โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักข่าวพลเมือง: จี้ กฟผ. เปิดข้อมูลเขื่อนไชยะบุรี

Posted: 04 Feb 2012 05:00 AM PST

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ภาคอีสาน จัดเวทีผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลัก  จี้ กฟผ. เปิดข้อมูลสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนไชยะบุรี จาก สปป.ลาว
 
 
วันนี้ (4 ก.พ.) เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ภาคอีสาน ได้จัดเวทีผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลัก กรณีเขื่อนไชยะบุรีใน สปป.ลาว ของ บริษัท ช.การช่าง (มหาชน) จำกัด โดยมีตัวแทนจาก คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ลงมาร่วมรับฟังข้อมูล และศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
 
การจัดเวทีได้นำเสนอข้อมูลผลการวิจัยไทบ้าน 10 หมู่บ้านในตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักในช่วงหลังปี 2535 เป็นต้นมา โดย นายอำนาจ  ไตรจักร นักวิจัยไทบ้านตำบลพระกลางทุ่งสรุปให้ฟังพอคร่าวๆ จากผลการวิจัย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงหลังจากการสร้างเขื่อนในจีนได้ส่งผลกระทบ และสร้างความเสียหายแก่ชุมชนลุ่มน้ำโขงที่สำคัญ คือ จากการสำรวจข้อมูล 47 ครัวเรือน ทำให้พื้นที่การเกษตรกรรมริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เกษตรกรปลูกพืชผักในช่วงฤดูแล้ง มีมูลค่าความเสียหายในปี 2553/54 กว่า 800,000 บาท และครัวเรือนที่ทำการประมงพื้นบ้าน 20 ครอบครัวได้รับผลกระทบมีมูลค่าความเสียหาย 700,000 บาท/ปี จากการไม่สามารถจับปลาได้ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงที่ขึ้นลงไม่ปกติตามฤดูกาล นอกจากนี้ กระแสน้ำจากการปล่อยน้ำไม่สม่ำเสมอทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง และกัดเซาะตลิ่งพังทำให้พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่เพาะปลูกถูกทำลาย 31 ไร่ มูลค่าเสียหาย 3.7 ล้านบาท โดยไม่ได้รวมมูลค่าการเสียโอกาสที่เกษตรกรไม่ได้ทำมาหินในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 20 ปี หากรวมพื้นที่เสียหายจากการ
 
ต่อมา นายสุรจิต  ชิรเวทย์ สว. และรองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้กล่าวถึงรายงานผลการตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการฯ ว่า การก่อสร้างอะไรลงไปในลำน้ำสายหลัก ตัวน้ำโขง เราได้มีข้อตกลงภายใน 4 ประเทศ ที่ได้ลงนามกันไว้เมื่อปี 2538 ข้อตกลงนี้เป็นการบังคับว่า ถ้าจะทำอะไรลงไปจะต้องได้รับฉันทามติเป็นเอกฉันท์จากสี่ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และโครงการสร้างเขื่อนไชยะบุรี เป็นหนึ่งใน 12 โครงการ และโครงการนี้เป็นโครงการแรกที่มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูล ซึ่ง กรรมาธิการฯ วุฒิสภา หลังจากได้รับการร้องเรียนจากพี่น้อง จึงลงมาศึกษาข้อมูล ตรวจสอบข้อเท็จจริง กระบวนการขั้นตอน ความโปร่งใส และไดกระทำไปชอบด้วย หรือไม่ ดังนั้น ทั้งสี่ประเทศนี้ให้เป็นบรรทัดฐานร่วมกันในการทำงาน งานนี้เป็นงานแรกใครจะละเมิดก็เป็นที่วิตกกังวล โดยเฉพาะข้อวิตกกังวลในเรื่องถ้ามีผลกระทบข้ามพรมแดนใครจะรับผิดชอบ เพราะการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงมีผลกระทบข้ามพรมแดนแน่ โครงการนี้เริ่มต้นกันมาหลายรัฐบาล และการสร้างเขื่อนไชยะบุรีเป็นการลงทุนของเอกชนเข้าไปตกลงกับรัฐบาลลาวเข้าไปลงทุนศึกษาข้อมูล ต่อมาในปี 2553 ลาวมีความประสงค์จะสร้างเขื่อนนี้ ก็มีคณะกรรมการร่วม และมีตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปร่วมในกระบวนการ ในกรณีประเทศไทยต้องใช้กฎหมายไทยที่ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น แต่สามารถขยายเวลาได้ตามความเหมาะสม จึงมีเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนแค่ 3 เวที แต่ผลกระทบต่อลำน้ำสาขา เช่น ลำน้ำสงคราม มูล ชี ไม่ได้มีเวทีครอบคลุม จึงมีข้อกังวลต่อผลกระทบในด้านต่างๆ ภายหลังจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง แต่รัฐบาลลาวยืนยันจะสร้างแม้ว่าชาติอื่นๆ ไม่เห็นด้วย และให้ยืดระยะเวลาออกไป เพื่อศึกษาผลกระทบให้รอบด้านก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ผ่านกระบวนการที่เป็นมติเอกฉันท์ 4 ชาติที่ประชุมเมื่อวันที 8-9 ธันวาคม 2554 ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ที่ผ่านมา
 
ในระหว่างการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ปรากฏว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ไปทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนไทยที่เข้าไปลงทุนในลาว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2554 ที่ สปป.ลาว ทั้งๆ ที่ มติ ครม. เมื่อปี 2553 ให้ทำสัญญาได้ภายใต้เงื่อนไข และกระบวนการตามมติของชาติทั้ง 4 ตามข้อตกลงปี 2538 จึงมีคำถามจากเครือข่ายภาคประชาชน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขงต่อ กฟผ. ที่ไปทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเอกชนไทยในลาวได้อย่างไร โดยไม่ปรึกษาขอความเห็นจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐาน เลขาฯ ของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ที่กระบวนการ ขั้นตอน การทำงานยังไม่ถึงที่สุด เหตุไฉนทาง กฟผ. จึงไปเซ็นต์สัญญาก่อนได้อย่าง ทั้งที่กระบวนการของ MRC ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการอยู่ สว.สุรจิต ชิรเวทย์ กล่าวทิ้งท้าย
 
ดร.โอภาส ปัญญา อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความเห็นต่อโครงการเขื่อนไชยะบุรี ว่า ผมต้องยกย่องชมเชยชาวบ้านที่ทำการศึกษาปัญหาผลกระทบนี้ และเราต้องยกระดับการต่อสู้ ความรู้ คือ อำนาจ โลกสมัยใหม่การต่อสู้ต้องต่อสู้ด้วยการตั้งคำถามให้ถูก อย่าไปติดยึดเทคนิคเล็กๆ ให้ตั้งคำถามหลักให้คนฟังใหญ่ๆ ไปคิด คำถามข้อที่หนึ่ง กระบวนการลงนามเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล หรือไม่ การเป็นมาของโครงการไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องทางนโยบาย เช่น รัฐบาล MRC ธนาคาร และ ช.การช่าง ข้อที่สองผลกระทบเชิงนิเวศทั้งระบบ ข้อที่สอง ท่านจะยอมรับข้อมูลจากท้องถิ่นได้หรือไม่ที่เป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ข้อที่สาม ผลกระทบวิถีชีวิต ความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชนที่เป็นประเด็นสำคัญของโลก ข้อสี่ การพัฒนา (ไฟฟ้า) กับ การทำลายความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชนท้องถิ่น รัฐจะเลือกยืนอยู่ฝ่ายไหน ข้อสุดท้าย ในเชิงสากล ธนาคารโลก ได้ประกาศยุติการสนับสนุนการสร้างเขื่อน เพราะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์ และสร้างความขัดแย้งภายในสังคมประเทศนั้นๆ เพราะฉะนั้นชาวบ้านเราต้องยกระดับการต่อสู้ให้เขาตอบโจทย์เรา และคำถามเหล่านี้เป็นคำถามเชิงยุทธศาสตร์
 
ในขณะเดียวกัน คุณมนตรี  จันทวงศ์ อนุกรรมาธิการฯ มีคำถามไปยัง กฟผ. คือ ทำไมต้องเร่งรีบลงนามในวันที่ 29 ตุลาคม 2554 ทั้งที่น้ำท่วม กทม. และเป็นวันหยุด ยังไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน และมติ ครม. เองก็ไม่ได้มีความชัดเจนในการอนุญาตให้ลงนามซื้อ-ขายไฟฟ้าจากเอกชนไทยในลาวได้ เพราะกระบวนการยังไม่สิ้นสุดตามมติของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ความเร่งรีบเพราะประโยชน์ทับซ้อนในการลงทุนในลาว หรือไม่ เนื่องจากการร่วมลงทุนในบริษัทลูกของ กฟผ. 
 
ทางด้าน นายสมภพ  เนตรไลย์ ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ได้กล่าวปิดท้ายเวทีเสวนาว่า ผมคิดว่าวันนี้ชาวบ้านเราถูกหลอก พากเราทำงานนี้สู้เพื่อสาธารณะ ไม่ได้สู้เพื่อเรา ทาง กฟผ. ทำเช่นนี้สร้างความแตกแยก และกระแสการต่อต้านรุกทวีคูณมากขึ้น งานนี้ต้องมีการตายเกิดขึ้นถึงจะยุติ เราต้องต่อสู้เพื่อลูกเพื่อหลานเราต่อไป... นั่นคือเสียงกร้าวของแกนนำเครือข่ายฯ ทิ้งท้ายงานเสวนาวันนี้
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สส.เพื่อไทย อัด "สมคิด" ห้าม "นิติราษฎร์" เคลื่อนไหวใน มธ. เหมือนเติมเชื้อไฟ

Posted: 04 Feb 2012 04:29 AM PST

สงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ชี้"สมคิด" ห้าม "นิติราษฎร์" เคลื่อนไหวใน มธ. เหมือนผลักดันออกสู่นอกรั้ว เพิ่มเติมเชื้อไฟ “ประชา” ย้ำรัฐบาลไม่สนับสนุนแนวคิดนิติราษฎร์ แก้ ม.112 กกต.ไม่เห็นด้วย "นิติราษฎร์" เคลื่อนไหวกระทบสถาบัน วอนพูดกันด้วยเหตุผล

 
4 ก.พ. 55 - มติชนออนไลน์รายงานว่านายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาลัยธรรมศาสตร์มีมติเอกฉันท์ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไปว่า ในฐานะนักเคลื่อนไหว มองว่าคณะนิติราษฏร์ไม่ผิดเพราะเขาเคลื่อนไหวอยู่แต่ในรั้วของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ว่าไม่มีคนเชิญเขาไปบรรยายที่ไหน หรือเสวนาที่ไหน แต่ตนเชื่อว่าคณะนิติราษฏร์ต้องการที่จะเคลื่อนไหวอยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น อย่าลืมว่านายสมคิดมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 และแสดงท่าทีปกป้องการแก้รัฐธรรมนูญปี 50 มาโดยตลอด
 
นายสงวน กล่าวอีกว่า การที่นายสมคิดทำเช่นนี้เพื่อต้องการผลักดันให้การเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฏร์ออกมาสู่นอกรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายและเกิดการล้มรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิไตยใช่หรือไม่ นายสมคิดรับใช้เผด็จการมาโดยตลอด และกำลังจะเอามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มารับใช้คณะปฏิวัติ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เมื่อมีการเคลื่อนไหวข้างนอกคนเสื้อแดงก็จะออกมาแล้วคนเสื้อแดงก็จะถูกฆ่าอีก
 
“พล.ต.อ.ประชา” ย้ำรัฐบาลไม่สนับสนุนแนวคิดนิติราษฎร์ แก้ ม.112
 
4 ก.พ. 55 - สำนักข่าวไทยรายงานว่าพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึง การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม. 112  ว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่าจะไม่แตะต้องกฎหมายดังกล่าวและไม่สนับสนุนคนกลุ่มใดหรือกลุ่มนิติราษฎร์
 
“เรื่องดังกล่าวเป็นความคิดส่วนบุคคล ยอมรับว่าในสังคมความคิดต่างกันได้ เพราะบ้านเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่เชื่อว่าความขัดแย้งกรณีนี้ไม่น่ามีความรุนแรง ทุกอย่างมีเหตุผล มีกรอบการแสดงความคิดเห็น น่าจะยุติได้ ไม่บานปลาย” พล.ต.อ.ประชา กล่าว
 
กกต.ไม่เห็นด้วย "นิติราษฎร์" เคลื่อนไหวกระทบสถาบัน วอนพูดกันด้วยเหตุผล
 
4 ก.พ. 55 - มติชนออนไลน์รายงานว่านายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ถึงบทบาทของ กกต.ต่อการเมืองไทยในปัจจุบันว่า ตั้งแต่ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดออกมา คนในประเทศและต่างประเทศต่างยอมรับผลการเลือกตั้ง และคิดว่าบรรยากาศทางการเมืองน่าจะไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนความขัดแย้งระหว่างคนในสังคมมีบ้าง ซึ่งในประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ไม่คิดว่าน่าจะมีความรุนแรงที่เกินขอบเขตของกฎหมาย
 
ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะมีการกระทำที่กระทบต่อสถาบันในฐานะที่ได้รับทุนจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อยากให้ทุกฝ่ายพุดคุยกันด้วยเหตุผล และเห็นว่าสถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่ารัฐบาลควรแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก่อน เช่น การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ รวมถึงปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในขณะนี้

 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่ อีกหลักฐานคู่รัฐปาตานี?

Posted: 04 Feb 2012 12:38 AM PST

ปอเนาะศาลลูกไก่นราฯ โชว์คัมภีร์อัลกุรอาน อายุ 200 - 680 ปี ของเก่าสมัยรัฐปาตานี อีกหลักฐานคู่ประวัติศาสตร์ชายแดนใต้?

คัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่อายุ 680 ปี ที่เชื่อว่าใช้ในการซุมเปาะของกษัตริย์ปาตานีในอดีต

 

ข้อความในคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่เล่มหนึ่งซึ่งเขียนด้วยลายมือ

 

ประชาชนเข้าชมคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่ที่เจ้าของเปิดให้ชมเพียงปีละครั้ง

 

นายลุตฟี หะยีสาแม ผู้จัดการโรงเรียนสมานมิตรวิทยา ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

งานมหกรรมวิชาการครั้งที่ 3 ของโรงเรียนสมานมิตรวิทยา หรือปอเนาะศาลาลูกไก่ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555 ไม่แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา แต่ที่พิเศษหน่อยก็ตรงที่มีของเก่าที่ไม่ธรรมดามาโชว์ 

ดังนั้น จุดสนใจของงานจึงไม่ได้อยู่ที่กิจกรรมบนเวทีกับนิทรรศการนักเรียน แต่อยู่ที่ห้องเล็กๆ ภายในอาคารบริหาร ซึ่งเป็นห้องที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมชนิดหนึ่ง เป็นห้องที่จัดแสดงคัมภีร์โบราณเขียนด้วยลายมือจำนวน 8 เล่ม อายุตั้งแต่ 200 ถึง 860 ปี บางเล่มมีสภาพเปื่อยยุ่ยบางส่วน

ทว่า เล่มที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมมากที่สุด แม้แต่พวกทหาร ก็คือเล่มที่ถูกใส่กรอบกระจกครอบไว้ และมีข้อความเขียนเป็นภาษามลายูอักษรยาวีแปะไว้ อธิบายว่า “....เป็นคัมภีร์อัลกุรอานที่ใช้ในการสาบานตน (ซุมเปาะ) ของข้าราชการในราชสำนักฟาฏอนีย์”

ข้อความอธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่ที่เขียนด้วยลายมือ (ศตวรรษที่ 8 ของฮิจเราะห์ศักราช) มีอายุประมาณ 680 ปี ปกเป็นหนังและผ้าไหม ส่วนกระดาษนำมาจากจีน มีการเขียนลวดลายมลายูรูปดอกชบา หรือ บูหงารายา เดิมนำมาจากวังของกษัตริย์ฟาฏอนีย์(ปาตานี)

“ผมได้คัมภีร์เก่าแก่เล่มนี้จากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ผมทราบว่ามีเล่มนี้อยู่ที่ชาวบ้านคนหนึ่ง จึงติดต่อขอรับบริจาคจากเจ้าของเดิมและได้มาในที่สุด” นายลุตฟี หะยีสาแม ผู้จัดการโรงเรียนสมานมิตรวิทยา เล่าถึงการได้มาครอบครองคำภีร์อัลกุรอ่านเก่าแก่เล่มนี้

ลุตฟี ระบุว่า มีการเล่าต่อๆ กันมาว่า เป็นคัมภีร์ที่ใช้ประกอบพิธีการสาบานตน เพื่อเข้ารับตำแหน่งของข้าราชการของรัฐปาตานีต่อหน้ากษัตริย์ในอดีต และเป็นเล่มเดียวกับที่ใช้มาตั้งแต่ซุลต่าน มูซัฟฟาร์ ชาห์ กษัตริย์คนแรกของรัฐปาตานี สำหรับคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่ที่เป็นของดินแดนปัตตานีมีทั้งหมด 3 เล่ม ที่นำมาจัดแสดง 

ส่วนเล่มอื่นที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน คือเล่มที่มาจากแคว้นฮาดอรอเมาท์ ประเทศเยเมน มีอายุเก่าแก่ที่สุดประมาณ 860 ปี และเป็นเล่มแรกที่ลุตฟี หะยีสะแม ได้ครอบครองมาด้วยความบังเอิญ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่า ตนเองไม่ใช่นักสะสมของเก่า และไม่ใช่คนชอบเล่นของขลัง และการได้มาของคัมภีร์โบราณก็ยังแปลกมาด้วย

คำอธิบายของคัมภีร์เล่มนี้ ระบุว่า นักปราชญ์ชาวอาหรับที่มาเผยแพร่ศาสนาและค้าขายเป็นผู้นำมาในดินแดนมลายู จากนั้นได้ตกไปอยู่ในมือของนักปราชญ์ชาวอาเจะห์ จากนั้นถูกย้ายไปยังมาเลเซียและมาที่ดินแดนปัตตานีในที่สุด

ลุตฟี อธิบายว่า คัมภีร์อัลกุรอานเล่มที่เก่าแก่ที่สุดเล่มนี้ เขียนโดยช่างชาวอาหรับเยเมน ตนได้มาจาก Tang Sri Abu Syahid เศรษฐีชาวมาเลเซีย ที่เกาะบัสเราะห์ เมืองกวนตัน รัฐปาหัง ขณะเดินทางไปขอรับบริจาคเงินสร้างอาคารเรียนเมื่อหลายปีก่อน โดยเจ้าของฝันว่า ให้มอบคัมภีร์เล่มนี้ให้โต๊ะครูปอเนาะศาลาลูกไก่ เพื่อประเมินคุณค่าและเป็นประโยชน์กับปอเนาะ

“คืนก่อนที่เศรษฐีคนนั้นจะเรียกผมไปพบ เขาเล่าว่า ฝันเห็นชายคนหนึ่งมาบอกให้มอบของมีค่าให้ผู้มาเยือนจากดินแดนปัตตานี ซึ่งหมายถึงผมแล้วจะประสบความสำเร็จทางการงาน”

“เมื่อได้มาแล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ กษัตย์ของประเทศบรูไนดารุสลาม ได้เรียกผมให้เข้าเฝ้า เนื่องจากทราบว่า ผมได้ครอบครองคัมภีร์อัลกุรอานเล่มนั้น พระองค์ต้องการให้ผมมอบคัมภีร์อัลกุรอานเล่มนั้นแต่ผมปฏิเสธ เพราะต้องการให้เป็นสมบัติของชาวปัตตานีสืบไป”

ไม่เพียงเท่านั้น หลังการเข้าเฝ้ากษัตริย์แห่งบรูไน ลุตฟียังได้พบกับชายคนหนึ่งและได้มอบน้ำหอมชนิดหนึ่ง ชื่อว่า ซะอฺฟารอน ซึ่งลุตฟีบอกว่า ถ้าพากลับปัตตานีจะได้คัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่อีกหลายเล่ม

“จากนั้นผมได้ติดต่อเจรจาขอคัมภีร์อัลกุรอานโบราณอีกหลายเล่มจากเจ้าของในเมืองบันดาอาเจะห์ และสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และจากเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ตามที่ผมทราบมาว่ามีคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่อยู่ ซึ่งเจ้าของก็ยอมมอบให้ แต่ต้องแลกด้วยการบริจาคเงินจำนวนไม่มากเกินไปเป็นการตอบแทน ซึ่งผมเองก็ไม่คาดฝันว่าจะได้ ถือเป็นความเป็นสิริมงคลที่อัลลอฮฺมอบให้”

หลังจากข่าวการได้คัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่เผยแพร่ไปหลายเดือน ปรากฏว่ามีนักโบราณคดีจากประเทศตุรกีเดินทางมาขอชม และให้นำรวบรวมเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แห่งโลกมุสลิมในพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศตุรกี 

ทว่า ลุตฟีปฏิเสธ นักโบราณคดีตุรกีจึงขอเพียงนำไปบูรณะโดยเคลือบสารพิเศษป้องกันความเสียหาย แล้วจะส่งคืนให้ชาวปัตตานีต่อไป เพื่อป้องกันมิให้เสื่อมโทรมลงไปมากกว่านี้

อีกทั้งยังเสนอจะสร้างพิพิธภัณฑ์คัมภีร์โบราณไว้ที่โรงเรียนแห่งนี้ด้วย รวมทั้งจะพิสูจน์อายุที่แท้จริง เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

“อัลกุรอานเป็นสมบัติร่วมของชาวมุสลิมทั่วโลก ทางตุรกีจึงเสนอมาช่วยบูรณะซ่อมแซม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะผมก็ไม่รู้ว่าจะดูแลรักษาอย่างไร”

ทว่า สิ่งที่ลุตฟี ห่วงและกังวลมากที่สุด คือ กลัวว่าคัมภีร์โบราณกับน้ำหอมเก่าแก่ จะตกไปอยู่ในมือนักแสวงโชค จึงต้องการให้มีพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะของพวกนี้ย่อมเป็นที่ต้องการของนักแสวงโชคจากของเก่า จึงเปิดให้ชมเพียงปีละครั้งเท่านั้น

ขณะที่เจ้าตัวยืนยันว่า อย่างอารมณ์ดีว่า “ผมไม่เล่นของแบบนั้นอยู่แล้ว”

ลุตฟี บอกด้วยว่า ตอนนี้ ทั่ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่ที่เขียนด้วยมืออยู่อีกหลายเล่ม แต่ที่สำรวจพบแหล่งที่อยู่แล้ว 5 เล่ม คาดว่าภายในหนึ่งเดือนจะทราบผลว่าเจ้าของจะบริจาคให้ได้หรือไม่ เพราะห้ามซื้อขาย และคาดว่าน่าจะยังมีอีก แต่ยังกระจัดกระจายอยู่ตามบ้านเรือนของชาวบ้าน

ลุตฟี เล่าว่า เจ้าของบางคนเก็บรักษาไว้อย่างไม่เป็นระเบียบ แค่ห่อผ้าแล้วสอดไว้ในตู้เท่านั้น ซึ่งน่าเสียดายว่า อาจทำให้เสียหายได้ และน่าเป็นห่วงว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะสูญหายไปด้วย 

“จากการติดตามของผม พบว่า ถ้าเทียบอายุของคัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่มีอยู่ในประเทศมุสลิมแถบตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ยังไม่มีเล่มไหนที่มีอายุเก่าแก่กว่าของปัตตานี ยกเว้นที่อาเจะห์ จึงทำให้หลายประเทศในแถบนี้อยากได้คัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของตน เพราะพวกเขารู้สึกว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่สมบูรณ์หากไม่มีคัมภีร์อัลกุรอานเก่าเก็บไว้”

ลุตฟี บอกว่า ที่อาเจะห์มีคัมภีร์อัลกุรอานโบราณหลายเล่ม พอๆ กับของดินแดนปัตตานี แต่ใช้วัสดุที่แตกต่างกัน ที่นั่นมีการเก็บรวบรวมไว้อย่างดี เพราะมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งรวบรวมวัตถุโบราณในท้องถิ่นไว้ แต่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มี แต่หากกรมศิลปากรของไทยจะเอาไปก็คงไม่ยอมเช่นกัน

“ตั้งแต่ผมได้ครอบครองคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่หลายเล่ม ยังไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่สงสัยว่า ครอบครองเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่ใช้ในการปลุกระดมหรือไม่ ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเป็นคัมภีร์อัลกุรอาน แต่ถ้าเป็นคัมภีร์อื่นก็ไม่แน่...”

ขึ้นชื่อว่าของเก่าแก่ใครๆ ก็สนใจอยู่แล้ว ยิ่งเป็นคัมภีร์ที่ถือเป็นธรรมนูญชีวิตของชาวมุสลิมด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีคนสนใจอยากมาดูชมอยู่แล้ว เพราะมีหลายคนที่รู้ข่าว ถึงขนาดเช่าเหมารถมาไกลเพื่อมาชมคัมภีร์โบราณโดยเฉพาะ

อย่างนางสือเมาะ บาฮา ถึงกับอุตสาห์ขับรถจักรยานยนต์มาจากอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ที่อยู่ไกลออกไปเกือบร้อยกิโลเมตร เพื่อมาชมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณครั้งนี้ หลังจากทราบข่าวจากรายการวิทยุ

สือเมาะ คิดว่า คงจะดีไม่น้อย ถ้าจะมีพิพิธภัณฑ์อนุรักษ์คัมภีร์สำคัญระดับโลกไว้ในดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้ไว้ให้ชื่นชม และภาคภูมิใจ

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตอบเทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ: เลิก “นั่งเทียน” ในงานวิเคราะห์เสียที

Posted: 04 Feb 2012 12:30 AM PST

เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ ไม่ควรใช้วุฒิทางการศึกษา “ดร” นำหน้าชื่อ เพราะการให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2455 ทางสถานีโทรทัศน์  ASTV ชี้ชัดว่า เทียนชัย “นั่งเทียนเขียน” เกี่ยวกับอภิมหายุทธศาสตร์ (grand strategy) ของสหรัฐฯ ซึ่งอิงจินตนาการมากกว่าการวิเคราะห์ในเชิงวิชาการ จุดมุ่งหมายของนายเทียนชัยอยู่ที่การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ รวมถึงความพยายาม “ล้างสมอง” นักศึกษาไทยโดยผ่านทางสถาบันศึกษาที่มีชื่อของสหรัฐฯ ผมมีความเห็นว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง ไทยก็ไม่ด้อยไปกว่าสหรัฐฯ ในเรื่องการล้างสมองนักศึกษาของเรา โดยเฉพาะการยบังคับให้เชื่อในเรื่องปาฏิหารย์ของผู้นำเราเอง

ผมขอตอบโต้ในแต่ละประเด็นที่นายเทียนชัยได้ให้สัมภาษณ์ไว้ ในฐานะที่ผมได้รับการศึกษาทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (และเคยรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศมาก่อน) ผมมีความเห็น ดังนี้

 

1. เป็นเรื่องจริงที่ได้เกิดการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะโลกในยุคหลังสงครามเย็นในปัจจุบัน การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปลายทศวรรษที่ 1980 นำไปสู่การเกิดขึ้นของโลกระบบหลายขั้ว ที่มีสหรัฐฯ เป็นอภิมหาอำนาจ ในบริบทของเอเชียนั้น จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของภูมิภาค (พร้อมด้วยอินเดีย) และได้พยายามสร้างเขตอิทธิพลของตนเองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ พิสูจน์ให้เห็นได้จากการที่จีนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกรอบความร่วมมืออาเซียน เพราะในที่สุดแล้ว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ “backyard” ของจีน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากจีนต้องการผลประโยชน์หลายๆ ด้านจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมกระบวนการเติบโตของจีนเอง หรือที่เรียกว่า China’s rise ไม่ว่าจะเป็นความต้องการในแง่วัตถุดิบ ความต้องการครอบครองตลาดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในแง่การเมืองที่จีนต้องการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ (และเพื่อต้องการสร้างพลังการต่อรองในประเด็นการอ้างกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ เป็นต้น) สำหรับสหรัฐฯ นั้น ได้ถอนตัวออกไปจากภูมิภาคนี้ตั้งแต่ช่วงสงครามเวียดนาม หลังจากสงครามเย็น สหรัฐฯ หันไปให้ความสนใจกับภูมิภาคอื่น และในจุดหนึ่ง ได้หันไปให้ความสนใจกับการเมืองภายในมากกว่าการต่างประเทศด้วยซ้ำ (นำไปสู่การมองว่า สหรัฐฯ หันกลับไปใช้นโยบายโดดเดี่ยวตัวเอง หรือ isolationism) ยิ่งหลังจากเหตุการณ์ 9/11 แล้ว ความสนใจของสหรัฐฯ เปลี่ยนไปที่โลกมุสลิมในตะวันออกกลางเป็นหลัก นโยบายที่เปลี่ยนผันนี้ได้ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้สึกว่า ไม่ได้รับความสนใจจากผู้นำสหรัฐฯ มากนัก มีบ่อยครั้งที่สหรัฐฯ ไม่ส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมการประชุมกับอาเซียน (อาทิ การกระชุม ASEAN Regional Forum) ดังนั้น เมื่อประธานาธิบดี Obama ประกาศที่จะให้ความสนใจกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง (ดังที่เห็นจากการเดินทางมาเยือนภูมิภาคนี้ถึงสองครั้ง การเข้ารวมลงนามใน Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC กับอาเซียน และการเข้าเป็นสมาชิกของ East Asia Summit หรือ EAS เมื่อปีที่ผ่านมา) นักวิเคาระห์จึงมองว่า นี่คือการกลับมาของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้อีกครั้งหนึ่ง หรือ US’s re-engagement  with Southeast Asia

 

2. การกลับมาครั้งนี้นำไปสู่การแข่งขันกันระหว่างสองมหาอำนาจ กล่าวคือ ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยมีประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเดิมพัน ผมได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจนี้ ในวารสาร Southeast Asian Affiars (2011) มีสาระดังนี้

Ian Bremmer has rightly observed that the United States and China are growing dangerously hostile towards one another. He questioned: Could this be worse than the Cold War?The fact that the “list of irritants” in Sino-U.S. relations has grown in past years seems to validate Bremmer’s point. For example, throughout 2010, burgeoning bilateral tensions almost led to a trade and currency war. U.S. Treasury Secretary Timothy Geithner claimed that China’s refusal to rapidly increase the value of its currency was hurting America’s economic recovery. Rejecting the claim, Chinese leaders stressed that the United States was wrong to blame China for its own economic woes.On top of this, the United States accused China of failing to protect the intellectual property of foreign companies. But economic issues were not the only flash points in Sino-U.S. relations. The two countries disagreed on sanctions against Iran over its nuclear programme. The United States kept a watchful eye on the power transition in North Korea — a country which has enjoyed a special relationship with China. Meanwhile, China criticized the United States for interfering in the Sino-Japanese dispute over the ownership of the Diaoyu/Senkaku islands — the issue that stole the limelight during the 17th ASEAN Summit in Hanoi in late October 2010. In the Southeast Asian context, the United States was uneasy about the closeness between the Chinese leaders and their counterparts in Myanmar. Besides, the resurgence of the territorial disputes in the South China Sea, which involve China, Taiwan, and four members of ASEAN — Vietnam, Malaysia, Brunei, and the Philippines — has threatened peace and security in the region. The United States perceived developments in the South China Sea as a threat to its own interests: the right to freely navigate the area of disputes. U.S. Secretary of State Hillary Clinton called the conflict “a leading diplomatic priority” for the United States during the ASEAN Regional Forum (ARF) meeting in Vietnam in July 2010.[i]

 

อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ของเทียนชัยเกี่ยวกับการห้ำหั่นระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพื่อชิงความเป็นเจ้าโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมานั้น ขัดต่อหลักทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศต่างๆ ในโลก ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการแข่งขัน สงครามและความสูญเสีย แต่ยังมีมิติอื่นๆ ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และยังสามารถทำให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ “ความร่วมมือ” เป็นหนึ่งในมิติดังกล่าว แม้สหรัฐฯ และจีนเองอาจจะมีความขัดแย้งต่อกันสูง ทำให้การแข่งขันมีความเผ็ดร้อน แต่ทั้งสองประเทศก็เห็นประโยชน์ของความร่วมมือเพื่อสร้างอิทธิพลเหนือกัน โดยเฉพาะในความร่วมมือที่ต่างมีกันอาเซียน ทั้งนี้ การแข่งขันไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยสิ่งที่เรียกว่า zero-sum game คือฝ่ายหนึ่งแพ้และฝ่ายหนึ่งชนะเท่านั้น แต่สองฝ่ายอาจชนะได้ทั้งคู่ นี่คือหัวใจของการสร้างสมดุลย์ทางอำนาจและระเบียบโลกหรือภูมิภาคที่มีสันติภาพเป็นหัวใจสำคัญ

ในปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่จีนก็มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจสูง จึงต้องการสร้างบรรยายกาศที่มีสันติภาพเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของตน (peaceful environment for growth) งานวิเคราะห์ของเทียนชัยไม่ได้มองเกมส์การเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

 

3. ขอให้เทียนชัยกลับไปศึกษาพัฒนาการเกี่ยวกับการเจรจาหกฝ่ายบนคาบสมุทรเกาหลี เทียนชัยอ้างว่า สหรัฐฯ ต้องการให้ลูกระเบิดไปตกที่เกาหลีเหนือ ถ้าเป็นเช่นนั้น แสดงว่าสหรัฐฯ คาดการณ์สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีผิดโดยสิ้นเชิง เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในการครอบครอง และหากถูกโจมตีโดยสหรัฐฯ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกาหลีเหนือจะตอบโต้กลับโดยอาวุธนิวเคลียร์ คำถามคือสหรัฐฯ พร้อมแล้วหรือที่จะเผฃิญหน้ากับเกาหลีเหนือในรูปแบบนี้ นี่ก็ชี้ว่า การวิเคราะห์ของเทียนชัย “เอามันส์” ไว้ก่อน ไม่ได้คำนึงถึงเงื่อนไขทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ อีกประเด็นหนึ่งที่ชี้ถึงความผิดพลาดในการวิเคราะห์ของเทียนชัย จีนไม่เคยวางตัวเป็นกลางในความขัดแย้งบทคาบสมุทรเกาหลี จีนยังมีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับเกาหลีเหนือ (ต่างยังเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ด้วยกัน) และจีนเห็นถึงความสำคัญในการใช้เกาหลีเหนือเป็นปัจจัยลดทอนอิทธิพลของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออก นอกจากนั้น จีนยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ดังที่เทียนชัยได้อ้างไว้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้แต่นักศึกษาที่ไม่มีพื้นฐานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็น่าจะรู้ได้ว่า ปัจจัยทางด้านประวัติศาสตร์ยังมีความสำคัญในการกำหนดรูปแบบปฏิสัมพันธ์ของประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในกรณีความขมขืนทางประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่นได้ทำไว้กับจีน) ความไม่ไว้วางใจกันนำไปสู่การแข่งขันระหว่างสองประเทศ สาเหตุหนึ่งที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นมีบทบาทอย่างแข็งขันในอาเซียนก็เพราะต้องการสร้างพันธมิตรเพื่อลดอิทธิพลของฝ่ายตรงข้าม กลยุทธของญี่ปุ่นคือการนำเอาประเทศนอกภูมิภาคมามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้นเพื่อลดอิทธิพลของจีน (เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) นำไปสู่การจัดตั้งอาเซียน+6 และต่อมาก็คือ EAS ฉะนั้น การอธิบายแบบง่ายๆ ของเทียนชัย ชี้ถึงการขาดมุมมองด้านการทูตแบบพหุภาคีอย่างแท้จริง

 

4. การมอบสถานะพันธมิตรหลักนอกนาโต้ที่สหรัฐฯ มีให้กับไทย (Major non-NATO ally) มีความสำคัญจริงอย่างที่เทียนชัยได้กล่าวถึง เพียงแต่ว่าเป็นความสำคัญที่เข้าใจได้และไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนไปกว่าที่เทียนชัยอ้าง ไทยมิใช่เป็นประเทศเดียวที่ได้รับสถานะนี้ ฟิลิปปินส์ก็ได้รับเช่นกัน สาเหตุอยู่ที่การขอแนวร่วมของไทยในการต่อสู้กับขบวนการก่อการร้ายสากล ซึ่งเป็นผลมาจากนโยยบายที่แปลี่ยนไปของสหรัฐฯ นับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ที่สำคัญ การมอบสถานะนี้เป็นไปตาม commitment ของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยในฐานะประเทศพันธมิตรทางทหาร หากเทียนชัยจะเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องนี้ เทียนชัยต้องตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมเราจึงยินยอมพร้อมใจในการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯ (Cobra Gold) ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ทำไมสหรัฐฯ จึงมีความสัมพันธ์ที่ลึกล้ำกับกองทัพไทยรวมถึงสถาบันกษัตริย์ของไทย แล้วทำไมจู่ๆ สหรัฐฯ จึงหันมาญาติดีกับทักษิณฯ อะไรเป็นสาเหตุที่เทียนชัยมีความเห็นเช่นนี้

ในที่สุด เทียนชัยก็พูดขัดแย้งกับตัวเอง เทียนชัยบอกว่า สหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการก่อรฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็ชี้ชัดได้ว่าสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนฝ่ายเจ้ามาตลอด ใช่หรือไม่ รวมถึงการให้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรด้วย

ส่วนการโต้เถียงว่าสหรัฐฯ มีบทบาทในเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ของไทยนั้น เทียนชัยต้องมีหลักฐานสนับสนุน ไม่ใช่พูดลอยๆ (ในฐานะที่ตัวเองก็จบการศึกษาถึงระดับปริญญาเอก) ในความเป็นจริง สหรัฐฯ ยังไม่สามารถแม้แต่จะเข้าถึงผู้นำไทยที่ดูแลปัญหาภาคใต้

 

5. ส่วนเรื่องการเผาบ้านเผาเมืองนั้น (ซึ่งการให้คำนิยมเช่นนี้ถือว่าผิดธรรมเนียมของนักวิเคราะห์ที่ดี เพราะเหตุกาณ์นั้น เป็นเพียงการเผา “ห้างสรรพสินค้า” เท่านั้น ไม่ใช่เผาบ้านเผาเมือง) ผมเพิ่งเสร็จสิ้นงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ ในความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ตามที่ปรากฏในบทความที่ชื่อว่า “The Rich, the Powerful and the Banana Man: The United States’ Position in the Thai Crisis” (2012) จากการทำ fieldwork สรุปได้ว่า สหรัฐฯ ยังขาดความเข้าใจต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองของไทย (นับประสาอะไรจะเข้ามามีบทบาทโดยตรง) สหรัฐฯ ยังขาดเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจและรู้เรื่องเมืองไทยดี ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศหสรัฐฯ หรือแม้แต่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในไทย ทั้งนี้ มุมมองของสหรัฐฯ ยังถูกติดตรึงไว้กับการเมืองแบบสงครามเย็น กล่าวคือ การมองว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันสำคัญที่สุดทางการเมือง หากสหรัฐฯ สร้างพันธมิตรกับสถาบันกษัตริย์ได้ (และก็ทำได้จริงๆ) สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใดๆ ต่อไป นี่ก็ชี้ว่า สหรัฐฯ ตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยไม่ทัน ไม่รู้ว่า ขณะนี้สังคมไทยขับเคลื่อนไปไกลมากเพียงใด และ “สถาบันประชาชน” ได้ก้าวขึ้นมามีส่วนสำคัญในการกำหนดรูปแบบทางการเมืองแค่ไหน ผมคิดว่า ไม่เพียงแต่สหรัฐฯ ที่ยังก้าวข้ามไม่พ้นยุคสงครามเย็น แม้แต่เทียนชัยเองก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามไปได้

นี่คือข้อความส่วนหนึ่งที่ผมกล่าวถึง “ความไม่รู้” ของสหรัฐฯ ต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย

The disinclination of the United States to shift from its pro-establishment stance raises the crucial question of whether Washington has simply aimed to pursue its interests or whether it has indeed failed fully to comprehend Thailand’s political development over the course of the past decade. In interviews with a group of Thai and American diplomats, it was clear that since the end of the Cold War and the consequent decrease in American influence in this region, the U.S. government has not adequately invested in training experts on Southeast Asia, including Thailand. As the American role in Southeast Asia diminished, a series of U.S. governments have taken their ties with countries in the region for granted. The lack of experts has led to misjudgement of the evolving political process in Thailand. The United States has tended to rely on its old connections with traditional elites, while shoring up their argument that the Red Shirt movement is antithetical to Thai democracy and even a menace to the monarchical institution — an argument that aligns with the pro-monarchy position of the United States. A former American diplomat revealed that the United States was “freaking out” about the fact that there was a gap in its understanding of the Thai situation. The vacuum of information compelled the U.S. government to interpret its relations with Thailand on the basis of its constricted perception in favour of maintaining the political status quo even as new players in the Thai political landscape were emerging. United States ambassador Eric John has been criticized by some American expatriates for being out of touch with Thailand’s complex politics and cultural mores.[ii]

 

6. ประการสุดท้ายเป็นเรื่องการล้างสมองของสถาบันการศึกษาของสหรัฐฯ โดยมีการอ้างถึง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ว่าเป็นผลพวงของระบบการศึกษาแบบอเมริกัน ประเด็นนี้ของเทียนชัยไม่มีเนื้อหาการวิจารณ์แบบวิชาการแต่อย่างใด แต่เป็นการใส่ร้ายป้ายสีเท่านั้น มหาวิทยาลัย Cornell มีชื่อเสียงในระดับโลก โดยเฉพาะในด้านการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต มีบุคคลสำคัญของไทยที่ได้รับการศึกษาจากสถาบันนี้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สถาบันของสหรัฐฯ มีความเป็นอิสระอย่างมากจากการครอบงำของรัฐและสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการอย่างยิ่ง (ต่างไปจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน) ผมไม่รู้ (และไม่สนใจ) ว่าคุณเทียนชัยได้รับปริญญาเอกมาจากที่ไหน แต่ผมเชื่อว่า มาตรฐานของมหาวิทยาลัยที่เทียนชัยศึกษานั้นคงอยู่ในระดับต่ำอย่างยิ่ง เพราะสามารถผลิตบุคลากรที่ไม่เคยใช้หลักวิชาการในการโต้เถียง นอกจากการใส่ร้ายป้ายสีไปวันๆ เท่านั้น



[i] Pavin Chachavalpongpun, “Competing Diplomacy: Thailand Amidst Sino-American Rivalry”, in Southeast Asian Affairs 2011, edited by Daljit Singh, (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2011), p. 307.
[ii] Pavin Chachavalpongpun, “The Rich, the Powerful and the Banana Man: The United States’ Position in the Thai Crisis”, in Bangkok May 2010: Perspectives on a Divided Thailand, edited by Michael Montesano, Pavin Chachavalpongpun and Aekapol Chongvilaivan, (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2012), pp. 251-2.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดสนามหลวงโฉมใหม่ ปิดฉาก ‘บ้าน’ คนไร้บ้าน

Posted: 04 Feb 2012 12:23 AM PST

หลังสนามหลวงโฉมใหม่ ไฉไลกว่าเดิมด้วยงบ 181 ล้าน เปิดใช้งาน มาหลายเดือน  ทุกอย่างสะอาดเอี่ยม เขียวขจี  มีรั้วเหล็กโดยรอบ มีเวลาเปิด-ปิด และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ไร้วี่แววตลาดมือขายของเก่า และคนไร้บ้านที่เคยใช้ชีวิต หลับนอนอยู่ที่นี่  ... พวกเขาไปอยู่ที่ไหน และคิดอย่างไรกับการปรับปรุงสนามหลวง

 

กระจายตัวโอบล้อมบ้านเก่า

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องยอมรับว่าดินแดนแถบนั้นเป็น  ‘บ้าน’ หลังใหญ่ของกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เมื่อสนามหลวงกลายสภาพเป็นเขตหวงห้าม พวกเขาก็โยกย้ายตัวเองไปใช้ชีวิตในบริเวณใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นคลองหลอด, อนุสาวรีย์ทหารอาสา ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, ใต้สะพานปิ่นเกล้า ฯลฯ

‘คนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ’ เป็นคำนิยามของ นที สรวารี จากมูลนิธิอิสรชน ซึ่งทำงานเกี่ยวกับคนไร้บ้าน คนเร่ร่อนฯลฯ มานาน เมื่อลงพื้นที่นานก็เริ่มเข้าใจลักษณะต่างๆ ของผู้คนที่นี่ว่ามีหลากหลายลักษณะ ความต้องการ และที่มาของปัญหา

 

 


ชายวัยกลางคน (เฉลิมชัย-นามสมมติ) เคยขายของเล็กๆ น้อยๆ อาศัยนอนที่สนามหลวงหลายปี
ปัจจุบันมีอาชีพรับจ้าง และเพิ่งได้รับอุบัติเหตุ ตกจากนั่งร้านทาสี

 

ที่อนุสาวรีย์ทหารอาสา เฉลิมชัย (นามสมมติ) หนึ่งในคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เล่าว่า คนที่เคยนอนที่สนามหลวงส่วนใหญ่ก็ย้ายมานอนกันที่นี่ โดยเช่าหมอน ผ้าห่ม เสื่อชุดละ 20 บาท ช่วงทุ่มสองทุ่มจะเห็นว่ามีการปูที่นอนกันเต็มพื้นที่ แต่ที่นี่ยุงค่อนข้างเยอะ และไม่มีลมพัดเย็นสบายเหมือนสนามหลวง  สำหรับห้องน้ำก็จะใช้บริการรถห้องน้ำเคลื่อนที่ของ กทม. ซึ่งบางวันก็เพียงพอ บางวันก็ไม่  การอาบน้ำก็จะเดินไปอาบน้ำตามที่ที่ให้บริการบริเวณคลองหลอด

เฉลิมชัย เป็นคนที่ใช้ชีวิตนอนตามที่สาธารณะแถวๆ สนามหลวงมากว่าสิบปี  เมื่อก่อนขายน้ำ ปัจจุบันรับจ้างจิปาถะ เขาว่าภรรยาของเขาจะมาเยี่ยมเป็นบางครั้ง ที่ผ่านมาเคยเช่าห้องอยู่แบบคนทั่วไป แต่เมื่อมาขายของแล้วอาศัยนอนสนามหลวงไม่กี่ชั่วโมงในช่วงกลางคืน ก็เกิดอาการติดใจ “อยู่แบบนี้ก็สบายดี”

หญิงวัย 60 กว่าที่ใช้ชีวิตอยู่ในเต็นท์สร้างเองหลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 


อารีย์ (นามสมมติ)  ก็เป็นอีกรายที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมานาน ปัจจุบันเธอมีอาณาจักรย่อมๆ อยู่หลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาชีพปัจจุบันคือรับจ้างคัดแยกของเก่า แกะทองแดงให้กับ “หัวหน้า” ซึ่งเป็นพนักงานเก็บขยะ-กวาดถนนของ กทม. เธอเป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนหน้านี้เคยทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ แต่จู่ๆ ก็โดนไล่ออกและโกงค่าแรง จึงมาตั้งหลักที่สนามหลวง และเริ่มรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ  เลยเถิดมาจนปัจจุบัน 

ขณะที่มองไปใต้สะพานปิ่นกล้า เราจะเห็น “คอมมูน” ของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะอีกกลุ่มใหญ่ พวกเขามาจากหลากหลายที่ ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ทยอยมาอยู่ตาม ๆ กันจนเต็มพื้นที่ อาศัยแสงสว่างจากไฟใต้สะพาน อาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้ห้องน้ำสาธารณะของกทม.ที่อยู่ไม่ไกล มีอาณาจักรของตัวเองเท่ากับ 1 ล็อคที่นอนและกล่องเสื้อผ้า ล็อกเหล่านี้จะเรียงต่อกันไป เว้นทางเดินตรงกลางไว้ บางครอบครัวมีเตาแก๊สปิกนิกสำหรับทำกับข้าวด้วย ปัจจุบัน เราจะเห็นเต็นท์สีเขียวๆ กางเรียงกัน เต็นท์เหล่านี้ได้รับบริจาคมาอีกทีและทำให้การนอนของพวกเขาเป็นสัดส่วนมากขึ้น

พวกเขาอยู่กันประมาณ 10 กว่าครอบครัว บ้างมีลูกเล็กเด็กแดง บ้างพ่วงหมาตัวน้อย  บ้างมีคนป่วย  เมื่อคนหลักออกไปทำงานรับจ้าง หรือขายของ ก็จะมีคนที่ไม่ได้ไปทำงานคอยสับเปลี่ยนดูแลเด็กๆ หมา คนป่วย เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน 

ปิดสนามหลวง ผลกระทบต่อคนไร้บ้าน

ทุกวันอังคารและวันศุกร์ รถเคลื่อนที่ของมูลนิธิอิสรชนจะมาเปิดท้ายตั้งศูนย์ให้บริการจนเย็นย่ำ เพื่อให้บริการยาพื้นฐาน ถุงยางอนามัย และของบริจาคอื่นๆ รวมถึงให้คำปรึกษานานาประการกับกลุ่มคนไร้บ้าน, คนเร่ร่อน, ผู้ขายบริการทางเพศ ฯ  กิจกรรมนี้มีมาโดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา


นที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิ กล่าวว่า การปิดสนามหลวงนั้นทำให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะกระจายตัวออกไปโดยรอบพื้นที่ เกาะรัตนโกสินทร์ ความกระจัดกระจายดังกล่าวทำให้การสำรวจ การให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่พวกเขาเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาแย่ลง นอกจากนี้ยังพบว่าหลังปิดสนามหลวงมีคนกลุ่มนี้เสียชีวิตมากขึ้น เช่น เมาแล้วตกน้ำ รถชน

“เขาเรียกตัวเอง คนสนามหลวง, คนคลองหลอดนะ เขารู้สึกมันเป็นบ้านของเขา สิ่งที่รัฐทำกับพวกเขาคือย้ายคนออกจากบ้าน สังคมไม่ได้ยอมรับคนพวกนี้ไง เห็นเป็นคนเร่ร่อน เป็นขยะ ไม่ได้มองเป็นชีวิตชีวาของสนามหลวง”

“คนสนามหลวงจะได้รับการมองเห็นก็ต่อเมื่อจะปิดสนามหลวง จะบูรณะใหม่ เพราะคนพวกนี้อยู่แล้วทำให้สนามหลวงสกปรก นอกเหนือไปจากนี้ไม่มีใครมองเห็นเขา”

“ถ้ามอบหน้าที่ให้เขาดูแล แบ่งกันดูแลพื้นที่ ทั้งความสะอาด ทั้งเรื่องความปลอดภัยต่างๆ สำหรับคนทั่วไป เขาทำกันได้สบาย”

 

นทีระบุด้วยว่า ท้องสนามหลวงนั้นรองรับคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ปีนึงราวพันคน  ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนและจำนวนขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่เทศกาล คนจำนวนนี้ส่วนมากจะมีอาชีพเก็บขวดพลาสติกขาย, รับจ้าง, ขายของเล็กๆ น้อยๆ, ขอทาน หรือศัพท์เฉพาะที่พวกเขาเรียกกันว่า ‘ชนตังค์’

ที่น่าสนใจคือ ปลายปี 2553 ที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ คนไร้บ้านที่สนามหลวงเพิ่มขึ้นราว 15% หรือมีคนใหม่ๆ มาอาศัยอยู่บริเวณนี้วันละเป็นร้อยคน  แต่สักพักตัวเลขก็ลงมาคงที่   

ข้อมูลการสำรวจผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเมื่อปี 2553 ของมูลนิธิอิสรชนระบุว่า จำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพฯ นั้นมี 2451 คน ซึ่งส่วนใหญ่พบในที่ชุมชนพลุกพล่าน หรือแหล่งค้าขาย 

นที ระบุว่า จำนวนดังกล่าวนั้นถือเป็นขั้นต่ำ ไม่นับรวมตามตรอกซอกซอยที่การสำรวจเข้าไม่ถึง และหากจะให้ประมาณการณ์ทั่วทั้งประเทศ คนเหล่านี้น่าจะมีถึง 30,000 คน

 

ทำความรู้จักกับคนที่ไม่มีใครอยากรู้จัก

กล่าวเฉพาะ ‘บ้าน’ หลังใหญ่ที่สุดของพวกเขาอย่างสนามหลวง นทีเริ่มต้นร่ายยาวตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของสนามหลวง หรือทุ่งพระสุเมรุเดิมว่ามันเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปร่วมใช้ประโยชน์ในฐานะที่เป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน  อย่างการปราศรัยทางการเมืองนั้นเริ่มขึ้นที่สนามหลวงครั้งแรกในระหว่างปี 2492-2494 ยุคสมัยของจอมพล ป.

 

 

เขาระบุว่า สำหรับคนเร่ร่อนยุคใหม่นั้น อาจเริ่มต้นนับได้ตั้งแต่ช่วงปี 2516-2519 รวมไปถึงปี 2535 ซึ่งมีการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง เมื่อทุกอย่างสิ้นสุดลงด้วยคราบน้ำตา หลายคนตกค้างอยู่ที่นี่ ที่มีการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง

“พวกนี้มาชุมนุมแล้วไม่กลับบ้าน  บางคนมีอาการทางประสาท บางคนเล่าได้เป็นฉากๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเขาอยู่ร่วมเหตุการณ์” นทีกล่าว

นทีแบ่งคนกลุ่มนี้ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ออกเป็น

1.คนไร้บ้าน  หรือ Homeless คนกลุ่มนี้ พร้อมจะหยุดใช้ชีวิตในที่สาธารณะ และมีความฝันว่าอยากมีบ้าน ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ยาก  

2.คนเร่ร่อน หรือที่ฝรั่งเรียกว่า ยิปซี  คนกลุ่มนี้มีบ้านอยู่แต่ไม่อยากอยู่ หลายคนอาจบอกว่าพวกเขารักอิสระ แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่า “จริงหรือ” หรือเพราะมีสาเหตุบางอย่างในชีวิตพวกเขาที่ทำให้เขาไม่อยากกลับบ้าน หรือกลับไม่ได้ 

3.กลุ่มคนขายของข้างถนน คนกลุ่มนี้มีอาชีพ แต่ไม่มีที่อยู่ พวกเขาใช้ชีวิตกลางแจ้งเป็นส่วนใหญ่ และมีแค่เวลานอนไม่กี่ชั่วโมง หลายคนจึงอาศัยนอนง่ายๆ ในที่สาธารณะ

4. Sex worker หรือผู้ให้บริการทางเพศ  

5.กลุ่มผู้ป่วย ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยทางจิต ซึ่งจะมีลักษณะปิดตัว ไม่ค่อยคุย สื่อสารไม่ได้ , ผู้ป่วยทางสมอง ซึ่งมีจำนวนมาก เปิดตัวพร้อมพูดคุย แต่คนปกติอย่างเราๆ อาจคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง หรือเป็นคนที่มีโรคอัลไซเมอร์, ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง, ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ถูกทอดทิ้ง

สำหรับรายได้ของคนเหล่านี้ จากการขายขวด ขายของ หรือกระทั่งขายบริการทางเพศนั้น นทีกล่าวเชื่อมโยงถึงนโยบายรัฐบาลเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทที่ยังผลักดันกันไม่สำเร็จว่า “พวกนี้เขามีรายได้ขั้นต่ำ วันละ 300 มาตั้งนานแล้ว เฉพาะพวกเร่ร่อน ไร้บ้าน ก็ 120-200 บาท เขายังมาหยอดตังใส่ตู้บริจาครถบริการของเราเลย”

 

สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และการรองรับจากรัฐ

แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความชอบธรรมเกี่ยวกับที่มามาก แต่ภายใต้เรื่องใหญ่ ก็ยังมีบทบัญญัติที่ก้าวหน้าเกี่ยวกับสิทธิของคนไร้บ้าน  ทำให้ภาพ “การไล่ล่า” จับคนไร้บ้านไปไว้สถานสงเคราะห์ของหน่วยงานรัฐไม่มีให้เห็นอีกต่อไป

บ้านมิตรไมตรี เป็นบ้านพักของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ดูเหมือนก่อกำเนิดขึ้นมารองรับคนกลุ่มนี้ “ที่พักชั่วคราวของคนเร่ร่อน ไร้บ้าน” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 52 ปัจจุบันทยอยเปิดเพิ่มจนมี 10 แห่งทั่วประเทศ

บ้านมิตรไมตรี รองรับกลุ่มคนที่เคยใช้พื้นที่อย่างสนามหลวงได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นคนต่างจังหวัดที่มาหางานทำในกรุงเทพฯ ไม่มีเงิน กลับบ้านไม่ได้ก็มักจะนอนสนามหลวงหรือหัวลำโพง แต่ที่บ้านมิตรไมตรี คนเหล่านี้สามารถ “ใช้สิทธิ” ในการเข้าพักได้ 45 วัน รวมทั้งหางานให้ทำด้วย เมื่อออกไปทำงานแล้วมีปัญหาก็สามารถกลับเข้ามาอยู่ได้อีก

บ้านมิตรไมตรีในกรุงเทพอยู่หลังกระทรวงแรงงาน บนพื้นที่ 4 ไร่ รองรับคนเข้าๆ ออกๆ อยู่โดยตลอด เฉลี่ยแล้วก็จะมีผู้พักอยู่ประมาณ 300 คน ตลอดทั้งปี  หากใครมีอากาศป่วยก็จะได้รับการรักษาตัว หรือหากใครสมัครใจจะอยู่สถานสงเคราะห์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ก็จะได้รับการส่งตัวต่อไป

“เขารู้สิทธิของเขานะ บางคนนั่งรถไฟฟรีเวียนไปอยู่บ้านมิตรไมตรีที่อื่นเวียนจนบครบสิบบ้านแล้วก็มี” เจ้าหน้าที่บ้านมิตรไมตรีกรุงเทพฯ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีบ้านพักเด็กและครอบครัว  ซึ่งจะดูแลกลุ่มครอบครัวไร้บ้านโดยเฉพาะ และบ้านพักคนจนเมือง ซึ่งกระจายตัวอยู่ที่ปากเกร็ด วัดสวนแก้ว อ่อนนุช ปทุมธานี ที่บ้านพักคนจนเมืองจะเป็นบ้านฟรีให้อยู่ อยู่ได้นานถึง 6 เดือน แต่ต้องช่วยเสียค่าน้ำค่าไฟ ถือเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานเก็บเงินให้กับคนจนที่ไม่มีที่พักอาศัย

ร่าง พ.ร.บ.คนไร้ที่พึ่ง...อยู่ไหน?

ถึงที่สุด นทีก็ยังเห็นว่าการดำเนินการของรัฐ แม้จะดีขึ้นแต่ก็ยังเป็นการแบบรับภาระไม่รู้จบ ทั้งการแก้ปัญหายังเริ่มผิดตั้งแต่การตีโจทย์ เพราะเห็นว่าคนพวกนี้ขี้เกียจ ไม่มีที่ไป จึงแก้โดย “หาที่ให้อยู่” โดยก่อนหน้านี้ก็ไล่ล่าไปไว้สถานสงเคราะห์แบบไม่คัดกรอง จนกระทั่งเกิดบ้านมิตรไมตรี ยุติการไล่จับ  แต่ก็ยังเป็นการทำงานเชิงรับ

เขาเห็นว่า “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง” ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เคยเห็นชอบสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช นั้นน่าจะเป็นทางออกระยะยาวได้ ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.นี้เงียบหายไปหลังจากเคยถูกบรรจุไว้ในวาระพิจารณา 1 วันก่อนรัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา

กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีการตั้งกองทุนสนับสนุนการทำงานในทุกส่วน ไล่ตั้งแต่สถานสงเคราะห์เดิม, องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสามารถตั้งสถานสงเคราะห์ในพื้นที่ได้เพื่อดูแลคนในพื้นที่ตัวเอง, เอ็นจีโอก็สามารถตั้งบ้านช่วยเหลือได้ กระทั่งถ้ากลุ่มคนเร่ร่อนรวมตัวตั้งศูนย์พักพิงเองก็ยังทำได้  ทำให้มีความหลากหลายในการบริหารจัดการ สามารถจัดการปัญหาได้ตั้งแต่ต้นทาง นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งระดับชาติ และระดับจังหวัด 77 จังหวัดที่จะกำหนดทิศทาง มาตรฐานการดูแลคนไร้ที่พึ่งที่ส่วนต่างๆ มาเริ่มทำ ส่วนคณะกรรมการจังหวัดก็จะดูแลให้เหมาะสมกับสภาพในแต่ละพื้นที่

 

“เพื่อน” และ “โลกใบใหม่”

“ถึงที่สุด ถ้าคุณแก้ปัญหาคนสนามหลวงได้ ทุกปัญหาแก้ได้ เพราะพวกเขาเป็นภาพสะท้อนทุกปัญหา ทั้งการเกษตรที่ล้มเหลว ปัญหาสาธารณสุข สิทธิแรงงาน การไม่มีความรู้ แต่มันไม่มีรัฐที่ไหนทำได้เบ็ดเสร็จหรอก อเมริกาก็ยังมีคนเร่ร่อนหลายแสน เขาก็ไม่เห็นตื่นเต้น”

“อยากให้ดูหนังเรื่อง SOLOISTนะ ดูแลหมดคำถามเรื่องคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน คำตอบมันกำปั้นทุบดินมาก คือ“เพื่อน” มนุษย์ต้องการมีเพื่อน มีเพื่อนแล้วทุกอย่างจบ”

คนที่ออกมาอยู่ที่นี่ สุดท้ายคือความกลัว กลัวที่จะยอมรับความจริง ... ทำงานมา 10 ปีเพิ่งส่งคนกลับบ้านได้ 30 คน กระบวนการของเราใช้เวลานานมาก ทั้งคุย ให้กำลังใจ ถามข้อมูล ตามไปดูบ้าน รู้จักพ่อแม่ รู้หมดแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่ยอมกลับบ้าน เพราะเสียศักดิ์ศรี ไม่อยากกลับอย่างผู้แพ้..เราต้องพยายามคืนตัวตนให้เขา ให้ยอมรับความจริงให้ได้แล้วยืนหยัดกับมัน” นทีกล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 29 ม.ค. - 4 ก.พ. 2555

Posted: 03 Feb 2012 11:31 PM PST

 กรมการจัดหางาน เปิดรับชายไทยไปฝึกงานประเทศญี่ปุ่น ปี 2555 ครั้งที่ 1 ผ่านองค์กร IM 

นางสาวปัทมพร ผุดเพชรแก้ว จัดหางานจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในการดำเนินการจัดส่งผู้ฝึกงาน ไปฝึกงานในสถานประกอบการของญี่ปุ่นปี 2555 เป็นครั้งที่ 1 ในตำแหน่งคนงานทั่วไป กำหนดระยะเวลาฝึกสูง 3 ปี (36 เดือน) ซึ่งผู้สมัครจะต้องคุณสมบัติ ดังนี้ 1. เพศชาย อายุ 20 – 30 ปี สำเร็จการศึกษาระดับชั้น ม.6 , ปวช. หรือ ปวส. สาขาเครื่องกล (ช่างยนต์) สาขาเครื่องกลและซ่อมบำรุง (ช่างกลโรงงาน) สาขาวิชาโลหะการ (ช่างเชื่อม) สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาวิชาการก่อสร้าง ยกเว้น สาขาสถาปัตยกรรม สาขาเคหะภัณฑ์ ช่างโยธา และสำรวจ) 2. มีความสูงไม่ต่ำกว่า 160 ซม. 3. พ้นภาระทางทหาร 4. ไม่เคยเป็นผู้ไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นมาก่อน หรือไม่เคยเป็นผู้ถูกตัดสิทธิออกจากการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกงานในประเทศ ญี่ปุ่น 5. ไม่มีรอยสักหรือความผิดปกติทางร่างกาย 6. มีสายตาปกติ และตาไม่บอดสี

ทั้งนี้ ผู้ฝึกงานที่ผ่านการสอบจะต้องไปฝึกกับสถานประกอบการที่ทาง IM จัดให้เท่านั้น ในเดือนแรกจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 80,000 เยน (ประมาณ 32,000 บาท) เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 12 หรือ เดือนที่ 36 ผู้ฝึกงานเทคนิคจะอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานของประเทศญี่ปุ่น โดยจะต้องรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ และค่าประกันสังคม รวมทั้งค่าภาษีตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้ที่สำเร็จการฝึกงานครบตามหลักสูตร 1 ปี จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 200,000 เยน (ประมาณ 80,000 บาท) ผู้ที่สำเร็จการฝึกงานครบตามหลักสูตร 3 ปี จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 600,000 เยน (ประมาณ 240,000 บาท)

ผู้สนใจสามารถสมัครด้วยตนเองได้ที่ ฝ่ายพิจารณาการไปทำงานตามระบบ IM ประเทศญี่ปุ่น สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ อาคารสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ชั้น 10 กระทรวงแรงงาน สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ในระหว่างวันที่ 16 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2555 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดราชบุรี เลขที่ 1/56-57 ถนนสมบูรณ์กุล ซอย 3 ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โทร. 0-3232-2261-2 ต่อ 113-114 ในวันและเวลาราชการ

(29-1-2555, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

รง.สิ่งทอทยอยย้ายฐาน หนีค่าแรงไทยแพงกว่าเพื่อนบ้าน 60 รายไปพม่า-ลาว-เขมร-เวียดนาม

นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมรองเท้า, สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มกว่า 60 บริษัท ได้ย้ายฐานการ ลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เร็วขึ้น หลังไทยมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ค่าแรงต่ำกว่ามากราว 4-8 เท่าตัว

 ทั้งนี้ จากการสอบถามพบว่า ค่าจ้างแรงงานในไทยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 290 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ค่าจ้างแรงงาน ในพม่าอยู่ที่ 33.4 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ต่ำกว่าไทย 8.6 เท่า กัมพูชาอยู่ที่ 66 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ต่ำกว่าไทย 4.75 เท่า เวียดนามอยู่ที่ 55-60 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ต่ำกว่าไทย 4.8 เท่า และลาวอยู่ที่ 81 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ต่ำกว่าไทย 3.53 เท่า

 "ภาครัฐควรจะให้การส่งเสริมให้ไทยมีการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน มากขึ้น แทนที่จะมองเพียงการย้ายฐานการลงทุนเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะการย้ายฐานลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหาแหล่งทรัพยากรและค่าแรงที่ ถูกกว่า เป็นเรื่องที่นักลงทุนทุกคนมองไว้อยู่แล้ว เพียงแต่พอมีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เข้ามาเป็นตัวกระตุ้นให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้นเท่านั้น" นายธนิต กล่าว

 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยยังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานทุกส่วน โดยมีตัวเลข การว่างงานเพียงแค่ 0.7% เท่านั้น ส่วนที่พื้นที่เกษตรกรรมและทรัพยากรของไทยก็ลดน้อยลง ขณะที่ประเทศ เพื่อนบ้านอย่างพม่าที่เพิ่งเปิดประเทศก็มีตลาดที่ใหญ่ รวมทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษ ทางภาษีศุลกากร (จีพีเอส) และยังไม่ถูกกีดกันทางการค้า ซึ่งจะช่วยเป็น แต้มต่อในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมไทย เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีที่โตจากการลงทุนในต่างประเทศ

 ขณะที่ นายวัลลภ วิตนากร กรรมการ และที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรม เครื่องนุ่งห่มไทย ในฐานะประธาน เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไฮ-เทค กรุ๊ป กล่าวว่า จากสัญญาณที่สหรัฐ และยุโรปส่งสัญญาณจะยกเลิกการเข้าไปแทรกแซงประเทศพม่า ทำให้นักลงทุนมีความสนใจจะเข้าไปลงทุนในประเทศพม่ามากขึ้น เพราะประเมินว่าหลังจากนี้ระบบสาธารณูปโภคของพม่าจะได้รับการพัฒนาในทิศทาง ที่ดีขึ้น รวมทั้งพม่ายังมีการให้สิทธิประโยชน์เพื่อ จูงใจนักลงทุนโดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้นทุนด้านค่าจ้างงานค่อนข้างต่ำที่ 2,000-2,500 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าไทย 3-4 เท่า ล้วนดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนมากขึ้นในอนาคต

 ทั้งนี้ ที่ผ่านมานักลงทุนไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรม สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มระดับ 1 ใน 10 หรือท็อปเทน ได้ออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย เช่น ลิเบอร์ตี้กรุ๊ป, ทองไทยกรุ๊ป, ฮงเส็งกรุ๊ป และไนซ์กรุ๊ป โดยในส่วนของไฮ-เทคกรุ๊ป ก็มีการเข้าไปลงทุนในประเทศลาว เวียดนาม และล่าสุดมีความสนใจที่จะลงทุนในพม่าด้วย

(29-1-2555, แนวหน้า)

กพร.เร่งจัดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานรองรับเปิดประชาคมอาเซียน

เชียงราย 31 ม.ค.-นายประพันธ์ มนทการติวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัปดาห์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเชียงรายว่า การเปิดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาและ กำลังแรงงานที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เห็นความสำคัญของมาตรฐานฝีมือแรง งาน รวมถึงเป็นการเตรียมพร้อมการเปิดประชาคมอาเซียนที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน เสรีในปี 2558 โดยสาขาที่มีการทดสอบในวันนี้มีทั้งหมด 13 สาขา อาทิ ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ พนักงานทำความสะอาดห้องพัก และพนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม  ซึ่งทั้งหมดอยู่ใน 22 สาขาอาชีพ ที่ได้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2554  โดยล่าสุด กพร.กำลังประสานกับสำนักเศรษฐกิจการแรงงาน เร่งจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือฯ ฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ให้แล้วเสร็จทันประกาศใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ขณะเดียวกันจะกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฯ ให้ครบ 120 สาขาภายในปีนี้ ขณะนี้กำลังจัดทำใน 48 สาขา คาดว่าใน 3 เดือนนี้จะแล้วเสร็จ ก่อนจัดทำอีก 50 สาขาใน 3 เดือนต่อไป

(สำนักข่าวไทย, 31-1-2555)

แรงงานนวนครร้องกระทรวง ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

31 ม.ค. 54 - กลุ่มผู้ใช้แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร กว่า 300 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทเอ็นอีซีโทคินประเทศไทย จำกัด ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเดินทางมาจาก จังหวัดปทุมธานี เพื่อมาปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ช่วยแก้ปัญหาของพนักงานของบริษัทที่ถูกนายจ้างละเมิดสิทธิแรงงาน โดยบริษัทฯ ได้ปลดคนงานออก โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย นายจ้างลดสวัสดิการ ไม่มีการจ่ายโบนัสประจำปี รวมทั้งมีการย้ายฐานการผลิตไปยังอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งไม่มีการแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า และรับพนักงานกลับเข้าทำงานเพียง 200 คน ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดินแดง คอยดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 1-2-2555)

แรงงานเฮ! ครม.เคาะค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เม.ย.

31 ม.ค. 55 - น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการปรับเงินเดือนแรกบรรจุและปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบตามเป้า หมายของรัฐบาล คือ ปริญญาตรี 15,000 บาท โดยปรับขึ้นโครงสร้างเงินเดือนจาก 9,690 บาท เป็น 11,680 บาทต่อเดือน รวมเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวอีก 3,320 บาทต่อเดือน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555
      
ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวใช้งบประมาณ ปี 2555 เพิ่มขึ้น 5.6 พันล้านบาท เพื่อดำเนินการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและปรับเงินเดือนชดเชยให้ครอบคลุม กลุ่มเป้าหมายที่รับราชการในตำแหน่งระดับแรกบรรุจแล้วอย่างน้อย 10 ปี ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามวุฒิใหม่
      
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาเรื่องการปรับเงินเดือนข้าราชการและพนักงานราชการ 15,000 บาท โดยได้เชิญนายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เข้าชี้แจง ซึ่ง ครม.ต้องการให้มีการสื่อสารในแนวทางเดียวกัน คือ ข้าราชการ พนักงานข้าราชการ วุฒิปริญญาตรี ได้รับรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค.55 ที่ผ่านมา ส่วนการปรับในส่วนอื่นจะเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า
      
รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ประเด็นนี้ในที่ประชุมได้ใช้เวลาในการหารือเป็นเวลานานมาก เนื่องจากทุกคนต้องการความเสมอภาคกัน ซึ่งเลขาธิการ ก.พ.อธิบายว่า การปรับฐานเงินเดือนจะส่งผลกระทบกับทุกฝ่าย แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลนี้คิดนโยบายนี้เพื่อให้เกิดความแตกแยกในองค์กร ข้าราชการ แต่รัฐบาลออกนโยบายนี้เพื่อยกระดับค่าครองชีพ เพราะคนที่มีเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท จะดำเนินชีวิตประจำวันได้ยาก ส่วนกรณีคนที่มีรายได้ 18,000 บาทต่อเดือน ก็จะมีการปรับ แต่เปอร์เซ็นต์อาจจะไม่เท่ากัน
      
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เลขาธิการ ก.พ.ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง และได้เสนอสูตรการปรับฐานเงินเดือนมา 3 สูตร ประกอบด้วย สูตรที่หนึ่งใช้ระยะเวลา 1 ปี สูตรที่สองใช้ระยะเวลา 2 ปี และสูตรที่สามใช้ระยะเวลา 3 ปี ซึ่งกระทรวงการคลัง ใช้สูตรที่สอง แต่ได้ให้ ก.พ.ไปปรึกษาร่วมกับกระทรวงการคลังใหม่ เพราะเห็นว่า 2 ปีอาจจะไม่ทัน และจะมีการเพิ่มภาระงบประมาณ จึงอาจจะมีการขยายเพิ่มเป็น 3 ปี ซึ่งจะมีการนำเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ค้านเรื่องการปรับฐานเงินเดือน ว่า หากการปรับฐานเงินเดือนให้กับผู้ที่มีวุฒิ ปวช.และวุฒิ ปวส.ไม่เยอะ จะเท่ากับว่าส่งเสริมให้คนไม่เรียน ปวช.และ ปวส.เรียนแต่ปริญญาตรี จะทำให้เราขาดโอกาสในการเพิ่มสายอาชีพ
      
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในส่วนการค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทของพนักงาน ลูกจ้างเอกชนนั้น เราเตรียมการจะปรับขึ้นตั้งแต่ 1 ม.ค.55 แต่เนื่องจากเงินเป็นคนละก้อนกัน เนื่องจากเงินที่ปรับให้กับข้าราชการนั้นเป็นเงินของรัฐ แต่เงินที่จะปรับให้กับลูกจ้างนั้นเป็นเงินของผู้ประกอบการ ซึ่งทางผู้ประกอบการก็ขอความเห็นใจมาที่กระทรวงแรงงาน ว่า ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ยังขึ้นให้ไม่ได้ เนื่องจากประสบภาวะวิกฤตอุทกภัยน้ำท่วม ซึ่งจะขอเลื่อนให้มีผลในวันที่ 1 เม.ย.55
      
ด้าน นายนนทิกร กล่าวว่า การปรับโครงสร้างเงินเดือนในปีถัดไป ที่ประชุม ครม.ให้ไปหารือกับสำนักงบประมาณในการปรับโครงสร้างเงินเดือนจาก 11,680 บาท เป็น 15,000 บาทต่อเดือน โดยเบื้องต้น ครม.เห็นว่ามีระยะห่างก้าวกระโดดเกินไป จึงใช้วิธีทยอยปรับภายใน 2 ปี คือ ปี 2556 ปริญญาตรีปรับขึ้นเป็น 13,000 บาทและปี 2557 ปรับขึ้นเป็น 15,000 บาท จากนั้นจะไม่มีเงินส่วนเพิ่มที่เป็นเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวอีกต่อไป ทั้งหมดจะอยู่ในบัญชีเงินเดือน
      
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการปรับค่าตอบแทนพนักงานราชการเป็นเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว ให้ ครอบคลุมพนักงานสัญญาจ้างภาครัฐที่มีสัญญาจ้าง 4 ปีต่อครั้ง ประมาณแสนกว่าคน โดยที่ประชุม ครม.อนุมัติตามที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) เสนอขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติ่ม 1,395 ล้านบาท ปี 2555 รวมเป็นงบประมาณ 4,837 ล้านบาท สำหรับอัตราแรกบรรจุใหม่ปริญญาตรีได้รับ 14,020 บาทต่อเดือน ปริญญาโท 18,360 บาทต่อเดือน และปริญญาเอก 22,800 บาทต่อเดือน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 31-1-2555)

ยื่นขยายเวลาป้องกันเลิกจ้างงาน

รัฐมนตรีแรงงานสั่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งประสานสำนักงบ ประมาณขอขยายเวลาช่วยจ่ายเงินเดือน 2,000 บาท ป้องกันการเลิกจ้างงานในพื้นที่น้ำท่วม เพราะมีโรงงานอีกหลายแห่งยังฟื้นฟูไม่เสร็จ ด้านประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยแนะเอาไปจ่ายให้คนที่ถูกเลิกจ้างไป แล้วดีกว่า เพราะไม่มีรายได้

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เนื่องจากโครงการบรรเทาการเลิกจ้างที่รัฐบาลช่วยนายจ้างจ่ายเงินเดือนเดือน ละ 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ให้กับสถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วมจะครบกำหนดดำเนินโครงการในวันที่ 31 ม.ค. นี้ แต่ยังมีงบประมาณเหลืออยู่อีก 158 ล้านบาท จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำเรื่องขอความเห็นชอบจากสำนัก งบประมาณดำเนินโครงการต่อ เพราะหลายโรงงานยังฟื้นฟูไม่เสร็จ ซึ่งเงินในส่วนที่เหลือนี้จะช่วยแรงงานไม่ให้ถูกเลิกจ้างได้ 24,000 คน

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอว่า ควรนำงบประมาณที่เหลือไปช่วยแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไปแล้วก่อนหน้านี้ เพราะหลายคนยังหางานใหม่ไม่ได้ ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งน่าจะเป็นการช่วยเหลือที่ตรงกับความเดือดร้อนมากกว่า

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดมีแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมถูกเลิกจ้าง 28,195 คน จากสถานประกอบการ 99 แห่งใน 7 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สระบุรี นครปฐม นนทบุรี และกรุงเทพฯ ส่วนสถานประกอบการที่ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้มี 350 แห่ง ลูกจ้างยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน 167,541 คน สถานประกอบการที่เปิดดำเนินการมี 28,317 แห่ง ลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว 822,444 คน รวมทั้งสถานประกอบการใน 13 จังหวัดที่ร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างมี 1,610 แห่ง ครอบคลุมลูกจ้าง 278,310 คน

(โลกวันนี้, 1-2-2555)

4 องค์กรภาคเอกชนจว.ระนองรวมตัวยื่นขอชะลอขยับค่าแรงใหม่

นางนฤมล ขรภูมิ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผย "ผู้สื่อข่าว" ว่า หลังจากที่ภาคเอกชนประกอบด้วยหอการค้าจังหวัดระนอง,สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ระนอง,สมาคมผู้ประกอบการประมงระนอง,สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ระนอง กว่า 100 คนได้ร่วมจัดเสาวนาหัวข้อ "คิดอย่างไรกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน" เพื่อหาข้อสรุปและระดมความคิดเห็นเนื่องจากก่อนหน้าภาคเอกชนและผู้ประกอบการ ในพื้นที่ต่างวิตกและกังวลต่อปัญหาการที่จะต้องขบับอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ว่าจะขยับเพิ่ม 40% ในวันที่ 1 เม.ย. 2555 นี้ และ ปรับเพิ่มเป็น 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ซึ่งพบว่าจากวิกฤติปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิด การชะลอตัว ดังนั้นหากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเปรียบเสมือนการซ้ำเติมสถานการณ์ให้ ย่ำแย่ไปอีก เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันของตลาดการค้าทั่วโลกเป็นไปอย่างรุนแรง นอกจากประเทศไทยยังประสบปัญหาภายในประเทศโดยเฉพาะกรณีพิบัติภัยที่เกิดขึ้น แม้ว่า จ.ระนองจะไม่มีพิบัตภัยร้ายแรงในช่วงที่ผ่านมา แต่ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากโครงสร้างทางการผลิต การตลาดที่เชื่อมโยงกัน ดังนั้นแม้ว่าในช่วงปลายปีจะมีการประชุมคณะ
กรรมการไตรภาคีระดับจังหวัดในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และได้สรุปไปแล้วในส่วนของ จ.ระนองที่กำหนดจะขยับเพดานค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 40% จากเดิมในวันที่ 1 เม.ย. ที่จากหลายปัจจัย และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทางผู้ประกอบการมองว่าไม่มีความเหมาะสม และไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหากจะปรับค่าแรงเพิ่ม 40% ในวันที่ 1 เม.ย. นี้

โดยทาง 4 องค์การภาคเอกชนเห็นสอดคล้องตรงกันว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมในวันที่ 1 เม.ย. นี้น่าจะปรับเพิ่มเพียง 20% หรือ 222 บาท ในส่วนของ จ.ระนอง ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท น่าจะเลื่อนจาก 1 ม.ค.2556 เป็นวันที่ 1 ม.ค. 2558 โดยทางตนและ 4 องค์กรภาคเอกชนจ.ระนองจะนำรายชื่อและข้อเสนอนำเรียนต่อนายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผวจ.ระนอง เพื่อที่จะได้ประชุม กรอ.และสรุปไปยังรับบาลต่อไป นอกจากนี้จะให้ภาคเอกชนแต่ละองค์กรนำข้อเรียกร้องดังกล่าวส่งไปยังต้นสังกัด ทั้งหอการค้าแห่งประเทศไทย,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย,สมาพันธ์ธุรกิจท่อง เที่ยวภาคใต้,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมประมงแห่งประเทศไทยเพื่อสะท้อนข้อเรียกร้อง และปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อที่จะได้ร่วมแก้ไขและหาทางออกต่อไป

นายกฤษณะ เอี่ยมวงศ์นที ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง กล่าวว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมในเขตพื้นที่ จ.ระนองในปัจจุบันควรอยู่ที่ 220-230 บาท หากสูงกว่านั้นผู้ประกอบการคงจะไม่สามารถรับแบกภาระที่เพิ่มขึ้นได้ เพราะการปรับเพดานค่าจ้างแท้จริงไม่ใช่ว่าการปรับค่าจ้างในองค์กรใดองค์กร หนึ่งแล้วทุกอย่างจะจบ แต่จะเกี่ยวเนื่องไปยังทุกภาคส่วน วัตถุดิบ,แพคเกจจิ้ง,ค่าการขนส่ง ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีการขยับราคาตามค่าจ้างใหม่ ซึ่งทุกอย่างจะกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ดังนั้นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีก 40% ของอัตราค่าจ้างเดิม ที่รัฐบาลประกาศในวันที่ 1 เม.ย. 2555 นี้ ผู้ประกอบการ และภาคเอกชนในเขตพื้นที่ จ.ระนองต่างมีข้อสรุปตรงกันว่าไม่พร้อม เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาสินค้าสูง จำเป็นต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการเพื่อการส่งออก ศักยภาพในการแข่งขันสูง มีการนำเทคโนโลยีการผลิตแทนการใช้แรงงาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ลูกจ้างปรับตัวเพื่อลดปัญหาการว่างงาน ส่วนการเคลื่อนย้ายแรงงานคาดจะมีปริมาณสูงขึ้น ซึ่งต้องมองตามหลักความจริง ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเตรียมรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

(เนชั่นทันข่าว, 2-2-2555)

พนง.คุรุสภาประท้วงสวัสดิการ

พ.ต.อ.พรชัย ขจรกลิ่น ผกก.สน.โชคชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นลูกจ้างและพนักงานขององค์การค้าของคุรุสภา รวมตัวกันประมาณ 100 คน รวมตัวกันหน้าร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ สาขาถนนลาดพร้าว โดยเรียกร้องให้ทางผู้บริหาร ทบทวนในเรื่องสวัสดิการ และเงินบำเหน็จของลูกจ้างและพนักงานใหม่อีกครั้ง ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บนทางเท้า ไม่ได้กีดขวางการจราจรแต่อย่างใด โดยทาง สน.โชคชัย ได้ส่งกำลังตำรวจไปดูแลความเรียบร้อยประมาณ 30 นาย

(ไอเอ็นเอ็น, 2-2-2555)

แรงงานบุกกระทรวงฯ ร้องเรียนรายวัน หลังนายจ้างทยอยเลิกจ้าง

ก.แรงงาน 2 ก.พ.- นายจ้างทยอยเลิกจ้างแรงงานหลังน้ำลด บางรายนายจ้างไม่ให้คำตอบจะเลิกจ้างหรือไม่ เผยวันเดียวบุกร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน มากถึง 9 บริษัท ผู้นำแรงงานยอมรับนายจ้างฉวยโอกาสซื้อเวลาบีบลูกจ้างลาออกเอง
 
ที่กระทรวงแรงงานวันนี้ มีคนงานบริษัทอัลตัม พริซิชั่น จำกัด กว่า 200 คน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและประกอบชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.พระนครศรีอยุธยา ปีนรั้วเข้ามาในกระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้เร่งหาทางช่วยเหลือ หลังบริษัทประสบปัญหาน้ำท่วมจนเปลี่ยนผู้บริหารใหม่และเลิกจ้างพนักงาน โดยได้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนงาน บริษัทเอ็นอีซีโทคิน ประเทศไทย จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรม
นวนคร จ.ปทุมธานี กว่า 600 คน ที่ปักหลักชุมนุมบริเวณใต้กระทรวงแรงงานตั้งแต่วานนี้ (1 ก.พ.)
 
น.ส.นิภาภร แก้วบริวงศ์ ตัวแทนคนงานบริษัทอัลตัม กล่าวต้องการให้บริษัทเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย หลังน้ำลดในเดือนธันวาคม บริษัทได้เลิกจ้างพนักงานไปแล้ว 370 คน จากทั้งหมด 800 คน ต่อมาเดือนมกราคม มีการเปลี่ยนผู้บริหารและเลิกจ้างพนักงานบางส่วนเพิ่ม โดยไม่จ่ายเงินชดเชย อ้างว่าเงินหมดจึงมาร้องขอความช่วยเหลือ
      
ด้าน น.ส.ดวงใจ ศรีชัยภูมิ คนงาน และกรรมการสหภาพแรงงานเอ็นอีซี กล่าวว่า จะปักหลักชุมนุมที่กระทรวงแรงงานต่อไป จนกว่านายจ้างจะยอมจ่ายเงินชดเชยตามข้อเรียกร้อง คือ เงินชดเชยตามกฎหมาย บวกกับ เงินพิเศษ 5,000 บาท ค่าเสียโอกาส และค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า รวม 4 เดือน เพราะมองว่าบริษัท ไม่ได้ประกาศเลิกกิจการ แต่จะย้ายฐานการผลิตไปที่ จ.ฉะเชิงเทรา  ประกอบกับปีนี้ บริษัทไม่ยอมจ่ายเงินโบนัส 2 เดือน ทั้งที่มีการกำหนดล่วงหน้าว่าจะจ่าย เพราะมีผลประกอบการดีมาตลอด แต่สุดท้ายกลับประกาศเลิกจ้างคนงาน มากถึง 2,900 คน จากทั้งหมด 3,100 คน    
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยอมรับว่า ขณะนี้มีหลายบริษัท ซื้อเวลาไม่ยอมเปิดกิจการ แต่ไม่เลิกจ้าง บีบให้คนงานลาออกไปหางานใหม่ ส่งผลให้คนงานได้รับเงินจากกองทุนว่างงาน จากประกันสังคมลดลง ขณะที่ตัวเลขการเลิกจ้างอย่างเป็นทางการที่ขณะนี้ยังไม่ถึง 30,000คน ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เชื่อว่าน่าจะมีถึงหลักแสนคน ตรวจสอบได้จากนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 5 แห่งที่ถูกน้ำท่วม ขณะนี้บรรยากาศยังคงเงียบเหงา           
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวัน กลุ่มคนงานบริษัทต่าง ๆ  อีก 7 บริษัทที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 100 คน ทยอยเดินทางมายื่นข้อเรียกร้องกับเจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรง งาน อาทิ บริษัท ชีดี คาร์ตอน พัลล์ ผลิตกล่องลูกฟูก บริษัท เซไดคาเซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท นิเด็ค อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท อิงเกรส ออโตเวนเจอร์ จำกัด ด้วยสาเหตุลักษณะเดียวกันคือ นายจ้างไม่มีความชัดเจนเรื่องการจ้างงานหลังน้ำลด โดยเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องและจะเร่งรัดดำเนินการหาทางช่วยเหลือต่อไป.

(สำนักข่าวไทย, 2-2-2555)

คนงานจากอยุธยา 202 คน พอใจการเจรจากับเจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ พร้อมชุมนุมด้วยความสงบ

3 ธ.ค. 55 - หลังช่วงเที่ยงลูกจ้าง บริษัท อัลตัม พรีซิซั่น (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้พยายามบุกขึ้นชั้น 2 ของกระทรวงแรงงาน เพื่อเร่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ เจรจากับนายจ้างให้ยกเลิกสัญญาจ้างงาน โดยได้มีการส่งตัวแทนเข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มี นายสุวิทย์ สุมาลา ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ ร่วมเจรจา และกล่าวว่า ลูกจ้างทั้ง 202 คน ของบริษัทนี้ต้องการความชัดเจนว่านายจ้างจะเลิกจ้างตามข้อเรียกร้องหรือไม่ ซึ่งการเจรจาก็จบลงด้วยดี เนื่องจากขณะนี้เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เจรจากับนายจ้างอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด โดยคาดว่าวันนี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้ทอดทิ้งลูกจ้างทั้ง 202 คนตามที่แรงงานกล่าวอ้าง ส่วนสาเหตุที่การดำเนินการอาจไม่รวดเร็วทันใจผู้ใช้แรงงานจนเกิดการกดดัน เกิดขึ้น เนื่องจากการเจรจากับนายจ้างต้องให้ชัดเจนทั้งหมด ไม่ใช่แก้ทีละประเด็น เพราะการเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องยอมจ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้กับผู้ใช้แรงงานด้วย รวมแล้วสิ่งที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับคนงานมูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สิทธิ์หลังการเลิกจ้างที่ลูกจ้างต้องได้รับ คือ ค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เงินเดือนค้างจ่าย ค่าโอที ค่าอาหาร ค่ากะ และค่าตกใจที่ต้องมีการเจรจา ซึ่งผลการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่และตัวแทนคนงานก็เป็นที่พอใจและคนงานยอม ชุมนุมอย่างสงบ เพื่อรอผลการเจรจากับนายจ้างที่ชัดเจน

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 3-2-2555)

ยอดแรงงานน้ำท่วมถูกเลิกจ้างพุ่งกว่า 3.3 หมื่นคน

นายอาทิตย์   อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า จากข้อมูลของ กสร.มีแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมถูกเลิกจ้าง 33,723  คน ในสถานประกอบการ 106  แห่งแยกเป็นจ.พระนครศรีอยุธยามีสถานประกอบการเลิกจ้าง 63 แห่งลูกจ้าง 19,812  คน  ปทุมธานีเลิกจ้าง 28 แห่ง 13,235  คน ฉะเชิงเทรา เลิกจ้าง 2 แห่ง ลูกจ้าง 509 คน สระบุรีเลิกจ้าง 1 แห่ง ลูกจ้าง 31 คนนครปฐมเลิกจ้าง 1 แห่ง ลูกจ้าง 68 คน นนทบุรีเลิกจ้าง 9 แห่ง ลูกจ้าง 35 คนและกรุงเทพฯเลิกจ้าง 2 แห่ง ลูกจ้าง 33 คน ทั้งนี้ ยอดแรงงานถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 5,528 คน
 
ทั้งนี้  สถานประกอบการที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้  347   แห่ง ลูกจ้างยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน  166,395  คน ส่วนสถานประกอบการเปิดกิจการแล้ว  28,318   แห่ง ลูกจ้างได้กลับเข้าทำงานแล้ว  822,484   คน โดยยอดสถานประกอบการเปิดกิจการได้และลูกจ้างกลับทำงานแล้วเพิ่มขึ้นจาก สัปดาห์ที่ผ่านมา 1 แห่ง ลูกจ้าง 40 คน   ส่วนสถานประกอบการใน 13 จังหวัดที่ร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างมี  1,644  แห่ง ลูกจ้าง 307,334 คน
 
ส่วนสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนในการส่งลูกจ้าง ที่ประสบภัยน้ำท่วมไปทำงานที่อื่นชั่วคราวและถาวร มี 695 แห่งใน  49 จังหวัด จำนวนที่ต้องการรับ 80,131  คน ขณะที่มีลูกจ้างที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเข้าร่วมโครงการ 13,251 คน ในสถานประกอบการ 110 แห่ง

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า ภายหลังจากวิกฤตน้ำท่วมผ่านพ้นไป ขณะนี้สถานประกอบการกำลังฟื้นฟู แต่สถานประกอบในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดต่างๆเช่น พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจ้างงานต่อไปหรือเลิกจ้าง รวมทั้งไม่มีความชัดเจนเรื่องการจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้าง ทำให้แรงงานรู้สึกอึดอัดและกังวลใจเพราะไม่แน่ใจในสถานภาพของตนเอง จึงเริ่มมีการรวมกลุ่มกันมาชุมนุมที่กระทรวงแรงงานเพื่อขอให้กระทรวงแรงงาน ช่วยเจรจากับสถานประกอบการเพื่อขอความชัดเจนในเรื่องการเลิกจ้างและการจ่าย เงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541
 
"ผมเชื่อว่าปัญหาข้างต้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้น จึงอยากให้กระทรวงแรงงานทำงานแบบเชิงรุกและแก้ปัญหาโดยภาพรวมไม่ใช่ทำงานแบบ ตั้งรับช่วยแก้ปัญหาเป็นรายกรณีตามที่แรงงานเข้ามาร้องเรียนโดยเชิญสถาน ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆที่ประสบภัยน้ำท่วมเข้ามาพูดคุยไล่ไปทีละ นิคมอุตสาหกรรมเพื่อจะได้รู้ว่ามีสถานประกอบการใดบ้างที่จะจ้างงานแรงงานต่อ ไป  สถานประกอบการใดที่จะเลิกจ้างและจะเลิกจ้างจำนวนเท่าใด เพื่อที่กระทรวงแรงงานช่วยเหลือแรงงานได้รวดเร็วเช่น การช่วยประสานนายจ้างจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้าง   การหางานใหม่ให้ทำรวมทั้งให้ความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงานแก่สถาน ประกอบการด้วย" นายชาลี กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงแรงงาน พนักงานบริษัท   อัลตัม พรีซิซั่น   (ประเทศไทย) จำกัด    ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค)  จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 100 คนยังคงปักหลักชุมนุมใต้อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) หลังจากที่ได้มาชุมนุมกันตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อขอความช่วยเหลือจากกสร.ให้เจรจากับนายจ้างเพื่อให้บริษัทเลิกจ้าง พนักงานที่เหลือ 212  คนทั้งหมดและจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้เปลี่ยนผู้บริหารใหม่และประกาศเลิกจ้างพนักงาน ไป ประมาณ 600 คนจากทั้งหมด   800  คน  ทำให้พนักงานที่เหลืออยู่  212  คน รู้สึกไม่มีความมั่นคงในการทำงาน

ต่อมาเวลา 11.40 น. กลุ่มพนักงานอัลตัมฯประมาณ 60 คนได้รวมตัวกันบริเวณบันไดทางขึ้นชั้น 2 ของอาคารกสร. พยายามบุกขึ้นไป บริเวณชั้น 2 เพื่อเร่งให้เจ้าหน้าที่แรงงงานสัมพันธ์ของกสร.เจรจากับผู้บริหารบริษัทอัล ตัมฯผ่านทางโทรศัพท์  แต่เจ้าหน้าที่รปภ.ได้นำแผงเหล็กล็อกด้วยกุณแจมือทั้งสองด้านมากั้นไว้ทำให้ กลุ่มพนักงานอัลตัมไม่สามารถขึ้นไปได้สร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มพนักงานอัล ตัมและเห็นว่ากสร.ไม่ให้การดูแล
 
จากนั้นเวลา 12.00 น. นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรมว.แรงงานได้มาเจรจากับกลุ่มพนักงานบริษัทอัลตัมฯโดยให้ส่งตัวแทน ไปหารือ ทำให้กลุ่มพนักงานยอมกลับลงมาชุมนุมด้านล่างอาคารกสร.ตามเดิม

ต่อมาเวลา 15.40 น. นายสุวิทย์   สุมาลา ผอ.สำนักแรงงานสัมพันธ์สังกัดกสร.และเจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ได้แจ้งผลการ หารือระหว่างเจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์จ.พระนครศรีอยุธยากับผู้บริหารบริษัท อัลตัมฯแก่ตัวแทนพนักงานบริษัทอัลตัมว่า   บริษัทอัลตัมฯยอมเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด  212 คน ซึ่งรวมกับที่ถูกนายจ้างส่งตัวไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียด้วย โดยนายจ้างจะจ่ายเงินชดเชยและเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ลูกจ้างควรจะได้รับ ทั้งหมด ในวันที่ 13 ก.พ.นี้

ทั้งนี้ จะมีการติดรายชื่อและรายละเอียดการจ่ายเงินชดเชยและเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ได้รับทราบในวันที่ 6 ก.พ.นี้ ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยลูกจ้างจะ ได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างได้แก่ ค่าชดเชยตามอายุงาน  ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า   ค่าตกใจ ค่าวันหยุดพักผ่อนที่เหลือ  ค่าจ้างค้างจ่าย  เบี้ยขยัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆตามสิทธิ์ของลูกจ้างแต่ละคน รวมแล้วเป็นเงินกว่า 12 ล้านบาท
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่เจ้าหน้าที่สำนักแรงงานสัมพันธ์แจ้งให้แก่ตัวแทนแรงงานบริษัท อัลตัมได้รับทราบถึงผลการเจรจากับนายจ้างตัวแทนคนงานต่างดีใจและแสดงความขอบ คุณเจ้าหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือ ก่อนนำข่าวดีไปแจ้งให้เพื่อนแรงงานที่รออยู่บริเวณใต้ตึกกระทรวงแรงงานได้ ทราบ  ซึ่งทุกคนต่างส่งเสียงแสดงความดีใจและกล่าวขอบคุณที่ร่วมกันต่อสู้จนได้ชัย ชนะก่อนนัดหมายแยกย้ายกลับไป
 
ขณะเดียวกันกลุ่มพนักงานอัลตัมฯประมาณ  14 คนซึ่งอยู่ในกลุ่มพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 600 คนได้เดินทางมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อเขียนใบคำร้องคร.7 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานออกคำสั่งให้บริษัทจ่ายเงินสวัสดิการต่างๆที่ ยังค้างอยู่ เช่น ค่าโอที  ค่าเบี้ยขยัน ค่ากะ ค่าอาหาร
 
นายศรัญญู ทองดี วัย 24 ปี อดีตพนักงานตรวจสอบคุณภาพ(คิวเอ)บริษัทอัลตัมฯที่ถูกเลิกจ้างซึ่งมายื่นคำ ร้องคร.7 กล่าวว่า ตนทำงานที่บริษัทอัลตัมฯมา 5  ปีได้เงินเดือน 6,860 บาท หากรวมรายได้อื่นๆเช่น ค่าโอทิ เบี้ยขยัน จะมีรายได้เดือนละ 1.5 หมื่นบาท ต่อมาเดือนม.ค.2555 ได้ถูกเลิกจ้างโดยบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้างและเงินสิทธิประโยชน์ ต่างๆเช่น ค่าโอที เบี้ยขยัน รวมกว่า 6.8 หมื่นบาท
ซึ่งขณะนี้ได้รับเงินชดเชยเลิกจ้างแล้ว 63,600 บาท ยังเหลือเงินสิทธิประโยชน์อื่นๆที่บริษัทยังค้างจ่ายเช่น ค่าโอที ค่าเบี้ยขยัน ค่ากะ ค่าอาหารในช่วงเดือนธ.ค.2554-ม.ค.2555 รวมเป็นเงินประมาณ 6,000 บาท จึงได้มาเขียนใบคร.7 เพื่อให้กระทรวงแรงงานออกคำสั่งให้บริษัทจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ยัง ค้างจ่ายอยู่

(แนวหน้า, 3-2-2555)

สภาอุตสาหกรรมไทยยันไม่ฟ้องศาลปกครองระงับขึ้นค่าแรง 300 บาท แต่รัฐควรมีมาตรการช่วยเอสเอ็มอีที่ดีก่อน

วันนี้ (4 ก.พ.55) นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่สภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภคเตรียม ยื่นฟ้องศาลปกครองให้ระงับมติคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) ว่า ส.อ.ท.ไม่มีนโยบายฟ้องศาลปกครองในนามขององค์กรเพื่อให้ไตรภาคีระงับการปรับ เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทนำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี และภูเก็ต ในวันที่ 1 เม.ย. 2555 ส่วนจังหวัดที่เหลือปรับขึ้นเฉลี่ย 40% แต่หากสมาชิกของส.อ.ท. รายใดต้องการร่วมฟ้องศาลก็เป็นสิทธิของแต่ละบริษัท ซึ่งไม่สามารถไปห้ามได้

อย่างไรก็ตาม นายพยุงศักดิ์ ยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดดในอัตราเฉลี่ยที่ 40% จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) อย่างมาก ดังนั้นหากรัฐบาลยืนยันปรับขึ้นค่าแรงในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ควรมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพื่อลดภาระต้นทุน เช่น การลดภาษี หรือการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากๆ ออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มจากกัมพูชา ซึ่งส.อ.ท.จะเดินทางไปกัมพูชาในวันที่ 5 ก.พ. เพื่อไปเปิดศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานกัมพูชา และจะจัดตั้งสภาธุรกิจกัมพูชา-ไทย ที่ตอนนี้ มีผู้ประกอบการในกลุ่มรองเท้า เสื้อผ้า จำนวนมากไปซื้อที่ดินที่เมืองศรีโสภณไว้แล้ว

 (TNN, 4-2-2555)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

4 ศพชาวบ้านที่ชายแดนใต้ ผู้ใหญ่ต้องมีสปิริตมากกว่าคำว่าเสียใจ เยียวยา

Posted: 03 Feb 2012 10:23 PM PST

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ ขอความสันติ ความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน  
                 
เมื่อคืนวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมากล่าวคือทหารพรานได้ยิงรถกระบะคันหมายเลขทะเบียน บท ๓๑๐๕ ปัตตานี กำลังเดินทางไปร่วมละหมาดศพ จนเป็นเหตุให้คนแก่และเยาวชนที่โดยสารในรถยนต์คันดังกล่าวเสียชีวิต ๔ ราย และได้รับบาดเจ็บ ๔ ราย ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี 
 
หลังจากชาวบ้านเสียชีวิตอีกวันมีแถลงการณ์จากผู้ใหญ่ในกองทัพและคนของรัฐบาลจนหนังสือพิมพ์กระแสหลักจากส่วนกลางพาดหัวว่าผู้ตายเป็นแนวร่วม ถึงแม้ในวันต่อมาบุคคลต่างๆจะออกมาขอโทษ  ซึ่งการสัมภาษณ์ในเชิงแบบนี้จะมีตลอดไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลเช่นเหตุการณ์กรือเซะ  ตากใบ  ไอร์ปาแย และอื่นๆ
 
หากจะนับความผิดพลาดของหน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะทหารพรานจากคดีต่างๆเหล่านี้ ซึ่งชาวบ้านค้างคาใจและรู้สึกไม่ดีตลอดสำหรับทหารพรานเช่น  เหตุการณ์กำลังทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 44 (ทพ.44) เข้าตรวจค้นจับกุมกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์โดยถูกกล่าวหา กำลังเสพยาเสพติดในท้องที่บ้านปาตาบาระ หมู่ 1 ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 2 คน เมื่อคืนวันที่ 22 ส.ค.2552 และกองร้อยทหารพรานที่ 4302 และ 4306  ยิง นายหะซัน มามะ อายุ 16 ปี และ นายอับดุลลอฮ์ แวเยะ เสียชีวิต เมื่อค่ำวันที่ 18 เม.ย.2554 ในท้องที่ ต.ปุโลปะโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยฝ่ายทหารอ้างว่าวัยรุ่นทั้ง 2 คนเป็นคนร้าย (โปรดดูข้อมูลในสถาบันข่าวอิศรา)
 
อีกทั้งทหารถูกกล่าวหาซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยอื่นๆ อีกมากมายเช่นคดี อิหม่ามยะพา กาเซ็ง อัซฮารี  สะมะแอและอุสตาซอมีนุดดีน  กะจิ 
 
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งเป็นความผิดพลาดหลายต่อหลายครั้ง  อาจจะนำไปสู่การเพิ่มดีกรีความไม่พอใจจากประชาชนมุสลิมให้มีการการถอนทหารออกนอกพื้นที่ เหมือนที่เกิดขึ้นในฟิลิปินส์กรณีทหารสหรัฐอเมริกาและสร้างความชอบธรรมมากขึ้นให้กับเครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านกฎหมายพิเศษ เพราะการคงทหารกว่าหกหมื่นนายพร้อมหมดงบประมาณเป็นพันล้านยังไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนโดยเฉพาะชุมชนมุสลิมอย่างแท้จริง
 
ท้ายนี้ผู้เขียน ขอแสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวและอื่นๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้และเรียกร้องให้รัฐให้ความยุติธรรมในเชิงปฏิบัติกับทุกฝ่าย  ที่สำคัญผู้นำรัฐและบังคับบัญชาควรมีสปิริตมากกว่าคำว่าเสียใจ เยียวยา
 
คำว่า สปิริต หรือ ภาษาอังกฤษว่า Spirit ซึ่งหมายถึง จิตใจ วิญญาณ หัวใจ อารมณ์ ความเด็ดเดี่ยว 
 
การแสดงความรับผิดชอบ การยอมรับการกระทำ รวมถึงการตัดสินใจเพื่อแสดงจุดยืน ความรับผิดชอบ ต่อความผิดพลาดจากการกระทำ หรือแม้แต่ยังไม่ผิดพลาด แต่เป็นที่ติดใจสงสัย 
 
หากเป็นไปได้นายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องรีบแก้ไขโดยลงเข้าพบชาวบ้านด้วยตนเอง ประกอบกับสื่อใดที่พาดหัวผิดพลาดว่าชาวบ้านเป็นโจรใต้ก็ต้องพาดหัวแก้ไขข่าวให้ใหญ่กว่าหรือเท่ากับวันแรกที่พาดหัวข่าวด้วยเช่นกัน 
 
ขอประณามผู้ที่กระทำจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย
 
หมายเหตุ: โปรดดูข้อมูลประกอบใน
http://www.facebook.com/l.php?u=http%3A%2F%2Fwww.youtube.com%2Fwatch%3Fv%3DOKlAym3b_0k&h=LAQE50M6B
https://www.facebook.com/?ref=logo#!/groups/209411865746016/
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เชื่อมั่นศรัทธาสีขาว: นิติราษฎร์

Posted: 03 Feb 2012 10:11 PM PST

หมายเหตุ :  “ศรัทธาสีขาว” บทกวีชิ้นแรกของประกาย ปรัชญา ที่ตีพิมพ์ และสำหรับการเขียนบทกวีชิ้นนี้ของผม ได้อาศัยถ้อยคำสำนวนจากบทกวีของประกาย ปรัชญาในหลายแห่ง จึงขออนุญาตถือวิสาสะต่อเจ้าของบทกวี ด้วยความเคารพและเชื่อมั่นในศรัทธาสีขาว 
 
1.
ดอกไม้แห่งความหวัง
ผลิบานสะพรั่งกลางฤดูหนาว
ยุคสมัยไร้เสรีเนิ่นนานยาว
ต่อศรัทธาสีขาวจากเมื่อวาน
 
“ศรัทธาสีขาว
โชนไฟผันอันเพริศพราวดับร้าวฉาน
เพื่อสิทธิ-สันติภาพนานตราบนาน
แย้มมุมม่าน ณ น่านฟ้าเหนือนาคร” [1]
 
2.
ใช่!..กวีหนุ่มกล่าวไว้กว่าสามทศวรรษ
ทุกบรรทัดเจิดจำรัสในกาลก่อน
และเรายังเชื่อมั่นนิรันดร
ถึงข้ามผ่านกี่หนาว-ร้อน,แดดทุรน
 
ที่นี่, เมล็ดพันธุ์เสรีแพร่ขยาย
บนแผ่นผืนดินทรายในป่าฝน
เกิด เติบโต ต้อยต่ำ ไม่จำนน 
ในมืดมนมีแสงอยู่วาววับ 
 
เมื่อศรัทธาสีขาวก้าวผ่านกาล
จิตวิญญาณของคนไม่เปลี่ยนกลับ
มหาชนตื่นรู้เกิน คณานับ
ร่วมขานขับเห่กล่อมผองคนทุกข์
 
3.
มนต์มายาเผด็จการอำพรางกาย
เมฆหมอกร้ายรายรอบเกินปลอบปลุก
มหานครซ่อนตัวอยู่กลางคุก
หญ้าระบัดใบลุกทุกทิศทาง
 
 
กระนั้น, ดอกไม้แห่งความหวัง
ชูช่อรอตะวันหลังรุ่งสาง
เป็นพันธุ์ไม้ล้างพิษฤทธิ์หมอกจาง
โลกเรื้อร้างสร้างรื้อใหม่ให้เสรี 
 
ใช่!..นี่คือมวลบุปผานิติราษฎร์
โชยกลิ่นหอมสะอาดประกาศศักดิ์ศรี
แผ่กระจายสลายรากซากอินทรีย์
ทุกผลพวงบารมีให้พลีกรรม  
 
เป็นดวงไฟในใจประชา
สาดแสงแห่งปัญญาสว่างล้ำ
จุดประกายฉายส่องสัจธรรม 
กระทบรอยด่างดำเถื่อนทะมึน 
 
4.
ราษฎรร่ำร้อง “นิติราษฎร์”  
จงยืนหยัดอย่างองอาจเชิดหน้าขึ้น
ถึงมืดฟ้าเมฆฝนโหมพัดครืน 
แม้ฟืนฝันอับชื้นยืนจุดไฟ
 
ส่องประกายต่อไปในโลกหล้า
ประกาศค่าประชาชนคนส่วนใหญ่ 
เสรีภาพ ความเท่าเทียม ประชาธิปไตย
จงบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ
 
นักกฎหมายของมหาประชาชน
คือเพลิงโดมโหมจิตคนไม่สิ้นสูญ
แผ่ทำลายซากเดนปฏิกูล
สังคมทรามไร้อาดูรมนุษยธรรม
 
คณะราษฎร์ส่งผ่านนิติราษฎร์ 
อุดมการณ์ประชาชาติพิลาสล้ำ
สืบศรัทธาสานต่อวีรกรรม
เจตนาหนุนนำประชาธิปไตย
 
ศรัทธาสีขาวนิติราษฎร์
คืนอำนาจประชาชนคนส่วนใหญ่
เสรีภาพ ความเท่าเทียม ประชาธิปไตย
เสมอหน้าภายใต้รัฐธรรมนูญ!.
 
ด้วยความคารวะแด่นิติราษฎร์
 
 
 
[1]  ทั้งบทนี้ จากบทกวีศรัทธาสีขาว อ้างถึงใน “สองทศวรรษ” เขียนโดยประกาย ปรัชญา , สำนักพิมพ์สามัญชน.
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พบ 'ฝาแฝด' ภาพโมนาลิซ่า วาดพร้อมงานต้นฉบับของลีโอนาโด

Posted: 03 Feb 2012 10:02 PM PST

พบภาพจำลองแบบของ 'โมนาลิซ่า' ที่เชื่อว่าลูกศิษย์คนสนิทของลีโอนาโด ดาวินซี เป็นคนวาดขึ้นพร้อมกับภาพต้นฉบับ ภาพฉากหลังที่เดิมถูกเคลือบด้วยสีดำจริงๆ แล้วซ่อนฉากหลังแบบเดียวกับของดาวินซีไว้ ภาพนี้จะถูกจัดแสดงพร้อมผลงานของดาวินซีในพิพิธภัณฑ์เลอวัวร์ กรุงปารีส 29 มี.ค.
 
 
ที่มาภาพ: livescience.com
 
3 ก.พ. 55 - มีการค้นพบว่ามีภาพลอกแบบของ "โมนาลิซ่า" จากผลงานต้นแบบของลิโอนาโด ดาวินซี ที่วาดโดยลูกศิษย์หรือผู้ติดตามดาวินซี ในช่วงเวลาเดียวกับที่ผลงานต้นแบบถูกสร้างขึ้นมา ทำให้งานจำลองชิ้นนี้กลายเป็นงานจำลองแบบที่เก่าแก่ที่สุดของภาพวาดชวนสนเท่ห์ชิ้นนี้
 
ภาพวาดดังกล่าวเดิมอยู่ในงานสะสมของราชวังสเปน ก่อนจะถูกส่งมาจัดแสดงที่กรุงมาดริดในปี 1819 เมื่อมีการก่อตั้งมิวซิโอ เดอ ปราโด หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของสเปน ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ก็เปิดเผยว่าผลงาน  'น้องสาวฝาแฝด' ชิ้นนี้ ได้ถูกวาดไปพร้อมกับภาพต้นฉบับ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นภาพที่ถูกมองว่าสร้างขึ้นทีหลังภาพเดิมหลายสิบปี
 
นักวิจัยที่ทำการศึกษางานภาพวาดชิ้นนี้พบว่า มีการอ้างถึงภาพวาดเป็นครั้งแรกในปี 1666 ที่เป็นของสะสมในพระราชวังอัลคาซาร์ เมืองซีวีล ในฐานะของภาพวาดหญิงสาวที่มีความสัมพันธ์กับดาวินซี
 
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตอีกว่าภาพวาดจำลองแบบชิ้นดังกล่าวอาจจะมาถึงสเปนในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 จากการกล่าวอ้างของ มิเกล ฟาโรเมีย เฟาส์ ภัณฑารักษ์ ของภาพจาก มิวซิโอ เดอ ปราโด ในช่วงราว 1700
 
ภาพวาดจำลองแบบชิ้นนี้ในตอนแรกก็ไม่ได้รับความสนใจสักเท่าไหร่ เนื่องจากภาพวาดชิ้นนี้มีแต่ผู้หญิงอยู่ในภาพ ฉากหลังเป็นสีดำทั้งหมด ไม่ได้มีภาพทิวทัศน์เป็นฉากหลังแบบ "โมนาลิซ่า" ของดาวินชี แต่พอเมื่อนักอนุรักษ์ได้ทำการบูรณะภาพเพื่อนำไปรวมจัดแสดงพร้อมกับงานของดาวินซีในพิพิธภัณฑ์เลอวัวร์ กรุงปารีส วันที่ 29 มี.ค. นี้ พวกเขาก็ค้นพบว่าสีดำที่เคลือบอยู่นั้น เบื้องหลังของมันก็เป็นภาพทิวทัศน์ชนบทชวนฝันในแบบภาพดั้งเดิมของดาวินซี
 
Livescience เปิดเผยอีกว่า ภาพโมนาลิซาจำลองชิ้นนี้เก็บรายละเอียดของหญิงปริศนาผู้นี้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นส่วนของเสื้อผ้าที่คลุมหน้าอกเธอ ผ้าคลุมหัวกึ่งโปร่งแสงที่คลุมถึงไหล่ และรูปร่างของเก้าอี้ที่เธอนั่งเท้าอยู่ และภาพทิวทัศน์เบื้องหลังก็ดูกระจ่างชัดกว่าด้วย
 
เว็บไซต์ History.com รายงานว่าผลงาน 'น้องสาวฝาแฝด' ของผลงานโมนาลิซ่าชิ้นนี้ดูอ่อนวัยกว่าภาพต้นฉบับ และมีผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า ผู้วาดภาพจำลองแบบ 'น้องสาวฝาแฝด' ของโมนาลิซ่าชิ้นนี้ น่าจะเป็นศิษย์เอกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับดาวินซีคือ ฟรานเซสโก เมลซี และแอนเดรีย ซาไล ซึ่งซาไลเองก็เป็นคนที่ได้รับภาพโมนาลิซ่าต้นฉบับเป็นมรดกหลังจากที่ดาวินซีเสียชีวิตแล้วด้วย
 
เมื่อปีที่แล้ว (2011) นักโบราณคดีก็รายงานว่าพวกเขาได้ขุดค้นพบซากกระดูกที่น่าจะเป็นลิซ่า เกอราดินี เดล โจกอนโดผู้หญิงเชื่อกันว่าที่เป็นแบบให้กับภาพวาดโมนาลิซ่าของดาวินซี
 
ภาพจำลองของโมนาลิซ่าชิ้นนี้จะถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของสเปน ก่อนจะถูกส่งไปจัดแสดงผลงานของดาวินซีที่ฝรั่งเศสในเดือน มี.ค.
 
"ภาพโมนาลิซ่าตัวจริงที่แน่นิ่งอยู่ใต้กระจกของพิพิธภัณฑ์เลอวัวร์ จะรู้สึกขุ่นข้องหมองใจเมื่อได้เห็นปลายฝีแปรงที่เฉิดฉายจากผลงานฝาแฝดที่เพิ่งค้นพบนี้หรือไม่ ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไรก็ตาม โมนาลิซ่าแฝดน้องคนนี้ก็ยังคงมีใบหน้ากึ่งยิ้มในตำนานเช่นเดียวกับคนพี่" เว็บไซต์ History.com กล่าวไว้
 
ที่มา:
 
Oldest Copy of 'Mona Lisa' Painted Alongside Original, LiveScience, 03-02-2012
http://www.livescience.com/18295-oldest-copy-mona-lisa-da-vinci.html

Mona Lisa’s Long-Lost Twin Turns Up in Spain, History, 01-12-2012
http://www.history.com/news/2012/02/01/mona-lisas-long-lost-twin-turns-up-in-spain/
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เพ็ญ ภัคตะ: หากไม่มีนิติราษฎร์

Posted: 03 Feb 2012 09:51 PM PST

หากไม่มีนิติราษฎร์...
ธรรมศาสตร์ฤๅผงาดประกาศแสง
อุดมการณ์ปรีดีเคยสำแดง
คงเหือดแห้งแล้งเผาเจ้าพระยา
 
หากไม่มีนิติราษฎร์...
จักมีใครใจฉกาจอาจอาสา
ยอมเป็นหนังหน้าไฟสู้กับฟ้า
ปลุกประชาชัดชี้วิถีชน
 
หากไม่มีนิติราษฎร์...
สังคมคงเขลาขลาดมิเคี่ยวข้น
มนุษย์ทาสรันทดทุกข์ทุรน
ตีค่าตนต้อยต่ำดั่งหญ้าตฤณ
 
หากไม่มีนิติราษฎร์...
ใครจักคานอำนาจการตัดสิน
ระบบศาลกลบฝังเกินพังภิณฑ์
ประชาชินสิ้นหวังสถาบัน
 
หากไม่มีนิติราษฎร์...
วันหนึ่งคุณเองอาจมิคาดฝัน
โดนข้อหาหมิ่นอ้างอย่างทันควัน
แค่อ้าปากถูกฟาดฟันบั่นเสรี
 
หากไม่มีนิติราษฎร์...
สยามราฐอวสานแล้วศักดิ์ศรี
แค่สบตาพม่าลาวแต่ละที
เขาคงชี้หน้าเย้ย...เฮ้ยไดโน!
 
 หากไม่มีนิติราษฎร์...
กฎหมายทาส "หนึ่งหนึ่งสอง" คือช่องโหว่
ประชาธิปไตยไทยย่อมไม่โต
สลัดโซ่ความชัง มอบ...กำลังใจ 
 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น