โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลฎีกาญี่ปุ่นตัดสิน-การบังคับร้องเพลงชาติชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

Posted: 10 Feb 2012 01:01 PM PST

จากที่มีครูและนักวิชาการ 375 คนฟ้องร้องต่อศาลญี่ปุ่นว่าการบังคับให้ร้องเพลงชาติในโรงเรียนขัดต่อหลักเสรีภาพ ทางศาลฎีกาของญี่ปุ่นได้สั่งยกฟ้อง และมีคำสั่งว่าการบังคับร้องเพลงชาติเป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญ

10 ก.พ. 2012 เว็บไซต์ Japan Today รายงานว่าศาลฏีกาญี่ปุ่นสั่งยกฟ้องคำร้อง 2 คดีที่มาจากครูและนักวิชาการด้านการศึกษา 375 คน ที่ฟ้องร้องให้หยุดการบังค้บให้ร้องเพลง "คิมิงะโยะ" ซึ่งเป็นเพลงชาติของญี่ปุ่น ในโรงเรียน โดยศาลมีมติเห็นชอบ 4-1 ว่าการบังคับร้องเพลงชาติดังกล่าวเป็นสิ่งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

โดยประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาานาแล้วในญี่ปุ่นเนื่องจากมีครูบางคนที่ไม่ยอมยืนร้องเพลง "คิมิงะโยะ" ในโรงเรียน ในหลายกรณี ครูที่ต่อต้านเพลงนี้จะถูกตำหนิ ถูกตัดเงินเดือน หรือถูกสั่งพักงาน

คำประกาศของศาลในวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการอ้างย้ำถึงการตัดสินของศาลสูงโตเกียวเมื่อปีที่แล้ว ที่ยืนยันว่าการบังคับให้ร้องเพลงชาติในโรงเรียนนั้นเป็นไปตามแนวทางรัฐธรรมนูญ และปฏิเสธไม่สั่งห้ามการบังคับร้องเพลงชาติของเด็กและพนักงาน

ศาลญี่ปุ่นกล่าวในคำตัดสินอีกว่าการสั่งให้ครูร้องเพลง "คิมิงะโยะ" ไม่ได้เป็นการละเมิดเสรีภาพทางความคิด ตามที่กลุ่มผู้ฟ้องร้องคดีนี้อ้างถึง

จากข้อมูลของสารานุกรมวิกิพีเดียไทยระบุว่า "แม้ว่าเพลงคิมิงะโยะจะเป็นเพลงชาติของญี่ปุ่นโดยพฤตินัยมานานแล้วก็ตาม แต่การรับรองฐานะทางกฎหมายเพิ่งจะมีขึ้นในปี ค.ศ. 1999 จากการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยธงชาติและเพลงชาติของญี่ปุ่นในปีนั้น ซึ่งหลังจากการผ่านกฎหมายดังกล่าว ก็ได้มีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการขับร้องและบรรเลงเพลงชาติในโรงเรียนต่างๆ ของญี่ปุ่นขึ้น กล่าวคือ เพลงคิมิงะโยะถูกอ้างถึงในฐานะสัญลักษณ์ของลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิทหารของญี่ปุ่น"

ที่มา

Supreme Court rules making teachers sing 'Kimigayo' is constitutional, Japan Today, 10-02-2012
http://www.japantoday.com/category/national/view/supreme-court-rules-making-teachers-sing-kimigayo-is-constitutional

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ปมที่ดินสวนปาล์มสุราษฎร์ระอุ ชาวบ้านไร้ที่ดินถูกยิงถล่มด้วยอาวุธสงคราม

Posted: 10 Feb 2012 11:51 AM PST

ปมขัดแย้งรัฐ-นายทุน-ชาวบ้าน กรณีที่ดินสวนปาล์มสุราษฎร์ระอุ สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เข้าทำกินในที่ดิน ส.ป.ก.ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ใช้อาวุธสงครามยิงถล่ม โชคดีไร้เจ็บ-ตาย ชาวบ้านเชื่อกลุ่มอิทธิพลเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐ

 
 
เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2555 เวลา 14.00 น. ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในพื้นที่หมู่ที่ 5 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี บนพื้นที่ 7,500 ไร่ ของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่เกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เข้าไปขยายพื้นที่ทำการเกษตรโดยอยู่ในความรับรู้ของ ส.ป.ก.และคณะทำงานแก้ปัญหาที่ดินทำกิน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้คนจน ตามนโยบายของรัฐบาล
 
สมาชิกกลุ่มเกษตรกร ของ สกต.ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ได้เข้าไปทำการรังวัดพื้นที่เพื่อแบ่งที่ดินให้กับสมาชิกทำการเกษตร ก่อนหน้านั้นเวลาประมาณ 12.00 น.ได้เห็นว่ามีรถสายตรวจ 191 จาก อ.เขาพนม จ.กระบี่ ขับเข้ามาตามถนนสายหลักในสวนปาล์มพร้อมรถกระบะโฟร์วิลล์ สีฟ้า 4 ประตู ในรถมีชายฉกรรจ์นั่งมาประมาณ 10 กว่าคน ทราบภายหลังว่าเป็นชุด ชรบ.หมู่บ้านเขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ และอีกคันเป็นรถ อีซูซุ ตอนครึ่งสีบรอน ไม่ทราบจำนวนคนแน่ชัด รถทั้งสองคันไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน รถทั้งหมดได้ขับเข้ามาวนเวียนดูการทำงานของสมาชิกกลุ่มเกษตรกรสองสามรอบจากนั้นก็ขับกลับไป 
 
ต่อมาเมื่อเวลาเกิดเหตุ 14.00 น. รถกระบะสีฟ้าคันดังกล่าวขับกลับมาส่งกลุ่มชายฉกรรจ์บริเวณถนนห่างจากจุดที่สมาชิกของ สกต.ทำงานอยู่ประมาณ 60 เมตร พร้อมอาวุธปืนสงคราม เอ็ม 16 เอสเค จากนั้นกลุ่มชายฉกรรจ์ได้ยิงกราดไปทางสมาชิก สกต.ทำให้สมาชิก สกต.ต้องหมอบราบลงกับพื้นดิน และบางส่วนต้องถอยลงไปหมอบอยู่ในคูน้ำใกล้ๆ ทำให้รอดพ้นวิถีกระสุน หลังระดมยิงราว 3 ชุด ประมาณ 5 นาที รถคันเดิมก็ได้ขับเข้ามารับกลุ่มชายฉกรรจ์ออกไปจากที่เกิดเหตุ ส่วนสมาชิกกลุ่มเกษตรกรโชคดีที่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นการใช้ความรุนแรงเป็นครั้งแรก หลังจากมีกระแสข่าว และมีคนงานของบริษัทเจ้าของสวนปาล์มในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งเรื่องที่ดินกับ สกต.เข้ามาข่มขู่คุกคามด้วยคำพูด มาโดยตลอด 
 
นายสมศักดิ์ เพชรจุ้ย สมาชิก สกต.กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้รายงานไปทาง สภ.ชัยบุรีแล้วแต่ไม่ได้แจ้งความ เพราะความรุนแรงที่กลุ่มอิทธิพลกระทำต่อชาวบ้านสมาชิก สกต. ที่ผ่านมาไม่ว่ากรณีที่เกิดเหตุเผาบ้านสมาชิกที่ชุมชนคลองไทร หรือที่ชุมชนไทรงามเองคดีมักไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นจึงไม่อยากแจ้งความ
 
ส่วนนายวรวุธ วุฒิ สมาชิก สกต.แสดงความเห็นว่า การปฏิบัติการครั้งนี้ของกลุ่มอิทธิพลทำให้มองเห็นการทำงานและการหาผลประโยชน์ ที่เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนของ อ.เขาพนม แต่จุดเกิดเหตุอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.ชัยบุรี อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี 
 
“เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ ก็เหมือนดูถูกการทำงานของเจ้าหน้าที่ สภ.ชัยบุรีด้วยเช่นกัน ทางรัฐบาลเองก็ต้องเข้ามาดูแลกำกับการทำงาน และจัดการกับเจ้าหน้าที่เลวๆบางส่วนที่ไปร่วมมือหาผลประโยชน์จากกลุ่มอิทธิพล มาทำร้ายชาวบ้าน” นายวรวุธกล่าว
 
ทั้งนี้ พื้นที่สวนปาล์มดังกล่าวกรมป่าไม้ได้เคยอนุญาตให้บริษัทเอกชนเช่าทำสวนปาล์ม และต่อมาเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าแล้ว ได้มีเกษตรกรเข้าชุมนุมในพื้นที่เรียกร้องไม่ให้ต่อสัญญาเช่าให้กับนายทุน จนเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับนายทุน ล่าสุดพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของ ส.ป.ก.และอยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทเอกชน 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข

Posted: 10 Feb 2012 09:20 AM PST

จุดที่เราต้องการเรียกร้องคือ สิทธิในการประกันตัว ไม่ได้หมายความเราต้องการถึงขั้นที่จะไปเปลี่ยนแปลง ยกเลิกหรือละเมิดอำนาจศาล คือถ้าศาลจะเปลี่ยนคำวินิจฉัย ก็เป็นเพราะดุลยพินิจของศาลเอง เพียงแต่ผมแสดงเพื่อประท้วงให้เห็นว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลไม่ให้สิทธิในการประกันตัวของพ่อผม ซึ่งยื่นไปทั้งหมด 7 ครั้งแล้ว

9 ก.พ. 55, ให้สัมภาษณ์ประชาไทก่อนเริ่มอดอาหาร 112 ชั่วโมงในวันที่ 11 ก.พ.

เครือข่ายผู้ป่วย-คนงาน ค้านประชาพิจารณ์ร่าง กม.สถาบันความปลอดภัย

Posted: 10 Feb 2012 07:07 AM PST

 

(10 ก.พ.55) ที่กระทรวงแรงงาน นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ป่วยฯ ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.... ซึ่งกระทรวงแรงงานจะจัดสัมมนาประชาพิจารณ์ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กทม.

โดยเครือข่ายผู้ป่วยฯ ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีข้อเสนอให้องค์กรกลางเช่นสำนักงานปฎิรูปกฎหมาย เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นรอบด้านทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง แรงงานในและนอกระบบ ซึ่งการจัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังเพียงครั้งเดียวจะถือเป็นประชามติไม่ได้ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการบรรจุเรื่องการรับเรื่องราวร้องทุกข์ในอำนาจหน้าที่ของสถาบันฯ และที่มาของคณะกรรมการบริการให้มาจากการสรรหาด้วย

//////////////

 

รายละเอียดของหนังสือดังกล่าวมีดังนี้

10 กุมภาพันธ์ 2555

เรื่อง ขอเสนอความเห็นต่อ การจัดเวทีไตรภาคีรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พรฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ......

เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์)
สำเนาถึง 1. อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
              2. ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน แห่งชาติ

ด้วยสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้จัดเวทีเสวนารับฟังความเห็นต่อ พรฏ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ... เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มติรับฟังความเห็นในวันนั้นไม่เห็นด้วยกับเวทีประชาพิจารณ์ พรฎ.สถาบันฯของกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 ที่จะจัดขึ้น ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ในหลายข้อ ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้มอบหมายให้สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ทำหนังสือคัดค้านชี้แจงข้อเสนอดังนี้ คือ

ข้อเสนอที่ 1 เวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น ในส่วนเครือข่ายผู้ใช้แรงงานได้เสนอให้องค์กรกลางเช่นสำนักงานปฎิรูปกฎหมาย เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น

ข้อเสนอที่ 2 การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นควรจะต้องทำให้รอบด้านของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง แรงงานในและนอกระบบ ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศรวมกันกว่า 34 ล้านคน (ในระบบประมาณ 10 ล้านนอกระบบประมาณ 24ล้าน) การจัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังเพียงครั้งเดียวจะถือเป็นประชามติไม่ได้

ข้อเสนอที่ 3 เวทีประชาพิจารณ์ครั้งนี้บนเวที ไม่มีตัวแทนฝ่ายผู้ใช้แรงงานที่รู้เรื่อง ที่ไปที่มาเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พรฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ และเป็นความต้องการของเครือข่ายผู้ใช้แรงงานองค์กรภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวผลักดัน การจัดตั้งสถาบันฯ มายาวนานถึง 19 ปี หลังจากเหตุการณ์เคเดอร์ไฟไหม้ตึกถล่ม

ข้อเสนอที่ 4 ข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานในอนุยกร่างฯ และ เวทีเสวนาฯ รับฟังความเห็นหลายครั้ง ต้องการให้บรรจุ เนื้อหาสาระที่เป็นหัวใจสำคัญ ในอำนาจหน้าที่สถาบันฯ ต้องบรรจุการรับเรื่องราวร้องทุกข์ไว้ เพื่อให้สถาบันฯมีข้อมูลทั้งทางตรงทางอ้อมเพื่อการแก้ไขปัญหาส่งเสริมป้องกันเรื่องสุขภาพความปลอดภัย

ข้อเสนอที่ 5 โครงสร้าง/สัดส่วน/ที่มาของคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ (จำนวน 11 คนตามระเบียบองค์กรมหาชน) โดยคณะกรรมการสรรหาที่เป็นกลางสำหรับตำแหน่ง ประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนตัวแทนจาก นายจ้าง และลูกจ้าง จำนวน 4 คน อาจใช้วิธีสรรหาเช่นเดียวกัน หรืออาจใช้การเลือกตั้งทางตรงจากผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ โดยหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียง การเลือกตั้งในสถานประกอบการ

ที่มาจากการสรรหา ประธาน 1 คนต้องไม่ใช่ข้าราชการมีเงินเดือน
สรรหากรรมการผู้เชี่ยวชาญ 3 คน
กรรมการที่มาโดยตำแหน่ง 2 คน จากกระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข
ผู้อำนวยการสถาบันฯ 1

ข้อเสนอที่ 6 ไม่เห็นด้วยที่จะต้องให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการบริหารรักษาการ 180 วันตามพระราชกฤษฎีกา (ตามร่างที่ผ่าน คปอ. 18 สิงหาคม 2554 และร่างที่กระทรวงแรงงานใช้จัดประชาพิจารณ์)

เพราะว่าการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือการกำหนดภารกิจอื่นๆ ควรที่จะต้องให้คณะกรรมการสถาบันที่จะได้รับการคัดเลือกสรรหาเข้ามาเป็นผู้กำหนดบทบาทยุทธ์ศาสตร์ หรือการวางรากฐานในการทำงานของสถาบัน หรือการกำหนดภารกิจอื่นๆ กำหนดบทบาทยุทธศาสตร์ ในการทำงานของสถาบัน ควรเป็นบทบาทของคณะกรรมการบริหารสถาบัน มิใช่ เป็นบทบาทของคณะกรรมการความปลอดภัยฯ แห่งชาติ ที่เป็นคณะกรรมการบริหาร รักษาการ

ในการนี้จึงเรียนเพื่อขอให้ ฯพณฯ เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงและเป็นภาคการเมือง ได้เล็งเห็นความสำคัญในข้อเสนอของเครือข่ายแรงงาน เพื่อให้สามารถจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯที่มีความหมายมีประโยชน์ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญยังเป็นความต้องการของเครือข่ายแรงงาน ภาคประชาชนส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวผลักดันการจัดตั้งสถาบันนี้มานานถึง 19 ปี หวังว่า ฯพณฯท่านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และผู้เกี่ยวของจะได้พิจารณาทบทวน ขอขอบคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถือ

สมบุญ สีคำดอกแค
ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมัชชาคนจน
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"เครือข่ายศิลปิน" เปิดโครงการ “เล่าเรื่องโกง” ผ่านเรื่องสั้น – หนังสั้น ให้คนไทยเท่าทันคอรัปชั่น

Posted: 10 Feb 2012 05:05 AM PST

เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปชี้ดึง 11 นักเขียน 11 ผู้กำกับ เล่าเรื่องโกงผ่านเรื่องสั้น-หนังสั้น ทั้งเปิดโอกาสให้นักเขียน-ผู้กำกับหน้าใหม่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานปลุกกระแสสังคมรู้ทันภัยร้าย “โกง” นำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ หลังพบสถิติสังคมยอมรับการคอรัปชั่นสูงถึง 64.5 % 
 
 
 
 
10 ก.พ. 55 - เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป สำนักงานปฏิรูป สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กองทุนศรีบูรพา สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเครือข่ายสังคมคุณธรรม ศูนย์คุณธรรม เปิดตัวโครงการ “เล่าเรื่องโกง” เท่าทันการโกง (Corruption Literacy) ผ่านศิลปิน “เรื่องสั้น” “หนังสั้น” และ “ละครเร่” เผยมี 11 นักเขียน 11 ผู้กำกับแถวหน้าของประเทศมา “เล่าเรื่องโกง” เป็น 11 เรื่องสั้น 10 หนังสั้น ต่อต้านการโกงหรือคอรัปชั่นที่เกิดขึ้น สร้างค่านิยมต่อสังคมไทยให้เท่าทันโกง
 
โดยนายดนัย หวังบุญชัย กรรมการและหน่วยเลขานุการ เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมาองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เผยดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี ค.ศ. 2011 พบว่าประเทศไทยโกงเยอะขึ้นติดอันดับที่ 80 จาก 182  ประเทศ และในขณะเดียวกันจากการสำรวจของศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบคโพลล์) เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น พบว่า คนไทยมองว่า รัฐบาลทุกรัฐบาลมีทุจริตคอรัปชั่นทั้งนั้น ถ้าทุจริตคอรัปชั่นแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรืองประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วย ก็ยอมรับได้สูงถึง 64.5 % ซึ่งจากผลการสำรวจดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีความไม่เป็นธรรมและความเลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น
 
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป  กล่าวว่า   เพื่อเป็นการลดการทุจริตคอรัปชั่น ที่เป็นเสมือนการทำลายประเทศ ทำให้การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ขาดโอกาส ขาดศักยภาพ ทางคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปจึงได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทำโครงการ “เล่าเรื่องโกง” เท่าทันการโกง ผ่านศิลปิน “เรื่องสั้น” “หนังสั้น” และ “ละครเร่” ขึ้น โดยมีนักเขียนมาร่วมเล่าเรื่องราวการโกงถึง 11 คน อาทิ อัศศิริ ธรรมโชติ, คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์, ชาติ กอบจิตติ, ประภัสสร  เสวิกุล, ไพฑูรย์ ธัญญา, วินทร์ เลียววาริณ, บินหลา สันกาลาคีรี, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์, ปราบดา หยุ่น, วัชระ  สัจจะสารสิน และอุทิศ เหมะมูล  ซึ่งนอกจากนักเขียนแล้ว ยังมีผู้กำกับชื่อดังอีก 11 คน อาทิ เป็นเอก รัตนเรือง, นนทรีย์ นิมิบุตร,บัณฑิต ทองดี, ก้องเกียรติ โขมศิริ, อุรุพงษ์ รักษาสัตย์, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, โสภณ ศักดาพิศิษฐ์, พิมพกา โตวิระ,  ทราย เจริญปุระ- ชาคร ไชยปรีชา และอนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง มารวมตัวกันและสร้างสรรค์หนังสั้น 10 เรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการ “โกง” ในรูปแบบต่างๆ ที่มีในสังคม เพื่อสะท้อนให้สังคมได้หันกลับไปมองหรือดูแล้วรับรู้ได้ว่ามันเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง
 
“นอกจากเขียน 11 คน ผู้กำกับ 11คน แล้วโครงการ “เล่าเรื่องโกง” ยังเปิดโอกาสให้ทั้งนักเขียนผู้มีไฟ และผู้กำกับหน้าใหม่มาสร้างสรรค์ผลงานผ่าน เรื่องสั้น และหนังสั้นอีกประเภทละ 10 เรื่อง เพื่อต่อต้านการโกงหรือการคอรัปชั่น ซึ่งผู้ที่สนใจต้องการสมัครเข้าร่วมโครงการ “เล่าเรื่องโกง” เท่าทันการโกง (Corruption Literacy) ผ่านศิลปิน “เรื่องสั้น” “หนังสั้น” สามารถติดตามรายละเอียดการสมัครได้ที่ www.artculture4health.com โดยจะเปิดรับตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 และจะประกาศผลวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นี้ จากนั้นผลงานการเขียนทั้ง 21 เรื่องจะถูกมารวมเป็นเล่มร่วมกัน และหนังสั้นทั้ง 20 เรื่องของ จะนำไปจัดแสดง พร้อมการแสดงละครเร่ จากกลุ่มเด็กรักป่า จ.สุรินทร์ ในการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคมและ 1 เมษายน 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนาต่อไป” ประธานคณะกรรมการครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป  กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทวิเคราะห์สถานะบุคคลตามกฎหมาย กรณี ปกาเกอะญอโคอิ

Posted: 10 Feb 2012 03:53 AM PST

 

1.ข้อเท็จจริงส่วนบุคคล [3]

ผู้เฒ่าโคอิ นายโคอิ หรือคออิ๊ ให้ข้อเท็จจริงว่าตนเองเกิดบริเวณต้นน้ำภาชี พ่อชื่อนายมิมิ แม่ชื่อพินอดี เป็นลูกคนที่คนที่ห้าจากพี่น้องทั้งหมดหกคนคือ ดึ๊ลือ, นอมือรึ, น่อเจนัว, เคอะ, ปู่โคอิ, และนอโพะ

เมื่อเริ่มเป็นหนุ่ม พ่อแม่ก็พาครอบครัวเดินเท้ามาตั้งรกรากที่บ้านบางกลอยบน ใกล้บริเวณที่เรียกว่าใจแผ่นดิน (ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 1 วัน) ในวันที่ครอบครัวของผู้เฒ่าโคอิ มาถึงบ้านบางกลอยบน พบว่ามีคนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ตรงนั้นก่อนแล้ว 4 ครอบครัว คือ ครอบครัวพื้อโบ, ครอบครัวพื้อท้อเคาะ (มีลูกคือพ้ะลุ้ย และเพาะกลอมึ ซึงเป็นลูกของเพาะกลอมึ) ครอบครัว  พื้อชาลัวะ (มีลูกคือ นายจอโจ่) และครอบครัวสุดท้าย-พื้อคุ (ต่อมามีลูกสาวชื่อปีจิ๊ ซึ่งเป็นมารดานายสมจิต กว่าบุ และต่อมานายสมจิตร เป็นสามีนางบุเรมิ)

ผู้เฒ่าอาศัยอยู่ได้ประมาณ 10 ปี จึงอยู่กินกับนางหน่อทิกิพู้ และมีลูกคนแรกเมื่อผู้เฒ่าอายุประมาณ 27 ปีคือ นายจอเงเง และต่อมาคือ กะเทรอและบุเรมิ หลังจากนางหน่อทิกิพู้เสียชีวิต ไม่นาน-ผู้เฒ่าก็อยู่กินกับนางนอตะกี มีลูกด้วยกันสองคนคือ หน่อเอะ หรือนอแอ๊ะ และหน่อสะ

ผู้เฒ่าให้ถ้อยคำว่า ปู่ย่าตายายได้สั่งสอนให้ลูกหลานทำกินด้วยการปลูกข้าวซึ่งมีลักษณะหมุนเวียน ที่บ้านของปู่ปลูกต้นหมากไว้ 2-3 แปลง แปลงละร่วมร้อยต้น นอกจากนี้ในอดีตผู้เฒ่ายังเคยพบกับนายระเอิน บุญเลิศ ซึ่งนับถือกันในฐานะ “ซุ” (หมายถึง เพื่อนนำมิตร ที่คอยช่วยเหลือในการนำของป่าที่คนในเมืองถามหา ไปขาย มาช่วงหลังๆ ที่ลูก-หลานเริ่มปลูกพริก ลงมาขายที่อำเภอท่ายาง เพื่อเอาเงินไปซื้อเกลือ ยาบางอย่าง ซื้อลูกไก่ไปเลี้ยงที่บ้านฯลฯ

ผู้เฒ่าโคอิ ไม่ทราบว่าตนเองเกิดเมื่อใด แต่หากคิดจากวิธีคำนวณของผู้เฒ่าแล้ว ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2554 ผู้เฒ่าโคอิน่าจะอายุประมาณ 103 ปีแล้ว โดยวิธีการนับอายุของผู้เฒ่าก็คือ การนับอายุจากจำนวนเมล็ดข้าวโพดที่เก็บไว้ในแต่ละปี ผ่านไปแต่ละปีจะเก็บเมล็ดข้าวโพดเพิ่มอีกหนึ่งเมล็ด โดยเริ่มจากที่พ่อแม่เก็บไว้ให้ก่อน ผู้เฒ่าประมาณเอาจากปีที่ลูกชายคนโตของแกเกิด ปีนั้นนับเมล็ดข้าวโพดได้ 27 เมล็ด และเมื่อเอาเม็ดข้าวโพดมาเรียงเก็บไว้ทุกปี เม็ดข้าวโพดจะเพิ่มขึ้นตามขวบปีของลูกชายที่โตขึ้น เมื่อบวกกันก็นับได้เป็น 103 ปี

2. พยานหลักฐานแสดงตน: เหรียญชาวเขาของครอบครัว, ท.ร.ชข. และบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร

นายกระทง โชควิบูลย์ (นามสกุลเดิม-จีโบ้ง) ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย หมู่2 นายลอย จีโบ้ง ผู้ใหญ่บ้านโป่งลึก หมู่ 1  และนายนิรันดร์ พงษ์เทพ ประธานองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน [4] ให้ข้อมูลตรงกันว่า [5] ในช่วงประมาณเขื่อนแก่งกระจานสร้างเสร็จในราวปีพ.ศ.2509 อำเภอท่ายางได้ให้ผู้ใหญ่บ้านแจ้งข่าวว่า “ให้ ‘ชาวเขา’ ไปรับเหรียญชาวเขา”

ในเวลานั้น ผู้เฒ่าโคอิให้ข้อเท็จจริงว่า ตนไม่ทราบเรื่อง แต่รู้เพราะลูกชายคนโตที่เกิดจากภรรยาคนแรก คือนายจอเงเง และนายสมจิต กว่าบุ ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตอนนั้นทั้งสองคนเดินลงไปอำเภอท่ายางพอดี เมื่อทราบนายจอเงเงอและนายสมจิตจึงไปรับเหรียญชาวเขา

อย่างไรก็ดี ในความรู้สึกของลูก-หลานแล้ว มันเป็นเหรียญที่ทางราชการแจกให้กับชาวเขาหรือชาวปกาเกอะญอ อย่างพวกเขา สำหรับครอบครัวของพวกเขา

ต่อมาในปี พ.ศ.2531 ผู้เฒ่าโคอิได้รับการสำรวจและบันทึกตัวบุคคลลงในทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือท.ร.ชข. ที่จัดทำโดยกรมประชาสงเคราะห์ ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขา หรือโครงการสิงห์ภูเขา (เป็นการสำรวจชาวเขาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2527) โดยถูกระบุอยู่ในท.ร.ชข. แฟ้มบางกลอย 4 ครอบครัวที่ 3 [6] เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2531 ว่า ชื่อนายโคอิ เป็นหัวหน้าครอบครัว เกิดเมื่อปีพ.ศ.2454 ที่จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย พ่อชื่อ มิมิ แม่ชื่อพินอดี ทุกคนเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และนับถือผี”

ภาพการจัดทำท.ร.ชข. ในปี 2531

 

เดือนพฤจิกายน 2554 ทางอำเภอแก่งกระจานได้ดำเนินการสำรวจ (แบบ 89) และจัดทำทะเบียนประวัติผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (ท.ร.38 ก) ให้แก่ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน โดยรวมถึงผู้เฒ่าโคอิด้วย โดยทุกคนจะได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเรียกผู้เฒ่าโคอิ และบุคลอื่นๆ ไปถ่ายบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (ขึ้นต้นด้วยเลข 0)  เท่าที่เห็นเอกสารที่บางคนถืออยู่ มันคือเอกสารที่ยืนยันว่าเป็นผู้ได้รับการสำรวจฯ แล้ว และอยู่ในระหว่างรอการเรียกไปถ่ายบัตรประจำตัว (แบบ 89/4)

มีข้อสังเกตว่าผู้เฒ่าโคอิ (รวมถึงชาวกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอแก่งกระจานจำนวนไม่น้อย) เป็นผู้ตกหล่นการสำรวจบัตรบุคคลบนพื้นที่สูง หรือบัตรสีฟ้า ภาย ใต้โครงการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรประจำตัว บุคคลบนพื้นที่สูง (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533) ในช่วงปีพ.ศ.2533-2534 ที่กรมการปกครองดำเนินการเพื่อสำรวจบุคคลที่อยู่บนพื้นที่สูงทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะชาวเขาเท่านั้น แต่รวมถึงชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่บนพื้นที่สูง 20 จังหวัด [7] เนื่องจากเวลานั้นทางอำเภอดำเนินการสำรวจที่อำเภอแก่งกะจาน และการสื่อสารไปยังชาวกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอที่อยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ปู่โคอิ ไม่ทราบถึงการสำรวจดังกล่าว เพราะไม่มีใครมาแจ้งข่าวเลย

นอกจากนี้ ผู้เฒ่าโคอิและชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอจำนวนไม่น้อย ก็เป็นผู้ตกหล่นการสำรวจบัตรเขียวขอบแดง (บัตรชุมชนบนพื้นที่สูง) ภายใต้โครงการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชุมชนบนพื้นที่สูง (บัตรสีเขียวขอบแดง) ซึ่งดำเนินการในช่วงปีพ.ศ.2542 [8] อีกครั้ง แม้คราวนี้อำเภอแก่งกระจานจะออกมาดำเนินการนอกสถานที่ แต่ก็ไปยังไม่ถึงพื้นที่บ้านบางกลอยบน โดยดำเนินการสำรวจและจัดทำแบบพิมพ์ประวัติฯ ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย

ผู้เฒ่าโคอิและครอบครัว ไม่ทราบถึงการสำรวจบัตรเขียวขอบแดง เนื่องจากผู้เฒ่าให้ข้อเท็จจริงว่าไม่มีใครมาบอก มาเรียก

รวมถึงเพื่อนบ้านอีกหลายคนที่ไม่ได้ เดินทางลงมา เพราะไม่ทราบ หรือพยายามเดินทางลงมา ก็มาไม่ทัน นอกจากนี้พบว่าปกาเกอะญอหลายครอบครัวก็ตัดสินใจไม่เข้ารับการสำรวจด้วยได้ รับข้อมูลว่าบัตรเขียวขอบแดงเป็นบัตรสำรวจคนต่างด้าว เพราะพวกเขาเป็นปกาเกอะญอที่เกิดและเติบโตในผืนป่าแก่งกระจาน ไม่ใช่คนต่างด้าว [9]

 

3. บทวิเคราะห์สถานะบุคคลตามกฎหมายของผู้เฒ่าโคอิ

จากข้อเท็จจริงข้างต้น สามารถวิเคราะห์และสรุปสถานะบุคคลของผู้เฒ่าโคอิ ทั้งสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน สถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน [10] ฉบับต่างๆ ได้ดังนี้

3.1 สถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน

3.1.1 สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ[11] : ผู้เฒ่าโคอิ มีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติเป็นผู้มีสัญชาติไทย ด้วยเพราะผู้เฒ่าโคอิมีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของการเป็นผู้ทรงสิทธิใน สัญชาติไทย

หลักกฎหมายสัญชาติมีหลักอยู่ว่าการได้ มาหรือเสียสัญชาติไทย ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะที่บุคคลเกิด แม้ในขณะที่ผู้เฒ่าโคอิเกิด คือปีพ.ศ.2454 นั้น ราชอาณาจักรสยาม[12] ยังไม่มีกฎหมายสัญชาติที่กำหนดเกณฑ์การได้มา-เสียสัญชาติไทย สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของผู้เฒ่าโคอิจึงไม่มีอยู่

สำหรับผู้เฒ่าโคอิ ณ ช่วงเวลา ปี 2454-2456 ผู้เฒ่าจึงเป็นกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ หรือชนชาวประเทศมีเพศภาษาต่างๆ  ที่เกิดและเติบโตขึ้นในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม[13] หรือ “ (..คนทั้งปวงที่อยู่ในพระราชอาณาจักรเวลานั้น) ย่อมเปนข้าอยู่ในใต้กฎหมาย แลบังคับบัญชาทั้งสิ้น” [14]

และนับวันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2456 ประกาศบังคับใช้ การมีสัญชาติไทยของผู้เฒ่าโคอิก็เริ่มต้นขึ้น หรือผู้เฒ่ามีสัญชาติไทยโดยการเกิด โดยหลักดินแดน มาตรา 7 (3) [15]

เช่นเดียวกับในทางปฏิบัติ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ราชอาณาจักสยาม/ประเทศไทยยอมรับว่าปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงเป็นชาวเขาหรือ ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว[16] หรือเป็นชาวเขาที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานราชการ เช่น กรมประชาสงเคราะห์ฯลฯ [17] รวมถึงถูกนิยามว่าเป็นชาวไทยภูเขา[18][19] ที่ปรากฏตัวใน 20 จังหวัด[20]

 

 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กำหนดให้มีกระบวนการเข้าสู่การรับรองว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย ผ่านระเบียบของกรมการปกครอง 3 ฉบับคือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพิจารณาลงสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านให้แก่ชาว เขา พ.ศ.2517, ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ให้แก่ชาวไทยภูเขา พ.ศ.2535 และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียน ราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 โดยปกาเกอะญอ หรือชาวเขา/ชาวไทยภูเขาสามารถยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ได้

อย่างไรก็ดี ผู้เฒ่าโคอิไม่เคยยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน กล่าวอีกอย่างได้ว่า ปู่โคอิมีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ไม่เคยใช้สิทธิในสัญชาติไทยเลย เริ่มตั้งแต่ไม่เคยยื่นคำร้องเพื่อให้สิทธิในสัญชาติไทยของตนได้รับการ รับรอง โดยให้ทางอำเภอแก่งกระจานบันทึกชื่อและรายการของผู้เฒ่าในทะเบียนบ้านคนไทย (ท.ร.14) และได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 5

เหตุที่เป็นเช่นนั้น-ส่วนหนึ่งเกิดจาก ความไม่รู้ และอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า แม้จะไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย ก็ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการอยู่อย่างปกาเกอะญอตลอดเวลาที่ผ่านมา

นับจากเกิดเหตุการณ์ที่ถูก(บังคับ)โยก ย้ายออกจากบ้านบางกลอยบน และบ้าน รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ ภายในบ้านถูกเผาทำลาย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เฒ่าโคอิเริ่มมีความตั้งใจที่จะดำเนินการให้รัฐไทยรับรองความเป็นผู้มี สัญชาติไทยของผู้เฒ่า

 

3.1.2 สถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎร

(1) ผู้เฒ่าโคอิเป็นคนตกหล่นทางทะเบียนราษฎร

แม้ประเทศไทยได้ดำเนินการสำรวจจำนวน ประชากรและครัวเรือนมาตั้งแต่รัตนโกสินทร์ศก 128 แต่การสำรวจภายใต้หลักการที่ว่าเป็นการสำรวจและจัดทำทะเบียนราษฎรทั่วราชา อาณาจักรนั้นเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปีพ.ศ. 2499-2500 (ตามพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2499[21]) ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นเรื่องที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยก็ยอมรับมาตลอดว่า ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ห่างไกลอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขา

(2) ผู้เฒ่าโคอิเป็นชาวเขา ซึ่งได้รับการบันทึกในท.ร.ชข.

 

 

ผู้เฒ่าโคอิ ได้รับการบันทึกตัวบุคคลโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยเป็นครั้งแรกคือภายใต้การสำรวจ ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้านหรือท.ร.ชข. ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ในปีพ.ศ.2531 (ตามโครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาหรือโครงการสิงห์ภูเขา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2527) โดยนายโคอิเป็นครอบครัวลำดับที่สามจากยี่สิบครอบครัวของบ้านบางกลอย 4 ในเวลานั้น มีอย่างน้อยอีก 7 ชุมชนที่ได้รับการสำรวจพร้อมกับบ้านบางกลอย 4 คือบ้านบางกลอย 1  บางกลอย 2 บางกลอย 3 บางกลอย 4 บางกลอย 5 บางกลอย 6 บ้านโป่งลึก 1 และบ้านโป่งลึก 2 รวมแล้ว 71 ครอบครัว 367 คน

ทั้ง 71 ครอบครัว 367 คน ล้วนถูกบันทึกว่าเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง นับถือผีและเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี

 

(3) ผู้เฒ่าโคอิเป็นคนตกหล่น “บัตรสีฟ้า” และ “บัตรเขียวขอบแดง”

ผู้เฒ่าโคอิเป็นผู้ตกหล่นการสำรวจ เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่ สูงหรือบัตรสีฟ้า (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533)[22] ในปีพ.ศ.2533-2534  รวมถึงตกหล่นบัตรชุมชนบนพื้นที่สูงหรือบัตรสีเขียวของแดง (ภายใต้โครงการสำรรวจและเพื่อทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชุมชนบน พื้นที่สูง ซึ่งมีการดำเนินการในช่วงปีพ.ศ.2542[23])

(4) ผู้เฒ่าโคอิเป็น “บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร”

 

ราวปลายเดือนตุลาคม 2554 อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้สำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ให้แก่ผู้เฒ่าโคอิ รวมถึงกะเหรี่ยงแก่งกระจานคนอื่นๆ โดยแต่ละคนจะได้รับ “ใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือ แบบ 89/4” ถือไว้เป็นหลักฐาน โดยในเอกสารดังกล่าว ระบุว่าผู้เฒ่า ชื่อนายโคอิ มีมิ ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 เลขหลักที่ 6-7 คือ 89 บิดาชื่อมิมิ มารดาชื่อพินอดี ที่อยู่ตามทะเบียนประวัติเลขที่ 98 หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน

 

หนังสือดังกล่าวฯ ออกวันที่ 31 ตุลาคม 2554 และระบุว่าให้ไปรับบัตรภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 อย่างไรก็ดี ผู้เฒ่ายังไม่ได้รับบัตร เนื่องจากทางอำเภอยังไม่มีคำสั่งผ่านผู้ใหญ่บ้านว่าให้ไปรับบัตรได้แล้ว

นับจากนี้ไปผู้เฒ่าโคอิ (รวมถึงกะเหรี่ยงแก่งกระจานคนอื่นๆ) จึงมีสถานะเป็นบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หรือ เป็น “บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแต่ไม่มีรายการในทะเบียน (ท.ร.13 และ ท.ร.14) เนื่องจากไม่ปรากฎหลักฐานยืนยันถิ่นกำเนิดหรือประวัติของบุคคล หรือมีหลักฐานไม่เพียงพอที่นายทะเบียนจะพิจารณาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่ไม่อยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือรัฐไม่มีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ” [24]

 

(5)  อยู่ระหว่างเตรียมยื่นคำร้องเพื่อให้อำเภอแก่งกระจาน ออกเอกสารรับรองว่าผู้เฒ่ามีสัญชาติไทย (เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย)

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้เฒ่าโคอิยังไม่เคยดำเนินการยื่นคำร้องเพื่อลงรายการในทะเบียนบ้าน เพื่อให้อำเภอแก่งกระจานรับรองความเป็นผู้มีสัญชาติไทย

แต่เวลานี้ ผู้เฒ่าโคอิ (รวมถึงกะเหรี่ยงแก่งกระจานคนอื่นๆ) กำลังเตรียมยื่นคำร้องเพื่อให้อำเภอแก่งกระจานดำเนินการรับรองว่าตนมี สัญชาติไทย โดยยึดถือเอาแบบ 89/4 เป็นเอกสารแสดงตนในระหว่างทางของกระบวนการฯ ดังกล่าว

มีข้อสังเกตว่า เหตุใดทางอำเภอแก่งกระจานจึงดำเนินการบันทึกรายการตัวบุคคลของผู้เฒ่าโคอิลง ในทะเบียนประวัติประเภทผู้ไม่มีสถานะทางทางทะเบียน (ท.ร.38 ก) และกำหนดเลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 แทนที่จะให้ผู้เฒ่าโคอิเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย-ใน ประเด็นนี้ทางอำเภอแก่งกระจานให้เหตุผลว่า ต้องการให้ผู้เฒ่าโคอิ ได้รับการบันทึกตัวบุคคลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรไว้ก่อน เมื่อมีเอกสารแสดงตนแล้ว จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนของการพิสูจน์ว่าผู้เฒ่ามีสัญชาติไทยจริงตามที่กล่าว อ้าง และหากอำเภอแก่งกระจานพิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเชื่อได้ว่าผู้เฒ่ามีสัญชาติไทยจริง ก็จะดำเนินการรับรองว่าผู้เฒ่ามีสัญชาติไทยจริง

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้น-สำหรับกระบวนการพิสูจน์แล้ว ทางอำเภอแก่งกระจานให้ความเห็นว่าจะใช้วิธี “เพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านผู้มีสัญชาติไทย (ท.ร.14)” หรือใช้วิธีการตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535  ซึ่งในประเด็นนี้จำเป็นต้องระบุไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ในทางวิชาการแล้ว เห็นว่า วิธีการควรจะเป็น “การลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน” หรือใช้กระบวนการตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะ บุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 

 3.1.3 สถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมือง: พ้นจากข้อสันนิษฐานของกฎหมายคนเข้าเมือง ว่า “เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย”

เดิม-การที่ผู้เฒ่าโคอิ ไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย ผู้เฒ่าโคอิจึงอาจถูกเข้าใจและตีความให้เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยข้อสันนิษฐานของกฎหมาย คือ มาตรา 57 วรรคแรกแห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522[25]

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เฒ่าได้รับการสำรวจและบันทึกรายการตัวบุคคลว่าเป็น “ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” ในเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ผู้เฒ่าโคอิ จึงไม่เข้าข่ายตกเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยข้อสันนิษฐานของมาตรา 57 แห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ

 

3.2    สถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน: ผู้เฒ่าโคอิเป็นผู้ทรงสิทธิในบ้าน ทรัพย์สินต่างๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีสิทธิครอบครองที่ดิน

สิทธิในทางเอกชนของผู้เฒ่าโคอิ ย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ เมื่อผู้เฒ่ามีสภาพบุคคล ก็ย่อมมีความสามารถในการมีสิทธิ (Capacity of Acquistion Rights) ความสามารถในการใช้สิทธิ (Capacity of Exercise Rights) รวมถึงหน้าที่ในทางเอกชน (แพ่ง) ที่กฎหมายรับรองและกำหนดหลักเกณฑ์ไว้[26] อาทิ มีสิทธิและหน้าที่ตามนิติกรรมสัญญา สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว สิทธิในการครอบครองทรัพย์ รับมรดก ฯลฯ เพราะสิทธิทางเอกชนเหล่านี้เป็นสิทธิของบุคคลทุกคน ไม่ขึ้นกับสถานะบุคคล หรือสัญชาติของผู้เฒ่า

 

3.2.1  ผู้เฒ่าโคอิเป็นผู้ทรงสิทธิในบ้าน ทรัพย์สินต่างๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[27]

ทรัพย์สินต่างๆ ภายในบ้าน เช่น ข้าวสาร อุปกรณ์การเกษตร ถ้วยชาม เสื้อผ้า รวมถึงตัวบ้าน ถือเป็นทรัพย์สิน (มาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ซึ่งผู้เฒ่าโคอิยึดถือเพื่อตน ถือว่าผู้เฒ่าโคอิมีสิทธิครอบครอง (มาตรา 1367 แห่งป.พ.พ.) ย่อมมีสิทธิใช้สอย ติดตามเอาคืน และขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นเข้าไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินโดยมิชอบ (มาตรา 1336 แห่งป.พ.พ.) รวมถึงหากมีการกระทำใดๆ ที่เป็นการทำให้ทรัพย์สินของผู้เฒ่าเสียหาย

3.2.2  ผู้เฒ่าโคอิ และปกาเกอะญอที่บ้านบางกลอยใจ-แผ่นดิน ไม่ใช่ผู้บุรุก แต่เป็นผู้ทรงสิทธิในที่ดินและเป็นผู้ทรงสิทธิในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตาม รัฐธรรมนูญ[28] 

 

จากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้เฒ่าโคอิครอบครองที่ดินบริเวณบ้านบางกลอยบน ซึ่งเป็นที่ดินตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1 และครอบครองที่ดินก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ จึงย่อมมีสิทธิครองครอง ให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วยประมวลกฎหมาย ที่ดิน (มาตรา 4)[29] และแม้ว่าผู้เฒ่าโคอิจะไม่ได้ไปดำเนินการแจ้งการครอบครองที่ดิน มาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน[30]  แต่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2540[31] ผู้ที่ครอบครองที่ดินก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน แต่มิได้แจ้งการครอบครอง โดยที่รัฐยังไม่ได้เข้าไปจัดที่ดิน ย่อมมีสิทธิครอบครองอยู่

ดังนั้นผู้เฒ่าโคอิ จึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินอยู่ จนถึงปี พ.ศ. 2524 ที่ได้มีการประกาศให้พื้นที่นี้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ ในท้องที่ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย และตำบลสองพี่น้อง ตำบลแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2524[32]

 

แต่เนื่องจากผู้เฒ่าโคอิ (รวมถึงปกาเกอะญอในบ้านบางกลอยบน) ใช้ชีวิตในวิถีกะเหรี่ยงในป่ามาโดยตลอด ไม่ทราบว่ามีการประกาศพื้นที่อุทยานแก่งกระจาน จึงไม่ได้ไปแจ้งขอกันพื้นที่ และไม่ได้มีเจตนาบุกรุกพื้นที่อุทยาน หากแต่อาศัยอยู่ในพื้นที่มานานแล้ว ก่อนที่จะมีการประกาศให้บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินเป็นพื้นที่อุทยาน จะสามารถกล่าวอ้างได้หรือไม่ว่าเป็นสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตามมาตรา 66 แห่งรัฐธรรนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ วิถีชีวิตของกะเหรี่ยงในการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมกำลังดำเนินการเสนอให้ไร่หมุนเวียน เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ผู้เฒ่าโคอิ และปกาเกอะญอคนอื่นๆ ที่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินจึงมิใช่ผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

 4. บทสรุป

สรุปได้ว่า สถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนของผู้เฒ่าโคอินั้น ผู้เฒ่าโคอิมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติเป็นผู้มีสัญชาติไทย ด้วยเพราะผู้เฒ่าโคอิมีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของการเป็นผู้ทรงสิทธิใน สัญชาติไทย

ส่วนสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎร นั้น พบว่าผู้เฒ่าโคอิเป็นคนตกหล่นทางทะเบียนราษฎรตั้งแต่ปีพ.ศ.2499, เป็นชาวเขา ซึ่งได้รับการบันทึกในท.ร.ชข.ในปีพ.ศ.2531 มีสถานะเป็น “บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” และอยู่ระหว่างเตรียมยื่นคำร้องเพื่อให้อำเภอแก่งกระจาน ออกเอกสารรับรองว่าผู้เฒ่ามีสัญชาติไทย (เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย)

ในแง่ของสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนแล้ว ผู้เฒ่าโคอิเป็นผู้ทรงสิทธิในบ้าน ทรัพย์สินต่างๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมิใช่ผู้บุรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หากแต่ทำกินในที่ดินมาตั้งแต่ก่อนการประกาศประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับคือ ปีพ.ศ.2497

..............

 

[1] งานค้นคว้าทางวิชาการเพื่องานสื่อสารสาธารณะของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อ เฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) และเพื่อสนับสนุนการเตรียมฟ้องคดีของอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ

[2] อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และนักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

[3] ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม อ่าน ‘ปกาเกอะญอ โคอิ’ แห่งผืนป่าแก่งกระจาน โดยกรกนก วัฒนภูมิ และดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, เอกสารเพื่อสื่อสารสาธารณะของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT), ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2555 สืบค้นจาก http://www.statelesswatch.org/node/508 

[4] เกิดที่บ้านบางกลอยบน ปี 2508 ปรากฎตามแฟ้มเอกสารบ้านโป่งลึก 2 ครอบครัวที่ 4

[5] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2554 ที่อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

[6] สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ อดีตเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ว่าเขาเคยได้รับมอบหมายให้มาสำรวจพื้นที่ใจแผ่นดินและบ้านบางกลอย ด้วยเพราะเวลานั้นกรมประชาสงเคราะห์ได้ข่าวว่าบริเวณดังกล่าวมีชุมชน กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ ในเวลาเขาเดินเท้าจากบ้านพุระกำ (อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี) เข้าทางต้นน้ำลำพาชี ผ่านสันปันน้ำและเดินลงมาทางต้นน้ำบางกลอย โดยมีคนกะเหรี่ยงที่ทำหน้าที่ทั้งเป็นลูกหาบและคนนำทางคือนายกระทง จีโบ้ง (ปัจจุบันเป็นผู้ใหญ่บ้าน)

และจากการตรวจสอบจากเอกสารคือสำเนา ท.ร.ชข. ที่ถูกจัดทำขึ้นในปี 2531 ในเบื้องต้นพบว่ามีจำนวน 8 เล่ม(แฟ้ม) ด้วยกัน ในเวลานั้นพื้นที่เหล่านี้ขึ้นกับกิ่งอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีประกอบไปด้วยบางกลอย 1  บางกลอย 2 บางกลอย 3 บางกลอย 4 บางกลอย 5 บางกลอย 6 บ้านโป่งลึก 1 และบ้านโป่งลึก 2 รวมแล้ว 71 ครอบครัว 367 คน

[7] ฝ่ายการทะเบียนชนกลุ่มน้อย ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง,  “ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย, เอกสารเผยแพร่, มกราคม 2542

พื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก เพชรบูรณ์ เลย พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี

[8] มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสถิติจำนวนชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศ โดยรัฐบาลกำหนดนโยบายให้มีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว เพื่อรอการพิสูจน์สถานะต่อไป

[9] สัมภาษณ์กระทง จีโบ้ง 3-4 กันยายน 2554 ที่ .... อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

[10] เป็นการพิจารณาสถานะบุคคลตามกฎหมายภายใต้หลักวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

[11] ดูเพิ่มเติม ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, มอง 100 ปีกฎหมายสัญชาติไทย ผ่าน 100 ปีของ ‘ปกาเกอะญอเฒ่าโคอิ’ แห่งผืนป่าแก่งกระจาน, เอกสารเพื่อการพัฒนาหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเอกสารเพื่อสื่อสารสาธารณะของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้ รัฐ (SWIT) ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ปรับปรุงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554, สืบค้นจาก http://www.statelesswatch.org/node/476

[12] ก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยยังเป็นสยามอยู่ได้มีผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติมา อาศัยอยู่รวมกันอยู่เป็นเวลานานแล้วแล้ว อาทิ ชาวเปอร์เซียจชในแถบอยุธยา ชาวมักกะซาร์ ในเขตมักกะสัน ชาว จีน ฝรั่ง ลาว มอญ ฯลฯ คำว่า "สยาม" เป็นคำที่ชาวต่างประเทศใช้เรียกอาณาจักรอยุธยา เมื่อราว พ.ศ. 2000 เดิมทีประเทศไทยเองก็เคยใช้ชื่อว่า สยาม มานับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น ต้นมา โดยปรากฏใช้เป็นชื่อประเทศชัดเจนใน พ.ศ. 2399 แต่ทว่าคนไทยไม่เคยเรียกตนเองว่า "สยาม" หรือ "ชาวสยาม" อย่างชาวต่างชาติหรือตามชื่อประเทศอย่างเป็นทางการในสมัยนั้นเลย

ส่วนคำว่า "คนไทย" นั้น จดหมายเหตุลาลูแบร์ได้บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า ชาวอยุธยาได้เรียกตนเองเช่นนั้นมานานแล้ว ดูเพิ่มเติม ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช., สุจิตต์ วงษ์เทศ. คนไทยมาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน, D.G.E. Hall. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, [ม.ป.ป.].

[13] ปรากฎตามพระราชสาส์นที่รัชกาลที่  3 มีถึงพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส เมื่อพ.ศ.2408 เนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยาเป็นมหาราช ธานีใหญ่ในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม คือ แผ่นดินสยามเหนือใต้และดินแดนต่างๆ อยู่เคียงอยู่ใกล้ เป็นที่อยู่อาศัยของชนชาวประเทศมีเพศภาษาต่างๆ คือ ลาวเฉียง ลาวกาว กัมพูชา มลายูและกะเหรี่ยง ในลิลา วีรวงศ์, ประวัติศาสตร์คนลาว (สมหมาย เปรมจิตต์ แปล) พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2520) หน้า 272. อ้างใน สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “100 ปี แห่งสัญชาติไทย ตอนที่ 1” วิภาษา ปีที่ 5 ฉบับที่ 5 (16 กันยายน – 31 ตุลาคม 2554) หน้า 17-18.

[14] ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็กจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ ฉบับพ.ศ.2457, สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, หน้า 28

[15] มาตรา 3 บุทคนเหล่านี้ได้บัญญัติว่าเปนคนไทย คือ

1.      บุทคนผู้ได้กำเนิดแต่บิดาเปนคนไทย แม้เกิดในพระราชอาณาจักรสยามกีดี เกิดนอกพระราชอาณาจักรก็ดี

2.      บุทคนผู้ได้กำเนิดแต่มารดาเปนคนไทย แต่ฝ่ายบิดาไม่ปรากฎ

3.      บุทคนผู้ได้กำเนิดในพระราชอาณาจักรสยาม

..........

[16] คู่มือการกำหนดสถานะบุคคลของบุคคลบนพื้นที่สูง เล่ม 1 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, สิทธิในเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในรัฐไทย, วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2547

[17] ข้อ 2 ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพิจารณาลงสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านให้แก่ชาวเขา พ.ศ.2517

[18] ข้อ 4 ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านให้แก่ชาวไทยภูเขา พ.ศ.2535

ชาวไทยภูเขา หมายถึง บุคคลดั้งเดิมซึ่งเป็นชาวเขาที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นป่าเขาในประเทศไทย มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี เชื้อชาติ ภาษา ความเชื่อ ตลอดจนวิถีทางการดำเนินชีวิตแตกต่างไปจากชาวไทยพื้นราบ ได้แก่ ...กะเหรี่ยง...

[19] ข้อ 6 ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543

ชาวไทยภูเขา หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยทำกิน หรือบรรพชนอาศัยทำกินอยู่บนพื้นที่สูงในราชอาณาจักร ซึ่งมีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ภาษาและการดำเนินชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

[20] จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา ตาก สุโขทัย น่าน กำแพงเพชร แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเพิ่มเติมภายหลัง ตามข้อ 3 ระเบียบฯ 2535

[21]  เหตุผลที่ประกาศใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากว่า แม้สยามจะมีกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหลายฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.สำหรับทำบาญชีคนในพระราชอาณาจักร ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) พ.ร.บ.การตรวจสอบบัญชีสำมะโนครัว และการจดทะเบียนการเกิดคนตาย คนย้ายตำบล พ.ศ.2461 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2479, พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.2479 อย่างไรก็ดี กฎหมายแต่ละฉบับมีกฎข้อบังคับและระเบียบการวางไว้ให้ถือปฏิบัติอีก ล้วนแยกเขตแยกอำนาจหน้าที่ไว้อย่างสับสน เช่นในเฉพาะเขตเทศบาล ใช้เฉพาะมณฑทลกรุงเทพฯ ใช้เฉพาะหัวเมือง นอกมณฑลกรุงเทพฯ และนอกเขตเทศบาล เป็นต้น นับว่าเป็นการยากทั้งแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และแก่ราษฎรผู้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จึงสมควรรวบรวมและปรับปรุงยกร่างพระราชบัญญัติเสียใหม่ ให้รวมถึงวิธีการปฏิบัติในการทำทะเบียนราษฎรไว้เสียที่แห่งเดียวกัน, ดูหมายเหตุท้ายพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2499, ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 73 ตอนที่ 16 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2499, ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล:2547, อ้างแล้ว

[22] โครงการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรประจำตัว บุคคลบนพื้นที่สูง (บัตรสีฟ้า เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 เพื่อสำรวจบุคคลที่อยู่บนพื้นที่สูงทั้งหมด กล่าวคือ ไม่จำกัดเฉพาะชาวเขาเท่านั้น แต่รวมถึงชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่บนพื้นที่สูง 20 จังหวัด, อ้างจากเอกสารเผยแพร่ซึ่งจัดทำโดยฝ่ายการทะเบียนชนกลุ่มน้อย ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง,  “ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย”, มกราคม 2542

[23] โครงการสำรรวจและเพื่อทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชุมชนบนพื้นที่สูง (บัตรสีเขียวขอบแดง) ซึ่งมีการดำเนินการในช่วงปีพ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสถิติจำนวนชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศ โดยรัฐบาลกำหนดนโยบายให้มีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว เพื่อรอการพิสูจน์สถานะต่อไป

[24] ข้อ 3 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.2548

[25] มาตรา 57 วรรคแรก พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคน มีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่า ตนมีสัญชาติไทย”

[26] ยกเว้นบุคคลบางจำพวกที่ถูกกฎหมายจำกัดความสามารถในการใช้สิทธิ  ได้แก่  ผู้ไร้ความสามารถ (incapacitated person),  คนเสมือนไร้ความสามารถ (quansi incompetent person), บุคคลวิกลจริต (unsound mind person)

[27] ดู กรกนก วัฒนภูมิ, บทวิเคราะห์การกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีแก่งกระจาน, บทความเพื่อสนับสนุนงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาะไร้รัฐ และเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะทำงาน อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความในการฟ้องคดีปกครอง, ฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555. , http://www.statelesswatch.org/node/526

[28] ดู กรกนก วัฒนภูมิ, บทวิเคราะห์การกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีแก่งกระจาน, ฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555., อ้างแล้ว

[29] มาตรา 4 ภายใต้บังคับมาตรา 6 บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ ให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย

[30] มาตรา 5  ให้ผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมาย ที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอ ท้องที่ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ถ้าผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งมีหน้าที่แจ้งการครอบครองที่ดิน ไม่แจ้งภายในระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในวรรคแรก ให้ถือว่าบุคคลนั้นเจตนาสละสิทธิครอบครองที่ดิน รัฐมีอำนาจจัดที่ดินดังกล่าวตามบทแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เว้นแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มีคำสั่งผ่อนผันให้เป็นการเฉพาะราย

การแจ้งการครอบครองตามความในมาตรานี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใด

[31] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2540 “ในที่พิพาทมีผู้ครอบครองมาตั้งแต่ก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน แต่มิได้แจ้ง การครอบครอง รวมทั้งผู้ครอบครองต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวจนถึงโจทก์ โดยที่รัฐยังมิได้เข้าไปจัดที่ดินแล้ว ย่อมยังมีสิทธิครอบครองอยู่”

[32] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม98 ตอนที่ 92 ฉบับพิเศษ หน้า3 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2524

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฮิวแมนไรท์วอทช์ร้องรัฐบาลซีเรียหยุดจู่โจมใส่เขตบ้านเรือนประชาชน

Posted: 10 Feb 2012 01:56 AM PST

สถานการณ์ปะทะในซีเรียครั้งล่าสุดที่เมืองฮอม ดำเนินมาเป็นที่ 6 แล้ว นักกิจกรรมในซีเรียเปิดเผยว่ามีประชาชนถูกสังหารจำนวนมาก ด้านฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ เปิดเผยในรายงานว่า มีสถานพยาบาลภาคสนามถูกโจมตีสามแห่ง และแหล่งพยาบาลกำลังขาดยารักษาผู้บาดเจ็บที่มีอยู่จำนวนมาก
 
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมามีรายงานว่า สถานการณ์ปะทะในซีเรียครั้งล่าสุดที่เมืองฮอม ดำเนินมาเป็นที่ 6 แล้ว นักกิจกรรมในซีเรียเปิดเผยว่ามีประชาชนถูกสังหารจำนวนมาก ด้านฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ เปิดเผยในรายงานว่า มีสถานพยาบาลภาคสนามถูกโจมตีสามแห่ง และแหล่งพยาบาลกำลังขาดยารักษาผู้บาดเจ็บที่มีอยู่จำนวนมาก
 
กลุ่มแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลซีเรียรายงานว่ามีประชาชนเสียชีวิตในเมืองฮอม 110 ราย ในวันพฤหัสฯ (9 ก.พ.)  แต่พวกเขาไม่สามารถระบุรายชื่อผู้เสียชีวิตได้ เนื่องจากการโจมตีด้วยอาวุธหนัก
 
มีผู้อาศัยในย่านบับ อัมร์ รายงานว่าเขาเห็นว่ามีการยิงจรวดใส่บ้านเพื่อนของเขามากับตา นอกจากนี้ยังคงมีการใช้อาวุธหนักอื่นๆ เช่น ปืนครกด้วย ผู้อาศัยบอกอีกว่ากลุ่มผู้อยู่อาศัยในย่านดังกล่าวพากันลงมาหลบภัยที่ชั้นล่าง เนื่องจากพวกเขาไม่มีชั้นใต้ดินให้หลบภัย
 
ผู้อาศัยในย่านดังกล่าวเปิดเผยว่าพวกเขาได้ยินเสียงเครื่องขยายเสียงขอให้บริจาคเลือดและเครื่องมือทางการแพทย์ โดยนักกิจกรรมในซีเรียบอกว่ายังคงมียารักษาโรคอยู่ในร้านขายยา แต่นำมาส่งที่สถานพยาบาลภาคสนามได้ยากมาก ทำให้คนบาดเจ็บไม่ได้รับยา
 
ด้านองค์กรจับตามองด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยในรายงานของวันที่ 9 ก.พ. ว่า มีสถานพยาบาลภาคสนามในพื้นที่ล้อมปราบในเมืองฮอมเต็มไปด้วยร่างของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บล้นทะลัก โดยพวกเขาถูกโจมตีโดยสไนเปอร์และอาวุธระเบิดของรัฐบาล
 
 
ฮิวแมนไรท์วอทช์ร้องรัฐบาลซีเรียหยุดจู่โจมใส่เขตบ้านเรือนประชาชน
 
ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุอีกว่ามีสถานพยาบาลภาคสนามถูกโจมตีสามแห่ง และประชาชนผู้บาดเจ็บก็ได้แต่รอความตายเนื่องจากมันอันตรายเกินไปสำหรับหน่วยกู้ภัย
 
ฮิวแมนไรท์วอทช์เปิดเผยอีกว่านับตั้งแต่ที่ทหารออกปฏิบัติการในคืนวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ทางกองกำลังฝ่ายรัฐบาลได้ใช้อาวุธปืนและอาวุธระเบิดสังหารประชาชนไปแล้วกว่า 300 คน และอีกหลายร้อยคนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งรวมถึงเด็กและผู้หญิงด้วย
 
นอกจากนี้แล้วฮิวแมนไรท์วอทช์ยังได้ออกรายงานเรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียหยุดการโจมตีใส่เขตบ้านเรือนประชาชน ซึ่งพวกเขาอ้างว่าได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เห็นเหตุการณ์ 8 คน และให้ผู้เชียวชาญด้านอาวุธทำการตรวจสอบวีดิโอที่ได้จากนักข่าวภาคสนาม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าฝ่ายกองกำลังรัฐบาลได้ใช้อาวุธระยะไกลยิงเข้าใส่เขตที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่น
 
"การใช้อาวุธโจมตีอย่างรุนแรงในเขตบ้านเรือนประชาชนเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในซีเรียมองไม่เห็นคุณค่าของชีวิตของประชาชนในเมืองฮอม" แอนนา เนสแตท รองผู้อำนวยการฝ่ายวิกฤตการณ์ของอฺวแมนไรท์วอทช์กล่าว "ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์โจมตีอย่างเลวร้ายครั้งนี้ จะต้องมีคำตอบให้กับมัน"
 
ในรายงานยังระบุอีกว่า "การยิงโจมตีอย่างไม่ระบุเป้าหมายในเขตที่มีผู้อยู่อาศัย จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกเมื่อมีการปิดกั้นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การโจมตี ทำให้ผู้อยู่อาศัยรวมถึงผู้บาดเจ็บไม่สามารถเข้าถึงอาหารและการรักษาพยาบาลได้"
 
 
'เป็นลางร้าย'
 
ด้านบังคีมูน เลขาธิการสหประชาติกล่าวว่ากลุ่มสันนิบาตชาติอาหรับจะส่งตัวผู้สังเกตการณ์เข้าไปในซีเรีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ยุติการส่งตัวไปเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย และมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มสันนิบาตฯ จะทำงานร่วมกับสหประชาชาติ
 
"พวกเราพร้อมเสมอในการให้ความร่วมมือใดๆ ที่จะทำให้เกิดความคืบหน้า" บังคีมูนกล่าว "ผมกลัวว่าเหตุการณ์โหดเหี้ยมที่พวกเราเห็นในเมืองฮอม อย่างการยิงอาวุธหนักเข้าใส่บ้านเรือนประชาชน เป็นลางร้ายของสิ่งที่แย่กว่านี้ที่อาจจะเกิดขึ้น"
 
เรียบเรียงจาก
 
'Scores killed' in shelling of Syria's Homs, Aljazeera, 09-02-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/02/201229142032794961.html

Syria: Stop Shelling of Residential Areas, Human Right Watch, 09-02-2012
http://www.hrw.org/news/2012/02/09/syria-stop-shelling-residential-areas
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘แอมเนสตี้ฯ’ ร้องมธ.ทบทวนมติ หยุดจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ

Posted: 10 Feb 2012 01:43 AM PST

องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้ผู้บริหารมธ. ต้องยกเลิกมติห้ามนิติราษฎร์เคลื่อนไหวเรื่องม.112 ระบุประชาชนต้องสามารถพูดคุยถกเถียงเรื่องสถาบันต่างๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวการถูกดำเนินคดี ตามหลักที่คุ้มครองไว้ในสนธิสัญญาสากล 

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 55 องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกเลิกมติการตัดสินใจที่ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์จัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีตั้งแต่ปี 1999

0000

ประเทศไทย: คุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัย

มติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ห้ามไม่ให้กลุ่มนักวิชาการใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยเพื่อรณรงค์การปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถือเป็นการละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนในด้านเสรีภาพทางวิชาการ และควรยกเลิกมติดังกล่าว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์

เมื่อวันที่ 30 มกราคม นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศไม่อนุญาตให้คณะนิติราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการเจ็ดท่านจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อรณรงค์การปฏิรูปมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย มาตราดังกล่าวหรือที่เรียกกันว่าเป็นกฎหมายหมิ่นฯ เป็นการเอาผิดต่อการพูดดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ของไทย

นายสมคิด จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็น หน่วยงานของรัฐ” “ประชาชนอาจเข้าใจว่าธรรมศาสตร์เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ครั้งนี้และการกระทำของคณะนิติราษฎร์อาจส่งผลกระทบต่อ ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย

มติของมหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย ทั้งยังเป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการด้วย

เสรีภาพทางวิชาการเป็นหลักการที่มีพื้นฐานมาจากสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความเห็น รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการศึกษา สิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองตามข้อ 26 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR) และข้อ 13 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีตั้งแต่ปี 2542

การอภิปรายถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนและอาจมีการเผชิญหน้า และการแสดงความไม่เห็นด้วย ถือเป็นเสาหลักของเสรีภาพทางวิชาการ กรณีที่เกรงว่าการใช้เสรีภาพทางวิชาการอาจทำให้เกิดความรุนแรง การแก้ปัญหาที่ถูกต้องน่าจะเป็นการเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าว ไม่ใช่ไปจำกัดเสรีภาพโดยการออกคำสั่งห้ามปฏิบัติการของกลุ่มบางกลุ่ม

คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social, and Cultural Rights - CESCR) ซึ่งเป็นผู้ตีความกติกา ICESCR ได้ระบุว่า สิทธิด้านการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการของเจ้าหน้าที่และนักศึกษาด้วย

ในส่วนความเห็นต่อสิทธิด้านการศึกษาคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้เขียนไว้ว่า

            เสรีภาพทางวิชาการครอบคลุมถึงความเป็นอิสระของบุคคลที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรีเกี่ยวกับสถาบันหรือระบบที่ตนเองทำงานอยู่ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยไม่มีการแบ่งแยก หรือโดยไม่มีความกลัวว่าจะถูกปราบปรามจากรัฐหรือบุคคลอื่น ๆ ความสามารถที่จะเข้าร่วมในหน่วยงานด้านวิชาการแบบมืออาชีพหรือสมาคมวิชาการ และการได้รับสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นที่รับรองในระดับสากล และเป็นสิทธิที่บุคคลอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลเดียวกันพึงได้รับ


สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหภาพแรงงานอิสราเอลนัดหยุดงานทั่วประเทศเรียกร้องสิทธิคนงานซับคอนแทรค

Posted: 10 Feb 2012 01:25 AM PST

คนงานทำงานที่สนามบิน โรงพยาบาล ธนาคาร และในกระทรวงต่างๆ ของประเทศอิสราเอล เริ่มการนัดหยุดงานทั่วประเทศเมื่อวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาหลังจากที่ตัวแทนสหภาพแรงงานและตัวแทนรัฐบาลไม่สามารถตกลงกันในเรื่องสิทธิการจ้างงานของคนงานซับคอนแทรค

การนัดหยุดงานเกิดขึ้นหลังจากที่การการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานอิสราเอล (Histardut) กับรัฐมนตรีกระทรวงการเงินล้มเหลว

การนัดหยุดงานในประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลจ้างคนงานซับคอนแทรคหลายพันคนเพื่อทำงานในสาขาต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานต้องการให้ปรับปรุงสภาพการจ้างงานของคนงานเหล่านี้และให้การคุ้มครองสิทธิการจ้างงานอย่างเต็มที่เหมือนคนงานประจำโดยทั่วไป ทางด้านรัฐมนตรีกระทรวงการเงินกล่าวว่า ในการเจรจา ทั้งสองฝ่ายต้องการให้มีการปรับปรุงค่าจ้างและสวัสดิการของคนงานซับคอนแทรก แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะให้คนงานซับคอนแทรกมีสิทธิในการจ้างงงานทุกอย่างเท่ากับคนงานประจำ
 
เจ้าหน้าที่สหภาพกล่าวว่า ในอิสราเอลมีคนงานซับคอนแทรคมากถึง 4 แสนคน คนงานเป็นจำนวนมากได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าคนงานประจำที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
 
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สหภาพฯ บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับองค์กรนายจ้างให้รับคนงานซับคอนแทรคที่เป็นพนักงานทำความสะอาดเป็นพนักงานประจำทำงานเต็มเวลาในจำนวนที่มากขึ้น แต่ยังในส่วนคนงานซับคอนแทรกของรัฐบาล ยังไม่สามารถตกลงกันได้
 
นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวในคำแถลงเมื่อคืนวันอังคารว่า การนัดหยุดงานคงจะไม่สามารถแก้ปัญหาของคนงานซับคอนแทรคได้ และ สภาพการจ้างงานของคนงานซับคอนแทรคจะสามารถปรับปรุงได้โดย “ไม่จำเป็นต้องนัดหยุดงานทั่วประเทศ และสร้างผลกระทบต่อชีวิตของพลเมืองของเรา” นายกรัฐมนตรี เตือนว่าจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการนัดหยุดงาน และแนะนำว่า ควรจะดำเนินเจรจาในประเด็นนี้ต่อไปอีก 
 
“เศรษฐกิจอิสราเอลอยู่ในภาวะอ่อนไหว และเวลานี้ก็ไม่ใช่เวลาที่จะทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ได้มาจากการทำงานหนัก และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับสหพันธ์แรงงาน ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศชั้นนำทั่วโลกเกิดปัญหาอย่างรุนแรง” 
 
สภาหอการค้าอิสราเอลประเมินว่า การนัดหยุดงานจะทำให้เกิดความสูญเสียเป็นตัวเงิน สัปดาห์ละประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,000 ล้านบาท)
 
การนัดหยุดงานนี้จะทำให้ ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศ รถไฟ การบริการสาธารณะ เช่น การเก็บขยะ ต้องหยุดลงชั่วคราว 
 
ข้อพิพาทเรื่องคนงานซับคอนแทรคได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายเดือน ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สมาชิกสหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานทั่วประเทศครึ่งวัน แต่หลังจากนั้น ศาลมีคำสั่งให้มีการเจรจา แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เฉลิมยันรัฐบาลไม่แก้ 112 แต่ไม่ออกเป็นมติ ครม.

Posted: 10 Feb 2012 12:28 AM PST

 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ชี้ไม่จำเป็นต้องชง ครม.ออกมติแสดงจุดยืนไม่แก้ ม.112 ชี้แค่นายกฯ รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยพูดชัดไม่แก้ก็พอแล้ว
 
10 ก.พ. 55 - ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าที่ทำเนียบรัฐบาล 11.30 น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. ระบุว่าท่านมีแนวคิดที่จะเสนอให้ ครม.ออกมติยืนยันจะไม่แก้ไขประมวล อาญามาตรา 112 ว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ได้มีการหารือร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการ สมช. ผบ.ตร. การมีแนวคิดสำคัญเปิดเผยไม่ได้ ขออนุญาตไม่เปิดเผย แต่วันนี้เป็นที่ชี้ชัดแล้วว่าทั้งท่านนายกฯ พรรคเพื่อไทย และสภาฯ ก็บอกว่าไม่แก้ และฝากเรียนสื่อด้วยว่าบางครั้งที่ไปรายงานว่ามีการล่าชื่อประชาชน 5 หมื่นชื่อ เพื่อแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้นประชาชนจะเข้าชื่อขอแก้ไขกฎหมายใดได้บ้างเขา มีการกำหนดไว้ เช่น รัฐธรรมนูญ สิทธิขั้นพื้นฐาน กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพ ไม่ใช่ว่ามีรายชื่อ 5 หมื่นชื่อแล้วจะแก้อะไรก็ได้ มันทำไม่ได้ เรื่องนี้จบแล้ว ไม่มีหรอก อย่าไปสร้างประเด็นเลย
 
เมื่อถามว่า โดยหลักการถ้าเพื่อเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลเพื่อไทยไม่มีการเสนอแก้ ม. 112 แน่นอน จะต้องเสนอเข้า ครม.เพื่อออกเป็นมติ ครม.โดยกระทรวงยุติธรรมหรือกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า "ไม่จำเป็นหรอก ผมว่านายกฯ และพรรคเพื่อไทยประกาศชัดก็พอแล้ว แต่เวลาในวงหารือมันก็มีรายละเอียด ซึ่งน่าจะไม่มีการเสนอต่อ ครม. เพราะมันชัดแล้วนี่ "
 
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวต่อว่า ตนไม่เคยไปปิดปากใครไม่ให้เสนอ เพียงแต่บอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะเวลามีการแสดงความเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียด ทางตำรวจต้องไปติดตามคอยฟังเทปทุกครั้ง เมื่อถามว่ายังมีสมาชิกคนเสื้อแดงบางส่วนไปร่วมลงนามสนับสนุนให้เสนอแก้ไข ม. 112 ด้วย จะกลายเป็นว่าคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยจะทะเลาะกันเอง ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เรื่องทะเลาะคงไม่มี และบางครั้งเปลี่ยนสีเสื้อก็ไม่ได้หมายความว่าใครเป็นใคร ระวังอันตรายเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เมื่อถามต่อว่า ที่ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าวมีการตั้งโต๊ะล่าชื่อขอแก้ไข ม. 112 อยู่ รองนายกฯ กล่าวว่า ตนไม่แสดงความเห็นขัดแย้งกับใคร ขอทำงานในหน้าที่ แต่เรื่องนี้แค่คิดก็ผิดแล้ว ตนยืนยันมาตลอด ถามว่าตนจะไปห้ามปรามเขาได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เพราะตนไม่ได้ร่วมกับเขาตั้งแต่เริ่มต้น แต่เวลาตนไปปราศรัยอีสานคนเสื้อแดงก็มาฟังจนเต็ม เมื่อถามว่า ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายกองทัพและผู้ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายที่เสนอให้แก้ไข ม. 112 จะไปทำอะไรที่ไม่เหมาะสม เพราะกลุ่มนิติราษฎร์ก็อ้างจะแก้ไขไม่ให้มีการกลั่นแกล้งกันเท่านั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ในความคิดน่าจะยกไว้ ไม่ควรไปวิพากษ์วิจารณ์ และเรื่องนี้มีกระบวนการอื่นเยอะ ตนกำลังเขียนคอนเซปต์แล้วจะอธิบายให้ฟัง ไม่จำเป็นต้องวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ แต่มันมีวิธีอื่น
 
นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยังให้สัมภาษณ์ถึง กรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.อ้างการข่าวหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ชี้ว่าจะมีการปฏิวัติในช่วงเดือน เม.ย. ว่า "ผมไม่แสดงความเห็น เพราะคุณจตุพรอาจจะมีข้อมูล แต่ทางสายผมยังไม่มี และผมยังไม่ได้เจอคุณจตุพร ขณะนี้ทั้ง สมช. หน่วยข่าวกรอง และสันติบาลไม่มีการแจ้งเตือนเข้ามาที่ผมว่าจะมีอะไรในเดือน เม.ย."
 
เมื่อถามว่า ทางสหรัฐฯ ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่เรื่องจริง จะกลายเป็นว่าสองประเทศเกิดความขัดแย้ง  รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่กล้าแสดงความเห็น เรื่องใหญ่ เมื่อถามว่า ในขณะที่บรรยากาศบ้านเมืองกำลังดี กำลังปรองดอง แต่นายจตุพรออกมาพูดจนหลายฝ่ายออกมาบอกว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง จะยิ่งทำให้ขาดความเชื่อมั่น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่แสดงความเห็น เมื่อถามว่า คิดว่าควรต้องระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องการให้ข่าวเรื่องการปฏิวัติหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า  เป็นเรื่องของคนอื่นจะให้ตนพูดคงไม่ได้ เดี๋ยวทะเลาะกันตาย เมื่อถามว่า ถ้าเจอกับนายจตุพร จะเตือนให้เพลาๆ หรือไม่ เพราะประเด็นนี้ทำให้บ้านเมืองขาดความน่าเชื่อถือ รองนายกฯ กล่าวว่า "  ไม่กล้า เพราะคุณจตุพรก็เป็นผู้ใหญ่ แต่คุณจตุพรเป็นคนดี  รักพรรคเพื่อไทย ทำงานเสียสละ เหน็ดเหนื่อย ปราศรัยทั่วประเทศ แล้วเขากับผมก็รักกัน แต่ยังไม่ได้เจอกัน" เมื่อถามว่า กระแสข่าวเรื่องปฏิวัติทำให้ต่างชาติยิ่งขาดความเชื่อมั่น รองนายกฯ กล่าวว่า แสดงความเห็นยาก เอาเฉพาะส่วนที่ตนได้รับรายงานยังไม่มี    
 
เมื่อถามว่า บางฝ่ายมองว่าการที่นายจตุพรพูดเรื่องปฏิวัติก็ทำให้กระทบความเชื่อมั่นเป็นผลเสียต่อประเทศชาติ จะสามารถดำเนินคดีทางกฎหมายได้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ยังไม่ผิด เพราะเพียงแต่บอกว่าได้ข่าวมาถือว่ายังไม่ผิดกฎหมาย มันมีความผิดอยู่ 3 อย่าง เช่น การวางเพลิง เผาทรัพย์ แค่เตรียมการก็ผิดฐานพยายาม เกี่ยวกับสถาบันแค่เตรียมการก็ผิดข้อหาพยายาม ผู้ใดเตรียมการกระทำปฏิวัติ แค่เตรียมการผิดฐานพยายาม รองนายกฯ กล่าวว่า "แต่ไม่มีหรอกการปฏิวัติ ท่าน ผบ.ทบ.ก็ยืนยันมาตลอด ผู้สื่อข่าวแย้งว่า แต่ทุกครั้งที่บอกว่าไม่ปฏิวัติแต่ก็เกิดขึ้นทุกที ครั้งที่ผ่านมา รมว.กลาโหม คนปัจจุบันในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารอากาศก็ยังไม่รู้เลยเขาจะทำปฏิวัติ รองนายกฯ กล่าวว่า "แต่คราวนี้ไม่เกิดหรอก ท่านประยุทธ์คนนักเลง คนบางขุนเทียนพูดเชื่อได้ ผบ.ทบ.คนนี้พูดจาเชื่อถือได้  คนบางขุนเทียนปากกับใจตรงกัน เชื่อเถอะ "
 
เมื่อถามว่าจะต้องให้ ผบ.ทบ.ออกมาประกาศการันตีเป็นสัญญาลูกผู้ชายว่าจะไม่ปฏิวัติอย่างที่นายจตุพรออกมาเรียกร้องท้าทายหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่ต้องหรอก ก็ท่านประกาศหลายทีแล้ว นี่อย่าไปพูดเรื่องนี้เลย รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทยเย็นนี้ดีกว่า ซึ่งความจริงตนก็ไม่ค่อยได้มีส่วนกับงานดังกล่าว  เพราะนายกฯ สั่งการให้ไปต่างจังหวัด ไปปราบยาเสพติด ไปสภา และในวันที่ 13 ก.พ. ให้ตนพรีเซนต์เรื่องรัฐธรรมนูญของรัฐบาล เสร็จก็ส่งไปอยู่สภาอีก รวมทั้งดูเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน  ถ้าหาก พ.ร.ก.ตกโดยโหวตแพ้ในสภา มันถึงต้องพิจารณาว่ารัฐบาลจะต้องมีท่าทีอย่างไร แต่ถ้าตกโดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนละเรื่อง  ครม.ระบุว่าเป็นความจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบ  แล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่เร่งด่วนแล้วบอกให้ตก  รัฐบาลไม่จำเป็นต้องลาออก ก็เอามาเข้าสภาฯเป็น พ.ร.บ. 3 วาระรวด
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตำรวจเลื่อนรายงานตัว “ก้านธูป” ไม่มีกำหนด

Posted: 10 Feb 2012 12:23 AM PST

10 ก.พ. 55 – สืบเนื่องจากการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของ “ก้านธูป” นักศึกษาปี 1 คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ก่อนหน้านี้มีกำหนดให้ผู้ต้องหาต้องไปรายงานตัวกับสถานีตำรวจบางเขนซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนสั่งฟ้องในวันที่ 11 ก.พ. นั้น

วันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าของคดี พ.ต.ท. แบ๊งค์ บัวนวล ได้แจ้งกับผู้ต้องหา “ก้านธูป” ว่า ให้เลื่อนการรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากทางตำรวจอาจจะตัดสินใจไม่สั่งฟ้องจำเลย

เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานว่า ล่าสุด ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)  พล.ต.ต.นเรศ นันทโชติ รักษาราชการแทน(รรท.)รอง ผบช.น. ในฐานะหัวหน้าชุดตรวจสอบคดี “ก้านธูป” ซึ่งมีผู้ระบุว่าเผยแพร่ข้อความหมิ่นเบื้องสูงทางอินเทอร์เน็ต ว่า คดีดังกล่าวเมื่อมารับหน้าที่ก็ได้ทำต่อ โดยช่วงนั้นน้ำท่วมโรงพัก(สน.บางเขน)ก็ท่วม งานเลยชะลอไปและมีการเปลี่ยนแปลงพนักงานสอบสวน เมื่อได้รื้อฟื้นเอกสารมาตรวจสอบใหม่พบว่ามีประเด็นที่ต้องสอบเพิ่มเติมอยู่จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอซีที ส่วนหมายเรียกที่เรียกมาสอบเพิ่มเติมก็ให้ชะลอไว้ก่อน จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการแจ้งข้อหาแต่อย่างใด เรื่องนี้มีขั้นตอนตามกฎหมายอยู่แล้ว

“ตำรวจทำงานอย่างตรงไปตรงมาทุกคนอยู่ใต้กฎหมายไทย หากผิดก็คือผิด ไม่ผิดก็คือไม่ผิด หากผิดแล้วบอกว่าเขาไม่ผิดต่อไปก็เคารพตัวเองไม่ได้ แต่หากไม่ผิดก็ต้องกล้าบอกว่าไม่ผิดด้วยเหตุผลใด ถึงขั้นตอนนี้อยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็น โดยต้องสอบผู้เชี่ยวชาญด้านเว็บไซต์ให้ชัดเจนมากกว่านี้” รรท.รอง ผบช.น.กล่าว

พล.ต.ต.นเรศ กล่าวว่า หากมีคนกล่าวอ้างต้องดูว่าถูกทำขึ้นหรือไม่ เป็นของจริงหรือไม่ ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน เบื้องต้นยังไม่ได้สอบสวนก้านธูป ซึ่งการจะไปสอบได้นั้นก็ต้องรวบรวมพยาน หลักฐานให้ชัดเจนก่อน เรื่องนี้คุยกับ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น.บอกว่าต้องมีเหตุผลคือไม่ผิดเพราะอะไร หรือผิดเพราะอะไร ต้องชัดเจน ไม่เช่นนั้นใครก็กล่าวหากันได้ ใครก็หลุดคดีได้ เรื่องอย่างนี้ทำเล่นๆไม่ได้ หลวมก็ไม่ได้ แต่ต้องขอเวลาก่อน ก่อนหน้านี้ก็ไปคุยกับทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รวมถึงกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)มาแล้ว ต้องให้เวลาด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่าก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวน สน.บางเขน รวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้ว รวมทั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ก็ไม่ได้ยืนยันว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้โพสต์ข้อความ พนักงานจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง "ก้านธูป" เนื่องจากหากส่งฟ้องไปศาลก็ยกฟ้อง เพราะสอบพยานหลักฐานแล้วพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าว และช่วงเวลาที่มีการกระทำความผิด ผู้ถูกกล่าวหามีอายุเพียง 13-14 ปี ไม่น่าจะมีความคิดเห็นที่รุนแรงทางการเมือง พนักงานสอบสวนจึงสันนิษฐานว่ามีผู้อื่นไปโพสต์ข้อความแทนโดยใช้ชื่อ "ก้านธูป"

แหล่งข่าวยังเปิดเผยว่าสำนวนคดีดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องมา 3 เดือนกว่าแล้ว และทำเรื่องเสนอความเห็นเสนอไม่ฟ้องไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2) แต่ทาง บก.น.2 มีความเห็น ให้สอบ"ก้านธูป"เพิ่มเติม พนักงานสอบสวนสน.บางเขนจึงจำเป็นจะต้องออกหมายเรียกมาสอบเพิ่มเติมตามขั้นตอนกฎหมาย กระทั่งมีการเปลี่ยนชุดตรวจสอบคดีใหม่เป็นพล.ต.ต.นเรศ นันทโชติ จึงให้ชะลอออกหมายเรียกสอบเพิ่มเติมไปก่อนจนกว่าจะรวบรวมพยานหลักพิสูจน์ได้ชัดเจน

“ก้านธูป” เปิดเผยกับประชาไทว่า หลังจากที่ทราบข่าวในวันนี้ ตนค่อนข้างรู้สึกแปลกใจมาก และค่อนข้างสับสน เนื่องจากมิได้รับแจ้งจากตำรวจโดยตรง แต่กลับรู้มาจากบุคคลอื่นก่อน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ยืนยันกับทนายความและตำรวจเจ้าของคดีแล้ว ก็รู้สึกลำบากใจ เนื่องจากได้มารับทราบอย่างกะทันหัน และในขณะนี้สถานะของคดีก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน
 

ทั้งนี้ “ก้านธูป” ระบุว่า ได้ตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมให้กำลังใจที่เดิมวางแผนไว้ในวันเสาร์เช้า 10 โมง บริเวณหน้าสถานีตำรวจบางเขน และตนเองจะเดินทางไปร่วมกิจกรรมกับ “ไท” ปณิธาน พฤกษาเกษมสุขที่จะเริ่มประท้วงอดอาหาร 112 ชั่วโมงบริเวณหน้าศาลอาญา เวลา 4 โมงเย็นแทน  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายด้านสาธารณสุขระดมส่งแฟกซ์-อีเมลถล่มอียู "หยุดแย่งยาจากมือประชาชน"

Posted: 09 Feb 2012 11:43 PM PST

ภาคประชาสังคมทั่วโลกประสานพลังกดดันสหภาพยุโรปให้หยุดบังคับอินเดียให้รับเอฟทีเอที่จะมีผลทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญในการประชุมสุดยอด สุดสัปดาห์นี้ เครือข่ายในไทยใช้วิธีส่งแฟกซ์-อีเมลถล่ม และโฟโต้แอคชั่น

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้จะเป็นการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป-อินเดียเพื่อสรุปข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างกัน ซึ่งสหภาพยุโรปยังคงพยายามกดดันให้อินเดียต้องรับข้อตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่าทริปส์พลัส ซึ่งจะมีผลทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของอินเดียที่ประชาชนทั่วโลกพึ่งพาอยู่ ทางเครือข่ายด้านสาธารณสุขทั่วโลกจึงร่วมในกันจัดการรณรงค์พร้อมกันในสัปดาห์นี้

"อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตยาชื่อสามัญรายใหญ่ที่สุดในโลก ยาจำเป็นต่างๆ กว่าร้อยละ 80 ที่ใช้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนามาจากอินเดีย โดยเฉพาะยาต้านไวร้สเอชไอวี ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่จ่ายยาจำเป็นสำหรับรักษาโรคเอดส์ โรคหัวใจ และมะเร็งให้กับผู้ป่วยนับล้านรายภายในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย โดยที่ยาเหล่านี้มาจากอินเดีย แต่สหภาพยุโรปกำลังทำทุกวิถีทางที่จะปิด “ร้านขายยา” ของประเทศกำลังพัฒนา และตัดสายป่านชีวิตของผู้คนนับล้านที่ต้องอาศัยยาจำเป็นจากประเทศอินเดีย"

สำหรับการรณรงค์ในไทย เครือข่ายประชาชนและองค์กรต่างๆ ที่ร่วมกันทำงานเพื่อการเข้าถึงการรักษา นำโดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย จะใช้วิธีการส่งโทรสารและจดหมายอิเล็คทรอนิคไปยังสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย และเชิญชวนประชาชนร่วมถ่ายภาพที่มีข้อความ “สหภาพยุโรปหยุดแย่งยาจากพวกเราซะที/EU Hand off Our Medicines” “หยุดเอฟทีเอที่ทำลายยาชื่อสามัญ/Stop the FTA Attack Generic Medicines” เผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดีย http://www.facebook.com/EUinThailand เพื่อกระตุ้นสำนึกผู้เจรจาของสหภาพยุโรปให้คณะกรรมาธิการยุโรปเปลี่ยนท่าทีในการเจรจาและสัญญาว่าจะสนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็นสำหรับประชาชนทุกคน โดยจะเริ่มการรณรงค์นี้พร้อมกันในวันศุกร์นี้”


ภาพบางส่วนที่ถูกโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

สำหรับเนื้อหาในข้อตกลงเอฟทีเอที่จะมีผลในการทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ อาทิ

· การขยายอายุสิทธิบัตร ที่ทำให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยาวนานเกินกว่า 20 ปีตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก

· การผูกขาดข้อมูลทางยา ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิหรือทำให้นำยาชื่อสามัญมาขึ้นทะเบียนยาไม่ได้หรือได้อย่างยากลำบาก

· การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่บังคับให้รัฐบาลและระบบศาลของอินเดียต้องตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเจ้าของสิทธิบัตรเป็นสำคัญ มากกว่าเรื่องสาธารณสุขของประชาชน และบั่นทอนการแข่งขันของยาชื่อสามัญ

· มาตรการชายแดน ที่จะทำให้การส่งออกยาจากอินเดียไปยังประเทศกำลังพัฒนามีความยากลำบากหรือไม่อาจจะส่งออกไปได้เลย


/////////////////////////

 

 

ถึง เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และหัวหน้าแผนกการค้าและเศรษฐกิจ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

 

ชีวิตคนนับล้านในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทย อยู่ได้เพราะยาชื่อสามัญที่ราคาไม่แพงและเป็นธรรม แต่ชีวิตของพวกเขากำลังถูกคุกคามอย่างหนัก เพราะการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ดำเนินอยู่ระหว่างสหภาพยุโรปและอินเดีย

อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตยาชื่อสามัญรายใหญ่ที่สุดในโลก ยาจำเป็นต่างๆ กว่าร้อยละ 80 ที่ใช้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนามาจากอินเดีย โดยเฉพาะยาต้านไวร้สเอชไอวี ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่จ่ายยาจำเป็นสำหรับรักษาโรคเอดส์ โรคหัวใจ และมะเร็งให้กับผู้ป่วยนับล้านรายภายในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย โดยที่ยาเหล่านี้มาจากอินเดีย

คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กำลังผลักดันอย่างหนักให้มีข้อตกลงการค้าที่มีข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (หรือข้อตกลงทริปส์) ข้อตกลงนี้จะสกัดกั้นการเข้าถึงยาที่จำเป็นของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังจะปิด “ร้านขายยา” ของประเทศกำลังพัฒนา และตัดสายป่านชีวิตของผู้คนนับล้านที่ต้องอาศัยยาจำเป็นในราคาที่เป็นธรรมจากประเทศอินเดีย

ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปเพิกถอนมาตรการต่างๆ ต่อไปนี้ออกจากข้อตกลงที่จะทำกับรัฐบาลอินเดีย:

· การขยายอายุสิทธิบัตร ที่ทำให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยาวนานเกินกว่า 20 ปีตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก

· การผูกขาดข้อมูลทางยา ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิ์หรือทำให้นำยาชื่อสามัญมาขึ้นทะเบียนยาไม่ได้หรือได้อย่างยากลำบาก

· การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่บังคับให้รัฐบาลและระบบศาลของอินเดียต้องตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเจ้าของสิทธิบัตรเป็นสำคัญ มากกว่าเรื่องสาธารณสุขของประชาชน และบั่นทอนการแข่งขันของยาชื่อสามัญ

· มาตรการชายแดน ที่จะทำให้การส่งออกยาจากอินเดียไปยังประเทศกำลังพัฒนามีความยากลำบากหรือไม่อาจจะส่งออกไปได้เลย


ข้าพเจ้าเรียกร้องเพื่อประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาที่จำเป็นต้องพึ่งพายาจำเป็นในราคาที่เป็นธรรม ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปเปลี่ยนท่าทีในการเจรจาและสัญญาว่าจะสนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็นสำหรับประชาชนทุกคน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

D.I.Y. (DID It YAKKK) ทำเองไม่ง่ายนะ ...ขอบอก

Posted: 09 Feb 2012 10:36 PM PST

หลังจากภาวะภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ บ้านเรือนข้าวของเสียหายไปเป็นจำนวนมาก โดยสิ่งที่ต้องได้รับความเสียหายไปด้วยก็คือ เครื่องใช้เครื่องเรือนในบ้าน หรือโรงงาน สำนักงาน

การสร้างบ้านใหม่ การเลือกหาบ้านหลังที่สอง หรือการซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่เข้าบ้านกลายเป็นกิจกรรมใหญ่ที่คนในสังคมคลุกคลี ให้ความสนใจ บริษัทห้างร้านทั้งหลายก็มีกิจกรรมส่งเสริมการขายมารองรับความต้องการในส่วนนี้ด้วย

ท่ามกลางความต้องการเฟอร์นิเจอร์ใหม่นั้น ตัวเลือกก็มีอยู่ไม่มากนัก สำหรับผู้บริโภค หากไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ การเลือกหาสินค้าท้องถิ่นจากร้านท้องถิ่นจึงเป็นไปได้ยาก ข้อจำกัดและเงื่อนไขข้างต้น ทำให้คนที่อาศัยอยู่ในแถบเมือง โดยเฉพาะมหานคร และหัวเมืองใหญ่ๆ จำต้องเลือกซื้อสินค้ายี่ห้อดังระดับชาติจากร้านแฟรนไชส์ระดับชาติ หรือระดับโลก

แต่ร้านที่กำลังฮือฮากันอยู่ก็คือ ร้านเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดังที่มาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย และสามารถให้เข้าไปเลือกชมเลือกซื้อได้ทางอินเตอร์เน็ต หรือจะเข้าไปชมของจริงก็ได้

แนวคิดที่มาพร้อมกับสินค้ายี่ห้อนี้ก็คือ D.I.Y. (Did It Yourself) หรือ สินค้าที่เมื่อเราเลือกซื้อแล้วทางร้านจะให้ชิ้นส่วนต่างๆมาแล้วเราก็ลงมือประกอบเอง

ข้อดีของสินค้าในแนวคิดนี้และทำให้ติดตลาดไปทั่วโลก คือ ความประหยัดกว่าสินค้ายี่ห้ออื่นในประเภทเดียวกัน เพราะลดค่าแรงในการประกอบ ไม่นับรวมถึงความง่ายที่ทำให้ใครๆ ก็สามารถประกอบเองได้ และถือเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัวเมื่อยามร่วมกันประกอบเฟอร์นิเจอร์ทุกตัวขึ้นมาด้วยตัวเองและคนที่คุณรัก

ผมเองได้มีโอกาสซื้อสินค้าตามแนวคิด D.I.Y. แต่เป็นของยี่ห้ออื่น แต่ก็เป็นแบรนด์ระดับชาติ เมื่อจำเป็นต้องซื้อชุดจัดแขวนเสื้อผ้าแบบโปร่งด้วยสนนราคาเกือบสองหมื่นบาทแต่ต้องนำมาประกอบเองโดยที่คนขายบอกว่าง่ายมากทำเองได้อยู่แล้ว แต่ด้วยความกังวลใจเลยลองถามถึงค่าแรงหากจะให้ช่างของทางร้านมาประกอบและติดตั้งให้ ซึ่งทางร้านคิดเพิ่มอีก 6,000 บาท ผมก็เลยต้องนำมาประกอบเองโดยปริยาย

ผมใช้เวลาประกอบชุดเฟอร์นิเจอร์นี้ด้วยตัวผมเองและคนในครอบครัวอีก 4 คน เป็นเวลาถึง 4 วัน กว่าจะแล้วเสร็จ เท่ากับว่า ผมใช้แรงงาน 5 คน 4 วัน เท่ากับทั้งหมด 20 งาน หากนำเอาค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศว่าจะขึ้นให้ในกลางปีคือวันละ 300 มาคูณ ก็จะเท่า 6,000 บาท เท่ากับที่ทางร้านเสนอมาพอดิบพอดี

ขณะที่ผมประกอบนั้น ทั้งผมและคนในครอบครัวต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ความยากและความเหนื่อย และค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะโยนไปให้ช่างแล้วเราเพียงแค่เสียเงินค่าจ้าง เพราะแท้ที่จริงเรา 5 คนทำงานของพวกเรา 4 วัน น่าจะมีรายได้มากกว่า 6,000 บาทอยู่เยอะทีเดียว ซึ่งมันก็จริง แม้เมื่อช่างมาจริงๆ เขาจะมากันแค่ 2 คนและใช้เวลาเพียง 1 วัน ก็ประกอบเสร็จแล้วทำให้เราเสียดายเงินก็ตาม แต่ถ้าคิดว่าเราไม่ต้องเสียโอกาสจากการลงมือทำเอง มันก็คุ้มมิใช่หรือ

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผม หวนคิดถึงเรื่องที่เคยฉงนมานานอยู่ 2 เรื่อง คือ ค่าจ้างช่างฝีมือในประเทศไทยต่ำกว่า ช่างฝีมือในต่างประเทศมากหรือไม่ และสินค้าประเภท D.I.Y. ขายดีมากในต่างประเทศเพราะอะไร

ค่าจ้างช่างฝีมือในประเทศไทยต่ำกว่าช่างฝีมือในต่างประเทศมาก รวมถึงสวัสดิการ และต้นทุนในการจัดการทำงานให้ปลอดภัย และ

สินค้าประเภท D.I.Y. ขายดีมากในต่างประเทศเพราะอะไร บรรษัทอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์สามารถลดค่าจ้างประกอบซึ่งหมายรวมทั้งค่าตอบแทน สวัสดิการ การเจรจาต่อรองกับสหภาพแรงงาน และการจัดสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้ปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้นผู้ซื้อก็ประกอบได้เองโดยที่ไม่ต้องเสียเงินจ้างช่างฝีมือที่มีราคาแพงมาก
ประกายความคิดที่ผุดขึ้นมาก็คือ บริบททางเศรษฐกิจการเมือง โดยเฉพาะเรื่องแรงงานในประเทศไทยอยู่ในจุดที่ย่ำแย่ จนถึงขนาดที่เราสามารถแสวงหาการขูดรีดแรงงานได้ง่ายขนาดนั้น หรือต่างประเทศมีการคุ้มครองแรงงานดีจนทุกคนต้องทำเองทุกอย่างจนช่างฝีมือไม่มีงานทำจนต้องคิดราคาแพงเมื่อมีงานเข้ามา

ความคิดทั้งสองอาจไม่มีความคิดใดผิดเลยทั้งสองประเด็น แต่ที่แน่ๆ คือ การคุ้มครองแรงงานไทยมีปัญหาที่ชวนให้ขบคิดอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ ความปลอดภัยในการทำงาน และการรวมกลุ่มต่อรอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น