โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พระราชกำหนดขัดรัฐธรรมนูญ (ทำไม) รัฐบาลต้องลาออก

Posted: 22 Feb 2012 09:25 AM PST

ขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ (22/02/2555) ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จำนวน 3.5 แสนล้านบาท และพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ก็เป็นอันรู้ผลเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1 และ 2

ผู้เขียนจะไม่พูดเกี่ยวกับรายละเอียดเนื้อหาของคำวินิจฉัย เพราะสามารถอ่านได้จากคำวินิจฉัยของศาลอยู่แล้ว แต่ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการจะพูดถึงก็คือ ความเคลื่อนไหวก่อนหน้าที่จะมีคำวินิจฉัยของศาลออกมา โดยมีการกล่าวกันว่า หากพระราชกำหนดดังกล่าวถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกไป รัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานวิปฝ่ายค้านที่กล่าวในที่ประชุมพรรคว่า หากพระราชกำหนดดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1329828809&grpid=00&catid=&subcatid=)

ด้วยความเคารพต่อความเห็นของประธานวิปฝ่ายค้าน ผู้เขียนไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับความคิดเห็นดังกล่าว ในระบบการเมืองการปกครองแบบรัฐสภานั้น หลักการที่สำคัญคือ รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาหรือได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาในการบริหารประเทศ เนื่องจากรัฐสภาเป็นผู้เลือกหัวหน้ารัฐบาล (นายกรัฐมนตรี) เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง ในอีกทางหนึ่งก็ใช่ว่ารัฐบาลกับรัฐสภาจะทำงานกันอยู่เพียงสองฝ่าย หากแต่ยังมีฝ่ายตุลาการหรือศาลในการควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกันของแต่ละฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายจะไมก้าวก่ายอำนาจกัน

 สำหรับพระราชกำหนดนั้น ในทางกฎหมายแล้วต้องถือว่า เป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลโดยแท้ อันมีความแตกต่างจากพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ จุดประสงค์ของการให้อำนาจฝ่ายบริหารในการออกกฎหมายโดยที่ยกเว้นการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติตามขั้นตอนปกติ ก็เป็นไปเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ เนื่องจากในบางกรณี อาทิ เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน  หากฝ่ายบริหารต้องรอการออกพระราชบัญญัติจากฝ่ายนิติบัญญัติ ก็จะทำให้การแก้ปัญหาไม่ทันเวลาหรือเกิดความเสียหายมากขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ การให้อำนาจฝ่ายบริหารในการออกกฎหมายนั้น ก็ไม่ได้ตัดอำนาจในการตรวจสอบออกไป โดยมีทั้งการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติภายหลัง กล่าวคือ ฝ่ายบริหารก็ต้องนำพระราชกำหนดฉบับนั้น กลับเข้ารัฐสภาเพื่อขอคำรับรองจากรัฐสภา ส่วนอีกหนึ่งการตรวจสอบที่สำคัญก็มาจากฝ่ายตุลาการ คือ การวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

การตรวจสอบพระราชกำหนดโดยฝ่ายตุลาการ จะเห็นได้ว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงคือ “การตรวจสอบ” กฎหมายของฝ่ายบริหารมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุดเท่านั้น หาใช่ “ความรับผิดชอบ” ต่อศาลของรัฐบาลที่มีต่อรัฐสภาไม่ หากพระราชกำหนดดังกล่าวถูกวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนดดังกล่าวก็เป็นอันบังคับใช้ไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องเก็บไปพิจารณาเป็นแนวทางว่า พระราชกำหนดลักษณะนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่สมควรที่จะตราขึ้นอีกในอนาคต

ลองคิดดูว่าหากรัฐบาลต้องลาออกหรือยุบสภา เนื่องจากพระราชกำหนดขึ้นที่ตราขึ้นถูกศาลตีตกไป ในอนาคตก็คงไม่มีรัฐบาลใดตราพระราชกำหนดขึ้นอีก เพราะรัฐบาลไม่มีทางรู้เลยว่าพระราชกำหนดของตนจะขัดต่อกฎหมายตามแนวทางการตีความของศาลหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถใช้ได้จริง นอกจากนั้นหากรัฐบาลสามารถรู้อย่างแน่ชัดว่าพระราชกำหนดของตนทุกฉบับไม่มีทางขัดต่อรัฐธรรมนูญ นั่นก็เท่ากับว่ารัฐบาลได้กลายเป็นศาลเสียเอง เช่นนี้แล้วเราจะมีศาลไว้ตรวจสอบรัฐบาลเพื่ออะไร ในเมื่อรัฐบาลทำตัวเป็นศาลเสียแล้ว

สำหรับเรื่องที่รัฐบาลต้องยุบสภาผู้เขียนเห็นว่า ยิ่งไปไกลกันใหญ่ เนื่องจากในระบบรัฐสภาการยุบสภาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐบาลกับรัฐสภามีความขัดแย้งกัน จนไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ นอกจากนั้นยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายรัฐบาลมีต่อฝ่ายรัฐสภา กล่าวคือ ฝ่ายรัฐสภาสามารถถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลด้วยการลงคะแนนไม่ไว้วางใจถอดถอนหัวหน้ารัฐบาลได้ ฝ่ายรัฐบาลเองก็ถ่วงดุลอำนาจของรัฐสภาได้โดยมีอำนาจในการยุบสภาเช่นกัน การที่ฝ่ายศาลทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจออกกฎหมายของรัฐบาล จึงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความขัดแย้งของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายรัฐสภาเลย 

เราจึงเห็นได้ว่าในระบบรัฐสภา หากรัฐบาลเสนอกฎหมายแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐบาลจึงต้องลาออก เพราะเท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา ทั้งนี้ ตามหลัก “ความรับผิดชอบ” และ “หลักความไว้วางใจ” ของรัฐบาลที่มีต่อรัฐสภา ส่วนการที่ศาลทำหน้าที่วินิจฉัยพระราชกำหนดของรัฐบาลนั้น เป็นไปตามหลัก “การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย” ดังนั้น การเสนอให้รัฐบาลต้องลาออกหรือยุบสภาในกรณีเช่นนี้ จึงเท่ากับว่าระบบรัฐสภาไทยได้เปลี่ยนอำนาจ “การตรวจสอบ” ของศาลไปเป็นหลัก “ความรับผิดชอบต่อศาล” ของรัฐบาล ซึ่งในความเห็นผู้เขียนเป็นการแทรกแซงอำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ อันเป็นการผิดหลักการปกครองในระบบรัฐสภา และยังส่งผลให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการให้อำนาจฝ่ายบริหารในการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีจำเป็นเร่งด่วนของประเทศถูกบิดเบือนไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปิดคดีทหารวิสามัญผู้ป่วยโรคร้าย นัดฟังผลไต่สวน 5 มีนา

Posted: 22 Feb 2012 09:16 AM PST

ปิดคดีทหารวิสามัญหนุ่มยะลา ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง พยานเบิกความ 4 ปากสุดท้าย ศาลนัดฟังผลไต่สวน 5 มีนา

เมื่อเวลา10.00 น.วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลจังหวัดยะลา นัดไต่สวนการตายนายอาหามะ มะสีละ ที่ถูกทหารร้อย ร.15222 หน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 12 ยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 ที่หมู่ที่ 5 ตำบลจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา คดีหมายดำ ช.10/2553 พนักงานอัยการจังหวัดยะลา เบิกตัว พ.ต.อ.สาธิต ก้อนแก้ว พนักงานพิสูจน์หลักฐานศูนย์พิสูจน์หลักฐานที่ 10 จังหวัดยะลามาเบิกความ

พ.ต.อ.สาธิต เบิกความว่า ตนได้ตรวจอาวุธปืนที่พบในมือของนายอาหามะ จากสถานีตำรวจภูธรจะกว๊ะ พบว่า เป็นปืนกรีนวอลเวอร์อยู่ในสภาพเรียบร้อย จึงไม่สามารถระบุได้ว่า มีการใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เนื่องจากโดยปกติ ปืนชนิดนี้หากผ่านการใช้งานแล้วหงอนนกของปืนชนิดนี้จะเปิด ส่วนการตรวจสอบเขม่าปืนเป็นของหน่วยงานอื่น

ทนายฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตถามว่า หากมีการยิงด้วยปืนเอ็ม 16 ในระยะ 40 เมตร มีโอกาสถูกอวัยวะสำคัญหรือไม่ พ.ต.อ.สาธิต ตอบว่า ต้องไปถามแพทย์

จากนั้นทนายฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตได้เบิกตัวพยานฝ่ายผู้ร้องคัดค้าน 3 ปาก มาเบิกความ ได้แก่ นางสาวสีตีอายะ มะสีละ น้องสาวนายอาหามะ นายกิดตือมัน สือรี เพื่อนนายอาหามะ นายตอเล๊ะ มะสีละ ผู้อาบน้ำศพนายอาหามะ

นางสาวสีตีอายะ เบิกความว่า ไม่เชื่อว่าพี่ชายมีอาวุธปืน เพราะพี่ชายของตนเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องระยะสุดท้าย ร่างกายผอมแห้ง ไม่มีแรงเดิน ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นประจำ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ญาติพี่น้องต้องช่วยดูแล

นายกิดตือมัน เบิกความว่า ตนเป็นคนนำศพนายอาหามะไปที่บ้าน เห็นสภาพศพมีแผลถูกยิงขมับด้านขวาขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 3 นิ้ว และเห็นรูขนาดเล็กบริเวณเหนือใบหู เหนือหน้าผากด้านซ้ายมีรอยแผลขนาด 1 เซนติเมตร คิดว่าเป็นรอยกระสุนเข้า ส่วนรูใหญ่เป็นรอยกระสุนออก

นายตอเล๊ะ เบิกความว่า เห็นสภาพศพของนายอาหามะ มีบาดแผลที่ข้างศีรษะด้านขวา กว้าง 3 นิ้ว ต้องใช้เนื้อกล้วยยัดเข้าไปในบาดแผลไม่ไห้เลือกออกมา ตามตัวมีรอยเกา บริเวณขามีเม็ดผื่น

จากนั้น ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนการตายในวันที่ 5 มีนาคม 2555

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พันธมิตรฯ ประกาศต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ นัดหยั่งท่าที 10 มี.ค.

Posted: 22 Feb 2012 09:11 AM PST

ชี้การแก้ รธน. ถือเป็นความเหิมเกริม ลุแก่อำนาจของฝ่ายเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์แห่งระบอบทักษิณที่คิดจะล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถือเป็นการเข้ายึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สนธิชี้บางทีสังคมไทยก็สมควรแล้วที่จะได้นักการเมืองบัดซบมาปกครอง เพราะสังคมไทยไม่เคยเดือดร้อนจากความทุกข์ยากลำบาก

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวานนี้ (22 ก.พ.) ภายหลังจากการประชุมแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2555 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง “หยุดนิติกรรมอำพรางล้มล้างรัฐธรรมนูญยึดอำนาจประเทศไทย” โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ตามที่คณะรัฐมนตรีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การคัดเลือกและเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 99 คน และจะนำไปสู่การลงประชามติ โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 นั้น แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้มาประชุมกันและลงมติดังเห็นชอบในการแสดงจุดยืนต่อไปนี้

เราเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเพียงนิติกรรมอำพรางกำหนดวางคุณสมบัติสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับในขั้นแรก และเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในขั้นต่อไป จึงเข้าข่ายลักษณะการรัฐประหารประเทศไทยและยึดอำนาจประเทศโดยใช้รัฐธรรมนูญให้ตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของเผด็จการรัฐสภาโดยกลุ่มทุนสามานย์ผูกขาดของพรรคการเมืองในที่สุด

ทั้งนี้ ที่มาของ ส.ส.ร.ทั้ง 99 คนนั้น ซึ่งจะประกอบไปด้วย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และ ส.ส.ร ที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิอีก 22 คนนั้น ถือได้ว่าเป็นเพียงแค่นิติกรรมอำพรางเพื่อให้ ส.ส.ร.ส่วนใหญ่นั้นมาจากเครือข่ายของนักการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น

เพราะการจัดให้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนนั้น ก็เป็นวิธีการยึดโยงให้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งมีที่มาในลักษณะการเลือกตั้ง “แบ่งเขตตามพื้นที่” ซึ่งมีรูปแบบคล้ายคลึงกับสมาชิกวุฒิสภาในชุดปัจจุบัน จึงย่อมมีลักษณะความเชื่อมโยงกับระบบอุปถัมภ์ และยึดโยงกับเครือข่ายเดียวกันของนักการเมืองในแต่ละพรรคการเมือง ไม่ต่างจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่นั้น ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมืองและพรรคการเมืองทั้งสิ้น ซึ่งปรากฏเห็นเด่นชัดเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ไม่สามารถพึ่งพาในการตรวจสอบอำนาจฝ่ายบริหารได้เลยในทางปฏิบัติ ดังนั้น การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ในลักษณะนี้ โดยที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นรัฐบาลในปัจจุบันมีเป้าหมายอย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่าจะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองและพวกพ้องอยู่แล้ว ย่อมเล็งเห็นผลลัพธ์ได้อยู่แล้วว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ร.77 คน ครั้งนี้เป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อกำหนดวางคุณสมบัติ ส.ส.ร. ส่วนใหญ่เอาไว้ให้เป็นกลุ่มคนในเครือข่ายของรัฐบาลเอาไว้ล่วงหน้า อันจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดในที่สุด

เช่นเดียวกันกับการคัดเลือก ส.ส.ร.ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญ 22 คน ก็จะมีการคัดเลือกโดยที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งโดยสัดส่วนแล้วย่อมเล็งเห็นได้อยู่แล้วว่า ส.ส.ร.ในส่วนนี้ย่อมตกอยู่ภายใต้อาณัติและการครอบงำของฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอีกเช่นกัน

การคัดเลือกบุคคลเหล่านี้แท้จริงแล้ว ก็เพื่อนำไปสู่เป้าหมายหลักของนักการเมืองในระบอบเผด็จการทุนสามานย์โดยเจ้าของพรรคการเมือง 2 ประการ คือ

1. ล้างความผิดในอดีตของเจ้าของพรรคการเมืองและพวก

2. กระชับอำนาจให้กับตัวเองและพวกพ้องในอนาคตให้เบ็ดเสร็จขาดมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ความจริงแล้วการเมืองปัจจุบันหาใช่ระบอบประชาธิปไตยในทางปฏิบัติไม่ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติเสียงข้างมากเป็นฝ่ายเดียวกับฝ่ายรัฐบาลจึงไม่สามารถตรวจสอบได้จริงในทางปฏิบัติ และเมื่อองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญอ่อนแอลงทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งผลทำให้กระบวนการตุลาการไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้ เผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์และผูกขาดโดยเจ้าของพรรคการเมืองจึงมีความเข้มแข็งและเติบโตขึ้น การเมืองของประเทศไทยจึงเข้าสู่ความล้มเหลวทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ไม่ว่าฝ่ายใดมาเป็นรัฐบาลต่างก็ฉ้อราษฎร์บังหลวงกันทั้งสิ้น และประเทศไทยได้ถูกฉ้อราษฎร์บังหลวงไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1-2 ล้านล้านบาทตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จึงเป็นความเหิมเกริม ลุแก่อำนาจของฝ่ายเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์แห่งระบอบทักษิณ ที่คิดจะล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อันถือเป็นการเข้ายึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือเพื่อล้างความผิดในอดีตและกระชับอำนาจให้กับนักการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนไม่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์สุขของนักการเมือง ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนใดๆ ทั้งสิ้น อันเป็นการสร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ ทั้งๆ ที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ทั้งจากปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงสูงขึ้นมาก ราคาน้ำมันและพลังงานสูงขึ้นจากการผูกขาดและหาผลประโยชน์จาก ปตท. การเยียวยาจากผู้ประสบอุทกภัยที่ยังไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ และยังไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ฯลฯ แต่นักการเมืองเหล่านี้ก็ยังสนใจแต่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอง วิกฤติปัญหาของประเทศครั้งนี้จึงไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่นักการเมืองที่พฤติกรรมฉ้อฉล

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้

อีกทั้งเมื่อปรากฏข้อความตามมาตรา 291/1 ถึง มาตรา 291/16 ตามร่างของรัฐบาลแล้ว ย่อมเป็นการยืนยันชัดเจนว่า กรณีนี้ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หากแต่เป็นบทบัญญัติให้มีคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจพิเศษในการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับ โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้แทน คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้อำนาจตนเอง คือ รัฐสภา มีอำนาจเลือกคณะบุคคลซึ่งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ด้วย อีกทั้งยังให้อำนาจพิเศษคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ให้เป็นผู้มีอำนาจให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติในรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้นได้ และให้เป็นผู้มีอำนาจรับรองการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะบุคคลดังกล่าวได้อีกด้วย ฯลฯ การแก้ไขครั้งนี้จึงเข้าข่ายเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังเป็นร่างที่จัดทำแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ครั้งนี้ ยังจัดทำขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีโดยที่ไม่ได้มีมติของมหาชนเสียก่อนว่าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติให้ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 291” ต้องเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 136 (16) โดยรัฐสภาต้องร่วมประชุมกันหากมีความคิดหรือมีปัญหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้ยุติเสียก่อน หาใช่จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยคณะรัฐมนตรีหรือสภาผู้แทนราษฎรแล้วเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเลยนั้น ไม่อาจทำได้ เพราะไม่ใช่อำนาจของคณะรัฐมนตรีหรือสภาผู้แทนราษฎร

อีกทั้งตามร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 136 ด้วยโดยเพิ่มข้อความว่า “(17) การให้ความเห็นชอบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291/1(2)” อันเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 136 พร้อมกับการขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 โดยที่ไม่มี “ญัตติ” ของการแก้ไขมาตรา 136 แต่อย่างใด

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นั้นได้มาจากการลงประชามติเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศจำนวน 14.7 ล้านเสียง การดำเนินการแก้ไขมาตรา 291 โดยไม่สนใจประชามติดังกล่าวจึงถือเป็นการล้มรัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงประชาชน แต่เป็นการยัดเยียดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ประชาชนลงประชามติแทน

วิธีการดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเพื่อให้ได้อำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และเป็นการกระทำที่ส่อให้เห็นว่ากระทำการไปเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68, 122, 136 (16), 291, 270 และขัดต่อบริบทของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเห็นควรดำเนินการดังนี้

1. ให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ/หรือถอดถอน และ/หรือยุบพรรค ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยมอบหมายให้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยดำเนินการต่อไป

เราจึงขอเตือนไปยังท่านสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติและหวังดีต่อประเทศชาติ อย่าได้ตกเป็นเหยื่อเข้าร่วมการล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ และได้โปรดเข้าร่วมคัดค้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มกำลังในทุกวาระและทุกโอกาส และขอให้ยึดมั่นคำปฏิญญาณของตนที่สมาชิกรัฐสภาได้กล่าวเอาไว้ก่อนรับตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 ความว่า :

“ข้าพเจ้า ขอปฏิญญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

2. ขอเชิญแกนนำ ผู้ประสานงาน และตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศทุกกลุ่ม เพื่อประชุมเตรียมความพร้อมรับมือและลุกขึ้นต่อต้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อยึดอำนาจประเทศไทยแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเตรียมพร้อมเคลื่อนมวลชนชุมนุมทันทีหากพบการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือ มีการลบล้างความผิดให้กับนักการเมืองและพวกพ้องในอดีต และเตรียมการรณรงค์เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ต่อไป โดยจะจัดให้มีการประชุมในวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10.00 น. และจะแจ้งสถานที่ให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยจิตคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555”

 

สนธิ ลิ้มทองกุลชี้เหมาะสมแล้วที่สังคมไทยได้นักการเมืองบัดซบมาปกครอง

ภายหลังการอ่านแถลงการณ์ของนายปานเทพ มีการกล่าวแถลงโดยแกนนำพันธมิตรฯ โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวว่า วันนี้เป็นบทพิสูจน์ว่าการเมืองไทยโดยนักการเมือง ไม่ว่าจะพรรคไหนก็ตาม ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง นักการเมืองทุ่มเทเงินทอง ซื้อเสียง เอาภาษีอากรของพวกเรา เอาไปแจกประชาชน ทุกพรรค ไม่มีข้อยกเว้น เพื่อให้ตัวเองได้เสียงเข้ามา ครอบงำคณะกรรมการการเลือกตั้ง ติดสินบนคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ตรวจสอบพวกเขา เพราะฉะนั้นแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีคนซึ่งติดใบแดงน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย

ทั้งหมดนี้ทำเพื่ออะไร เพื่อที่ตัวเองจะได้เข้ามามีอำนาจในสภาฯ เมื่อมีอำนาจในสภาฯ แล้ว ตัวเองใช้สิทธิของการที่เข้ามามีอำนาจในสภาฯ ด้วยคำพูดที่ว่า "ประชาชนเลือกมา" โดยที่ตัวเองไม่ได้เล่าให้ฟังถึงพื้นฐาน ที่มาของเสียง และการครอบงำ กกต. ด้วยเหตุนี้ตัวเองก็เลยใช้สิทธิอันนี้มาทำอะไรก็ได้ แล้วใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา ถ้าเราสังเกตให้ดีแล้ว นักการเมืองหาได้ยากมากที่จะทำเพื่อประชาชน ไม่มี น้ำมันที่ขึ้นจนกระทั่งลิตรละเกือบ 41 บาท ไม่เคยมีใครขึ้นมาพูดเลยสักคำว่าจะจัดการกับ ปตท. ที่กำไรปีที่แล้วแสนกว่าล้าน อย่างไร

ข้าวราดแกงซึ่งตอนนี้จะ 50 บาทอยู่แล้ว สินค้าอุปโภคบริโภคแพงหมด นักการเมืองไม่สนใจ น้ำที่ท่วมออกไป สนใจอยู่อย่างเดียวว่า การซื้อที่ดินฟลัดเวย์นั้น จะซื้อจากกลุ่มที่มีสายสัมพันธ์กับตัวเองหรือไม่ เพื่อให้กลุ่มที่มีสายสัมพันธ์กับตัวเองจะได้เงินได้ทองเข้ามา นี่คือการเมืองเมืองไทย

เพราะฉะนั้นแล้วนี่คืออีกบริบทหนึ่งของความล้มเหลวของการเมืองเมืองไทย ที่บริหารโดยนักการเมือง กล้าพูดได้ว่า นักการเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นคนที่บัดซบ ขอย้ำ ส่วนใหญ่เป็นคนที่บัดซบ ไม่ได้รักชาติ รักประชาชนเลยแม้แต่นิดเดียว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นแล้ว การที่จะตั้ง ส.ส.ร.กันครั้งนี้ เหมือนอย่างที่ท่านโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพูดออกไป เป็นการชัดเจน พิสูจน์ชัดเจนว่าทุกอย่างทำเพื่อพวกเขา ทำเพื่อหัวหน้าพวกเขา ทำเพื่อเจ้าของพรรค และผมยืนยัน ไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นพรรคใดก็ตาม ผลจะออกมาเหมือนกันไม่มีผิด เพียงแต่ว่าพรรคบางพรรคปล้นกลางแดด พรรคบางพรรคใส่เสื้อนอกปล้น แต่สรุปแล้วก็คือปล้นคนไทยนั่นเอง

ผมมีบทสรุปได้อย่างหนึ่งว่า บางทีสังคมไทยก็สมควรแล้วที่จะได้นักการเมืองบัดซบพวกนี้มาปกครอง เพราะสังคมไทยไม่เคยเดือดร้อน ไม่เคยเดือดร้อนเลยจากความทุกข์ยากลำบาก ไม่เคยเดือดร้อนเลยจากน้ำมันที่ราคาแพง 41 บาท ไม่เคยตั้งคำถามถามเลย ว่าทำไม ปตท.กำไรตั้งแสนกว่าล้าน แล้วประชาชนคนไทยต้องเติมน้ำมันลิตรละ 41 บาท เหมาะสมแล้ว สังคมไทยเหมาะที่จะได้นักการเมืองบัดซบพวกนี้เข้ามาบริหารชาติบ้านเมือง เหมาะสมที่สุด นายสนธิกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมการสิทธิฯ เรียก ‘อภิสิทธิ์’ แจงเหตุสลายชุมนุมปี 53 ห้ามสื่อเข้าฟัง

Posted: 22 Feb 2012 09:08 AM PST

 

22 ก.พ.55 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ห้องประชุม 709 อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.) กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมือง เมื่อเดือนมี.ค.-พ.ค. 2553  โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการที่เป็นบุคคลภายนอกร่วมรับฟัง แต่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังคำชี้แจง

 นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า วันนี้เราได้เชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศอฉ. และพล.อ.ดาวพงศ์ รัตนสุวรรณ รองผบ.ทบ. ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายชุมชนในขณะนั้นมาชี้แจง แต่ในวันนี้มีเพียงนายอภิสิทธิ์คนเดียวที่ติดต่อมาที่จะชี้แจง ส่วนนายสุเทพได้ส่งเอกสารมาชี้แจงแทนจำนวน 21 หน้า ส่วนพล.อ.ดาวพงศ์ นั้นจะเข้าชี้แจงในโอกาศต่อไป

 นางอมรา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้แล้วในสัปดาห์หน้าจะเชิญนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ มาชี้แจงในกรณีการสลายการชุมนุมเช่นเดียวกัน

 หลังจากการ ชี้แจงแล้วเสร็จเวลาประมาณ 15.30 น. นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้มาชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมจากภาพรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือน มี.ค.-พ.ค. 53 ทั้งในแง่ของนโยบายและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์บางช่วง ส่วนกสม.จะเข้าใจในการทำงานของรัฐบาลในขณะนั้นหรือไม่นั้น คิดว่า กสม.ทำเรื่องนี้มากว่า 2 ปีแล้ว ส่วนใหญ่คงพอทราบถึงข้อเท็จจริง แต่จะมีคนมาให้ข้อมูลหลายแง่หลายมุมก็เป็นเรื่องธรรมดา ท่านก็สอบถามเพื่อให้มันครบถ้วนในมุมองของท่าน ส่วนผลสรุปจะออกมาอย่างไรนั้นก็อยากให้เป็นแนวทางและบรรทัดฐานสำหรับอนาคต ด้วยว่า เมื่อมีการชุมนุมที่ผิดกฎหมายไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีการใช้อาวุธแฝงอยู่การจัดการเรื่องแบบนี้ควรทำอย่างไร

 ผู้ สื่อข่าวถามถึงกรณีนายณัฐวุฒิและนายจตุพรจะเข้ามาให้ข้อมูลกับ กสม. นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาให้ข้อมูล แต่ว่ากรรมการก็ต้องใช้ดุลพินิจในการตรวจสอบและสอบทานข้อเท็จจริงต่างๆ โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้ไม่มั่นใจในการทำงานของคณะ กรรมการชุดนี้ ส่วนที่มีบทสรุปออกมาแล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่ทราบว่าที่เอกสารรั่วออก มาก็ถูกเก็บไปและต้องสอบข้อมูลเพิ่มเติมนั้นเหตุผลคืออะไร แต่เท่าที่ฟังดูเหมือนกับว่ายังอยากจะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมา อย่างเช่นผมไม่เคยมาท่านก็เชิญมา แต่เชื่อว่ากรรมการก็ต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา จะไปทำงานภายใต้ความกดดันของการเคลื่อนไหวของมวลชนไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งหลังจากชี้แจงแล้วไม่มีความกังวลใดๆ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทอดพระเนตรแม่น้ำเจ้าพระยา

Posted: 22 Feb 2012 06:53 AM PST

ในหลวงเสด็จไปยังบริเวณลานสระว่ายน้ำสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช เพื่อทอดพระเนตรทิวทัศน์และสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

วอยซ์ทีวี รายงานว่า เมื่อเวลา 17.30 น.วันนี้ (22 ก.พ.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จลงจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ไปยังบริเวณลานสระว่ายน้ำสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ในพระบรมราชูปถัมภ์ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีสุนัขทรงเลี้ยงเดินนำหน้า เพื่อทอดพระเนตรทิวทัศน์และสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน มีประชาชน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รวมถึงญาติผู้ป่วยมารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พร้อมทั้งเปล่งคำถวายพระพรว่า "ทรงพระเจริญ"

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ณ บริเวณพระราชานุสาวรีย์ พร้อมกับทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระรูป สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ณ ศาลาศิริราช 100 ปี และทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่หน้าตึกสยามินทร์

หลังจากทอดพระเนตรสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับยังอาคารเฉลิมพระเกียรติ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กมธ.ยุติธรรมรับศึกษาคดี112 ไม่ได้ประกัน-ภรรยาสุรชัยร่วมอดข้าว

Posted: 22 Feb 2012 06:39 AM PST

ภรรยาสมยศ-ลูกศิษย์สุรชัย เข้าให้ข้อมูล กมธ.ยุติธรรม ชี้อัยการเคยแจงส่งตัวตระเวนสืบทั่วประเทศผิดปกติ กมธ.ตั้งหลักศึกษาปัญหาไม่ส่งความเห็นให้ศาลโดยตรงเกรงก้าวก่ายอำนาจ ด้านความเคลื่อนไหวหน้าศาลอาญายังมีต่อเนื่อง ภรรยาสุรชัยร่วมอดอาหารเรียกร้องย้ายนักโทษ 112 ไปเรือนจำชั่วคราว

 

 

22 ก.พ.55  เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา นางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยานายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายวีระชัฏฐ์ จันทรสะอาด ผู้ใกล้ชิดนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การยุติธรรม การกฎหมาย และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับปัญหาการไม่ได้ประกันตัวและการปฏิบัติที่อาจขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ นายสมยศยื่นประกันตัวแล้ว 7 ครั้ง ส่วนนายสุรชัยยื่นประกันตัวแล้ว 5 ครั้ง

นางสุกัญญากล่าวถึงการส่งตัวนายสมยศไปสืบพยานยังหลายจังหวัดว่า กมธ.ต่างประเทศเคยเชิญอัยการมาให้ข้อมูล อัยการเองก็ระบุว่าการตระเวนส่งตัวไปสืบพยานยังหลายจังหวัดนั้นแทบไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ผ่านมาทนายเคยทำคำคัดค้านแต่ไม่เป็นผล จากนั้นได้แจ้งต่อศาลว่าจะออกค่าใช้จ่ายให้พยานเดินทางมากรุงเทพฯ ศาลก็ไม่อนุญาต จึงแจ้งต่อศาลว่าขอสละสิทธิ์ไม่ไปฟังการสืบพยาน ศาลก็ไม่อนุญาตอีก

นายวีระชัฏฐ์ กล่าวถึงกรณีของนายสุรชัยว่า นายสุรชัยถูกบุกจับกุมยามวิกาลโดยเจ้าหน้าที่อาวุธครบมือราวกับเป็นอาชญากรร้ายแรง และในวันนี้ (22ก.พ.) เขาถูกจำคุกครบ 1 ปีพอดี ที่ผ่านมาจำเลยได้ช่วยเหลือตนเองโดยเรียกร้องให้รวมคดีที่ถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 ทั้งหมด 6 คดีเป็นคดีเดียว เพื่อที่จะได้รับสารภาพและดำเนินการในคราวเดียว ซึ่งอัยการก็ได้รวมคดีให้และศาลได้นัดพิพากษาในวันที่ 28 ก.พ.นี้ แต่ท้ายที่สุดก็ยังเหลืออีก 1 คดีที่ยังไม่ได้รวม เป็นคดีของ สน.วังทองหลาง ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น

“อาจารย์สุรชัยต้องใช้ชีวิตในคุกยาวนาน ครั้งแรก 3 ปี ครั้งที่สอง 16 ปี และครั้งล่าสุดนี่ครบ 1 ปีแล้ว รวมแล้ว 20 ปี สำหรับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง” วีรชัฏฐ์กล่าว

นายสุนัย จุลพงศธร ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ส่งเรื่องร้องเรียนของสองกรณีดังกล่าวมายัง กมธ.การยุติธรรมฯ ได้กล่าวว่า ฝ่ายนิติบัญญัติควรมีบทบาทในการอุดช่องโหว่ของกระบวนการต่างๆ เพื่อผดุงความยุติธรรม อย่างน้อยควรจะมีการศึกษาถึงสิทธิในเรื่องนี้ พร้อมทั้งเสนอให้ตัดชื่อบุคคลออกจากการศึกษาเพื่อขจัดอคติ และให้พิจารณาในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งว่าเขาได้รับสิทธิที่พึงมีหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการได้หารือร่วมกันพักหนึ่ง กรรมาธิการหลายคนแสดงความกังวลว่าการทำความคิดเห็นเรื่องนี้ส่งถึงศาลโดยตรงอาจเป็นการก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายยุติธรรม ก่อนได้ข้อสรุปว่าอาจจะตั้งอนุฯ หรือคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และการทรมานซึ่งเชื่อมโยงถึงการใช้เครื่องพันธนาการกับนักโทษ จากนั้นจะส่งข้อเสนอนี้ต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

สัมภาษณ์ภรรยาสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และ รสมาริน ภรรยาอำพล ถึงเหตุผลที่ร่วมอดอาหาร และผลกระทบที่ได้รับ

 

ส่วนที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเช้าวันนี้ นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ได้เข้าร่วมอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับนักโทษการเมือง และเรียกร้องให้มีการย้ายนักโทษการเมืองส่วนที่เหลือไปอยู่ที่เรือนจำชั่วคราว หลักสี่ หลังจากผู้ต้องขังเสื้อแดงส่วนใหญ่ย้ายไปแล้ว ยกเว้นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากผู้ต้องขังในคดีนี้ก็เป็นเรื่องทางการเมือง ทางความคิด ที่ไม่ใช่อาชญากร

ขณะที่นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรืออากง ก็ได้ร่วมอดอาหารด้วยในช่วงเช้า และร่วมกิจกรรมในช่วงเช้ากับผู้ที่ปักหลักอดอาหารที่บริเวณเต๊นท์หน้าศาลอาญา โดยมีการจุดเทียนสีดำ 57 เล่มสื่อถึงนักโทษการเมืองปัจจุบันที่ยังอยู่ในเรือนจำ 57 คน เพื่อไว้อาลัยความยุติธรรมของประเทศร่วมกัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ชี้รัฐบาลเน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์น้อยกว่ารัฐบาลก่อน

Posted: 22 Feb 2012 05:52 AM PST

กรุงเทพโพลล์สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เชื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีส่วนสำคัญช่วยให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีอาเซียน ชู อาหารไทย ท่องเที่ยว งานฝีมือ และแพทย์แผนไทยให้เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 29 แห่ง จำนวน 66 คน เรื่อง “รัฐบาลยิ่งลักษณ์กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15 – 21 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่า 

นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 48.5 เห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์น้อยกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา (รัฐบาลอภิสิทธิ์) ขณะที่ร้อยละ 28.8 เห็นว่าให้ความสำคัญพอๆกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และมีเพียงร้อยละ 3.0 เท่านั้นที่เห็นว่าให้ความสำคัญมากกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์มากถึงร้อยละ 98.5 เห็นว่าประเทศไทยควรสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีขึ้นในระบบเศรษฐกิจของไทย โดยประเภทของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เห็นว่าเหมาะกับศักยภาพของคนไทยและรัฐบาลควรส่งเสริมมากที่สุดคือ อาหารไทย (ร้อยละ 93.9) รองลงมาเป็นประเภท ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม/ความหลากหลายทางชีวภาพ (ร้อยละ 83.3) งานฝีมือและหัตถกรรม (ร้อยละ 83.3) และแพทย์แผนไทย  (ร้อยละ 65.2) ตามลำดับ

ด้านความคิดเห็นที่มีต่อองค์ประกอบของเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น ร้อยละ 95.5 เชื่อว่าไทยมีทรัพยากรในท้องถิ่นที่เอื้อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร้อยละ 74.2 เชื่อว่าไทยมีกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ร้อยละ 72.7 เชื่อว่าไทยมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนที่มีผลทางอ้อม (Multiplier effects) ต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลัก ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 50 เชื่อว่าประเทศไทยไม่มีองค์ประกอบด้านระบบสังคมที่ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์

เมื่อถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทย สินค้าของไทย หรือผู้ประกอบการไทย สามารถแข่งขันในเวทีระดับอาเซียนซึ่งจะมีการเปิดเสรีในปี 2015 ได้หรือไม่ ร้อยละ 62.1 เชื่อว่ามีส่วนสำคัญช่วยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีอาเซียน

สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้กับประเทศไทย คือ ปัญหาการเมืองทำให้การดำเนินนโยบายขาดความต่อเนื่อง ขาดความชัดเจน ขาดรายละเอียด และขาดวิสัยทัศน์ ขณะที่ผู้บริหารและบุคลากรภาครัฐไม่มีความรู้ความเข้าใจในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงสื่อไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร (ร้อยละ 43.9) รองลงมาเป็นระบบการศึกษายังล้าสมัย ไม่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ ทำให้คนไทยไม่ใช่นักคิดนอกกรอบ กรอบแนวคิดของคนไทยยังแคบ (ร้อยละ 22.0) และขาดการวิจัยพัฒนาอย่างจริงจัง รวมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (ร้อยละ 17.1)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โรงเรียนทางเลือกกับนวัตกรรมการเรียนการสอน

Posted: 22 Feb 2012 05:26 AM PST

 

นายปกป้อง  จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายสุนทร ตันมันทอง นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง โรงเรียนทางเลือกกับนวัตกรรมการเรียนการสอน ซึ่งได้มีการนำเสนอในการประชุมวิชาการทีดีอาร์ไอ “ยกเครื่องการศึกษาไทย : สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  โดยมีสาระสำคัญระบุว่า

ขณะที่เด็กไทยใช้เวลาเรียนหนังสือมากขึ้นผลการสอบกลับแย่ลง  จนก่อให้เกิดคำถามที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้น มีโรงเรียนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยที่มีวิธีการเรียนการสอนไม่เหมือนกับโรงเรียนทั่วไป แต่นักเรียนมีผลการเรียนที่น่าประทับใจ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เด็กนักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างสมดุลและหลากหลายผ่านประสบการณ์จริง โรงเรียนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “โรงเรียนทางเลือก” (alternative school)

โรงเรียนทางเลือกเป็นอย่างไร? โรงเรียนทางเลือกในประเทศไทยมีสถานภาพดังเช่นโรงเรียนทั่วไปที่จัดการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยมปลายและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ แต่องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนทางเลือกแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปก็คือ นวัตกรรมการเรียนการสอน (Innovation)

จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างโรงเรียนทางเลือก 14 โรงเรียนของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นวัตกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือกประกอบไปด้วยฐานคิดและปรัชญา วิธีการเรียนการสอน และทรัพยากรสำคัญในการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากโรงเรียนทั่วไป

นวัตกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือกก่อรูปบนฐานคิดและปรัชญาการศึกษาสำนักต่างๆ เช่น มอนเตสซอริ (Montessori) วอลดอล์ฟ (Waldorf) ซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) และแนวคิดศรีสัตยาไสบาบา เป็นต้น แต่ละปรัชญาการศึกษาเหล่านี้อาจมีจุดเน้นและเนื้อหากระบวนการแตกต่างกัน แต่จุดร่วมประการหนึ่งก็คือ ธรรมชาติของมนุษย์มีความหลากหลาย การศึกษาเรียนรู้จึงต้องมีความหลากหลายและยึดเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตามไปด้วย ความหลากหลายของการศึกษาดังกล่าวเปิดพื้นที่ให้โรงเรียนทางเลือกสามารถทดลองและผลิตวิธีการเรียนการสอนใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา

รูปธรรมของการนำปรัชญาการศึกษาดังกล่าวมาปรับใช้แตกต่างจากสาระและรูปแบบการเรียนการสอนที่คุ้นเคยในโรงเรียนทั่วไป จากกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนทางเลือกที่ศึกษาพบว่า ในด้านสาระการเรียนรู้ โรงเรียนทางเลือกจัดสาระที่ไม่ยึดติดกับกลุ่มสาระวิชาหลัก 8 กลุ่ม เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย เป็นต้น แต่พยายามบูรณาการสาระการเรียนรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันและเน้นการประยุกต์ใช้กับชีวิตจริง ตัวอย่างหนึ่งของการจัดสาระการเรียนรู้ก็คือ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้นเรียนฟิสิกส์จากการทำบ้านดินหรือเรียนรู้เรื่องค่า pH จากการผสมสีเพื่อวาดรูป    ในด้านวิธีการเรียนการสอน โรงเรียนทางเลือกเน้นให้นักเรียนเรียนนอกสถานที่และทำงานร่วมกับเพื่อนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ การบรรยายในห้องเรียนโดยนำวิชาต่างๆ แบบบูรณาการ การเรียนจากโครงงาน (project) และนักเรียนค้นคว้าด้วยตนเอง เมื่อประเมินผลนักเรียน โรงเรียนทางเลือกเน้นการประเมินพัฒนาการการเรียนรู้โดยครูเป็นหลัก รองลงมาได้แก่ การวัดผลจากโครงงานหรือชิ้นงานที่นักเรียนสนใจและการสอบอัตนัย โดยเน้นการสอบปรนัยน้อยที่สุด 

การจัดการเรียนการสอนในลักษณะพิเศษข้างต้นทำให้โรงเรียนทางเลือกจำเป็นต้องมีทรัพยากรพื้นฐานสำคัญมากกว่าโรงเรียนทั่วไปเพื่อให้การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นไปตามปรัชญาการศึกษา จากกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนทางเลือกที่ศึกษาพบว่า โรงเรียนทางเลือกมีห้องเรียนขนาดปานกลางถึงเล็กและใช้ครูจำนวนมากกว่าในการดูแลนักเรียน รวมทั้งเน้นครูที่มีวุฒิการศึกษาระดับสูงมากกว่าโรงเรียนทั่วไป (ดูภาพประกอบ)

 ที่มา: ทีดีอาร์ไอ

 

ตัวอย่างการจัดสาระและกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่ง นั่นคือ โรงเรียนดรุณสิกขาลัย (โครงการ วมว.) ซึ่งจัดสอนเฉพาะชั้นมัธยมปลาย ภายใต้ปรัชญาการศึกษาบูรณาการแบบองค์รวม (holistic integration) นักเรียนที่นี่ไม่ได้เรียนในรูปแบบ 8 กลุ่มสาระวิชาหลักโดยตรง แต่บูรณาการไว้ใน 6 วิชาหลักได้แก่ วิวัฒนาการของระบบจักรวาลและระบบสุริยะ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โลกของเรา พลังงาน คมนาคมและการสื่อสาร และที่อยู่อาศัย วิธีการเรียนรู้วิชาดังกล่าวคือ การผูกโยงและความเข้าใจเกี่ยวเนื่องระหว่างศาสตร์ต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่อง (story-based learning) และการลงมือทำ (learning by doing) ยกตัวอย่างเช่น ในภาคการศึกษาที่ 2/2552 การเรียนการสอนจะใช้ข้าวและเรือเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักในผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์อินเดีย จีน และสุวรรณภูมิ โดยเริ่มต้นที่การปฏิวัติเกษตรกรรมคือ ปลูกข้าว และเชื่อมโยงต่อไปถึงการตั้งรกรากของมนุษย์ การชลประทาน การสร้างชาติรัฐ และการค้าขายผ่านเรือ นักเรียนจะเรียนผ่านการค้นคว้าด้วยตนเอง การค้นคว้าและตั้งคำถามกับผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ เช่น วิทยากรจากกองทัพเรือ รวมทั้งการลงแรงเกี่ยวข้าว การเลี้ยงผึ้ง และการปั้นโอ่งด้วยตนเอง

ที่น่าสนใจก็คือ ผลการสอบ O-NET ของนักเรียนโรงเรียนทางเลือกที่ศึกษาจะพบว่า คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มโรงเรียนทางเลือกสูงกว่าโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน (ข้อมูลปี 2553) ยิ่งเปรียบเทียบกับโรงเรียนทางเลือกเช่น โรงเรียนอมาตยกุลที่ใช้วิธีการจับฉลากนักเรียนเข้ามาแทนการสอบเพื่อคัดเลือกเด็กเก่งเข้ามา คะแนนสอบยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนทั้งประเทศ  

แม้ว่าในด้านหนึ่ง วิธีการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือกยังคงเป็นกระบวนการทดลองเพื่อปรับปรุงและพัฒนาวิธีการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา แต่ในอีกด้านหนึ่ง โรงเรียนทางเลือกได้เปิดความคิดว่า การศึกษาอาจไม่ใช่กระบวนผลิตแบบง่ายๆ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันจากโรงงาน ผลการสอบอาจช่วยบ่งชี้ว่า โรงเรียนทางเลือกก็สามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กตามมาตรฐานกลางได้ แต่ผลลัพธ์ดังกล่าวไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักของการศึกษาในโรงเรียนทางเลือก

โจทย์หนึ่งที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษาไทยก็คือ เราจะเพิ่มจำนวนนักเรียนที่ผ่านโรงเรียนทางเลือก เพิ่มการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา และขยายผลจากโรงเรียนทางเลือกไปสู่โรงเรียนทั่วไปได้อย่างไร?

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชำนาญ จันทร์เรือง: สสร. 55

Posted: 22 Feb 2012 05:21 AM PST

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีถกแถลงกระบวนการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยโครงการเชียงใหม่จัดการตนเอง สถาบันการจัดการสังคม และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวาง และผู้เข้าร่วมซึ่งมาจากทุกสี อาทิ เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น, กลุ่ม นปช.แดงเชียงใหม่, ภาคีคนฮักเชียงใหม่,นายทหารนอกและในราชการ,กลุ่มพิทักษ์คุณธรรมเชียงใหม่,นักวิชาการ ฯลฯ ได้ขอให้ผมเป็นผู้สรุปรวบรวมมติเพื่อเสนอต่อสาธารณะและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ก่อนที่จะนำไปสู่มติที่ว่า เราได้มีการทบทวนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับในสองครั้งหลังที่ผ่านมา ซึ่งก็คือ

สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2539 (สสร.39) ซึ่งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดย สสร.39 นี้ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 99 คน โดยมีที่มาจากตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทางอ้อม 76 จังหวัด และตัวแทนนักวิชาการ จำนวน 23 คน ซึ่ง สสร.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนนั้นมีที่มา 3 ขั้นตอน คือ

1.จากการเลือกตั้งของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ

2.ให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 10 คน รวมเป็น 760 คน

3.จากนั้นส่งรายชื่อทั้ง 760 คน ให้สมาชิกรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วย สส.และ สว.คัดเลือกขั้นสุดท้ายให้เหลือจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน ซึ่งในครั้งนั้นคุณทักษิณก็เป็นผู้ที่อยู่ 1 ใน 10 ของจังหวัดเชียงใหม่ แต่มาสอบตกในขั้นตอนของการคัดเลือกของ สส.และ สว. ฉะนั้น ใครที่ว่าคุณทักษิณไม่เคยสอบตกจึงไม่จริง

สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 (สสร.50) ซึ่งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดย สสร.50 นี้ได้รับการสรรหามาจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2549 จำนวน 1,982 คน ลงมติคัดเลือกกันเองเหลือ 200 คน แล้ว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)คัดเหลือ 100 คน และ สสร.50 นี้ คัดเลือกกันเองให้เหลือ 25 คน รวมกับผู้ที่ คมช.ส่งมาอีก 10 คน รวมเป็น     35 คน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ

ในส่วนของความเห็นของเวทีฯที่เชียงใหม่นี้ ได้สรุปข้อเสนอเกี่ยวกับองค์ประกอบและคุณสมบัติของ สสร.55 ดังนี้

1.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จำนวน 300 คน โดยเป็นการเลือกตั้งทางตรง ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวนตามสัดส่วนประชากร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกได้เพียงคนเดียว(one man one vote) (ทำนองเดียวกับการเลือกตั้ง สว.ตามรัฐธรรมนูญปี 40) นับคะแนนรวมที่เขตโดย กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง

เหตุผล จำนวน 300 คน เพื่อให้กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆโดยตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มครู ฯลฯ จะมีโอกาสเป็น สสร.ได้มากขึ้นกว่าร่างฯของพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และ นปช.ซึ่งโอกาสจะเป็นของพรรคการเมืองที่มีหัวคะแนนจัดตั้งในพื้นที่สามารถบล็อกโหวตได้มากกว่า แต่ในข้อเสนอของจังหวัดเชียงใหม่นืที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกได้เพียงคนเดียว แน่นอนว่าตัวแทนพรรคการเมืองคงจะมาในลำดับต้นๆ แต่ในลำดับท้ายๆก็จะเป็นโอกาสของผู้ที่มิใช่ตัวแทนของพรรคการเมือง

ในส่วนของการที่ไม่มี สสร.มาจากผู้เชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะนั้น เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะการยกร่างกฎหมายนั้น ผู้ที่ยกร่างรายมาตรานั้นถือว่าเป็นช่างเทคนิคซึ่งเปรียบเสมือนช่างตัดผมที่ต้องตัดเป็นรูปทรงหรือเนื้อหาตามที่เจ้าของหัวซึ่งก็คือความต้องการของประชาชนผ่าน สสร. ซึ่งเราสามารถตั้งผู้เชียวชาญมาในขั้นตอนของกรรมาธิการฯในภายหลังได้ โดยไม่จำเป็นต้องมี สสร.ผู้เชี่ยวชาญอีกชนชั้นหนึ่ง

2.คุณสมบัติ อายุ 40 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดคุณวุฒิการศึกษา
เหตุผล อายุ 40ปีตามคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งน่าจะมีวุฒิภาวะตามสมควร โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดด้วยวุฒิการศึกษา เพราะปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตก็ไม่ได้จบการศึกษาสูงๆแต่อย่างใด

3.ข้อห้าม หลังจากยกร่างสำเร็จแล้วภายในระยะเวลา 2 ปี ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตลอดจนองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญได้ ที่สำคัญคือ ไม่มีค่าตอบแทนหรือเงินเดือนประจำ มีเฉพาะเบี้ยประชุม เบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะเดินทางเท่านั้น

เหตุผล เพื่อได้มาซึ่งคนที่มีจิตอาสาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ และที่ผ่านๆมา สสร.บางคนตั้งแต่ได้รับเลือกเข้าไปบางคนแทบไม่ได้เข้าประชุมหรือแสดงความเห็นต่อที่ประชุมแต่อย่างใดแต่รับค่าตอบแทนเต็มโดยไม่ตกหล่นแม้แต่บาทเดียว แต่ในข้อเสนอของจังหวัดเชียงใหม่นี้จ่ายเฉพาะผู้ที่งานจริง

4.ลักษณะพิเศษ
4.1 สามารถหาเสียงได้และบังคับให้ต้องเสนอวิสัยทัศน์หรือแนวนโยบายเป็นข้อผูกมัดว่าเมื่อได้เป็นแล้วจะเสนอความเห็นอย่างไร

เหตุผล ตำแหน่ง สสร.เป็นตำแหน่งทางการเมืองการจำกัดไม่ให้หาเสียงเป็นการผิดธรรมชาติ การเสนอวิสัยทัศน์หรือแนวนโยบายก็เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถพิจารณาก่อนตัดสินในลงคะแนน

4.2 ใช้ระเวลาร่างไม่เกิน 360 วัน
เหตุผล รัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อโครงสร้างการเมืองการปกครองประเทศ ควรใช้ความรอบคอบ ไม่ควรเร่งรีบจนเกินไป ที่สำคัญขณะนี้เรายังมีรัฐธรรมนูญฯใช้อยู่ ไม่เหมือนในบางสมัยที่มีแต่รัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้น

ทั้งนี้ ใน 3 เดือนแรกต้องมีการจัดให้มีการรับฟังข้อเสนอแนะในระดับจังหวัดก่อนการยกร่างแล้ว เมื่อ    ยกร่างเสร็จจึงมีการทำประชามติก่อนการประกาศใช้ว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ถึงแม้ว่าข้อเสนอจากเวทีเชียงใหม่นี้จะไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ ที่จะไปบีบบังคับให้สมาชิกรัฐสภารับไปบรรจุในร่างแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญฯในครั้งนี้ก็ตาม แต่อย่าลืมว่าเสียงเล็กเสียงน้อยเหล่านี้เมื่อรวมกันเข้าแล้วสมาชิกรัฐสภาที่ถือว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยย่อมสมควรที่จะรับฟัง เพราะไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญที่ท่านพยายามจะร่างขึ้นมาใหม่นี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะได้การยอมรับและได้รับการพิทักษ์ปกป้องอย่างเต็มหัวใจจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหาร SSA และภรรยาถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิตขณะจ่ายตลาด

Posted: 22 Feb 2012 03:15 AM PST

เจ้าหน้าที่ประสานงานของกองทัพรัฐฉาน ถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิตพร้อมภรรยาขณะจ่ายตลาด ท่ามกลางสายตาชาวบ้านจำนวนมาก ด้านโฆษกกองทัพรัฐฉานระบุ ทหารพม่าจงใจยิง และเรื่องนี้อาจส่งผลต่อสัญญาหยุดยิงสองฝ่าย


ที่ตั้งเมืองจ็อกแม รัฐฉาน ซึ่งเกิดเหตุยิงทหารไทใหญ่เสียชีวิตภายหลังทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า (ที่มา: Googlemap)

แหล่งข่าวในพื้นที่ของสำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) รายงานว่า ร.ท.จายต๊ะโหลง เจ้าหน้าที่ประสานงานกองทัพรัฐฉาน SSA (กองกำลังไทใหญ่) ประจำเมืองสี่ป้อ รัฐฉานภาคเหนือ พร้อมภรรยาถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิตขณะเดินซื้อของในตลาด ในเขตฮายกุ๋ย เมืองจ๊อกแม เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวเผยว่า ระหว่างที่ ร.ท.จายต๊ะโหลง ซึ่งสวมเครื่องแบบทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA กำลังเดินซื้อของอยู่ในตลาดพร้อมด้วยภรรยา ได้มีทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบที่ 23 มีฐานประจำการอยู่ที่เมืองสี่ป้อ ได้ไปทำการโอบล้อมและยิงเสียชีวิต ท่ามกลางสายตาชาวบ้านพบเห็นเป็นจำนวนมาก ขณะที่ภรรยาของเขาถูกจ่อยิงเข้าที่หน้าผากเสียชีวิตคาที่ขณะที่เธอกำลังนั่งร้องไห้กอดศพสามีอยู่

พ.ต.หลาวแสง โฆษก SSA กล่าวว่า ร.ท.จายต๊ะโหลง เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานของ SSA ประจำเมืองสี่ป้อ เขาถูกยิงเสียชีวิตทั้งๆ ที่ทหารพม่าก็รู้ดีว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของ SSA นี่เป็นการจงใจของทหารพม่า ซึ่งผิดข้อสัญญาหยุดยิงของสองฝ่าย โดยหลังจากเขาถูกยิงเสียชีวิตทหารพม่ายังได้ตรวจยึดเอาปืนพกและทรัพย์สินติดตัวพวกเขาไปทั้งหมด

"หากทหารพม่ายังคงโจมตีทหาร SSA อยู่อย่างนี้ ทาง SSA ก็พร้อมจะปกป้องตัวเอง การกระทำของพม่าเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อข้อสัญญาหยุดยิงสองฝ่าย ขณะนี้ SSA ได้แจ้งเลื่อนกำหนดการเจรจาสันติภาพระดับสหภาพครั้งที่ 2 ที่มีกำหนดจัดขึ้นที่กรุงเนปิดอว์ ออกไปอย่างไม่มีกำหนดแล้ว" พ.ต.หลาวแสง กล่าว

รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง และกองกำลังไทใหญ่ SSA ได้ลงนามหยุดยิงสร้างสันติภาพระหว่างกันเมื่อ 2 ธ.ค. 54 โดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้ประกาศให้มีการหยุดยิงทั่วประเทศ และเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ตรงกับวันสหภาพพม่าครบรอบ 65 ปี อูอ่องมิน รตม.กระทรวงการขนส่งทางรถไฟ ประธานคณะเจรจาสันติภาพกล่าวกำหนดเป็นวันเริ่มการหยุดยิงทั่วประเทศ และว่าทางการจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นทั่วประเทศภายใน 3 เดือน แต่จนถึงขณะนี้ทหารพม่ายังคงมีการโจมตีกองกำลัง SSA อยู่อย่างต่อเนื่อง (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาล รธน. ผ่าน พ.ร.ก. 2 ฉบับ ยกเหตุฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

Posted: 22 Feb 2012 02:03 AM PST

ศาลรัฐธรรมนูญผ่านพระราชกำหนดกู้เงิน 2 ฉบับ ยกเหตุรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม และการโอนหนี้เพื่อลดภาระงบประมาณในการจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำเงิน 6 หมื่นล้านมาใช้พัฒนาประเทศ ด้านโฆษกเพื่อไทยจี้ ปชป. รับผิดชอบ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติผ่านกฎหมายกู้เงินทั้ง 2 ฉบับ

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (22 ก.พ.) ว่าศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 และมีมติ 7 ต่อ 2 ให้พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ. 2555 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1และ 2

โดยส่วนของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ศาลมีความเห็นว่า ปัญหาอุทกภัย ปลายปี 2554 ได้สร้างความเสียหายถึง 2.6 ล้านครัวเรือน ธนาคารโลกประเมินความเสียหาย 1.14 ล้านล้านบาท จนต้องปรับลดการประมาณการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 1.1 จากเดิมร้อยละ 4 จึงอยู่ในภาวะวิกฤติใหญ่หลวง รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหา โดยมีมาตรการจ่ายเงินชดเชย สนับสนุนสินเชื่อ การลดหย่อนภาษี อนุมัติงบกลางภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 จำนวน 1.2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูประเทศและวางระบบบริหารจัดการน้ำ โดยจัดให้มีการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อฟื้นฟูผลของความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ถดถอยและมีความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัญหาอุทกภัยได้สร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศรุนแรง โดยเฉพาะผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบถึง 841 โรงงาน มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลกเนื่องจากไทยเป็นฐานในการผลิต ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการในการสร้างความเชื่อมั่น อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมอาจตัดสินย้ายไปต่างประเทศจะกระทบต่อความเชื่อมั่น

สำหรับพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ ศาลมีความเห็นว่า รัฐบาลมีความพยายามแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะเพราะกระทรวงคลังตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวมาตลอด 15 ปีเป็นเงินกว่า 6.7 แสนล้านบาท แต่ชำระเงินต้นได้เพียงร้อยละ 13 เหลือหนี้ 1.14 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2555 ได้ตั้งงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยไว้ 6.8 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มีการลงทุนน้อยลง ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าเป็นการลดภาระงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในการตั้งงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ โดยที่สามารถนำงบประมาณดังกล่าวมาใช้พัฒนาประเทศโดยส่วนรวม และไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ความจำเป็นดังกล่าวมาจากวิกฤติอุทกภัย และโดยในชั้นนี้ยังไม่มีมูลที่ชี้ให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีตราพระราชกำหนดโดยไม่สุจริตและบิดเบือนรัฐธรรมนูญ

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือประกอบด้วยนายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ  อินทจาร นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายชัช  ชลวร นายนุรักษ์  มาประณีต นายบุญส่ง  กุลบุปผา นายสุพจน์  ไข่มุกด์ และนายอุดมศักดิ์  นิติมนตรี

อดีต รมว.คลัง ชี้ รบ.ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้หนี้

ขณะที่วันนี้ มติชนออนไลน์ รายงานว่านายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.แต่งตั้ง ก็เดินทางไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน

โดยผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อ 20 ก.พ. นายกรณ์โพสต์แสดงความเห็นผ่านแฟนเพจเฟซบุค "Korn Chatikavanij" ว่า"รัฐบาลยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในโครงการแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน ได้มีการตั้งโจทย์ผิดแต่แรก โจทย์ควรจะเป็นว่าทำอย่างไรให้คนยากจนไม่ต้องวิ่งกู้นอกระบบ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่รัฐบาลมัวแต่จะมาพักหนี้ในระบบให้เขา และผมเห็นรายงานว่าวันพรุ่งนี้จะถลำลึกลงไปอีกด้วยการเสนอให้พักหนี้ให้กับลูกหนี้ธนาคารรัฐรวม 500,000 ล้านบาททั้งๆ ที่เป็นหนี้ดีอยู่ หมายถึงต้องใช้เงินภาษีประชาชนถึง 40,000 ล้านบาทต่อปีเพื่อจ่ายดอกเบี้ยให้เขาแทน ถ้ารัฐบาลร่ำรวยก็ว่าไปอย่างนะครับ แต่นี่คุณมาออกพรก.กู้ฉุกเฉินเพราะคุณบอกว่าไม่มีเงินป้องกันนำ้ท่วม แต่แล้วคุณก็จะเอาเงินเรามาใช้อย่างนี้เอง"

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานเมื่อ 21 ก.พ. ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงว่าทั้งนี้หากมีการวินิจฉัยว่ามีการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายค้านได้ท้วงติงมาแล้วหลายครั้ง รัฐบาลก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบ ประกอบด้วยความผิดชอบตามรัฐธรรมนูญและความรับผิดชอบทางการเมือง ถ้ารัฐบาลไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ก็จะเป็นกลายเป็นว่าต่อไปใครเป็นฝ่ายบริหารก็จะใช้เส้นทางลัดในการบัญญัติกฎหมาย โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการปกติเพื่อให้รัฐสภาสามารถตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขเพื่อผลรักษาประโยชน์ของประชาชนได้

โฆษก พท. แถลงขอบคุณศาล พร้อมจี้ ปชป. ขอโทษประชาชน

ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ภายหลังมีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั้น สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (22 ก.พ.) ว่า นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยแสดงความขอบพระคุณศาลรัฐธรรมนูญที่ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในเรื่องของการเร่งแก้ไขและหาทางป้องกันปัญหาน้ำท่วม แต่สำหรับในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบหากศาลวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้อยากถามกลับว่า พรรคประชาธิปัตย์รับผิดชอบอย่างไร โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกรณ์ จาติกวนิช อยากให้ออกมาขอโทษประชาชนเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เพราะก่อนหน้านี้ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็มีการออกพระราชกำหนดในลักษณ์นี้เช่นกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพรานแจงเหตุวิสามัญ 4 ศพ เผยสั่งยิงตอบโต้เพราะได้ยินเสียงปืน

Posted: 22 Feb 2012 12:46 AM PST

กรรมการสอบข้อเท็จจริงคดีทหารพรานวิสามัญชาวบ้านปัตตานี 4 ศพ เดินหน้าเรียกสอบพยาน “หัวหน้าชุดทหารพราน” อ้างได้ยินเสียงปืนเห็นชาวบ้าน 4 คน โดดลงจากรถ จึงยิงตอบโต้ป้องกันตัวเอง ตำรวจเผยสอบพยานแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
 
 
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555  เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องรูสะมิแล โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านถูกทหารพรานยิง 4 ศพ ในพื้นที่บ้านกาหยี ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 20 คน โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีประมาณ 20 คน มาสังเกตการณ์อยู่นอกห้องประชุม
 
 

สอบทหาร – คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีทหารพรานวิสามัญชาวบ้านปัตตานี 4 ศพ เดินหน้าเรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ เริ่มจากหัวหน้าชุดทหารพรานที่ทำวิสามัญ และผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหนองจิก จังหวัดปัตตานี 

 
ร.อ.วิโชติ หมวกเปี้ยะ อดีตผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 4302 หมู่ที่ 2 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก หัวหน้าชุดทหารพรานที่วิสามัญชาวบ้านตำบลปุโละปุโย ชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ช่วงค่ำของวันที่ 29 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุมีคนร้ายยิงเข้าไปกองร้อยทหารพรานที่ 4302 ด้วยอาวุธปืน M 79 จำนวน 3 ลูก จากนั้นมีการยิงเข้าไปที่ฐานเป็นระยะๆ จึงส่งชุดเคลื่อนที่เร็วไปประจำยังจุดต่างๆ ตามแผนปฏิบัติที่วางไว้ ส่วนตนเองกับผู้ใต้บังคับบัญชาอีก 3 คน ไปยังจุดเกิดเหตุ
 
ร.อ.วิโชติ ชี้แจงต่อไปว่า เมื่อไปถึงบริเวณดังกล่าว พบรถต้องสงสัยจะเป็นคันเดียวกับรถคันที่ขับผ่านฐานกองร้อยทหารพรานที่ 4302 แล้วพูดจายั่วยุทหารพราน ผู้ใต้บังคับบัญชาจึงลงจากรถ ส่งสัญญาณให้รถคันดังกล่าวหยุดเพื่อตรวจค้น ทันใดนั้นรถของชาวบ้านได้ไถลลงข้างทาง และมีเสียงปืนดังขึ้น พร้อมกันนั้นมีผู้กระโดดลงจากรถประมาณ 4 คน ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งตามหลังรถยนต์คันดังกล่าวเลี้ยวหลบหนีไป ฝ่ายทหารจึงตอบโต้ตามแผนเผชิญเหตุ หลังเหตุการณ์สงบตนเองได้นำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลหนองจิก    
 
ขณะที่ พ.ต.อ.ชนวีร์ ชมาฤกษ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหนองจิก ชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ว่า ในวันเกิดเหตุได้รับแจ้งว่ามีการยิงเข้าไปในฐานทหารพรานที่ 4320 บ้านน้ำดำ หมู่ที่ 2 ตำบลปุโลปุโย เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ต่อมาได้รับการรายงานเหตุการณ์ยิงชาวบ้าน เวลาประมาณ 20.30 น. ตนเองไปถึงที่เกิดเหตุยิงชาวบ้านเกือบ 21.00 น.และได้ประสานงานหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน โดยติดต่อรถพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บ ติดต่ออำเภอหนองจิก ติดต่อรถที่มีไฟแสงสว่างสูงเข้ามายังที่เกิดเหตุ และประสานตำรวจพิสูจน์หลักฐานจังหวัดปัตตานี เข้ามาตรวจสอบและเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ ขณะนี้พนักงานสอบสวนคดีนี้ ได้สอบปากคำชาวบ้านและทหารพรานที่อยู่ในที่เกิดเหตุไปแล้วประมาณ 60 เปอร์เซ็น
 
ในการนี้ ที่ประชุมมีมติให้นายกิตติ สุระคำแหง เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ประสานงานพนักงานสอบสวนขอสำนวนการสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรมและชันสูตรพลิกศพ กรณีทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ ที่ตำบลปุโละปุโย รวมทั้งภาพถ่ายที่เกิดเหตุจากแหล่งต่างๆ และแผนผังที่เกิดเหตุ ผลการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ วัตถุพยาน ประจักษ์พยาน พยานบุคคล หลักฐานการชันสูตรพลิกศพ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาข้อเท็จจริง
 
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้ พ.อ.ชุมพล แก้วล้าน รองเลขานุการคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ติดต่อทหารพรานที่อยู่ในเหตุการณ์ ประกอบด้วย สิบโทแสงอาทิตย์ บูรณเรืองกิจ อาสาสมัครทหารพรานสุไลมาน เจะโก๊ะ อาสาสมัครทหารพรานพรเทพ สุขสวัสดิ์ มาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ในช่วงเช้าวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ส่วนช่วงบ่ายวันเดียวกัน ให้เชิญชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ 3 คน ประกอบด้วย นายยา ดือราแม ด.ช.อับดุลเลาะห์ นิ มาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ
 
จากนั้นที่ประชุมมติมีมติให้นายเสรี ศรีหะไตร รองประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ประสานให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคดีพิเศษและติดตามคดี สำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่ตำบลปูโละปุโยเพื่อตรวจสอบข้อมูล โดยเฉพาะร่องรอยกระสุนในที่เกิดเหตุ นำมาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ด้วย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดจดหมายคนงานโฮยาร้องทูตญี่ปุ่น ชี้เลิกจ้างขัดต่อ ILO และ OECD

Posted: 22 Feb 2012 12:45 AM PST

 

22 ม.ค. 55 – สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) ได้ส่งจดหมายร้องเรียนต่อเอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 55 ให้ทางประชาไทเผยแพร่ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


 ที่ สออส.   014-1 / 2555    
 
วันที่  16  กุมพาพันธ์   2555

เรื่อง     การเลิกจ้างพนักงานบริษัท โฮยากลาสดิสค์  อย่างไม่เป็นธรรม

เรียน     เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

สิ่งที่ส่งมาด้วย  เอกสารขอเท็จจริงกรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม                 

เนื่องจากบริษัทโฮยากลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการเลิกจ้างพนักงานโรงงาน 2 ประมาณ1600 คน โดยให้เหตุผลว่า  บริษัทฯประสบสภาวะขาดทุน และ สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย  ทำให้บริษัทฯต้องดำเนินการเลิกจ้างดังกล่าว 

จากการเลิกจ้างพนักงานดังกล่าว สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์( สออส.) เห็นว่ามีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ดังนี้

1) เป็นการเลิกจ้างโดยเลือกทำการเลิกจ้างเฉพาะพนักงานโรงงานที่ 2  ซึ่งในโรงงานดังกล่าวมีสมาชิกสหภาพแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก

2) ตัวเลขผลกำไรของบริษัทฯที่ผ่านมาล่าสุดปี 2553 มีกำไรที่  591 ล้านบาท จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ แต่บริษัทฯอ้างว่าดำเนินการขาดทุน นอกจากนี้บริษัทฯยังได้ขยายการดำเนินงานไปยังประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศเวียตนาม

3) สหภาพแรงงานเห็นว่าเป็นการจงใจทำลายสหภาพแรงงาน เนื่องจากก่อนหน้าไม่กี่เดือนที่จะมีการเลิกจ้างพนักงานครั้งนี้ ได้มีการย้ายกรรมการสหภาพแรงงาน 4 คนไปรวมกันที่โรงงานที่ 2 ทำให้มีจำนวนกรรมการสหภาพแรงงาน 19 คน จาก ทั้งหมด 28 ถูกเลิกจ้างไปด้วย ในขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้มีการเลือกพนักงานที่ทำงานไม่นานจากโรงงานที่ 2 ไปทำงานในโรงงานที่ 1

4) หลังจากที่มีการเจรจา บริษัทฯ ได้ประกาศให้พนักงานในโรงงานที่ 1 ได้สมัครเข้าโครงการสมัครใจเลิกจ้าง ซึ่งมีพนักงานโรงงานที่ 1 เกือบ 300 คนเข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการ แต่บริษัทมีเงื่อนไขว่าพนักงานโรงที่ 1 ที่เข้าร่วมโครงการได้ ต้องเป็นผู้เกี่ยวข้องเป็นสามี หรือภรรยาของพนักงานโรงงานที่ 2 เท่านั้น ทำให้มีพนักงานในโรงงานที่ 1 ประมาณ 20 กว่าคนเท่าที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวบริษัทได้ส่งรายชื่อกลับไปที่ฝ่ายบุคคลให้ตรวจสอบอีกครั้ง และยืนยันที่จะเลิกจ้างพนักงในในโรงงานที่ 2 ทั้งหมด โดยที่ไม่ได้เอาพนักงานจากโรงงานที่ 1 ที่สมัครใจมาทดแทน พนักงานในโรงงานที่ 2 กว่า 200 คน ที่มีต้องการถูกเลิกจ้าง

5) การเลิกจ้างครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งไม่สนับสนุนให้มีการเลิกจ้างพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม    อีกทั้งการเลิกจ้างในครั้งนี้ สหภาพแรงงานเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มของคนงาน ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาไอแอลโอ และ OECD ไกด์ไลน์

6) สหภาพแรงงานมีข้อกังวลในกรณีที่บริษัทไม่เคารพในสิทธิสตรี ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ข้อ 11 (2)  โดยปัจจุบันบริษัทได้ใช้มาตรา 75 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้พนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์หยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ 75 % และมีแนวโน้มที่จะถูกเลิกจ้างหลังจากที่คลอดบุตรและกลับเข้ามาทำงานตามเดิม

ดังนั้นสหภาพแรงงานจึงขอให้เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่น ดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เข้ามาตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา เรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและจริงจัง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมของบริษัทโฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วน                                                                                             

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

(นาย อัครเดช  ชอบดี )

ประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์

 

 

 


 At TUEEER  0014-1 / 2555
 
February 16, 2012
 
Re: Unfair dismissal at Hoya Glass Disc
 
To: The Ambassador of Japan in Thailand
 
Attached: Chronology of the unfair dismissals
 
Hoya Glass Disc (Thailand) have dismissed 1600 workers at Building 2 of the company referring that the company had operated at  a loss since April 2011, and in addition had been affected by the flooding in Thailand.
 
Regarding the dismissals, the Trade Union in Electronics and Electronical Equipment Relation (TUEEER) finds the following issues constitute unfair treatment:
 
1) Hoya Glass Disc (Thailand) has targeted only Building2,where the union has many members;
 
2) The profit of the company was 591 million baht (or 19.7 million USD) in 2010 according to the information provided to the Ministry of Commerce, but the company claim that it is operating at loss. In addition the company has recently expanded the factories in the Philippines and Vietnam.
 
3) Hoya Glass Disc appears intent on destroying the union as a few months before announcing the closure of Building 2, the company had transferred four union committee members to this building. Thus amongst the dismissed workers are 19 out of the 28 committee members. At the same time the company transferred recently employed workers to Building 1. The company has refused to offer the workers in building 1 the option of early retirement.
 
4) After negotiation the company announced that the workers at Building 1 would be able to apply for early retirement. Almost 300 workers applied, but the company had put as condition for applying that the applicant was restricted to spouses of workers that would be dismissed from Building 2. Only around 20 workers has qualified and the company has asked the human resource dept to check them. The company continue to insist to dismiss all workers at Building 2 instead of replacing the workers from Building 1 who applied with the 200 plus workers from Building 2 who have clearly indicated they do not want to be dismissed.
 
5) The announced layoffs are not in accordance with the Thai government's policies, which does not support the dismissal of workers due to the floods. In our opinion the dismissals are unfair and infringe the freedom of association contrary to the ILO Conventions and the OECD guidelines.
 
6) The unions is furthermore concerned that the company fails to respect women’s rights as laid out in the Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women (CEDAW), article 11 (2), as the company is suspending pregnant workers paying them only 75% of their wages by referring to article 75 in the Labor Protection Act, with a high likelihood that the company will dismiss these workers after they have given birth.
 
Based on these reasons, the TUEEER would respectfully ask the Japanese Ambassador to proceed by requesting relevant agencies to urgently assist in correcting these violations in a comprehensive manner, to solve the issues relating to unfair dismissals at Hoya Glass Disc (Thailand),
 
Thank you for your attention to this urgent matter
 
Sincerely
 
(Mr. Akradet   Chobdee)
 
President of the Trade Union in Electronics and Electronical Equipment Relation (TUEEER) 

 

อนึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 55 ที่ผ่านมา voicelabour รายงานว่าเวลา 09.30 น. พนักงานบริษัทโฮยากลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน และพนักงานบริษัท ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ที่นิคมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ประมาณ 30 คน นำโดยนายชาลี ลอยสูงประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ไปร่วมยื่นหนังสือต่อเอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อขอให้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบแก้ไขปัญหา เนื่องจากบริษัททั้ง 2 แห่งได้เลิกจ้างคนงานอย่างไม่เป็นธรรม

หนังสือร้องเรียนของสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) ระบุว่าบริษัทโฮยากลาสดิสค์ ได้มีการเลิกจ้างพนักงานโรงงาน 2 ประมาณ 1,600 คน โดยจ่ายค่าจ้าง 75% ก่อน แล้วมีหนังสือเลิกจ้างตามไปที่บ้าน ซึ่งในโรงงานดังกล่าวมีสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวนมาก ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการย้ายกรรมการสหภาพแรงงานจำนวน 4 คน ไปรวมกันที่โรงงาน 2 ทำให้มีกรรมการ 19 คนจากทั้งหมด 28 คน ถูกเลิกจ้างไปด้วย โดยบริษัทฯให้เหตุผลว่า ประสบสภาวะขาดทุนและได้รับผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง ก่อนหน้านี้ทางบริษัทมีแผนการปรับลดพนักงานอยู่แล้ว และน้ำก็ไม่ได้ท่วมโรงงานโฮยากลาสดิสค์ จ.ลำพูน แต่อย่างใด ทางบริษัทฯมีโครงการให้พนักงานสมัครใจลาออกและจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่การเลิกจ้างครั้งนี้ สหภาพเห็นว่าไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ให้มีการเลิกจ้างพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม อีกทั้งการเลิกจ้างในครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และละเมิดสิทธิในการรวมตัวของคนงาน ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO 87-98 และ แนวปฏิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ซึ่งทางสหภาพฯ จะดำเนินการต่อสู้ต่อไป

ส่วนบริษัท ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง มีการเลิกจ้างพนักงานที่เป็นตัวแทนเจรจาข้อเรียกร้องและผู้ที่ลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้อง รวมทั้งผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน ตามข่าวที่ voicelabour นำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว

ภายหลังจากยื่นหนังสือที่สถานทูตญี่ปุ่น พนักงานทั้ง 2 แห่งก็ได้มีการประชุมกันที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยโดยได้ข้อสรุปดังนี้

1.ให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างไปยื่น ครส. และแจกเอกสารเพื่อประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

2.ขอการสนับสนุนจาก เครือข่ายกู๊ดอิเลคทรอนิคส์ ทั้งสากลและในประเทศไทยรวมทั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

3.ต้องสร้างแรงกดดันในเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้สื่อกระแสหลักมาทำข่าว อาจมีการเดินขบวนไปที่กระทรวงแรงงาน

4.ต้องมีจุดยืนของตนเองและต้องไม่ทิ้งให้กรรมการและสมาชิกที่ทำงานข้างในอยู่อย่างเงียบๆ ต้องส่งข่าวและกระตุ้นให้เขามาร่วมกับคนข้างนอก

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความตาย น้ำตา ความรัก บทวิพากษ์การแสดงออกของชาวเกาหลีเหนือ

Posted: 21 Feb 2012 11:02 PM PST

ปรากฏการณ์ความเศร้าโศกเสียใจอย่างรุนแรงของชาวเกาหลีเหนือต่อความตายของประธานาธิบดีคิม จอง อิล ผู้วายชนม์ ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตะลึงให้ชาวโลก แต่เป็นเรื่องสามัญสำหรับนักคิดแนวขี้สงสัย

การวิพากษ์ปรากฏการณ์เหล่านี้สามารถเริ่มได้ด้วยการแยกแยะผู้เสียน้ำตาให้กับการตายได้ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. กลุ่มที่เสียน้ำตาด้วยความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจการเมือง
2. กลุ่มที่เสียน้ำตาด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบรัฐเผด็จการ
3. กลุ่มที่เสียน้ำตาด้วยระบอบครอบงำความจริง อารมณ์ และความรู้สึก

1. กลุ่มที่เสียน้ำตาด้วยความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจการเมือง คือ กลุ่มชนชั้นนำและกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากระบอบการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่หวงกันอำนาจในการตัดสินใจไว้ที่คนกลุ่มเล็ก และคนกลุ่มนี้เข้าถึงทรัพยากรทั้งหลาย และมีโอกาสเจริญก้าวหน้าภายใต้ระบอบนี้

ความตายกระทบกระเทือนต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองของระบอบ น้ำตาเป็นทั้งความรู้สึกต่อผู้นำที่เปรียบเสมือนบิดาของระบอบ และความหวั่นไหวและไม่แน่ใจต่ออนาคตของประเทศ จากภัยคุกคามภายนอก หรือแม้กระทั่งความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์และจัดสรรโครงสร้างใหม่ กลุ่มเหล่านี้จึงอยู่ในภาวะเปราะบางต่ออนาคตและผลประโยชน์ของตนอย่างลึกซึ้ง

การแสดงความรักต่อ ฯพณฯท่านคิม และการซับน้ำตาของชาวเกาหลีเหนือ จึงน่าจะเป็นการธำรงไว้ซึ่งระบอบที่สร้างหลักประกันให้กับผู้ที่เสี่ยงว่าจะตกกระป๋อง ว่าจะได้รับการจัดสรรประโยชน์อย่างไรหลังจาก ฯพณฯท่านคิมจากไปแล้ว เพื่อป้องกันการเข่นฆ่าแย่งชิง เกิดการประหัตประหารกันในวงกว้าง

ประชาคมโลกอาจแสดงออกซึ่งความห่วงใยและมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้มีการจัดระบบความสัมพันธ์ใหม่ในกรอบของเวทีฉะภาคี(การประชุม 6 ฝ่าย) โดยใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นการแลกเปลี่ยน

2.กลุ่มที่เสียน้ำตาภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบรัฐเผด็จการ คือ ประชาชนธรรมดาสามัญที่มิได้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองใดๆ ที่ได้ประโยชน์ หรือสิทธิพิเศษจากระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ กลับกันคนเหล่านี้ต้องอยู่ในกรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ตนจำต้องอดทนอยู่กับรัฐเผด็จการที่พร้อมจะคุกคามสิทธิเสรีภาพหากไม่ทำตามกฎ ระเบียบ แบบแผนที่รัฐกำหนด นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังการแสดงออก หรือไม่แสดงออก ซึ่งอาจตกอยู่ภายใต้การ “จับตามอง” ของเพื่อนบ้าน คนรู้จัก ว่ามีความรักและจงรักภักดีต่อ ฯพณฯท่าน คิม ผู้ล่วงลับหรือไม่

การตายของประธานาธิบดีคิม ผู้ยิ่งใหญ่ จึงเป็นโอกาสสำคัญของรัฐที่จะได้ตรวจสอบความจงรักภักดีของเหล่าพลเมืองชาวเกาหลีเหนือว่า ได้ทำหน้าที่ของพลเมืองดีผู้พร้อมพลีกายถวายหยาดน้ำตาให้กับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่ผู้นำของรัฐต้องจากไปหรือไม่ การร้องไห้ให้หนักหน่วงจึงเป็นเสมือนหน้าที่สำคัญหากไม่แสดงออกก็อาจได้รับผลร้ายตามมาเพราะมีผู้คนที่คอยจับจ้อง และชี้ตัวให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปจัดการ เพื่อยืนยันถึงอำนาจของรัฐที่ผูกติดกับตัวผู้นำ แม้ล่วงลับไปแล้วก็ตาม

การแสดงออกซึ่งความรักต่อประธานาธิบดีคิม ที่พลเมืองชาวเกาหลีเหนือพึงกระทำ จึงน่าจะเป็นการทำหน้าที่จับตามองตรวจสอบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐว่าได้ทำหน้าที่สืบทอดการดำรงอยู่ของรัฐหรือไม่ มีการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการจนนำมาซึ่งความทรุดโทรมของรัฐ ทั้งนี้การจับจ้องการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำระดับสูงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ประชาคมโลกอาจเสนอให้มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อบังคับให้ชาวเกาหลีเหนือทั้งหลายปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายเกาหลีเหนือกำหนด โดยมุ่งผลักดันธรรมาภิบาลเข้าสู่การตรวจตราตรวจสอบการทำงานและรับโครงการช่วยเหลือระหว่างประเทศในทุกระดับอย่างโปร่งใส

3.กลุ่มที่เสียน้ำตาด้วยระบอบครอบงำความจริง อารมณ์ และความรู้สึก คือ กลุ่มคนที่อยู่ภายใต้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารความเป็นไปของสังคมผ่านระบอบการสร้างข้อมูลข่าวสารครอบงำ และคุ้นเคยกับเรื่องเล่าขนาดใหญ่จำนวนมาก ที่สร้างข้อสรุปทั้งปวงไปที่ความยิ่งใหญ่เหนือผู้ใดแบบวีรบุรุษให้แก่ท่านผู้นำ โดยเรื่องเล่าทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นข่าว แบบเรียน หรือแม้แต่ภาพ สื่อเคลื่อนไหวทั้งหลายที่ปรากฏในชีวิตประจำวันแก่ชาวเกาหลีเหนือได้สร้างขึ้นอย่างเป็นระบบแบบแผน ฉายซ้ำอย่างต่อเนื่อง และเป็นการสื่อสารทางเดียว จนประชาชนไม่มีข้อมูลอื่นใดที่จะจุดประกายความสงสัยต่อความเป็นไปของสังคมและความยิ่งใหญ่ของผู้นำซึ่งเป็นจุดสุดยอดของเมืองมายาแห่งนี้

การตายของท่านผู้นำสูงสุด คิม จอง อิล จึงเป็นการจบชีวิตของสุดยอดพระเอกตลอดกาลที่มิได้ตายเพียงตัวแต่ได้จบตำนานของมหาวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ไปในคราวเดียวกัน ความรัก ความผิดหวัง ความเศร้าโศกเสียใจต่อการสูญเสียของชาวเกาหลีเหนือกลุ่มนี้จึงรุนแรงและลึกซึ้งเกินกว่าที่ “คนนอก” อย่างพวกเราจะเข้าใจได้ หากเราไม่ได้อยู่ในละครเรื่องนี้แบบแฟนพันธุ์แท้ตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนอวสาน การแสดงออกซึ่งความรักต่อมหาบุรุษผู้มีภาพลักษณ์สวยงามปราศจากด่างพร้อยจึงต้องอลังการในทุกมิติ ตั้งแต่พิธีกรรม ไปจนถึงพฤติกรรมของผู้จงรักที่พร้อมจะตรวจตราตนเองให้พร้อมไปด้วยความรักอย่างสุดหัวจิตหัวใจต่อผู้นำ และพร้อมที่จะจับจ้องตรวจตรามิให้ผู้อื่นแสดงออกเป็นอย่างอื่น หรือแสดงออกน้อยกว่าที่ตนคาดหวัง

การแสดงความรักของชาวเกาหลีเหนือซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ วีรบุรุษคิม จึงน่าจะเป็นการสืบสานตำนานของท่านให้ตกทอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยพยายามทำดี ทำทุกอย่างตามแนวทางที่ท่านคิดเคยแสดงให้เห็น หรือมีการรณรงค์ให้ยกเอาผู้นำคนใหม่ขึ้นเป็นสุดยอดผู้นำที่เฉิดฉายไม่น้อยไปกว่าผู้นำท่านเดิม โดยอาจช่วยกันคิดเรื่องเล่าการทำความดีตามแนวทางของ “พ่อ” ให้แก่ผู้นำรุ่นลูกได้ยึดถือปฏิบัติตาม เพื่อบรรลุความคาดหวังของแฟนพันธุ์แท้ที่คอยติดตามผลงานอยู่

ประชาคมโลกอาจเสนอการสนับสนุนทางเทคโนโลยีและความร่วมมือทางวัฒนธรรมให้มีการสร้างตำนานชุดใหม่บนโครงเรื่องเดิมที่ขับเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีผู้นำที่เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้คนตัวเล็กตัวน้อยผู้ต้อยต่ำ ได้มองมาแล้วหยิบไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตตามรอยท่าน โดยนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงการวิธีการสื่อสารและเล่าเรื่องให้สมจริงน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น และมีการนำวัฒนธรรมมาสร้างเรื่องเล่าย่อยๆ ที่มีเรื่องราวตัวแสดงแตกต่างออกไปอย่างหลากหลาย แต่ยังให้ข้อสรุปเหมือนเดิม คือ สังคมจะดีได้ต้องขึ้นอยู่กับผู้นำที่ดี

จากการวิพากษ์อย่างจริงจังต่อกลุ่มคนที่เสียน้ำตา และระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือ ทำให้ผู้เขียนรวมถึงผู้เชี่ยวชาญทั้งโลกเสนอแนะแนวทางให้กับชาวเกาหลีเหนือ และประชาคมโลก ได้มากเพียงเท่านี้ เพราะข้อเสนอทั้งหลายจะเป็นเพียงข้อเสนอที่ไร้เดียงสา และมีลักษณะประชดประชัน หากไม่เริ่มต้นด้วยการจัดการกับความจริงบนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออก และขจัดการใช้อำนาจกดทับปิดบังข้อมูลและอารมณ์ความรู้สึกด้วยอำนาจเผด็จการ


///////////////////////

 

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีตีนแดง:"ผมรอคอยพวกท่านมาเปิดประตูคุก"

Posted: 21 Feb 2012 08:49 PM PST

ต่อให้ตะโกนดังสักเพียงไหน 
เสียงนั้นก็ไม่เดินทางไปถึง
เท้าบางเท้าที่ถูกตรวนตอกตรึง 
ไม่ใช่นิทานโศกซึ้งเรียกน้ำตา

บางเสรีภาพราคาต้อยต่ำ 
ความเป็นคนถูกย่ำไม่เห็นค่า
อาจต้องรอให้ตายก่อนเวลา 
กว่าใครจะรู้ว่าเขาถูกขัง

บางสุ้มเสียงของผู้คนในเมืองนี้ 
ไม่มีคลื่นความถี่ในแผนผัง
จึงแผ่วเบาเกินกว่าจะรับฟัง 
ทั้งเลือนรางเกินกว่าจะหวังใด

“ผมรอคอยพวกท่านมาเปิดประตูคุก” 
นั่งนับวันรอการไหม้ลุกของเทียนไข 
แต่หากมันยาวนานจนผมตาย 
ช่วยแห่ศพผมไปรอบรอบเมือง

เพื่อบอกความจริงแก่เด็กเด็กในเมืองนี้ 
ว่านิทานนั้นมีอยู่หลายเรื่อง
บางชายชราไม่ต้องเล่าอย่างเปล่าเปลือง 
หากชื่อเรื่อง “คนเรามันเท่ากัน”

บอกชื่อผมแก่เสรีชนในเมืองนี้
(บอกชื่อผมแก่ปัญญาชนในเมืองนี้)
ว่ากาลครั้งหนึ่งมีคนตายเพราะความฝัน
ชื่อของเขา “สุรชัย แซ่ด่าน”
ไม่ใช่นักสู้ในจินตนาการ แต่เป็นตำนานของประชาชน

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น