในแต่ละเล่มได้แก่ ตำนานมูลศาสนา กรมศิลปากร พ.ศ.2519,ตำนานพื้นเมืองฉบับนายสุทธิวารี สุวรรณภาชน์ จากหนังสือ พระราชประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี บรมราชนารีศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย พ.ศ. 2525, ตำนานพื้นเมือง ฉบับพระมหาหมื่น วัดหอธรรม จ.เชียงใหม่ จากหนังสือ ประชุมตำนานลานนาไทย พ.ศ.2515 และตำนานพื้นเมือง ฉบับนายยุทธ เดชคำรณ จากหนังสือ ล่องแก่งแม่ปิง พ.ศ.2510 ที่กล่าวถึงเส้นทางขบวนเสด็จของพระนางจามเทวีจากละโว้ หรือกรุงลวปุระสู่เมืองหริภุญไชย นั้นมีรายละเอียดและคล้ายคลึงกันหลายแห่ง โดยในเอกสารดังกล่าว มีการระบุถึง ท่าเชียงทองและเมืองฮอด เอาไว้อย่างสอดคล้องและใกล้เคียงกัน ว่าได้มีการเคลื่อนพลมาถึงเมืองฮอด และได้หยุดพักไพร่พลอยู่บริเวณนั้น                                                         

ในพงศาวดารโยนก มีการกล่าวถึง ท่าเชียงทองและเมืองฮอด เอาไว้ใน ปริเฉทที่ 7 ว่าด้วยระยะทาง ไว้ว่า พระนางจามเทวี เสด็จออกจากละโว้มายังหริภุญไชยทางชลมารค โดยได้กล่าวถึงสถานที่พักพลของพระนางจามเทวีตามลำดับ คือ เมืองประบาง(ปากบางหมื่นหารใกล้ปากน้ำบางพุทรา) เมืองคันธิกะ(ชัยนาท) เมืองบุรัฐฐะ(นครสวรรค์) เมืองบุราณะ(ท่าเฉลียง) เมืองเทพบุรี(บ้านโคนหรือวังพระธาตุ) เมืองบางพล(กำแพงเพชร) เมืองรากเสียด(เกาะรากเสียด) หาดเชียงเรือ(เชียงเงิน) บ้านตาก จามเหงามหรือสยามเหงา(สามเงา) ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำวังบรรจบกับแม่น้ำปิง ผาอาบนาง และผาแต้มหรือผาม่าน บ้านโทรคาม ท่าเชียงทอง รมณียาราม และเสด็จเข้าสู่เมืองหริภุญไชย                                                        

“ถัดแต่นี้ขึ้นไปถึงที่ตำบลหนึ่ง มีผาตั้งขวางน้ำกั้นหน้าไว้ ไม่แลเห็นช่องทางที่จะไปในเบื้องหน้า นางจามเทวีก็ปรึกษาปรารภกับพี่เลี้ยงทั้งหลายว่า ไม่มีช่องทางไปแล้วก็จักกลับคืน จึงให้คนใช้ไปเลียบดูตามริมแม่น้ำ เข้าก็ได้เห็นช่องทางที่น้ำเลี้ยวพ้นหน้าผานั้นขึ้นไปได้ คนใช้ก็กลับมาทูลแด่นางจามเทวีให้ทราบ นางก็เคลื่อนเรือที่นั่งขึ้นมาถึงหน้าผานั้น  จึงให้ช่างวาดเขียนรูปช้างแปรหน้าคืนไว้ที่หน้าผานั้น สถานที่นั้นมีนามปรากฏว่า ผาแต้ม ครั้นนานมา คนทั้งหลายบางพวกก็เรียกว่า ผาม่าน ด้วยเหตุสัณฐานเหมือนผ้าม่านอันขึงกั้นขวางแม่น้ำไว้ นางจามเทวี ยกจากที่นั่นขึ้นมาถึงเมืองร้างแห่งหนึ่ง ขึ้นตั้งพักรี้พลอยู่ มีฝูงเต่าปลามาเบียดเบียน คนทั้งหลายอยู่มิเป็นสุข สถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่า ดอนเต่า ยกแต่ที่นั้นขึ้นไปถึงที่ตำบลหนึ่ง ชื่อว่า บ้านโทรคาม เป็นที่ราบรื่นรมย์สถานพอพระทัยนัก พระนางเธอจึงตั้งพักรี้พลอยู่ ณ สถานที่นั้น แล้วให้สถาปนาสถูปองค์หนึ่ง ชื่อ วิปะสิทธิเจดีย์ ครั้นก่อสร้างสำเร็จก็ฉลองและกระทำการสักการบูชาเป็นอันมาก             ครั้นยกจากตำบลโทรคามนั้นต่อไปถึงท่าเชียงทอง ก็หยุดประทับที่นั้น มีชาวบ้านหญิงชายพากันมาเป็นอันมาก นางจึงให้สาวใช้ไต่ถามคนทั้งหลายเหล่านั้นว่า “ดูกร ชาวพ่อชาวแม่ทั้งหลาย แต่นี้เมือถึงเมืองลำพูน ยังประมาณมากน้อยดังฤาจักฮอดจา” คนทั้งหลายขานคำตอบว่า “ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า แต่นี้ถึงเมืองลำพูนนั้น ดังข้าทั้งหลายได้ยินมาว่า หนึ่งโยชน์ แลนา” สถานที่นี้ คือ เมืองฮอดบัดนี้

ในขณะที่ชาวบ้านเมืองฮอดคนหนึ่ง ก็ได้บอกเล่าตำนานให้ฟังว่า “เมืองฮอด มีมาตั้งแต่สมัยนางจามเทวี ซึ่งอยู่ลพบุรี  สมัยนั้น พอลำพูนไม่มีใครครอง ก็ได้เชิญนางจามเทวีให้มาอยู่ครองที่ลำพูน ก็เดินทางขึ้นมาตามแม่น้ำปิง พอมาถึงแถบอำเภอสามเงา ก็มายืนอยู่ที่ผา มองดูแล้วว่าคนเดียวนั้นมีสามเงา  ต่อมา เลยชื่อว่าอำเภอสามเงา จังหวัดตาก พอขึ้นเหนือมาตามแม่น้ำปิงเรื่อยๆ ก็ได้ตากผ้า  ตากเสื้อ เขาจึงเรียกว่าจังหวัดตาก ครั้นพอมาถึงที่ฮอด หลายคนก็เกิดการล้มหายตายจาก ลูกศิษย์ลูกหา และทหารก็มาถึงเมืองฮอด ก็บอกว่า มาฮอดแล้ว ไม่ตายแล้ว ก็เลยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ และมีการตั้งเมืองพิสดารอยู่ที่นี่ ก็เลยตั้งชื่อว่า เมืองฮอด หรืออำเภอฮอดในปัจจุบันนี้”

เช่นเดียวกับ ตำนานพิสดารนครก็ได้บอกเล่าไว้ว่า ระหว่างเส้นทางโดยเสด็จทางเรือ สายน้ำเปี่ยมฝั่ง บางแห่งเป็นเกาะแก่ง หลั่นหิน โตรกธารซอกผา บางแห่งเป็นเวิ้งน้ำ เป็นวังวน ผ่านป่าเขาลำเนาอันโหดร้าย เส้นทางเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ ด้วยความเหนื่อยยากลำบาก ทำให้ไพร่พลต้องล้มตายไปด้วยไข้ป่าอ่อนล้า หิวโหย และเรืออับปางเป็นจำนวนมาก แต่พระนางหาได้ย่อท้อไม่                                                                          

ครั้นเสด็จรอนแรมมาได้เดือนเศษ จึงบรรลุถึงที่แห่งหนึ่ง เป็นคุ้งน้ำ  งดงามเรียบนิ่ง น้ำใส ทรายสะอาด ธรรมชาติมีเสน่ห์ งดงาม เหมือนมีมนต์ขลัง  พระนางจึงหยุดพังการเดินทางไว้ ณ  ที่แห่งนี้ บรรดาคหบดี ไพร่พลที่เดินทางมาด้วย  ต่างอุทานว่า  ฮอดแล้ว  รอดตายแล้ว หรือบรรลุแล้ว ด้วยความงดงามของธรรมชาติพระนางจึงโปรด ที่จะสร้างเมืองไว้ ณ ที่แห่งนี้ ด้วยปณิธานว่า เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันศัตรูของหริภูญชัย ยามเกิดศึกสงครามเป็นเมืองไว้พักค้างแรมยามเสด็จกลับเมืองละโว้เป็นเอนุสรณ์สถานอุทิศส่วนกุศลให้ไพร่พลที่เสียชีวิตจากการเดินทาง โดยพระนาง โปรดให้สร้างพระคู่เมืองนามว่า พระเจ้าโท้  พร้อมอนุสรณ์สถาน เจดีย์สูงไว้ใจกลางเมือง  ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทรงสร้างวัดทั้งสิ้น 99 วัด เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับไพร่พลที่ล้มตายระหว่างการเดินทาง เมืองนี้จึงได้เริ่มก่อสร้างขึ้นและสร้างเสร็จเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง พุทธศักราช 1201 และขนานนามว่า พิสดารนคร เมืองหอด หรือ เมืองฮอด ในปัจจุบัน             

นอกจากนั้น ในตำนานพิสดารนคร ยังได้กล่าวถึง ผาวิ่งชู้ (ปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่บ้านดงดำ ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และกลายเป็นจุดชมวิวที่งดงามแห่งหนึ่งของอำเภอฮอด)                                 

โดยในตำนานพิสดารนคร ตอนหนึ่ง ระบุไว้ว่า พระนางจามเทวีเมื่อสร้างเมืองพิสดารนครแล้ว ได้มอบหมายให้พระยาแสนโทปกครองเมืองพิสดารนคร(ฮอด)ต่อ พระยาแสนโทมีบุตรหญิง 1 คนชื่อพระนางแอ่นฟ้า และมีบุตรชาย 1 คน ชื่อพระนาย ต่อมาพระนางแอ่นฟ้าเกิดรักใคร่กับลูกของเสนาผู้หนึ่ง ชื่อน้อยสิงห์คำ ปัญหารักที่ต่าง ฐานันดร ข่าวทราบถึงพญาแสนโทจึงเรียกทั้งสองไปว่ากล่าวตักเตือนหากฝ่าฝืนกฎมณเฑียรบาลมีโทษถึงประหารชีวิต แต่ด้วยรักแท้ที่ทั้งสองมีต่อกันพระนางแอ่นฟ้ากับน้อยสิงห์คำจึงได้พากันหนีออกจากเมืองในเวลากลางดึกสงัด โดยทั้งสองได้ขี่ม้าสีขาวมุ่งออกจากเมืองพิสดารนคร โดยทันทีฝ่ายพระนายผู้น้องเห็นผิดสังเกตจึงเข้าไปดูยังห้องบรรทมของพระนาง แต่ไม่พบจึงนำความเข้าไปกราบทูลบิดา                                                      

พระยาแสนโททรงกริ้วมากเรียกเสนาอำมาตย์และทหารออกติดตามตลอดทั้งคืนพร้อมด้วยพระนายและรับสั่งว่าถ้าพบทั้งสองให้ลงโทษประหารชีวิตเสียทันที

เสียงฝีเท้าม้ากระทบแผ่นดินสะเทือนเลือนลั่น กระชั้นชิดเข้าใกล้ ขณะนั้นพระนางแอ่นฟ้าและน้อยสิงห์คำเห็นจวนตัวจึงปรึกษากัน ณ ริมป่าชายทางว่าอยู่ก็ตายไปก็ตาย เราจะกระโดดหน้าผาอันสูงชันนี้ตายด้วยกันทั้งสองคน  เห็นควรแล้วจึงเอาผ้าขาวผูกตาม้าเพราะไม่อยากให้เห็นหน้าผาที่สูงลิ่ว                       

พระนางแอ่นฟ้าเห็นว่า น้อยสิงห์คำไม่กล้าบังคับม้าให้กระโดดหน้าผา จึงเปลี่ยนเป็นผู้ขี่ม้าน้อยสิงห์คำนั่งซ้อนท้ายแล้วให้เฆี่ยนม้าอย่างแรงด้วยความเจ็บและตกใจม้าจึงวิ่งออกไปอย่างรวดเร็วกระโดดลงหน้าผาที่สูงชันกว่าห้าสิบเมตรร่างทั้งสองและม้าลอยละลิ่วตกลงเบื้องล่างสู่ ห้วงน้ำแม่ระมิงค์จมไปกับกระแสน้ำหน้าผาแห่งนี้จึงเรียกว่า ผาวิ่งชู้ร่างของน้อยสิงห์คำลอยไปติดท่าน้ำห่างออกไปสองกิโลเมตรจึงเรียกที่นั้นว่า บ้านน้อยร่างของพระนางแอ่นฟ้าลอยไปติด ท่าน้ำแห่งหนึ่ง ต่อมาเรียกว่า บ้านแอ่น ส่วนผ้าขาวที่ปิดตาม้าจมอยู่ทางทิศเหนือจึงเรียกจุดนั้นว่า วังผ้าขาว ร่างของม้าลอยไปติดอีกไม่ไกลนักทางทิศใต้เรียกกันว่า ท่าม้า

ส่วนขบวนติดตามของพระนายและทหารติดตามถึงหน้าผาเห็นรอยม้ากระโดดลงหน้าผาจึงถอยม้าหยุดนิ่ง ต่างรู้สึกเสียใจและอาลัยอาวรณ์อย่างยิ่งนัก  จนทำให้พระนายผู้น้อง เสียใจตรอมใจจนขาดใจตายข้างลำห้วยที่ติดอยู่กับหน้าผาแห่งนั้น ที่ตรงนั้นจึงเรียกว่า ห้วยพระนายนับแต่นั้นมา พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็เสียใจ มาทำบุญให้โดยทิ้งของทำบุญลงน้ำ ของต่าง ๆ ก็ลอยไปติดตามที่ต่าง ๆ เกิดเป็นชื่อหมู่บ้านขึ้นอีก เช่น ข้าวแต๋น กลายเป็น บ้านผาแตน หม้อ กลายเป็นวังหม้อ สลุง กลายเป็นวังสลุง หรือวังลุง เป็นต้น

โบราณสถาน โบราณวัตถุที่หลงเหลือ                                                                                   

คือชิ้นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ฮอด                                                                                    

จากประวัติศาสตร์ ตำนานดังที่กล่าวมาแล้ว เราจึงมองเห็นร่องรอยของโบราณสถาน โบราณวัตถุกระจัดกระจายเต็มไปทั่วเมืองฮอด  ซึ่งซากอิฐ พุทธปฏิมา เจดีย์ อนุสรณ์สถาน คือซากแห่งความหลังที่บ่งชี้และบอกเล่าว่าศรัทธาอันยิ่งใหญ่เคยเกิดขึ้นที่นี่ ครั้งหนึ่ง เมื่อกว่า 1,300 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ของตำบลฮอด เราจะพบว่ามีโบราณสถาน โบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ วัดพระเจ้าโท้ วัดพระบาทแก้วข้าว วัดหลวงฮอด วัดเจดีย์น้อย วัดดอยจ๊อม วัดดอยอูปแก้ว นอกจากนั้น ยังพบเห็นร่องรอยของเศษซากวัดโบราณ เช่น วัดเจดีย์สูง วัดหลวงฮอด วัดศรีโขง วัดสันหนอง วัดดอกเงิน วัดดอกคำ ให้ทุกคนได้เข้าไปเรียนรู้ศึกษาต่อไปอีกด้วย

                                   

 

 

ที่มาข้อมูล :

เอกสารข้อมูลประวัติศาสตร์  โครงการสำรวจชุมชนโบราณท่าเชียงทอง ยุคก่อนหริภุญไชย ย้อนรอยพระนางจามเทวี ตามหาท่าเรือเชียงทองของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่

http://www.dmr.go.th/main.php?filename

http:// www.thaitambon.com/

http:// www.navy22.com  

http:// www.navy22.com                                                            

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เรารู้แล้วว่าใครอยู่เบื้องหลัง"

Posted: 23 Mar 2012 02:46 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เรารู้แล้วว่าใครอยู่เบื้องหลัง"

ชาวรัฐฉานแห่ขอทำบัตรประจำตัวพม่า เตรียมเลือกตั้งซ่อม

Posted: 23 Mar 2012 02:42 AM PDT

ทางการพม่าเร่งจัดทำบัตรประจำตัว (มาดโป่งติน) ให้ประชาชนในรัฐฉานภาคเหนือ หลังมีผู้แห่ไปขอรับทำเพื่อเตรียมใช้สิทธิ์เลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 เม.ย. นี้ 

23 มี.ค. 55 - มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า หลังจากนางอองซาน ซูจี ลงพื้นที่หาเสียงให้กับผู้สมัครของพรรคในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือ เมื่อระหว่างวันที่ 17-18 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเธอได้กล่าวถึงเรื่องบัตรประจำตัวประชาชนโดยให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเตรียมความพร้อมนั้น หลังจากนั้นได้มีประชาชนที่ไม่มีบัตรประจำตัวหรือบางคนบัตรประจำชำรุดสูญหาย ต่างเร่งรีบไปขอรับทำบัตรยังที่ว่าการอำเภออย่างเนืองแน่น

โดยในเมืองแสนหวี ซึ่งเป็นอีกเมืองที่นางอองซาน ซูจี ลงพื้นที่หาเสียง มีประชาชนแห่ไปขอรับทำบัตรประจำตัว (มาดโป่งติ่น) จำนวนมาก ซึ่งทางที่ว่าการอำเภอได้จัดสรรเจ้าหน้าที่เร่งออกบัตรประจำตัวให้กับผู้ร้องขอเพื่อให้ทันกำหนดวันเลือกตั้งซ่อมเช่นกัน

ชาวเมืองแสนหวีคนหนึ่งกล่าวว่า หลังจากนางอองซาน ซูจี ลงพื้นที่หาเสียง ทำให้ประชาชนสนใจการเลือกตั้งกันมากขึ้น โดยตลอดช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีประชาชนไปขอรับการทำบัตรประจำตัวที่ว่าการอำเภอไม่ขาดสาย เมื่อวันที่ 20 มี.ค. มีผู้ไปขอทำบัตรมากถึง 70 – 80 ราย ผู้ไปขอทำบัตรส่วนใหญ่เป็นคนอยู่ในพื้นที่มีหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทใหญ่ คะฉิ่น ลาหู่ ปะหล่อง และชาวจีนบางส่วน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 – 18 มี.ค. ที่ผ่านมา นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD สวมชุดไทใหญ่ลงพื้นที่หาเสียงในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือ มีผู้สนับสนุนให้การต้อนรับเนืองแน่น วันที่ 17 มี.ค. พบผู้สนับสนุนในเมืองล่าเสี้ยว เมืองหลวงที่สามของรัฐฉาน จากนั้นวันที่ 18 มี.ค. พบหาเสียงผู้สนับสนุนในเมืองแสนหวี โดยเธอกล่าวกับผู้สนับสนุนว่า สหภาพพม่ามีหลายชนชาติ ทุกชนชาติควรเข้าใจกันและควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน นอกจากนี้เธอยังได้พูดถึงสัญญาปางโหลง ที่เป็นต้นเหตุความขัดแย้งรัฐฉานกับพม่าด้วย

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เต็งเส่ง ขอผู้นำ"เมืองลา" ช่วยกล่อม "กองกำลังคะฉิ่น" ลงนามหยุดยิง

Posted: 23 Mar 2012 02:35 AM PDT

ประธานาธิบดีเต็งเส่ง เยือนเมืองเชียงตุง พบผู้นำกองกำลังเมืองลา NDAA ขอช่วยกล่อมกองกำลังคะฉิ่น KIA ให้ยอมลงนามหยุดยิงสร้างสันติภาพ หลังการเจรจาสองฝ่ายล้มเหลวหลายครั้ง

แหล่งข่าวใกล้ชิดเจ้าหน้าที่ระดับสูงกองกำลังเมืองลา NDAA แจ้งว่า เต็งเส่ง ประธานาธิบดีพม่า ได้ร้องขอให้ผู้นำกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กองกำลังเมืองลา NDAA ช่วยเกลี้ยกล่อมกองกำลังเอกราชคะฉิ่น KIA ให้ยอมเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลอ้างว่าเพื่อสร้างสันติภาพประเทศ

ทั้งนี้ การร้องขอของเต็งเส่ง ดังกล่าว มีขึ้นระหว่างที่เขาเดินทางมาเยือนเมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก และได้พบหารือกับเหล่าบรรดาผู้นำกองกำลังเมืองลา NDAA ซึ่งมีเจ้าจายลืน หรือ หลินหมิ่นเสียน ผู้นำสูงสุดของ NDAA ร่วมพบหารือด้วย เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังเอกราชคะฉิ่น KIA เป็นไปอย่างยากลำบาก ตัวแทนสองฝ่ายพบหารือกันหลายครั้งแต่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องสันติภาพ ดังนั้นจึงใคร่ขอให้ทาง NDAA ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรกับ KIA ช่วยทาบทามเกลี้ยมกล่อมอีกทาง ขณะที่ทางผู้นำ NDAA ตอบรับจะพยายามช่วยประสานให้

การเดินทางเยือนเมืองเชียงตุง ของเต็งเส่ง มีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่คณะเจรจาสันติภาพรัฐบาลพม่าและกองกำลังคะฉิ่น KIA กำลังมีการเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างกันครั้งที่ 5 ที่เมืองร่วยลี่ ของจีน แต่การเจรจาประสบความล้มเหลวอีกเช่นเคย สองฝ่ายไม่สามารถหาข้อสรุปใดๆ ร่วมกันไ้ด้ โดยระบุ จะนัดเจรจาหารือกันอีกครั้ง

ทั้งนี้ กองกำลังเอกราชคะฉิ่น KIA เป็นอดีตกลุ่มหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าและเป็นกลุ่มพันธมิตรกันกับกองกำลังว้า UWSA / กองกำลังเมืองลา NDAA และกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSPP/SSA ทั้ง 4 กลุ่มลงนามเป็นพันธมิตรเมื่อครั้งมีการประชุมร่วมกันที่เมืองขุนหม่า เขตปกครองว้า เมื่อเดือนเมษายน 2553 แต่เมื่อกลางปี 2554 กองกำลังคะฉิ่น KIA ถูกกองทัพพม่าใช้กำลังเข้าปราบอย่างหนัก ผลจากการสู้รบสองฝ่ายทำให้พลเรือนนับหมื่นคนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

 


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสม. ลงพื้นที่จังหวัดเลย รับฟังข้อเท็จจริงกรณีเรื่องร้องเรียนการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก

Posted: 23 Mar 2012 02:33 AM PDT

ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๔  มีนาคม ศกนี้ นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและความเสมอภาคของบุคคล พร้อมทั้ง คณะอนุกรรมการฯ  ลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริงจากทุกส่วนเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษา ให้สอดคล้องกับสิทธิทางการศึกษา โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่การศึกษาจังหวัดเลย  ณ โรงเรียนนาซ่าว อำเภอเชียงคาน

จังหวัดเลย  การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวนี้ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นกว่า ๒๕๐ คน  ประกอบด้วย ผู้ปกครองและนักเรียน ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษาและโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดเลย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน สื่อพื้นบ้าน รวมทั้งผู้ปกครองจัดการศึกษาบ้านเรียน “Home School”  
 
นางวิสา กล่าวว่า “การลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงในวันนี้ เนื่องจากต้องการรับฟังเสียงจากพื้นที่ จึงได้ประสานผู้ที่เกี่ยวข้อง และลงพื้นที่เพื่อจัดเวทีดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจและความคิดเห็นที่สะท้อนจากผู้ที่เกี่ยวข้องข้อง ทั้งนี้ ข้อมูล ข้อเสนอและข้อเท็จจริงที่ได้ จะนำไปสู่การกำหนดรูปแบบและวิธีการรับฟังความคิดเห็นในภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป และหากดำเนินการได้ทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จะได้นำมาประมวลเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาต่อไป
 
“ทั้งนี้ การยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และมีความคิดเห็นและเหตุผลสนับสนุนความคิดเห็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็น สำหรับแนวทางการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวนี้ กสม. จะมุ่งสู่ประโยชน์ที่สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ”  

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กระบวนการนิติบัญญัติไทย: สู่เกมกฎหมายเพื่อประชาชน

Posted: 23 Mar 2012 02:15 AM PDT

ชี้กระบวนการออกกฎหมายของไทยเป็น “เกม” ที่สภาผู้แทนฯ เป็น “นาย” ส่วนฝ่ายอื่นๆ รวมทั้งประชาชนกลายเป็น “บ่าว” หรือ “ลูกไล่” เสนอหากสภาไม่รับร่างกฎหมาย ที่ประชาชนจำนวนมากเข้าชื่อเสนอ ควรนำร่างกฎหมายไปทำประชามติ 
 
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีดีอาร์ไอได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยกระบวนการนิติบัญญัติของไทย”  โดยการสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.)  
 
นายอิสร์กุล อุณหเกตุ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ  นำเสนอข้อมูลของกระบวนการนิติบัญญัติของไทยในภาพรวม พบว่า ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มีพระราชบัญญัติที่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ ตั้งแต่ครม.รับหลักการไปจนถึงประกาศใช้ ทั้งสิ้น 335 ฉบับ โดยแต่ละรัฐบาลสามารถออกกฎหมายแตกต่างกัน     รัฐบาลที่มีการผ่านกฎหมายออกมาบังคับใช้ได้มากที่สุดคือ รัฐบาลสุรยุทธ์  ซึ่งมีกฎหมายเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติถึง 237 ฉบับ และประกาศใช้ในรัฐบาลของตน 95 ฉบับ ประกาศใช้ในรัฐบาลอื่น 14 ฉบับ  ขณะที่รัฐบาลทักษิณสามารถออกกฎหมายในรัฐบาลของตน 7 ฉบับและออกในรัฐบาลอื่น 72 ฉบับ    ส่วนรัฐบาลอภิสิทธิ์ผ่านกฎหมายในรัฐบาลของตน 29 ฉบับ   ในขณะที่รัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชายมีอายุสั้นจึงออกกฎหมายได้น้อย
 
ทั้งนี้ กฎหมายแต่ละฉบับใช้ระยะเวลาเฉลี่ยทั้งกระบวนการประมาณ 782 วัน หรือ มากกว่า 2 ปี โดยขั้นตอนที่ใช้เวลาในการพิจารณานานที่สุดคือในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งใช้เวลาถึง 262 วัน   สภาผู้แทนราษฎร 125 วัน วุฒิสภา 42 วัน (ดูภาพประกอบ)  ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ ใช้เวลาพิจารณา 56 วัน    การศึกษายังพบว่า ระยะเวลาการพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับมีความแตกต่างกันมาก  บางฉบับใช้เวลาเพียง1-2 เดือน  แต่บางฉบับใช้เวลาถึง 4 ปี   ทั้งนี้ แต่ละรัฐบาลใช้ระยะเวลาแตกต่างกันไป โดยในสมัยรัฐบาลทักษิณ (ศึกษาเฉพาะ 1 ม.ค.2547-19 ก.ย.2549) ร่างกฎหมายต่างๆ ใช้เวลาพิจารณาเฉลี่ย 826 วัน รัฐบาลสุรยุทธ์ใช้เวลาเฉลี่ย 249 วัน รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้เวลาเฉลี่ย 374 วัน  
 
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ หัวหน้าโครงการวิจัย  นำเสนอผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของกระบวนการนิติบัญญัติไทย ซึ่งศึกษาการพิจารณากฎหมายสำคัญ 21 ฉบับใน 3 รัฐบาล ตลอดจนทบทวนงานวิจัยอื่นที่ผ่านมา โดยมองกระบวนการออกกฎหมายไทยเป็น “เกม”  ตามความหมายในทฤษฎีเกม ซึ่งฝ่ายต่าง ๆ มีความต้องการที่แตกต่างกัน จะคาดคะเนถึงความเคลื่อนไหวของฝ่ายอื่น ก่อนตัดสินใจดำเนินการ เช่นเดียวกับที่ผู้เล่นหมากรุกจะต้องไตร่ตรองก่อนว่าคู่แข่งจะเดินหมากอย่างไร ก่อนที่ตนจะตัดสินใจเดินแต่ละก้าว   
 
ตัวอย่างความต้องการในการออกกฎหมายแตกต่างกันของฝ่ายต่างๆ  ได้แก่ หน่วยราชการมักต้องการออกกฎหมายให้ดุลพินิจ และเพิ่มทรัพยากรต่างๆ ของตนทั้งกำลังคนและงบประมาณ     ในขณะที่คณะรัฐมนตรีมักไม่มีแรงจูงใจที่จะออกกฎหมายใหม่เพราะสามารถใช้อำนาจบริหารได้โดยสะดวกอยู่แล้ว  เว้นแต่กรณีที่มีข้อติดขัดจากกฎหมายที่มีอยู่     ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร พบว่า มีแนวโน้มออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ประชาชน ควบคู่ไปกับการสนองความต้องการของครม. โดยไม่ค่อยสนใจตรวจสอบถ่วงดุลครม.    ในขณะที่วุฒิสภามักเน้นจะออกกฎหมายให้รัดกุมมากขึ้นและสร้างกลไกตรวจสอบครม.      ส่วนกรณีของ สนช. นั้น พบว่า มีความต้องการที่ใกล้เคียงกับหน่วยราชการ และมีตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมายเศรษฐกิจโดยตรงหลายฉบับ
 
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่าย ทำให้เกิดการต่อรองในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะมีอำนาจในการต่อรองที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น หาก ครม. มีเอกภาพและมีความต้องการที่ชัดเจน ก็จะทำให้คณะกรรมการกฤษฎีกามีดุลยพินิจในการร่างกฎหมายได้น้อย จนมีฐานะเป็น “บ่าว” หรือ “ลูกไล่” ของครม. อย่างแท้จริง เพราะ ครม.จะรับเฉพาะร่างกฎหมายที่ปรับปรุงดีขึ้น หรือมีต้นทุนแก้ไขเพิ่มเติมสูงเท่านั้น     ในทางกลับกัน หาก ครม. มีความต้องการไม่ชัดเจน เช่น มีความขัดแย้งระหว่างกระทรวงต่างๆ จะทำให้กฤษฎีกาสามารถใช้ดุลยพินิจได้มาก จนอาจถึงขั้นล้มร่างกฎหมายบางฉบับของครม. ได้  เช่น การส่งร่าง พ.ร.บ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมกลับคืน โดยอ้างจุดบกพร่องในร่างกฎหมาย ซึ่งครม. ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะกระทรวงการคลังและกระทรวงสิ่งแวดล้อมมีความเห็นแตกต่างกัน     หรือกรณีรัฐบาลจะหมดวาระ กฤษฎีกาก็สามารถขัดขวางร่างกฎหมายที่ตนไม่เห็นด้วยโดยถ่วงเวลาไว้ เช่น ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งจะเพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ผ่าน ครม. ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ก็ถูกดองไว้ทำให้ไม่แล้วเสร็จจนถึงขณะนี้
 
ส่วนเกมระหว่าง ครม. กับสภาผู้แทนฯ โดยทั่วไปไม่น่าสนใจนัก เพราะครม. กับสภาผู้แทนฯ เป็นพวกเดียวกัน เนื่องจากรัฐบาลคุมเสียงข้างมากในสภาฯ   เว้นแต่กรณีของ สนช. ซึ่งพบว่า สภาฯ และ ครม. มีความขัดแย้งกันบ่อยครั้ง โดยบางครั้ง ฝ่าย ครม. กลับกลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ เช่นร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์      ส่วนเกมระหว่างคณะกรรมาธิการวิสามัญกับสภาผู้แทนฯ พบว่า โดยทั่วไป กรรมาธิการจะมีฐานะเป็น “บ่าว” ของสภาฯ แต่ในบางกรณีอาจมีความต้องการแตกต่างกัน จากการกำหนดโควตากรรมาธิการของพรรคต่างๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสัดส่วนคะแนนเสียงในสภาฯ หรือการมีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่เกมระหว่างวุฒิสภา ซึ่งถือเป็น “สภาสูง” กับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็น “สภาล่าง” กลับพบว่า วุฒิสภาถูกออกแบบให้เป็น “บ่าว” ของสภาผู้แทนฯ จนมีฐานะลักษณะคล้ายกับเป็นคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนฯ จะยอมรับเฉพาะร่างกฎหมายที่ปรับปรุงดีขึ้น ไม่อยากเสียเวลาในการรอต่อไปหรือไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับวุฒิสภาเท่านั้น
 
ส่วนเกมระหว่างประชาชน ซึ่งเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายในฐานะ “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” กับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น “ตัวแทน” นั้น พบว่า  สภาฯ จะยอมรับเฉพาะร่างกฎหมายที่มีความต้องการไม่แตกต่างจากของตนมากเท่านั้น  ซึ่งทำให้ประชาชนกลายเป็น “บ่าว” หรือ “ลูกไล่” ของสภาผู้แทนฯ อีกเช่นกัน   แนวทางเดียวที่ทำให้ประชาชนกลายเป็น”นาย”หรือ “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” ได้แท้จริงคือ การกำหนดให้นำร่างกฎหมายของประชาชนไปทำประชามติ หากสภาผู้แทนฯ ไม่รับร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอ หรือนำไปแก้ไขจนผู้เสนอกฎหมายยอมรับไม่ได้  แต่ทั้งนี้ ควรจำกัดการทำประชามติเฉพาะร่างกฎหมายที่มีการเข้าชื่อเสนอจำนวนมากเช่น 1 แสนคนขึ้นไปเท่านั้น 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหภาพแรงงานโปรตุเกสหยุดงานประท้วงนโยบายรัดเข็มขัด

Posted: 23 Mar 2012 02:04 AM PDT

สหภาพแรงงานในโปรตุเกส หยุดงานประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ซึ่งคนงานเกรงว่านโยบายนี้จะกระทบกับรัฐสวัสดิการของประเทศ 

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 55 ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าสหภาพแรงงานรถไฟใต้ดินและเรือเฟอร์รี ในโปรตุเกส ได้ทำการหยุดงานประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ซึ่งคนงานเกรงว่านโยบายนี้จะกระทบกับรัฐสวัสดิการของประเทศ 
 
โดยรถไฟใต้ดินจะปิดให้บริการจนกว่าจะถึง 01.00 น.ของวันที่ 23 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ส่วนเรือเฟอร์รีเส้นทางกรุงลิสบอนไปยังเมืองริมแม่น้ำทากุสทางตอนใต้ก็คาดว่าจะถูกยกเลิก
 
สหภาพแรงงาน CGTP ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่มีอิทธิพลมากที่สุด ระบุว่าต้องมีการประท้วงแผนปฏิรูปตลาดแรงงาน มาตรการแก้ปัญหาว่างงาน และมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำลายรัฐสวัสดิการของประเทศ
 
CGTP นัดหยุดงานประท้วง หลังจากรัฐบาลร่วมกับสหภาพแรงงาน UGT อนุมัติข้อตกลงปฏิรูปตลาดแรงงานในวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา โดยข้อตกลงดังกล่าวลดจำนวนวันหยุดพักร้อน และลดเงื่อนไขให้นายจ้างไล่ออกพนักงานได้ง่ายขึ้น
 
ทั้งนี้การปฏิรูปดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขที่รัฐบาลโปรตุเกสต้องปฏิบัติ หลังรับเงินช่วยเหลือมูลค่า 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากสหภาพยุโรปและ IMF

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชง ศอ.บต.เสนอ ครม.เพิ่มวันหยุดทางศาสนาในชายแดนใต้

Posted: 23 Mar 2012 01:42 AM PDT

สภาที่ปรึกษาฯ เตรียมชง ศอ.บต. เสนอ ครม.กำหนดเพิ่มวันหยุดสำคัญทางศาสนาของศาสนิกอื่นในชายแดนใต้ พร้อมผลักข้อเสนอจัดตั้งแผนกคดีครอบครัวมรดกอิสลามขึ้นในศาลฎีกา และขอ ก.พ.เปิดบรรจุข้าราชการลูกจ้างสาธารณสุขเพิ่ม 900 อัตรา

 
“การให้หยุดวันสำคัญของศาสนาต่างๆ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความใจกว้างของคนไทย (ดูอย่าง) ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศพหุวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญแก่ศาสนาต่างๆ เท่ากัน โดยเขาได้กำหนดวันสำคัญทางศาสนาเป็นวันหยุดราชการ” นายมุข สุไลมาน กรรมการของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดน (สปต.) กล่าวในการประชุมประจำเดือน ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเกนติ้ง อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส 
 
นายมุข เปิดเผยว่า สาเหตุที่เสนอให้มีการกำหนดวันสำคัญของคริสต์เป็นหยุดราชการของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเคยมีการเสนอขอวันตรุษจีนให้เป็นวันหยุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมาจากสภาฯ เมื่อปีที่แล้วเช่นกัน จึงคิดว่าศาสนาอื่นก็ควรได้รับความสำคัญเท่ากัน
 
ผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนเห็นว่า การเสนอประเด็นดังกล่าวอาจทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นมาขอในลักษณะเช่นเดียวกัน แต่ทาง สปต.ได้มีมติและส่งเรื่องให้ทางคณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้มีการกำหนดวันหยุดเพิ่มเติมหรือไม่    
 
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติที่จะให้มีการยื่นข้อเสนอเรื่องการขอจัดตั้งแผนกคดีครอบครัวมรดกอิสลามขึ้นในศาลฎีกาไปยังคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยื่นเรื่องให้กับรัฐบาลที่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา
 
นายมุข กล่าวด้วยว่า ทาง สปต. ยังมีมติให้ขอให้ ศอ.บต. ยื่นคำร้องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้ ก.พ.เปิดอัตราบรรจุข้าราชการเพิ่มอีก 900 ตำแหน่งสำหรับ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่นักศึกษาทุนสาธารณสุขจบมาแล้วแต่ไม่มีตำแหน่งให้ทำงาน เพราะตำแหน่งจำนวนมากถูกเอาไปจัดสรรให้กับนักเรียนทุนพยาบาล 3,000 อัตราที่รัฐบาลให้การสนับสนุน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สื่ออเมริกันระบุจนท.สหรัฐเตรียมตั้งข้อหาทหารยศนายสิบฆ่าชาวอัฟกัน 17 ศพ

Posted: 23 Mar 2012 01:15 AM PDT

รายงานข่าวในหน้า นสพ.และสื่อของสหรัฐหลายรายรวมถึงวอชิงตันโพสต์ ซีเอ็นเอ็นและนิวยอร์คไทมส์อ้างแหล่งข่าวเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐเตรียมตั้งข้อหาสิบโทโรเบิร์ต เบลส์ของกองทัพสหรัฐอย่างเป็นทางการในวันนี้ ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองแล้ว และมีโอกาสถูกนำตัวขึ้นดำเนินคดีในศาลทหารในสหรัฐต่อไป

สิบโทเบลส์ได้ตกเป็นข่าวก่อนหน้านี้ โดยถูกกล่าวหาว่าสังหารชาวบ้านในอัฟกานิสถานรวม 17 ราย วอชิงตันโพสต์รายงานอ้างว่าก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐให้ข้อมูลไว้ว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคมซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ เบลส์ได้ออกจากที่พักที่เป็นหน่วยที่ตั้งทหารอเมริกันเล็กๆ ในกันดาร์ฮาร์ อัฟกานิสถานเพียงลำพัง และได้ไปกราดยิงชาวบ้านในสองหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 16 คนและต่อมาภายหลังอีกหนึ่งคน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก หลังจากนั้นได้เดินกลับมาที่ค่ายแล้วมอบตัว

นิวยอร์คไทมส์มีรายละเอียดมากขึ้นโดยบอกว่าความพยายามสังหารนั้นรวมไปถึงการใช้มีดแทงด้วย อย่างไรก็ตามทนายความของสิบโทโรเบิร์ต เบลส์ระบุว่าฝ่ายอัยการไม่มีหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายหรือผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมกับแก้ตัวให้ลูกความว่าเขามีอาการทางประสาทและสมองได้รับความกระทบกระเทือนจากผลของอุบัติเหตุที่เกิดก่อนหน้านี้

รายงานข่าวกล่าวด้วยว่าทางฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็ยอมรับถึงความยากลำบากในการทำคดี ซีเอ็นเอ็นอ้างเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐบอกว่าพวกเขาไม่มีผลการชันสูตรพลิกศพ เนื่องจากมีการฝังศพผู้เสียชีวิตอย่างรวดเร็วตามหลักศาสนาอิสลาม ในขณะที่อีกด้านเจ้าหน้าที่ก็ไม่แน่ใจว่า พยานผู้เห็นเหตุการณ์พร้อมจะเดินทางไปให้ปากคำที่ศาลถึงในสหรัฐหรือไม่

ข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐสรุปผลการสอบสวนว่า เบลส์ได้ลงมือสังหารชาวบ้านในสองหมู่บ้านที่ปันจ์ไว (Panjwai) ในกันดาร์ฮาร์ ภาคใต้ของอัฟกานิสถานเพียงลำพัง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเจ้าหน้าที่นำตัวเบลส์ออกจากอัฟกานิสถานแล้วนำไปจองจำไว้ในคุกทหารที่ฟอร์ทลีเวนเวอร์ทในรัฐเคนซัส ซึ่งสวนทางกับความต้องการของเจ้าหน้าที่อัฟกานิสถานที่ต้องการให้ทหารนายนี้ไปขึ้นศาลในอัฟกานิสถาน แต่สหรัฐยืนยันว่าเบลส์จะต้องขึ้นศาลในสหรัฐ

ซีเอ็นเอ็นได้อ้างความเห็นของนักกฎหมาย พอล คาลเลน ที่วิเคราะห์ว่า ทีมอัยการสหรัฐคงจะขอให้ศาลลงโทษประหารชีวิตเบลส์เพราะกรณีนี้ถือว่าเป็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ นิวยอร์คไทมส์เรียกกรณีนี้ว่า เป็นกรณีที่เป็นไปได้ว่าจะเป็นอาชญากรรมทางสงครามที่หนักที่สุดที่ทหารอเมริกันลงมือเพียงคนเดียวนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ถล่มอาคารเวิร์ดเทรดหรือที่เรียกกันว่า 9/11 เรื่องนี้ยังมีผลกระเทือนสูงในทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะทำให้อัฟกานิสถานเรียกร้องให้สหรัฐถอนทหารออกจากประเทศ ประธานาธิบดีฮามิด คาไซของอาฟกานิสถานถึงกับเอ่ยปากเรียกทหารต่างชาติที่อยู่ในอัฟกานิสถานว่าเป็น “มารร้าย” และเรียกร้องให้ถอนทหารที่ไปตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงหมู่บ้านและชุมชนกลับสู่ค่ายใหญ่ ในขณะที่สหรัฐเองซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการตระเตรียมการขั้นสุดท้ายเพื่อจะถอนทหารกลับอย่างถาวรเช่นเดียวกันในอีกสองปีข้างหน้าก็ได้รับผลกระทบกับแผนการเตรียมงาน ที่สำคัญ คาลเลนระบุว่า ชาวอัฟกานิสถานจะมีคำถามว่า “สหรัฐจะสร้างความยุติธรรมในคดีนี้หรือไม่”

ซีเอ็นเอ็นระบุว่า เบลส์มีบุตรสองคน เขาเป็นทหารที่ถูกส่งไปทำงานในอิรักมาแล้วสามครั้ง และหนหนึ่งประสบอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนถึงสมอง รายงานข่าวอีกหลายสำนักกล่าวถึงประวัติของเบลส์ให้ภาพเขาว่าเป็นผู้ใช้ความรุนแรง ข่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่พยายามสอบด้วยว่าเบลส์ดื่มแอลกอฮอล์ด้วยหรือไม่ในวันที่มีเหตุโจมตี ก่อนหน้านี้เบลส์เคยมีประวัติมีส่วนร่วมในการก่อเหตุที่มีการดื่มของมึนเมาด้วย

ในเวลาเดียวกันกับที่มีข่าวเรื่องทหารอเมริกันกับกรณีสังหารหมู่นี้ออกมา ก็มีสื่ออีกหลายรายลงรายงานที่ให้ภาพทหารอเมริกันที่มีพฤติกรรมขาดความเป็นมืออาชีพมากขึ้นเรื่อยๆ วอชิงตันโพสต์อ้างว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการเผยแพร่วิดีโอคลิปเป็นภาพของทหารอเมริกันปัสสาวะรดศพของนักรบทาลิบัน ต่อจากนั้นมีข่าวเรื่องการเผาคัมภีร์เป็นเหตุให้มีการประท้วงตามมาอีกมากมาย ข่าวระบุว่า ในระยะหลังทหารสหรัฐตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีหนักมือขึ้นเรื่อยๆ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เหตุการณ์หนนี้ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในสหรัฐหันกลับมาให้ความสนใจอีกครั้งกับปัญหาสุขภาพจิตของทหารในสังกัดที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในแนวรบซึ่งเผชิญภาวะเครียดและมีอาการทางประสาทจนปรากฏว่ามีระดับของการฆ่าตัวตายสูงเป็นประวัติการณ์

เหตุการณ์นี้ทำให้ความสนใจพุ่งไปที่เรื่องของการบริหารจัดการในกองทัพด้วย ล่าสุดนิวยอร์คไทมส์ระบุว่าตัวแทนกองกำลังสหรัฐในอัฟกานิสถานชี้แจงกับสภาคองเกรสสหรัฐด้วยว่า กองทัพจะสอบสวนเรื่องระบบการบริหารงานที่ค่ายทหารที่กันดาร์ฮาร์

รวบรวบจากซีเอ็นเอ็น วอชิงตันโพสต์ เอพี นิวยอร์คไทมส์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุกรรมการฯ เห็นชอบ วัยรุ่นตรวจเลือด HIV ได้เอง

Posted: 23 Mar 2012 01:01 AM PDT

 อนุกรรมการพิจารณาการตรวจหาเชื้อ HIV อนุมัติข้อบังคับแพทยสภา ให้วัยรุ่นตรวจเลือดหาเชื้อได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ปกครอง ด้านที่ปรึกษาแพทยสภามั่นใจออกบังคับใช้เดือนหน้า

 

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา อนุกรรมการพิจารณาแนวทางปฏิบัติการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี พิจารณาอนุมัติข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีในเด็กวัยรุ่น พ.ศ....

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ที่ปรึกษาแพทยสภา ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ ให้สัมภาษณ์ว่า อนุกรรมการฯ พิจารณาข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการตรวจเลือดฯ ของวัยรุ่น โดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ปกครอง มีมติเห็นชอบให้ออกเป็นข้อบังคับแพทยสภาฯ โดยจะเสนอเรื่องให้กับคณะกรรมการแพทยสภา เห็นชอบออกเป็นข้อบังคับใช้ในเดือนหน้า ซึ่งมั่นใจว่าน่าจะผ่านการเห็นชอบ

“การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี โดยความสมัครใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็ก ถ้าเขามีจุดประสงค์ตรวจ ก็จะให้เขาตรวจ แต่ต้องทำในที่ๆ มีการให้คำปรึกษาก่อนและหลังการตรวจ รวมถึงการจะบอกผู้ปกครองหรือไม่นั้นเป็นสิทธิของเขา และเราจะรักษาความลับของเด็ก” นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า เนื่องจากที่ผ่านมา เมื่อเยาวชนมีเพศสัมพันธ์ แล้วต้องการตรวจเลือดฯ ก็ต้องไปขออนุญาตผู้ปกครอง ซึ่งทำให้เด็กไม่เคยกลับมาตรวจเลย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การออกข้อบังคับฯ ซึ่งจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาที่รัฐมนตรีต้องเซ็นอนุมัติ มีลักษณะคล้ายกฎหมาย จะทำให้เด็กได้รับการดูแลที่ดีที่สุด และจะช่วยคุ้มครองแพทย์ ทำให้แพทย์มั่นใจที่จะให้บริการมากขึ้น แต่ถ้าทำเป็นแนวทาง แพทย์อาจทำเป็นไม่รับรู้ก็ได้

ประธานอนุกรรมการฯ ให้ความเห็นว่า กรณีที่มีคนกังวลว่าหากเด็กรู้ผลเลือดของตัวเองแล้วจะไปฆ่าตัวตายนั้น การให้คำปรึกษาก่อนและหลังการตรวจเลือดฯ จะมีประโยชน์อย่างมาก เพราะผู้ให้คำปรึกษาจะมีวิธีการให้คำแนะนำ ซึ่งเขาจะประเมินสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม สถานบริการที่ให้การตรวจเลือดฯ ในปัจจุบันก็มีความพร้อมในการให้คำปรึกษา ซึ่งต้องทำให้เป็นส่วนตัว หรือหากตรวจแล้วไม่พบว่ามีเชื้อฯ เด็กก็จะได้รับความรู้เรื่องการป้องกันด้วย

ทั้งนี้รายละเอียดของข้อบังคับฯ เช่น การตรวจเลือดนั้น ต้องมีการให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้ารับบริการทั้งก่อนและหลังการตรวจ บริการนั้นต้องเป็นการรักษาความลับ และการบอกผลเลือดกับผู้ปกครองหรือไม่เป็นสิทธิของเด็ก เป็นต้น

 

 

 

ที่มา: โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ teenpath.net
ที่มาภาพ:
Sully Pixel (CC BY-SA 2.0)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น