โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กอ.รมน.ให้ 10 วันสอบคดียิง 4 ศพ ชาวบ้านทำบุญตายครบ 7 วัน

Posted: 07 Feb 2012 08:31 AM PST

เปิดรายชื่อกรรมการสอบเหตุยิง 4 ศพ คำสั่ง กอ.รมน.ให้เวลา 10 วันรายงานผล ศอ.บต.เยียวยาทันทีหลังได้ผลสอบ ชาวบ้านทำบุญครบ 7 วัน

7 วัน - บรรยากาศในงานทำบุญครบรอบการตาย 7 วัน
ของชาวบ้านตันหยงบูโละห์ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

 

กอ.รมน.ให้ 10 วัน สอบคดียิง 4 ศพ
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่ 10/2555 เรื่อง แต่งตั่งคณะกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณียิงชาวบ้าน 4 ศพ ที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และเหตุยิงถล่มจุดตรวจบ้านน้ำดำ ตำบลปุโละปุโย ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555

คณะกรรมการชุดดังกล่าว ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายต่างๆ รวม 13 คน โดยมีตัวแทนชาวบ้านรวมอยู่ด้วย 3 คน โดยคำสั่งระบุให้คณะกรรมการชุดนี้รายงานผลการตรวจสอบ ภายใน 10 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่งแต่งตั้ง

ชาวบ้านทำบุญครบ7วัน
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 6 มกราคม 2555 ที่มัสยิดบ้านตันหยงบูโละห์หมู่ที่ 1 ตำบลปุโล๊ะปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีการจัดเลี้ยงทำบุญครบรอบ 7 วัน ให้แก่ชาวมุสลิมที่เสียชีวิตจากเหตุยิงชาวบ้านบ้านตันหยงบูโละห์เสียชีวิต 4 ศพ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555

ในงานมีนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี รศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายใต้ (ศอ.บต.)  พล.ต.วรารัตน์ นาฬบุตร ผู้ชำนาญการกองทัพบก นายเศรษฐ์ อัลยูฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี และประชาชนประมาณ 200 คน มาร่วมงาน

บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความโศกเศร้า โดยหลังจากรับประทานอาหารแล้ว ชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านคำภีร์อัลกุอานเพื่ออุทิศผลบุญให้ผู้เสียชีวิต

นายยา ดือราแม คนขับรถคัดเกิดเหตุ เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากนายนายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี 10,000 บาท และจากพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4จำนวน 3,000 บาท

นายยา เปิดเผยว่า ตนได้ให้ปากกคำต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหนองจิกแล้ว 3 ครั้ง คือที่สถานีตำรวจภูธรหนองจิก 2 ครั้ง และที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี 1 ครั้ง

นายยา เปิดเผยอีกว่า หลักเกิดเหตุดังกล่าว ทำให้ตนรู้สึกหวาดกลัวมาก จนไม่กล้าไปละหมาดอีซาช่วงกลางคืนกับละหมาดซุบฮ์ในช่วงเช้ามืดที่มัสยิดในหมู่บ้านอีก เพราะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย

ศอ.บต.เยียวยาทันทีหลังได้ผลสอบ
รศ.ปิยะ เปิดเผยว่า เมื่อผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีแต่งตั้งและคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ออกมา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้จะเข้าดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทันที ทั้งด้านเงิน จิตใจ การศึกษาและการประกอบอาชีพ

 

เปิดรายชื่อกรรมการสอบเหตุยิง4ศพ
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่ 10/2555 เรื่อง แต่งตั่งคณะกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณียิงชาวบ้าน 4 ศพ ที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 มีรายชื่อคณะกรรมการ ดังนี้

1. นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี
2. นายอาหะมะ หะยีอาวัง ตัวแทนโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดในเขตอำเภอหนองจิก
3. นายอดินัน ดือราแม ตัวแทนชาวบ้าน
4. นายยูโซะ ดอเลาะ ตัวแทนชาวบ้าน
5. นายอาแว เตาะสาตู ตัวแทนชาวบ้าน
6. นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมปัตตานี
7. นายประสิทธิ์ เมฆสุสวรรณ ประธานสภประชาสังคมชายแดนใต้
8. นายอิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์ ประธานเครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก
9. รศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้
10. นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้
11. พล.ท.มนตรี อุมารี หัวหน้าคณะทำงานเยียวยาและศาสนา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
12. เสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
13. พ.อ.ชุมพล แก้วล้วน หัวหน้าคณะทำงานยุติธรรม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน เหตุคนร้ายยิงถล่มจุดตรวจบ้านน้ำดำ และเหตุยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพดังกล่าว โดยให้รายงานผลการตรวจสอบ ภายใน 10 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่งแต่งตั้ง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มาเลย์สั่งประหาร 20 คนไทย ยัดโคเคนในครรภ์ส่งขายกรุงเทพ

Posted: 07 Feb 2012 08:24 AM PST

กรมการกงสุลเผย  พบสาวเหนือ-อีสานถูกตุ๋นค้ากามในแดนเสือเหลืองเป็นพัน เตือนหญิงชายแดนใต้มีสิทธิเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เผยชีวิตรันทด สาวเหยื่อแก๊งค์ไนจีเรีย ชวนเที่ยวต่างประเทศ ตีสนิทจนท้อง ยัดโคเคนในครรภ์ส่งกลับไทย

ภาพจาก http://icare.kapook.com/missing.php?ac=detail&s_id=61&id=3004

 

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ที่โรงแรม บีพี แกรนด์ทาวเวอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายสุวัฒน์ แก้วสุข ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ การดูแลคนไทยในต่างประเทศ ในการสัมมนานักจัดรายการวิทยุมุสลิมระดับภูมิภาค ระหว่างวันที่ 6 - 7 กุมภาพันธ์ 2555 มีนักจัดรายการวิทยุจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 80 คน

นายสุวัฒน์ บรรยายว่า กรมการกงสุลเคยบันทึกสถิติไว้ว่า มีคนไทยที่ไปติดคุกในประเทศมาเลเซียมากถึง 1,400 คน ในจำนวนนี้มีถึง 400 คนที่ถูกจับกุมข้อหามีสารเสพติดไว้ครอบครัว และ 24 คนถูกศาลมาเลเซียตัดสินประหารชีวิต

นายสุวัฒน์ บรรยายว่า ทุกวันนี้มีคนไทยเดินทางออกนอกประเทศทุกวัน โดยเป็นนักท่องเที่ยวกว่า 2,000,000 คน เดินทางไปตั้งรกรากในต่างประเทศทั่วโลกกว่าร้อยประเทศ รวม 1,000,000 กว่าคน และขายรายงานกว่า 500,000 คน ในจำนวนนี้ เป็นแรงงานในโควตาของกระทรวงต่างประเทศปีละ 100,000 คน

นายสุวัฒน์ บรรยายว่า คนไทยในต่างประเทศจำนวนหนึ่งสร้างปัญหาซับซ้อนให้เจ้าของประเทศมาก เนื่องจากไปละเมิดกฎหมายต่างประเทศ แต่การช่วยเหลือและติดต่อขอให้ส่งตัวกลับประเทศไทย เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก เพราะบางคนถูกตัดสินโทษประหารชีวิต ซึ่งสำนักงานกงสุลไทยในประเทศเหล่านั้นเข้าไปช่วยเหลือไม่ได้

นายสุวัฒน์ บรรยายว่า คนไทยที่มีพฤติกรรมชอบละเมิดกฎหมายต่างประเทศ ต้องระวังให้ดีเพราะกฎหมายต่างประเทศเข้มแข็งกว่าไทย กรมการกงสุลไทยแทบจะไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ตัวอย่าง 24 รายที่ถูกศาลมาเลเซียสั่งประหารชีวิต หลังจากจับได้ว่าค้ายาเสพติด กรมการกงสุลจะช่วยเหลือด้านคดียากมาก ถ้าไม่ใช่ครอบครัวผู้เสียหายจัดการเอง แต่หลายคนจะเข้าใจผิด คิดว่าสถานกงสุลไทยในต่างประเทศจะสามารถช่วยเหลือด้านคดีได้

นายสุวัฒน์ บรรยายอีกว่า ปัญหาใหม่ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ตอนนี้คือ มีคนไทยจำนวนไม่น้อยถูกหลอกไปใช้แรงงานในประเทศมาเลเซีย โดยมีนายหน้ามารับตัวไป แล้วส่งไปอยู่ตามร้านเสริมสวย สปา และส่วนมากถูกบังคับให้ค้าประเวณีด้วย บางรายถูกเจ้านายข่มขืนจนตั้งท้อง เนื่องจากกฎหมายมาเลเซียห้ามทำแท้ง ทำให้ต้องปล่อยให้คลอดลูกออกมา จึงยิ่งตอกย้ำให้ชีวิตในต่างแดนรันทดมากขึ้น

“ปีที่ผ่านมา มีสถิติที่ได้จากการร้องเรียนว่าถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศเกินกว่า 1,000 ราย ซึ่งนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีอีกส่วนที่ยินยอมค้าประเวณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนภาคอีสานและภาคเหนือ แต่ยังไม่ทราบชัดเจนว่า มีสาวมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ค้าประเวณีด้วยหรือไม่” นายสุวัฒน์ กล่าว

นายสุวัฒน์ บรรยายว่า ผู้ที่หลอกสาวไทยไปค้าประเวณีส่วนใหญ่ มักเป็นผู้ใกล้ชิดหรือญาติสนิทที่หลอกว่าจะหางานให้ทำในต่างแดน แต่เมื่อข้ามชายแดนไปแล้วจะมีผู้รอรับไปส่งยังสถานที่เป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารไทย หรือร้านสปานวดเท้า จึงขอให้ระวังตัวด้วย เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อาจจะประสบกับบุตรหลานของชาวจังหวัดชายแดนใต้ได้ เนื่องจากเดินทางไปฝั่งมาเลเซียบ่อย

นายสุวัฒน์ บรรยายด้วยว่า ยังมีหญิงไทยที่มักถูกแก็งค์ชาวต่างชาติหลอกให้ขนยาเสพติดข้ามประเทศทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยเฉพาะจากหนุ่มชาวประเทศไนจีเรียที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยเฝ้าติดตามมาระยะหนึ่งนั้น พบว่า มีการทำเป็นขบวนการที่ซับซ้อนและมีการกระทำทารุณต่อผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่ออย่างมาก

นายสุวัฒน์ บรรยายว่า เส้นทางการลำเลียงยาเสพติดของชาวไนจีเรีย จะมีการติดต่อสื่อสารกับสาวไทยผ่านโปรแกรมแชททางอินเตอร์เน็ต ซึ่งสาวไทยจะรับสัมพันธ์ด้วยแม้ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน โดยชายชาวไนจีเรียกลุ่มนี้จะซื้อตั๋วเที่ยวต่างประเทศและโอนเงินให้สาวไทยใช้หลายครั้ง เพื่อให้เหยื่อตายใจ และเมื่อถึงขั้นสนิทสนมกันแล้ว ก็จะหลอกให้ส่งของกลับมายังประเทศไทย โดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว หลังจากนั้นหนุ่มไนจีเรียจะข่มขืนเหยื่อจนตั้งท้อง เพื่อให้สามารถส่งของผ่านด่านตรวจได้ง่ายขึ้น

“แก๊งค์ค้ายาจะให้สาวท้องกลืนโคเคนเข้าไปในท้อง เมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ก็จะให้เหยื่อถ่ายออกมา แล้วส่งต่อให้พ่อค้ายาเสพติดในประเทศไทย” นายสุวัฒน์ กล่าว

นายสุวัฒน์ บรรยายต่อไปว่า รายล่าสุดที่กรมการกงสุลสามารถช่วยเหลือมาได้ คือเหยื่อสาวไทยที่ถูกจับได้ในประเทศกัมพูชา และถูกศาลประเทศกัมพูชาตัดสินจำคุก 29 ปี แต่สาวไทยคนนี้คลอดลูกในเรือนจำที่นั่น ซึ่งสร้างความโกลาหนให้เจ้าหน้าที่กัมพูชามาก กรมการกงสุลจึงติดต่อขอตัวเด็กกลับมาจดทะเบียนเป็นคนไทยและส่งตัวให้สถานดูแลเด็กกำพร้าเลี้ยงดูต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะทำอะไร บอกความจริงให้ชาวบ้านรับรู้ด้วย

Posted: 07 Feb 2012 08:14 AM PST

ในยุทธศาสตร์ความมั่งคงของชาติทางทะเล บอกไว้ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีทางออกสำหรับสินค้า และการขนส่งทางทะเลอื่นๆ ทางทะเลอันดามัน จะพึ่งพาแต่ทางฝั่งอ่าวไทยที่ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพฯ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะผลประโยชน์ชาติทางทะเลที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเลมีมากกว่า 6 ล้านล้านบาทต่อปี ในขณะที่มีความต้องการระหว่างประเทศที่จะแสวงหาเส้นทางการขนส่งทางทะเลที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า การเดินเรืออ้อมไปผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งมีความแออัดมากขึ้นทุกวัน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามของรัฐในทุกยุคทุกสมัย ที่จะเชื่อมเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างอ่าวไทย กับทะเลอันดามัน ตั้งแต่การขุดคลองกระ สะพานเศรษฐกิจที่ขนอมถึงกระบี่ หรือแม้แต่ท่าเรือระนอง และท่าเรือภูเก็ต

นอกจากนี้ยังมีท่าเรือขนาดเล็ก ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ท่าเรือตำมะลัง ท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง ท่าเรือยิบซั่มที่กระบี่  ท่าเรือเหล่านี้ ถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงท่าเรือขนาดเล็ก กระจายสินค้าได้ไม่มากนัก และไม่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง

ปัญหาสำคัญของการขนส่งทางทะเลตามแนวชายฝั่งภาคใต้ของประเทศ เช่น ท่าเรือน้ำลึกสงขลา คือ ความไม่สมดุลระหว่างการขนสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ กับการนำสินค้าเข้ามา เนื่องจากที่ผ่านมา สินค้าที่นำเข้ามาท่าเรือน้ำลึกสงขลามีน้อยมาก ในขณะที่มีความต้องการขนส่งยางพาราออกนอกประเทศเป็นอย่างมาก  ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ภาระในการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่า เข้ามารับยางพารา และสินค้าส่งออกอื่นๆ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการส่งออกสูงมากกว่าการนำสินค้าไปยังท่าเรือปีนัง ซึ่งมีปริมาณสินค้าเข้า และสินค้าออกมาก ค่าใช้จ่ายจึงถูกกว่าการส่งออกจากท่าเรือน้ำลึกสงขลา จึงเห็นได้ว่า แต่ละปีมีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย กับท่าเรือปีนังปีละมากกว่า 200,000 ตู้คอนเทนเนอร์

ทางแก้ที่ภาครัฐมองคือ การเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้า ข้ามมหาสมุทรจากยุโรป และตะวันออกกลาง ทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย กับทางเอเชียตะวันออกทางฝั่งอ่าวไทย และมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งก็คือ ความพยายามที่จะทำให้มีท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งของภาคใต้ และเส้นทางการขนส่งทั้งทางรถไฟ  ถนน และท่อส่งน้ำมันที่เชื่อมโยงทั้งสองฝั่งมหาสมุทรเข้าด้วยกัน และยังมองถึงผลประโยชน์จากการขนส่งทางทะเลของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมหาศาล

โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ จึงเกิดขึ้น และมีกระบวนการคัดเลือกพื้นที่ตลอดชายฝั่งอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนองมาจนถึงจังหวัดสตูล แต่ก็ถูกผลักดัน ขับไล่ การไม่ยอมรับจากคนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภูเก็ต พังงา กระบี่ ที่มองว่ายุทธศาสตร์ของพื้นที่คือ การท่องเที่ยวทางทะเลที่สร้างรายได้ปีละหลายแสนล้านบาท ซึ่งไปด้วยกันไม่ได้กับการพัฒนาเส้นทางเดินเรือ และการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ที่อาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงต่อคุณภาพระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของการท่องเที่ยวทางฝั่งทะเลอันดามัน

และวันนี้ ที่ปากบารา คือ ที่มั่นสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่สำหรับการสร้างท่าเรือน้ำลึก เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่อาศัยไม่มาก และที่สำคัญ มีกระแสการต่อต้านน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด ที่ผู้บริหารของประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่ทันคิดก็คือ ตั้งแต่เขตแดนไทยมาเลเซีย ที่สตูล ไปจนถึงอ่าวพังงาเป็นแหล่งที่มีระบบนิเวศแบบเอสทูรี่ หาดเลน และป่าชายเลนขนาดใหญ่ของประเทศไทย เช่น ปากน้ำสตูล ปากบารา ปากน้ำกันตัง ปากน้ำปะเหลียน ปากน้ำสิเกา ศรีบ่อยา ปากน้ำกระบี่ และอ่าวพังงา เป็นแหล่งสะสมของธาตุอาหารที่มาจากบนบก และในทะเล ส่งผลให้บริเวณนี้มีพืชและสัตว์ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ที่สุดของประเทศ

จังหวัดสตูลยังมีผู้คนยังไม่มากนัก ในอนาคตมีศักยภาพพอที่จะรองรับการพัฒนาทางการเพาะเลี้ยง การประมงชายฝั่ง และการอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวได้อีกมาก โดยเฉพาะหากประเทศไทยต้องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  จังหวัดสตูล ก็มีศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีเกาะจำนวนมาก  มีป่าชายเลน มีแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล  มีสวนผลไม้ ชายฝั่งทะเล ป่าเขาและน้ำตก และยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่สำคัญของประเทศ

      สิ่งที่ รัฐ พยายามบอกชาวบ้านคือ ราคาที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น ชาวบ้านจะมีงานทำ จะมีเงินหมุนเวียนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจะมีเงินมากขึ้น จะพาผู้นำชุมชน และผู้บริหารของจังหวัดไปดูงานท่าเรือต่างจังหวัด และในต่างประเทศ  สร้างความหวังให้กับชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่บริเวณนั้น และบริเวณใกล้เคียง และกลายเป็นมวลชนจัดตั้งที่รัฐและผู้บริหารของจังหวัด พร้อมจะพามาสนับสนุนในทุกเวทีการประชุม และเริ่มสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นระหว่างชุมชนในจังหวัดสตูล

แต่สิ่งที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง ก็คือ รัฐไม่ได้บอกชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงจับกุ้ง หอย ปู ปลา ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ทำสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้ และผู้ประกอบการท่องเที่ยว เจ้าของรีสอร์ท ร้านอาหารเลยว่า ท่าเรือน้ำลึกจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง จะมีกิจกรรมอะไรตามมาอีกบ้าง เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่จะมีเฉพาะท่าเรือน้ำลึกเพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการขนส่งสินค้า และการแปรรูปวัตถุดิบต่างๆ จะตามมาเป็นจำนวนมาก

ไม่มีใครบอกเขาว่า การพัฒนาที่จะตามมานั้น จะมีการจ้างงานจริงๆ กี่คน คนสตูลจะได้โอกาสทำงานอะไร จำนวนเท่าไร  และจะมีแรงงานต่างถิ่น เข้ามาใช้แรงงานในพื้นที่ กี่พันกี่หมื่นคน จะส่งผลกระทบทางด้านสังคม และวัฒนธรรมของชาวมุสลิมอย่างไร

ไม่มีใครบอกเขาว่า ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนกันยายน จะพัดพาฝุ่นควันทั้งหลายเข้าสู่เมืองสตูล เมืองละงู ชุมชน และสวนยางตลอดแนวชายฝั่งทะเล

ไม่มีใครบอกเขาว่า ลมฝนเหล่านี้ จะละลายฝุ่นควัน และสารพิษ จากเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ตกลงบนหลังคาบ้าน ตกลงในสวนยาง สวนผลไม้ ในบ่อเก็บน้ำ  ในน้ำตกวังสายทอง ในแม่น้ำ และลำคลองที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั้งสองฟากฝั่ง

ไม่มีใครบอกเขาว่า ชายฝั่งทะเลของอันดามันใต้  หรืออาจเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของช่องแคบมะละกาตั้งแต่อ่าวพังงาลงมา โดยเฉพาะจังหวัดตรังและสตูล เป็นพื้นที่รองรับการสะสมของตะกอนทั้งจากแผ่นดินและทะเล สารพิษทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นมันไม่ถูกพัดพาออกไปทะเลลึก แต่จะสะสมอยู่ในชั้นดินตะกอนตลอดชายฝั่งทะเลที่มีสภาพเป็นโคลนปนทราย

ไม่มีใครบอกเขาว่า หากมีการรั่วไหลของน้ำมัน น้ำมันเครื่องเรือ น้ำจากท้องเรือ หรือสารพิษต่างๆ สารมลพิษเหล่านี้มันจะสะสมอยู่ตลอดชายฝั่งทะเลจังหวัดสตูล เหตุการณ์ต่างๆ จะร้ายแรงยิ่งกว่าที่มาบตาพุด ซึ่งมีกระแสน้ำพัดพาออกสู่ทะเลลึก

ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า บริเวณทะเลหน้าหาดปากบารา ที่มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลกำลังจะกลายเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึก มีการถมทะเลยื่นออกไปนอกหาดยาวเป็นกิโล  เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่หลายสิบลำมารับส่งสินค้าปีละมากกว่า 200,000 ตู้ หรืออาจจะมากกว่านั้น ถ้าโครงการมีการขยายตัวไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะตามมา

ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า จะมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลตามมา สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นต่อมาก็คือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับกิจกรรมการขนส่งทางทะเล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ  แหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเหล่านี้ คืออะไร

ไม่มีใครบอกเขาว่า นอกจากท่าเรือน้ำลึกแล้ว จะมีอุตสาหกรรมอะไรอื่นๆ ตามมาอีก เขาได้แต่บอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะบอกว่าจะมีอุตสาหกรรมอะไรตามมา กรอบการศึกษาของเขามีเฉพาะการสร้างท่าเรือน้ำลึกเท่านั้น โครงการอื่นๆ ต้องพิจารณาต่างหาก ไม่เกี่ยวกับการศึกษาครั้งนี้

ถ้ามีใครถามเขาว่า ข้อมูลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เขาจะบอกให้ชาวบ้านไปอ่านเอาในเอกสารหนาปึก ที่มีแต่ตัวเลขที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ และต้องไปหามาอ่านเอาเอง  และเขาก็จะโวยวายใส่ชาวบ้านว่า ก็ทำรายงานให้อ่านแล้ว ทำไมไม่อ่านกันเอง  หรือไม่ก็ให้ไปอ่านในอินเตอร์เน็ต ที่ชาวบ้านไม่มีวันเข้าถึง

สิ่งที่ชาวบ้านสังเกตก็คือห้าหกปีที่ผ่านมา มีคนมากว้านซื้อที่ดินผืนใหญ่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

ชาวบ้านมาทราบทีหลังว่า ที่ดินหลายพันไร่ที่มีการเปลี่ยนมือไปแล้ว คือบริเวณที่อยู่ในแนวเส้นทางของท่าเรือน้ำลึก และพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

สิ่งที่บริษัทเหล่านี้บอกกับชาวบ้านตลอดมาก็คือ พวกเขาทำถูกต้องตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า  ผ่านการพิจารณาของนักวิชาการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นพวกเขามีสิทธิที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก  และแม้ว่ามันจะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา รัฐก็สามารถเพิกถอนพื้นที่ที่ออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติได้

แต่ คุณอย่าลืมว่า ชาวบ้านก็มีสิทธิลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เช่นกัน

หากท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้นจริงแล้ว เขาหวั่นกลัวว่า

อากาศจะเป็นพิษ น้ำทะเลจะปนเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมันและสารพิษที่สะสมตลอดชายฝั่ง  กุ้ง หอย ปู ปลาจะหายไป อาหารทะเลจะปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ น้ำตกและลำธารจะปนเปื้อนจากสารพิษ และนักท่องเที่ยวจะไม่กลับมา ฝนที่ตกลงมาจะมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น ชาวสวน จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การแย่งชิงน้ำจืดที่ต้องใช้ในการเกษตรจะเกิดขึ้น เพราะต้องไปใช้ในเขตท่าเรือและเขตอุตสาหกรรม

ชาวสตูล คงไม่ต้องการให้ที่นี่กลายเป็นหาดแม่รำพึง หรือมาบตาพุดแห่งที่สอง ที่ชาวบ้านต้องนอนรอความตายผ่อนส่งโดยที่ไม่มีใครช่วยเหลือได้เลย และที่สำคัญลักษณะทางกายภาพของชายฝั่งทะเลที่นี่แตกต่างจากชายฝั่งบริเวณมาบตาพุด  ปัญหามลพิษทุกอย่างจะสะสมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลได้ง่ายกว่าบริเวณชายฝั่งมาบตาพุด

พอสิ้นปีผลกำไรจากการขนส่งทางทะเล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ส่วนหนึ่งมาจากการทำลายธรรมชาติ การทำลายสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ และการสร้างความแตกแยกให้กับคนในพื้นที่ ก็กลายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่ไม่ได้มีถิ่นฐานในพื้นที่ แต่นั่งห้องแอร์ดูตัวเลขขึ้นลงในตลาดหลักทรัพย์

รัฐบาลเข้ามาบริหารแล้วก็จากไป ผู้บริหารของจังหวัด ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงนายอำเภอ มาทำงานไม่กี่ปี ก็ย้ายไปที่อื่น นักลงทุนเข้ามาลงทุน วันหนึ่งก็ถอนตัวออกไปลงทุนที่อื่นได้  

แต่คนสตูลต้องอยู่กินบนผืนดินแห่งนี้ไปตลอดชีวิต

รอรับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อมธ.ออกแถลงการณ์แจง จม.จากรองอุปนายก เป็นความเห็นส่วนตัว

Posted: 07 Feb 2012 06:50 AM PST

(7 ก.พ.55) สืบเนื่องจากกรณีสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ภาพจดหมายซึ่งใช้หัวจดหมายขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ลงชื่อโดยรองอุปนายก อมธ. โดยมีเนื้อหาเสนอให้มีการลงมติโดยนักศึกษาในการใช้พื้นที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและเรื่องมาตรา 112 ซึ่งก่อให้เกิดข้อถกเถียงถึงอำนาจในการออกจดหมายดังกล่าว (อ่านเพิ่มเติม)

ล่าสุด เวลาประมาณ 21.00น. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เผยแพร่แถลงการณ์ในเพจเฟซบุ๊กขององค์กร  ชี้แจงว่า จดหมายฉบับดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของ นายภาณุพงศ์ รอดทอง และไม่อาจออกจดหมายโดยใช้หัวจดหมายขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เนื่องจากการลงมติใดๆ ซึ่งรวมถึงการออกหนังสือของ อมธ. ต้องได้รับเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร อมธ.ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่ามีการประชุมคณะกรรมการบริหาร อมธ.ในกรณีดังกล่าว รวมถึงนายภาณุพงศ์ รอดทอง ไม่ได้เป็นคณะกรรมการบริหาร อมธ.

เนื้อความฉบับเต็มมีดังนี้

"ตามจดหมายเรื่อง เสนอให้ลงมติโดยนักศึกษาในการใช้พื้นที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและเรื่องมาตรา ๑๑๒ ถึง ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีฯ ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ลงนาม นายภาณุพงศ์ รอดทอง รองอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้

๑. การลงมติใดๆ ซึ่งหมายความรวมถึงการออกหนังสือขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ต้องได้รับเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามความในข้อ ๔๗ แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๒

เมื่อมิได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในกรณีที่จดหมายดังกล่าวกล่าวถึงเลย การที่นายภาณุพงศ์ รอดทองได้ทำจดหมายถึง อธิการบดีฯ นั้น จึงมิใช่การออกจดหมายในนามองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดังนั้นจดหมายฉบับดังกล่าวจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของ นายภาณุพงศ์ รอดทอง และไม่อาจออกจดหมายโดยใช้หัวจดหมายขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้

๒. นายภาณุพงศ์ รอดทอง มิได้เป็นคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๔

ด้วยจิตคารวะ
คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕"
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวพม่าแห่รับ "ออง ซาน ซูจี" หาเสียงที่บ้านเกิดแม่

Posted: 07 Feb 2012 05:02 AM PST

ผู้นำพรรคฝ่ายค้านพม่าเดินทางไปหาเสียงที่อำเภอมหย่องมยะ ใกล้กับเมืองพะสิม ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนางขิ่น จี ผู้เป็นแม่ของออง ซาน ซูจี โดยมีผู้สนับสนุนออกมารอฟังการปราศรัยจำนวนมาก

ที่มาของภาพ: ไว ยัน เมียต อู/7Day News Journal (ชมภาพทั้งหมดที่นี่)

สถานีโทรทัศน์ดีวีบีเผยภาพการหาเสียงของออง ซาน ซูจีที่เมืองพะสิม โดยมีนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคของรัฐบาลมาต้อนรับนางออง ซาน ซูจีด้วย (ที่มา: DVBBurmese/youtube.com)

วันนี้ (7 ก.พ.) เฟซบุคของนิตยสาร "7Day News Journal" ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่นครย่างกุ้งในพม่า ได้เผยแพร่ภาพออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี เดินทางไปหาเสียงในวันนี้ที่อำเภอมหย่องมยะ (Myuang Mya) ใกล้กับเมืองพะสิม เมืองเอกของภาคอิระวดี สำหรับตำบลดังกล่าวเป็นบ้านเกิดของนางขิ่น จี มารดาของนางออง ซาน ซูจี และบ้านเกิดของอูนุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า สำหรับภาพดังกล่าวถ่ายโดยไว ยัน เมียต อู ช่างภาพของนิตยสาร "7Day News Journal" โดยสามารถคลิกชมภาพทั้งหมดได้ที่นี่

นางออง ซาน ซูจี วัย 66 ปี เป็นบุตรสาวของ นายพลออง ซาน ผู้ก่อตั้งประเทศพม่า ซึ่งในรอบ 23 ปีมานี้ออง ซาน ซูจีถูกรัฐบาลทหารสั่งกักบริเวณในบ้านพักหลายหน เป็นระยะเวลารวมกันกว่า 15 ปี โดยล่าสุดนางออง ซาน ซูจี และสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส. พม่า ซึ่งมีกำหนดจัด 1 เมษายนนี้ โดยซูจีลงสมัครในเขตบ้านเกิดที่ย่างกุ้ง โดยการเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นนี้จะเป็นการชิงชัยทั้งหมด 48 ที่นั่ง เนื่องจากมี ส.ส. เดิม 48 คน ลาไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ป่วยโรคไตฮึ่ม! ระดมพลทั่วประเทศต้าน หาก รมว.สธ.ป้อง 'แพทย์พาณิชย์'

Posted: 07 Feb 2012 03:52 AM PST

กรณี นพ.เอื้อชาติ  กาญจนพิทักษ์ ผู้แทนสมาคมรพ.เอกชนในบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ที่ถูกบอร์ดชุดเดิมตั้งกรรมการสอบและชี้มูลว่า มีความพฤติเสื่อมเสียตามมาตรา 16(6) เพราะใช้อำนาจหน้าที่มีหนังสือชักชวน รพ.เอกชนในสังกัดสมาคม รพ.เอกชนไม่ให้เข้าร่วมให้บริการผู้ป่วยไตวาย สปสช. เพราะจะทำให้เสียราคาและถูกชมรมผู้ป่วยโรคไตแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายวิทยา  บูรณศิริ  รมว.สาธารณสุขในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ ใช้อำนาจหน้าที่ให้สมาคม รพ.เอกชนเปลี่ยนผู้แทนคนใหม่ที่สังคมรับได้แทน

เมื่อวันที่ 6 กพ.ณ ห้องประชุมสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ สปสช. นายวิทยา  บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้สั่งให้บรรจุเรื่องผลสอบนพ.เอื้อชาติ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบตามข้อเสนอของ นพ.ไพจิตร วราชิต ประธานคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ที่เสนอให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าผลสอบและมติของคณะกรรมการ สปสช..ชุดที่แล้วที่มีตนและผู้แทนปลัดหลายกระทรวงร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย จะมีผลต่อ นพ.เอื้อชาติ ซึ่งเป็นบอร์ด สปสช.ชุดใหม่หรือไม่

ต่อกรณีมติบอร์ด สปสช.ใหม่ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ นพ.พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า “เป็นไปตามที่สังคมคาดเดาไว้แล้วว่าจะมีการใช้มติบอร์ดใหม่ อุ้ม ฟอกตัว ให้ผู้ที่เคยมีผลสอบว่า มีความประพฤติเสียหายต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างชัดเจน เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นประเด็นทางกฎหมายที่ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกามาพิจารณาตีความเพราะประเด็นกฎหมายได้พิจารณาจบตั้งแต่บอร์ด สปสช.เดิมมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีถอดถอนเพราะมีความพฤติเสื่อมเสียตามมาตรา16(6)แล้ว และขณะนี้เหลือแค่ประเด็นจริยธรรมว่าบุคคลดังกล่าวที่ถูกชี้มูลว่ามีความประพฤติเสื่อมเสีย เห็นประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าชีวิตของผู้ป่วยโรคไต ยังมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบายดูแลผู้ป่วยไตวายทั้งประเทศในระบบหลักประกันสุขภาพอีกหรือไม่”

ขณะที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “เรื่องนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความไม่จริงใจและการสมคบระหว่างนักการเมืองที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ระยะสั้นกับกลุ่มแพทย์พาณิชย์ในการทำร้ายระบบหลักประกันสุขภาพอย่างชัดเจน”

กรรมการผู้แทนกระทรวงผู้หนึ่งที่ขอสงวนนามกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นแพทย์ในบอร์ด สปสช.รู้สึกระอายใจที่เห็นหนังสือที่ชักชวนไม่ให้บริการผู้ป่วยไตวาย เพราะกลัวจะเสียราคา ทั้งๆที่รู้ว่าผู้ป่วยไตวายถ้าไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่องจะเสียชีวิต เรื่องนี้เป็นเรื่องศีลธรรมที่นายกแพทย์สภาควรจะนำเข้าพิจารณาจริยธรรม และจรรยาบรรณมากกว่าที่จะเป็นองครักษ์พิทักษ์ผู้ทำผิดดังที่มีการอภิปรายกันในที่ประชุม

ต่อเรืองนี้ นายสุบิน  นกสกุล ประธานชมรมผู้ป่วยโรคไตแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า “ผู้ป่วยโรคไตทั่วประเทศรู้สึกสะเทือนใจและผิดหวังต่อพฤติกรรมของฝ่ายการเมืองที่ปกป้องแพทย์พาณิชย์ในการทำลายระบบหลักประกันสุขภาพที่ นพ.สงวน  นิตยารัมภ์พงศ์สร้างกันมากว่าสิบปี ทางชมรมผู้ป่วยโรคไตจะประชุมสมาชิกทั่วประเทศและมีมาตรการตอบโต้เรื่องนี้อย่างจริงจังจนกว่าจะมีการเปลี่ยนตัวกรรมการหลักประกันสุขภาพคนนี้ และทำให้ระบบที่กำลังจะถูกทำลายนี้กลับคืนมาเป็นระบบที่มีคุณธรรม เป็นระบบของประชาชนไม่ใช่ระบบของนักการเมืองและแพทย์พาณิชย์” ประธานชมรมเพื่อนโรคไตกล่าวเรียกร้องให้เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศร่วมเคลื่อนไหวกับชมรมแพทย์ชนบทเพื่อปกป้องระบบ สปสช.และขับไล่กลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ออกไป

       

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองทัพซีเรียเหิมหนัก รุกถล่มฝ่ายต้านในเมืองฮอม

Posted: 07 Feb 2012 03:43 AM PST

กองทัพรัฐบาลซีเรียจู่โจมเมืองฮอมด้วยอาวุธหนักเข้าใส่บ้านเรือนผู้อยู่อาศัย ทั้งจรวด ปืนครก และรถถัง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วย

6 ก.พ. 2012 - สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่ากองทัพรัฐบาลซีเรียได้รุกคืบเข้าโจมตีกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในเมืองฮอม จากการบอกเล่าของนักกิจกรรมและผู้อยู่ในเหตุการณ์ การบุกโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัสเซียและจีนคัดค้านมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีเป้าหมายต้องการหยุดความรุนแรงในซีเรีย

อาบู อับโด อัลฮอมซี นักกิจกรรมกลุ่มสภาปฏิวัติในเมืองฮอมเล่าเหตุการณ์การโจมตีของทหารให้กับผู้สื่อข่าว ขณะที่ฉากเหตุการณ์เบื้องหลังยังมีกลุ่มควันขโมงลอยขึ้นสู้ท้องฟ้า

"ที่นี่เลวร้ายมาก มีจรวดตกลงมา มีระเบิดขนาดใหญ่ที่ทำให้อาคารสั่นไหว พวกเราไม่รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกันแน่" อัลฮอมซีกล่าว

"มันเป็นการบุกโจมตีอย่างหนักหน่วง การสังหารหมู่ครั้งใหม่กำลังเกิดขึ้นที่นี่ ไม่มีใครสามารถออกไปได้ พวกเราไม่รู้ว่ามีบ้านเรือนประชาชนกี่หลังที่ถูกถล่ม ไม่รู้ว่ามีกี่คนที่เสียชีวิต" อัลฮอมซีเล่าเหตุการณ์

คณะปฏิวัติของซีเรียเปิดเผยว่าในวันที่ 6 ก.พ. มีประชาชน 15 รายถูกสังหารในฮอมและมีอย่างน้อยอีก 3 รายเสียชีวิตในเมืองอเลปโป

ภาพวีดิโอของสำนักข่าวอัลจาซีร่าที่ได้มาจากนักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลซีเรีบ เผยให้เห็นภาพซากการทำลายล้างจากการโจมตีของทหารในย่าน บับ อัมร์ ของเมืองฮอม

นักกิจกรรมและผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ทหารไล่ยิงคนในย่านดังกล่าวไม่เลือกหน้ามาตั้งแต่ช่วงเช้าวันอาทิตย์ (5 ก.พ.) ที่ผ่านมาแล้ว

การโจมตียังคงดำเนินต่อไป
ภาพในวีดิโอดังกล่าวยังได้เผยให้เห็นคนที่ถูกยิงและถูกสะเก็ดระเบิด มีภาพของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสด้วย

แดนนี่ อับดุล ดาเยม ผู้อาศัยในเมืองฮอมเปิดเผยว่า "เหตุการณ์เลวร้ายมาก มีการระเบิดอย่างต่อเนื่องไม่หยุด จากอาวุธจรวด ปืนครก และปืนรถถัง มีผู้คนมากกว่า 50 รายได้รับบาดเจ็บในย่านบับ อัมร์ ในวันนี้"

"ผมเห็นมากับตาตัวเอง เห็นเด็กที่ขาขาด เด็กที่กรามล่างขาด มันช่างเลวร้าย" ดาเยมเล่า

ทางด้านกลุ่มจับตามองด้านสิทธิมนุษยชนของซีเรียรายงานว่า ในวันที่ 6 ก.พ. ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย กลุ่มทหารหนีทัพได้บุกเข้าทำลายฐานปฏิบัติการของทหารรัฐบาล สังหารเจ้าหน้าที่ 3 ราย และจับกุมตัวทหารไว้ได้ 19 ราย

โดยเหตุบุกโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นที่หมู่บ้าน อัล บารา ในเขตเอดเลบ ซึ่งทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานว่าฝ่ายทหารหนีทัพไม่มีใครเสียชีวิต และฐานปฏิบัติการของทหารรัฐบาลถูกทำลายจนสิ้น

ตัวเลขผู้เสียชีวิตในซีเรียตอนนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 88 รายในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลระบุว่ามีประชาชนอย่างน้อย 6,000 รายในซีเรียเสียชีวิตนับตั้งแต่มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอัสซาดยาวนาน 11 เดือน

ยุโรปเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร
ขณะเดียวกันรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส ได้ออกมาแถลงว่าประเทศแถบยุโรปได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลซีเรียมากขึ้นเพื่อกดดันให้รัฐบาลซีเรียถูกทอดทิ้ง ไม่มีทางออก และเพื่อช่วยเหลือฝั่งต่อต้านรัฐบาลในซีเรีย อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสก็ยังไม่กล้าใช้มนตรการขับไล่ทูตซีเรีย เนื่องจากเกรงว่าสถานทูตฝรั่งเศสในซีเรียซึ่งมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจะได้รับผลกระทบไปด้วย

ขณะที่เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา รัสเซียและจีนก็คัดค้านมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ต้องการประณามการปราบปรามผู้ประท้วงในซีเรีย จนทำให้ทั้งกลุ่มผู้นำประเทศอื่นๆ และกลุ่มต้านรัฐบาลในซีเรียวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของทั้งสองประเทศนี้

ที่มา
Syrian army 'steps up Homs offensive' , Aljazeera, 06-02-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/02/20122614732355122.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทัศนะในวัยหนุ่มของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่าด้วยม. 112

Posted: 07 Feb 2012 01:43 AM PST

หมายเหตุ: เว็บไซต์คณะนิติราษฎร์เผยแพร่บทความจากผู้อ่าน เรื่อง ทัศนะในวัยหนุ่มของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่าด้วยม. 112 ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่อีกครั้ง

 

 

โดยส่วนตัวนั้น ข้าพเจ้าไม่รู้จัก ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร แต่ก็มีความเคารพนับถือท่านเสมอมา ถึงจะมีความเห็นต่างกับท่านในหลายเรื่องก็ตาม เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ของท่านที่ตีพิมพ์เมื่อประมาณ ๒๘ ปีก่อน เกี่ยวกับการดำเนินคดีท่านอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ตามมาตรา ๑๑๒ แล้ว ก็ยิ่งรู้สึกเลื่อมใสการแสดงความเห็นในวัยหนุ่มของท่านเป็นอย่างมาก

บทสัมภาษณ์ดังกล่าวน่าจะถือว่าเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์สำคัญชิ้นหนึ่ง ที่ทั้งผู้แก่ผู้เฒ่าและเยาวชนคนรุ่นใหม่ควรจะได้อ่านอย่างมีโยนิโสมนสิการ แม้ข้อเท็จจริงบางส่วนอาจจะล่วงสมัยไปบ้าง แต่ก็มีหลักการสำคัญอยู่หลายประการที่มีความร่วมสมัยและเป็นสากล จึงเห็นสมควรนำเนื้อหาสำคัญบางตอนจากบทสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในวัยหนุ่มมากล่าวเป็นลำดับไป โดยจะดึงใจความสำคัญของท่อนนั้นๆ ขึ้นมาเป็นหัวข้อเพื่อความสะดวกในการอ่าน อย่างไรก็ตามผู้อ่านพึงระมัดระวังว่าข้อความที่ยกมานี้แม้จะยกมาค่อนข้างยาวแต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์เท่านั้น การทำความเข้าใจให้ถูกต้องครบถ้วนตามบริบท จำต้องพิจารณาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ซึ่งสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ “ลอกคราบ ส.ศิวรักษ์” โดยกองบรรณาธิการมติมหาราษฎร์, บริษัทสำนักพิมพ์สัญลักษณ์จำกัด (กันยายน, ๒๕๒๗) หน้า ๗๑ – ๙๕.

+ + + +

ควรจะมองพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นคนธรรมดา

“ถ้าอาจารย์สุลักษณ์ได้พูดอย่างนั้น ผมเห็นด้วยในประเด็นนี้ว่าควรจะมองพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นคนธรรมดา และคนที่จะสนับสนุนความคิดนี้เป็นคนแรกก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นเพียงแต่คนบางคนจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ต้องการจะเทิดทูลสถาบันขึ้นไปให้เหนือฟ้า ผมคิดว่าถ้าได้คุยกับสมเด็จพระเทพฯ หรือพระราชวงศ์ผู้ใหญ่อื่นๆ จะเห็นว่าท่านก็เหมือนคนธรรมดา คนข้างนอกเท่านั้นที่ทำให้ท่านเหมือนลอยล้ำฟ้าไป ผมคิดว่าความดีความประเสริฐของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ก็สืบเนื่องมาจากท่านทำพระองค์เป็นคนธรรมดา และนี่เป็นสิ่งที่ประทับใจราษฎรอย่างมาก และผมคิดว่าการที่ท่านทำพระองค์เองเป็นมนุษย์ธรรมดานั้นได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก”

“ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันนี้ควรจะกระทำก็คือเพิ่มความเป็นมนุษย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระราชวงศ์ต่างๆ ผมคิดว่าควรจะทำอย่างนี้ สถาบันไม่ว่าสถาบันใด ถ้าห่างเหินกับความเป็นจริงมากเกินไป ถ้ามีช่องว่างระหว่างหลักการหรือสมมุติฐานของสถาบันกับความเป็นจริงทางสังคม ผมคิดว่าสถาบันนั้นๆ จะอยู่ไม่ได้”
 

สิ่งที่ต้องทำสำหรับคนที่ต้องการสร้างแต้มทางการเมือง

“ผมคิดว่าสำหรับคนที่จะต้องการสร้างแต้มทางการเมืองนั้น สิ่งที่เขาต้องทำก็คือ พยายามเทิดทูนสถาบันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำโน่นทำนี่เพื่อสถาบันเพื่อแสดงความจงรักภักดี ผมคิดว่าเขาอาจจะนับถือจริงก็ได้ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นการใช้สถาบันเพื่อประโยชน์ของตน ถ้าใช้สถาบันไปในทางที่สร้างสรรค์ให้เป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวมด้วยนี่ผมคิดว่าไม่เป็นไร แต่ผมคิดว่ามันมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป”


การติเพื่อก่อนั้นควรจะกระทำ

“ในส่วนตัวของผม ๆ [sic] คิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่เกี่ยวกับมนุษย์ ความเป็นมนุษย์และสังคมมนุษย์ และผมคิดว่า ไม่ว่าสำหรับสถาบันใดๆ ก็ตาม การติเพื่อก่อหรือวิจารณ์เพื่อก่อนั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรจะมีและควรจะกระทำ”

ความเข้มแข็งของสถาบันอยู่กับความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับข้อครหาข้อวิจารณ์

“ผมคิดว่าความเข้มแข็งของสถาบันอันใดอันหนึ่งนี่ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับข้อครหาข้อวิจารณ์ และถ้าข้อวิจารณ์นั้นเป็นความจริงทั้งหมด เพียงบางส่วน สถาบันนั้นควรจะสามารถปรับตัวให้ดีขึ้นได้”
 

มันเป็นข้ออ้างของคนรุ่นหลัง ๒๔๗๕ ที่อ้างว่าติสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้

“สถาบันไม่ว่าจะเป็นสถาบันกษัตริย์หรืออะไรอื่นๆ ถ้าเป็นสิ่งที่อยู่กับที่ เป็นสิ่งที่ไม่เติบโตไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ขยายตัวก็จะเป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว ผมคิดว่าอันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด ผมคิดว่ามันเป็นข้ออ้างของคนรุ่นหลัง ๒๔๗๕ ที่อ้างว่าติสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ไม่จริงที่ว่าข้อติทุกประการเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการตีความในช่วงหลัง โดยกลุ่มผู้มีอำนาจโดยเฉพาะช่วงหลังจอมพลสฤษดิ์มาแล้ว เป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่จะกำจัดทำลายพวกกลุ่มต่อต้านกลุ่มอำนาจเหล่านี้”
 

ในสมัยสุโขทัย การร้องทุกข์ของราษฎรเป็นการติการปกครองโดยสถาบัน

“ถ้ามองกลับไปตั้งแต่สมัยสุโขทัยราษฎรมีสิทธิถวายฎีกาต่อพ่อขุนฯ เขามีสิทธิร้องทุกข์ว่าอะไรเป็นธรรมอะไรไม่เป็นธรรมซึ่งส่วนหนึ่งก็หมายถึงว่าเป็นการติการปกครองโดยสถาบันนี้ แล้วก็ไม่ต้องไปไกลดูแค่รัชกาลที่ ๕ ก็ได้ สมัยนั้นปัญญาชนยังมีจำกัด ฉะนั้นข้อวิจารณ์จึงมีจำกัด แต่ก็ยังมีอยู่”

เป็นหน้าที่ลูกที่จะวิจารณ์พ่อ

“อย่างพระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ ๕ ทรงเขียนถึงปู่ผม สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรปเมื่อทศวรรษ ๑๘๙๐ เขียนไว้ในทำนองว่า “พ่อนี้เป็นคนล้าสมัย พ่อนี้อาจจะทำอะไรให้เป็นที่ขวางหูขวางตาคนเขา เป็นหน้าที่ของลูกที่จะวิจารณ์พ่อ ว่าพ่อทำอะไรผิด” เพราะฉะนั้นคอนเซฟที่ว่า เป็นเจ้าเหนือมนุษย์เหนือชีวิตเหมือนกับเทวดา มันไม่ใช่เป็นคอนเซฟเก่า”
 

ผู้ที่รักสถาบันควรจะเข้าใจประวัติศาสตร์ว่าความสำคัญของสถาบันไม่เกี่ยวกับเรื่องการมีอำนาจ

“ในหลักการนั้น การติเพื่อก่อไม่ผิดแม้ว่าในประวัติศาสตร์หรือในปัจจุบัน และผมคิดว่าผู้ที่สนับสนุนสถาบันในประเทศซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่รักสถาบันที่เทิดทูนสถาบัน ไม่ควรจะมีความอ่อนไหวมากนักเกี่ยวกับข้อติวิจารณ์ที่มาจากคนส่วนน้อย คนเหล่านี้ควรจะเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีบทบาทมีสถานะที่ลึกซึ้งมากในประวัติศาสตร์ไทย ในโลกทัศน์ของคนไทย ในวัฒนธรรมการเมืองของคนไทย ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจเลย ถึงแม้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้หมดไปแล้ว เมื่อ ๒๔๗๕ ในยุคที่เรียกประชาธิปไตยนี้ ความสำคัญของสถาบันนี้ก็ยังคงมีอยู่ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องการมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ”


ข้อวิจารณ์ไม่กี่ข้อไม่สามารถจะบั่นทอนความมั่นคงของสถาบันได้

“พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์นี้ทรงมีบารมีมาตลอด ไม่น่าคิดว่าคำพูดไม่กี่คำ ข้อวิจารณ์ไม่กี่ข้อจะสามารถบั่นทอนความมั่นคงของสถาบันได้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นความคิดที่แย่มาก ที่จริงแล้วคนที่ควรถูกจับในข้อหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นคือคนที่มีความคิดเช่นนั้น เพราะเขาทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดูเหมือนเป็นสถาบันที่อ่อนแอ ผมคิดว่าเขาเข้าใจสถาบันนี้แตะต้องไม่ได้”


สถาบันคือเกียรติภูมิของประเทศ เพราะไม่ได้ทำอะไรเลยไม่ได้ทำผิด

“อังกฤษมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่เหนือการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้ เหนือการเมืองจริงๆ มีหน้าที่เพียงทางพิธีการ นอกจากจะมีวิกฤตการณ์อันใดเกิดขึ้น ในกรณีนั้นจะเป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรมแห่งสุดท้าย นี้เป็นหน้าที่ อันนี้ก็เป็นหน้าที่ที่ดีมาก”

“อย่างถ้าดูในอเมริกาสมัยวอเตอร์เกต ปัญหาหลักคือว่าผู้นำรัฐบาลกับผู้นำประเทศเป็นคนๆ เดียวกัน ผู้นำรัฐบาลทำเสียเพราะฉะนั้นเกียรติภูมิของผู้นำประเทศก็เลยเสียไปด้วย คำว่าอำนาจของประธานาธิบดี มันลดไป ทำให้เกียรติภูมิของประธานาธิบดีสมัยต่อมาลดไปจะเกิดความยุ่งเหยิงอย่างมากที่ได้ทราบดีอยู่แล้ว แต่อย่างอังกฤษนี้รัฐบาลเป็นอะไรก็ช่าง รัฐบาลจะออกไป เกียรติภูมิของประเทศก็ยังมีอยู่ ใช่ไหมฮะ คือผู้นำประเทศก็ยังอยู่ เพราะไม่ได้ทำอะไรเลยไม่ได้ทำผิด เป็นสถาบันที่เหนือการเมืองจริงๆ”

“ผมว่านี่เป็นคอนเซฟที่เราพยายามนำมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทย แต่ว่าก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะว่าคนหลายกลุ่มพยายามใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นประโยชน์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ส่วนรวมในการตีความของตน”

“ที่อังกฤษนี้ การศึกษาประวัติศาสตร์เป็นไปในทางวิชาการเป็นอย่างมาก และก็กษัตริย์ไหนที่ไม่ดีก็บอกว่าไม่ดี กษัตริย์ไหนดีก็บอกว่าดี คือเป็นไปในทางวัตถุวิสัยมาก ควีนอลิซาเบธทำอะไรไม่ชอบไม่ควร ปริ๊นซชาร์ล ปริ๊นซแอนดรูร์หรือปริ๊นแซสแอนด์ซึ่งทำอะไรไม่ดี คนเขาก็ติ จุดนี้ก็มีผลเหมือนกันทำให้ เจ้านายระวังพระองค์มากขึ้น ที่จะทำอะไร เมื่อเป็นคนในสายตาสาธารณชนก็ต้องระวังตนเข้าไว้”

ไม่ควรมีข้อวิจารณ์ส่วนพระองค์เลย

“ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดนะฮะ ไม่ควรจะมีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องส่วนพระองค์เลย เรื่องส่วนตัวผมหมายถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติ หรือความมั่งคงของชาติ ข้อวิจารณ์นั้นผมคิดว่าควรจะมีบ้าง แต่หนึ่งต้องเป็นข้อวิจารณ์ที่ต้องมากจากการวิเคราะห์ในทางวัตถุวิสัย และในทางวิชาการเป็นศาสตร์มากที่สุดด้วย และก็สองควรเป็นการติเพื่อก่อ คิดว่าสิ่งเหล่านี้นี่ในที่สุดจะทำให้สถาบันมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นในอนาคต”

ไม่มีสถาบันไหนอยู่ได้โดยไม่มีการปรับตัว

“ไม่มีสถาบันไหน อยู่ได้โดยไม่มีการปรับตัวหรือยอมรับข้อมูลจากภายนอก มีศัพท์รัฐศาสตร์อันหนึ่งเขาเรียกอาโทรฟี่ (ATROPHY) คือบางสิ่งบางอย่างถ้าไม่ได้รับปัจจัยจากภายนอก มักจะเหี่ยวเฉา ผมยังไม่คิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงขั้นนั้น แต่ผมคิดว่าสถาบันทั่วๆ ไปแล้วถ้าไม่ได้รับอินพุท (INPUT) จากข้างนอกอย่างเพียงพอไม่ได้หายใจ ไม่ได้กินน้ำสูดอากาศไม่ได้รับอาหารจะต้องเหี่ยวเฉาตายไป”

นิยามการติเพื่อก่อเป็นเรื่องของผู้ร่างกฎหมายซึ่งก็คือประชาชน

“ในแง่หลักการ การติเพื่อก่อควรจะมีขึ้นได้ ส่วนจะนิยามความหมายว่าอะไรคือการติเพื่อก่อ อะไรไม่ใช่นี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องผู้ที่ทำกฎหมาย ผู้ที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งก็หมายถึงประชาชน ถ้าเรายังยึดระบอบประชาธิปไตยอยู่”


โทษควรลงสถานเบา นอกจากพิสูจน์ว่าเป็นกบฏ

“เมื่อจับเขา [ส.ศิวรักษ์] แล้วนี้ ผมคิดว่าให้ถูกต้องที่สุดให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป เพราะลงถ้าจับเขาแล้วไม่ดำเนินการตามกฎหมายมันก็ผิดทุกทางเพราะว่า หมายความว่าเขาไม่ผิดปล่อยตัวเขาเดี๋ยวนี้แสดงว่าเขาไม่ผิดจริงใช่ไหม และถ้าเขาไม่ผิดจริงแล้วทำไมไปจับเขา เมื่อตัดสินใจจับไปแล้วนี้มันปวดหัว มันยากจริงๆ”

“แต่ผมคิดว่า โทษนั้นควรจะอยู่ในสถานเบา นอกจากจะพิสูจน์ได้ว่าเจตนารมณ์เขาไม่ดี มีเจตนารมณ์ที่จะโค่นสถานบันสำคัญๆ ของชาติ คือพูดง่ายๆ ว่าเป็นกบฏ ผมคิดว่าควรให้โทษสถานเบาถ้าเขาผิดจริง หลังจากลงโทษแล้ว ก็อาจมีการนิรโทษกรรมได้”

ยิ่งจับเขายิ่งทำให้เขาเป็นวีรบุรุษ ผลก็ตรงกันข้ามกับที่คนเทิดทูนสถาบันต้องการ

“มีคนเล่าสู่กันฟัง ผมไม่ทราบเป็นจริงแค่ไหน เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วนี้ก็เคยมีตำรวจจะไปจับอาจารย์สุลักษณ์ แล้วผู้ห้ามปรามเอาไว้ก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยตรัสว่าจับเขาไปทำไม ปล่อยให้เขาพูดไปเถอะ ในที่สุดคนก็ไม่ฟังเขาไปเอง อะไรทำนองนี้นะฮะ ยิ่งจับเขายิ่งทำให้เขาเป็นวีรบุรุษไป ผมคิดว่าถ้าพระองค์ท่านทรงตรัสคำพูดดังกล่าวนะฮะ ผมคิดว่าเราควรจะยึดมั่นในคำตรัสของท่าน การจับนี้ยิ่งทำให้อาจารย์สุลักษณ์เป็นวีรบุรุษและทำให้มีคนอยากอ่านลอกคราบสังคมไทยมากขึ้น และถ้าคนที่ถูกจับเพราะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วออกมาเป็นวีรบุรุษ ผลก็ตรงข้ามกับที่คนเทิดทูนสถาบันต้องการ”

+ + + +

จะว่าไปแล้ว ข้อความข้างต้นทั้งหมดนี้ หากไม่บอกว่าเป็นเรื่องเมื่อเกือบ ๓๐ ปีก่อน และหากลบชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กับท่านอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ออก เชื่อได้ว่าท่านผู้อ่านคงจะนึกว่าเป็นบทสัมภาษณ์ไม่เกิน ๓ วันที่ผ่านมา และก็อาจจะนึกไปด้วยว่าน่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ท่านใดท่านหนึ่งในคณะนิติราษฎร์เป็นแน่ เพราะเนื้อหาที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิจารณ์มิได้บั่นทอนความมั่นคงแต่จะทำให้สถาบันมั่นคงยิ่งขึ้น, สถาบันคือเกียรติภูมิของประเทศ, ประวัติศาสตร์การใช้การตีความเพื่อประโยชน์ทางการเมือง, การวิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้, การห้ามวิจารณ์เรื่องส่วนพระองค์, ความสำคัญของสถาบันมิได้อยู่ที่การมีอำนาจ เป็นต้น ล้วนแต่สอดคล้องกับหรือเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เกือบจะทั้งหมด ในแง่นี้ บทสัมภาษณ์ดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าฐานความคิดของข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ได้ดำรงอยู่ในแวดวงปัญญาชนมาข้านานแล้ว มิใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด ดูเหมือนว่าคุณูปการสำคัญของคณะนิติราษฎร์คือการทำให้กระแสความคิดเชิงนามธรรมที่มีอยู่แล้วนั้นกลายเป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นมา

และสุดท้ายนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งคือ ทุกครั้งที่มีใครออกมาอธิบายเรื่องทำนองนี้ ก็เป็นที่คาดหมายได้ทันทีว่าจะมีกระบวนการปลุกปั่นอย่างไร้ยางอายและไร้เหตุผลว่าผู้ที่อธิบายนั้นกระทำการล้มเจ้าบ้าง เนรคุณบ้าง คิดโค่นสถาบันบ้าง สุดแท้แต่อกุศลจิตที่ท่านนั้นๆ จะมีอยู่ในการสรรหาถ้อยคำมาลดความมีเหตุผลของมนุษย์ ซึ่งในเรื่องนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แม้จะอยู่ในราชนิกุลก็คงจะประสบปัญหาเช่นกัน จึงได้กล่าวปิดท้ายการสัมภาษณ์ว่าตนมิได้คิดโค่นสถาบันแต่อย่างใด ด้วยข้อความที่ยึดยาวอย่างไม่ควรจะเป็น ดังนี้

“ที่ผมให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ก็ไม่ใช่อะไร ผมคิดว่าการที่ผมเกิดมาในสายเลือดเจ้า ควรเป็นข้อพิสูจน์อย่างแน่วแน่ว่า ผมนั้นจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าผมคิดโค่นหรือบั่นทอนสถาบันนี้ ก็หมายความว่าในที่สุดแล้วผมพยายามลบล้างตัวเอง ลบล้างรากเหง้าของตระกูลผม ลบล้างวัฒนธรรมแนวความคิดของผมทุกประการ รวมทั้งลบล้างวิญญาณของผมเอง ฉะนั้น ผมคิดว่าอันนี้คงไม่เกิดขึ้นได้”

“อีกประการหนึ่ง บรรพบุรุษผมได้เข้ารับใช้ราชการด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดีมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปู่ผมนับได้ว่าเป็นพระบิดาองค์หนึ่งของกองทัพไทยมาตลอด อันนี้ควรจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีเช่นกันว่าเจตนารมย์ [sic] ของผมไม่ใช่เป็นเจตนารมย์ [sic] ที่ไม่ดี ตรงกันข้าม ผมให้สัมภาษณ์ด้วยความหวังดีและความห่วงใยเป็นการติเพื่อก่อ ไม่มีเจตนาที่จะดูหมิ่นแต่อย่างใด”.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บรรณาธิการ "อิระวดี" เยือนพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ

Posted: 07 Feb 2012 01:29 AM PST

หวังเข้าไปดูสถานการณ์สื่อในพม่า ท่ามกลางกระแสปฏิรูปรอบล่าสุด เป็นการกลับบ้านเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี หลังออกจากประเทศหลังเหตุการณ์ 8888 โดยมีกำหนดพบปะกับบรรณาธิการสื่อต่างๆ ในย่างกุ้ง

ออง ซอว์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการนิตยสารอิระวดี เดินทางเข้าไปในพม่าในวันอังคารนี้ (7 ก.พ.) นับเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ เพื่อการประเมินสถานการณ์สื่อในประเทศท่ามกลางกระแสปฏิรูประลอกล่าสุด

ออง ซอว์ เดินทางโดยวีซ่าประเภทผู้สื่อข่าว ซึ่งสามารถอยู่ในพม่าได้ 5 วัน เขากล่าวว่าเขาจะเข้าไปพบบรรณาธิการและผู้ประกอบธุรกิจด้านการพิมพ์ในย่างกุ้ง เพื่อสนทนากันในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสื่อในพม่า นับตั้งแต่มีการตั้งรัฐบาลพลเรือนนอมินีเต็งเส่งเมื่อปีที่ผ่านมา

ออง ซอว์ ซึ่งเขียนบทความและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับพม่า ตีพิมพ์ในนิตยสารอิระวดีและสื่อต่างประเทศอื่นๆ รวมทั้ง วอลสตรีทเจอนัล การ์เดี้ยน และฟอเรน โพลิซี กล่าวว่า เขารู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับการคาดหวังในการกลับบ้านเกิดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่จากมาเดือนกันยายนปี 2531

"ผมมีความต้องการเสนอที่จะกลับพม่าในฐานะผู้สื่อข่าว" ออง ซอว์กล่าว "คาดว่าจะยุ่งมากๆ ที่จะได้พบกับเพื่อนผู้สื่อข่าวและอาจจะได้พบกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล"

นิตยสารอิระวดีก่อตั้งในปี 2537 เป็นสื่ออิสระอยู่นอกประเทศพม่า ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรทางการเมืองใดๆ

 

ที่มา: Irrawaddy Editor on Trip to Burma By THE IRRAWADDY Tuesday, February 7, 2012

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ชวน" แนะใช้เงินทักษิณชดเชยเสื้อแดง เพราะมาชุมนุมเพื่อทักษิณ

Posted: 07 Feb 2012 12:56 AM PST

พร้อมเสนอให้ชดเชยผู้เสียชีวิตกรณีภาคใต้ด้วย เพราะความเสียหายเกิดจาก "ระบบฆ่าทิ้ง" และ "นโยบายโจรกระจอก" สมัยทักษิณ ชี้กรณีชดเชยเสื้อแดงต้องแยกให้ออก ไม่ใช่เอาถาษีชาวบ้านไปชดเชยพวกที่ทำเพื่อตัวเอง ด้าน "อภิสิทธิ์" ชี้งานเลี้ยง ศปภ. กระทบความรู้สึกคนจำนวนมาก หลายคนยังรอการเยียวยา แต่คนมีหน้าที่การงานกลับมาเลี้ยงฉลองกัน

ชวนแนะใช้เงินทักษิณจ่ายเสื้อแดง เพราะมาชุมนุมเพื่อทักษิณ

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานเมื่อวานนี้ (6 ก.พ.) ว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกรณีคณะกรรมการอิสลามประจำ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เท่าเทียมการจ่ายเงินเยียวยาคนเสื้อแดง 7.5 ล้านบาทว่า

รัฐบาลต้องแยกแยะเพราะผู้เสียหายจากการชุมนุมที่กรุงเทพนั้นคนละเรื่องกัน เพราะกรณีของภาคใต้นั้นเป็นเรื่องความเสียหายจากนโยบายที่ต้องย้อนกลับไปในปี 2544 ที่ผิดพลาดจากนโยบายที่ใช้ระบบฆ่าทิ้ง และนโยบายโจรกระจอก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯถ้าจะมีการชดเชยก็ต้องเอาเงินของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯมาชดเชยเพราะผู้ชุมนุมมาเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งต้องแยกกันให้ออก ไม่ใช่เอาภาษีชาวบ้านไปชดเชยพวกที่ทำเพื่อตัวเอง เพราะฉะนั้นความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์ที่กรือเซะและตากใบเท่านั้น ซึ่งมีผลพวงจนถึงวันนี้ 5 พันกว่าคน ที่มาจากผลพวงของนโยบายรัฐบาลไม่ใช่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ

"เพราะฉะนั้นเราต้องแยกประเด็นให้ออก ไม่ใช่จะใช้วิธีช่วยพรรคพวกตัวเอง แล้วเอาที่อื่นมากลบเกลื่อน ทำไม่ได้ และการที่รัฐบาลอ้างว่า กรณีภาคใต้ไม่เกี่ยวกับนโยบายรัฐแต่ในกรุงเทพฯรัฐต้องเข้าไปรับผิดชอบนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่เขามาก็เพื่อเรียกร้องให้มาเพื่อล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แต่กรณีภาคใต้ ก็ถือเป็นนโยบายโจรกระจอก ซึ่งเรื่องนี้พ.ต.ท.ทักษิณก็ได้ยอมรับด้วยตัวเองในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เสตรทไทม์ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือนพ.ย.54 ว่าผิดพลาด ซึ่งเรื่องนี้คนที่ทำก็ยอมรับแล้วจะให้แก้ตัวแทนก็คงฟังไม่ขึ้น และย้ำจุดยืนของพรรคไม่เห็นด้วยที่จะจ่ายชดเชย 7.5 ล้านบาทให้กับคนเสื้อแดง เพราะเขามาเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย เงินของท่านเยอะแยะต้องไปใช่เป็นส่วนตัวไม่ใช่เอาเงินภาษีประชาชนมาจ่ายแทน สิ่งที่เขาทำก็เพื่อพวกท่านทั้งหลาย" นายชวนกล่าว

 

อภิสิทธิ์ชี้งานเลี้ยง ศปภ. กระทบความรู้สึกคนจำนวนมาก ไม่ทราบจริงๆ มีเป้าประสงค์อะไร

ขณะเดียวกันในวันนี้ (7 ก.พ.) เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel กรณีงานเลี้ยงที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 10 ก.พ.นี้ มีการได้เชิญผู้นำฝ่ายค้านด้วยหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ไม่ได้รับเชิญ และตนไม่ทราบว่าการจัดเลี้ยงครั้งนี้มีเป้าประสงค์อะไร ซึ่งหากเป็นการเลี้ยงเพื่อตอบแทนคนทำงานแล้วก็สามารถทำได้ในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องหรูหรา แต่การจัดงานเลี้ยงนี้เพื่อแสดงให้เห็นความสำเร็จของการทำงานของ ศปภ.แล้ว ตนก็เห็นว่าอาจกระทบความรู้สึกของคนจำนวนมาก

“ผมไม่ทราบจริง ๆ นะครับว่าการจัดครั้งนี้เป้าประสงค์จริง ๆ คืออะไร ผมคิดว่าถ้าจะเป็นการตอบแทนคนทำงานก็สามารถทำได้ในรูปแบบซึ่งไม่หรูหรา และไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปเลี้ยงบุคคลภายนอก แต่ถ้าการจัดงานเลี้ยงนี้เหมือนแสดงให้เห็นว่า ศปภ. ได้ทำงานมาแล้วประสบความสำเร็จ ผมว่ามันก็กระทบความรู้สึกของคนจำนวนมาก เพราะหลายคนที่เดือดร้อนกับปัญหาการบริหารจัดการปีที่แล้ว หลายคนที่ยังรอคอยความช่วยเหลือการเยียวยา แต่คนที่มีหน้าที่ในการทำงานกลับเหมือนกับมาเลี้ยงฉลองกัน ผมว่าก็เป็นความคิดที่ไม่ดี”

ส่วนเรื่องการเชิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษมาเป็นประธานในงานนี้จะเป็นการส่งสัญญาณอย่างไรนั้น นายอภิสิทธิ์ตอบว่าไม่ทราบว่าแนวคิดเรื่องการเชิญนั้นเป็นมาอย่างไร ตนเห็นว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราคิดว่างานเลี้ยงนี้เหมาะสมที่จะจัดหรือไม่อย่างไร

“ผมไม่ทราบว่าแนวคิดเรื่องการเชิญประธานองคมนตรีนั้นเป็นมาอย่างไร จะมีนัยยะหรือมีผลทางการเมืองหรือไม่นั้น ผมคิดว่าประเด็นสำคัญยังอยู่ที่ว่า เราคิดว่างานเลี้ยงนี้เหมาะสมที่จะมีหรือเปล่า ก่อนที่จะเชิญบุคคลมาเป็นประธาน ผมมองว่าขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่จะมาจัดเลี้ยงอะไรกันอย่างนี้ การจะขอบคุณคนทำงานผมคิดว่าทำได้หลายรูปแบบแต่ถ้าเกิดมาเป็นงานเลี้ยงที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่า อ๋อ นี่จะเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จแล้ว ผมคิดว่าไม่น่าทำเลย”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิวาทะอุปนายก-รองอุปนายก อมธ.: ความเห็นส่วนตัว-ในนามองค์กร?

Posted: 07 Feb 2012 12:09 AM PST

อธิการบดี มธ.โพสต์ จม.จาก "อมธ." เสนอทำประชามติห้ามใช้พื้นที่ มธ.เคลื่อนไหวการเมืองและม. 112 ด้านอุปนายกฯ โพสต์แจงเป็นความเห็นส่วนตัวของรองอุปนายกฯ แต่ใช้หัวกระดาษองค์กร

(7 ก.พ.55) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการโพสต์ภาพจดหมายซึ่งใช้หัวกระดาษขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ลงชื่อโดยภาณุพงศ์ รอดทอง รองอุปนายก อมธ. เรื่อง "เสนอให้ลงมติโดยนักศึกษาในการใช้พื้นที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและเรื่องมาตรา 112" โดยสมคิดระบุว่า "เช้านี้ได้รับหนังสือจากรองอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่านศ.ส่วนใหญ่ในมธ.เห็นด้วยกับท่าทีของมหาลัย"


ภาพจดหมายที่ถูกโพสต์ในวอลล์ของสมคิด

เนื้อหาในจดหมายดังกล่าว ลงวันที่ 6 ก.พ.55 ระบุว่า "เนื่องด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีความประสงค์ที่จะแสดงให้คนภายนอกเห็นถึงความมีเสรีภาพและเพื่อลดแรงกดดันต่อคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทางองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) จึงมีความคิดเห็นว่าให้จัดการลงมติโดยนักศึกษาเพื่อแสดงจุดยืนให้คนภายนอกทราบว่าไม่เพียงแต่คณะผู้บริหารที่มีมติเพื่อป้องกันเหตุรุณแรงที่จะเกิดขึ้น ทั้งนักศึกษาส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยเนื่องจากพื้นที่การศึกษานี้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือนักศึกษา ในเมื่อเรามี กกต.ที่สามารถดำเนินการได้ทันที องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งในการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ทั้งไม่มีผลประโยชน์และพวกที่มีผลประโยชน์แอบแฝง จึงเรียนมาเพื่อขอความอนุเคราะห์ไตร่ตรองขอเสนอ"

ทั้งนี้ ท้ายจดหมายฉบับดังกล่าว สมคิดเขียนด้วยลายมือว่า "การลงมติโดย นศ.เห็นว่าทำได้ และผมใคร่ขอให้ นศ.เป็นผู้ดำเนินการครับ" ลงวันที่เดียวกัน

จากนั้น รักษ์ชาติ์ วงศ์อธิชาติ อุปนายก อมธ. แสดงความเห็นต่อโพสต์ดังกล่าวว่า "จดหมายดังกล่าวเป็นการแอบอ้างใช้กระดาษหัวองค์การของราชการ และไม่ใช่มติขององค์การนักศึกษา" แต่ต่อมาข้อความดังกล่าวถูกลบไป จึงเขียนชี้แจงอีกครั้งในเฟซบุ๊กของตนเอง มีใจความว่า "ผมขอชี้แจงอีกรอบ ว่าจากจดหมายที่ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอามาลงนั้น เกิดจากความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเพียงผู้เดียว ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทางองค์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผู้เขียนนำหัวกระดาษมาเขียนเพื่อเป็นเอกสารทางการ

"การกล่าวอ้างว่า"นักศึกษาส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย" นั้นไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด น่าจะเกิดจากความเห็นส่วนตัว เพราะไม่มีการลงมติใดๆจากนักศึกษาเลย

"ผมได้ทำการชี้แจงลงบนหน้าวอลล์โพสต์ของท่านอธิการบดีสมคิด ก็กลับถูกลบไปอย่างรวดเร็ว (ตอนนี้ไปเขียนเพิ่มอีกนิดแล้ว ไม่รู้ว่าจะโดนลบอีกเมื่อไร) ผมจึงอยากชี้แจงในวอลล์ตนเองอีกครั้ง

"ผมเชื่อว่าองค์การนักศึกษายังคงยืนยันแถลงการณ์เดิมเพื่อให้ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทบทวนมติที่ออกไป และยังไม่มีแถลงการณ์อื่นใดต่อจากนั้น

"นี่คือการกระทำที่แอบอ้าง โดยการใช้ชื่อองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำให้เกิดการเข้าใจผิด บิดเบือน เป็นความจงใจกลั่นแกล้งทางการเมืองที่ไร้ซึ่งศักดิ์ศรีท่ามกลางช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายควรใช้เหตุผลในการหาทางออก มิใช่การแอบอ้างเพื่อสร้างความเข้าใจผิดและความแตกแยกต่อองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

ต่อมา ภาณุพงศ์ รอดทอง แสดงความเห็นในโพสต์เดียวกันของสมคิด ชี้แจงเพิ่มเติมว่า "สมาชิก อมธ.ท่าพระจันทร์ จากกหนังสือที่ส่งไปเป็นการประชุมและลงความเห็นอย่างถูกต้องตามกระบวนการโดยมีฝ่ายต่างๆ ไม่ได้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวแต่อย่างใด พวกเราหวังเพียงหากพวกท่านมั่นในหลักการประชาธิปไตยที่หลายๆท่านเรียกร้อง เราเสนอให้ลงมติเพื่อจะลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นทุกคนก้อ้างไปอ้างมา อยู่เช่นนี้ บางท่านไปออกทีวีขึ้นว่า ตัวแทนนักศึกษาธรรมศาสตร์ ทั้งที่จริงสิ่งเหมาะสมที่สุด คือนายก อมธ. เพราะมาจากการเลือกตั้ง นั่นไม่ใช่เสียงทั้งหมดแต่ก็มาจากกระบวนการประชาธิปไตย ใช่ไหมครับ มีคนบอกว่า เรียนแล้วไม่คิดเสียเวลา คิดโดยไม่ได้เรียน อันตราย สิทธินั้นคู่กับเสรีภาพแต่อีกอย่างคือไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น? ด้วยความเคารพทุกท่าน"

ล่าสุด รักษ์ชาติ์เขียนถามถึงกระบวนการลงมติดังกล่าวในวอลล์ของตนเอง เนื่องจากตนเองไม่เคยรับทราบการประชุม พร้อมโต้ว่า ที่รองอุปนายกฯ ระบุว่าตัวแทนนักศึกษาต้องเป็นนายกซึ่งมาจากการเลือกตั้งนั้น เขาบอกว่าตนเองก็มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน ขณะที่ตำแหน่งรองนายกมาจากการแต่งตั้ง ซึ่งหากจะอ้างความชอบธรรมว่าตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งควรจะเป็นตัวแทนนักศึกษา เช่นนั้นแล้ว รองอุปนายกมีความชอบธรรมใดในการออกมติ ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า เขาออกสื่อโดยใช้ชื่อว่าตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ชี้แจงว่าได้บอกทุกรายการที่ไปออกว่าเขาพูดในนามส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวกับ อมธ.แต่อย่างใด
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น