โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คนคอน ‘ขอพรพระธาตุ-ละหมาดฮายัต’ พ้น ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน-ท่าเรือเชฟรอน’

Posted: 25 Feb 2012 08:47 AM PST

ชาวบ้านและนักศึกษานครศรีธรรมราช เคลื่อนขบวนรณรงค์คัดค้านโครงการท่าเรือเชฟรอน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะสร้างในจังหวัดนครศรีธรรมราช

 

 

25 ก.พ. 55 - เมื่อเวลา 11.00-13.00 น. ชาวบ้านและนักศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 40 คน เคลื่อนขบวนในตัวจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อรณรงค์คัดค้านโครงการท่าเรือเชฟรอน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะสร้างในจังหวัดนครศรีธรรมราช

จากนั้นในเวลา 14.00 น. ไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อทำพิธีขอพรจากพระมหาธาตุฯ โดยอธิษฐานให้จังหวัดนครศรีธรรมราชรอดพ้นจากโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ

ขณะเดียวกันเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน ที่ชายหาดบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการละหมาดฮายัตขอพรต่อพระองค์อัลเลาะห์เจ้า ดลให้จังหวัดนครศรีธรรมราชรอดพ้นจากโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ทั้งยังเป็นการจัดงานเมาลิดเฉลิมฉลองการประสูติของศาสดามุฮัมหมัดโดยมีชาวบ้านในอำเภอท่าศาลา อำเภอหัวไทร และอำเภออื่นๆ ของจังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมงานประมาณ 400 คน

จากนั้นในเวลา 15.30 น. มีการเคลื่อนขบวนอกสู่ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 โดยมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์รวมพลังด้วยการขึงผ้า ชูป้ายต่อต้านเชฟรอน คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน  ร่วมกันจับมือปกป้องอ่าวท่าศาลา-สิชล เป็นความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร และแจกแถลงการณ์ให้กับรถยนต์ รถจักยานยนต์ที่ขับผ่าน

แถลงการณ์ของเครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารนครศรีธรรมราช เครือข่ายท่าศาลารักษ์บ้านเกิด และเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา-สิชล มีใจสำคัญว่า ขณะนี้เรือกสวนไร่นาและทะเลท่าศาลา-สิชล กำลังถูกคุกคาม ถูกทำลายด้วยโครงการพัฒนาของรัฐภายใต้การกำกับของกลุ่มทุนผลักดันรุกคืบให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงการที่เข้ามาทำลายระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยนโยบายการพัฒนาที่ผิดพลาดที่สนองตอบและเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนทั้งในและบรรษัทข้ามชาติ

“จึงขอเรียกร้องวิงวอนต่อรัฐให้หยุดทำลายแหล่งอาหารของประเทศ โดยหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมน้ำลึก และโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบนำไปสู่การขยายเป็นนิคมอุตสาหกรรมในที่สุด ขณะเดียวกันขอเชิญชวนพี่น้องร่วมชาติร่วมถิ่นแผ่นดินเกิด ได้ร่วมแสดงพลังปกป้องทะเลท่าศาลา-สิชล และนครศรีธรรมราชไว้เป็นที่ผลิตอาหาร สำหรับเลี้ยงคนไทยในภาวะวิกฤติอาหาร และเพื่อความสันติสุขของคนไทยไปชั่วลูกชั่วหลาน” แถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ระบุ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมตตาบาทาสู่วันที่ 5 ‘พันศักดิ์’ คาดจันทร์เช้าเดินเท้าถึงฝางรับหมายเรียก

Posted: 25 Feb 2012 08:23 AM PST

วันที่ 5 ของ “พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ” เดินเท้า "เมตตาบาทา ธัมมาชโย" เข้าเขต อ.ฝาง จ.เชียงใหม่แล้ว ตำรวจเรียกรับหมายเรียกจันทร์เช้า (27 ก.พ.) คาดเป็นไปตามกำหนดการ นักกิจกรรมเชียงใหม่-ส.ศิวรักษ์ ร่วมให้กำลังใจ

 

 

“พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ”  เดินเท้า "เมตตาบาทา ธัมมาชโย" ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา (ภาพโดย: Ardisto เดอะภารโรง)

25 ก.พ. 55 – เวลาประมาณ 13.30 น. ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ “พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ” พ่อของ “น้องเฌอ” หรือนายสมาพันธ์ ศรีเทพ ที่ถูกยิงเสียชีวิตที่ซอยรางน้ำในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะที่นายพันธ์ศักดิ์กำลังเดินเท้า "เมตตาบาทา ธัมมาชโย" เป็นวันที่ 5

ทั้งนี้การเดินเท้า “เมตตาบาทา ธัมมาชโย” สืบเนื่องมาจากการที่นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ถูกพระกิตติศักด์ กิตติโสภโณ แจ้งความกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพหรือตัวอักษร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ไว้ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ในกรณีที่มีการโต้ตอบกันในเฟซบุ๊ค (อ่านเพิ่มเติมใน: หลวงพี่กิตติศักดิ์ขอรับ กราบนิมนต์อ่านบทภาวนาว่าด้วยการใช้อินเตอร์เน็ตที่ท่านเคยเทศนาไว้ซักนิดนึง)

พันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า เริ่มเดินมาตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. ขณะนี้เดินได้กว่า 130 กม. แล้ว เหลืออีกประมาณ 18 กม. ก็น่าจะถึงตัวเมืองฝาง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามีบางช่วงที่ไม่ได้เดินเท้าตลอดเส้นทางเพราะเป็นจุดที่ไม่มีไหล่ทางให้เดินและอาจเกิดอุบัติเหตุ

เขาระบุว่า ตามกำหนดการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอฝางได้นัดให้มารับหมายเรียกในเช้าวันจันทร์ (27 ก.พ.) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเดินเท้าไปถึงได้ตามกำหนดการณ์

พันธ์ศักดิ์ระบุว่า ระหว่างการเดินเท้าได้รับกำลังใจจากเพื่อนนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง หลายคน รวมถึงน้องๆ นักศึกษาด้วย บางคนก็แวะมาร่วมเดินด้วยในบางช่วง

เมื่อถามเรื่องอุปสรรคในการเดิน พันธ์ศักดิ์ระบุว่า มีการเปลี่ยนแนวทางการเดินเล็กน้อย เนื่องจากการทำสมาธิระหว่างเดินทำได้ยาก

“มันเปลี่ยนสภาพไปเรื่อยๆ ตอนแรกเราเดินแบบเมตตาบาทาออกแนวพุทธ พุทธธัง เมตตา ธัมมังเมตตา แต่มันไปสร้างความวุ่นวายกับการเดินมาก เพราะจิตมันนิ่งเกินไป ตอนที่ก้าวเท้ามันสับสน ก็เลยเปลี่ยนเป็นการเดินเก็บรายละเอียดข้างทาง ดูนั่นดูนี่ พูดคุยกับเพื่อนที่มาเดิน”

“วันที่สอง มันปวด มันเมื่อย อาจารย์สุลักษณ์ (ศิวรักษ์) อาจารย์สุรสีห์ โกศลนาวิน กับแฟนแกอธิบายว่าวันที่สามถึงจะอยู่ตัว อย่าไปฝืนเดินเยอะ เพราะคนเราเดินวันหนึ่งไม่เกินยี่สิบกิโลเมตร ก็เลยปรับว่า เริ่มออกแต่เช้าตื่นประมาณหกโมง ... พอบ่ายก็เข้าร่ม ทานอาหารแล้วค่อยเดินต่อสักบ่ายสาม ช่วงบ่ายพักนานหน่อย เพราะมันร้อนมาก ทำให้เดินต่อไม่ไหว”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าได้อธิบายถึงสาเหตุความขัดแย้งกับพระกิตตศักดิ์ให้กับผู้สนใจมาถามถึงวัตถุประสงค์ของการเดินหรือไม่ พันธ์ศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องขัดแย้งหรือไม่ แต่ยอมรับว่าเป็นการกระทบกระทั่งกันแน่ และก็ได้อธิบายเหตุผลกับคนที่ถามไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจ

“ก็ไม่แน่ใจว่าขัดแย้งกันหรือเปล่า แต่กระทบกระทั่งกันแน่ มีพระป่ามาถามเหมือนกัน มีสำนักสงฆ์ในเชียงใหม่ ที่คนสร้างเป็นคนบางบัวทอง ก็เลยคุยกัน เขาก็ถามว่าไปรับหมายอะไร ผมบอกด่าพระ บอกจะเอาเลือดพระล้างตีน เราพูดที่ผลเลยนะ แต่สุดท้ายเขาก็ต้องถามเหตุอยู่ดี พอบอกเขา เขาก็อ้อ เราไม่ได้บิวด์ ไม่ได้อธิบายที่เหตุก่อน”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความคาดหวังเกี่ยวกับแรงกระเพื่อมของกิจกรรมครั้งนี้ พันธ์ศักดิ์ตอบว่ากรณีนี้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ก็อาจจะมีโยงกับเรื่องโศกนาฏกรรมที่คนเสื้อแดงได้รับในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 โดยลูกชายของพันธ์ศักดิ์ (เฌอ-สมาพันธ์ ศรีเทพ) เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้น และหลังเหตุการณ์มีการอภิปรายเรื่องนี้กันมากและตนเองก็ได้เข้าไปอธิบายกับกลุ่มคนฝ่ายตรงข้ามเสื้อแดงด้วย

“กรณีนี้เป็นเรื่องส่วนตัวที่มันไม่เกี่ยวกับใคร แต่จะบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวเพียวๆ อันที่จริงก็ยังไม่ชัดเจน เพราะมันมีเหตุที่เฌอถูกยิงตาย แล้วพระมาด่าว่าคนเสื้อแดงที่เกี่ยวพันกับลูกเรา ที่ผ่านมาลูกเราเคยถูกผลิตซ้ำในเฟซบุกกลุ่มเสพย์ศพคนเสื้อแดง เราก็ยังมีอุเบกขาที่จะเข้าไปอธิบายเขา แต่วันนี้มันเหมือนเราแดงขึ้นหรือเปล่า ผมกลัวว่าอีกหน่อยเราจะพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผลไม่ได้อีก เลยต้องเดินเพื่อดักตะกอนอะไรบางอย่างในจิตใจเรา”

“เดินแล้วรู้เลย รองเท้าดีอย่างไร มันก็มีกรวดเข้ามาในรองเท้า เจ็บเท้า รู้เลยว่านี่เรื่องเดียวกันนี่หว่า”

“กรณีที่เรายังต้องต่อสู้กันไปนานๆ เราน่าจะมาพิจารณาตัวเองก่อนดีไหม ก่อนะจะไปดูฝ่ายตรงข้าม ผมคุยกับเพื่อนผ่านทางมาจะเห็นหมู่บ้านเสื้อแดง ใจหนึ่งก็ขำๆ มันประชาธิปไตยแต่เลือกได้แค่พรรคเดียว หรือบอกว่า กฎหมายนี้ไปร่วมค้านไม่ได้เพราะแกนนำหมู่บ้านบอก อำมาตย์ตัวเก่ายังไม่ได้ฆ่าเลย สร้างตัวใหม่มาแล้ว เราอาจจะต้องพิจารณากลับมาที่ตัวเอง”

“ก็พูดไปอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โต มันเรื่องธรรมดา” พันธ์ศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

อนึ่งจุดประสงค์ในการเดินเท้า"เมตตาบาทา ธัมมาชโย" พันธ์ศักดิ์ได้อธิบายไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวก่อนเริ่มเดินเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 55 ไว้ดังนี้ ..

เมื่อฆราวาสไม่สามารถตั้งอยู่ในอุเบกขาธรรม เพราะต้องการกู้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุตรเฌอผู้ล่วงลับ

เหตุการณ์นี้จึงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และจะดับไป

"เมตตาบาทา ธัมมาชโย"

เดินเท้าแผ่เมตตาด้วยความปรารถนาให้เพื่อนร่วมทุกข์หลุดพ้นจากมิจฉาทิฐิ

วันอังคารที่ ๒๑ – วันจันทร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปยังสถานีตำรวจภูธรฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง ๑๖๖ กิโลเมตร

เพื่อรับหมายเรียกตัวผู้ต้องหาในคดีอาญากรณีนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ถูกกล่าวหาจากพระกิตติศักด์ กิตติโสภโณ (ชื่อสกุลเดิม เพชรศรี) ผู้กล่าวหา ว่าหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพหรือตัวอักษร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘

- หมายเหตุ

๑. กิจกรรมนี้เป็นการเดินเท้าแผ่เมตตาเพื่อพิจารณาอัตตาของฆราวาสและแผ่ส่วนกุศลไปยังสรรพสัตว์เพื่อนร่วมโลก มิได้มีความประสงค์จะกดดันกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด

๒. กิจกรรมนี้ยึดหลักมัจฉิมาปฏิปทาของสมณะโคดม อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความเหมาะสมไม่ให้ตึงหรือหย่อนเกินไป

๓. ท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมเดินเท้าแผ่เมตตาตลอดเส้นทางหรือบางช่วงตอนได้ โดยออกค่าใช้จ่ายเฉพาะตัว

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เบลเยียม บางมุมมองที่ผมสัมผัส

Posted: 25 Feb 2012 05:40 AM PST

ประสบการณ์ดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Doel ของนักศึกษาปริญญาโทสาธารณสุขศาสตร์ สถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน เมืองแอนเวิร์ป ประเทศเบลเยียม

(สถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งเมืองแอนเวิร์ป ที่ผมไปเรียนนั้น ได้จัดกิจกรรมพานักศึกษาไปดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Doel ที่ตั้งห่างจากตัวเมืองออกไปราว 30 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 4กุมภาพันธ์ 2554 จึงเก็บเรื่องราวมาเขียนบอกเล่าสู่กันฟัง พร้อมความคิดเห็นในแบบมุมมองหมอ)

ประเทศเบลเยียมมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรง รวมมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 7 เตา ผลิตกระแสไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนราว 55%ของทั้งหมด ที่เหลือพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเกือบ 40% และพลังงานสะอาดยังมีไม่มากนัก แต่รัฐบาลมีแผนที่จะเพิ่มพลังงานสะอาดให้มีสัดส่วนถึง 13%ในปี 2020 ปัจจุบันที่นี่มีประชากร 11 ล้านคน ใช้ไฟฟ้าปีละ 91 TWh ขณะที่ประเทศไทยมี 67 ล้านคน ใช้ไฟฟ้ารวม 103 TWh คิดต่อคนแล้วฝรั่งเขาใช้ไฟฟ้ามากกว่าเราราว 6 เท่า แต่ใช่ว่าเราควรจะตามอย่างเขา สิ่งที่เราควรจะทำคือรักษาระยะห่างให้มากขึ้นไปอีก เราทำได้หากไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย

ภาพที่เห็นนี้คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Doel ตั้งอยู่ริมแม่น้ำใกล้ทะเล ห่างจากเมืองแอนเวิร์ปราว 30 กิโลเมตร หากข้ามแม่น้ำไปก็เป็นประเทศเนเธอร์แลนด์ มีเตาปฏิกรณ์ 4 เตารวมกำลังการผลิต 2,911 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกแห่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ สร้างทีหลัง มี 3 เตาปฏิกรณ์ กำลังการผลิตราว 3,000 เมกะวัตต์

ภาพปล่องสูงสองปล่องกับไอน้ำที่เห็นในรูปนั้นเป็นเพียงปล่องระบายความร้อนของระบบหล่อเย็น โดยใช้น้ำจากแม่น้ำโดยตรงมาหล่อเย็น แต่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้นอยู่ภายในอาคารที่มีหลังคาเป็นโดมกลมสีขาว ที่มี 4 หลังแสดงว่ามีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ 4 เตา อาคารที่คลุมเตาปฏิกรณ์นี้เป็นอาคารกำแพงหนาชั้นละเป็นเมตรรวมสองชั้นไม่ติดกัน เพื่อป้องกันการรั่วไหลของรังสีหรือการก่อวินาศกรรมจากภายนอก เช่นป้องกันแรงกระแทกจากเครื่องบินชนแบบเหตุการณ์ 911ได้

หลักการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหมือนโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติคือ ใช้พลังงานจากการแตกตัวของอะตอมยูเรเนียมจากปฏิกิริยานิวเคลียร์มาต้มน้ำ เพื่อให้ไอน้ำไปดันกังหันเพื่อปั่นไดนาโมให้เกิดกระแสไฟฟ้า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นโรงไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมากๆ ดังนั้นหนึ่งในการรณรงค์สร้างภาพลักษณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือการช่วยลดโลกร้อน เป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดตราบใดที่ไม่มีการรั่วไหลของกัมมันตรังสีที่มีการป้องกันอย่างดี

เตาปฏิกรณ์เครื่องแรกของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Doel เดินเครื่องในปี 1975 และเตาที่ 4 ซึ่งเป็นเตาสุดท้ายเดินเครื่องในปี 1984 ตามระบบวิศวกรรมความปลอดภัย เขาอนุญาตให้ใช้ได้เตาละ 40 ปี นั่นหมายความว่า เตาปฏิกรณ์แรกจะหมดอายุในปี 2014 แต่ด้วยแรงกดดันด้านความต้องการพลังงานที่ทำให้หยุดการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ที่หมดอายุไม่ได้ รัฐบาลจึงได้ขยายต่ออายุเตาตัวแรกให้ใช้ได้จนถึงปี 2025 และจะหมดอายุพร้อมเตาตัวที่ 4 หลังปี 2025 สถานการณ์ยังมืดมน เพราะรัฐบาลได้ออกกฎหมายในปี 2003 ว่าจะไม่สร้างโรงงานนิวเคลียร์อีก แต่ด้วยการใช้ไฟฟ้าอย่างมหาศาล เชื่อว่าการต่ออายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ของที่นี่ ประดุจเอาประชาชนและความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นตัวประกัน เพราะการสร้างใหม่คงมีแรงต้านอย่างเข้มข้น ที่นี่เขารณรงค์ว่า “ทำไมต้องรอให้รั่วแล้วจึงค่อยปิด ปิดก่อนที่จะเกิดความผิดพลาดที่มิอาจฟื้นฟูได้มิดีกว่าหรือ”

เชื้อเพลิงนิวเคลียร์คือยูเรเนียม 235 ซึ่งนำเข้าจากประเทศอัฟริกาใต้ ในรูปของยูเรเนียมไดออกไซด์ที่มียูเรเนียม 4% ในการผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์นั้น ใช้ยูเรเนียมไดออกไซด์เพียงปีละ 27 ตันเท่านั้น กากยูเรเนียม 27ตันนี้ จะส่งไปแปรสภาพที่ฝรั่งเศสให้เป็นพลูโตเนียมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จะเหลือกากจริงๆเพียง 1 ตัน/ปีเท่านั้น ในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิตเดียวกันต้องใช้ถ่านหินถึงปีละ 3 ล้านตัน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงปีละ 7 ล้านตัน และฝุ่นอีกมหาศาล

การกำจัดกากนิวเคลียร์นั้นเบื้องต้นเขาก็จะเก็บไว้ในส่วนพักใต้น้ำข้างเตาปฏิกรณ์ราว 8 ปีเรียกว่า wet storage หลัง 8 ปีก็เอาใส่ถังโลหะหนาและปิดตาย เรียกว่า dry storage ขนไปแปรสภาพ แต่เป็นที่น่าตกใจคือ หลังจากฝรั่งเศสออกกฎหมายว่ากากนิวเคลียร์ที่หลงเหลือหลังการแปรสภาพต้องส่งกลับประเทศนั้นๆ รวมทั้งหลักการร่วมของสหภาพยุโรปหรือ EU เรื่องกากนิวเคลียร์คือ ของประเทศใครประเทศมัน ไม่มีการเอาไปฝากไว้กับประเทศเพื่อนบ้าน (เดิมอย่างน้อยฝรั่งเศสเคยรับ) ดังนั้นหากประเทศใดใจถึงทำธุรกิจอสังหารับทิ้งกากนิวเคลียร์ รับรองว่ารวยแน่นอน เพราะหลายประเทศที่นี่เขาปวดหัวเรื่องสถานที่ทิ้งกากนิวเคลียร์มากๆ จนมีคนเสนอให้ทิ้งในอวกาศ ซึ่งที่ไม่ทำเช่นนั้นไม่ใช่เพราะกลัวอวกาศจะสกปรก แต่เพราะกลัวความไม่แน่นอนในการส่งจรวจบรรทุกกากนิวเคลียร์ออกนอกโลกต่างหาก หากระเบิดกลางอากาศขึ้นมาจะทำอย่างไร

รัฐบาลเบลเยียมเองก็ยังไม่ตัดสินใจว่าจะจัดการอย่างไรเพราะที่นี่ไม่มีที่ทิ้งกากนิวเคลียร์และคิดไม่ออกว่าจะเอาไปทิ้งที่ไหน กากนิวเคลียร์จึงยังคงเก็บใต้น้ำข้างเตาปฏิกรณ์ต่อไปอย่างไร้ทางออก ในบ้านเราเอาขยะทั่วไปจากเขตเทศบาลไปทิ้งในเขต อบต.ก็ปวดหัวมากแล้ว กากนิวเคลียร์ที่ต้องขนข้ามประเทศไปทิ้งฝรั่งเศส เยอรมัน หรืออเมริกาเขาก็ไม่รับ จึงน่าปวดหัวหนัก แล้วหากประเทศไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากจะสร้างจังหวัดไหนแล้ว อีกโจทย์ใหญ่คือกากนิวเคลียร์จะไว้ที่จังหวัดไหนดี อันนี้ใครจะช่วยตอบที

 สำหรับบ้านเราหากมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อันตรายจากการรั่วไหลของกัมมันตรังสีนั้นมีความน่ากังวลอยู่มาก เพราะมันอาจรั่วตั้งแต่งบประมาณ รวมถึงความย่อหย่อนในขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งความไม่เป็นมืออาชีพในการป้องกัน รักษา และกู้ภัย กับแนวคิดแบบไม่เป็นไรตามสบายหรือหยวนๆ ตามการมองโลกตามความเป็นจริงแบบไทยๆ ในทางวิชาการแล้ว การให้ความสำคัญกับ context หรือบริบท คือหัวใจของความสำเร็จหรือล้มเหลว เพราะบริบทที่แตกต่างคือตัวปราบเซียนของจริง และแบบไทยๆไม่มีในตำราเสียด้วย

ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์หนึ่งตัวผลิตกระแสไฟฟ้าได้ราว 1,000 เมกะวัตต์ ส่วนกังหันพลังงานลมหนึ่งตัวผลิตได้ 2 เมกะวัตต์ กังหันลม 500 ตัวเท่ากับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หนึ่งเตา ด้วยต้นทุนที่พอๆกัน อันไหนน่าสนใจกว่ากันคงแล้วแต่มุมมอง แต่ด้วยการลงทุนที่เท่าๆกัน ให้ผลผลิตเท่าๆกัน แต่รัฐไม่ต้องประกันความเสี่ยงและหาที่ทิ้งกากกัมตรังสี กังหันลมผลิตไฟฟ้าจึงน่าสนใจยิ่ง

สำหรับประเทศเบลเยียมนั้นสัดส่วนของพลังงานทางเลือกนั้นยังมีสัดส่วนน้อยคือ พลังงานลมมีสัดส่วนราว 3% ในปี คศ. 2009 โดยมีกังหันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมชุดใหญ่สองชุดกลางทะเล และในพื้นที่บนบก เราก็สามารถพบเห็นกังหันลมเช่นในรูปกระจายอยู่ทั่วไป มักจะอยู่กันเป็นชุดๆละหลายๆตัว เรียกกันว่า wind farmหรือฟาร์มลม ซึ่งสวยงามและให้ความรู้สึกที่สะอาดปลอดมลพิษ ประเทศเบลเยียมเขาตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดคือลมและแสงอาทิตย์ จากปี 2009 ที่มีสัดส่วนเพียง 3.3% จะให้ได้ 13% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศในปี คศ.2020 เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานที่จะไม่พึ่งพาพลังงานจากนิวเคลียร์มากเกินไป ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ถูกต้อง

 

สำหรับประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็คิดในตรรกะเดียวกัน คือจะลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติโดยหันมาเพิ่มสัดส่วนในการใช้ถ่านหินแทน แต่ก็ชวนให้งงว่าตอนจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติก็บอกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สะอาด แต่พอจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน บอกเรื่องความมั่นคงทางพลังงานที่ต้องไม่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติอย่างเดียว ชวนให้งงด้วยตรรกะที่กลับไปกลับมา

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 แห่งของเบลเยียม มีบริษัทเอกชนชื่อ electrobel เป็นเจ้าของ นั่นหมายความว่า รัฐบาลทำสัญญาให้เอกชนคือบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ ผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศ บริหารแบบมืออาชีพ เพราะความมั่นคงทางพลังงานนั้นสำคัญ อีกทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นธุรกิจผูกขาด ที่ไม่มีใครมาแข่งขันได้ ทฤษฎีมือที่มองไม่เห็น (invisible hand) ของอดัม สมิธ ที่เชื่อในกลไกการแข่งขันเสรีในตลาดจึงใช้ไม่ได้ ดังนั้นศักยภาพในการต่อรอง การตกลงสัญญา การควบคุมกำกับของรัฐต่อบริษัทผลิตไฟฟ้าเช่นนี้จึงสำคัญอย่างยิ่งต่อความผาสุกของประชาชน ดูเหมือนที่นี่จะทำได้ดี มองเมืองไทยกับการจะแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้น รัฐพร้อมแล้วจริงหรือในการควบคุมกำกับ แล้วยิ่งถ้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใครจะเป็นเจ้าของ ใครจะควบคุมกำกับอย่างไร อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก

เมื่อผมไปดูงานที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังแล้วก็เคลิบเคลิ้มไปกับความสำเร็จของเขา โอกาสเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ก็น้อยมากๆ หากไม่รั่วไม่มีอุบัติเหตุก็เป็นพลังงานที่สะอาดน่าใช้อย่างยิ่ง พอดีระหว่างเดินกลับมาขึ้นรถผมเกิดสะดุดก้อนหิน ทันใดนั้นผมก็ตื่นพร้อมกับคำถามที่ลืมถามเขาไปว่า ถ้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ผู้คนในรัศมี 30 กิโลเมตรนี้ราว 5-6 แสนคนรอบโรงไฟฟ้านี้จะอพยพไปไหนอย่างไร

วันนี้สำหรับยุโรปภูมิภาคที่บริโภคพลังงานมหาศาลเช่นนี้ ผู้คนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงกันไปก่อน จนกว่าพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) จะได้รับการพัฒนาและเข้ามาแทนที่ในอนาคต อีกไม่เกิน 20 ปีเตาปฏิกรณ์ที่นี่ก็จะถูกปิดตายตามพันธะสัญญาของรัฐบาลต่อประชาชน พื้นที่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Doel ก็จะกลายเป็นพื้นที่จำกัดการเข้าถึง เพราะเชื่อว่ากากนิวเคลียร์ที่อยู่ในเตาปฏิกรณ์นั้นคงไม่สามารถหาที่ทิ้งได้โดยง่าย

ประเทศในยุโรปทยอยปิดโรงงานนิวเคลียร์ไปทีละเตาสองเตา แต่เมืองไทยเรากลับสนใจจะเอาเทคโนโลยีสะอาดอันแสนอันตรายมาใช้ คิดแล้วสำหรับเมืองไทย แผ่นดินไทยปนเปื้อนยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลงยังถูไถไปได้ แต่หากเปื้อนกัมมันตรังสี คนตายแผ่นดินร้าง ไม่คุ้มกัน แม้โอกาสเกิดน้อย แต่วิธีเดียวที่ไม่ให้โอกาสนั้นเกิดเลยก็คือ อย่าไปสร้างมันเลยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์



สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19 - 25 ก.พ. 2555

Posted: 25 Feb 2012 05:12 AM PST

 

เสวนารณรงค์ผู้ชายใช้สิทธิ์ลาคลอด

19 ก.พ. 55 -  ที่ รร.รามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช  เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการจัดเสวนาเรื่อง “ถึงเวลาพ่อลาคลอด” ว่า ต้องการจุดประกายให้กับสังคมให้ความสำคัญกับบทบาทของพ่อที่ต้องช่วยแม่ เลี้ยงลูก ซึ่งครม.มีมติเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 53 ให้ข้าราชการสามารถลาคลอดเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกได้ไม่เกิน 15 วัน และเมื่อ 24 ม.ค. 2555 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่รับทราบแพร่หลาย

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สภามหาวิทยาลัยจุฬาฯได้ตระหนักถึงบทบาทของพ่อที่มีส่วนสำคัญในการช่วยเลี้ยง ลูกจึงได้กำหนดเป็นระเบียบให้ผู้ชายใช้สิทธิลาคลอดได้ 10 วัน โดยเริ่มมา 2-3 ปีแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อระเบียบนี้ออกมาซึ่งมีผลเฉพาะข้าราชการเท่านั้น โดยเวลา 15 วันถือว่ามากพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามทำอย่างไรจึงจะให้สังคมมีค่านิยมส่งเสริมบทบาทของพ่อในการ เลี้ยงลูกให้มากขึ้น และอยากให้มีการขยายผลไปยังภาคเอกชน เพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานยังไม่รวมสิทธิ์ดังกล่าวไว้ ที่สำคัญผู้บังคับบัญชาจะต้องเข้าใจ เพราะอย่างบางบริษัทคุณแม่ใช้เวลาแค่ไปปั๊มนมเพื่อไปป้อนลูกก็โดนไล่ออกจาก งาน

นายสง่า ดามาพงษ์ ประธานคณะกรรมการโครงการสื่อสารฯศูนย์นมแม่ฯ กล่าวว่า  เมื่อประกาศเป็นระบียบออกมาแล้วจะต้องรณรงค์ให้นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่าง แท้จริง โดยรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำความเข้า ใจถึงสิทธิ์ลาคลอดดังกล่าว รวมทั้งผู้บังคับบัญชาหน่วยงาน และขยายผลให้ครอบคลุมไปยังภาคเอกชนด้วย โดยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าระยะเวลาเพียง 15 วันน้อยไปอย่างน้อยควรเป็น 1 เดือน โดยจะต้องขับเคลื่อนให้สังคมยอมรับ

น.ส.กิรกมล ฉายบัณดิษฐ์ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า สิทธิ์ในการลาคลอดของคุณพ่อน่าจะให้ระยะเวลามากว่า 15 วัน รวมทั้งขยายผลและผลักดันให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ จากนี้คงได้ปรึกษาหารือกับเครือข่ายแนวร่วมองค์กรต่างๆ เพื่อรณรงค์ถึงสิทธิลาคลอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเสวนาได้มีคุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกน้อยกว่า 20 ครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก โดยนายชีวทัศน์ อาชีพรับราชการที่กรุงเทพฯ ได้แสดงความเห็นว่า เมื่อภรรยาคลอดลูกตนได้ขอใช้สิทธิ์ลาคลอดตามระเบียบดังกล่าว แต่ผู้บังคับบัญชากลับไม่อนุญาตพร้อมไม่รับรู้ถึงสิทธิ์ดังกล่าว แต่ตนเป็นห่วงภรรยาเพราะอยู่กันแค่ 2 คน จึงได้ใช้สิทธิ์ลาพักร้อน และขาดงานได้อีก 5 วัน  หากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็วกว่านี้ ตนคงจะนำไปยันกับผู้บังคับบัญชาที่งี่เง่าของตนได้

(เดลินิวส์, 19-2-2555)

เผยข้อมูล 5 ปี มีแรงงานถูกหลอกไปทำงาน ตปท.กว่า 1.2 หมื่นคน

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กกจ.ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากคนหางานในช่วง ต.ค.2553 - ก.ย.2554 รวมทั้งสิ้น 1,783 คน มูลค่าความเสียหายรวม 120,056,470 บาท โดยแยกเป็น 2 กรณี ได้แก่ 1.กรณีร้องเรียนบริษัทจัดหางาน เก็บเงินค่าบริการไปแล้วไม่สามารถจัดไปทำงานได้ เดินทางไปทำงานแล้ว แต่ไม่สามารถทำงานได้ และถูกนายจ้างในต่างประเทศเอาเปรียบไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ซึ่งกรณีนี้มีคนหางานร้องเรียนทั้งหมด 485 คน มูลค่าความเสียหาย 32,897,752 บาท
      
ส่วนกรณีที่ 2.ร้องเรียนสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน เนื่องจากจ่ายค่าบริการไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการจัดส่งไปทำงาน จัดส่งไปต่างประเทศแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าประเทศปลายทางได้ ถูกส่งไปทำงานแบบลักลอบทำงานโดยกฎหมาย และส่งไปทำงานแล้วแต่ไม่มีงานให้ทำ และถูกปล่อยลอยแพในต่างประเทศ ซึ่งกรณีนี้มีผู้ร้องเรียน 1,323 คน มูลค่าความเสียหาย 87,118,718 บาท
      
อธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดที่มีคนหางานมาร้องทุกข์มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร 658 คน มูลค่าความเสียหาย 45,849,948 บาท 2.ชัยภูมิ 179 คน มูลค่า 12,939,720 บาท 3.นครราชสีมา 128 คน มูลค่า 7,752,120 บาท 4.ลำปาง 77 คน มูลค่า 3,115,700 บาท และ 5.อุดรธานี 70 คน มูลค่า 5,721,600 บาท
      
ทั้งนี้ สถิติย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีแรงงานร้องถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศกว่า 12,000 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 755 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2550 มีคนหางานร้องทุกข์ 2,394 คน มูลค่าความเสียหาย 142,636,192 บาท ได้รับการช่วยเหลือ 2,677 คน ได้รับเงินคืน 68,240,048 บาท ปี 2551 มีคนหางานร้องทุกข์ 3,028 คน มูลค่าความเสียหาย 182,419,303 บาท ได้รับการช่วยเหลือ 3,033 คน ได้รับเงินคืน 59,006,281 บาท

ปี 2552 มีคนหางานร้องทุกข์ 3,040 คน มูลค่าความเสียหาย 185,988,713 บาท ได้รับการช่วยเหลือ 3,002 คน ได้รับเงินคืน 54,046,578 บาท ปี 2553 มีคนหางานร้องทุกข์ 2,275 คน มูลค่าความเสียหาย 126,044,651 บาท ได้รับการช่วยเหลือ 2,273 คน ได้รับเงินคืน 37,916,130 บาท และปี 2554 มีคนหางานร้องทุกข์ 1,781 คน มูลค่าความเสียหาย 120,016,470 บาท ได้รับการช่วยเหลือ 1,792 คน ได้รับเงินคืน 23,200,280 บาท
      
ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า ปี 2551 มีคนหางานร้องทุกข์มากที่สุด และได้รับเงินคืนมากที่สุด ส่วนปี 2552 มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด
      
นายประวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มีมาตรการคุ้มครองและป้องกันคนหางานที่จะไปทำงาน ต่างประเทศ ได้แก่ การปรับปรุงศูนย์ทะเบียนคนหางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจัดทำเว็บไซด์ตำแหน่งงานในต่างประเทศเพื่อเป็นแหล่งขัอมูลให้แก่คนหางาน และร่วมมือกับกรมการกงศุลเพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือแรงงานไทยที่ไปทำงานต่าง ประเทศ
      
นอกจากนี้ ยังจัดโครงการสินเชื่อเพื่อการไปทำงานต่างประเทศ ซึ่ง กกจ.ร่วมมือกับผู้รับใบอนุญาตจัดหางานและธนาคารภาครัฐ ซึ่งขณะนี้มี 3 ธนาคารเข้า่ร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การทำ Mou จัดส่งแรงงานไปต่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ ระบบจ้างตรงออนไลน์โดยไม่ผ่านสายนายหน้า รวมทั้งกำหนดให้บริษัทจัดหางานที่จะส่งแรงงานไทยไปต่่างประเทศต้องผ่าน กกจ.ก่อนทุกครั้งและควบคุมการแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเองของ คนหางาน หากพบว่ามีการแอบแฝงการจัดส่งโดยบริษัทจัดหางาน สาย/นายหน้าเถื่อนจะดำเนินการตามกฎหมายทันที และมีโครงการเคาะประตูบ้านเพืื่อป้องกันปัญหาการหลอกลวงคนหางาน โดยให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่างๆ
      
“ส่วนการปราบปราม กระทรวงแรงงานได้ตั้งศูนย์ปราบปรามแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายและขบวนการค้า มนุษย์ซึ่งมีในหลายจังหวัด ซึ่งในปี 2554 มีการจับสาย/นายหน้าเถื่อนไปแล้ว 497 คนและในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ 2550-2554 มีการลงโทษทางทะเบียนแก่บริษัทจัดหางานที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 โดยเพิกถอนใบอนุญาต 5 แห่ง พักใช้ใบอนุญาต 15 แห่ง และหักเงินประกัน 26 แห่ง"อธิบดี กกจ.กล่าว

อิเล็กทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้าปลดแรงงาน 3 หมื่น

นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยภายหลังหารือกับผู้บริหารระดับซีอีโอในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ว่า ขณะนี้โรงงานผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ในช่วงปลายปี 54 กว่า 700 แห่งได้เลิกจ้างแรงงานแล้วไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายได้ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศหรือพื้นที่อื่น ในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มที่ได้รับความเสียหายหนักและต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการนานจำ เป็นต้องเลิกจ้างแรงงานก่อนแล้วค่อยเปิดรับสมัครแรงงานใหม่หลังการฟื้นฟู เสร็จแล้วเพื่อลดภาระต้นทุน

“ผู้ผลิตที่ประสบภาวะน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมมี 200 กว่ารายและนอกนิคมฯอีก 500 รายกลับมาฟื้นตัวเพียง 30% เท่านั้น หากภายในไตรมาส 2 ไม่สามารถฟื้นฟูเพื่อกลับมาผลิตได้50%ก็จะทำให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ปี 55 เติบโตติดลบ 5%เมื่อเทียบกับปี54ที่มีมูลค่าส่งออก 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือคิดเป็นเงิน1.59 ล้านล้านบาท ซึ่งหากการขยายตัวติดลบ 5% ก็จะทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียรายได้ประมาณ 79,500 ล้านบาท” นายสมบูรณ์ กล่าว
 
นอกจากนี้ซีอีโอของโรงงานกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังวิตก นโยบายการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ของรัฐบาลที่จะเริ่มในวันที่ 1 เม.ย. 55 อย่างมาก เพราะจะยิ่งสร้างภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงงานที่ยังไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มศึกษาแนวทางการย้ายฐานการผลิตไปประเทศ เพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างขั้นต่ำถูกกว่าประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็นำร่องย้ายฐานการผลิตไปบ้างแล้ว
 
“อุตสาหกรรมนี้มีแรงงานในระบบถึง 550,000 คนซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อผู้ประกอบการมากขึ้นเพราะขณะนี้หลายโรงงานยังไม่ได้ ฟื้นฟูกิจการหลังโดนน้ำท่วมแต่บางรายต้องการรักษาแรงงานไว้จึงจ่าย 75% ของค่าแรงอยู่ แต่หากค่าแรงต้องเพิ่มเข้ามาอีกก็จะต้องทำให้ผู้ประกอบการต้องตัดสินใจในการ รักษาเฉพาะแรงงานฝีมือไว้กรณีที่ประเมินแล้วว่าไม่สามารถจะฟื้นกิจการได้ เร็ว และอีกส่วนหนึ่งก็อาจจะต้องมองในเรื่องการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ” นายสมบูรณ์ กล่าว.

(เดลินิวส์, 22-2-2555)

เผยจ่ายเงินช่วยลูกจ้างที่ตกงานในอยุธยาไปแล้วกว่า 1,653 ล้านบาท 

นายวรรณรัตน์ ศรีสุกใส สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากการที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฯ ได้สรุปตัวเลข ล่าสุดมีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 5,000 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างกว่า 3 แสนคน รวมถึง ตัวเลขของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ 1,699 โรง จากทั้งหมด 2,166 โรง รวมมีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 26,763 คน แยกเป็นประเภทกิจการของสถานประกอบการที่ถูกเลิกจ้าง 4 อันดับต้น ได้แก่ กิจการการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนยานยนต์

“ปัจจุบันมีการเลิกจ้างทั้งสิ้น 73 แห่ง มีลูกจ้าง 26,763 คน ทั้งหมดนี้ลูกจ้างได้รับเงินค่าจ้าง ค่าชดเชย ค่าประกันล่วงหน้าไปแล้ว 1,653 ล้านบาท “

นายวรรณรัตน์ ศรีสุกใส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้เข้าไปช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าวอย่าง ต่อเนื่อง ด้วยการจัดตลาดนัดแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั่วประเทศ คาดหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานได้ในระดับหนึ่ง พร้อมกันนี้ ยังได้ส่งลูกจ้างไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศเพิ่มอีกด้วย

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 22-2-2555)

ร้องผู้ว่าฯลำพูนดูแลหลักประกันสุขภาพให้เกิดความเป็นธรรม

ที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน ได้มีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จังหวัดลำพูน นำโดยนายจำรัส ดวงเกิด อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56 / 1 หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เป็นตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยนายธีรวัฒน์ โฮ่งสิทธิ์ นายพิรุณ จันทร์ธรรม นางสุจิตรา สิทธิพงศ์ แกนนำตัวแทนเครือข่ายเด็ก-เยาวชน เครือข่ายสตรี เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายผ้บ่วยเรื้อรัง เครือข่ายชาติพันธุ์ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายเกษตร เครือข่ายสุขภาพชุมชนเมือง เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวนกว่า 100 คนพากันมายื่นหนังสือต่อนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน

นายจำรัส ดวงเกิด เครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า เนื่องจากไม่พอใจการแต่งตั้งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากการแต่งตั้งที่ผ่านมาไม่โปร่งใสและมีการดึงพรรคพวกตัวเองมาเป็นคณะ กรรมการหลักประกันสุขภาพ ซึ่งกรรมการดังกล่าวไม่มีประสบการณ์ด้านหลักประกันสุขภาพมาก่อนและเรื่องการ เก็บเงินรักษา 30 บาทรักษาทุกโรค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจังหวัดลำพูนและภาคีกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ จึงรวมตัวกันมายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รีบแก้ไขแล้วได้นำประเด็นที่สร้างความสั่นคลอนต่อระบบหลักประกันสุขภาพ เสนอผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี ให้มีการทบทวนและดำเนินการให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นสวัสดิการที่รัฐจัด ให้ประชาชนอย่างเสมอภาค และช่วยกันกำจัดภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังเพื่อความเท่าเที่ยมและ สร้างความเป็นธรรมต่อระบบสุขภาพอย่างแท้จริง

(เนชั่นทันข่าว, 23-2-2555)

เผดิมชัยมั่นใจค่าแรง 300บ.เป็นไปได้ ภายใน 1 ม.ค.56

นายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม บริษัท เอ็น บี แอพพาเรล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกต่างประเทศภายใต้เครื่องหมายการค้า อาดิดาส (adidass) บ้านฮ่องข่า อำเภอเมืองหนองบัวลำภู และ โรงงานน้ำตาลเอราวัณ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ว่า การเดินทางมาในครั้งนี้ ต้องการมาพบปะผู้ประกอบการและลูกจ้าง มาดูความพร้อมของทั้งสองฝ่าย เพื่อพูดคุยและเสริมสร้างกำลังใจให้กับนายจ้างและลูกจ้าง โดยเน้นไปที่นายจ้างผู้เป็นเจ้าของสถานประกอบการ ว่า ขอความร่วมมือในการขึ้นค่าแรงให้กับลูกจ้างตามนโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมาย เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ได้ 300 บาท/วัน  โดยรัฐบาลมีมาตรการในการลดหย่อนภาษีให้กับนายจ้างผู้เป็นเจ้าของสถานประกอบ การเป็นการตอบแทนเพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างกำลังใจซึ่งกันและกัน สามารถลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ ในส่วนของลูกจ้างเมื่อได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นจะต้องมีวินัยในการทำงาน มีจิตสำนึกที่ดีในการทำงาน ที่สำคัญจะต้องมีการพัฒนาฝีมือและศักยภาพของตนเองให้เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจะพยายามหากลไกประสานประโยชน์เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถเดิน เคียงข้างไปด้วยกันอย่างยุติธรรม
         
ปัจจุบันจังหวัดหนองบัวลำภู มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 165 บาท ในวันที่ 1 เมษายน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดหนองบัวลำภูจะต้องเพิ่มเป็นวันละ 230 บาท และในวันที่ 1 มกราคม 2556  อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดหนองบัวลำภูจะต้องเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าภายในวันที่ 1 มกราคม 2556 ลูกจ้างทั่วประเทศจะต้องได้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล

(โลกวันนี้, 23-2-2555)

รมว.แรงงาน เผย มีบริษัทจัดหางานเถื่อนอ้างพาไปทำงานต่างประเทศได้ เตรียมรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย มีบริษัทจัดหางานเถื่อนอ้างพาไปทำงานต่างประเทศได้ เตรียมรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี แนะคนหางานเดินทางไปทำงานผ่านกรมการจัดหางาน พร้อมตรวจสอบหลักฐานให้ชัดเจน

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตนเองได้รับรายงานจากกรมการจัดหางาน (กกจ.) และแรงงานในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี พบว่าขณะนี้มีบริษัทจัดหางานเถื่อน 2-3 แห่ง เข้าไปประกาศรับสมัครงานผ่านทางอินเทอร์เน็ต และมีการตั้งโต๊ะรับสมัครไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล โดยเรียกเก็บเงินค่าบริการ (ค่าหัวคิว) รายละ 50,000 บาท ซึ่งขณะนี้กรมการจัดหางาน ได้รายงานข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่าบริษัทเหล่านี้ ตั้งอยู่ที่ไหน และจังหวัดใดบ้าง และอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามหลังจากนี้คนหางานที่ต้องการจะไปทำงานต่างประเทศ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งงานและเงินเดือน รวมทั้งประเทศเป้าหมาย และค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ขั้นตอนต่อมาแรงงานทุกคนจะต้องผ่านการปฐมนิเทศก่อนที่จะเดินทางไป รวมทั้งต้องผ่านการอบรมภาษา

นอกจากนี้ คนหางานยังสามารถยื่นกู้เงินจากโครงการสินเชื่อเพื่อการไปทำงานต่างประเทศ ผ่านธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ส่วนระยะยาวกระทรวงแรงงานจะเร่งขยายการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับประเทศต่างๆ ในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและป้องกันการหลอกลวง

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 23-2-2555)

นายจ้าง-ลูกจ้าง จับมือ หนุนออก กม.ห้ามดื่มเหล้าในโรงงาน

วันนี้ (24 ก.พ.) ที่โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ   มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดเสวนานโยบายโรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า  พร้อมเดินหน้า ผลักดันร่างกฎหมายห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบ กิจการโรงงาน พ.ศ. ....เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกจ้างและผู้ ประกอบการ  ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการ  และลูกจ้าง กว่า 100 คนเข้าร่วม
      
นายสุชาติ   ตระกูลหูทิพย์  หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  กล่าวว่า  ระหว่างวันที่ 16-20 ก.พ.2555 ทางมูลนิธิได้สำรวจความคิดเห็นลูกจ้างและนายจ้าง ในประเด็นผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และความคิด เห็นต่อร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง “ห้ามขาย หรือห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. ...” จากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 948 ราย แบ่งเป็น ลูกจ้าง  900 ราย และนายจ้าง 48 ราย ทั้งหมด 30 โรงงาน จากพื้นที่จังหวัดลำพูน  นนทบุรี  สมุทรสาคร นครปฐม พบว่า  ลูกจ้าง  95.78% เห็นด้วยกับร่างประกาศฯ ฉบับดังกล่าว ขณะที่ นายจ้างเห็นด้วย 100%  เชื่อ จะช่วยลดปัญหาการดื่มเหล้าของคนงานในโรงงานได้
      
นายสุชาติ   กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากการดื่มเหล้ามีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เห็นได้จากข้อมูลที่กลุ่มลูกจ้าง ระบุว่า กระทบต่อเศรษฐกิจและสุขภาพมากเป็นลำดับแรกคิดเป็น 19.47% ตามด้วยการทำให้เกิดอุบัติเหตุ 18.44% เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 18.05% ต้องถูกนายจ้างให้ใบเตือน 12.69% และถูกให้ออกจากงาน 13.39% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มนายจ้าง ยืนยันว่า การที่ลูกจ้างดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ผลผลิตแย่ลงเป็นลำดับแรกคิดเป็น 29.01% ตามด้วยชิ้นงานที่ขาดคุณภาพ 21.16%  ต้องสูญเสียพนักงานเพราะอุบัติเหตุ 25.31% และปัญหาการถูกเลิกจ้างเพราะเมาทะเลาะวิวาท 18.52%
       
“จากผลสำรวจดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ผลเสียที่เกิดขึ้นมีทั้งต่อตัวลูกจ้างและนายจ้าง เพราะค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียหายจากอุบัติเหตุ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ การทำงานขาดประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ยังมีผลวิจัยด้านนโยบายสุขภาพที่พบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลเสียทางเศรษฐกิจเกือบ 200,000 ล้านบาท  และสถิติกลุ่มแรงงานที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะดื่มแอลกอฮอล์มีมากถึง 40,000 คน ส่วนใหญ่อายุ 30-44 ปี รองลงมา 15-29 ปี ซึ่งผู้ที่ดื่ม หรือเคยดื่มจะขาดงาน เพราะปัญหาสุขภาพ ประสิทธิภาพขณะทำงาน  ลดลงกว่าผู้ไม่ดื่ม 1.7-5.7% ดังนั้น หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน  ปัญหาต่างๆ คงดีขึ้นโดยลำดับ” นายสุชาติ กล่าว
      
นพ.สมาน  ฟูตระกูล  ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  กล่าวว่า   ร่างกฎหมายฉบับนี้ เชื่อว่า จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีลงนามเพื่อบังคับใช้ เนื่องจากทุกภาคส่วนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฯฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ  ที่ต้องการให้มีกฎหมายบังคับใช้ในสถานประกอบการ และจะส่งผลดีต่อลูกจ้าง ในด้านต่างๆ สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้จะใช้อำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 27(8) และมาตรา 31(7) ของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยเนื้อหาของร่างกฎหมายระบุว่า ห้ามขายห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน
       
“เชื่อว่า ในภาพรวมแล้ว ร่างกฎหมายจะผ่านไปได้ด้วยดี   ยกเว้นกลุ่มบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ที่จะไม่เห็นด้วยกับร่างฯดังกล่าว ดังนั้น ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ต้องช่วยกันขับเคลื่อนผลักดันให้ทุกฝ่ายเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นที่ต้องการของคนไทย  ส่วนนักวิชาการต้องมีหน้าที่ชี้ผลกระทบที่เกิดจากแอลกอฮอล์ให้สังคมได้รับ รู้  ซึ่งถ้าทุกอย่างในสถานประกอบการดีขึ้น จะส่งผลทำให้ศักยภาพการทำงานดีข้นตามไปด้วย” นพ.สมาน  กล่าว
       
ด้าน นายบุญมี จิตรใจ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยางโอตานิ จำกัด จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ก่อนที่บริษัทยังไม่เข้าร่วมโครงการลด ละ เลิกเหล้า ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงงานเป็นประจำ คือ ลูกจ้างส่งเสียงดังรบกวนพนักงานคนอื่น บางครั้งมีการชกต่อยกันในโรงงาน คุณภาพในการทำงานลดลง มีการลาพักงานมากขึ้น และเป็นประจำที่คนงานมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ดังนั้น ข้อดีของร่างกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มเหล้าในโรงงานฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและคนงานทั่วประเทศหากมีการนำมาบังคับใช้  และไม่ต้องมานั่งเถียงกันต่อไปว่าจะมีหรือไม่มีเหล้าในกิจกรรมที่ต้องจัดใน โรงงาน  เพราะถ้าใครทำก็จะผิดกฎหมายทันที

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-2-2555)

คนงานกว่าพันคน เตรียมบุก ก.แรงงานประท้วงผลกระทบค่าจ้าง 300 บาท

25 ก.พ. 55 - นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 10.00 น.  ตนพร้อมด้วยคนงาน บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ และ บริษัทซิลเวอร์ ไอซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องประดับส่งออกต่างประเทศ ย่านประเวศ จำนวนกว่า 1,000 คน จะเดินทางมาชุมนุมที่หน้ากระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เร่งหาทางช่วยเหลือคนงาน ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ  300 บาท ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ใน 7 จังหวัด ตั้งแต่ 1 เมษายนนี้ โดยในส่วนของ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์  มีคนงานกว่า 1,200 คน ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทฯ จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น300 บาท ให้คนงานที่เข้าใหม่ ขณะที่คนงานที่ทำงานมานาน 5-6 ปี ยังได้รับค่าจ้าง 300 บาทเช่นเดิม โดยไม่ได้ปรับค่าจ้างขึ้นตามฝีมือและอายุงาน ถือว่าเกิดความไม่เป็นธรรม  คนงานจึงนัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ ส่วน บริษัท ซิลเวอร์ไอซ์ มีคนงานประมาณ 500 คน นายจ้างพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เช่นให้ทำงานในวันหยุด โดยไม่ยอมจ่ายค่าแรงตามฐานเงินเดือน เพื่อปรับตัวรองรับค่าจ้าง 300 บาท เมื่อลูกจ้างไม่ยินยอม นายจ้าง จึงประกาศปิดงานไม่มีกำหนด เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้

(สำนักข่าวไทย, 25-2-2555)

เตือนแรงงานไทยไต้หวันตรวจเข้มแรงงานปรับเงินทดแทนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

นางสาวอัญชนา หิรัญพฤษ์ จัดหางานจังหวัด สิงห์บุรี กล่าวว่า กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันได้ออกระเบียบใหม่เกี่ยวกับ การตรวจลงตราสำหรับแรงงานต่างชาติที่ประสงค์ จะเดินทางเข้าไปทำงานในไต้หวัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 เป็นต้นไป

ดังนั้น แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในไต้หวัน เมื่อยื่นคำขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ที่สำนักงานผู้แทนของไต้หวันประจำประเทศไทยแล้ว จะต้องพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติการฝ่าฝืนกฎหมายไต้หวัน และประวัติการทำงานในไต้หวันว่า เป็นผู้เคยทำงานในไต้หวันครบ 9 ปี แล้วหรือไม่

จากการที่ไต้หวันออกระเบียบใหม่นี้ เนื่องจากมีปัญหา เกี่ยวกับการปลอมแปลงหนังสือเดินทาง การเปลี่ยนชื่อ และนามสกุลของแรงงาน และการใช้หนังสือเดินทางของผู้อื่นไปขอรับการตรวจลงตรา นอกจากนั้นทางการไต้หวันยังได้ปรับปรุงระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนประกัน ภัยแรงงานไต้หวัน โดยครอบคลุมถึงกรณีที่คนงานเสียชีวิตนอกเวลาทำงาน ซึ่งสาเหตุที่เสียชีวิตเกิดจากการทำงานหนักไม่มีเวลาพักผ่อน รวมทั้งเสียชีวิตขณะนอนหลับ (ไหลตาย) ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีสาเหตุจากการทำงานหนักเช่นกัน สำหรับทายาทจะได้รับเงินทดแทนการเสียชีวิตจากกองทุนประกันภัยแรงงาน จำนวน 45 เท่าของ ค่าจ้างที่ทำประกัน

(แนวหน้า, 25-2-2555)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปล่อยแล้วหนุ่มรือเสาะ ญาติร้องถูกซ้อมทรมาน

Posted: 25 Feb 2012 04:23 AM PST

ญาติร้องกรรมการสิทธิ ถูกทหารซ้อมทรมาน อ้างเจ็บหนัก แพทย์รุดเข้าตรวจ ศาลนราฯ ยกคำร้องค้านขยายเวลาคุมหนุ่มรือเสาะ เหตุเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวไปก่อนแล้ว 

 

 

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องพิจารณาคดี 3 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดนัดไต่สวนคำร้องของนางสาวซาเร๊าะ ซิกะ ชาวตำบลลาโละ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ที่คัดค้านการขอควบคุมตัวนายซุลกิพลี ซิกะ น้องชาย ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยมีตำรวจจากศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์บัญชาการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำรวจสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ และทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาศาล

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า นายซุลกิพลีได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนคำร้องอีกต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง และสั่งให้นางสาวซาเร๊าะ รับตัวนายซุลกิฟลีไปในวันนี้

คำสั่งศาลยังระบุสรุปด้วยว่า ตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาและตามระเบียบของศาลนี้ระบุว่า ในการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว ต้องให้ญาติหรือผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้ใจมาศาลเพื่อรับตัว แต่ปรากฏว่าศูนย์พิทักษ์สันติ ซึ่งอยู่ภายใต้ศูนย์บัญชาการตำรวจจังหวัดชาแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา ไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว จึงให้มีการหนังสือแจ้งผู้บังคับบัญชาของศูนย์พิทักษ์สันติ เพื่อชี้แจ้งให้ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

คำสั่งศาลระบุอีกว่า ส่วนฝ่ายผู้ควบคุมหรือหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 อำเภอรือเสาะ นำผู้ถูกควบคุมไปส่งที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี แล้วไม่นำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาล จึงให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 รายงานต่อศาลเป็นหนังสือเช่นกัน และให้มีหนังสือถึงแม่ทัพภาคที่ 4 ทราบเรื่องดังกล่าวด้วย

นายซุลกิพลี ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 30 ควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 จากบ้านเลขที่ 60/2 หมู่ที่ 9 บ้านพงยือติ ตำบลลาโละ แล้วนำตัวไปที่กรมทหารพรานที่ 46 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 จากนั้นถูกควบคุมตัวต่อตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อครบกำหนดเจ้าหน้าที่ได้ขอขยายเวลาควบคุมตัวต่อ แต่นางสาวซาเร๊าะ ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลนราธิวาส กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวไปในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555

ศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาสแจ้งว่า ในช่วงที่นายซุลกิพลี ถูกควบคุมตัวที่กรมทหารพรานที่ 46 ญาติไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมในวันแรก ต่อมาทราบว่านายซุลกิพลี ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายโดยทุบตีที่ศีรษะ ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะเพื่อไม่ให้หายใจได้สะดวก และกระชากอวัยวะเพศจนเป็นเหตุให้นายซุลกิพลีหมดสติ

ศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาส จึงร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้แพทย์เข้ารักษาทันที คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้นายสงวน อินทร์รักษ์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจภาคใต้ ประจำจังหวัดนราธิวาส ติดตามเรื่อง และขออนุญาตจาก พล.ท.อดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ส่งแพทย์เข้าตรวจร่างกาย

ศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาส แจ้งต่อไปว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 16.30 น.นายแพทย์อนันตชัย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งประจำอยู่ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 5 คน เข้าเยี่ยมนายซุลกีฟลี แต่ไม่มีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด มีเพียงการถ่ายรูปร่องรอยตามร่างกาย 

ศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาส แจ้งด้วยว่า ส่วน พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ ผู้อำนวยการกองงานมวลชนและกิจการพิเศษ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งญาติว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจร่างกายนายซุลกีฟลีแล้วเช่นกัน ไม่พบบาดแผลใดๆ แต่ไม่ได้ส่งเอกสารบันทึกการตรวจร่างกายให้

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อาเซียน 101 กับปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

Posted: 24 Feb 2012 11:06 PM PST

 

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ปาฐกถา หัวข้อ “จากสมาคมสู่ประชาคมอาเซียน : เรื่องจริงหรืออิงนิยาย” ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 24 ก.พ.55 ที่ห้อง 301 คณะศิลปศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยเขากล่าวถึงพรมแดนความรู้เกี่ยวกับอาเซียนของประเทศไทยซึ่งจากการทำสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าไทยมีความตื่นตัวเกี่ยวกับอาซียนอยู่ในอันดับสุดท้ายของประชาคม แต่กลับมีความดัดจริตคิดว่าภาษาไทยจะเป็นภาษากลางของอาเซียน จากนั้นจึงเริ่มบรรยายพื้นฐานเกี่ยวกับจุดกำเนิดสมาคมอาเซียนซึ่งกำลังจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมใน ค.ศ. 2015 นี้ 

ทั้งนี้ เขาเห็นว่า อุปสรรคในอาเซียนที่สำคัญก็คือการเมืองภายในของแต่ละประเทศเอง โดยประเทศไทยก็ตกอยู่ภายใต้อุปสรรคเช่นนี้ และหากไทยยังต้องการสถานะความเป็นผู้นำอาเซียนซึ่งชะงักไปนับแต่มีการรัฐประหารและมีความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ ไทยก็ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับอาเซียนให้มากขึ้น

...................................................................................................


จุดกำเนิดของเซียน เกิดจากความไม่มีเสถียรภาพในประเทศสมาชิกทั้งหมด 

วันก่อตั้งอาเซียนคือ 8 สิงหาคม 1967 ประชากรอาเซียนขณะนี้มีประมาณ 580 ล้านคน การค้าอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตัวเลขการค้าระหว่างกันเองมีประมาณ 458 ล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนจากภายนอกมีประมาณ 53.17 พันล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงบูมสุดคือช่วงทศวรรษ 1960-1970

ภาษาทางการของอาเซียนส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างกันในประเด็นการให้ความสำคัญต่อภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นพิเศษ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้โดยไม่มีการแปลเป็นภาษาอื่นและใช้ในการประชุมอาเซียนที่มีการประชุมปลีกย่อยกว่า 1,000 การประชุมในหนึ่งปี ซึ่งการประชุมปลีกย่อยเหล่านี้เองก็เป็นข้อจำกัดให้เจ้าหน้าที่แทบไม่ต้องทำอะไรนอกจากเตรียมการประชุม 

ในทุกๆ การตัดสินใจหลักของอาเซียนจะไม่มีการโหวต ทุกประเทศต้องเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งมีทั้งข้อดี คือ ลดความขัดแย้งที่จะเกิดในหมู่สมาชิก ข้อเสียคือ ทำให้กระบวนการทำงานช้า เพราะต้องให้เห็นพ้องต้องกัน เช่น กรณีประเทศติมอร์ตะวันออก ซึ่งจะเข้ามาเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียพยายามดึงติมอร์เข้ามาเป็นสมาชิก แต่ยังไม่ได้รับความเห็นพ้องจากประเทศสมาชิกอื่นๆ 

อาเซียนเป็นการรวมตัวกันโดยไม่มีลักษณะพันธมิตรทางการทหาร เพื่อลดความหวาดระแวงจากประชาคมโลก แต่หลายประเทศก็เป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐ เช่นประเทศไทย

ประเทศสมาชิกทั้งหมดเป็นสมาชิกยูเอ็นอยู่แล้ว และประชาคมอาเซียนก็เป็นผู้สังเกตการณ์ของยูเอ็นด้วย 

อาเซียนมีเป้าหมายในการรวมตัวคือเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม, ความมีเสถียรภาพและสันติภาพ

ความร่วมมือในหลายๆ ด้านทั้งดานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี, การพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านความร่วมมือกัน, การช่วยเหลือในด้านการศึกษาวิจัย, การโปรโมทด้านการศึกษาเกี่ยวกับอาเซียน  และความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคและระหว่างประเทศ 

อาเซียนไม่ได้เป็นอาเซียนโดดๆ แต่ได้ผนวก (plus) กับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ASEAN+, 3 ASEAN+6 และ ASEAN+ 8 ฉะนั้นการประชุมระดับรัฐมนตรีไม่ได้มีแค่ 10 ประเทศ เป็นฟอรัมที่ดีที่เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระดับรัฐมนตรี เป็นการคุยให้เรียบร้อยก่อนที่ผู้นำจะลงนาม 

ปวินกล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กว่านายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้นพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ถือเป็นเรื่องน่าอับอายว่า “อยากจะบอกว่า ผู้นำเขาไม่ต้องคุยกันแล้ว คุณยิ่งลักษณ์เขาก็ไปอวดความงาม ไปถ่ายรูป ไม่มีการคุยกันอีกแล้ว เพราะในรายละเอียดต้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องคุยกัน”


อาเซียนมีบทบาทอย่างไร

เมื่อสงครามเย็นยุติ ความขัดแย้งในกัมพูชาก็จบลงในปี 1991 ที่มีการลงนามกันที่ปารีส เป็นการจบสงครามยาวนาน 13 ปี อาเซียนมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ประสานงานให้เกิดสนธิสัญญาปารีสได้ 

ในปี 1992 มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งไทยเป็นผู้เสนอ การทำสัญญา FTA นั้น ต้องถือประเทศในอาเซียนเริ่มก่อนภูมิภาคอื่นๆ 

1994 ผู้นำเริ่มฟอรัมพูดคุยในกรอบความมั่นคง  (ASEAN Regional Forum inaugural meeting- ARF) ซึ่งมีหลายประเด็นที่พูดคุยกันได้ เช่นความขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดน ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือแม้แต่เรื่องปัญหาคาบสมุทรเกาหลี

1997 มีการรวมตัวกันมองไปยังอนาคต ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสังคม

1999 อาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 ) เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงิน ซึ่งทำให้อาเซียนตระหนักว่าต้องร่วมมือกับภูมิภาคอื่นๆ โดยพลัสทรี คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสามประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจมากที่สุดในเอเชียตะวันออก 

หัวใจของการรวมตัวครั้งนี้คือการต้องการความช่วยเหลือจะประเทศเหล่านี้ 

จากอาเซียนพลัสทรี ก็ขยับมามีอาเซียน+6 คือบวกอีกสามประเทศได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย โดยมาร่วมประชุมในกัวลาลัมเปอร์ใน ปี 2005 ทั้งนี้ประเทศที่เข้ามาร่วมพลัสทั้งหลายต้องร่วมลงมือสนธิสัญามิตรภาพและความร่วมมือ เป็นการบังคับว่าถ้าอยากร่วมมือกับอาเซียนต้องยอมรับเงื่อนไขของอาเซียน และในที่สุดสหรัฐก็มาร่วมลงนามในปี 2008 ซึ่งช้ามาก

ปี 2000 Chiang Mai Initiative เป็นการรวมตัวกันของรัฐมนตรีเศรษฐกิจการคลัง เพราะก่อนหน้านี้ ก่อนเกิดวิกฤตการเงิน ประเทศในภูมิภาคล้วนเอาเงินไปฝากไว้ในประเทศอื่นในยุโรป เช่น สวิสเซอร์แลนด์ ไอเดียคือ ประเทศในภูมิภาคนี้ควรจะรวมตัวกัน เอาเงินมารวมกันไม่ต้องพึ่งพาการเอาเงินไปฝากไว้ที่ต่างประเทศ  เพราะประสบการณ์จากการกู้เงินจาก IMF และถูกบังคับให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ไอเอ็มเอฟหลายๆ อย่าง ซึ่งทักษิณกล่าวว่าไทยตกเป็นเมืองขึ้นของไอเอ็มเอฟ เมื่อคืนเงินกู้ได้จึงประกาศอิสรภาพจากไอเอ็มเอฟ 

การประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญ และไม่ว่าจะชอบทักษิณหรือไม่ ก็ต้องยกความดีความชอบให้ทักษิณเรื่องนี้ และทักษิณเองเป้นคนอยู่เบื้องหลังกองทุนการเงินอาเซียน เป็นเงินที่ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ กู้ด้วยสกุลเงินของประเทศผู้กู้ และจีนก็ให้ความสำคัญกับกองทุนนี้ อินเดียและญี่ปุ่นตามมา ทุกวันนี้กองทุนก็ดำเนินก้าวหน้าต่อไปถือเป็นความดีความชอบหนึ่งในบรรดาที่มีอยู่ไม่มากของทักษิณ

ปี 2005 มีการพูดคุยกันว่า ควรจะมีการจัดทำธรรมนูญอาเซียน ซึ่งนี่เป็นข้อแตกต่างของอาเซียนเมื่อเทียบองค์กรอื่นๆ ที่รวมตัวกันในประชาคมโลก เพราะส่วนใหญ่มักรวมตัวโดยมีรัฐธรรมนูญ แต่เข้าใจว่านี้เป็นวิถีของอาเซียน คือความพยายามไม่ผูกมัดตัวเอง 

ปี 2007 มีการเห็นชอบร่วมกันกฎบัตรอาเซียน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของอาเซียน และใช้เวลา 1 ปี ในการให้มีผลบังคับใช้ 

กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ 15 กันยายน 2008 โดยทุกประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน ประเทศที่มีปัญหาในการให้สัตยาบัน คือไทย เกือบบ๊วย และฟิลิปปินส์เป็นประเทศสุดท้าย

 

หัวใจสำคัญของกฎบัตรอาเซียน 

สำคัญที่สุดคือการเป็นกรอบการทำงาน การนำนโยบายไปปรับใช้ การประสานงาน กระบวนการตัดสินใจ และที่สำคัญก็คือกฎบัตรอาเซียนมีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งจุดมุ่งหมายของอาเซียนไม่ใช่การปกป้องสิทธิมนุษยชนแต่เป็นการละเมิดสิทธิ การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ตอนนี้จึงทำได้เพียงแต่การโปรโมท และคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก เพราะประเทศในภูมิภาคนี้ล้วนแต่ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น 

กฎบัตรอาเซียนนั้นช่วยในแง่ของหลักการอาเซียนที่ต้องเห็นพ้องต้องกัน เพิ่มความสนิทสนมกันมากขึ้นระหว่างผู้นำในอาเซียน เพราะต้องมีการประชุมกันปีละสองครั้ง 

มีการกำหนดบทบาทใหม่ของประธานอาเซียน และเลขาธิการอาเซียนโดยที่ผ่านมาเลขาธิการอาเซียนเหมือนคนรองมือรองเท้ารัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศต่างๆ แต่บทบาทจากกฎบัตรนี้จะมีบทบาทมากขึ้น เช่นการเข้าแทรกแซงเมื่อเกิดการขัดแย้งกันของประเทศสมาชิก แต่ที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าในกรณีของไทยกัมพูชาแทบจะไม่มีบทบาทของนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนเลย เพราะส่วนหนึ่งคือ เป็นเลขาธิการอาเซียนเป็นคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะให้กัมพูชาไว้วางใจ ขณะเดียวกัน รัฐบาลขณะนั้นคือรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะซึ่งพูดชัดๆ ว่าไม่เอาอาเซียนในการแก้ปัญหา ทำให้นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เสียโอกาสในการแสดงความสามารถในฐานะเลขาธิการอาเซียนอย่างน่าเสียดาย 

 

เสาหลักอาเซียน 

การเมืองกับความมั่นคง

สมาชิกประเทศอาเซียนทุกประเทศจะต้องไม่ใช้กำลังในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง รวมถึงประกาศให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธ 

“อาจจะมีคนพูดว่าจริงๆ แล้วอาเซียนชาร์เตอร์ไม่สำคัญหรอก เพราะอาเซียนก็อยู่มาได้ตั้งสามสิบปี โดยไม่มีการรบราฆ่าฟัน คำพูดนี้พูดได้ แต่มาถึงปี 2008 กรณีความขัดแย้งไทย-กัมพูชาทำให้เห็นว่าพูดแบบนี้ไม่ได้แล้ว ความขัดแย้งไม่ได้หายไปไหนและเป็นบทพิสูจน์ว่าอาเซียนชาร์เตอร์บังคับใช้ได้แค่ไหน แต่กรณีไทยกัมพูชา ผมบอกได้เลยว่าอาเซียนล้มเหลว เพราะกฎบัตรอาเซียนไม่มีบทลงโทษ” 

เช่นเดียวกันกับพม่า ซึ่งแม้อาเซียนจะบอกว่าพม่าต้องทำอะไรบ้าง แต่พม่าย่อมไม่ฟังเพราะไม่มีกฎข้อไหนของกฎบัตรอาเซียนที่ระบุว่าหากพม่าไม่ทำตามที่กำหนดไว้จะถูกขับออกจากความเป็นสมาชิก

อีกประการที่ถือเป็นข้อด้อยของอาเซียนคือ หลักการไม่แทรกแซงกันและกัน และไม่ให้ประเทศอื่นเข้าแทรกแซง ซึ่งปวินมองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศต่างๆ ล้วนมีบาดแผล ซึ่งไม่อาจจะเรียกร้องประเทศอื่นๆ ในสิ่งที่ประเทศตัวเองก็ไม่มี เช่น เสรีภาพสื่อมวลชน 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในแง่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจนั้นถือว่าก้าวหน้ากว่าด้านอื่นๆ และมีผลประโยชน์ในการร่วมมือกันอย่างเห็นได้ชัด เช่นการลดภาษีนำเข้าส่งออกซึ่งกันและกัน ทำให้พัฒนาการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นความเชื่อมั่นเรื่องการร่วมมือเป็นชุมชนในปี 2015 ก็ตอบได้ว่า เป็นเรื่องเศรษฐกิจ มากกว่าเรื่องการเมือง 

 

นอกเหนือจากเรื่องความร่วมมือ สิ่งที่สำคัญคือการเชื่อมต่อกันของการคมนาคม เช่น เส้นทางรถไฟ สิงคโปร์-คุนหมิง และโอกาสความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาต่อไปยังพม่าก็มีสูง เพราะการเมืองในพม่ามีเสถียรภาพมากขึ้น 

ยังมีโครงการอีกจำนวนมากภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น Visit ASEAN Pass ก็เป็นสิ่งที่เกือบประสบความสำเร็จแล้ว ขณะนี้ไทยเองก็เดินทางเข้าประเทศอาเซียนได้ทั้งหมด 9 ประเทศ ยกเว้นพม่า 

วัฒนธรรมและสังคม 

อาเซียนมีความร่วมมือกันในด้านวัฒนธรรมและสังคม เช่น การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ การจัดตั้งกองทุนเยาวชนอาเซียน มีการแลกเปลี่ยนกันภายใต้เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนและคิดว่าโครงการจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ 

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกันป้องกันภัยที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น ภัยจากโรคระบาด และอาเซียนให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะประสบภัยประภทนี้หลายครั้ง เช่น ซาร์ส ซึ่งมีการประชุมกันสมัยรัฐบาลทักษิณปี 2003, ไข้หวัดนก, การแพร่กระจายของ HIV นอกจากนี้มีความรวมมือกันแก้ปัญหาหมอกควัน มลพิษและภัยธรรมชาติทั้งหลาย เช่น สึนามิ และไซโคลนนาร์กิสซึ่งเข้าถล่มพม่าอย่างยับเยินในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2008 เป็นต้น 

ปวินกล่าวว่า ในประเด็นปัญหาพรมแดนที่เป็นปัญหาร่วมกันประการหนึ่งของอาเซียนนั้น วิธีแก้ปัญหาคงไม่ใช่การลากเส้นเขตแดน แต่สิ่งที่จะแก้ปัญหาคือ การเปลี่ยนเส้นเขตแดนมาเป็นความร่วมมือร่วม เช่นเป็นการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ กรณีการก่อการร้ายยังเป็นประเด็นสำคัญในภูมิภาคนี้ เพราะประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีกลุ่มขบวนการอยู่ เช่น เจไอ ในฟิลิปปินส์ก็มีกลุ่มมูโร ในไทยเองก็เพิ่งมีกรณีระเบิดโดยชาวอิหร่าน 

 

ความร่วมมือกับต่างประเทศที่เป็น Dialogue Partner System

การแสวงหาความร่วมมือจากประเทศนอกประชาคม คือหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงอาเซียนเข้ากับเขตประชาคมโลกอื่นๆ เช่น ASIA-Europe Meeting, APEC เน้นเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยระยะหลังมานี้ ประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่เจรจากับอาเซียนให้ความสำคัญกับอาเซียนโดยตั้งทูตประจำอาเซียน จากเดิมที่ใช้ทูตประจำกรุงจาการ์ต้า ขณะนี้มีทูตประจำอาเซียนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลต่างๆ 5 ประเทศคือ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย 

ปวินตอบคำถามถึงกรณีที่อาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมในปี 2015 ว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทยมีข้อจำกัดทางภาษามากกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเขาเห็นว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม อยู่ที่ความพร้อมของรัฐบาลแต่ละประเทศที่จะเตรียมการในเรื่องดังกล่าวซึ่งเขาเห็นว่าไทยเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ 

ปวินยังวิพากษ์นโยบายต่างประเทศไทยในประเด็นอาเซียนว่า ก่อนหน้านี้สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรนั้น มองข้ามบทบาทของอาเซียน เพราะทักษิณเป็นคนคิดใหญ่ เห็นว่าระบบราชการเชื่องช้า ขณะเดียวกันก็ต้องการก้าวเป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งขณะนั้นมีช่องว่างให้กับผู้นำคนใหม่ เพราะมหาเธร์และลีกวนยูก็ลดบทบาทลงไปแล้ว ความทะเยอทะยานของทักษิณคือการคิดรวมเอเชียตะวันออกไปจนถึงตะวันตก ทำให้เกิด AEC และ ACMEC ทีคิดว่าไทยจะเป็นศูนย์กลาง มีการส่งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ไปสมัครเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ทั้งหมดนี้เป็นการมองข้ามบทบาทอาเซียนไปโดยเห็นว่าอาเซียนเป็นของเก่า ดำเนินงานช้า อีกทั้งไม่อยากทำสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำไว้แล้ว เพราะประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับอาเซียน 

ตัวอย่างของการไม่ให้ความสำคัญเลย คือ กรณีที่มาเลเซียและอินโดนีเซียเสนอให้นำกรณีตากใบเข้าสู่การหารือ ซึ่งทักษิณปฏิเสธโดยระบุว่าจะวอล์กเอาท์ 

หลังจากรัฐบาลทักษิณ บทบาทของไทยในอาเซียนก็ชะงักไปโดยการรัฐประหาร และรัฐบาลทหารที่ตามมา ความหวังที่จะกลับคืนสู่บทบาทสำคัญของไทยในอาเซียนก็กลับมาอยู่ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่นายอภิสิทธิ์ก็ทำลายความหวังนั้นลงไปเพราะเน้นสร้างศัตรูมากกว่าสร้างมิตร 

ปวินกล่าวว่า สำหรับรัฐบาลปัจจุบัน เขาขอแนะนำนายกยิ่งลักษณ์ ว่าวิธีเดียวที่ไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอาเซียนได้ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับอาเซียน และต้องระลึกไว้ว่าไทยไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจที่จะดำเนินบทบาทโดยปราศจากอาเซียน

สุดท้ายปวินระบุว่า อยากให้มองการพัฒนาของอาเซียนด้วยความเป็นจริง เพราะถ้าไม่มองตามความเป็นจริงก็จะคอยเปรียบเทียบกับสหภาพยุโรปตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เป้าหมายของทั้งสององค์กรนี้ต่างกัน สหภาพยุโรปนันต้องการสร้างประชาคม (Community) ขณะที่เป้าหมายของอาเซียนคือการสร้างความร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้าน (neighborhood) คือการหาเวทีเจรจากันแต่เมื่อไม่อยากจะเจรจากันก็ปิดประตูได้ 

เขาย้ำว่าหากจะมองหาอนาคตของอาเซียนก็ต้องมองจากความเป็นจริง แม้จะช้า ก็ต้องเข้าใจว่าทำไมมันถึงช้า และต้องไม่ลืมว่าประเทศในอาเซียนมีลักษณะที่ต่างกันมาก มีการปกครองสมบูรณาญาสิทธิ์แบบบรูไน คอมมิวนิสต์แบบเวียดนาม และประเทศที่เป็นอะไรก็ไม่รู้อย่างไทย เศรษฐกิจก็มีทั้งทุนนิยมสังคมนิยม 

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. ร่วมการเสวนาและกล่าวในตอนท้ายว่า สภาวะของประเทศในอาเซียนนั้นเป็นภาวะที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายต่อกันและกัน เป็นประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยอคติ ซึ่งต้องหาวิธีที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกัน การศึกษาประวัติศาสตร์จะศึกษาเฉพาะประวัติศาสตร์ของชาติตนเองไม่ได้ และทิ้งทายด้วยภาษิตรัสเซียว่า “ถ้าคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็ตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อประวัติศาสตร์โดยไม่มีข้อกังขาคุณตาบอด 2 ข้าง”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น