โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คนงานทวงสัญญา "ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท" ทั่วประเทศ

Posted: 28 Feb 2012 11:28 AM PST

คนงานชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องรัฐบาลปรับค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เมื่อ 28 ก.พ. 55 ภายหลังมีมติ ครม. ขึ้นค่าจ้าง 300 บาทนำร่อง 7 จังหวัด

(28 ก.พ.55) เวลา 9.30 น. ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างที่เป็นธรรม ประกอบด้วย สภาองค์กรลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงานในย่านอุตสาหกรรมต่าง ๆ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รวมตัวกันเพื่อชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ขึ้นค่าจ้าง  300 บาทนำร่องใน 7 จังหวัด ตั้งแต่ 1 เมษายนนี้ จากนั้น เดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับมอบและเจรจา 

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของเครือข่าย ประกอบด้วย

1.สนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยดำเนินนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตามที่ได้ให้สัญญาประชาคมไว้กับผู้ใช้แรงงานกว่า 38 ล้านคน ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 

2.สนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

3.คัดค้านมาตรการคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2557 และ 2558

4.เรียกร้องให้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานวิกฤตการณ์อุทกภัย

5.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างที่เป็นธรรม อันประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างทุกองค์กร และนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางในการปฏิรูประบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและการกำหนดค่าจ้างแรงงานให้มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยั่งยืน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทัศนคติของรัฐส่วนกลางที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจัดการตนเองของพลเมือง

Posted: 28 Feb 2012 09:06 AM PST

ผู้เขียนได้อ่านและได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการบูรณะซ่อมแซมวัดภายหลังน้ำท่วม ซึ่งฟังแล้ว เป็นเรื่องที่ดีและสมควรต้องเป็นเช่นนั้น แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อการบูรณะวัดในครั้งนี้ของชาวบ้าน ตำบลสายทอง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ไม่สอดคล้องไปกับแนวทางการอนุรักษ์โบราณสถาน ของรัฐบาลกลาง ตามแนวทางของกรมศิลปากร

เรื่องราวอันเป็นต้นเหตุให้ชาวบ้านสายทองต้องถูกว่ากล่าวและถูกนำมาวิจารณ์ผ่านสื่อถึง พฤติกรรมในการบูรณวัดนี้เกิดขึ้นภายหลังจากชาวบ้านร่วมแรงรวมใจกันประชุมระดมความเห็น และมีมติที่จะบูรณะพระอุโบสถวัดพายทอง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติที่จะดำเนินการบูรณะพระอุโบสถแห่งนี้ ด้วยการทาสีสันให้สวยงาม แต่เนื่องจากเกรงว่าพระอุโบสถจะเก่าไว จึงเลือกที่จะใช้แม่สีในการแต่งแต้มบูรณะพระอุโบสถ ทั้งหมด หลังจากมีมติก็ดำเนินการระดมเงินทุนทรัพย์ในการบูรณะวัดด้วยตนเองได้เงินมาทั้งสิ้น กว่า 40,000 บาท จากนั้นได้ร่วมแรงร่วมใจลงมือบูรณะปฏิสังขรณ์ด้วยการทาสีวัดใหม่ด้วยตนเอง

พระภิกษุ กฤษณะ ธัมมสาโร อายุ 30 ปี พระลูกวัดผู้ดูแล และอาศัยอยู่ในพระอุโบสถ นี้ กล่าวว่า “พระอุโบสถนี้มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา และเมื่อครั้งที่ประสบ อุทกภัยที่ผ่านมา น้ำท่วมกำแพงและพื้นรอบพระอุโบสถ ทำมีสภาพเก่าแก่ทรุดโทรมมาก ขึ้น คณะกรรมการวัดและชาวบ้าน ร่วมบูรณะทาสีพระอุโบสถใหม่ โดยเรี่ยไรเงินและทาสีที่เป็น ลวดลายต่างๆ มีพระภิกษุในวัดและชาวบ้านต่างช่วยทาสีทาสีเอง สำหรับตัวพระอุโบสถ คณะกรรมการของวัดได้หาลือไว้แล้วว่าจะทาสีใหม่ แต่ ต้องรอให้มีปัจจัยเสียก่อน” ด้านพระราช สุธรรมา ภรณ์ เจ้าอาวาสวัดป่าโมกวรวิหาร เจ้าคณะอำเภอป่า โมก เผยว่า ชาวบ้านร่วมใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา [2]

ทัศนคติของรัฐส่วนกลางที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจัดการตนเองของพลเมือง

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า มติที่ชาวบ้านมี ร่วมกันในการบูรณะวัดเก่าให้แลดูใหม่ขึ้นด้วยการทา สีสันที่สดใสบริเวณกำแพงแก้ว ซุ้มประตูด้านนอกและ ด้านใน ใบเสมาบริเวณรอบวัด โดยใช้สีเหลือง แดง เขียว ขาว และชมพูนั้น กลับเป็นความผิดในความเห็นหรือทัศนะของนักอนุรักษ์อย่างกรมศิลปากร ที่มีแนวทางการอนุรักษ์วัดหรือโบราณสถานอันเก่าแก่ให้ คงสภาพเดิมให้มากที่สุด (แม้ยอดจะหัก กำแพงจะล้มก็ต้องรักษาสภาพนั้นเอาไว้ – ผู้เขียน)

ทัศนะดังกล่าวสามารถสะท้อนให้เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ นายพิชัย บุญแจ้ง หัวหน้า กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ที่กล่าวภายหลังไปตรวจสอบวัด พายทองที่ตกเป็นข่าวว่า “จากการสืบค้นการสร้างโบสถ์เบื้องต้น ทราบว่า วัดพายทองมีอายุไม่ต่ำ กว่า 104 ปี และเป็นวัดที่สร้างตามศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งน่าเสียดายมากที่มีการนำสีมาทา ใบเสมาซึ่งมีอายุเก่าแก่ จนสีน้ำซึมเข้าไปในเนื้อหินแล้ว” [3]

จากข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงเหตุผลตามมุมมองของนักอนุรักษ์กรมศิลปากรซึ่งเป็น ความคิดกระแสหลักได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของรัฐส่วนกลาง ที่มองประวัติศาสตร์ในแบบที่ ต่อเนื่องและเหมารวม [4] อันเป็นแนวคิดแบบชาตินิยม (nationalism) ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดเพราะแนวคิด ดังกล่าวมีส่วนในการหลอมหลวมความแตกต่างหลากหลายเข้าด้วยกันกระทั่งเกิดเป็นรัฐชาติ ( nation-state) ได้ในปัจจุบัน กระนั้นการเปิดพื้นที่ให้กับความแตกต่างหลากหลายได้ดำรงความเป็น เอกลักษณ์ของตนก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงไม่แพ้กัน ทั้งนี้เพราะแท้จริงแล้ว การรวมชาติขึ้นมานั้น เป็นสิ่งที่กระทำอยู่บนความหลากหลายทางวัฒนธรรมการเชิดชูวัฒนธรรมเพียงหนึ่งเดียวขึ้นมาเพื่อ รองรับกับพัฒนาการของความเป็นชาติที่ต่อเนื่องมั่นคงเป็นปึกแผ่น ทำให้ต้องกดทับวัฒนธรรมอัน หลากหลายของท้องถิ่นต่างๆลงไปโดยปริยาย

ความต่อเนื่องยาวนานของประวัติศาสตร์เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านสายทองได้รับ การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่ทำให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นความต่อเนื่อง ยาวนานของประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างวัดพายทองที่กรมศิลปากรประมาณอายุ ของโบราณสถานแห่งนี้ว่ามากถึง 104 ปี ต้องมีความผิดเพี้ยนไปจากประวัติศาสตร์แห่งชาติ

เมื่อประวัติศาสตร์คือความเก่าแก่ คือความยาวนาน ความเก่าแก่ยาวนานนี้เองที่ทำให้ชาติมี ที่มาที่ไป และมีความเป็นอารยะเป็นพื้นฐานแห่งความชอบธรรม (legitimacy) และอำนาจในการ ปกครองในปัจจุบัน การทำลายความเก่าแก่ ก็คือการบั่นทอนความต่อเนื่องและลบเลือนหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์ที่ส่งผลสะเทือนต่ออำนาจและความชอบธรรมในการปกครอง การอนุรักษ์ โบราณสถานด้วยการพยายามรักษาสภาพความเก่าเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อให้สามารถสืบย้อนกลับ ไปยังประวัติศาสตร์แห่งชาติได้จึงเป็นงานสำคัญที่กรมศิลปากรจะต้องดำเนินการ

ด้วยเหตุนี้ การบูรณะวัดพายทองของชาวบ้านสายทองในครั้งนี้ ในทัศนะของกรมศิลปากร จึงเป็นการทำลายโบราณสถานลงอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้มีสื่อหลายสำนักนำข่าวนี้ไปเผยแพร่และ กล่าวโจมตีในแง่ที่ว่าพฤติกรรมของชาวตำบลสายทองในครั้งนี้เป็นการกระทำที่ผิดไม่รู้จักกาลเทศะ ดังเช่น มีรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งถึงกับลงทุนไปถ่ายภาพวัดและเน้นไปที่ก้นสิงห์ที่ถูกทาไว้ด้วยสีแดงซึ่งเจตนาจะสื่อไปยังผู้คนในสังคมว่าชาวบ้านนั้นช่างมีความคิดพิเรนทร์นอกลู่นอกทางไม่ เคารพสถานที่ ความพยายามในการถ่ายทอดการบูรณะวัดของชาวบ้านที่มีเจตนาดีในครั้งนี้กลับ กลายเป็นการทำลายวัฒนธรรมไทยลงอย่างไม่น่าให้อภัย

ทั้งๆที่หากมองในแง่ของความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เก่าแก่ ของที่เก่าจนแทบจะใช้การไม่ได้ หากเรายังจำเป็นต้องใช้การสิ่งนั้นอยู่และต้องการอยู่กับสิ่งนั้นไปนานๆก็คงไม่มีใครต้องการให้สิ่ง นั้นแลดูเก่า ไม่น่าใช้ และเสื่อมถอยไปตามกาลเวลาจริงหรือไหม (?) เมื่อพูดถึงสิ่งของเก่าๆก็มีแต่ คนอยากจะได้ของใหม่กันแทบทั้งนั้น แต่ในทางกลับกัน กรณีที่เป็นโบราณสถานกลับมีความคิดว่า ต้องอนุรักษ์ให้คงสภาพเดิมมากที่สุด ยิ่งเก่าเท่าไหร่ยิ่งดี !

อันนี้ผู้เขียนไม่ได้พาดพิงหลักวิชาการอนุรักษ์ว่าผิดพลาดแต่ประการใด เพียงแต่ต้องการ ชี้ให้เห็นว่าการอนุรักษ์ความเก่าไว้เช่นนั้นเป็นความคิดเชิงชาตินิยมที่ผู้มีอำนาจไม่อาจละทิ้งได้ เพราะอำนาจเกิดมาจากประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ผ่านมาแล้วหรือก็คือความเก่านั่นเอง สำหรับผู้ปกครองการไร้ซึ่งประวัติศาสตร์ก็คือการไร้ซึ่งอำนาจ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นได้ว่าไม่ว่าชาติ ใดก็จะพยายามธำรงรักษาความเก่าแก่ของสิ่งต่างๆเอาไว้ให้มากที่สุดภายใต้แนวคิดประวัติศาสตร์ แห่งชาติ ผ่านการจัดเก็บสิ่งของเก่าแก่ไว้ในพิพิธภัณฑ์หรือขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ (ที่มีมากมายจนกระทั่งกรมศิลป์เองก็อาจดูแลไม่ทั่วถึง –ผู้เขียน) ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุผลอีกประการ แห่งการอนุรักษ์นอกเหนือจากการศึกษาพัฒนาการและความเป็นมาของชาติ

เมื่อประวัติศาสตร์คือความชอบธรรมและคือที่มาของปัจจุบัน ในเมื่อความเก่าแก่คืออำนาจ การทำลายโบราณสถานลงด้วยการทำลายความเก่าแก่ และบูรณะให้เกิดความใหม่ขึ้นของชาวบ้าน สายทองจึงเป็นการบ่อนเซาะอำนาจแห่งประวัติศาสตร์ลงไปโดยไม่ตั้งใจ การหมดไร้ซึ่ง โบราณสถานคือการทำลายความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาติลงตามทัศนะของประวัติศาสตร์ชาตินิยม

การกระทำของชาวบ้านในครั้งนี้จึงไม่แน่แปลกใจที่ต้องได้รับการวิจารณ์จากคนหลายภาค ส่วนที่ร่วมรับรู้ประวัติศาสตร์แห่งชาติมาด้วยกัน ไม่ใช่เพียงแค่กรมศิลปากรเท่านั้น การที่ผู้คนใน สังคมรับเอาโบราณสถานอันเก่าแก่เป็นหลักฐานเชิงรูปธรรมแห่งประวัติศาสตร์อันมั่นคง ทำให้ พวกเขามองไม่ต่างไปจากกรมศิลปากรว่าของเก่าแก่ ก็ต้องเก่าแก่อยู่ร่ำไป ! เพราะนั่นบ่งบอกที่มา ของพวกตน ! ทั้งๆที่พวกเขาเองก็ไม่ได้มีโอกาสมาใช้หรือสัมผัสผูกผันกับสถานที่อันเก่าแก่แห่งนี้

หากสถานที่อันเก่าแก่หรือโบราณสถานนั้นๆ ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสถานที่ ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และได้รับการบูรณะขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง ดังเช่น โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือ ในจังหวัดสุโขทัย ลพบุรี และบุรีรัมย์ แล้ว ล่ะก็ การมีประวัติศาสตร์ร่วมกันภายใต้พื้นที่เช่นนั้น (พื้นที่ที่ได้รับการบูรณะขึ้นเฉพาะ) ก็เป็นสิ่ง ที่ยอมรับได้ เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวสายทอง แต่ในกรณีของวัดพาย ทองแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้สอยทำบุญประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนาต่างๆอยู่ บริบทแห่งพื้นที่จึงแตกต่างกันออกไปกับโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้เพื่อเป็นสถานที่ ท่องเที่ยวโดยเฉพาะ

ในแง่นี้ หากมองในมุมของผู้ใช้สถานที่อย่างชาวบ้านสายทองแล้ว ชาวบ้านย่อมมีสิทธิ เต็มที่ในการบริหารจัดการสาธารณะสมบัติหรือในที่นี้ก็คือ “วัด” ของพวกตน เพื่อให้พื้นที่นั้นยังคง สามารถใช้การได้ น่าอยู่น่าใช้ และอยู่กับพวกเขาไปได้นานๆ

นี่เป็นประเด็นที่ควรฉุกคิดว่า ควรจะมีการจัดการเช่นไรกับโบราณสถานที่มีความเก่าแก่มี คุณค่าทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ หากโบราณสถานนั้นยังคงเป็นพื้นที่ใช้สอยของชาวบ้านในชุมชน ไม่ได้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่กรมศิลปากรกันพื้นที่ออกไปโดยเฉพาะ คำถามคือในกรณี เช่นนี้อำนาจการจัดการควรอยู่ที่ใคร (?)

ดังเช่นที่ พ.ท.วิเชียร ผาไท ไวยาวัจกรวัดพายทอง กล่าวไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “ทางชาวบ้านได้เรี่ยไรเงินกันมาได้ 4 หมื่นกว่าบาท แล้วนำเงินจำนวนหนึ่งไปทาสี เจตนาคือเพื่ออนุรักษ์ ไม่ให้พระอุโบสถทรุดโทรม โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านก็เข้าใจดีแล้ว และไม่ติดใจอะไรอีก แต่สำหรับเรื่องที่จะขึ้นทะเบียนวัดเป็นโบราณสถานนั้น ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะหากขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กรมศิลปากรจะมีอำนาจเด็ดขาดในการเข้ามาทำงาน เข้ามา บูรณะซ่อมแซม ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถดำเนินการดูแลวัดเองได้ เพราะจะถูกดำเนินคดีฐาน ทำลายโบราณสถาน” [5]

ทัศนคติของรัฐส่วนกลางที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจัดการตนเองของพลเมือง

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า หากอำนาจในการจัดการ อยู่ที่รัฐส่วนกลางแล้ว ชาวบ้านพายทองจะยังมีสิทธิ เข้าไปใช้วัดพายทอง อันเป็นวัดเก่าแก่อยู่คู่กับชุมชน ของพวกเขามานานนับร้อยปีพอๆกับที่อยู่คู่ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ในการประกอบกิจกรรมทาง ศาสนา งานบุญ งานบวช งานศพ เหมือนเดิมที่เคยทำ กันมาตั้งแต่รุ่นคุณทวดได้หรือไม่ หรือพวกเขาจะได้ เพียงแค่จ้องมองวัดพายทองในฐานะประวัติศาสตร์ที่ ไม่สามารถใช้การได้

กล่าวโดยสรุปได้ว่าความผิดของชาวบ้านสายทองในครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะ การบูรณะวัดพาย ทองของชาวบ้านด้วยความปรารถนาดีนั้น เป็นการทำลาย “ความเก่าแก่” ของโบราณสถานอัน ส่งผลต่อการบั่นทอน “ความเก่าแก่และยาวนาน” ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ ที่จะ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของรัฐนั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้ นำไปสู่ประเด็นที่น่าสนใจ ในเรื่องสิทธิในการดูแลและจัดการตนเองของชาวบ้านที่พึงมีต่อวัดที่ พวกเขาใช้และผูกพันแต่ ในขณะเดียวกันเป็นโบราณสถานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แห่งชาติในสายตาคนอื่น ที่ควรต้องได้รับการพิจารณากันอีกครั้ง

แต่นอกเหนือจากมุมมองด้านสิทธิและความหลากหลายแล้ว การดำเนินการของชาวบ้าน สายทองในการบูรณะวัดพายทองในครั้งนี้ ก็สะท้อนให้เห็นความเข้มแข็งของชาวบ้านสายทอง อย่างมาก

เนื่องจากการบูรณะปรับปรุงวัดในครั้งนี้ของชาวบ้านสายทอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นริเริ่มมาจาก ชาวบ้านสายทองอย่างแท้จริงในการมุ่งพัฒนาชุมชนของตนให้มีความน่าอยู่ เป็นการแก้ไขปัญหา เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนด้วยตนเอง โดยไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน ใด อันเป็นลักษณะของพลเมืองที่สังคมเริ่มพูดถึงกันมากขึ้นในลักษณะชุมชนเข้มแข็งที่ไม่ได้เอาแต่ งอมืองอเท้ารอความช่วยเหลือจากรัฐบาล

ไม่เพียงแต่คิดแต่ชาวบ้านสายทองลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริงด้วย โดยภายหลังน้ำลด ชาวบ้านระดมความเห็นกันผ่านการประชุมประชาคมหมู่บ้าน และนำวาระเรื่องการบูรณะวัดพาย ทองเข้าพิจารณา โดยเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการบูรณะวัดอย่างเต็มที่ จนกระทั่งได้มติที่ประชุมในการบูรณะวัดด้วยการทาสีวัดพายทองใหม่ด้วยสีสันที่สดใส โดยเน้น แม่สี เพื่อไม่ให้วัดเก่าไว และมีความสดใส น่านั่งน่าใช้ เพราะชาวบ้านต้องใช้วัดพายทองในการ ดำเนินกิจกรรมต่างๆไปอีกนาน

ทัศนคติของรัฐส่วนกลางที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจัดการตนเองของพลเมือง

อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการทาสี วัดให้สดใสฉูดฉาดเช่นกัน โดยมองว่าเป็นสถานที่ ทางศาสนาไม่ควรทาสีสันที่ฉูดฉาด ดังที่มีผู้ให้ สัมภาษณ์ผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ว่า ตนไม่เห็น ด้วยที่จะให้ลงสีวัดด้วยสีสดๆเช่นนั้น แต่แพ้เสียง ส่วนใหญ่ !

ทัศนคติของรัฐส่วนกลางที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจัดการตนเองของพลเมือง

เรื่องนี้ผู้เขียนจะไม่พิจารณาว่าใครผิดหรือถูกแต่จะ พิจารณาในแง่ของกระบวนการ (process) ในการดำเนินการ เพื่อบูรณะวัดพายทองครั้งนี้ของชาวบ้านว่า เป็นไปตาม กระบวนการประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งจากเสียงสะท้อนของ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทาสีสันให้ฉูดฉาดข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า เวทีประชาคมหมู่บ้านในวันนั้น เป็นเวทีทีเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พูดได้คุยได้ถกเถียงกันอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นเพียงการหารือกัน อย่างลับๆของคณะกรรมการหมู่บ้านแค่ไม่กี่คนเท่านั้น แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนในหมู่บ้าน ได้แสดงความเห็นแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยมติที่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ของคนในหมู่บ้าน ซึ่งกระบวนการนี้เป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง เป็นหลักของ เสียงส่วนใหญ่ (majority vote) ซึ่งเป็นแนวทางที่สังคมส่วนใหญ่กำลังใช้อยู่ แม้ว่าประชาธิปไตยจะ มีอยู่หลายรูปแบบแต่เสียงส่วนใหญ่หรือการโหวตก็ยังเป็นเทคนิคที่หลายคนนิยมใช้เนื่องจาก สะดวกและเห็นผลชัดเจน ในที่นี้เราจะไม่ถกเถียงกันในประเด็นที่ว่าเสียงส่วนใหญ่ดีหรือไม่ แต่ ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นกระบวนการประชาธิปไตยที่ชาวบ้านสายทองดำ เนินการตลอด กระบวนการก่อนที่จะได้มติในการบูรณะวัดออกมา

จากข้างต้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวบ้านสายทองมีความก้าวหน้ามีความสามารถในการ จัดการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองตามแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันเป็นแนวทางตาม ระบอบประชาธิปไตยที่รัฐไทยพยายามส่งเสริมให้ชาวบ้านเรียนรู้กันมาโดยตลอด

ปัญหาจากการดำเนินการในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ การดำเนินการบูรณะวัดของชาวบ้ายสายทอง ในครั้งนี้ ตั้งอยู่บนความเชื่อความศรัทธาและภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นการบูรณะวัดให้สวยงามสดใส ตามแนวคิดของพวกเขาเพื่อรับใช้คนในชุมชน ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักวิชาการในการบูรณะวัดตาม แนวทางของกรมศิลปากร ที่ต้องการคงความเก่าแก่ของวัดเอาไว้ให้มากที่สุดเพื่อให้สอดรับกับ ประวัติศาสตร์แห่งชาติ

ทัศนคติของรัฐส่วนกลางที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจัดการตนเองของพลเมือง

การมุ่งวิจารณ์เรื่องนี้โดยปิดกั้นไม่ให้ ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นถึงเหตุผลและ เจตนารมณ์ที่อยู่เบื้องหลัง จึงเป็นการปิดกั้นโอกาส ที่สังคมจะได้เรียนรู้มุมมองของชาวบ้านที่มีต่อการ บริหารจัดการชุมชนของตนเอง เป็นการปิดกั้น สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารของคนในสังคม ด้วยการประโคมข่าวสารทางเดียวในเรื่องของการ ทำลายโบรารณสถาน ไม่มีการวิเคราะห์ไปถึง ประเด็นต่างๆที่คลุมเครือ ทั้งในเรื่องของสิทธิใน การบริหารจัดการทรัพย์สินและทรัพยากรในชุมชน สิทธิในการคิด ในการตัดสินใจ สิทธิของรัฐใน การเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ รวมไปถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่พึงมีต่อพื้นที่ของ ตนเอง

ซึ่งอันที่จริงแล้ว ในฐานะที่เป็นรัฐชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดเสีย ด้วยซ้ำ ที่จะทำให้ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อสอดคล้องและเป็นไปใน ทิศทางที่รัฐให้การรับรอง ผู้ว่าราชการจังหวัดพึงสอดส่องความเคลื่อนไหวและพัฒนาพื้นที่จังหวัด ของตนเอง และถือเป็นด่านหน้าที่สุดที่ควรจะต้องถูกตั้งคำถามว่า ในพื้นที่ที่มีวัดเก่าแก่ถึง 104 ปีอยู่ เช่นนั้น เหตุใดผู้ว่าราชการจังหวัดจึงไม่ให้ความสนใจ ทำความเข้าใจกับชาวบ้านหรือยื่นเรื่องไปยัง กรมศิลปากรเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อให้กรมศิลปากรมาทำการบูรณะ หากไม่ต้องการให้ชาวบ้านบูรณะ วัดดังกล่าวบนพื้นฐานความรู้ที่พวกเขามีและเชื่อ หากผู้ว่าราชการจังหวัดตื่นตัวในเรื่องนี้ ชาวบ้าน สายทอง ก็อาจจะไม่ต้องถูกสังคมวิจารณ์กระทั่งหมดกำลังใจเช่นนี้ และที่สำคัญคือยังมีผู้เกี่ยวข้อง อีกหลายฝ่ายที่ควรถูกตั้งคำถามไม่ใช่เพียงชาวบ้านที่ลงขันกันเพื่อบูรณะวัดของตน

วันนี้ชาวบ้านพายทองต้องตกเป็นจำเลยเพราะความไม่รู้เท่าทันต่อความคิดและทัศนคติของ รัฐส่วนกลาง ความคิดตามหลักวิชาการ ไม่รู้เท่าทันความสำคัญของประวัติศาสตร์แห่งชาติ พวกเขา ต้องตกเป็นจำเลยเพราะไปทำลายหลักฐานชิ้นหนึ่งทางประวัติศาสตร์ด้วยการทำให้ประวัติศาสตร์ “ใหม่ขึ้น” “สดใส” ขึ้น ต้องตกเป็นจำเลยเพราะความปรารถนาดี เพราะความเข้มแข็งของชุมชน ที่ไม่งอมืองอเท้ารอคำสั่งจากรัฐเพียงฝ่ายเดียว

กระนั้นก็ไม่น่าแปลกใจเพราะสังคมเราถูกสอนกันมาว่าสมบัติของชาตินั้นเป็นสมบัติของ ส่วนรวม ! แต่ภายในความเป็นส่วนรวมนั้น ก็มีความเป็นเจ้าของของคนในพื้นที่ซ่อนอยู่ด้วย

ในขณะที่เราอ้างว่าโบราณสถานต่างๆคือสมบัติของชาติ แต่เรากลับไม่เคยไปใช้ ไม่เคยไป เหลียวแลโบราณสถานเหล่านั้น เก็บไว้เป็นเพียงแค่ความทรงจำว่าเรามีที่มาที่ไป เก็บไว้ในความทรง จำในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์ของความเป็นชาติเท่านั้น ยิ่งหากเป็นโบราณสถานที่ไม่ได้มี ชื่อเสียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วยแล้ว แทบจะไม่มีเพื่อนร่วมชาติคนใดไปลำลึกถึงความเป็นมาของ ชาติ ณ โบราณสถานแห่งนั้นเลย ดังเช่น โบราณสถานวัดพายทองแห่งนี้ ที่มีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะ ชาวบ้านเพราะคนในพื้นที่ยังคงเอาใจใส่ให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ เข้ามาใช้สอย ดำเนิน กิจกรรมต่างๆ ในเมื่อไม่มีเพื่อนร่วมชาติคนใดสนใจเช่นนี้แล้ว ผู้อยู่ใกล้ก็ต้องดูแล จึงเป็นสิทธิของ ชาวบ้านแล้วไม่ใช่หรือที่จะบูรณะวัดแห่งนั้น

คำสั่งของกรมศิลปากรที่ให้เปลี่ยนสีวัดเสียใหม่ให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมนั้น จึงไม่ได้เป็น เพียงแค่การล้างสีให้วัดกลับมาอยู่ในสภาพเดิมเท่านั้น แต่เป็นการทำลายความเชื่อมั่นในศักยภาพที่ จะจัดการตนเองของชาวบ้านให้มลายหายไปด้วย ซึ่งสวนทางกับอุดมการณ์ที่รัฐอ้างว่าต้องการเสริม ให้ชาวบ้านมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ เพื่อลดภาระที่รัฐต้องรับผิดชอบลงไป หรือปัญหาอยู่ที่ เรายังไม่มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ! โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายอำนาจทางด้านความคิด ไม่ใช่เพียงการกระจายงบประมาณ หรือภาระงานเท่านั้น

หากรัฐส่วนกลางยังคงมุ่งวิจารณ์เป็นหลักรับฟังเป็นรอง ศักยภาพทางความคิด ความสามารถในการพึ่งพาตนเองของชาวบ้านบนฐานของภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นก็จะ ถูกบั่นทอนให้ลดน้อยลง จนอาจแทบไม่เหลือเลย เพียงเพราะช่องว่างทางทัศนคติที่ไม่ตรงกัน ระหว่างรัฐส่วนกลางกับภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงนำไปสู่การตัดสินผิดถูก การวิจารณ์และลงโทษ

ต้องยอมรับว่า เราขับเคลื่อนเรื่องความเข้มแข็งของชุมชนและสิทธิชุมชนนี้กันมานาน กว่า จะออกดอกออกผล เปลี่ยนจากการเคลื่อนไหวบนท้องถนน ให้เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านได้มากขึ้น แต่ ตอนนี้เรากำลังทำลายความเชื่อมั่นและศักยภาพเหล่านั้นของชุมชนลงเพียงเพราะเหตุผลที่ว่าสิ่งที่ ชาวบ้านคิดและทำนั้นไม่ตรงตามหลักวิชาการและไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ของรัฐส่วนกลาง เท่านั้น

ทัศนคติของรัฐส่วนกลางที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจัดการตนเองของพลเมือง

การที่ชาวบ้านสายทองถูกวิจารณ์อย่างไม่มีทางแก้ตัว ต้องตกเป็นจำเลยของสังคม ต้องออกมารับผิดและขอโทษ อย่างไม่มีทางได้ชี้แจงเหตุผล ไม่มีทางได้แก้ตัวเช่นนี้ จึงอาจ เป็นเหตุการณ์เล็กๆที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพของ ชุมชนให้หมดลง เพียงเพราะต่อไปชาวบ้านอาจเกรงว่าสิ่งที่ ตนคิดและทำจะไม่สอดคล้องกับแนวคิดของทางการและอาจ ต้องได้รับการประณามจากสังคม หากเป็นเช่นนั้นจริงความ เข้มแข็งของภาคพลเมืองที่รัฐดูเหมือนจะอ้างว่าคาดหวังเอาไว้ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะอุดมการณ์กับการกระทำนั้นสวนทางกัน

อ่านเพิ่มเติม:

อ้างดิง:

  1. นักวิชาการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า.
  2. ตะลึง ! โบสถ์แฟนตาซี อายุกว่า 100 ปี วัดเมืองอ่างทอง มีหลากสีฉูดฉาด http://www.matichon.co.th/news_detail. php?newsid=1330251473&grpid=&catid=19&subcatid=1906
  3. กรมศิลป์สั่งเปลี่ยนสีโบสถ์วัดพายทองกลับดังเดิม. http://hilight.kapook.com/view/68064
  4. ปัจจุบันมีงานวิชาการหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้มีความต่อเนื่อง และ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นควร ได้รับการฟื้นฟูและให้ความศึกษาอย่างจริงจัง เช่นงานของ ศ.สายชล สัตยานุรักษ์, งานของ รศ.ดร.ธิดา สาระยา เป็นต้น
  5. กรมศิลป์สั่งเปลี่ยนสีโบสถ์วัดพายทองกลับดังเดิม. http://hilight.kapook.com/view/68064
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ใบตองแห้ง’ ออนไลน์: ยืนหยัดพลังที่สาม

Posted: 28 Feb 2012 08:52 AM PST

ชัยชนะของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เราเป็นผู้ชนะ แต่เหตุผลเป็นผู้ชนะ…เรื่องเศร้าคือ นักต่อสู้ที่แท้จริง ไม่เคยมีใครเป็นผู้ชนะ มันเป็นลักษณะพิเศษของสังคมไทย เราก็เป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่บ้างก็ประสบชะตากรรมจากการต่อสู้ แต่ยืดอกรับมันอย่างยิ่งใหญ่

ผมตกข่าว! ไม่ได้นั่งดูการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าใครบ้างขานชื่อรับร่าง 399 เสียง ซึ่งล้นเกินจำนวน ส.ส.รัฐบาลไปตั้งเยอะ ข่าวบอกว่าพรรคภูมิใจไทยลงให้ แต่ก็มี ส.ว.เยอะอยู่เหมือนกัน ทั้ง ส.ว.เลือกตั้งและลากตั้ง ขณะที่ฝ่ายค้านมีแค่ 199 เสียง ยังงงอยู่ว่า ปชป.มี 159 เสียง กลุ่ม “สมชาย-รสนา” อ้างว่ามี 50 เสียง แล้วคะแนนหายไปไหน ปล่อยให้ “เผด็จการสภาผู้แทนราษฎร” กลายเป็น “เผด็จการรัฐสภา” โดยสมบูรณ์แบบ ฮิฮิ

ผมหลงวางใจว่าสื่อต่างๆ จะเอามาสรุปตอนเช้า แม้หนังสือพิมพ์รายวันลงไม่ทัน แต่ก็น่าเอาลงเว็บหรือลงฉบับวันอาทิตย์ (เพื่อพวกพันธมิตรจะได้เอาไปฟ้องศาล ฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ) ที่ไหนได้ ไม่ยักมีใครสนใจ จบแล้วจบเลย พากันไปเล่นข่าว “เมาเหล้าเมารัก” ที่ไร้สาระด้วยกันทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล

ถามว่าถ้าออเหลิมเมา แล้วต้องลาออกไหม ต้องถอดถอนไหม ก็เปล่า (หรือจะบ้าจี้กันขนาดนั้น) จริงๆ ก็แค่ตำหนิ ติติง ว่าเป็นพฤติกรรมไม่สมควร นักเลงจริงต้องกล้าทำกล้ารับ ก็แอ่นอกรับความจริงไปสิครับ ไม่เห็นต้องตะแบง แต่ฝ่ายค้านก็ทำเหมือนไม่มีอะไรจะเล่น มาคุ้ยขยะเป็นวรรคเป็นเวร (พี่น้องเอ๊ย จะเอาอะไรกันนักหนา เมาหรือไม่เมา ภาพลักษณ์พ่อไอ้ปื๊ดก็ไม่แย่หรือดีกว่าที่เป็นอยู่หรอก)

รายชื่อผู้รับร่างฯ สำคัญนะครับ เพราะบอกได้ในเบื้องต้นว่า นี่จะมีรายการ “ป๋ากับปูกู้อีจู้” อีกหรือเปล่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญผ่าน 2 พรก.ฉลุย ทำเอาฝ่ายค้านฝ่ายแค้นแน่นจุกอก อุตส่าห์เงื้อง่าราคาแพง เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบ ลาออก ถ้า พรก.ไม่ผ่าน

2 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าทำให้ฝ่ายค้านฝ่ายแค้น “เหวอ” ไปเหมือนกัน (รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ ที่เริ่มเข้ารูปเข้ารอย หลังเข้าเฝ้าในหลวง รับพระราชทานคำแนะนำ) แต่พวกเขาไม่รู้จะทำไงนี่ครับ ก็ยังต้องตะแบงปกป้องรัฐธรรมนูญอำมาตย์ (ที่บิ๊กบังไม่มาขานชื่อ) และอ้างสถาบันฯ ปิดกั้นไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ เพราะจะเล่นอย่างอื่นก็ไปไม่เป็น

ที่จริง เพื่อไทยก็ไม่แก้หมวดพระมหากษัตริย์อยู่แล้วแหละ แต่ไหนว่าร่างแก้ไข 291 เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร.เข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รัฐสภาจะไปจำกัดความคิดเห็นเขาได้ไง จะไปปิดกั้นได้ไงว่าห้ามแก้มาตรานั้นมาตรานี้ ถ้ามาตราไหน ส.ส.ร.เขาแก้ แล้วประชาชนลงประชามติให้ผ่าน ก็ต้องยอมรับกันสิครับ

พูดเสียยังกะการแก้หมวดพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องใหญ่โต ทั้งที่เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่ยังยืนยันว่ามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ภายใต้รัฐธรรมนูญ) การแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ที่ผ่านมามี 2 ครั้งสำคัญๆ คือรัฐธรรมนูญ 2492 ที่ร่างโดยพรรคประชาธิปัตย์ สถาปนาองคมนตรีขึ้น (จากต้นฉบับธรรมนูญรัฐประหาร 2490 ที่มีคณะอภิรัฐมนตรี) แล้วก็รัฐธรรมนูญ 2534 ที่ รสช.แก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

ทำไม รสช.จึงทำงุบงิบๆ ก้าวล่วงจ้วงจาบ บังอาจแก้บทบัญญัติสำคัญอย่างนี้ได้ แล้วถ้าพสกนิกรทั้งหลาย จะยกขึ้นมาทบทวนกันใหม่ ปรึกษาหารือกันด้วยเหตุด้วยผล ตามครรลองประชาธิปไตย มันผิดตรงไหน

แบบเดียวกับบทบัญญัติเรื่ององคมนตรีนั่นละครับ ผมไม่เข้าใจพวกที่อ้างความจงรักภักดี ก็ไหนบอกในหลวงทรงแต่งตั้งองคมนตรีตามพระราชอัธยาศัย แล้วทำไมรัฐธรรมนูญต้องกำหนดคุณสมบัติ กำหนดเงื่อนไขอะไรต่างๆ ทำไมต้องไปยุ่งกับพระองค์ท่าน ในหลวงไม่ตั้งใครซี้ซั้วหรอก

ทีอย่างนี้ ไทยโพสต์ไม่ยักพาดหัวว่า “รธน.บังคับในหลวง”

เพื่อไทยกับอำมาตย์เกี้ยเซี้ยกันหรือเปล่า ผมว่ามีทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งทั้งสองฝ่ายต่างคิดว่า “โค่นไม่ได้ก็เอาเป็นพวกเสียเลย” อำมาตย์ทำรัฐประหารอีกไม่ได้ ขณะที่รัฐบาลเพื่อไทยก็อยากอยู่ยาว ถ้าหักด้ามพร้าด้วยเข่าก็ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น แถมยังมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข ไม่งั้นเจ๊งหมด ไม่ว่าชินคอร์ป ปูนใหญ่ ไทยพาณิชย์ ซีพี เบียร์ช้าง เบียร์สิงห์ ฯลฯ

แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องช่วงชิงฐานอำนาจกัน ในทุกปริมณฑล ไม่ได้ไว้วางใจกันเสียทีเดียว ข้อสำคัญคือนี่ไม่ใช่ความขัดแย้งแค่ชนชั้นนำเหมือนในอดีต แต่ความขัดแย้งขยายไปสู่มวลชนอย่างกว้างขวาง ระหว่างมวลชนต่อมวลชน ไม่มีใครยอมใคร ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ามีแค่ชนชั้นนำก็เอาทักษิณกลับบ้านได้ แต่นี่จะเป็นจะตาย สลิ่ม เสื้อเหลือง ก็ไม่ยอม

ร่างรัฐธรรมนูญก็จะสะท้อนภาพอย่างนี้ ซึ่งแน่นอนว่า สสร.เสียงข้างมากภายใต้การชี้นำของพรรคเพื่อไทย คงไม่ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็น “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ด้านที่หนึ่ง จะมีการเกี้ยเซี้ยกับอำมาตย์ ไม่แตะต้องบางส่วน เช่น หมวดพระมหากษัตริย์ ส่วนที่ว่าด้วยศาลยุติธรรมและกองทัพ คงต่อสู้กันไปต่อรองกันไป แต่องค์กรอิสระ ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ไปจน กกต.ปปช.พรรคเพื่อไทยอยากรื้อใหญ่

อีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า นักการเมืองก็ “แก้เพื่อตัวเอง” คือแก้เพื่ออำนาจของฝ่ายการเมือง ไม่ต้องการให้มีกลไกตรวจสอบอะไรมากมาย

อ้าว! ทำไมพูดคล้ายสลิ่มและ พธม. “แก้เพื่อตัวเอง” คล้ายแต่ไม่เหมือนนะครับ เราอาจจะมองนักการเมืองเหมือนพันธมิตรและสลิ่ม แต่มองในมุมที่กว้างกว่า มองในเชิงระบบ ว่าในขณะที่นักการเมืองไม่ใช่ตัวดี เราก็ไม่ต้องการฝากอำนาจไว้กับอำมาตย์หรือตุลาการ ที่อ้างความศักดิ์สิทธิ์ ใช้การครอบงำทางวัฒนธรรมมาปิดปากห้ามวิพากษ์วิจารณ์

นักการเมืองยังไงเราก็ด่าได้ อย่างเก่งติดคุกปีเดียว ระหว่างสู้คดียังได้ประกัน จริงไหม

ฉะนั้น บนจุดยืนนักประชาธิปไตย ตลอดระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญ ที่อาจกินเวลาเป็นปีนับจากนี้ไป เราคงต้องสู้ศึกหลายด้าน

ด้านหลักคือ รบกับสลิ่ม พธม. ปชป. และพลังปฏิกิริยาขวาจัดทั้งหลาย เพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถึงแม้จะออกมาไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามที่ต้องการ แต่นัยสำคัญของการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่คือการ “ล้มล้าง” รัฐประหาร ซึ่งเป็นเจตจำนงร่วมกันของผู้รักประชาธิปไตย ไม่ว่าอยู่ในหรือนอกเสื้อแดง ที่เลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล

ด้านรองคือ หนึ่ง เราต้องต่อสู้กับความไม่ยืนหยัดของนักการเมือง ที่อาจประนีประนอมไม่แก้ไขหลายประเด็นสำคัญ ที่มีผลเชิงหลักการ (นักการเมืองก็ช่วงชิงอำนาจแบบนักการเมือง เช่น ไม่ต้องปรับโครงสร้างกองทัพ แต่ต่อรองเอาพวกตัวเองเข้าไปแทรกซึมคุมกำลัง)

สอง เราต้องต่อสู้กับความเอาแต่ได้ของนักการเมือง เพราะไม่ใช่ว่าปลดพันธนาการ “ตุลาการภิวัตน์” ไปแล้ว จะไม่ต้องมีกลไกตรวจสอบนักการเมือง รัฐธรรมนูญที่ดีต้องวางหลักเกณฑ์ตรวจสอบถ่วงดุลที่มาจากประชาชน ให้การใช้อำนาจทุกอย่างเป็นไปอย่างเปิดเผยโปร่งใส

ที่จริงนี่เป็นประเด็นที่พันธมิตร (เคย) ต้องการ แต่พวกเขาไม่ยอมรับว่า ถ้าออกแบบรัฐธรรมนูญให้ดี พร้อมกับใช้ความอดทน มองให้เห็นพัฒนาการ เราก็สามารถก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยแบบอารยะประเทศได้ โดยไม่ต้องถอยหลังไปหาอำมาตย์

(เคย) แปลว่าไม่ใช่ปัจจุบันนะครับ ปัจจุบันพันธมิตรเตลิดเปิดเปิงไปถึงไหนแล้วไม่รู้

การต้องยืนหยัดอยู่ในหลักที่มั่นคง เป็นความยากลำบากของนักประชาธิปไตย ที่คงต้องวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสองฝ่าย ถึงแม้อาจต้องประชดประเทียดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ (อยู่แล้ว เราไม่เคยเป็นกลาง เพราะอยู่ข้างประชาธิปไตย ฮิฮิ) แต่ก็ไม่สามารถปล่อยวางการตรวจสอบรัฐบาลทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ และการบริหารทั่วไป (ซึ่งแน่นอน เมื่อมั่นใจว่าจะเสวยอำนาจนาน อภิมหาโครงการต่างๆ ก็ผุดเป็นดอกเห็ด)

แต่ในความสับสนนี้คือโอกาสที่พลังประชาธิปไตยจะเติบโตอย่างมีหลักการ มีเหตุผล โดยมี “หลักพิง” คือการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับอุดมคตินอกสภาของนิติราษฎร์ ที่แน่นอนว่าจะไม่เข้าไปเป็น สสร.

พลังประชาธิปไตยที่ก่อตัวขึ้นจากการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 จะต้องยืนหยัดสร้างความแตกต่างอยู่บนหลักการสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าเกมอำนาจของฝ่ายการเมืองและอำมาตย์จะเดินไปอย่างไร เกี้ยเซี้ย หรือต่อสู้กันอย่างไร

ถึงจะเริ่มต้นด้วยคนหยิบมือเดียว แต่เราคือ “เสรีชน” ตรงข้ามกับที่หมอตุลย์หวาดกลัวว่า คนลงชื่อแก้ไข 112 ไม่ใช่เสรีชน แต่อยู่ใต้อาณัตินักการเมือง โห ก็ถึงตอนนี้เพิ่งมีคนลงชื่อไม่กี่พัน ถ้านักการเมืองสั่ง ป่านนี้คงได้ซักล้านแล้วจ้า นี่ตรงข้ามกันเลย คนลงชื่อแก้ 112 ต่างหากคือคนที่ก้าวข้ามนักการเมืองแล้ว

อยากแถมอีกนิดว่า ชัยชนะของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เราเป็นผู้ชนะ แต่เหตุผลเป็นผู้ชนะ

รัฐธรรมนูญ 2556 อาจจะไม่ได้ยกร่างขึ้นมาเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ มาตรา 112 อาจจะไม่ได้แก้ในวันนี้ หรือในวันหน้า แต่ขอให้หลักการและเหตุผลนั้นประจักษ์และฝังรากลึกอยู่ในใจคน

ประชาธิปไตยคงไม่ได้มาในฉับพลันทันที ไม่ใช่ได้มาด้วยการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ การเมืองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสู่ความเปิดเผยโปร่งใสในวันเดียว (คิดแบบนั้นคือพันธมิตร) มันอาจจะอีกยาวนานก็ได้ แต่ขอให้มีพัฒนาการไปข้างหน้า

เรื่องเศร้าคือ นักต่อสู้ที่แท้จริง ไม่เคยมีใครเป็นผู้ชนะ ตั้งแต่ อ.ปรีดี อ.ป๋วย มาถึงพฤษภา 53 มันเป็นลักษณะพิเศษของสังคมไทยหรือไงไม่รู้ เพราะคงไม่มีนักประชาธิปไตยที่แท้จริงคนไหนได้ก้าวไปเป็นเนลสัน แมนเดลา เราก็เป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่บ้างก็ประสบชะตากรรมจากการต่อสู้ แต่ยืดอกรับมันอย่างยิ่งใหญ่

แด่ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และชัยชนะของเหตุผล ที่เห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องพูดอะไรอีก

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรื่องวุ่นๆ ของยาคุมกำเนิดกับศาสนาในการเมืองอเมริกัน

Posted: 28 Feb 2012 08:42 AM PST

 

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา การเมืองอเมริกันวุ่นว่ายอยู่กับประเด็นเรื่องยาคุมกำเนิดและการทำแท้ง การถกเถียงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น แต่ที่น่าสนใจคือองค์กรทางศาสนาและนักการเมืองกลับมีบทบาทและอำนาจอิทธิพลในการกดดันรัฐบาลมากกว่ากลุ่มผู้หญิงเสียอีก

ความขัดแย้งเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้หญิงเริ่มกลายเป็นประเด็นทางการเมือง เมื่อมูลนิธิซูซานโกเมน (Susan G. Komen Foundation) ตัดสินใจระงับเงินช่วยเหลือองค์กร Planned Parenthood ที่ให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่สตรีอเมริกันมาช้านาน

ถ้าพูดถึงมูลนิธิโกเมนบ้างคนอาจนึกไม่ออก แต่ถ้าบอกว่า “ริบบิ้นสีชมพู” ที่เป็นสัญลักษณ์ของการรณรงณ์ต่อต้านมะเร็งในสตรี หลายคนคงพอนึกออก

ประเด็นมันมีอยู่ว่า มูลนิธิโกเมนได้ตัดเงินช่วยเหลือแก่องค์กรที่มีชื่อว่า Planned Parenthood ที่มีสาขาอยู่ทั่วอเมริกา องค์กรนี้ให้บริการที่มีคุณภาพด้านสุขอนามัยแก่สตรีในราคาย่อมเยาว์ เช่นให้บริการปรึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์และการเจริญพันธุ์ บริการตรวจมะเร็งเต้านมและตรวจภายใน จำหน่าย (หรือแจกฟรี) ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด ในราคาถูก รวมทั้งให้คำปรึกษาและบริการทำแท้งด้วย ส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือไม่มีเงินซื้อประกันสุขภาพ

ทางมูลนิธิโกเมนให้เหตุผลในการตัดเงินช่วยเหลือว่า เพราะ Planned Parenthood กำลังถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการของสภาคองเกรส เกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายเงินในส่วนของการให้บริการทำแท้งว่า มีการกระทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ในแต่ละปีรัฐบาลอเมริกันก็ให้เงินช่วยเหลือองค์กร Planned Parenthood ด้วยเช่นกัน จึงไม่แปลกที่สภาคองเกรสจะมีสิทธิเข้ามาตรวจสอบ

ประเด็นที่ถกเถียงกันคือ การตัดเงินช่วยของมูลนิธิโกเมนจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการสุขอนามัยที่จำเป็นแก่สตรีที่มีรายได้น้อย ซึ่งการให้บริการทำแท้งคิดเป็นเพียง 3% ของค่าใช้จ่ายในการให้บริการทั้งหมดขององค์กร Planned Parenthood ในปีที่ผ่านมา การตรวจสอบของคณะกรรมการคองเกรสก็ยังไม่มีข้อสรุป รัฐบาลเองก็ยังไม่ประกาศตัดงบPlanned Parenthood แต่อย่างใด ฉะนั้น การตัดสินใจของมูลนิธิโกเมนจึงถูกมองว่าทำเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ขององค์กรตัวเองจนเกินไป และมองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสตรีจำนวนมากที่จะขาดโอกาสในการได้รับบริการสุขอนามัยที่จำเป็น ประเด็นนี้จึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกลุ่มสตรีที่สนับสนุน Planned Parenthood กับกลุ่มองค์กรศาสนาคริสต์และนักการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมจากพรรครีพับลิกันที่ยกย่องการตัดสินใจของมูลนิธีโกเมน

ไม่กี่วันต่อมา โอบามาออกมาตอกย้ำกระแสยาคุมกำเนิด โดยประกาศว่า ให้บริษัทประกันสุขภาพทุกบริษัท รวมทั้งองค์กรที่ให้บริการสาธารณสุขของศาสนา เช่น โรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกต้องจ่ายยาคุมกำเนิดให้สตรีฟรี โดยให้เวลา 1 ปีในการปรับตัว ข้อบังคับนี้เป็นผลมาจากกฎหมายบริการสาธารณสุขฉบับใหม่ที่ผ่านสภาเมื่อสองปีที่แล้ว

ในปัจจุบันยาคุมกำเนิดในอเมริกามีราคาสูง ทำให้สตรีที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีประกันสุขภาพไม่สามารถเข้าถึงยาได้ หรือแม้จะมีประกันสุขภาพ บริษัทประกันส่วนใหญ่ก็จะไม่จ่ายค่ายาคุมกำเนิดให้เต็ม 100%  แต่กฎหมายฉบับนี้ถือว่ายาคุมกำเนิดเป็นวิธีการป้องกัน (Preventive Care) ปัญหาสุขภาพอนามัยของสตรี เช่นก ารตั้งครรภ์ที่ไม่พึ่งปราถนา (ซึ่งจะช่วยลดการทำแท้งในอนาคต) และใช้ในการรักษาอาการต่างๆ เช่นซีสต์ในสตรีด้วย เหมือนกับการตรวจมะเร็งเต้านมหรือตรวจภายในของสตรี ที่ถือว่าเป็นวิธีการป้องกันที่สตรีควรได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐานจากการซื้อประกันสุขภาพ

ตามประกาศของโอบามา บริษัทประกันสุขภาพยอมทำตามกฎหมายฉบับใหม่อย่างไม่มีปากเสียง เพราะบริษัทประกันเห็นว่า การจ่ายค่ายาคุมกำเนิดแก่สตรี มีต้นทุนน้อยกว่าที่จะเสียค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทต้องจ่าย ถ้าเกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์

ในทางกลับกันองค์กรทางศาสนาเปิดแถลงการณ์ต่อต้านแนวทางปฎิบัติของกฎหมายฉบับนี้อย่างดุเดือดทั้งในสื่อและในมิสซาวันอาทิตย์  ผู้เขียนจำได้ว่า ขณะกำลังนั่งฟังเทศน์ในโบสถ์อยู่ดีๆ ก็ต้องตกใจเมื่อบาทหลวงยกประกาศจากสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (The United States Conference of Catholic Bishops) ออกมาอ่านโดยมีแถลงการณ์ต่อต้านนโยบายยาคุมกำเนิดว่า ได้ทำลายอิสรภาพและความเชื่อทางศาสนา แถมเป็นการจำกัดสิทธิสตรีอีก ตามหลักความเชื่อของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแล้ว จะไม่ยอมรับการใช้ยาคุมกำเนิดและไม่อนุญาตให้ทำแท้ง ในขณะเดียวกันแม้ว่าองค์กรศาสนาคริสต์อย่างนิกายอีเวนเจลลิเคล (Evangelicalism) ในอเมริกาจะไม่ต่อต้านการใช้ยาคุมกำเนิด แต่ก็ออกมาผนึกกำลังกับสภาสังฆราชคาทอลิกในการต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ด้วยในประเด็นเรื่องอิสรภาพทางศาสนา

ผู้เขียนเดินออกมาจากโบสถ์อย่างไม่สบอารมณ์ และถ้าจะมีบาปติดตัวก็คงเป็นบาปที่องค์กรศาสนาได้ป้ายไว้ให้ในวันนั้น เพราะผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของสภาสังฆราชฯ แม้แต่น้อย และอยากจะทราบเหมือนกันว่า สภาสังฆราชฯ ที่ตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของสตรีนั้นมีสตริเข้าร่วมตัดสินใจในที่ประชุมด้วยอย่างนั้นหรือ แล้วเหตุผลใดการมีโอกาสเข้าถึงยาคุมกำเนิดได้ง่ายถึงเป็นเรื่องลดทอนสิทธิสตรีไปได้

ในสหรัฐอเมริกาเองมีการสำรวจอย่างเป็นทางการว่า 98% ของสตรีคาทอลิกเคยใช้ยาคุมกำเนิดมาแล้วทั้งนั้น นั้นหมายความว่า สภาสังฆราชฯหลับหูหลับตาพร่ำสอน ไม่ดูความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความต้องการของศาสนิกชนที่เป็นสตรีอย่างแท้จริง แต่กลับพยายามผลักดันหลักการที่ล้าสมัย และยังเป็นการขัดขว้างการรับบริการสุขอนามัยของสตรีอีกด้วย โดยใช้ข้ออ้างที่ว่าการบังคับมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลคาทอลิกให้รับภาระเรื่องยาคุมกำเนิดเป็นการทำลายอิสรภาพทางศาสนา แต่ที่จริงแล้วน่าจะเป็นการทำลายอิสรภาพของสตรีที่มีสิทธิเลือกใช้หรือไม่ใช้ยาคุมกำเนิดเสียมากกว่า

แม้ว่าโอบามาจะยอมประนีประนอมกับองค์กรทางศาสนา โดยให้บริษัทประกันสุขภาพเป็นผู้รับภาระการจ่ายค่ายาคุมกำเนิดแทนองค์กรเหล่านี้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ทำให้การต่อสู้ทางอุดมความคิดเบาบางลงได้ มหาวิทยาลัยคาทอลิก 2 แห่ง, องค์กรสื่อของคาทอลิก, และองค์กรทางการเมืองจาก 7 รัฐในอเมริกากำลังฟ้องเอาความผิดกับรัฐบาลโอบามาในข้อหาการทำลายอิสรภาพทางศาสนาว่า ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอเมริกันและกฎหมายที่มีชื่อว่า The Religious Freedom Restoration Act 

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นข้อถกเถียงทางเทคนิคระหว่างองค์กรศาสนากับกลุ่มแพทย์ด้วยว่า ยาคุมกำเนิดนั้นถือว่าเป็นการทำแท้งหรือไม่ เพราะในกฎหมายฉบับนี้ ยาคุมกำเนิดหมายถึงยาเม็ดที่กินก่อนมีเพศสัมพันธ์, ชนิดห่วง และชนิดเม็ดที่กินหลังมีเพศสัมพันธ์ (Morning-after pill) ด้วย ในมุมมองขององค์กรศาสนา ถือว่ายาคุมกำเนิดโดยเฉพาะชนิดที่กินหลังมีเพศสัมพันธ์เป็นเสมือนการทำแท้งวิธีหนึ่ง (Abortifacient) ซึ่งแพทย์อาจมีความเห็นที่ขัดแย้งออกไป

ส่วนในทางการเมือง ริค แซนโทรัม (Rick Santorum) หนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันก็ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอย รีบกระโดดเกาะกระแสยาคุมกำเนิดเพื่อหวังจะใช้สนับสนุนภาพลักษณ์ทางการเมืองของเขา  ที่ถูกวาดไว้ว่าเป็นพวกหัวอนุรักษ์นิยมที่เคร่งศาสนาและมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคม และเพื่อกระตุ้นคะแนนนิยมของตนเองที่ตอนนี้สูสีกับอดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาจูเสตส์ มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันอีกคนหนึ่ง ซึ่งรอมนีย์เองไม่มีสิทธิยกประเด็นเรื่องศาสนามาหากินได้เหมือนแซนโทรัม เพราะรอมนีย์นับถือมอร์มอน ซึ่งกลุ่มรีพับลิกันที่เคร่งศาสนาและกลุ่ม Tea party ไม่ค่อยโปรดปรานสักเท่าไรนัก

แซนโทรัมจึงใช้นโยบายยาคุมกำเนิดโจมตีความเชื่อทางศาสนาคริสต์ของโอบามาว่า เป็นความเชื่อจอมปลอม ซึ่งโอบามาเองก็ถูกตั้งข้อสงสัยจากกลุ่มศาสนาคริสต์นิกายอีเวนเจลลิเคล (Evangelicalism) มาโดยตลอดว่า เขานับถือศาสนาคริสต์จริงหรือไม่ แม้โอบามาจะบอกว่า ตนเองนับถือศาสนาคริสต์และเข้าโบสถ์เหมือนคริสต์ศาสชิกชนทั่วไป แต่หลายคนยังไม่คลายสงสัยว่า แท้จริงโอบามาอาจนับถือศาสนาอิสลาม บาทหลวงชื่อดังจากนิกายอีเวนเจลลิเคลเพิ่งออกมาย้ำความเชื่อของเขาอีกครั้งทางทีวีจากกระแสนโยบายยาคุมกำเนิดว่าโอบามาคือ Son of Islam

ในขณะนี้ องค์กรศาสนากลายเป็นผู้ปลุกกระแสทางการเมือง และในทางกลับกันศาสนาก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีและสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมืองในอเมริกาได้อย่างน่าสนใจ แต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการประกาศใช้นโยบายกลับอยู่นอกวงหรือไม่มีอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายสักเท่าไร อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกาที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้จะเป็นตัวตัดสิน กลุ่มสตรีที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีลักษณะการลงคะแนนเสียงที่เรียกได้ว่า swing vote หมายความว่าไม่ยึดติดกับการโหวตเพื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือมีลักษณะการลงคะแนนเสียงที่คล้ายกับกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงอิสระไม่ฝักใฝ่พรรคใด (Independent voters) ฉะนั้น นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญแล้ว ประเด็นยาคุมกำเนิดหรือการให้บริการสุขอนามัยแก่สตรี น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มสตรีเหล่านี้ในการลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีในปีนี้ด้วย

 

 

*ผู้เขียนเป็นนักวิจัยอิสระ อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬา การผลิตซ้ำแนวคิดการแบ่งแยก

Posted: 28 Feb 2012 08:18 AM PST

 

                งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬา ครั้งที่ 68 จบลงแล้วอย่างสมบูรณ์ ในปีนี้ก็มีผู้เข้าร่วมอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษาปัจจุบันหรือที่จบไปแล้วของทั้งสองมหาวิทยาลัย ร่วมไปถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการไปซึมซับบรรยากาศของงาน ไม่ว่าจะเป็นการชมฟุตบอล บรรดาขบวนพาเหรด ผู้นำเชียร์ และที่เป็นไฮไลต์ของงานก็คงจะเป็นการแปรอักษรของแสตนด์เชียร์

                งานฟุตบอลประเพณีจัดขึ้น (โดยการกล่าวอ้างของทั้งสองฝ่าย) เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาของสองมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีการแข่งขันกันในหลายมิติ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากที่ได้ไปขึ้นแสตนด์เชียร์ของฝั่งธรรมศาสตร์ คือ งานนี้จะช่วยเชื่อมสัมพันธ์กันได้อย่างไร หรือจริงๆแล้วนี่เป็นการตอกย้ำว่าแนวคิดการแบ่งแยกและแข่งขันกันในสองมหาวิทยาลัยยังคงมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย

                ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ตาม งานฟุตบอลประเพณีคือการผลิตซ้ำแนวคิดของการแบ่งแยกของทั้งสองมหาวิทยาลัย ผู้เขียนขอยกคำพูดบางช่วง บางตอน ของกลุ่มกิจกรรมหนึ่งที่ได้เข้ามานำกิจกรรมในช่วงสั้นๆ ระหว่างการพักครึ่งของแสตนด์เชียร์ฝั่งธรรมศาสตร์

                “ยินดีต้อนรับเข้าสู่งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์- ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 68”  หรือ

                “แม้ว่ามหาวิทยาลัยของเราจะน้ำท่วมแต่ก็เปิดให้ประชาชนเข้ามาอยู่ ไม่เหมือนกับบางมหาวิทยาลัยที่ปิดประตูลงกลอนซะแน่นหนา”

                เมื่อผู้พูดกล่าวจบเ หล่านักศึกษาที่นั่งอยู่บนแสตนด์เชียร์ก็โห่ร้องลั่นด้วยความชอบใจ สะใจและภาคภูมิใจในความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนของตน ในขณะเดียวกัน ความรู้สึกเหล่านั้นก็ได้เบียดผลักให้อีกฝ่ายตกไปอยู่ในแดนของ “พวกเธอ” ที่ไม่ดี ไม่มีมาตรฐานเดียวกับ “พวกฉัน”  ไปโดยไม่รู้ตัว ความคิดประเภท “พวกฉัน” สิดี เสียสละ อุทิศตนเพื่อประชาชน แล้ว “พวกเธอ” ล่ะทำอะไรกันบ้าง พวกนักศึกษาชนชั้นผู้ดี แม้ว่าผู้พูดอาจจะพูดไปโดยความคึกคะนองเพื่อปลุกความฮึกเหิมของชาวเหลืองแดง แต่คำพูดย่อมสะท้อนออกมาจิตสำนึก คำพูดย่อมสะท้อนให้เห็นว่าคนผู้นั้นคิดอะไร และสะท้อนให้เห็นว่าผู้พูดได้รับการบ่มเพาะมาอย่างไร

                ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้การเชื่อมสัมพันธ์จะเกิดขึ้นจริงหรือ หรือก็เป็นเพียงแค่วาทกรรมจอมปลอมที่ใช้เป็นข้ออ้างให้การจัดงานฟุตบอลประเพณีดูมีสาระขึ้นมาบ้าง

                ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เหล่าปัญญาชนทั้งหลายจะละทิ้งแนวความคิดเดิมๆ ที่แบ่งแยกพรรคพวก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เลือดใหม่จะช่วยกันล้างแนวคิดเก่าๆ ให้หมดไป แล้วหันมาแข่งขันกันในเขิงสร้างสรรค์ ในทางที่จะช่วยพัฒนาให้สังคมไทยเจริญก้าวหน้าได้

                ฉันรักธรรมศาสตร์ แต่จำเป็นด้วยหรือที่ต้องไม่ชอบจุฬา? นี่คือสิ่งที่คนธรรมศาสตร์ต้องก้าวผ่านให้พ้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประเด็น “ทรงแทรกแซงการเมืองหรือไม่?” ที่ปรากฏในงานวิชาการและไม่ผิด ม.112

Posted: 28 Feb 2012 07:40 AM PST

เป็นไปได้ที่คุณอาจจะเป็น “อากง” คนต่อไป ถ้าเพียงแต่ปรากฏว่ามี “ข้อความหมิ่นฯ” ถูกส่งมาจากโทรศัพท์มือถือของคุณ และโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการ “พิสูจน์อย่างสิ้นสงสัย” ว่าคุณเป็นคนส่งข้อความนั้นเองหรือไม่ คุณก็อาจจะถูกตัดสินจำคุกถึง 20 ปี

และเป็นไปได้เช่นกันที่จะมีคนนำเอาข้อความบางข้อความที่คุณพูดหรือเขียนไปตีความว่า “หมิ่นฯ” และนำไปแจ้งตำรวจ แล้วตำรวจก็เอา “ความหมายที่ถูกตีความ” แล้วนั้นมาตั้ง “ข้อหาหมิ่นฯตาม ม.112”

หมายความว่า ข้อความตามหลักฐานที่เป็น “ภววิสัย” (objective) มี “ความหมายตามตัวอักษร” อย่างหนึ่ง ซึ่งถูกต้องตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่มีคนไปตีความให้มี “ความหมายตรงกันข้าม” ตาม “อัตวิสัย” (subjective) ของตนเอง แล้วเอา “ความหมายที่เป็นอัตวิสัย” นั้นไปแจ้งความ และตำรวจก็รับเอา “ความหมายที่เป็นอัตวิสัย” ดังกล่าวมาตั้งเป็น “ข้อกล่าวหาตามมาตรา 112” (ทั้งๆ ที่ตำรวจเองก็ทราบข้อมูลอยู่แล้วด้วยซ้ำว่า “ความหมายที่เป็นอัตวิสัย” นั้น มาจากคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ที่ตามด่าท้ายบทความของผู้ถูกกล่าวหาอย่างต่อเนื่องมานาน)

บทความนี้ผมจึงเขียนขึ้นเพื่อเป็น “บทเรียน” โดยหวังว่าในแวดวงวิชาการ และสังคมในวงกว้างจะได้เรียนรู้ร่วมกันว่า แม้แต่ “ความหมายที่ถูกตีความตามอัตวิสัย” นั้น ตรงกับข้อความที่มีการพูดถึง เขียนถึง หรือถกเถียงในทางวิชาการ ในสื่อต่างๆ หรือเผยแพร่อย่างเป็นสาธารณะ “อย่างถูกกฎหมายอยู่แล้ว” ยัง “ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีตาม ม.112” ได้ แล้วเราจะตั้งคำถามกับ “ระบบยุติธรรมไทย” กันอย่างไร?

เช่น สมมติว่าถ้ามีใครเสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอเชิงวิชาการใน “บริบท” ของการแสดงความคิดเห็นท้ายบทความทางวิชาการ ในเว็บไซต์ที่เสนอข่าวสาร บทความวิชาการต่างๆ อย่างถูกกฎหมาย (ไม่ใช่เว็บไซต์ที่ทำขึ้นอย่างผิดกฎหมายมุ่งโจมตีให้ร้ายสถาบันกษัตริย์) ว่า “...ต้องไม่แทรกแซงการเมือง” ซึ่งความหมายตามตัวอักษรที่เป็น “ภววิสัย” ของข้อความนี้ถูกต้องตามหลักการที่ว่า “สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง” อยู่แล้ว ดังความเห็นของ ศ.ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา นักวิชาการฝ่ายกษัตริย์นิยมเองที่เขียนไว้ในบทความชื่อ “สถาบันพระมหากษัตริย์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย” ตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ “รอยยิ้มของในหลวง” หน้า 226 ว่า

“ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2535 จึงบัญญัติว่า มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และกำหนดโดยปริยายว่า พระมหากษัตริย์จะต้องทรงอยู่เหนือการเมือง กล่าวคือ ต้องทรงวางพระองค์เป็นกลาง ไม่เข้ากับพรรคการเมืองใด การปรึกษาราชการแผ่นดินต้องทรงกระทำกับคณะรัฐมนตรี หรือคณะองคมนตรีเท่านั้น และจะต้องทรงปลีกพระองค์จากปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมือง คือไม่ทรงวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองในที่สาธารณะ

แต่บังเอิญมีคนไปตีความข้อความที่ถูกต้องตามหลักการอยู่แล้วนี้ให้มีความหมายตาม “อัตวิสัย” ของคนตีความนั้นเองว่า ผู้แสดงความเห็นข้างต้นมีเจตนาใส่ร้ายว่า “...แทรกแซงการเมือง” แล้วตำรวจก็นำ “ข้อความที่ถูกตีความตามอัตวิสัย” นั้น มาตั้งข้อหาดำเนินคดีตาม ม.112

คำถามที่ 1  การตั้งข้อหาในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกสูงมากตั้งแต่ 3-15 ปี ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่ารุนแรง ด้วยการยึด “หลักฐานที่เป็นอัตวิสัย” คือความหมายของข้อความที่ถูกตีความ มากกว่า “หลักฐานที่เป็นภววิสัย” คือ ความหมายของข้อความตามที่ปรากฏอยู่จริงอย่างตรงไปตรงมา เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่น

มาตรา 26 การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 29 การจำกัดสิทธิ เสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

คำถามที่ 2 เพื่อพิทักษ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพของประชาชน ก่อนตั้งข้อหาดำเนินคดีอาญาที่มีโทษรุนแรงขนาดนั้น ได้มีการศึกษาหรือไม่ว่า “ข้อความที่ตีความตามอัตวิสัย” นั้น มีการพูดถึง เขียนถึง และเผยแพร่อย่างเป็นสาธารณะอยู่แล้วโดยไม่ได้ผิดตาม ม.112 แต่อย่างใด  

สิ่งที่ผมจะ “ยกตัวอย่าง” มาให้เห็นคือประเด็นว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแทรกแซงการเมืองหรือไม่?” เป็นประเด็นที่พูดถึงได้ในทางวิชาการ และมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะมานานแล้ว และมีอยู่อย่างมากมายแล้ว ทั้งเป็นงานวิชาการของนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้า นักวิชาการฝ่ายกษัตริย์นิยม รวมทั้งมีการเผยแพร่ข้อความที่ว่า “พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงแทรกแซงการเมือง” ในหนังสือที่ทำขึ้นเพื่อ “เทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน” อีกด้วย

ขอยกมาให้เห็นบางตัวอย่าง เช่น (1) มีการอ้างถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ (2) มีการเผยแพร่บทความทางวิชาการโดยนักวิชาการชาวต่างชาติที่ตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (3) มีการเผยแพร่บทความในหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ และ (4) มีการถกเถียงในเรื่องการแทรกแซงเผยแพร่ต่อสาธารณะอยู่แล้ว ดังรายละเอียดโดยสรุป

(1) มีการอ้างถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เช่นที่สายชล สัตยานุรักษ์ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรมความเป็นไทย เล่ม 2” [1] หน้า 9 ความตอนหนึ่งว่า

“ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก่อการรัฐประหาร โดยเรียกประชุมคณะทหารในเวลา 18.00 น. และเริ่มปฏิบัติการยึดอำนาจในวันที่ 16 นั้น ปรากฏว่าในคืนเดียวกันได้มีพระบรมราชโองการประกาศผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง และได้มีการตีพิมพ์พระบรมราชโองการดังกล่าวใน ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 76 เล่มที่ 74 วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 โดยไม่มีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ความว่า

 

เนื่องด้วยปรากฏว่ารัฐบาลอันมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหารซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้ได้ และทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ข้าพเจ้าจึงขอแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

การมีประกาศพระบรมราชโองการทางวิทยุในทันทีที่การรัฐประหารเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่การดำเนินการรัฐประหารเริ่มขึ้นในตอนกลางคืน น่าจะเป็นสาเหตุทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เกิดความเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงสนับสนุนการก้าวขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์อย่างเต็มที่...”

 

จะเห็นได้ว่า ข้อความข้างบน โดยเฉพาะที่ขีดเส้นใต้ที่ว่า โดยไม่มีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และที่ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เกิดความเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงสนับสนุนการก้าวขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์อย่างเต็มที่ เป็น “เรื่องราวทางประวัติศาสตร์” ที่มีการกล่าวถึงในแวดวงวิชาการอย่างเป็นสาธารณะอยู่แล้ว

 

(2) มีการเผยแพร่บทความทางวิชาการ โดยนักวิชาการชาวต่างชาติ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยไม่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว เช่น หนังสือชื่อ Network Monarchy and legitimacy crises in Thailand โดย Duncan McCargo ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยลีดส์ ตีพิมพ์ลงใน : The Pacific Review, Vol. 18 No. 4 December 2005: 499-519 [2] ดังข้อความในบทคัดย่อตอนหนึ่งว่า

 

“…การเมืองไทยสามารถถูกเข้าใจได้ดีที่สุดในรูปเครือข่ายทางการเมือง เครือข่ายชั้นแนวหน้าในช่วง 2516-2544 มีศูนย์กลางอยู่ที่พระราชวัง ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่า "เครือข่ายกษัตริย์" (network monarchy) เครือข่ายกษัตริย์เกี่ยวพันกับการแทรกแซงการเมืองของพระมหากษัตริย์ไทยและตัวแทนของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีเปรม ติณสูลานนท์ เครือข่ายกษัตริย์ได้สร้างอิทธิพลขนาดมหาศาล แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จจนถึงขั้นครอบงำประเทศ...”

 

(3) มีการเผยแพร่บทความในหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติที่มีข้อความเกี่ยวกับการแทรกแซงทางการเมือง เช่น บทความชื่อ “พระทรงธำรงไว้ซึ่งขันติธรรม” โดย Anthony Bailey ในหนังสือ “รอยยิ้มของในหลวง”[3] เช่น

 

หน้า 189 ว่า “...แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าการเข้าแทรกแซง หรือไม่เข้าแทรกแซงของพระองค์ ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยเหล่าผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตก…”

 

หน้า 190 ว่าเป็นที่กล่าวกันว่ามิใช่คนทั้งโลกจะรักและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงกระทำผิดพลาดหลายครั้ง รัฐบาลบางรัฐบาลในช่วงระยะเวลาการครองราชย์ของพระองค์ก็มิได้มาตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำพระองค์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก่งแย่งทางการเมืองมากกว่าหนึ่งครั้ง...”

 

และหน้า 191 “สำหรับการแทรกแซงทางการเมืองของพระองค์นั้น ก็ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างของผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากการเข้าแทรกแซงวิกฤตทางการเมืองของพระองค์สองครั้งในปี พ.ศ.2516 และ พ.ศ.2535 ได้นำมาซึ่งความนิยมและความเคารพนับถือในตัวพระองค์...”

 

(4) มีการถกเถียงในเรื่องการแทรกแซงเผยแพร่ต่อสาธารณะอยู่แล้ว เช่น คำถามของผู้สื่อข่าวบีบีซีและคำให้สัมภาษณ์ของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี บทสัมภาษณ์ดังกล่าวนี้ (คำแปล) เป็นบทสัมภาษณ์ที่นายอานันท์ ปันยารชุน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลังจากแนะนำหนังสือชื่อ “The King of Thailand in World Focus”  เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550 ณ โรงแรมโอเรียนเต็ล ต่อมาถูกนำมาตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ “รอยยิ้มของในหลวง” ในหัวข้อ “พระมหากษัตริย์ที่ดีและยิ่งใหญ่” หน้า 113-121 ความบางตอนว่า

 

โจนาธาน เฮด จากบีบีซี:

ผมสังเกตว่าเมื่อคุณพูดถึงความสำเร็จต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความสำเร็จประการหนึ่งก็คือ การแทรกแซงของพระองค์มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสงบและความกลมเกลียวของสังคม...ผมทราบมาว่ามีคนจำนวนไม่น้อยตำหนิสุภาพบุรุษท่านหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังปราบปลื้มกับการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลระดับยอดของบริติชพรีเมียร์ลีก ว่าเป็นต้นเหตุของความร้าวฉานส่วนใหญ่ในสังคม ผมชักจะสงสัยว่า สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากจนเกินกว่าที่พระองค์จะมีส่วนธำรงความสามัคคีของสังคมไว้ได้ ปัจจุบันสังคมได้ก้าวไปไกลมาก และปัญหาก็ซับซ้อนเกินจะเยียวยาด้วยการแทรกแซงของพระองค์แล้ว (หน้า 114)

 

นายอานันท์ ปันยารชุน กล่าวตอบความตอนหนึ่งว่า

...เรื่องซึ่งชาวต่างชาติมองว่าพระองค์แทรกแซงผมขอแยกออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นการแทรกแซงที่ริเริ่มโดยบุคคลผู้นั้นเอง ในกรณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวการแทรกแซงเป็นการเข้าไปโดยมีผู้ร้องขอ...(หน้า 115)

..นี่แหละที่ผมเห็นว่าเป็นการขัดแย้งในตัวเองของผู้สื่อข่าวและผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศ ทางหนึ่งพวกคุณตำหนิพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ว่าแทรกแซงอีกทางหนึ่งคุณก็คล้อยตามคนไทยและอาจจะไม่รู้ตัวว่ายังต้องการพึ่งพระราชอำนาจของพระองค์อยู่...ถ้าหากพวกคุณไม่ต้องการให้พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แทรกแซง การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อไปไม่แทรกแซงจะไม่ถูกต้องได้อย่างไร...(หน้า 118)

เนื้อหาโดยรวมของบทสัมภาษณ์ดังกล่าว เป็นการกล่าวถึงสถานะ บทบาท พระราชอำนาจ ของพระมหากษัตริย์ในบริบทสังคม-การเมืองไทยในรัชกาลปัจจุบันตามที่เป็นมาและเป็นอยู่ โดยเฉพาะบางส่วนมีการพาดพิงถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองช่วง 19 กันยายน 2549 ด้วย ดังจะเห็นได้ว่าผู้สื่อข่าวถามตรงๆ ถึงการแทรกแซงของพระองค์ และนายอานันท์ก็พูดตรงๆ เช่นกันว่า ในกรณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวการแทรกแซงเป็นการเข้าไปโดยมีผู้ร้องขอ และว่า พวกคุณตำหนิพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ว่าแทรกแซง หรือ ถ้าหากพวกคุณไม่ต้องการให้พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แทรกแซง นี่คือการพูดถึงพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันตรงๆ ว่ามีการตำหนิว่าพระองค์แทรกแซง

 

สรุปส่งท้าย “ปริศนาระบบยุติธรรม”
จะเห็นว่า ประเด็น “ทรงแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่?” เป็นประเด็นที่มีการนำเสนอ แลกเปลี่ยน ถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลในทางวิชาการที่เผยแพร่อย่างเป็นสาธารณะอยู่แล้ว โดยไม่ผิด ม.112 แต่อย่างใด

หมายความว่า หากเป็นการพูดถึง เขียนถึง แสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าวด้วยเหตุด้วยผล มีหลักฐานข้อเท็จจริงเชิงวิชาการรองรับ หรือสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการ เหตุผลตามหลักวิชาการ และอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการตามที่รับธรรมนูญรับรองก็ย่อมไม่ผิดตาม ม.112 เว้นเสียแต่ว่าเป็นการมุ่งให้ร้ายโจมตี ใส่ร้าย หยาบคาย เสียๆ หายๆ ที่บ่งชี้ถึง “การมีเจตนาอย่างชัดแจ้ง” ว่า เป็นการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย” จริงๆ

คำถามจึงมีว่า เหตุใดระบบยุติธรรมจึงยังมีการบังคับใช้ ม.112 เอาผิดกับ “ข้อความที่มีความหมายตรงไปตรงมาตามตัวอักษรอย่างเป็น “ภววิสัย” ที่ถูกต้องตามหลักการอยู่แล้ว” แต่ “ถูกตีความ”ให้มีความหมายตาม “อัตวิสัย” ของผู้ตีความ และแม้แต่ความหมายตามอัตวิสัยที่ตีความมานั้นก็ตรงกับความหมายของข้อความตามที่เผยแพร่อย่างถูกกฎหมายอยู่แล้ว ดังตัวอย่างที่ยกมา

 

ข้อกล่าวหาที่เป็น “อัตวิสัย” ในลักษณะดังกล่าวนี้ จะถือว่าเป็น “ข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ” ได้หรือไม่? ฝากท่านผู้รู้ทางกฎหมายโปรดช่วยกันวินิจฉัยด้วยครับ เพื่อเป็น “บรรทัดฐานที่ถูกต้อง”ต่อไป!

และเมื่อต้องเผชิญกับการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ ยิ่งทำให้ผมนึกถึง ปาฐกถาของ ศ.ธงชัย วินิจจะกูล เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมาทีพูดตอนหนึ่งว่า “...สังคมไทยใช้มาตรา 112 ให้เป็นมากกว่ากฎหมายมาตราหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เป็นเครื่องมือทำลายจิตวิญญาณของเสรีชน...”

และนึกถึงคำพูดของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามและ Royalist ที่มีจุดยืนชัดเจนเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันบนพื้นฐานของการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทยและสื่อมวลชนต่างชาติ ต่อมานำมาตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือชื่อ “รากงอกก่อนตาย”[4] ความตอนในหน้า 283-284 ว่า

“...สิทธิมนุษยชนนั้นสำคัญสำหรับคนทั้งโลก แต่เมืองไทยในขณะนี้ไม่เคารพทั้งรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน...แล้วยังมีคดีล่าสุดที่มีหมายเรียกอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ ซึ่งข้อเสนอของอาจารย์ ไม่มีข้อไหนโจมตีว่าร้ายสถาบันแต่อย่างใด ถ้ารัฐบาลนี้ฉลาดก็ควรออกมาจัดการระงับคดีต่างๆ ทั้งหมด เพราะแม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังรับสั่งว่าคดีหมิ่นทำร้ายพระองค์ท่าน”

และดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ความว่า

"แต่อย่างไรก็ตาม เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทางหนึ่งต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยนี่พูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ว่าวิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีที่เข้าคุก เดือดร้อนพระมหากษัตริย์"

คำถามของประชาชนผู้รัก “ประชาธิปไตย” และ “ความยุติธรรม” อย่างแท้จริง จึงมีว่า

จิตสำนึก ประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบของระบบยุติธรรมไทยต่อการบังคับใช้ ม.112 ตามที่เป็นอยู่นี้ (1) ยึดการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่? (2) ใช้เป็นเครื่องมือทำลาย “จิตวิญญาณเสรีชน” หรือไม่? (3) ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่? และ (4) แม้กระทั่งได้สร้างความเดือดร้อนแก่ “องค์พระมหากษัตริย์” เอง หรือไม่ เมื่อข่าวการบังคับใช้กฎหมายอย่าง “ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน” และทำลาย “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของประชาชนถูกตีแผ่ไปทั่วโลก?

 

 

อ้างอิง
[1] สายชล สัตยานุรักษ์.คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรมความเป็นไทย เล่ม 2.กรุงเทพฯ:มติชน,2550.

[2] อ่านฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.ingentaconnect.com/content/routledg/rpre/2005/00000018/0000004/art00

[3] สำนักข่าวเจ้าพระยา.รอยยิ้มของในหลวง.ลำพูน: ณัฐพลการพิมพ์.มปป.

[4] ส.ศิวรักษ์.รากงอกก่อนตาย.กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์,2555.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิจัยรับ ‘แบบจำลอง’ คดีโลกร้อนต้องปรับ ส่วนชาวบ้านชวน กสม.ร่วมฟ้องกลับ ‘ป่าไม้-อุทยานฯ’

Posted: 28 Feb 2012 06:19 AM PST

กรรมการสิทธิฯ เรียกกรมอุทยาน-กรมป่าไม้ชี้แจงคดีโลกร้อนจี้นักวิจัยทำข้อจำกัดของงานศึกษา เสนอใน 2 สัปดาห์ ด้านนักวิชาการป่าไม้ ชี้ข้อท้วงติง พร้อมเสนอให้เก็บข้อมูลคุณค่าในภาคเกษตรด้วย

 
จากการที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) และกรมป่าไม้ แจ้งความดำเนินคดีทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้าน โดยคำนวณจาก ‘แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม’ ที่ระบุความเสียหาย อาทิ การทำให้โลกร้อน ทำให้น้ำสูญเสีย ฝนตกน้อยลง ดินและแร่ธาตุสูญหาย ฯลฯ สร้างความสงสัยให้ชาวบ้านผู้ถูกดำเนินคดี ว่าวิถีเกษตรกร ที่นอกจากประสบปัญหาการประกาศเขตป่าทับที่ทำกิน แล้วยังถูกกล่าวหาโดยงานศึกษาทางวิชาการว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระดับโลกได้อย่างไร
 

การคิดคำนวณค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการบุกรุกทำลายพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
 
มีรายละเอียดดังนี้
1.ค่าเสียหายที่ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น คิดเป็นมูลค่า 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี 
2.
ค่าเสียหายทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ คิดเป็นมูลค่า 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี 
3.
ค่าเสียหายทำให้ฝนตกน้อยลง คิดเป็นมูลค่า 5,400 บาทต่อปี
4.ค่าเสียหายทำให้ดินสูญหาย คิดเป็นมูลค่า 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี 
5.
ค่าเสียหายการสูญหายของธาตุอาหาร คิดเป็นมูลค่า 4,064.15 บาทต่อไร่ต่อปี
6.ค่าเสียหายทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน คิดเป็นมูลค่า 600 บาทต่อไร่ต่อปี
7.
ค่าเสียหายทางตรงจากการทำลายป่าแต่ละประเภท ประกอบด้วย การทำลายป่าดงดิบ คิดเป็นมูลค่า 61,263.36 บาทต่อไร่ต่อปี การทำลายป่าเบญจพรรณ คิดเป็นมูลค่า 42,577.75 บาทต่อไร่ต่อปี การทำลายป่าเต็งรัง คิดเป็นมูลค่า 18,634.19 บาทต่อไร่ต่อปี
 
 
ข้อมูลของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ระบุปัจจุบันมีสมาชิก คปท.ถูกกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่ง ด้วยข้อหาทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม (คดีโลกร้อน) ตามมาตรา 97 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จำนวนทั้งสิ้น 34 ราย ค่าเสียหายรวมกว่า 13 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมเกษตรกรอื่นๆ ทั่วประเทศที่ถูกดำเนินคดีแบบเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย
 
 
วันนี้ (28 ก.พ.55) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เชิญกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ เข้าให้ข้อมูลและพิจารณาตรวจสอบเรื่องร้องเรียน กรณีการนำแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาคิดค่าเสียหายกับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเขตป่าสงวน แห่งชาติ และพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของกรมป่าไม้ โดยมีผู้เกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการ และตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยที่ประสบความเดือดร้อน จำนวนราว 30 คน จากทั่วประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมให้ข้อมูลด้วย
 
การร่วมให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการฯ ในกรณีดังกล่าวถือเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งล่าสุดนี้มีการเชิญอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เข้าชี้แจงในประเด็นเชิงนโยบาย แต่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมและไม่ได้มีการส่งตัวแทนมาชี้แจงแต่อย่างใด
 
'นักวิจัย' ย้ำทำเกษตรเปิดพื้นที่โล่ง ก่อผลกระทบจริง
 
นายพงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) ผู้คิดแบบจำลองฯ ที่ถูกนำไปใช้เรียกค่าเสียหายในกระบวนการยุติธรรม ชี้แจงว่า จากการประชุมในครั้งที่ผ่านมาได้นำข้อท้วงติงต่างๆ กลับไปศึกษาเพิ่มเติม พร้อมให้ข้อมูลว่าจากที่เคยมีการศึกษามาแล้วการทำเกษตรที่เกิดการเปิดโล่งของพื้นที่ ทำให้เกิดผลกระทบกับดินและเกิดการชะล้างหน้าดินจริง อีกทั้งการทำการเกษตรในพื้นที่ป่าที่มีความลาดชันสูงก็ส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำมากกว่าเดิมถึงร้อยละ 20
 
ส่วนเรื่องอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ได้มีทำการศึกษาเพิ่มเติมโดยใช่งบประมาณและอุปกรณ์จากญี่ปุ่นในการเก็บข้อมูลอุณหภูมิในความสูง 3 ระดับ โดยตั้งเสาเพื่อบันทึกข้อมูลอัตโนมัติทุกชั่วโมงตลอดทั้งวัน ในพื้นที่บ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่ป่าไผ่ใน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี พบว่าอุณหภูมิมีการแกว่ง และมีความแตกต่างกันเล็กน้อย อย่างไรก็ตามต้องกลับไปทำการศึกษาต่อเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน
 
รับแบบจำลองต้องปรับปรุง แต่ระเบียบราชการแก้ทันทีไม่ได้
 
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวตอบข้อทักท้วงกรณีแบบจำลองฯ ต่อที่ประชุมว่า ยอมรับว่าแบบจำลองดังกล่าวมีส่วนที่ต้องแก้ไข และพยายามที่จะทำให้ถูกต้องมากที่สุด แต่ไม่สามารถทำเพื่อให้นำไปใช้ได้เลย เนื่องจากระบบราชการมีขั้นตอน ดังนั้นจึงจะขอปรับในครั้งเดียว
 
ผู้คิดแบบจำลองฯ กล่าวด้วยว่า การประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มี 4 ข้อ คือ 1.ค่าเสียหายทำให้น้ำสูญเสีย 2.ค่าเสียหายทำให้ดินสูญหาย 3.ค่าเสียหายการสูญหายของธาตุอาหาร และ 4.ค่าเสียหายต่อความสมดุลของพลังงาน ที่เอาอุณหภูมิเป็นตัวชี้วัด ซึ่งไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายโลกร้อนดังที่มีการเรียกกันในปัจจุบัน
 
ด้านตัวแทนจากกรมป่าไม้ ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ยังยึดหลักการเดิม ไม่มีการดำเนินการอะไรเพิ่มเติม
 
นักวิชาการป่าไม้ ชี้ข้อท้วงติง พร้อมเสนอให้เก็บข้อมูลคุณค่าในภาคเกษตรด้วย
 
นายสมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาป่าไม้  กล่าวว่า ปัญหาในเรื่องป่าไม้ของไทย คือ มีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง และคนได้รับข้อมูลที่ผิด อีกทั้งมีนิทานโกหกจำนวนมาก สำหรับแบบจำลองฯ ดังกล่าว การใช้พื้นที่หน้าตัดของต้นไม้เป็นมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพังทลายของดินนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากการควบคุมการพังทลายของดินขึ้นนอยู่กับวัสดุที่อยู่ชั้นล่าง เช่น พืชคลุมดิน หรือก้อนหิน เป็นต้น ซึ่งแบบจำลองที่ดีควรต้องเอาปัจจัยที่สำคัญมาใช้ อีกทั้งการทำลายดินไม่ใช่การทำลายป่าแต่อยู่ที่วิธีการใช้ที่ดิน
 
นอกจากนี้ การเปรียบเทียบอุณหภูมิของพื้นที่ป่ากับพื้นที่โล่งนั้น หากโลกร้อนขึ้นอุณหภูมิของทั้งพื้นที่ป่าและพื้นที่โล่งก็ต้องเพิ่มขึ้นเหมือนๆ กัน การนำสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นนี้มาใช้คิดค่าเสียหายกับชาวบ้านถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง 
 
ด้านนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูป (คปร.) และอดีตนักวิชาการป่าไม้ระดับ 7 กรมป่าไม้ กล่าวถึงข้อเสนอว่า อยากให้มีการทำงานวิจัยเพื่อหามูลค่าจริงของพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะแปลงเกษตรอินทรีย์ และสวนสมรม ซึ่งอาจมีคุณค่าในเชิงระบบนิเวศน์ที่มากพอที่ทำให้ผลผลิตและระบบนิเวศน์อยู่ได้ อีกทั้งในกลไกการเพาะปลูกเมื่อมีการใช้ธาตุอาหารก็มีการเติมธาตุอาหารลงไปในดินด้วย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการถางป่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยว และการใช้สารเคมีนั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์จริง แต่ก็ไม่ได้มีข้อมูลว่าพื้นที่ที่ถูกคิดค่าเสียหายในแต่ละแปลงนั้นมีการใช้ที่ดินอย่างไร และถูกทำให้สูญเสียอย่างไรบ้าง
 
นายเพิ่มศักดิ์ เสนอต่อมาว่า อยากให้ นายพงษ์ศักดิ์เขียนข้อเสนอถึงกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขของข้อมูลต่างๆ ในแบบจำลองฯ เพราะตรงนี้มีปัญหาการนำไปใช้มาก เนื่องจากผู้นำไปใช้ต้องการใช้เพื่อทำให้ชาวบ้านหลาบจำ ซึ่งอาจผิดวัตถุประสงค์ของผู้ทำวิจัย เพื่อทำให้ผู้ที่จะนำไปใช้ได้รู้ และทบทวนว่าจะนำไปใช้ดีหรือไม่
 
กรรมการสิทธิฯ จี้นักวิจัยทำข้อจำกัดของงานศึกษา เสนอใน 2 สัปดาห์
 
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประธานการประชุม กล่าวเปรียบเทียบว่า แบบจำลองดังกล่าวเปรียบเหมือนยาที่มีการคิดค้นเพื่อให้กรมอุทยานนำไปใช้ประโยชน์ แต่ยาดังกล่าวกลับถูกนำไปใช้กับชาวบ้านและส่งผลกระทบอย่างมากมาย ดังนั้นจึงอยากให้นายพงษ์ศักดิ์ในฐานะนักวิชาการที่เป็นเจ้าของงานวิจัยเขียนสรุปข้อจำกัดให้ชัดเจน เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อน โดยทำส่งให้กับอธิบดีกรมอุทยานและคณะอนุกรรมการฯ ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์
 
“ยาก่อนปล่อยออกไปได้ต้องมั่นใจว่าปลอดภัย ไม่เช่นนั้นมันก็จะไปฆ่าคนอื่น” นายแพทย์นิรันดร์กล่าว
 
เตรียมเรียกอธิบดีกรมอุทยานเข้าแจงอีกครั้ง
 
นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวต่อมาว่า คณะอนุกรรมการฯ จะทำหนังสือเชิญเชิญถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ อีกครั้ง เพื่อให้เข้ามาชี้แจงในเชิงนโยบายต่อกรณีที่แบบจำลองฯ ถูกนำมาใช้ โดยไม่ผ่านกระบวนการที่เป็นธรรม ซึ่งการเชิญมาไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาโดยฝ่ายบริหารนั้นง่ายกว่าการขึ้นศาล แต่หากอธิบดีกรมอุทยานฯ ยังไม่มาให้ข้อมูลก็จะมีการเขียนรายงานเสนอต่อ กสม.
 
 
ร้องกรรมการสิทธิฯ ร่วมกับชาวบ้าน ฟ้อง ‘กรมอุทยาน-กรมป่าไม้’ ละเมิดสิทธิฯ
 
ด้านนายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กล่าวว่า แบบจำลองฯ ดังกล่าว ถูกนักวิชาการหลายท่านลงความเห็นแล้วว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ระบบเกษตรที่เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านไม่ได้ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนดังที่ถูกกล่าวหา แต่แบบจำลองฯ ถูกนำมาใช้สร้างความเดือดร้อน ทำลายชีวิต ทำลายครอบครัวของชาวบ้านคนยากคนจน ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงอยากขอให้ กสม.ดำเนินการฟ้องร้องกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ร่วมกับประชาชน
 
ตัวแทนชาวบ้านแจงผลกระทบ ‘คดีโลกร้อน’ ทำบ้านแตกสาแหรกขาด
 
นางกันยา ปันกิติ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า งานศึกษาของนักวิชาการตกเป็นเครื่องมือของกรมอุทยานฯ ที่มาทำให้พี่น้องคนจนได้รับความเดือดร้อน หลายคนต้องบ้านแตกสาแหรกขาด บางคนคิดมากจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย จากการที่ถูกกรมอุทยานฯ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายว่าการเป็นเกษตรกรทำให้โลกร้อน ทั้งที่เป็นการทำการเกษตรในที่ดินมรดกตกทอดจากปู่ย่าตายาย เกษตรกรหลายคนต้องถูกจับ ถูกฟ้องร้อง จากการโค่นต้นยาง ทั้งที่มันเป็นวิถีในการเพาะปลูก ไม่ใช่การโค่นป่าดงดิบ
 
“งานวิชาการของท่านทำให้เรากลายเป็นผู้ต้องหาของโลกมันดีแล้วหรือ” นางกันยากล่าว
 
นางกันยา ตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดเกษตรกรจึงถูกฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาทำให้โลกร้อนในปัจจุบัน ทั้งที่ทำการเกษตรกันมายาวนาน การทำเกษตรหรือความเจริญต่างๆ ทั้งถนน ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ อะไรกันแน่ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
 
ส่วนนางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิต ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ตั้งข้อสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของงานศึกษาแบบจำลองฯ ไม่มีความชัดเจน จากที่เดิมระบุว่าเพื่อการนำเงินมารักษาป่า แต่ขณะนี้กลับนำมาใช้คิดค่าเสียหายจากชาวบ้าน และจากข้อท้วงติงในทางวิชาการชัดเจนว่าแบบจำลองฯ มีความบกพร่องและมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ซึ่งการแก้ไขเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แต่ผลกระทบจำนวนมากที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ตามจรรยาบรรณนักวิชาการจะมีการรับผิดชอบตรงนี้อย่างไร และจะมีการปรับแก้ ยกเลิก หรือชะลอการบังคับใช้ได้หรือไม่ 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แม่'น้องเกด' ยื่นหนังสือเชิญกองทัพร่วมงานเผาศพ 'ลุงคิม'

Posted: 28 Feb 2012 05:19 AM PST

พะเยาว์ อักฮาด มารดาของ “พยาบาลเกด” ยื่นซองเชิญพล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา เข้าร่วมงานฌาปนกิจศพ ‘ฐานุทัศน์ อัศวศิริมั่นคง’ ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมคนล่าสุด ชี้ทหารต้องขอโทษประชาชน ไม่ปรองดองจนกว่าจะเปิดความจริง 

28 ก.พ. 55 – ราว 11.00 น. ณ บริเวณหน้ากองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมราว 15 คน จากเครือข่ายกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายญาติวีรชน นำโดยพะเยาว์ อักฮาด มารดาของกมนเกด อักฮาด พยาบาลผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในเดือนพ.ค. 53 จัดการชุมนุมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ เรียกร้องความรับผิดชอบจากทหารต่อเหยื่อที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง โดยได้ยื่นเอกสารเชิญพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเหล่าทหาร มาร่วมงานฌาปนกิจศพฐานุทัศน์ อัศวศิริมั่นคง หรือ “ลุงคิม” ผู้เสียชีวิตคนล่าสุดจาการสลายการชุมนุมในปี 53

IMG_1967

พะเยาว์ อักฮาด กล่าวว่า เหตุที่เดินทางมาในวันนี้ ก็เพื่อเรียกร้องให้มีการนำความจริงของการสลายการชุมนุมปี 53 ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชน และนำผู้ที่กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงให้ทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด กล่าวขอโทษต่อประชาชน

“ตอนนี้รัฐบาลกำลังพูดถึงคำว่าปรองดองๆ แต่ทำไมไม่มีใครพูดว่า ก่อนที่จะมาปรองดองนี่ความจริงมันต้องปรากฏขึ้นมาก่อน ไม่มีใครพูดถึงเรื่องความจริงเลย จะให้ความจริงมันตายไปเลยหรือไง” พะเยาว์กล่าว 

สัมภาษณ์พะเยาว์ อัคฮาด "แม่น้องเกด" ก่อนยื่นการ์ดเชิญกองทัพบก (ที่มา: Prachatai/youtube)

พะเยาว์ อัคฮาดยื่นการ์ดเชิญกองทัพบกร่วมงานณาปนกิจนายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง (ที่มา: Bus Tewarit)

ทั้งนี้ ฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง วัย 55 ปี ซึ่งถูกกระสุนปริศนาเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 53 ระหว่างเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยงานสวดอภิธรรมศพของฐานุทัศน์ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น 6 วันตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. และมีกำหนดฌาปนกิจศพในวันที่ 29 ก.พ. 55

 

IMG_1993

IMG_1990

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จำคุก 20 ปี “สนธิ ลิ้มทองกุล” ผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ได้ประกันแล้ว

Posted: 28 Feb 2012 01:33 AM PST

28 ก.พ.55 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีคำพิพากษาจำคุกนายสนธิ  ลิ้มทองกุล จำเลย เป็นเวลา 20 ปี  ฐานผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ กรณีรับรองเอกสารในฐานะกรรมการบริษัทอันเป็นเท็จเพื่อให้บริษัทที่ตัวเองถือ หุ้นอยู่ไปกู้เงินกับธนาคารกรุงไทยฯ จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยศาลลงโทษจำคุกรวม 17 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 85 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 42 ปี 6 เดือน  แต่ตามกฎหมายลงโทษสูงสุดได้ไม่เกิน 20 ปี โดยคดีนี้ศาลไม่รอลงอาญา

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เวลา 15.30 น. นายสนธิได้ลงมาที่ใต้ถุนศาล เพื่อรอยื่นเรื่องขอประกันตัวออกไป.

ต่อมาเวลา 17.45 น. เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า ศาลมีคำสั่ง ให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายสนธิ พร้อมจำเลยร่วม โดยตีราคาประกันคนละ 10 ล้านบาท พร้อมรายงานรายละเอียดคดีว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำ อ.1036/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย , นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ,น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ. แมเนเจอร์ฯ และ น.ส.วยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 311, 312 (1) (2) (3) , 313

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2539 - วันที่ 31 มี.ค.2540 จำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมทำสำเนารายงานการประชุมของกรรมการบริษัทที่เป็นเท็จว่ามีมติให้ บริษัท เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยจำเลยที่ 1 และ 3 ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบ

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2539 - 18 พ.ย.2541 จำเลยทั้งยังร่วมกันยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงตัดทอนทำบัญชีไม่ตรงกับความเป็น จริง และจำเลยทั้ง 4 ยังไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวซึ่งถือเป็นรายการที่ทำให้ราย ได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เปลี่ยนแปลงผิดปกติ ซึ่งต้องแสดงรายการไว้ในงบการเงินประจำปี 2539-2541 และจะต้องนำส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ รวมทั้งเป็นการลวงให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้รับรู้ถึงการค้ำประกันหนี้ดังกล่าว เหตุเกิดที่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา และแขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กทม. เกี่ยวพันกัน ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้ง 4 แล้ว รับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันทำสำเนารายงานการประชุมกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ โดยลงชื่อรับรองสำเนาเพื่อแสดงว่ามีกรรมการของบริษัทร่วมประชุมมีมติให้ บริษัทค้ำประกันเงินกู้ บมจ.เดอะเอ็ม กรุ๊ปฯ ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย โดยสำเนารายการดังกล่าวเป็นเท็จ ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีได้รายงานกับ กลต. ว่าในช่วงปีที่ผ่าน กรรมการของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ ไม่ได้มีการประชุมเรื่องดังกล่าว ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 4 ได้นำสำเนาเท็จดังกล่าวไปแสดงต่อธนาคารกรุงไทย โดยหลงเชื่อและยินยอมให้ บมจ.แมเนเจอร์ฯค้ำประกันหนี้ กระทั่งธนาคารกรุงไทยมอบเงินกู้และเงินเบิกเกินบัญชีให้แก่ บมจ. เดอะเอ็มกรุ๊ปฯ รวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 1,078 ล้านบาท อันเป็นการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตที่ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุม

นอกจากนี้จำเลยที่ 1, 3 และ 4 ยังลงข้อความในเอกสารของบริษัททำบัญชีโดยไม่ครบถ้วน ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ด้วยการไม่นำภาระการค้ำประกันหนี้ลงในรายการภาระหรือรายได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เพื่อจัดส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และ กลต. เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ที่ควรได้ ที่เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อประโยชน์ของ บมจ.เดอะเอ็มกรุ๊ปฯ ที่ทำให้เกิดความเสียหาย กับผู้ถือหุ้นและกรรมการคนอื่นของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ และธนาคาร กรุงไทย

ส่วนที่จำเลยทั้ง 4 ขอให้รอการลงโทษ ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 4 ทำให้บริษัทต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันในเงินกู้ที่เป็นหนี้จำนวนมาก ซึ่งทำให้บริษัท ผู้ถือหุ้น และกรรมการคนอิ่นของบริษัท รวมทั้ง ธนาคารกรุงไทย ต้องได้รับความเสียหาย ในภาระผูกพันหนี้สินดังกล่าว ขณะที่ บมจ.แมเนเจอร์ฯ ต้องนำผลกำไรไปชดใช้หนี้สินแทน ส่วนที่จำเลยทั้ง 4 นำสืบว่า ธนาคารกรุงไทย ได้รับความเสียหาย เนื่องจากธนาคารยอมรับชำระหนี้จาก บมจ.แมเนเจอร์ฯ เพียง 259 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ ธนาคารกรุงไทย จะเรียกจากผู้ค้ำประกันรายอื่นนั้น ศาลเห็นว่า แม้การให้สินเชื่อดังกล่าวจะมี บมจ.แมเนเจอร์ฯ ทำสัญญาค้ำประกันไว้ แต่เมื่อธนาคาร กรุงไทย ไม่ได้รับชำระหนี้อย่างครบถ้วนสิ้นเชิง ก็ถือว่าธนาคารกรุงไทย ได้รับความเสียหายแล้ว ส่วนที่บริษัท และบุคคลอื่นจะยินยอมชำระหนี้ให้ธนาคารมากน้อยเพียงใดในภายหลังนั้น ไม่ได้หมายความว่าธนาคารกรุงไทยจะไม่ได้รับความเสียหาย ขอนำสืบของจำเลยทั้ง 4 จึงไม่สมเหตุสมผลไม่มีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ความผิดตามฟ้องมีบทลงโทษให้จำคุก ตั้งแต่ 5 - 10 ปี และปรับเป็นเงินจำนวน 2 เท่าของราคาทรัพย์สิน แต่ไม่ต่ำกว่าจำนวน 5 แสนบาท ถือว่ากฎหมายได้บัญญัติอัตราโทษไว้สูง และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ยังมีเจตนารมณ์ให้ลงโทษผู้กระทำผิดในข้อหาต่างๆ สถานหนักดังนั้นพฤติการณ์แห่งคดี จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษจำเลยทั้ง 4

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1และ3 มีความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตเป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย โดยร่วมกันกระทำการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ , ร่วมกันไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท และร่วมกันทำบัญชีไม่ครบถ้วนไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อลวงให้บริษัท และผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ การกระทำของจำเลยที่ 1และ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และ ประมวลกฎหมายอาญา 83,91 รวมจำคุก 17 กระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นเวลา 85 ปี

 ส่วนจำเลยที่ 2 ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 4 กระทำความผิดรวม 13 กระทง ลงโทษกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 65 ปี จำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพเป็นโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นเวลา 42 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 4 จำคุก 32 ปี 6 เดือน แต่โทษสูงสุดในความผิดฐานดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี จึงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 , 3 และ 4 คนละ 20 ปี

โดยให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีหมายเลขแดง อ.5068/2550 ที่หมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี คดีหมายเลขแดง อ.1241/2550 ที่หมิ่นประมาทนายภูมิธรรม เวชชยชัย อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ที่ศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน และคดีหมายเลขแดง อ.3356/2552 ที่หมิ่นประมาท นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน

ส่วนจำเลยที่ 2 ให้นับโทษต่อจากคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ หมายเลขแดง อ.2318/2554 ศาลอาญา หมายเลขแดง อ.2990/2552 และคดีที่ศาลจังหวัดเชียงราย หมายเลขแดง อ.823/2551

นอกจากนี้มติชนออนไลน์ ยังเผยแพร่วิดีโอการให้สัมภาษณ์ของนายสนธิด้วย โดยระบุว่าจะยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทย พร้อมเดินเข้าศาล โดนลงโทษเบ็ดเสร็จ 85 ปี และลดเหลือ 20 ปี เพราะกฎหมายไม่ให้เกิน 20 ปี ผมขอใช้สิทธิ์อุทธรณ์ให้ศาลเมตตาเพราะคดีของตนไม่ใช่ยาเสพย์ติด ปล้น ฆ่าผู้คน เป็นคดี พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ และคดีนี้ไม่มีโจกท์ร่วม และผมยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน และอดขำไม่ได้ตอนศาลอ่านคำพิพากษา (ดูคลิปที่นี่)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิพากษาจำคุก 7 ปีครึ่ง “สุรชัย แซ่ด่าน” ยังเหลืออีก 2 คดี

Posted: 27 Feb 2012 09:01 PM PST

 

เจ้าหน้าที่ศาล ภรรยาและนายสุรชัย ขณะที่เดินเข้าห้องพิจารณาคดีเพื่อฟังคำพิพากษา

28 ก.พ.55 ที่ห้องพิจารณาคดี  801 ศาลอาญา รัชดา เวลา 10.45 น. ผู้พิพากษา นำโดยนายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ พร้อมองค์คณะนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการฟ้องนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) อายุ 69 ปี กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ใน 3 คดี  ซึ่งเป็นการปราศรัยใน 3 จุด ได้แก่ อิมพีเรียล ลาดพร้าว, อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และ จ.อุดรธานี  ซึ่งนายสุรชัยได้ร้องขอต่อศาลให้พิจารณาพร้อมกันทั้งหมดและได้รับสารภาพในทุกคดีแล้ว ทั้งนี้ ในวันนี้มีผู้เข้าฟังผลการตัดสินจนเต็มห้องพิจารณาคดี

ศาลได้อ่านคำพิพากษาแต่ละคดีโดยไม่ได้อ่านทวนเนื้อหาที่โจทก์ฟ้อง ระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับการสืบเสาะแล้วเห็นว่าแม้จะกระทำความผิดขณะอายุ 68 ปี แต่จำเลยมีบทบาททางการเมืองมายาวนาน และจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เคยเป็นสมาชิก อบจ.นครศรีธรรมธรรม เป็นผู้มีวุฒิภาวะ อีกทั้งช่วงเกิดเหตุสังคมกำลังมีความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวยิ่งทวีความขัดแย้งให้มากขึ้น และเป็นการให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์

ศาลพิพากษา ลงโทษจำคุกจำเลยใน 3 คดี คดีละ 5 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือคดีละ 2 ปี 6 เดือน  ศาลระบุอีกว่า เนื่องจากจำเลยเคยต้องโทษมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่หลาบจำ ไม่สมควรรอการลงโทษ คงเหลือโทษจำคุกทั้งสิ้น  7 ปี 6 เดือน

“ผมมีประสบการณ์การเมืองมา 40 ปี ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้จะไม่พูดได้อย่างไร และเราก็เลี่ยงที่สุดแล้ว คดีทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจากการพูดที่ผมได้เลี่ยงที่สุดแล้ว จะให้ทำอย่างไร” นายสุรชัยให้สัมภาษณ์พร้อมระบุด้วยว่าผลการตัดสินในวันนี้ก็ถือว่าศาลเมตตา

นายคารม พลพรกลาง ทนายความจำเลย กล่าวว่า หากอัยการไม่อุทธรณ์ก็ถือว่า 3 คดีนี้จบ แต่ยังเหลือคดีของ สน.วังทองหลางอีกที่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน หากส่งฟ้องเมื่อไรนายสรุชัยก็เตรียมจะรับสารภาพ ส่วนอีกคดีคือ คดีของ สน.ชนะสงคราม ซึ่งจำเลยตัดสินใจสู้คดี เพราะเห็นว่ามีการตีความความผิด เกินเลยไปจากความเป็นจริง และจะมีการสืบพยานกันในวันที่ 5-8, 12-15 มิ.ย.55

ทั้งนี้ นายสุรชัยถูกจับกุมเมื่อกลางดึกวันที่ 22 ก.พ.54 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพจนวันพิพากษา โดยทนายได้ยื่นประกันตัวหลายครั้งแต่ศาลปฏิเสธ ขณะที่นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัยเคยให้สัมภาษณ์ว่านายสุรชัยมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เป็นโรคประจำตัว ทั้งความดัน  เบาหวาน เส้นเลือดหัวใจอุดตัน และต่อมลูกหมากอักเสบ จึงตั้งใจจะรับสารภาพเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น