โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พรรคกรีนฝ่ายซ้าย-พรรคเล็กมาแรงในการเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์

Posted: 16 Mar 2017 11:29 AM PDT

พรรค 'กรุนลิงค์' หรือพรรคกรีนฝ่ายซ้ายในเนเธอร์แลนด์นำโดย เจสส์ คลาเวอร์ นักการเมืองหนุ่มที่มักถูกเปรียบกับจัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา เป็นพรรคเล็กที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของเนเธอร์แลนด์ โดยที่มาร์โยเลน เมเยอร์ ประธานพรรคบอกว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลง ขณะที่คลาเวอร์บอกกับเพื่อนฝ่ายซ้ายในยุโรปทั้งหลายว่าอย่าละเลยจุดยืนตัวเอง

เจสส์ คลาเวอร์ ลูกครึ่งเชื้อสายโมร็อกโก-อินโดนีเซีย ผู้นำพรรคกรุนลิงค์หรือพรรคกรีนฝ่ายซ้ายของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีแนวโน้มจะได้ ส.ส. มากกว่า 14 ที่นั่ง (ที่มา: แฟ้มภาพ/GroenLinks/วิกิพีเดีย)

16 มี.ค. 2560 นอกจากผลการเลือกตั้งจะไม่หันเหไปในทางขวาจัดแล้ว ยังมีบทวิเคราะห์ในเดอะการ์เดียนตั้งข้อสังเกตอีกว่าในการเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์ครั้งนี้ "ผู้ชนะรายใหญ่" คือพรรคกรีนฝ่ายซ้ายที่ถึงแม้จะไม่ได้ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งแต่จากการนับคะแนนมากกว่าร้อยละ 95 พบว่าพวกเขาได้รับคะแนนมากขึ้นเป็นประวัติการณ์หลังจากตั้งพรรคมาแล้ว 25 ปี โดยมีความเป็นไปได้ที่จะได้สัดส่วนที่นั่ง ส.ส. ในสภาตั้งแต่ 14 ที่นั่ง

มาร์โยเลน เมเยอร์ ประธานพรรคกรีนฝ่ายซ้ายของเนเธอร์แลนด์กล่าวว่าผลที่ออกมาเป็นสิ่งที่พิเศษมากสำหรับพวกเขาและถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของพรรค โดยเธอเชื่อว่าผลเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่าเนเธอร์แลนด์จะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลง

พรรคเขียวฝ่ายซ้ายของเนเธอร์แลนด์มีชื่อว่า "กรุนลิงค์" (GroenLinks) เป็นพรรคที่มีประวัติรวบรวมเอาพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายหลายแขนงไว้ด้วยกัน โดยในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้พวกเขาได้ที่นั่งในสภาเพียง 4 ที่นั่ง แต่ในการเลือกตั้งล่าสุดด้วยผลงานการรณรงค์หาเสียงโดยเจสส์ คลาเวอร์ ลูกครึ่งโมร็อกโก-อินโดนีเซีย ผู้ที่บางครั้งก็ถูกเปรียบกับจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีคนหนุ่มของแคนาดา

ในขณะที่พรรคการเมืองบางพรรคในเนเธอร์แลนด์กลัวอิทธิพลฝ่ายขวาของ เคียร์ต วิลเดอร์ส นักการเมืองผู้ใช้โวหารต่อต้านชาวมุสลิมเสียจนพยายามใช้โวหารแบบเดียวกันเอาใจประชาชนบางกลุ่ม แต่คลาเวอร์ก้เรียกร้องให้เพื่อนๆ ฝ่ายซ้ายในยุโรปยึดมั่นในจุดยืนของตัวเองไม่ต้องเสแสร้งเพื่อทำตัวตามกระแส

คลาเวอร์มักจะถูกตั้งฉายาว่าเป็น "ทรูโดแห่งเนเธอร์แลนด์" เขาเป็นนักการเมืองคนหนุ่มที่ในตอนนี้อายุเพียง 30 ปี เคยมีประวัติทำงานการเมืองเป็น ส.ส. ตั้งแต่เมื่อปี 2553 โดยได้เป็นหัวหน้าพรรคกรีนฝ่ายซ้ายของเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2558 ถือเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่อายุน้อยที่สุดในเนเธอร์แลนด์ เขามักจะชอบพูดเกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษาของเยาวชน และสมัยเป็นส.ส.ก็เคยเป็นโฆษกพรรคในเรื่องกิจการสังคม การจ้างงาน การศึกษา และกีฬา

ในการรณรงค์หาเสียงของคลาเวอร์สามารถดึงคนได้จำนวนมาก เช่นในอัมสเตอร์ดัมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 5,000 คน และมีผู้ติดตามชมการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก การโต้วาทีผ่านทางโทรทัศน์ของเขาก็มีผู้ชมจำนวนมากถึง 1.6 ล้านคน และคนจำนวนมากก็มองว่าเขาชนะการโต้วาที โดยที่คลาเวอร์เคยตอบโต้วิลเดอร์สผู้มีแนวคิดปิดกั้นอิสลามโดยบอกว่า สิ่งที่ทำลายวัฒนธรรมและประเพณีของเนเธอร์แลนด์ไม่ใช่ผู้อพยพชาวมุสลิม เพราะคุณค่าของเนเธอร์แลนด์หลายสิบปีที่ผ่านมาคือ "เสรีภาพ การอดกลั้นต่อความต่าง การคำนึงถึงหัวอกคนอื่น" และเป็นนโยบายกีดกันแบบวิลเดอร์สที่กำลังทำลายคุณค่าเหล่านี้ของเนเธอร์แลนด์

"มันเป็นเรื่องแย่เมื่อประชาชนที่เกิดในเนเธอร์แลนด์มีความรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้และนั่นไม่ใช่สิ่งที่เราจะควรจะภาคภูมิใจ แต่เป็นสิ่งที่เราควรจะอับอาย และพวกเราก็ต้องการจะเปลี่ยนมัน" คลาเวอร์กล่าว

พรรคที่เข้าร่วมการเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์มีมากถึง 28 พรรค นอกจากพรรคกรีนฝ่ายซ้ายแล้วพรรคเล็กๆ พรรคอื่นในเนเธอร์แลนด์หลายพรรคก็ทำไปได้ดีในระดับที่สามารถส่ง ส.ส.ของตัวเองเข้าชิงเก้าอี้ในสภาได้ รวมถึงพรรคการเมืองเฉพาะทางเช่น พรรคพีวีดีดีที่เป็นพรรคเพื่อสิทธิสัตว์โดยเฉพาะมีโอกาสได้ที่นั่ง 5 ที่นั่ง พรรคเดงส์ที่เป็นพรรคที่มีเป้าหมายเพื่อชุมชนชาวโมร็อกโกและตุรกี มีโอกาสได้ 3 ที่นั่ง และพรรคเอฟวีดีที่ไม่เชื่อใจสหภาพยุโรปมีโอกาสได้ 2 ที่นั่ง

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมาแม้ว่าพรรควีวีดีที่เป็นพรรคขวากลางนำโดยมาร์ค รุตต์ จะยังคงได้รับเสียงข้างมากแต่ก็ได้รับคะแนนเสียงและสัดส่วนที่นั่งในสภาลดลงไปประมาณ 8 ที่นั่ง ขณะที่พรรคพีวีวีของวิลเดอร์สได้รับที่นั่งเพิ่มเมื่อเทียบกับครั้งก่อน 5 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามพรรคเล็กๆ อย่างกรุนลิงค์ก็ได้ที่นั่งเพิ่มมาถึง 10 ที่นั่ง

 

เรียบเรียงจาก

Dutch elections: big winner proves to be GreenLeft, The Guardian, 16-03-2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Dutch_general_election,_2017

https://en.wikipedia.org/wiki/Jesse_Klaver

https://en.wikipedia.org/wiki/GroenLinks

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.แรงงาน แจงเวทีสิทธิฯ ยูเอ็น ยันดูแลแรงงานต่างด้าวทัดเทียมหลักสากล

Posted: 16 Mar 2017 11:02 AM PDT

ก.แรงงาน แจงบนเวทีประชุมสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ย้ำ ดูแลแรงงานต่างด้าวทัดเทียมหลักสากล พร้อมนำเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงทะเล

16 มี.ค.2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานระบุว่า สุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลการชี้แจงจากเวทีการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รอบของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13 - 14 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมี วิวัฒน์ ตังหงส์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะ เป็นผู้แทนกระทรวงแรงงานได้นำเสนอรายงานตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฉบับที่ 2 ด้วยวาจา ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

วิวัฒน์ ได้รายงานว่า ในปี 2560 ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวที่นำเข้าและผู้ที่ผ่านการตรวจสอบสัญชาติและปรับสถานะมีเอกสารประจำตัวและได้รับใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสิ้นจำนวน 1.3 ล้านคน และมีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ขึ้นทะเบียนถือบัตรอนุญาตทำงานชมพู และได้รับการผ่อนผันชั่วคราวให้พักอาศัยและทำงานในประเทศไทย ตามระยะเวลาที่กำหนด หรือจนกว่าจะเดินทางออกจากประเทศไทย จำนวน 1.4 ล้านคน แรงงานต่างด้าวทั้งสองกลุ่มได้รับการคุ้มครองสิทธิในการทำงานภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้รับค่าจ้างและความคุ้มครองเช่นเดียวกับคนไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ถือบัตรอนุญาตทำงานสีชมพูที่ยังไม่มีเอกสารประจำตัวที่ออกให้โดยประเทศต้นทางจะยังไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมในระบบประกันสังคมได้ แต่จะได้รับการดูแลการรักษาพยาบาลตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข กรณีแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารประจำตัวสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนและได้รับการคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมเช่นเดียวกับคนไทย นอกจากนี้ในปี 2559 รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรชมพูสามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง เพื่ออยู่ร่วมกับครอบครัวในเดือนเมษายน ระหว่างเทศกาลปีใหม่ตามประเพณีของอนุภูมิภาค และเดินทางกลับมาทำงานในประเทศไทยต่อได้ ขณะที่ในปี 2560 รัฐบาลไทย ยังได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรชมพูเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวได้เป็นเวลา 20 วันในเดือนเมษายน

ทั้งนี้ ผู้แทนกระทรวงแรงงานยังได้นำเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงทะเล ได้แก่ การยกร่าง พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว กฎกระทรวง สภาพการทำงานบนเรือประมง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการออก Sea Book  ให้แก่คนงานบนเรือประมง การดำเนินการตามพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 และข้อมูลการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ช่องทางการให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ความคืบหน้าในการลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านแรงงานและข้อตกลงด้านการจ้างงาน และความพยายามของรัฐบาลไทยในการเจรจากับประเทศต้นทางเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าแรงงานต่างชาติแบบรัฐต่อรัฐ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สามนักสิทธิฯ ส่งบันทึก กอ.รมน.ถอนฟ้องคดีหมิ่นฯ ให้อัยการ ปมแฉทรมานชายแดนใต้

Posted: 16 Mar 2017 10:39 AM PDT

สามนักสิทธิฯ ขอพบอัยการสูงสุดเพื่อนำส่ง บันทึกประจำวัน กอ.รมน.ถอนคำร้องทุกข์คดีหมิ่นประมาท กรณีเผยแพร่รายงานทรมานในจังหวัดชายแดนใต้

16 มี.ค.2560 รายงานข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า วันนี้ (16 มี.ค.60) เวลาเช้า พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ตัวแทนสามนักสิทธิมนุษยชนได้นำส่งสำเนาบันทึกประจำวันที่ได้คัดถ่ายจาก สภ.เมืองปัตตานี ตามที่ พ.ท.เศรษฐสิทธิ์ แก้วคูเมือง ผู้รับมอบอำนาจจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ( กอ.รมน 4) ซึ่งเป็นผู้เข้ารองทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี กับ สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมีหน๊ะ ในความผิดร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550  ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2560 พ.ท.เศรษฐสิทธิ์ แก้วคูเมือง ได้เข้าแสดงเจตนาเพื่อถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาไปจากการสอบสวน ตามที่ พลโท ชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาค 4 ตัวแทน กอ.รมน. 4 ได้ประกาศยุติการดำเนินคดีนักสิทธิฯ ทั้งสามอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2560 ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพมหานคร โดยตัวแทนดังกล่าวได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ทางตัวแทน กอ.รมน.4 จะได้ประกาศยุติคดีแล้ว แต่กระบวนการและขั้นตอนในการยุติคดียังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากในการถอนคำร้องทุกข์นั้น ยังต้องรอหนังสือมอบอำนาจจาก ผอ.รมน. จากส่วนกลาง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ กอ.รมน. ภาค 4 แจ้งว่าอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

สำหรับข้อหาความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นั้น แม้ กอ.รมน. ในฐานะผู้เสียหาย ไม่ประสงค์ที่จะให้มีการดำเนินคดีต่อสามนักสิทธิฯ อีกต่อไป แต่เนื่องจากเป็นความผิดต่อแผ่นดิน แม้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ก็ไม่มีผลทำให้คดีตามข้อหานี้สิ้นสุดแต่อย่างใด จึงย่อมขึ้นกับการใช้ดุลยพินิจของพนักงานอัยการ  ดังนั้น สามนักสิทธิฯ ซึ่งได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดปัตตานีและอัยการสูงสุดไว้ก่อนหน้านี้แล้ว จึงได้นำสำเนาบันทึกการถอนคำร้องทุกข์นี้ ส่งให้พนักงานอัยการและอัยการสูงสุดเพื่อเป็นข้อมูลและพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาสั่งคดีต่อไป

อนึ่งทีมทนายความของสามนักสิทธิ์ฯ จะได้ติดตามเรื่องการดำเนินการถอนคำร้องทุกข์โดย กอ.รมน.ให้เรียบร้อยเพื่อให้ข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทสิ้นสุดลง ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ นั้น เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ยกเลิกความผิดที่มีที่มาจากความผิดฐานหมิ่นประมาท ออกจาก พ.ร.บ.คอมฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2560  ดังนั้นทางทีมทนายความ จะติดตามให้อัยการจังหวัดปัตตานีว่าจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในข้อหาดังกล่าวก่อน หรือจะรอไปจนถึงวันที่ 24 พ.ค. 2560  หรือ จะยุติคดีโดยทำเป็นคำสั่งของอัยการสูงสุดตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553

รายงาน  "สถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้  มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2557-2558" จัดทำและเผยแพร่โดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่บทบาทในการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหยื่อของการทรมาน ในจังหวัดชายแดนใต้  การดำเนินคดีต่อสามนักสิทธิฯ ได้ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้อง ทั้งจากในประเทศและระหว่างประเทศ ให้รัฐบาลไทยยุติคดี โดยให้เหตุผลว่าการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ประชาชนและนักสิทธิมนุษยชนพึงกระทำได้ โดยรัฐมีหน้าที่ต้องรับฟัง ตรวจสอบ และแก้ไข โดยเฉพาะการตรวจสอบปัญหาการทรมานซึ่งประเทศไทยจะต้องป้องกันและแก้ไขตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ  ข้อมูลและกระแสเรียกร้องดังกล่าว ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและนำไปสู่การดำเนินการเพื่อยุติคดีดังกล่าว

อนึ่ง การยุติการดำเนินคดีต่อสามนักสิทธิฯ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคประชาสังคม ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ ให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป้าย 'Thailand 4.สูญญญ..' โผล่หน้า มก. ก่อน 'ประยุทธ์' มาปาฐกถา Thailand 4.0 หนึ่งวัน

Posted: 16 Mar 2017 10:05 AM PDT

16 มี.ค.2560 เว็บไซต์เด็กหลังห้องรายงานว่า เมื่อเวลา ประมาณ 18.00 น. บริเวณสะพานลอยถนนงามวงศ์วานหน้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผู้นำป้ายผ้าจำนวน 2 ผืน ไปแขวนไว้ มีข้อความว่า "Thailand 4.สูญญญ.." และ "รัฐบาลคนดี ยุคภาษีอาน" รายงานข่าวระบุว่า ไม่ทราบว่าผู้ใดนำไปแขวนไว้ 

อย่างไรก็ตาม วันพรุ่งนี้ (17 มี.ค.60) ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จะมีการปาฐกถาพิเศษ "การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ด้านการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ" โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเวลา 9.40 น. อีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำแหละคดี ‘ยู่ยี่’ : พ.ร.บ.ยาเสพติดใหม่ที่มาช้า-เสียงเพื่อนร่วมห้องขัง “พี่ยี่นั่งเหม่อทุกวัน”

Posted: 16 Mar 2017 09:55 AM PDT

สรุปเรื่องราวในคดีของยู่ยี่ ทั้งปากคำของสามีที่บอกเล่าความไม่ชอบมาพากลของหลักฐานในคดี กระบวนการในศาล เรื่องเล่าจากเพื่อน(เคย)ร่วมคุก ทำความเข้าใจกฎหมายยาเสพติดใหม่ ตอบคำถามว่ารื้อฟื้นคดีได้หรือไม่ รวมถึงระเบียบราชทัณฑ์ใหม่ที่เพิ่งออกปีกลาย ซึ่งทำให้เธอ (โทษสูง) ต้องอยู่ในคุกอีกนานกว่าจะมีสิทธิได้รับอภัยโทษเช่นนักโทษคนอื่น

เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) คดีของนางแบบนักแสดงสาว "ยู่ยี่" ชัชชญา เกวสต้า รามอส หรือที่หลายๆ คนเคยรู้จักในชื่อของ ยู่ยี่ อลิสา อินทุสมิต สั่นสะเทือนความรู้สึกผู้คนพอสมควรกับโทษ 15 ปี สื่อหลายสำนักพากันพาดหัวข่าว

ไม่รับฎีกา! ยู่ยี่ นางแบบดังไม่รอด! คุก 15 ปี 3 เดือนคดีซุกโคเคน
ย้อนกราฟชีวิต ยู่ยี่ อลิสา จากรุ่งเรืองพลิกติดคุกเพราะยาเสพติด
"ยู่ยี่" ชีวิตพลิก เพราะยาเสพติด
ศาลฎีกาสั่งจำคุก ยู่ยี่ นางแบบดัง 15 ปี คดีซุกโคเคนเข้าประเทศ
ย้อนยุคทอง "ยู่ยี่" เซ็กซี่สตาร์ คว้าไมค์ร้องเพลง...แต่ชีวิตดาวดังต้องพังเพราะยาเสพติด

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ

1.กรณีของยู่ยี่ ไม่ใช่เพียงเรื่องของนางแบบดาราที่เดินทางผิด แต่เป็นประเด็นเชิงโครงสร้างของบทลงโทษในกฎหมายที่หนักมากในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้ เรื่องบทลงโทษในกฎหมายยาเสพติดเป็นเรื่องที่กำลังถกเถียงกันอย่างมากแม้แต่ในแวดวงตุลาการเองว่าโทษนั้นเหมาะสมหรือไม่ การตีความนั้นมีความยืดหยุ่นมุ่งค้นหาเจตนาของผู้กระทำผิดเพียงใด ข่าวคราวของเธอจึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ควรสนใจไม่น้อยไปกว่าประวัติวาบหวิวของเธอ

2.รายละเอียดข้อเท็จจริงของ "ขนโคเคน (เข้าประเทศ)"  "ซุกโคกเคน" นั้นเป็นเช่นไรแน่

3.ชีวิตในเรือนจำของยู่ยี่เป็นอย่างไร

4. เกี่ยวพันกับข้อ 1 นั่นคือ ยู่ยี่จะได้ประโยชน์อะไรจากพ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อม.ค.2560 ที่ผ่อนปรนเรื่องยาเสพติดมากขึ้นหรือไม่ เธอมีทางรื้อฟื้นคดีหรือเปล่า เธอจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในวาระโอกาสต่างๆ เหมือนคนทั่วไปหรือไม่ อย่างไร

"ซุกโคเคน" "ขนโคเคนเข้าประเทศ"

หากใครไม่อ่านแค่เพียงพาดหัวข่าว หรือเพียงดูในรายละเอียดของคดีสักนิด จะพบว่า โคเคนตามฟ้องนั้นมีน้ำหนัก 251 มิลลิกรัม หรือเทียบง่ายๆ คือ ยาพาราครึ่งเม็ดบดละเอียด

หากต้องการทราบรายละเอียดที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม เราอาจต้องย้อนไปดูข่าวเก่า Cuesta Ramos สามีของยู่ยี่เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ตีพิมพ์เมื่อ 21 มิถุนายน 2558 (Wild cats, Cocaine and claims of a police set-up สัมภาษณ์โดย Nanchanok Wongsamuth) ว่ามีข้อสงสัยในคดีหลายประการ

 1.มีคนโทรศัพท์แจ้งเขาก่อนเครื่องบินยู่ยี่จะลงจอดที่สนามบิน 20 นาที เธอกำลังเดินทางกลับจากเวียดนามมาลงที่สนามบินดอนเมือง โดยปลายสายบอกว่า "มาที่สนามบินด่วน ยู่ยี่มียาเสพติด" (เหตุเกิด 10 พ.ย.2555)

2.เมื่อรามอสมาถึงสนามบิน 10 นาทีหลังเครื่องบินลงจอดเขาขอดูยาเสพติดของกลาง แต่ตำรวจปฏิเสธและบอกว่า นำยาไปตรวจสอบแล้ว

3.หมายจับที่นักข่าวบางกอกโพสต์เห็นระบุว่า ยู่ยี่ครอบครองโคเคน 5 มิลลิกรัม (0.005 กรัม) ราคาประมาณ 12 บาท แต่ยู่ยี่โดนฟ้องว่า "นำเข้า" ยาจำนวน 251 มิลลิกรัม  (0.251 กรัม)

4.ตำรวจเบิกความว่าเขาวิ่งเข้าไปในห้องน้ำหญิงหลังได้ยินเสียงกรีดร้องและพบยู่ยี่ในนั้น ตำรวจขอค้นกระเป๋าของเธอ และพบโคเคนในกล่องชอคโกแลตยี่ห้อหนึ่ง

5. ตำรวจระบุว่า ยู่ยี่ปฏิเสธที่จะพบทนายความ และไม่ยอมให้ตรวจปัสสาวะ เธอสารภาพในเบื้องต้นว่าโคเคนเป็นของเธอ ซึ่งเหลือมาจากทริปที่เวียดนาม ต่อมาในศาล เธอให้การว่าเพราะตำรวจและเจ้าหน้าที่สนามบินบอกเธอว่า จำนวนมันเล็กน้อยมากหากรับสารภาพเสียก็จะปล่อยไป

6.ในคำให้การของยู่ยี่ในชั้นศาล เธอบอกว่าตอนนั้นรู้สึกไม่ค่อยดีและเข้าห้องน้ำไปอาเจียน เธอบอกว่ามีคนแปลกหน้าแนะนำให้เธอกินชอคโกแลต และให้กล่องชอคโกแลตนั้น

7.ตอนที่เธอเซ็นรับสารภาพที่สนามบิน เธอถูกใส่กุญแจมือ และถูกนำตัวไปสน.ดอนเมืองเพื่อขัง 2 วัน รามอสจ่ายเงิน 10,000 บาทเพื่อประกันตัว และได้โทรศัพท์คืนหลังถูกยึดเพราะอัดเสียงส่วนหนึ่งของการจับกุม เมมโมรี่การ์ดหายไป

8. การพิจารณาคดีเดือนพฤษภาคม 2557 ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง มีพยานโจทก์ 4 คน รามอส ถูกวางเป็นพยานจำเลยที่จะให้การในวันถัดมา แต่ก็ถูกยกเลิก ปล่อยให้ยู่ยี่เป็นพยานให้ตนเองเพียงคนเดียว

9. ในเอกสารของศาล น้ำหนักของโคเคนเปลี่ยนจาก 5 มิลลิกรัมเป็น 251 มิลลิกรัม ตำรวจอ้างว่า ที่สนามบินตำรวจไม่มีเครื่องมือในการตวงวัดน้ำหนักยาตอนจับกุม จึงไม่ทราบน้ำหนักที่แน่ชัด ต่อมามีการส่งตรวจที่สำนักยาและวัตถุเสพติด ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 หนึ่งเดือนหลังจากนั้นผลดังกล่าวถูกส่งมาให้สน.ดอนเมือง คดีของยู่ยี่ถูกปรับจาก "ครอบครอง" เป็น "นำเข้า" (ซึ่งโทษสูงขึ้นมากและจะกล่าวถึงเรื่องกฎหมายในตอนท้าย)

10.วันที่ 15 มิถุนายน 2557 ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกเธอ 15 ปี ปรับ 1.5 ล้าน

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 11.00 น.เศษ ระหว่างพยานปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองได้รับแจ้งว่าได้ยินเสียงหญิงสาวส่งเสียงดังมากจากห้องโถงบริเวณข้างห้องน้ำ พยานกับเจ้าหน้าที่อีก 4-5 คนจึงได้เข้าไปตรวจสอบพบจำเลยสะพายกระเป๋าอยู่ยืนส่งเสียง จากนั้นจึงได้ขอตรวจค้นกระเป๋าสะพายดังกล่าว เมื่อจำเลยเปิดกระเป๋าก็พบของใช้ส่วนตัวและหลอดบรรจุช็อกโกแลตยี่ห้อหนึ่ง เมื่อเปิดออกก็พบผงสีขาวในซองพลาสติกและเม็ดยาหลากสีปะปนกับเม็ดช็อกโกแลต เมื่อนำไปตรวจสอบพบเป็นสารเสพติดโคคาอีน และพยานดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รู้จักกับจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าได้เบิกความตามจริง ขณะที่บันทึกการจับกุมระบุว่าจำเลยให้การรับว่าในวันเกิดเหตุได้เดินทางกลับมาจากเวียดนามโดยยาเสพติดดังกล่าวเป็นยาเสพติดที่เหลือจากการเสพในประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2555 ซึ่งตามบันทึกจับกุมดังกล่าวก็เกิดขึ้นภายในวันเดียว จึงเชื่อว่ายากที่จะมีการปรุงแต่งรายละเอียดเพื่อให้จำเลยต้องรับโทษ
       
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้รับหลอดช็อกโกแลตมาจากผู้โดยสารอื่นบนเครื่องบิน เห็นว่าเมื่อปรากฏว่าภายในหลอดมีสารเสพติดที่แพ็กและซุกซ่อนอยู่เป็นอย่างดี เป็นเรื่องยากที่บุคคลแปลกหน้าซึ่งจำเลยไม่รู้จักจะมอบให้ และที่อ้างว่าเมื่อถูกจับกุม จำเลยได้รับแจ้งว่าจะมีเพียงโทษปรับเท่านั้นก็พบว่า ตามบันทึกจับกุมจำเลยก็ได้ลงรายมือชื่อโดยไม่มีการโต้แย้งใดๆ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยจึงเลื่อนลอย พยานโจทก์จึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยนำโคคาอีนเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งมีไว้ในครอบครองโดยไมได้รับอนุญาต
       
จึงพิพากษาจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ มาตรา 16, 17, 68 และ 69 ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเข้ายาเสพติดมาในราชอาณาจักรโดยไมได้รับอนุญาตที่เป็นบทหนักสุด จำคุก 20 ปี และปรับ 2 ล้านบาท แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เห็นความลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุกจำเลยเป็นเวลา 15 ปี และปรับ 1.5 ล้านบาท โดยให้นำโทษจำคุก 3 เดือนในคดีลักลอบมีสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตของศาลจังหวัดมีนบุรีมานับรวมด้วย รวมจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 15 ปี 3 เดือน และปรับ 1.5 ล้านบาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 ให้กักขังแทนค่าปรับ (
อ่านที่นี่)
      

11. รามอสระบุว่า ยู่ยี่มีประวัติเคยใช้ยามาก่อนก็จริง แต่จากการอยู่กินกับเธอมา 14 ปี ยืนยันว่าเธอเลิกมันอย่างเด็ดขาด และเป็นแม่ผู้ดูแลลูกเล็กๆ 3 คน (คนหนึ่งเสียชีวิต) แต่ด้วยประวัติที่เธอเคยใช้ยาเสพติดนั่นทำให้ใครๆ หรือสังคมต่างก็เชื่อได้อย่างง่ายดายว่าเธอกระทำผิดจริง

12. ข้อสันนิษฐานของรามอสตอนให้สัมภาษณ์เป็นการกล่าวหาที่รุนแรงว่า เรื่องนี้เป็นการจัดฉาก เขาให้เหตุผลว่าคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากพวกเขาเข้าไปช่วยเหลือเสือดาวเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนำส่งสวนสัตว์ดุสิต (ทั้งสองคนเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสัตว์ป่ากับองค์กร Thai Animal Guardians Association (AGA) มาตั้งแต่ปี 2545) จริงๆ มันต้องถูกส่งไปยุโรปให้กับผู้มีอำนาจบางคน ราคาของมันเกือบครึ่งล้าน จากนั้นมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาเรียกร้องให้เขาจ่ายเงิน 400,000 บาทเป็นค่าชดเชยความเสียหายที่เสือดาวไม่ถูกส่งไปยุโรป 2 ครั้งแต่เขาปฏิเสธ

13.หลังยู่ยี่อยู่ในคุกได้อาทิตย์หนึ่ง ทนายความของเธอขอลาออก ให้เหตุผลว่ากลัวและไม่ต้องการจะมีปัญหามากกว่านี้ ทนายความคนที่สองที่เขาจ้างก็ขอลาออก ด้วยเหตุผลว่าคดีนี้ "ซับซ้อนมาก"

14.ระหว่างต่อสู้คดี ยู่ยี่ ได้รับการประกันตัว แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 12 มิ.ย.2557 เธอถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เธอยื่นประกันตัวหลายครั้งระหว่างอุทธรณ์ฎีกาแต่ศาลปฏิเสธ กระทั่งถึงวันที่ศาลฎีกาพิพากษาไม่รับฎีกาของเธอในวันที่ 15 มี.ค.2560 ที่ผ่านมาอันมีผลให้คดีเป็นที่สิ้นสุด รวมระยะเวลาที่เธออยู่ในเรือนจำจนคดีถึงที่สุดคือ 2 ปี 9 เดือน

15. สามีของยู่ยี่ทำการรณรงค์ในต่างประเทศอย่างหนักหน่วง โดย #freeyuyee เป็นป้ายบันทึก (hashtag) บนหน้าทวิตเตอร์อันหนึ่งที่แพร่หลายกว้างขวาง  มีดารา นักร้อง นักกีฬา ชื่อดังร่วมรณรงค์ เช่น ชากิร่า นักร้องหญิงเลือดโคลัมเบีย เลฮานโด แซ้งซ์ นักร้องชื่อดังของสเปน ราฟาเอล นาดาล นักเทนนิสชั้นนำของโลก เชื้อสายสเปน ไลโอเนล เมสซี ดาวฟุตบอลของอาร์เจ็นติน่า ใน Chang.org ก็มีล่ารายชื่อเพื่อให้ทบทวนการพิจารณาคดีของยู่ยี่จำนวนมาก (ปัจจุบัน16 มี.ค.มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 527,000 รายชื่อ)

16. "ชีวิตทั้งหมดของพวกเราแตกออกเป็นเสี่ยงโดยสิ้นเชิง" พวกเขาใช้ชีวิตด้วยกันมา 14 ปี และกำลังพยายามจะซื้อบ้านเพื่อดูแลครอบครัว แต่หลังจากทำงานหนัก ในที่สุดทุกอย่างก็ถูกทำลายเพราะระบบที่ corrupt"คำให้สัมภาษณ์ของรามอสกับบางกอกโพสต์เมื่อปี 2558 ส่วนเมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) รามอสโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

The Supreme Court has rejected the case of yuyee. The sentence is firm for 15 years and 3 MONTHS!! The life of my children and theirs a wreck. There is no justice in this fucking world!!!

เรื่องของนักโทษหญิงยู่ยี่

สามีของเธอเคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2558 ว่า เขาพยายามจะไปเยี่ยมเธอทุกอาทิตย์ และบรรยายสภาพของเธอว่า she looks like shit. She is stressed to the point of 'I'm gonna kill myself'

ยู่ยี่ถูกคุมขังตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ต่อมาเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน กอล์ฟ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง นักแสดงละครเวทีที่ถูกฟ้องในคดี 112 ถูกจับกุมและนำไปคุมขังที่เดียวกับยู่ยี่ กอล์ฟเจอยู่ยี่นับแต่นั้นเรื่อยมาจนกระทั่งกอล์ฟได้ออกจากเรือนจำเมื่อ 27 สิงหาคม 2559

เธอเล่าให้ฟังว่า

"ตอนนั้นกอล์ฟเข้าไปอยู่ในห้อง 1/6 แกอยู่ห้องนั้นอยู่แล้ว อยู่มาก่อนซักพัก แกไม่ค่อยพูด แต่หลังๆ ได้คุยกันเพราะถูกย้ายไปนอนใกล้แก แล้วหัวมันชนกัน เราคุยกันมาเรื่อยๆ ทำงานอยู่อาคารเพชรเหมือนกัน พี่ยี่มีหน้าที่ตักน้ำร้อนตอนเช้าแจกคนอื่นๆ"

"เท่าที่รู้จักกับพี่ยู่ยี่ แกตัดสินใจสู้คดีเพราะแกเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวเอง แกไม่ใช่คนเสพยา ที่แกผอมเพราะแกติดเหล้า แกชอบกินเหล้า แกว่าแกไม่ได้เล่นยา สิ่งที่พี่ยี่เป็นห่วงมากที่สุดคือ ลูกๆ 2 คนว่าจะอยู่ยังไง แกรักครอบครัวมาก ห่วงลูกมาก แกเล่าให้ฟังว่าคดีนี้มันมีเรื่องลึกลับซับซ้อนมากมาย มากกว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะเข้าไปถึง"

"ทุกๆ วันแกจะนั่งเหม่อ รอฟังเสียงเยี่ยมญาติ แฟนแกมาเยี่ยมประจำ บางทีก็มีเพื่อนดารามาเยี่ยม บางทีก็มีลูกๆ มาเยี่ยมด้วย แกดีใจมากๆ ทุกครั้งที่ลูกมา แกพยายามจะเข้มแข็งแต่เราก็รู้ว่าแกบอบช้ำมาก มีคนเขียนโปสการ์ดมาบ้าง แกอ่านก็จะยิ้ม แต่สิ่งที่แกอยากได้ไม่ใช่จดหมายไง แกอยากได้อิสรภาพของตัวเองคืน"

"บางทีเราไม่ชอบที่ผู้ต้องขังคนอื่นมาเรียกว่า อียู่ยี่อย่างนั้น อียู่ยี่อย่างนี้ เพราะเราไม่รู้สึกว่าคนพวกนั้นดีกว่าพี่ยี่ขนาดจะไปจิกหัวเรียก อี ได้ แต่มันก็ห้ามไม่ได้"

"ตอนกลางคืนพี่ยี่จะนั่งสมาธิทุกคืน แกไม่ค่อยดูทีวี มีแต่ฟังเพลงบ้าง แกเป็นคนจิตใจดีนะ เป็นผู้หญิงอบอุ่น"

"แกป่วยเป็นโรคกระเพาะอักเสบ มีเลือดออกมาตอนถ่าย แล้วก็มีปัญหาเรื่องความเครียด บางครั้งนอนไม่ได้หลายคืนต้องขอยานอนหลับมากิน แกเป็นมากจนตอนนี้ได้ข่าวว่าต้องไปอยู่โรงพยาบาลของเรือนจำ มันก็ดีสำหรับทางกายภาพที่อยู่ที่นั่น แต่ที่นั่นไม่มีเพื่อน สภาพจิตใจอาจแย่ลงไปอีก"

"แกเข้าไปใหม่ๆ จะชอบซื้อของแจกคนไม่มีญาติ หลังๆ แกไม่แจกคนไทย แต่แจกคนต่างชาติ เพราะคนไทยได้แล้วจะขออีกเรื่อยๆ แต่คนเขมรนั้นเขาไม่เอาเยอะ แจกได้หลายคน แกเลยซื้อของแจกคนเขมร คนลาว คนพม่าที่เข้าไปติดคุก ไม่มีญาติ"

"บางทีแกก็โกรธ กลับมาจากเยี่ยมญาติแล้วก็กรี๊ด กรี๊ดอั้นๆ ให้พวกเราฟัง เวลามีเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ แกร้องไห้หนักแต่ก็พยายามสะกดกั้นอารมณ์ แกไม่อยากร้องไห้ให้ลูกเห็น"

พ.ร.บ.ยาเสพติดใหม่ที่มาช้าเกินไปสำหรับยู่ยี่

เดือนมกราคมที่ผ่านมา พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ได้รับการปรับปรุงใหม่และบังคับใช้ ประเด็นสำคัญอย่างมาก คือ การเติมคำว่า "ให้สันนิษฐานว่า" ลงไปในบทบัญญัติความผิด

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากฎหมายยาเสพติดเกิดและถูกบังคับใช้ในยุคที่รัฐต้องการปราบยาเสพติด ในช่วงประกาศสงครามกับยาเสพติด มีการเพิ่มโทษให้รุนแรงถึงขั้นติดคุกตลอดชีวิต จำคุกตลอดชีวิต โดยเฉพาะกับ "ยาบ้า" ซึ่งอยู่ในลิสต์ยาเสพติดประเภท 1

โคเคน ซึ่งอยู่ในยาเสพติดประเภท 2 หรือร้ายแรงรองลงมาก็โทษสูงตามๆ กันไปด้วย (ยาเสพติดถูกแบ่งเป็น 5 ประเภทตามกฎหมายและมีโทษลดหลั่นกันไป อ่านที่นี่)

แนวคิดในการปรับลดโทษนั้นมีมาพักใหญ่ในหมู่ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม สาเหตุสำคัญนอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาหรืออีกหลายๆ ประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนทิศทางจัดการกับยาเสพติดหลังจาก "เด็ดขาด" "รุนแรง" แล้วไม่เป็นผล ก็ยังมีเหตุผลสำคัญ เป็นปัญหาด่วนมากถึงมากที่สุดของไทยเอง นั่นคือ นักโทษล้นคุก ส่งผลให้คุณภาพชีวิตนักโทษตกต่ำ แออัดหนัก เหตุก็เพราะ 70-80% ของนักโทษก็มาจากคดียาเสพติด โดยเฉพาะ "ยาบ้า" และล้วนเป็นรายย่อยทั้งสิ้น (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

แล้วพ.ร.บ.ใหม่ปรับอะไร สิ่งที่ชัดเจนและสำคัญยิ่งคือ การเพิ่มคำว่า "สันนิษฐาน" ลงไป เพราะกฎหมายเดิมนั้นนอกจากจะโทษหนักมากแล้วยังปิดตายการตีความโดยสิ้นเชิง กำหนดเพียงว่า ปริมาณเกินเท่าใดถือว่า "จำหน่าย" แล้วก็จะกำหนดโทษสูงมากสำหรับผู้จำหน่าย ปริมาณที่เป็นเกณฑ์ตั้งต้นนั้นก็ค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ยังกำหนดโทษสูงมากสำหรับ "การนำเข้ามาในราชอาณาจักร" ด้วย ทำให้คนจำนวนไม่น้อยติดตารางยาวนาน มีตัวอย่างมากมายที่มียาบ้า 1-2 เม็ดแต่ข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้านก็โดนคุกตลอดชีวิต รับสารภาพลดเหลือ 25 ปี

การกำหนดตายตัวเป็นการไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้พิสูจน์เจตนา การเติมคำว่า "สันนิษฐาน" จึงหวังเอื้อให้ตำรวจต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมอย่างมาก และศาลสามารถพิจารณาดูเจตนาที่แท้จริงของจำเลยได้ ส่งผลต่อโทษที่จะลดลง ตัวบทลงโทษเองก็พยายามปรับลดลงเช่นกัน แต่เป็นการลดเฉพาะยาเสพติดประเภท 1   หรือมุ่งเน้นยาบ้าเท่านั้น (อ่านรายละเอียดที่นี่)

กฎหมายใหม่ที่ออกมานี้ กำหนดให้มีผลย้อนหลังด้วย สำหรับคดีที่ศาลชั้นต้นยังไม่พิพากษา ยังต่อสู้คดีกันอยู่ สามารถยื่นเรื่องให้ใช้กฎหมายใหม่นี้ได้ แต่คดีของยู่ยี่ผ่านขั้นตอนนั้นมาแล้ว

นอกจากนี้ในส่วนที่พิพากษาไปแล้วและเจ้าตัวกำลังติดคุกอยู่ ผู้กระทำความผิดเอง ผู้อภิบาล หรืออัยการอาจทำเรื่องขอให้ศาลพิจารณากำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายใหม่ก็ได้ หากติดคุกมาแล้วระยะหนึ่งสมควรแก่เหตุศาลอาจสั่งปล่อยเลยก็ได้ แต่นั่นก็จำกัดเฉพาะยาเสพติดประเภท 1 (มุ่งเป้ายาบ้า) ที่มีการปรับลดโทษในกฎหมายใหม่ ดังนั้น โคเคน ซึ่งอยู่ในยาเสพติดประเภท 2 ก็ไม่เข้าข่ายดังกล่าว

ทั้งนี้ หลังบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ มีนักโทษในเรือนจำเข้าข่ายใช้กฎหมายใหม่เบื้องต้น 165 คน (อ่านที่นี่)

แล้วโทษตามกฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดของยู่ยี่คืออะไร

เนื่องจากยู่ยี่ถูกจับกุมที่สนามบิน บินมาจากประเทศอื่นเข้ามาในประเทศไทย มันจึงเป็น "การนำเข้า" ซึ่งโทษสูงมาก คือ "จำคุก 20 ปีจนถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 ล้านถึง 5 ล้านบาท"  สิ่งที่ศาลลงโทษยู่ยี่คือขั้นต่ำสุดแล้ว นั่นคือ จำคุก 20 ปี ปรับ 2 ล้าน ก่อนจะลดโทษให้ 1 ใน 4 เพราะให้การเป็นประโยชน์

หากไม่ได้ถูกจับที่สนามบินเป็นเพียงการครอบครองเฉยๆ ในปริมาณตามฟ้องคือ 251 มิลลิกรัม โทษตามกฎหมายระบุว่าถ้าครอบครองไม่เกิน 100 กรัม จะมีโทษจำคุก 3-20 ปี และปรับ 60,000-400,000 บาท

ขอรื้อฟื้นคดีได้ไหม

พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2526 เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ต้องรับโทษเพราะความผิดพลาดจากกระบวนการยุติธรรม โดยเปิดช่องให้จำเลยที่ต้องรับโทษในคดีอาญาสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้รื้อฟื้นคดีที่ถึงที่สุดไปแล้ว กลับขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้อีกครั้ง

เหตุในการรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ ได้แก่

1 มีคำพิพากษาว่าพยานสำคัญที่เคยเบิกความในการตัดสินคดีแรก เป็นพยานเท็จ
2 มีคำพิพากษาว่าหลักฐานสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีแรก เป็นหลักฐานเท็จ
3 มีพยานหลักฐานที่เพิ่งปรากฏขึ้นใหม่ ซึ่งอาจพิสูจน์ได้ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด

ดูจากหลักเกณฑ์แล้วแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการรื้อฟื้นคดีของเธอ และแน่นอน แม้พ.ร.บ.นี้จะมีการใช้มานานมากแล้วแต่แทบไม่มีคดีที่สามารถรื้อฟื้นได้

ยู่ยี่จะมีสิทธิรับส่วนลดโทษจากการอภัยโทษเมื่อไร

"ไม่เป็นไร เดี๋ยวได้อภัยโทษไม่กี่ครั้งก็ได้ออก" นี่เป็นคำปลอบใจที่ practical มากที่ผู้ต้องขังโทษสูงจะได้ยินบ่อยๆ

ปรากฏการณ์จริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปในวโรกาสสำคัญๆ เป็นความหวังเดียวที่พวกเขาจะได้ออกจากคุกเร็วกว่ากำหนด

ปกติแล้วนักโทษที่คดีถึงที่สุดจะได้รับสถานะเป็นนักโทษชั้นกลาง และการเลื่อนชั้นมักจะมีเป็นรอบๆ ทุก 6 เดือน หากไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท ทำผิดกฎเรือนจำ หรือช่วยงานเจ้าหน้าที่ ย่อมได้รับการเลื่อนชั้นไปเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมได้ไม่ยาก

ชั้นของนักโทษแบ่งเป็น ชั้นเลวมาก ชั้นเลว ชั้นกลาง ชั้นดี ชั้นดีมาก ชั้นเยี่ยม ซึ่งนักโทษชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้นที่จะได้รับอานิสงส์จากการอภัยโทษ สัดส่วนของการลดโทษก็จะลดหลั่นกันลงไปตามชั้น นอกจากนี้นักโทษยาเสพติดแม้เข้าเกณฑ์ได้รับการลดโทษก็จะได้รับการลดโทษน้อยกว่านักโทษทั่วไปในชั้นเดียวกันอีกด้วย

เรื่องตลกร้ายก็คือ กรมราชทัณฑ์เพิ่งออกระเบียบการเลื่อนชั้นนักโทษใหม่ เมื่อเดือนกันยายน 2559 กำหนดให้นักโทษเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากได้รับโทษจำคุกสูง 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี จะต้องอยู่ในเรือนจำก่อนเป็นเวลา 3 ปีครึ่งนับตั้งแต่วันที่คดีถึงที่สุด จึงจะได้รับการเลื่อนชั้น

แปลว่า ยู่ยี่ ต้องเจอกับระเบียบใหม่ที่ต้องอยู่ในเรือนจำอีก 3 ปีครึ่งเป็นอย่างต่ำ จึงจะได้เลื่อนชั้นและได้รับการลดหย่อนโทษหากมีการพระราชทานอภัยโทษ

ส่วนหากจะเข้าข่ายขอ "พักโทษ" ได้ ก็ต้องติดมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษ

สิ่งที่น่าสนใจคือ การคำนวณการติดคุกจากผู้เชี่ยวชาญอย่าง "ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์" โดยเขาระบุว่า หากยู่ยี่รับสารภาพเสียตั้งแต่ต้นในปี 2557 โทษจะลดลงครึ่งหนึ่ง มีสถานะเป็นนักโทษเด็ดขาดเร็ว และได้รับส่วนลดโทษจากการอภัยโทษทั่วไป 3 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา (เพราะระเบียบใหม่ของเรือนจำยังไม่ออก) และคิดสะระตะแล้ว ปัจจุบันเธอย่อม "ขอพักโทษ" ได้ออกมาอยู่นอกคุกแล้วในวันนี้ แต่เป็นเพราะเธอต่อสู้คดี การณ์จึงกลับเป็นเช่นนี้ (อ่านที่นี่)

นี่คือ ความยับเยินของยู่ยี่ และคนที่ต้องโทษในลักษณะเดียวกันกับเธออีกมากมาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระหายาก: สรุปสถานการณ์หลังใช้ ม.44 ก่อนและหลังปิดล้อมวัดพระธรรมกาย

Posted: 16 Mar 2017 09:44 AM PDT

นับตั้งแต่มีการประกาศใช้มาตรา 44 เมื่อคืนวันที่ 15 ก.พ. ปิดล้อมวัดพระธรรมกาย กระทั่ง 10 มี.ค. ดีเอสไอยกเลิกการปิดล้อม แต่จนถึงปัจจุบัน คสช. ยังคงมาตรา 44 เพื่อควบคุมพื้นที่ ดำเนินคดีแล้ว 46 คดี ออกหมายเรียก 317 คน เรียกรายงานตัวมากกว่า 80 คน ในจำนวนนี้เป็นพระสงฆ์ 14 รูป ถอดพระออกจากสมณศักดิ์ 2 รูป ระดมค้นหาพื้นที่เป้าหมายหลายแห่ง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบตัวพระธัมมชโย ไม่มีใครทราบว่าพระธัมมชโยอยู่ที่ไหน และจะใช้มาตรา 44 จนถึงเมื่อไหร่

 

ความคืบหน้าและเหตุการณ์สำคัญหลังประกาศใช้มาตรา 44
ก่อนและหลังการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 5/2560 กลางดึกวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมพื้นที่และให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าไปตรวจค้น พร้อมทั้งควบคุมตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา คดีพิเศษที่ 27/2559 โดยถูกกล่าวหาว่า สบคบและร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร

การประกาศใช้มาตรา 44 ดังกล่าว นำมาสู่การปิดล้อมและเผชิญหน้ากับพระและศิษย์วัดพระธรรมกาย โดยนอกจากเหตุการตรวจค้นจุดต่างๆ ในวัดและพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนเหตุเผชิญหน้าและการกระทบกระทั่งแล้ว ยังมีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยหนึ่งรายเสียชีวิตเนื่องจากผูกคอตายประท้วงบนเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือเรียกร้องให้ คสช. ยกเลิกการใช้มาตรา 44 และอีกหนึ่งราย เป็นศิษย์วัดที่เสียชีวิตเนื่องจากป่วยด้วยโรคหอบหืดกำเริบ โดยทางวัดแถลงว่ารถกู้ชีพมาไม่ทันเนื่องจากติดด่าน ขณะที่ดีเอสไอแถลงแก้ข่าวว่ารถกู้ชีพเข้าที่เกิดเหตุได้ภายใน 10 นาที

อนึ่งนับตั้งแต่หลังวันที่ 10 มี.ค. ดีเอสไอแถลงยกเลิกมาตรการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย และ แต่ยังคงตรึงกำลังเจ้าหน้าที่โดยรบุว่าเพื่อเฝ้าระวังมือที่สาม และจนถึงปัจจุบัน (16 มี.ค.) รัฐบาล คสช. ยังคงบังคับใช้มาตรา 44 อยู่ มีการดำเนินคดีแล้ว 46 คดี มีบุคคลถูกออกหมายเรียก 317 คน มีการเรียกบุคคลรายงานตัว 80 คน ในจำนวนนี้เป็นพระสงฆ์ 14 รูป นอกจากนี้ยังถอดพระออกจากสมณศักดิ์ 2 รูป

และตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้มาตรา 44 มีการระดมเจ้าหน้าที่เพื่อค้นหาหลายวันและหลายพื้นที่เป้าหมาย แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และไม่มีใครทราบว่าพระธัมมชโยปัจจุบันอยู่ที่ไหน

ความคืบหน้าและเหตุการณ์สำคัญหลังประกาศใช้มาตรา 44
ก่อนและหลังการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย

ที่มา: เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ข่าวสด, เว็บไซต์บีบีซีไทย, เพจดีเอสไอ และเว็บไซต์ราชกิจจาบุเบกษา

15 ก.พ. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 5/2560 กลางดึก ควบคุมพื้นที่รอบวัดพระธรรมกาย ให้อธิบดีดีเอสไอรับผิดชอบปฏิบัติการ

16 ก.พ. 2560 กำลังผสมดีเอสไอ ตำรวจ ทหาร 4,200 นาย ปิดถนนรอบวัดพระธรรมกายตั้งแต่เช้าตรู่ เข้าตรวจค้นภายในวัดพระธรรมกายด้านโซนเอและโซนซี 196 ไร่ ไม่พบพระธัมมชโย

17 ก.พ. 2560 กำลังผสมดีเอสไอตรวจค้นพื้นที่โซนบี 2,000 ไร่ โดยเฉพาะทางเดินใต้อาคารภาวนา 60 ปี แต่สุดท้ายเจออุโมงค์ตัน

18 ก.พ. 2560 ศิษย์วัดพระธรรมกายใช้โซเชียลมีเดียชักชวนให้ญาติโยมมาที่วัดเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้มาตรา 44

19 ก.พ. 2560 เกิดเหตุเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ดีเอสไอและพระสงฆ์

อธิบดีดีเอสไอ ออกคำสั่งให้ทุกคนออกจากวัดพระธรรมกายก่อนเวลา 15.00 น. และเรียกพระธัมมชโยและพระสงฆ์ของวัดธรรมกายรวม 14 รูป ให้มารายงานตัวก่อนเวลา 18.00 น. แต่ไม่มีพระสงฆ์รูปใดมารายงานตัว

20 ก.พ. 2560 เจ้าหน้าที่เผชิญหน้ากับพระสงฆ์และศิษย์วัดพระธรรมกายแต่ไม่มีเหตุปะทะ ด้านวัดพระธรรมกายเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้มาตรา 44 เสียก่อนจึงจะยอมเจรจาด้วย

21 ก.พ. 2560 ดีเอสไอเจรจาขอตรวจค้นวัดพระธรรมกายในโซนบี 2,000 ไร่ พระทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสปฏิเสธ

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปิดล้อมวัดพระธรรมกายเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเส้นทาง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่าจะไม่ยกเลิกการใช้มาตรา 44 จนกว่าพระธัมมชโยจะมอบตัว

22 ก.พ. 2560 ผู้ว่าราชการ จ.ปทุมธานี ออกคำสั่งให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 คน ออกนอกพื้นที่

พระสงฆ์วัดพระธรรมกาย 7 รูป อดอาหารเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 44

23 ก.พ. 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่าผ่านไป 1 ปียังจับพระธัมมชโยไม่ได้ ก็จะยังปิดล้อมวัดพระธรรมกายต่อไป

ตำรวจคุมตัวพระสงฆ์ 6 รูป และบุคคลอีก 20 คนมาสอบสวน อ้างว่าเข้าข่ายขัดขวางการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่

24 ก.พ. 2560 ดีเอสไอ ประสาน กสทช. ตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตรอบวัดพระธรรมกาย

พระมหานพพร ปุญญชโย 1 ใน 14 รูป ที่ถูกเรียกให้มารายงานตัวเมื่อ 19 ก.พ. มารายงานตัวต่อดีเอสไอ

25 ก.พ. 2560 หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ปลดพนม ศรศิลป์ จากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และตั้งให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร ดีเอสไอ มาดำรงตำแหน่ง

อนวัช ธนเจริญณัฐ อายุ 64 ปี ผูกคอเสียชีวิต หลังปีนขึ้นไปบนเสาส่งโทรศัพท์เรียกร้องให้เลิกใช้มาตรา 44

28 ก.พ. 2560 ฌาปนกิจศพ อนวัช ธนเจริญณัฐ ที่วัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

1 มี.ค. 2560 พัฒนา เพียงแรง อายุ 48 ปี ลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย เสียชีวิตด้วยโรคหอบหืด ที่แฟลตเจ้าหน้าที่วัดพระธรรมกาย ด้านหลังวัด เนื่องจากไม่สามารถนำรถกู้ชีพเข้าไปช่วยได้ทันเวลาเพราะติดด่านทหาร ขณะที่ดีเอสไอปฏิเสธว่ารถกู้ชีพสามารถเข้าที่เกิดเหตุได้ภายใน 10 นาที

4 มี.ค. 2560 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ถอดถอนสมณศักดิ์พระเทพญาณมหามุนี หรือพระไชยบูลย์ ธัมมชโยเหตุไม่ยอมมอบตัวตามหมายเรียก และได้หลบหนีคดีร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจรตามที่ศาลอาญาอนุมัติหมายจับ

5 มี.ค. 2560 ศิษย์วัดพระธรรมกายจัดงานบูชาข้าวพระที่ตลาดกลางคลองหลวง พร้อมกับกิจกรรมภายในวัดพระธรรมกาย ทั้งนี้ตลอดช่วงที่มีการปิดล้อม พระสงฆ์และศิษย์วัดพระธรรมกายที่เข้าไปในวัดพระธรรมกายไม่ได้จะรวมตัวกันที่ตลาดกลางคลองหลวง และร่วมกันสวดมนต์ภาวนาทุกวัน

8 มี.ค. 2560 พระปลัดเสกสรรค์ อัตตทโม พระลูกวัดพระธรรมกาย มาที่ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 และพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหายุยง ปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมทั้งสิ้น 3 ข้อหา

มีเยาวชนอายุ 14 ปี ถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจฯ หลังชูป้ายค้านมาตรา 44

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตำรวจดำเนินคดีต่อวัดพระธรรมกายแล้ว 340 คดี และออกหมายจับไปแล้ว 20 คดี

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ถอดถอนสมณศักดิ์พระราชภาวนาจารย์ หรือพระเผด็จ ทัตตชีโว

9 มี.ค. 2560 พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย มาที่กองบังคับการปราบปราม เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาหมิ่นประมาท, ข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยให้ประกันตัวในวงเงิน 400,000 บาท

ศรวรรณ ศิริสุนทรินทร์ หรือ "ป้าเช็ง" เจ้าของตลาดกลางคลองหลวง เข้าพบดีเอสไอ โดยยืนยันว่าให้ใช้พื้นที่จัดทำบุญเมื่อ 5 มี.ค. ที่ผ่านมาจริง เพราะเป็นลูกศิษย์ของทุกศาสนาจึงอนุญาต

10 มี.ค. 2560 ดีเอสไอตรวจค้นอาคารบุญรักษาไม่พบสิ่งผิดปกติ

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ แถลงยุติการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย โดยจะร่วมกับวัดรื้อถอนสิ่งกีดขวางโดยรอบเพื่อให้วัดเข้าสู่สภาพปกติโดยเร็ว จะยุติการเข้าตรวจค้นวัด แต่ยังคงตรึงกำลังทุกจุดเหมือนเดิม แต่ลดจำนวนลงเพื่อป้องกันมือที่สาม

และหากวัดเข้าสู่สภาพปกติจะเสนอ รมว.ยุติธรรม ยกเลิกการใช้ ม.44 รวมถึงเปิดให้ใช้สัญญาณโทรศัพท์ตามปกติ

ขณะที่การตรวจค้นตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา มีคดีอาญาเกิดขึ้นจำนวน 43 คดี มีบุคคลถูกออกหมายเรียก 316 คน และ เรียกรายงานตัว 80 คน

12 มี.ค. 2560 ช่วงเช้าตรู่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำหมายค้นศาลจังหวัดธัญบุรี ลงวันที่ 11 มี.ค.60 เข้าตรวจสอบ "อารามปริสุทโธ" เลขที่ 12/19 ถนนมงคลเศรษฐี ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อยู่เลยวัดพระธรรมกายด้านประตู 1 ราว 2 กิโลเมตร โดยอยู่นอกพื้นที่ประกาศใช้ ม.44 ผลการค้นหาไม่พบพระธัมมชโย พบเพียงเสื้อยืดแขนยาวสีเหลือง 2 ตัว

13 มีนาคม 2560 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ยังไม่มีการยกเลิกการบังคับใช้มาตรา 44 แต่ผ่อนคลายให้ภายในวัดพระธรรมกายปฏิบัติศาสนกิจตามปกติ คนภายนอกเข้าไปในพื้นที่วัดได้

"ข่าวสด" เผยว่า มีการประชุมเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ทหาร ตำรวจ และดีเอสไอ เพื่อเตรียมเข้าตรวจสอบสาขาวัดพระธรรมกายในภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามหาตัวพระธัมมชโยว่าหลบซ่อนอยู่ที่ไหน รวมทั้งบ้านพักของลูกศิษย์ด้วย

14 มี.ค. 2560 พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าวว่ามิวสิควิดีโอเพลงแปลงเนื้อหาเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย หากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหายก็แจ้งความได้ ส่วนเนื้อหาเพลงหากเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นจะดำเนินคดีทันที

พระสงฆ์วัดพระธรรมกาย 10 รูป จาก 14 รูป ที่ถูกดีเอสไอสั่งให้มารายงานตัวเมื่อ 19 ก.พ. และไม่ยอมมารายงานตัว เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.คลองห้า จ.ปทุมธานี ส่วนพระอีก 3 รูป ได้แก่ พระทัตตชีโว อ้างว่าอาพาธ และอีก 2 รูปคือพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ และพระครูใบฎีกา อำนวยศักดิ์ มุนิสโก ระบุว่าจะเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาภายหลัง ส่วนพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส ยังไม่ปรากฏตัว

กองบังคับการปราบปรามแจ้งข้อกล่าวหาลีลาวดี วัชโรบล อดีต ส.ส.เพื่อไทย ลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย ข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 พร้อมเปิดเผยว่ามีการดำเนินคดีแล้ว 46 คดี อยู่ในความรับผิดชอบกองปราบ 4 คดี สภ.คลองหลวง 28 คดี และ สภ.คลองห้า 14 คดี

16 มี.ค. 2560 พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกดีเอสไอ เผยออกหมายเรียกบุคคลแล้ว 317 ราย เข้าพบแล้ว 171 ราย

 

วัดพระธรรมกายใหญ่แค่ไหน

ขนาดของวัดพระธรรมกายและเปรีบเทียบกับสถานที่ต่างๆ คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

ที่ตั้งของวัดพระธรรมกายตั้งอยู่ที่ ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เริ่มต้นก่อตั้งเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 โดยใช้ชื่อ "ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม" และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดวรณีธรรมกายาราม" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดพระธรรมกาย" จนถึงปัจจุบัน และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2522

แม่ชีจันทร์ ขนนกยูง และศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายในยุคบุกเบิก (ที่มา: DMCTV)

โดยแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง พระธัมมชโย และศิษยานุศิษย์ ได้สร้างวัดพระธรรมกายขึ้นภายใต้แนวคิด "สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ และสร้างคนให้เป็นคนดี" และยึดหลักปฏิรูปเทส 4 ของพระพุทธเจ้า ได้แก่ อาวาสเป็นที่สบาย อาหารเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย และธรรมะเป็นที่สบาย โดยมุ่งจูงใจคนให้อยากเข้าวัดปฏิบัติธรรม

แต่เดิมวัดพระธรรมกายมีขนาด 196 ไร่ และในปี 2527 ได้มีแนวคิดขยายพื้นที่ไปทางด้านตะวันตกของที่ดินเดิมอีก 2,000 ไร่ ทำให้ปัจจุบันมีขนาด 2,196 ไร่ หรือ 3,513,600 ตารางเมตร หรือ 3.15 ตารางกิโลเมตร โดยมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่ารัฐวาติกัน ที่มีขนาด 440,000 ตารางเมตร หรือ 0.44 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งใหญ่กว่า มัสยิดอัลฮะรอม นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่มีขนาด 400,000 ตารางเมตร หรือ 0.40 ตารางกิโลเมตร

 

สถานที่สำคัญในวัดและพื้นที่เป้าหมายของดีเอสไอ

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

สถานที่สำคัญในวัดพระธรรมกายและข้างเคียง และพื้นที่เป้าหมายในการตรวจค้นของดีเอสไอในช่วงปิดล้อมวัดพระธรรมกาย

อุโบสถวัดพระธรรมกาย

ก่อสร้างปลายปี พ.ศ. 2520 เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ มีวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหารเป็นต้นแบบ การออกแบบยึดหลักความแข็งแรง คงทน เรียบง่าย มีช่อฟ้าคู่ หลังคาโค้ง ภายในอุโบสถรองรับพระภิกษุเข้าร่วมประกอบสังฆกรรมพร้อมกันได้ครั้งละ 200 รูป โดยเว็บไซต์วัดพระธรรมกายระบุว่าอุปสมบทพระภิกษุแล้วหลายหมื่นรูป

ล่าสุด มีแผนขยายพื้นที่เป็น "อุโบสถพระไตรปิฎก" เพื่อรองรับจำนวนพระสงฆ์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่งมีการประกอบพิธีโปรยรัตนชาติและปิดทองเสามงคลสร้างอุโบสถพระไตรปิฎก เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560

มหาวิหารคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

เป็นวิหารสีทองทรงพีระมิดหกเหลี่ยม สูง 29 เมตร ตั้งบนเกาะแก้วกลางน้ำอยู่ใกล้อุโบสถวัดพระธรรมกาย ตอกเสาเข็มต้นแรกวันที่ 14 มีนาคม 2545 และยกยอดมหาวิหารวันที่ 10 กันยายน2546 ตรงกับวันครบรอบ 3 ปีของการละสังขารของแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ผู้ก่อตั้งวัดพระธรรมกาย และวางรากฐานด้านงานจัดการและงานบุญของวัด โดยมหาวิหารหลังนี้สร้างขึ้นรำลึกถึงแม่ชีจันทร์และประกาศเกียรติคุณที่แม่ชีจันทร์ ที่มีต่อพระพุทธศาสนาและชาวโลก

หอฉันคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฉันภัตตาหารของพระภิกษุ สามเณร เพื่อระลึกถึงพระคุณของแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ที่ได้สร้างโรงครัวและโรงทานขึ้น ณ วัดพระธรรมกาย เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร มีภัตตาหารฉันโดยไม่ต้องออกบิณฑบาต จะได้มีเวลาปฏิบัติสมณกิจได้อย่างเต็มที่ หอฉันดังกล่าวตอกเสาเข็มต้นแรกวันที่ 19 มกราคม 2546 และทำพิธีเปิดป้ายมงคลหอฉันวันที่ 19 มกราคม 2547 สามารถรองรับพระภิกษุ สามเณร ได้ถึง 6,000 รูป

อาคาร 100 ปีคุณยายอาจารย์ฯ

อาคาร 100 ปีคุณยายอาจารย์ฯ หรือชื่อเต็มคือ "อาคาร 100 ปีคุณยายอาจารย์ฯ เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก" รูปทรงกลมของอาคารยังสื่อถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย เพื่อนำพาชาวโลกทุกคนให้เข้าถึง "ดวงธรรม" และ "พระธรรมกายภายใน" และใช้เป็นสถานที่เรียนพระปริยัติธรรม เป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษาบาลีของโลก และเป็นศูนย์กลางงานอบรมศีลธรรม

สำหรับอาคาร 100 ปีคุณยายอาจารย์ฯ เริ่มสร้างตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2553 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 สำนักข่าวอิศรา เคยไปตรวจสอบอาคารดังกล่าวซึ่งในเวลานั้นยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง หลังมีข่าว "ศุภชัย ศรีศุภอักษร" อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เซ็นจ่ายเช็คเงินสดให้กับ พระธมฺมชโย จำนวน 15 ฉบับ วงเงินกว่า 714 ล้านบาท และเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้ก่อสร้างอาคาร "100 ปีคุณยาย" ซึ่งมีวงเงินลงทุนถึง 3 พันล้านบาท

ปัจจุบัน "อาคาร 100 ปี คุณยาย" ยังไม่เปิดใช้อาคารเต็มที่ โดยอยู่ในขั้นตอนทดสอบระบบ อย่างไรก็ตาม "อาคาร 100 ปีคุณยาย" ก็ตกเป็นเป้าหมายการตรวจค้นของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอด้วยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 และวันที่ 10 มีนาคม 2560 เนื่องจากในอาคารมีห้องควบคุมที่ใช้สังเกตการณ์จากกล้องวงจรปิดกว่า 200 ตัว และชั้น 15 ของอาคารสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ได้ทั้งหมด โดยต่อมาพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ชี้แจงกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่าห้องสังเกตการณ์ หรือห้องมอนิเตอร์กล้องวงจรปิดอยู่ที่ชั้น 1 ของอาคาร ส่วนชั้น 6 ที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นที่หลบซ่อนของพระธัมมชโยก็เป็นเพียงห้องประชุมเท่านั้น

อาคารดาวดึงส์

กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เคยเชื่อว่าเป็นที่พักของพระธัมมชโย แต่จากการตรวจค้นในวันแรกและวันที่สอง คือวันที่ 16 และ 17 กุมภาพันธ์ ไม่พบพระธัมมชโย จึงมีการอายัดอาคารดาวดึงส์ และอาคารบ้านพักโดยรอบ 15 หลัง และตรวจยึด "เครื่องไฮเปอร์แบริค แชมเบอร์" ซึ่งมีการส่งมอบจากโรงพยาบาลยันฮี โดยเจ้าหน้าที่พบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวใช้การได้ แต่ไม่ได้ใช้งานนานแล้ว ด้านพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ชี้แจงว่าใช้สำหรับรักษาอาการอุดตันของเส้นเลือดที่ขาของพระธัมมชโย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

อาคารบุญรักษา

เริ่มต้นก่อสร้างขึ้นในปี 2557 เพื่อใช้เป็นสถานรักษาพยาบาล อยู่ในพื้นที่ 57 ไร่ สูง 7 ชั้น 135 ห้อง อาคารอยู่ระหว่างการก่อสร้างและตกแต่งภายใน ถูกตรวจค้นในวันที่ 10 มีนาคม 2560 แต่ไม่พบสิ่งผิดปกติ

มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี

มหาวิหารพระมงคลเทพมุนีมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 108 เมตร ก่อสร้างเมื่อ 3 มีนาคม 2539 เสร็จสิ้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2546 ตรงกับวันเกิดของพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยยังเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำแท้ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งขององค์จริงของพระมงคลเทพมุนี มหาวิหารดังกล่าวก่อสร้างขึ้นโดยดำริของพระธัมมชโย เพื่อรำลึกถึงพระมงคลเทพมุนี ผู้คนพบ "วิชชาธรรมกาย" โดยออกแบบให้รูปทรงของวิหารอยู่เหนือกาลเวลา ไม่ว่าในปัจจุบันหรืออนาคตจึงออกแบบเป็นรูปทรงกลม ซึ่งเป็นรูปทรงของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว

สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย

เป็นศาลาอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ 2 ชั้น มีพื้นที่ 126 ไร่เศษ หรือขนาดใหญ่กว่าสนามหลวงเกือบ 2 เท่า ชั้นบนเป็นสถานที่ทำสมาธิภาวนาและฟังธรรมในวันอาทิตย์และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รองรับคนได้ประมาณ 300,000 คน และมีรัตนบัลลังก์เป็นที่นั่งสำหรับพระภิกษุกว่าพันรูป

ส่วนชั้นล่างเป็นลานจอดรถยนต์ และมีศูนย์ประชุมประกอบด้วยห้องประชุมหลายขนาด ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป สำหรับใช้อบรมศีลธรรม และยังมีศูนย์เด็กเพื่อดูแลเด็กเล็กที่ติดตามผู้ปกครองมาวัด โดยมีอาสาสมัครเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล

มหาธรรมกายเจดีย์

เป็นเจดีย์ทรงครึ่งวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 194.4 เมตร สูง 32.4 เมตร ตอกเสาเข็มต้นแรกวันที่ 8 กันยายน 2538 หล่อองค์พระประจำตัวครั้งสุดท้ายวันที่ 22 เมษายน 2553 โดยมหาธรรมกายเจดีย์มีรูปแบบเดียวกับมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี และเป็นรูปทรงเดียวกับสถูปสาญจี ที่ประเทศอินเดีย โดยผู้ร่วมสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ จะได้รับการระบุชื่อในพระธรรมกายประจำตัวปรากฏอยู่ที่ฐานเจดีย์ โดยในเว็บไซต์ของวัดระบุว่าบรรจุไว้ 1,000,000 องค์ นอกจากนี้ยังระบุว่าออกแบบด้วยหลักวิศวกรรมและใช้วัสดุพิเศษเพื่อให้อยู่คงทนกว่า 1,000 ปี

สำหรับมหาธรรมกายเจดีย์มีส่วนที่เป็นวงแหวนล่างสุดของเจดีย์ใช้เป็นที่นั่งของพระภิกษุ 10,000 รูป ส่วนบริเวณรอบมหาธรรมกายเจดีย์มี "ลานธรรม" ใช้เป็นที่ประกอบศาสนพิธี รองรับประชาชนได้ 400,000 คน

มหารัตนวิหารคด

เป็นอาคารขนาดใหญ่ 2 ชั้น สร้างขึ้นรอบลานธรรม สถาปัตยกรรมเน้นความเรียบง่าย ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และคงทนถาวร สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2547 โดยพื้นที่มหารัตนวิหารคดสามารถรองรับประชาชนได้ 600,000 คน หากรวมกับพื้นที่ในลานธรรมก็จะสามารถรองรับได้ถึง 1,000,000 คน โดยวัดพระธรรมกายมักใช้พื้นที่บริเวณมหาธรรมกายเจดีย์ และมหารัตนวิหารคดจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนา

อาคาร 60 ปีพระราชภาวนาวิสุทธิ์

ด้านหลังของมหาธรรมกายเจดีย์ เป็นบริเวณที่เรียกว่า "อาคาร 60 ปีพระราชภาวนาวิสุทธิ์" เป็นอาคารปฏิบัติธรรมพร้อมที่พัก โดยในเว็บไซต์วัดพระธรรมกายระบุว่า เพื่อใช้รองรับผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติธรรม อยู่ปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องระยะยาว จำนวน 500 คน ตลอดทั้งโครงการมีเนื้อที่ 358,853 ตารางเมตร หรือประมาณ 225 ไร่

อาคารหลักมีลักษณะเป็นทรงโดมพร้อมเชิงลาด เหมือนรูปทรงของมหาธรรมกายเจดีย์ โครงสร้างทำจากคอนกรีตผสมชนิดพิเศษเสริมเหล็ก มีแผ่นโลหะสแตนเลสเคลือบอนุภาคทองคำแท้ประกอบปิดรอบนอก ภายในประดิษฐานองค์พระธรรมกายทองคำบริสุทธิ์เป็นพระประธาน ภายนอกประดิษฐานพระธรรมกายขนาดเล็กทำจากซิลิกอนบรอนซ์เคลือบอนุภาคทองคำ 300,000 องค์ ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2547 และมีพิธีประดิษฐานองค์พระรอบอาคารเมื่อ 27 สิงหาคม 2547 มีอาคารที่พักทางด้านทิศตะวันออก และตะวันตก

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย ได้นำสื่อมวลชนตรวจสอบพื้นที่ใต้บ่อน้ำพุ ความสูง 12 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่หลังพื้นที่ด้านหลัง "อาคาร 60 ปีพระราชภาวนาวิสุทธิ์" หลังมีข้อมูลระบุว่าเป็นอุโมงค์ลับ แต่หลังจากการตรวจสอบแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ไทยรัฐออนไลน์รายงานคำแถลงของ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ระบุว่าอุโมงค์ใต้ "อาคาร 60 ปี พระราชภาวนาวิสุทธิ์" เป็นอุโมงค์ที่ใช้บำบัดน้ำเสีย โดยมีทางเดินลงไป และมีทางแยกออกไปซ้ายและขวา แต่ละฝั่งยาว 1.5 กิโลเมตร แต่เป็นอุโมงค์ตัน ไม่ใช่ทางหลบหนี

 

พื้นที่ภายนอกวัดพระธรรมกาย

บ้านสวนตะวันธรรม

เป็นกลุ่มอาคารชุด 5 หลัง อยู่นอกวัดพระธรรมกาย โดยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดพระธรรมกาย โดยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เข้าตรวจค้นกลุ่มอาคารดังกล่าว แต่ไม่พบตัวพระธัมมชโย พบเพียงพระสงฆ์สัญชาติพม่า 3 รูป ที่ระบุว่ามาปฏิบัติธรรมที่วัดพระธรรมกาย เจ้าหน้าที่จึงประสานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมาตรวจสอบ

ตลาดกลางคลองหลวง

ศิษย์วัดพระธรรมกายรวมตัวทำกิจกรรมคู่ขนานในช่วงที่เจ้าหน้าที่กำลังผสมดีเอสไอปิดล้อมวัดพระธรรมกาย (ที่มา: เพจคนวัดจัดเต็ม)

บริเวณตลาดที่เยื้องกับหน้าวัดพระธรรมกาย กลายเป็นจุดรวมตัวของศิษยานุศิษย์ที่ไม่สามารถเข้าไปในวัดพระธรรมกาย ในช่วงที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารปิดล้อมวัดพระธรรมกาย โดยมีการรวมตัวกันหนาแน่นในช่วงเย็น นอกจากนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคมก็มีการจัดกิจกรรมบูชาข้าวพระคู่ขนานไปกับภายในวัดพระธรรมกายอีกด้วย

อารามปริสุทโธ

ตั้งอยู่ที่ ถ.มงคลเศรษฐี ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อยู่เลยวัดพระธรรมกายด้านประตู 1 ราว 2 กิโลเมตร โดยอยู่นอกพื้นที่ประกาศใช้มาตรา 44 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอและตำรวจอ้างว่ามีการเข้าออกอย่างผิดปกติของพระผู้ใหญ่วัดพระธรรมกาย จึงเข้าตรวจค้นเมื่อเช้าตรู่วันที่ 12 มีนาคม โดยนำหมายค้นจากศาลจังหวัดธัญบุรี ลงวันที่ 11 มี.ค. 60 เข้าตรวจสอบพบเพียงเสื้อยืดแขนยาวสีเหลือง 2 ตัว และเอกสารเกี่ยวกับการแถลงข่าวเรื่องวัดพระธรรมกาย แต่ไม่พบพระธัมมชโย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยก่อนปรองดอง#4: เปิดใจญาติเหยื่อกระสุนจริงปี 53 “การปรองดองที่ทหารเป็นคนกลางมันเป็นไปไม่ได้หรอก”

Posted: 16 Mar 2017 09:33 AM PDT

คุยกับญาติเหยือกระสุนจริง พ่อ และแม่ ผู้ถูกยิงเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 2553 สะท้อนความคิดต่อกระบวนการเตรียมสร้างการปรองดอง ในยุค คสช. พวกเขาระบุสิ่งที่ต้องการเห็นคือความจริง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนสิ่งที่ไม่ต้องการเห็นคือ การที่ทหารทำตัวเป็นคนกลาง

ท่ามกลางกระบวนการเตรียมสร้างความสามัคคีปรองดองที่กำลังเดินหน้าไป ซึ่งได้เริ่มนับหนึ่ง เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นจากนักการเมือง และตัวแทนกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล เป็นเจ้าภาพในการเปิดโต๊ะรับฟังความคิดเห็น

กระบวนการที่กำลังเดินหน้าอยู่นี้ เกิดขึ้นมาจากการออก คำสั่งหน้าหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2560 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง โดยในคำสังได้ให้มีการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฎิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความมัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยมีนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน และให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมปฎิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมยุทธศาสตร์ชาติ และสุดท้ายซึ่งเป็นชุดที่กำลังถูกพูดถึง และผู้คนในสังคมให้คสามสนใจเป็นพิเศษคือ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความปรองดองสามัคคี ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระกลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการ

การทำงานของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความปรองดองสามัคคี ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อทำงานโดยแบ่งออกเป็น 4 ชุด โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารนั่งเป็นประธานคณะกรรมการทุกชุด เริ่มต้นแต่ 1.คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการบูรณาการ ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ ซึ่งมี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัต ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นประธาน 3.คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสารท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธาน และ 4.อนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ มีโฆษกกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการทุกชุดจะทำงานประสานและสอดรับซึ่งกันและกัน โดยมีกรอบระยะเวลาในหารเตรียมการเพื่อสร้างความปรองดองครั้งนี้ทั้งหมด 90 วัน หรือ 3 เดือน ซึ่งทั้งหมดจะได้ข้อสรุปเรื่องการปรองดองไม่เกินเดือน เมษายน นี้

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลายประเด็นที่ผู้คนในสังคมยังสงสัยและตั้งคำถาม อย่างแรกที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องความเป็นกลางของคณะกรรมการเตรียมสร้างการปรองดอง ซึ่งเมื่อเทียบดูสัดส่วนของคณะกรรมการทั้งหมดส่วนใหญ่จะเป็นทหาร ตำรวจ และข้าราชการ เกินครึ่ง ประเด็นที่สองที่ดูจะสำคัญไม่แพ้กันคือ "ประชาชน-คนธรรมดา" อยู่ตรงไหนของการปรองดองในครั้งนี้ และสามหรือการปรองดองครั้งนี้แท้จริงแล้วคือ การมัดมือชก และขอให้นักการเมือง แกนนำกลุ่มการเมือง สยบยอม อยู่ภายใต้กติกาใหม่ที่ คสช. เป็นผู้กำหนด

ประชาไท สัมภาษณ์ 3 ญาติเหยื่อกระสุนจริง จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ถึงมุมมองการต่อกระบวนการเตรียมสร้างความปรองดอง ทุกเสียงระบุ ทหาร ไม่ควรจะทำตัวเป็นคนกลาง เพราะแท้จริงแล้วคือคู่ขัดแย้งกับประชาชน

00000

พะเยาว์ อัคฮาด

พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของพยาบาล กมนเกด อัคฮาด ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่วัดปทุมวณาราม ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งในการไต่สวนการเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ส.ค.56 แล้วว่าเสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ที่มีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมฯ ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ได้เปิดเผยความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการปรองดองที่กำลังเกิดขึ้นว่า เห็นด้วยกับการสร้างความปรองดองที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วยคือ การที่ทหารเข้ามาเป็นตัวกลางในกระบวนการตัวกล่าว

พะเยาว์ ระบุสาเหตุที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการดังกล่าวว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาเป็นตัวกลางในกระบวนการสร้างความปรองดองนั้น เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับประชาชน อีกทั้งยังเป็นคู่ขัดแย้งหลักของความขัดแย้งในสังคมไทยที่กินระยะเวลานานกว่า 10 ปี

"ทหาร คือคู่ขัดแย้งโดยตรง ฉะนั้นการที่เอาคู่ขัดแย้งมาตั้งตนทำกระบวนการปรองดอง มันเป็นไปไม่ได้ คดีของพวกเขาก็มีอยู่ ความผิดของพวกเขา เขายังไม่เคยพูดถึงมันเลย โดยเฉพาะเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 แล้วเวลากลายเป็นว่าพวกคุณมานั่งเป็นคณะกรรมการปรองดอง มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะกระบวนการของคุณมันคือการมองข้ามหัวประชาชน" พะเยาว์ กล่าว

พะเยาว์ ได้ตั้งคำถามต่อไปว่า กระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นการสร้างความปรองดองกับใครกันแน่ หรือจะเป็นเพียงการปรองดองกันเองในหมู่ชนชั้นนำทางการเมือง กับนักการเมืองพรรคต่างๆ เท่านั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีการพูดถึง หรือค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม และไม่มีการผู้ถึงผู้ที่สูญเสีย หรือได้รับผลกระทบโดยจากความขัดแย้งทางการเมืองเลย ซึ่งพะเยาว์เห็นว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องหลัก และเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่คณะกรรมการชุดนี้พยายามที่จะไม่พูดถึง

"ถ้าเป็นไปได้ เราอยากจะร้องขอว่า ถ้าคุณจะพูดถึงเรื่องปรองดอง ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่คุณ ความจริงทั้งหมดต้องมีการนำมาพูดถึง ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป เราไม่ยอมนะ เราคิดว่าถ้าจะปรองดองต้องพูดเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงในการเสียชีวิตของประชาชนจะต้องถูกเปิดเผย ไม่ใช่คุณจะมานั่งพูดปรองดอง ปรองดอง แต่กลับเอาทุกอย่างซุกไว้ใต้พรมเหมือนอย่างที่ผ่านมาในอดีต ขอให้ทุกคนมาจับมือกันใหม่ และหลังจากนั้นอีกไม่นานก็จะมีมาฆ่ากันใหม่" พะเยาว์ กล่าว

เมื่อถามว่า กระบวนการเตรียมการสร้างความปรองดองในครั้งนี้พอจะมีช่องทางที่ทำให้สังคมไทยกลับมาคืนดีกันได้บ้างหรือไม่ พะเยาว์เห็นว่า ไม่มีทางที่จะกลับมาคืนดีกันได้ เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นมีได้การเรียกพรรคการเมืองเข้าไปพูดคุย ซึ่งพรรคการเมืองต่างก็ไม่ปฎิเสธ เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีทางเลือก และพรรคการเมืองต่างก็ต้องการกลับสู่สนามการเลือกตั้ง

"พรรคการเมืองเขาไม่ได้ต้องการความปรองดอง เขาต้องการการเลือกตั้ง แล้วก็ไปจับมือกัน แต่คำถามคือคุณเอาประชาชนไปไว้ตรงไหน คุณจะเก็บเรื่องของประชาชนให้เงียบไว้ จะปล่อยให้คดีของพวกเขาดำเนินไป จะปล่อยให้เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ปล่อยให้เขาถูกฆ่าตายฟรีๆ ลูกฉันถูกทหารยิงตายหลักฐานระบุชัดเจน จะให้ฉันยอมเหรอ เป็นใครใครก็ไม่ยอม" พะเยาว์ กล่าว

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ

ด้านพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของเด็กหนุ่มที่ถูกหยุดอายุไว้เพียงแค่ 17 ปี สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ เฌอ ซึ่งชีวิตจากการถูกยิงที่บริเวณศรีษะ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ระบุว่า ผู้ที่จะมาเป็น คนกลาง ในกระบวนการสร้างความปรองดองจะต้องไม่ใช่ทหาร ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่จะต้องเป็นคนอื่นๆ ซึ่งมีที่มาจากประชาชน หรือเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งตามระบอบประชาธิปไตย คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปรองดองจะต้องมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐสภา

"คอนเซปในเรื่องของการปรองดอง เช่น การสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ การให้อภัยซึ่งกันและกัน การค้นหาความจริง และการเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการ หากพวกทำตามคอนเซปนี้เราเห็นด้วย แต่ไม่มีไง ขณะที่สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยคือการเข้ามาเป็นคนกลางโดยทหาร ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในการสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังกับประชาชน เรื่องนี้เขากลับทำ"พันธ์ศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า หากดูจากการคณะกรรมการย่อย ภายใต้อนุกรรมการเตรียมสร้างความปรองดอง ก็จะเห็นว่าจะมีรายชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหาร หรือตำรวจ แต่มีรายชื่อของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในสังคมที่จะเข้ามารวบรวมความคิดเห็นที่ได้จากการรับฟัง และจัดทำเป็นข้อเสนอต่อไป การจัดการโครงสร้างคณะทำงานในลักษณะนี้พอจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือไม่ พันธ์ศักดิ์ ตอบว่า อย่างไรก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังมีคณะกรรมการชุดใหญ่อยู่ ซึ่งควบคุมดูแลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และคณะอนุกรรมการย่อยแต่ละชุดต่างก็มีที่มาจากคณะกรรมการชุดใหญ่ทั้งสิ้น เรื่องนี้จึงผิดตั้งแต่ที่มาของคณะอนุกรรมการ

"คือถ้าที่มาที่ไปมันผิด ทุกอย่างก็ผิดหมด เราไม่สนใจว่าคุณจะอ้างว่า กระบวนการของคุณมีความโปร่งใส่แค่ไหน เพราะสิ่งที่เราเห็นคือการเรียกนักการเมือง แกนนำการเมือง การเรียกเข้าไปนี้ก็เหมือนกับการเรียกไปรายงานตัวกับ คสช. ไม่ต่างอะไรกับตอนที่คุณจะทำรัฐประหาร ที่เชิญคู่ขัดแย้งไปนั่งคุย แล้วปิดประตูถามว่าจะปรองดองกันหรือไม่ พอไม่ยอมคุณก็ทำรัฐประหาร แล้วก็จับพวกที่ไม่ยอมไปเข้าค่ายปรับทัศนะคติ กระบวนการมันไม่ต่างกันเลย"พันธ์ศักดิ์ กล่าว

พันธ์ศักดิ์ เห็นว่าหากรัฐบาลต้องการที่จะสร้างความปรองดองจริงๆ สิ่งแรกที่ควรทำคือการจัดให้มีการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญที่ได้มีการลงประชามติไปแล้ว ถึงแม้ว่าตนเองจะไม่ยอมรับในตัวรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่กระบวนการต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อที่จะทำให้ คสช. หมดอำนาจเผด็จการ และปล่อยให้มีการเลือกตั้ง จากนั้นเปิดให้มีกระบวนการสาธารณะที่เปิดเผย ตรวจสอบได้ สำหรับจัดทำเรื่องการสร้างความปรองดอง

"อยู่ๆ คุณจะมาบอกให้เราปรองดองกันได้อย่างไร มันต้องหาสาเหตุก่อนว่าที่ขัดแย้ง ที่ทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้มันเกิดจากอะไร ใครขัดแย้งกับใคร มันเริ่มจากจุดไหน ก็ต้องมีการค้นหาความจริงทั้งหมด และที่สำคัญต้องรอให้ประเทศชาติพร้อมเสียก่อน เพราะตอนนี้ไม่เห็นว่ามีอะไรที่พร้อมเลย" พันธ์ศักดิ์ กล่าว

บรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์

ขณะที่ บรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์ พ่อของ เทอดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ ซึ่งถูกยิงเข้าที่บริเวณทรวงอกหลายตำแหน่ง จากการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 บริเวณสี่แยกคอกวัว ระบุว่า ต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า และต้องการให้คนไทยกลับมารักสามัคคีกัน แต่เมื่อมองเข้าไปที่กระบวนการพูดคุยปรองดองที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า สังคมไทยจะสามารถปรองดอง และคืนดีกันได้จริงหรือไม่

บรรเจิด ตั้งคำถามสำคัญว่า เพราะอะไรกระบวนการพูดคุยปรองดองที่เกิดขึ้นจึงมีเพียงแต่การเชิญนักการเมือง และแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้าไปพูดคุย ทั้งที่ในความเป็นจริงคนที่เป็นผู้เสียหายโดยตรงจากความขัดแย้งทางการเมือง ควรที่จะได้เป็นผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นก่อน

"ผมเห็นมาหลายสมัยแล้ว นักการเมืองพอถึงตอนทะเลาะก็ทะเลาะกันจะเป็นจะตาย แต่พอถึงเวลาที่จะมีผลประโยชน์ร่วมกันก็กลับมานั่งคุยกัน นั่งกินกาแฟ พูดคุยกันได้ปกติ การที่เชิญนักการเมืองเข้าไปพูดคุยไม่สามารถสร้างให้เกิดความปรองดองได้จริง และทหารเองก็เป็นคู้ขัดแย้งโดยตรง ไม่มีทางที่จะปรองดองกันได้หรอก"บรรเจิด กล่าว

บรรเจิด ระบุด้วยว่า สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการปรองดองนั้นคือการ ให้อภัยซึ่งกันและกัน แต่จนถึงวันนี้ผู้ที่กระทำความผิด ซึ่งสั่งสลายการชุมนุมยังไม่เคยสำนึกผิด และยังไม่เคยพูดว่ารู้สึกเสียใจ และขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่กลับทำตัวเป็นคนกลางมาสร้างความปรองดอง

"ความตายที่เกิดขึ้น จะมาบอกว่าคุณได้รับคำสั่งมาให้ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนเลิกชุมนุมแล้วกลับบ้าน แต่สิ่งที่พวกคุณทำมันเกินไป ประชาชนออกมาชุมนุมมีแต่มือเปล่า มากที่สุดก็มีปืนหนังสติ๊ก กับท่อนไม้ แต่คุณมีเสื้อเกราะ คุณมีปืน มีวิธีอื่อีกมากมายที่จะทำให้คนเลิกชุมนุม แต่คุณเลือกยิง"บรรเจิด กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อังคณา เผย กก. ICCPR สนใจประเด็นการใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน

Posted: 16 Mar 2017 09:32 AM PDT

อังคณา แจงร่วมประชุม กก.สิทธิฯ UN ระบุหารือนอกรอบกับ กก.ประจำกติกา ICCPR สอบถามประเด็นสำคัญ เช่น การประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน  การดำเนินการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์  เรื่องเด็กในสถานที่คุมขัง และกระบวนการสรรหา กสม.

16 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในนามคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานถึง บทบาทของ กสม. ในการประชุมเพื่อพิจารณารายงานสถานการณ์เกี่ยวกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ของไทย  

โดยระบุว่า ระหว่างวันที่ 13 - 14 มี.ค. 2560 อังคณา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ (Human Rights Committee : HRC ) ประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ในการนี้ ได้พบหารือกับปลัดกระทรวงยุติธรรมในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยและคณะเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของไทย จากนั้นกล่าวถ้อยแถลงด้วยวาจาต่อคณะกรรมการประจำกติกา ICCPR ในลักษณะการประชุมแบบปิดในประเด็นที่ กสม.จัดทำสรุปรายงานสถานการณ์สิทธิพลเมืองและการเมือง ต่อมามีการพบหารือนอกรอบกับคณะกรรมการประจำกติกา ICCPR โดยคณะกรรมการฯได้สอบถามประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเพิ่มเติมในหลายประเด็น  เช่น การประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน  การดำเนินการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์  เรื่องเด็กในสถานที่คุมขัง และกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  รวมทั้งเข้าร่วมสังเกตการณ์การรายงานของคณะผู้แทนรัฐบาลไทยต่อที่ประชุมดังกล่าว

ล่าสุดมีการนัดพบกับรองข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ภายใต้บทบาทส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ดีใจ CNN ยก กทม. 'สวรรค์แห่งอาหารริมทาง' ย้อนนายกฯเคยอัดขายของริมถนนผิดกฎหมาย

Posted: 16 Mar 2017 06:06 AM PDT

พล.ท.สรรเสริญ เผย ประยุทธ์ ดีใจที่กรุงเทพฯ ยังติดอันดับโลกด้านอาหารริมทาง หลัง CNN ยกเป็น "สวรรค์แห่งอาหารริมทาง" พร้อมย้อนคำพูดเมื่อปลายปีที่แล้ว เพิ่งอัดว่าขายของริมถนนผิดกฎหมายไม่ใช่วิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบ

16 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักข่าว CNN ยังคงจัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็น "สวรรค์แห่งอาหารริมทาง" หรือเมืองที่มีอาหารริมทาง (Street Food) ดีที่สุดในโลก ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยนักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้ออาหารได้หลากหลาย เช่น น้ำเต้าหู้มื้อเช้า ข้าวหอมมะลิมื้อกลางวัน ผัดไทย หมูสะเต๊ะมื้อเย็น และระบุด้วยว่า เยาวราชคือย่านของกินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ สภาอาหารริมทางโลก (World Street Food Congress) ได้ยกให้ "หอยทอด" เป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่ขึ้นชื่อมากที่สุด ที่หารับประทานได้ริมทางในกรุงเทพฯ โดยพ่อครัวจะปรุงสุกใหม่จานต่อจานบนกระทะร้อน ๆ ให้แก่ลูกค้า

"ท่านนายกฯ รับทราบและดีใจที่กรุงเทพฯ ยังติดอันดับโลกด้านอาหารริมทาง ซึ่งถือเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะอย่างหนึ่งของไทยที่หลายประเทศไม่มี นักท่องเที่ยวสามารถซื้อหาอาหารอร่อยได้ตลอดเวลา โดยเน้นย้ำให้พ่อค้าแม่ค้าปรุงอาหารให้ถูกหลักอนามัย คำนึงถึงความสะอาดปลอดภัยทั้งในแง่ของอาหารและสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ร้าน รวมทั้งให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้นักท่องเที่ยวรู้สึกประทับใจ"  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ มีเมืองอื่นๆ ที่ติดอันดับสวรรค์แห่งอาหารริมทางอีก 22 เมือง เช่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมืองโฮโนลูลู สหรัฐฯ เมืองเดอร์บัน แอฟริกาใต้ เมืองนิวออร์ลีนส์ สหรัฐฯ เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย.59 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน" ตอนหนึ่งถึงการจัดระเบียบรถที่จอดรถ เส้นทางจราจร การรับส่ง รวมทั้ง การขายของบนทางเท้า ริมถนน ว่า เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย จริงๆ แล้วไม่ใช่วิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมอันดีงามของไทย มันเริ่มมาจากการปล่อยปละละเลย จนเป็นความเคยชิน ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นระเบียบ รวมถึงเป็นช่องทางเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง และความไม่เท่าเทียมในสังคมกับประชาชนกลุ่มอื่น ผู้ใช้เส้นทางสัญจรไม่ได้รับความสะดวก ถูกละเมิดสิทธิ โดยการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถือว่าไม่เป็นธรรม 

"ขอความร่วมมือด้วย ไม่อยากให้อ้างว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย แล้วเราไปขับไล่เขา ไม่ใช่ ทุกคนต่างต้องเข้าใจ และเห็นใจ รัฐบาลเองก็มีมาตรการรองรับ เช่น การจัดสรรพื้นที่ใหม่ ที่ถูกกฎหมาย มีระเบียบ มีที่จอดรถ สะดวกทั้งผู้ซื้อ–ผู้ขาย ช่วงแรกก็อาจต้องปรับตัว ไม่สะดวกสบายมากนัก ยังขายไม่คล่อง เพราะยังไม่คุ้นชินกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ แต่ผมว่ามันจะสร้างความสบายใจกว่าเดิมกับทุกฝ่าย ขอให้เห็นใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วย ร่วมมือกันไม่ว่าจะรายได้น้อย รายได้สูง อย่างไรก็ตามต้องแก้ไขกันด้วยกฎหมาย และรักษากฎกติกาที่ชัดเจนต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลานพลทหารวิเชียร ขอความเป็นธรรม หลัง ศตช. มีความเห็นส่งฟ้องคดีหมิ่นประมาท ร.อ.ภูริ โสภณ

Posted: 16 Mar 2017 04:58 AM PDT

นริศราวัลถ์ หลานสาวพลทหารวิเชียร เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุด หลังสำนักงานตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเห็นส่งฟ้องคดีหมิ่นประมาท ร.อ.ภูริ โสภณ ผู้ซึ่ง ป.ป.ท. มีมติว่า กระทำความผิดอาญา ม.290 , 157 ,83

16 มี.ค. 2560 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวพลทหารวิเชียร เผือกซ้อม ซึ่งถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตระหว่างเข้ารับการฝึกเป็น ทหารเกณฑ์ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือของความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ในกรณีที่เธอ ถูกฟ้องเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ 773/2558 ของ สภ.เมืองนราธิวาส ตามฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมฯ หลังจากเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2560 นริศราวัลถ์ ได้รับทราบจากรองผู้บัญชาการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศตช.) ว่าได้มีความเห็นแย้งกับพนักงานอัยการ โดยทาง ศตช.เห็นควรส่งฟ้องศาลฐาน "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ควรให้สอบสวนเพิ่มเติม 5 ประเด็น และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดชี้ขาด"

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการ ร.อ.ภูริ โสภณ ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2558  โดยกล่าวหาว่า นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ใช้เฟซบุ๊กโพสต์และแชร์รูปพร้อมข้อความหมิ่นประมาท ร.ท.ภูริ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง โดยพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนราธิวาส ได้ตั้งข้อหา "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ" และพนักงานสอบสวนได้มีความเห็นเสนออัยการว่าควรสั่งฟ้องทั้งสองข้อหา

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2559  อัยการจังหวัดนราธิวาสได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นริศราวัลถ์ ทุกข้อกล่าวหา จึงต้องส่งไปให้ผู้บัญชาการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้พิจารณาตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 115/2557

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่พลทหารวิเชียร เผือกสม น้าชายของ นิรศราวัลภ์ ถูกซ้อมจนเสียชีวิตเมื่อปี 2554 ที่หน่วยฝึกค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โดย นริศราวัลถ์ ได้เป็นตัวแทนของครอบครัวเรียกร้องความเป็นธรรม จนกระทั่งจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่และ ปปท. ซึ่งใช้เวลานานถึง 5 ปี จึงพบว่า ร.อ.ภูริ เพิกโสภณ เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าว 

โดยในวันนี้ นริศราวัลถ์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด โดยมีรายละเอียดในหนังสือ ดังนี้

สืบเนื่องจาก ข้าพเจ้า นางสาวนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ได้ตกเป็นผู้ต้องหาภูกดำเนินคดีอาญาที่ 773/2558 ของสถานีตำรวจภูธรเมืองนราธิวาสในฐานความผิด "หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร" และฐาน "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาน และเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ" แจ้งความร้องทุกข์ โดยร้อยเอกภูริ เพิกโสภณ เมื่อ 18 ธันวาคม 2558 และได้มีการขอหมายจับจากศาลนราธิวาส จนนำมาสู่การจับกุมตัวโดยตำรวจชุดสืบสวนจาก ศชต. ร่วมกับชุดสืบสวนจาก สน.มักกะสัน แต่งกายนอกเครื่องแบบ จำนวน 8 นาย เข้าจับกุมขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ราชการ ณ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวง พม. และเดินทางมารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน สภ.เมืองนราธิวาส เมื่อ 26 ก.ค.2559

ต่อมาพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน ได้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส เมื่อ 18 เมษายน 2559 และอัยการเจ้าของสำนวน มีความเห็นสั่งฟ้อง แต่เนื่องจากได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุดไว้ จึงต้องนำส่งสำนวนให้กับอัยการประจำจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นด้วยอัยการประจำจังหวัดนราธิวาสพิจารณามีความเห็นแล้วส่งต่อให้รองอจึงนำส่งสำนวนให้รองอธิบดีอัยการภาคมีความเห็นแล้วส่งต่ออธิบดีอัยการภาค 9 ซึ่งมีความเห็นเป็นเสียงเดียวกัน คือ สั่งไม่ฟ้องทุกข้อกล่าวหา และนำส่งสำนวนให้กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยผู้บัญชาการ ศชต.พิจารณาให้ความเห็นต่อไป

โดยมีสาเหตุมาจากการไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากร้อยโทภูริฯ ได้ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติไต่สวนชี้มูลว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ประกอบมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และประมวลกฎหมายอาญาทหาร พ.ศ. 2473 มาตรา 30(4) แต่กองทัพบก โดย พล.ร.15 ไม่สั่งพักราชการเช่นเดียวกับคนอื่น

ทั้งนี้ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้มีการดำเนินการพักราชการร้อยเอกภูริฯ ไปแล้ว 1 ฉบับ ก่อนที่ร้องเอกภูริจะแจ้งความ แต่ไม่มีการสั่งพักราชการกับประการใด โดยการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาเห็นควรให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ภายหลังจากการถูกจับกุมตัวและตกเป็นผู้ต้องหา จึงได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมอีก 3 ฉบับ ประกอบกับได้มีโอกาสเข้าพูดคุยชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งมอบเอกสารหลักฐานที่ยืนยันการกระทำความผิดของ ร้อยเอกภูริฯ ให้กับ ผบ.พล.ร.15 แม่ทัพภาคที่4 และ ผบ.ทบ. รับทราบ ซึ่งทั้งสามระดับพิจารณาให้พักราชการจาก ทบ. และให้ รมว.กห.พิจารณาชี้ขาด ท้ายสุดมีคำสั่งพักราชการกับร้อยเอกภูริฯ

โดยให้งดจ่ายเงินรายเดือนและค่าเช่าบ้าน สั่ง ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2559 เนื่องจาก คณะกรรมการ ป.ป.ท.ได้มีมติชี้มูลตาม ม.157, 290, 83 และประมวลกฏหมายอาญาทหาร พ.ศ.2473 ม.30(2) กรณีการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียร เผือกสม และทางอาญาอยู่ในระหว่างอัยการมณฑลทหารที่ 46 จังหวัดปัตตานี เตรียมสั่งฟ้องภูริและพวกรวม 10 นาย ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคสอง มาตรา 157 มาตรา 83 ประมวลกฎหมายอาญาทหาร พ.ศ. 2473 มาตรา 30(2)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหรัฐฯ เตรียมติดตั้งโดรนจู่โจมในเกาหลีใต้-รับมือนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

Posted: 16 Mar 2017 04:50 AM PDT

กองทัพสหรัฐฯ เตรียมส่งโดรนจู่โจม "เกรย์ อีเกิลส์" ประจำคาบสมุทรเกาหลี ตอบโต้เปียงยางพัฒนานิวเคลียร์พิสัยไกล-แถมยิงจรวด 4 ลูกตกใกล้ชายฝั่งญี่ปุ่น ขณะที่ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เตรียมเยือนเขตปลอดทหาร/เส้นขนานที่ 38 - ด้านสถานทูตเกาหลีเหนือที่ปักกิ่งแถลงเดือดประณามซ้อมรบประจำปีเกาหลีใต้-สหรัฐฯ และการติดตั้งระบบ THAAD ว่าสร้างความตึงเครียดแก่ภูมิภาค

แฟ้มภาพโดรนจู่โจมรุ่น "เกรย์ อีเกิลส์" เผยแพร่โดยสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้ ทั้งนี้กองทัพสหรัฐอเมริกาประจำเกาหลีใต้ประกาศจะติดตั้งโดรนจู่โจม เพื่อรับมือขีปนาวุธของเกาหลีเหนือซึ่งอ้างว่าอยู่ระหว่างพัฒนาเพื่อติดหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเบา (ที่มา: Yonhap) 

กองทัพสหรัฐอเมริกาประจำเกาหลี (USFK) เริ่มติดตั้งระบบยิงสกัดขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง THAAD ภาพเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2017 (ที่มา: USFK/Flickr)

ภาพไม่ระบุวันที่ของสำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) ของทางการเกาหลีเหนือ ระบุว่าเป็นการซ้อมยิงขีปนาวุธโดยหน่วยทหารปืนใหญ่ฮวาซ็อง กองทัพเกาหลีเหนือ โดยภาพถูกเผยแพร่เมื่อ 7 มีนาคม 2017 ในช่วงที่เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาซ้อมรบร่วมประจำปี ซึ่งการซ้อมรบจะกินเวลานาน 2 เดือน และไปสิ้นสุดช่วงปลายเดือนเมษายน (ที่มา: KCNA/Urminzokkiri)

 

14 มี.ค. 2560 กองทัพสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ (USFK) ประกาศว่าจะมีการนำอากาศยานไร้คนขับหรือ โดรน (Drone) ที่สามารถบรรทุกจรวดแบบเฮลไฟร์ (Hellfire) ในเกาหลีใต้หลังจากเกาหลีเหนือ ภายหลังเกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธสี่ลูกไปตกบริเวณใกล้ชายฝั่งญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

จากกรณีที่รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ออกมาแถลงว่า เกาหลีเหนือสามารถสร้างหัวรบนิวเคลียร์ที่เล็กพอจะติดตั้งไว้ที่ส่วนหัวของขีปนาวุธได้ และกำลังพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental ballistic missle: ICBM) ที่สามารถยิงไปไกลถึงภาคพื้นทวีปของสหรัฐฯ สร้างความตึงเครียดต่อความมั่นคงในภูมิภาค

ที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐฯ ได้มีมาตรการรับมือต่อภัยคุกคามด้วยการติดตั้งระบบยิงสกัดขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง THAAD (Terminal High Altitude Area Defense System) ในเกาหลีใต้ไปแล้วเมื่อ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด กองทัพสหรัฐฯ ได้วางแผนที่จะนำโดรนจู่โจมรุ่น เกรย์ อีเกิลส์ (Grey Eagles) มาประจำการในเกาหลีใต้เป็นการถาวร โดยทางกองทัพสหรัฐฯ กล่าวว่า การติดตั้งโดรนจะ "เพิ่มพูนสมรรถนะด้านงานข่าวกรอง การสอดส่องตรวจตรา และลาดตระเวน"

เกรย์ อีเกิลส์ เป็นโดรนที่ได้รับการพัฒนามาจากรุ่น พรีเดเตอร์ (Predator drone) เกรย์ อีเกิลส์ ถูกออกแบบมาให้ติดตั้งขีปนาวุธประเภทเฮลไฟร์ จรวดอากาศยานสู่พื้นที่ใช้ต่อต้านยานเกราะได้ถึง 4 ลูก โดยโดรนจะถูกติดตั้งไว้ที่ฐานทัพอากาศคุนซัน เกาหลีใต้

อย่างไรก็ดี มาร์ค โทเนอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงว่าการนำโดรนมาประจำการมีวัตถุประสงค์ในแง่ของการป้องกัน "นอกจากการติดตั้ง THAAD แล้ว โดรนเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อมาตรการการป้องกัน เพื่อตอบโต้กับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเรา - ในที่นี้คือ เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น"

ในช่วงเวลาเดียวกัน มีรายงานด้วยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเยือนญี่ปุ่น จะเดินทางเยือนเขตปลอดทหารชายแดนเกาหลีใต้-เกาหลีเหนือ ในวันศุกร์นี้ (17 มี.ค.) และจะเยือนเกาหลีใต้เป็นเวลา 2 วัน

เกาหลีเหนือแถลงตอบโต้สหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ ซ้อมรบ-ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD

ขณะเดียวกันในวันนี้ (16 มี.ค.) สถานทูตเกาหลีเหนือ ประจำกรุงปักกิ่ง แถลงข่าวตอบโต้การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ด้วย โดยระบุว่าจะทำลายสมดุลทางยุทธศาสตร์ในเอเชีย ทั้งนี้ยอนฮัปรายงานว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตเกาหลีคุมเข้มห้ามนักข่าวเกาหลีใต้เข้าไปทำข่าว โดยเลือกเฉพาะนักข่าวต่างประเทศบางกลุ่มเท่านั้น

พัก มย็องโฮ ทูตเกาหลีเหนือในปักกิ่งระบุด้วยว่า ไม่สามารถยอมรับการซ้อมรบร่วมระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา เพราะสร้างความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี เขายังอ้างด้วยว่าการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THADD เป็นการคุกคามเกาหลีเหนือ จีน และรัสเซีย

ทั้งนี้ปฏิกิริยาดุเดือดของนักการทูตเกาหลีเหนือในวันนี้ และคำขู่เมื่อ 7 มี.ค. ของเปียงยางว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้ทั้งเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งภาพไม่ระบุวันที่ของสำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) แสดงภาพคิม จองอึน ตรวจตราการซ้อมยิงขีปนาวุธโดยหน่วยทหารปืนใหญ่ฮวาซ็อง ของกองทัพเกาหลีเหนือ เกิดขึ้นในช่วงที่เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาซ้อมรบประจำปีภายใต้รหัส "Foal Eagle" ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 1 มีนาคมที่่ผ่านมา โดยสหรัฐอเมริกาส่งทหารฝึกซ้อมรบ 17,000 นาย เกาหลีใต้ส่งทหารซ้อมรบ 300,000 นาย และจะกินระยะเวลาซ้อมรบ 2 เดือนจนถึงสิ้นเดือนเมษายน นอกจากนี้ยังมีฝึกสถานการณ์ซ้อมรบจำลองผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ภายใต้รหัส "Key Resolve" จะกินเวลา 2 สัปดาห์

 

นักวิชาการความมั่นคงหวั่นภูมิภาคจะเดือดกว่าเดิม ถ้าคุยกันไม่เคลียร์

ต่อแผนการติดตั้งโดรนดังกล่าว เจฟฟรีย์ ลิวอิส ผู้อำนวยการโครงการยกเลิกการสะสมอาวุธในเอเชียตะวันออก สถาบัน Middlebury Institue of International Affairs แคลิฟอร์เนีย ให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ต้องแสดงจุดยืนของการติดตั้งโดรนเพื่อการป้องกันด้วยการไม่ติดตั้งหัวรบให้กับโดรนให้ชัดเจนที่สุด เพราะการมีโดรนที่มีศักยภาพในการจู่โจมก็เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเกาหลีเหนือเช่นกัน ซึ่งอาจยกระดับสถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้เข้าใกล้สภาวะสงครามมากขึ้น

"เกาหลีเหนือกลัวเราจู่โจมเพื่อเอาชีวิต คิม จองอึนเป็นที่สุด … และนั่นจะยิ่งโหมกระพือให้เกาหลีเหนือกระจายอำนาจการยิงขีปนาวุธให้กับเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งที่ลดหลั่นลงมา"

ลิวอิส เชื่อว่า เกาหลีเหนือมียุทธศาสตร์การป้องกันการจู่โจมก่อน (Preemptive Strike) ด้วยการยิงหัวรบนิวเคลียร์เพื่อโจมตีก่อน "สหรัฐฯ วางแผนที่จะโจมตีก่อนที่เกาหลีเหนือจะทำอย่างนั้น และเกาหลีใต้ก็มีแผนที่จะโจมตีเกาหลีเหนือก่อนเราถ้าเราใช้เวลามากไป"

 

แปลและเรียบเรียงจาก

N.K. embassy in China voices opposition to military drills, THAAD, Yonhap, 2017/03/16

Tillerson to visit DMZ as part of S. Korean tour, Yonhap, 2017/03/16

US to deploy missile-capable drones across border from North Korea, The Guardian, 14 March 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บริษัทเซ็กส์ทอยแคนาดาจ่ายค่าเสียหายหลายล้าน-หลังแอบเก็บข้อมูลผู้ใช้ไวเบรเตอร์

Posted: 16 Mar 2017 01:25 AM PDT

เมื่อ "เซ็กส์ทอย" ประเภทสมาร์ทไวเบรเตอร์ที่ควบคุมการใช้งานทางไกลผ่านแอปพลิเคชันของบริษัทแคนาดาเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ทำให้ถูกฟ้องเรื่องแอบเก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า และถูกศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายแล้ว 4 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือราว 105 ล้านบาท

ที่มาของภาพประกอบ: Facebook/We-Vibe

ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในรัฐอิลินอยส์สั่งให้ 'วีไวบ์' (We-Vibe) บริษัทผลิตเซ็กส์ทอยสัญชาติแคนาดา ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ลูกค้ารวมแล้วเป็นเงิน 4 ล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 105 ล้านบาท) หลังจากที่มีการฟ้องร้องแบบในนามกลุ่มบุคคล (class-action lawsuit) กรณีที่วีไวบ์ส่ง "สมาร์ทไวเบรเตอร์" ชื่อ 'วีไวบ์โฟร์พลัส' (We-Vibe 4 Plus) ที่มีความสามารถในการเก็บข้อมูลผู้ใช้ได้โดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว

สแตนดาร์ดอินโนเวชัน บริษัทแม่ของวีไวบ์ถูกสั่งให้จ่ายเงินค่าเสียหายรวมแล้ว 4 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อลูกค้าทุกคนที่ถูกเก็บข้อมูลโดยไม่รู้ตัวจากที่กลุ่มลูกค้าเคยฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นวงเงิน 1 หมื่นล้าน ดอลลาร์แคนาดา (ราว 260,000 บาท) ต่อจำนวนสินค้าที่ส่งให้ลูกค้า แต่จากคำสั่งศาลล่าสุดพวกเขาจะได้รับค่าเสียหายราวคนละ 199 ดอลลาร์แคนาดา (ราว 5,000 บาท) เท่านั้น

วีไวบ์โฟร์พลัสเป็นสินค้าไวเบร์เตอร์ที่มีการติดอุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สายบลูทูธที่ควบคุมผ่านแอปพลิเคชัน บริษัทโฆษณาไวเบรเตอร์ตัวนี้ว่า "ทำให้คู่รักคงประสบการณ์เร่าร้อนไว้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ด้วยกันหรืออยู่ห่างไกล" แอปพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อกับไวเบรเตอร์จะสามารถใช้ควบคุมการเปิดปิดไวเบรเตอร์ทางไกลได้ เช่น ผ่านทางคู่รักที่วิดีโอคอลหากัน

อย่างไรก็ตามแอปพลิเคชั่นดังกล่าวก็มีข้อบกพร่องในเรื่องความปลอดภัยและสิทธิความเป็นส่วนตัว ความหละหลวมเรื่องความเป็นส่วนตัวนี้เองที่ทำใครก็ตามที่อยู่ในระยะทางที่สัญญาณบลูทูธไปถึงจะสามารถสั่งงานควบคุมไวเบรเตอร์ได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ไวเบรเตอร์ตัวนี้จะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าส่งไปให้กับบริษัทสแตนดาร์ดอินโนเวชัน ข้อมูลที่ส่งไปจะทำให้บริษัทรับรู้ถึงอุณหภูมิของเครื่องมือและระดับความเข้มข้นการสั่นของไวเบรเตอร์ รวมกันแล้วจะทำให้ได้ข้อมูลพฤติกรรมทางเพศของผู้ใช้

ข้อเสียในเซ็กส์ทอยของวีไวบ์ ถูกเปิดเผยมาตั้งแต่ในการประชุมสัมมนาของแฮกเกอร์ Def Con ที่ลาสเวกัสเมื่อปี 2559 มีแฮกเกอร์จากนิวซีแลนด์สองคนที่ชี้ให้เห็นว่าไวเบรเตอร์นี้มีปัญหาร้ายแรงในระดับที่อาจจะทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศจากการทำให้อุปกรณ์ทำงานในแบบที่ผู้ใช้ไม่ต้องการได้

เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงเรื่องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) คือแนวความคิดที่ว่าในยุคไอทีจะเริ่มมีการพัฒนาระบบที่อุปกรณ์ต่างๆ รอบตัวของมนุษย์นอกเหนือจากคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือจะนำมาใช้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้เกิดสิ่งของที่เรียกว่า "สมาร์ทอ็อบเจ็กต์" ต่างๆ แต่ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์และชวนให้กังวลต่อแนวคิดนี้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการควบคุมข้อมูลของผู้ใช้ สิทธิความเป็นส่วนตัว การเก็บข้อมูลส่วนตัว ความปลอดภัย รวมถึงเกิดการแบ่งส่วนตลาดจนทำให้ขาดมาตรฐานความเชี่ยวชาญระบบเหล่านี้

สแตนดาร์ดอินโนเวชันออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ว่าพวกเขามีความจริงจังในเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้าอย่างจริงจัง พวกเขาได้ติดตั้งการแจ้งเตือนเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว เพิ่มความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน ให้ผู้ใช้มีทางเลือกมากขึ้นว่าจะเผยแพร่ข้อมูลอะไรบ้าง และพวกเขาก็จะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเพื่อพัฒนาโปรแกรมแอปพลิเคชันต่อไป

 

เรียบเรียงจาก

Vibrator maker ordered to pay out C$4m for tracking users' sexual activity, The Guardian, 14-03-2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยก่อนปรองดอง#3 จันทจิรา เอี่ยมมยุรา “การทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจเป็นคำตอบทุกข้อของปัญหา”

Posted: 16 Mar 2017 12:44 AM PDT

นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ไม่เชื่อ ป.ย.ป. แก้ขัดแย้ง สองมาตรฐานได้ เพราะเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เชื่อว่าทางเดียวคือการคืนอำนาจให้ประชาชน ปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยทำงานโดยไม่ถูกขัดจังหวะ ขอโทษและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากกระบวนการยุติธรรม

คณะกรรมการย่อยในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) เกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามเรื่องการปรองดอง แต่คำตอบที่ถูกต้องย่อมมาจากคำถามที่ถูกต้อง

ด้านหนึ่งที่ ป.ย.ป. สนใจคือด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และมีแนวคำถามว่า 'ทางออกหรือวิธีการดำเนินการต่อประเด็นความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม การแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อการขยายไปสู่ความขัดแย้ง (จะแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย 2 มาตรฐานอย่างไร)'

ประชาไทนำประเด็นนี้ไปสนทนากับจันทจิรา เอี่ยมมยุรา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ เบื้องต้นเธอตั้งข้อสังเกตกับคำถามว่า ผู้ตั้งคำถามเหมือนกับไม่ได้อยู่ในสังคมไทย ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

"แต่เราก็รู้ว่ากลุ่มคนที่ตั้งคำถาม ป.ย.ป. ก็คือคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งนั้น จริงๆ แล้วก็เป็นผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาสองมาตรฐานในทุกๆ เรื่องด้วยซ้ำไป แต่ตั้งคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เกิดสองมาตรฐาน คือไม่คิดว่ามันจะเป็นคำถามที่เอาไปทำอะไรต่อได้"

จันทจิราไม่ปฏิเสธว่า ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทยมีอยู่จริงและการบังคับใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐานก็เห็นได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อผู้ตั้งคำถามคือผู้ที่ทำให้เกิดสองมาตรฐาน จึงป่วยการที่จะคาดหวังความจริงจังในการหาคำตอบและลงมือปฏิบัติ

ถามว่าแล้วจะแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมนี้อย่างไร คำตอบของจันทจิรากลับไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่ตัวกระบวนการยุติธรรมหรือตัวบทกฎหมาย แต่มุ่งไปที่ภาพใหญ่กว่านั้นคือตัวระบอบการเมืองทั้งระบอบ เธอมองว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบัน ยากเกินกว่าที่กลไกใดกลไกหนึ่งจะเยียวยาได้ ทุกฝ่ายต้องนั่งคุยกันอย่างจริงจังก่อนที่เหตุการณ์จะพัฒนาไปถึงจุดที่เป็นไปเอง ซึ่งก็ไม่มีใครบอกได้ว่าจะลงเอยเช่นใด

"สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ต้องเป็นสิ่งที่ใหญ่มากคือแก้ที่ระบอบ แก้ให้ผู้ถืออำนาจสูงสุดกลับมาอยู่ในที่ในทางที่ควรจะเป็น"

จันทจิราขยายความว่า โดยปกติแล้ว เครื่องมือกลไกของรัฐทั้งหมดย่อมตอบสนองและดำเนินสอดคล้องไปกับผู้ถืออำนาจสูงสุด ถ้ากลไกเหล่านี้ไม่ตอบสนอง ก็มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือผู้ถืออำนาจกระเด็นออกไปหรือถ้าผู้ถืออำนาจมีกำลังมากพอก็จะบังคับให้กลไกเหล่านี้ต้องตอบสนองตนเอง

"เมื่อมีประชาธิปไตย มีนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไปตามปกติ จะมีการประกันให้ สถาบันต่างๆ จะรับรู้ถึงคุณค่าตรงนี้ และปฏิบัติหน้าที่ของตนสอดคล้องกับคุณค่านี้ตามระบอบ เมื่อผู้ถืออำนาจสูงสุดคือประชาชน กลไกของประชาธิปไตยมันจัดการให้สอดคล้องกับผู้ถืออำนาจสูงสุดเอง"

"โดยธรรมชาติ ผู้ถืออำนาจสูงสุดจะเป็นตัวกำหนดสถาบันต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อเจตจำนงของผู้ถืออำนาจ ในโลกยุคใหม่ประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจสูงสุด ถ้ายุคใดประชาชนถืออำนาจสูงสุด เราจะเห็นว่ากลไกของรัฐก็จะทำงานตามปกติ จะเห็นว่าหลังจากความรุนแรงปี 2535 ทุกอย่างถูกเขย่า มีรัฐธรรมนูญ 2540 คนเริ่มเห็นว่าต้องกลับมาสู่ทางที่เป็นหลักการประชาธิปไตย ตอนนั้นกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย ปฏิบัติตนอยู่ในที่ในทาง แม้จะมีความผิดพลาดบ้างก็ยอมรับได้ แต่ทุกอย่างมันตอบสนองต่อตัวรัฐธรรมนูญเวลานั้น ซึ่งให้ประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจและถือได้จริง มีการเลือกตั้ง รัฐบาลดีมาก ดีน้อย นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เป็นรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อประชาชน

"เมื่อมีประชาธิปไตย มีนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไปตามปกติ จะมีการประกันให้ สถาบันต่างๆ จะรับรู้ถึงคุณค่าตรงนี้ และปฏิบัติหน้าที่ของตนสอดคล้องกับคุณค่านี้ตามระบอบ เมื่อผู้ถืออำนาจสูงสุดคือประชาชน กลไกของประชาธิปไตยมันจัดการให้สอดคล้องกับผู้ถืออำนาจสูงสุดเอง"

แต่ภายหลังการรัฐประหาร ประชาชนก็ได้เห็นความผิดเพี้ยนของระบบและกลไก ในระบอบแบบนี้แม้แต่คนที่อยากทำงานได้ดีก็ไม่อาจอยู่ได้ เพราะระบบไม่ยินยอม ถามว่าความแตกแยกและการสองมาตรฐานเกิดขึ้นเมื่อใด มันก็เกิดขึ้นเมื่อผู้ถืออำนาจสูงสุดไม่ใช่ประชาชน กลไกทั้งหมดถูกจัดการให้ตอบสนองต่อผู้ถืออำนาจใหม่ หมายความว่าใครก็ตามที่ต่อต้านผู้ถืออำนาจใหม่จะถูกจัดการ ส่วนใครก็ตามที่สนับสนุนผู้ถืออำนาจใหม่ก็จะได้รับการสนับสนุน การช่วยเหลือ รวมทั้งการไม่ต้องรับผิดในทางกฎหมาย ดังนั้น ภาวะสองมาตรฐานก็เกิดขึ้นในสภาวะแบบนี้ กระบวนการยุติธรรมก็จะทำหน้าที่แยกประชาชนออกเป็นสองกลุ่ม จัดการกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่สนับสนุนหรือเป็นเครือข่ายรัฐบาล

"การทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจเป็นคำตอบทุกข้อของปัญหา"

หากถามว่าจะแก้อย่างไร? จันทจิราไม่มีคำตอบในเชิงกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมให้ แต่เธอเรียกร้องให้กลับสู่รากฐานของปัญหา นั่นก็คือใครคือผู้ถืออำนาจสูงสุด

"คำถามคือจะแก้ความเป็นสองมาตรฐานของกฎหมาย ของการบังคับใช้อย่างไร มันแก้ไม่ได้ ตราบเท่าที่เราไม่พูดถึงปัญหาพื้นฐาน ถ้าจะแก้ สำหรับดิฉันมีคำตอบเดียวคือคืนอำนาจสูงสุดให้แก่ประชาชน เมื่อประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจที่แท้จริง ระบบ กลไกมีอยู่แล้ว อาจได้รัฐบาลที่ดีมาก ดีน้อย แต่กลไกปกติจะช่วยคัดกรองเอง ในที่สุดประชาชนจะเรียนรู้ว่าจะเลือกผู้แทนอย่างไร ในที่สุด ระบบต่างๆ ที่เป็นปัญหาจะถูกจัดการในระบบเอง เพราะว่าทุกกลไกรับผิดชอบต่อประชาชน ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเป็นสองฝักสองฝ่าย"

สิ่งเดียวที่ต้องเพื่อแก้ปัญหาสองมาตรฐานคือกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยตั้งคำถามกันใหม่ และคำถามเฉพาะหน้าเมื่อมีประชาธิปไตยแล้ว จันทจิราเสนอว่า 'จะเยียวยาอย่างไร เยียวยาใคร กลุ่มไหน'

"คำถามที่ควรจะถามตอนนี้คือจะเยียวยาอย่างไร คุณต้องยอมรับว่ามีปัญหามาแล้ว และปัญหาสองมาตรฐานเกิดจากกระทำของรัฐหรือผู้ถืออำนาจรัฐหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความสามารถในการใช้อำนาจรัฐ แล้วเกิดการกระทำสองมาตรฐาน คนเหล่านี้ต้องได้รับการเยียวยา ถ้าคุณจะทำให้การสองมาตรฐานน้อยลง เยียวยาความรู้สึกของคนในสังคม ฟื้นฟูความรู้สึก ขอโทษประชาชนก่อน คุณต้องสร้างกระบวนการนิรโทษกรรมและชดใช้ความเสียหาย"

การคืออำนาจให้แก่ประชาชน ปล่อยให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่าจะอยู่ จะใช้ประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพในมืออย่างไร แม้อาจต้องใช้เวลานาน แต่สุดท้ายแล้วกลไกรัฐต่างๆ จะถูกปรับให้เข้าที่เข้าทางสอดคล้องกับผู้ถืออำนาจเอง ขอเพียงอย่าเกิดการขัดจังหวะหรือตัดตอน

จันทจิรา สรุปว่า

"การทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจเป็นคำตอบทุกข้อของปัญหา"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทริปดูงานยุโรป ผบ.สส.ย้ำทหารยุคใหม่ต้องดูมาตรฐานสากล 'หมาเฝ้าบ้าน' แฉซ้ำล่องเรือสำราญสแกนดิเนเวีย

Posted: 16 Mar 2017 12:27 AM PDT

ปม ทริปนศ.วิทยาลัยเสนาธิการทหาร ดูงานยุโรป 'ประวิตร' บอกไม่ต้องตั้ง กก.สอบ ผบ.สส.คาดใช้เวลาสอบ 7-10 วัน พร้อมให้ชดใช้หากใช้งบฯไม่ตามระเบียบ ย้ำต้องดูมาตรฐานสากล ทหารยุคใหม่จำเป็นที่จะต้องได้รู้ ได้เห็น ด้าน 'หมาเฝ้าบ้าน' ขยี้ซ้ำ ปล่อย EP.2 ภาค ล่องเรือสำราญสแกนดิเนเวีย

 

16 มี.ค. 2560 ความคืบหน้ากรณี เว็บไซต์องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รายงานปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ว่าได้เปิดข้อมูลทริปศึกษาดูงานของวิทยาลัยเสนาธิการทหาร (วสท.) สถาบันการศึกษาชั้นสูงทางทหารขึ้นตรงกับสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย จัดทริปนำนักศึกษาและคณาจารย์ในหลักสูตรเสนาธิการร่วม รุ่น 57 รวม 107 คน ไปดูงานต่างประเทศ แบ่ง 3 สาย แต่ละสายใช้เวลาเกือบครึ่งเดือน ช่วงเดือนมี.ค. 2559 ซึ่งรายละเอียดการเดินทางส่วนมากเป็นการท่องเที่ยว ช็อปปิ้ง รวมทั้งชมการแข่งขันฟุตบอลนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (แฟ้มภาพ)

ประวิตร บอกไม่ต้องตั้ง กก.สอบ

วานนี้ (15 มี.ค.60) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบรายละเอียดวิทยาลัยเสนาธิการทหาร โดยยืนยันว่า ไม่จำเป็น ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง  อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้กำชับไปแล้วว่าการศึกษาดูงานนั้น ต้องเน้นการได้ข้อมูลความรู้ ไม่ใช่เป็นการท่องเที่ยว และกลับมาก็ต้องมีการเขียนรายงานผลการดูงาน

"ถามไปทางโรงเรียนเขาก็รู้ ไม่ต้องตั้งกรรมการ เอะอะอะไรก็ตั้งกรรมการ เดี๋ยวผมจะตั้งพวกคุณนี่ล่ะ" พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในกรณีทริปดูงานยุโรปวิทยาลัยเสนาธิการทหาร

ผบ.สส.คาดใช้เวลาสอบ 7-10 วัน พร้อมให้ชดใช้หากใช้งบฯไม่ตามระเบียบ

ล่าสุดวันนี้ (16 มี.ค.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.สุรพงษ์  สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีการเดินทางไปดูงานของหลักสูตรวิทยาลัยเสนาธิการทหาร  ที่กำลังถูกวิจารณ์และเป็นข่าวว่า ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้ พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ กฤษณคุปต์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ด้านการศึกษา ไปดูข้อเท็จจริง ว่ามีอะไรที่ไม่ถูกระเบียบหรือไม่  เนื่องจากเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว คาดว่า จะใช้เวลาในการตรวจสอบ 7-10  วัน

"ที่ผ่านมาการดูงาน ข้อมูล ไม่ได้มีการนำเสนอ และไม่ให้เผยแพร่  ภาพที่ออกมาส่วนใหญ่จึงเป็นช่วงของการพักผ่อน  อย่างไรก็ตาม หากการตรวจสอบพบว่าบกพร่อง หรือการใช้งบฯ ไม่เป็นไปตามระเบียบ ก็จะมีการเรียกเงินคืน หรือให้ชดใช้  ซึ่งในอดีตก็เคยมีการเรียกเงินคืนมาแล้ว" พล.อ.สุรพงษ์  กล่าว และย้ำว่า วิทยาลัยเสนาธิการทหารเป็นหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานสากล  มีนายทหารจากเหล่าทัพต่างๆ มาศึกษาร่วมกัน  โดยการคัดเลือกนายทหารจาก 1,000 คน เหลือเพียง 100 คน

พล.อ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เราเข้าใจเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่เข้มแข็ง การดูงานต้องคุ้มค่าและประหยัด ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงการปฎิรูป ก็พร้อมจะมีการปรับรูปแบบ และงบฯ ลดลง การดูงานมีคณะกรรมการคอยพิจารณา ในปีนี้จะเน้นดูงานในประเทศอาเชียน บวก 3 เน้นสถานการณ์ในภูมิภาคใกล้ และลดการดูงานเหลือเพียง 10 วัน

ย้ำต้องดูมาตรฐานสากล ทหารยุคใหม่จำเป็นที่จะต้องได้รู้ ได้เห็น

"การดูงานต่างประเทศ เราต้องดูมาตรฐานสากล ว่าการศึกษาหลักสูตรลักษณะนี้ เขาทำอะไรกันบ้าง เราต้องอยู่ในมาตราฐานใกล้เคียงกัน เราอาจจะจำกัดด้วยงบประมาณ ไปสั้นกว่าระยะทางอาจจะใกล้กว่า ในหลายประเทศเขาไปเป็นเดือน ดูทั้งทวีป" พล.อ.สุรพงษ์ กล่าว

พล.อ.สุรพงษ์  ยืนยันว่า ในยุคใหม่ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รู้ ได้เห็น เพราะนายทหารของเราที่เติบโตขึ้นมา ส่วนมากอยู่ตามพื้นที่ต่างจังหวัด และพื้นที่ชายแดน  พอมาเรียนโรงเรียนเสนาธิการเหล่าทัพ ก็ประมาณพันตรี ให้เห็นประเทศรอบบ้าน  พอระดับพันเอก มาเรียนหลักสูตรนี้ ควรจะได้รู้เห็นอะไรมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฎิบัติมานานแล้ว และเป็นแนวทางสากล  อย่างไรก็ตาม เรามีการทบทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการใช้งบฯ อย่างคุ้มค่าและประหยัด       

'หมาเฝ้าบ้าน' ปล่อย EP.2 ภาค ล่องเรือสำราญสแกนดิเนเวีย

ขณะที่วานนี้ (15 มี.ค.60) ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ได้เปิดเผยทริบวิทยาลัยเสนาธิการทหาร EP.2 ภาค ล่องเรือสำราญสแกนดิเนเวีย พร้อมเชิญชวนให้รอติดตามตอนต่อๆ ไปด้วย โดยปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน โพสต์ว่า นำชมข้อมูลทริปศึกษาดูงานสายที่ 2 ยกคณะกันไป 36 คน เยือนกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย  13 วัน ระหว่างวันที่ 4-17 มี.ค. 2559 ครบหมดทั้งเดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดน รวมทั้งล่องเรือสำราญสุดหรูสองรอบซ้อน กับหนึ่งเที่ยวรถไฟสายโรแมนติก

ที่มาภาพ เพจ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน

โดย ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ระบุรายละเอียดดังนี้ 

คณะออกเดินทางคืนวันที่ 4 มี.ค ด้วยสายการบินไทย TG950 ถึงเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กช่วงเช้าวันที่ 5 มี.ค. เท้าแตะพื้นก็เจิมทริปแบบงาม ๆ ด้วยการเซลฟี่กับจตุรัสหน้าพระราชวังอมาเลียนบอร์ก สถานที่ประทับในช่วงฤดูหนาวของราชวงศ์เดนมาร์กในเมืองโคเปนเฮเกน ต่อด้วยรูปปั้นนางเงือกน้อย พักกินข้าวเที่ยงแล้วชมปราสาทเฟรเดอริกบอร์ก ตกเย็นไปเข้าชมพระราชวังโครนบอร์กที่เมืองเฮลซิงเกอร์ กลับไปพักที่ First Hotel Copenhagen

6 มี.ค. เช้าชมพระราชวังคริสเตียนบอร์ก บ่ายออกเดินทางไปเมืองมัลโม ประเทศสวีเดน ผ่านช่องแคบโอเรซุนด์ (Oresund) ชมปราสาทมัลโมและพิพิธภัณฑ์ เดินทางกลับเข้าเมืองโคเปนเฮเกนเพื่อชมหมู่บ้าน Hereford 

7 มี.ค. เก้าโมงเช้าเข้าฟังบรรยายสรุปและชมกิจการของ Royal Danish Defence College ใช้เวลาแบบแผ่วเบาแล้วต่อด้วยการเข้าคำนับเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคเปนเฮเกนตอนสิบเอ็ดโมง ตกบ่ายเดินทางไปยังเมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ โดยล่องเรือ DFDS เรือสำราญสุดไฮโซที่มีทั้งผับ บาร์ ห้องซาวน่า ห้องเล่นเกม ค่ำนั้นพักค้างคืนบนเรือ

8 มี.ค. เรือสำราญ DFDS เทียบท่าที่เมืองออสโล นอร์เวย์ คณะเข้าชมพิพิธภัณฑ์ Norwegian Maritime Museum ต่อด้วยพิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้ง แวะถ่ายรูปที่ Vigeland Park สวนประติมากรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตอนเย็นเข้าคำนับเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงออสโลใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงค่อยปิดท้ายด้วยอาหารเย็น 

9 มี.ค. เดินทางไปเมืองฟลอม แวะชมพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่และรถไฟที่หมู่บ้าน Flamsbana ล่องเรือชมซองเนฟยอร์ด ช่องทางน้ำที่เกิดจากการกัดเซาะของธารน้ำแข็งบนที่ราบหุบเขาที่ใหญ่ที่สุดในนอร์เวย์

10 มี.ค. ขึ้นรถไฟศึกษาภูมิประเทศระหว่างเมืองฟลอม ไมร์ดัล และวอสส์ ด้วยรถไฟสายโรแมนติค Flambanen ที่โด่งดังที่สุดของนอร์เวย์ด้วยขบวนรถแบบคลาสสิคซึ่งตลอดเส้นทางผ่านทั้งหุบเขา ทะเลสาบ และฟยอร์ด แวะชม Fleischer's Hotel แล้วขึ้นกระเช้าชมเมืองเบอร์เก้น

11 มี.ค. บินจากเมืองเบอร์เก้น นอร์เวย์ แวะเปลี่ยนเครื่องที่เมืองสตอล์กโฮล์ม สวีเดนเพื่อไปยังเมืองเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ ตอนเย็นคำนับเอกอัครราชทูตไทยประจำเฮลซิงกิ พักที่โรงแรม Radisson Blu

12 มี.ค. ชมแลนด์มาร์กดังของเมืองเฮลซิงกิ ทั้งจัตุรัสรัฐสภา (Senate Square) มหาวิหารอุสเปนกี้ โบสถ์นิกายออร์โธดอกซ์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก ชมอนุสาวรีย์ฌองซีเบเลียส ตามด้วยโบสถ์หิน Temppeliaukio ตรวจสภาวะแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ตลาดริมท่าเรือ จากนั้นพักผ่อนบนเรือสำราญสุดหรู Silja Line ผ่านทะเลบอลติกสู่เมืองสตอล์กโฮล์ม ประเทศสวีเดน

13 มี.ค. เรือสำราญนำเดินทางถึงเมืองสตอล์กโฮล์ม สวีเดนในช่วงสาย เข้าชมเรือรบโบราณที่พิพิธภัณฑ์เรือวาซ่า ช่วงบ่ายเข้าชมศาลาว่าการเมืองสตอล์กโฮล์มซึ่งเป็นสถานที่สำหรับจัดเลี้ยงให้ผู้ได้รับรางวัลโนเบลของทุกปี 

14 มี.ค. เช้าดูงานที่โรงผลิตไฟฟ้าจากขยะ บ่ายครึ่งไปชมบริษัทผลิตเครื่องบินกริพเพน รับฟังบรรยายสรุป สนทนาซักถาม ห้าโมงเย็นคำนับเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงสตอล์กโฮล์ม 

15 มี.ค. ช่วงเช้าชมพระราชวังหลวงของราชวงศ์สวีเดนที่ย่านเมืองเก่าบนเกาะกัมลาสตอน (Gamla stan) จากนั้นภาคบ่ายตรวจสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม ศิลปะวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองสตอล์กโฮล์ม เช่น Stockholm Quality Outlet

16 มี.ค. เช้าเดินทางไปสนามบิน บ่ายโมงออกเดินทางกลับไทยด้วยเที่ยวบิน TG963 ถึงประเทศไทยในช่วงเช้าของวันที่ 17 มี.ค. ปิดทริปเรียบร้อย
 

"ทริปดูงาน "ค่อนข้างจริงจัง" ตามคำยืนยันจาก ผบ.สูงลิ่ว ของบรรดานายทหารหลักสูตรเสนาธิการร่วมชั้นยศพันเอกของสามเหล่าทัพ ตำรวจและข้าราชการพลเรือนซี 8 ซี 9 หักวันเดินทางเหลือเวลาในยุโรปราว 10 วัน คิดชั่วโมงดูงานที่พอจะพูดได้ว่าสอดคล้องภารกิจ ได้แก่ ดูงานที่ Royal Danish Defence College เกือบสองชั่วโมงกับดูโรงงานเครื่องบินกริพเพนราว 3 ชั่วโมง กับดูโรงงานขยะราว 3 ชั่วโมง" ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน โพสต์ทิ้งท้าย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กก.สอบสวนมีมติปลดออก บิ๊กกรมทรัพย์สินฯ จิ๊กภาพที่ญี่ปุ่น

Posted: 15 Mar 2017 11:04 PM PDT

คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง มีมติปลด สุภัฒ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทาง กรณีขโมยภาพวาดในโรงแรมที่ญี่ปุ่น แต่สิทธิยังคงได้รับเหมือนราชการ เช่น บำเหน็จและบำนาญ รวมทั้งเรื่องรักษาพยาบาล

16 มี.ค. 2560 ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเกียวโต ได้เข้าควบคุม สุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เหตุขโมยภาพวาดในโรงแรม เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา จนเป็นกระแสวิพากษณ์วิจารณ์ในสังคมจำนวนมาก และต่อมาเจ้าหน้าที่ของไทยได้เจรจากับโรงแรมและเจ้าหน้าที่ญี่ปุน ส่งผลให้อัยการมีคำสั่งปล่อยตัว โดยมีการจ่ายเงินค่าเสียหายให้กับทางโรงแรม ในวันที่ 27 ม.ค.นั้น

ล่าสุดวานนี้ (15 มี.ค.60) เมื่อเวลา 13.30 น. กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกรณี สุภัฒ ว่า คดีดังกล่าวมติในที่ประชุมมีความเห็นให้ไล่ออกแต่เนื่องจาก สุภัฒ รับราชการมากว่า 30 ปีไม่เคยมีความผิดทางวินัยร้ายแรงจึงลดโทษให้เป็น ปลดออก ทั้งนี้ ไม่มีผู้ใดร้องขอหรือไม่ได้มีการตกลงกันไว้ก่อนแต่อย่างใด รวมถึงพฤติกรรมเริ่มแรกที่กระทำความผิดนั้นมี 2 ครั้งแต่เกิดในสถานที่เดียวกัน

พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า ส่วน  สุภัฒ อ้างมูลเหตุอะไรก็ตาม เช่น โกรธแค้นการให้บริการของโรงแรม แต่เมื่อกระทำความผิดลักทรัพย์แล้วรับสารภาพ ซึ่งทางอัยการและตำรวจญี่ปุ่น ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเรียบร้อย เมื่อเห็นว่าสำนึกผิดก็ว่าสมควรให้กลับตัวกลับใจ เป็นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง ตอนท้ายเอกสารของ สุภัฒ ที่เขียนระบุว่า ขอน้อมรับคำติเตียนและยอมรับผิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และยอมรับในผลการพิจารณาของคณะกรรมการ นับเป็นการสำนึกในการทำความผิด ซึ่งแตกต่างจากข้าราชการระดับสูงอีกหลายรายที่กระทำความผิดและยังรับราชการอยู่ ถึงแม้จะมีพยานหลักฐานแต่ก็ยังไม่รับสารภาพ"

"เปรียบเทียบกับข้าราชการระดับสูงหลายคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง หรือยักยอกทรัพย์ของทางราชการ แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด แม้จะถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดแต่รอลงอาญาไว้ ปัจจุบันคนเหล่านี้ก็ยังรับราชการอยู่ ดังนั้นโทษปลดออกสำหรับ สุภัฒ จึงถือว่าเหมาะสมกับเหตุุ" พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าว  

พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องสิทธิยังคงได้รับเหมือนราชการ เช่น บำเหน็จและบำนาญ รวมทั้งเรื่องรักษาพยาบาล ด้วย นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเชิงลึกพบว่ามีการแต่งงานกับครอบครัวใหม่ ซึ่งเป็นคนญี่ปุ่น มีลูกชาย 1 คน แต่ปัจจุบันได้เลิกรา และ สุภัฒ อยู่เพียงคนเดียว อย่างไรก็ตาม การปลดออกมีผลบังคับใช้ทันทีและจะส่งผ่านเลขานุการแจ้งไปยังเจ้าตัวอีกครั้ง 

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ และไทยพีบีเอส

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น