โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คนพุทธยันไม่ย้ายหนี ยิงสองผัวเมียปะนาเระ

Posted: 14 Feb 2012 12:30 PM PST

ชาวไทยพุทธที่บ้านในเนื้อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เหลือเพียง 17 คน หลังจากสองสามีภรรยาถูกยิงเสียชีวิต ยันไม่คิดย้ายหนี แม้ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว

 

บ้านของชาวไทยพุทธหนึ่งใน 5 หลังที่บ้านในเนื้อ หมู่ที่ 2 ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ปัจจุบันเหลือสมาชิกเพียง 17 คน หลังจากนายอนันต์ แซ่เอี้ยว และนางลักขณา แซ่เอี้ยว สองสามีภรรยาจากหมู่บ้านนี้ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 

 

วานนี้ (14 ก.พ.) มีเหตุยิงกันมีผู้เสียชีวิตบริเวณ หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จึงนำกำลังไปตรวจสอบ พบผู้เสียชีวิต 2 ราย ทราบชื่อนายอนันต์ แซ่เอี้ยว และนางลักขณา แซ่เอี้ยว สองสามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 201 หมู่ที่ 2 บ้านในเนื้อ ตำบลน้ำบ่อ มีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืนหลายนัด

พ.ต.อ.มานิตย์ ยิ้มซ้าย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรปะนาเระ จังหวัดปัตตานี  สอบสวนทราบว่า ขณะที่ผู้ตายทั้งสองคนขับขี่จักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าออกจากบ้านพักเพื่อหาของป่า เมื่อถึงที่เกิดเหตุถูกคนร้าย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์ตามประกบยิงจนเสียชีวิต เจ้าหน้าที่เชื่อเป็นฝีมือแนวร่วมในพื้นที่สร้างสถานการณ์

ในช่วงเย็นวันเดียวกัน ที่บ้านในเนื้อ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของผู้เสียชีวิตมีบรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากชาวบ้านได้เดินทางไปร่วมงานศพของผู้เสียชีวิตทั้งสองที่วัดคอกกระบือ อำเภอปะนาเระ

หมู่บ้านในเนื้อมีเส้นทางเข้าออกสองทางและค่อนข้างเปลี่ยว มีบ้านรวมกัน 5 หลัง ปลูกเป็นกลุ่มใกล้ๆ กัน โดยมีฐานปฏิบัติการทหารพรานตั้งอยู่ตรงกลาง

จ.ส.อ.อุดร คงคืน ผู้บังคับการชุดปฏิบัติการทหารพรานบ้านในเนื้อ เปิดเผยว่า หมู่บ้านในเนื้อมีชาวไทยพุทธอาศัยอยู่ 5 ครอบครับ รวม 19 คน เสียชีวิตไปอีก 2 คน เหลือ 17 คน เมื่อก่อนมีสิบกว่าครอบครัว แต่หลังเกิดเหตุไม่สงบจึงย้ายออกไปอยู่ที่อื่น

จ.ส.อ.อุดร เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารพรานต้องเพิ่มการดูแลชาวบ้านมากขึ้นไปอีก ส่วนกรณีที่ชาวบ้านประสบเหตุ เนื่องจากออกเดินทางไปไหนมาไหน โดยไม่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ

นายประกอบ พี่เขยของนายอนันต์ เปิดเผยด้วยภาษามลายูท้องถิ่นว่า ตนปลูกบ้านอยู่ใกล้กับบ้านของนายอนันต์ ซึ่งนายอนันต์ เป็นอดีตทหารพราน บ้านนายอนันต์ มีทั้งหมด 3 คน เมื่อนายอนันต์กับภรรยาเสียชีวิต จึงเหลือแม่ของนายอนันต์ อายุ 60 ปี คนเดียว หลังจากนี้ ตนคงต้องเป็นคนดูแล

นายประกอบ เปิดเผยว่า ชาวบ้านที่นี่เคยประสบเหตุไม่สงบมาแล้วครั้งแรกเมื่อปี 2549 ถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่บ้านท่าสู ส่วนครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง โดยนายอนันต์ มักชอบออกเดินทางไปหาของป่าตามลำพังเป็นประจำ

นายประกอบ เปิดเผยด้วยว่า ชาวไทยพุทธทั้ง 5 ครอบครัว ประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าว และรับจ้างเลี้ยงเป็ดไก่จากนายจ้างที่เป็นชาวมุสลิม และมีการไปมาหาสู่กับชาวมุสลิมที่อยู่รอบๆ ทั้ง 5 ครอบครัว เป็นชาวไทยพุทธที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นปูย่าตายาย จึงไม่คิดจะย้ายออกไปไหน ส่วนคนที่ย้ายออกไป ส่วนมากเป็นคนมาจากที่อื่น เมื่อเกิดเหตุไม่สงบจึงไม่กล้าอาศัยอยู่ต่อ

“อยู่ที่นี่ กลัวก็กลัว แต่ต้องอยู่เพราะไม่รู้จะย้ายไปอยู่ที่ไหน ถ้าย้ายไปแล้วก็ต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกับชาวบ้านที่เหลืออยู่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป” นายประกอบ กล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทีมงานเยียวยา 4 ศพ นัดถกประเด็นช่วยเหลือ

Posted: 14 Feb 2012 12:21 PM PST

รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเผย 15 ก.พ. คณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ยิงชาวบ้าน 4 ศพ ที่หนองจิก จะประชุมเพื่อกำหนดประเด็นการช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับกระทบและระยะเวลาในการทำงาน ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดหลังเก่า

นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 คณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดปัตตานี กรณีเหตุการณ์บ้านกาหยี ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี หรือเหตุการณ์ยิงชาวบ้าน 4 ศพ จะประชุมเพื่อกำหนดประเด็นการช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับกระทบและระยะเวลาในการทำงาน ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

สำหรับคณะทำงานชุดดังกล่าว นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี มีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นคำสั่งจังหวัดปัตตานีที่ 222 / 2555 เพื่อให้กระบวนการเฝ้าระวัง ป้องกันการแก้ปัญหาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ลดความหวาดระแวงและการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของทุกภาคส่วนตามยุทธศาสตร์จังหวัดปัตตานี

สำหรับรายชื่อคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดปัตตานี กรณีเหตุการณ์บ้านกาหยี ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ประกอบด้วย นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นที่ปรึกษา นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานคณะทำงาน

ส่วนคณะทำงาน มีทั้งหมด 22 คน ประกอบด้วย นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี วัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี แรงงานจังหวัดปัตตานี นายเศรษฐ อัลยูฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี พัฒนาการจังหวัดปัตตานี ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดปัตตานี ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดปัตตานี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดปัตตานี

นายโมทฐดล หนูเชื้อ ปลัดอำเภอหนองจิก (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) อิหม่ามประจำมัสยิดปุโละปุโย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปุโละปุโย กำนันตำบลปุโละปุโย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลปุโละปุโย นายอำเภอหนองจิก

ส่วนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เป็นเลขานุการ นายปรีดี มะนีวัน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี นายมุกตา จิใจ ปลัดอำเภอหนองจิก (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) หัวหน้าทีมเยียวยาวิถีธรรมฯ อำเภอหนองจิก สำนักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปัตตานี อาสาสมัครพัฒนาสังคมฯ (อพม.) ตำบลปุโละปุโย บัณฑิตแรงงานประจำตำบลปุโละปุโย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

อำนาจหน้าที่ของคณะทำงาน ได้แก่ ให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบทางด้านสังคมและจิตใจ ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาทางด้านการศึกษาและการฝึกอาชีพ กำกับดูแลและประสานงานการปฏิบัติงานกับส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กร ที่มีโครงการ/ กิจกรรมสนับสนุนช่วยเหลือในพื้นที่แบบบูรณาการ เป็นต้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Fearlessness walk : เดินเพื่อบอกถึงความรักที่หลากหลาย

Posted: 14 Feb 2012 11:30 AM PST

วานนี้ (14 ก.พ.55) เวลา 17.00 น. บริเวณหมุดอภิวัฒน์ ลานพระรูปทรงม้า มีการจัดกิจกรรม “อภยยาตรา” หรือ Fearlessness walk มีผู้เข้าร่วมราว 50 คน เดินเท้าจากลานพระรูปทรงม้า ถึงลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กิจกรรมดังกล่าวนำโดยกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม นักศึกษา และประชาชน เรียกร้องให้สังคมไทยยอมรับความรักที่แตกต่างที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ และเรียกร้องให้นักโทษการเมืองในคดีความมั่นคงและคดี 112 ได้รับสิทธิประกันตัว โดยกิจกรรมนี้มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าผ่านทางเฟซบุ๊ค

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

Posted: 14 Feb 2012 08:10 AM PST

14 ก.พ.55 เวลา 17.00 น. ที่บริเวณลานพระรูปทรงม้า นักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนกว่า 50 คน ร่วมกันเดิน “อภยยาตรา ครั้งที่ 2” โดยออกเดินจากหมุดอภิวัฒน์ไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และไปสิ้นสุดกิจกรรมที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย หนึ่งในคณะผู้จัดงานกล่าวว่า เนื่องจากวันนี้เป็นวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก ในสังคมไทยมีความรักที่แตกต่างและหลากหลาย จึงต้องการให้คนในสังคมรับรู้ว่าคนที่คิดต่างหรือคิดไม่เหมือนกัน ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ เราอาจจะรักคนคนเดียวกัน แต่รักไม่เหมือนกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นจะเป็นอันตราย หรือเป็นภัยคุกคาม และในวันนี้เป็นการเดินอภยยาตรา ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการเดินเพื่อให้ปราศจากความกลัว

นายเทวฤทธิ์กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมด้วยว่า 1) เพื่อแสดงการคัดค้านการมติผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 2) เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับนักโทษการเมืองในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงและกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สามารถออกมาเตรียมตัวสู้คดีได้

ในระหว่างดำเนินกิจกรรม ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อขบวนเดินผ่านแยกคอกวัว มีรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีบรอนซ์เงิน หมายเลขทะเบียน ฌช 2499 กรุงเทพมหานคร คนขับเป็นชายวัยกลางคน ขับรถพุ่งออกจากซอยเข้าชน น.ส.วันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ก่อนที่ชายคนดังกล่าวจะขับรถหลบหนีไป ส่วน น.ส.วันรัก ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด พยานในที่เกิดเหตุเล่าว่า เห็นรถยนต์คันดังกล่าวพยายามเร่งเครื่องยนต์หลายครั้งก่อนที่จะขับรถพุ่งเข้าชนโดยไม่ทราบสาเหตุ

อนึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการจัดกิจกรรมเดินอภยยาตราไปแล้วครั้งหนึ่ง ในวันที่ 10 ธ.ค.2554 ซึ่งครั้งนั้นเป็นการจัดกิจกรรมโดยนักวิชาการเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอำพล หรือ “อากง” ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปีด้วยข้อหาส่ง sms หมิ่นเบื้องสูง

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

นักกิจกรรมและประชาชนเดินอภยยาตราวันแห่งความรัก

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สืบคดี "ผอ.ประชาไท" อาสาสมัครดูแลเว็บบอร์ดยันมีระบบช่วยปิดความเห็นหมิ่นฯ

Posted: 14 Feb 2012 05:03 AM PST

(14 ก.พ.55) ที่ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1167/2553 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ในความผิดตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กรณีที่มีผู้อ่านโพสต์ข้อความเข้าข่ายผิดกฎหมายในเว็บบอร์ดประชาไท โดยวันนี้ มีผู้แทนจากสถานทูตประเทศสวีเดน ฟินแลนด์ แคนาดา ตัวแทนจากสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สถาบันสิทธิมนุษยชน สมาคมทนายความนานาชาติ (The International Bar Association's Human Rights Institute: IBAHRI) และเครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) องค์กรปกป้องเสรีภาพสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Media Defence SEA) เข้าสังเกตการณ์คดีด้วย

 

โดยวันนี้มีพยาน 3 ปากได้แก่ นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นพ.กิติภูมิ เบิกความในฐานะผู้ใช้เว็บบอร์ดประชาไท (ในขณะนั้น) ว่า หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เว็บบอร์ดประชาไทมีผู้เข้าใช้มากขึ้น ทำให้ดูแลยาก จึงเริ่มมีระบบซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้จำนวนหนึ่งซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ดูแลเว็บ สามารถลบความเห็นที่เห็นว่าไม่เหมาะสมได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเขาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เนื่องจากเป็นผู้ที่แจ้งลบบ่อย

ด้านสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความรับรองเอกสารที่เสนอต่อศาล เป็นเอกสารการประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.54 ซึ่งกล่าวถึงหลักการความรับผิดของตัวกลางในการให้บริการอินเทอร์เน็ตว่า โดยหลักแล้วตัวกลางไม่ต้องรับผิดชอบกรณีที่มีการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยบุคคลที่สาม เว้นแต่ตัวกลางจะรู้ถึงการกระทำผิดดังกล่าวและได้รับการแจ้งให้ดำเนินการลบ โดยในภาคพื้นยุโรปและสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ดำเนินการแก้ไข ภายใน 10-14 วันหลังได้รับแจ้ง ขณะที่มาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่มีข้อความในลักษณะแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลเว็บดำเนินการแก้ไข และหลังออก พ.ร.บ.นี้แล้ว ก็ยังไม่เคยมีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการรับผิดชอบของผู้ดูแลอินเทอร์เน็ต

ส่วน จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เบิกความในฐานะกรรมการและเหรัญญิกของมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ซึ่งให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลความเห็นในเว็บบอร์ด โดยเล่าถึงความพยายามในการพัฒนาระบบช่วยผู้ดูแลเว็บบอร์ด ซึ่งมีกลไกคล้ายระบบกรองอีเมลขยะ โดยจะแสดงข้อความจากการเรียนรู้จากข้อความที่ถูกพิจารณาว่าไม่เหมาะสม เพื่อทำให้ผู้ดูแลพิจารณาข้อความได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวยังไม่ได้พัฒนาเนื่องจากประชาไทได้ตัดสินใจปิดระบบเว็บบอร์ดไปก่อน ทั้งนี้ จิตร์ทัศน์ระบุว่าเคยมีการพูดคุยเรื่องการจ้างผู้ดูแลเว็บบอร์ดตลอด 24 ชั่วโมง แต่มองว่าเป็นเรื่องยากเนื่องจากปัญหาการเงินของมูลนิธิ และจำนวนกระทู้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับผู้ดูแลที่เป็นมนุษย์ก็อาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

ทั้งนี้ จิตร์ทัศน์ตอบคำถามอัยการเรื่องการดูแลเว็บบอร์ดว่า โดยหลักเมื่อมีข้อความไม่เหมาะสม ถ้าผู้ดูแลพบก็จะต้องลบหรือซ่อนข้อความนั้น ตอบคำถามทนายความถามติงถึงพยานเอกสารซึ่งถูกระบุว่ามาจากเว็บบอร์ดประชาไทว่า เอกสารนั้นมีรูปแบบคล้ายคลึงกับเว็บบอร์ดประชาไท แต่ข้อความที่ปรากฏจะใช่หรือไม่ ไม่สามารถยืนยันได้ เพราะเมื่อดาวน์โหลดไฟล์มาแล้วก็สามารถแก้ข้อมูลได้

 

อนึ่ง คดีนี้จะมีการสืบพยานจำเลยอีก 2 ปากคือ วันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ในวันที่ 15 เวลา 9.00 น. และพิรงรอง รามสูตร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ในวันที่ 16 ก.พ. เวลา 13.00 น. ตามลำดับ
 

 

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูล คอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอม ให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา 14

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความล้มเหลวของระบบการประเมินผลการศึกษาไทย: สาเหตุและข้อเสนอแนะ

Posted: 14 Feb 2012 03:10 AM PST

ในปัจจุบัน ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมีการประเมินผลใน 3 ส่วนคือ การประเมินผลโรงเรียนโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา (สมศ.) การประเมินผลครูโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และ การประเมินผลนักเรียนโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) บทความนี้จะวิเคราะห์ว่า ระบบการประเมินผลเหล่านี้มีผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยจริงหรือไม่ มีปัญหาอย่างไร และควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

ขอเริ่มจากการประเมินโรงเรียน ที่ผ่านมา มีการประเมินโรงเรียนในทุกสังกัดไปแล้ว 2 รอบ โดยรอบที่สอง ทำในช่วงปี 2549-2553 ผลพบว่า มีโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์ในรอบที่สองมากกว่าในรอบแรกมาก (ดูภาพที่ 1) ซึ่งน่าจะหมายความว่า การประเมินทำให้โรงเรียนปรับปรุงคุณภาพจนสามารถผ่านเกณฑ์ได้ และน่าจะเป็นเครื่องชี้ว่า ระบบการศึกษาไทยมีคุณภาพสูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ปัญหาก็คือ ในช่วงเวลาดังกล่าว คุณภาพการศึกษาของไทยเมื่อวัดจากผลสอบมาตรฐานต่างๆ กลับตกต่ำลง ทั้งการสอบมาตรฐานในประเทศเช่น O-NET และการสอบที่จัดโดยองค์กรในต่างประเทศเช่น TIMSS และ PISA ซึ่งล้วนชี้ชัดว่า คุณภาพของนักเรียนไทยตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องอย่างน่าใจหาย (ดูภาพที่ 2 กรณีของ TIMSS)

ภาพที่ 1 ร้อยละของโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์ประเมิน

ความล้มเหลวของระบบการประเมินผลการศึกษาไทย: สาเหตุและข้อเสนอแนะ

ภาพที่ 2 คะแนนสอบ TIMMS

ความล้มเหลวของระบบการประเมินผลการศึกษาไทย: สาเหตุและข้อเสนอแนะ

เราสามารถเข้าใจสาเหตุของความขัดแย้งกันระหว่างคุณภาพของโรงเรียนจากการประเมินของ สมศ. กับคะแนนสอบของนักเรียน โดยดูจากตัวชี้วัดที่ สมศ. ใช้ในการประเมินโรงเรียน ในการประเมินโรงเรียนระดับขั้นพื้นฐานสายสามัญในรอบสองที่ผ่านมา มีตัวชี้วัดที่ใช้ 14 ตัว ซึ่งประเมินผู้เรียน 7 ตัว ประเมินครู/การเรียนการสอน 2 ตัว และประเมินผู้บริหาร 5 ตัว แต่เมื่อดูในรายละเอียด จะพบว่า มีเพียงตัวชี้วัดที่ 5 (ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร) เพียงตัวเดียวเท่านั้น ที่เป็นการวัดสัมฤทธิผลของนักเรียนอย่างเป็นวัตถุวิสัย (objective) โดยไม่มีดุลพินิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากใช้จำนวนนักเรียนที่ผ่านการสอบมาตรฐาน ที่เหลือเป็นตัวชี้วัดที่แม้จะดูดี แต่ก็ต้องอาศัยดุลพินิจในการวัดสูงมาก เช่น ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองและรักการเรียนรู้ (ตัวชี้วัดที่ 6) ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (ตัวชี้วัดที่ 4) เป็นต้น

ในความเห็นของผู้เขียน การประเมินคุณภาพโรงเรียนในปัจจุบัน มีปัญหาสำคัญที่ตัวชี้วัดส่วนใหญ่ไม่ได้วัดสัมฤทธิผลของนักเรียนอย่างแท้จริง จึงไม่ช่วยสร้างยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ การประเมินคุณภาพโรงเรียนที่ผ่านมายังสร้างภาระให้กับครูในการที่ต้องจัดเตรียมเอกสารต่างๆ มากมาย จึงเหลือเวลาในการเตรียมการสอนน้อยลง ดังที่โครงการ Teacher Watch เคยสำรวจพบว่า ร้อยละ 83 ของครูทำงานธุรการร้อยละ 20 ของเวลางาน และร้อยละ 10 ของครูทำงานธุรการร้อยละ 50 ของเวลางาน

ในส่วนของการประเมินครูเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนปีละ 2 ครั้งนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะกรรมการที่ผู้อำนวยการแต่งตั้งจะประเมินตามแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยแบ่งเป็น 4 ด้านคือ ผลงานต่อผู้เรียน ความประพฤติ คุณธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยมีสัดส่วนคะแนน 60:10:10:20 ตามลำดับ แม้ดูเหมือนว่าผลงานต่อผู้เรียนจะมีน้ำหนักมากที่สุดถึงร้อยละ 60 ก็ตาม ในทางปฏิบัติ คะแนนสอบมาตรฐานของนักเรียนหรือสัมฤทธิผลทางการเรียนอื่นๆ กลับไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาเลย ซึ่งทำให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนของครูไม่เชื่อมโยงกับสัมฤทธิผลของนักเรียนอย่างที่ควรจะเป็นอีกเช่นกัน นอกจากนี้ ค่าตอบแทนครูยังขึ้นอยู่กับการเลื่อนตำแหน่งและเงินวิทยฐานะ ซึ่งประเมินจาก 3 ด้านคือ วินัยและคุณธรรม ความสามารถ เช่น ความสามารถในการจัดทำแผนการสอน และผลปฏิบัติการ โดยแต่ละด้านมีน้ำหนัก 1/3 เท่ากัน การศึกษาพบว่า การประเมินผลปฏิบัติการนั้นจะพิจารณาผลการเรียนของนักเรียนจากการสอบมาตรฐานด้วย แต่มีน้ำหนักเพียงร้อยละ 10 หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 3.3 ของคะแนนทั้งหมด ดังนั้น ผลการประเมินจึงแทบจะไม่ขึ้นอยู่กับผลการเรียนของนักเรียนเลย ภายใต้แรงจูงใจเช่นนี้ ครูย่อมสนใจทำเอกสารเพื่อให้ผ่านการประเมินมากกว่ามุ่งพัฒนาการสอน

ส่วนในกรณีการประเมินนักเรียนนั้น มีการสอบมาตรฐานในหลายระดับชั้น เช่น O-NET และ NT แต่การสอบเหล่านี้ ยังไม่มีการเปิดเผยคะแนนสอบของแต่ละโรงเรียนต่อสาธารณะอย่างเป็นระบบ และแทบมิได้ถูกนำมาใช้ประเมินโรงเรียนและครูเลย นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อคุณภาพของข้อสอบมาตรฐาน โดยเฉพาะ O-NET

โดยสรุป ปัญหาของคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย มีสาเหตุมาจากการมีระบบประเมินผลที่ผิดพลาด โดยการประเมินโรงเรียนและครูแทบจะไม่มีความเชื่อมโยงกับผลการเรียนรู้ของนักเรียน และยังสร้างภาระต่อครูมากมาย ซึ่งมีผลในการดึงครูออกจากนักเรียน ส่วนการสอบมาตรฐานนั้น แม้โดยหลักการจะเป็นการวัดการเรียนรู้ของนักเรียนโดยตรง แต่ก็มีปัญหาคุณภาพของข้อสอบ และไม่มีการเปิดเผยคะแนนสอบเฉลี่ยของโรงเรียนต่อสาธารณะอย่างเป็นระบบ ระบบการประเมินที่เป็นอยู่จึงไม่เชื่อมโยงกับการสร้างความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจในการยกคุณภาพการศึกษาเลย

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะในการยกระดับคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ดังต่อไปนี้

  1. ควรจัดให้มีการสอบมาตรฐานทุกระดับชั้นเรียน หรืออย่างน้อยทุกช่วงชั้นของโรงเรียนทุกสังกัด เพื่อเป็นฐานในการสร้างความรับผิดชอบทางการศึกษา นอกจากนี้ ควรใช้ผลการสอบมาตรฐานเป็นเกณฑ์ในการเลื่อนชั้นและการเข้ามหาวิทยาลัยแทนการใช้เกรดเฉลี่ย ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานที่แตกต่างกันมาก
  2. ปฏิรูปการออกข้อสอบมาตรฐานจากปัจจุบันซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณภาพของข้อสอบมาก โดยควรออกข้อสอบที่เน้นวัดความเข้าใจ (literacy-based test) ซึ่งส่งเสริมการคิดของนักเรียน มากกว่าเน้นวัดเนื้อหา (content-based test) ซึ่งส่งเสริมการท่องจำ
  3. เปิดเผยผลคะแนนการสอบมาตรฐานเฉลี่ยเป็นรายโรงเรียนต่อสาธารณะ และให้โรงเรียนจัดทำใบรายงานผลของตน (report card) เปรียบเทียบกับโรงเรียนในเขตการศึกษาเดียวกัน และโรงเรียนทั่วประเทศให้แก่ผู้ปกครอง
  4. ยกเลิกระบบการประเมินคุณภาพสถานศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรืออย่างน้อยต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ให้มีความเชื่อมโยงกับผลการเรียนของนักเรียน
  5. ใช้คะแนนสอบมาตรฐานของนักเรียนในการประเมินผลโรงเรียนและครู โดยควรใช้การเปลี่ยนแปลง (change) ของคะแนน ซึ่งสะท้อนพัฒนาการของนักเรียน มากกว่าการใช้ระดับคะแนน (level) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โรงเรียนที่มีทรัพยากรที่แตกต่างกัน
  6. ให้รางวัลแก่ผู้บริหารโรงเรียนและครูตามความสามารถในการยกระดับผลการเรียนของนักเรียน โดยอาจปรับขั้นเงินเดือนหรือประกาศยกย่อง
  7. สนับสนุนการสร้างขีดความสามารถทางวิชาการแก่โรงเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ เช่น สนับสนุนการประเมินตนเองเพื่อปรับปรุงการสอน

ยังมีอีกหลายเรื่องที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งผู้เขียนจะขอแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ไท’ อดอาหารต่อ วันที่ 4 ‘ธิดา- หมอเหวง’ เข้าเยี่ยม

Posted: 14 Feb 2012 02:14 AM PST

เข้าสู่วันที่ 4 ของการอดอาหารของ ‘ไท’ เจ้าตัวแจงสุขภาพร่างกายยังแข็งแรง มีผู้เดินทางให้กำลังใจมอบดอกกุหลาบตลอดวัน ด้านหมอเหวง โตจิราการ –ธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำนปช. ได้เดินทางมาเยี่ยมเพื่อตรวจสุขภาพและให้กำลังใจด้วย   

14 ก.พ. 55 – ราว 13.00 น. บริเวณฟุตบาท หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ไท” หรือปณิธาน พฤกษาเกษมสุข บุตรชายของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยังคงอดอาหารอยู่ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงคอยมาให้กำลังใจ รวมถึงประธานกลุ่มนปช.ธิดา ถาวรเศรษฐ และ นพ.เหวง โตจิราการ เข้าเยี่ยมพูดคุยและตรวจสุขภาพให้ “ไท” และผุสดี งามขำ คนเสื้อแดงคนสุดท้ายผู้ออกที่ชุมนุม ณ ราชประสงค์ เมื่อปี 2553 ซึ่งร่วมอดอาหารด้วย 

ส่วนในตอนเช้า มีรายงานว่า นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต แพทย์ชนบทดีเด่นปี 2552 และผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้เข้าเยี่ยมพูดคุย ให้กำลังใจ และตรวจร่างกายนายปณิธานด้วยเช่นเดียวกัน  

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท พร้อมผู้แทนทูตจากประเทศสวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์ และไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้เข้าเยี่ยมนายปณิธานด้วย หลังจากการสังเกตการณ์การไต่สวนคดีตอนเช้าของจีรนุชที่ศาลอาญาสิ้นสุดลง 

นางธิดา ให้ความเห็นว่า การปฏิเสธการประกันตัวของนายสมยศและนักโทษคดี ม.112 เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก และมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้กระบวนการมาลงโทษแทนคำพิพากษาของศาล ทั้งนี้ ทาง นปช. ยังคงวางแผนจะรณรงค์ในเรื่องของการต่อต้านรัฐประหาร และการต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนต่อเรื่องม. 112 นั้น ธิดากล่าวว่า ใครจะรณรงค์ล่ารายชื่อก็ทำได้ แต่ทางนปช. จะทำไปทีละขั้นตอนตามที่ได้วางแผนไว้ 

“เราเป็นพวกที่ต้องกินข้าวทีละคำ คือถ้าใครอยากจะไปกินอย่างอื่นยังไงก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เราวางแผนว่าเราต้องจัดการกับกฎหมายรัฐธรรมนูญสูงสุดก่อน แค่นี้ยังไม่ง่ายเลย ยังมีคนที่จะคอยทำรัฐประหาร ฉะนั้นทุกอย่างต้องมีกาลเทศะ”  ธิดาระบุ

 

IMG_1899

IMG_1913

IMG_1952

IMG_1942

IMG_8264

IMG_8271

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกิดเหตุระเบิดกลางซอยสุขุมวิท 71

Posted: 14 Feb 2012 02:02 AM PST

 มีเหตุระเบิดที่ซอยสุขมวิท 71 เบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ก่อเหตุถือสัญชาติอิหร่านได้

สภาพที่เกิดเหตุหน้าโรงเรียนเกษมพิทยา ที่มาของภาพ: คุณ motorcyrubjang

เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้เกิดเหตุคนร้ายวางระเบิดบริเวณซอยสุขุมวิท 71 หรือซอยปรีดีพนมยงค์ ช่วงหน้าโรงเรียนเกษทพิทยา แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส

วอยซ์ทีวีรายงานด้วยว่า พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น.  ให้สัมภาษณ์ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 MHz ว่า ผู้ก่อเหตุเป็นชาวต่างชาติ ชื่อนายแซยิด โมราบิค สัญชาติอิหร่าน นอกจากนี้มีผู้ได้รับแรงระเบิดขาขาดทั้ง 2 ข้าง เจ้าหน้าที่กำลังนำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นระเบิดพลีชีพหรือไปพลิกกระเป๋าต้องสงสัยโดยพลการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบหาสาเหตุที่ชัดเจน ล่าสุดหน่วย EOD เข้าตรวจสอบพื้นที่เพื่อหาวัตถุระเบิดที่อาจหลงเหลือ

ด้าน นพ.สุวินัย บุศราคัมวงษ์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เผยว่า มีผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดมารักษาจำนวน 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ นายสัญชัย บุญสูงเนิน เจ้าของรถแท็กซีที่คนร้ายขว้างระเบิดใส่ โดยรายชื่อชื่อผู้บาดเจ็บ 4 คน ที่ถูกนำตัวส่ง ร.พ.กล้วยน้ำไท ได้แก่ 1.นายสัญชัย บุญสูงเนิน 2.นายกังวาล หอปราสาททอง 3.นายอภิชาติ คำลือ 4.นางสุธาทิพย์ สัจจะดำรง

ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานการสอบพยานเบื้องต้นตำรวจว่า ก่อนเกิดเหตุระเบิดที่หน้าโรงเรียนเกษมพิทยา ซอยปรีดีพนมยงค์ 31 ภายในซอยสุขุมวิท 71 แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา มีชาวอิหร่าน 3 คน เช่าบ้านพัก เลขที่ 66  อยู่ในซอยเจริญใจ สุขุมวิท 71 และได้มีการนำวัตถุระเบิดมาประกอบในบ้านหลังและเกิดระเบิดขึ้นทำให้ชาวบ้านที่ใกล้เคียงได้ยินเสียงออกมาดู จนคนร้ายตกใจเห็นท่าไม่ดีวิ่งหนีออกจากบ้านเช่าไปได้ขึ้นรถแท๊กซี่เขียวเหลืองไม่ทราบทะเบียนไปได้ 2 คน

ส่วนคนร้ายวิ่งออกมาจนถึงตู้โทรศัพท์หน้าโรงเรียนเกษมพิทยาเรียกรถแท๊กซี่ซึ่งมีนายสันชัย บุญสูงเนิน อายุ 32 ปี เป็นคนขับ แต่นายสันชัยไม่รับ คนร้ายจึงปาระเปิดใส่รถนายสันชัยจนเสียหายทั้งคันและได้รับบาดเจ็บ

ระหว่างนั้นเองตำรวจสายตรวจสน.คลองตันมาตรวจที่เกิดเหตุและติดตามมาทันคนร้ายจึงพยายามปาระเบิดใส่ แต่จังหวะนั้นไม่ทราบระเบิดไปกระทบกับอะไรกลับกระดอนมาใกล้คนร้ายจนระเบิดเสียงดังสนั่น เป็นเหตุให้คนร้ายชาวอิหร่านขาขาดทั้งสองข้างและบริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหาย รวมทั้งประชาชนได้รับบาดเจ็บอีก 3 คน 

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้กั้นบริเวณที่เกิดเหตุไว้ โดยยังไม่เข้าไปตรวจสอบเพราะเกรงว่าคนร้ายยังมีระเบิดอีก จนเมื่อแน่ใจว่าไม่มีระเบิดซ้ำ จึงเข้าไปถึงตัวชาวอิหร่านพบว่าขาขาดหนึ่งข้างและขาหักอีกหนึ่งข้าง ส่วนอีก2คนร้ายที่หลบหนีอยู่อยู่ระหว่างติดตาม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศราวุฒิ ประทุมราช: สิทธิได้รับการประกันตัวคือ สิทธิมนุษยชน

Posted: 14 Feb 2012 01:29 AM PST

ผมเคยเขียนบทความเรื่องสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวคือสิทธิมนุษยชน เมื่อปีที่แล้ว ไม่คิดว่าจะต้องมาเขียนซ้ำในเรื่องเดียวกันอีก เพราะได้รับความเศร้าใจต่อการที่ “ลูก”ของผู้ต้องขัง ต้องตากหน้าอดอาหารประท้วงศาลที่ไม่ยอมให้ประกัน พ่อของเขา ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงการณีน้อง ไท หรือ ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ซึ่งขณะนี้อดอาหารคัดค้านระบบยุติธรรมของไทย ที่ไม่ยินยอมให้ประกันตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกการเมืองพ่นพิษให้ต้องเป็นจำเลย ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันเป็นที่ทราบโดยทั่วไป

สิทธิในการได้รับการประกันตัวนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาที่ต้องได้รับในฐานะเป็นหลักประกันความก้าวหน้าของกระบวนการยุติธรรม และเป็นสากล หมายถึงว่าการได้รับการประกันตัวเป็นสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาทุกคน ทุกคดี ทุกข้อกล่าวหา

การไม่ให้ประกันตัวในกรณีของคดีดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หรือกรณีคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงอื่นๆนั้น เหตุผลที่ศาลมักไม่ให้ประกันตัว มักให้เหตุผลว่า เช่น ตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย สู่สถาบันกษัติริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ หรือว่าพนักงานสอบสวนได้คัดค้าน จึงเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น

คำถามคือว่า การมิให้ประกันตัวตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้นสามารถกระทำได้เพียงใด และข้อคำนึงถึงการใช้ดุลพินิจ ในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้น เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process of Law) หรือไม่

หลักสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งมีหลักการว่า สิทธิประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี จะต้องเป็นหลักที่ได้รับความคุ้มครอง การมิให้ประกันตัวถือเป็นข้อยกเว้นหรือจะกระทำได้ต่อเมื่อไม่มีวิธีการที่เบากว่านี้

โดยปกติบุคคลผู้ถูกตั้งข้อหาคดีอาญามีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี โดยการวางหลักประกันหรือมีบุคคลค้ำประกัน การปฏิเสธคำขอประกันตัวควรจะเป็นข้อยกเว้น อย่างเช่น มีความเป็นไปได้ว่าบุคคลนั้นจะหลบหนีและไม่มาปรากฏตัวในศาลในช่วงการพิจารณาคดี หรือบุคคลนั้นอาจจะทำลายหลักฐาน หรือบุคคลนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณา ถือว่าเป็นการละเมิดข้อ 9(3) ของ ICCPR ซึ่งกำหนดว่า “ การควบคุม คุมขังบุคคลระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ควรเป็นกฎที่ใช้ทั่วไป”

การคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีนานเกินระยะเวลาที่สามารถยกเหตุผลอันเหมาะสมมากล่าวอ้างได้ เป็นการกระทำโดยไม่มีกฎเกณฑ์และละเมิดข้อ 9(1) ของ ICCPR ที่ว่า “ บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้”

สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาที่เหมาะสมนั้นมาจากหลักการที่ว่า การรอนเสรีภาพ จักต้องไม่นานเกินกว่าระยะเวลาที่จำเป็นสำหรับสถานการณ์เฉพาะนั้นๆ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเน้นว่า ในกรณีที่ศาลปฏิเสธการประกันตัว บุคคลผู้ถูกกล่าวหาจักต้องได้รับการพิจารณาคดีโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

กระนั้นก็ตาม สำหรับในประเทศไทยโดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง เช่นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 (หรือคดีทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือคดีของคนเสื้อแดง) สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการ ได้รับการประกันตัวได้ถูกละเมิดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงกรณีนายสมยศ นี้ด้วย เพราะการไม่ให้ประกันตัวย่อมทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาคดี และเป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับโอกาสในการต่อสู้คดีที่เป็นธรรม เพราะนายสมยศ ไม่อาจออกมาหาพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ทัดเทียมกับฝ่ายอัยการโจทก์ ประกอบกับการเป็นอยู่ในเรื่อนจำที่มีสภาพแออัด และไม่ถูกสุขลักษณะ ย่อมทำให้สิทธิในร่างกายของนายสมยศได้รับความกระทบกระเทือนด้วย

นี่ยังไม่รวมถึงระยะเวลาในการต่อสู้คดีที่ต้องเนิ่นนานออกไป เพราะการอุทธรณ์ที่กินเวลายาวนานเป็นปี เป็นเรื่องไม่ปกติที่เกี่ยวโยงกับการไม่ได้รับการประกันตัวสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่จะต้องถูกคุมขัง เป็นเวลาหลายปีนับแต่ถูกจับกุม จนถึงการดำเนินคดีสิ้นสุด และถือเป็นการละเมิดสิทธิบุคคลในการได้รับการพิจารณาคดี ภายในเวลาที่สมเหตุผลภายใต้ข้อ14(3)(c) ของ ICCPR และสิทธิที่ต้องได้รับการปล่อยตัวตามข้อ 9(3) ของกติกาฯ

ปํญหาต่อมาก็คือ การใช้ดุลพินิจของศาลในการไม่ให้ประกันตัวนั้น เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายหรือไม่

หลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมในเรื่องระบบการพิจารณาคดีที่ว่ากระบวนการใช้อำนาจรัฐทุกรูปแบบต้องมีการคุ้มครองให้กระบวนวิธีพิจารณาทางอาญา ทำด้วยความเป็นธรรม ไม่มีอคติ ไม่เลือกปฏิบัติ พอสมเหตุสมผลด้วย ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และทนายความต้องคำนึงถึง และปฏิบัติตามหลักการนี้โดยเคร่งครัด

ตัวอย่างในคดีตามมาตรา 112 หากจะดำเนินการตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายในการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวจะต้องเริ่มต้นว่า คดีนี้ผู้ต้องหามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี ศาลต้องจัดหาทนายความให้ เพราะเป็นคดีที่มีโทษจำคุกกมากกว่า 10 ปี (ซึ่งนับว่าเป็นโทษที่หนักเกินสมควร) เหตุผลที่ทนายความได้เขียนเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ประกันตัว เป็นไปตามหลักการสากลดังกล่าวข้างต้นและรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลได้อนุญาตหรือได้มีการไต่สวนพยานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหลักการที่ว่านั้นหรือไม่ ศาลได้ไต่สวนถึงเหตุที่ว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร ซึ่งในประเด็นการจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานนี้ ต้องให้พนักงานสอบสวนหรือศาลมีภาระในการพิสูจน์ว่า หากปล่อยตัวไปแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิง หรือไปทำลายพยานหลักฐานอย่างไร จนทำให้ศาลพอใจ และฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องสามารถคัดค้านหลักฐานของพนักงานสอบสวนได้ด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติ ข้ออ้างของพนักงานสอบสวนต่อศาล มักเป็นการอ้างลอยๆ โดยขาดพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ และศาลอาจไม่ได้ทำการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่มีการกล่าวอ้างด้วย ในวงการกฎหมายคำว่า “ภาระการพิสูจน์” นั้นหมายความว่า ผู้ใดยกข้อกล่าวอ้างอย่างไร ผู้นั้นต้องนำสืบให้ได้ความจริงตามที่กล่าวอ้างนั้น เช่น อ้างว่าหากปล่อยตัวไปแล้วผู้ถูกปล่อยตัวนี้ เป็นผู้มีอิทธิพลจะไปข่มขู่พยานหรือออกไปยักย้ายถ่ายเทเอกสารสำคัญที่จะใช้เป็นหลักฐานในการลงโทษจำเลยหรือผู้ต้องหานั้นได้ เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย หากไม่มีการดำเนินการเช่นนี้ ย่อมทำให้กระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องยกเหตุผลนี้ขึ้นมาต่อสู้ เพื่อให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่

การที่ศาลยุติธรรมเคารพหลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมในเรื่องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลย และ ความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริสุทธิ์อีกเป็นจำนวนมากในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง โดยเฉพาะในคดีการเมือง ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

หากศาลไทยจะได้ชื่อว่าเป็นศาลที่ดำเนินการสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักนิติธรรมที่นานาประเทศให้การรับรองแล้ว จะมีความสง่างามและเป็นแบบอย่างของสังคมโลก อันจะนำเกียรติและชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติและประชาชน ส่งผลให้สังคมมีความสงบ ร่มเย็นได้ต่อไป เราปรารถนาสิ่งนั้นร่วมกันมิใช่หรือ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวเนื่องจากน้ำท่วมไทยและเงินเยนแข็งค่า

Posted: 14 Feb 2012 01:02 AM PST

รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2011 ลดลงร้อยละ 2.3 นักวิเคราะห์เผยมาจากสามปัจจัย คือวิกฤติหนี้ในยุโรป ค่าเงินเย็นแข้งตัว และน้ำท่วมไทยเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ฐานการผลิตของญี่ปุ่นในไทยโดยกระทบ

13 ก.พ. 2012 - สำนักข่าว BBC รายงานว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นทรุดตัวลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2011 เนื่องจากค่าเงินเย็นแข็งตัวขึ้นและเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยทำให้ธุรกิจญี่ปุ่นเสียหาย

ผลิตภัณฑ์มวลรวมของญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 2.3 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันเอาไว้ว่าจะลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ที่ลดลงไปเพียงร้อยละ 0.6

จำนวนตัวเลขนี้ยิ่งทำให้ญี่ปุ่นที่กำลังพยายามฟื้นตัวจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปีที่แล้วยิ่งแย่ไปอีก โดย มาร์ติน ชูลซ์ จากสถาบันวิจัยฟูจิสึกล่าวว่าเศรษฐกิจกำลังแย่ลงกว่าที่คิดไว้มาก การชะลอตัวลงด้านการส่งออกทำให้อุตสาหกรรมในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบมาก

ญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจถดถอยในขณะที่ยังมีความกังวลด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงกรณีวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปด้วย จากการที่วิกฤติดังกล่าวได้ทำลายความมั่นใจและทำให้ความต้องการบริโภคลดจำนวนลงในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของสินค้าญี่ปุ่น

ขณะเดียวกันอันตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจก็ยังคงเป็นที่น่ากังวลแม้ว่าจะมีข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจในเอเชียอย่างจีน และอินเดีย ก็เริ่มแสดงให้เห็นอัตราการเติบโตที่ช้าลง

ที่เลวร้ายกว่านั้นบริษัทของญี่ปุ่นต้องประสบกับปัญหาค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น โดยเมื่อเดือนเม.ย. ปีที่แล้วค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นทำให้สินค้าญี่ปุ่นแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อต่างชาติ และยังกระทบกับผู้ส่งออกเวลาที่พวกเขาเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศกลับเป็นเงินสกุลเยนอีกด้วย

นอกจากนี้แล้วฐานการผลิตของของบริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นในไทยยังได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ก่อให้เกิดปัญหาต่อห่วงโซ่อุปทาน

นักวิเคราะห์บอกว่าสามปัจจัยนี้เป็นตัวทำร้ายการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

"การถดถอยในครั้งนี้เป็นปัจจัยที่มาจากภายนอก การส่งออกลดลงมากเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป ค่าเงินเยยนที่แข็งตัว และน้ำท่วมในประเทศไทย" ฮิโรอากิ มุโต้ จากจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสุมิโมโตะ มิซุย กล่าว

"โชคร้ายที่พวกเรายังให้ความหวังกับการส่งออกไม่ได้ เพราะว่าเศรษฐกิจเอเชียกำลังเติบโตช้าลง และสหรัฐฯ ก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว" มุโต้ กล่าว

ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็มีแผนจะประชุมหารือเพื่อวางแนวทางนโยบายทางการเงินล่วงหน้า ซึ่งในตอนนี้ทางธนาคารก็ได้ตั้งอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระหว่างร้อยละ 0 ถึง 0.1 ในระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์

ทางธนาคารยังได้เข้าแทรกแซงตลาดการเงินในช่วงปีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินเยนแข็งข้อต่อค่าเงินดอลลาร์

นักวิเคราะห์บอกว่าในขณะที่มีแรงกดดันต่อธนาคารกลางของญี่ปุ่นให้มีมาตรการเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ทางเลือกของธนาคารกลางฯ ก็มีจำกัด

"ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศ (Money Supply) ตอนนี้ถึงระดับสูงสุดแล้ว" ชูลซ์จากสถาบันวิจัยฟูจิสึกล่าว

ที่มา

Japan economy contracts amid strong yen and Thai floods, BBC, 13-02-2012
http://www.bbc.co.uk/news/business-17008164

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ท่าทีประชาสังคมไทยต่อข้อเสนอแก้มาตรา 112

Posted: 13 Feb 2012 09:18 PM PST

‘ประชาสังคมไทย’ ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงเอ็นจีโอด้วย อาจจะไม่ใช่กลุ่มที่ออกมาจิกหัวก่นด่าข่มขู่ประณามคณะนิติราษฎร์และผู้สนับสนุนข้อเสนอการขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าเป็นพวกเนรคุณแผ่นดิน คิดล้มเจ้า และขับไล่กลุ่มคนเหล่านี้ให้ออกไปจากประเทศไทย รวมทั้งแม้ประชาสังคมไทยอาจจะยังมีความละอายมากพอที่จะไม่เสนอว่าการทางออกเดียวของประเทศไทยคือการรัฐประหารเหมือนอย่างที่กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์เสนอ แต่ประชาสังคมไทยและเอ็นจีโอก็แสดงให้เห็นถึงท่าทีที่การเพิกเฉย เย็นชา ปิดหูปิดตา และดูถูกดูแคลนอย่างยิ่งต่อความพยายามเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมาตรานี้

ตลอดช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา รุ่นพี่เอ็นจีโอที่ฉันนับถือ ผู้ซึ่งมีผลงานโดดเด่นในด้านทรัพยากรชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชน มักตำหนิฉันและเพื่อนอยู่เสมอในทำนองที่ว่า   “ทำไมพวกคุณจึงพูดถึงแต่เรื่องมาตรา 112 กันมากมายนัก ทำไมถึงไม่พูดถึงการผูกขาดขูดรีดเกษตรกรโดยนายทุนหรือบรรษัทข้ามชาติบ้าง ทำไมถึงไม่พูดถึงปัญหาที่ดิน การปฏิรูปที่ดิน หรือการปฎิรูปเพื่อโครงสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจบ้าง ถ้าพวกคุณพูดบ้างมันก็จะช่วยแก้ปัญหาได้” ขณะที่บ่อยครั้งตามหน้าเฟสบุ๊คของเอ็นจีโอรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ก็จะเห็นข้อความประเภทที่ว่า “ปัญหาสาธารณะอื่นๆ ของประชาชนยังมีอีกตั้งหลายเรื่อง ทำไมพวกนี้จึงไม่ออกมาเรียกร้องกันบ้าง”  

เช่นเดียวกับที่นักข่าวหญิงแห่ง TPBS ผู้เป็นขวัญใจของประชาสังคมและเอ็นจีโอไทยเนื่องจากได้อุทิศตัวทำข่าวส่งเสริม ‘สิทธิชุมชน’ มาอย่างต่อเนื่อง  ได้ปรารภในเฟสบุ๊คของเธอท่ามสถานการณ์ร้อนแรงเรื่องมาตรา 112 ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพฯ  ได้ช่วงชิงพื้นที่ข่าวของชาวบ้านและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาไปเสียสิ้น ฉันพยายามคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา พยายามเข้าใจว่าเสียงเหล่านี้คงเกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจที่ประเด็นการทำงานที่ทุ่มเท เสียสละ ยิ่งใหญ่ และแสนจะมีคุณูปการยิ่งต่อ ‘ชาวบ้านและชุมชน’ ของพวกตนกลับไม่เป็นที่สนใจของสังคม เอาเสียเลย

แต่หากอ่านระหว่างบรรทัด ประกอบกับที่ได้เห็นการอวยกันไปมาในช่องคอมเม้นต์ที่ดูถูกดูแคลนผู้สนับสนุนการขอแก้ไขมาตรา 112 กันเป็นที่สนุกสนานในทำนองว่า การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ทำให้ “ดังได้เร็ว” บ้าง “ได้เงินเยอะ” บ้าง  อันต่างไปจากการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติของพวกตนที่ไม่มีทั้งชื่อไม่มีทั้งเงิน ฉันก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่าสียงเหล่านี้ก็คือความพยายามหนึ่งในการลดความชอบธรรมของการเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 อีกทั้งยังเป็นวิธีการที่ดูดีเสียด้วยเนื่องจากมี ‘ชาวบ้านและชุมชน’ เป็นข้ออ้าง 

การที่วาทกรรม “ยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญ (ต่อชาวบ้านและชุมชน) มากกว่าเรื่องการแก้มาตรา 112” แพร่หลายในหมู่ประชาสังคมและเอ็นจีโอไทยเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่เป็นการหาเหตุผลแบบน้ำขุ่นๆ ที่จะไม่เอาตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย ตลอดจนการละเลยต่อชะตากรรมของผู้ต้องหาในคดีนี้จำนวนหลายร้อยคนที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวและต้องรับโทษรุนแรงอย่างไม่สมเหตุผลเท่านั้น  แต่ยังเป็นการชี้ให้เห็นว่าประชาสังคมและเอ็นจีโอไทย ซึ่งได้รับยกย่องในหมู่กันเองว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคม (Change Agents) บ้าง เป็นพี่เลี้ยงของชาวบ้านบ้าง ยังมิได้มีความตระหนักแต่อย่างใดเลยถึงความเป็นปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขณะเดียวกันพวกเขาก็มองไม่เห็นว่าหลักการและแนวคิดในการขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมาตรานี้ที่ว่า “ทุกคนย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ...และในสังคมประชาธิปไตยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่จะขาดเสียไม่ได้” นั้นจะเป็นหลักการที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ ที่ชาวบ้านและชุมชนที่พวกเขาทำงานด้วยกำลังเผชิญอยู่อย่างไร

นอกจากนั้นการแสดงความเห็นแบบไม่เป็นทางการของพวกเขาก็ยังสะท้อนถึงความกระพร่องกระแพร่งของการรับข้อมูลข่าวสารทั่วๆ ไป เพราะส่วนใหญ่ยังคงสับสนอยู่มากระหว่างคณะนิติราษฎร์ คณะรณรงค์แก้ไข ม.112 (ครก.112) พรรคเพื่อไทย นปช. หรือคนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ ฯลฯ   ขณะที่หากจะมีการเชื่อมโยงมาตรา 112 เข้ากับประเด็นปัญหาอื่นๆ ก็มักจะออกทะเลเห็นดวงแก้วไปในแนว ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ที่ว่ากันว่าสหรัฐอเมริกาสนับสนุนการปฏิรูปมาตรา 112 ก็เพราะหวังผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันในอ่าวไทย ตามทฤษฎีนี้การแก้ไขมาตรา 112 จะเอื้อประโยชน์ต่อการสร้างอำนาจผูกขาดของเครือข่าย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อันจะนำมาสู่การจับมือและประสานประโยชน์กันของทุนนิยมผูกขาดระดับชาติและระดับโลก ทั้งนี้ มีผู้วิจารณ์ทฤษฎีสมคบคิดไว้ในที่อื่นกันมากแล้วว่า" ทฤษฎีสมนี้คือการลดทอนความซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงและปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ให้เหลือเพียงความเลวของนักการเมืองและความขัดแย้งหรือการประสานผลประโยชน์ของชนชั้นนำไม่กี่คนเท่านั้น "

น่าสนใจว่า ทฤษฎีสมคบคิดนี้แพร่หลายในหมู่เอ็นจีโอและนักเคลื่อนไหวตามชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการดำเนินการอย่างคึกคักของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน อาทิเช่น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมุ่งเดินหน้าแผนพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่อมาจากทางชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก  ผนวกกับความเข้มข้นที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนอาจถึงขั้นที่เรียกได้ว่าภาคใต้ได้กลายเป็นป้อมปราการที่สำคัญยิ่งของอุดมการณ์กษัตริย์นิยมในประเทศไทยไปเสียแล้ว ส่งผลทำให้แม้แต่การเอ่ยถึงมาตรา 112 คงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยแวดวงนักพัฒนาภาคใต้และในพื้นที่ภาคใต้โดยทั่วไป 

จากท่าทีของประชาสังคมไทยและเอ็นจีโอดังกล่าวข้างต้น ฉันไม่ได้หวังอะไรเลยกับพวกชนชั้นนำ (elites) หรือผู้กุมอำนาจและงบประมาณของประชาสังคมไทย ซึ่งเป็นผู้มีสถานะทางสังคม ศีลธรรม และคุณธรรมสูงส่ง ฉันได้เคยเขียนไว้ในที่อื่นแล้วว่า" ชนชั้นนำเหล่านี้มีบทบาทอย่างสำคัญในการทำให้ประชาสังคมไทยมีสถานะเป็นกลไกที่รองรับการปรับตัวของเพื่อธำรงอำนาจต่อไปของสถาบันทางอำนาจและการเมืองแบบจารีต" 

อย่างไรก็ดี ฉันยังคงแอบมีความคาดหวังกับคนทำงานหรือเอ็นจีโอระดับกลางๆ หรือรุ่นใหม่ๆ ที่แม้พวกเขาจะต้องเป็นลูกไล่หรือเบี้ยล่างในฐานะองค์กรผู้รับทุน ซึ่งชนชั้นนำประชาสังคมไทยได้มีอำนาจเหนือพวกเขาอย่างมากในการกำหนดอุดมการณ์และทิศทางการทำงาน ฉันคาดหวังว่าคนรุ่นใหม่และคนรุ่นกลางเหล่านี้จะมีศักยภาพแห่งตน (agency) หรืออีกนัยหนึ่งมีความสามารถที่จะตัดสินใจและกระทำการอย่างเป็นอิสระบ้างภายใต้โครงสร้างที่กดบังคับ รวมทั้งมีการต่อต้านขัดขืนในชีวิตประจำวันบ้างภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ในการทำงานที่มีอยู่ ฉันคิดว่าความใส่ใจในการแสวงหาข้อมูลและความรู้และการใช้วิจารณญาณอย่างระมัดระวัง จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อต้านขัดขืนนี้

สำหรับกรณีมาตรา 112 ฉันไม่ได้คาดหวังว่าพวกเขาจะต้องมาลงชื่อสนับสนุนการขอเสนอแก้ไข ฉันเคารพเสรีภาพในการตัดสินใจของแต่ละคน เพียงแต่อยากจะขอร้องให้การตัดสินใจนั้นอยู่บนฐานของการศึกษาข้อมูลมาแล้วอย่างรอบคอบและไตร่ตรองอย่างดีแล้วว่ามาตรา 112 นี้แท้จริงนั้นสัมพันธ์กับประเด็นอื่นๆ  ที่พวกเขากำลังผลักดันอยู่อย่างไร ที่สำคัญคือขอให้เป็นการตัดสินใจที่ให้ความสำคัญกับหลักการขั้นพื้นฐานที่สุดในการอยู่ร่วมกัน นั่นคือ ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  มากกว่าที่จะแสดงแต่ท่าทีที่เพิกเฉย เย็นชา ปิดหูปิดตา และดูถูกดูแคลนกลุ่มผู้ขอแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งก็ไม่แคล้วที่จะเป็นการให้ท้ายหรือเห็นดีเห็นงามไปกับการข่มขู่คุกคามต่างๆ ที่ฝ่ายขวากำลังกระทำอยู่กับคนกลุ่มนี้ 

 

หมายเหตุ: จากบทความเดิมชื่อ ท่าทีประชาสังคมไทยต่อการเสนอขอแก้ไขมาตรา 112 
                   คอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 2  ฉบับที่ 73 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น