โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เพลิงไหม้เรือนจำฮอนดูรัสคร่า 355 ชีวิต

Posted: 17 Feb 2012 12:45 PM PST

เกิดเหตุเพลิงไหม้เรือนจำครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบร้อยปีที่เรือนจำโคมายากัว ประเทศฮอนดูรัส เผยระบบเรือนจำแย่ ผู้ต้องขังกว่าครึ่งยังเป็นแค่ผู้ต้องสงสัย ญาติผู้ต้องขังแสดงความไม่พอใจ

16 ก.พ. 2012 - จากเหตุการเพลิงไหม้เรือนจำโคมายากัวในประเทศฮอนดูรัสเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ทางการของฮอนดูรัสก็ออกมาประกาศว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการเพลิงไหม้ดังกล่าว 355 ราย

สำนักข่าว BBC รายงานว่า ทางการฮอนดูรัสได้พยายามระบุตัวตนของเหยื่อในเหตุการณ์เพลิงไหม้และได้เคลื่อนย้ายศพจากเรือนจำโคมายากัวไปยังสถานที่เก็บศพชั่วคราวในกรุงเตกูซิกัลปาห่างออกไป 100 กม.

ญาติของผู้เสียชีวิตต่างเดินทางมาที่กรุงเตกูซิกัลปาเพื่อรอรับศพ ทางรัฐบาลสัญญาว่าจะทำการมีการสืบสวนเหตุการณ์เพลิงไหม้ในครั้งนี้และยอมรับว่าระบบของเรือนจำต้องได้รับการปฏิรูป

โฆษกสำนักงานอัยการแผ่นดินของฮอนดูรัสเปิดเผยว่าจำนวนยอดผู้เสียชีวิตในขณะนี้อยู่ที่ 355 ราย ซึ่งถือเป็นเหตุเพลิงไหม้เรือนจำครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบศตวรรษ

โดยในคืนเกิดเหตุมีการลำเลียงศพผู้เสียชีวิต 115 ศพ ไปยังเมืองหลวง และในตอนเช้าวันถัดมาอีก 238 ศพ มีผู้ต้องขังเรือนจำ 2 รายเสียชีวิตในโรงพยาบาล ฮอนดูรัสจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติในการระบุตัวผู้เสียชีวิตบางส่วนที่ถูกไฟคลอกสาหัสจากประวัติทันตกรรมและดีเอ็นเอ

ผู้รอดชีวิตเล่าว่าเพื่อนผู้ต้องขังของเขาพยายามเอาตัวรอดโดยการพยายามวิ่งเข้าหาฝักบัวฉีดน้ำหรืออ่างน้ำในคืนที่เกิดเพลิงไหม้ลามไปทั่ว

"ผมตื่นขึ้นมา ได้ยินเสียงร้องระงมจากเพื่อนผู้ต้องขังที่ได้พังเพดานไม้กับสังกะสีไปเรียบร้อยแล้ว" ผู้รอดชีวิตกล่าว

วิลล์ แกรนท์ ผู้สื่อข่าว BBC รายงานบรรยากาศหลังเกิดเหคุเพลิงไหม้ว่า 24 ชั่วโมงหลังเกิดเพลิงไหม้สถานการณ์โดยรอบยังคงโกลาหลและดูสิ้นหวัง มีกลิ่นร่างมนุษย์ไหม้อบอวลไปทั่วจนทุกคนต้องสวมหน้ากากเพื่อป้องกันกลิ่น กำลังตำรวจและทหารหลายร้อยนายต้องคอยควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบในขณะที่ทีมชันสูตรศพขนร่างออกมาทางประตูหน้าแทบทุกนาที มีผู้รอดชีวิตออกมาบางส่วน พวกเขามากันเป็นกลุ่ม ต่างได้รับบาดเจ็บ และมีปืนจ่ออยู่เพื่อควบคุมตัว

 

รัฐบาลประกาศ 'ยกเครื่อง' เรือนจำ

ครอบครัวของผู้ต้องขังพากันมาที่เกิดเหตุหลังจากทราบข่าว ญาติบางคนรู้สึกโกรธจนเข้าปะทะกับตำรวจในขณะที่พวกเขาพยายามเข้าไปในอาคาร

นักดับเพลิงบอกว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ต้องขังในเรือนจำได้เนื่องจากพวกเขาหาตัวผู้คุมที่ถือกุญแจอยู่ไม่พบ

ประธานาธิบดี พอร์ฟิลิโอ โลโบ สัญญาว่าจะดำเนินการสืบสวนหาความจริงด้วยความโปร่งใส เขายังได้สั่งพักงานเจ้าหน้าที่เรือนจำทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศขณะที่มีการสืบสวนด้วย

ผู้รอดชีวิตบางส่วนกล่าวกับผู้สืบสวนว่าต้นเพลิงมีสาเหตุมาจากผู้ต้องขังที่จุดไฟเผาเบาะนอน ด้านอธิบดีกรมโยธาธิการของฮอนดูรัส มิเกล รอดริโก ปาสเตอร์ บอกว่าเพลิงเกิดจากผู้ต้องขังสองคนทะเลาะกัน ขณะที่ทางการก็กำลังตรวจสอบว่ามีสาเหตุความเป็นไปได้จากไฟฟ้าลัดวงจรหรือไม่

แต่ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากอะไรก็ตามทางรัฐบาลฮอนดูรัสก็บอกว่าระบบของเรือนจำจะต้องมีการ 'ยกเครือง' ใหม่หมด โดยก่อนหน้านี้ในปี 2004 ทางการฮอนดูรัสก็เคยสัญญาในแบบเดียวกันหลังเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่เรือนจำในเมือง ซาน เปโดร ซูลา จนมีผู้ต้องขังเสียชีวิต 107 ราย

 

เผยผู้ต้องขังกว่าครึ่งเป็นแค่ผู้ต้องสงสัย

สำนักข่าว BBC เปิดเผยว่าฮอนดูรัสเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดคดีฆาตกรรมสูงสุด และเรือนจำในฮอนดูรัสที่ออกแบบมาเพื่อขังคน 8,000 คน ก็นำไปใช้ขังผู้ต้องหา 13,000 คน

หลายปีก่อนหน้านี้ทางการฮอนดูรัสก็ได้ออกกฏหมายที่เข้มงวดมากขึ้นในการต่อต้านแก็งค์อาชญากรรมตามท้องถนนที่ก่อความรุนแรงที่เรียกว่ามาราส แต่ก็มีคนวิจารณ์ว่ากฏหมายดังกล่าวทำให้คนถูกจับเข้าคุกได้เพียงแค่มีรอยสักแบบแก้งค์

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอีกว่า ผู้ต้องขังมากกว่าครึ่งหนึ่งในเรือนจำโคมายากัวยังคงอยู่ในฐานะรอพิจารณาคดีหรือถูกกุมขังในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นสมาชิกแก็งค์ มีข้อมูลที่ได้จากรายงานภายในรัฐบ่าลฮอนดูรัสที่ส่งไปให้กับสหประชาชาติเปิดเผยว่า ที่เรือนจำโคมายากัวมีผู้ต้องขัง 800 ราย ทั้งที่เรือนจำสร้างไว้เพื่อจุแค่ 500 ราย มีผู้คุมอยู่แค่ 51 รายในตอนกลางวัน และ 12 รายในตอนกลางคืน

 

ที่มา Comayagua prison fire killed 355 - Honduras officials, BBC, 16-02-2012 http://www.bbc.co.uk/news/world-latin-america-17055231

Honduras prison fire: Families' grief and anger, BBC, 16-02-2012 http://www.bbc.co.uk/news/world-latin-america-17055103

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: เรายังจะจัดงานบอลกันอีกหรือ?

Posted: 17 Feb 2012 08:53 AM PST

กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน เสวนาตั้งคำถามต่องานฟุตบอลประเพณี ผู้ร่วมอภิปรายมอง งานบอลมิได้ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างนศ.สองสถาบันตามที่พูดกันทั่วไป หากแต่ยิ่งปลูกฝังความเป็นสถาบันนิยม แนะ ควรนำเงินที่ใช้จัดไปส่งเสริมกองทุนการศึกษา  

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 17.00 น. ห้อง 107 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน จัดเสวนาในหัวข้อ “เรายังจะจัดงานบอลกันอีกหรือ” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา คือ นายดิน บัวแดง นิสิตจากกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน นายกิตติพัฒน์ มณีใหญ่ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายรักษ์ชาติ์ วงศ์อธิชาติ อุปนายกองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และนายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ นักศึกษาจากกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย โดยมีนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปร่วมวงเสวนากว่า 100 คน

CCP football seminar2

นายดิน บัวแดงอธิบายประวัติความเป็นมาของงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์  โดยชี้ว่าเดิมทีเป็นกิจกรรมเตะฟุตบอลเล็กๆ ของเพื่อนนิสิตและนักศึกษาที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยเป็นกิจกรรมส่วนตัวของนิสิตนักศึกษาอย่างแท้จริง ส่วนรายได้จากการเก็บเงินค่าผ่านประตูนั้นทำไปบำรุงการกุศลอย่างเป็นรูปธรรมเช่น สร้างเรือนพักคนไข้วัณโรค บำรุงการศึกษาสองสถาบัน บำรุงรพ.ทหารบก ช่วยเหลืออัคคีภัยพิษณุโลก และโดยเสด็จพระราชกุศล สมทบทุน “อานันทมหิดล” เพื่อวิจัยโรคเรื้อน เป็นต้น  แต่ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา รายได้จากงานฟุตบอลประเพณีฯ ก็เป็นไปเพื่อ “โดยเสด็จพระราชกุศล” แทบทั้งสิ้น

นายดินชี้ว่า กิจกรรมเตะฟุตบอลของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันในช่วง 20 ปีแรก (พ.ศ. 2477 – พ.ศ. 2500) ได้มีการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ขึ้นมาอย่างสร้างสรรค์ เช่น การแปรอักษร เชียร์ลีดเดอร์หญิง รวมทั้งขบวนพาเหรดล้อการเมืองด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อมากิจกรรมเตะฟุตบอลได้พัฒนาจนมีขนาดใหญ่โตหรูหรามากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นงานระดับชาติ อย่างไรก็ตามช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นิสิตนักศึกษามีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ในช่วงนั้น จึงได้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านงานฟุตบอลประเพณีอย่างเป็นรูปธรรมโดยนักศึกษาธรรมศาสตร์กลุ่มสภาหน้าโดม

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ความเฟื่องฟูของงานฟุตบอลประเพณีฯ กับการตื่นตัวทางการเมืองของนิสิตนักศึกษามีความสัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัด คือ ในช่วงเวลาที่นิสิตนักศึกษามีความตื่นตัวทางการเมืองมาก งานฟุตบอลประเพณีจะค่อนข้างซบเซา จะเห็นได้จากการยกเลิกงานฟุตบอลในปี 2516-2518 ซึ่งนักศึกษาทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น เช่น ออกสู่ชนบท จัดนิทรรศการต่างๆ เช่น นิทรรศการศิลปะเพื่อชีวิตบนถนนราชดำเนิน นิทรรศการจีนแดง ฯลฯ การรื้อฟื้นงานฟุตบอลประเพณีฯ หรือในเดือนมกราคม 2519 ที่มีการเปลี่ยนเนื้อหาสาระของงานบอลให้รับใช้ประชาชน ลดความฟุ่มเฟือยและเพิ่มการบำเพ็ญประโยชน์ การงดจัดงานฟุตบอลประเพณีในปี 2520 เนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และในปี พ.ศ. 2534 นักศึกษารุ่น “พฤษภาทมิฬ” ที่ตื่นตัวด้านการเมืองมาก ทำให้สมาชิกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ส่วนใหญ่ลงมติไม่จัดงานบอล นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกงานฟุตบอลประเพณีเนื่องด้วยความไม่สะดวกต่างๆ เช่น เหตุน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งนายดิน บัวแดงก็ตั้งคำถามว่า ปีนี้ก็มีเหตุน้ำท่วมใหญ่เช่นกัน ทำไมจึงไม่งดจัดงานฟุตบอลประเพณี

CCP football seminar4

นายดิน บัวแดง ทิ้งท้ายด้วยการกล่าวถึงบทเพลงมาร์ชธรรมศาสตร์-จุฬา สามัคคี ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ประพันธ์ขึ้น เพื่อเน้นย้ำว่านิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาธรรมศาสตร์จะต้องรับใช้ประชาชนร่วมกัน

ต่อมานายนายรักษ์ชาติ์ วงศ์อธิชาติ กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของงานฟุตบอลประเพณี และความคุ้มทุน ซึ่งในอดีต ดร. สุรพล สุดารา อดีตประธานเชียร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อ “พิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นความสามัคคีระหว่างผู้ที่จะต้องไปใช้สมองร่วมกันรับใช้ประเทศชาติต่อไปในอนาคต” รักชาติ์ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของงบประมาณ และชี้ให้เห็นว่า ความสามัคคีที่มักถูกอ้างนั้น เกิดจากการบีบบังคับและปลูกฝังโดยระบอบ SOTUS และกิจกรรมรับน้อง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ปลูกฝังความคิดแบบสถาบันนิยม จนทุกวันนี้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็แข่งขันประชดประชันด่าทอกันอย่างรุนแรง 

ตัวแทนจากอมธ. จึงสรุปว่า งานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่ได้ทำนิสิตนักศึกษาของสองสถาบันสมัครสมานสามัคคีกันมากขึ้น ดังมีผู้กล่าวอ้างตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ต่อประเด็นที่ว่างานฟุตบอลประเพณีเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าเพราะมีขบวนล้อการเมืองซึ่งสะท้อนภาพของสังคม นายรักษ์ชาติ์แย้งว่าไม่จริง เพราะนิสิตถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองเสมอมา ทั้งโดยรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยสมาคมศิษย์เก่าในพระบรมราชูปถัมภ์ การมีประธานในพิธีเป็นราชวงศ์ นอกจากนี้ รักษ์ชาติชี้ว่า การควบคุมเสรีภาพมีทั้งในรูปแบบการเซ็นเซอร์เนื้อหา การใช้ความบันเทิงมอมเมาเยาวชน และแม้แต่ยกเลิกงานฟุตบอลประเพณี 

สำหรับงานฟุตบอลประเพณีในปีนี้ นายรักษ์ชาติ์เห็นว่าเรื่อง มาตรา 112 เป็นเรื่องที่นิสิตถูกจำกัดไม่ให้แสดงความคิดเห็น ในขณะที่งานฟุตบอลประเพณีซึ่งมีถูกใช้ไปใน “การโฆษณาความศักดิ์สิทธิ์และส่งเสริมสถาบันนิยมอย่างล้นเกิน” ดังนั้นหากขบวนล้อการเมืองจะสะท้อนภาพใดได้ ก็คงเป็นภาพการเมืองและประชาธิปไตยที่ตกต่ำของประเทศไทยเท่านั้น

CCP football seminar6

สุดท้ายนายรักษ์ชาติ์ได้เชิญชวนให้นิสิตนักศึกษาหันกลับมาทบทวนความถูกต้อง เหมาะสม ว่าจำเป็นที่จะต้องจัดงานให้ยิ่งใหญ่ อลังการ และฟุ่มเฟือยหรือไม่ และที่สำคัญที่สุดคือเจตนารมณ์ที่แท้จริงของงานฟุตบอลประเพณี โดยต้องดิ้นให้หลุดจากภาพมายาเพื่อมองความเป็นจริงของสังคม

นายกิตติพัฒน์ มณีใหญ่ ผู้ร่วมเสวนาคนที่สาม ตั้งคำถามเรื่องงบประมาณจำนวนมากที่ใช้ไปกับการจัดงานฟุตบอลประเพณี ซึ่งไม่มีตัวเลขที่สามารถตรวจสอบได้  และยังเสนอให้นำงบประมาณจำนวนดังกล่าวไปใช้ในกิจการที่ส่งเสริมด้านวิชาการมากกว่า เช่น ใช้เป็นกองทุนหนังสือเรียนสำหรับนิสิต นอกจากนี้ นายกิตติพัฒน์ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้งานฟุตบอลประเพณีเป็นพื้นที่สำหรับให้คนกลุ่มหนึ่งออกมาขายหน้าตา ทำให้นิสิตให้ความสำคัญกับรุ่นพี่ที่เป็นดารานักแสดงมากกว่ารุ่นพี่ที่คำคุณประโยชน์ด้านอื่นๆ ให้แก่ประเทศชาติ

ต่อประเด็นเรื่องการสร้างความสามัคคีระหว่างนิสิตนักศึกษาโดยใช้งานฟุตบอลประเพณี นายกิตติพัฒน์ชี้ให้เห็นว่าตัวกิจกรรมเตะฟุตบอลที่จริงแล้วไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร เนื่องจากนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มผู้จัดกิจกรรมให้ความสำคัญกับการแสดงบนเวทีและการแปรเพลทบนแสตนด์มากกว่า และกิจกรรมอื่นๆ ก็ไม่ได้ส่งเสริมความสามัคคี เช่น หลังจากการเตะฟุตบอลจบแล้ว ก็เวทีคอนเสิร์ตของสองมหาวิทยาลัยแยกกันอยู่ โดยนายกิตติพัฒน์เสนอให้รวมเวที และให้วงดนตรีของทั้งสองมหาวิทยาลัยแสดงร่วมกัน

CCP football seminar5

 

นายกิตติพัฒน์ฝากคำถามที่ตนมองว่าสำคัญที่สุด คือหน้าที่ของสถาบันการศึกษาซึ่งควรจะผลิตบุคคลากรออกมารับใช้ประเทศชาติประชาชน แต่นิสิตนักศึกษากลับแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน และคิดแต่ว่าจะเรียนจบเพื่อไปปกครองคนอื่น
ต่อมานายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ได้วิเคราะห์งานฟุตบอลประเพณีโดยใช้มุมมองในกรอบเศรษฐศาสตร์ โดยชี้ให้เห็นว่าการจัดงานฟุตบอลประเพณีไม่ใช่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หากแต่ค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมดังกล่าวทำให้เงินเดินสะพัด เกิดการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง ช่างตัดชุดเชียร์ลีดเดอร์เป็นต้น
นายปราบยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าเป็นเรื่องปรกติที่งานฟุตบอลในปัจจุบันนี้จะมีลักษณะดังเช่นที่เห็น กล่าวคืองานฟุตบอลประเพณีเป็นภาพสะท้อนของค่านิยมทางการเมืองนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ที่มาจากชนชั้นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนพาเหรดซึ่งแสดงให้เห็นว่านิสิตนักศึกษาไม่ค่อยสนใจการเมืองเท่าไรนัก ทั้งนี้ก็เพราะนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่มาจากชนชั้นกลางซึ่งไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญของการเมือง ในขณะที่เด็กต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มาจากชนชั้นล่างจะตระหนักดีว่าการเมืองมีความสำคัญเพราะเกี่ยวกับปากท้องของครอบครัวโดยตรง


CCP football seminar8

นอกจากนี้นายปราบยังเสนอด้วยว่างานฟุตบอลประเพณีฯ ได้ทำให้อัตลักษณ์ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นสินค้าซึ่งซื้อขายได้ บริโภคง่าย โดยการสวมใส่อัตลักษณ์นั้นๆ คือ เพียงแค่มาร่วมงานฟุตบอลประเพณี ใส่เสื้องานฟุตบอลประเพณี ก็จะมีความเป็นนิสิตนักศึกษาของสถาบันนั้นๆ ขึ้นมาทันที

หลังจากวิทยากรทั้งสี่ท่านพูดจบแล้ว ผู้ที่มาร่วมฟังการเสวนาได้ร่วมตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอกันอย่างหลากหลาย เช่น การชื่นชมนิสิตที่ชูป้ายประท้วงงานฟุตบอลประเพณีในงานแถลงข่าว "การแข่งขันฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" ครั้งที่ 68 เมื่อ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่อาคารจัตุรัส จามจุรี การเสนอให้รวมแสตนด์เชียร์ของสองมหาวิทยาลัย การให้นำงบประมาณไปสนับสนุนนิสิตนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมไปถึงการเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาสามารถรวมกรณีมาตรา 112 เข้าในขบวนพาเหรดได้ด้วย


CCP football seminar9

นอกจากนี้ ภายในงานเสวนา ยังมีกลุ่มอดีตสมาชิกองค์การบริการสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ในฐานะผู้จัดงานฟุตบอลประเพณีได้เข้าร่วมรับฟัง และชี้แจงว่าตัวเลขงบประมาณของงานฟุตบอลประเพณีปีนี้ถูกลดเหลือเพียง 2 ล้าน 6 แสนบาทเท่านั้น และค่าใช้จ่ายของงานฟุตบอลประเพณีในปีที่ผ่านๆ มาก็มีเก็บไว้เป็นเอกสารอยู่ที่ห้องของอบจ. ซึ่งเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าฟังเสวนาบางส่วนแสดงความคิดเห็นว่าอบจ. ควรนำตัวเลขดังกล่าวออกมาสู่ที่สาธารณะ

 

ภาพทั้งหมด จากเฟซบุ๊กกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ

Posted: 17 Feb 2012 08:09 AM PST

เราอาจเป็นแค่กรวดทรายสักก้อนหนึ่ง ที่ถมลงไปบนทางเพื่อจะสร้างประชาธิปไตยที่เป็นจริง ก็คิดไว้แค่นั้น

สมัชชาสังคมก้าวหน้า 17 ก.พ. 55 กล่าวที่หน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ขณะอดข้าวเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องหาคดี ม.112

เม้าท์มอย: บาทวิถีสนทนา@ศาลอาญา

Posted: 17 Feb 2012 07:23 AM PST

ช่วงที่ 1 วาเลนไทน์อาเซียน

เม้าท์ๆ มอยๆ บรรยากาศวันแห่งความรัก วาเลนไทน์ เดย์ 14 กุมภาที่ผ่านมา ว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของเรามีเรื่องราวความเคลื่อนไหวอะไรกันบ้าง รัฐบาลประเทศไหนส่งเสริมหรือกีดกันความหวานของวันแห่งความรักของหนุ่มสาวให้ร้าวระทมใจกันแค่ไหนอย่างไร

ช่วงที่ 2 เม้าท์มอยหน้าศาลอาญากับนักอดข้าวริมทางเท้า

ไปเม้าท์มอยกันถึงหน้าศาลอาญา รัชดา คุยกับ “เอ็ม” ฤทธิพงษ์ มหาเพชร ที่อดข้าวเป็นวันที่ 3 จากที่ตั้งใจไว้ 7 วัน เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และคนอื่นๆ ที่ถูกข้อหาตามมาตรา 112 ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี และคุยกับไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ นักกิจกรรมทางสังคมที่เดินทางมาร่วมอดข้าวด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เว็บไซต์ดังสำรวจ SMS โพลล์ เผยประชาชน 53.68% ไม่กังวลว่าความเห็นต่างกรณี ม.112 จะบานปลาย

Posted: 17 Feb 2012 05:59 AM PST

MThai SMS เผยผลสำรวจผ่านทางโทรศัพท์มือถือทั้งสิ้น 257 เบอร์ เริ่มสำรวจความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. – 17 ก.พ. 55 พบประชาชนไม่กังวลว่าความเห็นต่างกรณี ม.112 จะบานปลาย 53.68%
 
17 ม.ค. 55 – MThai News รายงานว่าจากการที่ MThai SMS โพลล์ สำรวจความคิดเห็นผ่านมือถือในประเด็น “คุณกังวลว่าความเห็นต่างกรณี ม.112 จะบานปลายหรือไม่”
 
ผลสรุปว่า ประชาชน 53.68% ไม่กังวลว่าความเห็นต่างกรณี ม.112 จะบานปลาย ขณะที่อีก 46.32 % กังวลว่าความเห็นต่างกรณี ม.112 จะบานปลาย
 
ทั้งนี้ โพลล์ดังกล่าวมีสมาชิกร่วมแสดงความเห็นผ่านทางโทรศัพท์มือถือทั้งสิ้น 257 เบอร์ เริ่มสำรวจความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 21ม.ค. – 17 ก.พ. 2555 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ALRC เผยรายงาน "การคุกคามที่เพิ่มขึ้นต่อเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย"

Posted: 17 Feb 2012 05:25 AM PST

รายงานศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre: ALRC) ระบุมีการคุกคามที่เพิ่มขึ้นและเข้มงวดของรัฐในหลายด้านต่อเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย โดยการคุกคามดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเฉพาะต่อผู้แสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 55 ที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre: ALRC) ได้เผยแพร่รายงาน "ประเทศไทย: การคุกคามที่เพิ่มขึ้นต่อเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ...

สำหรับเผยแพร่ทันที
16 กุมภาพันธ์ 2555
ALRC-CWS-19-02-2012-TH

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
สมัยประชุมที่ 19 วาระที่ 4 การอภิปรายทั่วไป

แถลงการณ์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre: ALRC) องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีสถานะที่ปรึกษา (general consultative status)

ประเทศไทย: การคุกคามที่เพิ่มขึ้นต่อเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย

1. ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre: ALRC) ต้องการรายงานให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้รับทราบถึงการคุกคามที่เพิ่มขึ้นและเข้มงวดของรัฐในหลายด้านต่อเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย การคุกคามดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเฉพาะต่อผู้แสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งผู้ที่แสดงความกังวลต่อการคุกคามเหล่านี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นักวิชาการและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูป มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไทย ที่เอาผิดทางอาญาต่อการพูดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกเขาได้ตกเป็นเป้าการคุกคามในทางอ้อมของเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงในประเทศไทย และยังมีการข่มขู่เอาชีวิตจากกลุ่มที่ใช้อำนาจแบบศาลเตี้ยนอกเหนือจากรัฐ แม้ว่าหน่วยงานของรัฐและทหารจะไม่คุกคามชีวิตของนักวิชาการและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายโดยตรง แต่การที่รัฐไม่เข้ามาแทรกแซงลงโทษผู้ที่ทำการข่มขู่เช่นนั้น ประกอบกับบรรยากาศการเมืองที่อ่อนไหวในประเทศไทย เป็นสาเหตุให้เกิดข้อกังวลที่จริงจัง

2. แทนที่จะใช้กฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป กฎหมายไทยมีบทบัญญัติพิเศษที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อปกป้องสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญากำหนดโทษสำหรับการละเมิดดังกล่าวไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมักมีการนำมาใช้ควบคู่กับ มาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ต่อความผิดหนึ่งกระทง กรณีที่ศาลตัดสินว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลทางอิเลคทรอนิกส์ หรือการครอบครองข้อมูลสนเทศที่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ โดยตามกฎหมายแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงแห่งชาติ

3. แม้ว่า มาตรา 112 จะได้รับการกำหนดเป็นตัวบทกฎหมาย ตั้งแต่การชำระประมวลกฎหมายอาญาไทยครั้งใหญ่ เมื่อปี 2500 แต่ในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากสถิติของสำนักงานศาลยุติธรรม มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการฟ้องร้องคดีดังกล่าวในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยในปี 2548 มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวจำนวน 30 ครั้ง ปี 2549 จำนวน 30 ครั้ง ปี 2550 จำนวน 126 ครั้ง ปี 2551 จำนวน 77 ครั้ง ปี 2552 จำนวน 164 ครั้ง และในปี 2553 จำนวน 478 ครั้ง การขาดการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เป็นเหตุให้ไม่สามารถตรวจทราบความคืบหน้าของการฟ้องร้องคดีดังกล่าว บุคคลทั่วไปสามารถแจ้งความต่อบุคคลอื่นในข้อหาละเมิด มาตรา 112 ได้ และตำรวจมีหน้าที่ต้องสืบสวนสอบสวน และใช้ดุลพินิจว่าควรมีการเสนอฟ้องคดีต่อพนักงานอัยการหรือไม่ จากนั้นพนักงานอัยการจะใช้ดุลพินิจว่าจะฟ้องคดีต่อศาลอาญาหรือไม่ ความคลุมเครือของมาตรา 112 เป็นเหตุให้มีการใช้ขั้นตอนปฏิบัติดังกล่าวไปในทางมิชอบได้ง่าย นาย Frank La Rue ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิที่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก (UN Special Rapporteur on the Right to Freedom of Opinion and Expression) รวมทั้งรัฐบาลประเทศสเปน สวิตเซอร์แลนด์ สโลวีเนีย แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ ได้แสดงความกังวลหลายครั้งเกี่ยวกับมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในระหว่างการประชุมเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของประเทศไทยเมื่อปี 2554

4. คำตัดสินลงโทษในหลายคดีเมื่อเร็ว ๆ นี้ สะท้อนถึงความรุนแรงของบทลงโทษที่กระทำได้ตาม มาตรา 112 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ก. วันที่ 15 มีนาคม 2554 นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ได้ถูกลงโทษจำคุก 13 ปี ตามมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 สำหรับความผิดฐานเผยแพร่ข้อความต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ทางอินเตอร์เน็ต และฐานที่ไม่ลบข้อความต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์จากเว็บไซต์ที่เขาดูแลโดยเร็วเพียงพอ เขาให้ข้อมูลว่า ได้ถูกตำรวจบังคับให้สารภาพ

ข. วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 นายอําพล ตั้งนพกุล ได้ถูกลงโทษจำคุก 20 ปี ตามมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ ที่มีเนื้อหาต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ 4 ครั้ง

ค. วันที่ 8 ธันวาคม 2554 นาย Joe Gordon ได้ถูกลงโทษจำคุก 2.5 ปี ตามมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในข้อหาใส่ลิ้งค์ไปที่เว็บไซต์ซึ่งมีบทแปลของหนังสือที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล (Yale University Press) เมื่อปี 2550 โดยเป็นเว็บไซต์ซึ่งเขาเป็นผู้ดูแลระหว่างพำนักอยู่ที่รัฐโคโลราโด ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจศาลไทย

ง. วันที่ 15 ธันวาคม 2554 คำพิพากษาคดี น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ที่ถูกเพิกถอน เมื่อปี 2552 ได้ถูกพิพากษาใหม่ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่า การไต่สวนคดีแบบลับในกรณีนี้ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานจำเลย โดยในคำพิพากษาใหม่ได้มีการลดโทษจำคุกจาก 18 ปี เหลือ 15 ปี สำหรับความผิดสามกระทงที่มีตามมาตรา 112 โดยเป็นผลมาจากการพูดรณรงค์ในที่สาธารณะเป็นเวลา 55 นาที เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552

5. สืบเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อเดือนมกราคม 2555 คณะนิติราษฎร์ (ซึ่งหมายถึงกฎหมายสำหรับประชาชน ตามภาษาไทย) ซึ่งเป็นกลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์เจ็ดคนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ดร.ธีระ สุธีวรางกูร ดร.สาวิตรี สุขศรี ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล และอาจารย์ปูนเทพ ศิรินุพงศ์) และคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ครก.) ซึ่งเป็นกลุ่มปัญญาชน นักกิจกรรมสื่อสารมวลชน นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชน และอื่น ๆ ได้จัดรณรงค์อย่างเปิดเผยเพื่อเรียกร้องให้แก้ไข มาตรา 112 คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำร่างแก้ไข มาตรา 112 โดยยังคงรักษาสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบรัฐไทยแบบปัจจุบัน แต่มีเนื้อหาที่มุ่งลดโอกาสที่จะนำกฎหมายไปใช้อย่างมิชอบในลักษณะที่รุนแรง ข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายจะทำให้บทลงโทษต่อความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นสัดส่วนเหมาะสม มีการเสนอให้เฉพาะสำนักราชเลขาธิการเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ แทนที่จะปล่อยให้คนใดก็ได้สามารถแจ้งความ มีการแยกแยะระหว่างคำวิจารณ์อย่างสุจริตและเป็นจริงออกจากการกล่าวอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีการจำแนกความผิดตาม มาตรา 112 โดยให้ถือเป็นการหมิ่นพระเกียรติแทนที่จะเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในกรณีที่มีผู้เข้าชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายครบ 10,000 ชื่อ จะมีผลให้รัฐสภาต้องนำร่างกฎหมายนั้นไปพิจารณา ซึ่งตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2555 คณะนิติราษฎร์ และ ครก.ได้เริ่มรณรงค์รวบรวมรายชื่อทั่วประเทศ

6. ผลจากการรณรงค์ครั้งนี้ เป็นเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วนของรัฐบาลและกองทัพ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้ง ได้ประกาศหลายครั้งว่า จะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 นายเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยหลายคนแสดงจุดยืนว่า จะไม่รับพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมาย หากถูกเสนอเข้าสภา พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ผู้นำการรณรงค์ยุติการดำเนินงานเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกของชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวหาว่า สมาชิกคณะนิติราษฎร์ไม่ใช่คนไทย และเสนอว่าคนที่ต้องการให้แก้ไข มาตรา 112 ควรไปอยู่ต่างประเทศ และยังเตือนอย่างจริงจังว่า “เมื่อท่านรุนแรง ผมก็รุนแรงกับท่าน” พลเรือเอกสุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เสนอว่า การรณรงค์ครั้งนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศต่อสาธารณะว่า จะมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดต่อการทำงานของคณะนิติราษฎร์ และผู้สนับสนุน และจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีหากทำสิ่งผิดกฎหมาย สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง คือ การปฏิบัติต่อข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายราวกับเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งยังกล่าวหาว่าผู้จัดทำร่างแก้ไขกฎหมายไม่ใช่คนไทย และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย ถือได้ว่า คำพูดของผู้นำในหลายภาคส่วนของกองทัพเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพทางการเมืองของสมาชิกคณะนิติราษฎร์และผู้สนับสนุน

7. พร้อม ๆ กับการแสดงความเห็นและการคุกคามอย่างเปิดเผยของเจ้าหน้าที่รัฐต่อคณะนิติราษฎร์ ยังมีกลุ่มพลเมืองที่หลากหลาย ที่ได้คุกคามและข่มขู่แบบศาลเตี้ยต่อผู้รณรงค์เช่นกัน ในวันที่ 27 มกราคม 2555 กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ” ได้จัดประท้วงต่อต้านคณะนิติราษฎร์ ที่บริเวณหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเผาหุ่นของ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำของคณะนิติราษฎร์ และมีการถือป้ายเรียกร้องให้นำสมาชิกกลุ่มมาประหารชีวิต นับแต่เริ่มต้นการรณรงค์ คณะนิติราษฎร์ได้รับคำขู่คุกคามจากบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อมากมาย รวมทั้งความเห็นที่ผู้เขียนในเว็บไซต์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ มีทั้งเสียงเรียกร้องให้ตัดหัวและเอาหัวไปเสียบประจานนอกประตูมหาวิทยาลัย และเสียงเรียกร้องให้นำพวกเขาและครอบครัวไปเผาทั้งเป็นที่นอกบ้าน แม้ว่า การถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนที่หลากหลาย จะช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยและการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน แต่การขู่ฆ่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการถกเถียงในลักษณะเช่นนั้น

8. การคุกคามทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่มาจากภายในและภายนอกของรัฐไทย ถือเป็นการคุกคามต่อสิทธิที่มีการรับรองตามกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี โดยเฉพาะข้อ 19 ที่ระบุว่า

"1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง
2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก
3. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค ๒ ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ

(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น
(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน”

การกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงว่า การกระทำของคณะนิติราษฎร์เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมและไม่มีเหตุผลสนับสนุน การอภิปรายข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมาย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามสิทธิทางพลเรือนและการเมืองเท่านั้น คำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง การไม่คำนึงถึงการคุกคามต่อคณะนิติราษฎร์ และการแสดงความเห็นในเชิงไม่สนับสนุนพวกเขา จึงถือเป็นความล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิที่บัญญัติไว้ใน ข้อ 19

9. ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียจึงต้องการแจ้งให้คณะมนตรีทราบถึง ภัยคุกคามที่ชัดเจนที่มีต่อ คณะนิติราษฎร์ ในปัจจุบัน และยังส่งผลกระทบกลายเป็นวิกฤตของเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพแห่งการแสดงออก ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียเรียกร้องให้คณะมนตรี:

ก. กระตุ้นรัฐบาลไทย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ให้ยุติการคุกคามคณะนิติราษฎร์และพลเมืองคนอื่น ๆ ซึ่งใช้สิทธิทางพลเรือนและการเมืองของตน

ข. กระตุ้นรัฐบาลไทยให้แสดงความเห็นแย้งอย่างชัดเจนต่อการคุกคามทางกายและการขู่ฆ่าที่กระทำต่อคณะนิติราษฎร์และพลเมืองคนอื่น ๆ ซึ่งใช้สิทธิทางพลเรือนและการเมืองของตน

ค. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยอนุญาตและสนับสนุนการใช้เสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพแห่งการแสดงออกอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ รวมทั้งกำหนดมาตรการที่เฉพาะเจาะจงเพื่อคุ้มครองสมาชิกคณะนิติราษฎร์และคนอื่น ๆ ที่ตกเป็นเป้าโจมตีเช่นกัน

10. โดยย้ำเตือนถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยที่มาจากผู้แทนประเทศ บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส ฮังการี อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สโลวีเนีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review: UPR) ในส่วนที่เกี่ยวกับเสรีภาพแห่งการแสดงออก กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ/หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียกระตุ้นรัฐบาลให้ยอมรับข้อเสนอแนะเหล่านี้ และให้แจ้งข้อมูลว่า มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในสมัยประชุมที่ 19 และให้ส่งจดหมายเชิญผู้รายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการแสดงความเห็นให้มาเยือนประเทศ

11. การที่รัฐบาลไทยยอมรับข้อเสนอแนะของนิวซีแลนด์ที่จะประกันให้มี “ผลในเชิงบวกด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเสรีภาพส่วนบุคคล รวมทั้งเสรีภาพแห่งการแสดงออกและเสรีภาพที่จะไม่ถูกลงโทษแบบแก้แค้นและนอกกระบวนการกฎหมาย” นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงความถดถอยดังที่กล่าวถึงข้างต้น รัฐต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงยังได้แสดงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการ UPR ก็ควรถูกกระตุ้นให้กดดันรัฐบาลไทยให้ยอมรับข้อเสนอแนะเหล่านี้ และประกันว่าจะมีการปฏิบัติตามโดยไม่ชักช้า

# # #

เกี่ยวกับ ALRC: ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre: ALRC) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระดับภูมิภาคที่เป็นอิสระ โดยมีสถานะที่ปรึกษากับคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (The Economic and Social Council) และเป็นองค์กรพี่น้องกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเอเชีย (Asian Human Rights Commission) ศูนย์ข้อมูลมีที่ตั้งที่ฮ่องกง และมุ่งทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมปฏิบัติการเชิงบวกในด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศทั่วเอเชีย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หมอตุลย์ที่ FCCT แจงทำไมห้ามแก้ ม. 112

Posted: 17 Feb 2012 05:14 AM PST

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ชี้แจงนักข่าวต่างประเทศที่ FCCT ย้ำรณรงค์แก้กฎหมายหมิ่น-อภิปรายออกทีวีไม่ได้ เพราะคนไทยขาดภูมิคุ้มกันจากนักการเมืองและไม่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง จึงทำให้ขาดความเข้าใจที่มากพอ ชี้คนไทยจำนวนมากอยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมือง หัวคะแนน เป็นเผด็จการของนักการเมือง ซึ่งนำผลการเลือกตั้งไปอ้างเพื่อใช้อำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องในสภา

000

 

ส่วนหนึ่งของการอภิปรายโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบันหรือกลุ่มเสื้อหลากสี ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยหรือ FCCT เมื่อคืนวันที่ 16 ก.พ. โดยในคลิปเป็นไฮไลท์ช่วงท้ายของการตอบคำถามผู้สื่อข่าว

000

 

การอภิปรายของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่ FCCT ทั้งหมด

 

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบันหรือกลุ่มเสื้อหลากสี อภิปรายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยหรือ FCCT เมื่อคืนวันที่ 16 ก.พ. โดยเป็นการอภิปรายในช่วงแรก

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อภิปรายที่ FCCT ในคลิปเป็นช่วงถาม-ตอบ ช่วงแรก

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อภิปรายที่ FCCT ในคลิปเป็นช่วงถาม-ตอบ ช่วงท้าย

 

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน หรือกลุ่มเสื้อหลากสี ได้รับเชิญเป็นวิทยากรอภิปราย ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยหรือ FCCT ซึ่งบรรยายในหัวข้อ “The Case for 112” โดยมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศสนใจถามคำถามในประเด็นดังกล่าวจำนวนมาก โดย นพ.ตุลย์ใช้เวลาอภิปรายและตอบคำถามผู้สื่อข่าวราว 2 ชั่วโมงเศษ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (13 ก.พ.) FCCT ได้เชิญ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มาอภิปรายเช่นกัน

ในการอภิปราย นพ.ตุลย์ เสนอว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากเกรงว่าหากมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์แล้ว อาจทำให้การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มีสูงขึ้นมากกว่าเดิม จึงมีข้อเสนอว่า ควรเปิดให้มีการจัดเวทีระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 ในเชิงวิชาการและสันติ พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการสั่งฟ้อง ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย นอกจากนี้ เขากล่าวว่า ควรมีการนิยามข้อบังคับกฎหมายดังกล่าวให้ชัดเจนมากกว่าเดิมด้วย

แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี อธิบายว่า การหมิ่นสถาบันฯ ในระยะหลังๆ ได้เพิ่มขึ้นสูงมาก เนื่องมาจากความไม่หวังดีของกลุ่มคนเสื้อแดงที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนักการเมืองโดยเฉพาะอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงประเทศและเข้าแทรกแซงกระบวนการต่างๆ ของไทย ทั้งตุลาการ ศาล และสถาบัน ทำให้ประชาชนที่อยู่ในชนบทและขาดการศึกษาตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง

นพ. ตุลย์ กล่าวว่า กลุ่มที่รณรงค์แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่น นิติราษฎร์ กลุ่ม ครก. 112 หรือกลุ่มที่รณรงค์เพื่อความตื่นรู้ ที่มุ่งจัดเวทีให้ความรู้ความเข้าใจในจังหวัดต่างๆ นั้น แท้จริงแล้วมีเบื้องหลัง และอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในแง่มุมต่างๆ และอาจส่งผลเสียตามมาต่อประเทศไทยได้ เขาจึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนิติราษฎร์

ทั้งนี้ เขาระบุว่า เขาเองยินดีที่จะร่วมเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนและถกเถียงกับกลุ่มที่เสนอให้แก้ไข ม. 112 เช่น นิติราษฎร์ ตราบใดที่การพูดคุยนั้นเป็นอย่างสันติและเชิงวิชาการ อย่างไรก็ตาม นพ.ตุลย์กล่าวว่า ไม่ต้องการที่จะร่วมพูดคุยในประเด็นดังกล่าวออกอากาศทางโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นเรื่องอ่อนไหวและอาจถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีเอาไปโจมตีได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่ฝ่ายเสนอให้แก้ม. 112 ชี้ว่าจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อเป็นการรักษาสถาบันฯ นพ.ตุลย์ตอบว่า นั่นเป็นเพียงการกล่าวอ้างและ “โฆษณาชวนเชื่อ” เท่านั้น เพราะตนเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับการรักษาสถาบันแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น นอกจากนี้ยังชี้ว่า กลุ่มนิติราษฎร์เป็นเพียงกลุ่มทางวิชาการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ และไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมายอย่างรอบด้าน

“ปกติแล้ว ถ้าอาชญากรรมนั้นมีเพิ่มสูงขึ้น การลงโทษก็ต้องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยเพื่อที่จะหยุดยั้งมัน หากแต่ข้อเสนอจากดุษฎีบัณฑิตทางด้านกฎหมายอย่างวรเจตน์ ที่บอกว่า ต้องลดบทลงโทษ เพื่อที่จะให้คดีหมิ่นฯ ลดน้อยลงนั่น ผมจินตนาการไม่ออกเลย ยังไงผมก็ไม่เห็นด้วย ผมเองเป็นหมอ และหากว่าผมมีไข้หรือเจ็บป่วย ผมก็ต้องใส่ยาที่แรงขึ้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหยุดให้ยาหรือให้น้อยลง” นพ. ตุลย์กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ความคิดเห็นว่า หากยังมีการพยายามปิดกั้นพื้นที่ในการถกเถียงเรื่องสถาบันฯ ในสังคมไทย โดยอ้างว่ากลัวความวุ่นวาย อาจจะเป็นอันตรายมากขึ้นในระยะยาวได้ นพ.ตุลย์ชี้ว่า สังคมไทยยังไม่พร้อมในการถกเถียงทางวิชาการที่สันติ เนื่องจากคนไทยยังขาดการศึกษาอยู่มาก

นอกจากนี้ นพ.ตุลย์ยังเชื่อว่า กรณีการตัดสินจำคุกอากง 20 ปี และโจ กอร์ดอน เป็นการจัดฉากขึ้น เพื่อให้กลุ่มที่ต้องการแก้ไข ม. 112 ใช้เป็นข้ออ้าง และเป็นแผนการของทักษิณ ชินวัตร

ในช่วงท้าย นิรมล โฆษ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ของสิงคโปร์ตั้งข้อสังเกตว่า นพ.ตุลย์มักใช้คำว่า “ชาวไทย” “คนไทย” บ่อยครั้ง จึงอยากทราบว่า นพ.ตุลย์หมายถึงใครบ้าง เพราะคนอย่าง นพ.ตุลย์และคนเสื้อแดง ก็เป็นผลผลิตจากสังคมเดียวกัน

แกนนำเสื้อหลากสีจึงได้ตอบว่า เราทั้งหมดเป็นคนไทยด้วยกัน บ้างเป็นอิสระ บ้างตกอยู่ในพันธนาการของนักการเมืองที่ต้องการอำนาจ ตอนนี้นักการเมืองทุกคนต้องสังกัดพรรคการเมือง นี่ต่างจากประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ

“สภาพจริงๆ ตอนนี้เหมือนเกษตรพันธะสัญญา หัวหน้าหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อย่าง “หัวคะแนน” ผมไม่แน่ใจภาษาอังกฤษเรียกอะไร คือคนที่ได้รับเงินแล้วเอาไปจ่ายเพื่อให้ประชาชนที่ยากจนมาสนับสนุน ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ พวกเขาก็จะเลือกตามหัวคะแนน ดังนั้นพวกเขาไม่ใช่เสรีชน เขาเป็นคนไทย เป็นคนไทยที่ยากจน ครอบครัวของผมก็เหมือนคนเหล่านี้ ปู่ย่าตายายผมเป็นชาวนา แต่พวกเขาสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ พวกเขาไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงต่างจากประเทศอื่น”

ผมเสียใจ ผมรู้ และผมเกลียดสถานการณ์เช่นนี้มาก ผมอยากให้ทุกคนเป็นอิสระเหมือนอย่างผม หาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น นี่เป็นธรรมชาติของผมเลยนะ ถ้าพวกเขาเป็นเสรีชนและพวกเขาเสนอแบบนี้ (เสนอแก้ไข ม.112) ผมเห็นด้วยกับเขาเลย ถ้าข้อเสนอบางอย่างไม่ทำให้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะอันตราย ผมเห็นด้วยกับพวกเขา แต่ตอนนี้เหมือนสถานการณ์ถูกชักใยโดยนักธุรกิจ นักการเมือง นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเลย ถ้าคุณพิจารณาดีๆ นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเลย ตอนนี้เป็นเผด็จการโดยทหาร เผด็จการโดยนักการเมือง พวกเขาโหวตทุกเรื่องเพื่อเปลี่ยนทุกเรื่องในสภา และเราก็จับตาพวกเขา เฝ้าดูว่าพวกเขากำลังทำอะไรในสภา และผมกลัวว่าในอนาคตอันใกล้ประเทศจะตกอยู่ในภาวะล้มละลายเหมือนที่เกิดขึ้นกับบางประเทศ ผมไม่พูดชื่อประเทศนะ ก็ประเทศอย่างที่พวกคุณรู้

“พวกเขาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างโดยใช้อำนาจที่ได้มาจากคนจน 15 ล้านคะแนน แล้วพวกเขาบอกว่าชนะเลือกตั้ง เขาสามารถจะทำได้ทุกเรื่อง นี่คือประชาธิปไตยหรือ?” นพ.ตุลย์กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใจ อึ๊งภากรณ์: ความป่าเถื่อนของระบบศาลและคุกในประเทศไทย

Posted: 17 Feb 2012 04:54 AM PST

 

ระบบศาลและคุกในประเทศไทยเป็นระบบป่าเถื่อนที่ล้าหลังกว่ามาตรฐานสากลหลายร้อยปี และเป็นที่น่าอับอายขายหน้าชาวโลก แต่การที่ชนชั้นปกครองไทยไม่เคยสนใจที่จะสร้างวัฒนธรรมพลเมืองเสรี และไม่เคยเคารพความเป็นมนุษย์ของประชาชน เพราะมัวแต่มองว่าประชาชนเป็นเพียง “ราษฎร” ที่ควรจะเจียมตัวยอมรับการปกครองจากเบื้องบน ทำให้ชนชั้นปกครองไทยไร้จิตสำนึกโดยสิ้นเชิงในการพัฒนาระบบศาลและคุก
 
สำหรับฝ่ายประชาชนเอง ซึ่งเจ็บปวดกับสภาพสังคมในหลายด้าน ก็ถูกข่มขู่ ฆ่าหรือขัง เมื่อลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ พร้อมกันนั้น ในปัจจุบัน พรรคเพื่อไทย และแม้แต่แกนนำ “นปช. แดงทั้งแผ่นดิน” ก็ไม่เคยสนใจเรื่องระบบยุติธรรม และในกรณีพรรคเพื่อไทยมีการจงใจแช่แข็งความป่าเถื่อนผ่านการจับมือกับทหารอีกด้วย
 
อย่างไรก็ตามการตื่นตัวของพลเมือง ทั้งเสื้อแดงบางส่วน และคนที่ไม่สังกัดสีอีกส่วน ภายใต้กระแสนิติราษฎร์ และการแก้ไขกฎหมาย 112 แสดงว่าพลเมืองไทยไม่น้อยพร้อมที่จะเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสังคมอย่างจริงจัง ดังนั้นถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะมาร่วมกันพิจารณาปัญหาความป่าเถื่อนของระบบศาลและคุกในประเทศไทย เพราะสภาพความย่ำแย่ของระบบ “ยุติธรรม” และสภาพคุกในไทย ถูกเปิดโปงจากวิกฤตทางการเมือง
 
โดยรวมแล้วปัญหาของระบบศาลและคุกไทย สามารถแบ่งเป็นหัวข้อสำคัญๆ ดังนี้คือ
 
1. ผู้พิพากษาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในระบบเผด็จการมาตลอด และไม่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ และตรวจสอบโดยประชาชน ตามกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อการสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรม เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งผู้พิพากษาและการมองว่าเขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่ต้องได้รับการตรวจสอบจากสังคม มีการใช้ “กฎหมายหมิ่นศาล” ในลักษณะเดียวกับกฎหมาย 112 เพื่อบังคับกีดกันไม่ให้ใครวิจารณ์คำตัดสินของศาลและกระบวนการของศาล แต่ในหลักสากล “การหมิ่นศาล” มีความหมายต่างออกไปคือ คนที่ “หมิ่นศาล” เป็นเพียงคนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเท่านั้น ส่วนใครจะวิจารณ์ผู้พิพากษา การตัดสินของศาล หรือกระบวนการของศาล ทุกคนทำได้อย่างเสรี ตามสิทธิในระบบประชาธิปไตย
 
นอกจากนี้ในระบบศาลไทย พลเมืองธรรมดาไม่มีส่วนร่วมเลย เพราะไม่มีระบบลูกขุนที่คัดเลือกจากประชาชนโดยไม่เลือกหน้า ระบบลูกขุนและการมีส่วนร่วมของพลเมือง มีความสำคัญในการคานอำนาจความอคติของผู้พิพากษา ลูกขุนมีสิทธิ์ตัดสินว่าผู้ต้องหาผิดหรือไม่ ส่วนผู้พิพากษามีหน้าที่ชี้แจงประเด็นกฎหมาย และลงโทษผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด ระบบนี้เป็นระบบที่ขยายพื้นที่ประชาธิปไตยเข้าสู่ระบบศาล
 
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักโทษการเมือง ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย นักโทษการเมืองคือคนที่ติดคุกอันเนื่องมาจากการแสดงความเห็นทางการเมือง โดยที่ไม่มีการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด นี่คือบทพิสูจน์ว่าทั้งศาล คุก และกฏหมายไทย รับใช้ผู้มีอำนาจเผด็จการ
 
2. ผู้พิพากษา ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศาล ไร้ความเคารพต่อพลเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบศาลโดยสิ้นเชิง โดยมองว่าประชาชนเหล่านั้นเป็นคนชั้นต่ำที่ “ย่อมทำความผิด” ผู้พิพากษา ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศาล ไม่เคยมองว่าตนควรจะบริการรับใช้ประชาชนแต่อย่างใด
 
บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะใช้ท่าทีเหยียดหยามดูหมิ่นประชาชน มีหลายกรณีที่ผู้พิพากษาไม่ยอมลงมาตัดสินคดีในห้องศาล ผู้ต้องหาจึงต้องคุยกับผู้พิพากษาผ่านโทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งเป็นการกีดกันระบบยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพในการชี้แจงข้อมูลให้ผู้พิพากษาอย่างเต็มที่ ในกรณีอื่นผู้พิพากษาบังอาจใช้เสียงในการอ่านคำตัดสินคดีค่อยเกินไป จนผู้ต้องหาและประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิที่จะรับฟัง ซึ่งขัดกับกระบวนการยุติธรรมพื้นฐาน
 
มีหลายกรณีที่ผู้ต้องหาถูกขังไว้ในรถขังนักโทษกลางแดดหลายชั่วโมง มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ศาลจงใจกลั่นแกล้งผู้ที่จะมาประกันผู้ต้องหา เพื่อให้ “นักประกันธุรกิจ” ได้ประโยชน์จากความทุกข์ของประชาชน
 
ในกรณีคดี 112 ประชาชนทั่วไปไม่สามารถร่วมพิจารณาคดีได้ และไม่สามารถตรวจสอบความเที่ยงตรงของศาลได้ เพราะสื่อจะถูกห้ามไม่ให้รายงานรายละเอียดของคดีทุกครั้ง
 
3. ระบบศาลในไทย ไม่ปฏิบัติตามหลักพื้นฐานที่ถือว่าผู้ต้องหาทุกคนบริสุทธิ์ก่อนที่จะมีการตัดสินคดี ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ระบุไว้เป็นนามธรรมในรัฐธรรมนูญ ศาลไทยมอง “ผู้ต้องหา” ว่า “ผิดแต่แรก” โดยเฉพาะคดีการเมืองเช่น 112  ไม่มีการประกันตัว พร้อมกันนั้นมีการกีดกันไม่ให้คนจนในคดีธรรมดาสามารถได้รับการประกันตัว เพราะต้องหาหลักประกันสูงเกินไป สรุปแล้วผู้ที่ควรจะถูกมองว่าเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ก่อนตัดสินคดี ถูกคุมขังเป็นเวลานานโดยไม่เป็นธรรม
 
การที่รัฐบาลไทยรักไทยในอดีตเคยสั่งให้เจ้าหน้าที่ฆ่าผู้ต้องสงสัยว่าค้ายาเสพติด ก่อนที่จะนำมาขึ้นศาล เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมหาศาล เพราะขัดกับหลักการณ์ที่ถือว่าผู้ต้องหาทุกคนบริสุทธิ์ก่อนที่จะมีการตัดสินคดี
 
การที่ทหารและนักการเมืองสั่งฆ่าประชาชน โดยใช้ข้อแก้ตัวว่าเขาเป็นพวก “ล้มเจ้า” หรือ “ผู้ก่อการร้าย” โดยไม่มีการนำมาขึ้นศาลก่อน ถือว่าขัดกับหลักการณ์ที่ถือว่าผู้ต้องหาทุกคนบริสุทธิ์ก่อนที่จะมีการตัดสินคดี
 
นอกจากนี้มีปัญหาใหญ่ในเรื่องการล่ามโซ่และการบังคับใส่ชุดนักโทษ
 
4. การล่ามโซ่และบังคับให้ผู้ต้องหาที่อยู่ในขั้นตอนก่อนตัดสินคดี ต้องแต่งชุดนักโทษ เป็นการละเมิดมาตรฐานยุติธรรมพื้นฐาน เพราะคนเหล่านี้ควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การที่ผู้ต้องหาเหล่านี้ต้องเข้าไปในห้องศาลในสภาพแบบนั้น แทนที่จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าของตนเองและปราศจากโซ่ เป็นการสร้างภาพในห้องศาลว่าคนนี้เป็น “ผู้ร้าย” ซึ่งแน่นอนจะมีผลต่อการตัดสินคดี นอกจากนี้การล่ามโซ่เป็นการปฏิบัติแบบป่าเถื่อน ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และทำให้ไทยล้าหลังประเทศอารยะทั้งหลายในโลก เพราะปฏิบัติต่อนักโทษเหมือนสมัย “ยุคกลาง”
 
5. ในระบบศาลและคุกไทย และในสังคมไทยโดยรวม ไม่มีการมองถึง “สิทธิมนุษยชน” ของนักโทษที่ได้รับการตัดสินคดีไปแล้ว แต่อย่างใด การปฏิบัติต่อนักโทษจึงขาดแง่ของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง เรื่องนี้เป็นผลพวงของสังคมที่คลั่งลำดับชนชั้น โดยที่ผู้น้อยต้องคลานหรือก้มหัวเมื่อเข้าไปหาผู้ใหญ่ คนที่เป็นนักโทษอาจทำความผิดไปแล้ว  ตามกฏหมายของสังคม แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ ทุกคนสามารถผิดพลาดได้ แต่สำหรับประชาชนตาดำๆ ธรรมดา การทำอะไรผิดกฏหมายกลายเป็นเงื่อนไขที่จะปฏิบัติต่อเขาเหมือนกับว่าเขาเป็นแค่สัตว์
 
6. สภาพคุกไทย แย่พอๆ กับสภาพกรงสัตว์ ไม่มีการคำนึงถึงความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด และเราจะสังเกตได้ว่าในทุกประเทศของโลก สภาพคุกเป็นเครื่องชี้วัดถึงความอารยะหรือความป่าเถื่อนของสังคม มันเป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้าที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสังคมป่าเถื่อนของโลก มีการให้นักโทษติดโซ่นอนถึงสามสิบคนต่อห้องเดียว บางครั้งไม่มีเตียง สภาพห้องน้ำย่ำแย่ อาหารก็แย่ ไม่มีห้องสมุด ไม่มีวิธีการออกกำลังกายที่สร้างสรรค์ ไม่มีโอกาสที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง และเจ้าหน้าที่คุกก็เต็มไปด้วยพฤติกรรมคอร์รับชั่น นอกจากนี้สังคมไทยใช้นักโทษในการทำงานขุดโคลนออกจากท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นงานสกปรก อันตราย และขาดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
7. คุกไทยเต็มไปด้วยคนจน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีคดีประเภท “ลักขโมย” หรือคดียาเสพติด สังคมไทยไม่มีการถกเถียงและพิจารณาว่ามีระบบคุกไว้ทำไม คือเพื่อแก้แข้น? เพื่อลงโทษ? หรือเพื่อปกป้องสังคมจากคนอันตราย? และไม่มีการพิจารณาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุของการลักขโมย หรือสาเหตุของการใช้ยาเสพติด เพื่อหาทางแก้ไขแต่แรกโดยไม่ใช้ความรุนแรงป่าเถื่อน คำตอบของชนชั้นปกครองป่าเถื่อนของไทย สำหรับคนจนคือ ขัง ขัง ขัง ลงโทษ ลงโทษ ลงโทษ นี่คือวัฒนธรรมล้าหลังที่พวกอนุรักษ์นิยมต้องการปกป้องมากมายเหลือเกิน
 
โทษประหารเป็นการแก้แค้นเท่านั้น เพราะไม่มีผลในการลดอาชญากรรม ไม่มีผลในการส่งเสริมให้คนปรับตัว มันเป็นเพียงการใช้ความรุนแรงป่าเถื่อน และบ่อยครั้งคนที่ถูกรัฐฆ่า อาจเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกตัดสินผิดด้วย
 
การลักขโมยมีต้นเหตุจากความยากจนในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ในไทยคนรวยรวยเท่าเศรษฐีสากล แต่คนจนจนเท่าประชาชนโลกที่สาม ไทยไม่มีรัฐสวัสดิการ ไม่มีการลดความเหลื่อมล้ำ และลัทธิเศรษฐกิจที่ชนชั้นปกครองมักใช้ จะเน้นกลไกตลาดแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” และการจงใจแช่แข็งความเหลื่อมล้ำผ่านการสั่งสอนให้คนจน “รู้จักออม”
 
ปัญหายาเสพติดถูกทำให้แย่มากขึ้นผ่านการปกปิดข้อมูลจริงเรื่องผลของการใช้ยา ซึ่งทำให้ประชาชนบริหารชีวิตยากขึ้น และสภาพการทำงานหลายต่อหลายชั่วโมง ก็มีส่วนในการส่งเสริมการใช้ยากระตุ้นต่างๆ อีกด้วย
 
คุกไทยมีนักโทษมากเกินไป ควรลดจำนวนนักโทษให้เหลือแต่คนที่เป็นอันตรายสูงต่อเพื่อมนุษย์ในสังคมเท่านั้น และไม่ควรมีนักโทษการเมืองแม้แต่คนเดียว
 
8. คนรวย คนที่มีเส้น นายพลระดับสูง นักการเมืองที่ใกล้ชิดกับทหารหรืออำมาตย์ ลูกชายนักการเมือง ฯลฯ ไม่เคยต้องรับโทษหรือถูกพิพากษาในระบบไทย คนที่ฆ่าประชาชนเป็นหมู่ เช่นแกนนำรัฐบาลประชาธิปัตย์ และผู้บังคับบัญชาทหารในปี ๒๕๕๓  และคนที่เคยก่อเหตุนองเลือดในอดีต มักลอยนวลเสมอ ดังนั้นเราต้องสรุปว่าระบบศาลและคุกไทยมีไว้ลงโทษ กลั่นแกล้ง และกดขี่คนชั้นล่างเท่านั้น เพื่อให้ถูกปกครอง และเพื่อไม่ให้มีประชาธิปไตยกับสิทธิเสรีภาพ ศาลและคุกไทยไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างความยุตธรรมแต่อย่างใด มีไว้เพื่อแช่แข็งระบบสองมาตรฐาน
 
ถ้าเราจะพูดถึงคดีการเมืองในไทย เราจะเห็นว่าการวิจารณ์ผู้มีอำนาจหรือสัญญลักษณ์ที่ทหารใช้ในการให้ความชอบธรรมกับตนเอง ทำให้ประชาชนติดคุกได้ แต่การทำลายระบบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขด้วยการทำรัฐประหาร เป็นเงื่อนไขในการได้ดิบได้ดีในสังคม
 
9. การลงโทษในระบบศาลไทย ไม่สมเหตุสมผล คดีฆ่าคน หรือทำร้ายคน จะได้รับโทษเบากว่าคดี 112 ซึ่งมาจากการแสดงความเห็นต่อระบบการเมือง โดยที่ผู้กระทำไม่เคยใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด อันนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ว่าศาลและคุกไทยมีไว้เพื่อแช่แข็งสองมาตรฐานของชนชั้นปกครอง
 
ทั้งหมดนี้ฟ้องถึงความย่ำแย่ป่าเถื่อนของระบบศาลและคุกในประเทศไทย ถ้าเราจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงให้สังคมเราเป็นสังคมอารยะตามมาตรฐานสากล เราต้องนำผู้มีอิทธิพลทั้งหลายที่เคยฆ่าประชาชนหรือทำรัฐประหาร มาลงโทษ เราต้องลดอำนาจมืดในระบบการเมืองและเพิ่มอำนาจประชาชน เราต้องปลดผู้พิพากษาที่ไม่มีจิตวิญญาณแห่งความยุติธรรมออกไป เราต้องแก้หรือยกเลิกกฏหมายต่างๆ ที่สนับสนุนเผด็จการและความป่าเถื่อน และเราต้องเริ่มสร้าง “วัฒนธรรมพลเมือง” ที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับทุกคน แม้แต่นักโทษ
 
สังคมไทยในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ไม่เคยเคารพความเป็นพลเมืองของคนส่วนใหญ่ ไม่เคยเคารพสิทธิของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และไม่เคยเคารพความเป็นมนุษย์ของนักโทษเลย
 
การ “ปรองดอง” ยอมจำนนต่ออำนาจทหาร ที่รัฐบาลทำอยู่ ไม่ใช่คำตอบ เพราะปัญหาจะยิ่งแย่ลง คำตอบคือเราควรร่วมกันสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ และช่วยกันพัฒนาการปฏิรูปในขั้นตอนต่อไปจากนั้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปปง.เตรียมแจงจันทร์นี้หลัง FATF ขึ้นบัญชีดำไทยไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานฟอกเงิน

Posted: 17 Feb 2012 04:43 AM PST

เลขาธิการ ปปง. เตรียมแถลงข่าวกรณีคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ขึ้นบัญชีดำประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสกัดการฟอกเงิน วันจันทร์ที่ 20 ก.พ.นี้
 
17 ก.พ. 55 - สำนักข่าวไทยรายงานว่าหลังจากคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force on Money Laundering – FATF)  ขึ้นบัญชีดำไทย รวมทั้งประเทศอื่น คือ ปากีสถาน, อินโดนีเซีย, กานา และแทนซาเนีย ในรายชื่อประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสกัดการฟอกเงิน และการให้ทุนสนับสนุนการก่อการร้าย 
 
รายงานข่าวจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แจ้งว่า ขณะนี้ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง.อยู่ระหว่างการร่วมประชุม คณะทำงา FATF ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 13-20 ก.พ.นี้ และจะกลับมาแถลงข่าวกรณีดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 13.00 น.โดยจะแถลงข่าวใน 3 ประเด็น คือ 1.การดำเนินงานในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของไทย  2.ปัญหาข้อบกพร่องของประเทศไทยที่สำคัญๆ ประเด็นเหล่านี้เป็นข้อสังเกตจาก FATF ว่าฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจังในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย  3. ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทย ที่ถูกขึ้นบัญชีดำเรื่องการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism - AML/CFT)  
 
ทั้งนี้ เนื้อข่าวตามเว็บไซต์ของ FATF ระบุว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีการรับรองจากฝ่ายการเมืองที่จะดำเนินความร่วมมือกับ FATF และ กลุ่มความร่วมมือต่อด้านในการฟอกเงินเอเชีย-แปซิฟิก (The Asia-Pacific Group on Money Laundering-APG) ในการปรับปรุงข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) แต่ไม่มีความคืบหน้าอย่างเพียงพอในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ และยังคงมีข้อบกพร่องทางยุทธศาสตร์ แม้ว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการตรากฎหมายที่จำเป็นตั้งแต่ พ.ศ. 2552 - 2554 ประเทศไทยมีการดำเนินการปรับปรุงระบบ AML/CFT และมีการประเมินความเสี่ยงในภาคการเงินแล้วเสร็จ ประเทศไทยควรดำเนินการตามแผนปฏิบัติการในการปรับปรุงข้อบกพร่องทางยุทธศาสตร์ที่เหลือ รวมถึง (1) การกำหนดให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายเป็นความผิดอาญาอย่างเหมาะสม (ข้อแนะนำพิเศษที่ II) (2) กำหนดและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในการระบุและยึด/อายัดทรัพย์สินของผู้ก่อการร้าย (ข้อแนะนำพิเศษที่ III) และ (3) มีการกำกับดูแลด้าน AML/CFT ที่เข้มข้นขึ้น (ข้อแนะนำที่ 23) FATF กระตุ้นเตือนให้ประเทศไทยดำเนินการกับข้อบกพร่องที่เหลืออยู่ และดำเนินการตามแผนปฏิบัติการต่อไป
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เหยื่อร่ำไห้กลางศาลปกครอง สะเทือนใจถูกซ้อมพร้อมอิหม่ามยะผา

Posted: 17 Feb 2012 04:30 AM PST

นายรายู ดอคอ ร่ำไห้กลางศาลปกครองสงขลา สะเทือนใจเหตุถูกซ้อมทรมานพร้อมอิหม่ามยะผา ตุลาการนัดพิพากษาคดีฟ้องเรียกค่าเสียหาย 14 มีนาคม 2555

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ศาลปกครองสงขลา นายสมยศ วัฒนภิรมณ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสงขลา พร้อมองค์คณะขึ้นนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 94/2553 ระหว่างนายรายู ดอคอ ผู้ฟ้อง กับกระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1- 4 โดยนายรายูฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด เป็นเงิน 1,631,400 บาท โดยผู้ฟ้องคดีและทนายมาศาล ส่วนผู้แทนผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไม่มาศาล

คดีนี้ นายรายูได้แจ้งความประสงค์ขอแถลงข้อเท็จจริงด้วยวาจาต่อศาล

นายรายูแถลงว่า ตนถูกควบคุมตัวพร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวของทหาร โดยตนถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานด้วย แต่หลังจากนายรายูแถลงได้ประมาณ 10 นาที นายรายูเริ่มมีสีหน้าเศร้าพร้อมกับมีน้ำตาคลอ จนทำให้การแถลงติดขัด นายรายูจึงแถลงต่อศาลว่า ตนไม่สามารถแถลงข้อเท็จจริงได้อีกต่อไปจนจบ เพราะรู้อัดอั้นตันใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตน

ขณะเดียวกันญาติของนายรายู ซึ่งมาฟังการพิจารณาคดีด้วยประมาณ 3 – 4 คน ต่างก็ร้องไห้ออกมาด้วย

นายสมยศ จึงอนุญาตให้หยุดการแถลงข้อเท็จจริงได้ พร้อมกับแถลงว่า ศาลสามารถพิจารณาข้อเท็จจากเอกสารแถลงการณ์ที่ทนายของผู้ฟ้องได้ยืนต่อศาลมาแล้วได้

ศาลจึงกำหนดวันอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 14 มีนาคม 2555 

สำหรับองค์คณะตุลาการพิจารณาคดีนี้ ประกอบด้วย นายสมยศ นายสมมาศ รัฐพิทักษ์สันติ และนายสุทธิพงศ์ เชาวนาดิศัย ส่วนตุลาการผู้แถลงคดี คือนางนัทธมน อิ่มสะอาด

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า สำหรับเหตุแห่งคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 เมื่อทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 39 ร่วมกับตำรวจสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ร่วมกันปิดล้อม ตรวจ ค้น และควบคุมตัวนายรายู ดอคอ ที่บ้านเลขที่ 51/1 หมู่ที่ 5 ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งอีกว่า จากนั้นนำตัวไปควบคุมตัวพร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง กับลูกและหลานของอิหม่ามยะผา รวมทั้งหมด 7 คน โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกและนำตัวนายรายูกับพวกไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยกล่าวหาว่า นายรายูกับพวกเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ และนายรายูมีส่วนร่วมในการฆ่าผู้อื่นในอำเภอรือเสาะ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งต่อไปว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวนายรายูกับพวกไปควบคุมตัวที่หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 ที่วัดสวนธรรม ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ โดยขังไว้ในรถบรรทุกหกล้อสำหรับรับส่งผู้ต้องหาของสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า นายรายู ถูกนำตัวไปซักถามและถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ จากการทรมานอย่างทารุณโหดร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นเหตุให้นายรายู ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งด้วยว่า ศาลปกครองสงขลารับฟ้องคดีและอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามที่ผู้ฟ้องคดียื่นขอ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งเพิ่มเติมว่า คดีนี้นายรายูได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 19 มีนาคม2552 ด้วย แต่ศาลแพ่งเห็นว่าคดีนี้อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลปกครอง ศาลแพ่งจึงสั่งจำหน่ายคดี นายรายูจึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองสงขลาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: คณะนิติราษฎร์คือรถไฟขบวนสุดท้าย

Posted: 17 Feb 2012 04:24 AM PST

วิกฤตการเมืองไทยปัจจุบัน เริ่มเมื่อต้นปี 2549 ผ่านรัฐประหาร 19 กันยายน ได้ยืดเยื้อมากว่าห้าปี นี่เป็นการต่อสู้ระหว่างพลังสองฝ่ายที่ช่วงชิงกันว่า ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน ระหว่างเผด็จการในอดีต กับประชาธิปไตยในอนาคต

ความขัดแย้งได้คลี่คลายขยายตัวจากการต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธ ไปสู่การใช้กำลังรุนแรงอย่างเปิดเผย และฝ่ายที่ลงมือกระทำก่อนก็คือ ฝ่ายเผด็จการ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการชักใยให้กลุ่มอันธพาลการเมือง “พันธมิตรประชาชนเพี่อประชาธิปไตย” ออกมาก่อการจลาจลบนท้องถนน บั่นทอนรัฐบาลไทยรักไทยที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ตามด้วยการใช้องค์กรตุลาการในมือเชือดเฉือนรัฐบาลทีละน้อย ๆ แล้วลงมือเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วย รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

การก่อตัวของฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านรัฐประหารได้เป็นไปอย่างช้า ๆ จากการชุมนุม เดินขบวน ปะทุเป็นการเข้าเผชิญหน้าโดยตรงกับระบอบเผด็จการแฝงเร้น ตั้งแต่การเสียสละชีพของ “ลุงนวมทอง ไพรวัลย์” นายณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง ยกระดับขึ้นเป็น “สงกรานต์เลือด เมษายน 2552” ถึง “การสังหารหมู่ประชาชน เมษายน-พฤษภาคม 2553” รวมแล้ว เสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บหลายพันคน ทั้งหมดนี้ทำให้ “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการยึดอำนาจที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย”

แล้วความขัดแย้งใหญ่ครั้งนี้ จะคลี่คลายขยายตัวต่อไปอย่างไร?

เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยก่อตัวขึ้นเป็นขบวนการคนเสื้อแดงอย่างชัดเจนในกลางปี 2551 จนถึง “สงกรานต์เลือด เมษายน 2552” ยุติลง โอกาสที่ความขัดแย้งนี้จะได้รับการแก้ไขโดยสันติยังมีอยู่ เนื่องจาก แม้จะถูกทำร้ายด้วยกำลังอาวุธเป็นครั้งแรก แต่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช) ในเวลานั้นก็ยังหวังที่จะเห็นการประนีประนอมจากฝ่ายปกครองเผด็จการอยู่

ความหวังนี้เองที่นำมาซึ่งการชุมนุมครั้งใหญ่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 เรียกร้องให้ยุบสภาและมีการเลือกตั้ง โดยเชื่อว่า ระหว่างการเข่นฆ่าประชาชนกับการยอมยุบสภา ฝ่ายปกครองจะเลือกประการหลังและจะยอมรับผลการเลือกตั้งที่คาดว่า พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะได้ชัยชนะ เป็นการยุติความขัดแย้งทั้งมวลลงอย่างสันติ

แต่การชุมนุมใหญ่เมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็จบลงด้วยการปราบปรามประชาชนอย่างนองเลือดที่สุดเท่าที่เคยมีมา ความหวังของประชาชนที่จะบรรลุประชาธิปไตยโดยไม่ต้องแตกหักกับฝ่ายเผด็จการแฝงเร้นก็เป็นอันสูญสิ้นไป ดูเหมือนว่า นับแต่นี้ ความขัดแย้งมีแต่จะขยายตัวไปสู่การนองเลือดอีก ไม่ช้าก็เร็ว

แม้แนวร่วมพรรคเพื่อไทยกับขบวนการคนเสื้อแดงจะชนะเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 ฝ่ายประชาธิปไตยก็รู้ดีว่า นี่เป็นชัยชนะเฉพาะหน้า และคาดว่า จะต้องเผชิญกับการโต้กลับของฝ่ายเผด็จการอีก เช่นเดียวกับที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้ถูกกระทำมาแล้วในช่วงปี 2551 ฝ่ายประชาชนจึงเฝ้ารอเตรียมพร้อมรับอย่างเต็มที่

แต่แล้ว ก็เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า คณะนิติราษฎร์ เสนอทางออกจากวิกฤตการเมืองปัจจุบันด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในกรอบรัฐธรรมนูญสามฉบับของคณะราษฎร นี่คือความปรารถนาดีของปัญญาชนนักวิชาการที่รักความเป็นธรรม ที่ไม่ต้องการให้มีการนองเลือดอีกต่อไปและให้บรรลุประชาธิปไตยอย่างสันติ

นี่จึงเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับฝ่ายเผด็จการแฝงเร้นที่จะถอยออกไปโดยยังคงรักษาที่ยืนในสังคมไทยไว้ได้ ท่าทีของฝ่ายเผด็จการต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จะเป็นตัวชี้ว่า วิกฤตการเมืองครั้งนี้ ประเทศไทยจะไปบรรลุประชาธิปไตยโดยมีเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นการนองเลือดครั้งสุดท้าย หรือวิกฤตครั้งนี้จะยกระดับขึ้นเป็นสงครามกลางเมืองที่นองเลือดก่อนจะบรรลุประชาธิปไตย ดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วในบรรดาประเทศอารยะ

แต่การตอบโต้จากฝ่ายเผด็จการก็มิได้ผิดไปจากความคาดหมาย เพราะจาก 6 ตุลาคม 2519 ถึงวันนี้ พวกเขาก็ยังคงเป็นพวกเผด็จอำนาจ ปฏิกิริยาถอยหลังเข้าคลองอย่างที่สุดเหมือนเดิม จึงไม่แปลกที่บรรดาเครือข่ายเผด็จการทั้งกลุ่มอันธพาลอดีตเสื้อเหลืองที่แปลงเป็นเสื้อหลากสี สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนใหญ่ ไปจนถึงกลุ่มนายทหาร พากันดาหน้าออกมาส่งเสียงคำราม โกรธเกรี้ยว ข่มขู่ แสดงอาการกระหายเลือดกันถ้วนหน้า

และที่น่าสมเพชที่สุดคือ พวกนักวิชาการและนักกฎหมายทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ที่มีจิตใจอิงแอบอยู่กับเผด็จการและเคยรับใช้รัฐประหาร 19 กันยายน ก็มิได้เสนอการถกเถียงอันมีสาระทางปัญญาหรือทางวิชาการอะไรเลย นอกไปจากการประสานเสียงกับกลุ่มข้างต้น โจมตีใส่ไคล้ ข่มขู่คุกคามคณะนิติราษฎร์อย่างกระหายเลือดไม่แตกต่างกัน พวกเขาบางคนถึงกับคร่ำครวญ ร่ำร้องเรียกหารัฐประหารกันอย่างไร้ยางอาย

แม้แต่นักวิชาการที่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ก็ยังใช้อำนาจในมือไปกดดันคณะนิติราษฎร์ กระทั่งส่อนัยว่า “อาจใช้มาตราการทางวินัย” ต่อคณะนิติราษฎร์ โดยลืมไปว่า ตำแหน่งบริหารนั้นเป็นของชั่วคราว แต่ที่เป็นสิ่งถาวรติดตัวไปจนวันตายนั้นคือ ความเป็นนักวิชาการและความเป็นนักกฎหมายที่จะต้องซื่อตรงต่อหลักการและวิชาชีพของตน

แทนที่จะเห็นข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นความหวังดีและทางออกสุดท้ายเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดครั้งใหม่ ฝ่ายเผด็จการกลับพยายามฉวยใช้เป็นข้ออ้าง สร้าง “กระแสคลั่งเจ้า” ในหมู่ประชาชน ปลุกปั่นความเกลียดชังต่อคณะนิติราษฎร์อย่างสุดขั้ว สร้าง “6 ตุลา 2519” ขึ้นมาอีก เพื่อเป็นข้ออ้างนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กระทั่งก่อรัฐประหารเพื่อปราบปรามประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยอีกครั้ง

บางที ปรากฏการณ์ “คณะนิติราษฎร์” จะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า กลุ่มเผด็จการไทยก็มิได้แตกต่างไปจากพวกเผด็จการทั้งหลายในอดีตทั่วโลก คือล้วนดื้อดึงในอำนาจของตนไปจนถึงที่สุด โดยไม่ยี่หระว่า ฝ่ายประชาชนจะต้องสูญเสียล้มตายไปสักเพียงใด

สำหรับใครบางคนที่เชื่ออย่างผิด ๆ ว่า รัฐประหารและการใช้กำลังปราบปรามประชาชนในขอบเขตที่ใหญ่โตยิ่งกว่ากรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 จะเป็นการ “แก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ” ก็จงพินิจดูเหตุการณ์ในตะวันออกกลางที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เป็นเครื่องเตือนใจ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

CSR พลังอำนาจของ “ภาพลักษณ์” หรือ “มายาคติ” ลวงโลก?

Posted: 17 Feb 2012 03:17 AM PST

การแข่งขันในเกมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ทุกวันนี้เต็มไปด้วยการแข่งขัน และเกมสำคัญที่ธุรกิจต่อสู้ช่วงชิงความได้เปรียบกันอย่างรุนแรงเห็นจะเป็นเรื่องการตลาด

การตลาดสมัยใหม่มีความพยายามใช้ยุทธศาสตร์การยึดครองลูกค้าหรือผู้บริโภคโดยใช้กลยุทธ์ในการแข่งขันให้แนบเนียนและซึมลึกเข้าครอบงำจิตใจคนมากขึ้น

เครื่องมือที่สำคัญคือ การสื่อสารมวลชนอย่างบูรณาการ (IMC – Integrate Mass Communication) ซึ่งใช้สื่อหลากหลายรูปแบบสร้างข้อมูล และเรื่องราวต่างๆ เพื่อทำให้ผู้ชมผู้ฟังสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับยี่ห้อ และภาพลักษณ์ขององค์กรธุรกิจเหล่านั้น ในทิศทางที่บรรษัทวางแผน

การสื่อสารผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมถูกควักเอามาใช้หล่อหลอมอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภคซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนในบางครั้งผู้บริโภคจะจำภาพลักษณ์ของบรรษัทและสินค้าบริการของแต่ละยี่ห้อ ด้วยภาพลักษณ์ที่ปรากฏในโฆษณามากกว่าข้อมูลที่แท้จริงของสินค้าหรือกระบวนการผลิตสินค้าเหล่านั้น เช่น จำว่าสินค้าของบรรษัทนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมองข้ามไปว่าวิธีการผลิตสินค้าชนิดนี้จะต้องใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและก่อมลพิษสูง

สถานการณ์ปัจจุบันพลิกผันอย่างรวดเร็ว การตลาดจึงต้องพลิกแพลงไปตามภาวการณ์ การบริหารจัดการและการตลาดในช่วงวิกฤต จึงต้องพยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภัยจากน้ำมือมนุษย์ จึงเป็นวิกฤตที่ธุรกิจจำต้องช่วงชิงโอกาสเหล่านั้นให้กลับกลายเป็นโอกาส

การทำกิจกรรมทางสังคม ถือเป็นกิจกรรมทางการตลาดชนิดหนึ่ง โดยกิจกรรมเหล่านี้เป็นการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบทางสังคมของบรรษัท ตามหลัก CSR – Corporate Social Responsibility เป็นแนวทางหนึ่งที่ผลักดันให้องค์กรทางธุรกิจจำนวนมากได้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมทางสังคมโดยปันงบจากหมวดการประชาสัมพันธ์และการตลาดมาใช้ เพื่อสร้างกิจกรรมที่สามารถเชื่อม ความสัมพันธ์กับประชาชนได้ดี โดยเฉพาะในยามวิกฤตที่คนต้องการความช่วยเหลือและแบ่งปัน

อนึ่ง ปิแอร์ บูริดิเยอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เลื่องชื่อ ได้กล่าวถึงวิธีการแข่งขันในเกมว่าผู้เล่นทั้งหลายต้องแสวงหากลยุทธ์ต่างๆ มาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยความได้เปรียบเกิดจากการสั่งสมทุน 4 ประเภท คือ ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม และที่สำคัญมากคือ ทุนสัญลักษณ์

ทุนทางเศรษฐกิจ คือ ต้นทุนในการต่อสู้แข่งขันที่อยู่ในรูปแบบของทรัพยากร โอกาส และความสามารถในการนำทรัพยากรมาเสริมศักยภาพของการแข่งขัน เช่น ที่ดิน โรงงาน สิทธิในทรัพยากร ส่วนทุนทางสังคม คือ ฐานของเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่กับผู้อื่นในสังคม เช่น มีเครือญาติ เพื่อนฝูง คนรู้จัก ที่สามารถพึ่งพาอาศัย และช่วยเหลือกันได้ และทุนทางวัฒนธรรม คือ การสั่งสมสิ่งที่สังคมนั้นให้ความหมายว่าเป็นสิ่งทรงคุณค่า ควรแก่การนับถือชื่นชม เช่น การจบการศึกษาจากสถาบันมีชื่อเสียง การได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ เป็นต้น

ทุนสัญลักษณ์ คือ ภาพลักษณ์ หรือ สัญลักษณ์ ที่เกิดจากสร้างความรู้สึกอารมณ์ต่อสิ่งนั้น ให้ติด “ภาพ” เช่น การช่วยเหลือผู้อื่นคราวละน้อยๆ แต่ช่วยบ่อยๆ การบริจาคเพื่อการกุศล ซึ่งจะเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรให้คนในสังคมมองมาด้วยความรู้สึกชื่นชม จนไม่ตั้งข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้ว คนหรือองค์กรเหล่านั้นมีข้อมูล หรือข้อเท็จจริงอื่น ที่ปิดบังซ่อนเร้นไว้หรือไม่

สาเหตุที่ทุนประเภทนี้มีความสำคัญมากก็ด้วยเหตุที่สามารถครอบงำความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ของผู้คนได้อย่างแนบเนียน ซึ่งถือเป็นความรุนแรงอย่างที่สุดเพราะเป็นการเอาชนะด้วยการสร้างความชอบธรรมกดทับข้อเท็จจริงทั้งหลายที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้ภาพลักษณ์ที่สวยงาม ทรงคุณค่า เลิศหรู เพราะสิ่งที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์แสดงให้เห็นก็เป็นเพียงการเลือกเสนอความจริงด้านเดียว และปิดบังความจริงอื่นๆ ที่ไม่เป็นคุณกับภาพลักษณ์ของบรรษัท

ยุทธวิธีที่กำลังนิยมกันมาก คือ กลยุทธ์ที่หวังผลทางอ้อม เพราะแนบเนียนและครอบงำได้อย่างลึกซึ้งมากกว่า เนื่องจากผู้ที่ถูกครอบงำกลับไม่รู้สึกถึงการคุกคาม และยังเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว

บทความนี้มิได้กล่าวอย่างเหมารวมว่า บริษัทห้างร้านทุกแห่ง ทุกยี่ห้อจะใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ด้วยการทำกิจกรรมทางสังคมเพื่อครอบงำ และปิดบังความจริงเอาไว้ แต่ข้อสังเกตที่เกิดจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา และอาจจะมาถึงในอนาคต ก็คือ ไม่มีใครพูดถึงต้นเหตุของปัญหา และไม่มีการบ่งชี้ว่าใครเป็นผู้สร้างปัญหาตัวจริง

ดังนั้นการสร้างภาพลักษณ์ทั้งหลายขององค์กรต่างๆ ทั้งบรรษัทเอกชน หรือองค์กรภาครัฐ จึงเป็นการวางแผนอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการควบคุมความจริง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมคิดและเชื่อ บนข้อมูลที่นำเสนอผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ มากกว่าการมีประสบการณ์ตรง ดังนั้นเรื่องราวจำนวนมากที่ประชาชนรับรู้รับฟังผ่านสื่อจึงเป็นเพียงยอดน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ แต่ก้อนน้ำแข็งที่เป็นอันตรายนั้นจมอยู่ใต้ผิวน้ำ รอวันให้เรือเข้าชน จึงจะรู้ว่ามีมหันตภัยซ่อนอยู่ใต้ยอดน้ำแข็งนั้น

การทำประชาสัมพันธ์แบบสร้างภาพลักษณ์บนพื้นฐานของ CSR จึงอาจเป็นเพียงภาพมายา ที่สร้างมายาคติครอบงำคนในสังคมให้หลงเข้าใจว่า บรรษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคม

อย่างไรก็ดีเราควรผลักดันและตรวจสอบให้บรรษัทมีการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างครบวงจร มิใช่เพียงขั้นตอนการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์

ตามประมวลความรับผิดชอบทางสังคมของบรรษัทข้ามชาติที่จัดทำขึ้นโดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม (OECD) ได้กำหนดขอบเขตของความรับผิดชอบทางสังคมไว้ใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ
1. การรักษาสิ่งแวดล้อม
2. การคุ้มครองสิทธิแรงงาน
3. การประกันสิทธิมนุษยชน

ดังนั้นองค์กรที่จะสามารถอวดความเป็นบรรษัทที่รับผิดชอบสังคมได้อย่างภาคภูมิจึงต้องมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสิทธิแรงงาน และเคารพสิทธิมนุษยชน ในทุกกระบวนการทำธุรกิจของบรรษัท ตั้งแต่ขั้นตอน การผลิต การกระจาย การแลกเปลี่ยน หรือแม้กระทั่งกระตุ้นการบริโภคสินค้าหรือบริการของบรรษัท

ไม่มีใครจะลุกขึ้นมาทำสิ่งเหล่านี้เองเพราะมีต้นทุนในการปรับเปลี่ยนสูงมาก จึงเป็นหน้าที่ของสังคมที่จะกำกับควบคุม และผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง

สังคมจะรู้ว่าบรรษัทใดมีความรับผิดชอบก็ต่อเมื่อมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ซึ่งเป็นไปได้ยากที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาใช้เวลาและทรัพยากรสืบเสาะความจริงเอาเอง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐ และสื่อมวลชนที่มีศักยภาพแลหน้าที่โดยตรง

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการขุดค้นพฤติกรรมด้านลบของบรรษัทและองค์กรทั้งหลายจึงเป็นหน้าที่สำคัญที่มาพร้อมกับสถานะอันสูงส่งแห่งฐานันดรที่สี่

ความรุนแรงของการขยายพื้นที่ของระบบทุนนิยมผ่านกิจกรรมต่างๆ ทางธุรกิจและการตลาดเข้าไปยังชีวิตประจำวันของประชาชน จึงเป็นภารกิจสำคัญของฝ่ายการเมือง และการเมืองภาคประชาสังคม มิใช่เพียงการง่วนอยู่กับการจัดสรรอำนาจ

การเปิดโปง และการแก้ปัญหาการฟ้องหมิ่นประมาทโดยบรรษัท และการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขด้วยเช่นกัน
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิปราย ‘รัฐประหาร’ ใน ‘การปกครองระบอบประชาธิปไตย’ แจงลักษณะเฉพาะแบบไทยๆ

Posted: 17 Feb 2012 03:07 AM PST

‘ปูนเทพ ศิรินุพงษ์’ แจง 5 ลักษณะ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ไม่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน จ้องจับผิดนักการเมือง แต่ไม่ตรวจสอบคณะรัฐประหาร ด้าน ‘น.พ.กิติภูมิ จุฑาสมิต’ ชี้ไทยมีข้ออ้างทำรัฐประหาร ทั้งเพื่อระงับเหตุรุนแรง เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อสถาบัน

 
 
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธุ์ 2555 เวลา 13.00 น.คณะศิลปะศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดงานอภิปรายสาธารณะ ในหัวข้อ “รัฐประหารในการปกครองระบอบประชาธิปไตย” วิทยากรประกอบด้วย นายปูนเทพ ศิรินุพงษ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนจากคณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร และน.พ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาลพาลภูสิงห์ จ.ศรีษะเกษ โดยมีนักศึกษาและประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังประมาณ 400 คน
 
นายเสนาะ เจริญพร อาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์ ม.อุบลฯ ผู้ดำเนินการอภิปรายได้ยกข้อมูลwww.whereisThailand.info มาประกอบการพูดคุยว่า ประเทศไทยเคยผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 17 ครั้งติดอันดับ 4 ร่วมกับประเทศกินี-บิสเชา ซีเรียและโตโก เป็นรองประเทศซูดาน (31 ครั้ง) อิรัก (24 ครั้ง) และโบลิเวีย (19 ครั้ง) ตามลำดับ โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ เรามีการทำ ‘รัฐประหาร’ ขณะที่เราเรียกตัวเองว่าปกครองด้วยระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ แต่มี ‘ไปยาลน้อย (ฯ)’ ต่อท้าย
 
ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่เคารพเจตจำนงของประชาชน ไม่ตั้งคำถามต่อการรัฐประหาร
 
“การแตกทางความคิดเป็นสิ่งที่สวยงามในระบอบประชาธิปไตยเพราะเราไม่สามารถที่จะทำให้คนเราคิดเหมือนกันได้ ดังนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดามากที่สังคมประชาธิปไตยจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่คุณค่าของประชาธิปไตยอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างอยู่ร่วมกันได้” นายปูนเทพ ศิรินุพงษ์ ตัวแทนจากคณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร แสดงทัศนะ
 
นายปูนเทพ กล่าวว่า ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศจะมีการปรับตัวให้เข้ากับประชาธิปไตย แต่ในสังคมไทยกลับจะต้องให้ประชาธิปไตยปรับให้เข้ากับสังคมไทย
 
นายปูนเทพยังพูดถึงประชาธิปไตยฯ แบบไทยๆ ไว้ 5 ประเด็นดังนี้ 1) ระบอบประชาธิปไตยฯ แบบไทยๆ ให้ประชาชนชนมีอำนาจสูงสุด แต่ยังไม่พร้อมให้ประชาชนเป็นผู้ปกครองตัวเอง และถ้าหากใครเห็นต่างก็จะถูกมองว่าไม่เคารพในประชาธิปไตย 2) ระบอบประชาธิปไตยฯ แบบไทยๆ ประกาศรับรองให้ประชาชนมีอำนาจสูงสุด แต่ถ้าจะจัดวางองค์กรที่เกี่ยวข้องกับประชาชน หรือมาจากประชนชน ก็หาว่าทุจริตบ้าง มีการซื้อเสียงบ้าง เป็นระบบที่ไม่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน
 
3) ระบอบประชาธิปไตยฯ แบบไทยๆ เป็นระบอบที่ผู้นำเหล่าทัพมีบทบาทกำหนดทิศทางประเทศ โดยไม่ต้องฟังรัฐบาลและออกมาไล่ใครที่คิดต่างให้ไปอยู่นอกประเทศหรือขู่จะทำรัฐประหารได้ทุกเมื่อ 4) ระบอบประชาธิปไตยฯ แบบไทยๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำยากกว่าการฉีกรัฐธรรมนูญ หากใครจะเสนอจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทหารก็จะออกมาขู่ว่าจะทำการปฏิวัติ ทำรัฐประหาร 5) ระบอบประชาธิปไตยฯ แบบไทยๆ นั้นยอมให้มีการทำรัฐประหารโดยไม่มีเงื่อนไข หรือการทำรัฐประหารไม่ได้ทำให้สังคมไทยลดค่าแต่อย่างใด
 
นายปูนเทพยังได้ย้ำว่า ประชาธิปไตยที่มีไปยาลน้อย (ฯ) ในสังคมไทยนั้นไม่เคยตั้งคำถามเลยว่ารัฐประหารเกิดขึ้นได้อย่างไร แถมยังยินดีบังคับใช้กฎหมายหรือประกาศคณะปฏิวัติประกาศคณะปฏิรูป ซึ่งขัดกับหลักคุณค่าประชาธิปไตย องค์กรตุลาการ คณะตุลาการยอมรับรัฐประหารตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา คำวินิจฉัยส่วนตนบางคนถึงขนาดยอมรับว่าคณะรัฐประหารทำได้ทุกอย่าง รวมถึงนักวิชาการบางกลุ่มที่พึงพอใจกับการทำรัฐประหารเพราะมัวแต่ห่วงว่านักการเมืองจะทุจริต คอรัปชั่น นักวิชาการเหล่านี้ก็จะคอยด่าแต่นักการเมือง แต่ไม่เคยด่าหรือตรวจสอบคณะรัฐประหารเลย
 
หลังเป็นประชาธิปไตย ไทยรัฐประหารทุก 3 ปี 4 เดือน ถี่กว่ามีเลือกตั้ง
 
น.พ.กิติภูมิกล่าวว่า เป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันเราก็ยอมรับการทำรัฐประหาร และการทำรัฐประหารในประเทศไทยนั้นมีสถิติน่าสนใจนับจากเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมาพบว่า มีการรัฐประหารเพื่อทำลายรัฐบาลอย่างฉับพลัน 11 – 12 ครั้ง เฉลี่ยแล้ว ประเทศไทยมีรัฐประหารทุก 6 ปี 8 เดือน แต่ครั้นพิจารณาในรายละเอียดก็จะพบว่า มีการทำรัฐประหารไม่สำเร็จอีก 12 ครั้ง นั่นก็หมายความว่า ประเทศไทยเรามีรัฐประหารทุก 3 ปี 4 เดือน ซึ่งถี่กว่าการเลือกตั้งที่กำหนดให้มีทุก 4 ปี
 
“น่าสนใจเข้าไปอีกที่พบว่า ประเทศไทยมีการทำรัฐประหารตัวเองถึง 4 ครั้ง คือ ไม่ได้ไปยึดอำนาจจากรัฐบาลอื่นแต่รัฐประหารตัวเองเพื่อกระชับอำนาจ คือ สมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม สมัยจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ สมัยจอมพลถนอม กิตติขจรและสมัยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประเทศไทยมีข้ออ้างเกี่ยวกับรัฐประหารที่ไม่เหมือนประเทศอื่น ทั้งเพื่อระงับเหตุรุนแรง เพื่อประชาธิปไตย และตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมาเริ่มมีข้ออ้างเพื่อสถาบัน เพราะเมื่อก่อนเมื่อก่อรัฐประหารก็จะเปิดเพลงสวนสนามของทหาร แต่ 2534 เป็นต้นมาเมื่อมีการยึดอำนาจก็จะเปิดเพลงเทิดพระเกียรติ พร้อมให้เหตุผลการทำรัฐประหารว่า เพื่อปกป้องสถาบัน” นพ.กิตติภูมิให้ข้อมูล
 
นพ.กิตติภูมิกล่าวด้วยว่า รัฐประหารไม่ได้เพิ่งมีในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมาเท่านั้น ในอดีตยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีการรัฐประหารแต่เรียกกันว่า ‘ปราบดาภิเษก’ เป็นการแย่งชิงอำนาจของกษัตริย์ ขุนนาง อำมาตย์ หากอ่านจากคำให้การกรุงเก่า คำให้การของขุนหลวงหาวัด พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์หรือแม้แต่ภาพยนตร์เรื่อง ‘สุริโยทัย’ ของ มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ก็ได้สะท้อนการแย่งชิงอำนาจในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เป็นอย่างดี
 
รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยาฯ ครั้งล่าสุด แต่ไม่สุดท้าย
 
“ที่ผ่านมา ไม่เคยมีนักรัฐศาสตร์คนไหนออกมายืนยันว่า การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย” นพ.กิติภูมิ กล่าว
 
นพ.กิติภูมิ กล่าวถึงรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่า ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางที่ดูหมิ่นคนจนและอิจฉาคนชั้นสูง คนชั้นกลางมักแสวงหาซูเปอร์ฮีโร่ มองหาคนพิเศษมีความรอบรู้เพื่อสนองตอบต่อความฝันของชนชั้นตนเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนชั้นกลางจะโหยหารัฐประหาร
 
อีกทั้ง รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากวิเคราะห์โครงสร้างของกลุ่มผู้เข้าร่วมจะพบว่า มีทั้งสื่อมวลชน มีทั้งมวลชน (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) และพรรคการเมืองที่รอฉวยโอกาสขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งกลุ่มก้อนที่เข้าเป็นแนวร่วมก็ไม่แตกต่างจากการทำรัฐประหารโค่นล้มปรีดี พนมยงค์ หรือ 6 ตุลาคม 2519 ที่ผ่านมา
 
“การเมืองไทยมีค่านิยมเรื่อง ‘ความสุจริต’ แต่ความสุจริตไม่ได้หมายถึง ‘ความมีประสิทธิภาพ’ ขณะเดียวกันสังคมไทยก็มี ‘ศรัทธา’ และ ‘ศรัทธา’ ก็ไม่ได้หมายถึง ‘ความมีเหตุผล’ เป็นความลักลั่นที่อยู่ด้วยกัน” นพ.กิตติภูมิกล่าว
 
นอกจากนั้น นพ.กิติภูมิยังกล่าวถึงแนวคิดของนักวิชาการ อาทิ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่พยายามอธิบายว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่มีกรอบ มีเส้นที่ล่วงล้ำมิได้ อย่างเช่น ยอมให้นักการเมืองโกงได้แต่อย่าน่าเกลียด เพราะมันจะเปิดทางให้ทหารยึดอำนาจ ขณะเดียวกันทหารเองก็ต้องไม่ล้ำเส้น เพราะฆ่าประชาชนเมื่อใดประชาชนก็จะทนไม่ได้ รวมทั้งกล่าวถึงแนวคิด ‘วงจรอุบาทว์’ ที่ ศ.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช อธิบายว่า เมื่อประชาชนเลือกตั้งด้วยการขายเสียงก็จะได้นักการเมืองโกงกิน เมื่อนักการเมืองโกงกินถอนทุนหรือทุจริตคอรัปชั่นก็จะนำมาสู่การรัฐประหารและการเลือกตั้งหมุนวนไปเป็นวงจรเดิมๆ
 
“ดันแคน แมคคาร์โก ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชีย แห่ง University of Leeds มองประเทศไทยว่า รัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งมาไม่ใช่รัฐตัวจริง แต่จะมีกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็น ‘รัฐตัวจริง’ ซึ่งคุมอำนาจเป็นเครือข่ายชนชั้นสูง ข้าราชกับทหารที่ต้องคอยกระชับอำนาจของกลุ่มตนอย่างต่อเนื่อง” นพ.กิติภูมิกล่าว
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น