ประชาไท | Prachatai3.info |
- TCIJ: ชาวประจวบฯ จี้ใช้ ‘แผนอนุรักษ์พลังงาน’ เป็นทางเลือกแรก ‘แผนพีดีพี 2012’
- เม้าท์มอย เฉพาะกิจ: ลั้นลา..หัวหิน คุยกับนักปรัชญาชายขอบ
- คุยกับนักปรัชญาชายขอบ ว่าด้วยความดีที่ไม่หลากหลาย
- รีวิวหนังสือ A Life’s Work โดย พอล เอ็ม แฮนด์ลีย์
- แผ่นเสียงตกร่อง:วิวาทะเรื่องนักสันติวิธี สุรพศ ทวีศักดิ์-เกษียร เตชะพีระ
- วิจักขณ์ พานิช
- เปิดแผน ‘กฟผ.’ รุกกันตัง ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง
- ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธประกันตัว “อากง”
- ด่วน ปาฐกถา หาทุนแก้ ‘112’ เปลี่ยนสถานที่ เหตุที่เดิมหวั่นกระแสต้าน
- คุยกับ 'ไท พฤกษาเกษมสุข' ก่อนประท้วงอดอาหาร ‘112 ชั่วโมง’
- สหภาพแรงงานน่าจะเป็นทางออกของแรงงานไทย จริงหรือ?
TCIJ: ชาวประจวบฯ จี้ใช้ ‘แผนอนุรักษ์พลังงาน’ เป็นทางเลือกแรก ‘แผนพีดีพี 2012’ Posted: 09 Feb 2012 11:40 AM PST เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประจวบฯ และชุมพร ร่วมเวทีอนาคตไฟฟ้าไทย ยื่นข้อเสนอใช้แผนอนุรักษ์พลังงาน ต้านถ่านหินและนิวเคลียร์ เปลี่ยนแนวคิดวางแผนพลังงานใหม่ลดสร้างหนี้สาธารณะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (9 ก.พ.55) เวลาประมาณ 10.30 น.เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ และชาวบ้านจากจังหวัดชุมพรรวมกว่า 120 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ผ่านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ ซึ่งมีการจัดการสัมมนาเรื่อง “อนาคตไฟฟ้าไทย มาจากทางไหน ช่วยบอกที..?” โดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เพื่อเสนอให้รัฐบาลนำแผนอนุรักษ์พลังงานระยะ 20 ปี (พ.ศ.2554-2573) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงพลังงาน มาผนวกรวมเป็นทางเลือกแรกในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล จากกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก กล่าวให้เหตุผลในงานสัมมนาว่า การใช้หลักพิจารณาความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand) และการจัดหาไฟฟ้า (Supply) ดังที่ทางผู้เกี่ยวข้องกับการวางนโยบายพลังงานกล่าวถึงว่าใช้ในการพิจารณาวางแผนไฟฟ้า ขอให้นำมาใช้ในทางปฏิบัติจริงๆ ดังเช่น ความต้องการใช้ไฟฟ้าของทับสะแก จ.ประจวบฯ ซึ่งมีเพียง 5 เมกะวัตต์ แต่กลับมีการแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 4,000 เมกะวัตต์ในพื้นที่ “แผนอนุรักษ์พลังงานดังกล่าวซึ่งจัดทำโดยกระทรวงพลังงานเอง ประเมินว่าใช้งบลงทุนปีละไม่เกิน 5,900 ล้านบาท แต่จะให้ผลตอบแทนโดยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประเทศถึงปีละ 272,000 ล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกและโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ 9 โรง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 5 โรง รวมแล้วเป็นกำลังการผลิตกว่า 12,000 เมกกะวัตต์ เมื่อหน่วยงานรัฐเสียทรัพยากรในการจัดทำแผนที่ดีมาแล้วก็ควรนำมาใช้”นางสาวสุรีรัตน์กล่าว ด้านนางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวนำเสนอแนวคิดการวางแผนพลังงานใหม่ในการอภิปรายหัวข้อ “ภาคประชาชนกับการตั้งรับวิกฤตพลังงานไฟฟ้า” ว่า สังคมไทยควรทำความเข้าใจนิยามคำว่าวิกฤตพลังงานเนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้ในมุมแคบเพียงแค่ไฟฟ้าและพลังงานขาดแคลน ทางออกจึงกลายเป็นการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเท่านั้น แต่การสร้างความมั่นคงทางพลังงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทำกันทั่วโลกจะต้องคำนึงถึง 4 มิติอันได้แก่ 1.ด้านปริมาณ โดยกระจายแหล่งพลังงานและลดการนำเข้า 2.ด้านราคา คือ ให้บริการในราคาที่จ่ายได้ ลดความผันผวนของราคา 3.ด้านประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน รวมถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และ 4.ด้านสิ่งแวดล้อม คือ ต้องคิดต้นทุนที่แท้จริงของพลังงานแต่ละประเภททั้งด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นนิยามใหม่ของ ความมั่นคงด้านพลังงาน คือ มีทรัพยากรพลังงานเพียงพอ และเหมาะสม ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันการวางแผนพลังงานของประเทศใหม่ตามกรอบที่เสนอนี้จะต้องกำหนดดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน มีการประเมินผล และกำหนดผู้รับผิดชอบด้วย (Accountability) เพราะที่ผ่านมาการวางแผนที่ผิดพลาดทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการมาก ตัวอย่างเช่นพลังงานไฟฟ้าสำรองของปีที่แล้ว (2554) มีถึง 31% ซึ่งเกินจากเกณฑ์ที่ กฟผ.ตั้งไว้ที่ 15% ถึงเท่าตัว เมื่อคิดเป็นมูลค่าการลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าที่เกินจำเป็นแล้วนับเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท เหล่านี้กลายเป็นหนี้สาธารณะที่กฎหมายไม่กำหนดชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ผู้รับผิดชอบ ภายใต้กรอบคิดใหม่นี้ จึงนำเสนอการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ หรือ PDP 2012 โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ(1) ปรับการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า (demand forecast) ลดลงให้ตรงกับความเป็นจริงเพราะที่ผ่านมาพยากรณ์เกินมาตลอด ตัวเลขปี 2554 แสดงให้เห็นว่าพยากรณ์เกินไปถึง 5,800 เมกกะวัตต์(2) นำแผนอนุรักษ์พลังงานระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2554 - 2573) มาใช้ คือเลือกลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน (EE) และการจัดการด้านการใช้พลังงาน (DSM) เป็นลำดับแรก จะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มถึง 20% (3) ส่งเสริมโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (co-generation) แบบกระจายศูนย์ แทนการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นการใช้พลังงานจากไฟฟ้าและความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า และมีศักยภาพสูงถึง 4,800 เมกกะวัตต์ (4) ยืดอายุ/เพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ.ซึ่งจะใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ “ภายใต้แผน PDP 2012 ฉบับใหม่ที่ทำการศึกษามานี้ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และไม่ต้องนำเข้าไฟฟ้าจากเขื่อนประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมก็ยังมีไฟฟ้าสำรองมากเพียงพอ คือเราสามารถหลีกเลี่ยงการลงทุนซึ่งจะกลายเป็นหนี้สาธารณะรวมเป็นเม็ดเงินจำนวน 2.01 แสนล้านบาท และจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคจะลดลง 12% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับแผน PDP2010 เดิมของ กฟผ.” นักวิชาการอิสระด้านพลังงานกล่าว นางชื่นชมกล่าวด้วยว่า แผน PDP 2012 ฉบับใหม่ยังเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานในแง่เพิ่งความหลากหลายเชื้อเพลิง ลดความเสี่ยง ลดการนำเข้า และจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการจัดหาพลังงานของประเทศภายใต้กรอบใหม่นี้ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเพียง 3.7% จากปี 2553 เท่านั้น ในขณะที่แผนเดิม PDP2010 ของ กฟผ.จะปล่อยก๊าซฯ เพิ่มถึง 97% ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตามสัดส่วนจำนวนประชากร จะช่วยลดการปล่อยก๊าซฯ ต่อหัวประชากร (GHG emission per capita) จากการผลิตไฟฟ้าได้ในอัตรา 7.7% ภายในปี 2573 และช่วยลดมลพิษอากาศจากการปล่อยไนตรัสออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่นละอองและสารปรอทได้กว่า 50% นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก กล่าวว่า ที่ผ่านมาการวางแผนพลังงานของประเทศยึดติดอยู่กับการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยไม่สนใจส่งเสริมการประหยัดพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างจริงจัง ทั้งที่การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก่อให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อมสูง อีกทั้งยังสร้างความขัดแย้งรุนแรงในหลายชุมชนทั่วประเทศ แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี “ข้อเสนอของนักวิชาการอิสระเพื่อทบทวนวิธีวางแผนพลังงานของประเทศในเวทีนี้แสดงให้เห็นว่าทางเลือกที่ยั่งยืนกว่า ถูกกว่า และทำให้สังคมสงบสุขได้นั้นมีอยู่ หากกระทรวงพลังงานและ กฟผ.ไม่ติดกรอบคิดเดิมๆ”นางกรณ์อุมากล่าว ขณะที่นางจินตนา แก้วขาว กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ให้ความเห็นว่า แผนการสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน นิวเคลียร์ หรือเขื่อน สร้างความขัดแย้งแตกแยกให้กับคนในชุมชน เกิดความไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านจำนวนมากที่ออกมาเรียกร้องสิทธิที่จะปกป้องทรัพยากรและบ้านเกิดของตนเอง และถึงที่สุดแล้วโรงไฟฟ้าก็เกิดไม่ได้อยู่ดี ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและ กฟผ.จะทบทวนวิธีการวางแผนพลังงานใหม่ โดยต้องคำนึงถึงความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หนังสือเรียกร้องมีรายละเอียดดังนี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เม้าท์มอย เฉพาะกิจ: ลั้นลา..หัวหิน คุยกับนักปรัชญาชายขอบ Posted: 09 Feb 2012 09:38 AM PST เม้าท์มอย เฉพาะกิจ หลิ่มหลี ลั้นลามาเยือนหัวหิน มาเม้าท์ๆ มอยๆ เรื่องพุทธศาสนากับอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ หรือ “นักปรัชญาชายขอบ” ว่าศาสนา สังคม และการเมืองเกี่ยวพันลึกซึ้งกันเพียงใด และดูกร ชาวพุทธไทย เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
คุยกับนักปรัชญาชายขอบ ว่าด้วยความดีที่ไม่หลากหลาย Posted: 09 Feb 2012 08:18 AM PST บทสนทนาใต้ร่มพุทธศาสนาในสังคมไทยในฐานะเครื่องมือทางการเมืองที่ถูกอธิบายว่าปลอดพ้นจากการเมือง “ปัจจุบันเราใช้ธรรมะเป็น ‘วาทกรรม’ เพื่อตอบสนองจุดประสงค์อื่นๆ เช่น ยกย่องสถานะศักดิ์สิทธิ์ทางชนชั้น ใช้อ้างในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อยกตัวเอง พวกตัวเองให้สูงส่งแล้วกดอีกฝ่ายให้ต่ำลง”... ประชาไทคุยกับสุรพศ ทวีศักดิ์ หรือ “นักปรัชญาชายขอบ” ในฐานะที่เป็นนักวิชาการด้านปรัชญาศาสนา ซึ่งวิพากษ์บทบาทพระสงฆ์ในทางสังคมการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เราถามเขาในหลายๆ คำถามที่คาใจเกี่ยวกับบทบาทของพุทธศาสนาและคำสอนแบบพุทธๆ ในสังคมไทยซึ่งลักลั่นอิหลักอิเหลื่อในการอ้างอิงมาใช้รองรับความชอบธรรมในทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันกลับถูกมองว่าบริสุทธิ์หลุดพ้นจากการเมือง ตกลงว่าศาสนาพุทธสอนให้คนเป็นคนดีหรือไม่ 2) จริยธรรม คือหลักการ หรือกฎที่คนเราพึงยึดถือปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งมีหลากหลาย เช่น หลักจริยธรรมของศาสนาต่างๆ หลักจริยธรรมสากลคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ความยุติธรรม จะเห็นว่าคุณธรรมเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะสร้างขึ้นในตัวเอง แต่จริยธรรมเป็นหลักการในการอยู่ร่วมกัน หลักสิทธิมนุษยชนหรือกติกาในสังคมประชาธิปไตยก็สร้างขึ้นจากการยอมรับคุณค่าตามหลักจริยธรรมสากล ทีนี้การมีคุณธรรมถือว่าเป็น “คนดี” ไหม ก็ตอบได้ว่าเป็นคนดีในความหมายว่าดีสำหรับตัวเอง เช่น มีปัญญา มีความอดทน มีความกล้าหาญ ก็ดีสำหรับตัวเขาเอง แต่ดีสำหรับคนอื่นไหม ก็ดีได้ถ้าเขามีคุณธรรมในสัมพันธภาพกับคนอื่นๆ เช่น มีเมตตา มีน้ำใจ มีความเสียสละ มีจิตใจรักความยุติธรรม ซื่อสัตย์ คนในโลกยุคเก่า หรือแม้แต่คนในสังคมเกษตรกรรม จะยึดคนดีในความหมายของคนที่มีคุณธรรมนี่แหละเป็น “บุคคลในอุดมคติ” ที่ควรยึดเป็นแบบอย่าง เช่น ยึดคนอย่างโสเครตีส เป็นแบบอย่างของผู้มีปัญญา มีความกล้าหาญทางจริยธรรม พระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างของผู้มีปัญญาคุณ มีวิสุทธิคุณ กรุณาคุณ พระเยซูมีความรัก ความเสียสละ หรือคนดีอย่างมหาตมะ คานธี แม่ชีเทเรซ่า เป็นแบบอย่างของผู้มีความเสียสละเป็นต้น แต่ในโลกสมัยใหม่ที่สังคมมีความซับซ้อนมาก การอ้างอิงคนดีหรือคนมีคุณธรรมสูงส่งเป็นแบบอย่าง หรือเป็นบุคคลที่เราต้องคอยพึ่งพาคำสอน หรือสติปัญญาในการบริหารบ้านเมืองจากเขามันเป็นเรื่องหาความชัดเจนได้ยาก เพราะความเป็นคนดีมีคุณธรรมมักจะถูกใช้เป็น “วาทกรรมทางการเมือง” สำหรับใช้หาเสียง หรืออาจจะใช้ทำลายฝ่ายตรงข้าม หรือบางทีก็เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้เกินจริง อย่างคนบางคนในบ้านเราถูกยกย่องเป็น “เสาหลักทางจริยธรรม” เป็นแบบอย่างของความซื่อสัตย์ ไม่โกง แต่สังคมก็ละเลยที่จะตั้งคำถามว่าเขาซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือต่อระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ในโลกสมัยใหม่ คนจึงไว้วางใจคนที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นคนดีคนมีคุณธรรมน้อยลง แต่แสวงหาหลักจริยธรรมสากลในการอยู่ร่วมกันคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม ซึ่งหลักดังกล่าวมันเป็นจริยธรรม ในแง่ที่ว่ามันมีคุณค่าต่อการปกป้องความเป็นคนของเรา และเพราะถือว่ามันมีคุณค่าปกป้องความเป็นมนุษย์ของเราจึงต้องสร้างกติกาการเมืองขึ้นมาบนพื้นฐานของจริยธรรมสากลดังกล่าวนี้ ทีนี้ถ้าใช้ ‘ความดี’ คือหลักจริยธรรมสากลเป็นเกณฑ์วัด ‘คนดี’ ก็คือคนที่ทำตาม และหรือปกป้องหลักจริยธรรมสากลดังกล่าวนี้ คนดีในความหมายนี้ก็น่าจะดีต่อสังคมหรือส่วนรวมในโลกสมัยใหม่ แต่ทำไมเราถามว่าพุทธศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีหรือไม่ ก็เพราะความเป็นคนดีในพุทธศาสนาดูจะเน้นหนักไปทางการเป็นคดีมีคุณธรรมทางศาสนา ซึ่งบางครั้งคนที่มีคุณธรรมทางศาสนาก็ไม่ใส่ใจหลักจริยธรรมสากล เท่ากับไม่ใส่ใจส่วนรวมในสมัยใหม่ คนดีทางศาสนาจึงเหมือนไม่ดีต่อสังคม ที่แย่กว่านั้นคือ บางครั้งก็ออกมาขัดขวางความก้าวหน้าของจริยธรรมสากลด้วยการตีความพุทธศาสนาให้รับใช้เผด็จการ เช่น “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” และสังคมไทยมีไอดอลที่จะบอกว่าจะเอาคนดีมีศีลธรรมมาบริหารบ้านเมือง ต้องเป็นคดีมีศีลธรรม กินมังสวิรัติ ซึ่งมันไม่เกี่ยว ไม่ได้ตอบโจทย์ คือความป็นคนดีไม่ได้ตอบโจทย์ที่จะทำให้สังคมการเมืองมันดีขึ้น แล้วบางทีอ้างความเป็นคนดี อ้างคุณธรรมเพื่อจะไม่ต้องตรวจสอบ พอเชื่อว่าคนนี้เป็นคนดีแล้วเราไม่ต้องไปตรวจสอบ แล้วบอกว่าคนดีเป็นเผด็จการโดยธรรมได้ อย่างท่านพุทธทาสบอกว่า เผด็จการโดยธรรม คือถ้าเป็นคนดี ก็เป็นเผด็จการได้ มันเป็นคำอธิบายที่มีความขัดแย้งเยอะแยะมากมาย และเราเชื่อกันแบบนี้มาตลอด สำหรับสังคมไทย การเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี คือการเป็นปัจเจกชน ให้ตัวเองหลุดพ้น เราไม่ต้องยุ่งกับสังคมและปล่อยให้คนดีปกครองสังคม นี่เป็นความเข้าใจผิด คนใช้พุทธศาสนาแบบไม่จำแนกแยกแยะ คือความพ้นทุกข์เป็นมิติของปัจเจก แต่คุณจะมาอ้างว่าคุณมีความสงบมีความพ้นทุกข์แล้วจะมาปกครองสังคมมันไม่เกี่ยวกัน คือเรื่องหลุดพ้นใครอยากหลุดพ้นก็หลุดพ้นไป แต่ปัญหาของบ้านเราคือการไปโปรโมทคนปฏิบัติธรรมหรือคนหลุดพ้นว่าเป็นที่พึ่งของสังคมได้ เช่นการโปรโมทพระอริยะ คือเขาจะเป็นที่พึงได้ในแง่ความสงบของจิตใจของปัจเจกแต่ในแง่การเมืองเขาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะในทางการเมืองไม่ได้หมายความว่าพระจะรู้เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม เกิดความเสมอภาค แต่ปรากฏการณ์บ้านเรามันมั่ว เรามักอ้าง ธรรมนำหน้า อ้าง พ่อแม่ครูบาอาจารย์ อ้างว่า พระอริยสงฆ์หนุนเราอยู่เบื้องหลังเราจึงมีความชอบธรรมที่จะไล่คนชั่วออกไป มันไม่ใช่แนวทางพุทธศาสนาดั้งเดิม ความหมายของความดีของไทยในไม่หลากหลายหรือเปล่า ชุดความหมายของความดีของไทยมันถูกครอบด้วยมิติทางศาสนา เราอธิบายว่าความดี คือคนที่พยายามขัดเกลาตัวเอง ละกิเลส ดีด้วยกายวาจาใจ เราจึงไม่เคยมองว่าคนที่ออกมาต่อสู้ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 14 หรือ 6 ตุลา คนที่ออกมาต่อสู้เหล่านี้เราไม่เคยมองว่าพวกเขาเป็นคนดี คนดีคือคนที่อยู่ในกรอบศีลธรรมศาสนาและอยู่ในกรอบของความจงรักภักดี ถ้าใครบอกว่าจงรักภักดีปกป้องสถาบัน ก็กลายเป็นคนดีโดยอัตโนมัติใช่ไหม ใครเข้าวัดปฏิบัติธรรมก็ถูกมองว่าเป็นคนดี ถูกนับถือว่าเป็นคนดี ในขณะที่คนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เรากลับมองว่าพวกนี้มาสร้างความวุ่นวาย เป็นพวกหัวรุนแรง เราไม่ยกย่องว่ากุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นคนดี จิตร ภูมิศักดิ์เป็นคนดี สังคมไทยเราไม่ยกย่องแบบนี้ คืออะไรก็แล้วแต่ที่เรามองว่าอยู่ฟากตรงข้ามกับสถาบัน กับศาสนามักจะถูกตัดสินโดยอัตโนมัติว่าเป็นคนไม่ดี คนเสื้อแดงที่บาดเจ็บเสียชีวิตที่ออกมาต่อสู้ จะได้รับการเยียวยาก็ยาก เพราะถูกตัดสินไปแล้วว่าเป็นคนไม่ดี แต่ถ้าเรามองคอนเซ็ปท์ความดีอีกแบบอย่างคานท์ อย่างจอน สจ๊วต มิลล์ เขาพูดเรื่องเสรีภาพ ความเป็นคนดีคือการที่ตัวเองมีจิตสำนึกต่อเรื่องเหล่านี้และออกมาต่อสู้ให้สังคมมีสิทธิเสรีภาพเสมอภาค เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องปกป้อง คนดีต้องออกมาต่อสู้เพื่อสิ่งเหล่านี้ ถ้าใช้คอนเซปท์เหล่านี้เราก็จะมองว่าคนที่ออกมาต่อสู้ทางการเมือง ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยคนเหล่านี้ก็เป็นคนดี แต่สังคมไทยเราไม่ได้คิดมิตินี้ เราคิดแต่มิติความเป็นคนดีทางศาสนา กับรักสถาบัน คือต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบสังคม แต่ถ้าออกมาค้าน เรียกร้องกลายเป็นพวกวุ่นวาย ใช่ ต้องอยู่ในศีลธรรมอันดี แต่ศีลธรรมอันดีของใคร ก็ของผู้มีอำนาจ นี่เป็นปัญหาของพุทธหรือเป็นปัญหาของสังคมไทย แต่ธรรมะในศาสนาพุทธแบบดั้งเดิมนั้น เป็นเรื่องของการใช้ปัญญา ใช้เหตุผลทำความเข้าใจความจริงของชีวิตและโลก เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ปัจจุบันเราใช้ธรรมะเป็น “วาทกรรม” เพื่อตอบสนองจุดประสงค์อื่นๆ เช่น ยกย่องสถานะศักดิ์สิทธิ์ทางชนชั้น ใช้อ้างในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อยกตัวเอง พวกตัวเองให้สูงส่งแล้วกดอีกฝ่ายให้ต่ำลง ใช้สร้างภาพให้ดูเป็นคนดี เข้าวัดปฏิบัติธรรม เป็นต้น กรรมก็ใช้แบ่งชนชั้น ยากดีมีจนเพราะทำกรรมเก่ามาไม่เท่ากัน บุญก็มีไว้ขาย บาปมีไว้ขู่ แล้วเรื่องเหล่านี้ก็กลายเป็นพุทธพาณิชย์ คือธรรมะก็ถูกทำให้เป็นสินค้า จัดคอร์สปฏิบัติธรรมราคาแพง มีการแก้กรรมที่คนสอนวิธีแก้รวยวันรวยคืน การทำบุญแบบธุรกิจขายตรง เป็นต้น ยังไม่ต้องพูดถึงธุรกิจวัตถุมงคลพาณิชย์ที่มีการโฆษณาอย่างแพร่หลายและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกรรม มองอีกแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่าคนไทยบริโภคพุทธศาสนา บริโภคธรรมะ เหมือนบริโภคความจงรักภักดี คือเราใช้พุทธศาสนา ใช้ธรรม ใช้ความจงรักภักดีไม่ใช่เพราะเราต้องการปฏิบัติตามเนื้อหาสาระที่แท้จริงของสิ่งนั้น แต่ใช้สิ่งนั้นเพื่อเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่เราปรารถนา ซึ่งก็เป็นเรื่องของอำนาจ ผลประโยชน์ ความสบายทางวัตถุ การสร้างภาพลักษณ์ที่ฉาบฉวย คำทางศาสนา เช่น ธรรมะ บุญ บาป ถูกใช้เป็นวาทกรรมที่สนับสนุนอำนาจทางการเมือง อำนาจทางศีลธรรม และบริโภคนิยม เรามักพูดกันว่าศาสนา หรือพระไม่ควรยุ่งกับการเมือง ที่ผ่านมา ถ้าเป็นการเมืองสนับสนุนอำนาจยุ่งได้ เช่น การสอนเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม ตรงนี้เป็นการเมืองเต็มๆ แต่ถ้ากระด้างกระเดื่องต่ออำนาจ เช่น ครูบาศรีวิชัย ก็ถูกจำกัด ถูกดำเนินการ จริงๆ ในประวัติศาสตร์ไม่มีศาสนาที่บริสุทธิ์จากการเมือง สมัยพระพุทธเจ้า ญาติสองฝ่ายทำสงครามแย่งน้ำกัน เป็นวิกฤตการเมืองที่คนกำลังจะฆ่ากัน พระพุทธเจ้าก็เข้าไปห้าม แบบนี้ก็ยุ่งการเมืองนะ แต่ยุ่งแบบเป็นบวก แต่ของเรานี่ ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป คือไปสนับสนุนฝ่ายมีอำนาจ แล้วก็ไม่ยุติธรรมกับอีกฝ่ายหนึ่ง กลายเป็นความรุนแรง บางทีเราก็ไม่ได้มองอะไรที่สอดคล้องกับความจริง เช่น การบอกว่าพระต้องบริสุทธ์จากการเมือง ผมว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะเรามีพระสงฆ์จำนวนมาก และพระสงฆ์มีบทบาททางสังคมอยู่แล้ว จริงๆ เราควรให้พระเลือกตั้งได้ด้วยซ้ำ คือการที่เรามีกฎหมายไม่ให้พระเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่าพระไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองนั้น พรรคการเมืองนี้ เราก็ควรมีกฎหมายให้พระสนับสนุนและเลือกพรรคการเมืองได้ เพราะไม่ได้ทำให้พุทธศาสนาเศร้าหมอง มีมลทิน จริงๆ ถ้าเราเข้าใจพระ เราจะเข้าใจว่าพระมีข้อจำกัดเยอะมาก คือข้อจำกัดในเรื่องการรู้เท่าทันโลก รู้เท่าทันสังคม เนื่องจากท่านอยู่ในวัด และพื้นฐานที่มาของพระส่วนใหญ่มาจากคนชนบท ด้อยการศึกษา มาบวช แล้วเข้ามาสู่สถาบันสงฆ์ที่อนุรักษ์นิยมมาก พระบางรูปเก่งในการพูดจา เก่งในการศึกษา แต่บริบทที่แวดล้อมท่าน สื่อที่แวดล้อมท่าน ดาราที่แวดล้อมท่าน ท่านก็ได้รับข้อมูลจากคนพวกนี้ เราต้องยอมรับว่ามันขึ้นกับคอนเนกชั่นนะ ก็มีบริบท แต่เราคาดหวังจากพระโดยคาดหวังว่าต้องบริสุทธิ์หมดจดทั้งเรื่องความประพฤติ ความคิดเห็น ผมว่าเราคาดหวังอะไรที่เกินมนุษย์ไปหน่อย เพราะพระก็เป็นคนเหมือนเรา อาจารย์บอกว่าพระส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม แต่เมื่อบวชเรียนแล้วสังคมไทยมักคาดหวังว่าพระแนะนำได้ทุกเรื่อง จริงๆ แล้วพระสามารถแนะนำได้ทุกเรื่องจริงหรือ นี่คือความคิดของชนชั้นกลาง อย่างที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเรียกว่าชนชั้นกลางวัฒนธรรม ที่มักจะมองอะไรแบบโรแมนติก ไม่ได้ใช้เหตุผล เช่น กรณีนิติราษฎร์เราก็เห็นชัดเจนว่าเขาเสนออะไร มีเหตุผลอย่างไร แต่คนทั่วไปเขาก็พูดแค่ว่าล้มเจ้า คนชั้นกลางในเมืองจะมองว่าพระเป็นผู้บริสุทธิ์ ศึกษาพุทธศาสนาซึ่งสามารถตอบอะไรได้ทุกเรื่อง คือเป็นวิธีการที่มองอะไรแบบสูตรสำเร็จ แต่ผมคิดว่าคนชนบทเขาไม่ได้มองอะไรแบบนั้นนะ ชาวบ้านเขาไม่ได้มองว่าพระสมบูรณ์แบบ แต่เขามองว่าเป็นลูกหลาน แต่นับถือกันในฐานะที่เป็นพระ บางทีพระก็ไปเกี่ยวข้าวกับชาวบ้าน เราจะไม่เห็นบทบาทพระไทยแบบที่เห็นจากพระพม่า พระไทยนั้นโดยประวัติศาสตร์ความเป็นมา เป็นพระของเจ้ามาตลอด อย่างตอนผมทำวิจัยบทบาทของพระสงฆ์ในช่วงที่คนเสื้อแดงชุมนุม ผมก็เห็นว่าพระเสื้อแดงมีความรู้สึกในเรื่องชนชั้นอยู่ เช่น ผมเคยถามท่านว่าสถาบันศาสนามีสามส่วน คือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ผมถามว่าทำไมท่านมาอยู่กับฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าล้มสถาบัน ท่านก็บอกว่า มันเป็นการหลอกกัน ดึงสถาบันมาเป็นเครื่องมือ ท่านเห็นว่าชาวบ้านถูกเอาเปรียบไม่ได้รับความเป็นธรรม จริงๆ แล้วพระน่าจะมีความรู้สึกแบบนี้ เพราะพระส่วนใหญ่มาจากชนบทได้รับการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ถ้าการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นแบบที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ บอกว่า ควรจะสอนให้พระรู้จักกำพืดตัวเอง รู้จักโครงสร้างที่อยุติธรรม พระจะเป็นของชาวบ้านมากขึ้น แต่การศึกษาในมหาวิทยาลัยของสงฆ์ไม่ใช่แบบนั้น เป็นการศึกษาแบบที่เป็นระบบทั่วไปที่เป็นการศึกษาเพื่อเป็นบันไดดารา เพื่อเลื่อนชนชั้นทางสังคมนั่นเอง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รีวิวหนังสือ A Life’s Work โดย พอล เอ็ม แฮนด์ลีย์ Posted: 09 Feb 2012 08:18 AM PST
ปลายปีที่ผ่านมามีการออกหนังสือ King Bhumibol Adulyadej, A Life’s Work: Thailand’s Monarchy in Perspective หนังสือเล่มนี้เป็นที่สนใจของปัญญาชนทั้งสายอนุรักษ์นิยมและสายวิพากษ์ โดยถือว่าเป็น “เสียง” ที่ออกมาจากทางฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์หลังจากที่ประเทศไทยผ่านวิกฤตการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะตั้งแต่รัฐประหาร พ.ศ.2549 เป็นต้นมา พอล เอ็ม แฮนด์ลีย์ นักข่าวผู้เขียนหนังสือเล่มสำคัญคือ The King Never Smiles: A Biography of Thailand’s Bhumibol Adulaydej ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทย ได้เขียนบทรีวิวหนังสือเล่มนี้ในเวบไซต์นิวมันดาลา [http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2012/01/16/review-of-a-life%E2%80%99s-work-tlcnmrev-xxxi/] ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในกระทู้นี้ และมุมมองต่อหนังสือเล่มนี้อันแตกต่างกันไปอย่างสำคัญ คณะนักเขียนแสงสำนึกเห็นว่า บทรีวิวนี้มีประโยชน์ในการจะเปิดพื้นที่การอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยใหม่ จึงแปลและเรียบเรียงมาแลกเปลี่ยนกับผู้ที่สนใจ 0 0 0 ในวาระครบรอบการครองราชย์ 50 ปีของพระมหากษัตริย์ในปี พ.ศ.2539 ราชสำนักได้ออกหนังสือเล่มหนาเกี่ยวกับชีวิตและงานของพระองค์ ซึ่งเสนอภาพใหม่ๆ ของรัชกาลปัจจุบัน การออกหนังสือในปีนั้นถือว่าช้าไปมากแล้ว ประเทศไทยผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจติดต่อกันเป็นสิบๆ ปี และทำให้สังคมมีสปริตของความมุ่งมั่น เพราะความเป็นสังคมทุนนิยมอย่างเข้มข้นและบริโภคนิยม ทำให้เกิดข้อเรียกร้องจะมีรัฐบาลที่ดีกว่าเดิม มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม การเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งนั้นทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกทิ้งให้ล้าหลัง แน่นอน เราในวันนี้รู้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจกำลังจะตามมาในหนึ่งปีหลังจากนั้น แต่ในเวลานั้นไม่มีใครรู้ และจะต้องมีอะไรบางอย่างที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทันกับยุคกับสมัย เพราะฉะนั้นหนังสือ Thailand’s Guiding Light [1] จึงเกิดขึ้น พิมพ์โดยบางกอกโพสต์ แต่ชัดเจนว่าได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก ในหนังสือเล่มนี้ สุเมธ ตันติเวชกุล และอานันท์ ปันยารชุน ได้กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างระมัดระวังในฐานะสถาบันในสมัยใหม่ สุเมธผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาของพระมหากษัตริย์ได้ฉายภาพว่า พระองค์เป็น “นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม” สมัยใหม่ ด้วยทรงเข้าใจถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้ากระแสเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะเกิดเสียอีก ท่ามกลางข้อเรียกร้องให้มีส่วนร่วมของสาธารณะในโครงการใหญ่ต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านนั้น สุเมธกล่าวว่า “พระองค์ทรงยึดหลักการมีส่วนร่วมรับรู้รับฟังของสาธารณะตลอด 30 ปีที่ผ่านมา...ซึ่งเป็นกระบวนการที่โปร่งใสในการมีส่วนร่วมของสาธารณะ...มันไม่ได้เป็นระบบระเบียบ แต่เป็นธรรมชาติ” ส่วนอานันท์ ผู้มีความใกล้ชิดกับทางราชสำนัก ได้อธิบายถึงพระเจ้าอยู่หัวฯว่า เป็นนักรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักความรับผิดชอบ ปัจจุบันประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มุ่งหวังจะเป็นประเทศที่สังคมพัฒนาแล้ว แต่หลักการทางจารีตประเพณีของธรรมราชาและทศพิธราชธรรมยังคงมีความสำคัญอันยิ่งยวดต่อสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องถึงความเข้าใจต่อความเป็นกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ และความเป็นสัญลักษณ์ของจารีตประเพณีการปกครองของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในขณะเดียวกัน ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา อานันท์ได้ยืนยันว่า พระมหากษัตริย์ทรงเกี่ยวข้องกับการเมือง ทรงพบกับนายกรัฐมนตรีทุกสัปดาห์ “เพราะฉะนั้นอิทธิพลทางอ้อมของพระองค์ต่อนโยบายและมาตรการของรัฐบาลไม่ควรถูกมองข้าม” นี่เป็นเรื่องใหม่และสร้างสรรค์และเป็นประชาธิปไตยในสมัยใหม่ อานันท์ยังได้กล่าวว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิทางรัฐธรรมนูญ โดยเขาไม่ได้อ้างกฎหมายไทย แต่อ้างไปถึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบอบรัฐธรรมนูญชาวอังกฤษของศตวรรษที่ 19 วอลเตอร์ เบกอต ผู้ซึ่งกล่าวว่ากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษทรงมีสิทธิสามประการ คือให้คำแนะนำ ตักเตือน และกระตุ้น อานันท์เสริมว่า “พระองค์ยังทรงยึดหลักความรับผิดชอบ ที่พระองค์ทรงทำนั้นสาธารณะสามารถเห็นได้ ซึ่งมันไม่ใช่ภาระความรับผิดชอบในความหมายทางกฎหมาย ...แต่มันมีความโปร่งใสอยู่...” การให้ภาพใหม่แม้ไมได้นำสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ทันไปกับยุคสมัยเศรษฐกิจเติบโต แต่ก็ได้นำสถาบันฯออกมาข้างหน้า การล่มสลายของเศรษฐกิจในปีถัดมา ทำให้สิ่งต่างๆ กลับหัวกลับหางชั่วคราว แต่ทันใดนั้นก็ทำให้พระมหากษัตริย์มีตำแหน่งแห่งที่อย่างสมบูรณ์ โดยอยู่ตรงกลางของ ยุคสมัย ของความเป็นสมัยใหม่และความเรียบง่าย และทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงก็อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมด พระองค์ทรงกินข้าวกล้อง และทุกคนก็ปฏิบัติตาม รู้ว่าทรงเป็นฝ่ายถูกมาโดยตลอด --- ทศวรรษครึ่งถัดมา วาระพระชนมพรรษา ครบ 7 รอบ คลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่ทำให้สถาบันเริ่มตกสมัยก็ได้ผลักให้หนังสือเล่มใหม่ออกมา อีกครั้งที่มีอานันท์และสุเมธเป็นผู้นำ อีกครั้งหนึ่งที่พวกเขานำสถาบันฯมาข้างหน้า และอีกครั้ง หากแต่ด้วยความระมัดระวังล้นเกิน และการอาศัยการตีความ พวกเขาไปไม่ถึงในสิ่งที่จะต้องทำให้แก่สถาบัน แต่พวกเขาก็ได้ทำมากพอที่จะรักษาภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์เอาไว้ และนั่นดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับวันนี้ A Life’s Work เป็นหนังสือเล่มหนาจากสำนักพิมพ์สัญชาติสิงคโปร์ Didier Millet เขียนโดยนักเขียนผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทยอย่างคริส เบเกอร์ เดวิด สเตร็คฟัส พอพันธ์ อุยยานนท์ นักข่าวและอดีตนักข่าว โดมินิค ฟาวเดอร์ จูเลียน เกียริ่ง ริชาร์ด เออลิช พอล วีเดล โรเบิร์ต ฮอร์น และโรเบิร์ต วูดโรว รวมทั้งนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวโจ คัมมิ่งส์ ผู้ดูแลการผลิต ในแง่หนึ่งถือได้ว่า เป็นคณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์จากทางราชสำนัก อานันท์ สุเมธ บุตรี วีระไวทยะ ปราโมทย์ ไม้กลัด วิษณุ เครืองามและคนอื่นๆ ในขณะที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคปลายรัชกาล และหลังจากที่ความวุ่นวายในหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดการอภิปรายและการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง (รวมทั้งงานของผู้เขียนเอง) พระมหากษัตริย์ควรจะมีหนังสือใหม่อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับพระองค์ เกี่ยวกับชีวิตและงานของพระองค์ เป็นหนังสือที่ไม่ต้องมีทิศทางแบบวิพากษ์วิจารณ์ แต่สามารถเติมรอยโหว่ของหนังสือชีวประวัติของพระองค์ที่ผ่านมา สามารถแก้ไขวันที่และรายชื่อต่างๆ ให้ถูกต้อง เป็นหนังสือที่ “นำเสนอ” มากกว่าที่จะ “สรรเสริญ” ชีวิตของพระองค์ หลังจากระยะเวลา 65 ปีของการครองราชย์นั้น กระบวนการสร้างมายาคติสามารถทำงานของมันได้เองอยู่แล้ว ชื่อรองของหนังสือ “Thailand’s Monarchy in Perspective” บอกถึงจุดประสงค์อีกอันหนึ่ง คือมันส่งสัญญาณว่า ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะไม่ได้เป็นการตอบโดยตรงต่อ The King Never Smiles [2, TKNS หลังจากนี้] และงานวิพากษ์อื่นๆ จากนั้น แต่มันก็คือการตอบโต้ คือการ “ขอคืนพื้นที่” การอธิบายจากผู้ที่วิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด มันขอคืนพื้นที่จาก TKNS จากสเตรคฟัส [3] จากสื่อและองค์กรสิทธิมนุษยชนเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขอคืนพื้นที่การอธิบายจากพอพันธ์ [4] และนิตยสารฟอร์บส์ [5] ในเรื่องความมั่งคั่งของราชวงศ์ และงานอื่นๆ ที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์สมัยใหม่ ทางราชสำนักยังมีอีกบางเรื่องที่ต้องสื่อสารออกมา คือหนึ่ง - สถาบันพระมหากษัตริย์กำลังถูกคุกคาม ซึ่งทำให้การคงอยู่ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นเรื่องจำเป็น สอง - เรื่องความมั่งคั่งของราชวงศ์ ว่าเป็นของราชวงศ์เอง ไม่ใช่ของสาธารณะ และสาม – สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจะเป็นผู้ขึ้นครองราชย์ ไม่มีอะไรผิดเกี่ยวกับการประกาศจุดยืนของตนเอง สถาบันจะต้องตามสถานการณ์ปัจจุบันให้ทัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เวบไซต์ประชาไทหรือในห้องแชทต่างๆ แต่กับเวทีอภิปรายวิชาการต่างๆ กับสื่อต่างประเทศ และสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 2540 ที่ปฏิเสธไม่ได้ และต้องหยุดข้อสงสัยโดยเฉพาะเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ ในแง่ของสไตล์ หนังสือเล่มนี้เป็นความยุ่งเหยิง มันแสดงเรื่องประวัติศาสตร์กษัตริย์ของราชอาณาจักรสยาม ชีวิตของพระมหากษัตริย์ในช่วง 12 รอบที่ผ่านมา งานด้านการพัฒนา และส่วนที่พูดถึงประเด็นร้อน – ความร่ำรวยของสถาบัน เรื่ององคมนตรี การสืบราชสันตติวงศ์และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เขียนและตรวจส่วนต่างๆ เหล่านี้ แต่อย่างน้อยเราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กองบรรณาธิการพยายามไม่ให้มัน “แรงเกินไป” โดยเฉพาะว่าผู้เขียนเหล่านี้ก็คือคนที่ต้องการตามให้ทันนั่นเอง อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ของตัวเอง แต่ A Life’s Work ไม่ได้เป็นงานอำพรางข้อเท็จจริง งานชิ้นนี้ไม่ได้เข้ายึดครองการอธิบายเกี่ยวกับสถาบันฯโดยตรง แต่มันพยายามให้สถาบันกษัตริย์ผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ให้ง่ายขึ้น คำนำของอานันท์แสดงให้เห็นว่า ราชสำนักได้เห็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารใหม่ที่ตนเองจะต้องพบ และเน้นในวิธีการ “สร้างความสมดุลย์ ความเป็นภววิสัย และความถูกต้อง” ในเรื่อง “ที่เป็นที่สนใจไปตลอดของคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย” (น.11) คำบรรยายเกี่ยวกับประเพณีของสถาบันกษัตริย์ก็เป็นไปตามปกติมาตรฐานที่อธิบายกันทั่วไป โดยอธิบายพัฒนาการของมโนทัศน์เรื่องธรรมราชาอันมีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งในสมัยอยุธยานั้นอ่อนแอ แต่เริ่มมาแข็งแรงมากขึ้นในยุคของราชวงศ์จักรี ข้อมูลเพิ่มเติมของพระมหากษัตรยิ์ในราชวงศ์จักรีนั้น ดูจะมีมายาคติน้อยกว่าที่เคย โดยมีการเปรยถึงความโกลาหลสมัยรัชกาลที่ 6 และรับรู้ถึงความอ่อนแอที่นำมาซึ่งการปฏิวัติ พ.ศ.2475 แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ใส่ร้ายคณะราษฎร การสละราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ถูกกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มันก็หยุดการอธิบายอย่างที่เคยผ่านมา ว่ารัชกาลที่ 7 ทรงมีศีลธรรมอันสูงส่งกว่าเหล่านักการเมืองที่เข้ามาแสวงหาอำนาจ ถึงกระนั้นงานชิ้นนี้ก็ยกพระมหากษัตริย์ว่าเป็นตัวเลือกที่ “เหมาะสมที่สุด” (น.41) ในการจะกอบกู้ราชบัลลังก์ แต่โดยรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้เต็มไปด้วยคำยกยอปอปั้นหรือคำสรรเสริญแต่อย่างใด ในส่วนชีวประวัติของ A Life’s Work นั้น ดูจะดีที่สุดจากมุมมองของการอธิบายแบบกระแสหลัก มันพูดถึงเหตุการณ์สำคัญๆ เกือบทั้งหมด ได้เรียงร้อยเรื่องการเมืองเข้ากับพัฒนาการของครอบครัว และโครงการส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ กรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ก็ถูกพูดถึง พูดถึงทฤษฎีที่มีการกล่าวถึงทั้งหมด – แต่ไม่รวมถึงทฤษฎีที่คนกล่าวถึงมากที่สุดเอาไว้ด้วย เป็นที่น่าประหลาดใจว่า ไม่มีข้อมูลอะไรใหม่ในเรื่องนี้เลย ทิ้งให้เรื่องนี้เป็นปริศนาเหมือนเดิม ความวุ่นวายของช่วงกลางทศวรรษที่ 2510 ก็ถูกเล่าแปลกๆ ซ้ำๆ หนังสือเล่าว่า เดือนธันวาคม พ.ศ.2518 พระมหากษัตริย์ทรง “ไม่ได้วิตกกับการล้มลงของโดมิโนในอินโดจีน” (น.133) ยังเล่าอีกว่า ในเดือนกันยายน พ.ศ.2519 พระมหากษัตริย์และพระราชินีไม่ได้พบกับถนอม กิตติขจร หลังจากที่เดินทางกลับเมืองไทยและบวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ส่วนวันที่ 6-7 ตุลาคม พระมหากษัตริย์เสวยข้าวเย็นกับเจ้าหญิงอลิกซ์ของเบลเยียม จากนั้นก็พบผู้บริจาคเงินโครงการพระราชดำริ และทรงออกไปวิ่งจ๊อกกิ้ง “โดยลำพังอย่างครุ่นคิด” (น.137) รัฐประหารในปีพ.ศ.2534-2535 และการลุกขึ้นประท้วง ก็ถูกเล่าออกมา ส่วนใหญ่จากมุมมองของผู้ประท้วง โดยดูจะพยายามไม่เลือกข้าง แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ หนังสือได้กล่าวถึงเรื่องของบุคคลสำคัญทางการเมืองที่จะต้องต่อสู้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาในสื่อกระแสหลักและหนังสือเรียนไม่เคยพูดถึง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ปรีดี พนมยงค์ และนายกรัฐมนตรีเกือบทุกคน อาจจะยกเว้นก็คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ในวัฒนธรรมทางการก็ไม่มีคนทั้งสองเช่นกัน แม้บทบาทของบุคคลสำคัญทางการเมืองเหล่านี้ดูจะไม่ชัดเจนในหนังสือเล่มนี้ แต่อย่างน้อยที่สุด มันได้แสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์และความแตกต่างของประเด็นทางการเมืองที่เป็นปัญหาของทั้งสองฝ่าย จอมพล ป.มี “บุคคลิกที่มีเสน่ห์เวลาปรากฏตัว” และ “หนังเหนียว” (น.94) แน่นอนว่าจอมพลสฤษดิ์จงรักภักดีมากกว่า แต่ชื่อเสียงในทางลบก็มีมาก ส่วนของจอมพลถนอม-ประภาสแทบจะไม่มีการกล่าวถึง แต่สิ่งที่กล่าวนั้นก็ค่อนข้างเป็นแง่ลบทีเดียว สำหรับเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์นั้นมีอำนาจ “ปานกลาง” (น.137) งานชิ้นนี้ก็ครอบคลุมถึงทักษิณ ชินวัตร และการต่อสู้เสื้อเหลืองเสื้อแดง โดยยอมรับถึงความนิยมของทักษิณ และลักษณะความเป็นผู้นำที่เด็ดขาด ในหนังสือเล่มนี้ทักษิณดูจะเป็นบุคคลผู้จงรักภักดีอย่างมาก กล่าวถึงเสื้อเหลืองเสื้อแดงว่า ต่างสร้างความวุ่นวายและความเสียหาย ทั้งนี้เสื้อแดงดูจะแย่กว่าเล็กน้อย – รัฐประหาร พ.ศ.2549 นั้นเป็น “หายนะ” (น.178) และองคมนตรีสุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ล้มเหลว ในขณะที่หนังสือเล่มนี้เป็นการพยายามปรับปรุงจากประวัติศาสตร์ฉบับทางการก่อนหน้านี้ แต่มันก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่ใช่เพราะว่ามันเต็มไปด้วยอคติ หากแต่เพราะมันใช้ “วิธีการทางประวัติศาสตร์แบบฟอเรสต์ กัมป์” ในหนังเรื่องนั้น เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการมองแบบคลุมเครือ โหยหาอดีต ประวัติศาสตร์แบบนี้ไม่มีอะไรดีหรือเลว เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นในยุคของมัน ดังนั้นในหนังสือเล่มนี้ การปฏิวัติ พ.ศ.2475 กรณีสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดล และความพ่ายแพ้ของจอมพล ป. และปรีดี ความรุนแรงในทศวรรษที่ 2510 และเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ.2535 ได้เกิดขึ้นทั้งหมด กลุ่มต่างๆ ปะทะกัน สันติภาพกลับมา และประเทศไทยก็เดินต่อไป แต่มันไม่ชัดเจนเลยว่า ทำไมบุคคลหรือเหตุการณ์เหล่านั้นได้เกิดขึ้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ที่นั่นเสมอ อย่างต่อเนื่องและแน่วแน่อยู่ข้างประชาชน และอานันท์ก็ได้สรุปในส่วนนี้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทในการให้คำปรึกษา กระตุ้น และตักเตือนรัฐบาล แต่ “เช่นเดียวกับราชวงศ์ทั่วโลก” พระองค์ไม่ได้บอกเรื่องนี้กับสาธารณชน ส่วนที่สองของหนังสือครอบคลุมงานของพระมหากษัตริย์ในเรื่องสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาชนบทและเศรษฐกิจพอเพียง ถึงแม้จะมีรายละเอียดบางประการที่แสดงให้เห็นข้อวิจารณ์ของโครงการพระราชดำริก็ตาม แต่โดยรวมแล้วไม่มีอะไรใหม่ในส่วนนี้ ส่วนที่พูดถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียง เหมือนรายงานของ UNDP ในปีพ.ศ.2550 ที่เคยเขียนมาแล้ว จุดประสงค์หลักของส่วนนี้ คือต้องการแก้ไขความเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์ ว่าจริงๆ แนวคิดของพระองค์เป็นหลักการโดยกว้าง ไม่ได้เป็นแผนการพัฒนา และพระองค์หมายความถึง ความพอเพียงโดยรวม ไม่ใช่กับเฉพาะปัจเจกเท่านั้น โดยยังมีหวังว่านักวิชาการจะเห็นด้วย เวลาไม่กี่ปีอาจสั้นเกินไปที่จะประเมินผลกระทบของของหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผู้สนับสนุนทฤษฎีนี้เน้นว่า ยังต้องการการเปลี่ยนแปลงของความคิดอย่างลึกซึ้ง และนั่นคงกำลังเกิดขึ้น แต่จะต้องรอการขึ้นมาของคนรุ่นที่ได้ศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่โรงเรียน (น.279) --- ส่วนที่ 3 ของ A Life’s Work “มงกุฏ” ไม่ได้พูดถึงพระมหากษัตริย์ แต่เป็น “ประเด็นที่เราจะต้องขบคิด เพราะคนจะไม่หยุดพูดถึงเรื่องเหล่านี้” นั่นก็คือเรื่องความมั่งคั่งของราชวงศ์ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การสืบราชสันตติวงศ์ และเรื่องคณะองคมนตรี แต่ละเรื่องถูกพูดถึงทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และแง่กฎหมาย และส่วนนี้ของหนังสือเห็นได้ถึงการยอมรับการตรวจสอบมากขึ้นของราชสำนัก ในเรื่องคณะองคมนตรี หนังสือยืนยันว่า องคมนตรีมีบทบาทจำกัดและไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริง โดยมีอยู่เพื่อพิจารณาโครงการหลวงและตรวจสอบเอกสารการขอพระราชทานอภัยโทษตามที่องคมนตรีเกษม วัฒนชัย ได้กล่าวเอาไว้ว่า คนเชื่อว่าองคมนตรีมีอำนาจเพราะชื่อตำแหน่ง และนักข่าว นักวิชาการมักนำสิ่งที่องคมนตรีกล่าวไปเสนอซ้ำ “คนไทยเชื่อว่าอะไรที่ดูสูงส่งมักจะมีอำนาจ” (น.322) กระนั้นหนังสือก็กล่าวว่า คณะองคมนตรี “จู่ๆก็กลายมาเป็นประเด็นการอภิปรายอย่างกว้างขวาง” (น.3231) รวมทั้งข้อกล่าวหาที่ว่า องคมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 หนังสือไม่ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ แต่กล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง องคมนตรีคงได้ “กระทำไปโดยฐานะส่วนตัว” คำพูดของ พล.อ.เปรม ที่กล่าวกับกองทัพหน่วยต่างๆ ก่อนหน้าการรัฐประหารที่ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางนั้น “ไม่ได้กระทำในฐานะประธานองคมนตรี” (น.323) ในเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ หนังสือได้กล่าวถึงฐานะทางประวัติศาสตร์และกฎหมายโดยละเอียด ยืนยันราชประเพณีของราชวงศ์จักรีว่า “รัชทายาทที่ฉลาดที่สุดและเหมาะสมที่สุดจะถูกเลือก” (น.327) หนังสือยังกล่าวถึงอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการเลือกผู้ที่พระองค์ต้องการ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญและกฎมณเฑียรบาลปี พ.ศ.2467 จะบัญญัติว่าอย่างไร แต่ก็แปลกที่หนังสือกล่าวถึงการอนุญาตให้มีผู้สืบทอดหญิงในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 โดยไม่อธิบายว่าเพราะอะไร – ว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นเพียงรัชทายาทชายองค์เดียวที่เหลือในรุ่นของพระองค์ และหนังสือก็ไม่ได้กล่าวว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายปี พ.ศ.2467 ที่ว่าผู้หญิงไม่สามารถขึ้นครองราชย์ได้นั้นถูกประนีประนอมอย่างไร ในหนังสือไม่มีการกล่าวถึงสมเด็จพระเทพฯ ในบทเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ แม้จะได้รับความนิยมและได้รับตำแหน่งเป็นสยามบรมราชกุมารีในปี พ.ศ.2520 นัยว่าทรงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งด้วย แทนที่จะเป็นเช่นนั้น หนังสือสรุปว่า ยังมีความเชื่อกันอยู่ว่า...ยังไม่มีการตัดสินใจว่าใครจะเป็นผู้ที่จะขึ้นครองราชย์...หากทุกอย่างยังเป็นเช่นในปี พ.ศ.2554 เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม คณะรัฐมนตรีจะเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้จะเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นครองราชย์ (น.333) ส่วนที่พูดถึงความมั่งคั่งของสถาบันฯและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็น่าสังเกต ที่อ้างถึงงานศึกษาชิ้นสำคัญของพอพันธ์ อุยยานนท์ ว่ามีทรัพย์สินอยู่ 3 หมื่น 3 พันล้านเหรียญ (ในปี พ.ศ.2548) และนั่นก็เป็นหลักฐานที่นิตยสารฟอร์บส์นำไปใช้ในการมองพระมหากษัตริย์ว่า เป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก (โดยไม่ได้นับรวมความมั่งคั่งจากการค้าน้ำมันของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ์ของอ่าวเปอร์เซียด้วย) ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ซึ่งดูเหมือนว่าจะช่วยในการเขียนส่วนนี้ ดูจะยอมรับว่า มีความสนใจพุ่งมาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ เขาได้เพิ่มรายละเอียดทางประวัติศาสตร์บางอย่างลงไป และได้ยืนยันตรงไปตรงมาว่า สำนักงานทรัพย์สินฯไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ แม้ว่ากฎหมายจะบัญญัติให้พระองค์มีอำนาจเช่นนั้นก็ตาม แต่สำนักงานทรัพย์สินฯเป็นของพระมหากษัตริย์ในฐานะ “สถาบัน” (น.283) และมันไม่ได้เป็นภาระใดๆ ของประชาชน แต่หลักการรับผิดชอบก็มีข้อจำกัดของมันเช่นกัน จิรายุกล่าวว่า “ความสงสัยที่เกิดขึ้นมากมายจะทำให้ความสัมพันธ์ที่มีเกียรติและดำรงอยู่ด้วยความเชื่อนั้นเสื่อมถอยลง กำไรที่เพิ่มขึ้นของสำนักงานทรัพย์สินฯในยุคสมัยนี้ ทำให้ผมคิดอย่างจริงจังอยู่ตลอดเวลาถึงความสมดุลย์อันเหมาะสม” (น.301) และส่วนสุดท้าย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เวลานี้มีผู้ถูกจับกุมมากมาย และหลายคนก็ถูกตัดสินคุมขังจากกฎหมายนี้แล้ว ฉะนั้นราชสำนักก็คงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องนี้ได้ยาก หนังสือกล่าวว่า เรื่องนี้เป็น “ขวากหนามอันใหญ่” (น.303) ในหลายกรณี แต่ไม่ได้บอกว่าเพราะเหตุใด ตอนนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ออกมาแล้ว ใครๆ ก็กล่าวหาคนอื่นได้ คดีก็จะไปตามระบบราชการ และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่าคดีจะตกไป ความเสี่ยงเรื่องการจะได้รับโทษนั้น “มีอย่างท่วมท้น” (น.309) หนังสือกล่าวว่า นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การมีอยู่ของกฎหมาย แต่อยู่ที่การเพิ่มขึ้นของการใช้กฎหมาย อัตราโทษ และกฎหมายถูกใช้ในฐานะอาวุธทางการเมือง โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 แต่หากนี่จะทำให้ใครคิดว่าราชสำนักจะส่งสัญญาณว่า ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ ก็นับว่าคิดผิดถนัด เพราะในขณะเดียวกัน หนังสือก็กล่าวด้วยว่า ทำไมกฎหมายนี้ถึงจำเป็น ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์ทรง “ไม่เคยฟ้องร้องประชาชนของพระองค์หรือใช้กฎหมายนี้เองเลย” (น.309) สำหรับผู้เชี่ยวชาญกฎหมายฝ่ายนิยมเจ้าอย่างบวรศักดิ์ อุวรรณโณแล้ว กฎหมายนี้มีรากความเป็นมายาวนานในวัฒนธรรมไทย และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ “มีลักษณะเฉพาะ” นอกจากนี้อานันท์กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าพระองค์ไม่ได้สนพระทัยว่า กฎหมายนี้มีอยู่หรือไม่ แต่คนไทยจะไม่ยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์พระองค์” (น.313) หนังสือกล่าวว่า มากกว่านั้นคือภัยคุกคามที่แท้จริงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้สภาความมั่นคงแห่งชาติในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้พิจารณาว่า การบังคับใช้กฎหมายนี้จะส่งผลเสียต่อประเทศและสถาบันฯเอง แต่ข้อสรุปสำคัญก็คือ “กฎหมายหมิ่นฯยังจำเป็นสำหรับการต่อต้านผู้ที่มีจุดประสงค์จะล้มล้างสถาบันฯ” และ “คณะกรรมการฯพิจารณาเห็นว่าไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อกฎหมายหมิ่นฯ ทั้งนี้เพราะมีภัยที่แท้จริงต่อสถาบันฯ ซึ่งจะมองข้ามไปไม่ได้” (น.312) ยังมีต่ออีกว่า ชัดเจนว่าการโจมตีพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์และสถาบันของราชวงศ์ในอินเตอร์เน็ต และการพูดในสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องนี้มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ เรื่องการต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายนี้ (น.308) หนังสือไม่ได้บอกว่าภัยนั้นคืออะไร และมาจากไหน ไม่มีความคิดเห็นโดยตรงจากราชสำนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่สำหรับใครที่หวังว่าจะมีการออกมาวิพากษ์กฎหมายโดยพระมหากษัตริย์นั้นล่ะก็ ผู้เขียนเห็นว่า การตอกย้ำความชอบธรรมของกฎหมายนี้ก็ถือว่าชัดเจนอยู่แล้วว่าราชสำนักคิดอะไร หนังสือกล่าวไว้ว่า ราชสำนักมองว่า ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายหมิ่นฯบางประเภทนั้นอันตราย ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ เช่นนักวิชาการ นักข่าว ชาวต่างชาติขี้เมา เป็นต้น ไม่ได้สลักสำคัญ และไม่เห็นความจำเป็นในการลงโทษจริงจังอะไร แต่หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงยอมรับว่า คนทุกคนไม่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย แต่มันยังไม่ได้ตอบคำถามว่า แล้วคนไทยที่นำงานเขียนของนักวิชาการและนักข่าวต่างประเทศมาเผยแพร่ล่ะ? มันจะมีวิธีที่ชอบธรรมในระยะยาว ในการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างไม่เป็นการเมืองไหม? --- ในฐานะที่เป็นหนังสือที่ระลึกของรัชสมัยปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ (รวมทั้งรูปที่พระองค์ทรงยิ้มที่เราไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก) ก็ทำหน้าที่ของมันได้ดี ทำให้ทันสมัยและปัดฝุ่นชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่แม้ว่าส่วนที่ 3 จะต่างออกไปจากส่วนอื่นของหนังสือมากก็ตาม บางคนก็อยากจะปรบมือให้กับราชสำนักที่รวมประเด็นร้อนๆ เหล่านี้เข้าไปในหนังสือด้วย และแน่นอนว่า มันถึงเวลาที่จะต้องมีการส่งสัญญาณของรัชกาลต่อไป หนังสือเล่มนี้ให้เหตุผลสนับสนุนการไม่เปลี่ยนแปลงของสถาบันฯ ซึ่งนั่นดูจะไม่ใช่วิธีอยู่ต่อไปที่ดีนัก
* พอล เอ็ม แฮนด์ลีย์ นักข่าว Agence France-Presse ในวอชิงตัน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือสำคัญ The King Never Smiles: A Biography of Thailand’s Bhumibol Adulyadej (2006) อ้างอิง 2. Paul M. Handley, The King Never Smiles: A Biography of Thailand’s Bhumibol Adulaydej (New Haven: Yale University Press, 2006). 3. David Streckfuss, Truth on Trial in Thailand: Defamation, Treason, and Lèse-majsté (Milton Park, Oxon., and New York: Routledge, 2011). 4. ตัวอย่างเช่น Porphant Ouyyanont, “The Crown Property Bureau from Crisis to Opportunity,” pp. 155-186 in Pasuk Phongphaichit and Chris Baker, Thai Capital after the 1997 Crisis (Chiang Mai: Silkworm Books, 2008). 5. ดูเร็วๆนี้ใน “The World’s Richest Royals,” Forbes, 29 April 2011, at http://www.forbes.com/sites/investopedia/2011/04/29/the-worlds-richest-royals/.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
แผ่นเสียงตกร่อง:วิวาทะเรื่องนักสันติวิธี สุรพศ ทวีศักดิ์-เกษียร เตชะพีระ Posted: 09 Feb 2012 07:36 AM PST ในสถานการณ์การเมืองที่มีการเผชิญหน้าและมีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรง มักจะมีกลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกว่านักสันติวิธีปรากฎตัวขึ้น ความขัดแย้งในช่วง มีนา-พฤษภา53 ก็เช่นกัน หากแต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ยุติแต่กลับบานปลายไปสู่ความรุนแรงก่อให้เกิดบาดแผลใหญ่อีกครั้งในสังคมไทย จุดยืนและท่าทีของนักสันติวิธีจึงเป็นสิ่งที่ถูกสังคมตั้งคำถามต่อมา การตั้งคำถามของสุรพศ ทวีศักดิ์ และความเห็นต่างของเกษียร เตชะพีระ บนพื้นที่ออนไลน์(เฟซบุ๊ค)จึงเป็นสิ่งที่ช่วยจุดประกายการแลกเปลี่ยนค้นหาคำตอบสำหรับทุกคนที่เจ็บปวดต่อความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้น สุรพศ ทวีศักดิ์ "นักสันติวิธี" ขอรับ! เวลาผมฟัง “นักสันติวิธี” ในบ้านเราตลอดระยะเวลาร่วมครึ่งทศวรรษมานี้ผมมักได้ยิน “เสียงซ้ำๆ” ราวกับ “แผ่นเสียงตกร่อง” ประมาณนี้ -สังคมเรามีการแบ่งขั้วเลือกข้างกันอย่างชัดเจน -แต่ละข้างเลือกที่จะฟังและได้ยินเฉพาะความคิดความเห็นของพวกเดียวกันเองเท่านั้น -เมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังถูกหว่านกระจายไปทั่ว และถูกบ่มเพาะขึ้นทั่วสังคม -เราจะให้ความสำคัญเฉพาะเหตุผลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายต่างก็อ้างว่ามีเหตุผล ต้องให้ความสำคัญกับอารมณ์ของคนด้วย -ถ้าทุกฝ่ายลดความเกลียดชัง หันมารับฟังซึ่งกันและกัน รื้อฟื้นมิตรภาพที่เคยมีต่อกัน สังคมเราจะเดินหน้าแก้ปัญหาขัดแย้งร่วมกันได้ ปรองดองกันได้ ด้วยความเคารพ ปัญหาขัดแย้งไม่ได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไป หรือว่าทัศนะของนักสันติวิธีไม่เคยเปลี่ยนกันแน่? สำหรับผมแล้ว ผมไม่คิดว่าคนเสื้อเหลืองทั้งหมด เสื้อหลากสี หรือผู้ที่นิยมพันธมิตรที่ยังเหลืออยู่จะคิดเหมือนสนธิ และแกนนำพันธมิตรที่ยังเหลืออยู่ ผมไม่คิดว่าทหารทั้งกองทัพจะคิดและใช้ตรรกะทื่อๆ แบบ ผบ.ทบ. ไม่คิดว่าคนของพรรคเพื่อไทยทั้งหมดจะคิดเหมือน “ดร.เฉลิม ปริญญาเอกทางกฎหมาย” ในขณะเดียวกันก็ไม่คิดว่าว่าคนอย่าง อ.วรเจตน์ และนักวิชาการฟากนิติราษฎร์ จะไม่ฟังเหตุผลของนักวิชาการฟากสยามประชาภิวัฒน์ สื่อเครือผู้จัดการ ฯลฯ ผมไม่เชื่อว่าร้อยเปอร์เซ็นของพวกเล่นเฟซบุ๊ค จะไม่เคยอ่านความคิดและเหตุผลของฟากตรงข้ามเลย แต่ “นักสันติวิธี” ครับ”การแบ่งขั้วเลือกข้างกันอย่างชัดเจน” ที่พวกท่านพูดถึง มันหมายความว่าอะไรครับ? สำหรับผม มันหมายความว่า แต่ละฝ่ายต่างมีอุดมการณ์และเหตุผลของตนเองชัดเจนว่า ฝ่ายหนึ่งยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตยภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ อีกฝ่ายยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญซึ่งกษัตริย์เป็นคนเหมือนประชาชนทั่วไปไม่ใช่เป็นเทพ หาก “นักสันติวิธี” จะกรุณาก็ขอได้โปรดนำข้อเสนอของผมปฏิบัติสัก 3 ข้อได้ไหมครับ 1.หยุดเทศนาแบบ “แผ่นเสียงตกร่อง” เสียที 2.สนับสนุนให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถกเถียงโต้แย้งเหตุผลกันในประเด็นปัญหาสำคัญๆ เช่น ปัญหา ม.112 การแก้รัฐธรรมนูญลบล้างผลพวงรัฐประหาร การเยียวยา การให้ความยุติธรรม 3.ลงมาจากหอคอยงาช้าง ลงจากธรรมาสน์ มารณรงค์ผลักดันให้ปล่อยนักโทษ ม.112 และนักโทษการเมือง
*************************************************
Kasian Tejapira ที่ว่าแผ่นเสียงตกร่องของนักสันติวิธี เมื่อคุณตกเป็นเหยื่อของอำนาจ และการต่อสู้เพื่อสิ่งที่คุณเชื่อกำลังดุเดือดเข้มข้นบีบรัด เป็นธรรมดาที่คุณจะรู้สึกได้ที่จะรำคาญนักสันติวิธี ผมก็เคยรู้สึกแบบนี้ โดยเฉพาะเวลาปักใจเชื่อในความชอบธรรมของพลังการเมืองฝ่ายหนึ่งที่เป็นฝ่ายถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม และยังเห็นพวกเขาถูกอำนาจรัฐ/อำนาจทุนรังแกข่มเหงคาตา ผมโกรธมากที่เพื่อนอาจารย์นักสันติวิธีไม่เลือกข้าง มันต้องนานจริง ๆ เมื่อพายุข้างนอกและในใจสงบลงแล้ว ที่คุณจะเห็นได้ถึงความจำเป็นที่พวกเขาบางคนไม่เลือกข้าง ในท่ามกลางการฆ่ากันอย่างเมามันไม่ฟังเสียงปราม ในท่ามกลางอันตรายของลูกหลง ความเข้าใจผิด และความเกลียดชัง (ผมหมายถึงระหว่างเวลาอย่างเมษา-พฤษภาอำมหิต เป็นต้น) นักสันติวิธีที่ผมรู้จัก เดินหน้าทำงานหาทางออกให้ผู้คนไม่ต้องฆ่ากันอย่างไม่หยุด อย่างกล้าหาญ อย่างยืนหยัด อย่างอดทน คุณจะเอาอะไรล่ะ? ตั้งแต่วิ่งเข้าพูดคุยกับผู้มีอำนาจสั่งการทั้งสองฝ่าย, ติดต่อหาทางพาคนออกจากที่ชุมนุมไปยังเขตอภัยทานที่สร้างขึ้น, นัดประชุมแกนนำทุกฝ่ายเพื่อพูดคุยหาจุดร่วมและทางลงเท่าที่เป็นไปได้ แม้แต่ข้อเสนอต่าง ๆ ที่ให้มีพื้นที่พูดเรื่องนี้,ให้ได้ประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ ฯลฯ ก็ริเริ่มโดยพวกเขา เงียบ ๆ ด้วยความเคารพ แต่ผมยังไม่เห็นคนกลุ่มไหนแคร์คุณค่าชีิวิตมนุษย์ และริเริ่มสร้างสรรค์ในท่ามกลางการทำร้ายฆ่าฟันกัน เทียบเท่าพวกเขาเลย แน่นอน นักสันติวิธีมีหลายกลุ่มหลายแนวคิด บางกลุ่มก็อาจไม่สร้างสรรค์ ท่องคาถาสำเร็จรูป หรือกระทั่งรับใช้อำนาจ ให้ความชอบธรรมกับระเบียบอธรรมของอำนาจ แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่ม ดังนั้นเราไม่ควรเหมารวม เราไม่ชอบที่ใครมาเหมารวมพวกเรา เราถือว่าการที่มาตราหน้าเหมารวมว่าพวกเราคิดเหมือนกัน กล่าวหาเสีย ๆ หาย ๆ โดยฝ่ายอำนาจนั้นไม่ชอบธรรม เราก็ไม่ควรทำเช่นนั้นกับคนอื่น รวมทั้งนักสันติวิธี สภาพทางการเมืองในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีพลวัตสูง บางด้านก็เปลี่ยนแปลงเร็วยิ่ง แต่บางด้านก็ไม่เปลี่ยน ยังติดหล่ม ติดกับดัก และเป็นตัวก่อปัญหาความเสี่ยงต่อความรุนแรงอยู่ ในขณะที่ไม่จำต้องยืนยันยอมรับหรือปกป้องทุกอย่างที่นักสันติวิธีกลุ่มต่าง ๆ พูดหรือเสนอ แต่เป็นไปได้ไหมว่า ที่เนื้อหาบางส่วนในข้อเสนอของพวกเขาฟังดูซ้ำซาก จำเจ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง ก็เพราะ ความเป็นจริงบางส่วนก็ตกร่องด้วย คนจำนวนมากไม่เปลี่ยนวิธีคิดพฤติกรรมอันสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง แผ่นเสียงของผมตกร่องมานานปีตั้งแต่ผมเดินออกจากป่าและตัดสินใจวางปืนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ ในฐานะคนที่เคยอยู่ในสถานการณ์สงครามที่คนฆ่าคนด้วยกัน และได้ผ่านเหตุการณ์ที่คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันกลางเมืองเพราะเหตุผลทางอุดมการณ์และการเมืองมา ๔ - ๕ ครั้งแล้ว สำหรับผม ขอพูดจากประสบการณ์ว่า อุดมการณ์อาจจะสำคัญ แต่สันติวิธีสำคัญกว่าอุดมการณ์ มันแปลทางปฏิบัติว่าทุกฝ่ายสู้เพื่ออุดมการณ์ตัวเองได้ โดยไม่ต้องฆ่ากัน เผื่ออุดมการณ์ผิด จะได้มีชีวิตไปเรียนรู้และต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ใหม่ได้ ดังนั้น ประเด็นสำคัญใน 5 ปีที่ผ่านมา และยังเป็นความจริงตกร่องอยู่ ให้แผ่นเสียงต้องตกร่องตาม คืออันนี้ครับ 2) วิธีการสำคัญกว่าเป้าหมาย เพราะวิธีการคือหน่ออ่อนของเป้าหมายที่กำลังคลี่คลายขยายตัวไปประจักษ์เป็นจริง ฉะนั้นวิธีการที่ผิดพลาดชั่วร้าย ย่อมไม่อาจนำไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้องดีงามได้ 3) ไม่มีหลักการนามธรรมใดในโลกมีค่าควรแก่การเอาชีวิตผู้อื่นไปสังเวย แผ่นเสียงของผมตกร่องอยู่ตรงนี้มา5 ปีแล้ว เพราะความเป็นจริงก็ตกร่องอยู่ตรงนี้มา 5 ปีเช่นกัน ฝ่ายต่าง ๆ ในความขัดแย้งยังมีลักษณะบ้าลัทธิคับแคบสุดโต่ง, ไม่เลือกวิธีการ, และพร้อมจะเอาชีวิตมนุษย์ ทั้งของฝ่ายตนเองและฝ่ายตรงข้ามไปสังเวยหลักการนามธรรมที่ตนเชื่อ เก่งจริงมาช่วยกันไปให้พ้น 3 ข้อนี้สิ แล้วจะเปิดแผ่นใหม่
***********************************************
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 09 Feb 2012 07:33 AM PST "จิตใจอันดีงามจะมีประโยชน์อันใด หากเย็นชาอยู่ท่ามกลางสังคมอันไม่เป็นธรรม อ้างว่าความเสมอภาคมีได้แค่ตัวหนังสือ แล้วมองเห็นคนตายจริง ติดคุกจริง จากกระสุนจริงและม.112 ไหม? อำนาจบงการจิตใจ แต่จิตใจก็สยบยอมต่ออำนาจของโครงสร้างได้เช่นกัน เรื่องเหล่านี้ไม่สาธารณะกับทุกคน เพราะตัวตนทางศาสนาของคนบางคนเอง สุดท้ายที่เห็นคนไม่เท่ากัน ก็เพราะมัวไปหลงเดินตามคนที่ยกตนว่าอยู่เหนือปุถุชน" สเตตัสในเฟซบุ๊ก อนุญาตให้ประชาไทเผยแพร่ | |
เปิดแผน ‘กฟผ.’ รุกกันตัง ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง Posted: 09 Feb 2012 06:40 AM PST ระหว่างเวลา 10.00–15.00 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุมคอซิมบี้เทศบาลเมืองกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดตรัง 8 องค์กร ประกอบด้วย ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง เป็นต้น ได้จัดเวทีเรียนรู้ “โรงไฟฟ้าถ่านหินดีจริงหรือ?” มีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา นำเสนอว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553–2573 (PDP 2010) ของกระทรวงพลังงาน จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ 9 โรงในภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Sea Borad) ของประเทศไทย นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขานุการมูลนิธิอันดามัน นำเสนอว่า จากเอกสารรายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดตรัง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุถึงแผนการดำเนินโครงการว่า ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554–วันที่ 30 มีนาคม 2554 เป็นช่วงการคัดเลือกสถานที่ จากนั้นจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อสถานที่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554–วันที่ 31 ธันวาคม 2557 นายภาคภูมิ นำเสนออีกว่า จากการที่ตนศึกษาเอกสารรายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังระบุว่า ใช้น้ำสำหรับระบบหล่อเย็นและระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,190,836 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน น้ำสำหรับผลิตน้ำจืดเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตไอน้ำและกิจกรรมต่างๆ 4,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมทั้งสิ้น 2,195,086 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน นายภาคภูมิ เปิดเผยว่า ล่าสุดตนได้รับเอกสารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปรียบเทียบข้อมูลและมุมมองของผู้ไม่เห็นด้วยกับข้อมูลที่ถูกต้องโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินใช้น้ำในระบบหล่อเย็นกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์วันละไม่เกิน 2 แสนลูกบาศก์เมตร และปล่อยลงทะเล 190,000 ลูกบาศก์เมตร น้ำสำหรับผลิตน้ำจืดโดยใช้น้ำทะเล 4,500 ร้อยลูกบาศก์เมตรต่อวัน “เอกสารชุดนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นมาชี้แจงข้อมูล เพื่อตอบโต้ข้อมูลของเครือข่ายภาคประชาสังคมของจังหวัดตรัง ข้อน่าสังเกตคือข้อมูลในเอกสารที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชุดนี้ ไม่ตรงกับเอกสารรายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ทั้งที่เป็นข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเหมือนกัน” นายภาคภูมิ กล่าว ช่วงท้ายของมีการเวทีเสนอให้จัดเวทีสาธารณะคุยกับชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังในระดับอำเภอ และในระดับจังหวัดตรัง โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมีชาวบ้านที่มาร่วมเวทียกมือสนับสนุนให้มีการประสานงานจัดเวทีสาธารณะดังกล่าวขึ้น ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ศาลาประชาคมอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ในการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน นายสมชาติ ศรีปรัชญากุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เข้าชี้แจงข้อมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง อีกทั้งร่วมกับอำเภอกันตังมอบเงิน 1 แสนบาท ให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ที่ประกอบอาชีพโพงพาง นำไปปรับเปลี่ยนอาชีพ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 30 มกราคม 2555 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตรัง ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดตรัง ประจำเดือนมกราคม 2555 นายสุมิต วงศ์แสงจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เข้าชี้แจงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง นายสุมิต ชี้แจงว่า ได้มีการคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า จำนวน 3 พื้นที่ คือ บริเวณคลองเจ้าไหม ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง ลุ่มแม่น้ำตรัง ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง และลุ่มแม่น้ำปะเหลียน ตำบลวังวน อำเภอกันตัง ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 800 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีเรือขนส่งถ่านหินอยู่แล้ว สำหรับการนำเข้าวัตถุดิบ นายสุมิต ชี้แจงอีกว่า ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้ศึกษาศักยภาพและความเป็นไปได้ของพื้นที่เบื้องต้นไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการลงพื้นที่ให้ข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบปะกับผู้นำชุมชน โดยส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านหรือให้การสนับสนุน 0 0 0
รายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระยะเวลาดำเนินงาน 2.Land Procurement จัดซื้อสถานที่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554–วันที่ 31 ธันวาคม 2557 3.Pre Feasibility Study เตรียมการศึกษาความเป็นไปได้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554–วันที่ 31 พฤษภาคม 2554 4. Feasibility Study (Incl. Port Coal Terminal) ศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับภาษี ท่าเรือ ถ่านหิน อาคารสถานที่ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555–วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 5.TOR,EHIA Study and Approval จัดทำกรอบข้อตกลง (TOR) จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ,จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) และพิจารณาอนุมัติโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2556–วันที่ 31 กรกฎาคม 2558 6.Public Participation กระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2556–วันที่ 31 กรกฎาคม 2558 7.Project Approval การอนุมัติโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558–วันที่ 31 ตุลาคม 2558 8.Bid Preparation การเตรียมการเสนอราคา ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558–วันที่ 31 ธันวาคม 2558 9. Biding Period ระยะเวลาในการเสนอราคา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559–วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 10.Evaluation Negotiation and Approval ประเมินผล การเจรจา และการอนุมัติ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559–วันที่ 31 ธันวาคม 2559 11.LOI ลงลายมือชื่ออนุมัติสร้างโครงการ ในวันที่ 1 มกราคม 2560 12.Design Manufacturing and Delivery ออกแบบ การก่อสร้าง และการส่งมอบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560–วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 13.Site Preparation and Civil Work การเตรียมสถานที่ และดำเนินการก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560–วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 14.Installation and Erection การติดตั้ง และดำเนินการก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560–วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 15.Test,Commissing and COD การทดสอบอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้า การว่าจ้าง และการประชุมการบริหารการจัดการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563–วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 สถานที่ตั้งโครงการ พื้นที่ศึกษา 2.บ้านเกาะแลน ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 3.บ้านหาดทรายขาว ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 4.บ้านนายอดทอง (บ้านไพร) ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 5.บ้านทุ่งนา ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เปรียบเทียบรายละเอียดทางเทคนิควิศวกรรมของสถานที่ตั้งโครงการ ลักษณะพื้นที่ของบ้านเกาะแลน ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นเกาะอยู่กลางแม่น้ำ มีป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าชายหาดและป่าดิบชื้น ที่ดินจะอยู่ในเขตประกาศผังเมืองรวม ประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ มีขนาดพื้นที่ 2500 ไร่ ห่างจากปากแม่น้ำตรัง 10 กิโลเมตร แม่น้ำบริเวณดังกล่าวกว้าง 250 เมตร ร่องน้ำลึก 3–4 เมตร การขนส่งเชื้อเพลิงใช้ทางเรือ Barge ขนาดประมาณ 8–9 พันตัน (ความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 7,184 ตันต่อวัน สำหรับการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์จะใช้ทางท่าเรือน้ำลึกสงขลา หรือท่าเรือสุราษฎร์ธานี ส่วนระบบส่งไฟฟ้าที่ใกล้เคียงคือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกระบี่ขนาด 230 กิโลวัตต์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่ของบ้านหาดทรายขาว ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พื้นที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ มีป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าชายหาดและป่าดิบชื้น ที่ดินจะอยู่นอกเขตประกาศผังเมืองรวม มีขนาดพื้นที่ 1,200 ไร่ ห่างจากปากแม่น้ำตรัง 6 กิโลเมตร แม่น้ำบริเวณดังกล่าวกว้าง 1500 เมตร ร่องน้ำลึก 3–4 เมตร การขนส่งเชื้อเพลิงใช้ทางเรือ Barge ขนาดประมาณ 8–9 พันตัน (ความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 7,184 ตันต่อวัน สำหรับการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์จะใช้ทางท่าเรือน้ำลึกสงขลา หรือท่าเรือสุราษฎร์ธานี ส่วนระบบส่งไฟฟ้าที่ใกล้เคียงคือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกระบี่ขนาด 230 กิโลวัตต์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่ของบ้านนายอดทอง (บ้านไพร) ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ราบใกล้แม่น้ำ ปลูกพืช ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และนากุ้ง เป็นพื้นที่เกษตรกรรมมีเอกสารสิทธิ อยู่ติดป่าชายเลน มีขนาดพื้นที่ 1,200 ไร่ ห่างจากปากแม่น้ำตรัง 7 กิโลเมตร แม่น้ำกว้าง 1,200 เมตร ร่องน้ำลึก 6–8 เมตร การขนส่งเชื้อเพลิงใช้ทางเรือ Barge ขนาดประมาณ 8–9 พันตัน (ความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 7,184 ตันต่อวัน สำหรับการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์จะใช้ทางท่าเรือน้ำลึกสงขลา หรือท่าเรือสุราษฎร์ธานี ส่วนระบบส่งไฟฟ้าที่ใกล้เคียงคือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกระบี่ขนาด 230 กิโลวัตต์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่ของบ้านทุ่งนา ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นสวนปาล์มน้ำมันทั้งหมด มีความสูงระดับถนน เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ มีขนาดพื้นที่ 1,200 ไร่ และ 800 ไร่ กรณีใช้น้ำจากแม่น้ำตรัง บริเวณท่าเรือนาเกลือ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ต้องใช้ท่อขนาดใหญ่ผ่านเขตชุมชน หรือเขตป่าชายเลน กรณีใช้น้ำจากคลองเจ้าไหม ต้องพิจารณาการสูบน้ำ เนื่องจากการสูบน้ำในปริมาณมากในคลองขนาดเล็กเป็นเหตุให้น้ำทะเลหนุน ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอ่อน และป่าชายเลน แม่น้ำกว้าง 150 เมตร ความลึกของร่องน้ำไม่ทราบแน่ชัด การขนส่งเชื้อเพลิง กรณีใช้ท่าเรือนาเกลือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ซึ่งอยู่ห่างจากโครงการ 7 กิโลเมตร รองรับเรือขนาด 4 พันตัน จำนวน 2 ลำ การลำเลียงถ่านหินมาโรงไฟฟ้าทำโดยรถบรรทุกขนาด 40 ตัน จำนวน 200 คัน เดินทาง 400 เที่ยวต่อวัน สายพานลำเลียงต้องผ่านชุมชน หรือป่าชายเลน ระยะทาง 5–7 กิโลเมตร กรณีลำเลียงผ่านคลองเจ้าใหม่ที่มีความกว้าง 150 เมตร ความลึกไม่ทราบแน่ชัด มีป่าชายเลนคั่นระหว่างพื้นที่ท่าเรือกับคลอง ประมาณ 300 เมตร สำหรับการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์จะใช้ทางท่าเรือน้ำลึกสงขลา หรือท่าเรือสุราษฎร์ธานี ส่วนระบบส่งไฟฟ้าที่ใกล้เคียง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกระบี่ ขนาด 230 กิโลวัตต์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร เปรียบเทียบข้อดี ข้อจำกัดของพื้นที่ศึกษาทางเทคนิค วิศวกรรม พื้นที่ของบ้านเกาะแลน ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีข้อดีคือที่ดินใช้ประโยชน์ 100 ไร่ สามารถพัฒนาเพิ่มได้อีก 1,400 ไร่ ไม่มีชุมชนอาศัยอยู่บนเกาะ ขณะที่มีข้อจำกัดบริเวณกลางพื้นที่เป็นแอ่งลุ่มต่ำ ต้องถมดินสูงประมาณ 3–4 เมตร เป็นพื้นที่ป่าชายเลนหนาแน่น ไม่มีถนนเชื่อมต่อถึงพื้นที่ พื้นที่ของบ้านหาดทรายขาว ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีข้อดีคือพื้นที่อยู่นอกเขตผังเมืองกันตัง อยู่บริเวณปากแม่น้ำตรัง ผลกระทบต่อชุมชนในการขนส่งทางเรือน้อย ขณะที่มีข้อจำกัดเป็นที่ราบลุ่ม มีคลองเตะหมุนผ่านกลางพื้นที่ เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์หนาแน่น พื้นที่ของบ้านนายอดทอง (บ้านไพร) ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีข้อดีคือเป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิประมาณ 1,000 ไร่ ขณะมีข้อจำกัดที่มีแนวป่าชายเลนกั้นระหว่างพื้นที่โครงการกับแม่น้ำปะเหลียน พื้นที่ของบ้านทุ่งค่าย ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีข้อดีคือเป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิประมาณ 1,200 ไร่ และ 800 ไร่ มีประชาชนอาศัยอยู่เบาบาง ขณะมีข้อจำกัดที่เป็นพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ ไม่ติดแม่น้ำ และทะเล เปรียบเทียบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเบื้องต้น พื้นที่ของบ้านเกาะแลน ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ตามประกาศผังเมืองรวมอยู่ในเขตสีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้) เป็นป่าชายเลน อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีคนอาศัย 767 คน ไม่มีคนอาศัยอย่างถาวร พื้นที่ของบ้านหาดทรายขาว ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่นอกเขตประกาศผังเมืองรวม เป็นป่าชายเลน อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นพื้นที่คุ้มครองเนื่องจากได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีคนอาศัย 182 คน ไม่มีคนอาศัยอย่างถาวร พื้นที่ของบ้านนายอดทอง (บ้านไพร) ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่นอกเขตประกาศผังเมืองรวม พื้นที่บางส่วนเป็นป่าชายเลน อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นพื้นที่คุ้มครองเนื่องจากได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีคนอาศัย 475 คน เป็นชุมชนเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน พื้นที่ของบ้านทุ่งค่าย ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีคนอาศัย 413 คน เป็นสวนปาล์มน้ำมันทั้งหมด มีความสูงระดับถนน การจัดหาน้ำ สำหรับการใช้น้ำของโครงการประกอบด้วย 1.น้ำสำหรับระบบหล่อเย็นและระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,190,836 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 2.น้ำสำหรับผลิตน้ำจืดเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตไอน้ำและกิจกรรมต่างๆ 4,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมทั้งสิ้น 2,195,086 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รายละเอียดเบื้องต้นของโรงไฟฟ้า กำลังผลิตสุทธิ 800 เมกะวัตต์ ประสิทธิภาพเฉลี่ยตลอดอายุโรงไฟฟ้า 30 ปี 41.78% ปริมาณความต้องการใช้ถ่านหิน 7,183.7 ตันต่อวัน อุปกรณ์ควบคุมมลภาวะทางอากาศ (ประสิทธิภาพ) เครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์ (ESP) 99% เครื่องกำจัดก้าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) 90% ระบบดักจับก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) 70% ระบบส่งไฟฟ้า การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ค่าควบคุม 144 ppmvd ค่ามาตรฐาน 180 ppmvd ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ค่าควบคุม 72 ppmvd ค่ามาตรฐาน 200 ppmvd ฝุ่นละออง ค่าควบคุม 13 Mg/m3 ค่ามาตรฐาน 80 Mg/m3 ประมาณราคาโครงการ โรงไฟฟ้า เงินตราต่างประเทศ 32,691 ล้านบาท เงินไทย 23,356 บาท รวม 1,808.26 บาท ระบบส่งไฟฟ้า เงินตราต่างประเทศ 740 ล้านบาท เงินไทย 4,340 บาท รวม 5,080 บาท รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 61,136 ล้านบาท การพิจารณาความเหมาะสมโครงการ ด้านเทคนิคและสิ่งแวดล้อม โครงการเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินนำเข้าที่มีปริมาณกำมะถันต่ำเป็นเชื้อเพลิง รวมถึงมีมาตรการติดตาม ตรวจสอบ และป้องกันที่รัดกุมเพื่อให้มีผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน แบ่งเป็น 2 กรณี ตามวิธีขนส่งถ่านหินนำเข้า ดังนี้ กรณีที่ 1 ขนส่งถ่านหินโดยเรือเดินทะเลจากอินโดนีเซีย และขนถ่ายลงเรือ Barge ราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ย 2.4007 บาท/กิโลวัตต์/ชั่วโมง อัตราผลตอบแทนการลงทุนของโครงการ 7.29% มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิส่วนทุน 3,462 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนส่วนทุน 10.92% ระยะเวลาคืนทุน 12 ปี กรณีที่ 2 ขนส่งถ่านหินโดยเรือ Barge จากอินโดนีเซีย มายังโครงการโดยตรง ราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ย 2.4007 บาท/กิโลวัตต์/ชั่วโมง อัตราผลตอบแทนการลงทุนของโครงการ 7.29% มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิส่วนทุน 3,462 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนส่วนทุน 10.62% ระยะเวลาคืนทุน 12 ปี
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธประกันตัว “อากง” Posted: 09 Feb 2012 05:44 AM PST ประชาไทลบข่าวนี้ เนื่องจากมีความผิดพลาดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขั้นตอนตามกระบวนการทางกฎหมาย ขออภัยอย่างสูง มา ณ ทีนี้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ด่วน ปาฐกถา หาทุนแก้ ‘112’ เปลี่ยนสถานที่ เหตุที่เดิมหวั่นกระแสต้าน Posted: 09 Feb 2012 05:01 AM PST ปาฐกถาของ ธงชัย วินิจจะกูล เรื่อง ‘ระบอบสังคมการเมืองที่ฝืนการเปลี่ยนแปลงคืออันตรายที่แท้จริง’ และเสวนาเรื่อง "สถาบันกษัตริย์กับสังคมประชาธิปไตย" เปลี่ยนสถานที่เป็นโรงแรมรัตนโกสินทร์ เริ่มเวลา 17.30 น. 9 ก.พ. กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ แจ้งข่าวว่า งาน "จิบน้ำชาสังสรรค์สนทนาเพื่อหารายได้สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอนิติราษฎร์" ที่กำหนดให้มีขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลา 17.00 - 21.00 น. ณ ห้องจิตรลดา โรงแรมเอสดีอเวนิว (ตรงข้ามเซ็นทรัลปิ่นเกล้า) ถูกเจ้าของสถานที่ยกเลิกกะทันหัน โดยอ้างเหตุความสะดวก และหวั่นวิตกต่อกระแสต่อต้าน เปลี่ยนสถานที่และเวลา เป็นห้องราชาโรงแรมรัตนโกสินทร์ (ใกล้สนามหลวง)
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.ccaa112.org/web/?p=440 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
คุยกับ 'ไท พฤกษาเกษมสุข' ก่อนประท้วงอดอาหาร ‘112 ชั่วโมง’ Posted: 09 Feb 2012 04:18 AM PST "ไท" หรือ ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ชายหนุ่มวัย 20 ปี ซึ่งปัจจุบันศึกษาอยู่ปี 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุตรชายคนเดียวของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตัดสินใจประกาศอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับบิดาของเขา ซึ่งถึงตอนนี้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำแล้ว 10 เดือน เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัว วันนี้ (9 ก.พ. 55) เขาแถลงข่าวร่วมกับ ส.ส. สุนัย จุลพงศธรที่รัฐสภาเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาและการทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐ ไทแถลงด้วยความหนักแน่นถึงเหตุผลที่เขาตัดสินใจอดอาหารเป็นเวลา 112 ชั่วโมง หรือเป็นเวลา 4 วัน ตั้งแต่สี่โมงเย็นของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ จนถึงแปดโมงเช้าของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ “เราได้ดำเนินการทั้งในทางกฎหมาย ทั้งการยื่นหนังสือร้องเรียนต่างๆ นานาแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นผลอะไร ดังนั้น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้เล็งเห็นว่าพวกเขาจะทำอย่างไร เพื่อให้เขาเห็นว่าความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน เพื่อให้เห็นว่าสิทธิการประกันตัวมีความสำคัญยิ่งกว่าการทรมานร่างกายของข้าพเจ้าอย่างไร ข้าพเจ้าจึงได้ประกาศอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 112 ชั่วโมง” ประชาไท พูดคุยกับ ไท พฤกษาเกษมสุข ก่อนที่เขาจะเริ่มเข้าสู่การอดอาหารเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม 112 ชั่วโมง 0000 ทำไมถึงตัดสินใจไปอดข้าวที่ศาลอาญา อยากจะสื่อว่าอะไร แล้วได้ไปเยี่ยมพ่อที่เรือนจำบ้างไหม พ่อว่าอะไรบ้างเรื่องที่ไทจะอดอาหาร ส่วนตัวสนใจทำกิจกรรมทางการเมืองเมื่อไร ก่อนหน้าที่พ่อตัวเองถูกจับหรือเปล่า กฎหมายระบุว่าผู้ต้องหาทุกคนมีสิทธิได้รับการประกันตัว แต่ในคดีของพ่อหรือนักโทษคดีหมิ่นฯ อื่นๆ กลับไม่ได้ประกันตัวเลย ในฐานะที่ตัวเองก็เรียนกฎหมายมา รู้สึกอย่างไร ผมไม่รู้สึกอะไร คือผมรู้สึกว่ามันต้องเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ไม่รู้สึกเดือดดาล ไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น คือรู้สึกเฉยๆ แต่เราไม่ได้อยู่เฉยๆ มันเฉยทางความคิด แต่ในทางจิตใจของเรา เรารู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม เราต้องเข้าไปแก้ไข เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข ฉะนั้น สิ่งที่ผมเชื่อและสิ่งที่ผมคิดมาตลอดก็คือ ผมต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขสิ่งเหล่านั้นด้วย แต่ก็จะไม่ถึงขั้นใช้อารมณ์เข้าไปเกี่ยว ว่ามันไม่ยุติธรรม เราถึงโกรธหรือเสียใจ แล้วเตรียมตัวอดอาหารในครั้งนี้ยังไงบ้าง แล้วอดอาหารถึงสี่วันไม่กลัวบ้างหรือว่าจะเป็นอะไรไป หลังจากอดอาหารแล้วถ้าศาลยังไม่ปล่อยตัวพ่ออีกจะทำยังไง แล้วคาดหวังจากศาลมากหรือเปล่าจากการอดอาหารประท้วง อยากจะบอกอะไรกับศาลบ้าง ความจริงแล้ว ถ้ามีคนเรียกการอดอาหารว่าเป็นการกดดัน ความจริงแล้วมันไม่ใช่การกดดันเลย การกดดันต้องมีพลังทางการเมือง แต่ว่าของผมนี่มันมีพลังทางสัญลักษณ์ แล้วโดยส่วนตัวได้รับอิทธิพลมาจากพ่อเยอะไหมในการทำกิจกรรม แสดงว่าก็ความสนใจก็มาจากตัวเองส่วนใหญ่
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สหภาพแรงงานน่าจะเป็นทางออกของแรงงานไทย จริงหรือ? Posted: 08 Feb 2012 11:51 PM PST ในขณะที่ราคาสินค้าทุกอย่างถีบตัวสูงขึ้นแต่ค่าจ้างของคนงานกลับยังคงเดิม เมื่อมีรายจ่ายที่มากขึ้น ในหนึ่งวันเกือบทั้งชีวิตของเขาเหล่านั้นใช้เวลาไปกับการทำงานไม่น้อยกว่า 12-15 ชั่วโมง เพื่อที่จะหารายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายที่รออยู่ข้างหน้า เมื่อเขาอยู่ในโรงงานเขาก็ถูกปฏิบัติเยื่องทาส ความไม่จริงจังต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐรวมกับความต้องการกำไรสูงสุดของลัทธิทุนนิยม ทำให้ชนชั้นผู้ใช้แรงงานถูกเอาเปรียบกดขี่ขูดรีดอย่างหนักหน่วง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานที่เป็นลูกจ้างเหมาค่าแรงจะถูกเอาเปรียบและกดขี่เป็นอย่างมาก เสมือนว่าเขาเหล่านั้นไม่ใช่คนไทยเช่นเดียวกับเรา ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตกในปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐ ทำให้เกิดการปรับตัวของผู้ประกอบการและนำไปสู่การออกกฎหมายให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานในระบบเหมาค่าแรงได้ บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตราที่ ๕ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการรับประกันความเสี่ยงให้กับนายทุน และต่อมาลูกจ้างก็พยายามที่จะขอแก้ไขเพื่อให้การจ้างงานนั้นมีความมั่นคงยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การแก้ไข พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ฉบับที่ ๒ มาตราที่ ๑๑/๑ ซึงมีนัยยะที่สำคัญ คือ “ให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงได้รับค่าจ้างสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ” ในปัจจุบันก็ยังถกเถียงกันไม่จบว่าค่าจ้างที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันนั้นมันเป็นธรรมหรือยัง ? ในหลากหลายมุมมอง หลายความคิด และหลายสาขาอาชีพได้พยายามที่จะปลดแอกอันหนักหน่วงของความไม่เป็นธรรมนี้ออกไป บางขณะถึงกับมีผู้ยอมสละชีวิตหวังว่าเพื่อให้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจกับคนรุ่นหลังได้ลุกขึ้นสู้ ดังตัวอย่าง กรณีของคุณคณาพันธ์ ปานตระกูล เป็นตัวอย่างหนึ่งของการกดขี่และขูดรีดเพื่อแสวงหาซึ่งกำไรสูงสุดของลัทธิทุนนิยม นั่นคือจุดมุ่งหมายของทุน มันเป็นการสร้างความหายนะให้กับมวลหมู่กรรมกรทั้งผอง เจตนารมณ์ของคุณคณาพันธ์ ปานตระกูล อันเป็นเจตนาเดียวกันกับพี่น้องกรรมกรทั้งหลาย ก็คือ “การยกเลิกการจ้างงานในระบบเหมาค่าแรง” เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้กับผู้ใช้แรงงาน และฟื้นคืนความสุขของกรรมกรทุกหมู่เหล่าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และความใฝ่ฝันของ คุณคณาพันธ์ ปานตระกูล จึงเป็นเนื้อเดียวกับเจตนารมณ์ของกรรมกรทั่วไป และสามัญชนธรรมดาๆ ซึ่งได้ร่วมต่อสู้กับพี่น้องกรรมกรทั้งหลาย จนกระทั่งจากไป ดังนั้นพวกเราในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำจะต้องประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า จะสืบสานอุดมคติของคุณคณาพันธ์ ปานตระกูล ตลอดไป จนกว่าชนชั้นผู้ใช้แรงงานจะได้รับการเหลียวแลและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น วันนี้ลูกจ้างชั่วคราวทั้งในภาครัฐและเอกชน ได้แต่นั่งมองหน้ากันตาละห้อย ความมั่นคงในการทำงานของคนงานไทยกำลังถูกสั่นคลอน ทั้งจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมที่ให้อำนาจนายจ้างไว้อย่างมากมาย ผิด-ถูก หน้าที่พิสูจน์เป็นหน้าที่ของลูกจ้างที่จะต้องไปพิสูจน์ในศาล วันนี้กฎหมายแรงงานจึงไม่ได้อยู่ในวิสัยที่นายจ้างจะยำเกรงแต่อย่างใด หรือขบวนการในการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นไปด้วยความล่าช้ายากลำบากและใช้เวลานาน กว่าจะรู้ผลแพ้ชนะก็กินเวลาเข้าไปเกือบทศวรรษ และที่สำคัญคือกลไกในการบังคับใช้กฎหมายขาดความน่าเชื่อถือในสายตาของลูกจ้าง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ลูกจ้างจะหันไปพึ่งใครได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนงาน หรือกรรมกรทั้งหลายจะต้องตระหนัก และให้ความสำคัญกับการรวมตัวที่จะจัดตั้งเป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงานเอง มีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างกลไกขึ้นมาต่อรองหรือปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะไม่เหลืออะไร แม้แต่ศักดิ์ศรีความเป็นไทยก็จะถูกลบเลือนไป วันนี้ถึงแม้สมาชิกสหภาพแรงงานของไทยจะมีจำนวนน้อยนิด ถ้าเราไม่ออกมาช่วยกันปกป้องและรักษามีแต่จะหมดไป แต่ถ้าเราช่วยกันประคับประคองและปลุกจิตสำนึกให้กับนักสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ เชื่อว่าขบวนการแรงงานของไทยจะต้องเข้มแข็งและเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคตอีกครั้ง สหภาพแรงงานคืออะไร? สำหรับพวกเราคนงาน สหภาพแรงงานคือ องค์กรของพวกเราที่จัดตั้งและบริหารจัดการโดยคนงาน และเพื่อคนงาน ที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและมั่นคง บนพื้นฐานการบริหารจัดการที่เป็นประชาธิปไตย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ · เพื่อปกป้องและคุ้มครองพวกเรามวลหมู่กรรมกรไม่ให้ถูกเอาเปรียบในสถานประกอบการ · เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้น · เพื่อการเจรจาต่อรองร่วมอย่างเท่าเทียมกันกับนายจ้าง · เพื่อสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเหมาะสมตามสภาวะเศรษฐกิจ · เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมแก้ไขปัญหาสังคมภายในโรงงานและภายนอกโรงงาน · เพื่อเป็นการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ระบบทวิภาคีโดยที่ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย พวกเราคนงานต้องการสหภาพแรงงานหรือไม่ การถูกเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรม นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่พวกเราต้องการจัดตั้งสหภาพแรงงานของเราขึ้นมา เพราะการจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในที่ซึ่งมีคนสองกลุ่มที่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ตรงข้ามกัน คือ นายจ้างมีความต้องการที่จะกอบโกยให้ได้มากที่สุดจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนงานโดยจ่ายค่าแรงต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้.....ในขณะที่ความต้องการของคนงานคือ การได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมเพียงพอกับแรงงานที่สูญเสียไป ด้วยความขัดแย้งหรือความต้องการที่ตรงข้ามกันคนงานจึงได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่าพวกเรามีความจำเป็นที่จะต้องรวมพลังกันเพื่อจะเจรจากับนายจ้างถึงความต้องการของพวกเรา ซึ่งในที่นี้เครื่องมือที่ใช้กันโดยทั่วไปของพวกเราคนงาน คือ สหภาพแรงงาน พวกเราคนงานได้เรียนรู้ว่าถ้าหากเข้าไปเจรจาเพียงคนเดียวพวกเราจะไม่ได้รับหลักประกันว่าจะไม่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายจากนายจ้าง เช่น การไล่ออกโดยไม่มีเหตุผล หรือการที่จะประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาพการจ้างงานที่มั่นคงมากขึ้นหรือการได้มาซึ่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ดีนั้นไม่ได้มาโดยง่าย พวกเราคนงานที่เรียกร้องตามลำพังไม่ช้าก็เร็วจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าเราไม่มีอำนาจอะไรจะไปต่อรองกับนายจ้างและเรานั้นอยู่ภายใต้ความกรุณาปรานีของจ้างเพียงอย่างเดียวเฉกเช่นลูกไก่ในกำมือของนายจ้างจะบีบก็ตายจะคลายก็รอดเรานั้นก็จะอยู่ในความไม่แน่นอนและหวาดวิตกอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ การเป็นคนงานทำให้เราตกอยู่ในสถานภาพที่ต้องพึ่งพาเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งก็คือผลผลิตจากงานที่พวกเราทำนั่นเอง และการที่พวกเราจะได้งานทำหรือถูกเลิกจ้างนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นพวกเราทั้งหลายจึงกลายเป็นผู้พึ่งพาต่อความปรานีของนายจ้างโดยฝ่ายเดียว นั้นหมายความว่าพวกเราหาใช่เป็นคนที่มีอิสระไม่ จะต้องเลือกระหว่าง รับใช้นายจ้างหรือไม่ก็อดตาย แต่ถ้าพวกเราสามัคคีกันพวกเราหาใช่ผู้ไร้ซึ่งอำนาจอีกต่อไปไม่ ด้วยการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง พวกเราคนงานสมารถเผชิญหน้ากับนายจ้างได้อย่างเท่าเทียม พวกเราสามารถฟื้นคืนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนงาน ซึ่งก็คือผู้ที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแรงงานกับการดำรงชีพอย่างสุจริต ไม่ช้าพวกเราก็ไม่รู้สึกอ่อนแออีกต่อไป พวกเราไม่ใช่ผู้ที่จะอยู่ได้เพียงเพราะความกรุณาปรานีของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นพวกเราสามารถกำหนดชะตาชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเราได้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่รับเพียงเศษเนื้อที่นายจ้างหยิบยื่นให้มา พวกเราสามารถคัดค้านการบริหารเสนอความคิดเห็น เรียกร้องสภาพการทำงานที่เหมาะสม และสามารถเจรจากับนายจ้างในเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากนี้ได้ ในไม่ช้าพวกเราก็สามารถกำหนดเส้นทางชีวิตของพวกเราได้เอง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น