ประชาไท | Prachatai3.info |
- ชาญวิทย์ตอบจดหมายศิษย์ มธ. กรณีถูกพาดพิงลงไทยโพสต์
- "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ยันข้อเสนอยกเลิกกม.หมิ่น
- “ครก.112” วอนสื่อ นำเสนอการแก้ไข ม.112 ให้รอบด้าน ก่อนจะรุนแรงไปกว่านี้
- ธรรมศาสตรา: สนทนาธรรมกับ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติราษฎร์ (ตอนที่ 4)
ชาญวิทย์ตอบจดหมายศิษย์ มธ. กรณีถูกพาดพิงลงไทยโพสต์ Posted: 05 Feb 2012 12:45 AM PST อดีตอธิการบดี มธ. ตอบจดหมายศิษย์ระบุ ในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งใน มธ. ความเห็นและจุดยืนที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา และควรจะเป็นธรรมชาติ แจงการลงชื่อสนับสนุนแก้ไข ม.112 ได้ไตร่ตรองทางวิชาการแล้ว ชี้ยุโรปตะวันตกหรือญี่ปุ่นมีสถาบันกษัตริย์ที่มั่นคงสถาพรก็เพราะได้ปฏิรูป แก้ไขให้สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่ใช้ “พระคุณ” ให้เกิดความรัก ความเชื่อ ศรัทธา มากกว่าการใช้ “พระเดช” เมื่อเวลาประมาณ 13.20 น. วันนี้ (5 ก.พ.) นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์บทความ “From a Student and a Teacher” ลงในเฟซบุค เพื่อตอบจดหมายลูกศิษย์ ซึ่งส่งจดหมายชี้แจงและขอโทษกรณีพาดพิงนายชาญวิทย์ โดยนายชาญวิทย์ ได้ตอบชี้แจงด้วยโดยมีรายละเอียดดังนี้
From a Student and a Teacher จากศิษย์ Ruj Krongbhumin สาสน์ชี้แจง ผมขอชี้แจง ดังนี้ 1. ผมต้องกราบขอโทษอาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และขอโทษแก่ทุกท่านที่เคารพรักอาจารย์ ที่ผมได้กล่าวพาดพิงและทำให้ท่านได้รับความเสียหาย จากการเคลื่อนไหวต่อต้านนิติราษฎร์ของผม 2. ผมน้อมรับคำติจากทุกท่านหลังจากที่ผมได้กล่าวไปในคลิปดังที่ทุกท่านได้เห็น ท่านอาจารย์ไม่ได้สั่งสอนให้ผมล้มสถาบันหรือชิงชังต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งหมดเกิดจากการเสพสื่อที่ต่อต้าน กระบวนการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ เกิดจากความคิดของผมเองและข่าวที่เสพไป 3. ผมกราบขออภัย อาจารย์ทุกท่านโดยเฉพาะอาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และต้องขอโทษที่อ้างอิงชื่อโครงการทำให้โครงการได้รับความเสียหาย ผมยังเคารพและให้เกียรติท่าน 4. อนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่ได้ให้ไว้กับทางไทยโพสต์ เนื้อหาใจความบางส่วนถูกบิดเบือนไปมาก ผมไม่ได้ให้สัมภาษณ์ในเนื้อหาเช่นนั้นทั้งหมด ทั้งนี้ผมจะขอชี้แจงต่อไทยโพสต์เพื่อขอให้มีการข่าวในสิ่งที่ผมพูดไปข้างต้นและหาแนวทางแก้ไขข่าวเพื่อรักษาชื่อเสียงของอาจารย์และโครงการฯ 5. ผมยังยืนยันที่จะเคลื่อนไหวในแนวทางของผม และขออภัยแก่ท่านอาจารย์และทุกท่านครับ ขอโทษด้วยเจตนาบริสุทธิ์และหวังว่าจะได้รับคำให้อภัยจากท่าน
000
จากอาจารย์ Chanvit Ks ไม่เป็นไรหรอก ครับ ไม่มีอะไรที่จะต้อง “เจ็บแค้น เคืองโกรธ โทษ...” ในสังคมประชาธิปไตย (รวมทั้งในธรรมศาสตร์) ความเห็นและจุดยืน ที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องธรรมดา และควรจะเป็นธรรมชาติด้วย หนึ่ง) ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์” และ “กลุ่มสันติประชาธรรม” ให้ปฏิรูป แก้ไข กม. หมิ่น มาตรา 112 นั้น เป็นข้อเสนอ ที่ผมได้ไตร่ตรองทางวิชาการ ทั้งทางด้านรัฐศาสตร์ ปวศ และ นิติศาสตร์แล้ว และเห็นพ้องด้วย ควรสนับสนุน จึงได้ลงนามร่วมไปกับทั้งบรรดาอาจารย์ และบุคคลทั้งหลายจำนวนมาก สอง) ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์” และ “กลุ่มสันติประชาธรรม” ถ้าสามารถจะดำเนินการให้ผ่านสภาฯ ได้ จะช่วยให้สังคมไทยของเรามีสันติสุข และจะทำให้สถาบันกษัตริย์ของเรา มั่นคง สถาพร ได้มาตรฐานสากล เช่น นานาอารยประเทศ อย่างสหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก และ/หรือญี่ปุ่น ไม่อ่อนแอ เกิดปัญหา และล่มสลายไปอย่างในยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก และ/หรือเอเชียใต้ สาม) จากการศึกษาทางวิชาการของผม พบว่าสหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก และ/หรือญี่ปุ่น มีสถาบันกษัตริย์ที่มั่นคง สถาพร ก็เพราะได้ปฏิรูป แก้ไขให้สถาบันกษัตริย์ เป็นสถาบันที่ใช้ “พระคุณ” ให้เกิดความรัก ความเชื่อ ศรัทธา มากกว่าการใช้ “พระเดช” ที่ทำให้เกิดความกลัว ความเกลียดชัง และข่มขู่ด้วยคุกตาราง หรือแม้แต่การใช้ความรุนแรง เข้าประหัตประหารกัน ดังที่เราได้เห็นมาแล้วในโศกนาฏกรรม ที่เกิดขึ้นกับ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ของเรา กับ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับเหยื่อในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหยื่อในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ฯลฯ สี่) จากการศึกษาของผม พบว่ามีข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับ ม. 112 อยู่ในหนังสือเล่มใหม่ ที่ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานรวบรวมและจัดพิมพ์ ในวโรกาศ 84 พรรษา เรื่อง King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work, หนา 383 หน้า ราคา 1, 235 บาท 40 US$ มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการ เช่น คริส เบเกอร์-พอพันธ์ อุยยานนท์-เดวิด สเตร็กฟุส ขอแนะนำให้อ่านเป็น “การบ้าน” เพิ่มเติม ห้า) ในหนังสือเล่มนี้ บทที่ว่าด้วย “กฎหมายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย...” หน้า 303-313 The Law of Lese Majeste มีข้อความ ถอดเป็นภาษาไทย ดังนี้ “จากปี 2536 (1993) ถึงปี 2547 (2004)โดยเฉลี่ยแล้ว จำนวนคดีหมิ่นฯ ใหม่ๆ ลดลงครึ่งหนึ่ง ไม่มีคดีหมิ่นฯ เลยในปี 2545 (2002)....... อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ จำนวนคดีหมิ่นฯ ที่ผ่านเข้ามาในระบบศาลของไทยนั้น เพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต ในปี 2552 (2009) มีคดีฟ้องร้องที่ส่งไปยังศาลชั้นต้น สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 165..... หก) ข้อความดังกล่าว ขยายความต่ออีกว่า “ขณะนี้ ประเทศไทย มีกฎหมายหมิ่นฯ ที่มีโทษรุนแรงที่สุดในรอบหนึ่งร้อยปี เทียบได้ก็แต่ระบบกฎหมายของญี่ปุ่นในยามสงคราม (โลก ครั้งที่ 2) เท่านั้น โทษขั้นต่ำสุด (ของไทย) เท่ากับโทษสูงสุดของจอร์แดน และเป็นสามเท่าของโทษในประเทศระบอบกษัตริย์โดยรัฐธรรมนูญ ในยุโรป.... เจ็ด) นี่ นับได้ว่าสูงสุดในมาตรฐานสากล ของนานาอารยประเทศ ซึ่งก็ทำให้ “ราชอาณาจักรไทย” สมัยนี้ของเรา มีคดีขึ้นโรงขึ้นศาล มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลก เช่นกัน แปด) ผมคิดว่า ข้อมูลเชิงประจักษ์จากหนังสือสำคัญเล่มดังกล่าวนี้ ก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เรา ในประชาคมทางวิชาการ จักต้องนำมาพิจารณาเพื่อปฏิรูป ปรับปรุง แก้ไข ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดถึง คดีที่ค้างคากันอยู่จำนวนมาก รวมทั้งกรณีของ “อากง” และ/หรือ “ก้านธูป” ฯลฯ ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน ได้เรียนต่อสูงๆ ขึ้นไป มีอนาคตสดใส ได้การงานอาชีพที่ดี ครับ โชคดีในการแสวงหา “แสงสว่าง ทางปัญญา” และอย่าลืมว่า “ที่นี่ (ที่ธรรมศาสตร์ หรือ มหาวิทยาลัยใดๆ สถาบันการศึกษาใดๆ ก็ตาม) มีแต่ความว่างเปล่า ถ้าเราไม่แสวงหา” (5 กุมภาพันธ์ ก่อนวันวาเลนไทน์ 2555/2012) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ยันข้อเสนอยกเลิกกม.หมิ่น Posted: 04 Feb 2012 10:56 PM PST สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลมองผลสะเทือนด้านลบของนิติราษฎร์ ที่อาจดึงรั้งเพดานความคิดทางอุดมคติของข้อเสนอทางการเมือง ชี้ หากสนับสนุนประชาธิปไตย-ฟรีสปีชแท้จริง ต้องเสนอยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความสาธารณะในเฟซบุ๊กของตน วิเคราะห์จุดอ่อนของข้อเสนอการแก้ไขม. 112 ของคณะนิติราษฎร์และคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) โดยมองว่าข้อเสนอให้ "แก้ไข" ม. 112 เป็นการดึง "เพดานความคิด" ลงมา และหากสนับสนุนประชาธิปไตย-ฟรีสปีชจริง ต้องยกเลิกการคุ้มครองพิเศษแก่ประมุขของรัฐ เพราะเป็นการตอกย้ำความคิดเรื่องฐานันดร โดยรายละเอียดของการโพสต์มีดังนี้ 0000 ขออภัย ที่ผมต้องสารภาพว่า ผมไม่ได้รู้สึก enthusiastic กับการรณรงค์ของนิติราษฎร์-ครก. ครั้งนี้ เท่ากับอีกหลายๆคน (ดูตัวอย่างล่าสุด กลอนของคุณ เพ็ญ ภัคตะ ) ประเด็นสำคัญประเด็นหนึง (มีหลายประเด็น) ที่ผมเคยพูดไปก่อนการปิด fb เดือนก่อน แต่อยากจะขอพูดอีกที คือ ผมเองในหลายปีที่ผ่านมา sympathy อยู่กับพวกบรรดา "เวทีเล็ก" ตั้งแต่สมยศ ถึง สุรชัย ถึงกลุ่มอะไรต่ออะไร (ไมใช่จะเห็นด้วยกับเขา ในแง่เนื้อหาทุกเรื่อง) แต่ผมชอบความ "มัว" ความ spontaneous (ไม่รู้จะแปลไทยว่าอะไร "เป็นไปเอง" "ไม่มีสคริปต์" เท่าไร อะไรแบบนั้น - วันก่อนเจอหน้าคุณ เก๋ไก๋ สไลเดอร์ โดยบังเอิญ ยังทักเธอว่า ไม่ได้เห็นเธอขึ้นเวที นึกถึงวันเก่าๆ เธอบอกว่า วันที่ 22 เดือนนี้ จะมีชุมนุมระลึก 1 ปี ทีสุรชัย ถูกจับ ความจริง ปีกลายช่วงที่สุรชัย จัดติดกัน 4 วัน จนวันสุดท้ายที่ถูกจับ ผมก็แวะไปอยู่ ยังนึกด้วยความเศร้า ) และในหลายปีที่ผ่านมา ผมเห็นคนเหล่านี้ พยายาม "เปิดพื้นที่" พยายามจะเรียกร้อง เรื่อง 112 ซึง เรียกว่า เป็นเอกฉันท์ ต้องการให้เลิกเด็ดขาด ... พูดกันแบบตรงๆ อย่างที่ผมเคยพูดมาแล้ว ผมเห็นว่า ไหนๆ ปัญญาชนนักวิชาการจะมา (นี่ผมลังเลว่าจะใช้คำว่าอะไรดี ถ้าพูดแบบบ้านๆให้เข้าใจง่ายๆ อาจจะบอกว่า "แย่งซีน" แต่ผมไม่ชอบคำนี้ ) เอาเป็นว่า ทำนอง "สร้างกระแส ที่กลบ กระแสที่เคยมีการพูดกันมาก่อน" (ยาวหน่อย แต่ให้ความหมายที่ไม่ทื่อๆแบบคำที่เพิ่งพูด) ไหนๆ ถ้าจะอย่างนี้ ควรต้องทำดีกว่า บรรดา "มวลชน" ที่ไมมีชื่อเสียง ไมมีทักษะ ไม่ได้รับความสนใจจากบรรดาสื่อทั้งหลาย ดังนั้น ต้องบอกตรงๆว่า ทุกครั้งที่เห็นอาการ enthusiasm มากๆ เรื่องการรณรงค์ของนิติราษฎร์ - ครก. ครั้งนี้ ผมอดรู้สึกเศร้าไม่ได้ ผมยืนยันว่า จริงๆแล้ว ข้อเสนอของนิติราษฎร์ NOT GOOD ENOUGH วฺิธีดูง่ายๆว่า NOT GOOD ENOUGH ยังไง คือ .............. มีประเด็นหนึ่ง ที่ผมกำลังร่างอธิบายยาวกว่านี้ แต่ขอถือโอกาสพูดสั้นๆไว้ เพราะเกี่ยวข้องกัน ผมเชื่อว่า นิติราษฎร์เอง และหลายคนที่ enthusiastic กับนิติราษฎร์-ครก. เพราะคิดในเชิง "เปิดประเด็น" "เปิดพื้นที่" ผมยอมรับว่า "แปลกใจ" ถ้าใครคิดจะยกประเด็นนี้มา เพื่อจะบอกว่า "เปิดประเด็นนี้ได้ ก็ยังดี ข้อเสนอ เป็นยังไง ไม่สำคัญเท่า" อะไรแบบนั้น เพราะอะไร? เพราะ การ "เปิดประเด็น" หรือ "เปิดพื้นที่" นั้น ใช้เนื้อหา ข้อเสนออะไรก็ได้ ใช้เนื้อหา ข้อเสนอว่า "เลิกโดยสิ้นเชิง" ก็ได้ และดียิ่งกว่า ถูกต้องยิ่งกว่าด้วย ผมจึงยืนยันเหมือนทีเคยพูดตังแต่ก่อนวันที่ 15 ว่า ภายใต้เงื่อนไขที่นิติราษฎร์ กำลัง"เป็นที่สนใจ"มากๆ ("กำลังดัง" ถ้าพูดด้วยภาษาง่ายๆ) ต้องใช้โอกาสนี้ เสนอให้ "เลิกกฎหมายหมิ่นฯโดยสิ้นเชิง" และทำให้บรรดาการเสียสละของคนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งบรรดาคนที่เข้าคุกไป คนที่รณรงค์ ไปแล้ว ไม่สูญเปล่า ไม่ต้องมาหาทางเริ่มกันใหม่ (ในความเป็นจริง ผมยืนยันด้วยว่า ผลการเสนอของนิติราษฎร์ ครั้งนี้ ทำให้ - โดยไม่ตั้งใจ - ใครทีคิดจะเสนอให้เลิก เด็ดขาด จะยิ่งลำบากยิ่งกว่า ก่อนนิติราษฎร์ ออกมาคราวนี้เสียอีก) และผมมองว่า วันที่ 15 และการรณรงค์ทีตามมาเป็นการ miss historic opportunity ของนิติราษฎร์ (และทำให้ขบวนการประชาธิปไตยโดยรวม พลอย miss ไปด้วย) ................ ในงานวันที่ 15 นั้น อาจารย์วรเจตน์ ได้ graciously (ขออภัย นึกคำไทยสวยๆไม่ได้) พูดถึงกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวไปก่อนแล้ว โดยเฉพาะเจาะจงถึงคุณสมยศ ซึงเป็นเรื่องน่านับถือที่ อาจารย์ทำเช่นนั้น แต่เรื่องนี้ ผมมองว่า มันไมใช่แค่ในแง่ความรู้สึก หรือความตั้งใจ (อ.วรเจตน์ และนิติราษฎร์ มีความตังใจดี ผมไม่เคยสงสัยเลย) แต่มันเป็นเรื่องของ "สถานการณ์โดยรวมทางภาวิสัย" ซึงผมยังเห็น นี่เป็น การ "เปิดพื้นที่" ที่ไม่ดีพอ ที่ไม่พูดทิศทาง และ - โดยไม่ตั้งใจ - ทำให้ ความพยายามของคนเล็กๆ ที่ทำมาก่อน ต้องเสียไป ในแง่ผลสะเทือน หรือ พื้นที่เล็กๆที่เปิดไปแล้ว อย่างน่าเสียดายมากๆ ............. เหนืออื่นใด นี่เป็นประเด็นในเชิง ethical ของปัญญาชน ทีผมพูดมาตังแต่ก่อน fb ว่า ผมเห็นมาตลอดว่า ถ้าเราปัญญาชนนักวิชาการ ทีมีเงื่อนไขดีกว่า บรรดาคนตัวเล็กๆพวกนั้น มหาศาล (ในแง่เกราะกำบัง ในแง่ ความสนใจของสื่อ ในแง่สารพัด) ไม่สามารถทำให้ได้ดีเท่าๆ หรือดีกว่า ที่พวกเขาทำ แบบงูๆปลาๆ แบบคลำๆเสี่ยงๆไป . . เราก็ fail มากๆ ในฐานะปัญญาชน และมองในแง่ ถ้าพูดไม่เกรงใจ ผมมองว่า การเคลื่อนไหวนี้ของ นิติราษฎร์ และ ครก จึงเป็น failure ของปัญญาชน ............. ขออภัย ถ้าอ่านแล้วไม่ชอบใจ เขียนจากความรู้สึกจริงๆ ที่เห็น ความ enthusiasm (กระตือรือร้น) ที่แสดงออกมา ถ้าบอกตรงๆ มันคล้ายตอนที่เห็น คุณ "กานต์ ณ กานต์" กระตือรือร้นกับ "อภยยาตรา" อย่างแรง จนเข้าใจผิดว่า "เป็นครั้งแรกทีคนออกมาบนถนน พูดเรื่อง 112" อะไรนั่น แต่เรื่องนั้น ก็ยังไม่เท่าไร แม้จะรู้สึกเสียใจอยู่บ้างว่า คนในแวดวงปัญญาชน พอทำอะไรกันไม่มากอะไร มักจะรู้สึกว่า เป็นอะไรทีสำคัญใหญ่โตมากๆ (ทั้งที่คนระดับเล็กๆ เขาทำมาก่อนเป็นปี) แต่ครั้งนี้ ก็บอกกันตรงๆว่า ความเสียใจ สูงกว่า กรณี อภยยาตรา มากๆ ................ ผมเคยบอกหลายหนแล้วว่า การตัดสินออกมาค้านนิติราษฎร์ เป็นอะไรทีผม agonize มากๆ (นึกไม่ ออกว่าครั้งสุดท้ายรู้สึกแบบนี้เมื่อไร เท่าทีจำได้ สิบกว่าปีมาแล้ว ตอนทีใช้เวลาตัดสินใจนานมากๆ ที่จะ ออกมาโต้แย้ง ธงชัย บางประเด็นหรือไม่) "ปัจจัย" สำคัญอย่างหนึ่ง คือเรื่องที่เพิ่งพูดมานี้ ผมไม่คิดว่า คนอื่นจะหาว่าผมขี้คุยหรืออะไร เพราะผมคิดว่า นี่เป็นแค่ความจริงพื้นๆ ถ้าผมจะบอกว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ทีในที่สุดตัดสินพูดขึ้นมา ก็เพราะตระหนักว่า ถ้าผมไม่พูด ในประเทศไทยตอนนี้ จะไม่มีคนทีมีทักษะในการเรียบเรียงเหตุผลโต้แย้ง หรือมี authorities ในเรื่องนี้ เพียงพอ จะมาแย้ง การ เสนอ และกระแส ทีเกิดจากการเสนอ ของนิติราษฎร์ ได้ อย่างที่ผมบอกว่า ลอง thought experiment ว่า เอาละ ที่ผ่านมา ผมไม่ทำแบบนี้เลย เงียบสนิทเลย และต่อจากนี้ ก็เงียบสนิทเลย กระแส หรือ "พื้นที่การอภิปรายสาธารณะ" เรื่อง 112 (ผมพูดเฉพาะจาก "ฝ่ายประชาธิปไตย") จะเหลือ อยู่ สำหรับ การ "เลิก" ที่จริงๆ เป็น aspiration ของมวลชนจำนวนมหาศาล และจริงๆ เคยมีกลุ่มเล็็กกลุ่ม น้อยทำมาไม่น้อยแล้ว เพียงแต่ "โชคไม่ดี" ที่ด้วยลักษณะความเหลือมล้ำทางสังคม ทำให้พวกเขาไม่มี ทักษะพอ (ไม่ใช่นักวิชาการทีจะฝึกฝนในเรืองนี้เป็นอาชีพ) ในการเรียบเรียง aspiration นั้น ออกมา เป็น บทความ เป็นอะไรต่ออะไร กระทั่ง เป็น "ร่างกฎหมาย" และก็โชคไม่ดี ที่ สื่อ ประเทศนี้ มองไม่เห็นหัว หรือฟังไม่ได้ยินเสียงพวกเขา ลองจินตนาการเอา โดยสมมุติเอาผมออกไปจากสมการสักคน คิดว่า ต่อไปนี้ จะมี "เสียง" หรือ "พื้นที่" สำหรับ การเสนอ หรือการยืนยันว่า "ต้องเลิก กม.หมิ่นฯ โดยสิ้น เชิง" เท่านั้น หรือ? เกษียร ไม่มาเขียนให้กับเสียงแบบนี้แน่ ใบตองแห้ง ก็ไม่เขียนแน่ นักวิชาการสันติประชาธรรมอีกหลาย ต่อหลายคน คุณวาด ระวี ฯลฯ ก็ไม่มาเขียนให้กับ "เสียง" แบบนี้แน่ และแน่นอน นิติราษฎร์ เอง ก็ไม่ได้จะเขียนให้พวกเขาแน่ เพราะไม่ได้เสนอแบบนี้ .......................... ภาวะแบบนี้ เรียกว่า "ดึง" ได้หรือไม่? ถ้า "ดึง" หมายถึงการ "รั้งลงมา" ในแง่ของ "เพดานความคิด" ใน แง่ของ discourse (การอภิปราย) สาธารณะ ในแง่ของ ข้อเรียกร้องทางการเมืองที่จะเป็นเป้าหมายอุดมคติไว้สำหรับฝ่าฟันให้ได้มาในอนาคต ผมคิดว่าได้ อันที่จริง ผมนึกไม่ออกว่า จะบรรยายภาวะแบบนี้ ด้วยคำอื่นอย่างไร (พุดถึงเรื่อง "ดึง" ที่ผมพูดมานี้ เป็นการพูดแบบเชิง "ความคิด" "วัฒนธรรมการเมือง" "เพดานความคิด" "เป้าหมายอุดมการณ์" .. จริงๆ ผมมีเรื่อง "เล็กๆ" จะเล่าด้วยซ้ำว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ผมเห็นสเตตัส ของ อาจารย์ .... โพสต์เรื่องกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยบางกลุ่มทีเคยชูประเด็น "เลิก" ได้ตัดสินใจ หันมาสนับสนุน การเสนอ แค่ "แก้" ของนิติราษฎร์ แล้ว อาจารย์.. โพสต์แสดงความยินดีทำนองว่า ดีมากๆเลย ไม่สุดขั้ว ไป อะไรแบบนั้น .. ผมกลับอ่านด้วยความรู้สึกใจหายมากๆ.. นี่เป็น การ "ดึง" แบบรูปธรรมจริงๆ แต่ ประเด็นผม ถ้าอ่านมาตลอดจะเห็นว่า ทีผมห่วงมากกว่า คือการ "ดึง" ในความหมาย "การเมืองวัฒนธรรม" ในความหมาย "พื้นทีสาธารณะ" "วาระสาธารณะ" มากกว่า) อันที่จริง ผมสารภาพว่า ผมนึกถึงคำที่อาจจะดูแรงกว่านี้ด้วยซ้ำ คือคำว่า marginalize แต่คิดไปคิดมา อย่าดีกว่า แค่ใช้คำที่ เหมือนกับ "บ้านๆ" และน่าจะเห็นภาพง่ายๆ และอาจจะ "เบา" กว่า แต่จริงๆ ถ้าใครได้อ่านที่ คุณ ป๋าจอม โพสต์ไป ด้วยถ้อยคำทีค่อนข้างดุดัน ตามสไตล์ของเขา หรือกระทั่งที่คุณ เพียงคำ โพสต์ ด้วยคำทีดูน่ารัก อ่อนโยน ...แต่ประเด็น ก็เหมือนกันคือ เขาทั้งคู่รู้สึกว่า ด้วยการเสนอแบบนี้ ของนิติราษฎร์ และด้วยการทีตอนนี้ กระแส นักวิชาการ นักเขียน สื่อ ที่โฟกัส เรื่องนี้ มาแรงมาก .. เขารู้สึกเหมือนถูกทำให้กลายเป็นพวกฮาร์ดคอร์ อะไรไป ผมไม่คิดว่า ตัวอย่างที่ว่านี้ จะเป็นเพราะพวกเขาอ่านที่ผมเขียนหรืออะไรแน่ ผมว่า พวกเขารู้สึกออกมา เองมากกว่า ไมใช่เพราะผมยุ เพราะเท่าที่ผมจำได้ ผมไม่เคยถึงกับพูดแรงๆ แบบน้้น อาจจะเผลอหลุดไป บ้าง แต่ก็ยังไม่คิดว่า ที่พวกเขาแสดงความรู้สึกออกมาแบบนั้น มาจากผมเป็นหลักแน่ แต่ว่า ถ้าถามว่า ต่อไปนี้ ใครทียังอยากจะชูประเด็น "ต้องเลิก เท่านั้น" ในฝ่ายประชาธิปไตยนี้ จะมี "พื้นที่" จะมี "เสียง" แถวๆตรงกลางๆ ของ ฝ่ายประชาธิปไตยนี้ แถวๆสื่อ (แม้แต่ทีประชาไท เอง ไมใช่เพราะ ประชาไท ไม่ยอมลงนะครับ แต่ลำพังคุณ ป๋าจอม คุณเพียงคำ อย่างที่บอกว่า จะไปสู้กับกองทัพนัก วิชาการ นิติราษฎร์+สันติประชาธรรม+ใบตองแห้ง+วาด ระวี + ใครต่อใครอีกหลายคนได้ยังไง) อย่างนี้ จะพอเรียกๆว่า การ marginalize กระแสทีต้องการยืนยันเลิกโดยสิ้นเชิงหรือไม่? ทั้งหมดนี้ ก็ลองไปคิดกันเอง ตอนนี้ ผมรู้สึก ไม่ใช่ปัญหาผมแล้ว (ปล. เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด ผมย้ำสิ่งทีเคยพูดไปแต่แรกว่า ผลสะเทือน ด้านลบ ที่ผมมองว่า มาจากการเสนอ แก้ ของ นิติราษฎร์ และกองทัพนักวิชาการ นักเขียนคราวนี้ ไมใช่ เป็นผลสะเทือน ที่มาจาก "ความตั้งใจ" เปล่าเลยคับ แต่เป็นอะไรที่ เป็นผลสะเทือน ที่ไมได้ตั้งใจ (unintended consequence) - ตามทัศนะผมนะ 00000 มองปัญญาชน-แอ๊กติวิสต์ไทย คำนึงถึงเรื่องยุทธศาสตร์มากไป แต่คำนึงถึง "เนื้อหา นัยยะ และเหตุผลประกอบ" น้อยไป รายงานเรื่องรายชื่อนี้ ออกมาตอนผมปิด fb ชั่วคราว นี่จึงเป็นการแสดงความเห็นล่าช้า แต่ผมมีประเด็น บางอย่างอยู่ ตอนที่ผมเห็นรายชื่อ ผมรู้สึก "เสียดาย" อยู่จริงๆ ที่มีบางรายชื่อ (3-4 รายชื่อ โดยประมาณ) ปรากฎอยู่ ด้วย เหตุที่เสียดาย เพราะผมทราบว่า รายชื่อเหล่านั้น ได้แสดงความเห็นไว้ก่อนหน้านั้นว่า น่าจะเลิก 112 โดยสิ้นเชิงมากกว่า ผมยกตัวอย่างที่รู้กันทั่วไปก็แล้วกัน คือ กรณี "อาจารย์ ยิ้ม" @สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ซึงเคยพูดในที่ สาธารณะ อย่างน้อย ที่ผมได้ยินเอง 2-3 ครั้งว่า "เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ทุกอย่าง ยกเว้นเรื่อง 112 ซึ่ง เห็นว่าควรเลิกไปเลยมากกว่า นอกนั้นเห็นด้วย" ผมเสียดาย เพราะว่า ที่จริง ถ้า อ.ยิ้ม ไม่ลงชื่อ ยังไง ครก. ก็คงหารายชื่อได้ครบ 112 แน่นอน (รวมทั้งอีก 3-4 รายชื่อที่ว่า) แน่นอน ผมยอมรับว่าเป็นสิทธิในการตัดสินใจของท่านเหล่านั้น ผมห้ามอะไรไม่ได้ สิ่งที่ผมสนใจ และอยากเสนอในที่นี้คือ แต่ไหนแต่ไร ผมรู้สึกว่า มี "จารีต" อย่างหนึ่ง ในหมู่ปัญญาชน แอ๊กติวิสต์ไทย ที่ ให้ความสนใจกับ "การ เคลื่อนไหว" มากกว่า สนใจทีตัว "เนื้อหา" หรือ "นัยยะ" ของเนื้อหา (เช่นข้อเสนออะไร มี argument หรือ การให้เหตุผลอะไรสนับสนุน) พูดแบบง่ายๆ คือ ต้องการไป "ช่วยกัน" "เสริมพลัง" อะไรแบบนั้น .. ก็เลยเซ็นไป ช่วงทศวรรษก่อน รปห.19 กันยา (ประมาณปี 2540) เป็นต้นมา มีกิจกรรมประเภท "ล่ารายชื่อ" ในหมู่ ปัญญาชนแอ๊กติวิสต์ กันเยอะ แต่ผมแทบไม่เคยเซ็นเลย เพราะผมพบว่า ตัวเองไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา ข้อเรียกร้อง และการให้เหตุผล ซึง มีลักษณะที่ผมเห็นว่า ขัดกับหลักการและความเชื่อลึกๆของผม อย่างตัวอย่างที่ "โด่งดัง" สมัยนั้น คือเรื่อง "ย้ายธรรมศาสตร์" ซึงใครต่อใครพากันเซ็นหมด ผมกลับออก มาเขียนค้าน เพราะผมเห็นว่า ประเด็นที่รณรงค์ ตั้งอยู่บนความไม่จริง (คือข้อมูลไม่ถูกต้องจริงๆ) และยิ่ง กว่านั้น ลักษณะการเคลื่อนไหว ยังอิงกับเรื่อง "พ่อปรีดี" "บุญคุณ ปรีดี ธรรมศาสตร์" หรือกระทัง มีการยก เรื่องสถาบันฯ มาเกี่ยวข้องในลักษณะสนับสนุนก็มี (เช่น ยก สัญญา "คนดีของแผ่นดิน" หรือ ยกเรื่องผู้ บริหาร แปรงบประมาณสร้างตึกเฉลิมพระเกียรติ ที่ฝ่ายรณรงค์ หาว่า "ไม่บังควร" ฯลฯ) หรืออีกกรณีหนึ่ง ที่ "ดัง" มากคือ เรื่อง "บ่อนอก" ซึง วางอยู่บนฐานของการให้ข้อมูลและเหตุผล ที่ผิดๆ .. ฯลฯ โปรโมท เรื่อง "ชาวบ้าน ทีนำโดยคุณเจริญ วัดอักษร สู้กับ โลกาภิวัฒน์" อะไรประเภทนั้น (ความจริง ธุรกิจครอบครัวคุณเจริญ และ "ชาวบ้าน" แถวนั้น ขึันอยู่กับ "โลกาภิวัฒน์" โดยตรงเลย เช่น การปลูก สัปปะรด เพื่อทำสับปะรดกระป๋อง ส่งออก หรือ ธุรกิจท่องเที่ยวชายทะเล ฯลฯ) ผมจะไม่กลับไปรายละเอียดพวกนี้ เล่าให้เห็นพอเป็นภาพ เพื่อโยงเข้ากับเรื่อง 112 ในปัจจุบัน ที่กล่าวถึง ข้างบน ทีว่า มีบางคนไม่เห็นด้วยว่า ไม่ควรเสนอแค่แก้ ควรให้เลิก แต่ถึงเวลาก็เซ็นไป ผมว่า คงไม่ผิด ถ้าผมจะกล่าวว่า เหตุผลหลัก คือ เรื่องการคำนึงถึง "การเคลื่อนไหว" ("หนุนช่วยให้ออกมามีพลัง" อะไร แบบนั้น) สำหรับผม ก่อนอื่นที่สุด ต้องดูที่ เนื้อหา และ argument (เหตุผลสนับสนุน) ผมเชื่อตามที่มีการพูดในภาษาฝรั่งว่า ideas have consequences คือ ไอเดียทั้งหลายมันมีผล หรือ นัย ยะตามมา ไม่สนใจไม่ได้ จะคิดแต่ในแง่เป็น "การเคลื่อนไหว" ต้อง "ช่วยๆกัน" ไม่ได้ (อันนี้ วิธีคิดแบบนี้ พบไม่เพียงในหมู่ปัญญาชนแอ๊กติวิสต์ แม้แต่ในระดับขบวนการมวลชน อย่าง นปช. หรือ พันธมิตร (ระยะเริ่มแรก ที่ชูสถาบันฯ แล้ว ก็มียังมีปัญญาชนจำนวนมาก สนับสนุนการเคลื่อนไหว แม้ปากจะอ้่างว่า "ไม่เห็นด้วยกับกรณี ม.7" (แต่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวล้มทักษิณ แม้จะชูประเด็นเจ้า แล้วก็ตาม) หรือ กรณี นปช. ตอนล่าลายชื่อ ถวายฎีกา ผมไปเขียนแย้งอยู่หลายวัน ที่บอร์ดประชาไท เก่า ก็มีคนเชียร์ นปช. พากันมา "ถล่ม" ผมเป็นการใหญ่ ... แม้จะโต้แย้งในแง่เหตุผล และเนื้อหา ผมไม่ได้ เลยแม้แต่คนเดียว (รวมทั้งคนหนึ่ง ที่เป็นทนายคุณทักษิณด้วย) ผมไม่เห็นด้วยกับจารีตการคิดแบบนี้นะ คือ คิดในแง่ "การเมือง" แบบกว้างๆ (นี่เป็นการเคลื่อนไหวทีดี ต้องสนับสนุน หรือไม่ก็ "ศัตรูมันตีการเคลื่อนไหวนี้หนัก ดังนั้น เราต้องสนับสนุน" (ประเด็นสุดท้าย อย่า เข้าใจผิดนะ ผมหนุนการ ดีเฟนด์ นิติราษฎร์ จากการโจมตีของพวกนิยมเจ้า แต่ผมยืนยัน ไม่สนับสนุน ข้อ เรียกร้องของนิติราษฎร์) --------------------------------------------------- ช่วงที่ผมปิด fb ไป 2-3 สัปดาห์ ไม่มีแม้แต่วันเดียว ที่ผมจะไม่ใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ คิดทบทวนเรื่องข้อ เสนอนิติราษฎร์ ดังที่ผมเคยเปรยๆ ในที่ไหนสักทีว่า ก่อนวันเปิดตัว ครก. (15 มค.) อ.วรเจตน์ ได้กรุณา ให้เกียรติเขียนจดหมายมาอธิบายให้ผมฟังถึงเหตุผลที่เสนอให้แก้ ไม่เสนอให้เลิก ซึงจริงๆ นอกจาก ประเด็นรอง 2+-3 ประเด็น ประเด็นหลักในจดหมาย ก็เหมือนกับที่ อาจารย์ได้ขึั้นชี้แจงบนเวที วันที่ 15 ไม่แน่ใจว่า มีใครสังเกตหรือไม่ว่า อ.วรเจตน์ ได้พูดทำนองว่า ที่ผ่านมา ได้มีการพูดประเด็นเรื่อง ทำไม ไม่เสนอให้เลิกเลย น้อย วันนี้ จึงจะขอชี้แจงเรื่องนี้ และไม่แน่ใจว่า จริงๆ คนฟัง หรือคนตามอ่านทีหลัง ได้คิดอย่างซีเรียสจริงๆหรือไม่ว่า เหตุผลที่ อ.วรเจตน์ ยกมาว่า ทำไมไม่เสนอเลิกเลย คืออะไร (วันต่อมา อ.วรเจตน์ ได้สัมภาษณ์มติชน ย้ำประเด็นเดียวกันด้วย) พูดจริงๆ ประเด็นที่เป็นเหตผลสำคัญ ที่นิติราษฎร์ (และอาจารย์วรเจตน์ ในวันที่ 15 ในการสัมภาษณ์มติชน ฯลฯ) ยกมาเรื่อง ทำไม ไม่เสนอเลิก เสนอแค่แก้ ..มีอยู่เหตุผลใหญ่เหตุผลเดียว นั่นคือ สิ่งที่ อาจารย์วรเจตน์ ใช้คำพูดในวันที่ 15 (และในสัมภาษณ์ มติชน) ว่า "มาตรฐานสากล" ซึงไม่ว่าผมจะทบทวนหลายตลบอย่างไร และค้นคว้าเพิ่มเติมอย่างไร ผมก็สรุปได้ว่า เป็นเหตุผลที่ผมเห็นว่า ไม่ถูกต้อง และผมยืนยันที่จะไม่เห็นด้วย (ผมจะทยอยอธิบายเรื่องนี้ ในวันต่อๆไป วันนี้ เพียง "เกริ่น" และโยงเข้ากับประเด็นของกระทู้ก่อนหน้านี้) ผมจำเป็นต้องย้ำว่า เหตุผลของ อ.วรเจตน์ และนิติราษฎร์ เรื่อง "ทำไม แก้ ไม่เลิกเลย" นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุผลเดียวกับบรรดานักวิชาการที่มาสนับสนุน เอาเข้าจริง เท่าที่ผมทั้งฟัง งานวันที่ 15 โดยเฉพาะการพูดของ ดร.พวงทอง ได้อ่าน บทความของคนที่ ลงชื่อ ไมว่าจะเกษียร, สุภลักษณ์ ฯลฯ ผมไม่เห็นเลยว่า จะเป็นเหตุลเดียวกับที่ อ.วรเจตน์ เสนอ .. พูด แบบสั้นๆ คือ คนเหล่านั้น ล้วนแต่ยกเหตุผล ในเชิง "การเคลื่อนไหว" บ้าง ในเชิง "เป็นเรื่องต้องค่อยเป็น ค่อยไป" บ้างอะไรทำนองนั้นมากกว่า ...................... ฝรั่งมีสำนวนพูดกันในหมู่นักคิดนักปรัชญาว่า เรา honor และ respect นักคิดนักปรัชญา ด้วยการ take their ideas seriously การที่เราเข้าถกเถียงกับ ideas ของพวกเขา แม้จะเป็นในลักษณะไม่เห็นด้วยอย่าง แรง จริงๆ แล้วเป็นการยืนยันว่า เราถือ ideas ของพวกเขาแบบซีเรียส และไมใช่มองสิ่งที่เขาเสนอเป็น อะไรแบบผ่านๆ (สมัยหนึ่ง มีคนโจมตีผมเยอะที่ผมเถียงเอาเป็นเอาตาย กับบทความนิธิ ผมกลับมองตรงข้ามเลย ผมมอง ว่า นั่นเพราะผมถือสิ่งที่เขาเขียน ไอเดียที่เขาเสนอ แบบซีเรียสมากๆ อ่านอย่างจริงๆจังๆ และคิดอย่าง จริงๆจังๆมากๆ) (บางส่วนของกระทู้นี้ โพสต์ที่บอร์ด คนเหมือนกัน ช่วงปิด fb) ผมมองว่า ที่มีนักวิชาการหรือคนอื่นทีสนับสนุนข้อเสนอนิติราษฎร์ มาพูดในลักษณะทำนองนี้ ไมใช่ เรื่อง"บังเอิญ"เสียทีเดียว แต่เพราะตัวข้อเสนอเอง มันมีลักษณะ "บิวท์อิน" ที่เป็น "ความโน้มเอียง" หรือ กระทั่ง "ตรรกะ" ในแนวนี้อยู่ กล่าวคือ ถ้าพูดอะไรในลักษณะที่ คนส่วนใหญ่ที่โดน 112 ตอนนี้ เช่น ตี๋ (ที่ โทรศัพท์ไปพูดอะไร 2-3 ประโยค) "อากง" ทีว่า ส่ง sms ข้อความที่ชวนสะดุ้ง โจมตีคนเดียวกับที่ ตี๋ โจมตี หรือ ดา ตอร์ปิโด - ก็ยากจะรอดจาก ร่างแก้ไขของนิติราษฎร์ เหมือนกัน (ขอให้คิดให้หนักนะครับประเด็นนี้ มัน irony มากๆ อย่างทีเคยบอกไปว่า ที่มีกระแสเรื่อง 112 มากขนาดนี้ ในตอนนี้ ก็เพราะความทุกข์ยากของคนเหล่านี้ โดยเฉพาะกรณีอากงนันแหละ) วันที่ 15 ดร.พวงทอง ถูกถามว่า ถ้าแก้แล้ว จะมีหลักประกันอะไรไม่ให้มีการ "จาบจ้วง" มาก ขนาดตอนนี้ มีกฎหมาย ยัง "จาบจ้วง" กันมากขนาดนี้ พวงทองตอบทำนองว่า เชื่อวา ถ้าแก้แบบที่นิติราษฎร์ เสนอ จะทำให้การอภิปรายเรื่องสถาบันฯมีลักษณะมีเหตุมีผล เรื่องการแสดงออกแบบแรงๆที่เห็นตอนนี้จะลดลง . . . แม้ พวงทองจะไม่ได้พูดชัด แต่ผมว่า โดยนัยยะ (implications) ของการพูดแบบนี้ คือ การ แสดงออกอย่างที่เห็นๆกันในปัจจุบัน ถ้าใช้ตามบรรทัดฐานของ ร่าง นิติราษฎร์ ก็คงอยู่ "นอก" การยกเว้น อยู่ดี (แต่หวังว่า จะลดลง อะไรแบบนั้น) ที่ตรงๆ เลย (และแย่กว่านั้น) คือ ที่ ดร.เกษม ไปพูดที่รายการ Intelligence ดังนี้ "...ประเด็นที่สาม ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุด คือการแบ่งแยกระหว่าง เสรีภาพทางวิชาการหรือ เสรีภาพในการวิจารณ์โดยสุจริตใจ ออกจากการดูหมิ่นเหยียดหยามและคุกคามพระเกียรติยศ ผมคิดว่า สองอันนี้ เป็นส่วนที่แยกกัน เพราะว่า การวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ มีประโยชน์ต่อสังคมและต่อสถาบัน กษัตริย์เอง แต่ขณะเดียวกัน เจตนาในแง่ของการดูหมิ่น ถ้าผิด ก็ว่าไปตามผิด..." ความจริง ก่อนหน้านี้ ก็มีคนทีสนับสนุนข้อเสนอนิติราษฎร์ พูดประมาณนี้เหมือนกัน (ขออภัย ขี้เกียจค้น) ผมมองว่า มันเป็น "ความโน้มเอียง" หรือกระทัง "ตรรกะ" ในตัวข้อเสนอ ที่มีลักษณะแบบนี้ ที่ทำให้มีการ พูดในลักษณะนี้ให้เห็น ผมยืนยันว่า ในหางหลักการ ถ้าจะเรียกร้องประชาธิปไตย สนับสนุน free speech ก็ต้องสนับสนุนจริงๆ ถ้าไม่มีใครรู้สึกว่า การด่า คนระดับนายกฯ ว่า "โง่" หรือ เปรียบเทียบว่าเป็นโสเภณี ("ผู้หญิงหากิน") เป็น เรื่องที่ต้องถึงกับติดคุกติดตาราง หรือผิดกฎหมายอาญาอะไร ผมว่า การจะเสนอใดๆ เรื่อง "หมิ่นฯ" เจ้า ก็ต้องใช้บรรทัดฐานเดียวกันด้วย สรุปคือ ที่จริง ควรเสนอให้เลิกไปนั่นแหละ กฎหมายหมิ่นเจ้าน่ะ .............................. ภาพนี้ มีคนทำใน facebook แล้วผมได้มา เป็นส่วนหนึ่งของการอภิปราย (ช่วง ถาม-ตอบ) วันที่ 15 มกราคม ของ อ.สาวตรี ประเด็นของ อ.สาวตรี ในที่นี้คือ การคุ้มครองพิเศษ จะต้องเป็นการคุ้มครองในแง่ตำแหน่ง (ในที่นี้คือ ประมุขรัฐ) ไม่ใช่ในฐานะเรื่องชาติกำเนิด หรือ ฐานันดร "ต้องยืนยันหลักการว่า บุคคลนั้นมีความเท่าเทียมกัน ถ้าอยากจะได้ความคุ้มครองเป็นพิเศษ นั่นหมายความว่า คุณมีเรื่องที่ต้องแบกรับเชิงสาธารณะเป็นพิเศษ มิใช่เป็นเพราะชาติกำเนิดพิเศษ หรือฐานันดรพิเศษ" คำถามของผมคือ ถ้าคุ้มครองตำแหน่ง ("เรื่องที่ต้องแบกรับเชิงสาธารณะ") ไมใช่ชาติกำเนิด-ฐานันดร ทำไมจึงไม่ควรมี กฎหมายคุ้มครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือตำแหน่งอื่นๆ (ประธานรัฐสภา ฯลฯ) เป็นกรณีพิเศษแบบ ตำแหน่งประมุขบ้าง? ซึงตามหลักประชาธิปไตย ประเทศที่ยังมีประมุขกษัตริย์อยู่ ตำแหน่งแบบหลัง (นายกรัฐมนตรี, ประธาน รัฐสภา ฯลฯ) ควรต้องถือว่า มีความสำคัญต่อระบอบการเมืองยิ่งกว่าตำแหน่งประมุขรัฐ (ที่ควรมีลักษณะ เพียง ceremonial) ด้วยซ้ำ (แน่นอน ผมไม่เคยคิดจะเสนอ และผมก็เชื่อว่านิติราษฎร์ไม่คิดจะเสนอให้มี กฎหมายคุ้มครองพิเศษแก่ตำแหน่งพวกนี้) ดังนั้น ถ้าพูดกันอย่างถึงที่สุด ข้อเสนอนิติราษฎร์ จึงไม่ใช่การเสนอว่า ต้องมีการคุ้มครองพิเศษให้กับ ตำแหน่งของรัฐ แต่เป็นการเสนอว่า ให้คุ้มครองพิเศษ เฉพาะตำแหน่งของรัฐที่มีฐานันดรเป็นเจ้า ดังนั้น ถ้ามองในแง่อุดมการณ์ สิ่งที่นิติราษฎร์เสนอ จึงยังเป็นการยอมรับว่า ฐานันดรเจ้า จะต้องมีสถานะ บางอย่างที่พิเศษกว่าคนธรรมดา ต้องได้รับความคุ้มครองด้วยกฎหมายทีพิเศษกว่าคนธรรมดา แม้แต่ กฎหมายที่ใช้กับคนธรรมดาอย่างคนระดับนายกรัฐมนตรี, ประธานรัฐสภา ฯลฯ ได้ ก็ใช้กับเจ้าไม่ได้ ผมวิจารณ์คำอธิบายของ อ.สาวตรี ที่ว่า การคุ้มครองใครเป็นกรณีพิเศษ ต้องคุ้มครองบนพื้นฐานตำแหน่ง ไมใช่บนพื้นฐานฐานันดร ซึ่งผมวิจารณ์ว่า ข้อเสนอนิติราษฎร์จริงๆ ยังเป็นการคุ้มครอง ฐานันดร ไม่ใช่ คุ้มครองตำแหน่งจริงๆ เพราะถ้าคุ้มครองตำแหน่ง ก็ควรต้องมีคุ้มครอง นายกฯ ประธานสภาฯ ฯลฯ ด้วย ผมจะยกตัวอย่างเพิ่มเติมให้ดู (ดูรูปประกอบ) ในกรณีฝรั่งเศสนั้น มีกฎหมายคุ้มครอง ประธานาธิบดี (ซึงมาจากการเลือกตั้ง) จริงๆ ออกมาตั้งแต่ปี 1881 แต่ขณะเดียวกัน เขาก็มีกฎหมายคุ้มครอง สมาชิก รบ. (รมต.) สมาชิกรัฐสภา ด้วย (ดูรูปประกอบ เอามา จากรายงานของ สภาเพื่อความมันคงยุโรป ข้อมูลมาจาก รบ.ฝรั่งเศสเอง - ข้อ 3 ในรูป คือ การคุ้มครอง ประธานาธิบดี ข้อ 2 คือ คุ้มครองสมาชิกรัฐบาล รัฐสภา) คือ ประเด็นใหญ่จริงๆ ทีนิติราษฎร์ ยกมาว่า เสนอให้แก้ ไม่เลิกเลย คือ เรื่อง "ต่างประเทศที่เป็น ประชาธิปไตย ก็มีกฎหมายคุ้มครองประมุข" เพียงแต่เขาคุ้มครองในแง่ตำแหน่ง ไมใช่เพราะฐานันดร ซึง จริงๆ ในประเทศเหล่านั้น (อาจจะเกือบทุกกรณี) เขาคุ้มครองไม่เฉพาะ ประมุข แต่คุ้มครอง ตำแหน่ง อื่นด้วย ดังนั้น จึงพอพูดได้ว่า เป็นการคุ้มครองตำแหน่ง ที่รับผิดชอบพิเศษ (ตามที่ อ.สาวตรี เสนอ) แต่ข้อเสนอนิติราษฎร์ นั้น จริงๆ จึงกลายเป็นคุ้มครองเฉพาะ "ตำแหน่ง" ของคนที่มีฐานันดร คือ เจ้า (เพราะไม่มีคุ้มครองตำแหน่ง ที่ไม่มีฐานันดร เช่น นายกฯ ฯลฯ) ทั้งกระทู้นี้ และกระทู้ก่อนหน้าที่ต่อกัน ความจริง เป็นส่วนหนึ่งของ ร่าง บทความ ที่ผมกำลังทำ เพื่อโต้ แย้งเหตุผลข้อเสนอของนิติราษฎร์ ที่ยกประเด็นเรื่อง ต่างประเทศที่มี ประชาธิปไตย ก็มีกฎหมายคุ้ม ครองประมุข ซึงจริงๆ ผมไม่เห็นด้วยกับการยกเรื่องนี้ (ผมเห็นว่าเป็น "ตรรกะที่ผิด") คือผมไม่เห็นด้วย - และผมเสนอว่า นิติราษฎร์ และปัญญาชนประชาธิปไตย ก็ควรไม่เห็นด้วย - กับการที่ มีกฎหมายคุ้มครองประมุข ของประเทศเหล่านั้น (ฝรั่งเศส, เยอรมันนี) และดังนั้น จึงไม่ควรยกเรืองนี้ มา เป็นเหตุผล ที่เสนอให้ไทย ยังควรมีอยู่ (อาจารย์วรเจตน์ ใช้คำว่า "ตามมาตรฐานสากล" ซึงผมเห็นว่า (ก) มันไม่มี "มาตรฐานสากล" จริงๆ ใน เรื่องนี้ อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ไม่มีกฎหมายแบบนี้เป็นต้น และ (ข) ถึงมีหลายประเทศ ใช้กฎหมายแบบนี้ ต่อให้ประเทศพวกนี้เป็นประชาธิปไตย ในแง่รวมๆ เราก็ไม่ควร "เอาแบบอย่าง" พวกเขา ในเรื่องนี้ ทั้งด้วย เหตุผลหลักการประชาธิปไตย และด้วยเหตุผล ปริบทประเทศไทย) ดังที่พูดมาหลายกระทู้ เหตุผลใหญ่ประการเดียวจริงๆ ทีนิติราษฎร์ เสนอว่า ยังไงต้องมีกฎหมายหมิ่น ประมาทประมุขอยู่ คือ เรื่อง ต่างประเทศประชาธิปไตย ก็ยังมี ซึงผมยืนยันว่า เป็นเหตุผลที่ ไม่ดี ............... ที่น่าเสียดายกว่านั้นคือ ในการยกข้อมูลประกอบเหตุผลนี้ มีข้อมูลบางอย่าง ที่ผมเชื่อว่า ผิดพลาด ด้วย ยกตัวอย่าง ในงานวันที่ 15 อาจารย์สาวตรี กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมายคุ้มครองประมุขเป็นพิเศษอยู่ (นาทีที่ 18.34 ของคลิปนี้ http://www.youtube.com/watch?v=y0E6itVIXpw&feature=related ) ในกรณีสหรัฐอเมริกานั้น ผมมั่นใจว่า ไม่มีกฎหมายคุ้มครองประธานาธิบดีในเรื่องหมิ่นประมาท/ดูหมิ่นแน่ นอน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ต่อต้นศตวรรษที่ 19 เคยมีการออกกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อ Sedition Act ที่ กำหนดโทษผู้ที่ “write, print, utter or publish…. any false, scandalous and malicious writing or writings against the government of the United States, or either house of the Congress of the United States, or the President of the United States, with intent to defame the said government, or either house of the said Congress, or the said President, or to bring them, or either of them, into contempt or disrepute” (ตัวบทเต็มที่นี่ http://memory.loc.gov/cgi- bin/ampage?collId=llsl&fileName=001%2Fllsl001.db&recNum=719 ) แต่กฎหมายฉบับนี้ มีอายุเพียง 3 ปี ระหว่าง 1798-1801 ยิ่งมาถึงศตวรรษที่ 20 ในช่วงระหว่างที่มีกระแส สูงของขบวนการ Civil Rights ศาลสูงสุดได้มีคำตัดสินกรณี New York Times Co. v Sullivan (1964) ที่ถือกันว่าเป็นคำตัดสินที่เป็น landmark ที่สถาปนาการตีความเรื่อง free speech ตามหลัก First Amenment (“debate on public issues should be uninhibited, robust and wide open”) โดยที่ ศาลได้พาดพิงโจมตีไปที่ Sedition Act ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการ “ฝัง” กฎหมายนี้ในระดับหลักการ ทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ (แม้คดี New York Times จะเป็นเพียงเรื่องของเจ้าหน้าที่ระดับรัฐ ใม่ถึง ขั้นระดับประธานาธิบดี – ตัวบทเต็มคำตัดสินที่นี่ http://www.bc.edu/bc_org/avp/cas/comm/free_speech/nytvsullivan.html ................ การมีกฎหมายหมิ่นฯในประเทศประชาธิปไตย อาจารย์ยังพูดในปริบทที่ว่าการกระทำผิดต่อผู้มีตำแหน่งสูง กว่าสามารถมีโทษที่มากกว่าได้ เพราะดังที่ผมเคยเขียนไปในคราวโต้แย้งพวกรอยัลลิสต์อย่างมีชัย, ปราโมทย์ ฯลฯ ที่ยกเรื่องสหรัฐมี กฎหมายลงโทษคนที่ “หมิ่นฯ” ประธานาธิบดี (ความจริง ไมใช่การหมิ่นฯ แต่เป็นการขู่เอาชีวิต) ว่า กรณี นั้นเป็นตัวอย่างพิสูจน์ว่า ในระบอบประชาธิปไตย ไม่จำเป็นเสมอไปที่การกระทำผิดต่อคนระดับประมุข จะต้องได้รับโทษสูงกว่า การทำผิดต่อคนในตำแหน่งอื่นๆที่ต่ำลงมา เพราะความผิดเดียวกันนี้ (ขู่เอาชีวิต) ถ้าเป็นการกระทำต่อตุลาการหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสหพันธรัฐ จะมีโทษสูงกว่าทำต่อประธานาธิบดีถึง 2 เท่า (10 ปี : 5 ปี – ตัวบทความผิดขู่ฆ่าประธานาธิบดี มาตรา 871a ที่นี่ http://www.law.cornell.edu/uscode/18/usc_sec_18_00000871----000-.html ตัวบทความผิดขู่ ฆ่าศาลและตำรวจระดับสหพันธรัฐ มาตรา 876d ที่นี่ http://www.law.cornell.edu/uscode/18/876.html#c ) สรุปส่งท้าย สำหรับคืนนี้ 3-4 กระทู้ ที่โพสต์ต่อเนืองกันมา เพื่อยืนยันว่า ผมเห็นว่า ข้อเสนอเรื่อง 112 ของนิติราษฎร์ เป็นสิ่งที่ควรปฏิเสธ ครับ เหตุผลทียกมาในการเสนอว่า ทำไม เลิกเลยไม่ได้ เป็นเหตุผลทีผมเห็นว่า ไม่ดี อ่อน และไม่ตรงกับหลัก การประชาธิปไตยเรื่อง ความเสมอภาค เรื่อง free speech สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
“ครก.112” วอนสื่อ นำเสนอการแก้ไข ม.112 ให้รอบด้าน ก่อนจะรุนแรงไปกว่านี้ Posted: 04 Feb 2012 10:29 PM PST คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 จัดแถลงข่าว วอนทุกฝ่ายช่วยศึกษาข้อเสนอแก้ไข ม.112 ของคณะนิติราษฎร์ให้เข้าใจ พร้อมถกเถียงแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผล แต่ถ้าหากยังโจมตีกันด้วยอารมณ์และส่วนตัว ความแตกแยกอาจยิ่งรุนแรงและสังคมจะไม่อาจเดินหน้าได้ 5 ก.พ. 55 – คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) จัดแถลงข่าวและตอบคำถามแก่สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจทั่วไป ต่อประเด็นการรณรงค์แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกิจกรรมในอนาคตของ ครก.112 วอนสื่อมวลชนช่วยนำเสนอข้อเสนอการแก้ไขมาตรา 112 ของนิติราษฎร์ในทางสาระควบคู่กันด้วย มิเช่นนั้นสังคมอาจยิ่งแตกแยกรุนแรง การแถลงข่าวของครก. 112 มีขึ้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในวันนี้ราว 11 นาฬิกา โดยมีตัวแทนจากหลายกลุ่มร่วมแถลงตอบคำถาม อาทิ สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยุกติ มุกดาวิจิตร กลุ่มสันติประชาธรรม-นักวิชาการคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม .ธรรมศาสตร์ และพรชัย ยวนยี ตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย โดยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก ทางกลุ่มครก. 112 ชี้แจงว่า ภายหลังจากการเปิดตัวกลุ่มและข้อเสนอในการแก้ไขประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ในวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ก็มีผลสะท้อนกลับมาจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วย ก็มิได้โต้แย้งในข้อเสนอหรือเนื้อหาสาระ แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้อารมณ์และโจมตีในทางส่วนบุคคลมากกว่า คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 จึงขอเรียกร้องให้สังคม โดยเฉพาะสื่อมวลชน ต้องศึกษาข้อเสนอของกลุ่มให้ละเอียดเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มได้ย้ำด้วยว่า การดำเนินการเพื่อรวบรวมรายชื่อและแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถทำได้ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญทุกประการ “อยากจะตอบไว้ก่อนว่า มีการพูดถึงความเป็นห่วงที่จะทำให้สังคมแตกแยก เป็นการราดน้ำมันเข้ากองเพลิง แต่ขอตอบว่า น้ำมันถูกราดเข้ากองเพลิงไปแล้วตั้งแต่การตัดสินจำคุกอากง 20 ปีที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่ถูกต้อง สังคมต้องมีความกล้าหาญที่จะพูดถึงเรื่องที่อาจจะอ่อนไหว แต่มันเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งและเป็นปัญหาจริงๆ ...และมันเป็นปัญหามานานมากแล้ว” วาด รวี คณะนักเขียนแสดงสำนึก หนึ่งในคณะครก. 112 กล่าว สำหรับแผนกิจกรรมในอนาคตของคณะรณรงค์ฯ ทางกลุ่มกล่าวว่า กิจกรรมจะยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ จนครบ 112 วัน โดยจะรวบรวมรายชื่อให้ได้อย่างน้อย 10,000 ชื่อ และจัดเวทีรณรงค์เพื่อความเข้าใจในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ราชบุรี ต่อคำถามว่าหวังจะให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านรัฐสภาหรือไม่ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อาจจะมีความเป็นไปได้ แต่นั่นเป็นจุดประสงค์ที่รองลงมา เนื่องจากเป้าหมายที่สำคัญของคณะรณรงค์ฯ คือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมเกี่ยวกับ ปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 ตัวแทนกลุ่มระบุว่า เมื่อข้อเสนอดังกล่าวสามารถผลักดันเข้าสู่สภาได้สำเร็จแล้ว รัฐสภาก็จำเป็นต้องรับเรื่องดังกล่าวไปอภิปราย ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีอำนาจรับผิดชอบโดยตรงในการพิจารณาร่างกฎหมาย โดยเฉพาะเป็นร่างที่มาจากการผลักดันของภาคประชาสังคมในการพยายามแก้ไขปัญหาทางการเมือง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ธรรมศาสตรา: สนทนาธรรมกับ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติราษฎร์ (ตอนที่ 4) Posted: 04 Feb 2012 07:52 PM PST "วิจักขณ์ พานิช" สัมภาษณ์ "อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" แห่งคณะนิติราษฎร์ ชวนคุยในประเด็นธรรมะกับการเมือง ตอนที่ 4 อำนาจสูงสุด (พุทธะ) เป็นของปุถุชน ๔) อำนาจสูงสุด (พุทธะ) เป็นของปุถุชน วิจักขณ์: อย่างอ.วรเจตน์จะพูดถึงเรื่องการยึดมั่นในหลักวิชาบ่อยมาก ซึ่งเวลาฟังอาจารย์พูด ผมชอบนะ มันมีพลัง เพราะรู้สึกว่าอาจารย์หมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ แต่ในขณะเดียวกัน คนอื่นที่ออกมาเย้วๆ ไม่พอใจสิ่งที่อาจารย์ทำ เค้าก็มีการยึดมั่นในหลักการของเขาเหมือนกันหรือเปล่า (วรเจตน์: ถูกต้อง ถูกต้อง) คราวนี้ฝ่ายพุทธศาสนาก็บอก อ้า เห็นมั๊ย บอกแล้วว่าไม่ให้ยึดมั่นในหลักการ เดี๋ยวมันก็เป็นทุกข์ แล้วยังไงดีครับ ไอ้การยึดมั่นในหลักการ ไม่ยึดมั่นในหลักการ หรือไม่มีหลักการอะไรเลยดี วรเจตน์: เออ.. จะยังไงดีล่ะ ยึดแบบไหน คือ... เราเคยได้ยินที่พระอุ้มผู้หญิงข้ามแม่น้ำ ลูกศิษย์ก็สงสัย เอ๊ะ ทำได้ยังไง เลยถาม พระก็ตอบว่า เราได้วางผู้หญิงคนนั้นลงตั้งแต่ฝั่งแม่น้ำนั่นแล้ว เจ้ายังจะแบกเธออยู่อีกหรือ อันนี้มันอาจจะเป็นตัวอย่างว่าเราไม่ควรยึดติดอยู่กับอะไร แต่ผมกลับคิดอีกอย่างหนึ่งว่า จริงๆมันมีระดับของมัน และมันมีระดับของการตีความของมัน คือ โอเค ถ้าเราเข้าใจหลักการ ว่าพระไม่แตะตัวผู้หญิง ว่าเป็นหลักการที่เคร่งครัดทำนองนั้น มันก็คงผิดล่ะนะ แต่หลักการทุกหลักการมันรับใช้วัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ มันมีตัววัตถุประสงค์อยู่ข้างหลังเสมอในแง่ของการกระทำหนึ่ง ผมเข้าใจว่าท่านคงไม่นึกถึงหลักในเชิงที่ว่า ห้ามแตะตัวผู้หญิง แล้วต้องปล่อยให้เธอจมน้ำตายไป หรือข้ามแม่น้ำไปไม่ได้ แต่ท่านยึดกับหลักอะไรบางอย่างที่สูงไปกว่านั้น มันก็คงเป็นหลักอีกอันหนึ่งเหมือนกัน เพียงแต่ว่าโอเค เวลาที่เราพูดถึงหลักเนี่ย มันก็คงมีหลายๆ อัน ถามว่าสุดท้ายมันจะไม่มีหลักอะไรเลยมั๊ย ผมว่าคงไม่ใช่นะ พระพุทธเจ้าก็มีหลักธรรมของท่านน่ะ หลักธรรมที่ท่านค้นพบในธรรมชาติ ผมว่าปัญหาเนี่ยมันไม่ใช่เรื่องของการที่ต้องไม่ยึดหลักอะไรหรอก แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าหลักการแบบไหน ในบริบทนั้น มันเป็นสิ่งซึ่งถูกต้อง และมันต้องใช้บังคับไปเสมอกัน เรื่องนี้ในที่สุดแล้ว มันจึงไม่ใช่เป็นปัญหาของการยึดติดหลักการ แต่มันเป็นปัญหาของคุณค่าของตัวหลักอันนั้นและความถูกต้องของหลักอันนั้นมากกว่า เพราะถ้าสมมติเราบอกว่าทุกอย่างปล่อยวางหมด ไม่ต้องยึดหลักอะไรเลยเนี่ย มันก็เหมือนคำสอนบางคำสอนน่ะ ที่บอกว่าเวลาเอามีดฟันไปที่ร่างกายคน ผ่าไปโดยเหตุที่คนอยู่ตามหลักไตรลักษณ์ มันแค่เป็นการเอามีดผ่านธาตุประกอบบางอย่างไป ไม่มีตัวไม่มีตนอะไรเลย พยายามจะอ้างว่านี่มันไม่ใช่การฆ่า เป็นการบรรลุธรรม แต่หารู้ไม่ว่านั่นมันเป็นมิจฉาทิฏฐิไปแล้ว ทั้งหมดมันเป็นการตีความในทางหลักการ ผมเข้าใจว่าในตอนนี้ การต่อสู้กันมันก็เป็นตรงนี้ ผมกำลังจะบอกว่า ในส่วนตัวผม เวลาผมยึดคุณค่าหรือยึดหลักการเนี่ย ผมถือว่าผมยึดคุณค่าหรือยึดในหลักการที่มันถูกต้อง ขณะที่อีกด้านหนึ่งเนี่ย ยึดหลักการหรือยึดคุณค่าในลักษณะที่เหมือนคุณเอามีดฟันไปในร่างกายคนน่ะ แต่จริงๆแล้วนั่นคือการฆ่า แต่คุณบอกคุณไม่ได้ฆ่า แล้วคุณก็พยายามไปหาเหตุผลว่ามันมีหลักการแบบนี้ เพราะฉะนั้นคุณไม่ได้ฆ่า มันก็เลยขัดแย้งกัน ผมว่าปัญหาอยู่ตรงนั้นนะ วิจักขณ์: ดูเหมือนอาจารย์จะไม่ได้ชวนให้คนปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ชวนให้คนที่ยึดมั่นในหลักการในแต่ละแบบมาคุยกัน... วรเจตน์: (เน้นเสียง) ถูกต้อง.. เอาหลักการมาคุยกัน มาเถียงกันว่าไอ้หลักที่คุณยึดเนี่ยตกลงมันคืออะไร แล้วผมเชื่อว่า ถ้าเราเถียงกันปุ๊บ เราก็จะเห็นปัญหาทันที ยกตัวอย่าง ในทางกฏหมาย มันมีหลักที่ว่า ถ้าคุณจะไปเป็นกรรมการสอบสวนใคร หรือคุณจะตัดสินคดีกับใคร มันมีหลักอันนึง คือ คุณต้องไม่เป็นปรปักษ์กัน คือต้องไม่มีเหตุที่มีสภาพร้ายแรงที่ทำให้การพิจารณานั้นไม่เป็นธรรม คล้ายกับว่าเขาจะขจัดว่าคนที่มาตัดสินกันเนี่ย คุณไม่ควรมีเรื่องหมางใจกัน ไม่ควรเป็นปรปักษ์กัน ต้องการให้กระบวนการใช้กฏหมายเกิดขึ้นบนฐานของความบริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะฉะนั้นเขาจึงบอกว่าไม่เอาศัตรูกันมาสอบกัน อย่างเช่นคนนึงถูกกล่าวหาว่าผิดวินัย ตั้งกรรมการมาสอบสวน แต่คนที่เป็นกรรมการสอบสวนเป็นศัตรูกับคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิด ในทางกฏหมายบอกว่า อันนี้มันต้องห้ามนะ คุณทำไม่ได้ เพราะนี่มันคือหลัก ถูกมั๊ย แล้วหลักการแบบนี้มันก็ใช้กันเป็นสากลเสมอไป คือใช้กันทุกที่ โอเค.. แล้วเวลาที่คุณเอามาใช้กับกรณีของอดีตนายกฯ นี่คุณใช้มั๊ย ก็บอกว่า เอ้อ ไม่ใช้.. ถามว่าทำไมไม่ใช้ คุณบอกว่า ก็ เค้าทำผิดอ่ะ เพราะฉะนั้นก็ใช้วิธีอะไรก็ได้ในการจัดการ เห็นมั๊ยฮะ วิธีคิดนี้มันต้องเถียงกันแล้วว่า ไอ้การจัดการนั้น คุณใช้วิธีการอะไรก็ได้หรือเปล่า หรือคุณต้องใช้วิธีการที่มันยังอยู่ในหลักของกฏหมายอยู่ นี่มันต้องเถียงกันแบบนี้ เถียงกันเป็นประเด็นๆ ไปแบบนี้ แล้วมันก็จะเห็น ที่นี้ปัญหาคือ มันไม่เถียงกันแบบนี้ สุดท้ายเค้าบอกว่า เป้าหมายก็คือการจัดการ เมื่อเป้าหมายคือการจัดการ วิธีการก็เลยไม่สำคัญ ในขณะที่ผมเห็นว่า ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตามเนี่ย วิธีการมันสำคัญ มันสำคัญเท่าๆ กับเป้าหมายที่ต้องการ แล้ววิธีการมันจะรักษาให้ตัวเป้าหมายนั้นมันถูกต้องด้วยในสุดท้าย วิจักขณ์: แต่วิธีคิดแบบอาจารย์เนี่ย มันจะต้องอยู่บนรากฐานอย่างหนึ่งนะ คือ ต้องไม่เชื่อว่ามีอำนาจไหนเป็นอำนาจที่สูงสุด หรือมีอำนาจไหนที่อยู่เหนืออำนาจอื่น วรเจตน์: (นิ่งคิด) เอ่อ... อาจจะใช่ อาจจะเป็นไปได้ วิจักขณ์: เพราะถ้าคนยังเชื่อว่ามีอำนาจอันนึง ที่เป็นอำนาจที่อยู่เหนืออำนาจอื่น มีความจริงสูงสุดอยู่ และเค้าอยู่ข้างอำนาจสูงสุดนั้น วิธีคิดแบบอาจารย์มันก็ดูจะเป็นปฏิปักษ์ร้ายแรงอยู่เหมือนกัน วรเจตน์: อืม.. ก็เป็นไปได้ ผมก็ไม่เคยคิดตรึกตรองในเรื่องนี้นะ วิจักขณ์: อย่างที่อาจารย์ยกเรื่องพระพุทธเจ้าก็น่าสนใจคือ คือ ชุมชนที่อยู่ร่วมกันจัดการกันเองโดยมีหลักเกณฑ์หรือหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าวางเอาไว้ เป็นแนวทางให้ปฏิบัติตาม ไม่ใช่ตัวพระพุทธเจ้าเป็นอำนาจสูงสุด วรเจตน์: ใช่ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าเป็นคนจัดการ พระพุทธเจ้าก็วางเกณฑ์เอาไว้ เป็นเกณฑ์ทั่วไป แต่ว่าสุดท้ายแล้วคนที่อยู่ในชุมชนนั้นก็เป็นคนจัดการเอง เพราะว่าโลกมันก็พัฒนา วิวัฒน์ ผันแปรเปลี่ยนไป วิจักขณ์: แต่สำหรับคนที่เค้ามีความเชื่อว่า ไม่ว่ายังไงอำนาจสูงสุดมาจากพระศาสดา คือ สุดท้ายก็อ้างพระพุทธเจ้าในฐานะอำนาจสูงสุดเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจเหนือคนอื่น คนเหล่านี้ก็คงไม่มีทางเข้าใจสิ่งที่อาจารย์พยายามจะพูด วรเจตน์: อื้อ ก็คงจะเป็นอย่างนั้น พอคุยกันเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงพระอานนท์นะ ตอนที่ท่านจะบรรลุธรรม พระอานนท์เข้าใจอะไรเยอะแยะ แต่สุดท้ายก็ไปติดอยู่ตรงพระพุทธเจ้า ปิ๊งเดียว พอบอกไม่ยึดติดปางพระองค์ก็บรรลุ คือมันมีอะไรบางอย่างอยู่เหมือนกัน ถามว่าอันนี้มันเป็นหลักมั๊ย มันก็เป็นหลัก ก็คือหลักการไม่ยึดติดน่ะ แต่เวลาปฏิบัติ เราจะปฏิบัติได้มั๊ย คือเราจะสังเกตเห็นว่า พระพุทธเจ้าเนี่ยสั่งสอนข้อธรรมเยอะแยะไปหมด แต่ว่าคนที่รู้อะไรพวกนี้ จำได้หมดอย่างพระอานนท์ก็ไม่บรรลุ พอสุดท้ายคลิ๊กอันเดียว พอวางปุ๊บเนี่ย ก็บรรลุได้ ถามว่าแล้วไอ้พอวางปุ๊บแล้วบรรลุเนี่ย มันเป็นหลักมั๊ย มันก็เป็นนะ เป็นในเซ้นส์ของมันเอง เพียงแต่ว่าเราจะเข้าถึงในหลักแบบนี้หรือเปล่า ในเซ้นส์แบบนี้ ถ้าจะมอง มันก็เป็นกฏเกณฑ์อย่างหนึ่งในธรรมชาติ นั่นคือพอคุณสามารถวางได้หมดทุกอย่าง คุณก็บรรลุ สำหรับผม มันเป็นเรื่องของความเข้าใจนะ คือ ถ้าเราเข้าใจอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ ไอ้ที่เราบอกว่ายึดติดกับหลักการเนี่ย จริงๆ มันไม่ได้หมายความว่า ติดแบบ strict แต่ว่าทำเพื่อให้มั่นสอดคล้องกับตัววัตถุประสงค์สุดท้ายที่มันดีงามน่ะ... พูดแบบนี้ก็ได้นะ เราอาจจะพูดถึงอะไรที่มันดีงามก็ได้ มีคนบอกว่าพุทธศาสนาในระดับโลกุตระก็พ้นไปจากความดี ความงาม ใช่มั๊ยฮะ แต่ว่าผมก็ไม่รู้นะ ผมว่าสุดท้ายมันอาจจะมีอะไรหลงเหลืออยู่เหมือนกัน โอค หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าวางไว้ มันก็เป็นข้อธรรมที่ยุติไปแล้วแหละ แต่ว่ามนุษย์เนี่ยบางทีเราอาจจะยังไปไม่ถึงจุดตรงนั้นในเชิงของปัจเจก แต่ว่าผมก็ยังมีความรู้สึกว่าระบบกฏหมายก็ดี ระบบการเมืองการปกครองก็ดี มันก็วิวัฒนาการไปสู่ความดีงามขึ้นเรื่อยๆนะ คือ ถ้าเราลองเทียบดู โทษวันนี้ กับโทษเมื่อสองร้อยปีก่อน สังคมวันนี้ กับสังคมเมื่อสองร้อยปีก่อนเนี่ย เราก็จะพบว่ามันทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์มากขึ้น เสมอภาคกันมากขึ้น ทุกวันนี้ผมก็สอนนิติปรัชญาอยู่นะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางตะวันตกเค้าคิด ผมก็ยังรู้สึกว่าคำสอนหลายเรื่องของตะวันตกกับตะวันออก บางอย่างมันก็มีแก่นที่ตรงกันอยู่ ผมนึกถึงคำสอนของสำนัก Stoic กับคำสอนศาสนาพุทธ หลายเรื่องก็คล้ายคลึงกัน สโตอิกนั้นสอนในเรื่องของความไม่หวั่นไหวในสิ่งที่มากระทบรอบๆ มันก็คล้ายๆ กับพุทธศาสนาที่สอนให้เราไม่หวั่นไหวในโลกธรรม สโตอิกสอนถึงความไม่หวั่นไหวในอารมณ์ มันก็คือเรื่องโลกธรรมที่เข้ามากระทบ ก็ดูจะคล้ายๆกัน ในด้านนึงผมเข้าใจว่า มนุษย์ที่พัฒนามา แม้ด้านนึงจะมีการแก่งแย่งอะไรกันมากขึ้น แต่ว่าในเชิงโครงสร้าง ในเชิงกติกา กฏเกณฑ์ หรือกฏหมายที่คุมสังคม มันก็วิวัฒนาการไปสู่ความดีงามมากขึ้นเรื่อยๆ มันมีแนวโน้มจะไปถึงตรงนั้นนะ วิจักขณ์: มีคนพูดทำนองว่าทางฝั่งโลกตะวันออก เรามักจะเริ่มที่สัจธรรมสูงสุดที่ปัจเจกเข้าถึง แล้วพยายามเอามันลงมาสู่ชุมชน สู่สังคม แต่ในทางตะวันตกเนี่ย เขาจะเริ่มที่โลกธรรม เริ่มที่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมให้ดีขึ้น แล้วค่อยๆ ขยับไปสู่ความดีงามสูงสุด วรเจตน์: ใช่ ผมว่าจริงเลยนะ แต่ในด้านนึงก็ไม่ใช่ว่าเราภูมิใจในความเป็นตะวันออกหรือว่าดูถูกเหยียดหยามความเป็นตะวันตก หรือภูมิใจในความเป็นตะวันตก แล้วเหยียดหยามความเป็นตะวันออก ผมคิดว่าสุดท้ายมันเป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยไปในเชิงคุณค่าของแต่ละเรื่อง ตะวันตกอาจจะสร้างคุณค่าบางอย่างที่เป็นคุณค่าสากล แล้วอาจจะสอดคล้องกับคุณค่าบางอย่างของตะวันออก ซึ่งถูกกดทับเอาไว้ หรือถูกปิดบังเอาไว้ หรือไม่ถูกเอามาใช้ในบางแง่มุม จริงๆบางเรื่องมันก็ขึ้นอยู่กับการอธิบายเหมือนกัน คือ ผมเข้าใจว่าการหยิบเอาแง่มุมทางศาสนามาพูดในสังคม มันก็ขึ้นกับว่าคนพูดจะหยิบเอาแง่มุมไหนมาพูด เพราะว่าศาสนาพุทธมันมีอยู่หลากหลายมิติมากๆ ข้อธรรมก็เยอะแยะไปหมด บางทีในบางคราวเราหยิบข้อธรรมอันนึงมาพูด แล้วพูดเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองอันนึง มันก็กลายเป็นว่า โอ ศาสนาพุทธเนี่ยรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น