ประชาไท | Prachatai3.info |
- กองทัพรัฐฉานระบุข้อตกลงหยุดยิงจะไร้ความหมายหากพม่ายังข่มเหงประชาชน
- บัวพันธ์ พรหมพักพิง
- ส.ส.อูกันดาเสนอร่าง กม.ต้านเกย์ กลับเข้าสภาอีก
- ดูการเยียวยาตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
- นักปรัชญาชายขอบ: วาทกรรม “ความขัดแย้ง”
- เราจะสร้างความรับผิดชอบทางศึกษาได้อย่างไร: แนวคิดและประสบการณ์ในต่างประเทศ
- กฟผ. กับความรับผิดชอบต่อสังคม
- เครือข่ายสังคมบุกกระทรวงเกษตร จี้รัฐแบนยาฆ่าแมลงร้าย 4 ชนิด
- ธรรมศาสตรา: สนทนาธรรมกับ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติราษฎร์ (ตอนจบ)
- ซีเรียยังระอุ เผยเมืองฮอม 'มีสไนเปอร์อยู่ทุกที่'
- นักวิชาการเหนือ-อีสาน-ใต้ เสนอผลสรุปวิจัย พลเมืองไทยต้องการประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์
- ITUC เผยสิทธิคนงานกรีซกำลังอยู่ในภาวะอันตราย
- เครือข่ายปกป้องสถาบันฯ ร้องผู้ว่าฯ เชียงใหม่ใช้กฎหมายกับกลุ่มแก้ไข-ยกเลิก ม.112
- พวงทอง ภวัครพันธุ์ ตอบ ชำนาญ จันทร์เรือง กรณีบทความ “ความผิดพลาดของนิติราษฎร์”
- "สรุปสถานการณ์แรงงานในระหว่างและหลังเกิดอุทกภัยและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล" คนทำงาน ฉบับธันวาคม 2554
กองทัพรัฐฉานระบุข้อตกลงหยุดยิงจะไร้ความหมายหากพม่ายังข่มเหงประชาชน Posted: 08 Feb 2012 01:31 PM PST กองทัพรัฐฉาน "SSA" ระบุในวันชาติรัฐฉานปีที่ 65 ว่า หากกองทัพพม่ายังคงกดขี่และกระทำอาชญากรรมต่อประชาชน ข้อตกลงหยุดยิงจะไร้ความหมาย ขณะที่ความคืบหน้าในการเจรจาหยุดยิงของทั้งสองฝ่ายยังคงอยู่ในการลงรายละเอียด แฟ้มภาพทหารกองทัพรัฐฉาน SSA ระหว่างพิธีวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉานปีที่ 53 ที่ดอยไตแลง เมื่อ 21 พ.ค. 2554 ล่าสุดกองทัพรัฐฉาน ซึ่งเพิ่งลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียด ขณะที่สถานีโทรทัศน์เสียงแห่งประชาธิปไตยพม่าเผยแพร่แถลงการณ์ของกองทัพรัฐฉานซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 7 ก.พ. 2555 เนื่องในวันชาติรัฐฉานปีที่ 65 ระบุว่าสัญญาหยุดยิงจะไร้ความหมายหากทหารพม่ายังคงกดขี่ข่มเหงประชาชน (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ)
สถานีโทรทัศน์เสียงแห่งประชาธิปไตยพม่า หรือ ดีวีบี รายงานว่า กองทัพรัฐฉาน (SSA) ซึ่งเพิ่งลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลเมื่อเดือนก่อน แถลงเมื่อวันที่ 7 ก.พ. เนื่องในพิธีวันชาติรัฐฉานปีที่ 65 ซึ่งจัดที่ฐานทัพของกองทัพรัฐฉาน ที่ดอยไตแลงว่า ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลและกองทัพรัฐฉานจะ "ไร้ความหมาย" หากรัฐบาลทหารพม่าไม่ยุติการกดขี่และการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในภาคตะวันออกของประเทศ ทั้งนี้กองทัพรัฐฉานแสดงความกังวล ในส่วนที่เป็นรายละเอียดของข้อตกลง ซึ่งรวมไปถึงการอนุญาตให้ทหารพม่าเคลื่อนพลผ่านเข้ามาในดินแดนของพวกเขา มากกว่านั้นกองทัพรัฐฉานได้เรียกร้องให้ทหารพม่ายุติการกดขี่ข่มเหงประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาทหารพม่าที่กระทำเหล่านั้นมักไม่ได้รับการลงโทษ "ถ้ากองทัพพม่ายังคงกดขี่และกระทำอาชญากรรมต่อประชาชน อย่างเช่นบังคับเกณฑ์แรงงานพวกเขา บังคับให้พวกเขาย้ายที่อยู่ ข่มขืน หรือฆ่าโดยไม่อยู่ในกระบวนการกฎหมาย และเผาหมู่บ้าน ถ้าเป็นเช่นนี้ ข้อตกลงหยุดยิงก็จะไม่มีความหมาย" แถลงการณ์ซึ่งประกาศในวันชาติรัฐฉานปีที่ 65 ซึ่งจัดที่ดอยไตแลงระบุ ทั้งนี้ กองทัพรัฐฉานเป็นหนึ่งในกองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลเมื่อสองเดือนก่อน อย่างไรก็ตามข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ยังเป็นข้อถกเถียง โดยผู้นำ KNU นางซิปโปร่า เซ่ง กล่าวว่า ยังไม่มีข้อตกลงหยุดยิงที่ทำขึ้นอย่างเป็นทางการ และคณะเจรจาที่ฝ่ายกะเหรี่ยงส่งไปเมื่อ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา ไม่มีอำนาจที่จะตอบตกลง ขณะที่กองกำลังอีกกลุ่มในรัฐฉาน คือกองทัพรัฐฉานเหนือ (SSA-N) ซึ่งตั้งในปี พ.ศ. 2507 และต่อมาได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และต่อมาเกิดขัดเแย้งกับรัฐบาลหลังจากปฏิเสธข้อเสนอที่รัฐบาลพม่าต้องการให้กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSA-N) เข้ามาเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนภายใต้การกำกับของพม่านั้น ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่าน กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSA-N) ก็ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลเช่นกัน โดยทั้งกองทัพรัฐฉานทั้ง 2 กลุ่ม อยู่ระหว่างการตัดสินใจในรายละเอียดกับรัฐบาล อย่างเช่น จะให้กองทัพพม่าเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่พวกเขาควบคุมหรือไม่ สถานีโทรทัศน์ดีวีบี รายงานความเห็นของ พ.ต.จายมิ้น โฆษกฝ่ายการเมืองของสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ซึ่งเป็นปีกทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน ซึ่งระบุว่ากองทัพรัฐฉานจะยอมรับหน้าที่ในเรื่องการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ด้านการบริหารในดินแดนของกองทัพรัฐฉาน แม้ว่าขอบเขตเรื่องเขตปกครองตนเองจะยังไม่ถูกกำหนดแน่ชัดก็ตาม
ที่มา: เรียบเรียงบางส่วนจาก Shan army calls for end to state abuse, By AHUNT PHONE MYAT, DVB, 8 February 2012 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 08 Feb 2012 08:18 AM PST จะคิดว่าจะไปสอนรัฐธรรมนูญให้ชาวบ้านเท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องเล่นกันเป็นทีม คือต้องไปด้วยกันทั้งหมด ต้องเป็นประชาธิปไตยด้วยกันทั้งหมด ทั้งทหาร ภาคประชาสังคม สื่อ องค์กรอิสระ ต้องปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกัน 8 ก.พ. 2555, สัมมนาสรุปผลการวิจัยโครงการสร้างสำนึกพลเมืองเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลในท้องถิ่น |
ส.ส.อูกันดาเสนอร่าง กม.ต้านเกย์ กลับเข้าสภาอีก Posted: 08 Feb 2012 07:39 AM PST นายเดวิด บาฮาติ ส.ส.อูกันดา เสนอร่างกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันกลับเข้าสภาอีกครั้ง หลังจากรัฐสภาอูกันดายกเลิกกำหนดการพิจารณากฎหมายดังกล่าวไปเมื่อ พ.ค.ปีที่แล้ว เนื่องจากกระแสต่อต้านจากประชาคมระหว่างประเทศ ในวาระเปิดสมัยประชุมรัฐสภาอูกันดาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 ก.พ.) เดวิด บาฮาติ ส.ส.อูกันดา เสนอร่างกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันกลับเข้าสภาอีกครั้ง หลังจากรัฐสภาอูกันดายกเลิกกำหนดการพิจารณากฎหมายดังกล่าวไปเมื่อ พ.ค.ปีที่แล้ว เนื่องจากกระแสต่อต้านจากประชาคมระหว่างประเทศ การเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมายในอูกันดา ร่างกฎหมายนี้ถูกเสนอโดยฝ่ายอนุรักษนิยมตั้งแต่ปี 2552 แต่ยังไม่เคยมีการอภิปรายในสภามาก่อน ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้เพิ่มโทษสำหรับผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน จากเดิมจำคุก 14 ปีเป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่วนผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ให้คำแนะนำ จัดหา ให้ผู้ใดมีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันต้องโทษจำคุก 7 ปี ผู้ที่ให้คนรักเพศเดียวกันเช่าห้องหรือบ้านมีโทษจำคุก 7 ปี ขณะที่โทษประหารชีวิตสำหรับคนรักเพศเดียวกันซึ่งมีเชื้อเอชไอวี หรือข่มขืนเพศเดียวกัน หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งอยู่ในร่างแรกของกฎหมายนั้นถูกตัดออกไปแล้ว โดยคณะกรรมการของรัฐสภาได้แนะนำให้มีการแก้ไขร่างดังกล่าว หลังจากร่างแรกนี้ถูกประณามจากผู้นำตะวันตกหลายราย รวมถึงบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่วิจารณ์ร่างกฎหมายนี้ว่า "น่ารังเกียจ" และขู่จะตัดความช่วยเหลือประเทศอูกันดา ทั้งนี้ ข้อมูลเมื่อปี 2552 กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนคนรักเพศเดียวกันคาดการณ์ว่าในอูกันดามีคนรักเพศเดียวกันราว 500,000 คนจากจำนวนประชากร 31 ล้านคน ก่อนหน้านี้ เมื่อ ม.ค.2554 เดวิด กาโต นักสิทธิมนุษยชนเกย์ถูกฆ่าเสียชีวิต โดยมีผู้สันนิษฐานว่าเกิดจากอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าเป็นการชิงทรัพย์ โดยในพิธีฝังศพของเขา บาทหลวงได้ประณามผู้ที่เป็นคนรักเพศเดียวกันด้วย
ที่มา: Uganda revives anti-gay bill but drops death penalty http://en.wikipedia.org/wiki/Uganda_Anti-Homosexuality_Bill เรียกดูเมื่อ 8 ก.พ.55 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ดูการเยียวยาตามมาตรฐานระหว่างประเทศ Posted: 08 Feb 2012 05:19 AM PST ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมต คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ ปคอป. เป็นหน่วยงานของรัฐ จัดตั้งโดยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน วัตถุประสงค์หลักของหน่วยงานนี้คือ ประสานและติดตามผลการดำเนินงานเพื่อให้มีการนำข้อเสนอแนะของ คอป. ไปปฏิบัติ สำหรับข้อเสนอเยียวยาเหยื่อผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ปรากฏตามหนังสือ บันทึกข้อความ สำนักนายกรัฐมนตรีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมให้การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายตลอดจนผู้ได้รับ ผลกระทบ จากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง เลขที่ นร.0105.07 ลงวันที่ 10 มกราคม 2555 รายละเอียดของหลักเกณฑ์การเยียวยาปรากฏ ดังนี้ 1) เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต 4.5 ล้านบาท มาจากฐานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP per capita) ปี 2553 คือ เท่ากับ 150,177 บาท โดยชดเชยค่าเสียโอกาส ให้กับทุกครอบครัว เท่ากันคือ 30 ปี 2) เงินช่วยเหลือค่าปลงศพ 250,000 บาท 3) การเยียวยาความสูญเสียด้านจิตใจกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพ 3 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จเป็นจำนวนเงินค่าชดเชยกรณีที่เสียชีวิตจำนวน 7.75 ล้านบาท คำถามคือ จำนวนเงินดังกล่าวมีความเหมาะสมเพียงใด มีความสอดคล้องกับหลักสากลหรือไม่ หรือเป็นเพียงเพื่อการเอื้อประโยชน์ตอบแทนเป็นการเฉพาะแก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ระบุให้ประเทศที่เป็นภาคี จะต้องคุ้มครองสิทธิของบุคคลในดินแดนของตนตามสิทธิที่ปรากฏในกติกาฯฉบับนี้ โดยไม่เลือกปฏิบัติ และต้องประกันว่า หากสิทธิดังกล่าวถูกละเมิดรัฐจะต้องให้การเยียวยา อย่างมีประสิทธิภาพ (shall have an effective remedy) ทั้งนี้ไม่คำนึงว่าการละเมิดนั้นเกิดจาก การปฏิบัติตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายหรือไม่ (ICCPR ข้อ 2) หลักการพื้นฐานและแนวทางว่าด้วยการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและกว้างขวางของสหประชาชาติ (A/RES/60/147) ได้กำหนดสิทธิของเหยื่อตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไว้ดังนี้ (ก) สิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ (Equal and effective access to justice;) (ข) สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที (Adequate, effective and prompt reparation for harm suffered;) (ค) สิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการละเมิดและกลไกการเยียวยา (Access to relevant information concerning violations and reparation mechanisms.) ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกาเคยกำหนดหลักเกณฑ์กรณีการเยียวยา โดยคำนวนบนฐานของรายได้ของเหยื่อที่มีอยู่ก่อนเกิดการละเมิด กรณีที่ไม่สามารถหาฐานเพื่อการคำนวนที่ชัดเจนได้ ให้คำนวนตามค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายในประเทศ โดยคำนวนฐานรายได้สิบสองเดือนและผลประโยชน์อื่นที่จะได้รับตามกฎหมาย แล้วนำมาหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวออก 25 เปอร์เซ็นต์ แล้วเพิ่มดอกเบี้ยในอัตราปัจจุบันเข้าไป ศาลฯ ยังมีคำวินิจฉัยต่อไปอีกว่า “การจ่ายค่าชดเชยจะต้องครอบคลุมไม่เพียงแต่ผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตเท่านั้น แต่รวมถึงครอบครัวและบุคคลที่ผู้นั้นให้การเลี้ยงดู ญาติใกล้ชิด ตลอดจน บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติใกล้ชิด แต่อาจแสดงให้เห็นถึงความเสียหายได้” “ทั้งนี้ค่าชดเชยจะต้องชดเชยอย่างเหมาะสมและได้สัดส่วนกับความรุนแรงของการละเมิดและ สภาพแวดล้อมของแต่ละกรณี เช่น ความบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ การสูญเสียรายได้ การสูญเสียโอกาส ความเสียหายทางวัตถุ ความเสียหายทางจิตใจ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นในการได้รับการช่วยเหลือ เช่น การได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมาย และจากผู้เชี่ยวชาญ การบริการทางการแพทย์ รวมถึงการช่วยเหลือทางจิตวิทยาและสังคมด้วย” มาตรฐานระหว่างประเทศไม่มีการกำหนดว่าจะต้องเยียวยาเป็นจำนวนเงินเท่าใด ดังนั้น ตามกรอบของการกำหนดค่าชดเชยดังที่ปรากฏในตราสารระหว่างประเทศและคำพิพากษาศาลระหว่างประเทศ สรุปได้คือ “จำนวนค่าสินไหมทดแทนนั้นขึ้นอยู่กับมูลค่าการกลับคืนสู่สภาพเดิม เมื่อเทียบกับหาก ไม่มีเหตุการณ์การละเมิดเกิดขึ้นเลย” ดังนั้น สิทธิของเหยื่อผู้ถูกละเมิดจะต้องได้รับ การเยียวยาอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม เพียงพอ มีประสิทธิภาพและอย่างทันท่วงที ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มาตรฐานระหว่างประเทศคือมาตรฐานขั้นต่ำ หากแต่ละประเทศสามารถทำได้ดีกว่า ย่อมเป็นการดี นอกจากการชดเชยความเสียหายตามที่กล่าวมาแล้ว การเยียวยาตามกรอบกฎหมาย ระหว่างประเทศยังรวมถึง 1) การทำให้กลับสู่สภาพเดิม ซึ่งรวมถึงการเยียวยาในกลไกทางกระบวนการยุติธรรม การฟื้นฟูสิทธิตามกฎหมาย การกลับสู่การจ้างงาน และการคืนทรัพย์สินด้วย 2) การได้รับการฟื้นฟู รวมถึงสถานะทางสังคมและการกลับเข้าสู่สังคมด้วย และ 3) การทำให้พอใจ ซึ่งมี 3 ประการที่สำคัญคือ ประการแรก โดยคำพิพากษาของศาล ประการที่สอง โดยการขอโทษ การประกาศต่อสาธารณะ และการยอมรับความผิด และประการที่สาม การรำลึกสาธารณะ เช่น การสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อการรำลึก เป็นต้น การดำเนินการในกรอบการเยียวยา นอกจากสิทธิในการได้รับการชดใช้ความเสียหาย การฟื้นฟูและการทำให้พอใจดังได้กล่าวข้างต้นแล้วนั้น เหยื่อผู้ถูกละเมิด บุคคลผู้ได้รับผลกระทบ และสาธารณชนยังมีสิทธิที่จะได้รับรู้ความจริง การได้รับการตรวจสอบอย่างทันท่วงที การยุติการกระทำความผิดและการประกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดซ้ำอีก ตลอดจนพันธกรณีของรัฐที่จะดำเนินคดีและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษด้วย ข้อสังเกต ตามข้อเสนอเยียวยาตามบันทึกของ ปคอป. ข้างต้นยังไม่ได้ระบุถึงการเยียวยา ความเสียหายอื่นที่อยู่นอกเหนือจากความเสียหายด้านร่างกาย โดยเฉพาะความเสียหาย ที่เกิดแก่ กลุ่มผู้ค้า และนักธุรกิจที่รัฐบาลจะต้องไม่ลืมพวกเขาในฐานะที่เป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์ ที่ได้รับผลกระทบ ที่สำคัญด้วย สำหรับข้อท้าทายที่สำคัญของทั้ง คอป. รัฐบาล ปคอป. ตลอดจนกระบวนการยุติธรรมของไทย คือ จะต้องพิสูจน์ถึงกลไกการเยียวยาสิทธิของเหยื่อผู้ถูกละเมิดหรือผู้ได้รับผลกระทบว่ากลไกดังกล่าวนั้นยังคงมีประสิทธิภาพเพียงใด การตรวจสอบค้นหาความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ การระบุตัว ผู้กระทำความผิด และการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ สำหรับข้อท้าทายในส่วนนี้ ประเทศไทยกำลังถูก จับตามองจากประชาคมระหว่างประเทศว่า จะเป็นอีกกรณีที่รัฐจะยอมปล่อยให้คนผิดลอยนวล (impunity) หรือไม่ เพราะท้ายที่สุด หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรมตามที่ได้หาเสียงไว้ การนำตัวผู้กระทำความผิดแม้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาลงโทษย่อมเป็นการแสดงจุดยืนถึงการเคารพหลักนิติธรรมที่สำคัญที่ว่า บุคคลทุกคนย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย จากการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศและบริบทสากล สะท้อนสิ่งที่เกิดในสังคมไทยปัจจุบันว่า ข้อถกเถียงที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบันเป็นเพียงการสะท้อนข้อท้าทายที่ยังจะมีต่อไปในอนาคตต่อบทบาทหน้าที่ของ คอป. รัฐบาล ปคอป. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมให้มีการเยียวยา อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม หลักนิติธรรมและความโปร่งใส อีกทั้งจะต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการเยียวยาในด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เน้นการเยียวยาให้เป็นเพียงเรื่องของตัวเงินดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักปรัชญาชายขอบ: วาทกรรม “ความขัดแย้ง” Posted: 08 Feb 2012 05:04 AM PST จริงๆ แล้ว ปัญหาสังคมไทยเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า ความขัดแย้งตามที่เป็นจริงเป็นปัญหาที่ยากเกินกว่าจะแก้ไขได้ แต่อยู่ที่มีการใช้ “วาทกรรมความขัดแย้ง” เพื่อสกัดกั้น และ/หรือปิดทางการแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น การอ้างเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงที่ “คาดว่า” จะเกิดขึ้น เพื่อ “ปิดพื้นที่” ในธรรมศาสตร์ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวแก้ ม.112 มหาวิทยาลัยมหาสารคามห้ามใช้พื้นที่อภิปรายปัญหา ม.112 การที่ ผบ.ทบ.และคุณ แล้วยังมีกรณีอื่นๆ อีก เช่น ประชาธิปัตย์คัดค้านการเยียวยาผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยข้ออ้างที่ว่า จะก่อให้เกิด “ความขัดแย้งรอบใหม่” เป็นต้น น่าสังเกตว่า “ความขัดแย้ง” ที่อ้างถึง คือความขัดแย้งที่ “คาดว่า” จะเกิดขึ้น ฉะนั้น ความขัดแย้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นดังกล่าวมันจึงเป็น “วาทกรรม” (discourse) ที่ถูกนำมาใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมือง นั่นคือเพื่อยุติข้อเสนอแก้ ม.112 และข้อเสนอลบล้างผลพวกรัฐประหารของนิติราษฎร์ และยุติการเยียวยา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการดำเนินการใดๆ ของฝ่ายตรงข้ามที่ขัดแย้งกับความคิดเห็น จุดยืนทางการเมือง และ/หรือที่จะกระทบต่อสถานะ อำนาจ ผลประโยชน์ และโอกาสทางการเมืองของฝ่ายตน เช่น ข้อเสนอเรื่องหลักการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างผลพวงรัฐประหาร เป็นข้อเสนอที่แหลมคมทางทางปัญญา ที่ทำให้หวั่นไหวกันแทบทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นอำมาตย์ ผู้นำกองทัพ พันธมิตร ประชาธิปัตย์ กลุ่มที่ก่อรัฐประหาร 19 กันยา เนติบริกรคณะรัฐประหารทั้งในธรรมศาสตร์เองและนอกธรรมศาสตร์ นักวิชาการ สื่อที่สนับสนุนรัฐประหาร คนเหล่านี้ต่างมีส่วนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในการทำให้เกิดรัฐประหาร 19 กันยา และมีส่วนในการรับรองความชอบธรรมของมัน แน่นอนว่า หากข้อเสนอเรื่องหลักการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างผลพวงของรัฐประหารของนิติราษฎร์เป็นไปได้จริง หลายคนในฝ่ายที่ออกมาคัดค้านอาจต้องขึ้นศาล เสียเครดิตทางวิชาการ ทางสังคม พ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างราบคาบและยาวนาน แต่จะทำอย่างไรดี จะสู้ด้วยเหตุผลพวกเขาก็ไม่มีปัญญาจะสู้ ไล่ให้ออกนอกประเทศ ไล่ให้เปลี่ยนสัญชาติ กล่าวหาว่าไม่รู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ด่าว่าในหลวงไปทำอะไรให้พวกมึง ด่าว่าเนรคุณ ด่าว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน และด่าหรือขู่ยังไงๆ ก็ไม่ได้ผลแล้ว เมื่อ “หมดมุข” ก็เลยต้องใช้อำนาจบีบทุกทางเพื่อให้นิติราษฎร์หยุด และใช้ “วาทกรรมความขัดแย้ง” สนับสนุนการใช้อำนาจนั้น อย่างไรก็ตาม วาทกรรมความขัดแย้งดังกล่าว แม้ว่าจะเลยเถิดไปถึงการขู่ว่าในที่สุดอาจจะไปถึงจุดที่ต้องยุติความขัดแย้งด้วยรัฐประหาร มันก็เป็นเพียง “มายาคติ” (myth) ที่สะท้อนความต้องการของฝ่ายทำรัฐประหาร และสนับสนุนการทำรัฐประหารทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกลุ่มเดิมๆ เท่านั้น เพราะนิยามของ “ความขัดแย้ง” สำหรับคนเหล่านี้ หมายถึง “การกระทำใดๆ ที่ขัดแย้งกับความต้องการของพวกเขา” เช่น การแก้ ม.112 ลบล้างผลพวงรัฐประหาร การเยียวยา การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ ทำไมพวกเขาถึงไม่ต้องการให้สิ่งดังกล่าวเกิดขึ้น ก็เพราะ 1) มันเป็นการทำลายข้ออ้างและเจตนารมณ์ทั้งปวงของรัฐประหาร 19 กันยา ส่วนพวกเนติบริกร รัฐศาสตร์บริกร ต่อให้หน้าหนาขนาดไหนก็คงกลัวเสียหน้า เสียเครดิตทางสังคม เสียโอกาสในการทำมาหากินกับฝ่ายอำนาจเก่า จึงพากันดาหน้าออกมาคัดค้านด้วยตรรกะที่มีคุณภาพไม่ต่างอะไรจาก “ตรรกะแบบทหาร” (หมายถึงข้ออ้างให้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ด้วยการบอกให้ "เงียบ" ซึ่งเป็นตรรกะใน "วัฒนธรรมอำนาจนิยม" เช่น ถ้าลูกหรือลูกศิษย์ถาม หรือเถียงมากๆ พ่อ แม่ ครู อาจารย์ก็บอกให้เงียบซะ นักศึกษา อาจารย์ คนเหล่านี้ยังหลงอยู่ในจินตนาการว่า “รัฐไทยเป็นรัฐประชาธิปไตยภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีทหารเป็นใหญ่” พูดอย่างถึงที่สุด วาทกรรมความขัดแย้งมันคือการสะท้อนความขัดแย้งที่เป็นมาตั้งแต่ 19 กันยา (หรือยาวนานเท่ากับความพยายามฟื้นฟู โปรโมท "ลัทธิกษัตริย์นิยม") ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่พยายามฟื้นความเข้มแข็งของรัฐประชาธิปไตยภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีทหารเป็นใหญ่ กับฝ่ายที่ต้องการสร้างรัฐประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ให้เป็นจริง นั่นคือรัฐประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่ประชาชนเป็นใหญ่ หรือเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง ความขัดแย้งดังกล่าวนี้คือความขัดแย้งที่เป็นจริง และมีนัยสำคัญเชิงอุดมการณ์ ข้อเสนอของนิติราษฎร์มันมีความแหลมคมยิ่งในเชิงอุดมการณ์ ที่ฝ่ายคัดค้านเอาแต่ด่าเป็นส่วนใหญ่ เพราะพวกเขากลัวที่จะพูดถึงข้อเสนอและเหตุผลของนิติราษฎร์ตรงๆ เพราะยิ่งพูดมันก็ยิ่งจะทำให้สังคมรับรู้ในวงกว้าง แล้วสังคมก็ยิ่งเห็นความจริงว่า พวกเขาไม่สามารถโต้แย้งข้อเสนอและเหตุผลของนิติราษฎร์ได้เลย เราจึงเห็นข้อเสนอแปลกๆ ของฝ่าคัดค้านิติราษฎร์ที่ว่า “สื่อควรใช้วิจารณญาณในนำเสนอข่าวเกี่ยวกับข้อเสนอ และเหตุผลของนิติราษฎร์...” สิ่งที่ฝ่ายสร้างหรือ “ผลิตซ้ำ” วาทกรรมความขัดแย้ง พยายามทำอยู่ตลอดเวลา คือ การสร้างมายาคติว่า นิติราษฎร์ไม่เอาเจ้า อยู่ตรงข้ามกับ “ในหลวง” เหมือนกับที่สร้างมายาคติที่ทำให้พวกเขาบรรลุผลในการทำรัฐประหาร 19 กันยามาแล้วคือ ทักษิณล้มล้างสถาบัน ทักษิณอยู่ตรงข้ามกับในหลวง เอาทักษิณเท่ากับไม่เอาในหลวง แล้วก็ยังสร้างมายาคติต่อไปว่า แก้รัฐธรรมนูญคือแก้เพื่อทักษิณ สังคมไทยจะตกอยู่ภายใต้ “เผด็จการทุนนิยมผูกขาด” (โดยทักษิณ) พวกเขาพยายามเบี่ยงเบนเรื่องแก้ ม.112 ให้เป็นเรื่องของตัวบุคคล คือเป็นเรื่องของความไม่จงรักภักดีต่อ “ในหลวง” องค์ปัจจุบัน และเบี่ยงเบนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นเรื่องของตัวบุคคล คือแก้เพื่อ “ทักษิณ” แล้วก็พยายามปั่นกระแสความขัดแย้งในสังคม โดยใช้ “สื่อกระแสหลัก” และ “สื่อสลิ่ม” เป็นเครื่องมือ แน่นอนว่า พวกเขาละเว้นที่จะอภิปรายถกเถียงอย่างตรงไปตรงมาว่า ข้อเสนอแก้ ม.112 และข้อเสนอหลักการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างผลพวงรัฐประหารของนิติราษฎร์ มาตรการเยียวยา และการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลเพื่อไทย จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าของประชาธิปไตยอย่างไร จะทำให้สถาบันกษัตริย์มั่นคงอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยแบบอารยประเทศอย่างไร จะปิดประตูรัฐประหารอย่างไร จะก่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมอย่างไร เป็นต้น ที่ละเว้นจะอภิปรายถกเถียง เพราะว่าพวกเขาไม่มีปัญญาจะหักล้างเหตุผลลงได้ พวกเขาจึงใช้อำนาจ “ปิดพื้นที่” ของเสรีภาพและเหตุผลในมหาวิทยาลัย และพวกเขาก็ขู่ให้ “หยุดเคลื่อนไหว” นี่คือวิธีคิดของพวกผลิตซ้ำวาทกรรมความขัดแย้ง บนนิยาม “ความขัดแย้ง” ที่ว่า “ความขัดแย้ง ย่อมหมายถึง การกระทำใดๆ ที่ขัดแย้งกับความต้องการของพวกข้า” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เราจะสร้างความรับผิดชอบทางศึกษาได้อย่างไร: แนวคิดและประสบการณ์ในต่างประเทศ Posted: 08 Feb 2012 04:54 AM PST ในบทความ “แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย: เราจะเริ่มที่ไหนดี?” ดร.อัมมาร สยามวาลาได้เสนอให้การปฏิรูปคุณภาพการศึกษาของไทยเริ่มต้นจากการสร้าง “ความรับผิดชอบ” (accountability) ในการจัดการศึกษา บทความนี้จะอธิบายถึงแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา และยกตัวอย่างการใช้แนวคิดดังกล่าวในต่างประเทศ “ความรับผิดชอบ” หมายถึง พันธะผูกพันในหน้าที่ของคนหรือองค์กรต่อเป้าหมายที่ได้รับมอบหมาย โดยมีระบบที่ผู้มอบหมายสามารถตรวจสอบและประเมินผลงาน เพื่อให้รางวัลหรือลงโทษผู้ที่ได้รับมอบหมายงานได้ ในกรณีของการศึกษา โรงเรียนมีพันธะผูกพันตามหน้าที่ในการให้ความรู้แก่นักเรียนตามที่ผู้ปกครองมอบหมาย โรงเรียนจึงควรมีความรับผิดชอบต่อผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย รัฐมักมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เช่น จัดการศึกษาเองผ่านโรงเรียนรัฐบาล หรืออุดหนุนงบประมาณแก่โรงเรียนรัฐและเอกชน รัฐจึงเข้ามามีบทบาทรับผิดชอบต่อผู้ปกครองแทนโรงเรียน โดยในประเทศประชาธิปไตย การเลือกตั้งจะเป็นกลไกที่ผู้ปกครองในฐานะพลเมืองใช้ควบคุมนักการเมืองซึ่งคุมอำนาจรัฐ ในเวลาเดียวกัน โรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ ก็ต้องรับผิดชอบต่อรัฐบาล และต้องกำกับดูแลครูของตนให้สอนนักเรียนอย่างมีคุณภาพ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิด “สายความรับผิดชอบ” (accountability chain) จากผู้ปกครองไปยังรัฐบาล ต่อเนื่องไปจนถึงโรงเรียนและครู ดังภาพประกอบ ปัญหาก็คือ สายความรับผิดชอบ “ผู้ปกครอง-รัฐบาล-โรงเรียน-ครู” ดังกล่าว มีความยาวมาก และเสี่ยงที่จะขาดที่ช่วงใดช่วงหนึ่งได้ง่าย อันที่จริงเมื่อพิจารณาให้ดี จะพบว่า เป็นการยากที่ประชาชนจะสามารถกำกับนักการเมืองได้อย่างใกล้ชิด นักการเมืองเองก็ไม่สามารถกำกับให้กระทรวงศึกษาธิการทำตามนโยบายของตนที่หาเสียงกับประชาชนได้ทุกเรื่อง ส่วนกระทรวงศึกษาธิการเองก็อาจไม่สามารถกำกับโรงเรียนให้มีคุณภาพ เช่นเดียวกับโรงเรียนก็มักไม่สามารถกำกับการสอนของครูแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน สายความรับผิดชอบที่มีโอกาสขาดในหลายช่วงนี้เองที่ก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพการศึกษาของประเทศ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อคะแนนสอบของเด็กไทยแย่ลงเรื่อยๆ อย่างที่ปรากฏเป็นข่าว ก็ไม่เห็นมีใครต้องทำอะไร เพราะระบบการศึกษาไทย เป็นระบบที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อใครแต่อย่างใด แนวทางหนึ่งในการยกระดับคุณภาพการศึกษาก็คือ การกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบจ.หรืออบต. เพื่อให้ประชาชนสามารถควบคุมนักการเมืองให้มีความรับผิดชอบได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่นักการเมืองไม่สามารถกำกับดูแลโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโรงเรียนมีปัญหาในการกำกับดูแลครู ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม อีกทางหนึ่งในการยกระดับคุณภาพการศึกษาก็คือ การทำให้โรงเรียนและครูต้องรับผิดชอบต่อผู้ปกครองโดยตรง ซึ่งน่าจะมีประสิทธิผลมากกว่าเพราะวิธีนี้มีสายความรับผิดชอบเพียง “ผู้ปกครอง-โรงเรียน-ครู” ซึ่งสั้นกว่าเดิม ทำให้มีโอกาสสายขาดน้อยกว่า ครูและโรงเรียนจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ปกครองมากขึ้น
แนวความคิดเรื่องการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยการสร้างความรับผิดชอบ
ในทางปฏิบัติ การทำให้โรงเรียนและครูต้องรับผิดชอบต่อผู้ปกครองโดยตรงมากขึ้นสามารถทำได้โดยใช้ 3 แนวทางต่อไปนี้ควบคู่กัน 1. การปฏิรูปด้านข้อมูล โดยการเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพของโรงเรียนให้ผู้ปกครองและสังคมรับรู้ เพื่อให้ผู้ปกครองและสังคมเข้าตรวจสอบโรงเรียนได้ง่ายขึ้น หรือใช้ในการเลือกโรงเรียนที่จะส่งลูกไปเรียน ตัวอย่างการดำเนินการในแนวทางนี้ได้แก่ รัฐปารานาของบราซิลแจกใบรายงานผล (Report Card) ของโรงเรียนให้แก่ผู้ปกครอง ใบรายงานผลนี้จะแสดงผลคะแนนเฉลี่ยในการสอบมาตรฐานของนักเรียนในโรงเรียน อัตราการสอบผ่าน อัตราการซ้ำชั้นและอัตราการออกกลางคันของโรงเรียนแต่ละแห่งเทียบกับโรงเรียนในเขตพื้นที่และในรัฐเดียวกัน ซึ่งมีผลทำให้ผู้ปกครองและชุมชนตื่นตัว ถกเถียงเรื่องการพัฒนาคุณภาพการสอนของโรงเรียน 2. การปฏิรูปการบริหารจัดการโรงเรียน โดยให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารการศึกษาจากรัฐมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มบทบาทของผู้ปกครองในการเข้าเป็นกรรมการโรงเรียน เพื่อให้สามารถกำกับและตรวจสอบโรงเรียนได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น หรือการที่รัฐกำหนดเป้าหมายด้านคุณภาพที่โรงเรียนจะต้องบรรลุอย่างชัดเจน และวางมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม หากโรงเรียนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้ ตัวอย่างเช่น ในปี 2001 สหรัฐได้ออกกฎหมาย No Child Left Behind Act (NCLB) ซึ่งกำหนดให้โรงเรียนต่างๆ ต้องส่งนักเรียนเข้าสอบมาตรฐานของมลรัฐ โดยหากคะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จะมีการดำเนินมาตรการตามขั้นตอนดังนี้ ไม่บรรลุเป้าหมาย 2 ปีติดต่อกัน: โรงเรียนต้องทำแผนปรับปรุงคุณภาพ และยอมให้นักเรียนย้ายโรงเรียน ไม่บรรลุเป้าหมาย 3 ปีติดต่อกัน: โรงเรียนต้องจัดสอนพิเศษฟรีให้แก่นักเรียน ไม่บรรลุเป้าหมาย 4 ปีติดต่อกัน: โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนบุคลากร หลักสูตร วิธีการสอน และเพิ่มเวลาสอน ไม่บรรลุเป้าหมาย 5 ปีติดต่อกัน: โรงเรียนต้องทำแผนปรับโครงสร้างการบริหาร เช่น จ้างให้มืออาชีพเข้ามาบริหารแทน (หรือกลายเป็น charter school นั่นเอง) ไม่บรรลุเป้าหมาย 6 ปีติดต่อกัน: โรงเรียนต้องดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างหรือถูกปิด 3. การปฏิรูปแรงจูงใจครู โดยเชื่อมโยงผลการเรียนของนักเรียนเข้ากับการประเมินผลงานของครู แทนการใช้กฎเกณฑ์ในการประเมินผลแบบเดิมตามระเบียบราชการ ซึ่งทำให้ครูกลับมาให้ความสนใจนักเรียนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น รัฐอันตระประเทศของอินเดีย มีนโยบายให้โบนัสครูตามผลงานซึ่งประเมินด้วยคะแนนสอบที่เพิ่มขึ้นของนักเรียนทั้งชั้น โดยโบนัสจะขึ้นกับคะแนนที่เพิ่มขึ้น หลังจากการใช้นโยบายดังกล่าว พบว่า ครูจำนวนมากได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน โดยให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดและแบบทดสอบเพิ่มขึ้นทั้งในชั้นเรียนและการบ้าน จัดสอนพิเศษ และดูแลเอาใจใส่นักเรียนอ่อนมากขึ้น จะเห็นว่า หัวใจของการปฏิรูปคุณภาพการศึกษาทั้ง 3 ด้านคือ การมีการสอบมาตรฐานที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ทราบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียน และเชื่อมโยงผลดังกล่าวเข้ากับการประเมินโรงเรียนและครู ทั้งนี้ รางวัลที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูจะได้รับอาจไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินเสมอไป แต่อาจอยู่ในรูปอื่น เช่น การประกาศยกย่อง ก็ได้ ในบทความต่อไป ผู้เขียนจะวิเคราะห์ว่า ทำไมการศึกษาของไทยจึงมีคุณภาพต่ำ และจะเสนอว่าทำอย่างไร เราจึงจะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยได้.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 08 Feb 2012 04:50 AM PST การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการหาพื้นที่ที่จะตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งในภาคอื่นๆ และภาคใต้อีก 9 โรง ในวันนี้การนำเสนอโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แผ่วเบาลง เพื่อกลบกระแสความน่ากลัวของผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น แต่กลับมาโหมกระพือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นำเข้าจากประเทศอินโดนิเซีย และออสเตรเลีย โดย กฟผ. บอกอยู่เสมอว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องสำรองพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ตลอดไป และพยายามหาพื้นที่ตั้งที่เหมาะสมสะดวกในการขนส่ง โดยสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ และถ้าต้นทุนถูกลง ประชาชนก็จะได้ใช้ไฟถูกลง” เจ้าหน้าที่ กฟผ. ใช้วาทกรรมดังกล่าว กรอกหูประชาชนในพื้นที่ในทุกวันทุกกิจกรรม ที่ กฟผ. ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่โรงเรียน วัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านการสื่อสารกับผู้ปกครองท้องที่ นายก อบต. นายกเทศมนตรี แจกอุปกรณ์เครื่องเขียน อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ทั้งหลายที่มีกิจกรรมเกิดขึ้นในชุมชน วันเด็ก วันสงกรานต์ วันลอยกระทง เป็นต้น ที่จังหวัดตรัง กฟผ. หมุนเวียนพาประชาชนในพื้นที่ของตำบลวังวน อ.กันตัง ไปท่องเที่ยวทุ่งดอกบัวตอง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง หลายรอบ เพื่อแสดงให้เห็นว่า กฟผ.จัดการมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ทั้งหมด 10 โรงที่มีการผลิตไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าทั้งหมด 13 โรง โดยไม่ได้พาไปพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากการสูดดมมลพิษที่มาจากการเผาไหม้ของถ่านหิน กฟผ. ไม่ได้กล่าวถึงคดีความที่มีการฟ้องร้องกันจนทำให้ กฟผ.ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ชาวแม่เมาะอย่างไร กฟผ. ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำงานมวลชนสัมพันธ์ โดยการว่าจ้างคนในพื้นที่ดำเนินการทุกวัน จนทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความขัดแย้งแตกแยกเป็นสองกลุ่ม ระหว่างการเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับโครงการ ที่จังหวัดตรัง กฟผ. เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ. ชี้แจงรายละเอียดเบื้องต้นของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และชี้แจงข้อมูลให้สื่อมวลชนตรังรับทราบว่า “ใช้ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้โรงไฟฟ้าเป็นมิตรกับชุมชน โดยชุมชนสามารถอยู่ร่วมอาศัยกับโรงไฟฟ้าอย่างปลอดภัย ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นอาจมีผลกระทบจากโครงการบ้าง แต่ กฟผ.จะปลูกใหม่ทดแทนมากกว่าเท่าตัว ส่วนเรื่องพะยูน ที่หลายคนวิตกว่าน้ำหล่อเย็นถ่านหิน จะไปทำลายแหล่งหญ้าทะเลนั้น ปัจจุบัน เป็นโรงไฟฟ้าแบบปิด ไม่ได้กองถ่านหินเหมือนในยุคก่อน เพราะฉะนั้นไม่ต้องหวั่นกลัว เพราะน้ำหล่อเย็นจะมีอุณหภูมิต่างจากธรรมชาติแค่ 1 องศา ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ” (หนังสือพิมพ์ข่าวเสรี จังหวัดตรัง วันที่ 30 ม.ค. – 5 ก.พ.2555) กฟผ. ใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์จากรายได้ค่าเอฟที (น้ำมันเชื้อเพลิง) ที่ผู้บริโภคจ่าย มานำเสนอให้เห็นภาพทุ่งดอกบัวตองที่แม่เมาะ กระจายผ่านสื่อโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ เพื่อยืนยันว่าไม่มีมลพิษ มีแต่ความสวยงานที่ อ.แม่เมาะที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ ในยุคแรกเริ่ม หากไล่เลียงการเดินทางของ กฟผ.ในภาคใต้แล้ว ยังเดินทางทั้งในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง และกระบี่ เพื่อหาพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าให้ได้ในภาคใต้ หากคนในจังหวัดนั้นให้การยอมรับ ตัวอย่างของจังหวัดตรัง กฟผ. มาทำงานมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่เป็นเวลาประมาณ 2 ปี กฟผ. ไม่เคยชี้แจงข้อมูลของโครงการอย่างตรงไปตรงมาทั้งผลกระทบด้านบวก ด้านลบ ต่อหน้าสาธารณะให้คนในจังหวัดตรัง และคนในตำบลวังวนรับทราบอย่างเป็นทางการ ไม่มีข้อมูลใดๆที่จะแสดงให้คนตรังได้มีข้อมูลเพื่อพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบด้าน นอกจากการแจกเงินแจกของในพื้นที่ พฤติกรรมและวาทกรรมเช่นนี้คือ “ความรับผิดชอบต่อสังคม (cooperative social responsibility/CSR) ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือไม่” เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องตั้งคำถามต่อหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือโครงการพัฒนาของรัฐ หรือของเอกชนก็ตาม กฟผ. ใช้เงินตรามาผูกมิตรเพื่อสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับชุมชน โดยใช้ความสัมพันธ์ในหมู่เครือข่ายญาติพี่น้องที่เป็นข้อเด่นของสังคมไทยมาเป็นเครื่องมือของการพัฒนา เพื่อให้เกิดการยอมจำนนต่อการทดแทนบุญคุณและต้องยอมรับต่อการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า การกระทำเช่นนี้เป็นการเคารพสติปัญญาของคนไทยหรือไม่ ที่พวกเขาสามารถร่วมตัดสินใจต่อทิศทางการพัฒนาตำบล จังหวัดประเทศไทยได้ หาก กฟผ.กล้าพูดแต่ด้านดี กฟผ.ต้องกล้าพูดด้านลบ และความจริงทั้งหมดที่ กฟผ. มีแผนการดำเนินการให้คนไทย คนใต้ และคนจังหวัดตรังรับรู้ทั้งหมด ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโครงการพัฒนา มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศ มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น รับรองสิทธิชุมชน และมีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่การกระทำดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญยังไปไม่ถึงดวงดาว แต่ กฟผ. กับโฆษณาชวนเชื่อว่าได้ทำ CSR มีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว กฟผ.ต้องกล้ารับผิดไม่ใช่รับชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังเช่น กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และที่อื่นๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว ประเด็นของโรงไฟฟ้ามิได้อยู่ที่ว่าจะควรจะมีโรงไฟฟ้าหรือไม่ ที่ทำให้คนไทยต้องแตกแยกกันระหว่างกลุ่มที่เอากับกลุ่มที่ไม่เอา ประเด็นสำคัญที่ กฟผ. ต้องเปิดเผยให้รับรู้กันถ้วนหน้าเพื่อให้คนไทยตัดสินใจร่วมกันว่าจะพัฒนาประเทศไทยแบบไหน ดังนี้ 1) ประเทศไทยจะมีทิศทางการพัฒนาพลังงานอย่างไร ทางเลือกของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นคำตอบว่าประเทศไทยมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่ 2) ประเทศไทยได้อะไรจากผลประโยชน์ของโรงไฟฟ้า นอกจากมีไฟฟ้าใช้ ผลประโยชน์ของการลงทุนตกอยู่ที่ใคร กระจายรายได้หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ต้นทุนของการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 3) ความเหมาะสมของพื้นที่มีจริงหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป และปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ใครรับผิดชอบ มีการรองรับในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวหรือไม่ 4) ผลกระทบของโรงไฟฟ้ามีอะไร ใครที่ต้องแบกรักภาระผลกระทบทั้งในพื้นที่ จังหวัดและประเทศชาติ เมื่อมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพในอนาคต 5) ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าเอฟที (ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง) มาโดยตลอด เมื่อต้นทุนโรงไฟฟ้าถูก ผู้บริโภคได้จ่ายค่าไฟฟ้าถูกลงจริงหรือไม่ เมื่อแยกประเภทกลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะทางการเงินและการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกัน 6) การรวมศูนย์การผลิตไฟฟ้าโดย กฟผ. ยังเหมาะสมกับทิศทางการพัฒนาพลังงานของประเทศ คนไทยต้องพิจารณาทั้ง 6 ประเด็น และมีข้อมูลในการตัดสินใจอย่างรอบด้าน ว่าจังหวัดของ คนไทยจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อ กฟผ. แปรรูปเป็นบริษัทมหาชน จะรับผิดชอบต่อสังคมไทยได้จริง เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้รัฐวิสาหกิจแบบ กฟผ. ยังทำให้คนไทยต้องแบกรับภาระผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากโรงไฟฟ้า และรับภาระค่าเอฟทีจากการใช้ไฟฟ้า สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เครือข่ายสังคมบุกกระทรวงเกษตร จี้รัฐแบนยาฆ่าแมลงร้าย 4 ชนิด Posted: 08 Feb 2012 04:41 AM PST จี้ถ้าภายใน 3 เดือนไม่มีความคืบหน้าจะเคลื่อนขบวนใหญ่ และฟ้องศาลปกครองกรณีมีผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายภาคประชาสังคมเคลื่อนขบวนเข้าพบ รมช.เกษตรฯ ยื่นข้อเรียกร้องไม่ให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีพิษร้ายแรง 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมโทมิล และอีพีเอ็น จี้ถ้าภายใน 3 เดือนไม่มีความคืบหน้าจะเคลื่อนขบวนใหญ่ และฟ้องศาลปกครองกรณีมีผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ด้านอธิบดีกรมวิชาการเกษตรยืนยันปัจจุบันยังไม่มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีทั้ง 4 ชนิดนี้ รับลูกเตรียมเสนอแบนสารเคมีทั้ง 4 ชนิด แต่เผยการตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย วันนี้ (8 ก.พ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ – เครือข่ายภาคประชาสังคมเคลื่อนขบวนจากบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องไม่ให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีพิษร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมโทมิล และอีพีเอ็น หลังพบแนวโน้มว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายร้ายแรงเหล่านี้ โดยมีนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับข้อเรียกร้องแทน และอธิบดีกรมวิชาการเกษตรร่วมชี้แจงให้ข้อมูล นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกล่าวว่า เป็นเวลานานกว่า 5 เดือนแล้วหลังการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรเมื่อ 29 สิงหาคม 2554 ให้มีการระงับการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายทั้ง 4 ชนิด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการขึ้นทะเบียนและรายชื่อคณะอนุกรรมการขึ้นทะเบียนที่เกี่ยวข้องเพื่อความโปร่งใสของกระบวนการ แต่จนถึงปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร ยังไม่มีการชี้แจงความคืบหน้าของการดำเนินการในเรื่องนี้ใดๆทั้งสิ้น “ทางเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและภาคีขอเรียกร้องให้ กรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลอย่างเร่งด่วน และมีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อชี้แจงข้อมูลต่อประชาชนภายใน 1 เดือน รวมถึงมีการตั้งคณะทำงานพิจารณาการขึ้นทะเบียนสารเคมี 4 ตัวนี้ร่วมกันระหว่างรัฐและภาคประชาชน โดยขอให้ภาคการเมืองที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายได้เข้ามาร่วมในคณะทำงานนี้ด้วย เพื่อให้สามารถตัดสินใจเรื่องการไม่ขึ้นทะเบียนและยกเลิกสารพิษเหล่านี้ได้ภายใน 3 เดือน เพราะเท่าที่ผ่านมาเรื่องยังไปไม่ถึงไหน แต่ผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภคก็เห็นชัดอยู่แล้ว ส่วนในระยะยาวนั้นต้องมีการพูดคุยเรื่องการควบคุมการโฆษณาของสารเคมีเกษตรที่กำลังเป็นปัญหามากในตอนนี้” ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี (BioThai) ชี้แจงว่า หากหลังการเข้าพบ รมช.เกษตรฯ 3 เดือนยังไม่มีความคืบหน้าในการไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงตามข้อเรียกร้อง ทางภาคประชาสังคมจะรวมตัวกันเคลื่อนขบวนใหญ่อีกครั้งเพื่อทวงถามความเป็นธรรม และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องในการจะอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน รวมถึงรณณงค์สาธารณะให้เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ของบรรษัทสารเคมีที่ขอขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายเหล่านี้ พร้อมๆ กับเปิดเผยข้อมูลการหลบเลี่ยงภาษีของบรรษัทสารเคมีนี้ด้วย ขณะที่ นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีเกษตร (ไทยแพน) กล่าวเสริมว่าปัจจุบัน ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ยืนยันชัดเจนว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิดมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง มีการตกค้างสูงในพืชผัก และหลายประเทศได้เลิกใช้แล้ว แต่ในกรณีของประเทศไทยมีปัญหาในระดับนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อธุจกิจมากสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ภายหลังการยื่นข้อเรียกร้อง นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่าปัจจุบันสารเคมีอันตรายร้ายแรงทั้ง 4 ชนิดข้างต้นยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด และทางกรมวิชาการเกษตรเห็นพ้องที่จะเสนอให้มีการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิดนี้ แม้ว่าอำนาจการตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยจะเตรียมเปิดเผยข้อมูลการขึ้นทะเบียนตามที่ภาคประชาชนเรียกร้องใน 1 สัปดาห์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ธรรมศาสตรา: สนทนาธรรมกับ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติราษฎร์ (ตอนจบ) Posted: 08 Feb 2012 04:24 AM PST "วิจักขณ์ พานิช" สัมภาษณ์ "อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" แห่งคณะนิติราษฎร์ ชวนคุยในประเด็นธรรมะกับการเมือง ตอนที่ 5 (ตอนจบ) คุณธรรมในสังคมประชาธิปไตย ๕) คุณธรรมในสังคมประชาธิปไตย วิจักขณ์: กรณีที่เป็นที่ถกเถียงกันมาก คือ เรื่องธรรมาธิปไตย กับประชาธิปไตย วรเจตน์: อันนั้นเป็นกรณีนึงที่ผมไม่เห็นพ้องด้วย หากจะบอกว่าประชาธิปไตยนั้นใช้ไม่ได้ ต้องเป็นธรรมาธิปไตย ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่คุยกันคนละระนาบ คนละระดับ จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ต้องไปด้วยกัน เพราะการอ้างธรรมาธิปไตยลอยๆ เนี่ย สุดท้ายมันก็จะมีคำถามขึ้นมาว่า แล้วใครเป็นผู้ปกครอง แล้วคุณบอกว่าผู้ปกครองต้องมีธรรมะ แล้วคุณจะวัดธรรมะกันยังไง ผู้ปกครองที่มีธรรมะในด้านนึง แต่อีกด้านนึงกดขี่ช่วงชั้น หรือแบ่งชนชั้นของคน พูดง่ายๆ คือ คุณเป็นผู้ปกครองที่มีธรรมะ แต่คุณเห็นคนไม่เท่ากัน อย่างนี้จะยังถือว่าเป็นผู้ปกครองที่ดีได้มั๊ยในสังคมโลกสมัยใหม่ เห็นมั๊ยฮะ โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทย คือ เรามีคนชนชั้นนึงอยู่สูงกว่า มีระดับเหนือกว่า แล้วก็มีหน้าที่ของเขา ที่นี่คนที่สูงกว่าก็จะแบ่งปันประโยชน์ต่างๆ ให้ เลี้ยงคนที่ต่ำกว่า ถ้าอยู่ในตระกูลใหญ่ก็ชุบเลี้ยง แล้วคุณก็อยู่อย่างนั้นไปนะ ระลึกถึงบุญคุณของการชุบเลี้ยง แล้วก็มีอิสระไปประมาณนั้น คือ สังคมเรายังมองในลักษณะการอุปถัมภ์อยู่เยอะ ความคิดแบบนี้มันก็อยู่ในโครงสร้างของประเทศด้วย แต่พอว่าโอเค เราคิดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมกัน แล้วความแตกต่างกันในเรื่องการศึกษา เรื่องชาติกำเนิด เรื่องสถานะทางเศรษฐกิจ มันไม่ได้เป็นประเด็นในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อการปกครอง คนที่เป็นคนดีเหล่านี้ก็รับไม่ได้ เค้าจะรู้สึกว่าเพราะคนเหล่านี้มีคุณธรรมไม่เสมอกับเขา หรือมีความรู้ไม่เท่ากับเขา แล้วเขาก็จะกดเอาไว้ ซึ่งอันนี้ผมว่ามันผิดนะ วิจักขณ์: คือมันก็เกี่ยวข้องกับบริบทด้วยหรือเปล่าครับ คำสอนพุทธศาสนาที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในโลกตะวันออก ก็เข้ามาเติบโตในสังคมแบบชนชั้นมาตลอด (วรเจตน์: ใช่.. ถูกต้อง) ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาแบบไทยเราก็มักจะพูดแต่ทำนองว่า พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองได้ก็เพราะพระมหากษัตริย์องค์นั้นองค์นี้อุปถัมภ์ค้ำจุนและเผยแพร่ แต่มันไม่ได้มีการตีความคำสอนที่ลงมาจนทำให้เห็นความสำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงในเรื่องโครงสร้างชนชั้นทางสังคมอย่างที่อาจารย์ว่ามา วรเจตน์: ผมคิดว่าใช่ ซึ่งในความจริงพระพุทธเจ้าก็วางหลักเกณฑ์เรื่องนี้เอาไว้ใช่มั๊ยฮะ คนไม่ว่าจะเกิดในวรรณะไหน ถ้ามาบวชในพุทธศาสนา ก็เป็นการเลิกระบบวรรณะ ให้เคารพกันตามใครบวชก่อนบวชหลัง ซึ่งผมถือว่านี่เป็นการปฏิวัติวิธีคิดของสังคมแบบพราหมณ์ที่วางชนชั้นและกำหนดภาระหน้าที่ของแต่ละชนชั้นเอาไว้ ผมก็คิดว่านี่คือความก้าวหน้าหรือการปฏิวัติ ซึ่งก็คือความเสมอภาคนั่นแหละ มันก็คือความเสมอภาคในชุมชนของสงฆ์ และภายใต้ความเสมอภาคนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการปกครองนะ แต่เป็นในแง่ที่ว่าไม่เอาชาติกำเนิดมาเป็นเครื่องแบ่งแยกสถานะบุคคลอีกต่อไป คือทุกคนก็เป็นภิกษุสงฆ์เหมือนกัน และอยู่ภายใต้ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าสอนขึ้นเหมือนกัน มันก็คล้ายๆ กับความเสมอภาคภายใต้กฏหมายหรือ Equality Before the Law เหมือนกัน เพียงแต่ว่าไอเดียแบบนี้ พอเรารับพุทธศาสนามาแล้ว มันไม่ได้มาด้วย คือคุณค่าที่จริงๆ มันควรจะเป็นคุณค่าสากลเนี่ย มันไม่มา มันกลับเอาเข้ามา ในแง่ของการผสมผสานกับระบบปกครองแบบพราหมณ์ แบบมีชนชั้น แล้วมันก็มาเป็นลำดับ เราจะไม่เคยปลอดจากตรงนี้เลย เพราะว่าไอ้ความคิดแบบนี้มันไปสนับสนุนอำนาจของชนชั้นปกครอง วิจักขณ์: กลายเป็นว่าตัวหลักการทางศาสนาจริงๆ มันก็เป็นอุดมคติเล็กๆ อยู่ในเฉพาะชุมชนสงฆ์ แต่พอรับอุดมคติหรือหลักการนั้นเข้ามาในสังคม เราก็ไม่ได้รับเอามาทั้งหมด ไม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจทั้งหมด แต่เหมือนเลือกหยิบเอามาเฉพาะที่ชอบ วรเจตน์: ใช่ ดึงมาเป็นบางส่วน เฉพาะที่ชนชั้นปกครองจะได้ประโยชน์ มาอบรมพร่ำสอน อย่างในพระไตรปิฎกเนี่ย มีข้อความบางส่วนที่เราอ่านดูก็จะรู้ว่ามันไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกัน มันขึ้นอยู่กับบริบทที่พระพุทธเจ้าสอนด้วยว่า สอนใคร สอนที่ไหน มันจะต้องทำความเข้าใจให้ดี แต่เวลาคนดึงมา ดึงข้อธรรมมาใช้ เพื่อรับใช้ตอบสนองวัตถุประสงค์ในการปกครองในช่วงยุคช่วงสมัยหนึ่ง คือดึงธรรมะส่วนๆ แบบนี้มาใช้เป็นเครื่องมือ ผมว่ามันก็เป็นแบบนี้มาโดยตลอด บ้านเราก็เลยเป็นแบบนี้ แล้วพอเราก่อตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา ลองสังเกตดูว่าคณะสงฆ์ในบ้านเราจึงรับเอาโครงสร้างระบบการปกครองแบบโลกย์เข้าไปเต็มที่เลย แล้วก็ถามว่ามันประสบความสำเร็จมั๊ยในการปกครอง ผมว่าทุกวันนี้มันก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แล้วยิ่งโลกมันวิวัฒนาการไป มันยิ่งเข้าใกล้กันมากขึ้น เรื่องทางโลกย์หลั่งไหลเข้าไปในศาสนจักรมากขึ้น หลายอย่างก็เสื่อมเสียไปหมด มีการตั้งยศฐาบรรดาศักดิ์เป็นชั้นๆ มากมาย เลียนแบบระบบราชการในทางโลกย์เลย ทั้งที่ความจริงแบบนี้มันควรให้มีให้น้อยที่สุด ถ้ามีก็เพื่อประโยชน์ในแง่ของการปกครองเท่านั้นเอง วิจักขณ์: ก็จะมีบางคนบอกว่าธรรมะก็ควรถูกนำมาประยุกต์ให้ตรงกับบริบทของเรา คือ ถ้าบ้านเรามีระบอบการปกครองแบบนี้ มีวัฒนธรรมความเป็นไทยแบบนี้ ธรรมะก็ต้องถูกนำมาใช้ให้คนมีความสงบสุขในระบอบแบบนี้ แต่ฟังที่อาจารย์พูด มันก็เป็นอีกด้านนึง คือ ที่พูดถึงเรื่องความเป็นธรรมของรูปแบบของการอยู่ร่วมกันด้วย วรเจตน์: คือ มันมีคุณค่าบางอย่างแฝงอยู่ในพุทธศาสนา ผมเข้าใจว่าแม้พุทธศาสนาเองให้คำตอบบางส่วนแก่สังคม แต่เป้าหมายของพุทธศาสนาเนี่ยในความรู้สึกของผม ลึกๆ แล้วเนี่ย ก็ยังเป็นเรื่องของตัวปัจเจกเสียมาก บางทีเราชอบพูดว่าเรื่องปัจเจกเป็นเรื่องโลกตะวันตก ผมกลับคิดว่าความเป็นปัจเจกเนี่ยเป็นเรื่องโลกตะวันออกด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในพุทธศาสนา เพราะธรรมะมันก็รู้ได้เฉพาะตน มันก็บรรลุไปเฉพาะตน พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนเรื่องการบรรลุธรรมแบบเป็นกลุ่มใหญ่ๆเลย ไม่มีการบรรลุธรรมไปพร้อมๆ กันทั้งสังคม มันไม่ได้ คือ สุดท้ายการไปบรรลุถึงคุณค่าสูงสุดในพุทธศาสนา ก็เป็นเรื่องของปัจเจกอยู่ดี ดังนั้นคำสอนส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของการฝึกตน แต่แน่นอนมันมีคำสอนจำนวนหนึ่งซึ่งพูดถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งผมเข้าใจว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับการเลือกเอามา และอ้างถึงในบริบทไหน แต่การพยายามลากคำสอนนึงมาตอบทุกเรื่องในสังคม ผมว่ามันไม่ถูกต้อง วิจักขณ์: แล้วด้วยจุดที่มุ่งเน้นไปที่ปัจเจกมากกว่าสังคมของพุทธศาสนา หรือการเอื้ออิงอยู่กับระบบอุปถัมภ์ มันจะเป็นอุปสรรคต่อสังคมประชาธิปไตยในปัจจุบันมั๊ยครับ วรเจตน์: ผมว่าพุทธศาสนาก็ไม่ได้มีอะไรขัดกับความเป็นประชาธิปไตยนะ มันไปด้วยกันได้อยู่แล้ว อย่างที่บอกไป ผมมองว่าคำสอนของศาสนาพุทธกับ Stoicism เนี่ยมีหลายส่วนที่คล้ายๆ กัน แล้วเราปฏิเสธไม่ได้ว่า Stoic เนี่ย คือ คนซึ่งให้กำเนิดความคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความคิดที่มนุษย์ทุกคนเกิดมาโดยเสรี ไม่มีใครเกิดมาเป็นทาส ให้กำเนิดความคิดเรื่องความเป็นพี่เป็นน้องระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แล้วแนวคิดแบบ Stoic นี่แหละที่เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ในเวลาต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงในบางยุคสมัย เช่น การปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ทำให้เกิดการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันใช้เวลานานเหมือนกัน เป็นพันปี แต่ว่าท้ายที่สุดแก่นความคิดของมันก็ถูกเอามาใช้ ศาสนาพุทธมันก็มีแก่น มันก็มีคำสอนแบบนี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ดึงเอาตรงนี้ออกมา คำอธิบายหรือการตีความที่ออกมาในทางประชาธิปไตยเนี่ยยังทำกันน้อย สังเกตมั๊ยฮะ การตีความคำสอนทางพุทธศาสนาที่เราทำส่วนใหญ่มักไปสนับสนุนอำนาจของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างเช่นเรื่องทศพิธราชธรรม เราดึงชุดคำอธิบายแบบนั้นออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเราตีความ และดึงเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกที่สนับสนุนหลักประชาธิปไตยมาใช้ มาอธิบายให้มากขึ้น หรือส่งเสริมให้มีการศึกษามากขึ้น มันก็จะกลายเป็นคุณค่าที่สนับสนุนสังคมประชาธิปไตยต่อไป ซึ่งผมว่ามันก็เป็นไปได้นะ วิจักขณ์: ซึ่งดูๆ แล้วสุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ที่อยู่ภายใต้การตีความพุทธศาสนาอยู่ดี วรเจตน์: ใช่ มันเป็นเรื่องของการตีความ การดึงเอาคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในหลักคำสอนนั้นออกมาให้มันรับกัน มันมีคำสอนตั้งหลายอย่าง เช่น ความเมตตากรุณา การเคารพซึ่งกันและกัน การไม่เลือกชนชั้นวรรณะ... คำสอนพวกนี้จะต้องถูกดึงเอามาใช้ให้มันมากขึ้น ศึกษาอภิปราย ขยายความด้วยเหตุและผลมากขึ้น มันก็จะสนับสนุนพัฒนาการทางประชาธิปไตย ทำให้คนนั้นเคารพกัน เป็นคนโดยสมบูรณ์มากขึ้น คือปัญหาของประชาธิปไตยไทยทุกวันนี้ เป็นปัญหาเรื่องการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรายังเห็นว่าคนไม่เท่ากัน คือผมไม่ได้บอกว่าคนทุกคนเกิดมาเหมือนกัน โอเคในทางศาสนาก็อาจจะเป็นความเชื่อในเรื่องกรรม คือคนเราก็มีความต่างกันตรงนี้อยู่ แต่ว่าไอ้ความต่างกันตรงนั้นมันไม่ได้ไปกระทบต่อสารัตถะความเป็นมนุษย์ แล้วถ้าเรารู้จักกระตุ้นตรงนี้ให้มาก ยอมรับกันตรงนี้ให้มาก มันก็จะทำให้สังคมมันไปได้ แต่คนจำนวนนึงในสังคมไทยตอนนี้รับตรงนี้ไม่ได้ เขารับไม่ได้ที่คนขับแท็กซี่จะมีคะแนนเสียงเท่ากับคนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือชาวบ้านในต่างจังหวัดจะมีคะแนนเสียงเท่ากับคนกรุงเทพ วิจักขณ์: ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์หกตุลา หรือ ค่านิยมการเห็นคนไม่เท่ากัน มันทำให้ผมสงสัยเหมือนกันนะฮะว่า เราเป็นเมืองพุทธมาภาษาอะไร ทำไมความรู้สึกเห็นแก่ตัว ดูถูกคน มันฝังรากอยู่ มันเป็นไปได้ยังไง วรเจตน์: ใช่ สังคมเราเป็นแบบนี้ วิจักขณ์: เพราะคำสอนพุทธศาสนามันไม่เวิร์ค หรือเป็นไปได้ไหมว่าพุทธศาสนาบ้านเรามักถูกตีความผ่านอุดมการณ์ชุดหนึ่งอยู่ตลอดเวลา วรเจตน์: เป็นไปได้ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ นะ การเน้นเรื่องการบริจาคทานเนี่ย มันเป็นเรื่องของการทำบุญให้กับคนที่ด้อยกว่า แล้วก็ทำให้ตัวเองได้บุญ ได้ไปสูงขึ้น อีกด้านนึงมันเท่ากับว่าเป็นการกดให้มันยิ่งต่างกันออกไป แทนที่จะสอนว่า โอเค ทำทานก็ทำทาน ทำให้จิตใจบริสุทธิ์ ดีงาม แล้วก็จบ ไม่ได้เป็นเรื่องบุญคุณ ไม่ได้เป็นเรื่องอะไรเลย ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะไปสวรรค์อะไรหรอก แล้วเราก็ไม่ได้ยึดติดกับมันว่าเราทำ เป็นบุญของเรา ถ้าเราเน้นกันแบบนี้มากขึ้น สังคมเราก็จะดีขึ้น แต่กลายเป็นว่าบ้านเราไม่ได้เป็นแบบนี้ เป็นเรื่องของการสะสมบุญกันไป เป็นการทำบุญเพื่อหวังผลเข้าตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นการทำบุญเพื่อสละ รู้จักการแบ่งปันให้กับคนอื่นที่เขาเดือดร้อนกว่า แล้วก็ไม่ได้เป็นบุญคุณอะไร ไม่ได้หวังอะไรเข้าตัวเอง นอกจากทำให้จิตใจเราเบา จิตใจเราสะอาดขึ้น หรือไม่ต้องคิดอะไรเลยดีที่สุด (เน้น) ก็ทำไป แค่นั้นก็จบ วิจักขณ์: ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ทำไมพุทธศาสนาที่พูดเรื่องจิต (consciousness) หรือจิตสำนึกเชิงปัจเจกมาก แต่ไม่รู้ทำไมเราจึงไม่ค่อยได้เห็นเรื่องจิต พัฒนาไปสู่จิตสำนึกร่วมกันทางสังคม (social consciousness) กลายเป็นว่าศาสนาทำให้คนคิดถึงแต่ตัวเอง เสียสละตัวเองเพื่อส่วนร่วมน้อยลง เห็นแก่ตัวมากขึ้น ถ้าเสียสละอะไรแล้วตัวเองเดือดร้อน ก็รู้รักษาตัวรอดจะดีกว่า แต่พอฟังที่อาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องการทำทาน มันทำให้เห็นว่า ถ้าเราทำจริง ทำโดยเป็นการฝึกใจเราไปด้วย โดยไม่ได้หวังอะไรเข้าตัว ใจมันก็จะกว้าง และพัฒนาไปสู่ความเป็น social consciousness ในที่สุด วรเจตน์: ใช่... เราจะรู้จักเสียสละ และรับใช้ผู้อื่น โดยไม่ได้หวังอะไร เหมือนกับเป็นการเอื้ออาทรเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นเรื่องสากลนะ ไม่ใช่เรื่องที่มีแต่ทางพุทธ ทุกศาสนาเค้าก็มีนะ เรื่องความรู้สึกเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอื้ออาทรกัน ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเฉยๆ มันไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นเลยจริงๆ วิจักขณ์: ซึ่งเราจะเห็นได้เลยว่าคำสอนทางศาสนาสามารถนำเราไปได้ทั้งสองทาง คือ จะทำให้คนในสังคมเห็นแก่ตัวขึ้นก็ได้ หรือจะทำให้เอื้ออาทรต่อกันมากขึ้นก็ได้ วรเจตน์: ใช่ มันไปได้ทั้งสองทาง ขึ้นอยู่กับการตีความ การเน้นย้ำ การสอน ซึ่งสอนแบบที่เราเห็นสอนๆ กันมันง่ายกว่าไง มันง่ายกว่าในการเข้าใจรับรู้ คือว่ามนุษย์ถึงจะดำรงชีวิตในระดับสติปัญญา เราก็ยังเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดหลายๆอย่าง บางทีมันก็อาจจะไปในทางนั้น แต่ถ้าเราช่วยกัน ขยายความเข้าใจ และการปฏิบัติต่อกันในทางนี้ให้มากขึ้น ปรับการตีความ ดึงเอาคุณค่านี้ออกมาให้มันมากขึ้น มันก็พัฒนาไปได้ แล้วสุดท้ายผมว่านะ ความเป็นสากลของเรื่อง คือ สุดท้ายมันก็ไม่ได้ยึดติดอะไร เพราะเราเข้าใจมันรอบทั้งหมด ซึ่งก็คือแก่นสุดท้ายของพุทธศาสนา วิจักขณ์: อาจารย์วรเจตน์เคยพูดว่า “สังคมมนุษย์เรา สุดท้ายก็จะพัฒนาไปสู่ความเป็นสังคมประชาธิปไตยทั้งหมด ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว” อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายตรงนี้นิดนึงครับ วรเจตน์: คือ มนุษย์เนี่ยฮะ วันนึงถ้าเค้าตระหนักรู้ เค้าก็จะรู้สึกว่า ตัวเราและทุกคนเกิดมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีศักดิ์ศรีของความเป็นคน พูดง่ายๆ คือ มนุษย์เราเกิดมามันมีเซ้นส์เรื่องการรักในเสรีภาพ ความยุติธรรม ไม่ชอบถูกกดขี่ข่มเหง ทุกคนต้องการเข้าถึงความสุข เข้าถึงอิสรภาพเหมือนกันหมด เพียงแต่ช่วงเวลาหนึ่งเมื่อถูกกดทับอยู่ มันก็ไม่รู้หรอก แต่ไม่ว่าจะยังไง ผมก็เชื่อในธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะไปสู่ความเป็นเสรี มันจะพัฒนาไปแบบนั้น เพียงแต่ว่ามันจะไปช้าไปเร็วเท่านั้นเอง แต่ที่สุดนั้น มันก็จะไปสู่จุดนั้นจนได้ ในจุดที่ว่าคนยอมรับความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ยอมรับในเสรีภาพของกันและกัน เพราะการยอมรับเสรีภาพในคนอื่นเท่ากับยอมรับว่าตัวเราเองก็มีเสรีภาพ คือสังคมมนุษย์มันก็จะเดินไปสู่จุดนั้น ในทุกๆ ที่ แล้วทุกคนก็จะมามีส่วนร่วมกันในการปกครองตัวของเขาเอง วิจักขณ์: แล้วอาจารย์ว่าถ้าสังคมที่พยายามจะไม่ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยล่ะ สังคมนั้นจะรุ่งเรืองทางจิตวิญญาณได้มั๊ย? วรเจตน์: แล้วรุ่งเรืองทางจิตวิญญาณในแง่ไหนล่ะ วิจักขณ์: ก็อาจจะเป็นคนดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ... คุณลักษณะพวกนั้น วรเจตน์: (คิดนาน) แต่ว่า... บางที... คือดีในลักษณะแบบนั้นเนี่ย เราก็ไม่รู้ว่า ในความดีนั้น มันไปทำร้ายคนอื่นด้วยหรือเปล่า เวลาอยู่ในสังคม วิจักขณ์: หรือไม่บางทีเขาเองอาจไม่ได้ไปทำร้ายใคร แต่ความดีแบบนั้นมันอาจไปสนับสนุนโครงสร้างทางสังคมให้ทำร้ายคนอื่นโดยที่เขาไม่รู้หรือไม่อยากจะรับรู้... วรเจตน์: ใช่ ใช่ ในเชิงโครงสร้าง คือว่าปัญหาทุกวันนี้ มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเหมือนกัน ยกตัวอย่าง ในโครงสร้างแบบที่เป็นอยู่ คนที่อยู่ในโครงสร้างนี้ เขาก็รู้สึกว่าเขาก็ดี เขาก็ได้ประโยชน์ พูดง่ายๆ เขาไม่ต้องดิ้นรนอะไรไง เขาก็อยู่ของเขา สบายไปวันๆ แต่ว่าก็เพราะเขาอยู่ในโครงสร้างสังคมแบบนี้แหละ ที่มันไปกดทับคนข้างล่างอยู่ มันก็คือการเอาเปรียบคนข้างล่าง โดยที่เขาไม่รู้ตัว บางทีผมยังคิดเลย อย่างผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มันก็เหมือนอยู่อีกชนชั้นนึงนะ เราก็ไปประชุมได้เบี้ยประชุม มันก็มาจากเงินที่คนอื่นเขาทำงานมาทั้งนั้น โครงสร้างแบบนี้ก็ให้ประโยชน์บางอย่างที่เราได้รับ เราได้พอเหมาะพอประมาณกับสิ่งที่เราทำมั๊ย เราได้เยอะเกินไป หรือได้น้อยเกินไป ถ้าเทียบกับการกระจายให้คนข้างล่าง วิจักขณ์: ซึ่งพอเริ่มคิดมันก็เยอะนะอาจารย์ (หัวเราะ) ประมาณว่ามันดูจะไม่มีจุดสิ้นสุดเลย จนหลายคนอาจทักว่า “เฮ้ย คิดมากไปรึป่าว” หรือ “คิดมาก ทุกข์เปล่าๆ”อะไรแบบนี้ วรเจตน์: หรือ หาเรื่องใส่ตัว .... ซึ่งก็จริง ก็อาจจะเป็นไปได้ ผมก็สังเกตนะหลายคนก็มาจากข้างล่าง แล้วก็ขยับขึ้นมาสู่ชนชั้นสูง แล้วก็ไปกดคนข้างล่างต่อ บางทีเขาก็กดโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เขาก็รู้สึกว่าเขาหลุดออกมาจากตรงนั้นมาแล้ว เขามีสิทธิ์ เพราะเขาใช้ความพยายามของเขาในการถีบตัวเองขึ้นมาในโครงสร้างแบบนี้ เมื่อพยายามจนสำเร็จ มันก็เป็นสิทธิประโยชน์ที่เขาควรจะได้ เขาก็ไม่คิดอะไรมาก ก็มีนะแบบนี้ ซึ่งผมว่าเยอะด้วย แล้วชีวิตเขาก็ไม่ทุกข์นะ คนคิดเยอะๆ อย่างผมเนี่ย ก็อาจจะอยู่ไม่สบาย ผมรู้สึกว่าคนที่อยู่ไปไม่ต้องคิดอะไร ไม่ซีเรียสกับอะไรเลย บางทีก็กลับอยู่สบายว่า แต่ว่า...สุดท้ายเนี่ย มันก็ย้อนกลับมาที่คุณค่าของความเป็นคน ซึ่งมันก็แล้วแต่ เพราะแต่ละคนก็คิดไม่เหมือนกัน ให้คุณค่ากับชีวิตไม่เหมือนกัน ผมก็ไม่รู้ว่าผมคิดผิดหรือคิดถูก ที่พยายามจะเปลี่ยนเท่าที่กำลังเราจะทำได้ เพียงแต่ว่าผมอาจจะมีความรู้สึกกับเรื่องยุติธรรม-ไม่ยุติธรรมค่อนข้างเยอะ บางอย่างมันไม่ถูกต้อง มันไม่เป็นธรรม มันผิด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้ทุกอันเท่ากันเป๊ะหมด มันเป็นไปไม่ได้ แต่จะปรับในลักษณะที่ว่า คนที่ทุกข์ยากจากโครงสร้างเหล่านี้เหลือน้อยลง ถ้ามันปรับตรงนี้ได้ โอเค จะมีการกระจายประโยชน์ที่เป็นธรรมมากขึ้น แล้วคนก็จะน่าอยู่อย่างมีความสุขมากขึ้น วิจักขณ์: อย่างเวลาอาจารย์สอนนักศึกษา ศัพท์ทางกฎหมายพวก ยุติธรรม ความเป็นธรรม ความชอบธรรม ฯลฯ สังเกตว่าพอแปลเป็นภาษาไทยจะมีคำว่า “ธรรม” เยอะมาก ซึ่งถ้าในภาษาอังกฤษที่เราแปลมามันไม่มีถูกมั๊ย วรเจตน์: อือ มันก็ไม่เคลียร์นะ เพราะว่าโดยลักษณะถ้อยคำ มันเป็นนามธรรมมากๆ อยู่แล้ว ก็มีปัญหาอยู่เหมือนกัน แต่ว่าเวลาสอนพวกนี้ ผมก็พยายามยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเข้าช่วย แล้วอันนึงที่ผมสอน แล้วนี่ก็อาจจะเป็นหลักธรรมทางพุทธอยู่เหมือนกันนะ ผมบอกว่า “กฏหมาย พอเราใช้ถึงสุดท้ายแล้วเนี่ย ให้เราลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา” กฏเกณฑ์ที่เราจะใช้กับคนอื่น หรือการวินิจฉัยบังคับใช้กับคนอื่น ลองดูว่าถ้าตัวเราเป็นคนถูกวินิจฉัยแบบนั้นล่ะ เรารับได้มั๊ย โดยเป็นกลาง หรือเป็นธรรม ก็คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา มันก็คือหลักที่ว่าถ้าเราไม่อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเรายังไง เราก็ไม่ปฏิบัติกับคนอื่นอย่างนั้น ซึ่งมันอาจจะเรียกว่า ไม่ใช่หลักของการตีความกฏหมายอย่างที่สอนกันมาตามตำรานะ แต่ผมว่านี่มันคือเซ้นส์ของการใช้กฏหมาย คือ ถ้าคุณไม่อยากให้คนที่เป็นศัตรูคุณมาพิพากษาคุณ ถ้าคุณเป็นศัตรูกับใคร คุณก็ไม่เอาตัวคุณไปพิพากษาคนอื่น อะไรประมาณนี้ ซึ่งมันจะทำให้กฎหมายถูกใช้อย่างเสมอภาคกัน ซึ่งก็เป็นธรรมจริงๆ ในแง่ที่ว่าเราก็เป็นคนที่อยู่ภายใต้ความเป็นธรรมนี้เหมือนกับคนอื่น วิจักขณ์: คำถามสุดท้ายแล้วครับ คำว่า “คุณธรรม” ของอาจารย์คืออะไรครับ วรเจตน์: คุณธรรมคงไม่ใช่เรื่องของการเลี้ยงดูพ่อแม่ ความกตัญญูกตเวที พวกนี้อย่างเดียว แต่มันหมายถึงการที่เราทำด้วยใจบริสุทธิ์เพื่อทำให้สังคมมันดีงามขึ้น เอาเปรียบคนอื่นน้อยลง กระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมมากขึ้น นี่แหละคือคุณธรรม เราไม่เคยเข้าใจคุณธรรมในเซ้นส์แบบนี้ คือเวลาที่เราปลูกฝัง มันไม่ใช่แค่ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คอรัปชั่น อันเป็นคุณธรรมในแง่ของตัวเองที่กำกับตัวเอง แต่ในความเห็นผม คุณธรรมไม่ใช่เฉพาะคุณธรรมที่ passive เฉพาะกับตัวเรา แต่เป็นคุณธรรมที่ active คือ นอกจากคุณจะต้องซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คอรัปชั่นแล้วเนี่ย คุณยังจะต้องทำมากไปกว่านั้นอีก คือ ต้องพยายามลดความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง ความไม่เป็นธรรมในสังคมลง แม้เราจะเป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรมในแง่นั้น แต่คุณยืนอยู่บนโครงสร้างอันนึงที่เอาเปรียบคนอื่น เราก็ต้องละตรงนั้นลง เพื่อปรับให้มันได้ดุลกัน แล้วมันจะได้อยู่ด้วยกันได้ นี่คือความเสียสละอย่างหนึ่ง ผมว่าสังคมเราไม่เคยพูดถึงคุณธรรมในแง่นี้ .. และนี่คือปัญหา ................................................ ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างแก้ไขกฎหมายมาตรา ๑๑๒ โดยกรอกแบบฟอร์ม ข.ก. ๑ (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ http://www.ccaa112.org/ ) พร้อมแนบสำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประชาชน ส่งไปที่ตู้ป.ณ. 112 ปณฝ. ราชดำเนิน 10200 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ซีเรียยังระอุ เผยเมืองฮอม 'มีสไนเปอร์อยู่ทุกที่' Posted: 08 Feb 2012 04:23 AM PST
รมต. ต่างประเทศของรัสเซียเข้าพบ ปธน. อัสซาดของซีเรีย หมายหาทางออกยุ 7 ก.พ. 2012 - เซอกี ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซี "พวกเรา (รัสเซีย) ยืนยันในความพร้อมสำหรั รมต.ต่างประเทศของรัสเซียบอกอี ทางสถานีโทรทัศน์ของซีเรี ซึ่งการพบปะในครั้งนี้มี นักข่าวอัลจาซีร่า รอรี่ ชัลแลนด์ รายงานจากกรุงมอสโควว่า แม้คนจะคาดว่าการมาเยื เซอกี สโรคาน นักวิเคราะห์การเมืองรัสเซียกล่ นักข่าวอัลจาซีร่ามองว่า กลุ่มสายกลางในผู้ประท้วงต่อต้ อิตาลีเรียกทูตกลับ อีกหนึ่งสัญญาณที่เพิ่มการกดดั เรเซป เทย์ยิบ เออโดแกน นายกรัฐมนตรีตุรกีได้กล่าววิ "ผู้ที่แสร้งทำเป็นมองไม่เห็นสิ "ไม่มีใครเรียกร้องให้มีการรั 'มีสไนเปอร์ทุกที่' นักกิจกรรมรายงานว่า มีผู้เสียชี "ประชาชนไม่มีขนมปังจะกิน สภาพในย่านนี้ดูน่าหดหู่มาก มีสไนเปอร์อยู่ทุกที่ พวกเราได้แค่รอให้ถูกสังหาร พวกเราไม่รู้จะทำอย่างไรดี" เจ้าหน้าที่ทางการของซีเรียปฏิ ทางสถานีโทรทัศน์ช่องรั
ที่มา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักวิชาการเหนือ-อีสาน-ใต้ เสนอผลสรุปวิจัย พลเมืองไทยต้องการประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ Posted: 08 Feb 2012 04:20 AM PST นักวิชาการจาก 5 มหาวิทยาลัย ร่วมเสนอผลสรุปการวิจัยในพื้นที่ เหนือ-อีสาน-ใต้ พบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เข้าใจและเชื่อมั่นระบอบประชาธิปไตย ไม่เชื่อถือสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโทรทัศน์ ตั้งคำถามกลับถึงองคาพยพอื่นๆ ในสังคมไทยจะเป็นแรงหนุนหรือขัดขวางพลังประชาธิปไตยจากประชาชน วันที่ 8 ก.พ. 2555 โครงการสร้างสำนึกพลเมืองเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลในท้องถิ่น จัดการสัมมนาสรุปผลการวิจัย ซึ่งทำการวิจัยในพื้นที่อิสาน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยะลา ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าประชาชนส่วนใหญ่แสดงความเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย และสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับสิทธิของตนเองในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้มากกว่าร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม การศึกษาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ พบว่าประชาชนแสดงความไม่เชื่อมั่นต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่าไม่มีความเป็นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อโทรทัศน์ ในทางกลับกัน ประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เสพสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่นๆ รศ.ดร.วัฒนา สุกัณศีล อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการทำแบบสอบถามภายหลังน้ำท่วม ประชาชน 94 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่ดีที่สุดและไม่ต้องการการทำรัฐประหาร และพึงพอใจกับการทำงานรัฐบาล 84 เปอร์เซ็นต์ “ที่น่าสนใจคือ นี่เป็นคำถามหลังน้ำท่วมและรัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นี่สำคัญเพราะประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้เลือกสิ่งที่เขาสนใจ และพลังนี้เป็นพลังที่สนับสนุนความเข้มแข็งของสังคม” แต่เมื่อถามถึงองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย คือ องค์กรอิสระต่างๆ เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชาชนกลับเห็นว่ามีความสำคัญต่ำที่สุด แต่ที่น่าตกใจคือประชาชนเห็นว่า ขณะเดียวกันองค์กรที่มีความสำคัญพอๆ กับรัฐบาลในการแก้ปัญหาบ้านเมือง กลับเป็นกองทัพ “ชาวบ้านเลือกแล้ว ตัดสินใจแล้ว เข้าใจพอสมควร คำถามคือองคาพยพทั้งหลายแหล่ในสังคมจะช่วยเสริม ผลักดันหรือขัดขวางพลังเหล่านี้หรือเปล่า” รศ.ดร.วัฒนา ตั้งคำถาม รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปข้อเสนอแนะ จากงานวิจัย ว่า สิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการพัฒนาประชาต่อไปก็คือ การต้องมี Tool Box คือต้องมีเครื่องมือใหม่ๆ ที่ประชาชนสามารถใช้ในการติดตามบทบาทขององค์กรต่าง ข้อเสนอที่สองคือ ภาคประชาสังคมและสื่อ ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีองค์กรภาคประชาสังคมอยู่มาก แต่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งโดยรัฐ ถูกจัดตั้งโดยรัฐ เป็นองค์กรภาคขยายของรัฐ แต่สิ่งที่ต้องการคือองค์กรที่ทำหน้าที่ติดตามการทำงานของรัฐและหน่วยงานต่างๆ ทำหน้าที่ที่รัฐและภาคธุรกิจไม่ได้ทำ และเป็นองค์กรที่ส่งเสริมให้ประชาชนลุกขึ้นมาเอาเรื่องการบ้านเมืองเป็นกิจธุระ รับผิดชอบต่อสังคมการเมืองด้วย นอกจากนี้ ยังต้องการสื่อมืออาชีพ “เราพูดยากว่าสื่อเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง แต่ขอให้ทำงานอย่างมืออาชีพ อย่าสักแต่รายงานสิ่งทีไปทำร้ายคนอื่น และเมื่อเป็นมืออาชีพก็อาจจะต้องมีสมาคมที่คอยตรวจสอบดูแล” รศ. บัวพันธ์กล่าว ประการสุดท้าย ที่เป็นข้อเสนอจากการวิจัยชุดดังกล่าวคือ ต้องเป็นประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ดร.บัวพันธ์กล่าวว่าทัศนคติที่เป็นเชิงลบหรือไม่ศรัทธาต่อกลไกประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งคนในเมืองก็ไม่ได้ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น ประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์หมายถึง เรื่องประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปสอนให้ประชาชนหรือชาวบ้านมีความรู้ แต่เป็นเรื่องของสังคมทั้งมวลว่าเราจะทำอย่างไรให้เราปฏิบัติหลักการประชาธิปไตยที่จะต้องมีสิทธิเสรีภาพและเคารพในสิทธิเสรีภาพของคนอื่น จะคิดว่าจะไปสอนรัฐธรรมนูญให้ชาวบ้าน เท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องเล่นกันเป็นทีม คือต้องไปด้วยกันทั้งหมด ต้องเป็นประชาธิปไตยด้วยกันทั้งหมด ทั้งทหาร ภาคประชาสังคม สื่อ องค์กรอิสระ ต้องปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกัน รศ.ดร. วัฒนากล่าวเสริมในตอนท้ายของการนำเสนอว่า “ถ้าจะโยนภาระอันหนักอึ้งเรื่องประชาธิปไตยให้กับชาวบ้านแล้วละก็ เขาก็ตอบแล้วว่าเขาเห็นความสำคัญ แต่คำถามคือ แล้วคนอื่นๆ ล่ะ ถ้าชาวบ้านเชื่อมั่น ยึดหลักการนี้ แล้วฝ่ายที่เป็นสถาบันองค์กรของสังคมล่ะ....(เดี๋ยวจะปฏิวัติหรือเปล่า) องค์กรที่ว่านี้คือทั้งในและนอกระบบต้องมีส่วนช่วยในการผลักดัน รับรู้และส่งเสริม ข้อเสนอประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์คือทุกองคาพยพ ไม่งั้นไปไม่รอด ไม่งั้นก็มาบอกว่าชาวบ้านไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ต้องพยายามผลักดันให้ชาวบ้านรู้และเข้าใจ มันต้องนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในวิธีคิด “มันผิดปกติแน่ๆ เลยที่ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่มันทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสน คำถามไม่ได้อยู่ที่ชาวบ้านไม่รู้ โง่ หรือขาดข้อมูลข่าวสาร ปัญหาคือข้อมูลข่าวสารจากองค์กรที่สำคัญๆ จากสังคม ล้วนแล้วแต่ทำหน้าที่ส่งเสริมหรือขัดขวาง ถ้าชาวบ้านท้อถอยเบื่อหน่ายเซ็งกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เราก็ต้องถามว่าทำไม มันเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ประชาธิปไตยคือระบบที่รับผิดชอบร่วมกัน เราจะมีเงื่อนไขข้อยกเว้น อำนาจพิเศษ มันก็จะดันกันไปไม่ได้ โจทย์คือชาวบ้านรู้หรือไม่รู้ไม่ได้ แต่ต้องถามว่ามันคือความเข้าใจผิดเพราะอะไร” รศ.ดร.วัฒนากล่าวทิ้งท้าย โครงการสร้างสำนึกพลเมืองเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลในท้องถิ่นได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย และ USAID จัดทำวิจัยโดยนักวิชาการจาก 5 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาหัวข้อประชาธิปไตย รัฐประหารและธรรมภิบาลในมุมมองของคนเชียงใหม่และลำพูน มหาวิทยาลัยนเรศวร ประเด็นจิตสำนึกและความร่วมรับผิดชอบของพลเมืองในการปกครองในพื้นที่ พิษณุโลก พิจิตร และสุโขทัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาหัวข้อ ความรู้ ทัศนคติ ต่อประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศึกษาประเด็นการเสริมสร้างความรับรู้และการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการปกคองท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ศึกษาเรื่องการรับรู้ของพลเมืองกับการเสริมสร้างประชาธิปไตย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ITUC เผยสิทธิคนงานกรีซกำลังอยู่ในภาวะอันตราย Posted: 08 Feb 2012 03:52 AM PST 7 ก.พ. 55 - สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation – ITUC) ประณามข้อเสนอของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสหภาพยุโรปที่มีต่อรัฐบาลประเทศกรีซ ที่จะส่งผลกระทบกับสิทธิของคนงานกรีซ โดย ITUC ขอให้ทุกฝ่ายในกรีซมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือกันอย่างแท้จริง เพื่อสร้างแนวทางการฟื้นเศรษฐกิจที่เป็นฉันทามติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศกำลังกดดันให้รัฐบาลผ่อนปรนกฎระเบียบในภาคเอกชน เพื่อทำให้เกิดความยืดหยุ่นของค่าจ้างแรงงาน ซึ่งหมายรวมถึงค่าแรงขั้นต่ำ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อรองรับการลดการจ้างงาน และการแทรกแซงกระบวนการเจรจาต่อรองร่วมของคนงาน โดยสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ห่างไกลจากการฟื้นให้มีงานกลับมมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซต้องถูกตำหนิในเรื่องของการตัดลดงบประมาณพร้อมๆ กับการเพิ่มสูงขึ้นของการว่างงานและงานที่ไม่มีความไม่มั่นคงและไม่เป็นทางการเพิ่มสูงขึ้นด้วย “สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ ITUC รับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง” Sharan Burrow เลขาธิการ ITUC กล่าว “การปรึกษาหารือ (social dialogue) ของคยงานที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย และสิทธิแรงงานในระดับสากลที่ได้รับการยอมรับ กำลังถูกโยนทิ้ง” ในจดหมายที่ส่งถึงองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เรียกร้องให้รัฐบาลกรีซยุติความพยายามกำหนดมาตรการฟื้นเศรษฐกิจที่กำลังทำอยู่ และเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือที่สร้างสรรค์เพื่อแสวงหาแนวทางสร้างความเติบโตเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของฉันทมติร่วมกันในประเทศกรีซ “องค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลกรีซกำลังทำลายการปรึกษาหารือ (social dialogue) และความตกลงร่วมของสหภาพแรงงาน (collective agreements หรือข้อตกลงสภาพการจ้าง) และความมั่นคงในการทำงานและความมั่นคงของรายได้ “ Shanan กล่าว “ พวกเขากำลังทำลายพื้นฐานของประชาธิปไตยด้วย” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เครือข่ายปกป้องสถาบันฯ ร้องผู้ว่าฯ เชียงใหม่ใช้กฎหมายกับกลุ่มแก้ไข-ยกเลิก ม.112 Posted: 08 Feb 2012 03:25 AM PST พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรณรงค์เผยแพร่พระราชกรณียกิจ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร และโครงการพระราชดำริต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องพระเกียรติภูมิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระมหากษัตริย์ สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า วันนี้ (8 ก.พ.) เครือข่ายคนเชียงใหม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ นำโดย นางนิตยาพร สุวรรณชิน ผู้ประสานงานเครือข่าย เดินทางมาที่ศูนย์ราชการ จ.เชียงใหม่ เข้ายื่นหนังสือต่อ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับข้าราชการทุกคนสอดส่องดูแลไม่ให้มีการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นศูนย์กลางศรัทธาของประชาชนซึ่งอาจจะนำไปสู่ความแตกแยกภายในชาติ โดยเฉพาะบางพื้นที่ในหลายจังหวัดภาคเหนือ เพื่อปฏิบัติตามแนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับกระบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขหรือล้มเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไรก็ตาม เพื่อปกป้องพระเกียรติภูมิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระมหากษัตริย์ เครือข่ายคนเชียงใหม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรณรงค์เผยแพร่พระราชกรณียกิจ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร และโครงการพระราชดำริต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พวงทอง ภวัครพันธุ์ ตอบ ชำนาญ จันทร์เรือง กรณีบทความ “ความผิดพลาดของนิติราษฎร์” Posted: 07 Feb 2012 11:31 PM PST หมายเหตุชื่อบทความเดิม: ตอบ อ.ชำนาญ จันทร์เรือง กรณีบทความ “ความผิดพลาดของนิติราษฎร์”
ดิฉันขออธิบายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองเกี่ยวข้องด้วยโดยตรงก่อน คือการขอชื่อ 118 คนแรก (ไม่ใช่ 112 คน) อ.ชำนาญ บอกว่า “ผู้ที่ร่วมลงชื่อในตอนแรกหลายคนออกมาปฏิเสธว่าเห็นด้วยแต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปเซ็นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายพร้อมกับหลักฐาน เป็นต้น...กอปรกับในการติดต่อขอรายชื่อนั้นยังมีความไม่ชัดเจน เพราะโดยปกติในกระบวนการขอรายชื่อเพื่อเคลื่อนไหวอะไรสักอย่างหรือเพื่อออกแถลงการณ์นั้นจะต้องมีความชัดเจนว่าจะเอารายชื่อไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร หากเอาไปทำแถลงการณ์ก็ต้องมีการเวียนเนื้อหาให้ดูก่อน หากจะให้ดีก็ต้องเปิดโอกาสให้แก้ไขก่อนเผยแพร่ด้วยก็จะยิ่งสมบูรณ์” ดิฉันขอชี้แจงว่า จดหมายที่ส่งถึงผู้ร่วมลงชื่อทุกคนได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ครก. 112 จะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไข ม.112 ของคณะนิติราษฎร์เข้าสู่การพิจารณาของสภา และได้ขอให้ผู้รวมลงนามกรุณาส่งสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และกรอกแบบ ขก.1 ไปยังที่อยู่ที่เราระบุไว้ค่ะ สำหรับแผ่นพับที่เราทำแจกในวันเปิดตัว ครก.112 และมีรายชื่อ 118 คนต่อท้าย เป็นข้อความเดียวกับจดหมายที่ได้เวียนให้ทุกคนได้อ่าน พร้อมๆ ไปกับการขอให้ลงชื่อเพื่อสนับสนุนการรณรงค์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระที่สำคัญใดๆ ดิฉันยืนยันว่าทุกท่านได้เห็นข้อความที่เรานำมาทำแผ่นพับค่ะ ข้อนี้ อ.เกษียร คงจะช่วยยืนยันได้ หาก อ.ชำนาญ ต้องการหลักฐาน ดิฉันยินดี forward mail ไปให้ดูค่ะ หรือจะถามอาจารย์แถวเชียงใหม่ให้หลากหลายขึ้นก็ได้ค่ะ กรณีของ อ.เสกสรรค์นั้น คนที่ออกมาประณาม ไม่ใช่คนใน ครก.112 สำหรับดิฉันเอง เห็นว่าการที่ อ.เสกสรรค์กล่าวว่า “เนื่องจากถูกขอร้องโดยผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ” ก็เป็นการพูดอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งบางคนให้ความสำคัญกับประโยคดังกล่าวมาก จนมองข้ามประโยคที่ อ.เสกสรรค์ ต่อท้ายว่า “และผมเองก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่อยู่ในกรอบของการปฏิรูปกฎหมาย มีเนื้อหากลางๆ ออกไปในแนวมนุษยธรรม และที่สำคัญคือยังคงไว้ซึ่งจุดหมายในการพิทักษ์รักษาสถาบันสำคัญของชาติ” สำหรับคนทำงาน ดิฉันให้ความสำคัญกับประโยคหลังมากกว่าประโยคแรกค่ะ เพราะดิฉันเชื่อว่า ไม่ว่า อ.เสกสรรค์จะเคารพผู้ใหญ่ที่ไปขอสักเท่าไร แต่ถ้าอาจารย์ไม่เห็นด้วยกับร่างข้อเสนอของนิติราษฎร์เลย อาจารย์ก็คงไม่ร่วมลงชื่อด้วยแน่ ประการสำคัญ อ.เสกสรรค์ไม่ได้ประกาศถอนตัวอย่างที่สื่อบางฉบับเอาไปบิดเบือน ดิฉันมองว่าคนที่มาร่วมลงชื่อต่างก็มีเงื่อนไขสำหรับการตัดสินใจที่แตกต่างกัน บางคนอาจมีเรื่องให้ต้องคิดต้องกังวลมากกว่าอีกหลายๆ คน แต่เมื่อเขามาร่วมลงนาม เราก็ต้องขอบคุณเขา หรือต่อให้บางคนปฏิเสธ เราก็ไม่สามารถก่นด่าเขาได้ อ.ชำนาญบอกว่า “การแถลงข่าวของ ครก.ครั้งล่าสุดที่อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลานั้น ๑๑๒ คนในรายชื่อนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ครก.หรือไม่ ที่สำคัญก็คือหากถือว่าเป็นแล้ว ๑๑๒ รายชื่อนั้นเห็นด้วยแล้วหรือไม่ อย่างไร หากไม่ถือว่าเป็น ครก.แล้ว ๑๑๒ คนนั้นอยู่ในฐานะอะไร เพราะหลายคนไม่ได้ลงชื่อพร้อมหลักฐานเพื่อยื่นขอแก้ไขกฎหมายแต่อย่างใด” ทางทีม ครก.112 ได้อธิบายในต่างกรรมต่างวาระว่า 118 ชื่อที่ร่วมลงชื่อกับเรา ไม่ใช่ แกนนำ ครก.112 ในวันเปิดตัว 15 ม.ค. อ.กฤตยา อาชวนิจกุล ได้ประกาศบนเวที รายชื่อองค์กรต่างๆ ที่รวมตัวกันเป็น ครก.112 ไปแล้ว การแถลงข่าวที่อนุสรณ์สถาน ก็ได้มีการย้ำเรื่องนี้เช่นกัน เมื่อวานบางกอกโพสต์โทรมาสัมภาษณ์ดิฉันๆ ก็ได้อธิบายเรื่องนี้ไปแล้วเช่นกัน (ข้อผิดพลาดของเราคือ ในแผ่นพับที่แจกในงาน ไม่ได้ใส่ชื่อองค์กรเหล่านี้ลงไป) โดยปกติเวลาที่มีการขอรายชื่อเพื่อสนับสนุนแถลงการณ์อะไรสักอย่าง ดิฉันก็สรุปเอาเองว่าท่านทั้งหลายคงเข้าใจตรงกันว่า คนที่เขียนขอรายชื่อ คือ แกนนำการเคลื่อนไหวในเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ลงชื่อมีสถานะเป็นแกนนำ หรือต้องกลายเป็นสมาชิกของกลุ่มนั้นๆ ไปในทันที เช่น การรณรงค์ของกลุ่มสันติประชาธรรม บางครั้งมีคนร่วมลงชื่อ 50 คนบ้าง 100+ คนบ้าง 200+ คนบ้าง ดิฉันจึงคิดเอาเองว่าทั้งคนลงชื่อ และคนอ่านก็คงเข้าใจดีว่า ไม่ใช่ทุกคนเป็นสมาชิกของสันติประชาธรรม แต่เขาแค่เห็นด้วยกับประเด็นที่กลุ่มเสนอเท่านั้น ส่วนแกนนำของสันติประชาธรรม ก็มักเป็นผู้ที่โผล่หน้าออกมาในวันแถลงข่าวนั่นเอง อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์ของ อ.ชำนาญในกรณี ครก.112 ทำให้ดิฉันต้องคิดหนักขึ้น เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้อีก หลังจากนี้ หากดิฉันขอให้ใครร่วมลงชื่อในเรื่องอะไรก็ตาม อาจต้องย้ำว่า “การลงชื่อของท่าน ไม่ได้หมายความว่าท่านเป็นสมาชิกของกลุ่ม...แต่ประการใด” ประการสุดท้าย ดิฉันตระหนักดีว่า หลายท่านที่ร่วมลงชื่อกับเรา ไม่ได้เห็นด้วยกับร่างข้อเสนอของนิติราษฎร์ทั้งหมด แต่ก็ยินดีลงนามด้วย โดยหลักๆ ก็คือ “เห็นด้วยในหลักการโดยรวมว่าควรที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้” เช่นเดียวกับอาจารย์ และเป็นก้าวแรกของการแก้ไขปัญหานี้ในวิถีทางที่ควรจะเป็น ซึ่งก็คงไม่สำเร็จในคราวเดียว และขอบคุณอาจารย์ที่ได้ส่งเอกสารมาสนับสนุนร่างแก้ไขนี้ด้วยค่ะ สำหรับข้อวิจารณ์ที่ว่านิติราษฎร์มองแต่ประเด็นทางกฎหมาย ไม่มองประเด็นทางการเมืองนั้น ก็นับว่ามีความจริงอยู่ แต่ดิฉันมองเช่นนี้ จากการได้พูดคุยกับทางนิติราษฎร์หลายครั้ง ดิฉันเห็นว่าการที่ อ.วรเจตน์ ย้ำบ่อยครั้งว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องวิชาการ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่เพื่อทำให้ตัวเอง “ลอยตัว” หรือ “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” ดิฉันเองก็เคยบอกกับทางนิติราษฎร์ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ฝ่ายนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางวิชาการ ซึ่งทำให้ดิฉันเข้าใจได้ทันทีว่า เพราะเราต่างมีความเข้าใจความหมายของ “การเคลื่อนไหวทางการเมือง” ที่แตกต่างกัน ซึ่งก็จะเห็นได้ชัดเจนจากคำอธิบายในสเตตัสใน fb ของ อ.สาวตรี สุขศรี (แต่การกล่าวเช่นนี้ ก็หวังว่าท่านอธิการบดี สมคิด จะไม่นำคำพูดของดิฉันไปชี้หน้าว่า นี่ไงๆ แม้แต่ คนใน ครก. 112 ยังบอกว่านิติราษฎร์เคลื่อนไหวทางการเมือง จึงห้ามใช้ มธ.อีก ดิฉันขอบอกว่า สำหรับดิฉัน ซึ่งเป็นศิษย์เก่า มธ. และเป็นนักกิจกรรม ดิฉันใช้ มธ.เคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา ก็ไม่เคยเห็นมีปัญหาอะไร กรุณาอย่าแยก มธ.ออกจากการเมืองเลย เพราะมันจะทำลายชีวิตของ มธ.ในที่สุด) การไม่มองมิติทางการเมืองนั้น จึงเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของนิติราษฎร์ จุดอ่อนคือ ไม่ได้สนใจเรื่องจังหวะก้าวทางการเมืองอะไรสักเท่าไร จุดแข็งคือ มันทำให้นิติราษฎร์มุ่งผลักดันข้อเสนอต่างๆ ของตัวเอง โดยไม่สนใจแรงปะทะทางการเมืองที่จะกลับมาสู่ตนเท่าไรนัก แต่ผลักดันด้วยความเชื่อมั่นในหลักการ เหตุผล ความซื่อตรง และความบริสุทธิ์ใจของตนเองเป็นสำคัญ เราจะเห็นลักษณะเช่นนี้เด่นชัดมาก โดยเฉพาะในตัว อ.วรเจตน์ การไม่สนใจมิติการเมือง หรือไม่เป็นการเมือง จึงทำให้เราได้คนที่กล้าหาญ มั่นคงในหลักการของตัวเอง แม้ว่าจะโดนกระหน่ำอย่างรุนแรงจากรอบทิศ ก็ไม่ท้อ ไม่เคยโอดครวญเรียกร้องความเห็นใจจากสังคม ในทางตรงกันข้าม คนที่คำนึงถึงการเมืองมากๆ ก็มักเป็นคนประเภท “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” หรือคนประเภทจะทำอะไรแต่ละครั้ง ไม่เพียงต้องประเมินว่าผลการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ต้องประเมินว่าตัวเองจะได้หรือเสียอะไรด้วย แต่ดิฉันคิดว่านิติราษฎร์ไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งนี้เลย แม้ว่าจะเห็นข้ออ่อนบางประการของนิติราษฎร์ แต่ดิฉันเคารพในคุณลักษณะดังกล่าวของพวกเขา ที่นับวันก็หายากขึ้นทุกที สุดท้าย กรณีเรื่องควรผลักดันเรื่องไหนก่อนหลัง เป็นการง่ายที่คนเราจะฉลาดหลังเหตุการณ์ แต่ก็อย่างที่ อ.สาวตรีบอก กรณีอากง ทำให้สังคมเห็นปัญหาของ ม.112 มากขึ้น มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้โดยกลุ่มต่างๆ ก็นับว่าเป็นจังหวะที่ดีที่เราจะผลักดันเรื่อง ม.112 ให้ได้มากที่สุด ในสภาวะที่นิติราษฎร์ถูกกระหน่ำอย่างหนักนี้ คนบางส่วนอาจหวั่นไหว และต้องการถอยห่างออกไป แต่เราก็ได้เห็นผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ อ.เกษียร ที่ยังยืนหยัด ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของคนในสังคม รวมถึงของนิติราษฎร์และ ครก. 112 ด้วย จึงขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
"สรุปสถานการณ์แรงงานในระหว่างและหลังเกิดอุทกภัยและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล" คนทำงาน ฉบับธันวาคม 2554 Posted: 07 Feb 2012 11:01 PM PST |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น