ประชาไท | Prachatai3.info |
- ข้อถกเถียง 'กฎหมายต่อต้านการสมคบคิด' ในญี่ปุ่น ใช้ปราบแก๊งอาชญากรรมจริงหรือ?
- เปิดวิจัย หลังมี ‘บัตรทอง’ พบอายุยืนขึ้น รายได้ การออม การบริโภคในอนาคตเพิ่มขึ้น
- [คลิป] เปิดพรมแดนความรู้ล้านนาคดีใหม่ (2) : ศิลปะ วัฒนธรรมในสังคมล้านนา
- ประยุทธ์ ปลื้มนานาชาติยอมรับไทย หลังทูตไทยได้รับเลือกตั้งเป็นผู้พิพากษาศาล ก.ม.ทะเลระหว่างประเทศ
- สถาปนิกและสภาวิชาชีพควรมีท่าทีอย่างไรต่อการใช้ ม. 44 กรณีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง
- 75 องค์กรอีสานประท้วงเวที แก้ ก.ม.บัตรทอง ใต้แถลงหนุน สรรเสริญ ตั้งแง่เอี่ยวการเมือง
- ประยุทธ์ ตั้งอีก 50 ข้อ ฝากให้ประชาชนช่วยกันคิด
- รับน้องศิลปกรรม จุฬาฯ: มาสคอต สันโต้ ห้องเชียร์ รุ่นพี่
- 'ประยุทธ์' ขออย่าขวางสร้างรถไฟ 'ดวงฤทธิ์' ชี้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายข้อ
- ทำอย่างไร เมื่อไทยกำลังโต ในสินค้าที่กำลังจะตาย…
- กวีประชาไท: ลุงแน่จริง!
ข้อถกเถียง 'กฎหมายต่อต้านการสมคบคิด' ในญี่ปุ่น ใช้ปราบแก๊งอาชญากรรมจริงหรือ? Posted: 17 Jun 2017 09:50 AM PDT "กฎหมายต่อต้านการสมคบคิด" เพิ่งผ่านร่างโดยสภาบนของญี่ปุ่นไปเมื่อไม่นานมานี้ ถึงแม้จะฟังดูดีในการอ้างปราบแก๊งอาชญากรรม เตรียมรับโอลิมปิก 2563 แต่ก็มีผู้ต่อต้านในหลายสาเหตุทั้งเรื่องเนื้อหากฎหมายนี้นิยามไม่ชัดเจน มีความผิดครอบคลุมเยอะมากถึงขั้นเก็บเห็ดก็ยังผิด หวั่นจะนำมาอ้างใช้กับผู้คนที่เห็นต่างกับรัฐบาล ตำรวจหน่วยปราบจลาจลที่จังหวัดยามากูชิในระหว่างการฝึกซ้อมต่อต้านการก่อการร้ายที่ท่าเรือมุโรโนกิ เมืองอิวากุนิ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2556 (แฟ้มภาพ/Luis Ramirez/Marine Corps Air Station Iwakuni) 17 มิ.ย. 2560 สภาสูงของญี่ปุ่นเพิ่งผ่านร่างกฎหมายที่ชวนให้เกิดข้อถกเถียงอย่าง "กฎหมายต่อต้านการสมคบคิด" แม้ว่าจะมีกระแสต่อต้าน โดยถึงแม้ว่าฝ่ายรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมจะอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นไปเพื่อเสริมความปลอดภัยในช่วงก่อนมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 2563 และเป็นไปตามข้อตกลงที่ญี่ปุ่นทำไว้กับสหประชาชาติ แต่ก็มีคนวิจารณ์ว่ากฎหมายใหม่นี้จะเป็นการลิดรอนเสรีภาพประชาชนและอาจจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดและใช้ตั้งเป้าหมายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ในช่วงคืนวันที่ 14 มิ.ย. ก่อนการลงมติในสภาสูงของญี่ปุ่นมีผู้ประท้วงจำนวนมากรวมตัวกันประท้วงกฎหมายต่อต้านการสมคบคิดหน้าอาคารรัฐสภา โดยที่กระแสการประท้วงกฎหมายนี้มีมานานแล้วตั้งแต่ช่วงหลังจากที่มีการเสนอร่างกฎหมายนี้ในเดือน ธ.ค. 2559 พอถึงช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาหลังจากผ่านร่างกฎหมายนี้จากสภาล่างไปสู่สภาสูงก็มีการประท้วงตามท้องถนน โดยมีการประท้วงอย่างต่อเนื่องหน้าที่ว่าการรัฐบาลเพื่อให้มีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว บีบีซีระบุว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้จะมีการลงโทษผู้ที่วางแผนหรือกระทำการในสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นอาชญากรรม 277 ประเภท รวมถึงมีการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เพื่อต่อต้านแก๊งอาชญากรรม กฎหมายฉบับนี้ระบุห้ามไม่ให้มีการจัดหาเงินทุนหรือเสบียงรวมถึงห้ามมีการสำรวจพื้นที่ล่วงหน้าในการก่ออาชญากรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีกับทั้งกลุ่มซึ่งหมายถึงบุคคล 2 คนขึ้นไปถ้าหากสมาชิกกลุ่มนั้นๆ ถูกจับได้ว่าวางแผนก่ออาชญากรรม นอกจากนี้ยังสั่งห้ามการขยายตัวหรือดำรงไว้ซึ่งธุรกิจผิดกฎหมายที่เป็นผลประโยชน์ของกลุ่มแก๊งอาชญากรรมด้วย ญี่ปุ่นเคยลงนามในอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านแก๊งอาชญากรรมแต่ยังไม่ได้รับการรับรอง รัฐบาลญี่ปุ่นอ้างว่าการออกกฎหมายใหม่นี้เป็นสิ่งจำเป็นในการทำให้กระบวนการรับรองการลงนามของพวกเขาดำเนินต่อไปได้ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นกล่าวอีกว่ากฎหมายนี้จะทำให้ญี่ปุ่นสามารถ "ร่วมมือกับนานาชาติในการป้องกันการก่อการร้ายได้" มีข้อห้ามเก็บเห็ดพื้นที่ป่าสงวนในกฎหมาย "ต่อต้านการสมคบคิด" ด้วย? อย่างไรก็ตามในการเสนอกฎหมายตอนแรกฝ่ายพรรคแนวร่วมรัฐบาลร่างกฎหมายใหม่โดยระบุถึงอาชญากรรมถึง 676 ประเภทจนกระทั่งถูกลดลงเหลือ 227 ประเภทในเวลาต่อมา ถึงแม้ว่าจะมีการสั่งห้ามในเรื่องการรวมกลุ่มเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในระดับร้ายแรงอยู่แต่ก็มีการระบุครอบคลุมถึงอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ อยู่ด้วย เช่น การทำสำเนาเพลง การนั่งปักหลักประท้วงการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย การใช้แสตมป์ปลอม การแข่งเรือยนต์โดยไม่มีใบอนุญาต การเก็บเห็ดในพื้นที่ป่าสงวน รวมถึงการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีการบริโภค กลุ่มผู้ต่อต้านกฎหมายต่อต้านการสมคบคิดมองว่ากฎหมายนี้ใช้คำกว้างเกินไปจนทำให้ทางการมีอำนาจครอบคลุมไปทั่ว แต่ฝ่ายรัฐบาลก็อ้างว่าพวกเขาจะใช้กฎหมายในการจำกัดปฏิบัติการหารายได้ของแก๊งอาชญากรรมที่รวมถึงการขายเห็ดอย่างผิดกฎหมายด้วย ซึ่งตรงจุดนี้สื่อไมนิจิในญี่ปุ่นเคยโต้แย้งว่าเป็นข้ออ้างที่ "ไม่ชวนให้เชื่อ" เพราะกฎหมายนี้ไม่ได้ห้ามกิจกรรมหารายได้ที่ผิดกฎหมายบาอย่างเช่นการลักลอบจับสัตว์น้ำ มีนักวิจารณ์อีกบางส่วนวิจารณ์ในแง่ของวิธีการผ่านร่างกฎหมายนี้ที่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลใช้วิธีการที่ไม่ปกติในการข้ามขั้นตอนการพิจารณาบางขั้นตอนไปทำให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่ารัฐบาลญี่ปุ่นบดขยี้ฝ่ายต่อต้านและตั้งคำถามว่ากฎหมายนี้จะถูกอาเบะนำมาอ้างใช้เพื่อป้องกันตัวเองจากการเรื่องอื้อฉาวรอบตัวเขาหรือไม่ หวั่นใช้อ้างสอดแนม ปราบคนเห็นต่าง เคโกะ มากิโมะโตะ ครูประถมที่เกษียณอายุแล้วเข้าร่วมประท้วงกฎหมายใหม่นี้ เธอพูดถึงกฎหมายฉบับนี้ว่ากฎหมายใหม่นี้ครอบคลุมไปทั่วทุกประเด็นเพราะชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับสิทธิในการที่ต่อต้านของตัวเอง โดยที่ก่อนหน้านี้มากิโมโตะเคยร่วมประท้วงต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์มาก่อนตั้งแต่ช่วงหลังเกิดเหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ กฎหมายต่อต้านการสมคบคิดนี้ยังถูกวิจารณ์แม้กระทั่งจากอดีตผู้เปิดโปงการสอดแนมของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ยังเคยให้สัมภาษณ์วิจารณ์กฎหมายฉบับนี้ไว้ว่ามันอาจจะเป็นการทำให้วัฒนธรรมการสอดแนมกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมญี่ปุ่นซึ่งน่าเป็นห่วง ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครเห็นว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้มีความจำเป็นอะไร สโนว์เดนยังกังวลด้วยว่านี่อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสอดแนมประชาชนในญี่ปุ่น ถึงแม้อาเบะจะอ้างเรื่องต้องการการรับรองการลงนามต่อต้านแก๊งอาชญากรรมแต่เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติในประเด็นก็ส่งจดหมายเตือนว่ากฎหมายต่อต้านการสมคบคิดจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน อีกทั้งยังวิจารณ์เรื่องการรีบร้อนผ่านร่างกฎหมายจนทำให้เกิดการจำกัดการถกเถียงอภิปรายสำหรับประชาชนในวงกว้าง ฮิโระคุนิ โอซาวะ นักดนตรีอายุ 51 ปีผู้เข้าร่วมการประท้วงของคนมากกว่า 4,000 คน ที่โรงละครกลางแจ้งฮิบิยะกล่าวว่ากฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนในญี่ปุ่นแม้กระทั่งคนที่คิดว่ากฎหมายนี้จะไม่กระทบอะไรพวกเขา ในที่ชุมนุมดังกล่าวยังประกอบด้วยคนหลายภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ผู้จัดตั้งสหภาพแรงงาน นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์สิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ที่ร่วมกันต่อสู้รักษาสิทธิของตัวเอง ความกังวลรัฐบาลปลุกผีสงครามโลกครั้งที่ 2 กฎหมายต่อต้านการสมคบคิดยังมาพร้อมกับความกังวลที่ผู้คนมีต่อรัฐบาลของอาเบะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่มีแนวโน้มจะทำให้ญี่ปุ่นกลับเข้าสู่สงครามอีกครั้งอีกครั้งด้วยการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากเดิมที่เน้นห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นกลับไปใช้กำลังทหารในเชิงรุกรานอีกครั้ง แต่อาเบะก็พยายามเรียกร้องเสียงสนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเป็นการเพิ่มอำนาจในการออกรบนอกอาณาเขตของญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยที่ริเอะ โอโนเดระ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนอายุ 39 ปีกังวลว่กฎหมายต่อต้านการสมคบคิดจะถูกอ้างเอามาใช้ปิดปากผู้ที่ต่อต้านการเพิ่มอำนาจกองกำลังของญี่ปุ่นเอง เธอบอกว่าประชาชนญี่ปุ่นต่อสู้ปกป้องรัฐธรรมนูญสันติมาหลายรุ่นถ้าหากประชาชนไม่สามารถต่อสู้ปกป้องมันได้ก็มีโอกาสที่ผู้นำจะลากประเทศไปสู่สงครามอีกครั้ง รัฐบาลอาเบะพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2558 แล้วโดยการออกกฎอนุญาตให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นออกปฏิบัติการนอกอาณาเขตพื้นที่ของญี่ปุ่นได้ ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ทำให้เกิดการประท้วงของคนนับแสนคน แต่การต่อต้านของประชาชนจำนวนมากนี้ก็อาจจะถูกการอ้างใช้กฎหมายฉบับใหม่สั่งห้ามพวกเขาก็เป็นได้ Waging Nonviolence ระบุว่าเคยมีประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นถึงเรื่องนี้มาแล้วตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคนั้นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังพยายามขยายอำนาจอาณานิคมทั่วเอเชียก็มีการออกกฎหมาย "คุ้มครองความปลอดภัย" ที่ทำให้เกิดหน่วยงานตำรวจพิเศษที่เรียกว่า "โทกโกะ" ตำรวจเหล่านี้ทำการปราบปรามประชาชนที่ส่งเสียงต่อต้าน ฟรานซิส ไปค์ นักประวัติศาสตร์อังกฤษ ระบุว่าในช่วงปี 2476-2479 รัฐบาลญี่ปุ่นจับกุมตัวปะชาชนมากถึงเกือบ 60,000 คน มีการไต่สวน คุมขังในเรือนจำ และบางครั้งก็มีการทารุณกรรมโดยอ้างว่า "มีความคิดอันตราย" ในปี 2484 นายกรัฐมนตรีฮิเดะกิ โทโจ กล่าวในที่ประชุมจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นว่าพวกเขาให้อำนาจมากขึ้นในการควบคุมคนที่ต่อต้านสงครามและต่อต้านกองทัพ โดยเรียกผู้คนเหล่านั้นว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" เป็น "ชาวเกาหลีกบฏ" หรือเป็น "ครูสอนศาสนาบางคน" รวมถึงิ้างว่าเป้นการจับกุมล่วงหน้าในเชิงป้องปราบ หนึ่งในผู้ประท้วงชื่อ โทชิเอะ อิชิโนะกิ อายุ 66 ปี ก็พูดถึงประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนั้นที่มาจากคำบอกเล่าของแม่ แม่เขาบอกว่าในตอนนั้นเธอยังเป็นวัยรุ่นหญิงที่กลัวการพูดถึงสงครามมากเพราะกลัวพวกคนให้ข่าวรัฐบาลหรือตำรวจทางความคิด เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงสังคมแห่งการสอดแนมในยุคสมัยสงคราม ความกังวลนี้ยังผูกโยงได้กับการที่รัฐบาลอาเบะมีท่าทีเสริมความสัมพันธ์ทางการทหารกับสหรัฐฯ มากขึ้น รวมถึงหวังว่าจะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็น "พันธมิตรที่อยู่ในระดับเท่ากัน" กับสหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีท่าทีสนับสนุนการมีอยู่ของกองทัพสหรัฐฯ ในโอะกินะวะ ถึงแม้ว่าประชาชนชาวโอะกินะวะจะต่อต้านเป็นจำนวนมาก จากที่เมื่อไม่นานมานี้ญี่ปุ่นจับกุมและปล่อยตัวแกนนำผู้ประท้วงต่อต้านการสร้างฐานทัพที่อ่าวเฮะโนะโกะเป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่มีการตั้งข้อหาและไม่อนุญาตให้ประกันตัว ฮิโรจิ ยามะชิโระ หนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมและปล่อยตัวในเวลาต่อมาบอกกับผู้ชุมนุมประท้วงว่า "ราวกับรัฐบาลกำลังทดลองใช้กฎหมายต่อต้านการสมคบคิดกับผู้ประท้วงในโอะกินะวะ"
ความร่วมมือกับสหรัฐฯ การที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ยังทำให้เกิดความกังวลว่าจะถูกนำมาใช้สอดแนมแบบหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลหรือไม่ จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีเอกสารรั่วไหลจากหน่วยงายตำรวจนครบาลโตเกียวในเอกสารนั้นระบุว่ามีการสอดแนมผู้อาศัยชาวมุสลิมและคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นรวมแล้วราว 72,000 ราย ที่คล้ายการสอดแนมแบบเดียวกับที่เกิดในนิวยอร์กมาก นอกจากนี้ยังมีการสอดส่องสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมัสยิด โรงเรียน ร้านอาหาร ร้านฮาลาล และองค์กรที่ถูกมองว่า "เกี่ยวข้องกับมุสลิม" โดยมีกานิยามกว้างมากวมถึงองค์กรอย่างแพทยไร้พรมแดนและยูเนสโกด้วย ทนายความนักสิทธิมนุษยชนญี่ปุ่นบอกว่าตำรวจญี่ปุ่นมักจะแบ่งปันข้อมูลเหล่านี้กับทางการสหรัฐฯ อีกด้วย เคยมีกรณีที่ชายชาวโมร็อคโกที่อาศัยอยู่ในโตเกียวมาเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้วเล่าให้สื่อเจแปนไทม์ฟังว่าเขาเคยถูกคุมขังและไต่สวนในคุกชั่วคราวของสถานีตำรวจเป็นเวลา 10 วันหลังจากที่ต่อวีซ่าไม่สำเร็จในปี 2550 ซึ่งเรื่องการต่อวีซ่าไม่สำเร็จนี้เป็นความผิดพลาดธรรมดาทั่วไปที่เกิดขึ้นได้และมักจะมีการลงโทษอย่างมากแค่ปรับเป็นเงินจำนวนไม่มาก ชายชาวโมร็อคโกคนดังกล่าวยังถูกส่งต่อไปยังเรือนจำสำหรับผู้อพยพที่เขาต้องใช้เวลาในนั้นอีก 20 วัน ชายผู้นี้ทำงานเป็นคนขับรถให้กับสถานทูตอิรักเขาเล่าอีกว่ามีตำรวจโทรศัพท์มาหาเขาอีกหลายครั้งกดดันให้เขาช่วยคอยสอดส่องเพื่อนร่วมงานของเขาให้ ในปี 2544 ยังมีกรณีที่เจ้าทุกข์ชาวมุสลิม 17 คนฟ้องร้องว่าหน่วยงานตำรวจญี่ปุ่นละเมืดสิทธิขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพทางศาสนาที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากที่มีการยื่นอุทธรณ์มาแล้วสองครั้งในปี 2559 ศาลสูงสุดของญี่ปุ่นก็ปฏิเสธไม่ยอมรับฟังคดีนี้โดยอ้างว่าการสอดแนมมีความจำเป็นท่ามกลางการก่อการร้ายระดับโลก เรื่องทีญี่ปุ่นให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในเรื่อง "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" มีการแสดงออกมาอย่างเปิดเผย ในปี 2557 ญี่ปุ่นเคยลงนามในข้อตกลงการป้องกันและต่อต้านอาชญากรมร้ายแรงที่อนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานบังคับกฎหมายโดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามประเทศ รวมถึงตำรวจญี่ปุ่นยังมีการฝึกอบรมร่วมกับเอฟบีไอของสหรัฐฯ ด้วย ชางโฮคิมผู้ที่เคยร่วมเขียนหนังสือกับสโนว์เดนเกี่ยวกับเรื่องการสอดแนมในญี่ปุ่นกล่าวว่าการโจมตีของผู้ก่อการร้ายมักจะถูกรัฐบาลอ้างนำมาใช้สนับสนุนให้มีการสอดแนมแบบเหมารวม เป็นการหาผลประโยชน์จากความหวาดกลัวภัยก่อการร้านของผู้คน ชาวโฮคิมเพียงแค่หวังว่าจะไม่มีเหตุก่อการร้ายใดๆ เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เรียบเรียงจาก Nationwide protests oppose 'anti-conspiracy' bill, as Japan moves to remilitarize, Waging Nonviolence, 08-06-2017 Japan passes controversial anti-terror conspiracy law, BBC, 15-06-2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิดวิจัย หลังมี ‘บัตรทอง’ พบอายุยืนขึ้น รายได้ การออม การบริโภคในอนาคตเพิ่มขึ้น Posted: 17 Jun 2017 09:21 AM PDT Hfocus สัมภาษณ์ ณัฏฐ์ หงษ์ดิลกกุล ผู้วิจัยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบคนไทยอายุยืนขึ้น พร้อมทั้ง รายได้ การออม การบริโภคในอนาคตเพิ่มขึ้น และชี้ 'ร่วมจ่าย' กรณีโรคราคาแพง เท่ากับว่าเอาจุดดีที่สุดของโครงการ 30 บาทออกไป
แฟ้มภาพ จากเว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์ 17 มิ.ย. 2560 จากกรณีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยภาคประชาชนมองว่ากระบวนการยกร่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีผู้แทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าวเพียง 2 คน รวมถึงมีข้อกังวลจากภาคประชาชนว่าการแก้ไขจะเป็นการทำลายหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง จนเกิดการคัดค้านและวอล์กเอาต์จากเวทีประชาพิจารณ์ใน 3 ภาค แล้วนั้น ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไข และการทำประชาพิจารณ์ดังดล่าว วานนี้ (16 มิ.ย.60) สำนักข่าว Hfocus (www.hfocus.org) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ณัฏฐ์ หงษ์ดิลกกุล นักศึกษาปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา ผู้เขียนเรื่อง Welfare Analysis of the Universal Health Care Program in Thailand ซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ อ่านรายละเอียดซึ่งเป็นฉบับภาษาอังกฤษ รายละเอียดบทสัมภาษณ์ มีดังนี้ 000000 ทำโครงการบัตรทอง 'คุ้ม-ไม่คุ้ม'ณัฏฐ์ สรุปสาระสำคัญของงานศึกษาชิ้นนี้ว่า จากการวิจัยพบว่าผลประโยชน์จากสวัสดิการโดยรวมที่ได้รับจากโครงการบัตรทองอยู่ที่ 831 บาท/คน หรือประมาณ 75 สตางค์ต่อเม็ดเงินทุกๆ 1 บาทที่รัฐจ่ายให้แก่โครงการนี้ และผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการ (welfare) ทั้งหมดผ่านทางช่องทางการรักษาระดับการบริโภค (consumption smoothing) เป็นสำคัญ โดยไม่พบว่าผู้มีสิทธิได้รับผลทางสวัสดิการผ่านอีก 2 ช่อง คือ ช่องทางด้านการเพิ่มระดับการบริโภค และช่องทางด้านสุขภาพ นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ด้วยวิธีต่างๆ พบว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคส่งผลกระทบทางบวกต่อด้านรายได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การวิจัยสามารถสรุปได้ว่าโครงการนี้มีผลกระทบทางบวกต่อการออมและการบริโภคในอนาคต มากกว่าการบริโภคในปัจจุบัน ณัฏฐ์ กล่าวคำว่า "ผลทางสวัสดิการ" ในที่นี้วัดจาก "ราคาที่ยินดีจ่าย" (willingness to pay) ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์มีแนวคิดพื้นฐานในการวัดสวัสดิการของคนคือถ้าจะต้องจ่ายเองในสิ่งๆ นั้นจะยินดีจ่ายเท่าไหร่ "ฉะนั้นประโยคข้างบน ถ้าเขียนให้รัดกุมก็ต้องเขียนคือ ในจำนวนเงินทั้งหมดรัฐบาลจ่ายเข้าโครงการสามสิบบาทนั้น ถ้าให้ผู้มีสิทธิ์ในโครงการจ่ายเองเขาจะยินดีจ่ายแค่ 75% ซึ่งตรงนี้ผมขอเน้นย้ำว่าผู้อ่านไม่ควรตีความผลการศึกษาที่ว่าผลทางสวัสดิการที่ผู้มีสิทธิฯ ได้รับมีมูลค่าน้อยกว่าเงินอุดหนุนจากรัฐ (ประมาณ 75 สตางค์ต่อเม็ดเงินทุกๆ 1 บาท) ว่าเป็นความไร้ประสิทธิภาพหรือเป็นการได้ประโยชน์ไม่คุ้มของโครงการ" ผู้ทำวิจัย กล่าว ณัฏฐ์ อธิบายว่า เหตุที่ไม่ควรตีความว่าผลทางสวัสดิการที่ได้รับในโครงการหลักประกันสุขภาพมีมูลค่าน้อยกว่าเงินอุดหนุนจากรัฐว่าเป็นความไร้ประสิทธิภาพหรือไม่คุ้ม เนื่องจาก 1.เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนนี้กับการศึกษาที่ใช้แบบจำลองและวิธีการประมาณค่าแบบเดียวกันในโครงการลักษณะเดียวกันของประเทศอื่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคยังมีอัตราส่วนที่สูงกว่า ตัวอย่างเช่น ผลของศึกษาของ Finkelstein, Hendren and Luttmer (2015) ซึ่งใช้แบบจำลองเดียวการศึกษานี้ พบว่าผลทางสวัสดิการของ Medicaid มีมูลค่า 44 เซนต์ต่อต้นทุนหนึ่งดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ จ่าย แสดงให้เห็นว่าอัตราส่วนของผลทางสวัสดิการต่อต้นทุนของโครงการ 30 บาททุกโรคมีค่าสูงกว่า และ 2.การศึกษาชิ้นนี้ยังมีข้อจำกัดในด้านข้อมูลและความครอบคลุมของแบบจำลอง ทำให้ผลทางสวัสดิการที่คำนวณอาจเป็นค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริงในการประเมินประโยชน์ผ่านด้านช่องทางด้านสุขภาพ และช่องทางด้านการเพิ่มระดับการบริโภค พบคนมีอายุยืนยาวขึ้นหลังเริ่มโครงการ 30 บาทขณะเดียวกัน ในส่วนที่กล่าวถึงช่องทางด้านสุขภาพนั้น แม้ผลการศึกษานี้ไม่สามารถแสดงว่าผลทางสวัสดิการที่ผ่านทางช่องทางด้านองค์ประกอบทางสุขภาพ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ได้ทำให้สุขภาพของประชาชนไทยดีขึ้น "มีหลักฐานหลายชิ้นที่บ่งชี้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอาจทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยยาวนานขึ้น รูปภาพข้างล่าง แสดงว่าเห็นว่าอายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่โครงการนี้ได้เริ่มต้นขึ้น Gruber, Hendren and Townsend (2014) ได้สรุปอีกว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคทำให้อัตราการตายของเด็กและทารกลดลง 13% – 30% เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลา 1 ปีระหว่างก่อนและหลังการเริ่มโครงการ เมื่อเราต่อจิ๊กซอว์เหล่านี้เข้าด้วยกัน อาจเป็นไปได้ว่าผลดีของโครงการฯ ทางด้านสุขภาพส่วนใหญ่เป็นไปในด้านของการยืดอายุขัย และผู้ที่รับประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและทารกในพื้นที่ยากจน ผลประโยชน์เหล่านี้ไม่ได้ถูกสะท้อนโดยการใช้จำนวนวันที่หยุดงานเพราะการเจ็บป่วยมาเป็นตัวชี้วัดทางด้านสุขภาพ จึงเป็นไปได้ว่างานศึกษาชิ้นนี้ประเมินผลทางสวัสดิการผ่านทางองค์ประกอบด้านสุขภาพต่ำกว่าความเป็นจริง" ณัฏฐ์ กล่าว ภาพแสดงอายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยระหว่างปีพ.ศ. 2533 - พ.ศ.2557 บัตรทองส่งผลกระทบเป็นบวกต่อรายได้ณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า การที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้นจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ยังนำไปสู่การอธิบายว่าทำไมงานวิจัยนี้จึงอาจประเมินประโยชน์ผลทางสวัสดิการต่ำกว่าความเป็นจริงในด้านระดับการบริโภค กล่าวคือเวลาคนคาดการณ์ว่าจะมีชีวิตยาวนานขึ้น คนจะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยจะลดการบริโภคในปัจจุบันเพื่อเก็บทรัพยากรไปบริโภคมากขึ้นในอนาคต การที่งานศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้รวมเอาผลทางสวัสดิการผ่านทางองค์ประกอบด้านการบริโภคในอนาคตนั้นอาจทำให้ผลทางสวัสดิการที่ประเมินได้มีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง "ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าเมื่อคนคาดการณ์ว่าจะชีวิตยืนยาวขึ้น ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเก็บออมมากขึ้นเพื่อไปใช้จ่ายในอนาคต ซึ่งข้อจำกัดของการศึกษานี้คือไม่ได้คิดผลทางสวัสดิการที่คนจะได้จากการออมเพื่อไปบริโภคในอนาคต แต่เอาการบริโภคในปัจจุบันมาคิด ดังนั้นผมคงจะพัฒนาการศึกษาเพื่อให้ครอบคลุมเรื่องนี้ในอนาคต" ณัฏฐ์ กล่าว ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่าโครงการบัตรทองส่งผลกระทบทางบวกต่อรายได้เป็นบวกอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งณัฏฐ์ อธิบายว่า คำว่า "ส่งผลกระทบทางบวกต่อรายได้เป็นบวก" หมายถึงเมื่อเทียบ control group (กลุ่มที่ไม่ได้ผลประโยชน์โดยตรงจากสามสิบบาท คือครอบครัวของข้าราชการ) กับกลุ่ม treatment group (กลุ่มได้รับประโยชน์) พบว่ากลุ่มหลังรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเร็วกว่ากลุ่มแรก อย่างไรก็ดีสาเหตุว่าทำไมรายได้ของ treatment group ขึ้นเร็วกว่ายังเป็น black box ซึ่งตัวผู้ทำวิจัยยังไม่สามารถอธิบายได้ "สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับเศรษฐศาสตร์ ผมขออธิบายว่า consumption smoothing คืออะไร คนปกติคงเข้าใจว่าคนเรามีความสุขเมื่อได้บริโภคเพิ่มขึ้น ยิ่งมีเงินมาจับจ่ายมากก็ยิ่งชอบ อันนั้นระดับระดับการบริโภค แต่ระดับการบริโภคไม่ใช่จุดเดียวที่ทำให้คนมีชีวิตที่ดี สมมติว่าต้นเดือนกินเนื้อมัสซึซากะ แต่ปลายเดือนต้องต้มมาม่ากิน ความผันผวนมากๆ แบบนี้คนไม่ชอบ พยายามหลีกเลี่ยง แต่สามารถมีเงินใช้จ่ายมีกินในระดับเดิมทุกวัน อย่างนี้คนชอบ ซี่ง 30 บาทให้ประโยชน์คนในจุดนี้ คือไม่ได้ทำให้คนใช้จ่ายซื้อกินมากขึ้น แต่ทำให้โอกาสที่จะ "ไม่มีเงินจะกิน" น้อยลง" ณัฏฐ์ กล่าว การใช้บริการมากเกินจำเป็น หรือ การใช้บริการณัฏฐ์ ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในแวดวงสาธารณสุขขณะนี้ โดยมุ่งไปที่ประเด็นที่อ้างกันมากเรื่องการที่ระบบบัตรทองทำให้ผู้ป่วยมารับบริการมากเกินจำเป็น (overutilization) กับประเด็นเรื่องการร่วมจ่าย (copayment) ในส่วนของประเด็นเรื่อง overutilization ณัฏฐ์ให้ความเห็นว่าต้องแยกเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ 30 บาททำให้คนใช้บริการสาธารณสุขมากขึ้นหรือไม่ และอีกประเด็นคือถ้าคนใช้บริการมากขึ้นจริงจะเป็นผลดีหรือไม่ดี ณัฏฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของประเด็นเรื่อง 30 บาท ทำให้ utilization (การใช้บริการ) เพิ่มขึ้น มีหลักฐานจากงานของ Gruber, Hendren and Townsend (2014) และงานของ Limwattananon et al (2015) ยืนยันว่าโครงการ 30 บาททำให้คนใช้บริการมากขึ้น อย่างไรก็ดี การที่คนมาใช้บริการมากขึ้นเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ ต้องแยกอีกว่าเป็นกรณีที่คนใช้บริการมากขึ้นจากที่สมัยก่อนคนไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการเลยใช้บริการน้อยเกินไปและ 30 บาททำให้คนมีโอกาสใช้บริการสาธารณสุขมากขึ้น หรือเป็นกรณีที่คนได้รับบริการพอเพียงอยู่แล้วแต่ 30 บาททำให้คนใช้บริการสาธารณสุขมากเกินไป "ตัวอย่างเช่น สมัยก่อนเจ็บป่วยก็ทน ไม่มาหาหมอ รอจนเจ็บหนักจนมาถึงมือหมอก็ร่อแร่แล้ว หรือมันเป็นเพราะว่าคนได้รับบริการสาธารณสุขเพียงพออยู่แล้วและ 30 บาททำให้คนใช้บริการเกินจำเป็น เช่น 30 บาททำให้คนไปนอนเล่นฟรีๆ ที่โรงพยาบาล ถ้าเป็นกรณีแรกการที่ utilization เพิ่มก็น่าจะดี แต่กรณีหลังก็ไม่น่าจะดี ทีนี้มันจะเป็นกรณีไหน ก็ต้องไปวัดกันที่ผลของ 30 บาทต่อดัชนีชี้วัดทางสุขภาพของคนไทย ถ้าเป็นกรณีที่ทำให้จากเดิมที่คน underutilize เข้ามารับการรักษามากอื่น ก็ต้องมีหลักฐานว่าโครงการ 30 บาททำให้ดัชนีชี้วัดด้านสุขภาพดีขึ้นแบบเห็นได้ชัด เช่น แทนที่คนเจ็บจะรอจนเจ็บหนัก เขาเข้ามารับการรักษาก่อน อันนี้หมอก็มีโอกาสจะรักษาชีวิตคนไข้ได้มากขึ้น แต่เป็นกรณีว่าทำให้เกิด overutilization เช่น ไม่ได้เจ็บป่วยอะไรแต่เข้ามานอนเล่นฟรีๆ อันนี้น่าจะดูได้จากการที่ว่า utilization เพิ่ม แต่ดัชนี้ชี้วัดด้านสุขภาพไม่ได้ดีขึ้นตาม" ณัฏฐ์ กล่าว ณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า จากเหตุผลข้างต้น หลักฐานที่ชี้ชัดคำตอบมีอยู่แล้วว่าโครงการบัตรทองทำให้อัตราการตายของเด็กและทารกลดลง 13% – 30% และอายุขัยของคนไทยก็เพิ่มขึ้นชัดหลังมีโครงการนี้ ดังนั้นจึงสรุปว่าการที่ utilization เพิ่มขึ้น น่าจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำเพราะโครงการนี้ทำให้คนที่เคยเข้าไม่ถึงบริการทางสาธารณสุขสามารถเข้าถึงบริการได้ ค้าน 'ร่วมจ่าย'ณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของประเด็นเรื่อง copayment ซึ่งดูเหมือนว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนระบบให้คนไข้ต้องร่วมเปอร์เซ็นต์จ่ายสำหรับกรณีโรคแพง เช่น มะเร็ง "อันนี้ผมค้านเต็มที่ จากงานของผม ประโยชน์ทั้งหมดของ 30 บาทมันมาจากทางด้าน consumption smoothing คือมันปิดโอกาสที่คนจะต้องจ่ายค่ารักษาก้อนใหญ่กรณีที่ป่วยเป็นโรคแพงๆ แบบไม่คาดฝัน ถ้าอ่านในเปเปอร์ผมตรงนี้ ข้อมูลด้าน out of pocket medical spending ซึ่งผมพบว่า 30 บาทไม่ได้ทำให้ค่ารักษาจากกระเป๋าตัวเองหากวัดจากค่าเฉลี่ย แต่หากไปโดยที่ percentile แล้ว ค่ารักษาที่ percentile สูงๆ นี่ลดลงมาก เช่นที่ 90th percentile นี่ลดลงไป 40% สำหรับกรณีผู้ป่วยใน เพราะโครงการ 30 บาทมันไปลดโอกาสที่จะจ่ายหนักๆ จนหมดตัว แล้วจุดนี้แหละคือประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของโครงการ" ณัฏฐ์ ให้ความเห็น ด้วยเหตุนี้ หากให้คนไข้ต้องร่วมจ่ายกรณีโรคราคาแพง เท่ากับว่าเอาจุดดีที่สุดของโครงการ 30 บาทออกไป การจ่าย copayment เท่ากับว่าถ้าโชคร้ายเป็นมะเร็งขึ้นมาก็ต้องจ่ายหนักๆ การที่เปิดโอกาสให้จ่ายหนักกรณีที่โชคร้ายเช่นนี้ คือการเอาประโยชน์ด้าน consumption smoothing ออกไป ซึ่งทำให้ฝั่งผู้ให้บริการจะ argue ว่าถ้าไม่จ่าย copay แล้วระบบขาดทุน "ผมคิดว่าควรทำให้ break even โดยการขึ้น fixed payment จาก 30 บาทเป็น 100 บาทหรืออะไรอย่างอื่นแล้ว cap ค่ารักษาในกรณีโรคแพงไว้เหมือนเดิมก็ยังจะดีกว่าจะให้จ่าย copay เพราะยังรักษาประโยชน์จาก consumption smoothing ไว้ครับ" ณัฏฐ์ กล่าวปิดท้าย
เอกสารที่กล่าวอ้างอิงถึงในบทสัมภาษณ์อ้างอิง : Gruber, J., Hendren, N., & Townsend, R. M. (2014). The great equalizer: Health care access and infant mortality in Thailand. American economic journal. Applied economics, 6(1), 91. Limwattananon, S., Neelsen, S., O'Donnell, O., Prakongsai, P., Tangcharoen-sathien, V., van Doorslaer, E., & Vongmongkol, V. (2015). Universal coverage with supply-side reform: The impact on medical expenditure risk and utilization in Thailand. Journal of Public Economics, 121, 79-94.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
[คลิป] เปิดพรมแดนความรู้ล้านนาคดีใหม่ (2) : ศิลปะ วัฒนธรรมในสังคมล้านนา Posted: 17 Jun 2017 07:33 AM PDT คลิปจากการเสวนาหัวข้อ "เปิดพรมแดนความรู้ล้านนาคดีใหม่ (2) : ศิลปะ วัฒนธรรมในสังคมล้านนา" วิทยากรโดย สุนทร คำยอด กลุ่มวิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำเสนอหัวข้อ "อุดมการณ์ล้านนานิยม: ในวรรณกรรมของนักเขียนภาคเหนือ" เริ่มตั้งแต่จดหมายของศรีโหม้ วิชัยที่เขียนถึงแม่ เล่าเรื่องการเดินทางจากเชียงใหม่ไปสหรัฐอเมริกา และต่อมาเคยใช้เป็นตำราเรียนของโรงเรียนชายวังสิงห์คำหรือโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย งานเขียนของอำพัน ไชยวรศิลป์ ซอน้ำท่วมของ ตาไหล กันทะจันทร์ หรือ แก้วตาไหล สงกรานต์ สมจันทร์ ภาควิชาดนตรีและศิลปะการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นำเสนอหัวข้อ "ดนตรีล้านนา มุมมองการศึกษาทางมนุษยดนตรีวิทยาที่ผ่านมา" โดยแบ่งหัวข้อนำเสนอเป็น ธรรมชาติของการศึกษา การเปลี่ยนแปลงของดนตรีล้านนาจาก "ดนตรีชาวบ้าน" สู่ "ดนตรีแบบแผน" ทบทวนงานเขียนสำคัญของดนตรีล้านนา และ ปัญหาของการศึกษาดนตรีล้านนาและแนวโน้มในอนาคต ทั้งนี้สงกรานต์ชี้ถึงแนวโน้มของการศึกษาดนตรีล้านนาว่า 1. การสถาปนา "แบบแผน" ทำลายความหลากหลายทางดนตรี โดยเฉพาะบทบาทจากสถาบันการศึกษา 2. การขาดเครื่องมือในการศึกษา เช่น แนวคิดทฤษฎีทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรม / การศึกษาวิชามานุษยดนตรีวิทยา (ethnomusicology) 3) การสร้างความจริงแท้/บริสุทธิ์ ทำให้ละเลยวัฒนธรรมรายรอบ 4) ขาดการศึกษาอย่างสหวิทยาการ/การบูรณาการกับศาสตร์อื่น ธนพงษ์ หมื่นแสน ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอหัวข้อ "ซอพื้นเมือง: ภาคปฏิบัติการสร้าง "จินตกรรมอัตลักษณ์ล้านนา" ผ่านพื้นที่หลักสูตรและการจัดการศึกษาท้องถิ่นเชียงใหม่"
เสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเวทีวิชาการ "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับชมคลิปจากเวทีวิชาการ "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" ทั้งหมดที่ https://goo.gl/Ltzjrz ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประยุทธ์ ปลื้มนานาชาติยอมรับไทย หลังทูตไทยได้รับเลือกตั้งเป็นผู้พิพากษาศาล ก.ม.ทะเลระหว่างประเทศ Posted: 17 Jun 2017 06:51 AM PDT โฆษกประจำสำนักนายก เผย พล.อ.ประยุทธ์ ปลื้มหลังทูตไทยประจำรัสเซียได้รับเลือกตั้งเป็นผู้พิพากษาศาล ก.ม.ทะเลระหว่างประเทศ ชี้นานาชาติให้การยอมรับไทย พร้อมระบุ รบ.ส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลในระบบการศึกษา ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการเกษตร วิสาหกิจชุมชน SMEs และ Startup ออนไลน์ 1 ล้าน ในปีนี้
17 มิ.ย. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานวาา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานว่า ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี เอกอัครราชทูตไทยประจำสหพันธรัฐรัสเซียได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (ITLOS) วาระระหว่างปี 2560 – 2569 โดยเป็นครั้งแรกที่ไทยมีผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในกลไกตุลาการของสหประชาชาติ และเป็นคนแรกจากภูมิภาคอาเซียนและโอเชียเนียที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ "นายกฯ กล่าวว่า การที่คนไทยได้ดำรงตำแหน่งสำคัญดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า นานาชาติให้การยอมรับประเทศไทยที่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมหลักนิติธรรมด้านกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ เช่น การกำหนดอาณาเขตทางทะเล การทำประมงอย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อมทางทะเล พาณิชย์นาวี การอนุรักษ์และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล เป็นต้น" นอกจากนี้ ที่ประชุมประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สมัยที่ 106 ที่สวิตเซอร์แลนด์ ยังได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกประจำของคณะประศาสน์การ ILO ด้วยคะแนนสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามด้วยเกาหลีใต้ บาห์เรน และอิหร่าน โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และยังจะมีบทบาทนำในอาเซียนในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนในกรอบของ ILO ทั้งนี้ จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.60 เป็นต้นไป "นายกฯ ยินดีที่นานาชาติให้การยอมรับประเทศไทยในหลายเรื่อง โดยอยากให้คนไทยร่วมสร้างมิติใหม่ในสังคมด้วยการเผยแพร่ส่งต่อข่าวดี สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ทุกคนมากกว่าข่าวลบหรือข่าวความรุนแรง เพราะมีข่าวดีมากมายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น ไทยเป็นประเทศไทยที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก ประจำปี 2017 ติดต่อกัน 2 ปี จากการสำรวจของ U.S. News สหรัฐอเมริกา และยังได้รับการจัดอันดับเป็น Top 10 ในอีกหลายด้าน เช่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านการเจริญเติบโตในภาพรวม ด้านวัฒนธรรม และเหมาะกับการใช้ชีวิตยามเกษียณ เป็นต้น" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการเกษตร วิสาหกิจชุมชน SMEs และ Startup ออนไลน์ 1 ล้าน ในปีนี้เปิดเผยว่า รัฐบาลส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ ช่วยสร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางการเรียนรู้ให้กับประชาชนทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการงานด้านการศึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การติดตั้งอินเทอร์เน็ตโรงเรียนให้ครบทุกแห่ง โครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การยกระดับภาษาอังกฤษผ่านแอพพลิเคชัน Echo English และการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน เป็นต้น "ขณะนี้รัฐบาลได้ติดตั้งใหม่และปรับปรุงเพิ่มความเร็วของอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาในโรงเรียนครบทุกแห่งทั่วประเทศแล้วกว่า 43,000 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้สะดวกและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาเครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชนสำหรับให้บริการการศึกษาตามความต้องการของท้องถิ่น โดยติดตั้งอินเทอร์เน็ตใน กศน.ตำบลทั่วประเทศ จำนวน 7,424 แห่ง" ในช่วงที่ผ่านมาศูนย์ดิจิทัลชุมชนได้จัดทำหลักสูตรให้ความรู้ประชาชนที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1. หลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 2. หลักสูตรการใช้มือถือสมาร์ทโฟน และ 3. หลักสูตรการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเพื่อการพาณิชย์ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 340,714 คน โดยในปีนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ขยายความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์เพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจรหรือเปิดร้านค้าออนไลน์ได้ ตั้งเป้าหมาย 1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2559 นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้จัดทำแอพลิเคชัน "กดดูรู้ที่เรียน" ที่ประกอบด้วย ข้อมูลการศึกษาขั้นพื้นฐาน ข้อมูลอาชีวศึกษา ข้อมูลอุดมศึกษา ข้อมูลหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว และข้อมูลแหล่งเรียนรู้ ซึ่งครอบคลุมทั้งแผนการรับนักเรียน ผลการทดสอบทางการศึกษา การแนะแนวอาชีพและการศึกษาต่อ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการนำเสนอข้อมูลด้วยวิธีการอ่านออกเสียง (Text to Speech) เพื่อผู้พิการทางสายตา หรือผู้ที่ไม่สะดวกในการอ่าน และเชื่อมโยงข้อมูลสถานศึกษาจากระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการข้อมูลบนแอพลิเคชันแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชันดังกล่าวได้ที่ Apple App Store และ Google App Store ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถาปนิกและสภาวิชาชีพควรมีท่าทีอย่างไรต่อการใช้ ม. 44 กรณีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง Posted: 17 Jun 2017 05:54 AM PDT
ในฐานะสถาปนิก เราควรมีท่าทีและการแสดงออกอย่างไรต่อกรณีที่มีคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ที่นำมาสู่การยกเว้นกฏหมายหลายมาตรา รวมถึงยกเว้นมาตรา 45, 47 และ 49 ในพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ที่ส่งผลทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้สถาปนิกที่มี "ใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม" ซึ่งผ่านการรับรองโดย "สภาสถาปนิก" ของไทย จากที่ติดตามกรณีนี้มาพอสมควร ผมมีความเห็นว่า ท่าทีบางอย่างที่สถาปนิกหลายท่านร่วมถึงสภาสถาปนิกซึ่งได้แสดงออกในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมานั้นไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็นเท่าไรนัก ในฐานะที่ผมเองก็เป็นสถาปนิกคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการใช้ ม. 44 (มิใช่แค่กรณีนี้ แต่ในทุกกรณี) ดังกล่าว จึงอยากใช้พื้นที่นี้เพื่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนความเห็นกับสถาปนิกทั้งหลาย (รวมถึงผู้สนใจทั่วไป) 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้ กรณีนี้มิใช่เรื่องการเสียผลประโยชน์ของสถาปนิกไทยแต่คือการเสียผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมมีความเห็นไม่น้อยเลยจากสถาปนิกในสื่อต่างๆ แสดงออกต่อกรณีนี้ในลักษณะฟูมฟายตัดพ้อทำนองว่า ถ้าทำแบบนี้แล้ว สิ่งที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาถึง 5 ปีจะมีประโยชน์อะไร ถูกสถาปนิกต่างชาติเข้ามาแย่งงาน หรือแบบนี้เราจะสอบใบประกอบวิชาชีพไปเพื่ออะไร ฯลฯ ท่าทีดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ยิ่งหากมีการแสดงออกในลักษณะนี้มากขึ้นเท่าใดก็มีแต่จะทำให้เกิดการเบี่ยงประเด็น (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ไปสู่คำอธิบายว่าเป็นเพียงการออกมาโวยเพื่อมุ่งรักษาผลประโยชน์ของวิชาชีพตนเอง และส่งผลทำให้ความเสียหายที่แท้จริงต่อสังคมโดยรวมไม่ถูกนำมาตีแผ่เท่าที่ควร แน่นอน มีสถาปนิกไม่น้อย (เช่น คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค) ที่พยายามนำเสนอถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อสังคมต่อการใช้ ม.44 ในกรณีนี้ ที่สำคัญมากคือการไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ของสถาปนิกต่างชาติหากเกิดความเสียหายขึ้นซึ่งอันตรายอย่างมาก การเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการผูกขาด การเสียโอกาสที่จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาสู่สถาปนิกไทยจากการที่ไม่จำเป็นต้องทำงานร่วมกับสถาปนิกไทย เป็นต้น แต่ท่าทีแบบนี้ยังดูไม่ถูกขับเน้นอย่างเป็นระบบมากนัก ข้อเสนอผมคือ สถาปนิกทั้งหลายควรเลิกฟูมฟายเรื่องการถูกแย่งงานเสียทีและเริ่มรณรงค์ให้ความรู้แก่สังคมต่อผลเสียมหาศาลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้คำสั่งนี้ที่คนทั่วไปอาจจะยังมองไม่เห็น สถาปนิกไทยมักพูดว่าสังคมไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่สถาปนิก ไม่เห็นคุณค่าของวิชาชีพ และไม่เข้าใจว่าสถาปนิกทำอะไร ดังนั้น สถาปนิกควรใช้วิกฤตครั้งนี้เพื่อแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่าวิชาชีพนี้มีประโยชน์อะไรจริงๆ แก่สังคมเสียที ข้อ 3 ในคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2560 คือความน่ากังวลที่แท้จริงกระแสข่าวส่วนมากพุ่งตรงไปที่ประเด็นการยกเว้น พระราชบัญญัติสถาปนิก และ พระราชบัญญัติวิศวกร แต่ในทัศนะผม เนื้อหาในข้อ 3 ของคำสั่งมีความน่ากังวลมากไม่แพ้กัน และยังไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนัก สาระสำคัญในข้อดังกล่าวคือ "...ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบดังต่อไปนี้ (1) กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาผู้ประกอบการและการเสนอราคา (2) กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (3) คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 11/2560 เรื่อง การกํากับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ลงวันที่ 23 ก.พ. พ.ศ. 2560 (4) ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (5) ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 (6) ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้าง พ.ศ. 2544 (7) ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2544..." การยกเว้นกฏหมายและระเบียบเป็นจำนวนมากข้างต้น นำไปสู่ช่องว่างมากมายในการตรวจสอบความโปร่งใสในกระบวนการก่อสร้างอย่างน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงคุณภาพของวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง รวมไปถึงอาจนำไปสู่การเอื้อผลประโยชน์ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่ามหาศาล สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือภารกิจสำคัญของสถาปนิกไทยที่จะต้องออกมาชี้ประเด็นเหล่านี้ ใช้ความรู้ในเชิงเทคนิคเฉพาะด้านที่มีแต่สถาปนิกเท่านั้นที่จะรู้และเข้าใจ ย่อยมันออกมาให้ง่ายและบอกกล่าวแก่สังคม สถาปนิกไทยควรเตรียมพร้อมที่จะทำหน้าที่นี้ในระยะยาว มีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้สังคมมองเห็นคุณค่าของการมีอยู่ของวิชาชีพสถาปนิก สภาสถาปนิกควรแสดงบทบาทอย่างไรอาจจะเร็วไปที่จะออกมาวิจารณ์สภาสถาปนิก แต่จากการติดตามข่าวมาโดยตลอด คงต้องพูดว่าสภาสถานิกแสดงบทบาทที่น้อยเกินไปอย่างน่าผิดหวัง มีการแชร์ความเห็นอย่างไม่เป็นทางการของนายกสภาสถาปนิกที่กล่าวว่า "...สภาสถาปนิกและสภาวิศวกรได้พยายามทำเต็มที่แล้วที่จะรักษากฎหมายวิชาชีพไว้ แต่รัฐบาลไม่ฟังครับ...จีนมองว่าการที่สถาปนิกและวิศวกรจีนต้องสอบใบอนุญาตไทยเป็นการเสียศักดิ์ศรี เพราะจีนออกแบบและสร้างรถไฟความเร็วสูงมาแล้วมากกว่า 20,000 กม. ไทยยังไม่เคยสร้างเลยแม้แต่ 1 กม. จะมีอะไรไปสอบเขา!!! ทั้ง 2 สภาบอกจีนว่า เราไม่ต้องการสอบความรู้ด้านเทคโนโลยี เพราะรู้ว่าเขาเก่งเรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่เราต้องการทดสอบว่าเขามีความรู้เกี่ยวกับ local condition กฎหมาย และวัฒนธรรมไทย เพียงพอที่จะเข้ามาทำงานในเมืองไทยหรือไม่ แต่เขาก็ยังยืนกรานที่จะไม่สอบ...ที่ผมต้องพูดออกมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ทราบว่า ผมและสภาสถาปนิกได้พยายามต่อสู้เต็มที่แล้ว แต่เราเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ เราไม่สามารถที่จะไปคัดค้านรัฐบาลได้ครับ..." ต้องขออภัยที่จะขอกล่าวว่า ในทัศนะผม สภาสถาปนิกยังไม่ได้สู้เต็มที่และทำอะไรอย่างเหมาะสมคู่ควรกับการเป็นสภาวิชาชีพแต่อย่างใดเลยนะครับ เหตุผลเรื่องการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐเลยทำอะไรไม่ได้มากนั้น ไม่ถูกต้องเลยนะครับ แม้จะอยู่ในกำกับของรัฐ แต่บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของสภาฯ ก็ควรตั้งอยู่บนการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมนะครับ ที่ผ่านมา สภาสถาปนิกอาจแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการควบคุมสถาปนิกได้อย่างน่าพอใจ แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่สภาสถาปนิกจะได้โอกาสพิสูจน์ตนเองครั้งสำคัญ การใช้ ม.44 กรณีนี้ผิดพลาดอย่างไม่มีข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นสภาสถาปนิกต้องกล้าที่จะท้าทายอำนาจรัฐที่กระทำการโดยมิชอบครั้งนี้ให้มากกว่านี้ ผมอยากเสนอให้สภาสถาปนิกทำความร่วมมือกับสภาวิศวกร สมาคมสถาปนิกสยาม ตลอดจนนักวิชาการทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่มีความรู้ทางด้านนี้โดยตรง ออกมาแสดงจุดยืนต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการที่จะคัดค้านการออกคำสั่ง ม.44 ครั้งนี้ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมทางวิชาการและการสื่อสารต่อสังคมให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือระงับคำสั่งนี้ในที่สุด ผมอยากขอให้ลองดูกรณีตัวอย่างที่ผ่านมาที่มาการออกคำสั่ง ม.44 เรื่องห้ามนั่งท้ายรถกระบะ แต่สุดท้ายด้วยข้อมูลทางวิชาการและความเห็นมากมายของสังคมก็ทำให้การบังคับใช้ถูกชะลอไปในที่สุด ดังนั้น ม.44 จึงไม่ใช่อะไรที่จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้นะครับ หากสภาสถาปนิกสามารถจะสื่อสารกับสังคมวงกว้างให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงได้ มีแต่การแสดงท่าทีและบทบาทแบบนี้ต่างหากที่จะทำให้วิชาชีพสถาปนิกมีค่าอย่างแท้จริงต่อสังคม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
75 องค์กรอีสานประท้วงเวที แก้ ก.ม.บัตรทอง ใต้แถลงหนุน สรรเสริญ ตั้งแง่เอี่ยวการเมือง Posted: 17 Jun 2017 04:54 AM PDT เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทองขึ้นยึดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประกาศจุดยืน ค้านการแก้ ก.ม.บัตรทอง ชี้ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น ขณะที่ 60 เครือข่ายภาคประชาชนใต้ แถลงหนุนอีสานฯ ด้าน พล.อ.สรรเสริญตั้งแง่ กลุ่มค้านมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่มาภาพ เพจ บัตรทองของเรา 17 มิ.ย. 2560 จากกรณีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยภาคประชาชนมองว่ากระบวนการยกร่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีผู้แทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าวเพียง 2 คน รวมถึงมีข้อกังวลจากภาคประชาชนว่าการแก้ไขจะเป็นการทำลายหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง จนเกิดการคัดค้านและวอล์กเอาต์จากเวทีประชาพิจารณ์ใน 2 ภาค คือ ภาคเหนือและภาคใต้ เหลืออีก 2 เวที คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 17 มิ.ย. และภาคกลาง กทม. วันที่ 18 มิ.ย.นี้ ที่มาภาพ เพจ บัตรทองของเรา วันนี้ (17 มิ.ย.60) ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น เพจ บัตรทองของเรา รายงานว่า "เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง" ขึ้นยึดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประกาศจุดยืน คัดค้านการแก้กฎหมายฯ ที่ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดเวทีนั้น หลังการชี้แจงเครือข่ายชาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง ที่มีชาวบ้านจากหลายเครือข่าย ทั้งเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เครือข่ายผู้ป่วยโรคไตและเครือข่ายคนรักสุขภาพ ได้ขึ้นเวที พร้อมถือป้ายแสดงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยในเวทีประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ โดยระบุว่าไม่ต้องการให้จัดเวทีประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้จัดงานต้องทบทวน กม. ที่นำมาเสนอกับประชาชน พลเดช กล่าวว่า ในการแสดงออกของเครือข่าย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะนำความคิดเห็นทั้งหมดนำเสนอต่อผู้รับผิดชอบทุกส่วน แต่ต้องให้เวทีดำเนินการต่อเพื่อรับฟังในส่วนอื่นเช่นกัน ผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถควบคุมเวทีประชาพิจารณ์ได้ เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง ซึ่งมี 75 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ แก้กฎหมายบัตรทอง บิดเบือนเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประชาชน รายละเอียดดังนี้ คำสั่ง มาตรา 44 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2559 ระบุให้มีการ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 10/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ด้วยจิตคาราวะ สำหรับ เครือข่ายผู้สนับสนุนแถลงการณ์ทั้ง 75 องค์กรประกอบด้วย 1)ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน 2)ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) 3)ศูนย์ข้อมูลสิทธิเพื่อผู้บริโภค 4)กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 5)กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล – ดูนสาด 6)กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดงมูล 7)กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย 8)กลุ่มฅนบ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ 9)กลุ่มฮักบ้านฮั่นแนว 10)ขบวนการอีสานใหม่ 11)ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม 12)เครือสตรีจังหวัดสุรินทร์ 13)เครือข่ายคนพิการจังหวัดนครราชสีมา 14)มูลนิธิน้ำเพื่อชีวิต 15)เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสุรินทร์ 16)เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา 17)กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดวานรนิวาส 18)กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแววล้อมโคกหินขาว 19)กลุ่มปุกฮัก 20)ชมรมคนสร้างฝัน 21)เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ 22)กลุ่มเด็กฮักถิ่นใหม่ ม.ราชภัฏสกลนคร 23)เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า 24)กลุ่มกวีเถื่อน ม.ราชภัฏมหาสารคาม 25)เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย 26)ศูนย์พิทักษ์จัดการทรัพยากรลุ่มน้ำชีตอนบน 27)กลุ่มชาวบ้านฟื้นฟูระบบนิเวศลำน้ำชีตอนล่าง 28)เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน 29) กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง 30)ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมลุ่มน้ำโขง(ศพส.) 31)คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) 32)กลุ่มสมุนไพรเพื่อสันติภาพ (Herb for Peace) 33)กลุ่มเถียงนาประชาคม 34)กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) 35)สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ 36.)สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ 37)กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน 38)มูลนิธิน้ำเพื่อชีวิต 39)เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน 40)สถาบันชุมชนอีสาน 41)สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม 42)ศูนย์ข้อมูลสิทธิเพื่อผู้บริโภค 43)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดขอนแก่น 44)เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น 45)สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น 45)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจังหวัดขอนแก่น 46)เครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น 47)เครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดขอนแก่น 48)เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดขอนแก่น 49)เครือข่ายเกษตร จังหวัดขอนแก่น 50)เครือข่ายคนพิการจังหวัดขอนแก่น 51)ชมรมเพื่อนโรคไตจังหวัดขอนแก่น 52)สื่ออาสาปันใจจังหวัดขอนแก่น 53)กลุ่ม M-CAN ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายจังหวัดขอนแก่น 54)มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) สำนักงานภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น 55)เครือข่ายเด็กและเยาวชน จังหวัดมหาสารคาม 56)มูลนิธิไทยอาทร จังหวัดขอนแก่น 57)โครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น (LDP) จังหวัดชัยภูมิ 58)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคอีสาน 59)ชมรมต้นกล้าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และครอบครัว จังหวัดมุกดาหาร 60)สมาคมวิถีธรรมชาติ จังหวัดอุบลราชธานี 61)มูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมเอชไอวี จังหวัดอุบลราชธานี 62)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดอุบลราชธานี 63)สมาคมศิษย์เก่านักเรียนทุน ไอ เอฟ พี ประเทศไทย 64)สถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา (กลุ่มก่อการดีเลย) จังหวัดเลย 65)สมาคมไทบ้าน จ.มหาสารคาม 66)ตลาดเขียวขอนแก่น 67)สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน 68)ศูนย์ส่งเสริมสิทธิศักยภาพประชาชนนครราชสีมา 69)สภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน 70)เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน 71)คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน 72)เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดมหาสารคาม 73)กลุ่มพิราบขาว จ.ขอนแก่น 74)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด และ 75)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์(ข่ายผู้หญิง) สรรเสริญ ตั้งแง่ กลุ่มค้านมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแนวหน้า รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถูกบอยคอตต์จากภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมอวานี แอนด์คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น ที่ถูกภาคประชาชนบุกไปยึดเวทีจนไม่สามารถดำเนินการรับฟังความคิดเห็นได้ว่า ได้ชี้แจงถึงเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพไปหมดแล้ว จึงอยากให้ประชาชนลองศึกษารายละเอียดถึงร่างดังกล่าวก่อนว่าเป็นอย่างไร มีส่วนที่สูญเสียสิทธิจากเดิมหรือพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนการที่มีกลุ่มคนไปล้มเวทีประชาพิจารณ์นั้น แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการเลือกตั้ง แต่การกระทำที่บ่งบอกว่าเป็นการไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นนั้นก็ไม่สมควรทำเช่นกัน พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การออกกฎหมายแต่ละฉบับ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องและถือเป็นองค์ประกอบหลักในการออกกฎหมาย ดังนั้นประชาชนไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ และที่ผ่านมามีการเรียกร้องอยากเห็นประชาธิปไตย ซึ่งหัวใจหลักคือการแสดงความเห็นคิด ดังนั้นการใช้กำลังล้มเวทีประชาพิจารณ์ ก็เป็นการบอกว่าไม่ได้เป็นการฟังความคิดเห็นคนอื่นด้วยเหมือนกัน "ขอให้ดูให้ดีว่ากลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ จริงๆ หรือมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้เสียรังวัดว่าของใหม่ดีกว่าของเดิม อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ล้มเวทีประชาพิจารณ์ เพราะถือว่ากระทำความผิด" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว ใต้หนุนเสียงอีสาน ค้านแก้ ก.ม. 'บัตรทอง'รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า 60 เครือข่ายภาคประชาชนใต้กว่า 60 คน จาก 14 เครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งมาร่วมเวทีเปิดพื้นที่ความคิดและเชื่อมโยงเครือข่ายภาคใต้ ที่จัดโดยขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) ณ โรงแรมสิงห์โกลเด้น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้มีแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนอีสานที่ไม่ยินยอมให้มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ จ.ขอนแก่น ธิรดา ยศวัฒนะกุล ตัวแทน ขสช. ภาคใต้ กล่าวว่า ขสช. ภาคใต้ ได้ติดตามความพยายามแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 และติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เสียประโยชน์จากการมีกฎหมายฉบับนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาที่สำคัญยิ่งคือขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างกว้างขวางเพียงพอ ทั้งที่เป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งประเทศ และขาดความไว้วางใจในกระบวนการและเจตนารมณ์ของการแก้ไขกฎหมาย จึงขอขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวรณรงค์และข้อเรียกร้องของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่คัดค้านการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ ขสช. พร้อมที่จะเข้าร่วมในการขับเคลื่อนทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องกลไกการปฏิรูประบบสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ นอกจากนี้ ขสช. ยังเรียกร้องให้ยุติกระบวนการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพและให้มีการเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ตลอดจนทบทวนการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (พ.ร.บ.สสส.) ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 เช่นเดียวกัน และ ขสช. ภาคใต้ จะจับตาความพยายามแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับอย่างใกล้ชิดเพื่อปกป้องกลไกการปฏิรูประบบสุขภาพของสังคมไทย ทั้งนี้ ในช่วงเช้าสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เปิดเวทีประชาพิจารณ์เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่ากฎหมายบัตรทอง ในพื้นที่ภาคอีสาน ณ จังหวัดขอนแก่น โดยก่อนหน้าการประชาพิจารณ์หนึ่งวัน มีการขึ้นป้ายรณรงค์คัดค้านการแก้ไขกฎหมายบัตรทองในหลายจุด กระทั่งเมื่อมีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ ประชาชนส่วนหนึ่งได้บุกขึ้นไปบนเวทีพร้อมชูป้ายประท้วง มีข้อความเช่น 'คัดค้านการใช้ ม.44 แก้กฎหมายบัตรทอง', 'แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพเท่ากับล้มบัตรทอง' จากนั้นจึงผลัดกันปราศรัยคัดค้านการประชาพิจารณ์ครั้งนี้อย่างเข้มข้น จึงทำให้กระบวนการประชาพิจารณ์ไม่สามารถเริ่มต้นขึ้นได้และต้องยกเลิกในเวลาต่อมา สำหรับเวทีเปิดพื้นที่ความคิดและเชื่อมโยงเครือข่ายภาคใต้ นอกจากการแสดงจุดยืนร่วมกันในการสนับสนุนการคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแล้ว ยังมีการระดมความคิดเห็นต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สสส. ด้วย ผู้มาร่วมจากหลายเครือข่ายสะท้อนว่า ไม่เห็นด้วยการกับแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะในส่วนหลักการและเหตุผลที่ระบุว่า การดำเนินงานของ สสส.มีปัญหาธรรมาภิบาล ทำให้การพัฒนาประเทศมีปัญหา ไม่มีประสิทธิภาพและไม่คุ้มค่าเชิงภารกิจของรัฐแต่จะทำอย่างไรให้องค์กรหรือภาคประชาชนที่เคยทำงานร่วมกันกับ สสส. แสดงตัวออกมาแสดงจุดยืนมากขึ้น เตชาติ มีชัย หนึ่งในภาคประชาชน กล่าวว่า พ.ร.บ.สสส. เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือการพัฒนาประเทศเป็นหลักการใหญ่ แต่การที่ถูกมองว่าขัดธรรมาภิบาล ถ้ารับได้ก็ปล่อยให้ดำเนินกระบวนการต่อไป แต่ถ้ารับไม่ได้ก็ต้องแสดงตัวตนว่าคิดอย่างไร องค์กรต่างๆที่ทำงานหรือรับทุนจาก สสส. ซึ่งเดิมไม่ค่อยแสดงตัวหรืออยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งเวลานี้คิดอย่างไร กาจ ดิษฐาภิชัย ตัวแทนจากเครือข่ายครอบครัวเข้มแข็ง กล่าวว่า ระบบสุขภาพในนิยาทของ สสส.เป็นของประชาชนที่ไปทาบเทียบอำนาจรัฐ แต่ร่างกฎหมาย สสส.ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ด่าประชาชน สถาปนาขึ้นไปเป็นระบบราชการเพื่อจะสืบทอดการกำกับประชาชนต่อไป ถ้ารับไปก็จะทำให้ประชาชนเหลือแค่ความเป็นไพร่ทาส ต้องยืนยันว่าหลักการมีความสำคัญ มิฉะนั้นจะถูกลากไปเป็นหมื่นเป็นพันประเด็น ซึ่งหลักการในร่างกฎหมาย สสส. ฉบับนี้รับไม่ได้ นอกจากนี้ ในเวทียังมีข้อสรุปร่วมกันว่า จะต้องมีการร่วมกันร่าง พ.ร.บ.สสส. ฉบับประชาชน ขึ้น โดยกระบวนการที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน หลังจากนี้จะมีการขยับไปสู่การร่างกฎหมายเพื่อเสนอต่อสังคมต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประยุทธ์ ตั้งอีก 50 ข้อ ฝากให้ประชาชนช่วยกันคิด Posted: 16 Jun 2017 10:06 PM PDT พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งโจทย์อีก 50 ข้อ ระบุ ไม่ใช่คำถาม - คำตอบ แต่ฝากประชาชนช่วยกันคิดวิเคราะห์ ช่วยกันทำ
แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล 17 มิ.ย. 2560 ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ตั้งคำถามกับประชาชน ผ่านรายการศาสตร์พระราชาเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา 4 ข้อเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ประชาชนช่วยกันตอบ ประกอบด้วย 1.เลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2. หากไม่ได้จะทำอย่างไร 3.การเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตประเทศและเรื่องอื่นๆ นั้น ถูกต้องหรือไม่ และ 4.ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ พร้อมทั้งมีกระบวนการเปิดให้ประชาชนร่วมตอบผ่านกลไกราชการนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาอีกว่า วันนี้ตนจะฝากให้คิดตาม ไม่ใช่คำถาม ไม่ต้องการคำตอบ ในอีก 50 ประเด็น เพื่อจะได้เข้าใจว่า รัฐบาลและ คสช. มองปัญหาของประเทศ สำหรับตั้งเป็นโจทย์ในการทำงานขับเคลื่อน ประเทศ ปฏิรูปประเทศในปัจจุบันนี้อย่างไร และถ้าท่านมีโอกาสเป็นรัฐบาล หรือมีโอกาสบอกตนในเวลานี้ ท่านคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ก็มีหลายเรื่องด้วยกัน วันนี้ตนยกมาแค่ 50 ข้อ ดังนี้ 1. การพัฒนาประเทศ ทำยังไงให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จะต้องมีการพัฒนาภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด ชุมชน ท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กัน ให้เข้มแข็งตามศักยภาพ ที่มีความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำ ในปัจจุบัน 2. การทำให้เศรษฐกิจระดับมหภาคและระดับฐานรากดีขึ้น ไปพร้อม ๆ กัน 3. การเชื่อมห่วงโซ่มูลค่า และการกระจายรายได้ จากบน กลาง ล่าง โดยต้องเข้าใจว่า ด้วยธรรมชาติของกลไกทางเศรษฐกิจแล้ว สัดส่วนรายได้ ผลกำไรส่วนใหญ่ จะอยู่ที่ระดับบน ก็เพราะเป็นผู้ลงทุนมากกว่า มีความเสี่ยงกว่า อาจจะขาดทุนก็ได้ หรือกำไรก็ได้ และก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีกำไรมาก ปันผลผู้ถือหุ้นได้มากอะไรทำนองนั้น เขามีความเสี่ยงเหมือนกัน แล้วถ้าเดินหน้าไปไม่ได้ก็ขาดทุนมาก เพราะฉะนั้น การเชื่อมโยงห่วงโซ่ทุกระดับ ทุกกิจกรรม เข้าด้วยกันนั้น ผมถือว่าจะได้เลิกวาทะกรรมที่ว่าเป็นการผูกขาด การเอื้อประโยชน์กันเสียที เปลี่ยนมาเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เผื่อแผ่แบ่งปัน 4. การกระจายรายได้และความเจริญ ลงไปสู่พื้นที่ทุกระดับ อย่างทั่วถึง บางพื้นที่ยังเหลื่อมล้ำอยู่ ถนนหนทางก็ยังไม่เท่าเขา แล้ววันนี้ทุกคนอยากจะให้เท่ากัน เป็นไปไม่ได้ เราต้องทำทุกอย่างให้เท่าก่อน หลังจากเท่ากันแล้วจะขยายขึ้นมาให้มากขึ้น เช่นถนนก็ไปเพิ่ม 3- 4 เลน 6 เลน ก็ว่าไป อันที่ 3 ต้องทำพร้อม ๆ กัน คือสร้างความเชื่อมโยงให้ถึงกันให้ได้ก่อน 5. การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ จะต้องคุ้มค่าโปร่งใส มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ 6. การเพิ่มรายได้ภาครัฐ เพื่อเป็นงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อรองรับระบบสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งมีอยู่หลายด้านด้วยกัน ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และคมนาคมขนส่ง ไฟฟ้า พลังงาน ทุกอย่าง เป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ ซึ่งบางอย่างก็ต้องชำระเงิน บางอย่างก็ฟรี เพราะฉะนั้นแนวโน้ม "ภาระด้านงบประมาณ" เพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากประชาชน ประชากรที่เพิ่มขึ้น จากผู้สูงวัยที่มากขึ้น คนเจ็บป่วยมากขึ้นหรือไม่เราก็ไม่ทราบ แต่เราต้องมีการเตรียมการรองรับสิ่งเหล่านี้ที่เรียกว่า มาตรการลดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกันไว้ก่อน 7. การทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อย มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิต สามารถอยู่ได้ในโลกแห่งยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญ ในการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านั้นได้อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างประหยัด แล้วก็ทั่วถึง เท่าเทียม 8. การดูแลประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ให้ทั่วถึงภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ผมกล่าวมาแล้ว 9. การดูแลผู้มีรายได้น้อย "ทุกกลุ่ม" โดยเริ่มต้นจาก การสร้างความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ จากนั้นขยายไปสู่การเพิ่มมูลค่า สร้างความเชื่อมโยงทุกมิติ สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ได้อย่างยั่งยืน 10. การทำให้ผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในส่วนที่มีรายได้มาจากกิจกรรมผิดกฎหมาย ให้มีทางเลือกใหม่ มีโอกาสที่จะหันมายึดอาชีพสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย เช่น ค้าขาย รับจ้าง อาชีพอิสระ ฯลฯ เพราะทุกอาชีพที่เป็นธุรกิจสีเทา เหล่านั้น ส่งกระทบต่อความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดระเบียบ การกีดขวางการจราจร ขาดระเบียบวินัย สร้างความสกปรก ไม่มีคุณภาพ ไม่สะอาด ไร้มาตรฐานเหล่านี้ เป็นต้น เราก็ต้องมาหาวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม 11. การพัฒนาประเทศ ที่เราจะต้องดำเนินการควบคู่ไปทั้งมิติเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราจะขับเคลื่อนในเรื่องของสิทธิมนุษยชนในการประกอบการธุรกิจ ซึ่งต้องคำนึงถึง ความคุ้มครอง ความเคารพ แล้วในเรื่องของการเยียวยาที่เหมาะสมในการประกอบการธุรกิจ ผมได้เข้มงวดไปทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของภาคการผลิต ทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เรื่องการบริหารจัดการต่าง ๆ ทั้งหมดจะต้องสมดุลและยั่งยืน ทำไปด้วยกันทั้งการพัฒนา และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่าทำอันใดอันหนึ่ง แล้วก็ทำให้เกิดผลกระทบโดยรวม 12. การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด เช่น ที่ดินและน้ำ วันนี้เราก็มีอยู่อย่างจำกัด การใช้ทรัพยากร จะต้องลดลง แต่สามารถที่จะเพิ่ม ผลผลิต ผลประโยชน์มากขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้มากกว่าที่ผ่าน ๆ มา มีที่มาก มีน้ำน้อย ก็ปลูกเท่าที่ปลูกได้ ไม่รู้จะมีไปทำไม 13. การปกป้องผืนป่าไม่ให้ถูกบุกรุก หรือถูกทำลายเพิ่มขึ้น วันนี้เราก็สกัดกันได้มากพอสมควร คนเลวก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นก็จะต้องลงโทษสถานหนัก เจ้าหน้าที่ก็ต้องไม่ไปร่วมมือ แล้วก็มีกระบวนการบริหารจัดการที่ดีของประเทศอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ดินทำกิน แหล่งน้ำที่เพียงพอ ต่อภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เราจะต้องมีผืนป่าในสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นต้น ค่อย ๆ สร้างไป ถ้าถูกทำลายไปแล้วก็สร้างยาก แต่ต้องช่วยกันสร้างไป อยู่กันไปด้วย คนอยู่กับป่าได้ก็ไปได้ทั้งหมด ป่าเพิ่มขึ้น คนก็มีความสุข กฎหมายวายังไงก็ต้องไปหาวิธีการทำให้เหมาะสม 14. การรักษาบ้านเมืองของเรา ให้เกิดความสงบ สันติสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดไป 15. การทำให้คนไทยจะรู้จักคำว่าพอเพียง ทั้งความหมายและการปฏิบัติอย่างถูกต้อง เหมาะสม ความพอเพียง สำคัญที่สุดในโลกปัจจุบัน 16. การทำให้คนไทยทุกคน คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ "มาก่อน" ผลประโยชน์ส่วนตน หรือเราจะทำไปพร้อม ๆ กัน คิดไปพร้อม ๆ กัน ถ้าเรายึดถือผลประโยชน์ส่วนรวม ร่วมมือ ผลประโยชน์ส่วนบุคคลก็ตามมาเอง ถ้าส่วนรวมไม่ได้ สาธารณูปโภคพื้นฐานไม่เกิด การลงทุนไม่เกิด แล้วบุคคลจะได้อะไรกลับมาล่ะครับ เพราะวันนี้เราก็สู้ชีวิตกันมานานพอแล้วนะ 17. การทำให้คนไทยเคารพกฎหมายด้วยมีความสำนึกดีมีคุณธรรม จริยธรรม โดยไม่อ้างความจำเป็น ปัญหาส่วนตัว เช่น ความยากจน ความไม่รู้ ความสะดวกสบาย ซึ่งวันนี้ต้องปรับเข้าหากันให้ได้นะครับทำความเข้าใจให้ได้ 18. การทำให้คนไทยรู้จักลดอัตตา ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ทั้งความประพฤติ ความคิด เราต้องให้ความสำคัญกับส่วนรวมด้วยนะครับ มีความอดทน โดยรู้ความเร่งด่วนของงาน ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เราจะต้องไม่อ้างสิทธิเสรีภาพอย่างไร้ขอบเขต หรืออ้างความจน ความรวย อะไรต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ในวาทะกรรม บ้านเมืองก็สับสนไปหมด 19. การทำให้คนไทยมีจิตสำนึกที่ดี มีอุดมการณ์ ความเสียสละ ซื่อสัตย์ สุจริต เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ลืมอัตลักษณ์ความเป็นไทย 20. การลดปัญหาสังคม ทั้งการก่ออาชญากรรม การใช้ความรุนแรงในครอบครัว และการละเมิดกฎหมาย ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ โดยรวม 21. การสร้างกลไกในการป้องกันคนไม่ดี ไม่สุจริต ในการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ และมีกระบวนการยุติธรรมที่ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความเป็นธรรม กับคนทุกระดับอย่างทั่วถึง สามารถต่อสู้คดีและรักษาสิทธิของตนเองได้นะครับ เช่น เรามีกองทุนยุติธรรมวันนี้ เพิ่มเติม 22. การทำให้คนไทยมีภาคภูมิใจในความเป็นชาติ, อันนี้สำคัญที่สุด ภูมิใจในความเป็นชาติ มีประวัติศาสตร์ และมี วัฒนธรรมที่งดงาม และเป็นความงดงามของชาติเรา ควบคู่ไปกับการปรับตัวให้ความสามารถดำรงชีวิตได้ ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ อย่างเหมาะสม ทั้งตะวันตก และตะวันออก 23. การทำให้เด็กและเยาวชนของชาติ เจริญเติบโตบนพื้นฐานของการมีความรู้คู่คุณธรรม ในการที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ในอนาคต 24. การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์ ให้แก่คนไทย 25. การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคม ทั้งประชาชน ข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และทุกภาคส่วน เพื่อจะลดความหวาดระแวงระหว่างกัน ดูแลกัน เห็นอกเห็นใจกัน และอยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน ที่ทุกคนต้องเคารพและบังคับใช้ ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง 2 ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน ก็ต้องหาทางออกตรงนี้ให้ได้ 26. การทำให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันนี้ฝ่ายรัฐก็ต้องทำ ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ก็ต้องทำให้ดีนะครับ ประชาชนจะได้มั่นใจ แล้วก็เชือมั่น 27. การทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น จากประชาชน ก็ด้วยตัวของท่านเอง 28 .การทำให้บ้านเมืองของเรา มีความเป็นระเบียบ สะอาด สวยงาม โดยประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ สามารถทำมาหากินได้ อย่างพอเพียง โดยปราศจากผลกระทบทางลบซึ่งกันและกัน และก็ความสะอาดของบ้านเมืองด้วย ต้องไปด้วยกันให้ได้ จะทำยังไง 29. การสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับประชาชนในการเสพย์สื่อและโซเชียล อย่างรู้เท่าทันและมีวิจารณญาณ สำหรับประกอบการตัดสินใจใด ๆ ได้อย่างเหมาะสม จะเชื่อดีหรือไม่เชื่อดี ก็ต้องมีเหตุมีผลมีหลักการของตัวเองด้วย 30. การทำให้คนไทยตระหนักและให้ความสำคัญ กับการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ผมอยากจะเน้นการป้องกัน มากกว่ารักษาโดยไม่จำเป็นอันเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอ ปัญหาปากท้อง ปัญหาในครัวเรือน ปัญหาหลักประกันสุขภาพต่าง ๆ เหล่านี้มากมาย 31. การทำให้ประชาชนเข้าใจว่า บางครั้ง การเรียกร้องของเราในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรเป็นไปไม่ได้ มันอาจจะมีผลกระทบกับคนอื่น 32. การแก้ปัญหาที่หมักหมมยาวนาน คู่ชุมชนเมืองและกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน เช่น ชุมชนแออัดและการจราจรติดขัด เหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญ 33. การทำให้ประชาชนมีความสุข ความพึงพอใจในแนวทางที่ถูกที่ควร โดยไม่อึดอัดกับการอยู่ในระเบียบ วินัยและกฎหมายและกฎเกณฑ์ทางสังคม ที่เราจำเป็นต้องมีอยู่ เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข 34. การทำให้สังคมไทยมีความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ รวมทั้งให้เกียรติและดูแล ผู้หญิง เด็ก คนชรา คนพิการ คนด้อยโอกาส ได้อย่างเหมาะสม เป็นสากล 35. การทำให้คนไทยช่วยกันลดขยะและรู้จักการแยกขยะ ลดผักตบชวา โดยรู้หน้าที่ของตน เพื่อจะไปสู่การลดโลกร้อน โดยการประหยัดไฟ ลดการใช้ถุงพลาสติก ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม 36. การทำให้คนไทยเข้าใจหลักการประชาธิปไตย อย่างถ่องแท้ ทั้งในการอยู่ร่วมกัน และการทำงานร่วมกันโดยต้องยึดถือ หรือฟังเสียงคนส่วนใหญ่ แต่ต้องดูแลคนส่วนน้อยอย่างเหมาะสม ไม่ขัดแย้งและลงตัว ไม่ใช่การใช้เสรีภาพในการเรียกร้องสิ่งที่ตนเองต้องการ กลุ่มตัวเองต้องการ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด หรือไม่มีเหตุมีผล หรือในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะกลไกมันมีหลายอย่างด้วยกัน กลไกเรา กลไกโลก พันธะสัญญามากมาย 37.การทำให้ประชาชนจะเข้าใจว่า ประชาพิจารณ์ ประชามติ ประชาธิปไตย คืออะไร วันนี้ตีกันยุ่งไปหมด แม้กระทั่งคำถามผมก็กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นในฐานะพลเมืองที่ดีของชาติ ควรรู้บทบาทหน้าที่ของตนตามกฎหมายที่มีผลผูกมัดต่าง ๆ ตามหลักการ โดยที่เราต้องไม่ยอมให้ใครบิดเบือนข้อเท็จจริง ที่เป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน 38. การทำให้ทุกคน ทุกภาคส่วนนักการเมือง พรรคการเมือง มีคุณธรรม จริยธรรม และประเทศไทยมีการเลือกตั้งที่ได้มาซึ่งรัฐบาล ที่มีธรรมาภิบาล คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติและคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ แล้วไม่ลืมดูแลคนส่วนน้อยด้วย หน้าที่ของนักการเมือง พรรคการเมืองก็คือต้องดูแลคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในส่วนที่เลือกตนเข้ามา ดังนั้นรัฐบาลก็ทำหน้าที่แบบนั้น 39. การทำให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และ NGO ต่าง ๆ ได้ร่วมมือกับภาครัฐในการทำงานเพื่อประเทศชาติได้อย่างไรมากกว่าการทำงานที่มุ่งในประเด็น หรือเป้าหมาย หรือกฎหมายของตนเองแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะมีผลกระทบต่อส่วนรวม อย่างรอบด้าน ลองคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของประเทศบ้าง วันนี้ดูเรื่องบุคคลไปแล้ว ดูเรื่องกลุ่มไปแล้ว เราต้องมองว่าประเทศเราต้องมีสิทธิมนุษยชนของประเทศไหม ลองไปคิดใหม่ดูแล้วกัน 40. การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน โดยเราต้องมีความเข้มแข็งไปด้วยกัน 41. การทำให้คนไทยเข้าใจถึงปัญหาของประเทศชาติ ของสังคม และของประชาชน ว่าต้นตอของปัญหาที่แท้จริง มาจากอะไร คืออะไร แล้วเราจะร่วมมือเดินหน้ากันแก้ไขได้ อย่างไร ถ้าหากว่าต่างคน ต่างคิด ต่างทำ ต่างคนต่างเอาโจทย์ตัวเองใส่เข้ามาแต่เพียงอย่างเดียวตามความต้องการหรือ ผลประโยชน์ของแต่ละคน เป็นหลัก เราก็จะปฏิรูป เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย พัฒนาทำไม่ได้ เช่น เราต้องพัฒนาตนเอง สร้างความเชื่อมโยง สร้างห่วงโซ่เดียวกัน เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ มีการพัฒนาเกษตรกรรม ควบคู่กับการยกระดับอุตสาหกรรม การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ระหว่างผู้ได้ประโยชน์ กับผู้เสียประโยชน์ การเสียสละ ที่สมควรได้รับการดูแล เยียวยาจนพึงพอใจด้วยกันทุกฝ่าย หรือมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ตามห้วงระยะเวลา เหล่านี้ต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม เราจะมีรายได้ มีผลตอบแทนในรูปแบบอื่น ๆ ได้อย่างไรนอกจากเงินค่าเยียวยาอย่างเดียวผมกำลังคิดอยู่ เพื่อจะชดเชยในเรื่องของการถูกเวนคืนพื้นที่ ถ้ากิจการมีผลประโยชน์จะทำอย่างไร จะให้เขาได้ไหม ก็จะต้องไปเริ่มใหม่ ไปย้อนหลังไม่ได้อยู่แล้ว เดี๋ยวก็จะมาเรียกร้องของเก่า พอให้ของใหม่ ของเก่าก็เรียกร้องเข้าอีก เป็นไปไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นคนไทยต้องคิดใหม่ การใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดมูลค่า ไม่ปล่อยให้รกร้าง ไม่เกิดประโยชน์ เหล่านี้ เป็นต้น 42. การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเราจะทำอย่างไร ให้ทันสมัย เป็นธรรม สามารถทำได้จริง บังคับใช้ได้โดยปราศจากความขัดแย้ง รับฟังซึ่งกันและกัน หากเรายืนคนละฝ่าย ผู้ถือกฎหมายก็อย่างหนึ่ง เจ้าหน้าที่ ผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายก็ประชาชน ก็คิดอีกอย่างหนึ่ง โดยไม่มีพื้นฐานร่วมกัน ก็ไปไม่ได้ทั้งหมดผลประโยชน์ส่วนรวมก็มาไม่ได้ ทำให้คนส่วนน้อยต้องเดือดร้อน ถูกกระจายปัญหาไปถึงทุกคน แทนที่ผลประโยชน์จะไปทั่วถึง กลายเป็นปัญหาไปทั่วถึงทุกพื้นที่เพราะความขัดแย้งระหว่างกัน 43. การแก้ไขปัญหาของประเทศโดยการดำเนินการตามพันธะสัญญาต่าง ๆ ของประชาคมโลกนั้น รวมทั้งข้อตกลงในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ทำได้อย่างไร 44. การใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์ของเรา เป็นศูนย์กลางทางด้านภูมิศาสตร์ของอาเซียน ในการเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในกรอบอาเซียน และกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ 45. การทำให้ประเทศไทย CLMV อาเซียนเข้มแข็งไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในลักษณะเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เพราะเราจะได้รับผลกระทบ เหมือนกัน จากปัญหา และภัยคุกคามต่าง ๆ ดังนั้น ควรต้องช่วยกันสนับสนุน ช่วยเหลือ และร่วมมือกันทั้งในชาติ และต่างชาติที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เพื่อจะหาวิธีการแก้ปัญหา อย่างสันติวิธี ยั่งยืน 46. การทำให้ประเทศสามารถยกระดับฐานะในเวทีระหว่างประเทศ โดยอยู่ในตำแหน่ง บทบาท ในประชาคมโลกที่เหมาะสม ได้รับเกียรติและโอกาสในการเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในกิจกรรมที่เรามีศักยภาพและมีขีดความสามารถ 47. การทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใด ๆ กับส่วนอื่น ๆ ในโลก แต่ทั้งนี้ก็เป็นมติของสหประชาชาติ เราควรจะต้องวางบทบาท และความสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆ อย่างไร จึงจะไม่อยู่ในความเสี่ยงไปด้วย แต่เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาของโลกใบนี้ เราจะอยู่อิสระได้ เราจะต้องทำให้ทุกประเทศ ทั้งโลกอยู่กัน อย่างสันติสุข 48. การทำอย่างไรที่เราจะสามารถก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำได้บ้าง ผมว่าหลายคนก็อาจจะบอกว่า ทำไมไม่มีโครงการไทยแลนด์เฟิร์ส ผมว่าเราน่าจะมุ่งตรงนี้ก่อนมากกว่า การที่จะเป็นมหาอำนาจด้านอาหาร และการท่องเที่ยว ด้าน ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเรามีศักยภาพอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงคำพูดเพื่อจะให้กำลังใจและนำพาพวกเราทุกคนให้ร่วมมือกันเป็นมหาอำนาจแบบนี้ดีกว่า อย่างอื่นเราก็มีไว้สำหรับป้องกันตนเอง เรื่องความมั่นคง ป้องกันอธิปไตยตามแนวชายแดน กับป้องกันภัยความมั่นคงภายใน และภัยคุกคามที่เกิดใหม่ทั้งหมด 49. การทำให้สื่อมวลชน โซเชียล และคนไทยทุกคนมีความตระหนักรู้ เข้าใจถึงผลกระทบจากการเสนอข่าว หรือเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งด้วยเจตนาดี หรือไม่ดี ก็ตาม ย่อมมีผลต่อความรู้สึก และการรับรู้ของสังคมในทางที่ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง รวมทั้ง กระทบต่อความเชื่อมั่นจากนานาประเทศซึ่งส่งผลต่อประเทศชาติโดยตรง ทางเศรษฐกิจเช่น การค้า การลงทุน การส่งออก นำไปสู่ปัญหาปากท้อง รายได้ ขายสินค้าของประชาชนโดยอ้อม ที่จะเกิดขึ้นตามมา ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เกิดไม่ได้ 50. การทำให้คนไทยยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยตลอดไป ไม่เสื่อมคลาย เพื่อจะเป็นหลักชัยของประเทศ อีกนานเท่านาน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ทุกเรื่องเป็นเรื่องที่รัฐบาลคิด และทำอยู่แล้วในปัจจุบัน เพียงแต่ตนอยากจะตั้งประเด็นเหล่านี้ไว้เพื่อจะแสวงหาความร่วมมือ และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนรวมในการแก้ปัญหาด้วยความภาคภูมิใจในตนเองสร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศไทย ให้ช่วยกันคิดวิเคราะห์ คำนึงถึงหลักการและเหตุผล จะได้ลดการโต้แย้งในหลายประเด็น ในหลายขั้นตอนขณะนี้ เพื่อไปสู่ความเป็นไปได้ บนพื้นฐานของความเป็นจริง ต้องมาร่วมกันคิดร่วมกันทำแล้ว ทำให้เกิดขึ้นจริงด้วย คิดอย่างเดียวพูดอย่างเดียวไม่ได้ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำทั้งข้าราชการ ประชาชน ประชารัฐ อะไรก็แล้วแต่ ต้องมาช่วยกันทั้งหมด "จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และพวกเราทุกคน ไม่ใช่คำถาม - คำตอบ เดี๋ยวไปตีความกันผิดอีก จริงๆ แล้ว ประเทศของเรา ยังมีปัญหาอีกมากมาย ที่เราต้องปฏิรูป อยากให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำดีกว่าจะต้องมาบังคับด้วยกฎหมายต่าง ๆ ต้องมาร่วมมือกันก่อน กฎหมายยิ่งใช้น้อยได้ยิ่งดี จะได้ลดความขัดแย้ง กฎหมายยิ่งเข้มงวดขึ้นทุกวัน เขียนให้แรงขึ้นทุกวัน กฎหมายปกติยังไม่เคารพ แล้วกฎหมายยิ่งแรงมันก็ยิ่งขัดแย้ง เราต้องปรับปรุงที่ตัวเราทุกคน ก่อนเริ่มจากกฎหมายพื้นฐาน กฎหมายจราจร กฎหมายอะไรที่ง่าย ๆ ที่เราต้องปฏิบัติ สังคมมันก็จะเรียบร้อยสงบสุข เรื่องอื่น ๆ จะดีตามขึ้นมาด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รับน้องศิลปกรรม จุฬาฯ: มาสคอต สันโต้ ห้องเชียร์ รุ่นพี่ Posted: 16 Jun 2017 09:59 PM PDT ต้องออกตัวไว้ก่อนตรงนี้เลยว่าเราอยู่ในฝ่ายที่ ไม่ สนับ สนุน กิจกรรมการรับน้องที่มีการบังคับและมีผลกระทบต่อจิตใจของผู้อื่นทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ทางตรงและทางอ้อม แต่เราไม่ใช่คนที่มีอำนาจอะไรครับ เป็นแค่นิสิตที่มาเรียนธรรมดาๆ ไม่ได้ไปเข้าร่วมในกลุ่มที่ทำตรงนี้กับเค้า แต่เห็นว่าทางคณะเลือกที่จะเงียบ เราเลยเลือกที่จะออกมาเปิดเผยแทนจะดีกว่า ไม่ชอบความเงียบครับ ในโพสนี้เราจะพยายาม "เปิดเผย" เกี่ยวกับการรับน้องของคณะศิลปกรรม จากมุมมองของคนที่เข้ามาเรียนธรรมดาๆครับ ย้ำว่าเราเป็นแค่นิสิตธรรมดาครับ หลังจากที่เห็นกระแสด่า ฯลฯ มาค่อนข้างมาก เรื่องการเปิดเผยเกี่ยวกับการรับน้องของคณะศิลปกรรมศาสตร์จุฬาฯ และยังไม่เห็นการออกมาแถลงอย่างเป็นทางการอะไรเลยจากทางฝั่งรุ่นพี่หรืออาจารย์ เราจึงอยากจะออกมาเล่าด้วยข้อเท็จจริงที่ตรงสุดเท่าที่จะทำได้ให้กับคนภายนอกได้รับรู้สักที ยอมรับว่านี่ค่อนข้างหงุดหงิดกับการนิ่งเงียบของคนในคณะ รับน้องของคณะศิลปกรรมศาสตร์จุฬาเริ่มตั้งแต่ตอนปิดเทอม จะเริ่มประมาณ 1 เดือนก่อนงาน 'รับน้องก้าวใหม่' ของทางมหาลัยเอง โดยที่บรรยากาศของการรับน้องตอนปิดเทอมจะเหมือนภาพของการรับน้องสร้างสรรค์ที่มหาลัยอื่นๆทั่วๆไป ก็จะเป็นการมาทำกิจกรรมสันทนาการ เล่นเกม นู่นนี่ แล้วก็มีการฝึกร้องเพลงคณะ ซ้อมเต้น อะไรทำนองนี้ โดยที่รุ่นพี่ที่ดูแลในจุดนี้จะเรียกว่า "พี่สัน" รับน้องตอนปิดเทอมนี้ไม่มีการบังคับ ใครจะมาก็ได้ ไม่มาก็ได้ รุ่นพี่ที่ดูแลน้องในช่วงปิดเทอมนั้นยอมรับว่าดูแลได้ดีมาก และกิจกรรมก็ไม่มีความรุนแรง ตัวผู้เขียนเคยสะดุดล้ม(กับพื้นคอนกรีต)จนเป็นแผล รุ่นพี่ฝ่ายปฐมพยาบาลก็ได้นำตัวออกมาและให้นั่งพัก ไม่ต้องร่วมกิจกรรมต่อ พอรับน้องตอนปิดเทอมผ่านไปประมาณครึ่งหนึ่ง (หรือเกือบครึ่ง จำไม่ค่อยได้มาก) ก็จะมีการให้ทำมาสคอตของคณะ โดยที่จะแบ่งน้องออกเป็นกลุ่มๆ ให้ออกแบบแข่งกัน โดยนอกจากมาสคอตจะให้ออกแบบลายเก้าอี้คู่กันไปด้วย พอถึงจุดนี้การมารับน้องในแต่ละวันก็จะไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรให้ทำมากแล้ว นอกจากร้องเพลงบ้าง และปล่อยให้มาทำมาสคอตไปเรื่อยๆ โดยที่รุ่นพี่ทุกๆคนที่มาก็จะมาช่วยกันทำ จุดนี้ก็ไม่มีการบังคับเช่นกัน รับน้องในช่วงปิดเทอมนั้นจะจบตอนที่งานรับน้องก้าวใหม่ของทางมหาลัยเริ่มขึ้นพอดี หลังจากนั้นก็จะเว้นช่วงไปยันเปิดเทอม พอเปิดเทอม จะเข้าสู่ช่วงที่ขอใช้คำว่า 'ของจริง' ของการรับน้องของที่นี่ โดยที่วันแรกที่มาเรียนเราจะถูกเรียกรวมตอนเที่ยงทุกคน โดยมีการทำแผนผังกำหนดจุดที่น้องแต่ละคนจะต้องยืนในแถว และพาขึ้น "ห้องเชียร์" ที่อยู่ชั้นที่สองของตึกคณะ โดยพอเข้าห้องเชียร์เราจะเจอกลุ่มที่เรียกว่า "พี่เชียร์" และ "พี่ระเบียบ" การปฏิบัติในห้องเชียร์ทั่วๆไปคือ เช็คยอด โดยที่การเช็คยอดจะเช็คตามแผนผังที่ทำไว้ที่กล่าวไปก่อนหน้า ถ้าเพื่อนจุดไหนขาดไปโดยที่ไม่ได้ส่งจดหมายลา คนรอบข้างทั้งหมดจะโดนสั่งลุกนั่ง ตรงนี้มีการใช้คำพูดกระทบกระทั่งและเหน็บแนมเยอะมากๆ อย่างเช่น ผู้หญิงลุกนั่ง ให้ผู้ชายยืนเฉยๆ แล้วก็ว้ากไปเรื่อยๆบ้าง หรือว้ากแบบไม่มีเหตุผลบ้าง ตรงนี้คนที่พึ่งเคยเจออะไรแบบนี้วันแรกหลายๆคนจะตกใจมาก นอกจากเช็คยอดก็มีการเช็คเครื่องแต่งกาย โดยที่เครื่องแต่งกายของที่นี่มีการกำหนดว่าปี 1 ต้องใส่ 'เสื้อตัวใหญ่ๆ' กับ 'กางเกงสีกรมท่าขากระบอก' และ 'รองเท้า' ของทางคณะ แต่ "พี่ระเบียบ" จะมีการดุน้องเพิ่มด้วย โดยเฉพาะน้องผู้หญิง โดยจะมีการดุเรื่องการทำสีผม เพราะทุกคนต้องทำสีดำ เรื่องห้ามแต่งหน้า เรื่องห้ามใส่ต่างหูบ้าง ฯลฯ ห้องเชียร์จะมีทุกวัน ย้ำ ทุ ก วั น ทั้งเที่ยงและเย็น โดยที่ตอนเที่ยงหลายๆคนลงจากห้องเชียร์ก็ไม่ทันกินข้าวแล้ว เรื่องจดหมายลาคือเราต้องเอาไปส่ง "พี่ลา" เพราะพี่คนอื่นไม่รับ เราเคยจะเอาไปส่งแล้วเราไม่รู้ว่าพี่ลาเป็นใคร สุดท้ายก็เลยฝากเพื่อนเข้าไปในห้องเชียร์ ซึ่งเหมือนตรงนี้เค้าจะไม่รับ เพราะได้ยินว่าเพื่อนๆก็ถูกสั่งให้ลุกนั่งอยู่ดี ต่อด้วย "สันโต้" สันโต้จะมีในตอนเย็นหลังจากจบห้องเชียร์ตอนเย็นแล้ว คือจะให้รุ่นน้องแต่งตัวตามตีมต่างๆ เช่น ตีมสัตว์ประหลาด ตีมป่า ตีมทะเล ฯลฯ โดยที่จะให้ใช้งบน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ แล้วก็จะให้ไปทำกิจกรรมสันทนาการกับคณะอื่นๆในมหาลัย หรือมหาลัยอื่นๆที่มาที่นี่ (เช่น ศิลปากร) โดยที่เวลาไปจะมีพี่เชียร์และพี่สันตามไปด้วย และบางทีก็มีการว้าก (อย่างเช่นตอนสันโต้กับรัฐศาสตร์) ทีนี้ พอผ่านไปเรื่อยๆ "พี่ว้าก" ก็จะมีการขอยอดน้องให้ครบตามจำนวนที่กำหนด เช่น ขอ 80 คนได้มั้ย ถ้าน้องมาไม่ครบ สิ่งที่น้องจะเจอก็คือการ 'พัง' มาสคอต ซึ่งปีที่เราเรียนเป็นมาสคอตรูปหมาป่า เค้าก็จะค่อยๆพังไปเป็นจุด หัวบ้าง หางบ้าง ขนบ้าง การปฏิบัติของการรับน้องของคณะนี้จะเป็นไปแบบนี้เรื่อยๆ จนครบเวลาที่กำหนด (จำไม่ได้ว่าเดือนอะไร แต่เวลาทั้งหมดประมาณเดือนสองเดือน) ที่ว่าการรับน้องมีการบังคับ แต่ทางคณะบอกว่าไม่ได้บังคับ และไม่ได้รุนแรง จริงมั้ย? ไม่ได้บังคับจริง แต่เฉพาะช่วงปิดเทอม แต่พอถึงช่วงเปิดเทอมที่มี 'ห้องเชียร์' นั้น มีการบังคับทางอ้อมตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเช็คยอด การทำโทษ การพูดกระทบกระทั่ง และนอกจากการบังคับจากรุ่นพี่ ก็ยังมีการกดดันจากเพื่อนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะครั้งที่โดนมาสคอต จะมีการกดดันจากเพื่อนเยอะมากๆกับกลุ่มคนที่ไม่มาเข้าร่วม ------------------------------------------------------- พอจบรับน้องรุ่นพี่ก็จะเฉลยออกมาว่าทั้งหมดมันเป็นแค่ละคร แล้วทุกอย่างก็เหมือนจะจบด้วยดี รุ่นพี่ทุกคนกลายมาเป็นรุ่นพี่ที่ดี ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริง ย้ำว่ารุ่นพี่ในคณะเป็นรุ่นพี่ที่ดี รับฟังและช่วยเหลือน้องในทุกๆเรื่อง แต่เราว่าที่มีปัญหาคือการที่คนส่วนใหญ่คิดว่าการทำแบบนี้ในการรับน้องมัน "โอเค" สำหรับตัวน้อง จุดนี้คือจุดที่มีปัญหา ในความคิดเห็นของเรา เราย้ำอีกครั้งว่าเราอยู่ฝ่าย "ไม่สนับสนุน" การรับน้องในรูปแบบนี้ แต่เราเคยเข้าไปคุยกับทางนายกสโมฯ (ที่เป็นข่าว) แล้ว เจ้าตัวได้บอกเราแล้วว่าจะปรับปรุง เราเข้าไปเสนอแนวทางแก้หลายๆแนวทาง เจ้าตัวก็รับฟัง เค้าบอกว่าเค้าก็ไม่ได้อยากทำ แต่สิ่งที่ทำให้ยกเลิกการรับน้องไม่ได้ เพราะยังมี 'คนจำนวนมาก' ที่ยังต้องการการรับน้องอยู่ และเค้าก็ยังไม่สามารถหาอะไรมาทำแทนที่มีคนสนับสนุนมากเท่าอันนี้ได้ จึงต้องดำเนินต่อไป รวมทั้งยังมีอาจารย์ที่ยังสนับสนุนการรับน้องอยู่ (แต่อาจารย์ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนนั้นก็มี) เราไม่ได้อยากจะ "ล้ม" การรับน้องแต่อย่างใด ถ้าคนจำนวนมากยังต้องการที่จะมีอยู่ เราจะไม่ไปละเมิดสิทธิของเค้า แต่เราจะแสดงจุดยืนของเราว่าเราอยู่ข้างคนที่ถือว่าเป็น 'ส่วนน้อย' ที่ไม่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมนี้แบบเรา เราต้องการให้เค้าสามารถใช้ชีวิตการเรียนได้อย่างปกติโดยที่ไม่ต้องมีใครมากดดัน ไม่ต้องมีใครมาบังคับในเรื่องใดๆทั้งสิ้น เราไม่เห็นด้วยกับการกระทำรุนแรงที่เกิดขึ้น เท่าที่เห็นการตอบสนองของเพื่อนๆในคณะหลายๆคนนั้น ถ้าพูดตรงๆ คือไม่มีเหตุผลเลย มีแต่การปกป้องแบบที่ไม่ถูก ในหลายๆกลุ่มไลน์ เช่น กลุ่มสาขา ก็มีการด่ากระทบกระทั่งกับเพื่อนเราที่ไม่เห็นด้วยเหมือนเรา เราเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าการไม่บังคับคนอื่นหรือไม่กดดันคนอื่นมันยากตรงไหน ขนาดงานรับน้องก้าวใหม่ของทางมหาลัยที่ไม่บังคับ ยังมีคนเข้าร่วมตั้งเยอะแยะเลย แล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมการรับน้องมันต้องมีในเวลาที่ยาวนานขนาดนี้เหมือนกัน เราไม่คิดว่าการเงียบแล้วปล่อยให้เรื่องมันจบนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง รวมถึงการตอบโต้อีกฝั่งด้วยอารมณ์ด้วย ในเมื่อการรับน้องของเรามันมีปัญหาจริงๆ แล้วคนที่มีปัญหาก็มีอยู่ให้เห็น เราควรจะยอมรับตรงๆเลยว่ามันมีปัญหาแล้วหาทางแก้ จะเป็นทางออกที่ดีกว่า ที่คิดออกมาเล่าได้ก็มีเพียงเท่านี้ ตรงนี้ก็ขอขอบคุณมากกับคนที่อ่านจนจบ ถ้าทางคณะได้มาอ่าน ก็ขอฝากให้ไปปรับปรุง เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาแบบนี้อีก เราก็ขอให้ทุกคนอย่าพึ่งเหมารวมคณะที่เราเรียนอยู่ตอนนี้ด้วยเรื่องนี้ เพราะรุ่นพี่และอาจารย์ทุกคนก็มีความเห็นต่างกัน แต่โดยรวมแล้วทุกคนไม่ได้เป็นคนที่จะปฏิบัติแย่ๆใส่กันด้วยความสะใจ จากนิสิตปี 1 ปัจจุบันที่กำลังจะขึ้นปี 2
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ประยุทธ์' ขออย่าขวางสร้างรถไฟ 'ดวงฤทธิ์' ชี้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายข้อ Posted: 16 Jun 2017 09:48 PM PDT นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ชี้เจรจาโดยตรงกับรัฐบาลจีนเป็นรูปแบบที่ไม่ดีมาตั้งแต่ต้น แนะควรเปิดประมูลเพื่อได้โนโลยีที่ดีที่สุด ผู้ผลิตเหล็กของไทย เรียกร้องรัฐบาลใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ ดวงฤทธิ์ ชี้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายข้อ ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล 17 มิ.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2560 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ล่าสุดวานนี้ (16 มิ.ย.60) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ตอนหนึ่งว่า เรื่องฝนตก น้ำท่วม น้ำขัง ก็คงต้องเร่งแก้ปัญหาระยะสั้น ให้บรรเทาความเดือดร้อนให้เร็วที่สุด ในเรื่องของการก่อสร้างการบูรณาการ ไม่ว่าจะแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะในเรื่องของระบบการส่งน้ำ ไม่ว่าจะการระบายน้ำต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก เพื่อจัดทำแผนงานให้รัดกุม ทุกอย่างเกิดขึ้นมาหลายสิบปีที่ไม่ยั่งยืน วันนี้เราก็ทำไปได้มากแล้ว ลองตามดู ก็ติดอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาทำไม่ได้ ประชาชนไม่ยินยอม อันนี้คือปัญหาสำคัญ การบุกรุกพื้นที่ของทางข้าราชการ จะสร้างถนน สร้างรถไฟ หรืออะไรก็แล้วแต่ รถไฟความเร็วสูงติดหมด พี่น้องประชาชนบุกรุกอยู่ ตนก็ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน แต่เราจะทำอย่างไร เพราะผิดกฎหมาย ต้องไปดูแลว่าจะทำอย่างไร "ก็ขอร้องว่าอย่าไปขวางเลยเรื่องการก่อสร้างรถไฟอะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ เพราะเป็นผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ การที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง ผมเห็นข่าวจากช่องหนึ่ง บอกว่าผมต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-โคราช เพราะว่าผมเป็นคนโคราช ดูซิคิดแบบนี้ได้อย่างไร ผมจะเกิดที่ไหนก็เรื่องของผม นั้นเรื่องส่วนตัวของผม แต่ผมทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศไม่ได้ทำเพื่อพื้นที่เกิดของผมเพียงอย่างเดียว คิดแบบนี้ไม่ได้ แล้วเส้นทางเส้นนี้ต้องไปโคราชแล้วไปหนองคาย ไปเชื่อมต่อกับลาวไปยังจีน ไปยุโรปตะวันออก ไปยึดโยงทางด้านโน้น เราต้องทำด้านล่างลงไปอีก ไปเชื่อมต่อมาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย ตะวันตก ตะวันออก พม่า ลาว กัมพูชา ต้องคิดแบบนี้ อย่ามองทุกอย่างเป็นประเด็นการเมืองทั้งหมด นั้นเรื่องส่วนตัวของผม ไม่ใช่เลย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก แนะควรเปิดประมูลเพื่อได้โนโลยีที่ดีที่สุดวันเดียวกัน(16 มิ.ย.60) สปริงนิวส์ รายงานว่า เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศไทยในหลายด้าน แต่ในกรณีการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนด้วยวิธีเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลจีนเป็นรูปแบบที่ไม่ดีมาตั้งแต่ต้น โดยเห็นว่าควรจะมีการเปิดกกว้างให้ผู้สนใจเข้ามาแข่งขันการประมูลเพื่อที่จะให้ไทยได้ระบบเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของโลกมาใช้ รวมทั้งสร้างความโปร่งใส โดยมองว่าแผนโครงการดังกล่าวไม่ดีมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ส่วนแผนการลงทุนขนาดใหญ่อื่นโดยภาพรวมถือว่าดี โดยเฉพาะการตั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ผู้ผลิตเหล็กไทย ร้องรัฐใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะให้สิทธิพิเศษกับจีนนำเข้าเหล็กจากจีนทั้งหมดมาใช้ในโครงการ โดย นาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวว่าหากรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขให้จีนนำเหล็กเข้าก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ทั้งหมด จะกระทบกับผู้ผลิตเหล็กในประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะเหล็กที่ไทยสามารถผลิตรองรับโครงการนี้ได้ เช่น การสร้างสถานีรถไฟในการทำหลังคา ที่ต้องใช้เหล็กแผ่น เหล็กท่อ ส่วนโครงสร้างคอนกรีตผนังอาคาร ใช้เหล็กเส้น และ เหล็กแผ่นรีดร้อน ส่วนเหล็กที่ใช้ทำรางรถไฟความเร็วสูงต้องเป็นเหล็กพิเศษที่ไทยยังผลิตไม่ได้จะต้องนำเข้าจากจีนซึ่งผู้ประกอบการไทยยอมรับได้ ทั้งนี้สมาคมเหล็ก 7 สมาคมจะประสานกันในนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่อรองกับกระทรวงคมนาคมให้เจรจากับจีนใช้เหล็กที่ผลิตจากในประเทศด้วย โดยมองว่าการที่จีนพยายามใช้เหล็กในประเทศตัวเองในโครงการนี้เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐ ดวงฤทธิ์ ชี้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายข้อขณะที่ ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Duangrit Bunnag' ในลักษณะสาธารณะด้วยว่า การใช้อำนาจม.44 เพื่อละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายข้อ เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่คำสั่งหัวหน้าคสช. ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี สั่งไป ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศดังต่อไปนี้ทันที ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Architectural Services: (MRA) ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS) General Agreement on Trade and Services (GATS) Nation Treatment (WTO) Most Favored Nation : MFN (WTO) Principle of Non-Discrimination (WTO) UIA Accord การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของชาวต่างชาติในประเทศไทย ไม่ได้ถูกควบคุมไว้แต่เพียง พ.ร.บ.สถาปนิกในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับข้อตกลงอาเซียน ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ และ อื่นๆอีกมากมาย "ในการที่รัฐบาลนี้ ได้ใช้ม.44 ในการอนุญาตให้สถาปนิกจากจีนเข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตนั้น แม้ว่าจะอนุญาตให้เป็นการเฉพาะ แต่ก็เป็นการเปิดช่องให้สถาปนิกจากชาติอื่นเข้าเจรจาภายใต้หลักการว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ (Principle of Non-Discrimination) ของ WTO ได้ทันที นั่นแปลว่าเราได้เปิดประตูให้สถาปนิกทุกชาติทั่วโลกในสนธิสัญญา WTO เข้ามาปฏิบัติวิชาชีพในไทยได้อย่างเสรีทันที โดยไม่ต้องขอในอนุญาตปฏิบัติวิชาชีพ เท่ากับเราเปิดเสรีให้กับวิชาชีพไปแล้วแบบไม่เท่าเทียม คนไทยทำอาชีพนี้ต้องสอบกันแทบตาย แต่ต่างชาติเดินหิ้วกระเป๋าเข้ามาทำงานได้เลย ตึกพังคนไทยตาย ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆแม้แต่น้อย" ดวงฤทธิ์ โพสต์ ดวงฤทธิ์ โพสต์ด้วยว่า ถ้ารัฐบาลมีสติปัญญาอีกนิดเดียว และปรึกษากันบ้าง ตนก็จะแนะนำให้สถาปนิกจีนที่จะเข้ามาทำรถไฟความเร็วสูงนี้ เข้ามาทำงานภายใต้เงื่อนไขของ 'ภาคีสถาปนิกพิเศษ' ซึ่งมีกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สถาปนิกอยู่แล้ว ในกรณีที่เข้ามาทำงานในโครงการของรัฐ เช่นเดียวกับที่เราทำสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ต้องมาใช้ม.44 สร้างความเสียหายให้กับวิชาชีพมากขนาดนี้ "บรรดาคนที่อยู่รายล้อมท่านนายกฯ เกิดมาโง่แล้วไม่ฟังใคร ก็ควรจะนอนอยู่บ้านนะครับ ถ้าฉลาดก็ควรจะปรึกษาสภาสถาปนิกก่อนจะทำอะไรที่ทำให้ปั่นป่วนกันระดับโลกขนาดนี้" ดวงฤทธิ์ โพสต์ทิ้งท้าย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ทำอย่างไร เมื่อไทยกำลังโต ในสินค้าที่กำลังจะตาย… Posted: 16 Jun 2017 07:47 PM PDT
ในระยะนี้และต่อจากนี้ เราจึงจะได้ยินคำว่า "ยุทธศาสตร์ชาติการค้า" มากยิ่งขึ้น จากความตั้งใจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลักที่ร่วมกับทีดีอาร์ ปักธง ดันไทยเป็นชาติการค้า (Trading Nation) ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน อย่างสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) สภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือ หาแนวทางแก้ปัญหาภาคการส่งออกอย่างตรงจุด เพื่อยกระดับการส่งออกของไทยและเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่การเป็นชาติการค้าที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีนานาชาติ การเดินหน้ายุทธศาสตร์นี้ จะช่วยนำไทยแก้วิกฤตส่งออกอย่างมีทิศทาง เพราะ การเป็นชาติแห่งการค้า จะต้องเข้มแข็งในเรื่องการส่งออก แต่หากดูตัวอย่างจากหลายประเทศที่เป็นชาติการค้ามาก่อนไทยนั้น ประสบความสำเร็จในการเป็นชาติการค้า ด้วยการส่งออกสินค้าที่มักมีมูลค่าเพิ่มจากการสร้างแบรนด์และนวัตกรรมสูง ซึ่งต่างจากไทยที่เน้นการสร้างมูลค่าโดยเน้นที่ปริมาณ เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นชาติการค้าที่มีภาคอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศเหมือนไทย โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่มีโครงสร้างสินค้าส่งออกคล้ายคลึงกับไทยมากถึงร้อยละ 70 แต่มูลค่าการส่งออกนั้นกลับมากกว่าไทยถึง 2.5 เท่า สินค้าส่งออกของเกาหลีใต้นั้นเป็นกลุ่มสินค้าที่ใช้ความรู้ความสามารถสูงและมีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถผลิตได้ เนื่องจากในกระบวนการผลิตมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต มีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) สูงถึงร้อยละ 4.15 ต่อ GDP โดยเป็นสัดส่วนจากภาคเอกชนถึงร้อยละ 80 ในขณะที่ไทยมีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) อยู่ในระดับต่ำ ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.48 ของ GDP เกาหลีใต้ยังมีการสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็ง เห็นได้จากการที่เกาหลีใต้นั้นมีแบรนด์เป็นที่รู้จักหลายแบรนด์ในระดับโลก เช่น Samsung, LG Hyundai และ KIA เป็นต้น การสร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก สร้างความแตกต่างให้กับสินค้า สร้างความภักดีแก่ลูกค้า และทำให้สามารถตั้งราคาสินค้าแบบพรีเมี่ยมได้ ซึ่งแตกต่างจากไทยที่ส่วนใหญ่ยังคงทำหน้าที่รับจ้างผลิตหรือประกอบชิ้นส่วนอยู่เป็นหลักโดยไม่มีการสร้างแบรนด์ ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มต่ำ ดังนั้น ทิศทางสินค้าไทยที่ควรมุ่งเน้นเพื่อพลิกวิกฤตส่งออกคือ ปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกโดยการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างแบรนด์และนวัตกรรมแทนการผลิตที่เน้นปริมาณแบบเดิม โดยก่อนการสร้างแบรนด์ ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมในการออกแบบสินค้าเป็นของตัวเอง วิธีการเรียนรู้นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 แนวทาง คือ หนึ่ง การเรียนรู้จากภายนอก ในกรณีของนวัตกรรมที่ต้องการความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) คือ เป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความซับซ้อนต่ำ เช่น สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น อาจเรียนรู้ได้จากการขออนุญาตการใช้สิทธิในการผลิต (licensing) จากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ หรือการร่วมลงทุน เป็นต้น ตัวอย่างประเทศที่ยึดหลักการเรียนรู้นี้คือ สิงคโปร์ ที่มีนโยบายเปิดให้ต่างชาติมาลงทุนโดยตรงเป็นหลัก จึงได้อาศัยองค์ความรู้และนวัตกรรมจากต่างชาติที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว แตกต่างจาก ประเทศเกาหลี ไต้หวันที่เน้นสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเอง สอง การเรียนรู้ด้วยตนเอง ในกรณีของนวัตกรรมที่ต้องการความรู้พื้นฐานที่กว้างขวางมาก่อนซึ่งไม่สามารถถ่ายทอดได้โดยง่าย เพราะเป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์หรือสัญชาติญาณ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความซับซ้อน เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้ายานยนต์ เป็นต้น ผู้ประกอบการควรมีการสร้างและสะสมความรู้ (tacit knowledge) และนำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้จากการลองผิดลองถูก หรือการวิจัยและพัฒนา (In-house R&D) ซึ่งแน่นอนว่าในการลงทุนสร้างนวัตกรรมส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการรายใหญ่มักจะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีฐานะทางการเงินมากกว่าผู้ประกอบกลางและขนาดย่อม (SMEs) ดังนั้น นอกจากการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแล้ว ภาครัฐควรจะมีการส่งเสริมในส่วนของการบ่มเพราะธุรกิจ (Business incubation) ด้วย โดยเฉพาะการมีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจแบบเสมือนจริง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการผลิตหรือคิดค้นสินค้านั้น ๆ ของผู้ประกอบการ (SMEs) นอกจากนี้ การส่งเสริมหรือสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะอาจจะมีการส่งเสริมภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ผู้ที่มีศักยภาพมากที่สุด (nonperformers) ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุความล้มเหลวของการส่งเสริมอุตสาหกรรมทารกดังเช่นที่ผ่านมา ดังนั้น จึงควรมีมาตรการคัดกรองออกไปควบคู่ด้วย ดังเช่นเกาหลีใต้ที่มีการสนับสนุนกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ Chaebol โดยมีเงื่อนไขว่าต้องพัฒนาตัวเองให้ไล่ตามบริษัทชั้นนำของโลกให้ได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเองจากเดิมที่ทำเพียงแค่การผลิต เป็นการลงทุนในเรื่องของการใช้นวัตกรรม ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสินค้าส่งออก ทำให้สินค้าไทยกลายเป็นที่ต้องการและมีมูลค่าเพิ่ม และจะทำให้ไทยสามารถเป็นชาติการค้าที่ประสบความสำเร็จและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในที่สุด.
เกี่ยวกับผู้เขียน: ศศิพงศ์ สุมา เป็นนักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 16 Jun 2017 07:39 PM PDT
เอ้าหุย...ออกจะชัดเจนขนาดนั้น สารภาพหมดเกลียดทหาร อ้ออีกอย่างลุงแกชอบทักษิณ เศษซากหลักฐานก็เห็นชัด เอ้าฮา...จับได้แล้วมือระเบิด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น