โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ICCPR: ปูพื้นก่อนชมเวทีโลกล้อมไทย ชำแหละทุกปมละเมิดสิทธิบ่ายวันนี้

Posted: 13 Mar 2017 12:45 PM PDT

พลันที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์เฟซบุ๊กกรณีที่รัฐบาลไทยส่งคณะผู้แทน 46 คน เดินทางไปเข้าร่วม "การประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)" รอบของประเทศไทย ในวันที่ 13-14 มีนาคม นี้ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มันก็ได้สร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนและเกิดการจับตาเวทีที่ว่านี้ไม่น้อย

นอกเหนือจากคำถามว่า รัฐส่งตัวแทนตอบคำถามไปทำอะไรตั้งครึ่งร้อย ผู้อ่านอาจยังสงสัยเรื่องขั้นตอนของกระบวนการทบทวนว่าเป็นอย่างไร? มีประเด็นอะไรที่ควรจับตามองบ้าง? แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยภายใต้รัฐบาลทหารที่ปัญหาสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ถูกกางวางบนเวทีโลก?  ฯลฯ

ประชาไทสัมภาษณ์ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ  เจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออก The Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA) ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ตรงต่อการทำงานของกลไกนี้ เพื่อเคลียร์ข้อกังขาบางประการ คอการเมือง (และไม่การเมือง) จะได้ติดตามเวทีชื่อแปลกๆ นี้ได้สนุกสนานและรู้สึกใกล้ตัวยิ่งขึ้น

ไปต่อลำบากถ้าไม่รู้ ICCPR คืออะไร

-ICCPR มีเนื้อหามุ่งคุ้มครองสิทธิของบุคคลในฐานะที่เป็นพลเมืองและสิทธิในทางการเมือง เช่น สิทธิในการชุมนุม การกำหนดเจตจำนงของตนเอง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

-ICCPR กำหนดให้รัฐเคารพและประกันสิทธิของบุคคล โดยห้ามการเลือกปฏิบัติ ห้ามมิให้บังคับใช้กฎหมายอาญาย้อนหลัง

-ไทยเป็นภาคีและกติกานี้มีผลบังคับใช้กับไทยตั้งแต่ปี 2540 กติกานี้กำหนดให้รัฐภาคีต้องส่งรายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีในปีแรกหลังเป็นภาคี จากนั้นต้องส่ง "รายงานทบทวน" ทุกๆ 5 ปี

-ประเทศไทยจัดส่งรายงานฉบับแรกล่าช้าไปกว่า 6 ปี !!! หลังจากนั้น "รายงานทบทวน" ไทยก็ส่งช้าไปอีกเกือบ 6 ปี !!!!!!

-ปีนี้จึงเป็นปีแรกของไทยสำหรับ "รายงานทบทวน" ว่ารัฐไทยเคารพสิทธิต่างๆ ตามกติกาสากลแค่ไหน และแจ็คพ็อตตกอยู่กับรัฐบาลทหาร นำโดย คสช.พอดิบพอดี

-ICCPR มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในกติกา คณะกรรมการนี้จะทำรายงานเงา (shadow report) ร่วมกับภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ

-ตอนนี้ผู้คนที่สนใจแลกเปลี่ยนข้อมูลประเด็นสิทธิมนุษยชนและจับตาเวทีระหว่างประเทศนี้ ต่างก็ใช้ #ICCPR119TH ในโซเชียลมีเดีย

-แน่นอน งานนี้มีถ่ายทอดสด ที่ http://webtv.un.org/  หรือสนใจแบบมีวงคุย วงแปลควบคู่ไปด้วยก็ติดตามที่เพจประชาไท (รายละเอียดงานที่ https://www.facebook.com/events/259361284506797/)

-ส่วนใครอยากอ่านประวัติความเป็นมา และกลไกที่ว่านี้โดยละเอียด จุใจ ไปเลยที่เว็บศูนย์ทนาย งานดีมีคุณภาพ

10 ข้อควรรู้ ก่อนการประชุมทบทวนการบังคับใช้ ICCPR ของไทย ที่นครเจนีวา 13-14 มี.ค. 60

เปิด "คำถาม" คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน UN และ "คำตอบ" รัฐบาลไทย ก่อนเวทีทบทวน ICCPR

-"รอบที่ผ่านมามีรายการคำถามกว่า 20 รายการ หลักๆ ก็เป็นประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม การปกป้องสิทธิมนุษยชน การใช้คำสั่งของ คสช.ที่ลิดรอนสิทธิ โดยที่เป็นกังวลกันมากก็คือคำสั่ง 3/2559 ที่มีลักษณะละเมิดสิทธิชัดเจน การใช้ศาลทหารที่แม้จะยกเลิกไปแล้วแต่ยังมีคดีทีค้างอยู่เพราะไม่สนธิสัญญาไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ซึ่งคำถามทั้งหลายนี้รัฐไทยก็ตอบไปบางส่วน แต่คำตอบของรัฐไทยก็จะมีรูปแบบคล้ายๆ กันทุกข้อว่าตอนนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โรดแมปประชาธิปไตย เป็นช่วงที่ประเทศชาติต้องการความสงบเรียบร้อย เราก็ต้องดูว่าคณะกรรมการจะพิจารณาว่ามีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน"พิมพ์สิริ

แล้วเวทีนี้ครั้งนี้ มีนัยยะต่อไทยยังไง

-การพิจารณากรณีไทยจะมีในวันที่ 14 มีนาคม และวันที่ 23 มีนาคม 2560 จะมีข้อสรุปเชิงเสนอแนะ (Concluding Observation) ออกมา เป็นคำแนะนำจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอิสระ มีเนื้อหาเป็นขั้นตอนที่รัฐบาลไทยพึงปฏิบัติเพื่อเติมเต็มพันธสัญญาที่ให้ไว้ตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่ให้สัตยาบันไว้

-ในส่วนของผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทยนั้น ที่ชัดเจนคือ ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีนานาชาติ 

"ไทยเรามีลักษณะเป็นผักชีโรยหน้า...รัฐไทยก็อยากดูดีในสายตาประชาคมโลก เราภาคประชาสังคมก็สามารถใช้ตรงนี้ในการรณรงค์ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกในประเทศได้"พิมพ์สิริกล่าว

"คุณสมชาย (นีละไพจิตร) หายไป 13 ปี บิลลี่ก็หายไป 3-4 ปีแล้ว ไม่ได้มีความพยายามสืบสวนสอบสวนหรือรับเป็นคดีพิเศษ อยู่ๆ ก็กระโดดกระเด้งมารับเป็นคดีพิเศษก่อนการทบทวนไม่กี่วัน ถามว่าเป็นอาการผักชีโรยหน้ามั้ย ก็ใช่แหละ แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวของทั้งสองคนและก็เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการปฏิบัติจริงไหม" พิมพ์สิริกล่าว

กลไกนี้ไม่มีผลบังคับ ถ้า คสช. โนสน โนแคร์ ก็ไม่มีเกิดขึ้นใช่ไหม

"กฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งหมดทั้งมวลตั้งบนฐานคิดที่ว่า เรามีรัฐเป็นศูนย์กลาง รัฐแต่ละรัฐมาตกลงกันว่าเราจะอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ยังไง และรัฐชาติสมัยใหม่มีแนวคิดหลักๆ วางอยู่บนหลักอธิปไตย ดังนั้นกฎหมายระหว่างประเทศทั้งหมดจึงมีลักษณะเป็นแนวนอน ไม่เหมือนกฎหมายภายในประเทศทีมีลักษณะการบังคับใช้แบบบนลงล่าง แต่กฎหมายระหว่างประเทศจะวางอยู่บนฐานของการตกลงและการร่วมมือระหว่างรัฐมากกว่า ถามว่ามีกลไกการบังคับใช้แบบถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษเดี๋ยวนั้นเดี๋ยวนี้[เหมือนกฎหมายภายในประเทศ]ไหม มันก็ไม่มี" พิมพ์สิริกล่าว

อย่างนี้ก็แค่เวทีแก้ต่างของรัฐ?

"รัฐไทยต้องแก้ต่างอยู่แล้ว ทั้งรัฐบาลทหารและเลือกตั้งก็ต้องแก้ต่างตัวเองในลักษณะที่ไม่ต่างกันมาก แต่ความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอาจจะต่างกัน หรือประเทศอื่นที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็คงต้องแก้ต่างอยู่ในระดับหนึ่ง ประเด็นคือ ความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการที่ได้ จะถือเป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับงานผลักดันต่อไป การเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชนเราจะนำเอาข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการอิสระมาใช้และกดดันว่า คุณต้องทำแบบนี้ตามที่เสนอเป็นอย่างน้อย จะทำมากกว่าก็ได้ เพื่อให้ได้ชื่อว่าไทยได้ปฏิบัติตามพันธสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ" พิมพ์สิริกล่าว

ทำไมรัฐบาลต้องส่งคนไปตอบคำถามตั้ง 46 คน

ผู้แทนรัฐบาลไทยไปเข้าร่วมการประชุมทบทวนที่มีจำนวนผู้แทนถึง 46 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้แทนของทุกประเทศที่เข้าประชุมทบทวนในช่วงเวลาเดียวกัน

"[รัฐบาลไทย]มีลักษณะไม่ชอบเสียหน้า ถามว่ากลัวจนหัวหดมั้ยก็คงไม่ แต่ไม่ชอบเสียหน้า อยากให้นานาชาติมองว่าประเทศเราเคารพสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล มันก็จะเกิดอาการผักชีโรยหน้าขึ้นมา ขนคนไปเยอะๆ ให้อุดได้ทุกคำถาม" พิมพ์สิริกล่าว

"46 คนถือว่าเป็นคณะใหญ่ ถ้าดูจากรายชื่อจะเห็นว่ามีทหารและตำรวจรวมกัน 8 คน ค่อนข้างชัดเจน รัฐไทยไม่ชอบเสียหน้า ดูง่ายๆ ในเวทีระหว่างประเทศ ตั้งแต่ UPR (การทบทวนประเด็นสิทธิมนุษยชนทั่วไปที่ทำกันทุก 4ปี) ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว หลังจากทบทวนไม่นาน มีการประกาศยกเลิกการใช้ศาลทหารกับพลเรือน" พิมพ์สิริกล่าว

"จริงๆ แล้ว 8 ใน 46 เป็นผู้แทนถาวรที่เจนีวาอยู่แล้ว เป็นคนของกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ไปจากไทยจริงแค่ 38 คน และในจำนวนนั้นมี 8 คนที่เป็นทหาร ตำรวจ" พิมพ์สิริกล่าว

รัฐบาลไทยส่งการบ้านช้า ส่อเจตนาอะไรไหม 

- iLaw รายงานว่า ไทยส่งรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนช้าทุกครั้งตั้งแต่เข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อ พ.ศ. 2539 

"คำตอบของคำถามนี้คือ ด้วยตัวกลไกภายใต้สนธิสัญญา ไม่ได้มีกลไกบังคับเหมือนกับ UPR การส่งรายงานเป็นไปตามความสมัครใจของรัฐ ถ้าดีเลย์มันก็คือดีเลย์ รัฐชาติก็สามารถเตะถ่วงความไม่อยากรายงาน ความไม่สนใจ ความขาดแคลนบุคลากรที่จะทำหน้าที่นี้ได้ ICCPR เป็นเพียงหนึ่งในสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน และตัว ICCPR กำหนดให้การส่งรายงานเป็นไปตามความสมัครใจของรัฐ มันเลยเป็นช่องว่างให้รัฐเลี่ยงที่จะไม่นำเสนอประเด็นสิทธิมนุษยชนได้" พิมพ์สิริกล่าว

เอาประเด็นในประเทศไปตีแผ่ในเวทีนานาชาติเป็นหนึ่งในข้อกังวลของรัฐบาลไทยว่าจะสร้างความแตกแยก

"ก็ถ้าไม่อยากให้พูดถึงปัญหาก็ต้องแก้ปัญหา การพูดถึงปัญหาก็ไม่ได้นับว่าตีแผ่ ปัญหามันมีอยู่ คุณจะปฏิเสธเหรอว่าไม่มี"

"เราพยายามบอกคุณว่าทำยังไงมันจะดีขึ้นได้ ทำยังไงมันจะได้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนแบบที่เขายอมรับกันแบบสากล ไม่ใช่แบบไทยๆ ถ้าไม่อยากให้พูดถึงปัญหาก็แก้ปัญหาซะสิ ง่ายจะตาย"

คิดว่าจะมีผลลัพธ์รูปธรรมภายหลังการทบทวนครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน

"ส่วนตัวไม่หวังว่ารัฐบาลทหารจะนำคิดความเห็นเหล่านี้ไปปฏิบัติ เพราะว่าเกือบสามปีที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าเขาไม่ได้มีความต้องการที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน ความเห็นที่แตกต่าง หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประเด็นที่ต้องผลักดันกันต่อไปก็คือเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ข้อสรุปเชิงเสนอแนะพวกนี้มันก็เป็นพันธกรณีที่รัฐไทยต้องปฏิบัติไม่ว่าจะมีรัฐบาลรูปแบบไหน ในแง่นี้เราคิดว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรม แล้วถ้าอยากได้ความชอบธรรม ได้เครดิตเพิ่มมากขึ้นในสายตานานาชาติก็ควรนำข้อเสนอแนะมาปฏิบัติให้เป็นจริง"

"กลไกนี้อาจจะดูซับซ้อนและเป็นเรื่องไกลตัว อาจไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน แต่จริงๆ แล้วเรื่องของสิทธิเสรีภาพมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเราทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลแบบไหน ตอนนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับทุกๆ คนที่เชื่อในความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้ามีรัฐที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย การต่อสู้สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย จะจบลง ก็คงต้องต่อสู้กันไปยาวๆ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ ยินดี สนช.มีมติให้สัตยาบัน 'อนุสัญญาอุ้มหาย'

Posted: 13 Mar 2017 12:08 PM PDT

13 มี.ค. 2560 จากมื่วันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา  ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ โดยมีมติเห็นชอบ ด้วยคะแนน 205 เสียง ขณะที่สมาชิก สนช. อภิปรายสนับสนุนอนุสัญญาดังกล่าวนี้ เพราะเห็นว่าจะช่วยยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของไทยให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล และช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

วันนี้ (13 มี.ค.60) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แถลงแสดงความยินดีกับการลงมติของ สนช. เพื่อให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาการอุ้มหาย ตลอดจนช่วยให้ผู้เสียหายและญาติเข้าถึงความยุติธรรมมากขึ้น

แอมเนสตี้ ระบุว่า การลงมติดังกล่าวของ สนช. มีขึ้นก่อนถึงวาระครบรอบ 13 ปีการถูกบังคับให้สูญหายกรณี สมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ถูกอุ้มหายจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2547

แอมเนสตี้ ระบุว่า หลังจากนี้ ขอกระตุ้นให้ทางการไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับดังกล่าวตามมติ สนช. โดยเร็ว ตลอดจนให้รับรองว่าจะปฏิบัติตามพันธกรณีในการป้องกันคุ้มครองประชาชนจากการอุ้มหายอย่างจริงจัง จำนวนกรณีผู้สูญหายที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายในไทยมีจำนวนสูงมาก ทางการจึงควรออกกฎหมายเอาผิดการอุ้มหายโดยเฉพาะ ยกเลิกกฎหมายซึ่งเปิดช่องให้มีการควบคุมตัวประชาชนโดยไม่มีการตั้งข้อหาหรือพิจารณาคดี ไปจนถึงกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการสูญหายของผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนไทยในอังกฤษร่วมขบวนวันสตรีสากล ชวนปกป้องนักพิทักษ์สิทธิฯหญิงในไทย จาก รบ.ทหาร

Posted: 13 Mar 2017 11:37 AM PDT

กลุ่มไทยแลนด์ฮิวแมนไรท์แคมเปญ รวมขบวนวันสตรีสากล ที่ลอนดอน แสดงจุดยืนปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงในประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยง จากการคุกคามของรัฐบาลทหาร
 
ที่มาภาพ เว็บไซต์ ThaiHRC
 
13 มี.ค. 2560 เนื่องในช่วงสัปดาห์วันสตรีสากล ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มไทยแลนด์ฮิวแมนไรท์แคมเปญ ( Thailand Human Rights Campaign) ได้เข้าร่วมเดินรณรงค์กับกลุ่มสิทธิสตรีอื่นๆ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเดินบนถนนอ๊อกฟอร์ด ไปสิ้นสุดที่จัตุรัสทราฟัลการ์ เพื่อได้แสดงจุดยืนปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงในประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงและการถูกโจมตีจากการทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน 
 
กลุ่มไทยแลนด์ฮิวแมนไรท์แคมเปญ ระบุด้วยว่า มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ยังคงมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้รัฐบาลทหารสามารถรวบอำนาจที่โดยไม่ถูกตรวจสอบ ไม่สอดคล้องกับหลักแห่งหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงใช้ "อำนาจพิเศษ" ภายใต้ข้อ 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งนำไปสู่การจำกัดสิทธิมนุษยชนโดยพลการ  รวมถึงกิจกรรมทางการเมือง รัฐบาลทหารยังออกคำสั่งและคำประกาศหลายฉบับภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว รวมถึงบางเรื่องที่ทำให้การชุมนุมทางการเมืองผิดกฎหมาย อนุญาตให้มีการกักขังโดยเด็ดขาดไม่เกิน 7 วัน และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารในวงกว้างอีกด้วย สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงหลายคนถูกละเมิดสิทธิ 
 
กลุ่มไทยแลนด์ฮิวแมนไรท์แคมเปญ จึงเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐไทยปกป้องสตรีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกระตุ้นให้ยุติคดีทั้งหมดยุติการดำเนินคดีทั้งหมดและระงับการล่วงละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟังคำชี้แจงนศ.ราชภัฏยะลากรณี “ป้ายผ้าปาตานี” ก่อนมหา’ลัย-นศ.แถลงร่วม

Posted: 13 Mar 2017 11:15 AM PDT

"เรากระทำการทุกอย่างบนฐานคิดที่บริสุทธิ์ใจต่อสังคม และไม่มีการแทรกแซงแต่อย่างใด...ปาตานี คือ พื้นที่ คือ ชาติ อัตลักษณ์ คือรากเหง้าของเรา เป็นคำจำกัดความที่ไม่ได้ผลักคนอื่นที่ไม่ใช่มลายูออกไป ที่นี่มีประวัติศาสตร์การอยู่ร่วมกันของคนที่หลากหลาย เราอยากให้มีการถกเถียงอย่างสันติวิธีมากกว่าการกลบพื้นที่การถกเถียงด้วยการใช้ความรุนแรง"


ที่มา: องค์การบริหารนักศึกษาม.ราชภัฏยะลา

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2560 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ชูป้ายรณรงค์เชิงตั้งคำถาม "ขออนุญาตเรียกตนเองว่าปาตานีได้ไหมครับ" ในขบวนพาเหรดมหกรรมกีฬาจันทน์กะพ้อเกมส์ ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดโดยองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากภาพดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ แลกเปลี่ยนหรือกระทั่งด่าทอโดยมีการใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ต่อมาวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ภาณุ อุทัยรัตน์ คณะทำงาน ครม. ส่วนหน้าซึ่งเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ได้รับรายงานจากทางมหาวิทยาลัยว่าเป็นป้ายข้อความที่ไม่ได้ผ่านการตรวจผ่านของกรรมการนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ แต่เป็นกลุ่มคนไม่หวังดีฉวยโอกาสสอดแทรกเข้ามาในระหว่างพิธีการ และมหาวิทยาลัยมีการตั้งกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ในวันนี้ (13 มี.ค.)

ในการตรวจสอบเรื่องนี้ สื่อมวลชนรายงานว่า ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมด้วยคณะบดีคณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ และคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร เข้าประชุมร่วมกับ นายฮาซัน สารีมา นายกองค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายอิบรอเฮง มะเซ๊ง นายกสโมสร คณะครุศาสตร์ นายซูกรอน สาเม๊าะ นายกสโมสรคณะมนุษย์ศาสตร์ นายบูกอรี มามะ นายกสโมสรคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร นายซูรฮัน เซ็งแว นายกสโมสรคณะวิทยาการจัดการ และนายกามารูดิน ยามา ประธานสภานักศึกษา โดยจะมีการสรุปข้อมูลและผลการประชุมเพื่อออกแถลงการณ์ร่วมกันชี้แจงกับสื่อมวลชนในวันที่ 14 มี.ค.นี้

ด้านนายกองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายฮาซัน สารีมา ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัด มหกรรมกีฬาจันทน์กะพ้อเกมส์ครั้งที่ 8 ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า เจตนารมณ์หลักในแสดงออกทางการเมืองผ่านขบวนพาเหรดในครั้งนี้คือ การสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของนักศึกษาต่อสภาพบรรยากาศทางเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ประเด็นการตั้งคำถามกับการเรียกตนเองว่าปาตานีเท่านั้น ยังมีประเด็นการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วม เรื่องถ่านหิน เรื่องสวัสดิการนักศึกษา ตลอดจนประเด็นการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้าคสช. สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากการกระทำที่เราตั้งใจจะตั้งคำถามสร้างการถกเถียง

"เราเข้าใจสภาพของมหาวิทยาลัยในช่วงตกต่ำของระบอบประชาธิปไตยดี แต่อย่างไรก็ตาม เราขอวิงวอนให้มหาวิทยาลัยคงสภาพการเป็นพื้นที่เสรีทางวิชาการ เคารพยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลายของมนุษย์" ฮาซันกล่าว

"สิ่งที่เราอยากอธิบายคือ เรากระทำการทุกอย่างบนฐานคิดที่บริสุทธิ์ใจต่อสังคม เราแสดงออกเพื่อให้สังคมไม่นิ่งนอนใจต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เราไตร่ตรองแล้ว และที่สำคัญไม่มีการแทรกแซงแต่อย่างใด ในความรู้สึกของพวกเราปาตานี คือ พื้นที่ คือ ชาติ อัตลักษณ์ คือรากเหง้าของเรา แต่อยากทำความเข้าใจว่า ปาตานี คือคำจำกัดความที่ไม่ได้ผลักคนอื่นที่ไม่ใช่มลายู ผลักคนจีน คนพุทธ ออกไป เพราะปาตานีเคยมีประวัติศาสตร์การอยู่ร่วมกันของคนที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม เราอยากให้มีการถกเถียงอย่างสันติวิธีมากกว่าการกลบพื้นที่การถกเถียงด้วยการใช้ความรุนแรง การยอมรับความจริงว่าที่นี้ คือ ปาตานี เป็นการวางรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ที่รัฐดำเนินการอยู่" ฮาซันกล่าว

ทั้งนี้ คำว่า ปาตานี นับเป็นข้อถกเถียงสำคัญในความขัดแย้ง ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย คำว่า "ปาตานี" (PATANI) หรือในภาษามลายูถิ่นออกเสียงว่า "ปตานี" คือพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคอาณาจักรปาตานีอันรุ่งเรืองเมื่อประมาณสี่ร้อยปีก่อนที่สยามยึดครองประมาณต้นยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งต่อมามีการแบ่งพื้นที่นี้ออกเป็นเจ็ดหัวเมือง และแบ่งเป็นจังหวัดแบบปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและชาวไทยจำนวนหนึ่งยังคงมีมุมมองว่าคำว่า ปาตานี มีนัยยะทางการเมืองของการแบ่งแยกดินแดน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภาคประชาสังคมชาวมลายูได้พยายามใช้คำนี้ในชื่อองค์กร และการจัดงานต่างๆ จนทำให้คำว่าปาตานีเป็นที่แพร่หลายและถูกยอมรับในวงกว้างมากขึ้น  (อ่านหลากความคิดเห็นเกี่ยวกับคำนี้ได้ที่นี่)

ที่มา: องค์การบริหารนักศึกษาม.ราชภัฏยะลา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูนิเซฟชี้สถานการณ์เด็กในซีเรียเลวร้ายถึงขีดสุด อย่างน้อย 652 คนถูกฆ่า

Posted: 13 Mar 2017 11:03 AM PDT

13 มี.ค. 2560 รายงานข่าวจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย แจ้งว่า ยูนิเซฟระบุวันนี้ว่าจากการประเมินผลกระทบของสงครามซีเรียซึ่งได้ดำเนินมาครบหกปีแล้ว พบว่าในปี 2559 ที่ผ่านมา มีการละเมิดสิทธิเด็กในซีเรียสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยการสังหารเด็ก การทำร้ายเด็กจนพิการ และการนำเด็กไปเป็นทหารเพิ่มสูงขึ้นมากท่ามกลางเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยพบว่า

·       เด็กอย่างน้อย 652 คนถูกฆ่า – ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 จากปี 2558 ส่งผลให้ปี 2559 เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับเด็กชาวซีเรียนับตั้งแต่เริ่มมีการตรวจสอบการเสียชีวิตของเด็กๆ อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2557

·       เด็ก 255 คนถูกฆ่าในโรงเรียนหรือบริเวณใกล้โรงเรียน

·       เด็กกว่า 850 คนถูกนำไปร่วมต่อสู้ในสงคราม ซึ่งสูงกว่าปี 2558 ถึงสองเท่า เด็ก ๆ ถูกเกณฑ์ไปเป็นแนวหน้าโดยตรงที่ต้องร่วมต่อสู้ หรือรับหน้าที่เป็นมือสังหาร มือระเบิดฆ่าตัวตายหรือเป็นผู้คุมในคุก

·       มีการโจมตีโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่การแพทย์อย่างน้อย 338 ครั้ง

เกท คัพเพลาร์ ผู้อำนวยการประจำสำนักงานยูนิเซฟภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกล่าวจากเมืองฮอมส์ในประเทศซีเรีย ว่า "ความทุกข์ทรมานนี้ถือเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติการณ์ เด็กในซีเรียหลายล้านคนถูกโจมตีรายวัน ชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เด็กทุกคนต่างมีบาดแผลติดตัวไปตลอดชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่และอนาคตของพวกเขา"

ทุกวันนี้ การเข้าถึงพื้นที่หลายแห่งในซีเรียยังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการประเมินสถานการณ์ของเด็กและการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไปสู่เด็กๆ ที่อยู่ในภาวะเปราะบางที่สุด นอกจากแรงระเบิดและกระสุนปืนแล้ว เด็ก ๆ ยังมักเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งเป็นมฤตยูเงียบที่สามารถป้องกันได้อย่างง่ายดายในสถานการณ์ปรกติ เนื่องจากการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข อุปกรณ์ช่วยชีวิตและการบริการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ยังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก

ณ ขณะนี้ มีเด็กชาวซีเรียราว 2.8 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงยาก ในจำนวนนี้มีเด็ก  280,000 คนที่อาศัยในพื้นที่ถูกปิดล้อม โดยแทบถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมใดๆ 

ปัจจุบัน มีเด็กชาวซีเรียเกือบ 6 ล้านคนที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพียงอย่างเดียว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ถึง 12 เท่า ในขณะเดียวกัน มีเด็กหลายล้านคนที่ต้องพลัดที่อยู่ บางคนต้องย้ายถิ่นฐานเกิน 7 ครั้ง โดย ณ ตอนนี้ มีเด็กชาวซีเรียกว่า 2.3 ล้านคนที่อพยพลี้ภัยอยู่ในประเทศตุรกี เลบานอน จอร์แดน อียิปต์ และอิรัก

ทุกวันนี้ ประชาชนชาวซีเรียทั้งที่อยู่ในซีเรียและตามชายแดนต้องดิ้นรนทุกวิถีทางในการมีชีวิตรอด โดยกลไกการรับมือกับความยากลำบากค่อยๆ ถดถอยลงทุกที บ่อยครั้งที่ครอบครัวต้องผลักดันให้ลูกหลานไปขายแรงงานหรือแต่งงานก่อนวัยอันควร โดยมีครอบครัวชาวซีเรียกว่าสองในสามที่ส่งเด็ก ๆ ไปทำงานเพื่อช่วยหาเลี้ยงครอบครัว เด็กบางคนต้องทำงานที่เสี่ยงภัยอันตรายแม้กระทั่งสำหรับผู้ใหญ่เอง

อย่างไรก็ตาม เด็กๆ จำนวนมากยังคงมีความหวังและแรงบันดาลในชีวิตแม้จะประสบความทุกข์ยากโหดร้ายเช่นนี้ เช่น เด็กหญิงดาร์ซี วัย 12 ขวบ ซึ่งได้อพยพมาอยู่ที่ตุรกี กล่าวว่า "หนูอยากเป็นหมอผ่าตัด จะได้ช่วยเหลือคนซีเรียที่ไม่สบายและบาดเจ็บ หนูฝันถึงประเทศซีเรียที่ไม่มีสงครามเพื่อหนูจะได้กลับบ้าน หนูอยากให้โลกนี้ไม่มีสงครามเลย"

"เรายังคงได้เห็นความกล้าหาญของเด็ก ๆ ชาวซีเรีย หลายคนต้องเดินทางข้ามชายแดนเพียงเพื่อมาสอบ พวกเขายังคงมุ่งมั่นที่จะได้เรียนแม้จะต้องเรียนในโรงเรียนใต้ดิน สำหรับพวกเราเอง ยังมีสิ่งที่เราทำได้และควรทำอีกมากมายเพื่อช่วยเปลี่ยนชีวิตของเด็ก ๆ เหล่านี้" คัพเพลาร์ กล่าวเสริม 

ในนามของเด็ก ๆ ชาวซีเรีย องค์การยูนิเซฟขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งครั้งนี้ ตลอดจนผู้มีอำนาจ ประชาคมโลก และประชาชนทุกคนที่เป็นห่วงเด็ก ๆ มาร่วมกัน หาวิถีทางยุติปัญหาความขัดแย้งในซีเรียทันที ยุติการละเมิดสิทธิเด็กอย่างรุนแรง รวมถึงการสังหารเด็ก การทำร้ายจนพิการและการนำเด็กไปข้องเกี่ยวกับความขัดแย้ง ตลอดจนการโจมตีโรงเรียนและโรงพยาบาลทุกแห่ง ยกเลิกการปิดล้อมโดยไม่มีเงื่อนไขและเปิดทางให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าถึงเด็กทุกคนที่กำลังเดือดร้อน ไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนใดของซีเรีย  ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศและชุมชนที่รับผู้ลี้ภัยในการดูแลเด็กที่เปราะบาง โดยไม่คำนึงถึงสถานะ และ ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ยูนิเซฟในการช่วยชีวิตเด็ก ๆ ชาวซีเรียต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยังใช้ ม.44 คุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย คสช.ย้ำทหารยังไม่ถอนกำลัง

Posted: 13 Mar 2017 10:45 AM PDT

พล.อ.ประวิตร ยันยังบังคับใช้ ม.44  คุมพื้นที่วัดพระธรรมกายกันมือที่ 3 ที่จะเข้ามาก่อเหตุ คสช.ย้ำทหารยังไม่ถอนกำลัง เจ้าคณะจังหวัดปทุมฯ สั่งเรียกประชุมด่วน ลั่นสั่งวัดจะทำกิจกรรมใดต้องรายงานก่อน ด้านวัดแจงลูกศิษย์กระทำใดๆ ถือเป็นไปในนามส่วนตัว 

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

13 มี.ค.2560 กรณีวัดพระธรรมกาย รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ระบุว่า ยังบังคับใช้มาตรา 44 เพื่อควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ ป้องกันมือที่ 3 ที่จะเข้ามาก่อเหตุ โดยจะบังคับใช้จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติและประชาชนได้รับความปลอดภัย ส่วนการดำเนินการติดตามจับกุมตัวพระธัมมชโย เจ้าหน้าที่ก็ยังเดินหน้าตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง หากการเข้าค้นพื้นที่ไหนที่ไม่ใช่พื้นที่ควบคุมก็จะขอศาลออกหมายค้น หากพบตัวเมื่อไหร่ก็จะจับกุมทันที  

พล.อ.ประวิตร กล่าวแสดงความพอใจการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพราะทำงานได้ตลอด แต่จะใช้เวลาเพราะถ้าใช้กำลังจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ส่วนจากการข่าวล่าสุดพระธัมมชโยยังอยู่ในประเทศหรือไม่นั้นพล.อ.ประวิตร ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม กล่าวเพียงว่า เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบและดำเนินการอยู่

ย้ำทหารยังไม่ถอนกำลังรอบวัด

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ เลขาธิการคสช.เป็นประธานประชุมสำนักเลขาธิการคสช. โดยกล่าวถึงการทำงานของคสช.ในห้วงที่ผ่านมาที่ร่วมกับหน่วยงานต่าง ดูแลสถานการณ์เฉพาะในหลายพื้นที่ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการเข้าคลี่คลายปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือที่ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะ และเจ้าหน้าที่ต้องเข้าดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงกำชับกองทัพภาคที่ 3 ควบคุมสถานการณ์และเข้มงวดมาตรการไม่ให้เผาป่าแบบเดิม พร้อมกับให้เตรียมเดินหน้าโครงการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าในฤดูที่จะมาถึงนี้ด้วย

รองโฆษกคสช. กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ แม้ว่าภาครัฐสำรองปริมาณน้ำในเขื่อนไว้แล้ว แต่หากประชาชนยังมีพฤติกรรมการใช้น้ำแบบเดิมอาจส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเลขาฯคสช.มีความเป็นห่วง จึงเตือนให้ทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกองทัพเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เป็นรูปธรรม เน้นการบริการจัดการน้ำให้เพียงพอและจัดกิจกรรมที่สอดคล้องและส่งเสริมกับการใช้น้ำของแต่ละพื้นที่ 

"สำหรับการปฏิบัติงานของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย(กอ.รส.) โดยรอบพื้นที่ควบคุมวัดพระธรรมกายที่ได้ดูแลความปลอดภัยและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายจนกระทั่งสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง และการทำงานอยู่ในกรอบที่เหมาะสมตามแนวทางของรัฐบาล คสช.จะยังคงกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่รอบวัดต่อไป โดยจะเน้นสร้างความเข้าใจและให้บริการของหน่วยแพทย์ รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ต่อไป" รองโฆษกคสช. กล่าว

เจ้าคณะ ปทุมฯ สั่งเรียกประชุมด่วน ลั่นสั่งวัดจะทำกิจกรรมใดต้องรายงานก่อน

รายงานข่าวระบุด้วยว่า พระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ได้ มีหนังสือที่ จจ.ปท.51/2560เรื่อง นัดประชุมผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายทุกๆรูป พร้อมด้วยเจ้าคณะตำบลคลองสี่ เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง ไวยาวัจกร และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้มาประชุมในเวลา 15.00 น. ของวันนี้ (13มี.ค.60) การประชุมจัดภายในวัดพระธรรมกาย โดยผู้สื่อข่าวไม่สามารถที่จะเข้าไปในเขตวัดได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของวัดพระธรรมกายไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้า 

พระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี โดยเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยหลังการประชุมวาา ในที่ประชุมได้มีการเรียกประชุมเพื่อสอบถามพระสงฆ์ของวัดพระธรรมกาย ที่ถูกหมายเรียกให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ จำนวน 14 รูป ซึ่งก็ได้เข้าไปรายงานตัวต่อ ดีเอสไอทั้งหมดแล้ว 13 รูป คงเหลือแต่ พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพียงรูปเดียวที่ไม่ได้ไป 

ในส่วนของการบริหารจัดการภายในวัด พระธรรมกายก็ให้ดำเนินการต่อไปโดยให้สาธุชนและญาติโยมได้เข้ามา ทำบุญตักบาตรนั่งสมาธิกันตามปกติแต่ มีข้อห้ามไม่ให้ทั้งพระสงฆ์และศิษย์ยานุศิษย์วัดพระธรรมกายได้พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องประเด็นคดีความต่างๆของวัดธรรมกายอย่างเด็ดขาด อีกทั้งในส่วนของการจะทำอะไรของวัดพระธรรมกายนั้น ทางรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายจะเป็นผู้ดูแลแต่ต้องมารายงานกับตัวอาตมา ซึ่งในฐานะเจ้าคณะปกครองสงฆ์ตามลำดับขั้นตอนต่อไป 

พระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี กล่าวอีกว่า ยังไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายองค์ใหม่แต่อย่างใด 

ภาพ ย่ำระฆังทองระฆังธรรม 30 ครั้ง น้อมถวายเป็นพุทธบูชา 12 มี.ค. 2560 ณ วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

แจงลูกศิษย์วัดกระทำใดๆ ถือเป็นไปในนามส่วนตัว 

วันนี้ เพจ สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย โพสต์ ชี้แจงกรณีผู้แจ้งว่าเป็นลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย แสดงความคิดเห็นหรือทำกิจกรรมต่างๆ  โดย ทางสำนักสื่อสารองค์กร ขอชี้แจงว่า กรณีผู้แจ้งว่าเป็นลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย แล้วมีการให้สัมภาษณ์สื่อหรือแสดงความคิดเห็น หรือกระทำกิจกรรมใดๆ นั้น ถือว่า เป็นไปในนามส่วนตัวของแต่ละท่านเท่านั้น ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล ทางวัดไม่มีความเห็นและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการกระทำดังกล่าว 
 

ที่มา สำนักข่าวไทย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ TNN24 และ เพจ สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ต้มยำกุ้งวิทยา วิชานี้อย่าเลียน' นิทรรศการ 20 ปีวิกฤตเศรษฐกิจ ดูอดีตหนาวถึงปัจจุบัน

Posted: 13 Mar 2017 08:37 AM PDT

"คุณแม่เล่าให้ฟังว่า สถานการณ์ของบริษัทตอนนั้นไม่ค่อยดี เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม บริษัทอื่นๆ ปิดตัวแบบรายวัน ยังไม่รวมถึงสถานภาพของบริษัทที่กำลังกระท่อนกระแท่นอีก

ในวันนั้น ขณะที่คุณแม่กำลังนั่งทำงานอยู่ ก็ได้รับโทรศัพท์จากเจ้านาย เพื่อสอบถามงานที่ค้างคาและแผนการดำเนินงานต่อไป ซึ่งเป็นสายปกติที่แม่จะได้รับอยู่เสมอ แต่ที่ไม่ปกติ คือ เจ้านายทิ้งท้ายว่า 'ฝากดูแลงานหน่อยนะ' ในตอนแรกที่วางสายไปก็แอบแปลกใจอยู่บ้าง แต่ยังไม่คิดอะไร จนเวลาผ่านไป มีโทรศัพท์ดังอีกครั้ง ครั้งนี้ไม่ใช่สายของเจ้านาย แต่เป็นเลขาที่โทรมาบอกว่า เจ้านายผูกคอฆ่าตัวตายในห้องทำงาน"

"ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน" เป็นนิทรรศการที่จำลองสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ของไทยในปี พ.ศ.2540 ออกมาในรูปแบบห้องเรียน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงสถานการณ์และผลกระทบด้านลบกับวิถีชีวิตของคนในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองระดับมหภาค, วิถีชีวิตคนทั่วไป คนหาเช้ากินค่ำที่ต้องตกงานจำนวนมาก รวมถึงด้านวัฒนธรรมหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความพยายามเอาตัวรอดจากวิกฤตของผู้คน นิทรรศการนำเสนอออกมาได้อย่างร่วมสมัย ผ่านกำแพงข้อมูลภาพ (Infographic Wall) และจัดวางวัตถุ (Installation) ที่สะท้อนอารมณ์ความทุกข์ของผู้คนในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

นิทรรรศการบอกนี้บอกเราว่า เราใช้หนี้ IMF หมดแล้วในยุครัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546 ก็จริง แต่ในภาพใหญ่ของหนี้ทั้งหมดเราปลดหนี้ไปเพียงบางส่วนเท่านั้น

จนปัจจุบันเรายังมีหนี้อีกก้อนคือ หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่รัฐบาลเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ "ล้มบนฟูก" ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งยังเหลืออยู่อีก 930,288 ล้านบาท (จาก 1.4 ล้านล้านบาท-ปี 2541)

หากยังนึกภาพไม่ออกว่าเยอะขนาดไหน นิทรรศการนำเสนอจินตนาการรูปธรรมด้วยการวางธนบัตร 100 บาทต่อกัน จะได้เป็นระยะทาง 1,395,433 กม. หรือ ไป-กลับโลกและดวงจันทร์ได้เกือบ 4 เที่ยว เป็นต้น

นิทรรศการจะแบ่งเป็น 2 โซนหลักๆ ในช่วงแรกก่อนทางเข้า เป็นการจำลองเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านรูปแบบเครื่องเล่นในสวนสาธารณะ เรียกว่า "สวนสรุป" แม้ไม่ใช่สวนสนุก แต่การสรุปนั้นก็สนุกอยู่ไม่น้อย ถัดมามี "กำแพงข่าวเล่าสถานการณ์" เล่าเรื่องในลักษณะการ์ตูนล้อเลียนของ บัญชา คามิน ซึ่งสามารถช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์สังคมไทยในยุควิกฤตต้มยำกุ้งมากขึ้น

เมื่อเดินผ่านกำแพงข่าวเล่าสถานการณ์ มาจะเข้าสู่ห้องเรียนหลักซึ่งจะมีข้อมูลเบื้องต้นถึงจำนวนหนี้สินในยุค 2540 ซึ่งเป็นผลมาจากการลอยตัวค่าเงินบาทของไทย มีคนที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยแบ่งเป็น คนที่ร่ำรวย, คนฐานะปานกลาง, และคนที่มีหนี้สินอยู่แล้ว มีการจัดแสดงวัตถุจำลองเพื่อให้เห็นภาพ เช่น ไม้กอล์ฟ, จดหมาย, โทรศัพท์จากเจ้านายครั้งสุดท้าย

ภายในนิทรรศการ มีการจำลองเหตุการณ์ที่สำคัญๆ ในยุคนั้นหลายเหตุการณ์ เช่น การเปิดท้ายขายของ, อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และผลิตภัณฑ์ที่เกิดในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง อย่าง ศิริวัฒน์แซนวิช ที่ชีวิตพลิกผันจนต้องเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง

สำหรับคนที่เกิดไม่ทันในปี พ.ศ. 2540 นิทรรศการนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงวิกฤตครั้งนี้อย่างเข้าใจมันยิ่งขึ้น  การจำลองสถานการณ์ต่างๆ ถือว่าทำได้ดี เราได้เข้าใจถึงที่มาของคำคุ้นหูอย่าง "เปิดท้ายขายของ" ซึ่งเป็นคำฮิตที่ยังใช้มากันจนถึงทุกวันนี้ และการพึ่งไสยศาสตร์ในการแก้ปัญหา

ภายในงานยังมีกิมมิกเล็กๆ ที่น่าสนใจคือเมื่อเข้าไปในนิทรรศการ เราจะได้บัตรใบเล็กๆ ใบหนึ่งซึ่งจะมีคำตอบในตอนท้ายว่า บัตรใบนี้เอาไว้ใช้ทำอะไร

นิทรรศทารต้มยำกุ้งวิทยา วิชานี้อย่าเลียน  จัดโดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.)

จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 2 กรกฎาคม 2560 ที่ Museum Siam

ตั้งแต่ 10.00 น – 18.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์)

ไม่เสียค่าเข้าชม

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยพีบีเอสแจงลงทุนหุ้นกู้ซีพีเอฟ ยันไม่กระทบการทำสื่อสาธารณะ

Posted: 13 Mar 2017 07:05 AM PDT

13 มี.ค. 2560 กรณีมีกระแสข่าวว่าไทยบีพีเอสลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) เว็บไซต์ข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ส.ส.ท. ระบุว่า ปัจจุบันไทยพีบีเอสลงทุนในเงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้ง ตราสารหนี้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเพิ่งลงทุนในบริษัทดังกล่าวเป็นครั้งแรก แต่ยืนยันว่า การลงทุนตราสารหนี้ในบริษัทดังกล่าวไม่กระทบการทำงานสื่อสาธารณะ

ทั้งนี้ ผอ.ไทยพีบีเอส กล่าวด้วยว่า แม้ไทยพีบีเอสจะได้รับการจัดสรรงบประมาณบริหารองค์กรปีละ 2,000 ล้านบาท แต่จำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการบริหารองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการแพร่ภาพและการกระจายเสียงจึงจำเป็นต้องนำเงินรายได้ที่ได้รับจากค่าเช่าโครงข่ายมาบริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามพระราชบัญญัติ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2551 มาตรา 11 วรรค 7 ซึ่งกำหนดให้ไทยพีบีเอส สามารถนำผลตอบแทนที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์การโดยว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินดำเนินการและคณะกรรมการนโยบายรับทราบมาโดยตลอด

"ไทยพีบีเอสเน้นความมีอิสระโดยไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับเอกชนต่างๆ ได้ การบริหารเงินตรงนี้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเหมือนกับกรณีไปฝากธนาคาร ปกติไทยพีบีเอสไม่ได้เอาเงินของตัวเองใส่เซฟไว้แล้วเอาไปใช้ เราได้นำเงินไปฝากธนาคารของรัฐและเอกชน ครั้งนี้ก็คือการนำเงินไปซื้อตราสารหนี้ซึ่งก็ได้ดอกเบี้ย ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงและเมื่อไปซื้อก็เป็นการซื้อผ่านธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์เลยและเขาก็ไม่สามารถที่จะมีอิทธิพลกับไทยพีบีเอสได้

"ไทยพีบีเอสไม่มีโฆษณาจึงไม่มีอิทธิพลกับเรา ก็อยากให้ประชาชนได้พิสูจน์ด้วยผลงานว่าไทยพีบีเอสได้ติดตามข้อมูลทั้งของรัฐและเอกชนอย่างเข้มข้น โดยไม่มีอิทธิพลที่จะมามีส่วนให้การทำงานของไทยพีบีเอสที่จะขาดความอิสระหรือบกพร่องจากการเป็นสื่อสาธารณะได้เลย" กฤษดา กล่าว

ด้านสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า การลงทุนดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบกฎหมาย แต่อาจจะมีประเด็นที่ไทยพีบีเอสอาจจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะ

"การไปลงทุนในกิจการใดๆ แม้ว่าจะไม่เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นเพียงตราสารหนี้ซึ่งมีฐานะทำให้เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งแท้จริงไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เพียงแต่ว่าสังคมจะมองได้ว่าการไปลงทุนกับกิจการอื่นนั้นทำให้ไปมีความสัมพันธ์พิเศษ ซึ่งโดยทั่วไปไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น

"สำหรับองค์กรสื่อก็อาจจะต้องระมัดระวังอยู่บ้างว่าจะมีผลต่อภาพลักษณ์หรือความรู้สึก แม้ว่าในทางปฏิบัติจะไม่ได้มีความสัมพันธ์อย่างจริงจังก็ตาม" สมเกียรติ กล่าว
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปมอูเบอร์ 'กรณ์' ชี้หากยึดติดกับกฎหมายที่ร่างไว้ก่อนพัฒนาเทคโนโลยี เราก็จะเสียโอกาส

Posted: 13 Mar 2017 06:30 AM PDT

แนะวาง 1. มาตรฐานผู้ขับ 2. มาตรฐานรถยนต์ 3.การมีประกันคุ้มครองผู้โดยสาร และ 4. การเสียภาษีที่ถูกต้องโดยผู้ให้บริการ ระบุแท็กซี่หรือรถแดงไทย ไม่ได้มีมาตรฐานตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือกฎระเบียบ ก็มีอยู่เกลื่อนถนน 

13 มี.ค.2560 จากเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การจับกุมรถอูเบอร์ (UBER) พร้อมทั้งข้อเสนอให้บริการของรถยนต์เหล่านี้ถูกกฎหมาย วานนี้ (12 มี.ค.60) กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีนี้ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจด้วย โดย กรณ์ ระบุว่า อยากให้ไทยเป็นผู้นำ ประสบการณ์หลายปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าถึงแม้มาตรฐานสากลมีความสำคัญ แต่ต่างประเทศก็ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเราเสมอไป เราคิดเองได้ และในหลายเรื่องเราสามารถเป็นผู้นำทางความคิดและนโยบายได้ เผื่อว่าในอนาคตชาวต่างชาติจะได้เอามาตรฐานของเราไปอ้างอิงบ้าง

กรณ์ โพสต์ว่า กรณี Uber ปัจจุบันเป็นปัญหาอยู่หลายประเทศ ทางยุโรปก็ทะเลาะกันมาเยอะ แม้แต่นิวยอร์คก็มีปัญหาระหว่างแท็กซี่กับ Uber ส่วนเมื่อไม่นานมานี้ไต้หวันมีการจับปรับ Uber เสียจนบริษัทถอนตัวจากการให้บริการ และล่าสุดศาลฮ่องกงก็พิพากษาเอาผิดผู้ขับรถ Uber ในฐานะการขับรถรับจ้างโดยไม่มีใบอนุญาต เหมือนกับไทยเรา

"ส่วนหนึ่งของปัญหาของ Uber คือแท็กซี่ทั่วโลกมีอิทธิพลทางการเมืองสูง เสียงดัง และอีกปัญหาคือ Uber เองมีวัฒนธรรมหยิ่งยโส ชวนทะเลาะกับผู้คน ซึ่งผมก็เห็นใจเขาในระดับหนึ่ง เพราะหากไม่กล้าชนกับกลุ่มอิทธิพลและราชการในประเทศต่างๆ เขาไม่มีทางมาถึงวันนี้ได้" กรณ์ โพสต์

กรณ์ กล่าวอีกว่า การกระทำของหลายประเทศในการปิดกั้น Uber เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายปัจจุบันของประเทศนั้นๆ แต่เป็นคนละประเด็นกับว่ากฎหมายเหล่านั้นมีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ และเป็นการรักษาประโยชน์ของประชาชนทั่วไปหรือไม่ ในกรณีของอังกฤษนั้นน่าสนใจ เพราะอังกฤษมีรถแท็กซี่ที่มีมาตรฐานสูงที่สุดในโลกก็ว่าได้ ใครจะขับรถแท็กซี่คันดำในตำนานของเขาได้ต้องผ่านการสอบความรู้ เขาเรียกกันว่า 'The Knowledge' ซึ่งต้องใช้การฝึกอบรมยาวนานถึง 2 ปี รวมถึงการท่องจำเส้นทางอย่างละเอียดทุกเส้นทางในกรุงลอนดอน ตัวรถเองก็เป็นรถที่ออกแบบมาเฉพาะเพื่อการนี้ มีอุปกรณ์ดูแลคนพิการครบถ้วนทุกคัน และเป็นรถที่มีีวงเลี้ยวแคบเป็นพิเศษเพื่อกลับรถกลางถนนแคบๆได้ซึ่งเป็นประโยชน์ในการประหยัดเวลาให้กับผู้โดยสาร คนขับรถแท็กซี่ลอนดอนจะมีความภาคภูมิใจสูงในวิชาชีพเขา และไม่มีการปฏิเสธผู้โดยสารในทุกกรณี แต่ลอนดอนก็เต็มไปด้วยรถ Uber และเขาปล่อยให้ประชาชนเลือกได้ว่าอยากใช้บริการใคร ตนเองเวลาไปเยี่ยมลูกที่นั่นก็จะสลับใช้ทั้งสองระบบ ถ้าจะไปจากบ้านตนก็เรียก Uber เพราะมารับหน้าประตูบ้าน ไม่ต้องออกไปยืนรอเรียกแท็กซี่อยู่ริมถนน โดยเฉพาะหากฝนตกหรืออากาศหนาว แต่ถ้าไปในเมืองตนก็จะอาศัยการโบกแท็กซี่เอาเพราะในเมืองแท็กซี่เยอะและเขารู้ทางลัดมากกว่า ช่วยหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีปัญหาได้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ได้ ผู้คนมีช่องทางทำมาหากินโดยสุจริตเพิ่มเติม ส่วนผู้ใช้บริการได้ประโยชน์เต็มๆ และความสะดวกนี้ทำให้คนลอนดอนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆเลิกคิดที่จะมีรถยนต์ของตนเอง

"ในกรณีกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ หากเรายึดติดกับกฎหมายที่ร่างไว้ก่อนที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยี เราก็จะเสียโอกาส และเราต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอีกด้วยว่า การบริการของแท็กซี่หรือรถแดงไทย ไม่ได้มีมาตรฐานตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือกฎระเบียบ แท็กซี่เถื่อนมีอยู่เกลื่อนถนน แท็กซี่ที่ไม่ยอมรับผู้โดยสารมีมากกว่าแท็กซี่ที่ไม่เคยปฏิเสธใคร ประสบการณ์ส่วนตัว นอกจากนั้นเรามีปัญหาเรื่องการเปิดมิเตอร์ เรื่องความรู้เส้นทางของผู้ขับ และเรื่องความปลอดภัย"

กรณ์ โพสต์ด้วยว่า แม้ Uber จะผิดกฎหมาย แต่ผู้ใช้บริการพึงพอใจมากกว่าทั้งในแง่สภาพรถ การเรียกใช้บริการ ราคา และความปลอดภัย ซึ่งพอทำให้สรุปได้ว่ากฎหมายเราล้าหลังและไม่ตอบสนองกฎหมายที่ดีที่ควรปกป้องสิทธิประโยชน์สูงสุดของประชาชน ดังนั้นเราอย่าไปอ้างไต้หวัน ฮ่องกง ปารีส หรือใครเลย เราควรคิดเองได้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับตัวเรา ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงของไทยเราเอง หลักๆ เราควรมีกฏที่ครอบคลุมเรื่อง 1. มาตรฐานผู้ขับ 2. มาตรฐานรถยนต์ 3.การมีประกันคุ้มครองผู้โดยสาร 4. การเสียภาษีที่ถูกต้องโดยผู้ให้บริการ ซึ่งเอาเข้าจริงแท็กซี่หรือรถแดงที่ถูกกฎหมาย วันนี้ส่วนใหญ่ก็บกพร่องในทั้ง 4 ข้อ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิษณุ ยัน ไม่ใช้ ม.44 แก้ปัญหา 'ภาษีหุ้นชินคอร์ป'

Posted: 13 Mar 2017 05:40 AM PDT

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล 

13 มี.ค. 2560 ความคืบหน้ากรณีการเรียกเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป มูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ให้กับเทมาเส็กเมื่อปี 2549 ซึ่งจะหมดอายุความ วันที่ 31 มี.ค. นี้ ล่าสุด (13 มี.ค.60) อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย พิสิฐ ลีลาวชิโรภาส  ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือกรณีดังกล่าว

โดย พิสิฐ เปิดเผยก่อนการประชุมว่า จะเสนอให้ใช้มาตรา 44  ขอให้ออกกฏหมายพิเศษ ให้คดีนี้มีอายุความ 10ปี
 
อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุม วิษณุ กล่าวว่า วันนี้เป็นการพูดคุย ต่อเนื่องจากวันศุกร์ และยังไม่มีรายละเอียดอะไร แต่จะไม่ใช้ มาตรา 44 แก้ปัญหานี้ จะทำทุกอย่างโดยไม่ขัดหลักนิติธรรม
 
ด้านเลขาฯ ปปง.กล่าวว่า ในการหารือวันนี้มีหลายหน่วยงานที่ถูกเชิญมาพูดคุย เรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ปขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว ให้รอผู้ใหญ่ในรัฐบาลตัดสินใจ ตนไม่สามารถให้รายละเอียดได้ แต่ในที่ประชุมได้ข้อสรุปที่รัฐบาลแฮปปี้
       
รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังนายวิษณุให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน นายวิษณุพร้อมด้วยนายอภิศักดิ์ และพล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ ได้เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อรายงานผลการหารือต่อนายกฯ 
 
รมว.การคลัง เปิดเผยกรณีที่มีข่าวว่า กรมสรรพากร ไม่สามารถประเมินการจัดเก็บภาษีหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ ชินคอร์ป จาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้อีก เนื่องจากคดีหมดอายุความไปแล้ว ว่าการพิจารณาเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรที่จะดำเนินการ ส่วนจะเก็บได้หรือไม่ ก็ต้องอธิบายเหตุผล โดยพิจารณาไปตามข้อกฎหมาย ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้าจากกรมสรรพากร
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ล้วงลึกเรื่องอื้อฉาวโรงเรียน 'ขวาจัด' ในญี่ปุ่น ตีแผ่กลุ่มอิทธิพล 'นิปปง ไคกิ'

Posted: 13 Mar 2017 05:23 AM PDT

ตั้งแต่เดือนที่แล้วมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการที่นายกฯ ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวโยงกับโรงเรียนอนุบาลที่สอนชาตินิยมสุดโต่ง เหยียดเชื้อชาติอื่น แต่นักวิชาการก็มองประเด็นนี้แบบลงลึกกว่าแค่เรื่องการเมืองคะแนนนิยม โดยระบุว่าแม้ประชาชนในยุคปัจจุบันจะสะพรึงกับแนวคิดขวาจัดนี้ แต่ในญี่ปุ่นก็มีกลุ่ม 'นิปปง ไคกิ' ที่มีอิทธิพลต่อการเมืองและพยายามแทรกซึมสังคมญี่ปุ่นให้กลับไปมีแนวคิดแบบก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

13 มี.ค. 2560 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ในญี่ปุ่นมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับโรงเรียนอนุบาลเอกชนชื่อสึคาโมโตะในจังหวัดโอซากาที่ดำเนินการเรียนการสอนแบบชาตินิยมสุดโต่ง สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้อื้อฉาวขึ้นมาเริ่มจากการที่ครูใหญ่ของโรงเรียน ยาสุโนะริ คาโกะอิเกะ เผยแพร่ใบปลิวให้กับผู้ปกครองโดยมีเนื้อหาสร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติต่อชาวเกาหลีและชาวจีนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น จนทำให้คาโกะอิเกะถูกบีบให้ออกมาขอโทษ

ตัวโรงเรียนสึคาโมโตะเองก็เป็นที่รู้จักในฐานะโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนด้วยแนวคิดแบบญี่ปุ่นยุคจักรวรรดิช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อยู่ภายใต้องค์การพระจักรพรรดิรวมถึงมีความชาตินิยมจัดและประเพณีนิยมจัด ที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันมองว่าเป็นการเรียนการสอนที่แปลกประหลาดและแสดงความกังวลว่าการเรียนการสอนเด็กอายุน้อยแบบนี้อาจจะทำให้กลายเป็นฝ่ายขวาอันตราย ทั้งนี้ยังไม่นับว่าสภาล่างของญี่ปุ่นพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่าคาโกะอิเกะทำผิดกฎหมายการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ห้ามไม่ให้มีการเรียนการสอนอย่างมีอคติทางการเมือง

สึคาโมโตะเป็นโรงเรียนในเครือโมริโทโมะ กะคุเอง ที่คาโกะอิเกะเป็นประธาน เคยมีวิดีโอของโรงเรียนในเครือโมริโทโมะ กะคุเอง ที่แสดงให้เห็นภาพของนักเรียนในชุดกะลาสีร้องเพลงสงครามในศาสนสถานของชินโตภายใต้การจับจ้องของนักบวชและรูปของเด็กนักเรียนที่ทำท่าชูมือแบบ "สดุดีฮิตเลอร์" หลังวิ่งเข้าเส้นชัยล้วนทำให้ผู้ที่ได้เห็นตกตะลึงรวมถึงชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เองด้วย เพราะเป็นภาพที่น่าจะอยู่ในช่วงยุคก่อนปี 2488 หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นมีการร่างรัฐธรรมนูญในแบบที่จะปฏิเสธลัทธิบูชาองค์จักรพรรดิ

แต่เรื่องอื้อฉาวกรณีนี้ก็ดูเหมือนจะมีส่วนเกี่ยวโยงมาถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ที่มาจากพรรคอนุรักษ์นิยมหรือแอลดีพี (LDP) อาเบะเคยกล่าวชื่นชมโรงเรียนประถม มิซุโฮะ-โนะ-คุนิ ไคเนน ในเครือโมริโทโมะ กะคุเอง ว่าเป็นโรงเรียนที่วิเศษและ "เลี้ยงดูให้เด็กมีความภาคภูมิใจในฐานะชาวญี่ปุ่นและมีความแข็งแกร่งภายใน" จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา อาเบะก็ประกาศว่าภรรยาของเขาผู้เป็นครูใหญ่กิตติมศักดิ์ของโรงเรียนดังกล่าวได้ลาออกจากตำแหน่งครูใหญ่แล้ว

ก่อนหน้านี้ทางโมริโทโมะ กะคุเอง เคยหาเงินบริจาคโดยเอาชื่อของอาเบะไปใช้โดยบอกว่าจะตั้งชื่อโรงเรียนว่า "อนุสรณ์อาเบะ ชินโซ" ถึงแม้ว่าอาเบะจะเคยกล่าวว่าเขาต่อต้านเรื่องการอ้างใช้ชื่อเช่นนี้และขอให้เอาชื่อเขาออกจากการตั้งชื่อโรงเรียน แต่ภรรยาของเขาก็ยังคงได้รับตำแหน่งเป็นครูใหญ่กิตติมศักดิ์จนถึงเมื่อเดือน ก.พ. แล้วเรื่องอื้อฉาวนี้ก็ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เมื่อมีวิดีโอที่เด็กอนุบาลออกมากล่าวเชียร์อาเบะในงานกีฬาสีด้วยท่ายกมือคล้ายสดุดีฮิตเลอร์ พูดขอบคุณอาเบะที่ผ่านกฎหมายความมั่นคง รวมถึงวิดีโอที่บอกให้ผู้ใหญ่ต้องปกป้องเขตแดนอย่างหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู ทาเคชิมะ และเขตแดนทางตอนเหนือ ทำให้อาเบะต้องออกมาปฏิเสธว่างานกีฬาสีและเด็กเหล่านี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเขา

นอกจากอาเบะจะถูกเพ่งเล็งในเรื่องความเกี่ยวข้องกับเครือโรงเรียนแนวทางขวาจัดในญี่ปุ่นแล้ว ยังมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการอนุญาตขายพื้นที่ก่อสร้างโรงเรียนขวาจัดเช่นนี้ในราคาที่ถูกด้วย โดยเรื่องนี้ถูกเริ่มตั้งคำถามจากฝ่ายค้านในญี่ปุ่น สื่อญี่ปุ่นอย่างเจแปนไทม์ก็รายงานว่า โมริโทโมะ กะคุเองได้จ้างให้หน่วยงานกำจัดของเสียทำการกลบของเสียที่อยู่ในเขตก่อสร้างของพวกเขาในที่ดินซึ่งพวกเขาได้รับการลดราคาอย่างมากจากรัฐบาล โดยพื้นที่ดังกล่าวมีขนาด 8,770 ตารางเมตร ที่ซื้อมาด้วยราคา 134 ล้านเยน คิดเป็นเพียงแค่ร้อยละ 14 ของราคาประมูล

เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามต่อความปลอดภัยของเด็กด้วยเมื่อคนที่ทำงานรับเหมากำจัดของเสียในกรณีนี้เปิดเผยว่ามีการขุดพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้งจนเจอขยะต่างๆ อย่างถุงเท้า ซองเครื่องปรุงรส เศษกระเบื้อง และดินปนเปื้อนมลพิษที่ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวลแล้วครึ่งหนึ่งของดินและของเสียเหล่านี้ก็ถูกกลบลงไปใหม่ ผู้รับเหมาเปิดเผยว่ามันน่าจะเกิดปัญหาถ้าเด็กต้องเล่นอยู่บนพื้นที่เช่นนี้

ถึงแม้อาเบะเองจะปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการขายที่ดินราคาถูกให้กลุ่มนี้แต่เรื่องอื้อฉาวดังกล่าวก็ทำให้คะแนนนิยมของเขาลดลง มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 86.5 ไม่เห็นด้วยกับเรื่องการซื้อขายที่ดินของเครือโรงเรียนขวาจัดกับรัฐบาลที่ได้รัการลดราคาอย่างมาก ขณะที่ร้อยละ 6.6 บอกว่าเหมาะสมดี ในสภาเองอาเบะก็ได้รับการสนับสนุนลดลงไปร้อยละ 6 เหลืออยู่ร้อยละ 55.7 ประชาชนจำนวนมากที่ตอบแบบสอบถามยังระบุว่าต้องการให้รัฐบาลญี่ปุ่นแสดงความโปร่งใสในเรื่องการซื้อขายที่ดินกับเอกชนมากกว่านี้ แม้ว่าโดยรวมแล้วการสนับสนุนพรรคการเมืองแอลดีพีจะยังลดลงไปเพียงเล็กน้อย


'นิปปง ไคกิ' ขวาจัดที่พยายามแผ่อิทธิพลในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม บทความในเว็บไซต์วิเคราะห์เอเชียตะวันออก 'อีสต์เอเชียฟอรัม' ต่างก็ชี้ให้เห็นว่าในญี่ปุ่นมีกลุ่มองค์กรชาตินิยมที่เรียกว่า 'นิปปง ไคกิ' (日本会議) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 ที่ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ราว 40,000 ราย กลุ่มชาตินิยมกลุ่มนี้ส่งอิทธิพลต่อภาคการบริหารและภาคนิติบัญญัติของรัฐบาลญี่ปุ่น และบทความในดิอิโคโนมิสต์เคยระบุว่านายกรัฐมนตรีอาเบะก็เป็นที่ปรึกษาพิเศษของสมาชิกกลุ่มนิปปง ไคกิ ที่ส่วนหนึ่งเป็นนักการเมืองในสภาของญี่ปุ่นด้วย

บทความของอเล็กซิส ดัดเดน ศาตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยแห่งคอนเนคติคัทระบุในบทความเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวโรงเรียนขวาจัดในญี่ปุ่นว่านิปปง ไคกิ พยายามเปลี่ยนแปลงให้ญี่ปุ่นกลับไปเป็นอนุรักษ์นิยมคล้ายยุคก่อนสงครามโลกผ่านทางนโยบายและการศึกษา ในคณะรัฐบาลปัจจุบันของญี่ปุ่นทั้ง 20 คน มีจำนวน 16 คน เป็นสมาชิกที่มีชื่อเสียงหรือผู้นำแผนกต่างๆ ของนิปปง ไคกิ ในรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชนปี 2559 ของสหรัฐฯ ก็ระบุถึงการที่รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น ซานาเอะ ทาไคจิ เป็นคนที่พยายามบีบเค้นเสรีภาพสื่อในญี่ปุ่น รวมถึงโยชิทาดะ โคโนะอิเคะ สมาชิกสภาบนของญี่ปุ่นที่เจ้าของโมริโทโมะ กะคุเอง เคยพยายามติดสินบนก็เป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการย่อยเกี่ยวกับ "รัฐธรรมนูญ สำนักพระราชวัง และประเด็นศาลเจ้ายาสุคุนิ" อาเบะเองก็เป็นผู้ดูแลในประเด็น "กลาโหม การทูต และเขตแดน" ของกลุ่มนิปปง ไคกิ

ดัดเดนระบุว่านิปปง ไคกิ มีเป้าหมายหลักในการนำสมเด็จพระจักรพรรดิกลับมาเป็นประมุขอีกครั้งและส่งเสริมการอ้างใช้ศาสนาชินโตกลับมานำรัฐ ขณะเดียวกันก็กีดกันประเด็นความก้าวหน้าอื่นๆ อย่างการไม่ให้ผู้หญิงเป็นผู้นำ ในสารานุกรมวิกิพีเดียยังชี้ให้เห็นว่านิปปง ไคกิ พยายามกีดกันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและประเด็นเกี่ยวกับสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาตินิยมกลุ่มนี้ยังพยายามบิดเบือนสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ตัวเองดูเป็นเหยื่อ อีกทั้งยังแสดงท่าทีต่อต้านอิทธิพลจากตะวันตกที่เข้ามาหลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก

บทความโดยเออร์นิล ลาร์สสัน นักวิชาการด้านศาสนาจากมหาวิทยาลัยอุปซอลาในสวีเดน ระบุว่ากรณีโรงเรียนอนุบาลสึคาโมโตะสะท้อนให้เห็นถึงการที่กลุ่มนิปปง ไคกิ พยายามเข้ามามีอิทธิพลในสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชิงประเพณีนิยมดั้งเดิมแบบญี่ปุ่นที่อ้างอิงจากพระราชกำหนดตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกและการพยายามทำให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น (SDF) ดูน่าชื่นชมบูชา


แต่ประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากก็ยังสะพรึงกับแนวคิดย้อนยุคสุดโต่ง

การที่โรงเรียนขวาจัดเช่นนี้กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวและสร้างความตกตะลึงในหมู่ชาวญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าแม้กลุ่มนิปปง ไคกิ จะมีอิทธิพล แต่ก็ใช่ว่าประชาชนทั่วไปในญี่ปุ่นจะยอมรับแนวคิดของพวกเขา บทความของลาร์สสันระบุว่านิปปง ไคกิ พยายามสร้างภาพให้กลุ่มตัวเองดูเป็นการเคลื่อนไหวของประชาชนระดับล่างๆ แต่ในช่วงใกล้เลือกตั้งก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงวาระในเชิงชาตินิยมจัดเหล่านี้และหันไปหาเสียงด้วยนโยบายอื่นๆ เช่นนโยบายเศรษฐกิจเหมือนรับรู้ว่าประชาชนจะไม่ยอมรับแนวคิดชาตินิยมจัดของพวกเขาตรงๆ ฝ่ายชาตินิยมในพรรคแอลดีพีที่เรียกตัวเองว่า 'เซย์วาไค' ก็ตระหนักว่าพวกเขาจะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะนำญี่ปุ่นกลับไปสู่ยุคจักรวรรดิ

นอกจากนี้ สื่อในญี่ปุ่นบางส่วนได้ตีแผ่เรื่องราวของนิปปง ไคกิ เช่น หนังสือ "การวิจัยนิปปง ไคกิ" ของทาโมตสึ ซุงะโนะ ระบุว่าในขณะที่กลุ่มนี้พยายามสร้างภาพว่ามีความเป็นสมัยใหม่แต่ก็มีความล้าหลัง พยายามส่งเสริมแนวคิดชายเป็นใหญ่ และมีลักษณะเกลียดกลัวฝ่ายซ้ายอย่างไม่มีเหตุผล (left-phobia) โดยที่หนังสือของซุงะโนะถูกศาลแขวงในญี่ปุ่นสั่งแบนในข้อหาหมิ่นประมาทเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ในแง่นี้ลาร์สสันระบุว่าไม่ว่าอาเบะจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับโมริโทโมะ กะคุเอง หรือไม่ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องอื้อฉาวนี้ย้ำเตือนให้ประชาชนมองเห็นว่านายกรัฐมนตรีของพวกเขาเกี่ยวโยงกับกลุ่มขวาจัดอยู่ ขณะที่ดัดเดนเสนอว่าควรเปิดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนอย่างเปิดเผยในเรื่องนี้ที่จะนำไปสู่การสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาว เพื่อให้ประชาชนได้มองเรื่องนี้ผ่านเลนส์ของแนวคิดประชาธิปไตยและร่วมกันกำหนดว่าจะทำให้ญี่ปุ่นเดินหน้าต่อไปอย่างไร

"สำหรับฉันแล้ว มีโรงเรียนอนุบาลที่ 'แสนวิเศษ' แห่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่ที่คนมีโอกาสในชีวิตน้อยกว่าอยู่ในจังหวัดนีงาตะ ที่แม้ว่าจะเป็นโรงเรียนดูทรุดโทรมตั้งอยู่บนพื้นที่ศาลเจ้า แต่ลูก 4 ขวบของฉันก็ได้ค้นพบความอบอุ่นและความมั่นใจในตัวเองจากที่นั่น เขาได้เรียนอักษรฮิรางานะของญี่ปุ่นและได้ร้องเพลง 'โทโทโร่' (จากอนิเมชั่นเรื่อง 'โทโทโร่เพื่อนรัก' หรือ 'My Neighbor Totoro') จนกว่าจะพอใจไม่ว่าครูของเขาจะมีความคิดเห็นส่วนบุคคลต่อเขาอย่างไรก็ตามหรือเห็นว่าทำไมคน (ที่มีเชื้อสายต่างชาติ) อย่างเขามาใช้ชีวิตในญี่ปุ่น เรื่องนี้เองก็เป็นโอกาสที่จะกลายเป็นอนาคตของญี่ปุ่นด้วย" ดัดเดนระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

Kindergarten scandal shows Japan's nationalist far-right out of touch, Ernils Larsson, 09-03-2017
http://www.eastasiaforum.org/2017/03/09/kindergarten-scandal-shows-japans-nationalist-far-right-out-of-touch/

Abe caught out in school scandal, Alexis Dudden, East Asia Forum, 12-03-2017
http://www.eastasiaforum.org/2017/03/12/abe-caught-out-in-school-scandal/

Abe Cabinet's support rate dips six points to 55.7% amid ongoing Moritomo school scandal: poll, 12-03-2017
http://www.japantimes.co.jp/news/2017/03/12/national/politics-diplomacy/abe-cabinets-support-rate-dips-six-points-55-7-amid-ongoing-moritomo-school-scandal-poll/#.WMXFUtR954_

Video shows Japanese children being taught dangerous far-right ideology, The Hankyoreh, 01-03-2017
http://www.hani.co.kr/arti/english_edition/e_international/784673.html

Nationalist Osaka preschool draws heat for distributing slurs against Koreans and Chinese, Japan Times, 17-02-2017
http://www.japantimes.co.jp/news/2017/02/17/national/osaka-preschool-scrutinized-passing-slurs-koreans-chinese/#.WMW57NR954_

Osaka school in hate speech scandal now accused of backfilling tainted soil, 27-02-2017
http://www.japantimes.co.jp/news/2017/02/27/national/osaka-school-hate-speech-scandal-now-accused-backfilling-tainted-soil/#.WMW509R954_


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Nippon_Kaigi

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฟผ.เผยไล่ฟ้องหมิ่นฯ - พ.ร.บ.คอมฯ แล้ว 15 คดี เหตุโพสต์โจมตี เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ

Posted: 13 Mar 2017 04:06 AM PDT

ฝ่ายกฎหมาย กฟผ. เผย ร้องทุกข์ พนง.สอบสวนแล้ว รวม 15 คดี ในความผิดฐานหมิ่นประมาท-นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เช่น กล่าวหาว่าโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ทำให้ผู้คนล้มป่วยและตาย หรืออยากจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่แยแสถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

13 มี.ค. 2560 เว็บ Energy News Center หรือ ศูนย์ข่าวพลังงาน  รายงานว่า ปราณี ตั้งเสรี ผู้ช่วยผู้ว่าการสำนักกฎหมาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ไม่หวังดี เจตนาเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับ กฟผ. ผ่านทางโซเชียลมีเดียและส่งผลให้เกิดความเสียหายนั้น  กฟผ. โดยสำนักกฎหมายของ กฟผ. ได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว รวม 15 คดี ในความผิดฐานหมิ่นประมาท และนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เช่น ข้อความที่กล่าวหาว่าโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ทำให้ผู้คนล้มป่วยและตาย, กฟผ. อยากจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่แยแสถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงการนำภาพที่ไม่เป็นความจริงมาโพสต์ เป็นต้น ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท และสร้างข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งเจตนาทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับ กฟผ. โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวน

ปราณี กล่าวต่อไปว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินกิจการสาธารณะ การติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงาน ในทางสุจริต จึงเป็นเรื่องที่บุคคลทั่วไปย่อมกระทำได้ อย่างไรก็ตาม หากการติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวนั้นเป็นการใส่ความ กฟผ. ต่อบุคคลที่สาม ที่จะทำให้ กฟผ. เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือ เป็นการแพร่หรือข่าวที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กฟผ. โดยมีเจตนาทำลายชื่อเสียงหรือความไว้วางใจของสาธารณชน ส่อไปทางที่จ้องทำลายและทำให้เกิดความเสียหาย  กฟผ. ก็จำเป็นต้องดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายกับบุคคลที่โพสต์หรือเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ในการดำเนินงาน

"การโพสต์ข้อความในอินเตอร์เนตหรือสื่อโซเชียลมีเดียใดๆก็ตาม หากมิใช่เป็นการติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของ กฟผ. ในทางสุจริต และทำให้ กฟผ.ได้รับความเสียหาย ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ซึ่งหากพบข้อความใดๆที่เข้าข่ายความผิดดังกล่าว กฟผ.จะดำเนินการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีโดยทันที"  ปราณี กล่าวย้ำ

ทั้งนี้ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ ถอนชื่อ ถอดยศทหาร และเรียกคืนเครื่องราชฯ นายทหารหลายคน

Posted: 13 Mar 2017 01:12 AM PDT

โปรดเกล้าฯ ปลด นาวาโทหญิง จารุวรรณ ออกจากราชการ ฐานผิดวินัย บกพร่องในหน้าที่ ไม่พัฒนาตนเอง ขาดความกระตือรือร้น เฉื่อยชา ขาดดุลพินิจที่ถูกต้อง พร้อมถอดยศทหาร เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 'พ.ต.ธนพนธ์' เหตุ โต้แย้งพระราชกระแส อวดรู้ อวดดี 

13 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่องมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งและถอดถอนยศนายทหาร รวมทั้ง เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์หลายฉบับ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ ประกอบด้วย 

ปลดออก นาวาโทหญิง จารุวรรณ ฐานผิดวินัย

มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอด นาวาโทหญิง จารุวรรณ ช้างมูล ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีคําสั่ง ปลดออกจากราชการ เนื่องจากได้กระทําผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้า แก่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เอาใจใส่ และรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหาย แก่ราชการอย่างร้ายแรง กล่าวคือ บกพร่องในหน้าที่ ไม่พัฒนาตนเอง ขาดความกระตือรือร้น เฉื่อยชา ขาดดุลพินิจที่ถูกต้อง ทําให้เกิดผลเสียแก่ราชการในพระองค์ จึงไม่สมควรดํารงอยู่ในยศทหารต่อไป ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร พุทธศักราช 2479 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ยศทหาร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2501 ประกอบระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดํารง อยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. 2507 ข้อ 2 ประกาศ ณ วันที่ 3 มี.ค. พ.ศ. 2560

ถอดยศทหาร และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ต.ธนพนธ์ 

มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอด พ.ต.ธนพนธ์ อยู่มั่น ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีคําสั่งปลดออกจากราชการ เนื่องจากใช้กิริยาวาจา ไม่สมควรหรือประพฤติไม่สมควร โต้แย้งพระราชกระแส อวดรู้ อวดดี และกระด้างกระเดื่อง ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ เกียจคร้าน ละทิ้งหรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร พุทธศักราช 2479 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยศทหาร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2501 ประกอบระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดํารงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. 2507 ข้อ 2 และทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย เหรียญทองช้างเผือก และเหรียญจักรมาลา ที่บุคคลดังกล่าวได้รับพระราชทาน ตามข้อ 6 และข้อ 7 (4) ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548 ประกาศ ณ วันที่ 28 ก.พ. พ.ศ. 2560

ให้ถอนชื่อ 4 ผู้ได้รับพระราชทานยศทหาร

เรื่อง พระราชทานพระราชานุญาตให้ถอนชื่อ ผู้ได้รับพระราชทานยศทหารชั้นต่ํากว่านายพล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้ถอนชื่อนายทหารสัญญาบัตร ออกจากรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานยศทหารชั้นต่ํากว่านายพล ตามประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 6 ม.ค. 2560 เนื่องจากครองว่าที่ยศเพื่อปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบระยะเวลา 6 เดือน จํานวน 4 ราย ดังนี้ 1. ว่าที่พันโทหญิง ธารินี รอดสน ออกจากรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานยศพันเอกหญิง 2. ว่าที่พันโทหญิง วิมล ทองพายัพ ออกจากรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานยศพันเอกหญิง 3. ร้อยเอก มานิตร เมาะลาษี ออกจากรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานยศพันตรี 4. ว่าที่ร้อยเอก รันดร สอนนิ่ม ออกจากรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานยศพันตรี ประกาศ ณ วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560

โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ 

มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ พลอากาศตรี ให้แก่ นาวาอากาศเอก จักรฤทธิ์ บัวจีบ ซึ่งรับราชการมาด้วยความเรียบร้อยเป็นผลดีแก่ทางราชการ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2560 ประกาศ ณ วันที่ 25 ก.พ. พ.ศ. 2560
 
มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ พลอากาศตรี ให้แก่ นาวาอากาศเอก ชาตรี พลสยม ซึ่งรับราชการมาด้วยความเรียบร้อยเป็นผลดีแก่ทางราชการ ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 2560 ประกาศ ณ วันที่ 16 ก.พ. พ.ศ. 2560
 
มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ พลตรี ให้แก่ ว่าที่พันเอกหญิง อภิญญา ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งรับราชการมาด้วยความเรียบร้อยเป็นผลดีแก่ทางราชการ ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2560 ประกาศ ณ วันที่ 3 ก.พ. พ.ศ. 2560
 
มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ พลตรี ให้แก่ พันเอก จิรศักดิ์ สนิทมัจโร ซึ่งรับราชการมาด้วยความเรียบร้อยเป็นผลดีแก่ทางราชการ ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2560 ประกาศ ณ วันที่ 31 ม.ค. พ.ศ. 2560
 
มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ พลอากาศตรี ให้แก่ นาวาอากาศเอก โชคดี สมจิตต์ ซึ่งรับราชการมาด้วยความเรียบร้อยเป็นผลดีแก่ทางราชการ ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2560 ประกาศ ณ วันที่ 27 ม.ค. พ.ศ. 2560
 

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยก่อนปรองดอง#2 'ใบตองแห้ง': สื่อควรแข่งขัน ถ่วงดุล และตรวจสอบกันอย่างอิสระ

Posted: 13 Mar 2017 12:34 AM PDT

คลิปสัมภาษณ์ "ใบตองแห้ง" "พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ-แท้จริงคือควบคุมสื่อ"

ขณะที่กระบวนการพูดคุยเพื่อความปรองดองกำลังเดินหน้า กับ 11 คำถามของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มีหลากหลายประเด็นครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการเมือง กระบวนการยุติธรรม ปัญหาคอร์รัปชัน ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การปฏิรูปสื่อฯ ความเหลื่อมล้ำในสังคม ฯลฯ ประชาไทสัมภาษณ์ อธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง บรรณาธิการข่าวการเมืองอาวุโส วอยซ์ทีวี ในประเด็นด้านสื่อกับคำถามว่า ท่านมีแนวทางในการไม่ให้สื่อตกเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งได้อย่างไร
 

ภาพรวมของการปรองดองครั้งนี้เป็นอย่างไร?

อธึกกิต ให้ความเห็นว่า ภาพรวมของการปรองดองครั้งนี้แม้มีการกล่าวถึงกระบวนการที่คล้ายการนิรโทษกรรมแกนนำและประชาชนกลุ่มต่างๆ แต่แท้จริงแล้วเนื้อในเป็นการเคลื่อนย้ายระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ และการแสดงความคิดเห็น ให้ไปอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ สร้างรัฐแห่งการควบคุม ให้ทุกสิ่งอยู่ในกรอบที่ คสช. วางไว้ ไม่ต้องการให้มีการต่อต้าน และแม้จะมีกรอบของรัฐธรรมนูญวางไว้แล้ว ก็ยังต้องออกกฎหมายควบคุมมาเสริม เช่น พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน (พ.ร.บ. สื่อ) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งการพยายามควบคุมเรื่องพระสงฆ์และพุทธศาสนา

"รัฐบาลพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นเอกภาพนำไปสู่สังคมใต้บังคับบัญชาที่เรียกว่าการปรองดอง เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้นำสู่ประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น ด้วยจุดมุ่งหมายทางความมั่นคง"เขามองว่า นี่คือการปรองดองที่ไม่ได้เจรจาแบบที่นักการเมืองมีอำนาจต่อรอง ชูเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป ระบอบความมั่นคงนำไปสู่ความเจริญ สร้างความฝันแบบจีนที่เมื่อเศรษฐกิจดีเราจะมั่นคง

ขณะที่สื่อเองก็เป็นกลไกส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคง จึงมีความจำเป็นต้องควบคุมสื่อ ที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักแม้ไม่ได้เป็นศัตรูกับ คสช. แต่จำต้องควบคุมไม่ให้มีแรงกระเพื่อม เพราะถ้าปล่อยให้สื่อสร้างความเคลื่อนไหวจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคง รัฐบาลนี้มีเป้าหมายอันดับแรกคือความมั่นคง ต่อมาจึงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ส่วนสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสุดท้ายที่รัฐบาลจะนึกถึง
 

สื่อเป็นตัวสร้างความขัดแย้งหรือไม่?
จากคำถามที่ว่า 'ท่านมีแนวทางในการไม่ให้สื่อตกเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งได้อย่างไร' เราอาจตีความได้ว่า สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้ง

อธึกกิตให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า สังคมขัดแย้งและสื่อเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง สื่อมีส่วนแต่ไม่ได้เป็นผู้เดียวที่สร้างความขัดแย้ง เป็นความจริงที่สื่อไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรทำ สื่อทำตัวเองเป็นตะเกียงไม่ใช่กระจก ทิ้งหลักการสำคัญของตัวเองในเรื่องการแสดงความคิดเห็น ปกป้องเสียงข้างน้อย และตรวจสอบอำนาจรัฐ ที่ผ่านมาสื่อทำเกินกรอบหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองประชาธิปไตย สื่อมีบทบาทที่นำไปสู่การรัฐประหาร การล้อมปราบ โดยไม่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในเวลานั้น เราเรียกสื่อเหล่านี้ว่า สื่อเลือกข้าง ซึ่งจริงๆ เลือกข้างได้ แต่อะไรคือกรอบเกณฑ์ของสื่อ นั่นคือสื่อต้องรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย เพราะเมื่อรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตยสื่อก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องธรรมกาย สื่อได้ตรวจสอบการใช้อำนาจนี้ไหม เรื่องนี้ต้องแยกระหว่างการไม่เห็นด้วยกับธรรมกายกับใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐบาล
 

ร่างพ.ร.บ.สื่อฉบับใหม่ ลดหรือเพิ่มความขัดแย้ง?
นอกจากความพยายามวางกรอบผ่านรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาล คสช. ยังวางกรอบผ่านร่างกฎหมาย โดยล่าสุด สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านสื่อสารมวลชนได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ. สื่อ ฉบับใหม่ ที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกแถลงการณ์แสดงการคัดค้าน เนื่องจากใน พ.ร.บ.ระบุให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติให้เป็นองค์กรตามกฎหมายที่มีอำนาจในการลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรสื่อมวลชน ซึ่งย่อมเป็นการเปิดช่องให้มีการแทรกแซงการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระของสื่อมวลชนของฝ่ายการเมืองโดยผ่านสภาวิชาชีพดังกล่าว

อธึกกิตกล่าวว่า กฎหมายที่ออกมาเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ความขัดแย้ง แต่จะยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้ปัญหาของสื่อมากยิ่งขึ้น เขาเชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.สื่อนี้หากเป็นสื่อกระแสหลักจะไม่ได้ถูกลิดรอนเรื่องการออกใบอนุญาต เพราะสื่อใหญ่ยังมีอิทธิพลต่อรองกับรัฐบาล แต่ที่เดือดร้อนคือสื่ออิสระ สื่อออนไลน์ เพราะจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดและทำให้การขอใบอนุญาตเป็นเรื่องยาก

"พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ แท้จริงก็คือ พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ เพราะเป็นการเอาอำนาจรัฐมาควบคุมสื่อ ทั้งที่รัฐเป็นผู้ที่จะต้องถูกสื่อตรวจสอบ แต่ถ้ารัฐเข้ามามีอำนาจควบคุมสื่อ หรือให้คุณให้โทษสื่อ ก็จะทำให้เกิดการเบี่ยงเบนว่าจะใช้อำนาจตรวจสอบสื่ออย่างไร การตรวจสอบสื่อควรเป็นเรื่องผู้บริโภค ควรเปิดเสรีภาพให้สื่อแข่งขันกันเพื่อถ่วงดุล ไม่ใช่ใช้อำนาจในการลงโทษและถอนใบอนุญาต เหมือนต้องมีใบอนุญาตให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งมันตลก"

นอกจากนี้แนวคิดที่ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจที่จะควบคุมเป็นหลักการที่ผิด สื่อควรตรวจสอบกันเองแต่ไม่ใช่การควบคุมกัน เนื่องจากสื่อเป็นคู่แข่งกันทางธุรกิจและทางความคิดเห็น ในองค์กรสื่อไม่อาจเอาเสียงข้างมากมาคุมเสียงข้างน้อยได้ เพราะสื่อมีหลักการปกป้องเสียงข้างน้อย เขาชี้ว่า วงการสื่อยกระดับมาด้วยการแข่งขัน ทุกวันนี้เกิด 18 อรหันต์แบบคอลัมนิสต์ที่มีอิทธิพลต่อกระแสข่าวทางการเมืองเมื่อ 20-30 ปีก่อน เช่น "กระสุนทอง" "พญาไม้" "มดคันไฟ"ไม่ได้ เพราะการแข่งขันทำลายพวกนี้ไปหมดแล้ว ทุกวันนี้รายการคุณอาจได้รับความนิยม แต่ถ้าคุณพูดผิดคุณก็ถูกถ่วงดุล อิทธิพลสื่อหายไปหมดแล้ว
 

อิทธิพลของสื่อในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
เมื่อร่าง พ.ร.บ.สื่อ มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางควบคุมสื่อ สื่อยังจะสามารถแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และนำเสนอความจริงที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมได้หรือไม่ อธึกกิตกล่าวว่า ปัจจุบันใครก็เป็นสื่อได้ พลังมาจากสื่อกระแสรอง ข่าวจำนวนมากมาจากโลกออนไลน์ ข่าวจากสื่อกระแสหลักคือข่าวที่ เนื้อหามาจากรัฐบาล เช่น ข่าวรัฐบาลแถลงการณ์ ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อก็ไม่ได้มีความสำคัญมากเท่าในโลกออนไลน์แล้ว หน่วยงานรัฐอาจจะยังให้ความสำคัญเมื่อหนังสือพิมพ์พาดหัวถึงตัวเอง แต่คนทั่วไปอ่านเนื้อหาจากเพจในเฟซบุ๊กมากกว่าอ่านบทความจากคอลัมนิสต์ชื่อดัง
เขาชี้ว่า ทุกวันนี้การปลุกเร้าอารมณ์ของสื่อก็มีอิทธิพล มีคนสุดขั้วที่ติดตามสื่อที่เขียนอย่างไร้สติในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนสังคม แต่กลับกันสิ่งที่สะท้อนในสังคมออนไลน์อาจไม่ใช่ตัวจริงทั้งหมดของเขา สื่อนำความสุดโต่งนั้นมาขยายให้ดูรุนแรง ทั้งที่จริงแล้วมีคนคิดสุดโต่งอย่างนั้นไม่มาก

เมื่อเปรียบเทียบกับอิทธิพลของสื่อในยุคก่อนแล้ว อธึกกิตเห็นว่า การที่สื่อจะมีอำนาจล้มรัฐบาลได้ ต้องตรึงรัฐบาลให้อยู่กับที่แล้วซ้ำไปเรื่อยๆ ตรึงคือสร้างกระแสเรื่องใดให้อยู่ยาวๆ พาดหัวข่าวอยู่ได้เป็นเดือน เช่น ในปี 2535 เมื่อสุจินดา คราประยูร "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ทุกอย่างก็พลิก หรือชวน หลีกภัยที่พูดดีแต่ทำไม่ได้ กระทั่งสมัยทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนักการตลาดสมัยใหม่ คิดนำหน้าสื่อ เปิดประเด็นใหม่ตลอดเวลา สื่อตามไม่ทัน กำลังตามเรื่องนี้มีเรื่องใหม่มาอีกแล้ว แต่จุดขาลงรัฐบาลเริ่มจากเรื่องเครื่องตรวจจับระเบิด CTX 9000 กับกรณีทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล ซึ่งพาดหัวข่าวได้นาน ทำให้สื่อตรึงรัฐบาลได้หลังจากนั้น

ขณะที่ปัจจุบัน เขามองว่า ประยุทธ์มีอำนาจปิดปากสื่อ สื่อสมยอม ไม่เห็นภาวะสื่อตรึงกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่อนาคตคาดว่าจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องเดียวแต่อาจเป็นการถูกตรึงซ้ายขวา แล้วรัฐบาลเปิดประเด็นใหม่ไม่ได้ แม้เรื่องธรรมกายรัฐบาลจะเป็นฝ่ายชิงพื้นที่สื่อได้ และสื่อไม่ได้มีพลังเหมือนเมื่อก่อนตอนตรึงทักษิณ

"แต่ตอนนี้พลังมาจากสื่อกระแสรอง สนช.โดดประชุมมาจากไอลอว์ ฝายแม่ผ่องพรรณมาจากเฟซบุ๊ก สิ่งที่สะเทือนใจสังคมไม่ได้เกิดจากสื่อกระแสหลักอีกแล้ว ถึงแม้จะดูตรึงไม่ได้ แต่เกิดกระแสหลากหลายปั่นป่วน ช่องทางสื่อที่เหลือคือการต่อรอง ภาวะรัฐบาลแม้ดูเข้มแข็ง แต่กำลังจะอยู่ในช่วงขาลง ปัญหาเศรษฐกิจ และการต่อต้านต่างๆ ทำให้รัฐบาลคิดหนักว่าจะเปิดแนวรบกับสื่อแค่ไหน ขึ้นกับภาวะการเสื่อมความนิยมของรัฐบาลด้วย"
 

 

สื่อคือภาพสะท้อนอารมณ์สังคมคนชั้นกลาง
อธึกกิตเสนอว่า ความจริงแล้วสื่อเป็นภาพสะท้อนที่ผนวกอารมณ์คนชั้นกลาง สมัยก่อนสื่อกระแสหลักสะสมสิ่งเหล่านี้แล้วนำไปขมวดจุดชนวน เช่น ปี 2535 ที่คนชั้นกลางไม่พอใจนายกฯชาติชาย ชุณหะวัณ อย่างรุนแรง นำไปสู่การรัฐประหารโดยพลเอกสุจินดา แต่เมื่อสุจินดาเสียสัตย์ทุกอย่างก็พลิก มาจนถึงเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 การสลายการชุมนุม ปี 2551, 2552 และ 2553 รวมทั้งการรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557 สื่อเป็นเสมือนภาพสะท้อนอารมณ์ของคนชนชั้นกลาง เอาแน่เอานอนไม่ได้ ผันผวน เอาแต่ใจตัว มีความถูกต้องในทางความรู้สึกบางเรื่อง แต่คล้ายกับเตลิดไปไกลจนไม่อยู่ในกรอบประชาธิปไตย

หากมองกลับกัน จุดรวมอารมณ์ที่สร้างกระแสถึงที่สุดแล้วจะเป็นอันตรายต่ออำนาจทุกฝ่าย ภาวะเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ระบอบอำนาจปัจจุบันพอใจ บางเรื่องอาจเป็นเรื่องที่คนชนชั้นกลางทั่วไปไม่ได้สนใจ เช่น เรื่องไผ่ ดาวดิน แต่คนเหล่านี้จะไปสนใจในเรื่อง 7 สนช.ไม่เข้าประชุม หรือทัวร์ฮาวาย อันเป็นสิ่งสะเทือนอารมณ์คนชั้นกลาง ทำให้ระบอบ คสช.ไม่อาจสบายใจได้ ดังนั้นจึงต้องควบคุมสื่อให้อยู่ในกรอบ ไม่ก่อให้เกิดความผันผวน

"แต่สิ่งที่ทำให้ คสช. แตกต่างจากคณะรัฐประหารตอนปี 2535 คือขณะนี้ คสช. ยังอยู่ในสถานะที่มั่นคงเพราะภาวะสังคมที่อับจนภูมิปัญญาไม่รู้จะไปทางไหน ไม่กล้ากลับสู่ประชาธิปไตยแบบเต็มใบ กลัวเกิดความวุ่นวาย อย่างไรก็ตามจะถึงจุดที่เป็นขาลง ยิ่งในภาวะการเลือกตั้งหากคุมสื่อไม่ได้ อำนาจของรัฐบาลที่เคลื่อนย้ายไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ก็อาจมีสถานะอันตราย แต่ความจริงก็คือ แม้จะควบคุมสื่อได้แต่คุณควบคุมอารมณ์สังคมไม่ได้"
 

จัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค
ข้อเสนอของอธึกกิตต่อประเด็นการคุ้มครองสื่อคือ ควรเปิดโอกาสให้สื่อแข่งขันกันอย่างเสรีไม่ต้องมีการควบคุม สื่อจะเป็นฝ่ายตรวจสอบและถ่วงดุลกันเอง ส่งเสริมองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ยกระดับให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตรวจสอบสื่อ มีกองทุนให้คนที่ถูกสื่อรังแกใช้ในการดำเนินคดี เช่น หากมีคนฟ้องวอยซ์ทีวีละเมิดจรรยาบรรณ ร้องเรียนต่อองค์กรวิชาชีพสื่อ หากองค์กรวิชาชีพสื่อเห็นว่าผิดก็ออกคำแถลงประณาม ไม่ใช่ใช้อำนาจตัดใบอนุญาต สำหรับองค์ประกอบคณะกรรมการ เขาเสนอให้มาจากภาคประชาชน ไม่ใช่มาจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทุกวันนี้มีปัญหาเพราะ กสทช. เอาประกาศของ คสช. มาใช้ จนทำให้ กสทช.มาควบคุมสื่อตามอำนาจรัฐประหาร โดยอ้างว่าเป็นรัฏาธิปัตย์ หรืออำนาจสูงสุดของรัฐ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: จบ ป.ตรี ทะลักตลาดแรงงาน 7.38 แสนคน สวนทางนายจ้างต้องการมัธยมมากกว่า

Posted: 12 Mar 2017 11:43 PM PDT

รายงานพิเศษจาก TCIJ คาดผู้สำเร็จการศึกษาปี 2560-2561 มีรวม 3,812,927 คน จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 1,189,621 คน ผู้จบ ป.ตรี จะเข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุด 738,218 คน แต่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานวุฒิการศึกษาแค่มัธยมศึกษาซึ่งค่าแรงถูกกว่า นอกจากนี้พบ ป.ตรี ผลิตสาย 'บริหารธุรกิจ' มากที่สุด ส่วนสาย 'สังคมศาสตร์' มีโอกาสตกงานสูงกว่าเพื่อน

ประมาณการผู้สำเร็จการศึกษาปี 2560-2561 ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นระดับ ป.ตรี มากที่สุด ในขณะที่ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมไทยกลับต้องการแรงงานระดับปฏิบัติการและแรงงานกึ่งไร้ทักษะ จบการศึกษา ม.ต้น-ม.ปลาย มากกว่า ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/paseidon (CC0)

ในช่วงเดือนมีนาคมจะมีนักเรียน-นักศึกษาจบใหม่ในระดับต่าง ๆ เข้าสู่ตลาดแรงงานหลักแสนคนต่อปี ทั้งนี้พบว่าในปัจจุบัน ระบบการศึกษาของไทยที่ผลิตแรงงานป้อนสู่ตลาดนั้น กำลังประสบปัญหาการผลิตบุคคลากรไม่ตรงกับงานที่มี รวมทั้งโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยที่ยังนิยมใช้แรงงานค่าแรงต่ำวุฒิการศึกษาไม่สูงนักในภาคการผลิต ก็อาจเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคต

จากรายงาน 'ข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาและประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2560' ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาและผู้กำลังศึกษาปี 2558 จากสถาบันการศึกษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฎ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สถาบันการพลศึกษา สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และนำมาประมวลข้อมูลคาดการณ์ของผู้สำเร็จการศึกษาและผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานปีการศึกษา 2560-2561 ได้ข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

ประมาณการผู้สำเร็จการศึกษาปี 2560 จำนวนทั้งสิ้น 1,817,994 คน เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าอันดับ 1.จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 697,837 คน (ร้อยละ 38.39) 2.ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 397,997 คน (ร้อยละ 21.89) 3.ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) จำนวน 183,233 คน (ร้อยละ 10.08) 4. ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2) 161,924 คน (ร้อยละ 8.91) 5.ปริญญาตรี จำนวน 377,003 คน (ร้อยละ 20.73)  ประมาณการผู้สำเร็จการศึกษาปี 2561 จำนวนทั้งสิ้น 1,994,933 คน เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าอันดับ 1.จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 725,660 คน (ร้อยละ 36.38) 2.ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 413,469 คน (ร้อยละ 20.73) 3.ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) จำนวน 246,426 คน (ร้อยละ 12.35) 4.ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2) จำนวน 161,924 คน (ร้อยละ 8.12) 5.ปริญญาตรี จำนวน 447,454 คน (ร้อยละ 22.42) รวมแล้วผู้สำเร็จการศึกษาปีการศึกษา 2560 และ 2561 จะมีรวมกันถึง 3,812,927 คน   ประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2560 จำนวนทั้งสิ้น 555,416 คน เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าอันดับ 1.จบระดับปริญญาตรี จำนวน 337,568 คน (ร้อยละ 60.78) 2.ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2) จำนวน 95,600 คน (ร้อยละ 17.21) 3.มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 66,923 คน (ร้อยละ 12.05) 4.ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) จำนวน 35,584 คน (ร้อยละ 6.41) 5.มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 19,741 คน (ร้อยละ 3.55) ประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2561 จำนวนทั้งสิ้น 634,205 คน เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าอันดับ 1.จบระดับปริญญาตรี จำนวน 400,650 คน (ร้อยละ 63.17) 2.ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2) จำนวน 95,600 คน (ร้อยละ 15.07) 3.มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 69,591 คน (ร้อยละ 10.98) 4.ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) จำนวน 47,856 คน (ร้อยละ 7.55) 5.มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 20,508 คน (ร้อยละ 3.23) รวมแล้วผู้ที่จะเข้าสู่เข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2560 และ 2561 จะมีรวมกัน 1,189,621 คน โดยผู้จบในระดับปริญญาตรีจะเข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุด 738,218 คน

ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานปฏิบัติการ-กึ่งไร้ทักษะ-จบมัธยมศึกษา

ตัวอย่างประกาศรับสมัครงานของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะฝ่ายผลิตที่ต้องการแรงงานวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาและประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มากที่สุด ที่มาภาพ: jobprachin.com

ข้อมูลจากสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ที่เปิดเผยเมื่อเดือน ก.พ. 2560 ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับปฏิบัติการและแรงงานกึ่งไร้ทักษะ ซึ่งเป็นกลุ่มใช้แรงงานเข้มข้นในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จบการศึกษาระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงร้อยละ 16 ต่อปีของจำนวนแรงงานทั้งหมด ทั้งที่ความต้องการใช้แรงงานเข้มข้นในกลุ่มนี้มีสูงมาก ในภาคอุตสาหกรรมส่งออกมีมูลค่าปีละ 5.45 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.3 ของมูลค่าการส่งออกภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด และหากไม่ได้รับการแก้ปัญหาไม่เกิน 7 ปี จะเกิดวิกฤตปัญหาแรงงานเข้มข้นและจะส่งผลกระทบต่อภาอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจในวงกว้างแน่นอน

อาจเป็นแค่กระดาษแผ่นเดียว ?

TCIJ ได้พูดคุยกับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ไม่ได้ใช้วุฒิการศึกษาของตนไปสมัครงาน 2 ท่าน คืออดีตพนักงานฝ่ายผลิตในย่านนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน และผู้ประกอบอาชีพค้าขายตามตลาดนัด โดยอดีตพนักงานฝ่ายผลิตให้ข้อมูลว่าเธอเป็นคน จ.เชียงราย มาเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ จบการศึกษาบริหารธุรกิจมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 หลังจากที่ไม่สามารถสอบแข่งขันบรรจุเป็นพนักงานข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นได้ (รอบแรกหลังเรียนจบ) เธอจึงได้ตัดสินใจไปสมัครงานในโรงงานประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง ในนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน โดยใช้วุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลาย เนื่องจากการสมัครงานตำแหน่งฝ่ายผลิตซึ่งมีตำแหน่งงานมากที่สุดในย่านนิคมอุตสาหกรรมนั้นต้องใช้วุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายในการสมัครงาน หลังจากทำงานได้ 2 ปี เธอก็ได้ลาออกจากงานแล้วกลับไปดูแลร้านชำซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวและทำการเกษตรที่ จ.เชียงราย พร้อมกับตั้งหน้าตั้งตาสอบแข่งขันบรรจุเป็นพนักงานข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น (รอบที่ 2) ซึ่งการเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ คือเป้าหมายชีวิตของเธอ

"ที่ต้องไปสมัครงานฝ่ายผลิตที่นิคมฯ ตอนนั้นเพราะวุฒิ ป.ตรี ไม่ค่อยเปิดรับสมัครหรือตำแหน่งไม่ตรงกับสายที่เราเรียนมา ส่วนใหญ่จะเป็นพวกวิศวกรหรือบัญชี แต่ฝ่ายผลิตที่เปิดหลายโรงงานนั้นเขาให้ใช้วุฒิมัธยมก็พอ เลยไม่ได้ใช้วุฒิ ป.ตรี สมัครงาน ต้องใช้วุฒิ ม.6 แทน … ความฝันคืออยากทำงานราชการเพราะมั่นคง แต่ที่เรียน ป.ตรี บริหารธุรกิจ เพราะไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรตอนจะจบ ม.6 เพื่อนเรียนต่อที่ไหนก็ตามเพื่อนมา ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจบมาแล้วจะไปทำอะไร มาคิดอีกทีก็ตอนเรียนจบ ป.ตรี แล้ว " เธอเล่า 

ส่วนผู้ประกอบอาชีพค้าขายตามตลาดนัดอีกหนึ่งท่าน จบการศึกษาพลศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันการพลศึกษาแห่งหนึ่งในภาคเหนือเมื่อปี 2550 ระบุว่าสาขาวิชาที่ตนจบมา หากจะนำวุฒิการศึกษาไปสมัครงานก็จะมีแต่งานการเป็นครูพละที่ถือว่าเป็นการทำงานตรงสายวิชาชีพที่เรียนมา นอกจากนั้นก็เป็นงานพนักงานบริษัทต่าง ๆ ซึ่งตนเห็นว่าไม่น่าจะก้าวหน้า น่าจะได้เป็นแค่พนักงานระดับล่างไปตลอดชีวิต จึงเลือกที่จะทำค้าขายเอง เพราะเนื่องจากครอบครัวไม่ได้มีความลำบากอะไรมากมาย

"ที่เลือกเรียนพละเพราะหัวไม่ค่อยดี เรียนไม่ค่อยเก่ง ตอนจบ ม.6 ก็สอบหลายที่แต่ได้ที่วิทยาลัยพละ ตอนสมัครเรียนไม่ได้คิดหรอกว่าจบแล้วจะทำงานที่ไหน ตอนนั้นขอแค่ให้มีที่เรียนก่อน พอเรียนเราก็รู้ว่าจะไปเป็นนักกีฬาอาชีพอะไรก็น่าจะยากเพราะเราเรียนแค่ผ่าน แถมไม่ได้เล่นกีฬาเก่งอีก คือหัวไม่ค่อยดีอยู่แล้วเล่นกีฬาก็ไม่เก่งมาก พอจบมาก็มีอาชีพแค่ครูพละกับหัวหน้ายามที่เขารับวุฒิ ป.ตรี คนจบพละโดยตรง ซึ่งสอบเป็นครูเราก็สู้คนอื่นไม่ได้ … ถ้าสมัครงานลูกจ้างออฟฟิศก็คงไม่มีตำแหน่งอะไรที่ได้ก้าวหน้า บ้านอยู่เชียงใหม่เราไม่เดือดร้อนอยู่แล้วเลยมาค้าขายดีกว่า อาชีพอิสระกว่าและมีโอกาสรวยกว่าเป็นพนักงานออฟฟิศ" พ่อค้าตลาดนัดอดีตบัณฑิตจากสถาบันการพลศึกษากล่าว

 

จากการสำรวจประกาศรับสมัครงานในย่านอุตสาหกรรมต่าง ๆ เบื้องต้น TCIJ พบว่าโรงงานตามนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ มักจะรับสมัครฝ่ายผลิตวุฒิการศึกษาจบระดับมัธยมศึกษามากที่สุด เนื่องจากสามารถ 'จ่ายค่าแรง' ตามเพดานค่าแรงได้ต่ำที่สุด (ดูเพิ่มเติม: อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560) ซึ่งหากแรงงานปฏิบัติการและแรงงานกึ่งไร้ทักษะวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาขาดแคลนไปมากกว่านี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยก็จะต้องไปใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น สอดคล้องกับการให้ข้อมูลของนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ที่ระบุว่าแรงงานกึ่งไร้ทักษะขาดแคลนและคนไทยไม่นิยมไปทำนั้น จะส่งผลให้ในอนาคต ภาค อุตสาหกรรมจะต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวมากขึ้น

"กระทรวงแรงงานจะต้องเร่งปฏิรูปการใช้แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยทั้งหมด และอย่าคำนึงถึงแต่ความมั่นคงเท่านั้น ควรคำนึงในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย เริ่มตั้งแต่การสำรวจแต่ละภาคอุตสาหกรรม มีความต้องการแรงงานต่างด้าวเท่าไรและปรับปรุงขั้นตอนการใช้แรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมายมากขึ้น เพราะขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวในระบบที่ขึ้น ทะเบียนถูกกฎหมายประมาณ 1.4 ล้านคน และมีแรงงานต่างด้าวไม่ถูกกฎหมายกว่า 1 ล้านคน เจ้าของโรงงานจะต้องจ่ายส่วย หรือค่าหัวคิวประมาณ 5,000 บาทต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นค่าส่วยปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่หากภาครัฐ แก้ไขให้ถูกต้อง จะเข้าสู่ระบบของภาครัฐแทน" นายธนิตระบุกับสื่อมวลชนในช่วงเดือน ก.พ. 2560

และเมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2560 ที่ผ่านมาพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานการเตรียมแรงงานรองรับระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยระบุว่าจะมีการเพิ่มบทบาทสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ภาคตะวันออกจังหวัดระยอง เพื่อฝึกให้แรงงานมีความพร้อมรองรับความต้องการภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ เน้นการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีชั้นสูงให้แก่ผู้ที่จบการศึกษาและแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

"เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่ภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีความต้องการแรงงานประมาณ 9,400 อัตราในตำแหน่ง งานการผลิต ขายส่ง-ขายปลีกซ่อมแซมยานยนต์ เครื่องใช้ในครัวเรือนและก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่ต้องการผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ปวช. และ ปวส. ให้ทำงานพื้นฐานทั่วไปและด้านช่างเทคนิคช่างประกอบ" พลเอกศิริชัย ระบุกับสื่อมวลชน

ป.ตรี 'บริหารธุรกิจ' มากสุด 'สังคมศาสตร์' ตกงานสูงสุด

ก่อนหน้านี้ สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ได้เคยคาดการณ์ตลาดแรงงานไทยปี 2560 ไว้เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ว่า นักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้ามาในระบบเดือน มี.ค. 2560 นั้น ส่วนหนึ่งอาจตกงานโดยเฉพาะผู้ที่จบปริญญาตรี ทั้งนี้จำนวนแรงงานที่ว่างงาน เมื่อเดือน ต.ค. 2559 ก็อยู่ที่ 467,000 คนแล้ว ทำให้ในปี 2560 เด็กจบใหม่ก็จะตกงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปริญญาตรีที่ไม่ใช่สายเฉพาะทาง หรือวิชาชีพ เช่น สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ นิเทศศาสตร์ เป็นต้น ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต ที่เน้นให้การศึกษาไอที คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ช่างกล ฯลฯ และนวัตกรรมในอุตสาหกรรม 4.0 ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วนั้น จะทำให้ตลาดแรงงานผู้จบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย

TCIJ รวบรวมข้อมูล 'ประมาณการ 10 อันดับแรกของผู้จบปริญญาตรีในคณะ/วิชาต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2560 และ 2561' ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่า 10 อันดับ ได้แก่ 1. บริหารธุรกิจ 2. มนุษย์ศาสตร์และ สังคมศาสตร์ 3. ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 4. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5. วิทยาการจัดการและสารสนเทศ 6. รัฐศาสตร์ 7. นิติศาสตร์ 8. ศิลปศาสตร์ 9. วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และ 10. นิเทศศาสตร์ (อ่านรายละเอียดทั้ง 50 รายคณะ/วิชาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ที่ 'จับตา: จบ ป.ตรี สาขาอะไร? จำนวนเท่าไร? ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2559-2561') จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2560-2561 มีผู้จบบริหารธุรกิจเข้าสู่ตลาดแรงงานสูงสุดถึง 124,163 คน ส่วนผู้จบมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะเป็นสาขาวิชาที่ตกงานมากที่สุดมีถึง 77,287 คน

 

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง:
บัณฑิต ป.ตรี ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2559-2561

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น