โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ปธน. ซีเรียประกาศวันลงมติรธน.ใหม่ ท่ามกล่างการปะทะ

Posted: 15 Feb 2012 12:37 PM PST

ปธน. อัสซาดประกาศวันลงประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านยังรายงานการถล่มฐานที่มั่นฝ่ายต่อต้านโดยรัฐบาล และบอกว่าจะไม่ยอมรับ รธน. ใหม่เนื่องจากตนไม่มีส่วนร่าง ขณะที่นักข่าวอัลจาซีร่ามองว่า รธน. ฉบับใหม่มีความก้าวหน้า และมีความเป็นพหุนิยมทางการเมือง

15 ก.พ. 2012 - สำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานโโยอ้างข้อมูลจากนักกิจกรรมฝ่ายต้านรัฐบาลว่าว่ากลุ่มกองกำลังฝ่ายรัฐบาลยังคงรุกหนัก โดยมีการบุกโจมตีพื้นที่เมืองฮามา และยิงถล่มฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้านในเมืองฮอม

แหล่งข่าวฝ่ายต้านรัฐบาลระบุอีกว่ารัฐบาลมีการวางกำลังรถถังประชิดเมืองฮามา และมีการยิงโจมตีเขต ฟารายา, โอไลลัท, บาชูรา และ อัล-ฮามิดิยา เมื่อวันที่ 15 ก.พ. โดยมีการเคลื่อนกำลังมาจากสนามบิน อย่างไรก็ตามฝ่ายนักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลก็ไม่ได้ระบุจำนวนผู้เสียชีวิตในฮามาเนื่องจากปัญหาด้านการติดต่อสื่อสาร

มีรายงานอีกว่า ฝ่ายกองกำลังรัฐบาลได้วางกำลังในย่านบาร์เซห์ของกรุงดามากัส มีการบุกรุกบ้านเรือนเพื่อจับกุมประชาชน

สภาปฏิวัติซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านหลักๆ ในเมืองฮอมบอกว่า สภาพของเมืองฮอมกำลังย่ำแย่ในด้านมนุษยธรรม เนื่องจากขาดแคลนอาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะเดียวกันก็มีการยิงปืนครกเข้าใส่ฐานกองกำลังต่อต้านในบ่านบับ อัมร์ มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเมืองฮอม 9 ราย

ขณะเดียวกันผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ก็รายงานว่ามีเหตุระเบิดเกิดขึ้นกับท่อส่งน้ำมันที่ส่งให้กับโรงกลั่นใกล้กับย่านบับ อัมร์ พวกเขาเล่าว่าเห็นกลุ่มควันขนาดใหญ่จากเพลิงที่ลุกไหม้ท่อส่งใกล้กับพื้นที่เกษตรชายขอบย่านบับ อัมร์ โดยไม่ทราบว่าอะไรเป็นต้นเหตุให้เกิดการระเบิด

มีรายงานอีกว่าพบหน่วยสไนเปอร์จำนวนมากในย่านอินชาท ผู้อยู่อาศัยในย่านดังกล่าวพากันออกจากพื้นที่ โดยบอกว่าบ้านของพวกเขาถูกปล้นสะดมหรือบางหลังก็ถูกกองกำลังฝ่ายรัฐบาลยึดไว้

 

ปธน. เผยวันลงประชามติรัฐธรรมนูญใหม่

สื่อของรัฐบาลซีเรียรายงานเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ว่า ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด ได้ประกาศให้วันที่ 26 ก.พ. เป็นวันลงมติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และจะมีการเลือกตั้งส.ส. ภายใน 90 วันหลังจากที่มีการผ่านร่างมติรัฐธรรมนูญแล้ว

ด้านรูลา อามิน ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลในซีเรียไม่ต้องการมีส่วนร่วมในประชามติเนื่องจากพวกเขาถือว่าตนไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างด้วย และบอกว่าหากประธานาธิบดีคิดเรื่องการปฏิรูปจริง พวกเขาควรจะมีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญด้วย

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ากล่าวว่า อย่างไรก็ตามการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถือเป็นความก้าวหน้ามากหากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของซีเรียในอดีต  นี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีลักษณะของพหุนิยมทางการเมือง หมายความว่าซีเรียหลังจากนี้จะมีการเลือกตั้งแทนการแต่งตั้ง และจะมีผู้แทนอย่างน้อย 2 คนสำหรับการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า รัฐบาลพยายามจะแสดงให้เห็นว่าพวกเขากระทำสองอย่างไปพร้อมกัน อย่างแรกคือกระบวนการปฏิรูป และอย่างที่สองคือการเผชิญหน้ากับกลุ่มติดอาวุธ แต่ก็พยายามไม่ให้ทั้งสองอย่างนี้เข้ามาก้าวก่ายกัน

"ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ยื่นร่างได้กับอัสซาดแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งร่างฉบับใหม่นี้ไม่มีประโยคใดที่ระบุว่า พรรคบาธซึ่งเป็นพรรครัฐบาล 'ถือเป็นผู้นำประเทศและผู้นำสังคม' " อามินกล่าว

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมาตั้งแต่การเริ่มต้นลุกฮิอต่อต้านอัสซาดเมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว (2010) แต่มาตอนนี้ฝ่ายต่อต้านกลับบอกว่าพวกเขาไม่ยอมรับข้อเสนออื่นใดนอกจากให้อัสซาดออกไป

 

ผู้ชุมนุมฝ่ายหนุนรัฐบาลชูธงรัสเซีย-จีน

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีแผนจะเปิดให้มีการถกเถียงและโหวตลงมติมาตรการการประณามความรุนแรงในซีเรียฉบับใหม่ ซึ่งมาตรการดังกล่าวร่างโดยกาตาร์ และซาอุดิอารเบีย ซึ่งแสดงการสนับสนุนแผนการของสันนิบาตชาติอาหรับอย่างเต็มที่ในด้านการช่วยให้ซีเรียเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบการเมืองพหุนิยมที่มีความเป็นประชาธิปไตย

มาตรการดังกล่าวเรียกร้องให้ซีเรียหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการโจมตีใส่ประชาชน รวมถึงได้ประณามการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตาม

แต่มาตรการดังกล่าวก็ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสันนิบาตชาติอาหรับที่เรียกร้องให้ทางสหประชาชาติทำงานร่วมกันในฐานะผู้รักษาสันติภาพ ซึ่งทางประเทศตะวันตกบางประเทศก็ระวังความเคลื่อนไหวในแง่นี้อยู่

ทางสื่อรัฐบาลซีเรียก็รายงานว่ามีกลุ่มฝูงชนจำนวนมากมาชุมนุมกันที่เมืองลาตาเคียเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติและกล่าวหาว่าชาติอาหรับมีบทบาทในการสมคบคิดต่อต้านซีเรีย โดยผู้เข้าร่วมประท้วงยังได้ถือธงของรัสเซียและจีนเพื่อแสดงการขอบคุณสองประเทศนี้ที่ให้การสนับสนุนซีเรียอีกด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา จีนและรัสเซียได้โหวตวีโต้มาตรการของสหประชาชาติ และบอกว่าเป็นมาตรการที่ไม่เป็นกลาง

 

ที่มา

Syria violence unabated as UN vote looms, Aljazeera, 15-02-2012 http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/02/201221544749188848.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“อันวาร์ อิบราฮิม” คาดมีเลือกตั้งมาเลย์เร็วกว่ากำหนด

Posted: 15 Feb 2012 12:02 PM PST

ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซียเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ คาดมาเลเซียยุบสภาเลือกตั้งเร็วกว่ากำหนด ขณะที่กำหนดเวลาครบเทอมอยู่ที่มีนาคมปี 56

เมื่อคืนวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT ได้เชิญนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำแนวร่วมประชาชน (Pakatan Rakyat หรือ People’s Pact) ซึ่งเป็นแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านของมาเลเซีย มาเสวนาถึงสถานการณ์ทางการเมืองในมาเลเซีย

อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคร่วมฝ่ายค้าน "แนวร่วมประชาชน" (Pakatan Rakyat) ระหว่างการเสวนาซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT เมื่อ 14 ก.พ. 55 (ที่มา: ประชาไท)

วิดีโอคลิปช่วงหนึ่งระหว่างการตอบคำถามผู้สื่อข่าวของนายอันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งคาดการณ์ว่ารัฐบาลมาเลเซียจะจัดการเลือกตั้งเร็วกว่ากำหนด 1 ปี

โดยในการตอบคำถามผู้สื่อข่าวรายหนึ่ง ซึ่งถามว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งในมาเลเซียเร็วกว่ากำหนดหรือไม่ นายอันวาร์กล่าวว่าในการประชุมกับผู้นำพรรคฝ่ายค้านเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 ก.พ.) มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะจัดให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้ “ไม่เดือนพฤษภาคม ก็อาจเป็นเดือนมิถุนายน” ทั้งนี้เนื่องจากโครงการของรัฐบาลอย่างโครงการมอบเงินช่วยเหลือนักเรียนคนละ 100 ริงกิต (933 บาท) และมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 500 ริงกิต (4,665 บาท) จะเรียบร้อยภายในสิ้นเดือนมีนาคม

อันวาร์กล่าวว่า ได้บอกกับผู้นำฝ่ายค้านคนอื่นๆ ว่า “ผมทำงานกับพวกเขา (รัฐบาล) มาก่อน ผมอ่านใจเขาดีกว่าแน่ๆ ผมว่าน่าจะมีการเลือกตั้งเกิดเร็วกว่าที่คุณคาด”

สำหรับนโยบายมอบเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 500 ริงกิตนั้น จากรายงานของบลูมเบิร์กระบุว่า ริเริ่มในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ในการแถลงต่อรัฐสภาเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยนายกรัฐมนตรี นาจีป ราซัก ซึ่งระบุว่าจะจ่ายเงิน 5,000 บาทจำนวนหนึ่งงวดให้กับครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 3,000 ริงกิต (27,990 บาท)

อันวาร์กล่าวด้วยว่าระยะเวลาหาเสียงในมาเลเซียนั้นถูกกำหนดเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น “เป็นเวลาหาเสียงที่สั้นที่สุดในโลก”

“แต่ผมมีความมั่นใจ เพราะเหตุนี้พวกเราถึงรอด ยิ่งมีการเลือกตั้งเร็วเท่าใด ผมเชื่อว่าดะโต๊ะ ศรี นาจีป ราซัก จะได้รับการประกาศให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่เร็วเท่านั้น” อันวาร์อ้าง

นอกจากนี้ในระหว่างตอบคำถามผู้สื่อข่าว นายอันวาร์ระบุด้วยว่าเมื่อเขากลับมาเลเซียเขามีแผนจะพบกับผู้นำจิตวิญญาณของพรรคอิสลามมาเลเซียทั้งมวล (PAS) ดาโต๊ะ นิก อาซิส นิก มัส ซึ่งเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านอนุรักษ์นิยมของมาเลเซียเพื่อชี้แจงหลังจากที่ผู้นำพรรค PAS เรียกร้องให้อันวาร์ถอนคำให้สัมภาษณ์ที่แสดงความสนับสนุนต่อความมั่นคงของอิสราเอลที่ตีพิมพ์ในวอลสตรีทเจอนัล เมื่อ 31 ม.ค. หรือให้อันวาร์ฟ้องหนังสือพิมพ์ดังกล่าวหากมีการรายงานคำพูดผิด

สำหรับแนวร่วมประชาชน หรือ PR เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านของมาเลเซีย ซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียในเดือนมีนาคมปี 2551 ชนะเลือกตั้ง 82 ที่นั่งจากทั้งหมด 222 ที่นั่งในสภา ทำให้พรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) หรือ BR ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของมาเลเซียได้ที่นั่งรวมกัน 140 ที่นั่งลดลงจากที่เคยได้ 198 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2547 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2512 ที่พรรครัฐบาลไม่สามารถได้รับชัยชนะเกิน 2 ใน 3 ของจำนวนที่นั่งในรัฐสภา ซึ่ง 2 ใน 3 ถือเป็นจำนวน ส.ส. ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของมาเลเซียสำหรับการลงมติแก้รัฐธรรมนูญ

สำหรับนายอันวาร์ อิบราฮิม เคยเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยที่ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และได้เคยวางตัวให้อันวาร์เป็นทายาทการเมือง อย่างไรก็ตามเขาถูกปลดออกจากตำแหน่งหลังจากขัดแย้งกับ ดร.มหาธีร์ และถูกตัดสินจำคุก 6 เดือนในปี 2543 ในข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบ และถูกปฏิเสธการประกันตัว

อันวาร์เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2551 ในนามพรรคยุติธรรมประชาชน (Parti Kaedilan Rakyat หรือ People’s Justice Party หรือ PKR) พรรคการเมืองหนึ่งในพรรคร่วมฝ่ายค้านซึ่งมีนางวัน อะซิสซะห์ วัน อิสมาอิล ภรรยาของเขาเป็นผู้นำ โดยหลังจากที่อันวาร์ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ก็ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ฝ่ายค้านให้ดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่ในรัฐสภา

ทั้งนี้เมื่อเดือนก่อน ศาลมาเลเซียเพิ่งตัดสินให้นายอันวาร์ อิบราฮิมไม่มีความผิด ในคดีมีความสัมพันธ์ทางเพศกับอดีตเลขานุการชายของเขา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้รัฐบาลของมาเลเซียมีอายุการทำงาน 5 ปี ซึ่งหากไม่มีการยุบสภาอย่างที่นายอันวาร์คาดการณ์ พรรครัฐบาลจะสิ้นสภาพตามกำหนดในเดือนมีนาคมปี 2556

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรสิทธิไทย-เอเชียชี้ 'สมยศ' ต้องได้ประกันตัว

Posted: 15 Feb 2012 06:36 AM PST

10 องค์กรสิทธิไทย-เอเชีย เรียกร้องจนท.รัฐปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีม. 112 แนะศาลทบทวนการตีความและใช้กฎหมายเพื่อให้สอดคล้องหลักสิทธิเสรีภาพ ตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล

15 ก.พ. 55 - องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและเอเชีย 10 แห่ง เช่น เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่พนักงานและศาลไทย ให้สิทธิการประกันตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีม. 112 จากการเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ โดยชี้ว่า สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสากลที่มนุษย์ควรได้รับอย่างเท่าเทียม

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า หากมีการตีความยกเว้นของกฎหมายกรณีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจำเป็นต้องมีพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือ และตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด ถ้าเจ้าหน้าที่พนักงานไม่มีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าพยานจะหลบหนีหรือยุ่งกับหลักฐาน ก็จำเป็นต้องให้ประกันตัวแก่จำเลย และปฏิบัติแก่ผู้ต้องหาในฐานะผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ความผิดตามกระบวนการทางกฎหมาย ตามที่ระบุไว้เป็นหลักการว่าในคดีอาญา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 วรรค 2 ประกอบ วรรค 3 

    0000

แถลงการณ์การปล่อยตัวชั่วคราว นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข

และจำเลยในคดีอาญาอื่น ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

สืบเนื่องจากกรณีที่ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 และไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนับตั้งแต่ถูกจับกุมต่อเนื่องจนมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 10 เดือน ล่าสุดนายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข บุตรชายของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ออกมาอดข้าวประท้วงคำสั่งของศาลอาญาที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแก่นายสมยศ ทั้งที่มีการยื่นคำร้องไปแล้วถึง 7 ครั้ง ด้วยการเสนอหลักทรัพย์ประกันที่สูงพอสมควร เพื่อเรียกร้องสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวให้แก่บิดา ปรากฏเป็นข่าวตามสื่ออย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ เห็นว่า ประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงความถูกต้องเหมาะสมมาโดยตลอด จึงขอแสดงความเห็นและข้อเสนอในประเด็นดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นสากล ซึ่งมนุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม

สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 40 (7) หรือแม้แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 เองก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็ว และผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 108 มาตรา 108/1 มาตรา 109 มาตรา 110 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 และมาตรา 113/1” ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( International Covenant on Civil and Political Rights) ที่ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีด้วย ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งในข้อ 9 ข้อย่อย 3 ว่า มิให้ถือเป็นหลักว่าผู้ถูกจับจะต้องถูกควบคุมตัวไว้ในระหว่างการพิจารณาคดี ดังนั้น สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นหลักกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของไทยได้บัญญัติรับรองไว้อย่างชัดแจ้ง และผูกพันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเคารพและยึดถือปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

2. การตีความข้อยกเว้นของกฎหมายกรณีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต้องเป็นกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องมีพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือรองรับทุกกรณี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ได้บัญญัติข้อยกเว้นที่ให้เจ้าพนักงานหรือศาลมีอำนาจไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้หากมีเหตุอันควรเชื่อบางประการ ได้แก่

(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวชั่วคราวพึงตระหนักเสมอว่า การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเพียงข้อยกเว้นเท่านั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด โดยในกรณีที่จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเป็นต้องมีพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือประกอบในทุกกรณี หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่สามารถหาพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือมาสนับสนุนการคัดค้านการให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ ศาลก็ต้องอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเสมอ

3. ศาลมีหน้าที่ตีความกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และเป็นไปตามหลักสากล เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยทำให้สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นจริงในทางปฏิบัติในทุกกรณี

กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยย่อมไร้ความหมายหากองค์กรที่มีหน้าที่บังคับใช้และตีความกฎหมายไม่ตีความให้สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย เนื่องจากกฎหมายจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริงก็แต่โดยการใช้การตีความของผู้ปฏิบัติ

ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 27 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง” ด้วยเหตุนี้เจ้าพนักงานตำรวจและศาลจึงไม่อาจตีความกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาได้ แต่ต้องตีความกฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญมาตรา 40 (7) บัญญัติรับรองไว้เป็นหลักสำคัญ เพื่อทำให้สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นจริงในทางปฏิบัติ

4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 วรรค 2 ประกอบ วรรค 3 ได้บัญญัติไว้เป็นหลักการว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

ดังนั้นก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด การปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วย่อมไม่อาจกระทำได้ การที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขและผู้ต้องหาหรือจำเลยคนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอาญา ต้องถูกคุมขังเพราะเหตุไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ในเรือนจำรวมกับผู้ต้องขังที่ศาลได้พิพากษาจนถึงที่สุดแล้วนั้น จึงขัดต่อหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรานี้ด้วย

จากหลักการและเหตุผลที่กล่าวมา เราขอเรียกร้องให้เจ้าพนักงานตำรวจและศาลตีความ และปรับใช้กฎหมายเรื่องปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ความสำคัญและเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ในขณะที่สังคมกำลังให้ความสนใจในคดีของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ศาลก็มีหน้าที่ในการที่จะแสดงให้สังคมเห็นว่า ตนได้ใช้และตีความกฎหมายโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วนแล้ว โดยพิจารณาให้ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวตามกฎหมาย เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอื่นๆ ต่อไป

 

แถลง ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF)

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)

โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW)

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(MAC)

สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย(AIHR)

ศูนย์ข้อมูลชุมชน(CRC)

เครือข่ายพลเมืองเน็ต(Thai Netizen Network)

ศูนย์พัฒนาเด็กและเครือข่ายชุมชน

โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: Jan Palach ความตายเพื่อปลุกจากความอปกติ

Posted: 15 Feb 2012 05:58 AM PST

 วันที่ 16 มกราคม สำหรับประเทศไทยแล้วถูกกำหนดว่าเป็นวันครู แต่สำหรับประเทศสาธารณรัฐเชคมันเป็นวันที่สะเทือนจิตใจและเป็นบาดแผลกับทุกคนในชาติ และเป็นวันที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 1969หรือเมื่อ 43 ปีที่แล้ว เวลาประมาณ บ่ายสามโมง Jan Palach นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Charles ได้ตัดสินใจกระทำการต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ด้วยการทำร้ายตัวเอง คือ การเผาตัวตาย

เมื่อชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ไม่ว่ามนุษย์และสัตว์ต่างมีสัญชาติญาณในการรักษาตัวรอดและกลัวความตาย การเสียสละชีวิตจึงเป็นสิ่งสุดท้ายที่มนุษย์จะยินยอมละทิ้งไปได้ การที่มนุษย์ตัดสินใจจะทำลายตัวเองและพลีชีพนั้นต้องมีอะไรบางอย่างที่เลวร้ายเกินกว่าความตายเข้ามาบีบบังคับ สำหรับ Jan Palach แล้วเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบในการบีบคั้นการตัดสินใจครั้งนี้คือ การที่รัฐสภาเชคโกสโลวาเกียลงมติให้กองทัพโซเวียตยกกองทัพเข้ามาประเทศเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 1968

ชีวิตวัยรุ่นวัย 20 ปี ควรเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและรอยยิ้ม หากทว่าสภาพการณ์ขแงประเทศดำเนินการอย่างผิดปกติในขณะนั้นแล้ว ส่งผลให้ Jan Palach ตั้งคำถามกับความ อปกติขึ้นมา สิ่งที่เขาต้องการจากรัฐบาลเพียงแค่ การมีเสรีภาพในการสื่อสาร โดยปราศจากการแทรกแซง และโฆษณาจากรัฐบาล

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในสังคม และคนส่วนใหญ่ในวัยทำงานถูกกลืนกินจากระบบความคิดจากส่วนกลางและมุ่งมั่นต่อการทำงานเพื่อสร้างชาติและปากท้องตัวเอง พวกเขาเคยชินกับความอปกติที่เป็นอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน ภาระที่สาหัสจึงตกอยู่กับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในการชี้ให้เห็นและกระตุ้นให้คนในสังคมรู้สึกถึงความไม่ปกตินี้ Jan Palach และเพื่อนร่วมชั้นหลายๆคนออกมาประท้วงเมื่อ พฤศจิกายน ๑๙๖๙ และเพื่อนๆเขาหลายคนถูกจับกุมและสอบสวน การประท้วงครั้งนี้ประสบความล้มเหลวและเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา Jan Palach คิดว่าต้องมีการกระทำอื่นเพื่อปลุกให้ทุกคนในชาติตื่นขึ้นมาจากความอปกติ การกระทำที่ต้องส่งผลมากๆเท่าที่ทำได้

ในตอนแรก Jan Palach วางแผนจะเข้ายึดสถานีกระจายข่าว Czechoslovak Radio โดยส่งจดหมายชักชวนสมาชิกนักศึกษาคนอื่นๆ แต่ทว่าไม่ได้รับคำตอบใดๆ ดังนั้นเขาจึงนึกมาตรการอื่นที่สามารถทำได้คนเดียวและส่งผลกระทบจิตใจคนอื่นๆอย่างใหญ่หลวง หลังจากวันที่ 15 มกราคม 1969 เมื่อเขาไปร่วมงานศพของลุง

เช้าวันที่ 16 มกราคม 1969 เขาได้เขียนจดหมายไปยังเพื่อนเขาที่มหาวิทยาลัยถึงจุดประสงค์ของการกระทำครั้งนี้ และออกจากหอพักตอนเที่ยง ในมือสองข้างถือขวดพลาสติคเพื่อเตรียมไว้ไปซื้อน้ำมันเบนซิน เขาตรงไปถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอันเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองเวลาบ่ายสองครึ่ง ท่ามกลางความหนาวยะเยือก Jan Palach ถอดเสื้อโค้ทของเขาออก นำมีดมากรีดปากขวดพลาสติกที่เต็มไปด้วยน้ำมันเบนซิน และเทมันชโลมทั่วกาย หลังจากนั้นแสงสว่างจากไฟก็เจิดจ้าที่ลานน้ำพุ เขาเผาตัวเองและวิ่งจากรางรถไฟมุ่งไปสู่อนุสาวรีย์ St Wenceslas ท่ามกลางฝูงชนจำนวนมากที่เป็นพยานเหตุการณ์สะเทือนใจครั้งนี้ และไปหยุดที่หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง พนักงานเสริฟไม่คาดคิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และออกมาเพื่อช่วยกันดับไฟออกจากร่าง Jan Palach แต่ทว่าเขากลับร้องขอให้พนักงานเสริฟไปเปิดกล่องจดหมายที่เขาวางอยู่ข้างน้ำพุและอ่านข้อความที่เขียนไว้ในนั้นว่า “ ณ ที่แห่งนี้มีนักศึกษาวัย 20 ปีได้พลีชีพตนเอง” และในขณะที่อยู่ในรถพยาบาล เขายังมีสติอยู่และกล่าวกับพยาบาลว่า “นี่ไม่ใช่เป็นการฆ่าตัวตาย แต่เป็นการจุดไฟเผาตัวเองเพื่อต่อต้านรัฐบาล เหมือนที่พระที่เวียดนามกระทำ”

Jan Palach ถูกแอดมิตที่โรงพยาบาลสองสามวันและเสียชีวิตตามมา ในขณะแอดมิต เขาประกาศเจตจำนงค์ต่อการกระทำครั้งนี้ว่า “ ผมต้องการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ เพื่อให้คนในสังคมตื่นขึ้นมา” “มันยังมีทางเป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับจุดยืนของ ส.ส. รัฐบาล และ พรรคการเมือง” อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้มุ่งหวังว่าให้คนอื่นๆกระทำตามเป็นเยี่ยงอย่างแต่สิ่งที่เขาต้องการคือให้ทุกคนลุกขึ้นสู้กับความไม่ชอบธรรม “ ประชาชนต้องต่อสู้กับความชั่วร้ายที่เรารู้สึกได้ ณ ขณะนี้” “การกระทำของผมครั้งนี้บรรลุตามหน้าที่ แต่คนอื่นๆต้องอย่าทำตามผม นักเรียนคนอื่นๆต้องรักษาชีวิตตัวเอง และอุทิศชีวิตเพื่อสำเร็จเป้าหมาย พวกเขาต้องสู้โดยมีชีวิตอยู่”

Jan Palach’s legacy.

การพลีชีพของ Jan Palach ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ภายหลังการเสียชีวิตของเขาได้เกิดการประท้วงขึ้นทั่วประเทศหลายๆครั้ง ในหลายๆเมืองประชาชนร่วมหมื่นเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงซึ่งส่วนใหญ่จัดขึ้นโดยองค์กรนักศึกษาโดยที่ฝ่ายกองกำลังรักษาความสงบไม่กล้าเข้ามาขัดขวาง เช่น 20 มกราคม 1969 สหภาพนักศึกษาโบฮีเมียนและโมราวีเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ St Wenceslas และสิ้นสุดที่หน้าตึกคณะศิลปกรรมศาสตร์ วันที่ 27มกราคม 1969 กลุ่มคนหนุ่มสาวราวสองพันคนรวมตัวที่หน้า St Wenceslas อีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย

นอกจากเกิดการประท้วงขึ้นแล้ว เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนจำนวนมากในสังคม Jaroslava Moserova แพทย์ผู้ดูแล Jan Palach ให้สัมภาษณ์กับ radio czech “ ฉันเป็นคนแรกที่เข้ามารักษาเขาและแน่นอนฉันไม่มีวันลืม เราต่างรู้สึกเศร้ากับชะตากรรมไม่เพียงแต่ของเด็กหนุ่มคนนี้แต่เป็นชะตากรรมของชาติ และฉันคิดว่าคนอื่นๆต่างเข้าใจในทันที เขาพยายามบอกเราว่าการที่โซเวียตเข้ามายึดครองมันไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่ากับการที่เรากำลังจะถูกลดความเป็นมนุษย์ ผู้คนไม่เพียงแต่ยอมแพ้สภาพที่เป็นอยู่แต่เรายังยอมให้มันมาเป็นส่วนหนึ่งของเรา และแจนต้องการหยุดยั้งกระบวนการลดความเป็นมนุษย์นี้ และฉันคิดว่าคนอื่นๆที่ออกมาตามท้องถนนก็เข้าใจ มันเต็มไปด้วยความเงียบ ความเศร้าในแววตา ใบหน้าที่เคร่งเครียด และเมื่อเรามองใบหน้าคนอื่นที่อยู่ด้วยกันเราก็รู้ได้ว่าทุกคนเข้าใจสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น”

เหตุการณ์ของเขาส่งผลต่อการล้มระบอบคอมมิวนิสต์ด้วยเช่นกัน เมื่อมกราคม 1989 อันเป็นวันครอบรอบ 20 ปีการจากไปของแจน มีการรวมตัวขึ้นอีกครั้งที่หน้า St Wenceslas โดยกลุ่ม Czech children, Charter 77, The John Lennon Peace Club, The Independent Peace Association, The society of friends of the USA ซึ่งการรวมตัวเพื่อรำลึกถึงแจนนั้นเป็นการกระทำที่ถูกห้ามภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ผู้คนมากกว่า 1,400 คนถูกจับกุมข้อหาเป็นปฏิปักษ์กับระบอบ และเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์

ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านพ้นมา 43 ปีแล้ว การพลีชีพของ Jan Palach ก็ยังคงปรากฏอยู่ในความทรงจำของคนในสังคม หลังจาก พฤศจิกายน 1989 เรื่องของ Jan Palach ซึ่งเคยถูกห้ามในสมัยระบอบคอมมิวนิสต์ ก็เป็นเรื่องที่สามารถพูดกันได้อิสระในสังคม วันที่ 20 ธันวาคม 1990 ตึกคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยชาร์ลสได้เปลี่ยนชื่อ เป็นตึก Jan Palach เพื่อรำลึกถึงเขา โดยมีรูปแกะสลักใบหน้าของ Jan Palach ที่หน้าตัวตึก ปี 2000 ได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานที่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นเพื่อรำลึกการจากไปของ Jan Palach และ Jan Zajic นักศึกษาอีกคนที่เผาตัวเองตายเช่นกันหลังจากเหตุการณ์เผาตัวตายของ Jan Palach เพียงหนึ่งเดือน ทุกๆวันที่ 16 มกราคมของทุกปี จะมีการรวมตัวขึ้นที่หน้าอนุสรณ์แห่งนี้ และสถานีวิทยุ Radio Czech จะจัดรายการพิเศษเพื่อรำลึกถึงการจากไปของเขา และในปี 2007 ได้มีการเริ่มต้นโปรเจคสร้างเวปไซต์ www.janpalach.cz ซึ่งบทความนี้ได้นำข้อมูลส่วนใหญ่มาจากเวปไซต์ โครงการสร้างเวปไซต์นี้เป็นผลงานของ คณะกรรมการนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชาร์ลส์

บทส่งท้าย

การพลีชีพเผาตัวตายเพื่อประท้วงรัฐบาลในการปิดกั้นเสรีภาพการสื่อสารที่ Jan Palach กระทำขึ้นมานั้นส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในสังคมหรืออาจพูดได้ว่า ทุกคนรู้สึกช็อคกับความสูญเสียครั้งนี้และเป็นบาดแผลจนถึงทุกวัน อย่างไรก็ตามการพลีชีพของเขาส่งผลพวงให้คนในสังคมตื่นขึ้นมาจากความไม่ปกติในสังคมและลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนเป็นผลสำเร็จ

แต่ทว่าการพลีชีพตัวเองนั้นไม่ได้ผลสำเร็จทุกครั้งไป มิใช่มีเพียงแจนเท่านั้นที่ตัดสินใจทำ เมื่อเรามองที่ประเทศอื่นๆก็ปรากฎเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น แต่ทำไมมันกลับไม่ส่งผลอะไรเลยในสังคม หลายๆคนในสังคมยังคงหลับและชื่นชอบที่จะอยู่กับความไม่ปกตินี้เสมือนมันเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายไปแล้ว หลายครั้งที่การพลีชีพตัวเองกลายเป็นการถูกกล่าวหาว่าบ้าจากคนในสังคม ในสายตาของคนในสังคมไทยหลายๆคนที่มองการอดข้าวประท้วงของ ไท ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข คงไม่แตกต่างจากสายตาที่คนในสังคมจีนและรัฐบาลจีนมองพระธิเบตเผาตัวตายเป็นรายที่ 20

หรือว่าการหลับครั้งนี้มันเป็นการหลับลึกเกินจะเยียวยา

ท้ายสุด
“คนเราอยากจะให้คนอื่นจดจำเราแบบไหนขึ้นอยู่กับว่าทั้งชีวิตกระทำอะไรมาบ้าง”
16 กุมภาพันธ์ 2012 ครบรอบ 43 ปี และ 1 เดือน
เหตุการณ์เผาตัวเองเพื่อประท้วงของ Jan Palach

เชิงอรรถ
www.janpalach.cz
www.radio.cz

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลฎีกาสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยคดีเสื้อแดงเชียงใหม่ 5 ราย

Posted: 15 Feb 2012 04:53 AM PST

หลังถูกขังมา 3 ปี ศาลฎีกาสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยคดีเสื้อแดงเชียงใหม่ 5 รายแล้ว จากคดีเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองกรณีเหตุเสื้อแดงปะทะเสื้อเหลืองเมื่อปี 51
 
15 ก.พ. 55 – ในช่วงบ่ายของวันนี้ (15 ก.พ.) กลุ่มครอบครัวคดีเสื้อแดงเชียงใหม่และทนายความจากกลุ่มยุติธรรมล้านนาไปที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่เพื่อฟังคำสั่งศาลฎีกาตามที่ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยคดีหมายเลขแดงที่ อ.650, อ.651, อ.652, อ.653/2553 อันเป็นคดีเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองกรณีเหตุปะทะที่บริเวณหมู่บ้านระมิงค์ ตำบลหายยา เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (อ่าน: รักเชียงใหม่ 51 ปะทะเดือดเจ็บ 2 ฝ่าย พ่อแกนนำทหารเสือพระราชาดับ)
           
เจ้าหน้าที่ศาลได้อ่านคำสั่งต่อหน้าญาติจำเลยผู้ยื่นคำร้องทั้ง 5 รายโดยสรุปว่า ศาลอนุญาตให้ปล่อยจำเลยทั้งห้าชั่วคราวในระหว่างฎีกา โดยวางหลักทรัพย์ 600,000 บาทต่อราย ที่ได้จากการสนับสนุนของกองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
           
หลังฟังคำสั่งจบ กลุ่มญาติต่างโผเข้ากอดกันร้องไห้ด้วยความยินดี นางเล็ก เอื้องคำ ญาติผู้ต้องขังรายหนึ่งที่มีอาการทางประสาทและป่วยเป็นโรคกระดูกเรื้อรัง ถึงกับตะโกนเฮจนเจ้าหน้าที่ศาลต้องมาเตือนให้อยู่ในความสงบ
 
นางอุดม เมฆขุนทด ญาติผู้ต้องขังในคดีนี้กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะได้มาฟังคำสั่งศาล มีข่าวจากทางกรุงเทพว่า ผู้ต้องขังทั้งหมดจะไม่ได้ประกันตัว ที่มาฟังวันนี้ทีแรกไม่ได้คาดหวังอะไร ตอนที่ฟังเจ้าหน้าที่อ่านยังรู้สึกแปลกใจว่าอ่านผิดหรือเปล่า แต่ก็ดีใจที่ได้รับความเมตตาจากศาลฎีกา เริ่มมีความหวังว่าจะได้เห็นความเป็นธรรมบ้าง
 
นางสาวจินดา ณ เชียงใหม่ ทนายความจากกลุ่มยุติธรรมล้านนาผู้ประสานงานการประกันตัวคดีนี้เล่าว่า เจ้าหน้าที่กองทุนยุติธรรมประจำสำนักงานเชียงใหม่จะนำคำสั่งศาลนี้ไปเบิกเงินมาวางเป็นหลักทรัพย์กับศาลในวันพรุ่งนี้ และเมื่อได้รับหมายปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้อำนวยการราชทัณฑ์ประจำเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่จะนำส่งต่อไปยังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ (โรงเรียนพลตำรวจบางเขน) ที่คุมขังตัวจำเลยทั้ง 5 คนอยู่ เพื่อปล่อยตัว ซึ่งคาดว่าจะจัดการได้เรียบร้อยภายในวันศุกร์นี้ (17 กุมภาพันธ์ 2555)
 
อนึ่ง ทนายความกลุ่มยุติธรรมล้านนาเพิ่งเข้ามาช่วยติดต่อประสานงานในการประกันตัวและช่วยเหลือทางคดีในชั้นฎีกา นี้ โดยเน้นประเด็นต่อสู้เรื่องฐานความผิดที่ร้ายแรงเกินกว่าพฤติการณ์คดี ซึ่งจำเลยทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันฆ่า แต่จากข้อมูลที่เก็บจากผู้ให้ปากคำที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นเรื่องของชุลมุนต่อสู้มากกว่า
           
โดยจำเลยทั้ง 5 คนในคดีนี้ได้แก่ นายนพรัตน์ แสงเพชร นายประยุทธ บุญวิจิตร นายบุญรัตน์ ไชยมโน นายสมศักดิ์ อ่อนไสว และนายพยอม ดวงแก้ว
           
นางสาวพรพิศ ผักไหม อดีตอาสาสมัครองค์กรเอกชนที่ปรึกษากลุ่มครอบครัวคดีเสื้อแดงเชียงใหม่กล่าวว่า สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งจำเลยทั้งหมดสมควรได้รับมาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ผ่านไป 3 ปี ญาติต้องดิ้นรนเรียกร้องกันเอง โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มครอบครัวคดีเสื้อแดงเชียงใหม่ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอความเป็นธรรมให้ช่วยเหลือด้านการประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทั้ง 5 รายนี้ โดยการสนับสนุนจากสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ (อ่าน: จำเลยเสื้อแดงร้องประชา พรหมนอก แก้ปัญหารัฐกลั่นแกล้งดำเนินคดีเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทุกคดีการเมือง)
            
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประเทศนี้จำเป็นต้องมี “เรกูเลเตอร์” หรือไม่?

Posted: 15 Feb 2012 04:48 AM PST

“เราจำเป็นต้องออกใบอนุญาตในการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าให้บัวสมหมาย ไม่เช่นนั้นเขาจะฟ้องเรา”

คำพูดเพียงประโยคเดียวที่ทั้งหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระ อย่างสำนักอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี กรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน ใช้อ้างกับชาวบ้านอำเภอสว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ที่คัดค้านการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ตลอดเวลาที่ต่อสู้ตั้งแต่ปี 2551 จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2554 คนจากหน่วยงานดังกล่าวก็ยังพูดได้อยู่ประโยคนี้ประโยคเดียว

ประโยคที่เป็นคำกล่าวของอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี กรมโรงงานอุตสาหกรรม พอเข้าใจได้ เพราะเป็นข้าราชการที่ต้องก้มหน้าก้มตาปฏิบัติงานตามที่ฝ่ายนโยบายและฝ่ายการเมืองกำหนด โดยมิอาจปริปาก แม้จะรู้และเห็นว่า ผลของการปฏิบัติงานนั้นจะสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านและชุมชนเพียงใด ทั้งนี้ เพราะคนประเภทที่เรียกว่า “ข้าราชการประจำ” ต้องตอบสนอง “นาย” ทุกอย่าง ต้องท่องจำคำเหล่านี้ให้แม่น “ได้ครับพี่ ดีครับท่าน” เพื่อความมั่นคงในหน้าที่การงาน

แต่คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน  หรือ “เรกูเลเตอร์” ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาก็เพื่อให้คานอำนาจฝ่ายนโยบายและการเมือง เพื่อทำให้ทุกอย่างโปร่งใส แต่กลับทำตัวเยี่ยงเดียวกับผู้ไร้อิสระ ไร้หัวใจและไร้วิญญาณอย่างข้าราชการ ไม่มีอิสระสมกับวิสัยทัศน์และพันธกิจที่อวดอ้างต่อสาธารณะแม้แต่น้อยนิด

คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ “เรกูเลเตอร์” (Regulator) เป็นหน่วยงานอิสระ วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งก็เพื่อให้เป็นองค์กรอิสระจากฝ่ายนโยบายและฝ่ายการเมือง เพื่อช่วยให้กระบวนการตัดสินใจมีความโปร่งใสและประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น อีกบทบาทหนึ่ง คือ เป็นองค์กรที่คอยถ่วงดุลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น นักลงทุนกับผู้บริโภค และ “เรกูเลเตอร์” ยังมีอำนาจให้คุณให้โทษภายใต้ขอบเขตของกฎหมายได้อีกด้วย

“เรกูเลเตอร์” มีหน้าที่ดูแลการประกอบกิจการไฟฟ้าให้มีความมั่นคง กำกับดูแลราคาและคุณภาพบริการให้มีความเหมาะสม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และประสานงานให้มีการลงทุนอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งดูแลความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการ และคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับคุณภาพบริการที่ดี  

“เรกูเลเตอร์” ภายใต้การนำของ นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธาน กกพ. แจ้งแก่สาธารณะถึงแนวทางของการดำเนินงาน ดังนี้

วิสัยทัศน์ขององค์กร
กกพ. เป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานอย่างโปร่งใส เพื่อความมั่นคงของกิจการพลังงานไทย สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน มีความเชื่อถือได้ โดยมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  

พันธกิจขององค์กร
กำกับ ดูแลการประกอบกิจการพลังงานให้มีระบบการบริหารจัดการพลังงาน ให้มีความมั่นคงและเชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมต่อทั้งผู้ใช้ และผู้ประกอบกิจการพลังงาน ตลอดจนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยยึดมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมและโปร่งใส เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

4 ปีที่ผ่านไป นับแต่วันที่ก่อตั้ง “เรกูเลเตอร์”   ทำได้เพียงเป็นตราประทับให้กรมโรงงาน โดยอนุมัติการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าตามความเห็นชอบของกรมโรงงาน   โดยไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใส ความเป็นธรรม ไม่เคยคำนึงถึงวัตถุประสงค์การก่อตั้งองค์กร วิสัยทัศน์ และพันธกิจอันสวยหรู ดังจะเห็นได้จากกรณี  บ้านคำสร้างไชย หมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด  ที่ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน แม้ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจะได้ต่อสู้คัดค้าน และทั้งยังยื่นคัดค้านกระบวนการออกใบอนุญาตว่า ไม่มีความโปร่งใส ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘๗  พร้อมยื่นเจตจำนงขอมีส่วนร่วม โดยเสนอให้มีการศึกผลกระทบ และให้นำผลการศึกษาไปประกอบการพิจารณา

แต่ กกพ. ที่อ้างแสดงวิสัยทัศน์และพันธกิจสุดหรู กลับเพิกเฉยเสีย โดยให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

แก่บริษัทฯ โดยไม่รอผลการศึกษาของชาวบ้านที่ทำการศึกษาวิจัยตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งชาวบ้านศึกษาผลกระทบเบื้องต้นตามมติที่ประชุมของคณะทำงานชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล (แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548

“เรกูเลเตอร์” อ้างกับชาวบ้านอย่างหน้าตาเฉยว่า “กรมโรงงานให้ความเห็นว่า ได้มีการศึกษาแล้ว ...ไม่มีคนคัดค้าน” พร้อมยืนยันว่าจะไม่เพิกถอนใบอนุญาต แล้วก็ท่องบทอาขยานยอดนิยม

“เราจำเป็นต้องออกใบอนุญาตในการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าให้บัวสมหมาย ไม่เช่นนั้นเขาจะฟ้องเรา”

ประโยคยอดฮิตเป็นคำกล่าวที่แสดงถึงความอ่อนด้อยของผู้ที่ได้ชื่อว่า “เรกูเลเตอร์” หรือผู้คุมกฎ ผู้ที่พึงถูกคาดหมายว่า จะมีภูมิรู้ในทุกมิติ แม้ในด้านกฎหมาย เพื่อกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม หากการตัดสินใจของหน่วยงานราชการขัดต่อความเป็นธรรมต่อชาวบ้านผู้ที่คัดค้านเพราะเกรงจะได้รับผลกระทบ ซึ่งผลกระทบที่บริษัทฯ ก่อขึ้นก็มีให้เห็นอยู่เต็มตา อีกทั้งผลการศึกษาก็บ่งชี้ว่า ชาวบ้านเองก็มีความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่แพ้บริษัทฯ เช่นกัน

การตัดสินใจให้ใบอนุญาตแก่บริษัทฯ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเพียงการตัดสินใจของฝ่ายนโยบาย ซึ่ง “เรกูเลเตอร์” จะต้องเข้าไป ... กำกับ ดูแลให้มีระบบการบริหารจัดการพลังงาน ให้มีความมั่นคงและเชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมต่อทั้งผู้ใช้ และผู้ประกอบกิจการพลังงาน ตลอดจนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยยึดมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมและโปร่งใส...

แล้ว “ผู้คุมกฎ” ยังเอาการตัดสินใจของกรมโรงงานมาค้ำคอตัวเองให้ต้องคล้อยตาม นำเอาการอนุญาตของหน่วยงานรัฐมาเป็นข้อจำกัดของตัวเอง ซ้ำยังกระวีกระวาดเอาคอขึ้นเขียง ด้วยการอนุญาตซ้ำเข้าไปอีก เพื่อเพิ่มน้ำหนักของการเดินหน้าทำประโยชน์ให้แก่บริษัทฯ และบีบรัดตัวเอง ทำเป็นว่า ... ไม่ได้ ไม่ได้ อนุญาตไปแล้ว ขืนถอนใบอนุญาต เดี๋ยว บริษัทฯ ฟ้องตาย... 

หรือนี่คือพันธกิจของ กกพ. ที่ว่า ... การกำกับ ดูแลให้มีระบบการบริหารจัดการพลังงาน ให้มีความมั่นคงและเชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมต่อทั้งผู้ใช้ และผู้ประกอบกิจการพลังงาน ...

การต่อสู้เพื่อความสงบสุขและสุขภาพที่ดีของชุมชนกว่า 10 หมู่บ้าน 2 ตำบล ซึ่งได้ประจักษ์แล้วว่า โรงไฟฟ้าของบริษัทฯ ได้ก่อมลภาวะตำตาที่จังหวัดร้อยเอ็ดจึงได้ลุกขึ้นปกป้อง และต่อสู้กับหน่วยงานราชการที่เกรงแต่ “ผู้ประกอบการ” จะสูญเสียผลประโยชน์ เพราะ “เขาได้ลงทุนไปมากแล้ว”

เมื่อมี กกพ. หรือ “เรกูเลเตอร์” เป็นผู้คุมกฎ ชาวบ้านก็หวังจะได้พึ่งพิงบ้าง แต่ “เรกูเลเตอร์” กลับยิ่งเกรง “ผู้ประกอบการ” จะย่อยยับอับจนจากการที่ไม่ได้ก่อกรรมทำเข็ญกับชาวบ้านหนักยิ่งกว่าหน่วยราชการเสียอีก

ถ้าอย่างนี้ สู้ให้มีเพียงหน่วยงานรัฐ จะไม่ดีกว่าหรือ เพราะการมี “เรกูเลเตอร์” เท่ากับเพิ่มฝ่ายผู้ประกอบการขึ้นอีกหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เพิ่มฝ่ายตรงข้ามกับชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อชุมชน เพื่อความโปร่งใส และเป็นธรรมอีกหนึ่ง

แล้ว...

ประเทศนี้ยังจำเป็นต้องมี “เรกูเลเตอร์” อยู่อีกหรือ?

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ใบตองแห้งออนไลน์': ไหนว่าแค่การบังคับใช้

Posted: 15 Feb 2012 02:27 AM PST

การอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้พ่อ ของไท พฤกษาเกษมสุข ผ่านมา 4 วันแล้วยังไม่มีปฏิกิริยาตอบรับ ขณะที่สมยศถูกนำตัวไปสืบพยานถึงจังหวัดสงขลา แต่พยานไม่มาศาล เพราะพักอยู่ปทุมธานี สะดวกให้ปากคำที่กรุงเทพฯ

ก่อนหน้านี้ สมยศถูกนำตัวไปสืบพยานที่จังหวัดสระแก้ว เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ โดยถูกนำตัวตระเวนไปฝากขังตามเรือนจำจังหวัดต่างๆ ทั้งที่พยานส่วนใหญ่พักอยู่ในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล สามารถออกหมายเรียกให้มาสืบพยานที่กรุงเทพฯ ได้ แต่จำเลยกลับถูกนำตัวใส่ขื่อคาตระเวนไปทั่วประเทศ จนทนายบอกว่าเหมือนกลั่นแกล้งกัน
 
ถามว่านี่ใช่ไหม ปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครต่อใครแห่ออกมาพูดกันเซ็งแซ่ ว่าไม่ต้องแก้ ม.112 ให้แก้การบังคับใช้ ตั้งแต่ทักษิณไปจนอภิสิทธิ์ ตั้งแต่ ดร.เหลิมไปจน ดร.สุวินัย ตั้งแต่มีชัยไปจนบวรสาก
 
แต่ไม่ยักมีใครกล้าพูดชัดเจนเหมือนธงชัย วินิจจะกูล ที่บอกว่า “การใช้มาตรา 112 ในแบบล่าสุดระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือใช้ทำลายจิตวิญญาณ หมายถึงการใช้อย่างไร้ความปรานีจนกว่าจะยอมรับสารภาพ คือมักจับไว้ก่อน ไม่ให้ประกันตัว พิจารณาลับ ลงโทษรุนแรง แต่ให้ความหวังว่าจะพ้นคุกได้เร็วถ้ายอมรับสารภาพ จนหลายคนยอมแพ้ในที่สุด นี่คือการทำร้ายถึงจิตวิญญาณ หากต้องการอิสรภาพทางกายต้องยอมแพ้ราบคาบทางมโนสำนึก ชีวิตที่มีอิสระทางกายต้องขังจิตวิญญาณเสรีไว้ข้างในตลอดไป”
 
ปัญหาการบังคับใช้ 112 จึงไม่ใช่แค่ใครก็แจ้งความร้องทุกข์ได้ ปัญหาการบังคับใช้ยังรวมถึงการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมักไม่ได้ประกัน โดยอ้างว่าเกรงจะหลบหนี ซึ่งก็เป็นปัญหาวัวพันหลัก ในเมื่อคดีนี้ มักไม่ให้ประกัน ใครโดนคนนั้นก็ต้องหนี ใครเล่าอยากสู้คดีโดยต้องตระเวนไปนอนเรือนจำ 77 จังหวัดอย่างสมยศ
 
และแน่นอน ยังเกี่ยวพันกับอัตราโทษ เพราะศาลมักอ้างว่าโทษสูง เกรงจำเลยหลบหนี
 
การไม่ได้ประกันตัวทำให้จำเลย 99.99% เลือกยอมรับสารภาพ เพื่อให้คดีถึงที่สุด เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งก็มักได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แต่ผลทางกฎหมายคือ มีคดีน้อยมากที่ขึ้นถึงศาลฎีกาจนมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน
 
พูดอีกอย่างคือ คำพิพากษาคดี 112 กว่า 99.99% ไม่ถือเป็นบรรทัดฐาน เพราะเป็นแค่คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่จำเลยส่วนใหญ่ไม่สู้คดีด้วยซ้ำ หรือสู้ไปแล้วก็ต้องถอดใจ ทั้งที่เป็นคนมีจิตใจแข็งแกร่งอย่างดา ตอร์ปิโด
 
นั่นทำให้ความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ยิ่งกว้างขวางคลุมเครือ เพราะเมื่อใครคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าทำผิด ใครคนหนึ่งไปแจ้งความร้องทุกข์ แล้วคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้ประกันตัว ศาลสืบพยานไป 2-3 ปาก จำเลยชิงรับสารภาพ คดีเป็นสิ้นสุด สรุปความได้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้ ผิดตาม 112 ต่อมาใครทำอย่างนี้ก็โดนอีก
 
ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานว่า พฤติกรรมเช่นนี้ ผิดจริงหรือไม่
 
พฤติกรรม A พฤติกรรม B พฤติกรรม C….. ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทั้งที่ถ้าคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา อาจมีเพียงพฤติกรรม C ที่ผิดจริง แต่แทบทุกคดีถูกยุติก่อนขึ้นศาลฎีกา
 
นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งต้องถามว่าเป็นแค่ปัญหาการบังคับใช้ หรือเกี่ยวกับตัวมาตรา หรือยิ่งกว่านั้นคืออุดมการณ์ “กษัตริย์นิยม” ของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม
 
ในฐานะผู้สนับสนุนนิติราษฎร์ ผมไม่มีปัญหาเลยถ้าการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 คว้าน้ำเหลว แต่มีการแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น ยับยั้งการดำเนินคดีที่ไม่มีมูลเพียงพอ อย่างกรณีก้านธูป หรือนักปรัชญาชายขอบ ให้ประกันตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดี หรืออยู่ระหว่างพิจารณาคดี ขณะเดียวกันก็เร่งกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ สำหรับผู้ที่คดีสิ้นสุดแล้ว
 
ถ้าปัญหาในทางปฏิบัติจบลง หรือลดลงไป ไม่มีใครถูกเล่นงานด้วย 112 อีก กระแสแก้ไขก็จะโทรมลงไป นี่คือวิถีของการเมือง แต่ตราบใดยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เชื้อไฟนี้ก็ยังคุโชนอยู่ รอเวลาปะทุอีกครั้งเท่านั้น
 
อย่าลืมนะครับว่า พ้น 112 วัน ครก.อาจยื่นรายชื่อ 10,000 คนแล้วสภาไม่รับ ข้อเสนอตกไป แต่ตัวร่างของนิติราษฎร์ยังอยู่ 1 ปีข้างหน้า 2 ปีข้างหน้า 3 ปีข้างหน้า ใครก็หยิบไปล่ารายชื่อใหม่ได้ทุกเมื่อ
 
ไม่มีใครชนะ
 
การได้ฟังปาฐกถาของธงชัย วินิจจะกูล ถือเป็นการเปิดกะโหลกเติมปัญญาอย่างแท้จริง ทำให้มองทะลุสถานการณ์ที่วิสัยคนทำข่าวมักพัวพันแต่เฉพาะหน้า
 
นอกจากนั้นยังเป็นการสรุปประวัติศาสตร์ให้ชัดเจน เช่นการมองว่า ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์เพิ่งถือกำเนิดเมื่อ 14 ตุลา 2516 นี่เอง มิน่า รุ่นพี่ๆ เราที่ผ่าน 14 ตุลามา หลายคนถึงกลายเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบอำมาตย์
 
น่าเสียดายที่สื่อกระแสหลักไม่กล้าเสนอประเด็นสำคัญในปาฐกถาธงชัย นั่นคือการกล่าวถึงประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ ภายใต้ “ลัทธิกษัตริย์นิยม” ว่าแยกไม่ออกจากตัวบุคคล ถ้าไม่ยอมปรับตัว ก็อาจทำให้สถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้
 
สื่อไม่กล้าแม้แต่จะเอาไปโจมตี ซึ่งจะทำให้ประเด็นของธงชัยขึ้นมาเป็นกระแสสนใจ นี่ก็เข้าตามที่ธงชัยพูดอีกนั่นแหละ สังคมไทยหลอกตัวเอง พวกลัทธิกษัตริย์นิยมหลอกตัวเองไปวันๆ ว่าสภาพที่ดำรงอยู่นี้จะเป็นไปชั่วนิรันดร์ หรือชั่วชีวิตของตน (ถ้าเป็นชั่วชีวิตของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร คงไม่เถียง)
 
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ผมประทับใจในปาฐกถาของธงชัย ไม่ใช่จุดแตกหักระหว่างประชาธิปไตยกับ “กษัตริย์นิยม” แต่เป็นคำเตือนที่ว่า ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ก็แพ้กันหมด ไม่มีใครชนะ
 
หลายคนที่ฟังปาฐกถา สะใจว่างานนี้ธงชัย “แรง” “จัดหนัก” แต่สำหรับผม เห็นว่านี่คือความกล้าหาญ พูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา และไม่ใช่พูดให้สะใจ แต่พูดเพื่อเตือนสติ เพื่อให้พวกกษัตริย์นิยม “ปรับตัว”
 
ธงชัยย้ำอยู่ 2-3 ครั้งว่า ถ้าไปถึงจุดที่สถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ความสะใจ แต่มันคือสถานการณ์ที่ “แพ้กันหมด ไม่มีใครชนะ” ตอนหนึ่งยังกล่าวว่าเขามักถูกเพื่อนพ้องเก่าๆ มองว่าเขาเห็นอกเห็นใจรอแยลลิสต์ แต่ธงชัยยืนยันว่าไม่ใช่ เขาไม่ได้ห่วงใยอย่างนั้น แต่เขากลัวว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็เป็นอันตรายทั้งสถาบันและประชาธิปไตย และจะทำให้ทุกคนเสียหายหมด
 
ผมไม่เคยสนิทกับธงชัยสมัยเรียนธรรมศาสตร์ เพราะทำกิจกรรมคนละกลุ่ม ไม่เคยเจอกันจนวิกฤต 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงได้ฟังได้คุยทั้งวงเล็กวงใหญ่ วงนอกวงใน แต่กระทั่งในวงที่คุยกันได้หมดเปลือก ธงชัยก็ย้ำเช่นนี้เสมอมา ช่วงหนึ่งที่เสื้อแดงพูดๆ กันถึง “ปฏิวัติประชาชน” ธงชัยก็ไม่ได้สนับสนุน เพราะเขาเห็นว่ามันจะสร้างความเสียหาย โดยเฉพาะชีวิตคนที่ไม่ควรสูญเสีย
 
แอคทิวิสต์รุ่นหลังที่เข้าข้างเสื้อเหลือง มักมองคนรุ่น 6 ตุลาว่ากลายเป็น “ตุลาแดง” เพราะความเคียดแค้นจากอดีต ผมไม่ปฏิเสธสำหรับบางคน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และน่าจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ด้วย เพราะผมเชื่อว่ามีเพื่อนจำนวนมากคิดอย่างธงชัย
 
ในฐานะคนรุ่น 6 ตุลา เราคงไม่กระแดะพูดว่า “จงรักภักดี” คงไม่บอกว่าอยากให้แก้ 112 อยากให้ปฏิรูปสถาบัน “ด้วยความจงรักภักดี” แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าเราคิดตรงข้าม มันไม่ได้แปลว่าทุกคนในสังคมไทยต้องเลือกระหว่าง “รักเจ้า” กับ “ล้มเจ้า” ทางเลือกไม่ได้มีแค่นี้
 
คนรุ่น 6 ตุลาไม่ได้ตัดตอนความคิดอุดมการณ์แค่เพื่อนเราถูกฆาตกรรมกลางเมือง เพราะหลังจากนั้น เรายังเข้าสู่การสู้รบในสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พลีชีวิต เลือดเนื้อ หยาดเหงื่อ แรงใจ ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งกับ “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” ขบวนแตก อุดมการณ์ล่มสลาย กลับกลายเป็นมนุษย์รุ่นที่ผิดหวัง เคว้งคว้าง ว่างเปล่า
 
เราผ่านอะไรมามากกว่าที่คนคิด เจ็บปวดมากกว่าที่คนรู้ สูญเสียมากกว่าชีวิต ร่างกาย หรือสถานะทางสังคม นั่นคือบทเรียนที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่ากับใคร ไม่อยากเห็นความสุดขั้วสุดโต่ง ไม่ว่าฝ่ายไหน
 
ฉะนั้น ในขณะที่เราจะไม่กระแดะพูดว่า “จงรักภักดี” แต่เราก็พูดได้เต็มปากว่าเราไม่ต้องการเห็นจุดที่สถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้ เพราะถ้าเกิดสถานการณ์อย่างนั้น ก็คือหายนะของประเทศ จะเกิดความสูญเสีย ทั้งชีวิต เลือดเนื้อ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกว้างขวางต่อชะตากรรมของคนไทย 70 ล้านคน
 
แต่ถ้าจะไม่ให้เราผลักดันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ ก็เป็นไปไม่ได้ จะให้มวลชนที่เติบโตเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ถอยหลังเข้าคลอง ก็เป็นไปไม่ได้ ธงชัยจึงเรียกร้องให้ฝ่ายกษัตริย์นิยม “ปรับตัว” เพื่อการอยู่ร่วมกัน ก่อนที่จะ “แพ้ด้วยกันทั้งหมด” ไม่มีใครได้ มีแต่ความสูญเสีย
 
นี่คือสิ่งที่ผมประทับใจจากการฟังธงชัยเสมอมา ไม่ว่าเนื้อหา “จัดหนัก” อย่างไรแต่เป้าหมายของเขาชัดเจน
 
 
                                                                                             
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาทนายความเสนอรัฐ เร่งแก้ปัญหาแรงงานไร้สัญชาติและชาวโรฮิงยา

Posted: 15 Feb 2012 02:19 AM PST

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ได้เสนอหนังสือต่อเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีเนื้อหาถามภาครัฐเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ลาว กัมพูชาและชาวโรฮิงยาที่มีปัญหาเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถต่อใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ซ้ำยังไม่อาจผลักดันให้เดินทางกลับสู่ประเทศต้นทางได้ เนื่องจากไม่มีสัญชาติใดรองรับ จนกลายเป็นคนไร้รัฐและเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายในไทย 

นายวสันต์ พานิช ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า สาเหตุนั้นเกิดจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 ซึ่งให้ขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ลาว และกัมพูชาซึ่งเข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย พร้อมทั้งผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555  แต่ปรากฏว่ามีแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านและแรงงานที่อยู่ในระหว่างกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแต่ไม่อาจดำเนินการให้เสร็จได้ทันวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งรัฐยังไม่มีนโยบายและมาตรการรองรับแรงงานเหล่านี้  ทั้งการการต่อใบอนุญาตทำงานและผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้เป็นการทวีปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทย รวมถึงปัญหาคนไร้รัฐซึ่งไม่สามารถผลักดันออกนอกประเทศได้

ด้านนายสุรพงษ์  กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากร้องเรียนว่า ทั้งแรงงานชาวพม่า ลาว หรือกัมพูชา ที่ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และที่มีปัญหาพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน ซึ่งหากเลยวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ก็จะไม่สามารถมีสิทธิอาศัยในประเทศไทย  รวมทั้งลูกหลานที่เกิดในเมืองไทยด้วย ซึ่งทั้งหมดไม่มีสัญชาติของชาติใดเลย  จะกลายเป็นคนไร้สัญชาติ  ซึ่งรัฐควรรีบหาทางแก้ไขปัญหาให้คนไร้สัญชาติเหล่านี้

พร้อมกันนี้ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ยังได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับกรณีแรงงานชาวโรฮิงยาเชื้อสายพม่า ซึ่งรัฐบาลพม่าไม่รับพิสูจน์สัญชาติ และเคยประกาศไม่รับว่ามีสัญชาติพม่า ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ  และตกค้างอยู่ในประเทศไทย โดยไม่สามารถทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภายในและทิศทางทางการเมืองในประเทศพม่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลพม่าเริ่มมีทัศนคติในแง่บวกต่อการเปิดประเทศเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ รัฐบาลไทยควรใช้โอกาสอันดีนี้ ทำความตกลงกับรัฐบาลพม่าให้มีการรับรองสัญชาติให้แก่กลุ่มชาวโรฮิงยาที่มีเชื้อสายพม่าอย่างเป็นรูปธรรม อันจะเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดการประสานประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย โดยระหว่างความตกลงจะบรรลุ รัฐบาลไทยควรมีมาตรการอนุญาตให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถทำงานและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทางการอิหร่านปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในซอยปรีดี พนมยงค์

Posted: 15 Feb 2012 01:55 AM PST

 นายกรัฐมนตรีอิสราเอลกล่าวหาอิหร่านอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ ด้านโฆษก ตปท. อิหร่านชี้ข้อกล่าวหาจากอิสราเอลกำลังทำลายมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างอิหร่านกับไทย

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านนายรามิน เมห์มันพาราสต์ ประณามเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และกล่าวว่าหน่วยสืบราชการลับของอิสราเอลมักจะเป็นผู้ก่อเหตุเช่นว่านี้ "ขอปฏิเสธข้อกล่าวหาที่มาจากระบอบไซออนนิสม์ และข้อกล่าวหาจากระบอบนี้กำลังจะทำลายมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่มีมาในอดีตระหว่างอิหร่่านกับประเทศไทย" แถลงการณ์ของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านระบุ

โดยเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น 3 ครั้งในซอยปรีดี พนมยงค์ หรือซอยสุขุมวิท 71 ในกรุงเทพฯ เมื่อ 14 ก.พ. 55 เกิดขึ้นหลังจากมีเหตุระเบิดที่มุ่งเป้าหมายไปที่เจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอลและจอร์เจีย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลนายเบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวหาว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิด ขณะที่อิหร่านปฏิเสธและว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเลื่อนลอย และเป็นส่วนหนึ่งของสงครามจิตวิทยาจากอิสราเอลเพื่อต่อต้านอิหร่าน

ทั้งนี้เกิดเหตุระเบิดที่รถของเจ้าหน้าที่ทูตอิสราเอล ที่กรุงนิวเดลี อินเดียเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่ทูคอิสราเอลได้รับบาดเจ็บ และเหตุโจมตีครั้งที่สองเกิดขึ้นที่กรุงทบิลิซี ของจอร์เจีย โดยคนงานชาวจอร์เจียซึ่งกำลังจะขับรถยนต์เข้าไปในสถานทูตอิสราเอล ได้พบว่ามีระเบิดถูกซ่อนในรถของเขา ระเบิดลูกดังกล่าวจึงถูกเก็บกู้ก่อนที่จะทำงาน

ทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย นายอิซฮัก โชแฮม อ้างว่าระเบิดที่พบในกรุงเทพฯ มีลักษณะใกล้เคียงกับระเบิดที่ใช้งานในอินเดีย และจอร์เจีย และกล่าวกับผู้สื่อข่าวต่่างประเทศว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นสามารถสรุปได้ว่าเป็นเครือข่ายก่อการร้ายเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนก่อน กรุงเทพฯ กลายเป็นพื้นที่เฝ้าจับตาว่าจะเกิดเหตุก่อการร้ายหลังตำรวจไทยจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวเลบานอน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเตรียมวางแผนก่อเหตุร้าย ขณะที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศเตือนพลเมืองให้ระมัดระวังในการเข้าไปในแหล่งนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย

เจ้าหน้าที่ไทยได้กล่าวหาชาวเลบานอนคนดังกล่าวว่า เชื่อมโยงกับกลุ่มเฮซโบลเลาะห์ องค์กรมุสลิมชีอะฮ์ในเลบานอน ซึ่งอิหร่านและซีเรียให้การสนับสนุน และองค์กรดังกล่าวถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำกล่าวหาว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก PressTV Iran, Al Arabiya News

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มาเลเซียส่งตัวบล็อกเกอร์ทวีตหมิ่นศาสดาให้ซาอุฯ แล้ว

Posted: 15 Feb 2012 01:30 AM PST

ทางการมาเลเซียเนรเทศบล็อกเกอร์ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทวีตข้อความดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัดออกนอกประเทศแล้ว

สำนักข่าวบีบีซีรายงานหลังได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ฮัมซา คัชการี (Hamza Kashgari) บล็อกเกอร์ชาวซาอุดิอาระเบียวัย 23 ปีถูกส่งตัวกลับประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการทักท้วงจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน

คัชการี ทวีตแสดงความสงสัยในศาสดามูฮัมหมัดในวันประสูติของพระองค์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการโต้ตอบกว่า 30,000 ทวีต ผู้สอนศาสนาในซาอุดิอาระเบียประณามการวิพากษ์ของเขาว่าเป็นการดูหมิ่นศาสนา และแม้ว่าเขาจะกล่าวขอโทษและลบทวีตดังกล่าวแล้ว แต่เขายังคงถูกขู่เอาชีวิต ทำให้เขาหนีไปยังมาเลเซีย และถูกจับกุมเมื่อมาถึงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันพฤหัสบดี (9 ก.พ.)

ทั้งนี้ การดูหมิ่นศาสดาถือเป็นการดูหมิ่นศาสนาอิสลาม และในซาอุดิอาระเบียมีโทษถึงประหารชีวิต

และแม้ว่า 2 ประเทศนี้จะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการ แต่มาเลเซียก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับซาอุดิอาระเบียในฐานะประเทศมุสลิมด้วยกัน ผู้สื่อข่าวบีบีซีระบุ

ทนายความของคัชการีได้รับคำสั่งศาลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อนุญาตให้คัชการีพักที่มาเลเซียได้จนกว่าจะมีการพิจารณาคดีของเขา แต่ก็สายเกินไปเสียแล้ว

"ธรรมชาติของข้อกล่าวหาต่อปัจเจกบุคคลในคดีนี้เป็นเรื่องของทางการซาอุดิอาระเบีย" รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซียระบุในแถลงการณ์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เตือนว่า คัชการีจะถูกประหารชีวิตในซาอุดิอาระเบียหากเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาละทิ้งศาสนา

"หากทางการมาเลเซียส่งตัวฮัมซา คัชการีให้ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซียอาจลงเอยด้วยการกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดให้เกิดการละเมิดต่อคัชการี" Hassiba Hadj Sahraoui รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แผนกตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกล่าว

 

 

ที่มา: Malaysia deports Saudi journalist Hamza Kashgari, BBC

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสม. เปิดกฎหมายไล่เจตนารมณ์ เปิดรับ "เงินบริจาค" เข้าเรียน

Posted: 15 Feb 2012 01:06 AM PST

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้แถลงแนวนโยบายเกี่ยวกับการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา  โดยจะเปิดห้องรับเด็กฝากโดยเฉพาะ และได้เปลี่ยนชื่อ จาก “เงินแป๊ะเจี๊ยะ” เป็น “เงินบริจาค” แล้ว และต่อไปสถานศึกษาแห่งไหนมีงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการจัดให้ไม่พอก็ให้รับเงินบริจาค โดยเปิดห้องเรียนสำหรับการนี้เพิ่มเติม นั้น

15 ก.พ.55 นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และความเสมอภาคของบุคคล ได้ให้ความเห็นต่อนโยบายดังกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าการใช้คำว่า “เงินบริจาค” แทนคำว่า “เงินแป๊ะเจี๊ยะ” นั้น ในทางปฏิบัติการได้เข้าเรียนสัมพันธ์กับเงินที่บริจาคหรือไม่ ถ้าใช่ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักการสิทธิมนุษยชน เพราะนโยบายดังกล่าวเท่ากับเป็นการตัดโอกาสเด็กที่มีความสามารถ แต่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่เอื้อในการเข้าเรียน  เพราะต้องถูกกันที่นั่งเรียนไว้สำหรับเด็กที่มีเงินบริจาค ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมโดยเหตุความแตกต่างทางเศรษฐกิจ จึงขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 วรรคสาม

การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 10 วรรคแรก และมาตรา 13 (1) แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้บัญญัติรับรองว่าบุคคลมีสิทธิเสมอกันในการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐมีหน้าที่จัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และนั่นย่อมหมายความว่า รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณในการจัดการศึกษาดังกล่าวอย่างเพียงพอ มิใช่ให้โรงเรียนไปเรียกเก็บจากผู้ปกครองอีก เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ โดยในมาตรา 49 วรรคสอง ยังได้เน้นย้ำว่า แม้เป็นผู้ยากไร้หรืออยู่ในสภาวะยากลำบาก รัฐก็มีหน้าที่ต้องจัดให้ได้รับสิทธิในการศึกษาโดยเท่าเทียมกับบุคคลอื่นๆ ด้วยเช่นกัน และเท่าที่ทราบนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ก็เป็นการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายของรัฐ โดยครอบคลุมค่าใช้จ่าย 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งหากรัฐจัดงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวครบถ้วนจริง ก็ไม่น่าจะมีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ถึงขนาดที่จะต้องเปิดห้องเรียนขอค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครอง เพื่อแลกกับการที่เด็กได้เข้าเรียนอีก

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 20 (1) ที่บัญญัติรับรองสิทธิของเด็กในอันที่จะได้รับการศึกษาโดยให้เปล่า อย่างน้อยในระดับประถมศึกษาและการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 3 (1) และข้อ 28 (ก) ที่บัญญัติให้รัฐภาคีต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก และได้รับการศึกษาบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเช่นนี้  ยังไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 (1) และ (3) ในการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้หลักความเสมอภาค

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฝ่ายความมั่นคงเชียงใหม่ยืนยัน ไม่มีนโยบายส่งจดหมายคุกคามวิทยุชุมชน

Posted: 15 Feb 2012 01:04 AM PST

ฝ่ายความมั่นคงเชียงใหม่ยืนยัน ไม่มี "ศูนย์ติดตามสถานการณ์ความมั่นคงภายในพื้นที่ภาคเหนือ" รวมทั้งชื่อ-นามสกุลของ "นายอารยะ วิริยะรุ่งเรือง" ที่ออกจดหมายคุกคามวิทยุชุมชน ชี้ทางจังหวัดไม่มีนโยบายแนวคิดหรือวิธีการ ส่งเอกสารหรือจดหมายข่มขู่ คุกคาม ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลแต่อย่างใด

 

จดหมายชี้แจงจากที่ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ (ฝ่ายความมั่งคง) ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เลขจดหมาย ที่ ชม.0017.3/6437 ลงชื่อรับรองโดยนายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ 

15 ก.พ. 55 - สืบเนื่องจากกรณีที่ตัวแทนกลุ่มวิทยุชุมชนสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ ยื่นหนังสือตรวจสอบหน่วยงาน "ศูนย์ติดตามสถานการณ์ความมั่นคงภายในภาคเหนือ" และ "นายอารยะ วิริยะรุ่งเรือง" ว่ามีตัวตนจริงหรือใหม่ หลังจากที่ทางกลุ่มถูกจดหมายคุกคามลงชื่อหน่วยงานและบุคคลดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียด: วิทยุชุมชนเชียงใหม่ยื่นตรวจสอบหน่วยงานความมั่นคง)

ในวันนี้ (15 ก.พ.) ทางกลุ่มวิทยุชุมชนสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ ได้รับจดหมายชี้แจงจากที่ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ (ฝ่ายความมั่งคง) ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เลขจดหมาย ที่ ชม.0017.3/6437 ลงชื่อรับรองโดยนายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรายละเอียดว่า ไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานของทางราชการที่ใช้ชื่อว่า "ศูนย์ติดตามสถานการณ์ความมั่นคงภายในพื้นที่ภาคเหนือ" รวมทั้งชื่อ-นามสกุลของ "นายอารยะ วิริยะรุ่งเรือง" ก็ไม่พบว่ามีอยู่ในฐานข้อมูลรายการบุคคลของการทะเบียนราษฎร และบัตรประจำตัวประชาชนแต่อย่างใด

 

จดหมายที่ได้รับการยืนยันจากจังหวัดเชียงใหม่แล้วว่าเป็นของปลอม

และได้ตั้งข้อสังเกตว่าลักษณะของเอกสารคุกคามที่ลงชื่อหน่วยงานและบุคคลดังกล่าวที่ทางกลุ่มฯ ได้แนบไปให้ฝ่ายปกครองเชียงใหม่ตรวจสอบนั้น เป็นการอุปโลกน์ขึ้นมา มีลักษณะไม่ถูกต้องตามระเบียบรูปแบบของหนังสือราชการที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้

ทั้งนี้ในจดหมายระบุว่านโยบายของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีนโยบายแนวคิดหรือวิธีการ ที่จะส่งเอกสารหรือจดหมายในลักษณะดังกล่าว เพื่อข่มขู่ คุกคาม ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลแต่อย่างใด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดท่าทีไทยนำชายแดนใต้ผงาด ‘ยิ่งลักษณ์’เจรจา‘นายกมาเลย์’

Posted: 15 Feb 2012 12:51 AM PST

เปิด 11 ข้อหารือ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ กับ‘นาจิบ ราซัค’ มุ่งแก้ปัญหาชายแดนใต้ ยาเสพติด คน 2 สัญชาติ แรงงานร้านต้มยำ สร้างสะพานตากใบ ตั้งเขตอุตสาหกรรมยางพาราฝั่งมาเลย์ อุตสาหกรรมปาล์มฝั่งไทย

ใบกระท่อม - ขึ้นชั้นระหว่างประเทศ – พืชกระท่อมจะเป็นประเด็นหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีจะหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เนื่องจากเป็นยาเสพติดที่กำลังระบาดหนักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในมาเลเซียเป็นพืชที่ไม่ผิดกฎหมาย จึงมีพ่อค้าเข้าไปเก็บมาขายในประเทศไทยจำนวนมาก

 

 

การหารือข้อราชการระหว่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กับนายราจิบ นาซัค นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 อาจมีนัยยะสำคัญต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงอนาคตในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้โดยรวม

ต่อไปนี้เป็น 11 กรอบประเด็นในหารือข้อราชการดังกล่าว ที่ได้จากประชุมหารือแนวทางแก้ปัญหาชายแดนไทย – มาเลเซีย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องสุริยาศศิน โรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเจ้าภาพ

.......

ประเด็นหารือสำหรับการหารือข้อราชการระหว่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายรัฐมนตรีไทย กับนายราจิบ นาซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 มีประเด็นที่ฝ่ายไทยควรยกขึ้นหารือ รวม 11 ประเด็น ประกอบด้วย

1.ความร่วมมือด้านความมั่นคง
สภาพปัญหา
การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากมาเลเซีย ในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกัน จากปัญหาบุคคล 2 สัญชาติ การลักลอบขนสินค้าหนีภาษี การขนน้ำมันเถื่อน ปัญหายาเสพติดที่ระบาดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ กระท่อมเป็นพืชที่ไม่ถือว่าผิดกฎหมายในมาเลเซีย เป็นต้น

ตารางแสดงการเพิ่มขึ้นของคดียาเสพติดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้  

จังหวัด

จำนวนคดียาเสพติด

ปี 2549

ปี 2553

ยะลา

739

1,553

ปัตตานี

699

1,595

นราธิวาส

1,152

1,595

สงขลา

1,909

2,515

ขอบคุณที่รัฐบาลมาเลเซียให้ความร่วมกับไทยในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาด้วยดีโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขอให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติของมาเลเซียในการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับและติดตาม ความร่วมมือด้านการข่าว เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการสกัดปัญหา แยกกลุ่มผู้กระทำความผิด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างมาก

ท่าทีไทย
ฝ่ายไทยมองว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องได้รับการแก้ไขในการนำสันติสุขกลับสู่พื้นที่โดยเร็ว และถือเป็นปัญหาความมั่นคงร่วมกันระหว่างไทย-มาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลามไปสู่มาเลเซียด้วย

2.ความร่วมมือด้านการบรรเทาภัยพิบัติ
ท่าทีไทย
ขอบคุณรัฐบาลและประชาชนชาวมาเลเซียที่ได้ร่วมบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยผ่านการประสานงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)

3.การก่อสร้างสะพานตากใบ และสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่ 2
ข้อเท็จจริง
สะพานตากใบ ระยะทาง 10.6 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 5,664 ล้านบาท มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้สูงกว่าสะพานข้ามแม่น้ำโก – ลกแห่งที่ 2 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2559

ฝ่ายมาเลเซีย ประสงค์จะให้สร้างสะพานตากใบ ซึ่งจะมีผลทางเศรษฐกิจสูงกว่าและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฝั่งตะวันออก (ECER) ของมาเลเซีย ซึ่งมีสภาพเศรษฐกิจล้าหลังกว่าภาคเหนือของมาเลเซีย

สะพานข้ามแม่น้ำโก – ลกแห่งที่ 2 ผ่านการศึกษา FS แล้ว ระยะทาง 310 เมตร ค่าใช้จ่าย 300 ล้านบาท โดยแต่ละฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง

สำนักงานจังหวัดนราธิวาส สนับสนุนให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่ 2 เพื่อลดความแออัดของสะพานข้ามแม่น้ำโก – ลกแห่งแรก

ท่าทีไทย
เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนระหว่างจังหวัดนราธิวาสและรัฐกลันตันของมาเลเซีย จึงควรสนับสนุนการก่อสร้างสะพานทั้ง 2 แห่ง โดยอาจให้มีการดำเนินการไปในลักษณะคู่ขนาน

4.การแก้ปัญหาแรงงานไทยที่ทำงานร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซีย
สภาพปัญหา
มีชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินทางไปทำงานที่ร้านต้มยำในมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย 195,000 คน ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและส่งตัวกลับ

สาเหตุที่แรงงานไทยไม่ขอใบอนุญาตทำงานเนื่องจากต้องเสียค่าธรรมเนียม (Levy) คนละ 18,000 บาท ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เคยเจรจาอย่างไม่เป็นทางการเพื่อขอให้ฝ่ายมาเลเซียลดค่าธรรมเนียม (Levy)

ขอให้รัฐบาลมาเลเซียเปิดโอกาสให้แรงงานไทยใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าไปทำงานในตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟ เฉพาะในร้านอาหารไทยและร้านต้มยำได้ โดยขอให้ลดอัตราค่าธรรมเนียม (Levy) ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งฝ่ายไทยจะมีการเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทย ก่อนส่งออกไปทำงานอย่างเป็นระบบ โดยจะมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

ท่าทีไทย
ยินดีที่จะจัดส่งแรงงานฝีมือ (Skilled Labour) เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ Economic Transformation Program (ETP) ของมาเลเซีย ซึ่งต้องการแรงงาน 3.3 ล้านคน โดยแรงงานฝีมือไทยเป็นที่ยอมรับว่า เป็นแรงงานที่มีคุณภาพในตลาดแรงงานระหว่างประเทศ

5.การแก้ปัญหารถตู้ไทยขนส่งผู้โดยสารไปมาเลเซีย
สภาพปัญหา
เป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการรถตู้ไทย โดยฝ่ายมาเลเซียมองว่า รถตู้ไทยมีการขนส่งแรงงานเถื่อนไปทำงานที่ร้านต้มยำ จึงได้จับกุมและปรับ ตั้งแต่ต้นปี 2553 และได้ออกกฏระเบียบที่รถตู้ไทยไม่สามารถปฏิบัติได้ ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว 2 ประเทศ

ข้อเท็จจริง
ล่าสุด Economic Planning Unit (EPU) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของกรอบความร่วมมือ JDS (คณะกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย : Thai – Malaysia Committee on Joint Development Strategies for Border Area – JDS) ฝ่ายมาเลเซียขอให้สำนักนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ฝ่ายเลขานุการของ JDS ฝ่ายไทยจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องในวันที่ 16 มกราคม 2555 เพื่อรวบรวมข้อเสนอของฝ่ายไทยที่สามารถปฏิบัติได้ ส่งให้มาเลเซียพิจารณา ซึ่งถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีของการเจรจาในการแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตามการเจรจาดังกล่าว ยังเป็นเพียงยกแรกเท่านั้น

ท่าทีไทย
ขอให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหารถตู้ไทยของ EPU ด้วย

6 การขอต่ออายุและขยายระดับของทุนการศึกษารัฐบาลมาเลเซีย
ข้อเท็จจริง
รัฐบาลมาเลเซียได้ให้ทุกแก่นักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษา หลักสูตร 5 ปี ปีละ 60 คน เป็นเวลา 6 ปี ตามความตกลงร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย – มาเลเซีย ซึ่งได้ดำเนินมาแล้ว 3 ปี ปัจจุบันมีนักเรียนทุน 134 คน

มาเลเซียเสนอจะให้การสนับสนุนไทยในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ใน 3 ด้าน เรียกว่า “3E” ได้แก่ Education (การศึกษา) Employment (การจ้างงาน) และ Entrepreneurship (ทักษะการประกอบอาชีพ)

ร่วมการแสดงความยินดีในโอกาสการที่ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้เดินทางมารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา (มอย.) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554

ท่าทีไทย
ขอบคุณรัฐบาลมาเลเซียที่ให้ทุนการศึกษา แก่เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปศึกษาในระดับมัธยมปลาย ซึ่งกระทรวงศึกษามาเลเซียให้การดูแลอย่างดี จึงขอขยายจำนวนและปีของทุนการศึกษาดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงระดับอุดมศึกษาในสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นการสงเสริมการศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558

7 การเปิดการค้าเสรีต้นกล้ายาง/เมล็ดพันธ์ปาล์มน้ำมัน และตั้ง Oil Palm Belt
ข้อเท็จจริง
ในการประชุม JDS มาเลเซียได้เสนอขอตั้ง “เขตอุตสาหกรรมยางพารา” Rubber Belt ตามแนวชายแดน เพื่อนำวัตถุดิบไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป ขอให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ไทยเป็นประเทศส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนมาเลเซียเป็นประเทศส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก จึงควรหาทางร่วมมือ โดยอาจเริ่มจากให้มีการค้าเสรีต้นกล้ายางและเมล็ดพันธ์ปาล์มน้ำมัน

ท่าทีไทย
เสนอให้มีการเปิดการค้าเสรีต้นกล้ายาง/เมล็ดพันธ์ปาล์มน้ำมัน เพื่อพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำมันปาล์ม การผลิตน้ำมันพืช รวมทั้งไบโอดีเซล เป็นต้น

เสนอให้ตั้ง Oil Palm Belt ในฝั่งไทย เพื่อรับซื้อปาล์มน้ำมันดิบมาแปรรูป โดยฝ่ายไทยอาจชักชวนให้บริษัทแปรรูปปาล์มน้ำมันจากภาคใต้ตอนบน อาทิจากจังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาลงทุน ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อเสนอที่จะแลกเปลี่ยนกับ Rubber Belt ของมาเลเซีย

8 การขยายด่านสะเดา – ด่านบูกิตกายูฮิตัม
สภาพปัญหา
สถิติการค้าผ่านด่านสะเดาปี 2554 มีมูลค่า 3 แสนล้านบาท มีรถยนต์ผ่านแดนปีละ 8 แสนคัน และการเข้า – ออกของนักท่องเที่ยวปีละ 4.4 ล้านคน กรมศุลกากรจะต้องลงทุนก่อสร้างด่านสะเดาแห่งใหม่ เพื่อรับรองประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งด่านสะเดามีมูลค่าส่งออก – น้ำเข้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับด่านอื่นๆ ทั่วประเทศ

ข้อเท็จจริง
ที่ประชุม JDS เห็นชอบโครงการขยายด่านสะเดา – ด่านบูกิตกายูฮิตัม

กรมศุลกากรมีโครงการก่อสร้างด่านสะเดาแห่งใหม่บนเนื้อที่ 720 ไร่ ในตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ใช้งบ 123 ล้านบาท อยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบ

ที่ประชุม IMT – GT (แผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย : Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT – GT) สนับสนุนโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ สายสะเดา – หาดใหญ่ ระยะทาง 65 กิโลเมตร งบประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท) โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) จะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ท่าทีไทย
ขอให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย สนับสนุนโครงการพัฒนาด่านบูกิตกายูฮิตัมในฝั่งมาเลเซีย ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยอำนวยสะดวกการขนส่งสินค้าแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศด้วย เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง (Connectivity) ในการรองรับประชาคมอาเซียนในปี 2558 ด้วย

9 การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
ข้อเท็จจริง
ไทยมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการยอมรับในด้าน องค์ความรู้ในการตรวจสอบมาตรฐานอาหารและสินค้าฮาลาลในระดับโลก ขณะที่ประเทศมาเลเซียมีตลาดโลกมุสลิม สำหรับส่งออกสินค้าฮาลาล

นอกจากนี้ ไทยมีความได้เปรียบในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จะเห็นได้ว่า ไทยส่งออกปลาประป๋องทูน่าเป็นอันดับ 1 ของโลก

ขณะนี้ มีบริษัท ลังกาสุกะ กรุ๊ป ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลจากมาเลเซีย สนใจที่จะมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารฮาลาลในจังหวัดปัตตานี (ไทยต้องการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาล )

ทั้งนี้ บริษัทสหฟาร์ม เป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัทของมาเลเซียในทำโครงการสร้างฟาร์ม/โรงชำแหละไก่เพื่อส่งออกไปยังมาเลเซียด้วย

ท่าทีไทย
ไทยมีความพร้อมในอุตสาหกรรมฮาลาล ทั้งด้านวัตถุดิบทางการเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการฮาลาลจากมาเลเซีย มาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จังหวัดปัตตานี

ไทยและมาเลเซียสามารถร่วมมือในการร่วมมือลงทุนผลิตและขยายการส่งออกสินค้าฮาลาล ไปยังตลาดมุสลิม ซึ่งมีขนาดประชากรถึง 1.8 พันล้านคน หรือมีผู้นับถือศาสนาอิสลาม 1 ใน 3 ของประชากรโลก

10.ความร่วมมือด้านเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming)
ข้อเท็จจริง
ในมาเลเซีย มีองค์กร Bernas เป็นองค์กรเดียวที่สามารถนำเข้าข้าวทางน้ำทางเดียวและจำหน่ายข้าวในมาเลเซีย และเห็นว่า ปัจจุบันตลาดข้าวอินทรีย์ (Organic Rice) มีความต้องการมากขึ้น รวมทั้งในอนาคต จึงประสงค์จะร่วมมือกับไทยในการใช้องค์ความรู้ (Know How) และเทคโนโลยีจากไทย

รัฐกลันตันเปิดโอกาสให้ผู้สนใจมาลงทุนในพื้นที่ ซึ่งรัฐจะหาที่ตั้งโรงงานในพื้นที่ 3 – 4 พันเอเคอร์ (ประมาณ 1 หมื่นไร่) ให้ เพื่อเพาะปลูกและผลิตข้าวอินทรีย์ร่วมกันสำหรับจำหน่ายในมาเลเซีย หากมีปริมาณมากพอจะร่วมกันส่งออกไปตลาดจีน ซึ่งรัฐกลันตันได้รับใบรับรองคุณภาพข้าวอินทรีย์อยู่แล้ว

ท่าทีไทย
ไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะการปลูกและผลิตข้าวอินทรีย์ในรูปแบบการร่วมทุนของเอกชน

11.ร่วมมือกับมาเลเซียในการส่งออกทุเรียนไปตลาดจีน
ข้อเท็จจริง
มาเลเซียได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการส่งทุเรียนไปยังตลาดจีน ระหว่างการเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีประเทศจีน เมื่อเดือนเมษายน 2554 ซึ่งจีนมีความต้องการนำเข้าทุเรียนในปริมาณที่สูงมาก

ท่าทีไทย
ยินดีที่จะร่วมมือกับมาเลเซียในการจัดส่งทุเรียนไปตลาดจีน ซึ่งไทยมีความได้เปรียบกว่ามาเลเซีย ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศส่งออกทุเรียนมากที่สุด โดยครองตลาดส่งออก 1.5 แสนตัน/ปี ทุเรียนไทยสามารถเก็บได้ก่อนและสามารถส่งออกเป็นทุเรียนสดได้ ขณะที่มาเลเซียส่งออกทุเรียนแปรรูปเท่านั้น

ทั้งนี้จังหวัดยะลามีศักยภาพด้านผลไม้ มีผลผลิตทุเรียน 4.8 หมื่นตัน/ปี ซึ่งสะดวกในการขนส่งไปยังท่าเรือปีนัง ของมาเลเซีย

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชง 11 เรื่องเจรจา ‘นายกฯมาเลย์’ ‘ใบกระท่อม’ ขึ้นชั้นปัญหาระหว่างประเทศ  http://prachatai.com/journal/2012/02/39224

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"อัมมาร" ชี้ต้องจำกัดการใช้ ม.112

Posted: 14 Feb 2012 11:34 PM PST

นักเศรษฐศาสตร์ทีดีอาร์ไอชี้มีการใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือต้องถูกศาลดำเนินการบ้าง เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เผยเจ็บถึงหัวใจ มธ. เคยมีเสรีภาพทุกกระเบียดนิ้ว ตอนนี้กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ เชื่อจัดกิจกรรมใน มธ. ไม่มีเหตุรุนแรงเพราะกองทัพไม่ได้ลงมาทำเองเหมือนสมัย "ป๋วย" เป็นอธิการ

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ดร.อัมมาร สยามวาลา  นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ในกรุงเทพธุรกิจทีวีต่อการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตร 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า ต้องให้มีการจำกัดจำเขี่ยบ้าง การใช้เครื่องมือโดยไม่มีเหตุผลอาจจะถูกเล่นงานโดยศาลด้วย เพราะใช้พระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง

"เดี๋ยวนี้มันค่อนข้างโจ่งแจ้งว่าทุกคนใช้เป็นเครื่องมือ และพระมหากษัตริย์ไม่ควรเป็นเครื่องมือของใครทั้งสิ้น และการใช้เป็นเครื่องมือเท่ากับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย"

ผู้สื่อข่าวถามว่าโทษแรงไหม นายอัมมาร์กล่าวว่า โทษมันแรง และคนก็กลัวกันหมด คุณเห็นไหมเวลานี้ แม้กระทั่งธรรมศาสตร์ ซึ่งผมก็เกี่ยวข้องกับธรรมศาสตร์ในอดีต เจ็บไปถึงหัวใจ จากมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพทุกกระเบียดนิ้ว กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ เป็นมติเอกฉันท์ด้วย คณบดีทั้งหลาย รวมทั้งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ที่รักของผมด้วย

เมื่อถามว่า มีผู้กลัวว่าหากมีการจัดกิจกรรม จะมีการปะทะ นองเลือดในธรรมศาสตร์ ดร.อัมมาร กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังห่างไกลที่จะเกิดความรุนแรง เพราะยังมีกองทัพที่รักของเรายังรักษาสถานการณ์เรื่องนี้ได้ และกองทัพไม่ได้ลงมาทำเองเหมือนสมัยนั้น สมัยที่ อ.ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) อยู่

กรุงเทพธุรกิจ รายงานความเห็นเพิ่มเติมของ ดร.อัมมารด้วยว่า ส่วนเรื่องการจะแก้ไขหรือไม่นั้นควรเป็นเรื่องที่นักกฎหมายต้องไปหาทางร่วมกันศึกษาถึงข้อดีและจุดอ่อนของกฎหมาย เพราะขณะนี้กฎหมายดังกล่าวกำลังเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สร้างปัญหาให้กับสังคม ซึ่งกลายเป็นว่าบางครั้งการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าบางเรื่องก็สมควรแก้ไข แต่กรณีประเด็นการเสนอให้พระมหากษัตริย์ต้องสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนั้นตนไม่เห็นด้วย เพราะไม่ใช่ตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องประเด็นกรณีการป้องกันการก่อรัฐประหารนั้นหากเป็นไปได้อยากให้ทหารสาบานตนตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยว่าจะมีการเคารพรัฐธรรมนูญ จะไม่ปฏิวัติและฉีกรัฐธรรมนูญ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เพ็ญ ภัคตะ: อหิงสาปณิธาน

Posted: 14 Feb 2012 09:18 PM PST


(13 ก.พ.55) ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข อดอาหารประท้วง 112 ชม. เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวบิดา
(สมยศ พฤกษาเกษมสุข) ผู้ต้องหาคดีอาญา ม.112 ซึ่งถูกควบคุมตัวกว่า 10 เดือน
แฟ้มภาพ: ประชาไท

 

 

เพื่อพ่อข้า เพื่อนข้า สหายข้า
มวลมหานักโทษกบฏสมัย
ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ตกเป็นจำเลยไร้อิสรีย์

เขาและเธอคือผู้พิสุทธิ์ใส
ถูกข้อหาจัญไรใช้กดขี่
"สมยศ" เหยื่ออัปยศยุคอัปรีย์
ข้าจึ่งพลีชีวางค์ร่วมสังเวย

เป็นชีวิตนิดน้อยของคนหนุ่ม
ปณิธานร้อนรุ่มเกินร่ำเอ่ย
เกิดมาชาติหนึ่งหนอขอเยาะเย้ย
อธรรมเหวย! เวี่ยไว้ให้สังวรณ์

สังคมใดไร้สิทธิ์เสรีภาพ
มีกฎหมายไว้ปราบกำราบสอน
หล่อเลี้ยงความภักดีนิรันดร
คือสังคมล่อนจ้อนอ่อนปัญญา

สังคมใดให้ท้ายกฎหมายทาส
ชูธงเชิดรักชาติไร้เดียงสา
กฎหมายนั้นเบือนบิดผิดจรรยา
เขียนด้วยมือศักดินาผู้สามานย์

สังคมใดใส่ขื่อขังนักคิด
สังคมนั้นวิปริตวิตถาร
ปัญญาชนป่นยับอัประมาณ
เหมือนประเทศอันธพาลมารครองเมือง

เมื่อบ้านนี้เมืองนี้ไม่มีขื่อ
คนที่น่านับถือซ่อนปมเขื่อง
สั่งสมความคับแค้นแน่นขุ่นเคือง
ก็เปล่าเปลืองพูดจาประสาคน

ข้าจึงนิ่งอหิงสา ท้าทวงถาม
ใดเล่าความยุติธรรมส่องนำหน
เยี่ยมหน้าลานศาลอาญา อา!จงยล
คืนคุณค่าความเป็นคนจากขื่อคา!

 

 

 

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขพาดหัวที่สะกดผิดเมื่อ 16.35น. 15 ก.พ.55

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น