ประชาไท | Prachatai3.info |
- วอยซ์ทีวีไลฟ์นาทีจอดับ ชวนติดตามประวัติศาสตร์ช่วงยุติออกอากาศ 7 วัน
- SEAPA ประณามคำสั่งจอดำวอยซ์ทีวี 7 วัน ชี้เกินกว่าเหตุ
- อันเดรียอาส ฮาร์ตมาน ผู้กำกับ “My Buddha is Punk” ผู้ติดตามความคิดของวัยรุ่นสุดพังก์ในเมียนมาต่อการเมืองประเทศบ้านเกิด
- ไทยพลัดถิ่นแม่สอดหารือทนายสิทธิ-หลังประกาศมหาดไทยฉบับใหม่เอื้อสัญชาติ
- หม่อมอุ๋ย ปูด 6 อดีตบิ๊กทหาร ดันตั้งบรรษัทน้ำมัน อัดทำประเทศถอยหลังเหมือนยุค ‘สามทหาร’
- ปมวิสามัญฯ 'ชัยภูมิ ป่าแส' ทหารแจงเปิดภาพกล้องวงจรปิดไม่ได้ เหตุใช้เป็นพยานในศาล
- เปิดข้อมูลเจ้าของรถที่ "ชัยภูมิ ป่าแส" นั่ง-พบซื้อรถปี 58 ยังจัดไฟแนนซ์-ไม่มีข้อมูลต้องคดี
- 'เรืองไกร' เตือนฟ้อง ม.157 สรรพากรประเมินภาษี 'ทักษิณ'
- โกตี๋ ยันไม่ได้อยู่ลาวแล้ว ประวิตร ย้ำย้ายไปไหนก็ตามได้
- แม่ทัพภาค 4 ลงพื้นที่รับฟังความเห็นสถานการณ์พลังงานภาคใต้ ย้ำยึดระบบประชาธิปไตย
- ที่ประชุม กสท. มีมติพักใช้ใบอนุญาตวอยซ์ทีวี 7 วัน
- คุยก่อนปรองดอง#5(จบ): ‘พวงทอง ภวัครพันธุ์ ’:คนไทยอย่าเพิ่งหวังโลกช่วยล้อม คสช.
- ฮ่องกงได้ 'แคร์รี หลำ' เป็นผู้ว่าฯ คนใหม่ ท่ามกลางข้อกังขาเรื่องอิทธิพลจากจีน
วอยซ์ทีวีไลฟ์นาทีจอดับ ชวนติดตามประวัติศาสตร์ช่วงยุติออกอากาศ 7 วัน Posted: 27 Mar 2017 10:28 AM PDT เมื่อเวลา 23.59 น. ของวันที่ 27 มี.ค. 2560 สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีไลฟ์หน้าจอขณะที่ถูกระงับใบอนุญาต ผ่านแฟนเพจของช่อง ตามมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่ให้ระงับใบอนุญาตสถานีวอยซ์ทีวีทั้งช่อง เป็นเวลา 7 วัน นับตั้งแต่ 00.01 น. ของวันที่ 28 มี.ค. 2560 ถึงเวลา 00.00 น. ของวันที่ 3 เม.ย. 2560 พร้อมกันนี้ มีการเชิญชวนให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อการนำเสนอของวอยซ์ทีวี และ "ร่วมติดตามช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ที่วอยซ์ทีวีจะยุติการออกอากาศเป็นเวลา 7 วัน พร้อมกัน" ทั้งนี้ ระบุด้วยว่า จากนี้จะติดตามรายการต่างๆ ของวอยซ์ทีวี ได้ที่ Live.voicetv.co.th หรือดาวน์โหลด App VoiceTV ได้ที่ Google Play และ App Store (iOS) และช่องทางออนไลน์ปกติได้ที่ เฟซบุ๊ก Voice TV 21 และ www.voicetv.co.th อนึ่ง กสท. ระบุเหตุผลของการสั่งพักใช้ใบอนุญาต 7 วันครั้งนี้ว่า เนื่องจากการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ได้แก่ รายการใบตองแห้งออนแอร์ รายการ In Her View และรายการ Overview มีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร อันเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และเป็นการกระทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมหลังจากมีผู้ร้องเรียนการดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี ในปีที่แล้วรวม 10 ครั้ง และปีนี้ 2 ครั้ง ซึ่งสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวียังไม่ปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
SEAPA ประณามคำสั่งจอดำวอยซ์ทีวี 7 วัน ชี้เกินกว่าเหตุ Posted: 27 Mar 2017 10:01 AM PDT 27 มี.ค. 2560 องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ออกแถลงการณ์ประณามมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่ให้พักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เป็นเวลา 7 วัน โดยชี้ว่า เป็นการกระทำที่ไม่ได้สัดส่วนอย่างที่สุด ทั้งที่เนื้อหาที่ออกอากาศนั้นควรเป็นเอกสิทธิ์ของสถานี SEAPA ระบุว่า การพักใช้ใบอนุญาตดังกล่าวเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ เพราะเป็นการปิดทั้งสถานีและทุกรายการ นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงอำนาจมหาศาลที่รัฐบาลทหารมอบให้ กสทช. เมื่อ ก.ค. 2559 (ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่องการกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ให้ กสทช.ปิดสื่อได้โดยไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา วินัย แต่ไม่ตัดสิทธิเรียกค่าเสียหาย อ่านข่าวที่นี่) "กสทช.กลายเป็นหน่วยงานเซ็นเซอร์ทีวีในประเทศไทยแล้วอย่างชัดเจน" SEAPA ระบุ ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม กสท.มีมติพักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เป็นระยะเวลา 7 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2560 เวลา 00.01 น. เนื่องจากการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี 3 รายการ ได้แก่ รายการใบตองแห้ง วิจารณ์เรื่องปฏิบัติการของรัฐต่อวัดพระธรรมกาย ออกอากาศเมื่อวันที่ 15 มี.ค. เวลา 19.10 น., รายการ In Her View พูดเรื่องโกตี๋และอาวุธ ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 18.30 น. และรายการ Overview พูดเรื่องเด็กชนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือ ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. เวลา 18.55 น. มีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร อันเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และเป็นการกระทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมหลังจากมีผู้ร้องเรียนการดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ในปีที่แล้วรวม 10 ครั้ง และปีนี้ 2 ครั้ง โดยระบุว่า สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวียังไม่ปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 27 Mar 2017 09:04 AM PDT "My Buddha is Punk" คือ สารคดีที่พาเราไปสำรวจชีวิตมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีความหลงใหลในบางสิ่งบางอย่าง ลองคิดดูว่า จริงๆพระพุทธเจ้าเองก็มีความพังก์ ที่ออกนอกกรอบจากขนบธรรมเนียมเดิมๆ เพื่อจะหาวิธีดับทุกข์ใหม่ๆเช่นกัน เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา "My Buddha is Punk" (2015) กำกับโดยอันเดรียอาส ฮาร์ตมาน (Andreas Hartmann) ผู้กำกับชาวเยอรมัน ที่ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาฉายในเทศกาลภาพยนตร์ "Bangkok Underground Film Festival" ปี 2017 แน่นอนว่านี่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีที่ได้รับความสนใจล้นหลามจากผู้ชมที่มาร่วมงาน ทั้งเสียงปรบมือหลังสารคดีจบลง และแม้กระทั่งช่วง Q & A ที่มีคำถามสาดกันเข้ามา เหตุผลสำคัญอาจเนื่องมาจากความแปลกใหม่ในการพูดถึงวัฒนธรรมพังก์ในเมียนมา การสะท้อนความคิดของวัยรุ่นชาวพม่าต่อกรณีความรุนแรงในรัฐยะไข่ และความปรารถนาไขว่คว้าสันติสุขในดินแดนบ้านเกิด "My Buddha is Punk" เป็นสารคดีความยาว 68 นาที บอกเล่าเรื่องราวชีวิตวัยรุ่นชาวพม่าสุดพังก์นามว่า "จ่อว์ จ่อว์" (Kyaw Kyaw) นักร้องนำวง "The Rebel Riot" ผู้มีความฝันอยากจะเห็นเพลงพังก์ได้รับความนิยมในเมียนมา แม้ว่าตอนนี้เมียนมาจะเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่ในสายตาของ จ่อว์ จ่อว์ ประเทศบ้านเกิดของเขายังไม่ได้เปลี่ยนไปนัก และยังเต็มไปด้วยปัญหามากมายที่ยังไม่รับการแก้ไข แทนที่จะนั่งรอให้อะไรหลายๆอย่างดีขึ้นเอง จ่อว์ จ่อว์ และผองเพื่อนวง The Rebel Riot เลือกที่จะใช้เพลงพังก์ เรียกร้อง และกระตุ้นในชาวพม่าตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และวิจารณ์ปัญหาสังคมต่างๆ รวมถึงการส่งต่อแนวคิดนี้ไปสู่คนรุ่นหลัง
ก่อนที่จะได้มาทำ My Buddha is Punk ช่วงสมัยเรียนมหาวิทยาลัยภาพยนตร์ บาเบิลส์แบร์ก คอนราด โวล์ฟ (University Film Babelsberg Konrad Wolf) ประเทศเยอรมนี ฮาร์ตมานได้มีโอกาสทำผลงานภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวเรื่องแรกถ่ายทำในประเทศเวียดนาม ชื่อ "Day of Rain" (2010) ซึ่งในภายหลังสารคดีเรื่องนี้ได้จุดประกายให้ฮาร์ตมาน สนใจที่จะทำสารคดีเกี่ยวกับประเด็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำสารคดีขนาดยาวเรื่องที่สอง คือ "My Buddha is Punk" "ผมสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ตอนที่เมียนมาเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเผด็จการทหารไปสู่ประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน ผมก็สนใจในตัวคนรุ่นใหม่ในประเทศเมียนมาเช่นกัน โดยปกติ งานของผมจะสนใจคนรุ่นใหม่เป็นหลัก และสารคดีจะใช้เวลาส่วนใหญ่ติดตามคนรุ่นใหม่เหล่านี้ในช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับพวกเค้าในการควานหาอัตลักษณ์ และตัวตนทางสังคม พวกเขามีความรู้สึกเกี่ยวข้อง และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อประเทศของเขาอย่างไรบ้าง ทั้งในช่วงก่อน และหลังกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย" ด้วยความสนใจดังกล่าว ผู้กำกับแดนอินทรีเหล็กจึงเริ่มหาข้อมูลจากบทความในหนังสือพิมพ์จนมาเจอข้อมูลเกี่ยวกับพังก์ในเมียนมา เรื่องนี้ยิ่งกระตุ้นความสนใจของฮาร์ตมานให้อยากทำสารคดีมากขึ้น และเริ่มค้นคว้าข้อมูลในอินเทอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก จนในที่สุดเขาก็ได้มาเจอ และเป็นเพื่อนกับ "จ่อว์ จ่อว์" ซึ่งจ่อว์ จ่อว์ ก็ได้ชวนฮาร์ตมานมาที่เมียนมา และเป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ การเจอกันครั้งนี้ทำให้ฮาร์ตมาน ตัดสินใจว่าจะติดตามชีวิตของ จ่อว์ จ่อว์ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แทนที่จะเลือกนำเสนอเรื่องราวดนตรีพังก์ในเมียนมาทั้งหมดแทน ฮาร์ตมาน ถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ใช้เวลารวมทั้งหมดประมาณ 3 ปีด้วยกัน โดยเริ่มถ่ายทำตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวปี 2012 เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 2 เดือน เพราะเดิมทีผู้กำกับชาวเยอรมันไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำสารคดีในเมียนมา และใช้เพียงแค่วีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้มีเวลาถ่ายทำเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น และหลังจากถ่ายทำ ก็กลับมาทำในส่วนโพสต์โปรดักชัน ตัดต่อ และแปลภาษาจนถึงปี 2015 สารคดีดำเนินเรื่องโดยใช้ฟุตเทจภาพจากการติดตามชีวิตของจ่อว์ จ่อว์ เป็นหลัก ยกเว้นช่วงแรกที่เป็นฟุตเทจจากวิดีโอ เพราะเป็นภาพในอดีตก่อนปี 2012 และน่าสนใจว่า เราจะไม่เห็นการสื่อสารระหว่างตัวเอกและผู้กำกับ ตรงนี้ทำให้คนดูเป็นเสมือนคนที่ติดตามชีวิตของคนหนึ่งๆเท่านั้น และปล่อยให้บทสนทนา และการกระทำของตัวเอกเป็นสิ่งที่แสดงตัวตนของเค้า My Buddha is Punk เลือกนำเสนอเรื่องราวของนักร้องสายพังก์ตั้งแต่ได้เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ "Saffron Revolution" ในปี 2007 เพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร (ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวก็เป็นจุดเริ่มต้นของวง The Rebel Riot เช่นกัน), การใช้ชีวิตประจำวัน การไปนั่งสมาธิที่วัด ขณะที่หนึ่งในจุดที่น่าสนใจในสารคดี คือ การเลือกทิ้งช่วงเวลา และเน้นใช้ฉากการซ้อมดนตรี ฉากพูดคุย หรือถกเถียงระหว่างเพื่อนในกลุ่มของเขา และการพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในพังก์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นทัศนะความคิดของจ่อว์ จ่อว์ ที่พยายามใช้เพลงพังก์เป็นกระบอกเสียงทางความคิดในการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา การแสวงหาสันติสุข และทำให้คนพม่าอีกหลายคนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ฉากการพูดคุยระหว่างจ่อว์ จ่อว์ กับคนอื่นๆ ยังพาเราไปสำรวจความคิดของวัยรุ่นพม่าต่อการเมืองในประเทศ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา และการชาวโรฮีนจา
"วง The Rebel Riot ค่อนข้างจะมีชีวิตที่ยุ่งวุ่นวาย และขณะเดียวกัน ก็เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น ปกติ พวกเขาจะตื่นเช้าตรู่ และเริ่มทำงานเกี่ยวกับเพลงพังก์ ดีไซน์เครื่องแต่งตัวพังก์ เพื่อเอาไปขายในร้านของพวกเขา แต่ปัจจุบัน ร้านปิดไปแล้วเรียบร้อย เพราะว่ารัฐบาลได้สั่งห้ามไม่ให้มีการขายของข้างถนน คือ ทั้งวันของพวกเขามันก็มีแต่เรื่องพังก์ และมันไม่ได้เกี่ยวกับการออกไปเที่ยวเตร่ เสพย์ยา หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ซึ่งแตกต่างจากทัศนคติของใครหลายคนที่มีต่อพังก์ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพังก์ในยุโรป "ทุกวันนี้มันเหมือนกับว่าคุณสามารถจะเป็นพังก์ได้ ถ้าคุณไม่อยากหางานทำ หรือทำงานอะไรเลย และคุณอยากจะเป็นพังก์ เพื่อไม่ต้องทำอะไรนั่นแหละ"
ขณะที่ในสารคดี มุมมองทางศาสนาของจ่อว์ จ่อว์ ที่แสดงออกมานั้นก็ดูน่าสนใจไม่แพ้กัน ทั้งในเรื่องการเปิดใจรับความแตกต่างทางด้านศาสนา รวมถึงไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนต่อการใช้ความรุนแรงในพื้นที่รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นความคิดที่ต่างจากกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมสุดโต่งหลายคนทีเดียว และในความคิดของฮาร์ตมาน มุมมองทางด้านศาสนาพุทธของพ่อหนุ่มสุดพังก์ก็ดูจะแตกต่างจากชาวพม่าบางคนเหมือนกัน
ฉะนั้น บางครั้งการนับถือศาสนาจึงไม่ใช่การทำตามไปซะทุกอย่าง เราควรที่จะได้คิดด้วยตัวเองว่าสิ่งไหนถูก หรือผิด ช่วงก่อนหน้าที่ผู้กำกับเมืองเบียร์จะได้มีโอกาสมาฉายที่ไทย เขาได้นำภาพยนตร์สารคดีไปฉายตามงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ต่างๆเช่นกัน ซึ่งก็ได้รับความสนใจมากมาย แต่น่าเสียดายที่ "My Buddha is Punk" ยังไม่มีโอกาสได้ฉายในประเทศเมียนมา "อาจจะเป็นปีนี้ หรือปีหน้า มันน่าจะเป็นไปได้ที่จะได้ฉายในเมียนมา แต่แน่นอนว่าบางทีมันอาจจะยาก เพราะชาวพม่าบางคนอ่อนไหวกับชื่อสารคดีเรื่องนี้มาก พวกเราจะพยายามคิดหาวิธีทางที่จะทำให้เรื่องนี้ฉายในพม่าให้ได้ ซึ่งเราอยากจะลอง" อนึ่ง ความหมายของชื่อเรื่อง My Buddha is Punk คือ การสื่อถึงความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง หรือทุกคนก็คือพุทธองค์ ที่มีความหลงใหล และความสนใจบางอย่างเช่นเดียวกัน มันก็คือตัวตนของจ่อว์ จ่อว์ ที่หลงใหลในวัฒนธรรม และเพลงพังก์ "พวกเขามักจะล้อผมว่า วันหนึ่งพวกเขาจะทำสารคดีเกี่ยวกับตัวผมโดยใช้ชื่อเรื่องว่า My Buddha is Camera เพราะว่าผมมักจะใช้เวลาเพ่งสมาธิ และความสนใจกับการถ่ายทำสารคดี และกล้องถ่ายวิดีโอ มันก็สะท้อนถึงความหลงใหลของตัวผม สำหรับพวกเขา ชีวิตก็คือพังก์ และคือ "My Buddha is Punk" และแน่นอนสำหรับผม มันก็สะท้อนถึงความหลงใหลของตัวผมต่อการทำภาพยนตร์ และมันก็คือความเชื่อของผม
My Buddha is Punk จึงเปรียบเสมือนสารคดีที่ติดตามเรื่องราวชีวิตของ "จ่อว์ จ่อว์" ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความหลงใหลในสิ่งที่เรียกว่า "พังก์" สุดท้าย พังก์ในความหมายของนักร้องหนุ่มสุดพังก์คนนี้จึงไม่ได้เป็นแค่ดนตรี หรือวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว แต่พังก์ในสารคดีกลับเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ขัดเกลาตัวตนของจ่อว์ จ่อว์ ทั้งมุมมองทางโลก บุคลิก นิสัย และตัวตน สุดท้ายก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จ่อว์ จ่อว์ ใช้เพื่อแก้ไขความไม่ถูกต้อง ไขว่คว้าหาความสงบสุข
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ไทยพลัดถิ่นแม่สอดหารือทนายสิทธิ-หลังประกาศมหาดไทยฉบับใหม่เอื้อสัญชาติ Posted: 27 Mar 2017 08:30 AM PDT สุรพงษ์ ทองจันทึก ทนายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับปลัดอำเภอแม่สอด หารือด้านกฎหมายกับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย เผยที่ผ่านมามีชาวบ้านส่วนหนึ่งได้สัญชาติหลังศาลปกครองมีคำสั่ง และมีอีก 351 รายรอผลจากศาลปกครอง ขณะที่ทนายแนะให้ศึกษา "ประกาศกระทรวงมหาดไทย" ฉบับล่าสุด 14 มี.ค. 2560 เอื้อให้คนที่เกิดในประเทศไทย พ่อแม่เป็นชนกลุ่มน้อย แต่ถ้ามีหลักฐานในทะเบียนราษฎร ก็เข้าเกณฑ์ได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน 27 มี.ค. 2560 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สอด จ.ตาก มีการหารือกับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย โดยวิทยากรคือ สุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติ อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ และ ธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดอำเภอแม่สอด หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร ให้คำแนะนำทางกฎหมายแก่ชาวบ้านที่มารับฟังข้อสงสัยทางกฎหมายสัญชาติ สุรพงษ์ กองจันทึก (ซ้าย) ทนายความด้านกฎหมายสัญชาติ และ ธีระนันท์ ชัยมานันท์ (ขวา) ปลัดอำเภอแม่สอด หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร ชาวไทยพลัดถิ่นที่รอการได้สัญชาติไทย ร่วมหารือด้านสิทธิทางกฎหมาย บรรยากาศการหารือที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สอด จ.ตาก ต่อคำถามที่ว่า กรณีของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นใน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่เคยยื่นขอสัญชาตินั้น สุรพงษ์กล่าวว่า มีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นยื่นขอสัญชาติไทยไปนานแล้ว แต่สุดท้ายยังไม่มีการให้สัญชาติไทยกับเขา กลุมที่ยื่นเรื่องมาแล้ว 10 ปีก็มี 20 ปีก็มี ก็มีผู้ฟ้องร้องศาลปกครองจำนวน 73 ราย ศาลปกครองก็ตัดสินว่าเจ้าหน้าที่รัฐคือ รมว.กระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ให้เร่งรัดดำเนินการให้ชาวบ้านภายใน 30 วัน ซึ่ง รมว.มหาดไทยก็ไม่อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แต่สั่งการให้ดำเนินการเลย ซึ่งกลุ่มที่ฟ้องคดีต่อศาลปกครองปัจจุบันนี้ก็ได้สัญชาติไทยแล้ว นอกจากนี้มีการคุยกับปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า กลุ่มไทยพลัดถิ่นอื่นๆ ที่ยังไม่ได้สัญชาติและยังไม่ได้ฟ้อง ให้ดำเนินการได้ไหม มีทั้งหมด 411 ราย ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็สั่งให้ดำเนินการ โดยกลุ่มนี้ได้สัญชาติไปแล้วกว่า 300 ราย โดยไม่ต้องฟ้องศาลปกครอง เพราะยึดแนวคำพิพากษาศาลปกครองที่มีอยู่แล้วเป็นบรรทัดฐานที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการ ขณะเดียวกันยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555 ในการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น ปรากฏว่ากรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ยังไม่รับรองคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มที่มาจาก อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก แต่รับรองพื้นที่อื่นหมด และทำหนังสือตอบชาวบ้านด้วยว่าไม่รับรอง ถ้าชาวบ้านจะใช้สิทธิต้องฟ้องศาล ชาวบ้านก็เลยต้องฟ้องศาล ปัจจุบันนี้มีชาวบ้านราว 351 รายฟ้องศาลปกครองไว้ และอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครอง ส่วนกรณีของประกาศของกระทรวงมหาดไทย "เรื่อง การสั่งให้คนที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย" เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 (อ่านประกาศกระทรวงมหาดไทย) โดยเป็นการออกประกาศตามมติคณะรัฐมนตรี 7 ธันวาคม 2559 "อนุมัติหลักเกณฑ์การให้สัญชาติไทยเพื่อการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน นักศึกษาและบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในราชอาณาจักรตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ" นั้น สุรพงษ์ กล่าวว่า คนที่จะเข้าเกณฑ์ได้สัญชาติไทยนั้น ต้องเกิดในประเทศไทย พ่อแม่เป็นชนกลุ่มน้อย คนที่เกิดต้องมีเลข มีชื่อในทะเบียนราษฎร มีหลักฐานว่าเกิดในประเทศไทย เช่น สูติบัตร ทะเบียนการเกิด หนังสือรับรองการเกิด ก็สามารถได้สัญชาติไทยเลย ในกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นคิดว่ามีอยู่บ้าง ขณะเดียวกันกลุ่มที่ไม่ใช่คนไทยพลัดถิ่น ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย พ่อแม่อาจจะเป็นคนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในสมัยก่อน เมื่อลูกเกิดในประเทศไทย มีการแจ้งเกิดไว้แล้ว ถ้าลูกจบปริญญาตรีสามารถขอสัญชาติไทยได้ โดยเราแยก 2 กลุ่ม ชนกลุ่มน้อย ไม่ต้องจบปริญญาตรี รัฐถือว่าเข้ามานานแล้ว และรัฐจัดทำทะเบียนไว้ให้ตั้งแต่ก่อนปี 2542 แล้ว เมื่อลูกเกิดมาแล้วก็ได้สัญชาติเลย แต่ถ้าเป็นคนสัญชาติอื่น อยู่ประเทศไทยมานานแล้ว ต้องให้ลูกจบปริญญาตรีจึงจะขอสัญชาติได้ โดยประเมินว่าคน 2 กลุ่มนี้ที่มีคุณสมบัติได้สัญชาติไทยมีประมาณแสนกว่าคน โดยเป็นการได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน เพราะเกิดในประเทศไทย ส่วนคำถามที่ว่า ในพื้นที่ อ.แม่สอด ชนกลุ่มน้อยที่มีบัตรประจำตัว มีเลขนำหน้าเป็นเลข 6 และดำเนินการขอสัญชาติไว้ เวลานี้หลายคนก็อายุราว 60 ปีแล้ว ปัจจุบันจะมีวิธีใดที่จะขอสัญชาติได้เร็วที่สุด เหมาะสมที่สุดที่สามารถไปทำได้ ธีระนันท์ ซึ่งเป็นปลัดอำเภอแม่สอด หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร แนะนำว่าต้องรวบรวมรายชื่อคนที่เคยขอสัญชาติเอาไว้ และยังมีชีวิตอยู่ และส่งรายชื่อให้กับทางอำเภอ เพื่อให้ทางอำเภอช่วยติดตามว่าขั้นตอนใดล่าช้า จะได้เร่งรัดให้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หม่อมอุ๋ย ปูด 6 อดีตบิ๊กทหาร ดันตั้งบรรษัทน้ำมัน อัดทำประเทศถอยหลังเหมือนยุค ‘สามทหาร’ Posted: 27 Mar 2017 07:01 AM PDT ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง สนช. รับร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ…. แต่ให้ตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไป แฉมี 6 อดีตบิ๊กทหาร ผู้มีอิทธิพลดัน อัดทำประเทศถอยหลัง เหมือนยุค 'ตราสามทหาร' ที่มีส่วนการตลาดน้อยมากและถูกครอบงำโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติ ที่มาภาพ แฟ้มภาพ iLaw TH 27 มี.ค. 2560 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ หม่อมอุ๋ย อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณารับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ…. แต่ให้ตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไป ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุตอนหนึ่งในแถลงการณ์เกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า ตนได้เคยเชิญคณะกรรมาธิการพลังงานของ สนช. มาสนทนากันที่ทำเนียบรัฐบาล โดยผู้ที่มาพบมีด้วยกัน 7 คน ปรากฏว่าเป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน เมื่อตนชี้แจงแล้วก็ได้รับคำตอบว่าไม่ขัดข้องที่จะเปิดทางเลือกในการสำรวจและการผลิตให้มีหลายวิธี แล้วเลือกจากวิธีที่ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด แต่เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังขาดไปอีก 1 เรื่อง คือเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งทำให้ตนประหลาดใจเป็นอย่างมาก ตนได้ชี้แจงกลับทันทีว่าจุดมุ่งหมายของการออก พ.ร.บ.ใหม่ฉบับนี้ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้มีการสำรวจก๊าซธรรมชาติโดยให้ครอบคลุมถึงวิธีการต่างๆ ให้มากขึ้นกว่าระบบสัมปทานแต่อย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ไม่เคยมีใครพูดถึงบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเลย กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ และเมื่อนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผมร่างกฎหมาย ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ตัวแทนคณะกรรมาธิการดังกล่าวก็ยังยืนยันว่าควรเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปด้วย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ชี้แจงในแถลงการณ์ด้วยว่า กิจการน้ำมันของประเทศก็จะถอยหลังไป ตนจำได้ว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ขณะที่กรมพลังงานดูแลกิจการน้ำมัน เรามีน้ำมัน 'สามทหาร' ของไทยที่มีส่วนการตลาดน้อยมากและถูกครอบงำโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติเป็นสำคัญ สำหรับแถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 เรียนท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่นับถือ เมื่อผมพ้นหน้าที่จากคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันมาแล้ว ผมระมัดระวังไม่ทำอะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาลนี้ ด้วยเห็นว่าจะต้องช่วยกันผลักดันให้ประเทศของเราก้าวหน้าต่อไปอย่างดีที่สุด อย่างไรก็ตามมีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งผมเฝ้าติดตามเรื่อยมา เพราะหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงจะมีผลเสียต่อประเทศชาติเป็นอย่างมากชนิดที่ว่าจะแก้กลับไม่ได้ และนั่นก็คือความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเข้ามามีอำนาจเหนือแหล่งพลังงานและกิจการพลังงานของชาติ ท่านสมาชิก สนช. คงพอจะจำได้ว่าเมื่อตอนต้นปี 2558 รัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ขุดเจาะใช้อยู่ในปัจจุบันมีปริมาณลดน้อยลง จนอาจจะหมดไปในระยะเวลา 4-5 ปี จำเป็นต้องมีการสำรวจหาแหล่งใหม่ที่ยังมีก๊าซธรรมชาติเพียงพอที่จะเจาะนำขึ้นมาใช้ได้อีกนาน กระทรวงพลังงานจึงได้ประกาศเชิญชวนให้บริษัทเอกชนที่สนใจ ยื่นข้อเสนอในการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ โดยจะให้สัมปทานในการขุดเจาะแก่ผู้ที่สำรวจพบและเสนอผลประโยชน์แก่รัฐสูงที่สุด ปรากฏว่ามีผู้ออกมาคัดค้าน โดยมิได้คัดค้านในประเด็นที่จะต้องมีการสำรวจ แต่คัดค้านว่าไม่ควรให้สัมปทานแก่ผู้ที่สำรวจพบ และเสนอแนะใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) แทน ด้วยเชื่อว่าระบบ PSC จะให้ประโยชน์แก่ประเทศมากกว่าระบบสัมปทาน การคัดค้านดังกล่าวทำให้นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนใจและหยุดการประกาศเชิญชวนให้สิทธิสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21ไว้ ผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบดูแลกระทรวงพลังงานจึงเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอทราบนโยบายว่าจะให้มีการสำรวจหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมหรือไม่ คำตอบของนายกรัฐมนตรีก็คือ ยืนยันที่จะให้มีการสำรวจ และมอบให้ผมแก้ไขกฎหมาย (พ.ร.บ.ปีโตรเลียม) เพื่อมิให้การสำรวจและการผลิตจำกัดอยู่เฉพาะระบบสัมปทานดังที่ปรากฏอยู่ใน พรบ. ฉบับที่ใช้อยู่ ผมได้มอบให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานร่างแก้ไขกฎหมายให้เปิดกว้าง โดยให้รวมถึงระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และ ระบบจ้างสำรวจและผลิตด้วย ผมเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2558 คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยเร่งพิจารณาให้จนเสร็จเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมแล้วส่งกลับมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปรากฏว่าไม่มีการนำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. จนผมต้องไปตามเรื่องจึงทราบว่าติดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ในที่สุดก็ยอมให้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อตราเป็นกฎหมายออกใช้ เพื่อที่จะได้สามารถเริ่มการสำรวจก๊าซธรรมชาติได้ทันใช้ สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือทันทีที่ ครม.มีมติดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้บอกผมว่าก่อนนำเสนอ สนช. ขอให้ผมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพลังงานของ สนช. ผมได้ปฏิบัติตามโดยเชิญคณะกรรมาธิการดังกล่าวมาสนทนากันที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ผู้ที่มาพบมีด้วยกัน 7 คน ปรากฏว่าเป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน เมื่อผมชี้แจงแล้วก็ได้รับคำตอบว่าไม่ขัดข้องที่จะเปิดทางเลือกในการสำรวจและการผลิตให้มีหลายวิธี แล้วเลือกจากวิธีที่ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด แต่เห็นว่า พรบ.ฉบับนี้ยังขาดไปอีก 1 เรื่อง คือเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจเป็นอย่างมาก ผมได้ชี้แจงกลับทันทีว่าจุดมุ่งหมายของการออก พรบ.ใหม่ฉบับนี้ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้มีการสำรวจก๊าซธรรมชาติโดยให้ครอบคลุมถึงวิธีการต่างๆให้มากขึ้นกว่าระบบสัมปทานแต่อย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ไม่เคยมีใครพูดถึงบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเลย กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ และเมื่อนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผมร่างกฎหมาย ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ตัวแทนคณะกรรมาธิการดังกล่าวก็ยังยืนยันว่าควรเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปด้วย ผมได้แจ้งว่าคงจะเติมให้ไม่ได้เพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล และจะขอเสนอร่างไปยัง สนช. ตามที่ร่างไว้ ครั้นถึง 19 สิงหาคม 2558 ผมก็พ้นจากตำแหน่งโดยยังไม่ทันได้เสนอร่าง พรบ. ดังกล่าวต่อ สนช. รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนต่อมาได้นำร่าง พรบ. ดังกล่าวเสนอต่อ สนช. ตามเนื้อหาที่ร่างไว้เดิม ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการการพลังงานได้เสนอร่าง พรบ. เพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งเพื่อจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ รัฐบาลจึงส่งร่าง พรบ. ทั้งสองฉบับไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หากเห็นด้วยก็อาจรวมเป็นร่างเดียวกันได้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีที่คุมงานของกระทรวงพลังงานไปชี้แจง ซึ่งท่านได้ชี้แจงว่าไม่เห็นด้วยและไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฏีกาจึงได้ปฏิเสธที่จะเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง พรบ. ของรัฐบาล และส่งเรื่องกลับไปยัง ครม. ซึ่งได้มีมติให้ส่งร่างเดิมของรัฐบาลไปยัง สนช. เพื่อพิจารณาออกเป็นกฏหมายต่อไป ร่าง พรบ.ดังกล่าว (ที่ไม่มีเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ) ได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. ในวาระหนึ่งและ สนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ปรากฏว่าได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของสภานิติบัญญัติ กล่าวคือในการพิจารณาในวาระ 2 คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มเติมเรื่องใหม่ซึ่งเป็นการแก้ไขหลักการของ พรบ. โดยเติมมาตราเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง ทั้งๆ ที่รัฐบาลผู้เสนอร่างไม่มีนโยบายที่จะทำ และไม่มีการระบุหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแต่ประการใด การเพิ่มเติมเรื่องใหม่นี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏว่ามีการขอเพิ่มเติมข้อความในเรื่องนี้กลับไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการถึงสองครั้ง และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็ได้กระทำการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยการโอนอ่อนผ่อนตามให้มีการเพิ่มมาตราในเรื่องใหม่ดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะทำ และแม้กระทั่งการศึกษาถึงผลได้ผลเสียตลอดจนความจำเป็นในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ รัฐบาลก็ยังไม่เคยทำไว้ คณะรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดเลยที่จะต้องโอนอ่อนผ่อนตามคำขอที่ไม่ชอบมาพากลของคณะกรรมาธิการฯในเรื่องนี้ นอกเสียจากว่าจะเกรงใจใครบางคนหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย มาตราที่เพิ่มเติมใหม่นี้คือ มาตรา 10/1 ซึ่งมีข้อความว่า มาตรา 10/1 ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ร่างพรบ. ฉบับใหม่นี้ได้ถูกนำบรรจุวาระเพื่อการพิจารณาในวาระ 2 และ วาระ 3 ในวันที่ 30 มีนาคม 2560 นี้ ซึ่งหากที่ประชุม สนช. มีมติอนุมัติก็จะสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งหมายความว่ากลุ่มบุคคลที่ต้องการให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ สามารถเริ่มผลักดันด้วยการเริ่มเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ การศึกษาผลดีผลเสียก็คงจะเตรียมกันไว้แล้วในแนวทางที่ต้องการ หน่วยงานที่เห็นว่ายังไม่มีความพร้อมเพียงพอหรือมองเห็นถึงผลเสียเป็นอันมาก ก็คงจะไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะคัดค้านได้ เพราะแม้แต่เรื่องที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ก็ยังผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายจนได้ ต้องมีผู้มีอำนาจหนุนหลังอยู่อย่างแน่นอน สาเหตุที่ไม่ควรมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น เป็นเพราะผมเองได้เคยเห็นข้อความในร่างที่มีผู้เตรียมการเพื่อเสนอจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ" และ "ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน…" หากเป็นไปตามร่างดังกล่าว กิจการน้ำมันของประเทศก็จะถอยหลังไป ผมจำได้ว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ขณะที่กรมพลังงานดูแลกิจการน้ำมัน เรามีน้ำมัน 'สามทหาร' ของไทยที่มีส่วนการตลาดน้อยมากและถูกครอบงำโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติเป็นสำคัญ ต่อมาเราก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่เสมือนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งปรากฏว่าพัฒนามาได้ดีอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 เหนือกว่าบริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งหมด ปตท. ได้พัฒนาแหล่งพลังงานใหม่คือก๊าซธรรมชาติรองรับความต้องการพลังงานที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้ขยายตัวไปสำรวจและผลิตในต่างแดนนำพลังงานกลับมารองรับความเจริญของประเทศได้อย่างทันเหตุการณ์ ได้ขยายเครือข่ายการขายออกไปคุมตลาดในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ และได้ตั้งบริษัทในเครือเพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานอีกหลายบริษัท เรามีรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ดีอยู่แล้ว ถ้ามีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติใหม่เกิดขึ้นมาและใช้อำนาจที่มีกฎหมายรองรับ ดึงกรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมาอยู่ที่บรรษัทใหม่แห่งนี้ วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่างๆ หลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร กิจการเหล่านี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ หากต้องหยุดลง ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ และบรรษัทใหม่ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์จะพัฒนาตนเองให้สามารถรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจได้เพียงพอหรือ? จะสามารถรับมือกับปัญหาและพัฒนาการใหม่ๆ ของกิจการพลังงานได้หรือ? กิจการพลังงานของเราซึ่งรุดหน้ามาด้วยดี คงจะสะดุดจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ ผมจึงใคร่ขอร้องมายังท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทุกท่านที่จะเข้าประชุมในวันที่ 30 มีนาคม 2560 นี้ได้โปรดช่วยชาติด้วยการใช้ความระมัดระวังในการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติเกี่ยวกับ พรบ.ปิโตรเลี่ยม ในวาระ 2 และ วาระ 3 ถ้าท่านจะลงมติผ่านร่าง พรบ. ตามที่คณะกรรมการวิสามัญเสนอมาซึ่งรวมมาตรา 10/1เท่ากับว่าท่านสนับสนุนให้เกิดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลเสียต่อความเจริญของประเทศอย่างแน่นอน แต่ถ้าท่านลงมติไม่รับร่างดังกล่าวเราก็จะไม่มีกฎหมายรองรับการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ ฉะนั้นจะ เป็นไปได้ไหมครับที่จะลงมติรับร่างโดยให้ตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไป ถ้าได้เช่นนั้น ประชาชนคนไทยคงจะขอบใจ และวางใจได้ว่าเรายังมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อยู่ เพื่อนของผมบอกผมว่าถึงผมจะอ้อนวอนอย่างไรก็คงไม่สำเร็จ เพราะในสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันมีทหารอยู่มากกว่าครึ่ง ทหารก็คงจะลงมติตามที่กลุ่มทหารเสนอมา ผมตอบเขาไปว่าทหารทุกคนรักชาติไม่แพ้พวกเรา หากไม่มีใครชี้แจงให้เขาเห็นข้อดีข้อเสีย เขาก็จะลงมติตามที่บอกต่อกันมา แต่ถ้าเราชี้แจงให้เขาเห็นอย่างชัดเจนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติ เขาก็จะคิดได้และเขาก็มีความเป็นตัวเองที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ผมจึงขอวิงวอนมายังท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติทุกท่านได้โปรดได้ดุลยพินิจในการรักษาผลประโยชน์ของชาติด้วยเถิด ผมอยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลังกลับไปเหมือน 50 ปี ก่อนครับ ขอแสดงความนับถือ (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปมวิสามัญฯ 'ชัยภูมิ ป่าแส' ทหารแจงเปิดภาพกล้องวงจรปิดไม่ได้ เหตุใช้เป็นพยานในศาล Posted: 27 Mar 2017 06:39 AM PDT เหตุวิสามัญฯ ชัยภูมิ ป่าแส ประวิตรโยนกองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการ ขณะที่ แม่ทัพภาค 3 แจงไม่สามารถเปิดวงจรปิด เหตุใช้เป็นพยานในชั้นศาล ตร.อ้างพบพิรุธ 3 ผู้ค้ายา โอนเงินเข้าบัญชีของผู้ตาย 27 มี.ค. 2560 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทหารวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์การเสียชีวิตของชัยภูมิจากทั้งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวมไปถึงพยานในเหตุการณ์หลายปาก (อ่านที่นี่) ต่อมาวันที่ 25 มี.ค.60 พล.ต.จิรเดช กมลเพ็ชร ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง พร้อมตัวแทนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวคืบหน้าการคลี่คลายคดีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ โดยประเด็นสำคัญที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ คือการเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดที่ด่านตรวจค้น ซึ่งเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.สมพงษ์ แจ้งจำรัส รองแม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบกรณีนี้ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จะเปิดเผยภาพดังกล่าว ขณะที่วันนี้ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง ตอบเพียงสั้น ๆ ว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะที่ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่วนหนึ่งได้เริ่มแคมเปญรณรงค์ ในเว็บไซต์ Change.org เรียกร้องให้ เจ้าหน้าที่ทหารเปิดกล้องความจริง ประวิตรโยนกองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการโดยวันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง กรณีมรการเรียกร้องให้เปิดกล้องวงจรปิดดังกล่าววว่า ทางกองทัพภาคที่ 3 จะเป็นผู้ดำเนินการ โดยทุกอย่างก็เดินไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ชุดตรวจสอบมี4 ฝ่าย ทั้ง ตำรวจ แพทย์ อัยการ ฝ่ายปกครอง ก็ดำเนินการไป เพราะในส่วนของทหารไม่ได้ทําเพียงฝ่ายเดียว ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์คำพูดของ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ระบุว่า "ถ้าเป็นผม จะกดออโต้" นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "เขาก็ผ่านศึกสงครามมาเยอะ ผมก็ไม่ทราบ ต่างคนต่างคิด ส่วนที่จะยื่นหนังสือต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบแม่ทัพภาคที่ 3 นั้น ก็ทำไป" เมื่อถามว่า กองทัพจะไม่เข้าไปแทรกแซงใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขณะมีหลายหน่วยงานที่เข้าไปตรวจสอบ ไม่ใช่เฉพาะทหารเท่านั้น ดังนั้นสามารถยืนยันได้ว่าจะไม่มีการแทรกแซง ต่างฝ่ายต่างมีองค์กรของของตัวเองทั้ง อัยการ ตำรวจ และทหารก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในจำนวนนั้น แม่ทัพภาค 3 แจงไม่สามารถเปิดวงจรปิด เหตุใช้เป็นพยานในชั้นศาลด้าน พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาค 3 กล่าวว่า ภาพจากกล้องวงจรปิดทางกองทัพได้ส่งมอบให้กับตำรวจเพื่อใช้เป็นพยานในชั้นศาลเรียบร้อยแล้ว จึงไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้ ซึ่งต้องให้ศาลเป็นผู้อนุญาตว่าจะเผยแพร่ได้หรือไม่ เพราะต้องใช้ในการต่อสู้ชั้นศาล อีกทั้งขณะนี้ ตำรวจเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อีกทั้งทางกองทัพไม่เคยปิดบัง แต่ต้องขึ้นกับตำรวจและศาลว่าจะอนุญาตให้เผยแพร่หรือไม่ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาค 3 พล.ท.วิจักขฐ์ กล่าวว่า ส่วนที่กลุ่มเอ็นจีโอ ระบุว่าด่วนสรุปผลการตรวจสอบการวิสามัญนายชัยภูมิเร็วเกินไป นั้น นายชัยภูมิ ใช้อาวุธระเบิดปาใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีสิทธิที่จะป้องกันตัว หากใครเจอภาวะแบบนั้นก็ต้องตัดสินใจที่จะยิงต่อสู้เพื่อป้องกันตัว เพราะหากมองกลับกัน นายชัยภูมิก็ใช้วิธีการขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันตัวเช่นกัน ทหารจึงต้องใช้อาวุธปืน ในการป้องกันตัว ซึ่งไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบในเหตุการณ์ลักษณะนี้ เพราะถือว่าเสมอตัว พล.ท.พล.ท.วิจักขฐ์ กล่าวว่า ทหารคนดังกล่าวได้ปฏิบัติตามกฎปะทะที่ได้กำชับมาโดยตลอด 1. หากไม่จำเป็นเจ้าหน้าที่จะไม่ใช้อาวุธ 2.จะใช้อาวุธเมื่อจำเป็นและเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น 3.การจะใช้อาวุธต้องมีเป้าหมายที่เจาะจงและชัดเจน โดยไม่ใช้พร่ำเพรื่อ ซึ่งเป็นกฎเหล็กที่ได้ให้ไว้ "ยืนยันว่าพลทหารคนดังกล่าว ปฏิบัติตามกฎการปะทะ และต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วในภาวะวิกฤต และที่สำคัญ พลทหารคนดังกล่าวไม่เคยมีเรื่องบาดหมางใจกับนายชัยภูมิมาก่อน จึงไม่มีเหตุหรือแรงจูงใจ ในการทำร้ายนายชัยภูมิ โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดนายชัยภูมิซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาถึงขัดขืนการจับกุม และประทุษร้ายเจ้าหน้าที่" พล.ท.วิจักขฐ์ กล่าว ตร.อ้างพบพิรุธ 3 ผู้ค้ายา โอนเงินเข้าบัญชีของชัยภูมิพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของ ชัยภูมิ ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยเฉพาะการพบพิรุธ 3 ผู้ค้ายาเสพติด ที่มีการโอนเงินเข้ามาในบัญชีของนายชัยภูมิ เบื้องต้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าต้นทางของเงินดังกล่าวมาจากไหน 3 ผู้ค้ายาเสพติดเป็นใคร เกรงว่าจะกระทบสำนวนคดี ส่วนญาติระบุว่าเงินที่โอนเข้ามาเป็นเงินจากธุรกิจกาแฟนั้น ที่มาที่ไปของเงินต้องสามารถชี้แจงได้ เพราะการทำธุรกิจก็ต้องส่งเรื่องเสียภาษีซึ่งต้องมีการสืบสวนขยายผลเช่นกัน เรื่องนี้ทางกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (บช.ภ.5) กำลังสืบสวนสอบสวนเพื่อให้เกิดความชัดเจน
ที่มา : สำนักข่าวไทย ผู้จัดการออนไลน์ และมติชนออนไลน์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิดข้อมูลเจ้าของรถที่ "ชัยภูมิ ป่าแส" นั่ง-พบซื้อรถปี 58 ยังจัดไฟแนนซ์-ไม่มีข้อมูลต้องคดี Posted: 27 Mar 2017 06:06 AM PDT ข้อมูลทะเบียนรถยนต์ฮอนด้าแจ๊สคันที่ "ชัยภูมิ ป่าแส" และเพื่อนใช้ พบไม่มีการปลอมแปลงทะเบียนและลักษณะรถ เป็นรถที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 12 ปี ผู้ครอบครองปัจจุบันซื้อแบบสินเชื่อเมื่อปี 58 ยังไม่พบข้อมูลว่าต้องหมายจับ หรือถูกดำเนินคดีอาญา รถยนต์คันเกิดเหตุ 27 มี.ค. 2560 กรณีที่ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมและศิลปินชาวลาหู่ ถูกวิสามัญฆาตกรรมเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่จุดตรวจบ้านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ทหาร กกล.ผาเมือง ระบุว่าผู้ตายและเพื่อนครอบครองยาเสพติด และผู้ตายขัดขืน พยายามต่อสู้ด้วยระเบิดมือ จึงถูกยิง และต่อมาผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ที่ระบุว่า รถยนต์ที่ "ชัยภูมิ ป่าแส" กับเพื่อนขับมาในวันเกิดเหตุนั้น เป็นรถยนต์ของผู้ค้ายาเสพติดและหลบหนีเจ้าหน้าที่อยู่นั้น ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เปิดเผยข้อมูลทะเบียนรถยนต์คันเกิดเหตุว่า รถยนต์คันที่ชัยภูมิและเพื่อนใช้นั้น เป็นรถยนต์ทะเบียน ขก-3774 ยี่ห้อ Honda Jazz สีดำ เลขทะเบียน ลักษณะ และสีของรถที่พบในที่เกิดเหตุตรงกับข้อมูลทะเบียนรถยนต์ ไม่มีการปลอมแปลงทะเบียนและลักษณะรถแต่อย่างใด รถยนต์คันเกิดเหตุ โดยรถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถที่มีอายุการใช้งานกว่า 12 ปีแล้ว โดยเลขทะเบียนเดิมคือ ศต-9886 กรุงเทพมหานคร จดทะเบียนวันที่ 21 ม.ค. 2548 ต่อมาผู้ครอบครองปัจจุบันคือ นาง ล. (นามสมมติ) อายุ 44 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ได้ครอบครองรถมาตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2558 สำหรับผู้ครอบครองรถปัจจุบันนั้น ตามประวัติอาชญากรรมล่าสุดยังไม่พบข้อมูลว่าต้องหมายจับ หรือถูกดำเนินคดีอาญา สำหรับการซื้อขายรถยนต์ของผู้ครอบครองปัจจุบันคือนาง ล. น่าจะเป็นการซื้อแบบสินเชื่อ โดยผู้ถือกรรมสิทธิ์ปัจจุบันยังเป็นบริษัทสินเชื่อรถยนต์แห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลว่าการซื้อขายรถยนต์จากนาง ล. ไปสู่ "ชัยภูมิ" เป็นการซื้อแบบไม่โอนกรรมสิทธิหรือไม่ ทั้งนี้ชัยภูมิยังถือบัตรบุคคลไร้สัญชาติ ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยากในการทำธุรกรรม อนึ่งในส่วนข้อมูลจากญาติของชัยภูมิ ระบุว่า ชัยภูมิเริ่มขับรถยนต์คันดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2559 ทั้งนี้จากข้อมูลมารดาของชัยภูมิ ให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่ มารดาของชัยภูมิระบุว่าไม่ทราบรายละเอียดเรื่องการซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว และยังเข้าใจว่าชัยภูมิยืมรถคนรู้จักมาขับ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'เรืองไกร' เตือนฟ้อง ม.157 สรรพากรประเมินภาษี 'ทักษิณ' Posted: 27 Mar 2017 06:00 AM PDT ด้านสื่อหลายสำนักอ้างกรมสรรพากรเคาะตัวเลขแล้ว กว่า 1.7 หมื่นล้าน กำหนดจะนำใบแจ้งไปปิดหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ โดย นพดล ชี้ถ้าจริงก็ใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ต่อ แฟ้มภาพ 27 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) เข้ายื่นหนังสือกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขอให้ยุติการตรวจสอบ และการจะประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทันที เพราะไม่สามารถทำได้เนื่องจากคำพิพากษาของศาลฎีกา มีคำพิพากษาว่าหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น ที่ขายให้เทมาเส็ก 23 ม.ค. 2549 นั้นเป็นของทักษิณ และพจมาน จะต้องเสียภาษีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 วรรค 8 ซึ่งจะต้องยื่นเสียภาษีภายใน 30 ก.ย. 2549 ดังนั้นคดีนี้มีอายุครบ 10 ปี จึงหมดอายุความแล้วตั้งแต่ 30 ก.ย. 2559 หรือ หมดอายุความมาแล้ว 6 เดือน แต่การตีความของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาให้เรียกเก็บภาษีกับทักษิณ ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง เพราะพานทองแท้ และ พิณทองทา บุตรชายบุตรสาว เป็นผู้ถือหุ้นแทนเท่านั้น ทักษิณจึงต้องเสียภาษีเอง ตามมาตรา 40(2) ภายใน 31 มี.ค.นี้ ตามกำหนดอายุความ10 ปี ทั้งนี้ หากกรมสรรพากรยังการเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา 157 และกฏหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123 ในฐานะที่เคยทำงานร่วมกับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จึงขอเตือนกรมสรรพากรให้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีดังกล่าวทันที พร้อมระบุ การมายื่นหนังสือในวันนี้มาในฐานะส่วนตัว ที่คาดว่าจะได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนนายทักษิณในการต่อสู้คดีเท่านั้น เรืองไกร เปิดเผยด้วยว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวมีผู้ที่เกี่ยวบางส่วนมีอคติต่อทักษิณ และที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือสมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจนถึงขณะนี้ทักษิณ และทีมกฎหมายยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีจากกรมสรรพากร ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ยังไม่ทราบตัวเลขภาษีที่จะเรียกเก็บว่าเป็นเท่าใด ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ตามขั้นตอนกฎหมาย หากได้ข้อสรุปแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำใบแจ้งที่ต้องชำระภาษี ส่งทางไปรษณีย์ หรือนำไปส่งมอบให้บุคคลภายในบ้านของผู้เสียภาษี แต่หากมีการปฏิเสธหรือไม่สามารถนำส่งใบแจ้งได้ จึงจะนำใบแจ้งไปปิดบริเวณบ้าน แต่ขณะนี้ยังไม่เริ่มขั้นตอนนี้ เพราะยังไม่ได้ข้อสรุปตัวเลขที่ชัดเจน สื่อหลายสำนักอ้างเคาะตัวเลขแล้ว กว่า 1.7 หมื่นล้านขณะที่มาสื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า โดยอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพากรได้ข้อสรุปการประเมินเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปจาก ทักษิณ แล้ว โดยคิดเป็นจำนวนเงินภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้นกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท และกำหนดจะนำใบแจ้งไปปิดหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ และจากนั้นผู้เสียภาษีสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน คณะทำงานของกรมสรรพากรสรุปให้ประเมินภาษีตามแนวทางที่ว่ามีการซื้อหุ้นราคาต่ำกว่าราคาตลาด ในช่วงที่บริษัทแอมเพิลริชขายหุ้นให้นอมินีของอดีตนายกรัฐมนตรีในราคาหุ้นละ 1 บาท ต่ำกว่าราคาตลาดตอนนั้นที่อยู่ที่ 49.25 บาทต่อหุ้น นพดล ชี้ถ้าจริงก็ใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ต่อโดยบีบีซีไทยรายงาน คำสัมภาษณ์ของ นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของทักษิณ ไ้กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ยังไม่เห็นหนังสือจากกรมสรรพากร จึงยังไม่รู้ว่ามีการประเมินการเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณดังกล่าวจริงหรือไม่ และถ้าดูจากข่าวก็บอกว่าจะมีการนำหมายไปแปะที่บ้านจันทร์ส่องหล้าในวันที่ 28 มี.ค. จึงอยากให้รอดูวันพรุ่งนี้ก่อน "แต่หากมีการประเมินเรียกเก็บภาษี 17,000 ล้านบาทจริง ทางคุณทักษิณก็คงจะตั้งทีมทนาย และใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ตามกฎหมายต่อไป" นพดล กล่าว
เรียบเรียงจาก : TNN24, Voice TV, ไทยโพสต์, เนชั่น, มติชนออนไลน์และบีบีซีไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โกตี๋ ยันไม่ได้อยู่ลาวแล้ว ประวิตร ย้ำย้ายไปไหนก็ตามได้ Posted: 27 Mar 2017 04:59 AM PDT โกตี๋ ประกาศไม่ได้อยู่ลาวแล้ว โวยทางการไทยไม่ให้เกียรติเพื่อนบ้าน กล่าวหาให้ที่พักพิงตน แจงคนที่ จนท.จับและอ้างเป็นเครือข่าย ตนรู้จักเพียงคนเดียว แถมไม่ได้คุยตั้งแต่ลี้ภัย ด้าน พล.อ.ประวิตร เผยยังไม่ทราบโกตี๋ไม่อยู่ลาว ย้ำตามได้ทั้งนั้น 27 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (26 มี.ค.60) จอม เพชรประดับ ได้สัมภาษณ์ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ผู้ต้องหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง ซ่องสุมอาวุธเพื่อก่อเหตุความรุนแรงซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาลไทยในเวลานี้ เผยแพพร่ทาง Thaivoice ในยูทูบ อีกครั้งหลังจากเจ้าหน้าที่รัฐขยายผลปิดล้อมตรวจค้นเครือข่ายของโกตี๋อย่างต่อเนื่อง "ถ้าถูกจับกุมแล้ว แน่นอนผมคงจะไม่มีการตัดสินทางศาลแน่นอน คงศาลเตี้ยแน่นอน เพราะฉะนั้นถามว่าโดนไล่ล่าหนังไหม หนักมากๆ ครับ หนักเท่าที่เคยเจอมา แต่ไม่ได้กลัวตรงนั้น" วุฒิพงศ์ กล่าว โดย วุฒิพงศ์ ว่า ขณะนี้ตนไม่ได้อยู่ในประเทศลาวแล้ว เพื่อความปลอดภัยของคนอื่น ๆ จึงตัดสินใจหลบหนีออกมา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าอยู่ที่ใดเอาเป็นว่าอยู่ดาวอังคารก็แล้วกัน แต่ยืนยันว่าไม่ท้อแท้ยังคงต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการทหาร "ผมไม่ได้อยู่ในลาว" วุฒิพงศ์ กล่าว พร้อมระบุว่าการข่าวของรัฐบาลมั่วมาก รวมทั้งกล่าวหาประเทศเพื่อนบ้านคือลาว ถือเป็นการดูถูกและลุกล้ำอำนาจอธิปไตยของประเทศเขามาก จากการกล่าวหาประเทศลาวให้ที่พักพิงตน ทั้งที่ตนไม่ได้อยู่ในลาวตั้งนานแล้ว ส่วนการถูกพาดพิงจากผู้ต้องหาที่ควบคุมตัวได้นั้น วุฒิพงศ์ กล่าวว่า มีเพียงคนเดียวที่ตนรู้จักคือ ธีรชัย อุตรวิเชียร หรือ ระพินเท่านั้น แต่หลังจากที่ตนหนีออกมาก็ไม่เคยพบปะพูดคุยกันอีกเลย ส่วนเรื่องอาวุธที่มีการโยงหรือพาดพิงถึง จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการองค์การเสรีไทยนั้น ทหารจะกล่าวหาอะไรได้ทั้งนั้น ตนไม่เคยเจอกับจารุพงศ์ เพียงแต่ได้ความคิดจากการฟังคลิปของจารุพงศ์เท่านั้นเอง และการเคลื่อนไหวของกลุ่มตน ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย หรือ อดีตนายกฯทักษิณแต่อย่างใด ประวิตรยังไม่ทราบโกตี๋ไม่อยู่ลาว ย้ำตามได้ทั้งนั้นวันนี้ (27 มี.ค.60) สำนักข่าวไทย รายงานประเด็นนี้ด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวโกตี๋ หลบหนีจากประเทศลาวไปประเทศเวียดนาม ว่า ยังไม่ทราบ แต่อยากไปที่ไหนก็ไป ตนตามได้ทั้งนั้น และมีกระบวนการติดตามอยู่ ขณะนี้กำลังตรวจสอบข้อมูลอยู่ว่าอยู่ที่ประเทศเวียดนามจริงหรือไม่ ถ้าหากไปจริงก็ต้องดู และเวียดนามก็ต้องรู้ ซึ่งตนสามารถพูดคุยกับทางเวียดนาม เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเวียดนาม เพิ่งเดินทางมาพบตนเมื่อ 2 วันที่ผ่านใส แฟ้มภาพ เมื่อถามว่าทางทางการลาวตอบรับในเรื่องที่ร้องขอไปอย่างไรบ้าง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่ได้ตอบอะไรมา แต่จากการอ่านหนังสือพิมพ์สปป.ลาวก็มีการพูดถึงเรื่องของนายโกตี๋ ผู้จัดการออไลน์รายงานด้วยว่า วันนี้ (27 มี.ค.60) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่โกตี๋สไกด์ออกรายงานของจอม เพชรประดับ นี้ด้วยว่า การสไกป์ของโกตี๋ เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ ส่วนจะมีการปฏิเสธหรือโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่นั้นไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อสำนวนคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน ประเด็นอยู่ที่ผู้ต้องหาทั้ง 9 รายให้การอย่างไร ซัดทอดใคร รับฝากอาวุธมาจากใคร โกตี๋จะพูดอะไรก็ได้ สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อมโยงและพยานหลักฐานอยู่ดี พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่มีการขู่สังหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร นั้น การข่าวของสันติบาลมีการเฝ้าระวังและปฏิบัติไปตามระเบียบ เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยบุคคลและสถานที่สำคัญตามปกติซึ่งจะมีการคัดกรองบุคคลและรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกพื้นที่ โดย พล.อ.ประวิตรไม่ได้กำชับเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่การข่าวก็มีการเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา ส่วนการติดตามตัวนายโกตี๋ รองโฆษก ตร.กล่าวว่า ขณะนี้ว่าอยู่ระหว่างเร่งติดตามตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีไม่ว่าจะหลบหนีไปประเทศใดก็ตาม แต่ในบางประเทศจะไม่มีการทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็จะประสานงานขอความร่วมมือตามขั้นตอนในการส่งตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แม่ทัพภาค 4 ลงพื้นที่รับฟังความเห็นสถานการณ์พลังงานภาคใต้ ย้ำยึดระบบประชาธิปไตย Posted: 27 Mar 2017 12:26 AM PDT แม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่กระบี่ เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นสถานการณ์พลังงานภาคใต้ ย้ำยึดระบบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น ด้าน 'ค้านถ่านหิน' จี้ คสช. อย่าใช้เวทีอ้างความชอบธรรม กป.อพช.ใต้ ลั่นทางออกพลังงานภาคใต้ต้องไม่ใช่ถ่านหิน 27 มี.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (27 มี.ค.60) ที่ห้องประชุมนพรัตน์ธารา โรงแรมกระบี่เบอร์ริไทม์ อ.เมือง จ.กระบี่ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะผู้แทน คสช. เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม สร้างความรู้ความเข้าใจและรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.พังงา จ.กระบี่ และ จ.ตรัง โดยมีประชาชนและผู้มีส่วนร่วมในพื้นที่ 4 จังหวัดเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวว่า การเปิดเวทีกิจกรรมการสร้างความรู้ ความเข้าใจและรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ในครั้งนี้จะเป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้ ความเข้าใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์รับทราบความคิดเห็นที่หลากหลายและยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างกันโดยยึดระบบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ถือเป็นการ น้อมนำ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ว่า "ให้ถือเอาความสามัคคีความยินยอมเสียสละส่วนตัวเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติเป็นคุณธรรมประจำใจอยู่เนืองนิตย์" แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดกิจกรรมในวันนี้ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่แสดงออกถึงความรักความสามัคคีของคนในชาติและยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลโดยโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการคือ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชนทั้ง 14 จังหวัด เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของภาคใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตรวมทั้งทางเลือกในการสร้างโรงไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ ที่มีความเหมาะสม เป็นไปได้และทุกภาคส่วนให้การยอมรับโดยคำนึงถึงประโยชน์ของภูมิภาคเป็นสำคัญทั้งนี้จะต้องให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบหรือความเดือดร้อนน้อยที่สุดนอกจากนี้ยังเป็นการเปิดเวที รับทราบความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคใต้ที่จะแสดงความคิดเห็นบนข้อเท็จจริงอย่างสร้างสรรค์ด้วยหลักการและเหตุผลในบรรยากาศแห่งความสามัคคีปรองดองซึ่งการจัดกิจกรรมใน ครั้งนี้แยกจัดเป็น 3 เวที เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มจังหวัดประกอบด้วยเวทีสุราษฎร์ธานี 4 จังหวัด เวที กระบี่ 4 จังหวัด และเวทีสงขลา 6 จังหวัด 'ค้านถ่านหิน' จี้ คสช. อย่าใช้เวทีอ้างคว |
ที่ประชุม กสท. มีมติพักใช้ใบอนุญาตวอยซ์ทีวี 7 วัน Posted: 27 Mar 2017 12:15 AM PDT กสท.มีมติ พักใช้ใบอนุญาตของวอยซ์ทีวี 7 วัน เพิ่มจากที่อนุกก.เนื้อหา เสนอพักใช้ 3 วัน จากกรณีคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อยสำนักงานเลขาธิการ คสช. ร้องเรียน 3 รายการ 27 มี.ค. 2560 ความคืบหน้ากรณีคณะอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการ มีมติให้ลงโทษวอยซ์ทีวีด้วยการพักใช้ใบอนุญาตของสถานีเป็นเวลา 3 วัน ล่าสุด พลโท พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และประธานคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ระบุว่า กสท.มีมติพักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ Voice TV เป็นระยะเวลา 7 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2560 เวลา 00.01 น. เพิ่มจากที่คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ได้เสนอให้พักใบอนุญาตเป็นระยะเวลา 3 วัน เนื่องจากการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ Voice TV ได้แก่ รายการใบตองแห้งออนแอร์ รายการ In Her View และรายการ Overview มีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร อันเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และเป็นการกระทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมหลังจากมีผู้ร้องเรียนการดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์ Voice TV ในปีที่แล้วรวม 10 ครั้ง และปีนี้ 2 ครั้ง ซึ่งสถานีโทรทัศน์ Voice TV ยังไม่ปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน โดยสาเหตุที่ กสท. เพิ่มจำนวนวันพักใบอนุญาต เนื่องจากที่ผ่านมาได้กำหนดให้มีการสั่งพักใบอนุญาตขั้นต่ำอยู่ที่ 7 วัน เว็บไซต์วอยซ์ทีวี รายงานว่า รายการที่ถูกพิจารณา มีทั้งสิ้น 4 รายการ ประกอบด้วย 1. วันที่ 15 มีนาคม 60 จำนวน 1 รายการ 1.1 รายการ ใบตองแห้ง เวลาประมาณ 19.11 น. หัวข้อ จากธัมมี่ถึงทักกี้ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ 2. วันที่ 20 มีนาคม 60 จำนวน 3 รายการ 2.1 รายการ In her View เวลา 19.30 น. หัวข้อ ไล่เรียงเหตุการณ์จังหวะแห่งข่าวโกตี๋กับอาวุธพร้อมแถลงการณ์แผนลอบสังหาร 2.2 รายการ Over View หัวข้อ กองทัพป้องทหารยันยิงทิ้งเด็กล่าหู่ถูกต้องทุกกรณี 2.3 รายการ Voice News ช่วง Voice News Report เวลา 20.13 น. หัวข้อ นายวีระ สมความคิด แสดงความคิดเห็นกรณี บ่อนตาพระยา |
คุยก่อนปรองดอง#5(จบ): ‘พวงทอง ภวัครพันธุ์ ’:คนไทยอย่าเพิ่งหวังโลกช่วยล้อม คสช. Posted: 26 Mar 2017 11:27 PM PDT พวงทอง ตีนัยคำถามปรองดองด้านการต่างประเทศ เชื่อ คสช. อยากรักษาหน้าแต่ก็ไม่อยากเปลี่ยนนโยบาย เตือนคนไทยอย่าคาดหวังต่างชาติมาก เพราะการเมืองต่างประเทศเป็นเรื่องของผลประโยชน์ คนไทยต้องทำเอง จี้ตั้งคำถามต้องถามหาสาเหตุ จะปรองดองได้ประชาธิปไตยต้องมาก่อน เมื่อต้นปี 2560 มีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2560 ให้จัดตั้ง คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) นำทีมโดยข้าราชการ ทหาร-ตำรวจ และได้มีการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้ามาพูดคุยเพื่อหารือแนวทางและกรอบการทำงาน ณ กระทรวงกลาโหมตั้งแต่เดือน ก.พ. ป.ย.ป. ได้ตั้งคำถามให้นักการเมืองแสดงวิสัยทัศน์เป็นจำนวน 10+1 ประเด็น ที่มีประเด็นครอบคลุมกว้างขวาง มีโจทย์ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับการต่างประเทศที่มีใจความว่า "ด้านการต่างประเทศ ท่านมีแนวคิดที่จะดำเนินการต่อประเด็นการนำปัญหากิจการภายในประเทศมายกระดับให้เป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบจากการดำเนินการของต่างประเทศ เช่น ปัญหาเขตแดน ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน. ปัญหาเสรีภาพและประชาธิปไตยปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ฯลฯ ที่ส่งผลทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างไร" ประชาไท ได้สอบถามความคิดเห็นจาก รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ช่วยตีความคำถาม และให้ความเห็นต่อกระบวนการปรองดองภายใต้รัฐบาลทหาร ท่ามกลางการละเมิดสิทธิมนุษยนชน ซึ่ง สะท้อนจากการเป็นที่โจษขานในเวทีระหว่างประเทศหลายครั้งตั้งแต่รัฐบาล คสช. ยึดอำนาจ ปรับภาพลักษณ์คือนัยของคำถาม จะปรองดองต้องใช้ปากประชาชนไม่ใช่ปากกระบอกปืนพวงทอง กล่าวว่า นัยของคำถามแสดงถึงความกังวลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล คสช. และประเทศไทยในเวทีโลกต่อประเด็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชน ซึ่ง คสช. มีแนวโน้มในการแก้ปัญหาด้วยการแก้ไขภาพลักษณ์มากกว่าการแก้ไขปัญหาจากต้นตอ "คือไม่มีทางที่ทหารจะเปลี่ยนนโยบายตนเองในด้านสิทธิมนุษยชนแน่นอน แต่จะเลือกทำให้ดูดีขึ้นได้ เป็นผักชีโรยหน้ามากขึ้น คสช. อยากได้ยินการนำเสนออย่างมีเหตุมีผลที่ทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลทหารดีขึ้นในสายตาประชาคมโลกโดยที่เขาไม่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง" อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาฯ ให้ความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อพูดถึงการปรองดอง ว่าพื้นฐานต้องมาจากการที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นได้อย่างเสรี เพื่อถกเถียงกันถึงปัญหาของประเทศและวิธีการที่จะเดินหน้ากันต่อไป แต่ในช่วงกว่าสามปีของรัฐบาล คสช. ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่เอาใจใส่ในประเด็นดังกล่าว การปรองดองของรัฐบาลทหารตั้งอยู่บนฐานของการปิดปากคนที่คิดต่าง คำถามปรองดองในหัวข้อการต่างประเทศควรจึงควรที่จะเปลี่ยนหัวข้อจากการแก้ไขภาพลักษณ์ไปเป็นการแก้ไขที่ตัวปัญหาภายใต้ระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย "รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ที่ชาญฉลาดพอควรจะตั้งคำถามใหม่ว่า เราจะแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของไทยอย่างไร เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คำถามต้องกลับไปแก้ต้นตอของปัญหา ไม่ใช่คำถามที่จะแก้ไขภาพพจน์ โดยที่ไม่ถามว่าอะไรที่ทำให้ภาพพจน์ของไทยย่ำแย่" พวงทอง ยังให้ความเห็นต่อนัยทางการเมืองต่อการนำพรรคการเมืองมาร่วมสังฆกรรมปรองดองว่า เป็นการกดดันให้พรรคการเมืองยอมรับกติกาของการปรองดองในแบบฉบับของรัฐบาลทหาร ซ้ำยังอาจมีลักษณะของการต่างตอบแทนเมื่อมีพรรคการเมืองเลือกที่จะตอบคำถามปฏิรูป การเดินหน้ากระบวนการปรองดองภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ยังปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้น จะไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาในสังคมแต่อย่างใด "นี่ไม่ใช่การปรองดอง มันเป็นการใช้อำนาจในการที่จะทำให้คนอื่นๆยอมทำตามตนเอง กลุ่มที่เข้าไปร่วมปรองดองก็อาจจะได้รับรางวัล เช่น ได้กลับเข้าไปเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เราก็ดีเอาคำพูดสวยๆ หรูๆ ของฝรั่งมาใช้ แต่เนื้อหานั้นก็เป็นเนื้อหาที่กลุ่มอำนาจของไทยต้องการ เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจ ภายใต้คำพูดที่สวยหรูดูดีเท่านั้นเอง"
โลกนี้หมุนได้ด้วยผลประโยชน์ จะแก้ปัญหาในไทยก็ต้องให้ไทยทำอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เตือนสติคนไทยว่า ไม่ควรหวังกับการช่วยเหลือจากประเทศประชาธิปไตย หรือองค์การระหว่างประเทศมากจนเกินไป ควรจะแก้ไขปัญหาจากภายในประเทศ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งอยู่บนฐานของผลประโยชน์ องค์การระหว่างประเทศนั้นทำได้เพียงสร้างแรงกดดันผ่านการทำให้อับอาย (Shaming) และไม่มีบทลงโทษใดๆ และพฤติกรรมของแต่ละประเทศล้วนผ่านการคำนวณแล้วว่ามีความคุ้มค่าในเชิงผลประโยชน์มากน้อยเพียงใด ในปัจจุบัน มหาอำนาจตะวันตกมีผลประโยชน์ทางการค้าการลงทุนกับไทยสูง เมื่อไทยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับต่างชาติมาก มาตรการกดดันรัฐบาลทหารในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะลดความเข้มข้นลงเพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ในด้านต่างๆ กล่าวคือ ปัญหาสิทธิมนุษยชนและระบอบการปกครองของไทยยังมีความสำคัญน้อยกว่าผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และการค้า การลงทุน รัฐบาล คสช. เองก็ยังมีความคิดว่า เมื่อจัดการปัญหาในประเทศเรียบร้อยแล้วต่างชาติก็จะกลับมาญาติดีด้วยเหมือนเดิม "เอาเข้าจริง การให้ต่างชาติเข้ามายุ่งมากกว่าวิจารณ์มันก็เป็นผลเสียต่อการเมืองไทยในระยะยาว คือเวลาที่เราพูดถึงต่างชาติ(มหาอำนาจ) จะมาช่วยสร้างประชาธิปไตยได้แค่ไหน มันต้องดูผลประโยชน์ ความสำคัญของคุณต่อมหาอำนาจตะวันตก ถ้าคุณไม่มีผลประโยชน์เลย อย่างเช่นพม่าในช่วงทศวรรษ 1980 แทบจะไม่มีความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับประเทศตะวันตก นั่นหมายถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากตะวันตกก็จะไม่กระทบกับผลประโยชน์ของเขามากนัก ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการคว่ำบาตรเพื่อกดดันทางเศรษฐกิจจะเป็นไปได้สูง แต่ไทยในยุคนี้ตะวันตกต้องการที่จะเข้ามาทำการค้าการลงทุน มีผลประโยชน์ในไทยสูง โดยเฉพาะเมื่อจีนเป็นมหาอำนาจและมีท่าทีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นในหลายประเด็นโดยเฉพาะกรณีทะเลจีนใต้ สหรัฐฯ กลับมาให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยสำคัญกับยุทธศาสตร์ทางการทหารของสหรัฐฯอยู่ เพราะตอนนี้สหรัฐฯ ยังไม่สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ของประเทศบนภาคพื้นทวีป ซึ่งสหรัฐฯ เองก็หวังว่าความสัมพันธ์กับไทยจะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้ามาใช้พื้นที่ภาคพื้นทวีปได้ เราจึงไม่ควรหวังให้ปัจจัยภายนอกประเทศจะช่วยเหลืออะไร นี่เป็นปัญหาของคนไทยที่ต้องแก้ด้วยปัจจัยภายใน"
ต้องแก้ที่โครงสร้างอำนาจสังคม การเมือง พอกันทีกับวาทกรรมคนดี(ของรัฐไทย)"ต่อให้เป็นรัฐบาลเลือกตั้ง สิทธิมนุษยชนก็ไม่ใช่เรื่องที่เขาให้ความสำคัญ แต่ก็น่าจะเป็นโอกาสให้การผลักดันประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สามารถเดินหน้าได้ในบรรยากาศที่ปลอดภัยและมีอิสระที่จะดำเนินงานได้มากกว่าภายใต้รัฐบาลทหาร ถ้าหวังจะสู้เรื่องนี้ เราก็ต้องสู้ให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยก่อน" พวงทองให้ความเห็นว่า ไทยมีรูปแบบโครงสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและสังคมที่ไม่สอดรับกับหลักการสิทธิมนุษยชน การโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐ รวมไปถึงหลักสูตรทางการศึกษาผลิตซ้ำวาทกรรมความเป็นพลเมืองดีในแบบของไทยและไม่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน และเครื่องมือที่จะใช้ผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนให้เป็นที่ตระหนักต่อสังคมไทยในวงกว้าง จำเป็นจะต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก่อน "เราจะเห็นว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนไม่เคยอยู่ในระบบการศึกษาไทย ในระดับมหาวิทยาลัยก็มีไม่กี่คณะ ไม่กี่ภาควิชาที่ีสอนวิชาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่เราสอนในห้องเรียนอย่างเดียวได้ไหม ถ้ามีสอนก็ดี แต่ทำไมสอนไม่ได้ เพราะว่าวัฒนธรรมทางการเมืองและสังคมในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น เจ้านาย - ลูกน้อง ครู - นักเรียน ความสัมพันธ์ในครอบครัว มันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่แสดงถึงความเท่าเทียมกัน มันยากมากที่จะให้ครูไทยสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้วบอกว่า ครูต้องเคารพสิทธิของเด็กนะ คุณจะเฆี่ยนตีเด็กไม่ได้ พูดจาดูถูกเด็กไม่ได้ ทำโทษอะไรต้องมีกฎเกณฑ์ เด็กมีสิทธิ์ที่จะโต้เถียงหรือแสดงความคิดเห็น ดิฉันยังนึกไม่ออกว่าครูไทยจะสอนสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ดังนั้น มันก็เป็นปัญหาของโครงสร้างอำนาจ ที่ไม่ต้องการให้สิทธิมนุษยชนเข้าไปอยู่ในบทเรียน" "ไปดูกลไกการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐตั้งแต่สงครามเย็นก็ยังย้ำประเด็นซ้ำๆซากๆ เรื่องความดี คนดี นักการเมืองเลว เรื่องที่เราต้องเคารพผู้มีอำนาจมากกว่า หรือผู้อาวุโสกว่า... ถ้าเราสามารถผลักดันให้คนตระหนักถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนจากกลไกหลายๆด้านได้ การศึกษาก็เป็นอันหนึ่ง แต่มันจะไม่ได้เป็นประเด็นผลักดันร่วมกันของกระทรวงศึกษาหรือแม้กระทั่งของ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) แต่ในขณะเดียวกันคุณจะเห็นหลักสูตรเกี่ยวกับพุทธศาสนา การเป็นคนดี พลเมืองดีในแบบของรัฐไทย ในความหมายที่ว่าคุณต้องอยู่ภายใต้กรอบของสังคมไทย แพร่หลายไปในโรงเรียนหรือแม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้สอนว่าทุกๆคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม"
โลกเลี้ยวขวา ไทยแหกโค้ง: อนุรักษ์นิยมแบบไทยๆ ไม่ใส่ใจกติกาต่อกระแสการ "เลี้ยวขวา" หรือกระแสทิศทางของนโยบาย คุณค่าทางสังคมที่มีความเอนเอียงในไปด้านอนุรักษ์นิยมมากขึ้นในต่างประเทศ ไม่ว่าการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร การเถลิงอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ในสหรัฐฯ และความหวาดกลัวอิสลามอย่างแพร่หลาย (Islamophobia) จะเป็นแรงเสริมให้รัฐบาล คสช. ดำเนินนโยบายล้อตามกระแสโลกหรือไม่นั้น พวงทองให้ความเห็นว่าสถานการณ์ในประเทศไทยนั้นเลวร้ายกว่ามานานแล้ว "จริงๆไทยเลี้ยวก่อนเขาอีก กระแสเรียกร้องทหารรัฐประหารเริ่มตั้งแต่ปี 2549 ที่พันธมิตรเรียกร้องให้ทหารรัฐประหาร เราเลี้ยวขวาก่อนยุโรป อเมริกาซะอีก ของเราเลี้ยวแล้วลงเหวด้วย แล้วยังไม่รู้ว่าจะขึ้นมาได้เมื่อไหร่ ยุโรป อเมริกาเลี้ยวขวายังไงก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนข้อห้ามคือ ต้องไม่ลบกติกาการเมือง กระแสวัฒนธรรมทางการเมือง นโยบายเศรษฐกิจ สวัสดิการสังคมอาจจะขวาจัด แต่จะไม่ลบกติกาการเมืองในแง่สิทธิของประชาชนในการเลือกตั้ง ไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ แต่ของเราเวลาเลี้ยวขวาทีเราเหยียบกติกาทิ้งหมดเลย"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ฮ่องกงได้ 'แคร์รี หลำ' เป็นผู้ว่าฯ คนใหม่ ท่ามกลางข้อกังขาเรื่องอิทธิพลจากจีน Posted: 26 Mar 2017 09:41 PM PDT การลงมติคัดสรรผู้นำฮ่องกงคนล่าสุดดำเนินไปโดยที่ชาวฮ่องกงยังไม่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย อีกทั้งผู้ชนะคือแคร์รี หลำ ยังมีแนวโน้มว่าจะเป็นคนโปรดของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่พยายามครอบงำฮ่องกง ในขณะที่มีกระแสข่าวลือว่าคณะผู้เลือกตั้งถูกกดดันให้ลงมติคัดเลือกลูกหม้อของทางการจีน เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2560 มีลงมติคัดเลือกผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงคนใหม่ ผลปรากฏว่าแคร์รี หลำ ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยคะแนนเสียงจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง 777 เสียง ส่วนคู่แข่งของเธอจอห์น เฉิง ได้รับคะแนนโหวต 365 เสียง ตัวแทนอีกรายหนึ่งคือหวูกว็อกฮิง ได้รับคะแนนเสียง 21 เสียง คะแนนเสียงในครั้งนี้มาจากการโหวตของคณะกรรมการการเลือกตั้ง 1,194 ราย โดยที่การเลือกตั้งในฮ่องกงใช้ระบบ "คณะผู้เลือกตั้ง" (Electoral College) แต่ไม่ได้มีการให้ประชาชนเลือกคณะผู้เลือกตั้งแบบเดียวกับสหรัฐฯ แต่คณะผู้เลือกตั้งที่ใช้นามว่า "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" จะเป็นตัวแทนมาจากกลุ่มสมาคมวิชาชีพ 4 ภาคส่วนรวม 38 สมาคม ที่มีสมาชิกรวมทั้งหมดอยู่เพียงราว 240,000 คน ขณะที่ประชากรในฮ่องกงมีประชากรอยู่ราว 7 ล้านคนนั่นหมายความว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้จะไม่มีเสียงอยู่ในส่วนใดเลยในการเลือกตั้งของฮ่องกง นอกจากระบบนี้จะถูกวิจารณ์ในแง่ที่ห่างไกลจากการออกเสียงเลือกตั้งที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม (universal suffrage) แล้ว ยังถูกมองอีกว่าเอื้อต่อการเล่นพรรคเล่นพวกหรือการแผ่อิทธิพลจากกลุ่มชนชั้นนำทางฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาในคราบสมาคมวิชาชีพ โดยในครั้งนี้มีการลือว่า แคร์รี หลำ ผู้เคยเป็นอดีตเลขาธิการใหญ่ของฮ่องกงคือคนโปรดของทางการจีนแผ่นดินใหญ่ มีคณะผู้เลือกตั้งบางคนบอกว่าก่อนการลงมติคัดเลือกผู้ว่าฯ ในครั้งนี้พวกเขาถูกกดดันให้ลงคะแนนเสียงให้กับหลำ มีคณะผู้เลือกตั้งบางส่วนพยายามประท้วงผ่านการเขียนคำด่าลงในใบลงมติ มีบางคนที่ปล่อยว่างไม่ลงมติให้ใคร ผู้เชี่ยวชาญที่จับตามองประเทศจีนอย่าง จอห์นนี หลิว วิเคราะห์ว่าอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังอย่างเฉิงผู้ได้รับความนิยมมากกว่ามีคะแนนเสียงลงมติน้อยกว่า 100 เสียงจากฝ่ายที่สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่แสดงให้เห็นว่าทางการจีนแผ่นดินใหญ่พยายามกดดันให้มีการลงมติให้กับหลำ ซึ่งหลิวบอกว่ามันสะท้อนให้เห็นว่าการลงมติเลือกผู้นำฮ่องกงในครั้งนี้ "น่าขัน" เพียงใด หลิวกล่าวอีกว่าฮ่องกงในตอนนี้มีความแตกแยกที่ไม่อาจเยียวยาได้เว้นแต่หลำจะสร้างสภาพการเมืองที่ให้คนหนุ่มสาวและกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยเข้าถึงได้ การเลือกผู้นำคนใหม่ของฮ่องกงกลายเป็นประเด็นมาตั้งแต่ปี 2557 จากการประท้วงของหลายๆ กลุ่ม รวมถึงกลุ่มคนหนุ่มสาวที่นำโดยโจชัวร์ หว่อง โดยที่ประชาชนในฮ่องกงกังวลว่าการเลือกผู้ว่าการในปี 2560 จะทำให้พวกเขาได้ผู้นำที่มีอิทธิพลมาจากจีนแผ่นดินใหญ่อีกจึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามหลักสากลที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม แต่การประท้วงของพวกเขาก็ถูกปราบปราม สื่อฮ่องกงฟรีเพรสเองก็เรียกการเลือกผู้นำฮ่องกงคนใหม่ในครั้งนี้ว่าเป็น "การเลือกตั้งเฉพาะในวงเล็กๆ" (small-circle election) นอกจากนี้ยังระบุว่าหลำเป็นผู้ที่มีความนิยมต่ำมากตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มดำรงตำแหน่ง เธอกล่าวในคำปราศรัยต่อชัยชนะว่าเธอเชิญชวนให้การเมืองฝ่ายใดก็ตามที่ "ต้องการจะรับใช้อย่างจริงใจ" เข้าร่วมกับเธอโดยไม่จำกัดว่าเป็นฝ่ายใดเพื่อให้ได้ "การสนับสนุนในวงกว้างที่สุดจากสังคม" แม้ว่าจะไม่ใช่ระบบ 1 คน 1 เสียง แต่ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยก็พยายามเอาผู้รักประชาธิปไตยเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงมติครั้งนี้ให้ได้ผ่านตัวแทนคณะผู้เลือกตั้ง ฮ่องกงฟรีเพรสรายงานว่า ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ผู้สมัครเป็นคณะผู้เลือกตั้งฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยสามารถเอาชนะได้ใน 6 วิชาชีพ ได้แก่ตัวแทนวิชาชีพกิจการสาธารณะ ไอที บริการสาธารณสุข กฎหมาย การศึกษา และการศึกษาขั้นสูง นอกจากนี้ยังได้ที่นั่งอีกมากในสาขาวิชาชีพอื่นได้แก่ บัญชี สถาปัตยกรรม การแพทย์ วิศวกรรม แพทย์แผนจีน โควตาของสมาชิกสภานิติบัญญัติ รวมมีเสียงราว 325 ราย จากทั้งหมด 1,194 ราย
เรียบเรียงจาก Chief exec. elect Carrie Lam pledges unity; will visit local China offices after touring districts, Hong Kong Free Press, 26-03-2017 Hong Kong leadership election vote counts – Carrie Lam: 777, John Tsang: 365, Woo Kwok-hing: 21, Hong Kong Free Press, 2-603-2017 Pro-democracy camp wins more than a quarter of seats on Chief Exec. Election Committee, Hong Kong Free Press, 12-12-2016
https://en.wikipedia.org/wiki/Election_Committee ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น