โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

TCIJ: ชาวบ้านหวั่นรุกที่ป่าสงวนฯ คลองแม่รำพึงยื้อ เหตุเจ้าหน้าที่ใหม่อ้าง “ไม่ทราบเรื่อง”

Posted: 16 Feb 2012 11:34 AM PST

ชี้กว่า 1 ปี คำสั่งทางปกครองในการบังคับใช้ มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ยังเดินหน้าไม่ได้ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังโยนลูกกันไปมา ทั้งมีการโยกย้ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย จี้คนใหม่เร่งสานต่องาน

 
เมื่อวันที่ 16 ก.พ.55 นายสรศักดิ์ วิริยะเอกูล ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) สาขาย่อย เพชรบุรี เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนในคดีอาญาเลขคดีที่ 262/2554 ที่เจ้าพนักงานป่าไม้กล่าวโทษกับเครือสหวิริยา กรณีขัดคำสั่งทางปกครองในการบังคับใช้ มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 เม.ย.54
 
สืบเนื่องจาก กรณีที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงร่วมกันตรวจสอบการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิของกลุ่มอุตสาหกรรมในเครือบริษัทสหวิริยา ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง จำนวน 52 แปลง รวมเนื้อที่ 798 ไร่ จนกระทั่งกรมที่ดิน มีคำสั่งเพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.53 และวันที่ 20 ธ.ค.53 มีคำสั่งใช้มาตรา 25 ให้ผู้บุกรุกทั้ง 52 แปลงออกจากพื้นที่ เนื่องจากมีการพิสูจน์แล้วว่าออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบ และทางกรมป่าไม้ก็เห็นชอบใช้คำสั่งนี้ แต่ผู้บุกรุกได้อุทธรณ์ไปยังหน่วยงานต่างๆ ทำให้กระบวนการตาม มาตรา 25 ชะงักไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวยืดเยื้อไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จมาเป็นเวลากว่า 1 ปี เนื่องจากยังไม่มีการชี้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติให้ชัดเจน ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังโยนลูกกันไปมา ไม่มีใครจัดการอย่างจริงจัง รวมถึงมีการโยกย้ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้งนายอำเภอบางสะพาน ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) และอีกหลายหน่วย กลายเป็นเหตุที่เจ้าหน้าที่อ้างว่า “เพิ่งย้ายมา” และ “ ไม่ทราบเรื่อง”
 
นายสุพจน์ ส่งเสียง ในฐานะตัวแทนติดตามความคืบหน้ากรณีบุกรุกที่ป่าสงวนฯ กล่าวว่า ในความเป็นจริงการโยกย้ายหน่วยราชการต่างๆ ผู้ย้ายมาใหม่ ไม่ควรที่จะบอกปัดว่ายังไม่รู้ ไม่ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นงานทุกเรื่องคงไม่มีความคืบหน้า ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่หมด แต่ในตำแหน่งหน้าที่ ควรเร่งศึกษาภาระที่ได้รับเพื่อดำเนินการในงานต่างๆ ต่อไปให้ลุล่วงโดยเร็ว มีอะไรที่สงสัยจะต้องสอบถามกับคนที่ทำก่อนหน้า ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เอง หรือแม้แต่ผู้ที่ย้ายไป เพื่อสานต่องาน
 
นายสุพจน์ กล่าวว่า จากกรณีการบังคับใช้มาตรา 25 ในพื้นที่ท่าเรือในเครือสหวิริยานั้น จนบัดนี้เกือบ 2 ปี ยังหาความคืบหน้าไม่เจอ ตัวนายอำเภอในฐานะเจ้าพนักงานป่าไม้ผู้ควบคุมป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการบังคับใช้มาตรา 25 ยังไม่รู้ว่าตนเองมีอำนาจกระทำการเกี่ยวกับมาตรา 25 และยังพยายามเบี่ยงเบนเรื่องราวว่าต้องทำหนังสือสอบถามไปยังกรมป่าไม้ ชาวบ้านจึงมองว่า หากเป็นเช่นนี้การบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง คงเป็นมหากาพย์ที่มองไม่เห็นจุดจบ
 
“อยากให้นายอำเภอคนใหม่ศึกษาถึงบทบาทหน้าที่ ในฐานะเจ้าพนักงานป่าไม้ผู้ควบคุมป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง (ผู้มีอำนาจในการบังคับใช้ มาตรา 25) ให้ถ่องแท้ และควรมีความกล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่านี้ ซึ่งพวกผม และชาวบ้านตำบลแม่รำพึงคงรอดูผลงานของท่านนายอำเภอคนใหม่ว่าสุดท้ายแล้วผลจะเป็นเช่นไร” นายสุพจน์ กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้ชี้แจงกรณีปัญหาต่อนายสรศักดิ์ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขา เพชรบุรีกล่าวว่า จะเร่งทำหนังสือถึงกรมป่าไม้อย่างเร็วที่สุด และดำเนินการในเรื่องการชี้วัดแนวเขตป่าสงวนฯ โดยด่วน
 
 
มาตรา 25 เมื่อได้กำหนดป่าใดเป็นป่าสงวนแห่งชาติและรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาตินั้นแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
 
(1) สั่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรือให้งดเว้นการ กระทำใดๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในกรณีที่มีข้อเท็จจริงปรากฏหรือเหตุ อันสมควรสงสัยว่า มีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้
 
(2) สั่งเป็นหนังสือให้ผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้รื้อถอน แก้ไข หรือทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขต ป่าสงวนแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนดให้
 
(3) ยึด ทำลาย รื้อถอน แก้ไขหรือทำประการอื่นเมื่อผู้กระทำผิด ไม่ปฏิบัติตาม (2) ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิดหรือรู้ตัวผู้กระทำผิดแต่หาตัวไม่พบ
 
ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าว และ ได้เสียค่าใช้จ่ายเพื่อการนั้น ให้ผู้กระทำผิดชดใช้หรือออกค่าใช้จ่ายนั้นทั้งหมด หรือให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำทรัพย์สินที่ยึดไว้ได้ออกขายทอดตลาดหรือขายโดย วิธีอื่นตามที่เห็นสมควร เพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายนั้น และให้นำความใน มาตรา 1327 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่เงินที่ได้จากการ ขายทรัพย์สินนั้นโดยอนุโลม
 
(4) ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่เห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อป้องกัน หรือบรรเทาความเสียหายแก่ป่าสงวนแห่งชาติในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสทช.จับมือฟรีทีวี เปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล

Posted: 16 Feb 2012 09:13 AM PST

โชว์แผนการปรับเปลี่ยนช่วงปี 2555-2559 กำหนดยุทธศาสตร์ใน 4 ปี เริ่มส่งสัญญาณทีวี-วิทยุระบบดิจิตอล 5 ปี ครัวเรือนในเมืองใหญ่ใช้ดิจิตอลไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 คาดไตรมาส 2 ปีนี้ทดลองออกอากาศ

 
 
วันนี้ (16 ก.พ.55) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บอร์ดกระจายเสียง/กสทช.) จัดประชุมร่วมกับตัวแทนจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส ก่อนร่วมกันแถลงข่าวแสดงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุโทรทัศน์ของประเทศเป็นระบบดิจิตอล เพื่อประโยชน์ในการพัฒนามาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชน สังคม พร้อมทั้งความก้าวหน้าของประเทศไทยพร้อมกันภายในปี 2559
 
การแถลงข่าว มีเนื้อหาเกี่ยวกับเป้าหมายยุทธศาสตร์การเปลี่ยนไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล โดยการเตรียมการนั้นมีงานที่สำคัญคือ การกำหนดนโยบายการพัฒนากิจการ ลักษณะและประเภทของใบอนุญาต แผนความถี่วิทยุโทรทัศน์ และประกาศหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่าน จะร่วมมือสนับสนุนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ของประเทศดังกล่าว ให้บรรลุเป้าหมายที่บอร์ดกระจายเสียง/กสทช. กำหนดไว้
 
พันเอกนที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธาน กสท. กล่าวว่า กระบวนการออกใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่เพื่อการทำโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลจะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้ไปจนถึงปี 2559 ขณะที่แผนการเริ่มปรับเปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณจากระบบอนาล็อกเดิมไปสู่ระบบดิจิตอลก็จะเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้เช่นกัน และคาดว่าภายในไตรมาส 2 ของปีนี้จะเริ่มเห็นการทดลองออกอากาศทีวีระบบดิจิตอลใน 6 ช่องมาตรฐาน และ 2 ช่องแบบไฮเดฟฟินิชั่น หรือทีวีความละเอียดสูง พร้อมทั้งทดสอบมาตรฐานการออกอากาศในรูปแบบต่างๆ ด้วย
 
ด้านนางสาวอัมพวัน เจริญกุล ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ทางสถานีเตรียมพร้อมที่จะก้าวสู่การออกอากาศด้วยระบบดิจิตอลมานานแล้ว โดยได้เตรียมปรับแผนผังรายการในปี 2555 เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิตอล เบื้องต้นได้ทดลองออกอากาศในระบบดิจิตอลบางส่วนแล้วและคาดว่าจะพร้อมออกอากาศในระบบดิจิตอลเต็มรูปแบบในปี 2558
 
ทั้งนี้ ตามที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 กำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ขณะนี้ร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่อยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การเปลี่ยนไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ให้มีการเริ่มต้นการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลภายใน 4 ปี
 
ส่วนร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเช่นกัน โดยได้กำหนดเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 6 ซึ่งมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ 1.มีการเริ่มรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ภายใน 4 ปี 2.มีจำนวนครัวเรือนในเมืองใหญ่ที่สามารถรับสัญญาณวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายใน 5 ปี
 
ในการประชุมบอร์ดกระจายเสียง/กสทช. ครั้งที่ 7/2555 มีมติกำหนดเป้าหมายว่า หลังจากการประกาศใช้แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในต้นปี 2555 แล้ว จะดำเนินการให้สามารถเริ่มต้นออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลภายในปลายปี 2555 
 
โดยในช่วงปี 2555-2559 มีแผนการปรับเปลี่ยนดังนี้
 

ปี 2555 – 2559

กระบวนการออกใบอนุญาต Digital TV ช่วงที่ 1                       ก.พ.2555 – ธ.ค.2556
กระบวนการออกใบอนุญาต Mobile TV                                  มิ.ย.2556 - มิ.ย.2557
กระบวนการออกใบอนุญาต Digital TV ช่วงที่ 2                       มิ.ย.2557 – ธ.ค.2558
เริ่มกระบวนการ Analog Switch - Off (ASO) หรือ ยุติการให้บริการระบบอะนาล็อก  เริ่ม ม.ค.2558
 
ทั้งนี้ มีเป้าหมายในสองปีแรก (ปี 2555 – 2556) ดังนี้
 
 
 
เริ่มต้นทำแผนการปรับเปลี่ยนฯ สู่ระบบดิจิตอล                                    ก.พ. 2555
ออกใบอนุญาตฯ โครงสร้างพื้นฐาน, โครงข่าย                                   ส.ค.2555
ออกใบอนุญาตฯ กิจการบริการสาธารณะ                                            ธ.ค. 2555
ออกใบอนุญาตฯ กิจการทางธุรกิจ                                                     ส.ค. 2556
ออกใบอนุญาตฯ กิจการบริการชุมชน                                                ธ.ค.2556
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'โคฟี อันนัน' พร้อมอดีตปธน. ฟินแลนด์ เยือนไทย หวังหนุนการปรองดอง

Posted: 16 Feb 2012 08:32 AM PST

โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ พร้อมทั้ง มาร์ตติ อาห์ติซาริ อดีตปธน.ฟินแลนด์ เดินทางเยือนไทยระหว่าง 16-19 ก.พ. ตามคำเชิญของคอป. เพื่อหนุนเสริมกระบวนการปรองดองในประเทศไทย

16 ก.พ. 55 -  เดลินิวส์รายงานว่าระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.นี้ นายโคฟี  อันนัน  อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และนายมาร์ตติ  อาห์ติซาริ อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธาณรัฐฟินแลนด์  จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าพบกับน.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ตามที่ได้รับคำเชิญให้เป็นที่ปรึกษาและนำประสบการณ์ด้านการสร้างความปรองดองในต่างประเทศ เป็นแนวทางการในสร้างความปรองดองของประเทศไทย โดยนายโคฟีและนายมาร์ตติ จะเข้ารับฟังข้อมูลความคิดเห็นของทุกฝ่าย  

จากนั้นในวันที่ 18 ก.พ. ที่ห้องบอลรูม  โรงแรมแชงกรีล่า นายโคฟีและนายมาร์ตติ จะเปิดเวทีพูดคุยถึงบทบาทของตนเองที่สามารถเข้ามามีส่วนแนะนำทิศทางการสร้างความปรองดองรวมทั้งเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้มีโอกาสซักถาม

ทั้งนี้นายโคฟี  กล่าวถึงการเดินทางมาประเทศไทยว่า ตนมาเยือนในฐานะเพื่อนของประชาชนชาวไทย ซึ่งจะรับฟัง เรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องการปรองดอง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์และมีคุณค่าสำหรับการทำงาน คอป. ในอนาคต  ขณะที่นายมาร์ตติ  กล่าวว่า แม้กระบวนการปรองดองในแต่ละที่จะมีความแตกต่างกัน เพราะไม่มีกระบวนการปรองดองของที่หนึ่งจะไปเหมือนอีกที่หนึ่งได้ แต่ทุกประเทศต่างก็มีประเด็นและสิ่งท้าทายเหมือนกัน จึงหวังว่าการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมหารือกับคอป.ครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้คนไทยสามารถกำหนดทิศทางไปสู่การปรองดองของตัวเองได้

รายงานระบุว่า ก่อนหน้านี้ทางคอป. เสนอรายงานความคืบหน้าในการทำงานของคณะกรรมการคอป. ต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 2 ครั้ง และได้มีหนังสือเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะต่าง ๆ รวม 4 ครั้งประเด็นต่างๆ ได้แก่ 1. การตีตรวนผู้ต้องขัง 2.สิทธิพื้นฐานของผู้ถูกล่าวหาในคดีอาญาสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรง 3.นโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย 4.ความผิดที่ต้องให้อำนาจ 

450px-Kofi_Annan
ภาพโดย Ricardo Stuckert/ABr (Ricardo Stuckert/ABr 14.Nov.2003,) [CC-BY-3.0-br],
via Wikimedia Commons

สำหรับนายโคฟี  เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติติดต่อกันถึงสองสมัยและได้รับรางวัลโนเบล  สาขาสันติภาพร่วมกับสหประชาชาติ เมื่อหมดวาระจากการทำงานในสหประชาชาตินายโคฟีได้ก่อตั้งมูลนิธิโคฟี อันนัน ขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการกลไกในระดับโลกที่ดียิ่งขึ้นและเสริมสร้างศักยภาพประชาชนและประเทศต่างๆ ให้สามารถส่งผลให้สังคมโลกมีความเป็นธรรมและมีเสถียรภาพมากขึ้น

Martti_Ahtisaari
ภาพโดย By Embassy of the United States in Helsinki, Finland 
[Public domain], via Wikimedia Commons

ด้านนายมาร์ตติ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ ใน 2537 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเนื่องจนถึง ปี 2543 โดยปี 2551 นายมาร์ตติ จึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อหมดวาระจากตำแหน่งประธานาธิบดี นายมาร์ตติจึงเริ่มทำหน้าที่ในฐานะคนกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเพื่อการสร้างสันติภาพในระดับนานาชาติ

ที่มา: เรียบเรียงจาก เดลินิวส์, ข่าวสด 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิทยาเสนอนักธุรกิจเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน แพทย์ชนบทผิดหวัง เรียกประชุมรับมือ

Posted: 16 Feb 2012 07:01 AM PST

 

สปสช. นัดประชุมกรรมการเพื่อสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังแทนนางวรานุช  หงส์ประภาสที่ลาออกไปอย่างกะทันหัน ในวันที่ 17 กพ.นี้ วิทยา บูรณศิริ ประธานบอร์ด สปสช. เตรียมเสนอนายโชติศักดิ์  อาสภวิริยะ  ประธานกรรมการบริษัททีวีไดเร็คอินโดไชน่า จำกัด  อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด  (มหาชน)  ด้านบอร์ด สปสช. ผู้แทนองค์กรเอกชน นพ.วิชัย  โชควิวัฒน ประกาศไม่เข้าร่วมประชุมแต่ถ้าทำผิดจะฟ้องศาลเพิ่มอีกคดี ขณะที่ชมรมแพทย์ชนบทประกาศรู้สึกผิดหวังและเรียกประชุมกรรมการบริหารและอดีตชมรมทุกสมัยประชุมด่วน ในวันที่ 20 กพ.นี้

รายงานข่าวจากบอร์ด สปสช. ภาคประชาชนเปิดเผยว่าเพิ่งได้รับเอกสารการเสนอผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังในบอร์ด สปสช. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 กพ.นี้  ซึ่งนายวิทยา  บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้เสนอนายโชติศักดิ์  อาสภวิริยะ ประธานกรรมการบริษัททีวีไดเร็คอินโดไชน่า จำกัด เพียงผู้เดียว  และคาดว่าเสียงข้างมากจะเลือกตามที่ฝ่ายการเมืองเสนอ  ขณะที่ นพ.วิชัย  โชควิวัฒน บอร์ด สปสช.ผู้แทนองค์กรเอกชนประกาศชัดไม่เข้าร่วมการประชุมและเตรียมจะฟ้องศาลอีกหนึ่งคดีถ้ามีการทำผิดกฎหมายส่อการเอาผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือแสวงหาผลประโยชน์จากเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพหนึ่งแสนสามหมื่นล้านบาท

นพ.อารักษ์  วงศ์วรชาติ  อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท  เปิดเผยว่ารู้สึกผิดหวังต่อการทำงานและความไม่จริงใจของผู้มีอำนาจทางการเมืองในกระทรวงสาธารณสุขที่ผลักดันนายทุนของพรรคเข้ายึดครองบอร์ด สปสช. โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมและความเป็นห่วงของสังคม  เพียงหวังผลประโยชน์ระยะสั้นเข้าทำนองนายกพรรคไทยรักไทยทำด้วยมือแต่ถูกรัฐมนตรีพรรคเดียวกันลบด้วยเท้า  ต่อจากนี้ไประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือระบบบัตรทองไม่ใช่เป็นผลงานที่พรรคเพื่อไทยจะประกาศเป็นเจ้าของแล้ว 

“ สิบปีที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยรักไทยได้เริ่มต้นไว้ เป็นประโยชน์กับประชาชนและได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมาโดยตลอด แม้กระทั่งนักวิชาการอาวุโส เช่น ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ ) ยังประกาศยอมรับ แต่ขณะนี้นักการเมืองของพรรคเพื่อไทยได้ร่วมมือกับเหล่าแพทย์พาณิชย์ – บริษัทยาข้ามชาติและกลุ่มผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่กลัวการเสียอำนาจได้เข้าทำลายระบบดังกล่าวแล้ว  อนาคตข้างหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นอยู่กับประชาชนและประชาชนจะเป็นเจ้าของ  พรรคการเมืองใดจะอ้างเป็นเจ้าของไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว

รายงานข่าวกล่าวว่านายโชติศักดิ์  อาสภวิริยะ ที่นายวิทยา  บูรณศิริ เสนอซึ่งเคยได้รับการเปิดเผยจากนายสนธิ  ลิ้มทองกุลว่าเป็นคนของคุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธ์  ส่งเข้าดูแลบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัดหรือสนามบินสุวรรณภูมิที่มีผลประโยชน์มหาศาลก่อนมีการปฏิวัติในปี 2549  และทันทีที่มีข่าวการผลักดันส่งคนจากการเมืองเพื่อเข้ายึดครองกองทุน สปสช. ทางชมรมแพทย์ชนบทได้นัดประชุมกรรมการและอดีตประธานชมรมทุกสมัย นี้ ร่วมกับผู้แทนเครือข่ายผู้ป่วย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและนักวิชาการอาวุโสในแวดวงสุขภาพเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ และหามาตรการตอบโต้ปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพคาดว่าจะมีการจัดตั้งแนวร่วมเพื่อตรวจสอบการแสวงหาผลประโยชน์และพลิกโฉมระบบสุขภาพของไทยไม่ให้ถูกครอบงำโดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองและกลุ่มธุรกิจแพทย์พาณิชย์

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ปรีดี พนมยงค์’ กับการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย

Posted: 16 Feb 2012 06:53 AM PST

เวลาผมได้ยินใครก็ตามพูดว่า มี พุทธศาสนาบริสุทธิ์คือ หลักการของพุทธศาสนาที่ไม่เกี่ยวกับคน ไม่เกี่ยวกับสังคม เช่น กฎธรรมชาติ หรือกฎไตรลักษณ์เป็นต้น ที่ยังไม่ได้ถูกปรับใช้กับชีวิตคน หรือสังคม

คำพูดเช่นนี้ชวนให้ถามได้ว่า กฎธรรมชาติเช่นนั้นจะถือว่าเป็นพุทธศาสนาได้อย่างไร เพราะกฎธรรมชาติมีอยู่ก่อนที่พุทธะจะอุบัติขึ้น เมื่อพุทธะอุบัติขึ้นโดยการนำความจริงตามกฎธรรมชาตินั้นมาปรับใช้ดับทุกข์ หรือเกิดการตรัสรู้แล้ว พุทธศาสนาจึงเกิดขึ้นมิใช่หรือ และพุทธศาสนาก็มีพัฒนาการมาในรูปของการถูกปรับใช้กับชีวิตและสังคมในยุคสมัยต่างๆ มิใช่หรือ

ฉะนั้น พุทธศาสนาบริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตคนและสังคม หรือพุทธศาสนาที่ไม่ได้อยู่ในบริบททางสังคม และวัฒนธรรมหนึ่งๆ จึงไม่มีอยู่จริง เมื่อพุทธศาสนาถูกปรับใช้ภายใต้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน พุทธศาสนาในแต่ละสังคมจึงมี “หน้าตา” ต่างกัน กล่าวคือ แม้สาระสำคัญอาจเชื่อถือเหมือนกัน แต่มีจุดเน้นและรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไปตามบริบท

เช่น แม้แต่ในสังคมไทยเอง ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พุทธศาสนาก็เน้นมิติทางสังคมที่ส่งเสริมอำนาจของกษัตริย์ ขณะที่ในยุดประชาธิปไตย พุทธศาสนาก็ถูกนำมาอธิบายในเชิงสนับสนุนอำนาจของราษฎร ดังเราจะเห็นได้ตั้งแต่ประกาศคณะราษฎร์ ฉบับที่ 1 ในการปฏิวัติ 2475 เลยทีเดียว ซึ่งว่ากันว่าร่างโดย ปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎร์ ความตอนหนึ่งว่า

...ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำ ไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพ พ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า [1] 

 

คำว่า “ศรีอาริยะ” ซึ่งเป็นจินตนาการสังคมในอุดมคติของพุทธศาสนา ถูกนำมาอ้างอิงในเชิงสนับสนุนภาวะสังคมที่พึงประสงค์ในระบอบประชาธิปไตย ที่ราษฎรมีงานทำ มีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพ พ้นจากความเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสของพวกเจ้า นอกจากนี้ปรีดียังเขียนว่า

แม้ในการทำบุญ ก็ปรารถนาจะประสบศาสนาพระศรีอาริย์ แม้การสาบานในโรงศาลก็ดี ในการพิธีใดๆ ก็ดี ก็อ้างกันแต่ว่า เมื่อซื่อสัตย์ หรือให้การไปตามความเป็นจริงแล้ว ก็ให้ประสบพบศาสนาพระศรีอาริย์ [2]

จะเห็นว่าปรีดีอ้างถึง “ศาสนาพระศรีอาริย์” ไ ม่ใช่หมายถึงโลกพระศรีอาริย์ในอนาคต แต่เป็นโลกพระศรีอาริย์ที่สามารถสร้างขึ้นได้ในปัจจุบัน ด้วยการสร้างระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์และระบบเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย และมีความเป็นธรรม

นอกจากปรีดีจะอ้างคติความเชื่อเรื่องโลกพระศรีอาริย์มาสนับสนุนสังคมที่มีสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว ยังอ้างอิงหลักธรรมทางพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนการสร้างสันติภาพในสังคมด้วย เช่น ที่เขาเขียนว่า

ความพยายามที่จะหาทางบรรลุถึงซึ่งสันติภาพ บางครั้งข้าพเจ้าได้ยกพุทธภาษิตที่ข้าพเจ้าเคยบันทึกไว้ในหนังสือเรื่องพระเจ้าช้างเผือก ที่ข้าพเจ้าเป็นผู้แต่ง ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ.2483 ดังนี้ นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ อันหมายถึงสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี [3]

 

จะเห็นว่า แม้แต่พุทธภาษิตดังกล่าวที่พุทธะใช้แทนลักษณะของ “นิพพาน” แต่ปรีดีก็ตีความประยุกต์ให้ครอบคุลมถึงสันติภาพทางสังคมด้วย นอกจากนี้ในหนังสือเรื่อง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ปรีดีประยุกต์หลักอนิจจังในคำสอนพุทธศาสนา (ซึ่งพระสงฆ์มักพูดถึงอนิจจังในความหมายของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นหลัก) เข้ากับแนวคิดทางวิทยาสตร์สังคมอธิบายประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองได้อย่างมีพลัง

ยิ่งกว่านั้น ปรีดียังอ้างอิงหลักคำสอนของพุทธศาสนา เช่น หลักกอกุศลมูล-กุศลมูล หลักกาลามสูตรและหลักคำสอนอื่นๆ ของพุทธศาสนาเพื่อเป็นหลักคิดในการเผชิญกับสงครามการโฆษณาชวนเชื่อที่ปรากฏทั้งในบทความและบทปาฐกถาหลายชิ้นในยุคสงครามเย็น และช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นต้น

และเมื่อย้อนกลับไปสมัยที่ปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็เห็นได้ชัดว่าเขาให้ความสำคัญกับการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย ดังที่เขานิมนต์พระภิกษุที่มีความคิดก้าวหน้าในเวลานั้นมาสนทนาธรรม เช่นที่ ส.ศิวรักษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า

เมื่อท่าน (นายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ท่านได้อาราธนาภิกขุพุทธทาสไปสนทนาธรรมกันที่ทำเนียบท่าช้างถึง 4 วัน เกือบจะติดๆ กัน วันละประมาณสามชั่วโมง เพื่อหาสาระทางพุทธศาสนามาใช้เป็นแกนในการประยุกต์ประชาธิปไตยของไทยให้เป็นไปในแนวทางของธรรมจักร...[4] 

 

หากมองจากบริบททางประวัติศาสตร์ ก็แสดงให้เห็นว่า ปรีดีตระหนักถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่สนับสนุนระอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาอย่างยาวนาน ฉะนั้น เมื่อเปลี่ยนสังคมเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและอุดมการณ์ทางพุทธศาสนาที่เคยถูกใช้สนับสนุนสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสนับสนุนประชาธิปไตยด้วย แม้แต่ระบบการปกครองคณะสงฆ์เองก็ต้องจัดให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยดัง พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ 2484 เป็นต้น

ที่น่าสังเกตคือ วิถีชีวิตส่วนตัวกับวิถีชีวิตเพื่อส่วนรวมของปรีดีดูเหมือนจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแทบจะแยกไม่ออก ฉะนั้น ความเชื่อทางศาสนาที่คนทั่วๆ ไปมักใช้ในมิติส่วนตัวและใช้ในรูปแบบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น “การทำบุญ” ปรีดีกลับนำมาให้ความหมายที่ไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืนทั้งในทางส่วนตัวและทางสังคม เช่น ที่เขาเขียนจดหมายถึงภรรยาช่วงหลังปฏิวัติ 2475 ระหว่างการเก็บตัวหารือเรื่องตั้งรัฐบาล ตอนหนึ่งว่า

...เพราะก่อนลงมือ (ปฏิวัติ 2475-ผู้เขียน) ได้เคยถามแล้วว่า ถ้าฉันบวชสัก 4 เดือน เธอจะว่าอย่างไร เธอก็ตอบเต็มใจ การที่ทำทั้งนี้ยิ่งกว่าการบวช เราได้กุศล ผลบุญที่ทำให้ชาติย่อมได้สืบต่อไปจนบุตร์หลาน ภรรยาก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย...[5] 

 

ฉะนั้น ในขณะที่ชาวพุทธทั่วไปมักคิดถึง “ความดีเชิงปัจเจก” เช่น ความดีที่เกิดจากการทำบุญทำทาน รักษาศีลภาวนาเพื่อไปสวรรค์ นิพพานเป็นการส่วนตัว แต่ปรีดีกลับให้ความสำคัญมากกับ “ความดีเชิงสังคม” ดังบทความชื่อ “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยของวีรชน 14 ตุลาคม” เขากล่าวสดุดีผู้ที่ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตขิงตนเองเพื่อแลกกลับประชาธิปไตย และประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ที่ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ จึงเป็นการสมควรที่คนรุ่นหลังจะพึงระลึกถึง “คุณความดี” ความกล้าหาญที่วีรชนเหล่านั้นได้เสียสละเพื่อปกป้องประชาธิปไตย[6] 

 

นี่คือ “คุณค่าทางภูมิปัญญา” อีกด้านหนึ่งของปรีดีที่ให้แก่สังคมไทย นอกเหนือจากที่เขาเป็นมันสมองสร้างความเปลี่ยนแปลงการปกครองที่วางรากฐานประชาธิปไตยแก่สังคมไทยแล้ว เขายังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาพุทธศาสนาจากที่เคยถูกตีความสนับสนุนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาตีความสนับสนุนประชาธิปไตย

 

โดยเฉพาะเขาทำให้มิติทางสังคมและมิติปัจเจกของพุทธศาสนางอกงามไปด้วยกัน ในวิถีชีวิตที่ต้องทำความเข้าใจสัจธรรมของชีวิตและโลกเพื่อดำรงความเข้มแข็ง ความสงบของจิตใจ เมื่อเผชิญภัยการเมือง และในการทุ่มเทเสียเสียสละเพื่อประชาธิปไตย และราษฎรไทย ตราบชั่วชีวิต

 

 


 

อ้างอิง
[1] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2475: การปฏิวัติสยาม.กรุงเทพฯ: ประพันธ์ศาสน์.2535.
[2] ต.ม.ธ.ก.รุ่น 2 “สมุดปกเหลือง เค้าโครงเศรษฐกิจ” ใน ฉบับรำลึกท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ กรุงเทพฯ: อักษรไทย,2527 หน้า 41.
[3] ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. หน้า 12.
[4] ส. ศิวรักษ์.พุทธศาสนาในเมืองไทยที่เต็มไปด้วยขวากหนาม.กรุงเทพฯ: ศึกษิตสยาม, 2550 หน้า 220.
[5] วาณี สายประดิษฐ์ (บรรณาธิการ).ใจคนึง ตำนาน 100 ชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์.กรุงเทพฯ: กองทุนท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2555 หน้า 19.
[6] อ้างใน พระฌานิพิทย์ อินทจารี.พุทธศาสนากับปรีดี พนมยงค์.กรุงเทพฯ: ฐานบุ๊คส์, 2552 หน้า 95.

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมัชชา อปท.ดันท้องถิ่นเท่ากระทรวง ปลดแอกมหาดไทยหนีขึ้นตรงนายกฯ

Posted: 16 Feb 2012 06:43 AM PST

ระหว่างเวลา 09.30–16.00 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุมอัลอีหม่าม อัน–นาวาวีย์ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานปฏิรูป (สปร.) จัดเวทีสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ระดับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ปี 2555 มีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ พนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จาก 3 จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส เข้าร่วมประมาณ 300 คน

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (สปร.) ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ในการจัดเวทีสมัชชาองค์กรปกครองท้องถิ่นครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรปกครองท้องถิ่น 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พระราชบัญญัติข้าราชการส่วนท้องถิ่น ร่างพระราชบัญญัติรายได้ท้องถิ่น ร่างพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมกับเปิดให้เข้าชื่อ 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายทั้ง 4 ฉบับต่อรัฐสภา ผลักดันให้ตราเป็นกฎหมายประกาศบังคับใช้ต่อไป

นางประณีต ถาวร คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (สปร.) นำเสนอว่า ประเด็นสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือ การจัดตั้งสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ (ส.ท.ช.) ดำเนินงานในรูปของคณะกรรมการ โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานคณะกรรมการ มีฐานะเป็นส่วนราชการเทียบเท่ากระทรวง

นางประณีต นำเสนออีกว่า สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ ประกอบด้วยคณะกรรมการ 4 ฝ่ายคือ รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปกครองท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ

จากนั้นได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้ง 4 ฉบับ ที่ประชุมกลุ่มย่อยเสนอให้สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระ มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกจากภาคส่วนต่างๆ พร้อมกับเสนอให้ยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด เหลือเพียงเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

สำหรับประเด็นสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระบุให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ทำหน้าที่กำหนดแนวทางและขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจและทรัพยากรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นฝ่ายเลขานุการ มีฐานะเป็นส่วนราชการเทียบเท่ากรม

คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานคณะกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ ประเภทละ 12 คน

ส่วนร่างพระราชบัญญัติรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดให้มีคณะกรรมการการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเท่าๆ กัน เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนารายได้ และการบริหารการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีมาตรการรองรับอย่างเป็นรูปธรรม

คณะกรรมการการคลัง มีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำหนดมาตรการรองรับ จัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรรายได้ และเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำหลักเกณฑ์ ขั้นตอน แนวปฏิบัติ และการตรวจสอบการก่อหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์ต่างๆ ด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

สำหรับร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารข้าราชการท้องถิ่น กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง 7 คน ผู้แทนจากผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 8 คน ผู้แทนจากข้าราชการส่วนท้องถิ่น 8 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน

คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ออกกฎ ระเบียบ และมาตรฐานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น และกำหนดมาตรฐานกรอบอัตรากำลัง กำหนดมาตรการส่งเสริมฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น และตรวจสอบติดตามผลแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นหรือให้พ้นจากตำแหน่ง ให้ความเห็นชอบในการโอนย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นระหว่างจังหวัดและรับโอนจากข้าราชการประเภทอื่นจัดทำทะเบียนประวัติ บัญชีเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนต่างๆ พิจารณาการโอนย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นระหว่างจังหวัด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“จันทรา” เหยื่อซ้อมทรมานภายใต้เงามืดของ พรก.ฉุกเฉิน

Posted: 16 Feb 2012 04:54 AM PST

“วันที่ 7 ผมถูกจับโดยทหารพรานเพื่อสอบสวน แล้วให้เข้าไปในถัง จากนั้นก็ตี ไม่ให้ผมออกไป ผมหายใจไม่ออก พอผมจะออกมา เขาก็เตะไม่ให้ออกมา จนผมไม่สบาย ห่างอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ทหารก็ให้เข้าไปแช่ในถังที่มีน้ำแข็งอยู่ เขากดหัว ผมพยายามดิ้น เพราะหายใจไม่ออก จากนั้นเขาก็ต่อยที่หน้าจนแตก”

จันทรา (นามสมมติ) อายุ 17 ปี ผู้ได้รับผลกระทบจาก พรก.ฉุกเฉิน ในจังหวัดชายแดนใต้

จันทรา เป็นหนึ่งในเยาวชนจำนวน 36 คน ที่มีโอกาสกลับออกมาบอกเล่าเรื่องราวระหว่างถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายความมั่นคง เขาถูกจับกุมภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มายาวนานกว่า 7 ปี ร่วมกับพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 หรือกฎอัยการศึก

ผลจากจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับ ทำให้มีผู้ถูกจับกุมและถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ เด็กและเยาวชนดังเช่นกรณีของจันทรา

“ชุดก่อนนั้นเมาอยู่แล้วมาถามผม พ่อกูใครฆ่า ผมบอกไปว่าไม่รู้ เขาก็เอาเทียนมาหยดใส่ตัวผม เอามีดมาขู่ที่คอผม ผมก็บอกไปว่าไม่รู้ มีทั้งถีบ ให้แก้ผ้า ตอนนั้นผมทนไม่ไหว ร้องไห้”

จันทรา เป็นหนึ่งในเด็กและเยาวชน ที่เครือข่ายสื่อคนรุ่นใหม่ชายแดนใต้ นำมาถ่ายทอดเป็นสารคดีวิดีโอ “จันทรา(เหยื่อกฎหมายพิเศษ)” ยังมีเด็กและเยาวชนจำนวน 36 คน ที่บอกเล่าเรื่องราวและประสบการณ์การจับกุม คุมขัง และถูกทำร้ายร่างกาย ผ่านการให้สัมภาษณ์ไว้ในงานวิจัยชื่อ “รอยแผลบนดวงจันทร์” ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ก่อนจะคัดเลือกบางกรณีมาจัดทำเป็นหนังสือที่มีชื่อเดียวกัน

“จันทรา” เหยื่อซ้อมทรมานภายใต้เงามืดของ พรก.ฉุกเฉิน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไท-ผุสดี อดอาหารครบ 112 ชม.แล้ว-นักกิจกรรมอดต่อยอด เรียกร้องสิทธิประกันตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด

Posted: 16 Feb 2012 03:14 AM PST

วันนี้ (16 ก.พ.55) เวลา 9.00 น. ที่หน้าศาลอาญา รัชดา นายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข และนางผุสดี งามขำ ที่ทำการอดอาหารมาตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.55 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการได้รับการประกันตัวของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประกาศยุติการอดอาการเนื่องจากครบ 112 ชม.แล้ว โดยจากนั้น นายปณิธานพร้อมทนายของนายสมยศได้เข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์การประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งจะทราบผลอีกประมาณ 3 วันหลังจากนี้

 


9.30 น. ปณิธานพร้อมทนายยื่นประกันตัวสมยศ

ในขณะที่องค์กรนักกิจกรรมประกาศอดอาหารต่อ ยกระดับเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมให้สิทธิการประกันตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ย้ำสังคมต้องตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในการประกันตัวไม่ว่าเสื้อสีใดหรือไม่มีสี


นายปณิธาน จับมือกับ ฤทธิพงษ์ ซึ่งอดอาหารต่อ เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวนักโทษการเมือง
 

นายฤทธิพงษ์ มหาเพชร นักกิจกรรมผู้ร่วมอดอาหารต่อกล่าวว่า “ใจจริงๆ อดเพื่ออาจารย์สุรชัย (ด่านวัฒนานุสรณ์) ไท ทำเพื่อพ่อเพื่อสมยศ ผมอดเพื่ออาจารย์สุรชัยก็เหมือนพ่อคนหนึ่งทางการเมือง คนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน แต่ว่าตอนนี้มีหลายองค์กรเข้ามาร่วมด้วยแล้วก็มันจะยิ่งใหญ่ขึ้นแล้วก็จะเป็นการปล่อนักโทษการเมือง แต่ว่าใจผมในเบื้องต้นตอนแรกที่เข้ามาอยากให้ย้ายอาจารย์สุรชัย จากเรือนจำกลางกรุงเทพมาที่ (โรงเรียนพลตำรวจ) บางเขน พอหลายองค์กรร่วมน่าจะเป็นภาพใหญ่ขึ้นเป็น “สิทธิการประกันตัว”

ความสำคัญของสิทธิการประกันตัวนั้น ฤทธิพงษ์ มหาเพชร มองว่า “มันเป็นการเสนอความคิดเห็น มันไม่ใช่อาชญากรตรงไหน ในความคิดผม พูดผิดในแง่ของบุคคลอื่นเท่านั้นเอง แล้วก็คดีนี้มันโดนเหมือนหนักหนาสาหัส เหมือนไปฆ่าใคร 10 – 20 ปี แล้วตอนนี้หลายๆ คนไม่ว่าจะเป็น อากง อาจารย์สุรชัย ซึ่งตอนนี้ก็ป่วย ป่วยมาก แม้แต่คนที่ยังเป็นหนุ่มก็ลำบาก มันหนักไปหรือเปล่าในความคิดของผม มันน่าจะมีสิทธิประกันตัวก่อนในขั้นพื้นฐาน ในความเป็นมนุษย์ก่อน แล้วก็เรื่องคดีก็ว่ากันอีกทีว่ามันถูกต้องไหมที่ต้องติดกันนานขนาดนี้”

ส่วนระยะเวลาการอดอาหารนั้น ฤทธิพงษ์ ได้ชี้แจงว่า “ตอนแรกว่าจะไม่มีกำหนดอดไปเรื่อยๆ เพื่อได้สิทธิประกันตัวของนักโทษ แต่อยากให้ถึงวันที่ 22 (ก.พ.) ก่อน (รวม 7 วัน หรือ 168 ชม.) เพราะเป็นวันครบรอบ 1 ปีของ การที่อาจารย์สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ถูกจับกุมคุมขัง โดยผมได้อดมาตั้งแต่เมื่อวาน (15 ก.พ.) และมั่นใจว่าสามารถอดไหว”

“อยากให้มองความเป็นมนุษย์ก่อนที่จะไปมองความเป็นตัวบทกฎหมาย เพราะว่าคนบางคนอย่างอาจารย์สุรชัย ที่ป่วยหนัก แล้วก็ไปติดกุมคุมขังตอนอายุมากแบบนี้ แล้วต้องติดในระยะเวลานานมันใช่หรือเปล่า ขอความเป็นคนก่อนนะครับ เรื่องกฎหมายค่อยว่ากันอีกที มันถูกต้องหรือไม่ โดยที่แกไม่ได้เป็นอาชญากรอะไรเลย แกเสนอความคิดเห็นเท่านั้นเอง” ฤทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย


คลิปสัมภาษณ์ ฤทธิพงษ์ มหาเพชร

นายนพเก้า คงสุวรรณ นักกิจกรรมจากกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวถึงการอดข้าวต่อจาก ปณิธาน หรือ ไท พฤกษาเกษมสุข ว่า “อยากอดเพื่ออิสรภาพของนักโทษการเมืองทุกคน ไม่ว่าคดี 112 คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์หรือว่าคดีอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็อยากอดเพื่ออิสรภาพของนักโทษการเมืองทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์สุรชัย อากง หรือว่าใครก็แล้วแต่ที่เป็นนักโทษการเมือง”

“ในเบื้องต้นกะของผมไว้ถึงพรุ่งนี้ 9 โมงเช้า ส่วนถ้าจะต่อพรุ่งนี้ถึงวันอาทิตย์ ผมมีภารกิจจึงไม่สามารถอดต่อได้ อาจจะยกยอดไปอดต่อในวันจันทร์ถึงวันพุธก็ต้องประเมินอีกที วันนี้สลับเวลามาร่วมอดข้าวกับคุณฤทธิพงษ์ มหาเพชร สิทธิการประกันตัวไม่ว่าใครก็แล้วแต่ มันเหมือนโอกาสให้เขาได้ออกมาพิสูจน์ เพราะว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามกฎหมายแล้ว ถ้าเกิดคดียังไม่ถึงที่สุด ให้ถือว่าคนๆ นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ จนปัจจุบันนี้คดียังไม่สิ้นสุด คนเหล่านั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์ต้องมีสิทธิในการประกันตัวเพื่อออกมาพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรมรวบรวมข้อมูลหลักฐานมาสู้กันในชั้นศาล ซึ่งรวมถึงคนที่มีความคิดทางการเมืองสีอื่นด้วย ถ้าสีอื่นโดนกระทำเช่นนั้นเราก็ต้องสนับสนุนเขาให้มีสิทธิในการพิสูจน์ตัวเองในชั้นศาลไม่ใช่ถูกขังอยู่อย่างนี้” นพเก้า คงสุวรรณ กล่าว

 


คลิปสัมภาษณ์ นพเก้า คงสุวรรณ

โดยก่อนหน้านั้น จิตรา คชเดช ในนามตัวแทนนักกิจกรรมทางสังคม แถลงข่าวเพื่อเรียกร้องให้ศาลพิจารณาสิทธิในการประกันตัวของนักโทษทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งเรียกร้องให้สังคมให้ความสำคัญกับสิทธิการประกันตัวด้วย โดยมีเนื้อความตามแถลงการณ์ด้านล่างนี้

 

สิทธิการได้รับการประกันตัว คือสิทธิมนุษยชน และหลักประกันความยุติธรรม
เมื่อไร้สิทธิดังกล่าวเท่ากับไร้มนุษยธรรมและความยุติธรรมตั้งแต่ต้น

"ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าจับกุมผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว"

สืบเนื่องจากการอดอาหารจำนวน 112 ชั่วโมงของปณิธาน พฤกษาเกษมสุข และผุสดี งามขำ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการได้รับการประกันตัวของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน และบรรณาธิการนิตยสารเรดพาวเวอร์ ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถูกควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างที่รอดำเนินคดี โดยไม่เคยได้รับการประกันตัวตั้งแต่ปลายเมษายน ปี 2554

นอกจากนายสมยศแล้ว ยังมีผู้ต้องหาและนักโทษทางการเมืองและความมั่นคงอีกจำนวนมากไม่ได้สิทธิใน การได้รับการประกันตัวในระหว่างการสู้คดี ทั้งๆ ที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ระบุไว้ว่า “บุคคลที่ถูกกล่าวหาด้วยความผิดทางอาญ มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะจะมีการพิสูจน์ว่า มีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาโดยเปิดเผย ณ ที่ซึ่งตนได้รับหลักประกันทั้งหมดที่จำเป็นในการต่อสู้คดี” เช่นเดียวกันกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 39 ที่ว่า ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อ บุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ และมาตรา 40 เองในเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น แต่สิทธิเหล่านี้กลับถูกละเลยและลดทอนโดยข้ออ้างเพียงการเกรงว่าจะหลบหนี การเข้าไปยุ่งกับพยานหลักฐานหรือการเป็นคดีที่กระทบกระเทือนจิตใจต่อคนจำนวน มาก การไม่ให้สิทธิประกันตัวเป็นเข้าข่ายการทรมาน และเป็นการลงโทษล่วงหน้าซึ่งยังไม่ได้กระทำความผิด

โดยนอกจากปณิธาน พฤกษาเกษมสุข และผุสดี งามขำ ที่ได้มีการอดอาหารครบ 112 ชม. เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ไปแล้ว ยังมีนายฤทธิพงษ์ มหาเพชร ที่เริ่มอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวนายนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ อีกเป็นเวลา 1 วันแล้วนั้น เราขอสนับสนุนความเสียสละของบุคคลดังกล่าวและขอเรียกร้องต่อกระบวนการ ยุติธรรมและสังคม ให้คำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและหลักประกันความยุติธรรมนี้ว่า

1. ขอให้กระบวนการยุติธรรมให้สิทธิการประกันตัวแก่ผู้ต้องหาทางการเมืองทั้งหมด ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนและเป็นหลักประกันความยุติธรรมที่เขาเหล่านั้นพึงได้ รับ
2. ขอให้สังคมตระหนักถึงหลักประกันความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในเรื่องสิทธิ การได้รับการประกันตัวดังกล่าว และแสดงออก รวมทั้งสนับสนุนการเรียกร้องในสิทธิเหล่านี้
เพื่อมนุษยธรรมและหลักประกันความยุติธรรม

16 กุมภาพันธ์ 2555

กลุ่มเพื่อนักโทษการเมืองไทย, องค์กรสร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ,
สมัชชาสังคมก้าวหน้า, กลุ่มประกายไฟ, เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย,
กลุ่มเสรีปัญญาชน, สำนักงานกฎหมายราษฎรประสงค์, กลุ่มเสรีภาพนอกบ้าน
และกลุ่มแนวร่วมยุโรป SM เยอรมัน


คลิปการแถลงข่าวของเครือข่ายนักกิจกรรมกรณีอดอาหารเพื่อสิทธิการได้รับการประกันตัว 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดี "ผอ.ประชาไท" 30 เม.ย.นี้

Posted: 16 Feb 2012 02:27 AM PST

(16 ก.พ.55) ที่ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย ในคดีหมายเลขดำที่ 1167/2553 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ในความผิดตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กรณีที่มีผู้อ่านโพสต์ข้อความเข้าข่ายผิดกฎหมายในเว็บบอร์ดประชาไท โดยวันนี้ มีผู้แทนจากสถานทูตประเทศสหรัฐอเมริกา สวีเดน ฟินแลนด์ แคนาดา สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ฟรีดอมเฮ้าส์ และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าร่วมสังเกตการณ์คดี

พิรงรอง รามสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ต เบิกความรับรองเอกสารที่เสนอต่อศาล เป็นรายงานวิจัยซึ่งได้ทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่องการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสมกับคุณลักษณะของเทคโนโลยีและเป็นไปได้ในระดับสากล ซึ่งกล่าวถึงการระบุมาตรการกำกับดูแลเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในอินเทอร์เน็ตว่าควรมีวิธีแจ้งให้ทราบและลบออกอย่างไร รวมถึงงานวิจัยปริญญาโทของนิสิต หัวข้อการกำกับดูแลและแทรกแซงเว็บบอร์ดทางการเมืองหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีการใช้เว็บไซต์ประชาไทเป็นกรณีศึกษา ซึ่งพบข้อเท็จจริงว่าหลังรัฐประหาร เว็บมาสเตอร์ 4 แห่งที่ทำการศึกษารวมถึงประชาไทดอทคอมมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเนื้อหาที่สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลั่นกรองข้อมูลที่เป็นเท็จ

จากนั้น ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 30 เม.ย.55 เวลา 10.00น. บัลลังก์ 910

วานนี้ (15 ก.พ.) วันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บพันทิปดอทคอม เบิกความในฐานะผู้ให้บริการในกิจการประเภทเดียวกันว่า พันทิปซึ่งให้บริการเว็บบอร์ดนั้นมีระบบตั้งโปรแกรมฟิลเตอร์กรองคำสำคัญ ระบบให้ผู้ใช้แจ้งข้อความไม่เหมาะสม และมีเจ้าหน้าที่ 5-6 คนผลัดกันตรวจสอบตลอด 24 ชม. อย่างไรก็ตาม การกลั่นกรองทุกข้อความเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปริมาณกระทู้ที่มีจำนวนมาก มีการหลบเลี่ยงโดยใช้สัญลักษณ์หรือการเปรียบเปรย และวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่เว็บซึ่งอาจไม่ตรงกับวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ หากมีการกำหนดให้ต้องการกลั่นกรองเนื้อหาก่อนขึ้น จะทำให้อุตสาหกรรมเว็บได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ให้บริการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการกลั่นกรอง ขณะที่ผู้ใช้อาจหันไปใช้บริการอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ซึ่งให้บริการในต่างประเทศแทนเนื่องจากไม่ได้รับความสะดวก

 

 

 

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอม ให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา 14

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Disco(ver)graphy : #2 ไข้ป้าง

Posted: 16 Feb 2012 12:04 AM PST

งานของป้างตีควบรุกเร้าวงการเพลงมาคู่กับงานชุดแรกของโมเดิร์นด๊อก ความสดและความมันส์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสปากต่อปากลามไปทั่วคนฟังเพลง คาสเซทท์ม้วนแล้วม้วนเล่าถูกบรรจุเข้าเครื่องเล่นเทปแล้วบรรเลงออกมา แค่เพลงแรกก็ชวนคนฟังกระโดดอย่างไม่เกรงใจ

ในภาวะที่ตลาดเพลงไทยวัยรุ่นถูกกำหนดทิศทางโดยค่ายใหญ่ระดับประเทศเพียงไม่กี่เจ้าอย่าง แกรมมี่ อาร์เอส และคีตา ค่ายเพลงต่างชาติเองก็มุ่งหวังที่จะเข้ามาขอส่วนแบ่งการตลาดเค้กอันอุดมด้วยผลประโยชน์ชิ้นนี้ด้วย อุปสรรคชิ้นใหญ่อาจจะมิใช่เม็ดเงินในการทำธุรกิจ แต่คือโอกาสให้เข้าถึงสื่อเพื่อเผยแพร่ผลงาน เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ช่วงเวลา พ.ศ. 2537 นั้นหน้าปัทม์วิทยุและช่วงเวลาทางโทรทัศน์แทบไม่เหลือพื้นที่ให้กับค่ายเพลงต่างชาติเหล่านี้เลยได้ทำความรู้จักกับคนฟังเลยแม้แต่น้อย

หากดูกันระดับโลก โซนี่มิวสิคถือเป็นหนึ่งในห้าบิ๊กเบิ้มแห่งวงการเพลง (อีกสี่คือ อีเอ็มไอ โพลีแกรม บีเอ็มจี และ วอร์เนอร์มิวสิค) พูดกันโดยไม่มีอารมณ์อคติ ห้าบิ๊กเบิ้มเหล่านี้ได้รายได้ในไทยล้วนแต่มาจากยอดรายได้ของเทปคาสเซทท์ศิลปินต่างประเทศเท่านั้น ในตลาดเมืองไทยโซนี่มิวสิคถือกินเค้กก้อนเล็ก เพราะอย่างไรเสียคนฟังเพลงส่วนใหญ่ก็นิยมเพลงไทยและเพลงลูกทุ่งมากกว่าอยู่แล้ว นโยบายลิ้มลองแบ่งเค้กก้อนใหญ่จึงเริ่มเกิดขึ้น พร้อมกับการประเดิมส่งศิลปินหน้าใหม่แต่เคยมีผลงานมาแล้วในชื่ออื่นประเดิมสนาม

ศิลปินเบอร์แรกที่โซนี่มิวสิคออกมาประลองสนามคือแก่ผลงานชื่อแปลกที่ชื่อว่า “ไข้ป้าง” ของ ป้าง นครินทร์ กิ่งศักดิ์ ณ เวลานั้น ชายคนนี้มิใช่หน้าใหม่ในวงการ ผลงานก่อนหน้าคือทำวงร่วมกับคู่หูอย่าง ปอนด์ ธนา ลวสุต ในนามวงไฮดร้า กับสังกัดนิธิทัศน์ มีเพลงดังหลายเพลงและได้รับความนิยมพอสมควร แนวทางของอัลบั้มไข้ป้างนั้นสวิงไปคนละฟากกับงานของไฮดร้า และเป็นการแยกภาพลักษณ์ออกจากผลงานก่อนอย่างชัดเจน

ชื่ออัลบั้มไข้ป้าง เป็นการล้อกับเหตุการณ์ ณ เวลานั้นที่มักมีการยิงผู้นำชุมชนหลายแห่ง นักข่าวมักพาดหัวและเรียกกันเล่น ๆ ว่า ‘ไข้โป้ง’ (โป้งมาจากเสียงปืน) ทีมงานเลยจัดการเอาชื่อเล่นของนครินทร์มาบวกกับคำนี้ กลายเป็น ไข้ป้าง อัลบั้มชื่อแปลกแต่ชวนจดจำ

งานของป้างตีควบรุกเร้าวงการเพลงมาคู่กับงานชุดแรกของโมเดิร์นด๊อก ความสดและความมันส์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสปากต่อปากลามไปทั่วคนฟังเพลง คาสเซทท์ม้วนแล้วม้วนเล่าถูกบรรจุเข้าเครื่องเล่นเทปแล้วบรรเลงออกมา แค่เพลงแรกก็ชวนคนฟังกระโดดอย่างไม่เกรงใจ

สบายดีเป็นแทรคแรกและแทรคเปิดตัว เนื้อหาของเพลงกล่าวถึงพวกปากไม่ตรงกับใจ ท่อนฮุคติดหู ใช้คำแปลก ทำนองชวนกระโดด สร้างความน่าสนใจได้ตั้งแต่ครั้งแรก

“ใจจริงแล้วไม่ยอมให้ไป มันโหดร้ายทารุณยิ่งกว่า เตือนใจไว้นานมาไม่ได้ดีขึ้นเลย
อยากกอดขาลงคลานคุกเข่า ให้กราบเท้าก็คงต้องยอม เพราะฉันไม่พร้อมในการไม่มีเธอ”
เอาเป็นว่าท่อนฮุคนี้ร้องกันได้ทั้งนั้น

ผลงานชิ้นนี้มีงานเยี่ยม ๆ หลายเพลง ไม่ว่าจะเป็นบัลลาดเพราะ ๆ ที่พออินโทรเสียงปี่สก็อตดังขึ้นมาก็เรียกเสียงกรี๊ดได้ทันทีอย่าง “เอื้อมไม่ถึง” เพลงให้กำลังใจในห้วงเวลาท้ออย่าง “ปีหน้า” และ “คุยกับตัวเอง” เพลงเนื้อหาจริงจังว่าด้วยชีวิตคู่ที่ไม่ได้รักกันจริงใน “ที่ว่าการอำเภอ” เพลงเนื้อหาปวดร้าวมากสำหรับคนแอบรักแต่ต้องตอบคำถามเจ็บปวดใน “คำตอบ” หรือเพลง “อยากเด็ก” ที่ใกล้วัยเด็กทีไรผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็จะคิดถึงเพลงนี้เสมอ

ว่ากันว่าปัจจัยความสำเร็จของไข้ป้างมาจากหลายทาง สิ่งแรกคือภาคดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ ร๊อค ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวงการเพลงร๊อคโลก ณ ขณะนั้น (อย่าลืมว่าก่อนหน้านั้นวงการเพลงไทยมีวงร๊อคแต่สไตล์ Metal อย่างพวก หินเหล็กไห ไฮร๊อค ฯลฯ วงร๊อคแนวอื่นถือว่าน้อยมาก) ต้องยอมรับว่า ณ ขณะนั้นเพลงแบบนี้ถือเป็นของใหม่ในวงการเพลงไทย ผู้บุกเบิกย่อมได้เปรียบและเสียเปรียบในเวลาเดียวกัน หากประสบผลสำเร็จจากสิ่งใหม่ย่อมได้รางวัลตอบแทนมหาศาล แต่ถ้าพลาดพลั้งสิ่งทีได้รับคงเป็นการถูกลืมแล้วหวังว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในอีกยี่สิบปีข้างหน้า โชคดีว่ากรณีของไข้ป้าง (และโมเดิร์นด๊อก) นั้นเป็นอย่างแรก อัลเทอร์เนทีฟร๊อคเกิดขึ้นในไทยได้อย่างถูกที่ถูกที่เวลา

ปัจจัยต่อมาที่ต้องกล่าวถึงคือเนื้อหาในเพลง อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเนื้อเพลงของป้างมีลักษณะจริงจังกว่าเพลงวัยรุ่นร่วมยุคสมัยอย่างมาก เราได้พบกับเพลงว่าชีวิตคู่รักที่แต่งงานกันเพราะรักวูบวาบแล้วเผลอพลาดมีลูกด้วยกัน แต่แล้วทั้งคู่ก็หย่าร้าง เราพบการใช้อุปมาและความหมายเชิงนัยเกี่ยวกับ “ประตู” เราเห็นภาวะปากไม่ตรงกับใจทั้งใน สบายดี และ คำตอบ และเราได้พบภาวะ “เอื้อมไม่ถึง” เมื่อเจอหญิงสาวที่รักแต่คงไม่มีวันได้ครอบครองเพราะเธอสูงเกินไป

ว่ากันตามจริงเขียนเนื้อเพลงแบบนี้ก็ไม่ใช่อะไรใหม่ หลาย ๆ วง ณ เวลานั้นก็ทำกันแต่เทียบอายุอานามและกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน (เช่น สุรสีห์ กับ ป้าง) ต้องถือว่ากลุ่มเป้าหมายของป้างใหม่มากกับเพลงเนื้อหาแบบนี้ เด็กมัธยมมหาลัยติดอกติดใจเนื้อเพลงที่มีการเขียนบอกโดยนัย ไม่บอกกันตรง ๆ ซื่อ ๆ หรือหยิบเอาเรื่องซีเรียสมาเขียน

ความสำเร็จของไข้ป้างทำให้มีคอนเสิร์ตเล่นที่ MBK Hall และมีอัลบั้ม ไฮไลท์ ไอซียู บันทึกการแสดงสดความยาวแปดแทรคออกวางจำหน่ายตามมา และค่ายเพลงสากลอื่น ๆ ก็เริ่มส่งศิลปินของตนออกมา อย่าง อีเอ็มไอ ก็ตั้งค่ายลูกชื่อ อีไมเนอร์ ออกมาแล้วมีศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากในเวลานั้นอย่าง สไมล์บัฟฟาโล

เริ่มต้นดูเหมือนวงการเพลงไทยนอกกระแสจะมาแรงแซงโค้งเสียแล้ว แต่ในความจริงไม่มีอะไรโรยด้วยดอกกุหลาบ คราวหน้าพบกับผู้มาก่อนกาลกันบ้าง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“กลุ่มการเมืองชาติพันธุ์” เรียกร้องพม่าปฏิรูปการเมืองยึดหลัก “สัญญาปางโหลง”

Posted: 15 Feb 2012 10:27 PM PST

ในโอกาสครบรอบ 65 ปี วันก่อตั้งสหภาพพม่า (12 ก.พ.) กลุ่มนักเคลื่อนไหวการเมืองชาติพันธุ์รวมตัวเรียกร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหาการเมืองด้วยยึดแนวทางสัญญาปางโหลง พร้อมสนับสนุนการสร้างสันติภาพประเทศของประธานาธิบดีเต็งเส่ง

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 55 ที่ผ่านมา กลุ่มนักเคลื่อนไหวการเมืองชาติพันธุ์ในพม่า รวมตัวจัดพิธีรำลึกวันก่อตั้งสหภาพพม่า ครบรอบ 65 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ก.พ. ที่กรุงย่างกุ้ง มีการหารือแนวทางอนาคตทางการเมือง กลุ่มนักเคลื่อนไหวการเมืองที่เข้าร่วมประกอบด้วย พรรคการเมืองไทใหญ่ SNLD, SNDP พรรคการเมืองอาระกัน ALD กลุ่มประชาธิปไตยแห่งชาติมอญ, คองเกรสแห่งชาติโซมิ CNC, คองเกรสประชาธิปไตยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNDC, คองเกรสประชาธิปไตยแห่งชาติคะฉิ่น KNDC, สันนิบาตแห่งชาติคะยาห์สามัคคีเพื่อประชาธิปไตย, สันนิบาตแห่งชาติสหภาพเพื่อประชาธิปไตย UNLD, สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย NLD, กลุ่มนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยปี 1988 และกลุ่มเยาวชนไทใหญ่จากหลายองค์กร

ทั้งนี้ หลังการหารือได้มีการแถลงเรียกร้องต่อรัฐบาลพม่าร่วมกัน 5 ข้อ อ่านโดยดร.อ่องติ่นอู จากสันนิบาตชาติสหภาพเพื่อประชาธิปไตย UNLD คือ 1.ให้คำนึงน้ำใจปางโหลงเป็นพื้นฐานในการก่อตั้งสหภาพ 2.ให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิกำหนดตนเองและมีสิทธิเท่าเทียม 3. กลุ่มชาติพันธุ์สนับสนุนการสร้างสันติภาพของประธานาธิบดีเต็งเส่ง 4. ให้การปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองอยู่บนหลักยุติธรรม และ 5.ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการขัดแย้งทางการเมืองด้วยวิธีการทางการเมือง โดยยึดแนวทางสัญญาปางโหลง

อูวินติ่น สมาชิกพรรค NLD ที่เข้าร่วมพิธีเปิดเผยว่า สิทธิกำหนดตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีไม่ได้ ทุกชาติพันธุ์ควรมีสิทธิกำหนดตนเอง พรรคการเมืองชาติพันธุ์เป็นแนวร่วมพันธมิตรของพรรค NLD ดังนั้น พรรค NLD จะร่วมมือกลุ่มชาติพันธุ์ก่อสร้างสหภาพอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ในพิธีรำลึกวันสหภาพของกลุ่มนักเคลื่อนไหวการเมืองพม่าครั้งนี้ เจ้าขุนทุนอู ประธานพรรคสันนิบาตชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย SNLD อดีตนักโทษการเมืองที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้สวมชุดมีสีสันคล้ายชุดนักโทษการเมืองไปเข้าร่วม โดยเขาเปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องสวมชุดนี้เนื่องจากยังมีเพื่อนนักการเมืองบางส่วนถูกคุมขังอยู่ เพื่อเป็นการสดุดีแก่พวกเขาเนื่องในวันสหภาพจึงได้สวมชุดนี้

สำหรับวันสหภาพพม่าถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2490 (ค.ศ. 1947) ซึ่งเป็นวันบรรดาผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ คือ พม่า ไทใหญ่ คะฉิ่น และชิน ได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงปางโหลง ก่อตั้งสหภาพเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งข้อตกลงปางโหลงให้สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์แยกปกครองตนเอง หลังได้รับเอกราชและร่วมกันปกครองแล้ว 10 ปี

 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำรวจวัน ‘วาเลนไทน์’ ในประเทศเพื่อนบ้าน

Posted: 15 Feb 2012 10:17 PM PST

14 กุมภาที่ผ่านมา เป็นวันแห่งความรักที่มีการเฉลิมฉลองกันทั่วไปในประเทศตะวันตก แต่สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันวาเลนไทน์ กลับเปี่ยมไปด้วยการเฝ้ามอง-การควบคุมพฤติกรรม และการสั่งสอนทางศีลธรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ในวันวาเลนไทน์ปีนี้ นอกจากจะมีประเทศไทยที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ออกมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกัน “พฤติกรรมไม่เหมาะสม” ของเยาวชนคนหนุ่มสาวไม่ให้ “ออกนอกลู่นอกทาง” เช่น การกำหนดเคอร์ฟิวสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ประเทศเพื่อนบ้านเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงเช่นเดียวกัน และถ้าหากเอา ‘มาตรการวันวาเลนไทน์’ มาเปรียบเทียบกันแล้ว นโยบายของประเทศไทยก็อาจจะดูเบาไปถนัดตา

796px-2009-Valentine's_Kiss-HPIM2575

ที่มา: Newone  CC BY-NC-SA 2.0

ที่ประเทศมาเลเซีย มีรายงานว่า ตำรวจได้จับกุมคู่รัก 5 คู่ ในตอนเช้าของวันวาเลนไทน์ (14 ก.พ.) ในโรงแรมราคาประหยัดหลายแห่งในเมืองปัตตาลิง จายา ในข้อหา khalwat หรือการใกล้ชิดเนื้อตัว ซึ่งผิดหลักตามศาสนาอิสลาม

การจับกุมครั้งนี้นำโดยกรมกิจการอิสลามรัฐเซลังงอร์ และสภาเมืองปัตตาลิง จายา ซึ่งได้ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 85 คนในการเข้าปฏิบัติการเฉพาะกิจวันวาเลนไทน์ หลังจากที่จับกุมผู้กระทำผิดได้แล้ว ทางตำรวจก็ได้ให้ประกันตัวคู่รักเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ รายงานว่า ผู้กระทำผิดเหล่านั้นจะถูกส่งไปดำเนินคดีในศาลชารีอะห์ต่อไปโดยเร็วที่สุด

อนึ่ง กฎหมายชารีอะห์ของรัฐเซลังงอร์ ระบุว่า khalwat ซึ่งหมายถึงการอยู่ใกล้ชิดกันสองต่อสองระหว่างมุสลิมที่ยังไม่ได้แต่งงาน เป็นการกระทำผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสองปี และ/หรือปรับ 3,000 ริงกิต (ราว 30,000 บาท)
ส่วนในวันวาเลนไทน์ปีที่แล้ว สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ตำรวจศีลธรรมอิสลามในประเทศมาเลเซีย ก็ได้จับกุมมุสลิมกว่า 80 คนในข้อหาดังกล่าว โดยได้มีการปฏิบัติการเข้าตรวจค้นโรงแรมราคาประหยัดในรัฐซาลังงอร์และในเมืองกัวลาลัมเปอร์

ทั้งนี้ ประเทศมาเลเซีย ได้มีกฎหมายฟัตวา สั่งห้ามการเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์ตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าวันวาเลนไทน์ เป็นวันที่ส่งเสริมการกระทำที่ผิดศีลธรรม และขัดแย้งกับหลักศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ หน่วยงานทางศาสนาอิสลามของรัฐ ก็ได้ทำการรณรงค์เพื่อต่อต้านกิจกรรมวันวาเลนไทน์ โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวไม่ให้ “หลงผิด” อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประชากรที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ก็สามารถเฉลิมฉลองได้ตามปกติ

ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนในมาเลเซีย ได้แสดงความกังวลว่า การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐในวันวาเลนไทน์ อาจจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ในฐานะที่เป็นรัฐมุสลิมสายกลางและก้าวหน้า

ส่วนในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมที่มากที่สุดในโลกนั้น ปฏิกิริยาทั่วไปจากรัฐและกลุ่มศาสนาก็ไม่ต่างจากในมาเลเซียเท่าใดนัก โดยเฉพาะในรัฐอาเจะห์ ซึ่งเป็นจังหวัดทางตอนใต้ที่มีสิทธิในการปกครองตนเอง ได้สั่งห้ามการเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์โดยเด็ดขาด โดยทางการระบุว่า การเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์ จะนำไปสู่ความเสื่อมเสีย และเป็นการเลียนแบบวัฒนธรรมและศาสนาอื่นที่ไม่เหมาะสมกับชาวมุสลิม

“วันวาเลนไทน์นั้นเป็นการแสดงความรักและเซ็กส์ที่ไม่เหมาะสมระหว่างคนที่ยังไม่แต่งงาน และสิ่งที่ศาสนาอิสลามก็ได้สั่งห้ามไว้” มุสลิม อิบราฮิม ประธานสภาที่ปรึกษานักวิชาการมุสลิมในอาเจะห์กล่าว

หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโกลบของอินโดนีเซีย ก็ได้รายงานว่า ในวันที่ 14 ที่ผ่านมา มีกลุ่มประชาชนที่ยึดมั่นในศาสนาอิสลามหลายร้อยคน ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงการเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์หลายแห่งทั่วอินโดนีเซีย โดยระบุว่าเป็นการแผ่ขยาย “อิทธิพลอันชั่วร้าย” ที่แปดเปื้อนประเพณีดั้งเดิมของชาวอินโดนีเซีย

“มันชัดเจนมากว่าวันวาเลนไทน์นั้นไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการเฉลิมฉลองที่ไร้แก่นสาร มันเป็นประเพณีของต่างชาติที่ต่อต้านหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ดังนั้น มันจึงควรถูกสั่งห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมได้เฉลิมฉลอง” ซานดิ โนเวียนดิ หนึ่งในผู้นำการประท้วงในเมืองบอกอร์ กล่าว

นอกจากนี้ ในเมืองเปดัง ปันจัง ทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา หน่วยงานด้านความมั่นคง Satpol PP ได้ทำการเข้าตรวจค้นโรงแรมและบ้านพักต่างๆ เพื่อจับกุมคู่รักที่มีเพศสัมพันธ์ ทางตำรวจได้ย้ำว่า จะไม่มีที่ไหนในเมืองดังกล่าวได้รับอนุญาตให้จัดการเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์อย่างแน่นอน

“เราจะทำการเฝ้าระวังให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเย็นและหัวค่ำ และเราจะพยายามหยุดยั้งการกระทำของเยาวชนไม่ว่าจะคนใดก็ตาม ที่ถูกวางยาพิษด้วยวัฒนธรรมแบบตะวันตก” ซุกมา หัวหน้าฝ่าย Satpol PP กล่าว

ด้านประเทศกัมพูชา ที่นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับไทย ก็มีมาตรการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยทางการได้สั่งให้ตำรวจไปเฝ้าตามโรงแรมและเกสต์เฮาส์ต่างๆ ในกรุงพนมเปญ และยังมีรายงานว่า มีโรงเรียนอย่างน้อยหนึ่งแห่ง ที่ได้สั่งให้ตำรวจจับกุมผู้ขายดอกไม้ โดยหวังที่จะป้องกันไม่ให้คนหนุ่มสาวเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมวันวาเลนไทน์ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ด้วย

หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ทางการเมืองพนมเปญ ได้สั่งให้เกสต์เฮาส์และโรงแรมทุกแห่งในเมืองหลวงเพิ่มมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกัน “อนาธิปไตย” ในวันวาเลนไทน์ โดยทางผู้บัญชาการตำรวจของอำเภอแห่งหนึ่งพนมเปญ ระบุว่า เขาจะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจตราในโรงแรมใกล้เคียง และสั่งให้เจ้าของตรวจบัตรประชาชนผู้ที่เข้าใช้โรงแรม ว่าต้องเป็นผู้มีอายุ 18 ขึ้นไป

ด้านกระทรวงศึกษาธิการของกัมพูชา ได้จัดทำวีดีโอเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักเรียนนักศึกษาไม่ให้ขาดเรียนในวันดังกล่าว และย้ำความสำคัญของการรักนวลสงวนตัว ทาง สิวาน โบตัม รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสตรีของกัมพูชาได้กล่าวว่า การจัดทำวีดีโอนี้ ก็เพื่อหวังว่าจะให้เด็กสาวรู้จักยับยั้งชั่งใจในความสัมพันธ์

“ดอกไม้เพียงช่อเดียวนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์กับแฟนของเรา” สิวาน โบตัม กล่าว “ดิฉันขอร้องให้ผู้หญิงต้องรักษาประเพณีอันดีงามของเขมรไว้ เพราะว่าความบริสุทธิ์นั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก”

อย่างไรก็ตาม ด้าน เคง ติโต โฆษกของตำรวจทหาร กล่าวว่า เขาจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังเกสต์เฮาส์แต่อย่างใด เนื่องจากเขามองว่า จะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน

“ถ้าพวกเขาอยากประพฤติตนผิดศีลธรรม เขาสามารถจะทำที่ไหนก็ได้” เขากล่าว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สันนิบาตสตรีพม่าเรียกร้องทุกฝ่ายนำพม่าไปสู่สันติภาพ

Posted: 15 Feb 2012 10:14 PM PST

สันนิบาตสตรีพม่าออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พม่าปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงและเปิดการเจรจาสันติบภาพทุกพื้นที่ในพม่า และขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันทำงานนำพม่าไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริง

เมื่อวานนี้ (14 ก.พ. 55) สันนิบาตสตรีพม่า (Women’s League of Burma) ได้ออกแถลงการณ์ "สันนิบาตสตรีพม่า (WLB) เร่งผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานเพื่อนำพม่าไปสู่สันติภาพที่คงอยู่อย่างยาวนานและแท้จริง" เรียกร้องให้รัฐบาลพม่า ที่มีเต็ง เส่ง เป็นประธานาธิบดีปฏิบัติตามข้อตกลงประกาศหยุดยิงและเปิดการเจรจาสันติภาพในทั่วทุกพื้นที่ของพม่า ตามนโยบายที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 และขอกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันทำงานในการนำพม่าไปสู่สันติภาพที่คงอยู่อย่างยาวนานและแท้จริง โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

000

"สันนิบาตสตรีพม่า (WLB) เร่งผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานเพื่อนำพม่าไปสู่สันติภาพที่คงอยู่อย่างยาวนานและแท้จริง"

14 กุมภาพันธ์ พ. ศ .2555

เราสันนิบาตสตรีพม่า (WLB ) ขอเรียกร้องให้รัฐบาล เต็ง เส่ง ปฏิบัติตามข้อตกลงประกาศหยุดยิงและเปิดการเจรจาสันติภาพในทั่วทุกพื้นที่ของพม่า ตามนโยบายที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม พ . ศ .2554 และขอกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันทำงานในการนำพม่าไปสู่สันติภาพที่คงอยู่อย่างยาวนานและแท้จริง

รัฐบาล เต็ง เส่งได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสันติภาพขึ้น และคณะกรรมการชุดนั้นได้พบปะกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยในประเทศ อีกทั้งได้มีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงร่วมกันแล้ว แต่เราสันนิบาตสตรีพม่า (WLB ) มีความห่วงใยถึงเจตนาในการทำข้อตกลงหยุดยิงว่ามีความจริงใจหรือไม่ เพราะอาจจะมีการละเมิดข้อตกลงการหยุดยิงได้ตลอดเวลาหากข้อตกลงนั้นมิได้มาจากเจตนาที่ต้องการส่งเสริมสันติภาพในพม่าอย่างแท้จริง

ความปรารถนาของชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงคะฉิ่น ฉิ่น และไทใหญ่ คือการสถาปนาสหภาพพม่าในฐานะเป็นรัฐเอกราช ที่มลรัฐทั้งปวงในสหภาพต้องมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการบริหารกิจกรรมภายในของตนตามข้อตกลงในสนธิสัญญาปางหลวง (Panglong Agreement)

ในพม่าทุกปีมีการฉลองวันสหภาพพม่าโดยไม่มีแก่นแท้ด้านการเมือง หากปราศจากจิตวิญญาณและการปฏิบัติในรูปแบบสหภาพพม่า การฉลองดังกล่าวก็จะไร้ซึ่งความหมายใดๆ อีกทั้งเป็นการทำให้ยังมีการดำรงอยู่ของปัญหาข้อตกลงด้านการเมือง ตัวอย่างของการกลับมาสู้รบกับกองกำลังอิสระคะฉิ่นนั้นได้พิสูจน์ว่าข้อตกลงการหยุดยิงนั้นเป็นข้อตกลงชั่วคราว

เราเชื่อว่านี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของทุกภาคส่วนที่จะสร้างความเชื่อใจซึ่งกันและกัน และสำหรับรัฐบาล เต็ง เส่งที่จะเคารพความต้องการของชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มที่จะร่วมกันสร้างสันติภาพที่แท้จริงให้เกิดแก่พม่า

เป็นเวลามากกว่า 60 ปี แล้วที่พม่าได้ประสบกับสงครามการเมือง และเผด็จการทหารพม่าได้ใช้งบประมาณที่มากเกินความจำเป็นอย่างต่อเนื่องด้านการทหารแทนที่จะใช้ในการจัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจเพื่อประชาชน ผลที่เกิดตามมาก็คือ ประชาชนของพม่าและเด็กๆได้รับความทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสในหลายหลายรูปแบบมาเป็นเวลานาน

โดยเฉพาะผลกระทบจากสงคราม ที่ทำให้ผู้หญิงและเด็กมักจะตกเป็นเหยื่อของการถูกละเมิดสิทธิ ดังนั้นการที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในทุกระดับของกระบวนการสันติภาพเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเพื่อที่ข้อห่วงใยและความคิดเห็นของพวกเธอจะประกอบอยู่ในการอภิปราย

สันนิบาตสตรีพม่า (WLB)  ขอสนับสนุนอย่างแข็งขันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมตัวแทนของผู้หญิงในทุกการสานสนทนาเพื่อสันติภาพ

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาล เต็ง เส่งและกองทัพพม่า กลุ่มประชาธิปไตยทุกกลุ่มและกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย (ทั้งกลุ่มที่ได้ทำข้อตกลงประกาศหยุดยิงแล้วและที่กลุ่มกำลังจะทำข้อตกลง) ร่วมกันทำงานในการนำประเทศไปสู่การปรองดองแห่งชาติเพื่อนำมาสู่สันติภาพที่คงอยู่อย่างยาวนานและแท้จริงในพม่า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น