โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

“สยามประชาภิวัฒน์” เตือนถ้าไม่หยุดทุนผูกขาดแก้ รธน. จะเหลือทางแก้เดียวคือรัฐประหาร

Posted: 06 Feb 2012 09:53 AM PST

เสวนา “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ?” “บรรเจิด” ชี้ชาติยุโรปไม่เข้าใจประเทศไทย เพราะ 1 ครอบครัวเป็น 3 นายกรัฐมนตรี คล้าย “เกาหลีเหนือ” “สุวินัย” ชี้ยิ่งลักษณ์จะนำประเทศไปสู่หายนะ เพราะกำลังจะกู้เงินต่างชาติ ส่วน “คมสัน โพธิ์คง” ชี้ระบบการเมืองไทยอยู่ภายใต้เผด็จการทุนผูกขาดโดยพรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์ ถ้ามีการแก้ไข รธน. ได้ก็จะกลายเป็นเผด็จการพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาดอย่างสมบูรณ์แบบ และแก้ไขไม่ได้ นอกจากรัฐประหารเพียงอย่างเดียว 

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการเสวนา “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ” โดยนักวิชาการกลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” วิทยากรประกอบไปด้วย ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อดีตผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ นายคมสัน โพธิ์คง สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยมี ผศ.ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

 

“จรัส สุวรณมาลา” เสนอห้ามนักการเมืองคุมฝ่ายบริหาร-แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า สภาพสังคมไทยในตอนนี้อยู่ในรูปแบบการแย่งชิงและหักหลัง เป็นสภาพที่ทุกๆ คนในประเทศเอาภาษีไปรวมกันและก็อยากที่จะเอาเงินกองกลางเข้าสู่กระเป๋าตัวเอง ทั้งนี้ ยังมีทฤษฎีการหักหลัง ซึ่งก็มีจากการให้ของประชาชนที่ให้ตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศแทน แต่คนเหล่านั้นก็กลับหักหลังประชาชน หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ การฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยนักการเมืองจะสร้างภาพลวงตาขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำเพื่อประชาชน แต่แท้จริงแล้วต้องการเข้าถึงแหล่งทุนมากกว่า ดังนั้น ประชาชนจะต้องออกมาแฉความจริง

สังคมไทยปัจจุบันแทนที่จะคุยกันในเรื่องการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราควรที่จะคุยกันในเรื่องปฏิรูปทางการเมืองมากกว่า ว่า จะมีการออกจากระบบการผูกขาดอำนาจและมีการกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ปกครองกันเองได้อย่างไร ส่วนตัวตนไม่ปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เท่าที่ตนทราบผู้ที่ต้องการแก้ไขไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ต้องการยกระดับการโกงกินให้มากขึ้น ในตอนท้าย ตนอยากจะเสนอหลักการปฏิรูปเบื้องต้น ประชาชนต้องมีอำนาจและการออกมาเปิดเผยความจริง โดยไม่ผิดกฎหมาย และไม่ให้นักการเมืองเข้าไปควบคุมตำแหน่งของฝ่ายบริหาร หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการ

 

บรรเจิดชี้ยุโรปไม่เข้าใจประเทศไทยหนึ่งครอบครัวมี 3 นายกรัฐมนตรี คล้ายเกาหลีเหนือ

รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า วันที่ 21 ส.ค.2544 เป็นวันที่มีการอ่านคำวินิจฉัยคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่เป็นส่วนที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญของไทยถูกหักยอด เพราะมีคนๆ หนึ่งที่ใหญ่กว่าศาล จนกระทั่งเข้าสู่การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ซึ่งในวันนี้ระบบเดิมๆ ก็กำลังย้อนกลับมาสู่วังวนอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ การผูกขาดอำนาจทางการเมืองต้องถูกเรียกว่า บริษัททางการเมือง เนื่องจากกฎหมายของไทยระบุเอาไว้ว่า ผู้ใดที่จะสมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยที่พรรคการเมืองก็เป็นสมบัติส่วนบุคคลไปคุมระบบนิติบัญญัติ และบริหาร ซึ่งเป็นการควบคุมทั้งสองอย่างอยู่ที่คนๆ เดียว และตอบสนองให้คนที่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง โดยที่ประเทศในยุโรปไม่มีทางเข้าใจประเทศไทย เห็นได้จากคงไม่มีประเทศไหนที่ 1 ครอบครัว มี 3 นายกรัฐมนตรี โดยตนไม่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร แต่คงไม่แปลกหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีเหนือ แต่สำหรับประเทศไทยปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การมีเสื้อคลุมประชาธิปไตยอยู่บนบ่า แต่เนื้อในเป็นเผด็จการ

 

สุวินัยชี้ยิ่งลักษณ์จะนำประเทศไปสู่หายนะ เพราะกำลังจะกู้เงินต่างชาติ

ขณะที่ รศ.ดร.สุวินัย กล่าวว่า ระบบความคิดของทักษิณ หรือ ทักษิโณมิกส์ ที่ถูกถ่ายทอดมายัง รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเครือข่ายต่างๆ จะนำภาประเทศไปในทิศทางใด แต่ถ้าให้ตนสรุปตอนนี้ ก็คือ การนำพาประเทศไปสู่ความหายนะ ที่ทำให้สถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ไม่มีเม็ดเงินสดอยู่ในกำมือที่จะนำไปบริหารประเทศเลย แต่กลับต้องพยายามกู้เงินจากต่างชาติ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท.ให้เป็นบริษัทเอกชน เพื่อก่อให้เกิดการผู้ขาดอำนาจของประเทศ และมีการหลวงลวง ปกปิด และการทำลายความน่าเชื่อถือของการคลัง ประเทศไทยในอนาคตจะมีสภาพไม่แตกต่างจากประเทศอาร์เจนตินา หรือกรีซ ที่คนบริหารประเทศพยายามที่จะซุกหนี้ของประเทศ และการพยายามสร้างอัตราการเจริญเติบโตของประเทศที่เป็นเท็จ โดยขณะนี้ความหายนะกำลังเกิดขึ้นแล้ว หลังจากที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศ

 

คมสันเชื่อหากไม่มีใครหยุดได้ จะต้องมีรัฐประหารอีกครั้ง

ส่วนนายคมสัน กล่าวว่า ธุรกิจที่สร้างเงินได้มากที่สุด ก็คือ ธุรกิจการเมือง ที่หากินกับประชาชน ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหากับคนสามคนในตระกูลใดๆ ก็ตาม แต่ตนคิดว่าคนทั้งสามคนต่างหาที่มีปัญหากับประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมาย รวมไปถึงการกระทำชำเรากฎหมายรัฐธรรมนูญ ในขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความแตกแยกของประชาชนในชาติ และปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นก็มาจากการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอาญา มาตรา 112 การขายหุ้นของ ปตท.และการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่กลุ่มที่เผาบ้านเผาเมืองที่อ้างว่าเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งระบบผูกขาดในประเทศตอนนี้ หากไม่มีใครตั้งใจที่จะหยุดปัญหาตรงนี้ สุดท้ายก็ต้องมีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าถึงเวลานั้นจะยังมีกองทัพหรือไม่

“ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เป็นการทำมาหากินของทุนผูกขาดระดับชาติและระดับโลกทั้งสิ้น ผมคิดว่าเราคงต้องตื่นรู้และทันว่า ระบบการเมืองไทยขณะนี้เราอยู่ภายใต้เผด็จการทุนผูกขาดโดยพรรคการเมืองอย่าง สมบูรณ์ ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ วันที่ 9 ที่มีการเสนอ สำคัญกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรับข้อเสนอเข้าไป เมืองไทยจะเป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาดอย่างสมบูรณ์แบบ และแก้ไขใดๆ ไม่ได้เลยในอนาคต นอกจากรัฐประหารเพียงอย่างเดียว แต่ตอนนั้นกองทัพจะเหลือไหมที่จะให้รัฐประหาร ผมว่าคงไม่มีแล้ว เพราะว่าภายใต้เงื่อนไขนั้น กองทัพต้องอยู่ภายใต้พรรคการเมือง ผมไม่ได้พูดให้รัฐประหาร แต่กำลังจะบอกว่า ข้อเสนอที่วิปริตแบบนี้มันสร้างวิกฤตประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น

ตอนนี้เราต้องตื่นรู้ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ชูธงนำ ข้อ 1.คือต่อสู้เผด็จการพรรคการเมือง ทุนผูกขาด เราจะให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในสภาพสังคมปัจจุบัน ทุกคนติดตามประเด็นการเคลื่อนไหว ตอนนี้กลุ่มหนึ่งบอก ไม่เอาข้อเสนอบางอันเรื่องแก้ มาตรา 112 แต่อีกกลุ่มบอกว่า แก้รัฐธรรมนูญเอา แล้วเอาข้อเสนอนั้นด้วย สับขาหลอกซ้ายทีขวาที เต้นไปข้างหน้าทีถอยหลังที เราก็งงไม่รู้เต้นทางไหนไล่จับไม่ทัน แต่จุดสุดท้ายเราต้องกลับไปดูภาพรวมที่สำคัญ คือ เป็นการเคลื่อนไหวของทุนผูกขาด ที่พยายามจะมีอำนาจเพื่อผูกขาดการเมืองนำไปสู่การได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และใช้การเมืองเป็นเครื่องมืออำนาจ สุดท้ายวงจรอุบาทว์ไม่ใช่แบบเดิม วงจรอุบาทว์ปัจจุบันคือ ทุนผูกขาด ได้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง และอำนาจเอื้อทุน ทุนกลับไปสู่เรื่องการผูกขาด เอาเงินกลับมาใหม่ นี่คือ วงจรอุบาทว์การเมืองไทยในปัจจุบัน”

 

ที่มา: เรียบเรียงจากเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อมร จันทรสมบูรณ์: เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด

Posted: 06 Feb 2012 08:02 AM PST

หมายเหตุ: วันนี้ (6 ก.พ.) ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร (LT1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนา “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ?” โดยกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ในช่วงแรก ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และอาจารย์นิติศาสตร์ด้านกฎหมายมหาชน ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด” มีรายละเอียดตามที่เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานดังนี้

000

เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด
อมร จันทรสมบูรณ์ 

ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ที่ให้โอกาสผมมาชี้แจงว่าตามความเห็นของผม ขณะนี้ระบอบการปกครองของเราเป็นระบอบอะไร ในเอกสารที่ท่านมีอยู่ในมือจะเห็นว่ามีบทความอยู่ ซึ่งไม่ยาวนัก ของผมอยู่ 2 บทความ ความจริงถ้าท่านมีโอกาสไปอ่านบทความนี้ ท่านก็จะเข้าใจว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยจึงได้กลายเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน

ผมเองกำลังนึกว่าจะทำยังไงให้ท่านมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การแตกแยกก็ดี การผูกขาดอำนาจก็ดี มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใด จะพยายามอธิบายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ผมจะพยายามอธิบายเหตุผลของการที่ประเทศไทย จากระบอบประชาธิปไตย ทำไมจึงกลายเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนได้ โดยจะใช้เวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะย่อได้ แล้วท่านก็กรุณาไปอ่านบทความเองนะ ที่อยู่ในมือของท่าน

ความจริงแล้วก็จะมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นเพาเวอร์พอยท์ ซึ่งจริงๆ เป็นสี แต่ผมเข้าใจว่าท่านผู้ไปจัดพิมพ์ จัดพิมพ์น้อยเกินไป เพราะฉะนั้นก็จะมีบางท่านที่มีเพาเวอร์พอยท์ที่เป็นสีอยู่ในมือ บางท่านก็จะไม่มี

ในบทความอันหลังที่สุดที่ผมได้เขียนไว้ ถ้าหากท่านดูจากหัวข้อในเอกสารที่ท่านมีอยู่ในมือ ท่านจะเห็นว่าบทความบทแรกเราตั้งชื่อไว้ว่า จากระบอบประชาธิปไตย 2475 มาเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภาในปัจจุบัน

ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา เราเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ขนาดยังไม่รู้ว่าทำไมในปี พ.ศ.2535 มันเกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมจึงกลายเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนไปได้ ดังนั้นเพื่อที่จะให้ท่านมองเห็นตรงนี้ เราก็จะเอาตัวบทของรัฐธรรมนูญต่างประเทศมาให้ท่านดูว่าหลักเกณฑ์ของความเป็นประชาธิปไตยนั้นเป็นยังไง แล้วทำไมในปี 2535 เราจึงกลายเป็นระบบเผด็จการไปได้

ในตอนแรกเราจะเห็นว่าขณะนี้เรามีประเด็นเรื่องความปรองดอง ข้างหน้านี่ก็อาจจะมีพระราชบัญญัติความปรองดองแห่งชาติ โผล่ขึ้นมา ผมถึงบอกว่าความปรองดองนั้นมันไม่ใช่เรื่องออกกฎหมาย บังคับให้คนต้องกอดกัน แต่ความปรองดองนั้นมันเกิดขึ้นด้วยการทำถูกให้เป็นถูก ทำผิดให้เป็นผิด

แต่ตรงนี้เราไม่ได้พูดเรื่องความปรองดอง วันนี้เรามาพูดเรื่องว่าเราเป็นเผด็จการ หรือเป็นประชาธิปไตย ผมจะเริ่มต้นว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา ทำไมผมจึงว่าอย่างนั้น ดังนั้นเราจะเอาตัวบทรัฐธรรมนูญมาเรียงให้ท่านดู ว่าทำไมจากประชาธิปไตยดีๆ ปี 2535 เรากลายเป็นเผด็จการไปได้ ดังนั้นตรงนี้ผมก็จะเอาตัวบทรัฐธรรมนูญของเราตั้งแต่ต้น มาเรียงจนกระทั่ง ณ ปัจจุบัน แล้วดูซิว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของเราค่อยๆ เปลี่ยนไป จนกระทั่งกลายเป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนเต็มรูปแบบได้ยังไง

เพื่อที่จะให้ย่อเข้ามา ผมก็จะเอารัฐธรรมนูญต่างประเทศ ที่เราถือว่าเป็นประชาธิปไตย มีตัวบทอะไรบ้างที่สำคัญๆ เอามาให้ท่านดูก่อนว่าระบอบประชาธิปไตยของสากลเขาถือหลักอะไรบ้าง จริงๆ แล้วการเลือกตั้งนั้นจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 1. สิทธิการเลือกตั้ง 2. สิทธิการรับสมัครเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นสิทธิการเลือกตั้งของเรา เป็น Universal Suffrage คือบุคคลทั่วไปมีสิทธิ์ที่จะเลือกตั้งได้ ยกเว้นแต่เด็กที่ยังไม่มีความรู้สึกผิดชอบ แต่สิ่งที่นักวิชาการ หรืออาจารย์ของเราลืมไปก็คือ สิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง

สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งนั้น ที่เป็นประชาธิปไตย บุคคลทุกคนต้องมีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่สังกัดพรรค

ประการที่ 2 พรรคการเมือง ใครจะตั้งก็ได้ ไม่ตั้งก็ได้ และประการที่ 3 ก็คือ เมื่อได้รับเลือกตั้งมาแล้ว ผู้ที่เป็นผู้แทนราษฎรนั้น มีสิทธิ์ที่จะใช้ดุลพินิจของตนเองในการบริหารประเทศตามมโนธรรมของตนเอง ไม่ใช่ว่าได้รับเงินมาแล้วต้องตามคำสั่งของเจ้าของพรรคการเมือง

ผมอยากจะให้ท่านผู้ฟังนึกดูว่า มีประเทศไหนบ้างที่เวลาจะตั้งรัฐมนตรี คนต้องบินออกไปนอกประเทศ ออกไปปรึกษานายทุนพรรคการเมือง เห็นไหมครับนี่เป็นสิ่งผิดปกติแล้ว

ประการที่ 2 มีที่ไหนบ้างที่ ส.ส.ในสังกัดพรรคการเมือง พอมีตำแหน่งว่าง ให้ภรรยาหัวหน้าพรรคเป็น โดยสมาชิกพรรค ส.ส.บอกว่าข้าพเจ้าไม่เป็น ถามว่าทำไมเขาถึงไม่อยากเป็น นึกดูให้ดีนะครับ เหตุการณ์เหล่านี้ที่มันเกิดขึ้น มันแสดงความผิดปกติของระบบสถาบันการเมืองของเรา ทำไมถึงไม่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ทำไมถึงเกิดขึ้นในประเทศไทยประเทศเดียว ก็เพราะว่ารัฐธรรมนูญของไทยนั้น ระบบบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค ระบบให้พรรคการเมืองมีอำนาจไล่ ส.ส.ได้ แล้วยังเขียนว่า หัวหน้าพรรคเท่านั้นที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้

สามบทบัญญัตินี่ล่ะครับเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญของไทยประเทศเดียวในโลก แต่ท่านอย่าเพิ่งนึกไปไกล ถามว่าทำไมอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของเราไม่สอน ถามตรงนี้สิครับ อาจารย์มหาวิทยาลัยทำไมไม่สอน เราเรียนรัฐธรรมนูญมา 80 ปี แต่ไม่มีใครสอน แล้วแถมยังมาบอกว่านี่คือระบอบประชาธิปไตย นี่ผมบอกให้ท่านคิดนะครับ ทำไมเหตุการณ์อย่างนี้มันเกิดขึ้น แล้วทำไมอาจารย์ของเราไม่สอน เพราะอะไร ก็เพราะว่าการสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัยของเรานั้นไม่ได้มาตรฐานสากล

คราวนี้เราดูซิว่ามาตรฐานสากลมียังไง เมื่อกี้ผมบอกแล้วว่า การเลือกตั้งมีสิทธิอยู่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ สิทธิมาออกเสียงเลือกตั้ง อีกด้านหนึ่งก็คือสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีอิสระในการไม่สังกัดพรรค พรรคการเมืองต้องตั้งได้โดยเสรี และเมื่อได้เป็นผู้แทนมาแล้ว ต้องสามารถใช้มโนธรรมของตนบริหาร ออกเสียงบริหารประเทศได้ นี่คือหลักประชาธิปไตย

ก่อนที่เราจะมาดูวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย ผมอยากจะให้ท่านดูรัฐธรรมนูญต่างประเทศ ว่าหลักนี้พอออกมาเป็นตัวบทแล้วมันเป็นยังไง ซึ่งความจริงอันนี้เราได้พิมพ์อยู่แล้วในเอกสารที่ท่านแจกไป แต่บังเอิญมันไม่เป็นสี ฉะนั้นถ้าท่านดู เราจะเรียงลำดับ จะเห็นสีชัดเจน เราจะเห็นว่าในเฟรมแรกที่อยู่บนจอ จะเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนี ท่านเห็นไหมครับ 2 ตัวบทนี้ ในมาตราแรก เราจะเห็นว่า ส.ส.นั้นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรมของตน

ในวรรค 2 ท่านเห็นไหมครับ ตัวแดง ทุกอย่างจะต้องมี Democratic Principal ถามว่า Democratic Principal อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ผมบอกนี่ไงครับ เสรีภาพในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต้องมีความเป็นอิสระในการที่จะใช้มโนธรรมของตนในการใช้สิทธิในการเป็น ส.ส.ในการโหวตรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่โหวตตามคำสั่งของนายทุนพรรคการเมือง

ในช่วงแรกเราจะเห็นว่าจะมีบทบัญญัติ ท่านสังเกตกรอบนะครับ กรอบสีแดงจะเป็นกรอบของกฎหมายต่างประเทศ พอจบกรอบสีแดงแล้วก็จะเป็นรัฐธรรมนูญของไทย เพื่อที่จะดูว่ารัฐธรรมนูญไทยได้บิดเบือนหลักการของความเป็นประชาธิปไตยอย่างไร

ต่อไปเฟรมที่ 2 จะเป็นรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส เห็นไหมครับ สีแดงในตอนท้าย เขาบอกว่า จะต้องเคารพ Principal of Democracy เราไม่มี ข้างบนนั้น มาตรา 27 ส.ส.ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติใดๆ ใครสั่งมาก็ไม่ได้ แต่ของเรานี่ได้รับซองมา เราสั่งได้

เราจะเห็นว่าบทบัญญัติหลักของประเทศที่สำคัญที่สุดในยุโรปคือ ฝรั่งเศส กับเยอรมัน เขาเขียนอย่างนี้ แล้วลองดูว่าในประเทศอื่นๆ เขียนอย่างไรบ้าง

จากรัฐธรรมนูญของเยอรมัน กับฝรั่งเศส ต่อไปก็เป็นรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ ใกล้ๆ เรานี่เอง เราจะเห็นนะครับ ตัวสีน้ำเงิน ว่า ส.ส.จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมโนธรรมของตนเอง

ต่อไปก็จะเป็นรัฐธรรมนูญของเดนมาร์ก เขาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมโนธรรม แล้วก็ใครจะมาให้ Direction ใดๆ ไม่ได้ รวมทั้งผู้ที่เลือกตั้งมาด้วย

ต่อไปก็เป็นรัฐธรรมนูญของสเปน เราจะเห็นว่า หลักของ Democracy ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญสำคัญๆ ทั้งนั้น อันนี้เฟรมเปลี่ยนสีแล้ว แสดงว่าจบสำหรับต่างประเทศ ขณะนี้ท่านเข้าใจแล้วว่า Democratic Principal หรือ Principal of Democracy คืออะไร

ดูซิว่า รัฐธรรมนูญของเราเคารพต่อหลักการของความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ผมก็บอกว่าต่อไปนี้เราจะดูรัฐธรรมนูญของประเทศไทย เรียงตามลำดับนะครับ ตั้งแต่ปี 75 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ถ้าท่านดูเฟรมสีเขียว ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมรัฐธรรมนูญไทย ผมจึงเริ่มต้นด้วยฉบับที่ 2 ทำไมไม่เริ่มต้นด้วยฉบับที่ 1 แต่ท่านจะรู้ว่าทำไมผมไม่เริ่มต้นด้วยฉบับที่ 1 ก็พลิกไปอ่านสิครับ อยู่ในเอกสารของท่านนะครับ เพราะในฉบับที่ 1 นั้น เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของเรา ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ร่าง

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เมื่อปี 75 เขาเรียกคณะรัฐมนตรีว่า คณะกรรมการราษฎร เขาไม่ได้เรียกว่าคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ใช้อยู่ได้ราว 6 เดือน ก็ถูกเปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญที่เรารู้กัน คือที่รัชกาลที่ 7 ได้มาเขียนให้ พระราชทานให้มา

ท่านรู้ไหมครับว่าในสมัยนั้น รัฐธรรมนูญที่เรียกฝ่ายบริหารว่าเป็นคณะกรรมการราษฎรนั้น คือรัฐธรรมนูญของประเทศไหน ท่านอาจจะไม่รู้ เพราะไม่มีการสอน รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่เรียกคณะรัฐมนตรีว่าเป็นคณะกรรมการราษฎรนั้น มาจากรัฐธรรมนูญประเทศรัสเซีย รัสเซียนี่รัฐธรรมนูญปี 1918 เรียกคณะมนตรีว่าคณะกรรมการราษฎร คือ People's Commissar รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของเรามาเปลี่ยนนิดหน่อยก็คือว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของเรานั้นยังมีพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าท่านจะรู้หรือไม่รู้ ขณะนี้ ผมอยากจะพูดว่า สิ่งที่ผมเขียนลงไปในนี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของเรานั้นเรียกคณะรัฐมนตรี ว่าคณะกรรมการราษฎรนั้นมาจากรัสเซีย ผมเชื่อว่านี่เป็นเอกสารฉบับแรกที่เขียนถึง

เพราะฉะนั้นเราตัดออกไป เราจะดูตั้งแต่รัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่ 2 ในรัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่ 2 นี้ ถ้าท่านดู ถ้าท่านมีเอกสารที่เป็นสี ท่านจะเห็นว่าเฟรมของรัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนสีไป ในเฟรมรัฐธรรมนูญช่วงแรกนั้นมี 6 ฉบับ ฉบับที่ 2 ท่านดูนะครับ เราจะเห็นว่าเราเดินตามหลัก Principal of Democracy คือ ส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ภายใต้ความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ คำปฏิญาณตนก็จะอยู่ในแนวทางเดียวกัน ลองดูสิครับว่าหลักเกณฑ์นี้ Principal of Democracy เปลี่ยนเมื่อไร

ต่อไปครับ ฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 เราจะเห็นว่าคงเดิม ฉบับที่ 4 เราก็จะเห็นว่ายังคงอยู่ ไม่อยู่ภายใต้ความผูกพันแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ ต่อไปเราก็จะเห็นว่าฉบับที่ 5 ก็ยังเหมือนเดิมอยู่ ฉบับที่ 6 เราก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2495 ก็ยังเหมือนเดิม เพราะว่าเอามาจากปี 75 ต่อไปรัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 ปี 11 เราก็จะเห็นว่าสถานภาพกับคำปฏิญาณยังคงเหมือนกัน

ต่อไปท่านจะเห็นว่าเฟรมเปลี่ยนสีแล้ว เราจะเห็นว่าจนกระทั่งถึงฉบับที่ 8 เรายังคงยึดหลัก Principal of Democracy ถ้าคุณดูต่อมา ท่านก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ฉบับที่ 10 ท่านรู้ไหมครับรัฐธรรมนูญฉบับ 17 เริ่มการบังคับสังกัดพรรค ความจริงผมยังเขียนบทความไม่จบ เพราะถ้าเขียนบทความจบ ท่านจะเห็นเลยว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการบังคับสังกัดพรรคเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อย่าลืมนะครับ การบังคับสังกัดพรรคนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นตามหลักของความเป็นประชาธิปไตย

เราจะเห็นว่า ในฉบับแรก การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจนั้นถูกตัดออกจากสถานภาพ ไม่มีแล้ว แต่มาเขียนไว้ในคำปฏิญาณ นี่คือ ฉบับแรกนะครับ ฉะนั้นในฉบับแรกกฎหมายของรัฐธรรมนูญของเราบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค แต่บอกว่าถ้าจะเปลี่ยนพรรค หรือถูกพรรคไล่ออก สามารถไปหาพรรคการเมืองใหม่เป็นสมาชิกต่อไปได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นบทบัญญัติเริ่มต้นของการบังคับให้สถานะ แต่ยอมให้เปลี่ยนได้ เริ่มเป็นต้อหิน คือบอดไป 1 ใน 4 เป็นฉบับที่ 13

อันที่ 8 ท่านดู ไม่เหลือแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่มีแล้ว เรื่องสถานภาพ และในคำปฏิญาณ เพียงแต่บอกให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแก่คนที่จ่ายเงิน ตัวบทมันฟ้อง รวมทั้งฟ้องอาจารย์ของเราด้วยที่ไปช่วยเขียนรัฐธรรมนูญ

ตรงนี้ถ้าท่านไปดูตัวบท รัฐธรรมนูญบอกว่า พรรคการเมืองมีอำนาจไล่ ส.ส.ออกได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราเป็นต้อหินเต็มตาแล้ว

แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 ตรงนี้เราจะเห็นว่า ปี 34 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 สังเกตดูดีๆ ผมไม่ได้บอกว่า รัฐธรรมนูญอันนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เท่าไหร่ของประเทศไทย เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งๆ ที่เขียนใหม่ เรียงมาตราใหม่ แต่อาจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญของเรานับไม่เป็น คือไม่นับ เหตุที่ไม่นับคือ บังเอิญมีหนังสือ 1 เล่มเขาไม่นับ เราเลยไม่นับไปด้วย แสดงให้เห็นว่า อาจารย์ที่สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญของเราไม่เคยสังเกต

ในเอกสารเขียนว่า ที่เราถือว่ารัฐธรรมนูญเราขณะนี้มี 18 ฉบับนั้นผิด มี 19 ฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนใหม่ ชื่อว่า แก้ไขเพิ่มเติมแต่มาตราไม่ตรงกัน อาจารย์ที่สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่รู้ว่ามาตราไม่ตรงกันแล้วจะอ้างได้อย่างไร

ดังนั้น ตรงนี้ ก่อนมาถึงเพิ่มเติมฉบับที่ 5 ผมมีข้อสังเกต เราจะเห็นว่าก่อนตรงนี้ เราจะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 โดยมีรัฐประหารแล้วยกร่างเป็นรัฐธรรมนูญปี 34 ปี 34 ท่านจำได้ไหมว่าเราเคยมีคณะรัฐมนตรี 1 คณะอยู่เพียง 6 เดือน ได้เติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 34 หลังพฤษภาทมิฬว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง อะไรเกิดขึ้น ผมชี้ให้เห็นแล้วว่า เราไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะเรา ส.ส.สังกัดพรรค พรรคการเมืองมีอำนาจไล่ ส.ส.ได้ คนที่เติมอันสุดท้ายลงไปว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ทำให้เราตาบอด หมายความว่า คนที่ผูกขาด เป็นอำนาจผูกขาดเผด็จการโดยพรรคการเมือง นายทุนถ้าลงทุนแล้ว หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีได้

เราจะเห็นว่า ตลอดเวลาจนถึงรัฐธรรมนูญปี 34 ที่มาเติมว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ยังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยเป็นเผด็จการไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราบอดสนิท หายจากการเป็นต้อหิน เราจะเห็นว่า พอเราเป็นต้อหินแล้ว ตาบอดสนิทแล้ว ก็จะมาถึงรัฐธรรมนูญปี 40 นอกจากบอดสนิท ถ้าท่านจำได้เราได้เติมบทบัญญัติลงไปว่า ส.ส.เมื่อเวลายุบสภาแล้ว เปลี่ยนพรรคไม่ได้ต้องเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย 90 วันก่อนเปลี่ยน หมายความว่า นายทุนต้องมีอำนาจเด็ดขาด และบทบัญญัติเช่นนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก และคิดว่าขณะนี้ท่านเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้นปี 50 ก็เหมือนกัน สังเกตดูให้ดีว่า ไม่มีสีน้ำตาล แต่มีสีน้ำเงินเพิ่มมา ไม่อยู่ในความผูกมัด ทำไมถึงมี ทั้งที่ตัวบทไม่ได้แก้เลย หมายความว่า คนร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ต้องการหลอกนักวิชาการต่างประเทศว่าเราเป็นประชาธิปไตย โดย ส.ส.ให้อิสระไม่อยู่ภายใต้ผูกมัดใดๆ ทั้งที่ในตัวบทพรรคการเมืองมีอำนาจปลด ส.ส.แสดงให้เห็นถึงถึงความไม่เป็นกลางของความเป็นนักวิชาการที่ไปเขียนรัฐธรรมนูญเหล่านี้ขึ้น

ดังนั้น คิดว่า ขณะนี้ท่านมองเห็นวิวัฒนาการจากตัวบทจริงๆ ส่วนข้างหน้าท่านจะคิดว่าเราจะแก้ไขอย่างไร จะมีท่านที่ร่วมอภิปรายต่อถึงระบบเผด็จการในพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภาก่อให้เกิดอะไรขึ้น ถ้าย้อนไปดูจากปี 35 พรรคการเมืองที่มาต่อสู้ในสภาเป็นพรรคการเมืองนายทุนทั้งสิ้น ระยะแรกจะเป็นพรรคการเมืองของนายทุนท้องถิ่น แย่งกันจับขั้วกันเอง และแย่งกันเป็นนายกฯ ลองย้อนไป ผมจะไม่เอ่ยชื่อใครทั้งนั้น ลองนึกว่า จากปี 34 - ปี 42 พรรคการเมืองนายทุนท้องถิ่นสลับขั้วกันอย่างไร หลังจากนั้นมา นายทุนระดับชาติมองเห็น ร่วมลงทุนมากหน่อย ใหญ่กว่านายทุนท้องถิ่น จึงซื้อทั้งผู้สมัคร ส.ส.ซื้อผู้ที่เป็น ส.ส.แล้ว และซื้อพรรคการเมือง ซึ่งจะเห็นว่า นายทุนท้องถิ่นระดับชาติกระโดดเข้ามาในระบบเผด็จการในพรรคการเมืองนายทุน เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ เพราะระบบรัฐสภาของเราคือใครคุมเสียงข้างมากในสภา คนนั้นเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นจึงซื้อเสียงเข้ามา และผูกขาดอำนาจพรรค และคอร์รัปชั่น และเอาเงินไปซื้อเสียงกลับเข้ามาอีก

ท่านมองเห็นปัญหาได้ ทำไมขนาดนี้ไม่มีนักการเมืองใดที่บอกว่า เขาเป็นเผด็จการในพรรคการเมืองนายทุน เพราะเขาได้ประโยชน์ เขาแข่งขันเพื่อมาคอร์รัปชั่น แต่การที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นใหม่ เราต้องสร้างจากพื้นฐานจริงๆ ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ 1.ข้าราชการประจำต้องเป็นกลาง 2.ระบบการกระจายอำนาจต้องดี 3.กระบานการยุติธรรมต้องดี ถ้าถามว่า 3 พื้นฐานของการปกครองประเทศ เราจะพัฒนาได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาจากคณาจารย์ที่สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบคนตาบอดคลำช้าง

อาจารย์ประเภทคนตาบอดคลำช้าง เขาตาบอด เมื่อเขาไปคลำตรงไหนก็สอนตรงนั้น เขาไม่เคยรู้จักเลยว่าช้างตัวใหญ่ รูปร่างเป็นอย่างไร และมันเดินได้อย่างไร พระมหากษัตริย์อยู่ส่วนไหนของช้างยังไม่รู้เลย

ผมอยากสรุปว่า ถ้าเราจะแก้ปัญหาประเทศไทย ต้องแก้ที่ระบบสถาบันการเมืองก่อน เพราะว่า ถ้านักการเมืองไม่แก้ ก็คงไม่มีใครแก้เนื่องจากเขาได้ประโยชน์ และไม่มีใครแก้ ดังนั้น ขอให้ช่วยกันคิดว่า ถ้านักการเมืองไม่แก้ระบบสถาบันการเมืองคนไทยจะทำอย่างไร ผมจึงขอขอบคุณ และจบการบรรยายเพียงเท่านี้ครับ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดัน 'ยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่ 2555-59' ประกาศใช้เดือน มี.ค.

Posted: 06 Feb 2012 06:52 AM PST

ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 คณะทำงานฯ เร่งจัดทำร่างยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่ พ.ศ.2555-2559 ให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2555 หวังให้ทันการระบาดซ้ำของไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ปีนี้ ขณะที่ ผอ.สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่เผย ร่างยุทธศาสตร์ฯ อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ก่อนส่ง ครม.ให้ความเห็นชอบและเผยแพร่ โดยเน้นการจัดการกระบวนการเลี้ยงสัตว์ สุขภาพสัตว์ และสัตว์ป่าให้ปลอดโรค เพิ่มขึ้น ขณะที่ระบบเฝ้าระวังป้องกัน รักษา และควบคุมโรคในคน เตรียมพัฒนาจัดทำเป็น "เอกาสุขภาพ"

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะเลขานุการคณะจัดทำแผนยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามมตินี้ต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยระบุว่า หลังสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ป้องกัน แก้ไข และเตรียมพร้อมรับปัญหาโรคไข้หวัดนกและการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2553) กอปรกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อบริหารจัดการโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการ เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนและนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการนั้

ขณะนี้ ทางคณะทำงานฯ ที่มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานผู้แทนองค์กรอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ประชุมกับผู้เกี่ยวข้องระดับผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 20 ครั้ง จนได้ร่างยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ  พ.ศ.2555-2559 และได้วางแผนการประชาพิจารณ์ภายในเดือนมีนาคม 2555 จากนั้นจึงจะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก่อนนำไปเผยแพร่ โดยการขับเคลื่อนจะจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ พร้อมระบุหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติและใช้กลไกในรูปของคณะกรรมการที่จัดตั้งเพื่อการขับเคลื่อน ติดตาม กำกับและประเมินผลต่อไป

สาระสำคัญของร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับใหม่ดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยขยายความจากแผนยุทธศาสตร์ฉบับเดิมที่จำกัดเพียงโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งนับเป็นการปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันและกระแสโลก เช่น แนวคิดเรื่อง "เอกาสุขภาพ" (One Health) ภาวะโลกร้อน การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การใช้กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 และยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ฯ ได้จำแนกออกเป็น    5 ข้อหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคให้เป็นเอกาสุขภาพ 2.จัดการระบบการเลี้ยงสัตว์ สุขภาพสัตว์ และสัตว์ป่า ให้ปลอดโรค 3.พัฒนาระบบจัดการความรู้และการส่งเสริมวิจัยพัฒนา 4.พัฒนาระบบบริหารจัดการเชิงบูรณาการและเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และ 5.มีการสื่อสารความเสี่ยงและทำการประชาสัมพันธ์ 

“ที่ต้องนำเรื่องสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม บรรจุในร่างยุทธศาสตร์ฯ ด้วยก็เพราะโรคอุบัติใหม่กว่า 70% บนโลกเกิดขึ้นจากสัตว์ทั้งหมด มีบางกรณีที่มีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น โลกร้อน ภัยพิบัติ ที่เกิดจากการทำลายธรรมชาติโดยมนุษย์ ฉะนั้น ถ้าเราต้องการให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น กระบวนการในการปกป้องดูแลจะต้องไม่จำกัดอยู่แค่ในมนุษย์ต่อไป แต่ต้องมองหลายมิติและจัดทำเป็นพหุภาคีมากขึ้นในแบบเอกาสุขภาพ คือนำเอา คน สัตว์ สิ่งแวดล้อม มาผนวกรวมเข้าด้วยกันในกระบวนการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดผลที่มีประสิทธิภาพกว่า จากนี้ก็จะจัดประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ฯ ก่อนนำเสนอ ครม.ขอความเห็นชอบ พร้อมประกาศใช้ภายในเดือนมีนาคม ซึ่งหวังว่าน่าจะทันก่อนไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่จะระบาดในปีนี้” นพ.รุ่งเรือง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิถีเมล็ดพันธุ์แห่งแรงงานตัดอ้อยพันธสัญญา

Posted: 06 Feb 2012 02:15 AM PST

วิถีเมล็ดพันธุ์แห่งแรงงานตัดอ้อยพันธสัญญา

เมล็ดฟักทองสีแสดอ่อนถูกนำมาผึ่งลมไว้บนถุงปุ๋ย เป็นวิธีการเตรียมเพาะเมล็ดพืชเพื่อนำไปปลูกลงดินให้เผชิญกับสภาพแวดล้อมของโลกอันกว้างใหญ่ ประดั่งจุดเริ่มต้นของชีวิตเด็กน้อยชาวกุยแห่งบ้านตูมที่กำลังถูกบ่มเพาะเพื่อให้งอกขึ้นมา เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ถูกโอบอุ้มด้วยมือของพ่อแม่เพื่อเคลื่อนย้ายไปในดินแดนที่มีไร่อ้อยหนาตาอยู่เป็นประจำ

ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์กุย จากบ้านตูม อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ ได้เคลื่อนย้ายแรงงานมากว่า 2 ทศวรรษ กอปรกับมีการเคลื่อนย้ายจำนวนแรงงานเกือบทั้งหมู่บ้านเพื่อไปตัดอ้อยทั่วประเทศ รวมถึงมีบางคนได้ตัดสินใจข้ามชาติไปตัดอ้อยที่มาเลเซีย ดั้งนั้นวิถีแห่งแรงงานและเมล็ดพันธุ์เหล่านี้เมื่อออกจากฝักก็ต้องเดินทางสู่ป่าอ้อยเรื่อยมา เพราะฉะนั้นโลกของเขาจึงมีบางแง่มุมที่แตกต่างจากการเดินทางท่องเที่ยว ความกินดีอยู่ดีของคนรวย และที่พักสบายๆ ของใครบางคนในโลกนี้

 

บางมุม : โลกแห่งแรงงานและวิถีเมล็ดพันธุ์เมื่อไกลบ้าน

ฤดูหนาวเริ่มต้นขึ้นเป็นสัญญาณบ่งบอกให้แรงงานพ่อแม่ลูกอ่อน เตรียมตัวเดินทางจากบ้านเกิดเพื่อเคลื่อนย้ายแรงงานตนไปตัดอ้อยในจังหวัดห่างบ้าน ชีวิตของ 5 ครอบครัว กว่า 20 ชีวิตจากบ้านตูม ได้ทำพิธีกรรมไหว้ผู้เฒ่าผู้แก่ประจำตระกูล โดยมีเหล้าขาวราดรดลงกองดินเพื่อบอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้เฒ่าจะผูกด้ายขาวพร้อมกับส่งเสียงอวยพรให้มีแต่ความปลอดภัยและหาเงินกลับบ้านได้มากๆ

วันที่ 15 ธันวาคม 2554 ล้อรถบรรทุกของเถ้าแก่หัวหน้าโควตาอ้อย ได้บรรทุกคนกลุ่มชาติพันธุ์กุยกลุ่มนี้เดินทางจากบ้านเกิดเพื่อมาใช้แรงงานตัดอ้อยที่ บ้านคุยชัย ตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม และท่ามกลางค่ำคืนที่หนาวเหน็บ แสงไฟได้ถูกสุมขึ้นหน้าเพิงพักที่สร้างด้วยสังกะสีเก่าหลังเล็กๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น

วิถีเมล็ดพันธุ์แห่งแรงงานตัดอ้อยพันธสัญญา

แสงไฟบรรเทาความหนาวหน้าเพิงพักของแรงงาน

สถานที่สร้างเพิงพักได้เคยเป็นที่ตั้งแคมป์เดิมของชาวบ้านตูมกลุ่มแรก ที่มาบุกเบิกการตัดอ้อยในแถบนี้ ซึ่งจะประกอบไปด้วย สระน้ำใช้ ป่าอ้อยรายรอบที่ได้ใช้เป็นสุขา และเถ้าแก่จะให้ยืมรถไถ 1 คัน สำหรับรับ-ส่งแรงงานระหว่างแคมป์กับไร่อ้อย สาธารณูปโภคแค่นี้ ถึงแม้บ่นว่าไม่สะดวกเท่าไหร่ แต่ต้องสู้เพื่อเอาชีวิตตัวเอง และเมล็ดพันธุ์แห่งสายเลือดให้อยู่รอดต่อไป

เด็กน้อย 5 ชีวิตได้ติดตามพ่อแม่มาผจญกับป่าอ้อยที่มหาสารคาม ซึ่งบางคนอยู่ในวัยที่ควรได้รับโอกาสทางการศึกษา และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ แต่ด้วยโครงสร้างการกระจายรายได้ในระบบการผลิตน้ำตาลที่รายได้ตกไปอยู่กับเจ้าของทุนมากกว่าแรงงาน จึงทำให้ความแร้นแค้นตกอยู่กับแรงงานเหล่านี้มาหลายทศวรรษ

นอกจากนี้เด็กบางคนเริ่มผูกผ้าคลุมหน้า จับพร้าออกแรงตัดอ้อยร่วมกับบุพการี บางคนเริ่มเรียนรู้ชีวิตในป่าอ้อย สลับกับการดูแลน้องเล็กในเปลผ้าขาวม้าอย่างมิละสายตา จรดการตัดอ้อยสิ้นสุดจึงจะกลับไปที่แคมป์พร้อมกับผู้เป็นแม่ซึ่งไปหุงหาอาหาร ส่วนผู้เป็นพ่อถ้าไม่ได้เผาอ้อยก็จะออกหา นก หนู ปู ปลา มาเตรียมไว้เป็นอาหารสำหรับมื้อต่อไป สายตาของชายหนุ่มมุ่งมั่นเสมือนมีความหวังมากกับอาหารที่ไม่ต้องซื้อ ทั้งนี้แคมป์ก็อยู่ไกลเกินไปสำหรับคนที่ไม่มีรถไปตลาด ดั้งนั้นพวกเขาจะแก้ปัญหาโดยหาอาหารตามธรรมชาติ และจะออกไปตลาดครั้งละสัปดาห์เพื่อซื้อของใช้ที่จำเป็นมาตุนไว้

วิถีเมล็ดพันธุ์แห่งแรงงานตัดอ้อยพันธสัญญา

วิถีเมล็ดพันธุ์แห่งแรงงานตัดอ้อยพันธสัญญา

การตัดอ้อยช่วยพ่อแม่และการใช้ชีวิตในป่าอ้อยของเด็กน้อยชาวกุย

สมหมาย ละครศรี แม่ลูกอ่อนถ่ายทอดบรรยากาศ การไปตลาดว่า เราไปซื้อของมาเก็บไว้ บางครั้งเราได้เจอพี่น้องบ้านตูมเดินตลาดก็รู้สึกดีใจ ต่างมีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง ทั้งเรื่องความทุกข์ ความสุขปนเปกันไป การคุยอย่างออกอรรถรสด้วยประสบการณ์การตัดอ้อยต่างถิ่น “มาตัดไส เป็นจั่งไดแน่” เป็นประโยคคลาสสิกที่ถูกเอ่ยออกมาเมื่อเจอหน้าคนบ้านเดียวกัน

 

ออกแรงตัดอ้อยแลกเงิน

เสียงเพลงจากทรานซิสเตอร์ดังขึ้นกลางแคมป์ ในรุ่งอรุณที่ 5 มกราคม 2555 แรงงานหลายคนตื่นตั้งแต่ตี 4 มาเตรียมสำรับอาหารเพื่อออกเดินทางไปตัดอ้อยเมื่อฟ้าสาง แรงงานอัดกันแน่นบนรถไถนาเพื่อไปยังไร่อ้อยที่เผาไว้เมื่อคืน ซึ่งห่างแคมป์ประมาณ 1 กิโลเมตร ทุกคนขนสำภาระลงใต้ร่มไม้ใกล้เถียงนาและรับประทานอาหารเช้าก่อนลงแรงตัดอ้อย

การตัดอ้อยเริ่มขึ้นประมาณ 7 โมงเช้า ชายหนุ่มพ่อลูกอ่อนเริ่มตัดเป็นคนแรก และตามด้วยคนอื่นๆ การตัดอ้อยจะแบ่งกันตัดครอบครัวละ 3 แถวเป็นแนวยาวจนสุด ค่อยกลับมาเริ่มแถวใหม่ไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาเลิกงาน ส่วนรายได้ของการตัดอ้อยจะขึ้นอยู่กับจำนวนหมัดที่ตัด และอ้อยที่ถูกแบกขึ้นรถว่าได้จำนวนกี่ตัน โดยเฉลี่ย 1 หมัดจะเท่ากับ 1 บาท และน้ำหนักที่แบกขึ้นรถเฉลี่ยตันละ 40-50 บาท ซึ่งสมหมาย จะเป็นคนบันทึกจำนวน จนกว่าวันสิ้นสุดการตัดอ้อยถึงจะไปรับเงินกับเถ้าแก่ ซึ่งต้องหักออกจากเงินที่เถ้าแก่จ่ายให้ก่อนมาตัดอ้อย

วิถีเมล็ดพันธุ์แห่งแรงงานตัดอ้อยพันธสัญญา

วิถีเมล็ดพันธุ์แห่งแรงงานตัดอ้อยพันธสัญญา

เหล่าเมล็ดพันธุ์ได้ร่มไม้เป็นที่หลับนอน และนั่งเล่น

 

ชีวิตเปรียบดังกล้าอ่อนของแรงงาน

วิถีเมล็ดพันธุ์แห่งแรงงานตัดอ้อยพันธสัญญา

พันนา ยาดี (หนุ่ม) อายุ 20 ปี เขาเสมือนกล้าอ่อนของแรงงานตัดอ้อยพันธสัญญา เพราะเพิ่งเริ่มมาตัดอ้อยเป็นครั้งแรก แต่ประสบการณ์ในการใช้แรงงานเขาไม่ต่ำกว่า 10 ปี เนื่องจากตอนเป็นเด็กได้ติดตามพ่อไปตัดอ้อย พออายุเข้า 10 ขวบ เริ่มใช้แรงช่วยพ่ออย่างจริงจังที่ไร่สัปปะรด ในจังหวัดระยอง

การเดินทางในครั้งนี้เขามาพร้อมสาวคู่ใจจากเมืองระยอง ทั้งสองตัดอ้อยช่วยกัน แต่เจอปัญหาเมื่อเท้าแฟนสาวของหนุ่มเริ่มมีอาการเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ จากบาดแผลเดิม หนุ่มเลยบอกให้แฟนหมัดอ้อยแทน การตัดอ้อยดำเนินไปท่ามกลางแดดที่เริ่มแผดเผาทั้งคนและต้นอ้อยที่ถูกไฟไหม้ จนทำให้เหงื่อชุ่มไปทั่วตัว ทั้งน้ำตาลได้ซึมทะลุผ่านเปลือกอ้อยออกมา ความเหนียวผสมกับขี้เถ้าสีดำเปื้อนตามมือและร่างกายของชายหนุ่ม แต่ด้วยเหตุผลที่ “เขาบอกว่ามันดี เลยอยากมาลองเบิ่ง” จึงทำให้เขาเก็บแรงไว้สู้ต่อเพื่ออนาคตที่ต้องกินต้องใช้

 

ลำบากแต่ต้องมาตัดอ้อย?

การตัดอ้อยเป็นเรื่องลำบาก แต่ด้วยความจำเป็นเพราะถ้าอยู่บ้านก็ไม่รู้จะทำอะไร ทำนาก็พอได้กิน บ้างมีที่ดินน้อย ขณะเดียวกันเถ้าแก่ก็ทำให้เราสามารถกู้เงินมาซื้อของที่เราต้องการก่อนได้ เราค่อยไปทำงานใช้หนี้ทีหลัง แล้วถ้าหากไม่ทำก็อดกินแน่นอน ท่วงทำนองเช่นนี้ผุดขึ้นในความคิดของแรงงานตัดอ้อยหลายคน และชีวิตจริงที่ยิ่งกว่าละครของคนจน คือ พวกเขายังจำเป็นต้องพึ่งการบริโภคอาหารจากตลาด การผลิตเพื่อขายเข้าสู่ระบบตลาด ขณะที่ปัจจัยการผลิตหลายอย่างยังคงตกอยู่กับนายทุน การใช้แรงงานอย่างหนักเพื่อแลกเงินจึงยากจะปฏิเสธ

วิถีเมล็ดพันธุ์แห่งแรงงานตัดอ้อยพันธสัญญา

ไร่อ้อยที่ถูกเผาจำต้องมีคนเฝ้าไม่ให้รุกลามไปไร่คนอื่น แต่บางที่อาจมีการลอบจุดเพื่อเร่งส่งอ้อยเข้าโรงงาน

 

แรงงาน : ความอึดอัดข้างในและคำถามส่งท้าย

ขณะที่ไฟถูกจุดในไร่อ้อยอีกแปลงในยามค่ำ บ่งบอกว่า พรุ่งนี้จะเริ่มตัดอ้อยต่อไป ควันไฟโขมงคุ้งฟ้า ประกายไฟแตกกระจายเป็นละออง บ้างคล้ายพลุเฉลิมฉลองเทศกาล แต่สำหรับพวกเขา มันคือการตัดอ้อยที่ต้องแลกด้วยการใช้แรงงานอย่างหนัก ถึงแม้จะมีพ่อบางคนในแคมป์ เปรยว่า “ไม่เคยคิดว่าจะมาตัดอ้อย แต่ก่อนเคยบอกว่า โง่ แต่วันนี้ ตัวเองมาโง่เอง แถมยังเอาลูกมาโง่ด้วย” สำนวนแบบนี้ไม่รู้ใครเป็นคนคิดแต่ติดมากับการดูถูกอาชีพแบบนี้มาเนิ่นนาน บางคราฟังแล้วสะเทือนใจ แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่ถูกเล่าจากหนึ่งในแรงงานที่มาตัดอ้อยในครั้งนี้

ถึงแม้คำว่า “โรคเหลื่อมล้ำ” ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาจะอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้อย่างมีพลัง แต่โครงสร้างของระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแบบใดเล่า ที่จะไม่สูบเลือดกินเนื้อและให้สวัสดิการที่แฟร์กับคนใช้แรงงานอย่างหนักหน่วงเช่นนี้ได้ ในสังคมไทยปัจจุบัน?

 

* อ้อยพันธสัญญา หมายถึง เมื่อโรงงานผลิตน้ำตาลไม่ผลิตอ้อยเอง แต่จะรับอ้อยจากผู้ปลูกอ้อยแทน และเพื่อควบคุมการส่งอ้อยเข้าโรงงานให้มีประสิทธิภาพ โรงงานจะมีตัวแทน ที่เรียกว่า “หัวหน้าโควต้า” ซึ่งจะทำหน้าที่ทำสัญญาเพื่อซื้อขายอ้อยกับผู้ปลูกอ้อย โดยหัวหน้าโควตาจะได้รับส่วนแบ่งจากการจัดการนี้ ซึ่งเรียกว่า “ค่าหัวตัน” จากโรงงาน ขณะที่แรงงานตัดอ้อยจะเป็นกลุ่มคนล่างสุดในสายพานการผลิตนี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TDRI: แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย: เราจะเริ่มที่ไหนดี

Posted: 06 Feb 2012 01:05 AM PST

ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จะจัดการประชุมวิชาการประจำปี ในเรื่อง “ยกเครื่องการศึกษาไทย: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการดังกล่าว

 

ปัญหาคุณภาพการศึกษากลายเป็นโรคเรื้อรังของประเทศไทย ที่ถึงแม้จะมีความพยายามปฏิรูปมากว่า 10 ปี ตั้งแต่รอบแรกในปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบันรอบสองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 แต่ก็ยังไม่สามารถรักษาหรือแม้แต่บรรเทาอาการป่วยได้

สาเหตุของปัญหาที่กล่าวถึงกันมีมากมายจนมองไม่เห็นหนทางว่าจะรักษากันอย่างไร และจะเริ่มกันที่จุดใด ซ้ำร้าย การแก้ไขปฏิรูปในบางด้านกลับยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลง เช่น ระบบประกันคุณภาพเพิ่มภาระงานเอกสารให้ครู ทำให้ครูมีเวลาในการเตรียมสอนน้อยลง โดยยังไม่สามารถทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นอย่างจับต้องได้เลย

คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า ความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา มีสาเหตุจากความขาดแคลนทรัพยากร แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าจนปัจจุบันสัดส่วนงบประมาณการศึกษาต่อจีดีพีและต่องบประมาณรวมของไทยอยู่ที่ร้อยละ 4 และร้อยละ 20 ตามลำดับ ซึ่งไม่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันแล้ว (ภาพที่ 1)

ในขณะเดียวกันเงินเดือนเฉลี่ยของครูโรงเรียนรัฐบาลก็เพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 1.5 หมื่นบาทในปี 2544 เป็นประมาณ 2.4 หมื่นในปี 2553 (ข้อมูลจากการสำรวจภาวะแรงงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) อีกทั้งนักเรียนไทยยังใช้เวลาเรียนในห้องเรียนมากกว่านักเรียนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ทั้งนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึงเงินทองและเวลาของผู้ปกครองและนักเรียนอีกมากมายที่หมดไปกับการกวดวิชา

ภาพที่ 1 งบประมาณการศึกษาไทยไม่ได้น้อยกว่าประเทศอื่น

ที่มา: ธนาคารโลก

แม้งบการศึกษาที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยให้เด็กวัยเรียนจากครอบครัวยากจนเข้าถึงการศึกษามากขึ้นในเชิงปริมาณก็ตาม ผลการเรียนของนักเรียนซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของคุณภาพการศึกษาโดยรวมกลับตกต่ำ ดังจะเห็นได้จากผลคะแนนสอบนักเรียนไทยไม่ว่าจะวัดจากข้อสอบมาตรฐานในประเทศอย่าง O-NET หรือระหว่างประเทศอย่าง PISA และ TIMSS มีแนวน้มลดลงและต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านยกเว้นอินโดนีเซีย (ภาพที่ 2) ในขณะเดียวกัน ก็ปรากฏข่าวนักเรียนไทยจากโรงเรียนมีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ สามารถสอบแข่งขันได้เหรียญรางวัลระดับโลกต่างๆ อยู่ทุกปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ และชี้ว่าการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนไทยที่ผ่านมาเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง


ภาพที่ 2 คะแนนเฉลี่ย PISA และ TIMSS ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

การยกระดับคุณภาพการศึกษามิใช่เรื่องสิ้นหวังแต่เป็นสิ่งที่ทำได้จริงในเวลาไม่เกิน 1 ทศวรรษ ดังตัวอย่างของประเทศต่างๆ เช่น ชิลี ลัตเวียและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเคยทำได้มาแล้ว หากแต่ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาในประเทศไทยยังคงกระจัดกระจายตามความเข้าใจต่อปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่าควรจะเริ่มแก้ที่ปัญหาที่จุดใดก่อน

ในความเห็นของผู้เขียน การแก้ปัญหาให้สำเร็จจะต้องเริ่มจากวิชาการที่ถูกต้องก่อน การศึกษาที่ผ่านมามีข้อค้นพบต่างๆ ที่สำคัญหลายประการคือ หนึ่ง ลำพังการเพิ่มทรัพยากรเช่นงบประมาณทางการศึกษา ไม่รับประกันความสำเร็จในการเพิ่มคุณภาพการศึกษา สอง คุณภาพของครูช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สาม ต้องมีกลไกในการสร้าง “ความรับผิดชอบ” (accountability) ในการจัดการศึกษาที่ชัดเจน โดยเรื่องที่สาม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในการปฏิรูประบบการศึกษา เพราะจะทำให้เรื่องอื่นๆ สำเร็จหรือล้มเหลวไปด้วย เช่น แม้เราสามารถลงทุนให้ครูมีคุณภาพเพิ่มขึ้น แต่หากระบบที่เป็นอยู่ทำให้ครูไม่สนใจนักเรียนอย่างเต็มที่ เพราะยุ่งกับการทำงานเอกสารหรือทำงานวิชาการเพื่อเลื่อนตำแหน่ง การเพิ่มคุณภาพครูก็จะส่งผลไปไม่ถึงนักเรียน

ใจกลางของปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยจึงไม่ใช่การขาดทรัพยากร แต่เป็น “การขาดประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร” อันเนื่องมาจาก “การขาดความรับผิดชอบ” ของระบบการศึกษาต่อนักเรียนและผู้ปกครองนั่นเอง การเริ่มการปฏิรูปคุณภาพการศึกษาจึงต้องมุ่งตรงไปที่การสร้างความรับผิดชอบของผู้จัดการศึกษาทั้งภาครัฐ โรงเรียนและครู โดยหัวใจของ “ความรับผิดชอบ” ก็คือ ความสำเร็จของระบบการศึกษา โรงเรียนและครู จะต้องวัดจากสัมฤทธิผลทางการศึกษาของนักเรียนเป็นหลัก ไม่ใช่โรงเรียนเกือบทั้งหมดผ่านการประเมินคุณภาพโดย สมศ. และครูก็ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนและวิทยฐานะ ทั้งที่ผลการเรียนของนักเรียนแย่ลงจนถึงขั้น “อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้-คิดไม่เป็น” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาคืออะไร และจะสร้างขึ้นมาในประเทศไทยได้อย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่ขออธิบายขยายความในตอนต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข่ายสุขภาพติงรัฐตั้ง “เมดิคัลฮับ” ในมหาวิทยาลัยแพทย์ คิดดีๆ

Posted: 06 Feb 2012 12:44 AM PST

เครือข่ายสุขภาพส่งจดหมายเปิดผนึกถามนายกฯจัดตั้ง “เมดิคัลฮับ” ตามมหาวิทยาลัยแพทย์ของรัฐ ดูผลกระทบที่จะเกิดกับคนไทยหรือยัง ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย

6 ก.พ.55 น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ตามที่นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบในหลักการและอนุมัติงบประมาณ การจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง หรือเมดิคัลฮับ (Medical Hub) โรงเรียนแพทย์ต่างๆ ทางเครือข่ายภาคีสุขภาพทั้งหมด 22 เครือข่าย อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ฯลฯ ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ขอให้ตรวจสอบการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง หรือเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ในส่วนกลางและภูมิภาค ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มตินโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554

“การผลักดันให้ไทยเป็นเมดิคัลฮับมีผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขไทยอย่างมาก แม้ในตัวเลขทางเศรษฐกิจอาจจะดูดี ดังนั้นขอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ว่า “ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ระยะที่ ๒ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการเฉพาะกิจของนายกรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติด้านการรักษาพยาบาล ดำเนินนโยบายหรือยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติที่ไม่กระทบต่อบริการสุขภาพสำหรับประชาชนไทย และต้องพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดและพัฒนานโยบายดังกล่าว ทั้งนโยบายระดับชาติและแผนปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับคนไทย”

 จากงานศึกษาของ รศ.ดร.อัญชนา ณ ระนอง และ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีรายได้มากขึ้น แต่ผลกระทบจากเมดิคัลฮับทำให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ และทำให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น โดยมีข้อเสนอให้เก็บภาษีจากผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาเพื่อไปสนับสนุนการผลิตแพทย์ และรักษาอาจารย์แพทย์ไว้ในระบบ แต่ข้อเสนอนี้ถูกคัดค้านโดยรัฐบาลและภาคเอกชน

“หากไม่มีการจัดการที่ดี การผลักดันอุตสาหกรรมการรักษาพยาบาลเพื่อคนไข้ต่างชาติ (Medical Tourism) จะเป็นภาระหนักอึ้งของระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

http://www.who.int/bulletin/volumes/89/5/09-072249/en/index.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ถนนประชาธิปไตย ไทยใต้กระแสขวาคลั่ง

Posted: 06 Feb 2012 12:37 AM PST

ปีศาจตนหนึ่ง กำลังหลอกหลอนไปทั่วสังคมไทย ทำให้ชนชั้นนำและกลุ่มฝ่ายขวาทั้งหมด ต้องผนึกกันเป็นแนวร่วมเพื่อต่อต้าน ตั้งแต่บางปีกในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย กลุ่มผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มเนติบริกร ผู้นำกองทัพ อธิบดีกรมตำรวจ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ สยามสามัคคี กลุ่มสลิ่มสารพัดสี และผู้เกินกว่าราชาทั้งหลาย ต่างก็ช่วยกันกู่ร้องประสานเสียงประณามคณะนิติราษฎร์ วาดภาพให้คณะนิติราษฎร์เป็นผีปีศาจปลุกคนไทยมาต้านคณะนิติราษฎร์ บ้างก็ไปถึงขนาดข่มขู่ว่าจะสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร ดูบรรยากาศน่าตกใจอย่างยิ่ง เพียงแต่สิ่งน่าตกใจกว่านั้นสำหรับชนชั้นนำไทย คือ การพิจารณาแลกเปลี่ยนเชิงเหตุผลในประเด็นที่คณะนิติราษฎร์เสนอมีน้อยมาก จึงแทบจะไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านภูมิปัญญาเลย

ลองพิจารณาจากตัวอย่าง ตั้งแต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงในวันที่ 25 มกราคม ว่า ความเคลื่อนไหวในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ จะเป็นการจุดชนวนความแตกแยกในบ้านเมือง และยังทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังกลุ่มนิติราษฎร์ และย้ำว่าได้สั่งการให้ตำรวจสันติบาลติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งถ้าหากว่า พบการกระทำความผิดจะจับกุมดำเนินคดีทันที ปัญหาคือ ร.ต.อ.เฉลิมทำราวกับว่า การเสนอให้มีการแก้กฎหมายของนิติราษฎร์เป็นเรื่องของการก่ออาชญากรรม ที่จะต้องคอยจ้องจับเพื่อดำเนินคดี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเรื่องของความพยายามที่อาจจะไม่ปกติ อยากจะทำโน่นทำนี่ โดยไม่คิดว่าอะไรควรไม่ควร นักวิชาการเหล่านี้ จะต้องกลับไปทบทวนว่าสถาบันทรงคุณต่อแผ่นดินอย่างไร ไม่ใช่ไปบังคับ หรือผูกขาดความจงรักภักดี แต่ต้องการให้ทุกคนระลึกอยู่เสมอว่าบ้านเมืองมีชื่อเสียงเกียรติยศในโลกนี้ ส่วนใหญ่ที่รู้จักประเทศไทย รู้จักมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนทั้งสิ้น และว่า “ผมเคยบอกไปหลายครั้งแล้วว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง คนทั้งแผ่นดินเคารพเทิดทูน แต่ท่านมาทำลายความรู้สึกของคนทั้งแผ่นดิน ขอถามว่าท่านจะได้อะไร อย่าให้ว่า ผมใช้คำรุนแรง เมื่อท่านรุนแรง ผมก็รุนแรงกับท่าน แต่ผมอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่มีการทำอะไรนอกกฎหมายทั้งสิ้น ท่านอย่าทำผิดกฎหมายก็แล้วกัน” ซึ่งในส่วนนี้ก็เป็นที่น่าแปลกใจ เพราะไม่ได้ปรากฏเลยว่า คณะนิติราษฎร์จะพูดอะไรรุนแรงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในวันที่ 27 มกราคม นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เเละ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน นำกลุ่มเเนวร่วมคนไทยหัวใจรักชาติ ไปชุมนุมเผาหุ่นนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ บริเวณหน้าประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นได้นำรายชื่อประชาชนหลายหมื่นคนเสนอต่อศาลเพื่อขอให้อำนาจตุลาการเข้ารับผิดชอบในการหยุดยั้งการทำลายชาติ ตลอดการเคลื่อนไหวมีการปลุกเร้าให้รักชาติ และมีการเผาหุ่นณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แถมเข้าไปด้วย แต่ไม่มีการชี้แจงโต้แย้งข้อเสนอนิติราษฎร์ในทางเหตุผลเลย

วันที่ 28 มกราคม ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยประชาชนประมาณ 50 คน ร่วมชูป้ายต่อต้านคณะนิติราษฎร์ที่มีข้อความ อาทิ ทำเพื่อพ่อขจัดนิติทรราชพวกอกตัญญูไม่รู้คุณแผ่นดิน หรือ นิติราษฎร์ออกไป เป็นต้น เพื่อแสดงถึงจุดยืนคัดค้านแนวคิดของกลุ่มนิติราษฎร์ น.ส.จิตภัสร์ได้อ่านแถลงการณ์ที่มีใจความว่า เรารู้สึกอึกอัด เสียใจ ซึ่งที่ผ่านมามีกระบวนการเคลื่อนไหวบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่รักและเคารพยิ่งของคนไทยทุกคน วันนี้จึงอยากเรียกร้องให้ทุกคนที่มีจุดยืนเดียวกันคือ รักและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ทำความเข้าใจกับบุคคลที่อาจเข้าใจผิด หรือได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่น่าแปลกคือ น.ส.จิตภัสร์ไม่ได้อธิบายในเชิงเหตุผลเลยว่า คณะนิติราษฏร์เสนออะไร ไม่ถูกต้องอย่างไร มีความเป็นไปได้ว่า เธออาจจะไม่เคยอ่านข้อเสนอของนิติราษฎร์เลย

ที่เหลือเชื่อว่ากว่านั้น คือ นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฎร์ สร้างความแตกแยกให้เพิ่มขึ้นในบ้านเมือง ทั้งๆ ที่กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดี มีมาตราอื่นๆ ที่สมควรแก้มากมาย แต่คณาจารย์กลุ่มนี้กลับไม่เอาสมองไปคิด แต่ขอยืนยันย้ำว่า คณะนิติราษฎร์ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และกล่าวอีกว่า น่าสงสัยถึงเจตนาในการเสนอแก้ไขกฎหมายของคณะนิติราษฎร์ว่าไปรับจ๊อบ รับงานอะไรที่มีวาระแอบแฝงมาหรือไม่ ขอให้พี่น้องประชาชน รวมทั้งลูกศิษย์ของนักวิชาการกลุ่มนี้ออกมาต่อต้านกันเยอะๆ เชื่อว่าถ้าคณะนิติราษฎร์ยังไม่หยุด จะเจอคลื่นมหาชนแน่ นายประชาสรุปว่า "ผมขอเตือนคณะนิติราษฎร์ให้ระวังไม่มีแผ่นดินจะอยู่ ตอนบ้านเมืองเกิดวิกฤตพวกคุณไม่เคยออกมา หายหัวหมด วันนี้ออกมาเหมือนอยู่เมืองไทยไม่สงบสุขหรืออย่างไร" ซึ่งจะเห็นได้ว่า คำกล่าวของนายประชาแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากพวกกลุ่มฝ่ายขวาและพรรคประชาธิปัตย์ และก็ไม่ได้แย้งในเชิงเหตุผลเลยเช่นกัน

ยังมีตัวอย่างอีกมากมายถึงสภาพการรุมถล่มคณะนิติราษฎร์ โดยเฉพาะหลายคนจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาถล่มรายวัน จนไม่อยากจะยกตัวอย่างในที่นี้ ที่น่าสังเกตคือ สื่อกระแสหลักก็ให้พื้นที่กับการรุมถล่มครั้งนี้อย่างเต็มที่ จน สาวตรี สุขศรี สมาชิกนิติราษฎร์ ได้อธิบายสถานะของกลุ่มว่า “ใครจะได้ใช้ชีวิตคุ้มกว่าชาวคณะนิติราษฎร์คงไม่มีอีกแล้วใน พ.ศ.นี้ !!... เพราะคณะฯ เราทำหรือเป็นมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะ รับงานทักษิณ ล้มเจ้า ล้มรัฐบาล รับงานอเมริกา เนรคุณคนให้ทุน เป็นทรอสกี้อิสต์ เป็นพวกสร้างความแตกแยก ไร้เดียงสา วิชาเกิน เป็นคอมมิวนิสต์ พวกอยากดัง พวกคลั่งประชาธิปไตย พ่อแม่ไม่สั่งสอน นักวิชาการกำมะลอ สวะสังคม กินยาผิด สมองปลายเปิด ศาสดา หรือกระทั่ง ปลาโลมา”

ความจริงแล้ว มาตรา 112 เป็นเพียงมาตราหนึ่งในกฎหมายอาญา ที่ว่าด้วยการป้องกันสถานะอันแตะต้องมิได้ของพระมหากษัตริย์ พระราชินี มกุฎราชกุมาร และ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่กลุ่มฝ่ายขวา พรรคประชาธิปัตย์ และชนชั้นนำสมองปลายปิด ได้ทำให้กฎหมายมาตรานี้ กลายเป็นเรื่องแตะต้องไม่ได้ไปด้วย แต่ไม่มีนักวิชาการฝ่ายขวาหรือเนติบริกรคนใด ย้อยไปตำหนิ อำนาจเผด็จการเมื่อ พ.ศ.2519 ที่แก้ไขมาตรา 112 โดยพลการ ด้วยการเพิ่มการลงโทษให้รุนแรงมากขึ้น จนชาวบ้านเดือดร้อน และทำให้ประเทศไทยมีกฏหมายป้องกันประมุขที่มีบทลงโทษสูงสุดในโลก คนเหล่านี้ พร้อมรับอำนาจเผด็จการอย่างหน้าชื่น แต่ไม่พร้อมจะอภิปรายในเชิงเหตุผลกับคนที่คิดแตกต่าง

การเคลื่อนไหวโจมตีคณะนิติราษฎร์ที่เกิดขึ้นในระยะ 2 สัปดาห์นี้ จึงเป็นการสะท้อนว่า สังคมไทยยังอยู่ในยุคล่าแม่มดอย่างแน่นอน เหมือนกับช่วงปลายสมัยกลางของประวัติศาสตร์ยุโรป ที่ชนชั้นนำในสังคม สร้างกรอบให้คนคิดและศรัทธาต่อพระเจ้าในแบบเดียวกัน ถ้าใครคิดต่าง หรือศรัทธาพระเจ้าแบบอื่น จะถูกกล่าวหาว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นแม่มด และจะถูกลงโทษโดยการเผาทั้งเป็น ทำให้มีการเผาทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ต่อมา ในสมัยแห่งเหตุผล จึงได้มีการเสนอหลักการเรื่องเสรีภาพทางความคิด และความเชื่อ และกลายเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย เพราะชาวยุโรปได้สรุปบทเรียนมาแล้วว่า ยุคแห่งการล่าแม่มด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เสรีภาพในการความคิดที่แตกต่างจึงได้รับการยอมรับ และทำให้สังคมพัฒนาต่อมา

ในสังคมไทยก็เคยมีบทเรียนมาแล้ว ในกรณีขวาคลั่ง นั่นคือเหตุการณ์ช่วงหลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ในขณะนั้น มีการเติบโตของแนวคิดสังคมนิยมในขบวนการนักศึกษา กลุ่มชนชั้นนำก็ตอบโต้โดยการตั้งกลุ่มขวาคลั่งขึ้นมาต่อต้าน และปลุกกระแสขวาจัดในลักษณะเดียวกัน และท้ายที่สุดก็ได้อ้างกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเงื่อนไขในการสร้างกระแสการเข่นฆ่าปราบปรามนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ แล้วก่อการรัฐประหารทำลายประชาธิปไตยในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 กระแสขวาคลั่งครั้งนั้นยังเป็นบทเรียนสำคัญ ที่สร้างความเสียหายแก่สังคมไทยมากมาย ทำให้การเมืองไทยล้าหลังไปหลายปี

มาถึงวันนี้ ชนชั้นนำไทยควรจะต้องสรุปบทเรียน และยอมรับในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเสียที การคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับคณะนิติราษฎร์ทำได้โดยการแลกเปลี่ยนเหตุผล ไม่ใช่การสร้างกระแสขวามาข่มขู่คุกคาม และถ้าหากมีการแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผล สังคมไทยจะบรรลุวุฒิภาวะที่จะทำให้ประชาชนฉลาดขึ้นโดยทั่วกัน

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคตะวันตกแถลงเปิดตัว ป้องหลักสุขภาพถ้วนหน้า

Posted: 06 Feb 2012 12:28 AM PST

5 กุมภาพันธ์ 2555 ห้องประชุมทะเลสีครีมรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคตะวันตก แถลงเปิดตัวเครือข่าย ระบุตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ประเทศไทย มีระบบหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนไทยกว่า 48 ล้าน เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีศักดิ์ศรี แต่ปัจจุบันกลุ่มคนหลายกลุ่ม ทั้งฝ่ายการเมือง  ฝ่ายคัดค้านระบบหลักประกันฯ ตั้งแต่ต้น และฝ่ายเสียผลประโยชน์ ทั้งบริษัทยาข้ามชาติ  และกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนบางส่วน ออกมาปล่อยข่าวในแง่ลบ จึงได้รวมตัวปกป้องนโยบายนี้ ร้องยิ่งลักษณ์ นายกฯ เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง   อย่าปล่อยให้รัฐมนตรี และพวกพ้อง  บริหารจัดการตามอำเภอใจ  ให้พัฒนาระบบสุขภาพ เป็นมาตรฐานเดียว โดยมีรายละเอียดในแถลงการณ์ ดังนี้

0 0 0 

ก่อนปี 2543 การรักษาพยาบาลในประเทศไทยเป็นไปในรูปแบบธุรกิจ ใครมีเงินก็มีอายุยืนยาว  ใครไม่มีเงินก็ล้มตายไปอย่างไม่มีใครสนใจ การเข้ารับการรักษาพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวของคนจนในชนบท  การรักษาพยาบาลแต่ละครั้ง ต้องมีเงินไปจ่ายค่าหมอค่ายาตามที่รพ.กำหนด โดยไม่สามารถต่อรองราคาได้ สภาพคนไทยในอดีต คนที่ไม่มีเงินพาผู้ป่วยไปรักษาก็ต้องปล่อยนอนรอความตายไปเองทั้งที่บางโรคสามารถรักษาให้หายได้   หรือในกรณีที่ไปโรงพยาบาลแล้วมีเงินไม่พอจ่ายค่ายา ก็จะถูกเทยาออก และจ่ายยาให้ตามจำนวนเงินที่มี  หรือไม่ก็ต้องเข้าไปกราบกราน ขอร้องให้หมอช่วยเซ็น ส่งตัวไปที่ห้องสังคมสงเคราะห์  แล้วก็ต้องเข้าไปนั่งก้มหน้าตัวลีบให้เจ้าหน้าที่ซักประวัติ และว่ากล่าวที่ทำไมถึงจน กว่าจะได้ยามากินศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แทบไม่มี  

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ประเทศไทย มีระบบหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนไทยกว่า 48 ล้าน เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีศักดิ์ศรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด   เจ็บป่วยก็สามารถกด 1669 เรียกรถฉุกเฉินไปรับถึงบ้านได้ มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลในทุกโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงโดยการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาสนับสนุน ทำให้การบริการด้านสาธารณสุขของไทยมีความครอบคลุมในการดูแลรักษาที่จำเป็นสำหรับประชาชนกลุ่มต่างๆมากขึ้น ซึ่งประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกายังต้องมาดูเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้การดำเนินการของ สปสช. ที่ผ่านมายังสามารถยกเลิกการเก็บเงินสมทบ 30 บาท เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันแก่ประชาชนทุกคน รวมทั้งมีการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เป็นรูปธรรม เรียกได้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง จนทำให้เกิดความพึงพอใจของประชาชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้ให้บริการมากขึ้นทุกปี โดยเห็นได้จากผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมาทุกปี และก็ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมและชนะเลือกตั้งเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

 แต่ปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) จากกลุ่มคนหลายกลุ่ม ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายคัดค้านระบบหลักประกันฯ ตั้งแต่ต้น และฝ่ายเสียผลประโยชน์ ทั้งบริษัทยาข้ามชาติ  และกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนบางส่วน ที่ออกมาปล่อยข่าวในแง่ลบ ที่เป็นไปได้ว่ามีเป้าหมายที่จะล้มระบบหลักประกัน โดยการดำเนินการให้ระบบหลักประกันอ่อนแอลง  และยังมีการให้ข่าวเพื่อลดความน่าเชื่อถือ และทำลายระบบหลักประกันฯ โดยการประจานว่า สปสช. เป็นสาเหตุที่ทำให้หมอกับผู้ป่วยขัดแย้งกัน สปสช.ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนฯลฯ และ สปสช. ทำให้หมอลาออก เป็นต้น

จากสถานการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น พวกเรากลุ่มคนรักหลักประกันฯภาคตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี และ สุพรรณบุรี  จึงได้ร่วมกันหาข้อมูล ว่าข้อกล่าวหานั้นจริงหรือไม่ อย่างไรซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ภาคตะวันตก มีข้อเท็จจริงจะมาแถลงดังนี้

1. เรื่องสปสช.ทำให้หมอกับผู้ป่วยขัดแย้งกันเป็นเรื่องมายาคติ ไม่เป็นความจริง เพราะภาพรวมประชาชนและหมอในภาคตะวันตกไม่มีความขัดแย้งกัน   แต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีความร่วมมือกันในการพัฒนาระบบหลักประกันในหลายด้านร่วมกัน   ทั้งด้านสร้างเสริมสุขภาพ ด้านยา ด้านอาหารปลอดภัยฯลฯ  การมีระบบหลักประกันยังเป็นช่องทางให้ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทำความ เข้าใจกับผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการในหลายส่วน  เช่น ช่องทางคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) อนุกรรมการบริหารระดับจังหวัด(อปสจ.) อนุกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการให้บริการระดับจังหวัด อนุกรรมการมาตรา 41 ซึ่งทำให้เกิดการพูดคุยและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างหมอและประชาชน   การออกมาให้ข่าวว่าหมอกับคนผู้ป่วยขัดแย้งกันจึงเป็นเท็จ เพื่อมุ่งสร้างกระแสให้ผู้คนเข้าใจผิดต่อ สปสช. โดยมีเป้าหมายดึงการบริหารเงินแสนล้านกลับไปอยู่กระทรวงสาธารณะสุขเพื่อเป็นขุมทรัพย์ของคนบางพวกบางกลุ่มเหมือนก่อนที่มีระบบหลักประกันฯ ดังที่ได้เกิดกรณีการทุจริตการจัดซื้อยาดังที่เคยเป็นข่าวครึกโครมมาแล้ว

2. เรื่องสปสช.ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน  ก็เป็นการกล่าวเท็จ  เพราะจากข้อมูลล่าสุดเดือนธันวาคม 2554 ที่ประเมินของ สปสช.เขต 5 ราชบุรี   มีสถิติชัดเจนว่า โรงพยาบาลในภาคตะวันตก  ไม่มีโรงพยาบาลไหนขาดทุน  หรือขาดสภาพคล่อง   ทั้งๆที่ภาคตะวันตกมีโรงพยาบาลจำนวนมาก  แต่มีประชากรน้อย  ซึ่งเป็นภาคที่สุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนของโรงพยาบาล มากกว่าภาคอื่นๆ  ดังนั้นการออกมากล่าวอ้างว่าโรงพยาบาลขาดทุนจึงเป็นเรื่องโกหกกลางอากาศ   เพื่อหวังผลที่ต้องการลดความน่าเชื่อถือในการบริหารจัดการเงินของ สปสช. แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของกลุ่มคนดังกล่าว ว่ามีแนวคิดล้าหลังไม่ยอมรับความเสมอภาคและเท่าเทียมด้วยความเป็นมนุษย์ของทุกคนเหมือนกัน  แต่ยังคงยึดแนวคิดแยกชนชั้นกดหัวคนจนเหมือนเดิม

3. เรื่อง สปสช.ทำให้หมอลาออก   เรื่องนี้ต้องให้เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาให้ข้อมูลถึงสาเหตุที่หมอลาออกว่าเป็นเพราะ เหตุใด ? เพราะ สปสช.จริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลที่เปิดให้ประเทศไทยเป็น Medical hub  (เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในอาเซียน )ซึ่งทำให้เกิดการแปรรูประบบการรักษาพยาบาลไปสู่ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์   โรงพยาบาลเอกชนเติบโตขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด จนทำให้จ้าของโรงพยาบาลเอกชนรวยติดอันดับต้นๆของประเทศ และโรงพยาบาลเอกชนนี้หรือไม่ที่เป็นต้นเหตุให้หมอในระบบหลักประกันลดลง ดังนั้นเรื่องหมอลาออก เป็นหน้าที่ของ สธ. ในการบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่หน้าที่ สปสช.

จากสถานการณ์ และข้อเท็จจริงที่กล่าวมาทั้งหมดพวกเรา กลุ่มคนรักหลักประกันภาคตะวันตกขอยืนยันว่าจะไม่ยอมให้  คนกลุ่มไหนมาทำให้ระบบหลักประกันฯ สั่นคลอน  อ่อนแอและถูกทำลาย  พวกเราจึงได้รวมตัวกันในวันนี้ เพื่อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ขอ ให้นายกฯรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ในฐานะ หัวหน้าฝ่ายบริหารราชการแผ่นดินเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้รัฐมนตรี และพวกพ้อง  บริหารจัดการตามอำเภอใจ  จนเข้าข่ายดังที่มีข่าวออกมาว่าพรรคเพื่อไทยกำลังเข้าไปสู่ภาวะเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า

2.  ขอให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเน้นการพัฒนาระบบสุขภาพในประเทศไทย ให้ ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ระบบสุขภาพทั้ง 3 ระบบ  เป็นระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ซึ่งจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมตลอดไป

3. ขอให้รัฐมนตรีออกมาตอบคำถาม 8 ข้อของชมรมแพทย์ชนบท เพื่อสร้างความกระจ่างให้กับประชาชนให้ชัดเจนมากว่านี้ 

จากข้อเรียกร้องหากรัฐบาลยังนิ่งเฉย ไม่ดำเนินการใดๆ กลุ่มคนรักหลักประกันภาคตะวันตกจะร่วมกันกับเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทุกภูมิภาคทั่วประเทศดำเนินการปกป้อง และคัดค้านการทำลายระบบหลักประกันสุขภาพอย่างเข้มข้นในทุกมิติทุกวีถีทาง  โดยเบื้องต้นได้มีการนัดหมายรวมตัวกันของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพในภาคตะวันตกอีกครั้ง  ในวันที่ 11 มีนาคม 2555 เพื่อปกป้องและรักษาระบบหลักประกันให้เป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป

 


สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม

Posted: 05 Feb 2012 11:57 PM PST

ผมไม่คิดว่าคนไทยเข้าใจว่าสังคมไทยมีการเหยียดเชื้อชาติกันมากขนาดไหน สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันมากระหว่างประเทศนี้และประเทศอื่นๆ ที่ผมเคยทำงาน ก็คือความเปิดเผยของการเกลียดชังและเหยียดหยามทางเพศ

ให้สัมภาษณ์ในรายการ CORE Respondence

หลักพุทธธรรมกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์

Posted: 05 Feb 2012 10:20 AM PST

“ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ (-คำว่า “สัตว์” ภาษาบาลีโดยทั่วไปหมายถึง “คน” เช่น เรียกพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ว่า โพธิสัตว์ มหาสัตว์) ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างปรับทุกข์กันว่า ท่านเอ๋ย ธรรมชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวงปรากฏขึ้นในหมู่สัตว์ทั้งหลายเสียแล้วหนอ อันเป็นเหตุให้การลักทรัพย์ก็ปรากฏมี การติเตียนกันก็ปรากฏมี การพูดเท็จก็ปรากฏมี การถือไม้พลองก็ปรากฏมี อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักเลือกตั้ง (สมมติ) สัตว์ผู้หนึ่งขึ้น ให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรกล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ตำหนิผู้ที่ควรตำหนิได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ พวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น ดังนี้ ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้น จึงพากันเข้าไปหาสัตว์ผู้สง่างาม น่าดูชม น่าเลื่อมใส และน่าเกรงขาม ยิ่งกว่าสัตว์ทั้งหมดนั้นแล้ว แจ้งความดังนี้ว่า มาเถิด ท่านสัตว์ผู้เจริญ ท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ จงตำหนิผู้ที่ควรตำหนิได้โดยชอบ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบเถิด พวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ท่าน สัตว์ผู้นั้น ได้รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว...เพราะเหตุที่เป็นผู้ซึ่งมหาชนเลือกตั้งดังนี้แล จึงเกิดถ้อยคำว่า มหาสมมตขึ้นเป็นประถม...”

                                                                                                  พุทธพจน์ในอัคคัญญสูตร

ตามหลักพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์คือมนุษย์ หาใช่เทวดาดั่งคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูไม่  กำเนิดของผู้ปกครองนั้น มาจากการตกลงยอมรับของประชาชนทั้งหลายซึ่งขอให้ผู้ที่มีคุณสมบัติที่ดีเหนือกว่านั้นมาเป็นผู้ปกครอง ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองที่ดีจึงต้องประพฤติตั้งอยู่ในธรรม เรียกว่า ธรรมราชา อันได้แก่ การยึดมั่นในทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร เป็นต้น หากพิจารณาจากเกณฑ์ของพุทธธรรม อาจแบ่งท่าทีของผู้คนในสังคมไทยต่อกรณีเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้อย่างกว้างๆ เป็น 2 แบบ

แบบหนึ่ง เป็นการมองพระมหากษัตริย์แบบเทวราชาตามแบบฮินดู   ซึ่งเป็นศาสนาแนวศรัทธา อีกแนวคือ มองแบบพุทธซึ่งเป็นศาสนาแห่งปัญญาที่ถือว่าศรัทธาต้องมีปัญญาเป็นตัวกำกับ  ผู้เขียนเห็นว่า ท่าทีตามแนวทางแรกไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการปกป้องให้มั่นคงยั่งยืนได้อย่างที่ผู้ยึดแนวทางศรัทธาปรารถนา แต่เห็นว่า การใช้สติและการสนทนาแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลในการเข้าถึงปัญหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่างหากจึงจะเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง มีประสิทธิผล และทำให้สังคมไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตความขัดแย้งแตกแยกภายในชาติครั้งใหญ่ซึ่งดำรงอยู่ยืดเยื้อมานานเกือบ 6 ปีแล้ว (และได้มีคดีหมิ่นฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เฉพาะในปี 2553 มีถึง 478 คดี) ได้สำเร็จ 

ผู้เขียนเข้าใจว่า กลุ่มผู้เห็นว่าควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  เห็นว่า ปัญหาสำคัญของประเทศที่มีผลต่อเสถียรภาพ ความเชื่อมั่นในการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจ คือปัญหาทางการเมือง ซึ่งมีข้อที่สำคัญมากอันหนึ่งคือ  สังคมไทยจะทำความตกลงที่ชัดเจนในการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างไร โดยเฉพาะจากการที่สังคมไทยเผชิญกับผลของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะราวสองทศวรรษมานี้  ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี  สภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองดังกล่าว  ได้ทำให้ความคิดของ “กลุ่มชนชั้นกลางใหม่” เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ประชาชนเหล่านี้ได้หันมามองตนเองแบบปัจเจกชนที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ชนชั้นกลางใหม่ที่ตื่นตัวทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ในขณะที่ “ชนชั้นกลางเก่า” ซึ่งปกติมีความได้เปรียบโดยได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐโดยไม่จำเป็นต้องเรียกร้องอะไร ด้วยอิทธิพลของสื่อสารมวลชน มีแนวโน้มที่จะมีจินตภาพเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อย่างศรัทธาในแบบเทวราชา  และมีความรู้สึกว่าตนอยู่เหนือกว่าชนชั้นกลางใหม่  คนกลุ่มนี้มักดูถูกคนกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ว่าโง่ เป็นพวกชอบขายเสียงขายสิทธิ ไม่รู้ทัน ถูกหลอกจากนักการเมือง  ส่วนกลุ่มตนเท่านั้นเป็นคนฉลาด รู้เท่าทันทักษิณ และเห็นว่านักการเมืองส่วนใหญ่เป็นคนเลว เป็นแค่นักเลือกตั้งสกปรก   

ผู้เขียนเห็นว่า  แนวโน้มทัศนคติอย่างกลุ่มชนชั้นกลางเก่าไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักพุทธธรรมและหลักประชาธิปไตยเท่าใดนัก เพราะมีลักษณะดูถูกผู้อื่น  การยอมให้มีการถกปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย  จะเป็นเงื่อนไขโอกาสอันดีที่จะทำให้สังคมได้เรียนรู้จากกันได้   เมื่อผู้คนเห็นต่างกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย  (และอาจรวมถึงความเป็นชาติ) ณ ตรงนี้ หลักพุทธธรรมในฐานะแกนกลางของสถาบันศาสนาพุทธที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ สามารถเป็นหลักในการประสานผู้คนส่วนมากในสังคมไทย  เป็นหลักในการผสานระหว่างจารีตนิยมกับสมัยใหม่  และเป็นหลักในการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนในระบอบประชาธิปไตยได้

พุทธธรรมซึ่งมีกำเนิดจากการปฏิเสธระบบวรรณะของพราหมณ์ มองความจริงตามธรรมชาติว่าเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“สังขารทั้งหลายทั้งปวง    ไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายทั้งปวง     เป็นทุกข์
ธรรมทั้งหลายทั้งปวง       เป็นอนัตตา”

พุทธธรรมมองธรรมชาติเป็นการประชุมปัจจัยของสิ่งต่างๆ  หรือ ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย (ตามหลักปฏิจจสมุปบาท) ด้วยเหตุนี้ เราอาจพิจารณาได้ว่า ตามธรรมชาติ การดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้ย่อมต้องมีการปรับตัวที่เหมาะสม  หากเราดูจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์การปกครอง แม้ในระบบกษัตริย์แบบโบราณเอง เช่น ประเทศจีน ก็มีระบบขุนนางทักท้วง ซึ่งสามารถวิจารณ์ โต้แย้งกษัตริย์ได้ ดังสมัยจักรพรรดิถังไทจง ได้รับการยกย่องเป็นมหาราชสำคัญคนหนึ่งของจีน ก็ด้วยความยอมรับการทักท้วงของเว่ยเจิ่ง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นขุนนางทักท้วง ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม จนขนาดจักรพรรดิถังไทจงทรงชมเชยเว่ยเจิ่งว่า ในแง่นี้  เหนือกว่าขงเบ้ง ขุนนางผู้ใกล้ชิดพระเจ้าเล่าปี่เสียอีก

ในอดีต กฎหมายตราสามดวง ในส่วนของกฎมณเฑียรบาลบางบทยังบัญญัติให้มีการยับยั้งทัดทานการใช้พระราชอำนาจที่ผิดหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเพณี ความยุติธรรม หรือหลักทศพิธราชธรรม อาทิ หากพระมหากษัตริย์กำลังทรงโกรธ และตรัสเรียกพระแสง เจ้าพนักงานห้ามยื่น หากยื่น ต้องมีโทษถึงตาย 

ในสมัยพระนเรศวร เมื่อทรงพิโรธ ก็มีพระผู้ใหญ่ทัดทานท่านได้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ยังเคยจุดไต้ในเวลากลางวันเข้าเฝ้า อันเป็นสัญลักษณ์เตือนสติในหลวง

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ทรงประกาศให้ยกเลิกการหมอบคลานเข้าเฝ้า เปลี่ยนเป็นการยืนแบบตะวันตก   ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชนโยบายไปในทางอนุรักษนิยม สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมหลวงจักรพงษ์ภูวนาถ กราบบังคมทูลแก่รัชกาลที่ 6 เป็นการเตือนสติ ดังตอนหนึ่งว่า

“กล่าวโดยย่อ สถานการณ์ที่นำมาสู่การสละราชบัลลังก์ของพระเจ้าซาร์เกิดขึ้นโดยตัวพระองค์เอง พระองค์ทรงไม่ยอมปรับตัวต่อพวกก้าวหน้า ซึ่งได้มีเสียงเรียกร้องดังมากขึ้น และไม่ทรงยอมผ่อนปรนต่อพวกนี้ ไม่มีใครสามารถสู้กับพวกก้าวหน้าได้  อาจถามว่าทำไมไม่ควรฟังพวกอนุรักษนิยมบ้างล่ะเพราะพวกนี้ก็มีอยู่เช่นกัน คำตอบคือพวกอนุรักษนิยมจะไม่มีทางทำร้ายกษัตริย์ เพราะนั่นเป็นการขัดกับความเชื่อของพวกเขาเอง พวกก้าวหน้าสามารถทำอะไรก็ได้ และดังนั้น ใครก็ตามควรต้องพิจารณาพวกเขามากกว่าพวกอนุรักษนิยม ความขัดแย้งระหว่างสองพวกเป็นเรื่องปกติ แต่พวกอนุรักษนิยมไม่เคยชนะและการสกัดกั้นเป็นเพียงชั่วคราว สุดท้ายก็จะเป็นอย่างที่พวกก้าวหน้าต้องการ”  [1]

สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ว่า พระองค์มิได้อยู่เหนือการวิจารณ์

การปกป้องสถาบันกษัตริย์ด้วยหลักพุทธธรรมจึงเป็นการปกป้องด้วยปัญญา ด้วยการยึดในหลักความจริง  มีสติ ไม่ใช่งมงาย ใช้อคติ หรือความรู้สึกส่วนตัวอยู่เหนือเหตุผล หรือใช้การก่อกระแสความรุนแรง การยุให้ทำสงครามประชาชน หรือรัฐประหาร อนึ่ง ดูมีความเข้าใจผิดกันว่า พระพุทธเจ้าไม่สนับสนุนการวิจารณ์ แต่ตามประวัติพระพุทธเจ้า จะพบว่า ทรงรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ  โดยให้สังคมสงฆ์ถือการวิจารณ์เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง อุปมาเหมือนการชี้ขุมทรัพย์.

 

............................................ 

 [1] แปลจากข้อความภาษาอังกฤษซึ่งอ้างใน ส. ศิวรักษ์, เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๓๔), หน้า (๑๓) - (๑๔) ว่า “To summarize, the situation which has led to the Tsar of Russia having to relinquish the throne was brought about by himself. He refused to adapt himself to progressive groups, which had become very vociferous, and to make firmly concessions to them. One cannot fight progressive. It might be asked why one should not listen to conservatives also, since they are there, the answer is that conservatives can never harm the King, because it would be against their beliefs. Progressive are capable of anything, and therefore one has to consider them, more than conservatives. Conflict between the two is normal, but conservatives have never prevailed and containment is only temporary: in the end it will be as desired by the progressives.”

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทพ.43 ปัดถูกถล่ม 7 ครั้ง พูโลประณามทหารฆ่าประชาชน

Posted: 05 Feb 2012 10:05 AM PST

ผู้บังคับการ ทพ.43 ปัดฐานบ้านน้ำดำถูกถล่ม 7 ครั้ง เผยเจ้าหน้าที่ชุดยิงมี 4 นาย ยันยิงชาวบ้าน 4 ศพไม่กระทบนโยบายเพิ่มทหารพราน พูโลประณามเหตุฆ่าประชาชนหนองจิก

พ.อ.ศานติ ศกุนตนาค ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ทหารพรานจากฐานทหารพรานที่ 4302 บ้านน้ำดำ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก เคยถูกคนร้ายยิงถล่มมาแล้วเพียง 3 ครั้งเท่านั้น ไม่ใช่ 7 ครั้ง ตามที่เป็นข่าว

พ.อ.ศานติ เปิดเผยว่า สำหรับจุดตรวจบ้านน้ำดำ ที่ถูกคนร้ายยิงระเบิด M79 ถล่มเมื่อคืนวันที่ 29 มกราคม 2555 เดิมเป็นจุดตรวจของอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.)อำเภอหนองจิก แต่ได้ถอนตัวออกไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ทหารพรานจากฐานทหารพรานที่ 4302 จึงเข้ามาประจำการแทน และช่วงอาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอหนองจิกประจำการอยู่ เคยถูกคนร้ายยิงถล่มมาแล้วแต่ไม่ถึง 7 ครั้ง

พ.อ.ศานติ เปิดเผยอีกว่า หลังจากคนร้ายยิงจุดตรวจบ้านน้ำดำ ตนได้สั่งการให้ลูกน้องเข้าไปประจุดต่างๆ ตามแผนเผชิญเหตุ 4 – 5 จุด รวมทั้งจุดเกิดเหตุยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ มีทหารพรานประจำจุดดังกล่าว 4 นาย

พ.อ.ศานติ เปิดเผยว่า ลูกน้องตนรายงานว่า เห็นรถกระบะต้องสงสัยขับมาเจ้าหน้าที่จึงสั่งให้หยุดแต่คนขับไม่ยอมหยุดกลับถอยหลังหลบหนี และคนขับรถก็ใช้ปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ แล้วกระโดดหลบหนีไป และมีคนกระโดดลงจากรถวิ่งหลบหนีไปอีก 2 – 3 คน ดังนั้นคนที่อยู่ในรถน่าจะมากกว่า 9 คน ส่วนคนขับรถรูปร่างใหญ่มาก ไม่ใช่รูปขนาดคนอ้างว่าเป็นคนขับรถ

“เรื่องนี้ผมไม่อยากพูดอีกแล้ว รอให้ผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือพนักงานสอบสวนสรุปออกมาก่อน ส่วนกรมทหารพรานที่ 43 ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทหารพรานทั้ง 4 นายแล้ว และได้สั่งพักงานไว้ก่อนรวมทั้งได้ถอนกำลังของฐานทหารพรานที่ 4302 ออกมาทั้งหมดแล้ว” พ.อ.ศานติ กล่าว

พ.อ.ศานติ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ไม่กระทบกับนโยบายการเพิ่มกำลังทหารพรานแทนทหารหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาจากกองทัพภาคอื่น เนื่องจากกำลังทหารของกองทัพภาคที่ 4 มีไม่เพียงพอ จึงยังจำเป็นต้องใช้กำลังทหารพราน

พูโลประณามทหารฆ่าประชาชน
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555 ขบวนการปลดปล่อยปัตตานี หรือ พูโล ได้ออกแถลงการณ์ผ่านอินเทอร์เน็ต ประณามการกระทำของทหารพรานไทยที่ใช้อาวุธเข่นฆ่าชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ บ้านตันหยงบูโละห์ ตำบลปุโล๊ะปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ขณะเดินทางโดยรถยนต์กระบะ เพื่อเดินทางไปละหมาดศพเพื่อนบ้านเสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บอีก 4 คน เมื่อ 29 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา

โดยแถลงการณ์พาดหัวว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ปฏิบัติการของทหารพรานไทยในการรักษาความมั่นคงในพื้นที่ที่เหี้ยมโหด ไม่มีมนุษยธรรม เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ขณะเดินทางไปละหมาดศพเพื่อนบ้านที่เสียชีวิต ทำให้มลายูปัตตานีเสียชีวิตไป 4 ศพ ซึ่งมีอายุระหว่าง 15-74 ปี

แถลงการณ์ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีก 4 ราย ส่วนคนขับรถยนต์ปลอดภัย หลังก่อเหตุเจ้าหน้าที่ทหารไทยได้กล่าวหาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บว่า เป็นกลุ่มขบวนการผู้ก่อความไม่สงบปัตตานี เหตุเกิดห่างจากที่ตั้งกองร้อยทหารพราน ที่ 4302 ประมาณ 2 กิโลเมตร ขบวนการพูโลขอประณามการกระทำในครั้งนี้ว่า เป็นการก่อเหตุที่โหดเหี้ยมต่อมลายูปัตตานี ซึ่งสอดคล้องกับที่ทางการไทยมีความรู้สึกเกลียดชังต่อคนมลายูปัตตานีเป็นร้อยๆ ปี ยิ่งนับวันยิ่งมากขึ้น และขัดขวางการเตรียมการนำปัตตานี เข้าสู่สภาเศรษฐกิจอาเซียน 2015 (KEA 2015)

แถลงการณ์ ระบุอีกว่า รัฐบาลก่อเหตุและแก้ปัญหาเอง โดยมองชีวิตของมลายูปัตตานีเป็นการซื้อขายด้วยเงิน และอำนาจเด็ดขาด โดยมีความอิสระในการกระทำของรัฐบาลไทย ฆ่ามลายูแล้วจ่ายเงินชดเชยเพื่อยุติปัญหา ดังนั้นเลือดมลายูปัตตานี ซื้อขายด้วยเงินในราคาถูก และเหยียดหยามโดยกลอุบายได้หรือ 

สภาที่ปรึกษาฯศอ.บต.ตั้งทีมเกาะติดคดี4ศพ
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุมศรียะลา อาคารศาลากลางจังหวัดยะลา มีการประชุมสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธาน ที่ประชุมได้หารือกรณีเหตุทหารพรานยิงประชาชนเสียชีวิต 4 ศพดังกล่าว

หลังการประชุมนายอาซิส พร้อมด้วยนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาด้านสื่อมวลชน และนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน อ่านออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาถึงเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นว่า เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยามวลชนและความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเร่งคลี่คลายปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ก่อนปัญหาจะบานปลายจนแก้ไขยาก

แถลงการณ์ดังกล่าว มีข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่ 1.กองทัพต้องแสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่กล่าวโทษผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ อีกทั้งไม่ควรด่วนสรุปก่อนที่จะมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง หากปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ได้กระทำเกินกว่าเหตุ ต้องมีการขอโทษอย่างเร่งด่วน และต้องนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามประบวนการยุติธรรม

2.ต้องมีการเยียวยา ผู้ได้รับความเสียหายอย่างเร่งด่วน 3.ให้มีการเปลี่ยนทหารประจำการ มาแทนทหารพราน โดยนำทหารจากกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เข้าใจสถานการณ์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่ 4.เสริมบทบาทของพนักงานฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจ อาสาสมัครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยมีทหารเป็นผู้ให้การสนับสนุน 5.สภาที่ปรึกษาฯ มีหลักการเพื่อสนับสนุนประชาชน ในการเข้าถึงความจริงและความยุติธรรม เพื่อนำความสันติสุขกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นสภาที่ปรึกษาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะมีการตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบการทำคดีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งติดตามการทำงานของคณะกรรมการติดตามการสอบสวนที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีด้วย 

ถล่มทหารพรานปัตตานียิงอส.ยะลาดับ3
เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 เกิดเหตุนร้ายยิงอาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) อาดือนันท์ ยาแต อายุ 33 ปี สังกัด ร้อย ทพ.4412 กรมทหารพรานที่ 44 บนถนนสายเจาะกือแย-สายบุรี หมู่ที่ 6 ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีเสียชีวิตภายในรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ เจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นฝีมือแนวร่วมก่อความไม่สงบ

เวลา 06.00 น. วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555 บนถนนสายแฟลตตำรวจ-บ้านเบอร์เส้ง หมู่ที่ 1 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เกิดเหตุคนร้ายใช้รถกระบะยี่ห้ออีซูซุ ดีแมคซ์ สีเทา ดักยิงนายรณชิต พลายแก้ว อายุ 26 ปี และนายสุพัฒน์ อินทนก อายุ 30 ปี อาสาสมัครอำเภอเมืองยะลา ขณะขับรถจักรยานยนต์ออกจากฐานเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยพระสงฆ์ วัดเวฬุวัน กระสุนถูกที่ศีรษะและลำตัวจนพรุน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากฐานจุดตรวจ อส.บ้านเบอร์เส้ง ประมาณ 100 เมตร และอยู่ห่างจากที่ตั้งจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ประมาณ 700 เมตร หลังก่อเหตุคนร้ายยึดปืน AK 102 จำนวน 2 กระบอกและปืนพกสั้น .38 หนีไปพร้อมโปรยตะปูเรือใบตลอดเส้นทางเพื่อป้องกันการติดตามของเจ้าหน้าที่  

ชาวมุสลิมทำบุญให้“มุคตาร์ กีละ”
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ร่วมอ่านอัลกุรอานและขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่ออุทิศผลบุญให้กับ นายมุคตาร์ กีละ อายุ 47 ปี หัวหน้าพรรคประชาธรรมและเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร( ส.ส.) นราธิวาส เขต 3 ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ที่หน้าบ้านเลขที่ 267 บ้านลูโบ๊ะกาเยาะ หมู่ที่  ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

นายมูฮำมัด หะยีแวฮามะ กรรมการบริหารพรรคประชาธรรม เปิดเผยว่า แม้นายมุคตาร์ เสียชีวิตไปพรรคก็ต้องดำเนินการต่อไป โดยจะมีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายในเดือนมีนาคม 2555 เพื่อเป็นการสืบทอดอุดมการณ์ของพรรคต่อไป

 

หมายเหตุ : เนื้อข่าวบางส่วนประมวลจากเว็บไซด์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คุยกับ พ.อ.ศานติ ศกุนตนาค ‘ทหารพรานมีวิจารณญาณพอ’

Posted: 05 Feb 2012 10:02 AM PST

พ.อ.ศานติ ศกุนตนาค ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี คือผู้บังคับบัญชาของฐานทหารพรานที่ 4302 บ้านน้ำดำ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก ในวันที่ถูกยิงถล่มด้วยระเบิด M79 เมื่อค่ำวันที่ 29 มกราคม 2555 ตามมาด้วยเหตุยิงชาวบ้านตาย 4 ศพ เล่าถึงภารกิจของลูกน้องขณะเผชิญเหตุและผลสะเทือนที่ตามมา

..........................

ทหารพรานจากฐานทหารพรานที่ 4302 บ้านน้ำดำ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก เคยถูกคนร้ายยิงถล่มมาแล้วเพียง 3 ครั้งเท่านั้น ไม่ใช่ 7 ครั้ง ตามที่เป็นข่าว

ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2554 คนร้ายยิงระเบิด M79 จำนวน 3 ลูกเข้าใส่ฐานทหารพรานที่ 4302 หลังเกิดเหตุทหารพรานออกมาดักคนร้ายที่สะพานข้ามคลองชลประทานบนถนนสายบ่อทอง – ยาบี หมู่ที่ 7 ตำบลปุโละปุโย เจอวัยรุ่นขี่รถจักรยานขับผ่านมาแล้วยิงใส่ทหารพรานเสียชีวิตไป 1 นาย คือ อาสาสมัครทหารพรานเฉลิมพล สุขศรี ส่วนวัยรุ่นทั้ง 2 คน (นายอับดุลเลาะ แวเยะ อายุ 19 ปี และนายฮัสซัน มามะ อายุ 16 ปี) ถูกยิงเสียชีวิต

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 บริเวณจุดตรวจบ้านน้ำดำ คนร้ายได้ยิงปืนใส่จุดตรวจเจ้าหน้าที่ทหารพรานได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยหนึ่งนาย และครั้งที่ 3 คือวันที่ 29 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา คนร้ายยิงระเบิด M79 จำนวน 3 ลูกใส่จุดตรวจบ้านน้ำดำซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เกิดเหตุยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ

สำหรับจุดตรวจแห่งนี้ เดิมเป็นจุดตรวจของอาสาสมัครรักษาดินแดน(อส.)อำเภอหนองจิก แต่ได้ถอนตัวออกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ทหารพรานจากฐานทหารพรานที่ 4302 เข้ามาประจำการแทน ในช่วงที่อาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอหนองจิกประจำการอยู่ เคยถูกคนร้ายยิงถล่มมาแล้วแต่ไม่ถึง 7 ครั้ง

วันที่ 29 มกราคม 2555 หลังจากคนร้ายยิงระเบิด M79 ใส่จุดตรวจบ้านน้ำดำแล้ว ผมได้สั่งการให้ลูกน้องเข้าไปประจำจุดต่างๆ ทันที ตามแผนเผชิญเหตุ ประมาณ 4 – 5 จุด รวมทั้งจุดเกิดเหตุยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ มีทหารพรานปฏิบัติหน้าที่ในจุดนั้น 4 นาย ซึ่งมีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้นกำลังชุดนี้จึงไม่จงใจให้เกิดเรื่องแน่นอนเพราะเป็นมุสลิมเหมือนกัน

ลูกน้องผมรายงานว่า ตอนนั้นเห็นรถกระบะต้องสงสัยขับมา เจ้าหน้าที่จึงสั่งให้หยุดแต่คนขับไม่ยอมหยุดกลับถอยหลังหลบหนี และคนขับรถก็ใช้ปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ แล้วกระโดดหลบหนีไป และมีคนกระโดดลงจากรถวิ่งหลบหนีไปอีก 2 – 3 คน ดังนั้นคนที่อยู่ในรถน่าจะมากกว่า 9 คน ส่วนคนขับรถรูปร่างใหญ่มาก ไม่ใช่ตัวขนาดคนอ้างว่าเป็นคนขับรถ

รวมทั้งคนเจ็บ 2 คน ก็หลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ ก่อนที่จะเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพราะฉะนั้นแสดงว่านะจะมีคนอื่นหลบหนีไปได้อีก

แต่หลังเกิดเหตุผมได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน อธิบายว่าเกิดการยิงปะทะกันและลูกน้องผมก็ไม่รู้ว่าใครอยู่ในรถบ้าง เราทำตามกฎการปะทะกัน คือจะไม่ยิงก่อน

เรื่องนี้ผมไม่อยากจะพูดแล้ว รอให้ผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือพนักงานสอบสวนสรุปออกมาก่อน หากมีข้อเรียกร้องให้เราออกจากพื้นที่ เราก็ยินดี เพื่อลดกระแสความโกรธแค้นของชาวบ้าน แต่ยืนยันว่าเหตุการณ์เช่นนี้ใครๆ ก็ไม่อยากให้เกิด

ในส่วนของกรมทหารพรานที่ 43 ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าทีทหารพรานทั้ง 4 นายแล้ว และตอนนี้ได้สั่งพักงานทหารพรานทั้ง 4 นายไว้ก่อน รวมทั้งได้ถอนกำลังของฐานทหารพรานที่ 4302 ออกมาทั้งหมดแล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าลูกน้องผมทั้ง 4 คน ผิด แต่ให้เข้ามาอยู่ในกรมกองก่อน ไม่ให้ออกไปปฏิบัติหน้าที่

ส่วนเหตุยิงระเบิด M79 ยังไม่ได้ข้อมูลคนร้ายว่าใครเป็นคนยิง

เมื่อเกตุเหตุการณ์นี้ขึ้น ถามว่ากระทบกับนโยบายการเพิ่มกำลังทหารพรานแทนการปฏิบัติหน้าที่ของทหารหลักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ไม่กระทบ เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก เพื่อมาทดแทนกำลังทหารจากกองทัพภาคอื่น ที่จะต้องถอนออกไป แล้วให้ทหารพรานมาเป็นกองกำลังประจำถิ่น

ตอนนี้กำลังของกองทัพภาคที่ 4 ไม่เพียงพอในการดูแลรักษาความมั่นคงภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีเพียง 2 กองพล รวม 3 กรมทหารราบ กองพลหนึ่งมีประมาณ 3 -4 พันนายเท่านั้น

ขณะที่หนึ่งในสองกองพลคือกองพลทหารราบที่ 15 ซึ่งเป้นกองพลที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ก็ยังมีกำลังไม่ครบ เพราะยังย้ายมาจากศูนย์ทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ อำเภอปรานบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่ครบ จึงยังจำเป็นต้องใช้กำลังทหารพราน เพราะฉะนั้นไม่กระทบกับนโยบายนี้

ทหารพรานคือคนในพื้นที่ที่เปิดรับสมัครเข้ามา ย่อมมีความใกล้ชิดประชาชนมากกว่าทหารหลักที่เข้าไป เพราะเป็นคนนอกพื้นที่มาจากภาคอื่น เช่น ภาคอีสาน

ทหารพรานทั้งหมดเป็นคนมีความรู้มีวิจารณญาณ เพราะคนที่จะสมัครเป็นทหารพรานได้ ต้องจบมัธยมต้น หรือ ม.3 ทำให้ทหารพรานมีความรู้มากกว่าทหารเกณฑ์เสียอีก เพราะทหารเกณฑ์คือคนที่ถูกเกณฑ์เข้ามา ซึ่งบางคนไม่ได้เรียนหนังสือ

เมื่อสมัครเข้ามาแล้ว ก็ฝึกเหมือนกับทหารทั่วไปแต่ใช้เวลาสั้นกว่าคือ 1 เดือน ส่วนทหารเกณฑ์ใช้เวลาฝึก 2 เดือนครึ่ง หรือ 10 สัปดาห์ ผ่านการฝึกมาแล้วก็ต้องเข้าอบรมการเมืองปีละ 1 – 2 ครั้ง ส่วนการทบทวนการฝึกอาวุธอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเข้าไปอยู่ประจำฐานแล้ว จะมีการฝึกอบรมเป็นระยะโดยเฉพาะในเรื่องการเมือง การเข้าไปหาชาวบ้านต้องทำอย่างไร มีการเพิ่มพูนความรู้ให้อย่างต่อเนื่อง เพราะแน่นอนว่าทหารพรานต้องรู้จักใช้เหตุใช้ผลและมีวิจารณญาณพอที่จะไม่ทำอะไรที่ทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แม้เกลียด, แต่ก็ต้องคุยกัน

Posted: 05 Feb 2012 09:57 AM PST

ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา เราอยู่ในบ้านเมืองที่วุ่นวาย แตกแยก อยู่กับความขัดแย้งของผู้คนจนเริ่มสิ้นหวังแล้วว่า ความผิดพลาดของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้จะยังสามารถเยียวยาและแก้ไขได้อยู่ ด้วยเราเชื่อเสียแล้วว่า ผู้คนซึ่งเป็นฝักฝ่ายในสังคมได้เกลียดชังกันแล้วโดยสิ้นเชิง และไม่มีวันจะรับฟังกันและกันอีกต่อไป  คนที่เกลียดกันเสียแล้วจะอยู่ร่วมกันยากขึ้นทุกที เพราะทนฟังกันไม่ได้ ทนรับความคิดของอีกฝ่ายไม่ได้ สังคมอันสุดโต่งไม่ได้วางตัวเองไว้ในฐานะที่จะรับความคิดต่างได้อีก ความคิดถูกบล็อกไว้แล้วตรงจุดจุดหนึ่ง ที่เหลือคือการต่อสู้ช่วงชิงกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองเพื่อมารับใช้ความคิดของตน

ตลอดเวลาห้าปีนับแต่สังคมเริ่มแบ่งฝักฝ่ายชัดเจน ความพยายามที่จะกุมอำนาจทางการเมือง กุมอำนาจสื่อ และยกชูความคิดของตนไว้เหนือความคิดอีกฝ่ายเพื่อกุมอำนาจทางสังคม การช่วงชิงเพื่อจะเป็นผู้กุมสภาพและทิศทางของบ้านเมืองได้ทดลองทำไปแล้วมากมายหลายวิธี ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีเดียวกันกับการรัฐประหาร คือปล้นเอาดื้อๆ ห้ามเอาดื้อๆ ปิดกั้นเอาดื้อๆ แต่เราทราบกันดี และท่านที่ก่อการและร่วมก่อการรัฐประหารก็ทราบกันดี ว่าสิ่งที่ท่านทำโดยหวังจะให้เป็นคำตอบสุดท้ายของบ้านเมืองนั้นไม่มีวันจะเป็นไปได้ ความคิดต่างไม่มีวันจะยอมให้ท่านปล้น ห้าม หรือปิดกั้นเอาดื้อๆอย่างไร้เหตุผลไร้กฎเกณฑ์ ด้วยอำนาจอันน้อยนิดของประชาชน บ้านเมืองจะต้องขยับเข้าสู่วิถีทางแห่งประชาธิปไตยอยู่ร่ำไป แต่ความเป็นประชาธิปไตยก็จอมปลอมมากขึ้นทุกที เพราะสังคมยังคงแข็งแกร่งอยู่ด้วยอุดมการณ์ที่ไม่นิยมในประชาธิปไตย การปล้นเอาดื้อๆ ห้ามเอาดื้อๆ ปิดกั้นเอาดื้อๆ จึงยิ่งเข้มข้นเป็นทวีคูณ  เรื่องราวจึงไม่มีวันจะจบลงตามความต้องการของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ห้าปีอันยุ่งยาก เจ็บช้ำ โกรธเคือง เสียใจและฝังจำ จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่หนักไปหาเบา และดูเหมือนไร้หนทางแห่งการแก้ปัญหา เพราะข้อเสนอของฝ่ายหนึ่งจะไม่ถูกยอมรับจากอีกฝ่ายอย่างแน่นอนอยู่เสมอ

เมื่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เปิดตัวสู่สาธารณะ กลุ่มนักวิชาการเล็กๆ นี้ถูกกล่าวหาอย่างทันทีทันใดว่าทำงานรับใช้คุณทักษิณ เป็นนักวิชาการแดง

เป็นความจริงว่ามีกระแสตอบรับจากประชาชนฝั่งเสื้อแดงมาเป็นลำดับแรก  แต่มีกระแสตอบรับจากกลุ่มและบุคคลที่ไม่มีสีอยู่ด้วยเช่นกัน  ทว่าขณะนี้ มีความชัดเจนยิ่งขึ้นทุกขณะว่า ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์โดยเฉพาะในข้อที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 กลายเป็นข้อเสนอที่ถูกปฏิเสธจากทุกฝักฝ่ายมากที่สุด ผู้กุมอำนาจแทบทุกภาคส่วนของสังคมได้แสดงน้ำเสียงอย่างถ้วนทั่วแล้วว่าไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์  แม้แต่อดีตนายกฯทักษิณซึ่งถูกพาดพิงอยู่เสมอว่าเป็นผู้มีส่วนได้ประโยชน์จากบางข้อเสนอ ก็ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอของนิติราษฎร์อย่างแข็งขันเช่นกัน  ความชัดเจนที่ปรากฏขึ้นนี้ทำให้ได้คำตอบที่แจ่มชัดอยู่ในตัวเองข้อหนึ่งว่า กลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ไม่ใช่กลุ่มหรือบุคคลที่มีสังกัด หรือถูกส่งมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในประเทศนี้ เป็นเพียงนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานอย่างอิสระเท่านั้น 

เรารู้กันว่าความแตกแยกโดยความคิดสุดโต่งได้แบ่งสังคมออกเป็นสองฝักฝ่าย และผู้มีอำนาจบารมีเหนือฝักฝ่ายทั้งสองนี้ได้แสดงน้ำเสียงชัดเจนแล้วในการปฏิเสธข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์  ด้วยเหตุนี้  ประชาชนผู้ยอมรับและสนับสนุนในข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม พวกเขากำลังกลายเป็นประชาชนผู้ไร้ฝักฝ่าย จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ประชาชนผู้ฝักใฝ่ในข้อเสนอของนิติราษฎร์กำลังถูกปฏิเสธจากความเป็นฝักฝ่าย  เป็นเพียงประชาชนตัวเล็กๆ ที่คิดและตัดสินใจเองอย่างอิสระ ที่จะยอมรับในข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

นักวิชาการกลุ่มเล็กๆในชื่อ คณะนิติราษฎร์ ผู้ยื่นข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองออกไปสู่สังคม กับ ครก.112 และผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคมอีกหนึ่งร้อยกว่าคนที่ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 กับประชาชนจำนวนหนึ่งที่พยายามส่งเสียงสนับสนุนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์  มีเพียงเท่านี้ เวลานี้กลุ่มก้อนทั้งหมดที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์และกำลังร่วมกันผลักดันข้อเสนอมีเพียงเท่านี้ ยังคงเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ที่แทบไม่มีอำนาจต่อรองในสังคม ไม่มีอำนาจเงิน ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และไม่มีเส้นสายลึกลับแต่ประการใด  หนำซ้ำกำลังถูกรุมกินโต๊ะอย่างเมามันจากผู้มีอำนาจเหนือกว่าทุกด้านในสังคมอยู่ในขณะนี้

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ต้องกลัวและไม่ต้องหวั่นวิตกต่อกลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ไม่ต้องกังวลว่าเขาจะคิดก่อขบวนการลึกลับ หรือแอบแฝงเรื่องใดไว้เบื้องหลัง เพราะเขาไม่มีปัจจัยสนับสนุนใดๆที่จะทำเช่นนั้นได้

ดังนี้แล้วจึงน่าสนใจว่า ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ถูกปฏิเสธอย่างรวดเร็วและรุนแรงด้วยเหตุผลใดบ้าง การปฏิเสธข้อเสนอโดยส่วนใหญ่มีองค์ประกอบจากท่าทีที่บอกเป็นนัยว่า ผู้ปฏิเสธได้เชื่อไปแล้วว่า คณะนิติราษฎร์มีเจตนาแอบแฝงคิดล้มล้างหรือลดทอนพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ มีคนจำนวนมากด่าทอนิติราษฎร์พร้อมถ้อยคำตอบโต้ว่าประชาชนยังต้องการสถาบันกษัตริย์

นัยยะเพียงประการเดียวของปรากฏการณ์เหล่านี้คือ ตอบโต้และปฏิเสธโดยไม่ต้องแคร์ว่ารายละเอียดในข้อเสนอจริงๆเป็นอย่างไร เราไม่ฟังกันแล้ว เราไม่คุยกันแล้ว ไม่ต้องอ่านว่าข้อเสนอของเขาคืออะไร ไม่ต้องฟังว่าเขาพูดอะไร หากพูดเรื่อง ม.112 ตัดสินได้เลยว่าเขาต้องการล้มเจ้า เราเกลียดคนเหล่านี้เพราะเราเชื่อมานานแล้วว่าคนเหล่านี้ไม่เอาเจ้า

มันไม่ยากถ้าความคิดสุดโต่งทั้งสองฝ่ายจะสาดใส่กันอีกครั้ง ตั้งหน้าโจมตีกันไปจนเหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นมาโรมรันกันใหม่ เพราะไม่มีใครยอมใครอยู่แล้ว แต่เราต้องการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองกันหรือไม่ ข้อเสนอแบบไหนที่เราจะยอมรับฟังกันได้ทั้งสองฝ่าย ผู้เสนอแบบไหนที่เราจะยอมรับฟังคำพูดของเขา วิกฤติของบ้านเมืองนับแต่รัฐประหาร 49 เป็นต้นมาเราเชื่อว่ามันจบแล้ว ผ่านไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไขอะไรเลย แค่ปล่อยให้ผ่านไปก็พอ เราเชื่อเช่นนั้นจริงๆหรือ ทั้งๆไม่มีหลักประกันว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก ทั้งๆรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ยังคงเป็นรัฐธรรมนูญจากคณะรัฐประหาร ทั้งๆองค์กรอิสระผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศล้วนงอกเงยมาจากผู้ก่อการรัฐประหาร หากเราเชื่อเหมือนกันว่าปัญหายังคงอยู่ ความแตกแยกอันเนื่องมาจากปัญหาเดียวกันยังคงอยู่  ก็ต้องถามตัวเองกันอีกครั้งว่า แล้วข้อเสนอในการแก้ปัญหาแบบไหนที่เราจะรับฟังร่วมกันได้  ผู้เสนอแบบไหนที่เราจะยอมรับฟังคำพูดของเขา

บางทีท่านต้องการแบบที่ต้องมีปืนจ่อหัว และไม่อนุญาตให้ท่านปฏิเสธหรือโต้เถียงใดๆ

บางทีท่านต้องการแบบที่หลอกล่อให้ประชาชนมาลงประชามติยอมรับรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร  แลกกับการได้รับอนุญาตให้กลับไปเลือกตั้ง

บางทีท่านจะยอมรับฟังแต่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าท่าน ในแบบที่จำเป็นต้องรับฟังอย่างเสียมิได้

บางทีท่านจะยอมพูดคุยกับประชาชนคนเล็กๆ ก็ต่อเมื่อเขามากันเป็นจำนวนมากและได้ยึดเอาถนนหรือสถานที่สำคัญไว้เป็นเครื่องต่อรองแล้ว

บางทีท่านจะยอมพูดคุยเจรจากันดีๆ ก็ต่อเมื่อเราเตรียมตัวจะฆ่ากันแล้วนั่นเอง

แต่ท่านไม่เห็นหรือ  ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ ของคณะนิติราษฎร์ ถูกนำเสนอในรูปแบบใด

คณะนิติราษฎร์ยื่นข้อเสนอด้วยท่าทีของวิญญูชน อย่างสุภาพและให้เกียรติต่อสังคมสูงสุด ในอันจะขอให้พิจารณาข้อเสนอนี้  คำว่าขอให้พิจารณาข้อเสนอนี้คงไม่ต้องอธิบายว่าแตกต่างจากการเอาปืนไปจ่อหัวให้ยอมรับการรัฐประหารอย่างไร

คณะนิติราษฎร์ยื่นข้อเสนอด้วยสถานะของนักวิชาการ อย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย ไม่มีการหลอกล่อให้เข้าใจผิดหรือไขว้เขวในเป้าหมายที่ต้องการนำเสนอ

คณะนิติราษฎร์ยื่นข้อเสนอโดยไม่มีเครื่องมือต่อรองใดๆ  การจะรับหรือไม่รับข้อเสนอจึงสามารถตัดสินใจได้ด้วยความคิดที่เป็นอิสระไร้เงื่อนไข

คณะนิติราษฎร์ยื่นข้อเสนอด้วยเจตนาให้สังคมทุกภาคส่วนพิจารณา หมายถึงคณะนิติราษฎร์ย่อมรับฟังทุกน้ำเสียงของสังคม ย่อมไม่ใช่ข้อเสนอที่จะเอาใจกลุ่มไหนหรือฝ่ายใด แต่เป็นข้อเสนอที่ตั้งมั่นอยู่บนหลักการอันจะนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

ในประเด็นสุดท้ายนี้มีข้อสังเกตเล็กน้อยเป็นองค์ประกอบอยู่ว่า ข้อเสนอเกี่ยวกับการขอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 นั้น กลุ่มบุคคลและประชาชนที่มีความคิดต่อต้านกฎหมายมาตรานี้มานาน มีการรณรงค์และเรียกร้องมาหลายปีให้ยกเลิกบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 เสีย แต่ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ยืนยันอยู่ในระดับของการแก้ไข ประเด็นนี้ทำให้เกิดวิวาทะอยู่มากพอสมควร ระหว่างผู้ต้องการให้ยกเลิก กับผู้ต้องการเพียงแก้ไข หากจะสามารถส่งผ่านประเด็นนี้ไปถึงความคิดอันสุดโต่งอีกฟากฝั่งหนึ่งซึ่งไม่ต้องการให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรา 112 โดยสิ้นเชิงได้ อยากจะขอให้ท่านหยุดพิจารณาเรื่องนี้สักนิดเถิดว่า เรารู้ว่าข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ไม่ตอบสนองความคิดของท่านแน่นอน แต่ก็ไม่ได้ตอบสนองกลุ่มคนที่ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เช่นกัน และในความเป็นจริงมีบุคคลที่ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายจำนวนไม่น้อยได้ยินยอมลดระดับการเรียกร้องของตนเอง ยินยอมให้อยู่ในระดับของการแก้ไขตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ด้วยเหตุที่รู้ๆกันอยู่ว่า ในประเทศนี้ไม่ได้มีแต่เรา แต่ในประเทศนี้มีท่านอยู่ด้วย ด้วยเหตุที่รู้ๆกันอยู่ว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์มิได้ต้องการการยอมรับจากคนเพียงกลุ่มเดียว แต่ต้องการการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ดังนี้ ถ้าท่านจะลองคิดลดระดับการเรียกร้องของตนเองดูบ้าง ยินยอมให้แก้ไขได้บ้างตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ จุดดุลยภาพระหว่างเราก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เราและท่านจะอยู่ร่วมกันได้ด้วยจุดดุลยภาพนี้  เว้นแต่ท่านตั้งมั่นไว้แล้วว่า จะไม่อยู่ร่วมประเทศกับคนคิดต่างอย่างแน่นอน

สังคมทราบดีอยู่แล้วว่าคนคิดต่างทั้งสองฝ่ายเกลียดกัน  แต่แม้เกลียดกันเพียงใด เรายังคงต้องคุยกัน เพื่อว่าเราจะไม่ฆ่ากันในวันข้างหน้า

ถ้าหากว่าท่านยังไม่ได้อ่านข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ก็สละเวลาหาอ่านสักนิดเถิด เพื่อว่าเวลาที่ท่านจะปฏิเสธข้อเสนอ จะได้คุยกันด้วยเหตุด้วยผลบนความเข้าใจเดียวกัน

ถ้าหากว่าท่านยังมีความระแวงแคลงใจ กลัวว่าคณะนิติราษฎร์และผู้สนับสนุนจะคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่านต้องหาโอกาสคุยกับเขา ถามเขาให้แน่ใจว่าข้อเสนอนี้จะทำให้สถาบันฯต้องล่มสลาย หรือจะทำให้สถาบันฯยิ่งมั่นคงและสง่างามกันแน่

แม้เราเกลียดกันเพียงใด แต่ก็ต้องคุยกัน เพื่อว่าเราจะไม่ฆ่ากันในวันข้างหน้า เว้นแต่ท่านตั้งมั่นไว้แล้วว่า จะต้องฆ่าเราในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน.

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความเห็นต่อหนังสือตอบ “ท่าทีในการวิจารณ์” ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

Posted: 05 Feb 2012 09:20 AM PST

 

ผมเพิ่งทราบจากอาจารย์ที่เคารพนับถือกันท่านหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้เองว่า ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เขียนหนังสือตอบบทความของผมที่เผยแพร่ในประชาไทเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว หนังสือที่ว่านี้ชื่อ “ขว้างก้อนอิฐมา พัฒนาเป็นแก้วมณี” ดาวน์โหลดอ่านได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้

 


http://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/changing_rock_into_gem.pdf

 

หนังสือนี้ตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ตอบบทความของผมชื่อ “พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กับวัฒนธรรมการวิจารณ์ในพุทธศาสนาเถรวาท” (http://prachatai.com/journal/2011/09/36962)

ท่านเจ้าคุณบอกว่า ได้รับบทความดังกล่าวนี้จากพระลูกศิษย์ของท่าน แต่ผมแปลกเหมือนกันว่า ทำไมลูกศิษย์ท่านไม่นำบทความต่อเนื่องชื่อ “พระสงฆ์กับกัลยาณมิตรและการท้าทายทางวิชาการ” (http://prachatai.com/journal/2011/09/36986) ซึ่งเป็นบทความที่ให้รายละเอียดชัดเจนขึ้นว่า “ท่าที” ต่อคำวิจารณ์ของคนอื่นของท่านเจ้าคุณเป็นอย่างไร และผมมีความเห็นต่อท่าทีเช่นนั้นอย่างไร โดยเฉพาะบทความเรื่องที่สอง (ที่เผยแพร่ในประชาไทไล่เลี่ยกับบทความชิ้นแรกเพียง 2 วัน) เป็นบทความที่ผมตั้งข้อสังเกตตรงๆ ว่า ลูกศิษย์ท่าน (บางคน) ดูจะไม่เป็น “กัลยาณมิตร” ต่อท่านนัก มักชงเรื่องเชิงขัดแย้งในการตั้งคำถามกับท่าน เป็นต้น

ผมอยากแสดงความเห็นต่อหนังสือ “ขว้างก้อนอิฐมาพัฒนาเป็นแก้มณี” ของท่านเจ้าคุณ โดยรวมๆ ดังนี้

1. โดยปกติท่านเจ้าคุณมักตั้งชื่อหนังสือตรงกับ “เนื้อหา” ที่ท่านต้องการบอก เหมือนชื่อหนังสือ “ตื่นกันเสียทีจากความเท็จของหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1” ก็หมายความว่า เนื้อหาของหนังสือนี้เป็นเรื่องเท็จ ท่านต้องการบอกความจริงให้คนตื่นจากเรื่องเท็จ ฉะนั้น ชื่อ “ขว้างก้อนอิฐมา พัฒนาเป็นแก้วมณี” ก็สะท้อนว่าท่านเจ้าคุณ (อาจ) มองว่า บทความวิจารณ์ของผมเป็นเหมือน “ก้อนอิฐ” แต่ท่านก็ใช้ประโยชน์จากก้อนอิฐนั้นในแง่บวก คือพัฒนาให้เป็น “แก้วมณี” ในความหมายว่า ยกข้อวิจารณ์นั้นมาเพื่อเป็นโอกาสได้ชี้แจงความจริง ให้ความรู้ และแง่คิดที่เป็นประโยชน์แก่สังคม

แต่อย่างไรก็ตาม ตอนที่ผมเขียนบทความวิจารณ์ “ท่าที” ของท่านเจ้าคุณ ผมก็ไม่ได้มีเจตนาร้าย ตั้งใจกล่าวหา โจมตี หรือมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายใดๆ แก่ท่าน พูดในเชิงอุปมาอุปมัยก็คือผมไม่ได้มีเจตนาจะ “ขว้างก้อนอิฐ” ใส่ท่าน แม้ว่าบทความจะเขียนอะไรตรงๆ ตามความคิดความเข้าใจของตนเอง ก็กระทำไปโดยไม่ได้มี “จิตเป็นอกุศล” ต่อท่านเจ้าคุณเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด

ที่วิจารณ์ก็เพียงวิจารณ์ “ท่าทีสาธารณะ” คือท่าทีที่ท่านแสดงออกอย่างเป็นสาธารณะที่ผมเห็นว่ามีผลบางอย่างต่อวัฒนธรรมการวิจารณ์ในพุทธศาสนาเถรวาทไทยที่ควรตั้งข้อสังเกต หรือวิพากษ์วิจารณ์กันได้

2. เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือท่านเจ้าคุณ เป็นการยกข้อความในบทความผมขึ้นมาเป็นตอนๆ แล้วท่านก็ถือเป็นโอกาสได้อธิบายเรื่องราวที่บทความผมอ้างถึงให้ชัดขึ้น เช่น ประเด็น 4 นักวิชาการ ในหนังสือ “นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอา” ประเด็นที่ผมอ้างความเห็นของจิตร ภูมิศักดิ์ เปรียบเทียบกับความเห็นของท่านเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันสงฆ์กับรัฐ แล้วท่านก็อธิบายให้เห็นว่าระหว่างท่านกับจิตรมุมมองใครน่าจะ romantic หรือ realistic อธิบายเรื่อง “เหนือการเมือง” โดยเปรียบเทียบพุทธกับคริสต์ เรื่อง “สมประโยชน์” ระหว่างคณะสงฆ์กับผู้นำรัฐ เรื่องข้อมูลการสังคายนาครั้งที่ 3 เรื่องทำพระธรรมวินับให้วิปริต การเขียนหนังสือกรณีธรรมกาย กรณีสันติอโศก เป็นต้น

โดยรวมแล้ว เป็นการอธิบายความคิดของท่านเจ้าคุณต่อปัญหาที่บทความผมอ้างถึงในการวิจารณ์ “ท่าที” ของท่านให้ชัดเจนขึ้น และโต้แย้งส่วนที่ท่านเห็นว่าบทความผมให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

แน่นอนว่า ตัวผมเองย่อมได้รับประโยชน์จากข้อโต้แย้ง คำวิจารณ์เชิงติติง ชี้แนะ และเตือนสติด้วยเมตตาจิตจากท่านเจ้าคุณ

3. แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า ผมเห็นด้วยกับท่านเจ้าคุณในเรื่องการอ้างอิงข้อมูลในพระไตรปิฎก เพื่อเป็นมาตรฐานตัดสินว่าใครอ้างข้อความในพระไตรปิฎกถูกหรือผิด หรือใครตีความคำสอนพุทธศาสนาถูกตามพระไตรปิฎกหรือไม่ และเห็นด้วยว่าการวิจารณ์จะต้องยึดความจริงและข้อมูลที่ถูกต้องเป็นหลัก (และที่ท่านชี้ให้เห็นว่าบางเรื่องที่ผมอ้างข้อมูลผิดพลาดนั้น ผมก็น้อมรับด้วยความขอบพระคุณ) แต่ที่ผมเห็นต่างจากท่านเจ้าคุณ คือ เรื่อง “ท่าที” ของท่าน ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ

ก. ทัศนะต่อความจริง หรืออาจเรียกว่า “ท่าทีระดับทัศนะต่อความจริง” ก็ได้ ท่านเจ้าคุณเขียนว่า

ประเด็นของหนังสือ นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอา นั้น ไม่ใช่การวิจารณ์ แต่เป็นการบอกความจริง คือบอกให้รู้ว่า นักวิชาการที่กล่าวถึงเหล่านั้น นำข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมาใช้มาอ้างในการวิจารณ์ ซึ่งเป็นกรรมที่ไม่ควรกระทำ...การวิจารณ์เป็นเรื่องของความคิดเห็น… แต่ความจริงไม่อยู่ที่ความคิดเห็นของคน ไม่ขึ้นต่อความคิดเห็นของคน ไม่ต้องให้คนมาว่า มาวัดมาตัดสินกัน (น.3)

ดูเหมือน “ความจริง” ตามนิยามของท่านเจ้าคุณจะหมายถึงความจริงที่เป็น “ภววิสัย” (objective) ซึ่งในวงวิชาการเชื่อกันว่า ความจริงเช่นนี้เป็น “ความจริงทางวิทยาศาสตร์” แต่ก็มีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นภววิสัยที่ไม่ขึ้นต่อความเห็น การตัดสินของตัวบุคคลจริงหรือไม่

ทว่าประเด็นในที่นี้คือ “ความจริงทางศาสนา” (เช่น เรื่องราวในพระไตรปิฎก) นั้น มีลักษณะเป็นความจริงทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ปนๆ หรือคาบเกี่ยวกันอยู่ ซึ่งความจริงดังกล่าวนี้ในทางวิชาการเชื่อกันว่าไม่ใช่ความจริงภววิสัยแบบวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ภาษาในพระไตรปิฎกเองก็เป็นภาษาที่มีบริบททางวัฒนธรรมความเชื่อของสังคมยุคพุทธกาลและยุคต่อๆ มา (ที่มีการทำสังคายนา) ปะปนผสมผสานกันอยู่จนยากที่จะแยกให้เห็นความเป็นภววิสัยของสัจธรรมพุทธจริงๆ ที่ไม่มีบางมิติของความจริงอื่นๆ ผสมผสานคละเคล้ากันอยู่

งานเขียนของพระมโน เมตตานนฺโท คืองานที่ตั้งคำถามกับข้อมูลในพระไตรปิฎกว่าส่วนไหนน่าจะใช่ หรือไม่ใช่พุทธพจน์ แล้วก็ระบุว่าตรงนั้นใช่ ตรงนี้ไม่ใช่ ส่วนงานของท่านเจ้าคุณคือการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลในพระไตรปิฎกและชี้ให้เห็นว่า ที่พระมโนนำมาอ้างนั้นไม่ถูกตามพระไตรปิฎกอย่างไร ที่ถูกคืออะไร

แต่ว่าบางเรื่องข้อสรุปของพระมโนเช่น ข้อสรุปว่า “ครุธรรม 8 ประการ ไม่น่าจะใช่พุทธพจน์” ก็สรุปก็ออกมาจากการพิจารณาความสอดคล้อง ไม่สอดคล้อง ของข้อความในพระไตรปิฎกเป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการวิเคราะห์ความจริงทางศาสนา (ที่มีลักษณะเป็นความจริงทางสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์) ย่อมหนีไม่พ้นการตีความ ในกรณีเช่นนี้หากเป็นการวิเคราะห์ผิดสรุปผิด เราก็กล่าวได้แค่ว่าพระมโน “ตีความผิด” หรือ “สรุปผิด” ไม่ใช่ไปสรุปว่าพระมโนเจตนาไม่ซื่อ กล่าวเท็จ สร้างงานวิชาการผีหลอก (นักวิชาการหลายคนก็เห็นด้วยกับท่านเจ้าคุณว่างานพระมโนมีปัญหาในการอ้างพระไตรปิฎก แต่เขาก็มี “ท่าที” ต่างออกไป เช่นเห็นว่าเป็นงานที่ท้าทายให้วิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ เป็นต้น)

เช่นเดียวกันประเด็น “ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต” ท่านเจ้าคุณนิยามว่าคือ “ทำให้พระธรรมวินัยมีความคลาดเคลื่อนแล้วถูกถือเป็นหลักที่ผิดเพี้ยนไป” (น.44) ซึ่งท่านเจ้าคุณเห็นว่า มีความผิดร้ายแรงกว่า “ประพฤติผิดพระธรรมวินัย” แต่ถ้ามีคนแย้งว่า ไม่มีใครทำพระธรรมวินัยให้วิปริตได้จริงๆ หรอก เพราะถ้าเราเชื่อว่าพระธรรมวินัยบริสุทธิ์มีอยู่แล้วในพระไตรปิฎกที่เป็นสมบัติร่วมกันของชาวพุทธทั่วโลก ต่อให้มีใครตีความผิด สอนผิด ประพฤติผิดจากพระไตรปิฎก พระธรรมวินัยที่ถูกต้องนั้นก็ยังคงมีให้เป็นหลักตรวจสอบตัดสินอยู่ในพระไตรปิฎกเช่นเดิม

ดังประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็มีพระสงฆ์หรือชาวพุทธทั้งในอดีตและปัจจุบันจำนวนมากที่ตีความผิด สอนผิด ถือผิดจากพระไตรปิฎก ทำให้มีการแยกเป็นนิกายต่างๆ จำนวนมาก แต่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องก็ยังมีอยู่ในพระไตรปิฎกเช่นเดิม (ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าการ“ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต” ตามนิยามของท่านเจ้าคุณไม่ใช่ปัญหาที่ควรแก้ไข แต่ในแง่หนึ่งหากไม่ระมัดระวังคำเช่นนี้ก็อาจถูกใช้ในความหมายเชิง “วาทกรรม” ที่ไปกดคนอื่น ฝ่ายอื่นซึ่งอ่านพระไตรปิฎกแล้วสรุปความออกมาต่างกันให้ดูเลวร้ายเกินความเป็นจริงได้)

คำถามคือ ในกรณีเช่นนี้ ความจริงตามนิยามของท่านเจ้าคุณกับความจริงตามข้อโต้แย้ง อะไรคือความจริงที่เป็นภววิสัยกันแน่? และ/หรือจะสรุปอย่างสมเหตุสมผลได้หรือไม่ว่าท่าทีที่โต้แย้งท่านเจ้าคุณเป็นเท็จ เป็นท่าทีที่ไม่สนใจความจริง คิดเอาเอง อยู่ในโลกของความคิด เป็นต้น 

ข. “ท่าทีเชิงจริยธรรม” หรือการตัดสินงานของคนอื่น ความคิดเห็นของคนอื่นในเชิงจริยธรรม คือไม่ได้ตัดสินตาม “ข้อเท็จจริง” แค่ว่า เขาอ้างพระไตรปิฎกผิด ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน สรุปความคิดผิด วิจารณ์ผิดอย่างไร แต่ไป “ตัดสินเชิงจริยธรรม” ว่าเขา “ขว้างก้อนอิฐ” “ด่า” หรือ “กล่าวเท็จ” ซึ่ง “การกล่าวเท็จ” มีความหมายเชิงจริยธรรมว่ามี “เจตนาอกุศล” แฝงอยู่ด้วย ดูเหมือนท่านเจ้าคุณเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ (ดังที่ท่านหมายเหตุไว้ในหนังสือว่า ที่ไม่เอ่ยชื่อจริงของท่าน บก.และ ดร.ช. เพราะเกรงว่าผู้อ่านจะสงสัยใน “เจตนา” ของคนทั้งสอง)

ในหนังสือ “ขว้างก้อนอิฐมา พัฒนาเป็นแก้วมณี” เล่มนี้ ท่านเจ้าคุณเน้นย้ำมากเป็นพิเศษว่างานของท่านที่ตอบโต้นักวิชาการต่างๆ นั้น “ไม่ใช่การวิจารณ์” แต่เป็น “การบอกความจริง” คือ บอกให้รู้ว่าที่เขาเขียนนั้นเท็จ หรือไม่จริงอย่างไร และที่จริงเป็นอย่างไร และดูเหมือนท่านจะไม่เห็นด้วยว่า การอ้างความคิดของคนอื่นจะสรุปเอาตามความเข้าใจของตนเองว่าเขาคิดอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ (อย่างที่ ดร.ช.ท่าน บก.วารสารพุทธศาสน์ศึกษา Dr.McCargo ทำ) ต้องอ้าง “ข้อความของเขา” ตามที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานจริงๆ     

แน่นอนว่า ข้อเสนอของท่านเจ้าคุณนั้นควรแก่การรับฟัง แต่บางที “การสรุปความเห็นของคนอื่น” ก็เป็นเรื่องที่ทำกันอยู่บ้าง และท่านเจ้าคุณเองก็ทำ เช่นที่ผมยกมาในบทความชื่อ “พระสงฆ์กับกัลยาณมิตรและการท้าทายทางวิชาการ” ที่อ้างถึงข้อความในหนังสือ “นักวิชาการเทศ-ไทยฯ” ของท่านเจ้าคุณตอนหนึ่งว่า....

นักแทรก (ชื่อสมมติของคนที่สนทนากับท่านเจ้าคุณ): เข้ากับเรื่องที่กำลังพูดนะนี่ ขออ่านเลยนะครับ ท่าน บก.เขียนอย่างนี้ครับ

“...เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เนื้อหาของหนังสือเป็นบทสนทนาระหว่างท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กับคณะแพทย์จำนวนหนึ่ง ในการสนทนา บรรดาแพทย์ทั้งหลายได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนะของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และชีววิทยา เช่น ปัญหาเรื่องการโคลนมนุษย์ ปัญหาการใช้เซลล์ต้นแบบจากตัวอ่อนมนุษย์ เป็นต้น ท่านเจ้าคุณนั้นเวลาที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องต่างๆ ท่านมักองอาจดังพญาราชสีห์ แต่ความองอาจที่เคยเห็นนั้นหายไปมากในหนังสือเล่มนี้ สิ่งที่ผมพยายามคิดหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบคือ “เกิดอะไรขึ้นกับท่านเจ้าคุณ” เท่าที่ผมอธิบายให้กับตัวเองได้ในเวลานี้คือ นี่อาจเป็นสัญญาณแรกๆ ของการที่พระพุทธศาสนาแบบเดิมที่เราคุ้นเคย ไม่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ในสังคมสมัยใหม่ได้แล้ว ท่านเจ้าคุณนั้นเป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนาในความหมายของผู้ที่ “แม่นทางปริยัติ” แต่ปัญหาทางจริยธรรมในโลกสมัยใหม่ ไม่ต้องการเพียงความแม่นยำในปริยัติเท่านั้น หากแต่ต้องการความเป็นผู้มีสติปัญญาอันกว้างขวางที่จะให้ทางออกอันประกอบด้วยความลึกซึ้ง กินใจ ชวนคิด มีเมตตาแก่ทุกฝ่ายเป็นต้นด้วย การศึกษาพระปริยัติธรรมแบบดั้งเดิมที่คณะสงฆ์ดำเนินการอยู่นั้น ดูท่าจะไม่พอเสียแล้วสำหรับการตอบสนองความต้องการเช่นนี้ หากสิ่งที่ผมคิดถูกต้อง ก็แปลว่าเกิดลางในทางไม่ดีต่ออนาคตของพระพุทธศาสนาอย่างที่อยู่ภายใต้การนำของคณะสงฆ์ไทยในบางด้านเสียแล้ว”

พออ่านจบ “นักแทรก” ก็ชงต่อทันทีว่า “นี่เขาด่าคณะสงฆ์ แต่ว่าไม่ใช่ เขาด่ามหาจุฬาฯ ท่านอาจารย์อยู่ในมหาจุฬาฯ ตลอดเลย”

พระพรหมคุณาภรณ์: ท่าน บก.จะด่าคณะสงฆ์ หรือด่ามหาจุฬาฯ ก็คงต้องไปถามตัวท่านเอง แต่ก็ถือว่าด่าพระสงฆ์ไทย เป้าอยู่ที่อาตมานี่แหละ

เห็นได้ชัดว่า ลูกศิษย์และท่านเจ้าคุณอ่านข้อความดังกล่าวแล้วสรุปว่า นั่นคือการ “ด่า” และนี่เองที่ผมคิดว่าเป็น “ท่าทีเชิงจริยธรรม” ที่มีปัญหาไม่น้อยไปกว่า “การสรุปความเห็นของคนอื่นคลาดเคลื่อนแล้วนำมาวิจารณ์”

ท่าทีเชิงจริยธรรมทำนองนี้นี่เองที่ผมคิดว่า เป็นท่าทีที่มีปัญหามากในวงการพุทธศาสนาเถรวาทไทย เพราะในที่สุดไม่ใช่แค่ “การบอกความจริง” ว่าคนอื่นอ้างพระไตรปิฎกผิด ตีความผิด สอนผิด เป็นต้นอย่างไร แต่มักนำไปสู่การ “ตัดสินเชิงจริยธรรม” คือตัดสิน “เจตนาภายใน” ว่า เขามีเจตนาอกุศลอย่างไร เช่น เจตนาไม่ซื่อ และอื่นๆ (ในวงการพุทธมักประณามว่าเป็น “มิจฉาทิฐิ” เป็นต้น)

เหมือนปรากฏการณ์ทางสังคมหลายๆ เรื่อง เช่น กรณีนิติราษฎร์เสนอแก้ ม.112 แทนที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยจะโต้แย้งเฉพาะข้อเสนอและเหตุผลของนิติราษฎร์ว่ามีปัญหาอย่างไร แต่กลับไปใช้ “ท่าทีเชิงจริยธรรม” ตัดสิน “เจตนาภายใน” ของนิติราษฎร์ว่า ต้องการล้มเจ้า ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นต้น (ที่เปรียบเทียบนี้ไม่ได้หมายความว่า ท่าทีทางจริยธรรมของท่านเจ้าคุณกับของฝ่ายต้านนิติราษฎร์มี “ระดับคุณภาพ” เท่ากัน เพียงแต่ยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมชัดๆ เท่านั้น)

กล่าวโดยสรุป ผมเห็นว่า เนื้อหาหลักๆ ของหนังสือ “ขว้างก้อนอิฐมาพัฒนาเป็นแก้วมณี” มีประโยชน์ในแง่การให้ความรู้ ให้หลักการ แง่คิด เตือนสติในการวิพากษ์วิจารณ์ และการมีวัฒนธรรมเคารพความจริง รักในการแสวงหาความจริง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผมไม่ได้เห็นแย้งกับท่านเลย และเห็นว่างานของท่านมีคุณภาพมากในการยืนยันหลักฐานข้อมูล ความถูกต้องของหลักพระธรรมวินัยแห่งพุทธศาสนาเถรวาท

เพียงแต่ผมไม่เห็นด้วยกับ “ท่าที” บางประการของท่านดังกล่าวมาแล้วเท่านั้นเอง!

 

 

ปล. ผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า บรรดาลูกศิษย์ควรให้ท่านเจ้าคุณมีเวลาพักผ่อนและทำงานใหญ่ๆ มากกว่าที่จะไปรบกวนให้ท่านใช้เวลาในการตอบโต้คนอื่นๆ ที่วิจารณ์งานของท่าน หากเห็นว่าการวิจารณ์นั้นๆ มีปัญหา ลูกศิษย์ควรรับภาระโต้ตอบหรือชี้แจงแทนท่านเองน่าจะเหมาะสมกว่า

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

CORE Respondence : ประวิตร โรจนพฤกษ์-โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม

Posted: 05 Feb 2012 09:12 AM PST

รายการใหม่ล่าสุดโดยประชาไท "CORE Respondence" เปิดบทสัมภาษณ์แบบจัดหนักโดยผู้สื่อข่าวอาวุโสพิเศษ ซึ่งจะมาสนทนากับแขกรับเชิญในประเด็นร้อนในแต่ละเดือน

สำหรับในตอนแรก พบกับประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ “เดอะ เนชั่น” ซึ่งได้เลือกแขกรับเชิญ คือ โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) มาสัมภาษณ์ต่อสถานการณ์ความคืบหน้าล่าสุดของการยื่นคำร้องต่อศาลโลก ในกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเม.ย.- พ.ค. 2553 มุมมองต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และอนาคตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

 

 

ประวิตร: คิดยังไงกับข่าวคราวล่าสุดที่ล่าสุดเกี่ยวกับการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องให้ทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์?

โรเบิร์ต: สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยและสังคมไทยจำเป็นต้องทำ คือการเอาความหมายของคำนี้กลับมา กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยเลย เช่นเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์ของประเทศนี้ไม่ใกล้เคียงกับประชาธิปไตย มันคือพันธมิตรประชาชนเพื่อการรัฐประหาร และการแทรกแซงรัฐบาลพลเรือนโดยทหารมากกว่า

ผมคิดว่าการกระทำของพวกเขาเป็นการต่อต้านประชาธิปไตยอย่างที่สุด และอาจพูดได้ว่ากระทั่งผิดกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ และผมให้เครดิตพวกเขาน้อยมาก ผมไม่เชื่อว่าพวกเขาเป็นตัวแทนความคิดเห็นของคนไทยแม้แต่กลุ่มที่น้อยนิดที่สุด ผมคิดว่าเขาเป็นตัวแทนกลุ่มทางการเมืองของชนชั้นนำไทยที่ไร้ความน่าเชื่อถือ

ผมไม่คิดว่าเราควรหมกมุ่นกับกลุ่มพันธมิตรฯ มากเกินไป ในประเทศไทยตอนนี้มีปัญหามากมาย ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งเป็นรากฐานของอนาคตของประเทศ ผมคิดว่าเราควรโฟกัสเรื่องที่กำลังจะมาถึงในอนาคตมากกว่า

ประวิตร: อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2549 ก็ได้นำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด

โรเบิร์ต: ต้องมาพูดถึงความจริงกันว่า นั่นเป็นการรัฐประหารที่ผิดกฎหมาย และกองทัพในตอนนี้ก็อยู่ในสถานะที่อ่อนแอกว่าที่เป็นในปี 2549กฎหมายตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ได้ทำให้การแทรกแซงของทหาร พรรคประชาธิปัตย์ และการดำเนินการของทหารเสียหายมากจนทำให้ผมเชื่อว่า หากทหารจะกระทำการในแบบเดียวกันอีกนี้ มันน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และพลังที่ต่อต้านประชาธิปไตยก็คงจะถูกดูดกลืนหายไปหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น

ประวิตร: แต่เราต้องพิจารณาประกอบกันว่า มีประชาชนไทยจำนวนหนึ่งเชื่อว่าคุณทักษิณและน้องสาว คือคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นบุคคลที่โกงกิน จากมุมมองของพวกเขา ทักษิณก็เล่นพรรคเล่นพวก และยิ่งกว่านั้นก็คือต้องการล้มเจ้าและเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ คุณคิดว่าอย่างไร

โรเบิร์ต: ผมไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนที่โกงกินและไร้ประสิทธิภาพเท่ากับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหนุนหลังโดยทหารและสั่งยิงประชาชนบนท้องถนน รัฐบาลนั้นและกลุ่มคนที่สนับสนุน ไม่มีความน่าเชื่อถือในการมากล่าวหากันอย่างลอยๆ สิ่งที่พวกเขาได้ทำกับประเทศนี้ ก็คือการนำเอารัฐธรรมนูญซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำลายผู้นำที่มาจากประชาชนมาใช้ และป้องกันไม่ให้เขาสามารถกลับสู่ประเทศได้

รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ไร้เหตุผล และปราศจากกระบวนการตามกฎหมายที่เหมาะสมตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐาน พูดๆง่าย คือมันเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากความกลัวการกลับมาของผู้นำประชาชน ผู้ซึ่งทำให้ประชาชนร้อยละ 25 พ้นจากความยากจน นำระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในชนบท และทำให้ประชาชนจำนวนมาก ผู้ซึ่งกังขาถึงความเป็นพลเมืองของตนเอง เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง 

ประวิตร: ผมคิดว่ามันค่อนข้างชัดเจนว่าคุณปกป้องทักษิณ และคนก็พูดอย่างนั้นเพราะคุณถูกว่าจ้างโดยทักษิณให้ทำ”งานสกปรก” อาจจะว่าอย่างนั้นก็ได้ หากจะพูดจากอีกฝั่งหนึ่งจะมีวิธีไหนในขั้นนี้ของประเทศไทยไหม ที่จะสามารถโน้มน้าวคนที่มาจากคนล่ะขั้วการเมืองเพื่อให้เปลี่ยนใจ หรือเพียงแค่เปิดใจกว้างขึ้นก็ได้ ทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง เพราะผมก็เห็นคนเสื้อแดงที่ก็ไม่อดกลั้นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกัน

โรเบิร์ต: ผมบอกได้เลยว่า การแบ่งขั้วทางการเมืองนี้ เป็นผลมาจากการสั่งสอนที่บ่มเพาะที่ยาวนานราวกับศาสนา ผมไม่ค่อยได้เห็นประชาชนที่ไม่อยากจะยอมรับความคิดเห็นของอีกฝ่าย และไม่ยอมรับต่อหลักการของอีกฝ่าย เมื่อสองวันก่อน ผมปราศรัยที่การชุมนุมของเสื้อแดง ผมพูดว่า ถ้าผมจะเรียกพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็น “พรรคทหาร” นั่นไม่เป็นอะไรเลย แต่อย่าได้เรียกประชาธิปัตย์ด้วยชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแมลง เพราะนั่นจะเป็นกระบวนการที่อันตรายมาก

เราต้องจำไว้ว่า เมื่อใดที่เราคิดถึงอภิสิทธิ์หรือสุเทพ เขาก็เป็นคนเหมือนกัน พวกเขามีครอบครัว มีเครือข่ายทางสังคม และไม่ว่าพวกเขาจะถูกกล่าวหาว่าอะไร เราต้องแสดงให้เห็นความถึงแม้เราจะมีความแตกต่างในทางการเมือง แต่ท้ายที่สุดแล้วความเป็นมนุษยธรรมเป็นสิ่งที่ต่างหลอมรวมเราเอาไว้ ผมคิดว่าบทเรียนในเรื่องนั้นตกหายไป

เมื่อคุณคิดถึงประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ และคุณเห็นการสังหารโหดต่อนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราต้องระลึกว่าเจ้าหน้าที่รัฐพวกนั้นกล่าวหานศ.ว่าไม่ใช่คนไทย ในประเทศนี้ เมื่อไหร่ที่คุณกล่าวหาใครบางคนด้วยการที่พูดว่า เขาไม่ใช่คนไทย นั่นก็ไม่ใช่การถกเถียงทางการเมืองที่มีเหตุผล

เราจำเป็นต้องนำการถกเถียงอย่างมีสติปัญญาและมีเหตุผลมาสู่ประเทศนี้ คุณจะทำอย่างไรน่ะหรือ? ผมบอกได้เลยว่าผมไม่เก่งเรื่องการสมานฉันท์ ผมรู้ว่าตอนนี้ประเทศไทยกำลังพยายามจะปรองดองกัน แต่นั่นไม่ใช่เรื่องของผม ผมเป็นทนาย ผมสนใจในการถกเถียงและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

คนก็พูดกันว่า ไปเชื่ออัมสเตอร์ดัมไม่ได้หรอกเพราะเขาน่ะถูกว่าจ้างโดยทักษิณ แต่ผมยอมรับไม่ได้ ผมคิดว่าเราต่างก็มีแรงจูงใจในทางเศรษฐกิจกันทั้งหมดตามสิ่งที่เราทำ ความจริงแล้ว ในประเทศนี้ ผมเชื่อว่าผมเองน่ะเป็นกลางมากกว่าหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์หรือเดอะ เนชั่นเสียอีก

ผมไม่เคยเห็นที่ไหนนอกจากรัสเซีย ซึ่งเป็นที่ที่ผมคุ้นเคยมาก ที่มีหนังสือพิมพ์ซึ่งสามารถเซ็นเซอร์ตัวเองได้ขนาดนี้ และสามารถปกปิดและปฏิเสธความจริง การโจมตีพรรคเพื่อไทย ทักษิณ และคนอื่นๆ ทำให้ดูเป็นการเลือกข้างอย่างชัดเจน แต่นี่กลับเป็นมุมมองในภาษาอังกฤษต่อประเทศไทย ซึ่งดีแต่จะทำให้การแบ่งขั้วทางการเมืองแรงมากขึ้น เพราะสังคมนานาชาติเองก็เข้าใจประเทศไทยยากอยู่แล้ว

ประวิตร: ที่คุณพูดว่าเสื้อแดงเองก็พูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ว่า “พรรคแมลงสาบ” มันหมายถึงว่าพวกเขาเองก็มีส่วนในการลดทอนความเป็นมนุษย์ใช่หรือเปล่า

โรเบิร์ต: ผมเชื่ออย่างเต็มที่เลยว่านั่นเป็นสิ่งที่ผิด และขบวนการเสื้อแดงจำเป็นต้องทำให้ความคิดเห็นแบบนั้นยุติลงเพราะมันอันตรายมาก และถ้าพูดตามตรงแล้ว เราต้องเข้าใจและเรียนรู้ว่า คนที่สั่งฆ่าพี่น้องเราในเดือนพฤษภาคมก็เป็นคนเหมือนๆกันกับเรา

เราต้องเข้าใจว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาสั่งฆ่าพยาบาลเกดและผู้บริสุทธิ์คนอื่นๆ ในวัดปทุมฯ เราต้องเข้าใจว่าคนไทยที่อนุญาตให้มีการสั่งยิงพยาบาลภายในวัดเขามีที่มาจากอะไร ผมคิดว่าถ้าเราไม่เข้าใจแรงผลักดันตรงนั้น และทำไมทหารถึงฆ่าประชาชนของตนเองทุกๆ สิบปีในประเทศนี้ เราก็คงจะไม่มีสันติภาพหรือการปรองดองเลย

ประวิตร: หน้าที่ของคุณคือหาคนที่รับผิดชอบในการเสียชีวิตของ 91 ศพ หรือ 92 ศพขึ้นอยู่ว่าจะนับอย่างไร จากเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนเม.ย.-พ.ค. ปีที่แล้ว มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในขั้นนี้ ก็เป็นเวลาหนึ่งปีและแปดเดือนแล้ว คุณมั่นใจแค่ไหนว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องจะถูกนำตัวมาดำเนินคดี ไม่ว่าเป็นจะที่นี่หรือที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ

โรเบิร์ต: ผมมั่นใจมากว่าคนเหล่านั้นจะถูกดำเนินคดีในประเทศไทย เงื่อนไขที่เหมาะสมภายใต้กฎหมายอาญาระหว่างประเทศก็คือพวกเขาจะถูกดำเนินคดีในประเทศไทย ประเด็นก็คือว่า ความยุติธรรมสามารถหาได้ที่นี่ บางคนเข้าใจผิดว่า ผมหวังว่าศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับคดีไปทำจากประเทศไทย

เมื่อตอนที่ผมยื่นคำร้องไปยังศาลโลก นั่นเป็นเพราะว่ามันไม่มีความหวังที่ “พรรคของกองทัพ” จะดำเนินการสอบสวนกองทัพ ตอนนี้เรามีรัฐบาลที่แตกต่างไปแล้ว มันก็พอมีความหวังอยู่บ้าง แต่ผมก็จะไม่เทความหวังไปทั้งหมดและผมก็จะไม่ถอนคำร้องที่ศาลโลกด้วย หากคำร้องดังกล่าวถูกปฏิเสธ ผมก็จะยื่นใหม่อีกครั้ง

ผมคิดว่าประเทศไทยต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของกฎหมาย ผมคิดว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ผิดพลาดที่มีมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารแล้ว และนั่นเป็นสิ่งที่เราต้องพูดถึง เพราะในแง่การพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน มันไม่ใช่เพียงแค่ปี 2553 เท่านั้น แต่มันเป็นประวัติศาสตร์ของการละเมิดสิทธิอย่างเป็นระบบโดยกองทัพ รวมถึงปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงกันด้วย เราจำเป็นต้องมาพูดคุยถึงเรื่องเหล่านี้กันด้วย

ประวิตร: แล้วถ้าหากคุณพลาดล่ะ คุณจะคิดว่าตัวเองล้มเหลวในหน้าที่หรือไม่ และคุณพูดถึงกรณีของพยาบาลอาสาสมัครที่เสียชีวิตหน้าวัดปทุมวนาราม แม่ของเธอสับสนและโกรธขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับขั้นตอนทั้งหมดนี้ เธอได้เผชิญหน้ากับผู้ที่เกี่ยวข้องมากมายเมื่อเร็วๆนี้ นี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดีเลย มันเกือบจะสองปีแล้ว และเธอก็ยังไม่รู้เลยว่าใครต้องรับผิดชอบกับการเสียชีวิตของลูกสาวเธอ

โรเบิร์ต: มันไม่ใช่สัญญาณที่ดีเลย ผมจะบอกคุณว่า เราได้รวมรวมเอกสาร 200 หน้าซึ่งประกอบด้วยคำให้การจากฝ่ายทหาร ผมมั่นใจว่ามันจะมีการถูกตรวจสอบและดำเนินคดี แต่มันจะใช้เวลากี่ปี? ผมมาขึ้นเวทีที่นี่ และผมก็บอกกับประชาชนว่า หากเราดูที่อาร์เจนตินา มันอาจจะใช้เวลาถึง 20 เลยก็ได้ ผมจะอยู่ถึง 20 ปีเพื่อทำสิ่งนั้นหรือไม่? ผมไม่ทราบ แต่ผมจะบอกคุณว่าผมเชื่อมั่นในความยุติธรรมอย่างมาก ผมเชื่อมั่นว่าคนอย่างแม่ของพยาบาลเกด และคนอื่นๆ รวมถึงผมด้วย จะติดตามเรื่องนี้ต่อไปอย่างไม่ลดละ

ในเรื่องของเงินชดเชย ที่กองทัพอาจจะหยุดยั้ง อาจจะเป็นการชดเชยให้แก่เหยื่อเหล่านั้นได้บ้าง เราก็คงจะได้เห็นกัน แต่ก็ชัดเจนว่า ซึ่งผมพูดเรื่องนี้กับคนเสื้อแดงเสมอๆ คือคุณไม่สามารถวัดผลเหล่านี้เป็นวันหรืออาทิตย์ได้ เพราะนี่เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาเป็นเดือนและปี เหตุผลที่เราใช้เวลานานมากในการรวบรวมและยื่นเอกสาร 200 หน้านี่แก่ศาลโลก เป็นเพราะเราต้องการเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราก็ได้ทำแล้ว ดังนั้น เมื่อใดที่เรามีศาลที่เป็นธรรมและอิสระ เราก็คงจะได้เห็นความยุติธรรมบังเกิดขึ้น

สิ่งหนึ่งที่คนในประเทศนี้ต้องทำ คืออ่านเอกสารที่ผมใช้ยื่นฟ้องศาลโลก เพราะในนั้น คุณจะเห็นว่าเราได้จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านทหาร ซึ่งได้ชี้ชัดว่าการเสียชีวิตของทหาร โดยเฉพาะในวันที่ 10 เม.ย. เกิดจากทหารไทย ในประเทศนี้ เรามีเหตุการณ์ 10 เม.ย. ที่เราเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากทหาร เช่นเดียวกับการเผาห้างเซ็นทรัลเวิร์ลด์ ที่ ”พรรคทหาร” มักจะกล่าวโทษคนอื่น

ผมช็อคมากที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังไม่เริ่มการสอบสวน เพราะมันมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าเพลิงไหม้ที่เซ็นทรัลเวิร์ลด์นั้นเกิดจากทหาร เรามีพยานที่เห็นว่าทหารได้ไล่คนออกไปก่อนที่จะเกิดเหตุ เรามีพยาน ที่เขาเองเชื่อว่า เป็นนักวางเพลิงมืออาชีพที่เข้าไปในเซ็นทรัลเวิร์ลด์ แต่เราไม่เห็นวิดีโอเทปไหนๆ ที่อาจจะสามารถบันทึกสิ่งดังกล่าวไว้ได้ ฉะนั้น มันคงต้องมีการศึกษาต่อไป และผมก็ไม่เชื่อในการงดรับผิดไม่ว่าจะคนไหน ทั้งเสื้อแดง หรือทหารก็ตาม

ผมได้รับการว่าจ้างโดยคุณทักษิณ แต่หากคุณอ่านเอกสารที่เราเผยแพร่ไม่ว่าจะชิ้นไหน จะเห็นว่าเราพิจารณาเรื่องต่างๆ ในแบบที่เป็นกลางอย่างมากที่สุด ก่อนหน้านี้ผมคิดถึงการส่งต่องานของเราไปยังเอ็นจีโอและให้เอ็นจีอเป็นผู้ยื่นเอกสารไปยังศาลโลกแทน แต่ผมก็มาเห็นว่าเอ็นจีโอแต่ละแห่งใช้ไม่ได้แค่ไหน รวมถึงเอ็นจีโอระหว่างประเทศด้วย อย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเองก็ไร้กระดูกสันหลังต่อเรื่องม. 112 มาก

อย่างที่ผมพูด คือผมเลือกจะใช้อีกทางหนึ่งที่ดึงเอาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาระหว่างประเทศระดับโลกมาร่วม นั่นคือคนุปป์ จากกรุงเฮก และดัก คาสเซล นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนจากมหาวิทยาลัยนอเทอร์ดาม ผมจะทำให้เอกสารเป็นกลางมากที่สุดโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ มากกว่าที่จะใช้เอ็นจีโอที่มักประนีประนอม อย่างไรก็ตามผมก็ต้องพูดว่ารายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์นั้นดีกว่ารายงานที่พิมพ์ออกมาโดยเอ็นจีโอระหว่างประเทศอื่นๆ ในส่วนของไทย ก็มีเอ็นจีโอที่ยอดเยี่ยมมากอยู่ เช่น ศปช. ซึ่งทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกันได้ดีมาก

ประวิตร: แล้วคุณไม่ผิดหวังเลยหรือที่คนอย่าง พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา ซึ่งคนเสื้อแดงมองว่าเป็นฆาตกรแห่งกรุงเทพฯ ยังอยู่ในอำนาจเป็นผบ.ทบ. ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์

โรเบิร์ต: ผมได้เขียนบทความเรื่อง “The Dual State” เราต่างรูกันดีว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์มิได้มีอำนาจควบคุมประเทศนี้ทั้งหมด เราต่างรู้ว่ากองทัพมีอำนาจต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่าเสแสร้งกันเลยดีกว่า ดังนั้น ผมเข้าใจว่าหากรัฐบาลนี้จะทำในสิ่งที่จำเป็นแล้วล่ะก็ เขาจะถูกกองทัพไล่ออกไปโดยไม่ลังเล นี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงมีการไล่ล่ากันด้วยม. 112 มันไม่ใช่ผลประโยชน์ของรัฐบาลนี้เลย แต่เรามีกองทัพที่มีอำนาจเหลือล้น และผมเองก็อยากจะเห็นพลเอกประยุทธออกจากตำแหน่งด้วย

แน่นอน ผมเชื่อว่าการที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยังสามารถเดินอยู่ได้ในฐานะผู้นำพรรคการเมือง เป็นการท้าทายเหตุผลทางการเมืองและรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบใดๆ พูดตรงๆ ผมว่ามันเป็นการประณามคุณค่าของตัวเขาเอง หากคุณเชื่อในประชาธิปไตย ไม่ว่าคุณจะคิดว่าตัวเองถูกหรือผิดอย่างไร และถูกกล่าวหาโดยประชาชนเป็นล้านว่าคุณเกี่ยวข้องกับการสังหารนั้น คุณไม่คิดจะดำเนินการสอบสวนเพื่อเคลียร์ชื่อเสียงของตัวเองหน่อยหรือ คุณควรจะลาออกและทำสิ่งที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย และมุ่งให้คนเข้าใจว่าคุณมีคำอธิบายอย่างไร ในประเทศนี้เราหาสิ่งนั้นไม่ได้เลย มันมีแต่การฉวยโอกาสทางการเมืองเท่านั้น

ประวิตร: แต่หากคุณถามผู้ที่สนับสนุนเขา เขาก็จะบอกว่าทักษิณก็ควรจะกลับประเทศเพื่อมาเผชิญคดีที่ถูกตัดสินแล้วเช่นเดียวกัน

โรเบิร์ต: ผมก็จะบอกว่า มันจะไม่มีองค์กรตุลาการอิสระไหนๆ ที่จะมองทักษิณว่าเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และไม่มีทางเลือกและสามารถได้รับการไต่สวนต่อหน้าตุลาการที่เป็นอิสระได้

ข้อกล่าวหาที่เรากำลังพูดถึงของทักษิณนี้ อย่างแย่ที่สุด มันก็จะเป็นคำผิดลหุโทษเท่านั้น คุณไม่สามารถเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ 90 ศพ ผู้บาดเจ็บอีก 2,000 กว่าคนซึ่งเป็นการละเมิดทางเทคนิคของผลประโยชน์ที่ทับซ้อน ไม่รู้ว่าในประเทศนี้เขาถกเถียงเรื่องนี้กันยังไง มันน่าตลกสิ้นดี

แล้วผมก็ต้องบอกคุณอีกอย่างหนึ่ง การว่าความให้ทักษิณจากข้อตัดสินที่เกิดขึ้นที่นี่ ไม่ต้องใช้ทักษะอะไรมากเลย เพราะพวกเขาได้นำเอารัฐธรรมนูญที่ทำลายทักษิณมาใช้ และผู้พิพากษาที่จงใจจะทำลายทักษิณ มันช่างมากเกินไปแล้ว

ประวิตร: กลับมาที่เรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คุณเองก็ถูกตั้งข้อหานี้เนื่องมาจากรายงานสมุดปกขาวที่ได้ทำขึ้นมา แล้วทำไมคุณมานั่งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ อย่างไร้กังวลเช่นนี้ได้ล่ะ

โรเบิร์ต: ผมกำลังเผชิญข้อกล่าวหานี้ และการที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ฟ้องร้องผม ก็แสดงให้เห็นถึงการใช้กฎหมายนี้ในทางการเมือง ตัวผมเองเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดว่าเหตุใดกฎหมายนี้จำเป็นต้องมีการแก้ไข เพราะผมไม่เคยพูดถึงเรื่องอะไรที่เป็นการจาบจ้วงสถาบันเลยแม้แต่น้อย เพราะมันไม่ใช่ที่ของผม ไม่ใช่ธุระของผม และมันเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อพระองค์ด้วย มันไม่เคยอยู่ในหัวผมเลยแม้แต่น้อย ในทางส่วนตัวแล้ว ผมเองได้เคยพบสมาชิกในราชวงศ์ในกรุงนิวยอร์กเมื่อราว 45 ปีที่แล้วด้วย ฉะนั้นผมไม่สนใจเรื่องนั้นหรอก

แน่นอนว่า การใช้กฎหมายม. 112 ของพรรคแห่งกองทัพนี้ เป็นไปอย่างฉวยโอกาสเพื่อมันปิดปากคนอื่น และผมจะไม่ยอมให้เขามาข่มขู่เพื่อจะปิดปากผมหรอก

ประวิตร: คุณไม่ผิดหวังหรือที่รัฐบาลได้ประกาศว่าจะไม่แตะต้องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และจะไม่ทำอะไรเพื่อแก้ไขกฎหมายนี้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเลยด้วย

โรเบิร์ต: ในเรื่องนี้ รัฐบาลกลายเป็นตัวประกันของกองทัพ ใครที่มีความรู้ทางการเมืองจะรู้ว่า หากรัฐบาลแตะต้องเรื่องนี้ มันเป็นการข้ามเส้นยาแดง ฉะนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศนี้ ที่จะไม่โกรธเกรี้ยวกับพรรคการเมืองที่เป็นตัวประกันของกองทัพ

ประวิตร: ฉะนั้น คุณจะไม่เรียกร้อง หรือแม้แต่คำแนะนำบอกกล่าวยังรัฐบาลว่าให้พิจารณาจุดยืนต่อกฎหมายหมิ่นเลยหรือ

ผมอยากจะชี้ว่า ผมเองสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ผมต้องการให้มีการประกันตัว ผมได้ไปเยี่ยมนักโทษในคุก ไปเจอดา ตอร์ปิโดและคนอื่นๆ ผมสนับสนุนพวกเขาในการพิจารณาคดี ผมเองไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลย ผมเพียงแค่เข้าใจสถานะของรัฐบาลเพราะความเป็นจริงที่ทหารมีอำนาจเหนือ แต่ผมสนับสนุนคนที่ถูกจับกุมคุมขังในสภาพที่เลวร้ายต่อสิ่งที่เป็นโทษทางการเมือง

ประวิตร: ทำไมคุณจึงคิดว่าสหรัฐอเมริกาและรายงานสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเมืองไทยไม่ยอมรับว่ามีนักโทษมโนธรรมสำนึก ไม่ต้องพูดถึงนักโทษทางการเมือง ความจริงแล้ว มีนักโทษคดีหมิ่นแล้วอย่างน้อย 10 คนที่เราได้รู้จัก นอกจากนี้ก็ยังมีนักโทษเสื้อแดงที่ยังเป็นนักโทษทางการเมืองอีกด้วย คุณจะอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร

โรเบิร์ต: ผมจะไม่พยายามอธิบายรายงานสิทธิมนุษยชนของสหรัฐหรอก ผมเองไม่เห็นด้วยกับรายงานนั้นในหลายประเทศแล้ว การดำรงอยู่ของสหรัฐในประเทศไทยที่ผ่านมา จนกระทั่งเร็วๆนี้ ล้วนสนับสนุนกองทัพและต่อต้านประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ของนโยบายสหรัฐในประเทศนี้น่าละอายมาก ย้อนกลับไปตั้งแต่การใช้กองทัพไทยเป็นเครื่องมือต่อต้านคอมมิวนิสม์ในสมัยสงครามเย็น ผมคิดว่ามันเป็นเพียงเอกสารที่ต้องทำขึ้นมา ฉะนั้นคุณจะไม่เห็นผมสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในประเทศนี้หรอก

ประวิตร:ฉะนั้นคุณก็ค่อนข้างมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นรัฐบาล จะไม่แปรสภาพเป็นพรรครอยัลลิสต์โบราณ

โรเบิร์ต: ผมมั่นใจเต็มที่ พวกเขาจะไม่กลายสภาพ แต่ผมต้องบอกคุณว่า ผมทำงานให้กับคนเสื้อแดง แต่ไม่ได้ทำงานให้พรรคเพื่อไทย ผมไม่ยอมรับนโยบายทั้งหมดของพวกเขา เช่นเดียวกับที่ผมไม่ยอมรับนโยบายของพรรคการเมืองใดๆ ทั้งหมด นักการเมืองมักจะมีชื่อเสียงตามสิ่งที่ทำ และสิ่งที่ผมอยากจะทำ คือได้เห็นรัฐบาลนี้ทำงานในแบบที่พวกเขาจะทำให้เราภูมิใจ และนั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงรากฐานของระบบยุติธรรมในประเทศนี้

ผมเข้าใจถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังน้ำท่วม แต่มันจำเป็นต้องมีความเปลี่ยนแปลง เราต้องประกันตัวคนที่ถูกตั้งข้อหาเหล่านั้น เราไม่สามารถยอมให้คนหนุ่มสาวติดคุก 30 ปีสำหรับโทษแรกของการวางเพลิงได้ มันต้องมีการปรับโครงสร้างของตุลาการที่ต้องดำเนินการต่อไป การเปลี่ยนเรื่องเหล่านี้รอไม่ได้ เหตุผลที่ผมยังคงไปเยี่ยมเรือนจำ เป็นเพราะเราจำเป็นต้องลงทุนในการปรับปรุงสภาพของเรือนจำสำหรับนักโทษทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแต่นักโทษการเมืองเท่านั้น

ประวิตร: มีคนไทยจำนวนมากที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษา ไม่ได้เป็นเสื้อแดง และเชื่อว่าคนเสื้อแดงได้รับการศึกษาน้อย ยากจน และไม่สามารถตัดสินใจทางการเมืองได้ จึงไม่ควรมองว่ามีสิทธิเสียงเท่ากัน อย่างน้อยพวกเขาไม่ควรมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง นี่เป็นความรู้สึกโดยทั่วไปในหมู่คนไทย คุณจะพูดกับพวกเขาว่าอย่างไร คุณคิดว่าพวกเขามีส่วนถูกหรือเปล่า เพราะชอบมีการโต้แย้งว่า คนเสื้อแดงมักเลือกนักการเมืองที่โกงกิน และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เราจึงแพ้การเลือกตั้งเสมอๆ

โรเบิร์ต: ผมคิดว่าคำพูดดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปตอบ สำหรับผมแล้ว ชนชั้นนำในประเทศนี้โกงกินยิ่งกว่า การที่เขาไม่สามารถมองปัญหาจากแง่มุมที่หลากหลายเป็นเรื่องที่น่าสมเพชมาก ผมรู้สบายใจมากกว่าที่จะไว้ใจบุคคลที่ทำมาหากินจากฝีมือตัวเอง และได้รับการศึกษาที่ไม่อยู่แต่ในกรอบ ต่างจากชนชั้นนำในประเทศนี้ที่มีจิตใจแคบ

ผมคิดว่าที่สำคัญคือ คุณไม่ควรจะเหมารวมทั้งหมด คุณไม่สามารถจะพูดถึงคนกลุ่มหนึ่งแล้วอธิบายลักษณะที่เหมือนๆ กันทั้งหมดได้ ตอนที่ผมมาที่นี่ครั้งก่อน นสพ. เดอะเนชั่นตีพิมพ์ภาพของผมกับควาย ซึ่งเป็นการเหยียดเชื้อชาติกันมาก และรอบหัวของผมก็มียุงมาตอมขี้ควาย ผมคิดว่ามันอยู่ในนสพ. เดอะ เนชั่นนะ

มันแทบจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และผมไม่คิดว่าคนไทยเข้าใจว่าสังคมไทยมีการเหยียดเชื้อชาติกันมากขนาดไหน สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันมากระหว่างประเทศนี้และประเทศอื่นๆ ที่ผมเคยทำงาน ก็คือความเปิดเผยของการเกลียดชังและเหยียดหยามทางเพศ

ประวิตร: กลับมาที่เสื้อแดงต่อ คุณคิดว่าขบวนการเสื้อแดงจะอยู่รอดไหมหากไม่มีทักษิณ หรือในทางกลับกัน ทักษิณจะอยู่ได้ไหมหากไม่มีเสื้อแดง

โรเบิร์ต: ผมจะพูดให้ชัด ผมคิดว่าขบวนการเสื้อแดงเป็นการกลุ่มมวลชนของขบวนการในสังคมไทย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทักษิณมากน้อยต่างกันไป บางส่วนก็ไม่เกี่ยวเลย ทักษิณมีความสำเร็จที่ผู้นำน้อยคนนักในโลกจะมี ผมอ่านทุกอย่างที่เขียนเกี่ยวกับเขา ผมอ่านหนังสือของปวิน (ชัชวาลพงศ์พันธุ์) เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของทักษิณ ซึ่งผมคิดว่ามันดีที่เดียว คือวิพากษ์ทักษิณอย่างมาก แต่ผมก็คิดว่ามันเยี่ยมยอดทีเดียว

เพราะความคิดของทักษิณต่อนโยบายต่างประเทศ และเวทีที่เขาพยายามจะผลักดันประเทศไทยไปสู่เวทีนานาชาตินั้นมันฉลาดมากทีเดียว ในฐานะที่ผมเป็นพลเมืองของประเทศแคนาดาและสหรัฐ หากประเทศสองแห่งนั้นมีผู้นำที่สามารถจะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างที่ทักษิณได้ทำ ทั้งสองประเทศนี้จะอยู่ในสถานะที่ต่างไปกว่าเดิมมาก ฉะนั้นผมคิดว่าเขาเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าประทับใจมาก ผมคิดว่ามันมีความกระตือรือร้นไม่ว่าจะในประเทศไหนๆ ที่เขาเตรียมจะไปเป็นผู้เล่นทางการเมือง

คำถามที่หลายคนไม่ตั้งคำถามคือว่า เหตุใดบุคคลที่ประสบความสำเร็จต้องมาสนใจด้วย ทุกคนมักจะพูดว่าเขาเอาเงินไปลงที่นู่นที่นี่ แต่อีกด้านหนึ่งก็คือว่า หากว่าเขาทำ แล้วทำไมคนอื่นไม่ทำล่ะ อย่างที่สอง เหตุใดจึงมีคนที่อุทิศทรัพยากรจำนวนมากลงสู่ประเทศ หากเขาไม่รู้สึกรักและทำเพื่อประชาชนเขา ฉะนั้นผมมองความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณและผู้สนับสนุนเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรต่อกันมาก

เมื่อตอนที่ผมมาที่นี่ปี 2010 และได้เข้าไปยังพื้นที่ชุมนุมในตอนนั้นซึ่งเข้าไปยากมาก มีคนบอกผมว่าคนพวกนี้ถูกจ้างมาทั้งนั้น และอย่างแรกที่ผมสังเกตก็คือว่า พวกเขาไม่ใช่หนุ่มสาวเลย ซึ่งหนังสือพิมพ์โพสต์และที่อื่นๆ บอกว่าผู้ชุมนุมเป็นคนหนุ่มสาวเสเพล หากแต่เขาเป็นคนวัยสูงอายุจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนสุขภาพก็ไม่แข็งแรงเลยด้วย

ผมก็ได้เข้าไปหาพวกเขา ถามว่าคุณมาที่นี่ทำไม ทักษิณจ่ายเงินคุณหรือเปล่า เพราะผมยังไม่รู้จักประเทศไทยดีมาก ผมมองคนหลายพันคนเหล่านั้น และคำตอบที่ได้ เขาบอกว่า “อย่างแรกเลย ไม่มีใครสามารถจ่ายเงินให้เขามาเผชิญหน้ากับทหารได้ และอย่างที่สอง ผมแทบจะไม่ใช่มนุษย์เลยก่อนหน้าที่ทักษิณจะมา” ชนชั้นนำไทยจำเป็นต้องถามตนเองว่า พวกเขาทำอะไรลงไปที่ทำให้ประชาชนในประเทศรู้สึกทอดทิ้งมาก จนพวกเขารู้สึกว่าไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องฆ่าตัวตายต่อหน้าทหาร เพื่อที่จะยืนยันสิทธิที่ตัวเอง

ประวิตร: คุณคงได้รู้จักทักษิณมาเป็นเวลาพอสมควรในฐานะนายจ้าง เขาเป็นคนอย่างไร บางคนก็บอกว่าเขาเป็นคนเล่ห์เหลี่ยม บางคนก็ว่าเขาเป็นคนขี้งก และบางคนก็ว่าเขามักใหญ่ใฝ่สูง

โรเบิร์ต: ผมขอแก้ไขหน่อย ผมเป็นทนายความอิสระ และทักษิณก็ไม่ใช่ลูกความที่รวยที่สุดของผมเลยด้วยซ้ำ ฉะนั้น ผมจึงไม่คิดว่าเขาเป็นนายจ้างของผมในแง่นั้น เขาเป็นลูกความของผม และโชคดีที่ผมมีลูกจ้างหลายคน เขาเป็นบุคคลที่เยี่ยมยอดมากทีเดียว

ผมยังไม่เคยเห็นนักการเมืองในประเทศไทยคนไหนที่จะมาเทียบกับเขาได้ในแง่ความมุ่งมัน ความฉลาด และการที่เขาสามารถเข้าหาประชาชนที่ในที่ใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะที่ใดในโลก เขามีเสน่ห์บางอย่างที่ดึงดูดคนให้เข้าหา

พูดตรงๆ ก็คือ ผมนับถือเขามาก ผมคิดว่าเราทุกคนล้วนมีข้อผิดพลาด ผมจะไม่เรียกทักษิณว่าเป็นมหาตมะ คานธี เขาเป็นนักธุรกิจ แต่กับเขา คุณรู้ว่าคุณยืนอยู่ตรงไหน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่หาไม่ได้ง่ายนักในบุคคลทั่วไป

ประวิตร: คำถามสุดท้าย คุณคิดว่าในช่วงสลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พฤษภาปี 53 มันมีความแปลกแยกอยู่บ้างหรือไม่ ในตอนนั้นมีรูปภาพของทักษิณที่เดินช้อปปิงอยู่ในร้านหลุยส์ วิคตอง น่าจะเป็นที่ไหนซักแห่งในปารีส ในขณะที่เสื้อแดงกำลังชุมนุมอยู่และเสียชีวิตไปแล้วด้วย

มันทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจบ้างหรือเปล่า ที่ในความเป็นจริง ขบวนการคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ประกอบด้วยคนยากจน คนที่ได้รับการศึกษาน้อยและชื่นชอบทักษิณ ผู้ซึ่งเป็นคนที่รวยที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย

โรเบิร์ต: ไม่เลยแม้แต่น้อย ทั้งรูปนั้น ความจริงที่ว่าเขาไม่ได้ไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่ไหน และเขาทำในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ มันก็เป็นเงินของเขาที่อยากจะใช้จ่ายยังไงก็ได้ มันสะท้อนความเป็นจริงว่าเขาเป็นคนมั่งมี และเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธ รูปนั้นคงจะเป็นประเด็นใหญ่ ถ้าเขาปฏิเสธว่าเขามีเงิน ผมคิดว่าเราจะต้องออกไปจาก “ความถูกต้องทางการเมือง” (political correctness) ที่ว่านี้

ผมเบื่อมากเวลาเอ็นจีโอและคนอื่นๆ ที่สวมหมวกสิทธิมนุษยชน และบ่อยครั้งก็ไม่ได้ช่วยอะไรคนอื่นมากไปกว่าการใช้ชีวิตอยู่อย่างสบายและนั่งเขียนบทความเกี่ยวกับความยากลำบากของประชาชน ผมนับถือคนอย่างทักษิณที่ทุ่มเททรัพยากรเพื่อที่จะปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน

ประเทศไทยเป็นตัวอย่างทีดี ตั้งแต่สนามบินจนถึงรถไฟฟ้าและหลายๆ อย่างที่ทักษิณเกี่ยวข้อง ไปจนถึงนโยบายต่างประเทศเหล่านั้น สิ่งที่เขาทำมีผลกระทบต่อประชาชนหลายสิบล้านคน แต่นั่นไม่เคยถูกกล่าวถึงในประเทศนี้ ไม่มีอะไรจะเป็นการเมืองไปมากกว่าเวลาเห็นอภิสิทธิ์ที่แพ้การเลือกตั้งมาสามสมัยถูกอ้างอิงถึงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

เราจำเป็นต้องถามตัวเองว่า ในแง่ของความอิหลักอิเหลื่อนี้ เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมีสื่อภาษาอังกฤษที่มีสำนึกที่ดี เมื่อไหร่ที่จะมีนักการเมืองที่เชื่อจริงๆ ว่าหน้าที่ของเขาคือเพื่อปกป้องประชาชน เมื่อไหร่ที่จะมีกองทัพที่เข้าใจว่าหน้าที่ของตนเอง และหยุดนำเอาสถาบันกษัตริย์และประชาชนมาอยู่ฝ่ายตรงข้ามกัน และช่วงจัดวางในที่ที่พวกเขาเหมาะสม เหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมาแก้ปัญหากัน

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น