โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ไม่มั่นใจทีมสอบ 4 ศพญาติเน้นฟื้นฟูสภาพจิต

Posted: 19 Feb 2012 12:10 PM PST

ญาติไม่มั่นใจกรรมการสอบเหตุ 4 ศพ ขอทีมเยียวยาช่วยเรื่องรายได้ ทุนการศึกษา เน้นฟื้นฟูจิตใจ ลดความระแวง ชาวบ้านเริ่มคลายความกลัว ออกกรีดยางเป็นกลุ่ม เจ้าของรถนำช่างตีราคา ตาขวาเหยื่อเริ่มบอด

 

นางอาอิดะห์ บือราเฮง ชาวตันหยงบูโละห์ ตำบลลุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ญาติของนายรอปา บือราเฮง1 ใน 4 ผู้ที่เสียชีวิตที่ถูกทหารพรานยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 

นางอาอิดะห์ บือราเฮง ชาวตันหยงบูโละห์ ตำบลลุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ญาติของนายรอปา บือราเฮง 1 ใน 4 ผู้ที่เสียชีวิตที่ถูกทหารพรานยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 เปิดเผยว่า ขอให้คณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว สนับสนุนทุนศึกษาและการรวมกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มเย็บผ้า กลุ่มทำของชำร่วย เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และขอให้ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามโครงการพระราชดำริในหมู่บ้านด้วย

นางอาอิดะห์ กล่าวว่า ที่สำคัญต้องการให้คณะทำงานชุดนี้ มีการเยียวยาหรือฟื้นฟูสภาพจิตใจของญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ เพื่อให้ชาวบ้านลดความหวาดระแวงและอคติที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ

นางอาอิดะห์ เปิดเผยด้วยว่า คณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว จะลงพื้นที่บ้านตันหยงบูโละห์ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 

ส่วนคณะกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณียิงชาวบ้าน 4 ศพ ที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งแต่งตั้งโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ชาวบ้านไม่ค่อยมั่นใจว่า คณะกรรมการชุดนี้จะสามารถให้ความเป็นธรรมแก่ชาวบ้านได้หรือไม่

นางไซนับ สะมะแอ ชาวบ้านกาหยี หมู่ที่ 1 ตำบลปุโละปุโย เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุดังกล่าว ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวจนไม่กล้าออกไปกรีดยาง เพิ่งกล้าออกไปกรีดยางเมื่อ 2 - 3 วันที่ผ่านมา แต่ต้องไปเป็นกลุ่มหรือพาลูกหลานไปเป็นเพื่อนด้วยหลายๆคน

นางรอปีหะ ดอเลาะ แม่ของนายซอบรี บือราเฮง อายุ 20 ปี ผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว กล่าวว่า ขอให้คณะทำงานชุดดังกล่าว ช่วยเหลือเรื่องรายได้ที่ขาดหายไประหว่างเฝ้าลูกชายรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี เนื่องจากไม่มีเงินส่งลูก 5 คนไปเรียนหนังสือ

นางรอปีหะ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับอาการของนายซอบรีลูกชาย ขณะนี้ตาข้างขวามองไม่เห็น จึงขอให้แพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางมารักษา

ส่วนนายอานัน ดือราแม ญาติของนายยา ดือราแม คนขับรถคันเกิดเหตุ เปิดเผยว่า รถยนต์คันดังกล่าว ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บท 3105 ปัตตานี เป็นรถของตน ทางอำเภอหนองจิกขอให้ตนนำช่างซ่อมรถไปตีราคาความเสียหาย แล้วนำตัวเลขที่ได้พร้อมสำเนาทะเทียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชนไปให้ทางอำเภอหนองจิกเพื่อดำเนินการต่อไป แต่ไม่ได้แจ้งว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะนี้รถยนต์คันดังกล่าว จอดอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรหนองจิก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หนองบัวฯ ชง ครม.สัญจร เสนอขุดพะเนียง ชาวบ้านย้ำแก้เก่าก่อนขุดใหม่

Posted: 19 Feb 2012 08:48 AM PST

ผู้ว่าราชการ จ.หนองบัวลำภู เตรียมเสนอโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง มูลค่า 1,800 ล้าน แก่ คณะรัฐมนตรีสัญจรรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ จ.อุดรธานี 21-21 ก.พ. 55 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ลำพะเนียงฯ ย้ำต้องแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการขุดลอกครั้งที่แล้วก่อนที่จะเสนอโครงการใหม่

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ (18 ก.พ. 55) ที่ผ่านมา นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรวันที่ 21-22 ก.พ.ที่ จ.อุดรธานี นั้น จ.หนองบัวลำภู ได้เตรียมเสนอโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ  8,227 ล้านบาท 10 โครงการ หนึ่งในนั้นคือ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู งบ 1,800 ล้านบาท  

โดยนายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการ จ.หนองบัวลำภู ยังเปิดเผยว่า ในวันที่ 21 ก.พ. นายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง จะมาตรวจเยี่ยมจ.หนองบัวลำภูติดตาม 3 โครงการ วงเงินงบประมาณ 4,463 ล้านบาท  จากทั้งหมด 10 โครงการ  โดยเฉพาะโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่บ้านหัวนา อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะมีการขุดลอกเริ่มต้นตามโครงการที่จะเสนอไป

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง เป็นโครงการในลักษณะของการขุดลอกและขยายลำน้ำลำพะเนียง ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักที่เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ใน จ.หนองบัวลำภู มีความยาวจากต้นน้ำที่ อ.นาด้วง จ.เลย สิ้นสุดยัง เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เป็นระยะทางรวม 150 กิโลเมตร

ที่ผ่านมาลำน้ำลำพะเนียง เคยมีโครงการขุดลอกในลักษณะนี้มาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยดำเนินการขุดลอกขยายลำน้ำออกกว่า 70 เมตร จากเดิมที่มีความกว้างเพียง 10 เมตร และนำดินจากการขุดลอกมาถมเป็นคันถนนเลียบลำน้ำทั้งสองข้าง ผลกระทบจากการขุดลอกขยายในครั้งนั้น ทำให้พื้นที่นาข้างลำน้ำสูญเสียไปกับน้ำ ตลิ่งและดินทรุดพังลงจากความแรงของกระแสน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการเกษตรได้อย่างเดิม เนื่องจากมีคันดินขวางทางน้ำที่สูงจากเดิมมาก นำมาสู่ปัญหาน้ำท่วมขังมากขึ้นเนื่องจากไม่มีทางไหลของน้ำลงลำพะเนียง พืชพันธุ์ธัญญาหารแหล่งอาหาร และพันธ์ปลากว่า 100 ชนิดทยอยสูญหายและลดลงจากการขุดขยาย

จากการดำเนินการขุดลอกขยายลำน้ำลำพะเนียงที่ผ่านมา กรมชลประทานและส่วนจังหวัดที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องดูแลรับผิดชอบในขณะนั้น ไม่มีการเวนคืนหรือชดเชยที่ดินที่สูญเสียไป อีกทั้งกระบวนการในการดำเนินโครงการไม่มีการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินโครงการ จนนำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อศาลปกครองของชาวบ้านเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้โครงการหยุดชะงัโดยขุดลอกขยายได้เพียง 30 กิโลเมตร โดยชาวบ้านฟ้องร้องกว่า 140 คดี จนสามารถชนะคดีความและกลายเป็นคดีตัวอย่าง ที่กรมชลประทานต้องทยอยจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ

ในส่วนของโครงการขุดลอกลำพะเนียง ที่ผู้ว่าฯ จ.หนองบัวลำภู จะเสนอต่อ ครม.สัญจรที่ จ.อุดรธานีในครั้ง จึงมีกลุ่มชาวบ้านใน จ.หนองบัวลำภู ที่ได้รับผลกระทบจากครั้งที่แล้ว มีความกังวลว่าจะเกิดปัญหาดังที่ผ่านมากับชาวบ้านในพื้นที่ และอาจจะไม่ใช่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำในระดับจังหวัดธรรมดา ซึ่งคาดว่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับโครงผันน้ำ โขงเลยชีมูล ซึ่งเป็นโครงการระดับชาติ ที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง จึงมีความกังวลต่อการเสนอโครงการในครั้งที่ โดยที่ยังไม่ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อน

ด้านนายวิเชียร ศรีจันนนท์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ชาวบ้านและทางกลุ่มฯต้องการให้ทางจังหวัดและผู้ว่าฯ มาชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านในตัวโครงการที่จะเสนอก่อน เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงการพัฒนาในลำพะเนียงอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาขึ้นเหมือนการขุดลอกครั้งที่แล้ว อีกทั้งปัญหาผลกระทบจากการขุดลอกครั้งที่แล้วยังไม่มีการแก้ไข จึงไม่สมควรที่จะนำโครงการใหม่มาอีก นายวิเชียรกล่าว

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ บก.สื่อพลัดถิ่นพม่า: ความท้าทายของสื่อพม่าในกระแสปฏิรูป

Posted: 19 Feb 2012 08:45 AM PST

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์คุณซอ มิ้นต์ (Soe Myint) หัวหน้าบรรณาธิการ สำนักข่าวมิสซิมา (Mizzima) สื่อมวลชนพลัดถิ่นของพม่า ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิว เดลี ประเทศอินเดีย ในเรื่องสถานการณ์สื่อในพม่า ภายหลังกระแสปฏิรูปโดยรัฐบาลเต็ง เส่ง ที่เริ่มบริหารประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา และสถานการณ์สื่อก่อนการเลือกตั้งซ่อมที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

สำหรับซอ มิ้นต์ เคยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และเป็นนักกิจกรรมนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 8888 หรือการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทหารที่จบลงด้วยเหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วงในเดือนสิงหาคมปี 2531 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปี 2533 เขาและเพื่อนอีกคนตัดสินใจหนีออกจากพม่าโดยใช้ระเบิดปลอมที่ทำจากกล่องสบู่จี้เครื่องบินสายการบินไทย เที่ยวบินย่างกุ้ง – กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้โดยสาร 220 คน ให้ลงจอดที่กัลกัตตา ประเทศอินเดีย

โดยเขาถูกทางการอินเดียฟ้องตามกฎหมายต่อต้านสลัดอากาศ ถูกจำคุกระหว่างดำเนินคดีเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนที่ในปี 2546 คดีของเขาสิ้นสุดลงเมื่อศาลอินเดียตัดสินยกฟ้อง acquitted

ในเดือนสิงหาคม ปี 2541 ซอ มิ้นต์ และชาวพม่าพลัดถิ่นรวม 3 คน ที่ลี้ภัยอยู่ที่อินเดีย ได้ตั้งสำนักข่าวมิสซิมาขึ้น พวกเขาเริ่มการรายงานข่าวด้วยคอมพิวเตอร์โน้ตบุก 1 เครื่อง ซึ่งไม่มีแม้แต่สายเคเบิลโทรศัพท์ และต่อมามิสซิมาก็กลายเป็นพื้นที่สำคัญในการรายงานข่าว ข้อมูล และบทวิเคราะห์สำหรับประชาชนภายในและภายนอกพม่า สำนักข่าวแห่งนี้กลายเป็นกระจกที่มีเพียงไม่กี่บาน ที่ทำหน้าที่สะท้อนสภาพชีวิตของชาวพม่า

ปัจจุบันมิสซิมามีพนักงานมากกว่า 50 คน มีทั้งนักข่าวชาวพม่าและชาวต่างชาติ ทำหน้าที่รายงานข่าวจากสำนักงานในพม่า อินเดีย บังกลาเทศ ไทย และจีน โดยสำนักงานใหญ่อยู่ที่อินเดีย และมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และกัลกัตตา รวมถึงทีมผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวใต้ดินอยู่ในพม่า

ทั้งนี้ภายหลังจากที่บรรยากาศในพม่าภายใต้รัฐบาลที่มีเต็ง เส่ง เป็นประธานาธิบดีเริ่มมีมาตรการผ่อนคลาย มีมาตรการปฏิรูปหลายด้าน และมีการขอให้อดีตนักศึกษา นักการเมืองที่ลี้ภัยสามารถเดินทางกลับประเทศได้ ทำให้ซอ มิ้นต์ ตัดสินใจกลับไปเยือนพม่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภายหลังจากที่เขาลี้ภัยมานานกว่า 22 ปี โดยระหว่างไปเยือนพม่าเขาได้พบปะหารือกับผู้สื่อข่าวพม่าในย่างกุ้งด้วย โดยสำนักข่าวมิสซิมาวางแผนที่จะเปิดสำนักงาน และดำเนินกิจการสื่อในพม่าอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ และต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ ‘ซอ มิ้นต์’ บรรณาธิการสำนักข่าวมิสซิมา

"ไม่ว่าใครก็ตามที่ต้องการเห็นสิ่งที่ดีขึ้น ใครก็ตามที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่บวก เพื่อขจัดช่องว่างนั้น พวกเขาต้องทำงานร่วมกัน ไม่ควรเป็นเรื่องเฉพาะของคนที่อยู่ภายใน หรือคนที่อยู่ภายนอก ไม่ควรเป็นเรื่องของฉันหรือเรื่องของคุณ แต่ทุกคนต้องทำงานร่วมกันจริงๆ"

ซอ มินต์, หัวหน้าบรรณธิการ สำนักข่าวมิสซิมา

 

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่า แนวโน้มที่จะมีการลดระดับการเซ็นเซอร์ และอนาคตที่ยังไม่มีอะไรแน่นอน อะไรคือความท้าทายสำหรับสื่อมวลชนในพม่า

สำหรับผม พวกเรายังคงไม่อาจพูดเรื่องเสรีภาพสื่อ แต่เราสามารถที่จะมุ่งหมาย พยายาม และดำเนินการ เพื่อให้เกิด สื่อที่เสรี (Free Media) ซึ่งจะเป็นหลักประกันในวิชาชีพการสื่อสารมวลชน ทั้งด้านทักษะ คุณภาพของสื่อมวลชน ความรับผิดชอบของสื่อมวลชน ซึ่งควรจะมีในทุกฝ่าย และเป็นหลักประกันในคุณภาพของเนื้อหา และมีหลักประกันในกระบวนการทำงาน และนี่จะเป็นเสรีภาพสื่อในขั้นต้น นี่เป็นเรื่องแรก

เรื่องที่สอง ในแง่ของ "ความท้าทายใหญ่" ในการปฏิรูปสื่อ ยังมีเรื่องขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ โดยเฉพาะในวงการสื่อมวลชน นี่เป็นความท้าทายสำหรับสื่อมวลชนสำหรับสื่ออิสระ ในเรื่องความรับผิดชอบของสื่อมวลชน ซึ่งเรื่องนี้ สามารถทำให้สื่อกลายเป็นสื่อที่มีจุดอ่อน สื่อที่ไม่อิสระ เช่นกัน

นอกจากนี้ ในการปฏิรูป ไม่ว่าใครก็ตามในกระบวนการ จำเป็นต้องได้รับประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากในภูมิภาคนี้

ผมไม่ได้จะบอกว่า ในภูมิภาคของเรา คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้นดีที่สุดในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ประเทศในภูมิภาคเหล่านี้เคยผ่าน หรือมีประสบการณ์ทำนองนี้มาก่อน และพม่า/เมียนมาร์ สามารถเรียนรู้ได้ ซึ่งวิธีนี้ก็จะทำให้เกิดการปฏิรูปสื่อได้กระชับขึ้นด้วย

 

ในความคิดเห็นของคุณ อะไรคือข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาที่ว่ามานี้

ไม่ว่าใครก็ตามที่ต้องการเห็นสิ่งที่ดีขึ้น ใครก็ตามที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่บวก เพื่อขจัดช่องว่างนั้น พวกเขาต้องทำงานร่วมกัน ไม่ควรเป็นเรื่องเฉพาะของคนที่อยู่ภายใน หรือคนที่อยู่ภายนอก ไม่ควรเป็นเรื่องของฉันหรือเรื่องของคุณ แต่ทุกคนต้องทำงานร่วมกันจริงๆ

เราอาจะต้องละทิ้งความทรงจำเลวร้ายในอดีต อาจจะต้องทิ้งมันไปเสีย เพราะตอนนี้เรากำลังจะทำงานร่วมกัน นี่เป็นทางออกหนึ่ง

และทางออกอื่น อย่างที่ผมได้กล่าวก่อนหน้านี้ก็คือ องค์กรต่างประเทศต่างๆ ที่จะเข้ามาทำงานในพม่าก็เป็นสิ่งจำเป็น

 

ในการเลือกตั้งซ่อมที่จะถึงนี้ ผู้คนในต่างประเทศรับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในพม่า เห็นออง ซาน ซูจีหาเสียง เห็นการปราศรัย แต่อย่างสื่อมวลชนในประเทศล่ะ อะไรคือบทบาทของพวกเขาในช่วงการเลือกตั้งนี้

พวกเขาพยายามอย่างมากเท่าที่เขาจะสามารถทำได้ ในการรายงานข่าวการเลือกตั้ง

แต่ก็มีข้อจำกัด สำหรับสื่อมวลชนข้างใน อย่างสื่อของเอกชนหรือสื่ออิสระ เขาดำเนินการแต่หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ จึงมีปัญหาเรื่องความเร็วของการนำเสนอข่าว จึงมีปัญหาในเรื่องของเวลา พวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้มากอย่างที่พวกเขาอยากทำ

ดังนั้น สื่ออย่างมิสซิมาซึ่งตอนนี้มีสำนักงานอยู่นอกประเทศ หรือสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ซึ่งออกอากาศด้วยระบบดาวเทียมที่อยู่ภายนอกประเทศ พวกเขาต้องร่วมกันขจัดช่องว่างนี้ พวกเขาจำเป็นต้องส่งเสียงดังเพื่อสื่อมวลชนภายในประเทศ เพื่อให้มีการเสนอเนื้อหาข่าวให้ถี่ขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลมีนโยบายจะให้สื่อเอกชนผลิตสื่อรายวัน แต่ตอนนี้ยังไม่ค่อยมีสื่อเกาะติดสถานการณ์เลือกตั้งอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เท่าใดนัก

นอกจากนี้ก็มีประเด็นอื่นๆ อย่างเช่น การกระจายตัวของสื่อและข้อมูลข่าวสาร ที่จะไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ

ซึ่งตอนนี้ การรายงานข่าวส่วนมาก ยังครอบคลุมแค่เมืองใหญ่ๆ อย่างมัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง หรือเนปิดอว์ ซึ่งก็ไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีนักหากเราต้องการจะจับตาการเลือกตั้ง นี่ก็เป็นคำถามจริงๆ และพวกเขาเองก็ตระหนักในเรื่องนี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านตาปี-พุมดวงรวมพล ขวางกรมชลฯลงรังวัดที่ดิน

Posted: 19 Feb 2012 08:42 AM PST

นายประภาส สมลักษณ์ คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เปิดเผยว่า มีคนมารายงานให้ชาวบ้านทราบว่าในวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 นี้ สำนักงานก่อสร้าง 10 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง กรมชลประทาน จะลงรังวัดที่ดิน พร้อมกับสำรวจสิ่งปลูกสร้างและผลอาสินที่บ้านเงิน หมู่ที่ 3 ตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มกันรักษาความปลอดภัย

นายประภาส เปิดเผยต่อไปว่า ตนและเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ได้หารือกันแล้วว่าจะชุมนุมประท้วงการลงสำรวจรังวัดที่ดิน ผลอาสิน และสิ่งปลูกสร้างของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณท้องที่ตำบลท่าเคย ตำบลหนองไทร อำเภอท่าฉาง ตำบลลีเล็ด ตำบลศรีวิชัย ตำบลมะลวน ตำบลหัวเตย ตำบลท่าข้าม ตำบลพุนพิน ตำบลน้ำรอบ ตำบลหนองไทร ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน และตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2554 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายประภาส เปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2554 เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานลงรังวัดที่ดิน พร้อมกับสำรวจสิ่งปลูกสร้างและผลอาสินแล้ว แต่ชาวบ้านไม่ยินยอมให้รังวัด กระทั่งต่อมาได้มีผู้มีอิทธิพลกลุ่มหนึ่งมาคุ้มกันโดยมีการพกอาวุธปืนข่มขู่ จนทำให้ชาวบ้านบางส่วนยินยอม แต่ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ยินยอมให้รังวัดที่ดิน สำรวจสิ่งปลูกสร้างและอาสิน

นายประภาส เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ตนและเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ได้พยายามติดต่อผู้สื่อข่าวหลายสำนักให้ช่วยนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง และปัญหาการถูกข่มขู่ให้ยินยอมรังวัดที่ดิน พร้อมกับสำรวจสิ่งปลูกสร้างและผลอาสิน รวมถึงหากมีเหตุการณ์รุนแรงที่อาจนำไปสู่สลายการชุมนุมที่ไม่เป็นธรรมด้วย

นายประภาส กล่าวว่า ปริมาณน้ำจืดจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี – พุมดวง จะผลักดันน้ำเค็มในอ่าวบ้านดอนให้ถอยร่นออกไปจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่แหล่งสัตว์น้ำเศรษฐกิฐและระบบนิเวศที่สำคัญในบริเวณนั้นอย่างมากมายมหาศาล ยังไม่นับถึงการต้องเวนคืนที่ดินจากการก่อสร้างคันดินและถนนในโครงการร่วม 2,000 ราย

“ทั้งนี้คลองย่อยสาขาของโครงการฯจำนวน 28 สายในบางพื้นที่สร้างขึ้นบนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นการสร้างขวางทางน้ำอาจนำสู่ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุราษฎร์ธานีหนักกว่าเดิมด้วย” นายประภาส กล่าว

รายงานการประชุมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 ระบุว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี – พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เปิดโครงการเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 เป็นโครงการตามที่จังหวัดขอสนับสนุนไว้เพื่อรองรับโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Sea Board)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อพระฟ้องฆราวาสข้อหา 'หมิ่นประมาท'

Posted: 19 Feb 2012 08:34 AM PST

เรื่องที่คุณพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของน้อง “เฌอ” (สมาพันธ์ ศรีเทพ) ถูกพระรูปหนึ่งฟ้องหมิ่นประมาท จนเป็นที่มาของการเดิน “เมตตาบาทา ธัมมาชโย” (น่าจะเป็น “บาลีแบบไทยๆ”) ดังภาพ

 
 
ภาพจาก เฟซบุ๊กส่วนตัวของ ปีเตอร์ ศรี มีเฌอเป็นลูกรัก
 
ผมมีความเห็นที่อยากร่วมแลกเปลี่ยน ดังนี้
 
1. เมื่อมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาอยู่ พระก็มีสิทธิ์ฟ้องตามกฎหมายมาตรานี้ได้ หากพระเข้าใจว่าตนเองถูกหมิ่นประมาทในฐานะ “บุคคลธรรมดา” หรือมนุษย์คนหนึ่ง
 
2. แต่กรณีนี้คาบเกี่ยวกันอยู่ว่า ผู้ที่คิดว่าตนเองถูกหมิ่นประมาทมีสองสถานะคือ สถานะพระ และสถานะประชาชน หรือคนธรรมดา
 
ปัญหามีว่า เขาด่า “พระ” หรือด่า “คนธรรมดา” ซึ่งก็ต้องดูว่าภาษาที่เขาใช้ด่านั้นเป็น “ภาษาด่าพระ” หรือ “ภาษาด่าคนธรรมดา” เพราะภาษาที่ปรากฏนั้นบ่งชี้เจตนาอยู่ว่าเขาต้องการด่าใคร
 
3. ถ้าเขาด่าพระ หรือมีเจตนาด่าพระ ก็มีข้อพิจารณาอยู่ว่า
 
ก) พระเป็น “บุคคลสาธารณะ” ปัญหาว่าการด่าบุคคลสาธารณะ เช่น ด่านักการเมืองเป็นต้น ด่ากันได้หรือไม่ ถ้าด่าได้ ด่าได้ในเรื่องอะไร เรื่องส่วนตัว หรือเรื่องที่กระทบต่อสาธารณะ
 
ถ้าด่าเกี่ยวกับเรื่องการแสดงความเห็น บทบาท นโยบาย ความประพฤติตัว ของบุคคลสาธารณะที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เรื่องเช่นนี้ก็ไม่น่ามีปัญหา (ยกเว้นว่าคำด่านั้นๆ เป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกด่า ก็อาจฟ้องร้องเอาผิดตามกฎหมายหมิ่นประมาทได้ ซึ่ง “รายละเอียด” ตรงนี้ผมไม่มีความรู้จะอธิบาย)
 
ข) แต่การด่า “บุคคลสาธารณะที่เป็นพระภิกษุ” มี “หลักการ” หรือ “ประเพณีปฏิบัติ” ทางพุทธศาสนาที่ควรพิจารณาเป็นการเฉพาะอีกต่างหาก กล่าวคือ
 
1) พระพุทธเจ้าเองก็เคยถูกด่า ถูกหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย กระทั่งถูกลอบฆ่า (แต่ทำไม่สำเร็จ) แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยอาศัยอำนาจรัฐเข้ามาจัดการกับใครๆ ที่กระทำต่อท่าน
 
ยิ่งกว่านั้นท่านยังให้ “หลักการหรือแนวทางปฏิบัติ” แก่พุทธบริษัทเอาไว้ว่า “หากใครตำหนิติเตียนพระรัตนตรัย (พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์) ก็ไม่ควรโกรธ ควรชี้แจงความเป็นจริงให้เขาทราบตามควรแก่กรณี”
 
นี่หมายความว่า แม้แต่ในกรณีที่พระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์ไม่ได้ทำตัวเป็นเหตุควรถูกด่า หรืออยู่ดีๆ ก็มีคนมาด่า มาหมิ่นประมาท ท่านก็ห้ามไม่ให้ชาวพุทธโกรธ แต่ให้โต้ตอบด้วยเหตุผลเท่านั้น ถ้าคนด่าเขาเข้าใจก็ดีไป ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะถึงอย่างไรพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์สาวกก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาด่าอยู่แล้ว
 
ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นใดๆ ที่พระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์จะต้องไปอาศัยกฎหมาย หรืออำนาจรัฐเข้ามาจัดการกับคนที่ด่า หรือตำหนิติเตียน
 
2)  ในกรณีที่พระภิกษุทำตัวเป็นเหตุให้เขาด่า หรือทำตัวสมควรถูกด่า เมื่อมีชาวบ้านด่า ตำหนิติเตียน แล้วพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง ท่านก็ให้เรียกพระภิกษุที่ทำตัวเช่นนั้นมาสอบถามข้อเท็จจริง เมื่อทราบข้อเท็จจริงแล้วท่านก็ติเตียนพระภิกษุรูปนั้น ในหลายกรณีท่านก็บัญญัติวินัยสงฆ์ขึ้นมาโดยปรารภพฤติกรรมของพระภิกษุรูปนั้น แล้วห้ามพระภิกษุรูปใดๆ กระทำแบบนั้นอีก หากกระทำจะมีความผิด หรือต้องอาบัตินั้นนี้ เป็นต้น
 
เช่น กรณีที่มีพระภิกษุเสพเมถุนกับคน เสพสังวาสกับลิงตัวเมีย พูดเกี้ยวหญิง แตะต้องกายหญิง ชักว่าว ข่มขืนศพ ประจบคฤหัสถ์ ทำให้สงฆ์เกิดความแตกแยก สร้างกุฏิใหญ่โตอลังการราวคฤหาสน์ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ชาวบ้านรับไม่ได้ แล้วก็ด่า ตำหนิติเตียนต่างๆ นานา จากนั้นพระพุทธเจ้าก็บัญญัติวินัยห้ามไม่ให้พระภิกษุประพฤติเช่นนั้นอีก หากขืนกระทำลงไปก็มีความผิด หรือต้องอาบัติต่างๆ (ซึ่งรวมแล้ว มี 227 ข้อ)
 
ฉะนั้น หลักการในกรณีตัวอย่างที่ว่ามานี้ก็คือ “ถ้าในกรณีที่พระภิกษุกระทำตัวเป็นเหตุให้เขาด่า หรือทำตัวสมควรถูกด่า พระพุทธเจ้าให้ตำหนิ หรือเอาผิดทางวินัยแก่ภิกษุนั้นเอง ไม่ใช่ไปเอาผิดกับคนที่เขาด่า”
 
สำหรับพระภิกษุรูปที่ฟ้องพ่อน้องเฌอนั้น มักโพสต์แสดงความเห็นทาง fb เกี่ยวกับเรื่องเหตุบ้านการเมืองเสมอๆ เช่น โพสต์ข้อความว่า “ยิ่งปู ยิ่งเปลือย” ในช่วงวิกฤตน้ำท่วม หรือโพสต์ ข้างล่างนี้
 
Phra Kittisak Kittisobhano
การใช้ ม.๑๑๒ เพื่อทำลายกันทางการเมืองนั้นเคยเห็น เคยได้ยิน ชนิดที่พอจะอนุมานได้ หรือเป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจได้ ว่า น่าจะเป็นการใช้กฎหมายเพื่อมุ่งทำลายฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็สมควรที่จะหากระบวนการสำหรับป้องกันมิให้เกิดขึ้น หรือช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมกับยุคสมัย และความศิวิไลซ์ที่เชื่อๆ ตามๆ กันมา จากประเทศที่ไปร่ำเรียนกัน แต่ในกรณีของคนที่ "อยากลองของ" หรือ "อวดดี" ว่าตนเป็นนักวิชาการ เป็นปัญญาชน เป็นผู้รู้ เมื่อ "รักจะเล่นกับไฟ" แล้วจะมาร้องร่ำรำพันพิโอดพิโอยไปทำไม? แน่จริง..กล้าจริง..ก็ลองไปว่ากันจะๆ กลางศาล อย่างที่แอบนินทากันลับหลังไปสิ ศิษยานุศิษย์จะได้ยกย่องว่าเป็นความกล้าหาญทางวิชาการ หรือจะได้สรรเสริญกันเอง ว่าเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม ชนิดที่จะได้มีคนเอาเยี่ยงเอาอย่างกันสืบไป.
 
ข้อความนี้โพสต์ในช่วงที่ผมลง “คำแถลงกรณีถูกคุกคามเสรีภาพทางวิชาการด้วย ม.112” ในประชาไท ราววันที่ 7 ธ.ค.54 เพื่อนทาง fb คนหนึ่งก๊อปปี้มาให้ผมดู แม้ไม่ได้ระบุชื่อแต่เข้าใจว่าคงหมายถึงผม แต่ผมก็มองว่า นี่เป็นการ “เกรียน” เหมือนที่ฆราวาสอย่างเราๆ บางคนชอบทำกันนั่นแหละ ผมจึงไม่ใส่ใจจะตอบโต้อะไร
 
แต่ขออธิบายเพิ่มเติมที่ผมว่า “เกรียน” หน่อย (เดี๋ยวผมจะถูกฟ้องอีก) ที่ผมว่าเกรียนก็เพราะ “ภาษาที่พระใช้” เช่น "อยากลองของ" หรือ "อวดดี" ว่าตนเป็นนักวิชาการ เป็นปัญญาชน เป็นผู้รู้ เมื่อ "รักจะเล่นกับไฟ" แล้วจะมาร้องร่ำรำพันพิโอดพิโอยไปทำไม? เป็นแค่ “คำกล่าวหาลอยๆ” ไม่ได้อ้างอิงข้อเท็จจริงและเหตุผลใดๆ สนับสนุนทั้งสิ้น
 
หากเขาเป็นพระที่มีสติมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เขาคงเข้าใจได้ว่าตาม “หลักกาลามสูตร” นั้น “เราจะยอมรับว่าอะไรจริงก็ต่อเมื่อเราพิสูจน์ได้ว่ามันจริง” พระรูปนี้พิสูจน์อย่างไร จากหลักฐานอะไรจึงสรุปว่า ผมอยู่ในกรณีของคนที่ "อยากลองของ" หรือ "อวดดี" ว่าตนเป็นนักวิชาการ เป็นปัญญาชน เป็นผู้รู้ เมื่อ "รักจะเล่นกับไฟ" แล้วจะมาร้องร่ำรำพันพิโอดพิโอยไปทำไม?
 
ตกลงที่ผมแถลงข่าวให้ทราบความเป็นไปเป็นมา และยืนยันจุดยืนในการทำงานทางวิชาการของตนเองเป็นเรื่องของการ “ร้องร่ำรำพันพิโอดพิโอย” เลยหรือ?
 
อย่างนี้ คือพฤติกรรมที่ “พระ” ควรแสดงออกในท่วงทำนอง “เกรียน” ต่อ “ความทุกข์” ของคนอื่นหรือไม่?
 
ผมเองไม่ได้ตอบโต้อะไรกับ “การเกรียน” แบบนั้น ในตอนที่ทราบข้อความนั้น
 
แต่ที่นำมาเอ่ยถึงตอนนี้ เพราะจากที่ตนเองโดนแล้ว มันทำให้ผมเข้าใจได้ถึง “ความรู้สึกสะเทือนใจ” ของพ่อน้องเฌอจนต้องตอบโต้ออกไปด้วยอาการบันดาลโทสะ เพราะทนไม่ได้ที่เห็น “พระเกรียนกับความทุกข์ของชาวบ้าน”เช่นนั้น ซึ่งตัวเขาเองคือหนึ่งในผู้ประสบทุกข์จากการสูญเสียลูกชายคนเดียวไป เพราะรัฐบาลใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมทางการเมืองช่วง เมษา-พฤษภา 2553
 
โดยสรุปคือ ในทางกฎหมายก็คงสู้กันไป ผมเองไม่มีความรู้จะออกความเห็น แต่ในทางพระธรรมวินัย หรือข้อเท็จจริงของจารีตการปฏิบัติในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกไม่เคยอาศัยอำนาจรัฐหรือกฎหมายมาจัดการกับคนที่ด่าท่านและพระสงภิกษุสงฆ์เลย
 
ที่สำคัญพระพุทธเจ้ากลับ “เอาผิด” กับพระภิกษุที่ทำตัวเป็นเหตุให้ชาวบ้านเขาด่า หรือทำตัวสมควรถูกด่ามากกว่า
 
แสดงว่า สถานะของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ไม่ใช่ “อภิสิทธิชนทางศีลธรรม” ที่ใครๆ จะล่วงละเมิดมิได้แต่อย่างใด การยังชีพด้วยข้าวปลาอาหารจากชาวบ้าน แม้แต่ “ข้าว 1 ทัพพี” ที่เขาใส่บาตร พระภิกษุก็ควรสำนึกบุญคุณ ดังที่พระสารีบุตรอัครสาวกทำเป็นแบบอย่าง
 
ฉะนั้น ตามบรรทัดฐานของพระพุทธเจ้า แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าท่านต้องการยืนยันหลักการว่า “พระภิกษุในพุทธศาสนาควรมีสติและขันติธรรมสูงกว่าฆราวาส” ไม่ควรทะเลาะ หรือมีคดีความกับฆราวาส ด้วยข้ออ้างว่าถูกด่า ถูกหมิ่นประมาทเป็นต้น ดังที่กล่าวมา
 
หากยึดประเพณีปฏิบัติของพระพุทธเจ้าที่เอาผิดกับพระภิกษุที่ทำตัวเห็นเหตุให้สมควรถูกด่า คำถามก็คือ องค์กรปกครองสงฆ์ควรรับผิดชอบอย่างไรกับพฤติกรรมการ “เกรียน” กับความทุกข์ของชาวบ้าน ของพระบางรูป?
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อหนี “เสือ” ปะ “เสือ” (วังวนแห่งเสรีนิยม)

Posted: 19 Feb 2012 08:24 AM PST

“พี่ไม่อยากให้ลูกไปเรียนที่อเมริกา เพราะว่าพี่เกลียดสังคมแบบทุนนิยมมาก มันไม่น่าอยู่สังคมมันเสื่อมทราม” คำพูดของหญิงรุ่นใหญ่ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นพนักงานสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง กำลังสนทนากันกับเพื่อร่วมงานในที่แห่งหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสงสัยและมีคำถามเกิดขึ้นมาทันที ณ ขณะนั้นว่า ตกลงแล้วผู้พูดนั้นเข้าใจถึงคำว่า “ทุนนิยม” ในลักษณะใดกันแน่

หากมองแบบผิวเผินก็คงกล่าวได้ว่า มันก็จริงตามคำพูดข้างต้น ผู้คนบางคนก็อาจสนับสนุนคำพูดเหล่านี้ว่า คงมีเค้าความจริงอยู่บ้างไม่มากก็น้อยและไม่ได้มีข้อสงสัยอะไรต่อคำพูดเช่นนั้น

แต่สำหรับผู้เขียนนั้น สิ่งที่เกิดคำถามตามมาก็คือ หากเรากล่าวว่า เรานั้นเกลียดทุนนิยมเป็นอย่างมากแล้ว เราเคยลองนั่งนึกถึงสิ่งที่เราทำทุกๆ วันหรือไม่ว่า  มันมีสิ่งใดที่เป็นผลมาจากทุนนิยมที่เราให้เราปฏิบัติเช่นนั้น เราทำสิ่งใดที่เป็นการสนับสนุนทุนนิยมหรือไม่

หากกล่าวถึงทุนนิยมแบบรวบรัด หลักคิดแบบเสรีนิยมใหม่เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้ทุนนิยมได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น หลักที่สำคัญก็คือ ทำให้มีการต่อรองน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ต้องการแรงงานที่ราคาถูกที่สุดที่จะเป็นไปได้ เช่น การสลายกลุ่มแรงงานต่างๆ การสลายกระบวนการและการก่อตั้งสหภาพแรงงาน (ซึ่งสถาบันหรือบริษัทส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญและมักจะตีความเป็นอย่างอื่น) เป็นต้น โดยอาศัยวิธีการ “บริโภคนิยม” เพื่ออย่างน้อยก็เอาเวลาไปทำงานแลกเงินเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือดีกว่ามานั่งพูดว่า เราจะทำอย่างไรให้สังคมดีขึ้น

เมื่อเสรีนิยมเป็นตัวจักรสำคัญในการขยายตัวของทุนนิยมแล้ว ก็ควรจะต้องมาดูว่ารอบๆ ตัวเรามันมีอะไรบ้างที่เสรีนิยมได้ผลิตออกมาจำหน่ายให้เราเห็นหรือใช้ โดยแน่ล่ะว่าบางท่านอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า นี่คือผลผลิตของเสรีนิยมที่เราต่อต้านมาตลอด แถมบ้างครั้งเราก็มักจะมีความสุขกับการใช้มันอยู่ทุกๆวัน หรือจะกล่าวง่ายๆ บ้านๆ ก็คือ เสรีนิยม อยู่รอบๆตัวเรานี่เอง

หากกล่าวถึง เสรีนิยม ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมนี้มักมุ่งเป้าไปสู่เรื่องเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) แน่นอนว่าไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การแปรรูป หน่วยงานราชการเป็นผลผลิตของเสรีนิยม แต่มันยังมีเรื่องอื่นอีกมากมายที่เกิดขึ้นจากเสรีนิยมซึ่งเราอาจไม่รู้มาก่อนก็เป็นได้ ดังจะกล่าวมาให้เห็นภาพดังนี้

หลักการที่ว่า การรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางนั้น ด้วยสภาวะปัจจุบันที่บ้านเมืองมีความกว้างใหญ่ไพศาลขึ้น ประชากรในสังคมมีมากขึ้น ทำให้การดูแลของภาครัฐไม่ทั่งถึง และประการสำคัญ รัฐเองก็ต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากที่จะดูแลคนในสังคม ดังนั้นด้วยภาวะที่ปวดเศียรเวียนเกล้าที่เกิดขึ้นกับรัฐเอง ทำให้ เกิดแนวคิดที่จะลดภาระของรัฐลงแล้วให้ทุกคนดูแลตัวเอง นั่นก็คือ หลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) โดยหลักการนี้เป็นหลักการที่กำลังประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูงในสังคมเรา เพราะอย่างน้อยก็เป็นการหนุนเสริมหลักการของประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก ทำให้การกระจายอำนาจสามารถอิงแอบอยู่ในสังคมได้อย่างแนบเนียน

Outsourcing เกิดมาพร้อมกับความคิดที่ว่า หากจ้างผู้คนเหล่านี้มาเป็นพนักงานประจำก็จะทำให้บริษัทของตนเองมีต้นทุนสูงขึ้นเนื่องจากต้องจ่ายในส่วนอื่นให้กับคนเหล่านั้น เช่น สวัสดิการ เป็นต้น ทำให้เป็นการเพิ่มต้นทุน Outsourcing จึงเป็นสิ่งทีสนับสนุนแนวคิดแบบทุนนิยมเป็นอย่างมาก

“Assurance” นอกจากรัฐจะไม่ต้องกันงบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อมาใช้ในส่วนนี้ซึ่งถือว่าเป็นการลดต้นทุนของรัฐเอง และรัฐก็หันไปส่งเสริมธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต เพื่อให้ทุกคนดูแลตัวเอง ก็เข้าหลักตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่อยู่ดี ที่ส่งเสริมให้คนกลับไปดูแลตัวเองเฉกเช่นเดียวกับการกระจายอำนาจ

“มหาวิทยาลัยนอกระบบ” ก็ใช้หลักคิดเดียวกันกับเรื่องอื่นๆที่กล่าวมาแล้ว เป็นการลดการใช้จ่ายของรัฐส่วนกลาง และให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งหาเลี้ยงตัวเอง

สุดท้ายที่จะกล่าวถึง นั่นก็คือ “การเรียนหนังสือ” หลายคนอาจจะสงสัยว่า การเรียนหนังสือนั้นเกี่ยวอะไรกับเสรีนิยมใหม่หรือทุนนิยม ตามหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นรากเง้าของทุนนิยม หากเมื่อมีการลงทุนสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วสิ่งที่มุ่งหวังของทุกคนก็คือกำไรสูงสุด หรืออาจจะกล่าวได้ว่า อยากได้รายได้กลับมาสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อเราลงทุนไปมากเราก็ย่อมหวังผลตอบแทนมาก เช่น ลงทุนซื้อเครื่องจักรมาผลิตสิ่งของ อย่างน้อยผู้ลงทุนก็หวังที่จะได้ผลผลิตและผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนที่เสียไป เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดการเรียนหนังสือในปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนจึงไม่เท่ากัน เช่น วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ เป็นต้น เพราะอย่างน้อยทกคนก็พร้อมจะลงทุนให้ลูกหลานหรือตัวเองโดยหวังว่าออกมาก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุน

ดังนั้นก็เลยต่อมาถึงการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ พ่อแม่ผู้ปกครองก็คงหวังอยู่แล้วว่ากลับมาบุตรหลานของท่านก็คงไม่ต้องตกงาน และการหางานทำก็น่าจะง่ายกว่าการจบการศึกษาในประเทศ นั่นก็หมายความว่า ท่านทั้งหลายก็เล็งเห็นผลที่จะได้ เสมือนหนึ่งการลงทุนแล้วรอผลตอบแทนที่ได้ในอนาคต เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้เขียนจึงสงสัยเป็นที่สุดว่า เหตุใดเล่าผู้กล่าวข้อความข้างต้นจึงบอกว่าตนนั้นเกลียดสังคมแบบทุนนิยม เสรีนิยม ทั้งที่ความเป็นจริง คุณก็กำลังสนุกกับการอยู่กับมันและใช้มันอยู่ในขณะนี้ แต่ผู้เขียนก็คิดไว้ล่วงหน้าว่า จริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่รู้ตัวว่าแท้ที่จริงเสรีนิยมนั้นเป็นตัวสนับสนุนเกื้อกูลทุนนิยมเป็นอย่างดี และมันก็แอบซ้อนอยู่ในสังคมและแทรกซึมอยู่ในสังคมทุกหนทุกแห่ง โดยที่เราไม่รู้และยังทะนงตนว่าสังคมเรานั้นมีความเป็นทุนนิยมน้อยกว่าที่อื่น ทั้งที่ความเป็นจริง มันก็มีมากน้อยไม่ต่างจากที่อื่นเท่าใดนัก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สอบเครียดทหารพรานกรณี 4 ศพ ซักมาราธอนนาน 11 ชั่วโมง

Posted: 19 Feb 2012 08:10 AM PST

 

รายงานข่าวจากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีแจ้งว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 ที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี พนักงานสอบสวนคดีทหารพรานวิสามัญฆาตกรรมชาวบ้านตันหยงบูโละ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 คน ที่บ้านกาหยี ตำบลปุโละปุโย เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 ได้เชิญทหารพรานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ 4 นาย ประกอบด้วย ร.อ.วิโชติ หมวกเปี้ยะ ส.ท.แสงอาทิตย์ บูรณเรืองกิจ อาสาสมัครทหารพรานสุไลมาน เจะโก๊ะ และอาสาสมัครทหารพรานพรเทพ สุขสวัสดิ์ มาให้ปากคำ

สำหรับพนักงานสอบสวนที่สอบปากคำ 4 ทหารพรานครั้งนี้ ประกอบด้วย พ.ต.อ.สมพล เรืองเกตุพันธ์ พนักงานสอบสวน (สบ.4) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี พ.ต.อ.อานนท์ เดชรักษา พนักงานสอบสวน (สบ.4) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี พ.ต.ท.ชนศักดิ์ อินทองแก้ว พนักงานสอบสวน (สบ.2) สถานีตำรวจภูธรหนองจิก มีนายสุรพงษ์ อินทสระ รองอัยการจังหวัดปัตตานีร่วมสอบปากคำ

ก่อนให้ปากคำทหารพรานทั้ง 4 นาย ได้นำอาวุธปืนอาก้าประจำกาย 4 กระบอก ส่งมอบแก่พนักงานสอบสวน เพื่อส่งไปให้ศูนย์พิสูจน์หลักฐานที่ 10 ยะลาตรวจสอบ จากนั้นพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำทหารพรานทั้ง 4 นาย ตั้งแต่เวลา 10.00 น. จนกระทั่งเวลา 21.30 น. วันเดียวกัน การสอบสวนจึงแล้วเสร็จ พร้อมกับปล่อยตัวทหารพรานทั้ง 4 นาย รวมเวลาสอบปากคำประมาณ 11.30 ชั่วโมง

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนและทหารพรานทั้ง 4 นาย ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวด้วยใบหน้าเคร่งเครียดว่า คดียังอยู่ระหว่างการระหว่างการสอบสวน สำหรับทหารพรานทั้ง 4 นาย ปัจจุบันถูกย้ายไปประจำกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ว่าด้วยความรักใต้รัฐเดียวกัน

Posted: 19 Feb 2012 05:53 AM PST

 

เนื่องในโอกาสที่เทศกาลแห่งความรักเวียนมาถึง เดือนกุมภาพันธ์นี้มีวันสำคัญทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็น “ความรัก” ของ ศาสนาคริสต์ อันเป็นวันรำลึกถึงเซนต์วาเลนไทน์ ผู้อุทิศตนให้แก่มวลมนุษยชาติอันเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ และเดือนมีนาคม ก็มีวันมาฆบูชาของศาสนาพุทธซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระอรหันต์ 1,230 รูปซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้อุปสมบทด้วยพระองค์เอง ได้มารวมตัวกันโดยมิได้นัดหมาย เสมือนการระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาผู้บรรลุธรรมและชี้ทางสว่างให้กับมวลชน

ความรักเป็นนามธรรมที่สามารถให้นิยามไปได้อย่างหลากหลาย และอาจครอบคลุมกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมต่างๆ มากมาย และมีการวิพากษ์ความรักไว้ในหลากหลายทิศทางทั้งในดีและด้านร้าย เช่น ความรักคือ การให้ การอภัย การเสียสละ หรืออีกฟากฝั่งก็อาจกล่าวว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ความรักทำให้คนตาบอด เป็นต้น สำหรับการพูดเรื่องความรักในทางโลกที่มนุษย์จำต้องใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกับผู้อื่น ข้าพเจ้าขอหยิบความรักในมิติทางสังคมด้านหนึ่งมากล่าวถึงในบทความนี้

“ความรัก” ที่หลายคนคาดหวังมักเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับ “ความสุข” ซึ่งนิยามที่ข้าพเจ้านำมาวิเคราะห์สังคมไทยก็คือ นิยามของ ชีลส์ เดอเลิซ และ เฟลิกซ์ กัตตารี่ (อ้างอิงจาก ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, แนะนำสกุลความคิดหลังโครงสร้างนิยม, 2554) นักคิดทั้งสองคนเสนอนิยามของคำทั้งสองว่า “ความรักคือการเชื่อมต่อ” ส่วน “ความสุขคือการได้ใช้ชีวิตตามที่ตนปรารถนา”

หากนำคำทั้งสองมาเทียบเคียงกับเรื่องกฎหมายกับสังคม จะเห็นว่า เป็นนิยามที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง การอยู่ร่วมกันในรัฐบนหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน บนพื้นฐานของสันติภาพ

การเชื่อมต่อ ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคน การได้ใช้ชีวิตตามที่ตนปรารถนา ก็คือ การกำหนดอนาคตตนเอง การมีความรักและมีความสุขในเวลาเดียวกัน มนุษย์จึงต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น และยังสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ อย่างไรก็ดีเรื่องทั้งสองมีทั้งความสอดคล้องและขัดแย้งกันในตัวเอง

หากใครเคยมีความรักความสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยเฉพาะคนที่ตนรัก จะพบว่าบ่อยครั้งเราไม่อาจกำหนดอนาคตตนเองได้ตามที่ใจปรารถนาอยู่เนืองๆ ยกตัวอย่าง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชีวิตประจำวัน

กลับกันในหลายกรณีความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความรักของผู้คนจำนวนไม่น้อย ก็สามารถผสานเป้าหมายทั้งสองเข้าหากันได้บนพื้นฐานของดุลยภาพในความสัมพันธ์

เมื่อนำนิยามทั้งสองมาปรับใช้กับการเมืองเรื่อง “ความรัก” และ “ความสุข” ที่มีการพูดถึงถี่ยิ่งขึ้นในสังคมการเมืองไทยช่วงหลัง เราจะพบความผิดปกติบางอย่างที่ถูกทำให้กลายเป็นปกติในสังคมไทย เช่น การบังคับให้คนเลือกข้างที่รัก มักข้างที่ชัง และยังมีมาตรการบีบบังคับรูปแบบต่างๆ ตามมา ทั้งที่สังคมไทยมักพูดซ้ำๆ ว่า “แตกต่างแต่ไม่แตกแยก” แต่การบังคับให้เลือกรักย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในตัวเอง

ดังปรากฏ กรณีการจับจ้องและเฝ้ามองผู้ที่ไม่รัก....ฝ่ายตน แล้วระดมมวลชนฝ่ายตนเข้าบีบบังคับผู้ที่เห็นต่างด้วยวิธีการรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ คุกคาม หรือแม้กระทั่งต้องเผชิญกับการกล่าวหาทางอาญาจากการแสดงความเห็น มิพักต้องกล่าวถึงการถกเถียงถึงของสังคมต่อคดี “อากง” ที่คนในสังคมจำนวนไม่น้อยประณามอากง โดยมุ่งโจมตีว่าข้อความที่อากงส่งมีผลทำร้าย “ความรู้สึกของคนไทย” ซึ่งแสดงนัยยะของความรักแบบกำหนดนิยามตายตัวตามนิยามของ “ความรักชาติแบบราชาชาตินิยม” ที่ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด แม้กระทั่งชีวิตและสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ที่พึงมีอย่างเสมอกัน

ความบ้าคลั่งที่เกิดขึ้นจากการอ้างความรักตามนิยามของข้างฝ่ายตน และทำร้ายจิตใจของผู้อื่น ย่อมไม่ต่างจากความรักของคนเอาแต่ใจตัวเอง เหมือนคนรักที่บ้าคลั่งจำนวนมากที่บีบบังคับให้คนรักเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นไปตามที่ตนต้องการโดยไม่คำนึงถึงความปรารถนาของอีกฝ่าย

วิกฤตกาลของสังคมไทยจึงตั้งอยู่บนความเสี่ยงที่ว่า หากบุคคลใดมีนิยามความรักที่ผิดแผกแตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม ต้องการกำหนดอนาคตตนเองนอกกรอบที่สังคมนั้นตั้งไว้ ก็เสี่ยงอย่างยิ่งที่ความรักของบุคคลนั้นจะพบกับความผิดหวัง ทั้งที่เรากล่าวอย่างต่อเนื่องว่า ต้องผลักดันให้คนไทยคิดนอกกรอบและขับดันเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับคนอื่น ประเทศอื่น

ความคับแคบทางความคิดและความรู้สึก ดังที่ครอบงำสังคมไทยอยู่นี้จึงมีผลไม่น้อยต่อการปิดกั้นโอกาสของนักคิดนักสร้างสรรค์ในสังคมไทย จึงไม่แปลกที่นักคิด นักสร้างสรรค์ชาวไทยจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จและโด่งดังในต่างประเทศ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือร้ายแรงกว่านั้นก็ถูกตราหน้าว่าเป็นคนนอก คนนอกที่ว่าก็คือ นอกคอกของ “ความเป็นไทย” ที่เชื่อมโยงอยู่กับการแสดงออกอย่างล้นเหลือต่อความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่มิพักต้องสนใจเรื่องมนุษยธรรม หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เรื่องเศร้าที่เคยเกิดกับมหากวีเอกที่เด็กแทบทุกคนรู้จักก็คือ การตายของอีสป ที่เกิดจากการเล่านิทานที่แฝงข้อคิดย้อนแย้งถากถางผู้มีอำนาจและชนชั้นนำในสังคม จนสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ปกครองจนถูกคำสั่งให้จับโยนลงมาจากหน้าผาตายในท้ายที่สุด

สิ่งที่เกิดร่วมสมัยในสังคมไทย คือ นักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหวที่พยายามสร้างสรรค์ประเด็นขับเคลื่อนทางสังคมซึ่งมีข้อเสนอแหลมคมเสียบตรงไปที่โครงสร้างของสังคมการเมืองไทยที่ไร้มาตรฐานว่าควรจะต้องปรับเสียใหม่ให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยและธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการแสดงออก เช่น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ วิทยุโทรทัศน์ หรือ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีผลจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เช่น กฎหมายอาญาว่าด้วยลักษณะหมิ่นประมาทฐานต่างๆ

ขบวนการขับเคลื่อนสังคมเหล่านี้ต้องเผชิญกับกระบวนการเบียดขับให้กลายเป็นอื่น เช่น เปลี่ยนจากคนชาติไทย ให้เป็นคนชาติมั่ว คนต่างด้าว ขับไล่ให้ออกจากประเทศ ล้วนแต่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคนจำนวนหนึ่งมองการขับเคลื่อนทางสังคมเหล่านั้นว่าเป็นการสั่นคลอน “ความเป็นไทย” ที่ฝ่ายอนุรักษ์ต้องการจะแช่แข็งไว้ให้นิ่งที่สุด

นักจิตวิทยาและนักมานุษยวิทยาที่ทำงานด้านความสัมพันธ์ล้วนเสนอความคิดเห็นว่า ในการรักษาความรักความสัมพันธ์ไว้ให้ยั่งยืนยาวนานนั้น ต้องมีการปรับเข้าหากัน หรือเอาอกเอาใจ ตามใจคนรักบ้าง เพื่อเว้น “ที่ว่าง” ไว้ให้กับความสุขของคู่รักที่ย่อมต้องมีสิ่งที่ปรารถนาแตกต่างไปจากเรา การพยายามบีบบังคับทุกวิถีทางให้ทุกคนรักในแบบที่เราต้องการ นับเป็นความด้านชาต่อความรู้สึก และตัวตนของคนรักเป็นอย่างยิ่ง

หากนิยามความรักและความสุขในสังคมไทยยังถูกควบคุมให้หยุดนิ่งอยู่ ก็เห็นทีจะต้องอยู่แบบตัวใครตัวมันเพราะไม่สามารถผสานสัมพันธ์กันบนพื้นฐานของการยอมรับการกำหนดอนาคตตนเองอย่างแตกต่างหลากหลายของผู้อื่นในสังคม

การปรับปรุงแก้ไขแม้ยากที่จะเปลี่ยนทันทีทันใด แต่อย่างน้อยๆ ช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านก็ขอให้อดทนอดกลั้นรับฟังกันบ้างก็ยังดี

 

 

/////////////////
หมายเหตุ:
ชื่อบทความเดิม: ความรักคือการเชื่อมต่อ ความสุขคือการกำหนดอนาคตตนเอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เล็งยื่นอุทธรณ์คดีอากง-เตรียม 7 นักวิชาการประกันตัว

Posted: 19 Feb 2012 02:45 AM PST

ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.พ.55) เวลา 13.00 น. ณ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ทนายความจะยื่นอุทธรณ์ในคดีที่นายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือที่รู้จักในชื่อ “อากง” ซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 20 ปี ในข้อหาส่งข้อความสั้น 4 ข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

คดีดังกล่าวมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา เป็นเลขคดีแดงที่ อ.4726/2554 คำพิพากษาศาลชั้นต้นชี้ว่า ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่ได้จาก บริษัท โทเทิลแอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) นั้น มีความน่าเชื่อถือเพราะหากจัดเก็บไม่ถูกต้องจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและอาจเสียประโยชน์ทางธุรกิจ และชี้ว่าประเด็นต่อสู้ของจำเลยที่ว่า เลขอีมี่เปลี่ยนแปลงได้ แต่จำเลยกลับไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ ศาลยังชี้ว่านายอำพลรับว่าใช้โทรศัพท์เครื่องนี้อยู่ผู้เดียว และเชื่อว่าผู้กระทำผิดใช้ซิมการ์ดสองเลขหมาย เลขหมายหนึ่งเป็นของนายอำพล อีกเลขหมายหนึ่งเป็นหมายเลขที่ปรากฏว่าส่งข้อความไปยังโทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ทั้งนี้ ประวัติการใช้งานชี้ว่าซิมการ์ดทั้งสองถูกใช้งานเวลาใกล้เคียงกัน แต่ไม่เคยถูกใช้งานเวลาที่ซ้ำกัน ทั้งยังส่งจากย่านที่จำเลยพักอาศัย นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่าแม้โจทก์ไม่สามารถสืบพยานให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความจริง แต่เพราะเป็นการยากที่จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจึงย่อมปกปิดการกระทำของตน การพิพากษาคดีจึงจำต้องอาศัยประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้ให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของนายอำพล ระบุว่า ในวันที่ 20 ก.พ. 2555 นี้ จะยื่นอุทธรณ์ โดยย้ำประเด็นที่ว่า เพียงลำพังหมายเลขอีมี่ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิดได้ เพราะสามารถแก้ไขได้ง่าย อีกทั้งจากพยานเอกสารของโจทก์ยังปรากฏชัดว่า ระบบการเก็บข้อมูลการส่งข้อความสั้นของบริษัทดีแทคไม่สามารถตรวจสอบหมายเลขอีมี่ได้ในทุกครั้งที่มีการส่งข้อความ ซึ่งมิได้เป็นไปตามที่พยานโจทก์มาเบิกความ และในชั้นอุทธรณ์นี้ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอสืบพยานเพิ่มเติมโดยอ้างความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านโทรศัพท์มือถือจากประเทศเยอรมนี

ทนายความของนายอำพล กล่าวเสริมว่า กระบวนการสอบสวนยังมีข้อพิรุธ เพราะลำดับของวันที่ในเอกสารสลับกันไปมาไม่เป็นไปตามขั้นตอนการสืบสวนดังที่เจ้าหน้าที่สืบสวนเบิกความไว้ จึงแสดงให้เห็นว่าเป็นการสืบสวนที่มุ่งเป้ามาที่ตัวจำเลย ไม่ได้สืบสวนจากพยานหลักฐานตามเหตุตามผล โจทก์จึงไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งตามหลักวิธีพิจารณาความอาญาต้องยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลย และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

นอกจากนี้ พูนสุข ระบุว่า ในวันพรุ่งนี้ จะยื่นขอประกันตัวนายอำพลอีกครั้ง โดยมีนักวิชาการจำนวน 7 คนเป็นนายประกัน เช่น ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น พร้อมกับเงินสดจำนวนหนึ่งจากกองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

ทั้งนี้ นายอำพลถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2553 และถูกคุมขังสองเดือนก่อนศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว แต่หลังนายอำพลไปรายงานตัวเพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของอัยการเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีก ด้วยเหตุที่ว่าเกรงจำเลยจะหลบหนี

ก่อนหน้านี้ นางรสมาลิน ภรรยาของนายอำพล ได้อดข้าวประท้วงเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับการประกันตัว ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 19 ก.พ. ถึง 8.00 น. ของวันจันทร์ที่ 20 ก.พ.นี้

สำหรับคดีนายอำพลอยู่ในความดูแลของเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ทำงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากลูกความ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น