ประชาไท | Prachatai3.info |
- "วรเจตน์" แถลงถูกทำร้ายเพราะเคลื่อนไหวทางวิชาการ
- เครือข่ายหญิงฯ แถลงกรณี 'ฮาร์เวิร์ด-หมวย' อย่าเสนอข่าว ผลัก 'ทำแท้งเถื่อน'
- ม.แม่โจ้ มอบปริญญามหาบัณฑิตแก่ ‘จอนิ โอ่โดเชา’
- แรงงานข้ามชาติชาวพม่าร้องศาลแรงงาน ขอบริษัทซีพีชดเชยความเสียหาย
- องค์กรนิรโทษกรรมสากล: อิหร่านหวาดต้อนจับประชาชนช่วงก่อนเลือกตั้ง
- 8 องค์กรสิทธิไทย ประณามเหตุ 'วรเจตน์' ถูกทำร้าย ร้องรัฐต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน
- วรเจตน์ยันไม่ยุติบทบาททางวิชาการ นครบาลจัดกำลังคุ้มครอง
- สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ค้านแนวคิดยุบศาลปกครอง-ศาลรัฐธรรมนูญ
- สัมภาษณ์ ภรรยาฐานุทัศน์ : การดิ้นรนอันโดดเดี่ยว
- รายงานพิเศษ: ซ้อมทรมาน: อาชญากรรมที่กฎหมายยังเอื้อมไม่ถึง
- [อัพเดต] ด่วน วรเจตน์ถูกชายสองคนรุมทำร้าย ที่มธ. !!!!!
- ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ไทยแท้"
- ประชาไทบันเทิง: ฮูอากง เมื่อหนังตลกไม่ใช่แค่หนังตลก
- พะเยาว์ อัคฮาด
"วรเจตน์" แถลงถูกทำร้ายเพราะเคลื่อนไหวทางวิชาการ Posted: 29 Feb 2012 09:48 AM PST วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แถลงที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 29 ก.พ. 55 หลังถูกทำร้ายร่างกาย (ที่มา: Prachataitv/youtube.com) 19.00 น. วานนี้ (29 ก.พ.55) นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. หนึ่งในนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ พร้อมด้วย พล.ต.ต.วิชัย สังขประไพ ผู้บังคับการกองบัญชาการตำรวจนครบาล แถลงข่าวกรณีที่นายวรเจตน์ถูกชาย 2 คนรุมทำร้ายร่างกายที่บริเวณลานจอดรถคุณะนิติศาสตร์ มธ. วรเจตน์เชื่อเหตุทำร้ายมาจากการเคลื่อนไหวทางวิชาการเพราะไม่มีความขัดแย้งอื่น และยืนยันว่าจะไม่ยุติบทบาทการเคลื่อนไหวทางวิชาการ และขอสื่อนำเสนอข่าวให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจนนำไปสู่การสร้างเกลียดชัง "สิ่งที่ผมทำ ผมทำในกรอบของวิชาการและเป็นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ เราคงปล่อยให้เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งชีวิตเราไม่ได้ ผมจะทำต่อไป เพราะผมทำในกรอบของกฎหมายทุกอย่าง อยู่ในกรอบของหลักการที่ถูกต้อง และผมก็ทำเท่าที่เวลาอำนวย ผมมีงานที่ต้องตรวจข้อสอบ สอนหนังสือ แต่เมื่อมีความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็ทำ" ส่วนผู้บัญชาการตำรวจนครบาลระบุว่าสามารถจะจับคนร้ายได้โดยเร็ว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เครือข่ายหญิงฯ แถลงกรณี 'ฮาร์เวิร์ด-หมวย' อย่าเสนอข่าว ผลัก 'ทำแท้งเถื่อน' Posted: 29 Feb 2012 09:31 AM PST เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ออกแถลงการณ์กรณี 'ฮาร์เวิร์ด-หมวย' สื่อเสนอข่าวให้เกิดความเข้าใจในสังคมว่า ผู้หญิงที่ทำแท้งมีความผิดตามกฎหมายทุกกรณี ส่งผลให้ผู้ประสบปัญหาวิกฤตท้องไม่พร้อมต้อง “ทำแท้งเถื่อน” 29 ก.พ.55 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ออกแถลงการณ์กรณีการตกเป็นข่าวใหญ่ของคู่ดาราฮาร์เวิร์ด-หมวย ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจในสังคมว่าผู้หญิงที่ทำแท้งมีความผิดตามกฎหมายทุกกรณีและผู้ที่ช่วยเหลือให้ทำแท้งอาจมีความผิดไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ประสบปัญหาวิกฤตท้องไม่พร้อมต้องเลือก “การทำแท้งเถื่อน” เป็นทางออก ทั้งๆ ที่อาจได้รับบริการทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมายและปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิตได้ ติงตำรวจว่า การเสนอข่าวว่าจะ “บุกทลาย” โดยไม่แยกแยะก่อนว่าเป็นคลินิกที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นี้ กลับกลายเป็นแรงผลักให้ผู้ประสบปัญหาต้องหลบเข้าไปสู่บริการใต้ดิน ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาประชากร “เกิดน้อย แต่ด้อยคุณภาพ....การเกิดที่มีคุณภาพจะต้องเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ที่พร้อมและตั้งใจ ” ดังนั้น ทุกฝ่ายในสังคมไทยจึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วมกันเพื่อแก้ไขวิกฤตประชากรนี้ โดยมีรายละเอียดในแถลงการณ์ ดังนี้ 0 0 0 แถลงการณ์ของเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม [1] สืบเนื่องจากกรณีการตกเป็นข่าวใหญ่ของคู่ดาราฮาร์เวิร์ด-หมวย ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจในสังคมว่าผู้หญิงที่ทำแท้งมีความผิดตามกฎหมายทุกกรณีและผู้ที่ช่วยเหลือให้ทำแท้งอาจมีความผิดไปด้วยนั้น เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมมีความเห็นว่า เป็นการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม เนื่องจากการทำแท้งมิใช่การกระทาที่ผิดกฎหมายในทุกกรณี อีกทั้งความเข้าใจผิดนี้อาจส่งผลให้ผู้ประสบปัญหาวิกฤตท้องไม่พร้อมต้องเลือก “การทำแท้งเถื่อน” เป็นทางออก ทั้งๆ ที่อาจได้รับบริการทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมายและปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิตได้ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมจึงขอแถลงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้ 1. สื่อมวลชนควรเสนอข้อมูลที่ถูกต้องว่า ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 (1) (2) และมาตรา 276, 277, 282, 283 และ 284 และข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ได้กำหนดให้แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้ยุติการตั้งครรภ์แก่ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ในกรณีดังต่อไปนี้ 1) การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายของผู้หญิง 2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรทบทวนประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องทำแท้ง เนื่องจากมีการใช้มาตรการบุกเข้าตรวจค้น/ทลายคลินิกที่ต้องสงสัยมาโดยตลอด แต่ไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามาตรการนี้สามารถส่งผลให้การทำแท้งลดลง ในทางตรงกันข้าม การเสนอข่าวว่าจะ “บุกทลาย” โดยไม่แยกแยะก่อนว่าเป็นคลินิกที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นี้ กลับกลายเป็นแรงผลักให้ผู้ประสบปัญหาต้องหลบเข้าไปสู่บริการใต้ดินซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียสุขภาพและชีวิตมากยิ่งขึ้น 3. รัฐบาลพึงตระหนักและเร่งหาทางแก้ไขต่อกรณีที่โรงพยาบาลจานวนมากของรัฐ มีข้อจำกัด/ไม่มี บริการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้กฎหมาย แม้ว่าบริการนี้จะครอบคลุมภายใต้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพและประกันสังคมก็ตาม ดังจะเห็นได้จากผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจานวนมากต้องเสี่ยงกับการแสวงหาสถานที่ยุติการตั้งครรภ์เอง ทั้งๆ ที่ตนมีสิทธิควรได้รับบริการโดยชอบธรรมจากสถานบริการของรัฐ 4. รัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพในการสร้างมาตรการป้องกันการท้องที่ไม่พร้อมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิดและป้องกันโรค โดยเน้นให้ทั้งชายและหญิงมีบทบาทรับผิดชอบอย่างเสมอกัน มีบริการปรึกษาทางเลือกที่เป็นมิตรต่อผู้หญิงที่พบวิกฤตท้องไม่พร้อม เสริมสร้างการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย และช่วยเหลือผู้หญิงให้ได้รับการดูแลขณะท้องและหลังคลอดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เลี้ยงดูบุตรที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่พร้อมได้อย่างมีคุณภาพต่อไป นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2553-2557) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาประชากร “เกิดน้อย แต่ด้อยคุณภาพ....การเกิดที่มีคุณภาพจะต้องเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ที่พร้อมและตั้งใจ ” ดังนั้น ทุกฝ่ายในสังคมไทยจึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วมกันเพื่อแก้ไขวิกฤตประชากรนี้ ด้วยการร่วมเดินไปข้างหน้าอย่างเข้าใจต่อปัญหาท้องไม่พร้อมและการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยอย่างถ่องแท้เสียตั้งแต่วันนี้....
[1] เครือข่ายขององค์กรภาครัฐและเอกชน มีภารกิจทางานครอบคลุมทุกมิติชีวิตของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ตั้งแต่เรื่องเพศศึกษา การคุมกาเนิด การปรึกษาทางเลือก การดูแลผู้หญิงที่ตัดสินใจท้องต่อตั้งแต่ก่อน-หลังคลอด และการดูแลแม่และเด็กในระยะยาว รวมทั้งการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่คุณภาพชีวิตของผู้หญิงที่ประสบปัญหาและเด็กเป็นหลัก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ม.แม่โจ้ มอบปริญญามหาบัณฑิตแก่ ‘จอนิ โอ่โดเชา’ Posted: 29 Feb 2012 09:10 AM PST ม.แม่โจ้ มอบปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การบริหารงานภาครัฐและเอกชนให้แก่นายจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชนเผ่าปกาเกอะญอ ระบุเป็นปราชญ์ที่มีความรู้ในการจัดการบริหารป่า รู้จักและเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งตามวิถีทางของ บรรพบุรุษชาวปาเกอะญอ และได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นถ่ายทอดแก่สังคม เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 34 โดยสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีมติมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ผู้ทรงคุณวุฒิรวม 13 คน โดยนายจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชนเผ่าปกาเกอะญอ เป็นผู้ได้รับปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การบริหารงานภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ทางสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า นายจอนิ โอ่โดเชา เป็นปราชญ์ที่มีความรู้ในการจัดการบริหารป่า รู้จักและเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งตามวิถีทางของ บรรพบุรุษชาวปาเกอะญอ และได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นถ่ายทอดแก่สังคม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน จนเป็นที่ประจักษ์ โดยเริ่มงานอนุรักษ์ป่าตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2516 ควบคู่กับการสร้างกิจกรรมการพัฒนารวบรวมเครือข่ายชาวไทยภูเขา 13 เผ่า ร่วมจัดทำแผนพัฒนาเพื่อดูแลรักษาป่าไม้และทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ ได้ดำเนินการบวชป่า 50 ล้านต้น เนื่องในวโรกาสปีกาญจนาภิเษก ปีพุทธศักราช๒๕๓๙ จัดตั้งธนาคารข้าวร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ 100 องค์กร ร่วมแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน จัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำวาง จำนวน 40 หมู่บ้าน จากการทุ่มเทในการทำงานจึงทำให้ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิได้รับการประกาศจากคณะกรรมการ “คนดีศรีสังคม” ให้เป็น ปราชญ์แห่งขุนเขา อีกทั้งได้รับยกย่องเป็น “บุคคลผู้ที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม” ตามคำประกาศของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในด้านงานวิชาการ ได้ทำการค้นคว้าศึกษาหาความรู้ตามวิถีของบรรพบุรุษจนสามารถรวบรวมและเรียบเรียงเป็นหนังสือเรื่อง “ป่าเจ็ดชั้นปัญญาปราชญ์” ซึ่งสะท้อนถึงความเข้าใจอันลุ่มลึก และตกผลึกทางความรู้ ด้านป่าไม้ และธรรมชาติ ทั้งนี้ ภายในงานได้มีญาติพี่น้อง เด็กเยาวชนปกาเกอะญอ เข้าร่วมแสดงความยินดี โดยการแสดงศิลปะพื้นบ้านชนเผ่า รวมทั้งมี ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ เล่นดนตรีปกาเกอะญอ และ ภู เชียงดาว ร่วมอ่านบทกวีให้แก่ นายจอนิ โอ่โดเชา ภายในงานด้วย ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวแสดงความชื่นชมยินดีกับนายจอนิ โอ่โดเชา ว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เป็นผู้มีภูมิปัญญาและยังสามารถนำเอาภูมิปัญญาที่มีอยู่นั้นมาปรับใช้ในวิถีชีวิตของตนเอง และเป็นแบบอย่างให้กับพี่น้องชนเผ่าได้อย่างดี “การที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มอบปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่พะตีจอนิในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้เด็กๆ เยาวชนลูกหลานของพี่น้องชนเผ่าได้รับรู้ เรียนรู้และเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาชนเผ่า ว่าสิ่งที่พะตีจอนิกำลังทำอยู่นั้นคือส่วนหนึ่งและมีคุณค่าต่อการศึกษา และจะทำให้ลูกหลานชนเผ่าได้รู้และภูมิใจว่า จริงๆ แล้วการศึกษานั้นอยู่ในวิถีชีวิต อยู่ในรากเหง้าของตัวเราเอง” ดร.สมคิด แก้วทิพย์ กล่าว หลังจากนั้น นายจอนิ โอ่โดเชา ได้บอกเล่าความรู้สึกให้ทุกคนด้วยสีหน้าเบิกบาน ว่าต้องขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน ขอบคุณภรรยา รวมไปถึงญาติพี่น้อง เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ “อย่างไรก็ดี อยากจะบอกทุกคนว่า โลกนี้ไม่ใช่ของเราคนเดียว ฉะนั้น คนกินน้ำ ก็ต้องรักษาน้ำ คนกินข้าว ต้องรู้จักต้นข้าว คนอยู่ป่าก็ต้องดูแลป่า คนกินสรรพสิ่งก็ต้องดูแลสรรพสิ่ง” นายจอนิ กล่าวย้ำในงาน ในขณะที่ ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินหนุ่มปกาเกอะญอ ที่มาร่วมงานได้กล่าวแสดงความยินดีกับนายจอนิ โอ่โดเชา ว่า รู้สึกดีใจที่สถาบันการศึกษาหลายแห่ง นักวิชาการหลายท่านนั้นเริ่มมองเห็นคุณค่า องค์ความรู้ ภูมิปัญญาของชนเผ่ามากขึ้น โดยผ่านตัวผู้รู้ อย่างเช่นพะตีจอนิ โอ่โดเชา ซึ่งถือว่าเป็นผู้ได้นำชีวิตเป็นทั้งผู้ให้ ผู้แบ่งปันวิทยาทานให้กับผู้คน สังคมมายาวนานหลายทศวรรษ “หลายๆ ครั้ง หลายๆ ปัญหาวิกฤติของสังคมไทย มีการถกเถียงและหาทางออกของปัญหา ก็มักมีหลายคนหยิบยกเอามุมมองความคิดของพะตีจอนิ มาปรับใช้ในการแก้ปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ฉะนั้น ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาให้ความสนใจ ให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาชนเผ่า และไม่ใช่มีเพียงแค่ชนเผ่าปกาเกอะญอเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายชนเผ่าที่มีองค์ความรู้ มีภูมิปัญญาที่มีคุณค่าในการนำมาปรับใช้ในสังคมไทย ดังนั้น ผมคิดว่าเราจะต้องเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้มากยิ่งขึ้น” ชิ สุวิชาน กล่าวถึงนายจอนิ โอ่โดเชา อีกว่า เขาเป็นปราชญ์ เป็นผู้นำชนเผ่าที่มีคุณค่า มี่ความกล้าหาญ ที่ได้เอาตัวเองเข้าแลก เข้าต่อสู้กับปัญหา เอาตัวเองไปทดลองอย่างเช่น การทำสวนขี้เกียจ การทำป่าเจ็ดชั้น ซึ่งได้ลงมือทำ จนเห็นผล เป็นการเอาตัวตนอธิบายและหาทางออกให้กับสังคมไทยได้ “ในมุมมองของผม ในฐานะที่เป็นลูกหลานปกาเกอะญอ มองว่า พะตีจอนิ ในเวลานี้เป็นเหมือนพี่เลี้ยงของนักต่อสู้เคลื่อนไหวรุ่นหลังๆ ซึ่งแน่นอนว่า ที่ผ่านมานั้น ใช่ว่าแกจะได้รับผลตอบแทนดีงามเสมอไป แต่บ่อยครั้งพะตีจอนิ นั้นเจ็บปวดเพราะถูกทิ่มแทงจากคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจจนหัวใจตัวเองบาดเจ็บ แต่ถึงอย่างไร พะตีจอนิ ก็ยังยืนหยัดที่ก้าวเดินตามแนวทางของตนเอง นั่นคือสิ่งที่พะตีจอนิได้บอกย้ำกับหลายๆ คนว่า บางครั้งเราไม่ได้หลีกเลี่ยง แต่ต้องหลบหลีก, เผชิญหน้าโดยไม่ปะทะ และบางครั้งยอมให้ถูกทิ่มแทงบาดเจ็บ แต่คอยช่วยเยียวยาบาดแผลให้คนอื่น” ชิ สุวิชาน บอกเล่าถึงตัวตนของนายจอนิ โอ่โดเชา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
แรงงานข้ามชาติชาวพม่าร้องศาลแรงงาน ขอบริษัทซีพีชดเชยความเสียหาย Posted: 29 Feb 2012 09:03 AM PST หลังประสบอุบัติเหตุ เมื่อวันที่ 28 กุมพาพันธ์ 2555 ศาลแรงงานกลางนัดพร้อมคู่ความเพื่อไกล่เกลี่ยคดีกรณีที่นายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติชาวพม่า ยื่นฟ้องนายธารา ริตแตง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด NSV Supply, และบริษัทซีพีค้าปลี ทั้งนี้ มีเพียงทนายของบริษัทซีพี กรณีดังกล่าว เกิดมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 นายชาลี ถูกผนังปูนหล่นทับ ระหว่างทำงานก่อสร้างให้ผู้รั นายชาลีถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปทุ กรณีนายชาลี เนื่องจากเป็นแรงงานข้ามชาติที่ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
องค์กรนิรโทษกรรมสากล: อิหร่านหวาดต้อนจับประชาชนช่วงก่อนเลือกตั้ง Posted: 29 Feb 2012 08:22 AM PST องค์กรนิรโทษกรรมสากล เผยแพร่รายงานที่ระบุว่ารัฐบาลอิหร่านได้กวาดต้อนจับกุมประชาชนที่แสดงความเห็นต่อต้านรัฐบาลในช่วงใกล้เลือกตั้งส.ส. ครั้งใหม่วันที่ 2 มี.ค. โดยอ้างว่าเพื่อกำจัดอิทธิพลการโฆษณาชวนเชื่อของอริศัตรู 28 ก.พ. 2012 - องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty) เผยแพร่รายงานที่ชื่อ "We are ordered to crush you: Expanding Repression of Dissent in Iran" (พวกเราถูกสั่งให้ขยี้พวกคุณ : การขยายวงการปราบปรามผู้ต่อต้านในอิหร่าน) ซึ่งเนื้อหากล่าวถึงการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยรัฐบาลอิหร่านที่ทำการจับกุมปราบปรามประชาชน และมีตัวเลขการจับกุมสูงขึ้นมากในช่วงสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 2 มี.ค. นี้ Amnesty เผยอีกว่าเป้าหมายการจับกุมของรัฐบาลอิหร่านคือ ทนายความ, นักศึกษา, นักข่าว, นักกิจกรรมทางการเมือง และญาติของพวกเขา รวมถึงชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติหรือศาสนา, คนทำภาพยนตร์, คนที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับต่างประเทศโดยเฉพาะเกี่ยวโยงกับสื่อด้วย "อิหร่านในทุกวันนี้ คุณมีความเสี่ยงมากในการทำอะไรก็ตามที่อยู่นอกเหนือกรอบแคบๆ ที่รัฐบาลวางเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ทางสังคมหรือการเมือง" แอน แฮริสัน รักษาการผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือกล่าว แอนเสริมอีกว่านั่นหมายรวมถึง "อะไรก็ตามที่เป็นการจัดตั้งกลุ่มทางสังคมบนอินเตอร์เน็ต การรวมกลุ่มหรือเข้าร่วมกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอ หรือการแสดงการเป้นปฏิปักษ์ต่อสภาพการปัจจุบัน ก็อาจทำให้คุณไปอยู่ในคุกได้" ทางด้านผู้นำฝ่ายค้าน มีร์ ฮอสเซน มูซาวี และ เมห์ดี คาร์รูบี ผู้พ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี 2009 ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันเรื่องความโปร่งใส ก็ถูกสั่งกักบริเวณภายในบ้านเป็นการชั่วคราวตั้งแต่เดือน ก.พ. 2011 "ข้อมูลที่น่าหวาดวิตกนี้เน้นให้เห็นความมือถือสากปากถือศีลของรัฐบาลอิหร่าน ในการพยายามแสดงให้เห็นความเป็นพวกพ้องกับผู้ประท้วงในอียิปต์ บาห์เรน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้" องค์กรนิรโทษกรรมสากลกล่าว 'โฆษณาชวนเชื่อของอริศัตรู' สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานอีกว่า การจับกุมปราบปรามเลวร้ายขึ้นในช่วงใกล้เลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 2 มี.ค. นี้ ผู้มีอำนาจของอิหร่านรวมถึงผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ต่างก็ร้องขอให้หน่วยรักษาความสงบคอยตรวจตรา "ภัยคุกคามจากศัตรู" ในช่วงที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง "เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของศัตรูและสื่อของพวกกลุ่มยโสโอหังเริ่มพยายามมากขึ้นในการทำให้การเลือกตั้งส.ส. ของพวกเรามีมลทิน" ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ "แต่ทุกคนควรทราบไว้ว่าการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศเคลื่อนไปข้างหน้า ... การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจจะทำให้ศัตรูต้องหมอบราบ" คาเมนีกล่าว Amnesty เผยว่าการปราบปรามมุ่งเป้าไปที่สื่ออิเล็กโทรนิคซึ่งทางรัฐบาลเห็นว่าเป็นภัยคุกคามใหญ่ การโจมตีความเห็นที่ต่อต้านรัฐบาลก็ทำให้ภาพสิทธิมนุษยชนโดยรวมในอิหร่านแย่ลงไปอีก การประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณชนก็เป็นการใช้สร้างความหวาดกลัวในสังคม องค์กรนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้ประชาคมโลกว่า "อย่าได้ทำให้ความตึงเครียดในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน หรือเหตุการณ์ในภูมิภาคนี้เบี่ยงเบนความสนใจพวกคุณออกไปจากการกดดันให้อิหร่านปฏิบัติตามพันธะกรณีด้านสิทธิมนุษยชน" แอนกล่าว การเลือกตั้งในวันที่ 2 มี.ค. ที่จะถึงนี้มีผู้ลงสมัคร 3,444 ราย ชิงที่นั่ง 290 ที่ในสภาที่มีชื่อว่า สภาคณะที่ปรึกษาอิสลาม มีประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเสียง 48 ล้านคน
ที่มา Iran 'intensifying clampdown' ahead of vote, Aljazeera, 28-02-2012 http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/02/201222892047284878.html สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
8 องค์กรสิทธิไทย ประณามเหตุ 'วรเจตน์' ถูกทำร้าย ร้องรัฐต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน Posted: 29 Feb 2012 08:06 AM PST 29 ก.พ. 55 - องค์กรสิทธิมนุษยชนไทย 8 องค์กร ออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงในกรณีการทำร้ายร่างกายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ที่เกิดขึ้นเมื่อราวบ่ายวันนี้ และเรียกร้องให้รัฐรีบหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน พร้อมกับเรียกร้องให้สังคมอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายตามหลักขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย องค์กรสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ประกอบด้วย เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(คนส.), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.), โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(Enlaw), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF), ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และศูนย์ข้อมูลชุมชน 0000 แถลงการณ์ องค์กรสิทธิมนุษยชนประณามการทำร้ายร่างกาย รศ.ดร.วรเจตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ร้องสังคมไทยให้มีความอดทนอดกลั้นรับฟังความเห็นต่าง รัฐมีหน้าที่คุ้มครองไม่ให้สังคมตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัวและต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว ตามที่รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในกลุ่มอาจารย์คณะนิติราษฎร์ ถูกชายสองคนทำร้ายร่างกายภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงบ่ายวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ บริเวณลานจอดรถของคณะนิติศาสตร์นั้น องค์กรดังมีรายชื่อแนบท้ายนี้ มีความห่วงกังวลอย่างยิ่งว่าสาเหตุในการทำร้ายร่างกายดังกล่าวจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงบทบาทในฐานะนักวิชาการของกลุ่มอาจารย์คณะนิติราษฎร์ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ารศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยมีความขัดแย้งกับบุคคลใดเป็นการส่วนตัว ในทางตรงกันข้ามการดำเนินกิจกรรมของคณะนิติราษฎร์ที่ได้มีข้อเสนอแนะในทางวิชาการให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๕๕ การจัดทำข้อเสนอเพื่อการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และการล่ารายชื่อประชาชน ๑๐,๐๐๐ รายชื่อ เพื่อเสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ กลับทำให้กลุ่มอาจารย์คณะนิติราษฎร์ต้องตกอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์ทั้งที่อยู่ในกรอบของกฎหมายและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากล จนเลยไปถึงการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และการข่มขู่ทำร้ายร่างกายอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทั้งปรากฏว่า เคยมีการแสดงความรุนแรงโดยการเผาหุ่นของดร.วรเจตน์เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๕ บริเวณหน้าประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเกิดการทำร้ายร่างกาย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ขึ้นภายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนี้ เราเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้สังคมตกอยู่ในภาวะความหวาดกลัวถึงการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญว่าอาจมีบุคคล กลุ่มบุคคลซึ่งมีความเห็นต่างจะมุ่งประสงค์ร้าย จนถึงขั้นทำร้ายร่างกายหรือทำให้เสียชีวิต เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมของคณะนิติราษฎร์ และการล่ารายชื่อของคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ นั้นเป็นการกระทำบนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และกล่าวได้ว่ากลุ่มอาจารย์ดังกล่าวเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐมีหน้าที่คุ้มครองและปกป้องไม่ให้ผู้ใดมาละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และตามหลักกติกาสากลว่าด้วยการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เราเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกาย การไม่เคารพต่อเสรีภาพของบุคคลอื่น การไม่รับฟัง และขาดความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างอันเป็นพฤติกรรมที่ยิ่งจะบ่อนทำลายคุณค่าแห่งสังคมประชาธิปไตย และเห็นว่าการทำร้ายร่างกายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการทำร้ายร่างกายส่วนบุคคลแต่เป็นเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนในการแสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพขั้นพี้นฐาน จึงมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้ ๑. เราขอประนามการกระทำความรุนแรงครั้งนี้ และขอให้รัฐบาลรีบดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษโดยเร็วที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐสามารถปกป้องคุ้มครองประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้และไม่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพดังกล่าว ๒. ขอเรียกร้องต่อประชาชนชาวไทยให้ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อการแสดงความเห็นที่แตกต่าง แม้ความเห็นที่คณะนิติราษฎร์หรือคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ จะขัดแย้งต่อความรู้สึกของประชาชนชาวไทยบางกลุ่ม แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยในการอยู่ร่วมกัน ด้วยความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(คนส.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(Enlaw) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF) ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ศูนย์ข้อมูลชุมชน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
วรเจตน์ยันไม่ยุติบทบาททางวิชาการ นครบาลจัดกำลังคุ้มครอง Posted: 29 Feb 2012 04:37 AM PST วรเจตน์เชื่อเหตุทำร้ายมาจากการเคลื่อนไหวทางวิชาการเพราะไม่มีความขัดแย้งอื่น ยืนยันไม่ยุติบทบาทการเคลื่อนไหวทางวิชาการ วอนสื่อนำเสนอข่าวให้ถูกต้องไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจนถูกเกลียดชัง นครบาลลั่นจับคนร้ายได้เร็วๆ นี้ จัดกำลังคุ้มครอง เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. หนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ พร้อมด้วย พล.ต.ต. วิชัย สังขประไพ ผู้บังคับการกองบัญชาการตำรวจนครบาล แถลงข่าวกรณีวรเจตน์ถูกทำร้ายร่างกายที่คณะ โดยนายวรเจตน์เล่าเหตุการณ์ว่า ขับรถเข้ามาที่คณะประมาณ 15.00น. หลังจากช่วงเช้าไปบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแวะไปหาหมอที่ ร.พ.หัวเฉียว เมื่อขับรถเข้ามาจอด เก็บของลงจากรถ เจออาจารย์อีกท่านที่จอดรถข้างหลังก็หันไปคุยระหว่างนั้นมีคนเดินเข้ามาข้างหลัง ก็รู้สึกว่าโดนของกระแทกที่กกหูด้านขวาหลายครั้ง อาจารย์ท่านนั้นจึงมากันคนที่เข้ามาชกเขาออกไป ระหว่างนั้นแว่นตกลงพื้นไปจึงมองอะไรไม่ถนัด แต่ก็มีชายอีกคนหนึ่งวิ่งมาชกเขาอีกหลายครั้ง แล้วขับมอเตอร์ไซค์ออกไป โดยนายวรเจตน์กล่าวว่าได้ยินว่าชายที่เข้ามาทำร้ายร่างกาย มารอเขาตั้งแต่เช้า และมีคนได้ยินชายคนดังกล่าวพูดอีกด้วยว่าให้รอดูจากกล้องวงจรปิด นายวรเจตน์สันนิษฐานว่าสาเหตุนั้นมีเพียงเรื่องเดียว ซึ่งก็น่าจะเกี่ยวกับการบทบาททางวิชาการในนามกลุ่มนิติราษฎร์ เพราะชีวิตไม่มีเรื่องขัดแย้งอย่างอื่น และกิจกรรมทางวิชาการที่ทำไปอาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับบางกลุ่ม เพราะก่อนหน้านี้มีไปรษณียบัตรเขียนจดหมายมาด่าทอ อีกทั้งแม่บ้านของคณะก็เคยบอกว่ามีคนมาถามหาเขาในช่วงที่มีการเผาหุ่นเขาที่หน้ามหาวิทยาลัย แต่ไม่เคยมีการคุกคามซึ่งหน้า อย่างไรก็ตาม นายวรเจตน์กล่าวว่า จะไม่ลดบทบาทตัวเองและจะทำงานวิชาการต่อไป เพราะเป็นการทำไปบนหลักการที่ถูกต้อง วางอยู่บนเหตุผลและเสนอให้สาธารณะได้ตรึกตรอง ถ้าไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยก็ควรโต้แย้งด้วยเหตุด้วยผล โดยเขากล่าวว่าข้อเสนอของเขาก็มีคนไม่เข้าใจ โดยยกตัวอย่างกรณีที่มีคนโฟนอินเข้าไปพูดคุยกับนายวีระ ธีรภัทรว่า อยากจะตัดคอกลุ่มนิติราษฎร์ทั้งๆ ที่ไม่เข้าว่าเขาเสนออะไร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้า นอกจากนี้เคยมีกรณีคนขับมอเตอร์ไซค์เข้าไปที่ มธ. ศูนย์ลำปางมาบอกนักศึกษาว่าฝากบอกนิติราษฎร์ว่ามาลำปางเมื่อไหร่จะไปยิง เขากล่าวต่อไปด้วยว่าตัวเขาไม่มีมวลชน เพียงแค่ทำหน้าที่สอนหนังสือและแสดงความคิดต่อสังคม และเป็นเรื่องที่สังคมรับฟังแล้วก็ควรพิจารณาไตร่ตรอง และที่ผ่านมาเขาก็ทำกิจกรรมทางวิชาการโดยบริสุทธิ์ใจไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นก็จะดำเนินการแจ้งความและให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีไปตามกระบวนการ สำหรับอาการบาดเจ็บนั้น นายวรเจตน์ระบุว่า มีอาการบวม ฟกช้ำ และมีอาการปวดหู แต่ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ และมีเลือดกำเดาไหล มีแผลในจมูกเล็กน้อย “สิ่งที่ผมทำ ผมทำในกรอบของวิชาการและเป็นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ เราคงปล่อยให้เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งชีวิตเราไม่ได้ ผมจะทำต่อไป เพราะผมทำในกรอบของกฎหมายทุกอย่าง อยู่ในกรอบของหลักการที่ถูกต้อง และผมก็ทำเท่าที่เวลาอำนวย ผมมีงานที่ต้องตรวจข้อสอบ สอนหนังสือ แต่เมื่อมีความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็ทำ” วรเจตน์กล่าวตอบผู้สื่อข่าวว่ากังวลถึงการตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากผู้สนับสนุนนิติราษฎร์หรือไม่ว่า “ผมคิดว่าคนที่สนับสนุนผมอย่างน้อยก็ต้องมีสติมีเหตุมีผล คงไม่ปล่อยให้เรื่องขัดแย้งบานปลายไป ที่น่าเศร้าคือผมเปิดใจพูด แต่หลายคนปิดหูไม่ฟัง และเกิดความไม่เข้าใจแบบนี้ คนที่ทำร้ายผม ไม่รู้จักผม ไม่รู้จักอุปนิสัยกันมาก่อนแต่สามารถทำร้ายกันได้ ผมคิดว่ามันต้องมีเรื่องผิดปกติแน่ๆ ในการสื่อสารและเรียนสื่อมวลชนว่าหลายเรื่องเป็นประเด็นละเอียดอ่อนและขอให้นำเสนอเป็นหลักเป็นการ" นครบาลระบุจับคนร้ายได้แน่ -จัดกำลังดูแล สำหรับฐานความผิดคือ ข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ด้าน นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดี มธ. กล่าวถึงการรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยว่า ที่ผ่านมาอธิการบดีก็มีการกำชับให้รักษาความปลอดภัยให้แน่นหนามากขึ้น จากเดิมที่ปล่อยให้ใครต่อใครเข้ามาในมหาวิทยาลัยได้อย่างเสรี โดยระบุว่า ที่ผ่านมามติของสภามหาวิทยาลัยไม่ได้ห้ามนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ทำกิจกรรมทางวิชาการ แต่ก็พบว่า เป็นเรื่องยากในการดูแลความปลอดภัยเมื่อมีการทำกิจกรรมเพราะ รปภ. ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ค้านแนวคิดยุบศาลปกครอง-ศาลรัฐธรรมนูญ Posted: 29 Feb 2012 03:05 AM PST สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนระบุแนวคิดยุบศาลปกครอง-ศาลรัฐธรรมนูญ โดยนักการเมืองล้าหลัง คาดน่าจะมีเป้าหมายทำลายกระบวนการยุติธรรม-ระบบนิติรัฐ พร้อมเชิญชวนประชาชนออกมาแสดงพลังขับไล่ วันนี้ (29 ก.พ.55) สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านแนวคิดยุบศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ระบุคัดค้าน กรณีมีนักการเมืองเสนอการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ยุบศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญไว้เป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา โดยให้ความเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ล้าหลัง และน่าจะมีเป้าหมายทำลายกระบวนการยุติธรรมหรือระบบนิติรัฐ “นักการเมืองที่เสนอยุบศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ จึงน่าจะมิใช่นักการเมืองตามความหมายในทางรัฐศาสตร์ หรือนักการเมืองในอุตมรัฐของสังคม แต่น่าที่จะเป็นนักกินเมืองที่ชอบที่จะหาหนทางที่จะไซฟ่อนหรือบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรมให้อ่อนแอ เพราะตนและพวกไม่สามารถครอบงำได้ เพื่อที่ตนและพวกพ้องจะได้ใช้โอกาสนี้ในการเข้าไปแทรกแซง ครอบงำระบบของสังคม เพื่อหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ หรือคอรัปชั่นทางอำนาจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนและพวกพ้อง ผ่านโครงการหรือกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ บนคราบน้ำตาประชาชน” แถลงการณ์ระบุ นอกจากนั้น สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยังเชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศออกมาแสดงพลังขับไล่นักการเมืองและพรรคการเมืองที่เสนอแนวคิดดังกล่าว โดยไม่เลือกบุคคลและพรรคการเมืองที่มีแนวคิดหรือสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นนักการเมืองที่มุ่งทำลายหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิเสรีภาพทางศาลและองค์กรอิสระที่เป็นระบบคุ้มครองสิทธิของประชาชน ทั้งนี้แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สัมภาษณ์ ภรรยาฐานุทัศน์ : การดิ้นรนอันโดดเดี่ยว Posted: 29 Feb 2012 01:51 AM PST สัมภาษณ์ภรรยาของ “ฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง” หรือ ลุงคิม เหยี่อกระสุนรายล่าสุดซึ่งโดนยิงที่ย่านบ่อนไก่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อสองปีที่แล้ว ก่อนจะมีการฌาปนกิจศพของเขาในเย็นวันนี้ ใต้รายชื่อผู้เสียชีวิต 15 คน * ย่านบ่อนไก่ ถนนพระราม 4 ในระหว่างวันที่ 13-16 พ.ค.53 มาถึงวันนี้ต้องเพิ่มรายที่ 16 คือ ฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง วัย 55 ปี หรือที่ใครๆ เรียก “ลุงคิม” เข้าไปอีกคน หลังจากถูกยิง เป็นอัมพาตครึ่งตัวอยู่นาน เกือบสองปี ฐานุทัศน์ มีความรู้สึกเพียงช่วงอกขึ้นไปถึงศรีษะ เนื่องจากถูกยิงเมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 เวลาก่อนเที่ยง เมื่อเขาออกจากบ้านไปอยู่ริมถนนเตรียมเดินทางไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และพาครอบครัวไปทานอาหารในห้างสรรพสินค้า ช่วงหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ เขานอนอยู่บนเตียงตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีภรรยาดูแลอยู่ไม่ห่าง หลายคนพยายามถามถึงแนวคิดทางการเมืองเบื้องหลัง เขาได้แต่ตอบว่า เป็นคนทำมาหากิน ติดตามข่าวสารจากสื่อเท่านั้น และพื้นฐานในครอบครัวดั้งเดิมก็ชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์ ฐานุทัศน์เล่าว่าในวันเกิดเหตุ สถานการณ์ยังไม่รุนแรง ยังมีคนขายของกันอยู่ตามฟุตบาทเหมือนปกติ แม้คนจะบางตาลง แล้วจู่ๆ ก็มีเสียงปืน ทุกคนวิ่งหลบ แต่เขาซึ่งเพิ่งผ่าตัดมะเร็ง วิ่งได้ไม่เร็วจึงถูกยิงเข้า 2 นัด นัดหนึ่งวิ่งไปที่ปอด ได้รับการผ่าตัดออก ส่วนอีกนัดหนึ่งตกค้างอยู่ที่สะบักขวา และไม่ได้รับการผ่าตัดออกเนื่องจากอยู่ในจุดที่อันตราย กระสุนนัดนี้ยังคงอยู่จนวาระสุดท้ายและมันกำลังจะถูกนำออกมาเป็นหลักฐานสำคัญ ก่อนจะมีการฌาปนกิจศพของเขาในวันนี้ ( 29 ก.พ.) ที่วัดลำโพง เวลา 17.00 น. ฐานุทัศน์และครอบครัวอันประกอบด้วยภรรยา บุตรชาย บุตรสาววัยเรียน อาศัยอยู่ในแฟลตเล็กๆ ในชุมนุมบ่อนไก่ ฐานุทัศน์เป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว โดยมีอาชีพขายส่งอาหาร ของขบเคี้ยวเล็กๆ น้อยๆ จำพวกถั่ว ปลากรอบ และอื่นๆ ขณะที่ภรรยาก็หารายได้เสริมด้วยการขายของจำพวกขนมจีบ หลังฐานุทัศน์ถูกยิง ภรรยาต้องคอยดูแลเขาตลอดเวลา ไม่มีคนหารายได้เลี้ยงครอบครัว และที่แย่ยิ่งกว่านั้น พวกเขายังประสบความยากลำบากในการรับการรักษาเพราะไม่มีเงิน ที่ผ่านมาก็แทบไม่มีความช่วยเหลือใด ส่วนการเรียกร้องค่าชดเชยต่างๆ ที่รัฐจัดให้เบื้องต้นก็ต้องดำเนินการหลายครั้งหลายหนด้วยความอดทน อย่างไรก็ตาม เขายังคงมีกำลังใจที่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส และมีความหวังว่าสักวันหนึ่งจะต้องหาย แม้หมอที่รักษาจะบอกว่ามีโอกาสไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นสิบเปอร์เซ็นต์ที่เขามั่นใจว่าต้องสำเร็จ อย่างน้อยก็ขอให้ลุกเดินได้ ... เขายิ้มและบอกกล่าวความมั่นใจนี้กับผู้ไปเยี่ยมเยียนเสมอมา แต่สถานการณ์กลับเป็นไปตรงกันข้าม เดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังนอนบนเตียงอยู่ปีกว่า ฐานุทัศน์เริ่มมีอาการปวดคอและไหล่ แขนชาไร้เรี่ยวแรง จนภรรยาของเขาต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่หมอก็เพียงให้ยาแล้วกลับบ้าน แต่อาการของเขาไม่ดีขึ้น วรานิษฐ์ อัศวสิริมั่นคง ภรรยาของฐานุทัศน์ บอกว่า เธอพยายามจะส่งตัวฐานุทัศน์ไปอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาล แต่ยังไม่ทันไรก็มักจะถูกส่งกลับ และสามีของเธอก็บ่นน้อยใจทุกครั้ง เธอขอร้องอย่างไรโรงพยาบาลก็ไม่รับแอดมิด กระทั่งสุดท้ายต้องยอมคิดแผนการ โดยให้สามีดื่มน้ำน้อยๆ ไม่ห่มผ้าให้ เพื่อให้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบกำเริบ และจับไข้ ซึ่งแผนของเธอประสบความสำเร็จ “พี่ก็ไม่รู้ว่าเป็นภรรยาที่ไม่ดีรึเปล่า แต่พี่อยากให้เขาอยู่ในความดูแลของหมอ” แต่ทุกอย่างดูล่าช้าเกินไปหรือไม่เช่นนั้นสังขารของเขาก็เสื่อมสภาพเกินกว่าจะฟื้นตัวไหว อาการของเขาค่อยๆ แย่ลง จนกระทั่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่สามารถพูดได้ และไม่รู้สึกตัวในที่สุด “วันสุดท้ายที่เจอ น้องครีม (ลูกสาว) ไปเยี่ยมพ่อ กราฟตัวใจที่มันเต้นอยู่ต่ำๆ วิ่งขึ้นสูงเลย น้องครีมร้องไห้ แล้วน้ำตาแกก็ไหล ลูกยังตกใจว่าพ่อรับรู้ด้วยหรือ แต่พอลูกกลับการเต้นของหัวใจก็ต่ำลง” เขาอยู่ในห้องไอซียูอยู่นานหลายเดือน โดยมีภรรยาที่คอยมาดูแล ทำกายภาพบำบัดให้อย่างอดทน จนในที่สุดเมื่อฐานุทัศน์อาการไม่ดีขึ้น สถานการณ์การเงิน และสถานการณ์ของแม่ผู้ต้องการสถาปนาความเข้มแข็งเพื่อเป็นหลักให้ลูกๆ ได้ทำให้เธอตัดสินใจหางานทำและทิ้งสามีไว้เบื้องหลัง เมื่อได้งานทำกับเพื่อนมิตรคนเสื้อแดงด้วยกัน เธอสามารถมาดูแลสามีได้ แต่เพียงสัปดาห์ละ 2 วัน แล้ว “ลุงคิม” ของใครหลายๆ คนก็จากไปเงียบๆ ท่ามกลางสายระโยงระยางในห้องไอซียู ในกลางดึกของคืนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 ต่อไปนี้เป็นคลิปสัมภาษณ์ภรรยาของฐานุทัศน์ ในวันแรกที่มีการตั้งศพที่วัดหัวลำโพง ซึ่งมีเพียงญาติไม่กี่คน และเพื่อนคนเสื้อแดงอีกเล็กน้อยที่คอยอยู่เป็นเพื่อน ช่วยเหลือสิ่งต่างๆ เราพูดคุยกันถึงช่วงที่ชีวิตในรอบเกือบสองปีที่ผ่านมาของผู้หญิงคนนี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รายงานพิเศษ: ซ้อมทรมาน: อาชญากรรมที่กฎหมายยังเอื้อมไม่ถึง Posted: 29 Feb 2012 01:31 AM PST รายงานพิเศษจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ศาลเตรียมไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐกรณีซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย แต่ก็ต้องยกเลิกการไต่สวนเพราะเจ้าหน้าที่ตัดสินใจปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยก่อนวันนัดศาล ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องตอบคำถามใดๆ ในเรื่องการซ้อมผู้ต้องสงสัยกับศาลไปด้วย ห้องพิจารณาคดีเล็กๆ ที่ศาลนราธิวาสเช้าวันที่ 24 ก.พ. 2555 อัดแน่นไปด้วยผู้คนที่ไปสังเกตการณ์การดำเนินคดี เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีนัดหมายไต่สวนข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่เรื่องซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย และคดีของซุลกิพลี ซิกะจากรือเสาะเป็นหนึ่งในไม่กี่คดีที่ญาติผู้ตกเป็นเหยื่อเอาชนะความกลัวพอที่จะลุกขึ้นมาเป็นคู่กรณีกับเจ้าหน้าที่ทหารในชั้นศาลได้ นี่เป็นโอกาสที่สาธารณชนจะได้เห็นการสอบสวนเพื่อเอาผิดและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจโดยมิชอบ อันเป็นความหวังที่สะสมเรื่อยมาตลอดหลายปีที่เกิดเหตุรุนแรงแต่ยังไม่เคยปรากฏว่าเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ การไต่สวนควรจะเริ่มขึ้นสิบโมงเช้า แต่กว่าที่ซุลกิพลีจะพาเรือนร่างผอมบางสะโอดสะองไปปรากฏตัวในชุดโสร่งและเสื้อยืด เวลาก็เนิ่นช้าไปจนเกือบสิบเอ็ดโมง หลังจากที่รอคอยด้วยความมึนงงกันไปพักใหญ่ ผู้สังเกตการณ์ทั้งหลายก็เริ่มเข้าใจได้ว่า สาเหตุของความล่าช้าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ได้ “ปล่อย” ตัวซุลกิพลีไปแล้วก่อนหน้านั้นทั้งๆ ที่ตามคำสั่งศาลคือให้นำตัวไปให้ปากคำพร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัว แม้ว่าถึงที่สุดศาลจะสั่งให้ไปตามตัวมาศาลจนได้ ทว่านายซุลกิพลีก็ไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ถูกควบคุมตัวอีกต่อไป เรียกได้ว่าเป็นการหักมุมที่เจือไปด้วยข่าวดีและข่าวร้ายทำให้คนที่เกี่ยวข้องปรับอารมณ์ได้ยากเย็น เพราะขณะที่ญาติยินดีอย่างท่วมท้นและทีมงานทนายความล้วนโล่งอก แต่สำหรับนักรณรงค์เรื่องสิทธิแล้ว กลายเป็นว่าพวกเขาวิ่งชนกำแพงอีกครั้งกับความพยายามผลักดันให้เกิดความโปร่งใสในการใช้อำนาจรัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันที่จริงกรณีแบบซุลกิพลีไม่ใช่เรื่องใหม่ ความพยายามฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ฐานซ้อมทรมานนักศึกษายะลาสองรายอันเป็นเรื่องที่เกิดตั้งแต่ปี 2551 ก็ลงเอยคล้ายกัน หลังจากที่ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลและศาลนัดให้ไต่สวนคำร้องเมื่อ 5 กพ. 2551 ไม่ทันที่จะมีการไต่สวน เจ้าหน้าที่ก็ได้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวเสียก่อนในยามดึกของคืนก่อนหน้าวันนัดในศาลนั่นเอง และนั่นทำให้ศาลยกเลิกการไต่สวนเพราะถือว่าไม่ได้ถูกควบคุมตัวอีกต่อไป (ประชาไท: ศาลนัดครั้งแรกคดีนศ.ยะลาฟ้องกองทัพ “ซ้อมทรมาน”, 2011-10-25) คนจะได้รับการปล่อยตัว แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องตอบคำถามใดๆในเรื่องการซ้อมผู้ต้องสงสัยไปด้วย หนนี้ก็เช่นกัน การปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการนัดไต่สวนในชั้นศาล เพียงแต่ว่าหนนี้การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อศาลทำให้ไม่อาจดำเนินการตามกระบวนการของตนเองได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากในปัจจุบันศาลยึดหลักปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาที่กำหนดให้การปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวต้องกระทำที่ศาลที่เป็นผู้ออกหมายให้จับ (คำแนะนำประธานศาลฏีกา นายสบโชค สุขารมณ์ ประกาศเมื่อมีนาคม 2554 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/A/030/44.PDF) แน่นอนในกรณีนี้คนที่อึดอัดใจมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นผู้พิพากษา ในหนนี้ผู้พิพากษา นายดารัชพงษ์ เขื่อนทอง ได้ออกคำสั่งให้สองหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมตัวนายซุลกิพลี คือศูนย์พิทักษ์สันติและหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 ต้องทำหนังสือชี้แจงศาล โดยเฉพาะสำหรับฉก.30 นอกเหนือจากต้องชี้แจงต่อศาลแล้วยังต้องชี้แจงการกระทำของตนเองต่อแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วย ส่วนการไต่สวนเรื่องการควบคุมตัวโดยมิชอบเพราะมีการซ้อมเป็นอันยกเลิกไปตามเหตุผลที่ศาลระบุว่า เพราะ “ไม่มีเหตุจำเป็นให้ต้องไต่สวนอีก” แต่ความน่าอึดอัดใจจากกรณีนี้ยังไม่จบลงแต่เพียงเท่านี้ แม้ว่าจะได้รับการปล่อยตัว แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ซุลกิพลีเพียงแต่เดินออกจากค่ายอิงคยุทธบริหารที่ปัตตานีเพื่อไปเข้ารับ “การอบรม” ที่ศูนย์สันติสุขของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในหรือกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่อยู่ใกล้เคียงกับค่าย ศูนย์สันติสุขแห่งนี้ให้การอบรมเพื่อไปเผยแพร่ศาสนาดังเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ศูนย์ดาวะห์” สิ่งที่น่าจะสร้างความอึดอัดใจให้กับศาลก็คือเรื่องการรับตัวนายซุลกิพลีซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าเป็นการเข้าร่วมโดยสมัครใจอย่างแท้จริงหรือไม่ แม้เจ้าหน้าที่จะยืนยันว่าได้อ่านเอกสารให้เจ้าตัวฟังแล้วก็ตาม และที่สำคัญคือหนังสือรับตัวระบุเพียงว่า การอบรมนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. เป็นต้นไป โดยไม่ระบุระยะเวลาอบรม จึงทำให้อาจตีความได้ว่า “การอบรม” ดังกล่าวนั้นจะยาวนานแค่ไหนก็ได้ จุดนี้ยิ่งเพิ่มความไม่โปร่งใสให้กับกระบวนการทั้งยวงหนักขึ้นไปอีก แน่นอนว่าในที่สุดแล้วศาลต้องสั่งให้ปล่อยตัวไม่ต้องไปเข้าค่ายอีก สำหรับซุลกิพลี การ “ปล่อย” หนที่สองนี้ต่างหากคือการปล่อยจริง
เส้นทางสู่สนามซ้อม ซุลกิพลีนั้นถูกทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 นราธิวาส จับตัวไปตั้งแต่วันที่ 10 กพ. เป็นการควบคุมตัวโดยใช้อำนาจตามพรบ.กฎอัยการศึกซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีหมาย อีกทั้งไม่ต้องมีข้อกล่าวหาแต่อย่างใด กฎอัยการศึกให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้เต็มที่เจ็ดวัน ซุลกิพลีถูกควบคุมตัวหกวันก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายอีกฉบับเพื่อยืดเวลาการควบคุมตัวเขาต่อ นั่นคืออำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 แต่การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องมีหมายศาลและสามารถควบคุมตัวได้ทีละเจ็ดวัน การขอขยายเวลาทำได้เต็มที่สามสิบวัน ในการจับตัวผู้ต้องสงสัยรายนี้ ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 นราธิวาสได้ไปปิดล้อมบ้านซุลกิพลีที่ อ.รือเสาะเพื่อจับตัวเขาไป “สอบปากคำ” ที่ค่าย หลังจากอยู่ที่ค่ายของ ฉก. 30 ได้ไม่กี่ชั่วโมงเจ้าหน้าที่ก็ย้ายซุลกิพลีไปยังค่ายทหารพรานที่ 46 หรือค่าย “เขาตันหยง” หนึ่งในสองค่ายทหารพรานที่เป็นสถานที่กักตัวผู้ต้องสงสัยเพื่อสอบปากคำ ญาติกล่าวว่าในระหว่างนั้นพวกเขาต้องใช้ความพยายามเพื่อตามหาตัวซุลกิพลีจ้าละหวั่นเนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลอย่างชัดแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าได้ส่งตัวไปกักไว้ที่ไหน จากค่ายเขาตันหยงเขาถูกนำตัวไปเข้าค่ายอิงคยุทธบริหารที่ปัตตานีซึ่งเป็นช่วงที่ถูกควบคุมตัวตามอำนาจใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในทางกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ไปขอหมายศาลที่นราธิวาสเพื่อเอาตัวไว้สอบปากคำต่อ ดังนั้นผู้รับผิดชอบในการกักตัวช่วงนี้จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สันติ ของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในทางการปฏิบัติคนที่กักตัวและสอบถามซุลกิพลีกลายเป็นทหารในค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี ค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น ก่อนหน้านี้เคยมีศูนย์ซักถามผู้ต้องสงสัยทว่าถูกยุบไปเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ผลจากการเปิดเผยหนนี้จึงเท่ากับว่า การซักถามและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยเจ้าหน้าที่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหารนั้นยังคงมีอยู่ ขั้นตอนแบบนี้มักจะทำให้ยากที่ญาติหรือผู้ถูกควบคุมตัวโต้แย้งหรือแสดงสิทธิอันใดได้ เพราะนอกจากช่องทางตามกฎหมายแทบจะไม่เปิดให้แล้วพวกเขายังยากจะตามทันเส้นทาง เพราะหากไม่ศึกษาให้ดีอาจยากที่จะเข้าใจได้ว่าใครทำอะไรภายใต้ระเบียบกติกาอันใด ผลก็คือ การดูแลสิทธิเบื้องต้นของตัวเองอันเป็นเรื่องที่ชาวบ้านพึงกระทำได้จึงมักจะกลายไปเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญอย่างนักกฎหมายให้เข้ามาช่วยในแทบทุกขั้นตอน ในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่นั้น ญาติๆ เชื่อว่าซุลกิพลีถูกซ้อมอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงเจ็ดวันแรกที่เป็นการควบคุมตัวภายใต้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่ต้องเจอรายการสหบาทาทั้งวันและคืน ที่สำคัญซุลกิพพลีและญาติบอกว่า แม้แต่ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเขาก็ยังถูก “สอบปากคำ” ด้วยวิธีพิเศษและในระดับความเข้มข้นที่ไม่น้อยหน้ากับที่ค่ายเขาตันหยง แม้ว่าอาจจะแตกต่างกันบ้างในแง่ความ “หยาบ” ของรูปแบบ แต่ก็เห็นได้ชัดว่า หากจริง วิธีการที่พวกเขาเล่ามาแต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่เข้าข่ายการทรมานทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการใช้เข็มทิ่มแทงตามซอกเล็บ การให้แก้ผ้าแล้วกระโดดขึ้นลงนานนับชั่วโมง การกระตุกอวัยะเพศ การคลุมถุงให้หายใจไม่ออกจนถึงกับหมดสติ เป็นต้น
ทหารยืนยันไม่มีซ้อม หลังจากมีข่าวออกไปทางสื่อมวลชนหลายรายเรื่องการไต่สวนคดีทหารซ้อมผู้ต้องสงสัยนายซุลกิพลี ซิกะ กองทัพภาคที่ 4 ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเมื่อ 28 กพ. ยืนยันว่าตลอดการจับกุมและสอบปากคำนั้นไม่มีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยรายนี้แต่อย่างใด คำแถลงที่ส่งให้สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 28 กพ.นั้นอ้างพันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ จากกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้าระบุว่า หลังจากที่มีข่าวออกมาว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมผู้ต้องสงสัย กองทัพภาคที่สี่ก็ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงขั้นต้นแล้วพบว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนนับตั้งแต่หน่วยเฉพาะกิจที่ 30 ที่เป็นผู้ไปจับกุมตัว และเจ้าหน้าที่ที่ค่ายทหารพรานที่ 46 รวมทั้งที่ค่ายอิงคยุทธบริหารที่ทำหน้าที่สอบปากคำไม่ได้ทำร้ายร่างกายหรือซ้อมนายซุลกิพลี ทั้งไม่มีการพันธนาการใดๆ แม้ว่าอาจจะมีรอยถลอกปรากฏบนร่างกายบ้างแต่ก็เป็นเพราะนายซุลกิพลีต่อต้านขัดขืนการจับกุม เช่นอาจมีร่องรอยเล็กน้อยที่เหนือหลังเอวและแถวเข่าซึ่งกำลังตกสะเก็ด การชี้แจงของกองทัพภาค 4 ยังพยายามชี้ให้เห็นถึงเจตนาและอาการที่ส่อเค้ามีพิรุธสูงว่า นายซุลกิพลีแสดงอาการขัดขืนหลายอย่างแต่แรก มีควาพยายามหลบเลี่ยงการจับกุม ด้วยการใช้บัตรประจำตัวของน้องชายแสดงตนแทน พยายามดึงซิมการ์ดโทรศัพท์ทิ้ง อย่างไรก็ตามต่อมาในระหว่างถูกสอบได้รับสารภาพว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายจริง โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เก็บรักษาอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งเมื่อจนท.ให้พาไปตรวจสอบก็พบว่าถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว หน้งสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่ากองทัพภาค 4 ได้ตั้งกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริง และพร้อมจะร่วมมือกับกลุ่มองค์กรภาคประชาชนในการเข้าตรวจสอบเรื่องนี้ หากพบว่ามีการทำร้ายจริงจะมีการลงโทษตามกฎหมาย การตั้งกรรมกรสอบข้อเท็จจริงนับได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของกองทัพภาคที่ 4 ที่จะสะสางตัวเอง แต่คู่กรณีจะยอมรับการตรวจสอบเช่นนี้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เล่นเกมแมวไล่จับหนู กับคำพิพากษาของศาลนราธิวาสในวันนั้น สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมกลับไม่ได้มีท่าทีดีใจมากนัก สิทธิพงษ์ระบุว่า ข้อดีของเหตุการณ์ในวันนั้นคือทำให้ศาลได้เห็นภาพของการใช้เทคนิคเลี่ยงกฎกติกาของเจ้าหน้าที่ เขาเชื่อว่าหากผู้พิพากษาได้เห็นและรับรู้สิ่งเหล่านี้ ความรับรู้นั้นอาจจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้บรรดาบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่มากขึ้นอย่างที่นักกฎหมายในพื้นที่นี้พยายามผลักดันเนืองๆ แต่สิ่งที่สิทธิพงษ์ถือว่าเป็นข้อเสียก็คือ ผลจากที่คดีจบลงเช่นนี้ทำให้หมดโอกาสที่หายากไปอีกครั้งในอันที่จะไต่สวนการซ้อมทรมาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลพบว่า ในการควบคุมตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งศาลเป็นผู้ออกหมายให้ไปจับกุมตัวมานั้น ไม่ปรากฏว่ามีการซ้อมทรมาน หรืออย่างน้อยไม่มีการซ้อมทรมานแบบที่ฝากร่องรอยให้พิสูจน์ได้ให้เห็น ศาลจึงไม่ไต่สวน ส่วนข้อกล่าวหาว่ามีการทำร้ายร่างกายในช่วงระยะเวลาที่ควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกนั้น ศาลแจ้งให้คู่ความฟังอย่างชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปก้าวก่ายเนื่องจากถือว่าเป็นอำนาจภายใต้ “กฎอัยการศึก” ของทหาร และหากญาติและผู้ถูกควบคุมตัวยังติดใจเรื่องนี้ก็ต้องไปหาหนทางอื่นต่อสู้กันเอาเอง ในขณะที่บรรดาทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิมซึ่งเป็นนักกฎหมายกลุ่มหลักที่รับทำคดีความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า จากการร้องเรียนของประชาชนและลูกความ ในระยะหลังการซ้อมทรมานอย่างหนักมักจะเกิดขึ้นในช่วงระยะต้นของการควบคุมตัว นั่นคือในช่วงที่อยู่ภายใต้อำนาจตามกฎอัยการศึก ความเห็นของศาลที่ว่าศาลจะไม่ก้าวก่ายการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินไปภายใต้กฎอัยการศึกจึงเท่ากับเป็นการปิดประตูที่จะนำไปสู่การตรวจสอบการทำงานของทหาร โดยเฉพาะในระยะเวลาของการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในช่วง “เจ็ดวันอันตราย” “ในความเห็นส่วนตัวของผม แม้จะเป็นการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ก็ต้องกระทำโดยชอบ หากกระทำโดยมิชอบก็ต้องตรวจสอบได้ เพราะกฎอัยการศึกก็ถือว่าเป็นกฎหมายเหมือนกัน” กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ทนายความตัวแทนซุลกิพลีกล่าว ในทางความเป็นจริง ใช่ว่าการซ้อมทรมานจะหยุดอยู่ที่เจ็ดวันแรกเท่านั้น จะว่าไปแล้วการซ้อมเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการควบคุมตัว ผลการศึกษา “ความชอบด้วยกฎหมายของคดีความมั่นคงในภาคใต้ 100 คดี” ที่นำเสนอต่อสาธารณะไปเมื่อเดือนธันวาคม 2554 โดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมระบุชัดว่า จากการศึกษาคดีความมั่นคงที่ศาลตัดสินแล้วหนึ่งร้อยคดีแรกของพื้นที่ ปรากฏภาพชัดเจนว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยในทุกขั้นตอนของการควบคุมตัว ไม่ว่าจะในช่วงของการควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือแม้แต่ภายใต้กฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญาหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า ป.วิอาญา แม้ว่าโดยสัดส่วนแล้วจะพบว่าการซ้อมและข่มขู่ที่เกิดในช่วงการควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกจะมีสัดส่วนสูงกว่าช่วงอื่นกล่าวคือในหนึ่งร้อยคดี มีผู้ถูกทำร้ายและข่มขู่ถึง 33 คดี ในช่วงของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน16 คดีและในช่วงของการใช้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 23 คดี (มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม: ความชอบด้วยกฎหมายของคดีความมั่นคงในภาคใต้ 100 คดี, มกราคม 2554) ภาพจากการศึกษาทำให้ดูเหมือนว่า การซ้อมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในภาคใต้ไปแล้วเรียบร้อย วิธีการซ้อมทรมานที่หลากหลายมากขึ้นปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งออกสู่สายตานักอ่านเมื่อไม่นานมานี้คือ “รอยแผลบนดวงจันทร์” โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่นับว่าเป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวของเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนหนึ่งที่ถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกสอบปากคำ ประสบการณ์ของพวกเขาก็ไม่ต่างไปจากซุลกิพลีมากนัก นอกจากถูกตบ เตะ ต่อย ถูกจับห้อยหัว ถูกจับแช่ในถังน้ำร้อน คลุมถุงให้หายใจไม่ออก ให้อยู่ในที่หนาวเย็นโดยไม่ใส่เสื้อผ้า ลนเทียน ทำให้อับอาย หมดศักดิ์ศรีด้วยวิธีการอีกหลายแบบ ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อรีดคำรับสารภาพ และจนกว่าจะรับสารภาพพวกเขาจะโดนซ้อมจนกรอบ ยังมีอีกไม่ต่ำกว่า 36 กรณีที่ศูนย์ทนายความมุสลิมระบุว่าได้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปแล้วเพื่อให้ติดตาม เนื่องจากมีข้อมูลหลักฐานที่สามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ 36 กรณีหลังนี้ผู้เสียหายเป็นกลุ่มเยาวชนล้วนๆ แต่หากเทียบแล้ว นักกฎหมายหลายรายยังเชื่อว่า เรื่องราวที่ฟ้องร้องกันเป็นคดีได้นั้นมีน้อยมากเมื่อเทียบกับปัญหาการละเมิดที่เกิดขึ้น กรณีของซุลกิพลีเอง ในช่วงระยะเวลาของการควบคุมตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ยังมีการซ้อมทรมานแม้จะในรูปแบบที่ไม่ทิ้งร่องรอย นักกฎหมายกะเก็งกันว่า ช่วงเวลาของการควบคุมตัวช่วงนี้เป็นเวลาที่จะปล่อยให้ “เป้าหมาย” ฟื้นตัวจากการถูกซ้อมหนักด้วยการปล่อยให้แผลเลือนหายแต่หันไปเล่นวิธีจิตวิทยาหรือวิธีที่ทำแล้วไม่เกิดบาดแผลที่เห็นได้แทน “แต่การทำร้ายทางจิตใจก็ทิ้งบาดแผลไม่ต่างจากการทำร้ายทางร่างกาย” กมลศักดิ์ย้ำ “เพียงแต่กฎหมายของเราไม่เปิดช่องให้มีการเอาผิดสำหรับการทำร้ายในลักษณะแบบนี้” อันที่จริงแล้ว อย่าว่าแต่การทำร้ายทางด้านจิตใจ แม้แต่การทำร้ายทางร่างกายนักกฎหมายในกลุ่มนี้เองก็ยอมรับว่า ยากเย็นอย่างยิ่งอยู่แล้วที่จะหาทางเอาผิดผู้ลงมือ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมคือสิทธิพงษ์ชี้ว่า ตามหลักของกฎหมายอาญา การกล่าวโทษต้องมีผู้ถูกกล่าวหาอย่างชัดเจน หากเหยื่อไม่สามารถจดจำใบหน้าของผู้ลงมือซ้อมทรมานได้ก็ถือว่าหมดโอกาส และแน่นอนว่าในเวลาที่ถูกรุมทำร้ายนั้นคนโดนซ้อมส่วนใหญ่ไม่ได้มีพลังงานเหลือเฟือมานั่งจดจำหน้าคนลงมือเพราะแค่รับมือกับความเจ็บปวดก็ย่ำแย่แล้ว อย่าว่าแต่ในหลายกรณีพวกเขาอาจถูกคลุมถุงหรือถูกปิดตา และถึงแม้จะไม่โดนคลุมถุงหรือปิดตา แต่ในพื้นที่ที่อำนาจต่อรองของชาวบ้านมีต่ำนั้น แค่การไป “เยี่ยม”จากคนมีสีในหลายๆกรณีก็มีผลเพียงพอแล้วให้คนที่ยังรู้สึกอยากจะต่อสู้ต้องยอมรามือ บางรายที่ตกเป็นเหยื่ออาจจะได้รับเงินที่บอกไม่ได้ว่าเป็นค่าอะไรจากราชการ ประกอบกับเมื่อเวลาผ่านไป บาดแผลยิ่งลบเลือน ความกลัวผสานเข้ากับความยากจึงทำให้หลายคนต้องหันไปใช้ศาสนาเข้าข่ม บ้างก็พกพาความกลัวไว้กับตัวเองจนไม่อาจใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีเรื่องราวของคนที่ไม่กล้าแม้แต่จะออกจากบ้านไปทำงาน บางคนหลบหนีไปอยู่ที่อื่น และที่อาจคาดเดาได้คือผลของความแค้นเคืองที่คงทำให้หลายคนที่เจอประสบการณ์ตรงพร้อมจะเปิดใจรับคำชักชวนและหนทางการต่อสู้แบบอื่นก็เป็นได้ มาตรการในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากด้านของประชาชนฝากความหวังไว้กับความสามารถในการเก็บหลักฐาน หากญาติผู้ถูกซ้อมไหวตัวทันตามเก็บหลักฐานเช่นรูปถ่ายหรือมีแพทย์ตรวจร่างกายไว้จึงจะมีโอกาสบ้างในอันที่จะต่อสู้ ส่วนที่ชัดเจนคือกรณีที่ปฏิเสธไม่ได้เพราะคนโดนซ้อมจนตาย อย่างอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งศาลตัดสินว่าเสียชีวิตเพราะถูกซ้อมจนกระดูกซี่โครงหักทะลุปอดทำให้ปอดรั่ว แต่กระนั้นญาติก็ไม่อาจฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ลงมือได้เพราะศาลบอกปัดไม่รับพิจารณาเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาคือทหารทำให้เป็นเรื่องที่พ้นอำนาจของศาลพลเรือน ขณะที่การรอคอยให้มีการนำเรื่องราวขึ้นฟ้องร้องในศาลทหารโดยอัยการทหารก็กล่าวได้ว่าแทบจะมองไม่เห็นฝั่ง การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจึงกลายเป็นทางออกอันเดียวในเวลานี้ “เพราะว่ากฎหมายยอมให้เราฟ้องร้องหน่วยงานได้” สิทธิพงษ์อธิบาย จึงเห็นได้ว่าคดีซ้อมทรมานมักไปลงเอยที่การฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายแทน เช่นในกรณีอิหม่ามยะผา ผลของการที่ญาติฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การประนีประนอมยอมความจ่ายค่าชดเชยกันไป 5.2 ล้านบาทเมื่อ ก.ค. 2554 ก่อนหน้านั้นก็คือคดีซ้อมนศ.ยะลาที่มีการจ่ายเงินชดเชยกันไปแม้จะไม่มากนัก อีกคดีที่กำลังฟ้องร้องกันอยู่คือคดีนายรายู คอดอ ซึ่งถูกจับและถูกซ้อมในวาระเดียวกันกับอิหม่ามยะผา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดเหตุที่ยังเป็นเยาวชน ฟ้องหน่วยงานรัฐ นอกจากนั้นเราอาจได้เห็นกรณีญาติซุลกิพลีตามไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐเพิ่มเป็นรายล่าสุด ส่วนการริเริ่มพิสูจน์ความพร้อมรับผิดของเจ้าหน้าที่ดูจะยังไม่ปรากฏให้เห็นไม่มากนัก แม้ว่าบ่อยครั้งจะมีการให้คำมั่นต่อสาธารณะจากเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง เช่นหลังสุดคำสัญญาที่มาจากปากพลตรีอัคร ทิพย์โรจน์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่กล่าวไว้ในระหว่างร่วมวงเสวนาเรื่องปัญหาภาคใต้ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯเมื่อกลางเดือนมกราคมปีนี้เองว่า นโยบายของแม่ทัพภาคที่สี่ในปัจจุบันยืนยันว่าทหารจะไม่ใช้วิธีการอันทารุณละเมิดสิทธิมนุษยชน “หากปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือมีการดูหมิ่นเหยียดหยาม เจ้าหน้าที่คนนั้นต้องกลายมาเป็นจำเลยเสียเอง ด้วยประมวลกฎหมายอาญาฉบับเดียวกับที่ใช้ลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบกที่ไม่ต้องการให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเหยียดหยามในความแตกต่างกัน” (ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้: เมื่อนโยบายความมั่นคงเปิดทางเจรจา, 2012-01-21) แต่ถัดมาไม่นานก็มีคดีร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานตามมาติดๆกันถึงสองคดีคือคดีรายู คอดอและคดีของซุลกิพลี ซิก๊ะดังกล่าว สิ่งที่นักรณรงค์เรื่องสิทธิหลายกลุ่มต่างผลักดันกันอย่างหนักในเวลานี้ ก็คือการหาทาง “ป้องกัน”ด้วยเครื่องมือใหม่ เช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมาน อีกด้านหนึ่งเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จับมือกันเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขหรือไม่ก็ออกกฎหมายใหม่ที่มีบทบัญญัติกำหนดลักษณะความผิดรวมทั้งบทลงโทษอย่างชัดเจนโดยอาศัยหลักการที่ว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอันโหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี อันเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศของสหประชาชาติไว้ตั้งแต่ปี 2551 ไทยจึงมีภาระผูกพันในอันที่จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของกฎหมายภายในประเทศเพื่อขานรับพันธะอันนี้ ขณะที่การผลักดันในเรื่องกฎหมายกำลังคืบคลานไปข้างหน้าอย่างช้าๆ จำนวนคดีซ้อมทรมานมีเค้าจะผลุดโผล่ตามมาอีก แม้จะไม่มากเป็นดอกเห็ดแต่เมื่อเทียบกับความยากของการพิสูจน์ ความยากจากการเอาชนะความกลัวของเหยื่อ สิ่งที่กำลังปรากฏอาจจะกลายเป็นหลักฐานชี้จุดบอดใหญ่ในกระบวนการการทำงานของภาครัฐก็เป็นได้ แต่ถึงที่สุดแล้วหลายคนยังยอมรับว่า การป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมานนั้นไม่ได้อยู่ที่การมีกฎหมายบังคับใช้เท่านั้น ทว่าส่วนสำคัญยังอยู่ที่วิธีการทำงานของบุคลากรในองค์กร หากการซ้อมทรมานเป็นหนทางให้ได้มาซึ่งข้อมูลและคำรับสารภาพ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องปรับทัศนะใหม่ เพราะการใช้กำลังบังคับไม่ใช่หลักประกันว่าสิ่งที่ได้จะเป็นความจริง ในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น การคลี่คลายคดีควรจะต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ได้มาอย่างโปร่งใส ไม่เช่นนั้นผลที่ได้ก็รังแต่จะทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองและกระบวนการยุติธรรม และเพื่อจะให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้เจ้าหน้าที่ควรจะต้องมีกระบวนการทำงานอย่าง “มืออาชีพ” ยึดหลักการและเหตุผลเพื่อให้ผลที่ได้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งแน่นอนไม่น่าจะใช่อาการประเภท “เลี่ยงบาลี” อย่างที่เห็นในคดีซุลกิพลีเมื่อวันที่ 24 ก.พ. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
[อัพเดต] ด่วน วรเจตน์ถูกชายสองคนรุมทำร้าย ที่มธ. !!!!! Posted: 29 Feb 2012 01:16 AM PST
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 17.00น. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. เขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ขอประณามคนที่ทำร้าย อ.วรเจตน์" พร้อมให้ข้อมูลในสเตตัสเดียวกันว่า กล้องวงจรปิดจับภาพคนร้ายทั้งสองได้ และขณะนี้ได้ชื่อ-ที่อยู่คนร้ายคนแรกแล้ว ที่มธ. ท่าพระจันทร์ ขณะนี้ (ประมาณ 18.15น.) เต็มไปด้วยผู้สื่อข่าวที่มารอทำข่าวจำนวนมาก โดยมี ด้าน พ.ต.ท.เอกรัตน์ เปาอินทร์ รองผกก.ป.สน.ชนะสงคราม ให้ข่าวกับสื่อมวลชนโดยยืนยันว่า เบื้องต้นรู้ตัวคนร้ายแล้วหนึ่งคน โดยเป็นบุคคลธรรมดา เวลาประมาณ 18.30 วรเจตน์ เดินทางมาถึงคณะนิติศาสตร์เพื่อให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วรเจตน์มีรอยฟกช้ำบริเวณเบ้าตาขวา เสื้อมีรอยเลอะเนื่องจากล้มลงขณะถูกชก แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บมาก ทั้งนี้ มีรายงานว่าตำรวจได้ภาพคนร้ายที่ชัดเจน โดยหนึ่งในคนร้ายได้ประกาศตัวกับกล้องวงจรปิดด้วย ////////////////////// เมื่อเวลา 14.15น. ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ถูกชายนิรนาม 2 ราย ใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ เข้ามารุมต่อยได้รับบาดเจ็บ เบื้องต้น ทราบว่าจักรยานยนต์ที่คนร้ายใช้ เลขทะเบียน มธ 684 เหตุเกิดที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า เห็นคนร้ายยืนอยู่บริเวณร้านกาแฟนานแล้ว จึงเข้าใจว่ามาร่วมประชุมกับพวกตนเอง จนเมื่อตนเองเดินลงจากอาคารคณะนิติศาสตร์ มาคุยยืนกับวรเจตน์บริเวณลานจอดรถ ชายคนดังกล่าวเดินเข้ามาทางด้านหลัง โดยตนเข้าใจว่าจะเดินมาทักทายวรเจตน์ แต่เมื่อรู้ตัวอีกที ชายคนดังกล่าวก็ถึงตัวและเข้ามาทำร้ายวรเจตน์แล้ว โดยตนเองพยายามกันชายคนดังกล่าว แต่ก็ปรากฏว่ามีชายอีกคนเดินลงจากมอเตอร์ไซค์ในบริเวณใกล้ๆ กันมาทำร้ายด้วย ทั้งนี้ ขณะเข้ามาทำร้าย ชายคนดังกล่าวพูดขึ้นว่า มารอแต่เช้าแล้ว และเมื่อตนพูดว่าอะไรเนี่ย ชายคนดังกล่าวก็บอกเพียงว่า "ไปดูวิดีโอ[วงจรปิด]ก็รู้ว่ากูคือใคร" ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ชายคนดังกล่าวใส่เสื้อลายคล้ายลายสกอตต์ สูงประมาณ 170 กว่าซม. โดยขณะเดินเหตุ ได้พยายามตะโกนเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แต่ไม่มี จนท.ในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีนักศึกษาที่อยู่ใต้ถุนตึกได้ยิน จึงเดินมาดู ชายสองคนดังกล่าวจึงขึ้นมอเตอร์ไซค์หลบหนีไป โดยขณะนี้ (16.30น.) วรเจตน์มีอาการหน้าบวม และมีเลือดกำเดาไหล อยู่ระหว่างรอพบแพทย์ ที่โรงพยาบาลธนบุรี ส่วนที่ มธ. ท่าพระจันทร์ ขณะนี้ (16.40 น.) มีผู้สื่อข่าวจำนวนมาก และตร. 1 นาย สอบถามข้อมูลจากนักการภารโรง บริเวณสวนคณะนิติศาสตร์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทย ประนามการกระทำที่เกิดขึ้นกับวรเจตน์ พร้อมแสดงความเสียใจ และยืนยันว่า มธ.จะต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดให้มีการแสดงความเห็นทางวิชาการ รายละเอียดจะรายงานให้ทราบต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ไทยแท้" Posted: 29 Feb 2012 12:07 AM PST | |
ประชาไทบันเทิง: ฮูอากง เมื่อหนังตลกไม่ใช่แค่หนังตลก Posted: 28 Feb 2012 11:12 PM PST หมายเหตุ: บทความนี้ เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง
ก่อนอื่นต้องออกตัวว่าเพิ่งมีโอกาสดูหนังเรื่องนี้เมื่อคืน ผมไม่ทราบว่าหนังเรื่องนี้เข้าโรงมานานขนาดไหน หรือมีใครเขียนบทวิจารณ์หนังไปบ้างหรือยัง ซึ่งถ้าบทวิจารณ์ที่จะเขียนต่อไปนี้ไปพ้องกับใครก่อนหน้านี้แล้ว ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยเพราะไม่มีเจตนาลอกเลียนแบบความคิดใคร แต่ผมยังไม่ได้เช็คบทวิจารณ์หนังของท่านอื่นๆ ฮูอากง เป็นหนังสั้นสี่เรื่องในชุดหนังชื่อ 4 หลุด กำกับภาพยนตร์โดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับหนุ่มหน้าใหม่มากความสามารถ ซึ่งเคยกำกับหนังหลายเรื่องที่ไม่ดังเพียงแค่ในไทยเท่านั้นแต่ซีดีหนังของเขายังขายได้ในต่างประเทศ อย่างเช่น 13 เกมส์สยอง หรือ รักแห่งสยาม เรื่องฮูอากง เมื่อดูจากต้นจนจบแล้ว เผินๆ อาจเหมือนหนังผีหลอกสยองขวัญธรรมดาแล้วหักมุมกลายเป็นหนังตลกตอนหลัง ด้วยมีพล็อตเรื่องแค่ครอบครัวจีนไทยครอบครัวหนึ่งอากงตายและก่อนตายสั่งเสียลูกหลานว่าอย่าเผาศพตัวเอง แต่ไม่ทันที่อากงอธิบายเหตุผล อากงก็ตายไปก่อน ลูกหลานเลยต้องผจญกับความเฮี้ยนของอากง แน่นอนล่ะ ไม่มีใครบัญญัติไว้ว่าผู้กำกับห้ามมีทัศนคติทางการเมือง หรือห้ามใส่ข้อคิดเห็นทางการเมืองเข้าไปในหนังของตนเอง แต่การแทรกประเด็นหนังให้แนบเนียนโดยไม่ทำให้อรรถรสของหนัง หรือผู้ชมรู้สึกกระอักกระอ่วนนั้น ก็ต้องอาศัยศิลปะของผู้กำกับเช่นกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่วัฒนธรรมการบอยคอตสินค้าฝั่งตรงข้ามเป็นที่นิยมแล้ว ความสามารถในการสอดแทรกยิ่งสำคัญใหญ่ นอกจากนี้การซ่อนประเด็นทางการเมืองสร้างความสนุกให้ผู้ชมในการนั่งถอดรหัสในหนังที่แอบไว้ได้ด้วย สำหรับหนังเรื่องนี้แล้วนอกจากเป็นหนังตลก ถ้าผมบอกว่ามันเป็นหนังการเมืองสนับสนุนประชาธิปไตยและควรได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่องสร้างหนังปรองดองก็คงไม่เกินไป เริ่มต้นด้วยชื่อเรื่อง ฮูอากง ทำไมถึงชื่อ ฮูอากง นอกจากฮูเป็นตัวแทนของชื่ออากงในเรื่องคือ “อาฮู” แล้ว มันยังพ้องเสียง « Who » หรือใครในภาษาอังกฤษ ชื่อเรื่องจึงเป็นการตั้งคำถามแก่ผู้ชมแล้วว่า ใครคืออากง ซึ่งในเรื่อง อากงเป็นคนไทยเชื้อสายจีนทำมาค้าขายเมืองไทย สร้างความมั่งคั่งให้ลูกหลาน มีกงสีเป็นของตนเอง และแล้วอากงก็ถึงสังขารตายไป ซึ่งชายไทยมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 72 ปี อายุของอากงเมื่อเปรียบเทียบกับอายุของประชาธิปไตยของไทย 80 ปีแล้ว ประเด็นที่ซ่อนอยู่ในหนังก็ค่อยๆ คลายออกมา ผมขอเกริ่นไว้ก่อนว่า อากงในเรื่องไม่ใช่ชายแก่ธรรมดา แต่สามารถแทนด้วยสามสิ่งคือ “ประชาธิปไตย” “นักการเมือง” และ “ผีทักษิณ” แน่นอนล่ะว่าสามสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และบางครั้งเป็นปฏิปักษ์กัน แต่ทำไมถึงถูกแทนที่จากอากงได้ซึ่งผมจะอธิบายต่อไป เรื่องเริ่มด้วยการประชุมตระกูลไพศาลพิบูลย์วาณิช พร้อมมีเสียงของหลานสาว “สอง” อธิบาย เธอกล่าวว่า “การประชุมที่แสนน่าเบื่ออึดอัดยาวนาน” และมีภาพแท่งอัปโหลดที่ใบหน้าของอาเล้ง (พ่อของสองและลูกของอากง) ขึ้น ตระกูลไพศาลพิบูลย์คือตัวแทนของสังคมไทยปัจจุบันที่น่าเบื่ออึดอัดและล้าหลัง และต้องรีสตาร์ทใหม่อย่างเดียว ผลสรุปการประชุมอาเล้งก็ใช้อำนาจลูกชายคนโตของตระกูลสั่งน้องๆ และลูกหลานทุกคนมานอนเฝ้าศพอากง อาเล้งเป็นตัวแทนของประชากรอายุ 50 ถึง 60 ปี เป็นประชากรที่ผ่านเหตุการณ์ความขัดแย้งสำคัญๆ ไม่ว่าคอมมิวนิสต์ เผด็จการทหาร เผด็จการอำมาตย์ ประชาธิปไตยครึ่งใบและประชาธิปไตยเต็มใบ เป็นกลุ่มประชากรที่มีความใกล้ชิดกับอากง (ประชาธิปไตย) มากกว่าลูกหลาน และได้ผลประโยชน์จากอากง (ประชาธิปไตย ไม่ว่ารูปแบบไหน ทั้งเผด็จการทหาร ครึ่งใบ หรือเต็มใบ) นอกจากนี้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มคนอดีตตุลา และเป็นกลุ่มคนชนชั้นปกครองไทยในปัจจุบัน สองค่อยๆ อธิบายถึงสมาชิกครอบครัวทีละคน “หนึ่ง” พี่ชายของสองและเป็นมือวางที่จะต้องสานต่อกิจการกงสีต่อ หนึ่งเป็นตัวแทนของประชากรอายุ 20 ถึง 30 ปีที่เพิ่งจบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน นอกจากนั้นหนึ่งซึ่งเป็นผลผลิตของเผด็จการทางความคิดจากเล้ง (ระบอบเผด็จการทหาร) ส่งผลให้หนึ่งไม่ได้เป็นอย่างที่อยากจะเป็น หนึ่งต้องสืบทอดกิจการแล้วหนึ่งยังต้องแอบเป็นแมนทั้งๆ ที่อยากเป็นผู้หญิง เมื่อติดตามหนังต่อไปเรื่อยๆ หนึ่งยังเป็นตัวแทนของประชากรชั้นกลางไทยที่นอกจากไม่เป็นตัวของตัวเองแล้วยังเป็นชนชั้นกลางที่เปราะบาง กลัวทุกๆ สิ่งที่มองไม่เห็นและจินตนาการความกลัวไปเอง และพร้อมที่จะเชื่ออะไรง่ายๆ สองน้องสาวของหนึ่งและตัวเอกของเรื่อง เป็นคนที่นับว่ามีเหตุผลที่สุดในบรรดาสมาชิกทั้งหมด แต่ก็อยู่ภายใต้เผด็จการเล้งเช่นกัน เมื่อถูกบังคับให้ไปดูตัวผู้ชายที่พ่อแม่หาไว้ให้ เฮียโอ เป็นลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่จากการที่เขาเรียนจบเป็นหมอ เขาเป็นคนหยิ่งจองหองไร้น้ำใจและเหี้ย โอเป็นตัวแทนของประชากรอายุ 20 ถึง 30 ปีที่มีโพเทนเชียลในการเป็นชนชั้นอีลิทต่อไปในอนาคต ดิว ลูกพี่ลูกน้องอีกคน เป็นตัวแทนของหนุ่มวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นโอตาคุ ทะลึ่ง และหมกมุ่นเรื่องเพศ และยังเป็นตัวแทนของพวกที่ไม่มีโพเทนเชียลในการผลิตอะไร อีกคนเป็นน้องสาวดิวชื่อ แอ เป็นตัวแทนของสาววัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีที่วันๆ หมกมุ่นกับบีบี ปัญหาเริ่มต้นเมื่ออากงตายไป และต้องมีการเฝ้าศพอากง และทางครอบครัวก็จ้างลูกจ้างมาเฝ้าอากงแทน แต่ลูกจ้างทุกๆ คนต่างก็พบกับความเฮี้ยนของอากง สิ่งที่น่าสนใจคือบรรดาความกลัวที่เกิดขึ้นเป็นความกลัวที่เกิดจากการมีสิ่งต่างๆ กระตุ้นให้คิดไปเอง ขณะที่ลูกจ้างนั่งเฝ้าอากงอยู่ก็ดูหนังผีไปด้วยและกลัวขึ้นมา อากง (ประชาธิปไตย) ที่เคยเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจให้ลูกหลานตายไปแล้ว ก็โดนสื่อ (หนังผี) กลายร่างปลุกผีอากง (ผีทักษิณ) ให้เกิดขึ้นมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ผีอากง (ผีทักษิณ) ขึ้นมาทางครอบครัวจึงต้องสืบต้นสายปลายเหตุ แต่ทว่าที่นี่คือ ไพศาลพิบูลย์วาณิช (สังคมไทย) สิ่งที่มาพิสูจน์ผีอากงกลับไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือใช้เหตุผล แต่เป็นเจ้าพ่อหมอผีที่ใช้การเดามั่วมาพิสูจน์หาความจริง เจ้าพ่อหมอผีกล่าวหาว่าผีอากง (ผีทักษิณ) เกิดจากผีเร่ร่อนภายในบ้านหลังนี้ แต่ขณะเดียวกันหมอผีก็ไม่กล้าทิ้งอากง (ประชาธิปไตย) ไว้และต้องหนีบไว้ตลอดเวลาเพราะว่ามันมีประโยชน์ให้ไพศาลพิบูลย์วาณิช จากการที่หมอผีบอกว่าอากงซ่อนสมบัติไว้ในบ้านหลังนี้ไว้ให้หลานรัก โดยบรรดาคนรุ่นพ่อต่างคิดว่าอากงจะบอกที่ซ่อนสมบัติ (อำนาจการปกครอง) ให้เฮียโอหลานรักที่เป็นหมอ (ตัวแทนอีลิทในอนาคต) ต่อมาตอนกลางคืน สองลงมาห้องครัวและพบว่าตู้เย็นเปิดอยู่ หนึ่งก็ลงมาเช่นกันซึ่งเราจะเห็นคาแรกเตอร์ของหนึ่ง (ชนชั้นกลาง) ได้มากขึ้นเมื่อหนึ่งเปราะบาง กลัวสิ่งที่มองไม่เห็นและพร้อมจะโยนความผิดทุกอย่างไปให้ ดิว (วัยรุ่นไทย และตัวสร้างปัญหาในสายตาของหนึ่ง) แต่สองแย้งว่าไม่ใช่ดิวหรอก แต่อากงตอนมีชีวิตอยู่ก็ชอบทำเช่นนี้ ซึ่งเป็นจุดกระตุ้นให้สองอยากรู้ว่าผีอากง (ผีทักษิณและนักการเมือง) ต้องการอะไร ต่อมา แอลูกสาวคนเล็กอยากเข้าห้องน้ำและต้องพบกับความเฮี้ยนของอากงจนผมตั้ง เมื่ออากงลุกขึ้นมาที่ม้านั่ง หลานๆ ทุกคนตื่นขึ้นมาดูเหตุการณ์ ปรากฏว่า อากงไม่ได้นอนอยู่ในที่ที่ควรนอน หนึ่งและเฮียโอต่างกล่าวหาว่า ดิว (วัยรุ่นไทย) เป็นสาเหตุของปัญหาอีกครั้ง อาเล้ง (เผด็จการทหาร) มาถึงก็สั่งให้หลานๆ นำผีอากง (ผีทักษิณและนักการเมือง) กลับเข้าที่อีกครั้ง หนึ่ง (ชนชั้นกลาง) ก็อ้างว่า อากง (ประชาธิปไตย) เป็นสิ่งที่ทุกคนควรเคารพ และต้องให้ทุกคนนำอากง (ผีทักษิณและนักการเมือง) กลับเข้าที่เดิม หลานทุกๆ คนพยายามนำอากงเข้าที่เดิม ยกเว้น เฮียโอ (ชนชั้นอีลีท) ที่ทำท่าทางรังเกียจและกลัวอากง (ประชาธิปไตย นักการเมือง ผีทักษิณ) และไม่ร่วมสังฆทานด้วย ในขณะที่ขนอากงกลับเข้าที่ ริงโทนของดิวก็ดังขึ้นแต่เป็นเสียงผี และเป็นอีกครั้งที่เสียงริงโทน (สื่อ) สร้างความน่ากลัวให้ผีอากง (ผีทักษิณ) มากขึ้น ฉากตัดมาที่ห้องของดิวกำลังช่วยตัวเองผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ แต่ปรากฏว่าผีอากงกลับเข้ามาในห้องดิว ดิวพยายามผลักผีอากงออก แต่ผลักท่าไหนไม่รู้กลายเป็นท่าผีอากงใช้ปากช่วยดิวสำเร็จความใคร่อยู่ ฉากนี้ผมจัดให้เป็นฉากที่พีคที่สุดในเรื่องในการอธิบายสังคมไทยได้แสบสันที่สุด เมื่อดิวคือตัวแทนของชนชั้นกลางไทยทุกคนที่ไม่ประสากับการเมืองและไม่หาความรู้ทางการเมืองมากพอ แต่ก็ใช้อากง (ผีทักษิณ) ในการสำเร็จความใคร่ทางประชาธิปไตยของตัวเอง ต่อมาดิวก็ถูกสอบสวนและประนามจากหนึ่งและเฮียโอ ดิวโกรธและผรุสวาทออกมาว่า ใครบ้างที่ไม่เคยช่วยตัวเองหน้าคอม หนึ่ง (คนชั้นกลางบ้าศีลธรรม) โพล่งออกมาทันทีว่า บัดสีบัดเถลิง หนึ่งเป็นภาพลักษณ์ของพวกมือถือสากปากถือศีลของไทยที่พร้อมจะใช้ศีลธรรมจริยธรรมตราหน้าคนอื่นให้กลายเป็นคนชั่วทันทีโดยหารู้ไม่ว่า ตัวเองต่างหากมีความคิดที่ผิดปกติไปจากสังคม เรื่องเริ่มจะบานปลายเป็นไฟลามทุ่ง “นี่แหละวิถีของตระกูลเราเป็นวิถีแห่งความว่างเปล่าและไร้ความหมาย” เป็นสองที่มองปัญหาตระกูล (สังคมไทย) อย่างหมดหวัง ทันใดนั้น สองก็มองเห็นมืออากงกำรูปภาพอะไรบางอย่าง แล้วอากง (ผีทักษิณ) ก็เฮี้ยนลุกขึ้นมาอีกครั้งจนหนึ่ง (ชนชั้นกลาง) เป็นบ้าไป คราวนี้อากงไม่ได้ลุกอย่างเดียวแต่มุ่งหน้าเดินไปสถานที่แห่งหนึ่ง บรรดาลูกหลานต่างสงสัยจึงเดินไปด้วย ซึ่งการเดินทางของอากงครั้งนี้หมายถึงการเดินทางจากการเปลี่ยนแปลงจากผีทักษิณไปเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง ในขณะที่นั่งรถไปด้วย เฮียโอพยายามใช้หลักวิทยาศาสตร์ (วิชาการ) อธิบายความแตกต่างระหว่างผีทักษิณและประชาธิปไตยให้แยกออกจากกัน แต่ภายหลังเราจะทราบว่าสิ่งที่โอพูดไม่ใช่สิ่งที่ผีอากงประสงค์ทำเลย ผีอากงมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งปรากฏมีหญิงชรามารอพบอยู่ ทันใดนั้นผีอากง (ผีทักษิณ) ก็กลายร่างเป็นอากงสมัยหนุ่ม (ประชาธิปไตยยุคเริ่มต้น) “ฉันมาแล้วจำเนียร ฉันทำหน้าที่ของฉันหมดแล้ว เราไปกันเถอะ” อากงขณะนี้เป็นตัวแทนของนักการเมืองซึ่งสื่อว่าบรรดานักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเมื่อทำหน้าที่ครบวาระแล้วต่างก็ไป ไม่มีใครอยู่ชั่วนิรันดร์ได้ ก่อนจากไปอากง (ประชาธิปไตย) ก็กลับมาสอนลูกหลานอีกครั้ง อากงฝากคำให้หนึ่งกับสองว่าให้กลายเป็นตัวของตัวเอง ไม่ทำตามคำสั่งของอาเล้ง (เผด็จการทหาร) ต่อมาอากงก็สอนอาเล้งว่า ”อาเล้งลื้อเลิกบงการชิวิตคนอื่นได้แล้วอั้วไม่อยากให้ลื้อพลาดเหมือนอั้ว” ในฉากนี้ลักลั่นย้อนแย้งมากเมื่ออากงวัยหนุ่ม (ประชาธิปไตยสมัยเผด็จการทหาร) กลับมาสั่งสอนอาเล้ง (ตัวแทนคนเดือนตุลาซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับทหารขณะนั้น) ไม่ให้ทำพลาดนำระบบเผด็จการมาสั่งการลูกหลานอีก ต่อมาอากงก็สอนดิวกับแอ (ตัวแทนหนุ่มสาววัยรุ่นไทย) ไม่ให้หมกหมุ่นเรื่องเพศและแรดมากไป สิ่งที่อากง (ประชาธิปไตย) สอนให้หลานๆ โดยเฉพาะหลานๆ ที่ผิดปกติในสายตาคอนเซอเวทีฟอย่างหนึ่ง (พวกเพศที่สาม) ดิว (พวกวัยรุ่นหมกมุ่นทางเพศ) และแอ (วัยรุ่นสาวสนใจแต่เรื่องแรด) แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยยอมรับและเป็นประโยชน์ให้กับพวกกลุ่มคนทุกคนในสังคม ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับประชาชนเลย มีเพียงสิ่งเดียวที่อากง (ประชาธิปไตย) เป็นปฏิปักษ์คือ เฮียโอ (ตัวแทนกลุ่มอีลีทไทยที่เย่อหยิ่งไม่เห็นมนุษย์คนอื่นเท่าเทียมกัน และไม่มีจิตใจนิยมประชาธิปไตย) อากงฝากคำเดียวให้โอคือ “เหี้ย” และเป็นกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เป็นปัญหาต่อประชาธิปไตยไทย บทสรุป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 28 Feb 2012 08:01 PM PST |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น