โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มธ.ระอุ กลุ่มสนับสนุน-คัดค้านนิติราษฎร์แสดงจุดยืน

Posted: 02 Feb 2012 12:43 PM PST

กลุ่มศิษย์เก่าวารสารฯ ต้านนิติราษฎร์ชุมนุม-ร้องเพลงสรรเสริญหน้าลานปรีดี แจงต้องคัดค้านเพราะนิติราษฎร์ละเมิดเสรีภาพของในหลวง ในขณะที่อีกกลุ่มแสดงจุดยืนหนุนนิติราษฎร์บริเวณใกล้เคียง แต่ไม่มีเหตุรุนแรง

2 ก.พ. 55 – เมื่อเวลาราว 14.00 น. กลุ่ม “วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์” ราว 70-80 คน ได้นัดชุมนุมหน้าบริเวณลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านกลุ่มนิติราษฎร์ตามที่นัดหมายในเฟซบุ๊กของกลุ่ม ในขณะที่ผู้สนับสนุนคณะนิติราษฎร์ราว 40 คน ได้ชุมนุมและจัดกิจกรรมบริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยฝั่งสนามหลวง โดยในระหว่างชุมนุมนั้นเกิดเหตุชุลมุนเนื่องจากเกิดการโห่ไล่ผู้ชุมนุมจากต่างฝ่าย

กลุ่มวารสารฯ ต้านนิติราษฎร์ ซึ่งระบุว่าเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และคณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่เรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 โดยมีตัวแทนของกลุ่ม คือผู้กำกับหนังชื่อดัง ยุทธนา มุกดาวิจิตร ยื่นหนังสือให้กับนายพรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ เพื่อส่งต่อให้นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ซึ่งติดภารกิจ โดยมีข้อเรียกร้องให้มีคำสั่งสอบสวนคณะอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ โดยนายยุทธนา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จำเป็นต้องออกมาคัดค้าน เนื่องจากข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นการละเมิดเสรีภาพของประมุขประเทศ

“มีการตอกย้ำข้อเสนอที่มากขึ้นๆ อย่างกรณีที่ผมบอกไปเรื่องข้อเสนอตอนหลังที่มีสองสามข้อ ที่ว่าไม่ให้ในหลวงมีพระราชดำรัส ซึ่งพระราชดำรัสใครๆ ก็อยากฟัง แล้วก็เป็นสิทธิเสรีภาพ ปรากฏว่าตอนนี้เรากำลังเรียกร้องเสรีภาพ คณะนิติราษฎร์กำลังเรียกร้องเสรีภาพกันตลอดเวลา โดยไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น แล้วผู้อื่นอันนั้นก็คือประมุขของประเทศ ก็คือในหลวง” ยุทธนากล่าว

กลุ่มวารสารฯ ต้านนิติราษฎร์ ยังมีข้อเสนออีกสี่ข้อ ได้แก่

1. เรียกร้องต่อประชาคมธรรมศาสตร์ ให้ร่วมกันคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ของคณะนิติราษฎร์ รวมทั้งการใช้ชื่อมหาวิทยาลัยไปสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวที่ล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์

2. เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงจุดยืนในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นรูปธรรม และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้มีพฤติกรรมล่วงละเมิดสถาบันในทุกรูปแบบอย่างจริงจังและเฉียบขาด

3. เรียกร้องต่อเพื่อนสื่อมวลชน ให้ใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอันเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อไม่ขยายผลการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

4. เรียกร้องต่อประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ให้ร่วมกันแสดงตนคัดค้านการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ต่อต้านแนวคิดและการกระทำใดๆ ที่ส่อแสดงถึงการล่วงละเมิด ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

มีรายงานว่า ในขณะที่กลุ่มดังกล่าวกำลังชุมนุมอยู่นั้น ได้มีผู้สนับสนุนเดินเข้าไปในบริเวณหน้าลานปรีดีพร้อมชูป้ายสนับสนุนนิติราษฎร์ ทำให้เกิดเหตุชุลมุนจนตำรวจจำเป็นต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยสถานการณ์ความขัดแย้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มดังกล่าวด้วย

กลุ่มนักกิจกรรม “กราบเก้าอี้” เพื่อเตือนย้ำความรุนแรง 6 ตุลา

ในเวลาใกล้เคียงกัน เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย, Activists for Democracy Network และกลุ่มประกายไฟ พร้อมทั้งประชาชนที่สนใจราว 40 คน ได้จัดกิจกรรม “แจกภาพ กราบเก้าอี้” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งมีการใช้ความรุนแรงเพื่อกำจัดคนที่คิดเห็นต่างทางการเมือง พร้อมทั้งแจกแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาว่าสังคมไทยควรนำบทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีตมาทบทวน โดยเฉพาะ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาและประชาชนถูกฆ่าอย่างโหดร้ายเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

กลุ่มดังกล่าวยังเสนอให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่อื่นๆ เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดเวทีประชาพิจารณ์ปัญหามาตรา 112 และให้กลุ่มที่คัดค้านข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ได้เปิดใจและรับฟังความเห็นที่แตกต่างเพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลง 

นักศึกษามธ. รังสิตวางพวงหรีดไว้อาลัยแด่เสรีภาพธรรมศาสตร์

ในวันเดียวกัน วอยซ์ทีวีรายงานว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยได้มารวมตัวกันบริเวณด้านหน้ารูปปั้นท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตพร้อมตะโกนว่าธรรมศาสตร์ตายแล้วก่อนที่จะมีการวางพวงหรีดเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านกรณีที่ทางมหาวิทยาลัยมีมติไม่อนุญาตให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลต่างๆใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 และต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยทบทวนเรื่องดังกล่าวเพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ชื่อว่า มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

“การเคลื่อนไหวของกลุ่มเรา ไม่ได้มีธงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่แก้ไขมาตรา 112 แต่ธงนำในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ คือการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ต่อศักดิ์ สุขศรี ตัวแทนของกลุ่มระบุ

หลังจากกิจกรรมในครั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มกล่าวว่าวางแผนจะจัดกิจกรรมไว้อาลัยแด่เสรีภาพในธรรมศาสตร์อีกครั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 5 ก.พ. ณ รูปปั้นปรีดี พนมยงค์ บริเวณลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 000

 แถลงการณ์เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย

"...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา..." ปรีดี พนมยงค์

ภายหลังจากคณะนิติราษฎร์นำเสนอข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากนั้นได้มี คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 ได้ดำเนินการล่ารายชื่อเพื่อเข้าสู่กลไกรัฐสภา และเป็นที่ปรากฏว่ามีทั้งกระแสเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยทั้งในส่วนเห็นว่าควรยกเลิกไปเลย และไม่เห็นด้วยกับการแก้เลย แต่กระแสคัดค้านที่ต้องการให้คงสภาพ ม.112 เดิมและห้ามแตะต้องนั้น กลับนำไปสู่กระแสคลั่งสถาบันฯ ขาดการ "เปิดใจ" รับฟังเหตุผล ป้ายสี ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ อย่างเช่นในอดีต

ด้วยความห่วงใยต่อปัญหาที่เกิด เรามีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังนี้

1.มหาวิทยาลัยควรเป็นเสาหลักของสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการใช้เหตุใช้ผลอย่างสันติ สิทธิในเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ การใช้เหตุใช้ผลและข้อมูลในเชิงประจักษ์ อย่างสันติ เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยควรจะยึดมั่นและส่งเสริม ไม่ใช่นำเอาข้ออ้างการเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ มาลดทอนสิทธิในเสรีภาพและหลักการดังกล่าว นอกจากทำลายความเป็น มหา+วิทยาลัย ที่ควรเป็นแหล่งศึกษาของสาธารณะแล้ว ยังทำให้หลักการดังกล่าวขัดกับการเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์อีก

2.นำบทเรียน ความรุนแรงที่เกิดจาก "ความใจแคบ" ในอดีตมาทบทวน ว่า "เสรีภาพ" ไม่ได้ก่อให้เกิด "ความรุนแรง" มีแต่การจ้องจำกัดเสรีภาพที่ชอบใช้ "ความรุนแรง" มากำจัด "เสรีภาพ" โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีบทเรียนจากความคับแคบในอุดมการณ์เผด็จการฟาสซิสต์ ที่ถูกเอามาใช้จัดการกับนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งนี้เองเมื่อ 6 ตุลา 19 ด้วยข้อหาที่เกี่ยวกับ ม.112 หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเลยไปถึงการล้มล้างสถาบันที่ถูกปลุกขึ้นมาขณะนั้น หรือแม้กระทั่ง ปรีดี พนมยงค์ เองก็ถูกข้อหาในลักษณะนี้เล่นงาน ดังนั้นธรรมศาสตร์เองควรนำเอาบทเรียนเหตุการณ์นี้มาเป็นแนวทางให้การส่งเสริมให้คนในมหาลัยและสังคมได้ "เปิดใจ" ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และลดการยึดมั่นในอุดมการณ์ที่เพิ่งสร้างเพื่อป้องกันความรุนแรงที่เคยมีบทเรียน แต่ไม่ใช่เอามาเป็นข้ออ้างในการปิดกันเสรีภาพเสียเอง

3.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ควรที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดเวทีประชาพิจารณ์ปัญหามาตรา 112 เพราะมหาวิทยาลัยไม่เพียงต้องเป็นบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ เท่านั้น และต้องเป็นผู้จุดไฟให้แสงสว่างทางปัญญาเพื่อสร้างบรรทัดฐานการแก้ปัญหา แก้ความขัดแย้งด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสันติวิธี มากกว่าด้วยความรุนแรงและความศรัทธาแบบมืดบอด

4.กลุ่มคัดค้านข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ควรเปิดใจให้กว้าง รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ศึกษาทำความเข้าใจข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ หยุดสร้างกระแสคลั่งสถาบันฯ หยุดการใช้ความรุนแรง เรียนรู้ประสบการณ์และบทเรียนความรุนแรงที่เกิดจากอาการคลั่งในอดีต ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

5.สื่อมวลชน ก็เช่นกัน ชนวนเหตุความรุนแรง 6 ตุลา 19 สื่อก็เป็นตัวกระตุ้นอาการคลั่งของคน จนเป็นเหตุให้มีนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ต่างจากกรณีความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และกรณี เมษา – พ.ค.53 ที่สื่อมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชังและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

6.รัฐบาลควรนำเอาข้อเสนอแก้ ม.112 ของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะนิติราษฎร์ จัดให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างขวางขวางเพื่อนำไปสู่กระบวนการในการทำประชามติในการปรับปรุงแก้ไข ยกเลิกหรือดำรงสภาพเดิมต่อไป โดยให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพให้อภิปรายหรือตั้งกรรมการศึกษาเเละทำประชาพิจารณ์ ตามสำดับรวมถึงคุมครองความปลอดภัยของผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเข้าชื่อแก้กฎหมายและแสดงความคิดเห็นตามสิทธิในเสรีภาพของพลเมือง

7.สังคมควรยึดมันใน "ความเป็นเหตุเป็นผล" และการแสดงหาทางออกอย่างสันติ หยุดการใช้ความรุนแรง หยุดปิดปากและความศรัทธาแบบไม่มีเหตุผล ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางความคิด มี "ขันติธรรม" หรือความใจกว้างอดทนอัดกลั้นต่อความคิดเห็นและการแสดงออกที่แตกต่าง ให้ความสำคัญในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งคุณค่าที่สำคัญที่สังคมควรยึดถืออันจะนำไปสู่การสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา ในฐานะราษฎรผู้กระหายน้ำ

เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย(คกป.)
Activists for Democracy Network(ADN.)
กลุ่มประกายไฟ (Iskra Group) 

ANTI 3

ANTI 2

ANTI 1

ANTI 4

ภาพจากเฟซบุ๊กกลุ่ม "วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์"

 bus001_IMGP8126

bus009_IMGP8078

bus008_IMGP8081

bus007_IMGP8103

bus006_IMGP8093

bus005_IMGP8147

bus004_IMGP8141

bus003_IMGP8113

bus002_IMGP8115

 ภาพโดยกานต์ ทัศนภักดิ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณบดี มมส. มอบดอกไม้ให้น.ศ. ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กลุ่มรณรงค์ระบุจับตาต่อไป

Posted: 02 Feb 2012 11:36 AM PST

ศิษย์เก่า-ปัจจุบันที่ดำเนินการล่ารายชื่อขอคำตอบจากคณบดีกรณีไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่จัดงานเสวนากฎหมายหมิ่นฯ เปลี่ยนใจไม่วางพวงหรีดและสืบชะตา หวั่นเกิดเหตุปะทะของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หันมาชูป้ายรณรงค์และให้ข้อมูลแก่นักศึกษา บุคลทั่วไป ด้านคณบดียืนยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 12.12 น. ที่ใต้ตึกวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน ภายใต้ชื่อกลุ่ม “กลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ” จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ ของคณบดี และคณะผู้บริหารของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง โดยมีการอ่านแถลงการณ์โต้แย้งคำชี้แจงของคณบดีฯ ชูป้าย ให้ข้อมูล และชี้แจงการออกมารณรงค์ของกลุ่มจากตัวแทนศิษย์เก่าของแต่ละรุ่น พร้อมทั้งการควบคุมดูแลอย่างเข้างวดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ

ในขณะที่กลุ่มฯ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าว มีกลุ่มนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง มารวมตัวชูป้ายเพื่อปกป้องเกียรติภูมิของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และให้กำลังใจคณบดี พร้อมกับพูดว่านิสิตปัจจุบันไม่อยากให้จัดเสวนาเรื่อง“สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” เพราะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน

หลังจากนั้น รศ. สีดา สอนศรี คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้เดินทางลงมาชี้แจง พร้อมทั้งยืนยันว่าที่จริงแล้วคณบดีและผู้บริหารไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการแต่อย่างใด ให้ทางกลุ่มผู้รณรงค์กลับไปอ่านแถลงการณ์อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกันนั้นได้มีการมอบช่อดอกไม้จากคณบดี ผู้บริหาร และนักศึกษาฝ่ายที่มาชูป้ายปกป้องเกียรติของคณะ ให้แก่กลุ่มผู้รณรงค์อีกด้วย

สำหรับตัวแทนกลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ กล่าวแสดงความยินดีสำหรับการกลับมาอีกครั้งของสิทธิเสรีภาพในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่ในขณะเดียวกันนี้ ทางกลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการระบุว่าจะติดตามเฝ้าระวังการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ และด้านอื่นๆ ของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง รวมทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยมหาสารคามต่อไป

แถลงการณ์

กลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ

เรื่อง ข้อโต้แย้งต่อคำชี้แจงของคณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง

……………………………………………………………………………………………………………

สืบเนื่องจากกลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกขอทราบเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้จัดเวทีเสวนาวิชาการในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และมีการระดมรายชื่อนิสิตปัจจุบัน ศิษย์เก่า และบุคคลทั่วไปเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องเสรีภาพในการจัดเสวนาวิชาการในวิทยาลัยการเมืองการปกครองให้กลับมามีเสรีภาพอีกครั้งหนึ่ง และคณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อกรณีการไม่อนุญาตให้จัดเวทีเสวนาวิชาการในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง เหตุผลที่คณบดี และผู้บริหารฯชี้แจงนั้น ทางกลุ่มฯ พิจารณาแล้วมีมติว่า เป็นเหตุผลที่ไม่มีเหตุผล และไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่น่าจะรับฟัง โดยกลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ ขอโต้แย้งความจริงใจในการชี้แจงของคณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ดังต่อไปนี้

ประเด็นชี้แจงข้อที่ 1 ที่คณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ชี้แจงว่า “...การจัดเสวนาวิชาการเกิดขึ้นท่ามกลางสภาวการณ์ความขัดแย้งทางความคิด ภาวะสับสนของข้อมูลข่าวสาร ความไม่ปลอดภัยและความไม่สงบเรียบร้อย และการป้องกันเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น...ซึ่งประเมินการรักษาความปลอดภัยแล้วว่าไม่สามารถปกป้องหรือระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที...” ประเด็นข้อชี้แจงนี้ทางกลุ่มฯขอโต้แย้งว่า จากการสอบถามถึงรูปแบบของการจัดเสวนาวิชาการ และขอบข่ายเนื้อหาสาระที่จะมีการแลกเปลี่ยนในการเสวนาวิชาการนั้นมิได้มีรูปแบบการไฮปาร์ค การโต้วาที หรือการใช้อารมณ์/อคติที่สุดโต่งในการนำเสนอความคิดเห็น ในทางตรงกันข้ามเวทีเสวนาวิชาการที่จะเกิดขึ้นเป็นเวทีที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างทางความคิดได้แสดงเหตุผลหักล้างกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศของความเป็นวิชาการซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปทางวิชาการที่จะเป็นทางออกของสังคมไทย และเวทีดังกล่าวนี้ยังเป็นเวทีที่จะให้ข้อมูลทางวิชาการทั้งสองด้านซึ่งจะขจัดความกังวลในประเด็นภาวะความสับสนของข้อมูลข่าวสาร อนึ่งการดำเนินการเช่นนี้ทางกลุ่มฯประเมินว่า จากบริบทของส่วนภูมิภาค และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในเวทีวิชาการของส่วนภูมิภาค (มหาสารคาม) ไม่น่าจะมีความรุนแรงที่จะทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิต ทรัพย์สิน การที่คณบดี และผู้บริหารฯ ชี้แจงโดยอ้างเหตุผลข้างต้นเป็นการประเมินสถานการณ์ที่เทียบเคียงบริบทของสถานการณ์ที่เกินเลยความเป็นจริง และชี้นำให้เกิดความรุนแรงท่ามกลางบรรยากาศของความเป็นวิชาการ

ประเด็นที่ 2 ที่คณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ชี้แจงว่า “...ยังคงคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพในทางวิชาการ...เล็งเห็นถึงความเป็นกลางซึ่งต้องรักษาไว้อย่างเคร่งครัดไม่เอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด...จึงร้องขอให้จัดกิจกรรมในนามของกลุ่มบุคคล โดยไม่ใช้นามของหน่วยงาน...และดำเนินการจัดกิจกรรมได้ในสถานที่อื่นที่เหมาะสมกว่า (ที่มิใช่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง) โดยให้เหตุผลว่าอาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ก็คือ ผลกระทบต่อความสมัครสมานสามัคคีของนิสิตและบุคลากรในภาพรวมองค์กรวิทยาลัยการเมืองฯ” ประเด็นข้อชี้แจงนี้ทางกลุ่มฯข้อโต้แย้งว่า หากคณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในทางวิชาการ และยังรักษาความเป็นกลางจริง การที่คณบดี และผู้บริหารไม่อนุญาตให้จัดเวทีเสวนาวิชาการที่วิทยาลัยการเมืองการปกครองก็เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และไม่เป็นกลาง อันเนื่องด้วยไม่เคารพในสิทธิที่พึ่งมีในการที่จะใช้สถานที่ และปรามาศผู้เข้าร่วมในท่วงทำนองที่เป็นกลุ่มบุคคลที่ไร้อารยะ และมักใช้ความรุนแรง

ในประเด็นร้องขอให้จัดกิจกรรมในนามกลุ่มบุคคล และจัดในพื้นที่อื่นที่มิใช่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ทางกลุ่มฯพิจารณาแล้วมีมติว่า การร้องขอเช่นนี้เป็นการทำลายหลักการ และเป้าหมายของการจัดตั้งหน่วยงานซึ่งมีวัตถุประสงค์อย่างชัดแจ้งว่า เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการเรียนการสอนทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ และเป็นหน่วยงานที่ให้เสรีภาพในการสร้างสรรค์กิจกรรมและความงอกงามทางปัญญา รวมทั้งให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ในการถกเถียงทางวิชาการในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ และเป็นการผลักภาระความรับผิดให้พ้นจากหน่วยงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงเกิดขึ้นในหน่วยงานที่มีปรัชญาว่า “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”

ประเด็นความกังวลที่คณบดี และผู้บริหาร กังวลว่าการจัดกิจกรรมอาจส่งผลกระทบต่อความสมัครสมานสามัคคีของนิสิต และบุคลากรวิทยาลัยการเมืองการปกครองนั้น ทางกลุ่มมีมติว่า ทางกลุ่มพึงระวัง และให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ตลอดระยะเวลาการทำกิจกรรมที่ผ่านมา ยังไม่มีเหตุการณ์/กิจกรรมใดๆที่ส่งผลให้เกิดความแตกแยกในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ทั้งๆที่นิสิต และบุคลากรของวิทยาลัยการเมืองการปกครองมีความคิดที่แตกต่าง ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่านี่คือความสวยงามของบรรยากาศทางวิชาการ และเป็นมนต์ขลังของความเป็นประชาธิปไตยอันเกิดจากการมีเสรีภาพทางวิชาการ อนึ่งหากคณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครองกังวลต่อประเด็นนี้จริง ทางกลุ่มฯขอเรียกร้องคณบดี และผู้บริหารว่า ไม่ควรบิดเบียนวัตถุประสงค์ของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการในวิทยาลัยการเมืองการปกครองของกลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ และยุติการใช้เหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผลที่ทางกลุ่มแสดงจุดยืนไว้ต่อสาธารณะอันเป็นการบิดเบือนข้อมูล และเป็นการเสี้ยมให้เกิดความรุนแรงขึ้นในการทำกิจกรรม

ทางกลุ่มฯขอเน้นย้ำ และแสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่ว่า เราจะเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการให้เกิดขึ้นในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และจะปกปักรักษาเกียรติภูมิของวิทยาลัยการเมืองการปกครองในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอนทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ และเป็นหน่วยงานที่ให้เสรีภาพในการสร้างสรรค์กิจกรรมและความงอกงามทางปัญญา รวมทั้งให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ในการถกเถียงทางวิชาการ

กลุ่มฯเคารพในความแตกต่างทางความคิด เคารพในการวิพากษ์ที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุผล และเคารพในความเป็นมนุษย์ที่มีอารยะ รวมถึงเคารพในความเป็นครู อาจารย์ที่สร้างสรรค์ให้เกิดความงอกงามทางปัญญา

ด้วยจิตคารวะ และเชื่อมั่นสิทธิเสรีภาพ

กลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ

02/02/2012…12.12 น.

องค์กร/บุคคลที่ร่วมเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง

ขบวนการคนหนุ่มสาวอีสาน, กลุ่มกิจกรรมปุกฮัก, ชมรมฅนสร้างฝัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ชมรมรัฐศาสตร์สัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, กลุ่มอิสระเถียงนาประชาคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
กลุ่มเผยแพร่กฎหมายและสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นายวิทยา แสงปราชญ์ นายอนุวัฒน์ พรหมมา นายเจษฎาวุฒิ อโนวัน นายอธิป ชุมจินดา
นางสาวดวงทิพย์ ฆารฤทธิ นายสุเทพ ศิริวาโภ นายโอภาส สินธุโคตร นายกิตตินันท์ นาชัยคำ
นายโกเมน จันทะสิงห์ นางสาวปรางค์ทิพย์ มั่นธร นายทิวา นินทะสิงห์ นายวรวิทย์ สีหาบุญลือ
นางสาวกนกพร กรกระโทก นางสาวภรณ์ทิพย์ มั่นคง นายอิทธิพล สีขาว นายเรืองฤทธิ์ โพธิพรม
นายชัชรินทร์ ชัยดี นายณัฐพงษ์ ราชมี นายปิยะวัฒน์ นามโฮง นายศรายุทธ ศิลา
นายสกล ภูชัยแสง นายยุทธนา ลุนสำโรง นายปกรณ์ อารีกุล นายศักดิ์ระพี รินสาร
นายปรินทร์ ฮอหรินทร์ นางสาวสุภาวดี สายภัยสง นางสาวกุสุดา โจทก์มีชัย นายดิน บัวแดง พัชรี แซ่เอี้ยว
นายพงษ์สุวรรณ สิทธิเสนา นายอรรถพล ทุมสวัสดิ์ นายภูมินทร์ พาลุสุข นายบัณฑิต หอมเกษ
นางสาวพลอยชมพู ชมภูวิเศษ นายวัฒนะ บูรณ์เจริญ นายศรวิษฐ์ โตวิวิชญ์ นายณัฐพล อิ้งทม
นางสาวอารยา ทองดี นายอุเชนท์ เชียงแสน นางสาวนิภาภรณ์ ซับขุนทด นายธนิสสร มณีรักษ์
นางสาวนิตยา ราชประสิทธิ์ นางสาววราพร ครามบุตร นางสาวธิติมา บุคสิงหา นายพลิศ ลักขณานุรักษ์
นายสุรชิต วรรณพัฒน์ นายวรุฒ จักรวรรดิ นายมงคล ชูเสน นางสาวสิริสกุล คีรีรัตน์ นายศรัญยู เดชทิม
นางสาวเจษฎาภรณ์ พิณเหลือง นางสาวสุดารัตน์ บุญธรรม นางสาวพรพิมล สันทัดอนุวัตร นางสาวจีระภา มูลคำมี
นายศตคุณ คนไว นายจิรทีปต์ ขัดมะโนแก้ว นายยุทธศักดิ์ วรวิเศษ นายพิษณุเดช สุคำภา
นางสาวสุทธิพร พุ่มศรี นายวิษณุ อาณารัตน์ นายวิทยา พันธ์พานิชย์ นายอภิชาต จำปาเทศ
นางสาวศิริภรณ์ จิตติแสง นางสาวธัญญา ทุมวารีย์ นายชำนาญ ยานะ นางสาวพิมระวี เสียงหวาน
นายเทิดพันธุ์ พวงเพ็ชร นายกิตติพงษ์ นาสมยนต์

คณบดี มมส. มอบดอกไม้ให้น.ศ. ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กลุ่มรณรงค์ระบุจับตาต่อไป

คณบดี มมส. มอบดอกไม้ให้น.ศ. ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กลุ่มรณรงค์ระบุจับตาต่อไป

คณบดี มมส. มอบดอกไม้ให้น.ศ. ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กลุ่มรณรงค์ระบุจับตาต่อไป

คณบดี มมส. มอบดอกไม้ให้น.ศ. ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กลุ่มรณรงค์ระบุจับตาต่อไป

คณบดี มมส. มอบดอกไม้ให้น.ศ. ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กลุ่มรณรงค์ระบุจับตาต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยุกติ มุกดาวิจิตร: เสรีภาพใต้ระบอบกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ

Posted: 02 Feb 2012 10:36 AM PST

สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ลักษณะพิเศษของสังคมไทย เพราะในโลกนี้มีสังคมมากมายที่มีสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่สวาซีแลนด์ เดนมาร์ก อังกฤษ ไปจนถึงญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มหาอำนาจทางการเมือง หรือมหายาจก ต่างก็มีสถาบันกษัตริย์กันทั้งสิ้น 

แต่หากเราจะอยู่กันอย่างประเทศอารยะแล้ว เราควรจะนับเอาประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ที่วางอยู่บนหลักมนุษยนิยมมาเป็นตัวอย่างเทียบเคียง อย่างไรก็ดี ในข้อเขียนนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ประสงค์จะเปรียบเทียบสถาบันกษัตริย์ของประเทศต่างๆ แต่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ความนิยมที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย ที่กำลังคุกคามสิทธิเสรีภาพในสังคมไทยอยู่นั้น หรือเรียกสั้นๆได้ว่า "ลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ" นั้น มีลักษณะพิเศคือ เป็นกษัตริย์นิยมที่เป็นปฏิปักษ์กับมนุษยนิยม ดังจะเห็นได้ไม่ยากจากปฏิกิริยาที่นักกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ มีต่อการต่อต้านคณะนิติราษฎร์และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ดังนี้

ประการแรก กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ไม่นิยมเหตุผล เหตุผลเป็นมาตรฐานสำคัญของการวัดความเป็นมนุษยนิยม รายที่แย่หน่อยก็มักด่ากราด ทำลายความเป็นมนุษย์ของเหยื่อด้วยสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะทางภาษาหรือการตัดต่อภาพ บางรายใช้ความเชื่อแบบยุคก่อนมาสาปแช่ง ให้ตกนรกบ้างล่ะ ให้ธรณีสูบบ้างล่ะ โดยหารู้ไม่ว่าไม่มีนักมนุษยนิยมคนใดเขาเชื่อนิทานเหล่านี้กันแล้ว แต่นี่ยังนับว่าเป็นความไร้เหตุผลแบบก่อนสมัยใหม่ที่ตกยุค บางทีกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ก็กล่าวหาคนอย่างเลื่อนลอย เช่น แม้ว่าในข้อเสนอของนิติราษฎร์ แม้ไม่มีข้อความใดบ่งชี้ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปในทางที่จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่นักเขียนใหญ่รายหนึ่งก็ยังตะแบงป้ายสีไปน่ำขุ่นๆ ได้ว่า "ผมอ่านข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์อย่างไรๆ ก็ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากว่ากลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่า ราชอาณาจักรไทยหรือประเทศไทยไม่จำเป็นต้องอาศัยพระมหากษัตริย์เป็นประกันความมั่นคงต่อไปอีกแล้ว" กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จึงมักอาศัยสัญลักษณ์ห้วนๆ มาป้ายสีเหยื่อ หรือคิดหาสัญลักษณ์อะไรมาไมาได้ ก็ย้ำความเชื่อของตนเอาเองแบบไม่ต้องอาศัยหลักฐานที่ชัดเจนอะไรเลย ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นการเปิดประตูให้ความชั่วร้ายของกษัตริย์นิยมไทยๆ แบบรุนแรง เข้ามาทำร้ายสังคมไทย

ประการต่อมา กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ บางรายยอมแลกการบูชาลัทธิกษัตริย์นิยม กับการทำลายหลักการพื้นฐานของมนุษยนิยม คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ แบบนี้ไม่ยอมแม้แต่จะให้มีการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ หรือไม่ยอมแม้แต่จะให้เอ่ยถึง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาตร้าย ไม่ว่าใครจะกล่าววิจารณ์อะไรต่อพระมหากษัตริย์ ก็จะเป็นการ "จาบจ้วง ล่วงเกิน" ไปเสียทั้งสิ้น กษัตริย์นิยมประเภทนี้ไม่ยอมรับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ อันเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของมนุษยนิยมและประชาธิปไตย 

นับวัน กษัตริย์นิยมแบบนี้จะค่อยๆ หมดไปในสังคมชนบท "ความทรงจำ" ต่อภาพงดงามของ "พระราชอำนาจ" ส่วนใหญ่เหลือตกค้างอยู่แก่เฉพาะกับคนในเมือง ที่อบอุ่นสุขสบายบนซากศพการตายที่ชายขอบ เพราะการสร้าง "พระราชอำนาจนำ" ขึ้นมาในท้องถิ่นชนบทห่างไกลดังในอดีตนั้น เกิดขึ้นตามยุคสมัยของการต่อสู้กับภัยคุกคามความมั่นคงสมัยหนึ่ง แต่ในสมัยปัจจุบัน บทบาทพระราชอำนาจนำจำเป็นต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ให้เหมาะสมกับยุคสมัย ไม่ใช่ในแบบที่เคยคุ้นกันมา แต่ในเมื่อการอภิปรายถึงบทบาทพระมหากษัตริย์ในบริบทใหม่ถูกปิดกั้นเสียแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าพระราชอำนาจนำแบบใดที่เหมาะสมกับสังคมประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ต้องการ

ประการที่สาม กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ หาได้รักเทิดทูนเจ้านายทุกๆ พระองค์ใน "สถาบันพระมหากษัตริย์" อย่างเสมอเหมือนกันไม่ กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ แยกแยะพระมหากษัตริย์ออกจากเจ้านายพระองค์อื่นๆ รักบางพระองค์ เทิดทูนเพียงบางพระองค์ กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จึงไม่แม้แต่จะให้ความเท่าเทียมกับทุกๆ พระองค์ เจ้านายบางพระองค์จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์แม้แต่จากกลุ่มกษัตริย์นิยมด้วยกันเอง หากแต่กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ไม่ยอมรับสิทธิเท่าเทียมกันในการวิจารณ์เจ้านาย มีเพียงพวกพ้องของชนชั้นนำเท่านั้น ที่จะมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์เจ้านายได้ อย่างไรก็ดี ในสังคมไทย เราย่อมทราบกันดีว่า นักลัทธิกษัตริย์นิยมก็เป็นนักนินทาเจ้านายเชื้อพระวงค์ไปจนถึงพระบรมวงศานุวงค์กันแทบทุกคนไป

ประการต่อมา กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ วางความยุติธรรมอยู่บนลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ คือความยุติธรรมที่แทบจะปราศจากหลักมนุษยธรรม ดังคำกล่าวของโฆษกศาลยุติธรรม ที่ลงท้ายบทความ "อากงปลงไม่ตก" (2) ที่ว่า "ผู้เขียนใคร่ขออนุญาตนำเอาคำกล่าวในอดีตที่เคยพูดกันมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างชาติให้มีสันติสุขอย่างถาวรยั่งยืนคือ 'อย่าดึงฟ้าต่ำ อย่าทำหินแตก และอย่าแยกแผ่นดิน'" หากโฆษกศาลยุติธรรมกล่าวเช่นนี้เสียเองแล้ว จะให้ประชาชนมั่นใจได้อย่างไรว่า ลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จะไม่กลายเป็นอคติครอบงำศาลเสียจนไม่สถิตความยุติธรรมในระบอบประธิปไตยที่ต้องวางอยู่บนหลักมนุษยนิยมอีกต่อไป ความยุติธรรมในแบบมนุษยนิยมคือการให้ความเป็นธรรมต่อข้อเท็จจริง ถือว่ามนุษย์เสมอเหมือนกัน พร้อมๆ กับความมีมนุษยธรรมตามสมควร แต่หากสาธารณชนสงสัยว่า การตัดสินของศาลจะมุ่งพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์เหนือกว่าพิทักษ์สิทธิของความเป็นมนุษย์แล้ว กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ก็กำลังทำลายมนุษย์เพื่อปกป้องลัทธิบูชาของพวกพ้องตนเองเท่านั้น

ประการที่ห้า กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ยอมให้มีลัทธิกษัตริย์นิยมแบบเดียว คือแบบไทยๆ ที่วางอยู่บนระบอบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ของชนชั้นนำกลุ่มน้อย ความนิยมต่อพระมหากษัตริย์แบบไทยๆ อย่างอื่น คือแบบเป็นเหตุเป็นผล แบบที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยสากล แบบที่จะต้องแยกอำนาจสถาบันกษัตริย์ออกจากอำนาจทางการเมืองโดยเด็ดขาดนั้น ถือว่าเป็นแบบที่ไม่ถูกต้อง กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จึงคับแคบ ไม่ยินดียอมรับข้อเสนอของกษัตริย์นิยมแบบประชาธิปไตยสากล เนื่องจากกลุ่มพวกพ้องของตนเองที่ปกป้องกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ นี้เท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากช่องว่างในการอิงแอบ ดึงเอาสถาบันกษัตริย์ลงมาแปดเปื้อนกับการเมือง กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ พิทักษ์อำนาจและข่ายใยของการอุปถัมภ์ค้ำชูพวกพ้องที่อิงแอบอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์กษัตริย์ 

ประการต่อมา กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ไม่มีมนุษยธรรม ยอมให้มีการฆ่าล้าง ประหัตประหารมนุษย์ได้ หากแม้นว่ามนุษย์นั้น (ที่มักถูกเรียกในสำนวนครึๆว่า "อ้ายอีคนใด") ไม่นิยมลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ของพวกตน กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จึงไม่เคยห้ามปรามการกระทำรุนแรง การมุ่งอาฆาตมาตร้ายเพื่อนมนุษย์ในนามของกษัตริย์นิยม ประหนึ่งว่า การฆ่าคนนอกลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ นั้นชอบแล้ว กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ไม่เคยประณามชนวนของการเข่นฆ่าอย่างรุนแรง มากไปกว่าจะไปร่วมยุยงให้เกิดการเข่นฆ่าผู้คนที่วิจารณ์เจ้านายชั้นสูงอย่างมีเหตุมีผล สำหรับนักลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ การไล่ล่าทุบตีคนที่ไม่ยืนฟังเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ น่ายกย่องเกินกว่าจะถูกทักท้วงหรือดำเนินคดีตามหลักมนุษยนิยม

ในที่สุด ลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จึงสร้างความกลัวไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่นักการเมืองผู้สู้เพื่อประชาชนตั้งแต่พฤษภาคม 2535 ยังเกรงกลัว ออกโรงมาตักเตือนให้นิติราษฎร์และ ครก.112 หยุดการเคลื่อนไหว ซ้ำร้ายย่ิงกว่านั้น กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ทำให้แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยยังต้องกลัว ลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ในปัจจุบันจึงดำเนินมาถึงขั้นที่มันไม่ต้องทำงานเองอีกต่อไป มันไม่ต้องออกแรงมาทำร้ายผู้คนอย่างบ้าคลั่งเหมือนเมื่อเช้าวันที่ 6 ตค. 2519 อีกต่อไป แต่มันทำงานด้วยการทำให้คนยอมรับเอาความกลัวเข้ามา การข่มขู่เพียงเล็กน้อยประกอบด้วยภาพหลอนความรุนแรงในนามของกษัตริย์นิยมที่สถาบันการศึกษาเองก็ไม่สามารถพูดถึงตรงไปตรงมาได้ ก็มีพลังเพียงพอที่จะบีบให้สถาบันการศึกษารับความกลัวเข้ามาเป็นเหตุในการปิดปากตนเอง 

เมื่อศาลก็ถูกสงสัยว่าจะทำงานในนามกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จนไม่อาจพิทักษ์มนุษยนิยมได้แล้ว และปราการสำคัญที่จะปกป้องมนุษยนิยม คือมหาวิทยาลัย อันเป็นสถาบันขั้นสูงของการใช้แห่งเหตุผล ยังกลับปิดกั้นตนเองเพราะความกลัวเสียอีก แล้วจะยังคงหลงเหลือสื่อมวลชน สาธารณชนทั่วไป หรือใครที่ไหนที่จะมาปกป้องความเป็นมนุษย์อยู่อีกต่อไป

 

                                                                        ขอร่วมไว้อาลัยแด่ความตายของเสรีภาพที่ธรรมศาสตร์
                                                                                                1 กุมภาพันธ์ 2555
                                                                                                    ยุกติ มุกดาวิจิตร

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายเปิดผนึก: จากศิษย์เก่าดีเด่นคนหนึ่งถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นที่รัก

Posted: 02 Feb 2012 10:28 AM PST

            ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองของสังคมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมาอย่างต่อเนื่อง ในบางคราวมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้กลายถูกมองเป็นเสมือนคบเพลิงส่องทางสว่างไสวแก่ผู้คน แต่ในบางคราวก็ต้องเผชิญกับการตกเป็นเป้าโจมตีว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์แต่แรกเริ่มของมหาวิทยาลัย

            ในวิกฤติการเมืองครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การดำเนินบทบาทของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญก็กำลังเผชิญกับคำถามและข้อสงสัยจากผู้คนอย่างกว้างขวาง อันปรากฏขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ซึ่งได้ทำให้การเมืองในสังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับการแบ่งสีแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างลึกซึ้ง รวมไปถึงคาดความหมายที่มีสถาบันทางสังคมการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสำคัญจากแต่ละฝ่าย

            มหาวิทยาลัยในสถาบันการศึกษาระดับสูงควรจะมีบทบาทอย่างไรต่อความขัดแย้งในทางการเมือง เป็นคำถามสำคัญที่สังคมเองก็มีความคาดหวังอยู่แม้จะไม่มากก็ตาม

            แน่นอนว่าเราคงไม่อาจคาดหวังให้บุคคลที่ทำหน้าที่ในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องมีทรรศนะในทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกับตัวเรา เพราะความขัดแย้งครั้งนี้มีประเด็นที่สามารถถกเถียงและให้คำอธิบายต่อปรากฏการณ์ได้ในหลากหลายชุด ซึ่งต่างก็มีเหตุผล ข้อมูล ความเชื่อ อุดมการณ์ที่แตกต่างกันไปเป็นปัจจัยสนับสนุน ทั้งมหาวิทยาลัยมิใช่ดินแดนสรวงสวรรค์ที่ผู้คนหลุดลอยออกไปจากความเป็นจริงในทางสังคมล้วนต่างก็ย่อมตกอยู่เงื่อนไขความขัดแย้งทางสังคมนี้ด้วยเช่นกัน

            แต่มหาวิทยาลัยในฐานะของสถาบันการศึกษาควรจะถูกวางบทบาทเอาไว้ตรงไหน อย่างไร

            มหาวิทยาลัยในสังคมปัจจุบันเป็นแหล่งที่ถูกคาดหมายในด้านของภูมิปัญญาความรู้เมื่อต้องเผชิญกับความยุ่งยากต่างๆ ยิ่งนับวันที่สภาพสังคมมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยก็ถูกคาดหมายในระดับที่สูงขึ้น แม้ว่าในความเป็นจริงไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างได้ทั่วถึง

            ในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างลึกซึ้งในห้วงเวลาปัจจุบัน เราได้เห็นภาพของการแสดงจุดยืนของบุคคลแต่ละฝ่ายออกมาอย่างแข็งขัน พร้อมกันไปกับการโจมตีผู้ที่มีความคิดเห็นต่างหรือยืนอยู่ในคนละฝั่งอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นการปลุกเร้าผู้ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับตนและทำให้เกิดความเกลียดชังอีกฝ่าย

            ที่สำคัญอาการเกลียดชังเหล่านี้ได้เกิดขึ้นและขยายตัวออกกว้างขวางด้วยผู้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างหฤหรรษ์

            การแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองได้กลายเป็นปมประเด็นที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมต้องการที่จะหลีกเลี่ยง อันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในชีวิตและเสรีภาพซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากการแสดงความเห็นของตน อีกทั้งความเห็นที่แตกต่างก็ดำเนินไปในทิศทางของการแสดงจุดยืนมากกว่าการแลกเปลี่ยนความเห็นหรือทรรศนะของแต่ละฝ่าย

            เมื่อต้องเผชิญการแสดงความเห็นที่สั่นคลอนความเชื่อที่เคยเป็นมาอย่างรุนแรง รวมถึงการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างติดตามมา ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าจะนำซึ่งความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายต่างๆ อย่างแน่นอน

            มหาวิทยาลัยจะเผชิญหน้ากับเรื่องนี้อย่างไร ทางหนึ่งที่มักเห็นกันบ่อยครั้งก็คือการใช้อำนาจในการปิดกั้นไม่ให้เกิดการแสดงความเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้น ซึ่งไม่สู้เป็นประโยชน์ทั้งกับสถาบันและกับสังคมโดยรวมแต่อย่างใด

            หนทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้เกิดการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่เป็นประโยชน์ก็คือ การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ของการถกเถียงในประเด็นปัญหาอย่างตรงไปตรงมา บนฐานของข้อมูลและความรู้ระหว่างบุคคลในฝ่ายต่างๆ บทบาทในลักษณะเช่นนี้ไม่เพียงทำให้เกิดความงอกงามในทางปัญญาและการเรียนรู้เท่านั้น หากแต่จะเป็นแนวทางเพื่อทำให้เกิดการสนทนาระหว่างผู้คนให้สามารถเกิดขึ้นได้แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน อันเป็นภาพที่หาได้อย่างยากเย็นยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบันระหว่างผู้ซึ่งสมาทานแนวความคิดที่แตกต่างกัน

            บทบาทดังกล่าวจะช่วยทำให้การกล่าวหาและป้ายสีกันแบบไร้เหตุผลในทางการเมืองมีความหมายน้อยลง เมื่อสีต่างๆ เจือจางลงก็คงจะทำให้สังคมสามารถมองเห็นใบหน้าที่มีชีวิตของอีกฝ่ายในฐานะมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งได้มากขึ้น

            ในด้านของการแสวงหารู้ การเปิดพื้นที่เพื่อให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนนับเป็นห้องเรียนไม่เป็นทางการเมืองที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการบรรยายตามตารางสอน และเป็นการให้การเรียนรู้กับนักศึกษาและบุคคลภายนอกได้อย่างดียิ่ง

            แน่นอนว่าการตระหนักถึงการสร้างความรุนแรงเป็นสิ่งที่ควรต้องตระหนักถึง หากเห็นได้ชัดเจนว่ามีแนวโน้มที่กำลังจะก้าวเดินไปสู่เหตุการณ์ที่มีเลือดตกยางออกหรือแม้กระทั่งการบาดเจ็บล้มตาย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพึงระวังมิให้ถูกหยิบมาเป็นข้ออ้างเพื่อปิดปากฝ่ายอื่นที่มีความเห็นต่างๆ ตามอำเภอใจ    

            สังคมไทยตกอยู่ในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งมาเป็นระยะเวลายาวนาน และสถานการณ์เช่นนี้ก็มีแนวโน้มที่จะยังคงดำเนินต่อไป บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการนำเสนอแนวทางเพื่อก้าวข้ามให้พ้นไปจากความยุ่งยากนี้เป็นภาระหน้าที่ประการหนึ่ง  

            และภาระหน้าที่ดังกล่าวนี้คงไม่อาจจำกัดไว้เพียงเฉพาะกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น หากหมายรวมไปถึงมหาวิทยาลัยแห่งอื่นด้วยเช่นกันที่จะช่วยนำพาสังคมไทยให้เดินหน้าก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้อย่างสันติและสงบ มากกว่าเพียงการคลั่งไคล้อยู่กับการจัดอันดับที่สูงขึ้นของมหาวิทยาลัยในระดับโลกโดยไม่สนใจถึงปัญหาความขัดแย้งที่กำลังคุโชนอยู่ภายสังคม ณ ห้วงเวลานี้


สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ขอยืนยันกับ อ.กิตติศักดิ์ ปรกติ: “เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง”

Posted: 02 Feb 2012 10:24 AM PST

          ผมเพิ่งอ่านพบข้อเขียนของท่านอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ {1} รุ่นพี่ธรรมศาสตร์ของผมเมื่อวานนี้เอง ทั้งที่อาจารย์ท่านเขียนมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว (ราว 4 เดือนก่อน)  ผมไม่ได้ทำงานการเมือง เลยตกข่าว ไม่ได้ติดตามข่าวสารด้านนี้นัก  แต่ผมเคยเขียนเรื่อง “เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง” เมื่อเดือนมิถุนายน 2554  ผมจึงขอมายืนยันกับอาจารย์กิตติศักดิ์และทุกท่านในเรื่องนี้ครับ 

ข้อเขียนของอาจารย์กิตติศักดิ์
          ท่านเขียนไว้ว่า “ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้เห็นได้จากคดี Perry v. Schwarzenegger ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาพิพากษาไปเมื่อ 4 สิงหาคม ปี 2010 นี้เองว่า ผลการลงประชามติของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2008 ที่มีมติให้แก้รัฐธรรมนูญของแคลิฟอร์เนียเสียใหม่ เพื่อหวงห้ามมิให้คนเพศเดียวกันทำการสมรสกันได้นั้นขัดต่อหลักความเสมอภาคและขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ตามประชามตินั้น ประชาชนเสียงข้างมากในแคลิฟอร์เนียต้องการให้กำหนดตายตัวลงในรัฐธรรมนูญของแคลิฟอร์เนียทีเดียวว่า การสมรสจะทำได้เฉพาะหญิงกับชายเท่านั้น คำพิพากษาของศาลสูงสหรัฐอเมริกาในคดีนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ศาลตัดสินไปในทางที่ขัดต่อมติมหาชน จัดเป็น Anti-Majoritarian Decision แต่ศาลสหรัฐอเมริกาก็ได้ยอมรับว่า เมื่อเสียงส่วนมากใช้ไปในทางที่ผิด ศาลซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียงข้างมากรับรู้ไว้”

          ผมขอเห็นต่างจากอาจารย์กิตติศักดิ์ ดังนี้:

          1. ประชามติของชาวมลรัฐหนึ่งจะไปขัดกับรัฐธรรมนูญของทั้งสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมาจากฉันทามติของคนทั้งประเทศ) ย่อมไม่ได้อยู่แล้ว  ประชามติของคนกลุ่มย่อยเช่นนี้ย่อมไม่มีผล เช่น ชาวฮาวายจะลงประชามติแยกออกจากสหรัฐอเมริกาคงไม่ได้ มติของคณะโจรว่าจะไปปล้นบ้านไหน ชุมชนไหน ย่อมใช้ไม่ได้เพราะโจรไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในสังคม

          2. อย่างไรก็ตาม หากมีการลงประชามติกันทั่วประเทศห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ต้องแก้กฎหมายตามเสียงส่วนใหญ่ ผู้พิพากษาก็คงไม่อยู่ในวิสัยที่จะมาตัดสินเป็นอื่นได้

          3. ดังนั้นมันจึงเป็นคนละเรื่องกัน จะกล่าวว่า “ศาล (ผู้พิพากษาไม่กี่คน) ซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียงข้างมากรับรู้ไว้” ไม่ได้ครับ เพราะเป็นการเปรียบเทียบแบบผิดฝาผิดตัว 

อย่าบิดเบือนเสียงส่วนใหญ่
          เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้องนั้นเป็นสัจธรรม แต่กฎทุกกฎก็มีข้อยกเว้น เช่น ในกรณีศิลปวิทยาการ คนส่วนใหญ่ในสมัยก่อนที่ไม่มีความรู้ อาจเชื่อว่าโลกแบน แต่ความจริงโลกกลม  หรือเราคงไม่สามารถถามคนส่วนใหญ่ว่าจะสร้างจรวดไปดวงจันทร์อย่างไร  เราพึงถามผู้รู้ต่างหาก  อย่างไรก็ตามในกรณีสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เสียงส่วนใหญ่ถูกต้องแน่นอน

          บางคนอ้างผิด ๆ ว่าเสียงส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจผิดพลาดได้ เช่น กรณีการเถลิงอำนาจของนาซี เยอรมนี โดยอ้างว่าฮิตเลอร์ก็มาจากการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงก็คือ การเลือกตั้งในปี 2476 ดังกล่าว นาซีไม่ได้ชนะด้วยเสียงส่วนใหญ่ นาซีได้คะแนนเสียงเพียง 44% เท่านั้น {3} ทั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งสกปรก รวมทั้งการทำลายคู่แข่งของฮิตเลอร์  และแม้นาซีจะชนะการเลือกตั้งใน 33 จาก 35 เขตเลือกตั้ง ก็เป็นการชนะด้วยเสียงข้างมากแต่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่อยู่ดี

          โดยสรุปแล้วในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นเรื่องของปุถุชน ทุกคนรู้เท่าทันกัน เสียงส่วนใหญ่ย่อมถูกต้องเสมอ ไม่มีใครโง่กว่าใคร  ดังนั้นเราจึงเชื่อมั่นในเสียงส่วนใหญ่ได้ ยกเว้นจะถูกโฆษณาชวนเชื่อ หรืองมงายเอง ซึ่งไม่ใช่ปรากฏเฉพาะปุถุชน แม้แต่ อาจารย์ระดับดอกเตอร์ชื่อดังยังหลงคารมเปรตกู้มาแล้ว หรือพวกคุณหญิงคุณนาย นายทหารใหญ่ ๆ ไปหลงเคารพอลัชชีทั้งหลาย เป็นต้น

อย่าหลงกับ “คนดี”
          ท่านอาจารย์กิตติศักดิ์ ยังกล่าวว่า “      หลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ดำรงอยู่ได้ไม่ใช่เพราะตั้งอยู่บนฐานของเสียงข้างมากเฉยๆ . . . อำนาจสูงสุดแม้จะเป็นของประชาชน แต่ก็จำกัดโดยกฎหมายเสมอ และกฎหมายที่ว่านี้มีอยู่อย่างไรก็ต้องตัดสินโดยผู้พิพากษาซึ่งเป็นอิสระ . . . ที่ว่าเป็นอิสระในที่นี้ก็คือต้องเป็นคนกลาง ที่เข้าสู่ตำแหน่งเพราะมีคุณสมบัติเป็นที่ประจักษ์ทั้งในทางคุณวุฒิ และทางคุณธรรม ไม่ใช่ตั้งกันตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ แต่ตั้งขึ้นจากบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่พอจะทำให้น่าเชื่อได้ว่า บุคคลเหล่านี้ล้วนมีคุณวุฒิเป็นผู้รู้กฎหมาย รู้ผิดชอบชั่วดี และเป็นผู้ทรงคุณธรรมคือวินิจฉัยตัดสินคดีไปตามความรู้และความสำนักผิดถูกของตน โดยตั้งตนอยู่ในความปราศจากอคติ และมีหลักเกณฑ์ทางจรรยาบรรณคอยควบคุม”

          ศาลรัฐธรรมนูญของไทยชุดนายอุระ หวังอ้อมกลาง ก็ถูก คปค (คมช) ยุบทิ้งไป  กระบวนการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากวุฒิสภาซึ่งมาจาก คมช. อีกทอดหนึ่งหลังจากว่างเว้นไป 2 ปี จะประกันได้อย่างไรว่า “ไม่ใช่ตั้งกันตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ”  นอกจากนั้นจากการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2554 {4} พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ (57%) ไม่เชื่อมั่น (ร้อยละ 37.62 ไม่ค่อยเชื่อมั่น ส่วนร้อยละ 19.31 ไม่เชื่อมั่น) ส่วนน้อยเท่านั้นที่เชื่อมั่น (ร้อยละ 25.53 ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 17.54 เชื่อมั่นมาก)  ที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในศาลรัฐธรรมนูญก็เพราะ “เพราะการตัดสินคดีที่ผ่านมา มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางคดีมองว่าเป็นการตัดสินแบบ 2 มาตรฐาน”

          คำถามสำหรับประเทศไทยก็คือ ข้าราชการตุลาการได้รับการพิสูจน์อย่างเพียงพอจากสังคม หรือไม่ว่าเป็นคนดีจริง ไม่มีนอกมีใน ประเทศไทยมีกระบวนการควบคุมและตรวจสอบที่เข้มงวดต่อบุคลากรเหล่านี้เช่นในประเทศที่เจริญหรือไม่ หรือความเป็นคนดีเป็นแค่ข้อกล่าวอ้าง แต่ไม่เคยพิสูจน์  ถ้าเป็นเช่นนั้นสังคมอาจมีข้อกังขา เข้าทำนอง “อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ” นั่นเอง

ต้องเคารพประชาชน
          ในประเทศที่เจริญ เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ว่าถูกต้อง แต่ “กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น” ในกรณีศิลปวิทยากรดังข้างต้น  และด้วยข้อยกเว้นเหล่านี้ พวกเผด็จการทรราชจึงนำมาบิดเบือน สร้างความสับสนด้วยการอุปโลกน์ตนเป็นผู้นำ เป็นผู้รู้ เป็นอภิชนเหนือคนอื่น และข่มว่ามหาชนเป็นคนโง่ ถูก “ฟาดหัวด้วยเงิน” ได้โดยง่าย ไร้สามารถ ขาดศักยภาพในการตัดสินใจ จำเป็นต้องมีผู้ยิ่งใหญ่ที่สวรรค์ส่งมาเพื่อนำทางให้อยู่เสมอ ๆ

          การบิดเบือนเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อให้ท้ายพวกเผด็จการทรราชมาทำการรัฐประหาร แล้วมาควบคุมประชาชน  แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ก็มาโกงกิน  ดังเช่นที่เห็นตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ สามทรราช รสช. หรืออาจรวม คมช. ด้วยก็ได้ มีใครเชื่อบ้างว่ารัฐบาลสุรยุทธ์และรัฐมนตรีเหล่านั้นใสสะอาดกว่ายุคอื่น ในยุคเผด็จการทรราชมักมีการโกงกินมากกว่าพวกนักการเมืองพลเรือนเพราะขาดการตรวจสอบและเพราะมักอ้างตนมีคุณธรรมเหนือผู้อื่น

          เผด็จการทรราชยังใช้อำนาจเขียนประวัติศาสตร์บิดเบือนต่าง ๆ นานา เช่น ในสมัย 6 ตุลาคม ก็หาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเพื่อตอกย้ำความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ก็จัดแสดงนิทรรศการอาวุธในธรรมศาสตร์ที่สนามไชย ซึ่งผู้เขียนในฐานะนักศึกษาผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งเชื่อว่าไม่เคยมีอาวุธสงครามเช่นนั้น หาไม่ตำรวจ ทหารและกลุ่มฝ่ายขวาที่บุกเข้าไปคงต้องเสียชีวิตกันมากมายไปแล้ว

          ประชาชนมักถูกมองว่าเป็นแค่ “ฝุ่นเมือง” หรือ “ปุถุชน” (บุคคลผู้มีกิเลสหนา) แต่ในความเป็นจริง สัจธรรมอยู่ในคนหมู่มาก จึงมีคำพูดว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน”  ปุถุชนหรือสามัญชนนี่แหละคือเจ้าของประเทศตัวจริง  ไม่ว่าชนชั้นปกครองจากชาติใด ราชวงศ์ใด หรือลัทธิใดมาครอบครอง สามัญชนก็ยังอยู่สร้างชาติ รักษาความเป็นชาติ เช่นที่เห็นได้ในประวัติศาสตร์จีน เกาหลี หรือล่าสุดในสมัยสงครามเวียดนามที่มีเพียงประชาชนระดับบนที่มีฐานะและโอกาสที่ดีกว่าที่หลบหนีออกนอกประเทศเพื่อความอยู่รอดส่วนตัว  ดังนั้นเราจึงต้องตระหนักถึงคุณค่าของมวลมหาประชาชนแทนที่จะไปยกย่องทรราช

 

อ้างอิง:

{1}   กิตติศักดิ์ ปรกติ. สิ่งที่คล้ายกันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่ไม่พึงปฏิบัติอย่างเดียวกันกับสิ่งที่ต่างกัน ปรกติ 28 กันยายน 2554 www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000123483

{2}   โสภณ พรโชคชัย. เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง. http://prachatai.com/journal/2011/06/35438

{3}   การเลือกตั้งในเยอรมนี German federal election, March 1933. http://en.wikipedia.org/wiki/German_federal_election,_March_1933

{4}   ดุสิตโพลคนกรุง 37.62% ไม่เชื่อศาล รธน.-“วสันต์” แนะตั้ง ส.ส.ร.แก้ รธน. ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 สิงหาคม 2554 18:51 น. http://www.manager.co.th/Politics/Viewnews.aspx?NewsID=9540000103816

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยนาทีต่อนาที ‘ถล่มยิง 4 ศพ’ ทหารพรานแฉโดนก่อน 7 ครั้ง

Posted: 02 Feb 2012 10:19 AM PST

ชาวบ้านปัตตานีถูกถล่มยิง 4 ศพ ยันมือยิงยู่บนสะพานลอยข้ามทางแยกถนน 4 เลน ยะลา–หาดใหญ่ หยุดรถให้ทหารพรานตรวจ สิ้นเสียงตะโกนภาษาไทย ถล่มยิงไม่ยั้ง เผยก่อนหน้านี้ ฐานทหารพรานถูกยิงมาแล้ว 7 ครั้ง

 

จุดเกิดเหตุ – แผนที่แสดงฐานทหารพราน ทพ.4302 บ้านน้ำดำ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ถูกคนร้ายยิงระเบิด M79 จำนวน 3 ลูก (จุดเกิดเหตุที่ 1 ) เวลาประมาณ 20.00 น. วันที่ 29 มกราคม 2555 คาดว่าจุดยิงอยู่บริเวณสามแยกบ้านฮูแตบองอ หมู่ที่ 6 ตำบลปุโละปุโย ที่ผ่านมาเคยถูกยิงถล่มมาแล้ว 7 ครั้ง ส่วนจุดเกิดเหตุที่ 2 บริเวณชาวบ้านถูกยิงตาย 4 ศพ บาดเจ็บ 5 คน โดยอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุที่ 1 ประมาณ 2 กิโลเมตร


จุดถล่มทหารพราน – เจ้าหน้าที่ทหารพรานตรวจสอบบริเวณระเบิด M79 จำนวน 3 ลูกถูกยิงตกห่างจากเรือนนอนภายในฐานทหารพราน ทพ.4302 บ้านน้ำดำ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ประมาณ 3 เมตร เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555


จุดยิงชาวบ้าน – จุดเกิดเหตุชาวบ้านถูกยิงตาย 4 ศพ บาดเจ็บ 5 คน ซึ่งเป็นทางลาดขึ้นไปยังทางหลวงสาย 43 บ้านกาหยี หมู่ที่ 1 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ฐานทหารพรานที่ 4302 บ้านน้ำดำ หมู่ที่ 2 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก ทหารพรานจากหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 22 (ฉก.ทพ.22) อำเภอหนองจิก ได้เข้าไปตรวจสอบจุดที่ระเบิด M79 ถูกยิงตกภายในฐานทหารพรานที่ 4302 พบว่า มี 3 จุด 2 จุดแรกอยู่บริเวณขอบสระน้ำ มีร่องรอยการเกลี่ยดินกลบรอยระเบิด พบว่าระเบิดทำงานลูกเดียว ลูกที่ปักอยู่ในดินถูกเก็บกู้ไปแล้ว ส่วนอีกลูกตกลงไปในสระจมอยู่ในน้ำ ห่างจากสองจุดแรกประมาณ 4 เมตร ห่างจากเรือนนอนประมาณ 3 เมตร ยังรอหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดมาเก็บกู้ไป

ทหารพรานนายหนึ่งระบุว่า แนววิถีการยิงลูกระเบิด M79 มาจากทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณสามแยกบ้านฮูแตบองอ หมู่ที่ 6 ตำบลปุโละปุโย อยู่ห่างออกไปประมาณ 200 เมตร แนวการยิงตรงกับที่ตั้งเรือนนอนภายในฐานทหารพรานที่ 4302 แต่ลูกระเบิดตกก่อนถึงเรือนนอน

ที่ผ่านมา ฐานทหารพรานที่ 4302 บ้านน้ำดำ ถูกคนร้ายถล่มยิงถล่มมาแล้ว 7 ครั้ง ทหารพรานประจำฐานนี้ จึงต้องระมัดระวังและตื่นตัวตลอดเวลา

ต่อมา เวลา 14.30 น. วันเดียวกัน ที่ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี นายยา ดือราแม คนขับรถที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ทหารพรานจากฐานทหารพรานที่ 4302 ตั้งด่านสกัดที่บ้านกาหยี หมู่ที่ 1 ตำบลลิปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 พร้อมด้วยญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 9 คน ได้เดินทางเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีถูกทหารพรานยิงเสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 ราย

เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ได้สอบถามข้อมูลเบื้องต้น และได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนยุติธรรมและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นายยา เปิดเผยว่า จุดเกิดเหตุเป็นทางเบี่ยงสะพานลอยขึ้นทางหลวงสาย 43 ซึ่งเป็นถนนสี่เลน ขณะเกิดเหตุถูกยิงรถยนต์เครื่องดับ จึงทำให้รถไหลถอยหลัง คนขับไม่ได้ถอยรถหนีตามที่เจ้าหน้าที่เข้าใจ (อ่านรายละเอียดขณะเกิดเหตุในล้อมกรอบ) สำหรับหมู่บ้านตันหยงบูโละห์ไม่เคยเกิดเหตุร้าย ยกเว้นบนถนนใหญ่ คนในหมู่บ้านไม่เคยถูกดำเนินคดี มีเพียงเด็กถูกนำตัวไปซักถามแล้วปล่อยตัวไม่ถูกดำเนินคดีแค่คนเดียว

นายแวโซะ แวนาแว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านทุ่งโพธิ์ ตำบลลิปะสาโง อำเภอหนองจิก เปิดเผยว่า กลุ่มชาวบ้านตันหยงบูโละห์ ตำบลตำบลลิปุโละปุโย ที่ประสบเหตุ ต้องการเดินทางไปละหมาดศพนางมือแย สาและ แม่ของตน ที่เสียชีวิตเมื่อเวลา 16.20 น. วันที่ 29 มกราคม 2555 มีกำหนดละหมาดศพเวลา 21.00 น. ในวันดังกล่าว ที่บาลาเซาะห์หรือศาลาละหมาดบ้านทุ่งโพธิ์ โดยเชิญชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว และคนอื่นๆ มาละหมาดประมาณ 500 คน

วันเดียวกัน มูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิม ได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมในฐานะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอแสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว และขอประณามผู้ที่กระทำจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปรากฏว่า ข้อมูลในพื้นที่จากการสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้อยู่ที่ร่วมในเหตุการณ์ แตกต่างกับที่ทางโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้แถลงต่อสื่อมวลชน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงขอเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ พิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เพราะยังมีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์รอดชีวิตเหลืออยู่ แต่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง จึงรู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ และเกรงเกิดความไม่ปลอดภัยกับตัวเอง บุคคลเหล่านั้นล้วนเป็นบุคคลที่มีอายุ และเป็นผู้บริสุทธิ์

การที่หน่วยงานของรัฐรีบออกมาแถลง โดยสรุปข้อมูลจากการรับฟังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติฝ่ายเดียว ย่อมไม่เป็นธรรมต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ บุคคลเหล่านั้นล้วนเป็นคนในพื้นที่ ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวงเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงขอเรียกร้องผู้มีอำนาจหน้าที่ ผู้บังคับบัญชา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวว่า มีความเหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อย่างไร

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเหตุการณ์แรก แต่ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทำนองนี้อีก ทุกเหตุการณ์ล้วนแต่เป็นการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างของเจ้าหน้าที่กับประชาชนในพื้นที่ เมื่อเป็นดังนี้ความสงบในพื้นที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ได้สอบปากคำพยานแล้ว 3 ปาก และจะสืบพยานเพิ่มเติมอีก ทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บและเจ้าหน้าที่ทหารพราน ส่วนรถยนต์คันเกิดเหตุชุดพิสูจน์หลักฐานได้เข้าไปตรวจร่องรอยของรูกระสุน และปลอกกระสุนปืน นำไปตรวจสอบที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน จังหวัดยะลา เพื่อเปรียบเทียบว่าเป็นปืนชนิดเดียวกับปืนอาก้า และปืนพกขนาด .45 มิลลิเมตร ที่พบภายในรถยนต์ของชาวบ้านที่ถูกยิงหรือไม่

พล.ต.ต.พิเชษฐ์ เปิดเผยว่า คดีนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีย้ำให้ตรวจอย่างละเอียดว่า เป็นปืนชนิดไหน มาจากที่ใด ใครเป็นผู้ใช้ รอยนิ้วมือเป็นของใคร เพราะเป็นหลักฐานสำคัญ ตนในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวนจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ใครผิดก็ว่าไปตามผิด

“คดีคนร้ายยิงถล่มฐานทหารพราน และคดีคนร้ายกราดยิงบ้านชาวบ้าน และคดีคนร้ายยิงทหารพรานตายภายในฐาน จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจน เพราะบางคดีอาจจะเป็นการสร้างสถานการณ์ตอบโต้ หรือฉวยโอกาสก่อเหตุ ผมได้กำชับให้กำลังทุกฝ่ายเตรียมพร้อมตลอดเวลา เพราะเชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามน่าจะออกมาก่อเหตุในอำเภอหนองจิก และอำเภอใกล้เคียง เพื่อหวังที่ดึงมวลชนอีก” พล.ต.ต.พิเชษฐ์ กล่าว

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงเหตุการณ์ต่อที่ประชุมประจำเดือนหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดปัตตานี มีข้าราชการฝ่ายปครอง ตำรวจ ทหารเข้าร่วมกว่า 200 คนว่า เบื้องต้นได้มอบเงินให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 100,000 บาท ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย 1 หมื่นบาท ส่วนผู้บาดเจ็บนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี 3 ราย รายละ 3 หมื่นบาท

นายธีระ แจ้งต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ได้ขอให้ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ย้ายทหารพรานชุดเกิดเหตุออกนอกพื้นที่ ให้ชุดอื่นมาอยู่ดูแลความปลอดภัยพื้นที่แทน เพื่อให้ชาวบ้านสบายใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา 1 ชุด นอกเหนือจากฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจแล้ว จะมีคนกลางคือ อัยการ และตัวแทนภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าว ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วและเป็นธรรม

“ผมขอให้ทุกคนปฏิบัติงานอย่างโปร่งใส เป็นที่พึ่งของประชาชน และต้องให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเสียหายอย่างเป็นธรรม ขอเน้นย้ำไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง ทุกอย่างต้องโปร่งใส ซื่อสัตย์ ต้องตอบคำถามประชาชนได้ทุกเรื่อง ขอให้เป็นบทเรียนในการทำงานในพื้นที่ที่มีเงื่อนไข และมีความแตกต่างในชีวิตความเป็นอยู่ของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปมากกว่าเดิม” นายธีระ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 07.45 น. วันเดียวกัน ขณะที่อาสาสมัครทหารพรานทะนง สินธู อายุ 48 ปี สังกัดกรมทหารพรานที่ 43 อยู่บ้านเลขที่ 52 หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ขับขี่รถจักรยานยนต์กลับจากส่งลูกที่โรงเรียนในเขตเทศบาลตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เพื่อกลับไปเข้าเวรที่กรมทหารพรานที่ 43 ในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี มาตามถนนสายหนองจิก–โคกโพธิ์ เมื่อมาถึงหมู่ที่ 2 บ้านชะเมา ตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ มีคนร้าย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์ตามประกบยิงจนเสียชีวิต

หลังจากเกิดเหตุ พ.ต.อ.ระพีพงษ์ สุขไพบูลย์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ได้นำกำลังไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพบศพอาสาสมัครทหารพรานทะนง สินธู ตกอยู่ข้างทาง สภาพศพอยู่ในเครื่องแบบทหารพรานสีดำครึ่งท่อน มีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืนพกสั้น .38 มิลลิเมตรเข้าลำตัว 4 นัด ใกล้กันพบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีแดงของผู้ตายตกอยู่ในคูน้ำ

พนักงานสอบสวนเชื่อว่า คนร้ายได้ติดตามความเคลื่อนไหวของอาสาสมัครทหารพรานทะนงมาตลอด จนทราบว่าผู้ตายขับรถไปส่งลูกทุกวัน เมื่อสบโอกาสจึงก่อเหตุตอบโต้กรณีทหารพรานยิงชาวบ้านอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีเสียชีวิต 4 ศพ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555

……………………………………



 

ยา ดือราแม
‘ผมเห็นคนยิง’

นายยา ดือราแม คอเต็บมัสยิดบ้านตันหยงบูโละห์ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ผู้ขับรถนำชาวบ้านออกเดินทางไปละหมาดศพ และถูกกระหน่ำยิงจนมีผู้เสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บอีก 5 คน เมื่อคืนวันที่ 29 มกราคม 2555 ได้เล่าเหตุการณ์ช่วงเกิดเหตุขณะชะลอรถให้ทหารพรานจากฐาน 4302 ตรวจ

………………………….......

“เกือบสองทุ่ม ชาวบ้านได้ยินเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นหนึ่งครั้ง เสียงดังมาก ตามด้วยเสียงปืนดังขึ้นอีกหนึ่งชุด แต่ไม่รู้ว่าเป็นเหตุการณ์อะไร

หลังจากละหมาดอีชาเสร็จ ผมชวนชาวบ้านไปละหมาดศพที่บ้านทุ่งโพธิ์ ตำบลลิปะสาโง อำเภอหนองจิก โดยเลี่ยงไปใช้เส้นทางถนนสี่เลน ถึงแม้จะไกลกว่าเส้นทางผ่านหน้าฐานทหารพราน 4302 เพราะไม่แน่ใจว่าเสียงระเบิดที่เราได้ยินก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นที่ไหน เกิดที่ฐานทหารพราน 4302 หรือไม่เราก็ไม่รู้ 

ผมขับรถไปถึงแยกถนนสี่เลน พอเลี้ยวรถเข้าทางลูกรังที่ลาดขึ้นบนถนนใหญ่ แสงไฟจากรถส่องเห็นทหารบางคนยืน บางคนนอนหมอบ ผมเลยชะลอรถ หันไปบอกคนบนรถที่มากับผมว่า อย่าตกใจ อย่าวิ่งหนี

พอผมชะลอรถกำลังจะดับเครื่องยนต์ ก็ได้ยินเสียงตะโกนเป็นภาษาไทย แต่ผมฟังภาษาไทยไม่ออก เลยไม่รู้หมายความว่าอะไร ผมได้ยินแต่เสียงไม่เห็นคนตะโกน พอสิ้นเสียงตะโกนเสียงปืนดังขึ้นทันที ตอนนั้นผมดับเครื่องยนต์พอดี รถจึงไหลลงข้างทาง เจ้าหน้าที่เข้าใจว่า ผมถอยรถหนี แต่ไม่ใช่ รถไหลลงข้างทางเพราะผมดับเครื่องยนต์ ผมไม่ได้คิดจะหนีอย่างเจ้าหน้าที่เข้าใจ

ผมเห็นไฟจากปากกระบอกปืน บนสะพานข้ามแยกถนนสี่เลนกับบนถนน ผมเห็นว่ายิงจากตรงไหน เห็นคนยิงด้วย แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร

ยิงชุดแรกไม่โดนใคร พอหมดเสียงปืนชุดแรกเด็กที่มากับผม นั่งตรงกระบะท้ายรถ กระโดดลงจากรถวิ่งหนี เลยถูกไล่ยิง เสียงปืนชุดที่สองก็ดังขึ้น คราวนี้กระสุนโดนคนที่นั่งอยู่ข้างผมที่เป็นคนขับ ตอนแรกผมคิดจะหนีเหมือนกัน แต่คนในรถร้องกล่าวถึงพระเจ้าตลอด และสอนคำกล่าวปฏิญาณไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮให้คนที่ถูกยิง ผมก็เลยไม่หนี และคิดว่าน่าจะหยุดยิงกันแล้ว แต่กลับมีเสียงปืนดังขึ้นอีกชุด ตอนนี้ผมอยู่ไม่ได้แล้ว ตัดสินใจลงจากรถ วิ่งหนีกลับบ้าน ตอนวิ่งหนีผมถูกยิงเฉี่ยวหัวไหล่ซ้าย 

ตอนนั้นมีเด็กคนหนึ่ง วิ่งตามผมไปหลบอยู่ในบ้านญาติ ส่วนผมหนีเข้าบ้าน กลัวมากกว่าจะได้ไปโรงพยาบาลก็ 4 ทุ่มกว่า

ผมไม่รู้ว่าจุดเกิดเหตุเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมเล่าได้แค่นี้แหละ”

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อคิดเห็นต่อแผนการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึงของ กสทช.

Posted: 02 Feb 2012 10:00 AM PST

กสทช. กำลังจัดทำร่างแผนการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมประจำปี 2555-2559 โดยมีเป้าหมายตามตารางประกอบ การจัดทำแผนดังกล่าวนับเป็นพัฒนาการด้านบวกที่สำคัญ เนื่องจากทำให้ กสทช. ทราบค่าใช้จ่ายในการให้บริการอย่างทั่วถึง และสามารถจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ ได้  จากเดิมที่มีหลักเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนนัก   

นอกจากนี้ กสทช. ยังเปลี่ยนมาใช้กลไกของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ และน่าจะช่วยลดต้นทุนการจัดให้มีบริการได้ จากการใช้วิธีประมูลแข่งขันมาคัดเลือกผู้ให้บริการอย่างทั่วถึง          

ตามแผนใหม่นี้  ค่าธรรมเนียมที่ กสทช. จะจัดเก็บเข้าสู่กองทุนฯ จะอยู่ที่ร้อยละ 4 ของรายได้ในการให้บริการของผู้รับใบอนุญาตทั้งที่มีและไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง จากเดิมที่เก็บในอัตราเดียวกันจากเฉพาะผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองเท่านั้น    

 

เป้าหมายในการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึงประจำปี 2555-2559

  



        
        - 99% ของพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์ส่วนบุคคลได้  
        - มีโทรศัพท์สาธารณะ 1 เลขหมายต่อหมู่บ้านเล็กและห่างไกลในพื้นที่ที่เหลือ 1%
     - มีบริการอินเทอร์เน็ตชุมชน โรงเรียนและสถานีอนามัย ความเร็ว 2 Mbps ในพื้นที่ชนบท 20% ของประเทศ
      - มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 2-10 Mbps และ WiFi ครอบคลุมโรงเรียน สถานีอนามัย อบต. และพื้นที่ไม่น้อยกว่า 80% ของประเทศ 
       - มีบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับชุมชนรายได้น้อยในเขตเมือง สถานสงเคราะห์คนชรา และโรงเรียนสอนคนพิการ 500 แห่งทั่วประเทศ
        - มีระบบการสื่อสารเฉพาะทางของคนพิการทางตาและการได้ยิน ไม่น้อยกว่า 1 แสนคน  
        - ส่งเสริมและพัฒนาเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นประโยชน์ 
     - ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านโทรคมนาคม อาทิ การพัฒนาทักษะและฝีมือแก่แรงงาน การสนับสนุนทุนการศึกษา ตลอดจนฝึกอบรมประชาชนไม่น้อยกว่า 5 แสนคน

 

 

โดยรวมแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า แผนดังกล่าวมีพัฒนาการในด้านดีหลายประการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าการดำเนินการตามแผนดังกล่าวจะทำให้เกิดต้นทุนในการให้บริการอย่างทั่วถึงในระดับสูงกว่าที่ควรจะเป็นด้วยเหตุผลหลายประการ  

 

ประการที่หนึ่ง  แม้แผนดังกล่าวมีแนวคิดในการแบ่งพื้นที่ซึ่งยังไม่มีบริการโทรคมนาคมออกเป็น พื้นที่ซึ่งไม่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง (true access gap) ซึ่งต้องการการอุดหนุนจากกองทุนฯ และพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์แต่ยังขาดบริการอยู่ (efficiency gap) ซึ่งการแข่งขันในตลาดจะทำให้เกิดบริการก็ตาม  ในทางปฏิบัติ กสทช. ก็ยังมิได้แบ่งพื้นที่ของประเทศไทยออกมาตามแนวคิดดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เงินกองทุนฯ ไปอุดหนุนบางพื้นที่โดยไม่จำเป็น 

ประการที่สอง ด้วยเหตุผลเดียวกับข้อแรก แผนดังกล่าวมุ่งใช้เงินจากกองทุนฯ เป็นหลักในการทำให้เกิดบริการอย่างทั่วถึง โดยไม่ได้ใช้มาตรการอื่นเท่าที่ควร โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการจากการออกใบอนุญาตใหม่ๆ และการกำกับดูแลที่ดี

ประการที่สาม แผนดังกล่าวกำหนดเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้อย่างตายตัว เช่น  กำหนดว่าต้องมีบริการ WiFi  ครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประเทศ   ทำให้ขาดทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีอื่นเช่น WiMax หรือดาวเทียมบรอดแบนด์ ซึ่งอาจมีต้นทุนต่ำกว่าในบางพื้นที่  

ข้อเท็จจริงที่ชี้ว่า การให้บริการอย่างทั่วถึงตามแผนดังกล่าวน่าจะมีต้นทุนสูงกว่าที่ควรจะเป็นก็คือ การที่ กสทช. จะเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนฯ ที่อัตราร้อยละ 4 ของรายได้ของผู้รับใบอนุญาต ซึ่งสูงกว่าอัตราที่จัดเก็บอยู่ในต่างประเทศ  เช่น ชิลี เปรู และแอฟริกาใต้ ต่างเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของรายได้ของผู้ประกอบการ   และไม่พบว่ามีประเทศใดที่เก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวถึงร้อยละ 2.5 เลย ยกเว้นอินเดีย (ดูภาพประกอบ) ค่าธรรมเนียมในระดับสูงของไทยจะเป็นต้นทุนที่ผู้บริโภคทุกคนมีภาระต้องแบกรับ  

จากการเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนขอเสนอแนะให้ กสทช. พิจารณาสั่งการให้ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการดังต่อไปนี้ 

1. จัดทำการประมาณการความแพร่หลายของบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในประเทศไทยว่ามีแนวโน้มโดยธรรมชาติอย่างไร และจะมีความแพร่หลายเพิ่มขึ้นอย่างไรหากมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้และกำกับดูแลให้ตลาดมีการแข่งขันอย่างเต็มที่  

2. ระบุพื้นที่ซึ่งไม่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริงจากประมาณการข้างต้น ซึ่งจะทำให้ทราบพื้นที่ซึ่งควรได้รับการอุดหนุนอย่างแท้จริง

3. เปิดกว้างให้ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายในการแข่งขันกันให้บริการอย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องระบุเทคโนโลยีอย่างตายตัว เช่น ไม่ควรระบุว่า ต้องเป็น WiFi เท่านั้น  

4. ตัดโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริการอย่างทั่วถึงออกเช่น การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน และทุนการศึกษา เนื่องจากการใช้จ่ายในลักษณะดังกล่าวน่าจะขัดกับบทบัญญัติตามกฎหมาย   ทั้งนี้ หากต้องมีค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากร ก็ควรจำกัดเฉพาะกลุ่มบุคคลที่ขาดทักษะการใช้บริการโทรคมนาคมเท่านั้น    

5. ควบคุมการใช้จ่ายของ กสทช. และสำนักงาน กสทช.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กำหนดอัตราเงินเดือน หรือสวัสดิการต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และป้องกันการรั่วไหลต่างๆ ในการจัดซื้อจัดจ้าง  ทั้งนี้เนื่องจากรายได้ของสำนักงาน กสทช. เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ข้างต้นแล้ว  จะมีส่วนที่ถูกนำส่งเป็นรายได้ของกองทุนฯ ด้วย   นอกจากนี้ การกำหนดเงินเดือนของ กสทช. ในระดับที่สูงมากโดยการแปลงโบนัสเป็นเงินเดือน น่าจะขัดกับเจตนารมย์ของกฎหมาย และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อความน่าเชื่อถือในการทำงานเพื่อสาธารณะของ กสทช. เอง 

6. ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมกองทุนฯ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และใกล้เคียงกับมาตรฐานสากล เช่น ไม่ควรเกินร้อยละ 2.5  เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภคมาก  โดยรายได้ดังกล่าวของกองทุนฯ น่าจะเพียงพอต่อการให้บริการอย่างทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงฐานรายได้ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายฐานของผู้จ่ายค่าธรรมเนียมไปยังผู้รับใบอนุญาตทุกประเภทแล้ว  

 

ภาพเปรียบเทียบอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการอย่างทั่วถึงของประเทศต่างๆ 

         ที่มา: เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของ สำนักงาน กสทช.

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนงานอยุธยา-คนงาน NEC ร้อง ก.แรงงาน แก้ปัญหาเลิกจ้างหลังน้ำลด

Posted: 02 Feb 2012 09:58 AM PST

คนงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจากย่านนิคมฯ ในอยุธยาเกือบ 10 บริษัท สมทบกับคนงาน NEC จากนิคมฯ นวนคร ปทุมธานี ร้องกระทรวงแรงงาน ขอความช่วยเหลือถูกเลิกจ้าง-ไม่ได้ค่าชดเชย

เว็บไซต์วอยซ์เลเบอร์รายงานว่า วันนี้ (2ก.พ.55) คนงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา จากย่านนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกือบ 10 บริษัท เดินทางมาร่วมสมทบกับคนงาน NEC จากนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานเข้ามาช่วยเหลือให้ได้รับความเป็นธรรม โดยมีนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน มารับฟังปัญหา

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า การที่คนงานซึ่งได้รับผลกระทบต้องเดินทางมาถึงกระทรวงแรงงานในวันนี้เป็นเพราะว่าไม่สามารถหาความชัดเจนให้กับชีวิตตนเองได้ทั้งในระดับโรงงานและจังหวัด ปัญหาผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วมครั้งนี้ คนงานยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างจริงจัง และยังไม่เห็นมาตรการความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับปัญหาผลกระทบต่อชีวิตของคนงาน

นายชาลีกล่าวว่า เดือนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการส่งเสียงเรียกร้องถึงความเป็นธรรม ซึ่งคงจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นในการจัดการน้ำของรัฐ เช่น กรณีของคนงาน NEC การย้ายฐานผลิตไปที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโก จังหวัดฉะเชิงเทรา และมีการเลิกจ้างคนงานเกือบ 3,000 คน ยังมีอีกหลายโรงงานที่กำลังศึกษาหาวิธีการที่จะเลิกจ้าง ซึ่งมีข่าวลือว่านายจ้างบางคนหาที่ปรึกษาเรื่องการเลิกจ้างอย่างไรไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และบางส่วนก็หลีกการเป็นข่าวใช้การเลิกจ้างแบบทยอยให้ออก

สิ่งที่น่าห่วงคือ คนงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน และไม่รู้สิทธิทางกฎหมายแรงงานกลุ่มนี้จะถูกละเมิด ถูกให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับค่าชดเชย หรือให้เขียนใบลาออกเพื่อไปใช้ประกันสังคมกรณีว่างงาน ตรงนี้ทำให้คนงานต้องจำทนรับเงินทดแทนเพียงร้อยละ 30 เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งอาจดีกว่ารอโรงงานเปิด เพราะนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ กระทรวงแรงงานต้องทำงานเชิงรุก ต้องเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ ขอเจรจากับนายจ้างเพื่อดูทิศทางเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิคนงาน ตอนนี้มีนายจ้างที่ใช้วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ ให้คนงานทำงานแล้วจ่ายค่าจ้างเพียงร้อยละ 75 แม้ว่าจะเป็นการสมยอมระหว่างคนงานกันนายจ้าง แต่ผิดกฎหมาย รัฐต้องเข้าไปดู และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนซึ่งในขณะนี้ยังไม่มั่นใจเรื่องระบบการจัดการน้ำ มากกว่าการให้เงิน ลดภาษี หรือทำเป็นไม่เห็นการละเมิดสิทธิเอาเปรียบคนงาน

นายชาลีกล่าวเสริมว่า กระทรวงแรงงานควรดูแลคนงานมากกว่านี้ ให้สมกับชื่อของกระทรวง และขอให้ให้เกียรติคนงานด้วย เพราะคนงานก็มีศักดิ์ศรี อย่าใช้ท่าทีที่คุกคามเหยียดหยามกัน เพราะหากคนงานไม่เดือดร้อนคงไม่มาร้องให้ช่วย เพราะบางกรณีคนงานไม่ได้รับค่าจ้างมานานหลายเดือน เพราะคนงานมีเพียงค่าจ้างไว้ยังชีพเท่านั้น วันนี้จึงเดือดร้อนกันทั่วหน้า

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัญหาของคนงานที่มาร้องทุกข์ครั้งนี้ ได้มีการเขียน คร. 7 และอยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่สวัสดิการจังหวัด ซึ่งยังมีการให้ความช่วยเหลือในระดับพื้นที่ คิดว่า น่าจะให้ทางจังหวัดได้แก้ไขปัญหาก่อน เพราะการเดินทางมีค่าใช้จ่าย วันนี้ก็ต้องมอบหมายให้ทางจังหวัดกลับไปเร่งรัดในการแก้ไขปัญหา หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง และไม่มอบงานให้ทำ ถือว่าไม่มีการจ้างงานเท่ากับเลิกจ้าง อันนี้ก็ดำเนินการให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ส่วนการไม่จ่ายค่าจ้างในช่วงน้ำท่วมต้องรีบตรวจสอบ เพื่อให้นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างตามกฎหมาย

นายจำลอง ชะบำรุง ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม จังหวัดพระนครศรีอยุธยากล่าวว่า ปัญหาที่ศูนย์ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากคนงานส่วนใหญ่คือการถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย ปัญหาที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่มีการเปิดทำงานให้คนงานรอไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้ทำงาน ทำให้เกิดความกดดันต่อคนงานบางคนต้องลาออกจากงานเพื่อหางานใหม่ทำ เพราะความไม่ชัดเจนของนายจ้าง อีกปัญหาคือการที่นายจ้างสั่งให้คนงานย้ายไปทำงานที่ห่างไกลในเครือบริษัทเดียวกัน ทำให้คนงานไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ และเมื่อประสานงานทางบริษัทก็ไม่ได้รับคำตอบว่าจะแก้ปัญหาคนงานอย่างไร มารู้อีกทีก็ถูกนายจ้างแจ้งประกันสังคมว่า คนงานลาออกจากงานทำให้คนงานต้องเสียสิทธิกรณีว่างงานแทนที่จะได้รับสิทธิประกันสังคมกรณีถูกเลิกจ้าง เพราะคนงานไม่ได้ลาออกเอง

การที่พาคนงานมาร้องทุกข์ที่กระทรวงแรงงานวันนี้ เพื่อให้กระทรวงแรงงานแก้ไขปัญหาคนงาน เพราะการร้องเรียนกรอก คร.7 บางกรณีนานมากหากต้องเข้าสู่กระบวนการทางศาลแรงงาน คนงานจะเอาเงินที่ไหนมาสู้ เพราะไม่ได้รับค่าจ้างมานานแล้ว จะกินยังไม่มี ถามว่า คนงานอยากมาไหม คงไม่อยากมาหากมีการแก้ไขปัญหาเสียแต่ต้นทาง อยากเสนอให้รัฐแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่เป็นระบบ ที่ทำให้คนงานสามารถอยู่ได้ เพื่อรอการฟื้นฟูโรงงาน เพราะไม่อยากให้คนงานต้องออกมาเรียกร้องกันทีละคนสองคน หากมีการแก้ไขปัญหาจริงเราคงไม่ต้องเหนื่อยเดินทางมากระทรวงแรงงาน

นายสมพร พวงจันทร์ ประธานสหภาพแรงงานเซไดคาเซ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทเซไดคาเซ ประเทศไทยมีคนงานทั้งหมด 130 คน มีนายจ้างเป็นชาวญี่ปุ่น และได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเดือนตุลาคม 2554 ปัจจุบันผ่านมากว่า 3 เดือนคนงานยังไม่ได้รับค่าจ้าง เมื่อมีการเจรจา นายจ้างบอกให้คนงานรอไปก่อน โดยไม่มีกำหนด เพราะนายจ้างต้องกู้เงินธนาคาร นายจ้างบอกเพียงว่า ไม่ปิดกิจการจะเปิดทำงานต่อ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเปิดเมื่อไร คนงานต้องการความชัดเจน หากเลิกจ้างให้จ่ายค่าชดเชยมา ตอนนี้ไม่มีเงินใช้กันแล้ว เพราะคนงานก็กระทบกับปัญหาน้ำท่วมบ้านเหมือนกัน หากเลิกจ้างแน่นอนคนงานจะได้เงินทดแทนจากประกันสังคมร้อยละ 50 อย่างน้อย 6 เดือน

ตอนนี้บริษัทมีการย้ายเครื่องจักรออกจากโรงงาน ทำให้ยิ่งไม่มั่นใจต่ออนาคต ขณะนี้คนงานก็กระจายตัวกันหางานรับจ้างรายวันทำ รับจ้างล้างโรงงาน ก่อสร้าง ซึ่งรายได้ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในครอบครัวเพราะภาระมีมาก บางคนตกงานทั้งครอบครัว และปัญหาของคนงานเซไดคาเซนั้นได้มีการร้องทุกข์กันมานานแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

นางสาวอลงกรณ์ ดีถี กรรมการสหภาพแรงงานเอ็นอีซี กล่าวว่า พวกเขาเป็นคนงานบริษัท เอ็นอีซี โทคิน อิเล็กทรอนิกส์ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร  จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีคนงาน 3,100 คน ได้เดินทางมาร้องที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 เนื่องจากผลพวงอุทกภัยน้ำท่วมโรงงาน ทำให้มีการได้ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งทางบริษัทได้มีการย้ายคนงานไปทำงานจำนวน 200 คน ส่วนที่เหลือจำนวน 2,900 คนนายจ้างได้ประกาศเลิกจ้างเมื่อวานนี้ (1กุมภาพันธ์ 2555) ให้มีผลในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 โดยนายจ้างจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่มีเช่นวันพักร้อนที่ยังไม่ลา

การที่ต้องออกมาเรียกร้อง เพราะว่า นายจ้างไม่ให้ความชัดเจนต่อการเลิกจ้าง คนงานได้มีการเลื่อนไหวทวงถาม และเคยมาที่กระทรวงแรงงานแล้วครั้งหนึ่งเพื่อให้เรียกนายจ้างมาชี้แจงว่าจะเลิกคนงาน จ่ายค่าชดเชยอย่างไร ซึ่งคนงานเพิ่งจะได้รับ SMS แจ้งจากนายจ้างเมื่อวานนี้ว่าจะเลิกจ้าง และจ่ายค่าชดเชย ตามกฎหมาย การที่คนงานทำงานมานานนับ 10- 20 ปี อายุก็มาก คือโดยรวมอายุประมาณ 30-50 ปี คนงานต้องการความมั่นคงในการทำงาน ตกงานตอนนี้จะหางานที่ไหนทำ ช่วงที่ทำงานทุกคนก็ทุ่มเทการทำงานให้อย่างเต็มที่ คนงานทุกคนยังรักบริษัทและอยากทำงาน หากบริษัทต้องการให้ช่วยกันฟื้นฟูทุกคนก็ยินดีช่วย แต่วันนี้นายจ้างบอกเลิกจ้าง คนงานก็ต้องการค่าเสียโอกาส ทางสหภาพแรงงานได้เจรจาพูดคุยกับนายจ้างเพื่อให้เห็นใจคนงานด้วย แม้ว่านายจ้างยืนยันการเลิกจ้างด้วยการส่ง SMS ว่ายินดีพร้อมค่าชดเชยตามกฎหมาย รวมค่าอายุงาน 1 เดือน ค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เงินพิเศษ 1 เดือน ค่าจ้างเดือนนี้ 1 เดือน เพิ่มเงินให้อีก 5,000 บาท ซึ่งวันนี้นัดเจรจากันอีกครั้ง เพราะคนงานต้องการการยืนยันจากนายจ้าง ผลการเจรจาสรุปว่า นายจ้างเลิกจ้างทั้งหมด และจ่ายค่าชดเชยตามที่ได้มีการส่งข้อความแจ้งมา

นอกจากนี้ ยังมีคนงานบริษัทอัลตัน พรีซีซัน จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ทำการผลิตชิ้นส่วนอีเลคทรอนิคส์ ได้รวมกันประมาณ 100 คน เดินทางมาที่กระทรวงแรงงานด้วย เนื่องจากหลังน้ำลดทางบริษัทได้มีการควบรวมกิจการโดยบริษัทอิงเท็ค พรีชั่น (ประเทสไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะเข้ามาพร้อมกับมีการเลิกจ้างคนงานมีผลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 จำนวน 355 คน เหลือคนงานบริษัทอัลตันทำงานอยู่อีก 271 คน ทำให้คนงานส่วนหนึ่งไม่พอใจจึงได้ออกมาเรียกร้องให้นายจ้างบริษัทอิงเท็คชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อให้ช่วยเจรจากับทางนายจ้างกรณีที่บริษัทมีการควบรวม และเลิกจ้างคนงานบางส่วน


 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวรป้องกันน้ำท่วม

Posted: 02 Feb 2012 09:44 AM PST

ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ทำการสนับสนุนให้ธนาคารออมสิน เป็นผู้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสุด 0.01 % เป็นเวลากว่า 10 ปีวงเงินกว่า 15,000 ล้านบาทให้กับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมทั้งหลายในพื้นที่ที่อยู่ในแนวเส้นทางน้ำผ่านหรือ Floodways กู้ไปดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวรขึ้น (Levees and Floodwalls) ล้อมรอบนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ถูกน้ำท่วมหรือมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า มาร่วมกันวางแผนให้คำปรึกษาในการสร้างเขื่อนตามนิคมฯต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน อีกทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ให้การสนับสนุนอย่างต็มที่โดยอ้างว่าได้มีการประชุมร่วมกันกับรองนายกรัฐมนตรี และได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะมีการตั้งกองทุน เพื่อช่วยเหลือนิคมอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ตั้งแต่การปล่อยกู้ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับสูบน้ำ และการกู้เพื่อสร้างผนังกั้นน้ำถาวร ดังตัวอย่างโมเดลของเนเธอร์แลนด์ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แต่สามารถอยู่ได้ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมเห็นชอบด้วยเต็มที่  ความดังทราบแล้วนั้น

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอคัดค้านนโยบายและการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้เพราะข้อเสนอของรัฐบาลและเอกชนดังกล่าว ไม่เคยมีใครหรือหน่วยงานใดเลยที่จะออกมาพูดถึงผลลบหรือผลกระทบอย่างรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวรดังกล่าว หรือแม้แต่ข้อเสนอแนะทางออกหรือลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมนั้น ๆ ว่าจะลดผลกระทบที่จะต้องเกิดขึ้นกับพวกเขามากขึ้นอย่างไร ก็ไม่มีหน่วยงานใดสนใจ ทุกคนทุกหน่วยงานมุ่งแต่จะเอาอกเอาใจผู้ประกอบการนักลงทุน ดุจดังพระเจ้าที่จะต้องกราบคลานเอื้อประโยชน์ให้ทุกอย่างตามที่เรียกร้อง โดยชุมชนชาวบ้านรอบนิคมอุตสาหกรรมจะฉิบหายอย่างไร ชั่งหัวมัน

การสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวรอาจทำให้ระดับน้ำท่วมสูงขึ้นในชุมชนรอบข้าง และสร้างความเสียหายให้พื้นที่หลายแห่งโดยรอบที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งรัฐบาลและผู้ประกอบการไม่เคยที่จะไปทำความเข้าใจและหาทางวางแผนไม่ให้ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน หรือไม่มีการกำหนดมาตรการชดเชย เยียวยาที่เหมาะสม เสียก่อนที่จะวางแผนหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว หรือไม่มีมาตรการการแก้ไขปัญหาน้ำหลากอย่างเบ็ดเสร็จแล้วเสียก่อน นอกจากนั้นยังไม่มีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการจำกัดขอบเขตการไหลของน้ำยังทำให้ลักษณะการไหลของน้ำหลากเกิดการเปลี่ยนแปลง  เช่น ระดับน้ำสูงขึ้น ความเร็วและอัตราการไหลเพิ่มขึ้น ความรุนแรงของคลื่นเปลี่ยนแปลงและเวลาเดินทางของน้ำเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งผลด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์  รวมทั้งลักษณะภูมิประเทศเดิมที่มีอยู่ ปัญหาเหล่านี้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาล ไม่ได้คิดหาคำตอบก่อนที่จะสนับสนุนการสร้างเขื่อนกั้นน้ำหรือผนังกั้นน้ำถาวรเลย

ทั้งนี้ รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำลังแก้ปัญหาโดยมีมุมมองเพียงด้านเดียวในการบริหารจัดการในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ขาดบริบทของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อย่างจงใจ ดูเหมือนจะเป็นการท้าทายกฎหมายแม่บทของชาติ นั่นคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 30 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 66 และมาตรา 67 อย่างเจตนา

ปัญหาน้ำท่วมใน 7 นิคมอุตสาหกรรมของภาคกลาง เป็นที่น่าเห็นใจผู้ประกอบการทั้งเจ้าของนิคมฯ และผู้ประกอบการโรงงานในนิคมต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะต่างได้รับความเสียหายจากวิกฤตน้ำท่วมดังกล่าวกันอย่างทั่วหน้า แต่ทว่าต้องไม่ลืมว่าผู้ประกอบการเหล่านั้นยินยอมถือความเสี่ยงกันเองทั้งสิ้น เพราะรู้ทั้งรู้ว่าพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นพื้นที่ลุ่มภาคกลางที่น้ำสามารถท่วมถึง และบางแห่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในแนวทางน้ำไหลผ่านหรือ Floodways ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพเป็นมาแต่ครั้งโบราณกาล

ผู้ประกอบการและโรงงานต่าง ๆ เหล่านั้นยอมถือความเสี่ยง เพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนทางธุรกิจที่มากกว่าพื้นที่อื่น ทั้งเรื่องราคาที่ดินที่ถูกกว่า มีระบบโลจิสติกส์ที่ดีกว่า ประหยัดการลงทุนมากกว่า โดยไม่สนใจเลยว่าจะต้องเสี่ยงกับการถูกน้ำท่วมอย่างแน่นอน แต่เมื่อยามเกิดปัญหาขึ้นกลับหนีเอาตัวรอด โดยการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวรขึ้น ในลักษณะ “เห็นแก่ตัวและเอาเปรียบชุมชน”

การออกมาขับเคลื่อนหรือดำเนินการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวร เพื่อหวังปกป้องตนเอง หรืนิคมอุตสาหกรรมของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของชุมชนรอบข้างเลย จึงเป็นแนวคิดที่ผิดพลาด แม้นิคมอุตสาหกรรม หรือโรงงานจะถูกป้องกันอย่างแน่นหนาไม่ให้น้ำท่วมในอนาคต แต่หากโรงงานผลิตสินค้าออกมาได้ จะขนส่งออกไปอย่างไร รวมทั้งการขนส่งวัตถุดิบเข้า-ออกโรงงานจะทำอย่างไร รวมทั้งคนงานทั้งหลายที่มักมีบ้านพักอาศัยอยู่ในชุมชนรอบโรงงาน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมสูงรอบนิคมฯหรือโรงงาน จะสัญจรเดินทางเข้า-ออกโรงงานได้อย่างไร ปัญหาเหล่านี้เหมือนลิงแก้แห อย่างคิดแต่จะได้ เอาเปรียบสังคมฝ่ายเดียวเท่านั้นเป็นพอก็ได้แล้ว

การสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวรนั้น จะเกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงตามมามากมาย ทั้งผลกระทบจากการก่อสร้าง ผลกระทบจากการเบี่ยงเบนลำน้ำจากเส้นทางเดิม จะทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น  ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง เกิดความเสียหายมากเมื่อน้ำล้นสันเขื่อนหรือกำแพงกั้นน้ำ ชาวบ้านหรือชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณเหนือและหรือโดยรอบเขื่อนอาจไม่ปลอดภัย มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาอีกมากมายเหลือคณานับ

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงขอประกาศคัดค้านแนวคิด นโยบายและแผนการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาล โดยกระทรงการคลัง ธนาคารออมสิน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งและนิคมอื่น ๆ อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้น หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดจะปกป้องนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวกันจริง เพื่อหวังเรียกความเชื่อมั่นการลงทุนแล้วละก็ มีทางเดียวเท่านั้นที่จะเป็นทางออกที่มีลักษณะ win-win คือ รัฐบาลต้องมีแผนหรือมาตรการที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมเสียก่อนแล้วเท่านั้น โดยนำมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง ก่อนที่จะอนุมัติแผนงานหรือเงินทุนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวร

แต่หากรัฐบาล กยน.และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังดื้อดึงหรือไม่สนใจคำทักท้วงนี้ ยังคงเดินหน้าสนับสนุนการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวรต่อไป สมาคมฯและชาวบ้าน ชาวชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังกล่าว คงไม่สามารถคงไม่สามารถหาทางออกอื่นใดได้ นอกจากการพึ่งอำนาจศาล ในการหาข้อยุติในการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลและเอกชนได้เท่านั้น

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แพทย์สหรัฐฯ เสนอน้ำตาลควรถูกปฏิบัติอย่างสารพิษ

Posted: 02 Feb 2012 08:49 AM PST

แพทย์จากสาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ UCSF เสนอว่าควรมีการจำกัดการบริโภคน้ำตาลเทียบเท่ากับแอลกอฮอล์และยาสูบ และมีการเก็บภาษีการบริโภคเพิ่ม ด้านนักเศรษฐศาสตร์ค้านไม่คิดว่าได้ผล หากจะเก็บควรเก็บภาษีตัวสารให้ความหวานแทน

1 ก.พ. 2012 - คอลัมนิสต์ คริสโตเฟอร์ วานเจก จากเว็บไซต์ Livescience นำเสนอความเห็นจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, ซาน ฟรานซิสโก (UCSF) ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature ซึ่งเปิดเผยว่าน้ำตาลเป็นพิษต่อร่างกายของมนุษย์ และควรมีการควบคุมจากรัฐบาลประเทศต่างๆ อย่างเข้มงวดเท่าแอลกอฮอล์

นักวิจัยกลุ่มดังกล่าวยังได้เสนอให้มีการควบคุมเช่นการเก็บภาษีอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพิ่ม งดไม่ให้จำหน่ายในหรือใกล้เคียงบริเวณโรงเรียน และมีการกำหนดอายุผู้ซื้อ โดยกลุ่มนักวิจัยกลุ่มนี้ได้อ้างงานวิจัยและสถิติหลายชิ้นว่าน้ำตาลซูโครส หรือน้ำตาลที่มีส่วนผสมของน้ำตาลกลูโคสกับฟรุคโตสเช่นในน้ำเชื่อมข้าวโพดและในน้ำตาลที่ใช้ทั่วไปในครัวเรือน เป็นอันตรายเทียบเท่ายาสูบและแอลกอฮอล์

ผู้เขียนรายงานลงในวารสาร Nature ยังได้ระบุถึงปัญหาสุขภาพในสหรัฐฯ ว่ามีสองในสามของประชากรน้ำหนักเกินมาตรฐาน ครึ่งหนึ่งเป็นโรคอ้วน ร้อยละ 75 ของเงินประกันสุขภาพถูกใช้ไปกับการรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบอาหาร และในทุกวันนี้มีการนำน้ำตาลเจือปนมาเป็นส่วนผสมในอาหารอย่างโซดาหรือซุป ทำให้ชาวอเมริกันบริโภคแคลอรี่จากน้ำตาลเจือปนมากกว่า 600 แคลอรี่ต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำตาล 40 ช้อน

นักวิจัยหลายคนถึงขั้นมองว่าน้ำตาลเป็นสารเคมีเป็นพิษ หมายความว่าขณะที่น้ำตาลกลูโคสจากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (complex carbohydrates) เช่นในธัญพืช เป็นน้ำตาลที่ปลอดภัยสำหรับการเผาผลาญอาหารโดยเซลล์ผ่านไปทั่วร่างกาย แต่น้ำตาลฟรุกโตสเป็นสารน้ำตาลที่มีการเผาผลาญโดยตับ ปัญหาจึงเกิดจากที่ว่าน้ำตาลมีส่วนทำให้เกิดโรคตับ และอาจทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวานตามมาด้วย

แม้ว่านักวิจัยจะได้ทดลองพบว่าน้ำตาลเจือปนทำให้เกิดความเสียหายโดนตรงในตับของหนูทดลอง แต่นักวิจัยอีกบางส่วนก็ยังไม่แน่ใจว่าน้ำตาลจะส่งร้ายต่อร่างกายคนเราจริงหรือไม่ ถ้าได้รับในปริมาณที่เท่ากัน

ลุสติก แพทย์จากสาขาวิชากุมารเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, ซาน ฟรานซิสโก (UCSF) เปรียบเทียบน้ำตาลเจือปนกับใบยาสูบ และแอลกอฮอล์ ในแง่ที่ว่ามันสามารถเสพย์ติด, เป็นพิษต่อร่างการ และส่งผลด้านลบต่อสังคม ทำให้ลุสติกเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีการบริโภคจากสินค้าที่มีน้ำตาลเจือปน

นอกจากนี้ลุสติกยังได้มีข้อเสนอในเชิงถอนรากถอนโคน เช่น การสั่งห้ามขายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 17 ควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มและขนมที่มีน้ำตาลบริเวณรอบโรงเรียน และในย่านคนรายได้ต่ำที่มักจะมีปัญหาโรคอ้วน

อย่างไรก็ตามมีนักเศรษฐศาสตร์โต้แย้งว่าการใช้วิธีเก็บภาษีการบริโภคเช่นภาษีโซดาที่มีการเสนอใช้ในหลายรัฐในสหรัฐฯ อาจไม่ได้ผลมากนักในแง่การควบคุมการบริโภคน้ำตาล กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัฐไอโอวานำโดย จอห์น เบกิน เสนอให้มีการเก็บภาษีตัวสารให้ความหวานในระดับการผลิต ไม่ใช่ในระดับผลิตภัณฑ์สำเร็จที่มีน้ำตาล

คริสโตเฟอร์ วานเจก เขียนในคอลัมน์ว่าข้อเสนอนี้มีการนำเสนอเมื่อปีที่ผ่านมา (2011) ในวารสารนโยบายเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัย ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตลดจำนวนการใช้น้ำตาลในผลิตภัณฑ์ลง เช่นที่มีการใช้น้ำเชื่อมข้าวโพดเป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมอาหารเนื่องจากมันราคาถูกและใช้ทดแทนส่วนผสมคุณภาพสูงกว่าได้

อย่างไรก็ตามมีนักวิจัยบางส่วนที่แย้งว่า สิ่งที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคภัยเรื้อรังไม่ได้มาจากน้ำตาล แต่มาจากไขมันอิ่มตัว หรือบ้างก็ว่ามาจากกระบวนการผลิตอาหารที่ใช้คาร์โบไฮเดรตง่ายๆ มาผ่านการผลิตซับซ้อน บ้างก็ว่าเป็นแค่เรื่องการขาดการออกกำลังกาย

 

ที่มา

Sugar Should Be Regulated As Toxin, Researchers Say, Livescience, 01-02-2012
http://www.livescience.com/18244-sugar-toxic-regulations.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มภราดรภาพมุสลิมปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วงทหารในอียิปต์

Posted: 02 Feb 2012 08:10 AM PST

 ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลทหารในอียิปต์กำลังเดินขบวนไปยังอาคารรัฐสภา กลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเสียงข้างมากในสภาฯ ก็มาขวางทาง จนเกิดการปะทะกันมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 71 ราย

31 ม.ค. 2012 - สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลทหารกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่เป็นกลุ่มสนับสนุนพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาอียิปต์ขณะนี้

การปะทะกันดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารหลายร้อยคนเดินขบวนไปยังอาคารรัฐสภา แต่ก็ถูกกลุ่มภราดรภาพมุสลิมมาขวางทางไม่ให้เข้าถึงอาคาร ซึ่งทางรัฐมนตรีผู้ช่วยกระทรวงสาะารณสุขเปิดเผยว่ามีประชาชนบาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะดังกล่าว 71 ราย

"พวกเรามาที่นี่เพื่อเป็นโล่มนุษย์ เพราะหากผู้ประท้วงไปไกลกว่านี้ พวกเขาจะปะทะกับตำรวจ พวกเขาอยากบุกเข้าไปในรัฐสภา คุณจะให้เราทำอย่างไรล่ะ" ฮัมดี อับเดลซาหมัด หนึ่งในสมาชิกภราดรภาพมุสลิมกล่าว

กลุ่มประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารได้ตะโกนคำขวัญต่อว่าสภาคณะทหารสูงสุดของอียิปต์ (SCAF) ซึ่งขึ้นมามีอำนาจหลังจากที่อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ถูกโค่นล้มโดยประชาชนเมื่อปีที่แล้ว (2011

กลุ่มนักกิจกรรมได้บอกให้ผู้ชุมนุมเดินขบวนจากจัตุรัสทาห์เรีย สัญลักษณ์ของการลุกฮือโดยชาวอียิปต์ ไปยังอาคารรัฐสภาเพื่อกดดันให้ส.ส. ใหม่ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งปฏิบัติตามเป้าหมายของการปฏิวัติ

ผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลทหารสละอำนาจ หยุดการดำเนินคดีพลเรือนโดยใช้ศาลทหาร เปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงมหาดไทย และให้คำมั่นเรื่องเสรีภาพแบะความยุติธรรมในสังคม

ผู้ประท้วงบอกว่ามีแต่สภาที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนหลังการปฏิวัติเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกรักษาการประธานาธิบดีขึ้นมาทำงานแทนก่อนที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือไม่เช่นนั้นก็ควรกดดันให้มีการเลือกตั้งก่อนหน้าโดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบได้

"พวกเราต้องการจากท่านจอมพล (จอมพล ฮุสเซน ทันทาวี หัวหน้าสภาทหาร) เท่านี้แหละ" ผู้ประท้วงคนหนึ่งกล่าว "เขาควรจะส่งผ่านอำนาจต่อเพื่อที่พวกเราจะได้เป็นประเทศอารยะ"

 

กลุ่มอิสลามถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาลทหาร

กลุ่มศาสนาอิสลามและผู้ประท้วงฝ่ายฆราวาสต่างก็ยืนประท้วงเคียงข้างกันเวลาที่มีการประท้วงที่จัตุรัสทาห์เรียในช่วงต้นปี 2011 ที่ผ่านมา จนกระทั่งการประท้วงเป็นเวลา 18 วัน สามารถโค่นล้มมูบารัคได้ในที่สุ

ความตึงเครียดระหว่างสองกลุ่มนี้เริ่มขึ้นหลังจากที่การเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้พรรค Freedom and Justice ของที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้คะแนนเสียงข้างมาก และตอนนี้ก็คุมเก้าอี้ในสภาอยู่ร้อยละ 47

กลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายฆราวาสกล่าวหาว่าฝ่ายอิสลามสมรู้ร่วมคิดกับผู้นำทหารเพื่อคงอำนาจใหม่ที่ตนได้รับไว้

"บาดี คุณกำลังฉวยโอกาสขายการปฏิวัติของพวกเรา" กลุ่มผู้ประท้วงตะโกน พวกเขาหมายถึง โมฮัมเม็ด บาดี แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวของอิสลาม

"กลุ่มเยาวชนของภราดรภาพมุสลิมปิดกั้นถนนทางไปสภาทุกทาง เพื่อกันฝ่ายผู้ประท้วงต่อต้านทหาร ... มีอยู่จำนวนมากที่ยืนเรียงต่อแถวกันราวทหารอาสาสมัคร" ผู้ประท้วงต่อต้านทหารรายหนึ่งกล่าว ซึ่งมีการวางกำลังตำรวจปราบจลาจลอยู่รอบอาคารรัฐสภาในช่วงที่มีการประชุมสภาในวันนี้ด้วย

ซึ่งไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นผู้ประท้วงก็พากันเลิกล้มความตั้งใจที่จะไปถึงรัฐสภา และเคลื่อนขบวนไปยังสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลในเขตมาสปีโรแทน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดีเอสไอเตรียมเรียกพันเอกผู้กล่าวหาบุคคลในแผนผังล้มเจ้าให้การเพิ่ม

Posted: 02 Feb 2012 06:31 AM PST

ดีเอสไอจะเริ่มทยอยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคําเพิ่มเติม รายแรก "พ.อ.วิจารณ์ จดแตง" ทหารสังกัด กอ.รมน. เพราะเป็นผู้กล่าวหาบุคคลทั้ง 39 รายในแผนผัง
 
2 ก.พ. 55 - เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ หรือคดีล้มเจ้าตามแผนผังของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับอัยการคดีพิเศษว่า ที่ประชุมมีมติให้ดีเอสไอทำหนังสือเชิญผู้เกี่ยวข้องในการจัดทําแผนผังล้มเจ้า มาให้ปากคํากับพนักงานสอบสวน เพื่อให้ชี้แจงรายละเอียดกลุ่มบุคคลทั้ง 39 รายในแผนผัง ว่าแต่ละรายมีพฤติกรรมกระทําผิดอย่างไร สถานที่ใด เพราะขณะนี้มีแต่รายชื่อ แต่ไม่มีรายละเอียด จึงไม่สามารถดําเนินการต่อได้ 
 
รองอธิบดีดีเอสไอกล่าวต่อว่า ดีเอสไอจะเริ่มทยอยส่งหนังสือเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคําเพิ่มเติม โดยรายแรกคือ พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ทหารสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพราะเป็นผู้กล่าวหาบุคคลทั้ง 39 รายในแผนผัง โดยนัดมาพบวันที่ 14 ก.พ. จากนั้นจะเชิญพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก และอดีตโฆษกศอฉ.เป็นรายต่อไป ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศอฉ.นั้น คงไม่เรียกในช่วงนี้ เพราะต้องดูคําให้การของพ.อ.วิจารณ์ และพ.อ.สรรเสริญ ก่อนว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ หรือพาดพิงถึงใครหรือไม่
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คุยจัดหนักแบบรายเดือน โดยนักข่าวอาวุโส ใน "CORE Respondence"

Posted: 02 Feb 2012 05:57 AM PST

เตรียมพบรายการใหม่ของ prachatai.com

คุยจัดหนักแบบรายเดือน โดยนักข่าวอาวุโส ใน "CORE Respondence"

ประเดิมจอ กับ ประวิทย์ โรจนพฤกษ์ ตั้งคำถามหนักๆ กับ โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความกลุ่มคนเสื้อแดง

พบกัน 6 ก.พ.2555 นี้

CORE respondence

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แฟนบอลจลาจลเดือดตาย 74 ย้อนสำรวจพบวัฒนธรรมแฟนบอลอียิปต์รุนแรงบ่อยครั้ง

Posted: 02 Feb 2012 04:38 AM PST

มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 74 คน และบาดเจ็บร่วม 1,000 คน ในเหตุการณ์ที่แฟนฟุตบอลก่อจลาจลและปะทะกันหลังการแข่งขันระหว่างทีมอัล-มาสรี กับ อัล-อาห์ลี นักการเมืองโยงอาจเป็นฝีมือ “ขั้วอำนาจเก่า” อยู่เบื้องหลัง พบวัฒนธรรมแฟนบอลอียิปต์รุนแรงบ่อยครั้ง

 

 ที่มาภาพ: Telegraph.co.uk

 



 

 

2 ก.พ. 55 – สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 74 คน และบาดเจ็บร่วมพันคน ในเหตุการณ์ที่แฟนฟุตบอลก่อจลาจลและปะทะกันหลังการแข่งขันระหว่างทีมอัล-มาสรี (Al-Masry) กับ อัล-อาห์ลี (Al-Ahly)

โดยแฟนบอลได้กรูลงไปในสนามแข่งขันที่เมืองพอร์ต ซาอิด (Port Said) เมืองท่าติดชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (1 ก.พ.) หลังจาก อัล-มาสรี เอาชนะทีมเยือนอย่าง อัล-อาห์ลี ไปด้วยสกอร์ 3-1 ทั้งนี้อัล-อาห์ลี ทีมจากเมืองหลวงอย่างกรุงไคโร (Cairo) เป็นหนึ่งในทีมที่ได้รับความนิยมสูงสุดของอียิปต์ โดยในรายงานข่าวระบุว่าแฟนบอลทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกัน และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากขาดอากาศหายใจ-มีบาดแผลที่ศีรษะ ขณะที่ตำรวจปราบจลาจลไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้

โยงเบื้องหลังอาจเป็น “ขั้วอำนาจเก่า” - ระดมทหารเข้าสู่ท่าเรือพอร์ท ซาอิด ป้องกันเหตุบานปลาย

ด้านอาเมียร์ ฮัมซาวีย์ (Amr Hamzawy) ส.ส. พรรคเสรีนิยม ได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, รัฐบาล และหัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของสนามพอร์ต ซาอิด มีการสอบสวนในเรื่องนี้ว่าอาจจะมีลับลมคมใน เพราะว่าในวันนี้ (2 ก.พ.) จะเป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่มีการประท้วงโดยกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค (Hosni Mubarak) ที่ได้รวมตัวกันออกมาปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านบริเวณจัตุรัสทาห์รีร์ (Tahrir Square) กลางกรุงไคโร เพื่อพยายามต่อชีวิตทางการเมืองของมูบารัคในช่วงวิกฤตเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่าอียิปต์ได้ระดมทหารเข้าสู่เมืองพอร์ท ซาอิด ในวันนี้ (2 ก.พ.) ทันที โดยนายพลโมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ทันทาวี (Mohamed Hussein Tantawi) ประธานสภากลาโหมของอียิปต์ ซึ่งเป็นผู้นำของรัฐบาลทหารอียิปต์ในปัจจุบัน เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ในอียิปต์ในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่ากำลังมีการสืบสวนหาตัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการก่อความรุนแรงในครั้งนี้ โดยเหยื่อในเหตุการณ์นี้ทั้งหมดจะได้รับการเยียวยาชดเชย

ต่อมาทันทาวีได้ให้การต้อนรับนักเตะทีมอัล-อาห์ลี สู่กรุงไคโรแล้ว และกล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ พร้อมกับประกาศให้มีการไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนบรรยากาศหลังโศกนาฏกรรม ประชาชนในเมืองพอร์ต ซาอิดและในอีกหลายแห่งยังคงประณามเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และมีการประท้วงการทำงานของตำรวจซึ่งพวกเขามองว่าล้มเหลวในการควบคุมฝูงชน

วัฒนธรรมแฟนบอลกับการเมืองในอียิปต์

อียิปต์เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการเชียร์กีฬาฟุตบอลรุนแรงและเข้มข้นแห่งหนึ่ง กลุ่มแฟนบอลฮาร์ดคอร์ที่เรียกว่า “อุลตร้าส์” (ULtras) ที่เป็นวัฒนธรรมการรวมตัวเพื่อเชียร์ฟุตบอลที่มีแพร่หลายทั่วโลกและแตกต่างกันไปแล้วแต่วัฒนธรรมถิ่นนั้น ก็แพร่ขยายมาถึงอียิปต์ โดยกลุ่มแฟนบอลของทีมอัล-อาห์ลี นั้นมีฉายาว่า “อุลตร้าส์-อาห์ลาวี” (Ultras Ahlawy) ที่มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในยุคของอดีตประธานาธิบดีมูบารัค

เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2009 แฟนบอลอียิปต์และอัลจีเรียปะทะกันในเกมคัดเลือกบอลโลกปี 2010 โดยทางการอัลจีเรีย เปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน และบาดเจ็บอีก 312 คน จากอุบัติเหตุตามท้องถนน ระหว่างการฉลองชัยชนะ หลังจากนักฟุตบอลทีมชาติอัลจีเรียชนะอียิปต์ 1-0 และผ่านเข้ารอบไปได้

หลังความพ่ายแพ้กลุ่มแฟนบอลเลือดร้อนชาวอียิปต์ที่ก่อเหตุประท้วงบริเวณสถานทูตอัลจีเรียในกรุงไคโรทันที กลุ่มผู้ประท้วงได้เผาทำลายธงชาติอัลจีเรีย พร้อมกับทำลายรถยนต์และร้านค้าที่อยู่โดยรอบสถานทูตอัลจีเรีย นอกจากนั้นยังได้เข้ายึดรถยนต์ของตำรวจ และขว้างระเบิดมือเข้าใส่ตำรวจที่ปฏิบัติภารกิจป้องกันสถานทูต จนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วง ต่อมาทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าอีกฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้จุดชนวน ความรุนแรงนี้ได้เลยเถิดไปจนรัฐบาลอียิปต์สั่งถอนทูตออกจากอัลจีเรียในที่สุด

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011  ทีมฟุตบอลสหรัฐอเมริกา ยกเลิกแมตช์กระชับมิตรกับอียิปต์ ที่กรุงไคโร โดยสหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐอเมริกาให้เหตุผลว่าเป็นเพราะมีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นภายในประเทศอียิปต์ จากเหตุการณ์ที่ประชาชนก่อจลาจลรวมตัวประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัค

เดือนเมษายน ค.ศ. 2011 ในเกมการแข่งขันชิงแชมป์สโมสรทวีปแอฟริการอบ 32 ทีมสุดท้าย เลกที่ 2 ระหว่างทีมซามาเล็ค (Zamalek) จากอียิปต์ กับ คลับ แอฟริเคน (Club Africain) จากตูนีเซีย ซึ่งในเกมนี้ซามาเล็ค ขึ้นนำทีมจากตูนีเซีย 2-1 แต่ผลประตูรวมยังคงตามหลังอยู่ 4-5 โดยระหว่างการแข่งขันผู้ตัดสินชาวอัลจีเรียไม่ได้ตัดสินให้ลูกยิงของซามาเล็ค เป็นประตูที่ 3 ในเกมนี้ โดยตัดสินให้เป็นลูกล้ำหน้า สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนบอลของสโมสรเป็นอย่างมาก จนในช่วงต่อเวลาแฟนบอลของซามาเล็คหลายร้อยคนได้บุกเข้ามาในสนาม (แฟนบอลฮาร์ดคอร์ของซามาเล็คมีฉายาว่า กลุ่มอุลตร้าส์ ไวท์ ไนท์: Ultras White Knights)

เดือนกันยายน ค.ศ.2011 กลุ่มแฟนบอลของทีมอัล-อาห์ลี ได้ปะทะกับตำรวจปราบจลาจลซึ่งดูแลความปลอดภัย หลังจากที่บรรดาแฟนบอลได้ตะโกนด่าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจและนายฮาบิบ เอล-แอดลี (Habib el-Adly) อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลรายการอียิปต์คัพ ระหว่างอัล-อาห์ลี กับ คิมา อัสวาน (Kima Aswan)

โดยครั้งนั้นกระทรวงมหาดไทยของอียิปต์กล่าวในแถลงการณ์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยั่วยุจากแฟนบอล ซึ่งด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจและทำลายเก้าอี้ของสนามกีฬา พร้อมทั้งโยนระเบิดเพลิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ต้องใช้กำลังเข้าปราบปรามเพื่อระงับเหตุรุนแรงดังกล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"เฉลิม"ไล่นักวิชาการต่างชาติ 224 คนหนุนแก้ม.112 ให้ไปแก้ที่ประเทศตัวเอง

Posted: 02 Feb 2012 02:09 AM PST

 2 ก.พ. 55 - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการนานาชาติได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า ตนและพรรคเพื่อไทยยังยืนยันในจุดยืนเดิมคือไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าว ใครเห็นด้วยก็ให้ไปแก้ที่ประเทศของตัวเอง ทั้งนี้ การที่นักวิชาการต่างประเทศแสดงความเห็นนั้นถือเป็นเรื่องส่วนตัว และใครจะว่าอะไรนั้นก็คงไม่สามารถไปห้ามได้

ส่วนกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า มีกลุ่มคนจ้องล้มรัฐบาลโดยหยิบยกประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาใช้นั้น ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า การติดตามทางลับนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ยอมรับว่ามีการมอบหมายให้ตนเองดูในเรื่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ยังไม่พัฒนา อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่นั้นประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าว

สำหรับกรณีที่มีการนำคลิปเก่าซึ่งนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มนปช.ได้สนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนไม่ขอแสดงความเห็นข้ามฟาก เดี๋ยวจะทะเลาะกัน แต่เรื่องนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย รวมทั้งตนนั้นได้พูดชัดเจนแล้วว่า จะไม่มีการแก้ไขมาตรา 112

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น